เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 26 เมษายน 2024, 17:21:32
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  การศึกษา (ผู้ดูแล: >:l!ne-po!nt:<)
| | |-+  Knowledge ชุด ขุดหาน้ำมันกันอย่างไร? EP.1 ตอน แท่นขุดเจาะ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน Knowledge ชุด ขุดหาน้ำมันกันอย่างไร? EP.1 ตอน แท่นขุดเจาะ  (อ่าน 1289 ครั้ง)
เจริญศิลล์รังสีพาณิชย์
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 184


KUNNIIEZ


« เมื่อ: วันที่ 24 มิถุนายน 2013, 22:07:17 »

สืบเนื่องจากกระทู้ที่ผมนำรูปภาพการทำงาน ที่หลายคนอาจไม่เคยได้เห็น
ในการทำงานที่เรียกว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
http://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=396457.0
ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าน่าจะนำเอาความรู้ที่บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เรียนหรือทำงานด้านนี้อ่านแล้ว
สามารถเข้าใจได้ หรือไม่ก็เด็กๆ เยาวชน น้องๆที่กำลังศึกษาอยู่ อาจจะได้ความรู้เพิ่มเติม
หรือไม่ก็อาจจะเป็นแรงบรรดาลใจที่จะศึกษาต่อในด้านธรณีวิทยา และวิศวกรรมปิโตรเลียม
ในอนาคต

ส่วนตัวผมจบมาทางด้านนี้โดยตรงและทำงานอยู่ ซึ่งก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมหรือ
ทบทวนซ้ำ ก็เลยหยิบยกความรู้มาให้ได้อ่านและศึกษากันทางด้านล่างนี้




ขุดหาน้ำมันกันอย่างไร? ตอน แท่นขุดเจาะ
by อึ่งน้อย ณ อ่าวไทย

สวัสดีครับเพื่อนพี่น้องชาวนักธรณีและผู้เยี่ยมชมทุกท่าน ผมมีความรู้มาแบ่งปันในเรื่องวิชาชีพวิศวกรขุดเจาะเปลือกโลก บอกก่อนนะครับ ผมจะไม่เล่าแนววิชาการมากมายอะไร เพราะจะหลับปุ๋ยกันไปก่อนจะอ่านกันจบ และ ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะให้เป็นวิศวกรขุดเจาะกัน … ว่าแต่เราจะมาเริ่มขบวนการเจาะเปลือกโลกกันตรงไหนดีล่ะ

ก่อนขึ้นชกมวยก็ต้องมีการไหว้ครู ก่อนขึ้นแสดงหรือเริ่มงานแสดงก็ต้องมีการครอบครู ก่อนผมจะเริ่มแบ่งปันความรู้อันน้อยนิดนี้จึงอยากจะกล่าวอุทิศแก่บุญคุณครูทุกท่านที่ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชามาให้ใช้เลี้ยงตัวทำมาหากิน เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นศิริมงคลแก่ตัวเอง

"ความรู้ใดๆที่ข้าฯนำมาแบ่งปันอันเป็นประโยชน์แก่เพื่อนพี่น้องในเว็บนี้ เป็นคุณงามความดี เป็นบุญกุศลแก่ครูบาอาจารณ์ทุกท่านของข้าฯ หากจะมีข้อบกพร่อง ผิดพลาด คลาดเคลื่อนอันใด ให้ถือว่าเป็นความเขลา ประมาท และขาดปัญญาของข้าฯแต่เพียงผู้เดียว"

เอาล่ะครับ ครบตามธรรมเนียมไทยที่ดีงามแล้ว เรามาโซโล่กันเลย

ธรณีชี้เป้า วิศวกรออกแบบการขุดเจาะ

มาเริ่มเอาตรงที่ เมื่อนักธรณีวิทยาได้ชี้เป้ามาแล้วว่า เจ้าจะต้องทำให้เกิดรู เกิดหลุมร้อยลงไปให้ผ่านบรรดาเป้าเหล่านี้ ส่วนที่ว่าท่านๆนักธรณีไปปลุกปล้ำปลุกเสกเป้าเหล่านี้มาได้อย่างไรนั้น เกินปัญญาของวิศวกรขุดเจาะครับ เอาว่าพวกกระผมได้เป้ามาก็แล้วกัน

เป้า (target) คือตำแหน่งใต้พื้นดินหรือพื้นทะเลที่สนใจ ที่คาดว่าจะมีน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ

รูปทรงเป้าที่กำหนดโดยนักธรณีหลากหลายรูปแบบ กลมมั่ง รีมั่ง รวมไปถึงสารพัดเหลี่ยม ด้วยความยากของการขุดเจาะ ก็อาจจะมีการหยวนๆให้พวกวิศวกรเจาะแบบแถหรือแฉลบออกได้บ้าง บางครั้งนักธรณีก็ห้ามแถออกเด็ดขาด ด้วยเหตุผลทางธรณีวิทยา เช่น ถ้าหลุดเป้า หลุมจะไปอยู่ในชั้นน้ำแทนที่จะเป็นชั้นปิโตรเลียม หรือไปชนรอยเลื่อนและเกิดการแย่งดูดน้ำมันจากหลุมใกล้เคียง เป็นต้น แต่บางทีก็ห้ามหลุดเป้าด้วยเหตุผลส่วนตั๋วส่วนตัว

ผมทำเป้าสมมติให้ดู 4 เป้า สีแดงๆน่ะครับ


ภาพโครงสร้างชั้นหินใต้ดินแบบสามมิติ และตำแหน่งเป้าสมมติ (สีแดง) ที่เป็นเป้าหมายของการขุดเจาะจากด้านบน (เครดิตภาพ NETL.doe.gov)

สังเกตให้ดีจะพบว่า เป้าของนักธรณี เป็นเป้าใต้ดิน (subsurface targets) ล้วนๆ ไม่ได้บอกเลยว่า ตำแหน่งบนผิวดินผิวน้ำนั่นอยู่ตรงไหน เรื่องของตำแหน่งที่ตั้งของแท่นขุดเจาะนั้น เป็นเรื่องของเราคนขุดครับ นักธรณีไม่เกี่ยว เอาเป้ามาอย่างเดียวพอ

พี่เป้ามาแล้ว จะขุดยังไง?

พอได้เป้ามาแล้ว เราก็มาดูว่าตูจะขุดมันยังไง ตรงนั้นมันบนบก บนภูเขา ทับที่ชาวบ้านชาวช่อง ทับของสงวน เอ๊ยป่าสงวนหรือป่าไม่สงวนของใครหรือเปล่า หรือเป็นลุ่มน้ำเกรดเอ เกรดบี ของกระทรวงอะไรหรือเปล่า หรือเป็นที่วัดวาอาศรมอาราม และกฏหมายท้องถิ่นนั้นๆว่าไง จะซื้อที่ตรงนั้นหรือจะเช่า จะหอบผ้าหอบผ่อนขนหอบข้าวหอบของกันไปยังไง ขุดลึกแค่ไหน ขุดแนวไหน ตรงๆลงไปหรือ ยอกย้อนชอนไช ตะแคง จะเอียงกระเท่เร่ขนาดไหน ใช้แท่นแบบไหน ขนาดเท่าไร ฯลฯ

ส่วนถ้าเป้ามันอยู่ในน้ำ ก็ต้องมาดูว่า น้ำลึกแค่ไหน จะเอาแท่นแบบไหน เอาอะไรเข้าไปเจาะ ถ้าน้ำตื้นแล้วท้องน้ำไม่มีอะไรน่าสงวนนักหนาเช่น ไม่มีปะการัง ไม่มีถ้ำชาละวัน ไม่มีบัวบาดาลพันปี ก็ลาก jack up เข้าไปปักขาจึ๊กๆ ตั้งแท่นทะลวงเป้าได้สะดวกโยธินเลย แต่ถ้ามีปะการังที่รัฐบาลท้องถิ่นเขาหวง ก็ต้องเอาแท่นที่ตั้งอยู่บนแพที่กินน้ำตื้นๆ เข้าไป แล้วก็ต้องเข้าไปตอนน้ำขึ้น ไม่ใช้ลากถูลู่ถูกังเข้าไปตอนน้ำลง เดี๋ยวท้องแท่นก็แถกลุยถั่วพื้นทะเลแหกเป็นริ้วปลาแห้ง ประการังบ่นปี้หมด แบบนี้ก็ไม่ไหว

หรือไม่ก็หาเกาะแก่งแถวๆนั้นแล้วเอาแท่นบกไปตั้งเลยจะได้ไหม แล้วขุดเอียงๆทะแยงๆเอา ถ้าไม่มีเกาะธรรมชาติ เราถมดินเป็นเกาะเทียม แบบเสี่ยดูไบถมทะเลสร้างโรงแรม ซะเลยจะได้ไหม ถ้าน้ำลึกขึ้นมาอีก ก็ดูว่าลึกแค่ไหน ลึกเกินขาแท่นแบบ jack up ไหม ถ้าเกินก็ต้องเอาพี่ใหญ่แบบกึ่งจม (semisubmersible) หรือ แบบเรือ (drill ship) เข้าไปโซ้ยกันเลย

