เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 28 มีนาคม 2024, 17:13:02
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลท่องเที่ยว-โพสรูป
| |-+  ห้องโพสรูป-ภาพประทับใจ (ผู้ดูแล: ap.41)
| | |-+  เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน  (อ่าน 1834 ครั้ง)
alive
เตรียมอนุบาล
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 96


« เมื่อ: วันที่ 15 มกราคม 2016, 15:05:01 »

เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน

          เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกแม่น้ำโขง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีประวัติศาสตร์เก่าแก่และรุ่งเรืองมาช้านาน
          เรื่องราวเมืองเชียงแสนปรากฏในตำนานหลายฉบับ เช่น ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติกุมาร และตำนานเมืองหิรัญนครเงินยางเป็นต้น เนื้อหาตำนานหลักทั้ง 3 ฉบับ มีความสอดคล้องต่อเนื่องไปเป็นลำดับ โดยเรื่องราวตามตำนานเกิดขึ้นบนที่ราบเชียงแสน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายถึงความชอบธรรมในการขึ้นเป็นกษัตริย์ของราชวงศ์มังราย
          เริ่มจากตำนานสุวรรณโคมคำ ได้กล่าวตั้งแต่ความพินาศของโลกเก่า และกำเนิดของโลกใหม่ (ภัทรกัป) หลังจากนั้นจึงกล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวขอมหลวง เมืองโพธิสารหลวง ต่อด้วยกำเนิดเมืองสุวรรณโคมคำและเมืองอุโมงค์เสลานคร เหตุการณ์ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งเมืองสุวรรณโคมคำร้าง กลายเป็นท่าโคมคำ
          ตำนานสิงหนวัติกุมาร กล่าวถึงชุมชนกลุ่มใหม่ที่อพยพจากนครไทเทศ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่ราบเชียงแสน ภายหลังจากเมืองสุวรรณโคมคำร้างนานแล้ว ชนกลุ่มนี้ได้สร้างเมืองโยนกนาคพันธุสิงหนวัติขึ้น ต่อมาเมืองล่มกลายเป็นหนองน้ำ
          ตำนานเมืองหิรัญนครเงินยาง กล่าวถึงการเข้ามาของ “ปู่เจ้าลาวจก” กษัตริย์พื้นเมืองต้นราชวงศ์มันราย จนกระทั่งถึงสมัยพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีใน พ.ศ. 1839
          แม้เรื่องราวเมืองเชียงแสนในตำนานจะเก่าไปถึงสมัยพุทธกาล แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดี และจากการศึกษารูปแบบศิลปะยังไม่พบหลักฐานที่เก่าไปกว่า พ.ศ.1871 อันเป็นปีที่พญาแสนภูได้สถาปนาเมืองเชียงแสน
          พงศาวดารโยนกกล่าวถึงการสถาปนาเมืองเชียงแสนของพระยาแสนภูว่า สถาปนาขึ้นทับบนเมืองรอย (อาจเป็นเมืองหิรัญนครเงินยาง) เพื่อใช้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันศึกทางเหนือและควบคุมเมืองในเขตล้านนาตอนบน สมัยดังกล่าวเมืองเชียงแสนเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง และพระพุทธศาสนาของล้านนา กระทั่งถึงสมัยพญาผายู (พ.ศ.1888 – 1910) อำนาจการปกครองจึงย้ายกลับไปเมืองเชียงใหม่ เหมือนเช่นเมื่อครั้งสมัยพญามังราย (พ.ศ. 1839-1860) ต่อมาพ.ศ. 1889 เมืองเชียงแสนถูกลดบทบาทลงเป็นเมืองสำคัญอันดับ 2 รองจากเชียงใหม่ และเป็นเมืองป้องกันข้าศึกในสมัยพญาติโลกราช (พ.ศ.1985-2030)
          แม้ฐานะทางการเมืองการปกครองของเชียงแสนจะถูกลดบทบาทลง แต่ทางด้านศาสนากลับรุ่งเรือง ครั้งเมื่อพระเมืองแก้ว (พ.ศ.2038-2068) โปรดให้สร้างวัดสวนดอกเชียงใหม่นั้น มีพระเถระจากเมืองเชียงแสนร่วมนั่งหัตถบาสถึง 3 รูป คือพรสัทธรรมรังษี พระญาณวิลาส และพระญาณสิทธิ และในพ.ศ.2057 พระเมืองแก้วได้นำพระเถระวัดป่าแดงกับวัดเจ็ดยอดมาอุปสมบาทแก่กุลบุตรชาวเชียงแสน จำนวน 1010 รูป
          ตั้งแต่ปีพ.ศ.2101 เป็นต้นมา ล้านนาตกอยู่ใต้อำนาจของพม่า พ.ศ.2244 พม่ายกเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นมณฑล ๆ หนึ่งของพม่า มีเมืองใต้ปกครอง เช่น เมืองเชียงราย เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองนครลำปาง และเมืองฝางเป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าว ปริมาณการค้าทางบกของจีนกับรัฐไทตอนบนมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เมืองเชียงแสนซึ่งเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า ตั้งแต่สมัยพญามังรายกลับรุ่งเรือง และกลายเป็นแหล่งชุมนุมทางการค้าที่สำคัญในเวลาต่อมา ดังนั้น พม่าจึงพยายามแยกเมืองเชียงแสนออกจากเมืองเชียงใหม่ โดยยกฐานะเมืองเชียงแสนให้เทียบเท่าเมืองเชียงใหม่
          ล่วงเข้าสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ.2347) พระองค์โปรดเกล้าให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช และพระยากาวิละ ยกทัพไปชิงเอาเมืองเชียงแสนจากพม่า ต่อมาในสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช พระองค์โปรดเกล้าให้อินทรวิไชย เจ้าเมืองลำพูน ขึ้นไปฟื้นฟูเมืองเชียงแสน และในพ.ศ.2437 เมืองเชียงแสนจึงถูกรวมเข้าในมณฑลพายัพของไทย อีก 5 ปีต่อมา จึงยุบลงเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง ขึ้นกับอำเภอแม่จัน ภายหลังเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2500 เชียงแสนจึงได้ถูกยกฐานะเป็นเมืองเชียงแสน อยู่ในเขตการปกครองจังหวัดเชียงราย

