ททท.ภาคเหนือ ประกาศปีท่องเที่ยวปีเถาะ ชูแนวคิด “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” หวังดันรายได้ 156,000 ล้าน ในปี 66

ททท. ภาคเหนือ ประกาศปีท่องเที่ยวปีเถาะ ชูแนวคิด “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” นำงานหัตถศิลป์บอกเล่าเรื่องราว แห่งวัฒนธรรม หวังดันสร้างรายได้ 156,000 ล้านบาท ภายในปี 66


ช่วงค่ำวันนี้ (17 พฤศจิกายน 2565) ณ.บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และจังหวัดน่าน พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมจัดกิจกรรม “เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวภาคเหนือ ประจำปี 2566” รับปีท่องเที่ยวปีเถาะตามความเชื่อล้านนา ชูแนวคิด “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” นำอัตลักษณ์ความงดงามของวัฒนธรรมเมืองเหนือ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อาหาร ความเชื่อ ความศรัทธา และเทศกาลประเพณี มาเป็นแรงขับเคลื่อนในรูปแบบ Soft Power และเชื่อมโยงหัตถศิลป์บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่น ออกแบบเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่หลากหลาย ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในทุกมิติ คาดจะช่วยผลักดันรายได้ 156,000 ล้านบาท ภายในปี 66


นางสาวภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ กล่าวว่า ททท. ได้วางทิศทางในการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวภาคเหนือ มุ่งเน้นการสร้างสรรค์เมนูประสบการณ์ท่องเที่ยวภาคเหนือมุมมองใหม่ในหลากหลายมิติ ภายใต้แนวคิด “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” เพื่อสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อน Soft power ที่สอดคล้องกับมิติด้านเศรษฐกิจ BCG Model ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของภาคเหนือมาอย่างยาวนาน และเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของภาคเหนือให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน โดยนำเสนอวัฒนธรรมที่มีศักยภาพทั้ง 4 สาขา ได้แก่
1) การออกแบบแฟชั่น (Fashion)
2) อาหาร (Food)
3) เส้นทางสายศรัทธา / สายมู (Faith)
4) เทศกาลประเพณี (Festival)

นำมาสนับสนุนและส่งเสริมด้านการเสนอขายสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว รวมทั้งประชาสัมพันธ์สินค้าท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการต่างๆ เช่น โครงการ North x Clusive นำเสนองานคราฟท์ชุมชนและกิจกรรมชุมชน, โครงการ North Experience Festival นำเสนอเส้นทางสายศรัทธา และเส้นทางย้อนวันวานเมืองเหนือ, โครงการเสน่ห์กินริมน้ำ นำเสนออาหารถิ่น ตามคู่มือ มิชลินไกด์ ไทยแลนด์ และภิรมย์เวียงพิงค์ ,โครงการ Amazing Northern Road Trip นำเสนองานเทศกาลประเพณี, เส้นทางขับรถเที่ยว Unseen New Series , กิจกรรมสำหรับความสนใจพิเศษ เช่น วิ่ง เดิน Trail เป็นต้น

ซึ่งในปี 2566 ททท. จะนำเสนอเสน่ห์อันสวยงามและน่าท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่มาผูกร้อยเรื่องราว โดยเน้นใช้งานหัตถศิลป์ (Craft) อันเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตอันหลากหลายของผู้คนในท้องถิ่น บอกเล่าเส้นทางของอาหารประจำถิ่นผ่านการเดินทางผ่านสายน้ำที่ไหลผ่านภาคเหนือ สะท้อนความเชื่อด้านวัฒนธรรมประเพณี วิถีของท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ในการสร้างแรงบันดาลใจ และงานเทศกาลประเพณีประจำปี รวมถึงงานอีเว้นต์ทางการตลาดในพื้นที่ภาคเหนือ