ทุกๆการตัดสินใจเลือก มีข้อดีข้อเสียทั้งนั้น (ชีวิตมันก็งี้แหละครับ) สุดท้ายก็ต้องเอา เวลา จำนวนเงิน ความเสี่ยง (ที่จะแห้วไม่เจออะไร) และเหตุผลทางการเมือง มาชั่งดูว่า จะทำไงกันดี

งั้นปฐมบท เรามารู้จักแท่นแบบต่างๆกันดีกว่าไหมครับ

รู้จักแท่นขุดเจาะ


  • แท่นขุดเจาะบนบก
แบบแรกที่ภูมิใจนำเสนอ คือแท่นบก (land rig) ครับแบบนี้


แท่นขุดเจาะบนบก (เครดิตภาพ RAPAD)

  • แท่นขุดเจาะแบบน้ำตื้น
ต่อมาอันนี้แบบน้ำตื้น หรือที่เรียกว่า swamp barge ก็เอาแท่นไปตั้งบนแพเราดีๆ นี่เอง พวกนี้จะกินน้ำตื้น น้ำหนักเบา เอาไปขุดแถวๆ หนองน้ำ อะไรพวกนั้น ลงทะเลก็ได้ แต่ต้องไม่มีคลื่นเยอะ ประมาณน้ำกร่อย หรือ ชายฝัง คงได้ประมาณนี้แหละครับ

g
แท่นขุดเจาะแบบน้ำตื้น (เครดิตภาพ newoctg.com)

  • แท่นขุดเจาะแบบยกขาตั้ง
ถ้าน้ำลึกหน่อยก็นี่ครับ แบบยกขาตั้ง (jack up rig) มีทั้งแบบ 3 ขา และ 4 ขา มีทั้งแบบมีเครื่องยนต์ และ ไม่มีต้องใช้เรือลากเอา พอเอาขาขึ้นก็ลอยไปลอยมาได้ พอไปถึงที่ก็เอาขาลง ยกตัวแท่นขึ้น พวกนี้เข้าประจำที่เร็ว ขุดเสร็จก็ย้ายออกเร็ว ไม่เสียเวลา เหมาะกับงาน สำรวจ (exploration) เจอก็เก็บข้อมมูลไว้ให้พี่นักธรณีวิเคราะห์ ไม่เจอก็กลบหลุม แล้วย้ายไปสำรวจที่อื่นต่อ


แท่นขุดเจาะแบบยกขาตั้ง (เครดิตภาพ SISmarine.com)

  • แท่นขุดเจาะแบบเทนเดอร์
ต่อมาแบบนี้เรียกว่า tender rig (แบบขนแท่นไปบนแพ-ผมแปลเอง ถ้าผิดขออภัย แปลเอาความหมาย) ก็ใช้กับ platform คืองี้ครับ พอรู้แน่ๆว่าตรงไหนมีปิโตรเลียมก็จะตั้ง platform ขึ้นมาเป็นที่รวบรวมปากหลุมเข้าไว้ด้วยกัน patform หนึ่งจะมีกี่หลุมก็แล้วแต่ความคุ้มทุนในการสร้างกับผลผลิตปิโตรเลียม

แพ tender rig ที่ว่านี่ก็จะขนเอาแท่นที่ถอดออกเป็นชิ้นๆกองๆไปบนแพแล้วยกไปประกอบและตั้งบน platform เหมือน แท่นบนบก อย่างไงอย่างนั้นเลยครับ ข้อเสียคือยุ่งยาก พีธีรีตรองเยอะ กว่าจะประกอบเสร็จ ขุดเสร็จแล้วจะถอดเก็บของก็ใช้เวลาพอกัน ถ้าไม่มี platform สร้างไว้รอก็ขุดเองไม่ได้ แถม platform ที่สร้างก็ต้องคำนวนเผื่อนน.ของแท่นที่จะไปวางบนนั้นอีกต่างหาก ผลคือ platform ราคาแพง แต่ข้อดีคือ ค่าเช่าถูก ดังนั้นจึงมักให้ขุดไปเลย 15-20 หลุม ต่อ platform พอคำนวนเวลา กับค่าใช้จ่ายต่อหลุมแล้ว ค่อยคุ้มหน่อย