เมืองโบราณริมแม่น้ำโขง



          ในอดีตตามแนวริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งในเขตฝั่งไทยและลาวนั้น นอกจากเมืองเชียงแสนแล้ว ยังปรากฏเมืองโบราณอื่นๆอีก 3 เมือง ดังนี้
          เมืองแรกคือ เมืองโบราณบริเวณดอยเชียงเมียง สามเหลี่ยมทองคำ หรือเมืองสบรวก อยู่เหนือเมืองเชียงแสนขึ้นไปราว 10 กิโลเมตร โบราณสถานที่สำคัญในเมืองโบราณ คือ พระธาตุภูเข้า
          เมืองโบราณแห่งที่ 2 คือ เมืองเชียงแสนน้อย หรือเมืองปรึกษา หรือเบิกษา เมืองตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 8 กิโลเมตร ทางด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสน ในชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึงเมืองนี้ว่า เคยเป็นที่ตั้งค่ายพักชั่วคราวของพญาแสนภูเมื่อจะตั้งเมืองเชียงแสน โบราณสถานที่สำคัญ คือ พระธาตุสองพี่น้อง
          เมืองโบราณแห่งที่ 3 อยู่ทางฝั่งลาว ตรงข้ามกับเมืองเชียงแสนน้อย สันนิษฐานว่าในอดีต เมืองนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงแสนน้อย หรืออาจเป็นตัวเมืองส่วนขยายก็ได้

