เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย

ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย => เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง => ข้อความที่เริ่มโดย: maekok_14 ที่ วันที่ 01 พฤศจิกายน 2016, 08:02:24



หัวข้อ: สวยดอก จากงานใบตองสู่หัตถศิลป์ของถิ่นล้านนา
เริ่มหัวข้อโดย: maekok_14 ที่ วันที่ 01 พฤศจิกายน 2016, 08:02:24
ความศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่อพระพุทธศาสนา มีมาอย่างยาวนานและได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นจิตวิญญาณทางวัฒนธรรมประดุจสายน้ำอันโยงยาวที่มิเคยเหือดแห้ง เฉกเช่นความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสูงยิ่ง การให้ความเคารพสักการะต่อพระพุทธศาสนาประการหนึ่งของผู้คนในดินแดนแถบนี้ ได้รับการถ่ายทอดผ่านเครื่องสักการบูชาที่นำไปถวายพระสงฆ์ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อันควรแก่การเคารพบูชา เครื่องสักการประการหนึ่งที่มีการสืบสานกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน มักพบเห็นได้ทุกโอกาส และทุกหลังคาเรือนนั่นก็คือ “สวยดอกไม้”
การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนล้านนา จะขาดไม่ได้คือ ข้าวตอด ดอกไม้ เทียน-ธูป ทั้งสามสิ่งนี้เป็นเครื่องสักการบูชาที่มักอยู่คู่กันเสมอ โดยการนำข้าวตอก ดอกไมและเทียนใส่รวมกันในใบตองและม้วนเป็นกรวย หรือที่เรียกว่าสวยดอก ซึ่งการทำสวยดอกนี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเกิดขึ้นมาเมื่อสมัยใด โดยมีการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งเดิมทีการทำสวยดอกไม้ได้เริ่มมีการพัฒนามาจากการเอาใบไม้มาม้วนเป็นกรวย เช่นใบตองหรือใบพลู ซึ่งปัจจุบันการม้วนใบพลูยังมีปรากฏให้เห็นในบางท้องถิ่น โดยมีการทำสวยพลูใส่ในขันตั้ง หรือขันครูของชาวล้านนา เรียกว่าสวยหมากสวยพลู
วิวัฒนาการในการทำสวยดอกของชาวล้านนานั้น แต่เดิมสันนิฐานว่ามีการนำเอาใบพลูหรือใบตองมาขดม้วนเป็นสวยดอกธรรมดา ภายหลังได้มีการประดิษฐ์คิดค้นรูปแบบของสวยดอกให้มีความสวยงามมากขึ้น จึงเกิดเป็นงานหัตถศิลป์ของถิ่นล้านนา ที่มีความสวยงามวิจิตรบรรจง ผ่านงานใบตองอันเป้นของพื้นบ้านล้านนาธรรมดาให้เกิดเป็นของมีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งล้วนเกิดจากแรงศรัทธาของชาวล้านนานั่นเอง
ปัจจุบันสวยดอกของชาวล้านนาผู้เขียนขอจำแนกเป็นสองประเภทใหม่ๆ ได้แก่ สวยดอกไม้ธรรมดา ที่มีการเอาใบตองมาขดม้วนใส่ข้าวตอกดอกไม้ เป็นสวยดอกที่ทำได้ง่าย และนิยมทำสวยดอกลักษณะนี้ในการทำขันตั้ง และอีกประเภทหนึ่งได้แก่สวยกาบ หรือการพับกลีบใบตอง ซึ่งมีการประดิษฐ์ลวดลายจากใบตองให้เป็นรูปต่างๆ ไว้ที่ปากสวยดอก ให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น กาบสวยที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีหลายรูปแบบตามแต่ละท้องถิ่นที่คิดค้นขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจำลองมาจากธรรมชาติหรือปีนักษัตร สวยดอกประเภทนี้นิยมทำกันเพื่อใช้ถวายพระ หรือใช้ในพิธีกรรมสำคัญ การบูชาพระพุทธรูป พระธาตุ เป็นต้น
สวยดอก จึงเป็นเครื่องสักการะที่ชาวล้านนาให้ความสำคัญ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสายเลือดและจิตวิญญาณของความศรัทธา ที่มิอาจแยกออกจากวิถีชีวิตของชาวล้านนาได้ เนื่องจากสวยดอกจะปรากฏอยู่ในทุกที่ ทุกโอกาส ทุกบ้านเรือนตั้งแต่การเกิด ถึงการตาย เพราะสวยดอกจะถูกนำมาใช้ตั้งแต่มีคนเกิด คือการบอกกล่าวเจ้าที่หรือผีปู่ย่า การเรียกขวัญ การบูชาพระ การประกอบพิธีกรรมงานบุญ งานบวช ทำบุญบ้าน สืบชาตา ส่งเคราะห์ การอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย การทำบุญในทุกโอกาส หรือแม้กระทั่งงานศพ ก็มิอาจขาดซึ่งสวยดอกไม้ดังกล่าวมาได้ สวยดอกของชาวล้านนาจึงเป็นมากกว่าเครื่องสักการะ แต่หากเป็นจิตวิญญาณผ่านงานหัตถศิลป์บนใบตองโดยแท้
ผู้เขียน : พนมกร นันติ


หัวข้อ: Re: สวยดอก จากงานใบตองสู่หัตถศิลป์ของถิ่นล้านนา
เริ่มหัวข้อโดย: เวียงเก่า ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2017, 14:52:09
งดงามครับ  ไม่ทราบว่าพอจะช่วยสอนวิธีพับให้เป็นวิทยาทานได้ไหมครับ  :)