ไม้คานกลัวเจ๊ก เหล็กกลัวฝรั่ง สตังกลัวคนไทย

<< < (2/3) > >>

เด็กลำธารไม้ไผ่:
เหอะๆ  ;D ;D ;D

bm farm:
 :D...ท่าจะแม่นอยู่ครับ

เชียงรายพันธุ์แท้:
ไม้คานกลัวเจ๊ก   เหล็กกลัวฝรั่ง   สตังกลัวคนไทย     เหล้ากลัวคนเมือง

inta:
เอาฮื้เปิงแหมน้อย     ไม้กานกั๋วเจ๊ก   เหล็กกั๋วฝรั่ง   สตางกั๋วคนไทย   สุราเมรัยกั๋วคนเมือง

a-morn:
ขออนุญาตนำเสนอรายละเอียด

ชาตินิยมไทยในกระแสโลกาภิวัตน์

- นิธิ เอียวศรีวงศ์ -

โฆษณาทีวีของบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง แสดงภาพความทดท้อของคนไทยด้วยการฉายภาพกลับ นักฟุตบอลชาติอื่นเขาเดินลงสนาม แต่นักฟุตบอลไทยเดินถอยหลังออกจากสนามไป เพราะรู้แล้วว่าไม่มีทางสู้เขาได้ ครูลบสิ่งที่เขียนบนกระดาษหน้าชั้นออก แล้วบอกว่าอย่าไปคิดอะไรใหม่เลย เขาเคยสอนกันมาอย่างไรก็อย่างนั้น

แม้แต่เด็กเล็กๆ ยังคลานถอยหลังเลย มีเสียงผู้หญิงรำพึงว่าน่าเสียดายที่ลูกเกิดมาเป็นคนไทย

พลันก็มีเสียงทุ้มหนักของผู้ชาย (เสียงแห่งอำนาจและความก้าวหน้าในวัฒนธรรมไทย) ย้อนว่า "เกิดเป็นไทยแล้วทำไม เกิดเป็นไทยก็เป็นที่หนึ่งได้"

มโนภาพหรือที่นิยมเรียกกันว่าภาพพจน์ของบริษัทน้ำมันมีสภาพอย่างไรในสังคมไทยก็ตาม บริษัทต้องการสร้างมันขึ้นมาใหม่ โดยผูกชื่อของบริษัทเข้ากับความก้าวหน้าที่เทียบเทียมได้กับธุรกิจชั้นนำของโลก

ในขณะที่เน้น "ความเป็นไทย" ของบริษัทไปพร้อมกัน

คงมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นกับสำนึกชาตินิยมในสังคมไทยที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ผมไม่ทันได้สังเกต จนกระทั่งเพิ่งมาฉุกคิดด้วยโฆษณาชิ้นนี้

น่าสังเกตนะครับว่า "ความเป็นไทย" ในโฆษณาไม่ได้อ้างถึงเลือดบรรพบุรุษที่ไหลนองแผ่นดิน และอันที่จริงไม่ได้อ้างอะไรที่เป็น "อดีตอันรุ่งโรจน์" ของไทยเลย ไม่ว่าความรุ่งโรจน์นั้นได้ผ่านไปแล้วหรือยังดำรงอยู่ก็ตาม ไม่ได้ปลุกระดมความสามัคคีเพื่อผดุงอะไรที่เชื่อว่าเป็นไท้ยไทยเสียจนปล่อยให้มลายหายสูญไปไม่ได้ และความเป็นหนึ่งของไทยนั้น ไม่ใช่อัตลักษณ์เฉพาะตนที่ไม่มีใครเหมือน แต่เป็นที่หนึ่งในเวทีสากลหรือในความสามารถที่ถือกันว่ามนุษย์ทุกชาติพันธุ์ย่อมสามารถพัฒนาได้เท่ากัน (เช่น ฟุตบอล)

บางคนอาจคิดว่านี่เป็นสำนึกชาตินิยมของคนที่อยู่ในช่วงซึ่งไม่มีภัยคุกคามชาติ จึงแตกต่างจากสำนึกชาตินิยมที่ปลุกเร้ากันมาแต่ก่อน