          พระพุทธรูปเชียงแสน

[/i

          พระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นแรก มีพุทธลักษณะอวบอ้วน พระอุระนูน มีรัศมีรูปดอกบัวตูมหรือลูกแก้ว ขมวดพระเกศาใหญ่ พระพักตร์กลม อมยิ้ม พระหนุเป็นปม ชายจีวรเหนือพระอังสาซ้ายเป็นเขี้ยวตะขาบ มักแสดงปางมารวิชัย และขัดสมาธิเพชร เรียกตามความนิยมว่า “พระสิงห์หนึ่ง”
          พระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นหลังได้รับอิทธิพลสุโขทัย จึงมีพระหัตถ์รูปไข่ พระรัศมีเป็นรูปเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาเล็ก ชายจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี มักแสดงปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ เรียกพระพุทธรูปลักษณะดังกล่าวว่า “พระสิงห์สอง” ต่อมาพระพุทธรูปเชียงแสนจึงมีอิทธิพลพื้นเมืองผสมมากขึ้น

ประเพณีสำคัญในเมืองเชียงแสน
          ประเพณีปอยหลวง เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อฉลองอาคารทางพุทธศาสนาที่สร้างเสร็จแล้ว ตามประเพณีจะมีการอัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำให้ขึ้นมาช่วยรักษางาน โดยสมมุติเอาหินในแม่น้ำ 1 ก้อนแทนพระอุปคุต และแห่ไปส่งที่ท่าน้ำเมื่อเสร็จพิธี
          ประเพณีทานสลาก (กิ๋นก๋วยสลาก หรือ กิ๋นสลาก หรือ ตานก๋วยสลาก) นิยมทำกันในช่วงก่อนออกพรรษา โดยแบ่งก๋วยสลากออกเป็น 2 ประเภท คือ “ก๋วยสลากเล็ก” และ “ก๋วยสลากใหญ่”  ก๋วยสลากเล็กใช้อุทิศแด่บรรพบุรุษ ส่วนก๋วยสลากใหญ่ใช้เป็นปัจจัยภายหน้า
          ประเพณีการสืบชะตาเมือง การทำพิธีสืบชะตาเมืองของชาวเชียงแสน มีมาแต่โบราณกาล จัดขึ้นเมื่อบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น ข้าวยากหมากแพง หรือเกิดโรคระบาด เป็นต้น

แหล่งหัตถกรรมในอำเภอเชียงแสน
          กลุ่มทอผ้าวัดพระธาตุผาเงา ตั้งอยู่บ้านสบคำ หมู่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จำหน่ายสินค้าจำพวกผ้าทอลายเชียงแสน ตุง ถุงย่าม ผ้าปูโต๊ะ และผ้าคลุมไหล่ เป็นต้น
          กลุ่มหัตถกรรมทอตุงบ้านศรีดอนมูล ตั้งอยู่บ้านศรีดอนมูล หมู่ 13 ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จำหน่ายสินค้าพวกตุงไชย และตุงที่ระลึกต่างๆ
          กลุ่มทอผ้าไหมบ้านสันธาตุ ตั้งอยู่บ้านสันธาตุ หมู่ 4 ตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จำหน่ายพวกผ้าซิ่น ผ้าตัดเสื้อ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า ดอกไม้ประดิษฐ์จากรังไหม และชาใบหม่อน รวมทั้งมีการสาธิตขั้นตอนการผลิตสินค้าให้ชมด้วย
          กลุ่มทอผ้าบ้านวังลาว ตั้งอยู่บ้านวังลาว หมู่ 4 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จำหน่ายสินค้าจำพวกถุงย่าม ผ้าซิ่น ผ้ารองจาน และกระเป๋า เป็นต้น

สถานที่เยี่ยมชมสำคัญ
          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน
          ติดกับวัดเจดีย์หลวง เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ ให้ความรู้เรื่องการตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงแสน และใกล้เคียง รวมทั้งได้จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
          เปิดทำการวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 8.30-16.30 น. ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 10 บาท ยกเว้นพระภิกษุ สามเณร นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ สำหรับชาวต่างชาติ 30 บาท

