เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 29 มีนาคม 2024, 22:22:13
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  กว่าจะเป็นเชียงราย
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] 2 3 4 5 พิมพ์
ผู้เขียน กว่าจะเป็นเชียงราย  (อ่าน 59969 ครั้ง)
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 14:18:49 »

       คน ล้านนาไม่เคยได้เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ของตัวเอง  ได้เรียนแต่ประวัติศาสตร์ ของภาคกลางแทบทั้งสิ้น ถึงแม้ว่า จะมีกษัตริย์ ของทางเหนือ เป็น”มหาราช” ถึงสองพระองค์ แต่เราก็ไม่ได้เรียนรู้เลยว่า ทั้งสองพระองค์นั้น มีความเป็นมาอย่างไร  และต้นตระกูลผู้ให้กำเนิดของพวกเราเป็นใครมาจากไหน ทั้งที่เรามี อักษรภาษา วัฒนธรรมและประเพณีที่สวยงามเป็นของตนเอง
      เอกสารนี้ผม ขอนำเสนอประวัติศาสตร์เบื้องต้นที่ได้ศึกษา ค้นคว้าและเรียบเรียงใหม่  สำหรับลูกหลาน หรือ  ผู้ที่มีความสนใจใคร่รู้ ได้ศึกษากันไปก่อน ส่วนความถูกต้องหรือเป็นเรื่องจริงหรือไม่  ฝากไว้ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการศึกษาและค้นคว้ากันต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 22 มิถุนายน 2015, 09:38:29 โดย แมงคอลั่น » IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 14:20:25 »

                                     อาณาจักรสุวรรณโคมคำ
ก่อนจะมาถึงนครเชียงแสน

      ตำนานของนครโยนก ก็คือตำนานลี่ผีของเจ้าคำหมั้นวงกฎรัตนะได้กล่าวไว้ มีข้อความดังนี้ :
พระเจ้าสิริวงสา กษัตริย์ของนครโพธิสารหลวง (นครโคตปูระ หรือ โคตบูร หรือ สีโคตรตะบอง เขตเมืองท่าแขกในปัจจุบัน) มีพระราชบุตร 2 พระองค์ องค์แรกมีพระนามว่า      อินทรวงศา และ องค์น้องพระนามว่า ไอยกุมาร เมื่อพระบิดาสวรรคต ราชโอรสองค์โตก็ขึ้นครองราชย์สมบัติ และองค์รองเป็นมหาอุปราช พระยาอินทรวงศามีพระโอรส ทรงพระนามว่า พระยาอินทปฐม และพระยาไอยกุมารมีพระธิดา ทรงพระนามว่า นางอูรสา และ พระโอรส พระธิดาทั้งสองพระองค์ได้อภิเษกสมรสกัน ครั้นพระยาอินทรวงศาสวรรคต พระยาอินทปฐมกุมาร ก็ขึ้นครองราชย์สมบัติแทน
           เมื่อนั้น พระยาไอยกุมาร ผู้เป็นอาและเป็นพ่อตา ได้สละตำแหน่งมหาอุปราช แล้วพาบริวารเดินเรือทวนขึ้นตามแม่น้ำโขง เป็นเวลา 3 เดือน จึงถึงเกาะเขิน ซึ่งตั้งอยู่ด้านซ้ายปากแม่น้ำกก ทางทิศตะวันตก พระยาไอยกุมาร จึงตัดสินใจตั้งราชนครที่เกาะเขิน อันประกอบด้วยครัวเรือนเบื้องต้น 3,000 ครัวเรือน
      ขณะนั้นข่าวดีก็ได้มาถึงพระองค์ว่า ราชธิดาของพระองค์ได้ให้ประสูติพระโอรส
ที่มีเดชานุภาพตั้งแต่ประสูติ และต่อมาก็เกิดอภินิหารขึ้นหลายอย่างในราชสำนักนครโคตรปูระ (โคตรบูร) อันเป็นสาเหตุให้เสนาอำมาตย์ และ ไพร่ฟ้า กลัวว่าจะเกิดภัยพิบัติทำให้บ้านเมืองล่มจมได้
          เมื่อเสนาอำมาตย์เอาความขึ้นทูลถวายพระบิดาผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์เลยทรงรับสั่งให้เอาพระมเหสีและราชบุตรใส่แพลอยน้ำ ครั้นเมื่อพระเจ้าไอยกุมารทรงทราบเรื่องนี้ ก็เสียพระทัยเป็นยิ่งนัก จึงได้ทรงรับสั่งให้ไพร่ฟ้าราษฎรทำการบวงสรวงจุดธูปเทียน โคมไฟ และ ประทีป บูชาพญานาค ให้สว่างทั่วแม่น้ำโขงเป็นเวลา 7 วัน 7 คืนเพื่อขอให้พญานาคชูเอาเรือของพระธิดาและองค์กุมารน้อยไว้ไม่ไหลสู่ลงทะเล (ตามตำนานบอกว่า พญานาคได้สร้างลี่ผีขึ้น จึงปรากฏเป็นดอนขี้นาค เพื่อกั้นแม่น้ำโขง ทำให้แพองค์กุมารน้อยไหลขึ้นเหนือจนถึงเกาะเขิน) การที่บวงสรวงพญานาคโดยการจุดประทีป โคมไฟ ธูปเทียนบูชาไหลไปตามแม่น้ำโขงนี้เอง จึงก่อให้เกิดประเพณีการไหลเรือไฟขึ้น  และ ปฏิบัติกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง ชุมชนใหม่ที่ตั้งขึ้นบนเกาะเขินนั้น จึงได้รับการขนานนามว่า เมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งได้มาจากพระนามขององค์กุมารน้อย ซึ่งมีพระนามว่า สุวรรณมุขทวาร และชื่อของพิธีจุดโคมบวงสรวงพญานาค
ซึ่งเรียกว่า โคมคำ

 เมืองสุวรรณโคมคำนั้น ตั้งขึ้นในสมัยใด และเชื้อกษัตริย์เมืองโพธิสารหลวงนั้นเป็นชาติพันธุ์ใด ?
ตามตำนานของประเทศศรีลังกา ซึ่งท่านฟรังซิสการ์เย เขียนไว้ในหนังสือการสำรวจแม่น้ำโขงของท่าน ในศตวรรษที่ 19 กล่าวไว้ว่า เมืองสุวรรณโคมคำนั้นปรากฏ อยู่ในศตวรรษที่ 5 ของคริสตกาล และตามตำนานน้ำท่วมโลก ซึ่งได้กล่าวถึงพระยาศรีสัตนาคที่ครองเมืองหนองแสแสนย่าน ได้นำกำลัง 7 โกฏิ ( 7 0 ล้าน) ยกลงมาตามแม่น้ำโขง และเป็นต้นกำเนิดของนาค 15 ตระกูล ในหลวงพระบาง   และชาวเมืองโพธิสารหลวง (ศรีโคตรตะบอง หรือ โคตรบูร) นั้นก็เป็นเชื้อขอม
      ตำนานยังบอกว่า เมืองสุวรรณโคมคำนั้น เติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น บ้านเรือนของไพร่พลก็มีถึง 100,000 หลัง  (กำลังคนและจำนวนบ้านเรือนไม่น่าจะเป็นได้)
      ครั้งต่อมา เมืองสุวรรณโคมคำมีการประพฤติไม่ซื่อสัตย์ต่อพ่อค้า ซึ่งเป็นพวกนาคชาวหลวงพระบาง ทำให้เกิดการขัดแย้งกัน ชาวหลวงพระบางจึงได้ยกกำลังมาบุกทำลายเมืองสุวรรณโคมคำจนราบ ทำให้ชาวเมืองแตกตื่นอพยพไปทั่วสารทิศ เช่น ไปศรีสัชนาลัย และบางท่านก็ว่าไปไกลถึงสุวรรณภูมิ(นครชัยศรี)  และได้นำประเพณีไหลเรือไฟไปปฏิบัติด้วย(ประเพณีลอยกระทงมีต้นกำเนิดจากที่นี่และได้สืบทอดจนถึงยุคพญาเม็งรายซึ่ง พญาร่วงจากสุโขทัยได้รับประเพณีนี้ไป)
        เมืองสุวรรณโคมคำ อันเป็นชื่อแรกของนครโบราณแห่งนี้ นับว่าได้ผ่านการถูกทำลาย และ สร้างขึ้นใหม่หลายครั้งหลายหน และมีชื่อเรียกต่าง ๆ มากมาย ในที่สุดก็เหลือให้เห็นแต่ร่องรอยของเมืองร้างอันน่าสะเทือนใจ
(ปัจจุบันนี้ทางแผนกวัฒนธรรม แขวงบ่อแก้ว และ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ประเทศ”สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”ได้มีมาตรการอนุรักษ์และประกาศให้เป็นปูชณียสถานแห่งชาติ เป็นสถานที่อนุรักษ์และหวงห้าม เป็นอุทยานแห่งการศึกษาหาความรู้ แหล่งท่องเที่ยวและผักผ่อนหย่อนใจของนักค้นคว้า นักศึกษา นักอนุรักษ์นิยม และรักษาวัฒนธรรมอันหลากหลาย นั่นก็คือ ธรรมชาติที่สวยงามและปลอดโปร่ง)
IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 14:21:21 »

ยุคอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน(ตำนานสิงหนวัติ)
       ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโยนกนครราชธานีศรีช้างแสน หรือเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินครนั้น เป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก ได้กล่าวถึงมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ชื่อว่า เทวกาละ ครองราชย์สมบัติเป็นใหญ่แก่ไทยทั้งหลายในเมืองนครไทยเทศ อันมีเมือง    ราชคหะ     (ราชคฤห์) เป็นนครหลวงมหากษัตริย์พระองค์นั้น มีราชโอรส 30 พระองค์ ราชธิดา 30 พระองค์ รวมทั้งหมด  60 พระองค์ ราชโอรสองค์แรกมีพระนามว่า พิมพิสารราชกุมาร องค์ที่สองมีพระนามว่า สิงหนวัติกุมาร       (บางตำราเป็นสิงหนติกุมาร และเพี้ยนไปเป็น สีหนติกุมาร หรือศรีหนติกุมาร ก็มี) ด้วยเหตุว่ามีลักษณะและกำลังดุจราชสีห์นั่นเอง
       เมื่อนั้น มหากษัตริย์ผู้เป็นพ่อได้แบ่งราชสมบัติให้แก่ราชโอรสและธิดาทั้ง 60 พระองค์แล้วได้แต่งตั้งให้เจ้าพิมพิสาร โอรสองค์แรกเป็นอุปราชา และให้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาผู้หนึ่งให้อยู่ในเมืองราชคฤห์นครหลวง ส่วนโอรสและราชธิดา 29 คู่นั้น ให้จับคู่กันแล้วแยกย้ายออกไปตั้งบ้านเมืองอยู่ตามที่ต่าง ๆ
     ส่วนเจ้าสิงหนวัติกุมารโอรสที่สองกับน้องหญิงผู้หนึ่งได้แบ่งเอาราชสมบัติพร้อมไพร่พลแสนหนึ่ง แล้วก็เสด็จออกจากเมือง ราชคฤห์นครหลวง ข้ามแม่น้ำสระพูมุ่งหน้าไปทางทิศอาคเนย์ออกจากเมืองราชคฤห์ได้ 4 เดือน “พอถึงเดือน 5 ออก 11 ค่ำ วันศุกร์ ก็จึงได้ไปถึงประเทศที่หนึ่งมีสัณฐานราบเปียงเรียงงาม มีแม่น้ำใหญ่ น้ำฮาม(ไม่เล็กไม่ใหญ่) น้ำน้อย มากนัก ก็บ่พอไกลขรนที (แม่น้ำโขง) เท่าใดสัก 7000 วา(10.4 ก.ม.ประมาณได้แถวๆบ้านแม่ลัวตรงหนองหล่มพอดี) ได้ แลมีน้ำห้วยน้อยอันจักสร้างไร่นาดีนัก แลเป็นแว่นแคว้นเมืองสุวรรณโคมคำเก่าอันร้างไปแล้วนั้น ในกาลนั้น มีแต่พวกลัวะ มิละขุ คือชาวป่าชาวดอยทั้งหลาย ยังอยู่ในซอกห้วยราวเขาภูดอยไคว่จุที่แล้ว และมีขุนหลวงผู้หนึ่ง นามว่า ปู่เจ้าลาวจก เป็นใหญ่แก่มิลักขุทั้งหลายก็ยังอยู่ดอยดินแดงอันมีหนประจิมทิศประเทศนั้น (ดอยตุง)ในตำนานนั้นได้กล่าวอีกว่า “เมื่อนั้น ท่านก็ให้แปงปางจอดยั้งเยาเอาชัยอยู่ที่นั้น รอดเดือนสี่ ขึ้นหนึ่งค่ำ วันศุกร์ มหาศักราชขึ้นใหม่แถมตัวหนึ่งเป็น 18 ตัวปีล่วงเป้า วันนั้นยังมีพญานาคตัวหนึ่ง มีชื่อว่า “พันธุนาคราช” ก็มาเนรมิตตนเป็น พราหมณ์ผู้หนึ่ง แล้วเข้ามาสู่ที่แห่งเจ้าสิงหนวัติกุมาร แล้วกล่าวว่า “ดูกร เจ้ากุมารท่านนี้ เป็นลูกท้าวพระยา มหากษัตริย์ หรือว่าเป็นลูกเศรษฐีหรือคหบดี กระฎุมพี แลว่าพ่อค้า อั้นจา ลุกบ้านใดเมืองใดมานั้นจาแลเจ้ากุมารเห็นว่ามีประโยชน์อันใดจา จึงมายั้งพักยังสถานที่นี้  ว่าดังนี้ เมื่อนั้นเจ้าสิงหนุวัติกุมาร กล่าวว่าดูกรท่านพราหมณ์ เรานี้หากเป็นลูกกษัตริย์ตนหนึ่ง ชื่อว่าเทวกาละ ผู้เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองราชคฤห์นครหลวงพุ้นแล เรามานี่เพื่อจักแสวงหาที่ควรสร้างบ้านตั้งเมืองอยู่แล ว่าอั้น เมื่อนั้นนาคพราหมณ์ก็ว่า ดีแท้แล ท่านจุ่งมาตั้งที่นี้ให้เป็นบ้านเมืองอยู่เทอะ จักวุฒิจำเริญดี จักบริบูรณ์ด้วยข้าวของราชสมบัติประการหนึ่ง ข้าศึกศัตรูทั้งหลาย เป็นต้นว่าศึกมหานครเมืองใหญ่ทั้งหลายจักมารบก็เป็นอันยาก เหตุว่าแม่น้ำใหญ่ สะเภาเลากาจักมาก็ไม่ถึง แต่ว่าขอให้มีสัจจะรักษายังข้าคนและสัตว์ทั้งหลายแด่เทอะ”
       เมื่อนั้น เจ้าสิงหนวัติกุมารจึงกล่าวว่า “ดูกร ท่านพราหมณ์ ท่านนี้อยู่ที่ใด อยู่บ้านเมืองใด และมีชื่อว่าดังฤา” นาคพราหมณ์ก็กล่าวว่า “ข้านี้มีชื่อว่าพันธุพราหมณ์ อยู่รักษาประเทศที่นี่มาตั้งแต่ตระกูลเค้ามาแล ท่าน  จุ่งใช้สัปปรุริสะแห่งท่านไปตามดูที่อยู่แห่งข้าเทอะ ว่าอั้น” แล้วก็กล่าวอำลาเจ้าสิงหนวิตกุมารออกไปแล เจ้าสิงหนวัติกุมารจึ่งใช้ให้บ่าวแห่งท่านตามไปดู 7 คน ไปทางหนหรดี ไกลประมาณ 1,000 วา(1วา =2 เมตร =2 ก.ม.) แล้วก็ลวดหายไปเสียแล เมื่อนั้นบ่าวทั้ง 7 คน จึงกลับคืนมาบอกแก่เจ้าแห่งเขา ตามดั่งที่ได้เห็นมานั้นทุกประการแล เจ้าสิงหนวัติกุมารได้ยินคำดังนั้นก็สลั่งใจอยู่แล ส่วนว่านาคพราหมณ์ผู้นั้นก็เอาเพศเป็นพญานาคดังเก่าแล้วก็ทวนบุ่นไปให้เป็นเขตคูเวียง กว้าง 3,000 วา รอดชุกน้ำ แล้วก็หนีไปสู่ที่อยู่แห่งตนในกลางคืนนั้นแล ครั้นรุ่งแจ้งแล้ว เจ้าสิงหนวัติกุมารเห็นเป็นประการฉันนั้นแล้ว ก็มีใจชื่นชมยิ่งนัก จึงให้หาพราหมณ์อาจารย์มา แล้วก็ตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้มาบอกให้แก่เรานั้น จักเป็นเทวบุตร เทวดา พระยาอินทร์พรหมดังฤา พราหมณ์อาจารย์จึงกล่าวว่า ตามดั่งข้าผู้เฒ่ามาพิจารณาดูนี้ คงจะเป็นพญานาคเป็นแน่แท้ เมื่อนั้นก็พร้อมกันเข้ายังเรือนหลวง แล้วตั้งหอเรืองบริบูรณ์แล้ว ก็เข้าอยู่เป็นเมืองใหญ่ แล้วพราหมณ์อาจารย์ผู้นั้นก็พิจารณา เอาชื่อพญานาคพันธุ์นั้น กับชื่อกุมารผู้เป็นเจ้านั้น ชื่อสิงหนวัตินั้นมาผสมกัน แล้วเรียกนามเมืองนั้นว่า เมืองพันธุสิงหนวัตินคร นั้นแล
        เมื่อเจ้าสิงหนวัติกุมารได้เป็นเจ้าเมืองพันธุสิงหนวัตินครแล้ว ได้มีอาชญาเรียกว่าเอาขุนหลวง มิลักขุทั้งหลาย ให้เข้ามาสู่สมภารแห่งพระองค์นั่นแล แต่นั้นไปภายหน้าได้ 3 ปี ยังมีเมืองอันหนึ่งอยู่หนหรดี ไกลประมาณ 4 คืนทาง มีข้างหัวกุกกะนที (แม่น้ำกก) ที่นั่น ชื่อว่าเมืองอุมงคเสลานคร เมืองนั้นเป็นที่อยู่ของชาวขอมทั้งหลาย(มีนักประวัติศาสตร์แห่งเชียงรายสันณิษฐานว่าเป็นพื้นที่ในเขต อ.เวียงไชย แต่หัวน้ำกกอยู่เขต อ.แม่อายปัจจุบัน) และส่วนว่าเมืองขอมนี้ก็เป็นเมืองพร้อมกันกับ เมืองสุวรรณโคมคำ แต่ครั้งสมัยศาสนาพระกัสสปะและยังไม่เคยเป็นเมืองร้างเลย พระยาขอมเจ้าเมืองอุมงคเสลานครนั้น มีมานะกระด้างไม่ยอมเข้าสู่บรมโพธิสมภารเจ้าสิงหนวัติ พระองค์จึงยกกำลังรี้พลไปรบเอาเมืองอุมงคเสลานครได้เข้าสู่ บรมโพธิสมภารแต่นั้นมา มหาศักราชได้ 22 ตัว ปีดังไส้ ตั้งเมืองพันธุสิงหนวัตินครได้ 5 ปี ถึงปีนั้นท่านก็ปราบได้ล้านนาได้ทั้งมวลแล ฯ
  เสนาอำมาตย์ พราหมณ์อาจารย์ ไพร่ไทยทั้งหลาย ก็พร้อมใจกันราชาภิเษกยังเจ้าสิงหนวัติราชกุมารขึ้นเป็นเอกราชมหากษัตริย์ ปราบล้านนา ทั้งมวล ขนานพระนามว่าเจ้าพระยาสิงหนวัติราชกษัตริย์ตั้งแต่นั้นมา และเมืองนี้ก็บริบูรณ์ด้วยผู้คน ช้างม้าวัวควาย สมบัติมากนัก เกิดเป็นเมืองใหญ่แต่นั้นมา มีอาณาเขตดังนี้
       ในทิศบูรพา มีแม่น้ำขรนทีเป็นแดน
       ในทิศปัจฉิม มีดอยรูปช้างชุนน้ำย้อยมาหาแม่คงเป็นแดน
       ในทิศอุดร มีต้าง (เขื่อน) หนองแสเป็นแดน
       ในทิศทักษิณ มีลวะรัฐเป็นแดน
       บ้านเมืองก็มีความสงบสุขร่มเย็นตลอดสมัยของพระเจ้าสิงหนวัติ พระองค์ มีอายุได้ 120 ปี (บางตำนานก็ว่าครองราชย์ได้ 52 ปี) ในภายหลังอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน ที่มีเมืองพันธุสิงหนวัตินครเป็นเมืองหลวงนั้น ตำนานได้กล่าวไว้ว่า ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องต่อกันมาประมาณกว่า 40 พระองค์ ซึ่งบางพระองค์ก็จะปรากฏพระนาม ในตำนานของการสร้างเมืองใหม่ หรือโบราณสถานที่ยังคงมีมาอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน ได้แก่ พระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 เป็นผู้สร้างพระธาตุเจ้าดอยตุง โอรสองค์ที่สองของพระเจ้ามังรายนราช กษัตริย์องค์ที่ 4 คือ พระองค์ไชยนารายณ์ เป็นผู้สร้างเวียงไชยนารายณ์ พระองค์เว่าหรือพระองค์เวา กษัตริย์องค์ที่ 10 เป็นผู้สร้างพระธาตุดอยเวา อำเภอแม่สาย เป็นต้น
รายนามกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน




1. สิงหนกุมาร   2. คันธกุมาร    3. อชุตราช
4. มังรายนราช   5. พระองค์เชือง   6. พระองค์ชืน
7. พระองค์ดำ   8. พระองค์เกิง   9. พระองค์ชาติ
10. พระองค์เวา    11. พระองค์แวน   12. พระองค์แก้ว
13. พระองค์เงิน   14. พระองค์ตน   15. พระองค์งาม
16. พระองค์ลือ   17. พระองค์รวย   18. พระองค์เชิง
19. พระองค์กัง   20. พระองค์เกา   21. พระองค์พิง
22. พระองค์ศรี   23. พระองค์สม   24. พระองค์สวรรย์ (สวน)
25. พระองค์แพง   26. พระองค์พวน   27. พระองค์จักร์
28. พระองค์ฟู    29. พระองค์ผัน   30. พระองค์วัง
31. พระมังสิงห์    32. พระมังแสน   33. พระมังสม
34. พระองค์ทิพ   35. พระองค์กอง   36. พระองค์กม (กลม)
37. พระองค์ชาย (จาย)    38. พระองค์ชิน (จิน)   39. พระองค์ชม (จม)
40. พระองค์กัง (ปัง)   41. พระองค์กิง (พึง)   42. พระองค์เกียง (เปียง)
43. พระองค์พัง (พังคราช)   44. ทุกชิต   45. มหาวัน
46. มหาไชยชนะ      
       อาณาจักรโยนก ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนสมัยพระองค์มหาไชยชนะ อาณาจักรจึงได้ถึงกาลล่มจม ดังปรากฏในตำนานสิงหนวัติที่กล่าวว่า ได้มีชาวเมืองไปได้ปลาไหลเผือกตัวใหญ่มากและได้ตัดเป็นท่อนแจกกันกินทั่วทั้งเวียง และในคืนนั้นก็ได้เกิดมีเหตุเสียงดังสนั่นเหมือนกับแผ่นดินไหว ถึงสามครั้ง จนเป็นเหตุให้เมืองโยนกถล่มกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นน่าอัศจรรย์ที่ยังคงเหลือบ้านของหญิงหม้ายคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อปลานั้นจากชาวเมืองไปบริโภค ในปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าวจึงได้มีผู้สันนิษฐานไปต่าง ๆ กัน บ้างก็สันนิษฐานว่าคือทะเลสาบเชียงแสน (หนองบงกาย) ในเขตอำเภอเชียงแสน บ้างก็ว่าคือเวียงหนองล่ม (เวียงหนองหรือเมืองหนองก็ว่า)  เนื่องจากมีชื่อสถานที่ต่าง ๆ ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น เช่น บ้านแม่ลาก ก็หมายถึงตอนที่ชาวเมืองได้ช่วยกันลากปลาไหลตัวนั้น บ้านแม่ลัว (คงเลือนมาจากคำว่าคัว) ก็หมายถึงตอนที่ได้ชำแหละปลาไหลนั้นเพื่อแจกจ่ายกัน แม่น้ำกก หมายถึงตัดเป็นชิ้นๆ ซึ่งชื่อดังกล่าวนี้ปัจจุบันมีอยู่ในท้องที่ของอำเภอเชียงแสนและ อำเภอแม่จัน และยังมีผู้สันนิษฐานว่าคือหนองหลวง ในเขตอำเภอเวียงชัยอีกด้วย (ตำนาน-เรื่องเล่าขานสืบต่อกันมา อาจจะไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรม)
        หลังจากที่อาณาจักรโยนกได้ล่มสลายพร้อมด้วยราชวงศ์ดังกล่าวแล้ว ชาวเมือง จึงได้ปรึกษากันพร้อมใจกันยกให้ขุนลัง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาเป็นผู้ปกครองแทนราชวงศ์ และได้มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชื่อ เวียงปรึกษา (เวียงเปิ๋กษา) ซึ่งเมืองใหม่นี้ ว่ากันว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย เนื่องจากผู้นำได้มาจากการประชุมปรึกษาหารือกันคล้ายระบบการเลือกตั้งจึงเป็นที่มาของชื่อเวียงปรึกษา เวียงปรึกษาได้มีผู้ปกครองสืบต่อกันมา 15 คน เป็นระยะเวลา 93 ปี


IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 14:23:34 »

ยุคหิรัญนครเงินยาง
              ได้กล่าวถึงลวจังกราชหรือลวจักกราช ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้ ซึ่งในหลักฐานบางฉบับเรียกว่า ราชวงศ์ลาว เนื่องจากพระนามของกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ล้วนขึ้นต้นด้วยคำว่า “ลาว” มีอำนาจอยู่ในเมืองเชียงลาว (เชียงเรือน) สันนิษฐานว่าอยู่ใกล้บริเวณดอยตุงและแม่น้ำสาย ต่อมาได้ขยายจากเมืองเชียงลาวมาสู่เมืองเงินยางหรือเงินยัง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่าเมืองเงินยางนี้อยู่ใกล้กับเมืองเชียงแสน หรืออาจเป็นบริเวณเดียวกันก็เป็นได้ เมืองเงินยางมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “หิรัญนคร” อันเป็นที่มาและเรียกชื่อเมืองนี้ว่า หิรัญนครเงินยาง                                                                                 
         ลวจังกราชเป็นใครมาจากไหน จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับของวัดพระงาม โดยอินทวังสภิกขุ  จารไว้เมื่อ จ.ศ.๑๒๑๖(พ.ศ. ๒๔๖๙) กล่าวไว้ว่า  หลังจากที่อาณาจักรโยนกล่มสลายลงแผ่นดินถิ่นล้านนาหามีกษัตริย์ใดที่พร้อมจะทะนุบำรุงพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองได้ กษัตริย์อนิรุทธรรมิกราช และท้าวพระญาต่าง ๆในชมพูทวีปจึงร้องขอต่อองค์อินทราธิราช เพื่อหาผู้มาปกครองแผ่นดินล้านนา แล้วองค์อินทราธิราชเจ้าก็เห็นยังเทวบุตรตนหนึ่งชื่อ ลวจังกรเทวบุตร อันมีบุญสมพารหากได้กัตตาธิการมามากอยู่เสวยทิพย์สมบัติในชั้นฟ้าตาวติงสา มีอายุจักเสี้ยงดั่งอั้น องค์อินทราธิราชจึงได้เข้าไปสู่สำนักของ ลวจังกรเทวบุตรแล้วกล่าวอัญเชิญให้ไปเกิดในเมืองมนุษย์ที่เมืองเชียงลาวเพื่อเป็นมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เหนือผู้ใดในแว่นแคว้นล้านนาและช่วยรักษาพุทธศาสนาไว้ด้วย
         “ลวจังกรบุตรก็รับเอาคำพระยาอินทาว่า สาธุ ดีดีแล ว่าแล้วก็จุติแต่ชั้นฟ้าลงมากับบริวารแห่งตน หนึ่งพัน ก่ายเกิ๋นเงินลงมาจากชั้นฟ้า บ้างก็ว่า ก่ายมาจากปลายดอยตุง ลงมาเกิดเป็นมานพน้อยวัย ๑๖ ขวบปี โดยมีเครื่องทรงอันอลังการบนอาสนะใต้ต้นพัทระ หรือต้นตัน หรือพุทรา ริมฝั่งน้ำแม่ใสใกล้เมืองชยวรนคอรหรือว่าเมืองเชียงลาวส่วนบริวารทั้งพันทั้งหญิงแลชายก็เกิดเป็นกุมารแลกุมารี อันได้ ๑๖ ขวบเช่นกันฝ่ายผู้คนในเมืองเชียงลาวเห็นเป็นอัศจรรย์จึงได้อัญเชิญให้เสวยราชสมบัติเป็นใหญ่ในเมืองชยวรนคอรได้ชื่อว่า    ”พระญาลวจังกราชะ”และในการนับปีจุลศักราชก็เริ่มขึ้นในปีนี้เอง    (เริ่มนับปีจุลศักราชที่ ๑ที่ พ.ศ. 1181)
        (การอ้างความเป็นเทวบุตร ช่วยให้การปกครองง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นลูกหลานปู่เจ้าลาวจก แห่งดอยตุง ซึ่งเดิมเป็นชาวป่าชาวดอยต่อมาได้รับเอาอารยะธรรมจากโยนกที่ความเจริญรุ่งเรืองก็มีการพัฒนาตัวเอง เมื่อราชวงศ์สิงหนวัติล่มสลาย เชื้อสายลวจักราชมีความเข้มแข็งจึงยกตนเป็นผู้นำ –(ผู้เรียบเรียง)   
 ลวจังกราช (ลาวจง) มีราชบุตร 3 พระองค์ คือ ลาวครอบ ลาวช้าง และลาวเกล้าแก้วมาเมือง ลวจังกราชได้ส่งราชบุตรออกไป สร้างบ้านแปงเมือง คือ ให้ลาวครอบราชบุตรองค์โตไปครองเมืองเชียงของ ลาวช้างราชบุตรองค์ที่สองไปครองเมืองยอง ส่วนลาวเกล้าแก้วมาเมือง ราชบุตรองค์เล็กนี้ให้ครองเมืองเชียงลาวสืบเนื่องมา ด้วยเหตุนี้ภายหลังจึงทำให้ราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช) เป็นต้นของราชวงศ์เมืองต่าง ๆ เช่น พะเยา เชียงของ เชียงคำ จนถึงสมัยพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงรายแล้ว พบว่าเจ้าเมืองต่าง ๆ ได้มีเชื้อสายมาจากวงศ์ลวจังกราชด้วยกัน จึงมีพระราโชบายรวบรวมให้เป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
รายนามกษัตริย์ราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช หรือวงศ์หิรัญนคร)
รัชกาลที่ 1 ลวจังกราช (ลาวจง)
รัชกาลที่ 2 ลาวเกล้าแก้วมาเมือง
รัชกาลที่ 3 ลาวเส้า (ลาวเสา)
รัชกาลที่ 4 ลาวตัง (ลาวพัง)
รัชกาลที่ 5 ลาวกลม (ลาวหลวง)
รัชกาลที่ 6 ลาวเหลว
รัชกาลที่ 7 ลาวกับ
รัชกาลที่ 8 ลาวคิม (ลาวกิน)
รัชกาลที่ 9 ลาวเคียง
รัชกาลที่ 10 ลาวคิว
รัชกาลที่ 11 ลาวเทิง (ลาวติง)
รัชกาลที่ 12 ลาวทึง (ลาวเติง)   รัชกาลที่ 13 ลาวคน
รัชกาลที่ 14 ลาวสม
รัชกาลที่ 15 ลาวกวก (ลาวพวก)
รัชกาลที่ 16 ลาวกิว (ลาวกวิน)
รัชกาลที่ 17 ลาวจง
รัชกาลที่ 18 จอมผาเรือง
รัชกาลที่ 19 ลาวเจิง (ลาวเจื๋อง)
รัชกาลที่ 20 ลาวเงินเรือง
รัชกาลที่ 21 ลาวซิน (ลาวชื่น)
รัชกาลที่ 22 ลาวมิง
รัชกาลที่ 23 ลาวเมือง (ลาวเมิง)
รัชกาลที่ 24 ลาวเมง
       ลาวจง(ร.17)มีราชบุตร 2 พระองค์ องค์พี่ชื่อ ลาวชิน ได้ให้ปกครองเมืองไชยนารายณ์(เวียงไชย) ส่วนผู้น้องชื่อจอมผาเรืองนั้น ให้ครองเมืองเชียงลาว ต่อมา ขุนขอมธรรมโอรสองค์ที่ ๒ ของขุนเงินได้ไปสร้างเมืองภูกามยาว(พะเยา)ในปี พ.ศ. ๑๖๐๒ หรือ จ.ศ. ๔๒๑  มีราชบุตรชื่อลาวเจื่อง (ขุนเจื่อง)ขุนเจื๋องตอนประสูติโหรถวายคำพยากรณ์ว่าราชบุตรองค์นี้จะเป็นจักรพรรดิราชปราบชมพูทวีป  มีบุญญาธิการมาก เวลาประสูติ มีของทิพย์เกิดขึ้น 3 อย่าง คือ แส้ทิพย์ พระแสงทิพย์ คนโททิพย์   ชื่อว่า“ขุนเจื๋อง” ต่อมาอีก 3 ปี  ได้ราชบุตรอีกพระนามว่า “ขุนจอง” หรือ “ชิง” เมื่อขุนเจื๋องเจริญวัยขึ้น ทรงศึกษาวิชายุทธศาสตร์ เช่น วิชาดาบ มวยปล้ำ เพลงชัย จับช้าง จับม้าและเพลงอาวุธต่างๆ พระชนมายุได้ 16 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองน่านเจ้าผู้ครองเมืองน่านเห็นความสามารถแล้วพอพระทัย ยกธิดาชื่อ“จันทร์เทวี” ให้เป็นชายาขุนเจื๋อง พระชนมายุได้ 17 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองแพร่ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่พอพระทัย จึงยกธิดาชื่อ “นางแก้วกษัตริย์” ให้เป็นชายา พระราชทานช้าง 200 เชือก ขุนจอมธรรมปกครองเมืองพะเยาได้ 24 ปี พระชนมายุได้ 49 พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ขุนเจื๋องได้ครองราชสืบแทน ครองเมืองได้ 6 ปี มีข้าศึกแกว (ญวน) ยกทัพมาประชิดนครเงินยางเชียงแสน ขุนชินผู้เป็นลุง ได้ส่งสาส์นขอให้ส่งไพร่พลไปช่วยขุนเจื๋องได้รวบรวบรี้พลยกไปชุมนุมกันที่สนามดอนไชยหนองหลวง และเคลื่อนทัพเข้าตีข้าศึกแตกกระจัดกระจายไป เมื่อขุนชินทราบเรื่องก็เลื่อมใสโสมนัสยิ่งนัก ทรงยกธิดาชื่อ “พระนางอั้วคำคอน” ให้และสละราชสมบัตินครเงินยางเชียงแสนให้ขุนเจื๋องครองแทนเมื่อขุนเจื๋องได้ครองราชเมืองเงินยางแล้ว ทรงพระนามว่า “พระยาเจื๋องธรรมมิกราช” ได้มอบสมบัติให้โอรสชื่อ“ลาวเงินเรือง” ครองเมืองพะเยาแทนหัวเมืองใหญ่น้อยเหนือใต้ยอมอ่อนน้อม ได้ราชธิดาแกวมาเป็นชายานามว่า “ นางอู่แก้ว” มีโอรส 3 พระองค์คือ ท้าวผาเรืองยี่คำห้าว ท้าวสามชุมแสง ต่อมายกราชสมบัติเมืองแกวให้ท้าวผาเรือง ให้ท้าวคำห้าวไปครองเมืองล้านช้าง ท้าวสามชุมแสงไปครองเมืองน่าน ต่อมาได้โยธาทัพเข้าตีเมืองต่างๆ ที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์ ทรงชนช้างกับศัตรูเสียทีข้าศึกเพราะชราภาพ จึงถูกฟันคอขาดและสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง พวกทหารจึงนำพระเศียรไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์เมืองหิรัญนครเชียงแสน ขุนเจื๋อง ประสูติเมื่อปีพุทธศักราช 1641 ครองราชย์สมบัติเมื่อพระชนมายุ 24 ปีครองแค้วนล้านนาได้ 24 ปี ครองเมืองแกวได้ 17 ปี รวมพระชนมายุได้ 67 ปี   ในสมัยของลาวเจื่องนี้ได้ให้ราชบุตรอีกหลายพระองค์ไปครองยังเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองล้านช้าง เมืองน่าน เป็นต้น อันเป็นการกระจายราชวงศ์ลาว   (ลวจังกราช) ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ อีกสมัยหนึ่ง(ในยุคนี้ ล้านนา และล้านช้างเป็นปึกแผ่นเดียวกัน และมีความมั่นคงมากที่สุดยุคหนึ่งท่านน่าจะเป็นมหาราชอีกสักพระองค์เพราะความเก่งกล้าสามารถของท่านจนได้เกิดตำนาน ท้าวฮุ่ง ท้าวเจื๋องซึ่งเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของอีสาน-กิจจา)
       มาจนถึงสมัยลาวเมง(ร.24) ลาวเมืองพระบิดาได้สู่ขอนางอั้วมิ่งจอมเมืองหรือนางเทพคำขยาย ธิดาท้าวรุ้งแก่นชาย เจ้านครเชียงรุ้ง เมืองใหญ่แว่นแคว้นสิบสองปันนา มาอภิเษกเป็นชายาเจ้าลาวเมง ครั้นภายหลังอภิเษกแล้วไม่นานเท่าใด นางเทพคำขยายก็ทรงมีครรภ์แล้วประสูติพระราชโอรส เมื่อจ.ศ. ๖๐๑( พ.ศ. 1782) ทรงพระนามว่า “เจ้ามังราย”
       อาณาจักรหิรัญนครเงินยาง (เชียงลาว หรือเชียงเรือง หรือหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ก็เรียก) นั้น เคยมีความรุ่งเรืองมาก่อน มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันในราชวงศ์ลวจังกราชมาหลายพระองค์ มาจนถึงสมัยพญามังราย จึงได้มีการสร้างเมืองใหญ่ขึ้นที่เชียงราย(จ.ศ.๖๒๔-พ.ศ.๑๘๐๕) และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เริ่มมีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีการใช้อักษรล้านนาบันทึกเรื่องราวต่างๆนับแต่การสร้างเมืองเชียงรายเป็นต้นมา
IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 14:24:48 »