แท่นขุดเจาะแบบเทนเดอร์ (เครดิตภาพ offshore.no)

  • แท่นขุดเจาะแบบลอยตัวกึ่งจม
แล้วถ้าน้ำลึกเกินกว่านั้นล่ะครับ ต้องนี่เลยครับ semisubmersible (กึ่งจม – แปลเองอีก คือมันจมไปครึ่งนึงน่ะ) มันมีขาเบ้อเร่อเฮิ้ม วางบนทุ่นที่จมอยู่ใต้น้ำ มีทั้งแบบที่เครื่องยนต์ไปไหนมาไหนได้เอง กับแบบที่ต้องลากไป น้ำลึกแค่ไหนก็บ่ยั่นครับ ต้องมีคนสงสัยแน่ๆว่ามันจะอยู่กับที่นิ่งๆได้ไง ไม่โดนคลื่นซัดลอยไปลอยมาเหรอ

มี 2 วิธีครับ วิธีแรกคือมันมีอุปกรณ์ไฮเทคชิ้นนึ่งครับ เรียกว่า “สมอเรือ” จะกี่เส้นก็ว่าไป ขึงมันทุกมุมทุกทาง ใช้ระบบจีพีเอส ปรับดึงหรือหย่อนมอเตอร์สมอ ให้แท่นอยู่กับที่เมื่อเทียบกับพื้นโลก

อีกวิธีไฮเทคกว่าวิธีแรกหน่อย คือใช้เครื่องยนต์ใบพัดเรือนี่แหละครับ หลายๆตัว เดินเครื่องมัน 24 ชม. บังคับด้วย computer และ ระบบ จีพีเอส เลี้ยงตัวให้อยู่นิ่งๆ พูดง่ายๆว่า คล้ายวิธีแรก แต่ใช้เครื่องยนต์แทนที่จะใช้สมอเรือ

อ้าว แล้วแนวดิ่งล่ะ เพราะคลื่นมันก็ต้องทำให้ตัวแท่นเลื่อนขึ้นลงด้วย ไม่ใช่ไปซ้ายขวาอย่างเดียว ชิวๆครับ … มีอุปกรณ์ไฮเทคอีกชิ้น เรียกว่า “โช้ค” แบบที่อยู่ในรถยนต์ท่านๆนั่นแหละครับ แม่นอีหลี เพียงแต่มันมีหลายตัวและตัวมันเท่ากับห้องคอนโดเชียวล่ะครับ


แท่นขุดเจาะแบบลอยตัวกึ่งจม (เครดิตภาพ ซ้าย: enathisky.org ขวา: RWE.com)

  • เรือขุดเจาะน้ำลึก
แล้วถ้าน้ำลึกมากขึ้นไปอีก แถมยังต้องไปไหนมาไหนเองบ่อยๆ ไม่ต้องพึ่งเรือลากจูง (เพราะเรือลากจูงเนี้ยต้องเช่า วันล่ะหลายอัฐอยู่) ก็นี่เลยครับ drill ship อันนี้ภาษาอังกฤษระดับกรรมกรของผมแปลง่ายๆ แปลว่าเรือขุดครับ วิธีการคงตำแหน่ง (positioning) ก็ 2 วิธีเหมือนไอ้ลำตะกี้น่ะครับ


เรือขุดเจาะน้ำลึก (เครดิตภาพ drillingcontractor.org)

เปรียบเทียบแท่นขุดเจาะแต่ละชนิด

รูปนี้เปรียบเทียบระดับความลึกของแท่นขุดเจาะเหนือระดับน้ำ


เปรียบเทียบแท่นขุดเจาะที่ระดับความลึกแตกต่างกัน (เครดิตภาพ Maersk Drilling)

อันนี้ รวมมิตร ครับ … ให้เห็นว่าแต่ล่ะช่วง ใช้แท่นแบบไหน ไล่กันจากแท่นบกไปยันแบบ tension leg (รูปขวาสุดที่คล้ายๆแบบ semisub แต่จะมีสายเคเบิ้ลดึงยึดติดกับก้นทะเล)


เปรียบเทียบการติดตั้งแท่นขุดเจาะชนิดต่างๆ (เครดิตภาพ drillingahead.com)

Author: อึ่งน้อย ณ อ่าวไทย
วิศวกรขุดเจาะปิโตรเลียม ประสบการณ์การทำงานมากกว่า 24 ปี งานอดิเรกเขียนบทความถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานสำรวจปิโตรเลียม เผยแพร่ความรู้ให้กับวิชาการธรณีไทยตั้งแต่ปีพ.ศ.2556




