เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 20 เมษายน 2024, 01:05:34
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  รัตนติงสาอภินวปุรีสรีคุรุรัฎฐพระนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2317–2442
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน รัตนติงสาอภินวปุรีสรีคุรุรัฎฐพระนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2317–2442  (อ่าน 2686 ครั้ง)
เด็กอินเตอร์
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,302


« เมื่อ: วันที่ 08 เมษายน 2010, 10:00:06 »

ข้อมูลทั่วไป

เมืองหลวง    เชียงใหม่
ภาษา    คำเมือง
ศาสนา    ศาสนาพุทธ (เถรวาท)
สกุลเงิน    รูปี และ บาท
การปกครอง    สมบูรณาญาสิทธิราชย์

เจ้าผู้ครองนคร
   
 - 2317 - 2319    พระยาจ่าบ้าน (บุญมา)
 - 2325 - 2482    ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์

ยุคประวัติศาสตร์    
 - พ.ศ. 2317    จัดตั้งแคว้นเชียงใหม่
 - พ.ศ. 2319    พระยาจ่าบ้าน
อพยพผู้คนไปยังลำปาง
 - พ.ศ. 2339    สถาปนานครเชียงใหม่
อย่างเป็นทางการ
 - พ.ศ. 2427    สยามควบรวมเชียงใหม่เป็น
ส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร
 - พ.ศ. 2442    จัดตั้งมณฑลพายัพ

ปัจจุบันปัจจุบันเป็นพื้นที่
- ภาคเหนือของประเทศไทย
- บางส่วนของรัฐฉาน
- บางส่วนของมณฑลยูนนาน


รัตนติงสาอภินวปุรีสรีคุรุรัฎฐพระนครเชียงใหม่ หรือ นครเชียงใหม่ เป็นแคว้นหนึ่งในการปกครองของสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317
เป็นยุคที่สามของอาณาจักรล้านนา


ล้านนาในฐานะประเทศราชของสยาม

ภายหลังการกอบกู้เอกราชของล้านนาโดยการนำของ พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แต่เดิมท่านเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง สืบเชื้อสายมาแต่พญาสุวฤๅไชยสงครามแห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ และเจ้าอนุชารวม 7 องค์ ภายใต้การสนับสนุนทัพหลวงใน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้ว ล้านนาจึงได้เข้ามาอยู่ในฐานะประเทศราชของกรุงธนบุรีตั้งแต่นั้น

หลังจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นองค์พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ด้วยความสัมพันธ์ในฐานะพระญาติระหว่างราชวงศ์จักรีและราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)

เนื่องด้วย พระอัครชายาเธอ เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา ในสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นพระขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ กอปรกับพระเจ้ากาวิละ และเจ้านายฝ่ายเหนือได้ ถวายความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีมาแต่ก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงกระทำการสู้ขับไล่ข้าศึกพม่าให้พ้นแผ่นดินล้านนา ขยายขอบขัณฑสีมาอาณาจักรออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ได้กวาดต้อนผู้คนและสิ่งของจากหัวเมืองน้อยใหญ่ที่หนีภัยสงครามในช่วงที่ พม่ายึดครอง และทรงสร้างบ้านแปงเมืองอาณาจักรล้านนาใหม่

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามเจ้ากาวิละขึ้นเป็น พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ เป็นพระเจ้าประเทศราชปกครองพระราชอาณาจักรล้านนา 57 หัวเมือง

พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละได้ทรงส่งพระญาติเจ้านายบุตรหลานไปปกครองหัว เมืองน้อยใหญ่ในพระราชอาณาจักร โดยมี นครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน เมืองพะเยา เมืองแพร่ เมืองน่าน รวมถึง เมืองเชียงราย เป็นพระนครใหญ่ประเทศราช กำกับดูแลเมืองอื่นๆ มีอิสระในการปกครองราชอาณาจักร

แต่ในฐานะประเทศราช ต้องมีหน้าที่ดังนี้

    * จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ 3 ปี ต่อครั้ง โดยมี ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน 1 คู่ และสิ่งของอีกส่วนหนึ่งเท่าที่เหมาะสมกับอำนาจของประเทศนั้นๆ
    * จะต้องส่งส่วยทุกปี สิ่งที่ดีที่สุดของเชียงใหม่ก็คือไม้สัก นอกจากนั้น เมื่อมีงานพระราชพิธี ล้านนาจะต้องไปร่วมด้วย อย่างเช่นส่ง ไม้สัก ผ้าขาว น้ำรัก ฯลฯ
    * ในยามศึกสงคราม ก็จะต้องเกณฑ์ไพร่พลไปร่วมด้วย อย่างเช่นเมื่อครั้ง เจ้าอนุวงศ์ แห่งนครเวียงจันทน์ คิดกบฏต่อกรุงเทพฯ

