ท่องเมืองเก่าเชียงราย รู้จักผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ผ่านความเชื่อและอาหารในสำรับ – The Cloud

– ย่านเมืองเก่าเชียงราย –

เรื่อง นครินทร์ น้ำใจดี , ภาพ นครินทร์ น้ำใจดี , พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

เชียงราย หลายรส ลัดเลาะย่าน เปิดครัวชาติพันธุ์ รู้จักคน-ตัวเมืองเก่าในเชียงราย จังหวัดเหนือสุดแดนสยาม บ้านของผู้คนหลากเชื้อชาติศาสนา

‘ย่านเมืองเก่าเชียงราย’ กำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงรายโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อ พ.ศ. 2557 โดยตัวเมืองตั้งอยู่ตลอดแนวของถนน 4 เส้นหลักของเมือง ได้แก่ ถนนธนาลัย ถนนอุตรกิจ ถนนสิงหไคล และถนนบรรพปราการ มีพื้นที่ 1.27 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะทางกายภาพของเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นย่านการค้าที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้เหลืออาคารเก่าไม่มาก หน้าตาเมืองเก่าเชียงรายจึงแตกต่างจากเมืองเก่าทั่วไปที่ทุกคนรู้จัก 

แม้เมืองจะเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ แต่หลังอาคารพาณิชย์สมัยใหม่นั้นยังมีย่านชุมชนชาติพันธุ์เก่าซ่อนตัว ให้เราได้เดินลัดเลาะ เที่ยว กิน รู้จักผู้คนในย่านเมืองเก่าเชียงราย รู้จักหน้าตาคนเชียงรายว่าเป็นอย่างไร

ไทเขิน คนเมือง (ไทยวน) กลุ่มคนบุกเบิกในยุคฟื้นฟูเมือง

คนเมือง ไทเขิน เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการฟื้นฟูเมืองเชียงรายหลังพม่าปกครองล้านนา ตรงกับยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2386 คนเมือง (ไทยวน) และไทเขิน ถือเป็นชนกลุ่มแรก ๆ ของประชากรในเขตเมืองเก่าเชียงราย มีชุมชนเกาะลอย ชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ชุมชนหนองสี่แจ่ง เป็นชุมชนดั้งเดิม

ท่องเมืองเก่าเชียงราย รู้จักผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ผ่านความเชื่อและอาหารในสำรับ

วัดพระสิงห์ เชียงราย วัดพระแก้ว วัดศรีบุญเรือง เป็นศรัทธาหลักของคนกลุ่มนี้ ส่วนวัดกลางเวียง (จั๋นต๊ะโลก) อันเป็นที่ตั้งของเสาสะดือเมืองเชียงราย (เสาหลักเมืองเชียงราย) นั้น มีรูปแบบของการบูชาสะดือเมืองด้วยการใส่ขันดอกในช่วงเดือน 9 ล้านนาแบบเมืองเชียงใหม่ ประเพณีนี้เคยหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนเกิดการฟื้นฟูประเพณีเต็มรูปแบบหลังจากสถานการณ์โควิดทุเลาลงใน พ.ศ. 2565 เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้เมืองและคน

ท่องเมืองเก่าเชียงราย รู้จักผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ผ่านความเชื่อและอาหารในสำรับ

นอกจากนั้น ภายในวัดพบพระพุทธรูปศิลปะไทเขิน ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารวัดกลางเวียง เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยยืนยันการคงอยู่ของชาวไทเขินในเมืองเชียงรายในฐานะประชากรหลักของเมือง ที่หลายคนแทบหลงลืมไปแล้ว

ย่านจีนยูนนาน การอยู่ร่วมกันกับชุมชนจีน 4 สำเนียงภาษา ในย่านกาดหลวงเชียงราย

เสียงประกาศจากหออะซานของมัสยิดดารุลอามานหรือมัสยิดกลาง “อัลลอฮฺอักบัร อัลลอฮฺอักบัร” ดังเพื่อให้ทราบว่าเข้าสู่เวลาละหมาด

ท่องเมืองเก่าเชียงราย รู้จักผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ผ่านความเชื่อและอาหารในสำรับ

มัสยิดแห่งนี้ถือเป็นมัสยิดมีรูปแบบศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะเปอร์เซียและจีน ตั้งอยู่กลางเมือง ในพื้นที่ย่านการค้าระหว่างถนนธนาลัยและถนนบรรพปราการ ใกล้กับตลาดสดเทศบาลนครเชียงรายหรือกาดหลวง เรียกบริเวณนี้ว่า ‘กองวัดแขก’ เป็นชุมชนจีนยูนนานที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองเชียงราย 

ในละแวกนี้ ‘เจนตระกูล’ ถือเป็นตระกูลเก่าแก่สำคัญของชุมชน เป็นหนึ่งในทายาทของ ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ (เจิ้ง ชงหลิ่ง) ชาวมุสลิมจีนยูนนานผู้นำการสร้างสุเหร่าอิสลามเชียงใหม่ ปัจจุบันรู้จักในชื่อ ‘มัสยิดบ้านฮ่อ’ มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองเชียงใหม่

ท่องเมืองเก่าเชียงราย รู้จักผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ผ่านความเชื่อและอาหารในสำรับ

การตั้งของมัสยิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของชาวจีนยูนนานต่อการเป็นพ่อค้าผ่านทางกองคาราวานทางไกล ม้าต่าง และวัวต่าง เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคแรกของภาคเหนือ มัสยิดแห่งนี้ถือเป็นศูนย์รวมใจของชาวมุสลิมในเมืองเชียงราย ทำหน้าที่ประสานความสัมพันธ์ของกลุ่มชาวมุสลิมดั้งเดิมและผู้ที่เข้ามาอาศัยใหม่ คือกลุ่มชาวปากีสถาน หรือ ‘ปาทาน’ ที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ปุกตุน’ คนกลุ่มนี้อพยพมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จากทางภาคเหนือของประเทศปากีสถาน เมืองบัตตากราม (Battagram) เดินทางผ่านประเทศอินเดีย บังกลาเทศ จีน พม่า ใช้วิธีการเดินเท้าต่อเข้ามายังชายแดนของประเทศไทย แล้วตั้งชุมชนในเมืองเชียงราย

** อ่านเรื่องราวทั้งหมดต่อใน The Cloud https://readthecloud.co/chiang-rai-old-town/

– ลัดเลาะย่านเมืองเก่าในเชียงราย จังหวัดเหนือสุดแดนสยาม บ้านของผู้คนหลากเชื้อชาติศาสนา –

เรื่องที่เกี่ยวข้อง