เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 10 พฤษภาคม 2024, 18:41:58
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ตลาดกลางซื้อขายสินค้าออนไลน์
| |-+  พระเครื่อง-วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ความเชื่อ ลี้ลับ (ผู้ดูแล: NOtis, micky13)
| | |-+  หลวงปู่ทวดพิมพ์เล็ก
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน หลวงปู่ทวดพิมพ์เล็ก  (อ่าน 4377 ครั้ง)
ทัพพสาร
เตรียมอนุบาล
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 7


« เมื่อ: วันที่ 22 ตุลาคม 2014, 16:26:37 »

ประวัติการสร้างพระหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุด

พระหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุด เป็นพระเนื้อว่าน มีขนาดเล็กกะทัดรัด ความสูงประมาณ 2.00 ซม. และกว้างประมาณ 1.10 ซม. รูปทรงเหมือนพระหลวงปู่ทวดพิมพ์เล็กปี 2497 แต่เศียรของหลวงปู่จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่เท่ากับองค์พระคล้ายเหรียญปี 2500 และใบหน้าไม่ชัดเจนนั่งอยู่บนฐานบัว 5 กลีบ เป็นพระเนื้อว่านผสมผง มวลสารจะหยาบกว่าพระพิมพ์หลวงปู่ทวดปี 2497 ทั่วไป แต่จะเหมือนกับมวลสารเนื้อพระหลวงปู่ทวดพิมพ์ต้อเล็กพิมพ์หนึ่งของพระปี 2497

พระพิมพ์นี้ พระอาจารย์มหาสมชัย กัมโล พระอาจารย์สอนปริยัติธรรม วัดช้างให้ ได้บอกเล่าให้ฟังเมื่อเดือนธันวาคม 2545 ว่า เป็นพระพิมพ์เล็กที่พระอาจารย์ทิม และพระอาจารย์นอง ได้ร่วมกันสร้างและทำพิมพ์ขึ้นมา โดยตั้งใจจะให้พิมพ์นี้ เป็นพิมพ์ที่เล็กกว่าพระพิมพ์เล็กปี 2497 ของวัดช้างให้ ใช้มวลสารและผงเช่นเดียวกับการสร้างพระปี 2497 เป็นหลัก และนำผงว่าน 108 ที่พระอาจารย์นองรวบรวมไว้มาเป็นส่วนผสม ในการกดพิมพ์สร้างพระชุดนี้ พระอาจารย์ทิมได้ให้ฝังตะกรุดเงินและทองแดงดอกเล็กๆ ไว้ที่ส่วนก้นของพระพิมพ์นี้ด้วยเพื่อให้แตกต่างจากพระพิมพ์เล็กของปี 2497

หลังจากการกดพิมพ์และปลุกเสกแล้ว พระอาจารย์ทิมได้เก็บพระไว้เองส่วนหนึ่งและได้แบ่งให้พระอาจารย์นองไว้แจกจ่ายแก่ญาติโยมที่มาร่วมทำบุญที่วัดทรายขาวส่วนหนึ่งจำนวนที่สร้างพระชุดนี้มีไม่มาก และมีผู้อยู่ทางสงขลาและหาดใหญ่ ที่มาทำบุญได้รับแจกจ่ายจากพระอาจารย์นองด้วย และมีผู้เคยได้รับพระพิมพ์นี้จากพระอาจารย์ทิมก็มี สำหรับปี พ.ศ. ที่สร้าง พระอาจารย์ทิมและพระอาจารย์นอง ได้สร้างพระชุดนี้เมื่อใดพระอาจารย์มหาสมชัยไม่สามารถยืนยันได้

ที่น่าสนใจคือได้ปรากฏว่าพระพิมพ์นี้มีผู้ได้รับจากพระครูสมุห์อำพล อดีตเจ้าอาวาส วัดปราสาทบุญญาวาส สามเสน กรุงเทพฯด้วย จึงสันนิษฐานว่าพระครูสมุห์อำพลคงจะได้รับจากพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ในคราวที่พระอาจารย์ทิมมาร่วมสร้างพระพิมพ์หลวงปู่ทวดที่วัดปราสาทบุญญาวาส ในระหว่างปี 2502-2506 นั่นเอง

รายละเอียดการวิเคราะห์ว่าพระเครื่องหลวงปู่ทวด
พิมพ์พระรอดเล็ก ฝังตะกรุด ใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด

ข้อสันนิษฐานว่าใครเป็นผู้สร้างพระเครื่องพิมพ์นี้

พระหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุด ซึ่งได้มาจากพระครูสมุห์อำพล อดีตเจ้าอาวาสวัดประสาทบุญญาวาส สามเสน กรุงเทพฯ พิจารณาเนื้อพระดูแล้วแสดงถึงความเก่าอย่างมาก องค์จะออกสีน้ำตาลปนเทา เนื้อว่านผสมผงแห้งจัด และส่วนปลายของตะกรุดดอกเล็กที่ฝังอยู่ตรงก้นพิมพ์พระมีความเก่าอย่างเห็นได้ชัด พระทั้งหมดที่พบเป็นพิมพ์เดียวกันทั้งสิ้นและเนื้อพระมีสีเดียวกัน คือน้ำตาลปนเทา บางองค์คล้ำเล็กน้อย และมีหินคล้ายเม็ดทรายปะปนอยู่เกือบทุกองค์ เมื่อได้นำมาเปรียบเทียบกับพระหลวงพ่อนวล วัดตุยง ปัตตานี ซึ่งสร้างในปี 2505 และเป็นพระเนื้อว่านเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าพระหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุดชุดนี้ เนื้อพระจะหยาบกว่าและแห้งกว่ามาก จึงสามารถสันนิฐานได้ว่าพระพิมพ์นี้สร้างมาก่อนปี 2505 แน่นอน

ตามหลักฐานปรากฏว่า พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ได้มาวัดประสาทบุญญาวาสหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2502 โดยมาสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดให้พระครูสมุห์อำพล และร่วมพิธีปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวด ที่วัดประสาทบุญญาวาส ในปี 2505 และ 2506 ซึ่งรายชื่อพระอาจารย์ที่ได้มาปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวดในพิธีดังกล่าวนอกจากพระอาจารย์ทิมแล้ว ไม่มีพระอาจารย์สายใต้องค์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดมาร่วมในพิธีนี้ แม้แต่พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว ก็ไม่มีในรายชื่อพระที่มาร่วมพิธี ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุดนี้ พระครูสมุห์อำพล คงจะได้รับจากพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ในช่วงปี พ.ศ. 2502-2506 อย่างแน่นอน

จากหนังสือพินัยกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2512 ที่พระอาจารย์ทิมได้ให้เขียนไว้ก่อนมรณภาพส่วนหนึ่งระบุว่า ให้มอบพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่ท่านได้สร้างและเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดช้างให้แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นพระส่วนตัวของท่าน จำนวน 200 องค์ แก่เจ้าอาวาสวัดเอี่ยมวรนุช และพระเครื่องที่เหลือให้มอบแก่ผู้ร่วมทำบุญต่างๆ ตามความเหมาะสมนั้น พินัยกรรมของพระอาจารย์ทิมดังกล่าวสามารถตั้งข้อสังเกตได้บางประการคือ

1. พระอาจารย์ทิม มอบพระรุ่นพินัยกรรม ซึ่งเป็นพระส่วนตัวของท่านจำนวน 200 องค์ ให้แก่เจ้าอาวาสวัดเอี่ยมวรนุช ในปี พ.ศ. 2512 ได้ ท่านก็สามารถจะมอบพระเครื่องส่วนตัวของท่านส่วนหนึ่งให้พระครูสมุห์อำพล เจ้าอาวาสวัดประสาทบุญญาวาส ในช่วงปี พ.ศ. 2502-2506 ได้เช่นกัน

2. ในการปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวดเมื่อปี พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ มีหลวงปู่ทวดเนื้อโลหะต่างๆ และพระเครื่องจากวัดอื่นๆ เช่น วัดเมือง จ.ยะลา เข้าร่วมพิธีอีกหลายรายการ พระอาจารย์ทิมก็ได้สร้างพระส่วนตัวของท่านและนำเข้าพิธีปลุกเสกด้วยเช่นกัน คือพระเครื่องรุ่นพินัยกรรม จึงสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าในการปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวด เมื่อปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นพิธีใหญ่เช่นกันนี้ พระอาจารย์ทิมก็น่าจะสร้างพระส่วนตัวของท่านเข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วย

3. พระอาจารย์ทิมสร้างพระรุ่นพินัยกรรม จำนวนประมาณ 5,000 องค์ ซึ่งเป็นพระส่วนตัวไว้แจกญาติโยมที่ใกล้ชิดเมื่อปี พ.ศ. 2505 แสดงว่าพระรุ่นก่อนที่พระอาจารย์ทิมทำไว้แจกญาติโยมและลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด ได้หมดไปแล้วก่อนปี พ.ศ. 2505

