จังหวัดเชียงราย จัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”

วันที่15 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่ ห้องประชุมโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี นางบุษบา บุญญลักษม์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงราย เครือข่ายกลุ่มทอผ้า ประชาชน ร่วมในพิธี โดยในพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพถวายความเคารพเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย เป็นประธานมอบลายผ้าพระราชทาน“ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” แก่นายอำเภอ นายกกิ่งกาชาดอำเภอ กลุ่มทอผ้า และเครือข่าย OTOP จังหวัดเชียงราย จำนวน 18 อำเภอ ของจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอด และเพื่อขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นให้มีความทันสมัยสามารถก้าวสู่สากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยังยืน

สำหรับผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ผ่านปลัดกระทรงมหาดไทย เพื่อเป็นของขวัญให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแก่ราษฎรอันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัย โดยในลวดลายผ้าแต่ละลวดลายแฝงไปด้วยความหมายที่มีความลึกซึ้ง แสดงถึงความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ในการฟื้นฟูภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป ได้แก่

“ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงค์

“ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ” หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อปวงชนชาวไทย
“ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า” หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข

“ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ

“ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ประกวดผ้าทอผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม
ขอเชิญเที่ยวงาน สืบสานศิลป์ พื้นถิ่นชาติพันธ์ลุ่มน้ำโขง 20-22 สิงหาคม 2565
กิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้ง “ขุดลอกหนองป่าไคร้”
ผู้ว่าฯเชียงราย นำทุกภาคส่วน ร่วมประกอบพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรฯ
มหกรรมศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น งานศิลป์ ถิ่นเชียงราย.. เตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023
งาน “CHIANG RAI MONEY FAIR 2022” “งานสัปดาห์การเงิน เดินหน้าเศรษฐกิจเชียงราย 2022”