ที่มา: GeoThai.net
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 04 กรกฎาคม 2013, 19:44:30 โดย DearDear » IP : บันทึกการเข้า
ptptpt
เตรียมอนุบาล
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 26


« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 01 กรกฎาคม 2013, 10:06:59 »

ขอบคุณที่ให้ความรู้ดีๆแก่คนเชียงรายครับ ผมมีเรื่องอยากจะสอบถามพี่รบกวนพี่ตอบให้ด้วยนะครับ ตอนนี้ผมกำลังเริ่มฝึกภาษาอังกฤษ และศึกษาเรื่องของwell intervention เพื่อที่จะไปสอบสัมภาษณ์ โดยการแนะนำจากพี่ที่ทำงานด้านนี้โดยตรงแต่ผมไม่ได้เรียนเกี่ยวกับปิโตรเลียมมาเลยครับ ผมจบครูมา ผมเลยอยากถามพี่ว่ามันเป็นไปได้ไหมครับที่. เราจะได้ทำงานด้านนี้ ผมสนใจงานนี้มากๆเลย. ผมจะเจอพี่ได้ไหมครับ. ผมเห็นภาพรถอีซูซุที่ถ่ายด้านล่างกระทู้นี่ใช่ถ่ายที่บ้านพี่โอฬารหรือเปล่าครับ
IP : บันทึกการเข้า
เจริญศิลล์รังสีพาณิชย์
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 184


KUNNIIEZ


« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 01 กรกฎาคม 2013, 20:45:07 »

ขอบคุณที่ให้ความรู้ดีๆแก่คนเชียงรายครับ ผมมีเรื่องอยากจะสอบถามพี่รบกวนพี่ตอบให้ด้วยนะครับ ตอนนี้ผมกำลังเริ่มฝึกภาษาอังกฤษ และศึกษาเรื่องของwell intervention เพื่อที่จะไปสอบสัมภาษณ์ โดยการแนะนำจากพี่ที่ทำงานด้านนี้โดยตรงแต่ผมไม่ได้เรียนเกี่ยวกับปิโตรเลียมมาเลยครับ ผมจบครูมา ผมเลยอยากถามพี่ว่ามันเป็นไปได้ไหมครับที่. เราจะได้ทำงานด้านนี้ ผมสนใจงานนี้มากๆเลย. ผมจะเจอพี่ได้ไหมครับ. ผมเห็นภาพรถอีซูซุที่ถ่ายด้านล่างกระทู้นี่ใช่ถ่ายที่บ้านพี่โอฬารหรือเปล่าครับ

ใช่คับถ่ายที่ร้านเรียวกังของพี่โอฬาร
การเริ่มต้นในสาย oil field นั้นถือว่ายาก แต่ถ้าได้เข้ามาแล้ว มันง่ายมากที่จะไปต่อยอดในบริษัทที่ดีกว่า
ถึงไม่ได้จบมาสายนี้โดยตรงแบบผม แต่ถ้าเราศึกษาแล้วทำให้บริษัทนั้นพึงพอใจได้ คุนก็ win คับ
สามารถเจอกันได้ครับ ได้ผมยัง onboard อยู่เลย
IP : บันทึกการเข้า
ptptpt
เตรียมอนุบาล
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 26


« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 01 กรกฎาคม 2013, 21:50:28 »

ขอบคุณพี่มากๆครับที่ให้กำลังใจ. ผมจะพยายามศึกษาอย่างเต็มที่ครับ แต่ศัพท์บางคำก็ยากเหลือเกิน ใจจริงอยากให้พี่ช่วยเทรนให้ด้วยครับ พี่สอนไหมครับ เช่นเรื่องพื้นฐานการคำนวน.  หรือแนวทางที่จะแก้ไขข้อด้อยของเราได้บ้างขอบคุณครับ  ตอนนี้เริ่มจากศูนย์เลยครับ
IP : บันทึกการเข้า
เจริญศิลล์รังสีพาณิชย์
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 184


KUNNIIEZ


« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 02 กรกฎาคม 2013, 00:08:19 »

ขอบคุณพี่มากๆครับที่ให้กำลังใจ. ผมจะพยายามศึกษาอย่างเต็มที่ครับ แต่ศัพท์บางคำก็ยากเหลือเกิน ใจจริงอยากให้พี่ช่วยเทรนให้ด้วยครับ พี่สอนไหมครับ เช่นเรื่องพื้นฐานการคำนวน.  หรือแนวทางที่จะแก้ไขข้อด้อยของเราได้บ้างขอบคุณครับ  ตอนนี้เริ่มจากศูนย์เลยครับ