สมมติว่าความคิดนี้จริง ก็นับว่าน่าสนใจนะครับ เพราะตั้งแต่มีการปลุกเร้าสำนึกชาตินิยมขึ้นในสังคมไทย จนเมื่อไม่นานมานี้ ก็รู้สึกกันทั่วไปว่า ชาติไทยถูกภัยร้ายแรงคุกคามขนาดที่อาจไม่สามารถดำรงความเป็นชาติต่อไปได้ ไม่วาจะเป็นจักรวรรดินิยมยุโรป, คอมมิวนิสต์, อเมริกัน หรือจีน ก็ล้วนเคยถูกเสนอว่าเป็นภัยคุกคามชาติอย่างร้ายแรงทั้งสิ้น (โดยคนต่างกลุ่มกัน)

สำนึกชาตินิยมไทยจึงเป็นสำนึกที่ปลุกเร้ากันขึ้นเพื่อเผชิญภัยจากภายนอก ครั้นภัยภายนอกเหล่านั้นอันตรธานไปในบัดดล สำนึกชาตินิยมแบบนั้นก็เอามาใช้ประโยชน์ได้น้อยลง เหตุดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่เนื้อหาของสำนึกชาตินิยมไทยย่อมต้องเปลี่ยนไป

และเรากำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเนื้อหานี้

ผมไม่ทราบว่า ความเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อหาของจิตสำนึกชาตินิยมนี้เกิดขึ้นเพราะเราไม่มีศัตรูเหลืออยู่ หรือเพราะอื่นใด แต่ก็เห็นด้วยว่า เนื้อหาของสำนึกชาตินิยมไทยกำลังเปลี่ยน

และในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ผมคิดว่ามีอะไรน่าสังเกตอยู่สามสี่ประการ

1. ผมคิดว่าสำนึกนี้มองออกไปข้างนอก และมองออกไปข้างหน้า คือมองออกไปที่ภาวการณ์ของโลกกว้างทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะวิกฤตบางอย่างซึ่งประเทศไทยเผชิญอยู่หรือภูมิภาคบ้านเราต้องเผชิญอยู่ ในขณะที่ใส่ใจกับความเปลี่ยนแปลงที่พึงเกิดขึ้นกับตัวเองในอนาคต หมายความว่าสำนึกชาตินิยมนี้ปลุกเร้าให้เราทำอะไรเพื่อจะได้ไม่เหมือนอย่างที่เราเป็นเวลานี้ ชาติไทยในอุดมคติอยู่ข้างนอกโน่น และอยู่ข้างหน้าโน่น

ไม่ต้องอธิบายก็ได้นะครับว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาของสำนึกชาตินิยมแบบเก่า สำนึกนั้นมองเข้ามาข้างใน (ธำรงรักษาสิ่งโน้นสิ่งนี้ เชื่อมโยงกับบรรพบุรุษ และสถิตสถาพรชั่วกัลปาวสาน) และมองย้อนไปข้างหลัง

2. และเพราะดังกล่าวข้างต้นนั่นแหละครับ จึงนับว่าน่าสนใจนะครับที่เนื้อหาใหม่ของสำนึกชาตินิยมตัดขาดจาก "จิตวิญญาณ" ของอดีตโดยสิ้นเชิง

ผมหมายความว่า แม้สิ่งที่ตกค้าง (หรือตกทอด) จึงนับว่าน่าสนใจนะครับที่เนื้อหาใหม่ของสำนึกชาตินิยมตัดขาดจาก "จิตวิญญาณ" ของอดีตโดยสิ้นเชิง

ผมหมายความว่า แม้สิ่งที่ตกค้าง (หรือตกทอด) มาจากอดีตยังถูกรักษาไว้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ, สถาบัน, องค์กร, ประเพณี, หรือภาษา, วรรณคดีและการแสดง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับใช้ "จิตวิญญาณ" เก่าที่สร้างมันขึ้นมาเสียแล้ว

เพียงเท่านี้อาจเป็นปกติธรรมดาในทุกสังคม กล่าวคือ อะไรเก่าๆ ที่เหลือตกค้างอยู่ในสังคมย่อมเหลือแต่รูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าจะธำรงรักษา "จิตวิญญาณ" เก่าไว้ได้สถาพร แต่ผมรู้สึกว่าสำนึกชาตินิยมไทยในสมัยปัจจุบัน ได้พยายามใส่ใจ "จิตวิญญาณ" ใหม่ลงไปในสิ่งเหล่านั้นบางอย่างด้วย