นครเชียงใหม่
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เว็บย่อ: th.wikipedia.org/wiki/Siam_Lanna
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 10 เมษายน 2010, 00:19:55 โดย interhot » IP : บันทึกการเข้า

คำเตือน : ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โปรดตรวจสอบประวัติผู้ขายและสินค้า ก่อนโอนเงิน
เด็กอินเตอร์
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,302


« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 08 เมษายน 2010, 10:00:25 »

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์

ก่อนรัชสมัยของ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2411 มีมิชชันนารีศาสนาจารย์แมคกิลวารี และ ครอบครัวอพยพขึ้นมาศัยอยู่ที่นครเชียงใหม่ ตั้งจุดประกาศศาสนาโดยเริ่มจัดการศึกษาแบบตะวันตก โดยมี นางโซเฟีย รอยซ์ แมคกิลวารี ได้เริ่มให้มีการศึกษาสำหรับสตรีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418

ต่อมาในปี พ.ศ. 2422 นางสาวแมรี แคมป์เบลล์ และ เอ็ดนา โคล ได้มาจัดระเบียบโรงเรียนสตรี บริเวณเชิงสะพานนวรัฐ จนกลายมาเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กชายนั้น ได้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนเด็กชายวังสิงห์คำ" ขึ้นที่บริเวณที่เรียกว่า วังสิงห์คำ เมื่อ พ.ศ. 2431 โดยมีศาสนาจารย์ เดวิด จี.คอลลินส์ เป็นผู้ก่อตั้ง ต่อมาเป็นโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนดังกล่าวระยะแรกนั้น ใช้ภาษาอังกฤษและ ภาษาล้านนา ในการเรียนการสอน มีการพิมพ์ตำราด้วยอักษรธรรมล้านนา ในขณะที่ตัวหนังสือแป้นนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2379 แล้ว

ในช่วงเดียวกันนี้ บริษัททำป่าไม้ ซึ่งทยอยเข้ามาที่เมืองเชียงใหม่ เช่น
บริษัทบริติชบอร์เนียว (British Borneo, เข้ามาในราว พ.ศ. 2407)
บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา (Bombay Burma, เข้ามาในราว พ.ศ. 2432) และ
บริษัทสยามฟอเรสต์ (Siam Forest) เป็นต้น
ได้นำเอาลูกจ้างชาวพม่า กะเหรี่ยง และชาวพื้นเมืองอื่นๆ เข้ามาทำงาน

ดังนั้นจึงมีชาวอังกฤษและผู้ติดตามเข้ามาในล้านนามากขึ้น ทำให้เกิดการฟ้องศาลที่ กรุงเทพฯ หลายคดี จากหลักฐานพบว่า

ตั้งแต่ พ.ศ. 2401 - 2416 มีคดีความจำนวน 42 เรื่อง ตัดสินยกฟ้อง 31 คดี ส่วนอีก 11 คดีนั้นพบว่าเจ้านายทำผิดจริง จึงตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายรวม 466,015 รูปี หรือ 372,812 บาท

เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้นคือ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ทรงขอชำระเพียงครึ่งเดียวก่อน ส่วนที่เหลือจะทรงชำระภายใน 6 เดือน แต่กงสุลอังกฤษไม่ ยินยอม เรียกร้องให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ชำระทั้งหมด หรือมิฉะนั้นต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย ซึ่งราชสำนักกรุงเทพฯ ก็ไม่ยินยอมด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงทรงจ่ายค่าเสียหาย 150,000 รูปี (120,000 บาท) โดยราชสำนักกรุงเทพฯ ให้ยืมเงิน 310,000 รูปี (248,000 บาท) โดยต้องชำระคืนภายใน 7 ปี พร้อมทั้งดอกเบี้ยในรูปไม้สัก 300 ท่อนต่อปี

นครเชียงใหม่
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เว็บย่อ: th.wikipedia.org/wiki/Siam_Lanna
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 10 เมษายน 2010, 00:22:58 โดย interhot » IP : บันทึกการเข้า

คำเตือน : ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โปรดตรวจสอบประวัติผู้ขายและสินค้า ก่อนโอนเงิน
เด็กอินเตอร์
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,302


« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 08 เมษายน 2010, 10:00:48 »

การรวมเข้ากับสยาม

ในปี พ.ศ. 2369 พม่าได้เสียดินแดนหัวเมืองมอญให้แก่อังกฤษ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับล้านนา จึงมีชาวอังกฤษข้ามเข้ามาค้าขายและสัมปทานป่าไม้ในล้านนาจำนวนหนึ่ง เมื่ออังกฤษได้เข้าครอบครองดินแดนพม่าทางตอนล่าง อิทธิพลของอังกฤษก็ได้ขยายเข้าใกล้ชิดกับล้านนามากขึ้น มีชาวพม่าซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษเข้ามาทำป่าไม้ในล้านนาจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรที่ดิน อังกฤษจึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ในปี พ.ศ. 2416 ราชสำนักกรุงเทพฯ จึงได้ส่ง "พระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยยันต์)" ไปเป็นข้าหลวงดูแลสามหัวเมืองใหญ่ประจำที่นครเชียงใหม่

เพื่อควบคุมดูแลปัญหาในนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน แต่ก็ยังมิสามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะนั้นหัวเมืองขึ้นของพม่าเป็นจำนวนมากต่างประกาศเป็นอิสระ และได้ยกกำลังเข้าโจมตีหัวเมืองชายแดนล้านนา ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้เกินกำลังที่เชียงใหม่ และเมืองบริวารจะจัดการได้ ในขณะนั้นสถานการณ์ภายในเมืองเชียงใหม่ก็มีปัญหา
เนื่องจาก พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงชราภาพขาดความเข้มแข็งในการปกครอง เจ้านายชั้นสูงเริ่มแก่งแย่งชิงอำนาจกัน

ในขณะเดียวกันอังกฤษก็ได้ขยายอิทธิพลเข้าสู่ล้านนา โดย สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ได้ทรงส่งราชทูตมาทูลขอ เจ้าดารารัศมี ราชธิดาองค์เล็กในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม

เมื่อความทราบถึงพระกรรณใน พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ) โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ และอัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชรไปพระราชทานเป็นของขวัญแด่เจ้าดารารัศมี โดยทรงรับสั่งว่า

การพระราชทานของขวัญดังกล่าวเพื่อเป็นการหมั้นหมาย หลังจากนั้น 3 ปี เจ้าดารารัศมี จึงได้โดยเสด็จพระราชบิดาลงมาถวายตัวในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248)

ซึ่งต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทั้งนี้ ยังได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ถวายแด่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ อันเป็นการแสดงนัยยะว่าทรงนับเนื่องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในพระ บรมราชวงศ์จักรี

ด้วยพระกุศโลบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสายสัมพันธ์ความรักระหว่าง 2 พระองค์ที่เกิดขึ้นภายหลัง ถือเป็นส่วนสำคัญให้เกิดความจงรักภักดีในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนล้านนา ต่อราชสำนักกรุงเทพฯ ในขณะที่ทรงดำเนินพระราชกุศโลบายปฏิรูปการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนืออย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2442 ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยมีมณฑลพายัพ หรือ มณฑลลาวเฉียง และมณฑลมหาราษฎร์ เป็นมณฑลในอาณาจักรล้านนา โดยราชสำนักกรุงเทพ ส่งข้าหลวงขึ้นมาช่วยให้คำแนะนำเจ้านายฝ่ายเหนือในการบริหารราชการ ได้มีการแต่งตั้ง ตำแหน่งเสนากรมขึ้นมาใหม่ 6 ตำแหน่ง โดยให้คงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครอยู่ แต่ลดอำนาจลง

และในที่สุดในปี พ.ศ. 2442 ล้านนาได้ถูกปฏิรูปการปกครองเป็นแบบ มณฑลเทศาภิบาล เป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช และผนวกดินแดนล้านนาที่อยู่ใต้การปกครองของเชียงใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม

โดยมีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายคือ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ พระเชษฐาใน พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

นครเชียงใหม่
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เว็บย่อ: th.wikipedia.org/wiki/Siam_Lanna
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 10 เมษายน 2010, 00:25:45 โดย interhot » IP : บันทึกการเข้า

คำเตือน : ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โปรดตรวจสอบประวัติผู้ขายและสินค้า ก่อนโอนเงิน
เชียงรายพันธุ์แท้
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,024



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 08 เมษายน 2010, 23:12:49 »