สอนเลยหรอครับ ...เสียดายตรงที่เวลาน่ะสิครับ
ผมทำงานเป็นเดือนๆ พักแค่ไม่กี่วัน เอาเป็นว่ามีอะไรสงสัยโพสถามเอานะคับ
แล้วก็ผมแบ่งปันไฟล์เผื่อจะช่วยได้ครับ

* QA-RD7A English API Formula Sheet Rev 5.pdf (61.52 KB - ดาวน์โหลด 57 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เจริญศิลล์รังสีพาณิชย์
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 184


KUNNIIEZ


« ตอบ #5 เมื่อ: วันที่ 02 กรกฎาคม 2013, 00:10:10 »

 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

* Drilling parameter.doc (35.5 KB - ดาวน์โหลด 41 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ptptpt
เตรียมอนุบาล
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 26


« ตอบ #6 เมื่อ: วันที่ 02 กรกฎาคม 2013, 08:55:45 »

พี่เอามาลงบ่อยๆนะครับเป็นประโยชน์มากๆเลย. จะคอยติดตามครับ
IP : บันทึกการเข้า
tfgc2007
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3,874


สมบัติพญามังราย ต้องรักษาไว้


« ตอบ #7 เมื่อ: วันที่ 03 กรกฎาคม 2013, 12:22:16 »

ยอดเยี่ยมครับ ลดขนาดภาพลงหน่อยจะดีมาก จะได้ดุง่ายๆ
IP : บันทึกการเข้า

รักษ์กำเมือง....ร่วมส่งเสริมละอ่อนเหนือ อู้กำเมือง....
เชียงรายสถาปนิก'97 รับ ออกแบบ เขียนแบบบ้าน อาคาร รับบริหารงานก่อสร้างและงานระบบทุกประเภท ตรวจสอบอาคาร โดยสามัญวิศวกร สามัญสถาปนิก และ จป.วิชาชีพ
S_ลักษณ์
มัธยม
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 972



« ตอบ #8 เมื่อ: วันที่ 03 กรกฎาคม 2013, 15:44:03 »

ขอบคุณเจ้าของกระทู้ เป็นความรู้ที่ดีมาก

ช่วยแนะนำเส้นทาง สำหรับอาชีพนี้หน่อยได้ป่าวคะ
จะได้แนะนำเด็ก ๆ
IP : บันทึกการเข้า
เจริญศิลล์รังสีพาณิชย์
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 184


KUNNIIEZ


« ตอบ #9 เมื่อ: วันที่ 04 กรกฎาคม 2013, 00:03:34 »

ขอบคุณเจ้าของกระทู้ เป็นความรู้ที่ดีมาก

ช่วยแนะนำเส้นทาง สำหรับอาชีพนี้หน่อยได้ป่าวคะ
จะได้แนะนำเด็ก ๆ

ธรณีวิทยาคืออะไร
ธรณีวิทยาเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาองค์ประกอบ โครงสร้างเเละกระบวนการตามธรรมชาติของโลก ตลอดจนผลอันสืบเนื่องมาจากกระบวนการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก เนื่องจากกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาทางธรณีกาล โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เนื่องจากการดำรงชีพของมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรธรณี อันได้แก่ แร่ หิน น้ำใต้ดิน และเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทรัพยากรเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง โดยเป็นทั้งวัตถุดิบและพลังงาน ความรู้ทางธรณีวิทยาจึงมีความสำคัญในการนำไปประยุกต์กับงานสำรวจ และการออกแบบ เพื่อการพัฒนาปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความมั่นคงของชาติ เช่น เส้นทางคมนาคม เขื่อน โรงไฟฟ้า แหล่งสำรองของทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมทั้งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ อีกด้วย การศึกษาในสาขาวิชาธรณีวิทยาจึงประกอบด้วยการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิชาทางธรณีวิทยาแขนงต่างๆ รวมทั้งการศึกษาและการฝึกภาคสนาม