ทางด้านนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ ตรงตามปีนักษัตรปีเถาะ จังหวัดน่าน จึงเห็นโอกาสในการได้ส่งเสริมให้เป็นปีท่องเที่ยวปีเถาะ ตามความเชื่อว่าพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของชาวล้านนา จึงได้จัดงาน“งานประเพณีหกเป็งนมัสการพระธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ประจำปี 2566” ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2566 ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน โดยปีนี้เวียงภูเพียงแช่แห้ง มีอายุกาลครบ 670 ปี ทางจังหวัดน่านได้ร่วมกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดกิจกรรมโปรโมชั่นมอบสิทธิพิเศษส่วนลดสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ให้แก่นักท่องเที่ยวที่เกิดในปีเถาะที่เดินทางมาเที่ยวจังหวัดน่าน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่จังหวัดน่าน

นอกจากนี้ ททท. ยังมุ่งเน้น การสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวในหลากหลายมิติ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนวิสาหกิจองค์กร ททท. พ.ศ.2566-2570 ที่ต้องการจะกระตุ้นความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ ด้วยการส่งมอบประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว (Meaningful Travel) รวมทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในเมืองหลักและเมืองรองมากยิ่งขึ้น

ภายในงานเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวภาคเหนือ ททท. ได้พาไปเปิดประสบการณ์ในเมืองเหนือผ่านการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดย ททท. สำนักงานภูมิภาคภาคเหนือ 11 สำนักงาน พร้อมชวนดื่มด่ำเสน่ห์ล้านนาไปกับดนตรีพื้นเมืองตามแนววิถีชาวเหนือ ลิ้มชิมรสอาหารประจำถิ่นเมืองเหนือ และร่วมกิจกรรมต่างๆ ในกาดเมืองเหนือ ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงฤดูหนาวนี้ ททท. ยังได้นำเสนอ 2 เส้นทางท่องเที่ยวสุด amazing ที่จะพานักท่องเที่ยวสัมผัสและใกล้ชิดกับความงดงามของธรรมชาติในภาคเหนืออย่างเต็มอิ่ม ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวสายหมอกที่ห้ามพลาด อาทิ จุดชมวิวหยุนไหล จ.แม่ฮ่องสอน, ภูชี้ฟ้า จ.เชียงราย, บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย, ดอยเสมอดาว จ.น่าน, ดอยหลวง จ.เชียงใหม่ และเส้นทางท่องเที่ยวสายดอกไม้ อาทิ ทุ่งดอกบัวตอง จ.แม่ฮ่องสอน, ทุ่งดอกมาร์กาเร็ต จ.ตาก และดอกไม้เมืองหนาว จ.เชียงราย ที่จะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น และเสริมความแข็งแกร่งให้กับ แบรนด์สินค้าและบริการอันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ นำสู่การผลักดันแนวโน้มการท่องเที่ยวของภาคเหนือ ประจำปี 2566 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่ภาคเหนือ 21 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 156,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริป 4,649 บาท

ทั้งนี้ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TAT Contact Center โทร. 1672 Travel Buddy และข่าวสารทางการท่องเที่ยวผ่าน Facebook Fanpage ของ ททท. สำนักงานภาคเหนือ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เทศบาลนครเชียงราย ร่วมสืบสาน “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง จุลศักราช 1386” และถนนสันโค้งคนเล่นน้ำนครเชียงราย และแห่พระเจ้าสองสีเข้าเวียง
ททท. ต้อนรับคาราวานรถยนต์ท่องเที่ยวผ่านด่านเชียงของ กระตุ้นนักท่องเที่ยวจีนครบตามเป้า 7.3 ล้านคนในปี 2567
“ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง จ.ศ. 1836 นครเชียงราย” ชวนเล่นน้ำสงกรานต์สันโค้ง ถนนคนเล่นน้ำ
งานป๋าเวณีปีใหม่เมือง ฉบับเมืองเหนือ! | ปฏิทินสงกรานต์ 2567 (เชียงราย – พะเยา)
ขอเชิญร่วม “สืบฮีต โตยฮอย น้อมปูจาพระธาตุเจ้าจอมทอง” ในงานประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง ประจำปี 2567
ชวนร่วมงานบุญครั้งใหญ่ “หนึ่งเดียวในโลก” ในงานประเพณี “เวียนเทียนทางน้ำกลางน้ำกว๊านพะเยา” 2567 ครั้งที่ 50