ข้อสังเกตจากพินัยกรรม 2-3 ประการข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า พระเครื่องหลวงปู่ทวดที่ได้รับมาจากพระครูสมุห์อำพล วัดประสาทบุญญาวาส เป็นพระเครื่องที่พระอาจารย์ทิมสร้างขึ้นเป็นพระส่วนตัว สำหรับแจกญาติโยมและลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและสร้างขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2497 ถึง พ.ศ. 2505

ข้อสันนิษฐานว่าพระเครื่องพิมพ์นี้สร้างเมื่อใด

มีเหตุผลหลายประการที่บ่งบอกได้ว่า พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นผู้สร้างพระเครื่องพิมพ์นี้ในปี พ.ศ. 2497 ด้วย กล่าวคือ

1. มวลสารของเนื้อพระแห้งจัด มีคราบไขขึ้น แสดงถึงความเก่าชัดเจน รวมทั้งตะกรุดที่ฝังก็มีความเก่าด้วย เนื้อพระเป็นเนื้อว่านคล้ายกับเนื้อพระหลวงปู่ทวดรุ่นปี พ.ศ. 2497 เป็นอย่างยิ่ง แต่หยาบกว่าเล็กน้อย สันนิษฐานได้ว่ามวลสารเป็นชนิดเดียวกัน สร้างพร้อมกัน

2. โดยปกติแล้ว พระอาจารย์ต่างๆ จะต้องมีพระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังส่วนตัว ที่สร้างไว้แจกญาติโยมและลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด ในการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี พ.ศ. 2497 มีวัตถุประสงค์เพื่อหาทุนทรัพย์ในการสร้างปูชนียวัตถุให้วัดช้างให้ ซึ่งต้องมีจำนวนการสร้างที่ชัดเจนมีรายรับจากผู้มาทำบุญและได้แจกพระไปโดยมีบัญชีควบคุมทั้งจำนวนพระและจำนวนรายรับโดยกรรมการผู้สร้าง ไม่ได้เป็นสิทธิของพระอาจารย์ทิมในการจัดการพระเครื่องปี 2497 แต่เพียงผู้เดียว พระอาจารย์ทิมจะต้องมีพระส่วนตัวของท่านเองเพื่อไว้แจกญาติโยมตามความเหมาะสม จึงได้ทำพระขึ้นโดยใช้มวลสารและนำเข้าพิธีร่วมกับพระเครื่องของปี พ.ศ. 2497 ด้วย

3. ในการสร้างเครื่องรางของขลัง ของพระอาจารย์ยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาใช้ป้องกันตัวและเป็นศิริมงคลโดยการสร้างพระเครื่องเช่นปัจจุบันและทำการปลุกเสกเช่นทุกวันนี้ยังไม่แพร่หลายมากนัก พระอาจารย์ส่วนใหญ่จะทำเป็นตะกรุดหรือลูกอม หรือเครื่องรางอื่น ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำหาได้ง่าย พระอาจารย์ทิมก็ได้ทำเป็นตะกรุดเช่นกัน เมื่อมีมวลสารที่จะทำพระเครื่องปี 2497 อยู่แล้ว จึงใช้ประกอบกันเป็นการสร้างพระเครื่องเนื้อว่านฝังตะกรุด

4. การสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี พ.ศ. 2497 โดยขนาดแล้วแบ่งได้เป็นสามพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก พระเครื่องหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุดที่พระอาจารย์ทิมสร้างขึ้นนี้จะต้องสร้างในคราวเดียวกัน จึงทำพิมพ์ให้เล็กกว่าทั้งสามพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ถ้าสร้างภายหลังปี พ.ศ. 2497 ก็ไม่จำเป็นต้องทำพิมพ์และขนาดให้แตกต่างไปจากพระสามพิมพ์นั้น เช่นพระหลวงปู่ทวดรุ่นพินัยกรรม สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2505 ก็มีขนาดเท่ากับพระพิมพ์ใหญ่ของปี พ.ศ. 2497 หรือพระเครื่องของพระอาจารย์นอง วัดทรายขาว ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2514 ก็ใช้แม่พิมพ์เดียวกับรุ่นพินัยกรรมเป็นต้น

5. เศียรขององค์พระหลวงปู่ทวดในพิมพ์พระรอดเล็กนี้ มีขนาดค่อนข้างใหญ่เช่นเดียวกับเหรียญหลวงปู่ทวดรุ่นปี พ.ศ. 2500 ซึ่งออกแบบโดยพระอาจารย์ทิม การสร้างพระเครื่องของพระอาจารย์ต่างๆ โดยปกติแล้วจะต้องทำเป็นพระเนื้อผง เนื้อดิน หรือเนื้อว่านก่อนที่จะทำเป็นเหรียญ เพราะวัสดุที่เป็น ผง ดิน หรือว่าน สามารถหาได้ง่ายกว่า และแม่พิมพ์ก็สามารถทำเองได้โดยไม่ต้องจ้างโรงงาน จึงสามารถสรุปได้ว่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดพิมพ์นี้จะต้องสร้างก่อนการสร้างเหรียญหลวงปู่ทวดปี พ.ศ. 2500

6. พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว ซึ่งนับเป็นพระรุ่นน้องหรือรุ่นศิษย์ของพระอาจารย์ทิม เพราะอายุน้อยกว่าพระอาจารย์ทิมถึง 10 ปี การสร้างพระเครื่องด้วยตนเองของพระอาจารย์นองจะทำภายหลังที่พระอาจารย์ทิมมรณภาพแล้วเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าพระอาจารย์นองไม่อยากเทียบเคียงกับพระอาจารย์ทิมในการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดหากพระอาจารย์ทิมยังมีชีวิตอยู่ พระอาจารย์นองได้สร้างพระเครื่องรุ่นแรกของท่านเองในปี พ.ศ. 2514 เป็นพระเครื่องพิมพ์หลวงปู่ทวดฝังตะกรุด จึงอนุมานได้ว่าพระอาจารย์นอง ได้สร้างพระเครื่องรุ่นแรกตามแบบอย่างของพระอาจารย์ทิมที่เป็นพระรุ่นพี่หรือรุ่นอาจารย์ ซึ่งพระอาจารย์ทิมก็ได้สร้างพระรุ่นแรกเป็นพระหลวงปู่ทวดฝังตะกรุด คือพิมพ์พระรอดเล็ก ฝังตะกรุดนี้เอง

7. ตามเกล็ดประวัติการสร้างพระเครื่องของพระอาจารย์ทิมที่รับทราบต่อๆกันมาว่า มีผู้ได้รับพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่ฝังตะกรุด จากพระอาจารย์ทิม ซึ่งแจกเฉพาะศิษย์ที่ใกล้ชิด ในสมัยอดีตเคยโด่งดังมาก แต่จำนวนการสร้างคงจะมีน้อยมาก พระรุ่นนี้จึงหายไปจากวงการ และคุณอนันต์ คณานุรักษ์ผู้เป็นหัวแรงในการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดรุ่นแรก ได้เคยบอกเล่าไว้ว่า พระอาจารย์ทิมได้สร้างและกดพิมพ์พระเครื่องหลวงปู่ทวดรุ่นฝังตะกรุดนี้ด้วยมือของท่านเองด้วย จึงพอเห็นภาพได้ว่าพระอาจารย์ทิมได้สร้างพระเครื่องฝังตะกรุดชุดนี้พร้อมๆกับลูกศิษย์ลูกหาที่กำลังทำพระเครื่องปี พ.ศ. 2497 คุณอนันต์จึงได้ทราบเรื่องการสร้างพระของพระอาจารย์ทิมดังกล่าว

8. ตามประวัติของพระอาจารย์ทิม กล่าวว่าพระอาจารย์ทิมได้ขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อมาขอผงพุทธคุณต่างๆของหลวงปู่นาค วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ ไปสร้างพระของตนเอง ซึ่งในมวลสารของพระพิมพ์หลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็ก ฝังตะกรุดนี้ ปรากฏว่า เนื้อพระเป็นเนื้อว่านก็จริงแต่แก่ผง จึงสันนิษฐานได้ว่าพระอาจารย์ทิมคงจะนำผงพุทธคุณที่ได้มาจากวัดระฆังฯ จำนวนมาก ไปผสมในพระที่ท่านสร้างเป็นส่วนตัวนั่นเอง

9. ก่อนปี พ.ศ. 2520 วงการได้เรียกขานพระเครื่องหลวงปู่ทวดกัน 4 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์พระรอด หรือที่เรียกว่าพระรอดเมืองใต้ แต่ประมาณหลังปี 2520 เป็นต้นมา วงการได้ยุบรวมพิมพ์พระรอดเข้ากับพิมพ์เล็ก เรียกหากันเป็นพระหลวงปู่ทวดพิมพ์เล็กหรือพิมพ์พระรอด จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่า พระเครื่องหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุด ที่พระอาจารย์ทิมสร้างเป็นส่วนตัวได้หมดไปจากวงการ จึงเรียกพระพิมพ์เล็กปี พ.ศ. 2497 เป็นพิมพ์พระรอด ทั้งๆที่ขนาดของพระพิมพ์เล็ก ใหญ่กว่าพิมพ์พระรอดลำพูนอย่างมาก แต่พระพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุดนี้มีขนาดพอดีกับพระรอดของจังหวัดลำพูนอย่างแท้จริง ดังนั้นคำว่าพระรอดเมืองใต้ ก็คือพระหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุดนี้นั่นเอง

