เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 25 เมษายน 2024, 05:55:16
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  ห้องนั่งเล่น (ผู้ดูแล: แชทซาโนย่า กอยุ่ง~*-., ©®*)
| | |-+  โครงการผีดิบ สร้างเขื่อน ทำลายป่า...แม่วงก์
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน โครงการผีดิบ สร้างเขื่อน ทำลายป่า...แม่วงก์  (อ่าน 408 ครั้ง)
Thiwaporn
ส่งทั่วไทย ส่งจริง ส่งไว ราคาสบายกระเป๋า
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 159



« เมื่อ: วันที่ 18 เมษายน 2012, 09:38:55 »


ข่าวคราวการอนุมัติสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ในลุ่มเเม่น้ำสะแกกรัง วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท อาจไม่ใช่ข่าวเด่นน่าสนใจทั่วไปสำหรับคนทั่วไปนัก หากแต่ในแง่มุมของคนผู้ที่เฝ้ามองโครงการนี้มากกว่า 25 ปีนั้น มันเปรียบเหมือนโครงการผีดิบ ที่ถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และนั่นหมายรวมถึงชะตากรรมของผืนป่าแม่วงก์ที่ต้องลดน้อยถอยลงในอีก 8 ปีข้างหน้า ตามกำหนดสร้างแล้วเสร็จ

        สำหรับโครงการดังกล่าวกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2530 แต่เพิ่งได้รับการอนุมัติในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ...ว่ากันว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น จะทำให้เขื่อนเจ้าพระยามีศักยภาพรองรับน้ำได้มากขึ้นแทนที่จะปล่อยน้ำลงทางใต้ โดยเขื่อนแม่วงก์สามารถบรรจุน้ำได้ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร รองรับระบบชลประทาน 3 แสนไร่ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ อาจช่วยทำให้น้ำไม่ท่วมภาคกลาง

        ทว่าในมุมมองของ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารสารคดี และนั่งตำแหน่งบรรณาธิการมาเป็นเวลานับสิบปี ก่อนจะเข้ามาทำงานที่ไทยพีบีเอส อีกทั้งยังคลุกคลีกับมูลนิธิทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง มูลนิธิโลกสีเขียว และสืบ นาคะเสถียร ...เขากลับรู้สึกนึกคิดต่อโครงการเขื่อนแม่วงก์ในมุมที่หลายคนอาจไม่ได้คิดถึง นั่นคือ... การทำลายป่า และสัตว์ป่าอีกหลายชีวิตที่จะได้รับผลกระทบนับจากนี้ โดยได้แสดงความคิดเห็นผ่านบทความ "โครงการผีดิบ สร้างเขื่อน ทำลายป่า" มีเนื้อหาดังนี้

        วันนี้ดูเหมือนโครงการอะไรก็ตามในประเทศนี้ หากอ้างว่าเป็นหนึ่งในการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อุตสาหกรรมภาคกลาง จะกลายเป็นโครงการศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเกิดขึ้นให้ได้ทันที หลายโครงการที่ตายไปนานแล้ว กลายเป็นผีดิบขึ้นจากหลุม สามารถปัดฝุ่นกันขึ้นมาใหม่ได้ ถ้าสามารถโยงว่าเป็นหนึ่งในโครงการป้องกันน้ำท่วมมูลค่า 350,000 ล้านบาทได้ เพราะการป้องกันน้ำท่วม ดูจะสำคัญเรื่องราวใด ๆ ในประเทศนี้ แม้กระทั่งการทำลายป่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมก็สามารถทำได้ เขื่อนแม่วงก์ เป็นตัวอย่างล่าสุด

        ในปี พ.ศ. 2545 หลังจากได้ศึกษาผลดีผลเสียกันมานานร่วมสิบปี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ได้มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์มูลค่าสามพันกว่าล้านบาท  และยังเสนอให้กรมชลประทาน กลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ มากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น

        สิบปีผ่านไป … รัฐบาลชุดนี้ก็ได้ประกาศว่า จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ คราวนี้มูลค่าสูงพรวดขึ้นมาถึง 13,000 ล้านบาท ตัวเขื่อนจะสร้างปิดกั้นลำน้ำวงก์ ที่เขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียง 258 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเขื่อนภูมิพล ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักถึง 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

        รัฐบาลใช้สูตรเดิม คืออ้างว่าป้องกันไม่ให้น้ำท่วมภาคกลาง แต่ไม่พูดกับประชาชนตรง ๆ ว่า เขื่อนแห่งนี้ต้องมีการทำลายป่าสมบูรณ์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์พื้นที่กว่าหมื่นไร่

        ป่าแม่วงก์ อาจจะไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่คนที่เคยอ่าน "ล่องไพร" อมตะนิยายอันลือลั่นของน้อย อินทนนท์ หรือ มาลัย ชูพินิจ  จะทราบว่า ฉากการผจญภัยในป่าดิบผืนใหญ่ปกคลุมพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์ในนิยายเรื่องนี้  หากไม่ถูกบุกรุกไปเป็นพื้นที่เกษตร ตอนนี้ที่เหลืออยู่ก็คือป่าแม่วงก์นั่นเอง

        สิบปีก่อน ผมเคยล่องไพรเข้าไปสำรวจป่าที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งนี้  พื้นที่เหล่านี้อุดมไปด้วยป่าสักธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดรองจากป่าแม่ยม ตอนนั้นดอกสักสีขาวเพิ่งออกดอกบานสะพรั่ง ต้นไม้ใหญ่บางต้นใช้คนโอบเกือบสิบคน เราเดินสำรวจป่าไปตามลำธารน้ำใส ถือเป็นสภาพป่าสมบูรณ์มาก มีต้นประดู่ มะค่า ยาง ชิงชัน พยอม แดง ตะเคียนทอง ขึ้นอย่างหนาแน่น และยังเห็นร่องรอยของสัตว์ป่าหลายชนิดที่มากินน้ำตามริมฝั่ง  ไม่ว่าจะเป็นเก้ง กวาง ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือ ฯลฯ เพราะอยู่ติดกับป่าห้วยขาแข้ง จึงทำให้ป่าแม่วงก์มีสัตว์มากถึง 406 ชนิด

        อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ป่าต้นน้ำสำคัญของภาคกลาง เป็นป่าผืนเดียวติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกขนาดพื้นที่ 11ล้านไร่ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันตั้งแต่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ครอบคลุมอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งเรื่อยลงมาถึงป่าในจังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นป่าขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์

        สัมปทานไม้สักหมื่นกว่าไร่ในป่าแม่วงก์ คงทำให้พ่อค้าไม้ตาลุกวาว เพราะนานมาแล้วที่ประเทศไทยไม่เคยมีการตัดไม้ทีเดียวหลายแสนต้น โดยเฉพาะราคาไม้สักที่มูลค่าไม่ต่างจากไม้พะยูง

        หากรัฐบาลคิดว่า ปัญหาโลกร้อน คือปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เกิดพายุ น้ำท่วมอย่างรุนแรง การเก็บผืนป่าอุดมสมบูรณ์เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งต้นน้ำ และที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี ต้องเป็นมาตรการเร่งด่วนที่สุด ไม่ใช่การทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อน

        แต่ขณะที่รัฐบาลไทยเดินหน้าสร้างเขื่อน แต่รัฐบาลพม่ากลับมีความก้าวหน้ามากกว่า โดยประกาศยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้ามิตโสนบนแม่น้ำอิรวดี  ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนมูลค่าแสนล้านบาท เพราะสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

        วันนี้หากรัฐบาลใช้หลักคิดว่า ส่วนหนึ่งของการป้องกันน้ำท่วมคือ การทำลายป่า เพื่อสร้างเขื่อน เราคงเห็นเขื่อนอีกหลายแห่งถูกขุดขึ้นมา ซึ่งคาดว่า เป้าหมายต่อไปคือ เขื่อนแก่งเสือเต้น  ที่จะท่วมป่าสักผืนใหญ่ที่สุดสี่หมื่นกว่าไร่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม

        จะเก็บป่าธรรมชาติอันเป็นที่กักเก็บน้ำชั่วชีวิต หรือสร้างเขื่อนอันเป็นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวให้ลูกหลานของเรา คนไทยทุกคนควรจะมีสิทธิ


กรุงเทพธุรกิจ ๑๙ เมษ. ๕๕

ขอขอบคุณข้อมูลจาก sarakadee.com


        ...แล้วคุณล่ะ คิดอย่างไร ?

      
หมายเหตุ

        กระทู้นี้สร้างขึ้นมาไม่ได้มีเจตนาไม่ดีหรือก่อให้เกิดความขัดแย้งใดๆทั้งสิน เพียงต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ของหลายๆท่านหรือท่านที่มีความรู้จริงๆว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง ถ้าเราต้องเอาธรรมชาติและสัตว์ป่าที่มีในแถบนั้นมาแลกกับเขื่อน 1 เขื่อน มันจะคุ้มกันไหมกับการที่เราได้เขื่อนขึ้นมาเพื่อมิให้เกิดน้ำท่วมภาคกลางเท่านั้น

                                                                ขอขอบคุณทุกความคิดเห็น
IP : บันทึกการเข้า

หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!