          ทะเลสาบเชียงแสน (หนองบงกาย)
          เป็นแอ่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลโยนก ทางทิศตะวันตกนอกเมืองเชียงแสน มีหนองน้ำใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบัน เชื่อว่าเป็น “หนองล่ม” ซึ่งเล่าขานเป็นตำนานสืบมาว่า เคยเป็นที่ตั้งเมืองนาคพันธุสิงหนวัติมาก่อน ต่อมาประสบภัยแผ่นดินไหว ตามตำนานกล่าวว่า เพราะประชาชนจับปลาไหลเผือกมากิน เมืองจึงล่มกลายเป็นหนองน้ำ

          สามเหลี่ยมทองคำ
          ดินแดนตะเข็บรอยต่อของไทย พม่า และลาว ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ค้ายาเสพติด โดยเฉพาะฝิ่นและเฮโรอีน สามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งที่มาของเฮโรอีนกว่าครึ่งของจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมดของโลก ปัจจุบีนพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธนวล้านตื้อ

          หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ
          หอฝิ่นห่างจากอำเภอเชียงแสนไปทางทิศเหนือ 10 กิโลเมตร เกิดขึ้นเนื่องมาจากโครงการพัฒนาดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในหอฝิ่นจัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ผลกระทบจากการเสพฝิ่น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งค้นคว้าและศึกษาเกี่ยวกับสารเสพติดต่างๆ

ผังเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน



          ผังเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน เป็นรูป 4 เหลี่ยมด้านไม่เท่า มีกำแพง-คูเมือง 3 ด้าน ยกเว้นทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งติดแม่น้ำโขง กำแพง-คูเมืองด้านทิศเหนือนั้น ยาว 950 เมตร ทิศตะวันตกยาว 2500 เมตร และทิศใต้ยาว 850 เมตร
          สำหรับประตูเมืองเชียงแสนมี 5 ประตู ได้แก่ ประตูยางเทิงทางทิศเหนือ ประตูดินขอทางทิศใต้ ประตูหนองมูด ประตูป่าสัก และประตูทัพม่านทางทิศตะวันตก และมีป้อมมุมเมืองอีก 2 ป้อม คือป้อมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กับทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง ทั้งนี้ในตำนานยังได้กล่าวถึงประตูเมืองอีก 6 ประตู คือ ประตูรั้วปีก ท่าอ้อน ท่าสุกัม ท่าหลวง ท่าเสาดิน และท่าคาว ทางทิศตะวันออกของเมืองคาดว่าประตูเหล่านี้ อาจถูกนำโขงเซาะ พังทลายลงแล้ว
ประชุมพงศาวดารที่ 61 กล่าวถึงวัดในเมืองเชียงแสนว่ามีทั้งสิ้น 139 วัด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือวัดภายในกำแพงเมือง (76 วัด) ได้แก่ วัดเจดีย์หลวง วัดผ้าขาวป้าน วัดพระเจ้าล้านทอง วัดอาทิต้นแก้ว และวัดมุงเมือง เป็นต้น และวัดนอกกำแพงเมือง (63 วัด) ได้แก่ วัดป่าสัก พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุสองพี่น้อง และวัดกู่เต้า เป็นต้น