10. พระเครื่องหลวงปู่ทวดรุ่นพินัยกรรมที่พระอาจารย์ทิมได้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2505 ซึ่งมีอยู่ด้วยกันถึง 11 พิมพ์ ปรากฏว่ามีพิมพ์พระรอดขนาดเล็กเท่าพระพิมพ์นี้อยู่ด้วย แต่ไม่ได้ฝังตะกรุด มีหน้าตาชัดเจนกว่า เนื้อพระค่อนข้างดำ มวลสารละเอียด ความแห้งจะน้อยกว่าพระหลวงปู่ทวดพิมพ์ปี พ.ศ. 2497 เมื่อเปรียบเทียบกับพระเครื่องหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุด พิมพ์นี้ ซึ่งมีหน้าตาขององค์พระไม่ชัดเจนและมีมวลสารที่เก่ากว่า จึงน่าจะเป็นพระรุ่นที่สร้างก่อนการสร้างพระหลวงปู่ทวดรุ่นพินัยกรรมดังกล่าว

จากเหตุผลหลายประการดังกล่าวข้างต้น และสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่ทราบมา สามารถประมวลและชี้ชัดได้ว่า พระเครื่องหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุดนี้ พระอาจารย์ทิมได้เป็นผู้สร้างด้วยตนเอง แกะพิมพ์เอง กดพิมพ์เอง โดยใช้มวลสารเดียวกับมวลสารของพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี พ.ศ. 2497 และผสมผงพุทธคุณของหลวงปู่นาค วัดระฆังฯ เข้าไปด้วยจำนวนมาก พระอาจารย์ทิมได้แกะแม่พิมพ์ให้มีขนาดแตกต่างออกไปจากพระเครื่องปี 2497 พร้อมกับได้ฝังตะกรุดดอกเล็กๆไว้ แสดงถึงการเป็นพระเครื่องรุ่นแรกของท่าน ช่วงเวลาที่สร้างเป็นช่วงเดียวกับการสร้างพระเครื่องปี พ.ศ. 2497 และเข้าพิธีปลุกเสกพร้อมกัน ทั้งนี้พระเครื่องชุดนี้เป็นพระเครื่องส่วนตัวของพระอาจารย์ทิม ทำไว้แจกจ่ายแก่บรรดาญาติโยมและลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด และพระชุดดังกล่าวได้แจกหมดไปก่อนปี พ.ศ. 2505 พระอาจารย์ทิมจึงได้สร้างพระรุ่นพินัยกรรมขึ้นมาเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์เดียวกัน

พระเครื่องหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดเล็กฝังตะกรุดพิมพ์นี้ นับว่าเป็นสุดยอดในบรรดาพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่สร้างขึ้นพิมพ์หนึ่ง เพราะนอกจากมวลสารขององค์พระและพิธีปลุกเสกที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2497 แล้ว ที่พิเศษกว่าคือ พระอาจารย์ทิมได้เป็นผู้ทำการสร้างด้วยตัวท่านเองทุกขั้นตอน ผู้ที่มีไว้บูชานับว่าเป็นผู้มีโชคที่ดีและมีวาสนาอย่างยิ่ง เปรียบเสมือนการได้ครอบครองของวิเศษไว้อย่างแท้จริง

รวบรวมและค้นคว้าโดย.....ผอสปร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 12 พฤษภาคม 2016, 17:25:45 โดย ทัพพสาร » IP : บันทึกการเข้า
anirutt
เตรียมอนุบาล
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3


« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 23 ตุลาคม 2014, 19:44:49 »

หลวงปู่ทวดพิมพ์ตัวหนอน อาจารย์นองปี14 เล่นหาหลักร้อย-ถึงพันนิดๆ  ประวัติมั่ว ไม่รู้จริงอย่าเอามาลง
IP : บันทึกการเข้า
ทัพพสาร
เตรียมอนุบาล
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 7


« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 24 ตุลาคม 2014, 10:03:19 »

ขอบคุณที่ชี้แนะ ประวัติไม่มั่วนะครับผมก้อปมาจากเวฟ อาจจะลงรูปพระผิดรุ่นเพราะคล้าย ๆ กัน แนะแนวทางกันดี ๆได้ครับ อ่านกระทู้ท่านแล้วได้อารมณ์ดีจิง ๆ ยิงฟันยิ้ม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 24 ตุลาคม 2014, 10:22:48 โดย ทัพพสาร » IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!