ขอยกตัวอย่างเฉพาะที่เห็นได้ชัดๆ แล้วกัน เช่น ประเพณีท้องถิ่นต่างๆ ถูก "จิตวิญญาณ" ของการค้ากำไรจากการท่องเที่ยวแทรกเข้าไปเป็นแกนกลาง จนกระทั่งไม่ได้รับใช้ชุมชนท้องถิ่นในมิติอื่นใดนอกจากทำกำไรแก่คนบางหมู่บางเหล่า

ในขณะเดียวกัน ผมก็ขอให้สังเกตด้วยว่า สำนึกชาตินิยมแบบใหม่นี้อาจไม่มีที่ให้แก่เนื้อหาหลายอย่างที่เคยมีมาในสังคมไทย เช่น ไม่น่าจะมีที่ให้แก่วัฒนธรรมที่ครั้งหนึ่งเคยเรียกกันว่า "ซากเดนศักดินา" เป็นต้น

3. ผมคิดว่าเนื้อหาของสำนึกชาตินิยมนั้นไม่เคยผุดขึ้นมาลอยๆ แต่ล้วนต้องถูกสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ใครบ้างที่เข้ามามีส่วนในการกำหนดและสร้างเนื้อหาของสำนึกชาตินิยมใหม่ ข้อนี้ผมจะไม่ตอบ แต่ทิ้งคำถามไว้เฉยๆ เพียงเท่านี้

ปัญหาที่ผมสนใจกว่าก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถสอดใส่เนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย (ให้ความเคารพต่อคนโดยเท่าเทียมกัน ให้สิทธิที่เท่าเทียมกัน และให้ความเป็นธรรมแก่คนโดยเสมอหน้ากัน) ลงไปในสำนึกชาตินิยมใหม่นี้ได้ คนกลุ่มไหนจะเป็นผู้ผลักดัน และจะสามารถผลักดันได้อย่างไร

4. ผมรู้สึก...และขอย้ำนะครับว่ารู้สึก คือไม่ได้คิดวิเคราะห์อะไรอย่างลึกซึ้งนอกจากสัมผัสมันด้วยใจ... ผมรู้สึกว่าสำนึกชาตินิยมใหม่นี้มีลักษณะปัจเจกมากเสียจนกระทั่งไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่า "ชาติ" ได้หรือไม่

ขอให้สังเกตนะครับว่า โฆษณานั้นทำให้เรารู้ว่าบริษัทน้ำมันนั่นจะก้าวออกไปข้างนอก ต่อสู้อย่างองอาจสามารถกับคู่แข่งนานาชาติ จนในที่สุดก็ช่วงชิงเอาความเป็นที่หนึ่ง (ของโลก) กลับมาเมืองไทยได้

เช่นเดียวกับแม่ที่ไม่ควรทดท้อเพราะลูกเกิดเป็นคนไทย แต่ควรเลี้ยงดูส่งเสียให้ได้เล่าเรียน จนวันหนึ่งก็จะออกไปสู่ในสนามสากล และกลับมาเป็นที่หนึ่งได้เหมือนกัน

แล้วบริษัทไทยอื่นและเด็กไทยคนอื่นล่ะครับ เคยจ๋องอย่างไรก็จ๋องต่อไป เพราะโฆษณาไม่ได้แนะให้เราคิดถึงการปรับเปลี่ยนในเชิงที่จะทำให้บริษัทไทยทั่วไปสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น หรือเด็กไทยทั่วไปมีความสามารถมากขึ้น (เช่น บางบริษัทโฆษณาความเป็นธรรมาภิบาลของบริษัท ก็คือแนะว่าบริษัทไทยทั่วไปควรหันมา "ธรรมาภิบาล" กันบ้าง หรือบริษัทบรรบุรุษของบริษัทน้ำมันมีคำขวัญว่า "ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน" ก็มีนัยเกินความไปถึงการทำธุรกิจทั่วไปหมด ไม่เฉพาะแต่ของบริษัท)

ใครดีใครได้ และใครคนนั้นก็จะเป็นที่หนึ่งได้

แล้วคนไทยจะได้อะไร ก็ได้เฮสิครับ ที่เรามีบริษัทไทยเป็นที่หนึ่งและมีคนไทยเป็นที่หนึ่ง (ของโลก) อย่างเดียวกับที่เราเฮกับเหรียญโอลิมปิกวิชาการ และเหรียญเป่าแตรวงนั่นแหละครับ