วัดภายในกำแพงเมืองเชียงแสน



          วัดเจดีย์หลวง
          วัดเจดีย์หลวงอยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ชินกาลมาลีปกรณ์บันทึกว่าสร้าง พ.ศ.1875 หลังจากพญาแสนภูสร้างเมืองเชียงแสนได้ 3 ปี เจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุกในเมืองเชียงแสน ลักษณะทรงระฆัง ภายในวิหารด้านหน้าเจดีย์ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย
          วัดมหาธาตุ (ร้าง)
          วัดมหาธาตุตั้งอยู่ใกล้ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเมืองเชียงแสน ภายในวัดมีโบราณสถานสำคัญคือ มณฑปท้ายวิหาร หรือ คันธกุฎี เชื่อกันว่า เป็นอาคารที่ประทับส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า (พระประธาน) ลักษณะการก่อสร้างมณฑปท้ายวิหาร อาจได้แบบอย่างมาจากศิลปะสุโขทัยตอนปลาย หรืออยุธยาตอนกลางก็ได้ คาดว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21
          วัดมุงเมือง (ร้าง)
          วัดมุงเมืองตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระบวช ลักษณะเจดีย์เป็นทรงปราสาทยอดระฆัง ที่พัฒนาต่อเนื่องจากเจดีย์วัดป่าสัก กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19
          วัดพระบวช (ร้าง)
          วัดพระบวชสร้างพ.ศ.1887 สมัยพญากือนา ลักษณะเจดีย์เป็นทรงระฆัง ก่อหุ้มเจดีย์ทรงปราสาทไว้ด้านใน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้กะเทาะบางส่วนของเจดีย์องค์นอก เพื่อให้เห็นร่องรอยพระพุทธรูปปูนปั้นภายใน
          วัดพระเจ้าล้านทอง
          ภายในวัดมีเจดีย์ทรงระฆังด้านหลังวิหาร และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 2 องค์ คือ พระเจ้าล้านทอง กับพระเจ้าทองทิพย์ พงศาวดารโยนกบันทึกว่า ภายหลังที่พญาศิริราชเงินกองขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน พระองค์ได้สร้างวิหาร เจดีย์กลางเมืองเชียงแสน และหล่อพระเจ้าล้านทอง ส่วนพระเจ้าทองทิพย์นั้น เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่พระเจ้าไชยเชษฐา นำมาจากเมืองศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง)
          วัดผ้าขาวป้าน หรือวัดผ้าขาวพาน
          วัดผ้าขาวป้านตั้งอยู่ริมโขง โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ เจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังด้านหลังวิหาร ประวัติที่พบในจารึกระบุว่า สร้างในสมัยพญาหลวงเมืองเชียงแสน ราวพ.ศ.2158-2159
          วัดพระยืน (ร้าง)
          พงศาวดารภาคที่ 61 บันทึกไว้ว่า พญาคำฟูสร้างเจดีย์วัดพระยืน เมื่อพ.ศ.1875 ต่อมา พ.ศ.2181 พระบยาหลวงไชยชิตได้บูรณะซ่อมแซมองค์เจดีย์ โบราณสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ทรงระฆังที่มีอายุในพุทธศตวรรษที่ 21
          วัดอาทิต้นแก้ว (ร้าง)
          เมื่อพ.ศ.2057 พระเมืองแก้วได้เสด็จจากเชียงใหม่มาเป็นประธานในการบวชกุลบุตรชาวเชียงแสน ครั้งนั้นพระองค์ได้สร้างเจดีย์วัดอาทิต้นแก้ว เพื่อใช้เป็นสถานที่กระทำพิธีสังฆกรรมร่วมกันของลัทธิต่าง ๆ เจดีย์ที่พระเมืองแก้วสร้างหุ้มเจดีย์ทรงระฆังดอกบัวตูม บนเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมสูงไว้ด้านใน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้กะเทาะบางส่วนของเจดีย์องค์นอกบางส่วนออก เพื่อให้เห็นลักษณะเจดีย์องค์ใน
          วัดปงสนุก
          วัดปงสนุกตั้งอยู่ริมโขง มีโบราณสถานสำคัญคือ เจดีย์ทรงระฆังกลม คล้ายกับเจดีย์วัดพระบวช แต่สูงเพรียวและได้สัดส่วนกว่า เทียบได้กับเจดีย์วัดกิตติ เชียงใหม่ และพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน สันนิษฐานว่าเจดีย์วัดปงสนุกมีอายุในพุทธศตวรรษที่ 21

