เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 16 เมษายน 2024, 23:36:48
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  บวชพระเจ้า มนต์ขลังแห่งล้านนา ตอนที่ 3 โดย พนมกร นันติ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน บวชพระเจ้า มนต์ขลังแห่งล้านนา ตอนที่ 3 โดย พนมกร นันติ  (อ่าน 2684 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 22 สิงหาคม 2012, 23:08:20 »



“เครื่องอัฐบริขาร” หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงครองเพศบรรพชิตแล้ว ทรงถือวัตรปฏิบัติของสมณะ คือปลงผมนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด(สีเหลืองแก่นขนุน) เลี้ยงชีพด้วยอาหารจากการบิณฑบาตที่มีผู้ต้องการบุญนำมาถวายให้ ทรงมีนามเรียกขานแทนพระองค์เองว่าพระสมณโคดม (คำว่าโคดม มาจากคำว่าโคตมะ ซึ่งเป็นชื่อโคตรของราชวงศ์ศากยะ) พระสมณโคดมได้ฝากตนเป็นศิษย์ในสำนักอาฬารดาบส ได้ฝึกจิตบำเพ็ญธรรมจนบรรลุความรู้ขั้นสูงสุดของอาจารย์ คือบรรลุฌานขั้นที่ ๗ ซึ่งเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรม เมื่อทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ต่างๆ จนหมดความรู้ของอาจารย์อาฬารดาบสที่จะถ่ายทอดให้แล้ว พระองค์จึงได้อำลาไปเป็นศิษย์ในสำนักอุทกดาบสซึ่งมีความรู้สูงกว่าอาฬารดาบสหนึ่งขั้น คือเป็นผู้บรรลุฌานขั้นที่ ๘ ซึ่งพระสมณโคดมได้ทรงใช้เวลาในการศึกษาไม่นานก็สิ้นภูมิรู้ของอาจารย์อีก จึงได้อำลาอาจารย์ในอุทกดาบสไปค้นหาวิมุตติธรรม ตามแนวทางของพระองค์เอง ด้วยทรงประจักษ์ว่านี่ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ พระองค์จึงได้ละทิ้งสำนักอาจารย์เหล่านั้นเสียหมด และพระองค์ได้มุ่งหน้าสู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแคว้นมคธ โดยทรงเริ่มการบำเพ็ญเพียรขั้นอุกฤตที่เรียกว่าทุกกรกิริยา ซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมปฏิบัติกัน  อาทิการกลั้นลมหายใจเข้าออกจนเหงื่อโทรมกายหูอื้อตาลาย การนั่งตากแดดจนผิวเกรียมไหม้ ครั้นฤดูหนาวก็ลงไปแช่น้ำจนตัวแข็ง



พระองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมทุกวิถีทาง แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุแนวทางค้นพบสัจธรรมที่ทรงตั้งพระทัยไว้ได้  ระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่นั้นได้มี ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕  ประกอบด้วยโกญฑัญญะ วัปปะ ภัททิยา มหานามะ และอัสสชิ  ตามมาปฏิบัติตนเป็นศิษย์คอยปรนนิบัติพระองค์โดยหวังว่าจะทรงบรรลุธรรมวิเศษ     ด้วยคาดหวังว่าเมื่อพระสมณโคดมค้นพบวิโมกขธรรม จะได้สั่งสอนพวกตนให้บรรลุสัจธรรมนั้นด้วย พระสมณโคดมเริ่มบำเพ็ญทุกกรกิริยาขั้นสุดท้ายคือเริ่มลดอาหารที่ละน้อย ๆ จนถึงขั้นอดอาหารจนร่างกายซูบผอม เหลือแต่หนังและเอ็นหุ้มกระดูก ทรงบำเพ็ญเพียรถึงขั้นอุกฤตขนาดนี้นับเป็นเวลาถึง ๖ พรรษา แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุวิมุตติธรรมได้   “เครื่องอัฐบริขาร” จึงเป็นสิ่งของเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ และเราจะเห็นได้ว่าหลังจากที่ทรงออกบวชแล้วพระองค์ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร และออกบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ดังนั้นเครื่องอัฐบริขารเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพระสงฆ์  ในปัจจุบันเครื่องอัฐบริขารยังเป็นส่วนสำคัญของพระสงฆ์  โดยเฉพาะในพิธีบรรพชาหรืออุปสมบทจะขาดไม่ได้เลย  ในการอบรมสมโภชหรือพิธีพุทธาภิเษก  เสมือนเป็นการอุปสมบทพระพุทธรูปองค์ใหม่ด้วย  ดังนั้นเครื่องอัฐบริขารนั้นจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งในพิธี