เจ้าหลวงเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)
สนใจประวัติท่านใดสอบถามได้ครับ

เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (2325 - 2482)
ลำดับ พระนาม ปีที่ปกครอง  

1 พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ 2325 - 2356 (31 ปี)
2 พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา 2356 - 2365 (11 ปี)
3 เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น 2366 - 2368 (2 ปี)
4 เจ้าหลวงพุทธวงศ์ 2369 - 2389 (20 ปี)
5 พระเจ้ามโหตรประเทศ 2390 - 2397 (7 ปี)
6 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ 2399 - 2413 (14 ปี)
7 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ 2416 - 2439 (23 ปี)
8 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ 2444 - 2452 (8 ปี)
9 พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ 2454 - 2482 (28 ปี) ยกเลิกตำแหน่ง

เจ้าผู้ครองนครลำปาง (2275 - 2465)
ลำดับ พระนาม ปีที่ปกครอง  

1 พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม (หนานทิพย์ช้าง) 2275 - 2306 (31 ปี) พม่าปกครองล้านนา
2 เจ้าฟ้าสิงหราชธานี ชายแก้ว 2306 - 2317 (11 ปี) พม่าปกครองล้านนา
3 พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ 2317 - 2325 (8 ปี)
4 พระเจ้าคำโสม 2325 - 2337 (12 ปี)
5 พระเจ้าดวงทิพย์ 2337 - 2349 (12 ปี)
6 เจ้าหลวงไชยวงศ์ 2349 - 2361 (12 ปี)
7 เจ้าหลวงขัตติยะ 2361 (6 เดือน)
8 เจ้าหลวงน้อยอินทร์ 2361 - 2372 (11 ปี)
9 เจ้าหลวงวรญาณรังสี 2372 - 2378 (6 ปี)
10 พระเจ้าพรหมาภิวงศ์ 2378 - 2430 (52 ปี)
11 เจ้าหลวงสุริยะจางวาง 2430 (6 เดือน)
12 เจ้าหลวงนรนันท์ไชยชวลิต 2430 - 2440 (10 ปี)
13 พลตรี เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต 2440 - 2465 (25 ปี)
--- เจ้าราชบุตร น้อยเมืองพรวน 2465 - 2468 (3 ปี) รั้งนคร ยกเลิกตำแหน่ง

เจ้าผู้ครองนครลำพูน (2348 - 2486)
ลำดับ พระนาม ปีที่ปกครอง  

1 เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น 2348 - 2358 (10 ปี)
2 พระเจ้าบุญมาเมือง 2358 - 2370 (12 ปี)
3 เจ้าหลวงน้อยอินทร์ 2370 - 2380 (10 ปี)  
4 เจ้าหลวงคำตัน 2381 - 2384 (3 ปี)
5 เจ้าหลวงธรรมลังกา 2384 - 2386 (2 ปี)
6 เจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ 2391 - 2414(23 ปี)
7 เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ 2414 - 2431 (17 ปี)
8 เจ้าหลวงเหมพินธุ์ไพจิตร 2431 - 2438 (7 ปี)
9 เจ้าหลวงอินทยงยศโชติ 2438 - 2454 (16 ปี)
10 พลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ 2454 - 2486 (32 ปี) ยกเลิกตำแหน่ง


อ้างอิง
ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. เพ็ชร์ล้านนา. (ครั้งที่ 2) เชียงใหม่ :ผู้จัดการ ศูนย์ภาคเหนือ, 2538.
สมหมาย เปรมจิตต์, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ (ฉบับสอบชำระ). เชียงใหม่: มิ่งเมือง, 2540.
ศักดิ์ รัตนชัย. พงศาวดารสุวรรณหอคำนครลำปาง (ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์กับหอคำมงคล ฉบับสอบทานกับเอกสารสืบค้น สรสว.ลำปาง).
เจ้าวงศ์สัก ณ เชียงใหม่, คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2539.
คณะทายาทสายสกุล เจ้าหลวงเมืองพะเยา, สถาบันศิลปวัฒนธรรมโยนก. ครบรอบ 100 ปี แม่เจ้าทรายมูล (มหาวงศ์) ไชยเมือง และประวัติสายสกุลเจ้าหลวงเมืองพะเยา พุทธศักราช 2387 - 2456. พะเยา :บ.ฮาซัน พริ้นติ้ง จก., 2546
นงเยาว์ กาญจนจารี. ดารารัศมี : พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี. เชียงใหม่ :สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, 2539.
คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!