สำรวจตนเอง
หลังจากที่ได้เห็นภาพรวมของธรณีวิทยาและการทำงานของนักธรณีวิทยาเบื้องต้นแล้ว ทีนี้ก็ถึงขั้นตอนของการสำรวจตัวเราเอง จริงๆ แล้วทุกคนสามารถเรียนธรณีวิทยาได้ แต่การที่จะเรียนได้ดี มีความสุข และประสบผลสำเร็จในสายอาชีพนี้ ผู้นั้นจะต้องมีบุคลิกภาพที่พร้อมต่อการใช้เชาว์ปัญญาและความคิด มีสติดี ยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ชอบคิด สังเกต มีจินตนาการ วิเคราะห์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล ชอบแก้ปัญหา ชอบใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ เพราะความรู้ทางธรณีวิทยานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลที่ดีขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้อาจจะฟังดูธรรมดาทั่วไป แต่ที่พิเศษสำหรับผู้เรียนธรณีวิทยาและจำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ การมีใจรักธรรมชาติและการผจญภัย มีนิสัยเรียบง่าย ยอมรับความลำบาก พูดจารู้เรื่อง ตาไม่บอดสี สายตามองเห็นภาพสามมิติ ไม่เป็นโรคกลัวความสูง และมีร่างกายที่แข็งแรง

แนวทางการเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี
ผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อ สาขาวิชาธรณีวิทยา จะต้องมี ความรอบรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยเน้นวิชาคณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา และสมัครสอบเข้าศึกษาได้โดยการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรี ได้แก่

หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.)

ภาควิชาธรณีวิทยา (Geology) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาควิชาธรณีวิทยา (Geological Sciences) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี (Geotechnology) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สาขาวิชาธรณีศาสตร์ (Geosciences) ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ (Earth Sciences) ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ (วศ.บ.)

วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี (Geotechnology) สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

แม้ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความหลากหลายในรายวิชาแตกต่างกันไป สังเกตได้จากชื่อของสาขาหรือภาควิชา แต่ทุกสถาบันข้างต้นจะให้ความรู้ในเนื้อหาหลักที่สำคัญของธรณีวิทยาแก่ผู้ศึกษาทุกคน รวมถึงการออกภาคสนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอน

สภาพการเรียนโดยทั่วไป
การเรียนการสอนเป็นลักษณะการบรรยายในห้องเรียน และห้องปฏิบัติการ ร่วมกับการออกภาคสนามในสถานที่ต่างๆ ทั้งในระหว่างภาคการศึกษา และช่วงปิดเทอม เนื้อหามีการท่องจำค่อนข้างมากพอสมควร โดยเฉพาะการเรียนเกี่ยวกับแร่ หิน และซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐาน มีการคำนวณบ้างแล้วแต่รายวิชา ธรณีวิทยาเป็นวิชาทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ อาจจะต้องทำงานในห้องปฏิบัติการนอกเวลาเรียนเพิ่มเติม มีการประเมินผลการทำงานเป็นกลุ่มและเดี่ยว ในรูปแบบของรายงาน การบ้าน การทำแผนที่ รายงานการสำรวจ การเขียนแบบ วาดภาพระบายสี การนำเสนอหน้าชั้นเรียน งานวิจัยค้นคว้าอิสระ การสอบที่มีทั้งการสอบข้อเขียนบรรยาย สอบปากเปล่า และการสอบแบบจับเวลา

นอกเหนือจากการเรียนการสอนแล้ว แต่ละสถาบันข้างต้นมีกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกของกลุ่มนักศึกษาตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของแต่ละสถาบันเช่นกัน นอกจากนี้ทุกปีจะมีกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันที่หมุนเวียนกันจัดขึ้นอีกด้วย

แนวทางการศึกษาต่อ
บัณฑิตที่จบจากสถาบันข้างต้นสามารถศึกษาต่อปริญญาโท และเอก ได้ทั้งใน และต่างประเทศ โดยสามารถศึกษาเฉพาะด้าน หรือร่วมกับสาขาอื่น เช่น วิทยาแร่ ศิลาวิทยา ธรณีเคมี ธรณีฟิสิกส์ ธรณีวิทยาเหมืองแร่ อุทกธรณีวิทยา ธรณีวิทยาปิโตรเลียม วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเหมืองแร่ ธรณีเทคนิค วิศวกรรมธรณี มากมายได้อีก ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดการเรียนการสอนในหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีทุนให้ศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ จากหน่วยงานราชการ และเอกชนอีกด้วย

แหล่งงานประกอบอาชีพ
ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาธรณีวิทยาสามารถสมัครงานในหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