ยุคเชียงรายเชียงใหม่(พญามังราย)
พญามังราย ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อ พ.ศ. 1802 ในขณะมีพระชนม์ได้ 21 ปี พระองค์จึงได้ให้พระยามหานครทั้งหลายไปถวายบังคม เมืองใดขัดแข็งมิยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี ก็แต่งกองทัพยกออกไปปราบปราม ตีได้เมืองมอบ เมืองไร เมืองเชียงคำ ได้ปลดเจ้าผู้ครองนครออกแล้วแต่งตั้งให้ขุนนางอยู่รั้งเมืองเหล่านั้น แต่นั้นหัวเมืองทั้งหลาย มีเมืองเชียงช้าง เป็นต้น ก็พากันอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น
       เมื่อรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือได้แล้ว คิดจะปราบหัวเมืองฝ่ายใต้ จึงได้ลงไปอยู่ที่เมืองหนึ่งชื่อเมืองว่า เวียงเต่ารอง เผอิญช้างมงคลของพญามังรายได้พลัดไป พญามังรายเสด็จตามช้างไปถึงยอดจอมทองริมแม่น้ำกก เห็นภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิดี จึงให้สร้างพระนครไว้ ณ ที่นั้นก่อปราการโอบล้อมเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางเมือง ขนานนามว่า เมืองเชียงราย ใน พ.ศ. 1805 จากการคำนวณวันและเวลาโดยสมาคมโหรแห่งประเทศไทยสรุปได้ว่า เวียงเชียงรายสร้างขึ้นตามฤกษ์ ๑๗.๔๘ นาฬิกา ของวันที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๑๘๐๕ จุลศักราช ๖๒๔  แล้วพญามังรายก็ยกจากเมืองหิรัญนครเงินยาง ขึ้นมาประทับอยู่ที่เมืองเชียงรายในปีเดียวกันนี้ยังได้ตีเมืองเชียงตุงอีกด้วย ถัดมาอีก 3 ปี พญามังรายได้เสด็จจากเมืองเชียงรายไปประทับอยู่ที่เมืองฝาง (เวียงไชยปราการ) โดยมีพระราชประสงค์ที่จะแผ่ขยายอาณาเขตไปทางล้านนา หลังจากนั้น 1 ปี ก้ได้ยกทัพไปตีเมืองผาแดง เชียงจอง ตีได้เมืองเชียงจองแล้วก็กลับประทับที่เมืองฝางอีก ต่อมาราว 6 ปี ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองเชิง แล้วกลับมาประทับ ณ เมืองฝางดังเก่า
       เมืองฝางที่พญามังรายประทับอยู่ติดต่อกับแคว้นล้านนาพ่อค้าวานิชชาวเมืองหริภุญไชยไปมาที่เมืองฝางเป็นอันมาก พญามังรายทราบว่าเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ ก็อยากได้ไว้ในอำนาจ จึงทรงให้ อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองหริภุญไชย แล้วจึงสามารถตีเมืองหริภุญไชยจากพระยายีบาได้ในเวลาต่อมา รวมทั้งตีได้เมืองเขลางค์จากพระยาเบิก เจ้าเมืองเขลางค์ ซึ่งเป็นน้องของพระยายีบาในภายหลังอีกด้วย
       ในปี พ.ศ. 1818 พญามังรายได้ให้ราชบุตรองค์ใหญ่ชื่อ ขุนเครื่อง มาครองเมืองเชียงราย ขุนเครื่องได้เชื่อถ้อยคำขุนใสเรียงคิดการกบฎ พญามังรายจังได้ออกอุบายให้ขุนเครื่องไปเฝ้ายังเมืองฝาง แล้วให้อ้ายเผียนซุ่มริมทางดักยิงด้วยหน้าไม้ปืนผา (หน้าไม้ที่อาบยาพิษ) ถูกขุนเครื่องตาย พญามังรายจึงได้กลับมาครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองเชียงรายอีกครั้ง
       พ.ศ. 1819 พญามังรายได้ยกกองทัพไปตีเมืองพะเยา พระยางำเมือง เจ้าเมืองพะเยาเห็นว่าสู้ด้วยกำลังมิได้ จึงยกกองทัพออกไปรับปลายแดน ต้อนรับอย่างไมตรี แล้วยกตำบลปากน้ำให้แก่พญามังราย พญามังรายก็รับปฏิญาณเป็นมิตรกัน ต่อมาได้ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี พระยาหงสาวดีสุทธโสม เจ้าเมือง จึงได้ยกนางปายโค พระธิดา ให้เป็นราชธิดา เพื่อขอเป็นพระราชไมตรี ในภายหลังได้ยกกองทัพไปตีเมืองพุกามอังวะ เจ้าเมืองอังวะได้นำเอาเครื่องราชบรรณาการมาถวายต้อนรับขอพระราชไมตรีด้วย ในครั้งนี้ได้นำเอาช่างต่าง ๆ เช่น ช่างฆ้อง ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างคำ ช่างทอง กลับมาเผยแพร่อีกด้วย พร้อมทั้งได้บำรุงพระพุทธศาสนาโดยได้รับอิทธิพลตามแบบอย่างของอังวะ                                                                                                                                             ในปีพ.ศ. 1839 พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ และขนานนามเมืองว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” พระองค์ได้เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ตราบจนสวรรคตด้วยอสุนีบาต(ฟ้าผ่า) ขณะเสด็จประพาสกลางเมืองเมื่อ พ.ศ. 1860 ส่วนเมืองเชียงรายนั้นได้ให้ขุนครามมาครองเมืองแทน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เมืองเชียงรายเริ่มลดบทบาทลง และในขณะเดียวกัน เมืองเชียงใหม่ก็ได้เริ่มมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและรุ่งเรืองอย่างสูงสุดในสมัยของพญามังราย ในยุคนี้นับว่าเป็นยุคที่อาณาจักรล้านนามีอำนาจและอิทธิพลมากที่สุด

