สนามบินเชียงรายเริ่มคึกคัก! เร่งทำถนน-ศูนย์ซ่อมรับอนาคต พร้อมชงเปิดบิน ตปท.แล้ว

สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย” เริ่มกลับมาคึกคักหลังโควิด..เร่งทำถนน-พัฒนาทางเข้าออกใหม่ สร้างศูนย์ซ่อมฯ รับอนาคต พร้อมชงเปิดน่านฟ้าบินต่างประเทศแล้ว พุ่งเป้าเชื่อมเกาหลีใต้ระหว่างรอจีนเลิกนโยบาย Zero โควิด

น.ต.สมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เปิดเผยว่า ณ ขณะนี้สถานการณ์การบินที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย กลับมาดีขึ้นตามลำดับ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 มีเที่ยวบินวันละ 32 เที่ยวบิน 5 สายการบิน มีผู้โดยสารใช้บริการวันละประมาณ 3,900 คน ส่วนใหญ่เป็นการบินระหว่างเชียงราย-ดอนเมือง และเชียงราย-สุวรรณภูมิ เชียงราย-ภูเก็ต และเชียงราย-หาดใหญ่ จ.สงขลา

แต่ทั้งหมดยังคงเป็นเที่ยวบินภายในประเทศและยังไม่มีการบินระหว่างประเทศ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้พยายามผลักดันให้มีการบินระหว่างประเทศเพิ่มเติมจากเดิมที่เคยมีการบินกับประเทศจีนเป็นหลัก เนื่องจากทางการจีนยังคงยึดนโยบาย Zero โควิด-19 ก็มุ่งไปที่การบินกับประเทศเกาหลีใต้แทน ซึ่งเชื่อว่าจะมีเที่ยวบินเชียงราย-เกาหลีใต้ในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอสายการบินทั้งในและต่างประเทศบินเพิ่มขึ้น ทางท่าอากาศยานฯ ได้ถือโอกาสปรับปรุงการให้บริการภายใน โดยทางสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 17 (เชียงราย) จะปรับปรุงช่องทางออกปกติ สร้างถนนทางเข้าและออกท่าอากาศยานใหม่ ระหว่างวันที่ 16 ก.ค.-24 ก.ค. และช่างทางเข้าปกติระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-31 ก.ค.นี้ เมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จจะทำให้มีถนนสายใหม่รองรับผู้ไปใช้บริการได้เป็นอย่างดี

น.ส.สมชนกกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานทางฝั่งทิศเหนือของท่าอากาศยานบนเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565-31 ก.ค. 2566 ซึ่งขณะนี้บริษัทเชียงราย เอเวชั่น โฮลดิ้ง จำกัด กำลังปรับพื้นที่

“อนาคตที่นี่ก็จะกลายเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเชียงราย เพราะจะมีอากาศยานเข้าใช้บริการและยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมากด้วย และเป็นการยกระดับมาตรฐานของท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ให้ก้าวสู่ท่าอากาศยานสากลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดทำการบินระหว่างประเทศเต็มตัวจะทำให้มีอากาศยานรูปแบบต่างๆ บินมาใช้บริการ ซึ่งศูนย์ซ่อมดังกล่าวสามารถรองรับเครื่องบินแบบโบอิ้งหรือเครื่องบินขนาดใหญ่จากประเทศจีนได้”

ขณะเดียวกัน ท่าอากาศยานฯ ยังมุ่งพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าด้วย เพราะภูมิศาสตร์ที่ตั้งสามารถให้บริการใน จ.เชียงราย จ.พะเยา และบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ ทางด้าน อ.แม่อาย อ.ฝาง ฯลฯ เพราะมีระบบขนส่ง คลังสินค้า การรักษาความปลอดภัย ฯลฯ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ยังให้บริการขนส่งลิ้นจี่จากพะเยาไปจำหน่ายที่ภูเก็ต เป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์มาแล้ว และจะขยายผลต่อไป รวมถึงเชื่อมการขนส่งจากภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะการขนส่งทางอากาศจะเติบโตขึ้นหลังเกิดการระบาดของโรคแน่นอน

^รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2565 นี้ นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงการท่องเทียวและกีฬา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) เสนอให้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เป็นสนามบินแห่งแรกในการรับรองเที่ยวบินระหว่างประเทศ (First port of arrival) ในระบบ Thailand Pass

หลังคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย ได้มีมติเห็นชอบในการเปิดรับคนเดินทางเข้ามาผ่านท่าอากาศยานดังกล่าว เพราะเป็นสนามบินที่พร้อมและได้มาตรฐาน Covid Free Setting ของกระทรวงสาธารณสุข ผ่านการรับรองในระบบสากล Safe Corridor Initiative โดย Incheon International Airport Corporation (IIAC) ฯลฯ

ที่มา : https://mgronline.com/local/detail/9650000048679