วันนี้เวลา 13.00 น. จังหวัดเชียงรายร่วมทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

จังหวัดเชียงรายร่วมทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เวลา 12.30 น. ณ ห้องประชุมธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Cell Broadcast โดยมีนางสินีนาฏ ทองสุข นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการทดสอบครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง

การทดสอบดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ประกอบด้วย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยในลักษณะการส่งข้อความ Cell Broadcast ระดับพื้นที่ (Local Area) ครอบคลุมบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงราย และพื้นที่โดยรอบในรัศมี 2 กิโลเมตร

ทั้งนี้ การทดสอบระบบดังกล่าวได้ดำเนินการพร้อมกันในอีกสามจังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสงขลา ในเวลา 13.00 น. โดยมีนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานในการทดสอบระดับประเทศ

การทดสอบในครั้งนี้เป็นการส่งข้อความแจ้งเตือนประเภท “National Alert” จำนวน 1 ครั้ง โดยข้อความที่ส่งมีระยะเวลาแสดงผลบนหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 นาที มีเนื้อความว่า “ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM). No action required.” ซึ่งผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครือข่ายทั้งระบบ Android และ iOS ต่างได้รับข้อความพร้อมเสียงแจ้งเตือนบนอุปกรณ์ของตนอย่างพร้อมเพรียง

จากการติดตามผลการทดสอบในพื้นที่โดยรอบศาลากลางจังหวัดเชียงราย พบว่าประชาชนในชุมชนน้ำลัด รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในศาลากลาง ต่างได้รับข้อความแจ้งเตือนเช่นเดียวกัน โดยประชาชนส่วนใหญ่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการทดสอบ เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจและลดความตื่นตระหนกในประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่รัศมี 2 กิโลเมตรรอบศาลากลางจังหวัด

ระบบ Cell Broadcast (CB) คือระบบส่งข้อความแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินแบบเรียลไทม์ไปยังโทรศัพท์มือถือในพื้นที่เสี่ยง โดยไม่จำเป็นต้องทราบหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้งาน แตกต่างจาก SMS ซึ่งต้องส่งแบบเฉพาะรายและใช้เวลานานกว่า จึงเหมาะสำหรับเหตุการณ์ที่ต้องการการแจ้งเตือนอย่างรวดเร็ว เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือพายุ โดยระบบจะทำงานแบบอัตโนมัติ รวดเร็ว และเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายที่มีความปลอดภัยสูง นอกจากการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวแล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้กับภัยพิบัติรูปแบบอื่น ๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย โรคระบาด หรือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ผลการทดสอบ cell broadcast ขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ทั้งศาลากลางจังหวัดเชียงราย สุพรรณบุรี อุบลราชธานี สงขลา และ อาคารศูนย์ราชการอาคาร A และ B ผลเป็นที่น่าพอใจทั้ง 3 ค่ายมือถือ ทั้ง AIS NT และ ทรู โดยใช้เวลาในการดำเนินการส่งไม่ถึง 1 นาที อย่างไรก็ตามในการทดสอบครั้งนี้เป็นการจำลองเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งขั้นตอนต่างๆถือว่าทำได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามจะมีการทดสอบอีก 2 ครั้งในพื้นที่ขนาดกลางและใหญ่ พร้อมจะได้นำปัญหา ข้อเสนอแนะ ไปปรับใช้ต่อไป

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ภาพ/ข่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อธิบดี ปภ. ลงพื้นที่แม่สาย ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เร่งขุดลอกแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ก่อนฤดูฝน
ปภ.ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast 3 ระดับ
ภาครัฐ-เอกชน-ชุมชน ร่วมมือยกระดับการเตือนภัยน้ำหลากแม่น้ำกก ที่ จ.เชียงราย
จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมตรวจความพร้อมกำลังพลและเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการป้องกัน แก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินถล่ม ประจำปี พ.ศ.2565
แจ้งเตือนภัย พายุฤดูร้อน บริเวณประเทศไทยตอนบน ระหว่าง 28 เม.ย -2 พ.ค 65
ปภ.เชียงราย แจ้งเตือนสภาพอากาศแปรปรวน 18-20 กพ.65 ขอให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง
เชียงรายโฟกัสดอทคอม  สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
นโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อให้เราสามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดแก่คุณได้ ข้อมูลคุกกี้จะถูกเก็บไว้ในเบราว์เซอร์ของคุณและทำหน้าที่ต่างๆ เช่น การจดจำคุณเมื่อคุณกลับมาที่เว็บไซต์ของเรา และช่วยให้ทีมงานของเราเข้าใจว่าส่วนใดของเว็บไซต์ที่คุณพบว่าน่าสนใจและมีประโยชน์มากที่สุด