 
ที่บรรจุอัฐิของพญาเม็งรายมหาราช ตามประวัติกล่าวว่าพระเจ้าไชยสงคราม ราชโอรสพระเจ้าเม็งรายเมื่อได้มอบราชสมบัติให้พระเจ้าแสนภูราชโอรสขึ้นครองนครเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้นำอัฐิพระราชบิดามาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และได้โปรดเกล้าฯ สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระราชบิดาไว้ ณ ดอยงำเมืองแห่งนี้
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
       เมื่อพญามังรายสวรรคต พระยาไชยสงคราม (ขุนคราม) ราชโอรส จึงครองเมืองเชียงรายต่อมา และสถาปนาให้พระยาแสนภู โอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 1861 ใน พ.ศ. 1870 พระยาไชยสงครามถึงแก่ทิวงคต พระยาแสนภูได้ให้เจ้าคำฟูราชโอรสไปครองเมืองเชียงใหม่ แล้วพระองค์ได้กลับมาครองเมืองเชียงราย
       รุ่งขึ้นปี พ.ศ. 1871 พระยาแสนภูมีพระราชประสงค์จะสร้างพระนครอยู่ใหม่ต้องการชัยภูมิที่ดี ขุนนางได้สำรวจหาได้ที่เมืองเก่าริมแม่น้ำโขง อันเป็นเมืองโบราณของเวียงไชยบุรีจึงโปรดให้สร้างนครใหม่ขึ้นที่นั้น เอาแม่น้ำโขงเป็นคูปราการเมืองด้านตะวันออกอีก 3 ด้าน ให้ขุดโอบล้อมพระนครไว้ ตั้งพิธีฝังหลักเมืองวันศุกร์ เดือน 5 (เดือน 7 เหนือ) ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 1871 ขนานนามว่า หิรัญนครชัยบุรีศรีเชียงแสน (ตามพระนามของพระองค์) แต่คนต่อมาภายหลังเรียกว่า เชียงแสน คืออำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน ซึ่งยังมีซากกำแพงเมืองปรากฏอยู่
        พระยาแสนภู ครองอยู่เมืองเชียงแสนได้ 7 ปี ก็ได้ถึงแก่ทิวงคต พระยาคำฟู ราชโอรสจึงได้ครองเมืองเชียงแสนต่อมา พระยาคำฟูจึงได้ให้ท้ายผายูราชโอรสไปครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระยาคำฟูถึงแก่ทิวงคต ท้ายผายู ราชโอรส ซึ่งครองเมืองเชียงใหม่อยู่ ก็ได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมา แล้วให้ท้าวกือนา (ตื้อนา) ราชโอรส มาครองเมืองเชียงรายแทน นับแต่นั้นมาเมืองเชียงราย (รวมทั้งเชียงแสนด้วย) ได้เริ่มมีฐานะคล้ายเมืองลูกหลวง โดยมีเชียงใหม่เป็นเมืองหลวง แต่ก็ยังคงมีเชื้อพระวงศ์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ สุดท้ายในสมัยพระยากลม เป็นเจ้าเมืองเชียงแสน โดยมีพระเจ้าเมกุฏครองเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2101 เมืองเชียงใหม่และเชียงแสนก็เสียให้แก่บุเรงนอง เจ้ากรุงหงสาวดี อาณาจักรล้านนา (รวมทั้งเชียงรายและเชียงแสนด้วย) จึงได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่นั้นมา แต่มีบางครั้งก็เป็นอิสระและบางครั้ง ก็ตกอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา รวมเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับ 200 ปี จนถึงสมัยธนบุรี แม้ว่าบางสมัยจะมีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อ เป็นอิสระจากพม่าแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ในระยะหนึ่งพม่าได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนให้เป็นเมืองเอกในการปกครอง เนื่องจากต้องการให้เป็นหัวเมืองเพื่อป้องกัน การรุกรานจากรุงศรีอยุธยา และยังสามารถใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียงในยามศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย


ลำดับเจ้าผู้ครองเมืองเชียงราย
๑. พญามังราย
๒. ขุนเครื่อง
๓. พญามังราย(ครั้งที่ ๒)
๔. พญาไชยสงคราม
๕. พญาแสนภู
๖. ท้าวมหาพรหม
๗. ท้าวยี่กุมกาม
๘. หมื่นค้อม
๙. ท้าวบุญเรือง
๑๐. พระยอดเชียงราย
            นับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๑๘๑๗ พญาแสนภูได้เสด็จไปสร้างเมืองเชียงแสนแล้วปล่อยให้มุขอำมาตย์อยู่รักษาเมือง จึงทำให้เมืองเชียงรายขาดความสำคัญลง แต่ทางเมืองฝาง เชียงใหม่ พะเยาและเชียงแสนมีความรุ่งเรือง     ต่อมาเชียงรายก็ถูกยึดครองจากมอญ และต่อมา ล้านนา รวมทั้งเผ่าไท ต่าง ๆก็ตกอยู่ในการปกครองของพม่า(มอญ)โดยเด็ดขาดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๑๐๑ เป็นต้นมา  เมืองเชียงรายได้กลายเป็นเมืองร้างไปนานไม่อาจนับได้ว่าเป็นเวลานานเท่าใดจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๘๖ เจ้ามโหตรประเทศเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ให้เจ้าธรรมลังกา กะเกณฑ์ผู้คน ที่เคยเอามาจากเชียงตุง พะยาก เมืองเลน เมืองสาด ที่ไปอยู่เชียงใหม่และลำพูน กลับมายังเชียงราย โดยมีเจ้าปกครองดังนี้
           ๑. เจ้าธรรมลังกา              พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๔๐๗
           ๒. เจ้าอุ่นเรือน                 พ.ศ. ๒๔๐๘-๒๔๑๙
           ๓. เจ้าราชวงศ์สุริยะ           พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๓๔
           หลังจากที่เจ้าราชวงศ์สุริยะถึงแก่อนิจกรรมทำให้เมืองเชียงรายว่างเจ้าเมืองลง และเป็นช่วงที่หัวเมืองฝ่ายเหนือหรือล้านนากำลังจะถูกผนวกเข้าเป็นแผ่นดินเดียวกันกับกรุงเทพ ซึ่งเชียงรายก็เป็นหัวเมืองส่วนหนึ่งที่จะต้องถูกรวมเข้าไปด้วยโดยมีข้าหลวงจากส่วนกลางมาปกครองตามลำดับดังนี้
๑.   พันตรีหลวงภูวนาทนฤบาล
๒.   นายอรรถสุริวงศ์(หลวงอมรศักดิ์)
๓.   ขุนรักษ์นรา
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกเมืองเชียงรายขึ้นเป็นจังหวัดเชียงรายรวมอยู่ในมณทลพายัพชั้นใน
   และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเชียงรายก็กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยจนทุกวันนี้
IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #5 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 14:25:57 »

ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต (ยุคปลายของล้านนา)
ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพมาปราบปรามขับไล่ข้าศึกพม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ แต่ไม่สำเร็จเด็ดขาด ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งราชวงศ์จักรี พ.ศ. 2347 กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ยกกองทัพขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้สำเร็จ ให้เผาเมืองเสียสิ้น กวาดต้อนเอาผู้คนพลเมือง 23,000 ครอบครัว แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยให้ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ นครลำปาง นครน่าน เมืองเวียงจันทน์ และลงมายังกรุงเทพฯ บางส่วนให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ เมืองสระบุรี(เสาไห้) เมืองราชบุรี(ที่เรียกกันว่าลาวโซ่ง) บ้าง
       หลังจากที่ได้กวาดต้อนเอาผู้คนพลเมืองให้ไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ แล้ว เชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองร้าง จึงทำให้นับแต่นั้นมา หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองเชียงแสนได้ขาดหายไประยะหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วมักจะกล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของล้านนาในยุคนั้น โดยมีตระกูลเจ้าเจ็ดตนปกครอง ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการทำศึกสงครามกับพม่า บางครั้งก็ถูกพม่ารุกราน บางครั้งก็ยกทัพไปตีเขตหัวเมืองขึ้นของพม่าและกวาดต้อนเอาผู้คนลงมาด้วย อันได้แก่ พวกไทยใหญ่ ไทยเขิน เป็นต้น
       พ.ศ. 2386 ในรัชกาลที่ 3 ได้มีการจัดตั้งเมืองเชียงรายฟื้นคืนให้เป็นบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ป้องกันภัยจากพม่าโดย มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ พระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ให้ญาติพี่น้อง อันมีเจ้าหลวงธรรมลังการเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงราย เจ้าอุ่นเรือนเป็นพระยาอุปราช เจ้าคำแสนเป็นพระยาราชวงศ์ เจ้าชายสามเจ้าพูเกี๋ยง เป็นพระยาราชบุตร และพระยาบุรีรัตน์ มีราษฎรที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองขึ้นของพม่า ในสมัย “เก็บผักใสซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พร้อมด้วยพ่อค้าที่เป็นคนพื้นเมืองของไพร่เมือง 4 เมือง คือ เมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลน และเมืองสาด ประมาณ 1,000 ครอบครัวขึ้นมาตั้งสร้างบ้านเมือง เมืองเชียงรายในยุคนี้ได้มีการก่อกำแพง สร้างประตูเมืองต่าง ๆ เพิ่มเติมในส่วนที่เคยเป็นเมืองเก่ามาแต่สมัยพญามังรายให้เป็นเมือง “พันธุมติรัตนอาณาเขต” มีสะดือเมืองอยู่ที่วัดจันทโลก (ปัจจุบันคือวัดกลางเวียง ต่อมาได้ย้ายไปที่ดอยตองใกล้กับศาลากลางหลังปัจจุบัน) ในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่มีชื่อว่า เมืองรัตตนติงสาวภิวนบุรี การปกครองเมืองเชียงรายในฐานะเป็นเมืองบริวาร ของเมืองเชียงใหม่ในสมัยนี้ เป็นยุคที่เรียกว่า เจ้าขัน 5 ใบ ซึ่งเป็นเชื้อสายในตระกูลเจ้าเจ็ดตนที่ได้รับการแต่งตั้งจากเมืองเชียงใหม่มาเป็น คณะปกครองเมืองเชียงราย ประกอบด้วย เจ้าหลวง (มีฐานะเป็นเจ้าเมือง) และผู้ช่วยอีก 4 ตำแหน่ง คือ พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาราชบุตร พระยาบุรีรัตน์
       พ.ศ. 2413 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ นครเชียงใหม่ มีใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพฯ ว่า พม่า ลื้อ เขิน เมืองเชียงตุง ประมาณ 300 ครอบครัว มาอยู่เมืองเชียงแสนตั้งตัวเป็นอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของไทย จึงให้อุปราชแต่งคนไปว่ากล่าวให้ถอยออกจากราชอาณาจักร ถ้าอยากจะตั้งอยู่ให้อยู่ในบังคับบัญชาเมืองเชียงรายและนครเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะพวกนั้นไม่ยอมออกไป พ.ศ. 2417 เจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่เกณฑ์กำลังจากเชียงใหม่ นครลำปาง เมืองลำพูน มีไพร่ทั้งสิ้น 4,500 คน ยกจากเชียงใหม่มาเชียงรายและเชียงแสน ไล่ต้อนพวกนั้นออกจากเชียงแสน จึงทำให้เชียงแสนกลายเป็นเมืองร้างไประยะหนึ่ง จวบจนถึงปี พ.ศ. 2423 จึงได้ให้ เจ้าอินต๊ะ บุตรเจ้าบุญมา (เจ้าบุญมาเป็นน้องของเจ้ากาวิละ เจ้านครเชียงใหม่) เจ้าผู้ครองเมืองลำพูน เป็นหัวหน้า นำราษฎรเมืองลำพูน เชียงใหม่ ประมาณ 1,500 ครอบครัว ขึ้นมาตั้งรกราก “ปักซั้งตั้งถิ่น” อยู่เมืองเชียงแสน นับเป็นการ สร้างบ้านแปงเมือง ครั้งใหญ่ของเมืองเชียงแสน กลุ่มที่อพยพมารุ่นแรกได้มาตั้งถิ่นฐาน ทำกินอยู่เรียงรายตามลำน้ำแม่คำ ตั้งแต่บ้านแม่คำ บ้านห้วยน้ำราก จนถึงเขตเชียงแสน ตลอดถึงบ้านกว๊านบุญเรือง ในเขตประเทศลาวปัจจุบัน
        ต่อมา เจ้าอินต๊ะ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระยาราชเดชดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงแสน สมัยนั้นการปกครองล้านนาเฉพาะมณฑลพายัพเหนือ มีเจ้าเมืองบริเวณหัวเมืองมี 5 ชื่อ ประจำเมืองต่าง ๆ คือ
พระยาประเทศอุตรทิศ เจ้าเมืองพะเยา
พระยามหิทธิวงศา เจ้าเมืองฝาง
พระยารัตนเขตต์ เจ้าเมืองเชียงราย
พระยาราชเดชดำรง เจ้าเมืองเชียงแสน
พระยาจิตวงศ์วรยศรังษี เจ้าเมืองเชียงของ
        ใน พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ พระศรีสหเทพ (เส็ง วิริยสิริ) จัดการปกครองมณฑลพายัพใหม่ เมืองใหญ่มี เก๊าสนามหลวง เป็นศูนย์กลางจัดให้มีแคว่นแก่บ้าน (กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน) แต่ละแคว่นขึ้นกับเมือง เรียกผู้ปกครองเมืองว่า เจ้าเมือง เมืองขึ้นกับ บริเวณ เรียกผู้เป็นหัวหน้าว่า ข้าหลวงบริเวณ ข้าหลวงบริเวณขึ้นต่อเก๊าสนามหลวง โดยได้จัดทำขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งมณฑลพายัพ ตั้งนครเชียงใหม่เป็นตัวมณฑล และเมืองเชียงแสนสมัยนั้นขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม ต่อมา พ.ศ. 2453 ตรงกับ ร.ศ. 129 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ยกเมืองเชียงราย เป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลพายัพ ดังต่อไปนี้
ประกาศยกเมืองเชียงรายเป็นหัวเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ
       มีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วหน้ากันว่า แต่เดิมเมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัด เรียกว่า จังหวัดพายัพภาคเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้เห็นว่า การจัดให้เป็นเมือง ไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรเลื่อนการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องถิ่น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ ตั้งเป็นเมืองจัตวาเรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ และจัดแบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเมืองเชียงแสน อำเภอเมืองฝาง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ เหมือนอย่างหัวเมืองชั้นในที่ขึ้นกับกรุงเทพฯทั้งปวง และพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพภาคเหนือ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป
ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประกาศ ณ วันที่ 9 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 129
(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

 
มีตราประจำเมืองเป็น รูปหนุมาน (หอระมาน)
       ดวงตราประจำเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขต คือเมืองเชียงรายในอดีต ที่แปลมาตรงกับตัวอักษรล้านนา(ตัวเมือง) ในดวงตรานั้น ส่วนอักษรไทยข้างล่างเขียนว่า เมืองพันธุมติอะณาเขรษ เป็นการสะกดผิด เนื่องจากการทำตราต่าง ๆ ในสมัยนั้นต้องส่งไปทำต่างประเทศที่ใกล้ที่สุด คือประเทศอินเดีย ชื่อเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขตเลยต้องใช้อย่างนั้นมา แต่คนเชียงรายในสมัยนั้นอ่านภาษาไทย(กลาง)ไม่ออก
       สภาพบ้านเมืองในยุคพันธุมติรัตนอาณาเขตนั้น ได้เกิดความยุ่งยากเกี่ยวกับกบฎเงี้ยว ซึ่งได้เกิดขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนา ซึ่งเป็นผลมาจากยุคการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนพม่าและลาว และต่อมาได้มีการยุยงสนับสนุนให้เงี้ยวก่อความไม่สงบขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อที่จะขยายอิทธิพลเข้ามายังล้านนา ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยแล้ว แต่ทางการก็สามารถปราบปรามลงได้
       ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต ได้มีการพัฒนารูปแบบการปกครองจากหัวเมืองที่มีเจ้าเมืองครองมาจนถึง พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) จึงได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล อันเป็นต้นแบบมาสู่การปรับปรุงพัฒนามาสู่ในยุคปัจจุบันที่มีฐานะเป็นจังหวัด แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ
IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #6 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 14:27:12 »

ความสัมพันธ์กับอาณาจักรต่าง ๆ
       นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ลวจังกราช ได้ให้พระโอรสไปสร้างและครองเมืองต่าง ๆ จึงทำให้มีการกระจายเชื้อพระวงศ์ออกไปยังเมืองต่าง ๆ ด้วย อันเป็นการขยายอาณาเขตในลักษณะหนึ่งมาจนถึงสมัยพญามังราย จึงได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยมีเมืองหิรัญนครเงินยางเป็นศูนย์กลาง เมื่อมีความเป็นปึกแผ่นแล้ว ต่อมาจึงได้ขยายลงมาสร้างเมืองเชียงราย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการแผ่ขยายอาณาเขตต่อไปยังอาณาจักรอื่น ๆ รวมทั้งการมีสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรใกล้เคียง อาณาจักรต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่
อาณาจักรหริภุญไชย
       อาณาจักรหริภุญไชยได้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยการสร้างเมืองเชียงราย โดยเป็นศูนย์กลางของเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง ซึ่งตำนานจามเทวีได้กล่าวว่าฤาษีวาสุเทพเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญไชยขึ้น เมื่อราว พ.ศ. 1310 - 1311 หลังจากที่ได้สร้างเสร็จแล้ว จึงได้ทูลเชิญพระนางจามเทวี ธิดาของกษัตริย์เมืองละโว้ (ลพบุรี) มาครองเมือง จึงทำให้วัฒนธรรมของละโว้แพร่ขยายมายังอาณาจักรหริภุญไชยด้วย
        ด้วยเหตุอาณาจักรหริภุญไชยมีความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งสมบูรณ์ พญามังรายมีพระประสงค์อยากได้ไว้ในอำนาจ จึงได้ใช้กลอุบายให้อ้ายฟ้าเข้าไปเป็นไส้ศึก วางแผนให้เกิดความแตกแยกกันในอาณาจักร ในภายหลัง กองทัพของพญามังรายจึงเข้ายึดอาณาจักรหริภุญไชยจากพระยายีบา กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรหริภุญไชยไว้ในอำนาจได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 1835 และได้ผนวกหริภุญไชยเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อาณาจักรสุโขทัย
       หลังจากที่พญามังรายได้แผ่ขยายอาณาเขตและรวบรวมบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงจนเป็นที่มาของ อาณาจักรล้านนา แล้ว จึงได้สร้างเมืองเชียงใหม่หรือ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ขึ้นใน พ.ศ. 1839 เพื่อเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ในการสร้างเมืองนั้น พระองค์ทรงได้ทูลเชิญพ่อขุนรามคำแหงจากกรุงสุโขทัยและพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยาซึ่งเป็นพระสหาย ให้เสด็จมาช่วยเลือกชัยภูมิการสร้างเมือง จึงเห็นได้ว่าอาณาจักรเหล่านี้มีสัมพันธไมตรีต่อกันอย่างแนบแน่น ในตำราราชวงศ์ปกรณ์กล่าวว่า กษัตริย์ทั้งสามได้ตั้งสัจจะปฏิญาณต่อกัน โดยนั่งหลังพิงกันที่ฝั่งแม่น้ำขุนภู แล้วเอามีดมาแทงมือกันทุกคน เอาเลือดใส่แพ่งฝา สู่กันกิน ให้เป็นมิตรสนิทต่อกันทุกพระองค์ ต่อมาแม่น้ำขุนภูจึงเรียกว่า แม่น้ำอิง ในปัจจุบันนี้ได้มีอนุสรณ์สถานคือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ประดิษฐานอยู่ที่หน้าศาลากลาง (เก่า) จังหวัดเชียงใหม่
อาณาจักรล้านนา
สมัยหิรัญนครเงินยาง อาณาจักรล้านนามีความเป็นมาหลังจากที่พญามังรายได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ อันมีเจ้าเมืองที่มีเชื้อสายมาจากวงศ์ลวจังกราชด้วยกันจนเป็นปึกแผ่นในอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง ต่อมาได้ตีอาณาจักรหริภุญไชยแล้วผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรด้วย นับเป็นการเริ่มต้นของอาณาจักรใหม่ ที่ต่อมาเรียกว่า อาณาจักรล้านนา ภายหลังได้มีการย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรไปอยู่ที่เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ทำให้เมืองเชียงรายซึ่งเดิมนั้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรหิรัญนครเงินยางได้ลดความสำคัญลงไปในระยะหลัง ๆ
สมัยรัตนโกสินทร์
        อาณาจักรล้านนาได้มีบทบาทสำคัญในการทำสงครามกับพม่า โดยนำกำลังร่วมกับกองทัพทางกรุงเทพฯ ทำสงครามกับพม่าในระหว่าง พ.ศ. 2312 - 2347 สงครามในระยะดังกล่าวนี้ได้เกิดลัทธิ เก็บผ้าใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ได้กวาดต้อนเอาผู้คนจากเมืองเชียงตุง สิบสองปันนา ฯลฯ ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาเหล่านั้นส่วนใหญ่ ได้แก่ ชาวไทยใหญ่ ชาวไทยลื้อ ไทยยองและชาวไทยเขิน ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงกับชาวไทยโยนกของอาณาจักรล้านนา แล้วมาไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนา กลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมานั้นได้เอาศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ด้วย เช่น การทำเครื่องเขิน แกงฮังเล น้ำพริกอ่องของชาวไทยเขิน ขนมจีนน้ำเงี้ยวของชาวไทยใหญ่ การทอผ้าของชาวไทยลื้อ เป็นต้น
ในปัจจุบัน กลุ่มชาวไทยลื้อหรือชาวไทยเขิน มีถิ่นฐานกระจายอยู่ในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงราย และจังหวัดในภาคเหนือ และได้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ไว้อย่างมาก เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย อาหารการกิน งานหัตถกรรม เป็นต้น

