จังหวัดเชียงราย ร่วมทำ MOU กับ 57 องค์กร เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความยั่งยืน พร้อมที่จะสร้างจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศ

มหกรรม chiangrai EF Symposium 2024

วันที่ 9 มีนาคม 2567 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย นายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานมหกรรม chiangrai EF Symposium 2024 “สร้างบ้านแปลงเมือง ด้วยการสร้างเด็ก” พร้อมร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงรายกว่า 57 องค์กร เพื่อยืนยันการร่วมมือขับเคลื่อนจังหวัดเชียงราย จังหวัดต้นแบบบูรณาการส่งเสริม EF และผลักดันแผนปฎิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กประถมวัยจังหวัดเชียงรายอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย หน่วยงานด้านสาธารณสุข การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงรายกว่า 50 องค์กร นักศึกษาและประชาชน เข้าร่วมอย่างคับคั่ง

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานและดูแลฝ่ายบริหารกิจกรรม เพื่อสังคมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าได้ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุภาวะเด็กและเยาวชนที่จังหวัดเชียงรายมาตั้งแต่ปี 2563 และทำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นปีที่ 5 โดยนำแนวคิดการทักษะสมอง มาถ่ายทอดให้แก่บุคลากรเครือข่ายสาธารณสุขครูประถมวัยและผู้ปกครอง โดยได้ทยอยทำมาอย่างต่อเนื่องจนครบทุกอำเภอของจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีอำเภอพญาเม็งรายเป็นต้นแบบของความสำเร็จ พร้อมกล่าวต่อไปว่าจากการติดตามผลการดำเนินงานพบว่าการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการเลี้ยงดูเด็ก ส่งผลให้เด็กประถมวัยกว่าร้อยละ 70 มีทักษะสมอง EF ในระดับดีถึงดีมาก โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่า เด็กมีการเปลี่ยนแปลงไปในพฤติกรรมที่ดีขึ้น เช่น เด็กเลิกติดโทรศัพท์มือถือ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากเดิมที่ค่อนข้างก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ กลายเป็นเด็กที่สนใจหนังสือนิทาน เล่นกับเพื่อนได้และเข้าสังคมได้เป็นปกติ

นายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงรายกล่าวว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับพรมแดนที่มีความเสี่ยงด้านยาเสพติดประกอบกับสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ปกครองต้องออกจากบ้าน เพื่อไปทำงานส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ผิด แต่หลังจากที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้ามาขยายผลโครงการดังกล่าว โดยใช้ต้นแบบ EF จากอำเภอพญาเม็งรายที่ได้ขับเคลื่อนในพื้นที่ส่งผลให้เด็กประถมวัย มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมีค่า EF สูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศถึง 20% อีกทั้งยังมีหน่วยงานด้านสาธารณสุข หน่วยงานด้านการศึกษาประถมวัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการในแต่ละอำเภอ ที่ร่วมมือกันมาบูรณาการส่งผลให้จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศไทยอีกด้วย

หลังจากนั้นนายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงรายได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงรายกว่า 57 องค์กรเพื่อยืนยันการร่วมมือขับเคลื่อนจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบบูรณาการส่งเสริม EF และผลักดันแผนปฎิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมองอีเอฟเด็กประถมวัยจังหวัดเชียงรายอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ภายในงานยังมีเวทีเสวนาของทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ท้องถิ่น การศึกษา สาธารณสุข ซึ่งเป็นเวทีที่ให้ความรู้ภายใต้หัวข้อ“นำพาเด็กเชียงรายรอดและเป็นพลเมืองคุณภาพ” รวมถึงมีบูธกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้และร่วมเล่นเกมส์ จาก 18 อำเภอ โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับพาสปอร์ตร่วมเรียนรู้ พร้อมตราประทับที่บูธ เมื่อทำครบกิจกรรมจะได้รับประกาศนียบัตรเมื่อจบงาน

มหกรรม chiangrai EF Symposium 2024

ทั้งนี้เด็กประถมวัยของจังหวัดเชียงรายที่มีอายุระหว่าง 0-6 ปี มีจำนวน 57,853 คน คิดเป็นร้อยละ 46.3 ของเด็กและเยาวชนทั้งหมดของจังหวัดเชียงราย ในปัจจุบันมีเด็กประถมวัยที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนกว่า 35,377 คน และมีบุคลากรด้านสาธารณสุข ครูประถมวัย ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนเข้าร่วมโครงการ 39,171 ราย และยังมีกลุ่มบุคลากร ที่มีความรู้เรื่อง EF หรือ EF Facilitator กว่า 270 คน ที่ร่วมกันเผยแพร่ส่งต่อองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่กว้างขึ้นนอกจากนี้จังหวัดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาและส่งเสริมทักษะสมองจังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินงานเชิงลึก และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งและต่อเนื่องต่อไป

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ภาพ/ข่าว