“อ่างน้ำและถาดทอง” ในวันที่พระองค์ตรัสรู้เช้าวันรุ่งขึ้นของวันนั้นเอง พระองค์ได้เสด็จมายังใต้ร่มไทรต้นหนึ่งในหมู่บ้าน เผอิญไทรต้นนี้นางสุชาดาลูกสาวคหบดีผู้มั่งคั่งในละแวกนั้น ได้เคยมาบนบานศาลกล่าวไว้ว่าขอให้ตนได้ลูกชาย เมื่อได้บุตรชายสมปรารถนาแล้ว ก็ตั้งใจจะมาแก้บนกันเสียทีเพราะทิ้งเอาไว้นานหลายปีแล้ว นางได้จัดทำข้าวปายาส (ข้าวที่กวนกับน้ำนมสด กวนจนเหลวเข้ากันดี)  และให้สาวใช้ล่วงหน้ามาปัดกวาดทำความสะอาดสถานที่เตรียมการบูชารุกขเทวดาที่ต้นโพธิ์ สาวใช้ได้มาเห็นพระพุทธองค์ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีรัศมีดังสีทองแผ่ซ่านออกไปทั่วปริมณฑล ก็คิดในใจว่าเป็นเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรนี้มาปรากฏกายให้เห็นเพื่อคอยรับเครื่องพลีกรรม นางดีใจรีบวิ่งกลับไปรายงานให้นายสาวทราบ นางสุชาดาปลื้มใจมาก จึงจัดข้าวปายาสใส่ถาดทองคำมายังต้นไทร พอได้มาเห็นพระพุทธองค์สมจริงดังคำบอกเล่าของสาวใช้ก็ยิ่งเกิดความปีติยินดีมากขึ้น คิดว่าเป็นรุกขเทวดาแน่แล้ว จึงเข้าไปกราบถวายข้าวปายาส พร้อมทั้งถาดทองราคาแสนกหาปณะ โดยมิได้มีความเสียดายแม้แต่น้อย



พระพุทธองค์รับข้าวปายาสจากนางสุชาดาแล้ว ทรงเดินประทักษิณาวรรตต้นไทรสามรอบและตรงไปยังท่าสุปปติฏฐิตะ สรงน้ำชำระกาย แล้วเสด็จกลับมาที่ต้นไทร ปั้นข้าวปายาสเป็นก้อนใหญ่พอประมาณได้ ๔๙ ก้อน แล้วเสวยจนหมด พระกระยาหารมื้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นอาหารที่ทำให้พระองค์อิ่มอยู่ได้ถึง ๔๙ วัน โดยมิต้องกังวลต่อความหิวใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเสวยแล้ว ทรงนำถาดทองไปลอยน้ำอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า หากจะได้ตรัสรู้อนุตตรธรรมแล้วไซร้ ก็ขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ถ้าจะไม่ได้ตรัสรู้ ก็ขอให้ถาดลอยตามน้ำไปเถิด ปรากฏว่าถาดได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปด้วยแรงอธิษฐานแล้วจมลงสู่นาคพิภพ รวมกับถาดสามใบของอดีตพระพุทธเจ้า คือ พระกกุสันโธ พระโคนาคม และพระกัสสป เมื่อลอยถาดทองแล้วเวลาใกล้เที่ยงจึงเสด็จกลับมาพักที่ดงต้นสาละเพื่อหลบแดดตอนเที่ยง     จวบจนบ่ายตะวันคล้อยจึงเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชรามายังอีกฝากหนึ่งคือตรงมายังต้นศรีมหาโพธิ์   ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่าจะบรรลุโพธิญาณ ประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเพื่อที่จะตั้งมั่นในการบำเพ็ญเพียร อ่างน้ำขนาดใหญ่ที่จัด เตรียมไว้ด้านหน้าองค์พระพุทธรูปในมณฑลพิธี  ต่างสมมติว่าเป็นแม่น้ำเนรัญชรา  ส่วนถาดทองที่เรานำมาลอยเหนืออ่างน้ำนั้น เสมือนหนึ่งเป็นถาดทองที่นางสุชาดาใส่ข้ามธุปายาสมาถวาย  และทรงได้อธิษฐานเสี่ยงทายด้วยการลอยถาดทองนั่นเอง



