เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 26 เมษายน 2024, 11:16:25
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  คนเชียงราย สังคมเชียงราย (ผู้ดูแล: bm farm, [ตา-รา-บาว], zombie01, ۰•ฮักแม่จัน©®, ⒷⒼ*, ตาต้อม, nuifish, NOtis)
| | |-+  ว่าด้วยผ้าเยียรบับ และผ้าสุจหนี่ การนำมาใช้กับกาลเทศะ และบังควรหรือไม่
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน ว่าด้วยผ้าเยียรบับ และผ้าสุจหนี่ การนำมาใช้กับกาลเทศะ และบังควรหรือไม่  (อ่าน 6012 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 30 ตุลาคม 2016, 20:56:36 »

ว่าด้วยเรื่อง #ผ้าเยียรบับ และ #ผ้าสุจหนี่
ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวเนื้อหาของการใช้ผ้าทั้งสองประเภทนี้ กระผมขอออกตัวก่อนนะครับว่า กระผมเองก็หาใช่เป็นพหูสูตที่รู้ไปหมดทุกเรื่อง บางครั้งบางทีหากตกหล่นไป หรือมีผู้รู้จะมาให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมก็ยินดีนะครับ ช่วยกันทำในสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง เพราะก่อนหน้านี้ผมก็เป็นคนที่ไม่รู้ พูดง่ายๆ ก็คือ โง่มาก่อนเหมือนกัน ไม่รู้จักธรรมเนียม ข้อปฏิบัติของราชสำนัก อยากทำอะไรก็ทำ เห็นเขาทำแล้วสวยก็อยากทำ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่ทำไม่บังควรอย่างยิ่ง จนกระทั่งได้มาทำงาน เตรียมการรับเสด็จเจ้านาย พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ได้รับองค์ความรู้มากมายจากกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง พอมาถึงตอนนี้เห็นอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรก็อยากจะนำมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง เพราะไม่มีเวทีที่จะให้ไปพูดหรือไปเล่า ก็ขอเอาพื้นที่บนเฟสบุกของตัวเองเป็นสื่อก็แล้วกันนะครับ
หากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ตลอดจนผู้ที่เคารพนับถือเห็นว่าสิ่งที่กระผมเขียน เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ #ก็ได้โปรดช่วยกันเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานต่อๆ กันไปด้วยนะครับ มาเข้ารายละเอียดกันเลยนะครับ #และเพื่อให้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจได้ง่าย ท่านโปรดคลิกไปที่ภาพแต่ละภาพ และไปดูคำอธิบายเพิ่มเติมที่ผมอธิบายไว้ในแต่ละภาพด้วยนะครับ
#ผ้าเยียรบับและผ้าสุจหนี่ นั้นเป็นผ้าซึ่งทอด้วยทองแล่งกับไหมแต่มีไหมน้อยกว่า ซึ่งผ้าชนิดนี้ในราชสำนักสมัยโบราณนิยมนำมาตัดเย็บฉลองพระองค์ รวมทั้งเครื่องแต่งกายของเจ้านาย และชนชั้นสูงในราชสำนักด้วย (สามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ)
ผ้าทั้งสองชนิดนี้มีวิธีการทอเหมือนกัน หรือเป็นผ้าชนิดเดียวกัน แต่ความแตกต่างอยู่ที่
#ผ้าเยียรบับจะมีชายครุยเย็บโดยรอบ ใช้สำหรับปูโต๊ะเคียง คลุมพระราชอาสน์ คลุมพระแท่น หรือบางทีใช้ในการคลุมพระโกศ(ดังเช่นในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ)
#ส่วนผ้าสุจหนี่นั้นที่ขอบไม่มีชายครุยระบาย ใช้สำหรับปูพระที่ เพื่อทอดพระราชอาสน์ พระเก้าอี้ หรือพระแท่นทรงกราบ หรือที่เจ้าพนักงานชาวที่นำมาปูลาดสำหรับที่ประทับยืน ในการทรงประกอบพิธีต่างๆ ซึ่งต่อไปนี้กระผมจะเรียกว่า “พระสุจหนี่” ตามกองพระราชพิธีนะครับ
พระสุจหนี่นั้น ตามธรรมเนียมหลวงแล้ว จะสงวนใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชินี และผู้ที่ได้รับพระราชทานพระสัปตปฎลเศวตฉัตร(ฉัตรเจ็ดชั้น) สำหรับประกอบพระอิสริยยศ ประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ ที่ยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระยุพราช
ซึ่งหากพิจารณาตามนี้แล้ว ผู้ที่สามารถใช้พระสุจหนี่ได้ในปัจจุบัน ไม่นับรวมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ได้แก่ สมเด็จเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพียง 3 พระองค์เท่านั้น ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ และพระอนุวงศ์ลงมา ไม่ลาดพระที่ด้วยพระสุจหนี่ แต่จะใช้เพียงพรมแดงเท่านั้น(เข้าไปดูภาพประกอบนะครับ) ทั้งนี้รวมไปถึงโต๊ะเคียงข้างพระเก้าอี้ก็ไม่ปูลาดด้วยผ้าเยียรบับ แต่จะใช้ผ้าตาดสีทองหรือสีเงินแทน (ดูภาพประกอบ)
นอกจากนี้ ในการปูลาดพระที่เพื่อทอดพระราชอาสน์นั้น พระราชอาสน์ที่ทอดบนพระสุจหนี่ก็จะเป็นพระราชอาสน์ (พนักพิงด้านหลังสูงมียอดแบบเก้าอี้หลุยส์) ส่วนการทอดพระเก้าอี้เหลืองจักรี (มีพนักพิงเรียบธรรมดา) ไม่ทอดไว้บนพระสุจหนี่ แต่ทอดบนพรมแดงแทน
จากประสบการณ์ที่กระผมได้ปฏิบัติงานร่วมกับกองพระราชพิธี มากว่า 13 ปี ที่เตรียมสถานที่ถวายการรับเสด็จฯ ไม่ว่าจะเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ เททอง เปิดพระราชานุสาวรีย์ เปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หรือเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ นับเนื่องตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัตดามาตุ ตลอดจนพระเจ้าหลายเธออีกหลายพระองค์ ได้เรียนรู้ธรรมเนียมในราชสำนักหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างที่ถือปฏิบัติกันมานั้น กระผมคิดว่าเป็นสิ่งที่งดงาม และเป็นสิ่งที่เราเทิดทูลไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คนทั่วไปอาจจะไม่สังเกต มองข้าม หรือไม่ได้ให้ความสนใจอะไร อาทิ การที่จะเดินผ่านพระราชอาสน์ที่ทอดอยู่บนพระสุจหนี่และมีผ้าเยียรบับคลุมไว้ เราต้องถวายคำนับทุกครั้ง ซึ่งธรรมเนียมนี้หากท่านใดที่เคยขึ้นไปร่วมพระพิธีธรรมบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมาแล้ว ล้วนเคยปฏิบัติมาแล้ว (ซึ่งกระผมเคยไปครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์สิ้นพระชนม์) หรือหากท่านดูข่าวในพระราชสำนัก ให้สังเกตขณะที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชดำเนินผ่านพระราชอาสน์ดังที่กล่าวมา จะเห็นพระองค์ท่านถวายคำนับทุกครั้ง ประหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถประทับอยู่ ณ ที่นั่น
กระผมสังเกตเห็นในงานพระราชพิธี ในการที่จะเคลื่อนย้ายพระราชอาสน์ พระเก้าอี้แต่ละครั้ง เจ้าพนักงาน (วรอาสน์) ยังคงต้องถวายบังคมทุกครั้ง ถือเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุด ซึ่งนี่เป็นประเพณีของไทยเรา
ทีนี้มาถึงเรื่องใกล้ตัว ที่เรามักเรียนแบบธรรมเนียมราชสำนักมาใช้ ซึ่งหลายครั้งที่กระผมเห็นแล้วก็ตกใจเหมือนกัน แต่ด้วยที่เราไม่สามารถที่จะพูดหรือไปตำหนิติเตียนท่านเหล่านั้นได้ ก็ได้แต่ทำใจ และบอกเล่ากันฟัง สำหรับท่านที่สนใจแทน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจริงกับการที่พระสงฆ์บางวัด ที่ผันตัวเองมาเป็นออแกไนซ์ อันมิใช่กิจของสงฆ์(มั้งครับ) ชอบที่จะใช้ผ้าแบบนี้เสมอด้วยพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งกระผมเห็นมาหลายที่แล้ว บางรูปท่านก็ทำเพื่อที่ใช้เองบ้างเอาไว้รับรองแขกบ้าง (ดูในรูปประกอบได้ครับ) ทั้งนี้รวมไปถึงผู้จัด ออแกไนซ์ ร้านชุดเช่าผ้าเช่าทั้งหลายด้วย ที่มักนิยมซื้อหาผ้าเช่นว่านี้มาประดับตกแต่งในการรับจัดงานต่างๆ ซึ่งเป็นค่านิยมเรียบแบบกันมา เข้าใจว่าเห็นที่หนึ่งทำแล้วเราต้องทำให้ดีกว่า น้อยหน้าไม่ได้ และผ้าเหล่านี้ปัจจุบันมีการเรียบแบบและผลิตออกมาจำหน่ายมากแถวพาหุรัด หรือตลาดผ้าใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด
ในโลกเสรีเช่นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมประเพณีในพระราชสำนัก คงจะไม่ทราบและไม่ได้สังเกตเห็นความสำคัญของธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งอาจเห็นว่าเป็นเพียงผ้าผืนหนึ่ง ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย เห็นราชสำนักปูแล้วก็ดูขลัง ดูสวยดี และดูเป็นงานเป็นการดี คงจะคิดเพียงเท่านี้ ด้วยความไม่รู้ไม่ทราบ รวมถึงผู้ที่นำไปตัดเย็บใช้ด้วยเพราะไม่ทราบความสำคัญ และเมื่อจัดสถานที่แล้ว บางทีผู้ใหญ่ของหน่วยงานท่านก็ไม่ทราบ ประธานในพิธีท่านก็ไม่รู้ พระสงฆ์พระเถระผู้ใหญ่ท่านก็ไม่ได้จัดเอง มีคนจัดเตรียมให้ท่านนั่งท่านก็นั่ง จึงเข้าข่ายที่ว่า #ลูกน้องฆ่านาย #ขายหน้าเจ้าภาพ
แต่มีบางวัด (ท่านไปหาดูเอาเองตามเว็ปไซต์ต่างๆ หรือสังเกตเอาเองก็ได้) ได้นำเอาผ้าเหล่านี้มาตัดเย็บเพื่อใช้เอง เอามาปูรองนั่งบ้างอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการตีตัวเสมอเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน อันนี้มิบังควรอย่างยิ่ง และเมื่อมาถึงตรงนี้ที่กระผมอธิบายมา ท่านทั้งหลายคงเข้าใจแล้วใช่หรือไม่ว่า อะไรที่เรียกว่า #เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อะไรที่เรียบว่า #บังควรหรือไม่บังควร อะไรที่เรียบกว่า #กาลเทศะ เมื่อท่านทราบแล้ว หากต่อไปท่านจัดงานจัดสถานที่ ที่ต้องจ้างร้านหรือออแกไนซ์มาจัด หากเขานำผ้าเหล่านี้มาปูให้ ท่านก็ปฏิเสธได้ที่จะไม่เอา และขอให้ใช้ผ้าขาวปูลาดแทนได้ หรือหากท่านใดที่ท่านรับจัดงานอยู่แล้ว แล้วได้เข้ามาอ่านบทความนี้ ท่านลองพิจารณาความเหมาะสมดูนะครับ กระผมมิอาจที่จะไปตำหนิหรือชี้ว่าทำถูกหรือผิด ถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพราะกระผมก็เคยปฏิบัติผิดมาแล้ว เมื่อรู้ว่าผิดก็ต้องปรับแก้ให้ถูกต้องเหมาะสม และอยากให้ทุกท่านได้ช่วยกันรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติไว้
หลายท่านอาจจะมีความเห็นแย้งว่าปัจจุบันเป็นยุคประชาธิปไตย และโลกเสรี อีกทั้งไม่มีกฎหมายห้ามการใช้ผ้าเขียนเอาไว้ และเป็นสิทธิ์ของท่าน แต่อย่าลืมว่าถึงแม้กฎหมายไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจารีตประเพณี เป็นขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมายาวนาน และอย่าลืมว่า ตามหลักกฎหมายของไทยเรา จะพบว่ากฎหมายไทยปรากฏตัวอยู่ทั้งในรูปกฎหมายลายลักษณ์อักษร และในรูปจารีตประเพณี
1. กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรได้แก่ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และ กฎกระทรวงเป็นต้น
2. กฎหมายจารีตประเพณี ซึ่งใช้บังคับเสมอเป็นกฎหมายมาแต่บุรพกาล จารีตประเพณีจะใช้ได้ในเมื่อไม่อาจหากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาใช้แก่กรณีนั้น ๆ แล้ว ฉะนั้น ในกรณีที่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้วจะไม่ใช้จารีตประเพณีเป็นอันขาด
ที่กล่าวมานี้ นักกฎหมายทั้งหลายท่านทราบกันดีอยู่แล้ว ถึงแม้เรื่องดังกล่าวไม่ได้เขียนเป็นกฎหมายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เราก็มีธรรมเนียม มีจารีตประเพณีที่ดีงามมาแต่โบราณกาล กระผมคิดว่าคนไทยไม่น้อย ที่คิดเหมือนกัน และอยากธำรงรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้คู่สถาบันต่อไป
#ขอบคุณทุกท่านที่เสียสละเวลาอ่านมาตั้งแต่ต้น และหากเห็นว่าสิ่งนี้ดี โปรดช่วยกันบอกต่อๆ ด้วยนะครับ ขอบพระคุณมากครับ
ผู้เขียน : พนมกร นันติ


* CfQIijTWsAAudC-.jpg (58.67 KB, 600x399 - ดู 6092 ครั้ง.)

* DSC_9045.JPG (106.66 KB, 600x403 - ดู 4481 ครั้ง.)

* CIMG1913.JPG (104.6 KB, 600x450 - ดู 4453 ครั้ง.)

* K6729378-0.jpg (43.94 KB, 450x281 - ดู 4518 ครั้ง.)

* K6729378-5.jpg (77.4 KB, 550x365 - ดู 4051 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 03 พฤศจิกายน 2016, 11:14:02 โดย maekok_14 » IP : บันทึกการเข้า
Number9
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 7,759



« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 30 ตุลาคม 2016, 21:17:08 »


เป็นกระทู้ที่มีประโยชน์มาก...ขอบคุณเจ้า

IP : บันทึกการเข้า
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 30 ตุลาคม 2016, 21:50:16 »


เป็นกระทู้ที่มีประโยชน์มาก...ขอบคุณเจ้า



ยินดีครับ อยากแชร์องค์ความรู้และประสบการณื และอยากให้คนที่ปฏิบัติผิดๆ ลองหาวิธีการปรับแก้ดูครับ เพื่อความเหมาะสมตามกาลเทศะครับ
IP : บันทึกการเข้า
jesa
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,151



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 31 ตุลาคม 2016, 07:09:14 »

ติดตามอ่าน ไม่ผิดหวังเลย...
IP : บันทึกการเข้า

maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 31 ตุลาคม 2016, 09:02:18 »

ติดตามอ่าน ไม่ผิดหวังเลย...

ขอบคุณมากครับ แล้วจะนำเรื่องราวดีๆ จากประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!