หน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพลังงานเชื้อเพลิง มหาวิทยาลัย กรมทรัพยากรธรณี พิพิธภัณฑ์ธรณี เป็นต้น โดยเป็นอาจารย์ นักวิจัย หรือนักวิชาการ
รัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หน่วยงานเอกชน เช่น บริษัทเหมืองแร่ บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การสมัครงานเกิดขึ้นทุกปี แต่มีอัตราการรับไม่แน่นอน ซึ่งผู้ศึกษาต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เนื่องด้วยภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ผลการเรียนและภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างมาก อีกทั้งประวัติพฤติกรรมที่ดีตลอดการเดินทาง ถนนสายนี้ค่อนข้างแคบและรู้จักกันเป็นอย่างดี หลายหน่วยงานเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานร่วมกับนักธรณีวิทยาในสภาพการทำงานจริง ซึ่งจะเป็นเวลาที่เราค้นพบว่าเราชอบและมีความถนัดในสายงานนั้นๆ จริงหรือไม่

โดยปกติกระบวนการรับสมัครจะเริ่มตั้งแต่การรับสมัครนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา หน่วยงานต่างๆ จะแวะเวียนกันมาแนะแนว รับสมัครและสัมภาษณ์ถึงในมหาวิทยาลัย แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่ไม่สามารถมาได้ก็จะฝากข่าวประกาศแจ้งรายละเอียดการรับสมัครและสถานที่ให้ทราบผ่านภาควิชา หรือคณาจารย์ อีกรูปแบบหนึ่งสำหรับคนที่อยู่ในช่วงระหว่างการหางานประจำ คือ การรับงานพิเศษช่วงสั้นๆ เช่น งานช่วยเดินสำรวจภาคสนาม เก็บตัวอย่างหินแร่ งานวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น ซึ่งมักเป็นการร้องขอให้ช่วยเหลือจากนักธรณีวิทยารุ่นพี่ และมีค่าตอบแทนให้ด้วย การรับสมัครงานบางประเภทอาจมีการกำหนดเพศ ผลการเรียน หรือผลภาษาอังกฤษของผู้สมัครด้วย

ข้อเท็จจริง
ถาม: ผู้หญิงกับธรณีวิทยา?
ตอบ: ปัจจุบันมีนักศึกษาหญิงและนักธรณีหญิงจำนวนมาก ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถเรียนและประสบผลสำเร็จในสายอาชีพธรณีวิทยาได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ

ถาม: เรียนธรณีวิทยาแล้วได้ทำงานบริษัทน้ำมัน?
ตอบ: หลายคนตั้งความหวังไว้ว่า หากเป็นนักธรณีวิทยาแล้วจะได้เข้าทำงานในบริษัทสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ซึ่งให้ค่าตอบแทนหรือเงินเดือนค่อนข้างสูง แต่ในความเป็นจริงแล้วตำแหน่งงานที่เปิดรับในสายนี้มีจำนวนจำกัด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เรียนจบธรณีวิทยาทั่วประเทศในแต่ละปี ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้ทำงานในสายนี้ งานของนักธรณีวิทยามีอย่างอื่นอีกมากมายดังที่ได้แนะนำไว้ในหัวข้อ แหล่งงานประกอบอาชีพ



ที่มา: GeoThai.net
IP : บันทึกการเข้า
S_ลักษณ์
มัธยม
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 972



« ตอบ #10 เมื่อ: วันที่ 04 กรกฎาคม 2013, 16:14:48 »

อ่า.. ดูเส้นทางแล้วก็หิน เยอะอยู่
แต่เห็นว่าสาขาที่แนะนำ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์พื้นพิภพบูมมาก
จองตัวกันตั้งแต่ปี 1 จบแล้วรวยเลย จริงหรือไม่ถามเจ้าของกระทู้นะ

IP : บันทึกการเข้า
เจริญศิลล์รังสีพาณิชย์
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 184


KUNNIIEZ


« ตอบ #11 เมื่อ: วันที่ 04 กรกฎาคม 2013, 19:40:25 »

อ่า.. ดูเส้นทางแล้วก็หิน เยอะอยู่
แต่เห็นว่าสาขาที่แนะนำ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์พื้นพิภพบูมมาก
จองตัวกันตั้งแต่ปี 1 จบแล้วรวยเลย จริงหรือไม่ถามเจ้าของกระทู้นะ


เงินดีทั้งนั้นแหละคับ แต่ก็ต้องแลกกับเวลาที่ห่างไกลครอบครัว

ผมก็จบหนึ่งในนั้นมาเหมือนกัน
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!