หลังจากที่ทรงอธิษฐานเสี่ยงทายด้วยการลอยถาดทองนั้นแล้ว  ความนี้ทราบถึงท้าวสักกเทวราชผู้เป็นจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  จึงทรงเสด็จมาเฝ้าและดีดพิณสามสายให้ทรงสดับ ในครั้งแรกทรงดีดพิณสายที่ ๑ ซึ่งขึ้นสายไว้ตึงมาก พอลงมือดีดสายพิณก็ขาดทันที  ครั้งที่ ๒ ท้าวสักกเทวราชทรงดีดพิณสายที่สองซึ่งขึ้นสายไว้หย่อนกว่าสายแรกปรากฏเป็นเสียงที่ยืดยาดขาดความไพเราะ ครั้งที่ ๓ ท้าวสักกเทวราชทรงดีดพิณสายสุดท้ายที่ขึ้นสายไว้พอดี ซึ่งเสียงที่เกิดจากสายที่ ๓  นี้เองเป็นบทเพลงที่มีความไพเราะกังวาน หลังจากที่ท้าวสักกเทวราชได้ดีดพิณถวายพระสมณโคดมแล้วก็ได้ถวายบังคมลากลับไป เมื่อพระสมณโคดมทรงสดับเสียงพิณแล้วก็ทรงทราบถึงเหตุแห่งการมาของท้าวสักกเทวราช จึงได้แนวพระดำริว่าการบำเพ็ญทุกขกิริยานั้น เป็นการทรมาณตนให้ลำบากเปล่า เป็นข้อปฏิบัติที่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไปไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ การบำเพ็ญเพียรทางสมาธิจิตนั้นไม่ควรตึงหรือหย่อนเกินไป น่าจะเป็นทางแห่งการตรัสรู้ได้ จึงเริ่มเสวยพระกระยาหารดังเดิมเพื่อให้ร่างกายคลายเวทนา มีสมาธิที่จะบำเพ็ญเพียรต่อไป



“หญ้าคา ๘ กำ และต้นสลี(ต้นโพธิ์)” ในเวลาเย็นวันนั้นโสตถิยะได้ถวายหญ้าคา ๘ กำมือ ปูลาดเป็นอาสนะ ณ โคนใต้ต้นโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระองค์ทรงประทับนั่งขัดสมาธิผินพระพักตรสู่เบื้องบูรพาทิศ ตั้งจิตแน่วแน่ว่าตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณจะไม่ลุกขึ้นจากสมาธิบัลลังก์   ดังนั้น“หญ้าคา ๘ กำ” ที่ผูกติดกันเป็นแพรนั้น  แทนหญ้าคาที่ได้บันทึกไว้ในพุทธชาดกขณะที่โสตถิยะได้ถวายหญ้าคา ๘ กำมือปูลาดเป็นอาสนะ  ส่วนต้นสลีหรือต้นโพธิ์ที่นำมาตั้งไว้หลังองค์พระพุทธรูปเปรียบได้ดั่งต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั่นเอง 



ขณะที่พระสมณโคดมบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น  การอธิษฐานจิตนี้ยังผลให้บัลลังก์แห่งพระยาวัสสวดีมารสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง เนื่องจากการตรัสรู้ของพระมหาบุรุษนั้นเป็นปฏิปักษ์ โดยตรงกับพญามาร  เนื่องจากมารสามารถดลใจให้คนทำชั่วต่าง ๆ และก็ตกอยู่ในอำนาจของตนแต่พระมหาบุรุษกำลังจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และรื้อสัตว์ขนสัตว์ออกจากบ่วงมารพญาวัสสวดีมารจึงเข้าทำการขัดขวางโดยขี่ช้างคิรีเมข นำเหล่าเสนามารจำนวนมากเข้ามารบกวนเพื่อหวังให้พระองค์เกรงกลัวจะได้ลุกขึ้นเสด็จหนีไป  แต่พระองค์ก็ยังคงประทับนิ่งเป็นปกติโดยมิได้ทรงหวั่นไหว พญามารจึงโกรธมากจึงสั่งให้เสนามารกลุ้มรุมกันประหารพระองค์ แต่ด้วยอำนาจบารมีแห่งความเป็นพระโพธิสัตว์ อาวุธของพญามารจึงมิอาจทำอันตรายได้ พญามารจึงใช้วิธีใหม่โดยกล่าวตู่ว่าที่ตรงที่พระมหาบุรุษนั่งอยู่นั้นเป็นของตนขอให้พระมหาบุรุษลุกออกไปเสีย พระมหาบุรุษเมื่อได้รับฟังแล้วก็ทรงตอบโต้ว่ารัตนบังลังก์นี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจบารมี ทั้ง ๓๐ ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญสั่งสมมาทุกชาติโดยขอให้นางสุนทรีวนิดาแม่พระธรณีเป็นพยาน เหตุนี้เองทุกครั้งที่มีการทำบุญฉลองสมโภชต่างๆ ชาวล้านนาจึงมักประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่และบอกกล่าวพระแม่ธรณี  เพื่อมาเป็นสักขีพยานในการประกอบพิธีทำบุญด้วยทุกครั้ง



จากนั้นแม่พระธรณีจึงผุดขึ้นมาจากพื้นดินแล้วบิดมวยผมจนน้ำท่วม กระแสน้ำก็พัดพาพวกเสนามารไปหมดสิ้น พญาวัสสวดีมารจึงพ่ายแพ้และกลับไป  ครั้นพญามารพ่ายแพ้กลับไปแล้วพระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรต่อไปที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัยเรียกว่าการเข้าฌาน เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณจนเวลาผ่านไปจนถึงยามต้นพระองค์ก็ทรงบรรลุรูปฌานทั้ง ๔ ชั้น แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาจนเกิดความรู้แจ้ง กล่าวคือ
๑. เวลาปฐมยาม ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกชาติได้
๒. เวลามัชฌิมยามทรงได้จุตูปปาตญาณ(ทิพยจักษุญาณ)  คือรู้เรื่องการเกิดและการตายของสัตว์ทั้งหลายว่า เป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำไว้
๓. เวลาปัจฉิมยามทรงได้อาสวักขยญาณคือความรู้  ที่ทำให้สิ้นอาสวะหรือกิเลส หมายถึงตรัสรู้อริยสัจสี่
อาสวักขยญาณที่ทรงได้ทำให้พิจารณาถึงขันธ์ ๕ และใช่แห่งความเป็นเหตุที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท อันเป็นต้นทางให้เข้าถึงอริยสัจ เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นแล้ว จึงละอุปาทานและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลกในกาลต่อมา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะหรือเดือน ๖  ณ อุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ขณะมีพระชนม์พรรษาได้ ๓๕ พรรษา
มีเรื่องเล่าและความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในล้านนาอีกประการหนึ่งว่า  ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงนั่งบำเพ็ญเพียรบนแท่นใต้ต้นโพธิ์นั้น   พญาวัสสวดีมารเห็นแท่นที่พระองค์ทรงประทับกลายเป็นรัตนบัลลังก์  มีแสงวับวาวระยิบระยับจับตาจึงเกิดความละโมบอยากได้มาครองเป็นของตน  จึงได้สั่งให้เหล่าเสนามารเข้ามาแย่งชิงแต่ก็สามารถแย่งชิงได้  ด้วยพุทธานุภาพของพระองค์และจากพระแม่ธรณีบีบมวยผม  ทำให้น้ำท่วมนองบริเวณดังกล่าวมีสัตร้ายต่างๆ ออกมากัดกินเหล่ามารจนสิ้น  ทำให้เหล่ามารเกิดความเกรงกลัวเป็นอย่างมาก  ดังนั้นปัจจุบันเราจึงมักเห็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์ทุกครั้ง  พระสงฆ์จะใช้หญ้าคามัดเป็นกำ  เพื่อใช้ในการประพรมน้ำพระพุทธมนต์  เพราะเชื่อว่าหญ้าคาดังกล่าวเป็นหญ้าคาที่โสตถิยะได้ถวายปูลาดเป็นอาสนะ ณ โคนใต้ต้นโพธิ์  และทำให้พญามารเห็นเป็นรัตนบัลลังก์และเกิดความกลัวหลังจากพ่ายแพ้ในการเข้าแย่งชิงนั่นเอง



“รูปปั้นพญานาค” มีตำนานอีกตำนานหนึ่งกล่าวว่าเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ และประทับบำเพ็ญสมาบัติเสวยวิมุตติสุขอันเกิดจากความพ้นกิเลสอยู่ ณ อาณาบริเวณที่ไม่ไกลจากต้นพระศรีมหาโพธิ์แห่งละ ๗ วันนั้น ในสัปดาห์ที่ ๓ นี้เองก็ได้ไปประทับใต้ต้นมุจลินท์(ต้นจิก) ขณะนั้นฝนได้ตกลงมาอย่างหนักไม่หยุดพญานาคตนหนึ่งชื่อ“มุจลินท์นาคราช” ก็ได้ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์เข้าไปวงขด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าไว้มิให้ฝนตกต้องถึงพระวรกาย เหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบ ยุง ริ้น ไร และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย จนฝนหายจึงได้แปลงร่างเป็นมาณพเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ในกาลต่อมา  ซึ่งเป็นมูลเหตุที่มาของพระพุทธรูปปรางนาคปรก  พระประจำวันของผู้ที่เกิดในวันเสาร์นั่นเอง
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!