วัดกลางเวียง สืบสานประเพณีใส่ขันดอกไหว้สะดือเมืองเชียงราย

วัดกลางเวียง จ.เชียงราย สืบสานประเพณีใส่ขันดอกไหว้สะดือเมือง เสริมดวงเมือง อนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิม

วันที่ 5 พ.ค. 65 ที่อุโบสถ วัดกลางเวียง (จันทโลกราม) จ.เชียงราย พระมหาธีรวิชญ์ วชิราโภ เจ้าอาวาสวัดกลางเวียง ผศ.ดร.ศศิชา สุขกาย และอาจารย์นครินทร์ น้ำใจดี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมกันแถลงข่าว เตรียมจัด ประเพณี เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก ใส่ขันดอกสะดือเมืองเชียงราย ในระหว่างวันที่ 28 พ.ค. – 3 มิ.ย.65 ณ วัดกลางเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อฟื้นฟูประเพณีใส่ขันดอก เดือน 8 เข้าเดือน 9 ออก และเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่เมืองเชียงรายและชาวเชียงราย

พระมหาธีรวิชญ์ กล่าวว่า เมืองเชียงรายปรากฏสะดือเมือง 2 จุด คือที่วัดพระธาตุดอยจอมทอง เป็นที่ตั้งสะดือเมืองในยุคสมัยพญามังรายฯทรงสร้างเมืองเชียงราย ส่วนที่วัดกลางเวียง เป็นที่ตั้งของสะดือเมืองเชียงรายในยุคต่อมา ตามเอกสารบันทึกว่าพระสงฆ์และญาติโยมได้พากันฝังสะดือเมืองที่วัดกลางเวียงและอีก 4 มุมเมืองในวันที่ 18 มีนาคม 2417 ซึ่งภาคกลางเรียกว่า “เสาหลักเมือง” หรือ “เสาอินทขีล”แต่เชียงรายใช้คำว่า “สะดือเมือง” เนื่องจากมีความเชื่อว่า สะดือนั้นเป็นจุดกำเนิด มนุษย์เรานั้นเกิดจากสายสะดือ เพราะฉะนั้นก่อนจะเป็นบ้านเป็นเมืองต้องมีสะดือก่อน จึงตั้งมั่นฝังหลักสะดือเมืองที่วัดกลางเวียง

สะดือเมือง ซึ่งชาวเชียงรายเรียกว่า ดือเมือง มีลักษณะเหมือนลูกฟักทอง มียอดสูงขึ้นไป ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 ศอก สูง 8 ศอก มีการสร้างมณฑปครอบไว้ โดยในอดีตมีประเพณีไหว้สะดือเมืองเป็นประจำทุกปีช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ตามฤกษ์เวลาเดือนแปดเข้า เก้าออก ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกับประเพณีใส่ขันดอกเสาอินทขีล ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงรใหม่ แต่ประเพณีดังกล่าวก้ได้หยุดหายไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

มาปีนี้ ทางวัดกลางเวียง จึงร่วมกับสำนักงานวัฒนะรรมจังหวัดเชียงราย คณะวิจัยเรื่องการจัดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากย่านสร้างสรรค์ เมืองเก่าเชียงราย ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย คณะศรัทธาวัดกลางเวียง พร้อมใจกันฟื้นฟุประเพณีใส่ขันดอกขึ้นอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า ประเพณี เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก ใส่ขันดอกสะดือเมืองเชียงราย ในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ถึง ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ รวม 7 วัน ซึ่งทางวัดได้เตรียมขันดอก ที่เป็นดอกไม้ในท้องถิ่น เพื่อให้พุทธศาสนิกชน นำไปใส่ถวายพระประธานในอุโบสถ (หลวงพ่อเพชร) เสาสะดือเมือง ขวัญเมือง 32 ขวัญ พระอุโบสถและพระเจดีย์ รวม 38 ดอก(ขัน)

ด้าน ผศ.ดร.ศศิชา สุขกาย ตัวแทนคณะวิจัยเรื่องการจัดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากย่านสร้างสรรค์ เมืองเก่าเชียงราย ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า ทีมวิจัยได้เข้ามาฟื้นฟูประเพณีใส่ขันดอกไหว้สะดือเมืองเชียงราย เพื่อให้วัดกลางเวียงเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางของความเชื่อความศรัทธา เพื่อให้คนรุ่นใหม่เยาวชนรวมทั้งนักท่องเที่ยว และชุมชนที่อยู่ในเขตเมืองเก่าในจังหวัดเชียงราย ได้ตระหนักถึงทุนวัฒนธรรมที่เคยมีอยู่ ความศรัทธาตรงนี้จะย้อนกลับมาให้ทุกคนรวมกันเป็นหนึ่งใจเดียวกันในย่านเมืองเก่า เริ่มจากการไหว้สะดือเมืองก่อน

สำหรับประเพณี เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก ใส่ขันดอกสะดือเมืองเชียงราย จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 26 พ.ค. มีพิธีอัญเชิญพระอุปคุต พิธีอัญเชิญน้ำศักด์สิทธิ์จากน้ำตกขุนกรณ์ วันที่ 27 พ.ค พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสและบูรพาจารย์ วัดกลางเวียง อดีตบรรพกษัตริย์ในราชวงศ์มังราย และเจ้าผู้ครองเมืองในทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) ส่วนวันเสาร์ ที่ 28 พ.ค. ซึ่งเป็นวันไฮไลท์ของงาน มีพิธีบวงสรวงสังเวยสะดือเมืองเชียงราย พิธีเจริญพระพุทธมนต์ล้านนา และพุทธศาสนิกชนสามารถร่วมใส่ขันดอกได้ตลอดการจัดงาน ตั้งแต่เวลา 07.00 น. พร้อมชมการแสดงมหรสพทางวัฒนธรรมตลอดการจัดงาน

ที่มา : https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/2014120/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เทศบาลนครเชียงราย ร่วมสืบสาน “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง จุลศักราช 1386” และถนนสันโค้งคนเล่นน้ำนครเชียงราย และแห่พระเจ้าสองสีเข้าเวียง
ประมวลภาพกิจกรรม | ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2567
23-24 มีนาคม 2567 | งานประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2567 “2006 ปี สืบมา หกเป็งล่องฟ้าไหว้สาพระธาตุดอยตุง”
ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง “๒๐๐๖ ปี สืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง”
ขอเชิญร่วม “สืบฮีต โตยฮอย น้อมปูจาพระธาตุเจ้าจอมทอง” ในงานประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง ประจำปี 2567
ประมวลภาพ งานวัฒนธรรมสร้างบ้านแปงเวียงพญามังรายหลวง 762 ปี เมืองเชียงราย