วัดภายนอกเมืองเชียงแสน
          วัดป่าสัก (ร้าง)
          วัดป่าสักอยู่นอกเมืองเชียงแสนทางทิศตะวันตก ตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นในสมัยพญาแสนภู เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองปาลีบุตร ประเทศอินเดีย เมื่อสร้างเจดีย์แล้ว พระองค์ให้ปลูกต้นสัก 300 ต้นรอบอาราม จึงได้ชื่อว่า “วัดป่าสัก” ลักษณะเจดีย์ 5 ยอดตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นวิจิตรงดงาม
          วัดพระธาตุจอมกิตติ
          วัดพระธาตุจอมกิตติ อยู่นอกเมืองเชียงแสนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พ.ศ.2023 พระเจ้าสุวรรณคำล้านให้หมื่นเชียงสงก่อเจดีย์ครอบองค์เดิมไว้ และพ.ศ.2227 เจ้าฟ้าเฉลิมเมืองพร้อมด้วยคณะศรัทธา ได้ร่วมกับบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์อีกครั้ง ลักษณะเจดีย์เป้นทรงปราสาทยอดระฆัง ที่นิยมสร้างในพุทธศตวรรษที่ 22
          วัดพระธาตุผาเงา
          ในอดีตเมื่อวัดสบคำพังทลายเพราะน้ำโขงกัดเซาะ คณะศรัทธาจึงสร้างวัดพระธาตุผาเงาบนพื้นที่วัดโบราณ (ร้าง) ในบริเวณดอยคำ (ดอยจัน)  และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2519 ขณะที่ปรับพื้นที่วิหารโบราณ เพื่อสร้างวิหารหลังใหม่ครอบทับ พบ “หลวงพ่อผาเงา” ฝังอยู่ใต้ฐานชุกชีพระประธาน
          หลวงพ่อผาเงาเป็นพระพุทธรูปปั้นแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ส่วนพระธาตุผาเงา เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กอยู่เหนือก้อนหินใหญ่
          วัดพระธาตุสองพี่น้อง
          วัดพระธาตุสองพี่น้องอยู่ในเวียงเชียงแสนน้อย ตำนานบันทึกว่า สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพญาคำฟู (พ.ศ.1881-1888) ลักษณะเป็นเจดีย์ 5 ยอดคล้ายเจดีย์วัดป่าสัก
          วัดพระธาตุภูเข้า
          วัดพระธาตุภูเข้าอยู่บนดอยเชียงเมี่ยง พงศาวดารบันทึกว่า สร้างพ.ศ.1032 สมัยพญาลาวเก๊าแก้วมาเมือง โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วยวิหารก่ออิฐสอปูน หลังคาตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น เช่นเดียวกับวิหารวัดสัสดีในเชียงแสน และท้ายวิหารเป็นคันธกุฏิ หลังคันธกุฏิประดิษฐานเจดีย์ประธาน และเจดีย์ราย 4 องค์ เจดีย์ประธานมีร่องรอยช้างปูนปั้นประดับส่วนฐานตามคติสุโขทัย
          วัดกู่เต้า (ร้าง)
          วัดกู่เต้าอยู่นอกเมืองเชียงแสนทางทิศตะวันตก ลักษณะเป็นเจดีย์ที่มีเรือนธาตุกลมบนฐานสี่เหลี่ยมแบบพื้นเมือง คล้ายเจดีย์วัดตะโปธาราม วัดพวงหงส์ และวัดเฉียงโฉมใน เชียงใหม่ อาจได้รับอิทธิพลจากเจดีย์กู่กูด ลำพูน และน่าจะสร้างในปลายพุทธศตวรรษที่ 21

ที่มา : แผ่นพับ โดยสำนักงานศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร โทร 0-53322-2262
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 15 มกราคม 2016, 15:44:38 โดย alive » IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!