เพราะคนไทยคือผู้ชม และการมีส่วนร่วมของคนไทยก็เหมือนผู้ชมมหกรรมการแข่งขันทั้งหลาย คือเฮให้ถูกจังหวะ

ผมยอมรับว่า อายุขนาดผมทำให้มองความใฝ่ฝันจะเป็นที่หนึ่งในโลกด้วยความไม่มั่นใจ ผมเติบโตมาในสังคมไทยที่ไม่ได้มีความเชื่อมั่นในตัวเองขนาดนั้นหรอกครับ

วันหนึ่ง ผมนั่งอยู่ในเพิงพักรอรถโดยสาร หลวงพ่อองค์ที่นั่งร่วมเพิงชวนคุย แล้วท่านก็พูดถึงภาษิตเก่าอันหนึ่งซึ่งผมไม่เคยได้ยินว่า "ไม้คานกลัวเจ๊ก เหล็กกลัวฝรั่ง สตังค์กลัวไทย"

คำอธิบายของท่านก็คือ เจ๊กขยันขันแข็ง เที่ยวหาบของขายไปทั่วไม่เคยหยุด จนไม้คานกลัวบ่าเจ๊ก ส่วนฝรั่งก็สามารถเอาเหล็ก (โลหะ) ที่หนักปานนั้น ขึ้นไปบินว่อนบนอากาศได้เหมือนปุยนุ่น แต่คนไทยสิครับ มีสตังค์เท่าไหร่ก็จ่ายเรียบ จนสตังค์กลัวไม่กล้าตกอยู่ในมือคนไทย

ภาษิตของท่านทำให้นึกถึงคำกล่าวอีกมากมายที่ได้ยินมาตั้งแต่ยังเด็ก ล้วนมีความทำนองเดียวกันอย่างนี้ทั้งนั้น คือการตำหนิ "ความเป็นไทย" หรือพูดถึงความบกพร่อง (weakness) บางอย่างของคนไทยน

แม้แต่คำว่า "พี่ไทย" ที่ใช้เรียกคนไทย เมื่อเวลาพูดเปรียบเทียบกับคนชาติอื่นๆ ก็ใช้เฉพาะเมื่อชี้ให้เห็นความบกพร่องบางประการทั้งนั้น ภาษิตว่า "ทำได้ตามใจคือไทยแท้" นั้น ผมได้ยินครั้งแรกๆ มีความหมายว่า คนไทยไม่มีระเบียบวินัย ไม่ได้เกี่ยวกับความรักอิสระเสรีอะไรทั้งนั้นแหละครับ

ผมเดาไม่ถูกหรอกครับว่า ภาษิตและความคิดเห็นเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อไร ในสมัยรัชกาลที่ 4 เรารู้ว่าฝรั่งดูถูกเรา แต่เราก็เชื่อมั่นว่าเรามีอะไรบางอย่างดีกว่าฝรั่ง เช่น พระพุทธศาสนา (ซึ่งฝรั่งมามุงดูด้วยความชื่นชมรอบสระบัวในรูปของขรัวอินโข่ง)

จะว่าภาษิตเหล่านี้สะท้อนความไม่นับถือตนเองของคนไทยอย่างที่ปัญญาชนไทยบางท่านพูดก็ได้ แต่อาจจะพูดว่าคนไทยรู้จักวิจารณ์ตัวเองก็ได้เหมือนกัน (ความสามารถอันนี้คงไม่ได้เป็นของอังกฤษชาติเดียวแน่) โดยเฉพาะในยามที่เรากำลังเผชิญกับมหาอำนาจที่อานุภาพเหนือเราในทางเศรษฐกิจ-การเงิน, การเมือง, เทคโนโลยี และวัฒนธรรมเหมือนกัน

เราเลือกที่จะปลุกปลอบใจตัวเองเพื่อออกไปสู้บนเวทีที่เขาเป็นผู้กำหนดกติกา ก็คงไม่ผิดอะไรหรอกนะครับ เพียงแต่ว่าในการออกไปด้วยเนื้อหาของสำนึกชาตินิยมใหม่ดังที่กล่าวข้างต้นนั้น (ผมคิดว่า) มีความอ่อนแอแฝงอยู่ไม่น้อย

และหนึ่งในบรรดาความอ่อนแอทั้งหลายเหล่านั้นก็คือ คนไทยประเภทซีอีโอไร้ความสามารถที่จะวิจารณ์ตนเองเป็น

มติชนรายสัปดาห์, 5 มีนาคม 2547

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว