เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 25 เมษายน 2024, 18:33:22
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  บวชพระเจ้า มนต์ขลังแห่งล้านนา ตอนที่ 2 โดย พนมกร นันติ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน บวชพระเจ้า มนต์ขลังแห่งล้านนา ตอนที่ 2 โดย พนมกร นันติ  (อ่าน 3250 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 22 สิงหาคม 2012, 22:25:17 »



นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีพิธีกรรมอีกพิธีหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญ  และเป็นเรื่องที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน  และปรากฏอยู่ในหลักฐานทางพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน  นั่นก็คือพิธีกวนข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาสนั่นเอง  ส่วนรายละเอียดและขั้นตอนนั้นผู้เขียนจะขอนำมาอธิบายในส่วนท้ายเรื่องต่อไป
   พิธีบวชพระเจ้าหรือพิธีอบรมสมโภชพระพุทธรูปนั้น  มีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละที่จะกำหนดจัดขึ้น  ซึ่งบางแห่งอาจทำพิธีให้เสร็จภายในวันเดียว บางแห่งอาจใช้เวลา ๒ วัน  หรือให้เวลาในการจัดพิธีล่วงเลยเข้าสู่วันใหม่ของอีกวันก็ได้  ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้จัดหรือผู้เป็นเจ้าภาพ  ดังนั้นความสมบูรณ์ของพิธีกรรมก็แตกต่างกันออกไป  ผู้เขียนจึงขอนำเอาประสบการณ์ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ดำเนินการมาอธิบาย ซึ่งคิดว่าน่าจะมีความพร้อมและสมบูรณ์มากอีกพิธีหนึ่ง  นั่นคือพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเบิกเนตรพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งได้กำหนดจัดพิธีรวม ๓ วันด้วยกัน



วันแรกจะพิธีเริ่มในช่วงบ่ายแก่ๆ หรือช่วงเย็นด้วยพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่  เพื่อบอกกล่าวท้าวจตุโลกบาลและพระแม่ธรณีถึงกาลพิธีที่จะจัดขึ้น  พร้อมทั้งอัญเชิญท้าวจตุโลกบาลเพื่อมารักษาพิธีให้ลุล่วงไปด้วยดี  จากนั้นเป็นพิธีอัญเชิญพระอุปคุตหรือพระอรหันต์ขีณาสพ เพื่อมาปกปักรักษามณฑลพิธี  ไม่ให้มีหมู่มารมาผจญขณะที่ประกอบพิธีอันเป็นการมงคลนี้  ส่วนรายละเอียดทั้ง ๒ พิธีนี้ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  หลังจากที่ได้มีพิธีอัญเชิญพระอุปคุตมาประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีแล้ว  พิธีการต่อไปในวันแรกจะเป็นการนำเอาขี้ผึ้งบริสุทธิ์  ปิดพระเนตร(ดวงตา) พระกรรณ(หู) และพระโอษฐ์(ปาก)  ขณะที่พระสงฆ์ประกอบพิธีปิดขี้ผึ้งนั้นพระสงฆ์จะบริกรรมพระคาถาว่า “ทิพพะจักขุ  สมันตาจักขุ  พุทธจักขุ  ธัมมะจักขุ  สังฆะจักขุ  ปะวะระทวายัง  สวาหะ” เช่นนี้ไปจนครบ ๓ จบ  จากนั้นนำผ้าขาวที่เตรียมไว้ทำเป็นรูปกรวยครอบพระเศียรพระพุทธรูปไว้  กรณีที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ขณะปิดขี้ผึ้งควรหาด้ายสายสิญจน์ทาบลงไปก่อน  เพื่อให้ขณะที่ประกอบพิธีเบิกเนตรนั้นจะได้ดึงออกได้ง่ายโดยไม่ต้องปีนป่ายองค์พระพุทธรูปขึ้นไปซึ่งดูแล้วจะเป็นการมิบังควร  เมื่อเสร็จสิ้นการคลุมส่วนพระเศียรเพื่อปิดพระพักตร์แล้วก็ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมในวันแรก



ในวันที่ ๒ พิธีการจะเริ่มในช่วงเช้าซึ่งจะเป็นพิธีบวงสรวงบูชาฤกษ์  ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่ประกอบพิธีบวงสรวงบูชาฤกษ์นั้นส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไปแต่จะไม่เกินเที่ยงวัน  เพราะเมื่อพระอาทิตย์คล้อยบ่ายแล้วถือว่าเป็นฤกษ์ที่ไม่ดี  ส่วนรายละเอียดว่าจะต้องเริ่มตั้งแต่กี่โมงนั้น  หากจะให้ละเอียดจริงๆ ต้องมีการผูกดวงฤกษ์  โดยเอาวัน เดือน และปีที่ประกอบพิธี  รวมไปถึง วัน เดือน ปีเกิดของผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพ  มาทำการผูกดวงเพื่อหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมด้วย
   พิธีบวงสรวงเพื่อบูชาฤกษ์นั้นต้องจัดตั้งมณฑลพิธีด้วยการขัดราชวัตร ฉัตร ธง ปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อย เช่นเดียวกับมณฑลพิธีพุทธาภิเษกหรือสมโภชพระพุทธรูป  แต่มณฑลพิธีที่บวงสรวงบูชาฤกษ์นี้กระทำบริเวณกลางแจ้ง  จากนั้นให้เตรียมโต๊ะตั้งเครื่องบวงสรวงสังเวยต่างๆ อันประกอบไปด้วยผลไม้ ขนม นม เนย หมาก พลู เมี่ยง บุหรี่ ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง ถั่วคั่ว งาคั่ว น้ำ ชา กาแฟ พร้อมทั้งบายศรีต้น บายศรีตอ บายศรีเทพ บายศรีพรม บายศรีครู บายศรีปากชาม ดอกไม้ ธูป-เทียน แป้งเจิม ขันน้ำมนต์ ดอกไม้สำหรับโปรยในมณฑลพิธี มโหรีปี่พาทย์  เครื่องอัฐบริขารต่างๆ พร้อมทั้งพระพุทธรูปองค์จำลอง หรือเหรียญต่างๆ ที่จัดสร้างขึ้นจำนวนหนึ่ง



จะสังเกตได้ว่าเครื่องบวงสรวงที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นจะไม่ปรากฏว่ามีเครื่องคาวอยู่ด้วย  เครื่องคาวในที่นี้หมายถึง หัวหมู เป็ด ไก่ ปู ปลา เนื้อพล่า ปลายำต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในตำราพรมมหาชาติ  ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากพิธีอบรมสมโภชพระพุทธรูปหรือพิธีพุทธาภิเษกนี้  เป็นพิธีที่ต้องการความบริสุทธิ์ สะอาด ดังนั้นจะงดซึ่งเนื้อสัตว์และอาหารคาวต่างๆ  เพื่อความเป็นการประกอบการอันเป็นกุศลในพิธีด้วย  ซึ่งแตกต่างไปจากพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณบูรพกษัตริย์   หรือบวงสรวงเทพองค์อื่นเช่นพระพรหมเป็นต้น  และขึ้นอยู่กับว่าเจ้าพิธีจะยึดเอาตำราไหน เพราะต่างครูต่างอาจารย์วิชาความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมานั้น  ก็ย่อมมีความแตกต่างกันออกไป  ดังที่คำโบราณล้านนากล่าวไว้ว่า “ลูกศิษย์ต่างครู อาจารย์ต่างวัด หนังสือก้อมต่างคนต่างมี”  หมายถึงต่างครูต่างอาจารย์ ต่างตำราย่อมมีความแตกต่างกันไป
เนื่องจากพิธีสมโภชหรือพิธีพุทธาภิเษกนี้เป็นพิธีใหญ่  จะเห็นได้จากการจัดเตรียมขันตั้งหลวงก็ดี มณฑลพิธีก็ดี  ดังนั้นในมณฑลพิธีบวงสรวงบูชาฤกษ์นี้ในแต่ละมุมของราชวัตร  จะจัดมะพร้าว ๑ คะแนง(ทะลาย) ก้วย ๑ เครือ ไว้ทั้ง ๔ มุมด้วย  นอกราชวัตรให้จัดอาหารสำรับใหญ่ไว้ ๑ สำรับ  ประกอบไปด้วยอาหารคาว-หวาน ขนม ผลไม้ เหล้ายาปลาปิ้งครบถ้วนบริบูรณ์  เพื่อเซ่นสังเวยสรรพเวสีผีไร้ญาติทั้งหลาย  เพื่อให้มารับเอาเครื่องสังเวยและรับเอาส่วนบุญส่วนกุศลทั้งหลายที่ได้ประกอบขึ้นในครั้งนี้  และจะได้ไม่มารังควาญในกาลพิธีด้วย



เมื่อทุกอย่างจัดเตรียมไว้สมบูรณ์พร้อมและได้เวลาอันเป็นมงคลแล้ว  โหรหรือพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีก็เริ่มประกอบพิธี  โดยเริ่มจากการไว้ครู  และกล่าวบทอัญเชิญเทวดา  ต่อด้วยการอ่านโองการเพื่อเชิญเทพไท้เทวาทั้ง ๑๖ ชั้นฟ้า ๑๕ ชั้นดิน และ ๑๗ ชั้นบาดาล เพื่อเสด็จลงมาประทับยังมณฑลพิธีเพื่อรับเครื่องบวงรสวงเหล่านี้  พร้อมทั้งช่วยปกปักรักษาให้พิธีอบรมสมโภชหรือพิธีพุทธาภิเษกนี้สำเร็จลุล่วงลงด้วยดี  หลังจากอ่านองค์การเสร็จสิ้นแล้วผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นร่างทรงสมติเทพ จะเจิมที่พระอุระขององค์พระเพื่อความเป็นสิริมงคล  จากนั้นบรรดาผู้เข้าร่วมพิธีผู้ชายจะจุดธูปหางเพื่อปักลงบนเครื่องบวงสรวงทุกชิ้น พร้อมทั้งโปรยข้าวตอกดอกไม้ในมณฑลพิธี  ขณะเดียวกันพนักงานชาวพิธีจะลั่นฆ้องชัย  และประโคมมโหรีปี่พาทย์ไปพร้อมกันด้วย  เพลงที่ใช้บรรเลงจะเป็นเพลงมหาฤกษ์ทางไทย ๓ ชั้น  จากนั้นประธานในพิธีจะจุดธูปเทียนเครื่องสังเวยสรรพเวสีที่จัดเตรียมไว้นอกรั้วราชวัตร  ก็ถือว่าพิธีกรรมในการบวงสรวงบูชาฤกษ์นี้เสร็จสมบูรณ์



หลังจากที่ประกอบพิธีบวงสรวงเสร็จสิ้นแล้ว  ก็เป็นพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนแท่นหรือฐานที่เตรียมไว้  โดยใต้ฐานนั้นให้วางมัดหญ้าคาทั้ง ๘ กำที่ผูกติดเป็นแพรไว้ด้านล่างใต้องค์พระ  แต่หากองค์พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่ก็ให้วางไว้ด้านหลังองค์พระแทน  แล้วนำเอาต้นสลี(ต้นโพธิ์) ที่เตรียมไว้มาวางตั้งด้านหลังองค์พระ ด้านหน้าวางอ่างน้ำขนาดใหญ่นำรูปพญานาคที่ปั้นไว้นั้นใส่ลงไปในอ่าง  แล้วนำถาดทองลอยไว้เหนือผิวน้ำ อีกด้านวางรูปม้าม้ากัณฑกะ ๑ ตัว และมีดดาบ ๑ เล่มไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีที่มาและความหมายอย่างไรในคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมถึงความหมายต่างๆ ของสิ่งของที่เราจัดเตรียมไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้นดังนี้ 



“ม้ากัณฑกะ” ตามทศชาติชาดกที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา  หรือในจารึกจากภาพจิตกรรมฝาผนังในวิหารหรืออุโบสถของวัดวาอารามต่างๆ นั้น  มีเรื่องเล่าว่าขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเสพสุขอยู่บนปราสาท ๓ ฤดูในพระราชวังนั้น อยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทรงปรารถนาจะผ่อนคลายความจำเจที่มีอยู่ จึงได้ชักชวนสารถีทรงรถม้าประพาสอุทยาน ครั้งนั้นทรงพบเทวทูตทั้ง ๔ อันได้แก่  คนเจ็บ คนตาย และสมณตามลำดับ จึงทรงคิดว่าชีวิตของทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เหมือนกันหมด ไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงได้ จึงเกิดแนวความคิดว่า ธรรมดาในโลกนี้มีของคู่กันอยู่ เช่น มีร้อนก็ต้องมีเย็น มีทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีที่สุดทุกข์ คือ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เมื่อทรงเห็นความสุขทางโลกเป็นเพียงมายา ความสุขในกามคุณเป็นความสุขจอมปลอม เป็นเพียงภาพมายาที่ชวนให้หลงว่าเป็นความสุขเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่หาความสุขไม่มีเลย ไม่มีความเพลิดเพลินใดที่ไม่มีความทุกข์เจือปน พระองค์ทรงดำริว่าวิถีทางที่จะพ้นจากความทุกข์ของชีวิตเช่นนี้ได้ หนทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร จะต้องสละเพศผู้ครองเรือนเป็นสมณะ พระองค์จึงมีพระทัยใคร่เสด็จออกบรรพชาเป็นสมณะ ในวันที่เจ้าชายราหุลพระโอรสทรงประสูตินั้น เป็นวันเดียวกันกับที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตัดสินพระทัยเสด็จออกบวช ด้วยทรงเบื่อในเพศฆราวาสอันเต็มไปด้วยกิเลสตัณหาต่างๆ จึงทรงเห็นว่าการดำรงตนอยู่ในสมณะเพศเท่านั้น  ที่ประเสริฐและสามารถที่จะเดินไปสู่ทางแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ยากทั้งปวงได้ กระทั่งคืนที่เจ้าชายสิทธัตถะตัดสินพระทัยออกบวชนั้น พระองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมพระโอรสและมเหสีในกลางดึก เมื่อพระองค์เห็นพระนางพิมพาบรรทมหลับสนิทพระกรกอดโอรสอยู่ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบวชของพระองค์ พระองค์จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรส  และได้เสด็จออกจากปราสาทพบกับนายฉันนะสารถี ซึ่งเตรียมม้าทรง(ม้านามว่ากัณฑกะ)ไว้แล้ว ซึ่งเป็นที่มาในการจัดเตรียมรูปปั้นม้ากัณฑกะที่ใช้ในการประกอบพิธีนั่นเอง



“เครื่องกกุธภัณฑ์  ๕ ละแอ” (หมายถึงประกอบไปด้วยสิ่งของ ๕ สิ่ง  เฉกเช่นที่เราเคยเห็นในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระแสงขันธ์ไชยศรี ธารพระกร ต่างๆ เป็นต้น) และ “มีดดาบ ๑ เล่ม” ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกจากพระนครในราตรีใกล้รุ่งนั้นเอง หลังจากที่ทรงเสด็จออกพ้นพระราชวัง  และเข้าเขตแดนแคว้นโกศลและแคว้นวัชชีแล้ว ในเวลาใกล้รุ่ง ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมานที พระองค์ทรงม้าข้ามฝั่งแม่น้ำแล้วเสด็จลงไปประทับนั่งบนกองทราย ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเมาลีของพระองค์เองและเปลี่ยนเครื่องทรงกษัตริย์เป็นผ้ากาสาวพัตร์ แล้วทรงตั้งจิตอธิษฐานครองเพศบรรพชิต ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นเอง จากนั้นพระองค์ได้นำเอาเครื่องทรงกษัตริย์ส่งนายฉันนะนำกลับไปยังพระนคร แล้วเสด็จลำพังโดยพระองค์เดียวมุ่งพระพักตร์ไปยังแคว้นมคธ เพื่อแสวงหาความสงบในการบำเพ็ญเพียร หลังจากที่พระองค์ได้ถือครองซึ่งเพศบรรพชิตแล้ว ก็ทรงศึกษาในลัทธิคณาจารย์ต่างๆ ซึ่งสมัยนั้นเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ของผู้แสวงหาความรู้   ดังนั้น“เครื่องกกุธภัณฑ์”จึงเป็นเสมือนสิ่งที่แทนความเป็นกษัตริย์ของพระองค์  เนื่องจากเจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์  ในส่วนของ“มีดดาบ”นั้นเสมือนเป็นพระแสงขันธ์ ที่พระองค์ทรงตัดพระเมาลีขณะออกบวชนั่นเอง
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!