                   @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@



IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #7 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 14:30:39 »

บทแทรกครับ
ตำนานพระเจ้าพรหมมหาราช
  ย้อนอดีตไปเมื่อ พ.ศ.๑๔๖๐ ในรัชสมัยของ พระเจ้าพังคะ หรือ พระองค์พัง กษัตริย์องค์ที่ ๔๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ได้ถูกพวกขอมขับไล่จากเมืองโยนกพันธุ์ไปอยู่เมืองเวียงสี่ตวง ใกล้แม่น้ำสาย จนกระทั่ง ๔ ปีต่อมา หรือเมื่อ พ.ศ. ๑๔๖๔ มเหสีของพระองค์ไปประสูติโอรสคนที่ ๒ มีการขนานนามว่า "พระเจ้าพรหมกุมาร"
ในตำนานได้กล่าวถึงประวัติตอนปฐมวัยของ "พระเจ้าพรหมกุมาร" เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้๗ ปี ก็สามารถเล่าเรียนวิชาเพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม จนจบครบถ้วนกระบวนความ หรือเมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ ๑๓ ปี ได้ทรงสุบินว่า มีเทพยดามาบอกว่า จะมีช้าง ๓ ตัวล่องน้ำโขงมา และให้เจ้าพรหมกุมารไปล้างหน้าที่นั่น หากจับช้างตัวแรกได้จะมีอานุภาพปราบได้ทั้ง ๔ ทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ ๒ จะมีอานุภาพได้ชมภูทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ ๓ จะปราบแว่นแคว้นล้านนาได้
พอรุ่งเช้า เจ้าพรหมกุมารจึงได้พาบริวารประมาณ ๕๐ คน ไปยังท่าน้ำ ครั้งแรกเห็นงูเหลือมเลื่อมเป็นมันระยับลอยผ่านไปแล้ว ๑ ตัว พอตัวที่ ๒ ก็เป็นงูอีกเหมือนกัน พอตัวที่ ๓ เจ้าพรหมกุมารจึงทรงนึกถึงเรื่องในสุบินนั้นคงเป็นงูนี่เอง จึงพร้อมกับบริวารช่วยกันจับงู เมื่อเจ้าพรหมกุมารสามารถขึ้นขี่ งูก็กลายเป็นช้างไปทันที แต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง จนกระทั่งบริวารต้องเอาพานทองคำตีล่อ ช้างจึงยอมขึ้นจากน้ำ และมีการเรียกชื่อว่า "ช้างพานคำ"
         พระเจ้าพรหม ทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสามารถและโปรดในการสงคราม เมื่อสามารถเตรียมกำลังไพร่พลได้อย่างเต็มที่แล้ว ก็ทูลพระบิดาให้เลิกการส่งส่วยแก่ขอม พวกขอมจึงยกทัพขึ้นไปปราบ พระเจ้าพรหมก็คุมกำลังออกต่อสู้และขับไล่พวกขอมจนแตกพ่าย สามารถยึดเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติคืนได้เมื่อ พ.ศ.๑๔๗๙ ในขณะที่พระองค์มีพระชันษาได้เพียง ๑๖ ปีเท่านั้น
        สำหรับช้างพานคำ เมื่อเสร็จสงครามก็ได้หายไปทางดอยลูกหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า "ดอยช้างงู" แต่ชาวเขาเผ่าอาข่า ออกเสียงไม่ชัดเจน เรียกว่า "ดอยสะโง้" และได้เรียกเพี้ยนมาจนถึงปัจจุบัน
        ส่วนพระเจ้าพรหม เมื่อได้อัญเชิญพระบิดามาครองเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโยนกชัยบุรีแล้ว พระองค์ก็นำทัพไปขับไล่ขอมจนถึงเมืองกำแพงเพชร จนหมดเชื้อชาติขอมในอาณาจักรโยนกแล้วจากนั้นพระองค์ก็ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองอุมงคลเสลาเก่า เมื่อ พ.ศ. ๑๔๘๐ เพื่อเป็นด่านหน้าคอยป้องกันพวกขอมยกทัพกลับมาตีอีก และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น "เมืองไชยปราการ" เดิมอยู่ในเขตอำเภอฝาง ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอชัยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ นั่นเอง
        พระองค์ได้ครองเมืองไชยปราการได้ ๕๙ ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๕๔๐ ต่อมาได้มีการขนานนามพระองค์ว่า "พระเจ้าพรหมมหาราช" นับเป็นมหาราชองค์แรกของแผนดินนี้.-

IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #8 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 14:37:49 »

อีกหนึ่งท่านที่น่าสรรเสริญ
ขุนเจื๋องธรรมิกราช
 วรรณกรรมเรืองท้าวฮุ่งท้าวเจืองเป็นวรรณกรรมอีสานยุคต้น เนื้อหาเป็นการสรรเสริญวีรกรรมของท้าวฮุ่งในการทำสงครามกับพวกแกวหรือพวกญวนจนได้ชัยชนะ ประมาณครึ่งหนึ่งของเนื้อเรื่องเป็นบทคร่ำครวญพรรณนาความรักของท้าวฮุ่งที่มีต่อนางง้อมส่วนที่เหลือเป็นการพรรณนาการทำสงครามกับพวกแกว
                เค้าเรื่องทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท้าวฮุ่งท้าวเจืองนี้ มีปรากฎในพงศาวดารเหนือเล่าไว้
ขุนเจื๋องจากตำนานเมืองพะเยา
 พุทธศักราช 1602(จุลศักราช 421) พ่อขุนเงินหรือลาวเงิน ราชโอรสของพญาแรงกวา กษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสนในราชวงศ์สิงหนวัตมีพระราชโอรส 2 องค์  ได้จัดแบ่งให้          ขุนจอมธรรมโอรสองค์ที่ 2ให้ปกครองเมืองภูกามยาว ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้  แต่ขุนชินให้อยู่ในราชสำนักครองนครเงินยางเชียงแสน
ขุนจอมธรรมพร้อมข้าราชการบริวารขนเอาพระราชทรัพย์บรรทุกม้า พร้อมพลช้าง พลม้า ตามเสด็จถึงเมืองภูกามยาว และตั้งรากฐานเมืองใหม่  ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองขอมโบราณเมืองหนึ่ง นามว่า      “สีหราช” อยู่เชิงเขาชมภูหางดอยด้วน ลงไปจรดฝั่งแม่น้ำสายตา มีสัณฐานคล้ายลูกน้ำเต้ามีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางตะวันตก อันหมายถึงกว๊านพะเยา และทางทิศอีสานคือ หนองหวีและหนองแว่น  แต่เดิมนั้น พะเยาเป็นเมืองเก่าของขอมที่รกร้าง เนื่องจากถูกพระเจ้าพรหมมหาราชขับไล่ออกไปในยุคก่อนซึ่งยังคงมีซากโบราณสถาน และโบราณวัตถุปรากฏให้เห็น    พ่อขุนจอมธรรมทรงสถาปนาเมืองภูกามยาวเมื่อปี พ.ศ.๑๖๓๙ (จ.ศ. ๔๕๘)ด้วยเหตุว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากดอยชมพูซึ่งเป็นเนินยาวยื่นไป จึงได้ชื่อว่า “ภูกามยาว” และต่อมาได้กลายเป็น “พูยาว”และ”พะเยา”  ตามตำนานกล่าวไว้ว่าในยุคนั้นมีผู้คนอาศัยหนาแน่นมากโดยมีพลเมืองถึง ๑๘๐,๐๐๐ คน และได้จัดแบ่งการปกครองออกเป็นแขวงโดยมีอาณาเขตกว้างขวางมากโดยจัดแบ่งได้ 36 พันนา ๆ ละ 500 คน มีเขตแคว้นแดนเมืองในครั้งกระโน้น ดังนี้
           ทิศบูรพา จรดขุนผากาดจำบอน ตาดม้าน บางสีถ้ำ ไทรสามต้น สบห้วยปู     น้ำพุง สบปั๋ง ห้วยบ่อทอง ตาดซาววา กิ่วแก้ว กิ่วสามช่อง  มีหลักหินสามก้อนฝังไว้กิ่วฤาษี แม่น้ำสายตา กิ่วช้าง กิ่วง้ม กิ่วเปี้ย ดอยปางแม่นาค
          ทิศตะวันตก โป่งปูดห้วยแก้วดอยปุย แม่คาว ไปทางทิศใต้กิ่วรุหลาว ดอยจิกจ้อง ขุนถ้ำ ดอยตั่ง ดอยหนอก ผาดอกวัว แซ่ม่าน ไปจรดเอา ดอยผาหลักไก่
           ทางทิศหรดีมีเมืองในอำนาจปกครอง คือ เมืองงาว เมืองกาว สะเอียบ เชียงม่วน เมืองเทิง เมืองสระ เมืองออย  สะสาว เมืองดอบ เชียงคำ เมืองลอ เมืองเชียงแลง เมืองหงาว แซ่เหียง แซ่หลุก ปากบ่อง เมืองป่าเป้า เมืองวัง แซ่ซ้อง เมืองปราบ แซ่ห่ม
            ทิศใต้ สุดจรดนครเขลางค์และนครหริภุญชัย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่อแดนขรนคร(เชียงของ)ขุนจอมธรรมปกครองไพร่ฟ้าประชาชน โดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคสมบัติ ฟ้าฝนตกตามฤดูกาลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ไม่มีสงคราม เจ้าประเทศราชต่าง ๆ ก็มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน ทรงสั่งสอนไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินด้วยหลักธรรม 2 ประการ คือ
        - อปริหานิยธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม 1
        - ประเพณีธรรม ขนบธรรมเนียมอันเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงานของครอบครัว 1
ขุนจอมธรรมครองเมืองพะเยาได้ 2 ปี มีโอรส 1 พระองค์ โหรถวายคำพยากรณ์ว่าราชบุตรองค์นี้จะเป็นจักรพรรดิราชปราบชมพูทวีป  มีบุญญาธิการมากเวลาประสูติ มีของทิพย์เกิดขึ้น 3 อย่าง คือ  แส้ทิพย์ พระแสงทิพย์ คนโททิพย์   ชื่อว่า“ขุนเจื๋อง” ต่อมาอีก 3 ปี  ได้ราชบุตรอีกพระนามว่า “ขุนจอง” หรือ “ชิง” เมื่อขุนเจื๋องเจริญวัยขึ้น ทรงศึกษาวิชายุทธศาสตร์ เช่น วิชาดาบ มวยปล้ำ เพลงชัย จับช้าง จับม้าและเพลงอาวุธต่างๆ พระชนมายุได้ 16 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองน่านเจ้าผู้ครองเมืองน่านเห็นความสามารถแล้วพอพระทัย ยกธิดาชื่อ“จันทร์เทวี” ให้เป็นชายาขุนเจื๋อง พระชนมายุได้ 17 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองแพร่ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่พอพระทัย จึงยกธิดาชื่อ “นางแก้วกษัตริย์” ให้เป็นชายา พระราชทานช้าง 200 เชือก ขุนจอมธรรมปกครองเมืองพะเยาได้ 24 ปี พระชนมายุได้ 49 พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ขุนเจื๋องได้ครองราชสืบแทน ครองเมืองได้ 6 ปี มีข้าศึกแกว (ญวน) ยกทัพมาประชิดนครเงินยางเชียงแสน ขุนชินผู้เป็นลุง ได้ส่งสาส์นขอให้ส่งไพร่พลไปช่วย        ขุนเจื๋องได้รวบรวบรี้พลยกไปชุมนุมกันที่สนามดอนไชยหนองหลวง และเคลื่อนทัพเข้าตีข้าศึกแตกกระจัดกระจายไป เมื่อขุนชินทราบเรื่องก็เลื่อมใสโสมนัสยิ่งนัก ทรงยกธิดาชื่อ “พระนางอั๊วคำคอน” ให้และสละราชสมบัตินครเงินยางเชียงแสนให้ขุนเจื๋องครองแทนเมื่อขุนเจื๋องได้ครองราชเมืองเงินยางแล้ว ทรงพระนามว่า “พระยาเจื๋องธรรมมิกราช”(ตำนานของล้านช้างยกย่องเป็นมหาราช) ได้มอบสมบัติให้โอรสชื่อ“ลาวเงินเรือง” ครองเมืองพะเยาแทนหัวเมืองใหญ่น้อยเหนือใต้ยอมอ่อนน้อม ได้ราชธิดาแกวมาเป็นชายานามว่า “ นางอู่แก้ว” มีโอรส 3 พระองค์คือ ท้าวผาเรืองยี่คำห้าว ท้าวสามชุมแสง ต่อมายกราชสมบัติเมืองแกวให้ท้าวผาเรือง ให้ท้าวคำห้าวไปครองเมืองล้านช้าง ท้าวสามชุมแสงไปครองเมืองน่าน ต่อมาได้โยธาทัพเข้าตีเมืองต่างๆ ที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์ ทรงชนช้างกับศัตรูเสียทีข้าศึกเพราะชราภาพ จึงถูกฟันคอขาดและสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง พวกทหารจึงนำพระเศียรไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์เมืองหิรัญนครเชียงแสน ขุนเจื๋อง ประสูติเมื่อปีพุทธศักราช 1641 ครองราชย์สมบัติเมื่อพระชนมายุ 24 ปีครองแค้วนล้านนา ได้ 24 ปี ครองเมืองแกวได้ 17 ปี รวมพระชนมายุได้ 67 ปี ฝ่ายท้าวจอมผาเรืองราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติเมืองพะเยาได้ 14 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย
IP : บันทึกการเข้า
khonmieng
เพื่อชีวืต โบราณคลาสสิค
มัธยม
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 532


ซื้อขายเขาควาย


« ตอบ #9 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 18:57:23 »

 :)ยาวเหยียดแน่นปึ๊กๆๆ..ขอบคุณครับ.... ยิ้ม
IP : บันทึกการเข้า

ซื้อขายเขาควาย ปลอกเขาควาย โทรศัพย์มือถือรุ่นเก่า ธนบัตรเก่า ตะเกียงเก่า ของโบราณ ไอดีไลน์ khonmieng โทร 062-2862152
WH_Y
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3,222



« ตอบ #10 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 21:56:31 »

สรียินดีเจ้าสำหรับข้อมูลเก่าแก่เกี่ยวกับเจียงฮายของเฮา อ่านแล้วฮู้ตี้ไปตี้มาแหมนักเลยเจ้า.. ยิ้ม
IP : บันทึกการเข้า
nansom
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 461



« ตอบ #11 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2011, 23:06:36 »

เหมาะขนาดเลย ไคร่ได้เป๋นเล่มไปหื้อละอ่อนไดอ่านกำเนาะ
IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #12 เมื่อ: วันที่ 25 เมษายน 2011, 11:16:50 »

ก๊อปไปรวมเล่มก็ได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ หรือจะรอท่าน ล้อล้านนา ชำระสะสางก่อนก็ได้ ท่านใดมีข้อมูลที่ขัดกับของผมก็เสนอเข้ามาได้ครับจะขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ข้อมูลที่น่าจะถูกต้องและชัดเจน
IP : บันทึกการเข้า
ล้อล้านนา
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 444


« ตอบ #13 เมื่อ: วันที่ 25 เมษายน 2011, 13:36:03 »

ก๊อปไปรวมเล่มก็ได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ หรือจะรอท่าน ล้อล้านนา ชำระสะสางก่อนก็ได้ ท่านใดมีข้อมูลที่ขัดกับของผมก็เสนอเข้ามาได้ครับจะขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ข้อมูลที่น่าจะถูกต้องและชัดเจน

ไหว้สา อ้ายมะคอแลน ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าบ่ใจ่คนเก่ง คงเป็นไปตามหลักฐานอ้างอิงจากผู้เขียนกั๋นครับ ไผจะผิดจะถูกเฮามาวัดกันตามข้อเท็จจริงเอา (บ่มีไผเกิดตันสมัยนั้นซักคน) แต่ถ้าเป็นเรื่องของ "ตำนาน" ผมบ่ใคร่ถนัด ก็เป็นไปตามตี้ "เปิ้นว่ามา" แต่ถ้าเป็นชั้น "ประวัติศาสตร์" ปอจะเลียบๆ เคียงๆ ตาม "พื้น" เอกสารชั้นต้นตี้ใกล้ตั๋วเฮาที่สุดก่อน แต่อย่างน้อยก็ดีใจ๋ตี้คนบ้านเฮาสนใจ๋เรื่องนี้นักขึ้น เฮามาจ่วยกั๋นดีกว่าครับ ต๋อนนี้กำลังจะแป๋งหนังสือที่ระลึก 750 ปี เมืองเจียงฮาย ภาคเอกชน บ่ขึ้นกับไผซักคนนะ หื้อฮู้ความหมายของคำว่า "เมืองเชียงราย" แต้ๆ ผ่อซักกำลอน่อ ชาใดมาจ่วยกั๋นฮอมอ่องออได้เน้อครับ
IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #14 เมื่อ: วันที่ 26 เมษายน 2011, 06:29:46 »

 ถึงท่านล้อ ล้านนา จะไดแล้วถ้าหนังสือเสร็จแล้วบ่ดีลืมผมเน่อ..........
ข้อความในกระทู้นี้ ผมได้ทำเป็นแผ่นและแจกโรงเรียนใน อ.แม่สายไว้หลายโรง (ส่วนจะมีโรงไหนไร้ท์แจกต่อ ๆไปบ้างก็ไม่ทราบ) เพื่อปลุกกระแสให้เด็กรักถิ่นกำเนิดและชาติพันธุ์ของตัวเองและจะได้เป็นพื้นฐานของการเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป
IP : บันทึกการเข้า
>:l!ne-po!nt:<
~: ดาบราชบุตร :~
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 10,257

~>: แขกดอย :<~


« ตอบ #15 เมื่อ: วันที่ 26 เมษายน 2011, 18:23:37 »

อ่านบ๋อจบเดียวมาต่อใหม่ ต๋าลายติ๊กๆลุ๊นิ  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
IP : บันทึกการเข้า

!!!!!  กว่า ๑,๑๐๐ กม.จากยอดดอยสู่ทะเล...ตะวันออก  !!!!!

www.facebook.com/1100kilometer

||||| ธรรมชาติสร้างอากาศบริสุทธิ์    ส่วนมนุษย์นั้นสร้างอาวุธเพื่อทำลาย |||||
Jeekuk
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #16 เมื่อ: วันที่ 13 พฤษภาคม 2011, 21:56:14 »

สวัสดีพี่มะคอแลน ผมเข้ามาอ่าน เรื่องนี้หลายวันแล้ว เข้าท่าดีครับ ได้ความรู้ ได้รู้จักกำพืดตัวเอง ผมเพิ่งสมัครสมาชิกวันนี้ เพื่อจะทักทายพี่
กี่ปีแล้วครับที่พี่เลิกจัดรายการเพลง อยากให้พี่กลับไปจัดอีก คิดถึงครับ
IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #17 เมื่อ: วันที่ 16 พฤษภาคม 2011, 14:15:26 »

สวัสดีน้องชาย พี่หยุดไปสองปีกว่าแล้ว ที่มาช้าเพราะกระทู้มันผดจ๋ดมาอยู่ตางบนเลยบ่ได้สังเกตุ
นึกว่าไปอยู่หน้า2-3 ปุ้นแล้ว
ยินดีด้วยที่น้อง ๆเข้ามาศึกษาเรื่องใกล้ตัวฝากไว้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป
IP : บันทึกการเข้า
nansom
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 461



« ตอบ #18 เมื่อ: วันที่ 16 พฤษภาคม 2011, 15:08:53 »

จาก ตอบ#1
สุวรรณโคมคำ เป็นคำบาลีใหม่มากสำหรับคนเมือง อาจจะแต่งเติมกันภายหลังประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๑ นี้ ของเดิมน่าจะเป็นเวียงกมคำ วิวัฒนาการใหม่ การใช้โคมน้ำมันแทนการจุดไต้หรือการจุดแคร่ เมืองนี้ยังต้องศึกษากันต่อไป ส่วนลาวนั้นเขาก็ต้องการสร้างแหล่งท่องเที่ยวหาเงินหาทองเข้าประเทศ อีกนิดหนึ่งคือ ชื่อ พญาเม็งราย น่าจะเสนอเป็นพญามังราย หากภาษาพูดจริงๆ จะต้องออกเสียงเป็น พญามังฮาย ด้วยซ้ำ
ก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ
IP : บันทึกการเข้า
Ck 401
"....เมื่อเห็นทุกสิ่งเป็นธรรมดา ก็ไม่มีอะไรมาทำให้ทุกข์ได้อีก...."
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 5,267


...งานหนักไม่เคยฆ่าคน...


« ตอบ #19 เมื่อ: วันที่ 17 พฤษภาคม 2011, 13:04:25 »

สวัสดีน้องชาย พี่หยุดไปสองปีกว่าแล้ว ที่มาช้าเพราะกระทู้มันผดจ๋ดมาอยู่ตางบนเลยบ่ได้สังเกตุ
นึกว่าไปอยู่หน้า2-3 ปุ้นแล้ว
ยินดีด้วยที่น้อง ๆเข้ามาศึกษาเรื่องใกล้ตัวฝากไว้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป

หันเป๋นกะทู้ตี้เป๋นประโยชน์ต่อคนตี้สนใจ๋ในความเป๋นเจียงฮาย
ผมเลยปักหมุดหื้อครับ
ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
IP : บันทึกการเข้า

"....คณะเรา ไม่ยอมให้ด้อยถอยลง ต่ำเราต้องค้ำชูให้สูงจรุงศรี....."
....เมื่อเห็นทุกสิ่งเป็นธรรมดา  ก็ไม่มีอะไรมาทำให้ทุกข์ได้อีก...."
หน้า: [1] 2 3 4 5 พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!