ภาพบรรยากาศงาน “กว่าง” ยอดนักสู้แห่งล้านนา ประจำปี 2566

เชียงราย เปิดงาน “กว่าง” ยอดนักสู้แห่งล้านนา สืบสานอัตลักษณ์ประเพณีชาวล้านนา ต่อยอดการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

วันศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2566 ที่ป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐเพื่อความสุขของคนไทย สวนรุกขชาติโป่งสลี ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย นายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย เป็นประธานเปิดงาน “กว่าง” ยอดนักสู้แห่งล้านนา Chiang Rai Beetles Festival 2023 กิจกรรมการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีศิลปะวิถีชีวิตล้านนาอย่างสร้างสรรค์ ตามโครงการพัฒนากิจกรรมและการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยมี นายกวี ประสมพล ประธานคณะกรรมการจัดงาน พร้อมด้วยนางสาวนัทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

สำหรับการจัดงาน “กว่าง” ยอดนักสู้แห่งล้านนา Chiang Rai Beetles Festival 2023 ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานอัตลักษณ์ ประเพณีของชาวล้านนาให้คงอยู่ รวมถึงสามารถต่อยอดนำไปสู่การสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนจังหวัดเชียงรายได้เข้ามาใช้บริการโครงการป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐฯ เพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้แก่ประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างรายได้จากการท่องท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นแก่ประชาชนและจังหวัดเชียงราย โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 กันยายน 2566

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับด้วงกว่าง ศิลปะการชนกว่าง การแสดงภาพวาดกว่างที่ได้รับรางวัล รวมถึงการจำหน่ายสินค้าจากด้วงกว่างในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนนิทรรศการของหน่วยงานราชการ การประกวดการแข่งขันเกี่ยวกับด้วงกว่าง อาทิ การประกวดกว่างชนสง่างาม การประกวดกว่างแปลก การประกวดกว่างกิเล็ก การประกวดกว่างไทยตัวผู้ใหญ่ยักษ์ การประกวดกว่างแม่พันธุ์ใหญ่ การประกวดวาดภาพกว่าง การแข่งขันวิ่งกว่าง และการแข่งขันกว่างชนลีลาเด็ด พร้อมกันนี้ ในพิธีได้มีการมอบรางวัลการประกวดภาพวาดระบายสี ในหัวข้อ “กว่าง กับวิถีชีวิตแห่งล้านนา” แก่ผู้ที่ได้รับรางวัล ทั้ง 6 ประเภท รวมจำนวน 32 รางวัล ซึ่งได้ ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ พร้อมด้วยนายกสุวิทย์ ใจป้อม และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมขัวศิลปะ ร่วมตัดสินผลงาน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีผลงานที่ส่งเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 541 ชิ้นงาน ตามประเภทการประกวด 6 ประเภท ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรืออาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และระดับประชาชนทั่วไป

สำหรับการเลี้ยงกว่าง และการชนกว่าง เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวล้านนา ที่นิยมเล่นกันเป็นเวลานาน ได้สืบทอดกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ในอดีตการเล่นชนกว่างของชาวล้านนา นิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และมีให้เล่นกันเฉพาะในฤดูฝน คือช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม พอออกพรรษาแล้วก็ค่อย ๆ ปล่อยไป หรือเริ่มตายตามวัฏจักร

แต่ปัจจุบันได้มีกลุ่มที่ชื่นชอบการเพาะเลี้ยงด้วงกว่างได้พัฒนาองค์ความรู้ในการเพาะพันธุ์ด้วงกว่างจนสามารถทำให้มีด้วงกว่างออกมาได้ตลอดทั้งปี และมีการต่อยอดนำไปสู่การสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจได้หลากหลาย ทั้งด้านการเพาะเลี้ยงปรับปรุงสายพันธุ์ เกมก็ฬา ของที่ระลึก ศิลปะ อุปกรณ์การเลี้ยงด้วงกว่าง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีศิลปะวิถีชีวิตในท้องถิ่น โดยมุ่งรักษาอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมนี้ให้คงอยู่สืบไป รวมถึงการต่อยอดเพื่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับด้วงกว่างให้กับประชาชนชาวจังหวัดเชียงรายและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอีกด้วย

ข่าว/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย