เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย

ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย => การเกษตร,ฟาร์มสัตว์,ปศุสัตว์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 21:17:00



หัวข้อ: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 21:17:00
         อยู่ในบอร์ดการเกษตรมานานแล้ว สังเกตว่าปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่เริ่มสนใจเรื่องการทำนาขึ้นแต่ก็เป็นส่วนน้อย  ในปี 2543 อาชีพชาวนามีอัตราร้อยละ 60 ของประชากรประเทศแต่พอปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 20 และอายุเฉลี่ยของชาวนาไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งช่วยเหลือท่านที่คิดจะสนใจเริ่มทำนาข้าวและอาจยังไม่ทราบว่าจะเริ่มจากจุดไหนก่อน หรือเป็นชาวนาอยู่แล้วอยากศึกษาเพิ่มเติม  ซึ่งผมจะทยอยนำเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับข้าวมาลงให้บางอย่างอาจนำมาจากบทความของท่านนักวิชาการบางท่าน  เกษตรกรตัวอย่าง และผมเอง ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจไม่มากก็น้อย ซึ่งหากใครมีความรู้ดี ๆ ก็มาร่วมแบ่งปันได้ครับ ... :D  :D

สารบัญ

หน้าที่ 1  
ประวัติความเป็นมาของข้าว  , พิธีกรรมและความเชื่อ ,ประเภทของข้าว,ลักษณะและส่วนประกอบของข้าว,องค์ประกอบภายในของเมล็ดข้าว,การทำนาโดยวิธีต่าง ๆ,โรคข้าว

หน้าที่ 2
แมลงศัตรูข้าว

หน้าที่ 3
ดิน, องค์ประกอบของดิน,ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช,ปุ๋ย

หน้าที่ 4
แมลงตัวห้ำตัวเบียน, จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์, วัชพืชในนาข้าว, บทความ อ.เดชา ศิริภัทร, คนค้นคนชาวนาเงินล้าน, นาอินทรีย์นิเวศ อ.ชัยพร พรหมพันธุ์, คนค้นคนปริญญาทำนา , คนค้นคนแหลมอรหันต์ชาวนา, ธาตุอาหารพืชในธรรมชาติ, ข้าวอินทรีย์, บทความลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง, การทำนาในอดีต,มองญี่ปุ่น, เปรียกสลับแห้งแกล้งข้าว

หน้าที่ 5
หอยเชอรี่, เชื้อราบิวเวอร์เรีย, เชื้อราไตรโครเดอร์มา, Banaue นาขั้นบันไดฟิลิปปินส์, บทความเดชา ศริภัทร, บทความปลูกดอกไม้ริมคันนาเวียดนาม, การขาดธาตุอาหารในข้าว,กากชา กำจัดหอยเชอรี่, จุดเริ่มการทำนาของผม

หน้าที่ 6
การเลี้ยงเป็ดในนาข้าวของไต้หวัน ญี่ปุ่น

หน้าที่ 7
น้ำส้มควันไม้, แหนแดง, เที่ยวหมู่บ้านชาวนาเวียดนาม, เที่ยวหมู่บ้านชาวนาญี่ปุ่น, เริ่มการทำนาปรังปี 2556 ,การคัดเมล็ดข้าว, ความลึกระดับน้ำในนาข้าว,คนค้นคน ตุ๊หล่างเด็กหนุ่มเลือดชาวนา

หน้าที่ 8
ลักษณะต้นข้าวที่ให้ผลผลิตดี, ปัจจัยที่ทำให้เมล็ดข้าวมีน้ำหนักมาก, ใบข้าว,วัชพืชทำให้ข้าวผลผลิตลดลง, วิธีทำนาปลอดเคมี โดยชัยพล ยิ้มไทร

หน้าที่ 9
ข้าววัชพืช, การปลูกดอกดาวเรืองริมคันนา,แมลงศัตรูธรรมชาติ, แมลงปอเพชรฆาตในนาข้าว, การทำงานของโรงสีเกี่ยวกับการสีข้าว, มหัศจรรย์ข้าวเพื่อสุขภาพ


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 21:23:37
ประวัติและความเป็นมาของข้าว

จุดกำเนิดของข้าว

ข้าว เป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารหลัก มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเอเชียนานนับพันปีแล้ว เพราะมีตำนานเล่าขานและประเพณีสืบทอดเกี่ยวกับข้าวมากมาย เช่น คนฟิลิปปินส์ มีเทพนิยายที่เล่ากันสืบทอดมาว่ามีเทพองค์หนึ่งชื่อ โซโร(Soro) ต้องการจะสมรสกับหญิงสาวสวยชื่อ ฟิลิปิโน อลาฮาร์ (Filipino Alahar) แต่นางต้องการทดสอบความรักแท้ที่ Soro มีต่อนางก่อน จึงร้องขอให้ Soro ไปแสวงหาอาหารที่มีรสดีกว่าอาหารทุกชนิดที่นางเคยบริโภคมาให้ เทพโซโร ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ แต่หาไม่ได้จึงจากนางไปโดยกลับมาอีก นางรู้สึกเสียใจมากจนหัวใจสลาย และต่อมาที่หลุมฝังศพของนางได้มีต้นข้าวงอกขึ้นมา คนญี่ปุ่น มีเรื่องเล่าว่า ข้าวคือพืชทิพย์ที่นางฟ้า นินิโกโน มิโคโต (Ninigo-no-mikoto) ประสงค์ให้จักรพรรดิญี่ปุ่นนำไปถวายเทพ ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงมีราชประเพณีที่เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง จักรพรรดิจะทรงนำต้นข้าวที่ปลูกในพระราชวังไปที่วัด แกรนไชร์เนส (Grand Shrines) ในเมืองอิเซ เพื่อถวายเป็นเทพบูชา

คนไทย มีนิทานเล่าเกี่ยวกับข้าวว่า ผู้ที่บริโภคข้าวเป็นคนแรกคือพระฤาษี ซึ่งเมื่อได้เห็นต้นข้าวก็เกิดความอยากรู้ว่าเมล็ดข้าวนั้นกินได้หรือไม่ จึงให้ทดลองให้นกกิน เมื่อพระฤาษีเห็นนกปลอดภัยดีก็รู้ว่ามนุษย์สามารถบริโภคเมล็ดข้าวเป็นอาหารได้

ชาวเกาะเซลีเบสและสุลาเวสีของอินโดนีเซีย เชื่อว่า ในพิธีสมรสหากเจ้าบ่าวไม่สามารถรับเมล็ดข้าวที่ถูกโยนใส่ วิญญาณของเขาจะออกจากร่างในอีกไม่นาน
คนมาเลเซีย ในงานแต่งงานของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะป้อนเมล็ดข้าวให้กัน
คนในชนบทของอินเดีย ใช้ปริมาณข้าวที่มีในครอบครองวัดฐานะความร่ำรวย
คนจีน ข้าวมีบทบาทที่ยิ่งใหญ่มากจนมีคำเปรียบเปรยว่า ข้าวมีความสำคัญต่อชีวิตยิ่งกว่าหยกหรือไข่มุก โดยในประเพณีต่าง ๆ ของชาวจีน เช่น เวลามีเด็กเกิดใหม่ พ่อแม่ของทารกจะผัดข้าวใส่จานไม้นำไปแจกญาติมิตร เวลาเด็ก มีอายุครบหนึ่งขวบ แม่ของเด็กจะบิข้าวเกรียบให้เด็กกิน ด้วยถือเคล็ดว่า ข้าวเกรียบจะทำให้เด็กเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณความดีและมีอำนาจวาสนาสูง เวลาแต่งงานพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะทำขนมหวานจากข้าวแจกเป็นของชำร่วย และทำขนมบัวลอยไว้รับรองแขกเพราะถือเป็นเคล็ดว่าจะทำให้ชีวิตของคู่บ่าวสาวราบรื่น ในงานศพเจ้าภาพจะจัดข้าวและไข่เป็ดใส่จานพร้อมตะเกียบวางไว้ที่เท้าของผู้ตายเพื่อไม่ให้ผู้ตายอดอาหาร นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมความเชื่ออีกว่า ไม่ควรที่ใครจะเคาะจานเปล่าเพราะจะทำให้ผู้ตายนั้นตกระกำลำบากเหมือนขอทานที่ส่งเสียงร้องขออาหารจากคนที่เดินผ่านไปมา หรือเวลากินข้าวหากทำตะเกียบตกโต๊ะเคราะห์ร้ายจะมาเยือน และทุกคนควรกินข้าวให้หมดถ้วย เพราะคนที่กินข้าวเหลือจะเสี่ยงต่อการต้องแต่งงานกับคนที่ผิวหน้าขรุขระเหมือนดังถ้วยที่มีเมล็ดข้าวติดค้าง เป็นต้น

หลักฐานทางโบราณคดี เมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว ในวัฒนธรรมลุงชาน ประเทศจีน และวัฒนธรรมฮัวบิเนียน ประเทศเวียดนาม พบหลักฐานว่า มนุษย์ค้นพบวิธีปลูกข้าวแบบทำไร่เลื่อนลอย ต่อมาเมื่อ 5,000-10,000 ปีมาแล้วในวัฒนธรรมยางเชาบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง วัฒนธรรมลุงชาน ประเทศจีน และในวัฒนธรรมฮัวบิเนียน ประเทศเวียดนามปรากฏหลักฐานว่า มนุษย์ค้นพบการทำนาหว่าน และในวัฒนธรรมบ้านเชียง ประเทศไทย เมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้วพบหลักฐานว่า ภูมิปัญญาด้านการปลูกข้าวพัฒนาสู่การปักดำ

ในปี 2539 S. Toyama แห่งมหาวิทยาลัย Kogakukan ในประเทศญี่ปุ่น ได้พบเมล็ดข้าวโบราณอันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า จีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักทำนาปลูกข้าวตามบริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียงตอนกลาง คือ ในมณฑล Hunan และ Hubei เมื่อ 11,500 ปีมาแล้ว ต่อมาวัฒนธรรมข้าวได้แพร่สู่ดินแดนต่าง ๆ ของโลก เช่น ปากีสถานเมื่อ 4,200 ปีก่อน และอินเดียเมื่อ 3,200 ปีก่อน ส่วนคนญี่ปุ่นเริ่มรู้จักปลูกข้าวเมื่อ 4,000 ปีมาแล้ว และคนไทยก็รู้จักทำนาเมื่อประมาณ 5,000 ปี


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 21:33:51
ประวัติข้าวของโลก


ข้าวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก แบ่งออกได้เป็น 3 พวก คือ

ออไรซา ซาไทวา (oryza sativa) มีปลูกกันทั่วไป
ออไรซา แกลเบอร์ริมา (oryza glaberrima) มีปลูกเฉพาะใน แอฟริกา
ข้าวป่าซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศต่าง ๆ ที่ปลูกข้าว มีด้วยกันหลายชนิด (species) แต่ที่สำคัญและควรทราบ ได้แก่ ออไรซา สปอนทาเนีย (oryza spontanea) ออไรซา เพเรนนิส (oryza perennis) ออไรซา ออฟฟิซินาลิส (oryza officinalis) และออไรซา นิวารา (oryza nivara) โดยข้าวป่าพวกออไรซา เพเรนนิส เป็นตระกูลของข้าวที่เราปลูกบริโภคกันทุกวันนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในธรรมชาติ และได้ผ่านการคัดเลือกโดยมนุษย์จนกลายเป็นข้าวที่ปลูกกันทุกวันนี้
ข้าวพันธุ์ที่เพาะปลูกในปัจจุบันพัฒนามาจากข้าวป่าในตระกูลออไรซา กรามิเนียอิ (Oryza gramineae) สันนิษฐานว่า พืชสกุล ออไรซา (Oryza) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีปกอนด์วานาแลนด์ (Gondwanaland) ก่อนผืนดินจะเคลื่อนตัวและเคลื่อนออกจากกันเป็นทวีปต่าง ๆ เมื่อ 230-600 ล้านปีมาแล้ว จากนั้นก็กระจายสู่เขตร้อนชื้นของแอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ออสเตรเลีย อเมริกากลางและใต้ ข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ทั้งในที่ราบลุ่มจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล 2,500 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 53 องศาเหนือ ถึง 35 องศาใต้

ปัจจุบันมนุษย์ได้คัดเลือกข้าวป่าชนิดต่าง ๆ ตามความต้องการของตน เพื่อให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ มีการผสมข้ามระหว่างข้าวที่ปลูกกับวัชพืชที่เกี่ยวข้อง เกิดข้าวพื้นเมืองมากมายหลายพันธุ์ ซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูง ปลูกได้ตลอดปี ก่อให้เกิดพันธุ์ข้าวปลูกที่เรียกว่า ข้าวลูกผสมซึ่งมีประมาณ 120,000 พันธุ์ทั่วโลก ข้าวปลูกในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

ข้าวแอฟริกา (Oryza glaberrima) แพร่กระจายอยู่เฉพาะบริเวณเขตร้อนของแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น สันนิษฐานว่าข้าวแอฟริกาอาจเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราชหรือหลังจากนั้น
ข้าวเอเชีย เป็นข้าวลูกผสม เกิดจาก ออไรซา ซาติวา(Oryza sativa) กับข้าวป่า มีถิ่นกำเนิดบริเวณประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปลูกกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่อินเดีย ตอนเหนือของบังคลาเทศ บริเวณดินแดน สามเหลี่ยมระหว่างพม่า ไทย ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ แบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์ คือ
- ข้าวสายพันธุ์แรกเรียกว่าสายพันธุ์สานิกา(Sanica) หรือ จาโปนิกา(Japonica) ปลูกบริเวณแม่น้ำเหลืองของจีนแพร่ไปยังเกาหลี และญี่ปุ่น เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นข้าวเมล็ดป้อม
- ข้าวสายพันธุ์ที่สอง เรียกว่า อินดิกา(Indica) เป็นข้าวเมล็ดยาว ปลูกในเขตร้อน แพร่สู่ตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา แหลมมลายู หมู่เกาะต่าง ๆ และลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงของจีนประมาณคริสต์ศักราช. 200
ข้าวสายพันธุ์ที่สาม คือ ข้าวชวา (Javanica) ปลูกในอินโดนีเซีย ประมาณ 1,084 ปีก่อนคริสต์ศักราช จากนั้นแพร่ไปยังฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ข้าวเอเชียแพร่เข้าไปในยุโรปและแอฟริกา สู่อเมริกาใต้ อเมริกากลางเข้าสู่สหรัฐอเมริกาครั้งแรกประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยนำเมล็ดพันธุ์ไปจากหมู่เกาะมาดากัสก้าในเบื้องแรก


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 21:39:20
ประวัติของข้าวไทย

เมล็ดข้าวที่เก่าแก่ที่สุดที่พบมีลักษณะคล้ายข้าวปลูกของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,500-3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ได้แก่ รอยแกลบข้าวซึ่งเป็นส่วนผสมของดินที่ใช้ปั้นภาชนะดินเผาที่โนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นหลักฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเก่าแก่ที่สุดคือประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า สยามประเทศเป็นแหล่งปลูกข้าวมาแต่โบราณ ได้แก่ เมล็ดข้าวที่ขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงว่ามีการปลูกข้าวในบริเวณนี้เมื่อ 3,500-3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือราว 5,400 ปีมาแล้ว แกลบข้าวที่พบที่ถ้ำปุงฮุง มีทั้งลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ที่เจริญงอกงามอยู่ในที่สูงเป็นข้าวไร่และข้าวเจ้า แต่ไม่พบลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดป้อม หรือข้าวพวก จาโปนิกา(Japonica) เลย และแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีพบรอยแกลบข้าวผสมอยู่กับดินที่นำมาปั้นภาชนะดินเผากำหนดอายุได้ใกล้เคียงกับแกลบข้าว

หลักฐานการค้นพบเมล็ดข้าว เถ้าถ่านในดินและรอยแกลบบนเครื่องปั้นดินเผาที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แสดงให้เห็นถึงชุมชนปลูกข้าวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ยังพบหลักฐานคล้ายดอกข้าวป่าเมืองไทยที่ถ้ำเขาทะลุ จังหวัดกาญจนบุรี อายุประมาณ 2,800 ปี (อาจจะก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นประมาณ 300 ปี) ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อยุคหินใหม่ตอนปลายกับยุคโลหะตอนต้น

หลักฐานภาพเขียนบนผนังถ้ำหรือผนังหินอายุไม่น้อยกว่า 2,000 ปี ที่ผาหมอนน้อย บ้านตากุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี บันทึกการปลูกธัญพืชอย่างหนึ่ง มีลักษณะเหมือนข้าว และภาพแปลงของพืชคล้ายข้าว อาจตีความได้ว่า มนุษย์สมัยนั้นรู้จักข้าวหรือการเพาะปลูกข้าวแล้ว

ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี สรุปไว้เมื่อ ปี พ.ศ. 2535 ว่าประเทศไทยทำนาปลูกข้าวมาแล้วประมาณ 5,471 ปี (นับถึงปี พ.ศ. 2514) ผลของการขุดค้นพบรอยแกลบข้าวที่โนนนกทาสนับสนุนสมมติฐานที่ว่าข้าวเริ่มปลูกในทวีปเอเชียอาคเนย์ในสมัยหินใหม่ จากนั้นแพร่ขึ้นไปที่ประเทศอินเดีย ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี

ข้าวที่มีในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มี 3 ชนิด คือ เมล็ดป้อม เมล็ดใหญ่ และเมล็ดเรียง โดยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์มีการปลูกข้าว ดังนี้

สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) มีศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่บริเวณจังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และเมล็ดใหญ่
สมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-18) อาณาจักรมีความรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณภาคใต้ นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และข้าวจ้าว
สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 12-18) อาณาจักรมีความรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมปลูกข้าวจ้าว ข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่ ในภาคกลางนิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและข้าวจ้าว
สมัยเชียงแสนและล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 16-23) อาณาจักรมีความรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณภาคเหนือ นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดยาว ปลูกข้าวจ้าวน้อยกว่าข้าวเหนียว
สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19-20) อาณาจักรมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม ข้าวเหนียวเมล็ดยาวบ้าง และเริ่มปลูกข้าวจ้าวมากขึ้น
สมัยอยุธยา ระยะแรกปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมมาก เริ่มปลูกข้าวจ้าวมากในช่วงปลายสมัยอยุธยา ซึ่งน่าจะเป็นข้าวเหนียวที่ปลูกสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปลูกข้าวจ้าวเมล็ดยาวอย่างที่ปลูกในปัจจุบัน ส่วนข้าวเมล็ดป้อมพบว่าปลูกกันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


 
 



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 21:45:38
พิธีกรรมความเชื่อ


ประเทศไทยมีลักษณะของผู้คนที่อยู่อย่างกระจายไม่หนาแน่น ความเชื่อที่พบในสังคมไทยจะไม่มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พิธีกรรมและความเชื่อจึงขึ้นอยู่กับสภาพของสังคมในแต่ละท้องถิ่นที่ ผู้ปกครองบ้านเมืองจึงต้องสร้างและบูรณาการให้ผู้คนที่เต็มไปด้วยชนเผ่าต่าง ๆ ที่หลากหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

จำเป็นต้องนำระบบความเชื่ออิทธิฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพสามารถที่จะเอาชนะหรือสร้างความเคารพยอมรับจากชนเผ่าต่าง ๆ ได้ ดังนั้น เมื่อสังคมพัฒนาเป็นบ้านเป็นเมืองลักษณะของพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวจึงเกิดการนำเอาพิธีพุทธซึ่งมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวด ทำบุญทำทาน และพิธีพราหมณ์มาผสมผสานเข้ามาเพื่อสร้างเป็นพีธีกรรมที่ความอลังการ มีความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเชื่อถือให้กับราชสำนัก และพิธีกรรมอันนี้เองที่ส่งผลอิทธิพล และสะท้อนกลับไปยังความเชื่อของชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องราวของความเชื่อที่ผสมผสานกันระหว่างความเชื่อในเรื่องของผี ความเชื่อท้องถิ่น ความเชื่อในเรื่องพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูด้วย เช่น พิธีจุดบั้งไฟ มีความเชื่อว่า “แถน” เป็นเทพดั้งเดิมของชนเผ่าไทเป็นผู้ที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่าง มีอิทธิพลต่อการทำมาหากิน ความเป็นอยู่ของผู้คน ทำให้ผู้คนกลัวมาก เมื่อมีปัญหาอะไรต้องไปขอให้พระยาแถนช่วย พิธีกรรมนี้มีความสำคัญมากต่อการทำมาหากินและการปลูกข้าวของคนไทยหรือคนถิ่นไทยลาว เพื่อส่งสาส์นไปถึงพระยาแถน ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พิธีกรรมในประเพณีจุดบั้งไฟนี้เป็นพิธีที่ไม่สามารถทำขึ้นโดยคนเพียงไม่กี่คน แต่เป็นเรื่องของคนทั้งชุมชนทั้งสังคมต้องให้ความร่วมมือร่วมใจกันที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในสังคมตัวเอง บทบาทของพิธีกรรมไม่ใช่เพียงแต่จะบันดาลให้ฝนตกมาได้ตามความเชื่อของท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นพิธีกรรมที่ทำให้คนทั้งชุมชนมีความสามัคคีและร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมด้วย

“แม่โพสพ” เป็นความเชื่อนับแต่อดีตถึงปัจจุบันว่าเป็น เทพธิดาแห่งข้าว โดยมีที่มาของความเชื่อว่า แม่นั้นเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ที่มีบทบาทสูงที่สุดในครอบครัวและสิ่งที่มีคุณประโยชน์ทั้งหลายในสังคมไทยนั้นมักจะใช้คำว่าแม่เป็นคำเรียกชื่อไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ แม่ธรณี ฯลฯ การใช้คำว่า “แม่” เรียกข้าวก็คือเป็นการให้การยกย่องมากที่สุด ข้าวมีความสำคัญก็เพราะว่าข้าวเป็นผู้ให้ชีวิตแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้น หน้าที่ที่มนุษย์ต้องตอบแทนคือมนุษย์ต้องเลี้ยงดูฟูมฟักเลี้ยงดูข้าวด้วย ข้าวมีขวัญข้าว ซึ่งเหมือนกับมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องมีขวัญ ขวัญนั้นสามารถที่จะกระทบกระเทือนเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่พึงพอใจได้ เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้อยู่ดีมีสุข ต้องเอาอกเอาใจขวัญของข้าว

นับแต่อดีตสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมคือการเพาะปลูก พิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวจึงมีความสำคัญต่อชีวิตในการทำเกษตรกรรม เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมจึงมีจุดประสงค์หลักที่เกี่ยวกับข้าวแสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาของชาวบ้านที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านในการเผชิญกับปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องเรื่องความอยู่รอด พิธีกรรมข้าวมีความสำคัญต่อชาวบ้านมากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ดังนั้น พิธีกรรมข้าวจะมีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยช่วงที่สำคัญที่สุดจะอยู่ระหว่างหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตและก่อนเริ่มฤดูกาลใหม่ พิธีกรรมข้าวมี 4 ขั้นตอน ดังนี้

พิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก มีวัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวง บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษให้คุ้มครองป้องกันภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ให้มีความสวัสดิมงคล มีความอุดมสมบูรณ์ ขอโอกาสและความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิตในรอบปีนั้น ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีเลี้ยงขุนผีขุนด้ำ พิธีแห่นางแมว เทศน์พญาคันคาก สวดคาถาปลาช่อน พิธีปั้นเมฆ พิธีบุญบั้งไฟ พิธีบุญ ซำฮะ
 
พิธีช่วงเพาะปลูก มีเป้าหมายเพื่อบวงสรวงบนบาน บอกกล่าว ฝากฝังสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าวหรือการเพาะปลูกแก่เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้การเพาะปลูกข้าวดำเนินไปได้ด้วยดี ปราศจากอันตรายต่างๆ อาทิ พิธีแรกไถนา พิธีเลี้ยงผีตาแฮก ตกกล้า พิธีแรกดำนา พิธีปักข้าวตาแฮก พิธีปักกกตาแฮก
 
พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา เพื่อให้ข้าวงอกงาม ปลอดภัยจากสัตว์ต่างๆ หนอนเพลี้ย พิธีกรรมประเภทนี้ จัดขึ้นในช่วงระหว่างการเพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว อาทิ พิธีไล่น้ำ พิธีปักตาเหลว พิธีสวดสังคหะ พิธีรับขวัญแม่โพสพ พิธีไล่หนู ไล่นก ไล่เพลี้ย ไล่แมลง และอื่นๆ โดยใช้น้ำมนต์ ผ้ายันต์ ภาวนาโดยหว่านทราย หรือเครื่องราง
 
พิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยว-ฉลองผลผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตมาก และเพื่อแสดงความอ่อนน้อมกตัญญูต่อข้าว ตลอดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้อง พิธีกรรมประเภทนี้ จัดขึ้นในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว อาทิ พิธีรวบข้าว พิธีแรกเกี่ยวข้าว พิธีเชิญข้าวขวัญ พิธีวางข้าวต๋างน้ำ พิธีปลงข้าว พิธีขนข้าวขึ้นยุ้ง พิธีตั้งลอมข้าว พิธีปิดยุ้ง พิธีเปิดยุ้ง
ปัจจุบันพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวที่มีความสำคัญคือพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีปฐมฤกษ์มีแหล่งกำเนิดมาจากศาสนาพราหมณ์ในการทำนาปลูกข้าวของแต่ละปี พิธีแรกนาขวัญนี้จะถูกกำหนดขึ้นโดยโหรหลวงประจำทุกปีในเดือนพฤษภาคม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมอบให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตรเป็นพระยาแรกนาทำการไถและหว่านเมล็ดข้าว ณ ท้องสนามหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจะทรงเสด็จมาเป็นประธานและทรงแต่งตั้งพระยาแรกนาให้เป็นผู้นำในพิธีแทน ในพิธีมีการทำนายปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดยพระยาแรกนาจะเลือกผ้าสามผืน ที่มีความยาวต่างขนาดกัน ผืนที่ยาวที่สุดทายว่า ปริมาณฝนจะมีน้อย ผืนที่สั้นที่สุดทายว่าปริมาณน้ำฝนจะมาก และผืนที่มีความยาวปานกลาง ทายว่ามีปริมาณน้ำฝนพอประมาณ หลังจากสวมเสื้อผ้าเรียกว่า “ผ้านุ่ง” เรียบร้อยแล้ว พระยาแรกนาก็จะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวงด้วยพระนังคัลสีแดงและสีทองซึ่งลากโดยพระโคผู้สีขาว ตามขบวนด้วยเทพีทั้งสี่ผู้ซึ่งหาบกระเช้าทองและกระเช้าเงินที่บรรจุด้วยเมล็ดข้าวเปลือกพระราชทานและหว่านข้าวเปลือกลงไปบนพื้นดินที่ไถ มีคณะพราหมณ์เดินคู่ไปกับขบวนพร้อมทั้งสวดและเป่าสังข์ไปพร้อมกัน เมื่อเสร็จแล้วพระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้า เมล็ดงา น้ำ และเหล้า เมื่อพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือก เมื่อเสร็จพิธีจบก็จะเปิดให้ประชาชนเก็บเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนาเก็บไปเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อเป็นสิริมงคลในการปลูกข้าวเพื่อให้พืชผลในปีที่จะมาถึงนี้อุดมสมบูรณ์ เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 21:49:58
ประเภทของข้าว

การแบ่งประเภทของข้าวทำได้หลายแบบขึ้นอยู่กับสิ่งที่ใช้เป็นมาตรฐานในการแบ่ง เช่น
- แบ่งตามประเภทของเนื้อแข็งในเมล็ดข้าวสาร ก็จะได้เป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียวซึ่งมีต้นและลักษณะอย่างอื่นเหมือนกันทุกอย่าง แต่ต่างกันที่ประเภทของเนื้อแข็งในเมล็ด เมล็ดข้าวเจ้าประกอบด้วยแป้งอไมลาส ( amylase) ประมาณร้อยละ 15-30 ส่วนเมล็ดข้าวเหนียวประกอบด้วยแป้งอไมลาส (amylase) เป็นส่วนเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5-7 เท่านั้น
 
- แบ่งตามสภาพพื้นที่ปลูก ก็จะได้เป็นข้าวไร่ ข้าวนาสวน และข้าวขึ้นน้ำ ข้าวไร่เป็นข้าวที่ปลูกได้ทั้งบนที่ราบและที่ลาดชัน ไม่ต้องทำคันนาเก็บกักน้ำ นิยมปลูกกันมากในบริเวณที่ราบสูงตามไหล่เขาทางภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ คิดเป็นเนื้อที่เพาะปลูกประมาณร้อยละ 10 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั่วประเทศ ข้าวนาสวนหรือนาดำเป็นข้าวที่ปลูกในที่ลุ่มทั่วๆ ไป ในสภาพที่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวตั้งแต่ปลูกสามารถรักษาระดับน้ำได้และระดับน้ำต้องไม่สูงเกิน 1 เมตรก่อนเก็บเกี่ยว มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณร้อยละ 80 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั่วประเทศ ข้าวขึ้นน้ำหรือข้าวนาเมืองเป็นข้าวที่ปลูกในแหล่งที่ไม่สามารถรักษาระดับน้ำได้ บางครั้งระดับน้ำในบริเวณที่ปลูกอาจสูงกว่า 1 เมตร ต้องใช้ข้าวพันธุ์พิเศษที่เรียกว่า ข้าวลอยหรือข้าวฟ่างลอย ส่วนมากปลูกแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี พิจิตร อ่างทอง ชัยนาท และสิงห์บุรี คิดเป็นเนื้อที่เพาะปลูกประมาณร้อยละ 10 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั่วประเทศ
 
- แบ่งตามอายุการเก็บเกี่ยว ก็จะได้ข้าวเบา ข้าวกลาง และข้าวหนัก ข้าวเบามีอายุการเก็บเกี่ยว 90 - 100 วัน ข้าวกลาง 100 - 120 วัน และข้าวหนัก ตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป อายุการเก็บเกี่ยวนับแต่เพาะกล้าหรือหว่านข้าวในนาจนเก็บเกี่ยว
 
- แบ่งตามลักษณะความไวต่อแสง ก็จะได้ข้าวที่ไวและไม่ไวต่อแสง ข้าวที่ไวต่อแสงจะมีอายุการเก็บเกี่ยวที่ไม่แน่นอน เพราะจะออกดอกในช่วงเดือนที่มีความยาวของกลางวันสั้นกว่ากลางคืน ในประเทศไทยช่วงดังกล่าวเริ่มเดือนตุลาคม ฉะนั้น ข้าวพวกนี้ต้องปลูกในฤดูนาปี (ฤดูฝน) เท่านั้น ส่วนข้าวที่ไม่ไวต่อแสงจะสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล
 
- แบ่งตามรูปร่างของเมล็ดข้าวสาร ก็จะได้ข้าวเมล็ดสั้น ความยาวของเมล็ดไม่เกิน 5.50 มิลลิเมตร ข้าวเมล็ดยาวปานกลาง ความยาวของเมล็ดตั้งแต่ 5.51 - 6.60 มิลลิเมตร ข้าวเมล็ดยาว ความยาวของเมล็ดตั้งแต่ 6.61 - 7.50 มิลลิเมตร ข้าวเมล็ดยาวมาก ความยาวของเมล็ดตั้งแต่ 7.51 มิลลิเมตรขึ้นไป
 
- แบ่งตามฤดูปลูก ก็จะได้ข้าวนาปีและข้าวนาปรัง (ข้าวนาน้ำฝน) ข้าวนาปี หรือข้าวนาน้ำฝน คือข้าวที่ปลูกในฤดูการทำนาปกติ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมและจะเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นล่าสุดไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนข้าวนาปรังคือข้าวที่ปลูกนอกฤดูการทำนาปกติ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมในบางท้องที่ และจะเก็บเกี่ยวอย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือนเมษายน นิยมปลูกในท้องที่ที่มีการชลประทานดี


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 21:58:37
ลักษณะและส่วนประกอบของต้นข้าว

ลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของต้นข้าว ได้แก่ ราก ลำต้น และใบ


1. ราก เป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน ใช้ยึดลำต้นกับดินเพื่อไม่ให้ต้นล้ม แต่บางครั้งก็มีรากพิเศษเกิดขึ้นที่ข้อซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้วย ต้นข้าวไม่มีรากแก้ว แต่มีรากฝอยแตกแขนงกระจายแตกแขนงอยู่ใต้ผิวดิน

2. ลำต้น  มีลักษณะเป็นโพรงตรงกลางและแบ่งออกเป็นปล้องๆ โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง ความยาวของปล้องนั้นแตกต่างกัน 

3. ใบ   ต้นข้าวมีใบไว้สำหรับสังเคราะห์แสง เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุ อาหาร น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแป้ง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและ สร้างเมล็ดของต้นข้าว ใบประกอบด้วย กาบใบและแผ่นใบ


 ลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์


ต้นข้าวขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ลักษณะที่สำคัญเกี่ยวกับการ ขยายพันธุ์ ได้แก่ รวง ดอกข้าวและเมล็ดข้าว

1. รวงข้าว (panicle) หมายถึง ช่อดอกของข้าว (inflorescence) ซึ่งเกิดขึ้นที่ข้อของปล้องอันสุดท้ายของต้นข้าว ระยะระหว่างข้ออันบนของปล้องอันสุดท้ายกับข้อต่อของใบธง เรียกว่า คอรวง
 
2. ดอกข้าว หมายถึง ส่วนที่เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียสำหรับผสมพันธุ์ ดอกข้าวประกอบด้วยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่นประสานกัน เพื่อห่อ หุ้มส่วนที่อยู่ภายในไว้ เปลือกนอกใหญ่แผ่นนอก เรียกว่า เลมมา (lemma) ส่วนเปลือกนอกใหญ่แผ่นใน เรียกว่า พาเลีย (palea) ทั้งสองเปลือกนี้ ภายนอกของมันอาจมีขนหรือไม่มีขนก็ได้

 3. เมล็ดข้าว หมายถึง ส่วนที่เป็นแป้งที่เรียกว่า เอ็นโดสเปิร์ม (endosperm) และส่วนที่เป็นคัพภะ ซึ่งห่อหุ้มไว้โดยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่น เอ็นโดสเปิร์มเป็นแป้งที่เราบริโภค คัพภะเป็นส่วนที่มีชีวิตและงอกออกมาเป็นต้นข้าวเมื่อเอาไปเพาะ



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 22:04:34
องค์ประกอบภายในเมล็ดข้าว
 
        เนื่องจากภายในเมล็ดข้าวมีแป้งเป็นองค์ประกอบหลักอยู่ ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นโดยน้ำหนัก และมีโปรตีน ประมาณ 5-14 % (ข้าวส่วนใหญ่มีโปรตีน 6-8 % )  ทำให้ข้าวแต่ละพันธุ์มีคุณภาพข้าวสุกแตกต่างกัน แป้งข้าวมีส่วนประกอบย่อย 2 ส่วน คือ

-  อมิโลเปคติน  (amylopectin)  เป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่เกิดจากการรวมตัวของกลูโคสเป็นโมเลกุลใหญ่มีโครงสร้างเชื่อมต่อกันแบบแยกเป็นกิ่งก้านสาขา (branched chain) อมิโลเปคติน เมื่อย้อมสีด้วยสารละลายไอโอดีน  จะเป็นสีน้ำตาลแดง และเป็นส่วนที่ทำให้   ข้าวสุกเหนียวติดกัน

-  อมิโลส  (amylose)   เป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่เกิดจากการรวมตัวของกลูโคสจำนวนมาก เช่นกันแต่มีโครงสร้างต่อกันเป็นแนวยาว (Linear chain) เมื่อย้อมสีด้วยสารละลายไอโอดีน จะมีสีน้ำเงินและมีผลให้การเกาะตัวหรือความเหนียวของข้าวสุกลดลง เมื่ออมิโลสเพิ่มขึ้น

--------------------------------------------------------------------------------
 
โครงสร้างของเมล็ดข้าว


 เมล็ดข้าว (rice fruit, rice grain, rice seed) เป็นผลชนิด caryopsis เนื่องจากส่วนที่เป็นเมล็ดเดี่ยว (single seed) ติดแน่นอยู่กับผนังของรังไข่หรือเยื่อหุ้มผล (pericarp)
 เมล็ดข้าวประกอบด้วยส่วนใหญ่ๆ 2 ส่วนคือ
1. ส่วนที่ห่อหุ้ม เรียกว่าแกลบ (hull หรือ husk)
2. ส่วนที่รับประทานได้ เรียกว่า ข้าวกล้อง (caryopsis หรือ brown rice)
  แกลบ  ประกอบด้วย เปลือกใหญ่ (lemma) เปลือกเล็ก (palea) หาง (awn) ขั้วเมล็ด (rachilla) และกลีบรองเมล็ด (sterile lemmas)
 ข้าวกล้อง หรือเมล็ดข้าวที่เอาเปลือกออกแล้ว ประกอบด้วย
ก. เยื่อหุ้มผล (pericarp) หรือ fruit coat ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้นด้วยกัน คือ epicarp, mesocarp และ endocarp, pericarp มีลักษณะเป็น fibrous ผนังเซลประกอบด้วย protein, cellulose และ hemicellulose
ข. เยื่อหุ้มเมล็ด (tegmen หรือ seed coat) อยู่ถัดจาก pericarp เข้าไป ประกอบด้วย เนื้อเยื่อสองชั้นเรียงกันเป็นแถวเป็นที่อยู่ของสารประเภทไขมัน (fatty material)
ค. เยื่ออาลูโรน (aleurone) อยู่ต่อจาก tegmen ห่อหุ้ม starchy endosperm (ข้าวสาร) และ embryo (คัพภะ) aleurone layer มี protein สูง นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย oil, cellulose และ hemicellulose
ง. ส่วนที่เป็นแป้ง (starch endosperm) หรือส่วนที่เป็นข้าวสาร อยู่ชั้นในสุดของเมล็ดประกอบด้วยแป้งเป็นส่วนใหญ่และมีโปรตีนอยู่บ้าง แป้งในเมล็ดข้าวมี 2 ชนิด คือ 
  amylopectin ซึ่งเป็น polymer ของ D-glucose ที่ต่อกันเป็น branch chain
  amylose ซึ่งเป็น polymer ของ D-glucose ที่ต่อกันเป็น branch chain และ amylose ซึ่งเป็น polymer ของ D-glucose ที่ต่อกันเป็น linear chain
 
  ส่วนประกอบของแป้งทั้ง 2 ชนิด มีสัดส่วนแตกต่างกันไปตามชนิดข้าว ในข้าวเหนียวจะมี amylose อยู่ประมาณ 0-2 % ส่วนที่เหลือเป็น amylopectin ข้าวเจ้ามี amylose มากกว่าคือ ประมาณ 7-33% ของน้ำหนักข้าวสาร
จ. คัพภะ (embryo) อยู่ติดกับ endosperm ทางด้าน lemma เป็นส่วนที่จะเจริญเป็นต้นต่อไป embryo ประกอบด้วย ต้นอ่อน (plumule) รากอ่อน (radicle) เยื่อหุ้มต้นอ่อน (coleoptile) เยื่อหุ้มรากอ่อน (coleorhiza) ท่อน้ำท่ออาหาร (epiblast) และใบเลี้ยง (scutellum) embryo เป็นส่วนที่มี protein และ fat สูง

 
 การสร้างเมล็ดของข้าว (rice grain formation) เกิดขึ้นหลังจากการผสมเกสร (Pollination) และการผสมพันธุ์ (fertilization) การสร้างเมล็ดเป็นขบวนการที่ต่อเนื่อง เมล็ดจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนถึงสุกแก่เต็มที่ (fully matures) ซึ่งกินเวลาประมาณ 30 วัน

 การผสมเกสร คือ การที่ละอองเกสรตัวผู้ (pollen grain) ตกลงบนเกสรตัวเมีย (stigma) หลังจากการผสมเกสรเล็กน้อย ก็จะเกิดการผสมพันธุ์ที่เรียกว่า double fertilization คือละอองเกสรตัวผู้งอกลงไปในก้านของเกสรตัวเมีย นำนิวเคลียสจากละอองเกสรตัวผู้ลงไปผสมกับไข่ egg cell และ polar nuclei ในรังไข่นิวเครียสที่ได้ผสมกับไข่ จะเจริญเติบโตเป็น embryo ส่วนที่ผสมกับ polar nuclei จะเจริญเติบโตเป็น endosperm ระยะเวลาของ pollination และ fertilization ของข้าวกินเวลาประมาณ 12-24 ชั่วโมง ต่อจากนั้นก็เป็นการสร้างเมล็ดซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ 

1. ระยะน้ำนม (milk stage) หลังการผสมพันธุ์ระยะแรกๆ ส่วนที่เป็นข้าวกล้องมีลักษณะเป็นน้ำเหนียวๆ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นน้ำนม ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 7 วัน หลังผสมเกสร
2. ระยะแป้ง (dough stage) เป็นระยะที่น้ำนมค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแป้งอ่อน (soft dough) และกลายเป็นแป้งแข็ง (hard dough) ตามลำดับ ระยะนี้อยู่ระหว่าง 14-21 วัน หลังผสมเกสร
3. ระยะสุกแก่ (maturation stage) ประมาณ 30 วัน หลังผสมเกสรเมล็ดจะสุกแก่เมื่อได้มีวิวัฒนาการเต็มที่ในเรื่องของขนาด (Size) ความแข็ง ความใส และปราศจากสีเขียวแล้ว ระยะสุกแก่หมายถึงระยะที่มากกว่า 90% ของเมล็ดในรวงสุกแก่แล้ว

 embryo ประกอบด้วย cell 2-3 cell ระหว่าง 24 ชั่วโมงแรกหลังการผสมเกสร การแบ่ง cell เพื่อการเจริญเติบโตของเยื่อหุ้มต้นอ่อน เยื่อหุ้มรากอ่อนและใบเลี้ยง (scutellum) เริ่มขึ้นในวันที่ 3 ต้นอ่อน (plumule) และส่วนอื่น ๆ ภายในเยื่อหุ้มรากอ่อน (radicle) เกิดขึ้นเมื่อเมล็ดมีอายุ 5 วัน ท่อน้ำท่ออาหาร (vascular system) ปรากฎให้เห็นเมื่อเมล็ดอายุ 6 วัน การเจริญเติบโตของ embryo จะสมบูรณ์กินเวลาอย่างน้อย 13 วัน และไม่เกิน 20 วัน หลังดอกบาน หลังจากดอกบานแล้ว 7 วัน embryo ก็สามารถงอกเป็นต้นอ่อนได้เช่นกัน
 


 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 22:13:14
การทำนาโดยวิธีต่าง ๆ  


เราสามารถทำนาได้หลายวิธีตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่และความถนัดของชาวนาที่เราพบเห็นในปัจจุบันได้แก่

-  นาหว่าน
-  นาดำ
-  นาหยอด
-  นาโยน



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 22:20:01
การทำนาหว่าน

            เป็นการปลูกข้าวโดยการหว่านเมล็ดลงไปในนาที่เตรียมพื้นที่ไว้แล้วโดยตรง เป็นวิธีการที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากประหยัดแรงงานและเวลา

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0010.jpg)

การทำนาหว่าน แบ่งเป็น 2 วิธี คือ

1. นาหว่านข้าวแห้ง เป็นการหว่านเมล็ดข้าวเพื่อคอยฝน และมีชื่อเรียกปลีกย่อยไปตามวิธีปฏิบัติ คือ

- การหว่านสำรวย เป็นการหว่านในสภาพดินแห้ง เนื่องจากฝนยังไม่ตก โดยหลังจากการไถแปรครั้งสุดท้ายแล้วหว่านเมล็ดข้าวลงไปโดยไม่ต้องคราดกลบ เมล็ดจะตกลงไปอยู่ในระหว่างก้อนดิน เมื่อฝนตดลงมาเมล็ดข้าวจะงอกขึ้นมาเป็นต้น

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0011.jpg)

- การหว่านหลังขี้ไถ เป็นการหว่านในสภาพที่มีฝนตกลงมา และน้ำเริ่มจะขังในกระทงนา เมื่อไถแปรแล้วก็หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวตามหลัง แล้วคราดกลบทันที

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0012.jpg)

2. นาหว่านข้าวงอก หว่านน้ำตมหรือหว่านเพาะเลย โดยการนำเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ถูกเพาะให้งอก มีขนาดตุ่มตา (มีรากงอกประมาณ 1-2 มิลลิเมตร) แล้วจึงหว่านลงในกระทงนา ซึ่งมีการเตรียมดินจนเป็นเทือก แยกเป็น

        - การหว่านหนีน้ำ ทำในนาน้ำฝน เนื่องจากการหว่านข้าวแห้งหรือทำการตกกล้าไม่ทัน เมื่อฝนมามาก หลังจากเตรียมดินเป็นเทือกดีแล้ว ก็หว่านข้าวที่เพาะจนงอก ลงไปในกระทงนาที่มีน้ำขังอยู่มากจึงเรียกว่า นาหว่านน้ำตม

        - นาชลประทาน หรือนาในเขตที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ การทำนาในสภาพนี้มักจะให้ผลผลิตสูง หลังจากเตรียมดินเป็นเทือกดีแล้วระบายน้ำออกหรือให้เหลือน้ำขังบนผืนนาน้อยที่สุด นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่งอกขนาด “ตุ่มตา” หวานลงไป แล้วคอยดูแลควบคุมการให้น้ำ มักจะเรียกการทำนาแบบนี้ว่า “การทำนาน้ำตมแผนใหม่”

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0013.jpg)

การทำนาหว่านน้ำตม
         การทำนาหว่านน้ำตมที่จะให้ได้ผลดีนั้น จะต้องปรับพื้นที่นาให้สม่ำเสมอ มีคันนาล้อมรอบและสามารถควบคุมน้ำได้ การเตรียมดินก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมดินในนาดำ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรปล่อยให้เมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นในนามีเวลางอกเป็นต้นข้าว เพื่อลดปัญหาข้าวเรื้อ หรือข้าววัชพืชในนา แล้วจึงไถดะ แล้วปล่อยน้ำเข้าพอให้ดินชุ่มอยู่เสมอ ประมาณ 5-10 วัน เพื่อให้เมล็ดวัชพืช งอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อนเสียก่อนจึงปล่อยน้ำเข้านา แล้วทำการไถแปรและคราด หรือใช้ลูกทุบตี จะช่วยทำลายวัชพืชได้ หากทำเช่นนี้ 1-2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น โดยทิ้งระยะห่างกันประมาณ 4-5 วัน หลังจากไถดะไถแปร และคราดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขังน้ำไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกหญ้าที่เป็นวัชพืชน้ำ เช่น ผักตบ ขาเขียด ทรงกระเทียม ผักปอดและพวกกกเล็ก เป็นต้น งอกเสียก่อน จึงคราดให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ลูกหญ้าจะหลุดลอยไปติดคันนาใต้ทางลม ก็จะสามารถช้อนออกได้หมด เป็นการทำลายวัชพืชวิธีหนึ่ง เมื่อคราดแล้วจึงระบายน้ำออกและปรับเทือกให้สม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่ใช้ลูกทุบหรืออีขลุก ย่ำฟางข้าวให้จมลงไปในดินแทนการไถ หลังจากย่ำแล้วควรเอาน้ำแช่ไว้ ให้ฟางเน่าเปื่อยจนหมดความร้อนเสียก่อน อย่างน้อย 3 อาทิตย์ แล้วจึงย่ำใหม่ เพราะแก๊สที่เกิดจากการเน่าเปื่อยของฟางจะเป็นอันตรายต่อต้นข้าว จะทำให้รากข้าวดำไม่สามารถหาอาหารได้ หลังจากนั้นจึงระบายน้ำออกเพื่อปรับเทือก

         การปรับพื้นที่นาหรือการปรับเทือกให้สม่ำเสมอ จะทำให้ควบคุมน้ำได้สะดวก การงอกของข้าวดีเติบโตสม่ำเสมอ เพราะเมล็ดข้าวมักจะตายถ้าตกลงไปในแอ่งหรือหลุมที่มีน้ำขัง เว้นแต่กรณีดินเป็นกรดจัดละอองดินตกตะกอนเร็วเท่านั้นที่ต้นข้าวสามารถขึ้นได้ แต่ถ้าแปลงใหญ่เกินไปจะทำให้น้ำเกิดคลื่น ทำให้ข้าวหลุดลอยง่าย และข้าวรวมกันเป็นกระจุก ไม่สม่ำเสมอ นอกจากนั้นการปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ยังช่วยควบคุมการงอกของเมล็ดวัชพืช ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการทำนาหว่านน้ำตมอีกด้วย การปรับพื้นที่ทำเทือก ควรทำก่อนหว่านข้าวหนึ่งวัน เพื่อให้ตะกอนตกดีเสียก่อน แล้วแบ่งกระทงนาออกเป็นแปลงย่อยๆ ขนาดกว้าง 3-5 เมตร ยาวตามความยาวของกระทงนา ทั้งนี้แล้วแต่ความสามารถของคนหว่าน ถ้าคนหว่านมีความชำนาญอาจแบ่งให้กว้าง การแบ่งอาจใช้วิธีแหวกร่อง หรือใช้ไหกระเทียมผูกเชือกลากให้เป็นร่องก็ได้ เพื่อให้น้ำตกลงจากแปลงให้หมด และร่องนี้ยังใช้เป็นทางเดินระหว่างหว่านข้าว หว่านปุ๋ย และพ่นสารเคมีได้ตลอดแปลง โดยไม่ต้องเข้าไปในแปลงย่อยได้อีกด้วย

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

- ตรวจความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ พิจารณาว่ามีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นหรือเมล็ดวัชพืชปนหรือไม่ ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย รูปร่างเมล็ดมีความสม่ำเสมอ ถ้าพบว่ามีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นหรือเมล็ดวัชพืชปน หรือมีโรค แมลงทำลายก็ไม่ควรนำมาใช้ทำพันธุ์

- การทดสอบความงอก โดยการนำเมล็ดข้าว จำนวน 100 เมล็ด มาเพาะเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ ความงอก อาจทำ 3-4 ซ้ำเพื่อความแน่นอน เมื่อรู้ว่าเมล็ดงอกกี่เปอร์เซ็นต์จะได้กะปริมาณพันธุ์ข้าวที่ใช้ได้ถูกต้อง

- คัดเมล็ดพันธุ์ให้ได้เมล็ดที่แข็งแรง มีน้ำหนักเมล็ดดีที่เรียกว่าข้าวเต็มเมล็ด จะได้ต้นข้าวที่เจริญเติบโตแข็งแรง

อัตราเมล็ดพันธุ์
        อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการทำนาหว่านน้ำตม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ
ถ้ามีการเตรียมดินไว้ดี มีเทือกอ่อนนุ่ม พื้นดินปรับได้ระดับ เมล็ดที่ใช้เพียง 7-8 กิโลกรัมหรือ 1 ถังต่อไร่ ก็เพียงพอที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูง แต่ถ้าพื้นที่ปรับได้ไม่ดี การระบายน้ำทำได้ยาก รวมถึงอาจมีการทำลายของนก หนู หลังจากหว่าน เมล็ดที่ใช้หว่านควรมากขึ้น เพื่อชดเชยการสูญเสีย ดังนั้นเมล็ดที่ใช้ควรเป็นไร่ละ 15-20 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันนิยมหว่านมากกว่านี้

การหว่าน
        ควรหว่านให้สม่ำเสมอทั่วแปลง ข้าวจะได้รับธาตุอาหาร แสงแดด และเจริญเติบโตสม่ำเสมอกัน ทำให้ได้ผลผลิตสูง โดยเดินหว่านในร่องแคบๆ ที่ทำไว้ เมล็ดพันธุ์ที่ใช้หว่านแต่ละแปลงย่อย ควรแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตามขนาดและจำนวนแปลงย่อย เพื่อเมล็ดข้าวที่หว่านลงไปจะได้สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง ในนาที่เป็นดินทรายมีตะกอนน้อยหลังจากทำเทือกแล้วควรหว่านทันที กักน้ำไว้หนึ่งคืนแล้วจึงระบายออก จะทำให้ข้าวงอกและจับดินดียิ่งขึ้น

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0014.jpg)

การหว่าน

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0015.jpg)

การกระจายของเมล็ดข้าวหลังหว่าน

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0016.jpg)

สภาพการงอกและเจริญเติบโตหลังหว่าน


การดูแลรักษา
        การทำนาหว่านน้ำตม จะต้องมีการดูแลให้ต้นข้าวงอกดีโดยพิจารณาถึง

        1. พันธุ์ข้าว การใช้พันธุ์ข้าวนาปีซึ่งมีลำต้นสูง ควรจะทำการหว่านข้าวให้ล่า ให้อายุข้าวจากหว่านถึงออกดอกประมาณ 70-80 วัน เนื่องจากความยาวแสงจะลดลง จะทำให้ต้นข้าวเตี้ยลง เนื่องจากถูกจำกัดเวลาในการเจริญเติบโตทางต้นและทางใบ ทำให้ต้นข้าวแข็งขึ้นและไม่ล้มง่าย สำหรับข้าวที่ไม่ไวแสงหรือข้าวนาปรังไม่มีปัญหา เพียงแต่กะระยะให้เก็บเกี่ยวในระยะฝนทิ้งช่วง หรือหมดฝน หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้ข้าวบางพันธุ์ เช่น ปทุมธานี 1 ออกดอกในฤดูหนาวเป็นต้น

        2. ระดับน้ำ การจะผลผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตสูงการควบคุมระดับน้ำเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มหว่านจนข้าวแตกกอ ระดับน้ำไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร เมื่อข้าวแตกกอเต็มที่ ระดับน้ำอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องสูบน้ำบ่อยๆ แต่ไม่ควรเกิน 10 เซนติเมตร เพราะถ้าระดับน้ำสูงจะทำให้ต้นข้าวที่แตกกอเต็มที่แล้ว เพิ่มความสูงของต้น และความยาวของใบ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นเหตุให้ต้นข้าวล้ม เกิดการทำลายของโรคและแมลงได้ง่าย

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0017.jpg)

3. การใส่ปุ๋ย ต้องใส่ปุ๋ยให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่ข้าวต้องการ จำนวนที่พอเหมาะ จึงจะให้ผลคุ้มค่า (ดูรายละเอียดเรื่องการใส่ปุ๋ย)

        4. การใช้สารกำจัดวัชพืช วัชพืชเป็นปัญหาใหญ่ในการทำนาหว่าน้ำตม การปรับระดับพื้นที่ให้ราบเรียบสม่ำเสมอและการควบคุมระดับน้ำจะช่วยลดประชากรวัชพืชได้ส่วนหนึ่ง ถ้ายังมีวัชพืชในปริมาณสูงจำเป็นต้องใช้สารเคมี (ดูรายละเอียดเรื่องวัชพืช)

        5. การป้องกันกำจักโรคแมลง ปฏิบัติเหมือนการทำนาดำ (ดูรายละเอียดเรื่องโรคแมลงศัตรูข้าว)







 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 22:30:16
การทำนาดำ

           เป็นวิธีการทำนาที่มีการนำเมล็ดข้าวไปเพาะในแปลงที่เตรียมไว้ (แปลงกล้า)ให้งอกเป็นต้นกล้า แล้วถอนนำต้นกล้าไปปักลงในกระทงนาที่เตรียมเอาไว้ และมีการดูแลรักษาจนให้ผลผลิต การทำนาดำนิยมในพื้นที่ที่มีแรงงานเพียงพอ  แต่ปัจจุบันการทำนาดำสามารถทำโดยใช้เครื่องจักรโดยการเพาะกล้าในถาดและใช้รถดำนาซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในปัจจุบัน

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0001.jpg)

1. การไถดะ และไถแปร คือ การพลิกหน้าดิน ตากดินให้แห้ง ตลอดจนเป็นการคลุกเคล้าฟาง วัชพืช ฯลฯ ลงไปในดิน เครื่องมือที่ใช้ อาจเป็น รถไถเดินตามจนถึง รถแทรกเตอร์

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0002.jpg)

2. การคราดหรือใช้ลูกทุบ คือการกำจัดวัชพืช ตลอดจนการทำให้ดินแตกตัว และเป็นเทือกพร้อมที่จะปักดำได้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ทำต่อจากขั้นตอนที่ 1 และขังน้ำไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้มีสภาพดินที่เหมาะสมในการคราดหรือการใช้ลูกทุบ ในบางพื้นที่อาจมีการใช้ โรตารี

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0003.jpg)


การเตรียมดินในพื้นที่ที่อยู่ในสภาพภูมิประเทศต่างๆ


(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0004.jpg)
นาที่สูง (ข้าวไร่)

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0005.jpg)
นาดอน (นาน้ำฝน)

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0006.jpg)
นาลุ่ม (นาชลประทาน)

ข้อควรระวังในการเตรียมดิน

        1. ควรปล่อยให้ดินนามีโอกาสแห้งสนิท เป็นระยะเวลานานพอสมควร และถ้าสามารถไถพลิกดินล่างขึ้นมาตากให้แห้งได้ก็จะดียิ่งขึ้น ถ้าดินเปียกน้ำติดต่อกันโดยไม่มีโอกาสแห้ง จะเกิดการสะสมของสารพิษ เช่นแก๊สไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) เป็นต้น ซึ่งถ้าแก๊สนี้มีปริมาณมากก็จะเป็นอันตรายต่อต้นข้าวได้

        2. ควรจะมีการปล่อยน้ำขังนาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้กระบวนการหมักและสลายตัวของอินทรียวัตถุเสร็จสิ้นเสียก่อน ดินจะปรับตัวอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าว และจะปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นออกมาให้แก่ต้นข้าว

        3. ดินกรดจัดหรือดินเปรี้ยวจัด หรือดินกรดกำมะถัน เป็นดินที่มีสารที่จะก่อให้เกิดความเป็นกรด (pH ต่ำ) แก่ดินได้มากเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ ดินพวกนี้จึงจำเป็นต้องขังน้ำไว้ตลอด เพื่อไม่ให้สารดังกล่าวได้สัมผัสกับออกซิเจน จึงควรที่จะขังน้ำไว้อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนปักดำข้าว เพื่อให้ปฏิกิริยาต่างๆ ตลอดจนความเป็นกรดของดินลดลงสู่สภาวะปกติ และค่อนข้างเป็นกลางเสียก่อน ดินกลุ่มนี้ถ้ามีการขังน้ำตลอดปี หรือมีการทำนาปีละ 2 ครั้ง ก็จะเป็นการลดสภาวะความเป็นกรดของดิน และการเกิดสารพิษลงได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตของข้าวสูงขึ้น


การตกกล้า

        การเตรียมต้นกล้าให้ได้ต้นที่แข็งแรง เมื่อนำไปปักดำก็จะได้ข้าวที่เจริญเติบโตได้รวดเร็ว และมีโอกาสให้ผลผลิตสูง ต้นกล้าที่แข็งแรงดีต้องมีการเจริญเติบโตและความสูงสม่ำเสมอกันทั้งแปลง มีกาบใบสั้น มีรากมากและรากขนาดใหญ่ ไม่มีโรคและแมลงทำลาย

        - การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ที่ใช้ตกกล้าต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธ์ ปราศจากสิ่งเจือปน มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง (ไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์) ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง

        - การแช่และหุ้มเมล็ดพันธุ์ นำเมล็ดข้าวที่ได้เตรียมไว้บรรจุในภาชนะ นำไปแช่ในน้ำสะอาด นานประมาณ 12-24 ชั่วโมง จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ขึ้นมาวางบนพื้นที่น้ำไม่ขัง และมีการถ่ายเทของอากาศดี นำกระสอบป่านชุบน้ำจนชุ่มมาหุ้มเมล็ดพันธุ์โดยรอบ รดน้ำทุกเช้าและเย็น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น หุ้มเมล็ดพันธุ์ไว้นานประมาณ 30-48 ชั่วโมง เมล็ดข้าวจะงอกขนาด “ตุ่มตา” (มียอดและรากเล็กน้อยโดยรากจะยาวกว่ายอด) พร้อมที่จะนำไปหว่านได้

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0007.jpg)

เมล็ดข้าวหลังจากแช่และหุ้มแล้วพร้อมที่จะนำไปหว่าน

        ในการหุ้มเมล็ดพันธุ์นั้น ควรวางเมล็ดพันธุ์ไว้ในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง และขนาดของกองเมล็ดพันธุ์ต้องไม่โตมากเกินไป หรือบรรจุถุงขนาดใหญ่เกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสูงในกองข้าว เพราะถ้าอุณหภูมิสูงมากเกินไปเมล็ดพันธุ์ข้าวจะตาย ถ้าอุณหภูมิพอเหมาะข้าวจะงอกเร็ว และสม่ำเสมอกันตลอดทั้งกอง

        - การตกกล้า การตกกล้ามีหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัตถุประสงค์ เช่นการตกกล้าบนดินเปียก (ทำเทือก) การตกกล้าบนดินแห้ง และการตกกล้าใช้กับเครื่องปักดำข้าว

        การตกกล้าในสภาพเปียก หรือการตกกล้าเทือก เป็นวิธีที่ชาวนาคุ้นเคยกันดี การตกกล้าแบบนี้จะต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ การดูแลรักษาไม่ยุ่งยากและความสูญเสียจากการทำลายของศัตรูข้าวมีน้อย มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

        - การเตรียมดิน ปฏิบัติเช่นเดียวกับแปลงปักดำ แต่เพิ่มความพิถีพิถันมากขั้น ในการเก็บกำจัดวัชพืช และปรับระดับเทือกให้ราบเรียบสม่ำเสมอ

        - การเพาะเมล็ดพันธุ์ ปฏิบัติตามขั้นตอนของการเตรียมเมล็ดพันธุ์ การแช่และหุ้มเมล็ดพันธุ์ โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 50-60 กรัมต่อตารางเมตร หรือประมาณ 80-90 กิโลกรัมต่อไร่ จะได้กล้าสำหรับปักดำได้ประมาณ 15-20 ไร่

        - การหว่านเมล็ดพันธุ์ ปล่อยน้ำแปลงกล้าให้แห้ง ทำเทือกให้ราบเรียบสม่ำเสมอ นำเมล็ดพันธุ์ที่เพาะงอกดีแล้วมาหว่านให้กระจายสม่ำเสมอตลอดแปลง ควรหว่านเมล็ดพันธุ์ตอนบ่ายหรือตอนเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดตอนเที่ยงซึ่งมีความร้อนแรงมาก อาจทำให้เมล็ดข้าวตายได้

        - การให้น้ำ ถ้าตกกล้าไม่มากนัก หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์แล้วหนึ่งวัน สาดน้ำรดให้กระจายทั่วแปลง ประมาณ 3-5 วัน กล้าจะสูงพอที่ไขน้ำเข้าท่วมแปลงได้ แต่ถ้าตกกล้ามาก ไม่สามารถที่จะสาดน้ำรดได้ ให้ปล่อยน้ำหล่อเลี้ยงระหว่างแปลงย่อย ประมาณ 3-5 วัน เมื่อต้นกล้าสูงจึงไขน้ำเข้าท่วมแปลง และค่อยเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ ตามความสูงของต้นกล้าจนน้ำท่วมผิวดินตลอด ให้หล่อเลี้ยงไว้ในระดับลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร จนกว่าจะถอนกล้าไปปักดำ

        - การใส่ปุ๋ยเคมี ถ้าดินแปลงกล้ามีความอุดมสมบูรณ์สูง กล้างามดีก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย เพราะจะงามเกินไป ใบจะยาว ต้นอ่อน ทำให้ถอนแล้วต้นขาดง่ายและตั้งตัวได้ช้าเมื่อนำไปปักดำ แต่ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ใส่ปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมฟอสเฟต (16-20-0) อัตราประมาณ 25-40 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่หลังหว่านเมล็ดพันธุ์แล้วประมาณ 7 วัน หรือเมื่อสามารถไขน้ำเข้าท่วมแปลงได้แล้ว (ดูรายละเอียดในเรื่องการใส่ปุ๋ยแปลงกล้า)

        - การดูแลรักษา ใช้สารป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูข้าวตามความจำเป็น

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0008.jpg)

แปลงกล้าในสภาพเปียก

การตกกล้าในสภาพดินแห้ง การตกกล้าโดยวิธีนี้ ควรกระทำเมื่อฝนไม่ตกตามปกติ และไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำเทือกเพื่อตกกล้าได้ แต่มีน้ำพอที่จะใช้รดแปลงกล้าได้ มีวิธีการปฏิบัติดังนี้

        - การเตรียมดิน เลือกแปลงที่ดอนน้ำไม่ท่วม มีการระบายน้ำดี อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่จะนำมารดแปลง ทำการไถดะตากดินให้แห้ง แล้วไถแปร คราดดินให้แตกละเอียด เก็บวัชพืชออก ปรับระดับดินให้ราบเรียบ

        - การตกกล้า ทำได้ 2 แบบคือ

1. การหว่านข้าวแห้ง หว่านเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงโดยตรง โดยไม่ต้องเพาะเมล็ดให้งอกก่อน ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์เช่นเดียวกับการตกกล้าเทือก คือประมาณ 80-90 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วคราดกลบเมล็ดพันธุ์ให้จมดินพอประมาณ อย่าให้จมมาก เพราะจะทำให้เมล็ดงอกช้าและโคนกล้าอยู่ลึกทำให้ถอนยาก

2. การหว่านข้าวงอก เพาะเมล็ดให้งอกขนาดตุ่มตา (วิธีการเพาะเช่นเดียวกับการตกกล้าเทือก) อัตราเมล็ดพันธุ์เช่นเดียวกับการหว่านข้าวแห้ง ควรหว่านตอนบ่ายหรือเย็น หว่านแล้วคราดกลบและรดน้ำให้ชุ่มทันทีหลังการหว่าน
        การให้น้ำ แบบวิธีการหว่านข้าวแห้ง อาจหว่านทิ้งไว้คอยฝนได้ 7-10 วัน แต่ถ้ายังไม่มีฝนตกก็ให้รดน้ำให้ชุ่ม และต้องรดติดต่อกันทุกๆวัน โดยรดวันละ 3 ครั้ง เช่นเดียวกับวิธีหว่านข้าวแห้ง ทั้งแบบหว่านข้าวแห้ง และหว่านข้าวงอกเมื่อข้าวงอกโผล่พ้นดินประมาณ 1 เซนติเมตร หากมีน้ำพอก็ปล่อยน้ำเข้าหล่อร่องทางเดินให้เต็มร่อง เพื่อให้แปลงกล้าชุ่มทั่วกันแปลง จะได้ไม่ต้องรดน้ำทุกวัน ถ้ามีน้ำเพียงพอ ก็ไขน้ำเข้าท่วมแปลงแบบวิธีตกกล้าเทือกก็ได้ แต่หากไม่มีน้ำเพียงพอก็ต้องใช้วิธีรดน้ำให้ดินชุ่ม และอาศัยน้ำฝนจนกว่าจะถอนกล้าไปปักดำได้
         การใสปุ๋ยเคมีและการดูแลรักษาปฏิบัติเช่นเดียวกับการตกกล้าเทือก

        การตกกล้าใช้กับเครื่องปักดำข้าว เนื่องจากเครื่องปักดำข้าวมีหลากหลายยี่ห้อ และมีกรรมวิธีรายละเอียดแตกต่างกัน การตกกล้าเพื่อใช้กับเครื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมีคำแนะนำบอกมาพร้อมเครื่อง


การปักดำ

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0009_1.jpg)

  การปักดำควรทำเป็นแถวเป็นแนวซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การพ่นยากำจัดโรคแมลง และยังทำให้ข้าวแต่ละกอมีโอกาสไดรับอาหารและแสงแดดอย่างสม่ำเสมอกัน สำหรับระยะปักดำนั้นขึ้นกับชนิดและพันธุ์ข้าว ดังนี้


- พันธุ์ข้าวไม่ไวแสงหรือข้าวนาปรัง เช่นพันธุ์ สุพรรณบุรี1 ชัยนาท1 พิษณุโลก2 ควรใช้ระยะปักดำระหว่างแถวและระหว่างกอ 20x20 เซนติเมตร หรือ 20x25 เซนติเมตร

- พันธุ์ข้าวไวแสงหรือข้าวนาปี เช่น เหลืองประทิว123 ขาวดอกมะลิ105 กข15 กข6 ปทุมธานี60 ควรใช้ระยะปักดำ 25x25 เซนติเมตร


        ปักดำจับละ 3-5 ต้น ปักดำลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร จะทำให้ข้าวแตกกอใหม่ได้เต็มที่

        การปักดำลึกจะทำให้ข้าวตั้งตัวได้ช้าและแตกกอได้น้อย

        ไม่ควรตัดใบกล้าเพราะการตัดใบกล้าจะทำให้เกิดแผลที่ใบ จะทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย ควรตัดใบกรณีที่จำเป็นจริงๆ เช่น ใช้กล้าอายุมาก มีใบยาว ต้นสูง หรือมีลมแรง เมื่อปักดำแล้วจะทำให้ต้นข้าวล้ม

        อายุกล้า การใช้กล้าอายุที่เหมาะสม จะทำให้ข้าวตั้งตัวเร็ว แตกกอได้มาก และให้ผลผลิตสูง อายุกล้าที่เหมาะสมสำหรับปักดำ ขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ข้าวดังนี้

- พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงหรือข้าวนาปรัง เช่นพันธุ์ สุพรรณบุรี1 ชัยนาท1 พิษณุโลก2 ควรใช้กล้าที่มีอายุประมาณ 20-25 วัน

- พันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสงหรือข้าวนาปี เช่น เหลืองประทิว123 ขาวดอกมะลิ105 กข15 กข6 ปทุมธานี60 ควรใช้กล้าที่มีอายุประมาณ 25-30 วัน

        ระดับน้ำในการปักดำ ควรมีระดับน้ำในนาน้อยที่สุด เพียงแค่คลุมผิวดิน เพื่อป้องกันวัชพืชและประคองต้นข้าวไว้ไม่ให้ล้ม การควบคุมระดับน้ำหลังปักดำก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะระดับน้ำลึกจะทำให้ต้นข้าวแตกกอน้อย ซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่ำ ควรควบคุมให้อยู่ในระดับลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ (20 เซนติเมตร)

การดูแลรักษา

การใส่ปุ๋ย
การกำจัดวัชพืช
การกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าว







หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 22:34:06
การทำนาหยอด

       เป็นวิธีการปลูกข้าวที่อาศัยน้ำฝน หยอดเมล็ดข้าวแห้ง ลงไปในดินเป็นหลุมๆ หรือโรยเป็นแถวแล้วกลบฝังเมล็ดข้าว เมื่อฝนตกลงมาดินมีความชื้นพอเหมาะ เมล็ดก็จะงอกเป็นต้น นิยมทำในพื้นที่ข้าวไร่ หรือนาในเขตที่การกระจายของฝนไม่แน่นอน แบ่งเป็น 2 สภาพ ได้แก่

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0018.jpg)

 - นาหยอดในสภาพข้าวไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่มักเป็นที่ลาดชัน เช่น ที่เชิงเขาเป็นต้น ปริมาณน้ำฝนไม่แน่นอน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเตรียมดินได้ จึงจำเป็นต้องหยอดข้าวเป็นหลุม

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/pic_tamnaa/0019.jpg)
- นาหยอดในสภาพที่ราบสูง เช่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาหรือหุบเขา การหยอดอาจหยอดเป็นหลุมหรือใช้เครื่องมือหยอด หรือโรยเป็นแถวแล้วคราดกลบ นาหยอดในสภาพนี้ให้ผลผลิตสูงกว่านาหยอดในสภาพไร่มาก



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 22:42:52
การปลูกข้าวโดยวิธีการโยนกล้า (parachute)

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_12.jpg)

การพัฒนาการทำนา โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมได้อย่างเหมาะสม ทำให้การทำนาในเขตชลประทานได้ผลผลิตสูงกว่าในเขตนาน้ำฝนของประเทศ และสามารถผลิตข้าวได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวโดยวิธีการหว่านน้ำตม ใช้พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุสั้น เก็บเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด ดยเฉพาะพื้นที่นาชลประทานในภาคกลาง ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูง ซึ่งปัจจุบันราคาเมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 20-23 บาท และเมล็ดพันธุ์ดีก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้การทำนาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น 2 ปี 5 ครั้ง หรือ ปีละ 3 ครั้ง ย่อมส่งผลกระทบถึงสภาพแวดล้อม เช่น ปัจจุบันการทำนาในภาคกลางประสบกับ ปัญหาข้าววัชพืช ระบาดอย่างรุนแรง เกษตรกรที่ทำนาแบบหว่านน้ำตม ส่วนหนึ่งเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นการปักดำด้วยเครื่องปักดำเพื่อควบคุมปริมาณข้าววัชพืช ปัญหาที่ตามมาก็คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเตรียมดินให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องปักดำได้ และอัตราค่าปักดำค่อนข้างสูงคือ ไร่ละ 1,100-1,200 บาท (รวมเมล็ดพันธุ์ข้าว) วิธีการปลูกข้าวแบบโยนกล้า เป็นการทำนาแบบใหม่ที่สามารถนำมาใช้แทนการปักดำด้วยเครื่องได้

แนะนำให้เป็นทางเลือกในพื้นที่
    1. พื้นที่ปัญหาข้าววัชพืชมาก
    2. ผลิตในศูนย์ข้าวชุมชนหรือไว้ใช้เองได้
    3. ผลิตข้าวอินทรีย์ เพื่อควบคุมข้าววัชพืช
    4. ประหยัดเมล็ดพันธุ์

         เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าแต่ได้ผลผลิตไม่ตกต่างจากการปักดำด้วยเครื่องหรือการหว่านน้ำตม แต่สามารถควบคุมวัชพืช โดยเฉพาะข้าววัชพืช ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ในภาคกลาง

การตกกล้า
      ตกกล้าในกระบะเพาะกล้าที่มีลักษณะเป็นหลุม ตามลำดับดังนี้

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_8.jpg)
1. ใส่ดินในหลุมประมาณ ครึ่งหนึ่งของหลุม

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_9.jpg)
2. หว่านเมล็ดข้างงอกลงในหลุมโดยใช้อัตรา 3-4 กก./ 60-70 ถาด/ไร่

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_10.jpg)
3. ใส่ดินปิดเมล็ดพันธุ์ข้าว ระวังอย่าให้ดินล้นออกมานอกหลุม
เพราะจะทำให้รากข้าวที่งอกออกมาพันกัน เวลาหว่านต้นข้าวจะไม่กระจายตัว

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_1.jpg)
4. หาวัสดุ เช่นกระสอบป่าน คลุมถาดเพาะ เพื่อเวลารดน้ำจะได้ไม่กระเด็น
รดน้ำเช้า เย็น ประมาณ 3-4 วัน ต้นข้าวจะงอกทะลุกระสอบป่าน ให้เอากระสอบป่านออก แล้วรดน้ำต่อไป จนกล้าอายุ 15 วัน

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_2.jpg)
5. นำกล้าที่ได้ไปหว่านในแปลงที่เตรียมไว้ ให้สม่ำเสมอ การตกกล้า 1 คน สามารถตกได้ 2 ไร่ (140 กระบะ) /วัน

การเตรียมแปลง
        ไถดะครั้งที่ 1 หลังเก็บเกี่ยวข้าวปล่อยแปลงให้แห้งประมาณ 15-30 วัน แล้วปล่อยน้ำเข้าพอให้ดินชุ่มประมาณ 5-10 วัน เพื่อให้วัชพืชและเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นในดินงอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อนเสียก่อนจึงไถดะครั้งที่

        ไถแปร หลังจากการไถดะครั้งที่ 1 แล้ว ปล่อยทิ้งไว้ 10-15 วันโดยรักษาระดับน้ำเพียงแค่ดินชุ่ม เพื่อให้เมล็ดวัชพืชและเมล็ดข้าวที่หลงเหลืออยู่งอกขึ้นมาอีกแล้วจึงไถแปร

        คราดหรือทุบ หลังจากการไถแปรครั้งที่ 2 แล้ว ปล่อยทิ้งไว้ 10-15 วันโดยรักษาระดับน้ำเพียงแค่ดินชุ่ม เพื่อให้เมล็ดวัชพืชและเมล็ดข้าวที่หลงเหลืออยู่งอกขึ้นมาอีกแล้วคราดหรือทุบจะช่วยทำลายวัชพืชได้มาก หรือหลังจากไถดะ ไถแปรและคราดเสร็จแล้วเอาน้ำขังแช่ไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกหญ้าที่เป็นวัชพืชน้ำ เช่น ผักตบ ขาเขียด ทรงกระเทียม ผักปอดและพวกกกเล็ก เป็นต้น งอกขึ้นเสียก่อน เพราะเมล็ดวัชพืชปกติจะงอกภายใน 5-7 วันหลังจากน้ำนิ่งโดยเฉพาะนาที่น้ำใส เมื่อลูกหญ้าขึ้นแล้วจึงคราดให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ลูกหญ้าก็จะหลุดลอยไปติดคันนาทางใต้ลม ก็จะสามารถช้อนออกได้หมด เป็นการทำลายวัชพืชวิธีหนึ่ง

        สำหรับผู้ที่ใช้ลูกทุบหรืออีขลุก ย่ำฟางข้าวให้จมลงในดินแทนการไถ หลังจากย่ำแล้วควรจะเอาน้ำแช่ไว้ให้ฟางเน่าเปื่อยจนหมดความร้อนเสียก่อนอย่างน้อย 3 สัปดาห์แล้วจึงย่ำใหม่ เพราะแก๊สที่เกิดจากการเน่าเปื่อยของฟางจะเป็นอันตรายต่อต้นข้าวจะทำให้รากข้าวดำไม่สามารถจะหาอาหารได้

        ระบายน้ำออกเพื่อปรับเทือก ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ เมื่อคราดแล้วจึงระบายน้ำออกและปรับเทือกให้สม่ำเสมอ กระทำได้ด้วยการใช้น้ำในนาเป็นเครื่องวัด โดยให้น้ำในนามีระดับเพียงตื้นๆ ขนาดเพียงท่วมหลังปูก็จะเห็นว่าพื้นที่นาราบเรียบเพียงใดอย่างชัดเจน เมื่อเห็นว่าส่วนใดยังไม่สม่ำเสมอก็ควรจะปรับเสียใหม่ การปรับพื้นที่นาหรือปรับเทือกให้สม่ำเสมอจะทำให้ควบคุมน้ำได้สะดวก

        การโยนกล้า ให้มีน้ำในแปลงประมาณ 1 ซม. นำกระบะกล้าข้าวที่มีอายุ 15 วัน ไปวางรายในแปลงที่เตรียมไว้ให้กระจายสม่ำเสมอ อัตรา 60-70 กระบะต่อไร่ จากนั้นคนที่จะโยนกล้าจะหยิบกระบะกล้ามาวางพาดบนแขน แล้วใช้มือหยิบกล้าข้าวหว่านหรือโยนในแปลง โดยโยนให้สูงกว่าศรีษะ ต้นกล้าจะพุ่งลงโดยใช้ส่วนรากที่มีดินติดอยู่ลงดินก่อน การหว่านกล้า 1 คน สามารถหว่านได้วันละ 4- 5 ไร่

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_3.jpg)
จับต้นกล้า 5 - 15 หลุม

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_4.jpg)
โยนตวัดมือขี้นหนือศีรษะ ต้นกล้าจะพุ่งดิ่งลง

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_11.jpg)
เกษตรกรช่วยกันโยนกล้า/หว่านต้นกล้า

การดูแลรักษาระดับน้ำ วันหว่านกล้าให้มีน้ำในแปลงประมาณ 1 ซม. (ท่วมหลังปู) หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน ต้นข้าวตั้งตัวได้แล้ว สามารถเพิ่มระดับน้ำให้อยู่ที่ระดับครึ่งหนึ่งของต้นข้าว หรือประมาณ 5 ซม. เพื่อการควบคุมวัชพืช

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_5.jpg)
ต้นกล้าหลังหว่าน 7 วัน

(http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/parachute_/parachute_6.jpg)
การแตกกอของข้าวที่ปลูกด้วยวิธีการโยนกล้า

การเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวข้าวที่ระยะที่เหมาะสม คือหลังจากข้าวออกดอก (75 %) แล้ว 28-30 วัน จะมีความชื้นประมาณ 22 %  กรณีไม่ถูกฝนช่วงเก็บเกี่ยว  ซึ่งจะเกิดความสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพน้อยที่สุด  จะทำให้ได้ข้าวที่มีน้ำหนักดีที่สุด มีการร่วงหล่นและสูญเสียขณะเก็บเกี่ยวน้อยที่สุด ผลผลิตมีคุณภาพดี ข้าวที่เก็บไว้สีเป็นข้าวมีคุณภาพการสีสูง  ข้าวที่เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานอย่างน้อย 7-9 เดือน เสื่อมความงอกช้า


ข้อได้เปรียบของวิธีการโยนกล้าเปรียบเทียบกับการปักดำและหว่านน้ำตม
       1. แปลงที่มีลักษณะหล่มก็สามารถเตรียมแปลงเพื่อการหว่านต้นกล้าได้ แต่ไม่สามารถปลูกโดยวิธีการปักดำด้วยเครื่องปักดำได้ เนื่องจากเครื่องจะติดหล่ม
       2. ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์น้อยกว่าการหว่านน้ำตมและการปักดำ
       3. สามารถควบคุมและลดปริมาณวัชพืชและข้าววัชพืชได้ดีกว่าการทำนาหว่านน้ำตม
       4. ลดการสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าวเมื่อเทียบกับการหว่านน้ำตม





หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 22:53:16
พักก่อนครับวันนี้..พรุ่งนี้มาต่อ เรื่อง ดิน เรื่องปุ๋ยครับ


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: Jimmylin04 ที่ วันที่ 05 มกราคม 2013, 23:14:35
ตามมาอ่านค้าบ ม่ะเคยทำนา แต่อยากทำ :D


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:08:16
โรคข้าว

โรคข้าวหมายถึงความผิดปกติที่พืชแสดงออก สาเหตุของโรคอาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต อาจจะเกิดขึ้นเดี่ยว ๆ หรือเกิดร่วมกันก็ได้ สิ่งมีชีวิตทำให้เกิดโรคเรียกว่าเชื้อโรค  เชื้อสาเหตุของโรคข้าวอาจเกิดจากเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ไฟโตพลาสมา และไส้เดือนฝอย จุลินทรีย์เหล่านี้สามารถทำให้ข้าวแสดงอาการผิดปกติได้ชัดเจนที่ใบ  ลำต้น กาบไบ รวงหรือเมล็ด



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:09:00
ชื่อโรค: โรคกาบใบเน่า 
ชื่อภาษาอังกฤษ: Sheath Rot Disease 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): โรคแท้ง   
เชื้อสาเหตุ: เชื้อรา Sarocladium oryzae 
ลักษณะ/อาการของโรค:       ลักษณะอาการในระยะแรกจะพบแผลสีน้ำตาลบนกาบใบธง กลางแผลมีสีอ่อน ขนาดแผลกว้างประมาณ 2-7 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 4-18 มิลลิเมตร แผลจะขยายลุกลามติดต่อกันทำให้กาบใบธงมีสีน้ำตาลดำ รวงข้าวที่เป็นโรคมักจะโผล่ไม่พ้นกาบใบธงหรือโผล่เพียงบางส่วน เมล็ดข้าวลีบและด่างดำ การระบาดของเชื้อราจะพบในที่ปลูกข้าวต้นเตี้ย และใส่ปุ๋ยในอัตราสูง การระบาดของเชื้ออาจเกิดจากสปอร์ที่ปลิวมากับอากาศ หรือติดมากับเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ “ไรขาว” ซึ่งดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณกาบใบด้านในยังเป็นพาหะในการแพร่กระจายเชื้อราไปยังต้นข้าวอื่นๆในแปลงนาได้ เช่นกัน
 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะออกรวง, ระยะข้าวตั้งท้อง   
การป้องกัน/กำจัด: เก็บทำลายกาบใบข้าวที่มีไรขาวอาศัยอยู่
ใช้น้ำสกัดสมุนไพรที่มีรสฝาดแก้เชื้อรา เช่น เปลือกแค เปลือกมังคุด เปลือกสีเสียด ใบฝรั่ง ใบทับทิม และขมิ้น เป็นต้น
 



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:12:26
ชื่อโรค: โรคขอบใบแห้ง 
ชื่อภาษาอังกฤษ: Bacterial Leaf Blight Disease 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): -   
เชื้อสาเหตุ: เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzae (ex Ishiyama) Swings et al 
ลักษณะ/อาการของโรค:       เริ่มแรกจะมีลักษณะช้ำเป็นทางยาวที่ขอบใบของใบล่าง จากนั้น 7-10 วัน จุดช้ำนี้จะขยายกลายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว จากใบสีเขียวจางลงเป็นสีเทา อาการในระยะการปักดำ จะแสดงอาการหลังปักดำแล้วหนึ่งเดือนถึงเดือนครึ่ง ใบที่เป็นโรคมีรอยขีดช้ำจนเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ที่แผลจะมีหยดน้ำสีเหลืองคล้ายยางสนกลมๆขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด จากนั้นจะกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดไปตามลมหรือน้ำ ซึ่งจะทำให้โรคระบาดได้ โดยแผลจะขยายไปตามความยาวของใบ ขอบแผลมีลักษณะเป็นขอบลายหยัก เมื่อนานไปจะเปลี่ยนเป็นสีเทา ใบที่เป็นโรคขอบใบจะแห้งและม้วนตามความยาว ในกรณีที่เชื้อมีปริมาณสูงเข้าทำลายทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวทั้งต้นจะเหี่ยวเฉาและตายโดยรวดเร็วเรียกอาการของโรคนี้ว่า “ครีเสก” โรคนี้พบมากในนาน้ำฝน นาชลประทาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า, ระยะแตกกอ, ระยะออกรวง   
การป้องกัน/กำจัด: ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากในดินที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว
ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น
ใช้น้ำสกัดสมุนไพรที่มีรสขมกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด สะเดา หญ้าใต้ใบและโทงเทง เป็นต้น
 



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:14:01
ชื่อโรค: โรคถอดฝักดาบ  
ชื่อภาษาอังกฤษ: Bakanae Disease 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): โรคหลาว หรือโรคข้าวตัวผู้   
เชื้อสาเหตุ: รา Fusarium fujikuroi Nirenberg (Fusarium moniliforme J.Sheld.) 
ลักษณะ/อาการของโรค:       โรคนี้เกิดจากการทำลายของเชื้อราซึ่งติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวหรืออยู่ในดิน ส่วนมากจะพบอาการในต้นข้าวที่มีอายุมากกว่า 15 วัน ต้นข้าวที่เป็นโรคจะมีลักษณะผอมสูงเด่นกว่ากล้าข้าวโดยทั่ว ๆ ไป ต้นข้าวผอมมีสีซีดมากกว่าปกติแสดงอาการย่างปล้องมีรากเกิดขึ้นที่ข้อต่อของลำต้น ถ้าเป็นรุนแรงกล้าข้าวจะตาย หากไม่รุนแรงอาการจะแสดงหลังจากย้ายไปปักดำได้15-45 วัน โดยต้นข้าวที่เป็นโรคแสดงอาการสูงผิดปกติอย่างชัดเจน ใบมีสีเขียวซีดและแห้งตายในที่สุด หากไม่แห้งต้นข้าวที่เป็นโรคจะไม่ออกรวง โรคนี้พบมากในนาน้ำฝน ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า   
การป้องกัน/กำจัด: เลือกใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ไม่เป็นโรค
ควรกำจัดต้นข้าวที่เป็นโรคโดยการถอนและเผาทิ้ง
ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากบอระเพ็ด
เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วควรไขน้ำเข้าที่นาและไถพรวน ปล่อยน้ำเข้าที่นาประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคที่ตกค้างในดิน
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:15:45
ชื่อโรค: โรคใบขีดสีน้ำตาล 
ชื่อภาษาอังกฤษ: Narrow Brown Spot Disease 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): -   
เชื้อสาเหตุ: เชื้อรา Cercospora oryzae I.Miyake 
ลักษณะ/อาการของโรค:       พบแผลบนใบมีสีน้ำตาลเป็นขีดๆ ขนานไปกับเส้นใบของข้าว ต่อมาจะค่อยๆขยายติดต่อกัน แผลจะมีมากที่ใบล่างและบริเวณปลายใบ ใบที่เป็นโรคจะแห้งตายจากปลายใบ ต้นข้าวที่เป็นโรครุนแรงแผลอาจลุกลามเกิดแผลสีน้ำตาลที่ข้อต่อของใบได้ พบโรคนี้ได้ ทั้งนาน้ำฝน และ นาชลประทาน ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะแตกกอ, ระยะออกรวง, ระยะข้าวตั้งท้อง   
การป้องกัน/กำจัด: กำจัดวัชพืชและทำความสะอาดแปลงนาสามารถลดความรุนแรงของโรคนี้ได้
ถอนต้นข้าวที่เป็นโรคและนำมาเผาทิ้ง
การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงนา


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:17:22
ชื่อโรค: โรคใบจุดสีน้ำตาล 
ชื่อภาษาอังกฤษ: Brown Spot Disease 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): -   
เชื้อสาเหตุ: เชื้อรา Bipolaris oryzae (Helminthosporium oryzae Breda de Haan.) 
ลักษณะ/อาการของโรค:       พบแผลที่ใบข้าวเป็นจุดสีน้ำตาลกลมหรือรูปไข่ ขอบนอกสุดของแผลมีสีเหลือง เชื้อรานี้สามารถเข้าทำลายที่เมล็ดด้วย ทำให้เมล็ดข้าวมีจุดสีน้ำตาลปนดำประปรายหรือทั้งเมล็ด ทำให้เมล็ดข้าวคุณภาพไม่ดี มีน้ำหนักเบา เมื่อนำไปสีข้าวสารจะหักง่าย โรคนี้พบมากทั้งนาน้ำฝน และ นาชลประทาน ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า, ระยะแตกกอ, ระยะออกรวง, ระยะข้าวตั้งท้อง   
การป้องกัน/กำจัด: กำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของโรคนี้ เช่น หญ้าชันกาด หญ้าไซ เป็นต้น
ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากบอระเพ็ด
ควรปรับปรุงดินด้วยการไถกลบฟาง หรือทำการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการปลูกพืชที่ใช้เป็นปุ๋ยสด หรือทำการปลูกพืชหมุนเวียนจะช่วยลดความรุนแรงของโรค
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:19:21
ชื่อโรค: โรคใบหงิก 
ชื่อภาษาอังกฤษ: Ragged Stunt Disease 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): โรคจู๋   
เชื้อสาเหตุ: เชื้อไวรัส Rice Ragged Stunt Virus (RRSV) 
ลักษณะ/อาการของโรค:       โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงพาหะ ซึ่งลักษณะอาการของข้าวที่เป็นโรค สังเกตง่ายคือ ข้าวต้นเตี้ย ไม่สูงเท่าที่ควร ใบมีสีเขียวเข้ม แคบและสั้น ใบใหม่แตกช้ากว่าปกติ ถ้าแตกขึ้นมาใหม่ก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ ปลายใบบิดเป็นเกลียวซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโรคนี้ นอกจากนี้ยังสังเกตเห็นขอบใบแหว่งวิ่นและเส้นใบบวมโป่งเป็นแนวยาวทั้งที่ใบและกาบใบ ข้าวที่เป็นโรคจะออกรวงช้าและให้รวงไม่สมบูรณ์ รวงให้เมล็ดข้าวลีบ เมล็ดด่างเสียคุณภาพเป็นส่วนมาก ต้นข้าวที่เป็นโรคใบหงิกอย่างรุนแรงเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โรคนี้พบมากในนาชลประทานภาคกลาง 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า, ระยะแตกกอ, ระยะออกรวง, ระยะข้าวตั้งท้อง   
การป้องกัน/กำจัด: ควบคุมระดับน้ำในแปลงนา หลังจากที่ปักดำหรือหว่านแล้ว 2-3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้อง โดยให้น้ำในแปลงพอดีดินเปียกหรือมีน้ำเรี่ยผิวดินประมาณ 7-10 วัน แล้วปล่อยขังไว้ให้แห้งเองสลับกัน เพื่อลดการระบาดของเพลี้ยที่เป็นแมลงพาหะได้
ใช้กับดักแสงไฟเพื่อจับตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาทำลายในระยะข้าวเริ่มสุกแก่ ทั้งนี้เพื่อสกัดกั้นไม่ให้อพยพไประบาดในแหล่งอื่น
ปลูกพืชหมุนเวียนในนาหลังการเก็บเกี่ยวข้าว เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพด และพืชอื่นๆ เพื่อตัดชีพจรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแมลงพาหะและเชื้อไวรัส
ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากบอระเพ็ด น้อยหน่า สะเดา และสาบเสือ
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: adrenaline85 ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:22:35
เยอะมากสงสัยต้องอ่านวันล่ะกระทู้


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:31:54
ชื่อโรค: โรคเมล็ดด่าง 
ชื่อภาษาอังกฤษ: Dirty Panicle Disease 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): -   
เชื้อสาเหตุ: เชื้อรา Curvularia lunata (Wakk) Boed. / Cercospora oryzae I.Miyake / Helminthosporium oryzae Breda de Haan. / Fusarium semitectum Berk & Rav. / Trichoconis padwickii Ganguly / Sarocladium oryzae 
ลักษณะ/อาการของโรค:       รวงข้าวที่เป็นโรค จะมีทั้งเมล็ดเต็ม และเมล็ดลีบ พบแผลเป็นจุดสีน้ำตาล หรือดำที่เมล็ดรวงข้าว บางส่วนก็มีลายสีน้ำตาลดำ และบางพวกมีสีเทา ปนชมพู ทั้งนี้เพราะมีเชื้อราหลายชนิด ที่สามารถเข้าทำลาย และทำให้เกิดอาการต่างกันไป การเข้าทำลายของเชื้อรา มักจะเกิดในช่วงดอกข้าว เริ่มโผล่จากกาบหุ้มรวง จนถึงระยะเมล็ดข้าว เริ่มเป็นน้ำนม และอาการเมล็ดด่าง จะปรากฏเด่นชัด ในระยะใกล้เก็บเกี่ยว โรคนี้พบมากในนาชลประทาน ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะออกรวง   
การป้องกัน/กำจัด: เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรคัดเลือก จากแปลงที่ไม่เป็นโรค
ถ้ามีฝนตกชุก ในระยะที่ต้นข้าวกำลังออก หรือเป็นเมล็ดแล้ว ควรหาวิธีป้องกันโดยการพ่นสาร ด้วยน้ำหมักที่ทำจากสมุนไพร
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:33:51
ชื่อโรค: โรคเมาตอซัง 
ชื่อภาษาอังกฤษ: Akiochi Disease 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): -   
เชื้อสาเหตุ: เกิดจากความเป็นพิษของสภาพดินและน้ำ 
ลักษณะ/อาการของโรค:       เริ่มพบอาการเมื่อข้าวอายุประมาณ 1 เดือน หรือ ระยะแตกกอ ต้นข้าวจะแคระแกร็น ใบซีดเหลืองจากใบล่างๆ มีอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาล จะพบในขณะที่ขบวนการเน่าสลายของเศษซากพืชในนายังไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดสารพิษไปทำลายรากข้าวเกิดอาการรากเน่าดำ ทำให้ไม่สามารถดูดสารอาหารจากดินได้ ต้นข้าวแสดงอาการขาดธาตุอาหาร ในขณะเดียวกันมักจะพบต้นข้าวสร้างรากใหม่ในระดับเหนือผิวดิน ซึ่งต้นเหตุของปัญหาเกิดจากเกษตรกรทำนาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการพักนาและเกิดการหมักของตอซังระหว่างข้าวแตกกอ โรคนี้พบมากในนาน้ำฝนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะแตกกอ   
การป้องกัน/กำจัด: ควรระบายน้ำเสียในแปลงออก ทิ้งให้ดินแห้งประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้รากข้าวได้รับอากาศ หลังจากนั้นจึงนำน้ำใหม่เข้าและหว่านปุ๋ย
หลังเก็บเกี่ยวข้าว ควรทิ้งระยะพักดินประมาณ 1 เดือน ไถพรวนแล้วควรทิ้งระยะให้ตอซังเกิดการหมักสลายตัวสมบูรณ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์


 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:36:33
ชื่อโรค: โรคไหม้  
ชื่อภาษาอังกฤษ: Rice Blast Disease 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): -   
เชื้อสาเหตุ: เชื้อรา Pyricularia grisea Sacc. 
ลักษณะ/อาการของโรค:       ลักษณะอาการของโรค หากพบในระยะกล้าใบมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตาและมีสีเทาตรงกลางแผล หากมีอาการรุนแรงต้นกล้ามีอาการคล้ายกับถูกไฟไหม้และแห้งตาย แต่หากเกิดโรคในช่วงที่ข้าวแตกกอจะเกิดอาการได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบในที่สุด กรณีที่โรคเกิดในช่วงข้าวกำลังออกรวงเมล็ดข้าวจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะมีรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่ายและทำให้รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายเป็นจำนวนมาก โรคนี้พบมากในนาน้ำฝน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า, ระยะแตกกอ, ระยะออกรวง, ระยะข้าวตั้งท้อง   
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากบอระเพ็ด
ไม่ควรตกกล้าหนาจนเกินไป ความยาวของแปลงให้ขนานไปกับทิศทางลม เพื่อลดความชื้นภายในแปลง และอย่าให้กล้าขาดน้ำ
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:38:43
ชื่อโรค: โรคไส้เดือนฝอยรากปม 
ชื่อภาษาอังกฤษ: Root Knot Nematode 
ชื่อท้องถิ่น (ถ้ามี): -   
เชื้อสาเหตุ: ไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne graminicola 
ลักษณะ/อาการของโรค:       เมื่อไส้เดือนฝอยตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวที่ปลายรากอ่อน ของต้นข้าวแล้ว จะปล่อยสารออกมา กระตุ้นให้เนื้อเยื่อบริเวณผิวหนังนั้นแบ่งตัวเร็วและมากกว่าปกติ ทำให้รากต้นข้าวเกิดการพองขึ้นเป็นปม ซึ่งเมื่อปลายรากเกิดปมขึ้นแล้วรากนั้นก็จะไม่สามารถเจริญต่อไปได้อีก จึงทำให้ ต้นข้าวแคระแกร็น ใบสีเหลืองซีด แตกกอน้อย แต่ถ้ามีปมน้อยอาการจะไม่ปรากฏที่ใบ โรคนี้มักพบมากในนาน้ำฝนที่ดอน ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า, ระยะแตกกอ   
การป้องกัน/กำจัด: ไม่ควรปล่อยให้แปลงนาในระยะกล้าขาดน้ำ และหากพบการทำลายของไส้เดือนฝอยควรไขน้ำให้ท่วมแปลงนาระยะหนึ่งเพื่อจำกัดไส้เดือนฝอย หรือไถตากดินให้แห้ง
ปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชหมุนเวียน เช่น ดาวเรือง ตะไคร้ เพื่อลดจำนวนไส้เดือนฝอยในดิน
ควรฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์และน้ำสกัดสมุนไพร เช่น บอระเพ็ด ระหุง และสะเดา เป็นต้น


 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:46:44
แมลงศัตรข้าว

โดยปกติในนาข้าวจะมีศัตรูธรรมชาติ จำพวกแมลงต่าง ๆ   ซึ่งโดยปกติเราสามารถป้องกันหรือกำจัดใช้สารเคมี  สารสกัดธรรมชาติสมุนไพร หรือปล่อยให้แมลงในธรรมชาติควบคุมกันเองอย่างตัวห้ำตัวเบียนได้  เรามาดูกันว่าแมลงในธรรมชาติตัวไหนบ้างที่เป็นแมลงศัตรูข้าว


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:48:11
ชื่อสามัญ: ด้วงดำ (Scarab Beetle)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: ด้วงซัดดำ ตัวซัดดำ 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Heteronychus lioderes / Alissonotum cribratellum 
ชื่อวงศ์: Scarabaeidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       เป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง บินได้ มีขนาดใหญ่ สีดำ มักจะชอบบินมาเล่นไฟในตอนกลางคืน ไข่มีลักษณะกลมสีขาวขุ่นขนาดเท่าเม็ดสาคูขนาดเล็ก 5-6 ฟอง 
 
ลักษณะการทำลาย: โดยการกัดกินต้นข้าวอ่อนที่มีอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ บริเวณส่วนอ่อนที่เป็นสีขาว ที่อยู่ใต้ดินเหนือรากข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการเหลือง เหี่ยวและแห้งตายในที่สุด นอกจากนี้ด้วงดำจะเคลื่อนย้ายทำลายข้าวต้นอื่นๆ โดยการมุดลงดินทำให้เห็นรอยขุดดินเป็นแนว มักพบตัวเต็มวัยของด้วงดำชนิดนี้ 1 ตัวต่อข้าว 1 ต้น ด้วงดำพบมากในข้าวไร่และนาน้ำฝน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะแตกกอ   
การป้องกัน/กำจัด: ควรหว่านข้าวตามฤดูกาลเพื่อหลีกเลี่ยงตัวเต็มวัย ของด้วงดำที่ฟักออกจากดักแด้ ในดินหลังฝนแรกของฤดู
ล่อและทำลายตัวเต็มวัยของด้วงดำ โดยใช้หลอดไฟชนิดแบล็กไลท์ที่เกษตรกร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมใช้ล่อแมลงดานา
 



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:49:54
ชื่อสามัญ: เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown Planthopper)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nilaparvata lugens (Stal) 
ชื่อวงศ์: Delphacidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:      เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงจำพวกปากดูด มีทั้งชนิดปีกสั้นและปีกยาว ลักษณะของตัวเต็มวัย มีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน จนถึงน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ มักจะชอบอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นข้าว เหนือระดับน้ำเล็กน้อย และอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกาบใบ โดยวางไข่เป็นกลุ่ม เรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่ จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้ง คล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น หากเป็นตัวอ่อนมีสีขาวแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จากนั้นก็จะกลายเป็นตัวเต็มวัยต่อไป 
 
ลักษณะการทำลาย: เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียกว่า “อาการไหม้ (hopper burn)” นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสสาเหตุของโรค “ใบหงิก” มาสู่ต้นข้าวทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียว แคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปรกติ ปลายใบบิด เป็นเกลียว ขอบใบแหว่ง ซึ่งหากระบาดมากจะทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้เลย   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะแตกกอ, ระยะออกรวง, ระยะข้าวตั้งท้อง   
การป้องกัน/กำจัด: ระบายน้ำออกจากแปลงนาเพื่อลดความชุ่มชื้น บริเวณโคนข้าว ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง
ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากบอระเพ็ด น้อยหน่า สะเดา ตะไคร้หอม หรือ สาบเสือ
ใช้แสงไฟล่อแมลงให้มาเล่นไฟแล้วจับทำลาย หรือ ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่ในแปลงนาทำลายและควบคุม เช่น แมงมุม แตนเบียน ด้วงดิน แมงปอบ้าน เป็นต้น
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:51:47
ชื่อสามัญ: เพลี้ยจักจั่นสีเขียว (Green Rice Leafhopper)    
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nephotettix virescens (Distant) 
ชื่อวงศ์: Cicadellidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เป็นแมลงจำพวกปากดูด มีรูปร่างคล้ายกับจักจั่น มีสีเขียวอ่อนอาจมีแต้มดำบนหัวหรือปีก มีขา 6 ขา ปีก 2 คู่ (ปีกนอก 1 คู่ ปีกใน 1 คู่) ชอบบินมาเล่นไฟตอนกลางคืนโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน เพศเมียวางไข่ในกาบใบข้าว โดยวางไข่เป็นกลุ่ม ไข่มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลและมีจุดสีแดง ตัวอ่อนมีสีเขียวหรือสีเหลืองอ่อน พบได้ทั่วไปในแปลงนาทุกภาคของประเทศ โดยพบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
 
ลักษณะการทำลาย: ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายต้นข้าวโดยการใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว ทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจแห้งตายได้หากมีปริมาณมาก นอกจากนี้เพลี้ยจักจั่นสีเขียวยังเป็นแมลงพาหะนำโรค “ใบสีส้ม” มาสู่ข้าวด้วย ทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ใบเหลือง ข้าวออกรวงไม่สม่ำเสมอ เมล็ดลีบ โดย พบการระบาดของเพลี้ยจักจั่นสีเขียวในฤดูข้าวนาปีมากกว่าฤดูข้าวนาปรัง   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะแตกกอ   
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากบอระเพ็ด น้อยหน่า สะเดา หรือสาบเสือ
ใช้แสงไฟล่อแมลงให้มาเล่นไฟแล้วจับทำลาย หรือ ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่ในแปลงนาทำลายและควบคุม เช่น แมงมุม แตนเบียน ด้วงดิน มวนจิงโจ้น้ำ ด้วงเต่า เป็นต้น
ปลูกข้าวพร้อมๆกัน และปล่อยพื้นนาว่างไว้ระยะหนึ่ง เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลง


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:57:01
ชื่อสามัญ: เพลี้ยไฟ (Rice Thrips)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Stenchaetohrips biformis (Bagnall) 
ชื่อวงศ์: Thripidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       เพลี้ยไฟ เป็นแมลงจำพวกปากดูด ขนาดเล็ก ลำตัวยาว มีทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก ตัวเต็มวัยมีสีดำ ตัวอ่อนสีเหลืองอ่อน ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เดี่ยวๆ สีครีมในเนื้อเยื่อของใบข้าว ไข่ฟักตัวเป็นตัวอ่อนที่มีสีเหลืองนวล จากนั้นตัวอ่อนจะเข้าดักแด้บนต้นข้าวเดิมที่ฟักจากไข่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีปากแบบเขี่ยดูดในการทำลายต้นข้าว 
 
ลักษณะการทำลาย: เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายต้นข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนของต้นข้าว โดยอาศัยอยู่ตามซอกใบ ระบาดในระยะกล้า เมื่อใบข้าวโตขึ้นใบที่ถูกทำลาย ปลายใบจะเหี่ยวขอบใบม้วนเข้าหากลางใบ พบการทำลายข้าวในระยะกล้าหรือหลังปักดำ 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะในอากาศร้อนแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนาน หรือสภาพนาข้าวที่ขาดน้ำ ถ้าระบาดมากๆทำให้ต้นข้าวแห้งตายได้ทั้งแปลง   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า   
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากสะเดา สาบเสือ น้อยหน่า หรือบอระเพ็ด
สุมไฟด้วยฟางข้าวไว้ด้านเหนือของแปลงนา แล้วโรยผงกำมะถันลงบนกองไฟนั้น อากาศที่เกิดจากกองไฟจะเป็นพิษทำลายเพลี้ยไฟข้าวได้
ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติทำลายและควบคุม เช่น แมลงปอบ้าน แมลงปอเข็ม มวนจิงโจ้น้ำ เป็นต้น
ควรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวในสภาพอากาศแห้งแล้ง หรือถ้าพบว่ามีเพลี้ยไฟระบาดในระยะเริ่มแรกให้ไขน้ำเข้าท่วมแปลงนา ทิ้งไว้ 1-2 วัน
 
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 09:59:06
ชื่อสามัญ: มวนเขียวข้าว (Green Stink Bug)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nezara viridula (Linnaeus) 
ชื่อวงศ์: Pentatomidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       ตัวอ่อน มีรูปร่างคล้ายตัวเต็มวัยแตกต่างกันที่ขนาด สีและไม่มีปีก ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ มีสีส้มอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และกระจายออกไปหลังจากลอกคราบครั้งที่ 1 และ 2 สีของตัวอ่อนแตกต่างกันไปตามวัย มีจุดสีขาวกระจายอยู่บนหลัง ลอกคราบ 5 ครั้ง ตัวอ่อนวัยสุดท้ายมีสีเขียวเข้มและมีส่วนปีกงอกออกมาจากส่วนอก ส่วนตัวเต็มวัย มีลักษณะคล้ายโล่ ลำตัวมีสีเขียว หนวดปล้องที่ 3 ถึง 5 มีสีน้ำตาลตรงโคนสีเขียว 
 
ลักษณะการทำลาย: มวนเขียวข้าวทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายต้นข้าวด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก และเมล็ด ซึ่งจะทำให้เมล็ดข้าวลีบ และร่วงหล่นในที่สุด   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะออกรวง   
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากน้อยหน่า
ควรหมั่นตรวจแปลงนาอยู่เสมอเมื่อพบกลุ่มไข่หรือตัวอ่อนให้จับไปทำลาย
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:03:40
ชื่อสามัญ: มวนง่าม (Stink Bug)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: Tetroda denticulifera (Berg) 
ชื่อวิทยาศาสตร์: มวนสามง่ามหรือแมงแครง 
ชื่อวงศ์: Pentatomidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       มวนง่ามทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายข้าวโดยใช้ Stylet เจาะลงไปในใบและลำต้นข้าว แล้วดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้นข้าว ทำให้ลำต้นและใบเหี่ยวเฉา นอกจากนี้ตัวเต็มวัยซึ่งมีขนาดใหญ่ เมื่อไปเกาะตามลำต้นและใบเป็นจำนวนมาก สามารถทำให้ลำต้นและใบในระยะกล้าหักพับ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก พบการระบาดทำลายในฤดูนาปรังรุนแรงกว่าในฤดูนาปี และพบมากในระยะกล้าและหลังปักดำใหม่ 
 
ลักษณะการทำลาย:   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า   
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากน้อยหน่า
ควรหมั่นตรวจแปลงนาอยู่เสมอเมื่อพบไข่ให้เก็บไปทำลายทิ้ง
ใช้สวิงทำการจับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยแล้วนำไปทำลาย
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:05:41
ชื่อสามัญ: แมลงดำหนาม (Rice Hispa)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Dicladispa armigera (Olivier) 
ชื่อวงศ์: Chrysomelidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       แมลงดำหนาม เป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่งมีหนามแหลมแข็งปกคลุม ตัวเต็มวัยมีสีดำ ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆใกล้ปลายใบอ่อน ตัวหนอนมีลักษณะลำตัวแบนสีขาว เจริญเติบโตและเข้าดักแด้อยู่ภายในใบข้าว ดักแด้มีสีน้ำตาล 
 
ลักษณะการทำลาย: แมลงดำหนามที่เป็นตัวหนอนกัดกินเนื้อเยื่อส่วนสีเขียวภายในใบข้าว คล้ายกับการทำลายของหนอนห่อใบ ส่วนตัวเต็มวัยกัดกินผิวใบข้าวด้านบนทำให้เห็นเป็นรอยขูดเป็นทางสีขาวยาวขนานกับเส้นกลางใบ นาข้าวที่ถูกทำลายรุนแรงใบข้าวจะแห้งและกลายเป็นสีน้ำตาลเหมือนถูกไฟไหม้ พบการระบาดเป็นครั้งคราวเท่านั้น   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะแตกกอ   
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากพริกไทย หรือดาวเรือง
เก็บใบข้าวที่ถูกแมลงทำลาย แล้วนำมาทำลายทิ้งเพื่อไม่ให้ขยายพันธุ์ต่อไป
กำจัดวัชพืชพวกหญ้าทั้งในนาและข้างแปลงนาเพื่อกำจัดพืชอาศัย
ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติทำลายและควบคุม เช่น แตนเบียนหนอน เป็นต้น
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:07:30
ชื่อสามัญ: แมลงบั่ว (Rice Gall Midge)    
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Orseolia oryzae (Wood-Mason) 
ชื่อวงศ์: Cecidomyiidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       แมลงบั่ว เป็นจำพวกแมลงมีปีกบินได้ มีความว่องไวสูงชอบบินมาเล่นไฟในเวลากลางคืน ตัวเต็มวัยจะคล้ายกับยุงแต่ลำตัวมีสีส้ม ส่วนท้องจะมีสีส้มค่อนข้างป่องอ้วนใหญ่กว่าส่วนอื่น หนวดและขามีสีน้ำตาลอมดำ มีหนวด 1 คู่ ขา 6 ขา ปีกค่อนข้างใสขาว ชอบเกาะอยู่ตามกอข้าวที่หนาแน่นและร่มเงามาก ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ใต้ใบข้าวในตอนกลางคืน โดยวางเป็นฟองเดี่ยวๆหรือเป็นกลุ่ม ไข่มีลักษณะคล้าย กล้วยหอม 
 
ลักษณะการทำลาย: แมลงบั่วตัวเต็มวัยจะเข้าแปลงนาตั้งแต่ระยะกล้า เพื่อไปวางไข่ที่กาบใบ จากนั้นก็ฟักเป็นตัวหนอนแล้วตัวหนอนคืบคลานเข้าไปที่ใบยอดและกาบใบข้าว เพื่อเข้าทำลายยอดอ่อนของต้นข้าวที่กำลังเจริญเติบโตทำให้เกิดเป็นหลอดลักษณะคล้ายหลอดหอม ต้นข้าวและกอข้าวที่ถูกทำลายจะมีอาการแคระแกร็น เตี้ย ลำต้นกลม มีสีเขียวเข้ม ยอดที่ถูกทำลายไม่สามารถออกรวงได้ ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงมาก ระยะข้าวแตกกอจะเป็นระยะที่หนอนบั่วเข้าทำลายมาก แต่เมื่อข้าวเกิดช่อดอกแล้วจะไม่ถูกหนอนบั่วทำลาย แมลงบั่วพบมากในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า   
การป้องกัน/กำจัด: ควบคุมและกำจัดวัชพืชรอบแปลงนา เช่น ข้าวป่า หญ้าข้าวนก หญ้าไซ หญ้าแดง หญ้าชันกาด และหญ้านกสีชมพู ก่อนตกกล้าหรือหว่านข้าวเพื่อทำลายพืชอาศัยของแมลงบั่ว
ไม่ควรหว่านข้าวหนาๆ เพราจะทำให้เกิดร่ม ซึ่งจะเป็นแหล่งที่อยู่และอาหารของแมลงบั่วได้ง่าย
ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากหนอนตายหยาก
ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติทำลายและควบคุม เช่น ด้วงดิน แมงปอ แมงมุม ด้วงดิน ด้วงเต่า มวนเขียวดูดไข่ เป็นต้น
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:09:36
ชื่อสามัญ: แมลงสิง (Rice Bug or Stink Bug)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: แมลงฉง 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Leptocorisa acuta (Thunberg), Leptocorisa oratorius (Fabricius) 
ชื่อวงศ์: Alydidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       แมลงสิง เป็นมวนชนิดหนึ่ง และเป็นจำพวกปากดูดแทง ตัวเต็มวัยมีรูปร่างเพรียวยาว หนวดยาวใกล้เคียงกับลำตัว ลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างมีสีเขียว อกด้านหลังมีลักษณะเป็นรูปตัววี มีหนวด 1 คู่ ใช้สำหรับดมกลิ่น แมลงสิงมีกลิ่นเหม็นฉุนคล้ายกับแมลงกระแท้ บางท้องถิ่น จึงให้ชื่อว่า “แมลงฉง” มีความหมายว่า เหม็นฉุน ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ได้หลายร้อยฟอง โดยวางไข่เรียงกันเป็นแถวบนใบข้าวขนานกับเส้นกลางใบ ไข่มีสีน้ำตาลแดงเข้ม รูปร่างคล้ายจาน ตัวอ่อนมีสีเขียวแกมน้ำตาลอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าว 
 
ลักษณะการทำลาย: แมลงสิงทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายต้นข้าวด้วยการใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าว ระยะเป็นน้ำนม แต่ก็สามารถดูดกินเมล็ดข้าวทั้งเมล็ดอ่อนและเมล็ดแข็ง ทำให้เมล็ดลีบและไม่สมบูรณ์ การดูดกินของแมลงสิงไม่ทำให้เป็นรูบนเปลือกของเมล็ดข้าวเหมือนมวนชนิดอื่น ความเสียหายที่เกิดจากการทำลายของแมลงทำให้ข้าวเสียคุณภาพมากกว่าทำให้น้ำหนักของเมล็ดข้าวลดลง โดยเมล็ดข้าวที่นำไปสีจะแตกหักง่าย ถ้านำไปหุงจะทำให้ข้าวมีกลิ่นเหม็นเขียว นอกจากนี้แมลงสิงยังชอบดูดกินน้ำเลี้ยงจากคอรวงข้าว และที่ยอดอ่อนของข้าวเช่นกัน ข้อสังเกต ถ้ามีแมลงสิงระบาดในแปลงนาจะได้กลิ่นเหม็นฉุน แมลงสิงพบมากในข้าวไร่และข้าวนาน้ำฝน   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะออกรวง   
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากบอระเพ็ด สะเดา หรือสาบเสือ 
ตัวเต็มวัยชอบกินเนื้อเน่า ให้นำเนื้อเน่าแขวนล่อไว้ตามนาข้าวและจับมาทำลาย
ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติทำลายและควบคุม เช่น แมงมุมหลังเงิน แตนเบียน เป็นต้น
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:11:00
ชื่อสามัญ: แมลงหล่า (Rice Black Bug or Malayan Black Bug)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: เพลี้ยหล่า กือซือฆูรอ กูฆอ อีบู 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Scotinophara coarctata (Fabricius) 
ชื่อวงศ์: Pentatomidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       แมลงหล่า เป็นมวนชนิดหนึ่ง มีลักษณะค่อนข้างกลม คล้ายโล่ห์ ด้านหัว และอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ลำตัวมีสีน้ำตาล หรือดำเป็นมันวาว เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ชอบอาศัยรวมกลุ่มที่โคนต้นข้าว เหนือระดับน้ำในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืน จะเคลื่อนย้ายขึ้นบนต้นข้าว ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ เป็นกลุ่มที่ใบข้าวบริเวณโคนต้นข้าวใกล้ระดับผิวน้ำ ไข่มีสีชมพูแกมเขียว ตัวอ่อนมีสีน้ำตาล และสีเหลืองกับจุดสีดำ ชอบหลบซ่อนอยู่ที่โคนต้นข้าว หรือตามรอยแตกของพื้นดิน เหมือนตัวเต็มวัย 
 
ลักษณะการทำลาย: แมลงหล่าทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายต้นข้าวด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยง จากกาบใบข้าวบริเวณโคนต้นข้าว ทำให้บริเวณที่ถูกทำลาย เป็นสีน้ำตาลแดงหรือเหลือง ขอบใบข้าวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ คล้ายข้าวเป็นโรคไหม้ การทำลายในระยะข้าวแตกกอ ทำให้ต้นข้าวที่อยู่กลางๆ กอข้าวมีอาการแคระแกร็น มีสีเหลืองหรือเหลืองแกมน้ำตาล และการแตกกอลดลง ถ้าทำลายหลังระยะข้าวตั้งท้อง ทำให้รวงข้าวแกร็น ออกรวงไม่สม่ำเสมอ และรวงข้าวมีเมล็ดลีบ ต้นข้าวอาจเหี่ยวตายได้ ถ้ามีแมลงจำนวนมาก ทำให้ต้นข้าวแห้งไหม้ คล้ายกับถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลาย มักพบการระบาดมาก ในข้าวนาสวน นาชลประทาน   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า, ระยะแตกกอ, ระยะออกรวง, ระยะเก็บเกี่ยว, ระยะข้าวตั้งท้อง   
การป้องกัน/กำจัด: กำจัดวัชพืชที่ขึ้นหนาแน่นในนาข้าว เพื่อให้นาข้าวโปร่ง แสงแดดส่องถึงโคนต้นข้าว ทำให้สภาพในนาข้าว ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ของแมลงหล่า
ให้ระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อเป็นการลดปริมาณในการวางไข่ และกำจัดวัชพืชเพื่อให้แสงแดดส่งถึงโคนต้น
ใช้แสงไฟล่อแมลงและทำลาย ในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:12:18
ชื่อสามัญ: หนอนกระทู้กล้า (Rice Armyworm or Rice Swarming Caterpillar)    
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Spodoptera mauritia (Boisduval) 
ชื่อวงศ์: Noctuidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       หนอนกระทู้กล้า เป็นผีเสื้อกลางคืน ผีเสื้อตัวเต็มวัยของหนอนกระทู้กล้ามีสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล มีจุดสีน้ำตาลแก่และเหลืองแก่ มีเส้นสีเทาลักษณะเป็นคลื่น 1 เส้น ปีกคู่หลังสีขาว เพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวอ่อนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำ ด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย แต่ละปล้องมีจุดสีดำ จากนั้นจะเป็นดักแด้และเติบโตเป็นผีเสื้อต่อไป 
 
ลักษณะการทำลาย: โดยเริ่มแรกตัวอ่อนจะกัดกินเฉพาะในส่วนของใบข้าวก่อน จากนั้นเมื่อตัวโตขึ้นจะเข้ากัดกินทั้งใบเหลือไว้แต่ก้านใบ ตัวหนอนจะกัดกินต้นกล้าระดับผิวดิน นาข้าวจะถูกทำลายเป็นหย่อมๆ ดังนั้นหากต้นกล้าถูกทำลายมากจะทำให้ไม่มีใบเหลืออยู่เลย ทำให้มองเห็นข้าวที่อยู่ในแปลงนาแหว่งเป็นหย่อมๆ คล้ายกับถูกควายกิน ซึ่งเรียกว่า “หนอนกระทู้ควายพระอินทร์” พบการระบาดของหนอนกระทู้กล้ามากในช่วงฤดูฝน   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะแตกกอ   
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากเลี่ยน หรือสาบเสือ
ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติทำลายและควบคุม เช่น ด้วงดิน แตนเบียน ด้วงก้นกระดก ด้วงเต่า มวนเพชฌฆาต เป็นต้น
ปล่อยน้ำให้แห้ง เพื่อกระตุ้นให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น และช่วยให้ต้นข้าวแตกใบใหม่ ทดแทนใบข้าวที่ถูกทำลาย
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:14:15
ชื่อสามัญ: หนอนกอข้าว (Rice Stem Borers)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Scirpophaga incertulas (Walker), Chilo suppressalis (Walker), Chilo polychrysus (Meyrick), Sessamia 
ชื่อวงศ์: Pyralidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว: หนอนกอข้าวพบได้ ชนิด คือ
หนอนกอสีครีม ตัวเมียปีกคู่หน้ามีสีเหลืองคล้ายฟางข้าว ตรงกลางปีกมีจุดสีดำข้างละจุด ปลายส่วนท้องมีขนเป็นพู่สีน้ำตาลปกคลุม ตัวผู้ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลคล้ำ กลางปีกมีจุดดำข้างละจุดแต่มีขนาดเล็กกว่า จุดดำบนปีกของเพศเมีย ขอบปีกมีจุดดำเล็กๆเรียงเป็นแถวระหว่างจุดตรงกลางปีกและจุดเล็กๆ ตรงขอบปีก มีแถบสีน้ำตาลพาดจากขอบปีกด้านบนลงมา ปีกคู่หลังสีน้ำตาลอ่อน
หนอนกอแถบลาย ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลคล้ายรำข้าว ที่ปีกมีลักษณะคล้ายฝุ่นดำเกาะอยู่ประปรายปีกคู่หลังสีน้ำตาลอ่อน ส่วนหัวมองจากข้างบนเห็นยื่นแหลมออกไปคล้ายหนาม ตัวเมียวางไข่บริเวณโคนใบข้าว ไข่มีลักษณะเป็นเกล็ดวางซ้อนกันเป็นกลุ่มๆมีสีขาวขุ่นไม่มีขนปกคลุม ส่วนใหญ่พบอยู่ใต้ใบข้าว หนอนมีแถบสีน้ำตาล 5 แถบพาดตามยาวของลำตัวหัวและแผ่นอกปล้องแรกสีน้ำตาลอ่อน
หนอนกอแถบลายสีม่วง ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กคล้ายกับหนอนกอแถบลาย ต่างกันที่ตรงกลางและขอบปีกมีลวดลายสีสนิมเหล็ก คล้ายมีรูปตัว Y อยู่ตรงกลางปีก ปีกคู่หลังสีขาวตัวหนอนมีแถบสีม่วง 5 แถบพาดตามยาวของลำตัว หัวมีสีดำหรือน้ำตาลเข้มเกือบดำ
หนอนกอสีชมพู ตัวเต็มวัยลำตัวอ้วนสั้นมีสีชมพูม่วงหัวและลำตัวมีขนปกคลุม ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลแกมแดง ปีกคู่หลังสีขาว ตัวเมียวางไข่เรียงเป็นแถวระหว่างกาบใบและลำต้น ไข่มีลักษณะกลมสีขาวครีม ตัวหนอนระยะแรกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม 
 
ลักษณะการทำลาย: หนอนกอทั้ง 4 ชนิด ทำลายข้าวลักษณะเดียวกัน โดยหลังจากที่ตัวหนอนฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายกาบใบก่อน ทำให้กาบใบมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ซึ่งจะเห็นเป็นอาการช้ำๆ เมื่อหนอนโตขึ้นจะเข้ากัดกินส่วนของลำต้น ทำให้เกิดอาการใบเหี่ยวในระยะแรก ใบและยอดที่ถูกทำลายจะเหลืองในระยะต่อมา ซึ่งการทำลายในระยะข้าวแตกกอนี้ทำให้เกิดอาการ “ยอดเหี่ยว” ถ้าหนอนเข้าทำลายในระยะข้าวตั้งท้องหรือหลังจากข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดข้าวลีบทั้งรวง รวงข้าวมีสีขาวเรียกอาการนี้ว่า“ข้าวหัวหงอก”   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า, ระยะแตกกอ, ระยะออกรวง, ระยะข้าวตั้งท้อง   
การป้องกัน/กำจัด: ไถตอซังหลังการเก็บเกี่ยว ไขน้ำท่วมและไถดินเพื่อทำลายหนอนและดักแด้ของหนอนกอข้าวที่อยู่ตามตอซัง หรือ ตากฟางข้าวให้แห้งหลังจากนวด
ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากบอระเพ็ด หรือสะเดา
ใช้ศัตรูธรรมชาติทำลายและควบคุม เช่น แตนเบียนไข่ ตั๊กแตนหนวดยาว เป็นต้น
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:15:54
ชื่อสามัญ: หนอนปลอกข้าว (Rice Caseworm)  
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: หนอนขยอก  
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nymphula depunctalis Guenee  
ชื่อวงศ์: Pyralidae  
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       ตัวเต็มวัยของหนอนปลอกข้าว เป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกสีขาวมีแถบสีน้ำตาลอ่อนถึงดำ 2-3 แถบตามขอบปีกลำตัวค่อนข้างบอบบาง ชอบเล่นไฟตอนกลางคืน เพศเมียวางไข่ตอนกลางคืน โดยวางไข่ติดกันบนผิวใต้ใบข้าว จากนั้นก็จะฟักเป็นตัวหนอนมีสีครีมหัวสีเหลือง แล้วลอกคราบกลายเป็นดักแด้และเป็นผีเสื้อต่อไป  
 
ลักษณะการทำลาย: ตัวอ่อนเริ่มกัดกินผิวใบอ่อนของต้นข้าว จากนั้นก็จะเข้าไปกินส่วนบนของยอดใบ และขอบใบด้านหนึ่งจนขาด ทั้งแกนกลางใบและใบจะห่อเข้าหากันจนเป็นปลอก แล้วตัวหนอนก็จะเข้าไปอาศัยอยู่เพื่อกัดกินเนื้อเยื่อของใบข้าว ใบข้าวที่ถูกกัดกินจะขาดเป็นช่วงๆ สลับกันคล้ายบันได หนอนจะอาศัยปลอกลอยไปตามน้ำแล้วขึ้นไปทำลายต้นใหม่ต่อไป หากมีการระบาดมากจะทำให้ต้นข้าวหยุดการเติบโต แคระแกร็น และแห้งตายเป็นหย่อมๆ พบการระบาดในนาชลประทานและนาน้ำฝน  
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะแตกกอ  
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากบอระเพ็ด สะเดา หรือสาบเสือ
ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติทำลายและควบคุม เช่น แตนเบียน มวนเพชฌฆาต แมงมุม ด้วงกระดก เป็นต้น
ระบายน้ำออกจากแปลงนาสามารถลดการทำลายและการแพร่ระบาดของหนอนปลอกในนาข้าวได้
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:19:01
ชื่อสามัญ: หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว (Rice Whorl Maggot)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydrellia spp. 
ชื่อวงศ์: Ephydridae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว ตัวเต็มวัยเป็นแมลงวันชนิดหนึ่งลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ตัวมีสีเทาอ่อน แมลงตัวเมียจะวางไข่เดี่ยวๆบนผิวใบข้าว ไข่มีลักษณะเรียวยาว สีขาว ตัวหนอนหลังจากฟักใหม่ๆ มีลักษณะใสหรือสีครีมอ่อน เมื่อโตขึ้นมีสีเหลือง ไม่มีขา ตัวเต็มวัยมีความว่องไวในตอนกลางวัน 
 
ลักษณะการทำลาย: ตัวหนอนกัดกินภายในใบข้าวที่ยังอ่อนและใบม้วนอยู่ ใบที่ถูกทำลายเมื่อเจริญต่อมาจะเป็นรอยฉีกขาดคล้ายถูกกัด ขอบใบข้าวที่ถูกทำลายมีสีขาวซีด สภาพที่ถูกทำลายรุนแรง ต้นข้าวจะแคระแกร็น แตกกอน้อย   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะกล้า   
การป้องกัน/กำจัด: ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากโหระพา
ระบายน้ำออกจากแปลงนา ช่วงที่มีการระบาดเพื่อลดปริมาณในการวางไข่
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:21:35
ชื่อสามัญ: หนอนห่อใบข้าว (Rice Leaffolder)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: หนอนม้วนใบข้าว หนอนกินใบข้าว 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cnaphalocrocis medinalis (Guenee) 
ชื่อวงศ์: Pyralidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกสีน้ำตาลเหลืองมีแถบสีดำพาดที่ปลายปีก ตรงกลางปีกมีแถบสีน้ำตาลพาดขวาง 2-3 แถบ ขณะเกาะใบข้าวปีกจะหุบเห็นรูปสามเหลี่ยม มักเกาะอยู่ในที่ร่มใต้ใบข้าว เพศเมียวางไข่บนใบข้าว ขนานตามแนวเส้นใบและสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไข่มีสีขาวขุ่นค่อนข้างแบนเป็นกลุ่ม หนอนที่ฟักมีสีขาวใส หัวมีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อหนอนโตเต็มที่มีสีเขียวแถบเหลือง หัวสีน้ำตาลเข้ม จากนั้นก็จะกลายเป็นดักแด้และเป็นผีเสื้อต่อไป 
 
ลักษณะการทำลาย: ผีเสื้อหนอนห่อใบข้าวจะเข้าสู่แปลงนา ตั้งแต่ข้าวยังเล็กและวางไข่ที่ใบอ่อน เมื่อหนอนฟักออกมาจะเข้ากัดกินใบข้าวส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้เห็นเป็นแถบยาวสีขาว บริเวณที่ถูกทำลายจะเป็นทางขาวยาวขนานกับเส้นกลางใบ มีผลให้สังเคราะห์แสงลดลง หนอนจะใช้ใยเหนียวดึงขอบใบข้าวทั้งสองด้านเข้าหากันเพื่อห่อหุ้มตัวไว้ หนอนจะทำลายข้าวในทุกระยะการเจริญเติบโต หากเข้าทำลายในระยะข้าวออกรวงหนอนจะทำลายใบธงซึ่งมีผลต่อผลผลิตเพราะทำให้ข้าวมีเมล็ดลีบ น้ำหนักลดลง พบการระบาดมากในเขตนาชลประทาน   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ระยะแตกกอ, ระยะออกรวง, ระยะข้าวตั้งท้อง   
การป้องกัน/กำจัด: กำจัดพืชอาศัย เช่น หญ้าข้าวนก หญ้านกสีชมพู หญ้าปล้อง หญ้าไซ หญ้าชันกาด และข้าวป่า
ฉีดพ่นด้วยน้ำเอนไซม์หรือน้ำสกัดสมุนไพรจากสาบเสือ สะเดา หรือตะไคร้หอม
ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติทำลายและควบคุม เช่น ด้วงดิน แมงปอ แมงมุมเขี้ยวยาว ด้วงเต่า เป็นต้น
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:23:08
ชื่อสามัญ: ด้วงงวงข้าว (Rice Weevil)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: มอดข้าวสาร 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Sitophilus oryzae (Linnaeus) 
ชื่อวงศ์: Curculionidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       ด้วงงวงข้าวตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลดำ ส่วนหัวจะมีลักษณะยื่นออกมาเป็นงวง มีรอยบุ๋มเป็นจุดกลมๆ ที่หัวและที่ปีก หนวดมี 8 ปล้อง ด้านข้างของปีกตอนบนและตอนล่างจะมีจุดสีเหลืองรวมอยู่ 4 จุด โดยเพศเมียจะวางไข่ที่เมล็ดข้าวขณะเริ่มแก่ โดยเจาะเข้าไปวางไข่ภายในเมล็ดข้าว เมล็ดละ 4-6 ฟอง จากนั้นขับเมือกออกมาปิดปากรูไว้ เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนมีสีขาวลำตัวป้อมโค้งเหมือนตัว “c” แล้วอาศัยอยู่ในเมล็ดข้าวจนเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจึงเจาะเมล็ดข้าวออกมาทำให้เมล็ดข้าวเป็นรู 
 
ลักษณะการทำลาย: ด้วงงวงข้าวตัวเต็มวัยมักปรากฏอยู่บนหรือภายในเมล็ดข้าว เนื้อเมล็ดจะถูกตัวอ่อนกัดกินอยู่ภายใน จนเป็นตัวเต็มวัยก็จะเจาะเมล็ดข้าวออกมาทำให้เมล็ดข้าวเป็นรู ถ้ามีการทำลายรุนแรงเมล็ดข้าวจะเหลือแต่เปลือกไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ข้าวเปลือก   
การป้องกัน/กำจัด: เก็บรักษาเมล็ดข้าวเปลือกในโรงเก็บหรือภาชนะที่ปิดมิดชิด และทำความสะอาดโรงเก็บก่อนนำเมล็ดข้าวเข้าไปเก็บรักษา
ทำการฉีดพ่นด้วยน้ำสกัดสมุนไพรจาก ดีปลี สารภี เลี่ยน หรือขมิ้นชัน
คลุกเมล็ดข้าวกับผงแห้ง เช่น ขี้เถ้า พริกไทย หรือน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เป็นต้น
ควบคุมอุณหภูมิของโรงเก็บให้มีความร้อนหรือเย็นจัดจะช่วยในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลงได้
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:24:21
ชื่อสามัญ: ผีเสื้อข้าวเปลือก (Angoumois Grain Moth)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Sitotroga cerealella (Olivier) 
ชื่อวงศ์: Gelechiidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       ผีเสื้อข้าวเปลือก ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อสีน้ำตาลอ่อนที่มีขนาดเล็ก ปีกคู่หลังมีสีเทาตามปีกมีขนยาวเป็นแผง ปลายปีกจะโค้งแหลมยื่นออกไป เพศเมียจะวางไข่สีขาวเป็นฟองเล็กๆ บนเมล็ดข้าว จากนั้นก็จะกลายเป็นตัวหนอน ดักแด้ และเติบโตเป็นตัวเต็มวัย 
 
ลักษณะการทำลาย: ผีเสื้อข้าวเปลือกทำลายข้าว โดยการที่ผีเสื้อตัวเมียวางไข่บนเมล็ดข้าวเปลือกขณะยังอยู่ที่แปลงนาจนเมื่อนำมาเก็บไว้ในยุ้งฉางไข่ก็จะกลายเป็นตัวอ่อนซึ่งจะอาศัยกัดกินภายในเมล็ดข้าวจนเหลือแต่เปลือกเท่านั้น   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ข้าวเปลือก   
การป้องกัน/กำจัด: เก็บรักษาเมล็ดข้าวเปลือกในโรงเก็บหรือภาชนะที่ปิดมิดชิด และทำความสะอาดโรงเก็บก่อนนำเมล็ดข้าวเข้าไปเก็บรักษา
ทำการฉีดพ่นด้วยน้ำสกัดสมุนไพรจากดีปลี
คลุกเมล็ดข้าวกับผงแห้ง เช่น ขี้เถ้า พริกไทย หรือน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เป็นต้น
ควบคุมอุณหภูมิของโรงเก็บให้มีความร้อนหรือเย็นจัดจะช่วยในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลงได้
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:25:52
ชื่อสามัญ: ผีเสื้อข้าวสาร (Rice Moth)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Corcyra cephalonica (Stainton) 
ชื่อวงศ์: Galleriidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       ผีเสื้อข้าวสาร ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลอ่อนขนาดกลาง ที่หัวมีขนลงมาตามลำตัว ปีกคู่หน้ามีเส้นปีกสีค่อนข้างดำ ปีกหลังมีสีครีม ปีกหน้าจะสั้นกว่าปีกหลัง เวลาเกาะส่วนหัวจะชูขึ้นสูงจากระดับพื้น ปากแหลมยื่นออกมาเห็นได้ชัดและปีกจะหุบขนานกับลำตัว ตัวอ่อนเป็นหนอนสีขาวหรือขาวปนเทา จากนั้นตัวอ่อนก็จะสร้างใยปกคลุมตัวเองไว้แล้วเข้าดักแด้ในปลอกที่สร้างขึ้นภายหลังจนกลายเป็นตัวเต็มวัย 
 
ลักษณะการทำลาย: ข้าวเปลือกจะถูกทำลายด้วยตัวอ่อน หรือหนอนของผีเสื้อด้วยการเข้าไปชักใยที่เมล็ดข้าวสารให้ติดกันเป็นกลุ่มก้อน ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่และกัดแทะเมล็ดข้าวสารอยู่ภายในใยนั้น นอกจากนั้นตัวอ่อนยังขับถ่ายของเสียออกเป็นเม็ดเล็กๆ กระจายอยู่เต็มกองข้าวอีกด้วย ส่วนตัวเต็มวัยของผีเสื้อจะไม่ทำลายข้าว แต่จะเกาะเฉยๆ ตามกระสอบหรือยุ้งฉางข้าวเท่านั้น   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ข้าวเปลือก   
การป้องกัน/กำจัด: เก็บรักษาเมล็ดข้าวเปลือกในโรงเก็บหรือภาชนะที่ปิดมิดชิด และทำความสะอาดโรงเก็บก่อนนำเมล็ดข้าวเข้าไปเก็บรักษา
ทำการฉีดพ่นด้วยน้ำสกัดสมุนไพรจากดีปลี พริกขี้หนู หรือหนอนตายหยาก
คลุกเมล็ดข้าวกับผงแห้ง เช่น ขี้เถ้า พริกไทย หรือน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เป็นต้น
ควบคุมอุณหภูมิของโรงเก็บให้มีความร้อนหรือเย็นจัดจะช่วยในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลงได้
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:27:35
ชื่อสามัญ: มอดข้าวเปลือก (Lesser Grain Borrer)    
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: มอดหัวป้อมหรือมอดหัวไม้ขีด 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhyzopertha dominica (Fabricius) 
ชื่อวงศ์: Bostrychidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       มอดข้าวเปลือกตัวเต็มวัย มีรูปร่างทรงกระบอกสีน้ำตาลแก่ ส่วนหัวสั้นโดยซ่อนอยู่ใต้อกปล้องแรก มีหลุมอยู่ทั่วๆไปบนปีกคู่หน้าโดยเรียงเป็นแถวอย่างมีระเบียบ เพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มตามรอยแตกหรือรอยกะเทาะของเมล็ดหรือตามเศษผงในกองข้าว ตัวอ่อนเป็นหนอนสีขาว มีลักษณะโค้งตัวอ้วนสั้น เมื่อตัวอ่อนโตเต็มที่จะเข้าดักแด้ภายในเมล็ด แล้วเจาะเมล็ดออกมาเมื่อเป็นตัวเต็มวัย 
 
ลักษณะการทำลาย: มอดข้าวเปลือกสามารถทำลายเมล็ดข้าวได้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย หากเป็นตัวเต็มวัย จะกัดแทะเมล็ดข้าวให้เป็นรู หรือรอยแล้วก็ขับถ่ายของเสียออกมา เมื่อนำข้าวสารไปทำอาหารจะทำให้มีกลิ่นเหม็น แต่ถ้าเป็นตัวอ่อนจะอาศัยและกัดกินอยู่ภายในเมล็ดข้าวจนเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจึงเจาะรูออกมาจากเมล็ด ซึ่งจะทำให้เมล็ดเหลือเฉพาะเปลือกเท่านั้น   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ข้าวเปลือก   
การป้องกัน/กำจัด: เก็บรักษาเมล็ดข้าวเปลือกในโรงเก็บหรือภาชนะที่ปิดมิดชิด และทำความสะอาดโรงเก็บก่อนนำเมล็ดข้าวเข้าไปเก็บรักษา
ทำการฉีดพ่นด้วยน้ำสกัดสมุนไพรจากดีปลี หรือขมิ้นชัน
คลุกเมล็ดข้าวกับผงแห้ง เช่น ขี้เถ้า พริกไทย หรือน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เป็นต้น
ควบคุมอุณหภูมิของโรงเก็บให้มีความร้อนหรือเย็นจัดจะช่วยในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลงได้
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:30:45
ชื่อสามัญ: มอดแป้ง (Red Flour Beetle)   
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Tribolium castaneum (Herbst) 
ชื่อวงศ์: Tenebrionidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       มอดแป้งตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลแดง หัวมีหนวดค่อนข้างสั้น ด้านบนของหัวมีสันเหนือตาทั้งสองข้าง ส่วนตัวทางด้านหัวกว้างกว่าด้านท้าย รูปร่างเกือบเป็นสี่เหลี่ยมและมีสีเข้มกว่าส่วนปีก เพศเมียวางไข่บนถุงอาหาร ตามร่องพื้น ยุ้งฉางหรือบนข้าวในสภาพที่เหมาะสม ไข่มีขนาดเล็กสีขาว แต่มียางเหนียว ตัวอ่อนเป็นหนอนมีสีขาวปนน้ำตาลมีขนทั่วตัว จากนั้นจะกลายเป็นดักแด้และเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป 
 
ลักษณะการทำลาย: มอดแป้งสามารถทำลายข้าวได้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยเข้าไปกัดกินภายในของเมล็ดข้าวที่แตกและกินแป้งที่เกิดจากการทำลายของแมลงชนิดอื่น มอดแป้งไม่สามารถทำลายเมล็ดข้าวเปลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ได้ กรณีที่แป้งถูกทำลายจะเปลี่ยนสีและมีกลิ่นเหม็นสาเหตุมาจากการขับของเสียออกมาของตัวเต็มวัย ถึงแม้ว่าจะนำเอาไปทำอาหารกลิ่นเหม็นก็จะยังคงติดอยู่เช่นเดิม   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ข้าวเปลือก   
การป้องกัน/กำจัด: เก็บรักษาเมล็ดข้าวเปลือกในโรงเก็บหรือภาชนะที่ปิดมิดชิด และทำความสะอาดโรงเก็บก่อนนำเมล็ดข้าวเข้าไปเก็บรักษา
ทำการฉีดพ่นด้วยน้ำสกัดสมุนไพรจากดีปลี หรือขมิ้นชัน
คลุกเมล็ดข้าวกับผงแห้ง เช่น ขี้เถ้า พริกไทย หรือน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เป็นต้น
ควบคุมอุณหภูมิของโรงเก็บให้มีความร้อนหรือเย็นจัดจะช่วยในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลงได้
 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:31:55
ชื่อสามัญ: มอดสยาม (Siamese Grain Beetle)    
ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อเรียกอื่นๆ: - 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Lophocateres pusillus (Klug) 
ชื่อวงศ์: Trogositidae   
ลักษณะของแมลงศัตรูข้าว:       มอดสยาม ตัวเต็มวัยเป็นมอดมีสีน้ำตาลแดง ขนาดเล็ก ลำตัวแบนกว้าง หนวดสั้น หนวดจะหดอยู่ในซองหากถูกกระทบกระเทือน ที่อกและที่ปีกมีขอบซึ่งแบนเรียบประกอบด้วยร่องหนวดยาวนูนเรียงอย่างมีระเบียบ ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่แบบไข่เดี่ยว หรือวางเป็นกลุ่มในลักษณะเป็นรูปพัด โดยจะวางไข่ตามร่องไม้ พื้นยุ้งหรือบนอาหารที่มันกัดกินอยู่ 
 
ลักษณะการทำลาย: มอดสยามเป็นแมลงที่ไม่สามารถกัดกินเมล็ดที่สมบูรณ์ได้ แต่จะกินเมล็ดข้าวเปลือกที่เหลือจากการทำลายของแมลงชนิดอื่นหรือข้าวเปลือกเมล็ดที่แตก แมลงชนิดนี้ชอบทำลายส่วนที่เป็นแป้งและส่วนที่เป็นจุดงอกของเมล็ดมากกว่าส่วนอื่น ลักษณะของเมล็ดที่ถูกทำลายมีลักษณะถูกกินไปเป็นแถบๆ   
ช่วงระยะเวลาทำลายต้นข้าว: ข้าวเปลือก   
การป้องกัน/กำจัด: เก็บรักษาเมล็ดข้าวเปลือกในโรงเก็บหรือภาชนะที่ปิดมิดชิด และทำความสะอาดโรงเก็บก่อนนำเมล็ดข้าวเข้าไปเก็บรักษา
ทำการฉีดพ่นด้วยน้ำสกัดสมุนไพรจากดีปลี หรือขมิ้นชัน
คลุกเมล็ดข้าวกับผงแห้ง เช่น ขี้เถ้า พริกไทย หรือน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เป็นต้น
ควบคุมอุณหภูมิของโรงเก็บให้มีความร้อนหรือเย็นจัดจะช่วยในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลงได้


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:42:00
ดิน

ดิน..เกิดขึ้นมาได้อย่างไร  
 
โลกของเรามีอายุประมาณ 4,600 ล้านปี..
นับจากที่โลกเริ่มก่อตัวขึ้นและเย็นตัวลง มีพื้นผิวภายนอกเป็นหินแข็งแต่ภายในเป็นของเหลวร้อนจัด มีบรรยากาศซึ่งประกอบด้วยก๊าซหลายชนิดห่อหุ้มโลกอยู่โดยรอบอย่างเบาบาง ต่อมาจึงมีวิวัฒนาการมากขึ้น จนเกิดมีน้ำและสิ่งมีชิวิตขึ้นบนโลก
 
    
  พืชบกรุ่นแรกสุดเกิดขึ้นมาบนโลก เมื่อประมาณ 590 ล้านปีมาแล้ว..
พืชบกรุ่นแรกนี้มีแต่ลำต้น ไม่มีใบ ไม่มีราก อาศัยเกิดและเกาะติดอยู่บนสาหร่ายทะเลที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาค้างอยู่บนหินและเติบโตอยู่บนนั้น
    
  เชื่อกันว่าวิวัฒนาการของพืชบกรุ่นแรกนี้เองที่เป็นสาเหตุทำให้ก้อนหินเกิดการผุพัง แตกแยกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และเกิดพัฒนาการต่อจนกลายเป็นดินในที่สุด
ทั้งนี้เพราะการที่พืชมีวิวัฒนาการมากขึ้นจนมีส่วนประกอบของราก ลำต้น ใบ กิจกรรมของรากของพืชที่ชอนไชไปตามร่องรอยแตกของหินและชั้นของหินผุเพื่อหาุอาหารไปเลี้ยงลำต้นและใบ รวมทั้งเกาะยึดกับสิ่งต่างๆ เพื่อค้ำจุนลำต้นนั้น ก็จะช่วยเร่งให้หิน แร่ เกิดการสลายตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการผุกร่อนตามธรรมชาติ ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน น้ำค้าง หรือหิมะ ในช่วงเวลาต่างๆ

ในขณะเดียวกับที่พืชเจริญเติบโตขึ้นก็ย่อมมีส่วนของ ราก ลำต้น ใบ ที่หลุดร่วงตายลงและทับถมกันอยู่ทั้งบนดินและใต้ดิน นอกจากนี้ยังมีมูลสัตว์และเศษซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อวัสดุเหล่านี้เกิดการเน่าเปื่อยโดยการย่อยสลายของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดิน จนกลายเป็นสารสีดำที่มีเนื้อละเอียดนุ่ม เรียกว่า ฮิวมัส และต่อมาเมื่อฮิวมัสได้ผสมคลุกเคล้าเข้ากับชิ้นส่วนของหิน แร่ ที่ผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียว จึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ดิน” สืบมาจนทุกวันนี้

กว่าที่จะเกิดเป็นดินขึ้นมาได้นั้น.. ต้องใช้ระยะเวลานานมาก          

ประมาณกันว่า ต้องใช้เวลาถึง 500 ปี ในการที่หินจะผุพังย่อยสลาย เกิดการทับถมของซากพืชและสัตว์ และ้เกิดกระบวนการต่างๆ ในดิน จนเกิดเป็นดินที่มีความหนาเพียง 1 นิ้วและอาจต้องใช้เวลานาน 3,000 ถึง 12,000 ปี ที่ดินจะมีความลึกพอสำหรับเกษตรกรรม

 


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:46:29
ดิน..คืออะไร 

“ดิน” คือ วัตถุตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากผลของการผุพังสลายตัวของหินและแร่ ต่างๆ ผสมคลุกเคล้ารวมกับอินทรียวัตถุหรืออินทรียสารที่ได้มาจากการสลายตัวของเศษซากพืชและสัตว์จนเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะร่วนไม่เกาะกันแข็งเป็นหิน เกิดขึ้นปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวในการเจริญเติบโตของพืช 
 
   
    คนทั่วไปมักมองดินแตกต่างกันไปตามการใช้ประโยชน์ที่ตนเองเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเกษตรกรจะมองดินในรูปของความอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชได้ดี ส่วนวิศวกรจะมองในรูปของวัสดุที่ใช้ในการสร้างถนนหนทาง เป็นต้น 
 
    มนุษย์เริ่มสนใจและศึกษาดินโดยคิดว่า ดินเป็นแหล่งของธาตุอาหารซึ่งเกี่ยวข้องกับเจริญเติบโตของพืชกันมาเป็นเวลานานแล้ว เริ่มจากในทวีปยุโรป ตั้งแต่สมัยอริสโตเติล เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาภายหลังจึงเกิดแนวความคิดในการมองดินเป็นวัสดุตามธรรมชาติที่แตกต่างไปจากวัสดุชนิดอื่นๆ และได้มีการศึกษาดินกันอย่างจริงจังในเชิงวิทยาศาสตร์
เราเรียกผู้ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับดินว่า   "นักวิทยาศาสตร์ทางดิน" (soil scientist) หรือ "นักปฐพีวิทยา" 
 
   การศึกษาเกี่ยวกับดิน โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร มีการแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก คือ
 
 
 1. ปฐพีวิทยาธรรมชาติ (pedology) 
   
     มุ่งเน้นการศึกษาดินในสภาพที่เป็นวัตถุที่มีอยู่ตามสภาพธรรมชาติ เพื่อเรียนรู้สมบัติต่างๆ ของดินทั้งสมบัติภายนอกและภายใน โดยการศึกษาจะเน้นหนักไปทางด้านการเกิดดิน ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดการสร้างตัวของดิน และการแจกแจงชนิดของดิน เพื่อนำมาจัดหมวดหมู่ในระดับต่างๆ ตามระบบการจำแนกดินที่ใช้ รวมถึงการจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตดินของดินชนิดต่างๆ ในทางภูมิศาสตร์ด้วย
    ผู้ที่ทำการศึกษาดินในลักษณะนี้เราเรียกว่า “นักสำรวจดิน” (soil surveyor)ู่
 
2. ปฐพีสัมพันธ์ (edaphology)
   
       เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างดินกับสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะพืช เน้นหนักในด้านสมบัติต่างๆ ของดินที่มีผลต่อการให้ผลผลิตของพืช ได้แก่ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและความสามารถของดินที่จะให้ธาตุอาหารแก่พืช รวมถึงเคมีฟิสิกส์ แร่วิทยา และกิจกรรมของจุลินทรีย์ต่างๆ ในดินที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพืชอีกด้วย

     หลักทั่วไปในการคึกษาด้านนี้คือ การหาวิธีเพิ่มผลผลิตพืชจากดินและที่ดิน ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ย และการตอบสนองต่อธาตุอาหารในดิน และการตอบสนองต่อปุ๋ยที่ใส่ลงในดิน เพื่อให้ดินสามารถเพิ่มผลผลิตของพืชได้มากขึ้น
 
ความสำคัญของ..ดิน  
 
สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องอาศัยดินในการยังชีพและเจริญเติบโต สำหรับมนุษย์แล้วดินเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีพ เพราะเราได้อาศัยดินสำหรับปลูกพืชที่เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
 
 หน้าที่และความสำคัญของดินที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชและการเกษตรกรรม สรุปได้ดังนี้

ดินทำหน้าที่เป็นที่ให้รากพืชได้เกาะยึดเหนี่ยวเพื่อให้ลำต้นของพืชยืนต้นได้อย่างมั่นคง แข็งแรง ขณะที่พืชเจริญเติบโต
รากของพืชจะเติบโตชอนไชหยั่งลึกแพร่กระจายลงไปในดินอย่างกว้างขวางทั้งแนวลึกและแนวราบ ดินที่ร่วนซุยและมีชั้นดินลึก รากพืชจะเจริญเติบโตแข็งแรง สามารถเกาะยึดดิน ต้านทานต่อลมพายุไม่ทำให้ต้นพืชล้มหรือถอนโคนได้ 
   
 ดินเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช 
ทั้งนี้เนื่องจากธาตุอาหารพืชจะถูกปลดปล่อยออกจากอินทรียวัตถุ และแร่ต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของดิน ให้อยู่ในรูปที่รากพืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย 
   
 ดินเป็นแหล่งที่เก็บกักน้ำหรือความชื้นในดิน
ให้อยู่ในรูปที่รากพืชสามารถดึงดูดได้ง่าย เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงลำต้นและสร้างการเจริญเติบโต น้ำในดินจะต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสมเท่านั้น ที่รากพืชสามารถดึงดูดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ การรดน้ำพืชจนขังแฉะรากพืชไม่สามารถดึงดูดน้ำขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้ จะทำให้พืชเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด 
   
 ดินเป็นแหล่งที่ให้อากาศในดิน ที่รากพืชใช้เพื่อการหายใจ 
รากพืชประกอบด้วยเซลล์ที่มีชีวิต ต้องการออกซิเจนสำหรับการหายใจทำให้เกิดพลังงานเพื่อการดึงดูดน้ำ ธาตุอาหารและการเจริญเติบโต ดินที่มีการถ่ายเทอากาศดี รากพืชจะเจริญเติบโตแข็งแรง ดูดน้ำและ ธาตุอาหารได้มาก ทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตแข็งแรงและให้ผลิตผลสูง



หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:51:36
องค์ประกอบของดิน

ดิน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ

1. อนินทรียวัตถุ 
   
     อนินทรียวัตถุ หรือ แร่ธาตุ เป็นส่วนประกอบที่มีปริมาณมากที่สุดในดินทั่วไป ได้มาจากการผุพังสลายตัวของหินและแร่ 
   
     อนินทรียวัตถุ อยู่ในดินในลักษณะของชิ้นส่วนที่เรียกว่า อนุภาคดิน ซึ่งมีหลายรูปทรงและมีขนาดแตกต่างกันไป แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
    1. กลุ่มอนุภาคขนาดทราย (เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.00-0.05 ม.ม.)
    2. กลุ่มอนุภาคขนาดทรายแป้ง (เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.05-0.002 ม.ม.)
    3.กลุ่มอนุภาคขนาดดินเหนียว (เส้นผ่าศูนย์กลาง < 0.002 ม.ม)
   
      อนินทรียวัตถุ หรือ แร่ธาตุในดินนี้ เป็นส่วนที่สำคัญในการควบคุมลักษณะของเนื้อดิน เป็นแหล่งกำเนิดของธาตุอาหารพืช และเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ดิน นอกจากนี้อนุภาคที่อยู่ในกลุ่มขนาดดินเหนียวยังเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการเกิดกระบวนการทางเคมีต่างๆ ในดินด้วย

 
2. อินทรียวัตถุ 
   
     อินทรียวัตถุในดิน ในที่นี้มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่ส่วนของซากพืชซากสัตว์ที่กำลังสลายตัว เซลล์จุลินทรีย์ ทั้งที่มีชีวิตอยู่และในส่วนที่ตายแล้ว ตลอดจนสารอินทรีย์ที่ได้จากการย่อยสลาย หรือส่วนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ แต่ไม่รวมถึงรากพืช หรือเซษซากพืช หรือสัตว์ที่ยังไม่มีการย่อยสลาย
   
      อินทรียวัตถุในดินนี้ เป็นแหล่งสำคัญของธาตุอาหารพืช และป็นแหล่งอาหารและพลังงานของจุลินทรีย์ดินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน อีกทั้งยังเป็นส่วนที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสมบัติต่างๆ ของดินทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น โครงสร้างดิน ความร่วนซุย การระบายน้ำ การถ่ายเทอากาศ การดูดซับน้ำและธาตุอาหารของดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความสามารถในการให้ผลผลิตของดินอีกด้วย

 
3. น้ำในดิน
 
   น้ำในดิน หมายถึง ส่วนของน้ำที่พบอยู่ในช่องว่างระหว่างอนุภาคดินหรือเม็ดดิน มีความสำคัญมากต่อการปลูก และการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากเป็นตัวช่วยในการละลายธาตุอาหารต่างๆ ในดิน และเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายอาหารพืชจากรากไปสู่ส่วนต่างๆของพืช
 
4. อากาศในดิน
 
   หมายถึง ส่วนของก๊าซต่างๆ ที่แทรกอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดินในส่วนที่ไม่มีน้ำอยู่ ก๊าซที่พบโดยทั่วไปในดิน คือ ก๊าซไนโตรเจน (N2) ออกซิเจน (O2) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งรากพืชและจุลินทรีย์ดินใช้ในการหายใจ และสร้างพลังงานในการดำรงชีวิต
   
ดิน..ที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก

 พืชส่วนใหญ่มักจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความร่วนซุย มีปริมาณน้ำ อากาศ และธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอย่างเพียงพอ

       ดังนั้นดินที่เหมาะสำหรับการปลูกพืชโดยทั่วไปจึงควรมีสัดส่วนขององค์ประกอบที่เป็นของแข็ง หรืออนินทรีย์วัตถุซึ่งได้มาจากการสลายตัวของหินและแร่ อันเป็นแหล่งที่มาของธาตุอาหารพืช และอินทรียวัตถุที่ได้มาจากการสลายตัวของเศษซากสิ่งมีชีวิต อยู่รวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาตรทั้งหมด

      สำหรับส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งนั้นควรจะเป็นที่อยู่ของน้ำและอากาศ ซึ่งจะแทรกอยู่ตามช่องว่างเล็กๆ ในดิน โดยช่องว่างเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการเรียงตัวเกาะยึดกันของอนุภาคขนาดต่างๆ ในดิน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำและอากาศในดินจะมีอยู่ได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของช่องว่างที่มีอยู่ในดินนั้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตามในสภาพของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชนั้น จำเป็นต้องมีน้ำและอากาศในดินในปริมาณที่สมดุลกัน เพราะถ้าช่องว่างในดินมีอากาศอยู่มากก็จะมีที่ให้น้ำเข้ามาแทรกอยู่ได้น้อย พืชที่ปลูกก็จะเหี่ยวเฉาเพราะขาดน้ำ แต่ถ้าในช่องว่างมีน้ำมากเกินไป รากพืชก็จะขาดอากาศหายใจ ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักได้

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ...ดินที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกนั้น
ในดินทั้งหมด 100 ส่วน ควรจะมีส่วนที่เป็นของแข็ง 50 ส่วน แบ่งเป็น อนินทรียวัตถุประมาณ 45 ส่วน อินทรียวัตถุ 5 ส่วน และส่วนของช่องว่าง 50 ส่วน ซึ่งประกอบด้วยน้ำ 25 ส่วน และอากาศอีก 25 ส่วน หรือ มีสัดส่วนของ อนินทรียวัตถุ : อินทรียวัตถุ : น้ำ : อากาศ เท่ากับ 45 : 5 : 25 : 25




หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 10:55:17
สมบัติของดิน

ถ้าลองสังเกตดูให้ดี...
ในเวลาที่เราได้ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เช่น ภูเขา น้ำตก ชายทะเล ท้องนา ท้องไร่ สวนผลไม้ ฯลฯ จะพบว่า ดินที่เราเหยียบย่ำอยู่ในแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันออกไป สิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น สีของดิน ซึ่งมีทั้ง สีดำ สีน้ำตาล สีแดง หรือสีเหลือง เป็นต้น หรือลักษณะของเนื้อดินที่มีความหยาบ-ละเอียด แข็ง-นุ่ม แตกต่างกัน ซึ่งความต่างเหล่านี้เป็นผลมาจากปัจจัยและกระบวนการเกิดดินที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อลักษณะหน้าตาของดิน ชนิดของพืชพรรณธรรมชาติที่ขึ้นปกคลุม และความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกันไปอีกด้วย
 
  สมบัติที่สำคัญของดินแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1) สมบัติทางกายภาพ 2) สมบัติทางเคมี 3) สมบัติทางชีวภาพ และ 4) สมบัติด้านธาตุอาหารพืช 


สมบัติทางกายภาพ

เป็นลักษณะภายนอกของดินที่สามารถมองเห็นและจับต้องหรือสัมผัสได้ เช่น
ิื หน้าตัดดินและชั้นดิน
 สีดิน
 เนื้อดิน
 โครงสร้างของดิน

สมบัติทางเคมี
 เป็นลักษณะภายในของดินที่เราไม่สามารถจะมองเห็นหรือสัมผัสได้โดยตรง ได้แก่
 ความเป็นกรดเป็นด่าง 
 ความสามารถในการการดูดซับและแลกเปลี่ยนประจุบวก

สมบัติทางชีวภาพ
  พืช
 สัตว์
 จุลินทรีย์ดิน
 
สมบัติด้านธาตุอาหารพืช
 ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
 ธาตุอาหารหลัก
 ธาตุอาหารรอง
 ธาตุอาหารเสริม 
 
   


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 11:00:18
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช

ในจำนวนธาตุอาหารที่พืชจำเป็นต้องใช้เพื่อการเจริญเติบโตออกดอก ออกผล ซึ่งมีอยู่ 16 ธาตุนั้น มี 3 ธาตุ ที่พืชได้มาจากอากาศและน้ำ คือ คาร์บอน ( C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) ส่วนอีก 13 ธาตุนั้น พืชต้องดูดดึงขึ้นมาจากดิน ซึ่งธาตุเหล่านี้ได้มาจากการผุพงสลายตัวของส่วนที่เป็นอนินทรียวัตถุและอินทรียวัตถุหรือฮิวมัสในดิน สามารถแบ่งตามปริมาณที่พืชต้องการใช้ได้ เป็น 2 กลุ่มคือ มหธาตุ และจุลธาตุ 
   
1. มหธาตุ (macronutrients)    
    มหธาตุหรือธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้ในปริมาณมาก ที่ได้มาจากดินมีอยู่ 6 ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม 
   
 ธาตุอาหารหลัก หรือ ธาตุปุ๋ย ได้แ่ก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) เนื่องจากสามธาตุนี้พืชต้องการใช้ในปริมาณมาก แต่มักจะได้รับจากดินไม่ค่อยเพียงพอกับความต้องการ ต้องช่วยเหลือโดยใส่ปุ๋ยอยู่เสมอ
   
 ธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) เป็นกลุ่มที่พืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อยกว่า และไม่ค่อยมีปัญหาขาดแคลนในดินทั่วๆ ไปเหมือนสามธาตุแรก 
   
 
2. จุลธาตุ หรือ ธาตุอาหารเสริม (micronutrients)    
     จุลธาตุหรือธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้ในปริมาณน้อย มีอยู่ 7 ธาตุ ได้แก่ เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) โมลิบดินัม (Mo) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) และคลอรีน (Cl)
 
     อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นธาตุอาหารในกลุ่มมหธาตุหรือจุลธาตุ ต่างก็มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะความจริงแล้วธาตุทุกธาตุมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของพืชเท่าๆ กัน จะต่างกันแต่เพียงปริมาณที่พืชต้องการเท่านั้น ดังนั้นพืชจึงขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไม่ได้ หากพืชขาดธาตุอาหารแม้แต่เพียงธาตุเดียวพืชจะหยุดการเจริญเติบโต แคระแกร็น ไม่ให้ผลผลิตและตายในที่สุด
 
 
   
หน้าที่ของธาตุอาหารพืช    
       ธาตุอาหารพืชแต่ละชนิดมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชแตกต่างกันไป และถ้าพืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็จะแสดงอาการที่แตกต่างกันตามแต่ชนิดของธาตุอาหารที่ขาดแคลนนั้น
 
   
 ไนโตรเจน มีหน้าที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีน ช่วยให้พืชมีสีเขียว เร่งการเจริญเติบโตทางใบ หากพืชขาดธาตุนี้จะแสดงอาการใบเหลือง ใบมีขนาดเล็กลง ลำต้นแคระแกร็นและให้ผลผลิตต่ำ
   
 ฟอสฟอรัส มีหน้าที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของราก ควบคุมการออกดอก ออกผล และการสร้างเมล็ด ถ้าพืชขาดธาตุนี้ระบบรากจะไม่เจริญเติบโต ใบแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดร่วง ลำต้นแกร็นไม่ผลิดอกออกผล
   
 โพแทสเซียม เป็นธาตุที่ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายน้ำตาลจากใบไปสู่ผล ช่วยให้ผลเติบโตเร็วและมีคุณภาพดี ช่วยให้พืชแข็งแรง ต้านทานต่อโรคและแมลงบางชนิด ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะไม่แข็งแรง ลำต้นอ่อนแอ ผลผลิตไม่เติบโต มีคุณภาพต่ำ สีไม่สวย รสชาติไม่ดี
   
 แคลเซียม เป็นองค์ประกอบที่ช่วยในการแบ่งเซลล์ การผสมเกสร การงอกของเมล็ด พืชขาดธาตุนี้ใบที่เจริญใหม่จะหงิกงอ ตายอดไม่เจริญ อาจมีจุดดำที่เส้นใบ รากสั้น ผลแตก และมีคุณภาพไม่ดี
   
 แมกนีเซียม เป็นองค์ประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ ช่วยสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และน้ำตาล ทำให้สภาพกรดด่างในเซลล์พอเหมาะและช่วยในการงอกของเมล็ด ถ้าขาดธาตุนี้ใบแก่จะเหลือง ยกเว้นเส้นใบ และใบจะร่วงหล่นเร็ว
   
  กำมะถัน เป็นองค์ประกอบสำคัญของกรดอะมิโน โปรตีน และวิตามิน ถ้าขาดธาตุนี้ทั้งใบบนและใบล่างจะมีสีเหลืองซีด และต้นอ่อนแอ
   
 โบรอน ช่วยในการออกดอกและการผสมเกสร มีบทบาทสำคัญในการติดผลและการเคลื่อนย้ายน้ำตาลมาสู่ผล การเคลื่อนย้ายของฮอร์โมน การใช้ประโยชน์จากไนโตรเจนและการแบ่งเซลล์ ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะตายแล้วเริ่มมีตาข้าง แต่ตาข้างก็จะตายอีก ลำต้นไม่ค่อยยืดตัว กิ่งและใบจึงชิดกัน ใบเล็ก หนา โค้งและเปราะ
 
   
 ทองแดง ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ การหายใจ การใช้โปรตีนและแป้ง กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะชะงักการเจริญเติบโตและกลายเป็นสีดำ ใบอ่อนเหลือง และพืชทั้งต้นจะชะงักการเจริญเติบโต
   
  คลอรีน มีบทบาทบางประการเกี่ยวกับฮอร์โมนในพืช ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะเหี่ยวง่าย ใบสีซีด และบางส่วนแห้งตาย
   
  เหล็ก ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์แสงและหายใจ ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีขาวซีดในขณะที่ใบแก่ยังเขียวสด
   
 แมงกานีส ช่วยในการสังเคราะห์แสงและการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีเหลืองในขณะที่เส้นใบยังเขียว ต่อมาใบที่มีอาการดังกล่าวจะเหี่ยวแล้วร่วงหล่น
   
  โมลิบดินัม ช่วยให้พืชใช้ไนโตรเจนให้เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะมีอาการคล้ายขาดไนโตรเจน ใบมีลักษณะโค้งคล้ายถ้วย ปรากฏจุดเหลืองๆ ตามแผ่นใบ
   
 สังกะสี ช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน คลอโรฟิลล์ และแป้ง ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีเหลืองซีดและปรากฏสีขาวๆ ประปรายตามแผ่นใบ โดยเส้นใบยังเขียว รากสั้นไม่เจริญตามปกติ
 
   
       เมื่อมีการปลูกพืชลงบนดิน ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณของธาตุอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในดิน เนื่องจากในขณะที่พืชมีการเจริญเติบโต พืชจะดูดดึงธาตุอาหารในดินไปใช้และเก็บสะสมไว้ในส่วนต่างๆ ได้แก่ ใบ ลำต้น ดอก ผล จนถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำออกไปจากพื้นที่ ธาตุอาหารที่สะสมอยู่เหล่านั้นย่อมถูกนำออกไปจากพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ธาตุอาหารบางส่วนยังเกิดการสูญหายไปในรูปก๊าซ ถูกดินหรือสารประกอบในดินจับยึดไว้ บางส่วนถูกชะล้างออกไปจากบริเวณรากพืช หรือสูญเสียไปกับการชะล้างพังทลายของดิน

       ดังนั้นการเพาะปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่มีการเติมธาตุอาหารลงไปในดิน ย่อมทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง และในที่สุดดินจะกลายเป็นดินเลวปลูกพืชไม่เจริญเติบโตอีกต่อไป ในการปลูกพืชจึงต้องมีการใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน ช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชและคงระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้อยู่เสมอ
 
 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 11:08:19
ปุ๋ย

ปุ๋ย คือ วัสดุที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบ หรือสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดธาตุอาหารพืช เมื่อใส่ลงไปในดินแล้วจะปลดปล่อย หรือสังเคราะห์ธาตุอาหารที่จำเป็นให้แก่พืช โดยทั่วไปปุ๋ยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

 ปุ๋ยเคมี
 ปุ๋ยอินทรีย์ 
 ปุ๋ยชีวภาพ
 ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 11:11:55
1. ปุ๋ยเคมี      

 ปุ๋ยเคมี คือสารประกอบอนินทรีย์ที่ให้ธาตุอาหารพืช เป็นสารประกอบที่ผ่านกระบวนการผลิตทางเคมี เมื่อใส่ลงไปในดินที่มีความชื้นที่เหมาะสม ปุ๋ยเคมีจะละลายให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว มีอยู่ 2 ประเภท คือ   
   
   ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย 
   
  ได้แก่ ปุ๋ยพวกแอมโมเนียมซัลเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมี มีธาตุอาหาร ปุ๋ยคือ N หรือ P หรือ K เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยหนึ่งหรือสองธาตุแล้วแต่ชนิดของสารประกอบที่เป็นแม่ปุ๋ยนั้น ๆ มีปริมาณของธาตุอาหาร ปุ๋ยที่คงที่ เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต มีไนโตรเจน 20% N ส่วนโปรแทสเซียมไนเทรต มีไนโตรเจน 13% N และโพแทสเซียม 46% K(,2)O อยู่ร่วมกันสองธาตุ 
   
 ปุ๋ยผสม
   
  ปุ๋ยผสม ได้แก่ ปุ๋ยที่มีการนำเอาแม่ปุ๋ยหลาย ๆ ชนิดมาผสมรวมกัน เพื่อให้ปุ๋ยที่ผสมได้มีปริมาณและสัดส่วนของธาตุอาหาร N P และ K ตามที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีสูตรหรือเกรดปุ๋ยเหมาะที่จะใช้กับพืชและดินที่แตกต่างกัน ปุ๋ยผสมนี้จะมีขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปเพราะนิยมใช้กันมาก ปัจจุบันเทคโนโลยีในการทำปุ๋ยผสมได้พัฒนาไปไกลมาก สามารถผลิตปุ๋ยผสมให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ มีการปั้นเป็นเม็ดขนาดสม่ำเสมอสะดวกในการใส่ลงไปในไร่นา ปุ๋ยพวกนี้เก็บไว้นานๆ จะไม่จับกันเป็นก้อนแข็ง สะดวกแก่การใช้เป็นอย่างยิ่ง 
 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 11:18:12
2. ปุ๋ยอินทรีย์      
 
 ปุ๋ยอินทรีย์ คือสารประกอบที่ได้จากสิ่งที่มีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ผ่านกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชจึงชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น

ปุ๋ยอินทรีย์ มีปริมาณธาตุอาหารอยู่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี และธาตุอาหารพืชส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ไนโตรเจนอยู่ในสารประกอบจำพวกโปรตีน เมื่อใส่ลงไปในดินพืชจะไม่สามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้ทันที แต่ต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในดิน แล้วปลดปล่อยธาตุอาหารเหล่านั้นออกมาในรูปสารประกอบอินทรีย์ เช่นเดียวกันกับปุ๋ยเคมี จากนั้นพืชจึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้

ปุ๋ยอินทรีย์มี 3 ประเภทคือ 1) ปุ๋ยหมัก 2) ปุ๋ยคอก และ 3) ปุ๋ยพืชสด
 
    
   ปุ๋ยคอก  
    
  ปุ๋ยคอก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้มาจากสิ่งขับถ่ายของสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ และห่าน ฯลฯ โดยอาจจะใช้ในรูปปุ๋ยคอกแบบสด แบบแห้ง หรือ นำไปหมักให้เกิดการย่อยสลายก่อนแล้วค่อยนำไปใช้ก็ได้ ซึ่งต้องคำนึงถึงชนิดของดินและพืชที่ปลูกด้วย โดยเฉพาะการใช้แบบสดอาจทำให้เกิดความร้อน และมีการดึงธาตุอาหารบางตัวไปใช้ในการย่อยสลายมูลสัตว์ ซึ่งอาจจะทำให้พืชเหี่ยวตายได้

การใช้ปุ๋ยคอกนั้น นอกจากจะมีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชในดินแล้ว ยังช่วยทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย ทำให้การเตรียมดินง่าย การตั้งตัวของต้นกล้าเร็วทำให้มีโอกาสรอดได้มากด้วย
 
    
 ปุ๋ยหมัก
    
  ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ซึ่งได้จากการนำชิ้นส่วนของพืช วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น หญ้าแห้ง ใบไม้ ฟางข้าว ซังข้าวโพด กากอ้อยจากโรงงานน้ำตาล และแกลบจากโรงสีข้าว ขี้เลื่อยจากโรงงานแปรรูปไม้ เป็นต้น มาหมักในรูปของการกองซ้อนกันบนพื้นดิน หรืออยู่ในหลุม เพื่อให้ผ่านกระบวนการย่อยสลายให้เน่าเปื่อยเสียก่อน โดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์จนกระทั่งได้สารอินทรียวัตถุที่มีความคงทน ไม่มีกลิ่น มีสีน้ำตาลปนดำ  
  

  เราสามารถทำปุ๋ยหมักเองได้ โดยนำวัสดุต่างๆ มากองสุมให้สูงขึ้นจากพื้นดิน 30-40 ซม. แล้วโรยปุ๋ยคอกผสมปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม ต่อเศษพืชหนัก 1,000 กิโลกรัม เสร็จแล้วก็กองเศษพืชซ้อนทับลงไปอีกแล้วโรยปุ๋ยคอกผสมปุ๋ยเคมี ทำเช่นนี้เรื่อยไปเป็นชั้นๆ จนสูงประมาณ 1.5 เมตรควรมีการรดน้ำแต่ละชั้นเพื่อให้มีความชุ่มชื้น และเป็นการทำให้มีการเน่าเปื่อยได้เร็วขึ้น กองปุ๋ยหมักนี้ทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ ก็ทำการกลับกองปุ๋ยครั้งหนึ่ง
 
    
 ปุ๋ยพืชสด  
    
  ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดินซึ่งได้แก่พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ แล้วทำการไถกลบเมื่อพืชเจริญเติบโตมากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังออกดอก พืชตระกูลถั่วที่ควรใช้เป็นปุ๋ยพืชสดควรมีอายุสั้น มีระบบรากลึก ทนแล้ง ทนโรคและแมลงได้ดี เป็นพืชที่ปลูกง่าย และมีเมล็ดมาก ตัวอย่างพืชเหล่านี้ก็ได้แก่ ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว ถั่วลาย ปอเทือง ถั่วขอ ถั่วแปบ และโสน เป็นต้น
ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยพวกนี้เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากการผลิต หรือสังเคราะห์ทางอุตสาหกรรมจากแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้ตามธรรมชาติ หรือเป็นผลพลอยได้ของโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด  
 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 11:23:59
3. ปุ๋ยชีวภาพ    
 
  ปุ๋ยชีวภาพ คือปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีคุณสมบัติพิเศษสามารถสังเคราะห์สารประกอบธาตุอาหารพืชได้เอง หรือสามารถเปลี่ยนธาตุอาหารพืชที่อยู่ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชให้มาอยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้ กรมวิชาการเกษตรนับเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ได้ศึกษาวิจัยปุ๋ยชีวภาพมามากกว่า 30 ปี และผลิตปุ๋ยชีวภาพจำหน่ายให้แก่เกษตรกรด้วย
ปุ๋ยชีวภาพแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 
   
   กลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสังเคราะห์สารประกอบอาหารพืชไนโตรเจนได้เอง 
   
  ได้แก่ ไรโซเบียมที่อยู่ในปมรากพืชตระกูลถั่ว แฟรงเคียที่อยู่ในปมของรากสนทะเล สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่ในโพรงใบของแหนแดง และยังมีจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินอย่างอิสระอีกมากที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้แก่พืชได้เช่นกัน
   
 กลุ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยทำให้ธาตุอาหารพืชในดินละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น
   
  เช่น ไมคอร์ไรซาที่ช่วยให้ฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงอยู่ในดินละลายออกมาอยู่ในรูปที่พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้
 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 11:28:40
4. ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ     
 
  ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้อุณหภูมิสูงถึงระดับที่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งที่เป็นโรคพืช โรคสัตว์ และโรคมนุษย์ รวมทั้งจุลินทรีย์ทั่วๆ ไปด้วย จากนั้นนำจุลินทรีย์ที่มีสมบัติเป็นปุ๋ยชีวภาพที่เลี้ยงไว้ในสภาพปลดปล่อยเชื้อมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว และทำการหมักต่อไปจนกระทั่งจุลินทรีย์ที่ใส่ลงไปในปุ๋ยหมักมีปริมาณคงที่ จุลินทรีย์เหล่านี้นอกจากจะช่วยตรึงไนโตรเจนให้แก่พืชแล้ว ยังช่วยผลิตสารฮอร์โมนพืชเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของรากพืช และจุลินทรีย์บางชนิดยังสามารถควบคุมโรคพืชในดินและกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อีกด้วย


หัวข้อ: Re: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 11:34:46
เยอะมากสงสัยต้องอ่านวันล่ะกระทู้

ตามมาอ่านค้าบ ม่ะเคยทำนา แต่อยากทำ :D

ขอบคุณท่านที่ให้ความสนใจ.. จะพยายามน้ำข้อมูลดี ๆ มาลงให้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: HARLEY DAVIDSON ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 12:00:41
ขอบคุณสำหรับข้อมูลการเกษตรที่ดี ๆ  ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 13:04:22
พูดถึงโรคและแมลงศัตรูข้าวอาจทำให้หลายคนกังวลว่าทำไมมันมากมายขนาดนี้ แต่ในทางธรรมชาติแล้วเราสามารถใช้เทคนิคการดูแลต้นข้าวได้หลายวิธี ยกตัวอย่างการควบคุมแมลงศัตรูข้าวโดยชีววิธี โดยการใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน ในการควบคุมสามารถใช้ สมุนไพรขับไล่แมลงควบคู่กันไปด้วยเพราะตัวห้ำตัวเบียนไม่ได้กินใบ หรือรบกวนต้นข้าวเพียงใช้เป็นแหล่งหาอาหารหรือที่อยู่อาศัยเท่านั้น

แมลงตัวห้ำตัวเบียน

แม้ว่าแมลงจะมีการสืบพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถแพร่พันธุ์เพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว แต่แมลงก็มีศัตรูธรรมชาติมากมายที่คอยควบคุมประชากรของแมลงให้อยู่ในสมดุล ศัตรูธรรมชาติของแมลงได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันตรายต่อแมลง และอีกอย่างได้แก่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่เป็นศัตรูของแมลง ที่สำคัญก็คือแมลงด้วยกันเอง แมลงหลายชนิดที่กินหรืออยู่ภายในหรือภายนอกตัวของแมลงชนิดอื่น แมลง
เหล่านี้เราเรียกว่าตัวห้ำและตัวเบียนซึ่งปกติแล้วจะมีอยู่จำนวนมากพอที่จะควบคุมจำนวนประชากรของแมลงชนิดหนึ่ง ๆ ให้อยู่ในสมดุลคือ ไม่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่มาถึงปัจจุบันมนุษย์ได้ทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ไปเสียมาก ทั้งที่ฆ่ามันโดยตรงและที่ไปรบกวนเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งกระทบกระเทือนต่อวงจรชีวิตของมัน จนทำให้แมลงตัวห้ำและตัวเบียนน้อยลงเรื่อย ๆ จนไม่เพียงพอจะกำจัดแมลงศัตรูพืช ปัจจุบันได้มีการช่วยเพิ่มปริมาณแมลงตัวห้ำและตัวเบียนเช่น การผลิตแมลงเหล่านี้แล้วนำไปปล่อยในธรรมชาติ
เรียกวิธีการนี้ว่า การป้องกันกำจัดแมลงแบบชีววิธี ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

แมลงตัวห้ำ
แมลงตัวห้ำหมายถึง แมลงที่กินแมลงเป็นอาหาร แมลงตัวห้ำ
จะมีลักษณะที่สำคัญต่างจากแมลงตัวเบียนคือ

1. ส่วนมากมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าเหยื่อที่ใช้เป็นอาหาร
2. ส่วนมากกินเหยื่อโดยการกัดกินตัวเหยื่อ ทำให้เหยื่อตายทันที
3. ตัวห้ำจะกินเหยื่อหนึ่งตัวหรือมากกว่าในแต่ละมื้ออาหาร ดังนั้นจึงกินเหยื่อได้หลายตัวตลอดช่วงชีวิตการเจริญเติบโตของมัน
4. ตัวห้ำจะอาศัยอยู่คนละที่กับแมลงที่เป็นเหยื่อ และออกหาอาหารในที่ต่าง ๆ กันในแต่ละมื้อ

แมลงตัวห้ำมีมากมายหลายชนิดและมีอยู่ในเกือบทุกกลุ่มของแมลง เช่น ตั๊กแตนตำข้าว ด้วงบางชนิด แมลงวันบางชนิด ต่อแตนและมวนบางชนิด ส่วนแมลงปอ และแมลงช้างนั้นเกือบทุกชนิดเป็นแมลงตัวห้ำที่สำคัญทางการเกษตร แมลงตัวห้ำแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ พวกที่มีความว่องไว กระตือรือล้นในการออกหาเหยื่อ พวกนี้มักจะมีอวัยวะที่ดัดแปลงไปเพื่อช่วยในการจับเหยื่อ เช่น มีขายื่นยาวสำหรับจับเหยื่อ เช่น ตั๊กแตนตำข้าว บ้างก็มีตาใหญ่เพื่อจะได้เห็นเหยื่อได้ชัดเจน เช่น แมลงปอ เป็นต้น อีกพวกได้แก่ พวกที่กินเหยื่ออยู่กับที่ เช่น ด้วงเต่าลายกินเพลี้ยอ่อน ซึ่งไม่มีอวัยวะดัดแปลงเป็นพิเศษแต่อย่างใด แมลงตัวห้ำที่มีปากแบบกัดกินจะกัดเหยื่อเป็นชิ้น ๆ แล้วเคี้ยวกินเป็นอาหารเช่น ตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ เป็นต้น ส่วนตัวห้ำที่มีปากแบบแทงดูดจะแทงปากเข้าไปดูดกินของเหลวต่าง ๆ ในตัวแมลงจนแห้งเหลือแต่ซากแล้วทิ้งไป เช่น มวนเพชฌฆาต แมลงบางชนิดเป็นแมลงตัวห้ำทั้งในระยะที่เป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เช่น แมลงปอ ด้วงดิน แต่แมลงบางชนิดเป็นตัวห้ำเฉพาะตอนเป็นตัวอ่อนเมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะกินน้ำหวานหรือเกสรดอกไม้แทน เช่น แมลงวันดอกไม้ และบางชนิดก็เป็นตัวห้ำตอนเป็นตัวเต็มวัยในขณะที่เป็นตัวอ่อนจะกินซากพืชซากสัตว์เป็นอาหาร เช่นแมลงวันหัวบุบ เป็นต้น

ได้มีการนำแมลงตัวห้ำมาใช้กำจัดแมลงศัตรูทางการเกษตรประสบผลสำเร็จมาแล้วหลายตัวอย่าง ในต่างประเทศได้ใช้ด้วงเต่าลายทำลายเพลี้ยแป้งในสวนส้มด้วงเต่ายังสามารถกำจัดเพลี้ยอ่อนได้เป็นอย่างดีจนกระทั่งมีการผลิตด้วงพวกนี้จำนวนมากเป็นการค้า เกษตรกรสามารถหาซื้อแล้วนำมาปล่อยในสวนของตนเพื่อช่วยกำจัดเพลี้ยอ่อนได้ แมลงช้างปีกใสก็เช่นกันมีการผลิตออกมาขายในลักษณะเป็นไข่ที่สามารถนำไปวางในสวนเพื่อช่วยกำจัดเพลี้ยอ่อนและมด เป็นต้น



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 13:09:26
แมลงตัวเบียน
แมลงตัวเบียนเป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญทางเศรษฐกิจของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด แมลงตัวเบียนจะกินแมลงชนิดอื่นเป็นอาหารในลักษณะที่แตกต่างจากแมลงตัวห้ำ คือ

1. อาศัยกินอยู่ตัวเหหยื่อภายนอกหรือภายใน และอาศัยกินอยู่ในลักษณะนี้เป็นเวลานานตลอดวงจรชีวิต หรืออย่างน้อยก็ระยะหนึ่งของวงจรชีวิต
2. ตัวเบียนมีขนาดเล็กกว่าเหยื่อมาก ส่วนใหญ่เหยื่อหนึ่งตัวจะมีตัวเบียนอาศัยอยู่จำนวนมากมาย
3. ตัวเบียนจะค่อย ๆ ดูดกินอาหารจากเหยื่ออย่างช้า ๆ และทำให้เหยื่อตายเมื่อตัวเบียนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
4. ใช้เหยื่อเพียงตัวเดียวตลอดระยะการเจริญเติบโตของตัวเบียน


แมลงตัวเบียนของแมลงด้วยกันเองแตกต่างจากแมลงตัวเบียนสัตว์ชนิดอื่น คือทำให้แมลงที่เป็นเหยื่อตายในที่สุด แต่แมลงตัวเบียนสัตว์ชนิดอื่น เช่น หมัด ไรไก่ หรือเหา จะแค่ดูดเลือดและแร่ธาตุอาหารก่อให้เกิดอันตรายบ้างแต่ไม่ถึงกับตาย ความสัมพันธ์ระหว่างแมลงตัวเบียนและแมลงศัตรูพืชนั้นค่อนข้างเฉพาะเจาะจง บางชนิดจะทำลายแมลงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เฉพาะแมลงในกลุ่มพวกต่อแตนและแมลงวันบางชนิดเท่านั้นที่เป็นแมลงตัวเบียน (ตารางที่ 3) แมลงตัวเบียนจะทำลายเหยื่อในระยะต่าง ๆ กัน บางชนิดทำลายไข่ของเหยื่อบางชนิดทำลายตัวอ่อนหรือดักแด้ โดยปกติจะไม่ทำลายตัวเต็มวัยของแมลง แมลงส่วนมากเป็นตัวเบียนตอนเป็นตัวอ่อน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะหากินเป็นอิสระ ตัวเบียนบางชนิดอาศัยในตัวแมลง และเจริญเติบโตโดยใช้น้ำเลี้ยงในตัวแมลงเป็นอาหารแต่บางชนิดก็อาศัยอยู่ภายนอกและทำแผลขึ้นที่ผิวหนังของเหยื่อเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงจากภายใน

วงจรชีวิตของแมลงตัวเบียนเริ่มต้นจากตัวเบียนมาวางไข่ โดยใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปวางไข่ในตัวเหยื่อหรือบนตัวเหยื่อ ส่วนมากจะวางไข่หลายฟองแล้วจากไปหาเหยื่อตัวอื่น เพื่อวางไข่ต่อไป โดยมิได้ดูแลตัวอ่อนที่จะฟักออกมา แต่ตัวเบียนบางตัวจะปล่อยสารพิษออกมาก่อนเพื่อจะให้เหยื่อเป็นอัมพาตจะได้วางไข่ได้ง่ายขึ้น และอาจนำเหยื่อที่มันวางไข่บนตัวแล้วมาใส่ไว้ในรังที่มันสร้างขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าตัวอ่อนที่ฟักออกมาจะมีทั้งอาหารและที่อยู่อาศัย ปลอดภัยจากศัตรูตัวอ่อนของแมลงตัวเบียนเมื่อฟักออกจากไข่แล้วจะกินแร่ธาตุอาหารจากตัวเหยื่อ โดยเหยื่อก็จะยังคงมีชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมกับตัวเบียนก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อแมลงตัวเบียนเติบโตเต็มที่แล้วจะเข้าดักแด้อาจเข้าดักแด้ภายในหรือภายนอกตัวแมลงซึ่งถึงขณะนี้แมลงที่เป็นเหยื่อ
จะถูกดูดกินไปหมดแล้ว อาจเหลือเพียงเปลือกผนังลำต้นเท่านั้น จากนั้นตัวเบียนก็จะเจริญเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งมีชีวิตอยู่เป็นอิสระกินน้ำหวานดอกไม้เป็นอาหาร

ในธรรมชาติมีแมลงตัวเบียนหลายชนิดช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชอยู่แล้ว แต่มนุษย์เราก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น มีการผลิตแตนเบียนหลายชนิด แล้วนำไข่ไปปล่อยในแปลงปลูกพืช เช่นแตนเบียนฝอยไตรโคแกรมม่า ซึ่งเป็นแตนเบียนไข่ของหนอนผีเสื้อหลายชนิด ในประเทศไทย ได้มีการผลิตแตนเบียนชนิดนี้ในไข่ของผีเสื้อข้าวสาร แล้วนำไปปล่อยในแปลงอ้อย เพื่อใช้กำจัดหนอนกอทำลายอ้อย นอกจากนี้มีการนำแตนเบียนจากที่หนึ่งไปปราบแมลงซึ่งกำลังระบาดอีกที่หนึ่ง ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายและจำหน่ายแตนเบียนที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตรหลายชนิดด้วย






หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 13:17:25
กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตร

จุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นจนกว่ามันจะเกาะกลุ่มกัน จุลินทรีย์มีอยู่ในธรรมชาติ ทั้งในน้ำ ในอากาศและในดิน มีทั้งที่เป็นอันตรายต่อการทำให้เกิดโรคกับพืช มนุษย์ สัตว์และที่เป็นประโยชน์ในการสร้างสารปฏิชีวนะทางการแพทย์


1. จุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจน (Nitrogen Fixing Microorganisms) ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มแบคทีเรีย เพราะทำงานเร็วและมีจำนวนอยู่มาก โดยครึ่งหนึ่งของมวลจุลินทรีย์ทั้งหมดในโลกคือ แบคทีเรีย แบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องอยู่ร่วมกับตัวอื่นถึงจะตรึงไนโตรเจนได้แบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน (Symbiosis) เช่น ไรโซเบียม (Rhizobium sp.) ในปมรากพืชตระกูลถั่ว และอีกกลุ่มหนึ่งที่ตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ (Non-Symbiosis)


2. จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ หรือเซลลูโลส (Cellulolytic Microorganisms หรือ Cellulolytic Decomposers) เป็นพวกที่ย่อยสลายเซลลูโลส หรือซากพืช ซากสัตว์ ประกอบไปด้วย แบคทีเรีย รา แอคติโนมัยซิท และโปรโตซัว จุลินทรีย์พวกนี้พบได้ทั่วไประหว่างการสลายตัวของเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ ซากพืช ซษกสัตว์ ใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า และขยะอินทรีย์ชนิดต่างๆ ทำให้เกิดปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ขึ้นมาได้เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ น้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น

ในปุ๋ยหมักที่มีกิจกรรมจุลินทรีย์ค่อนข้างดีพบว่าในทุก 1 กรัมของปุ๋ยหมักจะต้องมีแบคทีเรีย 150-300 ไมโครกรัมและมีแบคทีเรียที่มีกิจกรรมสูง (Active) อยู่ 15-30 ไมโครกรัม มีเชื้อรา 150-200 ไมโครกรัมและมีเชื้อราที่มีกิจกรรมสูง 2-10 ไมโครกรัม มีพวกโปรโตซัว ซึ่งจะย่อยสลายเศษชิ้นส่วนขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง ต้องมีถึงประมาณ 10,000 ตัวต่อ 1 กรัมของปุ๋ยหมัก และมีพวกไส้เดือนฝอยชนิดที่เป็นประโยชน์ 50-100 ตัว


3. จุลินทรีย์ที่ละลายฟอสเฟตและธาตุอาหารพืชอื่นๆ (Phosphate and Other Nutrient Elements Solubilizing Microorganisms) จุลินทรีย์พวกนี้สามารถทำให้ธาตุอาหารพืชหลายชนิด เช่น ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี ทองแดง และแมงกานีส ที่มักอยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ ให้ละลายออกมาอยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งจุลินทรีย์ที่ช่วยส่งเสริมให้รากพืชดูดกินธาตุอาหารพืชได้ดีขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารบางชนิดได้ หรือดูดกินได้น้อย

       จุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการแปรสภาพฟอสฟอรัสจะมีทั้งกลุ่มที่ทำหน้าที่เปลี่ยนอินทรีย์ฟอสฟอรัสและอนินทรีย์ฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ในกรณีของสารอินทรีย์ฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชจะอยู่ในรูปของไฟทิน และกรดฟอสฟอรัส จุลินทรีย์กลุ่มนี้จะสร้างเอนไซม์ Phytase, Phosphatase, Nucleotidases และ Glecerophosphatase เพื่อแปรสภาพอินทรีย์ฟอสฟอรัสให้อยู่ในรูปของอนินทรีย์ฟอสฟอรัสที่เรียกว่า ออโธฟอสเฟต (Orthophosphate) ซึ่งเป็นพวกโมโน (Mono) และ ไดไฮโดรเจนฟอสเฟต (Dihydrogen Phosphate) จุลินทรีย์ดังกล่าวได้แก่ แบคทีเรียในสกุล Bacillus sp. และราในสกุล Aspergillus sp., Thiobacillus, Penicillium sp. และ Rhizopus sp. เป็นต้น นอกจากนี้สารประกอบอนินทรีย์ฟอสฟอรัสบางชนิดในรูปของหินฟอสเฟตซึ่งพืชยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้จุลินทรีย์บางชนิดในสกุล Bacillus sp. และ Aspergillus sp. จะสร้างกรดอินทรีย์ละลายฟอสฟอรัสออกมาให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ นอกจากนี้เชื้อราไมคอร์ไรซา (Mycorrhizal Fungi) ยังมีบทบาทในการละลายและส่งเสริมการดูดใช้ธาตุฟอสฟอรัส


4. จุลินทรีย์ที่ผลิตสารป้องกันและทำลายโรคพืช  จุลินทรีย์กลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและยับยั้งการเจริญของเชื้อราและแบคทีเรียพวกที่ก่อโรคบางชนิด เช่น กลุ่มแบคทีเรียที่ผลิตกรดแลคติก (Lactic Acids Bacteria) ได้แก่ Lactobacillus spp. บนใบพืชที่สมบูรณ์และมีสุขภาพดีแจะพบแบคทีเรียกลุ่มผลิตกรดแลคติกมาก จุลินทรีย์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องการออกซิเจน (Anaerobic Microorganisms) และมีประโยชน์อย่างมากในการเกษตร เช่น เปลี่ยนสภาพดินจากดินไม่ดีหรือดินที่สะสมโรคให้กลายเป็นดินที่ต้านทานโรค ช่วยลดจำนวนจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชให้มีจำนวนน้อยลง มีประโยชน์ทั้งกับพืชและสัตว์ นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการสร้างสารปฏิชีวนะออกมาทำลาลเชื้อโรคพืชบางชนิด เช่น เชื้อรา Aspergillus sp., Trichoderma sp. และเชื้อแอคติโนมัยซิทพวก Streptomyces sp.


5. จุลินทรีย์ที่ผลิตฮอร์โมนพืช แบคทีเรียหลายสายพันธุ์ เช่น Bacillus sp. สามารถสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เช่น ออกซิน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 13:52:35
วัชพืชในนาข้าว  


1. วัชพืชในนาชลประทาน
  • ชนิดวัชพืชที่สำคัญ
- หญ้าข้าวนก - ขาเขียด
- หญ้านกสีชมพู - กกขนาก
- หญ้าแดง - กกทราย
- หญ้าดอกขาว - หนวดปลาดุก
- ผักปอดนา - ผักแว่น
 
 
2. วัชพืชในนาน้ำฝน
  • ชนิดวัชพืชที่สำคัญ
- หญ้าข้าวนก - หญ้าปากควาย
- หญ้านกสีชมพู - หญ้าตีนนก
- หญ้าแดง - หญ้าแพรก
- หญ้าดอกขาว - หญ้าชะกาดน้ำเค็ม
- ผักปอดนา - หญ้าตีนกา
- ขาเขียด - หญ้าชันกาศ
- กกขนาก - หญ้ารังนก
- กกทราย - หญ้ากุศลา
- ผักแว่น - ผักเบี้ยหิน
- ผักบุ้ง - ปอวัชพืช  
- เซ่งใบมน - สะอึก
- ผักปราบนา - ผักโขมไร้หนาม
- เทียนนา - โสนหางไก่
- หนวดปลาดุก - ผักงวงช้าง
-  โสนคางคก - กะเม็ง
- หญ้าหางหมาจิ้งจอก - ถั่วลิสงนา

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่เนื่องจากเนื้อหาติดลิขสิทธิ์ครับ  http://www.brrd.in.th/rkb/weed/index.php.htm (http://www.brrd.in.th/rkb/weed/index.php.htm)  


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 20:50:45
“เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา “ทำนาผิดวิธี” อนาคต “สิ้นนา สิ้นชาติ”

แม้ว่า “มูลนิธิข้าวขวัญ” จะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิในปี 2541 แต่ อาจารย์ “เดชา ศิริภัทร” เริ่มต้นการทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาชาวนาตั้งแต่จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมในปี 2532

อาจารย์เดชาเล่าว่า การทำงานพัฒนาหรืองานช่วยท้องถิ่นจะเริ่มต้นที่ “ปัญหา” เป็นตัวตั้ง ซึ่งเมื่อกลับมาก็เห็นปัญหาของสุพรรณคือ “ชาวนา” ที่มีจำนวนมาก และปัญหาของชาวนาคือทำงานไม่ถูกวิธี ซึ่งเมื่อนำเทคนิคที่เราถนัดมาจับ พบว่าเทคนิคของชาวนาผิดหมดเลย

การทำนาในปัจจุบันกับทำนาในสมัยโบราณต่างกันมาก อาจารย์เดชาเล่าว่า ก่อนจะไปเรียนมหาวิทยาลัยขอนแก่นปี 2508 ตอนนั้นการทำนายังเป็นสมัยโบราณ ใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน คือ ปลูกปีละหน ใช้ควายไถนา วิธีการก็หว่านให้มันขึ้นเอง พอน้ำท่วมก็ปล่อยให้จมไป พอน้ำลดก็เกี่ยว วิธีการแบบนี้ทำมาเป็นพันปีไม่เป็นไร เพราะไม่ใช้ปัจจัยอะไรเลย เกี่ยวข้าวได้เท่าไรก็เท่านั้น แม้จะได้กำไรน้อยมาก แต่ได้เท่าไรก็เป็นกำไรหมด

แต่พอเรียนจบมหาวิทยาลัยปี 2512 อาจารย์เดชาเล่าว่า มีข้าวพันธุ์ใหม่มา คือ ข้าว กข.1 เป็นข้าวนาปรัง ปลูกได้ทั้งปี แต่ถ้าน้ำท่วมจะปลูกไม่ได้เพราะมันไม่จมน้ำ ก็กลายเป็นว่า แทนที่จะปลูกหน้าฝนถึงหน้าน้ำ ก็เปลี่ยนมาปลูกหน้าแล้งตลอด พอหน้าน้ำจะมาก็เลิกปลูก ดังนั้น แทนที่จะปลูกข้าวปีละครั้ง ก็ปลูกปีละ 2 ครั้ง โดยปลูกในช่วงหน้าแล้ง 8 เดือน ได้ 2 ครั้ง ยิ่งพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมและมีชลประทานมาถึงจะปลูกได้ทั้งปีหรือปีละ 3-4 ครั้ง แต่พันธ์ข้าวพื้นบ้านปลูก 4 เดือนได้ครั้งเดียว

“พันธุ์ข้าวใหม่พวกนี้นำการเปลี่ยนแปลงมาเนื่องจากปลูกได้ปีละหลายๆ หนและผลผลิตสูง แต่ผลผลิตสูงก็ต้องการปัจจัยเยอะ ปุ๋ยเคมีก็เข้ามา ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมนต่างๆ ก็มา และ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ก็เข้ามา”

ช่วงจังหวะเวลาดังกล่าว สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือ ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ปี 2504 – 2509 กับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 ตั้งแต่ปี 2510-2514

อาจารย์เดชาสรุปให้ฟังสั้นๆ ว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับแรก เป็นการวางแผนเตรียมคน เตรียมเขื่อน เตรียมพันธุ์ข้าว พอมาถึงแผนฯ ฉบับที่ 2 ก็เริ่มส่งเสริม ตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้ง ธ.ก.ส. มีพันธุ์ข้าวใหม่มาส่งเสริมให้ชาวนาทำ มีการตั้งเกษตรตำบล และเขตไหนมีชลประทานไปถึง ทางการก็เอาพันธุ์ข้าวใหม่มาแลกเอาพันธุ์ข้าวเก่าไปเก็บเพื่อให้ชาวนาปลูกพันธุ์ข้าวใหม่แทน ทำให้ชาวนาทิ้งพันธุ์ข้าวเก่า ตอนนี้ชาวนาไม่ปลูกพันธุ์พื้นบ้านกันแล้ว แต่การทำนาสมัยใหม่ทำให้เกิดปัญหาคือ

1. ชาวนามีปัญหาหนี้สินเยอะ

2. ทำนาแล้วมีแต่ขายนา

3. ทำนาแล้วลูกหลานหนีหมด

“ปัญหาดังกล่าวทำให้แทนที่ชาวนาจะเป็นกระดูกสันหลังก็กลับกลายเป็นรากหญ้า แบบนี้เขาเรียกว่า ‘ดูถูก’ และชาวนาก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปขอให้คนอื่นเขาช่วย เข้าโครงการจำนำข้าวทีก็เอาเงินมาปลดหนี้ที แบบนี้ทั้งตัวเองไม่รอดและเดือดร้อนคนอื่นด้วย”

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าว เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างเดือนร้อนคนอื่น รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีจากคนอื่นมาซื้อข้าวในโครงการรับจำนำมาเก็บไว้ แต่ละปีต้องใช้เงิน 300,000 ล้านบาทขึ้นไป นั่นคือเงินภาษีต้องไปกองไว้ปีละ 300,000 ล้านบาทขึ้นไปเพื่อช่วยชาวนา พอรับจำนำเสร็จแล้วก็ต้องนำไปขาย ซึ่งแต่ละปีรัฐบาลต้องขาดทุนอีกปีละ 100,000 กว่าล้านบาทเป็นอย่างน้อย

แสดงว่าแต่ละปีต้องเสียเงินฟรีๆ ให้ชาวนาเป็น 100,000 ล้านบาท แล้วชาวนาทำอะไรให้บ้าง ชาวนากลายเป็นภาระของสังคมและเบียดเบียนคนอื่น

เพราะฉะนั้น ชาวนาต้องทำนาให้ถูกวิธี คือ ต้องมีต้นทุนต่ำ ไม่ใช่ต้นทุนสูงแบบนี้ และทำงานเสร็จแล้วต้องมีเงินเหลือโดยไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น แต่ปัจจุบันชาวนาทำนาได้กำไรนิดเดียว ถ้าขาดทุนจะขาดทุนเยอะ ทำให้มีหนี้สินเป็นล้านบาท

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญระบุว่า ชาวนาแถวสุพรรณบุรี ถ้าทำนาปรัง 3 ครั้ง มีหนี้เป็นล้าน แต่ทำนา 2 ครั้ง มีหนี้เป็นแสน ถ้าทำครั้งเดียวมีหนี้เป็นหมื่น เรียกว่า “ยิ่งทำหนี้ยิ่งเยอะ” เพราะยิ่งทำก็ได้เครดิตหรือสินเชื่อเพิ่มขึ้น ยิ่งกู้ก็ยิ่งมีหนี้มาก แต่มีรายได้ไม่เพียงพอ เพราะตัวเองขาดทุนอยู่แล้วจากการทำนาแบบต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงเกิดโรคแมลงสูง เนื่องจากใช้วิธีเคมี ไม่ใช้ธรรมชาติ ทำให้โรคแมลงดื้อง่าย

ดังนั้น ปัญหาของชาวนาคือ มีต้นทุนสูง มีความเสี่ยงสูง และข้าวคุณภาพไม่ดี ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ขณะเดียวกันชาวนาไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูก เพราะอันตราย ไม่อร่อย ต้องซื้อข้าวกิน ต้องพึ่งตลาด และตัวเองยังได้รับสารเคมีจากการทำนา มีโอกาสเป็นมะเร็ง เป็นเบาหวาน และเป็นโรคสารพัดเต็มไปหมดยิ่งกว่าคนเมืองเสียอีก

“ชาวนามีแต่ของเสียเต็มไปหมด และกระจายไปทั่วประเทศด้วย เพราะเวลาทำนาของเสียต่างๆ ไปกับน้ำ กับลม กับอากาศ คนซื้อข้าวกินก็กินข้าวที่ชาวนาไม่กิน จะเห็นว่าเป็นผลเสียทั้งประเทศ และไปเบียดบังภาษีที่คนอื่นต้องจ่าย แบบนี้ไม่มีอะไร ดีอย่างเดียวคือพวกนี้ประชานิยมง่าย รัฐบาลไหนสัญญาว่าจะให้ ชาวนาก็ไปลงคะแนนเลือกเขาหมด เพราะอ่อนแอ ต้องพึ่งรัฐบาล”

ที่เขาเรียกว่า ‘สิ้นนา สิ้นชาติ’ ก็แบบนี้แหละ” อาจารย์เดชากล่าวและบอกว่า ถ้าจะช่วยชาวนาต้องช่วยที่ต้นตอ คือการปลูกข้าวที่ถูกวิธี และต้องถูกทั้งทางโลกทางธรรม

ทางโลก คือ ต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย ไม่เสี่ยงต่อการเสียหาย คุณภาพดี ไม่ทำลายธรรมชาติ และชาวนาสามารถมีรายได้พอกับการครองชีพ ไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น ส่วนทางธรรม คือ ทำนาแบบไม่โลภ ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ ไม่ต้องไปทำร้ายผู้บริโภค ไม่ไปเอาของมีพิษให้คนอื่นกิน และตัวเองก็ไม่ทำบาป

“เราคิดแบบพุทธ คือ กำไรหรือขาดทุนอยู่ที่ปัจจัย ถ้าเราขายได้ถูกกว่าต้นทุนก็ขาดทุน ทั้งนี้ราคาข้าวเรากำหนดไม่ได้ เป็นปัจจัยภายนอกที่ขึ้นอยู่กับตลาด แต่ต้นทุนเรากำหนดได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเน้นที่ต้นทุนหรือสิ่งที่เรากำหนดได้ ถ้าปัจจัยข้างนอกดีเราก็ดีมากขึ้น ถ้าปัจจัยข้างนอกไม่ดีเราก็อยู่ได้เพราะต้นทุนต่ำ แต่ถ้าไม่ลดต้นทุนเลย รอให้ราคาข้าวแพงอย่างเดียวเมื่อไรจะได้ และถึงราคาข้าวจะแพง ถ้าเกิดโรคระบาดก็ไม่มีผลผลิตไปขาย แล้วจะมีรายได้อย่างไร เสียสองต่อเลย”

อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า ทำนาวิธีใหม่ไม่มีการสอน ทุกอย่างเราต้องพัฒนาขึ้นมา แล้วเอาไปสอนชาวบ้าน ก่อนจะสอนต้องทำให้ได้ก่อน มีแปลงทดลอง ต้องทดลองจนรู้ได้ผลจริง เมื่อทดลองได้ผลจริงแล้วก็ไปหาชาวนาที่เขาต้องการลองจริงๆ ไปหาสัก 1-2 คน แล้วรับประกันให้เลยว่าถ้าไม่ได้ผลจะจ่ายชดเชยให้ ถ้าชาวนาคนนั้นผ่านได้ผลจริง ก็เอาไปสอนชาวบ้าน เพราะได้ผ่านการพิสูจน์จากชาวนาจริง ไม่ใช่เรา เพราะชาวนาเขามีปัจจัยบางอย่างควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราควบคุมได้ ถ้าผ่านชาวนาไปแล้วปรับให้เข้ากับชาวนาส่วนใหญ่ก็ทำได้เลย

ชาวนาที่ทำนาตามวิธีใหม่แล้วประสบความสำเร็จคือ “คุณชัยพร พรหมพันธุ์” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้เป็นเกษตรดีเด่นสาขาทำนา เมื่อปี 2538

“เราทำงานปี ’32 ลูกศิษย์เราได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นดีเด่นระดับชาติ ในวันพืชมงคลเมื่อปี 38 เมื่อคุณชัยพรทำได้แล้วเราก็สังเกตดูว่าเป็นแกอย่างไร ตอนนั้นแกเริ่มจากมีที่นา 25 ไร่ ตอนนี้มี 108 ไร่ เขาซื้อเพิ่มเพราะว่ารวยขึ้น ได้กำไรปีละเป็นล้านบาท”

อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า ตอนแรกคุณชัยพรมีที่นา 25 ไร่ แต่ถ้ามีที่น้อยกำไรก็น้อย จึงเช่าเขาเพิ่มเป็น 90 ไร่ เมื่อได้ที่ทำนา 90 ไร่ มีกำไรปีละเป็นล้าน ก็ไปซื้อนาเพิ่มขึ้นๆ จนมีนาเป็นของตัวเอง 108 ไร่ แบบนี้แสดงว่าได้ผลแน่ เราก็เอาตัวอย่างนี้ไปสอนต่อ ปรากฏว่าไม่มีใครทำเลย

“อยู่นี่มาตั้งแต่ปี ’32 เพื่อนบ้านเราเป็นสิบรายไม่มีสักคนทำตามเลย เขาใช้เคมีหมดเลย มีคนหนึ่งอยู่แถวนี้ มีหนี้อยู่ล้านสาม (1,300,000 บาท) ต้องเอานามาขายเรา เราก็ต้องซื้อไว้ ไม่นั้นจะโดนยึดนา แต่เหลือนาเท่าไรเขาก็ทำนาใช้เคมีเหมือนเดิม นี่ขนาดจะโดนยึดนายังไม่เข็ด”

ทั้งนี้ วิธีทำนาของมูลนิธิข้าวขวัญไม่ใช้เคมี ผลผลิตจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ และแมลง แต่อาจารย์เดชายืนยันว่า ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยมากกว่าใช้วิธีเคมีแน่นอน เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าเขา 2-3 เท่า คือต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อตัน คือ ทำนาได้ข้าว 1 ตันข้าวเปลือกมีต้นทุน 2,000 บาท ขณะที่ชาวนาทั่วไปต้นทุนอย่างน้อย 6,000 บาทขึ้นไป

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณชัยพรขายข้าวได้ 2,000 บาทต่อตัน ก็เสมอตัว ถ้าขายได้ 4,000 บาทต่อตัน จะกำไร 100% และถ้าขายได้ 6,000 บาท ก็กำไร 200% ดังนั้นที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ก็กำไรเกิน 10,000 บาท หรือขายได้ 13,000 บาท แต่ต้นทุน 2,000 บาท ก็กำไรตันละ 11,000 บาท

เหมือนเมื่อปี 2551 ตอนนั้นข้าวขึ้นไปราคา 13,000 บาท คุณชัยพรได้กำไรทั้งหมด 2 ล้านบาท ปีนั้นไม่มีโครงการจำนำข้าวแต่ข้าวแพงขึ้นเอง และเมื่อปี 2554 น้ำท่วม นาที่สุพรรณ ส่วนใหญ่ปรกติจะท่วมปลายเดือนกันยายน แต่ปีก่อนแค่วันที่ 10 กันยายน น้ำก็มาแล้ว คุณชัยพรต้องเกี่ยวข้าววันที่ 10 กันยายน เกี่ยวหลังจากนี้ไม่ได้ ทำให้ได้ข้าวเขียวมาก ขายได้ราคาไม่ดีเพียง 4,000 บาท จากราคาข้าวในตอนนั้น 8,000 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้คุณชัยพรจะขายได้ 4,000 บาท แต่ก็ได้กำไร 2,000 บาท เนื่องจากมีต้นทุนเพียง 2,000 บาท แต่คนอื่นขาดทุนเพราะต้นทุนสูงกว่า

จากความสำเร็จของคุณชัยพร ซึ่งทำนาตามวิธีของมูลนิธิข้าวขวัญ ทำให้อาจารย์เดชามั่นใจว่า โมเดลการทำนาแบบคุณชัยพรจะทำให้ชาวนาไทยอยู่รอด และสามารถแข่งขันสู้ต่างประเทศได้หากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (เออีซี) เนื่องจากต้นทุนต่ำ แต่ปัญหาคือ ชาวนาคนอื่นๆ ไม่ทำตามโมเดลคุณชัยพร แม้แต่ชาวนารอบบ้านคุณชัยพรก็ไม่ทำตาม ทั้งที่เห็นชัดเจนว่าทำแบบคุณชัยพรแล้วกำไรดี ต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย ไม่เป็นโรคแมลง

“ทุกอย่างดีหมด แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่ทำหรอก เพราะทำแบบนี้ต้องเลิกใช้ปุ๋ยใช้ยา เขาเลิกไม่ได้ เขาบอกทำใจไม่ได้ นอนไม่หลับ ที่ทำใจไม่ได้ เพราะมีโฆษณาทุกวัน คนเมื่อถูกใส่โปรแกรมที่เขาเรียกว่า ‘ย้ำคิดย้ำทำ’ คุณต้องทำแบบนี้ดี ก็ลังเลว่าถ้าเราไม่ทำแบบนี้ก็ไม่ดีสิ โฆษณาแบบนี้ชาวนาไม่รอดหรอก เพราะคนเราไม่ได้อยู่ที่เหตุผล แต่อยู่ที่การให้ข้อมูล ผมพยายามส่งเสริมมาหลายปีแล้ว จะได้ผลก็เฉพาะกับคนที่ฉลาดจริงๆ เห็นโฆษณาแล้วไม่เชื่อ แต่คนส่วนใหญ่ 99.99% ไม่ฉลาดแบบนี้”

ทั้งนี้ อาจารย์เดชาบอกว่า ทำงานที่สุพรรณมากว่า 20 ปี แต่เครือข่ายลูกศิษย์ของมูลนิธิข้าวขวัญยังมีน้อยมาก หรือมีจำนวนเป็นเพียงหลักพันคนเท่านั้น แต่ชาวนามีตั้ง 18 ล้านคน

มีลูกศิษย์ที่มารับแนวคิดของมูลนิธิข้าวขวัญจากทั่วสารทิศ มีทั้งชาวนาแท้และไม่แท้ ชาวนาแท้ก็คือคนที่ทำนาเป็นอาชีพ ส่วนชาวนาไม่แท้คือคนทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกรุงเทพฯ ดูรายการ “ฉันอยากเป็นชาวนา” ของอุ้ม (สิริยากร พุกกะเวส) ก็อยากมาเรียนที่นี่ ซึ่งโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เปิดหลักสูตรสำหรับคนกลุ่มนี้ 2 วัน 2 คืน เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์

“มาตั้งแต่เย็นวันศุกร์ สอนแค่ 2 วันก็ทำนาได้แล้ว และพาไปเยี่ยมชมนาคุณชัยพรครึ่งวันด้วยซ้ำ กลับเย็นวันอาทิตย์ไปทำนาเป็นแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่มีที่นาก็ให้เราหาซื้อที่นาให้ เราก็ไปหาซื้อที่นาชาวบ้านให้ กลุ่มนี้จะเยอะขึ้น เพราะเขาอยากอิสระจากงานประจำ”

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญกล่าวว่า เรามีทางเลือกที่ถูกต้องให้แล้ว แต่ชาวนาไม่เลือกเพราะถูกล้างสมอง เชื่อว่าถ้าไม่ถูกล้างสมองและโฆษณาได้เช่นกันในเวลาที่เท่าๆ กันชาวนาก็คงเลือก ถ้าไม่ให้โฆษณาก็ไม่เหมือนกัน แต่เราไม่มีเงินเหมือนบริษัทขายปุ๋ยขายยาฆ่าแมลง แบบนี้จึงเหมือนถูกมัดมือชก เขามีเงินทุนโฆษณาได้ทั้งวันทั้งคืน

“จริงๆ โครงการจำนำข้าวไม่ควรจะมีอยู่ เพราะทำให้ชาวนาไปหวังผิดๆ รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ห้ามไม่ให้โฆษณาก็ช่วยได้มากแล้ว จากนั้นชาวนาจะไปดูกันเองว่าทำนาแบบไหนที่ไหนดีก็ทำตามเขา ง่ายนิดเดียว ไม่เช่นนั้นจะแข่งกับเวียดนามกับพม่าได้อย่างไร ถ้าจะแข่งขันได้รัฐบาลต้องปล่อยให้คนของเราสู้กับเขาได้จริง ไม่ใช่อุ้ม ถ้าอุ้มจะเอาเงินที่ไหนมามากมาย เพราะไม่ได้ช่วยแต่ชาวนาอย่างเดียว”

ปัญหาของชาวนานั้น นอกจากเรื่องต้นทุนสูง มีความเสี่ยงโรคแมลง และคุณภาพข้าวแย่ จนทำให้ชาวนาเป็นหนี้สินล้นพ้น ต้องขายที่นาและลูกหลานทิ้งแล้ว ปัญหาเรื่องการที่ชาวนาไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่เขาทำนา ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข เพราะทำให้ชาวนามีต้นทุนเพิ่มขึ้น และไม่มีความมั่นคงในอาชีพ แต่อาจารย์เดชามองว่า ปัญหาเช่าที่นาเป็นเรื่องหลัง เพราะดูอย่างคุณชัยพรก็เช่าที่นา แล้วทำไมสามารถซื้อที่นาเป็นของตัวเองได้ตั้ง 108 ไร่ เพราะเขามีกำไร

ดังนั้น ถ้าชาวนามีกำไรก็สามารถซื้อที่นาเป็นของตัวเองได้เช่นกัน แต่ตอนนี้ยิ่งเช่ายิ่งขาดทุนก็ยิ่งไปใหญ่ เรื่องปัญหาเช่าที่นาก็ต้องทำ แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแบบที่ว่า ทำนาแบบผิดๆ เรื่องนี้ต้องเร่งแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก

“การทำนาแบบผิดๆ เป็นปัญหาเร่งด่วน แต่รัฐบาลกลับไม่ช่วยอะไรเลย มัวแต่จะไปช่วยที่ไม่ได้ผล คือไปช่วยอะไรที่ถ้าบริษัทปุ๋ยและบริษัทยาฆ่าแมลงไม่ว่าก็ช่วย อย่างโครงการจำนำข้าว บริษัทไม่ว่าและยิ่งชอบ แต่ถ้าห้ามโฆษณา บริษัทไม่ชอบ เพราะขายของไม่ได้ กลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับบริษัท ถ้ารัฐบาลจะช่วยชาวนา ก็ควรห้ามโฆษณา ไม่ต้องสนใจบริษัทว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน”

เพราะฉะนั้น หากยังปล่อยให้ชาวนาถูกล้างสมองแบบนี้ไปเรื่อยๆ และรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาเช่นนี้ อาจารย์เดชาฟังธงว่าคงต้องให้ชาวนา “ล่มสลาย” ไปก่อน เพราะสุดท้ายคือตัวชาวนาเองต้องช่วยตัวเอง ถ้าชาวนาไม่ช่วยตัวเองก็ไม่มีใครช่วยได้ จะรอให้รัฐบาลหรือใครมาช่วยคงไม่มีทาง

ดังนั้นชาวนาต้องช่วยตัวเองถึงจะรอด แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะรอด และจะเป็นคนนอกวงการที่ต้องการอิสระที่จะมาแทนชาวนาแท้ ซึ่งปริมาณอาจจะน้อยลง แต่คุณภาพจะเพิ่มขึ้น

yoZ6CabWU20&feature



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 20:55:24
ชาวนาเงินล้าน  ชัยพร พรหมพันธุ์

B-l0g1lFGkE

1SMRYQcVfRQ&feature

นายชัยพร  พรหมพันธุ์

ประวัติ   อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

การศึกษา  จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอบางปลาม้า สมรสกับคุณวิมล พรหมพันธุ์ บุตรมี 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน

ผลงานดีเด่น          

      เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว นายชัยพร พรหมพันธุ์ ได้ออกมาช่วยบิดามารดาทำนา จนแต่งงาน จึงแยกครอบครัวไปประกอบอาชีพของตนเอง โดยมีการทำนาเป็นอาชีพหลัก และหล่อเสาปูนซิเมนต์เป็นอาชีพเสริม เริ่มทำนาจากที่ดินมรดก 40 ไร่ ซื้อที่ดินทำนาขยายเพิ่มขึ้นจนมีถึง 100 กว่าไร่ในปัจจุบัน ทำนาด้วยวิธีหว่านนาตม นายชัยพรเป็นผู้สนใจศึกษาหาความรู้ในการทำนาสมัยใหม่จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ เช่น จากเพื่อนบ้าน ร้านขายเคมีเกษตร และเจ้าหน้าที่เกษตร นำมาทดลองปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ ทั้งด้านการเตรียมพื้นที่ การใช้พันธุ์ดี การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง จนทำให้ได้ผลผลิตข้าวสูงกว่าคนอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน
 
              ต่อมานายชัยพรได้ริเริ่มทำการเกษตร โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เช่น สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ฯลฯ และใช้สารอินทรีย์วัตถุแทน ซึ่งการเตรียมพื้นที่และการบำรุงดิน นายชัยพรจะใช้ฟางที่เหลือจากการนวดข้าว หมักและไถผสมลงไปในแปลงนา เน้นการปรับพื้นที่นาให้เรียบเพื่อสะดวกต่อการควบคุมน้ำ การควบคุมวัชพืช และหว่านปุ๋ย ซึ่งสามารถใช้ปุ๋ยในปริมาณที่ต่ำกว่าชาวนาทั่วๆ ไป สำหรับพันธุ์ข้าวที่ใช้ได้นำเมล็ดข้าวพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรมาปลูกใหม่เสมอ รวมทั้งมีการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้ผลผลิตสูง ใช้ปุ๋ยน้อย และต้านทานต่อศัตรูพืช ซึ่งก่อนที่จะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปปลูกจะทำการแยกเมล็ดวัชพืชที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวออก โดยใช้ตาข่ายไนล่อนกรองแยกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นจึงนำไปแช่น้ำ ช้อนเมล็ดวัชพืชซึ่งลอยน้ำ เนื่องจากมีน้ำหนักเบาทิ้ง ซึ่งการควบคุมวัชพืชด้วยวิธีดังกล่าว ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปราบวัชพืชเลย นอกจากนี้ยังริเริ่มปรับปรุงเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ดัดแปลงเครื่องยนต์รถไถติดเทอร์โบเพื่อเพิ่มกำลังในการไถและบรรทุก ปรับแต่งองศาของผานไถใหม่ ให้ไถดินได้มากกว่าเดิม ทำให้การทำงานสะดวกและรวดเร็วขึ้น
             ในปี พ.ศ. 2532 ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมร่วมกับชาวนา ทดลองใช้สารสกัดจากพืช ควบคุมโรคแมลงในนาข้าวแทนสารเคมี และเนื่องจากบิดาของ นายชัยพร ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 เคยแพ้ยาฆ่าแมลง จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมาแล้ว จึงได้เข้าร่วมโครงการด้วย โดยทดลองใช้สารสกัดจากสะเดา ข่าแก่ และตะไคร้หอม ควบคุมแมลงในนาข้าว และมอบหมายให้นายชัยพรช่วยจัดการฉีดพ่นสารสกัดจากพืชแทน ผลที่ได้ปรากฏว่า สารสกัดจากพืชสามารถป้องกันโรคแมลงของข้าวได้จริง โดยเฉพาะในช่วงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดครั้งใหญ่ ปี 2533 - 2534 ทำให้นาข้าวส่วนใหญ่เสียหายสิ้นเชิง แต่แปลงที่ใช้สารสกัดจากพืชยังได้ผลผลิต ทำให้นายชัยพรมีแรงจูงใจในการใช้สารสกัดจากพืช ในการกำจัดแมลงศัตรูข้าว และเนื่องจากความเป็นคนสนใจและช่างสังเกตนายชัยพรจึงพบว่า สารสกัดจากพืชจะกำจัดแมลงศัตรูข้าวเท่านั้น แต่ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูข้าวยังคงอยู่ และเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อช่วยในการกำจัดแมลงศัตรูข้าวอีกทางหนึ่ง แม้จะหยุดใช้สารสกัดจากพืชเป็นบางครั้งแมลงศัตรูข้าวก็ไม่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้นายชัยพรยังใช้วิธีการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช เช่น การใช้ข้าวพันธุ์ต้านทาน ปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ในแปลงเดียวกัน หลีกเลี่ยงการใช้พันธุ์ข้าวที่ซ้ำ ๆ กันในพื้นที่เดิมติดต่อกันหลาย ๆ ปี ไม่หว่านข้าวหนา เพื่อให้แสงแดดสามารถส่องลงถึงพื้นดินได้ เป็นการป้องกันไม่ให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอาศัยอยู่ตามโคนต้นข้าว เป็นต้น การใช้วิธีดังกล่าว ทำให้นายชัยพรเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างสิ้นเชิงในปี 2534 ผลผลิตข้าวจากแปลงนาของนายชัยพรจึงปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งนายชัยพร ได้ประสานงานกับศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมจัดจำหน่ายข้าวปลอดภัยจากสารพิษ โดยบรรจุถุงวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า และร้านค้าทั่วไปทั้งในและนอกเขตจังหวัดสุพรรณบุรี

นายชัยพรได้เผยแพร่ความรู้ที่ตนเองมีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการฝึกปฏิบัติดูงานแก่นิสิต นักศึกษา นักเรียน เกษตรกร และบุคคลทั่วไปทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ รวมทั้งให้พักอาศัยและอำนวยความสะดวกจนได้รับหนังสือขอบคุณยกย่องเสมอมา รวมถึงการออกข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทางเอกสารสิ่งพิมพ์ เช่น วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เอกสารศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา หนังสือพิมพ์ ผลงานทางสถานีโทรทัศน์ เช่น รายการผู้หญิงยาตรา โลกสวยด้วยมือเรา พฤหัสสัญจร แม่บ้านสีเขียว ฯลฯ ผลงานที่เด่นชัดของนายชัยพร ทำให้เป็นหนึ่งในชาวนาไทยที่ได้รับคัดเลือกให้ไปดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2537

นายชัยพร เป็นคนหนุ่มที่ยังมีความคิดก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง แผนการดำเนินงานขั้นต่อไปได้ตั้งความหวังว่า จะผลิตข้าวที่เน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณผลผลิต ปลอดภัยจากสารพิษ และมีต้นทุนการผลิตต่ำ จากความวิริยะ อุตสาหะ ความตั้งใจ และผลงานที่ปรากฏ นายชัยพรจึงได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2538


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 21:16:32
นาอินทรีย์นิเวศน์ของคุณชัยพร  พรหมพันธุ์
Ecology Agriculture in Paddy Field  By Chaiyaporn Pormpun

เรียบเรียงโดย  สมหวัง   วิทยาปัญญานนท์

 มูลเหตุจูงใจดูงาน
ได้มีโอกาสไปดูงานทำนา ของคุณชัยพร พรหมพันธ์  เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2538 (081-174-2813) บ้านเลขที่ 31 หมู่ 1 ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี 72450 ห่างจาก อ. บางปลาม้าประมาณ  5 กิโลเมตร ภรรยาชื่อวิมล แม่ยายชื่อ ทองโปรย  ยิ้มประเสริฐ

           มูลเหตุจูงใจที่ไปดูงาน เพราะไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต ทำนาเกษตรอินทรีย์ แล้วเห็นคำว่า ซุปเปอร์ชาวนา ชัยพร พรหมพันธุ์  ทำนาอินทรีย์ 105 ไร่ ประเด็นที่น่าสนใจจากบทความคือ ทำนา 105 ไร่   2 คน  สามีภรรยาโดยไม่ต้องจ้าง ประดิษฐ์รถควักดินเอง ทำให้ต้นทุนต่ำ ประมาณการณ์จากบทความ น่าจะเป็นนาที่มีต้นทุนต่ำที่สุด คือประมาณ 2000 บาท/ไร่ ไม่รวมค่าเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการขาย แต่กำไรไร่ละหมื่นบาท

ปุ๋ยสมุนไพรไล่แมลงใช้กับสวนผลไม้ได้
 เพื่อนของแม่ยาย อดีตเป็นเจ้าของโรงเลื่อยไม้ที่ปทุมธานี  มีที่ดินอยู่ที่เชียงราย ก็ยังเอาน้ำสมุนไพรไล่แมลงจากคุณชัยพร ไปฉีดไล่แมลงในสวนผลไม้ ทดแทนยาฆ่าแมลงเคมี เดิม ทีแรก คนสวนที่ไม่ค่อยเชื่อว่าจะได้ผล พอได้ผล ก็ติดใจอยากได้อีก เพราะปลอดภัย และเล่าให้ฟังว่า เคยเข้าโรงพยาบาล หลังฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อนแม่ยาย เล่าให้ฟังว่า ที่นาเดิมที มีต้นไมยราบยักษ์ระบาดมาก  ต้องค่อยๆ ทำ ขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ โดยการทำทีละน้อย ตัด ฟัน เผาแล้วใช้ไกรโคเฟต และหมาแดง ฉีดพ่นอีกที การทำทีละน้อย เพื่อทะยอยจ่ายเงินจะได้ไม่ดูเป็นเรื่องใหญ่ ที่สวนก็มี  กระท้อน ลิ้นจี้ ลำไย หากเป็นลำใยก็สามารถขายที่เชียงรายได้ เพราะมีคนซื้อกิน  แต่หากเป็นกระท้อน ไม่มีคนกิน หากจะเอามาขายที่กรุงเทพผลผลิต 4 ตัน ก็ต้องเสียเงินค่าเก็บและค่าขนส่งมากรุงเทพแพงมาก จึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จึงจะมีรายได้จากกระท้อน ทดลองใช้อีเอ็นแค่เดือนเดียว ก็จะมีไส้เดือนในดิน แนะนำว่า คนทางเหนือ ชอบปลาช้อนและปลาหมึกแห้ง หากคิดไม่ออกว่าจะซื้ออะไรไปฝากคนทางเหนือ

ต้นทุนทำนาถูกสุดสุดทำได้อย่างไร

การลดต้นทุนทำนาของคุณชัยพร พรหมพันธ์ มีดังนี้

-         ต้นทุนแรงงาน ทำเอง ให้คนอื่นทำ เหยียบข้าวล้มหมด จึงต้องเอาไม้แหวกต้นข้าวไว้เดิน หากตัวเองทำตะแคงฝ่าเท้าเดินอย่างสบายๆ เอายาฆ่าหญ้าลูบข้าวดีด ก็ไม่ไปถูกข้าวดี เหมือนจ้างเขา คนอื่นทำเสียเงิน 600 บาท ทำเองแค่  3 ชั่วโมงก็เสร็จก็จะได้ประหยัดไปแล้ว 600 บาท

-         ต้นทุนค่าเช่านา ไม่มี เพราะซื้อเป็นเจ้าของเอง แรกๆ อาจเช่า พอมีเงินก็ซื้อเลย

-         ต้นทุนค่าปุ๋ย ใช้ปุ๋ยขี้หมู มาหมักอีเอ็มใส่ขี้หมู 4-5 กระสอบ/ไร่ กระสอบละ 20 กก. ซื้อมาใส่รถกระบะปิกอัพของตัวเอง เที่ยวละ 50 ลูก ต้นทุนแค่ 1,000 บาท ใส่ได้ 10 ไร่ ตกต้นทุนปุ๋ย 100 บาท/ไร่ ใส่ปุ๋ยขี้หมูแห้งก่อนทำเทือก หรือ พร้อมๆ กับทำเทือก โดยวิธีใส่กระบุ้งลงบนรถอีโกร่ง ปาดนาให้เรียบพร้อมๆกับหว่านปุ๋ยแห้งลงไปด้วย

-         ต้นทุนปุ๋ยน้ำหมักและฮอร์โมน  ก็ทำปุ๋ยน้ำหมักเอง ทำหัวเชื้ออีเอ็มเอง เอามาจากป่าห้วยขาแข็ง นอกจากนี้ยังทำฮอร์โมนไข่  และฮอร์โมนนมสดใช้งานเองด้วย

-         ต้นทุนยาสมุนไพรไล่แมลง ทำเองที่บ้าน ก็ปลูกต้นบอระเพ็ดด้วย ให้ขึ้นตามต้นมะม่วง ไม่ต้องดูแลมาก

-         ต้นทุนปลูกข้าว ใช้วิธีแช่น้ำข้าวเปลือกพันธุ์ 1 คืน พองอก ผสมไตรโคเดอร์ม่า แล้วเอาไปทิ้งเป็นจุดๆ เตรียมหว่านโดยวิธีพ่นกระจายทั้งนา หากทำเองไม่ทัน ต้นข้าวก็ไม่เป็นรากเน่า

-         ต้นทุนพันธุ์ข้าว ให้พันธุ์ข้าวสุพรรณ 60 เมล็ดพันธ์ก็เลือกเกี่ยว เอาต้นที่มีรวงเมล็ดมากๆ ไว้ทำพันธ์ เอามาผึ่งแดดลมให้แห้ง โดยใส่กระสอบปุ๋ยโป่งๆ ให้ล้มระบายได้อย่างน้อยๆ  45 วัน จึงจะปลูกได้ ตอนใช้งานช่วยแช่น้ำไตรโดเคอม่า  จะปาดเอาข้าวลีบเบาลอยน้ำออกไปขาย ไม่เอาทำพันธุ์

-         ต้นทุนไถนา ซื้ออีโกร่ง มาใช้งานเอง ช่วงวิ่งบนถนนก็ เอายางนอกรถยนต์หุ้มไว้เวลาลงนาก็ถอดออก การไถนาจะทำทีเดียว ถึงทำเทือกเลย ไม่มีไถดะก่อน

 

การทำนาหมักปุ๋ยขี้หมู เลี้ยงต้นกล้าข้าวอ่อน  18 วัน
สูตรการทำนี้หมักจุลินทรีย์ขี้หมู

                   ขี้หมูแห้ง                           1        ส่วน   (20 กก.)

                   น้ำธรรมดา                         10      ส่วน   (180 ลิตร)

                   ใส่อีเอ็มห้วยขาแข็ง              0.5     ส่วน   (1 ลิตร)

                   แช่น้ำ                                         2-3     คืน     (200 ลิตร)

                   ไม่ต้องใส่น้ำตาล

สูตรการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ขี้หมู
                   น้ำหมัก                                       1        ลิตร   

                   น้ำธรรมดา                         20      ลิตร

                   ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เมื่อข้าวอายุได้ประมาณ 18 วัน

 

การทำฮอร์โมนนมเลี้ยงต้นอ่อน 18 วัน
สูตรการทำหมักฮอร์โมนนม

บีทาเก็นหรือยาคูลน์ (นมเปรี้ยวจุลินทรีย์)   1 ขวด

              นมจืด                                             1 กระป๋อง

               แป้งข้าวหมาก                                  1  ลูก

หมัก  3 วัน จนมีกลิ่นหอม

สูตรการใช้

     นำน้ำสมุนไพรไล่แมลงผสมน้ำหมักฮอร์โมนนม  ฉีดบำรุงต้นข้าว และไล่แมลงไปพร้อมๆ กันจนได้ไม่เปลืองแรงงาน

 

เร่งดอกออกรวงด้วยฮอร์โมนไข่ (ข้าว 45 วัน)
          สูตรการทำ ฮอร์โมนไข่

          - ไข่ไก่หรือรกวัวแทน           5  กก. (ไข่ประมาณ  100 ฟอง)

          - กากน้ำตาล                      5  กก.

          - ลูกแป้งข้าวหมาก              1  ลูก

- ยาคูลน์ หรือบีทาเก็น หรือนมเปรี้ยว  1 ขวด

 วิธีการทำ

นำไข่ไก่ทั้งฟอง ปั่นให้ละเอียดแล้ว แล้วนำไปใส่ภาชนะ ผสมการน้ำตาลคลุกเคล้าให้เข้ากัน ต่อจากนั้นบดแป้งข้างหมากให้ละเอียดแล้วผสมกับยาคูลน์และนมเปรี้ยว แล้วนำไปบรรจุใส่ถังพลาสติก แล้วคนให้เข้ากัน แล้วปิดฝาหมักทิ้งไว้ 14 วัน โดยจะต้องเปิดคนทุกวัน จึงนำไปใช้ได้ ถ้าหมักนานเกินไป จะทำให้แห้งจะต้องเติมน้ำมะพร้าวอ่อน ที่มีเนื้อเป็นวุ้น  2 ลูก

สูตรการใช้งาน
             เมื่อข้าวอายุ 45 วัน จะเริ่มตั้งท้อง  100 ไร่ ใช้ฮอร์โมนประมาณ  5 กก. โดยใช้  30 ซซ. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น

          หลังออกรวงแล้ว จะฉีดฮอร์โมนไข่ อีกครั้งก็ได้ การฉีดพ่น  10-15 วันต่อครั้ง และควรฉีดพ่นขณะแดดอ่อน หรือในช่วงเช้า เพราะกลัวว่าจุลินทรีย์จะตายจากความร้อน

 การทำเทือก
ลูบเพื่อกดให้ระดับเรียบ นามีน้ำ ให้ไล่ดินก่อนแล้วลาก ตั้งระดับได้ มีกระดานลูบหลังเสมอเลย  หากท้องนาเสมอเรียบ จะใช้น้ำเข้านาน้อย ไม่เปลืองน้ำค่าสูบน้ำ คุมน้ำคุมหญ้าได้ง่าย และป้องกันน้ำแห้งเป็นจุดๆ ในที่ดอน

น้ำเข้านาวันที่ 7-25   ของวันปลูกข้าว  หลังจากวันที่ 25  แล้ว  ปล่อยให้น้ำในนาแห้งเอง

 

การหว่านข้าว
เอาข้าวเปลือกแช่ลงไปในน้ำในปลอกบ่อที่เตรียมไว้ใส่น้ำ  70% ที่ใส่เชื้อไตรโคเดอร์ม่าไว้แล้ว เอาข้าวเปลือกลอยๆ ออกทันที เพราะเป็นข้าวเบาข้าวล้ม ไม่มีน้ำหนักแช่ไว้  1 คืน แล้วตักใส่กระสอบปุ๋ย เอาไปค้างที่นาได้เลย วางกระสอบไว้เป็นจุดๆ ทั่วแปลง

     การหว่านใช้วิธีหว่านเครื่อง เป็นเครื่องพ่นหว่านโดยถอดลิ้นให้ล้มลง เอาตัวกันน้ำออก

          เครื่องหว่านเหมือนกัน 2  เครื่อง เอาไว้หว่านปุ๋ยแห้งปุ๋ยเม็ด และเอาไว้หว่านข้าว  1 เครื่อง อีกเครื่องลิ้นปิด ก็จะพ่นปุ๋ยน้ำ พ่นน้ำหมัก พ่นน้ำสมุนไพร น้ำฮอร์โมนได้พ่นเครื่องหนึ่งๆ  ห่างจากตัวผู้พ่นประมาณ  7 เมตร อัตราการใช้ข้าวเปลือก  2.5  ถัง/ไร่

หว่านไม่หมดก็ไม่เป็นไร หากไม่แช่เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ข้าวเปลือกจะขึ้นรา  ข้าวที่แช่แล้ว  1 คืน วางทิ้งไว้ในกระสอบชื้น จะเกิดตุ่มตา หากความชื้นหมด ตาจะหด จะใช้อีกก็จะนำกระสอบข้าวเปลือกแช่น้ำอีก เรียกตุ่มตาใหม่ก่อนเอาไปใช้งาน

 จำไว้ข้าวล้มให้เอาออกเลย เอาไว้ไม่ดีเพราะอาหารน้อยมีแค่ครึ่งเมล็ด เติบโตไม่ดีแล้ว เมล็ดลีบก็จะออกลูกเป็นเมล็ดลีบเช่นกัน

     การแช่น้ำ แค่น้ำเปล่าก็พอ ไม่ต้องใช้น้ำเกลือเพราะแค่น้ำเปล่าก็คัดเมล็ดนั้นออกไปมากแล้ว ต้องรีบตักข้าวลอยน้ำออก เพราะทิ้งไว้นาน ๆ ข้าวจะจมลงเพราะอุ้มน้ำเต็มที


แก้ปัญหาเพลี้ยไฟในนาข้าว

 ใช้สมุนไพรไล่แมลง ก็จะเหลือตัวหำตัวเบียน คอยกินเพลี้ย

อีกเทคนิคหนึ่งคือ อย่าหว่านข้าวหนาไป  จากเดิม  4-5 ถัง/ไร่ หนาไป ลดเหลือ  2.5 ถัง/ไร่ ก็พอดี หากต้นข้าวหนา แดดจะร่ม มีร่มเงามาก เพลี้ยชอบความชื้นและร่มเงา หากหว่านให้บาง  เพลี้ยจะหมดไป

          เป็นชาวนาต้องหมั่นเป็นนักสังเกตุ เคยทำนา  3 แปลง ทำแปลงต้นน้ำก่อน แล้วไล่น้ำลงมาแปลงสองและไปแปลงสาม

บังเอิญข้าวงอกครึ่งเดียว ทั้งๆ ที่หว่านหนาคิดว่าจะรื้อนา หว่านใหม่ แต่ทำใจไหนๆ ก็ไหนๆ ก็เลยปล่อยไปแบบข้าวนาดำ แรกๆ ดูข้าวบางๆ ไม่เต็มนา รู้สึกเบาๆ ไม่มั่นใจ ว่าข้าวต้องได้น้อยแน่ แต่ตรงกันข้ามหว่านไว้หนา กลับได้ข้าวถัง/ไร่ น้อยกว่าหว่านบางอีก ก็เลยหันมาหว่านแบบบางๆ  ตั้งแต่นั้นมา

 ต้นทุนทำนา
 เดิมทีมีแค่  30 ไร่  พอต้นทุนต่ำก็มีกำไรมาก ก็ขยายนา ซื้อไปเรื่อยๆ จนได้ 107 ไร่

ต้นทุนปี 2550 ประมาณ 2,000 บาท/ไร่  ปี 2551 ประมาณ 2,500 บาท/ไร่ เพราะราคาน้ำมันขึ้น   ต้นทุนนี้ไม่รวมค่ารถเกี่ยวข้าว (รถอุ้ม) กำไรไร่ละ 10,000 บาท หากปีไหนได้ผลผลิตมากกว่า 100 ถัง/ไร่ จะซื้อเครื่องประดับให้กำลังใจตัวเอง ในส่วนที่เกิด 100 ถัง/ไร่

ทำนา  10 ไร่ เท่ากับเงินเดือน 5,000-10,000 บาท/เดือน ทำ 2 รอบ/ปี ที่สุพรรณบุรี ดังนี้

          รอบแรก         ธันวาคม-เมษายน

          รอบสอง        พฤษภาคม-กันยายน

          พักให้น้ำท่วม  ตุลาคม-พฤศจิกายน

 

การรักษาดินนา
ให้ตรวจดินดูโดยการเดินย่ำนา หากนุ่มเท้าดินจะดี เพราะประกอบด้วยฟางจุลินทรีย์มากมาย   หากเป็นดินแย่ จะแข็งกระด้าง เดินไม่สบายเท้า มักเกิดจากการเผานาแบบรุนแรง คือ เผาขณะลมนิ่ง

          ยามจำเป็นต้องเผาฟาง  จะใช้เทคนิคการเผาฟางแบบลอกผ่าน โดยเลือกช่วงลมแรงๆ ไฟจะเผาฟางแบบผ่านๆ เผาไม่หมด


การทำเทือกโดยวิธีควักดิน
รถควัก ทำงาน  10 ไร่/วัน ดินนิ่มและยกเท้าเปื้อน ข้าวอายุ 45 วัน  เปิดน้ำทิ้งก่อนปลายข้าวเหลืองให้แห้งก่อน 

รถทำเทือกแบบที่ขายกัน จะตัดดินจนเละ  ดินข้างใต้ถูกตัดเสมอกันหมด  และพื้นแข็ง    สู้ควักเป็นจุด จะดีกว่า

ใส่ปุ๋ยขี้หมูช่วงข้าวอายุ 45 วัน
 ช่วง 45 วัน หากข้าวออกรวงช้า ให้เอาขี้หมูแห้งใส่กระสอบวางขวางน้ำเข้านา ให้น้ำชะล้าง ละลายออกไป ใช้ประมาณขี้หมู  1  กระสอบ/ไร่

หนที่ 2 อายุข้าว 50-55 วัน ใส่ปุ๋ยอีก

หากเมล็ดข้าวเล็กไป ให้บำรุงเมล็ดข้าวโดยฉีดฮอร์โมน

                   - ฉีดพ่นฮอร์โมนก่อนข้าวออกรวง     1 ครั้ง

                    - หลังออกรวงแล้ว ฉีดพ่นฮอร์โมน    1 ครั้ง

เกสรตัวเมียข้าวจะเปิดปากช่วง  9 โมงเช้าถึงบ่าย  2 ช่วงนี้  ห้ามฉีดพ่นฮอร์โมนหรือปุ๋ยใดๆ เพราะเมล็ดข้าวจะอมสารเข้มข้นเข้าไป เมล็ดจะแตก 

ทำนาข้าวไร้สารเคมีฉีดแล้วเทียวต่อได้
ทำนาข้าวไร้สารเคมี ไร้พิษภัยอันตรายฉีดเสร็จก็ไปช่วยงานสังคมได้ต่อเลย

ปราบหอยเชอรี่ด้วยนก
หอยเชอรี่ไม่มี เพราะนกกินหมด หลังจากทำเทือกแล้ว ปล่อยน้ำแห้ง นกจะลงมากินหอยในนา นกกินหลังทำเทือกเลย  กิน 1- 2 วัน หอยก็หมด แล้วนกจะไม่มาลงนาอีก เพราะอาหารหมด หากในนามีหอยอยู่ มีต้นกล้าอ้วน นกจะเดินย่ำกล้าอ่อน ทำให้ต้นกล้าตายได้ พอนกกินหอยหมด ก็จะไม่มาลงนาอีก เพราะรู้ว่าอาหารหมดแล้ว จากนั้นก็ค่อยหว่านข้าวลงนา

          การแหวกร่องน้ำ บางคนนิยมสวยงามดี ใช้แหวกเป็นเส้นคู่ขนานไปเลย ในทางประหยัดแรงงาน  ก็ไปดูว่าน้ำขังอยู่ตรงไหน ก็ลากแหวกเฉพาะตรงนั้นให้น้ำระบายออกไป ไม่เน้นความสวยงาม เน้นหน้าที่ร่องน้ำ ปลูกข้าวขึ้นหมดก็จะปกคลุมบังมิด ไม่เห็นร่องน้ำแล้ว


ทำอย่างไรให้ข้าวกินอร่อย
ช่วงข้าวออกรวงต้องปล่อยให้น้ำแห้ง ข้าวจะหอมคล้ายๆ วิธีเดียวกันกับผลส้ม หน้าแล้งรสเฉียบกว่าฤดูฝน

ข้อมูลนี้พบโดยบังเอิญ หว่านข้าว  3  เดือนครึ่ง หวิดน้ำไปอีกแปลงด้านท้าย  15 ไร่ น้ำไม่พอ ปรากฏว่าข้าวหอม ไม่ได้ทำอะไรเลย สรุปว่า ข้าวจะหอมต้องอดน้ำ ข้าวหอมปทุม หอมเพราะอดน้ำข้าวหอมมะลิ มีบางคนเอาหอมปทุมไปปน  หอมปทุมเป็นนาปรัง  100  ถัง/ไร่ แต่หอมมะลิเป็นนาปี  60  ถัง/ไร่

ดูแลแมลงศัตรูข้าว

มีแมลงมีหนอน ช่วงแรก หนอนจะห่อใบข้าว และมีเพลี้ยกระโดด ในนาข้าวอินทรีย์มีแมลงบ้าง แต่ไม่เสียหายใบหักไปบ้างไม่เป็นไร อย่ามากินรวงข้าว ก็แล้วกัน เพราะเราทำนาเองรวงข้าวเมล็ดข้าว  ไม่ใช่เอาใบข้าว

หนอนกินใบลงนามากๆ นกจะรู้ แล้วลงมาหาหนอน  กินแล้วนกจะเหยียบรวงข้าวหัก

ต้องฉีดสมุนไพร ได้ผลแน่นอนอยู่ที่ใจว่ามั่นใจในสมุนไพรไล่แมลง สมุนไพรต้องเก็บสะสม   ที่ใช้บ่อยๆ ก็มี บอระเพ็ด ผักคูณ สะเดา ยาสูบ (ยาฉุน) หางไหล (โลตั๋น)

 

การจัดการข้าวพันธ์
การเก็บข้าวพันธุ์จากการทำนาของตัวเอง เป็นพันธุ์สุพรรณ 60 ดูที่รวงแก่หน่อย เมล็ดสุขเหลืองทั้งรวง  ไม่มีต้นหญ้าอยู่ใกล้ๆ เกรงว่าจะเอาเมล็ดหญ้าปนมาด้วย เกี่ยวเสร็จ ก็เอามาตากแดด  1-2 วัน ขึ้นอยู่กับแสงแดดอ่อนแก่   จัดเก็บใส่ถุงปุ๋ยไว้

          การใช้ข้าวพันธุ์ไปปลูก ต้องเก็บอย่างน้อย 3  สัปดาห์ (21) วัน  จึงเอาไปใช้ได้เลยช่วง  30-45 วัน    % การงอกของเมล็ดข้าวจะสูงสุด

การเก็บข้าวพันธุ์เอง ช่วยทำให้ประหยัด ค่าพันธุ์ไม้ไว้ และสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวเองได้

ในท้องตลาด  หากเราขายข้าวเปลือกเพื่อกิน  110 บาท/ถัง แต่หากเราไปซื้อพันธุ์ข้าวมา ราคาจะเป็น  250  บาท/ถัง หรือแพงอีกเท่าตัว  และอาจควบคุมความเก่าใหม่ของเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ หรือมีข้าวอื่นปลอมปน หรือมีข้าวดีข้าวเสียปนมามาก หรือข้าวอายุเกิน ไม่ได้ อาจได้ข้าว  4  เดือน แทนข้าว  3  เดือน คนอื่นเก็บเกี่ยวหมดแล้ว ตัวเองยังไม่ออกรวงเลย จะช้ำใจ เพราะถูกเพื่อนชาวนาแปลงข้างๆ ถามเอา

ข้าว  4   เดือน มี ข้าวหอมปทุม  35  ข้าวปทุม 1 ข้าวพิษณุโลก  ข้าว 3 เดือน ก็มี ข้าวรวงทอง  ข้าวราชินี ข้าวพวงทอง แต่คุณชัยพร เลือก ข้าวสุพรรณ   60

          ข้าวสุพรรณ  60  นั้น  อายุตามฤดูกาลที่ปลูก

          ฤดูแรก          อายุ    90      วัน

          ฤดูสอง                   อายุ    107    วัน

ข้าวเปลือกแบ่งเป็น 3  ส่วน คือ ข้าวเปลือกขายโรงสี ข้าวเปลือกเก็บไว้สีกินเอง และ ข้าวเปลือกทำพันธุ์

ข้าวเปลือกที่เก็บไว้กิน 1   ถัง จะสีเป็นข้าวสารได้ 0.6  ถัง ให้คำนวณ ให้เพียงพอในการกินทั้งปี อาจเผื่อแจกจ่ายญาติด้วยก็ได้

 

จงทำใจเมื่อทำนาอินทรีย์
คนเริ่มทำนาอินทีรย์ใหม่ๆ จะมีปัญหามาก มีชาวนาอยุธยา จะโทรมาถามถึงคุณชัยพรบ่อยๆ   พอติดปัญหาก็โทรมาถาม แล้วก็เอาไปปฏิบัติ ได้ผลเกินคาดจริงๆ

ทำนาอินทรีย์ ต้องทำใจให้ได้ หากต้นข้าวไม่งามใบไม่เขียว ปุ๋ยเคมีพอช่วยได้บ้างในช่วงแรกๆ แต่อย่ามาก เพราะชาวนาจะชินต่อการทำให้ใบข้าวเขียว แต่สารเคมีฆ่าแมลงให้ห้ามเด็ดขาด

ข้าวใบงามเกินไป เมล็ดลีบ  ให้สังเกตุดู เขาเรียกว่าบ้าใบ หรือวัวพันธุ์เนื้อตัวใหญ่แต่น้ำนมน้อย  แต่วัวพันธุ์นม ตัวจะเล็กกว่า แต่ให้น้ำนมมากกว่า ข้าวใบรวงสั้น เมล็ดจะแกร่ง เมล็ดจะเต็มเปลือกใบข้าวนาอินทรีย์ใบจะคมบาดขาลายไปหมด
 
แนวคิดจูงใจตัวเองให้ทำเองดีกว่าจ้าง
ทำนาทั้งปี  2   ครั้ง ช่วง  3  ว่าง 3  เดือน รอน้ำท่วม นับวันแต่ละรอบทำนา วันทำงานจริง 30 วัน  นั้นคือ ทำงานทั้งปี แค่ 60 วัน/ปี วันว่างมีมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงแต่ขี้เกียจทำ ไปจ้างเขาหมด ลองทำเองบ้าง

ไปจ้างเขาฉีดพ่นปุ๋ยใบ  10 ไร่ เขามา 2 คน ทำแค่ 2  คน หมดไป 500 บาท ลองมาทำเองเสียเวลาแค่  3   ชั่วโมง ครึ่งวัน ประหยัดได้  500  บาท

เราทำเองอาจเร็วกว่า เพราะเราทำไปคิดไปว่าจะลดขั้นตอนงานให้น้อยลงอย่างไร สำรวจแปลงนาไปด้วย ประสิทธิภาพมากกว่า ระมัดระวังมากกว่า เพราะเป็นเจ้าของเอง การเดินก็ไม่เหยียบต้นกล้า จนเสียหาย คนอื่นเขาระวังน้อยกว่า

          การบนไว้กับตัวเองและภรรยา ว่าหากเกิน 100  ถัง/ไร่ (1 เกวียน/ไร่) จะขอส่วนเกินไปซื้อเครื่องประดับทองคำมาแต่งตัวแล้ว หากทำไม่ถึงก็อด ท้าท้ายตัวเอง หากจ้างคนอื่น ไม่มีทางทำได้มาก ต้องทำเอง จึงเกิดพลังใจในการทำงาน  มากกว่าจ้าง

ชาวบ้านเพื่อนบ้านไม่เชื่อว่า ทำนาได้มากกว่า  100  ถัง/ไร่ ต้องเก็บกากตั๋วขายข้าวมาให้ดู

          แนวคิดเรื่องปุ๋ยเคมี  มีพนักงานขายมากระตุ้นให้ชาวนาซื้อมากๆ แล้วมีชิงรางวัลเลี้ยงโต๊ะจีนพาไปดูงานต่างประเทศ  อย่าใจอ่อน ให้ทำเองใช้เกษตรอินทรีย์ อยากเที่ยว ก็ให้เก็บเงินไปเที่ยวเอง เขาต้องกำไรมากๆ มิเช่นนั้นเขาจะเอาโต๊ะจีนมาเลี้ยงได้อย่างไร ต้องคิดว่าเขาฟันเรา จะได้มีฤทธิ์สู้ ไม่ให้ใครมาเอาเปรียบ ซึ่งต้องตอบโต้  โดยการต่อสู้  ทำปุ๋ยใช้เอง  ไม่ยอมซื้อเด็ดขาด
 
แรงดลใจให้เป็นชาวนาอินทรีย์
 ตอนนี้เป็นชาวนาเกษตรอินทรีย์ไปแล้ว รับนักศึกษาเกษตรมาฝึกงาน โดยไม่คิดเงินเลย เลี้ยงอยู่เสร็จ มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรบางแสน และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แรงดลใจ  มีดังนี้

-         มีอาจารย์ด้านเกษตรมาช่วยสอนเรื่องทำนาให้
-         คนโบราณยังไม่เห็นใช้ยาเคมีเลย ยังทำนาได้
-         นาปรังบอกว่าทำนาไม่พอกิน ลองไม่ทำอะไรเลย ก็เห็นได้ผลผลิตออกมาพออยู่ได้
-         ข้าวนาเพลี้ยลง บางคนถึงกับถอดใจ เอาน้ำออกจนนาแห้ง  ปรากฏว่าข้าวรอด เพราะเพลี้ยอยู่ไม่ได้ เพราะร้อนและขาดความชื้น
-         ลองฉีดสมุนไพรดู ปรากฏว่าข้าวเต็มเมล็ดดี
-         ทำใจได้ อยากลองดู เพราะเป็นคนช่างคิดช่างสังเกตุ มีนิสัยเป็นนักทดลองอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว

ลองทำนาอินทรีย์ดู
ทำนาอินทรีย์มาแล้ว ประมาณ  25 ปีมาแล้ว แรกๆ ก็ทดลองน้อยๆ ก่อน  8  ไร่เป็นนาอินทรีย์ ที่เหลือ 14 ไร่ เป็นนาเคมี ปรากฏกว่านาเคมีมีเพลี้ยมาก นาเคมีกับนาอินทรีย์เป็นคนละเลนกัน ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จุลินทรีย์ในนาอินทรีย์ พอกับมาที่นาเคมี จุลินทรีย์ถูกสารเคมีก็ตายหมดเชื่อราที่ใช้  ก็มี

-         เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (ราเขียว) ใช้ตรวจเมล็ดพันธุ์ และฉีดพ่นฆ่าเชื้อราสนิมใบข้าว
-         เชื้อจุลินทรีย์ห้วยขาแข้ง (อีเอ็ม)  เพาะหัวเชื้อจุลินทรีย์เอง โดยไปเอาจากป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี ลักษณะนุ่มเป็นแผ่น หอมคล้ายเห็ด  อีเอ็มนี้มาทำเป็นอีเอ็มผงก่อน เก็บเอาไว้ โดยใช้ไปขอบบ่อเอาฟางคลุม เอาฝาปิดอีกที แล้วเอาไปใช้เป็นอีเอ็มน้ำ ใช้มาหลายปีแล้ว ยังไม่หมดเลย  ใครมาขอก็ยกให้ฟรีๆ อีเอ็มเราหมักไว้ย่อยฟางข้าวในนา และหมักขี้หมู และสมุนไพรไล่แมลง

 การทำอีเอ็มจากห้วยขาแข้ง เอาเชื้อราจากห้วงขาแข้ง ในลักษณะดินโป่ง ใช้วัสดุฟางข้าว ใบไผ่ ลำ แกลบ กากน้ำตาล น้ำธรรมดา ผสมกันแล้วราดให้ชุ่ม คลุกเคล้าให้ทั่วขณะราดน้ำ เอากระสอบป่านคลุมความชื้นไว้ จนเริ่มออกใยขาว แสดงว่าเชื้อเกิดแล้ว ปล่อยให้อยู่ในดินจนแห้ง โดยเก็บใส่ขอบบ่อที่อยู่ในร่มไม้ เอาฟางแห้งคลุม  เอาฝาปิดกระสอบป่าน อย่าให้ถูกแสงแดดและอย่าให้ร้อน 

เอาเชื้อแห้งผงใส่ถุงตาข่าย ไปใส่ในถังน้ำเปล่า ที่ใส่กากน้ำตาล แช่ถุงตาข่ายไว้ 4-5 วัน เชื้ออีเอ็มก็จะขยายลงในอยู่ในน้ำแทน โดยใส่ถังเขียนปิดฝาไว้  100  ลิตร

การทำแผนนาอินทรีย์
แรกๆ เราใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ เราใส่ปุ๋ยอะไรบ้าง มีไร่แล้วค่อยๆลดลง

การทำนาอินทรีย์มี  2  วิธี คือ
-         ทำนาอินทรีย์บางส่วนสัก 5-10% ของพื้นที่ที่เหลือเป็นนาเคมี แล้วค่อยๆ  ขยาย พื้นที่นาอินทรีย์จนเต็มแปลงภายในกี่ปี ตามที่แผนเรากำหนดไว้
-         ทำนาอินทรีย์ทั้งหมดทั่วพื้นที่ โดยกระบวนการ ลดเคมีฆ่าแมลงก่อน แล้วมาใช้สมุนไพรแทน จากนั้นก็ค่อยๆ ลงปริมาณปุ๋ยเคมีลง โดยทดแทนตัวปุ๋ยอินทรีย์และจุลินทรีย์ชีวภาพ ให้มาก

พื้นที่ทำนาเคมีเสียและเสื่อมโทรมมากๆ ก็จะฟื้นยากหน่อย จะปรับตัวไม่เท่ากัน อีกอย่างนี้เคมีจากแปลงอื่นใกล้เคียงก็ไหลเข้ามา เพราะมีการถ่ายน้ำนาจากแปลงโน่นไปใส่แปลงนี้ หรือใช้คลองห้วยร่วมกัน ให้ลองเอาดินและน้ำไปตรวจดูสารปนเปื้อนโลหะหนักมีพิษ  เคมีฆ่าแมลง
ให้เลิกใช้เคมียูเรียเลย เพราะมีแต่ใบและเป็นโรคง่าย ให้ใช้สูตรเคมี 16-20-0 ไปก่อนแล้วค่อยๆ ลดลง
 

สมุนไพรฆ่าแมลงตัวเก่ง

 เมล็ดมันแกว   :- ฤทธิ์แรงฆ่าแมลงได้เร็ว ฆ่าหนอน บดแล้วให้สุนัขกิน อาจตาย  ได้
กลอย            :- จะมีฤทธิ์เมา ฆ่าแมลงและหอยได้

ชาวนาต้องเก่งเครื่องจักรจึงจะลดต้นทุนได้
 เคยมีอาชีพหล่อเสาปูนขาย มีรถบรรทุกสิบล้อวิ่งข้าว เคยเป็นช่างอู่ จึงมีความรู้เรื่องช่าง

หากทำเองมีพื้นที่มาก ทำไม่ทันฤดูกาลและเวลาที่ให้ จะจ้างก็แพง ปกติทำนาเขาจะจุดไฟตอซังก่อนแล้วไถ  เห็นว่าไม่ดีก็เปลี่ยนวิธีใหม่

          เริ่มจากการทำแบบไถกลบฟาง  เห็นข้าวงามดี เพราะมีปุ๋ยจากฟาง ก็เลยประดิษฐ์รถควัก วิ่ง  3  ที ก็เสร็จแล้ว ทุ่นแรงเครื่องมือทำแรง

วิธีการทำเทือกที่รวดเร็วลดงาน
1.     หลักการ
-         จุดเลี้ยวพื้นจะไม่เสมอ เนื่องจากล้อบิดเป็นแอ่งลึก หากเลี้ยวเป็นวงแคบ ดังนั้นการเลี้ยวต้องเป็นวงกลม

-         ใช้คลื่นน้ำ กระแทกดินที่เป็นเลนพอดีๆ เรียบเอง ใช้หลักธรรมชาติช่วยทำงานให้

2.     วิธีการทำ

-         เริ่มจากแบ่งพื้นที่เป็น 2 ซีก
-         วิ่งผ่ากลางแปลง จากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ใช้แนวตรง
-         เมื่อชนสุด ให้เลี้ยวขวา (ด้านขวาแปลง) ตั้งฉากไปจนสุดแปลงนาแล้ววิ่งกลับมาใช้เส้นเดิม
-         พอเจอเส้นกลางก็ทำเทือกทางขวาของเส้นกลาง
-         วิ่งมาสุดอีกด้านของเส้นผ่ากลาง ก็เลี้ยวไปทางขวา (ด้านซ้ายแปลง)
-         วิ่งสุดก็วิ่งกลับมาจนเส้นกลาง
-         แล้วทำเทือกด้านซ้ายเส้นกลาง
-         แล้วทำซ้ำๆ ในลักษณะตัวเอส-ฉาก
-         เส้นกลางก็จะเป็นพื้นที่ขยายไปซ้ายขาวเรื่อยๆ
-         ดินเทือกก็จะถูกกระแทกไปเรื่อยๆ จนเรียบ
-         สุดท้ายให้ทำเทือกเรียบโดยวิ่งตามกรอบ รอบแปลงนา

 



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 21:19:48
สูตรน้ำสกัดสมุนไพรป้องกันและกำจัดแมลงและศัตรูข้าว
สมุนไพรจำเป็นแต่ละชนิดอย่างละ  5   กก. ดังนี้

ยาสูบหัวกลอย หนอนตายอยาก บอระเพ็ด หางไหลแดง เปลือกมังคุด เมล็ดมันแกว ขมิ้นชัน ไพล เปลือกสะเดา สมุนไพรเหล่านี้ สามารถปลูกเองได้รอบๆบ้าน จะได้ไม่ต้องซื้อหา

สมุนไพร (หากมี) แต่ละชนิดอย่างละ 5 กก. ดังนี้

ตะไคร้หอม  ว่านน้ำ ลูกมะกรูด เถามะระขี้นก ฝักคูณแก่

ใช้กากน้ำตาล  10  กก. หัวเชื้ออีเอ็ม 1 ลิตร หากกากน้ำตาลต้องซื้อ ก็ปลูกอ้อยสัก  1 งาน ก็สามารถใช้แทนกากน้ำตาลได้

วิธีทำ  สับส่วนประกอบทั้งหมดให้ละเอียดเป็นชิ้นเล็กๆ หรือบดให้ละเอียด (ยกเว้นกากน้ำตาลและหัวเชื้ออีเอ็ม) นำไปบรรจุในถังพลาสติกที่มีฝาปิดมิดชิด ใส่กากน้ำตาล อีเอ็มและน้ำ  โดยให้ท่วมส่วนผสมขึ้นมาประมาณ 15  ซม. คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝาให้สนิทแล้วเปิดคนกวนทุกวัน เป็นเวลา 14 วัน จึงจะนำไปใช้ได้

          การใช้ อัตรา 100-150   ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร การฉีดพ่น ควรทำในช่วงเช้า จึงจะมีประสิทธิภาพสูง ส่วนกากที่เหลือ จากการคั่นน้ำหมดแล้ว ให้นำไปเทลาดเวลาสูบน้ำเข้านา

 

การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์ม่า ชนิดสด
เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า มาใช้ตอนแช่ข้าวพันธุ์ก่อนปลูก และรักษาโรคเพลี้ย  โรครากเน่าได้ ตลอดจนเพิ่มฟอสเฟตในดินได้

          การเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ มีดังนี้

-         หุงปลายข้าวด้วยหม้ออุ่นข้าวไฟฟ้า ไม่นิ่มไม่แข็ง พอข้าวสุก ก็ใช้ทัพพีซุบขณะร้อน

-         ตักปลายข้าวสุกขณะร้อน ระวังเชื้ออื่นเข้าใส่ในถุงพลาสติกทนร้อน 8X12 นิ้ว หรือ 250  กรัม/ถุง

-         กดข้าวให้แบนพับปากถุง รอจนข้าวอุ่นเกือบเย็น

การใส่หัวเชื้อไตรโคเดอร์ม่า

-         ใช้เหยาะหัวเชื้อลงในถุงข้าวในที่ลมสงบ 2-3  ครั้ง หรือประมาณ 1 กรัม/ถุง

-         รัดยางตรงปากถุงให้แน่น เขย่าหรือบีบเบาๆ ให้เชื้อกระจายทั่วถุง

-         สวมถุงให้ปากถุงพองอากาศ แล้วใช้เข็มแหลมแทงบริเวณรอบๆ ปากถุงที่ยางรัดไว้

การบ่มเชื้อราไตรโคเดอร์มา
-         กดข้าวในถุงให้แน่น ห้ามวางถุงซ้อนทับกัน ดึงกลางถุงให้พองออก ไม่ให้ถุงติดข้าว ให้อากาศเข้าได้
-         บ่ม 2 วัน โดยวางถุงในห้องที่ปราศจากมด ไร และ สัตว์อื่น ๆ อากาศไม่ร้อน ไม่ถูกแสงแดด แต่มีแสงสว่าง  6-10 ชั่วโมง/วัน หากแสงไม่พอใช้หลอดนีออนช่วยแทน
-         ครบ  2  วัน บีบเขย่าข้าวที่มีเส้นใยให้แตก วางถุงในที่เดิม ดึงถุงให้อากาศเข้าอีกเหมือนเดิม
-         บ่มต่ออีก  4-5 วัน บีบดึงถุงอีก
-         ครบ 15 วัน จึงนำไปใช้
 

ปัญหาที่พบ
-         เชื้อขึ้นขาวแต่ไม่เขียว ข้างแฉะไป ต้องลดน้ำหุ้งข้าว
-         ปากถุงราเขียวก้นถุงราขาว อากาศไม่พอแสงไม่พอ ให้เจาะรูเพิ่มให้ใช้ไฟนีออนช่วย 
-         เกิดหยดน้ำในถุง วางถุงข้าวในที่ร้อน ให้วางในที่เย็น
-         เชื้อดำเสียในถุงข้าว มีจุลินทรีย์ปนเปื้อน ต้องทิ้งถุงข้าวโดยไม่ต้องแกะ
-         เชื้อเขียวแล้วกลายเป็นเชื้อขาว เชื้ออายุเกิน 7 วัน ให้บ่มเชื้อครบ 7 วัน แล้วเก็บถุงเชื้อในตู้เย็น
-         เกิดการปนเปื้อน เชื้อราไตรโคเคอร์ม่ากลายพันธุ์

วิธีการดูว่าเป็นนาอิทรีย์แล้ว
1.     สัมภาษณ์ แนวคิดชาวนา
-         มีความรู้เรื่องจุลินทรีย์ ทำนาอินทรีย์
-         ตอบปัญหาได้ในมุมของเกษตรอินทรีย์ จุลินทรีย์ชีวภาพได้ ในเรื่องลดต้นทุนปุ๋ย ยาฆ่าแมลง วัชพืช เนื้อดิน
-         สามารถบอกเวลาข้าวปิดเปิดเกสรตัวเมียได้
-         ค้นหาวิธีการลดงานลงโดยวิธีการตัดหรือรวมขั้นตอนการทำนา
-         วิธีการทำนาในแต่ละขั้นตอนสอดคล้อง
-         ผลงาน ผลผลิต

2.     เยี่ยมบ้านชาวนา
-         พบตุ่ม ไห ถังหมักจุลินทรีย์ ถุงปุ๋ยอินทรีย์
-         มีการปลูกพืชสมุนไพรใกล้บ้าน
-         มีการทำน้ำฮอร์โมนพืช
-         มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมัก ใช้เอง หรือเลือกซื้อได้
-         มีถังข้าวแช่น้ำจุลินทรีย์
-         มีรถไถนาขนาดเล็ก, และอุปกรณ์ทำนา เชิงระบบนิเวศน์
-         มีอุปกรณ์ตรวจสอบต่างๆ เช่น ทดสอบดินและน้ำ

3.     ตรวจนาอินทรีย์ภาพสนาม สถานที่ทั่วไป

-         มีเสียงกบเขียดร้อง
-         พบตัวห้ำตัวเบียน  มวลเพชรฆาต  แมงมุม ตามระยะเวลาการปลูกข้าว
-         ดินนาร่วนซุ่ย เดินแล้วนิ่ม ไม่แข็งกระด้าง ดินมีกลิ่นหอม ไม่เหม็น มีแก๊สบริสุทธิ์ ไม่มีแก๊สมีเทน หรือแก๊สไข่เน่า
-         น้ำสะอาดใส่ ไม่เน่าดำ เอาน้ำไปวิเคราะห์ไม่พบโลหะหนัก หรือมีน้อยมาก
-         มีซากอินทรีย์ ตอซังข้าว ที่มีลักษณะเป็นฮิวมัสแล้ว
-         เอาดินจากนา มาลอยเพาะเชื้อจุลินทรีย์ดู โดยการทดสอบกับน้ำผสมน้ำตาล จะมีแก๊สหอมชื้น
-         พบวิธีการทำนา เช่น การวางกระสอบปุ๋ยคอกวางขวางทางน้ำ
-         พบวิธีการ ฆ่าแมลงทางกล และชีวภาพ
-         มีเทคนิคการทำนาที่ใช้ในเชิงระบบนิเวศน์ เช่นการปลูกห่างและใบโปร่ง เพื่อกำจัดเพลี้ยและราสนิม โดยวิธีสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
-         ตรวจดูรวงข้าว เมล็ดเต็ม ไม่ลีบ จำนวนเมล็ดมาก จำนวนกอมีกี่ต้น ต้นละกี่รวง รวงละกี่เมล็ด
-         การกระจายความหนาแน่นต้นข้าวและรวงข้าว ในแต่ละไร่ ของแปลงนาว่าสม่ำเสมอ หรือแตกต่าง  สามารถอธิบายสาเหตุและผลได้
-         อธิบายธรรมชาติของนกกินหอย และแมลงศัตรูพืชได้ ในแง่โทษและประโยชน์พฤติกรรม นิสัย ที่สอดคล้องกับการควบคุมป้องกัน จำนวนประชากรแมลงไม่ให้มากถึงขั้นเสียหาย

บทส่งท้าย
 คุณชัยพร พรหมพันธุ์ เป็นชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์มามากกว่า 20 ปี มาแล้ว อาศัยที่ตัวเองเป็นช่างเทคนิค เป็นคนชอบสังเกตุ ชอบคิดใหม่ทำใหม่ คิดปรับปรุงงานให้ทำงานน้อยลง ตัดงานบางอย่าง อย่างไรโดยการรวมงาน การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องทุนแรง มาช่วยลดแรงคน การดัดแปลงเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว มาทำหน้าที่หว่านเมล็ดข้าวและปุ๋ยเม็ดได้ การทำอุปกรณ์สูบข้าวดีดอย่างง่ายๆ ราคาถูก การยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำเอง ใช้จ่ายประหยัด ใช้สารสมุนไพรไล่แมลงแทนเคมีฆ่าแมลง รู้จักธรรมชาติของนกในการลงนา การที่มีอุปนิสัยดี ที่ชอบสอนด้วย และมีแนวคิดกุศโลบายในการจูงใจตนเอง ให้ทำงานอย่างไร โดยไม่พึ่งคนอื่นมากนัก  การเป็นนักลดต้นทุนอยู่เป็นนิสัยรากฐาน  หากซื้อก็ซื้อน้อยที่สุด หากเป็นเครื่องจักรราคาแพงก็จะซื้อรถเก่า เช่น รถเกี่ยวข้าว รถใหม่ราคา 2  ล้านบาท ก็จะรอหาที่คนร้อนเงิน ขายรถเก่า ราคา 5 แสนบาท  1  ปี ก็ถอนทุนแล้ว เพราะไปรับจ้างเกี่ยวข้าวด้วย  การลดเวลาป้ายข้าวดีด โดยการเอาถังน้ำยาสะพายติดหลัง  คนเดียวกันทำได้  ไม่ต้องใช้ 2 คน แบบคนอื่น และไม่ต้องเดินย้อนไปมา  เดินเที่ยวเดียวไปทั่วไป งานจึงเสร็จเร็วและไม่เหนื่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 21:26:42
คนค้นคน  ตอน ปริญญาทำนา
ชัยพล ยิ้มไทร

kSrDQpxl-dE

จากตัวหนังสือไม่กี่หน้า ในนิตยสาร ค ฅน ฉบับที่ 48 เดือนตุลาคม 2552 ที่ตีพิมพ์เรื่องราวของ ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้าน ได้ทำให้เด็กหนุ่มดีกรีนิติศาสตร์บัณฑิตคนหนึ่งที่ไม่ชอบเป็นเจ้านาย หรือเป็นลูกน้องใคร ไม่คิดจะเดินอยู่บนเส้นทางสายนักกฏหมายเหมือนเพื่อน ๆ ที่จบมาด้วยกัน เขานั่งคิด นอนคิดว่า อาชีพอะไรที่เหมาะกับคนรักอิสระเช่นเขา และเขาก็ค้นพบว่า อาชีพ "ชาวนา" นี่แหละ คือสิ่งที่เขาปรารถนา

          รายการ คนค้นฅน ได้นำเสนอเรื่องราวของหนุ่มผิวคล้ำร่างใหญ่ ชัยพล ยิ้มไทร ชาวจังหวัดนนทบุรี วัย 27 ปี...เขาคือหนุ่มรักอิสระที่ดั้นด้นเดินทางไปหา ชัยพร พรหมพันธุ์ เพื่อขอคำแนะนำการทำเกษตรกรรม และชัยพรก็คือคนที่ทำให้เขาพบแสงสว่างของการเป็นชาวนา เมื่อได้รับคำแนะนำกลับมา หนุ่มคนนี้ก็ได้เช่าพื้นที่รกร้างในอำเภอเชียงราก จังหวัดปทุมธานี เพื่อเดินตามความฝันของตัวเองทันที



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2013, 21:37:39
คนค้นคน  ตอน แหลม อรหันต์ชาวนา

9H_KmdwyJAw

คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นสิ่งที่คุ้นหูกันดีอยู่แล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถนำกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจังและสมบูรณ์แบบ เฉกเช่น "อรหันต์ชาวนา" หรือกลุ่มชาวบ้านแห่งบ้านโนนยาง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ที่มีแหลม พูนศักดิ์ สมบูรณ์ เป็นผู้ริเริ่ม

          แหลม หรือ พูนศักดิ์ สมบูรณ์ เป็นลูกชาวนาธรรมดาๆ คนหนึ่งแห่งบ้านโนนยาง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เมื่อเรียนจบชั้น ป.6 แล้ว  "แหลม" ก็ได้เดินตามกระแสสังคม ก้าวเดินออกจากบ้านเข้ามาหางานทำในเมือง และประกอบอาชีพ "ช่างซ่อม" ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามองว่า ดูดี และทำเงินได้อย่างรวดเร็ว เขาได้เป็นช่างซ่อมประจำร้านในเมือง ก่อนจะเปิดร้านรับซ่อมเองที่บ้าน มีกำไรพอสมควร

จนเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง "แหลม" กลับมองว่า การเป็นลูกจ้างคนอื่น ไม่ใช่หนทางที่เขาอยากจะเลือกเป็น และเริ่มคิดว่า เขากำลังตกเป็นทาสของระบบทุนนิยม ตกอยู่ในวังวนของการเอารัดเอาเปรียบจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาไม่สบายใจ และนั่นทำให้ "แหลม" เริ่มมองหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

          หลังจากสับสนในชีวิตอยู่พักใหญ่ "แหลม" ก็ได้ไปดูงานของ "พ่อใหญ่เชียง น้อยไท" ชาวนาอาวุโสแห่งจังหวัดสุรินทร์ และเห็นแปลงเกษตรที่มีทั้งปลูกพืช สมุนไพร หลากหลายอย่าง ความประทับใจในครั้งนั้นทำให้ "แหลม" เริ่มมองเห็นความจุดมุ่งหมายของตัวเอง

 "การเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน" คือคำตอบสุดท้ายของ "แหลม" ทั้งที่เขาไม่เคยมีความคิดว่า จะทำนาเหมือนดังเช่นพ่อแม่ของเขามาก่อนเลย นั่นทำให้เขาเริ่มปรับเปลี่ยนชีวิตของตัวเองอีกครั้ง เขาตัดสินใจหันหลังให้กับการทำงานในเมือง ที่ใครๆ ต่างพากันยื้อแย่งเพื่อที่จะก้าวไปสู่ดินแดนศิวิไลซ์เช่นที่ "แหลม" มีโอกาส แต่สำหรับ "แหลม" เขามองว่า การพึ่งตัวเองได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

          "แหลม" ตัดสินใจกลับบ้านมาใช้วิถีชีวิตดังเช่นชาวนาชาวสวน ทำนาโดยใช้ควาย แทนที่จะใช้เครื่องจักร เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และปลูกสมุนไพรไปในคราวเดียวกัน

"ชาวนาที่ดูถูกควาย ผมไม่คิดว่าเค้าเป็นชาวนา ชาวนาจริงๆ จะคิดว่า ควายคือเพื่อนที่มีบุญคุณ สำหรับผมกลับยกย่องว่า ควายเป็นครู ผมต่างหากที่คิดว่าตัวเองเป็นศิษย์ของควาย" แหลมบอก

          แม้จะไม่มีใครเห็นด้วยกับความคิดของเขา และพากันเรียกเขาว่า "ผีบ้า" แต่ด้วยกำลังใจจาก "เรณู" ผู้เป็นภรรยา และลูกชายทั้งสองคน ก็ทำให้ "แหลม" ลุกขึ้นสู้ และฝ่าฟันจิตใจที่อยากจะกลับไปเป็นช่างซ่อมอีกครั้ง จนผ่านไปได้ด้วยดี

          "คนในหมู่บ้านมองว่าผมเป็นผีบ้า เพราะกลางคืนเดือนแจ้ง ผมจะลงไปขุดดินทำหลุมปลูกผัก บางวันก็ทำงานไม่หยุด เพราะต้องการที่จะให้มันเกิดผลเร็วๆ ให้พื้นที่แห้งแล้งกลายเป็นสีเขียวให้ได้ แล้วที่สำคัญผมต้องการพิสูจน์ให้ชาวบ้านที่เขาปรามาสไว้ว่า ไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่ผมจะทำให้ได้..."


 สิ่งที่ "แหลม" ทำสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงของแหลม คือเขาไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาต้องการ ก็สามารถหาได้จากไร่นาของเขา และความหลากหลายของการทำเกษตรก็ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ เพราะสามารถเก็บผลผลิตไว้ทานเอง ให้เพื่อนบ้าน หรือจะนำไปขายก็ได้

          "การทำอย่างนี้มันเหมือนกับเราฉีกสังคม แต่สังคมที่เราฉีกไปหาก็คือบรรพบุรุษของเรา มันคือรากเหง้าของเราเอง ถ้าทำเกษตรอินทรีย์แบบจริงๆ จังๆ นะ เราจะหลุดพ้นจากระบบนายทุนอย่างเต็มตัวเลย ทำนาง่ายนิดเดียว ลงแรงก็จริง เหนื่อยก็จริง แต่ก็แค่เดือนครึ่ง พอข้าวเต็มยุ้งฉาง เวลาที่เหลือจะนั่งเล่น นอนเล่นก็ได้"


 นอกจาก "แหลม" จะยึดแนวคิดพอเพียงมาใช้กับครอบครัวของตัวเองแล้ว เขาเล็งเห็นว่า สิ่งดีๆ เหล่านี้ควรจะถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย "แหลม" จึงเริ่มถ่ายทอดประสบการณ์การทำนาของตัวเองผ่าน "โรงเรียนอรหันต์ชาวนา" ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้การเกษตรแบบผสมผสาน โดยเริ่มให้ความรู้จากคนในหมู่บ้านก่อน จนเมื่อแนวคิดของเขาได้บอกต่อปากต่อปากไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ทำให้มีหลายคนหันมาสนใจการเกษตรแบบพอเพียงมากขึ้น โดยสิ่งที่ "แหลม" เน้นย้ำก็คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่จะทำให้คนอยู่รอดได้

"ความรู้ในวิชาชีพอื่นๆ นั้นถูกเผยแพร่เยอะแล้ว แต่ชาวนามีโอกาสน้อยมากที่จะได้ขึ้นเวทีพูดให้คนอื่นฟัง ผมอยากให้คนอื่นได้รู้กรรมวิธีของชาวนา ให้รู้ว่าเป็นชาวนาแล้วไม่อดตาย" แหลมกล่าวอย่างมุ่งมั่นและภาคภูมิใจในอาชีพของตัวเขา

          ปัจจุบัน "แหลม พูนศักดิ์" เป็นหนึ่งในความภูมิใจของชาวยโสธร จนชาวบ้านขนานนามเขาว่า "แหลม ยโสธร" และนี่ก็คือชีวิตที่เรียบง่าย แต่สร้างความสุขได้บนพื้นฐานการดำเนินชีวิตในแบบของ "เศรษฐกิจพอเพียง" และสมดังคำว่า "อรหันต์ชาวนา" ที่เปรียบประดุจชาวนาผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว จนสามารถหลุดพ้นจากวัฎสงสารของระบบนายทุน หลุดพ้นจากวังวนแห่งการใช้สารเคมี และการหลุดพ้นจากความจน อันเป็นผลพลอยได้ที่ตามมานั่นเอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 09:17:21


  ติตตามอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 14:12:43
ธาตุอาหารพืชในธรรมชาติ

ไนโตรเจน
ในพืช :
- ส่วนสีเขียวเข้มแก่จัดของพืชทุกชนิด. ต้นถั่วทุกชนิด. พืชตระกูลถั่ว (ก้ามปู. พุทรา. มะขามเทศ. มัยราบ. ทองหลาง. กระถินทุกชนิด. โสนทุกชนิด). สาหร่ายน้ำจืดทุกชนิด.
ในสัตว์ :
- เมือก-คาว-เลือด-เนื้อ สดๆ จากปลายังมีชีวิต.
ในน้ำ :
- น้ำฝน. น้ำค้าง. น้ำในแหล่งธรรมชาติ.

ฟอสฟอรัส
ในพืช :
- รากสดแก่จัด. เมล็ดในสดแก่จัด. ใบแก่ชะอม-ขจร-ถั่วพู-กระถิน-มะระ-บัวบก-ผักบุ้งจีน-สะระแหน่-หน่อไม้ฝรั่ง. งาดำ. ถั่วดำ. ถั่วลิสง. ถั่วเหลือง. เมล็ดบัว. ลูกเดือย. ดอกตูมและเกสร. สาหร่ายทะเล
- เนื้อผลไม้รสหวานสนิทแก่จัดสุกงอมจนออกกลิ่นฉุน เช่น กล้วย. เงาะ. มะละกอ. ทุเรียน. ละมุด. ฝรั่ง. น้อยหน่า. แก้วมังกร. มะปรางหวาน. มะยงชิด. ลองกอง. ลางสาด. มะขามหวาน. แตงโม. แคนตาลูป.
ในสัตว์ :
- เกร็ด-ก้าง-กระดูกปลาทะเล สด/แห้ง-เก่า/ใหม่
ในอาหารคน :
- มัสตาส. นมผงขาดมันเนย. เนยแข็ง. ลูกชิ้นกุ้ง. กะปิเคย

โปแตสเซียม
ในพืช :
- เปลือกและเนื้อของผลไม้รสหวานสนิทแก่จัดสุกงอมจนออกกลิ่นฉุนเหมือนฟอสฟอรัส
- ผลดิบแก่จัด เช่น ฟักทอง. แตงทุกชนิด. กระเจี๊ยบ. พริกสด. มะเขือพวง.
- ผักสด เช่น บล็อกโคลี่. ผักกาดขาว. ผักกาดหอม. ป๊วยเหล็ง.
- เปลือกแห้ง/สด/ใหม่ของผลไม้รสหวาน เช่น ทุเรียน. กล้วย. มะละกอ (ยกเว้น มังคุดและเงาะ)
ในสัตว์ :
- เนื้อสดสัตว์น้ำจืด/ทะเล. เครื่องในสัตว์บก/ทะเล

แคลเซียม
ในพืช :
- ผักผลสดแก่จัด เช่น ถั่วลันเตา. กระเจี๊ยบ. แตงดิบทุกชนิด. มะขามเทศมัน. กระถิน. มะระ. มะเขือเทศดิบ. บวบเหลี่ยม. งาดำ
- ผักใบสดแก่จัด เช่น คะน้า. โขม. กะเฉด. บล็อกโคลี่. ยอดปอ. ใบแก่ฟักทอง
- ผลดิบสดแก่จัดรสฝาดยังไม่สุก เช่น ฝรั่ง. อะโวคาโด. ผล/เมล็ดแตงแก่สดทุกชนิด. เมล็ดถั่วเขียว. มะขามเทศฝาด. มะขามป้อม. ขุยมะพร้าว.
ในสัตว์ :
- เกร็ด-ก้าง-กระดูกของปลาสดมีชีวิต. เปลือกไข่. เปลือกหอยสด/แห้ง/เก่า/ใหม่. นมสดสัตว์รีดใหม่. กุ้งฝอยสด/แห้ง. หอยจูน. หอยทราย
ในอาหารคน :
- นมพร่องมันเนย. เนยแข็ง. ผงกะหรี่. ไข่สด
ในธรรมชาติ :
- ยิบซั่มธรรมชาติ. ปูนหินเผา. ปูนเปลือกหอมเผา.  ปูนมาร์ล.  โดโลไมท์.

แม็กเนเซียม
ในพืช :
- เปลือก-ใบ-ตา-ต้นสีเขียวเข้มแก่จัด. เมล็ดในสดแก่จัด. เนื้อ/เปลือกผลไม้สดแก่จัดสุกงอมรสหวานอมเปรี้ยว เช่น สับปะรด. สตรอเบอรี่. มะเฟือง. ระกำ. สละ. เชอรี่. มะเขือเทศดิบ
ในสัตว์ :
- เกร็ด-ก้าง-กระดูกสัตว์สด/แห้ง-ใหม่/เก่า.  ปลาทะเล.
ในธรรมชาติ :
- ปูนมาร์ล. โดโลไมท์.
             
กำมะถัน
ในพืช :
- พืชสด/แห้งแก่จัดที่มีกลิ่นฉุน เช่น หอมแดง. หอมหัวใหญ่. กระเทียม. ขึ้นฉ่าย. ผักชี. สะตอ. พริกสด/แห้ง
ในสัตว์ :
- เมือก-เลือด-เนื้อสดใหม่จากปลาทะเลมีชีวิต
ในอาหารคน :
- ไข่สด
ในธรรมชาติ :
- ยางติดเปลือกมังคุด. กำมะถันผง

เหล็ก
ในพืช :
- ตาที่กำลังอั้นเต็มที่. ยอดอ่อน. เนื้อ/ใบสดแก่จัดของฟักทอง-ฟักเขียว-เผือก-กะเฉด-ผลพริกสด-ยอดปอ. มะเขือพวง. เมล็ดถั่วแขกแห้ง. เมล็ดบัว. เมล็ดกระถิน. ถั่วลิสง. ลูกเดือย. ยอดขี้เหล็ก. ผักดูด. เห็ดหูหนู. มัสตาด. จมูกข้าว.
ในสัตว์ :
- เมือก-เลือด-เครื่องในสดจากปลาทะเลมีชีวิต. เลือดวัว/ควาย/ไก่/แพะ. นมสดสัตว์รีดใหม่.
ในอาหารคน :
- มัสตาด. นมกล่องจืด/เปรี้ยว. ไข่สด.

ทองแดง
ในพืช :
- ส่วนสีเขียวสดแก่จัด. เมล็ดในสดแก่จัด. พืชตระกูลถั่ว.
ในสัตว์ :
- เครื่องในสดจากปลาทะเลมีชีวิต

สังกะสี
ในพืช :
- หัวสดแก่จัดเป็นเสี้ยนจนกินไม่ได้ เช่น ไชเท้า. แครอท. มันเทศ. มันแกว
- เหง้าหรือไหลสดแก่จัด เช่น ผักปอด. พุทธรักษา. กล้วย. เตย. ตำลึง.
- เมล็ดสดแก่จัด เช่น ฟักทอง. บวบ. แตง. ถั่วเขียว.
ในสัตว์ :
- หอยทะเล.  ปลาทะเล.

แมงกานิส
ในพืช :
- มะเขือเทศสุก. ผลตำลึงสุก. ผลวัชพืชสุก.
ในสัตว์ :
- เครื่องในสดปลาทะเล.
ในพืช :
- เมล็ดอ่อน. ส่วนที่เป็นน้ำหรือเยื่อเจริญของพืช.

โมลิบดินั่ม
ในพืช :
- เยื่อเจริญ                 

โบรอน
ในพืช :
- ผลอ่อน-ยอดอ่อน-ใบอ่อน-รากอ่อน ลักษณะกรอบ เปราะ เด็ดได้ด้วยมือ เช่น ผล/ยอดแตง-กะเฉด-ตำลึง-ผักบุ้ง-ยอดอ่อนของพืชเลื้อยทุกชนิด-เปลือกสดเขียว ส่วนปลายกิ่งที่กำลังมีผลอ่อน.  ทะลายปล์ม.
ในสารสังเคราะห์ :
- น้ำประสานทอง. โบรอนพืช (เกรด 10 โมเลกุลน้ำ).

ซิลิก้า
ในพืช :
- แกลบดิบ. หญ้าคา. หญ้าขน. กากน้ำตาล.
ในธรรมชาติ :
- หินภูเขาไฟ

โซเดียม
ในสัตว์ :
- เครื่องในสดใหม่ปลาทะเลมีชีวิต. มูลควาย.
ในธรรมชาติ :
- เกลือสมุทร. คาร์บอน
.ในสารธรรมชาติ :
- แกลบดำ. ถ่าน. ขี้เถ้า. ควันไฟ.

จิ๊บเบอเรลลิน
ในพืช :
- เมล็ดเริ่มงอก. น้ำมะพร้าวอ่อน. ผลอ่อนของผลไม้ที่มีลักษณะยาว. ยอดอ่อนพืชเด็ดได้ด้วยมือ. เถาบอระเพ็ดสดแก่จัดช่วงความสูง 1 ม.แรกจากพื้น. เปลือกสดปลายกิ่งส่วนที่เป็นสีเขียวขณะมีผลแก่.
ในสัตว์ :
- น้ำล้างเขียงทำปลา.

ไซโตคินนิน
ในพืช :
- หัวไชเท้า. ผักปรัง. ข้าวโพดหวาน. ข้าวระยะน้ำนม. โสมไทย. หน่อไม้ฝรั่ง. หน่อไม้ไผ่ตง.   น้ำมะพร้าวแก่.  แป้งในพืชหัวระยะกำลังเจริญเติบโต.  สาหร่ายทะเล.
ในสัตว์ :
- สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น กุ้ง. เคย. ปู. หนอน. แมลง. กิ้งกือ. ไส้เดือน. กระดองเต่า/ตะพาบ. ปลิงทะเล/น้ำจืด. ลิ้นทะเล. รกสัตว์. ไข่อ่อน. ไข่ขาว.  น้ำหอยเผา.   

อะมิโน
ในพืช :
- น้ำเต้าหู้พร้อมดื่ม.   
ในสัตว์ :
- ปลาทะเล. เยื่อหุ้มเมล็ดเลือด.
ในอาหารคน :
- ซุปไก่สกัด.  น้ำก้นหม้อนึ่งปลา.  น้ำเนื้อตุ๋น. ผงชูรส.

โอเมก้า
ในสัตว์ :
- เครื่องในสัตว์ทะเลสดมีชีวิต. หนอน. เนื้อปลาทะเลสด.
ในอาหารคน :
- ไข่สด. นมสด.

เอ็นเอเอ.
ในพืช :
- หัวกวาวเครือขาวสดแก่จัด

พาโคลบิวทาโซล
ในพืช :
- เหง้าตำลึงสดแก่จัดเป็นเสี้ยน ใบข่อยสดแก่จัด ผักปรังต้นแก่จัด ผักเสี้ยนต้นแก่จัด. หัวสดแก่จัดจนเนื้อเป็นเสี้ยนกินไม่ได้ เช่น หัวไชเท้า. มันเทศ. มันแกว.

วิตามิน บี.
ในพืช :
- เมล็ดทานตะวัน. น้ำมันพืช.
ในอาหารคน :
- ไข่สด
ในสัตว์ :
- หนังปลาสดใหม่

วิตามิน อี.
ในสัตว์ : 
- ไข่แดง.  หนังปลา.
ในพืช :
- แตงกวา

โปรตีน.
ในพืช :
- ถั่วเหลือง.
ในสัตว์ : 
- เนื้อสัตว์สดใหม่
ในอาหารคน : 
- เนื้อสัตว์ทุกชนิด (ในปลามากที่สุด).  นม.  ไข่.  น้ำเต้าหู้.  น้ำต้มตุ๋น. 

เอสโตรเจน.
ในพืช :
น้ำมะพร้าวแก่.
ในสัตว์ : 
- น้ำเชื้อ.
ในอาหารคน : 
- ยาเม็ดคุมกำเนิดแถวบำรุง.   ไวอากร้า.  เอสไพริน.

      หมายเหตุ :
   - เกษตรกรสหรัฐอเมริการู้จักการทำและใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพมานานกว่า 50 ปีแล้ว โดยปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ใช้ทำจากวัสดุส่วนผสมแบบเลือกสรรพิเศษพบว่ามีธาตุอาหาร พืชกลุ่ม “อะมิโน โปรตีน”  เป็นหลัก และวันนี้ เกษตรกรเกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ก็ได้มีการใช้กันอย่างกว้างขวางและจริงจัง
    - ผู้ค้นพบปุ๋ยหมักครั้งแรก คือ นักวิชาการเกษตรอินเดียได้เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ถึงวันนี้ก็ยังได้รับความนิยมและความเชื่อถือจากเกษตรไทยน้อยมาก
    - ปัจจุบันเกษตรกรเยอรมันที่มีเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์การเกษตรสูงมาก ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางทำการเกษตรแบบเคมีวิทยาศาสตร์ล้วนๆ มาสู่รูปแบบ “อินทรีย์ชีวภาพนำ-เคมีวิทยาศาสตร์เสริม” อย่างกว้างขวาง โดยมีหลักวิชาการเข้ามาประกอบการใช้ ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่ม ต้นทุนลด อนาคตการทำอาชีพเกษตรกรรมดีขึ้น     

         แนวความคิดในการทำธาตุอาหารพืช
1. รู้......พืชต้องการธาตุอาหารตัวใด ?
2. รู้......ธาตุอาหารที่พืชต้องการนั้นมีอยู่ในวัสดุใด ?
3. รู้......วิธีแปรสภาพวัสดุนั้นให้เป็นธาตุอาหารสำหรับพืชได้อย่างไร ?
4. รู้......วัสดุที่แปรสภาพแล้วนั้นได้ธาตุอาหารพืชตัวใด ?
5. รู้......วิธีให้ธาตุอาหารที่แปรรูปแล้วแก่พืชอย่างไร ?
6. รู้......ธาตุอาหารแต่ละตัวที่แปรสภาพแล้วบำรุงพืชเพื่ออะไร ?



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 14:15:26
ข้าวอินทรีย์
ข้าวอินทรีย์ เป็นข้าวจากการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมี สารสังเคราะห์โดยมนุษย์ ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารคุมและฆ่าวัชพืชทางเคมี สารเคมีป้องกันโรค สารเคมีฆ่าแมลง  สารเคมีฆ่าสัตว์ศัตรูพืชทุกชนิด สารเคมีฮอร์โมน แต่จะใช้วัสดุธรรมชาติและสารสกัดจากพืช สัตว์ ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์มาใช้ทดแทน ตลอดจนไม่มีสารพิษตกค้างในข้าว หรือตกค้างในนา ในน้ำ จนทำลายสิ่งแวดล้อม

          การผลิตข้าวอินทรีย์เน้นความยั่งยืน โดยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูดิน สร้างสมดุลระบบนิเวศน์ การปรับปรุงบำรุงดิน โดยการปลูกพืชหมุนเวียน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ วัสดุอินทรีย์ การใช้จุลินทรีย์ ชีวภาพ การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรค รักษาความสมดุลของศัตรูธรรมชาติทางโรคและแมลง การจัดการพืชต้นข้าว น้ำ อากาศ ตามจังหวะที่ต้นข้าวต้องการ ตั้งแต่ต้นกล้า วัยรุ่น ออกดอก ออกรวง การจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้โรคระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะความโปร่งแสง ความชื้น  อากาศ น้ำขัง หรือน้ำแห้ง จนทำให้พืชต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี ได้ผลิตสูง

          การผลิตข้าวอินทรีย์ จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากสารเคมี หลังการเก็บเกี่ยวด้วย มีการขนส่ง การเก็บ การสีข้าว การบรรจุหีบห่อ จนถึงมือผู้บริโภคให้ปราศจากสารเคมี หรือสารพิษต่างๆ

          การปรับปรุงบำรุงดิน ต้องมีเทคนิคการไถกลบตอซัง ย่อยสลายตอซัง การใช้จุลินทรีย์ ตามภารกิจหน้าที่ ไม่ว่าเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์  ปุ๋ยน้ำฮอร์โมน จุลินทรีย์ป้องกันโรคเน่า  จุลินทรีย์สกัดสมุนไพร เกิดธาตุอาหาร NPK ในซากพืช ซากสัตว์ในดิน สลายออกมาให้พืชต้นข้าว สามารถกินได้ เลิกเผาตอซังในนาข้าว เพื่อรักษาชีวิตจุลินทรีย์  แมลงและสัตว์ที่เป็นประโยชน์ให้อยู่ในภาวะสมดุลต่อไป

ขั้นตอนการปลูกข้าวอินทรีย์มีดังนี้

1) การสำรวจพื้นที่แปลงนา

-         สภาพน้ำ (น้ำใช้ น้ำฝน สถิติน้ำฝน คุณภาพน้ำ แหล่งน้ำ)
-         สภาพดิน (ความสมบูรณ์ของดิน  pH , N-P-K จุลินทรีย์ในดิน สารเคมีตกค้างในดิน
-         สภาพความเป็นอยู่ของโรคพืช แมลง และศัตรูพืช (โรคเน่า หนอนแมลง หอยเชอรี่ โรคระบาด โรคประจำถิ่น)
-         สภาพลม (หน้าหนาว ทิศทางลม)
-         สภาพวัชพืช (ข้าววัชพืช โสน กก หญ้าขาว)
-         สภาพสัตว์ (กบ เขียด ปูนา แมงดา อึ่ง หนู งู)
-         สภาพเกษตรรอบๆ (การปลูกข้าวรอบๆ การเลี้ยงเป็ด วัว เลี้ยงปศุสัตว์ การปลูกอ้อยข้างๆ)

2) การเลือกพืชพื้นที่ปลูก

          พื้นที่เหมาะสมการปลูกมี
-         แปลงใหญ่
-         ความสมบูรณ์ดินสูง
-         อยู่ไกลจากพื้นที่เกษตรเคมีที่ใช้มากๆ มาอย่างยาวนาน
-         สารเคมีตกค้างในดินต่ำ

3) การดูแลความสมบูรณ์ของดิน

          สร้างความสมบูรณ์ของดินโดย

-         ไม่เผาตอซัง เพราะทำให้จุลินทรีย์ตาย และดินแข็งแน่น ตลอดจนไล่คาร์บอนในดินสู่บรรยากาศ
-         นำอินทรีย์วัตถุจากแปลงนาและแหล่งใกล้เคียงมาลงสู่แปลงนา อยู่เป็นระยะๆ
-         ปลูกพืชตระกูลถั่ว โสน แล้วไถกลบ เพิ่มไนโตรเจนในดิน
-         ปลูกพืชคลุมดินช่วงที่ไม่ได้ปลูกข้าว เพื่อคลุมหน้าดินดี ไม่ให้ถูกชะล้างออกไป
-         ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี เช่นมูลสัตว์ ซากพืช
-         ราดพ่นน้ำจุลินทรีย์หมักย่อยสลายตอซังข้าวแล้วไถกลบ
-         ใช้อนินทรีย์วัตถุและอินทรีย์วัตถุ ราดแทนปุ๋ยเคมี เช่น

N: แหนแดง สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว กากเมล็ดสะเดา เลือดสัตว์แห้ง กระดูกป่น
P:  หินฟอสเฟต กระดูกป่น มูลไก่ มูลค้างคาว กากเมล็ดพืช ขี้เถ้าไม้ สาหร่ายทะเล
K:  ขี้เถ้า หินปูน หินดินดาน
Ca:          ปูนขาว โคโลไมต์ เปลือกหอยป่น กระดูกป่น

-         ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกถั่วสลับปลูกข้าว

4) การคัดเลือกพันธุ์ข้าว

-         เหมาะสำหรับพื้นที่นั้น คืออยู่ในที่ดินสมบูรณ์ต่ำได้  ต้านทานโรค ทนแมลง ตรงตามต้องการตลาด
-         พันธุ์ข้าว และลักษณะเด่น ของแต่ชนิดพันธุ์ข้าว เลือกใช้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ทนแล้ง ทนดินเปรี้ยว ทนดินเค็ม ต้านทานไส้เดือนฝอย ทนโรคไหม้ โรคใบสีส้ม โรคขอบใบแห้ง โรคจู๋ ทนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทนเพลี้ยจักจั๋นสีเขียว  ทนหนอนกอ ทนแมลงบั่ว  นวดง่าย กลิ่นหอม หุ้งต้มง่าย แตกกอดี ฟางแข็งไม่ล้มง่าย ทนน้ำท่วม ทนโรคกาบใบเน่า คอรวงยาว  เกี่ยวง่าย จำนวนเมล็ดต่อรวงมาก ทนโรคใบหงิก ทนโรคเขียวเตี้ย
-         ควรเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวจากแปลงเกษตรอินทรีย์ เอามาปลูก ปราศจากโรคแมลง
-         ทดสอบ% การงอกและความแข็งแรง
-         ปราศจากเมล็ดวัชพืช
-         อาจป้องกันโรคติดต่อมากับเมล็ดพันธุ์ โดยการแช่ในน้ำจุนสี (0.1%) นาน 20 ชั่วโมง แล้วล้างน้ำสะอาดก่อนนำไปปลูก
-         ปราศจากการปนเปื้อนสารเคมีในขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดหากมีให้แช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50-55  ํซ นาน 10-30 นาที

5) การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนปลูก

          - เป็นพันธุ์ข้าวมาตรฐาน
          - ผลิตจากแปลงเมล็ดพันธุ์ข้าว
          - %  ความงอกสูง
          - ปราศจากโรคแมลง
          - ปราศจากเมล็ดวัชพืช
          - แช่ข้าวเปลือกในน้ำจุลินทรีย์  1% นาน 20 ชั่วโมง ก่อนนำไปหว่านปลูก

6) การเตรียมดินในแปลงนา

     วัตถุประสงค์เตรียมดินเพื่อ

-         สร้างสภาพเหมาะสะดวกในการปลูก
-         ทำให้ข้าวเจริญเติบโตดี
-         ช่วยควบคุมวัชพืชโรคและแมลง
     การเตรียมดินโดยการไถ
-         ไถดะ เพื่อทำลายวัชพืช พลิกกลับหน้าดิน กลบให้วัชพืชตาย ไถกลบตอซังให้ย่อยสลาย ไถกลบแล้วทิ้งไว้ 1 สัปดาห์
-         ไถแปร เพื่อตัดรอยไถดะ ทำให้รอยไถดะแตกออกเป็นก้อนเล้กๆ จนวัชพืชหลุดออกจากดิน อาจไถมากกว่า 1 ครั้ง ก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับน้ำในนา ชนิด และปริมาณวัชพืช
-         ไถคราด  เพื่อคราดเอาวัชพืชออกจากผืนนาและปรับที่นาให้ราบเสมอกัน เพื่อให้ข้าวได้รับน้ำเสมอกันทั่วแปลง และสะดวกในการไขน้ำในนาออก

วิธีปักดำ
                 โดยการตกกล้า แล้วนำไปปักดำในนา ซึ่งได้ในการเตรียมดิน โดยการไถดะ 

     ตากดิน ปล่อยน้ำท่วมแปลง ไถแปร ไถคราดแล้ว

-         ตกกล้าคือ การเอาเมล็ดพันธ์ข้าวไปหว่านให้งอก 100 กรัม/ตรม. ในดินเปียก หรือในดินแห้ง คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ในน้ำเกลือ 1.7 กก. ต่อน้ำ  10 ลิตร คัดเอาเมล็ดลอยออกไป เมล็ดใส่ถุงไปแช่น้ำธรรมดา 12-24 ชม. แล้วเอาไปวางบนแผ่นกระดานให้ระบายอากาศดี แล้วเอาผ้าเปียกหรือกระสอบเปียกคลุมไว้นาน 36-48 ชั่วโมง พอเมล็ดงอกก็เอาไปหว่านลงแปลง

-         วิธีตกกล้าดินเปียก โดยหว่านเมล็ดงอกลงบนดินที่สูงกว่าระดับน้ำโดยรอบ 3 ซม. ทำเป็นร่องกว้าง 50  ซม.  เว้นคนเดิน  30 ซม. แนวยาวตามลม

-         วิธีตกกล้าดินแห้งโดยการเปิดร่องเล็กๆ ขนาดยาว 1 ม. หลายแถว ห่างกัน 10 ซม. หว่านเมล็ดในร่อง ใช้อัตรา 7-10 กรัม/ม. แล้วกลบดิน กันนกหนูรบกวน รดน้ำด้วยฝักบัว วันละ 2-3 ครั้ง

-         การดูแลแปลงกล้า ในกล้าดินแบบเปียก รักษาระดับน้ำ 2-3 ซม.   15 วัน แล้วระบายน้ำออก 2 วัน จากนั้นเอาน้ำแข็งแช่ 3-5 ซม. จนอายุกล้า 25 วัน ปล่อยกล้าขาดน้ำอีก 2-3 วัน จนอายุกล้า 28 วัน  ก็เอาน้ำเข้าอีก พอครบ 30 วัน ก็ถอนไปปักดำ ลักษณะต้นกล้าที่จะไปปักดำสีเขียวอมเหลืองหากพบเพลี้ยไฟ ให้ไขน้ำท่วมมิดต้นข้าว 6-12 ชั่วโมง สลับ 3-4 วัน

-         การถอนกล้า อายุ 25-30 วัน ล้างรากจับแยกรากที่โคนต้นสลัดในน้ำ มัดเป็นกำ ตบกล้าให้รากเสมอกัน กำละ 800-1,000 ต้น  ปักดำ 100 กำต่อไร ย้ายไปแปลงดำ  วางเรียงกระจายทั่วแปลงนา ให้รากแช่น้ำตลอดเวลา

-         วิธีปักดำ กล้าอายุ 30 วัน ถอดมัดเป็นกำๆ ตัดปลายทิ้ง ยกเว้นกล้าเล็ก ล้างเอาดินที่รากออก เอาไปปักดำในนาที่มีน้ำท่วม 5-10 ซม. ใช้กล้าประมาณ 7 กกต่อไร่ ดำระยะ 20 X
20 ซม. จำนวน 3-5 ต้น/กอ ระดับน้ำน้อยกล้าจะล้มง่าย ระดับน้ำสูงกล้าจะแข่งยึดต้น จะแตกกอน้อย

วิธีหว่านข้าวแห้ง
          หว่านเมล็ดพันธุ์ลงในนาที่ไถเตรียมไว้ หลังจากไถดะและไถแปรแล้ว  เหมาะสำหรับพื้นที่ฝนตกน้อย วัชพืชน้อย นาลุ่ม เมล็ดข้าวจะตกอยู่ตามซอกดิน รอยไถ พอฝนตกความชื้นถึงก็จะงอก  และดินจะลงไปกลบ อัตราการหว่าน 20-25 กก. /ไร่

วิธีหว่านน้ำตม
เตรียมดินเหมือนนาดำ มีไถดะ ไถแปร ไถคราด เก็บวัชพืช ปรับระดับพื้นที่นา ทิ้งให้ดินตกตะกอนจนน้ำใส ให้หว่านลงในนา นี้มีระดับน้ำไม่มากกว่า  2 ซม.  ใช้ 15-20 กก/ไร่ พอข้าวงอกก็จะโตพ้นน้ำขึ้นมา  วิธีนี้เหมาะสมสำหรับในพื้นที่เขดน้ำชลประทาน

การควบคุมวัชพืช
วัชพืชในนาข้าว

-         นาหว่านมีวัชพืชมากกว่านาดำ เพราะนาดำมีการเตรียมดินเก็บวัชพืชออกไปจากแปลงนาก่อนปักดำ

-         วัชพืชมี 5 ประเภท ดังนี้

1.     วัชพืชใบกว้าง เช่น แพงพวยน้ำ เทียนนา สาหร่ายหางกระรอก ผักปราบนา ผักปอด ผักตับเต่า
2.     วัชพืชใบแคบ เช่น หญ้าขาวนก หญ้านกเขา หญ้าแดง หญ้ากระดูกไก่ หญ้าก้านธูป หญ้าชันอากาศ
3.     กกมีลำต้นเป็นเหลี่ยมสามแฉก เช่น แห้วหมูนา
กก  แห้วทรงกระเทียม หนวดปลาดุก หนวดแมว
4.     สาหร่าย เช่น สาหร่ายไฟ สาหร่ายเส้นด้าย
5.     เฟิร์น เช่น ผักแว่น ผักกูดนา ผักกูดน้ำ

การควบคุมวัชพืช และศัตรูพืชในนา
-         หว่านถั่วเขียว คุมหญ้า หว่านพร้อมเมล็ดข้าว
-         ใช้แรงคนถอน
-         คุมระดับน้ำในแปลงนา ในระยะ 1-2 เดือน หลังปักดำ
-         ปลูกพืชหมุนเวียน เช่นปลูกถั่วเขียวก่อนข้าว
-         เลือกพันธุ์ข้าวต้านทานทนทาน

โรคในนาข้าว
  -   โรคไหม้ เกิดจากเชื้อรา ไพริดูลาเลีย ออไรซี ปลิวมากับลม ถูกใบจะเป็นแผล
       เป็น สีน้ำตาลรูปตาคน ทำให้เกิดใบแห้งตาก ทำให้คอรวงข้าวเน่า
       ทำให้เมล็ดลีบ  โรคจะรุนแรง หากข้าวไม่ทน และดินมี N สูง
       แก้โดยฉีดน้ำสมุนไพรบอระเพ็ด

-         โรคถอดฝักดาบ เกิดจากรา ยิบเบอเรลลา ฟูจิคูรอย เส้นใยสีชมพู ทำให้ข้าวแตกกอน้อย ใบเหลืองชัด และต้นสูง แพร่เชื้อราหางเมล็ด แก้ไขโดยวิธีถอนมาเผาทิ้ง เลือกพันธุ์ข้าวทนโรค ฉีดสมุนไพรบอระเพ็ด

-         โรคใบจุดสีน้ำตาล เกิดจากรา เฮลมินโทสพอเรียบออไรซี ทำให้เมล็ดข้าวมีรอยด่างเทา ทำลายแป้งในเมล็ด น้ำหนักเบา ให้ฉีดสมุนไพรบอระเพ็ด

-         โรคขอบใบแห้ง เกิดจากบัคเตรี  แซนโทโมนัส ออไรซี มักเกิดในที่น้ำขังนาน ทำลายต้นข้าวที่ใบและราก แก้โดยให้ฉีดสมุนไพร และงด N  ทุกชนิด

-         โรคใบสีส้ม เกิดจากเชื้อไวรัส เยลโล โอเรนจ์ลีฟ แพร่โดยจักจั่นสีเขียว เกิดรอยด่าง แตกกอน้อย รากเดินไม่ดี รวงข้าวมีเมล็ดน้อย เมล็ดเปลี่ยนเป็นสีดำ น้ำหนักเบา ใช้กำจัดแมลงพาหะโรค และฉีดสมุนไพรบอระเพ็ด

-         โรครากปมจากไส้เดือนฝอย ที่ชื่อ เมลอยโคไกเนเกรมินิโคลา ทำให้รากระยะแตกกอมีปมเล็กๆ จำนวนมาก ใบเหลืองชัด แคระแกร็น แก้โดยอย่าปล่อยในนาขาดน้ำ ให้น้ำท่วมนา เพื่อทำลายไส้เดือนฝอย ใช้ฉีดสมุนไพร บอระเพ็ด ระหุ่ง สะเดา

แมลงในนาข้าว

-  เพลี้ยไฟ เป็นแมลงปากแหงดูดกินน้ำเลี้ยงต้นกล้า ตรงที่เป็นสีเขียว พืชจะใบเหลือง ต้นแคระแกร็น ใบม้วนตามความยาว แก้โดยอย่าให้ข้าวขาดน้ำ จมข้าวมิดยอดทิ้งไว้ 1-2 วัน ฉีดพ่นด้วยสมุนไพร สะเดา สาบเสือ น้อยหน้า บอระเพ็ด

-  หนอนม้วนใบ ทำให้ข้าวม้วนเข้าหากัน หุ้มตัวไว้ และกัดกินใบ พบช่วง ข้าวกำลังแตกกอ แก้โดยจุดไฟล่อตัวแก่ให้มาเล่นไฟ แล้วจับทำลาย ฉีดพ่นสารสกัดสะเดา

-  เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงปากแหงดูดน้ำเลี้ยงกาบใบ ทำให้ใบเหี่ยวแห้ง และพบราสีดำเกาะติดต้นข้าวด้วย ทำให้เมล็ดไม่สมบูรณ์ น้ำหนักเบา ล้มง่าย แก้โดยจุดไฟล่อให้มาเล่นไฟ เว้นระยะการปลูกข้าวหากระบาดหนัก ระบายน้ำทิ้งเพื่อลดความชุ่มชื้น ฉีดพ่นสมุนไพร บอระเพ็ด น้อยหน่า สะเดา สาบเสือ

- เพลี้ยจักจั่นสีเขียว แมลงปากแหงดูดทำลายข้าวทุกระยะ ทำให้ใบแห้งเหี่ยวมีสีเหลือง ต้นข้าวอาจตายได้ แก้โดยจุดไฟล่อให้บินมาเล่นไฟ ฉีดพ่นน้ำสมุนไพรน้อยหน่า และสะเดา

- แมลงสิง  ดูดกินน้ำนมจากเมล็ดข้าว หลังจากออกดอก 1-2 สัปดาห์ ทำให้เมล็ดลีบ บางครั้งดูดน้ำเลี้ยงที่คอรวงและยอดต้นอ่อน ให้ฉีดพ่น บอระเพ็ด สะเดา และสาบเสือ

- แมลงบั่ว ตัวคล้ายยุง ลำตัวสีชมพู วางไข่ฝักเป็นตัวหนอนเข้าไปในลำต้นข้าว ทำให้ใบเปลี่ยนเป็นหลอด คล้ายธูป ไม่ออกรวง แคระแกร็น แตกกอมากมีรวงน้อย แก้โดยฉีดพ่นสมุนไพร

- หนอนกอ มีสีครีม สีชมพู ทำลานต้นข้าวในระยะที่เป็นตัวหนอน เจาะเข้าทำลายต้นข้าว กัดกินใบ จนใบอ่อนแห้งตาย ทำให้คอรวงขาด ให้จุดไฟล่อแมลงและฉีดพ่น สารสมุนไพร บอระเพ็ด สะเดา และสาบเสือ

สัตว์และหอยศัตรูข้าว
- ปูนา กัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ๆ ทำคันนาเป็นรู  แก้โดยไขน้ำให้นาแห้ง 10-15 วัน ให้ดินร้อน เอาปลาร้าใส่ลงในปีบ ฝังไว้ในนา ปากเสมอพื้น ปูลงไปกินแล้วขึ้นไม่ได้

-  หนู กัดกินต้นข้าวระยะแตกกอ ระยะตั้งท้องมีหนูพุกเล็ก หนูนา หนูสวน หนูจิ๊ด หนูขยะ หนูหริ่ง แก้ไขโดย ใช้กับดับ ทำความสะอาดคันนา ยุ้งฉาง

- หอยเชอรี่ กัดข้าวระยะต้นอ่อน แก้โดยใช้ต้นกล้า อายุ 35-45 วัน ปลูก ดักหอยที่น้ำไหล ใช้มะละกอล่อ  เลี้ยงเป็ดในนาข้าว ฉีดพ่นน้ำเอ็นไซด์จากหอยเชอรี่และมะละกอ

หลักการป้องกันโรคแมลงสัตว์ศัตรูข้าว
                   - ไม่ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด
                   - ใช้ข้าวพันธุ์ต้านทานโรคและแมลง
                   -  เตรียมแปลง ปลูกพืชหมุนเวียน ตัดวงจร ทำสมดุล ธาตุอาหาร จัดการระดับน้ำ
                   - จัดสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมต่อการระบาด
                   - รักษาความสมดุลทางธรรมชาติ สร้างแมลง มีประโยชน์ พวกตัวห้ำตัวเบียน
                   - ปลูกพืชขับไล่แมลงตามคันนา เช่น ตะไคร้หอม
                   - ใช้สารสกัดจากพืชไล่แมลง เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ใบแคฝรั่ง
                   - ใช้ไฟล่อ กับดัก ยางเหนียว

แมลงที่เป็นประโยชน์ในนาข้าว
          ควรอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติมีดังนี้

-         ด้วงดิน เป็นตัวหำที่แข็งแรงว่องไว จะกินหนอนห่อใบข้าว กินเพลี้ยกระโดด
-         ด้วงเต่า มีด้วงเตาลายจุด ด้วงเต่าลายขวาง ด้วงเต่าแดง ด้วงเต่าจะกิน เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยกระโดด เพลี้ยหอย แมลงวี่ขาว และไร้ กินหนอนตัวเล็กๆ และไข่แมลง
-         มวนเพชฌฆาต เป็นตัวห้ำ มีสีน้ำตาลมีหนามแหลม 3 อันที่หลัง กินหนอนผีเสื้อ
-         จิ้งหรีดหางดาบ มีสีดำ ตัวอ่อนมีสีน้ำตาล จะกินไข่แมลงศัตรูข้าว ไข่หนอนผีเสื้อ หนอนกอ หนอนห่อใบ หนอกระทู้ ไข่แมลงวัน เจาะยอดข้าวตัวอ่อนเพลี้ยกระโดด  เพลี้ยจักจั่น
-         มวนจิงโจ้น้ำเล็ก มีขนาดเล็ก เคลื่อนที่เร็ว มีทั้งมีปีกและไม่มีปีก จะกินตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดที่ตกลงไปในน้ำ
-         แมลงหางหนีบ มีหางคล้ายคีมยื่นออกมาคู่หนึ่งไว้ใช้ป้องกันตัว จะกินและตัวหนอนผีเสื้อ
-         แมลงปอเข็ม ปีกแคบ บินไม่เก่ง มีสีเขียว แกมเหลือง ท้องยาวเรียง จะกินตัวอ่อนเพลี้ยกระโดด  เพลี้ยจักจั่น

 การจัดการน้ำ
          น้ำทำให้ข้าวเจริญเติบโต การให้ผลผลิต หากระดับน้ำสูง จะทำให้ต้นข้าวสูงหนีน้ำ จะทำให้ต้นอ่อนล้มง่ายหากน้ำขาดก็จะทำให้วัชพืชรกเติบโตแข่งกับข้าวตลอดฤดูกาลปลูก  เลี้ยงน้ำไว้ที่ระดับ 5-15 ซม. และก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน ให้ระบายน้ำออกเพื่อให้ข้าวสุกพร้อมกัน และพื้นนาแห้งเหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยว
          หลังข้าวออกดอก 30 วัน เมล็ดในรวงข้าวจะเปลี่ยนเป็นสีฟาง เรียกว่า ข้าวพลับพลึง
          ขณะเก็บเกี่ยวข้าวมีความชื้น 18-24% ต้องลดให้เหลือ 14% หรือต่ำกว่า เพื่อให้เหมาะสำหรับการเก็บรักษา
          การตากข้าวในลานตากหลังเก็บเกี่ยว เกลี่ยให้หนา5 ซม. ตากแดดจัด 1-2 วัน พลิกข้าววันละ 3-4 ครั้ง
          การตากข้าวในกระสอบถุงปุ๋ย ขนาด 40-60 กก. วางกระสอบตากแดด 5-9 วัน พลิกกระสอบวันละ 2 ครั้ง
          การตากฟ่อนข้าวแบบสุ่มซังในนา แขวนไว้ 2-3 แดด อย่าให้ข้าวเปียกน้ำหรือเปื้อนโคลน

สนใจอ่านเพิ่มเติม       ปลูกข้าวอินทรีย์ เปลี่ยนวิถีชาวนาไทย
                                        ดร. รสสุคนธ์ พุ่มพันธุ์วงศ์







หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 14:18:59
ชีวิตชาวนายุคโลกาภิวัฒน์สู่ชาวนานักปราชญ์
โดยลุง ลุงทองเหมาะ   แจ่มแจ้ง  ปราชญ์ชาวนา  อำเภอศรีประจัน  จังหวัดสุพรรรณบุรี 

ชาวนาขาดความรู้เรื่องทำนา
       ชาวนาไม่รู้ว่าจุลินทรีย์มีประโยชน์ในการทำนา  จุลินทรีย์อยู่ในดินเหมือนแม่พระธรณี พอ ถึงยุคเคมีเข้ามาในวงการเกษตรในปี  2512  มีทั้งปุ๋ยและยา   ดินเริ่มตาย  พันธุ์ข้าวโบราณที่ชินต่อการปลูกแบบไร้สารเคมีเริ่มเปลี่ยนไป  เป็นข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์ที่ตอบสนองกับปุ๋ยเคมี  ข้าวนาปีเริ่มหายไป  มีข้าวนาปรังเข้ามาแทนที่   เอาข้าวนาปรังไปปลูกข้าวนาปี พอหน้าน้ำท่วม  ข้าวนาปรังไม่ชอบน้ำออกไม่ได้  ข้าวออกรวงไม่สุดเพราะหนาวได้ข้าวแค่ปลายรวง

ข้าวเขียวมากออกรวงสั้น
        ทำนาต้นข้าวเหลืองกี่ครั้ง  ตั้งแต่ปลูกเป็นเมล็ดจนเป็นต้นกล้าเล็กๆ  จนต้นยาวใหญ่จนเกี่ยวได้ชาวนาไม่รู้  พอเห็นข้าวเหลืองก็คิดว่าเป็นเพลี้ย ก็เอาสารเคมีมาใส่  ข้าวก็กลับมาเขียวใหม่  ชาวนารู้หรือเปล่าว่า  ในช่วง  40-60  วัน ใบข้าวจะเหลืองกี่ครั้ง  ข้าวใบเหลืองกี่ใบใบที่  1-4  แต่ใบที่  5-6  และใบหาอาหารให้ใบที่  1,2  กิน  ใบที่  5  จะต้องปลดใบที่  1  ทิ้ง  แล้วมาสร้างรังไข่รวงใหญ่ยาว  พอเอาปุ๋ยไปใส่ใบที่  1,2  เขียว  ใบที่  5-6  ก็หาอาหารมาให้ใบที่  1,2  กิน  รังไข่ก็เลยเล็กสั้นรวงสั้นทั้งประเทศ  ทั้งประเทศผลผลิตลดลงไม่รู้เท่าไร
       ข้าวก็เหลือแต่รวงละ  110  เมล็ด  แทนที่จะเป็น  230  เมล็ดให้ใบเขียว  ใบข้าวนั้นก็เหลืองเป็นธรรมชาติของเขา
       หากรวงข้าวสั้นลง ผลผลิตก็จะลดลง  110  เมล็ด  40-50  ถัง/ไร่  หากเต็มก็จะประมาณ  100-200  ถัง/ไร่  ที่เมืองจีน  กัมพูชา  ได้ถึง  200  ถัง/ไร่  เมืองไทยอย่างเก่งแค่ 70-120  ถัง/ไร่
       ข้าวถังหนึ่งมีประมาณ  378,000  เมล็ด  ชาวนาหว่าน  ข้าว  3  ถัง/ไร่  หรือประมาณ  1.1   ล้านเมล็ด  ชาวนาไม่รู้หรอกว่า มีกี่ต้นข้าวต่อตารางวา  แล้วต้องใช้ปุ๋ยไปเท่าไร  น้ำยาเท่าไร  ใส่ปุ๋ยเคมีเข้าไปราคาแสนแพง

ลัทธิเคมี  40  ปี  แห่งความหลัง
       ลัทธิเคมีเข้ามาตั้งแต่ปี  2512  สอนมาว่า  ต่อไปเราจะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกไม่ทัน  หากไม่ใช้สารเคมี เป็นความคิดที่ผิด  เพราะเขาหลอกเรา  ทำให้จุลินทรีย์  (แม่พระธรณี)ของ เราตาย  และเสียเงินให้  ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ก็ทำให้แม่พระพายก็ตาย  (เราหายใจไม่ได้  มีแต่อากาศเป็นพิษ)  เคมีทำลายหมดทุกอย่าง  ทำลายจุลินทรีย์  ทำลายสุขภาพคนด้วย

เกษตรอินทรีย์ต้องมีจุลินทรีย์ด้วย
        หากหันมาทำเกษตรอินทรีย์ต้องมาใช้จุลินทรีย์ที่เดิมเคยมีอยู่  ก็ใส่เข้าไปช่วยย่อยอาหารอินทรีย์วัตถุกลับไปเป็นอาหารของพืชต่อไป  การเอาอินทรีย์วัตถุไปใส่นาทั้งพืชทั้งสัตว์โดยไม่มีจุลินทรีย์ชีวภาพ  พืชก็กินไม่ได้ เกิดน้ำเน่าแทน  ดินไม่มีชีวิตแล้ว  ไม่มีจุลินทรีย์ เพราะสารเคมีลงไปทำลายฆ่าจุลินทรีย์ตายหมดแล้ว

ผลกระทบโลกร้อนต่อข้าว
        ปุ๋ยอินทรีย์เป็นเม็ดก็มีค่าแค่ขี้วัวกระสอบเดียว มีแต่เน่า หากไม่มีจุลินทรีย์  พอเอาปุ๋ยอินทรีย์ไปใส่นา ไม่มีจุลินทรีย์ย่อยสลาย  น้ำในนาก็จะเน่า เวลาเดินย้ำนา  น้ำเน่าจะกัดเท้า  คันไปหมด  เกิดเป็นแก๊สมีเทน ระเหยขึ้นในอากาศ เป็นฝ้าเรือนกระจก เป็นเหตุให้โลกร้อน  ข้าวจะผสมพันธุ์เองยาก  ข้าวผสมพันธุ์โดยไม่อาศัยแมลง จะผสมพันธุ์เอง  เกสรตัวผู้แห้ง  6  ตัว  ร่วงหล่นไปโดนเกสรตัวเมีย  2  อัน  ข้างล่าง  พอรับเกสรตัวผู้ได้ เป็นโรคปากหุบไม่ลง เป็นโรคปากอ้า  หากเกสรตัวผู้ถูกภาวะโลกร้อน ก็ไม่มีคุณภาพ  พอหล่นใส่เกสรตัวเมียก็ไม่ติดเมล็ด  ชาวนาจึงจนเพราะภาวะโลกร้อนด้วย

มาทำหัวเชื้อจุลินทรีย์กันเองเถอะ
        การใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใส่เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปทำงานย่อยสลายด้วย  พืชจึงจะกินได้เป็นจุลินทรีย์มีชีวิต เป็นจุลินทรีย์กู้ชาติ  ไปหาได้จากธรรมชาติป่าดงดิบในป่าใหญ่  เช่นแถบเขาใหญ่ แล้วเอามาขยายหัวเชื้อ ได้ดินจากป่าลึก ก็จะมีชีวิตมีจุลินทรีย์หลายสายพันธุ์ สามารถเอาไปขยายทำหัวเชื้อได้  เอาไปทำปุ๋ย  เอาไปบำบัดน้ำเสีย  มูลสัตว์หมู  เป็ด  ไก่  วัว  ควาย  ให้หายเหม็นได้  เอาดินจากป่าใหญ่แค่  0.5-1.0  กิโลกรัม  (ไม่ต้องเอามาก)  ก็เอามาขยายได้  โดยใช้รำ แกลบ  1  ปี๊บ  ใบไผ่แห้ง  1  ปี๊บ   และน้ำเปล่า  1  บัวรดน้ำ  เข้าสู่กระบวนขยายหัวเชื้อ  ในขั้นตอน

การทำ  ดังนี้
       1.  นำแกลบสดและใบไม้แห้ง  มาผสมคลุกเค้า ให้เข้ากันกับดินป่าลึก แล้วรดน้ำให้ชุ่ม  50% 
       2.  นำรำข้าวมาคลุกให้เข้ากันเพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์  ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ  15  วัน
       3.  เมื่อครบ  15  วัน  นำส่วนผสมที่ได้ใส่ลงถุงตาข่ายขนาด  8x12  นิ้ว
       4.  เตรียมถังน้ำ  200  ลิตร  เติมน้ำเปล่าปริมาณ  175  ลิตร  ผสมกับกากน้ำตาล  15  ลิตร  แล้วคนให้เข้ากัน
       5.  นำถุงตาข่ายที่เตรียมไว้ลงแช่ในถังน้ำแล้วปิดฝาให้สนิท  ทิ้งไว้  15  วัน  ก็จะได้  “หัวเชื้อจุลินทรีย์”

ทำเพื่อให้ธรรมชาติทำงานต่อ
        เมื่อมีจุลินทรีย์เหมือนมีแก้วสารพัดนึก แต่ปลูกข้าวแบบเคมี เหมือนทำเพราะมีหน้าที่ต้องทำ  ปลูกอีกก็ต้องเอาเคมีมาใส่และเพิ่มขึ้นทุกๆ  ปี  การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปีแรกๆ  ใส่  100  กก/ไร่  พร้อมฉีดน้ำจุลินทรีย์  ปีต่อไปใส่ปุ๋ยอินทรีย์แค่  50  กก/ไร่  ปีต่อไปลดเหลือ  30  กก/ไร่  ใส่ต่ออีก  2-3  ปี  ปีละ  30  กก/ไร่  จากนั้นก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์เลย  ฉีดแต่น้ำจุลินทรีย์อย่างเดียว  อย่างนี้เป็นการทำเพื่อจะไม่ต้องทำ  พอเข้าที่ ก็ปล่อยให้ธรรมชาติทำงานทั้งดินอากาศ  จุลินทรีย์ปีต่อๆ  ไปก็ปลูกข้าวโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย  เป็นไปได้  เป็นการคืนชีวิตให้กับแผ่นดิน  การปลูกพืชแบบเคมีเหมือนปลูกพืชแบบเลี้ยงสัตว์  เลี้ยงหมูถึงเวลาไม่ให้อาหารหมูโจมร้องอิ๊ตๆ  เลี้ยงวัวไม่เปิดคอกให้ไปกิน  วัวก็จะร้องมอๆ  เวลาเอาอาหารให้หมูกิน  หมูหยุดร้อง  แต่เวลาปลูกพืช  เราเอาเคมีไปใส่  ต้นพืชร้องไม่ได้  แต่จะแสดงออกมาเป็นใบเหลือง

ข้าวติดสารเคมีแบบยาเสพติด
        ถ้าทำด้วยอินทรีย์ชีวภาพ  รากพืชจะมีสีขาว  หากเป็นสารเคมีปลายรากจะดำ  ให้ลองถอนต้นข้าวมาดูราก  เพราะปุ๋ยเคมีจะมีปูนผสมไปอุดทางเดินน้ำที่จะลำเลียงในลำต้น  ต้นพืชจะกินปุ๋ยได้ เพราะมีเคมีมาใส่  ถูกฝึกมาแบบนั้น  ต้นพืชโง่เพราะเคมี  พอเอาปุ๋ยอินทรีย์มา พืชกินไม่เป็น  พืชติดเคมีเหมือนติดยาเสพติด

ทำนาอินทรีย์ต้องใจเย็นต่อการรอคอย
        ทำนาอินทรีย์เริ่มใหม่ ผลผลิตอาจลดลงเล็กน้อย เพราะยังมีเคมีตกค้างอยู่  แต่ราคาต้นทุนถูกกว่า  เช่นว่าเคยทำเคมีได้  100  ถัง/ไร่  แต่พอเริ่มทำอินทรีย์ได้แค่  50  ถัง/ไร่  ปีแรกอาจหายไปครึ่งหนึ่งแต่ไม่ต้องเสียเงินค่าปุ๋ยเคมี  ที่แน่ๆ  ได้กำไรชีวิต  ทำเคมีต้องฉีดพ่นละอองเคมีเข้าร่างกายทางลมหายใจ  พอฉีดยาฆ่าหญ้ามันก็ซึมขึ้นมาทางเท้า กลายเป็นโรคตับโรคไต  เดี๋ยวนี้โรงพยาบาลสูงละฟ้า  มีแต่เกษตรกรเจ็บป่วยไปนอน

นาอินทรีย์ไม่ต้องกลัวเพลี้ย
       เพลี้ยมาจะทำอย่างไร  ชาวนามักคิดว่าหากเราทำเกษตรอินทรีย์  รอบๆ  ข้างทำเคมี  เพลี้ยจะแห่มาอยู่ที่แปลงอินทรีย์หมดเลย  เป็นที่พักเพลี้ยเป็นความรู้ที่ผิด  ผิดหมด  การทำเกษตรอินทรีย์ใช้สิ่งมีชีวิตจุลินทรีย์ไปยับยั้งการเกิดแมลงในแปลงนาได้เอง

หอยเชอรี่สัตว์ต่างแดนถูกทำให้ไข่สั้นลง
        หอยเชอรี่มาจากไหนเมื่อก่อนในนามีแต่หอยโข่ง เสียเมืองไปเลย  นาทั่วประเทศไทยไม่มีหอยโข่งกินแล้ว  พอหอยเชอรี่มา  ก็กัดกินต้นข้าว  ก็เอาสารเคมีแฟนโดเอาไปหยอด  หอยตาย  ถ้าแน่จริง  หอยเชอรี่ต้องสูญพันธุ์ไปแล้ว  ตายไปหนึ่งเกิดใหม่  300  เต็มนาไปหมดแล้ว นาอินทรีย์มีหรือเปล่า ก็ทำให้ไม่ให้มันไข่  ฆ่ามันไม่ได้  มันมีหัวใจลิงลมใส่ฆ่าหนึ่งเกิดร้อย  ต้องทำให้มันขยายพันธุ์ลดลง  จากไข่ยาวๆ  มาเป็นไข่สั้นๆ  ลดปริมาณลง นกมากินได้  ปลามากินได้  วิธีการก็คือเอาเหล้าขาว  2  ส่วน  น้ำส้ม  อสร.  1  ส่วน  กากน้ำตาลและจุลินทรีย์สายพันธุ์เขาใหญ่  1  ส่วน  ใส่ลงในขวดเขย่าไว้  24  ชั่วโมง  แล้วเอาไปผสมน้ำให้ได้  300  ซม.  ผสมน้ำ  20  ลิตร  เอาไปหยดลงในนาเวลาเปิดน้ำใส่แปลงนา ก็เอาถังไปวางติดก๊อก  น้ำไหลช้าๆ  ก็หยดแบะๆ  ถ้าน้ำไหลแรงขึ้นก็หยดเร็วขึ้นตามลำดับ  หอยปกติฝังตัวอยู่ในดินพอหอยได้น้ำมาใหม่ๆ  มันก็อ้าปากกระเดือกเข้าไปในท้องมันก็ไปทำลายรังไข่  แทนที่จะไข่ยาวก็จะสั้นลง พอปีนขึ้นมาไข่ตามกิ่งไม้  ยอดข้าว  สังเกตได้เลยดูที่ไข่กลุ่มไข่สั้นลง  ก็จะกลายเป็นอาหารนกอาหารปลาไปเลย  ประชากรหอยเชอรี่ก็จะลดลงๆ  เป็นการกู้ชาติ  เอาธรรมชาติชนะให้ได้

ข้าวเกษตรอินทรีย์ใบแข็งคมทนแมลงกัด
        การที่เราไม่เอาเคมีใส่ลงไป  ต้นข้าวมาจากธรรมชาติ  ต้นไม้ในป่าธรรมชาติไม่ค่อยพบเพลี้ยกิน  หนอนกิน  ต้นข้าวใบใหญ่  เอาปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพไปใส่  ใบข้าวจะคม เอามือไปถูก จะบาดเอาจนเลือดออก  ถ้าเราเอาปุ๋ยเคมีไปใส่  เอายาเคมีไปฉีด ลองสูดดมใบข้าวจะนิ่ม  เหมือนขนหน้าแข้งบอบบาง  แมลงจะมีฟันเป็นไฟเบอร์  พอเราเอาเคมีไปใส่  แมลงกินหมด เหมือนเป็นขนมนุ่มๆ  แต่ถ้าเป็นธรรมชาติจะสร้างเกาะป้องกันตัวเอง  มีภูมิคุ้มกันเอง  ถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพไม่มีใครพาไปเที่ยวไม่มีใครจัดโต๊ะเลี้ยง  หากใช้ปุ๋ยเคมีคนขายจะทำส่งเสริมการขาย  จับฉลาก  พาไปเที่ยวกรุงเทพ  ภูเก็ต  เชียงใหม่  เชียงราย

ยุคเครื่องจักรกลเกษตร
            ตอนนั้นจะเรียนทีก็ลำบาก  ค่านิยมชาวบ้านว่าที่ดินมีเยอะ พลิกแผ่นดินกินดีกว่าไปเรียน  คนโบราณให้เราทำนากิน  เริ่มซื้อที่นาเป็น  100  ไร่  เริ่มมีรถไถนาเป็นยุคใหม่แห่งเครื่องจักรกลการเกษตรมาทดแทนควายไถนา  มีรถไถก็ซื้อรถไถมารับจ้างไถนา ตามคำขวัญพลิกแผ่นดินกิน  ก็เอารถไถพลิกแผ่นดิน  โดนฝรั่งหรอกเพราะไถลงไปลึกพระแม่ธรณีตายหมด  นาลึกก็เอาหน้าดิน  (ดินดี)  บนลงล่างแล้วเอาดินล่าง  (ดินไม่ดี)  ขึ้นมาข้างบน  เดี๋ยวนี้ยิ่งแย่  ยาฆ่าหญ้าฉีดพ่นแล้วก็ฝังลงในดิน  4-25  ปี  ก็เลยต้องใช้เคมีต่อ  เพราะเอาดินดีลงล่างไปฝังลึกๆ  แล้ว  ทำนาจึงไม่ได้ผล  ทำนาเป็นร้อยไร่ คือ  140  ไร่  แล้วก็ขาดทุน  มีรถไถเองอีกต่างหาก  ชาวนาก็เลยจนเหมือนเดิม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 16:19:37
การทำนาในอดีต

การเกษตรของชาวบ้านในอดีตจะทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการทำนาข้าวเสียเป็นส่วนใหญ่ การทำนาอาศัยน้ำฝน และใช้แรงงานควายและแรงงานคนเป็นหลัก เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่ทำไร่ ทำเฉพาะนาพอให้ได้ข้าวเก็บไว้กิน มีการปลูกพริก แตง ฟักทอง และอื่นๆ มีการเตรียมการและขั้นตอนดังนี้

เตรียมทุน
ทุนที่ต้องลงในการทำการเกษตรในอดีตนั้นมีไม่มากนัก เพราะงานส่วนใหญ่จะใช้แรงตนเองและแรงสัตว์เป็นหลัก แหล่งเงินทุนจึงไม่ค่อยจะจำเป็นมากนัก แต่เมื่อมีการสามารถกู้ยืม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส)ได้ เกษตรกรก็เริ่มกู้ยืมเงินมาใช้ ส่วนหนึ่งลงทุนในการทำการเกษตรแต่เป็นส่วนน้อยเพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง ที่เหลือก็จะนำไปใช้ในการอื่น

เตรียมพันธ์ข้าว
เมื่อใกล้จะเข้าหน้าฝนชาวบ้านจะเตรียมหาเมล็ดพันธ์ข้าว หากไม่ได้เก็บไว้เองก็จะไปขอกับเพื่อนบ้านหรือขอจากหมู่บ้านใกล้เคียง ข้าวที่ได้มาจะตั้งชื่อตามแหล่งที่ได้พันธ์ข้าวมาเช่น

ข้าวขาวโนนทอง หากได้มาจากบ้านโนนทอง
ข้าวขาวแม่ใหญ่จ่าย หากแม่ใหญ่จ่ายเป็นผู้ให้พันธ์ข้าว
ข้าวหอมลุงดา หากลุงดาเป็นคนให้พันธุ์และข้าวเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอม
นอกจากนั้นยังมีมีการแยกพันธุ์ข้าวตามอายุของการออกรวงข้าวเป็น ข้าวหนัก และข้าวเบา

ข้าวหนักคือข้าวที่ออกรวงช้า ใช้ปลูกในนาที่มีน้ำมากเพื่อเลี่ยงการเกี่ยวข้าวจมน้ำซึ่งจะเป็นการลำบากในการเก็บเกี่ยว และข้าวจะเปียก มีความชื้นสูง
ข้าวเบา คือข้าวที่ออกรวงเร็ว ใช้ปลูกในนาที่มีน้ำน้อยเพื่อเลี่ยงการที่ข้าวออกรวงไม่ทันน้ำ

ตรียมควาย
ควายที่เป็นแรงงานหลักของการทำนา ตัวที่โตพอจะใช้งานได้จะมีการฝึก เพื่อจะสามารถบังคับควายได้ และไถนาได้ มีขั้นตอนดังนี้

 

สนตะพาย นั่นคือการนำเชือกมาร้อยเข้าไปในจมูกของควาย วิธีการทำก็คือจับควายที่ยังไม่ได้สนตะพายมาผูกกับหลักไม้ให้แน่นไม่ให้ดิ้นได้ โดยเฉพาะส่วนหัว แล้วเอาเหล็กหรือไม้ไผ่แหลมขนาดเท่ากับเชือกแทงผ่านเข้าไปที่กระดูกอ่อนที่เป็นผนังกั้นระหว่างรูจมูกด้านในของควาย หากใช้เหล็กแหลมจะต้องเผาไฟให้เหล็กร้อนจนแดง และจุ่มลงไปในน้ำให้เหล็กเย็นทันที ด้วยการทำอย่างนี้จะสามารถฆ่าเชื้อโรคและทำให้เหล็กไม่มีสนิม เมื่อรูได้แล้วใช้เชือกร้อยเข้าไปในจมูกควาย ดึงเชือกอ้อมผ่านใต้หูไปผูกเป็นเงี่ยนตายเอาไว้บริเวณท้ายทอย ไม่ผูกแน่นหรือหลวมเกินไป การสนตะพายควายนี้ส่วนมากจะวานคนที่มีความชำนาญมาช่วยทำการ

เมื่อได้ตะพายควายแล้วจะฝึกให้ควายชินกับการถูกสนตะพายด้วยการผูกเชือกและปล่อยให้ควายเดิน ควายอาจะจะเหยียบเชือกบ้างเป็นครั้งคราว การฝึกแบบนึ้จะทำให้ควายเคยชินเมื่อถูกจูง

การฝึกจูงควายและบังคับ จะใช้เชือกผู้เข้ากับตะพายของควาย นิยมผูกทางด้านซ้ายมือ แล้วให้ควายเดินไปข้างหน้าของผู้จูง ในการบังคับให้ควายเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวานั้น ทำได้ดังนี้ หากผูกเชือกทางด้านซ้ายมือต้องการให้ควายเลี้ยวซ้ายให้ดึงเชือกที่ผูกกับตะพาย ควายก็จะเลี้ยวซ้าย หากต้องการให้ควายเลี้ยวขวาให้กระตุกเชือกถี่ๆ เบาๆ ควายก็จะเลี้ยวขวา เมื่อควายเริ่มชินต่อการจูงแล้วสำหรับตัวที่คุ้นก็สามรถขี่หลังได้แต่ขี่ไม่ได้ทุกตัวไปขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยระหว่างเจ้าของกับควาย หากควายที่ยังไม่โตพอที่จะฝึกไถนาได้ก็เพียงสนตะพายเท่านั้น หากควายโตพอที่จะลากไถได้ก็จะฝึกให้ไถต่อไป

ฝึกให้ควายไถนาควายที่โตพอจะถูกฝึกให้ไถนา การฝึกควายไถนานี้ต้องใช้คนสองคน คนหนึ่งเป็นคนจูงเพื่อนำทางควาย อีกคนจะเป็นคนไถ การฝึกไถอาจจะใช้เวลาแต่ต่างกันไปสุดแล้วแต่ความชำนาญของผู้ฝึกและความคุ้นของควาย ปกติแล้วจะใช้เวลาฝึกไถไม่นานนัก แต่จะฝึกบ่อยๆ มักจะฝึกช่วงช้าวเพราะแดดไม่แรง เมื่อควายพร้อมที่จะไถนาจริงก็จะเริ่มไถจริงต่อไป

เตรียมไถ
ไถเป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในการทำนาของเกษตรกรบ้านหัวถนน ไถในอดีตจะทำด้วยไม้ จะมีเพียงผานไถ ปะขางไถ ขอสำหรับเกาะผอง (ท่อนไม้ที่ไว้ผูกเชือกต่อจากแอกที่คอควาย)เท่านั้นจะเป็นเหล็ก ไม้ที่ใช้ทำจะเป็นไม้เนื้อแข็งเช่นไม้ประดู ไม้มะค่า ตัวไถจะเป็นไม้สามชิ้นได้แก่ คันไถ หางไถ และหัวหมู ประกอบกันด้วยการเข้าลิ่ม และส่วนที่ผูกติดกับควายอีกสามชิ้นส่วนประกอบของไถมีดังนี้

หางไถ คือส่วนที่ชาวนาใช้จับเวลาไถ เป็นไม้ชิ้นเดียวทำให้เป็นลักษณะเอียงจากหัวหมูประมาณ 15องศา มาจนถึงส่วนที่จะต่อเข้ากับคันไถจะเจารูสี่เลี่ยมผืนผ้าทะลุชิ้นไม้เพื่อใส่ลิ่มต่อกับคันไถ เหนือส่วนนี้ขึ้นไปจะทำเป็นรูปโค้งเพื่อสะดวกต่อการจับ เวลาประกอบเข้าเป็นตัวไถแล้วส่วนนี้จะตั้งขึ้นและส่วนโค้งจะยื่นไปด้านหลังระดับประมาณเอว
คันไถ คือส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้า เพื่อเชื่อมต่อกับส่วนที่ผูกควาย เป็นไม้อีกท่อนที่เป็นส่วนประกอบของตัวไถ ส่วนที่ต่อกับหางไถจะทำเป็นเดือยตัวผู้เพื่อใช้ต่อกับรูเดือยตัวเมียที่หางไถ ทำให้แน่โดยใช้ลิ่มตีเข้าด้านบนเพื่อให้ไม้สองชิ้นประกอบกันแน่น ส่วนปลายยื่นออกไปข้างหน้า โค้งทำมุมต่ำลง มีปลายช้อนขึ้น เพื่อใส่ตะขอสำหรับต่อกับผองไถ
หัวหมู คือส่วนที่ใช้ไถดิน จะประกอบด้วยไม้หนึ่งชิ้นบากปลายให้แหลมและบาน เจาะรูเดือยตัวเมียสี่เหลี่ยมสำหรับต่อเข้ากับหางไถ ส่วนท้ายจะทำเป็นรูปท่อนกลมยาว เพื่อรักษาระดับไถเวลาไถนา ส่วนประกบอที่เป็นเล็กตัวส่วนหัว จะเป็นรูปทรงแหลมกลวงเรียกว่าผานไถ ใช้ส่วยเข้ากับตัวไม้แล้วยึดติดด้วยตะปู ส่วนที่เป็นเหล็กแผ่นรับขึ้นมาอีกชิ้นเรียกว่า ปะขางไถใช้บังคับดินที่ถูกไถ หรือที่เรียกว่าขี้ไถให้พลิกไปตามแนวที่ต้องการ ที่หมู่บ้านหัวถนนนิยมเอียงไปทางด้านซ้ายมือ

ผองไถ ส่วนนี้จะเป็นไม้ท่อนกลมๆ มีขอเหล็กติดอยู่ตรงกลางเพื่อยึดเข้ากับขอเหล็กของคันไถ ส่วนหัวทั้งสองข้างจะทำเป็นปมหยัก เพื่อใช้ผูกเชือกติดกับปลายที่แอกคอควาย

แอก คือไม้ชิ้นที่ทำเพื่อวางบนคอควาย มีลักษณะเหมือนเขาควายกางออก ตรงกลางสูงขึ้นเพื่อให้รับพอดีกับคอควาย ส่วยปลายสองข้างไว้ผูกเชือกต่อกับผองไถ
ผองคอควาย คือส่วนที่อยู่ใต้คอควาย เป็นไม้ชิ้นแบนๆ ทำให้เป็นรูประมาณครึ่งวงกลมด้านบนเรียบเพื่อให้รับเข้าได้กับคอควาย ด้านล่างจะทำรูเพื่อร้อยเชือกเพื่อผูกให้ผองคอควายติดกับกับแอกและแนบกับคอควายได้พอดี
มีไถเหล็กมาแทนที่ไถไม้บ้างเพราะน้ำหนักเบาและทนทานกว่า แต่ไถไม้ก็ยังมีใช้อยู่

เตรียมคราด
คราดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำสำหรับทำให้ดินที่ไถแล้วละเดียด ประกอบด้วยตัวคราด ลูกคราด คันคราด และเสาจับคราด และมือจับ

ตัวคราด เป็นไม้ท่อนเจาะรูกลมสำหรับใส่ลูกคราด
ลูกคราด เป็นท่อนไม้กลมๆ รูปเรียวด้านปลายตีเข้าไปในรูของตัวคราด โผล่ออกมาจากตัวคราดประมาณ 10-15 ซม.แต่ละซี่ห่างหันประมาณ 10-15 ซม.เช่นกัน (ขึ้นอยู่กับผู้ทำ ไม่มีสูตรตายตัว)
คันคราด เป็นไม้สองชิ้นยาวที่ต่อระหว่างตัวคราด ขนานกลับพื้น ยาวจนถึงแอกควาย เวลาใช้งานควายจะอยู่ระหว่างคันคราด
เสาจับคาด เป็นเสาสองเสาที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวยึดมือจับกับตัวคราด
มือจับ เป็นไม้ยาวทรงกลมสำหรับจับเวลาคราดนา
ส่วนที่ผูกกับคอควายก็ใช้แอกและผองคอควายของไถ

เตรียมเชือก
ส่วนใหญ่จะเป็นเชือกที่ฝั่นด้วยปอ หรือเถาวัลย์ เช่นเถาหลำเปรียง หรือเครือกระไดลิง หรือเป็นเชือกที่ซื้อมาจากตลาด เชือกมีศัพย์เรียกเฉพาะว่าเชือกค่าว หรือ ค่าว ใช้ผู้ต่อเชื่อส่วนต่างๆ ของไถเข้ากับตัวควาย เพื่อบังคับควย เชือกที่ฝั่นเองไม่ค่อยจะมีคนนิยมทำกันนัก ส่วนใหญ่จะซื้อจากตลาดเสียเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังมีชาวบ้านที่ฝั่นเองอยู่บ้าง

เตรียมนา
เมื่อได้พันธุ์ข้าวมาแล้วก็รอให้ถึงเวลาหน้าฝน ซึ่งในอดีตจะสามารถคาดได้ว่าฝนน่าจะตกประมาณเดือนไหน เกษตรกรก็จะเตรียมไถนาเตรียมแปลงเอาไว้

การไถจะเดินเวียนไปทางด้านซ้าย จากรอบนอกเข้ามาด้านใน ต้องหมั่นระวังรอยไถไม่ให้ห่างกัน ห่างคนไถไม่ชำนาญดินจะถูกไถไม่หมดภาษาถินเรียกว่า “ไถระแวง” เวลาไถเกษตรกรจะทำเสียงดุควายเพื่อเร่งให้ควายอยู่ในการบังคับ มักจะทำเสียงว่า “ฮึย…จุ๊ จุ๊ จุ๊…ฮึย” จนเป็นเสียงไล่ควายที่เป็นที่นิยมทำกัน หากควายไม่ดื้อเกษตรกรก็จะเพียงกระตุกเชือกเบาๆ ไล่ให้ควายเดิน แต่หากควายตัวไหนที่ดื้อ ผู้ไถก็จะใช้ปลายเชือก หรือไม้เรียวตี การไถปกติจะไถสองครั้ง ครั้งแรกไถเตรียมรอฝน หรือไถตอนต้นฝน แล้วทิ้งเอาไว้ระยะนึง ก่อนจะทำการไถที่อีกครั้งเมือฝนเริ่มชุก ครั้งนี้เรียกว่าไถแปร การไถจะใช้แรงงานควายไถไม้ที่มีผานไถเป็นเหล็ก บางคนจะเรียกว่าปะขางไถ ในระยะหลังๆ เริ่มมีไถเหล็กมาใช้ซึ่งจะแข็งแรงและเบากว่า

เมื่อไถเสร็จก็จะคราดนาเพื่อให้ดิดเรียบและไม่มีเศษหญ้า เหมาะแก่การหว่านกล้า หรือดำ แปลงแรกที่ไถจะใช้สำหรับเพราะพันธ์กล้าข้าว

คันนาจะได้รับการซ่อมแซมส่วนที่ขาดไปด้วยกานขุดดินขึ้นมาปั้นเป็นรูปคันยาวๆ เพื่อให้นาเก็บน้ำได้ ส่วนไหนที่ขาดหรือต่ำลงก็จะได้รับการซ่อมแซมซึ่งมีศัพท์เฉพาะว่า ปิดคันนา การปิดคันนามักจะทำไม่ใหญ่นัก ส่วนมากจะทำขนาดกว้างพอเดินได้ นอกเสียจากว่าจะเป็นที่น้ำลึกหรือต้องการจะปลูกพืชอื่นบนคันนาถึงจะทำใหญ่ขึ้น ไม่มีขนาดมาตราฐานตายตัว

การไถนาจะนิยมไถแต่เช้ามืดควายจะได้ไม่เหนื่อยมาก หากมีควายหลายตัวอาจจะผลัดควายเป็นเพื่อให้ควายได้พักกินหญ้า สำหรับคนที่ไม่มีควายก็จะยืมควาย หรือวานกันไถ คนที่ยืมความก็จะตอบแทนด้วยการเลี้ยงควายให้

เตรียมแปลงหว่านข้าวกล้า
แปลงนาจะเตรียมสองแบบคือแบบสำหรับหว่านข้าวกล้า กับเแบบที่ใช้เพื่อดำ แปลงที่เตรียมไว้หว่านจะมีปล่อยน้ำให้เหลือน้อยไม่ท่วมเมล็ดข้าว และใช้ไม้ไผ่สวมที่ลูกคราดปาดให้แปลงนาเสมอเหมาะแก่การหว่านข้าว ส่วนแปลงที่เตรียมไว้สำหรับดำไม่ต้องทำลักษณะนี้เพียงไถและคราดเท่านั้น

เตรียมกล้าข้าว
เมื่อเตรียมแปลงนาเหมาะที่จะหว่านกล้าได้แล้วชาวนาก็จะล้างมะเล็ดพันธุ์ข้าว และแช่พันธ์ข้าวด้วยน้ำในภาชนะประมาณ 2-3 วันจนเมล็ดพันธุ์ข้าวแตกราก จะเรียกพันธุ์ข้าวว่า ข้าวปลูก เมื่อได้ข้าวปลูกแล้วจะนำไปหว่านลงแปลงนาที่เตรียมไว้ แปลงนาที่หว่านข้าวปลูกนี้จะเปิดน้ำออกไม่ให้มีน้ำท่วมขัง ทำร่องน้ำอยู่ในระหว่างพอให้หว่านข้าวปลูกเพื่อใช้ในการเดินหว่านและดูแลเวลาที่กล้ายังไม่โต

รอเวลาประมาณสามอาทิตย์ถึงหนึ่งเดือน กล้าข้าวก็จะโตพอที่จะรับการถอน การถอนกล้าจะเป็นกำแล้วฟาดส่วนรากกับเท้าเพื่อให้ดินที่ติดอยู่กับรากหลุดออก เมื่อได้กล้าพอยกไหวก็จะมัดด้วยตอกไม้ไผ่ตรงส่วนยอดแล้วตัดใบกล้าข้าวออกเพื่อให้กล้าข้าวไม่คายน้ำมากเกินไปเวลาดำ

การขนย้ายกล้าข้าวไปในแปลงที่ดำข้าวจะใช้ไม้ไผ่แหลมสองข้างที่มีศัพย์เรียกเฉพาะว่าไม้หลาว เสียเข้าไปใต้ส่วนที่มัดด้วยตอกไม้ไผ่ ข้างละเท่าๆ กันแล้วแล้วหาบไปไว้เป็นจุดๆ ตามแปลงที่เตรียมดำ

ทำหุ่นไล่กา
เมื่อหว่านข้าวปลูกเสร็จมักจะมีนกและกามากินข้าวที่หว่าน ชาวนาจะทำหุ่นไล่กา วิธีการจะให้ไม้ทำเป็นกากะบาดเหมือนไม้กางเขน สูงขนาดตัวคน แล้วสวมด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ หมวกหรืองอบเก่าไว้ตรงส่วนหัว ทำให้เหมือนคน พอลมพัดหุ่นก็จะขยับ เป็นการไล่นก ไล่กาได้ระดับนึ่ง

เตรียมแปลงนาดำ
แปลงนาดำนี้จะมีการเตรียมคล้ายกับแปลงหว่านแต่ไม่ต้องปรับผืนดินที่ไถให้เรียบ น้ำในนาก็จะปล่อยออกเพียงไม่ท่วมกล้าข้าว

การดำนา
เมื่อได้แปลงนาเพื่อใช้ดำและกล้าข้าวเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการดำนา การดำนาชาวนาจะอุ้มมัดกล้าไว้ที่อกด้วยมือซ้าย แยกเอากล้าข้าวออกด้วยมือขวาประมาณสี่ถึงห้าต้น ใช้นิ้วโป้งกดรากข้าวลงไปในดินแล้วกลบให้กล้าตั้งต้นได้ด้วยน้ิวที่เหลือ การดำจะดำถอยหลังให้ต้นกล้าห่างกันประมาณหนึ่งศอก แถวต่อมาก็จะดำระหว่างกลาง มีลักษณะเป็นสามเส้า การดำนาในลักษณะอย่างนี้ชาวนาต้องก้มเป็นเวลานาน

การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยที่ใสนาไม่มีมาตราฐานตายตัว ชาวนาส่วนใหญ่จะปุ๋ยที่โฆษณาตามท้องตลาด หว่านลงไปในนาเพื่อบำรุงข้าว บางคนก็ใช้ปุ๋ยคอกตามแต่จะสะดวก

การเรียกขวัญข้าว
การเรียกขวัญข้าวนิยมทำกันทั่วไปแต่ไม่ทุกบ้าน การเรียกขวัญข้าวนี้เป็นการบูชาพระแม่โพสพ ที่เชื่อกันวันเป็นผู้ดูแลข้าว ทำให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ นิยมทำกันในวันออกพรรษา วิธีการทำก็จะแตกต่างกันออกไป แต่พอสรุปได้ดังนี้

พิธีกรรม
หลังจากถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ หญิงที่แต่งงานแล้วจะเตรียมอุปกรณ์ การเรียกขวัญข้าว ดังนี้

กรวยก้นแหลม 2 กรวย
ดอกไม้
ขนมห่อ (ขนมสอดไส้) ข้าวต้มมัด กล้วยสุก เข้าเปียกหวาน
แป้งผัดหน้า น้ำมันใส่ผม ขี้ผึ้งสีปาก
หมาก พลู บุหรี่
ต้นอ้อย
ไม้ไผ่ (จักให้เป็นตอก มีลักษณะคล้ายต้นข้าว รวงข้าว)
ขนมห่อ ข้าวต้มมัด กล้วยสุก ขอจากวัดที่ชาวบ้านนำไปทำบุญ เนื่องจากของถวายพระย่อมเป็นของดีและจัดทำอย่างประณีต เมื่อนำมาประกอบพิธีย่อมทำให้เกิดสิริมงคล รวงข้าวจะอุดมสมบูรณ์ หญิงผู้ประกอบพิธีนำอุปกรณ์ที่เตรียมไปที่นาของตนปักต้นอ้อยไม้ไผ่ลงบนมุมคันนา ที่หัวนาด้านทิศเหนือ วางอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เตรียมมาบนตะแกรงไม้ไผ่สานหยาบ ๆ ปูผ้ากราบ 3 ครั้ง แล้วกล่าวคำเรียกขวัญดังนี้

“วันนี่ วันดี วันออกพรรษา พระแม่โพสพคงจิสะเอียขนม ข้าวต้ม ขอเชิญมากินเครื่องสังเวย พวกนี้ซะเด้อ เจ้าข้า เมื่อกินอิ่มแล้ว ก็ขอให้ผัดหน่า ทาน้ำมัน สีขี้ผึ่ง กินหมาก สูบยา ซะเนอ อุ้มท่อง ปีนี่ขอให่ อุ้มท่องใหญ่ ๆ ทีเดียว ขอให่ได้รวงละหม่อกอละเกียนเด้อ ให่ได้เข่าได้เลี้ยงลูกปลูกโพ อย่าให่ได้อด ได้อยาก ได้ยาก ได้จน เดอ ขวัญแม่โพสพเอย มากู๊”

ใช้เป็นภาษาโคราช ซึ่งแปลความได้ว่า

“วันนี้ วันดี วันออกพรรษา พระแม่โพสพคงจะอยากกินขนม ข้าวต้ม ขอเชิญมากินเครื่องสังเวยเหล่านี้เสียน๊ะ เมื่อกินอิ่มแล้ว ขอให้ผัดหน้า ทาน้ำมัน สีขี้ผึ้ง กินหมาก สูบยา ด้วย อุ้มท้องปีนี้อขอให้ท้องใหญ่ๆ เลยนะ ขอใด้ได้รวงละหม้อกอละเกวียนนะ ให้ได้ข้าวพอเลี้ยงลูกเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ อย่าให้อดอยาก มีความยากจนนะ ขวัญแม่โพสพเอย มากู๊ เป็นการกู่เรียก)

กล่าวจบแล้วกราบ 3 ครั้ง จบพิธี

การเรียกขวัญข้าวนี้ทำกันตามความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น คำกล่าวต่างๆ ก็สุดแล้วแต่จะนึกหรือจำได้ไม่มีมาตราฐาน

เตรียมลาน
ลานข้าวเป็นที่ๆ ชาวนาจะใช้ในการตีข้าว จะถูกเตรียมไว้ก่อนการเกี่ยวข้าว โดยาการถากและปรับดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม แล้วใช้ขี้ควายเปียกมาย่ำให้ละเอียด มีความเหลวพอที่จะทาผืนดิน ใช้ไม้กวดที่ทำจากต้อนขัดมอญซึ่งหาได้ทั่วไปในหมู่บ้าน ตัดและมัดเป็นกำเพื่อกวาดให้ขี้ควายเสมอ ฉาบเป็นผิวหน้าของลาน ปล่อยไว้ให้แห้งเหมาะสำหรับเก็บฟ่อนข้าว

การเกี่ยวข้าว
เมื่อข้าวเริ่มออกรวงเหลืองพอที่จะเกี่ยวได้แล้ว หากข้าวสูงมากชาวนาจะใช้ไม้ใผ่ลำยาวๆ นาบข้าว ให้ข้าวล้มไปทางเดียวเพื่อง่ายต่อการเกี่ยว เมื่อนาบเสร็จก็จะเริ่มเกี่ยวข้าว โดยใช้เคียวเกี่ยวเป็นกำวางไว้เป็นแถวบนซังข้าว เพื่อตากเข้าไปในตัว บางบ้านจะเกี่ยวรวงข้าวยาวๆผูกกัน ที่มีศัพย์เรียกเฉพาะว่าเขน็ด เขน็ดจะเป็นตัวรัดข้าวให้เป็นฟ่อน จะนิยมมัดฟ่อนข้าวในตอนเช้าเพราะเขน็ดข้าวจะอ่อนเนื่องจากตากน้ำค้าง จากนั้นใช้ไม้หลาวหาบผ่อนข้าวมาตั้งเรียงเป็นกองง่ายต่อการตีข้าว

การเกียวข้าวอาจจะวาน(ลงแขก)เพื่อนบ้านมาช่วยกันเกี่ยวในเวลาที่เกียวไม่ทัน เจ้าของนาจะเตรียมข้าวปลาอาหาร หรืออาจจะมีการแอบทำสาโทไว้เลี้ยงคนมาช่วยเกี่ยว บางครั้งเกี่ยวไปร้องเพลงกันไป

 

การตีข้าว
อุปกรณ์ที่ใช้

ไม้ตีข้าว หรือเรียกภาษาโคราชว่าไม่ตีหัวข้าว ทำด้วยไม้ขนาดกำถนัด ยาวประมาณศอครึ่ง ชิ้นนึงยาวกว่าประมาณหนึ่งคืบ ผูกติดกันด้วยเชือกยาวประมาณหนึ่งคืบ ใช้สำหรับรัดฟ่อนข้าวเวลาตี
ลานข้าว
เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จหรือมากพอที่จะตี ชาวนาจะใช้ไม้ตีหัวข้าว เวลาตีใช้ไม้ขัดหัวข้าวรัดฟ่อนข้าวให้แน่นแล้วตีลงไปที่ลานข้าว สังเกตว่าเมล็ดข้าวออกหมดพอประมาณแล้วก็จะเหวียงฟ่อนฟางให้คนเก็บฟางตั้งเป็นลอมฟางเป็นชั้นๆ การตั้งลอมฟางจะตั้งฟ่อนฟางเป็นวงกลมจากนอกเข้าใน จะทำให้ฟ่อนฟางแน่นและสามารถตั้งให้สูงได้

การตีข้าวนี้นิยมวานเพื่อนบ้านมาช่วยกันตีในเวลากลางคืน เรียกว่าตีข้าววาน จะมีการแข่งขันกันว่าใครขว้างฟ่อนฟางได้แม่นยำ หรือสูงกว่ากัน ทำให้เกิดความสนุกสนานครืนเครงไปในตัว

 

การนวดข้าว
ฟางที่เหลือจากการตีข้าว เมื่อตีข้าวเสร็จแล้วจะนำมานวดเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวเปลือกที่เหลือติดฟาง

อุปกรณ์ที่ใช้

ลานข้าว
หลักผูกควาย
ควาย
ไม้ขอฉาย เป็นไผ่ป่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 ซม. ยาวประมาณ 180 ซม. ริแขนงไผ่ออกเหลือแต่ส่วนปลายอันเดียว แขนงส่วนที่เหลือนี้ตัดให้ยาวประมา 1 คืบ ทำให้งอด้วยการลนไฟ แล้วเหลาให้ปลายเรียว ใช้เพื่อเกาะฟางให้กระจาย หรือขนย้ายฟางให้กองรวมกันเป็นกองฟาง ส่วนด้ามถือใช้สำหรับตีนวดข้าวได้ด้วย
วิธีการนวดข้าว

ฝังหลักไม้ตรงกลางลานข้าวเพื่อผูกควาย
ใช้เคียวเกียวเขน็ดมันฟ่อนฟางให้ขาดออก
กระจายฟางข้าวเป็นวงกลมในลานข้าน
บังคับให้ควายเดินเป็นวงลม
ใช้ไม้ขอฉายกระจายฟางและใช้ด้ามตีฟางไปพร้อมๆ กันกับเวลาที่ควายย่ำฟาง
เมื่อสังเกตว่าข้าวร่วงดีแล้ว เกาะฟางให้ออกจากลานไปกองไว้เป็นกองฟาง
การเก็บข้าว

เมื่อตีข้าวเสร็จก็โปรยข้าวเพื่อให้ข้าวลีบหรือเศษฟางเล็กๆ ไม่มีน้ำหนักปลิวออกไปจากเมล็ดข้าว จะทำในวันที่มีลมแรง ทำโดยการเอากระบุงตักข้าวแล้วเทลงพื้นทีละน้อยให้ลมพัดเอาข้าวลีบออกข้าวที่แห้งดีแล้วจะถูกนำเข้าไปเก็บในยุ้ง ซึ่งชาวนาจะมียุ้งข้าวทุกหลังคาเรือน เวลาเก็บจะนับเป็นกระเฌอ หรือบางบ้านที่พอหากระสอบข้าวได้ก็จะตวงเป็นกระสอบ ข้าวที่ได้จะเก็บไว้กินมากกว่าที่จะขาย อาจจะมีการขายบ้างก็เพียงเพื่อให้ได้เงินไว้ใช้เล็กน้อยเท่านั้น

การเก็บฟาง
ฟางที่เหลือจากการนวดจะถูกเกาด้วยไม้ขอฉายมารอบๆ หลักไม้ไผ่ที่มีความสูงตามแต่จะเห็นเหมาะสมเพื่อเป็นหลักให้ฟางมีที่ยึดเวลากองขึ้นสูง กองฟางจะถูกเก็บไว้ในบริเวณที่ตีข้าว เก็บไว้เพื่อเป็นอาหารควายหลังฤดูเก็บเกี่ยวเสียเป็นส่วนมาก

การสีข้าว
มีโรงสีข้าวของแม่ใหญ่จ่าย(ไม่ทราบนามสกุล) ตั้งอยู่เมื่อประมาณสี่สิบปีก่อน ได้เลิกล้มกิจการย้ายไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ และต่อมา นายดวน บาทขุนทด ได้ตั้งโรงสีข้าวขนาดกลางที่ตำแหน่งเดิม อยู่ประมาณสิบปี ก็เลิกกิจการ การสีข้าวในสมัยก่อนโรงสีจะหักข้าวสารจากเข้าเปลือที่สีได้เป็นส่วน หากต้องการสีข้าวเป็นจำนวนมากชาวบ้านจะขนข้าวด้วยรถเข็นไปสีที่ตลาดปะคำ หรือตลาดโคกสวาย เนื่องจากสีได้เร็วกว่า ชาวบ้านบางส่วนก็ไม่นิยมสีข้าวแต่ใช้การตำข้าวด้วยครกกระเดื่องแทน
พ่อใหญ่จอย พาผล ได้เคยทำเครื่องสีข้าวที่ใช้แรงควายสี แต่ไม่ได้รับจ้างสีข้าวให้ชาวบ้าน ทำใช้ในครัวเรือนเท่านั้น น่าเสียดายว่าไม่มีโอกาสได้เก็บภาพถ่ายไว้ในสมัยนั้น

หลังการเก็บเกี่ยว
หลังฤดูเก็บเกี่ยว ฟางข้าวจะถูกปล่อยทิ้งไว้ ไม่มีการไถกลบ หรือเผา พื้นนาจะกลายเป็นที่สาธารณะ ชาวบ้านทุกคนมีสิทธิ์เข้าไปใช้ได้โดยไม่ต้องขอกัน ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เป็นที่เลี้ยงควาย จึงจะเห็นเด็ก และผู้ใหญ่นำควายออกไปเลี้ยงเป็นฝูง ในทุ่งนา และเข้าไปอาศัยพักตามกระท่อมนาเหมือนเป็นเจ้าของ

เมื่อเสร็จหน้านาชาวนาก็มีเวลาพักผ่อนที่ยาว ประเพณีและพิธีบุญอะไรต่างๆ จะฉลองกันนาน เช่นประเพณีสงกรานต์ ชาวบ้านจะเล่นสงกรานต์ก่อนและหลังวันสงกราณ์เป็นอาทิตย์ หรือสองอาทิตย์ มีเวลาไปช่วยงานวัด ช่วยงานส่วนรวมมาก แม้หมู่บ้านของตนไม่มีวัดก็เดินกันไประยะทาง 2-3 กิโลเมตรก็เดินไปกันได้ คนไปวัดมากเป็นร้อยถึงห้าร้อย หากเป็นวันเทศกาลสำคัญๆ คนก็จะยิ่งมาก

สรุปการทำนาในอดีต
การทำนาจะอาศัยแรงงานคน แรงงานสัตว์เป็นหลัก มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนบ้าน ตั้งแต่เริ่มต้นการทำนาจนจบขั้นตอนสุดท้าย ชาวนาจะทำนาเพื่อให้ได้ข้าวไว้กิน ไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินมากนัก หลังการทำนาเป็นเวลาพักผ่อนมาก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 16:54:14
ข้ามไปมองญี่ปุ่นกันบ้าง การทำนาในบ้านเราดูเหมือนเราจะตามญี่ปุ่นกันอยู่ ถ้าอยากมองอนาคตการทำนาบ้านเราอาจต้องไปดูประเทศญี่ปุ่นแต่อาจไม่ถึงต้องลอกเรียนวิธีจนเหมือนแต่พอรู้และนำมาปรับใช้เพราะบางอย่างก็ไม่เหมาะสมกับบ้านเราเนื่องด้วยหลายปัจจัยทั้งราคาและความพร้อมของเครื่องจักร  จำนวนพื้นที่ทำนาเพราะบางครอบครัวทำนามาก ระบบชลประทานก็ไม่ได้ครอบคลุม ตลอดจนความรู้และความเข้าใจของชาวนาเอง แต่ที่น่านำมาเป็นเยี่ยงอย่างคือความใส่ใจข้าวที่ปลูกเพื่อให้ปลอดภัยกับผู้บริโภคครับ

"ข้าว" เป็นวิถีชีวิต เป็นเศรษฐกิจ เป็นอาหารหลัก 
คนญี่ปุ่นมีอายุที่ยืนยาว ก็มาจากเเปลงนา มีอาหารปลอดสาร
ส่งออกอาหารญี่ปุ่น เป็นวัฒนธรรม ที่ขายได้ มีคุณค่า


เช่นเดียวกันการทำนา ก็ต้องมี
 "การจัดระเบียบการปลูกข้าว"
1.ให้ "ต้นข้าว" สามารถใช้ปัจจัยการผลิตจากธรรมชาติ (แสงเเดด ดิน น้ำ อากาศ สารอาหาร ) มาช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 2.การจัดการ พัฒนาคน พัฒนาเด็กให้รู้จักระเบียบวินัย กันตั้งแต่เเปลงนา  คนมีคุณภาพ มีการศึกษา เป็น "ทุน" ที่ได้เปรียบของญี่ปุ่น
3.ตามมาด้วยการพัฒนาเครื่องจักร เพื่อรองรับ อายุที่มากขึ้นของคน ประชากรโลก "ของเกษตรกร ญี่ปุ่น(สังคมญี่ปุ่นเข้าสู่ยุค คนชรามานานแล้ว)"
 4.ญี่ปุ่นสร้างรายได้จากการส่งออก เทคโนโลยี เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร  ให้ผู้บริโภคในประเทศต่างๆ สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น มีความสะดวกสะบายและปลอดภัย มากขึ้น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรม และการเกษตรที่ก้าวหน้า ส่วนหนึ่งก็คือการพัฒนามาจาก ความมีระเบียบวินัย ของคนในชาติ ที่ฝึกฝนกันตั้งแต่เด็กครับ
รวมถึงการจัดระเบียบการปลูกข้าว...เค้าสอน เด็กๆ กันตั้งแต่ในเเปลงนา ครับ

"ดินดีหญ้าต้องขึ้น"  อยู่แล้วครับ
 เมื่อหญ้าขึ้น นอกแถวนอกกอข้าว ก็สามารถจัดการได้ง่าย
ไม่ต้องใช้ยา กำจัดวัชพืช ยาฆ่าหญ้า ที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม = อาหารมีความปลอดภัยตั้งแต่เเปลงนา




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 17:05:51
พัฒนาคน : มีคุณภาพ มีการศึกษา มีจิตวิญญาณของเกษตรกร ห่วงใยสิ่งแวดล้อม
พัฒนาพันธุ์ :ให้ได้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคเเมลง รสชาตถูกปากผู้บริโภค
พัฒนาเครื่องจักร: รองรับแรงงานภาคเกษตรที่หายไป ซึ่งปัจจุบันเหลือประมาณ ร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด คนรุ่นหนุ่มสาวออกไปเป็น salary man และ กลับมาเป็นชาวนาวันหยุด

การเพาะกล้า-เป็นระบบสายพานลำเลียงผลิตแผ่นกล้า ใช้เมล็ดพันธุ์ จำนวน 8-10 กิโลกรัมต่อไร่ มีการอนุบาลก่อนลงเเปลง อายุตั้งแต่ 8-15 วัน แต่ไม่เกิน 25 วัน ความสูงไม่เกิน25 เซนติเมตร ต้นกล้าข้าวไม่ต้องลงไปโตแข่งกับหญ้าในแปลงนา
เตรียมดิน -ใช้แทรกเตอร์ติดโรตารี เตรียมดินให้เรียบเสมอ  ลึกในระดับที่เหมาะสม 12-18 cm.พร้อมสำหรับการปักดำ

ปักดำ - เป็นแถว ความกว้าง 30 ซม. เป็นแนว มีระเบียบ มีช่องว่างให้อากาศผ่าน แสงแดดส่องถึงพื้น(แถวตามแนวขี้น-ลงของพระอาทิตย์:ต้นข้าวไม่บังแสงแดดกันเอง) ต้นข้าวสุขภาพดี แข็งแรง การจัดการดูแลในเเปลงนาก็ง่ายขึ้น     

การดูแลหลังการปักดำ -ใช้เครื่องพรวนหญ้า (weeder) ในร่องนาดำ ลดการใช้ยาปราบวัชพืช และใช้เครื่องชักร่องน้ำ ระบายน้ำได้ น้ำไม่ท่วมขังเเปลงนา ช่วย ลดก๊าชมีเทน

เก็บเกี่ยว -ใช้ระบบนวด "เฉพาะคอรวง" ใช้พลังงานในการนวดนวดน้อยลง ได้ข้าวที่มีความชื้นต่ำ เนื่องจากไม่ต้องเอาต้นข้าวเข้าตู้นวด (ซึ่งบริเวณโคนต้นข้าวมีความชื้นสูง) ประหยัดพลังงานในการอบลดความชื้น หลังการเก็บเกี่ยว

การจัดเก็บ -ไซโล ขนาดเล็ก เก็บข้าวที่โรงนาเกษตรกร ไว้ทยอยสีขายทั้งปี สีเป็นข้าวกล้อง และข้าวขาว หรือบรรจุเป็นข้าวเปลือกใส่ถุง กระดาษรีไซเคิล

การสีข้าว - มีเครื่องสีข้าวที่โรงนาของเกษตรกรเอง ทำให้ได้ทั้ง ข้าวกล้อง
ข้าวสาร รำ  และแกลบ เก็บไว้ใช้ประโยชน์ที่บ้าน
มีตู้สีข้าวหยอดเหรียญตามชุมชน เพื่อผู้บริโภคได้สารอาหารครบถ้วน กรณีซื้อข้าวกล้อง มาไว้ที่บ้าน แล้วต้องการบริโภคข้าวกล้องเเบบสีสดๆร้อน

หลังการเก็บเกี่ยว : เครื่อง กระจายฟาง รวมฟาง อัดฟาง ไว้ใช้ประโยชน์ทำปุ๋ย เลี้ยงสัตว์ต่อ   มีการหมัก และโรยใส่เเปลงนาบำรุงดินก่อนการเพาะปลูก
 
พัฒนาระบบชลประทาน : ควบคุมน้ำ ได้ก็ประหยัดน้ำ จัดการในเเปลงนาได้ดั่งใจ ที่ระดับ 5cm. น้ำสลับเเห้ง  ข้าวก็ไม่ต้องโตยืดตัว หนีน้ำ (มีผลต่อปัจจัยการผลิตอย่างอื่นต่อ ปุ๋ย ยา การร่วงหล่น ) หรือเเห้งตาย เพราะไม่มีน้ำ ลดต้นทุนเกษตรกรไม่ต้องสูบน้ำเข้านา

พัฒนาตลาดการเกษตร :ผ่านระบบสหกรณ์ หรือ JA ทำให้เกษตรกรได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรม และการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณข้อมูล 
ต้นกล้า ชาวนาวันหยุด
นาย สุภชัย ปิติวุฒิ




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 19:36:10
เปียกสลับเเห้ง แกล้งข้าว ป้องกันและแก้ไข "นาหล่ม"  

ปัญหา "นาหล่ม" แถบพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือล่าง
นับเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้การทำงานในเเปลงนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ผลที่ตามมาจาก "นาหล่ม"
1.สิ้นเปลืองพลังงาน ทั้งคน และเครื่องจักร ในการ ลุยสู้หล่ม
เนื่องจากแรงต้านทานการทำงานมากกว่าสภาพแปลงนาปกติ
2.เครื่องจักรเสียหาย หากติดหล่ม แล้วเอาขึ้นจากหล่มไม่ถูกวิธี
3.แรงงานที่ทำงาน เกิดความท้อ ต้นทุนค่าเเรงงานสูงขึ้น
เนื่องจาก มีการเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขี้น ตามสภาพเเปลงนา
4.โรค แมลง ความอ่อนแอของต้นข้าวที่แช่น้ำตลอด
5.ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งค่าสึกหรอเครื่องจักร ค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่ายา(จากความอ่อนแอของต้นข้าว ที่แช่น้ำตลอดเวลา) จากปกติ 20-50 เปอร์เซนต์

ที่มาของ "ปัญหานาหล่ม"
1.การบริหารจัดการน้ำในเเปลงนาล้มเหลว ไม่มีการทำคลองทิ้งน้ำในเเปลงนา
2.การปล่อยน้ำแช่ขังในเเปลงนาตลอดระยะเวลา ทำให้ดินเหลว เป็นหล่มลึก
3.การทำนาต่อเนื่อง ติดกัน หน้าดินไม่ได้หยุดพัก ไม่ได้มีเวลา set ตัว
4.การใช้รถเกี่ยวนวดข้าวขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก

แนวทางการแก้ไข
1.ทำร่องระบายน้ำทิ้ง/ คลองทิ้งน้ำในเเปลงนา
2.ปรับพื้นที่นา ให้เรียบเสมอได้ระดับ เพื่อไม่ให้น้ำขัง หรือ ตกเเอ่ง
3.ใช้เทคนิค "เปียกสลับเเห้ง แกล้งข้าว" ในระยะแตกกอ เพื่อให้ดินเเห้ง แตกระเเหง มีการ Set ตัว
4.ใช้ "ระบบน้ำวนแบบปิดในเเปลงนา" เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในเเปลงนา สำหรับนานอกเขตชลประทาน






หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 19:43:22
step ในการ "เพิ่มผลผลิตข้าว"

คือ "การเพิ่ม จำนวนรวงต่อพื้นที่"
"ค่าเฉลี่ย ควรอยู่ที่ 250-340 รวงต่อ 1 ตารางเมตร"
ถ้ามากไปกว่านี้ ก็จะแน่น เบียดแย่งแสง เมล็ดข้าวไม่แกร่ง

"ราก ---->ลำ(หน่อ)----> รวง"
โดยใช้ การจัดการเเปลงนา กระตุ้นให้ข้าวใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่(+สิ่งที่มีในธรรมชาติ คือ เเสงเเดด อากาศ น้ำ) พัฒนาตั้งแต่ ระบบราก การแตกกอ(ลำ) และสร้างรวงที่สมบูรณ์
-เริ่มจาก "พัฒนาระบบรากข้าว" ให้หาอาหารในรัศมีที่มากกว่าหน้าผิวดิน
"กระตุ้นให้ออกรากใหม่หาอาหารเพิ่มขึ้น ตลอดเวลา ด้วยการ "แกล้งข้าว"
-เมื่อหาอาหาร มาเลี้ยงต้นแรกสมบูรณ์ได้แล้ว ก็
"แตกหน่อ เพิ่มจำนวนมากขึ้น มากขึ้น"
-และ "ระบบรากข้าว" ก็ยังคงหาอาหารมา "บำรุงหน่อ ให้สมบูรณ์" พร้อมรับสำหรับการตั้งท้อง ออกรวงที่สมบูรณ์ต่อไป
สิ่งที่คนทำนา รุ่นหลังๆ ไม่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ของต้นข้าว ก็คือการ "ออกราก" "แตกกอ การแตกหน่อ(ลำ)"
แต่ไปสิ้นเปลืองกับเมล็ดพันธุ์ เพิ่มจำนวน "ต้นข้าว" เพิ่มปุ๋ย เพิ่มยา ในเเปลงนาแทน   
จากฟังก์ชันการผลิตเเบบ "ทวีคูณ" 1 ต่อ 10 ต่อ 20 กลายเป็นฟังก์ชันการผลิตแบบ "ถดถอย" 1 ต่อ    1 ต่อ   2 ซะอย่างนั้น
 ผลตอบแทน ที่ควรได้ หายไป  หายไปไหนหมด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 20:20:51
หอยเชอรี่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pomacea canaliculata

หอยเชอรี่ หรือ หอยโข่งอเมริกาใต้ หรือ หอยเป๋าฮื้อน้ำจืด (อังกฤษ: Golden Apple Snail, ชื่อวิทยาศาสตร์: Pomacea canaliculata) เป็นหอยน้ำจืดจำพวกหอยฝาเดียว สามารถแบ่งหอยเชอรี่ได้ 2 พวก คือ พวกที่มีเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อและหนวดสีเหลือง และพวกมีเปลือกสีเขียวเข้มปนดำ และมีสีดำจาง ๆ พาดตามความยาว เนื้อและหนวดสีน้ำตาลอ่อน หอยเชอรี่เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ลูกหอยอายุเพียง 2 – 3 เดือน จะจับคู่ผสมพันธุ์ได้ตลอดเวลา หลังจากผสมพันธุ์ได้ 1 – 2 วัน ตัวเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยคลานไปวางไข่ตามที่แห้งเหนือน้ำ เช่น ตามกิ่งไม้ ต้นหญ้าริมน้ำ โคนต้นไม้ริมน้ำ ข้าง ๆ คันนา และตามต้นข้าวในนา ไข่มีสีชมพูเกาะติดกันเป็นกลุ่มยาว 2 – 3 นิ้ว แต่ละกลุ่มประกอบด้วยไข่เป็นฟองเล็ก ๆ เรียงตัวเป็นระเบียบสวยงาม ประมาณ 388 – 3,000 ฟอง ไข่จะฟักออกเป็นตัวหอยภายใน 7 – 12 วัน หลังวางไข่

หอยเชอรี่ เดิมเป็นหอยน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศไทยนำเข้ามาครั้งแรกจากประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ในฐานะของหอยที่กำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลา ซึ่งนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายราวก่อนปี พ.ศ. 2530 ต่อมาได้มีผู้คิดจะเลี้ยงเพาะขยายพันธุ์เป็นสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการบริโภค แต่ทว่าไม่ได้รับความนิยมจึงปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ จนกลายเป็นปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในปัจจุบัน

ประโยชน์ของหอยเชอรี่
เนื้อหอยเชอรี่มีโปรตีนสูงถึง 34 - 53 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 1.66 เปอร์เซ็นต์ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง หรือทำน้ำปลาจากเนื้อหอยเชอรี่ ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ สุกร เป็นต้น เปลือกก็สามารถปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินได้ ตัวหอยทั้งเปลือกถ้านำไปฝังบริเวณทรงพุ่มไม้ผล เมื่อเน่าเปื่อยก็จะเป็นปุ๋ยทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตเร็ว และได้ผลผลิตดีไม่ควรบริโภคเนื้อหอยเชอรี่ในบริเวณที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสีย หรือบริเวณพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

โทษของหอยเชอรี่
หอยเชอรี่กินพืชที่มีลักษณะนุ่มได้เกือบทุกชนิด เช่น สาหร่าย, ผักบุ้ง, ผักกระเฉด, แหน, ต้นกล้าข้าว, ซากพืชน้ำ และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในน้ำ โดยเฉพาะต้นข้าวในระยะกล้าและที่ปักดำใหม่ ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอ หอยเชอรี่ จะชอบกินต้นข้าวในระยะกล้าที่มีอายุ ประมาณ 10 วัน มากที่สุด โดยเริ่มกัดส่วนโคนต้นที่อยู่ใต้น้ำเหนือจากพื้นดิน 1 – 1.5 นิ้ว จากนั้นกินส่วนใบที่ลอยน้ำจนหมด ใช้เวลากินทั้งต้นทั้งใบ นานประมาณ 1-2 นาที


การป้องกันและการกำจัด โดยวิธีกล   
การจัดเก็บทำลาย เมื่อพบตัวหอยและไข่ ให้เก็บทำลายทันที

    การดักและกั้น ตามทางน้ำผ่าน ให้ใช้สิ่งกีดขวางตาข่าย เฝือก ภาชนะดักปลา ดักจับหอยเชอรี่ลูกหอยที่ฟักใหม่ ๆ สามารถลอยน้ำได้ ควรใช้ตาข่ายถี่ ๆ กั้นขณะสูบน้ำเข้านาข้าว หรือกั้นบริเวณทางน้ำไหล

    การใช้ไม้หลักปักในนาข้าว การล่อให้หอยมาวางไข่ โดยใช้หลักปักในที่ลุ่มหรือทางที่หอยผ่าน เมื่อหอยเข้ามาวางไข่ตามหลักที่ปักไว้ ทำให้ง่ายต่อการเก็บไข่หอยไปทำลาย

    การใช้เหยื่อล่อ พืชทุกชนิด ใช้เป็นเหยือล่อหอยเชอรี่ได้ หอยจะเข้ามากินและหลบซ่อนตัว พืชที่หอยชอบกิน เช่น ใบผัก ใบมันเทศ ใบมันสำปะหลัง ใบมะละกอ หรือพืชอื่น ๆ ที่มียางขาวคล้ายน้ำนม

วิธีป้องกันและกำจัดโดยวิธี ชีววิธี
ใช้ศัตรูธรรมชาติช่วยกำจัด เช่นฝูงเป็ดเก็บกินลูกหอยโดยปกติในธรรมชาติมีศัตรูหอยเชอรี่อยู่หลายชนิดที่ควรอนุรักษ์ เช่น นกกระปูด นกปากห่าง และสัตว์ป่าบางชนิดซึ่งสัตว์เหล่านี้นอกจากจะช่วยทำลายหอยเชอรี่แล้วยังทำให้ธรรมชาติสวยงามอีกด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 20:27:56
เชื้อราบิวเวอร์เรีย  

เชื้อราบิวเวอร์เรีย ( Beauveria bassiasna ) เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง ซึ่งสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด ในอันดับ Homoptera Lepidoptera Coleoptera และ Diptera ซึ่งได้แก่แมลงจำพวกเพลี้ยต่างๆ หนอนผีเสื้อ ด้วง และแมลงวัน หรือยุง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสามารถกำจัดปลวก และมดคันไฟได้ ทำให้มดและปลวกตายยกรังได้
กลไกการเข้าทำลายแมลงของเชื้อราบิวเวอร์เรีย คือ เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัสกับผิวของแมลง ในสภาพความชื้นที่เหมาะสม (ความชื้นสัมพัทธ์ 50 % ขึ้นไป) จะงอกเส้นใยแทงผ่านผิวหนังเข้าไปในลำตัวแมลง แล้วขยายจำนวนเจริญอยู่ภายในโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร แมลงจะตายในที่สุด ภายในระยะเวลาต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และวัยของแมลง โดยทั่วไปประมาณ 3 - 14 วัน เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถนำมาใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น แมลงศัตรูพืชเป้าหมายในข้าว ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ บั่ว หนอนห่อใบ ในมะม่วงได้แก่ เพลี้ยจักจั่นที่ทำลายช่อมะม่วง แมลงค่อมทอง ในพืชตระกูลส้มได้แก่ เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง ในพืชผักได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงหวี่ขาว หนอนผีเสื้อต่างๆ ในอ้อยได้แก่ แมลงค่อมทอง เป็นต้น
การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียควบคุมศัตรูพืช
1. เนื่องจากเชื้อค่อนข้างอ่อนแอต่อแสงแดด และอุณหภูมิสูง จึงควรใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ
2. ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขายตามท้องตลาด ให้ใช้วิธีและอัตราการใช้ที่ระบุไว้ในฉลาก
3. เชื้อราบิวเวอร์เรียชนิดสด ที่รับจากศูนย์บริหารศัตรูพืช หรือที่เกษตรกรผลิตขยายได้เอง ใช้ในอัตราก้อนเชื้อ 1 กิโลกรัม ( 2 ถุง) ต่อน้ำ 25 – 50 ลิตร โดยนำก้อนเชื้อใส่ลงในตาข่ายเขียว แล้วนำไปยี หรือขยี้ในน้ำให้สปอร์เชื้อราหลุดจากเมล็ดข้าวโพดลงไปในน้ำ นำเมล็ดข้าวโพดออกทิ้งไป แล้วนำน้ำที่ได้ไปฉีดพ่น
4. ระหว่างที่ฉีด ให้กวนน้ำเป็นระยะ และควรปรับหัวฉีดให้พ่นฝอยละเอียด จะฉีดได้ผลดีและได้พื้นที่เพิ่มขึ้น
5. เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด รวมถึงแมลงศัตรูธรรมชาติบางชนิดด้วย ดังนั้นถ้าหากพบว่ามีศัตรูธรรมชาติอยู่มาก ก็ควรงด หรือชะลอการฉีดออกไป
6. เชื้อราจะเข้าทำลายแมลงได้ในสภาพที่มีความชื้นสูง ดังนั้น การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในช่วงฤดูแล้ง หรืออากาศแห้งแล้ง อาจจำเป็นต้องเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ หรือพ่นละอองน้ำ ก่อนและหลังการใช้

การผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรีย
เกษตรกรสามรถผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรียใช้ได้เอง โดยขอรับหัวเชื้อจากศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรี นำมาต่อเชื้อลงในเมล็ดข้าวโพด ซึ่งมีขั้นตอนลัวิธีการดังนี้

1. เตรียมวัสดุเลี้ยงเชื้อ
เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถเจริญเติบโตได้ดีบนเมล็ดธัญพืชทุกชนิด แต่เมล็ดธัญพืชที่ เหมาะสมที่สุดคือ เมล็ดข้าวโพด เพราะมีขนาดใหญ่ ทำให้มีช่องว่างมาก เมล็ดข้าวโพดที่จะนำมาใช้ต้องไม่เป็นเมล็ดที่คลุกสารเคมี หรือสารกำจัดเชื้อรา การเตรียมเมล็ดข้าวโพดสำหรับเลี้ยงเชื้อราบิวเวอร์เรียทำได้โดย นำเมล็ดข้าวโพดมาล้างให้สะอาด แล้ว
•  ทำให้เมล็ดอุ้มน้ำด้วยการแช่เมล็ดไว้ 1 คืน (หรือใช้วิธีต้มประมาณ 30 นาที)
•  นำมาพึ่งให้หมาดน้ำ (ให้ผิวแห้ง)
•  นำมากรอกใส่ถุง (ถุงเพาะเห็ด : ถุงทนความร้อนชนิดขยายข้าง ขนาด 6 ? 12 นิ้ว) ถุงละประมาณ 4 – 5 ขีด (หรือสูงประมาณ 4 นิ้ว ) สวมปากถุงด้วยคอขวด ลึกประมาณ 3 นิ้ว แล้วพับปากถุงลง อุดด้วยสำลี หรือขี้ฝ้าย แล้วหุ้มปากถุงด้วยกระดาษ รัดด้วยยางวง
2. นึ่งฆ่าเชื้อ
เมื่อเตรียมถุงเมล็ดข้าวโพดเสร็จแล้วให้นำไปนึ่ง เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในถุง
•  ถ้าใช้หม้อนึ่งความดัน ใช้ความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว อุณหภูมิ 121 องศา เซลเซียส ใช้เวลานึ่ง 30 นาที
•  กรณีใช้หม้อนึ่งลูกทุ่ง (ทำจากถังแกลอน) ใช้เวลานึ่งอย่างน้อย 3 ชั่วโมง นับ จากน้ำเดือด หลังจากนึ่งเสร็จแล้วนำมาวางทิ้งไว้รอให้เย็น แล้วแกะกระดาษที่หุ้มปากถุงออก
3. การเขี่ยเชื้อ
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเขี่ย เชื้อราบิวเวอร์เรีย ประกอยด้วย ตู้เขี่ยเชื้อ ตะเกียง แอลกอฮอล์ (และแอลกอฮอล์ 95 % สำหรับเติมตะเกียง)
เข็มเขี่ยเชื้อ และแอลกอฮอล์ 70 % สำหรับฆ่าเชื้อ
- เตรียมอุปกรณ์ ด้วยการทำความสะอาดตู้ แล้วเช็ดฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70 % (นำแอลกอฮอล์ใส่ฟ๊อกกี้ ฉีดภายในตู้ให้ทั่วแล้วเช็ดด้วยสำลี)
- นำอุปกรณ์ใส่เข้าไปในตู้ ได้แก่ ตะเกียงแอลกอฮอล์ แก้วน้ำที่แช่เข็มเขี่ยเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70 % หัวเชื้อ โดยเช็ดผิวด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ก่อนนำเข้าตู้
- นำถุงเมล็ดข้าวโพดที่นึ่งแล้วใส่เข้าไปในตู้ ด้านซ้ายมือ แล้วปิดตู้
- เริ่มทำการเขี่ยเชื้อโดยสอดมือเข้าไปภายในตู้ (ก่อนสอดมือเข้าไปต้องเช็ดมือและแขนด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ทุกครั้ง) จุดตะเกียง ใช้มือขวาจับเข็มเขี่ยด้วยสามนิ้ว (โป้ง ชี้ กลาง) นำมาลนไฟที่ปลายให้แดง แล้วลนมาทางด้ามจับ 2 – 3 ครั้ง
a - ใช้มือซ้ายจับขวดหัวเชื้อ แล้วเปิดจุกสำลีโดยใช้นิ้วก้อยของมือขวา ลนไฟที่ปากขวด 2 – 3 ครั้ง
b – สอดเข็มเขี่ยเชื้อเข้าไปตัดวุ้นในขวด ชิ้นละประมาณ ? ตารางเซนติเมตร แล้วจิ้มออกมาจากขวด
c – ลนปากขวดอีก 2 – 3 ครั้งก่อนปิดสำลีเข้าที่เดิม
d – มือซ้ายวางขวดหัวเชื้อแล้วหยิบถุงเมล็ดข้าวโพกมาเปิดจุกสำลีด้วยนิ้วก้อยของมือขวา ลนปากถุงเล็กน้อย แล้วใส่หัวเชื้อที่ติดปลายเข็มเข้าไปในถุง
e – ลนปากถุงเล็กน้อยก่อนปิดปากถุง แล้วเขย่าถุงเบาๆ นำถุงที่ใส่เชื้อแล้วมาวางด้านขวามือ
- ถุงต่อไป ลนเข็มเขี่ย 2 – 3 ครั้ง แล้วทำตามขั้นตอน a – e จนกระทั่งใส่หัวเชื้อหมดทุกถุงในตู้ แล้วนำเข็มแช่ในแก้วแอลกอฮอล์ ดับตะเกียง แล้วนำถุงเมล็ดข้าวโพดที่ใส่หัวเชื้อแล้วออกจากตู้
4. การบ่มเชื้อ
นำถุงเมล็ดข้าวโพดที่ใส่เชื้อแล้ว ไปวางไว้ในสภาพอากาศปกติ อากาศถ่ายเทได้ มีแสงสว่างปกติ แต่ไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง เชื้อจะเจริญเติบโตจนเต็มเมล็ดข้าวโพด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เมื่อเชื้อเดินเต็มแล้วก็นำไปใช้ได้
การเก็บรักษาเมื่อเชื้อเดินเต็มแล้ว ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น จะทำให้เก็บไว้ได้นานขึ้น




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 20:38:52
เชื้อราไตรโคเดอร์มา
( Trichoderma sp. )


เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า
ชื่อไทย : เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichoderma harzianum
วงศ์ : Moniliaceae
อันดับ : Hypocreales
ชื่อสามัญ : Trichoderma harzianum
ความสำคัญ
เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จัดเป็นเชื้อราชั้นสูงที่เจริญได้ดีในดิน เศษซากพืช ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้ง จุลินทรีย์และ วัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืชอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว เป็นเชื้อที่เป็นศัตรูต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิด โดยมีกลไกการต่อสู้กับเชื้อราเหตุโรคพืช คือ
1. การแข่งขันกับเชื้อราโรคพืช
2. การเป็นปรสิตต่อเชื้อราโรคพืช
3. การสร้างสารยับยั้งหรือทำลายเชื้อราโรคพืช
4. การชักนำให้พืชมีความต้านทานโรคได้
พืชที่สามารถนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าใช้ควบคุมโรคได้
ไม้ผล ได้แก่ ทุเรียน ส้ม มะนาว ฝรั่ง มะละกอ
พืชผัก ได้แก่ มะเขือ พริก โหระพา กะเพรา หน่อไม้ฝรั่ง คื่นฉ่าย พืชตระกูลกะหล่ำ หอมใหญ่ ผักชีฝรั่ง พืชตระกูลถั่ว พืชตระกูลแตง กระชาย กระเจี๊ยบเขียว ขิง เผือก ฯลฯ
ไม้ดอกไม้ประดับ ได้แก่ ดาวเรือง เยอบีร่า ชบา เบญจมาศ ตระกูลฟิโลเดนดรอน ตระกูลขิง ซ่อนกลิ่น
พืชไร่ ได้แก่ ข้าวบาร์เล่ย์ ทานตะวัน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ฯลฯ
ข้าว


สาเหตุโรคพืช สำหรับกลไกของเชื้อไตรโคเดอร์มาในการต่อสู้กับเชื้อสาเหตุโรคพืชมีดังนี้
- การแข่งขันกับเชื้อโรคพืช ด้วยเหตุที่เชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญสร้างเส้นใยได้รวดเร็ว สามารถสร้างสปอร์ได้ในปริมาณสูงมาก โดยอาศัยอาหารจากเศษวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ จึงช่วยให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถแข่งขันกับเชื้อโรคพืชหรือจุลินทรีย์ที่อยู่บริเวณเดียวกัน นอกจากนี้เชื้อไตรโคเดอร์มายังรบกวนกิจกรรมต่าง ๆ ของเชื้อโรคทำให้ความรุนแรงลดลง
- การเป็นปรสิตต่อเชื้อโรคพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถสร้างเส้นใยพันรัดแล้วแทง ส่วนของเส้นใยเข้าสู่ภายในเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืช ทำให้เส้นใยเชื้อโรคพืชตาย และไตรโคเดอร์มายังทำลายโครงสร้างที่เชื้อโรคพืชสร้างขึ้นเพื่อขยายพันธุ์หรืออยู่ข้ามฤดูปลูก
- การสร้างสารยับยั้งหรือทำลายเชื้อโรคพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถสร้างสารปฏิชีวนะ สารพิษและน้ำย่อย(เอ็นไซม์) เพื่อหยุดยั้งหรือทำลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้
- การชักนำให้พืชมีความต้านทานโรค เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันระบบรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุโรคพืช ทำให้ระบบรากพืชสมบูรณ์แข็งแรง ช่วยให้เมล็ดงอกและเจริญเติบโตได้ดี ชักนำให้พืชผลิตสารประเภทเอนไซม์หรือโปรตีน เช่น เพนทิลไพโรน กรดฮาร์เซียนิค กระตุ้นให้เกิดความต้านทานโรคขึ้นภายในพืช

ประโยชน์ของการใช้ไตรโคเดอร์มา
ควบคุม ทำลายหรือยับยั้งเชื้อราในดินสาเหตุโรคพืชทั้งราชั้นสูงและราชั้นต่ำ เช่น
1. ทำลายเชื้อราพิเทียม (Pythium spp.) สาเหตุโรคเน่าระดับดิน กล้ายุบ กล้าเน่า โคนเน่า โรคยอดเน่าในพืชไร่ มะเขือเทศ พืชผักชนิดต่างๆ
2. ทำลายเชื้อราไฟทอฟเทอร่า (Phytopthora spp.) สาเหตุโรคราที่ทำให้ผลร่วง ดอกร่วง
ใน ลำใย ลิ้นจี่ โรคดอกรวงในทุเรียน โรครากเน่า-โคนเน่า ใน พริก ทุเรียน ส้ม มะนาว พริกไท แตงโม แตงกวา แตงร้าน มะเขือเทศและโรคเน่าเข้าไส้ในกล้วย ฯลฯ
3. ทำลายเชื้อราสเคอโรเทียม (Sclerotium spp.) สาเหตุโรค โคนเน่า โรคกล้าไหม้ ราเม็ดผักกาด โรคเหี่ยวในพืชผักชนิดต่าง ๆ มะเขือเทศ พืชไร่ สตรอเบอรี่ มันฝรั่ง
4. ทำลายเชื้อราไรซอกโทเนีย (Rhizoctonia spp.) สาเหตุโรคเน่าคอดิน กล้ายุบ กล้าเน่า ทำให้ทุเรียนเป็นโรคใบติด
5. ทำลายเชื้อราคอลเลทโททริกัม (Colletotrichum spp.) สาเหตุโรคแอนแทรคโนสในมะม่วง องุ่น ฝรั่ง พุทรา ชมพู่ มะละกอ พริก หอมหัวใหญ่ หอมแบ่ง หอมแดง กระเทียม มันฝรั่ง
6. ทำลายเชื้อราอัลเทอนาเรีย (Alternaria spp.) สาเหตุโรคโรคใบจุดเน่าในพืชตระกูลกระหล่ำ เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว กระหล่ำดอก กระหล่ำปลี บรอคโครี่ สตรอเบอรี่ มันฝรั่ง พริก
7. ทำลายเชื้อรา ฟิวชาเรียม (Fusarium spp.) สาเหตุโรคใบไหม้ในไม้ผล พืชไร่ พืชผักชนิดต่างๆ ตลอดจนไม้ดอก ไม้ประดับ

วิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
- การใช้หว่าน/โรย/ผสมดิน
อัตรา เชื้อสด:รำละเอียด:ปุ๋ยคอก (1:4:100)
วิธีการ
• เตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่เลี้ยงบนปลายข้าวหรือข้าวฟ่าง 1 กิโลกรัม รำข้าวละเอียด 4 กิโลกรัม และปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 100 กิโลกรัม หรือเตรียมปริมาณมากกว่านี้โดยใช้สัดส่วน 1:4:100 โดยน้ำหนัก
• นำเชื้อไตรโคเดอร์มา คลุกเคล้ากับรำข้าวละเอียดให้เข้ากันอย่างทั่วถึง จากนั้นนำส่วนผสมที่ได้ไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ คลุกให้เข้ากันอย่างทั่วถึง อาจพรมน้ำให้พอชื้นเพื่อลดการฟุ้งกระจาย
• ส่วนผสมที่ได้สามารถนำไปใช้หว่านหรือโรยลงบนแปลงปลูกพืช โคนต้นพืช หรือผสมกับดินในหลุมปลูก
การใช้ผสมน้ำฉีดพ่น
อัตรา เชื้อสด 1,000 กรัม/น้ำ 200 ลิตร
วิธีการ
นำเชื้อไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่เลี้ยงบนปลายข้าว หรือข้าวฟ่างเติมน้ำ พอท่วมตัวเชื้อแล้วขยำเนื้อข้าวให้แตกออกจนได้น้ำเชื้อสีเขียวเข้ม กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ ล้างกากที่เหลือบนกระชอนด้วยน้ำอีกจำนวนหนึ่ง จนเชื้อหลุดจากเมล็ดข้าวหมด นำน้ำเชื้อ ที่กรองได้มาเติมน้ำให้ครบในอัตราเชื้อสด 1,000 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร เมล็ดข้าวที่อยู่บนกระชอน สามารถใช้คลุกกับรำข้าวหรือปุ๋ยอินทรีย์ แล้วนำไปหว่านลงบนแปลงปลูกหรือโคนต้นพืชได้


- การใช้คลุกเมล็ดพันธุ์
อัตรา เชื้อสด1-2 ช้อนแกง/เมล็ด 1 กิโลกรัม
วิธีการ
ใส่เชื้อ 1-2 ช้อนแกง ลงในถุงพลาสติกที่จะใช้คลุกเมล็ด เติมน้ำ 10 ซีซี แล้วบีบเชื้อสดให้แตกตัว เทเมล็ด 1 กิโลกรัมลงในถุงเขย่าให้เชื้อสดคลุกเคล้าจนติดผิวเมล็ด นำเมล็ดออกผึ่งลมให้แห้งหรือใช้ปลูกทันที

ข้อแนะนำการใช้เชื้อสดไตรโคเดอร์มาตามกลุ่มพืช (แล้วแต่จุดประสงค์ของการใช้งาน)
- ไม้ผล เช่น ส้ม มะนาว ฝรั่ง มะละกอ ทุเรียน ฯลฯ
อัตราการใช้ *รองก้นหลุมก่อนปลูก 50-100 กรัม/หลุม
*หว่านลงดินใต้ทรงพุ่ม 50-100 กรัม/ตารางเมตร
*ฉีดพ่นต้นและผล 1,000 กรัม/น้ำ 200 ลิตร
*ฉีดพ่นลงดิน 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร
- พืชผักต่าง ๆ เช่น มะเขือเทศ พริก โหระพา กระเพรา หน่อไม้ฝรั่ง คื่นฉ่าย ตระกูลกระหล่ำ หอมหัวใหญ่ ผักชีฝรั่ง ตระกูลถั่ว ตระกูลแตง กระชาย กระเจี๊ยบเขียว ขิง เผือก ฯลฯ
อัตราการใช้ *ผสมดินโดยใส่ส่วนผสมของ เชื้อสด : ดินปลูก อัตรา 1:4
*คลุกเมล็ดขานาดเล็กใช้เชื้อสด 1-2 ช้อนแกง/เมล็ด 1 กิโลกรัม
*คลุกเมล็ดขนาดใหญ่ใช้เชื้อสด 1-2 ช้อนแกง/เมล็ด 1 กิโลกรัม
*หว่านในแปลงปลูก 50-100 กรัม/ตารางเมตร
*รองก้นหลุมและใส่โคนต้นเป็นโรค 50-100 กรัม/หลุม
*ฉีดพ่นกะบะเพาะกล้าและแปลงปลูกพืช 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร
- ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรือง มะลิ เยอบีร่า ชบา เบญจมาศ ตระกูลฟิโลเดนรอน ตระกูลขิง ซ่อนกลิ่น กล็อกซีเนีย กล้วยไม้ ฯลฯ
อัตราการใช้ *ผสมดินโดยใส่ส่วนผสมของ เชื้อสด : ดินปลูก อัตรา 1:4 โดยปริมาตร
*หว่านในแปลงเพาะกล้า 50-100 กรัม/ตารางเมตร
*โรยในกระถางถุงเพาะ 10-20 กรัม/กระถาง/ถุง
*รองก้นหลุมก่อนปลูก 50-100 กรัม/หลุม
*ฉีดพ่นในกะบะเพาะ แปลงเพาะกล้า แปลงปลูก 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร
*ฉีดพ่นในกระถาง ถุงพะกล้า ก่อนย้ายกล้าปลูก 20-50 ซีซี/กระถาง/ถุง/หลุม
- พืชไร่ เช่น ข้าวบาร์เลย์ ทานตะวัน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ฯลฯ
อัตราการใช้ *คลุกเมล็ดก่อนปลูก 1-2 ช้อนแกง/เมล็ด 1 กิโลกรัม
*อัตราการฉีดพ่น ลงดิน 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร


ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา
1. ความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไตรโคเดอร์มา อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 คือเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งเป็นช่วงความเป็นกรดเป็นด่างที่พืชปลูกส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน
2. ควรรดน้ำให้สภาพดินมีความชุ่มชื้น(อย่าให้แฉะ) ในช่วง 7 วันหลังหว่านเชื้อราเพื่อให้เชื้อเจริญเติบโต
3. ควรใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มา ก่อนหรือหลังการหว่านปุ๋ยเคมี 3-5 วัน
4. เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อราชั้นสูง สารเคมีที่ควบคุมได้เฉพาะราชั้นต่ำ เช่น เมตาแลกซิล, ฟอสอิธิล-อลูมิเนียม (อาลีเอท), กรอฟอสโฟลิค (โฟลีอาร์ฟอส) แมนโคเซบ ฯลฯ ไม่เป็นอันตรายต่อเชื้อไตรโคเดอร์มา แต่สารเคมีกลุ่ม เบนซิมิดาโซล (benzimidazole) ได้แก่ เบนโนมิล (benomyl) และคาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีชนิดดูดซึมและใช้ในการป้องกันและกำจัดเชื้อราชั้นสูงจะมีผลต่อการเจริญของเชื้อไตรโคเดอร์มา แต่หาก มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มเบนซิมิดาโซลลงในดิน ควรจะทิ้งช่วงประมาณ 1 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ จึงสามารถใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาได้
5. เชื้อสดไตรโคเดอร์มาที่เลี้ยงขยายจนเต็มที่สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 1 เดือน
6. เชื้อสดไตรโคเดอร์มากรองเอาน้ำสปอร์ใส่ขวดไว้นั้นถ้ายังไม่ได้ใช้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นไม่เกิน 7 วัน



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 21:26:21
ประเทศฟิลิปปินส์ประเทศผู้นำในด้านการวิจัยข้าว มีสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI)  ฟิลิปปินส์เคยเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวมากที่สุดในโลก โดยในปี 2010 ซื้อข้าวมากถึง 2 ล้านเมตริกตัน แต่ก็มีนโยบายลดการนำเข้าข้าวและกำลังหันกลายเป็นผู้ส่งออกแทน แต่เนื่องเป็นประเทศที่ประกอบด้วยเกาะจำนวน 7,107 เกาะ มีประชากรเกือบ 95 ล้านคน ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นประเทศที่ประสพภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ทั้งพายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด  ส่งผลกระทบในการปลูกข้าวมาตลอด ซึ่งถ้ามองถึงการทำนาบางพื้นที่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากลองไปดูที่สุด ๆ อย่างบานัว Banaue ข้าวแบบนาขั้นบันไดเป็นสุดยอดหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวของ ฟิลิปปินส์ เป็นที่ที่เจ๋งที่สุดและมีคนเข้าชมมากที่สุดเป็นแหล่งต้นๆของสถานที่ท่องเที่ยวในไม่มีกี่แห่่งของประเทศของเค้านาบันไดแบบโบราณนี้ที่ตั้งใจทำเพื่อยังชีพแต่ไม่มีพื้นที่ราบเพื่อเพาะปลูก ภายหลัีงต่อมากลับกลายเป็นสร้างทัศนียภาพที่สวยงามแบบนี้ยิ่งใหญ่มากว่า 2000 ปีมาแล้วโดยชาว Ifugao ที่น่าแปลกใจคือเค้าสร้างสลักภูเขาทั้งกี่ลูกต่อกี่ลูกด้วยเพียงเครื่องมือพื้นฐานเท่านั้น เช่นหินและไม้ เราเลยรู้ว่าคนโบราณ 2000ปี  ฉลาดและเก่งในทักษะวิศวกรรมการเกษตรแค่ไหน ทั้งหมดที่เห็นนั่นน่ะคือคนพื้นเมืองของชาวฟิลิปปินส์เองที่สร้างความอลังการขึ้นมาบานัว Banaue ข้าวแบบนาขั้นบันได ถูกประกาศเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก (United Nations ศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมองค์กร) ในปี 1995

Banaue นาข้าวขั้นบันได อยู่สูง 5000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลและครอบคลุม 10,360 ตารางกิโลเมตรของเชิงเขาBanaue นาข้าวขั้นบันไดแบบโบราณโดยอาศัยระบบชลประทานที่ซับซ้อนมากๆที่ทำจากหลอดไม้ไผ่ต่อมาจากป่าฝนและต่อมาเรื่อยๆ จนถึงให้น้ำในนาบนภูเขาได้
นาแบบขั้นบันได  ภาษาอังกฤษเรียกว่า rice terrace   การทำนาแบบขั้นบันไดคือการสกัดไหล่เขาให้เป็นชั้น ๆ ลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได เพื่อช่วยเพิ่มเนื้อที่ในการเพาะปลูก  เป็นการรักษาหน้าดินไม่ให้ถูกชะล้างไป อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งในแง่การชลประทานโดยการเก็บกักน้ำฝน และยังช่วยป้องกันน้ำท่วมอีกด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมค่อย ๆ สกัดภูเขาทั้งลูกเป็นขั้นบันไดด้วยสองมือและเครื่องมือพื้นบ้านที่มี  ชาวฟิลิปปินส์ภูมิใจจนยกให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 22:26:39
นาขั้นบันได ที่ลาดชันภูเขาใกล้ ๆ เราก็มีครับอย่างทางจีนตอนใต้ มณฑลยูนนานนี่เองครับ

s28wEIL56Zs&feature

XprYgcwjlhk&feature



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มกราคม 2013, 22:43:39
‘เดชา ศิริภัทร’ : กระดูกสันหลังของชาติถูกมอมเมาด้วยปุ๋ยเคมีและประชานิยมเกษตร

‘เกษตรอินทรีย์’ บรรจุในแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ปี 40 ยังไม่ขยับ ไปพบคำตอบจาก ‘เดชา ศิริภัทร’ ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ครูชาวนาผู้ต่อต้านการมอมเมากระดูกสันหลังชาติจากปุ๋ยเคมี-ประชานิยมจำนำข้าว

เกษตรอินทรีย์กับการ “ปรับสมดุลธรรมชาติ”

“เป้าหมายหลักของเกษตรอินทรีย์ไมใช่แค่การปลูกพืชปลอดสารพิษ คุณภาพดี ขายได้ราคาแพง  อินทรีย์แปลว่ามีชีวิต เกษตรอินทรีย์คือการใช้สิ่งมีชีวิตเป็นตัวตั้ง เช่น ปุ๋ย ก็ต้องปุ๋ยอินทรีย์ ทุกอย่างต้องมาจากธรรมชาติ  เราเคารพธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติอย่างสอดคล้อง โดยไม่เอาเปรียบ ไม่ทำลาย” ‘เดชา ศิริภัทร’ หรือ ‘อาจารย์เดชา’ ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี เริ่มการสนทนาด้วยการอธิบายว่าหลักสำคัญที่แท้จริงของเกษตรอินทรีย์คืออะไร

อย่างไรก็ดียังมีเกษตรอินทรีย์ที่ ‘เพี้ยน’ จากหลักการ เช่น การใช้สมุนไพรฉีดฆ่าแมลงทุกตัวทั้งแมลงดีและแมลงไม่ดี(ศัตรูพืช) แม้จะเป็นสารธรรมชาติแต่ก็อยู่ร่วมกับธรรมชาติไม่ได้เพราะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล เช่น ฉีดสมุนไพรบางอย่างอาจไปฆ่าแมงมุมซึ่งเป็นแมลงดีที่ช่วยกินเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เกษตรกรอินทรีย์จริงๆจะต้องเป็นเพียงผู้ช่วยหรือนักจัดการระบบธรรมชาติให้สมดุล

“เช่น หอยเชอร์รี่ศัตรูต้นข้าว ชาวนาทั่วไปก็เอายาเคมีไปฆ่ามัน แต่ศึกษาให้ดีจะรู้ว่าหอยพวกนี้มีศัตรูคือเป็ด  แค่เลี้ยงเป็ดมาปล่อยในนาข้าว มันก็จะกินหอยเชอร์รี่โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร หรือถ้าจะใช้สมุนไพรกำจัดแมลงก็ต้องใช้ที่เป็นตัวคุมจำนวนไม่ใช่ตัวฆ่า  เช่น ใช้สารสะเดาฉีดไปที่พืชถึงจะโดนแมลงก็ไม่ตายเพราะไม่ใช่สารฆ่าแมลง แต่สะเดาจะถูกดูดซึมไปในต้นพืช เมื่อแมลงศัตรูพืชกินพืชต้นนั้น ก็จะได้รับสารสะเดาที่ทำหน้าที่คล้ายๆกับฮอร์โมนควบคุมการลอกคราบเข้าไป พอมันลอกคราบไม่ได้ มันก็ตายและลดจำนวนลง”

อ.เดชา บอกว่าการฆ่าต้องเป็นการฆ่าเพื่อความสมดุลและการดำรงอยู่ของอีกสิ่งตามธรรมชาติ ไม่ใช่ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดฆ่าหมดทั้งแมลงดีและร้ายอย่างระบบเคมี ซึ่งนอกจากจะทำให้ชาวนาได้รับสารพิษ ผลผลิตไม่ปลอดภัยอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว ยังถือเป็นการแทรกแซงธรรมชาติที่ร้ายแรงด้วย

“พันธุ์ข้าวเคมี” รูปธรรมความไม่จริงใจส่งเสริมเกษตรอินทรีย์
การทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการปลูกข้าวจะอาศัยเพียงการไม่ใช่ปุ๋ยเคมีไม่ได้ เนื่องจากพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันเป็นพันธุ์ข้าวของรัฐบาลโดยกรมการข้าวและบริษัทเอกชน ซึ่งพัฒนาพันธุ์จากระบบการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้นพันธุ์ข้าวเช่นนี้จะไม่เข้ากับระบบเกษตรอินทรีย์คือไม่งอกงาม ให้ผลผลิตต่ำและเป็นโรค

“การพัฒนาและผสมพันธุ์ข้าวของรัฐและเอกชนเป็นการส่งเสริมการใช้เคมี เพราะเชื่อว่าการจะได้ผลผลิตสูงๆต้องไปแทรกแซงธรรมชาติเพราะเอกชนต้องการกำไร ขณะที่กรมการข้าวก็ไม่อยากให้ชาวบ้านทำพันธุ์เอง เพราะกลัวไม่มีมาตรฐานและจะจัดการลำบาก ความคิดเราไม่เหมือนกัน ฉะนั้นที่ผ่านมาเขาจึงปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เติบโตได้ดีเฉพาะเมื่อใช้คู่กับยาฆ่าแมลง  เช่น เอาพันธุ์ ก กับ ข ผสมกัน กว่าจะได้ลูกที่ออกมาเป็นพันธุ์แท้ไม่กลายพันธุ์ ต้องปลูกประมาณ 8 ฤดูกาล  ถ้าเขาต้องการให้ได้พันธุ์ข้าวที่เหมาะกับปุ๋ยเคมี เขาก็เอาปุ๋ยเคมีใส่ไปตั้งแต่การปลูกในฤดูแรก ต้นไหนพอใส่ปุ๋ยเคมีแล้วไม่ได้ผลผลิตหรือเป็นโรคก็คัดออก เหลือไว้แต่ต้นที่เข้ากับยาเคมี คือ งอกงาม เมล็ดสวย ก็คัดไว้ปลูกต่อฤดูต่อไป ทำอย่างนี้ไล่ไปจนครบ 8 ฤดู สุดท้ายก็เหลือแต่ต้นที่ชอบปุ๋ยเคมีหมด ได้พันธุ์ที่เสถียร แล้วเอาไปแจกจ่ายให้ชาวนา”

ในทางกลับกันหากต้องการผสมพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับหลักเกษตรอินทรีย์ ก็ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้ต้นข้าวในทุกฤดูกาลการผสมแทน จนสุดท้ายเหลือแต่ต้นที่งอกงามดีกับการใช้สารอินทรีย์เช่นกัน

อ.เดชากล่าวว่า การพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วยวิธีเคมีของรัฐและเอกชนดังที่กล่าวมาเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางแนวทางเกษตรอินทรีย์ซึ่งบรรจุเป็นวาระชาติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวทางเกษตรอินทรีย์ไม่เคยได้รับการส่งเสริมอย่างจริงดังที่ประกาศไว้ เพราะแม้แต่พันธุ์ข้าวที่รัฐผลิตให้ชาวนาใช้ก็ยังเป็นพันธุ์ข้าวเคมี

อย่างไรก็ดีสำหรับเกษตรกรที่อยากปลูกข้าวอินทรีย์แต่ไม่มีพันธุ์และผสมเองไม่ได้ อ.เดชา แนะวิธีง่ายๆโดยการนำพันธุ์ข้าวเคมีมา “ดัดนิสัย” ดังนี้ นำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวกล้องแล้วคัดให้เหลือแต่เมล็ดที่สมบูรณ์ที่สุดไปเพาะเป็นต้นกล้าปลูกไว้สัก 100 ต้น โดยไม่ใส่ปุ๋ยเคมีแต่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้แทนแล้วเลือกต้นที่ให้ผลผลิตดี ไม่มีโรคไว้ 5 ต้น แล้วเอาข้าวเปลือกที่ได้จาก 5 ต้นนี้ไปสีเป็นข้าวกล้องใหม่ ทำซ้ำกระบวนการเดิมสัก 3 ฤดู ก็จะได้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับการปลูกแบบอินทรีย์ โดยแถมท้ายว่าทางที่ดีชาวนาจะต้องทดลองปลูกในผืนดินของตนเอง เพื่อให้การดัดนิสัยพันธุ์เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่นั้นๆได้จริง

 ‘ชัยพร พรหมพันธุ์’ เกษตรกรดีเด่นสาขาทำนา ปี 2538 ลูกศิษย์มูลนิธิข้าวขวัญ คือ ตัวอย่างชาวนาที่ประสบความสำเร็จจากการทำนาปลอดสารพิษ อ.เดชาเล่าว่า แม้คุณชัยพรไม่ได้ทำนาอินทรีย์เต็มรูปแบบ เพราะยังใช้ยาคุมหญ้าในการทำนาหว่านที่วัชพืชมักจะขึ้นเบียดต้นกล้าจำนวนมาก แต่สารที่ใช้ก็สลายไปใน 7 วันจนไม่เหลือตกค้าง  โดยกระบวนการทำนาที่เหลือก็ยังไม่ใช้สารเคมีตามวิถีเกษตรอินทรีย์

“เดิมคุณชัยพร มีที่นา 25 ไร่ พอหันมาทำนาอินทรีย์ แกซื้อที่ดินเพิ่มได้อีก 90 ไร่ เป็น 115 ไร่  และได้กำไรเกินล้านทุกปี แม้ว่าข้าวจะราคาตกเหลือตันละ 4,000  ก็ยังได้กำไร เพราะต้นทุนต่ำเพียงตันละ 3,000 บาท ไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมีมาฉีด ผลผลิตที่ได้ยังเท่าหรือมากกว่าการปลูกข้าวเคมี ขณะที่ชาวนารอบๆมีแต่ขายนาไม่ได้ซื้อนา เพราะใช้ปุ๋ย ใช้ยาเคมีมาก ต้นทุนเลยสูงตันละ 6,000 – 7,000 สุขภาพก็ไม่ดี “

อย่างไรก็ดีแม้ชาวนาจะเข้ามาอบรมการทำเกษตรอินทรีย์จากอ.เดชามากมายและ ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จจากคุณชัยพร แต่ประธานมูลนิธิข้าวขวัญกลับบอกว่ากว่า 20 ปีที่ส่งเสริมเรื่องนี้มา แม้แต่ชาวนาข้างบ้านก็ยังไม่ทำ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า “ทำใจไม่ได้ที่ต้องเลิกใช้ปุ๋ยใช้ยา ให้เปลี่ยนศาสนายังง่ายกว่าเลย”

ประชานิยมรัฐบาลสวนทางวาระชาติเกษตรอินทรีย์ –ส่งเสริมเคมีช่วยเอกชน

อ.เดชา มองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวนาไม่สามารถหลุดพ้นวังวนการใช้สารเคมีเร่งปลูกข้าว เพราะถูกมอมเมาจากการโฆษณาปุ๋ยที่แพร่หลาย รัฐไม่ห้ามโฆษณาเหมือนประเทศอื่น นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการที่รัฐบาลไม่เก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมีตั้งแต่ปี 34  ซึ่งร้อยละ 90 ของปุ๋ยเคมีที่ใช้ในไทยนำเข้าจากต่างประเทศ โดยพบว่าไทยเป็นประเทศที่ใช้ปุ๋ยเคมีมากเป็นอันดับ 5 ในโลก ขณะที่มีพื้นที่ประเทศใหญ่เพียงอันดับที่ 48 ของโลก  โดยคิดเป็นสัดส่วนการใช้ปุ๋ยและยาเคมีมากกว่าประเทศอื่นโดยเฉลี่ยเกือบ 10 เท่า 

“ตั้งแต่ประกาศเป็นวาระชาติมา 15 ปี ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนสนใจขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จริงจัง  ปี 2547 รัฐบาลทักษิณ เคยระบุว่าจะขับเคลื่อนแนวทางเกษตรอินทรีย์ โดยภายใน 4 ปีจะทำให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ และจะลดการนำเข้าสารเคมีเกษตรให้ได้ร้อยละ 50 แต่ ในปี 2551 พื้นที่เกษตรอินทรีย์กลับมีไม่ถึง 1 แสนไร่ จนถึงป่านนี้ก็ยังไม่ถึง 2 แสนไร่ มิหนำซ้ำการนำเข้าปุ๋ยยังเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนถึง 100 เปอร์เซ็นต์”

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามผลักดันให้เก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมี นำเงินที่ได้ไปตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งห้ามโฆษณาขายปุ๋ย ในยุครัฐบาลทักษิณ(ปี 2543) และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ก็ไม่ประสบผล แม้จะมีการทำประชาพิจารณ์ผ่านทั้ง 2 ครั้งแล้ว เรื่องดังกล่าวก็ไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  เพราะมีการเอื้อประโยชน์ระหว่างบริษัทปุ๋ยและฝ่ายการเมือง

 “ถามว่ารัฐบาลมีมาตรการอะไรในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์  เก็บภาษีปุ๋ยไหม ก็ไม่เก็บ จำกัดปริมาณนำเข้าไหม ก็ไม่จำกัดห้ามโฆษณาไหม ก็ไม่ห้าม มีกองทุนที่จะส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ไหม ก็ไม่มี แล้วจะมาพูดว่าส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร เกษตรกรจึงถูกมอมเมา และจนลงๆ”

โครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลปัจจุบันที่นอกจากผลประโยชน์จะไม่ตกถึงมือชาวนาส่วนใหญ่ที่ยากจนเพราะไม่มีข้าวเหลือไว้ขายมากเท่าชาวนาที่ร่ำรวยแล้ว ยังทำลายระบบเกษตรอินทรีย์ด้วยการตั้งราคาข้าวหอมมะลิเคมีให้สูงกว่าข้าวอินทรีย์ที่ตันละ 20,000 ขณะที่ข้าวอินทรีย์ขายได้ตันละ 17,000 บาท จึงไม่จูงใจให้ทำนาอินทรีย์เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องลงแรง(ด้วยวิธีปักดำ)มากกว่า

“มีสักคำไหมที่บอกว่าถ้าปลูกข้าวอินทรีย์จะให้ราคาแพงกว่าข้าวเคมี รัฐบาลใช้เงินเป็นแสนล้านแต่ไม่มีสักคำเดียวที่จะพูดถึงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์” ประธานมูลนิธิขวัญข้าวบอกว่านั่นยิ่งทำให้ชาวนาเร่งใช้ปุ๋ยใช้ยาเคมี เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นๆ

“สุดท้ายชาวนาต้องไปหวังพึ่งรัฐบาลให้ช่วยรับซื้อราคาแพงๆ  เพราะตัวเองลดต้นทุนปุ๋ยไม่ได้อยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยก็ต้องขาดทุน แต่ถามว่ารัฐบาลจะกู้เงินเป็นแสนล้านมาช่วยได้กี่ฤดู ยิ่งไปกว่านั้นพอเปิดเสรีอาเซียนข้าวทุกสารทิศจะเข้ามาแบบเสรี รัฐบาลจะรับภาระไหวไหม เรามีอะไรไปแข่งขันกับเขา ข้าวเวียดนามต้นทุนตันละ 4,000 บาท ไทยเรา 7,000 บาท เพราะเขาไม่ได้ใช้ปุ๋ยบ้าเลือดแบบเรา ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมให้แข่งขันได้จริงก็ต้องให้ทำแบบคุณชัยพรนี่ถึงจะสู้เขาได้”

สุดท้ายเมื่อถามถึงสิ่งที่รัฐบาลควรทำ ครูชาวนาตอบว่า “ไม่ต้องทำอะไรเลย ขอแค่อยู่เฉยๆและเลิกมอมเมาชาวนาด้วยปุ๋ยด้วยยาเคมีก็พอ”  เพราะเมื่อเลิกใช้เคมี ต้นทุนจะต่ำ ผลผลิตก็ดี สามารถแข่งขันกับใครที่ไหนก็ได้ในโลก แต่เชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนๆก็ควบคุมการใช้และโฆษณาปุ๋ยเคมีได้ยาก เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากบริษัทปุ๋ยแล้ว การทำให้ชาวนาพึ่งตนเองและพึ่งธรรมชาติไม่ได้ ประชานิยมมากมายที่คิดออกมาเพื่อสร้างฐานคะแนนนิยมก็จะยิ่งได้ผล

“ถ้าชาวนาทำเกษตรอินทรีย์แล้วรวย ช่วยตัวเองได้ รัฐบาลจะเอาประชานิยมที่ไหนมาล่อใจให้เลือก”

………………

แม้ว่าหนทางส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยภาครัฐจะไม่เคยสว่างไสวดังที่ประกาศไว้ใหญ่โตในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ ‘เดชา ศิริภัทร’ มองว่าชาวนาสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตนด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายๆ แค่เพียงเปลี่ยนความคิดหันมาพึ่งพาตนอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน .



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 14:00:48
จุดเปลี่ยน! ชาวนาเวียดนามเลิกใช้ยาฆ่าแมลง หันไปใช้แตนเบียน...ดีอย่างไร ?

ต้นข้าวในนาที่แห้งตายเป็นหย่อมๆ สีน้ำตาลเป็นสัญญาณว่านาข้าวกำลังเจอการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ศัตรูข้าวที่ชาวนาทั่วทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หวั่นกลัว ปีหนึ่ง ๆ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายนาข้าวจำนวนมหาศาลทั่วทั้งทวีป แมลงดูดกินน้ำเลี้ยงต้นข้าวจนต้นข้้าวเหี่ยวเฉาและแห้งตายในที่สุด นอกจากนี้แมลงนี้ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสสู่ต้นข้าวอีกด้วยทำให้ผลผลิตข้าวลดลง
 
ในแต่ละปีนาข้าวในเวียดนามหลายพันไร่เสียหายจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ชาวนาเวียดนามทางใต้ของประเทศเลือกใช้วิธีกำจัดเพลี้ยโดยไม่ใช้สารเคมีอันตราย นี่คือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญ 

ปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลรุนแรงในเวียดนาม ประเทศผู้ส่งออกข้าวใหญ่อันดับสองของโลกรองจากประเทศไทย

เคเอล ฮอง นักนิเวศวิทยา กล่าวว่าจริงๆแล้วการใช้ยาฆ่าแมลงผิดหลักการเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของเพลี้ยศัตรูข้าว

ฮองกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าชาวนาเวียดนามฉีดยาฆ่าแมลงผิดช่วงเวลาและใช้สารเคมีไม่ถูกชนิด ทำให้ไปฆ่าแมลงชนิดอื่นๆที่เป็นตัวช่วยทำลายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อาทิ แมงมุม ทำให้จำนวนของเพลี้ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ชาวนาในจังหวัดอานเจียงทางใต้ของเวียดนามได้เลิกใช้ยาฆ่าแมลง แล้วหันไปใช้วิธีธรรมชาติในการป้องกันแมลงในนาข้าว

เกือบ 10 เดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่ราชการในท้องถิ่นเริ่มส่งเสริมให้ชาวนาปลูกดอกไม้พันธุ์ท้องถิ่นบนคันนา ดอกไม้ต้องมีดอกสีเหลืองหรือไม่ก็สีขาวและมีเกสรมากเพื่อล่อแตนเบียน เป็นแมลงสายพันธุ์ใกล้เคียงกับผึ้ง สามารถเป็นตัวควบคุมจำนวนประชากรของแมลงชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะแมลงที่เป็นศัตรูพืชและแมลงที่เป็นพาหะนำโรค

แตนเบียนที่โตเต็มวัยจะดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้แล้ววางไข่บนไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำให้ไข่เพลี้ยตายในที่สุด โครงการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในภาคใต้ของเวียดนามเพิ่งเริ่มต้น   แต่ได้รับการตอบรับจากชาวนาท้องถิ่นเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าทางการแจกดอกไม้ให้ชาวนานำไปปลูกตามคันนาฟรี

ฮอง กล่าวว่า ชาวนาเวียดนามชอบโครงการนี้มากเพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการพ่นยาฆ่าแมลงประมาณ 30-50 ดอลล่าร์สหรัฐหรือ 900-1,500 บาทต่อพื้นที่หกไร่สองงาน

โรเบิร์ต เซเกล่อร์ ผู้อำนวยการองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ เอฟเอโอประจำกรุงเทพเรียกร้องในงานประชุมที่กรุงฮานอยเมื่อเร็วๆนี้ให้ทางการเวียดนามควบคุมการขายยาฆ่าแมลงให้เข้มงวดขึ้น

โรเบิร์ต เซเกล่อร์ ผู้อำนวยการเอฟเอโอประจำที่กรุงเทพกล่าวว่า ในเวียดนาม ยาฆ่าแมลงวางขายกันเกลื่อนปะปนกับสินค้าอุปโภคเหมือนกับขายแชมพูสระผมทั้งๆที่เป็นสารเคมีอันตรายที่ต้องควบคุมมาตราการทางการตลาด ผู้ผลิตและผู้ขายใช้ผลประโยชน์มากมายล่อให้ชาวนาซื้อยาฆ่าแมลง มาตราการทางการตลาดแบบนี้ ซึ่งเรื่องนี้ เซเกล่อร์ บอกว่า ผิดต่อกฏเกณฑ์การปฏิบัติทั่วไปของเอฟเอโอ

รัฐบาลหลายชาติในลุ่มน้ำโขงได้ออกมาตราการควบคุมยาฆ่าแมลง ทางการไทยประกาศห้ามใช้ยาฆ่าแมลงสองชนิดคือ abamectin กับ cypermethrin เมื่อกลางปี 2554  2554 และทางการเวียดนามสั่งเลิกใช้ยาฆ่าแมลงสามชนิดเมื่อเร็วๆนี้

ทางการเวียดนามวางแผนสำรวจความสำเร็จของโครงการกำจัดเพลี้ยนาข้าวในที่จังหวัดอานเจียงในภาคใต้ภายในอีกสามเดือนข้างหน้า แม้จะยังไม่รู้ผลแน่ชัดแต่ทางการพบว่าตั้งแต่เริ่มโครงการนี้มาหลายเดือน ยังไม่มีเกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลขึ้นในพื้นที่

จัน คีเตลล่า แห่งเอฟเอโอที่กรุงเทพ กล่าวว่า โครงการกำจัดแมลงทางเลือกในเวียดนามนี้ยังมีขนาดเล็กอยู่ ทางการเวียดนามจะต้องพยายามขยายโครงการออกไปในระดับชาติและจะเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นเพื่อให้ทำงานนี้อย่างจริงจัง

นักวิจัยผู้ศึกษาพฤติกรรมของแตนเบียน กล่าวว่า แตนเบียนจัดเป็นแมลงในกลุ่มเดียวกับผึ้ง ต่อ แตน ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตของแตนเบียนชนิดนี้จะไม่ทำอันตรายต่อคน แต่กลับเป็นเพชฌฆาตที่ร้ายกาจ ของแมลงศัตรูพืช ด้วยพฤติกรรมการวางไข่ไว้ในแมลงศัตรูพืช และใช้น้ำเลี้ยงภายในตัวแมลงเป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโต และทำให้แมลง ศัตรูพืชตายในที่สุด ทั้งนี้แตนเบียนในประเทศไทยมีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีความสามารถในการกำจัดแมลงศัตรูต่างชนิดกัน
 
“แตนเบียนที่ทำหน้าที่กำจัดแมลงศัตรูพืช คือ แตนเบียนเพศเมีย โดยอาวุธที่ร้ายกาจ คืออวัยวะวางไข่เรียวยาว ปลายแหลม คล้ายฉมวกขนาดจิ๋ว สำหรับแทงและวางไข่ในตัวหนอนแมลงวันผลไม้ ทั้งนี้แตนเบียนเพศเมียสามารถค้นหาเป้าหมายในการวางไข่ได้จากการรับกลิ่นสารเคมีที่ผลิตจากปฏิกิริยาการสุกเน่าของผลไม้ และเสียงสั่นจากการเคลื่อนไหวของแมลงศัตรูพืช โดยแตนเบียนแต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิตประมาณ 100 ฟอง จึงสามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้เป็นจำนวนมาก และเนื่องจากแตนเบียนเป็นแมลงที่มีความพิเศษคือมีไข่ที่สามารถฟักเป็นตัวอ่อนได้โดยไม่ต้องรับการผสมจากตัวผู้ ซึ่งไข่ที่ไม่ได้รับการผสมนี้จะให้ตัวอ่อนแตนเบียนเพศผู้ ในขณะที่ไข่ที่ได้รับการผสมจะได้ตัวอ่อนแตนเบียนเพศเมีย ดังนั้นปัญหาที่พบคือ จำนวนตัวอ่อนที่เกิดขึ้นเป็นเพศผู้เสียส่วนใหญ่ เนื่องจากแตนเบียนเพศเมียจะมุ่งเน้นการวางไข่มากกว่าการผสมพันธุ์กับเพศผู้”




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 15:04:03
การขาดไนโตรเจน (Nitrogen deficiency)

        ในพืชทั่วไป ไนโตรเจน (N) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกรดอะมิโน (Amino acids) กรดนิวคลีอิก (Nucleic acids) นิวคลีโอไทล์ (Nucleotile) และคลอโรฟิลล์ ไนโตรเจนช่วยในการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มขนาดใบ เพิ่มจำนวนเมล็ดต่อรวง เพิ่มจำนวนเมล็ดดีต่อรวง และเพิ่มปริมาณโปรตีนในเมล็ด

ไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่พบว่าขาดในนาข้าวทั่วไป โดยเฉพาะในนาดินทรายที่มีระดับอินทรียวัตถุต่ำเช่นที่พบทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยข้าวที่ขาดไนโตรเจนจะมีใบแก่หรือบางครั้งใบทั้งหมดเป็นสีเขียวอ่อน ปลายใบเหลือง ถ้าขาดรุนแรงใบแก่จะตายเหลือเพียงใบอ่อน ใบแคบ สั้นและตั้งตรง มีสีเขียวปนเหลือง การขาดไนโตรเจนมักเกิดในระยะข้าวแตกกอและระยะกำเนิดช่อดอก ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวมีความต้องการไนโตรเจนสูง การขาดไนโตรเจนส่งผลให้การแตกกอลดลง ต้นข้าวแคระแกรน แตกกอน้อย มีเมล็ดดีต่อรวงลดลงทำให้ผลผลิตข้าวลดลง อาการขาดไนโตรเจนจะคล้ายกับอาการขาดกำมะถัน แต่การขาดกำมะถันจะไม่พบบ่อยนักและมักแสดงอาการที่ใบอ่อนก่อนจะลามไปทั้งต้น การขาดไนโตรเจนเล็กน้อยยังคล้ายกับการขาดธาตุเหล็ก ต่างกันที่การขาดธาตุเหล็กจะเกิดกับใบอ่อนที่กำลังจะพ้นกาบใบออกมา

        สาเหตุของการขาดไนโตรเจนในข้าวเกิดจากดินนามีระดับไนโตรเจนต่ำ การใส่ปุ๋ยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ดินขาดน้ำ การใส่ปุ๋ยด้วยวิธีการและเวลาที่ไม่เหมาะสม การสูญเสียไนโตรเจนไปกับผลผลิตที่เก็บเกี่ยว รวมทั้งการที่ดินมีการสูญเสียไนโตรเจนจากขบวนการต่างๆ (Volatilization, Denitrification, การถูกชะล้างสู่ดินชั้นล่าง) สูง

        การจัดการเพื่อการป้องกันและแก้ไขการขาดไนโตรเจนในข้าวสามารถทำได้โดย

การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนให้แก่ข้าว เป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุด โดยข้าวจะตอบสนองต่อปุ๋ยที่ใส่โดยมีใบเขียวขึ้น มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นหลังจากใส่ปุ๋ย 2–3 วัน อย่างไรก็ตามการตอบสนองนี้จะขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว ชนิดดิน สภาพภูมิอากาศ ชนิดปุ๋ยและปริมาณที่ใช้ รวมทั้งเวลาและวิธีการที่ใส่

การใช้วัสดุอินทรีย์ เช่นปุ๋ยพืชสด มูลสัตว์ ฟางข้าว เป็นต้น ในการเพิ่มระดับอินทรียวัตถุและความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อเพิ่มปริมาณไนโตรเจนในดินในระยะยาว

ปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนโดยใส่วัสดุที่มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก (Cation Exchange Capapcity - CEC) สูง เช่น Zeolite (CEC 200-300 cmol/ดิน 1 กก.), Vermiculite (CEC 100-200 cmol/ดิน 1 กก.)






หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 15:06:12
การขาดฟอสฟอรัส (Phosphorus deficiency)

        ฟอสฟอรัส (P) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ Adenosine triphosphate (ATP) นิวคลีโอไทล์ (Nucleotile) กรดนิวคลีอิก (Nucleic acids) และฟอสโฟไลปิด (Phospholipid) ฟอสฟอรัสจะช่วยในการแตกกอ การพัฒนาของราก การออกดอกและการสุกแก่ของข้าว ปุ๋ยฟอสเฟตจะจำเป็นมากสำหรับข้าวที่ระบบรากยังไม่พัฒนาเต็มที่ เช่นหลังการปักดำใหม่ๆ ดังนั้นจึงควรใส่ปุ๋ยฟอสเฟตเป็นปุ๋ยรองพื้นก่อนการปักดำหรือในวันปักดำ

        ข้าวที่ขาดฟอสฟอรัสจะแคระแกรน การแตกกอน้อย ใบแคบ สั้น ตั้งตรงและมีสีเขียวเข้ม ลำต้นผอมเรียว ข้าวจะชะงักการเจริญเติบโต จำนวนใบ จำนวนรวงและจำนวนเมล็ดต่อรวงลดลง ใบอ่อนสมบูรณ์ดีแต่ใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและตายในที่สุด ถ้าพันธุ์ข้าวที่ปลูกสามารถผลิต Anthocyanin ได้ใบอาจเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีม่วง ในดินที่เป็นกรดการขาดฟอสฟอรัสมักจะเกิดร่วมกับเหล็กเป็นพิษ

สาเหตุของการขาดฟอสฟอรัสเกิดจากการมีระดับฟอสฟอรัสในดินนาต่ำหรือถูกตรึงโดยดินจนพืชนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ (จะเกิดในดินที่เป็นกรดจัด) การใส่ปุ๋ยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช วิธีการปลูกแบบนาหว่านมีโอกาสทำให้ข้าวขาดฟอสฟอรัสมากกว่าปลูกแบบปักดำ เพราะต้นข้าวจะหนาแน่นกว่าและมีรากตื้นกว่าข้าวที่ปลูกแบบปักดำ

การจัดการเพื่อการป้องกันและแก้ไขการขาดฟอสฟอรัสสามารถทำได้โดย

ควรไถกลบฟางข้าวลงในแปลง เพราะถึงแม้ว่าปริมาณฟอสฟอรัสในฟางข้าวจะมีน้อย แต่จะช่วยรักษาระดับฟอสฟอรัสในดินในระยะยาว

ใส่ปุ๋ยฟอสเฟต ปุ๋ยคอกและวัสดุอินทรีย์อื่นๆ ให้กับข้าวอย่างพอเพียง เพื่อชดเชยกับธาตุอาหารที่สูญเสียไปจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 15:08:44
การขาดโพแทสเซียม (Potassium deficiency)     

โพแทสเซียม (K) มีส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายสารอาหารหรือผลผลิตจากการสังเคราะห์แสง ในพืช โพแทสเซียมจะช่วยทำให้ผนังเซลล์แข็งแรง เพิ่มพื้นที่ใบและปริมาณคลอโรฟิลล์ ชะลอการร่วงของใบ ช่วยเพิ่มจำนวนเมล็ดและจำนวนเมล็ดดีต่อรวง เพิ่มน้ำหนักเมล็ด แต่ไม่ช่วยในการแตกกอ

        ข้าวที่ขาดโพแทสเซียมต้นจะแคระแกรน การแตกกอลดลง ใบสั้น เหี่ยวแห้ง ใบโน้มลง (Droopy) และมีสีเขียวเข้ม ใบล่างจะมีปลายใบสีน้ำตาลเหลือง มีสีเหลืองระหว่างเส้นใบโดยเริ่มจากปลายใบและขอบใบแล้วค่อยๆ ลุกลามสู่โคนใบในที่สุด ต่อมาใบจะแห้งและกลายเป็นสีน้ำตาล ถ้าการขาดรุนแรงมากขึ้นบางครั้งจะมีจุดประสีน้ำตาลบนใบที่เป็นสีเขียวเข้มโดยเริ่มที่ปลายใบก่อนจะขยายสู่ส่วนอื่นๆ ของใบ รวงข้าวจะผอมยาว อาจมีจุดด่าง ขนาดและน้ำหนักของเมล็ดลดลง การหักล้มสูง มักจะเกิดในระยะหลังของการเจริญเติบโต อาการขาดโพแทสเซียมนี้อาจสังเกตเห็นได้ยากในข้าวทั่วไป

        สาเหตุของการขาดโพแทสเซียมเกิดจากการปลูกข้าวในดินทรายหรือดินที่มีปริมาณดินเหนียวต่ำ มีธาตุโพแทสเซียมในดินต่ำหรือไม่อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ หรือดินที่มีการชะล้างสูง นอกจากนี้อาจพบอาการขาดโพแทสเซียมในดินอินทรีย์ เช่นดินพีท (Peat) ดินมัก (Muck)

การจัดการเพื่อการป้องกันและแก้ไขการขาดโพแทสเซียมสามารถทำได้โดย

ควรไถกลบฟางข้าวลงในแปลง เพราะถึงแม้ว่าปริมาณโพแทสเซียมในฟางข้าวจะมีน้อย แต่จะช่วยรักษาระดับโพแทสเซียมในดินในระยะยาว

ใส่ปุ๋ยโพแทซ ปุ๋ยคอกและวัสดุอินทรีย์อื่นๆ ให้กับข้าวอย่างพอเพียง เพื่อชดเชยกับธาตุอาหารที่สูญเสียไปจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 15:13:37
การขาดแมกนีเซียม (Magnesium deficiency)

        แมกนีเซียม (Mg) ช่วยในการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด เป็นองค์ประกอบหนึ่งของคลอโรฟิลล์จึงมีส่วนในการสังเคราะห์แสง และการสังเคราะห์โปรตีนด้วย แมกนีเซียมเป็นธาตุที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย อาการขาดจึงมักเกิดกับใบแก่ก่อน ต้นข้าวที่ขาดแมกนีเซียมจะมีอาการคล้ายการขาดโพแทสเซียม คือจะมีสีซีด พื้นที่ระหว่างเส้นใบจะเป็นสีเขียวซีด โดยจะเกิดกับใบแก่ก่อนและเมื่อขาดมากขึ้นจะลามมาถึงใบอ่อน ในกรณีที่ขาดรุนแรงใบแก่ของข้าวจะกลายเป็นสีเหลือง ข้าวมีการแตกกอ จำนวนใบและขนาดใบปกติ แต่ใบจะบิดไปมาและโน้มลง (Droopy) ข้าวจะมีจำนวนและน้ำหนักเมล็ดลดลง คุณภาพเมล็ดไม่ดี การขาดแมกนีเซียมมักพบในดินที่เป็นกรดและมี CEC ต่ำ และดินทรายที่มีอัตราการซึมน้ำและการชะล้างสูง

สาเหตุของการขาดแมกนีเซียมเกิดจากดินมีปริมาณแมกนีเซียมที่เป็นประโยชน์ไม่เพียงพอต่อการเจริญ
เติบโตของข้าว การจัดการเพื่อการป้องกันและแก้ไขการขาดแมกนีเซียมสามารถทำได้โดยใส่ปุ๋ยแมกนีเซียม ปุ๋ยคอกและวัสดุอินทรีย์อื่นๆ ให้กับข้าวอย่างพอเพียง เพื่อชดเชยกับธาตุอาหารที่สูญเสียไปจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 15:59:48
หอยเชอรี่ศัตรูร้ายสำหรับนาข้าวโดยเฉพาะในระยะกล้า  ในการกำจัดหอยเชอรี่ในบ้านเรา ชาวนานิยมใช้กากชาหว่านเพื่อกำจัดหอยเชอรี่เพราะปลอดภัยกับผู้ใช้ แต่ชาวนาบางคนอาจใช้พวกสารเคมีพวกยาฆ่าแมลงแทนซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้ด้วย ลองมาดูกันว่ากากชาคืออะไร

ซาโปนิน (กากชา) สารกำจัดหอยเชอรี่ ชื่อสามัญของสารออกฤทธิ์ คือ ซาโปนิน ออกฤทธิ์ฆ่าหอยได้รวดเร็วภายใน 2-3ชม. สามารถใช้กำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าว ทั้งประเภท นาดำ นาหว่าน หรือใช้เพื่อกำจัดหอยชนิดอื่นๆ เช่นหอยทาก หอยหมายเลข หนึ่งที่เข้าทำลายกัดกินต้นข้าวและ พืชของเกษตรกรในโรงเรือนกล้วยไม้ โรงเรือนเพาะกล้า หรือ ในแปลงปลูกพืชผัก

     ซาโปนิน (กากชา) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกำจัดหอยเชอรี่ มีการนำเข้ากากชาจากประเทศจีน เพื่อใช้ กำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าว เป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว  ในเมล็ดชานี้มีสารซาโปนิน อยู่ประมาณ 10-13% ซึ่งมีความเป็นพิษ รุนแรงเฉพาะสัตว์เลือดเย็นหรือสัตว์ชั้นต่ำเช่น หอยเชอรี่ หอยชนิดต่างๆและ ปลา เท่านั้น  ซาโปนินจะมีผลต่อศูนย์ประสาทที่  ควบคุมการหายใจของสัตว์ชั้นต่ำ ทำให้ขาดออกซิเจนและทำให้เกิดการสลายตัวของเม็ดเลือด พิษของกากชายังสลายตัวได้ ง่ายความเป็นพิษ ไม่มีสารพิษตกค้าง ปลอดภัยต่อผู้ใช้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

       ในการกำจัดหอยเชอรี่ แนะนำให้ใช้ซาโปนิน อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านลงในนาข้าวที่มีน้ำสูง 5 ซม. หลังสูบน้ำเข้า  นาครั้งแรก เพราะเป็นช่วงที่เกือบจะไม่มีสัตว์น้ำในนา ซาโปนินมีความเป็นพิษสูงต่อหอยเชอรี่ แต่สลายตัวได้เร็วจึงไม่มีพิษ ตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำอื่นๆ ในลำคลองหรือแม่น้ำภายหลังระบายน้ำออกจากนา

       ระยะเวลาการออกฤทธิ์ หอยจะเริ่มหยุดการเคลื่อนไหว และตายภายในเวลา 24 ชั่วโมง แล้วแต่ความเข้มข้นของ  สารซาโปนิน ที่ได้รับและสารจะเริ่มมีการสลายตัวได้ ในเวลา 12 ชั่วโมง และดำเนินไปอย่างช้าๆ

     ประสิทธิภาพในการกำจัดหอยเชอรี่ หอยเจดีย์ หอยทาก หอยคัน ปู ปลิง และกำจัดปลาที่ไม่ต้องการในบ่อ เพื่อเตรียมบ่อ สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

            ลักษณะของหอยเชอรี่ จะเหมือนกับหอยโขง แต่ตัวโต กว่า และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วลูกหอยอายุเพียง 2-3 เดือนจะจับคู่ผสมพันธุ์ได้ตลอดเวลาหลังผสมพันธุ์ได้ 1-2 วัน ตัวเมียจะวางไข่เวลากลางคืน โดยวางไข่ตามกิ่งไม้ ต้นหญ้า  ริมน้ำ ต้นข้าว ไข่สีชมพูเกาะติดกันเป็นกลุ่มยาว 2-3 นิ้ว มีจำนวนประมาณ 388-3,000 ฟองไข่จะฟักออกเป็นตัวหอยภาย   ในเวลา 7-12 วันหลังวางไข่ เกษตรกรจะสังเกตการเข้าทำลายต้นข้าวในระยะกล้าและที่ปักดำใหม่ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอ หอยเชอรี่จะชอบกินต้นข้าวในระยะกล้าที่มีอายุประมาณ 10 วันมากที่สุด โดยเริ่มจากส่วนโคนต้นข้าวที่อยู่ใต้น้ำจากพื้นดิน  ประมาณ 1-1.5 นิ้ว จากนั้นกินส่วนใบที่ลอยน้ำจนหมดทั้งต้นทั้งใบใช้เวลาเพียง 1-2 นาที

จุดกำเนิดการปลูกชาเริ่มจากประเทศจีน ประเทศจีน เป็นแหล่งผลิตกากชาที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีพื้นเพาะปลูกหลายล้านไร่  เป็นดินแดนเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งบนพื้นโลกที่ค้นพบ โดยแหล่งปลูกชาส่วนใหญ่อยู่ที่มณฑล เสฉวน ถึง มณฑล ยูนนาน

                   การใช้กากชาในการกำจัดหอยเชอรี่ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันเขตพื้นที่เพาะปลูกนาข้าวทั้งในประเทศไทยเองและอีกหลายๆประเทศที่มีการเพาะปลูกข้าวอย่างเช่น เวียดนาม อินเดีย ลาว กัมพูชา เป็นต้น เนื่องจากเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมี สารพิษตกค้างในการเพาะปลูก ปลอดภัยต่อคนใช้ และปลอดภัยต่อร้านค้าที่นำไปจำหน่ายต่อ

ชาที่ปลูกอยู่บนโลกนี้แบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ๆ 2 ประเภทดังนี้คือ ชาที่สำหรับใช้ชงดื่ม และชาสำหรับทำน้ำมันชา ชาที่สำหรับไว้ดื่มชงนั้นเราไม่สามารถนำมาใช้เป็นกากชาสำหรับกำจัดหอยเชอรี่ได้ บางคนอาจเข้าใจผิดว่ากากชามาจากใบชาที่ผ่านชงเรียบร้อยแล้ว แล้วนำใบส่วนที่เหลือทิ้งนั้นมากำจัดหอยเชอรี่ เป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ กากชาที่ได้เรานำมาจากต้นชาที่นำไปผลิตเป็นน้ำมันชานะครับ

กากชา สำหรับกำจัดหอยเชอรี่นั้นได้มาจากต้นชาที่ผลิตน้ำมันชาเท่านั้น กรรมวิธีกว่าจะได้กากชามานั้นก็ไม่ง่ายกันเลย เริ่มจากการเริ่มเพาะกล้าต้นชา พอต้นชาเริ่มโตแข็งแรงสามารถทนต่อแดดจัดๆ ได้แล้วก็นำไปปลูกลงแปลงที่เตรียมไว้โดยปลูกเป็นแถวๆมีระยะห่างเท่าๆกัน หลังจากนั้นก็หมั่นใส่ปุ๋ย พรวนดิน ดูและรักษา ต้นชาจนกระทั่งออกดอกจนกลายเป็นเมล็ดชา เราก็จะเก็บเมล็ดชาที่เฉพาะแก่ได้ที่เหมาะแก่การนำไปบีบน้ำมัน การบีบน้ำมันนั้นต้องนำเข้าโรงงานสำหรับบีบน้ำมันโดยเฉพาะ หลังจากการผลิตแล้วเราก็จะได้น้ำมันชา และกากชาออกมา น้ำมันชาสามารถนำไปเป็นน้ำมันเพื่อสุขภาพใช้รับประทาน ใช้สำหรับเป็นน้ำมันทอดอาหาร หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพเช่น ครีมบำรุงผิว น้ำมันบำรุงผมเป็นต้น ส่วนที่เหลือจากการผลิตน้ำมันชา ก็คือ กากชา ก่อนเราจะนำกากชาไปใช้ได้ก็ต้องนำไปตากให้แห้ง กากชาที่ได้จะเป็นแผ่นๆแข็งๆ เราก็ต้องนำไปบดเพื่อให้ได้กากชาที่เป็นลักษณะเกล็ด

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกากชากก็มีหลายอย่างด้วยกัน

                               1. กากชาชนิดน้ำ

                               2. กากชาชนิดแผ่น

                               3. กากชาชนิดเกล็ด แบบไม่มีฟางข้าวผสม

                               4. กากชาชนิดเกล็ด  แบบมีฟางข้าวผสม

                               5. กากชาชนิดละเอียด

                               6. กากชาชนิดผง

                               7. กากชาชนิดอัดแท่ง

แต่ที่นิยมนำมากำจัดหอยเชอรี่ส่วนใหญ่จะใช้ กากชาชนิดเกล็ดเนื่องจากสะดวกต่อการใช้งาน ราคาไม่แพงและได้ผลดี

วิธีการใช้และอัตราการใช้

        วิธีที่ 1
 นำกากชา จำนวน 1 ถุง (10 กิโลกรัม) คลุกกับเมล็ดข้าวปลูก 120 กิโลกรัม แล้วนำไปหว่านได้ประมาณ 3-4 ไร่
 
        วิธีที่ 2
 นำ กากชา จำนวน 1 ถุง (10 กิโลกรัม) หมักน้ำ 4-5 ปีบ คนให้ทั่ว ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำกากและน้ำไปเทสาดให้ทั่วแปลง หรือกรองกากออกแล้วใช้เครื่องพ่น ฉีดให้ทั่วแปลง สารออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง
 
        วิธีที่ 3
 นำ กากชา จำนวน 1 ถุง (10 กิโลกรัม) เคล้ากับน้ำพอชื้นหายเป็นฝุ่น ใช้หว่านทั่วแปลงหรือเฉพาะที่มีหอยเชอรี่ แล้วกักน้ำไว้ประมาณ 3 วัน ที่น้ำสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร จะใช้ได้ประมาณ 3-4 ไร่ และควรเพิ่มปริมาณ ซาโปนิน ถ้าน้ำมากขึ้นตามอัตราส่วน
 
         วิธีที่ 4
 ใช้ถุง กากชา จำนวน 1 ถุง (10 กิโลกรัม) เจาะก้นถุงให้เป็นรูขนาดพอเหมาะ ผูกติดรถในตอนทำเทือก ย่ำให้ทั่วแปลง จะเป็นวิธีกำจัดหอยเชอรี่ได้ดีที่สุด
 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 22:11:56
เอาบทความมาลงพอสมควรแล้วครับคราวนี้มาฟังผมเล่าประสบการณ์ทำนาผมบ้าง  :D  :D

จุดเริ่มการเป็นชาวนา

ผมเริ่มทำนาเมื่อปี 2553 จำนวน 22 ไร่ ตอนนั้นอายุ 30 ปี ทำนามาได้ 5 ครั้ง นาปี 3 นาปรัง 2 ครั้ง ผมเองไม่ได้จบทางด้านเกษตร  จบ ป.ตรี ด้านโทรคมนาคมทำงานบริษัทตั้งแต่อายุ 23 ปี ปัจจุบันเป็น วิศวกร บมจ. แห่งหนึ่งและเป็นชาวนาในวันหยุด จุดเปลี่ยนที่ต้องมาทำนาเพราะต้องช่วยทางบ้านทำนาเนื่องจากพ่อผมเปลี่ยนอาชีพจากค้าข้าวหันมาทำนาแทนโดยแบ่งรายได้และทุนของพ่อ 9 ไร่ ผม 13 ไร่ซึ่งพ่อของผมก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำนาเลยการลงทุนค่าเครื่องมือจะเป็นของผมเกือบทั้งหมด

เริ่มเป็นชาวนาแบบงู ๆ ปลา ๆ

แทบทุกคนคงคิดแบบผมว่าหากเราจะเริ่มเป็นชาวนา จะทำนาก็ต้องไปศึกษากับชาวนาสิครับ..  ผมก็ทำเช่นนั้น  ผมไปถามเพื่อน  ชาวนาระแวกใกล้ ๆ บ้านทุกคนต่างช่วยเสนอแนะวิธีการทำนาให้ครับแต่ละคนมีวิธีปฎิบัติที่ไม่เหมือนกัน ความคิดก็ไม่เหมือนกัน เอาละสิครับ....จะทำไงดี ??
ตอนนี้ความรู้ได้แบบงู ๆ ปลา ๆ จับจุดไม่ได้แต่พอทราบวิธีทำบ้างแล้ว  หลังจากนั้นคิดว่า ชาวนาต้องมีเครื่องมือครับ ไปซื้อเครื่องมือที่ร้านก่อนเลย

เครื่องมือที่ชาวนาปัจจุบันจำเป็นหรือควรจะมีครับ

1.  จอบ  (  ราคาปัจจุบัน  2 ร้อยกว่าบาท )
2.  เครื่องพ่นยาแบบติดเครื่องยนต์หรือแบบคันโยก ปัจจุบันมีแบบใช้ไฟฟ้าครับเอาไว้พ่นฮอโมนหรือยาต่าง ๆ ทั้งยาคลุมหญ้า ยากำจัดโรคและแมลง ( มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงหลายๆ พัน )
3.  เครื่องพ่นปุ๋ยและพันธุ์ข้าวแทนการหว่านด้วยมือ  ( ราคาตั้งแต่ พันกว่าบาทจนถึงหลายๆ พัน )
4.  ท่อสูบน้ำ ( ราคาสามพันกว่าบาทขึ้นไป ) แต่การทำนา 3 ครั้งหลังนี้ผมไม่ได้ใช้เลยเพราะมีการจัดการระบบน้ำในนาดีขึ้น ท่อสูบน้ำไว้สำหรับสูบน้ำเข้านาและสูบน้ำออกในกรณีน้ำท่วมหรือน้ำขังเป็นแอ่งต้องการระบายออก
5. เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายข้อแข็ง ถ้าแรงเลือกแบบ 2 จังหวะอยากประหยัดน้ำมันต้อง 4 จังหวะราคามีตั้งแต่พันกว่าบาทจนถึงหลักหมื่นแล้วแต่ยี่ห้อและเกรด

แค่  5 อย่างนี้ทำนาครั้งแรกลงทุนไปหมื่นกว่าบาทแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 22:33:39
เป็นชาวนาต้องมีพันธุ์ข้าวแต่ก่อนจะไปหาพันธุ์ข้าวต้องตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าเราจะเลือกทำพันธุ์แบบไหน
จะเลือกทำนาแบบไหนดี ?

นาหว่าน  -  ทำง่าย ประหยัดแรงงาน ใช้สารเคมีมาก  เปลืองปุ๋ย  ใช้เมล็ดพันธุ์มาก  นาปี 14-
                 16 กก/ไร่   นาปรัง  20-30 กก/ไร่
นาดำคน -  หลายขึ้นตอน ใช้แรงงานมาก  ปลอดภัยจากสารเคมี ประหยัดปุ๋ย  ใช้เมล็ดพันธุ์
                 น้อย 8-12 กก/ไร่
นาดำรถ -   ง่ายหากจ้าง ต้นทุนสูง ประหยัดปุ๋ย ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย  8-10 กก/ไร่

นาโยน -    มีขึ้นตอนในการทำอยู่บ้าง มีต้นทุนสูงในการทำครั้งแรก  ประหยัดปุ๋ย ใช้เมล็ดพันธุ์
               น้อยกว่าทำนาแบบอื่น   3-10 กก/ไร่ แล้วแต่ความต้องการความหนาแน่นของข้าว


ผมสอบถามชาวนาระแวกใกล้เคียงอยู่นานตอนนั้นมีให้เลือกแค่สองอย่างคือ นาหว่านและนาดำโดยแรงงานคนสุดท้ายเลยต้องเลือกนาหว่านครับเพราะแรงงานคนมาทำนาดำไม่มีเลย ได้วิธีการทำนาแล้วต่อไปต้องหาข้าวพันธุ์


ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว
ผมทำนาครั้งแรกซื้อข้าวพันธุ์จากกรมการข้าว  ทำนาครั้งแรกเป็นนาที่ชาวนาจะพอทราบดีว่าปลูกข้าวนาปียากกว่านาปรังเพราะหากทำนาหว่านแล้วฝนมีส่วนสำคัญมาก  ซื้อข้าวกรมข้าวคุณภาพดีแต่ราคาสูง ราคาเฉลี่ยตอนนั้น กก ละ  25 บาท ผมทำนาปีตอนนั้นใช้ข้าวพันธุ์ 15 กก./ไร่  ลงทุนข้าวพันธุ์ไปแปดพันกว่าบาท ปัจจุบันเลือกใช้ข้าวพันธุ์เก็บเกี่ยวจากนาปลูกแทนเพราะราคาถูกไปกว่าครึ่งช่วยลดต้นทุนได้ครับแต่ต้องมั่นใจว่าข้าวพันธุ์มีคุณภาพและไม่เป็นโรคมาก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 22:48:43
ไถนา......

การทำนาครั้งแรกผมไม่เข้าใจว่าจะต้องไถยังไง... จนไปสอบถามชาวนาดู พอจะรู้ว่า นาปีจะต้องมีการไถ ปัจจุบัน เรียกว่าการปั่นนา โดยใช้รถแทรกเตอร์ที่มีจอบหมุนหรือโรตารี่ แถวบ้านไม่นิยมใช้รถไถเดินตามไถแล้ว ถามว่าเพราะอะไรได้คำตอบว่าเพราะไถไม่เข้า ดินมันแข็ง ถามต่อว่าเพราะอะไรก็ได้คำตอบเพราะใช้ปุ๋ยเคมี สมัยก่อนดินไถง่ายมาก ถามต่อว่าทำไมไม่เลิกใช้  ก็ได้คำตอบมาว่าถ้าไม่ใส่ปุ๋ยเคมีก็ได้ผลผลิตน้อยก็กว่าเดิมก็เลยต้องใช้เรื่อยมา

- ไถปั่น หมักดินไว้อย่างน้อย 4-5 วัน 
-  ทำเทือก และชักร่องหากเป็นนาหว่าน

ผมจ้างรถแทรกเตอร์มาปั่นนา  และตอนนั้นเลือกซื้อรถไถนั่งขับมาใช้งานสำหรับทำเทือกเพราะตอนนั้นหาคนมาทำเทือกยากมากต้องรอคิวนาน   ซื้อรถไถราคาเกือบสองแสนบาททั้งที่ไม่เคยขับมาก่อนมาลองขับดู  ปีแรก  ๆ มีปัญหามากเพราะไถไม่ค่อยเป็น ปรับที่นาไม่เรียบ บางจุดก็ดอนบางจุดก็ลุ่มครับ




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 22:58:48
ประสบการณ์การหว่านข้าวได้ 1 วันน้ำท่วมนา

ทำนาปี ในปีที่ 1 และ 2  ถูกน้ำท่วมทั้ง 2 ครั้งมาปีที่ 3 ที่ไม่ท่วมครับเพราะมีการป้องกันเสริมคันนาและชาวบ้านช่วยกันขุดลอกคลองระบายน้ำ  ข้าวหลังจากหว่านเมล็ดไปแล้วหากถูกน้ำท่วมหลาย ๆ วันอาจทำให้เมล็ดเน่าเสียหายได้ ของผมน้ำท่วม 2 วันเสียหายไป 30% ของพื้นที่  ชาวนาบางท่านถึงกับต้องปั่นนาใหม่อีกครั้งและหว่านเมล็ดไปอีกรอบ ซึ่งผมก็ถือว่าโชคดีกว่าคนอื่น  สาเหตุที่น้ำท่วมเพราะฝนตกทั้งคืน ชาวนาส่วนใหญ่ก็พึ่งหว่านพันธุ์ข้าวไปต่างคนต่างระบายจากที่นาตัวเอง นาใครอยู่ที่สูงกว่าก็สบาย นาข้างล่างก็ต้องรับน้ำเต็ม ๆ การทำนาปีจะหว่านข้าววันไหนต้องดูฟ้าฝนด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 23:15:07
ซื้อปุ๋ยอย่างไรดี

ทำนาครั้งไม่รู้เลยว่าต้องใส่ปุ๋ยอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ไปซื้อที่ร้านบอกเพียงว่าทำนา 22 ไร่ช่วยจัดปุ๋ยให้ที ที่ร้านจัดมาให้ก็มี 

ยูเรีย 46-0-0  จำนวน  5 กส.
ปุ๋ยสูตร    16-20-0  จำนวน  10 กส.
ปุ๋ยสูตร    15-15-15  นำนวน  7 กส.

ตกไร่ละ 1 กส. พอดี นี่ต้นทุนค่าปุ๋ยต่อไร่ตกที่ 700 กว่าบาทเลยเหรอ...ถามเจ้าของร้านเค้าก็บอกชาวนาแถวนี้ก็ใส่กันแบบนี้แหล่ะ  แถมไม่พอเราจะต้องซื้อยาฆ่าหอยเชอรี่ด้วย ไร่ละ กส  ตอนนั้น กส.ละ 100 บาทเอง ตอนนี้เพิ่มไปเป็นกส.ละเกือบ 2 ร้อยบาทแล้วราคาขึ้นไวมาก ๆ ปัจจุบันผมลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้มากใช้เพียง 1 ส่วน 3 จากการทำนาครั้งแรก มีแต่คนบอกว่าใส่ปุ๋ยน้อย บ้างก็ว่าใส่ปุ๋ยไม่เป็นแม้แต่พ่อผมเองก็ว่า แต่พอผลผลิตออกมากลับได้มากกว่าคนที่ใส่ปุ๋ยเคมีมาก ๆ อีก นาปรังตันกว่าไม่ใช่เรื่องยาก นาปีได้เงินหมื่นกว่าต่อไร่ก็ทำได้ไม่ยากเช่นกัน เอาไว้จะมาบอกเทคนิคอีกทีครับ 

ข้อควรระวังปัจจุบันมีการปลอมปุ๋ยกันมากต้องซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ และต้องดูเรื่องสภาพและปีที่ผลิตด้วย บางแห่งนำปุ๋ยเสื่อมคุณภาพมาจำหน่ายในราคาต่ำกว่าร้านทั่วไป ซึ่งน้ำหนักอาจหายหรือมีการปลอมปนด้วยครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 23:25:53
นาหว่านเสียหายต้องมีการปลูกซ่อม

นาปีเป็นข้าวพันธุ์ไวต่อช่วงแสงส่วนใหญ่อายุเก็บเกี่ยวจะประมาณ 160 วัน จะออกรวงในช่วงเข้าฤดูหนาวแต่ กข.6 และ มะลิ 105 จะเก็บเกี่ยวช้ากว่า กข 15  การทำนาครั้งแรก หว่านวันแรกอีกวันน้ำท่วม พื้นนาบางจุดเมล็ดพันธุ์เน่าเสียหายจะต้องมีการนำข้าวมาปลูกซ่อมครับระยะที่จะซ่อมที่เหมาะสมคือช่วงประมาณ 1 เดือนก่อนที่ข้าวจะเริ่มแตกกอครับ แต่บางจุดก็อาจได้ซ่อมอีกเหมือนกันเพราะอาจถูกหอยเชอรี่กินครับซึ่งจะต้องมีการกำจัดที่ถูกวิธีครับ




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มกราคม 2013, 23:34:28
ทำนาหว่านต้องกำจัดหญ้า

หลังจากที่เราหว่านเมล็ดในนาแล้วหลังจากข้าวเริ่มเป็นลำต้นได้ประมาณ 7-12 วันชาวนาจะพ่นยาคุมหญ้าเพื่อกำจัดหญ้าที่งอกมาพร้อมกับต้นข้าวเพื่อเป็นการกำจัดวัชพืช  ซึ่งการพ่นก็แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน อย่าง อ.ชัยพร พ่นแบบบาง ๆ ในช่วงหว่านข้าวได้เพียง 2 วัน  ผมก็ไม่เคยพ่นยาคุมหญ้าครับจ้างมาตลอด  การพ่นควรสวมชุดป้องกันทั้งร่างกายหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีแต่ก็มักเห็นชาวนาทั่วไปพ่นโดยการขาดการป้องกันที่ถูกวิธีอยู่



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 00:02:55
ทำนาครั้งแรกเกี่ยวข้าวเสร็จแทบเลิกทำนา

ไม่แปลกใจเลยว่าถึงได้ยินชาวนาเป็นหนี้เป็นสินกันมาก ผมทำนาแบบชาวนาทั่วไปในครั้งแรกหากไม่นับต้นทุนในการซื้อเครื่องมือต่าง ๆ จะลงทุนต่อไร่ เกือบไร่ละ 4 พันกว่าบาท ขายข้าวได้ผลผลิตไร่ละ 7 พันกว่าบาทหักแล้วเหลือไร่ละ 2-3 พันบาท ทำ 22 ไร่  หักแล้วเหลือกำไรเพียง  6 หมื่นกว่าบาท ใช้เวลาทำนาเกือบ 6 เดือนยังไม่นับค่าแรงค่าตัวเองที่เราลงแรงในการทำอีก การทำนาโดยไม่รู้ต้นทุน ไม่รู้ว่าควรทำอะไรจึงจะดี หรือไม่รู้วิธีที่ถูกต้องเป็นปัญหาอย่างมากทำนาครั้งแรกลงทุนสูง ทำนา 3 ครั้งหลังมาต้นทุนลดลงไปมาก ผลผลิตต่อไร่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มาดูทำนาครั้งแรกว่าลงทุนค่าไรไปบ้าง

1.  ค่าจ้างไถนา ( ปั่นนา ) ,ค่าน้ำมันรถในการทำเทือก
2.  เมล็ดพันธุ์กรมการข้าว ค่าแรงในการหว่าน
3.  ค่าปุ๋ยเคมี
4.  ค่ายาคุมหญ้า+ค่าแรงในการพ่น
5.  ค่าแรงในการปลูกซ่อมข้าว
6.  ค่าฮอโมนพ่นบำรุงข้าว ซื้อมาขวดละ 1900  จำนวน 2 ขวด
7.  ค่าไคโตรซาน
8.  ค่ายากำจัดโรคเชื้อรา+ ค่าแรง
9.  ค่าเกี่ยวข้าว

ปัจจุบันลดต้นทุนไปได้มากเพราะ...
1.  ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ราคาถูก
2.  ลดการใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ร่วมกับปุ๋ยคอกกับจุลินทรีย์
3.  ไม่ซื้อฮอโมนที่ขาย หันมาผลิตเองต้นทุนไม่ถึง 2 ร้อยบาทจากที่เคยเสียเงินไปเกือบ 4 พันบาท
4.  ปรับระบบน้ำในนาใหม่ป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำได้เร็วขึ้น
5.  ใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาควบคุมเชื้อราในนาข้าว 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 00:20:56
ทำนาปรัง 1 ตันต่อไร่ไม่ใช่เรื่องยากได้มากกว่าด้วยซ้ำ

หลายบริษัทชวนเชื่อให้ชาวนาให้ใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง ฮอโมนบ้าง สารสกัดบ้างเพื่อเพิ่มผลิตแต่จากการทำนาปรังที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า  การดูแลอย่างถูกวิธี  การใส่ปุ๋ยที่ถูกสูตร ถูกช่วงเวลามีความสำคัญมากช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย  การเข้าใจธรรมชาติของต้นข้าว และที่สำคัญต้องรู้จักการกำจัดวัชพืช  การกำจัดและป้องกันแมลงศัตรูข้าว การให้น้ำ ซึ่งได้เอาเนื้อหามาให้ดูกันบ้างแล้วครับ  ส่วนนาปีถ้าหากเป็นพันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสงอย่าง กข. 15 มะลิ105  กข. 6  หากได้ผลผลิตเกิน 750  กก/ไร่ ก็ถือว่ามากพอแล้วครับ สรุปว่าผลผลิตที่ขายได้ต่อไร่ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 1 หมื่นบาทสำหรับราคาในปัจจุบันก็น่าจะพอใจแล้วและจะต้องดูที่ทำให้ต้นทุนต่ำด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 09:16:58
 

  ท่านทำนาแค่3-4 ปีได้เท่านี้ก็สุดยอดแล้วครับ บางคนทำมาทั้งชีวิตยังไม่เท่าท่านทำเลยครับ เอามาลงเยอะๆนะครับจะเข้ามาศึกษาเรื่อยๆครับ อีกไม่นานคงกลับไปทำนาเหมือนท่านแหละครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 10:38:48
 

  ท่านทำนาแค่3-4 ปีได้เท่านี้ก็สุดยอดแล้วครับ บางคนทำมาทั้งชีวิตยังไม่เท่าท่านทำเลยครับ เอามาลงเยอะๆนะครับจะเข้ามาศึกษาเรื่อยๆครับ อีกไม่นานคงกลับไปทำนาเหมือนท่านแหละครับ

ขอบคุณครับที่ช่วยเป็นกำลังใจ รายละเอียดยังมีอีกครับยังไงจะมาลงเรื่อย  ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 11:49:16
ว่าด้วยเรื่องการไถนา

ชาวนาในอดีตใช้แรงงานจากควายหรือกระบือในการไถนา แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม ความเจริญ ถนนหนทาง ตลอดจนรูปทรงของบ้านในปัจจุบัน ไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงควายเพื่อใช้ไถนาอีกต่อไป   การดำเนินชีวิตของคนสมัยก่อนเป็นไปอย่างเชื่องช้าและเรียบง่ายมากกว่าปัจจุบัน คนกับควายมีวิถีการดำเนินชีวิตที่ใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้แม้อาจมีควายไถนาให้เห็นบ้างเพราะไม่เปลืองน้ำมัน เท้าของควายก็มีน้ำหนักน้อยกว่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ เวลาเหยียบดินแล้วดินจะไม่แน่นจนเกินไป แต่ทั้งนี้การใช้ควายก็มีผลต่อชีวิตสัตว์ที่มันต้องเหนื่อยต้องเจ็บตัว  ต่อมาก็เริ่มมีการใช้รถไถนาเดินตามเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 6-10 แรงม้า ราคาสมัยก่อนหมื่นกว่าบาท ปัจจุบันรวมอุปกรณ์ก็ตกราว ๆ 4-6 หมื่นบาทและต่อมาเมื่อชาวนามีอายุเพิ่มมากขึ้นการไถนาเดินตามก็ทำให้รู้สึกว่าเหนื่อย ช้าแต่ก็มีใช้งานกันอยู่ ทางเลือกใหม่ของชาวนาปัจจุบันจะเห็นกันคือรถแทรกเตอร์ครับ ที่เห็นกันอยู่มาก ๆ ก็เป็นพวกคูโบต้า กับยันม่าร์  มีขนาดรถให้เลือกตามกำลังเครื่องยนต์ ที่นิยมกันมากคือช่วงแรงม้า 30-40 แรงม้า  ราคารวมอุปกรณ์อยู่ราว ๆ 5 - 7 แสนบาท ข้อดีคือทำให้งานเสร็จรวดเร็วมากขึ้น ชาวนาสามารถทำนาได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ราคาก็สูงเจ้าของรถจึงต้องออกรับจ้างด้วยเพื่อให้คุ้มกับราคาของรถ สำหรับพื้นที่หล่มบางครั้งรถอาจติดหล่มจำเป็นอาจต้องให้รถแทรกเตอร์อีกคันลากออกจากหล่มชาวนาที่ใช้รถพวกนี้จำเป็นต้องมีลวดสลิงติดรถไว้เสมอ  แต่ก็อย่าลืมว่ารถยิ่งคันใหญ่ น้ำหนักก็มากอาจทำให้ดินแน่นมากกว่าเดิม ดินแน่นทำให้โครงสร้างของดินเสีย อากาศในดินมีน้อย รากข้าวเดินได้ลำบาก ชาวนาจึงนิยมแก้ปัญหาไถให้ผานลึกมาก ๆ แต่ผลตามมาก็ทำให้ดินหล่ม พื้นนาเสียหาย เป็นสาเหตุการเกิดโรคตามมา จึงต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสมในแปลงนา ผมเองก็ซื้อรถไถนามาหนึ่งคันเป็นแบบไถนานั่งขับ เนื่องจากราคาไม่แพงมากเพราะไม่ได้ออกรับจ้าง จะซื้อคันใหญ่ก็ราคาค่อนข้างสูง เงินทำนาได้ก็คงหมดไปกับการผ่อนซื้อรถเป็นแน่ หากใครคิดจะซื้อก็ลองคิดดูดี ๆ ครับ ตอนนี้ถ้าจ้างเค้าก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งเพราะค่าจ้างลดต่ำลงมาบ้างแล้วเพราะรถแทรกเตอร์มีมากขึ้น แต่ต้องจองคิวรถ นัดวันกันดี ๆ เพื่อวางแผนในการเพาะปลูกได้

อุปกรณ์ที่รถไถควรมี

1.  ผาน มีทั้บผานบุกเบิก ผานพรวน รถแทรกเตอร์จะซื้อผานพรวนเนื่องจากมีใบมากดินละเอียด
2.  จอบหมุนหรือโรตารี่ สำหรับคุ้ยด้นและปั่นให้ละเอียดเป็นที่นิยมกันมากเพราะรวดเร็วแต่ไม่เหมาะกับการปั่นในพื้นที่ที่มีเศษฟางมาก ๆ เพราะจะติดใบมีดควรมีการหมักฟางก่อนหรือหากฟางมากจริง ๆ อาจต้องเผาบ้างครับ
3.  อุปกรณ์ลูบเทือก เพื่อปรับหน้าดินให้เรียบ
4.  อุปกรณ์ชักร่องน้ำหากเป็นนาหว่านน้ำตม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 12:39:10
ระบบน้ำในนาข้าว

ข้าวต้องการน้ำในการเจริญเติมโต  ขาดน้ำมากต้นก็ไม่สมบูรณ์อาจตายได้ แต่น้ำมากก็ไม่ดี การทำนาจึงต้องมีการควบคุมน้ำแม้แต่ระดับน้ำก็มีความสำคัญ ดังนั้นการปลูกข้าวจึงต้องมีคันนา  คันนาอดีตและปัจจุบันก็ยังใช้ดิน แต่ก็มีชาวนาสมัยใหม่ที่ใช้คันนาคอนกรีตบ้างแล้ว แหล่งน้ำสำหรับนาข้าวในพื้นที่เขตชลประทานไม่ค่อยมีปัญหามากนักอาจมีการแย่งน้ำบ้าง บางฤดูกาล นาชลประทานจะใช้ส่งน้ำผ่านคลองส่งน้ำ อาจมีประตูน้ำควบคุมระดับน้ำเป็นบางจุด ชาวนาจะให้น้ำก็อาจใช้ระบบกาลักน้ำ  บางแห่งก็ใช้เครื่องสูบ ถ้าโชคดีหน่อยก็มีประตูน้ำปิดเปิดน้ำเข้านาครับ  นาผมเป็นนาติดคลองชลประทาน ตอนเริ่มทำนา 3 ปีก่อนราคาที่นาตอนนั้นยังซื้อขายที่ราคาไร่ละ 150,000 บาท ตอนนี้ที่นาไม่ติดคลองชลประทานปาเข้าไปไร่ละ 350,000 ถ้าติดคลองชลประทานแบบผมก็ตกที่ 400,000 บาท/ไร่ แล้ว หากใครมีเงินสดซื้อเก็งกำไรไว้ก็ดีแต่ถ้าซื้อมาทำนาและผ่อนกับแบงค์อย่าพึ่งคิดครับเพราะทำนาได้ผลผลิตต่อไร่ครั้งละหมื่นกว่าบาทลบต้นทุนอีกจะเหลือประมาณ 7-9 พันบาทก็อาจไม่พอกับค่าดอกเบี้ยก็ได้ครับ

นาที่ผมทำครับติดคลองชลประทาน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 12:46:59
สำหรับนาที่ไม่ติดคลองชลประทานแต่ติดคลองระบายน้ำสามารถทำแบบนี้ได้ครับ... บ้านเราเรียกว่าการบึงน้ำโดยเอาไม้มาตอกและหาผ้ายางหรือถุงปุ๋ยมากั้นหลักการคล้าย ๆ เขื่อนเพื่อทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นให้สูงเท่าระดับพื้นนา  ผมเคยทำในช่วงปีแรก ๆ เพราะตอนนั้นคันนาเก็บน้ำไม่อยู่เป็นรู เอาน้ำลงนาไหลออกหมด ตอนนี้ขึ้นคันนาใหม่น้ำไม่ไหลออกแล้วจึงไม่ได้บึงน้ำครับ

ตามรูปครับ ตอนนั้นเป็นชาวนาใหม่ ๆ ไม่ค่อยรู้หากต้องการความแข็งแรงให้ใช้ไม้ใหญ่กว่านี้ครับอาจทำสะพานข้ามด้วยก็ดีครับ อาจใช้ไม้ไผ่บงหรือไม่ยูคาลิปตัสก็ได้ครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 13:10:36
การระบายน้ำในนา มีความจำเป็นเมื่อต้องการลดระดับน้ำในนาหรือการระบายปล่อยให้แห้ง ชาวนาทั่วไปอาจใช้การขุดดินที่คันนาเพื่อระบายน้ำ แต่ก็ต้องมีการนำดินมาใส่อีกเมื่อต้องการปิด บางครั้งคันนาอาจเสียไปหากปริมาณน้ำมาก ๆ  นาผมคันนาค่อนข้างใหญ่เลยเลือกใช้การเทคอนกรีตทำประตูเปิดปิดน้ำซึ่งทำง่าย ๆ และแข็งแรง หรือใครอยากทำง่าย ๆกว่านี้อาจหาซื้อท่อ PVC ขนาด 3 นิ้วขึ้นไปมาทำท่อระบายน้ำก็ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 13:22:48
สำหรับนาที่ห่างคลองชลประทานอาจจำเป็นต้องสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้ๆ  เข้ามา บางแห่งต้องมีการเจาะน้ำบาดาลและใช้ปั้มสูบน้ำออกมา ซึ่งอาจใช้พลังงานจากเครื่องยนต์รถไถมาหมุนปั๊ม บางแห่งมีไฟฟ้าก็ใช้มอเตอร์ ปัจจุบันก็อาจพบแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็มีแต่การลงทุนอุปกรณ์ค่อนข้างสูงและหาได้ยากกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 13:42:34

 ขอถามอะไรหน่อยนะครับ คือว่าตอชังข้าวที่เราพ่นสารสะลายไป แล้วไถกลบแต่ไม่ได้ทำนาปรังนะครับไถกลบไว้เฉยๆโดยที่ไม่มีนำแช่ แล้วจะไถพรวนอีกทีตอนนาปีรอบต่อไปตอชังมันจะสลายหรือเน่าไหมครับ ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 14:29:33

 ขอถามอะไรหน่อยนะครับ คือว่าตอชังข้าวที่เราพ่นสารสะลายไป แล้วไถกลบแต่ไม่ได้ทำนาปรังนะครับไถกลบไว้เฉยๆโดยที่ไม่มีนำแช่ แล้วจะไถพรวนอีกทีตอนนาปีรอบต่อไปตอชังมันจะสลายหรือเน่าไหมครับ ขอบคุณครับ

สารละลายที่ว่าน่าจะทำมาจากจุลินทรีย์ครับ  เคยเห็นที่เป็นจุลินทรีย์ผงที่เค้าเอามาขายกันถุงละ 150 บาทบ้างก็แบบขวดน้ำ  การใช้โดยการผสมกับน้ำแล้วสาดหรื่อพ่นทั่วแปลงนาที่มีน้ำหรือป่าวครับ   ปกติถ้าเรามีเวลานานมากขนาดนั้นไม่ต้องพ่นสารละลายก็ได้ครับ ไถพลิก ( แต่ฟางอาจติดผานหากฟางยังไม่ยุ่ยหรือมีฟางมากทำให้ไถดินได้ลำบาก )   ฟางที่ถูกไถกลบสามารถย่อยสลายไปตามธรรมชาติได้แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความชื้นและความสมบูรณ์ของดินว่ามีจุลินทรีย์มากน้อยเพียงไหน  ช่วงเดือนเมษาน่าจะมีฝนครับฟางน่าจะยุ่ยทันการทำนาปี แต่หากต้องการความรวดเร็วก็ควรจะมีน้ำและเติมจุลินทรีย์(เราสามารถทำได้เองโดยอาศัยจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย)ลงไปก็สามารถย่อยสลายฟางให้ยุ่ยได้ โดยใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: je2 ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 14:45:02
ขอบคุณความรู้ดีๆและ ขอให้มีความสุขมากๆตลอดปี56นี้นะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 14:51:28
ช่วงเวลาที่มีความสุข


ช่วงระยะกล้า

    หากเป็นชาวนาจะพบว่าในบางช่วงของต้นข้าว การไปนาจะมีความสุขมากในช่วง ข้าวอายุได้ประมาณ 20 วัน - 1 เดือน ข้าวช่วงนี้จะมีใบสวย  สำหรับข้าวในช่วงอายุ 5-30 วันใบยังอ่อนต้องระวังหอยเชอรี่ให้มากเพราะเป็นช่วงที่หอยเชอรี่ชอบกินมากควรมีการล่อให้หอยที่มุดอยู่ในดินออกมาและปล่อยน้ำทิ้งเป็นครั้งคราวเพื่อลดความเสียหายจากจากหอยเชอรี่เพราะเป็นหอยน้ำหอยบางตัวอาจถูกปล่อยทิ้งจากนาไปตามคลองระบายน้ำช่วยลดปริมาณหอยในนาได้หากมีมากควรมีการใส่ยาฆ่าหอยลงไป  สำหรับช่วงนี้ถึงแม้จะพึ่งฉีดยาคุมหญ้าไปไม่นานแต่เนื่องด้วยถูกเจือจางไปกับน้ำบ้างหากปล่อยให้ดินแห้งมาก ๆในระยะนี้จะทำให้หญ้าขึ้นมาได้อีกเพราะใบข้าวยังไม่หนาแน่นพอที่จะไปบังแสงไม่ให้ส่องถึงดินได้หญ้าอาจเจริญเติบโตได้ เมื่อช่วงข้าวอายุได้ 25-30 วันควรปล่อยน้ำให้แห้งเพราะเป็นช่วงข้าวเริ่มโตพอที่จะหาอาหาร ดินเริ่มแห้งข้าวจะออกรากไกลเพื่อหาน้ำและอาหาร การมีน้ำขังรากจะไม่ยาวแถมต้นยังสูง อาจเป็นโรคเมาตอซังข้าวได้อีก การปล่อยให้ดินแห้งช่วงนี้ยังช่วยให้ข้าวแตกหน่อแตกกอได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มผลิต


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 15:40:42
ช่วงระยะแตกกอ

ช่วงนี้จะอยู่ในช่วงเดือนเศษ ๆ ประมาณ 40-50 วันช่วงนี้ข้าวจะเริ่มแตกกอ บางตำราอาจบอกว่าอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์คือประมาณช่วงวัยรุ่นนั่นเอง ช่วงนี้จะรอดพ้นการถูกทำลายจากหอยเชอรี่แล้วเพราะลำต้นจะสูงใบข้าวจะเริ่มหนาหอยเชอรี่จะไม่กิน แต่ใช่ว่าจะวางใจได้ครับ คราวนี้จะมีศัตรูตัวใหม่เข้ามาจำพวกหนอนกอ หนอนผีเสื้อที่จะมาวางไข่ สำหรับเพลี้ยไม่ค่อยน่ากลัวเพราะที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าช่วงนี้เราจะปล่อยให้ดินแห้ง  หากแห้งเกินอาจมีเอาน้ำลงเพื่อให้หน้าดินมีความชื้นบ้าง   ช่วงนี้นอกจากเป็นช่วงการใส่ปุ๋ยที่เน้นปุ๋ย N เป็นพิเศษอาจควบคู่กับปุ๋ยหมักบ้างก็ได้ นาปีอาจต้องงดใส่ปุ๋ยเพราะข้าวอาจได้ N จากน้ำฝน เพราะไนโตรเจนมีอยู่ทั่วไปในชั้นบรรยากาศจะถูกชะล้างจากน้ำฝนและตกลงสู่ดินและแหล่งน้ำและระเหยกลับไปชั้นบรรยากาศอีกเป็นวัฏจักรของไนโตรเจนตามวิชาวิทยาศาสตร์เป๊ะ แม้แต่กระบวนการผลิตปุ๋ยเคมีปุ๋ยไนโตรเจนก็ต้องดึงไนโตรเจนจากอากาศ (ในอากาศมีปริมาณไนโตรเจน 78.08% อ๊อกซิเจน20.95%และก๊าซอื่นอีกเล็กน้อย)มาผลิตปุ๋ยเช่นกันโดยกระบวนการ liquefaction คือ ทำให้อากาศกลายเป็นของเหลวทั้งหมดก่อนโดยการลดอุณหภูมิลงมากๆ และเพิ่มความดันสูงๆ แค่นี้ก่อนครับเดี๋ยวจะไปกันใหญ่  มาต่อกันว่าในช่วงการแตกกอและห้ามใส่ปุ๋ย N มาก ยิ่งต้นงามมาก ลำต้นอวบน้ำมากแมลงก็ชอบมากเพราะเจาะได้ง่ายใบก็งามควรใส่ปุ๋ยแต่พอดี   และเราควรจะพ่นพวก น้ำส้มควันไม้ น้ำหมักพวกขับไล่แมลง  เพื่อช่วยไล่แมลงศัตรูข้าวบ้างจะดีมากและที่สำคัญช่วงนี้ใบข้าวจะเริ่มมาก เชื้อราบางประเภทจะเริ่มมีบ้างแม้ไม่ส่งผลตอนนี้แต่อาจส่งผลในช่วงข้าวตั้งท้อง  ช่วงออกรวงและเมล็ดของข้าว อาจมีการหมั่นพ่นพวกเชื้อราไตรโครเดอร์ม่าบ้าง หรือพวกสารป้องกันและกำจัดเชื้อราด้วยก็ได้ครับ

ภาพนาข้าวผมในช่วงนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 15:46:05
ขอบคุณความรู้ดีๆและ ขอให้มีความสุขมากๆตลอดปี56นี้นะครับ


ขอบคุณครับ สวัสดีปีใหม่และขอให้มีความสุขมาก ๆ เช่นกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 16:16:02
ช่วงข้าวตั้งท้องและออกรวง

ช่วงนี้เป็นช่วงใกล้ฝันที่เป็นจริงครับ คนเราเมื่อเริ่มตั้งท้องอาจต้องมีการบำรุงกันหน่อยเพื่อให้ลูกแข็งแรงอาจมีการฉีดวัคซีน ข้าวก็เช่นกันเหมือนกับคนจึงต้องมีการใส่ปุ๋ยในช่วงนี้ การใส่ปุ๋ยในช่วงนี้อาจลดปริมาณปุ๋ย N ลงแต่ตามวิชาการยังคงเน้นใส่ปุ๋ยตัวนี้อยู่  การใส่ N มาก ๆ ต้นข้าวจะงามใบเขียวทำให้แมลงศัตรูข้าวชอบ  สำหรับผมแล้วผมใส่ทั้ง N P K  ในกรณีที่เป็นปุ๋ยเคมีเพราะปุ๋ยจำพวกนี้ข้าวสามารถนำไปใช้ได้ไว  ในช่วงนี้ข้าวต้องการสะสมแป้งเพื่อเตรียมออกรวงข้าวบางตำราอาจใส่แค่ N อย่างเดียว หรือ N P เท่านั้นแต่นาที่ใช้ปุ๋ยเคมีนาน ๆ มักมีธาตุอาหารในดินต่ำการใส่ N P K ก็ช่วยให้ข้าวได้สารอาหารครบถ้วน และหากมีการเพิ่มด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ด้วยก็จะเป็นการปรับปรุงดินให้ดีด้วยในระยะยาว ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีในปีถัด ๆ ไปได้   สำหรับข้าวในช่วงนี้อาจป่วยได้ง่ายเราควรมีการดูแลและป้องกันโรคทั้งจากเชื้อรา แบคทีเรียและแมลงศัตรูโดยใช้วิธีเหมือนที่กล่าวไปแล้ว ช่วงนี้อาจปล่อยให้ดินแห้งบ้างแต่ไม่ควรขาดน้ำครับ ควรให้ดินมีความชื้นตลอด แต่หากมีน้ำมากเกินไปดินจะหล่มเวลาเก็บเกี่ยวจะลำบากเพราะดินอาจแห้งไม่ทัน ยิ่งข้าวนาปีจะมีฝนตกลงมาตลอด ส่วนนาปรังจะมีฝนในช่วงเดือนเมษา และ พฤษภาคม บ้าง  ถ้าข้าวออกรวงมาจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่ดีหากมีการป้องกันโรค เพราะโรคบางตัวส่งผลต่อเมล็ดเช่นโรคเมล็ดด่าง หรือโรคไหม้คอรวงเป็นต้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 20:53:44
รถเกี่ยวข้าวทางเลือกในการเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อขาดแคลนแรงงานและอายุชาวนาเพิ่มขึ้น

 สำหรับบางพื้นที่ ที่ขาดแคลนแรงงานในการเกี่ยวข้าวก็ต้องเลือกรถเกี่ยวข้าวในการเก็บเกี่ยวผลผลิต วิถีชีวิตการเกี่ยวข้าวโดยใช้แรงงานคนในการเกี่ยวเริ่มลดน้อยลงไปการทำนาต่อคนต่อไร่ก็เพิ่มขึ้น แถมชาวนาเริ่มมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเอาแรงไปเกี่ยวข้าวเหมือนแต่ก่อนก็ลำบากบางอำเภอในเชียงรายยังมีแรงงานในการเกี่ยวข้าวเยอะอยู่ บางพื้นที่แทบไม่มีเลยอาศัยเครื่องจักรแทบทั้งหมดทั้ง รถแทรกเตอร์ไถนา  รถดำนา รถเกี่ยวข้าว สำหรับรถเกี่ยวข้าวมีทั้งแบบไทยประดิษฐ์  รถใหม่ทั้งประกอบในไทยและนำเข้ามือสอง  ที่พบเห็นกันมากจะเป็นแบบไทยประดิษฐ์จากโรงงานในไทยซึ่งมีอยู่หลายสิบโรงงาน หลากหลายยี่ห้อและรุ่น โดยอาศัยชิ้นส่วนมือสองทั้งระบบช่วงล่างจากรถแบ็คโฮเครื่องยนต์มือสองจากรถบรรทุก  ซึ่งหากใครคิดจะซื้อมาใช้งานอย่างน้อยก็ต้องมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกอยู่บ้าง สายพานมีเยอะมากจะต้องเปลี่ยนบ่อยจึงจะสามารถบำรุงรักษาได้ดี ค่าจ้างในการเกี่ยวข้าวต่อไร่ก็ประมาณ 500-650 บาท/ไร่  เนื่องจากรถเกี่ยวข้าวมีน้ำหนักค่อนข้างมากทั้งน้ำหนักบรรทุกข้าวอีกเกือบ 1-3 ตันแล้วแต่รุ่น ตัวรถอีกหลายตัน แน่นอนว่าหากพื้นนาไม่แห้งรับรองนาเป็นหล่มรอยรถเกี่ยวข้าวแน่ ๆ หากเป็นร่องลึกหากมีการไถนาก็ต้องจ้างรถปั่นนาที่เป็นล้อแทรกมาปั่น หากเป็นรถแทรกเตอร์ก็อาจจะไม่ไหว ดีไม่ดีล้อติดหล่มอีกต่างหาก ซึ่งหากใครจะใช้บริการรถเกี่ยวข้าวควรเลือกทำนาแบบเปรียกสลับแห้งจะดีที่สุดครับ แต่รถเกี่ยวข้าวก็เหมาะสำหรับนาในเขตชลประทานและนาน้ำฝนในบางพื้นที่เท่านั้น  นาขั้นบันไดคงหมดสิทธิ์ครับเพราะคนขับรถเกี่ยวข้าวคงไม่เอาด้วยแน่ ๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 21:41:08
มาดูผลผลิตข้าวแต่ละประเทศในแต่ละปีที่ผ่านมาและประมาณการผลิตข้าวในปีนี้และอัตราการบริโภคข้าวของคนในประเทศครับจะเห็นว่าบางประเทศก็เหลือข้าวพอส่งออก บางประเทศก็มีแค่เพียงพอในประเทศ บางประเทศต้องมีการนำเข้าเพิ่มครับ อย่างจีนถึงแม้จะผลิตข้าวได้มากที่สุดในโลกแต่ก็ผลิตข้าวได้ไม่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 21:55:59
เนื่องจากความต้องการที่จะต้องเลี้ยงคนในประเทศของจีน ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมการวิจัยเรื่องข้าวอย่างหนักเพื่อปรับแต่งพันธุกรรมข้าวให้ได้ผลผลิตมาก ๆ อีกทั้งยังหาแหล่งปลูกข้าวใหม่ ๆในต่างประเทศ  ข้าวจีนที่วิจัยสำเร็จมีหลายประเทศที่ไปศึกษาดูงานและนำพันธุ์กลับไปเพาะปลูกอย่างเวียดนาม ประเทศในทางทวีปแอฟริกา ประเทศไทยก็มีการนำพันธุ์เข้ามาขายเช่นกัน มาดูข้าวชาวนาจีนที่ได้ผลผลิตมากที่สุดในโลกในขณะนี้กัน

ปล.ข้าวจีน ข้าวเวียดนามอาจไม่อร่อยถูกปากคนไทยเท่าไหร่นักถ้าใครเคยกินแล้วจะรู้ ข้าวนาปรังบ้านเรายังอร่อยกว่าเสียอีก

ชาวนาจีน เพาะข้าวสายพันธุ์ใหม่ ทำลายสถิติให้ผลผลิตมากที่สุดในโลกราว 2,408 กก. /ไร่ หลังข้าวจีนเคยทำสถิติฯ ปีก่อนไว้ที่ประมาณ 2,224 กก./ไร่
       
       ซินหวารายงาน (30 พ.ย.) ว่า นายสวี่ย์ เยว์จิ๋น ชาวนาจีน ในหมู่บ้านไป่เหลี่ยงเฉียว มณฑลเจ้อเจียง สามารถเพาะข้าวสายพันธุ์ใหม่ "หย่งโย่ว 12" และทดลองเพาะปลูกในผืนนาของตนที่หนิงปั่ว มณฑลเจ้อเจียง จนออกรวงเต็มทุ่ง สามารถเก็บเกี่ยวได้ด้วยปริมาณสูงสุดเป็นสถิติโลกที่ 14.45 ตัน/เฮกตาร์ (ประมาณ 2,408 กก. /ไร่)
       
       รายงานข่าวกล่าวว่า เพื่อให้ผลการคำนวณผลผลิตเป็นไปอย่างถูกต้อง เจ้าหน้าที่ผู้เชียวชาญฯ ได้เริ่มกระจายสุ่มเก็บเกี่ยวตามผืนนากว่า 8.5 เฮกตาร์ของเขามาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา
       
       นายจาง สี่ว์ฟู่ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงเกษตรจีน กล่าวกับซีซีทีวีว่า ได้ตรวจสอบผืนนาปลูกข้าวสายพันธุ์ "หย่งโย่ว 12" นี้ทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้มีการผสมปนข้าวสายพันธุ์อื่นๆ
       
       สำหรับปริมาณผลผลิตของข้าวสายพันธุ์ "หย่งโย่ว 12" นี้ ทำลายสถิติ ข้าวสายพันธุ์จีน DH2525 ซึ่งครองสถิติให้ผลผลิตสูงที่สุดในโลก เมื่อปีกลาย(กันยายน 2554) โดยครั้งนั้น ทำการทดลองปลูกที่เมืองหลงฮุย ได้ให้ผลผลิตที่ 13,900 กก./เฮกตาร์ หรือประมาณ 2,224 กก./ไร่ จนทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการวิจัยพันธุ์ข้าวข้ามสายพันธุ์ชั้นนำของโลก
       
       ข้อมูลของกระทรวงเกษตรจีนระบุว่า ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และจีนมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ทำให้รัฐบาลถือเป็นภารกิจหลักในการที่จะต้องพึ่งตนเองด้านการผลิตอาหารให้ได้ พร้อมกับสนับสนุนการพัฒนาวิจัยสายพันธุ์ข้าวต่างๆ มากมาย จนปัจจุบันนี้ มีข้าวสายพันธุ์พิเศษ หรือ ซูเปอร์ไรซ์ มากกว่า 96 สายพันธุ์ที่ได้รับอนุมัติให้เพาะปลูกแล้ว ในพื้นที่นากว่า 7.4 ล้านเฮกตาร์ หรือเกือบ 1 ใน 4 ของแปลงนาข้าวในประเทศจีน
       
       รายงานข่าวกล่าวว่า ผลผลิตข้าวต่อไร่ของจีนนั้น ปัจจุบันกำลังได้รับการพัฒนาให้สูงกว่าชาติใดๆ ในโลก ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ นั้น ผลผลิตเฉลี่ยปัจจุบัน อยู่ที่ 1,270 กก. /ไร่ สูงกว่าเกาหลีใต้ 1,216 กก. /ไร่ ลำดับรองลงมาคือเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 836 กก. /ไร่ อินโดนีเซียเฉลี่ย 799.76 กก. /ไร่ พม่าเฉลี่ย 653 กก. /ไร่ ลาวเฉลี่ย 576 กก. /ไร่ ฟิลิปปินส์เฉลี่ย 574 กก. /ไร่ ไทยเฉลี่ย 459 กก. /ไร่ กัมพูชาเฉลี่ย 453 กก. /ไร่
       
       ทั้งนี้ การพัฒนาผลผลิตต่อไร่ของข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ยังนับเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตของชาวนาจีน และทำให้มีรายได้มากขึ้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2013, 22:10:31
เจาะลึกการปลูกข้าวในจีนอีกนิดครับ

สถานการณ์ตลาดข้าวของจีน จีนเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และเป็นผู้ผลิตข้าวมากที่สุดในโลก ปัจจุบัน จีนส่งออกข้าวไปยังเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แอฟฟริกาใต้ อย่างไรก็ตาม จีนยังคงนำเข้าข้าวจากนานาประเทศ เนื่องจากความต้องการภายในจีนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปัญหาภัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อจำนวนผลผลิตข้าวของจีน
ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีการส่งออกข้าวมายังจีนมากที่สุด มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 60-80 รองลงมาคือประเทศเวียดนาม สำหรับข้าวไทยส่วนใหญ่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่มีรายได้สูง เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวท้องถิ่นประมาณ 3-4 เท่า

การวิจัยพัฒนาข้าวในจีน สำนักงานเกษตรของจีนได้ก่อตั้งหน่วยงานวิจัยด้านข้าว CNRRI (China National Rice Research Institution) โดยได้คิดค้นข้าวสายพันธุ์ ซุปเปอร์ไฮบริดไรซ์ (Super Hybrid Rice) ซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูงสุดถึง 2,224 กิโลกรัมต่อไร่และมีความทนทานต่อโรคและศัตรูพืชมากขึ้น ช่วงที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO (2543-2544) รัฐบาลจีนได้ประกาศคุ้มครองอุตสาหกรรมการผลิตข้าวของประเทศ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ อาทิ การจัดสรรเงินช่วยเหลือ สินเชื่อพิเศษแก่บริษัทผู้ผลิตข้าว การให้สินเชื่อขนาดเล็กแก่เกษตรกรผ่านระบบสหกรณ์เครดิตในชนบท การพัฒนาและขยายเทคโนโลยี การเกษตร การปรับปรุงขั้นตอนการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์การสำรวจปริมาณข้าวทั่วประเทศและจัดทำสถิติด้วย



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 09:39:59
การเลี้ยงเป็ดในนาข้าว ก้าวสู่เกษตรอินทรีย์ ในไต้หวัน ญี่ปุ่น

โดย  ต้นกล้า ชาวนาวันหยุด
นาย สุภชัย ปิติวุฒิ

วิธีการเเบบเส้นตรง ........คือ ทำนาเอาแต่ข้าวเปลือกขาย (ไม่เอาสิ่งเเวดล้อม) ความเสี่ยงสูงครับ รับไม่ไหวแน่นอน
 
แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีมาเป็น "วิธีการทำนาเเบบเส้นขนานหลายเส้น" เราก็จะกระจายความเสี่ยงได้ครับ
 
ข้าวใช้เวลา ประมาณ 90-160 วัน(แล้วแต่พันธุ์)
ค่าเสียโอกาสมันมากมายเหลือเกินกับ เส้นตรงที่เราเดิน เเบบเดิมๆ

เส้นขนานหลายเส้นหมายถึง
 
ระหว่างทำนา เราได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ระหว่างทางไปด้วย กระจายความเสี่ยง
1.ได้ต้นข้าวสุขภาพดี
2.ได้ "เป็ด" มาช่วยคุ้ยเขี่ยหญ้า กำจัดเเมลง กินหอย
4.เมื่อเป็ดย่ำ คุ้ยเขี่ยน้ำในนา ก็จะทำให้ "น้ำขุ่น" ก็จะเป็นการพลางแสง ไม่ให้ หญ้าได้รับแสงเต็มที่ ลดปริมาณหญ้าในไปในตัว
5.ได้ไข่เป็ด ได้โปรตีนจากเป็ด
6.ได้ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี -> ได้ขึ้เป็ด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในเเปลงนา (โดยเฉพาะไนโตรเจน)
7.ชาวนาได้คุณภาพชีวิตกลับคืนมา ไม่ต้องรอเอาเงินขายข้าวเปลือก ไปหาหมอซื้อสุขภาพที่ดีกลับมาครับ

ปัจจุบันมีในทุ่งนาภาคกลางมีการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง กินข้าวเปลือกร่วงหล่น หลังการเก็บเกี่ยวในเเปลงนา

คำถาม ???
ถ้าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล กินข้าวก่อนเป็ดจะเกิดอะไรขึ้น???

คำตอบ ชาวนา ไม่ได้ทั้งข้าวเปลือก และเป็ด ครับ
แถมได้ยาตกค้างในเเปลงนา ทั้งยาหยอดเพลี้ย ยาฉีดเพลี้ย เป็ดโทรมอีก  

ดังนั้น มาเลี้ยงเป็ดร่องนาดำ กันดีกว่า

อนุบาลเป็ดไว้ ช่วงที่อนุบาลต้นกล้า (18 วัน)
หลังจากปักดำแล้ว 2 สัปดาห์ ก็ปล่อยเป็ดอนุบาลตามลงไป ต้นข้าวเริ่มรัดแล้ว
(เป็ดอายุประมาณ 4 สัปดาห์ )

สามารถไล่ไปตามร่องนาดำ "เป็ดไม่หลงทาง" กับการทำนาด้วยวิธีการปักดำ เป็นระเบียบเป็นแถว เป็นแนว แน่นอน

พฤติกรรมเป็ด เป็นพวกชอบขุดคุ้ย และจิกกิน
ผลพลอยได้ : กินเเมลง กินหญ้า พรวนดิน กินหอย
ผลพลอยได้ : ชาวนาได้ข้าว ได้การพรวนดินจากเป็ด
ได้ ขี้เป็ดเป็นปุ๋ย ได้ไข่เป็ด ได้เนื้อเป็ด

ทำนาดำ เเบบผสมผสาน มีแต่ได้กับได้ ได้ทั้งข้าว ได้ทั้งเป็ด ได้สิ่งแวดล้อมที่ดีคืนมา ได้ดีทั้งคนปลูกข้าว คนกินข้าว ครับ

6GJECEblmVI&feature

g3m2Gjb5kdU&feature

iJi2-F9God0&feature

gKuAPx5xBmQ



 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 10:26:06
น้ำส้มควันไม้

น้ำส้มควันไม้ (อังกฤษ: wood vinegar หรือ pyroligneous acid) เป็นของเหลวใส สีน้ำตาล มีกลิ่นควันไฟ ได้จากการควบแน่นของควันที่เกิดจากการเผาไม้ให้กลายเป็นถ่านในสภาวะที่มีออกซิเจนจำกัด โดยมีอุณหภูมิในเตาอยู่ระหว่าง 300 - 400 องศาเซลเซียส อุณหภูมิปากปล่องระหว่าง 80 – 150 องศาเซลเซียส สารประกอบต่างๆ ในไม้จะสลายด้วยความร้อนเกิดเป็นสารประกอบอินทรีย์ เมื่อนำของเหลวที่ได้จากการควบแน่นมาเก็บในที่ร่มประมาณ 3 เดือน เพื่อให้เกิดการตกตะกอน จะแยกตัวเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดจะเป็นน้ำมันใส ชั้นกลางเป็นน้ำส้มควันไม้ และน้ำมันดินตกตะกอนอยู่ด้านล่างสุด

องค์ประกอบ
น้ำส้มควันไม้ประกอบด้วยสารอินทรีย์มากกว่า 200 ชนิดโดยเฉพาะ ฟีนอล ซึ่งได้จากการสลายตัวของลิกนิน กรดอินทรีย์และแอลกอฮอล์ต่างๆที่ได้จากการสลายเฮมิเซลลูโลสและเซลลูโลส น้ำส้มควันไม้ประกอบด้วยน้ำประมาณร้อยละ 85 กรดอินทรีย์ประมาณร้อยละ 3 และสารอินทรีย์อื่นๆร้อยละ 12 น้ำส้มควันไม้มีค่า pH ประมาณ 3 ความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.012 – 1.024 ซึ่งมีความแตกต่างตามประเภทของไม้ที่นำมาเผา

การใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร
-  ราดโคนต้นไม้รักษาโรคราและโรคเน่า รวมทั้งป้องกันแมลงวางไข่
-  ฉีดพ่นใบเพื่อขับไล่แมลงและป้องกันเชื้อรา
-  การใช้ประโยชน์ทางด้านปศุสัตว์ ใช้ลดกลิ่นและแมลงในฟาร์มปศุสัตว์ใช้ผสมอาหารสัตว์เพื่อช่วยการย่อยอาหารและป้องกันโรคท้องเสีย
-  การใช้น้ำส้มควันไม้เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ การแช่เมล็ดข้าวที่เสื่อมคุณภาพตามธรรมชาติเนื่องจากผ่านการเก็บรักษา 10 เดือนในน้ำส้มควันไม้เจือจาง 300 เท่า เป็นเวลา 48 ชั่วโมง เมล็ดมีความงอกร้อยละ 96.67 ซึ่งสูงกว่าเมล็ดที่ไม่ผ่านการแช่และแช่ด้วยน้ำ น้ำส้มควันไม้ระดับความเข้มข้น 1: 500 มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมแมลงศัตรูพืชในข้าวโพดหวานทั้งวิธีการฉีดพ่นบนใบและฉีดลงดิน
- เพื่อช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาลของพืข (ช่วยให้พืชผักและผลไม้มีรสหวาน)
-เมื่อต้องการขับไล่เห็บ หมัด รักษาโรคเรื้อนของสัตว์ ผสมน้ำฉีดพ่นที่ตัวสัตว์ อาทิตย์ละ 2-3 ครั้งน้ำส้ม 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 10:40:07
การทำน้ำส้มควันไม้


วัสดุอุปกรณ์
 1.ถัง 200 ลิตร (ถังแกลลอนน้ำมัน)
 2. ท่อซีเมนต์ใยหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 1 เมตร (ความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม)
 3. กระบอกไม้ไผ่ สำหรับเป็นท่อของการไหลของน้ำส้มควันไม้ ยาวประมาณ 3-5 เมตร ตามความเหมาะสม
 4. ไม้ที่จะทำการเผาถ่าน ควรเป็นกิ่งไม้ที่ไม่ใหญ่มาก และเป็นไม้ที่มีความหมาด คือเป็นไม้ที่ตัดทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ หรือมากกว่า เนื่องจากไม้ที่ตัดสดใหม่จะเผาใช้เวลานานกว่า

 ขั้นตอน/วิธีทำ  
1. นำถัง 200 ลิตร มาเจาะขอบถังให้ฝาถังเปิดได้แล้วทำการเจาะรูข้างหน้า 20×20 เซนติเมตร ส่วนก้นถังเจาะรูวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 4 นิ้ว สำหรับใส่ข้องอ
 2. ตั้งเตาให้ด้านหน้าถังแหงนขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้ระบายน้ำออก ด้านหลังยังไม่ต้องปิด แล้วเทดินเหนียวประคองด้านหน้าเตาพอประมาณ เพื่อไม่ให้เตาขยับเขยื้อน
 3. ประกอบข้องอใยหิน 90 องศา โดยให้ด้านที่ใหญ่ที่สุดสวมเข้าไปในช่องที่เจาะไว้ ในด้านท้ายของตัวเตา และสวมท่อใยหินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเดียวกันกับข้องอที่ประกอบไว้ท้ายเตา
 4. ปิดผนังเตาด้านหลัง โดยให้ผนังเตาห่างจากข้องอประมาณ 10-15 เซนติเมตร
 5. นำดินเหนียวประสานรอยรั่วให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้าไปข้างในและป้องกันไม่ให้เกิดการลุกติดไฟ
 6. นำดินเหนียวหรือดินทรายที่เตรียมไว้เทลงให้เต็มด้านข้างและด้านหลังในช่องว่างระหว่างเตากับผนังเตาด้านหลังพอประมาณทั้ง 3 ด้าน เพื่อเป็นฉนวนกันไฟให้กับตัวเตา และไม่ให้ความร้อนระเหยออกไป โดยเว้นช่องฝาหน้าเตาเอาไว้เพื่อปิด/เปิด
 7. นำกระเบื้องหรือสังกะสีหรือแผ่นไม้เก่ามากั้นดินด้านหน้าและด้านหลังพร้อมทั้งปิดเสาค้ำยันด้านละ 2 ท่อน
 8. ตัดไม้เพื่อทำเป็นหมอนหนุนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ยาว 20-25 ซ.ม. จำนวน 3 ท่อน วางขวางด้านล่างของตัวเตา โดยมีระยะห่างเท่ากัน เพื่อให้มีการไหลเวียนของลมร้อนภายในเตา
 9. การคัดเลือกไม้เข้าเตาถ่าน จะมีการจัดแยกกลุ่มของขนาดไม้เป็น 3 กลุ่ม คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยเรียงไม้ขนาดเล็กไว้ด้านล่างของเตา ทับไม้หมอนไว้ ไม้ท่อนใหญ่ไว้ด้านบน เนื่องจากอุณหภูมิในเตาขณะเผาถ่านไม่เท่ากัน โดยอุณหภูมิด้านล่างสุดของเตาจะต่ำ และอุณหภูมิด้านล่างบนจะสูงกว่าอุณหภูมิท้ายเตา
 10. เมื่อเรียงไม้เสร็จแล้วให้ปิดฝาเตาถังด้านหน้า โดยให้ช่องที่เจาะไว้อยู่ด้านล่างของตัวเตาถัง แล้วนำดินมาประสานขอบถังและฝาถัง เพื่อไม่ให้อากาศเข้าไปในถัง เพราะถ้าอากาศเข้าไปในเตาจะทำให้ถ่านไหม้จนหมด
 11. การเข้าสู่ขั้นตอนการเผาถ่าน จะเริ่มจุดไฟหน้าเตาเพื่อให้ความร้อนแก่เตา โดยจุดบริเวณช่องจุดไฟที่อิฐก้อนแรก โดยเชื้อเพลิงที่นำมาจุดควรเป็นเชื้อเพลิงแห้ง เช่น เศษไม้ เศษหญ้า หรือโฟม เป็นต้น 
 12. ใส่เชื้อเพลิงทีละน้อยเพื่อลดความร้อนจะกระจายเข้าไปในเตาเพื่อไล่อากาศเย็นและความชื้นที่อยู่ในเตา โดยใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง
 13. เมื่อไล่ความชื้นในเตาแล้วอุณหภูมิจะสูงขึ้น จนทำให้เนื้อไม้ในเตารักษาอุณหภูมิในเตาได้เอง โดยไม่ต้องใส่เชื้อเพลิงเข้าไปอีก โดยสังเกตจากควันที่ออกมาจากปากปล่องด้านหลังจะพุ่งแรงกว่าปกติ เรียกว่า “ควันบ้า” มีสีขาวขุ่น ช่วงนี้สามารถหรี่ไฟหน้าเตาลงได้ครึ่งหนึ่ง
 14. หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง หรือสังเกตสีควันที่ปากปล่อง ถ้าเป็นสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นฉุนแสบจมูก ให้หรี่ไฟลงอีก ช่วงนี้เริ่มเก็บน้ำส้มควันไม้ โดยใช้ท่อไม้ไผ่ที่เจาะรูไว้ตลอดทั้งลำ     โดยนำขวดน้ำผูกลวดแขวนรองน้ำส้มควันไม้ตรงจุดที่เจาะรูไว้ จะสามารถเก็บน้ำส้มควันไม้ได้ประมาณ 3-4 เดือน เมื่อน้ำที่หยดมามีลักษณะเป็นยางเหนียวและมีสีดำ ให้หยุดเก็บ
 15. ผลผลิตถ่านที่ได้จากเตาถัง 200 ลิตร ประมาณ 20-22 กิโลกรัม มีคุณภาพสูง และเตาเผาสามารถเผาได้ประมาณ 100-150 ครั้ง หรือประมาณ2-3 ปี (ขึ้นอยู่กับความถี่ของการใช้งาน) โดยนำถ่านที่ได้ใส่ถุงหรือกระสอบ แล้วนำไปเก็บที่ไม่มีความชื้น ไม่มีความร้อนสูงเกินไป รวมทั้งไม่มีแสงแดดส่อง หรืออากาศถ่ายเทสะดวก 

การทำน้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์ สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
 1. ปล่อยให้ตกตะกอน โดยนำน้ำควันไม้มาเก็บในถังทรงสูง มีความสูงมากกว่าความกว้างประมาณ 3 เท่า และทิ้งให้ตกตะกอนประมาณ 90 วัน น้ำส้มควันไม้ก็จะตกตะกอนแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดจะเป็นน้ำมันใส (light oil) ชั้นกลางเป็นของเหลวสีชา คือ น้ำส้มควันไม้ และชั้นล่างสุดจะเป็นของเหลวข้นสีดำคือน้ำมันดิบ หากนำผงถ่านมาผสมประมาณ 5 % โดยน้ำหนัก ผงถ่านจะดูดวับทั้งน้ำมันใสและน้ำมันดิบให้ตกตะกอนลงสู่ชั้นล่างสุดในเวลาที่เร็วขึ้น ประมาณ 45 วัน แต่ทั้งนี้อาจมีสารบางตัวที่เป็นประโยชน์ออกไปบ้างและค่า ph หรือค่าความเป็นกรดเป็นด่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อปล่อยให้น้ำส้มควันไม้ตกตะกอนจนครบกำหนด ใช้ระยะเวลา 3 เดือน แล้วจึงนำน้ำส้ม   ควันไม้มากรองอีกครั้งด้วยผ้ากรอง แล้วจึงนำมาใช้ประโยชน์
2. การกรอง โดยใช้ผ้ากรองหรือถังถ่านกรองที่ใช้ผงถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) ซึ่งคุณสมบัติแตกต่างกันไป เพราะถ่านกัมมันต์จะลดความเป็นกรดของน้ำส้มควันไม้
3. การกลั่น โดยกลั่นได้ทั้งในความดันบรรยากาศ และกลั่นแบบลดความดันรวมทั้งกลั่นแบบลำดับส่วนเพื่อแยกเฉพาะสารใดสารหนึ่งในน้ำส้มควันไม้มาใช้ประโยชน์ ส่วนมากมักใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยา
อย่างไรก็ตามทั้งการกรองและการกลั่นต้องทำหลังจากการตกตะกอนแล้วเท่านั้น เนื่องจากต้องรอให้เกิดปฏิกิริยาในน้ำส้มควันไม้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ก่อน

การนำไปใช้งาน

1. ใช้ในครัวเรือน
ความเข้มข้น 100%  รักษาแผลสด น้ำร้อนและไฟลวก น้ำกัดเท้า เชื้อราที่ผิวหนัง
ผสมน้ำ 20 เท่า   ราดฆ่าปลวกและมด
ผสมน้ำ 50 เท่า   ป้องกันปลวก มด และสัตว์ต่างๆ เช่น ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ
ผสมน้ำ 100 เท่า   ดับกลิ่นในห้องน้ำ ครัว และบริเวณชื้นแฉะ ดับกลิ่น
2. ใช้ในการเกษตร
ผสมน้ำ 20 เท่า  ใช้พ่นลงดินก่อนการเพาะปลูก 10 วัน ฆ่าเชื้อราโรคโคนเน่า
ผสมน้ำ 50 เท่า  พ่นลงดิน ป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ที่เข้าทำลายพืช
ผสมน้ำ 200 เท่า ฉีดพ่นที่ใบ ช่วยขับไล่แมลง และกำจัดเชื้อรา และกระตุ้นความต้านทานโรคของพืช
ผสมน้ำ 500 เท่า  ฉีดพ่น 15 วัน หลังติดผล ช่วยให้ผลโตขึ้น ฉีดพ่นก่อนเก็บ 20 วัน
ผสมน้ำ 1,000 เท่า ผสมสารจับใบป้องกันหนอนแมลง
3. ใช้ในปศุสัตว์
ผสมน้ำ 100 เท่า ลดกลิ่นและแมลงในคอกสัตว์
ใช้ผสมอาหารสัตว์ ยับยั้งการเกิดแก๊สในกระเพาะ ป้องกันและรักษาอาการท้องเสีย เพิ่มปริมาณน้ำนม ลดกลิ่นมูลสัตว์ ปรับปรุงคุณภาพเนื้อสัตว์ให้รสดี

นายดอน  ช่างเก็บ
อาสาสมัคร  กศน.ตำบลโคกไทย
หมู่   6  บ้านหนองแสง   ต.โคกไทย  อ.ศรีมโหสถ  จ.ปราจีนบุรี




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 11:03:02
แหนแดง

แหนแดง (อังกฤษ: Mosquito fern, Water fern) เป็นพืชน้ำเล็ก ๆ พวกเฟิร์นพบเจริญเติบโตอยู่บนผิวน้ำในที่มีน้ำขังในเขตร้อนและอบอุ่นทั่วไป

ลักษณะ

แหนแดงเป็นเฟินน้ำ ขนาดเล็ก ลอยบนผิวน้ำ ต้นแก่ที่ได้รับแสงเต็มที่จะเป็นสีแดงคล้ำ ต้นอ่อนหรือได้รับแสงไม่เต็มที่จะเป็นสีเขียว แตกกิ่งแบบขนนก รากเป็นรากพิเศษ ยาวอยู่ทางด้านใต้ของลำต้น ทั้งต้นและกิ่งมีใบขนาดเล็กปกคลุม เรียงสลับซ้อนกัน ใบแต่ละใบแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆกัน ส่วนบนหนา สีเขียวหรือสีแดง ส่วนล่างบางอยู่ใต้น้ำ ไม่ค่อยมีสี ใบล่างสุดสร้าง sporocrap 2-4 อัน ที่แกนของใบด้านใต้ใบ ภายในมีเมกะสปอร์และไมโครสปอร์

ในใบของแหนแดงมีโพรงขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่อาศัยของ Anabenaeซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน Anabenaeได้รับสารอาหารจากแหนแดง ส่วนแหนแดงจะได้ไนโตรเจนจากการตรึงไนโตรเจนของ Anabenae

องค์ประกอบที่สำคัญได้แก่โปรตีน ไขมัน และเซลลูโลส แร่ธาตุ แหนแดงต้องการธาตุอาหารหลักที่สำคัญได้แก่ ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุโปตัสเซียม และจุลธาตุที่สำคัญได้แก่ เหล็ก และ โมลิบดินัม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเอนไซม์ไนโตรจิเนส ในการตรึงไนโตรเจน แหนแดงสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตั้งแต่อุณหภูมิ 5 – 45องศาเซลเซียส เจริญได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิ 20 – 30 องศาเซลเซียส แหนแดงจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดที่มีแสงประมาณ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ของแสงสว่าง พีเอชที่เหมาะสมที่แหนแดงเจริญเติบโตได้ดีที่สุดคือ 4.0 – 5.5 ความลึกของน้ำความลึกที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของแหนแดงคือประมาณ 10 เซนติเมตร

ประโยชน์ของแหนแดง
แหนแดงเป็นพืชน้ำมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น และแหนแดงมีโปรตีนสูง เน่าสลายปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย มีประโยชน์ดังต่อไปนี้

ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทดแทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยที่ในโพรงใบแหนแดง สามารถดึงเอาไนโตรเจนจากอากาศมาใช้สำหรับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ แหนแดงมีอัตราส่วนระหว่างคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C : N) อยู่ระหว่าง 8 – 13 หลังถูกไถกลบ จะย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาในระยะเวลาที่สั้นประมาณ 8 สัปดาห์ ทำให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น ลดปริมาณวัชพืชในนาข้าว แหนแดงจะคลุมผิวน้ำป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องลงไปในน้ำ ทำให้วัชพืชในน้ำเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
แหนแดงสามารถเลี้ยงได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแหนแดงในนาข้าวร่วมกับการเลี้ยงปลา พบว่า มีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตข้าวใกล้เคียงกับการเลี้ยงปลาในนาข้าวโดยใช้ปุ๋ยเคมีตามปกติ และยังให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนเพียงอย่างเดียว
โครงสร้างของชีวมวลของแหนแดงมีหมู่คาร์บอกซิลและหมู่ฟอสเฟตจึงใช้เป็นตัวดูดซับโลหะหนักได้ โดยแหนแดงที่ทำปฏิกิริยากับแมกนีเซียมคลอไรด์จะดูดซับ ตะกั่ว แคดเมียม ทองแดงและสังกะสีในน้ำเสียได้ดี

การขยายพันธุ์ทำได้ 2 วิธี คือ
1. การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกหน่อ เมื่อต้นมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
2. การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการสร้างสปอร์สืบพันธุ์เพศผู้ และเพศเมีย

สายพันธุ์ของแหนแดง : ที่ใช้ในนาข้าว
 1. Azolla filiculoides
2. Azolla pinnata
3. Azolla critata
4. Azolla rubra
5. Azolla nilotica

วิธีการเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์
 1. เลี้ยงในบ่อดินโคลน กระถาง และซีเมนต์ (คล้ายกับการเลี้ยงบัว)
2. เลี้ยงในบ่อธรรมชาติ โดยเลี้ยงในกระชัง
3. เลี้ยงในแปลงโดยตรง

การใช้แหนแดงในนาข้าว :
 1. เตรียมขยายพันธุ์แหนแดงในพื้นที่ 20 -25 ตารางเมตร เพื่อใช้สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1 ไร่
2. รักษาระดับน้ำในน่าข้าวให้ลึก 5 – 10 เซนติเมตร
3. ใช้แหนแดงในอัตรา 50 – 100 กิโลกรัม/ไร่ ในวันที่ใส่แหนแดงควรมีการใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ (มูลไก่) ที่ให้ธาตุฟอสฟอรัสอัตรา 3 กิโลกรัม/ไร่
4. ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์อีกครั้งเมื่อแหนแดงมีอายุ 7 – 10 วัน

แหนแดงต้องการธาตุอาหารหลักเหมือนพืชสีเขียวชนิดอื่นๆ ยกเว้นไนโตรเจน รวมทั้งต้องการธาตุอาหารรองในการเจริญเติบโตด้วยในดินนาทั่วไปฟอสฟอรัสมีความจำเป็นต่อแหนแดงมาก ถ้าปริมาณฟอสฟอรัสในดินต่ำเกินไป จะส่งผลให้การเจริญเติบโต และปริมาณการตรึงไนโตรเจนลดลง

ผลการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารของแหนแดง (% ต่อกรัมของน้ำหนักแห้ง)
ไนโตรเจน ( % )..........ฟอสฟอรัส ( % )...........โปแตสเซียม ( % )
3.71..........................0.25...........................1.25

ปริมาณไนโตรเจนที่ได้จากแหนแดงแต่ละช่วงอายุ
ลักกษณะการใช้แหนแดง............................................................ปริมาณไนโตรเจน( กิโลกรัม/ไร่)
1. เลี้ยงก่อนปักดำข้าว 20 วัน แล้วทำการไถ่กลบ.............................................9-17
2. เลี้ยงก่อนปักดำข้าว 30 วัน แล้วทำการไถ่กลบ.............................................12-25
3. เลี้ยงพร้อมการปักดำข้าว ให้เจริญในแปลงข้าว 20 วัน......................................7-15
4. เลี้ยงพร้อมการปักดำข้าว ให้เจริญในแปลงข้าว 20 วัน......................................12-20

ข้อสังเกต :
1. น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงแหนแดง ระดับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงไม่ควรสูงเกินไป ระดับที่เหมาะสมคือ 10- 30 เซนติเมตร และแหนแดงจะตายเมื่อในนาขาดน้ำ
2. แหนแดงจะเจริญเติบโตได้ดีน้ำนิ่ง หรือมีกระแสน้ำไหลเป็นเวลาอย่างช้าๆ บริเวณคลื่นลมจัดจะทำให้แหนแดงแตกกระจายออกจากกัน ทำให้การเจริญเติบโต และการตรึงไนโตรเจนลดลงอย่างมาก
3. การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae สามารถทำได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีไนโตรเจนต่ำ
4. การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae จะมีค่าสูงสุดที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และจะหยุดกระบวนการตรึงไนโตรเจนในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส

โดย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นันทกร บุญเกิด
สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักงานวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 12:33:20

 สุดยอดกระทู้ชาวนาจริงๆครับ กระทู้นี้ ใครได้ทำตามกระทู้นี้สักครึงนึงนี่ก็สุดยอดแล้วครับ เข้ามาอ่านกระทู้นี้ทีไรอยากออกงาน ไปทำนาให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 14:19:16
ขอบคุณทุกท่านที่คอยติดตามครับ หวังว่าบทความต่าง ๆ ที่นำมาลงจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยกับผู้สนใจในการทำนาข้าว หรือนำไปประยุกต์ในการทำนาของตัวเองเพราะแต่ละคนอาจมีวิธีการทำนาไม่เหมือนกันทั้งสภาพพื้นที่เพาะปลูก  ปัจจัยอื่น ๆ ทางด้านแรงงาน เครื่องจักร ความพร้อมต่าง ๆที่ไม่เหมือนกันครับ

พักสายตากับนาขั้นบันไดในเขตภาคเหนือบ้านเราครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 14:42:32
ไปดูหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเวียดนามทางเหนือกันบ้างครับ เป็นหมู่บ้านของชาวไทดำ เชื้อชาติเดียวกันคนไทย  บ้านจะเป็นบ้าน 2 ชั้นมีใต้ถุนข้างล่างสำหรับเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ หลังคาจะเป็นหญ้าคา รั้วก็จะเป็นไม้ไผ่ เหมือนกับบ้านทางเหนือเราสมัยก่อน หมู่บ้านนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งมีบ้านพักหรือเกสเฮาส์ให้พักอาศัย คนที่นี่เราพูดคุยภาษาไทยกับเค้าได้รู้เรื่องครับ  ที่นี่นอกจากมีรายได้จากการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์แล้วยังมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการท่องเที่ยวอีกด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 14:52:20
เกษตรอินทรีย์ก็ดีไปอย่างครับ ดูเค้าไปนาไม่ใส่รองเท้าตั้งแต่ออกบ้านเลยเป็นวิถีที่เรียบง่ายดีครับ จึงเป็นจุดดึงดูดให้คนมาเที่ยวกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 15:06:08
ข้าวเป็นอาหารหลักของคนเอเชีย แต่ละพื้นที่ก็มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ต่างกันคราวนี้ลองไปดูหมู่บ้านชาวนาที่ญี่ปุ่นกันบ้างครับ..

หมู่บ้านชิราคาวาโกะ (Shirakawa-go)


หมู่บ้านมรดกโลกชิราคาวาโกะและบริเวณโกคายาม่า ที่อยู่ใกล้กันเป็นหมู่บ้านชาวนาที่ตั้งอยู่ในหุบเขาตามลำน้ำ Shogawa ตามแนวสันเขาที่ทอดยาวตั้งแต่เขตจังหวัด Gifu ถึง Toyama ชิราคาวาโกะ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 1995 มีบ้านแบบกัสโชสึคุริ (Gassho-zukuri) เป็นบ้านชาวนาโบราณที่มีอายุมากกว่า 250 ปี

บ้านในแบบกัสโชสึคุริ บ้านแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ชื่อนี้ได้มาจากคำว่า “กัสโช” ซึ่งแปลว่า “พนมมือ” ตามรูปแบบของบ้านที่หลังคาชันถึง 60 องศา มีลักษณะคล้ายสองมือที่พนมเข้าหากัน ตัวบ้านมีความยาวประมาณ 18 เมตร และมีความกว้าง 10 เมตร ซึ่งมีโครงสร้างของบ้านสร้างขึ้นโดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียวอีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างต่างๆ ล้วนแต่มาจากวัสดุจากธรรมชาติทั้งสิ้น อย่างต้นหญ้าที่ปลูกไว้เพื่อนำมาใช้มุงเป็นหลังคาขนาดหนาแต่ยังคงความแข็งแรงสามารถรองรับหิมะที่ตกมาอย่างหนักในช่วงฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี

หมู่บ้านเหล่านี้ อยู่บนภูเขาในพื้นที่ห่างไกล บนพื้นที่ราบสูงฮิดะ (Hida) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1995 พื้นที่ของหมู่บ้านท่ามกลางหุบเขา และธรรมชาติของใบไม้ที่ผลิใบสีเขียวสดใสในฤดูใบไม้ผลิ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงในฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาวที่หมู่บ้านถูกปกคลุมไปด้วยสีขาวหมดจดของหิมะ หมู่บ้านมีความเป็นมาและคงความเป็นอยู่ดังมนต์ขลังแห่งเทพนิยาย ลักษณะของบ้านที่สร้างตามแบบเฉพาะนี้ (Gassho Style) มีหลังคาเป็นสามเหลี่ยมทรงสูงคล้ายลักษณะการพนมมือ เมื่อยามที่สวดมนต์ โครงสร้างภายในจะเป็นหลายชั้น อาจเป็น 3 หรือ 4 ชั้น มีรายละเอียดพิถีพิถัน และมีลักษณะเฉพาะออกไปตามการใช้งาน และแสดงถึงความชาญฉลาดของผู้ปลูกสร้าง และอยู่อาศัย ภายในจะมีผ้าไหมที่รอปูรองไว้เพื่อให้ความอบอุ่นเมื่อยามหน้าหนาวมาเยือน ที่พื้นบ้านในชั้นแรกหลังคาที่มีมุมประมาณ 60 องศา เพื่อให้หิมะไหลได้ง่ายป้องกันการทับถมของหิมะในยามที่หิมะตกหนัก

จุดท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในการสัมผัสบรรยากาศคือการพักค้างคืนในหมู่บ้านชาวนา มีบ้านหลายๆ หลังเปิดให้เป็นที่พักในแบบที่เรียกว่า Minshuku โดยเฉพาะที่ Ogimachi เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่สุดของชิราคาวาโกะ บ้านวาดะ (Wada) และ บ้านนางาเสะ (Nagase) ในโอกิมาชิ (Ogimashi) เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อที่จะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ว่าชาวบ้านดำรงชีวิตอย่างไรในอดีตที่ผ่านมา  โดยเฉพาะในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมทุกปี จะมีประเพณีลุยน้ำ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากที่ โกคายาม่า (Gokayama) มี หมู่บ้านอาอิโนะคุระ (Ainokura) ที่ซึ่งหมู่บ้านตั้งตระหง่านท้าทายขุนเขาอยู่ตลอดเวลา และ หมู่บ้านสุกะนุมะ (Suganuma) กับบ้าน 9 หลังที่รวมอยู่ในบ้าน 2 หลัง เป็นสิ่งล้ำค่าที่จะได้มาสัมผัสกับบ้านที่เป็นวัฒนธรรมอันเก่าแก่ และมีค่าของญี่ปุ่นนี้ จุดชมวิวของ ปราสาทโอกิมาชิ (Ogimashi) ได้รับความนิยมมากสำหรับการชมทัศนียภาพของหมู่บ้านชิราคาวาโกะ จะสามารถมองเห็นหมู่บ้าน 59 หลังคาเรือน จุดชมวิวนี้เหมาะมากกับการชมภาพมุมกว้างของหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นความเขียวชอุ่มของฤดูใบไม้ผลิ สีน้ำตาลแดงของฤดูใบไม้ร่วง หรือว่าในยามที่มีหิมะตกปกคลุม




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 15:46:24
เริ่มทำนาปรังในปี 2556

ช่วงเตรียมดิน

การทำนาปรังในทางบ้านเราจะมีช่วงเวลาในการพักดินอยู่ประมาณเกือบ 2 เดือน ช่วงนี้ชาวนาบางส่วนนิยมไถตากดินเพื่อทำการพลิกดินชั้นล่างขึ้นมาสัมผัสออกซิเจนรวมถึงเป็นการตากดินเพื่อทำลายวัชพืชนอกจากนี้ยังเป็นการฆ่าเชื้อโรคและไข่ของศัตรูพืชใต้ดินช่วงนี้ใครมีปุ๋ยคอกแห้ง ๆ ที่ยังไม่ได้หมักมาหว่านด้วยก็ได้เพื่อช่วยตากแดดทำลายเชื้อราที่อยู่ในมูลสัตว์สาเหตุของโรคพืชได้ทางหนึ่ง และการไถตากก็เหมาะสำหรับคนที่ต้องการทำคันนาใหม่เพราะดินแห้งจะทำให้รถขึ้นคันนาได้ง่ายและดินแน่นกว่า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 16:01:17
หลังจากที่มีการตากดินพอสมควรแล้วเมื่อใกล้การปลูกข้าวจะต้องนำน้ำลงในนาข้าวอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์เพื่อให้ดินอมน้ำจะได้เตรียมดินทำเทือกได้ง่ายและเป็นจากย่อยสลายเศษฟางข้าวและเศษวัชพืชช่วงนี้ควรมีการฉีดพ่น หรือเติมน้ำหมักจุลินทรีย์ลงไปด้วยเพื่อให้ช่วยย่อยสลายเศษฟางข้าวให้เร็วมากขึ้นอีกทั้งช่วยย่อยปุ๋ยให้เป็นธาตุอาหารสำหรับข้าวต่อไป และถ้าทางเทคนิคที่ดีควรปล่อยน้ำลงก่อนซัก3 สัปดาห์ให้ท่วมดินซัก 2-3 วันให้ชุ่มและปล่อยน้ำให้แห้งเพื่อเป็นการล่อข้าวดีด เมล็ดข้าวที่ร่วงในนาก่อนหน้านี้และวัชพืชให้ขึ้น ปล่อยให้เจริญเติมโตซัก1-2 สัปดาห์และค่อยปล่อยน้ำลงอีกตอนนี้จะทำการปั่นหรือไถแปร และทำเทือกต่อได้จะช่วยลดปริมาณข้าวดีดข้าวเด้ง และวัชพืชได้อีกทางหนึ่งครับ

การปล่อยน้ำลงในนา  นาของผมติดคลองชลประทานครับใช้ระบบกาลักน้ำครับ สะดวกไม่มีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันหรือไฟฟ้า ใช้หลักการสุญญากาศใช้แรงดันน้ำที่ไหลจากสูงลงที่ต่ำเท่านั้นเอง
วิธีการง่าย ๆ คือ
- ปิดปลายท่อด้านต่ำ คือจุดปล่อยน้ำ
- เติมน้ำในท่อให้เต็ม
- ปิดฝาท่อที่เราเติมน้ำลงไป
- เปิดไปปลายท่อด้านต่ำ น้ำก็จะไหลและดูน้ำจากคลองชลประทานครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 16:02:00
ขอบคุณการแบ่งปันความรู้จากท่านทั้งในกระทู้ของน้องดรีม กระทู้นวัตกรรมสิ่งประดิษฐิ์ทางการเกษตรและกระทู้นี้ครับ อ่านกระทู้ท่านแล้วอยากมีที่นาในเร็ววันเสียจริงๆ ผมมีแต่ไร่ อยากปลูกข้าวไร่พันธุ์ดีๆ ไว้กินทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าว ขอคำแนะนำหน่อยนะครับ :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 16:05:28
ความรู้เยอะเลย แฮะๆๆ ยังอ่านไม่หมด ความรู้เยอะๆๆแบบนี้ แม่บอกว่า ก็ไปถามอ้ายเขาฮั่นก่า อี้ว่าเจ้า รอน้องดรีมลงมือทำท่าจะได้แวะไปแอ่วเวียงชัยหมั่นผ่องเน้อเจ้า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 19:35:31
ขอบคุณการแบ่งปันความรู้จากท่านทั้งในกระทู้ของน้องดรีม กระทู้นวัตกรรมสิ่งประดิษฐิ์ทางการเกษตรและกระทู้นี้ครับ อ่านกระทู้ท่านแล้วอยากมีที่นาในเร็ววันเสียจริงๆ ผมมีแต่ไร่ อยากปลูกข้าวไร่พันธุ์ดีๆ ไว้กินทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าว ขอคำแนะนำหน่อยนะครับ :D

ขอบคุณครับเอาไว้จะเอาข้อมูลมาลงให้นะครับ

ความรู้เยอะเลย แฮะๆๆ ยังอ่านไม่หมด ความรู้เยอะๆๆแบบนี้ แม่บอกว่า ก็ไปถามอ้ายเขาฮั่นก่า อี้ว่าเจ้า รอน้องดรีมลงมือทำท่าจะได้แวะไปแอ่วเวียงชัยหมั่นผ่องเน้อเจ้า

มาแวะมาแอ่วถามข้อมูลได้ครับ แถวบ้านมีนาตัวอย่างให้ดูทั้งนาหว่าน นาโยน นาดำ ครับ อย่างนาโยนอ้ายต้น(ton-ao)  เจ้าของกระทู้นาโยน  ที่เปิ้นเพาะก็อยู่ห่างจากบ้านผมน้อยเดียวบ่าถึง 300 ม.ครับ วันก่อนก็ไปดูเปิ้นทำ ได้ช่วยเปิ้นเรียงถาดอยู่ครับอีกประมาณยี่สิบกว่าวันคงเริ่มโยนแล้วครับ

ยืมรูปจากกระทู้นาโยนมาครับ
(http://upic.me/i/6s/img_8987_resize.jpg)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 20:26:23
หลังจากเอาน้ำลงแล้วหากมีน้ำจุลินทรีย์ก็นำมาพ่นหรือสาดให้ทั่วแปลงนาครับ หากมีเวลาน้อยอาจปล่อยในส่วนทางน้ำเข้าในแต่ละแปลงให้กระจายกันเองน้ำจุลินทรีย์หากเราตักน้ำจุลินทรีย์ออกไปเราสามารถต่อเชื้อหรือขยายโดยการเติมน้ำเปล่าและกากน้ำตาลลงไปเพื่อให้เป็นอาหารของจุลินทรีย์อีกไม่กี่วันจุลินทรีย์ก็แพร่กระจายตัวเอง  สามารถใช้ต่อเชื้อได้เรื่อย ๆ ครับ 

หลังจากปล่อยน้ำเข้านาแล้วปล่อยไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ก็สามารถเริ่มย่ำเทือกได้ ผมจะเริ่มใช้รถย่ำเทือกในวันเสาร์อาทิตย์ที่จะถึงนี้ วันนึงสามารถทำได้สิบกว่าไร่หากเป็นรถไถเดินตามอาจได้น้อยกว่านี้ และจะกดหน้าดินและชักร่องอีกครั้งในวันที่ 16 และหว่านวันที่ 17 นี้ครับ จริง ๆ แล้วเราสามารถย่ำเทือกและทำลูบเทือกและชักร่องน้ำต่อได้เลย แต่ผมมีข้อจำกัดเรื่องเวลาไม่สามารถลางานได้นาน ๆ  และจะต้องรอให้พร้อมกับชาวนาท่านอื่นที่ทำนาอยู่ถัดไปเพื่อที่จะสามารถปล่อยน้ำออกได้  ได้เอาไว้จะนำรูปมาให้ดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 20:38:51
รถที่ผมใช้สำหรับทำเทือกครับเครื่องดีเซล 1 สูบขนาด 14 แรงม้าเครื่องเดียวกับรถอีแต๋นมีข้อได้เปรียบตรงไม่ติดหล่มที่แม้แต่รถแทรกเตอร์ที่ติดกันทรุดก็ลงไม่ได้เพราะล้อหลังเป็นตีนเหล็กขนาดใหญ่ และยังช่วยให้ย่ำดินให้แตกค่อนข้างดี แต่หากใส่ล้อแบบนี้แล้วถอยหลังในนาไม่ได้นะครับไม่งั้นล้อจะจม หากไถนาดินแห้งทั้งวันจะได้ประมาณวันละ 6-7 ไร่ใช้น้ำมันประมาณ 200 บาทต่อวันที่ลิตรละ 30 บาท แต่ถ้าตอนทำเทือกพร้อมลูบเทือกชักร่องได้ประมาณวันละ 13 ไร่ ใช้น้ำมันวันละ 380 บาท ถือว่าประหยัดน้ำมันทีเดียวแต่ไม่เป็นที่นิยมทั่วไปเพราะคันเล็กจะต้องเปลี่ยนล้อไปมา ราคาที่ซื้อตอนนั้น 175000 บาทตอนนี้ทางคูโบต้าเองเลิกผลิตไปแล้วครับแต่อะไหล่ยังหาได้ง่ายอยู่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 20:46:17
ทีมงานอาชีพแถวบ้านครับ  มากันเป็นทีม ทั้งปั่น ทั้งทำเทือก ชักร่องในคราวเดียวกันสังเกตุท่อ PVC บนหลังคาจะใช้ลากในนาเพื่อใช้ลูบเทือกดินให้เรียบจะมีการเพิ่มน้ำหนักในท่อโดยการใส่น้ำเข้าไปการชักร่องจะใช้ล้อรถไถเองทำร่องน้ำในนาครับ  รถแทรกเตอร์แบบนี้เป็นที่นิยมมากในปัจจุบันเพราะสามารถทั้งไถนา ปั่นา ทำเทือก ปรับดินได้ เหตุที่มากันหลายคันทั้งช่วยให้งานเสร็จไว้แล้วยังสามารถช่วยเหลือกันได้สำหรับเวลารถติดหล่มครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 21:36:14
หากว่าคุณเป็นคนช่างสงสัย สังเกตุเกี่ยวกับข้าวจะสังเกตุชาวนาไหมครับว่าทำไมคนนู้นทำไมทำแบบนี้ครับเดี๋ยวจะมีเล่าให้ฟังครับ


ทำไมต้องมีการคัดพันธุ์เมล็ดข้าว

หากเคย VDO รายคุณอุ้ม ฉันจะเป็นชาวนาที่ไปดูงานที่มูลนิธิข้าวขวัญที่มีการคัดเมล็ดข้าวทีละเมล็ด หรือแม้แต่หลายการคนค้นคน ตอน ตุ๊หล่างเด็กหนุ่มเลือกชาวนาที่พิธีพิถันในการคัดข้าวเพื่อทำพันธุ์ต่อไปว่าทำไปเพื่ออะไรจะมาเฉลยกันครับ เมล็ดข้าวนอกจากดูภายนอกที่ต้องสมบูรณ์ที่ไม่ลีบเป็นเชื้อราแล้วจะต้องดูขนาดของเมล็ดครับเพื่ออะไรเพราะเมล็ดใหญ่จะมีอาหารสะสมในเมล็ดมากกว่าข้าวช่วงแรก ๆ จะกินอาหารจากเมล็ด ส่งผลให้ต้นกล้าออกมาเติบโตได้ดีกว่าแข็งแรงกว่า มีรากมากกว่าเมล็ดเล็ก ออกรวงมากและสมบูรณ์กว่าเมล็ดเล็กครับลองพิสูจน์โดยการปลูกในกระถางเปรียบเทียบดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 21:58:45
ความลึกของระดับน้ำในนาข้าว

ควรมีระดับน้ำที่พอดี 5-10 ซม. เพราะว่าหากน้ำลึกข้าวจะสูงระบบรากจะไม่ดีเพราะขาดอากาศ ต้นข้าวจะอ่อนแอ

ปริมาณน้ำในนาข้าว

- ในนาข้าวหากข้าวได้รับน้ำสม่ำเสมอรากจะน้อยแต่ถ้าขาดน้ำรากจะยาวขึ้นเพื่อหาแหล่งน้ำแต่ละต้นของต้นข้าวอาจโตไม่สม่ำเสมอ
- แปลงข้าวในที่ต่ำจะมีความชื้นสูงแต่อากาศในดินน้อย ตรงดอนมีความชื้อต่ำแต่มีอากาศในดินมาก

อุณหภูมิหนาวกับร้อนมีผลอย่างไรกับต้นข้าว
มีบางคนถามผมว่าอุณหภูมิเกี่ยวข้องอย่างไรกับข้าว ขอตอบว่าดังนี้ครับ ข้าวในบ้านเราซึ่งอยู่ในเขตร้อนจะเจริญเติบโตได้ช้าหากว่าเจออุณหภูมิต่ำ จะเห็นว่านาของบางพื้นที่เสียหายเนื่องจากเจอสภาวะอากาศเย็นครับ ยิ่งอากาศเย็นจะทำให้ใบเหลืองมีโอกาสตายได้ด้วย อยากรู้ว่าจิงไม๊ลองพิสูจน์โดยการปลูกข้าวพันธุ์เดียวกันในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนโดยวัดความสูงของต้นข้าวในแต่ละวันดูครับว่าแตกต่างกันมากน้อยเพียงไหน ยิ่งอากาศหนาวจะเกิดน้ำค้างเกาะใบข้าวพอช่วงเที่ยงเจออากาศร้อนทำให้เกิดโรคจากเชื้อราได้อีกครับ ช่วงนี้อาจต้องฉีดพ่นยากำจัดเชื้อรา หรือใช้เชื้อราควบคุมกันเองก็ได้ครับ หรือถ้าดูง่าย ๆ เรามักถนอมอาหารโดยการนำผัก เนื้อสัตว์ไปแช่ตู้เย็นก็เพราะจุลินทรีย์ทำงานได้ช้า แม้แต่การเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์วิจัยก็จะต้องเก็บไว้ในห้องเย็นที่มีอุณภูมิต่ำ ๆ อีกด้วย การปลูกข้าวในช่วงหน้าหนาวควรศึกษาพันธุ์ข้าวให้ดีว่าพันธุ์ที่เราปลูกชอบอากาศแบบไหนมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากน้อยเพียงใดด้วย



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 22:16:15
ความเข้มของแสง

ที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าพืชแทบทุกชนิดต้องการแสงแดงเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงแต่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพันธุ์พืชอีกที ข้าวก็เช่นกันครับเป็นพืชที่ต้องการแสงมากเคยสังเกตุไหมครับว่า

- ในช่วงวันที่มีแสงแดดน้อยติดต่อกันหลาย ๆ วันต้นข้าวจะดูอ่อนแอป่วยง่าย สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะข้าวสร้างอาหารได้ไม่เต็มที่เหมือนคนที่กินข้าวไม่อิ่มหรือไม่ได้กินข้าวเลยร่างกายก็อ่อนแอไม่มีแรง ข้าวก็เช่นกัน ถ้าแสงน้อยต้นข้าวก็สูงเพราะต้องพยายามยืดตัวเพื่อรับแสงเคยสังเกตุต้นไม้ที่จะเอียงไปทางทิศทางของแดดไหมครับ ยังไม่พอกาบใบจะยาวอีกต่างหาก รู้แบบนี้แล้วควรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวในบริเวณที่มีร่มไม้ อาคารบ้านเรือนบังแสงแดดครับเพื่อให้ข้าวปรุงอาหารได้เต็มที่จะได้ผลผลิตมากตามมา ถ้าข้าวอ่อนแอแล้วก็มีโอกาสเป็นโรคสูงด้วยเช่นกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มกราคม 2013, 22:26:20
เปิดโลกของ ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย ผู้ซึ่งรักและศรัทธาในอาชีพชาวนา  

อาชีพชาวนา คือ อาชีพแห่งเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นอาชีพที่คนมักมองข้ามทั้ง ๆ ที่เป็นอาชีพสำคัญมากอาชีพหนึ่งที่สังคมนี้จะขาดไปไม่ได้ เปรียบเหมือนคุณค่าของเมล็ดข้าวที่เป็นดั่งอาหารหล่อเลี้ยงสังคมโลกมาอย่าง ยาวนาน และวันนี้เราอยากให้คุณรู้จักกับผู้ที่มีความเชื่อ และศรัทธาอันมั่นคงกับอาชีพ ๆ นี้ ซึ่งเขาผู้นั้นคือ แก่นคำหล้า พิลาน้อย หรือ ตุ๊หล่าง ชายหนุ่มวัย 28 ปี ที่เคยได้รับรางวัลคนนอกกรอบ จาก คนค้นฅนอวอร์ ครั้งที่ 9 และเขาคนนี้ยังป็นที่รู้จักกันดีในนามผู้พลิกฟื้นเกษตรกรรมให้กับชาวอีสาน อีกด้วย

แก่น คำหล้า พิลาน้อย หรือ ตุ๊หล่าง เด็กหนุ่มลูกอีสานชาวจังหวัดยโสธร ครอบครัวของเขาประกอบอาชีพทำนา เด็กหนุ่มคนนี้จึงมีสายเลือดของชาวนาอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนกุดชุมวิทยาคมซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ ตุ๊หล่าง ก็หันหลังให้กับการศึกษาในห้องเรียน หันมาสู่โลกของการเกษตรกรรม ด้วยเพราะเล็งเห็นว่าบทบาทของอาชีพชาวนากับคนรุ่นหลังเริ่มเลือนลางลงทุกที

ทั้งนี้ ตุ๊หล่าง บอกว่า จากการสำรวจผู้คนในหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ ทั้งหมด 400 หลังคาเรือน รวมกว่า 1,000 คน พบว่ามีอยู่เพียง 200 คนเท่านั้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อรู้สึกว่าผู้คนเริ่มมองข้ามอาชีพนี้เขาจึงมีความคิดที่จะพัฒนางานด้าน การเกษตรให้คงอยู่กับคนอีสาน แม้ว่าความจริงแล้วตุ๊หล่างเคยฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่อย่างไรเสีย หากยังไม่หมดลมหายใจ ตุ๊หล่าง คิดว่าเขาก็ยังมีโอกาสศึกษาต่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ แต่ถ้าอาชีพเกษตรกรรมยังไม่รีบอนุรักษ์สืบทอดไว้ อาจจะสูญสิ้นไปได้

"ผมว่าโลกแห่งเกษตรกรรมเป็นโลกของการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผม ผมจึงคิดว่าเราน่าจะแสวงหาความรู้จากโลกเกษตรกรรมเสียก่อน เพราะสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น การผสมพันธุ์ข้าว การทำอย่างนี้มันมีความละเอียดกว่าคนที่เรียนจบปริญญาตรียิ่งเสียอีก และประสบการณ์ในการทำงานมันมีค่ามากว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย" ตุ๊หล่าง บอกอย่างนั้น

ด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาในการเป็นชาวนา ตุ๊หล่างจึงคิดเสมอว่างานเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต เขามีความสุขกับการทำนาแม้ว่าแผ่นดินทำกินของเขาตั้งอยู่บนเงื่อนไขของนา แล้งเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในภาคอีสาน แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรค กลับยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชายคนนี้คิดแก้ปัญหา จนในที่สุด อดีตนักเรียน ม.ปลาย ก็กลายมาเป็นหนุ่มชาวนา นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว เขาสามารถสร้างพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ขึ้นบนผืนดินที่แห้งแล้งได้สำเร็จ

เมื่อเวลาแห่งความมุ่งมั่นของ ตุ๊หล่าง สัมฤทธิ์ผล เขาจึงกระจายความรู้ที่มีออกไปยังชาวนาทุกสารทิศ ด้วยความหวังจะพัฒนาอาชีพชาวนาให้กลับมาสดใส ในขณะที่สังคมกำลังให้ความสำคัญกับอาชีพชาวนาน้อยลงทุกที ไม่เว้นแม้แต่ชาวนาด้วยกันเองที่ปัจจุบันส่วนใหญ่หมดความภาคภูมิใจในอาชีพ ปลูกข้าวเลี้ยงคน เพราะความทุกข์เข็ญจากภาระหนี้สินที่พอกพูนจนชดใช้ทั้งชีวิตก็อาจไม่หมด และมักที่จะผลักดันลูกหลานให้ถอยห่างออกไปจากท้องไร่ท้องนา ห่างจากอาชีพชาวนา มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อแสวงโชค หาเงิน และวาดหวังถึงชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

"ทุกคนเกิดมาต้องกินข้าว เพราะข้าวถือเป็นอาหารหลัก แต่มนุษย์กลับให้ความสำคัญในสิ่งนี้น้อยลงไปทุกวัน อยากฝากถึงบุคคลทุกประเภทและทุกอายุว่า อย่าดูถูกอาชีพชาวนา หรือการเกษตรกรรม เหตุที่ทำให้อาชีพเกษตรกรรมกำลังจะหายไปจากสังคมเป็นเพราะคนในระดับที่สูง กว่าดูถูกอาชีพนี้ ด้วยเหตุที่ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเอาเงินเป็นที่ตั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ชีวิตไม่มีความหมาย ทั้ง ๆ ที่จากความจริงชีวิตคนเรามีคุณค่าสูงกว่าจำนวนเงิน แต่เมื่อคนเห็นความสำคัญของเงินนั้น คนย่อมทิ้งความเป็นคน"

ทุกวันนี้ ชีวิตของ ตุ๊หล่าง ดำเนิน ไปอย่างเรียบง่ายในแบบฉบับชาวไร่ชาวนา เขาเน้นหลักความพอเพียง ที่เจ้าตัวให้นิยามว่า แค่เป็นคนดีก็เพียงพอแล้ว เพราะคนเราถ้ามีเงินเป็นแสนเป็นล้าน หากไม่มีคุณธรรมและเป็นคนดีสังคมก็อยู่ไม่รอด

"ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตคือ เราต้องมีความเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ทำ รวมทั้งต้องพึ่งพาตนเอง และแบ่งปันผู้อื่นด้วย ผมเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่เป็นโขลง ถ้าเรารอดอยู่คนดียว แล้วคนอื่นตายหมด เราจะอยู่ไปเพื่ออะไร ดังนั้น การทำพันธุ์ข้าวไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ชาติ" ตุ๊หล่าง กล่าว

และนี่คือมุมมองของหนุ่มนักพัฒนาการเกษตร ที่หัวใจเต็มเปี่ยมด้วยแรงแห่งความรักในอาชีพชาวนา เขาค้นพบความสุขจากการพึ่งตน และแบ่งปันในสิ่งที่ตัวเองรู้ เพื่อพาเพื่อนมนุษย์ไปสู่ทางรอดร่วมกัน ชาวนาแท้แบบตุ๊หล่าง จึงไม่เพียงแต่ปลูกข้าวเลี้ยงคน แต่ยังเป็นอาชีพที่บ่มเพาะผู้คนให้เดินไปสู่หนทางแห่งความดีงาม

m8sbudIZMo8&feature

vTmk0zbkPjc&feature

qUaMDNxDVl8&feature

Y0heybL_-m0&feature

DvlYeMvTsHY&feature

9s4qBhYpruI&feature

gVR5_KYKCqs&feature

qcxi7TdMdJM&feature

flB4xOQUrlc&feature


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 10:22:34
ลักษณะต้นข้าวที่ให้ผลผลิตดี

สำหรับชาวนาบางท่านอาจลืมสังเกตุไปครับข้าวที่ให้ผลผลิตดีนั้นต้องมีลักษณะอย่างไรที่ผมสังเกตุและได้ลองศึกษามาจะมีดังนี้

-  ข้าวที่ต้นเตี้ยจะให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวต้นสูง นอกจากจะสามารถส่งหาอาหารได้ดี ข้าวต้นเตี้ยยังไม่ล้มไม่เสียหายอีกด้วย จึงจะเห็นว่าศูนย์วิจัยข้าวต่าง ๆ ก็พยายามพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีลักษณะเตี้ย แม้แต่พืชสวนทั่วไปก็จำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งให้ต้นไม่สูงทั้งสะดวกในการเก็บเกี่ยวและยังได้ผลผลิตที่ดีด้วยใช่ไหมครับ  การใส่ปุ๋ยโตรเจนมากเกินไปและบางช่วงของการเจริญเติบโตของข้าวจึงไม่เหมาะสม  ข้าวที่ต้นสูงสังเกตุจะมีใบมากทำให้ใบข้างล่างได้รับแสงน้อยการสังเคราะห์แสงจึงไม่ดี

- ต้นข้าวที่ลำต้นและรวงตั้งตรงและใบไม่โน้ม ทำให้แสงแดดกระจายได้อย่างทั่วถึง เมื่อแสงและอากาศสามารถกระจายได้ทั่วถึงก็ลดโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคจากเชื้อราได้ อีกทั้งแมลงศัตรูพืชก็ไม่ค่อยชอบอีกด้วย เราควบคุมอย่างไรก็กล่าวผ่านมาว่าการควบคุมระดับน้ำที่เหมาะสมและการใส่ปุ๋ยที่เหมาะ และหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวในอยู่ใต้เงาต้นไม่หรืออาคารสามารถช่วยได้ครับ

- เมื่อระยะออกรวงใบธงต้องอยู่สูงกว่ารวงข้าวเพื่อประโยชน์ในการรับแสง เมื่อต้นข้าวสมบูรณ์เมล็ดก็จะสมบูรณ์ตามมา

- ใบข้าวจะต้องตั้งตรงและเหยียดยาวเพื่อช่วยในการรับแสง แต่ถ้าใบหักก็จะรับแสงได้ไม่เต็มที่ข้าวก็ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้เต็มที่

-  รากข้าวจะต้องยาวสีขาว  หากรากสั้นหรือปลายรากมีสีดำจะทำให้ความสามารถในการหาอาหารได้น้อยควบคุมความยาวรากด้วยน้ำ

-  ข้าวที่ดีต้องแตกกอมาก  การแตกกอแตกหน่อยจะช่วยเพิ่มผลผลิตเพราะมีรวงมากขึ้น การทำให้ข้าวแตกกอนอกจากต้องใส่ปุ๋ยแล้วในช่วงนั้นเราควรลดระดับน้ำลงครับ น้ำมากๆ  ข้าวจะแตกกอน้อยครับ

หวังว่าจะมีประโยชน์อยู่บ้างนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 11:05:34
ปัจจัยที่ทำให้เมล็ดข้าวมีน้ำหนักมาก

ก่อนหน้านี้ได้พูดถึงเรื่องลำต้นไปบ้างแล้วครับ ต่อไปเป็นเรื่องการทำอย่างไรให้เมล็ดข้าวมีน้ำหนักก่อนอื่นต้องรู้ว่าในเมล็ดข้าวมีแป้ง 80-90%  หากต้องการให้ข้าวมีน้ำหนักก็ต้องให้มีแป้งมากถูกจริงไหมครับมารู้กันครับว่าแป้งมาจากไหน

- สารพวกแป้งสร้างในใบสีเขียว ใบข้าวประกอบด้วยเซลล์เล็ก ๆ มากมายใบข้าวจะรับแสงและมีสารสีเขียวคือส่วนในการสร้างอาหารของต้นข้าว

- น้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีในอากาศเป็นส่วนประกอบใหญ่ในการสร้างแป้ง ข้าวเมื่อขาดน้ำเมล็ดก็จะลีบ

- น้ำและแร่ธาตุจะถูกดูดซึมทางราก   สำหรับอากาศก็เข้าสู่รูเล็ก ๆ บนใบข้าว  หากขาดน้ำรูเล็ก ๆ ในใบข้าวก็จะปิดเพื่อลดการสูญเสียน้ำ อากาศก็ไม่สามารถเข้ามาทางรูบนใบข้าวได้

- พลังงานจากแสงแดดจะทำให้น้ำในใบข้าวแยกตัวแล้วไปผสมกับคาร์บอนไดออกไซด์เกิดการสังเคราะห์แสงกลายเป็นอาหารของต้นข้าวขึ้น

- ยิ่งมีแสงมาก ๆ ยิ่งทำให้ข้าวสร้างแป้งได้มาก

สรุปคือสิ่งจำเป็นในการสะสมแป้งคือ   น้ำ  อากาศ  แสงแดด  ส่วนธาตุอาหารเป็นส่วนช่วยในการบำรุงต้นข้าวหากต้นข้าวมีความแข็งแรงมีการลำเลียงน้ำที่ดี ใบข้าวสมบูรณ์  ได้รับแสงเต็มที่ก็จะทำให้ข้าวผลิตแป้งได้มากส่งผลให้เมล็ดข้าวมีน้ำหนักตามมา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 11:52:56
เมื่อกี้พูดถึงเรื่องเทคนิคเพิ่มน้ำหนักของเมล็ด เรื่องการสะสมแป้งของต้นข้าวที่มีใบข้าวมาเข้าใจกันอีกนิดครับสำหรับการเจริญเติบโตของใบข้าว

- ใบข้าวจะขึ้นทีละใบ
- ใบข้าวจะเกิดขึ้นในทิศตรงกันข้ามกัน
- จำนวนใบข้าวขึ้นอยู่กับข้าวในแต่ละพันธุ์
- จำนวนใบข้าวในแต่ละพันธุ์จะมีจำนวนใบที่เท่ากัน  แต่อาจมีผิดปกติที่จะมากขึ้นหรือน้อยขึ้นอยู่กับความยาวของช่วงกลางวันและอุณหภูมิ
- ข้าวพวกไวต่อช่วงแสงจะมีใบมากขึ้นหากกลางวันยาวนานขึ้น
- ใบที่มีอายุมาก ๆ จะเริ่มเหี่ยวและมีการสร้างใบทดแทน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือท่าสุด ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 11:59:13

   ผมกำลังติดตามอยู่ครับ  พอดีปีที่ผ่านมา  ทำเป็นปีแรก  ทำแค่ 2 ไร่ครับ

   ปีนี้ จะทำเพิ่มอีก 5 ไร่  รวมเป็น 7 ไร่ครับ  กำลัง พยายามเก็บข้อมูณอยู่ครับ

   กระทู้นี้ มีความรู้มากมายครับ   ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 13:06:13

   ผมกำลังติดตามอยู่ครับ  พอดีปีที่ผ่านมา  ทำเป็นปีแรก  ทำแค่ 2 ไร่ครับ

   ปีนี้ จะทำเพิ่มอีก 5 ไร่  รวมเป็น 7 ไร่ครับ  กำลัง พยายามเก็บข้อมูณอยู่ครับ

   กระทู้นี้ มีความรู้มากมายครับ   ขอบคุณครับ

ยินดีครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 13:22:06

   ผมกำลังติดตามอยู่ครับ  พอดีปีที่ผ่านมา  ทำเป็นปีแรก  ทำแค่ 2 ไร่ครับ

   ปีนี้ จะทำเพิ่มอีก 5 ไร่  รวมเป็น 7 ไร่ครับ  กำลัง พยายามเก็บข้อมูณอยู่ครับ

   กระทู้นี้ มีความรู้มากมายครับ   ขอบคุณครับ
สู้ๆครับ ชาวนา ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 13:42:49
เคยสังเกตุไหมครับว่านาดำเมื่อมีการถอนต้นกล้าเพื่อนำใบปักดำชาวนาทำไมมีการตัดใบข้าว สาเหตุก็เพราะ
          ชาวนานิยมถอนกล้าข้าวเมื่อต้นแก่ก่อนการแตกกอเป็นช่วงที่พ้นจากกินของหอยเชอรี่ ซึ่งใบข้าวจะยาวมากหากเราไม่ตัดใบข้าวก็จะแตะกับน้ำครับ น้ำมีส่วนประกอบหลายอย่างทั้งเชื้อโรคเมื่อใบข้าวแตะน้ำเชื้อโรคก็สามารถเข้าสู่ทางใบได้ทำให้เกิดโรคข้าวได้  แต่ในทางกลับกันหากมีการตัดใบข้าวเชื้อโรคก็สามารถเข้าสู่แผลทางใบเช่นกัน เหมือนกับคนที่ถูกมีดบาดหากไปเจอสิ่งสกปรกอีกก็จะทำให้แผลอักเสพต้องทายาหรือฉีดยารักษาอีก ควรหลีกเลี่ยงให้ใบข้าวสัมผัสน้ำสกปรก การพ่นฮอโมนก็เช่นกันน้ำที่ผสมควรเป็นน้ำที่สะอาดจึงจะได้ผลดีบางคนเอาน้ำคลองมาผสมมาพ่นทางใบข้าวกับเป็นโรคอีก  ในการปักดำควรถอนต้นกล้าในช่วงที่เหมาะสมการใส่ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโตจนเกินใบจึงอาจไม่เหมาะสม จึงควรถอนกล้าในระยะที่พอเหมาะเมื่อนำไปปักดำใบจะได้ไม่แตะน้ำและถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องตัดใบข้าวครับ ชาวนาบางคนอาจไม่รู้ใบข้าวยาวไม่ยาวก็ขอตัดใบไว้ก่อนครับพ่อผมก็เป็นเช่นนั้น  ;D  ;D  การตัดใบเป็นวิธีนิยมในปัจจุบันในช่วงก่อนข้าวตั้งท้องในกรณีที่ในแปลงนามีมีหญ้าวัชพืชขึ้นแข่งกับต้นข้าวการตัดอาจใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายเมื่อตัดไปแล้วข้าวสามารถแทงยอดใหม่ได้เร็วกว่าวัชพืชทำให้มีความสูงที่สูงกว่าการเจริญเติบโตของวัชพืชก็จะน้อยลงไปตามส่งผลให้ข้าวแตกกอและผลผลิตดีมากขึ้นกว่าการไม่ตัดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 14:22:01
แวะมาศึกษาความรู้ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 14:41:58
วัชพืชทำให้ข้าวได้ผลผลิตลดลง

      วัชพืชทำให้ข้าวได้ผลผลิตที่ลดลงไม่ว่านาปีหรือนาปรัง เพราะวัชพืชจะไปแย่งธาตุอาหารที่มีอยู่ทำให้ข้าวได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่ วัชพืชจะหาอาหารกินเก่งกว่าข้าว จึงไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนก่อนการกำจัดวัชพืชเสียก่อน อีกทั้งบางชนิดก็ไปแย่งแสงกับต้นข้าวอีกด้วย วัชพืชมีทั้งหญ้า กก วัชพืชใบแคบ ใบกว้างแล้วแต่ขนาดของใบ

การกำจัดวัชพืช

   ในช่วงข้าวมีอายุไม่เกิน 1 เดือนครึ่งจะง่ายที่สุดเพราะต้นข้าวยังขึ้นไม่สูงและหนาแน่นสามารถกำจัดได้ง่ายกว่าสามารถกำจัดได้โดยวิธี
- การใช้สารเคมี หรือสารชีวภาพ ปัจจุบันมีทั้งแบบ ผง  น้ำ และเมล็ด
- การถอนด้วยมือ วิธีนี้ผมทำประจำ ควรทำก่อนที่วัชพืชออกดอกเพื่อป้องกันการร่วงลงในนากลายเป็นวัชพืชต่อไป แต่อาจเป็นวิธีที่ใช้เวลานาน การทำนาครั้งแรกผมหญ้าเต็มนาเลย ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้วครับ เพราะรู้จักการป้องกันที่ถูกวิธีมากขึ้น
- การใช้เครื่องมือไถพรวนทำได้ง่ายในนาดำเพราะข้าวเป็นแถวเป็นแนวดี

การควบคุมป้องกันการเกิดวัชพืช

- การควบคุมด้วยระดับน้ำควรปรับที่นาให้เรียบ เพื่อให้น้ำได้ระดับวัชพืชจำพวกหญ้าและกกสามารถป้องกันด้วยระดับน้ำ 5-10 ซม. เมล็ดวัชพืชหลายชนิดไม่ขึ้นในน้ำแต่บางชนิดแม้น้ำท่วมก็ไม่ตาย
- การควบคุมด้วยระยะของต้นข้าว การปลูกข้าวถี่จะช่วยบังแสงไม่ให้วัชพืชได้รับแสงเต็มที่ การปรุงอาหารของวัชพืชก็น้อย ก็จะกินอาหารน้อยตาม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 14:48:39
วิธีการทำนาปลอดเคมีและความคิดปลูกข้าว แบบลดต้นทุน เพิ่มกำไร โดย ชัยพล ยิ้มไทร ปริญญาทำนา

ข้อมูลจาก เฟสบุ๊ค ของคุณ ชัยพล ยิ้มไทร

บทที่ 1 ไถนา
 อุปกรณ์ประกอบไปด้วย รถไถเดินตาม ผาน เลื่อนนั่ง เครื่องตัวนี้ซื้อจากเชียงกง เป็นเครื่อง 10 แรงม้าซื้อมาตัวละ 16000 บาท รถไถซื้อจากร้านขายของเก่ากิโลละ 11บาท เป็นเงิน3240บาท ผานก็มือสองราคา500 บาท การทำนาไม่จำเป็นต้องเริ่มจากของมือหนึ่งครับ ค่อย ๆหา ค่อย ๆซื้อ ครับ ค่อยเป็นค่อยไป ผมเองเริ่มจากทำนา 9 ไร่ และเครื่องมือราคาประหยัด  หลังจากที่ไถกลบฟางและใส่น้ำไว้สี่ถึงห้าวัน จึงเริ่มใช้ลูกควักพรวนดิน ที่เห็นต่อข้าวเขียว ๆคือ ควักไว้หนึ่งรอบ(ตลบ) และทิ้งไว้หนึ่งคืน ตรงดินดำ ๆคือรอบที่สอง(อีกหนึ่งตลบ) การทำนาไม่เผาฟาง ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องใช้เครื่องมือให้เหมาะสมและให้เวลากับงานบ้างเท่านั้นเอง…ทำนาอย่างเร่งร้อนจนคนชั่วรุ่นหนึ่งกำลังจะจากไป..ไม่เห็นมีความมั่นคงในชีวิตสักที…มาทำช้า ๆกันดีกว่าใหมครับ ^__^” เผื่อชีวิตอาจดีขึ้น..





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 14:50:36
บทที่ 2 ควักดิน
หลังจากไถนาเสร็จแล้ว ให้ใส่น้ำจมขี้ไถไว้ เพื่อให้ขี้ไถนิ่ม(ยิ่งนานยิ่งดี จะทำให้ฟางเปื่อยและดินเละ) หากมีเวลาก็ควักสักสองรอบ(ตลบ)แล้วทิ้งไว้อีก ข้อดีของลูกควักคือ ทำให้ดินฟู(อุ้มน้ำดี)และลูกควักยังช่วยกระจายกลุ่มฟางที่แน่นหนาออกจากกัน ทำให้ไม่เกิดแก้สฟางเน่า เครื่องมือนี้ลดขั้นตอนการทำนาลงได้มาก ทำให้ดินกลายเป็นเทือกได้ไว้ขึ้น ข้อเสียคือ หนักกำลังเครื่องยนต์ และถ้ารถไถไม่แข็งแรงพอหรือดินเป็นหล่มจะหนักแรงเครื่องยนต์มาก รถไถอาจโซ่ขาดหรือเฟืองแตกได้ ควรลดขนาดวินเครื่องยนต์ลดอย่างน้อยครึ่งนิ้ว

ปล.นายแบบโดย @ท — กับ ทรงวุฒิ ยิ้มไทร



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 14:52:40
บทที่ 3 ย่ำเทือก
หลักการง่าย ๆ คือ ทำให้ดินที่ไถไว้และควักซื่งยังเป็นก้อน กลายเป็นน้ำเลน อุปกรณ์ที่ใช้มีทั้งลูกจิ้ม ลูกควัก คราด ย่ำไปเรื่อย ๆกระทั่งดินแตกตัว ฟู เทือกยิ่งหล่ม ข้าวยิ่งงาม ในภาพใช้คราดสองคัน และลูกควักหนึ่งคัน เพื่อเก็นงานตรงที่ดินแข็ง ๆ หรือเป็นที่ดอน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 14:58:10
บทที่ 4 ลูบเทือก
อุปกรณ์ที่ใช้คือกระดานลูบเทือก หลังจากที่ควักดินจนฟูแล้ว ดินจะยังไม่เรียบ ต้องปรับหน้าดินโดยอุปกรณ์นี้ ให้พื้นเลนเรียบ ยามหว่าน เมล็ดข้าวจะได้ไม่จมน้ำ เพราะพื้นสม่ำเสมอ อุปกรณ์นี้ยังใช้ปรับระดับของดิน โดยดันเอาเลนจากที่ดอนลงไปที่ลุ่ม(เหยียบห้ากระดาน)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 15:00:08
บทที่ 5 แช่ข้าว
นำกระสอบข้าวปลูกลงแช่ในน้ำ 24 ชั่วโมง ก่อนจะนำขึ้นมาไว้บนแห้งอีก 24 ชั่วโมง เพื่อให้ข้าวแตกตา และพร้อมสำหรับการนำไปหว่าน โดยปรกติผมจะแช่ข้าวในอ่าง แต่ที่นาไม่มีอ่างเลยใช้ไม้ไผ่สองอันพาดร่องน้ำ และใช้พลาสติกกันน้ำทำเป็นเปลอุ่มข้าวไว้อีกที ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะต้องใส่เชื้อราไตรโครเดอร์ม่าลงไปตอนแช่ข้าวด้วย ในกระป๋องคือไตรโครเดอร์มาร์ที่เพาะเชื้อกับข้าวสุกและน้ำมาใส่น้ำขยำ ๆ ให้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าละลายออกมา(สปอร์) ประโยชน์คือ ราไตรโคเดอร์ม่าจะไปกินราชนิดอื่น ๆที่ทำให้ข้าวอ่อนแอ และช่วยสงเสริมการเจริญของตุ่มตาข้าว

อัตราการหว่านของผม ไร่ละยี่สิบกิโลครับ ต้นข้าวจะไม่หนาแน่นเกินไปแล้วข้าวจะแตกกอดี ไม่แย่งกันสูง ทำให้ไม่ล้มง่าย ช่วยให้แสงแดดส่องถึง โรคแมลงจะไม่รบกวน โดยเฉพาะฤดูกาลนี่เพลี้ยมักระบาด และผมใช้ข้าว กข 31 ซึ่งทนต่อเพลี้ยกระโดดสีน้้ำตาล กันไว้ดีกว่าแก้ครับ เริ่มให้ถูก วางแผนให้ดี แล้วการทำนาจะไม่ใช่เรื่องยากครับ ฝากไว้สักนิดครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 15:03:52
ผานหัวหมูมีสองแบบครับ แบบ ไถพุ่งกับไถแซะ อันนี้ของผมเป็นแบบไถแซะ หน้า 16 นิ้ว เบาแรงเครื่อง กลบฟางได้มิดและฟางไม่ค่อยติดคอผานเพราะขี้ไถจะถูกยกตัวในช่วงท้านของใบผาน(เรียกว่าใบเพล่) ข้อดีอีกอย่างคือขี้ไถจะหักเป็นข้อ ๆ ทำให้ย่ำเทือกง่านกว่าแบบไถพุ่ง



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 15:05:17
ลูกควัก อันนี้ของอาชัยพรครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 15:07:23
คราดจัมโบ้ กว้าง 2.5 เมตร คอคราดยาว ช่วยให้ฟางติดน้อยลง ตาคราดยาว ช่วยกดฟางได้ลึกและเบาแรงเครื่องยนต์(ประหยัดน้ำมัน)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 15:10:29
แนะนำหรับหรับคนที่ทำนาเยอะสักหน่อย ถ้ามีท่าสูบน้ำถาวร นี่เลยครับ เครื่อง daihatsu สามสูบ ดัดแปลงติดหม้อต้ม ใช้แก้ส ประหยัดค่าสูบน้ำไปกว่า 40 เปอร์เซน ข้อเสียคือต้องงรู้เรื่องระบบไฟพอควรและใช้ขอดน้ำออกจากนาไม่ได้เพราะรอบมันจัดครับ

ราคาเครื่องยนต์9000-12000แล้วแต่สภาพครับ ค่าหม้อต้ม 2000 แบ็ตอีกสองพันกว่าบาท อัตราสินเปลืองก็แล้วแต่เรื่องเครื่องครับ ยกตัวอย่างให้เห็นนะครับ ฤดูกาลที่แล้ว 143ไร่ค่าสูบน้ำของผม เป็นค้าน้ำมันหกหมื่นกว่าบาท ฤดูนี้หมดค่าแก้สไป สองหมื่นกว่าบาท+ค่าน้ำมันอีกหมื่นกว่าบาทครับ

ก็ได้เครื่องแก๊สนี่แหละ เชื้อเพลิงราคาถูกฤดูกาลนึงหมดไป45ถัง 14000 กว่าบาท น้ำมันใช้หมดไป 90000 กว่าบาท (เก้าหมื่นกว่าบาท) แล้วคุณๆจะเลือกอะไร

จบครับ...ชัยพล ยิ้มไทร


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 15:30:18
พักสายตาด้วยภาพสวย ๆ ก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 15:33:37
ดูแล้วก็มีความสุขครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 21:59:24
ข้าววัชพืช

1. ข้าววัชพืช คืออะไร ต่างกับข้าวทั่วไปอย่างไร     

ข้าวที่ชาวนาใช้ปลูกทั่วไป  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza  sativa L. ใช้ปลูกในประเทศไทยมากกว่า 100 พันธุ์  เรียกในที่นี้ว่าข้าวปลูก  เป็นพันธุ์ข้าวที่ถูกคัดเลือกให้มีลักษณะที่ต้องการเช่นผลผลิตสูง  ข้าวสารมีสีขาว ใส คุณภาพหุงต้มนุ่มและหอม  ไปจนถึงร่วนแข็ง  ต้านทานต่อโรคหรือแมลงที่สำคัญ  ข้าวพันธุ์หนึ่งจะมีลักษณะทางการเกษตรต่างๆ  เหมือนกันและคงตัว  คือในพันธุ์เดียวกันจะมีลักษณะ  สีใบ ทรงกอ  ความสูง การออกรวง  สีเปลือก  สีข้าวกล้อง เหมือนกันและคงตัว   และทุกพันธุ์จะมีลักษณะสำคัญคือเมล็ดจะสุกแก่ใกล้เคียงกันคือหลังบานดอกแล้วประมาณ 28-30 วัน  พร้อมที่จะถูกเก็บเกี่ยวและถูกนวดให้หลุดจากรวง  คือจะไม่สุกแก่ก่อนเวลาไม่หลุดร่วงเองได้ง่ายๆ  และข้าวเปลือกจะไม่มีหางหรือถ้ามีก็จะสั้นมาก

            ข้าวป่าเป็นบรรพบุรุษของข้าวที่ใช้ปลูกในปัจจุบัน  เป็นข้าวอีกชนิดหนึ่งที่มีตามธรรมชาติทั้งในที่ลุ่มลึกและบนที่ดอน  ข้าวป่ามีหลายชนิดและที่มีความสำคัญและคาดว่าจะเป็นเชื้อพันธุ์ของข้าววัชพืชมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Oryza  rufipogon Griff.   ข้าวป่าแม้จะสามารถแบ่งเป็นหลายชนิด  ในแต่ละชนิดจะมีหลายลักษณะ  แต่มีลักษณะสำคัญหลายประการที่มีในข้าวป่าทุกชนิดคือ  เมล็ดในรวงเดียวกันสุกแก่ไม่พร้อมกันตั้งแต่ 9-30 วัน  เมื่อสุกแก่ก็จะหลุดร่วงได้เอง  เมล็ดมีระยะพักตัวหลากหลายตั้งแต่ไม่มีระยะพักตัวไปจนถึงระยะพักตัวหลายปี  เมล็ดข้าวเปลือกและข้าวกล้องของข้าวป่าจะมีหลากหลายสี  เมล็ดอาจมีหางยาวมากกว่า 10 เท่าตัวของเมล็ด และมีหลายสี

  “ข้าววัชพืช” มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า weedy rice เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในนาภาคกลางจนถึงภาคเหนือตอนล่าง มีลักษณะเหมือนต้นข้าวจนแยกไม่ออกในระยะกล้า  มีชื่อเรียกต่างๆกันไปในแต่ละท้องถิ่นตามลักษณะของข้าววัชพืชที่ปรากฏเช่น ข้าวหาง เนื่องเมล็ดมีหางยาว  ข้าวดีด ข้าวเด้ง เนื่องจากเมื่อเมล็ดแก่ และถูกลมพัดหรือคนไปสัมผัส เมล็ดจะร่วง ข้าวลาย เนื่องเมล็ดมีเปลือกลาย ข้าวแดง เนื่องจากเมื่อแกะเมล็ดจะพบว่าเมล็ดข้าวกล้องมีสีแดง  ดาวกระจาย เนื่องจากลักษณะรวงจะกางออกและเมื่อเมล็ดแก่จะร่วงและกระจายไปรอบๆ เป็นต้น เคยระบาดในประเทศไทยที่จังหวัดสงขลา   นครศรีธรรมราช   ปราจีนบุรี  และพิษณุโลกในปี 2518 ความเสียหายที่จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 80% แต่ก็มีการจัดการได้ซึ่งสมัยนั้นโดยการเผาฟาง เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ การเขตกรรมโดยการไถล่อข้าววัชพืชหลายครั้ง เนื่องจากชาวนายังทำนาปีละ  1  ครั้งเท่านั้น  และพบการระบาดรุนแรงอีกครั้งเมื่อปี 2544 ที่จังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปัจจุบัน ข้าววัชพืชขยายวงกว้างของการระบาดออกไปเรื่อย ๆ จากการสำรวจข้อมูลการระบาดของข้าววัชพืชในฤดูนาปี 2550 พบการระบาดในพื้นที่นาของประเทศไทยถึง  19.2  ล้านไร่

2. ข้าววัชพืชเกิดขึ้นได้อย่างไร
จากการศึกษาของหลายหน่วยงานพบว่า ข้าววัชพืชเกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวป่าธรรมชาติ   
(O. rufipogon L.) กับข้าวปลูก และมีการกระจายตัวของลูกหลานออกเป็นหลายลักษณะ  โดยอัตราการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่า และระหว่างข้าวปลูกกับข้าววัชพืช ลูกผสมที่กระจายตัวและเจริญแพร่พันธุ์ในแปลงปลูกมีลักษณะส่วนใหญ่ไม่เป็นที่ต้องการของชาวนา

3. การจำแนกข้าววัชพืช
สามารถจำแนกตามลักษณะภายนอกของข้าววัชพืชได้เป็น 3 ลักษณะ  ดังนี้

ข้าวหางหรือข้าวนก
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะเมล็ดข้าวเปลือกสีดำหรือสึน้ำตาลเข้ม  มีหางยาว  หางอาจจะมีสีแดงหรือขาวในระยะข้าวยังสด  เมล็ดร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  สีของเยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งแดงไปจนถึงขาว

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/6-4.jpg)

ข้าวแดงหรือข้าวลาย 
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะสีข้าวเปลือกมักมีสีเข้มไปจนถึงลายสีน้ำตาลแดง  เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่ไม่มีหาง  เมล็ดมีทั้งร่วงและไม่ร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  แต่สีของเยื่อหุ้มเมล็ดส่วนใหญ่มีสีแดง

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/00.00.JPG)

ข้าวดีดหรือข้าวเด้ง
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะร่วงง่ายและร่วงเร็วโดยทยอยร่วงตั้งแต่หลังบานดอก 9 วันเป็นต้นไป  เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีหางสั้นหรือไม่มีหาง  ข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีสีเหลืองฟาง  สีของเยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งแดงและขาว

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/m.1.JPG)

4. สาเหตุการแพร่ระบาดของข้าววัชพืช                                   
การแพร่ระบาดของข้าววัชพืช  มาจากสาเหตุ 5 ประการ คือ
 

4.1 ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวเนื่องจากเกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวจากแหล่งไม่มีคุณภาพ ในรอบ 1 ปี ชาวนามีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณกว่า  1  ล้านตัน แต่หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เชื่อถือได้   ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ได้มาตรฐานได้ไม่เกิน  15  % ของความต้องการของชาวนาเท่านั้น อีก 85 % ชาวนาจำเป็นต้องเสี่ยงในการหาซื้อเมล็ดพันธุ์เองตามร้านค้าและแหล่งผลิตเอกชน  ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐานและมีเมล็ดข้าววัชพืชติดมาด้วย

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/4.1.jpg)

4.2 ติดมากับอุปกรณ์ในการทำนา เครื่องมือเตรียมดิน,  เก็บเกี่ยวหรือภาชนะบรรจุข้าว โดยเฉพาะรถเกี่ยวนวดข้าว  เมื่อไปเกี่ยวข้าวในแปลงที่มีการระบาดของข้าววัชพืชรุนแรง เมล็ดข้าวที่ติดมากับรถเกี่ยวนวด มีจำนวนประมาณ  2-5  ถัง ซึ่งมีโอกาสที่เมล็ดข้าววัชพืชติดมาด้วย และมาร่วงหล่นในนาแปลงใหม่ที่รถเกี่ยวนวดข้าวลงทำงาน

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/4.2.1.jpg)

4.3 ติดมากับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ที่ผลิตจากวัสดุที่ได้มาจากนาข้าว เช่น ฟาง แกลบ ขี้เถ้าแกลบ หน้าดินผสมจากท้องนา ซึ่งเมล็ดข้าววัชพืชมีคุณสมบัติอยู่ได้นานในสภาพต่าง ๆ

4.4 การแพร่ไปกับน้ำ ในระบบชลประทาน (ข้าวหาง ข้าวครึ่งเมล็ด) ลอยไปกับน้ำลงสู่แปลงนาได้ 

4.5 ติดไปกับอาหารเสริมของเป็ดที่ปล่อยในนาข้าว ส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกที่มีราคาถูก มีสิ่งเจือปน

5. ลักษณะของข้าววัชพืชที่ทำให้เป็นปัญหาร้ายแรง
 ดังได้กล่าวมาแล้วว่าข้าววัชพืชมีลักษณะต่างๆที่คล้ายหรือแตกต่างกับข้าวปลูกอย่างไรบ้าง แต่ลักษณะสำคัญที่ทำให้ข้าววัชพืชเป็นวัชพืชร้ายแรง ดังนี้

5.1 ข้าววัชพืชมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว  มีความสามารถในการแข่งขันได้ดีกว่าข้าวปลูก  ข้าววัชพืชอาจมีความสูงมากกว่าข้าว  จึงมีความสามารถในการแก่งแย่งธาตุอาหารและแสงแดดมากกว่าข้าว  ข้าววัชพืชที่ต้นสูงจะล้มทับข้าวในระยะออกรวงทำให้ต้นข้าวปลูกเสียหาย

5.2 ข้าววัชพืชบางชนิดออกดอกเร็วกว่าข้าวปลูกและเมล็ดส่วนใหญ่ร่วงก่อน  จึงไม่ถูกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกับข้าวปลูก  ทำให้มีเมล็ดสะสมอยู่ในแปลงนา  ซึ่งจะเพิ่มความหนาแน่นมากขึ้นในฤดูต่อไป

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/5.2.JPG)

5.3 เมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงสะสมอยู่ในนามีระยะพักตัวหลากหลาย  จึงไม่ได้งอกพร้อมกันทั้งหมด  ทำให้ยากต่อการกำจัด

5.4 เมล็ดส่วนใหญ่ร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  จึงไม่ถูกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกับข้าวปลูก  ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์

5.5 เมล็ดข้าววัชพืชที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงปะปนไปกับผลผลิตข้าว  ทำให้ถูกตัดราคา
(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/5.5.JPG)

6. การป้องกันปัญหาข้าววัชพืช
แม้ว่าข้าววัชพืชจะเกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังนั้นการป้องกันเมล็ดข้าววัชพืชจากแหล่งที่มีการระบาดแล้วไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาในแปลงนาที่ยังไม่มีการปลอมปน และเพื่อไม่ให้เผชิญกับปัญหาข้าววัชพืช ดังนั้นชาวนาสามารถทำการป้องกันปัญหาข้าววัชพืชได้โดย

6.1 การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์มาตรฐานไม่มีข้าววัชพืชปลอมปน
6.2 ทำความสะอาดเครื่องจักรกลเกษตรก่อนการทำงานในแปลงทุกครั้ง
6.3 การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ที่ไม่นำวัสดุจากนาข้าวมาผลิต หรือต้องมั่นใจว่าไม่มีข้าววัชพืชปนมา
6.4 น้ำชลประทานที่ผ่านท้องที่ที่มีการระบาดของข้าววัชพืช อาจมีเมล็ดข้าววัชพืชลอยมากับน้ำได้  การใช้ตาข่ายกั้นทางน้ำก็จะป้องกันข้าววัชพืชได้

7. การกำจัดข้าววัชพืชโดยวิธีเขตกรรม
การผสมผสานหลายวิธีการในทุกขั้นตอนของการทำนาดังต่อไปนี้  จะช่วยแก้ปัญหาข้าววัชพืชได้ไม่ต้องพึ่งพาสารกำจัดวัชพืชหรือสารเคมีใดๆ
 

7.1 การกำจัดเมล็ดข้าววัชพืชโดยล่อให้งอกแล้วไถกลบ         
การเตรียมดินโดยการไถ พรวน หรือคราดทำเทือก  ควรเว้นช่วง 2-4 สัปดาห์  เพื่อเว้นระยะเวลาให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ยังเหลืออยู่ในดินได้มีโอกาสพ้นระยะพักตัวมากขึ้น  โดยการมีขั้นตอนดังนี้ ปล่อยให้แปลงแห้งก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 10 วัน หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วปล่อยให้แห้งต่ออีก อย่างน้อย  1 สัปดาห์ แล้วเอาน้ำเข้าแปลงพอชื้น เพื่อให้เมล็ดข้าววัชพืชงอก ไถกลบ ปล่อยแปลงในสภาพชื้นต่ออีก 1-2  สัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดข้าววัชพืชที่หลงเหลืออยู่งอกขึ้นมาอีก แล้วไถทิ้ง การล่อให้งอกแล้วไถกลบทำลายในแต่ละครั้งสามารถลดปริมาณข้าววัชพืชลงได้มากกว่า 50 %

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/7.1.2.jpg)

7.2 เปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว                                                 
7.2.1 วิธีปักดำ                                                           
การปักดำด้วยมือ ใช้เครื่องจักรตกกล้าปักดำ  หลังปลูกให้ขังน้ำทันทีระดับน้ำลึก 3-5 ซม.  จะป้องกันการงอกข้าววัชพืชได้  แต่ชาวนาต้องใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์  และตกกล้าในแปลงนาที่ไม่มีข้าววัชพืชอยู่ก่อน  อย่างไรก็ตามแม้จะใช้วิธีปักดำและการขังน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก็อาจยังมีข้าววัชพืชงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาได้  ทั้งนี้ข้าววัชพืชที่เจริญเติบโตขึ้นมาได้นี้จะอยู่นอกแถวหรือนอกกอของการปักดำ  ชาวนาจึงพบเห็นข้าววัชพืชได้สะดวกตั้งแต่ในระยะแรก  และสามารถถอนกำจัดเสียแต่ต้น

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/7.6.1.JPG)

7.2.2  การปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า                                                           
ปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า เป็นการเพาะข้าวจำนวน 3-4 เมล็ดต่อหลุมลงในถาดพลาสติก มีหลุมขนาดเล็ก แต่ละหลุมบรรจุดินประมาณ  2.5  กรัม โดยใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพียง  3-4  กิโลกรัม เพาะลงในถาดจำนวน  50-60 ถาด นำไปโยนได้  1  ไร่ อายุต้นกล้าที่เหมาะสม  12-16  วัน หลังโยนกล้า  1-2  วัน ให้ขังน้ำและเพิ่มระดับน้ำ 5-10 ซม. จะป้องกันการงอกของข้าววัชพืชได้ดี แต่เกษตรกรจะต้องเตรียมแปลงให้สม่ำเสมอ และข้อสำคัญอย่าให้นาขาดน้ำ

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/9.2.jpg)

7.3 การตรวจตัดข้าววัชพืช
การตรวจตัดข้าววัชพืชเป็นการลดปัญหาไม่ให้ข้าววัชพืชผลิตเมล็ดสะสมในแปลงนาเพิ่มขึ้น ในระยะแตกกอเริ่มเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน โดยจะสังเกตเห็นข้าววัชพืชส่วนใหญ่มีความสูงมากกว่า ลำต้นและใบมีสอ่อนกว่าข้าวปลูก ระยะนี้ต้องใช้วิธีถอนต้นข้าววัชพืชทิ้ง พอถึงระยะออกดอกจะเห็นความแตกต่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยข้าววัชพืชส่วนใหญ่จะออกดอกก่อนข้าวปลูก ระยะนี้ต้องใช้วิธีตัดชิดโคนต้นข้าววัชพืช แล้วนำไปทิ้งนอกแปลง เนื่องจากข้าววัชพืชงอกไม่พร้อมกันจึงแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างข้าวปลูกกับข้าววัชพืชไม่พร้อมกัน ดังนั้นจึงควรมี

(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/7.7.JPG)

7.4 การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง                                                       
การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งสามารถลดปริมาณเมล็ดข้าววัชพืชที่หลุดร่วงอยู่บนผิวดินได้ โดยเป็ด 200 ตัว/ไร่  ปล่อยไว้เป็นเวลา 2 วัน สามารถลดความหนาแน่นข้าววัชพืชได้ถึง 50 %

8. การกำจัดข้าววัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช             
 การใช้สารกำจัดวัชพืชกำจัดข้าววัชพืชเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากข้าววัชพืชมีพันธุกรรมใกล้ชิดข้าวปลูกมาก และมีความหลากหลายทางชีวภาพ  สารกำจัดวัชพืชที่สามารถกำจัดข้าววัชพืชได้ก็จะเป็นพิษต่อข้าวปลูกด้วย     จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาสารกำจัดวัชพืชที่เลือกทำลายเฉพาะข้าววัชพืชโดยไม่ทำลายข้าวปลูก  แต่อาศัยเทคนิคที่ทำให้สารกำจัดวัชพืชไปออกฤทธิ์กับข้าววัชพืชมากกว่าข้าวปลูก  ก็จะสามารถใช้สารกำจัดวัชพืชกำจัดข้าววัชพืชโดยข้าวปลูกที่อาจโดนพิษของสารกำจัดวัชพืชน้อยกว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์  โดยสามารถใช้ได้ 3 ระยะดังนี้
 

8.1 การใช้สารกำจัดวัชพืชหลังเตรียมดินก่อนหว่านข้าว
หลังจากไถเตรียมดิน ทำเทือก และปรับระดับให้สม่ำเสมอ  ให้ขังน้ำไว้ 3-5 เซนติเมตร  พ่นหรือหยดสารกำจัดวัชพืชลงในน้ำ  สารกำจัดวัชพืชจะทำลายต้นอ่อนของข้าววัชพืช  ข้าวเรื้อ  และวัชพืช  ขังน้ำไว้ 3-5 วัน  ระบายน้ำออกจากแปลงนาให้หมด แล้วหว่านข้าว  สารกำจัดวัชพืชส่วนใหญ่ที่ละลายอยู่ในน้ำก็จะออกจากแปลงนาไปพร้อมกับน้ำที่ระบายออกไป ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมดินที่เรียบสม่ำเสมอซึ่งจะทำให้ขังน้ำและระบายน้ำออกอย่างสมบูรณ์ สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในระยะนี้ได้แก่ ไดเมทธานามีด (dimethenamid), เพรททิลาคลอร์ (pretilachlor) , บิวทาคลอร์ (butachlor) และ ไธโอเบนคาร์บ (thiobencrab)    สารกำจัดวัชพืชบางชนิดมีผลต่อวัชพืชตระกูลหญ้าเท่านั้น

8.2 การใช้สารกำจัดวัชพืชหลังหว่านข้าวแล้ว 8 -10 วัน           
ระยะ 8-10 วันหลังหว่านข้าว จะสังเกตเห็นได้ว่าข้าวปลูกสูงกว่าข้าววัชพืช  เพราะข้าวปลูกมีการแช่น้ำและหุ้มมาก่อน แล้วหว่านบนเทือก จึงมีอายุมากกว่า ในขณะที่ข้าววัชพืชเพิ่งเริ่มงอกหรืออยู่ในดินต้องใช้เวลางอกขึ้นมาเหนือดิน  จึงมีต้นเตี้ยกว่า  อาศัยความสูงที่ต่างกันนี้  ปล่อยน้ำเข้านาให้ท่วมยอดข้าววัชพืช แต่ไม่ให้ท่วมสะดือข้าวปลูกหรือคอกระจาย ใช้วิธีหว่านสารกำจัดวัชพืชลงในน้ำ ถ้าเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดน้ำต้องคลุกกับทรายก่อนหว่าน สารกำจัดวัชพืชที่คลุกทรายก็จะละลายน้ำและดูดซึมเข้ายอดข้าววัชพืชที่อยู่ปริ่มน้ำ  แต่ดูดซึมเข้าข้าวปลูกน้อยกว่าเพราะสูงพ้นน้ำแล้ว  ดังนั้นจะใช้วิธีฉีดพ่นไม่ได้เพราะจะเป็นอันตรายกับข้าวปลูกมากกว่าข้าววัชพืช และจะต้องมีการเตรียมดินเรียบสม่ำเสมอเช่นกัน  สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในระยะนี้ได้แก่ อ๊อกซาไดอาร์กิล (oxadiargyl),  เพนดิเมทาลิน (pendimethalin)  และ ไธโอเบนคาร์บ+2,4-ดี (thiobencrab + 2,4-D) สารกำจัดวัชพืชบางชนิดมีผลต่อวัชพืชตระกูลหญ้าเท่านั้น

8.3 การใช้สารกำจัดวัชพืชลูบรวงข้าววัชพืชในระยะออกรวง   
ในระยะข้าววัชพืชออกรวง(ตากเกสร) ใช้สารกำจัดวัชพืชลูบรวงข้าววัชพืชที่มีความสูงกว่าข้าวปลูก  เพื่อให้เมล็ดลีบไม่ให้สะสมเมล็ดในฤดูต่อไป  โดยใช้ผ้าที่อุ้มน้ำได้ดีพันรอบไม้ไผ่ยาวประมาณ  2  เมตรมัดให้แน่น  ราดด้วยสารกำจัดวัชพืชที่เตรียมไว้พอชุ่มไม่ให้มากจนหยดจะทำให้ข้าวปลูกที่อยู่ด้านล่างเสียหาย สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในระยะนี้ได้แก่ กลูโฟซิเนท-แอมโมเนียม (glufosinate – ammonium), ควิซาโลฟอป-พี-เอธทิล (quizalofop-P-ethyl) และเอ็มเอสเอ็มเอ (MSMA), อย่างไรก็ตามการใช้สารกำจัดวัชพืชลูบรวงข้าววัชพืชนี้จะมีผลเฉพาะข้าววัชพืชที่ต้นสูงและออกดอกก่อนข้าวปลูกเท่านั้น
(http://www.brrd.in.th/rkb/weed/images/content/image/v_khao/8.3.2.jpg)

9. การกำจัดข้าววัชพืชต้องทำแบบผสมผสานและต่อเนื่อง
จากวิธีการป้องกันปัญหาข้าววัชพืช  การกำจัดข้าววัชพืชโดยวิธีเขตกรรม  และการกำจัดข้าววัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช  ชาวนาจะต้องใช้หลายวิธีการผสมผสานช่วยกันจึงจะทำให้การป้องกันกำจัดได้ผล  โดยสามารถสรุปเป็นภาพ และแผนภูมิการจัดการข้าววัชพืชแบบผสมผสานดังแสดงไว้ข้างล่างนี้  อย่างไรก็ตามเนื่องจากเมล็ดข้าววัชพืชมีการพักตัวหลากหลาย  ตั้งแต่ไม่พักตัวเลยไปจนถึงพักตัวนานหลายปี  จึงมีการทยอยงอก  หากมีการระบาดของข้าววัชพืชเพียงฤดูเดียว แล้วทำการป้องกันกำจัดอย่างถูกต้อง  ข้าววัชพืชก็จะไม่เป็นปัญหาในช่วงนั้น  แต่ชาวนาไม่ควรวางเฉย  เพราะข้าววัชพืชที่เหลือเล็ดลอดไปได้ในฤดูถัดไปเพียงต้นเดียวก็อาจผลิตเมล็ดได้มากกว่า 1,500 เมล็ด  นั้นหมายความว่าในไม่ช้าข้าววัชพืชก็จะสามารถเพิ่มปริมาณและสร้างปัญหาได้ในอนาคตอันใกล้ 
แม้การป้องกันกำจัดจะได้ผลดีเพียงใด  ชาวนายังจะต้องหมั่นตรวจแปลงนาทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว  เพื่อทำการป้องกันกำจัดตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาแล้ว  และมีตัวอย่างมากมายจากแปลงนาที่ทำการกำจัดข้าววัชพืชอย่างได้ผล  แต่ชาวนากลับละเลยการตรวจตราแปลงนาอย่างต่อเนื่อง  อันเนื่องจากความไม่เข้าใจถึงปัญหาข้าววัชพืชนี้อย่างลึกซึ้ง   แล้วข้าววัชพืชก็ได้กลับมาเป็นปัญหาระบาดในนาอีก

ที่มากรมการข้าว




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: khuanming ที่ วันที่ 11 มกราคม 2013, 22:52:14
ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ แล้วเชื้อไตโครเดอร์มาในเชียงรายหาชื้อได้ที่ไหนครับ ;)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:14:25
ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ แล้วเชื้อไตโครเดอร์มาในเชียงรายหาชื้อได้ที่ไหนครับ ;)

มีหลายที่ครับลองถามตามร้านขายปุ๋ยดูครับเคยเห็นมีเป็นแบบกระป๋องฝาสีเหลือครับ แต่ปกติแล้วผมจากสั่งจากที่นี่ครับ  คุณปุ้ย (บ้านสันทรายคลองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่) ที่หมายเลข 087-2172876 หรือที่ e-mail ; psutanai@hotmail.com  ถ้าส่ง EMS มาได้ไวมากครับ 1-2 วันหลังโอนเงินก็ได้รับของแล้วครับ ราคาถ้าเพาะเชื้อเรียบร้อยแล้วกิโลกรัมละ 35 บาท แต่ปีนี้ไม่แน่ใจว่าราคาขึ้นหรือยังลองโทรถามดูก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:23:42
วันนี้ไปย่ำเทือกครับแปลงที่จะหว่านก่อน 13 ไร่ครับออกบ้านแต่เช้าเริ่มย่ำเทือก 8 โมงพอดีครับเสร็จงานบ่าย 4 โมงเย็นกว่าจะเปลี่ยนล้อเหล็กและออกนาก็ 5 โมงเย็นรถของผมเปลี่ยนล้อใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีครับที่เปลี่ยนเพราะถ้าหากใส่ล้อยางมีโอกาสติดหล่มได้ครับเพราะยางมีขนาดเล็กกว่ารถแทรกเตอร์ทั่วไปเป็นรถไถนั่งขับจึงมีขนาดเล็กกว่า  ข้อดีของการใส่ล้อเหล็กคือช่วยย่ำเทือกทำให้ดินแตกและเละดีขึ้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:27:15
ย่ำเทือกด้วยปรับดินที่ดอนมาทางที่ต่ำด้วยเพื่อควบคุมระดับน้ำได้และช่วยลดวัชพืชครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:34:25
ข้าววัชพืชในนาครับ หลังจากก่อนหน้านี้ปล่อยน้ำเข้าและปล่อยให้ดินแห้งข้าววัชพืชจะเริ่มงอกขึ้น คิดดูครับหากข้าวพวกนี้หากขึ้นพร้อมข้าวที่เราหว่านเราจะเสียหายแค่ไหนเพราะเก็บเกี่ยวไม่ได้ พวกนี้เป็นเมล็ดข้าวนาปีที่ปลูกไปก่อนหน้านี้คือ กข15 มีอายุการเก็บเกี่ยว 160 วันซึ่งจะต้องปลูกในช่วง ฤดูฝนและเก็บเกี่ยวในฤดูหนาวเท่านั้นจึงจะได้ผลผลิต สำหรับข้าวที่ผมปลูกนาปรังจะปลูก กข41 ซึ่งอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน ถ้าข้าววัชพืชในนามากจะแย่งปุ๋ยในนาข้าวที่เราปลูกก็จะได้ผลผลิตน้อยตามแถมยาคุมหญ้าก็ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:40:58
วันนี้เรียบร้อยไป 13 ไร่ ค่าน้ำมันหมดไป 400 บาทครับ  ย่ำเทือกทิ้งไว้ วันที่ 16 ค่อยไปลูบเทือกและชักร่องน้ำครับ จะหว่านในวันที่ 17 ครับเป็นวันฟู ถ้าถือตามฤกษ์ครับ ผมลองถามลุงที่ทำนาระแวกใกล้บ้านถ้าใช้รถไถเดินตามแกว่าจะย่ำเทือกได้ประมาณวันละ 4-5 ไร่/วันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: khuanming ที่ วันที่ 12 มกราคม 2013, 21:19:06
ขอบคุณครับ ปีนี้มีแต่คนหว่านข้าวจ้าว ;)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 10:53:44
วันนี้ว่างครับ ว่าจะไปหาซื้อดอกดาวเรืองมาปลูกที่คันนาครับ หากต้นราคาแพงก็จะไปดูแถวบ้านที่ปลูกเอาพันธุ์พื้นเมืองโดยเอาดอกแก่ ๆ มาเพาะครับ เคยเพาะสมัยตอนเด็ก ๆ เอาไปส่งอาจารย์  ดูหลาย ๆ เว็ปในบ้านเราก็มีคนสนใจเอาดอกไม้ไปปลูกริมคันนากัน ส่วนใหญ่จะนิยมดอกสีเหลืองซึ่งได้ทดสอบจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติหรืออีรี่ และยังมีข้อมูลนักวิจัยไทย คือ การใช้วิธีการ Ecological Engineering หรือ เทคโนโลยีนิเวศวิศวกรรมในการควบคุมแมลงศัตรูในนาข้าว กรมการข้าว ได้นำเรื่องนี้มาทดลองและขยายผลในหลายพื้นที่ เช่น ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ที่ อ.พาน โดย คุณนุชรินทร์ จังขันธ์ นักวิจัย พบว่าหลังจากปลูกพืชที่มีดอกสีสันต่างๆ บนคันนาแล้วทำให้มีปริมาณแมลงชนิดที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น แมลงปอ เต่าทอง เป็นต้นดีกว่าการซื้อสารเคมีมาพ่นครับ หรือแม้แต่การพ่นสมุนไพร่ขับไล่แมลงก็เหนื่อยไม่น้อย ต้องมีการพ่นทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ ให้ธรรมชาติควบคุมกันเองคงสบายกว่าครับ แต่แถวบ้านยังไม่มีใครนำมาปลูกคงมีแต่คนว่าเป็นผีบ้าแน่ๆ ครับ  ;D  ;D

มาดูแปลงนาตัวอย่างของคุณ นาย สุภชัย ปิติวุฒิ  ที่ทดลองทำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 11:29:43
เผื่อใครจะนำดอกดาวเรืองมาเพาะเองครับ สามารถนำเมล็ดจากเกสรดอกแก่ ๆ หรือซื้อซองที่เขาขายก็ได้ราคาจะประหยัดกว่าซื้อที่เป็นต้นที่เค้าเพาะขายถุงดำค  ถ้าดอกมีมากก็ยังสามารถตัดขายได้ด้วยอาจทำเป็นอาชีพเสริมได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:07:46
เจาะลึกอีกนิดนะครับเรื่องแมลงที่มีประโยชน์ที่ช่วยควบคุมแมลงที่เป็นศัตรูพืช

แมลงศัตรูธรรมชาติ ( Natural enemies)  

แมลงศัตรูธรรมชาติ หมายถึง แมลงที่เป็นประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite) 

แมลงตัวหํ้าและแมลงตัวเบียน

แม้ว่าแมลงจะมีการสืบพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถแพร่พันธุ์เพิ่มปริมาณได้อย่างรวด เร็ว แต่แมลงก็มีศัตรูธรรมชาติมากมายที่คอยควบคุมประชากรของแมลงให้อยู่ในสมดุล ศัตรูธรรมชาติ ของแมลงได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นอันตรายต่อ แมลง และอีกอย่างที่สำคัญก็คือแมลงด้วยกันเอง แมลงหลายชนิดที่กินหรืออาศัยอยู่ภายในหรือภายนอกตัวของแมลงชนิดอื่น แมลงเหล่านี้ เรียกว่า ตัวหํ้าและตัวเบียน ซึ่งปกติแล้วจะมีอยู่จำนวนมากพอที่จะควบคุมจำนวนประชากรของแมลงชนิดหนึ่ง ๆ ให้อยู่ในสมดุล คือไม่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้ทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ไปมาก ทั้งทางตรง และทางอ้อม คือ ไปรบกวน เปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของแมลง จนทำให้ แมลงตัวหํ้า และตัวเบียน ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะกำจัดแมลงศัตรูพืช
       ปัจจุบันได้มีการช่วยเพิ่มปริมาณแมลงตัวหํ้าและตัวเบียน เช่น การเพาะเลี้ยงแมลงเหล่านี้แล้ว นำ ไปปลดปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เรียกวิธีการนี้ว่า การป้องกันกำจัดแมลงแบบชีววิธี (Biological Control)ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อมต่างๆ

แมลงตัวหํ้า (Predators)
หมายถึง แมลงที่ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินแมลงที่เป็นเหยื่อ (Prey) ชนิดเดียวกันเป็นอาหาร แมลงตัวหํ้าจะมีลักษณะที่สำคัญต่างจากแมลงตัวเบียน คือ ส่วนมากมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าเหยื่อที่ใช้เป็นอาหาร มักจะกินเหยื่อโดยการกัดกินตัวเหยื่อตายทันที

ตัวหํ้าหนึ่งตัวจะกินเหยื่อมากกว่า 1 ตัวในแต่ละมื้ออาหาร ดังนั้นจึงกินเหยื่อได้หลายตัว
ตลอดช่วงชีวิตการเจริญเติบโตของมัน ตัวหํ้าจะอาศัยอยู่คนละที่กับแมลงที่เป็นเหยื่อ และออกหาอาหารในที่ต่างๆ กันในแต่ละมื้อ

แมลงตัวหํ้าแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ

1. พวกที่มีความว่องไว กระตือรือร้นในการออกหาเหยื่อ พวกนี้มักจะมีอวัยวะที่ตัดแปลงไปเพื่อช่วย ในการจับเหยื่อ เช่น มีขาขื่นยาวสำหรับจับเหยื่อ เช่น ตั๊กแตนตำข้าว บ้างก็มีตาใหญ่เพื่อเพิ่มความสามารถในการมองเห็นเหยื่อได้ชัดเจน เช่น แมลงปอ เป็นต้น

2. พวกที่กินเหยื่ออยู่กับที่ เช่น ด้วงเต่าลายกินเพลี้ยอ่อนซึ่งไม่มีอวัยวะดัดแปลงพิเศษแต่อย่างใด      แมลงตัวหํ้าที่มีปากแบบกัดกินจะกัดเหยื่อเป็นชิ้นๆ แล้วเคี้ยวกินเป็นอาหารเช่น ตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ เป็นต้น ส่วนตัวหํ้าที่มีปากแบบแทงดูดจะแทงปากเข้าไปดูดกินของเหลวต่าง ๆ ในตัวแมลงจนแห้งเหลือแต่ซากแล้วทิ้งไป เช่น มวนเพชฌฆาต แมลงบางชนิดเป็นแมลงตัวหํ้าทั้งในระยะที่เป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เช่นแมลงปอ ด้วงดิน แต่แมลงบางชนิดเป็นตัวตัวหํ้าเฉพาะตอนที่เป็นตัวอ่อน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะกินนํ้าหวานหรือเกสรดอกไม้แทน เช่น แมลงวันดอกไม้ และบางชนิดก็เป็นแมลงตัวหํ้าในช่วงที่เป็นตัวเต็มวัย ในขณะที่เป็นตัวอ่อนจะกินซากสัตว์เป็นอาหาร เช่น แมลงวันหัวบุบ เป็นต้น
       อย่างไรก็ตามได้มีการนำ แมลงตัวหํ้ามาใช้กำจัดแมลงศัตรูทางการเกษตรจนประสบผลสำเร็จมาแล้วหลายตัวอย่าง ในต่างประเทศได้ใช้ด้วงเต่าลาย ทำลายเพลี้ยแป้งในสวนส้ม ใช้แมลงช้างปีกใส
       ในสวนเพื่อช่วยกำ จัดเพลี้ยอ่อนและมด เป็นต้น จนกระทั่งมีการเพาะเลี้ยงแมลงเหล่านี้จำนวนมากเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการค้า

แมลงตัวเบียน (Parasites)

 หมายถึง แมลงที่พัฒนาการเจริญเติบโตระยะไข่ ระยะตัวหนอน ในแมลงอาศัย (Host) 1 ตัว และอาจจะเข้าดักแด้ภายในหรือภายนอกแมลงอาศัย ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหารแมลงตัวเบียนมีลักษณะที่แตกต่างจากแมลงตัวหํ้า คือ

- อาศัยกินอยู่ภายนอกหรือภายในตัวเหยื่อตลอดวงจรชีวิต หรืออย่างน้อยก็ระยะหนึ่งของวงจรชีวิต

- ตัวเบียนจะมีขนาดเล็กกว่าเหยื่อมาก ส่วนใหญ่เหยื่อหนึ่งตัวจะมีตัวเบียนอาศัยอยู่มากกว่า 1 ตัว

- ตัวเบียนจะค่อยๆ ดูดกินอาหารจากเหยื่ออย่างช้าๆ และทำให้เหยื่อตาย เมื่อตัวเบียนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
      แมลงตัวเบียนเมื่อเบียนแมลงด้วยกันเอง จะแตกต่างจากแมลงตัวเบียนที่เบียนสัตว์ชนิดอื่น คือทำให้แมลงที่เป็นเหยื่อตายในที่สุด แต่แมลงตัวเบียนสัตว์ชนิดอื่น เช่น หมัด ไรไก่ หรือ เหา จะแค่ดูดเลือดและแร่ธาตุ
     อาหาร มีผลเสียต่อร่างกาย ก่อให้เกิดอันตรายบ้างแต่ไม่ถึงกับตาย ความสัมพันธ์ระหว่างแมลงตัวเบียนและแมลงศัตรูพืชนั้น ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง บางชนิดจะทำลายแมลงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะแมลงในกลุ่มพวกต่อ แตน และแมลงวัน ซึ่งบางชนิดทำลายไข่ของเหยื่อ บางชนิดทำลายตัวอ่อนหรือดักแด้ โดยปกติจะไม่ทำลายตัวเต็มวัยของแมลง แมลงส่วนมากเป็นตัวเบียนตอนเป็นตัวอ่อน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะหากินเป็นอิสระ ตัวเบียนบางชนิดอาศัยในตัวแมลงและเจริญเติบโตโดยใช้นํ้าเลี้ยงในตัวแมลงเป็นอาหาร แต่บางชนิดก็อาศัยอยู่ภายนอกและทำลายผิวหนังของเหยื่อเพื่อดูดกินนํ้าเลี้ยงจากภายใน
       วงจรชีวิตของแมลงตัวเบียนเริ่มต้นจากตัวเบียนมาวางไข่ โดยใช้อวัยวะวางไข่ (Ovipositor) แทงเข้าไปวางไข่ในตัวเหยื่อ หรือบนตัวเหยื่อ ส่วนมากจะวางไข่หลายฟอง แล้วจึงหาเหยื่อตัวใหม่เพื่อวางไข่ต่อไป โดยไม่ได้ดูแลตัวอ่อนที่จะฟักออกมา ตัวเบียนบางตัวจะปล่อยสารพิษออกมาก่อนเพื่อจะให้เหยื่อเป็นอัมพาต จะได้วางไข่ได้ ง่ายขึ้น และนำเหยื่อที่มันวางไข่แล้วมาไว้ในรังเพื่อให้แน่ใจว่าตัวอ่อนที่ฟักออกมาจะมีทั้งอาหารและที่อยู่อาศัย ปลอดภัยจากศัตรู ตัวอ่อนของแมลงตัวเบียนเมื่อฟักออกจากไข่แล้วจะกินอาหารจากตัวเหยื่อ โดยเหยื่อก็จะยังคงมีชีวิตต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับตัวเบียนก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อแมลงตัวเบียนเติบโตจนเริ่มจะเข้าดักแด้แล้ว เหยื่อก็จะตายเหลือเพียงเปลือกผนังลำตันเท่านั้น จากนั้นตัวเบียนก็จะเจริญเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งมีชีวิตอยู่เป็นอิสระกินนํ้าหวานดอกไม้เป็นอาหาร ธรรมชาติมีแมลงตัวเบียนหลายชนิดช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชอยู่แล้ว แต่มนุษย์สามารถช่วยเพิ่ม ปริมาณให้มากยิ่งขึ้น โดยมีการผลิตแตนเบียนหลายชนิด แล้วนำไข่ไปปล่อยในแปลงปลูกพืช เช่น แตนเบียนฝอยไตรโคแกรมม่า (Trichogramma) ซึ่งเป็นแตนเบียนไข่ของหนอนผีเสื้อหลายชนิด ในประเทศไทยได้มีการผลิตแตนเบียนไข่ของหนอนผีเสื้อข้าวสาร แล้วนำไปปล่อยในแปลงอ้อย เพื่อใช้ กำจัดหนอนกออ้อย นอกจากนี้ยังมีการนำแตนเบียนจากที่หนึ่งไปปราบแมลงซึ่งกำลังระบาดอีก ที่หนึ่ง ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายและจำหน่ายแตนเบียนที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตรหลายชนิด ด้วย

ในจำนวนแมลงทั้งหมดนี้ แมลงที่มีพฤติกรรมเป็นตัวห้ำ มีประมาณ 87 วงศ์ (Family) ใน 5 อันดับ (Order) ส่วนแมลงที่มีพฤติกรรมเป็นตัวเบียนมีประมาณ 167 วงศ์ ใน 14 อันดับ (นุชรีย์, 2550) ซึ่งสามารถจำแนกออกตามความสำคัญได้ดังนี้

- Order Odonota: แมลงปอ แมลงปอทุกชนิดเป็นแมลงห้ำ โดยจะมีพฤติกรรมการห้ำ ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ตัวอ่อน อาศัยอยู่ในน้ำ จับสัตว์น้ำเล็ก ๆ เป็นอาหาร ส่วนตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บนบก จับเหยื่อขณะที่กำลังบินอยู่เป็นอาหาร เหยื่อที่กิน ได้แก่ ยุง แมลงวัน ผีเสื้อ ต่อ แตน เป็นต้น

- Oder Neuroptera: แมลงช้าง แมลงในอันดับนี้จะมีพฤติกรรมการเป็นแมลงห้ำ ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ระยะตัวหนอน ชอบอาศัยตามพื้นราบ ขุดหลุมดักจับแมลงที่ตกลงไปในหลุมเป็นอาหาร ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินเหยื่อชนิดเดียวกัน เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย แมลงหวี่ขาว และแมลงขนาดเล็กอื่น ๆ ชนิดที่มีความสำคัญ คือ แมลงช้างปีกใส (Lacewing) ในวงศ์ Chrysopidae

- Oder Coleoptera: ด้วง ด้วงเป็นแมลงที่มีปริมาณมากที่สุดในจำนวนแมลงทั้งหมด มีทั้งที่เป็นศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ มี หลายชนิดที่เป็นแมลงห้ำที่สำคัญในแปลงปลูกพืช คือ วงศ์ Cicindellidae: ด้วงเสือ ทั้งระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัยมีอุปนิสัยเป็นแมลงห้ำ ระยะตัว หนอนจะขุดรูอยู่ตามดิน และหลบอยู่ภายใน เพื่อคอยดักจับแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ที่เดินผ่านมาเป็นอาหาร

- วงศ์ Carabidae: ด้วงดิน เป็นแมลงห้ำทั้งระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัย ชอบอาศัยอยู่ตามผิวดิน เคลื่อนไหวเร็ว จับแมลงและสัตว์เล็ก ๆ เป็นอาหาร ออกล่าเหยื่อในเวลากลางคืน
วงศ์ Coccinellidae: ด้วงเต่าลาย เป็นแมลงตัวห้ำที่มีความสำคัญมากในงานด้านกรควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี และยังมีความสำคัญในการควบคุมศัตรูพืชในแปลงปลูก ช่วยลดปริมาณของพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง

- วงศ์ Dytisidae: ด้วงดิ่ง เป็นแมลงที่อาศัยอยู่ในน้ำทั้งระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย จับแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ในน้ำกินเป็นอาหาร
 
- วงศ์ Staphylinida: ด้วงก้นกระดก มีประโยชน์ในทางการควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยด้วงก้นกระดกจะช่วยกำจัดไข่หนอนผีเสื้อ ทำลายไข่และหนอนของแมลงวัน
Oder Hemiptera: มวน แมลงกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นแมลงศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ แมลงที่มีพฤติกรรม

 เป็นแมลงห้ำในกลุ่มนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. แมลงห้ำที่อาศัยในน้ำ แมลงห้ำในกลุ่มนี้กินแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ในน้ำเป็นอาหาร ได้แก่ แมลงในวงศ์ Corixidae (มวนกรรเชียง), Notonectidae (มวนวน), Belostomatidae (แมลงดานา), Gerridae (มวนจิงโจ้น้ำ)

2. แมลงห้ำในแปลงปลูกพืช แมลงห้ำในกลุ่มนี้ที่พบเสมอในแปลงปลูกพืช คือ แมลงในวงศ์ Pentatomide (มวนพิฆาต), วงศ์ Redueviidae (มวนเพชฌฆาต) แมลงห้ำที่สำคัญของหนอนผีเสื้อและแมลงทั่วไป คือ Geocoris (มวนตาโต), วงศ์ Anthocoridae (มวนดอกไม้) เป็นแมลงห้ำของเพลี้ยชนิดต่าง ๆ

- Oder Hymenoptera: ผึ้ง ต่อ แตน มด แมลงในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดมีพฤติกรรมเป็นแมลงศัตรู ธรรมชาติที่สำคัญทางด้าน Biological Control มีลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ มีอวัยวะวาง (Ovipositor) สำหรับวางไข่ใส่แมลงอาศัย บางชนิดอวัยวะวางไข่

สามารถปล่อยสารเข้าไปยังแมลงอาศัย ทำให้เหยื่อเกิดอาการชา ไม่เคลื่อนไหว ทำให้สะดวกต่อการนำไปเป็นอาหาร แมลงในกลุ่มนี้ที่สำคัญ คือ

- วงศ์ Ichneumonidae: ต่อเบียน เป็นตัวเบียนที่สำคัญของ หนอนผีเสื้อ หนอนแมลงวัน หนอนด้วง และด้วงตัวเต็มวัย
วงศ์ Braconidae: แตนเบียน เป็นตัวเบียนที่สำคัญของ หนอนผีเสื้อ หนอนแมลงวัน หนอนด้วง และด้วงตัวเต็มวัย เช่นเดียวกันกับต่อเบียน

- วงศ์ Encyritidae และ Aphelinidae ตัวเบียนของแมลงในกลุ่ม Homoptera (เพลี้ย)

- วงศ์ Trichogrammatidae, Mymaridae และ Scelionidae เป็นตัวเบียนเฉพาะไข่แมลง

- วงศ์ Formicidae: มด เป็นแมลงห้ำที่มีบทบาทสำคัญมากในงานด้าน Biological Contr
Order Diptera: แมลงวัน ยุง แมลงในกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ ที่พบเสมอในแปลงปลูกพืช คือ วงศ์Tachinidae (แมลงวันก้นขน) แมลงในวงศ์นี้มีความสำคัญมาก และนำในใช้ประโยชน์ในงานด้านการควบคุมแมลงโดยชีววิธีมากกว่าแมลงวงศ์อื่น ๆ ในอันดับ Diptera มีความสำคัญในการควบคุมหนอนผีเสื้อ ตัวเต็มวัยของด้วงในวงศ์ Scarabaeidae (ด้วงแรด, ด้วงกว่าง), Chysomelidae (ด้วงเต่าทอง, ด้วงหมัดกระโดด) และ Carabidae (ด้วงดิน) ระยะตัวหนอนเป็นแมลงเบียน ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานเป็นอาหาร (Free Living)

- วงศ์ Bombyliidae (แมลงวันผึ้ง) เป็นแมลงเบียนที่อันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์ ในอันดับ Hymenoptera ในวงศ์ Vespidae (ต่อรัง, ต่อหลวง), Sphecidae (ต่อหมาร่า), Apidae (ผึ้ง) และอันดับ Coleoptera วงศ์ Meloidea (ด้วงน้ำมัน)
แมลงในวงศ์อื่น ๆ ที่มีอุปนิสัยเป็นแมลงเบียน คือ วงศ์ Cyrtidae, Pipunoulidae, Conopidae สำหรับแมลงที่มีอุปนิสัยเป็นแมลงห้ำ คือ วงศ์ Tabanidae (เหลือบ), Asilidae (แมลงวันหัวบุบ) และ Syrphidae (แมลงวันดอกไม้) แมลงในอันดับอื่น ๆ ที่มีพฤติกรรมเป็นศัตรูธรรมชาติ คือ อันดับ Strrpsiptera (สไคโลปิดส์), Tricoptera (แมลงหนอนปลอกน้ำ), Mecoptera (แมลงแมงป่อง), Plecoptera (สโตนฟลาย), Thysanura (แมลงสามง่าม) และ อันดับ Dermaptera (แมลงหางหนีบ)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:16:33
ลองสำรวจใกล้แปลงนาก็จะพบดอกหญ้าครับ มีผึ้งเยอะแยะเลยครับ ถ่ายรูปมาฝาก ดูแล้วเพลินกับกิจกรรมของเค้าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:28:03
วันนี้ช่วงบ่ายไปร้านขายดอกไม้เพื่อสอบถามราคาดอกดาวเรืองเพื่อจะมาปลูกริมคันนา ขายต้นละ 10 บาทใส่ในถุงดำต้นออกดอกเรียบร้อย ลองถามทางร้านดูว่าเป็นพันธุ์ที่ดอกเป็นหมันเมื่อแก่ไม่สามารถนำไปเพาะต่อได้เลยตัดสินใจไม่ซื้อ  กลับมาแถวบ้านไปขอดอกแก่ที่เค้าปลูกตามบ้านเป็นพันธุ์พื้นเมืองแต่ดอกจะเล็กกว่าที่เค้าขายครับตอนนี้เพาะเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็ไปสำรวจนาระแวกใกล้บ้านครับไปดูกิจกรรมชาวนากันช่วงนี้


พี่คนนี้กำลังหว่านข้าวครับปัจจุบันนิยมหว่านด้วยเครื่องเพราะประหยัดแรงงานและค่อนข้างรวดเร็ว เครื่องหว่านจะเป็นชนิดพ่นลมครับการหว่านนาปรังก็นิยมหว่านตั้งแต่ 20-30 กก/ไร่ ครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:34:00
แปลงนาหว่านหลังจากที่มีการทำเทือกจะต้องมีการชักร่องครับ รถไถเดินตามจะสามารถชักร่องได้สวยครับบ้านเราจะนิยมชักร่องเป็นแปรงถี่แบบนี้ครับส่วนหนึ่งเพราะบ้านเราแปลงนาสูงไม่ค่อยสม่ำเสมอกันในแต่ละแปลงข้อดีอีกอย่างมีอากาศถ่ายเทได้บ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:37:25
แปลงนี้เป็นนาปลูกด้วยรถครับข้าวเรียงแถวสวยงามทีเดียว  แถวบ้านจ้างเพาะและปลูกไร่ละ 1200 บาทต้องเตรียมข้าวพันธุ์ให้เจ้าของรถไร่ละประมาณ 10-12 กก/ไร่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:46:51
นึกภาพไม่ออกการปลูกโดยรถดำนาก็ประมาณนี้ครับ ในไทยมีทั้งแบบเดินตามและแบบรถนั่งขับครับ ถ้าแบบรถนั่งขับเจอนาหล่ม ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกันแต่ข้อดีคือรวดเร็วและเหนื่อยน้อยกว่ามากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 22:03:59
แมลงปอ เพชรฆาตในนาข้าว

แมลงปอเป็นสัตว์ที่ล่าสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร ธรรมชาติจึงสร้างให้มันมีคุณสมบัติของการเป็นนักล่า มีตาที่ไวและคม พลังปีกที่แข็งแกร่ง ทำให้มันบินจับเหยื่อได้อย่างว่องไว ลักษณะการบินของแมลงปอมีผู้เปรียบว่าเหมือนกับการบินของเครื่องบินรวมกับเฮลิคอปเตอร์ มันสามารถบินได้เร็วถึง 100 กิโลเมตร : ชั่วโมง หรือเท่ากับ 20,000 - 30,000 ช่วงตัว ในเวลาเพียง 1 นาที เนื่องจากมันมีกล้ามเนื้อช่วยในการบินที่แข็งแรงมาก ที่เรียกว่า " antagonist muscles " 

แมลงปอได้รับการขนานนามว่า " mosquito hawk " เนื่องจากองค์ประกอบที่สำคัญคือมีตารวม ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อปีก ความรวดเร็วในการบิน และขาทั้งหกที่สามารถ จับเหยื่อได้อย่างแน่นหนา และมีประสิทธิภาพ มันชอบไล่จับเหยื่อที่มีชีวิตมากกว่าเหยื่อที่ตายแล้ว อาหารของแมลงปอ คือ ยุง ริ้น แมลงวัน ผีเสื้อ ผึ้ง รวมทั้งแมลงปอด้วยกัน จากกฎของธรรมชาติที่จะต้องเป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าในเวลาเดียวกัน เมื่อมันเป็นแมลงตัวอ่อนศัตรูของแมลงปอคือ ปลา ด้วงดิ่ง แมลงเหนี่ยงและมวนต่างๆ เช่น แมลงป่องน้ำ แมลงดาสวนที่ดุร้าย เพราะมันคอยไล่จับตัวอ่อนของแมลงปอมาดูดน้ำเลี้ยงจนตาย แมลงปอที่โตเต็มวัยอาจกลายเป็นอาหารของนก หรือสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก เช่น จิ้งหรีด จิ้งเหลน ตุ๊กแก อึ่งอ่าง คางคก หรือแมลงมุม แมลงปอเป็นสัตว์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่กลับมีคุณประโยชน์สำหรับการควบคุมทางชีวภาพ และมันสามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึง สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เพราะแมลงปอจะหายไปถ้าน้ำเริ่มเน่าและสกปรก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2013, 23:00:05
รถดำนาที่ผมเคยไปถามจากคูโบต้า  ถ้าเป็นแบบเดินตาม 4 แถว ราคา  แสนกว่าบาท แถมถาดเพาะอีกได้ประมาณ 3-4 ไร่  ถ้าเดินตาม 6 แถวราคา 2 แสนบาทแถมถาดเท่า ๆ กัน เมื่อซื้อจะมีทีมเทคนิคมาสอนเราตอนดำนาครั้งแรก  แต่ถ้าเป็นรถดำนาแบบนั่งขับ 6 แถวราคา 4 แสนกว่าบาท   ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าราคาขึ้นหรือยังการเพราะกล้าจะใช้ถาดพลาสติก วัสดุเพาะจะใช้แกลบดำครับ ต่างจากนาโยนที่ใช้ดินอาจผสมปุ๋ยหมักในดินด้วยเพื่อให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น  แกลบดำสามารถหาซื้อที่โรงสีข้าวใหญ่ ๆ บางแห่งครับแต่ถ้าโรงสีแถวบ้านไม่มีก็สามารถทำเองครับ

เอาภาพตอนทำแกลบดำมาฝากวิธีการในรูปลองผิดลองถูกอยู่เหมือนกันแต่สุดท้ายก็สำเร็จครับ

วิธีการ

- หาปี๊ปเหล็กมาเจาะรูด้านข้าวครับ เจาะหลาย ๆ รูการเผาไหม้จะเร็วขึ้น ต่อท่อระบายอากาศข้างบนครับ
- เอาแกลบโรยบาง ๆ รองพื้นสูงซัก 1 นิ้วครับ
- เอากระดาษหนังสือพิมพ์จุดไฟและเอาปี๊บครอบไว้
- เอาแกลบโรยด้านข้างปี๊บจนท่วมปี๊บ ไฟจะลุกภายในปี๊ปและมีความออกจากท่อระบายอากาศครับ หมั่นโกยแกลบที่ไม่ไหม้เพื่อให้แกลบไหม้สม่ำเสมอครับ
- เมื่อแกลบไหม้ได้ที่แล้วเอาน้ำรดเพื่อดับครับ ใช้เวลากองหนึ่งประมาณ 1 ชั่วโมงครับ แกลบไปขอตามโรงสีเล็ก ๆ แถวบ้านครับเค้าให้ฟรี  และสามารถนำแกลบดำที่ได้ปรับปรุงดินปลูกผักดอกไม้ ต้นไม้ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 09:37:17
การทำงานของโรงสีเกี่ยวกับการสีข้าว

ขออธิบายอย่างง่าย ๆ ถ้าข้อมูลยังไม่ละเอียดพอก็ขอได้ไปดูของจริงจากโรงสี ซึ่งการทำงานของโรงสีทั้งหลายก็เหมือน ๆ กัน ก่อนอื่นเครื่องสีข้าวจะปฏิบัติงานได้นั้น  จำเป็นจะต้องมีเครื่องต้นกำลังทำการฉุด และเครื่องต้นกำลังที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีดังนี้.-

1)  เครื่องจักรไอน้ำ ประกอบด้วย หม้อน้ำ ปล่องไฟ  และตัวเครื่องจักรต้นกำลัง  หลักการทำงานคือ ใช้แกลบ  ซึ่งเป็นผลผลิตพลอยได้จากการสีข้าวเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำในหม้อน้ำให้เดือด  แล้วนำกำลังไอน้ำจากหม้อน้ำมาดันเครื่องจักรให้หมุน

2)  มอเตอร์ไฟฟ้า ใช้พลังงานจากมอเตอร์ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้า  มาทำการฉุดหมุนเครื่องสีข้าว

3)  เครื่องกล ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซล

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว  ข้าวเปลือกที่ได้รับจากชาวนา ยังไม่สะอาดพอที่จะส่งเข้าเครื่องสีเลย  จะต้องนำผ่านตะแกรงร่อนสิ่งเจือปนออก ได้แก่ ฟางข้าว เศษดิน เศษหิน และฝุ่นละออง แล้วจึงนำเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวเปลือก ซึ่งจะมีลูกยางกลม 2 ลูก  หมุนอยู่เมล็ดข้าวเปลือกที่ผ่านร่องระหว่างลูกกลมยาว 2 ลูกนี้ จะถูกแรงเสียดสีของลูกยาง  ทำให้เปลือกข้าวหลุดออก

จากเครื่องกะเทาะข้าวเปลือก  จะได้แกลบข้าวกล้อง  และข้าวเปลือกส่วนที่ยังไม่ถูกกะเทาะเปลือก  ผ่านต่อไปยังตะแกรงเหลี่ยม  ซึ่งมีแผ่นตะแกรงทำการร่อน แยกแกลบ ข้าวเปลือก  และข้าวกล้องออกจากกัน ข้าวเปลือกจะย้อนกลับไปเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกใหม่  ข้าวกล้องจะผ่านไปตะแกรงโยก  เพื่อทำการคัดข้าวเปลือกที่ยังมีผสมไปกับข้าวกล้องออกให้เหลือแต่ข้าวกล้องล้วน ๆ

แกลบ ที่ร่อนออกจากตะแกรงจะดูดพัดลมดูดไปไว้ต่างหาก  ขณะเดียวกันพัดลมจะดูดเศษข้าวกล้องละเอียด  หรือจมูกข้าวรวมทั้งแกลบละเอียดที่เกิดจากการกะเทาะเปลือกข้าวเปลือก ไปไว้ยังอีกทางหนึ่ง ส่วนนี้เรียกว่า รำหยาบ

ตะแกรงโยก มีหน้าที่คัดข้าวเปลือกออกจากข้าวกล้อง  ในตะแกรงโยก  มีแผ่นเหล็กบาง ๆ วางกั้นเป็นช่อง ๆ สลับฟันปลา  ตะแกรงโยกจะเดินหน้า ถอยหลังตลอดเวลา  ข้าวเปลือกและข้าวกล้องจะถูกคัดแยกไปคนละทาง  ข้าวเปลือกจะย้อนกลับไปเข้าเครื่องกะเทาะใหม่  ส่วนข้าวกล้องจะผ่านไปสู่หินขันข้าวเปลือก และหินขัดข้าวขาวต่อไป

หินขัดข้าวกล้องและหินขัดข้าวขาว มีลักษณะเป็นเหล็กทรงลูกข่าง  มีหินกากเพชรผสมปูนพอกไว้โดยรอบ  ตั้งบนแกนที่หมุนได้  ผนังที่หุ้มหินขัดข้าว  จะมียางเป็นท่อน ๆ เรียกยางขัดข้าว วางอยู่เป็นประจำ ข้าวกล้องจะผ่านช่องว่างระหว่างหินขัดข้าวและยางขัดข้าว  ในขณะที่หินขัดข้าวหมุนอยู่ตลอด ข้าวกล้องจะถูกขัดจนขาว โดยผ่านหินขัดข้าว 2 ครั้ง คือ หินขัดข้าวกล้อง และหินขัดข้าวขาว

ที่ผนังหุ้มหินขัดข้าวกล้อง  และหินขัดข้าวขาวจะมีช่องให้พัดลมดูดผิวของเมล็ดข้าวกล้องที่ถูกขัดออกไป ส่วนนี้เรียกว่า รำละเอียด

ข้าวขาวที่ออกจากหินขัดข้าว จะเป็น ต้นข้าว ข้าวหัก และ ปลายข้าว รวมกัน  จะต้องนำไปผ่านตะแกรงเหลี่ยม และตะแกรงกลม  เพื่อคัดออกมาเป็นชนิดข้าวตามต้องการต่อไป

ตะแกรงเหลี่ยม ที่จะคัดต้นข้าว และปลายข้าวนี้  ประกอบด้วยแผ่นตะแกรงซ้อนกัน  หลายแผ่น แต่ละแผ่นจะมีรูตะแกรงขนาดต่าง ๆ กัน  เพื่อให้ข้าวแต่ละชนิดผ่านได้และผ่านไม่ได้  ตัวตะแกรงเหลี่ยมจะเขย่าตลอดเวลาที่ทำงาน

ตะแกรงกลมที่ลักษณะเป็นแผ่นเหล็กม้วนกลม หมุนตลอดเวลาที่ทำงาน  ผิวแผ่นเหล็กด้านในมีรูลักษณะแบบเต้าขนมครกแต่เล็กกว่ามาก  เพื่อให้เมล็ดข้าวที่หักที่เล็กเกาะอยู่  ขณะที่ปล่อยให้เมล็ดใหญ่กว่าผ่านไปได้

ข้าวที่ผ่านการคัดของตะแกรงกลมแล้วจะได้ขนาดและชนิดตามต้องการ  ซึ่งแบ่งเป็นชนิดจากใหญ่ไปหาเล็ก  คือ ต้นข้าว ปลายข้าว เอ.วันเลิศพิเศษ ปลายข้าว เอ.วันเลิศ ปลายข้าวซี

ข้าวเปลือก 1 ตัน หรือ 1,000 กก. หรือ 100 ถัง สีเป็นข้าว 100%  ชั้น 2 จะได้รายละเอียดดังนี้

1.  ต้นข้าว                                             405  กก.

2.  ปลายข้าว เอ.วันเลิศพิเศษ                     20  กก.

3.  ปลายข้าว เอ.วันเลิศ                           160  กก.

4.  ปลายข้าว ซี                                        90  กก.

5.  รำละเอียด                                          81  กก.

6.  รำหยาบ                                              30  กก.

7.  แกลบ+ละออง                                  214  กก.

(ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขโดยประมาณของสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ)

ตัวเลขจากการสีข้าวข้างบนเป็นตัวเลขโดยประมาณ ต้นข้าวและปลายข้าวอาจจะได้มากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้  ซึ่งขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น  ชนิดของข้าวเปลือก  ประสิทธิภาพในการสี  และคุณภาพของข้าวสาร  และปลายข้าวที่ต้องการ

การสีข้าวจะสีตามกรรมวิธีที่อธิบาย ครั้งเดียว(หนเดียว) เท่านั้น



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 10:29:24
มหัศจรรย์ข้าวเพื่อสุขภาพ "กินข้าวเป็นยา"

เพราะ ทุกวันนี้  โรคมะเร็งกำลังเป็นภัยเงียบคุกคามชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างรุนแรง เกือบ 8 ล้านคนต่อปีสำหรับประเทศไทย มะเร็งก็เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทยติดต่อกันกว่า 10 ปี 
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าอาหารเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง  ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงโรคร้ายนี้ ได้โดยใส่ใจออกกำลังกาย  รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม  และเลือกรับประทานอาหารที่มาจากพืช  ผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยให้ร่างกายสามารถต่อต้านโรคมะเร็งได้
ความจริงบรรพบุรุษของไทยได้สะสม “ ยาวิเศษ ”  เป็นมรดกให้แก่ลูกหลานอยู่จำนวนมาก  นั่นก็คือ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วประเทศมากกว่า 200 สายพันธุ์ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งวิตามิน และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมายไม่ว่าจะเป็น  วิตามินบีหนึ่ง  โฟเลต สังกะสี ทองแดง ธาตุเหล็ก  วิตามินอี  วิตามินซี  ที่มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งข้าวแต่ละสายพันธุ์จะให้ปริมาณคุณค่าทางอาหารมากน้อยแตกต่างกันไป

รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาวิจัยคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพื้นเมือง  30 สายพันธุ์ ของ กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง  ในเขตปฎิรูปที่ดิน ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม  จังหวัดยโสธร  ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( สปก.)   

ความมหัศจรรย์ของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทย ที่ รศ.ดร.รัชนี ค้นพบก็คือ  ข้าวพื้นเมือง หลายพันธุ์  มีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็งได้ดีเยี่ยม เช่น  ข้าวเหนียวก่ำใหญ่  ข้าวเจ้ามะลิดำ  ข้าวเจ้าแดง  ข้าวเหนียวก่ำเปลือกขาว ข้าวเหนียวแสนสบาย ข้าวเหนียวสันปลาหลาด  เนื่องจากข้าวกลุ่มนี้มี  วิตามินอี(แกมมาโทโคไทรอีนอล) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งสารอนุมูลอิสระที่เข้าไปทำลายเซลล์ของร่างกาย  ซึ่งกระตุ้นให้เกิด การตายของเซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระจกตาเสื่อมในผู้สูงอายุ 

สำหรับพื้นที่ภาคใต้อาจหาซื้อข้าวกลุ่มข้างบนได้ลำบาก จึงขอแนะนำให้ลองซื้อ  “ข้าวหน่วยเขือ  ”  ซึ่งเป็นข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวพื้นบ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราชมาบริโภคแทน  เพราะข้าวหน่วยเขือ มี วิตามินอี สูงกว่าข้าวทั่วไปถึง 22 เท่า ป้องกันมะเร็ง  ลดอาการโรคหัวใจวาย  เสริมระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงผิวให้สดใสและทำให้แผลเป็นหายเร็วขึ้น
ข้าวหน่วยเขือ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไทยในยุคนี้ ที่จะบริโภคข้าวเป็นยา บำรุงสุขภาพ    ข้าวชนิดนี้นอกจากมีรสชาติเหนียวนุ่ม มีวิตามินอีสูงแล้วยังมี ธาตุเหล็กช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง และช่วยสร้างเม็ดเลือด นอกจากนี้ยังมี สารกาบา ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย   

สำหรับคนที่นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ   ควรรับประทาน ข้าวเหนียวก่ำใหญ่  หรือ ข้าวเหนียวนางหก  เพราะข้าวทั้งสองชนิดนี้ มี “ เบต้าแคโรทีน ” ในสัดส่วนที่สูง  เบต้าแคโรทีจะทำหน้าที่บำรุงสายตาและไม่เกิดโรคต้อกระจกหรือสายตาเสื่อมก่อนวัยอันควร 

 หากใครต้องการหลีกเลี่ยงโรคเบาหวาน ขอแนะนำให้หาข้าวพื้นเมืองเช่น ข้าวเจ้ามะลิแดง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวเหนียวก่ำน้อย  ข้าวเหนียวก่ำเปลือกขาว  ไว้บริโภคในครัวเรือน  เพราะข้าวกลุ่มนี้ มีดัชนีน้ำตาลปานกลางและต่ำ ทำให้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน  และยังมี สารโพลีฟินอล ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งแล้ว ลดการอักเสบในโรคต่าง ๆ

สำหรับสตรีตั้งครรภ์ ขอแนะนำให้หันมาบริโภคข้าวพื้นเมือง ที่มี โฟเลต สูงสุดคือข้าวเจ้าเหลือง (สีน้ำตาลเข้ม)มีโฟเลตสูงถึง 116.47ไมโครกรัม/100กรัม รองลงมาคือ  ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวเหนียวลำตาล ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวสันปลาหลาด ข้าวเหนียวขาวใหญ่ และข้าวเจ้ามะลิแดง 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 11:09:10
ปัจจุบันข้าวเพื่อสุขภาพค่อนข้างมาแรงครับชาวนาบางคนปลูกไม่พอขายด้วยซ้ำ แต่การทำนาต้องทำแบบเกษตรอินทรีย์ ข้าวที่ผ่านการวิจัยที่มีวินามิน มีประโยชน์ต่อร่างกายแม้ผลผลิตที่ได้จะไม่มากแต่ราคาค่อนข้างแพงกว่าข้าวทั่วไป ไม่ต้องพึ่งโครงการรับจำนำข้าว ใครมีที่นาน้อย ๆ หรือทำข้าวไร่ก็น่าสนใจครับ ผมเอาพันธุ์ข้าวที่น่าสนใจมาฝากครับ นาปีผมก็จะลองหาพันธุ์มาปลูกบางส่วนเหมือนกันครับ  ผมทำนาผลผลิตต่อไร่ขายได้ไร่ละหมื่นกว่าบาท  แต่ชาวนาบางท่านมีรายได้ต่อไร่ 1-2 แสนบาท/ไร่ แถมข้าวไม่พอขายด้วยซ้ำซึ่งก็น่าสนใจทีเดียว

มาดูข้าวราคาแพงกันครับ

ข้าวหอมมะลิเวสสันตะระ
หอมมะลิเวสสันตะระ  เกิดจากการแก้ไขผลผลิตต่ำในที่นาของตนเอง ตุ๊หล่าง – แก่นคำกล้า พิลาน้อย จึงนำข้าวพื้นเมืองพันธุ์พ่อ “เหนียวเล้าแตก” ผสมกับพันธุ์แม่ “หอมมะลิ105” ใช้เวลา 8 ปีเต็ม จนได้ข้าวเจ้าที่หอมกรุ่นใบเตยเหมือนแม่ และผลผลิตสูงเหมือนพ่อ 

จุดเด่น   ลักษณะสีเหลืองนวล   
มีวิตามินบีรวม ช่วยฟื้นฟูแขนขาอ่อนแรง วิตามินบี 1 บี 2 ป้องกันโรคเหน็บชา โรคเส้นประสาทหลงลืม อุดมด้วยธาตุสังกะสี ช่วยพัฒนาระบบสืบพันธุ์, ช่วยสร้าง ตัวอสุจิให้แข็งแรง, มีธาตุทองแดงช่วยสร้างเม็ดสีเมลานิน และธาตุเหล็ก ช่วยพัฒนาสมองในเด็ก

ราคาขายข้าวสาร  1กก = 80 บาท

ข้าวหอมมะลิแดง

หอมมะลิแดง มีลักษณะสีแดงเหมือน “ข้าวมันปู” และ “ข้าวสังข์หยด” แต่เนื่องจากเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองตระกูลเดียวกับหอมมะลิ จึงให้กลิ่นหอมและ นุ่มนวลกว่าข้าวแดงทั่วไป เป็นข้าวที่เหมาะสำหรับการปรุง “ข้าวต้ม” เพราะมียางข้าวทำให้เหนียวข้น และเข้ากันได้ดีกับธัญพืช อาทิ ลูกเดือย ถั่วเขียว ถั่วแดง มัน เผือก ฯลฯ

จุดเด่น  ลักษณะสีแดงเข้มเป็นข้าวที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะดัชนีน้ำตาลในเลือด จะขึ้นช้าและมีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระเหนือกว่าข้าวทุกชนิดที่ทำการวิจัย และยังสูงกว่ามะเขือเทศ, แอปเปิล, ใบโหระพา รวมถึงผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ทุกชนิด

ราคาขายข้าวสาร  1กก = 85 บาท

ข้าวหอมนิล

ข้าวหอมนิล  ข้าวเจ้าสีม่วงเข้มอมดำ มีกลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะตัวเมื่อได้ลิ้มลองแล้วต้องติดใจ ซึ่งกลุ่มข้าวคุณธรรมได้ทำการพัฒนาและปรับปรุงขึ้นจาก สายพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีอายุเก็บเกี่ยวที่นานขึ้นถึง 110 -120 วัน ทำให้ได้รสชาติที่เหนียวนุ่มลิ้นมากยิ่งขึ้น และมีสีม่วงเข้มจนเกือบดำสนิท

จุดเด่น   ลักษณะสีม่วงเข้มอมดำมีธาตุเหล็กสูงสุด อุดมด้วยทองแดง ฟอสฟอรัส ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง  อุดมด้วยวิตามินอี บำรุงผิพรรณ เส้นผม เล็บ ชะลอความชรา

ราคาขายข้าวสาร  1กก =120 บาท


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 11:13:47
ข้าวไรซ์เบอรี่ แก้หนี้ แก้จน

"ชาวนา คือกระดูกสันหลังของชาติ" คำกล่าวที่สะท้อนบทบาทสำคัญของอาชีพชาวนาที่หากขาดไป ไทยอาจถึงขั้นไม่สามารถคงความเป็นชาติอยู่ได้ แต่หากหันมาดูสภาพความเป็นอยู่ของผู้มีบทบาทสำคัญขนาดนี้ ส่วนใหญ่กลับยากจน ติดอยู่ในวงจรหนี้ชนิดแทบหาทางออกไม่เจอ

"การปฏิวัติการปลูกข้าว ให้ชาวนาหลุดจากวัฏจักรความยากจนด้วยการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น" คือแนวคิดของ ชัชวาล เวียร์รา ชายวัยเกษียณในจังหวัดสิงห์บุรี ชาวนาใจดีที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ณ ศูนย์การเรียนรู้พันธุ์ข้าวชุมชนบ้านดักคะนน ตำบลธรรมามูล อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท แหล่งเรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่ได้รับการส่งเสริมจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

ลุงชัชวาล เล่าว่า การปฏิวัติการปลูกข้าวของตน เริ่มต้นเมื่อ 8 ปีก่อน จากชายวัยเกษียณที่ถนัดเรื่องช่างกล เล็งเห็นว่าไม่มีโรงสีแห่งใดขาดทุน จนต้องปิดโรงงาน แต่ชาวนาที่เป็นคนขายข้าวให้โรงสีกลับมีหนี้สิน ที่นาก็ต้องเช่า ข้าวที่ปลูกยังแทบไม่มีเหลือไว้กินเอง

การปฏิวัติของชาวนาท่านนี้ เริ่มที่การคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างข้าวหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 จากการพัฒนาพันธุ์ข้าวพิเศษ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีเม็ดเรียวยาวสีม่วงเข้ม เมื่อหุงแล้วเม็ดข้าวมันวาว มีกลิ่นหอมมะลิ นุ่มน่ารับประทาน ตลาดต้องการเป็นอย่างมาก

"ปลูกแทบไม่พอขาย ลูกค้าต้องโทร.สั่งจอง หรือไม่ก็มาแย่งกันถึงบ้าน โรงแรมระดับห้าดาวในกรุงเทพฯ ก็เป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ข้าวเปลือกสายพันธุ์ไรซ์เบอรี่สีม่วง 1 ตัน ปกติจะได้ข้าวสาร 600 กิโลกรัม แต่ถ้านำมาบีบอัดจมูกข้าว จะได้รำข้าวเป็นแผ่นบางๆ จำนวน 100 กิโลกรัม ซึ่งเป็นสุดยอดคุณค่าทางอาหาร มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอี สังกะสี โฟเลต และสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์สูงมาก นำมาเป็นอาหารเสริม ชงดื่มพร้อมเครื่องดื่มมื้อเช้า เช่น น้ำเต้าหู้ หรือเครื่องดื่มมอลต์สกัดก็ได้" ลุงชัชวาล กล่าว

ลุงชัชวาล บอกด้วยว่า ไม่เพียงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการชั้นยอด ยังสร้างรายได้จากรำข้าวที่บีบอัดนี้สูงถึงกิโลกรัมละ 2,000 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 200,000 บาท และในระหว่างการบีบอัด รำข้าว ยังมีน้ำมันรำข้าวไหลออกมาอีกประมาณ 8 ลิตร ซึ่งท้องตลาดซื้อ-ขายกันแคปซูลละ 5 บาท น้ำมันรำข้าว 1 ลิตรบรรจุได้ 1,900 แคปซูล รวมบรรจุได้ 9,500 แคปซูล จำหน่ายได้ 76,000 บาท

นั่นเท่ากับว่า ข้าว 1 ตัน สามารถขายรำข้าวบีบอัด 100 กิโลกรัม ได้ 200,000 บาท และขายน้ำมันรำข้าว 8 ลิตร ได้ 76,000 บาท รวมเป็น 276,000 บาท จากเดิมขายข้าวเปลือกได้ไม่ถึง 20,000 บาทเท่านั้น!

ลุงชัชวาล บอกว่า การลงทุนต้องมีบ้าง เพราะเครื่องจักรที่ใช้บีบอัดจมูกข้าวมูลค่ากว่า 200,000 บาท ต้องมีเป็นส่วนตัวที่บ้าน แต่ก็สามารถคืนทุนได้หลังการจำหน่ายข้าวเพียงแค่ 2 ครั้ง ทุกวันนี้หากลูกค้าคนใดซื้อผลิตภัณฑ์รำข้าว หรือน้ำมันรำข้าว ตนยังแถมข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ปลอดสารพิษไปให้รับประทานที่บ้านด้วย

นี่คือการปฏิวัติการเกษตรจากประสบการณ์ตรงตลอด 8 ปีของลุงชัชวาล ที่พิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นชาวนาไทยก็สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีปราศจาคหนี้สินได้ โดยชาวนาใจดี บอกว่า พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้กับผู้ที่มีใจรักจริงในอาชีพกระดูกสันหลังของชาติ และต้องการหลุดจากวงจรเดิมๆ

"ผมยินดีหากใครต้องการเรียนรู้ และมุ่งมั่นในการปลูกข้าวกล้องชนิดนี้ มาอยู่ที่บ้าน มาเรียนรู้ตั้งแต่การเตรียมดินดำนา จนกระทั่งการบีบอัดรำข้าวออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เพราะผมคิดว่าเราต้องต่อยอดความคิดจากต้นทุนที่มีอยู่ เพิ่มมูลค่าให้มีรายได้มากขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น" ลุงชัชวาล กล่าว

หนึ่งในต้นแบบของชาวนาที่ไม่ยอมติดอยู่ในวงจรเดิมๆ แต่กล้าลุกขึ้นมาปฏิวัติการปลูกข้าวแบบใหม่ และพร้อมแล้วที่จะถ่ายทอดต่อยังผู้สนใจ เพื่อนำไปปรับใช้เพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวของตนเอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 13:33:39
ปูนา

ปูนาจัดเป็นสัตว์ศัตรของข้าวประเภทหนึ่ง ปูนาเป็นปูน้ำจืดที่พบมีอยู่ทั่วไปตามทุ่งนาและในที่ลุ่มของประเทศไทย เป็นกลุ่มปูที่มีวิถีชีวิต มีระบบนิเวศน์และถิ่นที่อยู่อาศัย แตกต่างไปจากปูลำห้วย (creek crab) ปูน้ำตก (waterfall crab หรือ stream crab) และปูป่า (land crab) ด้วยเหตุนี้นักอนุกรมวิธานจึงได้แยกปูนาออกจากปู 3 กลุ่มข้างต้น และจัดให้อยู่ในวงค์ Parathelphusidae ในประเทศไทยพบมี 8 ชนิด ในภาคต่าง ๆ ดังนี้ :

1. Somanniathelphusa germaini พบใน 27 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 22 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ภาคตะวันออก1จังหวัด ภาคใต้1 จังหวัดและภาคเหนือ 1 จังหวัด
2. S. bangkokensis พบใน 18 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด
3. S. sexpunetata พบใน 19 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 1 จังหวัด ภาคตะวันตก 1 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด
4. S. maehongsonensis เป็นปูชนิดใหม่ ที่พบในแห่งเดียวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
5. S. fangensis เป็นปูชนิดใหม่ที่พบใน จังหวัดลำปางและเชียงใหม่
6. S. denchaii เป็นปูชนิดใหม่ที่พบใน จังหวัดแพร่
7. S. nani เป็นปูชนิดใหม่ล่าสุดที่พบใน จังหวัดน่าน และ
8. S. dugasti (Esanthelphusa dugasti) พบใน ภาคกลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคเหนือ 9 จังหวัด และภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด

การแพร่กระจายของปูแต่ละชนิด
ปูนาบางชนิดเช่น S. dugasti มีอาณาเขตการแพร่กระจายกว้างมากถึง 40 จังหวัด ในภาคกลางมีปูอยู่ถึง 3 ชนิด ในภาคใต้พบมี 2 ชนิด ทางภาคเหนือบางจังหวัดพบมีชนิดเดียว ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการแพร่กระจายของปูแต่ละชนิด เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีค่าควรแก่การศึกษา เช่นกรณีของปูนา S. denchaii ที่พบในอำเภอเด่นชัยจังหวัดแพร่ และปูนา S. nani ที่พบใน จังหวัดน่าน เป็นต้น จังหวัดทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก และพื้นที่ก็เป็นผืนแผ่นดินติดต่อกัน สภาพดินฟ้าอากาศ หรือปริมาณน้ำฝนก็ใกล้เคียงกัน
มรดกดินของชาวอีสาน
ปูนาชนิด S. dugasti (ภาพที่ 1) แม้จะมีขอบเขตการแพร่กระจายคลอบคลุมถึง41 จังหวัดก็ตาม แต่ก็เป็นปูชนิดเดียวเท่านั้นที่พบมีในภาคอีสาน ด้วยเหตุผลอันนี้ปูชนิดนี้ ครั้งหนึ่งเคยใช้ชื่อว่า Esanthelphusa dugasti ซึ่งบ่งบอกถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของปูชนิดชนิดนี้เป็นอย่างดี ปูชนิดนี้ถ้าจะถือว่าเป็นมรดกดินของชนชาวอิสานก็คงไม่ผิด เพราะเป็นทรัพย์ติดแผ่นดินที่คนอีสานมีสิทธิที่จะเก็บเกี่ยวหรือนำมาใช้ ประโยชน์ได้ แต่จะใช้ประโยชน์อย่างไรถึงจะคุ้มค่าและยั่งยืน ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเองหรือผู้อื่นนั้นขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของแต่ละ ท่าน

ปูนาแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูก
ปูนาจัดได้ว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสัตว์ราคาถูกและหาได้ง่ายในธรรมชาติ เป็นปูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ประมงและเกษตรกรรายย่อยในภาคอีสานทุกคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นปูที่มีความสำคัญต่อวิถีการดำรงชีวิตของคนเหล่านั้น
แหล่งที่อยู่อาศัย
ปูนาชอบขุดรูอาศัยอยู่ตามทุ่งนา คันนา บริเวณชายคลอง คันคู และคันคลองชลประทานต่าง ๆ โดยมีแหล่งอาหารและน้ำเป็นปัจจัยหลัก ลักษณะและตำแหน่งของรูปูนาจะแตกต่างกันตามสภาพของพื้นที่ ดินฟ้าอากาศและน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต บริเวณที่มีน้ำปูจะขุดรูในที่ ๆ น้ำท่วมไม่ถึง รูปูจะเอียงเล็กน้อยและไม่ลึกนัก ปากรูจะอยู่เหนือน้ำ หรือต่ำกว่าระดับน้ำเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการเข้าออก รูปูส่วนใหญ่จะเป็นแนวเอียง 30-60 องศากับแนวระดับ รูจะตรง ไม่คดเคี้ยว ในที่ ๆ มีความชื้นสูงหรือบริเวณที่มีระดับน้ำตื้นมากรูปูจะไม่ลึกและมีรูขนาดไปกับ พื้นดินตามทุ่งนาที่มีน้ำเฉอะแฉะ เช่นระยะหลังการเก็บเกี่ยว ปูจะขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นนามีความลึกประมาณ 1 เมตร ในฤดูแล้งช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พื้นนาแห้ง ดินขาดน้ำ ระดับน้ำใต้ดินลึก ปูจะขุดรูทำมุมกับแนวระดับลึกมาก และจะลึกที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมและใช้ดินปิดปากรูเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ภายในรู หรือไม่ก็อพยพจากท้องนาไปยังหนองน้ำใกล้เคียง ในกรณีที่เกิดฝนตก เกิดอุทกภัย น้ำท่วมคันนา ปูจะหลบอาศัยเกาะอยู่ตามกอหญ้าริม ๆ น้ำ โดยใช้ก้ามเกาะต้นหญ้าพยุงตัวลอยอยู่ในน้ำ

การผสมพันธุ์
เมื่อปูเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ขนาดประมาณ 20 มิลลิเมตร อายุ 90 วัน หรือลอกคราบประมาณ 7-9 ครั้ง ปูเพศผู้จะมีก้ามซ้ายซ้ายใหญ่กว่าก้ามขวาอย่างเห็นได้ชัด ส่วนท้องที่เรียกว่าจับปิ้งจะมีฐานกว้างปลายเรียวแหลมคล้ายตัวที ส่วนเพศเมียก้ามเล็ก ก้ามทั้งสองมีความแตกต่างกันไม่มาก จับปิ้งที่มีลักษณะเล็กเรียวในระยะที่ยังไม่สมบูรณ์เพศ (ที่เรียกว่าปูกะเทย) ก็จะขยายเป็นแผ่นกว้างครึ่งวงกลมเกือบเต็มส่วนท้อง ปลายมน ที่ขอบมีขนละเอียดเพื่อประโยชน์ในการอุ้มไข่ เมื่อเปรียบเทียบขนาด ถ้าอายุเท่ากันปูเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าปูเพศเมียเสมอ

ปูนาจะวางไข่ปีละครั้งในช่วง เดือนกุมพาพันธุ์-กรกฎาคม โดยมีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าน้ำนั้นจะมาจากน้ำฝนหรือจากชลประทาน ปูเพศเมียเมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูใหม่หรือซ่อมรูเก่าที่มีอยู่ตามคันนาสูง จากระดับน้ำ หรือตามทุ่งวนาที่น้ำไม่ขัง เพื่อเตรียมอุ้มไข่ และจะไม่ลอกคราบจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว

ทำไมปูนาถึงกัดต้นกินข้าว : คำตอบที่ปราชญ์ชาวบ้านกำลังค้นหา
ยังไม่ทราบสามเหตุแน่ชัดว่าทำไมปูนาถึงชอบกัดต้นข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ สร้างรายได้หลักให้แก่เกษตรกรในภาคอีสาน ปูตัวหนึ่งจะกัดกินต้นข้าวกี่ต้นในเวลาหนึ่งยังไม่มีคำตอบ แต่ที่ทราบแน่ชัดก็คือ ปูชอบกัดข้าวกล้าอ่อน ในช่วง 7-10 วันแรกหลังจากปักดำ หลังจากนั้นปูจะกัดต้นข้าวน้อยลง การที่ปูกัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ที่มีอายุน้อยและจะกัดกินฉะเพาะส่วนที่ อ่อนและอวบน้ำเท่านั้น โดยเฉพาะเนื้อเยื่ออ่อนตรงกลางลำต้น สาเหตุที่ปูกัดกินต้นข้าวในช่วงนั้นก็เพราะปูเพิ่งพ้นช่วงการจำศีล ซึ่งกำลังหิวและต้องการอาหาร ในช่วงนั้นในนาไม่มีวัชพืชอื่น นอกจาก ต้นข้าวที่ชาวนาปักดำใหม่ และเป็นพืชชนิดเดียวที่มีอยู่ในผืนนา ขณะที่วัชพืชชนิดอื่น ๆ ยังไม่มีโอกาสเติบโตเจริญงอกงามให้ปูกัดกิน

การทำลายต้นข้าว
ความจริงแล้วปูนาไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่ต้นข้าวเป็นไร่ ๆ หรือร้อยไร่อย่างแมลงหรือหนู ในเนื้อที่1 ไร่ ปูนา จะกัดกินต้นข้าวเพียง 1-3 ย่อม คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 2-3 ตารางเมตรเท่านั้น บริเวณที่ปูชอบกัดต้นข้าว คือบริเวณพื้นนาที่เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำลึกและขุ่นมากกว่าปกติ อาจเป็นมุมใด มุมหนึ่ง หรือตรงกลางผืนนาก็ได้ที่ปูสามารถใช้พรางตัวหรือหลบซ่อนตัวได้
ลักษณะการกัดกินต้นข้าว
ส่วนมากปูจะกัดต้นข้าวในระดับสูงจากพื้นดินประมาณ 2 ซม. โดยจะใช้ก้ามทำหน้าที่ยึดและโน้มต้นข้าวเข้าปาก และใช้ ขากรรไกร (mandible) กัดต้นข้าว ปูไม่กินต้นข้าวทุกต้นที่ปูกัด ปูขนาดเล็กที่กำลังเจริญเติบโตจะกัดต้นข้าวมากกว่าปูเต็มวัย ปูจะทำลายต้นข้าวได้ตลอดวัน ยกเว้นช่วงเวลาที่แดดร้อนจัด ปูชอบอากาศเย็น โดยเฉพาะตอนหัวค่ำที่ฝนตกพรำ ๆ ส่วนปูเพศไหนกัดทำลายต้นข้าวมากกว่ากันนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็เป็นคำถามที่ปราชญ์ชาวบ้านต้องการคำตอบเหมือนกัน ในบรรดาระบบการทำนาของไทยในปัจจุบัน ปูจะทำความเสียหายให้แก่นาดำมากที่สุด และจะกัดกินต้นข้าวในช่วง 7 วันแรกหลังจากปักดำเท่านั้น เมื่อต้นข้าวตั้งตัวได้ ลำต้นแข็งแล้วปูนาก็จะหยุดกัดต้นข้าว ในนาหว่านพบว่าปูนาทำลายต้นข้าวน้อยมาก โดยเฉพาะข้าวที่งอกจากตอซังของการปลูกในระบบล้มตอซังจะมีขนาดใหญ่และต้นแข็ง ปูนาไม่ชอบและไม่กัดกินแต่งอย่างไร






หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 14:18:21
รายกานนี้ดูเพลิน ๆ  เป็ดไล่ทุ่งกับนาข้าว มีรายได้ 2 ทางทั้งรายได้จากข้าวและก็รายได้จากการขายไข่เป็ดครับ

ntiL3qcWXTk



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 14:21:51
ข้าวลืมผัว

tRMck0nIvK8&feature

ข้าวลืมผัว จัดเป็นข้าวไร่ที่ปลูกในเขตพื้นที่สูง มีอากาศเย็นเกือบตลอดทั้งปี  มีฝนกระจายตัวสม่ำเสมอ  ปัจจุบันมีแหล่งปลูกมากที่ อ.พบพระ จ.ตาก และเริ่มกระจายมาที่อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

ข้าวลืมผัว มีต้นสูงประมาณ 137 เซนติเมตร จำนวนเมล็ดต่อรวงเฉลี่ย 130 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างอ้วน น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 37.9 กรัม

 สถิติสูงสุดเมื่อปลูกในสภาพไร่และฟ้าอากาศเหมาะสม ได้ 490 กิโลกรัมต่อไร่

 เมื่อนำมาปลูกในพื้นราบ ผลผลิตที่ได้ 200-350 กิโลกรัมต่อไร่ ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว  

 ข้าวลืมผัว มีสีเปลือกหุ้มเมล็ดเปลี่ยนไปตามระยะการเจริญเติบโตของเมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีม่วงดำ ที่เรียกว่า ข้าวเหนียวดำ หรือ ข้าวก่ำ

 เป็นข้าวเหนียวที่มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย เมื่อเคี้ยวจะรู้สึกมันและนุ่มแบบหนุบๆ
 การบริโภคทำได้ทั้งแบบข้าวเหนียวนึ่ง รับประทานกับอาหาร ผสมข้าวต้มทำให้มีสีม่วงอ่อนสวยงาม ทำเป็นขนมแบบข้าวเหนียวเปียก ทำเป็นชาข้าวคั่วแบบเพิร์ล บาร์เลย์ หรือ เครื่องดื่มทั้งแบบมีแอลกอฮอล์หรือปราศจากแอลกอฮอล์ จะมีสีคล้ายทับทิมสวยงาม

 รสชาติที่อร่อยเช่นนี้เอง จนเป็นที่มาของชื่อข้าว นั่นคือ อร่อยจนลืมผัว

คุณค่าทางโภชนาการที่เด่นเป็นพิเศษ เมื่อวิเคราะห์ทันทีหลังเก็บเกี่ยวฤดูนาปี 2552 พบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ (แอนติออกซิแดนต์) โดยรวม ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในปริมาณสูงถึง 833.77 มิลลิกรัม กรดแอสคอร์บิก ต่อ 100 กรัม


 มีวิตามินอี (อัลฟา-โทโคฟีรอล) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดคอเลสเตอรอล ปริมาณ 16.83 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม


 มีแกมมา-โอไรซานอล ที่ช่วยลดคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ตลอดจนการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ปริมาณ 508.09 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม


 มีกรดไขมันที่ช่วยบำรุงสมอง ป้องกันภาวะเสื่อมของสมองและช่วยความจำ ได้แก่ โอเมก้า-3 อยู่ 33.94 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม

 มีโอเมก้า-6 ที่บรรเทาอาการขาดภาวะเอสโตรเจนของวัยทองและช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สูงถึง 1,160.08 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม

 มีโอเมก้า-9 ซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดไม่อุดตัน ไม่เป็นโรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน และช่วยลดความอ้วนสูงถึง 1,146.41 มิลลิกรัมต่อ 100 กิโลกรัม

 มีแอนโทไซยายิน 46.56 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม โปรตีน 10.63 เปอร์เซ็นต์ ธาตุเหล็ก 84.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนแคลเซียม สังกะสี และแมงกานีส มีในปริมาณ 169.75, 23.60 และ 35.38 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ

 เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดย บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาเชียงใหม่, สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

 ปัจจุบัน มีขายแพร่หลายที่อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ในรูปของข้าวกล้อง ส่วนในกรุงเทพฯ ติดต่อซื้อได้ที่ คุณมัลลิกา  แซ่หลิม  กองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน   โทร.025800021 ต่อ  2341  หรือ 081-2973004  ราคาขายปลีก 1 กิโลกรัม 60 บาท   





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 14:47:13
รายการบ้านเธอก็บ้านฉัน ตอน ข้าว

7A0XktLhUMY


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 14:57:36
วีดีโอ อบรมโรงเรียนชาวนาครับมีเป็นตอน ๆ ใครไม่มีโอกาสไปอบรมที่มูลนิธิข้าวขวัญของอาจารย์เดชา ศิริภัทร ก็ดูจากที่นี่ก็พอให้ความรู้ได้ครับ

อบรมโรงเรียนชาวนา รุ่น 33  มูลนิธิข้าวขวัญ

GHILJ-Rli5Y


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 15:06:54
การทำนาแบบโยนกล้า  อ.เชาว์วัช หนูทอง  

ใครติดตามการทำนาแบบโยนกล้าคงรู้จัก อาจารย์คนนี้ดีครับ

d1SofpOVrwU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 15:25:49
แวะมาเก็บความรู้ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือท่าสุด ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 15:42:14

   ผมกำลังติดตามอยู่ครับ  พอดีปีที่ผ่านมา  ทำเป็นปีแรก  ทำแค่ 2 ไร่ครับ

   ปีนี้ จะทำเพิ่มอีก 5 ไร่  รวมเป็น 7 ไร่ครับ  กำลัง พยายามเก็บข้อมูณอยู่ครับ

   กระทู้นี้ มีความรู้มากมายครับ   ขอบคุณครับ
สู้ๆครับ ชาวนา ;D ;D

   ขอบคุณครับ  ลองดูก่อนครับ  ถ้าได้ผลดี ปีหน้ามีเพิ่มครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 16:33:45

   ผมกำลังติดตามอยู่ครับ  พอดีปีที่ผ่านมา  ทำเป็นปีแรก  ทำแค่ 2 ไร่ครับ

   ปีนี้ จะทำเพิ่มอีก 5 ไร่  รวมเป็น 7 ไร่ครับ  กำลัง พยายามเก็บข้อมูณอยู่ครับ

   กระทู้นี้ มีความรู้มากมายครับ   ขอบคุณครับ
สู้ๆครับ ชาวนา ;D ;D

   ขอบคุณครับ  ลองดูก่อนครับ  ถ้าได้ผลดี ปีหน้ามีเพิ่มครับ

ขอให้ประสบความสำเร็จครับ ถ้ามีอะไรที่ช่วยได้ก็ยินดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2013, 16:57:16
รายการ "ฉันจะเป็นชาวนา"

ของ คุณอุ้ม สิริยากร พุกกะเวส  ได้ความรู้ดีทีเดียวครับ

mPjAJVzEx-Y&list=PL4920F32261BC5BBA


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 09:57:24
ไคโตซาน คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

ไคโตซาน เป็นไบโอโพลิเมอร์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญในรูปของ D – glucosamine พบได้ในธรรมชาติ โดยเป็นองค์ประกอบอยู่ในเปลือกนอกของสัตว์พวก กุ้ง ปู แมลง และเชื้อรา เป็นสารธรรมชาติที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว คือ ที่เป็นวัสดุชีวภาพ ( Biometerials ) ย่อยสลายตามธรรมชาติ มีความปลอดภัยในการนำมาใช้กับมนุษย์ ไม่เกิดผลเสียและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เกิดการแพ้ ไม่ไวไฟและไม่เป็นพิษ ( non – phytotoxic ) ต่อพืช นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเพิ่มปริมาณของสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์

ไคโตซาน เป็นสารปรับสภาพดินและน้ำ ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มผลผลิตพืชทุกชนิด ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์เลี้ยง และสัตว์ทุกชนิด ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือผู้บริโภค ไม่เป็นพิษตกค้าง และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เหมาะสำหรับ นาข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น กล้วยไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ ฯลฯ และสัตว์ทุกชนิด

ไคโตซานมีประโยชน์ต่อพืชอย่างไร
1. เป็นสารปรับสภาพดินและน้ำ
2. ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์
3. เป็นตัวช่วยให้พืชกินอาหาร กินปุ๋ยได้ดี ช่วยเร่งรากเร่งใบ เร่งลำต้น เร่งดอก เร่งผล ทำให้พืชและสัตว์โตเร็ว และแข็งแรง
4. สร้างความต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดี
5. ใช้เคลือบเมล็ดพันธ์
6. ใช้ในการยืดอายุและรักษาคุณภาพผลผลิต
7. ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์
8. ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น มีคุณภาพดี ปลอดสารพิษ

โครงสร้างทางเคมีของสารไคติน คล้ายคลึงกับเซลลูโลส คือเป็นเส้นใยที่ยาว   ไคตินที่เกิดในธรรมชาติมีโครงสร้างของผลึกที่แข็งแรงมีการจัดตัวของรูปแบบของผลึกเป็น 3 ลักษณะได้แก่ แอลฟ่าไคติน, บีต้าไคติน,  และแกมม่าไคติน ไคตินที่เกิดในเปลือกกุ้งและปู ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแอลฟ่าไคติน    ส่วนไคตินที่อยู่ในปลาหมึกพบว่าส่วนใหญ่เป็นบีต้าไคตินในการจัดเรียงตัวของโครงสร้างตามธรรมชาติ   พบว่าแอลฟ่าไคตินมีคุณลักษณะของเสถียรภาพทางเคมีสูงกว่าบีต้าไคติน     ดังนั้นจึงมีโอกาสที่บีต้าไคตินสามารถจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเป็นแอลฟ่าไคตินได้ในสารละลายของกรดแก่ เช่น กรดเกลือ เป็นต้น ส่วนแกมม่าไคตินเป็นโครงสร้างผสมระหว่างแอลฟ่าและบีต้าไคติน
                ไคตินเป็นโพลีเมอร์ที่มีสายยาวมีองค์ประกอบของหน่วยย่อยเป็นอนุพันธ์ของน้ำตาลกลูโคสมีชื่อว่า N-acetyl glucosamine ไคตินเป็นสารที่ละลายยากหรือไม่ค่อยละลาย               ส่วนไคโตซานเป็นโพลีเมอร์ของหน่วยย่อยที่ชื่อว่า glucosamine มากกว่า 60% ขึ้นไป  ( นั้นคือมีปริมาณ N- acetylglcosamine นั้นเอง    ในธรรมชาติย่อมมีไคตินและไคโตซาน ประกอบอยู่ในโพลิเมอร์ ที่เป็นสายยาวในสัดส่วนต่างๆกัน ถ้ามีปริมาณของ glucosamine น้อยกว่า 40 % ลงมา พอลิเมอร์นั้นจะละลายได้ในกรดอินทรีย์ต่างๆนั้นหมายถึงมีปริมาณไคโตซานมากกว่า 60 % นั้นเอง  ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีทำให้ไคตินเปลี่ยนไปเป็นไคโตซาน คือการลดลงของหมู่อะซีติลหรือเรียกว่า Deacetylation    ขณะที่มีการลดลงของหน่วยย่อย N-acetyl glucosamine ย่อมเป็นการเพิ่มขึ้นของ glucosamine ในปริมาณที่เท่ากัน  ซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงไคตินให้เป็นไคโตซานนั่นเอง การจัดระดับของการ Deacetylation มีค่าร้อยละหรือเรียกว่า   Percent Deacetylation ( % DD) กล่าวคือเมื่อในพอลิเมอร์มีค่าเกิน % DD เกินกว่า 60 % ขึ้นไป ของการกระจายไคโตซานในกรดอินทรีย์มากจะเพิ่มขึ้นของหมู่อะมิโนของ glucosamine ทำให้มีความสามารถในการรับโปรตรอน    จากสารละลายได้เพิ่มขึ้นซึ่งช่วยในการละลายดีขึ้น เพราะมีสมบัติของประจุบวกเพิ่มขึ้น ฉะนั้นไคโตซานจึงสามารถละลายได้ดีขึ้นในกรดต่างๆ เช่น กรดน้ำส้ม กรดแลคติก และกรดอินทรีย์อื่นๆ
                ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ไคโตซานจะไม่ละลายน้ำเช่นเดียวกับเปลือกกุ้ง กระดองปู หรือเปลือกไม้ทั่วไป แต่ไคโตซานจะละลายได้ดีเมื่อใช้กรดอินทรีย์เป็นตัวทำละลาย             สารละลายของไคโตซานจะมีความข้นเหนียวแต่ใสคล้ายวุ้น หรือพลาสติกใส ยืดหยุ่นได้เล็กน้อยจึงมีคุณสมบัติที่พร้อมจะทำให้เป็นรูปแบบต่างๆได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าต้องการทำเป็นแผ่นหรือเยื่อบางๆเป็นเจล หรือรูปร่างเป็นเม็ด เกล็ด เส้นใย สารเคลือบและคอลลอยด์    เป็นต้น    นอกจากนี้ไคโตซานยังย่อยสลายตามธรรมชาติ จึงไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต   เมื่อกินเข้าไปและไม่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเติมลงไปในน้ำหรือในดินเพื่อการเกษตร

ใครสนใจลองทำขายก็ได้ครับเห็นเค้าทำขายลิตรละ 2 ร้อยกว่าบาท
การผลิตไคตินจากหอยเชอรี่  http://www.nnr.nstda.or.th/blogs/nnr/wp-content/uploads/2012/07/kaitin-kaitosan-village.pdf (http://www.nnr.nstda.or.th/blogs/nnr/wp-content/uploads/2012/07/kaitin-kaitosan-village.pdf) 



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 10:18:29
เชื้อ บีที คืออะไร

“เชื้อบีที” (Bt) คือชื่อสามัญของเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้กำจัดแมลงชนิดหนึ่งซึ่งประกอบ ด้วยสปอร์ที่มีชีวิตและผลึกพิษจากแบคทีเรียในดินมีชื่อว่า Bacillus thuringiensis เชื้อบีที ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ควบคุมตัวอ่อน(หนอน)ของหนอนใยผัก หนอนผีเสื้อกะหล่ำ หนอนคืบ กะหล่ำ หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะผล มะเขือเทศ        เชื้อบีทีทั้งในรูปแบบที่เป็นของเหลวและ แบบแห้งมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป ภายใต้ชื่อการค้าที่ แตกต่างกัน โดยปรกติแล้วเชื้อบีทีซึ่งมีชื่อบน ฉลากว่า Bacillus thuringiensis aizawai ให้ผลดี ที่สุดในการกำจัดหนอนใยผัก และตัวอ่อนขนาด เล็กของหนอนกะทู้ผัก(Spodoptera litura) สิ่งที่ สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การใช้เชื้อบีทีนั้นจะได้ผลดีที่ สุดกับหนอนที่มีขนาดเล็ก และเชื้อบีทีจะใช้ไม่ได้ ผลดีนักในการควบคุมตัวหนอนที่มีขนาด ใหญ่
เชื้อบีทีเป็นเชื้อทีมีความปลอดภัยสูงและไม่เป็นสาเหตุที่ก่ออันตรายต่อมนุษย์ ปลา สัตว์ป่า หรือแมลงที่มีประโยชน์ ประโยชน์อันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของการใช้เชื้อบีทีก็คือเชื้อนี้จะไม่ทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติซึ่งช่วยในการควบคุมแมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ อีกทั้งเชื้อบีทีส่วนใหญ่ยังได้รับการ ยอมรับ ให้ใช้ในการผลิตผักอินทรีย์
       เชื้อบีทีทำงานแตกต่างจากสารเคมีกำจัดแมลงทั่วๆไป คือ หนอนศัตรูพืชจะต้องกินใบพืชที่ถูกพ่นด้วยเชื้อบีทีใน ปริมาณเล็กน้อยก่อนจึงจะตาย ภายหลังจากกินบีทีแมลงจะยังไม่ตายในทันทีแต่จะมีอาการ ป่วยและหยุดกินอาหารแทบในทันทีหลังจากได้รับเชื้อ

ลักษณะการทำลาย

เชื้อบีทีเข้าทำลายแมลงโดยเมื่อหนอนกินสปอร์และผลึกโปรตีนของเชื้อเข้าสู่กระเพาะอาหาร น้ำย่อยใน กระเพาะอาหารของแมลงที่มีความเป็นกรด - ด่าง เหมาะสมกับเชื้อบีที จะย่อยผลึกโปรตีนและ เชื้อบีที จะปล่อยสารพิษออกมาทำลายผนังกระเพาอาหารของหนอนศัตรูพืช บีทีจะผ่านเข้าสู่ช่องว่างลำตัวแมลงซึ่งจะมีกระแสเลือดไหลเวียนอยู่ ไปเจริญและเพิ่มปริมาณในเลือด เซล และเนื้อเยื่อของแมลงแมลงจะเป็นอัมพาตและตายเนื่องจากโลหิตเป็นพิษ แมลงที่ได้รับเชื้อบีทีจะไม่อยากกินอาหาร หรือหยุดกินอาหาร เชื่องช้า ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ลำตัวเป็นสีน้ำตาลดำ อ่อนนุ่ม และมีกลิ่นเหม็นมาก

        ควรตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่าบรรจุเชื้อบีทีสายพันธุ์ Bt aizawai หรือ Bt kurstaki หลายๆประเทศในภูมิภาคเขต ร้อน(รวมทั้งประเทศไทย) หนอนใยผักได้มีการพัฒนาความ ต้านทานต่อผลิตภัณฑ์บีทีที่มีBacillus thuringiensis kurstaki เป็นสารออกฤทธิ์หลัก ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลดีควรเลือกใช้ ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วย Bacillus thuringiensis aizawai

การใช้เชื้อบีที มีทั้งรูปผงแห้งและน้ำเข็มข้น การใช้ตามคำแนะนำ ฉลากข้างขวด
1. ควรผสมสารจับใบทุกครั้งที่พ่น
2. ควรพ่นเชื้อบีทีทุก 3-5 วัน ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง ในช่วงระบาด 4
3. ควรปรับหัวฉีดให้เกิดละอองน้ำมากที่สุด
4. ควรใช้เชื้อบีทีในขณะหนอนยังเล็ก
ชนิดของหนอนที่เชื้อบีที ควบคุมได้
- พืชผัก หนอนใยผัก หนอนคืบกะหล่ำ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนผีเสื้อขาว หนอนกินใบ
- พืชไร่ หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนบุ้ง หนอนคืบละหุ้ง
- ไม้ผล หนอนประกบใบส้ม หนอนกินใบชมพู่ หนอนร่าน หนอนแก้วส้ม หนอนไหมป่า หนอนแปะใบองุ่น

วิธีการขยายเชื้อบีที เก็บไว้ได้ไม่เกิน 6 เดือน นำไปใช้ตามคำแนะนำข้างขวด
1. ใช้เชื้อบีที 250 ซี.ซี. + น้ำ 20 ลิตร + นมขนหวาน 1 กระป๋อง คนให้เข้ากันทุกวัน(ปิดฝา 3 วัน)
2. เติมนมข้นหวานอีก 1 กระป๋อง + กากน้ำตาล 1 ลิตร คนให้เข้ากันทุกวัน(ปิดฝา 3 วัน)
3. เติมนมข้นหวานอีก 1 กระป๋อง + กากน้ำตาล 1 ลิตร คนให้เข้ากันทุกวัน(ปิดฝา 3 วัน)
อายุการเก็บรักษาเชื้อบีที
1. ชนิดผงแห้ง จะมีอายุ 5 ปี นับจากวันผลิต
2. ชนิดน้ำเข้มข้น จะมีอายุ 3 ปี นับจากวันผลิต
3. ชนิดน้ำเข้มข้นมาขยายเชื้อ จะมีอายุ 6 เดือน นับจากวันขยายเชื้อ
เทคนิคการใช้เชื้อ บี ที
1. ควรใช้เชื้อ บี ที ในขณะที่หนอนยังตัวเล็ก
2. ควรพ่น บี ที ในตอนเย็นเพื่อเลี่ยงแสงแดด และมีความชื้นสูง
3. ควรผสมสารจับใบทุครั้ง เพื่อช่วยให้ บี ที ติดกับส่วนต่าง ๆ ของพืชได้นานยิ่งขึ้น
4. ควรปรับหัวฉีดให้เกิดละอองน้ำให้มากที่สุด เพื่อพ่นตัวให้มากที่สุด
5. ควรพ่น บี ที ทุก 3-5 วัน ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง ในช่างที่หนอนเกิดการระบาด
6. ไม่ควรผสมเชื้อ บี ที กับสารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยเฉพาะสารที่ออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรีย เช่น สารปฏิชีวนะ และคอปเปอร์ออกไซด์ เป็นต้น และไม่ควรผสมเชื้อ บี ที ในน้ำที่เป็นด่าง

ข้อดีของการใช้เชื้อ บี ที
· เฉพาะเจาะจงต่อแมลงเป้าหมาย ไม่มีผลกระทบต่อแมลงชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการกำจัด เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน
· ปลอดภัยต่อพืช สัตว์ และมนุษย์ ทั้งผู้บริโภคและผู้ใช้
· ไม่มีฤทธิ์ตกค้าง เมื่อพ่น บี ที แล้วสามารถนำพืชมาบริโภคได้โดยไม่ต้องทิ้งระยะก่อนเก็บเกี่ยว
· มีประสิทธิภาพสูง เมื่อเทียบกับจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ
ข้อควรจำ
ไม่ควรใช้เชื้อ บี ที กับแปลงหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมและไม่ควรฉีดพ่น บี ที ใกล้กับ แหล่งที่เลี้ยงไหม เพราะ บี ที มีฤทธิ์ทำลายไหมสูง บี ที ช่วยอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติ
การผลิตขยายเชื้อ
Bacillus thuringiensis
เกษตรกรสามารถขยายการผลิตเชื้อ Bacillus thuringiensis ได้ด้วยตัวเองโดยอุปกรณ์ที่ใช้
1. ถังพลาสติกมีฝาปิด ขนาดความจุ 40-50 ลิตร
2. เชื้อ Bacillus thuringiensis (สายพันธุ์ aizawai , kurstaki)
3. นมข้นหวาน 4 กระป๋อง
4. กากน้ำตาล 2 กิโลกรัม
ขั้นตอนการผลิตขยายเชื้อ
แบคทีเรียบาซิลัส ทูริงเยนซิส
1.เติมน้ำสะอาดในถังพลาสติกปริมาตร 40 ลิตร
2. เติมนมข้นหวาน 2 กระป๋อง
3. เติมเชื้อ Bacillus thuringiensis 500 ลิตร
4.คนให้เข้ากัน จากนั้น ให้อากาศด้วยตัวเป่าอากาศตู้ปลา เป็นเวลา 3 วัน (หากไม่มีตัวเป่าอากาศ ให้ใช้ไม้คนเช้า เย็น)
5. เติมนมข้นหวาน 2 กระป๋อง และกากน้ำตาล 2 กิโลกรัม ให้อากาศอีก 3-5 วัน จึงนำไปฉีดพ่นหนอนต่อไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 10:26:21
เชื้อบีเอส (บาซิลัส ซับทีลิส)

เชื้อบีเอส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ร่วมกับพืชโดยไม่ทำความเสียหายให้กับพืช มีความสามารถในการแย่งธาตุอาหารได้ดีกว่าเชื้อจุลินทรีย์อื่น และสร้างสารปฏิชีวนะได้หลายชนิด ทำให้เชื้อโรคพืชลดการทำลายพืช และทำลายเชื้อโรคพืชทำให้ลดปริมาณเชื้อโรคพืชเชื้อบีเอสสามารถควบคุมโรคพืชได้หลายชิดทั้งเชื้อรา เช่น โรคเหี่ยว โรครากเน่าโคนเน่า โรคแอนแทรกโนส และเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเน่าแลโรคแดงเกอร์ การใช้เชื้อบีเอสให้ฉีดพ่นตามคำแนะนำในฉลากข้างภาชนะ และฉีดพ่นในตอนเย็น การเลือกซื้อต้องดูวันเดือนปีที่ผลิตหรือวันหมดอายุ เป็นเชื้อที่เก็บในที่แห้งไม่ถูกแสงแดด

การผลิตการขยายเชื้อแบคทีเรีย บาซิลัสซับทีลิส (บีเอส)
เกษตรกรสามารถขยายการผลิตเชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส (บีเอส) ได้ด้วยตนเองโดย
อุปกรณ์ที่ใช้
1. ถังพลาสติกมีฝาปิด ขนาดความจุ 40-50 ลิตร
2. เชื้อบีเอส
3. นมข้นหวาน 4 กระป่อง
4. กากน้ำตาล 2 กก.
ขั้นตอนการผลิตการขาย
1. เติมน้ำสะอาดในถังพลาสติก 40 ลิตร
2. เติมนมข้นหวาน 2 กระป๋อง
3. เติมเชื้อบีเอส 500 มิลลิลิตร
4. คนให้เข้ากัน จากนั้นให้อากาศด้วยตัวเป่าอากาศตู้ปลา เป็นเวลา 3 วัน (หากไม่มีตัวเป่าอากาศให้ใช้ไม้คนเช้า เย็น)
5. เติมนมข้นหวานอีก 2 กระป๋อง และกากน้ำตาล 2 กก. ให้อากาศอีก 2-3 วัน จึงนำไปฉีดพ่น
ต่อไป




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 11:18:37
หลักการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ผลดี
 โดย นายสรสิทธิ์ วัชโรทยาน

          ปุ๋ยเคมีเมื่อใส่ลงไปในดินจะมีโอกาสสูญเสียไปมากกว่าครึ่งหนึ่งสำหรับธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม ส่วนฟอสฟอรัสนั้น พืชดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้เพียงไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของปริมาณที่ใส่ลงไปในดิน ฟอสฟอรัสที่เหลือทั้งหมดจะทำปฏิกิริยากับดินกลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยากพืชดึงดูดไปใช้ไม่ได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยลงไปในดินเพื่อให้พืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้มากที่สุดและสูญเสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปุ๋ยชนิดเดียวกัน สูตรเดียวกันใส่ลงไปในดินโดยวิธีแตกต่างกัน พืชจะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้ไม่เท่ากันอาทิ ปุ๋ยที่ใส่แบบหว่านจะให้ผลแตกต่างจากปุ๋ยที่ใส่โรยแบบเป็นแถวหรือเป็นจุดใกล้ต้นพืช ฉะนั้นการใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพจึงควรมีหลักเกณฑ์ในการใส่ปุ๋ยที่ควรจะยึดถือเป็นแนวทางดังนี้คือ
          (๑) ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง
          (๒) ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม
          (๓) ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ
          (๔) ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึง ดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด

ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง
          การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องนั้นหมายถึง สูตร เรโชและรูปของธาตุอาหารในปุ๋ย ปุ๋ยเคมีจะมีทั้งสามอย่างนี้แตกต่างกันออกไปอย่างกว้างขวาง
         สูตรปุ๋ย หรือบางทีเรียกว่า "เกรดปุ๋ย" หมายถึง  ตัวเลขเขียนบอกปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมีโดยบอกเป็นค่าของเปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักของปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (N) ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (P2 O5) และปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ (K2O) สูตรปุ๋ยจะเขียนไว้ที่ภาชนะบรรจุปุ๋ยเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น 20-10-5 ตัวเลขแรกจะบอกปริมาณไนโตรเจนว่ามีอยู่หนัก ๒๐ กิโลกรัม เลขที่สองบอกปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีอยู่ ๑๐ กิโลกรัมเลขตัวที่สามบอกปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้มีอยู่ ๕ กิโลกรัม รวมเป็นธาตุอาหารทั้งหมด ๓๕ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม และเป็นที่ทราบกันเป็นสากลว่าเลขตัวแรก คือ ไนโตรเจนตัวกลาง คือ ฟอสฟอรัส ตัวสุดท้าย คือ โพแทสเซียม จะไม่มีการสลับที่กัน จึงไม่จำเป็นต้องเขียนตัวหนังสือกำกับไว้
          เมื่อดินขาดธาตุอาหาร N P และ K ชนิดของธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใส่ก็จะต้องมีธาตุ N P และ K แต่ถ้าดินขาดธาตุอาหาร N และ P ส่วน K ในดินตามธรรมชาติมีเพียงพออยู่แล้ว ธาตุอาหารในปุ๋ยก็ควรจะมีแต่ N และ P เท่านั้น อาทิ ดินนาในภาคกลางซึ่งขาดแต่ N และ P เป็นส่วนใหญ่ปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าวจึงมีแต่ N และ P เท่านั้น เช่น  ปุ๋ยสูตร 18-46-0, 28-28-0, 20-20-0 และ 16-20-0 เป็นต้น
          สำหรับ "เรโช" ของปุ๋ยนั้น เป็นสัดส่วนเปรียบเทียบกันระหว่างธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในสูตรปุ๋ยเรโชปุ๋ยจะบอกเป็นตัวเลขลงตัวน้อยๆ ระหว่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส (P2 O5 ) และโพแทสเซียม (K2 O) ของสูตรปุ๋ยนั้นๆ เช่น6-16-8 เท่ากับเรโช 2:2:1 ได้จากการหารตลอดด้วย 8 20-10-5 เท่ากับเรโช 4:2:1 ได้จากการหารตลอดด้วย 5
          ปุ๋ยเรโชเดียวกันสามารถมีได้หลายสูตร เช่น ปุ๋ยเรโช 1:1:1 จะมีสูตร เช่น

          สูตร                        เรโช                  ธาตุอาหารรวม กก./ปุ๋ย 100 กก.
          10-10-10               1:1:1                            30
          15-15-15               1:1:1                            45
          20-20-20               1:1:1                            60

          นั่นคือ ปุ๋ยสูตรต่างๆ ที่มีเรโชเดียวกัน จะแตกต่างกันที่ปริมาณธาตุอาหารรวม ที่มีอยู่ในปุ๋ย เช่น สูตร 10-10-10 มีธาตุอาหารรวม N P K หนัก ๓๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ส่วนปุ๋ย 20-20-20 มีธาตุอาหารรวมหนัก ๖๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปุ๋ยสูตรแรกเท่าตัว ปุ๋ยที่มีเรโชเดียวกัน จะบอกให้ทราบว่าเป็นปุ๋ยชนิดเดียวกัน สามารถใช้แทนกันได้ ดังนั้นถ้าใช้ปุ๋ย 10-10-10 อยู่โดยใช้อัตรา ๕๐ กก./ ไร่ สามารถเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย 20-20-20 แทนได้แต่เนื่องจากปุ๋ยนี้มีธาตุอาหารรวมมากกว่า ก็จะต้องลดอัตราที่ใช้ให้น้อยลง คือใช้เพียง ๒๕ กก./ ไร่ เท่านั้น ก็จะได้ธาตุอาหารที่เท่ากัน
          ปุ๋ยเคมีจะมีสัดส่วนระหว่าง N:P:K แตกต่างกันแล้วแต่จะนำไปใช้กับชนิดของพืช และกับที่ดินที่มีระดับธาตุอาหาร N P และ K แตกต่างกันอย่างไร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องก็จะต้องรู้จักดินและรู้จักพืชที่ปลูกเสียก่อน ทั้งนี้เนื่องจากดินแต่ละแห่งและแต่ละชนิดจะมีระดับธาตุอาหารปุ๋ยในดินแตกต่างกันส่วนพืชที่ปลูกต่างชนิดกันหรือแม้แต่อายุพืชแตกต่างกันก็มีความต้องการธาตุอาหาร N P K ในปริมาณและสัดส่วนเพื่อการเจริญเติบโตและสร้างผลิตผลแตกต่างกันเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน
          ระดับธาตุอาหารพืชในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมีอยู่มากน้อยเท่าใดนั้นสามารถตรวจสอบได้ด้วยการส่งตัวอย่างดินที่เป็นตัวแทนของไร่นานั้นๆ มาทำการวิเคราะห์ทางเคมีจะใช้เป็นปุ๋ยเร่งต้นเร่งใบ เหมาะสำหรับพืชผักกินใบหรือเร่งการเจริญเติบโตทางด้านต้น และเร่งให้พืชโตเร็วในระยะแรกของการเจริญเติบโต ในกรณีที่ดินขาด N อย่างรุนแรงส่วน P และ K มีอยู่ในดินระดับปานกลาง หรือค่อนข้างสูง การใช้ปุ๋ยเคมีที่เรโชของ N สูงๆ ก็จะเป็นการช่วยปรับระดับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร N P K ในดินให้เหมาะสมแก่พืชที่ปลูกได้ดีขึ้น หรือในกรณีของดินนาทางภาคอีสานและภาคใต้ของประเทศไทย ระดับ ความเป็นประโยชน์ของ K ในดินค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับดินนาทางภาคกลาง ดังนั้น ปุ๋ยนาที่แนะนำให้ใช้ในทางภาคอีสานและภาคใต้จึงควรมี K รวมอยู่ด้วย แต่เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่า N และ P เช่น เรโช 2:2:1 เช่นสูตร 16-16- 8 หรือ 2:2:1 เช่นสูตร 18-12-6 แทนที่จะเป็น 16- 20-0 หรือ 20-20-0 เช่น ปุ๋ยนาในภาคกลาง ดังนี้เป็นต้น

ใส่ปุ๋ยในปริมาณที่พอเหมาะ
          ปริมาณปุ๋ยที่พอเหมาะนี้ หมายถึง จำนวนหรืออัตราปุ๋ยที่ใช้ต่อไร่หรือต่อต้นที่พืชจะได้รับความพอเหมาะนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ พอเหมาะในแง่ของปริมาณที่พืชควรจะได้รับเพื่อให้ได้ผลิตผลสูงสุด ถ้าน้อยกว่านั้นก็จะทำให้พืชไม่เจริญเติบโตและให้ผลิตผลสูงเท่าที่ควร หรือถ้าให้มากเกินกว่านั้นก็อาจเป็นพิษแก่พืชหรือจะไม่ทำให้พืชเติบโตและให้ผลิตผลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งก็คือ พอเหมาะในแง่ของหลักเศรษฐกิจ กล่าวคือ ปริมาณของปุ๋ยที่ใช้จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับราคาของปุ๋ย และราคาของผลิตผลที่จะขายได้เสียก่อน การใช้ปุ๋ยที่พอเหมาะในแง่นี้เป็นการใส่ปุ๋ยจำนวนหนึ่ง (ต่อไร่หรือต่อต้น) ซึ่งจะมีผลทำให้ผลิตผลสูงขึ้นที่ระดับหนึ่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตผลสูงสุด) อันจะทำให้ได้กำไรต่อเงินลงทุนในการซื้อปุ๋ยมาใช้มากที่สุด
          การพิจารณาความพอเหมาะพอดีของจำนวนปุ๋ยหรืออัตราปุ๋ยที่จะใช้ จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ หลายประการมาประกอบ การพิจารณา อาทิ ชนิดของพืช ระดับความชื้นและความอุดมสมบูรณ์เดิมของดิน วิธีการปลูก การดูแลและการบำรุงรักษาของกสิกร ตลอดจนราคาของปุ๋ยและของพืชที่ปลูกประกอบด้วย

ใส่ปุ๋ยให้พืชในขณะที่พืชต้องการ
          พืชที่ปลูกในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารมักจะแคระแกร็น และให้ผลิตผลต่ำ การใส่ปุ๋ยจะช่วยยกระดับธาตุอาหารที่ขาดแคลนให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินเดียวกันกับพืชชนิดเดียวกัน อาจจะให้ผลแตกต่างกันได้เป็นอย่างมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา (timing) ของการให้ปุ๋ยแก่พืชนั้น ตรงกับระยะเวลาที่พืชมีความต้องการธาตุอาหารนั้นๆ มากที่สุดหรือไม่ ช่วงจังหวะความต้องการธาตุอาหารมากที่สุดของพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป พืชที่มีอายุสั้น เช่น  พืชไร่และข้าว จะมีจังหวะการดึงดูดธาตุอาหารที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดอย่างน้อย ๓ ช่วงด้วยกันคือ (๑) ช่วงแรกที่พืชเริ่มงอกและการเติบโตในระยะ  ๓๐-๔๕ วันแรก พืชมักจะต้องการธาตุอาหารน้อยและช้า เพราะระยะนี้ระบบรากยังน้อย และต้นยังเล็กอยู่ (๒) ช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารเป็นจำนวนมาก สำหรับข้าวจะเป็นระยะที่กำลังแตกกอและระยะที่กำลังสร้างตาดอก ถ้าเป็นข้าวโพดจะเป็นระยะที่มีอายุ ๔๕ - ๖๐ วัน ถ้าเป็นข้าวก็ระยะประมาณ ๓๐ วัน ก่อนออกดอก และ (๓) ช่วงที่มีการเติบโตเต็มที่แล้วและเป็นระยะสร้างเมล็ดหรือสร้างผล ความต้องการธาตุอาหารในระยะนี้จะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งฝักหรือเมล็ดแก่
          ระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารจากดินมากที่สุดและดึงดูดธาตุอาหารจากดินในอัตราที่รวดเร็วมากที่สุดก็คือ ช่วงที่สอง เพราะเป็นระยะที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและต้องการสะสมธาตุอาหารไว้ในต้นและใบ ให้เพียงพอสำหรับการสร้างเมล็ดและผลที่จะมีขึ้นในช่วงที่สาม ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืชระยะที่สำคัญก็คือ ระยะที่สองนี้ ซึ่งพืชควรจะได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยที่ให้เพียงพอที่สุด
          ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืชจึงต้องแบ่งใส่จังหวะการใส่ควรให้พอเหมาะกับระยะที่พืชต้องการจะยังผลให้ประสิทธิภาพของปุ๋ยที่ใส่สูงความเหมาะสมของจังหวะเวลาการให้ปุ๋ยกับพืชได้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง พืชแต่ละชนิดจะมีช่วงที่ควรจะแบ่งใส่ปุ๋ยเพื่อให้มีผลดีแก่พืชมากที่สุดแตกต่างกันออกไป แต่อาจจะถือเป็นหลักเกณฑ์กว้างๆ ได้คือ
         ๑. การแบ่งใส่ปุ๋ยมักจะให้ผลดีกว่าการใส่ปุ๋ยจำนวนเดียวกันนั้นเพียงครั้งเดียวตอนปลูก ยกเว้นเมื่อใช้ปุ๋ยในอัตราต่ำมากๆ
         ๒. การใส่ครั้งแรกคือใส่ตอนปลูก ควรใส่แต่น้อย โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทสนั้นจะใส่ทั้งหมดในตอนปลูกก็ได้
         ๓. การใส่ครั้งที่สองควรใส่ระยะที่พืชกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ระหว่างระยะแตกกอสูงสุดถึงใกล้ออกดอก ส่วนใหญ่การใส่ครั้งที่สองจะเป็นปุ๋ยไนโตรเจน ถ้าอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้สูงมากๆ การแบ่งใส่ควรเป็นสามครั้งคือ  ตอนปลูก ตอนเริ่มการเติบโตอย่างรวดเร็วและตอนระยะใกล้ออกดอก และจะไม่ช้าไปกว่าระยะหลังจากพืชออกดอกแล้ว หรือระยะที่พืชเริ่มแก่

ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด
         นอกจากจังหวะการใส่แล้ว วิธีการใส่เพื่อให้พืชดึงดูดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากในทันทีทันใดที่ปุ๋ยลงไปอยู่ในดิน ปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนย้ายของปุ๋ยจะเกิดขึ้นทันที
         ธาตุไนโตรเจนในปุ๋ยจะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วมากเพราะละลายน้ำได้ง่าย ไนโตรเจนในรูปไนเทรตจะถูกน้ำพัดพาออกไปจากชั้นของดินได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารากพืชดึงดูดเอาไว้ไม่ทันก็จะสูญเสียไปหมดและไม่เกิดประโยชน์ต่อพืชแต่อย่างใด ปกติแล้วปุ๋ยไนโตรเจนในดินจะสูญเสียไปโดยการชะล้างประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ใส่ลงไป ไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียม ถึงแม้จะดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ และถูกชะล้างได้ยากก็จริง เมื่อดินมีการถ่ายเทอากาศดีจะถูกแปรรูปโดยจุลินทรีย์ในดินจะทำปฏิกิริยาเพิ่มออกซิเจน (oxidized) ให้กลายเป็นไนเทรต (NO3- N) ได้ง่ายและเร็วมาก
          ฟอสฟอรัสในปุ๋ยถึงแม้จะละลายน้ำได้ง่ายแต่เมื่ออยู่ในดินจะทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับแร่ธาตุต่างๆ ในดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก ความเป็นประโยชน์ต่อพืชลดลง และไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ดังนั้นเมื่อใส่ปุ๋ยฟอสเฟตตรงจุดไหน ฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ง่ายก็มักจะอยู่ตรงจุดนั้น ถ้าจะเคลื่อนย้ายจากจุดเดิมก็เป็นระยะใกล้ๆ ในรัศมี ๑-๕ ซม. เท่านั้น ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตให้กับพืชจึงต้องให้อยู่ใกล้กับรากมากที่สุดเพื่อที่รากจะไม่เป็นอันตรายจากปุ๋ยนั้น การใส่บนผิวดินจะเป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยกว่าใส่ใต้ผิวดินในบริเวณที่รากจะแพร่กระจายไปได้ถึงซึ่งผิดกับปุ๋ยไนโตรเจนที่ใส่บนผิวดินก็สามารถซึมลงมายังบริเวณรากที่อยู่ใต้ผิวดินได้ง่าย ดังนั้นการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนใต้ผิวดินจึงไม่มีข้อดีไปกว่าใส่บนผิวดิน
           ปุ๋ยโพแทสเซียมจะเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่าฟอสเฟตแต่จะช้ากว่าไนโตรเจน โพแทสเซียมในปุ๋ยละลายน้ำได้ง่ายพอๆ กับไนโตรเจนก็จริงแต่เนื่องจากมีประจุบวกซึ่งดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ จึงถูกชะล้างได้ยาก แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ได้ง่ายแก่พืชอยู่ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมจึงสามารถใส่บนผิวดินหรือใต้ผิวดินก็ได้ แต่การเคลื่อนย้ายจะช้ากว่าไนโตรเจนและในเวลาเดียวกันการสูญเสียโดยการชะล้างก็จะน้อยกว่าด้วย





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 12:41:21
การปรับปรุงพันธุ์ข้าว

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวในประเทศไทย ชาวนาผู้ปลูกข้าวได้ดำเนินการคัดเลือกหาพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ปลูก และรสชาติตามที่ตนต้องการมาเป็นเวลานานแล้ว แต่การปรับปรุงพันธุ์ตามหลักวิชาการาของทางราชการ ได้เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2450 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวยพันธุ์ข้าวขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เมืองธัญญบุรี (ปัจจุบันเขียนเป็นธัญบุรี) และพันธุ์ข้าวจากเมืองธัญญบุรี และในปี พ.ศ. 2453 ได้จัดงานการแสดงกสิกรรมและพาณิชยการครั้งที่ 1 รวมทั้งการประกวดพันธุ์ข้าวทั่วราชอาณาจักรขึ้นที่สระปทุมวัน (บริเวณวังสระปทุมในปัจจุบัน) และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2454 (รัชกาลที่ 6) ข้าวจากเมืองธัญญบุรีก็ยังเป็นพันธุ์ข้าวที่ชนะเลิศอีก พันธุ์ข้าวที่ชนะการประกวดครั้งหลัง ๆ มีคุณภาพดีกว่าครั้งแรก ๆ แสดงว่าชาวนาได้หันมาปลูกข้าวพันธุ์ดีกันมากขึ้น (ภักดี,2539)

ในปี พ.ศ. 2459 ทางราชการได้จัดตั้งสถานีทดลองข้าวรังสิตหรือนาทดลองคลองรังสิตขึ้น นับเป็นสถานีทดลองข้าวแห่งแรกของประเทศไทย การจัดตั้งนาทดลองคลองรังสิต (ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีในปัจจุบัน)นั้น ทรงเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาช้านานแล้ว แต่มีหลายสาเหตุทำให้จัดตั้งไม่ได้ และได้จัดตั้งสำเร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานด้านการปรับปรุงพันธุ์ในระยะแรกมีแต่การคัดพันธุ์โดยปลูกคัดเลือกแบบรวง แต่แถว (Head to Row Selection) จากผลการดำเนินงานของพระยาโภชากร (ตริ มิลินสทสูต) ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2476 ข้าวไทยชนะเลิศในการประกวดพันธุ์ข้าวทั่วโลก (World’s Grain Exhibition Conference) ที่เมืองเรจินา (Regina) ประเทศแคนาดา พันธุ์ข้าวไทยที่ชนะเลิศเป็นที่หนึ่งของโลกก็คือ พันธุ์ปิ่นแก้ว ซึ่งเป็นข้าวเจ้านาสวนเมล็ดยาว เนื้อแข็งมันเลื่อม ไม่เป็นท้องไข่ เปลือกและปลอกบาง เมล็ดไม่บิดโค้ง ไม่มีเมล็ดแดงปนและน้ำหนักเมล็ดดี (ภักดี,2539) และได้รางวัลอื่น ๆ อีกรวม 11 รางวัล ทำให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวนาสวน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2454-2465 ด้วยการรวบรวมข้าวพันธุ์ดีจากทั่วประเทศจำนวน 4764 ตัวอย่าง ทำการคัดเลือกเอาเฉพาะตัวอย่างที่มีลักษณะดีไว้เพียง 482 ตัวอย่าง สำหรับปลูกศึกษาคัดเลือกพันธุ์ หลังจากปลูกทดสอบอยู่ 3 ปี จึงได้พันธุ์ข้าวดีเยี่ยมเพียง 8 พันธุ์ ได้แก่พันธุ์พวงเงินทองระย้า ดำ ขาวทดลอง จำปาซ้อน ปิ่นแก้ว บางพระ น้ำดอกไม้ และนางตานี (ภักดี,2539)สำหรับการขยายพันธุ์ให้เกษตรกรปลูก พันธุ์ข้าวทั้ง 8 พันธุ์นี้จึงเป็นพันธุ์ข้าวชุดแรกที่ขยายพันธุ์และแนะนำให้เกษตรกรปลูกอย่าง เป็นทางการในปี พ.ศ. 2478 (สุวิตร,2525) ด้วยวิธีการประเมินผลผลิตของสายพันธุ์ดีเด่นจากการคัดเลือก โดยคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี และมีคุณภาพของเมล็ดเป็นที่ยอมรับ วิธีการคัดเลือกเป็นวิธีการที่ใช้ในการบำรุงพันธุ์ข้าวในยุคต้น ๆ การคัดเลือกพันธุ์ข้าวโดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวท้องถิ่นซึ่งมีทั้งข้าวนาสวนและ ข้าวชื้นน้ำ ยังคงดำเนินการต่อมาและมีการรับรองและแนะนำพันธุ์ข้าวมาเรื่อย ๆ เช่น พันธุ์ข้าวนาสวนที่รู้จักกันดี ได้แก่ พันธุ์นางมาล เอส -4 ขาวตาแห้ง 17 หรือพันธุ์ที่มีคุณภาพเป็นที่นิยมอย่างสูง เช่น ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ขาวเหนียวสันป่าตองเป็นต้นส่วนพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ เช่น มะลิทอง มะลิอ่อง จำปา (จีน) และ (เจ๊ก) กอกพ้อม

การปรับปรุงพันธุ์ข้าว ก่อนที่จะมีการผสมพันธุ์ข้าวในไทย มีการส่งพันธุ์ข้าวไปผสมพันธุ์ที่เมือง Cuttack ประเทศอินเดีย สำหรับในประเทศไทย การผสมพันธุ์เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2497 ที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง และปี พ.ศ. 2498 ที่สถานีทดลองข้าวบางเขน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับผลผลิตให้สูงขึ้น โดยใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทย แต่ก็ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2509 ได้นำข้าวรูปแบบต้นเตี้ยจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI,International Rice Research Institute) เช่น ข้าว IR8 ซึ่งให้ผลผลิตสูง มาเป็นพันธุ์พ่อในการผสมพันธุ์ ทำให้ได้พันธุ์ผสม (เดิมเรียกข้าวลูกผสม แต่เมื่อมีการค้นพบข้าวลูกผสม คือ Hybrid Rice จึงเรียกข้าวลูกผสมเฉพาะข้าวชั่วที่ 1 หรือ F1 Hybrid Rice เท่านั้น) ที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ และมีความสามารถต้านทานโรคและแมลงด้วย ถึงแม้คุณภาพเมล็ดและคุณภาพในการหุงต้ม ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ได้พันธุ์ข้าวในรูปแบบใหม่ และใช้แก้ปัญหาการระบาดของโรคใบสีส้ม ปี พ.ศ. 2518 กข 7 แก้ปัญหาโรคขอบใบแห้ง กข 23 แก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และยังมีพันธุ์ผสมอีกมากมาย รวมทั้งพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงมีลักษณะความต้านทานโรคและแมลงหลากหลายชนิดมี ลักษณะเป็นข้าวหอม มีคุณภาพดีพิเศษ ตามลักษณะของข้าวไทย และอายุเหมาะสำหรับการปลูกในเขตนาชลประทาน

นอกจากนี้ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวยังได้ใช้วิธีการชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กรรมพันธุ์ โดยใช้กัมมันตภาพรังสี โดยเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2498 ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2520 มีการรับรองพันธุ์ข้าวนาน้ำฝน 2 พันธุ์ คือ กข 6 และ กข 15 และในปี 2524 คือ กข 10 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวสำหรับนาชลประทานและยังมีงานวิจัยข้าวลูกผสม (Hybrid Rice) ได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2522 รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2525 ได้เริ่มงานนี้โดยเฉพาะด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้มีการพัฒนามาตามลำดับโดยส่วนใหญ่จะมี วัตถุประสงค์ดังนี้
1.มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง เช่น รวงต่อกอมาก รวงใหญ่ ระแง้ถี่ เมล็ดต่อรวงมาก และเมล็ดมีน้ำหนักดี
2. รักษาลักษณะคุณภาพเมล็ดให้มีคุณภาพดี ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น เมล็ดเรียวยาว คุณภาพการสีดี คุณภาพหุงต้มเป็นที่ต้องการของตลาด มีท้องไข่น้อย
3. ต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญ เช่น โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและแมลงบั่ว เป็นต้น
4. ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา เช่น ทนแล้ง ทนดินเปรี้ยวและดินเค็ม ทนน้ำท่วมฉับพลับเป็นต้น
5.มีลักษณะรูปแบบต้นที่ดี ที่เหมาะสมกับการปลูกในนิเวศน์ต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวนาชลประทานข้าวนาน้ำฝน ข้าวไร่ ข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึก

. วิธีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว
ข้าวเป็นพืชที่มีการผสมตัวเอง การปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่หรือพันธุ์ที่ดีกว่าเดิมนั้น มีวิธีการดังนี้
2.1.1 การรวบรวมพันธุ์และการนำพันธุ์ข้าวมาจากที่อื่น (Collection and Introduction)
2.1.2 การคัดเลือกพันธุ์ (Selection)
2.1.3 การผสมพันธุ์ (Hybridization) และการคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมที่กระจายตัว
2.1.4 การชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ (Induced Mutation)
2.1.5 การใช้เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม (Biotechnology and Genetic Engineering)
2.1.6 การสร้างพันธุ์ข้าวลูกผสม (Hybrid Rice)



1.1 การรวบรวมพันธุ์และการนำพันธุ์ข้าวมาจากที่อื่น (Collection and Introduction)
เป็นการนำพันธุ์ข้าวจากแหล่งหนึ่งไปปลูกยังอีกแหล่งหนึ่ง โดยพันธุ์ที่นำมานี้อาจนำมาจากในประเทศหรือจากต่างประเทศ นำมาปลูกทดลองคัดเลือก ถ้าพันธุ์ใดให้ผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ดดี และปรับตัวได้ดี ก็จะได้รับการนำไปเพราะปลูกและขยายเมล็ดพันธุ์เผยแพร่ให้เกษตรกรปลูกต่อไป ส่วนพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมแต่มีลักษณะดีเด่นบางอย่างหรือเฉพาะอย่าง ก็จะนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยวิธีการอื่น ๆ ต่อไป แหล่งเชื้อพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศ ที่ได้นำเข้ามาปรับปรุงพันธุ์ ส่วนใหญ่จะนำมาจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI., International Rice Research Institute) พันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่จะได้จาก Collection และ Introduction เพื่อการเพาะปลูกอย่างกว้างขวาง อาจได้จากวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้คือ
1) โดยการนำพันธุ์ข้าวที่นำเข้ามาแล้วปรับตัวได้ดี มาปลูกทำพันธุ์ต่อโดยตรง
2) โดยการคัดเลือกหาสายพันธุ์ที่ต้องการจากพันธุ์ข้าวต่าง ๆที่นำเข้ามาจำนวนมาก
3) โดยการใช้สายพันธุ์ที่นำเข้ามาเป็นพ่อแม่ในการผสมพันธุ์

1.2 การคัดเลือกพันธุ์ (Selection)
พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกอยู่นั้นอาจมีความแปรปรวนทางพันธุกรรม (Genetic Variability ) ของลักษณะต่าง ๆ ปรากฏอยู่ซึ่งความแปรปรวนนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุคือ
- การประปนของ Genotypes ต่าง ๆ (Mechanical Mixture)
- การผสมข้ามกับพันธุ์อื่น ๆ ในสภาพธรรมชาติ (Natural Out- crossing) ซึ่งมีผลทำให้เกิด Genetic Recombination ขึ้นได้
- การผ่าเหล่า (Mutation) ซึ่งทำให้เกิด Genotype ใหม่ ๆ

จากการที่พันธุ์ข้าวมีลักษณะทางพันธุ์ กรรมแปรปรวนนี้ จึงต้องพึ่งพาความสามารถในการคัดเลือกหรือการแยกเอาพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่นออกมาจากพืชจำนวนมากด้วยกัน ก็ต้องอาศัยวิธีการคัดเลือกซึ่งมีอยู่ 2 วิธี
1) การคัดพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure Line Selection)
2) การคัดพันธุ์หมู่ (Mass Selection)


1) การคัดพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure Line Selection)
เป็นการคัดเลือกหาพันธุ์ใหม่จากพืชพันธุ์ที่มีอยู่เดิม โดยคัดเลือกมาจากต้นข้าวเพียงต้นเดียว ซึ่งวิธีการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิด Genotype ใหม่ ๆ เพียงแต่เป็นการคัดเลือกหา Genotype ที่ดีที่สุดที่ปรากฏอยู่แล้ว Mixed Population โดยวิธีการดำเนินการ 3 ขั้นตอน (รูปที่ 1)

1. คัดเลือกต้นข้าวที่มีลักษณะดีที่ต้องการจากประชากรที่มีความแปรปรวนในลักษณะ ต่าง ๆ อยู่แล้ว (Variable Population) โดยวิธีคัดเลือกต้นข้าวเป็นต้น ๆ ไป (Single-plant Selection) แล้วเลือกต้นข้าวที่ต้องการไว้จำนวนมากที่สุด และเก็บเกี่ยวเมล็ดแยกกันต่างหาก

2. นำเมล็ดที่ได้จากแต่ละต้นมาปลูกเป็นแถว ๆ เลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะต่าง ๆ ตามต้องการไปปลูกต่อหลาย ๆ ชั่ว สายพันธุ์ใดที่ไม่ดีก็คัดทิ้งไป และอาจมีการทดสอบความต้านทานต่อโรคบางอย่างด้วย เพื่อจะช่วยคัดทิ้งสายพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคออกไป จะได้ลดจำนวนสายพันธุ์ให้น้อยลงในการทดสอบขั้นต่อไป ในแต่ละชั่วก็ยังคงคัดเลือกต้นข้าวเป็นต้น ๆ จนกระทั่งได้สายพันธุ์ที่บริสุทธิ์

3.นำสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ไปปลูกเปรียบเทียบความสามารถใน การให้ผลผลิตและลักษณะอื่น ๆร่วมกับพันธุ์เดิมและพันธุ์มาตรฐาน สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและลักษณะดีก็จะนำไปขยายพันธุ์และพิจารณาเป็น พันธุ์ใหม่ต่อไป

2) การคัดพันธุ์หมู่ (Mass Selection)
วิธีนี้จะคัดเลือกข้าวที่มีลักษณะที่ปรากฏออกมาในข้าวแต่ละ ต้นที่เหมือนกันนำเมล็ดที่เก็บเกี่ยวจากต้นที่คัดเลือกไว้มารวมกันเพื่อไว้ ปลูกต่อไป (รูปที่ 2) โดยไม่มีการทดสอบในชั่วลูก (Progeny Test) วิธีนี้ข้าวแต่ละต้นจะมีลักษณะต่าง ๆ ที่มองเห็นเหมือน ๆ กัน แต่ลักษณะทางพันธุกรรมอาจแตกต่างกัน พันธุ์ที่ได้จะมี Genetic Diversity ค่อนข้างสูง จุดประสงค์สำคัญของการคัดพันธุ์หมู่ก็เพื่อที่จะปรับปรุงลักษณะโดยทั่ว ๆ ไป ของกลุ่มของพืชให้ดีขึ้นกว่าเดิม ประโยชน์ที่สำคัญของวิธีนี้คือ

-ใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองได้ผลรวดเร็วดี โดยนำมากำจัดข้าวบางส่วนของพันธุ์เดิมที่มีลักษณะเลว ๆ ออกไป เช่น กำจัดลักษณะข้าวเจ้าออกไปจากพันธุ์ข้าวเหนียว เป็นต้น

-ใช้ในการทำพันธุ์ให้บริสุทธิ์ (Purification) ในข้าวบางพันธุ์ที่ใช้ปลูกอยู่ นาน ๆ ไปอาจมีเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ลดลง เนื่องจากการปะปนของพันธุ์อื่นหรือการผสมข้ามกับพันธุ์อื่นหรือมีการผ่า เหล่าเกิดขึ้น เราอาจนำวิธีนี้มาใช้ โดยการคัดพันธุ์ที่ไม่ต้องการทิ้งไปแล้วเก็บเกี่ยวเฉพาะพวกที่ต้องการไว้นำ เมล็ดมารวมกัน อาจทำไปหลาย ๆ ชั่ว จนกว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจ

1.3 การผสมพันธุ์ (Hybridization) และการคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสม
เป็นวิธีการที่นำพันธุ์ต่าง ๆ มาผสมกัน (Artificial Hybridization) เพื่อจะให้ลักษณะดี ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพันธุ์ข้าวหรือพืชต่าง ๆ Species มีโอกาสมาอยู่รวมกันในพันธุ์เดียวกัน หรือสายพันธุ์เดียวกันซึ่งมีผลจาการจัดชุดใหม่ของยีน (Gene Recombination) โดยมีความหวังว่าจะมีลักษณะดี ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในพ่อแม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก Transgressive Segregation หรือ Gene Interaction ต้นข้าวในชั่วที่ 1 (F1 Generation) ในแต่ละคู่ผสมจะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน การกระจายตัวทางพันธุกรรม (Genetic Segregation) ในประชากรจะเริ่มปรากฏตั้งแต่ชั่วที่ 2 (F2 Generation) เป็นต้นไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 12:42:54
เมื่อเลือกพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่ที่จะนำมาผสมพันธุ์แล้ว ก็พิจารณาเลือกแบบของการผสมพันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ ซึ่งมีหลายแบบ คือ

- การผสมเดียว (Single Cross) เป็นการผสมระหว่างข้าว 2 พันธุ์ เช่น ผสมพันธุ์ระหว่างเหลือทองกับ IR8

- การผสมสามทาง (Three-way Cross or Top Cross) เป็นการผสมข้าวพันธุ์ที่ 3 เพื่อเพิ่มบางลักษณะลงในข้าวพันธุ์ผสมเดี่ยว ชั่วที่ 1 (F1) ของคู่ผสม เพื่อรวมลักษณะต่าง ๆ หลายอย่างไว้ด้วยกัน

- การผสมกลับ (Back Cross Method) การปรับปรุงพันธุ์แบบผสมกลับนี้ จะทำการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะต่าง ๆ ดีอยู่แล้ว แต่ยังขาดบางลักษณะหรือยีนส์บางอย่างอยู่ เช่น ความต้านทานต่อโรคหรือแมลง จึงนำเอาพันธุ์ดีดังกล่าวมาใช้เป็น Recurrent Parent นำไปผสมกับพันธุ์หรือสายพันธุ์อื่นที่มีลักษณะที่ต้องการอยู่เป็น Donor Parent เมื่อได้ F1 แล้วจึงผสมกลับไปหา Recurrent Parent ทำการคัดเลือกหาต้นที่มีลักษณะที่ต้องการ แล้วผสมกลับไปหา Recurrent Parent อีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ 5-6 ครั้ง หรือมากกว่า จนได้ลักษณะส่วนใหญ่ของ Recurrent Parent กลับคืนมา เมื่อสิ้นสุดการผสมกลับครั้งสุดท้ายแล้วยีนส์ที่ต้องการถ่ายทอดจะยังคงอยู่ ในสภาพ Heterozygous ต้องปล่อยให้มีการผสมตัวเองต่ออีกหนึ่งชั่วจึงจะมี Homozygous Genotype สำหรับยีนส์ที่ต้องการเกิดขึ้น เมื่อทำการคัดเลือกต่อก็จะได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะต่าง ๆ ของ Recurrent Parent อยู่ พร้อมทั้งลักษณะใหม่จาก Donor Parent ด้วย

หลังจากผสมพันธุ์แล้วก็จะปล่อยให้ข้าวลูกผสมชั่วที่ 1 ผสมตัวเองและคัดเลือกต้นที่ลักษณะตามต้องการซึ่งจะมีการกระจายตัวในลักษณะ ต่าง ๆ ตั้งแต่ชั่วที่ 2เป็นต้นไป การคัดเลือกพันธุ์ผสมอาจทำได้ 4 วิธี คือ


1) การคัดพันธุ์ข้าวแบบสืบตระกูล (Pedigree Method)
เป็นการคัดเลือกหาต้นที่มีลักษณะดีในทุก ๆ ชั่วโดยเริ่มจาก F2 โดยทำการคัดเลือกข้าวเป็นต้นและนำไปปลูกต้นต่อแถวต่อไป (รูปที่ 3) ตามขั้นตอนดังนี้
- คัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะดีตามต้องการมาผสมพันธุ์กัน
- ปลูกข้าวลูกผสมชั่วที่ 1 แบบ Hybrid Check Plot คือปลูกพันธุ์แม่และพันธุ์พ่อขนาบต้นลูกผสมชั่วที่ 1 เกี่ยวต้นที่เหมือนต้นแม่ทิ้ง เก็บเมล็ดทั้งหมด ปลูกฤดูกาลต่อไป
- ปลูกข้าวลูกผสมชั่วที่ 2 เลือกเก็บเกี่ยวรวงข้าวจากต้นข้าวแต่ละต้นที่มีลักษณะดีที่ต้องการแยกกันไว้
- ปลูกข้าวลูกผสมชั่วที่ 3 โดยนำเมล็ดจากแต่ละต้นในชั่วที่ 2 มาปลูกเป็นแถว คัดเลือกต้นข้าวที่มีลักษณะดีเก็บเมล็ดแต่ละต้นแยกกันไว้
- ปลูกข้าวลูกผสมชั่วที่ 4-5 และคัดเลือกเช่นเดียวกับชั่วที่ 3
- ปลูกข้าวลูกผสมชั่วที่ 6 คัดเลือกแถวที่มีลักษณะดีที่ต้องการ เก็บเกี่ยวเมล็ดทั้งแถวในแปลงที่มีความสม่ำเสมอดี แล้วนำไปปลูกศึกษาพันธุ์
- ปลูกข้าวลูกผสมชั่วที่ 7 แบบศึกษาพันธุ์ คัดเลือกสายพันธุ์ดี ที่มีความสม่ำเสมอไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตต่อไป
- ปลูกข้าวลูกผสมชั่วที่ 8-12 ที่มีความสม่ำเสมอแบบทดสอบผลผลิตร่วมกับสายพันธุ์อื่น ๆและพันธุ์มาตรฐาน ทั้งในสถานีทดลอง ระหว่างสถานี และในนาเกษตรกร นำสายพันธุ์ ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง และมีลักษณะดีตามต้องการไปพิจารณาแนะนำให้เกษตรกรปลูกต่อไป

2) การคัดพันธุ์แบบรวม (Bulk Method)
ปลูกข้าวพันธุ์ผสมในชั่วที่ 2-4 แบบรวมกันและเก็บเมล็ดมารวมกัน โดยไม่มีการคัดเลือกในแต่ละชั่วอายุ (รูปที่ 4 ) จนกระทั้งชั่วที่ 4 หรือ 5 ต้นข้าวที่ปลูกก็จะมีการคัดเลือกตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพราะต้นข้าวที่ได้จะมีลักษณะเป็น homozygous แล้ว จึงนำไปปลูกต้นต่อแถวในชั่วที่ 5 หรือ 6 และศึกษาพันธุ์ในชั่วที่ 6 หรือ 7 และเปรียบเทียบผลผลิตในชั่วที่ 7 หรือ 8-12 เช่นเดียวกับการคัดพันธุ์แบบสืบตระกูล

การคัดพันธุ์แบบรวมนี้เป็นวิธีการที่สะดวกในการดำเนินการ ในระยะชั่วแรก ๆ ในกรณีที่นักปรับปรุงพันธุ์มีจำนวนคู่ผสมที่จะต้องคัดเลือกเป็นจำนวนมาก แต่จะต้องปลูกประชาการในแต่ละชั่วอายุให้มากเพราะไม่มีการคัดเลือกในชั่วแรก ๆ ซึ่งอาจทำให้สูญเสีย Genotype ที่ดี ๆ ไป และการคัดเลือกแบบนี้จะเป็นการให้ธรรมชาติช่วยคัดเลือกให้แต่เพียงอย่าง เดียว นักปรับปรุงพันธุ์จึงอาจช่วยคัดเลือกไปด้วย โดยคัดเลือกต้นที่มีลักษณะดีที่ต้องการ และเก็บเมล็ดจากต้นเหล่านั้นรวมกัน แล้วนำไปปลูกต่อไป ซึ่งอาจจะแยกเป็นพวก ๆ เช่น พวกอายุเบา อายุกลาง หรืออายุหนักได้อีกด้วย วิธีการนี้อาจเรียกว่า Modified Bulk Method นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงวิธีการคัดพันธุ์แบบรวมไปใช้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า Bulk Population โดยจะใช้ในกรณีที่มีพันธุ์ที่ต้องการใช้ในการผสมพันธุ์เป็นจำนวนมาก และการเลือกคู่ผสมเฉพาะบางคู่อาจไม่ได้ลักษณะที่ต้องการ การคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมทุก ๆคู่ เป็นการเสียเวลาและแรงงาน ก็แก้ไขโดยการผสมพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมดในทุก ๆ Combination เช่น ถ้ามีอยู่ 5 พันธุ์จะได้คู่ผสมทั้งหมด 10 คู่ผสมก็นำเมล็ดชั่วที่ 2 จากแต่ละคู่ผสมจำนวนเท่ากันมารวมกัน เรียกคู่ผสมลักษณะแบบนี้ว่า Composite Cross นำเมล็ดพันธุ์ไปปลูก ซึ่งควรปลูก 10,000 ต้นขึ้นไป เพราะมีความแปรปรวนทางพันธุกรรมกว้าง แล้วเก็บเกี่ยวเมล็ดรวมกัน เมื่อปลูกคัดเลือกได้ 8-10 ชั่วอายุ ก็สามารถนำไปทดสอบผลผลิตได้


3) การปลูกและคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมแบบเร่งชั่วอายุ (Rapid Generation Advance หรือ RGA)
ข้าวพันธุ์ผสมที่มีพ่อหรือแม่เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง หรือทั้งพ่อ-แม่เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ซึ่งปกติมักจะทำการผสมพันธุ์ขาวในฤดูนาปี เมื่อนำเมล็ดที่ผสมไปปลูกเป็นชั่วที่ 1 ในฤดูการปลุกต่อไป คือ ฤดูนาปรัง ข้าวพันธุ์ผสมจะไม่ออกดอก จำเป็นต้องปลูกแต่ละชั่วอายุในฤดูนาปีเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ผสมที่มีพ่อ-แม่ เป็นข้าวไวต่อช่วงแสงทำให้ต้องใช้เวลาหลายปีในการปลูกและคัดเลือกให้ได้สายพันธุ์ที่อยู่ตัว

การปลูกแบบเร่งชั่วอายุสามารถย่นระยะเวลาในการปลูกและคัดเลือกให้ได้สาย พันธุ์ที่อยู่ตัวเร็วขึ้นเพราะในเวลา 1 ปี สามารถปลูกได้ 3-4 ชั่วอายุ การปลูกและคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมแบบเร่งชั่วอายุเป็นการปลูกและคัดเลือกแบบ รวมหมู่ร่วมกับแบบสืบตระกูล ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้

นำเมล็ดที่ผสมได้ทั้งหมดไปปลูกเป็นชั่วที่ 1 ในกระถางเล็ก จำนวน 1 ต้น / กระถาง เมื่อต้นข้าวอายุประมาณ 15 วัน นำไปเข้าห้องมืดเพื่อชักนำให้เกิดรวง โดยนำเข้าห้องมืดตอน 17.00 น. แล้วนำออกจากห้องมืดเวลา 07.00 น. ทุกวันเป็นเวลา 21 วัน แล้วนำไปไว้ในกรงกันนกจนข้าวออกรวง ซึ่งจะใช้เวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 75-80 วัน เมื่อข้าวมีอายุพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว เก็บ 1 เมล็ดในแต่ละกอนำมารวมกันเพื่อนำไปปลูกในชั่วที่ 2 ต่อไป ทำเช่นเดียวกันนี้ ในทุกชั่วอายุจนถึงชั่วที่ 5 หรือ 6 จึงเก็บเกี่ยวทั้งกอ นำไปปลูกกอต่อแถว แบบสืบตระกูลตามปกติ เลือกกอที่มีลักษณะต่าง ๆ ดี นำไปศึกษาพันธุ์ต่อไป


การปลูกแบบเร่งชั่วอายุ อาจนำไปเข้าและออกจากห้องมืดตั้งแต่ชั่วที่ 1 ไปจนถึงชั่วที่ 6 ดังที่ได้กล่าวแล้ว หรือนำไปปลูกเร่งชั่วอายุในชั่วที่ ถึงชั่วที่ 5 หรือ 6 โดยในชั่วที่ 1 และ 2 ปลูกแบบปกติ คือ ชั่วที่ 1 ปลูกแบบ Hybrid Check plot เก็บเกี่ยวนำไปปลูกชั่วที่ 2 แบบรวมหมู่ประยุกต์ จำนวน 5,000 ต้น/คู่ผสม นำเมล็ดจากกอที่ได้เลือกไว้ว่ามีลักษณะต่าง ๆ ดี มารวมกัน นำไปปลูกแบบร่างชั่วอายุ จนถึงชั่วที่ 5 หรือ 6 จึงนำไปปลูกแบบสืบตระกูล เลือกกอที่มีลักษณะต่าง ๆ ดีนำไปศึกษาพันธุ์ต่อไป

4) การคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมโดยใช้โมเลกุลเครื่องหมาย
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านชีวโมเลกุล ช่วยให้นักวิจัยสามารถตรวจสอบพันธุกรรมของลักษณะที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น โมเลกุลเครื่องหมายได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างแผนที่โครโมโซมและกำหนดตำแหน่ง ของยีนที่ควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของพืชที่มีความสำคัญหลายชนิด เช่น ข้าว มะเขือเทศ พริก ข้าวโพด ฯลฯ และจากการศึกษาความสัมพันธ์ (Linkage) ระหว่างดีเอ็นเอเครื่องหมายและลักษณะที่สนใจก็จะสามารถนำดีเอ็นเอเครื่อง หมายมาใช้ในการคัดเลือกลักษณะนั้น ๆ ได้

1.4 การชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ (Induce Mutation)
เป็นวิธีการที่ทำให้ข้าวมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุ กรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจมีผลทำให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง สูญหาย หรือการเพิ่มจำนวนของยีนบนโครโมโซม Gene Mutation อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงจากยีนเด่นเป็นยีนด้อย หรือยีนด้วยเป็นยีนเด่น แต่ลักษณะของยีนเด่นเป็นยีนด้วยค่อนข้างจะมีโอกาสพบได้มากกว่า การชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์อาจทำได้โดย
- ใช้กัมมันตภาพรังสี เช่น X-rays, Neutrons และ Gamma Rays
- ใช้สารเคมี เช่น Ethyl Methane Sulfonate (EMS), Methyl Methane Sulfonate (MMS)

ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยวิธีนี้ได้แก่ การเป็นข้าวเหนียวและข้าวเจ้า อายุเบา และอายุหนักต้นสูงและต้นเตี้ย และยังมีการใช้รังสีแกรมม่า ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ต้านทานโรคไหม้ด้วย (Wong and Xian.,1986)
การคัดเลือกก็จะปลูกคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่ได้เหมือน กับการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ได้จากการผสมพันธุ์

1.5 การใช้เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม (Biotechnology and Genetic Engineering)
เป็นวิธีการสมัยใหม่วิธีหนึ่งในการปรับปรุงพันธุ์ โดยการสร้างพันธุกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น โดยอาศัยเทคนิคการเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) การเชื่อมโปรโตพลาสต์เข้าด้วยกัน (Protoplast Fusion) และการใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) การใช้เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรมอาจจะช่วยลดระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์ ข้าวพันธุ์ใหม่แต่ละพันธุ์ให้สั้นลงได้ โดยได้ลักษณะพันธุ์ข้าวตามต้องการได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบันยังดำเนินการเป็นผลสำเร็จไปได้ไม่มากนัก ยังมีความจำเป็นต้องศึกษาและวิจัยต่อไป

1.6 การสร้างพันธุ์ข้าวลูกผสม (Hybrid Rice)
ข้าวลูกผสม หรือ Hybrid Rice หมายถึง ข้าวลูกผสมชั่วที่ 1 (F1) ที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อแม่ที่มีพื้นฐานทางพันธุกรรม (Genetic Background) ต่างกัน ซึ่งในทางทฤษฎีเมื่อนำพ่อแม่ที่มีความแตกต่างกันมาผสมพันธุ์กัน ลูกผสมชั่วที่ 1 จะมีความแข็งแรงหรือมีความดีเด่นในลักษณะบางอย่าง เช่น ผลผลิตเหนือกว่าพ่อแม่ (Hybrid Vigor หรือ Heterosis) ซึ่งอาจเป็นความดีเด่นเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของพ่อแม่ หรืออาจเหนือกว่าพ่อหรือแม่ที่ดีกว่า การผลิตข้าวลูกผสมจะต้องประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ คือ
1) การสร้างสายพันธุ์เรณู เป็นหมัน โดยปกติสายพันธุ์เหล่านั้นจะเป็น Cytoplasmic Genetic Male Sterile Line หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า CMS Line หรือ Line

2) การสร้างสายพันธุ์รักษาสายพันธุ์เรณูเป็นหมัน (Maintainer Line) หรือเรียกกันว่า B Line ซึ่ง B Line นี้จะมีลักษณะทุกอย่างเหมือนกับ A Line ยกเว้นแต่จะมี Cytoplasm ปกติ

3) การสร้างสายพันธุ์แก้ความเป็นหมัน (Fertility Restoring Line) หรือเรียกกันว่า R Line สายพันธุ์ข้าวนี้จะมียีนซึ่งเรียกว่า Restorer Gene ซึ่งเมื่อนำมาผสมพันธุ์กับ A Line แล้วจะให้ลูกผสม F1 ซึ่งไม่เป็นหมัน

4) การนำสายพันธุ์ข้าวทั้ง A B และ R Lines มาใช้ในการผลิตข้าวลูกผสม จะต้องมีการศึกษาถึง Combining Ability ของสายพันธุ์ข้าวที่ใช้ เพื่อให้ได้ลูกผสมที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงโดยปกติข้าวลูกผสมควรให้ผล ผลิตสูงกว่าพันธุ์แท้ที่ให้ผลผลิตสูงไม่น้อยกว่า 15-20 % นอกจากนี้วิธีการผลิต เช่น อัตราส่วนของพันธุ์ A และ R อายุวันออกดอกเป็นสิ่งละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับการให้ผลผลิตสูงของข้าว ลูกผสมทั้งสิ้น


2. ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์
2.1 การคัดเลือกพันธุ์
สายพันธุ์ข้าวที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการต่าง ๆ และได้ทำการคัดเลือกตามวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว จนได้สายพันธุ์ที่คงตัวแล้ว จะนำไปทำการศึกษาพันธุ์และเปรียบเทียบผลผลิตต่อไป

2.2 การศึกษาพันธุ์ (observation)
การศึกษาพันธุ์เป็นการศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ที่สำคัญ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะต่าง ๆ ที่ดีนำไปเปรียบเทียบผลผลผลิตภายในสถานีหรือระหว่างสถานีต่อไป การศึกษาพันธุ์ มี 2 ขั้นตอน คือ
1) การศึกษาพันธุ์ขั้นต้น (Single Row หรือ 2- Row Observation) การศึกษาพันธุ์ขั้นต้นจะปลูกข้าวสายพันธุ์ละ 1 หรือ 2 แถว โดยมีพันธุ์มาตรฐานเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ เพื่อศึกษาลักษณะต่าง ๆของสายพันธุ์ข้าว จะใช้ในข้าวพันธุ์ผสมที่ยังมีการกระจายตัวเล็กน้อย และจำนวนสายพันธุ์ที่อยู่ระหว่าง การคัดเลือกมีเป็นจำนวนมาก และมีความดีในลักษณะรูปแบบต้น และรูปร่างของเมล็ดใกล้เคียงกัน นำเมล็ดข้าวพันธุ์ผสมที่คัดเลือกจากชั่วที่ 4 หรือ 5 หรือ 6 สายพันธุ์ละ 1 กอ มาปลูกศึกษาพันธุ์แบบ 2 แถว จำนวน 1 หรือ 2 ซ้ำ โดยมีพันธุ์มาตรฐานเปรียบเทียบทุก 10 หรือ 20 สายพันธุ์ เช่นเดียวกับการปลูกข้าวพันธุ์ผสมแบบสืบตระกูล เพื่อศึกษาลักษณะต่าง ๆ ของพันธุ์ข้าว คือ ลักษณะรูปแบบทรงต้น วันออกดอก 50 % อายุที่เก็บเกี่ยวจริง ลักษณะเมล็ด การมีท้องไข่ และความต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญและคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะต่าง ๆ ดี โดยเก็บเกี่ยวสายพันธุ์ละ 1-4 กอ เพื่อนำไปศึกษาพันธุ์ 4 แถวต่อไป

2) การศึกษาพันธุ์ 4 แถว ( 4 –Row Observation) หรือการศึกษาพันธุ์ขั้นสูงเป็นการประเมินผลผลิตขั้นต้น หรือศึกษาลักษณะต่าง ๆ ของสายพันธุ์ข้าว ซึ่งผ่านการทดสอบจากการศึกษาพันธุ์แบบ 2 แถว หรือจากข้าวพันธุ์ผสมที่มีลักษณะคงตัวทางพันธุกรรมแล้ว โดยนำมาปลูกสายพันธุ์ละ 4 แถว จำนวน 1 ถึง 2 ซ้ำ มีพันธุ์มาตรฐานเปรียบเทียบทุกสายพันธุ์ที่ 10 หรือ 20 เลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะต่าง ๆ ตรงตามวัตถุประสงค์ และที่มีความสม่ำเสมอโดยเก็บเกี่ยว 2 แถวกลาง เว้นกอหัวท้าย เพื่อชั่งน้ำหนัก พร้อมทั้งเลือกเก็บเกี่ยวรวงจากแถวข้าง 2 แถว ประมาณ 100 รวง เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ส่วนนี้ไปเปรียบเทียบผลผลติสำหรับบางสายพันธุ์ที่ยังมี การกระจายตัวอยู่บ้าง ทำการเก็บเกี่ยว 1 กอ เพื่อนำไปปลูกศึกษาซ้ำ หลังจากกะเทาะดูท้องไข่แล้วพิจารณาข้อมูลทั้งผลผลิต การมีท้องไข่ และความต้านทานต่อโรคและแมลง เลือกสายพันธุ์ที่มีความดีเด่นกว่าพันธุ์ที่ส่งเสริมอย่างน้อยในลักษณะที่ สำคัญ 1 หรือ 2 ลักษณะ และมีลักษณะอื่น ๆ ใกล้เคียงกัน เพื่อนำไปประเมินต่อในชั้นเปรียบเทียบผลผลิต

2.3 การเปรียบเทียบผลผลิต มี 3 ขั้นตอน คือ
1) การเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี (Intra-station Yield Trials)
2) การเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี (Inter-station Yield Trals)
3) การทดสอบผลผลิตในนาเกษตรกร (Former Yield Trials or On-Farm Trials)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 12:44:28
การผสมพันธุ์ข้าว

จะว่าไปแล้ว เกษตรกรรู้จักวิธีการคัดเลือกพันธุ์และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองเป็นเวลาช้านาน โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพันธุ์หลายปัจจัยซึ่งได้แก่ การคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก การคัดเลือกตามความต้องการบริโภค รวมทั้งการคัดเลือกตามความต้องการนำไปใช้ประโยชน์ จากหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวจึงทำให้ชาวนามีการรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้หลากหลายพันธุ์และมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นมาหลายชั่วอายุคน


แต่สถานการณ์การผลิตในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม มีการจัดการแหล่งน้ำระบบชลประทานที่ดี ปัจจัยการผลิตเครื่องมือที่ทันสมัยและมีรูปแบบการผลิตที่เน้นเชิงพาณิชย์มากขึ้น แต่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีข้อจำกัดในการปลูกได้เฉพาะฤดูนาปี และข้อจำกัดในการให้ผลผลิตที่ต่ำไม่เหมาะสมกับระบบการผลิตในเขตชลประทาน สถานการณ์ในปัจจุบันจึงมีความจำเป็นในการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้มีความเหมาะสมกับระบบการผลิตแบบใหม่โดยยังคงข้อดีของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้เช่น ให้มีคุณภาพเมล็ดดี คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม และมีความสามารถในการปรับตัวในพื้นที่ได้ดี เป็นต้น

การผสมพันธุ์ข้าวเป็นวิธีการสร้างข้าวพันธุ์ใหม่ที่รวมลักษณะเด่นต่าง ๆ ไว้ในพันธุ์เดียวกัน หลักสำคัญของการผสมพันธุ์คือ การสร้างความผันแปรที่เกิดจากการจับคู่ใหม่ของยีน ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะแตกต่างกันจำนวนมากมายในรุ่นลูกรุ่นหลาน ลักษณะความแตกต่างดังกล่าวจะมีทั้งลักษณะดีกว่าหรือด้อยกว่าพ่อแม่ ซึ่งสามารถคัดเลือกแยกออกจากกันได้โดยการนำข้าวลูกผสมที่ได้ มาปลูกคัดเลือกหาพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะที่ต้องการปลูกคัดเลือกประมาณ 6-8 รุ่น ทั้งนี้เพื่อความนิ่งทางสายพันธุ์ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพเมล็ด คุณภาพการหุงต้มไปพร้อมกัน หลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ รับรองพันธุ์แล้วจึงจะได้ข้าวพันธุ์ใหม่ตามที่ต้องการ


ขั้นตอนการปฏิบัติการผสมพันธุ์ข้าว
1. การเตรียมพ่อแม่พันธุ์ข้าว
ขั้นตอนการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ข้าวประกอบด้วยขั้นตอนตั้งแต่ การรวบรวมพันธุ์ การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการผสมพันธุ์ การเตรียมพ่อแม่พันธุ์ และการปลูกพ่อแม่พันธุ์ ในแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้

1.1 การรวบรวมพันธุ์
ต้องมีการรวบรวมพันธุ์และนำมาปลูกทดสอบเพื่อศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์ การให้ผลผลิต ความสามารถในการต้านทานโรคแมลงซึ่งสามารถนำข้อมูลประกอบในการคัดเลือกเพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป

1.2 การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการผสมพันธุ์
คือการกำหนดความต้องการพันธุ์ข้าวในอุดมคติ หรือพันธุ์ข้าวในฝันนั่นเอง หลักเกณฑ์ทั่วไปในการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้ตอบสนองต่อระบบการผลิต เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก การให้ผลผลิตดี คุณภาพเมล็ด คุณภาพการหุงต้มรสชาติดี สามารถต้านทานโรค และแมลง สามารถปลูกได้ไม่จำกัดฤดูกาล เป็นต้น

1.3 การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
หัวใจสำคัญของการผสมพันธุ์ข้าวคือ จะต้องทราบข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ ข้อดี ข้อด้อย ของข้าวแต่ละพันธุ์ เพื่อใช้ในการคัดเลือกเป็นพ่อแม่พันธุ์ และการกำหนดคู่ผสมให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เช่น ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวชนิดข้าวเจ้า ปลูกได้ปีละครั้ง คุณภาพเมล็ดดี การหุงต้มมีกลิ่นหอมรสชาติดี ต้นสูง ล้มง่าย ผลผลิตต่ำ ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี การคัดเลือกพันธุ์ที่จะใช้เป็นคู่ผสมจะต้องเพิ่มเติมข้อด้อยของพันธุ์ดังกล่าว เช่น ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่าย ผลผลิตดี สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี เป็นต้น

1.4 การปลูก พ่อแม่พันธุ์
หลังผ่านการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์แล้ว นำเมล็ดที่ได้มาปลูกในแปลงนาหรือในกระถาง การปลูกแต่ละพันธุ์ควรปลูกหลายรุ่น แต่ละรุ่นทิ้งช่วงห่างประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงในคู่ผสมที่ออกรวงไม่พร้อมกัน และให้สามารถผสมซ้ำในกรณีผสมไม่ติด กรณีที่ปลูกในแปลงนาควรย้ายปลูกลงกระถางก่อนข้าวออกรวงเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน

การผสมพันธุ์ข้าว
ขั้นตอนการผสมพันธุ์ข้าวต้องมีการเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์สำหรับการผสมพันธุ์ข้าว หลังจากนั้นจึงจะทำการตอนกำจัดเกสรตัวผู้ การผสมพันธุ์หรือการถ่ายละอองเกสร และการเก็บเกี่ยว มีรายละเอียดดังนี้
2.1 การเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ ประกอบด้วย
1. กรรไกร .......... 4. คลิปหนีบกระดาษ
2. ปากคีบ .......... 5. แผ่นป้ายพลาสติก
3. กระดาษแก้ว ..... 6. ดินสอดำ ....... 7.แว่นขยาย

2.2 การตอนกำจัดเกสรตัวผู้
เนื่องจากข้าวเป็นพืชผสมตัวเอง การที่จะผสมกับข้าวพันธุ์อื่นจำเป็นจะต้องกำจัดเกสรตัวผู้ออกก่อน เสร็จแล้วจึงนำเกสรตัวผู้จากพันธุ์อื่นมาผสม ต้นหรือรวงที่ถูกกำจัดเกสรตัวผู้ออกไปแล้ว เรียกว่าต้นแม่พันธุ์

วิธีการตอนกำจัดเกสรตัวผู้ เลือกรวงที่โผล่พ้นกาบใบธงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เลือกตัดดอกข้าวที่คาดว่าจะบานในวันรุ่งขึ้น โดยใช้กรรไกรตัดดอกประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของเมล็ด จากนั้นใช้ปากคีบ เขี่ยเกสรตัวผู้ทั้ง 6 อันออกให้หมด ในหนึ่งรวงเลือกตอนประมาณ 20-30 ดอก หลังตอนเสร็จใช้ถุงกระดาษแก้วคลุมรวงไว้ใช้คลิปหนีบถุงอีกครั้ง อาจใช้ไม้ไผ่ทำหลักประคองเพื่อป้องกันไม่ให้รวงหัก

2.3 การผสมพันธุ์หรือ การถ่ายละอองเกสร
ปกติดอกข้าวจะบานและมีการถ่ายละอองเกสรช่วงเวลาประมาณ 8.00-12.00 น. ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ อุณหภูมิแสงแดด ดอกข้าวจะไม่บานในวันที่อากาศหนาวเย็นหรือวันที่มีฟ้ามืดครึ้ม

วิธีการผสม
นำกระถางข้าวพ่อพันธุ์ที่ดอกกำลังบานหรือตัดช่อดอกพ่อพันธุ์ใส่ขวดแช่น้ำเตรียมรอไว้ เมื่อดอกข้าวเริ่มบานเกสรตัวผู้ทั้ง 6 อันจะเริ่มโผล่ชูอับละอองเกสรที่อยู่ส่วนบนก้านเกสรตัวผู้พร้อมที่จะแตก ซึ่งจะสังเกตลักษณะเป็นผงฝุ่นละอองสีเหลือง จากนั้นเปิดถุงคลุมรวงต้นแม่พันธุ์ออก แล้วนำช่อดอกตัวผู้ที่กำลังบานมาเคาะให้ฝุ่นละอองสีเหลืองตกใส่ดอกแม่พันธุ์ หรืออาจใช้ปากคีบ คีบดอกข้าวพ่อพันธุ์ที่กำลังบานนำมาเคาะใส่ในดอกต้นแม่พันธุ์ที่กำลังบาน

การตรวจสอบหากสังเกตเห็นฝุ่นละอองสีเหลืองเกาะบนยอดเกสรตัวเมียของต้นแม่พันธุ์แสดงว่าการถ่ายละอองในครั้งนั้นเสร็จแล้ว

หลังจากนั้นใช้ถุงกระดาษครอบรวงไว้เหมือนเดิม ผูกป้ายชื่อ พ่อแม่พันธุ์คู่ผสม วัน เดือน ปี ที่ทำการผสม หากเกสรตัวผู้ไม่เพียงพออาจผสมซ้ำอีก 1-2 วัน หลังการผสมแล้ว 1 สัปดาห์ สามารถตรวจสอบความสำเร็จได้ หากผสมติดรังไข่จะพัฒนาเป็นเมล็ดข้าว หลังจากนั้น 25-30 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามปกติ

2.4 การเก็บเกี่ยว
1. ก่อนเก็บเกี่ยวควรตรวจสอบ ป้ายชื่อ พันธุ์ว่าอยู่ครบหรือไม่
2. เก็บเกี่ยวใส่ถุงกระดาษ นำไปผึ่งแดดให้แห้งประมาณ 1-2 แดด
3. แช่ตู้เย็นไว้ประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อทำลายการพักตัวของเมล็ดข้าว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 12:48:26
ผสมพันธุ์ข้าว ตอนที่ 2

นักเรียนชาวนาขอให้เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆให้ครบให้พร้อม แต่ละอย่างก็สามารถหาได้โดยทั่วไป มีอะไรบ้างเอ่ย... มีกรรไกร ปากคีบ กระดาษแก้ว คลิปหนีบกระดาษ แผ่นป้ายพลาสติก และดินสอดำ รวม ๖ อย่าง เตรียมกระดาษแก้ว คลิปหนีบกระดาษ และแผ่นป้ายพลาสติกไว้มากจำนวนหน่อย

(http://static.flickr.com/47/167031190_1fff54d91c_m.jpg)

เครื่องมือสำหรับการผสมพันธุ์ข้าว


นักเรียนชาวนาบอกกันว่า เตรียมมามากเข้าไว้ก่อน เผื่อเหลือเผื่อขาด เห็นหลายคนซื้อกรรไกรใหม่มาเลยทีเดียว จะเอาไปตัดอะไรบ้างก็ไม่รู้ซินะ กรรไกรใหม่ๆ ท่าทางจะคมไม่เบา

พอเตรียมเครื่องไม้เครื่องมืออะไรต่างๆพร้อมและครบถ้วนดีแล้ว ขั้นตอนสำคัญเป็นเรื่องการตอนกำจัดเกสรตัวผู้ ก่อนขึ้นใคร่ขอทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อย เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในเรื่องข้าวกันก่อน

ข้าวเป็นพืชผสมตัวเอง การที่จะผสมกับข้าวพันธุ์อื่นจำเป็นต้องกำจัดเกสรตัวผู้ออกก่อน แล้วจึงจะสามารถนำเอาเกสรตัวผู้จากพันธุ์อื่นมาผสมได้ ต้นหรือรวงที่ถูกกำจัดเกสรตัวผู้ออกไปแล้ว เรียกว่า “ต้นแม่พันธุ์”

พอเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ก็จะเข้าสู่วิธีการตอนกำจัดเกสรตัวผู้ ให้เลือกรวงที่โผล่พ้นกาบใบธง ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เลือกตัดดอกข้าวที่คาดว่าจะบานในวันรุ่งขึ้น โดยใช้กรรไกรตัดดอก ประมาณ ๑ ใน ๓ ส่วนของเมล็ด

เมื่อตัดแล้ว ใช้ปากคีบ เขี่ยเกสรตัวผู้ทั้ง ๖ ตัว ออกให้หมด

ในรวงหนึ่งๆให้เลือกตอนประมาณ ๒๐ – ๓๐ ดอก

(http://static.flickr.com/45/167031191_3099e7205f_m.jpg)
การตัดดอกข้าว (ด้วยกรรไกร)

(http://static.flickr.com/60/167031192_042a754bee_m.jpg)
การเขี่ยเกสรตัวผู้ออก (ด้วยปากคีม)

หลังจากที่ได้ตอนเกสรตัวผู้ออกหมดแล้ว นำเอาถุงกระดาษแก้วคลุมรวงไว้ ใช้คลิปหนีบถุงด้วย เพื่อป้องกันลมพัดถุงหลุดร่วง รวงข้าวมีน้ำหนักพอสมควร นักเรียนชาวนาอาจจะใช้ไม้ไผ่ทำหลักประคองรวง เพื่อป้องกันไม่ให้รวงหัก

และต่อไปนี้ถึงขั้นตอนของการผสมพันธุ์หรือการถ่ายละอองเกสรแล้ว จึงใคร่ขอทำความเข้าใจในเรื่องดอกข้าวกันเล็กๆน้อยๆ

โดยปกติ ดอกข้าวจะบานและถ่ายละอองเกสรในช่วงเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. แต่ทั้งนี้ ข้าวแต่ละพันธุ์จะมีความแตกต่างกันไป ประกอบกับเรื่องอุณหภูมิ แสงแดด ดอกข้าวจะไม่บานในวันที่อากาศหนาวเย็น วันที่ฟ้ามืดครึ้ม

พอทราบหรือพอเห็นภาพแล้วว่าดอกข้าวจะบานเช่นไร คราวนี้มาเรียนรู้วิธีการผสมพันธุ์ เริ่มแรกนักเรียนชาวนาควรจะนำกระถางข้าวพ่อพันธุ์ที่ดอกกำลังบานหรือตัดช่องดอกพ่อพันธุ์ใส่ขวดแช่น้ำเตรียมรอเอาไว้เลย

เมื่อดอกข้าวเริ่มบาน เกสรตัวผู้ทั้ง ๖ ตัว จะเริ่มโผล่ชูอับละอองเกสร ซึ่งอยู่ส่วนบนก้านเกสรตัวผู้ พร้อมที่จะแตก ทั้งนี้สามารถสังเกตเห็นลักษณะจะเป็นผงละอองสีเหลือง

ให้เปิดถุงที่คลุมรวงต้นแม่พันธุ์ออก แล้วนำช่อดอกตัวผู้ที่กำลังบานมาเคาะให้ละอองสีเหลืองตกใส่ดอกแม่พันธุ์ หรือจะใช้ปากคีบ คีบดอกข้าวพ่อพันธุ์ที่กำลังบาน...นำมาเคาะใส่ในดอกต้นแม่พันธุ์ที่กำลังบาน

ในขั้นตอนนี้นักเรียนชาวนาสามารถตรวจสอบได้โดยสังเกตดูละอองสีเหลืองเกาะบนยอดเกสรตัวเมียของต้นแม่พันธุ์ ก็แสดงว่าการถ่ายละอองในครั้งนี้เสร็จแล้ว

(http://static.flickr.com/51/167031195_b07b21af8c_m.jpg)
การคลุมช่อดอกแม่พันธุ์

หลังการผสมแล้ว แล้วใช้คลิปหนีบถุง จากนั้นจึงนำถุงกระดาษแก้วครอบรวงไว้ พร้อมใช้คลิปหนีบไว้ดังเดิม แล้วผูกป้ายชื่อ โดยเขียนชื่อพ่อแม่พันธุ์คู่ผสม วันเดือนปีที่ทำการผสม

(http://static.flickr.com/55/167031197_0b2aeb2840_m.jpg)
ผูกป้ายชื่อ แสดงพ่อแม่พันธุ์คู่ผสมวันเดือนปีที่ทำการผสม

ในกรณีที่เกสรตัวผู้ไม่เพียงพออาจผสมซ้ำอีก ๑ – ๒ วัน หลังจากการผสมผ่านไปแล้ว ๑ สัปดาห์

นักเรียนชาวนาสามารถตรวจสอบความสำเร็จของการผสมพันธุ์ได้ หากผสมติด รังไข่จะพัฒนาเป็นเมล็ดข้าว หลังจากนั้น ๒๕ – ๓๐ วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามปกติ

เมื่อมาถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของช่วงที่ ๒ นี้ ซึ่งนักเรียนชาวนาจะเกี่ยวข้าวไปตามปกติ เพียงแต่เพิ่มการสังเกต เพิ่มความระมัดระวังอีกนิดหน่อย อย่างไรล่ะจึงถือได้ว่าเป็นการเพิ่มการสังเกตและความระมัดระวัง... ก่อนเกี่ยวข้าว ควรตรวจสอบป้ายชื่อพันธุ์ว่าอยู่ครบหรือไม่

เกี่ยวข้าวแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งประมาณ ๑ – ๒ แดด แล้วเก็บใส่ไว้ในถุงกระดาษ

แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นสักประมาณ ๒ สัปดาห์ หลายคนสงสัยอีกว่า ในเมื่อได้นำไปผึ่งแดดแล้ว เหตุใดจึงต้องนำไปแช่ตู้เย็นอีก ข้อสงสัยในประเด็นนี้ สามารถตอบให้ได้ว่า การนำข้าวไปแช่ตู้เย็น เพื่อจะทำลายการพักตัวของเมล็ดข้าว คำตอบนี้จึงช่วยคลายความสงสัยให้กับนักเรียนชาวนาได้

และแล้วก็มาถึงเรื่องราวสุดท้ายของกระบวนการทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องราวของการปลูกทดสอบคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสม ขั้นตอนนี้มีสำคัญเป็นอย่างมาก สำคัญอย่างไรนั้นโปรดคิดพิจารณากันต่อไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 14:54:51
กระทู้ดีน่าปักหมุด ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 15:29:44
อนุรักษ์พันธ์ข้าวตุ๊หล่าง

เกี่ยวกับการรักษาพันธุ์ข้าว การปรับแต่งสายพันธุ์ให้เหมาะสมครับ

I1E93EM8DJU



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 15:49:56
กระทู้ดีน่าปักหมุด ;D ;D
ปักเลยครับ สนับสนุน ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 15:53:00
คนบันดาลใจ: กฤษฎา รากแก่น ชีวิตเปลี่ยนได้ (เรื่องจริงที่อยากให้ทุกคนได้ดู)

กฤษฏา รากแก่น ชายหนุ่มวัย 30 ต้น ๆ เป็นชาวอำเภอเขื่องใน จ. อุบลราชธานี พื้นฐานครอบครัวประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่จำความได้ครอบครัวเขาก็ต้องเดินทางเร่ร่อนไปทำก่อสร้างตามเมืองใหญ่ ๆ ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเทพ เมื่อเรียนจบ ปวช.3 เขาก็ออกมาทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทำงานกินเงินเดือนหาเลี้ยงครอบครัว ต่อมาก็ออกมาทำก่อสร้างกับภรรยา ระหว่างที่กำลังทำงานรับจ้างอยู่ในเมือง ในใจเขาก็ร่ำร้องที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านนอกทำไร่ทำนาอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยพื้นฐานครอบครัวตัวเองที่ทำงานรับจ้างมาตลอดไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เขาก็ได้แต่รอ..แต่ไม่เคยเลิกหวัง วันหนึ่งกฤษฎาได้ดูรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งและได้ฟังพระราชดำรัสของในหลวงท่านเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงทำไร่นาสวนผสม ทำให้เขาเกิดกำลังใจและตามมุ่งมั่นจะมีวิถีชีวิตตามแนวพระราชดำริอย่างแรงกล้า เขาจึงตัดสินใจละทิ้งสังคมเมืองที่ต้องหาเช้ากินค่ำเป็นลูกจ้างรายวัน จูงมือครอบครัวออกมาจากวงจรการเป็นกรรมกรก่อสร้างมุ่งหน้าสู่วิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษคือการเป็นชาวนา โดยที่ตัวเองไม่มีต้นทุนชีวิตเลยสักอย่าง ทั้งความรู้เรื่องการทำเกษตร และที่ดินทำกินหรือเงินทุนและที่สำคัญคือ... เขาต้องอดทนต่อคำปรามาสจากพ่อแม่ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางชีวิตที่เขาเลือก เมื่อเขาพาครอบครัวกลับมาบ้านนอก พ่อของภรรยาก็แบ่งที่นาให้ 3 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งเป็นทรายไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เขาเริ่มต้นทำเกษตรโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขาทดลองปลูกพืชผักตามหนังสือหรือคำแนะนำแต่ก็ต้องเจอกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่านับร้อยครั้งพันครั้ง ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ สาเหตุสำคัญเพราะเขาไม่มีทุนทรัพย์จะมีก็เพียงแรงกายแรงใจเท่านั้น ระหว่างที่ฝันยังไม่เป็นจริงเขาก็ต้องหารายได้โดยการรับจ้างทำก่อสร้างบ้างก็ออกเก็บของเก่าสลับกันไปเพราะลูกเมียก็ต้องกินต้องใช้ ผู้คนในหมู่บ้านรวมทั้งครอบครัวภรรยาต่างก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำพากันดูถูกและหัวเราะกับความคิดของเขา แต่อุปสรรคต่างๆ ก็ไม่สามารถบั่นทอนความมุ่งมั่นของเขาได้แม้แต่น้อย ในกลับกันอุปสรรคเหล่านั้นกลับสร้างพลังให้เขามุ่งมั่นเดินตามความฝันของตัวเองอย่างไม่ย่อท้อ แล้ววันหนึ่งเขาได้มีโอกาสดูรายการคนค้นฅน ตอน อรหันต์ชาวนา ซึ่งเป็นการทำนาแบบผสมผสาน ทำให้เขาเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้าจึงเดินทางมาบ้านพี่แหลมที่อำเภอกุดชุมจังหวัดยโสธร ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนรู้การทำเกษตร ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และเพาะเห็ด วันที่เขาเรียนจบพี่แหลมได้มอบขอนไม้เห็ดให้เป็นของขวัญ กฤษฏาเดินทางกลับบ้านพร้อมกับขอนเห็ดในมือและหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะสร้างอนาคตของครอบครัวและจะดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงท่าน อย่างที่เขาได้ตั้งปณิธานไว้ว่า “ชั่วชีวิตนี้จะไม่ยอมแพ้เขาจะพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งจำนวน 3 ไร่ นี้ ให้กลายเป็นพื้นที่เขียวชอุ่ม”

KLbmDxz8LDQ

ตอนที่ 2 http://www.tvburabha.com/tvb/playoldprogram/programold_playflv.asp?flv_id=119&flv_program_id=1 (http://www.tvburabha.com/tvb/playoldprogram/programold_playflv.asp?flv_id=119&flv_program_id=1)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 21:56:44
เห็นว่าเป็นประโยชน์เพื่อเข้าใจระบบรากพืชเพื่อใช้กับนาข้าวครับ


ความสำคัญของรากพืช       

เนื่องจากรากพืชเป็นอวัยวะที่สำคัญของพืชที่ทำหน้าที่ในการดูดน้ำและธาตุอาหารไปเลี้ยงต้นพืช ซึ่งช่วยให้พืชมีการเจริญเติบโตและพัฒนาได้เป็นปกติ แต่เนื่องจากเป็นส่วนของพืชที่ยากต่อการศึกษาเพราะเป็นส่วนที่อยู่ใต้ดิน ทำให้การวิจัยด้านนี้ค่อนข้างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาโดยใช้ส่วนอื่น ๆ ของพืช แต่เมื่อ Turner และคณะ (1985) และ Gollan และคณะ (1985)  ได้รายงานว่ารากพืชมีความสำคัญต่อขบวนการทางสรีรวิทยาของพืชอย่างมาก คือรากพืชมีความสามารถในการส่งสัญญาณ (signal) ไปยังส่วนยอดเพื่อการปรับตัวต่อความกดดันของสภาวะแวดล้อม เช่น ภายใต้สภาวะขาดน้ำมีผลทำให้รากพืชมีการสังเคราะห์ไซโตไคนิน (cytokinin หรือ CK) ลดลง ส่งผลให้ระดับความสมดุลระหว่าง CK ต่อ ABA (abscissic acid) ลดลง มีผลให้ปากใบปิด ส่งผลสืบเนื่องให้การสังเคราะห์ด้วยแสงของใบลดลงด้วย จากความสำคัญเช่นนี้ทำให้นักสรีรวิทยาให้ความสนใจในการศึกษารากพืชมากขึ้น โดยมีการพัฒนาเทคนิคในการศึกษาให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในการศึกษาความสำคัญของรากพืชจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานดังต่อไปนี้
 
ความสัมพันธ์ระหว่างรากและยอด (Relationships between Roots and Shoots)    นอกเหนือจากหน้าที่หลักของรากที่มีต่อพืชบางประการ เช่น ทำหน้าที่ดูดน้ำและธาตุ อาหาร (ดังที่กล่าวแล้วในบทที่ 8) ทำหน้าที่ยืดเกาะดินให้พืชทรงตัวอยู่ได้ ทำหน้าที่สะสมอาหาร และขยายพันธุ์ได้ในพืชบางชนิด และทำหน้าที่เป็นแหล่งเริ่มต้นในการสร้างฮอร์โมนพืช เป็นต้น ยังมีการพบว่าการเจริญเติบโตของรากมีความสัมพันธ์กับการเจริญของส่วนยอด Russell (1977) พบว่าการเจริญเติบโตของรากและยอดมีความสัมพันธ์กันในสภาพที่สภาพแวดล้อมคงที่ แต่เมื่อมีความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมจะมีผลทำให้เกิดความแปรปรวนในการกระจายน้ำหนักแห้งในส่วนของรากและต้น ดังนั้นในการวิเคราะห์การเจริญเติบโตจึงพิจารณาโดยใช้หลักการของความสัมพันธ์ระหว่าง source และ sink เมื่อพืชมีการเจริญในส่วนยอดคือมีการเจริญของใบที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงได้ดี ซึ่งถือเป็น source ที่ส่งเสริมให้มีการเจริญของราก คือ sink ได้ดีด้วย เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของรากที่มีต่อสรีรวิทยาของส่วนยอดภายใต้อิทธิพลของสภาวะแวดล้อม Sdoodee (1990) ได้แสดงการปรับตัวของรากพืชตระกูลถั่วเมื่อได้รับผลกระทบจากสภาวะขาดน้ำ

ความสัมพันธ์ระหว่างรากกับ Rhizosphere
   Russell (1977) อธิบายว่า rhizosphere หมายถึงส่วนของดินในส่วนที่สัมผัสกับรากหรือบริเวณรอบ ๆ รากพืช ซึ่งมีกิจกรรมของจุลินทรีย์ อันจะมีผลต่อความสามารถในการดูดธาตุอาหารของรากพืช เช่น การตรึงไนโตรเจนโดยบักเตรีที่ปมของรากตระกูลถั่ว เป็นต้น  ปกติในธรรมชาติการตรึงไนโตรเจนจากอากาศเกิดขึ้นโดย symbiotic และ free-living organism ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งไนโตรเจนที่สำคัญต่อพืช
   นอกจากนี้ไมโคไรซาจัดว่าเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับระบบรากพืชด้วย ซึ่งแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ คือ ectotrophic และ endotrophic  สำหรับไมโคไรซาที่มีโครงสร้างเป็นแบบ vesicular-arbuscular (VA) มีความสำคัญในการช่วยให้รากพืชมีการดูดฟอสเฟตจากดินได้ดีขึ้น
 
ระบบราก (Root Systems)

   เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีลักษณะของระบบรากที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการเจริญ แผ่กระจายของราก อันมีผลต่อความสามารถในการดูดน้ำและธาตุอาหารซึ่งสัมพันธ์กับความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม ดังนั้นจึงแบ่งออกกว้าง ๆ เป็น 2 พวก คือ
   1)   ระบบรากของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว พืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เป็นต้น  มีระบบรากที่เรียกว่าระบบรากฝอย  (fibrous root system)  ซึ่งประกอบไปด้วยรากประเภทต่าง ๆ (อภิพรรณ และคณะ, 2529) ดังนี้
   - Primary root เกิดจาก radicle ของเมล็ดที่เจริญเติบโตลงไปในดินขณะที่เมล็ดเริ่มงอก ทันทีที่ radicle ยืดตัวออกกลายเป็นราก coleorhiza ก็จะฉีกขาดและเน่าเปื่อยไปในที่สุด radicle ก็จะกลายเป็นรากที่เรียกกันว่ารากชนิดแรก ซึ่งเหยียดยาวลงสู่ดินต่อไปไม่นานหลังจากที่รากชนิดแรกเจริญเติบโตลงสู่ดิน ที่ปลายรากชนิดนี้จะมีรากฝอยเล็ก ๆ เจริญเติบโตอยู่ด้วย รากฝอยดังกล่าวนี้มีส่วนร่วมกับ primary root ดูดซับน้ำและเกลือแร่ได้มากขึ้น 
   - Seminal root เกิดขึ้นบริเวณล่างของปล้องที่ 1 (first internode หรือ mesocotyl) ขณะที่ปล้องที่หนึ่งยืดตัวออกเพื่อให้ coleoptile โผล่พ้นดิน และ radicle เจริญเติบโตลงไปในดิน จำนวน seminal root จะเกิดขึ้นประมาณ 6-7 เส้น และเกิดขึ้นเกือบเป็นเวลาเดียวกับรากชนิดแรก ในการเริ่มเจริญเติบโตของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
   - Permanent root เกิดขึ้นในระยะหลังที่พืชเจริญเติบโต เช่น ในระยะที่พืชเริ่มออกรวง เป็นต้น รากประเภทนี้จะเกิดขึ้นในบริเวณปล้องที่   2-6 ของพืช และจะมีขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขาเจริญเติบโตลงไปในดิน รากประเภทนี้จะเห็นได้ในข้าวโพดหรืออ้อย มีชื่อเรียกต่างๆคือ brace root, crown root และ coronal root เป็นต้น
   ทันทีที่พืชมี permanent root เกิดขึ้น เมล็ดซึ่งอยู่ใต้ดินรวมทั้ง primary root และ seminal root จะหยุดการเจริญเติบโต เสื่อมสลายและเน่าเปื่อยไปในที่สุด permanent root จะเป็นรากที่เหลืออยู่ เพื่อการเจริญเติบโตของพืชต่อไป
 
   2)   ระบบรากพืชใบเลี้ยงคู่ ปกติระบบรากพืชใบเลี้ยงคู่จะมีขนาดใหญ่ รากพืชเจริญหยั่งลึกลงในดิน จุดเจริญของรากเริ่มจากส่วน terminal meristem ได้เป็น primary root  ซึ่งเรียกว่ารากแก้ว (tap root) นับเป็นการพัฒนาของรากจาก  radicle  พุ่งลงสู่ดิน โคนรากมีขนาดใหญ่และค่อย ๆ เรียวไปทางปลายราก มีการแตกแขนงเป็นรากกิ่ง (secondary root) และรากแขนง (tertiary root) ตามลำดับ ระบบรากของพืชใบเลี้ยงคู่เรียกว่า ระบบรากแก้ว (tap root system) ระบบรากแบบนี้มีความแข็งแรงในการพยุงหรือค้ำจุนต้นพืช ตลอดจนมีประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำและเกลือแร่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในบางพืชระบบรากแบบนี้ทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารด้วย  เช่น  แครอท และมันสำปะหลัง เป็นต้น
 
ปัจจัยที่มีต่อการเจริญเติบโตและการแผ่กระจายของราก

   เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเจริญของรากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินซึ่งเป็นส่วนที่รากพืชสัมผัสจะมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม การเจริญเติบโตของส่วนยอดนับว่ามีผลต่อการเจริญของรากด้วย เพราะมีการเคลื่อนย้ายอาหารไปเลี้ยงส่วนราก นอกจากนี้ปัจจัยต่าง ๆ ในส่วนของ rhizosphere นับว่ามีผลต่อรากพืชโดยตรงด้วย  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก จึงได้มีการจำแนกปัจจัยต่าง ๆ ออกได้ดังนี้
   1)   พันธุกรรมของพืช เนื่องจากพืชปลูกส่วนใหญ่ได้มีการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์มาเป็นเวลานาน ทำให้พันธุ์แต่ละชนิดมีการเจริญเติบโตของระบบรากที่แตกต่างกันเพื่อให้มีคุณสมบัติในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีในพื้นที่ปลูกแต่ละแห่ง เช่น พันธุ์พืชที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้มีความสามารถในการทนต่อสภาพแห้งแล้ง  จะได้รับการคัดเลือกให้มีระบบรากที่หยั่งลึกและแผ่กระจายของรากได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้มีการดูดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
   2)   การแข่งขันกันของพืช (plant competition) เป็นผลมาจากการแข่งขันระหว่างพืชต่างชนิด หรือพืชชนิดเดียวกันเมื่อมีการเพิ่มประชากรของพืชโดยการลดระยะปลูกให้แคบขึ้น เช่น มีรายงานว่าเมื่อปลูกข้าวโพดโดยการเพิ่มปริมาณต้นต่อพื้นที่จาก 12,000 ต้นต่อเฮกตาร์ เป็น 62,000 ต้นต่อเฮกตาร์ มีผลทำให้น้ำหนักแห้งของรากต่อต้นลดลง 72 เปอร์เซ็นต์
   3   การลดลงของพื้นที่ใบ ปกติการเจริญของรากขึ้นอยู่กับการเจริญของยอด ดังนั้นเมื่อมีการตัดส่วนยอดจะมีผลทำให้น้ำหนักของรากลดลง  เช่น การการตัดยอดของ  sudangrass ให้สั้นลงไป 10 ซม. มีผลทำให้น้ำหนักของรากลดลง  85 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ในพืชยืนต้นก็มีผลเช่นกัน เช่นในช่วงฤดูกาลที่ยอดพักตัวมีผลทำให้การเจริญของรากลดลงด้วย
   4)   อากาศในดิน เนื่องจากก๊าซออกซิเจนมีความสำคัญต่อขบวนการหายใจ การดูดซับน้ำและธาตุอาหารของราก เช่น การดูดน้ำของรากข้าว barley เพิ่มขึ้นเมื่อมีการเพิ่มก๊าซออกซิเจน เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามเมื่อดินอยู่ในสภาพ anaerobic เช่นในสภาพน้ำขังจะมีผลทำให้ขบวนการทางสรีรวิทยาของรากพืชถูกจำกัด
   5)   pH ของดิน เมื่อ pH ของดินต่ำกว่า 5.0 หรือสูงกว่า 8.0 จะมีผลทำให้การเจริญของรากพืชถูกจำกัดได้ นอกจากนี้ในสภาพที่ดินเป็นกรดจัดมีผลทำให้เกิดความเป็นพิษของธาตุอาหารบางตัว เช่น อลูมิเนียม มังกานีส และเหล็ก เป็นต้น
   6)   อุณหภูมิของดิน ปกติอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญของรากจะต่ำกว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญของส่วนยอด แต่ถ้าอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป จะมีผลยับยั้งการเจริญของรากพืชได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์พืชด้วย ดังนั้นในเขตเมืองหนาวมีการเพิ่มอุณหภูมิรากโดยการทำท่อน้ำอุ่นฝังในดิน เพื่อช่วยให้รากพืชเจริญได้ดีขึ้น
   7)   ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การเจริญของรากต้องการชนิดและระดับของธาตุอาหารที่พอเหมาะ แต่ถ้าพืชได้รับธาตุอาหารที่สูงหรือต่ำเกินไปทำให้พืชมีการเจริญผิดปกติได้ เช่น การให้ปุ๋ยไนโตรเจนที่สูงเกินไปมีผลทำให้พืชมีการเจริญทางยอดมากกว่าการเจริญทางราก หรือเป็นการเพิ่มอัตราส่วนของยอดต่อต้น ขณะที่การให้ฟอสฟอรัสมีผลส่งเสริมการเจริญของราก ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาถึงสัดส่วนของไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่เหมาะสมในการให้ปุ๋ยแก่พืช ตัวอย่างเช่นมีการแนะนำว่าสัดส่วนของไนโตรเจนต่อฟอสฟอรัสที่เหมาะสมกับข้าวโพดคือ 1:5 เป็นต้น
   8)   น้ำหรือความชื้นของดิน น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญของรากพืช เมื่อพืชขาดน้ำมีผลทำให้น้ำหนักของรากลดลง ดังนั้นพันธุ์พืชที่แนะนำให้ปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้งจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่ปรับตัวได้ดี เช่น มีคุณสมบัติของ osmotic adjustment ที่ช่วยให้พืชรักษาความเต่งของเซลล์ไว้ได้นานช่วยให้พืชสามารถมีการเจริญของรากเพื่อชอนไขไปดูดน้ำในดินชั้นที่อยู่ลึกลงไปทำให้พืชสามารถอยู่รอด หรือให้ผลผลิตได้เมื่อฝนทิ้งช่วง
   9)   ข้อจำกัดทางฟิสิกส์ของดิน  เนื่องจากผลของทางฟิสิกส์ของดินในพื้นที่ปลูกบางแห่งจำกัดการเจริญของรากพืชได้ เช่น ดินที่อัดตัวแน่น (soil compaction) หรือดินที่มี bulk density สูง ดินที่ขาดอินทรียวัตถุ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้การแผ่กระจายของรากถูกจำกัด  นอกจากนั้นยังพบว่ามีผลทำให้รูปร่างของรากผิดปกติด้วย
 
เทคนิคการศึกษารากพืช
   เนื่องจากในปัจจุบันนักสรีรวิทยาพืชให้ความสนใจเกี่ยวกับการศึกษารากพืชมากขึ้น แต่เนื่องจากวิธีการศึกษาทำได้ยาก ใช้แรงงานและทุนในการศึกษาค่อนข้างสูง จึงได้มีการนำเทคนิคต่าง ๆ มาช่วยในการศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ให้ผล
   Caldwell และ Virginia (1989) ได้แสดงวิธีการศึกษาไว้หลายวิธี ดังนี้
   1)   วิธี trench profile เป็นการศึกษาด้วยการขุดดินเพื่อศึกษาระบบรากโดยตรงในระหว่างแถวปลูกของพืชแล้วทำการวัดโดยตรงและถ่ายภาพ
   2)   วิธี framed monolith และ pinboard เป็นวิธีที่ประยุกต์มาจากวิธีtrench profile  ซึ่งช่วยให้ทราบถึงการแผ่กระจายของระบบราก  มีการตอกเหล็กแหลมให้กระจายทั่วไปบนแผ่นไม้ ทำให้รากพืชทั้งหมดเกาะอยู่บนแผ่นไม้ได้ ซึ่งช่วยให้เห็นระบบรากทั้งหน้าตัดดิน  เมื่อตัดดินขึ้นมาแล้วยกแผ่นไม้นั้นขึ้นมาแล้วฉีดน้ำล้างดินออก  ส่วนที่เหลืออยู่บนแผ่นไม้คือระบบรากทั้งหมดของพืช จากนั้นทำการวัดความยาวและน้ำหนักของรากได้โดยตรง
   3)   วิธี core sampling เป็นวิธีการเจาะดินบริเวณระบบรากพืช ทำให้ทราบปริมาตรของดิน จากนั้นจึงทำการแยกรากออกจากดินโดยวิธีล้างราก เพื่อคำนวณกลับไปเป็นค่าความหนาแน่นของราก หรือความยาวรากต่อปริมาตรของดิน วิธีนี้เมื่อกำหนดจุดศึกษาทั่วระบบราก ทำให้สามารถคำนวณความหนาแน่นรากทั้งระบบรากได้
   4)   วิธีการวัดการใช้น้ำ (soil moisture depletion) จัดว่าเป็นวิธีการวัดโดยอ้อมวิธีหนึ่ง โดยการวัดปริมาณในดินที่ลดลงไปเนื่องจากการดูดน้ำของรากพืช แล้วคำนวณกลับไปเป็นความหนาแน่นรากในปริมาตรดินแต่ละส่วนในระบบราก เป็นวิธีที่ทำได้เร็วแต่ก็มีความคลาดเคลื่อนสูง เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำไปจากดินโดยการระเหยของน้ำด้วย
   5)   วิธีการใช้ minirhizotron ปัจจุบันเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในต่างประเทศเพราะว่าสามารถศึกษารากได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ทำลายส่วนของระบบรากพืช เป็นการฝังท่อแก้ว pyrex หรือวัสดุใสที่ทนต่อแรงกดได้  จากนั้นใช้ periscope สอดเข้าไปในท่อดังกล่าวทำให้ทราบการเจริญเติบโตของรากได้อย่างต่อเนื่องในสภาพแปลงปลูก
   6)   วิธีใช้ radioactive isotope เป็นวิธีการวัดโดยอ้อมด้วยวิธีการวัดการเปลี่ยนแปลงของ 14C/12C ในระบบรากพืชในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมีการให้ 14C ทางยอดเพื่อให้มีการใช้ 14C ในการสังเคราะห์ด้วยแสงจากนั้นจะมีการเคลื่อนย้ายไปยังเนื้อเยื่อส่วนราก วิธีนี้จะทำให้ทราบถึงปริมาณรากที่เพิ่มขึ้นโดยคำนวณจาก 12C ที่เพิ่มขึ้นในระบบราก
   นอกจากนี้มีการใช้ 32P ในดินที่ระดับความลึกต่าง ๆ จากนั้นจึงทำการวัดว่ามีการใช้ 32P ไปมากน้อยเท่าไรในแต่ละระดับความลึกเป็นวิธีการวัดโดยอ้อมว่ามีปริมาณรากมากน้อยในแต่ละระดับความลึก
   7)   วิธี allometry เป็นวิธีการวัดโดยอ้อมซึ่งอาศัยอัตราส่วนระหว่างยอดต่อราก เพราะฉะนั้นก่อนใช้วิธีนี้ต้องมีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของความสัมพันธ์ระหว่างยอดต่อรากของพืชแต่ละชนิด จากนั้นจึงใช้วิธีการคำนวณกลับไป วิธีนี้เป็นวิธีการประมาณการอย่างหยาบ ๆ เพราะจะมีข้อผิดพลาดได้ถ้ามีปัจจัยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป
   จากวิธีการดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการที่จะเลือกวิธีการใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการศึกษา โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย


เอกสารอ้างอิง
อภิพรรณ  พุกภักดี  ไสว  พงษ์เก่า  และวิจารณ์  วิชชุกิจ (2529)  เอกสารคำสอนวิชา พร.451 สรีรวิทยาการผลิตพืช  ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน.
Caldwell, M.M. and R.A. Virginia (1989).  In R.W. Pearcy et al. (eds.) :  Plant Physiological Ecology.  Field Methods and Instrumentation. Chapman and Hall, London : 367-398.
Gardner, F.P., B.R. Pearce and R.L. Mitchell (1985).  Physiology of Crop Plants. Iowa State University Press, U.S.A.
Gollan, T., N.C. Turner and E.D. Schulze (1985)  Oecologia 65 : 356-362.
Russell, R.S. (1977).  Plant Root Systems : Their function and interaction with the soil. McGraw-Hill Book Company (UK)  Limited, London.
Sdoodee, S. (1990).  Adaptive Mechanisms of Blackgram (Vigna mungo (L.) Hepper) and Pigeon pea (Cajanus cajan (L.) Millsp.) to Water Stress at Different Growth Stages.  Ph.D. Thesis, Univ. of Queensland, Australia.   
Turner, N.C., E.D. Schulze and T. Gollan (1985).  Oecologia  65 : 348-355.


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 22:02:15
ดินในแปลงนาแน่นแข็งรากข้าวขาดอากาศ ก่อให้เกิดโรครากเน่า

ผืนนาของเกษตรกรที่ผ่านการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นระยะเวลานานจะสะสมกรดซัลเฟตตกค้างอยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งยิ่งมีการใช้รถไถรถแทรกเตอร์เข้ามาย่ำทำแปลงถึงแม้ผานจะไถพลิกหน้าดินแต่น้ำหนักของตัวรถที่หนักหลายตันก็ทำให้ดินถูกกดทับเป็นชั้นดานอยู่ด้านล่างเมื่อผ่านการทำนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาขาดการพักดินหรือมีเผาฟางด้วยแล้วจะทำให้ดินแน่นแข็ง รากข้าวจะเจริญเติบโตได้เฉพาะที่ผิวหน้าดินไม่สามารถแทงทะลุลงไปไปในดินช้างล่างได้ ทำให้ต้นข้าวอ่อนแอ แคระแกร็นเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย

รากข้าวที่เจริญเติบโตอยู่ในดินที่แน่นแข็ง น้ำลึก อากาศหรือออกซิเจนจะน้อยทำให้เกิดสภาพขาดอากาศอ่อนแอรากเน่าดำ นำพามาซึ่งโรคต่างๆ มากมายแก่ต้นข้างทั้งทางดินและทางอากาศเพราะเมื่อสภาพต้นอ่อนแอเสียแล้ว เชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะชนิดใดก็สามารถที่จะเข้ามากระหน่ำซ้ำเติมได้ทันที ทำให้ข้าวเจริญเติบโตช้า ผลผลิตน้อยทำให้เสียโอกาสของการนำไปจำหน่ายหรือรับรายได้

การป้องกันแก้ไข จะต้องหยุดการเผาฟาง ใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกทดแทนปุ๋ยเคมีให้มากขึ้นจากเดิมทำการตรวจวัดกรดด่างของดินและปรับให้อยู่ในระยะที่เหมาะสมคือมีค่าพีเอชอยู่ระหว่าง5.8-6.3 สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความต้านทานต่อโรคและแมลงด้วยการใช้หินแร่ภูเขาไฟพูมิชซัลเฟอร์เพื่อยับยั้งการเข้าทำลายของเชื้อราโรคพืชและช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตช่วยกระตุ้นให้ข้าวดูดกินปุ๋ยได้มากขึ้น(อิทธิพลของซิลิกอนและฟอสฟอรัสต่อการดูดใช้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสของข้าวและข้าวโพดที่ปลูกในดินเปรี้ยวจัดชุดดินรังสิตกรดจัด วารสารดินและปุ๋ย โดย รัตนชาติ ช่วยบุดดา,จงรักษ์ จันทร์เจริญสุข, พจนีย์มอญเจริญและ เอ็ด สโรบล)


มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 22:25:48
แก้ปัญหาโรคเมาตอซังอย่างถูกวิธี

ข้าวไม่กินปุ๋ย สาเหตุหลักที่พบอยู่เป็นประจำก็คืออาการข้าวเมาตอซัง หลายท่านอาจจะสงสัยว่าข้าวเมาตอซังได้อย่างไรในเมื่อการเริ่มทำนาทุกครั้ง พอเกี่ยวเสร็จเศษฟางข้าวในแปลงไว้ 1-2 วัน จากนั้นเผาจนหมด จะเกิดอาการข้าวเมาตอซังได้อย่างไร ขออธิบายดังนี้นะครับ การเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) เกิดจากตอซังที่ไถกลบลงไปในดินไม่มีจุลินทรีย์ลงไปย่อยสลายทำให้เกิดการเน่าของตอซังและเกิดเป็นก๊าซไข่เน่า ทำให้ข้าวบริเวณที่มีก๊าซนี้มีอาการเหลือง ไม่แตกกอ รากสั้นดำ และยืนต้นแห้งตายในที่สุด ลำพังฟางข้าวที่แห้งและทำการเผาทิ้งจนหมดไม่ทำให้เกิดอาการข้าวเมาตอซัง แต่ปัญหาที่แท้จริงนั้นมาจากตอซัง ไม่ใช่ฟาง ตอซังที่เกี่ยวข้าวยังสดอยู่ เมื่อมีการตีดินหรือไถกลบตอนี้ลงไปใต้ดินจึงทำให้เกิดการเน่า หมักหมมกันมาหลาย ๆ รอบจึงทำให้เกิดก๊าซไข่เน่า ปัจจุบันการหว่านข้าวของชาวนามักหว่านข้าวหนาจึงทำให้ปริมาณตอซังในนาข้าวมีมาก ไม่มีการย่อยตอซังให้สลายอย่างถูกวิธี จึงทำให้เกิดปัญหาข้าวเมาตอซัง ไม่กินปุ๋ย จึงทำให้ชาวนาต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม เปลืองต้นทุนโดยไม่รู้ถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา

การแก้ไขข้าวเมาตอซังเบื้องต้นให้ชาวนาปล่อยน้ำออกจากแปลงนาจนแห้งแตกระแหง วิธีนี้ก็จะแก้ปัญหาอาการข้าวเมาตอซังได้ดี แต่ข้อเสียก็คือเป็นการแก้แบบเฉพาะหน้าป้องกันปัญหาข้าวตายเนื่องจากก๊าซไข่เน่า คือ เมื่อดินแตกระแหง ก๊าซระเหยออกไปในอากาศได้ง่าย ข้าวจึงเขียวขึ้นมา เมื่อนำน้ำเข้านา ปัญหาข้าวเหลืองเมาตอซังก็กลับมาเหมือนเดิม การเจริญเติบโตของข้าวก็ชะงัก ส่วนในเรื่องของการแก้ปัญหาระยะยาว ให้ชาวนาควรนำจุลินทรีย์หน่อกล้วยไปหยดตรงบริเวณที่พบอาการข้าวเมาตอซัง ไม่จำเป็นต้องหยดหมดแปลงเพราะจะทำให้สิ้นเปลือง หรือหากชาวนาท่านใดไม่กลัวสิ้นเปลืองเพราะมีจุลินทรีย์หน่อกล้วยเยอะ หมักไว้มาก อาจจะใช้วิธีหยดตรงบริเวณนั้น หลังจากนั้นนำจุลินทรีย์หน่อยกล้วยปล่อยไปกับการสูบน้ำเข้านาก็จะวิธีที่ดีมาก ๆ ครับ หลังจากหยดจุลินทรีย์หน่อกล้วยเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 5-7 วันข้าวจะกลับมากินปุ๋ยเหมือนเดิมครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2013, 22:48:34
กระทู้ดีน่าปักหมุด ;D ;D
ปักเลยครับ สนับสนุน ;D ;D

ขอบคุณทั้งสองท่านที่มาแวะอ่านประจำครับ ช่วง3-4 วันนี้อาจไม่ค่อยได้อัพกระทู้เพราะลางานไปทำเทือกนาต่อให้เสร็จเตรียมหว่านข้าวบางคืนอาจได้นอนเฝ้านาด้วยครับ  


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือท่าสุด ที่ วันที่ 16 มกราคม 2013, 15:44:28


   กำลัง  ติดตามผลงานอยู่ครับ   


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มกราคม 2013, 20:24:15
ช่วงนี้ไม่ได้อัพกระทู้เลยครับต้องไปทำเทือกนาเตรียมหว่านข้าว ต้องย่ำเทือกซ้ำเพื่อให้ดินเละมากที่สุดและปรับพื้นนาให้เสมอกัน พรุ่งนี้ก็ไปลูบเทือกเพื่อให้พื้นนาเรียบและชักร่องก็เป็นอันเสร็จในการเตรียมดิน ย่ำเทือกไป นกกระยางก็ตามติดตลอดเพื่อหาอาหารพวกลูกกบ ลูกเขียด แมลงต่าง ๆ ที่อยู่ในนากิน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มกราคม 2013, 20:32:06
ย่ำเทือกไปหยอดจุลินทรีย์ไปด้วยเพราะมีมาก ทำเองต้นทุนต่ำใกล้หมดก็ต่อเชื้อเพิ่มหรือทำใหม่ก็ไม่ยากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มกราคม 2013, 20:43:10
อุปกรณ์ย่ำเทือกที่ใช้ครับ ดัดแปลงจากของรถไถเดินตาม ซื้อมา 1200 บาทดัดแปลงเพิ่มอีก 1000 กว่าบาทรวมเป็น 2200 บาทครับใช้ในการย่ำดินให้แตก ที่จริงรถแบบผมสามารถใส่ตัวจอบหมุนได้ แต่ราคาจอบหมุนราคา 42000 บาทเลยมาใช้แบบนี้ดีกว่าเพราะทำนาของตัวเองไม่ได้ไปรับจ้างช่วยประหยัดเงินได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มกราคม 2013, 20:48:44
ข้าวก็แช่เรียบร้อยครับ ตอนนี้เอาขึ้นจากน้ำแล้วรออีก 2 วันก็สามารถนำไปหว่านได้  ข้าวที่แช่ไปในน้ำจะต้องตักเอาเมล็ดข้าวที่ลอยออก เพราะบางเมล็ดจะลีบ หรือเบาไม่สมบูรณ์ ตักออกเลยครับไม่ต้องเสียดาย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มกราคม 2013, 20:56:08
เมื่อวานไปนอนที่บ้านกลางนาครับแต่ยังไม่เสร็จเลยเอาเต้นท์ไปกาง  อากาศเย็นสบาย หนาวนิด ๆ ได้ยินเสียงกบ เสียงเขียดร้องตลอดคืน หลังจากหว่านข้าวเสร็จก็จะเริ่มทำบ้านกลางนาต่อให้เสร็จครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มกราคม 2013, 21:02:30
แอบถ่ายแปลงนาโยนใกล้ ๆ บ้านครับ สีเขียวดูแล้วสบายตาเหมือนสนามหญ้าเลยครับ เจ้าของเป็นเจ้าของกระทู้นาโยนในบอร์ดนี่แหล่ะครับ ปกติดินที่ใช้ในการโยนกล้านอกจากเป็นดินที่ละเอียดแล้วยังต้องมีธาตุอาหารให้กับข้าวด้วยอาจนำดินมาผสมปุ๋ยหมักก็ช่วยให้ต้นข้าวแข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้นถึงได้ต้นข้าวสีเขียวแบบนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มกราคม 2013, 21:13:19
สำหรับใครมีรถไถเดินตามใช้อุปกรณ์แบบนี้ก็เข้าท่า หากที่นาแปลงใหญ่ก็ใช้วิธีนี้โยนกล้าก็ช่วยให้เบาแรงได้เยอะ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 18 มกราคม 2013, 09:35:56
 ท่านเคยผสมไคโตชานกับ เชื้อราเดอโรราม่าตอนพ่นไหมครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 มกราคม 2013, 21:48:03
ท่านเคยผสมไคโตชานกับ เชื้อราเดอโรราม่าตอนพ่นไหมครับ

ไม่เคยผสมครับ ส่วนใหญ่ไคโตซานมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราและบางบริษัทที่ผลิตก็มีการผสมยาเคมีด้วยซึ่งเกรงว่าอาจมีผลกับเชื้อราซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตอาจจะตายได้หากนำมาผสมกัน แต่ไม่เคยทดลองนะครับ  ปกติสามารถพ่นไคโตรซานก่อนเพื่อบำรุงต้นให้แข็งแรงและพ่นเชื้อราไตรโครเดอร์มาหลังซักสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ครับหรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถใช้ไตรโครเดอร์มาผสมกับน้ำจุลินทรีย์ ปุ๋ยน้ำก็พอได้ครับ  ไคโตรซานจะนิยมผสมกับพวกสารบำรุงข้าวหรือยาเคมี บางเจ้าก็สามารถผสมกับยาคุมหญ้าได้  หรือแม้แต่ยากำจัดเชื้อราครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 มกราคม 2013, 21:53:43
มีเวลาน้อยครับไม่ได้เอาบทความเรื่องข้าวมาลงอัพเดทสถานะการทำนาครับ

วันนี้ลูบเทือกและชักร่องครับ 13 ไร่อุปกรณ์ก็อาจแตกต่างจากชาวบ้านนิดหน่อยเพราะเป็นรถไถไม่เหมือนคนอื่นครับ ดัดแปลงเอาครับปรับมุมกวาดของไม้ได้ตามความต้องการ

อุปกรณ์ลูบเทือกครับอยากทำแบบ อ.ชัยพรเหมือนกันแต่ยกไม่ไหว เลยต้องใช้แบบนี้เพราะบางครั้งต้องไปนาคนเดียวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 มกราคม 2013, 21:57:38
ตัวชักร่องครับ  ทำที่ดึงตัวชักร่องใหม่เพื่อความสะดวก ตอนแรกทดลองแรงกดไม่มากพอต้องเพิ่มน้ำหนักด้วยกระสอบทรายก็ได้ร่องน้ำที่ต้องการ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 มกราคม 2013, 22:00:34
ชักร่องเสร็จก็ปล่อยน้ำออกนาเพื่อลดระดับน้ำเตรียมหว่านข้าวในวันพรุ่งนี้ครับ บรรยากาศยามเย็นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 มกราคม 2013, 22:19:06
พันธุ์ข้าวทั่วโลกมีเป็นแสนกว่าสายพันธุ์ ในประเทศไทยก็มีทั้งพันธุ์พื้นบ้าน พันธุ์ที่กรมการข้าวปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา  บางสายพันธุ์ก็ไม่ค่อยคุ้นตาเท่าไหร่อย่างข้าวขึ้นน้ำครับ เช่นข้าวขึ้นน้ำไวต่อช่วงแสง (Photosensitive floating rice) ข้าวที่ปลูกในนาที่มีน้ำท่วมขัง มีระดับน้ำลึกตั้งแต่ 1-5 เมตร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน ปลูกโดยการหว่านเมล็ดลักษณะพิเศษของข้าวขึ้นน้ำคือ มีความสามารถในการยืดปล้องให้ยาวออกไปเพื่อหนีน้ำท่วม (Internode Elongation Ability) การแตกแขนงและรากที่ข้อเหนือผิวดิน (Upper Nodal Tillering and Rooting Ability) ความสามารถอยู่รอดในสภาพจมน้ำ (Submergence Tolerance Ability) และการชูรวงให้ตั้งชันเหนือผิวน้ำ (Kneeing Ability) ได้ดีตามการเพิ่มของระดับน้ำในนา เป็นพันธุ์ข้าวที่ต้องการช่วงแสงหรือช่วงระยะเวลากลางวันสั้น เพื่อเปลี่ยนการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ มาเป็นการเจริญทางสืบพันธุ์เพื่อสร้างช่อดอกและเมล็ด พันธุ์ข้าวชนิดนี้จะกำเนิดช่อดอกเมื่อมีช่วงแสงสั้นกว่า 12 ชั่วโมง ความต้องการช่วงแสงของข้าวแต่ละพันธุ์จะแตกต่างกัน จึงทำให้พันธุ์ข้าวออกดอกไม่พร้อมกัน

ได้แก่พันธุ์

1  ขาวบ้านนา
2  ตะเภาแก้ว  
3  นางฉลอง  
4  ปิ่นแก้ว
5  พลายงามปราจีนบุรี
6  เล็บมือนาง



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 00:43:07
มีประโยชน์มากมายจริงๆครับ ผมก็เพิ่งเริ่มทำนาเป็นครั้งแรกในชีวิต และทำวันหยุด เสาร์ - อาทิตย์ครับ ตอนนี้กำลังอุดรอยรั่วคันนา เพื่อจะเอาน้ำเข้าแล้วไถครับ เหนื่อยแต่สุขใจมากๆ เริ่มช้าแต่ก็จะทำครับ ผมอยากขอคำปรึกษาจากพี่ได้มั้ยครับเรื่องการทำนา PM เบอร์ให้ผมได้มั้ยครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 22:08:33
มีประโยชน์มากมายจริงๆครับ ผมก็เพิ่งเริ่มทำนาเป็นครั้งแรกในชีวิต และทำวันหยุด เสาร์ - อาทิตย์ครับ ตอนนี้กำลังอุดรอยรั่วคันนา เพื่อจะเอาน้ำเข้าแล้วไถครับ เหนื่อยแต่สุขใจมากๆ เริ่มช้าแต่ก็จะทำครับ ผมอยากขอคำปรึกษาจากพี่ได้มั้ยครับเรื่องการทำนา PM เบอร์ให้ผมได้มั้ยครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

PM ให้แล้วนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 22:10:54
วันนี้หว่านข้าวครับ จำนวน 13 ไร่ อีก 9 ไร่ยังไม่ได้ลูบเทือกและชักร่องจะทำต่อวันพรุ่งนี้และหว่านอีกทีวันจันทร์ครับ  ตื่นแต่เช้าเตรียมข้าวพันธุ์ไปหว่านครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 22:21:48
ดูรูปอย่าพึ่งงงครับ ข้าวพันธุ์ที่จะนำไปหว่าน จะต้องแช่น้ำและคัดข้าวลีบเศษฟางออกหลังจากแช่ได้ 24 ชั่วโมง ( แช่นานกว่านี้ได้แต่ไม่ควรเกิน 48 ชั่วโมง ) และตักใส่กระสอบจะใช้กระสอบปุ๋ยหรือกระสอบป่านก็ได้ ถ้าใครใช้เครื่องหว่านควรใช้กระสอบปุ๋ยเพราะรากจะไม่ยาวมากจะได้ไม่ติดเครื่องพ่นแต่ถ้าหว่านมืออาจใช้กระสอบป่านได้  หลังจากตักใส่กระสอบแล้วก็นำมาเรียงอาจเป็นพื้นดินหรือพื้นหญ้าก็ได้ครับและใช้พลาสติกคลุมทับด้วยกระสอบหรือผ้าเต็นท์ที่หนาพอสมควรเพื่อรักษาความชื้นภายในจะช่วยให้เมล็กงอกไวขึ้นทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง( ในช่วงได้ 24 ชั่วโมงควรพลิกกลับกระสอบครับเพื่อให้รากงอกสม่ำเสมอ )  ก็เป็นอันเสร็จ ชาวนาบางคนนิยมใส่กระสอบและโยนตามคลองน้ำโดยใช้กระสอบปุ๋ยซึ่งน้ำคลองมีตะกอนอาจไปจับกระสอบทำให้เมล็ดได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตรางอกมีน้อย ทางที่ดีควรแช่ในน้ำสะอาดครับ 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 22:24:33
เมล็ดก็จะงอกประมาณนี้ครับ สำหรับการหว่านโดยใช้เครื่องพ่น ไม่ควรให้รากยากเพราะจะติดกันและอาจทำให้รากช้ำด้วยควรเป็นตุ่มตาขึ้นมาซักเล็กเนื่องจากเครื่องพ่นใช้ลมแรงในการเป่าออกเมล็ดจะพุ่งด้วยความเร็วพอสมควรต่างจากหว่านด้วยมือครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 22:26:37
การเจริญเติบโตจากเมล็ด เอาเมล็ดมาเรียงให้ดูครับ จะมีรากและลำต้นขึ้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 22:30:07
ขนพันธุ์ข้าวจากบ้านไปที่นาแต่เช้าครับ 7.00 น. หมอกลงจัดมาก 10 โมงเช้ายังหมอกหนาอยู่เลยครับ วันนี้จ้างเค้าหว่านได้ช่วยหว่านบางแปลงเพราะต้องทำร่องระบายน้ำออกไปด้วย กว่าจะเสร็จ 13 ไร่ก็เกือบบ่ายโมงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 22:32:39
หว่านข้าวเสร็จก็ร้อนพอดี อากาศวันนี้เป็นใจสบาย ๆครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 22:34:31
ชาวนาระแวกใกล้เคียงก็หว่านครับ นี่เป็นหว่านมือครับจะต้องใช้คนเยอะกว่าเพราะการหว่านจะช้ากว่าใช้เครื่องหว่าน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 22:45:49
สำรวจอีกแปลง 9 ไร่ซึ่งจะลูบเทือกและชักร่องในวันพรุ่งนี้เตรียมหว่านในวันจันทร์ ซึ่งได้หว่านกากชาไปแล้วหอยเชอรี่ตายเยอะพอสมควรครับ ผมเคยลองใส่กากชาหลายวิธีเหมือนกัน วิธีที่ผมคิดว่าได้ผลดีและสะดวกไม่เปลืองด้วยคือหว่านกากชาด้วยเครื่องก่อนทำเทือก 1 คืนระดับน้ำไม่ควรมากจนเกินประมาณซัก 5 ซม. น้ำยิ่งมากกากชาอาจเจอจางหรือน้ำน้อยเกินไปก็ไม่ดี เพราะที่สังเกตุหอยมักจะออกหากินช่วงตอนเย็นและกลางคืน เมื่อหอยเปิดฝาเจอพิษจากกากชาก็จะทำให้ตาย ตอนกลางวันแดดร้อนน้ำมีอุณหภูมิสูงหอยมักจะปิดฝาอีกวันก็ทำเทือกช่วยตีน้ำกับกากชาให้เข้ากันกับดินด้วย บางตำราให้หว่านในขณะทำเทือกซึ่งเคยสังเกตุหลายครั้งเมื่อหอยเจออะไรรบกวนหน่อยอย่างน้ำกระเพื่อมหรือเสียงจากรถไถนาหอยจะปิดฝาเพื่อป้องกันตัวเองซึ่งอาจจะทำให้กากชาไม่สามารถทำอะไรหอยได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2013, 23:05:46
ตอนเย็นแวะคุยกับพี่ต้นนาโยนครับ นาโยนแถวบ้านผมชาวนาเริ่มใช้วิธีนี้มากขึ้น ช่วยลดสารเคมีจากยาคุมหญ้า  ตัดวงจรข้าววัชพืชเพราะการทำนาโยนจะนำมาโยนได้เมื่อข้าวมีอายุ 20-25 วันซึ่งพอไปโยนข้าววัชพืชอาจเริ่มงอกการเก็บเกี่ยวก็สามารถเก็บเกี่ยวข้าวจากนาโยนได้ก่อนซึ่งข้าววัชพืชยังไม่ทันออกรวง นาปีผมก็ว่าจะทยอยทำนาโยนครับแต่ขอดัดแปลงอุปกรณ์ติดรถไถเตรียมไว้ก่อนครับ

แปลงเพาะกล้านาโยนสวย ๆครับ ติดระบบสปริงเกอร์เพื่อความสะดวกและพี่ต้นแกเพาะแหนแดงสำหรับใส่ในนาข้าวด้วยครับมีการแพร่ขยายได้รวดเร็วมากครับ เมื่อก่อนผมสั่งซื้อจากโคราชนู่นตอนนี้สามารถหาได้ใกล้ๆ บ้าน  พี่เค้าแจกจ่ายกันไปเพาะขยายพันธุ์เองครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มกราคม 2013, 20:45:30
การไถกลบตอซัง  เพิ่มอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ให้แก่ดิน  

การไถกลบตอซัง

หมายถึง  การไถกลบตอซังข้าวหรือพืชไร่ที่มีอยู่ในไร่นาภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วลงไปในดินระหว่างการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกขณะที่ดินมีความชื้น  และปล่อยทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายในดินซึ่งจะกลายเป็นแหล่งของอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารพืช  แล้วจึงปลูกพืชหลักตามที่ต้องการ

(http://r01.ldd.go.th/Lddwebsite/ptm01/New2552/pic%20สถานี/1/ผล1.jpg)

ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีทางชีวภาพโดยการนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการหมักวัสดุเศษปลา หอยเชอรี่  ผักผลไม้  หรือเศษอาหารบ้านเรือน  โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในการหมักตอซัง  โดยปุ๋ยอินทรีย์น้ำมีประโยชน์เป็นสารเสริมการเจริญเติบโต ประกอบด้วย  ฮอร์โมนออกซิน  จิบเบอร์ลิน  โซโตไคนิน  และกรดอินทรีย์  รวมถึงวิตามินบีหลายชนิด  ช่วยในการกระตุ้นการเจริญ  และ  เพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ดิน  ทำหน้าที่ย่อยสลายตอซังได้ดีขึ้น  ตอซัง  อ่อนนุ่ม  ย่อยสลายได้ง่าย  และไถกลบสะดวกขึ้น

ประโยชน์จากการไถกลบตอซัง
 

1.  ปรับปรุงโครงสร้างของดินให้มีความเหมาะสม

ทำให้ดินโปร่ง  ร่วนซุย  ง่ายต่อการเตรียมดิน  การปักดำกล้า  และทำให้ระบบรากพืช  สามารถแพร่กระจายในดินได้มากขึ้น การระบายอากาศของดินเพิ่มมากขึ้น  ทำให้มีปริมาณออกซิเจนเพียงพอต่อการหายใจของ   ระบบรากพืชในดินเมื่อปลูกพืชอื่นหลังการปลูกข้าว เพิ่มการซึมผ่านของน้ำได้อย่างเหมาะสม  และการอุ้มน้ำของดินให้ดีขึ้น

2.  เป็นแหล่งสะสมธาตุอาหารพืชในดิน

เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินโดยตรง  อาจจะมีปริมาณธาตุอาหารน้อย  แต่จะมีธาตุอาหารครบถ้วนตามที่พืชต้องการทั้งธาตุอาหารหลัก ( ไนโตรเจน ,ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม )  ธาตุอาหารรอง  (แคลเซียม  แมกนีเซียม  และกำมะถัน )  และจุลธาตุ ( เหล็ก ,แมงกานีส ,ทองแดง ,สังกะสี ,โบรอน  , โมลิบดินัม  และคลอรีน) และจะค่อย ๆ ปลดปล่อยให้เป็นประโยชน์ต่อพืชในระยะยาว ช่วยดูดซับธาตุอาหารในดินไม่ให้สูญเสียไปจากดินซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ช่วยรักษาความสมดุลการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดเป็นด่างของดิน  ทำให้  pH  ของดินเป็น  กลางมีความเหมาะสมต่อการเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดิน ช่วยลดความเป็นพิษของเหล็กและแมงกานีสในดิน  เนื่องจากธาตุอาหารดังกล่าวนี้จะละลายออกมามากในสภาพดินกรดหรือดินเปรี้ยว  ซึ่งทำให้ธาตุอาหารพืชถูกตรึงไว้ในดิน ช่วยลดความเป็นพิษจากดินเค็ม  โดยตอซังช่วยให้การอุ้มน้ำในดิน  ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น  ส่งผลให้เกลือใต้ดินไม่สามารถระเหยขึ้นมาได้

3.  เพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน

อินทรีย์วัตถุเป็นแหล่งอาหารและพลังงานของจุลินทรีย์  ดินมีผลทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงธาตุอาหารในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช  นอกจากนี้อินทรีย์วัตถุมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ  ประกอบด้วยโพรงหรือห้องขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก  จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์และสัตว์เล็ก ๆ  ในดินด้วย การเพิ่มปริมาณหรือจำนวนของจุลินทรีย์ดินมีผลช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคพืชบางชนิดในดินลดน้อยลง

วิธีการไถกลบตอซังข้าว
 
1.  พื้นที่เขตชลประทาน  ในเขตพื้นที่ชลประทานซึ่งสามารถปลูกข้าวได้ต่อเนื่อง  2-3  ครั้งต่อปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วไม่ต้องเผาตอซัง  และฟางข้าวให้ปฏิบัติดังนี้

ปุ๋ยอินทรีย์  (เข็มข้น )   จำนวน  5  ลิตร / ไร่
เทปุ๋ยอินทรีย์น้ำไหลไปตามน้ำขณะที่เปิดน้ำเข้านาจนทั่วแปลง  หรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำสาดให้ทั่วแปลงนาขณะเดียวกันใช้รถตีฟางย่ำฟางให้จมดิน ปล่อยให้ย่อยสลาย  10  วัน
หลังจากหมักฟาง  10  วัน  แล้ว  จึงค่อยทำเทือกเพื่อเตรียมหว่านหรือปักดำข้าวครั้งต่อไป 

2.  พื้นที่เขตเกษตรน้ำฝน    ในกรณีที่เกษตรกรมีการปลูกข้าวเป็นพืชหลักเพียงอย่างเดียวตลอด    ฤดูเพาะปลูกโดยอาศัยน้ำฝน  หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว  ให้ทิ้งฟางข้าวและตอซังไว้ในพื้นที่ของเกษตรกร  เพื่อเป็นการคลุมผิวหน้าดิน  จากนั้นเมื่อเข้าสู่ต้นฤดูฝนประมาณปลายเดือนเมษายน  หรือต้นเดือนพฤษภาคม  ให้ปฏิบัติดังนี้

  ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ  (เข็มข้น )  จำนวน  5  ลิตร / ไร่
  เทปุ๋ยอินทรีย์น้ำตามบริเวณคันนา  หรือสาดให้ทั่วสม่ำเสมอ  แล้วใช้รถย่ำฟางให้จมดิน 
  หลังจากหมักฟาง  10  วัน  แล้ว  จึงค่อยทำเทือกเพื่อเตรียมหว่านหรือปักดำข้าวครั้งต่อไป 

(http://r01.ldd.go.th/Lddwebsite/ptm01/New2552/pic%20สถานี/1/1ปล่อยน้ำเข้านา.jpg)

(http://r01.ldd.go.th/Lddwebsite/ptm01/New2552/pic%20สถานี/1/3เทปุ๋ยน้ำ.jpg)

(http://r01.ldd.go.th/Lddwebsite/ptm01/New2552/pic%20สถานี/1/3ฟางเน่า.jpg)

ผลเสียจากการเผาตอซัง

การเผาตอซังข้าวมีผลกระทบอย่างมากต่อการทำลายโครงสร้างของดิน จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ในดิน เนื่องจากความร้อนจากการเผาตอซัง  ก่อให้เกิดผลเสียหาย  ต่ทรัพยากรดิน  ดังนี้

(http://r01.ldd.go.th/Lddwebsite/ptm01/New2552/pic%20สถานี/1/1.jpg)

1.  ทำให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนแปลงไป    เนื้อดินจับตัวกันแน่นและแข็งทำให้รากพืชแคระแกร็น  ไม่สมบูรณ์  อ่อนแอ  และความสามารถในการหาอาหารของรากพืชลดลง  รวมถึงมีผลทำให้เชื้อโรคพืชสามารถเข้าทำลายได้ง่าย
2.  สูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน  เมื่อมีอินทรียวัตถุในดินถูกเผา จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูญเสียไปในบรรยากาศ  ส่วนธาตุอาหารจะแปรสภาพให้อยู่ในรูปที่สามารถสูญเสียไปจากดินได้ง่าย
3.  ทำลายจุลินทรีย์ และแมลงที่เป็นประโยชน์ในดิน  ทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินลดลง เช่น จุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจนซึ่งทำหน้าที่  ในการเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนจากบรรยากาศให้อยู่ในรูปของสารประกอบไนโตรเจนที่พืชใช้ประโยชน์ได้จุลินทรีย์ที่ละลายสารประกอบฟอสฟอรัสให้อยู่ในรูปของฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้  และการย่อยสลายอินทรียสารเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน  นอกจากนั้นตัวอ่อนแมลงศัตรูพืช  เช่น  ตัวห้ำ  ตัวเบียน  ที่อาศัยอยู่ในดินหรือตอซังรวมทั้งจุลินทรีย์ที่สามารถควบคุมโรคพืชถูกทำลายไป 
ซึ่งหากระบบนิเวศน์ของดินไม่สมดุล  จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้นได้ง่าย
4.  สูญเสียน้ำในดิน  การเผาตอซังพืชทำให้ผิวดินมีอุณหภูมิสูงถึง  90  องศาเซลเซียส  น้ำในดินจะ ระเหยสู่บรรยากาศอย่างรวดเร็ว  ทำให้ความชื้นของดินลดลงหรือดินแห้งแข็งมากขึ้น
5. ทำให้ฝุ่นละออง  เถ้าเขม่า  และก๊าซหลายชนิด  ที่ก่อให้เกิดมลพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ  และเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนหลวง  เนื่องจากเกิดควันไฟบดบังทัศนวิสัยบริเวณส่วนพื้นที่การคมนาคมอย่างมาก

ที่มา สถานีพัฒนาที่ดินปทุมธานี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มกราคม 2013, 21:29:27
วันนี้ลูบเทือกชักร่องเรียบร้อยแล้วอีก 9 ไร่ ครบ 22 ไร่แล้ว ช่วงเตรียมดินถือว่าเป็นช่วงที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ทั้งไถดะ ไถแปร ทำเทือก ชักร่อง ตอนนี้ก็เสร็จแล้ว ขั้นตอนอื่นจะใช้เวลาไม่นานเช่น หว่านข้าว ใส่ปุ๋ย ก็ใช้เวลาไม่มากครับสามารถทำให้เสร็จในวันเดียวอย่างใส่ปุ๋ยก็เว้นช่วงค่อนข้างหลายวัน นาปรังมักจะใส่ปุ๋ย 3 ครั้งคือช่วงข้าวอายุได้ประมาณ 20 วัน ครั้งต่อไปก็ช่วงแตกกอ และตั้งท้องครับ ใครขยันก็ใส่หลายครั้งก็ได้แต่ใส่ครั้งละน้อย ๆ ก็ได้ผลดีครับ  หลังจากนี้ไปก็จะมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นแล้ว  แต่ก่อนอื่นต้องเช็ครถไถหลังจากใช้งานหนักและซ่อมแซมอุปกณ์ต่อพ่วงและออกแบบใหม่บางส่วนเพื่อให้ทำงานสะดวกขึ้นและดีกว่าเดิมครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มกราคม 2013, 11:24:18
รถไถเดินตาม

เครื่องมือเตรียมดินที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน คือรถไถเดินตาม เพราะทำงานได้รวดเร็วและราคาไม่สูงมากนัก ทั้งนี้เพราะสามารถผลิตได้ภายในประเทศ  นอกจากนั้นเครื่องยนต์ต้นกำลังยังสามารถใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ เช่นนำไปสูบน้ำ ใช้กับเครื่องนวดข้าว เครื่องสีข้าวและใช้กับรถอีแต๋น เป็นต้น จากสถิติการเกษตรแสดงให้เห็นว่าการใช้รถไถเดินตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้รถไถเดินตามในปี พ.ศ. ๒๕๓๒มีจำนวน ๖๖๐,๖๘๕ คัน เพิ่มเป็น ๙๘๔,๕๓๐ คันในปี พ.ศ. ๒๕๓๕

การพัฒนารถไถเดินตาม
          ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์เทวกุล หัวหน้ากองท่านแรกของกองเกษตรวิศวกรรม ได้ดำเนินการวิจัยหลายโครงการ งานวิจัยที่สำคัญๆ คือ งานวิจัยประดิษฐ์เครื่องมือเตรียมดิน และชลประทาน ซึ่งก็คือ การพัฒนาวิจัยรถแทรกเตอร์หลายแบบ ตั้งแต่แบบมาตรฐาน๔ ล้อ แบบ ๓ ล้อ แบบ ๒ ล้อ ทั้งแบบที่มีที่นั่งขับและแบบไม่มีที่นั่งขับหรือเรียกว่ารถไถเดินตาม
          ผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางคือการพัฒนาต้นแบบรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ซึ่งใช้เครื่องยนต์ตั้งแต่ขนาด ๘.๕ แรงม้า ถึง ๒๕แรงม้า ได้เป็นผลสำเร็จ จนมีคำเรียกผลงานนี้เฉพาะว่า "ควายเหล็ก"
          การวิจัยพัฒนารถไถเดินตาม ๒ ล้อ นั้นเริ่มต้นด้วยเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำขนาด ๖ แรงม้าซึ่งการทดสอบในระยะแรกพบว่า มีจุดอ่อนในเรื่องการทรงตัวและการบังคับควบคุม จึงได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนได้แบบที่สามารถใช้งานได้ดี และโรงงานเอกชนได้พัฒนาจนใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ประเภทของรถไถเดินตาม
การแบ่งรถไถเดินตาม อาจแบ่งลักษณะการใช้งานได้ ๓ แบบ
         ๑. รถไถเดินตามแบบใช้ลาก ไถ และอุปกรณ์อื่นๆ แต่เพียงอย่างเดียว เป็นรถไถที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทย มีทั้งชนิดผลักเลี้ยวและชนิดบีบเลี้ยว
         ๒. รถไถเดินตามแบบติดจอบหมุนอย่างเดียวใช้ในการเตรียมดินสำหรับไร่นาสวนผสม การใช้จอบหมุนจะเป็นการรวมขั้นตอนของการไถดะและไถพรวนไปในตัว เป็นรถไถที่นำเข้าจากต่างประเทศ
         ๓. รถไถเดินตามแบบผสม เป็นรถไถเดินตามที่ใช้ทั้งแบบที่ ๑ และแบบที่ ๒

        รถไถเดินตามที่ใช้กันแพร่หลายนั้นผลิตโดยคนไทย รวมทั้งอุปกรณ์ติดตั้งและชิ้นส่วนต่างๆด้วย แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทดังนี้
         ๑. ประเภทผลักเลี้ยว แบบประเภทผลักเลี้ยวผลิตในประเทศทั้งหมด รถประเภทนี้ไม่มีระบบเลี้ยว ถ้าจะเลี้ยวไปทิศทางใดก็จะใช้แรงผลักไปทิศทางนั้นประเภทนี้เหมาะสำหรับการไถนาแปลงใหญ่เพราะไม่ต้องเลี้ยวบ่อยๆ การใช้งานจะต้องออกแรงมากกว่าประเภทบีบเลี้ยว รถไถเดินตามประเภทนี้แบ่งออกเป็นแบบ ๓ เพลา และแบบ๔ เพลา เพลานี้จะอยู่ในห้องเฟือง โดยเหตุที่ขนาดของห้องเฟืองมีขนาดใกล้เคียงกัน รถไถแบบ๔ เพลา จึงมีระยะกระชาก ทำให้โซ่ขาดบ่อย มีส่วนดีก็คืออัตราการทดรอบระหว่างแต่ละคู่ต่ำกว่าแบบ ๓ เพลา ทำให้ประสิทธิภาพการส่งถ่าย กำลังดีกว่า
         ๒. ประเภทบีบเลี้ยว รถไถประเภทนี้ถ้าต้องการเลี้ยวข้างไหนก็บีบที่ก้านมือจับด้านนั้น ระบบนี้จึงมีความคล่องตัวสูง เบาแรง และปัจจุบันเป็นที่นิยมของเกษตรกร
         ๓. ประเภทบีบเลี้ยว มีเกียร์ รถไถประเภทนี้ได้พัฒนาจากรถไถประเภทที่สอง โดยเพิ่มเกียร์เดินหน้าและถอยหลัง ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน เกษตรกรนิยมใช้กันมาก  เพราะนอกจากใช้อุปกรณ์สำหรับไถนาแล้วยังนำไปลากรถพ่วงหรือรถสาลี่ เพื่อบรรทุกผลิตผลการเกษตร รถประเภทนี้นอกจากผลิตภายในประเทศแล้ว ยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แบบที่ผลิตจากต่างประเทศส่วนมากจะมีแกนเพลาส่งถ่ายกำลังมาทางด้านหลัง เพื่อขับจอบหมุนหรืออุปกรณ์ทางการเกษตรอื่นๆ  ทำให้สามารถใช้งานกว้างขวางมากขึ้น เช่น ใช้ในไร่นาสวนผสม แต่มีราคาสูงกว่าประเภทบีบเลี้ยว ๓-๔ เท่า
        ส่วนประกอบอื่นของรถไถเดินตามทั้ง ๓แบบ คือ โครงยึดเครื่องยนต์ โครงแขนบังคับการขับเคลื่อน และล้อขับเคลื่อน โครงยึดเครื่องยนต์เป็นส่วนที่จะวางตำแหน่งเครื่องยนต์ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลและช่วยในการทรงตัวของรถ โครงยึดเครื่องยนต์นี้จะมีความยาวอยู่ระหว่าง ๗๐-๑๐๐ ซม. เครื่องยนต์ต้นกำลังนี้จะใส่เครื่องยนต์เบนซินขนาด ๕-๘ แรงม้า แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด๘-๑๐ แรงม้า ถึงแม้เครื่องยนต์เบนซินจะมีราคาต่ำเมื่อเปรียบกับแรงม้าเท่าๆ กัน เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานหนักค่าน้ำมันเชื้อเพลิงถูกกว่า นอกจากนั้นยังให้กำลังม้าสูงที่รอบต่ำ ทำให้อัตราทดของเกียร์และขนาดของห้องเกียร์ลดลง  เครื่องยนต์นี้จะวางอยู่บนโครงแขนยึดเครื่อง และสามารถเลื่อนได้เพื่อความสะดวกในการปรับความตึงของสายพานที่ส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังห้องเฟือง  โครงแขนบังคับเลี้ยว จะอยู่ติดกับห้องเกียร์ แขนบังคับจะมีความยาวประมาณ ๑๓๐-๒๐๐ ซม. ส่วนรถใช้บีบเลี้ยวความยาวของแขนจะสั้นกว่า เพราะไม่ต้องใช้ความยาวของแขนเหนี่ยวโหนขณะเลี้ยวส่วนปลายแขนจะมีก้านบีบเลี้ยวอยู่ที่มือจับ  หากเป็นรถมีเกียร์จะมีเกียร์ขึ้นมา ปัจจุบันมีเกียร์เดินหน้าถึง ๒ เกียร์ และมีเกียร์ถอยหลัง ๑ เกียร์นอกจากนั้นจะมีลูกเตะสายพาน และคันเร่งน้ำมัน
เป็นต้น ล้อขับเคลื่อน ล้อของรถไถเดินตามเป็นล้อทำด้วยเหล็กมีแผ่นครีบติดอยู่ใต้ล้อมีชื่อว่าตีนเป็ด แผ่นครีบนี้ทำหน้าที่กุยดินไม่ให้ลื่นขณะทำงาน  นอกจากนั้นยังช่วยพยุงไม่ให้รถจมในขณะที่ใช้งานในดินเหลว ล้อเหล็กนี้เหมาะสำหรับทำนาทำสวน เวลาเคลื่อนย้ายในการวิ่งบนถนนนั้น ควรใช้ล้อยางหรือใช้เหล็กวงกลมรัดแผ่นครีบของวงล้อ

อุปกรณ์และเครื่องมือที่สามารถใช้ร่วมกับรถไถเดินตาม    
     อุปกรณ์และเครื่องมือที่สามารถใช้ร่วมกับรถไถเดินตาม ส่วนใหญ่จะมี
           ๑. ไถหัวหมูผาลเดียว ใช้สำหรับไถนา
           ๒. ไถจานแบบ ๒ ผาล ใช้สำหรับไถไร่และไถนา
           ๓. คราด
           ๔. ขลุกหรือลูกทุบตีเทือก
           ๕. รถพ่วงหรือสาลี่บรรทุก
         นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกที่สามารถใช้ร่วมกับรถไถเดินตามได้ เช่น เครื่องปรับระดับดินท่อพญานาคหรือระหัดเทพฤทธิ์ เครื่องหยอดเมล็ดพืช เป็นต้น

อ่านความรู้เกี่ยวกับรถไถเดินตามเพิ่มเติม http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/other/other33.pdf (http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/other/other33.pdf)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 21 มกราคม 2013, 12:11:56
ตามมาเก็บความรู้เหมือนเดิม ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มกราคม 2013, 14:11:16
วิวัฒนาการของเครื่องดำนา

ประเทศญี่ปุ่นมีการเพาะปลูกข้าวมายาวนานกว่า 2,000 ปี ปัจจุบันการดำนาของชาวนาญี่ปุ่นใช้เครื่องดำนาประมาณร้อยละ 96 ปักดำด้วยแรงงานคน ประมาณร้อยละ 3 ซึ่งเป็นการปักดำเพื่อการอนุรักษ์ไว้ในแหล่งท่องเที่ยว ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 0.5 ทำนาหว่าน ซึ่งตรงข้ามกับเมืองไทยที่นาหว่านเพิ่มขึ้น นาดำกลับลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น การเพาะปลูกข้าวเกือบทั้งหมดจึงใช้เครื่องดำนา ประเทศญี่ปุ่นได้ค้นคิดประดิษฐ์และพัฒนาเครื่องดำนามากว่า 100 ปี และได้มีการจดสิทธิบัตรเครื่องดำนาเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2441 แต่เครื่องดำนาในขณะนั้นไม่ได้รับความนิยมจากชาวนา จนกระทั่ง พ.ศ. 2503 เครื่องดำนาได้รับการปรับแต่งแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ และผลิตออกสู่ตลาด ต่อมา ปี พ.ศ. 2508 เครื่องดำนาใช้กับกล้าล้างราก ยี่ห้อชิบูร่า-อาร์พี 2 (Sibura-RP 2) โดยมีหลักการทำงานเลียนแบบการปักดำของคน แต่การปักดำไม่ค่อยแน่นอนเท่าไร ปีถัดมา พ.ศ. 2509 เครื่องดำนาใช้กับกล้าแผ่นหรือกล้าดิน ยี่ห้อ Kanriu -1 ใช้คนลากปักดำได้แถวเดียว เครื่องดำนาแบบนั่งขับหรือรถดำนาผลิตออกสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2520 จากนั้นได้มีการผลิตเครื่องดำนาออกมาหลายรุ่น ประเทศเกาหลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผลิตเครื่องดำนาออกมาจำหน่าย

ประเภทของเครื่องดำนา
การแบ่งประเภทของเครื่องดำนามีการแบ่งออกได้หลายประเภทหลายวิธีการ แต่โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1. เครื่องดำนาใช้แรงคน (Manual rice transplanter) เครื่องดำนาใช้แรงคน อาศัยแรงงานจากคนโดยตรง ทำให้กลไกเกิดการปักดำด้วยการเข็นเดินหน้าและเดินถอยหลัง เครื่องดำนาประเภทนี้แยกออกตามชนิดของต้นกล้าที่ใช้กับเครื่องได้ดังนี้

1.1 เครื่องดำนาใช้แรงคนชนิดใช้กับต้นกล้าล้างราก ต้นกล้าที่จะใช้กับเครื่องชนิดนี้จะถูกถอนออกจากแปลงเพาะกล้า เมื่ออายุได้ 20-25 วัน แล้วนำมาล้างรากเอาดินที่ติดอยู่กับรากออกให้หมด ก่อนนำไปจัดวางในถาดกล้าอย่างเป็นระเบียบ ปักดำได้ครั้งละ 4-6 แถว การสูญเสียต้นกล้าระหว่างการปักดำเกิดขึ้นประมาณ ร้อยละ 11-34 ผู้ใช้ต้องเดินถอยหลังเพื่อลากตัวเครื่องไปและทำการปัก ความสามารถในการทำงานของเครื่องได้ประมาณวันละ 3 ไร่ (8 ชั่วโมง 2 คน ผลัดกัน) มีใช้ในประเทศไทยระยะหนึ่ง

1.2 เครื่องดำนาใช้แรงคนชนิดใช้กับต้นกล้าเป็นแผ่น ลักษณะของเครื่องคล้ายกับชนิดแรก แตกต่างกันที่ต้นกล้าที่นำมาใช้กับเครื่อง การเพาะกล้ามีขั้นตอนการเพาะที่พิถีพิถันมากกว่า โดยจะต้องเพาะกล้าให้เป็นแผ่นพอดีกับช่องถาดใส่ต้นกล้าของเครื่อง ปักดำได้ครั้งละ 4-8 แถว ผู้ใช้ต้องเดินถอยหลังเช่นเดียวกัน ความสามารถในการทำงานได้วันละ 2.5-3 ไร่ เป็นเครื่องที่ได้รับการพัฒนาจากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) และได้มีการปรับปรุงแก้ไขในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน ได้มีการนำมาใช้กันตามศูนย์วิจัยข้าวต่างๆ ในประเทศไทยหลายปีมาแล้ว แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้ในที่สุด

2. เครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์แบบเดินตาม (Walking type rice transplanter)
 ได้แก่

2.1 เครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์ชนิดใช้กับต้นกล้าเป็นแถบยาว เครื่องดำนาชนิดนี้ต้นกล้าจะถูกเพาะในกระบะที่แบ่งเป็นช่องๆ เพื่อให้ต้นกล้าที่ออกมาเป็นแถวเล็กๆ แล้วนำออกจากกระบะมาใส่ในถาด แล้วถูกอุปกรณ์ป้อนต้นกล้าพาเข้าไปยังอุปกรณ์ปักดำ แถวต้นกล้าจะถูกเฉือนเป็นท่อนก่อนการปักดำ ขนาดของท่อนกล้า 10-15 มิลลิเมตร ปักดำได้ครั้งละ 2 แถว เครื่องดำนาชนิดนี้ช่วยลดการสูญเสียของต้นกล้าระหว่างการปักดำได้มาก ประมาณร้อยละ 1.1-1.5 และมีราคาถูก ถึงแม้จะมีข้อดีที่มีการสูญเสียต้นกล้าในการปักดำน้อยและมีราคาถูก แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้กัน เนื่องจากมีขั้นตอนและใช้แรงงานในการเพาะกล้ายุ่งยาก

2.2 เครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์ชนิดใช้กับกล้าล้างราก เครื่องดำนาชนิดนี้เป็นเครื่องดำนาเริ่มแรกที่มีการประดิษฐ์ขึ้น เพื่อจะมาทำหน้าที่ปักดำแทนคน โดยติดตั้งอุปกรณ์ปักดำประกอบเข้ากับรถไถเดินตามหรือเครื่องพรวนดินแบบเดินตาม ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นต้นกำลัง ทำให้เครื่องมีน้ำหนักมาก การถอยหลังเป็นไปด้วยความล่าช้า การเลี้ยวกลับหัวงานลำบาก เพราะใช้วงเลี้ยวกว้าง แต่มีข้อได้เปรียบที่ขั้นตอนในการเตรียมกล้าไม่ยุ่งยาก เนื่องจากใช้กล้าชนิดเดียวกันกับที่เพาะไว้สำหรับการทำนาดำทั่วไป

2.3 เครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์ชนิดใช้กับกล้าแท่งหรือกล้าหลุม เครื่องดำนาชนิดนี้ยังคงมีการใช้กันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น แต่ก็มีอยู่เป็นจำนวนน้อย กล้าแท่งหรือกล้าหลุมที่จะใช้ต้องเป็นกล้าแก่ (Mature seedling) กล้าที่มีอายุมากรากจะขดกันเป็นก้อนรูปแท่งสี่เหลี่ยมตามรูปทรงของหลุมในกระบะเพาะ ทำให้ส่วนของรากมีน้ำหนักมาก จึงเหมาะกับพื้นที่นาที่เป็นดินทราย ที่กล้าทั่วไปหรือกล้าแผ่นไม่สามารถตั้งต้นให้ตรงได้ กล้ามักจะเอนหรือล้มนอนราบ แต่กล้าแท่งจะทรงตัวให้ตั้งตรงได้ดีในดินทรายหรือดินเป็นเลนอ่อนมาก เนื่องจากแท่งดินกับกระจุกรากจะเป็นฐานยึดติดให้อย่างดี แต่กล้าแท่งก็มีขั้นตอนในการเพาะกล้าที่ยุ่งยากกว่าและมีปัญหาในการจัดซื้อหากระบะเพาะ ซึ่งไม่ค่อยมีจำหน่ายทั่วไป

2.4 เครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์ชนิดใช้กับกล้าแผ่น เครื่องดำนาประเภทนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ใช้เครื่องยนต์ก๊าซโซลีน 4 จังหวะ 1-2.5 แรงม้า เป็นต้นกำลัง ประกอบด้วยล้อเหล็กหุ้มยาง 2 ล้อ ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน ให้ความสะดวกคล่องตัวในการทำงาน ผู้ใช้จะเดินตามเครื่อง การควบคุมการเลี้ยวบังคับด้วยการบีบคลัตช์ข้างที่ต้องการเลี้ยวที่มือจับ ปักดำได้ครั้งละ 2-6 แถว สามารถปรับระยะห่างระหว่างต้นได้แน่นอน มีระบบไฮดรอลิกเข้ามาช่วยในการยกตัวเครื่องให้สูงขึ้นขณะเลี้ยวกลับหัวงานและระหว่างการเดินทาง เครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์แบบเดินตามแบ่งออกได้ตามชนิดของต้นกล้าที่ใช้ดังนี้ เครื่องดำนาที่ใช้กับต้นกล้าล้างราก เครื่องดำนาที่ใช้กับต้นกล้าเป็นแผ่น เครื่องดำนาที่ใช้กับต้นกล้าเป็นแถวยาว และเครื่องดำนาที่ใช้กับต้นกล้าเป็นหลุม แต่เครื่องดำนาที่ใช้กับต้นกล้าเป็นแผ่นได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และได้มีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพทำงานสูงขึ้นหลายๆ ด้าน ส่วนเครื่องดำนาอีก 3 ชนิด ดังกล่าว ไม่ได้รับความนิยม และบางชนิดได้เลิกการผลิตไปแล้ว นอกจากนี้ สถาบันการใช้เครื่องจักรกลเกษตร (Agricultural Mechanization Institute : AMI) ประเทศเกาหลีใต้ได้ดัดแปลงเอารถไถเดินตามใช้เครื่องยนต์ดีเซลประกอบเข้ากับเครื่องดำนาใช้กับต้นกล้าเป็นแผ่น ปักดำได้ครั้งละ 4 แถว แต่ได้รับความนิยม เพราะมีน้ำหนักมาก การถอยหลังล้าช้า การเลี้ยวกลับหัวงานใช้วงเลี้ยวกว้าง ทำงานได้ 6-8 ไร่ ต่อวัน

3. รถดำนา หรือเครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์แบบนั่งขับ (Riding type rice transplanter) เครื่องดำนาประเภทนี้มีขนาดใหญ่ก็จริง แต่มีความคล่องตัวในการทำงานที่ดี มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง สามารถปักดำได้ครั้งละ 4-8 แถว ปักดำได้ตั้งแต่ 8 ไร่ ต่อวัน มีทั้งแบบ 3 ล้อ และ 4 ล้อ เครื่องดำนาประเภทนี้ที่ใช้กันอยู่มี 2 ชนิด คือ

3.1 เครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์แบบนั่งขับชนิดใช้กับต้นกล้าล้างราก เป็นเครื่องจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มี 3 ล้อ โดยมีล้อหน้าเป็นล้อขับเคลื่อน ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 3 แรงม้า และเครื่องยนต์ก๊าซโซลีน 3-5 แรงม้า เป็นต้นกำลัง ปักดำได้ครั้งละ 8 แถว แต่มีข้อจำกัดของระยะปักดำต้นกล้าที่สามารถปรับการปักดำได้เพียง 2 ระยะ ความสามารถในการทำงาน ประมาณ 10 ไร่ ต่อวัน มีการสูญเสียของต้นกล้าระหว่างการปักดำประมาณ ร้อยละ 3 โดยใช้คนในการทำงานกับเครื่องนี้ 2-3 คน คนแรกนั่งขับด้านหน้า ทำหน้าที่เป็นผู้ขับควบคุมเครื่อง ส่วนอีกคนหรือ 2 คน นั่งหันหลังอยู่ข้างซ้ายและข้างขวาของคนขับ ทำหน้าที่คอยใส่ต้นกล้าในถาดใส่ต้นกล้าของเครื่อง จัดเป็นเครื่องที่มีน้ำหนักมาก ทำให้การเลี้ยวกลับหัวงานและการเดินทางไม่ค่อยคล่องตัว ในการเดินทางจะต้องเปลี่ยนเป็นล้อยาง ทำให้เสียเวลาในการถอดประกอบล้อ ทำงานได้ 15-20 ไร่ ต่อวัน

3.2 เครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์แบบนั่งขับชนิดใช้กับต้นกล้าเป็นแผ่น จัดได้ว่าเป็นเครื่องดำนาที่ได้รับความนิยมใช้กันทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจากประเทศญี่ปุ่น และมีส่วนน้อยที่เป็นของประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการนำเอาระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการควบคุมการทำงานหลายด้าน บางรุ่นติดตั้งอุปกรณ์ใส่ปุ๋ยทำงานร่วมด้วยระหว่างการปักดำ ปักดำได้ครั้งละ 4-5 แถว การสตาร์ตติดเครื่องยนต์ด้วยระบบไฟฟ้า การบังคับเลี้ยวใช้ระบบไฮดรอลิกเข้ามาช่วย ทำให้การเลี้ยวเร็วขึ้น ได้วงเลี้ยวที่แคบและเบาแรงแก่ผู้ใช้

3.3 เครื่องดำนาใช้เครื่องยนต์ชนิดใช้กับต้นกล้าเป็นแผ่นแบบอัตโนมัติ เป็นแบบนั่งขับแต่คนไม่ได้ขับ โดยได้นำเอาเทคโนโลยีระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก GPS และระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมในการทำงาน เครื่องจึงสามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับ คนมีหน้าที่คอยใส่แผ่นกล้าเท่านั้น

การทำนาด้วยเครื่องดำนา
การทำนาด้วยเครื่องดำนาต้องพิถีพิถันกว่าการดำนาตามปกติ เริ่มจากการไถเตรียมดินให้ละเอียดไม่มีเศษหญ้าเศษวัชพืชหลงเหลือ ปรับทำเทือกให้เรียบสม่ำเสมอกันทั่วพื้นที่ ไม่มีแอ่งมีหลุม หลังจากใส่ใจกับการเตรียมดินแล้ว ยังต้องใส่ใจกับการเพาะกล้า เริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ เปอร์เซ็นต์การงอกสูง ไม่มีเมล็ดลีบ ด้วยการแช่ในน้ำเกลือเข็มข้น สังเกตเมื่อใส่ลงไปไข่จะลอยปริ่มน้ำ หรือใช้เกลือ 1.4 กิโลกรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร ก็จะได้เมล็ดที่สมบูรณ์ นำเมล็ดใส่ถุงแช่น้ำทิ้งไว้ 2-3 คืน (ชาวนาไทยแช่เพียง 1 คืน) จากนั้นเอาเมล็ดขึ้นมาโรยลงในกระบะเพาะ ขนาดของกระบะกว้าง 28 เซนติเมตร ยาว 58 เซนติเมตร และสูง 3 เซนติเมตร เป็นขนาดมาตรฐาน จุดินได้ 4.3 ลิตร เป็นกระบะเพาะกล้าโดยเฉพาะ ร่อนดินผ่านตะแกรงละเอียด ขนาด 4-5 ช่อง ต่อตารางมิลลิเมตร ใส่กระบะให้สูง ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปาดให้เรียบเสมอกันก่อนโรยเมล็ด และโรยขี้เถ้าแกลบกลบหน้า นำกระบะเก็บไว้ที่ร่ม 2 คืน เมล็ดจะงอกออกมาประมาณ 1 เซนติเมตร จึงเอาออกไปไว้ในแปลงนาที่เตรียมไว้ รดน้ำให้โชกคลุมด้วยซาแรนทิ้งไว้ 2 วัน ค่อยเปิดเอาซาแรนออก ปล่อยน้ำเข้าให้ท่วมกระบะ ปล่อยไว้ 10 วัน จึงปล่อยน้ำเข้าสูงได้ แต่ในญี่ปุ่นประสบปัญหาในการเพาะกล้า เนื่องจากเป็นเมืองหนาวจึงต้องเอากระบะเพาะเข้าตู้อบก่อนจะนำออกแดด รอจนต้นกล้าอายุได้ 20-30 วัน จึงนำไปปักดำ นาที่จะปักดำต้องขังน้ำทิ้งไว้ในแปลงจนน้ำในแปลงตกตะกอนใสเสียก่อน จึงใช้เครื่องดำนาได้ ความลึกของน้ำในแปลงปักดำไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อจะได้มองเห็นแนวจากเครื่องกาแถว ทำให้เครื่องแล่นได้เป็นแนวตรงมีระยะห่างระหว่างแถวที่เท่ากันตลอด ใส่แผ่นกล้าในถาดป้อนแผ่นกล้า ความยุ่งยากน่าเบื่อหน่ายจึงอยู่ที่การเพาะกล้า ที่ชาวนาไม่ค่อยชอบและไม่มีเวลาให้ แต่ก็ได้หาทางแก้จะมีการตั้งโรงงานผลิตกล้าขึ้นมาโดยเฉพาะเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ชาวนาไม่ต้องผลิตกล้าเอง ไปซื้อกล้าได้จากโรงงานผลิตกล้าหรือที่สหกรณ์ ถ้าเป็นรถดำนาในการปฏิบัติชาวนาไทยจะประจำอยู่ที่รถ 3 คน คนแรกเป็นคนขับ อีก 2 คน อยู่ทางซ้ายทางขวาทำหน้าที่ใส่แผ่นกล้าที่ม้วนเก็บไว้บนรถลงในถาดลำเลียงแผ่นกล้า รถดำนา 1 คัน เท่ากับคน 70-80 คน



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มกราคม 2013, 14:24:41
มาดูภาพการปลูกข้าวด้วยรถดำนากัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มกราคม 2013, 14:35:43
เมื่อ 3 ปีก่อนก็ไปนั่งดูเค้าดำนาโดยใช้รถกัน ต้นข้าวขึ้นเป็นระเบียบสวยงามดี ตอนนี้ชาวนาแถวบ้านก็มีทั้งนาหว่าน นาดำ นาโยน  กันแต่ % การทำนาหว่านเริ่มลดลงมากแล้วอีกหน่อยแถวบ้านน่าจะทำนาโยน กับนาดำกันเยอะ ลดการใช้สารเคมีพวกยาคุมหญ้าได้ นาปีผมก็คงจะเลิกทำนาหว่านแล้วเหมือนกัน เพื่อความปลอดภัยกับตัวเองและคนอื่น ๆครับ

มาดูภาพนาดำโดยใช้รถต่อ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: NANABABY ที่ วันที่ 21 มกราคม 2013, 21:01:54
ช่วยดันๆขอบคุณความรู้สำหรับชาวนารุ่นใหม่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มกราคม 2013, 21:37:17
น้ำมีความสำคัญมากสำหรับการทำนา ดูระบบชลประทานเพื่อการทำเกษตร จะพบว่าอิสราเอลมีความล้ำหน้าในการจัดการน้ำมาก สำหรับในกลุ่มอาเซียนประเทศเวียดนามมีระบบชลประทานที่ค่อนข้างครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร แต่ถ้าประเทศในเอเชียชอบประเทศญี่ปุ่นที่มีการบริหารจัดการน้ำในการทำนาค่อนข้างดี

ประเทศญี่ปุ่นกินข้าวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับคนไทย ลักษณะภูมิอากาศของไทยและญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันของญี่ปุ่นมีสี่ฤดู คือ ใบไม้ผลิ (มี.ค. – พ.ค.) ร้อน (มิ.ย. – ส.ค.) ใบไม้ร่วง (ก.ย. – พ.ย.) และหนาว (ธ.ค. – ก.พ.) เพื่อให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับฤดูกาล พันธุ์ข้าวที่ปลูกในประเทศญี่ปุ่นจึงมีความแตกต่างจากพันธุ์ข้าวของไทย ข้าวพันธุ์ญี่ปุ่น  (Oryza sativa var. japonica) มีลักษณะเมล็ดสั้นป้อม เหนียว (แต่ไม่เหนียวเท่ากับข้าวเหนียวของไทย) นุ่ม ใช้ตะเกียบคีบติดกันเป็นก้อน ปั้นเป็นก้อนได้ง่าย ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมทำเป็นข้าวปั้น ประเภทต่างๆ

ระบบชลประทานของญี่ปุ่นนับว่ามีการพัฒนาไปไกลมาก มีระบบคลองและรางส่งน้ำไปถึงแปลงนาทุกแปลง ชาวนาเพียงแค่นำไม้มากั้นรางส่งน้ำแล้วเปิดปลายท่อที่ฝังใต้คันนาซึ่งเชื่อมกับรางส่งน้ำ ก็จะได้น้ำเข้านาทันที และอีกด้านหนึ่งของแปลงนาจะเป็นท่อระบายน้ำไปยังรางและคลองรับน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว ซึ่งจะแยกออกจากระบบคลองส่งน้ำดี และมีระดับต่ำกว่า
การทำนาในประเทศญี่ปุ่น ระบบคลองและรางส่งน้ำเข้าแปลงนาจะมีระบบระบายน้ำออกจากแปลงนาและคลองรับน้ำที่ผ่านการใช้งานในแปลงนาแล้ว

ข้อสังเกตที่น่าสนใจสองประการเกี่ยวกับการพัฒนาแปลงนาของชาวญี่ปุ่น คือ
1. คันนา ซึ่งสร้างด้วยซีเมนต์ มีข้อดีหลายประการคือ 1) มีขนาดเล็ก  ทำให้ประหยัดเนื้อที่ 2) มีความแข็งแรงทนทาน ป้องกันน้ำรั่วซึมและช่วยในการรักษาระดับน้ำ ข้อเสีย คือ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูง
2. ถนนขนาดเล็ก แปลงนาทุกแปลงจะมีถนนเข้าถึงทุกแปลง เป็นถนนบดอัดลูกรัง หรือราดยาง มีข้อดี คือ 1) การขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ การผลิต เข้าไปยังแปลงนา และขนส่งผลผลิตออกจากแปลงนา ทำได้สะดวก 2) การเข้าไปดูแล รักษาทำได้ง่าย 3) ทำให้ชาวนามีเส้นทางคมนาคมสะดวก  ข้อเสีย คือ ค่าใช้จ่ายสูง
ข้อสงสัย คือ ชาวนาเป็นผู้ดำเนินการเองหรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
สำหรับบ้านเรา การพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรแบบเดียวกับญี่ปุ่น รัฐบาลน่าจะเป็นผู้ลงทุน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มกราคม 2013, 22:05:18
ช่วยดันๆขอบคุณความรู้สำหรับชาวนารุ่นใหม่ครับ

ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มกราคม 2013, 22:42:54
หลักการผลิตข้าวอินทรีย์

ข้าวอินทรีย์คืออะไร
ข้าวอินทรีย์ (Organic rice) เป็นข้าวที่ได้จากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture หรือ Organic Farming) ซึ่งเป็นวิธีการผลิตที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือสารสังเคราะห์ต่างๆ เป็นต้นว่า ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าวในทุกขั้นตอนการผลิตและในระหว่างการเก็บรักษาผลผลิต หากมีความจำเป็น แนะนำให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติและสารสกัดจากพืชที่ไม่มีพิษต่อคน หรือไม่มีสารพิษตกค้างปนเปื้อนในผลิตผลในดินและน้ำ ในขณะเดียวกันก็เป็นการรักษาสภาพแวดล้อม ทำให้ได้ผลิตผลข้าวที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยจากอันตรายของผลตกค้างส่งผลให้ผู้บริโภคมีสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี

หลักการผลิตข้าวอินทรีย์
   การผลิตข้าวอินทรีย์ เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดเป็นต้นว่า ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าว ตลอดจนสารเคมีที่ใช้รมเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บ การผลิตข้าวอินทรีย์นอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยจากสารพิษแล้วยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนอีกด้วย
   การผลิตข้าวอินทรีย์เป็นระบบการผลิตทางการเกษตรที่เน้นเรื่องของธรรมชาติเป็นสำคัญ  ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ การรักษาสมดุลธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน เช่น ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการปลูกพืชหมุนเวียน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ในไร่นาหรือจากแหล่งอื่น ควบคุมโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าวโดยวิธีผสมผสานที่ไม่ใช้สารเคมี การเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมมีความต้านทานโดยธรรมชาติ รักษาสมดุลของศัตรูธรรมชาติ การจัดการพืช ดิน และน้ำ ให้ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการของต้นข้าว เพื่อทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี มีความสมบูรณ์แข็งแรงตามธรรมชาติ การจัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมต่อการระบาดของโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าว เป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้ก็สามารถทำให้ต้นข้าวที่ปลูกให้ผลผลิตสูงในระดับที่น่าพอใจ
   เทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ มีขั้นตอนการปฏิบัติ  เช่นเดียวกับการผลิตข้าวโดยทั่วไปจะแตกต่างกัน ตรงที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

1.   การเลือกพื้นที่ปลูก
เลือกพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ติดต่อกัน และมีความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยธรรมชาติค่อนข้างสูง ประกอบด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของข้าวอย่างเพียงพอ มีแหล่งน้ำสำหรับเพาะปลูก ไม่ควรเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมีการปนเปื้อนของสารเคมีสูง และห่างจากพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีการเกษตร พื้นที่ที่จะใช้ในการผลิตข้าวโดยปกติมีการตรวจสอบหาสารตกค้างในดินหรือในน้ำ

2.   การเลือกใช้พันธุ์ข้าว
พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกควรมีคุณสมบัติด้านการเจริญเติบโตเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูกและให้ผลผลิตได้ดีแม้ในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ต้านทานโรค แมลงที่สำคัญ และมีคุณภาพเมล็ดตรงกับความต้องการของผู้บริโภคข้าวอินทรีย์ การผลิตข้าวอินทรีย์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 ซึ่งทั้งสองพันธุ์เป็นข้าวที่มีคุณภาพเมล็ดดีเป็นพิเศษ

3.   การเตรีมเมล็ดพันธุ์ข้าว
เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานผลิตจากแปลงผลิตพันธุ์ข้าวที่ได้รับการดูแลอย่างดี      มีความงอกแรงผ่านการเก็บรักษาโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์  ปราศจากโรคแมลง  และเมล็ดวัชพืช  หากจำเป็นต้องป้องกันโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์อนุโลมให้นำมาแช่ในสารละลายจุนสี (จุนสี 1 กรัมต่อน้ำ     1 ลิตร) เป็นเวลานาน 20 ชั่วโมง แล้วล้างด้วยน้ำก่อนนำไปปลูก

4.   การเตรียมดิน
วัตถุประสงค์หลักของการเตรียมดิน คือสร้างภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกและการเจริญเติบโตของข้าว ช่วยควบคุมวัชพืช โรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าวบางชนิด การเตรียมดินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณสมบัติดินและสภาพแวดล้อมในแปลงนาก่อนปลูกโดยการไถดะ ไถแปร คราด และทำเทือก

5.   วิธีการปลูก
การปลูกข้าวแบบปักดำ จะเหมาะสมที่สุดกับการผลิตข้าวอินทรีย์ เพราะการเตรียมดิน ทำเทือก การรักษาระดับน้ำขังในนาจะช่วยควบคุมวัชพืชได้ และการปลูกกล้าข้าวลงดินจะช่วยให้ข้าวสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ ต้นกล้าที่ใช้ปักดำควรมีอายุประมาณ 30 วัน เลือกต้นกล้าที่เจริญเติบโตแข็งแรงดี  ปราศจากโรคและแมลงทำลาย เนื่องจากในการผลิตข้าวอินทรีย์ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ทุกชนิด โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี จึงแนะนำให้ใช้ระยะปลูกถี่กว่าระยะปลูกที่แนะนำสำหรับการปลูกข้าวโดยทั่วไปเล็กน้อย คือ ประมาณ 20x20 เซนติเมตร จำนวนต้นกล้า 5 ต้นต่อกอ และใช้ระยะปลูกแคบกว่านี้ หากดินนามีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ในกรณีที่ต้องปลูกล่าหรือปลูกหลังจากช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมของข้าวแต่ละพันธุ์ และมีปัญหา เรื่องการขาดแคลนแรงงาน แนะนำให้เปลี่ยนไปปลูกวิธีอื่นที่เหมาะสม

6.   การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน
เนื่องจากการปลูกข้าวอินทรีย์ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี  ดังนั้นการเลือกพื้นที่ปลูกที่ดินมีความ อุดมสมบูรณ์สูงตามธรรมชาติ จึงเป็นการเริ่มต้นที่ได้เปรียบ เพื่อที่จะรักษาระดับผลผลิตให้อยู่ในเกณฑ์  ที่น่าพอใจ นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องรู้จักการจัดการดินที่ถูกต้อง และพยายามรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เหมาะสมกับการปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ผลดีและยั่งยืนมากที่สุดอีกด้วย
        คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน สำหรับการผลิตข้าวอินทรีย์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ การจัดการดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการใช้วัสดุอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี

6.1   การจัดการดิน
      มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เหมาะสมกับ  การใช้ปลูกข้าวอินทรีย์ ดังนี้
   ไม่เผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุอินทรีย์ในแปลงนา เพราะเป็นการทำลายอินทรียวัตถุ  และจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์
 ไม่นำชิ้นส่วนของพืชที่ไม่ใช้ประโยชน์โดยตรงออกจากแปลงนา แต่ควรนำวัสดุ อินทรีย์จากแหล่งใกล้เคียงใส่แปลงนา ให้สม่ำเสมอทีละเล็กละน้อย
   เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินโดยการปลูกพืชโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วในที่ว่างในบริเวณพื้นที่นาตามความเหมาะสม แล้วใช้อินทรียวัตถุที่เกิดขึ้นในระบบไร่นาให้เกิดประโยชน์ ต่อการปลูกข้าว
 ไม่ควรปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่าก่อนการปลูกข้าวและหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว แต่ควร ปลูกพืชคลุมดินโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วพร้า โสน เป็นต้น
    ป้องกันการสูญเสียหน้าดินเนื่องจากการชะล้าง โดยใช้วัสดุคลุมดิน พืชคลุมดิน และ ควรมีการไถพรวนอย่างถูกวิธี
  ควรวิเคราะห์ดินนาทุกปี แล้วแก้ไขภาวะความเป็นกรดเป็นด่างของดิน  ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นข้าว (ประมาณ 5.5-6.5) ถ้าพบว่าดินมีความเป็นกรดสูง แนะนำให้ใช้ปูนมาร์ล ปูนขาว หรือขี้เถ้าไม้ปรับปรุงสภาพดิน

6.2   การใช้ปุ๋ยอินทรีย์
หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด และพยายามแสวงหาปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติมาใช้อย่างสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติแทบทุกชนิดมีความเข้มข้นของธาตุอาหารค่อนข้างต่ำ จึงต้องใช้ในปริมาณที่สูงมากและอาจมีไม่พอเพียงสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ และถ้าหากมีการจัดการที่ไม่เหมาะสมก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต จึงแนะนำให้ใช้หลักการธรรมชาติที่ว่า “สร้างให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ใช้ทีละเล็กทีละน้อยสม่ำเสมอเป็นประจำ”

ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติที่ควรใช้ ได้แก่
           ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยมูลสัตว์ ได้แก่มูลสัตว์ต่างๆ ซึ่งอาจนำมาจากภายนอก หรือจัดการผลิตขึ้นในบริเวณไร่นา นอกจากนี้ท้องนาในชนบทหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วมักจะปล่อยให้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ โดยให้แทะเล็มตอซังและหญ้าต่างๆ มูลสัตว์ที่ถ่ายออกมาปะปนกับเศษซากพืช ก็จะเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในนาอีกทางหนึ่ง
   ปุ๋ยหมัก ควรจัดทำในพื้นที่นาหรือบริเวณที่อยู่ไม่ห่างจากแปลงนามากนัก เพื่อความสะดวกในการใช้ ควรใช้เชื้อจุลินทรีย์ในการทำปุ๋ยหมักเพื่อช่วยการย่อยสลายได้เร็วขึ้น และเก็บรักษาให้ถูกต้องเพื่อลดการสูญเสียธาตุอาหาร
   ปุ๋ยพืชสด  ควรเลือกชนิดที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ควรปลูกก่อนการปักดำข้าว ในระยะเวลาพอสมควร เพื่อให้ต้นปุ๋ยพืชสดมีช่วงการเจริญเติบโตเพียงพอที่จะผลิตมวลพืชสดได้มาก มีความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจนสูงและไถกลบต้นปุ๋ยพืชสดก่อนการปลูกข้าวตามกำหนดเวลา เช่น โสนอัฟริกัน (Sesbania rostrata) ควรปลูกก่อนปักดำข้าวประมาณ 70 วัน โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ประมาณ 7 กิโลกรัมต่อไร่ หากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสช่วยเร่งการเจริญเติบโต แนะนำให้ใช้หินฟอสเฟตบดละเอียด ใส่ตอนเตรียมดินปลูก แล้วไถกลบต้นโสนขณะมีอายุประมาณ 50-55 วันหรือก่อนการปักดำข้าวประมาณ 15 วัน

6.3   การใช้อินทรียวัตถุบางอย่างทดแทนปุ๋ยเคมี
   หากปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดินข้างต้นแล้วยังพบว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอหรือขาดธาตุอาหารที่สำคัญบางชนิดไป สามารถนำอินทรียวัตถุจากธรรมชาติต่อไปนี้ ทดแทนปุ๋ยเคมีบางชนิดได้คือ
      แหล่งธาตุไนโตรเจน: เช่น แหนแดง สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว กากเมล็ดสะเดา   เลือดสัตว์แห้ง กระดูกป่น เป็นต้น
      แหล่งธาตุฟอสฟอรัส: เช่น หินฟอสเฟต กระดูกป่น มูลไก่ มูลค้างคาว กากเมล็ดพืช ขี้เถ้าไม้ สาหร่ายทะเล เป็นต้น
      แหล่งธาตุโพแทสเซียม: เช่น ขี้เถ้า และหินปูนบางชนิด
   แหล่งธาตุแคลเซียม: เช่น ปูนขาว โดโลไมท์ เปลือกหอยป่น กระดูกป่น เป็นต้น

7.   ระบบการปลูกพืช
ปลูกข้าวอินทรีย์เพียงปีละครั้ง โดยเลือกช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมกับข้าวแต่ละพันธุ์ และปลูกพืช หมุนเวียนโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วก่อนและหลังการปลูกข้าว อาจปลูกข้าวอินทรีย์ร่วมกับพืชตระกูลถั่ว  ก็ได้ ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม

8.   การควบคุมวัชพืช
หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิดในการควบคุมวัชพืช แนะนำให้ควบคุมวัชพืชโดยวิธีกล เช่น การเตรียมดินที่เหมาะสม วิธีการทำนาที่ลดปัญหาวัชพืช การใช้ระดับน้ำควบคุมวัชพืช การใช้วัสดุคลุมดิน การถอนด้วยมือ วิธีเขตกรรมต่างๆ การใช้เครื่องมือ รวมทั้งการปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น

9.   การป้องกันกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรูพืช
หลักการสำคัญของการป้องกันกำจัดโรคแมลง และสัตว์ศัตรูข้าวในการผลิตข้าวอินทรีย์ มีดังนี้
   ไม่ใช้สารสังเคราะห์ในการป้องกันกำจัดโรคแมลง และสัตว์ศัตรูข้าวทุกชนิด
  ใช้ข้าวพันธุ์ต้านทาน
       การปฏิบัติด้านเขตกรรม เช่น การเตรียมแปลง  กำหนดช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม ใช้อัตราเมล็ดและระยะปลูกที่เหมาะสม การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาด ของโรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าว การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสมดุลของธาตุอาหารพืช การจัดการน้ำ เพื่อให้ต้นข้าวเจริญเติบโตดี สมบูรณ์และแข็งแรง สามารถลดการทำลายของโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าวได้ส่วนหนึ่ง
    การจัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมกับการระบายของโรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าว เช่น การจำจัดวัชพืช การกำจัดเศษซากพืชที่เป็นโรคโดยใช้ปูนขาว หรือกำมะถันผงที่ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี และควรปรับสภาพดินไม่ให้เหมาะสมกับการระบาดของโรค
      การรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ โดยส่งเสริมการเผยแพร่ขยายปริมาณของแมลงที่มีประโยชน์ เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน และศัตรูธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมแมลงและสัตว์ศัตรูข้าว
     การปลูกพืชขับไล่แมลงบนคันนา เช่น ตะไคร้หอม
     หากมีความจำเป็นอนุญาตให้ใช้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ใบแคฝรั่ง เป็นต้น
     ใช้วิธีกล เช่น ใช้แสงไฟล่อ ใช้กับดัก ใช้กาวเหนียว
    ในกรณีที่ใช้สารเคมีกำจัดควรกระทำโดยทางอ้อม เช่นนำไปผสมกับเหยื่อล่อในกับดักแมลงหรือใช้สารพิษกำจัดสัตว์ศัตรูข้าว ซึ่งจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง และต้องกำจัดสารเคมีที่เหลือรวมทั้งศัตรูข้าวที่ถูกทำลายโดยเหยื่อพิษอย่างถูกวิธี หลังจากปฏิบัติเสร็จแล้ว

10.   การจัดการน้ำ
ระดับน้ำมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางลำต้น และการให้ผลผลิตของข้าวโดยตรง ในระยะปักดำจนถึงแตกกอ ถ้าระดับน้ำสูงมากจะทำให้ต้นข้าวสูงเพื่อหนีน้ำทำให้ต้นอ่อนแอและล้มง่าย ในระยะนี้ควรรักษาระดับน้ำให้อยู่ที่ประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ถ้าต้นขาดน้ำจะทำให้วัชพืชเติบโตแข่งกับต้นข้าวได้ ดังนั้นระดับน้ำที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวอินทรีย์ ตลอดฤดูปลูกควรเก็บรักษาไว้ที่ประมาณ 5-15 เซนติเมตร จนถึงระยะก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 7-10 วัน จึงระบายน้ำออกเพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน และพื้นนาแห้งพอเหมาะต่อการเก็บเกี่ยว

11.   การจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวหลังข้าวออกดอก  ประมาณ 30 วัน สังเกตจากเมล็ดในรวงข้าวส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นสีฟาง เรียกว่าระยะข้าวพลับพลึง
การตาก      ขณะเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวมีความชื้นประมาณ 18-24 เปอร์เซ็นต์  จำเป็นต้องลดความชื้นลงให้เหลือ 14 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่า เพื่อให้เหมาะสมต่อการนำไปแปรสภาพ หรือเก็บรักษา และมีคุณภาพการสีดี การตากข้าวแบ่งออกเป็น 2 วิธี
               ตากเมล็ดข้าวเปลือกที่นวดจากเครื่องเกี่ยวนวด โดยเกลี่ยให้มีความหนา  ประมาณ 5 เซนติเมตร ในสภาพที่แดดจัดเป็นเวลา 1-2 วัน หมั่นพลิกกลับเมล็ดข้าวประมาณวันละ 3-4 ครั้ง นอกจากการตากเมล็ดบนลานแล้วสามารถตากเมล็ดข้าวเปลือกโดยการบรรจุกระสอบขนาดบรรจุ 40 - 60 กิโลกรัม ตากแดดเป็นเวลา 5-9 วัน และพลิกกระสอบวันละ 2 ครั้ง จะช่วยลดความชื้นในเมล็ดได้เหลือประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์
                 การตากฟ่อนข้าวแบบสุ่มซังในนา หรือแขวนประมาณ 2-3 แดด อย่าให้ เมล็ดข้าวเปียกน้ำ หรือเปื้อนโคลน

12.   การเก็บรักษาผลผลิต
ก่อนนำเมล็ดข้าวไปเก็บรักษา ควรลดความชื้นให้ต่ำกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาด้วยวิธีจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เป็นต้นว่า เก็บในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิ การใช้ภาชนะเก็บที่มิดชิดหรืออาจใช้เทคนิคการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการเก็บรักษา การเก็บในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำจะป้องกันการเจริญเติบโตของโรคและแมลงได้
      

13.   การบรรจุหีบห่อ
ควรบรรจุในถุงขนาดเล็กตั้งแต่ 1 กิโลกรัมถึง 5 กิโลกรัม โดยใช้วิธีอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเฉื่อย หรือเก็บในสภาพสุญญากาศ

ระบบการตรวจสอบข้าวอินทรีย์
   เพื่อให้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ ถูกต้องตามหลักการเกษตรอินทรีย์ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ดีปลอดภัยจากสารพิษ จำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักการของการเกษตรอินทรีย์
   
   ระบบการตรวจสอบข้าวอินทรีย์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ
1.   การตรวจสอบขั้นตอนการผลิตในไร่นา
มีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลให้วิธีการผลิตข้าวอินทรีย์เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามหลักการเกษตรอินทรีย์ คือ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิดแต่สามารถใช้สารจากธรรมชาติแทนได้ เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน

2.   การตรวจสอบรับรองคุณภาพผลผลิตในห้องปฏิบัติการ
เพื่อให้แน่ใจว่าผลผลิตที่ได้จากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์มีคุณภาพดี ปลอดภัยจากสารพิษ สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดโดย  FAO /WHO
   ในระบบสากลนั้นผลิตผลเกษตรอินทรีย์จะต้องผ่านการตรวจสอบทั้งขั้นตอนการผลิตและรับรองคุณภาพผลผลิตจากหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานของประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกสหพันธ์เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ (International Federation of Organic Agriculture Movement – IFOAM)
   ปัจจุบันข้าวอินทรีย์ที่ผลิตโดยบริษัทในเครือสยามไชยวิวัฒน์ และบริษัทในเครือนครหลวงค้าข้าว จำกัด โดยความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตร จะมีการตรวจสอบระบบการผลิตในไร่นา โดยนักวิชาการ และตรวจสอบรับรองคุณภาพผลผลิตในห้องปฏิบัติการโดยกรมวิชาการเกษตร แล้วส่งผลผลิตไปยังประเทศอิตาลี เพื่อจำหน่ายโดยมีองค์กร Riseria Monferrato s.r.I. Vercelli ประเทศอิตาลี เป็นผู้ประสานงานกับ IFOAM ในการรับรองคุณภาพมาตรฐานของการผลิต
   เพื่อให้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักเกษตรอินทรีย์ คุณภาพดีได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ จำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบ ควบคุม กำกับ และรับรองคุณภาพของผลผลิต ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงาน     ที่เกี่ยวข้องจะได้สนับสนุนให้มีหน่วยงาน / องค์กรประชาชน ที่ทำงานเป็นอิสระแต่สามารถตรวจสอบ    ซึ่งกันและกัน ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน (Standard setting) ตรวจสอบ (Inspection) และออกใบรับรอง (Certification) ผลผลิตข้าวอินทรีย์โดยรัฐเป็นผู้รับรอง (Accreditation) หน่วยงาน/องค์กรประชาชน      ดังกล่าว และประสานงานกับหน่วยงานในต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น IFOAM และ EEC เป็นต้น

งานวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์
1.   พันธุ์ข้าว
พันธุ์ข้าวที่ปลูกโดยทั่วไปเป็นพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือกตามระบบเกษตรเคมี ยังไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ ข้าวที่นิยมใช้ผลิตข้าวอินทรีย์ในปัจจุบันมีเพียง 2 พันธุ์  คือ ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 ซึ่งสามารถปลูกได้ดีเฉพาะพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดการระบาดของโรค แมลงศัตรูข้าวได้ง่าย หากมีการขยายพื้นที่ปลูก จึงควรมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับการผลิตแบบอินทรีย์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวอินทรีย์
ลักษณะบางประการของข้าวที่ควรคำนึงในการพัฒนาพันธุ์ข้าวอินทรีย์ ได้แก่ คุณภาพเมล็ดตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อายุการเจริญเติบโตเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาลปลูก ให้ผลผลิตดีในสภาพที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง- ต่ำ ต้านทานโรคแมลงศัตรูที่สำคัญบางชนิดในธรรมชาติ แข่งขันกับวัชพืชได้ดี ระบบรากแข็งแรงมีประสิทธิภาพ

2.   ความอุดมสมบูรณ์ของดิน
   การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดินมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตและรักษาระดับผลผลิตข้าวอินทรีย์ จึงควรมีการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างมีประสิทธิภาพ  การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยวิธีการต่างๆ เช่น การจัดการดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์  และการใช้
วัสดุธรรมชาติบางชนิดทดแทนปุ๋ยเคมี ทั้งในเรื่องของชนิดวัสดุ แหล่งผลิต ปริมาณ วิธีการใช้ และผลกระทบต่อผลผลิตข้าวและสภาพแวดล้อมรวมทั้งการปรับใช้ให้ได้ผลดีและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ จะช่วยให้การผลิต ข้าวอินทรีย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3.   การเขตกรรม
นอกจากการจัดการด้านความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว การวิจัยและพัฒนาด้านเขตกรรม เช่น การเตรียมดิน ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม วิธีการปลูก อัตราเมล็ดพันธุ์ ระยะปลูก การจัดการน้ำ การควบคุม-

วัชพืช และการจัดการโดยทั่วไป เพื่อให้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นข้าว  ทำให้ต้นข้าวที่ปลูกเจริญเติบโตดี สมบูรณ์และแข็งแรง ก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์   การใช้เครื่องมือ/เครื่องจักรกลในบางกิจกรรมในการผลิตเพื่อทดแทนแรงงาน ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี จึงควรมีการวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ที่เหมาะสม

4.   ด้านระบบการปลูกพืช
ควรมีระบบวิจัยและพัฒนาระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมกับการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยเน้นระบบ การผลิตที่เกื้อกูลการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน รักษาความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์มีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางการผลิตทางการเกษตรแบบยั่งยืนได้

5.   การป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าว
   เนื่องจากระบบการผลิตข้าวอินทรีย์หลีกเลี่ยงการใช้สารป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าว ประกอบกับพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่นิยมปลูกในปัจจุบันไม่ต้านทานโรคแมลงที่สำคัญ นอกจากนี้เทคโนโลยี การใช้สารอินทรีย์จากธรรมชาติในการป้องกันกำจัดโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าวยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร  จึงควรศึกษาวิจัยในด้านนี้ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคแมลง และสัตว์ศัตรูข้าวที่เหมาะสมกับการผลิตข้าวอินทรีย์

6.การเก็บรักษาผลผลิต
การเก็บรักษาผลผลิตข้าวที่ไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดการเสื่อมคุณภาพของข้าวที่เก็บรักษา  การสูญเสียผลผลิตข้าวเนื่องจากการทำลายของแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บมีประมาณ ร้อยละ 4  - 5 โดยน้ำหนัก  จึงมีการใช้สารเคมีป้องกันการทำลายของแมลงในการเก็บรักษาผลผลิตข้าวเพื่อการค้า  แต่การเก็บรักษาผลผลิตข้าวอินทรีย์จะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในโรงเก็บ  ดังนั้นจึงต้องมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว  และการจัดการในโรงเก็บเพื่อลดความสูญเสียและรักษาคุณภาพผลผลิต  การเก็บในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ ประมาณ
18 องศาเซลเซียส  และการบรรจุหีบห่อโดยใช้ถุงสุญญากาศหรือถุงบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเฉื่อยเป็นวิธีการที่ผู้ประกอบการใช้อยู่ในปัจจุบัน


ที่มา   :   หลักการผลิตข้าวอินทรีย์
   สถาบันวิจัยข้าวอินทรีย์
กรมวิชาการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จัดพิมพ์เผยแพร่โดย
   กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์
   ส่วนส่งเสริมและบริการพัฒนาคุณภาพสินค้า
   สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร
   กรมส่งเสริมการเกษตร
   เขตจตุจักร  กทม.  10900
   โทร. 0-2955-1515
   โทรสาร 0-2940-6170
   E-mail : agriqua41@doae.go.th


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 09:57:30

    ติดตามผลงานเรื่อยๆครับท่าน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 11:38:48
ในการใช้ปุ๋ยคอกในนาข้าว  ปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์แต่ละชนิดจะได้ปริมาณธาตุอาหารแตกต่างกันไป  เดี๋ยวนี้ก็มีหลายบริษัทที่นำมูลสัตว์มาปั้นเม็ดขายเพื่อความสะดวกในการใช้งานแต่ก็ค่อนข้างมีราคาและการปั้นเม็ดอาจมีส่วนผสมของดินเพื่อให้สามารถปั้นเป็นเม็ดได้ปริมาณของปุ๋ยคอกก็ลดลงไป หากใครจะทำนาแบบลดต้นทุนก็อาจติดต่อจากผู้เลี้ยงโดยตรงจะช่วยประหยัดเงินได้มาก



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 12:48:39
วันนี้ตอนเช้าไปดูดอกดาวเรืองที่เพาะเอาไว้โดยการเก็บดอกแก่ที่เหี่ยวมาขยี้ลงดินที่เตรียมไว้เพาะ ตอนนี้งอกขึ้นมา 30 กว่าต้นแล้วถ้าโตก็จะนำไปปลูกริมคันนา เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ในนาข้าว ดอกดาวเรือง ภาคเหนือเรียกว่า คำปู้จู้ โดยที่คำแปลว่า ทอง ส่วน ปู้จู้แปลว่า กระจุกแน่น  ที่จริงการสร้างระบบนิเวศน์ในแปลงนาสามารถนำดอกอื่นมาปลูกได้แต่คิดว่าดอกนี้ไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายอะไร หาได้ง่าย ปลูกง่าย สามารถนำไปเพาะต่อได้เรื่อย ๆ ครับ

การใช้ประโยชน์
         ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากชนิดหนึ่ง นอกจากจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย การนำดาวเรืองไปใช้ประโยชน์สรุปได้ดังนี้
          1.ปลูกประดับเพื่อความสวยงาม
ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่มีความสวยงาม กลีบดอกสีเหลืองเรียงอัดกันแน่น และมีอายุการใช้งานนาน ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับปลูกเพื่อประดับอาคารบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินตา สบายใจ
          2.ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันแมลง
เนื่องจากดาวเรืองเป็นสารที่มีกลิ่นเหม็น (ฉุน)แมลงไม่ชอบ จึงสามารถใช้เป็นเกราะป้องกันแมลงให้แก่พืชอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้รากของดาวเรืองยังมีสารชนิดหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้
          3.ปลูกเพื่อจำหน่าย
             3.1 ใช้ทำพวงมาลัย ปัจจุบันนิยมนำดอกดาวเรืองมาร้อยพวงมาลัยกันมาก ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยไหว้พระ หรือพวงมาลัยสำหรับคล้องคอในงานพิธีต่าง ๆ การตัดดอกดาวเรืองสำหรับใช้ประโยชน์ในด้านนี้จะต้องให้มีก้านดอกสั้น ๆ หรือให้เหลือเฉพาะดอก
             3.2 ใช้ปักแจกัน เนื่องจากดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่ลักษณะกลมเรียงตัวกันแน่นเป็นระเบียบ และมีสีสันสวยงาม จึงมีคนนิยมนำมาปักแจกันมาก ไม่ว่าจะเป็นแจกันตั้งตามโต๊ะรับแขกตามหิ้งพระ หรือแจกันประกอบโต๊ะหมู่บูชา การตัดดอกดาวเรืองเพื่อนำมาปักแจกันนี้ควรตัดให้มีก้านดอกยาวประมาณ 18-20 นิ้ว มัดดอกดาวเรืองเป็นกำ ๆ แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเพื่อให้ดอกดาวเรืองคงความสดอยู่ได้นาน ๆ
             3.3 การปลูกลงกระถางหรือถุงเพื่อประดับอาคารสถานที่ ปัจจุบันมีการนำกระถางหรือถุงดาวเรืองมาประดับอาคารสถานที่กันมากขึ้น เพาะสามารถใช้ประดับไว้เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานนิทรรศการ งานพระราชทานปริญญาบัตร หรือแม้แต่งานพิธีตามอาคารบ้านเรือน การปลูกดาวเรืองเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านนี้ ก็เหมือนกับการปลูกดาวเรืองโดยทั่วไป เพียงแต่เป็นการปลูกลงในกระถางหรือถุง แทนที่จะปลูกลงในแปลง พอดอกดาวเรืองเริ่มบาน ก็นำไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายได้
             3.4 จำหน่ายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากดาวเรืองเป็นพืชที่สารแซธโธฟิล (Xanthophyll) สูง จึงสามารถนำไปเป็นส่วนผสมอากหารสัตว์ได้ดี โดยเฉพาะอาหารของของไก่ไข่ จะทำให้ไข่แดงมีสีแดงสดใสน่ากินยิ่งขึ้น



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 12:57:57
ดอกไม้ริมคันควรเลือกใช้ต้นที่ไม่สูงมากเพราะจะไปบังแสงอาทิตย์กับต้นข้าวและไม่ควรปลูกเป็นพุ่มใหญ่หรือติดกันจนเกินไปอาจเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูพืชได้  นอกจากสร้างระบบนิเวศน์ในนาข้าว ดอกไม้บางชนิดยังมีประโยชน์อย่างอื่นด้วยครับเช่น ในญี่ปุ่นจะปลูกดอก"ฮิกัมบะนะ" หรือ "มันจุชะเกะ" หรือ Spider Lily ในภาษาอังกฤษ ออกดอกปีละครั้ง ชาวนาจะนิยมปลูกไว้รอบคันนาเพื่อป้องกันตัวตุ่นมาขุดกินข้าวที่กำลังออกรวงแก่เต็มที่ เนื่องจากต้นไม้นี่จะมีรากที่เป็นหัวและมีพิษ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 13:59:22
ผมเคยคุยกับเจ้าของร้านขายปุ๋ยขายยาเคมีแถวบ้าน  บอกว่าจะเลิกทำนาหว่านแล้ว ดูเค้าทำหน้าไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเพราะคงขายสินค้าได้น้อยลง พวกยาคุมหญ้า ซึ่งแต่ละปีต้องซื้อ2-3 พันบาท ปุ๋ยเคมีก็ขายได้น้อยลงตามไปด้วย มาดูบทความของคุณ สุภชัย ปิติวุฒิ  ผมก็ว่าให้แนวคิดที่ดีครับ


วงเวียนชีวิต เศรษฐกิจริมคันนา "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา"
โดย นาย สุภชัย ปิติวุฒิ

วันนี้
ตึกโรงพยาบาลสูงขึ้นเตียงคนไข้เพิ่มขึ้น หมอเพิ่มขึ้น คลินิกใกล้บ้านมากขึ้น จากคลินิกประจำอำเภอ ->มาประจำตำบล -> ประจำหมู่บ้าน 

ยารักษาโรคเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นช้ากว่า โรคที่เพิ่มขึ้น
อาหารเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้น ทั้งขายตรง แอบขาย หลอกขาย
............แต่
             
 "อายุเกษตรกรสั้นลง"

"ในน้ำมี-ยา" ในนามี-สารพิษ"
ช่วยกันเอาคุณภาพชีวิตที่ดีกลับคืนสู่ท้องนาให้
"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 14:45:30

    ติดตามผลงานเรื่อยๆครับท่าน
+1 คับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 15:39:59
รายการนี้ก็มีประโยชน์ครับ

h9rb18U3C8w

ความจริงเรื่องข้าวไทยที่คนไทยต้องรู้ หากไทยไม่เปลี่ยนวิธีการผลิตข้าว ต้นทุนที่สูงแต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ดินทางไปพม่า ลิ้มรสความอร่อยของข้าวที่อร่อยที่สุดในโลก ฟารีดา โยธาสมุทร อยู่ที่กรุงเทพเพื่อพิสูจน์ว่าข้าวหอมมะลิของไทย อร่อยติดใจชาวต่างชาติ มากกว่าข้าวหอมของ พม่า และเวียดนามอยู่หรือไม่ และทรงกลด บางยี่ขัน เดินทางไปภาคใต้ของเวียดนามแหล่งปลูกข้าวที่อุดมสมบรูณที่สุดในอาเซียน ชาวนาเวียดนาม  แม้แต่พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิสำคัญและอุดมสมบูรณ์ที่สุดของไทย ชาวนาไทยลงทุนกับปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเกือบครึ่งหนึ่งของต้นทุน เทียบกับชาวนาเวียดนามที่จังหวัดเกิ่นเทอ ค่าใช้จ่ายแตกต่างกันเพียงไร่ละพันกว่าบาท แต่เมื่อเทียบผลกำไรต่อไร่แล้ว ชาวนาเวียดนามมีกำไรมากกว่าชาวนาไทยเกือบ 4 เท่าตัว ติดตามชม asean beyond 2015



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 15:58:11

    ติดตามผลงานเรื่อยๆครับท่าน
+1 คับ

ขอบคุณทั้งสองท่านครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 16:17:20
ผลกระทบของยากำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพ

            สารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชถูกออกแบบมาให้ใช้กำจัดพืชหรือสัตว์หรือแมลงที่เป็นภัยต่อพืชที่เราต้องการ  สารเคมีเหล่านี้ถูกนำมาใช้  เพื่อกำจัดแมลงกำจัดวัชพืชหรือกำจัดเชื้อรา  ซึ่งอยากจะขอเรียกกลุ่มสารเคมีนี้โดยรวมตามที่เราเข้าใจง่าย ๆ ว่ายาฆ่าแมลง  ยาฆ่าแมลงจะถูกดูดซึมโดยทางผิวหนัง  การกิน และการหายใจ  ยาฆ่าแมลงสามารถแพร่ไปตามที่ต่าง ๆ  ในบริเวณใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า  พื้นดินหรือบ่อน้ำ  เด็ก ๆ ในบ้านอาจจะถูกยาฆ่าแมลงที่ตกค้างอยู่โดยไม่รู้ตัว  มีการศึกษาพบว่ามีเพียง 5%  ของยาฆ่าแมลงที่ได้ออกฤทธิ์ตรงกลุ่มเป้าหมาย  แต่ส่วนใหญ่ที่เหลือจะแพร่กระจายไปในบริเวณต่าง ๆ และแหล่งน้ำที่ใกล้เคียง  การแพร่กระจายของยาฆ่าแมลงนี้สามารถกระจายจากจุดที่ใช้ได้ตั้งแต่ 3 เมตรถึง 20 กิโลเมตร  ดังนั้น เราพอจะเห็นภาพคร่าว ๆ คือ   อันตรายจากการตกค้างของยาฆ่าแมลงต่อสิ่งแวดล้อมนี้มากมายคณานับ

            ผลกระทบจากการสูดดมยาฆ่าแมลงมีมากกว่าการดูดซึมทางผิวหนังหรือการทานเข้าไป  การศึกษาในรัฐวิสคอนซิน  สหรัฐอเมริกา  พบว่ายาฆ่าแมลงสามารถหลุดลอดเข้าไปในแหล่งน้ำใต้ดินซึ่งอยู่ลึกลงไปได้  ทำให้การใช้น้ำบาดาลในปัจจุบัน ไม่มีความปลอดภัยเสียแล้ว ยาฆ่าแมลงกลุ่มหลัก ๆ ที่ใช้ในการเกษตรได้แก่ 

1.       กลุ่มออร์กาโนฟอสเซส ยาฆ่าแมลงในกลุ่มนี้สามารถทำลายระบบประสาทโดยการรบกวนการทำงานของเอนไซม์ อเซติลคอรีน  ซึ่งเป็นสารส่งกระแสประสาท 

                ยาฆ่าแมลงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใช้สำหรับแมลง ยาฆ่าแมลงกลุ่มนี้ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยปีค.ศ.1932บางตัวมีฤทธิ์รุนแรงมากและนำมาใช้ทำสารพิษในสงครามโลกครั้งที่2 โดยทำเป็นสารเพื่อทำลายประสาท

2.       กลุ่มคาร์บาเมท  ยาฆ่าแมลงกลุ่มนี้จะทำลายประสาท และรบกวนเอนไซม์ซึ่งควบคุมอเซติลคอรีน ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการส่งกระแสประสาท

3.       กลุ่มออร์การ์โนคลอรีน  กลุ่มนี้ใช้กันมากในอดีต  ตัวอย่างเช่น  ดีดีที ปัจจุบันเนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย  จึงได้มีการเลิกใช้

4.       กลุ่มไพรีทอยด์  กลุ่มนี้เกิดจากการพัฒนาและสังเคราะห์สารซึ่งออกฤทธิ์ใกล้เคียงกับไพรีทรินธรรมชาติ  ถึงอย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มไพรีทอยด์นี้มีฤทธิ์ต่อประสาทเช่นกัน                       

                ผลกระทบต่อสุขภาพจากยาฆ่าแมลง  ประเมินว่าคนอเมริกัน 1 ใน 20 คน  แพ้ยาฆ่าแมลงเพราะว่าเคยได้รับยาฆ่าแมลงมาก่อน  ยาฆ่าแมลงนี้ได้ส่งผลกระทบต่าง ๆ ในมุมกว้างและบางทีทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต

                ผลจากการได้รับยาฆ่าแมลง ได้แก่ โรคมะเร็ง  โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว  พันธุกรรมบกพร่อง เป็นหมัน  ตับถูกทำลาย โรคผิดปกติของต่อมไทรอยด์  โรคเบาหวาน โรคไต 

                ระบบประสาทถูกทำลาย  ลดจำนวนสะเปิร์มในเพศชาย  โรคภูมิแพ้ และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็ก ๆมักจะได้รับผลกระทบจากโรคเหล่านี้อย่างมาก รวมถึงการเกิดความพิการเกิดความผิดปกติในการเรียนรู้และความผิดปกติในเรื่องพฤติกรรม เด็กที่อยู่ในบ้านที่ใช้ยาฆ่าแมลงเป็นประจำพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่าเด็กปกติ 6.5 เท่า ผลกระทบนี้ยังพบว่าสัตว์เลี้ยงในบริเวณบ้านที่ใช้ยาฆ่าแมลงก็ได้รับความเสี่ยงนี้เช่นกัน 

        จากการศึกษาพบว่านกซึ่งอพยพเข้ามาตามฤดู มีอัตราการตายเพิ่มขึ้นในบริเวณที่มียาฆ่าแมลงตกค้างและบางบริเวณที่มียาฆ่าแมลงเล็กน้อยนกป่าเหล่านี้มีอาการเจ็บป่วยเหมือนที่พบในมนุษย์ 

                การสะสมของยาฆ่าแมลงในร่างกายของเรา ยาฆ่าแมลงจะถูกสะสมไว้ในเซลล์ไขมัน  เนื่องจากโมเลกุลของยาฆ่าแมลงนี้เป็นสารพิษ  ร่างกายจะนำไขมันไปล้อมสารพิษไว้  และเก็บไว้ในเซลล์ไขมัน  เพื่อไม่ให้ออกมาทำอันตรายต่อร่างกาย  ระบบร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากยาฆ่าแมลง เหล่านี้โดยตรงได้แก่  ตับ ไต และระบบประสาท

เรียบเรียงโดย  บริษัท  กู๊ดเฮลท์ ( ประเทศไทย)  จำกัด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 19:59:43
หลังจากหว่านข้าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นับวันได้เกือบ 4 วันดูข้าวที่หว่านไปตอนนี้มีการเจริญเติบโตมาบ้างแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 20:03:29
บริเวณร่องน้ำที่มีน้ำขังหรือชื้นอยู่ถ้าเป็นไปได้ควรหยอดอาหารหอยด้วยครับเพื่อกำจัดดีกว่ามากินต้นข้าวครับ ช่วงนี้หอยจะมีไม่มากเพราะพื้นนาส่วนใหญ่จะแห้งหอยเชอรี่จะไม่ชอบ แต่อาจมีหอยเชอรี่ที่มาจากแปลงนาข้างเคียงมาบ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 20:32:23
สำหรับนาหว่านนอกจากมีปัญหาเรื่องจะต้องระบายน้ำออกให้หมดไม่ให้มีน้ำขังแล้ว ช่วงหว่านข้าวใหม่ ๆ ก็ยังมีสัตว์ศัตรูข้าว ได้แก่นก และ หนูครับ   สำหรับนกที่มากินข้าวแล้วส่วนใหญ่จะเป็นนกที่หากินในช่วงกลางวันเราสามารถไล่ได้โดยวิธีต่าง ๆ แต่สำหรับหนูซึ่งออกหากินในช่วงกลางคืน กำจัดได้ยากอาจจะต้องทำกำดักจับ หรือต้องใช้สารหนูครับ เดี๋ยวนี้มีแบบเป็นซองสำเร็จพร้อมใช้ หรือเป็นเม็ดก็มี   เมื่อก่อนอาจจะมีงูที่คอยควบคุมประชากรหนู แต่เดี๋ยวนี้ชาวนาต้องใช้ยาฆ่าหอยเชอรี่ งูก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ชาวนาบางคนใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดหอยเพราะง่าย แถมบางยี่ห้อเป็นยี่ห้อที่ห้ามขายแล้วผิดกฎหมายเพราะมีพิษรุนแรงและยังตกค้างในนาแต่ร้านค้าก็ยังแอบยังมาขายโดยแกะฉลากออก ชาวนาแถวบ้านก็แอบไปซื้อมาใช้กันห้ามก็ลำบากครับ  ยาพวกนี้โดนมือจะมีอาการแพ้ บางคนแพ้มากจนมือเท้าเปื่อยก็มีครับ ใครที่รับจ้างดำนาก็ต้องระวังครับบางทีเจ้าของนาอาจไม่บอกล่วงหน้าเพราะกลัวไม่มีคนดำนาแต่ก็อยากประหยัดเงิน

ดูรอยเท้าหนูในนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 22:21:21
"นายแดง  หาทวี"  เป็นครอบครัวชาวนาแห่งบ้านบุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ซี่งนายแดงทดลองการทำนาโดยวิถีชีวภาพขึ้นในผืนนาของตนเอง โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านในพื้นที่ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี ทดลองผสมพันธุ์ข้าวด้วยตนเองระหว่างข้าวเหนียวที่ให้ผลผลิตสูงกับข้าวเหนียวรสชาติดี ทดลองปลูกข้าวแบบต้นเดียวในระยะที่แน่นอน ทำน้ำหมักชีวภาพจากจุลินทรีย์ที่ได้จากท้องถิ่น  และฉีดยาป้องกันแมลงที่ทำจากน้ำหมักสมุนไพรที่ทำขึ้นเอง ส่วนศัตรูพืชเช่นหอยเชอรี่นั้นใช้วิธีเดินเก็บเพื่อนำมาทำน้ำหมักชีวภาพ  อีกทั้งยังได้ร่วมกับเพื่อนบ้านรักษาระบบนิเวศบุ่งทามให้อุดมสมบูรณ์ไปพร้อมๆกันด้วย ซึ่งผลผลิตข้าวแบบชีวภาพโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตรของพ่อแดงนั้นได้ผลผลิตสูงถึง 1,500 – 2,000 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยข้าวของประเทศประมาณ 4 เท่าตัว ในขณะที่มีต้นทุนการผลิตไม่รวมค่าแรงน้อยมาก ประมาณ 300-600 บาท/ไร่เท่านั้น ในขณะที่ตัวเลขต้นทุนการทำนาของชาวนาไทยไม่รวมค่าแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ  4,500 บาท/ไร่/ไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของพื้นที่นาข้างเคียงซึ่งอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันประมาณ 3 เท่าตัว




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 22:34:19
 :D :D

oBqM2VQWnO4


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 22 มกราคม 2013, 22:50:02
กระทู้น่าสนใจมาก เป็นชาวนามือใหม่ครับ สมัครสมาชิกไว้นานแล้ว ผมอยู่แม่จันแต่ไม่ค่อยได้เข้าดูเวบของเชียงราย  คุณubuntuthaith ใช้ลินุกซ์อุบุนตุด้วยใช่ไหมครับ อยากมีชมรมผู้ใช้ลินุกซ์ และการแลกเปลี่ยนความรู้กันครับ 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มกราคม 2013, 13:10:03
เทคนิคการประหยัดเงินค่าปุ๋ยเคมีโดยการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง

ผมทำนามา 3 ปี  ปีละ 2 ครั้ง นาปรัง นาปี  การทำนา 3 ครั้งหลังนี้มักจะมีชาวนาแถวบ้านชอบว่าผมใส่ปุ๋ยเคมีในนาน้อย บ้างก็ว่าใส่ไม่เป็นจะได้ข้าวเหรอในนาข้าวต้องใส่ปุ๋ยเคมีเยอะ ๆ แต่ที่ผ่านมาผลผลิตที่ได้ก็ขายได้ไร่ละหมื่นกว่าบาทอยู่ดี (เฉลี่ยแล้วราว ๆ 1.2-1.3หมื่น/ไร่) ผมทำนาครั้งแรกผมใส่ปุ๋ยตามชาวนาแถวบ้าน รู้สึกว่าต้องลงทุนกับค่าปุ๋ยมาก คิดเป็น 25-30% ของค่าใช้จ่ายในการทำนา และเหนื่อยสำหรับการใส่ปุ๋ยจำนวนมากเหล่านี้หากไปดูในเว็ปกรมการข้าวการแนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตรจะพบว่าการทำนาครั้งหนึ่งชาวนาจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมากนาปรังประมาณเฉลี่ย 50 กก/ไร่  นาปีเฉลี่ย 40 กก/ไร่

 http://www.brrd.in.th/rkb/management/index.php-file=content.php&id=14.htm#1 (http://www.brrd.in.th/rkb/management/index.php-file=content.php&id=14.htm#1)

ตามความคิดของผมการใส่ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้องจะต้องใส่ในปริมาณที่พอเหมาะรวมถึงจะต้องคิดหาวิธีลดค่าใช้จ่ายด้วย การใส่ปุ๋ยเคมีในนาข้าวควรจะต้องมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงโครงสร้างของดินร่วมด้วยแต่ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อมาอะไรมาก ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดปัจจุบันมีราคา 250-300 บาทคือการนำมูลสัตว์มาผสมวัตถุตัวเติมเพื่อปั้นเม็ดได้มาบรรจุเป็นแพ็กเก็ตสวย ๆ น่าใช้ เหมือนน้ำที่ดูแล้วไม่มีราคาแต่มาบรรจุขวดก็ราคาเพิ่มขึ้น  ผมใช้ปุ๋ยขี้หมูที่ไปซื้อมากระสอบละ 6-7 บาทเอง ( กสละ 10-15 ก.ก.)บางทีไปเอาขี้หมูได้น้อยเจ้าของคอกหมูก็ไม่เอาเงินอีก ขี้หมูที่ไปเอาต้องไปตักเองและก็ไม่ได้ใส่บ่อยให้เมื่อยด้วย อาจใส่เฉพาะในช่วงเตรียมดินเพราะปุ๋ยพวกนี้ย่อยสลายเป็นธาตุอาหารได้ช้า ต้องมีจุลินทรีย์ช่วยด้วย ไม่เหมือนกับปุ๋ยเคมีที่ข้าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมก็ช่วยให้การใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่ลดลงได้ด้วยเพราะอย่างน้อยข้าวในนาข้าวยังได้รับธาตุอาหารอื่น ๆ จากดินและจากปุ๋ยคอกที่เราใส่ลงไปด้วย  ชาวนาบางคนชอบแข่งกันว่าใครขายข้าวได้เยอะกว่ากันแต่ไม่ค่อยได้ดูเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย และค่าแรงงานของตัวเองเท่าไหร่  ยิ่งปัจจุบันมีการโฆษณาชวนเชื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ชาวนาก็แห่ซื้อตาม ๆ กัน ใกล้ ๆบ้านผม เค้าซื้อจุลินทรีย์หมักฟางที่เค้ามาขาย ซองละ 150 บาทจะต้องใช้ไร่ละซองละลายน้ำฉีดพ่นบางคนทำนา 35 ไร่ซื้อ 35 ซองก็หลายพันบาท  โดยไม่รู้ว่าเราก็สามารถทำได้จาก หน่อกล้วยที่หาได้ง่ายแถวบ้าน  หากเราจะไปบอกเค้าก็ยากครับ เราทำนาหลังเค้า เค้าทำนามาก่อนและไม่ได้จบด้านเกษตรมาด้วยอีกต่างหาก  ;D  ;D  
มาดูเรื่องปุ๋ยเคมีกันต่อครับ

ปุ๋ยเคมีจะบรรจุกระสอบละ 50 ก.ก. แต่อัตราส่วนของสูตรปุ๋ยจะคิดที่ 100 ก.ก.
การเรียงสูตรปุ๋ยก็คือ   N - P - K  เช่นปุ๋ย  16-20-0  ก็จะมี ไนโตรเจน 16กก ฟอสฟอรัส 20 กก  โพรแทสเซียม 0 กก ที่น้ำหนักปุ๋ย 100 กก

ผมเอาราคาอ้างอิงปุ๋ยเคมีของวันนี้มาครับ  เลือกสูตรที่พบเห็นกันบ่อย ๆ คือ

ปุ๋ยสูตรที่ชาวนานิยมใช้กัน
16-20-0     ราคา 790 บาท/กส
46-0-0       ราคา 825  บาท/กส
15-15-15    ราคา 850 บาท/กส

แม่ปุ๋ย
18-46-0   ราคา  1200 บาท/กส
0-0-60     ราคา  1040 บาท/กส
46-0-0       ราคา 825  บาท/กส

ถ้าคิดตามแบบกรมการข้าว สมมุติว่าทำนา   10  ไร่ จะต้องใส่ปุ๋ยประมาณนี้

ยกตัวอย่างการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ตามแบบกรมการข้าวจะต้องใส่ปุ๋ย 16-20-0 อย่างน้อย 25 กก/ไร่

แบบแรก
ชาวนาทำนา 10 ไร่ จะต้องใส่ปุ๋ย 16-20-0 จำนวนไร่ละ 25 กกทำนา 10 ไร่ใช้ปุ๋ย  5 กส
เป็นเงิน 790x5=3950 บาท

ถ้าคิดต่อไร่ ธาตุอาหารที่ข้าวได้รับคือ  
ปุ๋ย 16-20-0 ( ที่นำหนัก 100 กก )    ปุ๋ยน้ำหนัก 50 กก ก็เท่ากับ  8-10-0  ใช้จำนวน 5 กส.
เงินที่จ่ายไป 3950  บาทจะได้ปุ๋ย  N  40 กก,  P 50 กก , K 0 กก

แต่ถ้าคิดกลับกันสมมุติว่าผมใช้แม่ปุ๋ยร่วมด้วยคือ
แบบที่ 2
ปุ๋ย  46-0-0 จำนวน   1 กส ราคา  825 บาท
แม่ปุ๋ย 18-46-0 จำนวน  2 กส ราคา กส ละ 1200 บาทเป็นเงิน 2400 บาท
ผมก็จะได้ปุ๋ย   N  41 กก  ,P 46 กก, K 0 กก   แต่ผมจ่ายเงิน 3225 บาท

จำนวนธาตุปุ๋ยที่ได้ไม่ต่างกันมาก ส่วนต่างเงินคือ 3950-3225 = 725  บาท/10 ไร่  ในการใส่ปุ๋ยครั้งแรก     แบบแรกผมต้องแบกปุ๋ยไปนา 5 กส แบบที่ 2 ผมแบกปุ๋ยไปนา 3 กส ทำให้เหนื่อยน้อยลง ถ้าใช้เครื่องพ่นปุ๋ยก็ช่วยประหยัดน้ำมันได้มากขึ้น แต่อาจเสียเวลาผสมปุ๋ยนิดหน่อย  สำหรับการใส่ปุ๋ยครั้ง 2 - 3 ก็ลองไปคิดคำนวณกันเองครับว่าจะใส่ปุ๋ยแบบไหนถึงจะคุมและช่วยลดค่าใช้จ่ายครับ

การลดค่าใช้จ่ายสามารถทำได้หลาย ๆ อย่าง ผมก็ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมีครั้งแรกถึง 25 กก/ไร่หรอกครับ  ผมใส่ปุ๋ยเคมีเพียง 10 กก/ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้งครับครั้งละ 5กก เพราะปุ๋ยเคมีแม้ข้าวสามารถดึงไปใช้ประโยชน์ได้เลย  แต่ก็ว่าจะดึงไปใช้จนหมด เหมือนคนที่ตักข้าวมากินเยอะ ตักมามาก ๆ ก็กินไม่หมด   ก็เหลืออีกใช่ไหมครับ คนกินข้าวมาก ๆ ก็อ้วน ป่วยง่าย   ไม่ได้กินข้าวก็ป่วยไม่แข็งแรง ข้าวก็เช่นกัน ใส่ปุ๋ยมากเหลือก็ทิ้ง ระเหยเจอจางไปกับอากาศ หรือน้ำไป  ใช้ปุ๋ยมาก ลำต้นอวบแมลงชอบ ใบยาวคลุมกันมากก็เป็นเชื้อรา แมลงศัตรูข้าวก็ชอบ  แม้แต่ระดับน้ำ การใส่น้ำในนาแม้จะช่วยตรึงปุ๋ย N  แต่ใส่มาก ๆ ก็เจือจางปุ๋ยตัวอื่นด้วย   ถ้าจะพูดเรื่องเทคนิคการใส่ปุ๋ยในนาข้าววันนี้ก็คุยไม่หมด ทั้งนาปรัง นาปีก็ไม่เหมือนกัน   นาแต่ละคน ดินก็ไม่เหมือนกันอีกครับ  นี่ยังไม่ได้พูดถึง วิตามิน และ ธาตุบางตัวที่สามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อลดการปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวได้เพื่อลดต้นทุนด้วยครับ  เอาไว้จะนำมาเสนอต่อไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มกราคม 2013, 21:03:48
เย็นวันนี้ไปดูแปลงนา ดูต้นข้าวหลังจากหว่านไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นับวันก็ได้เกือบ 5 วันแล้ว เริ่มมีใบออกมาแล้วครับ ช่วงนี้ข้าวจะโตไวดูภาพย้อนไปจากเมื่อวานสิครับจะเห็นการเปลี่ยนแปลงพอสมควร


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: sabaidree ที่ วันที่ 23 มกราคม 2013, 21:13:08
ติดตามด้วยคนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มกราคม 2013, 22:29:19
เข้าทฤษฎีกันบ้างครับ  สำหรับการเพาะเมล็ดข้าวงอกนะครับ ส่วนที่เรียกว่ารากอ่อนจะงอกออกมาก่อนส่วนที่จะเป็นลำต้นประมาณ 1-2 วัน ซึ่งจะมีปลอกหุ้มใบที่อยู่ด้านตรงกันข้ามกับรากหลังจากนั้นใบที่ 1 ,2 ,3  ซึ่งนาหว่านน้ำตมจะนิยมพ่นยาคุมหญ้าเมื่อต้นข้าวมีใบครบ 3 ใบซึ่งมั่นใจว่าข้าวจะโตพอที่จะต้านทานยาคุมหญ้าได้ แต่หากพ่นช้าไปหญ้าบางชนิดก็ไม่ตายเหมือนกัน สำหรับ อ.ชัยพร ชาวนาเงินล้าน จะพ่นยาคุมหญ้าได้เมื่อหว่านข้าวไป 2 วันแต่ต้องพ่นอ่อน ๆ ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ดีครับแต่อาจจะเหนื่อยนิดนึงเพราะดินยังไม่แห้งต่างจากพ่นคุมเมื่อดินแห้งจะเดินง่ายกว่าและเสร็จไวกว่า กลับมาเรื่องเมล็ดข้าว รากที่งอกออกมาก่อนจะแห้งตายภายใน 1 เดือนหลังจากต้นข้าวมีระบบรากฝอยที่สมบูรณ์แล้วรากฝอยจะงอกจากโคนต้นแพร่กระจายในดิน บางส่วนอาจงอกเหนือผิวดินครับ  ถ้าดูตอนเมล็ดข้าวงอกแล้วทำให้นึกถึงโฆษณา ดีน่า กาบาครับ

กาบา GABA (Gamma AminoButeric Acid) กาบา เป็นสารที่มีอยู่ใน คัพภะ ของข้าว คัพภะ ของข้าว คือส่วน ที่รากจะงอกของข้าว โดยคัพภะข้าว ประกอบไปด้วย โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ Dietary Fiber และ Gamma Aminobutgeric cid (GABA) การเพิ่มปริมาณกาบา (GABA) โดยการนำข้าวเปลือกไปทำให้เกิดการงอก แล้วนำไปสีด้วยเครื่องสีข้าวกล้อง จะได้ข้าวกล้องงอก
มีการใช้กรด GABA นี้ ในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาท หลายโรค เช่น โรควิตกกังวงนอนไม่หลับ โรคลมชัก และยังมีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิตด้วย ลดปริมาณคลอเรส-เตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือด และยับยั้ง ความเสี่ยงการเกิดอัลไซเมอร์


wqFxACl29Lk


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 24 มกราคม 2013, 11:16:29
แวะมาอ่านอีกตามเคย ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มกราคม 2013, 11:22:04
มาฟังอาจารย์เดชา และคุณชัยพร สะท้อนวิถีชาวนาไทยครับ

Ii7SL1s5Dzc

CmkwII8P8d4

tOjxZF-jBB4

a4qZ8P5zUDY


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มกราคม 2013, 11:44:35
การทำปุ๋ยยูเรียน้ำ

การทำปุ๋ยยูเรียน้ำ ได้มาจากมูลนิธิชัยพัฒนา

พืชสีเขียวงาม ได้สารไรโตรเจนมาก มีมากในถั่วเอามาหมัก  ช่วยให้ดินร่วนฟู

ถั่วเหลือง 1 กก  ( ในถั่วมีกรดอะมิโน ซึ่งเป็นโปรตีน )
สัปะรดลูกใหญ่สับ 2 กก  ( สับปะรดมีเอนไซท์ในการย่อยโปรตีนทำให้เกิดกรดอะมิโน )
น้ำซาวข้าว 10 ลิตร  ( มีวิตามินบีช่วยระบบรากของพืช )
จุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 กก
กากน้ำตาล 3 ลิตร

หมักทิ้งไว้ 14 วัน

เทียบเท่าซื้อปุ๋ยยูเรียจำนวน 2 กระสอบ

ปุ๋ยยูเรียน้ำ 2 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 3-7 วัน ได้กับพืชทุกชนิดจะใบเขียว

y3hX_yt3YKM



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มกราคม 2013, 11:55:36
การผลิตปุ๋ยยูเรียจากน้ำปัสสาวะ

       การผลิตปุ๋ยยูเรียง่ายๆสามารถผลิตใช้เองได้ภายในครัวเรือน ใช้รดพืชผักสวนครัวก็ได้หรือจะใช้ในสวนผลไม้หรือสวนยางพาราก็ดีวิธีการทำมีดังนี้

ส่วนผสม
    - น้ำปัสสาวะ จำนวน 10 ลิตร
    - กากน้ำตาล จำนวน 2 ลิตร
    - นำมาผสมกันใส่ถังพลาสติก หมัก 10-30 วัน หากสังเกตว่ามีผ้าสีขาวเกิดขึ้น แสดงว่าหมักได้ที่แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลย (ประมาณ 10 วัน ก็ใช้ได้)

การนำไปใช้
    - สำหรับพืชผักสวนครัว ใช้ในอัตราส่วน น้ำหมัก 1 ลิตร + น้ำเปล่า 1,000 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน จะช่วยเป็นปุ๋ยและเป็นฮอร์โมนบำรุงให้พืชผักสวนครัว มีความสมบูรณ์แข็งแรง และต้านทานโรคได้ดี
    - สำหรับไม้ผลหรือสวนยางพารา ใช้ในอัตราส่วน น้ำหมัก 1 ลิตร + น้ำเปล่า 500 – 1,000 ลิตร จะช่วยเป็นปุ๋ยและเป็นฮอร์โมนบำรุงให้ต้นไม้มีความอุดมสมบูรณ์และต้านทานโรคได้ดี


ขอบคุณข้อมูลจาก:คุณจำปา สุวไกร สมาชิกกลุ่มคุณธรรมกสิกรรมไร้สารพิษเศรษฐกิจพอเพียง จ.อำนาจเจริญ


 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มกราคม 2013, 12:01:02
กับดักหอยเชอรี่

หอยเชอรี่ ศัตรูอันดับหนึ่งของต้นข้าว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่กำลังเป็นต้นกล้า หอยเชอรี่จะกัดกินต้นข้าวจนแทบไม่เหลือ เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้สารเคมีในการกำจัดหอยเชอรี่แต่คุณอัมพร ทรัพย์สกุล หรือพี่ตี๋ ผู้สั่งสมประสบการณ์ในการทำนามากว่าสี่สิบปี เลือกที่จะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ด้วยวิธีง่ายๆแต่ได้ผล และยังเป็นการช่วยโลกลดมลภาวะได้ด้วย คือการนำขวดพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นที่ดักหอยเชอรี่ นอกจากจะเจ๋งเพราะนำขยะมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ก็ยังดักจับหอยเชอรี่ได้อยู่หมัด

        กว่าจะได้มาซึ่งนวัตกรรมชิ้นนี้ พี่ตี๋ต้องสังเกตและเรียนรู้วงจรชีวิตของหอยเชอรี่จนรู้ว่า หอยเชอรี่จะชอบขึ้นมาวางไข่บนไม้เหนือน้ำประมาณ 1 ฟุต  การสังเกตก่อเกิดเป็นนวัตกรรมแบบภูมิปัญญาชาวบ้านชิ้นนี้ขึ้นมา ลักษณะการทำงานของที่ดักหอยเชอรี่ ละม้ายคล้ายคลึงกับที่ดักจับสัตว์ทั่วๆไป คือเมื่อหอยเชอรี่ไต่ขึ้นมาวางไข่ในขวดแล้ว จะไม่สามารถไต่กลับลงไปในน้ำได้ ทั้งไข่หอยและตัวหอย จะถูกขังเอาไว้ในขวดนี้นั่นเอง

        พี่ตี๋นำหอยเชอรี่ที่ได้มาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ ผสมน้ำรดต้นข้าวในนาแทนการใช้ปุ๋ย ทำให้ประหยัดต้นทุนในการทำนาลงไปได้มากกว่าครึ่ง พี่ตี๋บอกว่าจากเดิมที่เคยใช้ปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม ปัจจุบันเมื่อใช้น้ำหมักชีวภาพควบคู่ไปด้วย การใช้ปุ๋ยลดลงเหลือเพียง 10 กิโลกรัมเท่านั้น มันช่างน่าทึ่งเสียจริงๆ

        นอกจากจะเป็นนวัตกรรมที่ลดขยะให้โลกแล้ว ยังทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้สารเคมีในการปราบศัตรูพืช แถมหอยที่ได้ยังนำมาแปรรูปเพื่อไปเพิ่มผลผลิตได้อีกด้วย ประโยชน์หลายต่อแบบนี้ ดีทั้งต่อเกษตรกร และสร้างความมั่นใจว่าเราจะได้กินข้าวที่สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อนที่ไม่พึงปรารถนา สุดยอดจริงๆ

นวัตกรรมที่ดักหอยเชอรี่
โดย...อัมพร ทรัพย์สกุล
อ.บางซ้าย จ.พระนครศรีอยุธยา


ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม 2555
เวลา 21.25-21.30 น. ทาง สทท.11

KEGB7VfQPyM&feature


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มกราคม 2013, 21:08:55
การใช้สารกำจัดวัชพืช  

        สารกำจัดวัชพืชเป็นสารเคมีที่พัฒนาเพื่อใช้ควบคุมวัชพืช ซึ่งย่อมเป็นอันตราย ดังนั้น การใช้จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารเคมี วิธีการใช้ ตลอดจนข้อควรระมัดระวัง จึงจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ประเภทสารกำจัดวัชพืช สารกำจัดวัชพืชสามารถจำแนกได้หลายแบบเพื่อสะดวกในการใช้ ส่วนใหญ่นิยมจำแนกตามช่วงเวลาการใช้ ดังนี้

        1. สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนปลูก เป็นสารเคมีที่ใช้พ่นก่อนการเตรียมดินเพื่อฆ่าวัชพืชที่ขึ้นอยู่ก่อนแล้ว จึงไถเตรียมดินหรือใช้พ่นฆ่าวัชพืชแทนการเตรียมดินแล้วปลูกพืชเลย สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ พาราควอท ไกลโฟเสต กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม

        2. สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก ส่วนใหญ่เกษตรกรเรียกว่า ยาคุมหญ้า เป็นสารเคมีที่พ่นหลังปลูกพืช แต่ก่อนวัชพืชงอกในช่วงเวลาประมาณไม่เกิน 10 วัน เป็นการพ่นลงไปในผิวดินโดยตรง สารเคมีพวกนี้จะเข้าไปทำลายวัชพืชทางส่วนของเมล็ด ราก และยอดอ่อนใต้ดิน โดยต้องพ่นในสภาพที่ดินมีความชื้นเหมาะสม และมีการเตรียมดินที่สม่ำเสมอ สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ บิวทาคลอร์ เพรททิลาคลอร์ อ๊อกซาไดอะซอน

        3. สารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก ส่วนใหญ่เกษตรกรเรียกว่า ยาฆ่าหญ้า เป็นสารเคมีที่ใช้พ่นหลังจากวัชพืชงอกขึ้นมาแล้วในช่วงเวลาเกินกว่า 10 วันขึ้นไป โดยพยายามพ่นให้สัมผัสส่วนของวัชพืชให้มากที่สุด สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ โปรปานิล ฟิโนซาพรอบ-พี-เอทิล 2,4-ดี

การใช้สารกำจัดวัชพืชให้มีประสิทธิภาพ ต้องปฏิบัติดังนี้

                - เตรียมดินให้ดี และปรับระดับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ มีผลกับการให้น้ำซึ่งหลังจากพ่นสารกำจัดวัชพืชแล้วถ้าเอาน้ำเข้าได้ทั่วถึง สารกำจัดวัชพืชจะมีประสิทธิภาพได้เต็มที่

        - การใช้สารกำจัดวัชพืชให้ถูกต้อง ถือหลัก 4 ประการ ดังนี้

ใช้ให้ถูกชนิด กับพืชปลูกและชนิดวัชพืชที่สามารถควบคุมได้
ใช้ให้ถูกเวลา กับอายุพืชปลูก อายุของวัชพืชและสภาพแวดล้อม
ใช้ให้ถูกอัตรา ตามที่กำหนดในฉลากสารกำจัดวัชพืช
ใช้ให้ถูกวิธี กับสารกำจัดวัชพืชแต่ละประเภทและสภาพแวดล้อม
         - ก่อนใช้สารกำจัดวัชพืชทุกครั้งต้องอ่านฉลากให้เข้าใจและปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง

         - ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิดและมีหน้ากากปิดจมูกป้องกันละอองสารเคมีในขณะพ่น หลังพ่นแล้วควรล้างทำความสะอาดร่างกายให้ดี

          - จัดการน้ำอย่างเหมาะสม โดยหลังพ่นสารกำจัดวัชพืชแล้ว 3 วัน ควรเอาน้ำเข้านา ถ้านานเกินไปจนดินแห้ง จะทำให้ประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืชลดลง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มกราคม 2013, 21:36:22
ปัจจัยที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวมีดังนี้

ความสูงของพื้นที่ ข้าวขึ้นได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูง 2,500 เมตร สามารถเจริญเติบโตทั้งในที่ดอน (ข้าวไร่) และที่ลุ่มมีระดับน้ำตั้งแต่ 5 เซนติเมตร (ข้าวนาสวน) จนถึงหลายเมตร (ข้าวฟางลอย) 


              ดิน ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิดยกเว้นดินทราย ส่วนใหญ่ชอบขึ้นในดินเหนียว และเหนียวปนร่วน มีความเป็นกรดและด่าง (pH) ตั้งแต่ 3-10 ขึ้นได้แม้กระทั่งในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ   


              ปริมาณน้ำ มีความต้องการน้ำตั้งแต่ 875 มิลลิเมตร (ข้าวไร่) จนถึง 2,000 มิลลิเมตร (ข้าวนาสวน) ต่อปี แต่ควรมีการกระจายฝนที่ดี ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับน้ำชลประทานหรือที่เรียกว่านาน้ำฝน ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกข้าวได้ในนาปีเท่านั้น และการตอบสนองต่อความต้องการน้ำยังขึ้นอยู่กับพันธุ์และช่วงของการเจริญเติบโต ในช่วงการเตรียมดินนั้นควรมีน้ำประมาณ 150-200 มิลลิเมตร ช่วงที่เป็นต้นกล้าต้องการประมาณ 250-400 มิลลิเมตร จนถึงต้นกล้าอายุ 30-40 วัน ส่วนในช่วงปักดำจนกระทั่งเก็บเกี่ยวนั้นควรมีน้ำอยู่ในระหว่าง 800-1,200 มิลลิเมตร     


              แสงอาทิตย์ ปริมาณแสงมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตโดยที่พืชใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง และช่วงเวลาสั้นยาวของกลางวันกลางคืนยังมีผลต่อการเจริญทางการสืบพันธุ์ของข้าวไวแสง ความเข้มของแสงในฤดูฝนซึ่งมีเมฆหมอกมากนั้นจะน้อยกว่าความเข้มแสงในฤดูร้อน ผลผลิตข้าวส่วนใหญ่จึงน้อยกว่าเมื่อปลูกในฤดูฝน แสงแดดมีความจำเป็นมากในช่วงเริ่มสร้างดอกจนกระทั่ง 10 วันก่อนเมล็ดแก่       


              อุณหภูมิ ได้มีการศึกษาพบว่าอุณหภูมิมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของข้าวและการให้ผลผลิต พบว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ในระหว่าง 25-33 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่ต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป (ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส สูงกว่า 35 องศาเซลเซียส) จะมีผลต่อการงอกของเมล็ด การยืดของใบ การแตกกอ การสร้างดอกอ่อน การผสมเกสร เป็นต้น เช่น พบว่าอุณหภูมิที่สูงเกินไปและต่ำเกินไปช่วงที่มีการออกดอกจะทำให้ดอกข้าวเป็นหมัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ได้ผลผลิตต่ำกว่าปกติ เป็นต้น     


              ความชื้นสัมพัทธ์ อิทธิพลของความชื้นสัมพัทธ์ของบรรยากาศต่อการเจริญเติบโตของข้าวนั้นมักจะไม่ชัดเจน เพราะจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณความเข้มแสงและอุณหภูมิในเชิงที่กลับกันคือ เมื่อความเข้มของแสงมากและอุณหภูมิสูงมักทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ อุณหภูมิเย็นในเวลากลางคืนทำให้เกิดน้ำค้างสูง จะมีผลต่อการพัฒนาของเชื้อโรคของข้าวบางชนิด เช่น โรคใบไหม้ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น เป็นต้น


              ลม ลมอ่อนที่พัดถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา (ความเร็วประมาณ 0.75-2.25 เซนติเมตร/วินาที) จะช่วยให้มีการถ่ายเทก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสงได้ดี ทำให้พืชสามารถสังเคราะห์แสงได้มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าลมแรงจะมีผลโดยตรงทำให้ต้นข้าวหักล้ม เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตได้     


              ฤดูปลูก  ปลูกได้ตลอดปี แต่ควรหลีกเลี่ยงช่วงการปลูกที่ต้นข้าวจะออกดอกในช่วงอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 33 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงการปลูกที่ต้องเก็บเกี่ยวในช่วงที่ฝนชุก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องวางแผนการปลูกที่เหมาะสม   


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มกราคม 2013, 22:29:03
ถ้าเราจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับข้าวนั้น สามารถศึกษาได้จากหนังสือที่เกี่ยวกับข้าว ซึ่งค่อนข้างมีมากแต่มักไม่ค่อยมีขายทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนในระดับมหาลัย หนังสือจะมี ทั้งเรื่องข้าว เรื่องดิน เรื่องปุ๋ย ศัตรูพืช วัชพืช โรคข้าว หนังสือบางเล่มหนา 3ร้อยกว่าหน้า หากเราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ทำไปด้วยและได้ความรู้ ทฤษฎีที่ถูกต้องไปด้วยก็จะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น  ผมก็มีอยู่หลายเล่มครับ ซื้อเป็นเล่มมา บางทีก็ดาวน์โหลดจากเน็ตแล้วไปปรินท์ บางทีก็เก็บเป็นไฟล์ PDF อยู่ในเครื่อง มีเวลาก็อ่านจำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางทีก็พยายามตั้งคำถามกับตัวเองบ่อย ๆ และกลับไปค้นหาคำตอบครับ หรือว่าอ่านบ่อย ๆ ก็ช่วยให้จำได้และเข้าใจได้บ้าง   หนังสือเกี่ยวกับข้าวถ้าเราสนใจแต่หาซื้อไม่ได้ ตอนนี้ก็มีหลายเว็ปที่สามารถอ่านได้เป็น E-Book  ก็มีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มกราคม 2013, 22:45:17
วันนี้เอาข้อมูลการทำเตาเผาถ่านจากถังสองร้อยลิตรไว้ในกระทู้สิ่งประดิษฐ์ที่ปักหมุดไว้ ในตอนที่ 3 ของวิดีโอ จะเป็นขั้นตอนการใช้ และการเก็บน้ำส้มควันไม้อย่างถูกวิธีซึ่งค่อนข้างน่าสนใจทีเดียวเลยเอาตอนที่ 3 มาให้ดูในกระทู้นี้  เพราะบางคนยังคงเข้าใจผิด ๆ อยู่บางแห่งเก็บน้ำมันดินมา อย่าง เทศบาล อบต บางแห่งก็จัดซื้อมาแจกโดยไม่รู้ว่าน้ำส้มควันไม้เป็นยังไง การเก็บไม่ถูกต้อง พอชาวบ้านนำไปใช้ไม่เห็นผล บางทีก่อให้เกิดโรคอีก จนเลิกใช้ไปเลยก็มี

yYs8l4c2XZ0&featureedded



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 09:08:10
 LIKE! แวะมากดไล้ค์ให้กระทู้ความรู้ดีๆแบบนี้ครับ ขอให้มีแรงพลังที่จะรวบรวมความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนาและความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรชาวเชียงรายและผู้สนใจและมีใจรักการเกษตรทุกท่าน ;)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 11:13:37
ปักหมุดเลยคับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 11:30:43
ขอบคุณท่าน Khunplong และ ท่าน chate ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 11:44:03
วันนี้ไปดูต้นดอกดาวเรืองที่เพาะไว้หลังบ้าน ต้นดาวเรืองทยอยขึ้นเรื่อย ๆ นับได้ตอนนี้ได้ 50 กว่าต้น ดูแล้วน่าจะขึ้นอีกเยอะอยู่เพราะสังเกตเห็นมีต้นใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน หากไปซื้อที่เขาเพาะไว้ขายเป็นถุงก็คงหมดหลายบาทอยู่  ตอนนี้ก็เตรียมทำน้ำหมักจุลินทรีย์ และน้ำหมักยาขับไล่แมลงไปด้วยวันหยุดเสาร์อาทิตย์นี้คงทำเสร็จครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 12:02:17
สมุนไพรขับไล่แมลง

โดยธรรมชาติที่พืชบางชนิดซึ่งมีฤทธิ์ในการทำลายหรือแมลง กลัวไม่เข้าใกล้ หรือกลิ่นของพืชบางชนิด ที่แมลง และเชื้อโรค ไม่ชอบ ต้องศึกษาว่าสมุนไพรหรือพืชชนิดนั้น ๆ มีผลต่อโรคแมลงชนิดใด นำมาใช้หมักกับจุลินทรีย์ แล้วนำไปฉีดพ่นขับไล่แมลงได้

สมุนไพรที่ขับไล่แมลงมีหลายอย่างเช่น
1. หนอนตายยาก - มีฤทธิ์ในการฆ่าหนอนหลายชนิด ,ฆ่าไส้เดือนฝอย
2. เมล็ดสะเดา - มีสารอะซาดีน แร๊กติน มีฤทธิ์ทำให้แมลง ด้วงหมัดผัก เบื่ออาหาร ผีเสื้อ ฆ่าเพลี้ย , ไร
3. ตะไคร้หอม - มีกลิ่นในการขับไล่แมลงทุกชนิด
4. ใบยาสูบ - มีสารที่กำจัดพวกทาก หรือเพลี้ยบางชนิด ,หนอนชอนใบ
5. ขมิ้นชัน - มีฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อรา
6. ไพล (ปูเลย) - มีฤทธิ์ในการทำลายแบคทีเรีย ,ไวรัส บางชนิด
7. ข่าแก่ - มีสารออกฤทธิ์ใน ด้วง ,เชื้อรา ,แมลงจั๊กจั่น บางชนิด
8. ใบและดอกดาวเรือง - แมลงหวีขาว ,ไส้เดือนฝอย ,ด้วงปีกแข็ง , เพลี้ยกระโดด
9. บอระเพ็ด - ทำลายเพลี้ยกระโดดมีน้ำตาล ,หนอนกอข้าว
10. ฟ้าทะลายโจร - มีรสขม กำจัดเชื้อแบคทีเรีย ,ไวรัส
11. สาบเสือ - เพลี้ยจั๊กจั่น ,เพลี้ยหอย, เพลี้ยอ่อน ,หนอนใยผัก
12. สาระแหน่ - มีน้ำมันในใบขับไล่แมลง
13. กระเพราดำ - กำจัดเชื้อราบางชนิด
14. หางไหล (โล่ติ๊น) - มีสารโรติโนน ทำให้แมลงหายใจลำบาก
15. ผกากรอง - มีสารแลนดาดีน มีผลต่อระบบประสาทของแมลง
16. ว่านน้ำ - ป้องกันและกำจัดแมลงผีเสื้อในข้าว
17. ดีปลี - กำจัดแมลงศัตรูข้าว .เพลี้ยบางชนิด
18. มะเขือเทศ - ใช้ใบกำจัดด้วงหมัดผัก , ด้วงหน่อไม้ฝรั่ง , ไรแดง , หนอนใยผัก
19. ใบน้อยหน่า - กำจัดเพลี้ยอ่อน ,หนอนใยผัก
20. กอมขม - กำจัดแมลงวันหัวเขียว , แมลงวันทอง
ฯลฯ

สูตรการทำสมุนไพรขับไล่แมลง
ส่วนผสม
- สมุนไพร (หลายชนิด) 50 กก. เลือกที่พอหาได้ง่ายในท้องถิ่น
- กากน้ำตาล 2 ลิตร
- EM - T 2 ลิตร
- น้ำสะอาด 50 ลิตร

วิธีทำ
1. นำสมุนไพร (หลายชนิด) นำมาสับหรือบดให้ละเอียด
2. ผสมกากน้ำตาล กับสมุนไพร EM - T ใส่ในกระสอบ มัดปากถุงให้แน่น
3. นำถุงมาใส่ในถังหมัก (ประมาณ 100 ลิตร) ใส่น้ำแช่จนเกือบเต็มถัง
4. ปิดฝาทิ้งไว้ 7-15 วัน นำไปใช้ได้

ประโยชน์และวิธีใช้
นำน้ำที่ได้ ผสมน้ำใช้อัตราส่วน 20-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 5-7 วัน จะทำให้พืชมีภูมิต้านทานโรคและขับไล่แมลงแต่กรณีที่เป็นหนอน หรือ เพลี้ยจั๊กจั่น หรือแมลงชนิดที่มีตัวใหญ่ ๆ ให้ผสมน้ำสมุนไพร 1 ส่วน : เหล้าขาว 1 ส่วน : น้ำสมสายชู 5 % 1 ส่วน หมักทิ้งไว้ 1 คืน (น้ำสมุนไพร 1 ลิตร : เหล้าขาว 1 ลิตร : น้ำสมสายชู 5 % 1 ลิตร) นำน้ำที่หมักได้ ผสมน้ำอัตราส่วน 20-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ใช้ติดต่อกัน 3 วันแรก จะทำให้หนอน แมลง ค่อย ๆ ตายไปลดจำนวนแมลง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 13:53:29
อ่านแล้วก็เพลินดีครับหนังสือเล่มนี้ เป็นการ์ตูนอ่านง่าย เข้าใจง่ายครับ

http://www.youblisher.com/p/378263-/ (http://www.youblisher.com/p/378263-/)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 16:14:43
ถังพ่นยามือโยก

เครื่องพ่นยาแบบสะพายหลังชนิดสูบโยก เป็นเครื่องพ่นยาขนาดเล็กที่นิยมใช้กันแพร่หลายแบบหนึ่ง เครื่องพ่นยาแบบนี้ประกอบด้วยถังน้ำยา ซึ่งวางตั้งบนพื้นได้ ทำให้การเทน้ำยาเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชลงไปในถังได้สะดวก อีกทั้งยังมีรูปร่างที่เหมาะสมสำหรับใช้สะพายหลังผู้ทีพ่นยา นอกจากนั้นยังประกอบด้วย ปั้ม ห้องเก็บความดัน ก้านฉีดพร้อมมือบีบพ่นน้ำยา และหัวฉีดถังน้ำยาอาจจะทำมาจากสะเตนเลส ทองเหลือหรือเหล็กเคลือบสังกะสี แต่ในปัจจุบันถังที่ทำจากโลหะเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น ความนิยมใช้จึงลดลงและเปลี่ยนไปใช้ถังที่ทำจากพลาสติกแทน ทั้งนี้เพราะเมื่อสะพายหลังแล้วรู้สึกสบายและเบากว่าถังที่ทำจากโลหะ ถังน้ำยาส่วนใหญ่มีความจุประมาณ 15 ลิตร และที่ด้านข้างถังจะมีขีดบอกระดับน้ำยาเป็นเครื่องหมายไว้ด้วย เมื่อบรรจุน้ำยาแล้วน้ำหนักรวมทั้งหมดไม่ควรเกิน 20 กิโลกรัม ไม่เช่นนั้นแล้วผู้ใช้จะแยกน้ำหนักมากเกินไป การพ่นฮอร์โมนธรรมชาติเราก็ใช้เครื่องแบบนี้ได้




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 16:21:28
ถังพ่นยาไฟฟ้า
เครื่องฉีดพ่นยาเป็นเครื่องมือทางการเกษตรที่จำเป็นเกษตรกรต้องมี ไว้ใช้เกือบทุกครัวเรือน ถ้าเกษตรกรมีเครื่องฉีดยาชนิดไฟฟ้าจะทำให้เกษตรกรทุ่นแรงประหยัดเวลาได้อย่างมาก

คุณสมบัติและลักษณะเด่น

คุณสมบัติ ใช้ฉีด พ่นยาฆ่าหญ้า ยาคุมหญ้า ให้ฮอร์โมน ฯลฯ

ลักษณะเด่น

เครื่องฉีดพ่นยาชนิดไฟฟ้าจะใช้งานได้ง่ายกว่าคือ แค่กดสวิตช์ เปิด-ปิด เครื่องก็จะทำงานฉีดพ่นยาได้

ฉีดพ่นยาได้อย่างสม่ำเสมอ

ประหยัดเวลาใน การทำงาน
ขั้นตอน การใช้งาน

เมื่อนำน้ำยาใส่ลงไปในถัง เปิดสวิตช์ ปั้มก็จะทำงานฉีดพ่นน้ำยาออกมาและเมื่อเสร็จการใช้งานก็กดสวิตท์ปิดปั้มก็จะหยุด เมื่อแบตเตอรี่หมดก็จะนำมาชาร์ตใหม่ได้อีก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 16:27:31
ถังพ่นยาเครื่องยนต์

เป็นถังพ่นที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว  ใช้เครื่อนยนต์เบนซิลมีทั้งแบบ 2 จังหวะและ 4 จังหวะ มีหลากหลายยี่ห้อ  ส่วนมากที่พบเห็นจะผลิตในประเทศจีนเนื่องจากราคาค่อนข้าวถูก มีหลายขนาดส่วนใหญ่มีขนาด 20-25 ลิตร  การใช้งานจะมีทั้งคันเร่งความแรงในการพ่นยา มีวาร์วเปิดปิดระดับน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่พ่นออกไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 20:14:42
วันนี้ช่วงเย็นแวะไปดูที่นาครับ ข้าวโตพอสมควรแต่ก็ช้ากว่าช่วงนาปีเพราะอากาศค่อนข้างหนาวการเจริญเติบโตจึงช้ากว่า อายุข้าวตอนนี้หว่านข้าวไปเกือบครบ 1 สัปดาห์อีกไม่กี่วันก็ต้องพ่นยาคุมหญ้าเพื่อกำจัดวัชพืชและเมล็ดวัชพืช  ครั้งต่อไปคงเลิกทำนาหว่านแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีอันตราย คงจะหันไปทำนาโยนไม่ก็นาปลูกแทนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มกราคม 2013, 21:01:50
พรุ่งนี้ช่วงเช้าไปช่วยเค้าโยนข้าวนาโยนซักหน่อย กลับมาทำน้ำหมักปุ๋ยน้ำซึ่งเน้นไปทางธาตุไนโตรเจน และทำน้ำหมักสมุนไพรขับไล่แมลงครับ พวกสมุนไพรหาได้ในเขตบ้านเลย พวกฟ้าทะลายโจร ข่า ตะไคร้ สาบเสือ พริก บอระเพ็ด กระเพราดำ ผมเคยไปลองถามราคาน้ำหมักสมุนไพรขับไล่แมลงเค้าขายเป็นขวดขวดละ 35 บาทขนาดครึ่งลิตร ถ้าทำเองจะประหยัดกว่ามากช่วยลดต้นทุนได้มาก เหลือก็นำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้านครับ

อย่างส่วนผสมที่จะทำปุ๋ยน้ำก็เตรียมไว้แล้วครับ ถั่วเหลืองซื้อจากแมคโคร กกละ 52 บาท  , สับปะรดเจ้าของสวนใจดีให้ฟรีครับแถวนางแล เค้าบอกพวกนี้เปรี้ยวไม่เอาไปขายแต่กินได้นะ , กากน้ำตาลพอดีเอามอเตอร์ไซด์ไปเลยซื้อเป็นขวด ขวดละ 1 ลิตรราคา 22 บาทครับ ส่วนน้ำซาวข้าวให้แม่ผมเก็บไว้ให้ทุกเช้าจนเยอะมากครับจนสั่งเบรค ส่วนจุลินทรีย์หมักมีอยู่แล้วก็นำมาผสมร่วมได้เลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2013, 21:52:12
วันนี้ช่วงเช้าไปดูนาโยนของญาติก็ได้ช่วยโยนนิดหน่อยครับ นาโยนเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นทางเลือกหนึ่งของชาวนา ใช้เวลาการปลูกในแปลงนาข้าวไม่นานรวดเร็วกว่าการใช้แรงงานดำ แต่อาจต้องมีการลงทุนเรื่องแผงเพาะกล้า ( แผงเพาะกล้าสามารถใช้งานได้หลายครั้ง ) นา 1 ไร่นาปรังใช้ประมาณ  120 แผงหากต้องการให้ข้าวแน่น นาปีอาจลดจำนวนแผงลงได้เนื่องจากฝนตกบ่อยเสี่ยงต่อการเป็นเชื้อราอาจจะประมาณ 80-100 แผง หากทำนาโยนหลายไร่จะต้องมีการถอนกล้าจากถาดเตรียมไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจจะถอนใส่ตะกร้าแต่ถ้าไม่มีก็อาจใส่ในถุงกระสอบปุ๋ยก็ได้ครับ หลังจากโยนเสร็จแนะนำพ่นกากชาเพื่อกำจัดหอยเชอรี่ที่จะมากินต้นข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2013, 22:01:44
นาโยนเมื่อข้าวถูกโยนลงมาก็จะปักลงดินแบบนี้ครับ ซึ่งการเตรียมดินสำหรับทำนาโยนควรเป็นดินที่ทำเทือกเสร็จไม่นานและมีน้ำเลี้ยงบ้างเล็กน้อยเพื่อให้น้ำช่วยพยุงให้ข้าวสามารถทรงตัวตั้งตรงได้ หากดินแข็งหรือเริ่มแห้งข้าวจะไม่พุ่งปักดิน  ข้อดีของการมีน้ำในนาคือ เวลาเราอยู่ในนาหากไม่มีน้ำดินจะเหนียวเดินจะยากเพราะดินจะติดรองเท้าทำให้เหนื่อยมากขึ้น แต่หากมีน้ำมากเกินไปก็ไม่ดีเพราะจะท่วมต้นข้าวอีกควรระบายน้ำออกบ้าง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2013, 22:06:28
หากทำนาโยนเยอะอาจต้องมีรถช่วยในการขนกล้าไปยังแปลงต่าง ๆ ของนาข้าวครับ ช่วยเบาแรงได้มากดีกว่าการขนด้วยแรงงานคนไปตามคันนา อาจใช้รถไถเดินมาประยุกต์ได้เหมือนกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2013, 22:17:49
กลับมาทำน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อใช้เป็นปุ๋ยทางใบครับก็มี

น้ำซาวข้าว, จุลินทรีย์หน่อกล้วย , สับปะรด , ถั่วเหลือง ,กากน้ำตาล ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2013, 22:32:28
สำหรับชาวนาที่มีเวลาไม่มากอาจต้องพึ่งเครื่องทุ่นแรงต่างๆ  ซึ่งหากใช้งานเสร็จอาจต้องหมั่นซ่อมบำรุงบ้าง อย่างเครื่องพ่นลม ซึ่งใช้ในการหว่านข้าว  พ่นกากชากำจัดหอยเชอรี่ หว่านปุ๋ย ก็อาจต้องมีการถอดชิ้นส่วนมาล้างบ้างครับเพราะบางทีอาจมีพวกเศษต่าง ๆ ที่เราพ่นไปติดทำให้ใช้งานได้ไม่เต็มที่ครับ อาจเสียเวลาด้วย

ชิ้นส่วนหลัก ๆ ที่ต้องหมั่นตรวจสอบและทำความสะอาดคือคือ

-ถังเก็บวัสดุ
-ตัวเครื่องซึ่งประกอบด้วยเครื่องยนต์
-ลิ้นปิดเปิดเพื่อควบคุมปริมาณวัสดุที่พ่น

เราสามารถปรับแต่งระยะลิ้นปิดเปิดวัสดุด้วยการถอดสลักซึ่งจะมีรูที่ยึดจากคันโยกสามาถเปลี่ยนระยะได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2013, 22:42:29
บ้านปลายนาครับ หลังนี้ผมชอบครับเลยถ่ายรูปมาฝากเผื่อใครคิดกำลังจะสร้างบ้าง หลังนี้เจ้าของแกทำงานอยู่ ธกส.  เดิมเป็นสวนแต่หันมาเปลี่ยนเป็นแปลงนาตั้งแต่ราคาข้าวดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2013, 10:14:49
ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ประชาชนมีความกระตือรือร้นและระเบียบวินัยสูง เช่นเดียวกับชาวอิสราเอลที่แรงงานเป็นที่ต้องการของหลายประเทศเพราะชาวอิสเอลทั้งชายและหญิงจะต้องถูกฝึกเป็นทหารจากความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนปาเลสไตน์ ชาวยิว ชาวอาหรับ แรงงานจึงมีความอดทนและมีระเบียบวินัยสูงแบบทหาร  อิลราเอลเป็นประเทศตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ทะเลทรายกินพื้นที่เกือบครึ่งประเทศ และอีกด้านคือทะเลสาบเดดซี ทะเลแห่งความตายที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อยู่รอด ปัจจุบันอิสราเอลเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีในการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระดับแนวหน้าของโลก   กลับมาที่ประเทศญี่ปุ่น ในการจัดการน้ำในนาข้าว ในเขตชุมชนไร่นาจะมีการจัดการน้ำค่อนข้างดี และไม่ยุ่งยาก จะมีการจัดการน้ำค่อนข้างดีมีระบบน้ำเข้า น้ำออกซึ่งสามารถควบคุมระดับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงแต่ระยะยาวก็มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน จะใช้คลองเล็ก ๆ เป็นคอนกรีต ใช้ไม้กั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางน้ำ หรือควบคุมระดับน้ำ ใครมีพอมีเงินเหลือพอก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในนาตัวเองได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2013, 10:30:48
อิสราเอล พันธะสัญญาเหนือผืนทะเลทราย
โดย Creative Thailand

จากชนชาติที่ถูกกระทำอย่างเจ็บปวดที่สุดเท่าที่มนุษยชาติพึงจะกระทำต่อกันในประวัติศาสตร์โลก ชาวยิวเดินฝ่าความขมขื่นเพื่อร่วมกันสร้างดินแดนในแผ่นดินที่ยึดถือว่าเป็นพันธสัญญาของพระเจ้าภายใต้ชื่ออิสราเอล แต่ลมฝนจากทะลเมดิเตอร์เรเนียนก็ไม่อาจบรรเทาความแห้งแล้งจากเบื้องบน เมื่อทะเลทรายกินพื้นที่เกือบครึ่งประเทศ และอีกด้านคือทะเลสาบเดดซี ทะเลแห่งความตายที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อยู่รอด ซ้ำยังถูกขนาบข้างด้วยปัญหาการแบ่งแยกดินแดนปาเลสไตน์และพื้นที่ฉนวนกาซาที่ยืดเยื้อยาวนาน ถึงอย่างนั้นก็กลับไม่มีข้อกังขาใดในผลิตผลทางปัญญาของชาวยิว เพราะในดินแดนที่เต็มไปด้วยอุปสรรคนี้ เทคโนโลยีการเกษตรและระบบชลประทานสมัยใหม่ได้แผ้วถางความกันดารและนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผืนทราย จากดินแดนที่มีพันธะต่อพระเจ้า สู่พันธสัญญาใหม่เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนบนโลกใบนี้

ที่พึ่งหลังสุดท้ายแห่งศรัทธา
         อิสราเอลเป็นประเทศที่เผชิญหน้ากับความขัดแย้งมาโดยตลอด ทันทีที่สหประชาชาติได้แบ่งแยกดินแดนปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วน เมื่อปี 1947 โดยส่วนหนึ่งให้เป็นที่อาศัยของชาวยิว และอีกส่วนเป็นพื้นที่ของชาวอาหรับ หนึ่งปีต่อมาชาวยิวได้สถาปนารัฐอิสราเอลขึ้น และเป็นเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับทวีความรุนแรงขึ้น กลุ่มอาหรับ ที่ประกอบด้วยอียิปต์ ซีเรีย จอร์แดน และเลบานอนได้สนับสนุนการตั้งองค์การเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine LiberationOrganization: PLO) และเมื่อยัสเซอร์ อาราฟัต เข้ามาเป็นผู้นำพร้อมนโยบายแข็งกร้าว ดีกรีความขัดแย้งก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น เขาพยายามอย่างยิ่งในการแสดงให้ชาวโลกยอมรับการมีตัวตนของชาวปาเลสไตน์และพยายามแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมในการกอบกู้ดินแดนของชาวปาเลสไตน์คืนจากอิสราเอล ในปี1972 กลุ่มนักรบปาเลสไตน์ได้ลงมือในปฏิบัติการที่เขย่าขวัญคนทั้งโลกในขณะที่มหกรรมโอลิมปิกเกิดขึ้น ณ เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ด้วยการบุกเข้าหอพักนักกีฬาโอลิมปิก และจับตัวนักกีฬาชาวอิสราเอลจำนวน 11 คนเป็นตัวประกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวปาเลสไตน์ 234 คน และอีก 2 คนที่ถูกคุมขังอยู่ที่เยอรมนี เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงที่ความสูญเสีย และปัญหาระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ยิ่งลุกลามขึ้นไปอีก และแม้นานาชาติจะได้พยายามทุเลาความเลวร้ายต่างๆ ผ่านเวทีเจรจาสันติภาพอย่างต่อเนื่องนานหลายสิบปี รวมถึงมีโครงการพัฒนาความร่วมมือมากมายที่หลั่งไหลเข้าไปเพื่อกอบกู้และเยียวยาด้านมนุษยธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย แต่ก็ทำได้แค่เพียงบรรเทาเท่านั้น เพราะเหตุการณ์รุนแรงมักจะปะทุขึ้นเสมอๆ

ขณะที่มหากาพย์แห่งความขัดแย้งรอบเขตแดนดำเนินไป แต่ภายในประเทศ รัฐบาลอิสราเอลยังคงมุ่งมั่นที่จะฟูมฟักความแข็งแกร่งของชาติด้วยวิทยาการทันสมัยทุกแขนง ตั้งแต่การเพาะปลูกเพื่อความอิ่มท้องจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อประกาศศักดิ์ศรี นับจากการตั้งประเทศเมื่อปี 1948 อิสราเอลคือรัฐที่เติบโตจากการอพยพเพื่อการตั้งถิ่นฐานอย่างแท้จริง จำนวนประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็วถึง 5เท่า เป็นราว 7.3 ล้านคนในปัจจุบัน กว่าร้อยละ 80 คือคนเชื้อสายยิว และอีกราวร้อยละ 20 เป็นเชื้อสายอาหรับ พวกเขาอพยพมาจาก 5ทวีป จากกว่า 100ประเทศ และได้นำเอาวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นติดตัวมาด้วย อิสราเอลจึงมีความหลากหลายของการแสดงออกทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นซิมโฟนีแบบรัสเซีย บทประพันธ์อย่างอังกฤษ หรือกระทั่งสถาปัตยกรรมแบบเบาเฮาส์จากเยอรมนี ที่รวมอยู่ภายใต้ความเป็นอิสราเอลซึ่งให้ความสำคัญกับรากฐานที่แข็งแกร่งของชุมชน เมื่อประกอบกับประวัติศาสตร์บนดินแดนที่ยาวนานกว่า 3 พันปีเช่นเมืองหลวงเยรูซาเล็ม จึงทำให้อิสราเอลมีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ทั้งเสื่อมสลายและยังมีชีวิตอยู่ โดยมีเมืองเทลอาวีฟ ศูนย์กลางทางการเงินที่ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางแห่งพลังชีวิตของหนุ่มสาว การเริ่มต้นธุรกิจ  ความทันสมัย ทั้งแฟชั่น อาหาร และศิลปะ ขณะที่เมืองไฮฟา เมืองท่าสำคัญก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม และเมืองเบเออร์เชวา กลายเป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจทางตอนใต้ของประเทศ และแม้จะอยู่ในภาวะยุ่งเหยิง แต่การท่องเที่ยว ก็ถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ โดยในปี 2011 มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางไปอิสราเอลถึงกว่า 3.45 ล้านคน

(http://www.creativethailand.org/_file/image/42-25061331.jpg)

อิสราเอลปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะสลัดภาพจำจากฉนวนกาซา และความคุกรุ่นจากกลิ่นอายความขัดแย้ง ประเทศจึงได้เปิดรับการลงทุนใหม่ๆ จากต่างชาติอย่างกว้างขวาง โดยมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ลุ่มๆ ดอนๆ ปริมาณการลงทุนจากต่างชาตินั้นสูงประมาณปีละเกือบพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เรื่อยมา และเพิ่มสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญในปี 2006 โดยประเภทของธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ (R&D) และธุรกิจด้านการเงิน ซึ่งมีกองทุนต่างชาติขนาดใหญ่เข้ามาดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะอิสราเอลมีชื่อเสียงด้านการบริหารกองทุนและการเงินไม่แพ้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ 

อย่างไรก็ดี ความถดถอยในเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของอิสราเอลได้ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อเศรษฐกิจของอิสราเอลเอง ขบวนประท้วงและนัดหยุดงานจึงเกิดขึ้นบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ขณะเดียวกัน คลื่นผู้อพยพลี้ภัยจากแอฟริกาก็เริ่มสร้างความปั่นป่วนในสังคม เมื่อความแออัดนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม และชาวเมืองเริ่มต่อต้านคนแปลกหน้าเหล่านี้ แต่รัฐบาลยังคงมั่นใจว่าจะก้าวข้ามความยุ่งยากต่างๆ ไป เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจเลวร้ายแบบช็อกโลกเมื่อปี 2008อิสราเอลก็สามารถส่งผ่านช่วงเวลาวิกฤตินั้นได้อย่างนุ่มนวล เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ขึ้นกับธุรกิจสินเชื่อหรือภาคอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่กลับใช้เทคโนโลยีและการวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อน และเพิ่มผลผลิตของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การมีบริษัทด้านเทคโนโลยีมากกว่ายุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน  ในขณะที่พลเมืองของอิสราเอลนั้นน้อยกว่ารัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐอเมริกา  ก็ยังทำให้อิสราเอลสามารถดึงดูดการลงทุนในกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital Fund)ได้มากกว่าอเมริกาถึง 2.5เท่า

(http://www.creativethailand.org/_file/image/DWF15-549174.jpg)

ส่วนเหตุผลที่ความสามารถของชาวอิสราเอลเป็นที่ต้องตาต้องใจนั้น ไม่ใช่เพราะพวกเขาเก่งกาจเหนือกว่าเหล่าเด็กโอลิมปิกวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ซึ่งมีอยู่มากมายในอินเดียและสิงคโปร์ หรือผู้คนจากประเทศที่มีเศรษฐกิจน่าประทับใจอย่างเกาหลี แต่สิ่งที่อิสราเอลทำนั้น เริ่มตั้งแต่การวางนโยบายเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดยถือเป็นประเทศที่ทุ่มเทงบประมาณเพื่องานวิจัยมากเป็นอันดับ 4 ของโลกและสิ่งที่สำคัญก็คือการสร้างระบบนิเวศของเทคโนโลยีขึ้นในชีวิตประจำวันของชาวอิสราเอล ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากระบบห้องปฏิบัติการของบริษัท แต่เป็นวัฒนธรรมการฝึกฝนในชีวิตประจำวันที่เด็กทุกคนจะต้องเรียนรู้ เช่น คนหนุ่มสาวซึ่งเข้าเป็นทหารที่จะต้องผ่านการฝึกด้านการทำงานเป็นทีม วิธีการบริหารและจัดการกับความทุกข์ยาก การเอาชนะเงื่อนไขต่างๆ ภายใต้ความบีบคั้นอย่างภาวะทรัพยากรไม่เพียงพอและข้อมูลไม่สมบูรณ์ นอกจากนั้น พวกเขายังถูกฝึกให้ท้าทายผู้บังคับบัญชาได้ในสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง

การฝึกความอดทน การเอาชนะธรรมชาติด้วยความรู้และตรรกะ เป็นเรื่องที่เด็กๆ ชาวอิสราเอลถูกฝึกฝนในระบบนิเวศที่สร้างให้พวกเขาเติบโตขึ้นด้วยความกล้าที่มากพอในการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ และท้าทายต่อสภาวการณ์ที่อาจไม่เป็นใจ

พิชิตทะเลทราย
ถึงแม้ประเทศจะมีขนาดเล็ก แต่อิสราเอลประกอบด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่ต่างกันสุดขั้ว ด้านหนึ่งติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรับอากาศร้อนชื้น ทางตอนเหนือเป็นที่ราบสูงมีหิมะตกในฤดูหนาว และพื้นที่เกือบครึ่งประเทศเป็นทะเลทรายที่มีอากาศร้อนและแสงแดดตลอดปี ปริมาณฝนอันน้อยนิดและไม่ทั่วถึงสร้างปัญหาใหญ่ด้านการเพาะปลูก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ทั้งประเทศยังมีแหล่งน้ำจืดจำกัด และแหล่งดินคือเนินหินทรายที่เต็มไปด้วยผลึกตะกอนเค็มสีขาว และบางส่วนก็เป็นกรวดปนทรายที่พอจะเพาะปลูกได้คิดเป็นร้อยละ 11 ของประเทศ

และเมื่อมนุษย์ไม่อาจมีข้อโต้แย้งหรือคำร้องขอใดๆ จากธรรมชาติได้ ชาวอิสราเอลจึงจำต้องดำเนินชีวิตบนความจำกัดเช่นนี้ พวกเขาจัดการบริหารพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนและพื้นที่การเกษตรอย่างเป็นระบบ ด้วยการบริหารจัดการแบบรวมกลุ่มที่เรียกว่า คิบบุตซ์ (Kibbutz) และ โมชาฟ (Moshav) โดยคิบบุตซ์เป็นรูปแบบของการนิคมสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรจะถูกนำมารวมกันเพื่อแบ่งปันกำไรเท่าๆ กัน ขณะที่ โมชาฟ คือชุมชนจัดตั้งที่มีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร เพื่อช่วยกันทำมาหากินแบบพึ่งพาอาศัยกันอย่างมีกติกาในรูปแบบคล้ายสหกรณ์ แต่ละแห่งมีสมาชิกประมาณ 60-200 ครอบครัว แต่ละครอบครัวสามารถมีที่ดิน บ้าน และเครื่องมือทำการเกษตรเป็นของตนเอง โดยโมชาฟจะรับผิดชอบด้านการตลาด การจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ให้สมาชิกในราคาถูก รวมทั้งจัดการให้สมาชิกทุกคนได้ใช้น้ำและที่ดินอย่างเท่าเทียมกัน

(http://creativethailand.org/_file/image/RTXXN1P.jpg)

 เมื่อสามารถบริหารพื้นที่การเพาะปลูกและอยู่อาศัยได้ การบริหารจัดการทรัพยากรก็ตามมา อิสราเอล ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรในทุกขั้นตอนและทุกมิติ เริ่มตั้งแต่การวางแผนการผลิตก่อนปลูกพืช โดยฝ่ายการตลาดจะวิเคราะห์ว่าพืชชนิดใดที่มีศักยภาพทางการตลาดสูง  จากนั้นก็จะส่งมาให้หน่วยงานวิจัยศึกษาถึงความเป็นไปได้ และคำนวณหาตัวแปรที่จะมีผลกับการเติบโตและคุณภาพของพืชชนิดนั้นๆ เช่น เมื่อวางแผนจะปลูกดอกไม้เมืองหนาวที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด ฝ่ายวิจัยจะคิดหาพันธุ์ที่มีความแข็งแรงและงอกงามได้ภายในโรงเรือนที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้  ทั้งยังมีการออกแบบโรงเรือนและวัสดุต่างๆ เช่น ตาข่ายมุ้งหลังคาที่มีสีและขนาดความถี่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของพืชซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการวิจัยและทดสอบ ทั้งการควบคุมความชื้น แสง และแมลง แต่กระบวนการคิดจะยังไม่จบแค่การเพาะปลูกในโรงเรือนเท่านั้น เพราะยังต้องคำนึงถึงระยะทางการขนส่ง ซึ่งทำให้ฝ่ายวิจัยต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้กลีบดอกมีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อความสดที่นานขึ้น ขนส่งได้ไกลขึ้น และขยายตลาดได้มากขึ้น นอกจากนี้เพื่อระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงได้ลงทุนทำถนนที่แข็งแรงและราบเรียบเพื่อการขนส่งพืชผลทางการเกษตรไว้ทั่วประเทศอีกด้วย

               การวางแผนการเพาะปลูกจะถูกกำหนดเป็นรายปีหลังจากได้รับโจทย์จากฝ่ายการตลาด เพื่อควบคุมผลผลิตไม่ให้ล้นตลาด และขายได้รายได้งาม รวมทั้งเพื่อการจัดสรรน้ำสำหรับการเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล เนื่องจากแหล่งน้ำแหล่งเดียวของประเทศคือทะเลสาบกาลิลี ซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำจอร์แดนกับทะเลสาบคินเนเรตนั้นเป็นน้ำกร่อยที่มีคลอไรด์หรือเกลือปนอยู่ในระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนน้ำในทะเลสาบคินเนเรตก็มีระดับเกลือสูงถึง 200 ไมโครกรัมต่อลิตร และน้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินก็มีระดับคลอไรด์ที่เข้มข้นถึง 1,500 ไมโครกรัมต่อลิตร ดังนั้น น้ำที่จะนำมาใช้ในการเพาะปลูกจึงต้องผ่านนวัตกรรมการบำบัดน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดก่อนที่ถูกส่งต่อไปยังพื้นที่แต่ละแห่งและแปลงของเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งเกษตรกรจะต้องเข้าใจธรรมชาติของพืชว่าต้องการน้ำในปริมาณเท่าใดสำหรับพันธุ์พืชที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูกาลเพาะปลูกด้วย

          ทรัพยากรน้ำที่จำกัดยังผลักดันให้้อิสราเอลคิดค้นเทคโนโลยีระบบ Micro Irrigation หรือ ระบบการให้น้ำแบบหยดเพื่อการเพาะปลูกที่ได้ประสิทธิภาพโดยสูญเสียน้ำน้อยที่สุด โดยฝ่ายวิจัยจะศึกษาว่าพืชแต่ละชนิดต้องการน้ำปริมาณเท่าใด และดินที่ใช้ปลูกซึมน้ำได้เร็วแค่ไหน และเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นทรายละเอียด การให้น้ำอย่างมากก็จะไหลผ่านชั้นรากพืชไปอย่างรวดเร็ว จนรากพืชอาจดูดซับไว้ไม่ทัน ดังนั้นเกษตรกรจึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำลงไปครั้งเดียว แค่ปล่อยน้ำผ่านระบบน้ำหยดให้น้ำค่อยๆไหลลงไป รากพืชก็จะมีเวลาดูดซับน้ำได้ทัน การสูญเสียน้ำจึงน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย

(http://creativethailand.org/_file/image/IH081051.jpg)

 ทั้งนี้ ขั้นตอนในการควบคุมการผลิต ตั้งแต่ปริมาณน้ำ การวัดความชื้นในโรงเรือน และปัจจัยอื่นๆ เกือบทั้งหมดจะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติ เช่น วาล์วน้ำจะถูกสั่งเปิดจากคอมพิวเตอร์ทันทีที่เครื่องวัดความชื้นในดินรายงานว่าพืชต้องการน้ำ และเครื่องพ่นหมอกจะปล่อยละอองน้ำในโรงเรือนเมื่อตัววัดความชื้นรายงานว่าอากาศเริ่มแห้งเกินไป ส่วนพัดลมดูดอากาศจะทำงานทันทีที่ความชื้นภายในโรงเรือนมากเกินกว่าความต้องการของพืช คงเหลือแต่กระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีมูลค่าสูงและต้องการลดความบอบช้ำซึ่งจะใช้แรงงานฝีมือในการเก็บเกี่ยว  แบบแผนเกษตรกรรมตั้งแต่การศึกษาความต้องการของตลาด การวิจัย เพาะปลูก เก็บเกี่ยว ไปจนถึงระบบโลจิสติกส์นี้ เป็นระบบที่ใช้ในฟาร์มปศุสัตว์และการประมงชนิดอื่นๆ ด้วย โดยในทุกๆ ปีของฤดูกาลเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ เจ้าของฟาร์มจึงมีงานทดลองทุกปี เพื่อนำไปพัฒนาการเกษตรในฤดูกาลต่อไป เช่น การเปรียบเทียบสายพันธุ์ เปรียบเทียบวัสดุปลูก หรือเปรียบเทียบโรงเรือนที่แตกต่างกันบนตรรกะเช่นนี้ทำให้อิสราเอลไม่ขาดแคลนอาหาร อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกพืชผลเกษตรรายใหญ่ที่สุดให้แก่ภูมิภาคยุโรปอย่างต่อเนื่อง

             นอกจากนวัตกรรมด้านการเกษตร ชาวยิวผู้รอบรู้ยังได้พัฒนาระบบนวัตกรรมเทคโนโลยีน้ำเพื่อครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ชาญฉลาดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทั้งระบบการเปลี่ยนน้ำเค็มให้เป็นน้ำดื่ม  กระบวนการบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมมาเป็นน้ำใช้ และยังถือเป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลน้ำได้มากที่สุดในโลกถึงร้อยละ 75 ของน้ำอุปโภคบริโภคทั้งหมด (มีสเปนเป็นอันดับสองอยู่ที่ระดับร้อยละ 20) พร้อมกันนี้ อิสราเอลยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกระบบเทคโนโลยีเรื่องน้ำ ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  โดยหนึ่งในนั้นคือนวัตกรรมผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเลในระบบรีเวิร์ส ออสโมซิส ของบริษัท ไอดีอี-แอชเคลอน ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ไอดีอี เทคโนโลยีของอิสราเอลกับโวลลา วอเตอร์ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งใช้เทคนิคการปั้มน้ำทะเลด้วยแรงดันสูงผ่านเข้าไปในระบบกรองของไส้กรองเมมเบรนที่สกัดเอาเกลือออกจากน้ำทะเล ในอัตราส่วนน้ำทะเล 2 คิวบิกเมตร เพื่อให้ได้น้ำดื่ม 1 คิวบิกเมตร โดยโรงงานขนาดใหญ่ 2 แห่ง สามารถผลิตน้ำได้ครอบคลุมถึงร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำเพื่อการบริโภคของคนอิสราเอลทั้งหมด และสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 เมื่อตั้งโรงงานแห่งที่ 3 แล้วเสร็จในอนาคต

            นอกจากนี้ ทุกๆ 3 ปี อิสราเอลจะจัดมหกรรมแสดงแสนยานุภาพทางนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่ออนาคตที่เรียกว่า “Israel Agriculture Innovation & Agritech” ขึ้น โดยจะมีประเทศต่างๆ ร่วมนำเสนอนวัตกรรมเพื่อมวลมนุษยชาติ อาทิ จีน เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น รวมถึงยังมีงานแสดงเทคโนโลยีการเกษตรอื่นๆ ที่จัดขึ้นกลางทะเลทรายอะราวาเพื่ออวดความสามารถของระบบทดน้ำ ตลอดจนความสวยงามของดอกไม้และเมล็ดพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถปลูกได้ดีแม้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรอย่างเช่นกลางทะเลทราย ไปจนถึงงานแสดงผลงานทางอุตสาหกรรมน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง WATEC เพื่อแสดงนวัตกรรมบริหารจัดการน้ำที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องของการแสวงหาแหล่งน้ำ การบำบัดน้ำ เรื่อยไปจนถึงการควบคุมสภาวะแวดล้อม และพลังงานทางเลือก ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำเสนอความรู้ และความเข้าใจในหลักการและความคิดเบื้องหลังเทคโนโลยีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เมื่อประเทศต้องประสบกับวิกฤตจากน้ำ

กิ่งก้านแห่งวิทยาการ

ผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์จากแหล่งทะเลทรายในอิสราเอลทำให้โลกต้องอิจฉา ไม่เพียงสำหรับความอิ่มท้องของชาวอิสราเอล แต่ยังแตกกิ่งก้านสาขาไปงอกเงยในแห่งอื่น

(http://www.creativethailand.org/_file/image/RTXUNT2.jpg)

  ศูนย์ความร่วมมือการพัฒนาระหว่างประเทศเกษตรกรรม (CINADCO) ตั้งขึ้นในปี 1950 เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านการพัฒนาทางการเกษตรแก่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น เซเนกัล ,อินเดีย ,เอลซัลวาดอร์ , จีน และคาซัคสถาน .องค์กรดังกล่าวได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้กับวิกฤตอาหารทั่วโลก เพื่อช่วยให้ประเทศที่ขาดแคลนอาหารได้บรรลุผลผลิตจากที่ดินทำกินของพวกเขาด้วยวิธีการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร

·        อุตสาหกรรมพลาสติกโพลีแซค เกิดขึ้นในปี 1974 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการกับความท้าทายในการรักษาผลผลิตทางการเกษตรท่ามกลางความร้อนสูงของประเทศ โพลีแซคพัฒนาผลิตภัณฑ์และสามารถทำการตลาดได้กว้างขวาง ผ่านตาข่ายป้องกันยูวีสำหรับการใช้งานด้านการเกษตร เช่น การป้องกันพืชและให้ร่มเงา  การจัดการแสงสเปกตรัม ตลอดจนคลื่นความถี่ โพลีแซคยังมีส่วนร่วมในโครงการเกษตรทั่วโลก เช่น รัสเซีย ,ยูเครน ,ไทย ,เม็กซิโก และบราซิล เป็นต้น

·      เนต้าฟิม (Netafim) บริษัทผู้บุกเบิกและพัฒนาระบบชลประทานน้ำหยด เริ่มดำเนินการในปี 1965 เพื่อปฏิวัติการใช้น้ำในพื้นที่ขาดแคลน บริษัทได้พัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ๆ มาโดยตลอด ล่าสุดได้พัฒนาระบบน้ำหยดสำหรับพื้นดินน้อย โดยเนต้าฟิมได้ดำเนินการหลายโครงการทั่วโลก เช่น การฝึกอบรมทางการเกษตรรัฐอานธรประเทศของอินเดีย เพื่อเพาะปลูกอ้อย มะม่วง มะนาว และฝ้าย ในพื้นที่กว่า 6,000 เฮกเตอร์ ซึ่งได้ผลผลิตดีเยี่ยม

· นวัตกรรมเครื่องกรองน้ำพกพา Sulis ของบริษัท Water Sheer ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ โดยสามารถกรองน้ำจากเกือบทุกแหล่งน้ำจากพื้นดินให้สะอาด ด้วยการใช้เม็ดคลอรีนกรองสารปนเปื้อนออก ซึ่งอุปกรณ์หนึ่งชิ้นสามารถกรองน้ำได้ถึงครั้งละ 700 ลิตร โดยนำไปต่อกับปากขวด ก๊อก หรือแท็งก์น้ำทั่วไปได้สะดวก และยังมีขนาดที่เล็กและเบานอกจากนี้ บริษัทหลายแห่งยังได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงแหล่งน้ำคุณภาพสูงในทุกสถานการณ์ ที่ผ่านมาอิสราเอลส่งเครื่องกรองน้ำพกพาและระบบกรองน้ำลิตรไปยังพม่าในปี 2008 เมื่อคราวเกิดพายุไซโคลนไต้หวันในปี 2009 และเฮติ ในปี 2010 และยังได้พัฒนาระบบกรองน้ำฉุกเฉินให้สามารถกรองได้แม้แต่น้ำทะเลหรือน้ำปัสสาวะ

·      เทคโนโลยีฟาร์มโคนมของอิสราเอลถือว่าทันสมัยและให้ผลผลิตน้ำนมสูงที่สุดในโลก โดยพวกเขาศึกษาถึงพฤติกรรมการมีอารมณ์แปรปรวนและก้าวร้าว เพื่อลดทอนปัญหาและหาทางทำให้แม่วัวสบายใจที่จะมอบน้ำนม  ด้วยเหตุนี้วัวในอิสราเอลจึงให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1.2หมื่นลิตรต่อปี ขณะที่ฟาร์มในยุโรปผลิตน้ำนมได้เพียง 5-6พันลิตรต่อปี และฟาร์มไทยเพียง 2 พันลิตรต่อปี

· เกษตรออร์แกนิกอิสราเอลได้จัดพื้นที่ฟาร์มออร์แกนิกขึ้น โดยสินค้าที่ผลิตได้จากฟาร์มเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าสินค้าปกติถึงร้อยละ 30-40มีตลาดใหญ่คือสหภาพยุโรปที่นำเข้ามันฝรั่งถึง 31,000 ตัน รวมถึงผักผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซีตรัส อะโวคาโด และอินทผาลัม มูลค่าของการส่งออกราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 13 จากยอดการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด

ที่มา: “Israel: A World Leader in AgriculturalTechnology” จาก www.theisraelproject.org

           จากการระดมศักยภาพของชาวยิวทั่วทุกแห่งในโลกที่ได้อพยพกลับมาเพื่อตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่ยึดมั่นด้วยศรัทธา และไม่มีวันที่จะเดินจากไปไม่ว่าจะถูกสถานการณ์รุมล้อมมากเพียงใดก็ตาม พวกเขาหลอมรวมความหิวโหย ทุกข์ยาก และแร้นแค้น เข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนเป็นจิตสำนึกและเล่ห์เหลี่ยมในการเอาชนะอุปสรรคที่มาจากมนุษย์หรือธรรมชาติก็ตามที และในวันหนึ่งข้างหน้า ที่หนทางการต่อรองกับธรรมชาติอาจริบหรี่ลง อิสราเอลจะยังมีเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตมากมาย ที่ไม่ได้เกิดจากผืนดินหรือผืนทราย แต่หากบ่มเพาะด้วยปัญญาของพวกเขาเอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2013, 20:52:43
สำหรับนาหว่านเมื่อดินเริ่มแห้งวัชพืชก็จะเริ่มขึ้นครับ สำหรับมือใหม่ลองสังเกตุครับว่าหญ้าวัชพืชขึ้นมาลักษณะใกล้เคียงกับต้นข้าวแค่ไหนถ้าไม่สังเกตุดี ๆ ก็คงคิดว่าเป็นต้นข้าว ต้นที่ผมวงกลมไว้ครับสังเกตุจะมีปลอกใบสีแดงต่างจากต้นข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2013, 20:57:17
เมื่อวานทำน้ำหมักปุ๋ย ซึ่งได้จากสับปะรด ถั่วเหลือง ซึ่งผลไม้บางอย่างเมื่อมีการหมักจะเกิดแก๊สขึ้นมาหากเราปิดฝาแน่นเกินไปจะเกิดการบวมของถังดีไม่ดีอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ครับแต่ถ้าเปิดฝาแมลงวันอาจไปไข่ได้เช่นกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2013, 21:01:26
ต้นดอกดาวเรืองที่เพาะไว้สำหรับจะน้ำไปปลูกใกล้คันนาเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ ก็โตแข่งกับข้าวเหมือนกัน ดอกของดอกดาวเรืองก็นำมาหมักทำเป็นน้ำหมักขับไล่แมลงได้เช่นกันครับเนื่องจากมีกลิ่นที่ค่อนข้างฉุน ตอนนี้นับได้ 70 กว่าต้นแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2013, 21:35:50
โลกร้อนขึ้นทำผลผลิต "ข้าว" หดลงทั่วเอเชีย 20%

วิกฤติโลกร้อน ทำผลผลิตข้าวทั่วเอเชียตกต่ำลงถึง 20% ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ผลการวิจัยระบุกลางคืนร้อนขึ้นยิ่งทำให้ข้าวออกรวงน้อยลง คาดเป็นเพราะต้นข้าวใช้พลังงานไปกับการหายใจมากขึ้น เผยเป็นสัญญาณอีกไม่กี่ทศวรรษทั่วโลกจะมีประชากรผู้หิวโหยและยากจนพุ่งสูงขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้วพันล้านคน
          กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (Agriculture Organization : FAO) ที่มีสำนักงานอยู่ในสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และกรุงโรมในอิตาลี ได้เฝ้าติดตามผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนที่มีต่อผลผลิตข้าวในเขตนาชลประทานจำนวน 227 แห่ง ในประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ทั้งจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ในช่วงระหว่างปี 1994-1999
          "ในขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดในช่วงเวลากลางวันเพิ่มขึ้น หรือช่วงเวลากลางคืนที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง" จาร์รอด เวลซ์ (Jarrod Welch) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก (University of California, San Diego) สหรัฐฯ ผู้เป็นหัวหน้าคณะวิจัยครั้งนี้เปิดเผยในเอเอฟพี ส่วนผลงานวิจัยนั้นได้ตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences : PNAS) เมื่อไม่นานมานี้
          เวลซ์ให้ข้อมูลว่า อุณหภูมิช่วงกลางวันที่สูงขึ้นสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้ในช่วงเริ่มต้น แต่ในที่สุดแล้วก็จะทำให้ผลผลิตตกลง เพราะมีผลน้อยกว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นในเวลากลางคืนที่ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่านี่เป็นรายงานล่าสุดที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะสร้างความยากลำบากมากขึ้นในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกที่กำลังเติบโตขึ้นจากการที่ผลผลิตของพืชพันธุ์ธัญญาหารลดต่ำลง
          บีบีซีนิวส์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นักวิจัยยังไม่ได้ความชัดเจนว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อกลไกใดของข้าว แต่อาจเกี่ยวข้องกับการที่ต้นข้าวต้องหายใจมากขึ้นในช่วงเวลากลางคืนที่ร้อนขึ้น ทำให้ต้นข้าวต้องใช้พลังงานไปกับกิจกรรมดังกล่าวสูงขึ้น และทำให้มีพลังงานไปใช้ในกิจกรรมการสังเคราะห์ด้วยแสงลดน้อยลง จึงทำให้ผลผลิตข้าวลดลง
          ทั้งนี้ ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกส่งผลให้ผลผลิตข้าวในพื้นที่เพาะปลูกหลักๆ ลดต่ำลงมาแล้วประมาณ 10-20% ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นไปกว่านี้ จะทำให้ผลผลิตข้าวตกต่ำลงอย่างเลวร้ายที่สุดในช่วงกลางศตวรรษนี้ และหากอุณหภูมิในช่วงกลางวันสูงมาก มันจะไปจำกัดการให้ผลผลิตของข้าว และยิ่งทำให้ผลผลิตลดลงไปอีก และในปี 2004 นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งยังได้ศึกษาพบว่าผลผลิตข้าวในฟิลิปปินส์ลดลงประมาณ 10% ต่ออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซียลเซียสในช่วงเวลากลางคืน
          ข้อมูลจากเอฟเอโอยังระบุอีกว่า ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรโลก โดยในแต่ละวันมีผู้บริโภคข้าวมากถึง 3 พันล้านคนทั่วโลก และข้าวยังเป็นอาหารหลักของชาวเอเชียประมาณ 600 ล้านคน ที่เป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่ยากจนที่สุดในโลกจำนวน 1 พันล้านคนด้วย ซึ่งการที่ผลผลิตข้าวตกต่ำลงนั้นยังหมายถึงว่าจะมีประชากรโลกที่อดอยากและยากจนเพิ่มมากขึ้น
          "หากเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตข้าวหรือพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่ออุณหภูมิสูงได้ จะเกิดหายนะขึ้นกับพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมดได้ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าอันเนื่องมาจากอากาศที่ร้อนขึ้นทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน" เวลซ์ กล่าวเตือน และยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ไปเมื่อต้นปีที่แล้วให้ข้อสรุปไว้ว่า ประชากรโลกครึ่งหนึ่งอาจต้องเผชิญกับวิกฤติอาหารอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศภายในปี 2100


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2013, 22:00:00
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อเกษตรไทย

โดย สมาน ครอบกระโทก พนักงานวิจัย 9
ศูนย์วิจัย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

     สถานการณ์ภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง คาดการณ์ปี 2554 จะมีอากาศร้อนมากกว่าปี 2553 เพราะในบางจังหวัดโดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ถือเป็นอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญ แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ ในอนาคตว่า สภาพอากาศของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะการที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไปนั้น ตามหลักวิชาการจะทำให้เกิดคลื่นความร้อน และคนที่ได้รับคลื่นความร้อนนี้จะได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ที่ผ่านมาประเทศไทย พบว่า มีผู้เสียชีวิตหลายราย หากสภาพอากาศยังมีลักษณะร้อนเช่นนี้ยาวไปถึงปี 2554 จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเพิ่มมากขึ้น สำหรับภาวะอุณหภูมิโลกร้อนผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของพลเมืองโลกและการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในชั้นบรรยากาศมากเกินไป ส่งผลให้อุณหภูมิที่ห่อหุ้มโลกสูงขึ้น

ดังนั้น ทุกคนจึงต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นเพื่อเป็นตัวดูดซับก๊าซเรือนกระจก หากทุกคนยังไม่ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ดังกล่าว จะต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งและเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหวในหลายประเทศที่เกิดขึ้นหลายครั้ง แม้จะไม่ได้มีสาเหตุมาจากสภาวะโลกร้อนโดยตรง แต่ก็มีโดยทางอ้อมและมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน เนื่องจากมีการพยากรณ์ว่าในระยะเวลาอันใกล้จะเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน อาจจะเกิดคลื่นยักษ์'สึนามิ' ในบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทย ฉะนั้น การจัดทำระบบเตือนภัยต่างๆ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมไว้อย่างดี และทุกคนต้องมีความตื่นตัวที่จะเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายประเทศหากเกิดขึ้นใกล้กับประเทศไทยอาจจะทำให้ 'รอยเลื่อน' ที่มีอยู่ในไทยจำนวน 13 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี อาจเกิดพิบัติภัยซ้ำ

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อภาคเกษตรไทย

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้สรุปสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งพบว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,217 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างทั้งหมดเมื่อเทียบกับปี 2552 โดยเขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำในอ่าง 4,807 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มี ปริมาตรน้ำในอ่าง 3,609 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำในอ่าง 146 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 38 และ 15 ของความจุอ่างทั้งหมด เมื่อเทียบกับปี 2552 นอกจากนี้ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ภาคตะวันออก พบว่า จังหวัดชลบุรีมีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งรวมกัน 74.0 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างทั้งหมด น้อยกว่าปี 2552 ร้อยละ 1 ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำบางพระ 48.8 ล้าน ลบ.ม. หนองค้อ 9.9 ล้าน ลบ.ม. มาบประชัน 4.2 ล้าน ลบ.ม. หนองกลางดง 3.9 ล้าน ลบ.ม. ชากนอก 2.2 ล้าน ลบ.ม. ห้วยขุนจิต 2.7 ล้าน ลบ.ม. ห้วยสะพาน 2.4 ล้าน ลบ.ม. ส่วนพื้นที่จังหวัดระยอง ลุ่มน้ำระยองและลุ่มน้ำประแสร์ มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งรวมกัน 346.6 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างทั้งหมด น้อยกว่าปี 2552 ร้อยละ 7 ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 103.1 ล้าน ลบ.ม. ดอกกราย 41.0 ล้าน ลบ.ม. คลองใหญ่ 27.1 ล้าน ลบ.ม. และประแสร์ 175.4 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับปี 2553 คาดว่า ทั่วประเทศจะใช้น้ำเกินแผนที่กำหนดไว้ถึง 1,589 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 108 ของแผนจัดสรรน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อย-ป่าสัก และผันน้ำมาจากลุ่มน้ำแม่กลอง) จนถึงปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 10,290 ล้าน ลบ.ม.(มากกว่าแผนที่กำหนดไว้ 2,290 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 129 ของแผนจัดสรรน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดแต่มีการใช้น้ำเกินเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้กรมชลประทานต้องลดปริมาณการจัดสรรน้ำลงอย่างต่อเนื่อง จากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ โดยช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จัดสรรน้ำเหลือวันละประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. และเดือนพฤษภาคมจะจัดสรรน้ำเหลือเพียงวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น กรมชลประทานตรวจสอบ พบว่า มีเกษตรกรจำนวนมากปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ไปแล้วกว่า 1.16 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอีกทางหนึ่ง

ผลผลิตการเกษตร

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากการที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันไปปลูกอ้อยและมันสำปะหลังที่ให้ผลตอบแทนสูงและทนทานต่อปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงไม่ต่ำกว่า 20% จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดปีละ 6 ล้านไร่ นอกจากนี้เวียดนามและจีนก็เข้ามาแย่งซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพม่า ลาว และกัมพูชา เป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทยในสัดส่วนลดลง คาดว่าภาวะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์สูงไม่ต่ำกว่า 10-12 บาท/ก.ก. หากภาวะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศปี 2553 ปรับตัวสูงขึ้นอาจจูงใจให้เกษตรกรหันมาเสี่ยงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รอบ 2 ในพื้นที่นาเพิ่มมากขึ้นถึง 200,000-300,000 ไร่ จากเดิมที่มีปลูกข้าวโพดไร่ในพื้นที่นาเฉลี่ยปีละ 100,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม คาดว่าปี 2553 ประเทศไทยจะมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 5.5 ล้านไร่ และมีมูลค่าตลาดรวม 2,500 ล้านบาท
 
ข้าว ภาวะภัยแล้งยังส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังปี 2553 ลดลง 30% จากที่คาดการณ์ไว้ 8.3 ล้านตันข้าวเปลือก เหลือเพียง 5 ล้านตันข้าวเปลือก โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ผลิตในพื้นที่ภาคกลาง สัดส่วนมากกว่า 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% หรือราว 1 ล้านตันข้าวเปลือกผลิตในพื้นที่บางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี และนครราชสีมา เป็นต้น โดยมีทั้งข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเหนียว แต่ในปีนี้ผลผลิตในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะลดลงไม่ถึง 1 ล้านตัน เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในหลายพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลประกาศให้หยุดปลูกโดยเฉพาะในส่วนของผลผลิตข้าวเหนียวลดลงมากกว่าชนิดอื่น เนื่องจากราคาประกันไม่จูงใจ ทำให้ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเหนียวปรับสูงขึ้นถึงตันละ 13,000 บาทแล้ว แต่ราคาข้าวเปลือกเจ้า ก็ยังทรงตัวปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
 
อ้อย ส่วนพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศเริ่มจะส่งสัญญาณผลกระทบจากภาวะภัยแล้งแล้ว ซึ่งหากภายในเดือนพฤษภาคม 2553 ฝนไม่ตก หรือฝนทิ้งช่วง คาดว่า ผลผลิตอ้อยฤดูการผลิต 2553/2554 จะลดลงประมาณ 30% ของปริมาณการผลิตอ้อยในปีฤดูการผลิต 2552/2553 ที่ผลิตได้ 68 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิต 2553/2554 ลดลง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้เสนอเรื่องเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในการปล่อยกู้พัฒนาจัดทำระบบน้ำเข้าสู่ไร่อ้อยทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นกำหนดวงเงินไว้ที่ 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% นอกจากนั้นยังขอให้มีการปล่อยกู้ให้เกษตรซื้อรถตัดอ้อยวงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตัดอ้อยให้กับชาวไร่
 
กุ้ง ชาวนากุ้งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นจากวิกฤตภัยแล้ง ทำให้มีปริมาณออกซิเจนในบ่อกุ้งเบาบางลง กุ้งเติบโตช้า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งพยายามแก้ไขปัญหา โดยเพิ่มจำนวนปริมาณออกซิเจนในบ่อกุ้งให้มากขึ้น ทำให้มีภาระต้นทุนค่าไฟฟ้ามากกว่าปกติถึง 20% เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถทนแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ก็ทยอยเทขายกุ้งเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ราคากุ้งแต่ละขนาดปรับตัวลดลงเฉลี่ย 5-10 บาท/ก.ก. หากปีนี้ประเทศไทยเกิดวิกฤตภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง คาดว่า เกษตรกรต้องประสบปัญหาวิกฤตราคากุ้งตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก จึงได้เรียกร้องผ่านสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งฯ ให้ประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงการประกันราคากุ้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอีกทางหนึ่ง
 
กล้วยไม้ วิกฤตภัยแล้งในปี 2553 ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่ปลูกสวนกล้วยไม้ เพราะอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีปริมาณกล้วยไม้ลดลงกว่าปกติถึง 20% และพบปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟในสวนกล้วยไม้อย่างรุนแรง ทำให้ชาวสวนกล้วยไม้ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าสารเคมีกำจัดแมลงเป็นจำนวนมาก ขณะที่ตลาดส่งออกอยู่ในภาวะชะงักงัน เพราะสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก ได้รับผลกระทบจากภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์ จนต้องปิดสนามบินเป็นการชั่วคราว ส่งผลทำให้ไทยต้องหยุดการส่งออกกล้วยไม้ไปขายสหภาพยุโรป เกิดการสูญเสียโอกาสทางการตลาดไปอย่างน่าเสียดาย แต่ผู้ส่งออกก็พยายามปรับตัวโดยหันไปขยายตลาดส่งออกในตลาดเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่นและจีนแทน แต่ก็ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดสหภาพยุโรป
จะเห็นได้ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประเมินปัญหาภัยแล้งในปี 2553 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (จีดีพี) โดยทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจการเกษตรลดลงประมาณ 0.02% และมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรลดลงประมาณ 198 ล้านบาท ในเบื้องต้นประเมินว่าพื้นที่ทำนาปรังได้รับความเสียหายมากที่สุดประมาณ 11,205 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 70,881,665 บาท ด้านพืชไร่ที่เสียหายมากที่สุดคือ ข้าวโพด 8,736 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 34,098,906 บาท ส่วนพืชสวนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือมะม่วง 2,605 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 27,717,200 บาท ปศุสัตว์ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือกลุ่มโคและกระบือ 3,783 ตัว มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 65,374,023 บาท

นอกจากนี้ ภัยแล้งยังส่งผลกระทบการส่งออก โดยไตรมาสแรกโต 24.2 % แต่ไตรมาสที่ 2 ยอดส่งออกตกฮวบ เหลือ 6.3% โดยเฉพาะกุ้งและผลไม้ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งและวิกฤตทางการเมืองไทย ด้านสินค้าหลัก อาทิ ข้าว ปริมาณส่งออกหลุดเป้า 11 % โดยปริมาณการส่งออกข้าวในเดือนเมษายนปรับลดลงเหลือเพียง 5.6 แสนตัน จากปกติที่ไทยเคยส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 7 แสนตัน ส่วนยอดการส่งออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-23 เมษายน2553 ส่งออกแล้ว 2,545,000 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 1.23% ส่วนแนวโน้มการส่งออกช่วงไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะลดลงเหลือเพียงเดือนละ 6 แสนตัน ทำให้คาดการว่า ในช่วงครึ่งปีแรกจะส่งออกได้เพียง 4 ล้านตันเท่านั้น ขณะที่มันสำปะหลังได้ราคาดี โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553ว่ามีปริมาณ 2.4 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 111 % คิดเป็นมูลค่า 20,722 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกมีมากกว่าปริมาณผลผลิตจริง ทำให้ราคามันสำปะหลังในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก สะท้อนมายังราคาหันมันสดในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ3 บาท ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการ เพราะในอดีตที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 1 บาทเศษเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2554 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังของไทยจะปรับลดลง 50 % จากปี 2553 เหลือประมาณ 1,200,000 ตัน เพราะผลผลิตจะปรับลดลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดอย่างหนัก ประกอบกับรัฐบาลดำเนินการแก้ไขล่าช้า ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณ นำมาดำเนินการแก้ปัญหา

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแห่งประเทศไทย การส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 2 เติบโตได้น้อยลง เพราะยอดการส่งออกในเดือนเมษายนจะปรับลดลงจากปัญหาการปิดน่านฟ้าของสหภาพยุโรปจากกรณีภูเขาไฟระเบิด และปัญหาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องประกาศเลื่อนการจัดงานแสดงสินค้าอาหารจากเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนมิถุนายน ซึ่งการเลื่อนจัดงานครั้งนี้จะทำให้มูลค่าการส่งออกอาหารไทยที่คาดว่าจะสั่งซื้อภายในงานหายไปประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาททันที

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมา อาทิ ภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม พายุที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดังนั้น จึงต้องศึกษาคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน เพื่อเตรียมการปรับตัวและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคกิจกรรม อาทิ ป่าไม้ แหล่งน้ำ การเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ชายฝั่งทะเล สุขภาพอนามัย อุตสาหกรรม และการตั้งถิ่นฐาน ส่วนการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ควรนำผลกระทบจากภาวะโลกร้อนดังกล่าว มาสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นประโยชน์ โดยการสร้างเป็นพลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานไฮโดรเจน พลังงานใต้พิภพ พลังงานชีวมวล และพลังงานขยะ เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานจากซากดึกดำบรรพ์(ฟอสซิล)ในรูปแบบต่างๆ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งพลังงานเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศได้เป็นอย่างดีและยั่งยืน




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2013, 22:00:22
ความสำคัญของไนโตรเจนต่อสิ่งแวดล้อม

รวบรวมและเรียบเรียงโดย นางอัจจิมา  คล้ายหงษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ

ไนโตรเจนมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต เนื่องจากเป็นองค์ประกอบของโปรตีนและกรดนิวคลีอิกซึ่งเป็นส่วนประกอบของร่างกายพืชและสัตว์ ไนโตรเจนเป็นธาตุที่มีมากที่สุดในบรรยากาศ ถึงร้อยละ 78 ของมวลบรรยากาศของโลก ก๊าซไนโตรเจนไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส มีจุดเดือดต่ำ คือที่ 25 องศาเซลเซียส มักใช้ในงานการผลิตน้ำมัน หรือใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเหล็กและสารเคมี และใช้งานในรูปของของเหลวในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ไมสามารถนำก๊าซไนโตรเจนมาใช้ในกระบวนการเจริญเติบโตไดโดยตรง ต่อเมื่อเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของแอมโมเนีย (NH3) หรือไนเตรท (NO3) สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจึงนำไปใช้ประโยชน์ได้
แบคทีเรียไรโซเบียม (Rhizobium) ซึ่งอยู่ที่ปมรากของพืชตระกูลถั่วตรึงก๊าซไนโตรเจนจากบรรยากาศของโลกไปเก็บไว้ที่ปมราก และแบคทีเรียบางชนิดที่อยู่ในดินก็สามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนจากบรรยากาศของโลกไปเป็นไนเตรทในดิน ซึ่งไนเตรทนี้เป็นอนินทรีย์สารสามารถละลายน้ำได้ พืชจึงนำไปสังเคราะห์เป็นอินทรีย์ไนโตรเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบของร่างกายของพืชและสัตว์ ได้แก่ โปรตีน เปปไทด์ และกรดนิวคลีอิค เก็บไว้ที่พืช เมื่อสัตว์ไปกินพืชก็ได้รับสารอาหารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการเจริญเติบโตต่อไป เมื่ออินทรีย์ไนโตรเจนต่างๆ จากน้ำโสโครกหรือน้ำเสียต่างๆ ที่มาจากพืชและสัตว์รวมถึงซากพืชซากสัตว์ลงสู่ดิน แบคทีเรียบางชนิดในดินจะย่อยสลายอินทรีย์ไนโตรเจนเหล่านี้ไปเป็นแอมโมเนีย ไนไตรท์ (NO2) และ ไนเตรท (NO3) ตามลำดับ จากนั้นพืชใช้ไนเตรทไปในการเจริญเติบโต และไนเตรทบางส่วนถูกแบคทีเรียในดินย่อยสลายไปเป็นไนไตรท์ และกลายไปเป็นก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ขึ้นสู่บรรยากาศของโลกต่อไป การเปลี่ยนแปลงรูปของไนโตรเจน ตั้งแต่ ก๊าซไนโตรเจนจากบรรยากาศสู่ดิน พืช สัตว์ ตามลำดับ และจากพืช สัตว์สู่ดิน และขึ้นสู่บรรยากาศ วนเวียนเป็นวงจรไปอย่างนี้ไม่สิ้นสุด เราเรียกว่า “วัฏจักรไนโตรเจน”

สารประกอบไนโตรเจนเป็นกลุ่มสารอาหารอนินทรีย์และการเปลี่ยนรูปของไนโตรเจนในสิ่งแวดล้อมตามวัฏจักรไนโตรเจนมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการมีสารประกอบไนโตรเจนที่มากเกินไปที่ผิวหน้าดินของพื้นที่การเกษตร การระบายน้ำทิ้งจากแหล่งอาศัยในเมือง น้ำโสโครก และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม อาจทำให้เกิดเป็นแหล่งมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้
ปริมาณความเข้มข้นของอินทรีย์ไนโตรเจน (เช่น โปรตีนและเปปไทด์ กรดนิวคลีอิคและยูเรี) ที่พบในแหล่งน้ำ มีความแปรผันอยู่ระหว่าง 100 ppb ในบึงหรือทะเลสาบ และถึงมากกว่า 200 ppm ในน้ำเสีย
ไนเตรทในแหล่งน้ำมักเกิดจากการเน่าเปื่อยของ ซากพืชซากสัตว์ อุจจาระ น้ำเน่า ปุ๋ย และน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและสารเคมีจากเกษตรกรรม เมื่อแบคทีเรียย่อยสลายอินทรีย์ไนโตรเจน จากน้ำเสีย อุจจาระ และสารประกอบโปรตีน เปลี่ยนไปเป็นแอมโมเนีย (NH3) จากนั้นเป็นไนไตรท์ (NO2) และสุดท้ายไปเป็นไนเตรท (NO3) ซึ่งสามารถละลายได้ดีในน้ำ จึงไหลซึมผ่านการกรองของชั้นดินลงสู่ใต้ดินและสู่แหล่งน้ำบาดาล แต่บางส่วนพืชใช้เป็นอาหาร เนื่องจากไนเตรทเป็นสารอาหารของพืชผัก และจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต ดังนั้นการเน่าเปื่อยของสารอินทรีย์ และปุ๋ย เป็นสาเหตุหลักของการปนเปื้อนไนเตรทในแหล่งน้ำ ซึ่งอาจเพิ่มความเข้มข้นของไนเตรทในน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินมากขึ้นจนถึงปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้
แหล่งน้ำตื้นใต้ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ่อน้ำตื้น อาจมีภาวะมลพิษจากไนเตรทเนื่องจากมีไนเตรทมากกว่าปกติ กล่าวคือ หากมีการขุด เจาะ บ่อน้ำในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ในที่อาจมีน้ำผิวดินไหลลงไปได้ หรืออยู่ใกล้บ่อน้ำที่มีเชื้อโรค ส้วมซึม หรือบ่อน้ำเสีย เนื่องจากของเสียอาจมีเชื้อโรคและอินทรีย์สารที่ไม่พึงปรารถนา ความเข้มข้นของไนเตรทในน้ำใต้ดิน มีความแปรผันสูงมากจากฤดูกาลหนึ่งสู่ฤดูกาลต่อไป เช่นในฤดูฝน น้ำฝนจะไหลซึมผ่านการกรองจากชั้นดิน ทำให้ปริมาณไนเตรทส่วนหนึ่งซึมสู่แหล่งน้ำบาดาล แต่ไนเตรทส่วนใหญ่ที่อยู่ในดินก็เป็นสารอาหารสำหรับพืชในการสังเคราะห์แสงเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต แต่เมื่อหลังฤดูเก็บเกี่ยว พื้นดินมีความแห้งแล้ง ไนเตรทอาจจะลงสู่บึงหรือแอ่งน้ำต่างๆ  ดังนั้นการพิจารณาใช้น้ำ ควรเก็บตัวอย่างส่งตรวจในช่วงเวลาที่เหมาะสม
การมีปริมาณไนเตรทในน้ำดื่มสูงเป็นสาเหตุให้เด็กทารกป่วยเกี่ยวกับเมธฮีโมโกลบินในเลือดได้ คือทำให้ทารกมีอาการตัวเขียว เนื่องจากไนเตรทไปทำให้ฮีโมโกลบินเป็นเมธฮีโมโกลบิน ซึ่งทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ โดยเฉพาะในทารกแรกเกิด ถึง 3 เดือน เนื่องจากในเม็ดเลือดแดงยังไม่มีสารที่สามารถเปลี่ยนเมธฮีโมโกลบินให้กลับไปเป็นฮีโมโกลบินอย่างเดิมได้  ส่วนในเม็ดเลือดแดงของผู้ใหญ่มีสารที่สามารถเปลี่ยนเมธฮีโมโกลบินให้กลับไปเป็นฮีโมโกลบินอย่างเดิม ดังนั้น เมธฮีโมโกลบินจะเกิดขึ้นมากในเด็ก และมีความเป็นพิษรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ที่ได้รับไนเตรทในอัตราส่วนต่อน้ำหนักร่างกายที่เท่ากัน มีการรายงานครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาถึงพิษเฉียบพลันของไนเตรทในน้ำดื่มต่อฝูงวัวเลี้ยง ต่อมามีรายงานจากหลายประเทศถึงพิษเฉียบพลันที่รุนแรงถึงกับทำให้เด็กทารกที่กินนมชงด้วยน้ำจากแหล่งธรรมชาติซึ่งมีปริมาณไนเตรทสูงเสียชีวิตได้  Robertson และ Riddell ได้รายงานถึงความเจ็บป่วยในทารกที่อาศัยอยู่ในชนบทของสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วย 10 ราย ได้รับนมชงโดยใช้น้ำที่มีไนเตรทสูงมากกว่า 75 มิลลิกรัมต่อลิตร ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดที่มีเมธฮีโมโกลบินเพิ่มจาก 5 เป็น 50 % ของฮีโมโกลบินทั้งหมด ในจำนวนผู้ป่วยเหล่านี้ มีเด็ก 2 คน ที่มีอาการป่วยรุนแรงมาก เนื่องจากใช้น้ำจากบ่อที่มีไนเตรทสูงถึง 1,200-1,300 มิลลิกรัมต่อลิตร เลือดของเขามีปริมาณเมธฮีโมโกลบินสูง 25 และ 44 % ตามลำดับ เด็กทั้งสองมีอาการตัวเขียวอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตก่อนที่แพทย์จะช่วยเหลือได้ทัน นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงระบาดวิทยาของพิษไนเตรทในเด็กมีอาการเจ็บป่วยคล้ายคลึงกันหลายแห่ง เช่นที่ รัฐมินนิโซต้า แคนซัส สหรัฐอเมริกา เชกโกสโลวาเกีย อิสราเอล เยอรมัน รัสเซีย ทุกรายงานล้วนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการเพิ่มขึ้นของปริมาณไนเตรทในน้ำดื่มกับเปอร์เซ็นต์ของเมธฮีโมโกลบินในผู้ป่วยเด็กอย่างชัดเจน ต่อมามีผู้ศึกษาความเป็นพิษของไนเตรทในสัตว์ทดลองชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด สรุปได้ว่า ไนเตรทเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพิษในคนและสัตว์ได้
ส่วนไนไตรท์เป็นสารที่เกิดขึ้นชั่วคราวในระหว่างการเปลี่ยนรูปของไนโตรเจน จากแอมโมเนียไปเป็นไนเตรท และ ในกระบวนการทางเคมีของระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบการจ่ายน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติ ความเป็นพิษของไนไตรท์มีขึ้นได้จากการใช้โซเดียมไนไตรท์ (NaNO2) เป็นสารกันบูดในอาหาร เมื่อไนไตรท์ไอออนไปถึงกระเพาะอาหาร ความเข้มข้นสูงของกรดโฮโดรคลอริก (HCl) จะเปลี่ยนไนไตรท์ไปเป็นกรดไนตรัส (HNO2) ซึ่งสามารถเกิดปฏิกิริยากับ secondary amines ที่มีอยู่ในระบบย่อยอาหาร ไปเป็น N-nitrosamines ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogens) ได้ ดังนั้นเราควรหลีกเลี่ยงการถนอมอาหารโดยการใช้สารเคมีดังกล่าว
แอมโมเนียนั้น โดยทั่วไปมีปริมาณน้อยในน้ำใต้ดิน เนื่องจากดินจะดูดซับไว้ และซึมผ่านชั้นดินได้ยาก แอมโมเนียส่วนใหญ่เกิดจากการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ไนโตรเจนและจากการ hydrolysis ของยูเรีย ระหว่างการเกิด chlorination แอมโมเนียรวมตัวกับคลอรีน ไปเป็น คลอรามีน เกิดเป็นคลอรีนตกค้าง โดยปกติพบแอมโมเนียในน้ำผิวดินและใต้ดิน
ดังนั้นเพื่อการเฝ้าระวังคุณภาพของสิ่งแวดล้อม (คุณภาพน้ำ) และเพื่อปลอดภัยในการบริโภคน้ำดื่ม จึงมีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการหาปริมาณอินทรีย์ไนโตรเจน ในรูปต่างๆ ดังนี้ ที เค เอ็น (Total Kjeldahl Nitrogen, TKN), แอมโมเนียไนโตรเจน (NH3-N), ไนเตรท (NO3) หรือ ไนเตรท-ไนโตรเจน (NO3-N), ไนไตรท์ (NO2) หรือไนไตรท์-ไนโตรเจน (NO2-N) โดยมาตรฐานคุณภาพน้ำของบ้านเรากำหนดให้น้ำบริโภคมีปริมาณไนเตรท (NO3) ไม่เกิน 45 มิลลิกรัม/ลิตร น้ำดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท มีไนเตรท ในรูปของ ไนเตรท ไนโตรเจน (NO3-N) ไม่เกิน 4.0 มิลลิกรัม/ลิตร และน้ำบาดาลที่ใช้บริโภคมีไนเตรท (NO3) ไม่เกิน 45 มิลลิกรัม/ลิตร  นอกจากนี้มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน กำหนดให้มีไนเตรท ในรูปของ ไนเตรท ไนโตรเจน (NO3-N) ไม่เกิน 5.0 มิลลิกรัม/ลิตร และแอมโมเนีย ในรูปของแอมโมเนีย ไนโตรเจน (NH3-N) ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร และมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้ง กำหนดให้ น้ำทิ้งจากโรงงานอุสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม มีไนโตรเจนในรูปของ TKN ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/ลิตร หรือแล้วแต่ประเภทของแหล่งรองรับน้ำทิ้ง แต่ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาดให้มีไนโตรเจนในรูป TKN ไม่เกิน 35 และ 40 มิลลิกรัม/ลิตร ค่ามาตรฐานน้ำทิ้งจากที่ดินจัดสรร มีไนโตรเจนในรูป TKN ไม่เกิน 35 มิลลิกรัม/ลิตร และมาตรฐานเพื่อควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกร มีไนโตรเจนในรูป TKN ไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/ลิตร หรือ 200 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดมาตรฐาน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มกราคม 2013, 12:13:10
จอบเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับชาวนาไม่ว่ายุคสมัยไหน ถ้าเราไปซื้อจอบมักจะได้เป็นหัวจอบและด้ามจอบทางร้านจะไม่เข้าหัวให้ครับเราต้องมาเข้าหัวเองมาดูวิธีเข้าหัวจอบครับ

เครื่องมือและอุปกรณ์ในการเข้าด้ามจอบถ้าจะให้ดีต้องมียางในรถมอเตอร์ไซด์ด้วยด้วย

-เริ่มด้วยการวัดขนาดความหนาของตัวจอบ แล้วทำการเลื่อยทำแนวแล้วถากให้ได้ขนาดเพื่อสอดเข้าตัวจอบ
-เสร็จแล้วก็ใส่ดูครับ ถากให้เล็กกว่ารูจอบเล็กน้อย เผื่อเนื้อที่ในการเสียบลิ่มและรองยางในรถจักรยานยนต์ด้วย
เสร็จแล้วก็ทำลิ่มเพื่อเสียบเข้าไปให้ด้ามจอบแน่น ก่อนใส่ลิ่มก็รองด้ามจอบด้วยยางในรถก่อน
ลิ่มจะต้องยาวหน่อยครับหากสั้นเกินไปจะทำให้หัวจอบหลุดบ่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มกราคม 2013, 22:03:00
สำหรับข้อดีของนาโยนคือข้าวไม่ช้ำเหมือนนาดำที่มีการถอนกล้าจากแปลงทำให้ข้าวมีโอกาสช้ำและฟื้นตัวช้ากว่า ซึ่งอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นจะมีรถดำนาซึ่งใช้วิธีการเพาะกล้าในถาดการใช้รถดำนาข้าวก็มีโอกาสช้ำเช่นกัน แต่ก็มีการคิดค้นรถดำนาอีกแบบที่เรียกว่ารถดำนาจากถาดหลุมซึ่งมีข้อดีคือข้าวช้ำน้อยกว่า หากนาโยนในไทยข้าวขึ้นไม่เป็นระเบียบการใช้รถดำนาแบบนี้ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มกราคม 2013, 22:12:24
อย่างสินค้าของ Kubota ที่เราไม่คุ้นหน้าตาในไทยก็มีเยอะ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มกราคม 2013, 22:20:14
รถดำนามีให้เลือกหลายรุ่น ราคาไม่แพงหากเทียบรายได้ของชาวญี่ปุ่น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มกราคม 2013, 22:25:08
รถแทรกเตอร์ครับ ค่อนข้างทันสมัยทีเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มกราคม 2013, 22:37:58
อย่างรถแทรกเตอร์รุ่นขนาด 34 แรงม้ายอดฮิตในบ้านเราหากในญี่ปุ่นแล้วสามารถนำมาเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงได้หลากหลายเลยทีเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 11:47:14
แวะมาผ่อคับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 15:19:51
ลุงฟาง ทำนาโดยไม่ต้องทำนา

ในอัลบั้ม “หากหัวใจยังรักควาย” ของวงคาราบาว เพลงชุดท้ายในแผ่นที่ 2 มีชื่อว่า “ลุงฟาง”
เพลงนี้เกิดมาจากการเรียบเรียงเรื่องราวของชายชาวญี่ปุ่นที่ชื่อมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ชายผู้ที่กลับคืนสู่วิธีธรรมชาติด้วยการทำนาโดยไม่ต้องทำนา เก็บเวลาไว้คุยกับตะวัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงนี้ทำให้หลายคนรู้จักมาซาโนบุ ฟูกูโอกะไม่ต่างจากหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” (ในชื่อภาษาไทย) ที่เขาเขียนแต่ปัจจุบันศาสตร์ที่ว่าด้วยการ “ทำนา โดยไม่ต้องทำนา” นี้ ดูจะกลายเป็นวิถีที่ล้าหลังและโบราณไม่ต่างจากอายุของลุงฟางในวันที่เทคโนโลยียกระดับขีดความสามารถไปข้างหน้าเพื่อสนองต่อความต้องการบริโภคจำนวนมากของคนบางกลุ่ม

มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2454 ในหมู่บ้านเล็กๆ บนเกาะซิโกกุทางตอนใต้ของญี่ปุ่น และจบการศึกษาทางจุลชีววิทยาสาขาโรคพืชวิทยา เคยทำงานเป็นนักวิจัยทางการเกษตรของกรมศุลกากรเมืองโยโกฮาม่าในการตรวจสอบพันธุ์พืชที่จะนำเข้าและส่งออก เมื่อเขาอายุได้ 25 ปี ได้ตัดสินใจลาออกจากงานและกลับไปทำเกษตรกรรมที่บ้านในชนบท เขาใช้เวลากว่า 50 ปี ไปกับการพัฒนาวิธีการทำการเกษตรธรรมชาติ

 ฟูกูโอกะเป็นผู้นำงานจากห้องทดลองออกมาสู่ไร่นา เขาอธิบายว่า ชาวนาเชื่อว่าทางเดียวที่จะให้อากาศเข้าไปปรับสภาพเนื้อดินได้ดี คือ ต้องใช้จอบ พลั่ว ไถ หรือใช้แทรคเตอร์พรวนดิน แต่ยิ่งไถพรวนมาก ดินก็จะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากขึ้นทำให้อนุภาคของดินแตกกระจายออกจากกันทำให้อนุภาคของดินเหล่านี้เข้าไปอุดอยู่ในช่องว่างในดิน ดินก็จะแข็งขึ้นเกิดชั้นดินดาน ถ้าปล่อยให้วัชพืชทำหน้าที่นี้แทน รากของวัชพืชจะซอนไซลงไปได้ลึกได้ถึง 30-40 ซม. ซึ่งจะช่วยทำให้ทั้งอากาศและน้ำผ่านเข้าไปในเนื้อดินได้ เมื่อรากเหล่านี้ตายก็เป็นอาหารของจุลินทรีย์ทำให้แพร่ขยายจำนวนมากขึ้น ไส้เดือนก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นและตัวตุ่นก็จะมีตามมา ซึ่งจะช่วยขุดดิน เป็นการช่วยพรวนดินตามธรรมชาติ ดินจะร่วนซุย และสมบูรณ์ขึ้นเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องให้มนุษย์ช่วย เพียงแต่ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง



หลักปฏิบัติ 4 ข้อ ใจความสำคัญอันว่าด้วย

(1) ไม่ไถพรวนดิน
(2) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก
(3) ไม่จำกัดวัชพืช ไม่ว่าด้วยการถากถางหรือใช้ยากำจัดวัชพืช
(4) ไม่ใช้สารเคมี ดูจะเป็นสิ่งไม่ทันกาล

เพราะถึงจะมีข้อดี

1.) สมดุลทางธรรมชาติไม่ถูกทำลาย
2.) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อคนและสัตว์
3.) สามารถปรับปรุงการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมให้ดีขึ้น
4.) ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพปราศจากสารพิษ 5.) ลดต้นทุนการผลิต และใช้แรงงานน้อย)

แต่ก็มีสิ่งที่เป็นจุดอ่อนหรือข้อเสียเช่นกัน
1.) ต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ
2.) เห็นผลช้า ไม่รวดเร็วทันใจ
3.) เกษตรกรต้องมีความพยายามและมีความอดทน
4.) ผลิตผลไม่สวยงามเมื่อเทียบกับการเกษตรสมัยใหม่
5.) ไม่สามารถผลิตเป็นการค้าได้ทีละมากๆ
ซึ่งข้อเสียที่ว่า ส่งผลบรรษัทให้ข้ามชาติ และในชาติหลายรายผลิตสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นการเติบโตของพืชผลให้แก่เกษตรกรออกขายสู่ตลอดอย่างทันท่วงที

_AhLaUmZFaM


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 15:35:07

   อัพเดทเรื่อยๆนะครับติดตามอยู่ครับ :D :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 19:56:16
คนไทยก็เป็นนักประดิษฐ์ ดัดแปลงเก่งเหมือนกัน รถทางการเกษตรหลายๆ แบบก็ผลิตในไทยแต่อาศัยเครื่องยนต์ หรือช่วงล่างจากต่างประเทศเท่านั้น อย่างรถไถนา รถตีดิน รถเกี่ยวข้าว เป็นต้น

rQ_lubf3EW8

IrI-MxORxh4

qgNum__gols


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 21:39:48
ทำนาตามแนวชัยพร

0LnunIz4txw


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 21:43:05
การผลิตไตรโคเดอร์มาชนิดสด (การนึ่ง)

79G-j0_Y7ac


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 21:46:05
การผลิตไตรโคเดอร์มาชนิดสด (การหุง)

CzG08Q74Lwo

_8yCK1gWqjk


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 22:24:41
ซิลิคอน (อังกฤษ: Silicon)

 เป็นธาตุเคมีในตารางธาตุ ที่มีสัญลักษณ์ Si และเลขอะตอม 14 เป็นธาตุกึ่งโลหะแบบเตตระวาเลนต์ (คือมีวาเลนซ์เป็น 4) ซิลิคอนทำปฏิกิริยาน้อยกว่าธาตุที่คล้ายกันคือคาร์บอน เป็นธาตุที่มีมากที่สุดในเปลือกโลกเป็นอันดับ 2 มีปริมาตร 25.7% โดยน้ำหนัก ปรากฏในดินเหนียว เฟลด์สปาร์ (feldspar) หินแกรนิต ควอตซ์ และทราย ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของซิลิคอน ไดออกไซด์ (หรือซิลิกา) และซิลิเกต (สารประกอบที่ประกอบจากซิลิคอน ออกซิเจน และ โลหะ) เราจึงพบซิลิกอนในพืชเกือบทุกชนิด  รวมทั้งในดินเองก็มีซิลิกอน เป็นองค์ประกอบหลัก และนี้คือความสำคัญของซิลิกอนในวัฎจักรของข้าว

การนำซิลิกอนไปใช้ของพืช จะต้องถูกดูดซึมทางรากและใบ โดยซิลิกอนจะละลายอยู่ในน้ำ และถูกดูดซึมไปกับน้ำในระบบการหาอาหารของพืช  แม้ว่าซิลิกอนจะพบมากในดิน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นซิลิกอนในรูปแบบที่ไม่ละลายน้ำ รูปแบของซิลิกอนที่ไม่ละลายน้ำ และพบเห็นกันบ่อยๆ ก็คือ ทราย กระจก แผ่นเซลแสงอาทิตย์ แร่หินบางชนิด การเปลี่ยนซิลิกอนในรูปแบบที่ไม่ละลายน้ำ ให้สามารถละลายน้ำได้  โดยกลไกของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสลายตัว หรือ การย่อยของจุลินทรีย์จะใช้เวลานานมาก ดังนั้นการปลูกพืชซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้ซิลิกอนขาดแคลนได้

ข้าวเป็นพืชที่ต้องการซิลิกอนจำนวนมาก
                ในแกลบมีปริมาณซิลิกอนสะสมอยู่มาก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ข้าวเป็นพืชที่ต้องการซิลิกอนปริมาณมาก เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องปริมาณของซิลิกอนในข้าว ถ้าเกษตรกรเคยสังเกต การเผาแกลบจะพบว่ามีขี้เถ้าเหลืออยู่จำนวนมาก เมื่อเทียบกับ เถ้าของการเผาถ่าน หรือกิ่งไม้ เถ้าที่เหลืออยู่นี้แหละคือซิลิกอน
ถ้าผลผลิตต่อไร่ประมาณ 600 กิโลกรัมต่อไร่ จะพบว่าทุกครั้งที่มีการเก็บเกี่ยว ซิลิกอน ถูกขนย้ายออกจากพื้นนา มากกว่า 24 กิโลกรัม/ครั้ง ถ้านับตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก ปริมาณซิลิกอนที่ถูกขนย้ายออกมา จะมีปริมาณมหาศาล   แม้ว่าซิลิกอนจะไม่ใช่ธาตุอาหารหลัก แต่ก็เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญในสร้างโครงสร้างและลำเลียงอาหารของพืช การขาดแคลนซิลิกอนจะทำให้ ข้าวอ่อนแอ ง่ายต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง และการให้ปริมาณซิลิกอนที่มากพอ จะทำให้ข้าวแข็งแรงขึ้น สอดคล้องกับปริมาณโรคและแมลง ที่มีการระบาดรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน  และการให้ซิลิกอนในปริมาณที่เหมาะสมจะกระตุ้นการสังเคราะห์แสงของข้าว ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

ประโยชน์ของซิลิกอน
                ได้มีการทำการวิจัยแล้ว จากหลายสถาบัน ว่าซิลิกอน มีประโยชน์ในการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งจะกล่าวโดยกว้างๆ สำหรับพืชทั่วๆไป และจะได้ชี้ให้เห็นคุณประโยชน์เมื่อใช้ในนาข้าวในบทต่อไป

                1.ซิลิกอน ช่วยปลดปล่อย ฟอสฟอรัส ในดินให้พืชสามารถใช้งานได้ ความจริงฟอสฟอรัสในดินมีปริมาณมาก แต่ภาวะดินเปรี้ยว และการใช้สารเคมีเชิงซ้อนปริมาณมาก ทำให้ฟอสฟอรัสในดินส่วนใหญ่ อยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  การให้ซิลิกอนกับพืช จึงทำให้ใช้ประโยชน์จากฟอสฟอรัสในดินอย่างคุ้มค่า  ฟอสฟอรัส เป็นธาตุอาหารหลัก เกี่ยวข้องกับระบบรากและยอดอ่อน

                2.ซิลิกอนที่พืชได้รับ จะถูกเปลี่ยนรูปเป็นของแข็งสะสมอยู่ตามผนังเซล ทำให้โครงสร้างต่างๆของพืชแข็งแรง แมลงเจาะน้ำเลี้ยงได้ยากลำบาก โรคต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อรา เข้าทำลายพืชได้ยากขึ้น

                3.โครงสร้างที่แข็งแรง ทำให้ใบตั้งและรับแสงได้ดีขึ้น ใบกว้างขึ้น และแสงผ่านใบได้น้อยลง อัตราการสังเคราะห์แสงของพืชจะเพิ่มขึ้น

                4.ซิลิกอน ช่วยดูดซับพิษจากโลหะ เช่นอลูมิเนียม สนิมเหล็ก โซเดียม

                ดังที่ได้ทราบข้างต้นแล้วว่า ซิลิกอนมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะข้าว ในเกษตรกรรมของประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ญี่ปุ่น มีการใช้ซิลิกอน เพื่อเพิ่มผลผลิตในนาข้าวกันอย่างกว้างขวาง  แต่ซิลิกอนเหล่านั้น ส่วนใหญ่ได้มาจากส่วนเหลือในอุตสาหกรรม  ซึ่งการควบคุมเรื่องสารตกค้าง หรือสิ่งเจือปนเป็นไปได้ยากลำบาก ซิลิกอนจากพืชจึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า เนื่องจากกลไกการหาอาหารของพืชได้คัดกรองมาระดับหนึ่งแล้ว และซิลิกอนในพืชเป็นรูปแบบ อมาฟัส  แต่ซิลิกอนในสินแร่ส่วนใหญ่เป็น รูปแบบ คริสตัลายน์ ซึ่งพืชไม่สามารถ นำไปใช้ประโยชน์ได้ ซิลิกอนที่ได้จากพืชจึง เข้าถึงพืชระดับเซลได้ทันที และปราศจากสารตกค้าง  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าแกลบ มีปริมาณซิลิกอนสะสมอยู่มาก จึงเหมาะที่จะนำมาสกัดเป็นสารละลายซิลิกอน การนำแกลบกลับเข้าพื้นที่นา ก็เป็นการเพิ่มสารอาหาร และสารซิลิกอน ที่ดี อย่างหนึ่ง แต่กลไกธรรมชาติ การสลายซิลิกอนให้อยู่ในรูปที่พืชใช้งานได้ ต้องใช้การย่อยสลายของจุลินทรีย์ ซึ่งใช้เวลานานมาก อาจเป็นปี ถ้าสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม

ข้าวเป็นพืชที่ต้องการปริมาณซิลิกอนมาก (มากกว่า 25 กิโลกรัม/ไร่/รอบเพาะปลูก) โดยกลไกของธรรมชาติ ซิลิกอนจะกลับสู่วัฎจักรของข้าวโดยการย่อยสลายของ จุลินทรีย์ ทั้งนี้ต้องมีการนำแกลบกลับเข้าใปยังพื้นนาด้วย

"ถ่านแกลบ" วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่วันนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ถ่านแกลบธรรมดาๆ แต่กลายเป็นวัสดุปลูกชั้นเยี่ยม แถมยังช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.K.Kyuma แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มาแนะนำและสาธิตกระบวนการผลิต พร้อมทั้งวิธีการใช้ให้กลุ่มเกษตรกรไทยด้วยตัวเอง เป็นวิธีการง่ายๆ ที่ชาวนาและเกษตรกรทุกคนทำได้ ส่วนจะทำอย่างไรจึงจะแปรสภาพแกลบดิบเป็นแกลบเผาที่มีคุณค่าได้นั้นติดตามได้ต่อไป
 
ดินแหล่งกักคาร์บอนชั้นเยี่ยม
        ความ สำคัญของดินที่เป็นแหล่งสะสมคาร์บอน ได้มีผู้คาดคะเนว่าในดินลึก 1 เมตร มีคาร์บอนในรูปของอินทรียวัตถุ ประมาณ 1.5 ล้านล้านตัน ซึ่งเท่ากับ 2 เท่า ของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ หรือ 3 เท่าขององค์ประกอบของพืชและมากกว่าปริมาณที่ละลายในผิวน้ำมหาสมุทร ถ้าคำนวณให้ลึกถึงดินชั้นล่างและรวมถึงสารประกอบคาร์บอเนตจะมีมากกว่า
3 ล้านล้านตัน เนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรในศตวรรษที่ 19 ทำให้อินทรียวัตถุในดินชั้นไถพรวนลดลงอย่างรวดเร็วประมาณ 20-40% จากการเพาะปลูก การสูญเสียอินทรียวัตถุในดินช่วงปี 1860-1960  ได้คาดกันว่ามีประมาณ 36,000 ล้านตัน ในรูปคาร์บอน อัตราการสูญเสียคาร์บอนในปัจจุบันประมาณ 800 ล้านตันต่อปี เนื่องจากการพัฒนาการเกษตรในเขตร้อนชื้น

ถ่านแกลบช่วยปรับปรุงดินและเพิ่มคาร์บอนในดิน
        ถ่านแกลบ เป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาถูก น้ำหนักเบา ขนส่งง่าย ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง เมื่อผสมกับดิน ทำให้ดินเบา
ปรับปรุงสภาพทางกายภาพดิน เช่น การระบายอากาศ การซาบซึมน้ำ การอุ้มน้ำ ทำให้ดินเหนียวเมื่อแห้งไม่แตกระแหง
ลดความเป็นกรดของดิน เพิ่มอุณหภูมิดิน กระตุ้นการทำงานของจุลินทรีย์ดิน ไม่มีเชื้อโรค นอกจากนั้น ในการผสมถ่านแกลบลงไปในดิน ท่านยังได้มีบทบาทในการช่วยลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากถ่านแกลบเป็นคาร์บอน  มีความทนทานต่อการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์และสูญหายไปจากดินได้ยาก ดังนั้นจึงสะสมอยู่ในดิน เป็นการเพิ่มคาร์บอนให้แก่ดินแทนที่จะเผากลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่ บรรยากาศอันเป็นตัวการหนึ่งของภาวะโลกร้อน
 
- การเตรียมถ่านแกลบ : ใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร เสียบท่อสังกะสี ยาวประมาณ 1.5-2.0 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด
3 นิ้ว ทำเป็นปล่องไฟใกล้ๆ กับส่วนบนของถัง และเจาะรูด้านล่างของถังเพื่อให้อากาศเข้า-ออก ขนาดช่องว่างเท่ากับ 3 นิ้ว เช่นกัน มีข้อต่อสามทางสำหรับเสียบปล่องไฟ เสียบถังน้ำมันและบีบท่อให้เล็กลงข้างล่าง เพื่อให้น้ำส้มควันแกลบไหลลงภาชนะที่แขวนไว้ที่ก้นถังมีแผ่นโลหะที่เป็นรู วางไว้ จุดไฟทางตอนบนของกองแกลบ ปิดถัง อากาศเข้าได้เฉพาะส่วนล่างทางรูด้านล่างของถัง สีของควันไฟจะเปลี่ยนจากเทาขาวเป็นสีฟ้า แสดงว่าการเผาแกลบเป็นถ่านเสร็จแล้ว ปิดรูด้านล่างของถังเพื่อไม่ให้มีการเผาไหม้ต่อไป ทิ้งถังไว้ค้างคืน เพื่อทำให้เย็นก่อนจะนำเอาถ่านแกลบออกมาใช้
 
- สมบัติทางกายภาพ : เมื่อเริ่มต้นด้วยแกลบ 100 ลิตร หรือ 13 กก. ปริมาณจะลดลงเหลือ 70% หรือ 70 ลิตร น้ำหนักจะลดลงเหลือประมาณ 50% หรือประมาณ 7 กก. ความหนาแน่น 0.1 กรัม/ซีซี ซึ่งเบากว่าดิน 10 เท่า โครงสร้างของถ่านแกลบจะมีลักษณะพรุนหรือมีช่องว่าง 80% และอุ้มน้ำได้ 40%
 
- สมบัติทางเคมี : ถ่านแกลบมีแร่ธาตุ 20% เมื่อเผาเป็นถ่านส่วนใหญ่ของสารประกอบอินทรีย์ในแกลบจะเปลี่ยนเป็นคาร์บอน และให้น้ำส้มควันแกลบ (กรดอะเซติก เมทธิลแอลกอฮอล์ อะซิโตน น้ำมันดิน ฯลฯ) ดังนั้นในการเผาแกลบ 100 ลิตร หรือ13 กก. เราจะได้ถ่านแกลบ 7 กก. มีแร่ธาตุ 2.5 กก. และคาร์บอน 4.5 กก. ในบรรดาแร่ธาตุที่ถูกเผานี้มีซิลิก้า 95%ส่วนใหญ่อยู่ใรูปที่ละลายน้ำและเป็นประโยชน์ต่อพืช ดังนั้นถ่านแกลบจึงเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพที่ให้ซิลิก้าแก่พวกธัญญพืช ต่างๆ โดยเฉพาะข้าวและอ้อย มีโพแทสเซียมและฟอสเฟต 2.25% และ 0.35% ซึ่งละลายน้ำได้ เนื่องจากมีโพแทสเซียมสูง ทำให้ถ่ายแกลบมีสมบัติเป็นด่าง pH มักสูงกว่า 8
- การผสมถ่านแกลบกับดิน : การที่วัสดุนี้มีรูพรุน น้ำหนักเบา และมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ ราคาถูก ทำให้ถ่านแกลบเป็นสารปรับปรุงดินที่ดี โดยเฉพาะใช้ผสมกับดินเหนียวเพื่อทำให้ดินเหนียวมีความโปร่งร่วนซุยมากขึ้น ไถพรวนง่าย อัตราส่วนของการผสมควรเป็น 20% โดยปริมาตรเหมาะสมที่สุด

- การใช้ถ่ายแกลบเป็นวัสดุปลูกกล้าพืช สามารถใช้ถ่านแกลบอย่างเดียวได้โดยใช้กับแตงกวา แคนตาลูป แตงโม มะเขือเทศ มะเขือ กะหล่ำปลี ฯลฯ รวมทั้งไม้ดอก และยาสูบ ถ่านแกลบเมื่อนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกกล้าพืชมีคุณภาพสม่ำเสมอ อุ้มน้ำได้ดี มีความโปร่ง ไม่มีปัญหาในเรื่องน้ำขังและละลายฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมออกมาให้พืชใช้ ทำให้ได้กล้าพืชที่แข็งแรง มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก ในกรณีที่ใช้ถ่านแกลบอย่างเดียว อาจต้องล้างน้ำเพื่อให้ความเป็นกรดเป็นด่างลดลง

         ชาวสวนในอินโดนีเซีย นิยมใช้ถ่านแกลบเป็นวัสดุปลูกไม้ประดับกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะสมนั่นคือ อุ้มน้ำ ระบายอากาศ น้ำหนักเบา รวมทั้งหาได้ง่าย ขนย้ายได้สะดวก

         ในประเทศญี่ปุ่นได้ มีการใช้ถ่านจากไม้และแกลบในการปรับปรุงดินหรือให้ธาตุอาหารเพื่อการเกษตรมา เป็นเวลาหลายร้อยปี ปัจจุบันควรมีการทบทวนกิจกรรมนี้ในแง่ของสิ่งแวดล้อม การเพิ่มคาร์บอนในดินเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการลดภาวะโลกร้อน
         การที่ส่งเสริมให้ เกษตรกรเตรียมถ่านแกลบไว้ใช้เอง เนื่องจากแกลบมีปริมาณซิลิก้าสูง การปลูกข้าวได้น้ำหนักเมล็ด 1 ตัน พืชจะดูดไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และซิลิก้า ประมาณ 20, 3.9, 22.7 และ 166 กก. ตามลำดับ ปริมาณของซิลิก้าในแกลบมีถึง 32 กก. ปริมาณโพแทสเซียมส่วนใหญ่อยู่ในฟาง (ตารางที่ 1) ดังนั้นการไถกลบฟางข้าวลงไปในนาแทนการเผาเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องทำในภาวะ ปุ๋ยแพงปัจุจุบัน ซึ่งจะช่วยทำให้ลดการใช้ปุ๋ยโพแทสเซียม  ซิลิกอนเป็นธาตุอาหารที่จำ เป็นสำหรับธัญพืชโดยเฉพาะข้าวและอ้อย ผู้เขียนอยากเห็นเกษตรกรมีโรงสีข้าวชุมชน สีข้าวกินเองและมีแกลบสำหรับทำถ่านใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินใช้ในการปลูกพืช ผัก ไม้ประดับหรือต้นกล้า ในการเตรียมถ่านแกลบไว้ใช้เอง นอกจากได้สารปรับปรุงดินชั้นเยี่ยมแล้ว ยังได้น้ำส้มควันแกลบไว้ใช้ไล่แมลง และช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย เนื่องจากช่วยเพิ่มคาร์บอนลงไปในดิน
         นอกจากนี้ยังจะทำ ให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร เป็นการสร้างเครือข่าย เกิดการพึ่งตนเอง อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการทำการเกษตรต่อไป สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลการเผาถ่านแกลบและการทำน้ำส้มควันแกลบ ท่านสามารถติดตามได้ในตอนต่อไป

         ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. K.Kyuma แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ได้ให้ข้อมูลและทดลองทำต้นแบบการเผาแกลบให้เกษตรกรไทย

 
ศ.ดร.ทัศนีย์  อัตตะนันทน์
ที่ปรึกษาเครือข่ายกองทุนพี่ช่วยน้องและเพื่อน




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 22:44:33
โดโลไมท์ เป็นสารปรับสภาพดิน และปรับโครงสร้างดิน ลดความเป็นกรด, แก้ดินเปรี้ยว, รักษาอาหารดินเสีย ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้พืชไม่ดูดปุ๋ย ใส่ปุ๋ยไปมากเท่าไหร่ พืชก็ไม่ดูดกิน อันเนื่องมาจากดินเสีย เพราะใช้เคมีกับดินมาเป็นเวลานาน

ส่วนประกอบ
แคลเซียมออกไซต์ 35%
แมกนีเซียมออก ไซต์ 25%
ซิลิกอนไดออกไซต์ 10%

คุณสมบัติ
- แก้ปัญหาการขาดธาตุอาหาร แคลเซียม แมกนีเซียม และซิลิกอน ในดิน
- แก้ปัญหาพืชไม่กินปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเท่าไหร่พืชก็ไม่โต ช่วยให้พืชดูดกินปุ๋ยได้ดีขึ้น
- เพิ่มค่าการดูดซับ และความสามารถการแลกเปลี่ยน CEC ของดิน
- เพิ่มการสังเคราะห์แสง การสร้างสารเขียว และการแบ่งเซลล์ของพืช
- เพิ่มความสามารถการทำงานของจุลินทรีย์ ปัองกันโรค และแมลงเข้าทำลาย

ประโยชน์ของแร่โดโลไมท์ต่อการเกษตร
1. ให้ธาตุอาหารหลักแก่พืช เพราะแร่โดโลไมท์ ที่พบนั้นมีส่วนประกอบของธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
2. ให้ธาตุอาหารรองแก่พืช นอกจากจะมีธาตุอาหารหลักแล้ว จากการส่งตรวจวิเคราะห์ยังพบธาตุอาหารรอง ได้แก่ ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน รวมทั้งธาตุอาหารเสริมที่จำเป็นแก่พืช อาทิ เหล็ก แมงกานิส ทองแดง และสังกะสีอีกด้วย
3. ปรับปรุงบำรุงดินให้ร่วนซุย เนื่องจากโดโลไมท์เป็นแร่ที่มีลักษณะพรุน ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก   ทำให้จุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ พืชผลก็จะได้คุณภาพที่ดี
4. ปลดปล่อยธาตุอาหารในดิน ดินที่ถูกตรึงธาตุอาหารไว้ เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นเวลานานและทำให้ปุ๋ยเคมีสะสมในดินเป็นจำนวนมาก จะทำให้รากพืชสามารถดูด และนำพาปุ๋ยที่สะสมในดินไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด
5. แก้ปัญหาสภาพดิน สภาพดินเปรี้ยว ดินพรุน ดินดาน ดินเสื่อมโทรม และดินที่ใช้ทำการเกษตรมาเป็นเวลานานๆ สามารถปรับสภาพดินให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการทำการเกษตร ส่งให้ผลผลิตที่ได้รับมีคุณภาพสูงสุด
6. ป้องกันและแก้ปัญหาพืชโตช้า แคระแกร็น ใบเหลือง ใบซีด ใบหงิกงอ ดอกผลร่วง ผลมีขนาดเล็ก รูปทรงผิดส่วน ผลผลิตตกต่ำ ใช้โดโลไมท์ ซึ่งเป็นแร่ธรรมชาติปรับสภาพดิน จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเห็นผลได้ดี
7. พืชสามารถนำธาตุอาหารต่างๆ รวมถึงอินทรียวัตถุที่มีในโดโลไมท์ไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เพราะมีการย่อยสลายที่สมบูรณ์

การปรับสภาพดินด้วย โดโลไมท์
โดโลไมท์ช่วยในการปลูกพืช ปรับสภาพน้ำ ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ช่วยในการเจริญเติบโตใช้ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง กว่า 50% ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรส่วนประกอบสำคัญ : แคลเซียม ไม่ต่ำกว่า 43 %แมกนีเซียม ไม่ต่ำกว่า 22%นอกจากนี้ยังประกอบด้วยแร่ธาตุ ซิลิกอน, โซเดียม,โปรแทสเซียม, เหล็ก, แมงกานีส, ทาลิเนียม, ฟอสฟอรัสฯลฯทำมาจากหินฟอสเฟตจากธรรมชาติ ที่มีชื่อทางการว่าโดโลไมท์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับทางหน่วยงานในภาครัฐมีการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้ เพราะนอกจากจะเป็นการปรับปรุงบำรุงดินน้ำโดยวิธีธรรมชาติแล้ว ทำให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากขึ้น คุณสมบัติในดินช่วยเสริมสร้างส่วนที่เป็นดอก การผสมเกสร และการติดเมล็ด เร่งสร้างความเจริญเติบโต และให้ผลผลิตของพืช เพิ่มภูมิต้านทาน เสริมต้นพืชให้แข็งแรง ทนต่อสภาพแวดล้อม และโรคแมลงต่างๆ- ควบคุมค่า pH  ในการใช้ปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต หรือ โดโลไมท์ นั้นให้พิจารณาถึงสภาพความเป็นกรดเห็นด่างของดินด้วยกล่าวคือ ในสภาพดินที่มีแนวโน้มการเป็นกรดเห็นด่างสูงให้ใช้ปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟตและ ในสภาพดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างต่ำให้ใช้ปุ๋ยโดโลไมท์ ในการใช้ปุ๋ยโดโลไมท์นั้นควรให้ก่อนหรือหลังใส่ปุ๋ยเคมี ประมาณ 1 เดือน การปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดินโดยทั่วไปสภาพดินมีการเปลี่ยน แปลง เนื่องจากการใส่ปุ๋ยเคมีติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานหลายปี   เกิดการเปลี่ยน แปลงทางโครงสร้างของดิน เช่นดินจับแข็งกันเป็นก้อนซึ่งเกิดจากการตรึงธาตุอาหารบางชนิดที่จำเป็นต่อ พืชการไถพรวนดินที่ผิดวิธีที่ก่อให้เกิดการชะล้างของผิวดินการปลูกพืชชนิด เดียวกันเป็นเวลาติดต่อกันหลายปีทำให้เนื้อดินเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธี การปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดินกระทำได้โดยใส่ปูนขาว ปูนมาร์ลหรือแร่โดโลไมท์ อัตรา200-300 กิโลกรัม / ไร่  หลังจากหว่านหรือใส่ปูนแล้วจะต้องรดน้ำตามด้วยค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ค่าความเป็นกรดด่างของดิน หรือ พีเอช (pH) จะบอกค่าตัวเลขตั้งแต่ 0-14 หากดินมีค่าพีเอชน้อยกว่า7 ดินนั้นจะเป็นดินกรด  ยิ่งน้อยกว่า 7 มากก็จะเป็นกรดมาก ถ้าดินมีพีเอ็ชมากกว่า 7จะเป็นดินด่างแต่ปกติแล้วพีเอชของดินโดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 5-8 หากดินมีพีเอชเท่ากับ 7 แสดงว่าเป็นกลางความเป็นกรดเป็นด่างของดินจะเป็นตัวควบคุมการละลายหรือการ ตรึงธาตุอาหารในดินออกมาอยู่ในรูปสารละลายในดินเพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ ได้ ช่วงพีเอส 6.2-6.8เป็นช่วงที่ธาตุอาหารทั้งหมดที่จำเป็นแก่พืชจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ มากที่สุด พีเอชสูง กว่า 6.8          อาจทำให้พืชแสดงอาการขาดธาตุ ฟอสฟอรัสและธาตุเสริม เช่น เหล็ก (Fe), แมงกานีส (Mn) , สังกะสี (Zn),ทองแดง (Cu) , และโบรอน (Bo) หากพีเอชต่ำกว่า 5.3 อาจทำให้พืชแสดงอาการขาดธาตุแคลเซียม (Ca), แมกนีเซียม(Mg) , กำมะถัน (S) และโมลิบดินัม (Mo) ได้ หรือพืชจะแสดงอาการเป็นพิษจากแมงกานีส (Mg) , มากเกินไปแต่พืชบางชนิดอาจเจริญได้ดีที่เป็นกรด หรือเป็นด่าง มากกว่านี้ค่าพีเอชสามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือวัดพีเอช (pH meter)ปัจจุบันมีเครื่องวัดพีเอช แบบพกพาเกษตรกรสามารถวัดค่าพีเอชได้เองโดยการวัดพีเอชในดินโดยใช้เครื่องวัด พีเอชวัดในน้ำสารละลายดิน สัดส่วนดิน1 ส่วนโดยน้ำหนัก ต่อ น้ำ 1 ส่วน โดยปริมาตร แต่สามารถอนุโลมในการวัดในแปลงอย่างคร่าว ๆโดยใช้สัดส่วนเดียวกับการวัดค่าการนำไฟฟ้า (อีชี หรือ EC) ได้คือ      ดิน 1 ส่วน ต่อน้ำ 2 ส่วนโดยปริมาตรและคนให้เข้ากันดี จากนั้นจึงทำการวัดโดยจุ่มเครื่องวัดพีเอช ลงในสารละลายหรือกระดาษสำหรับตรวจวัดพีเอชการแก้ไขความเป็นกรดเป็นด่างของ ดิน สามารถปฎิบัติได้ดังนี้

1. การแก้ไขดินกรดก่อนปลูกพืช พื้นที่ดินปลูกพืชผักส่วนใหญ่จะเป็นดินกรด ดังนั้นในการปลูกพืชส่วนใหญ่จำเป็นต้องปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้สูงขึ้น ควรใช้หินปูนบด(CaCo3 ) หรือปูนโดโลไมท์ (CaMg (Co3 ) 2 ) ในการปรับค่าพีเอชของดินปริมาณของหินปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินว่าดิน มีบัพเฟอร์มากน้อยแค่ไหนเกษตรกรจึงควรส่งดินเพื่อตรวจสอบพีเอชของดิน และขอคำแนะนำปริมาณหินปูนสำหรับดินชุดที่ส่งไปตรวจนั้นโดยทั่วไปหากผสมหิน ปูน 1.75 กิโลกรัม ในดิน 1 ลูกบาศก์เมตร จะทำให้ค่าพีเอชเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3-0.5หน่วยหากไม่สามารถส่งดินเพื่อตรวจสอบได้อาจทดลองผสมหินปูนในอัตราที่ คาดว่าจะใช้จริงกับดินเป็นจำนวนน้อยก่อนโดยทำให้ดินชื้นเหมือนก่อนจะปลูกพืช แล้วใส่ถุงพลาสติกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงควรตรวจสอบพีเอชควรใช้ปูนชนิดละเอียด (100 mesh) เพื่อการทดสอบนี้ เพราะหินปูนหยาบจะใช้เวลานานถึง 6 เดือนจึงจะทำปฎิกิริยาและลดพีเอชได้ในการใส่หินปูนในแปลงจึงสำคัญมากที่จะ ผสมให้เข้ากับดินเพื่อที่จะช่วยให้สลายตัวเร็วขึ้น หินปูน โดโลไมท์นอกจากจะปรับสภาพดินแล้วยังให้ธาตุอาหารรองคือ แคลเซียม ส่วนโดโลไมท์ยังให้แมกนีเซียมอีกด้วยดังนั้นในการปรับสภาพดินกรดโดยทั่วไป จึงแนะนำให้ใช้ปูนโดโลไมท์               
2. การแก้ไขดินกรดหลังปลูกพืชแล้ว การใส่หินปูน หรือปูนโดไลท์จะให้ผลช้าดังนั้นจึงไม่เหมาะสมกับการแก้ไขดินกรดเมื่อปลูกพืช แล้ว ซึ่งอาจปฎิบัติได้ดังนี้2.1 หากดินมีสภาพเป็นกรดเล็กน้อย อาจใช้ปุ๋ยเดี่ยว     เช่น แคลเซียมไนเตรท และโปแตสเซียมไนเตรทโดยอาจใช้เแคลเซียมไนเตรทอัตรา 2.4 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร        และโปรแตสเซียมไนเตรท อัตรา 1.2 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตรรดทุกสัปดาห์ วิธีนี้จะได้ผลหากเกษตรกรหมั่นตรวจสอบระดับพีเอช 2.2
หากดินมีสภาพเป็นกรดรุนแรง อาจจำเป็นต้องใช้ปูนขาว (แคลเซียมไฮดรอกไซด์ / Ca(OH) 2 )       ปูนขาวอาจทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อพืชได้ และในปริมาณมากจะทำให้รากเสียหาย การใช้ปูนขาวอาจใช้ในอัตรา 75กรัม ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร โรยลงบนดิน และให้น้ำทันทีเพื่อล้างส่วนที่ติดกับพืชออกไปและเพื่อให้ปูนขาว       เริ่มละลาย น้ำลงสู่ดิน หรืออาจให้ในรูปสารละลายราดบนดิน โดยผสมปูนขาว 24 กรัม ต่อน้ำ 1ลิตรและบนดินในอัตรา 10 ลิตร ต่อตารางเมตร ปูนขาวจะละลายน้ำได้ดี แต่จะมีผลในระยะสั้นดังนั้นหากปัญหาดินกรดยังไม่ดีขึ้นอาจให้ปูนขาวซ้ำอีกครั้งหลังจากครั้งแรก 2-3 สัปดาห์ปูนขาวอาจทำให้ธาตุไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียม เปลี่ยนกลับเป็นก๊าซแอมโมเนียซึ่งเป็นอันตรายต่อรากและใบพืชดังนั้นไม่ควร ใช้ปูนขาวเมื่อในแปลงปลูกได้ให้ปุ๋ยสลายตัวช้าที่มีแอมโมเนียมอยู่ก่อนแล้ว เช่น ปุ๋ยออสโมโคต

3. การแก้ปัญหาดินด่าง สามารถกระทำได้โดยเพิ่มสารอินทรีย์ในดินซึ่งเป็นขบวนการที่ค่อนข้างช้า      หรือใช้กำมะถันผง แอมโมเนียมซัลเฟต และเหล็กซัลเฟตในขณะก่อนปลูกพืชหรือหลังปลูก สารทั้ง 3 ชนิดสามารถผสมในดินแห้งได้หรืออาจให้โดยละลายน้ำรดบนดินเมื่อปลูกพืชก็ได้ สารพวกซัลเฟตจะทำปฏิกิริยาได้เร็วมาก ในขณะที่กำมะถันผงจะต้องถูกสลายตัวโดย จุลินทรีย์ก่อนซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ความเค็มของสารละลายในดิน  ในการดูดน้ำของพืชส่วนใหญ่แล้วน้ำจะเคลื่อนที่จากสารละลายดินที่มีความเข้มข้นของเกลือต่ำเข้าสู่รากที่มีสารละลายเกลือความเข้มข้นสูงกว่าหากปริมาณ เกลือในสารละลายดินมีมากเกินไป จะทำให้น้ำไม่เข้าสู่ราก ซึ่งพืชจะชะงักการเจริญเติบโตปลายรากตายโดยเฉพาะบริเวณดินแห้งเพราะเมื่อดินแห้งปริมาณเกลือจะมีความเข้มข้นสูงใบจะแห้งโดยเฉพาะบริเวณขอบใบ และจะแสดงอาการขาดธาตุอาหารต่าง ๆ  ที่เป็นผลจากการที่รากเสียหายจนไม่สามารถดูดน้ำและแร่ธาตุได้เพียงพอเกลือ ในสารละลายดินมาจากหลายแหล่ง เช่นปุ๋ยที่ใช้กับพืช ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ ,ปุ๋ยเม็ดและปุ๋ยสลายตัวช้าจะสลายตัวซึ่งให้เกลือที่ละลายน้ำปุ๋ยอินทรีย์ บางชนิดมีธาตุไนโตรเจนสูงก็เป็นแหล่งของเกลือดังนั้นในสารละลายดินจึงควรมี ปริมาณเกลือที่ละลายอยู่บ้างเพื่อแสดงว่าได้ให้ปุ๋ยเพียงพอแต่ประมาณเกลือก็ไม่ควรมากเกินไปจนเกิดผลเสียแก่พืช แต่บางแหล่งอาจไม่ใช่เกลือที่เป็นประโยชน์แก่พืชเช่น เกลือแกงเป็นต้นการแก้ไข หากมีปริมาณเกลือที่ละลายน้ำได้ในดินมากเกินไป ก็สามารถแก้ไขได้โดยการชะล้างเกลือออกโดยใช้น้ำเป็นปริมาณมาก เพื่อรักษาโครงสร้างของดินจึงมีคำแนะนำให้ชะล้างเกลือด้วยน้ำ 200 ลิตรต่อตารางเมตร โดยใช้ระบบน้ำเหวี่ยง



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 มกราคม 2013, 22:52:54
สารปรับปรุงดิน

สารปรับปรุงดิน คือ สารใดก็ตามที่ใส่ลงไปในดินแล้ว ทำให้สภาพทางเคมี ทางกายภาพและชีวภาพของดินเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งอาจมีธาตุอาหารพืชปะปนอยู่ในสารนั้นแต่วัตถุประสงค์ใช้สารปรับปรุงดิน จะไม่เน้นการเพิ่มเติมธาตุอาหารพืช สารปรับปรุงดินสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

สารปรับปรุงสภาพทางเคมีของดิน
สารปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน
สารปรับปรุงดินในการรักษาความชื้น

สารปรับปรุงสภาพทางเคมีของดิน
สภาพทางเคมีของดิน ได้แก่ ความเป็นกรด – เป็นด่างของดิน และความเค็มของดิน ซึ่งถ้าอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม พืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นปกติได้ หรือ เจริญเติบโตไม่ถึงศักยภาพที่ควรจะเป็น สารที่ใช้ปรับปรุงสภาพทางเคมีของดิน ได้แก่
1.ปูน (Lime) เป็นสารประกอบคาร์บอเนตออกไซค์และไฮดรอไซค์ของแคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมเมื่อใส่ลงในดินก็จะทำปฏิกิริยาสะเทินความเป็นกรดของดินทำให้ระดับความเป็นกรด- เป็นด่างงของดินอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ปัญหาเกี่ยวกับธาตุอาหารพืชต่าง ๆ ที่เป็นพิษหรือขาดแคลนในสภาพที่ดินเป็นกรดก็จะหายไป ปูนเป็นสารประกอบที่มีราคาไม่แพง
- หินปูน (Lime tone) ส่วนประกอบที่สำคัญของปูน คือหินโดโลไมท์หรือแคลเซี่ยมคาร์บอเนต+แมกนีเซี่ยมคาร์บอเนต
- หินโดโลไมท์ ประกอบด้วยแคลเซี่ยมคาร์บอเนต 54% และแมกนีเซี่ยมคาร์บอเนต 46 %
- ปูนมาร์ล (Marl) และดินสอพอง (Marly Limes tone) มีลักษณะและองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกันคือเป็นตะกอนของแคลเซี่ยมคาร์บอเนตที่ค่อนข้างจะร่วนยังไม่จับตัวเป็นหินแข็ง เกิดเป็นชั้นอยู่ใต้ดิน โดยปูนมาร์ลจะมีแคลเซี่ยมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบประมาณ 35-65 % ที่เหลือเป็นดินเหนียว ส่วนดินสอพองจะมีแคลเซี่ยมคาร์บอเนตประมาณ 80-97%
- ปูนขาวและเปลือกหอยเผา องค์ประกอบที่สำคัญของปูนขาวและเปลือกหอยคือ แคลเซี่ยม
ไอดรอกไซค์ได้มาจากการเผาหินปูนหรือเปลือกหอยจนสุกแล้วนำมาพรมด้วยน้ำ ปูนเผาจะทำปฏิกิริยากับน้ำได้ปูนขาวจะมีเนื้อยุ่ยเป็นผงแต่ก่อนที่จะนำออกจำหน่ายจะมีการบดและร่อน
2. ยิปซัม (Gypsume) เป็นสารปรับปรุงดินที่แนะนำให้ใช้แก้ปัญหาดินเค็ม โดยเฉพาะดินเค็มโซดิกซึ่งดินเค็มที่มโซเดียมอยู่มากจนเกิดเป็นพิษต่อพืชและดินชนิดนี้จะมีปฏิกิริยาเป็นด่างทำให้พืชอาจขาดธาตุอาหารเสริมบางชนิดได้ ยิปซัมเป็นแร่ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติมีแคลเซี่ยมซัลเฟตเป็นองค์ประกอบหลักไม่ต่ำกว่า 96 % เกิดจากการตกตะกอนของแคลเซี่ยมซัลเฟตซึ่งละลายอยู่ในน้ำทะเลและยังเป็นผลพลอยได้จากโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีฟอสเฟต

สารปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน
สภาพทางกายภาพของดิน ได้แก่ คุณสมบัติทางด้านความโปร่ง ความร่วนซุยหรือความแน่นทึบ
มีผลโดยตรงต่อการถ่ายเทอากาศและการอุ้มน้ำของดิน การปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน มีหลายชนิด เช่น
1.การเกิดแผ่นแข็งบนผิวดิน (Crust)
การเกิดแผ่นแข็ง (crust) บนผิวหน้าดินเป็นปัญหาต่อการปลูกพืชที่พบมากบนพื้นที่แถบแห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้ง มีผลกระทบต่อพืชโดยตรง คือ เป็นอุปสรรคต่อการงอกของเมล็ด และการแทงโผล่ของต้นกล้าออกมาพ้นผิวดิน
วัตถุประสงค์หลักของการใช้สารปรับปรุงดิน เพื่อลดปัญหาการเกิดแผ่นแข็งบนผิวหน้าดิน คือ
1. เพิ่มความเสถียรของก้อนดิน (soil aggregath) ให้มีความคงทนไม่แตกยุ่ยง่ายเมื่อโดนเม็ดฝนหรือน้ำชลประทานที่เหนือดินตกกระแทก
2. ทำให้อนุภาคดินที่แขวนลอยในน้ำเกิดการฟุ้งกระจาย (dispersion) น้อยลงหรืออีกนัยหนึ่ง
ทำให้อนุภาคดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุภาคดินเหนียวเกิดการซับกันเป็นกลุ่มมวลดิน (flocculation) ทำให้เมื่อแห้งลงไม่เกิดการฉาบเคลือบผิวดินเป็นกลุ่มมวลดิน หรืออุดรูอากาศในดินบริเวณผิวดิน

วิธีการป้องกันหรือลดปัญหาการเกิดแผ่นแข็งบนผิวหน้าดินทำได้หลายวิธี เช่น การพรวนดิน
การใช้วัสดุคลุมดินและการใช้สารปรับปรุงดินไม่ว่าจะเป็นอินทรียวัตถุ สามารถแก้ไขปัญหาการเกิดแผ่นแข็งบนผิวดินได้ผลดี ถ้าใช้ในปริมาณที่มากพอ แต่ข้อจำกัดก็คือปัญหาการจัดหาเพื่อให้ได้มาและค่าใช้จ่ายในการใส่ เนื่องจากการขนส่งและปริมาณการใช้ต้องใช้ปริมาณมาก ๆ สำหรับสารปรับปรุงดินอินทรียวัตถุที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
1. สาร PAM มีชื่อการค้าว่า “syaram” เป็นสารประกอบอินทรีย์โพลิเมอร์ที่มีโมเลกุลของโมโนเมอร์(monomer) ต่อกันเป็นเส้นขาว คุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดีและมีความสามารถในการเชื่อมอนุภาคแร่ดินเหนียวเข้าด้วยกัน หรือทำให้อนุภาคแร่ดินเหนียวในเม็ดดินจับกันด้วยแางที่มีความเสถียรสูงสุดยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้เม็ดดิน (aggregates) มีความต้านทานต่อการกระแทกของฝนหรือน้ำชลประทานที่ตกลงมากระทบมากยิ่งขึ้น จาการศึกษาของ Shainburg และคณะ (1990) ในการแก้ปัญหาการเกิดแผ่นแข็งบนผิวดิน โดยการฉีดสารละลาย PAM ลงบนผิวดินที่จับกันเป็นแผ่นแข็งในอัตรา 3.2 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลดีมากขึ้นในการเพิ่มการแทรกซึมน้ำในดิน
2. ยิปซั่ม (Gysum) หรือฟอสโฟยิมซั่ม (Phosshopypsum) การใช้ยิมซั่มหรือฟอสโฟยิมซั่มช่วยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพบางประการของดินให้ดีขึ้น เช่น ทำให้ดินมีปัยหาจับกันเป็นแผ่นแข็งที่ผิวดินน้อยลง ดินมีการแทรกซึมน้ำดีขึ้น มีการไหลบ่าของน้ำน้อยลง และเกิดการสูญเสียน้อยลง จากการทดลองของ Gennett และคณะ (1964) โดยใส่ยิปซัมอัตรา 250 ปอนด์ต่อเอเคอร์ โดยโรคเป็นแถบกว้าง ๆ เหนือกลางเมล็ดที่ปลูกฝ้าย พบว่าเมล็ดฝ้ายสามารถงอกแทงโผล่ผิวดิน คิดเป็นร้อยละ 48.1 และไม่ใส่ยิปซัมเมล็ดฝ้ายสามารถงอกและแทงโผล่ผิวดินคิดเป็นร้อยละ 10.8 ส่วนดัชนีความแข็งของครัสท์ (ปอนด์) พบว่า ไม่ใส่ยิปซัมมีความแข็ง 3.72 ปอนด์ และเมื่อใส่ยิปซัมดัชนีมีความแข็งมีค่าเท่ากับ 1.70 ปอนด์
3. ไลม์-ซัลเฟอร์ (Lim-sulfer) หรือสารประกอบแคลเซียมไพลีซัลไฟด์ (CaS5) เมื่อใส่ลงไปในดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งดินโซดิก (sodic soils) ที่มีปูนแคลเซียมคาร์บอเนต จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในดินจนในที่สุดจะได้สารเคมีเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงยิปซัมเมื่อใส่ลงไปในดิน กล่าวคือ ไลม-ซัลเฟอร์ มีบทบาททำให้ดินเกิดการจับกันเป็นแผ่นแข็งบนผิวดินน้อยลง เช่นเดียวกับยิปซัม อย่างไรก็ตามการใช้สารประกอบแคลเซียมไพลีซัลไฟด์อาจต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนรูปทางเคมีของตัวสารบ้างในระยะแรก ซึ่งก็ขึ้นกับสภาพแวดล้อมในดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบายอากาศในดิน ฯลฯ ประสิทธิภาพในเชิงพาณิชย์ของสารชนิดนี้เมื่อเปรียบเทียบกับยิปซัมจะแตกต่างกันอย่างไรหรือไม่ขึ้นอยู่กับ
1. ราคาของสาร
2. ปริมาณการใช้ที่ก่อให้เกิดผล
3. ประสิทธิภาพของสาร

2. ความแน่นทึบหรือการอัดตัวของดิน (Soil Compaction)
ความแน่นทึบหรือความอัดตัวของดิน เป็นสมบัติทางกายภาพของดินที่มีปัญหาต่อการผลิตพืช
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดินอัดตัวกัน เชื่อมกัน และทำให้มีสภาพแน่นทึบเองตามธรรมชาติ เกิดจากปัจจัยดินต่าง ๆ เช่น ชนิดเนื้อดิน โครงสร้างของดิน องค์ประกอบทางเคมีของดิน ปฏิกริยาของดิน และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ เช่น ฝน อุณหภูมิ ฯลฯ รวมทั้งการกระทำของมนุษย์ เช่น การเขตกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้เครื่องจักรกลในการเตรียมดินอย่างไม่ถูกต้องเกินความพอดีความแน่นทึบ หรือการอัดตัวของดินมีผลกระทบต่อการผลิตพืชหลายประการ เช่นการเจริญเติบโตและกิจกรรมของระบบราก การใช้ประโยชน์จากน้ำ อากาศและธาตุอาหารพืชในดิน ปัญหาการเกิดโรคโคนเน่าในพืชบางชนิด เนื่องจากดินมีสภาพการระบายอากาศและน้ำไม่ดีพอ
การแก้ไขปัญหาความแน่นทึบของดินอาจปฏิบัติได้ในหลาย ๆ แนวทาง เช่น
1. การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรบางชนิด เช่น ไถดินดาน (subsoiler)ไถเจาะทำลายชั้นดินที่อัดแน่น(Compacted layer) คือชั้นดินดาน (hardpan)
2. การใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือสารอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดินและส่งเสริมกิจกรรมของ
จุลินทรีย์ดินและสัตว์ในดิน เช่น ไส้เดือน ฯลฯ
3. การใช้สารปรับปรุงดินชนิดต่าง ๆ เช่น
1 ยิปซัม (gypsum) : การใช้ยิปซัมเป็นครั้งคราวหรืออย่างต่อเนื่องพบว่าช่วย
แก้ปัญหาการอัดแน่นหรือความแน่นทึบของชั้นดินใต้ผิวดินบนได้ไม่มากก็น้อย เพราะว่าการเคลื่อนที่ของยิปซัมที่ละลายในน้ำที่ซาบซึมลงไปในดินล่าง (Percolated water) จะซาบซึมลงได้ลึกกว่าดินที่ไม่ได้ใส่ยิปซัม เนื่องจากดินที่ใส่ยิปซัมมีปัญหาการเกิดครัสท์ที่ผิวดินน้อยกว่า มีผลทำให้รูดิน (Soil pore) ที่เกิดโดยบทบาทของรากพืชและจุลินทรีย์ดินมีความเสถียรภาพมากขึ้น
2. ไล-ซัลเฟอร์ (lims-sulfer) หรือสารประกอบแคลเซียมโพลีซัลไฟด์ บทบาทการแก้ปัญหา
การอัดตัว หรือความแน่นทึบของดินใต้ผิวดินเชื่อว่ามีกลไกเหมือนกับการใส่ยิปซัมลงไปในดิน ซึ่งผลการปรับปรุงดินในลักษณะดังกล่าวจะหด้ผลมากน้อยเพียงใดยังมิอาจยืนยัน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลผลการวิจัยมากเพียงพอที่จะสรุปให้เห็นเป็นรูปธรรมได้
3. สารประกอบทางเคมีในรูปแอมโมเนียมลอเร็ชซัลเฟต (Ammonium laurethsulfate
(ALS): เป็นสารจับผิวฤทธิ์อ่อนที่มีประจุลบ (slightly susfactant)สารชนิดนี้มีการผลิตออกมาใช้เป็นสารปรับปรุงดิน เพื่อแก้ปัญหาการอัดแน่นของดินและการเคลื่อนที่แทรกซึม (infiltratim) และซาบซึมลง (percolatim) ของน้ำในดินเป็นสำคัญมีชื่อการค้าว่า “เอกริ-เอสซี”
เอกริ-เอสซี ที่มีสารออกฤทธิ์ประกอบด้วยแอมโมเนียม ลอเร็ธซัลเฟต (ALS)เป็นสารปรับปรุงดินในรูปเกลืออินทรีย์ (organic salt) ที่มีโมเลกุลใหญ่และมีสมบัติเป็นสารไม่มีขั้ว (non-polar) ที่ไม่ละลายน้ำ ดังนั้นจึงมีคุณสมบัติเป็นสารจับผิวอ่อนๆ ที่ไปช่วยลดแรงดึงผิวของน้ำเยื่อ (hygroscopic water) ที่ถูกดูดยึดไว้ที่เม็ดดินด้วยแรงสูงมากเมื่อใส่สารเอกริ-เอสซี ลงไปในดินประจุลบทางด้านที่มีขั้วลบ (ionic polar) ของอนุมูลซัลเฟตจะดึงโมเลกุลของน้ำที่ดูดอยู่ที่ผิวดินโดยการก่อปฏิกิริยาสัมพันธ์ (interaction) ทางเคมีกับไฮโดรเจนอะตอมน้ำโดยไฮโดรเจนบอนด์(hydrogen bond) ทำให้โมเลกุลของน้ำเยื่อบางส่วนโดยเริ่มจากชั้นนอกสุดถูกดึงออกไปจากผิวดิน แล้วไหลผ่านช่องว่างพร้อมๆกับ ALS ที่มีโมเลกุลใหญ่กว่าน้ำจึงไหลเบียดแทรกตัวลงระหว่างเม็ดดินแล้วค่อยๆดันเม็ดดินยึดติดกันแน่นให้ห่างออกทีละน้อย จนในที่สุดทำให้ดินที่เคยแน่นมีความแน่นน้อยลง
3. ความจุในการอุ้มน้ำของดิน (water lolding capacity of soil): ความจุในการอุ้มน้ำ
ของดินตามธรรมชาติขึ้นกับปริมาณอินทรีย์วัตถุในดิน ประเภทเนื้อดินและสมบัติการเคลื่อนที่ของน้ำในดินแต่ละชนิด สำหรับดินส่วนใหญ่ที่มีปริมาณอินทรีย์วัตถุสูงกว่าและมีเนื้อละเอียดกว่าจะอุ้มน้ำได้ดีกว่าดินที่มีปริมาณอินทรีย์วัตถุต่ำกว่าและมีเนื้อหยาบกว่า ความสามารถในการอุ้มน้ำของดินเป็นปัญหาที่พบทั่วไปในดินเนื้อหยาบ เช่นดินทรายนอกเหนือจากการใช้สารอินทรีย์ธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ปรับปรุงคุณสมบัติการอุ้มน้ำของดินแล้วสารปรับปรุงบำรุงดินที่มีสมบัติช่วยเพิ่มความจุในการอุ้มน้ำของดินที่สำคัญบางชนิดได้แก่
1. สารโพลีเมอร์ (superabsorbent polymer): สารดูดน้ำชนิดนี้มีการผลิตออกมาใช้กัน
ในทางการค้าและเรียกชื่อแตกต่างกันไปมากกว่า 300 ชนิดทั่วโลก สารที่จัดได้ว่ามีสมบัติดูดน้ำได้สูง หรือที่จัดได้ว่าเป็นสาร”super-absorbent” ในทางปฏิบัติต้องเป็นสารของแข็งที่แห้ง และมีความสามารถดูดน้ำได้เองตามธรรมชาติประมาณ 20 เท่าของน้ำหนักสารเป็นอย่างน้อยเมื่อใส่สารดูดน้ำโพลีเมอร์ในรูปของแข็งที่แห้งลงในน้ำที่มีปริมาณมากเกินพอ สารดูดน้ำประเภทนี้จะไม่ละลายในน้ำ แต่จะดูดน้ำและพองตัวเต็มที่จนถึงจุดสมดุลที่จะให้ปริมาตรสูงสุด
สารโพลีเมอร์ ที่มีความสามารถในการดูดน้ำได้สูง คือดูดได้ระหว่าง 50-400 เท่าตัว
โดยน้ำหนัก โดยทั่วไปนิยมผลิตออกมาใช้ในทางการเกษตรในรูปครอสสิงค์โพลีเมอร์ครีลามีดส์(CPAM) ที่มีคุณสมบัติดูดน้ำเต็มที่ได้เร็วปานกลาง(ประมาณ 5-30 นาที) แต่น้ำที่ดูดไว้ส่วนใหญ่เป็นประโยชน์ต่อพืช การใช้สารโพลีเมอร์ดูดน้ำคลุกเคล้ากับดินที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำจะช่วยเพิ่มความจุในการอุ้มน้ำของดินได้ในปริมาณมาก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของพืชที่ปลูก โดยช่วยลดการสูญเสียของน้ำที่ซึมซับลง(percolation) และน้ำซับ (capillary water)ที่ซาบซีมน้ำ (capillary rise) มิให้เกิดการสูญเสียออกไปจากดิน
จากการทดรองของสุนทรี(2532) ได้ใช้สารอุ้มน้ำขนิดหนึ่ง คือ Potassium
Properoate Properamide Copolymers ผสมกับดินเหนียวปนทรายชุดกำแพงแสนและดินชุดกำแพงแสนที่ผสมขี้เป็ด ทราย และ แกลบ ในอัตรา 0,1,3 และ5 กรัมต่อปริมาตรดิน 1 ลิตร เมื่อใช้ในการเพาะกล้าผัก พบว่า เมื่อใช้อัตรา 5 กรัม ต่อดิน 1 ลิตร จะทำให้ดินสามารถดูดซับน้ำได้เพิ่มขึ้น 27 และ 38 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักสำหรับดินชุดกำแพงแสนและดินผสมชุดกำแพงแสน ตามลำดับ
2. แอนไอโอนิคโพลีอครีลามีดส์(PAM),ยิปซั่ม และไลม์-ซัลเฟอร์:มีผลต่อการลดปัญหา
การเกิดแผ่นแข็งบนผิวดิน (crust) ในทางอ้อมมีส่วนช่วยทำให้น้ำแทรกซึมลงดินได้มากขึ้นแทนที่จะสูญเสียไปโดยการไหล่บ่า ทำให้ดินมีดอกาสดูดน้ำไว้ได้มากขึ้น
3. แคลไซด์เคลย์ (calcined clay): เป็นผลิตภัณฑ์จากแร่ดินเหนียว (clay minerals)
ที่เตรียมไว้โดยการนำแร่ดินเหนียวเผาที่อุณหภูมิสูง (ประมาณ1,500-1,800๐ F ) แล้วทำให้แห้งซึ่งในการเผาด้วยความร้อนสูงในระดับนี้ น้ำในดินไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ถูกดูดซับ (absorbed water) หรือน้ำที่อยู่ภายในระหว่างชั้นหน่วยผลึก (interlayer water) รวมทั้งน้ำที่เป็นโครงสร้างของหน่วยผลึก (structural oH water) จะสูญเสียไปทำให้เกิดการเปลี่ยนดครงสร้างของตัวแร่ให้อยู่ในรูปใหม่ซึ่งจะทำให้แร่ดินเหนียวที่นำมาเผาสูญเสียสมบัติการยืดหยุ่น (การพองตัว-หดตัว) สามารถนำมาใช้เป็นสารปรับปรุงดินได้เนื่องจากเม็ดสารมีความแข็งแกร่ง เสถียร มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวกและมีความพรุนสูงทำให้เป็นประโยชน์ต่อการเก็บกักน้ำและอากาศ
สารแคลไซด์เคลย์ สามารถดูดน้ำได้เต็มที่จำนวนหนึ่ง น้ำที่ดูดไว้ได้เต็มที่จำนวนหนึ่ง
น้ำที่ดูดไว้ได้ทั้งหมดนี้ สามารถเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ประมาณร้อยละ 20 การใช้สารแคลไซด์เคลย์เพื่อเพิ่มความจุในการดูดน้ำของดินควรใช้ดินทรายที่ไม่อุ้มน้ำ หรือดินที่มีปริมาณแร่ดินเหนียวต่ำแต่ไม่ควรใช้หรือใช้ให้น้อยลงกับดินที่มีปริมาณแร่ดินเหนียวสูงอยู่แล้ว สารแคลไซด์เคลย์ที่จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวควรมีความละเอียดในระดับที่ร้อยละ 75 ของสารมีขนาดเม็ดระหว่าง 30-40 เม็ช (mesh) สำหรับการใช้สารชนิดนี้พบว่าการใช้ผสมกับดินในปริมาณร้อยละ 10-20 โดยปริมาตรของดินให้ผลดีต่อการแตกรากของพืช เช่น หญ้าสนามหญ้า
4. ไอโซไลท์ (Isolite) เป็นสารเซรามิคที่เตรียมได้จากการเผาดินเขา เพื่อผลิตภัณฑ์เซรามิค
สารชนิดนี้เป็นสารที่มีลักษณะพรุนเนื่องจากตัวสารประกอบไปด้วยรูเล็ก ๆ มากมายที่สามารถะเก็บกักน้ำได้ โครงสร้างโดยทั่ว ๆ ไปมีลักษณะคล้ายรวงผึ้งที่มีการกระจัดกระจายมากมายในหลาย ๆ ทิศทางและอย่างต่อเนื่อง สมบัติที่สามารถใช้ปรับปรุงดินได้ก็คือช่วยเพิ่มความจุในการอุ้มน้ำของดินให้สูงขึ้น การใช้กับหญ้าสนามหญ้าโดยการผสมกับดินปลูกในอัตรา 1.5 หรือ 3.0 ปอนด์ต่อตารางฟุต พบว่าได้ผลดี
5. ซีโอไลท์ (Zeolite) : เป็นสารในรูปแร่อลูมิโนซิลิเกต (aluninosilicates)
ชนิดหนึ่งที่มีสมบัติดูดน้ำได้ดี ดังนั้นเมื่อนำไปใช้โดยใส่ลงไปในดนจึงช่วยทำให้ดินมีความสามารถอุ้มน้ำได้สูงขึ้น และทำให้พืชที่ปลูกสามารถใช้น้ำในดินได้ขึ้น นอกจากนั้นซีไอโลท์ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่มีคุณค่าอีกหลายประการ เช่น มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวกสูงมากรวมทั้งความสามารถในการดูดซับโมเลกุลสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสารที่ไม่มีพิษภัยหรือสารพิษต่างๆที่อาจก่อให้เกิดภาวะปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม
6. เทอราคอตเต็ม (Terracottem): เป็นสารปรับปรุงดินที่มีลักษณะพิเศษ
แตกต่างไปจากสารปรับปรุงดินชนิดอื่นๆ คือองค์ประกอบของสารชนิดนี้ประกอบไปด้วยส่วนผสมแห้งแบบคลุกเคล้า (bulk blending) ของสารต่างๆ รวม 20 ชนิดที่ได้จากกลุ่มของสารประเภทต่างๆ รวม 6 ประเภท กลุ่มสารทั้ง 6 ประเภทที่เป็นองค์ประกอบของเทอราคอตเต็ม ประกอบด้วยสารโพลีเมอร์ดูดน้ำประมาณร้อยละ 40 ปุ๋ยเคมีที่ละลายน้ำง่ายและปุ๋ยประเภทปลดปล่อยช้าประมาณร้อยละ 10 สารตัวเร่งการเจริญเติบโตของพืช (growth stimulators) ชนิดต่างๆร้อยละ 0.25 และสารนำพาหรือสารตัวเติม (filler) ประมาณร้อยละ 50 วัตถุประสงค์หลักของการผลิตสารประเภทนี้ออกมาก็เพื่อใช้เป็นสารปรับปรุงดินทั้งในด้านกายภาพโดยการเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดินด้วยสารโพลีเมอร์ดูดน้ำ และในขณะเดียวกันก็ช่วยบำรุงดินและเร่งการเจริญเติบโตของพืชไปพร้อมๆกันโดยการใส่สารชนิดนี้เพียงครั้งเดียวก็จะได้ทั้งสารดูดน้ำ ปุ๋ยเคมีทั้งชนิดละลายเร็วและช้าและสารตัวเร่งการเจริญเติบโตของพืช


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มกราคม 2013, 11:05:49
ซีโอไลท์ หรือ ชื่อในทางภาษาวิชาการเรียกกันว่า แร่ภูเขาไฟ หรือ ซีโอไลท์ คือกลุ่มของหินเดือด, หินที่ผ่านความร้อนเป็นล้าน ๆ องศา หิน ที่ผ่านความร้อนจนสุกและพองขยายตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่หินที่ระเบิดออกมาจากภูเขาแล้วนำมาบดขายกัน ซึ่งหินดังกล่าวนี้จะไม่ค่อยได้คุณภาพ แต่ก็มักจะกล่าวอ้างกันว่า เช่น ซีโอไลท์ เนื้อเบา (Diatomite) บ้าง ซีโอไลท์ เนื้อหนัก (Kaolinite) บ้าง หินดิบเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการจับหรือแลกเปลี่ยนประจุบวกได้ เพราะไม่มีความโปร่งพรุน ทำให้ไม่สามารถที่จะจับตรึงปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกให้เป็นปุ๋ยละลายช้า ได้ (Slow release Fertilizer) และยังมี ซิลิก้า, ซิลิคอน, หรือ ซิลิสิค แอซิด ที่ละลายน้ำได้ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ จึงไม่เพียงพอที่จะนำไปเป็นประโยชน์ต่อพืช

แร่ภูเขาไฟ หินลาวา ซีโอไลท์ หรือ หินเดือด มีแร่ธาตุที่ละลายน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซิลิก้าที่มีโครงสร้างเคมีอยู่ในรูปของ H4sio4 จึงเป็นประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งกับพืช

ประโยชน์
1.ใช้ฉีดพ่นเพื่อทำให้พืชแข็งแรง ซีโอไลท์ ผง ประมาณ 200-300 กรัมละลายในน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วกรองแยกตะกอนไปใส่ต้นไม้ เอาแต่น้ำมาฉีดพ่นพืชให้เปียกทั่วถึงทุกส่วน
2.ใช้หว่านลงดินก่อนปลูก ให้พืชที่จะปลูกบนดินได้รับ ซิลิก้า ตั้งแต่เริ่มดูดน้ำหรือเริ่มการเจริญ หรือเริ่มงอก ใช้ หว่านลงผิวดินแล้วพรวนกลบ หรือจะหว่านลงในแปลงนาทำการลูบหรือคราดให้จมแล้วจึงหว่านเมล็ด หรือใส่รองก้นหลุม เคล้ากับดิน แล้วจึง ปลูกพืช หรือ หยอดเมล็ด
3.ใช้ ใส่หลังปลูก ใช้วิธีโรยเป็นแถวข้าง ๆ ต้น เช่นข้าวโพด หรือหว่านบริเวณใต้ทรงพุ่มต้นของพืช พืชผักต้นเล็กปลูกติดกันแน่นให้หว่านด้วยชนิดเม็ด
4.ใช้คลุกผสมใส่ลงไปพร้อมกับ ปุ๋ย โดยใช้ปุ๋ยเคมี 5 ส่วนพรมน้ำพอชื้น แล้วเอา แร่ภูเขาไฟ หรือ ซีโอไลท์ คลุกผสมให้ผงติดเม็ดปุ๋ยทุกเม็ด จะช่วยทำให้ปุ๋ยกลายเป็นปุ๋ยละลายช้า
5. ลดการสูญเสียปุ๋ย ปรกติปุ๋ยเคมีที่ขายในไทยถูกกำหนดให้ละลายทันทีทั้ง 100 % ดังนั้นถ้าฝนตกมาก รดน้ำมาก ปุ๋ยละลายออกมา สารจะมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก จะจับปุ๋ยไว้ทั้งแอมโมเนียม และโปแตสเซียมให้กลายเป็นปุ๋ยละลายช้า
6. ทำลายสารพิษในดินและในน้ำ สารพิษตกค้างที่มีผลในการลดการเจริญของพืชมักเป็นสารกำจัดวัชพืช
7. เพิ่มคุณภาพผลผลิต จาการมีซิลิก้าที่ ผิวพืชมากขึ้นทำให้พืชผัก แข็ง กรอบ อร่อยขึ้น เก็บรอการขายได้นานขึ้น ช้ำน้อย คุณภาพสูงขึ้นแทบทุกด้าน ยกเกรดของสินค้าให้สูงขึ้น ราคาก็ดีขึ้นด้วย.แม้ผลไม้ก็มีคุณภาพดีขึ้นเช่นกัน

8. ลด แมลงและไส้เดือนฝอยในดิน หว่านบาง ๆ ลงบนดินบริเวณที่มีมด ปลวก เสี้ยนดิน ตัวอ่อนของด้วง หมัดกระโดด ไส้เดือน ไส้เดือนฝอย หอยบก ก็จะลดน้อยลง
9.ใช้ทำลายสารพิษตกค้างในอาหารสัตว์ ผสมให้สัตว์กินตามปรกติ อัตราการตายของ หมู เป็ด ไก่ ลดลง มีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
10.ใช้ เพิ่มผลผลิตเห็ด ใช้ ผสมในขี้เลื่อยหรือวัสดุดิบเพาะ ไม่ต้องใช้จิบซั่มและปูนขาว นำไปเพาะเห็ดตามปรกติ รดบนกองและดินรอบกองจนเปียกชุ่ม จะลดไรเห็ดลง มด ปลวก ไส้เดือนฝอย และกลิ่นลงได้ ผลผลิตเห็ดเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มกราคม 2013, 11:12:42
ฮิวมัส (humus)

คือ อินทรียวัตถุที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนโดยสลายตัวปะปนอยู่ในดินทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เกิดจากการย่อยสลายของซากพืช ซากสัตว์ โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ซึ่งสังเคราะห์ได้สารประกอบอินทรีย์จำพวก กรดอะมิโน โปรตีน และอโรมาติก และจะเกิดการรวมตัวของสารประกอบอินทรีย์หลังจากที่จุลินทรีย์ตายลงและทับถมกันเป็นเวลานานกลายเป็นฮิวมัสในดิน

ส่วนประกอบของฮิวมัสประกอบด้วยสารผลิตภัณฑ์ (Products) หลายประเภทโดยขึ้นอยู่กับชนิดของอินทรียวัตถุต้นกำเนิดตามธรรมชาติ เกิดจากการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิตในดิน รวมทั้งการแปรสภาพของสารผลิตภัณฑ์และการสังเคราะห์สารขึ้นมาใหม่ ซึ่งสามารถแบ่งสารอินทรีย์ต่างๆออกเป็นสองส่วน คือ

ส่วนที่ไม่เป็นสารฮิวมิก (Nonhumic Substances) ประกอบด้วยสารอินทรีย์ที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไป เช่น สารประกอบพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดอะมิโน ลิพิด ลิกนิน แทนนิน และกรดอินทรีย์ต่างๆ เป็นต้น ลักษณะที่สำคัญของสารอินทรีย์เหล่านี้ คือ

มีมวลโมเลกุลค่อนข้างต่ำ
มีโครงสร้างโมเลกุลไม่สลับซับซ้อน
ง่ายต่อการย่อยสลาย
เป็นแหล่งอาหารและแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ในดิน
ส่วนที่เป็นสารฮิวมิก (Humic Substrances) เกิดจากการแปรสภาพของสารอินทรีย์และสังเคราะห์รวมตัวขึ้นมาใหม่ของสารที่ไม่ใช่ฮิวมิก ประกอบด้วยกลุ่มของสารอินทรีย์ประเภทที่มีลักษณะดังนี้

มีมวลโมเลกุลค่อนข้างสูง
โครงสร้างโมเลกุลมีรูปร่างทีไม่แน่นอน
แสดงสมบัติเป็นสารคอลลอยด์
คงทนต่อการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ดิน
สารฮิวมิกละลายน้ำได้น้อยมาก แต่สามารถละลายได้ในสารละลายที่เป็นกรดและด่างในบางส่วนของสารฮิวมิก สารฮิวมิกสามารถแบ่งออกได้เป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ

กรดฮิวมิก (humic acid): ส่วนที่ละลายได้ในด่าง แล้วตกตะกอนเป็นกรดฮิวมิกเมื่อปรับสารละลายให้เป็นกรด
กรดฟุลวิก (fulvic acid): ส่วนที่ละลายได้ในด่าง แต่ไม่ตกตะกอนเมื่อปรับสารละลายให้เป็นกรด
ฮิวมิน (humin): ส่วนที่ไม่ละลายในด่าง



ฮิวมัส (สมบัติทางกายภาพ)
ฮิวมัส จะช่วยทำให้ดินให้อุ้มนํ้าและระบายอากาศได้ดี ช่วยทำให้ดินที่มีแรงยึดเหนี่ยวสูงทำให้ระบบรากของพืชที่จะดูดซึมแร่ธาตุอาหารได้ยาก ฮิวมัส จำไปทำ ลายแรงยึดเหนี่ยว ซึ่งก็จะทำ ให้ชั้นดินมีความโปร่งขึ้น ส่งผลให้นํ้าและอากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดีขึ้นนอกจากนั้น ฮิวมัส สามารถ ป้องกันไม่ให้นํ้าระเหยไปจากดิน ซึ่งเป็นผลดีสำหรับดินที่มีความเป็นดินเหนียวตํ่า ดินทราย และดินในพื้นที่แห้งแล้ง ที่ไม่สามารถจะดูดซับนํ้าไว้ได้เมื่อดินที่มีลักษณะดังกล่าวมีนํ้าผ่านเข้า มา นํ้าก็จะระเหยออกจากดินน้อยลงหรือสามารถอุ้มนํ้าได้มากขึ้น

ฮิวมัส (สมบัติทางเคมี)
ฮิวมัส มี ประสิทธิภาพในการดูดซับธาตุอาหารและปลดปล่อยธาตุอาหารเหล่านั้นให้แก่พืช อย่างช้าๆเพื่อให้พืชได้นำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเจริญเติบโต การออกดอกออกผล และ ฮิวมัส ยังสามารถดูดประจุบวกของธาตุอาหารเสริมและจะปลดปล่อยธาตุอาหารเมื่อ ฮิวมัส อยู่ใกล้บริเวณรากของพืช ธาตุอาหารเสริมเหล่านั้นก็จะถูกปล่อยออกมาจาก ฮิวมัส เข้าไปสู่ระบบรากเพื่อที่จะได้ลำเลียงไปยังส่วนต่างๆของพืชต่อไป

ประโยชน์ ฮิวมัส
-      มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุสูง ช่วยให้พืชดูดซึมธาตุอาหารต่างๆได้ดี

-      ช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช อาหารรองค่อนข้างครบถ้วน

-      ช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์กับพืชให้มากขึ้น

-      ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช

-      ช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดิน ทำให้ดินร่วนซุย ไม่อัดตัวแน่นเกินไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มกราคม 2013, 15:05:06
ข้าว เป็นพืชที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มกราคม 2013, 15:12:55
ข้าวกล้องงอก   

           ข้าวกล้องงอก (germinated brown rice หรือ “GABA-rice”)   ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ข้าวกล้องงอก (germinated brown rice) เป็นการนำข้าวกล้องมาผ่านกระบวนการงอก    ซึ่งโดยปกติแล้ว ในตัวข้าวกล้องเองประกอบด้วยสารอาหารจำนวนมาก เช่น ใยอาหาร กรดไฟติก (Phytic acid) วิตามินซี วิตามินอี และ GABA (gamma aminobutyric acid) ซึ่งช่วยป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน

           เมื่อนำข้าวกล้องมาแช่น้ำเพื่อทำให้งอก จะทำให้ข้าวกล้องมีสารอาหาร โดยเฉพาะ GABA  เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์จากการที่มีปริมาณสารอาหารที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ข้าวกล้องงอกที่หุงสุกมีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่ม รับประทานได้ง่ายกว่าข้าวกล้องธรรมดาอีกด้วย จึงง่ายแก่การหุงรับประทานได้โดยไม่ต้องผสมกับข้าวขาวตามความนิยมของผู้บริโภค

           จากการศึกษาทางกายภาพและทางชีวเคมีพบว่า "เมล็ดข้าว" ประกอบด้วย เปลือกหุ้มเมล็ด หรือแกลบ (Hull หรือ Husk) ซึ่งจะหุ้มข้าวกล้อง ในเมล็ดข้าวกล้องประกอบด้วย จมูกข้าวหรือคัพภะ (Germ หรือ Embryo) รำข้าว (เยื่อหุ้มเมล็ด) และเมล็ดข้าวขาวหรือเมล็ดข้าวสาร (Endosperm)     สารอาหารในเมล็ดข้าวประกอบด้วย  คาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก โดยมีโปรตีน วิตามินบี วิตามินอี และแร่ธาตุที่แยกไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของเมล็ดข้าว นอกจากนี้ ยังพบสารอาหารประเภท ไขมันซึ่งพบได้ในรำข้าวเป็นส่วนใหญ่

          ข้าวเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีการเจริญเติบโตจะมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี  การเปลี่ยนแปลง   จะเริ่มขึ้น เมื่อน้ำได้แทรกเข้าไปในเมล็ดข้าว  โดยจะกระตุ้นให้เอนไซม์ภายในเมล็ดข้าวเกิดการทำงาน   เมื่อเมล็ดข้าวเริ่มงอก (malting) สารอาหารที่ถูกเก็บไว้ในเมล็ดข้าวก็จะถูกย่อยสลายไปตามกระบวนการทางชีวเคมีจนเกิดเป็นสารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กลง (oligosaccharide)  และน้ำตาลรีดิวซ์ (reducing sugar) นอกจากนี้ โปรตีนภายในเมล็ดข้าวก็จะถูกย่อยให้เกิดเป็นกรด   อะมิโนและเปปไทด์  รวมทั้งยังพบการการสะสมสารเคมีสำคัญต่าง ๆ เช่น แกมมาออริซานอล (gamma-orazynol)  โทโคฟีรอล (tocopherol)  โทโค ไตรอีนอล (tocotrienol)  และโดยเฉพาะ สารแกมมาอะมิโนบิวทิริกแอซิด (gamma-aminobutyric acid) หรือที่รู้จักกันว่า "สารกาบา"(GABA) 

GABA เป็นกรดอะมิโนที่ผลิตจากกระบวนการ decarboxylation ของกรดกลูตามิก (glutamic acid) กรดนี้จะมีบทบาทสําคัญในการทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท(neurotransmitter) ในระบบประสาทส่วนกลาง     นอกจากนี้ GABA ยังถือเป็นสารสื่อประสาทประเภทสารยับยั้ง (inhibitor) โดยจะทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมองที่ได้รับการกระตุ้น ซึ่งช่วยทำให้สมองเกิดการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย  อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อ (anterior pituitary) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (HGH) ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้ กล้ามเนื้อเกิดความกระชับ และเกิดสาร lipotropic ซึ่งเป็นสารป้องกันการสะสมไขมัน

           จากการศึกษาในหนู พบว่า การบริโภคข้าวกล้องงอกที่มีสาร GABA มากกว่าข้าวกล้องปกติ 15 เท่า จะสามารถป้องกันการทำลายสมอง  เนื่องจาก สารเบต้าอไมลอยด์เปปไทด์ (Beta-amyloid peptide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสูญเสียความทรงจำ (อัลไซด์เมอร์)   ดังนั้น จึงได้มีการนำสาร GABA มาใช้ในวงการแพทย์เพื่อการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ หลายโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคลมชัก เป็นต้น    นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยด้านสุขภาพกล่าวว่า  ข้าวกล้องงอกที่ประกอบด้วย GABA   มีผลช่วยลดความดันโลหิต  ลด LDL (Low densitylipoprotein)  ลดอาการอัลไซเมอร์  ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวพรรณดี ตลอดจนใช้บำบัดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลางได้


ข้าวกล้องงอกในตลาดญี่ปุ่น

ข้าวกล้องงอก (germinated brown rice) ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าในตลาดญี่ปุ่น

          บริษัท FANCL เป็นบริษัทผู้ผลิตข้าวกล้องงอกและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542   ปัจจุบันมีโรงงานผลิตข้าวกล้องงอก 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดนากาโน (Nagano)  และจังหวัดนาวากานา (Nawagana)   บริษัทนี้มีขั้นตอนการผลิตข้าวกล้องงอกที่ควบคุมคุณภาพเป็นอย่างดี  โดยหลังจากรับข้าวกล้องเข้าสู่โรงงานแล้วจะทำการตรวจสอบคุณภาพขั้นต้นด้วยตาเปล่าก่อนแล้วพักไว้ 2 วัน เพื่อให้เมล็ดข้าวมีความคงตัว   จึงเข้าสู่กระบวนการทำให้งอก เริ่มจากคัดแยกวัตถุดิบเอาสิ่งปลอมปนจำพวกกรวด หิน ดิน ทราย และเมล็ดแตกหักออกด้วยเครื่อง CCD sensor ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้ตรวจจับความผิดปกติของเมล็ดข้าวที่มีลักษณะพิการไม่สมประกอบ   

สุดท้ายก็เป็นการคัดแยกสีด้วยเครื่อง Color Sorter เพื่อแยกเอาเมล็ดที่มีสีผิดปกติออก ข้าวจะถูกทำให้งอกโดยเพาะในแท็งก์ทรงกระบอกความสูงประมาณ 15 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร จำนวน 6 แท็งก์ ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณน้ำให้เหมาะสมต่อการงอกอยู่ตลอดเวลา  หลังจากทิ้งให้งอกประมาณหนึ่งคืน ข้าวงอกที่ได้จะถูกทำให้แห้ง   ขั้นตอนนี้มีการตรวจเช็คการงอกของข้าวโดยการวัดกิจกรรมของเอนไซม์ในเมล็ดข้าว รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดข้าวงอกเพื่อคัดเมล็ดที่แตกหักเสียหายด้วยตะแกรงร่อน คัดแยกเมล็ดที่งอกไม่สมบูรณ์และเมล็ดที่มีสีผิดปกติออกจากนั้นจึงเข้าสู่การบรรจุลงถุงพลาสติกปิดผนึกด้วยเครื่องจักร ในห้องปลอดเชื้อ (Clean room)

บทสรุป

          จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในด้านการผลิตข้าวมาอย่างยาวนาน เมื่อข้าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากข้าวกล้องธรรมดามาเป็นข้าวกล้องสดและข้าวกล้องงอก ทำให้เก็บรักษาข้าวกล้องไว้ได้นาน นอกจากนี้ยังได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นและจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น นับว่าเป็นนวัตกรรมการผลิตที่ต้องหันมามองและให้ความสนใจกันเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน เป็นการปรับตัวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับข้าวและใช้ประโยชน์จากข้าวอย่างคุ้มค่า  ซึ่งจะเป็นการช่วยพยุงราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ  ชาวนาไทยก็จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากกว้าง ๆ กันบ้าง

ที่มา กฤษณา  สุดทะสาร
http://ubn.ricethailand.go.th/document/kitsana/brown/brown.htm



 
 
 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มกราคม 2013, 15:22:43
การใช้ประโยชน์จากฟางข้าว

- ใช้เป็นวัสดุการเกษตร เช่น ปุ๋ย ใช้ปรับปรุงดิน
- ใช้ทำกระดาษ
- ใช้ทำผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน
- ใช้ผลิตสารให้ความหวาน ไซลิทอล (Xylitol)
- ใช้ผลิตแอลกอฮอล์เพื่อเป็นพลังงานทดแทน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มกราคม 2013, 15:36:11
รำข้าว  
 รำข้าว คือ ส่วนที่ได้จากการขัดข้าวกล้องให้เป็นข้าวสาร ซึ่งประกอบด้วยชั้นเยื่อหุ้มเมล็ด และคัพภะ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้จากกระบวนการสีข้าว โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รำหยาบ (bran) ซึ่งได้จากการขัดผิวเมล็ดข้าวกล้อง และรำละเอียด (polish) ได้จากการขัดขาวและขัดมัน นอกจากนี้รำข้าวยังมีคุณค่าทางอาหารสูง ได้แก่ โปรตีน ไขมัน ใยอาหาร เถ้า วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ ดังนั้นจึงมีการนำรำข้าวมาใช้ประโยชน์ ได้แก่


1. เป็นอาหาร รำข้าวทั้งชนิดรำหยาบและรำละเอียดสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลากหลายชนิด เช่น
   - น้ำมันรำข้าว เป็นน้ำมันสำหรับบริโภคที่มีคุณภาพดี เนื่องจากมี Cholesterol ต่ำ
     จัดเป็นน้ำมันบริโภคที่มีคุณภาพดี เนื่องจากมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวจำนวนมากถึง 77% โดยในจำนวนนี้เป็นกรดไขมันที่จำเป็น 31.7% เป็นแหล่งที่ดีของวิตามินอี และยังมีสาร oryzanol มีสมบัติเป็นสารกันหืน และมีประโยชน์ในการช่วยเร่งการเจริญเติบโตรวมทั้งช่วยให้ระบบการหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น น้ำมันรำข้าว เมื่อนำมาปรับปรุงคุณสมบัติด้วยกระบวนการเคมีฟิสิกส์ สามารถผลิตเป็นกะทิแปลงไขมัน ผลิตสบู่และเนยขาวเอนกประสงค์
    - ไขข้าว สามารถใช้เป็นสารเคลือบในอาหาร เช่น เคลือบช็อกโกแลตและผลไม้
      มีการตรวจพบไข (wax) ในน้ำมันรำข้าวที่ยังไม่กำจัดไข 3.5% ใช้ไขพืชเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารขัดเงา เครื่องสำอาง และสารเคลือบผักผลไม้
   - อาหารเสริม Gamma-oryzanol, Lecithin วิตามิน E ใช้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
   - เป็นส่วนผสมในอาหารเด็กอ่อนโดยใช้รำละเอียดมาผสมในอาหารเด็กอ่อนเพื่อช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
   - เลชิทิน สารเหนียว(gum) หรือเลชิทินดิบ (crude lecitin) ที่แยกจากน้ำมันรำข้าวดิบมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นฟอสโฟลิพิด มีศักยภาพที่จะนำไปผลิต เป็นอีมัลซิไฟล์เออร์ ในอุตสาหกรรมอาหารและยังใช้เป็น หรืือสารเสริมสุขภาพได้ เลชิทินในน้ำมันรำข้าวมีประมาณ 0.512% และมีคุณสมบัติเทียบได้กับเลชิทินจากถั่วเหลือง ทั้งนี้ปริมาณเลชิทินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกระบวนการสกัดและพันธุ์ข้าวด้วย


2. เป็นอาหารสัตว์ รำข้าวทั้งชนิดรำหยาบและรำละเอียดสามารถนำมาผสมในอาหารสัตว์ได้
 

3. ใช้ในเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว โดยนำน้ำมันรำข้าวมาเป็นส่วนผสม ในการผลิตเครื่องสำอาง และครีมบำรุงผิว หรือโลชั่นต่างๆ เนื่องจากในน้ำมันรำข้าวมีสารแกมม่าออริซานอล และวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยบำรุงผิวพรรณ ให้ความชุ่มชื้น และ ชะลอความเหี่ยวย่น



 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มกราคม 2013, 15:44:38
แกลบ  

 แกลบ (Rice hull) เป็นผลพลอยได้จากการสีข้าว เป็นส่วนผสมของเปลือกเมล็ด กลีบเลี้ยง ฟาง และขั้วเมล็ด ประมาณ 20-24% ของข้าวเปลือก องค์ประกอบส่วนใหญ่ของแกลบได้แก่ เซลลูโลส และเฮมิเซลลูโลส ประมาณ 68% ลิกนิน 19.2-24.5% เถ้า 13.2-29.0% (ประกอบด้วยซิลิก้า 86.9-97.3%) โดยโรงสีสามารถนำแกลบมาใช้ประโยชน์ได้หลายลักษณะ เช่น
         นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงหรือแปรรูปเป็นพลังงานที่มีมูลค่าเพิ่มได้  เช่น  การอัดให้เป็นแท่งเชื้อเพลิงแข็งเพื่อใช้แทนฟืนหรือถ่าน  การแปรรูปโดยกรรมวิธีที่เรียกว่าการกลั่นสลาย (pyrolysis) เพื่อให้ได้ก๊าซและน้ำมัน การแปรรูปเป็นก๊าซเชื้อเพลิง (gasifieation)แกลบเป็นสารอินทรีย์อย่างหนึ่งที่ไม่เน่าสลาย  และมีค่าความร้อนสูงพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดี  ในการใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงมีข้อเสียเพียงเล็กน้อย  เช่น  เมื่อทำการเผาไหม้แล้วแกลบจะให้ปริมาณ ใช้สกัดสารซิลิก้าเถ้าสูงถึงร้อยละ 16-20 แต่เถ้าจากแกลบสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  เช่น  ผลิตวัสดุก่อสร้างหรือผงอัด การแปรรูปแกลบให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าเพิ่มมีดังนี้
         1) อัดป็นแท่งเชื้อเพลิงแข็ง  ซึ่งสามารถใช้แทนฟืนได้  ทนทานกว่าไม้ฟืนทั่วไปประมาณ 1 เท่าและให้ความร้อนสูงสุดที่ใกล้เคียงกัน คือ  900°ซ  ทั้งนี้เพราะฟืนแกลบมีความหนาแน่นสูงกว่าฟืนไม้
         2) การกลั่นสลายแกลบ (Pyrolysis) คือการให้ความร้อนแก่สารอินทรีย์ที่ปราศจากออกซิเจนหรือที่มีอากาศจำกัด ทำให้สารอินทรีย์แตกตัวออกเป็นสารประกอบอื่นๆ หรือเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้งานได้  สารประกอบที่สำคัญที่ได้จากการกลั่นสลาย  ได้แก่  ก๊าซ  น้ำมัน  ถ่านสุก (char)  สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดี
         3) การผลิตก๊าชเชื้อเพลิง (Gasification) มีปฏิกิริยาใกล้เคียงกับการกลั่นสลายแต่เกิดที่อุณหภูมิสูงกว่า ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในสภาพก๊าชไฮโดรเจนและคาร์บอนมอนอกไซด์์เป็นส่วนใหญ่ ปฏิกิริยาของการผลิตก๊าชเชื้อเพลิงเกิดได้ทั้งในบรรยากาศของออกซิเจน และคาร์บอนมอนอกได์์เป็นส่วนใหญ่ ปฏิกิริยาของการผลิตเชื้อเพลิงเกิดได้ทั้งในบรรยากาศของออกซิเจนบริสุทธิ์ หรืออากาศธรรมดา ซึ่งในบรรยากาศของออกซิเจนจะให้ผลิตภัณฑ์ก๊าชที่มีค่าความร้อนสูงกว่าในบรรยากาศของอากาศธรรมดา และกระบวนการผลิตก๊าชเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกิจการต่างๆ เช่น ผลิตไอน้ำ เดินเครื่องยนต์ หรือผลิตไฟฟ้า เป็นต้น


-ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน ปัจจุบันนี้มีโรงสีข้าวในประเทศไทยหลายแห่งที่ติดตั้งเครื่องผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากแกลบ เพื่อใช้ผลิตไอน้ำ และผลิตไฟฟ้า
- ใช้เป็นวัสดุการเกษตร
- ใช้สกัดสารซิลิก้า (Silica)
- ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น Concrete block
- ใช้เป็นสารสำหรับใช้ในการกรอง (Activated carbon)
 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวแล
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 30 มกราคม 2013, 22:20:57
ลุงฟาง ทำนาโดยไม่ต้องทำนา
หลักปฏิบัติ 4 ข้อ ใจความสำคัญอันว่าด้วย
(1) ไม่ไถพรวนดิน
(2) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก
(3) ไม่จำกัดวัชพืช ไม่ว่าด้วยการถากถางหรือใช้ยากำจัดวัชพืช
(4) ไม่ใช้สารเคมี ดูจะเป็นสิ่งไม่ทันกาล
เพราะถึงจะมีข้อดี
1.) สมดุลทางธรรมชาติไม่ถูกทำลาย
2.) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อคนและสัตว์
3.) สามารถปรับปรุงการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมให้ดีขึ้น
4.) ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพปราศจากสารพิษ 5.) ลดต้นทุนการผลิต และใช้แรงงานน้อย)

แต่ก็มีสิ่งที่เป็นจุดอ่อนหรือข้อเสียเช่นกัน
1.) ต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ
2.) เห็นผลช้า ไม่รวดเร็วทันใจ
3.) เกษตรกรต้องมีความพยายามและมีความอดทน
4.) ผลิตผลไม่สวยงามเมื่อเทียบกับการเกษตรสมัยใหม่
5.) ไม่สามารถผลิตเป็นการค้าได้ทีละมากๆ
ซึ่งข้อเสียที่ว่า ส่งผลบรรษัทให้ข้ามชาติ และในชาติหลายรายผลิตสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นการเติบโตของพืชผลให้แก่เกษตรกรออกขายสู่ตลอดอย่างทันท่วงที
ที่เคยเห็นสภาพของประเทศญี่ปุ่นมา ก็เหมาะกับการไม่ไถพรวนดินอยู่ (แต่ก็ไม่เห็นทำกัน) เพราะหน้าหนาวต้นไม้ใบหญ้าแทบทุกชนิดใบแห้งร่วงโกร๋นหมดต้นยกเว้น ต้นสน และต้นไม้บางอย่างไม่กี่ชนิด หญ้าส่วนมากแห้งตาย บางชนิดแทบไม่ทันมีเมล็ดแก่ก็ยืนต้นแห้งตาย เพราะทนสภาพอากาศเย็นจัดไม่ได้ แมลง สัตว์ต่างๆฝังตัวอยูในดิน เมื่อหมดหนาวจึงเหมาะจะหว่านเมล็ดพืชได้ทันทีเพราะดินร่วนซุย แต่ปกติเกษตรกรญี่ปุ่นจะเพาะกล้าในเรือนเพาะไว้รอฤดูกาลต่อไปอยู่แล้ว
คิดดูสิต้นไม้ที่มีเหมือนกัน อย่างต้นหม่อนบ้านเราเขียวทั้งปี แต่บ้านเขาแห้งร่วงหล่นเหลือแต่กิ่งในหน้าหนาว หญ้าบ้านเราออกดอกทั้งปีทั้งชาติ แต่หญ้าบ้านเขาออกตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ ต่อฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง สามฤดูนี้กินเวลาเพียง 6-7เดือน ฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่ ถ้าโชคดีมีดอกมีเมล็ดแก่ก่อนหนาวมา ก็มีลูกหลานไว้แพร่พันธุ์  คิดว่าเมล็ดวัชพืชที่ตกลงสะสมในดินแต่ละปีคงน้อยกว่าบ้านเราเป็นแน่
ถ้าเป็นอย่างนี้ บ้านเรายังไงก็คงต้องใช้ยาฆ่าหญ้าอยู่ดี เลี่ยงไม่ได้ ถ้าจะทำแบบไม่ไถพรวน ดีกับบริษัทขายยาอย่างที่ว่า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวแล
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 16:24:27
ลุงฟาง ทำนาโดยไม่ต้องทำนา
หลักปฏิบัติ 4 ข้อ ใจความสำคัญอันว่าด้วย
(1) ไม่ไถพรวนดิน
(2) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก
(3) ไม่จำกัดวัชพืช ไม่ว่าด้วยการถากถางหรือใช้ยากำจัดวัชพืช
(4) ไม่ใช้สารเคมี ดูจะเป็นสิ่งไม่ทันกาล
เพราะถึงจะมีข้อดี
1.) สมดุลทางธรรมชาติไม่ถูกทำลาย
2.) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อคนและสัตว์
3.) สามารถปรับปรุงการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมให้ดีขึ้น
4.) ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพปราศจากสารพิษ 5.) ลดต้นทุนการผลิต และใช้แรงงานน้อย)

แต่ก็มีสิ่งที่เป็นจุดอ่อนหรือข้อเสียเช่นกัน
1.) ต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ
2.) เห็นผลช้า ไม่รวดเร็วทันใจ
3.) เกษตรกรต้องมีความพยายามและมีความอดทน
4.) ผลิตผลไม่สวยงามเมื่อเทียบกับการเกษตรสมัยใหม่
5.) ไม่สามารถผลิตเป็นการค้าได้ทีละมากๆ
ซึ่งข้อเสียที่ว่า ส่งผลบรรษัทให้ข้ามชาติ และในชาติหลายรายผลิตสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นการเติบโตของพืชผลให้แก่เกษตรกรออกขายสู่ตลอดอย่างทันท่วงที
ที่เคยเห็นสภาพของประเทศญี่ปุ่นมา ก็เหมาะกับการไม่ไถพรวนดินอยู่ (แต่ก็ไม่เห็นทำกัน) เพราะหน้าหนาวต้นไม้ใบหญ้าแทบทุกชนิดใบแห้งร่วงโกร๋นหมดต้นยกเว้น ต้นสน และต้นไม้บางอย่างไม่กี่ชนิด หญ้าส่วนมากแห้งตาย บางชนิดแทบไม่ทันมีเมล็ดแก่ก็ยืนต้นแห้งตาย เพราะทนสภาพอากาศเย็นจัดไม่ได้ แมลง สัตว์ต่างๆฝังตัวอยูในดิน เมื่อหมดหนาวจึงเหมาะจะหว่านเมล็ดพืชได้ทันทีเพราะดินร่วนซุย แต่ปกติเกษตรกรญี่ปุ่นจะเพาะกล้าในเรือนเพาะไว้รอฤดูกาลต่อไปอยู่แล้ว
คิดดูสิต้นไม้ที่มีเหมือนกัน อย่างต้นหม่อนบ้านเราเขียวทั้งปี แต่บ้านเขาแห้งร่วงหล่นเหลือแต่กิ่งในหน้าหนาว หญ้าบ้านเราออกดอกทั้งปีทั้งชาติ แต่หญ้าบ้านเขาออกตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ ต่อฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง สามฤดูนี้กินเวลาเพียง 6-7เดือน ฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่ ถ้าโชคดีมีดอกมีเมล็ดแก่ก่อนหนาวมา ก็มีลูกหลานไว้แพร่พันธุ์  คิดว่าเมล็ดวัชพืชที่ตกลงสะสมในดินแต่ละปีคงน้อยกว่าบ้านเราเป็นแน่
ถ้าเป็นอย่างนี้ บ้านเรายังไงก็คงต้องใช้ยาฆ่าหญ้าอยู่ดี เลี่ยงไม่ได้ ถ้าจะทำแบบไม่ไถพรวน ดีกับบริษัทขายยาอย่างที่ว่า

ใช่แล้วครับ ประเทศในเขตหนาวพืชบางอย่างก็ไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตได้  อย่างข้าว ประเทศจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ก็พยายามส่งเสริมให้ ชาวไทย กัมพูชา ลาว พม่า อินเดีย ปลูกกันเพราะอยู่ในเขตร้อน  จีนยังหาเช่าพื้นที่ทำการเกษตรใน ลาว กัมพูชา สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะทางเหนือ ภาคกลาง อีสานสามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปีในเขตชลประทาน  เกษตรธรรมชาติแม้ไม่ได้เป็นวิธีที่ใหม่  แต่ก็ยังไม่ค่อยมีความนิยม มีข้อจำกัดหลายด้าน หากจะทำแบบพออยู่พอกินก็พอทำได้ แต่หากทำเป็นอาชีพเพื่อขายผลผลิตก็อาจจะยาก เพราะผลผลิตที่ได้อาจไม่มากพอและใช้เวลานาน  อย่าง ดร.แสวงที่ทำนาไม่ไถ ก็ใช้วิธีการตัดหญ้าให้สั้นและปล่อยน้ำเข้าให้ท่วมเพื่อควบคุมวัชพืชแต่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าดินจะฟื้นฟูสภาพได้ ข้าวที่ขึ้นก็ขึ้นปะปนไปด้วยวัชพืช  บางท่านที่ทำก็ใช้วิธีหว่านเมล็ดข้าวพร้อมเมล็ดถั่วเขียวเพื่อให้ ต้นถั่วเขียวขึ้นคลุมดินเพื่อช่วยลดวัชพืชที่จะเกิดขึ้น ผมตอนนี้ทำนาหว่านน้ำตมก็ยังต้องไถและใช้ยาคุมหญ้าอยู่ครับ  อย่าง อ.ชัยพร ชาวนาเงินล้านก็ทำนาหว่านน้ำตมเหมือนกันก็ยังต้องใช้ยาคุมหญ้าอยู่ดีครับ   หากจะไม่ใช้ยาคุมหญ้าก็ต้องเปลี่ยนไปทำนาโยน หรือนาดำ ครับ หากมีข้อมูลอะไรมาแบ่งปันกันได้ครับ กระทู้นี้ไม่หวงครับ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดกันได้ครับเชิญทุกท่านครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 16:44:39
เคยเข้าไปดูเว็ปเกี่ยวกับพิธี  Otaue Shinji  ของชาวญี่ปุ่นครับประทับใจในพิธีที่ให้เด็ก  ๆได้มีส่วนร่วมในพิธี เพื่อปลูกฝังและสืบต่อวัฒนธรรม ชุมชนได้มีส่วนร่วม เด็ก ๆ ได้รู้จักการทำนาแบบโบราณแม้จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการปลูกข้าวแล้ว


พิธีแรกนาขวัญ (Otaue Shinji) เป็นพิธีดำนาที่จัดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคในประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับที่ Sumiyoshi Taisha นี้เป็นพิธีที่รักษารูปแบบดั้งเดิมจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำที่ทุ่งนาในบริเวณศาลทุกๆวันที่ 14 เดือนมิถุนายนของทุกปี มีเรื่องเล่ากันว่าสมเด็จพระจักรพรรดินี Shingu Kogo เทพเจ้าประจำศาล Sumiyoshi Taisha ได้บัญชาให้ผู้คนทำนา และก่อนดำนา จะต้องบวงสรวงดวงวิญญาณของเทพยดาที่สิงสถิตย์ในต้นกล้า ด้วยการขับร้องและฟ้อนรำ เพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตงอกงามออกดอกออกผลต่อไปในฤดูใบไม้ร่วง ในวันพิธี หญิงดำนาในชุดกิโมโนะสีขาวคาดแดง สรวมหมวกฟางแบนๆ (Ueme) และเด็กๆในชุดกิโมโนะโบราณ (Chigo) จะมารับพรที่ศาลเอกก่อนที่จะเรียงแถวไปที่ทุ่งนา รับต้นกล้าที่ผ่านการทำพิธีแล้วเพื่อเตรียมนำไปปลูก ก่อนหน้านั้น พระโคจะถูกพามาเพื่อดำนา ในขณะที่บนเวทีและรอบๆทุ่งนา นักฟ้อนก็จะร่ายรำในท่าต่างๆไปพร้อมเพรียงกัน หลังจากนั้น หญิงดำนาก็จะนำต้นกล้าลงไปปลูกในนา บนเวทีจะเปลี่ยนเป็นการร่ายรำของหญิงสาวชุดกิโมโนะ บนหมวกมีดอกไอริสประดับ (Yaotome) และระบำอื่นๆตามลำดับ จนกว่าการดำนาจะเสร็จสิ้น ข้าวที่ได้จากนาที่ดำทุกปีในฤดูใบไม้ร่วงจะถูกเก็บเกี่ยวไปถวายเทพเจ้าและใช้ในพิธีกรรมต่างๆของศาลตลอดทั้งปี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 19:25:15
 :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 21:34:58
เย็นนี้ไปนาครับไปสำรวจแปลงนาหลังจากที่ฝนตกเต็ม ๆ เกือบ 2 วัน 2 คืน น้ำท่วมแปลงนาข้าวโชคดีที่ข้าวพอเริ่มสูงขึ้นบ้างแล้วเลยไม่จมน้ำทั้งหมด และระบายออกได้ตอนนี้ก็ยังระบายออกเรื่อย ๆ อยู่ เมื่อมีน้ำหอยเชอรี่ก็เริ่มออกอาละวาด ข้าวในนาเสียหายบ้างเป็นหย่อม ๆ โชคดีที่ผมหว่านข้าวเยอะพอสมควรจึงมีพอที่จะเอามาปลูกซ่อมในส่วนที่เสียหาย ที่จริงจะต้องฉีดยาคุมหญ้าเมื่อ 2-3 วันก่อนแต่ฝนตกไม่สามารถทำได้พรุ่งนี้หากระบายน้ำออกได้หมดก็จะจ้างเค้ามาพ่นยาคุมหญ้าครับ  ผมยังโชคดีที่ข้าวไม่เสียหายมากชาวนาระแวกใกล้เคียงพึ่งหว่านไปก็มี บ้างก็น้ำยังท่วมขังอยู่ ยิ่งน้ำท่วมมาก ๆ ยิ่งเสียหายจากหอยเชอรี่มากหากระบายไม่ได้หรือไม่ได้ใส่กากชากำจัดหอย แต่ก็มีชาวนาบางคนยังใช้ยาน้ำต้องห้ามอยู่ บ้างก็ยากำจัดแมลงเพราะมีราคาถูกกว่ากากชาหากใช้ในปริมาณจำนวนไร่เท่ากัน แต่ก็อันตรายกับคนใช้และคนที่ทำนาระแวกใกล้เคียง  ต้นข้าวจะปลอดภัยจากหอยเชอรี่เมื่อข้าวมีอายุมากกว่า 25-30 วันขึ้่นไปเพราะใบและลำต้นจะเริ่มแข็งหอยเชอรี่จะไม่ชอบกินแล้ว

รูปถ่ายเย็นวันนี้ครับ หากใครทำนาอาจพกกล้องถ่ายรูปไว้ก็ดีครับ ไว้บันทึกการเปลี่ยนแปลงในนาข้าว ผมบางทีก็ถ่ายที่นาหล่มไว้ทำนารอบต่อไปจะได้ดันดินมาบริเวณนี้มาก ๆ หน่อยจะได้ไม่หล่มในปีถัดไป  กล้องถ่ายรูปไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงก็ได้ครับ ผมยังใช้กล้องราคาพันกว่าบาทพกง่าย น้ำหนักเบา  บางทีอาจเปื้อนเลอะบ้างเป็นธรรมดาหากกล้องแพง ๆ อาจไม่คุ้มค่าเพราะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 21:43:15
นาแปลงข้างเคียงระดับน้ำยังสูงอยู่เลย สำหรับนาแปลงของผมเมื่อดินแห้งจะสังเกตุว่าจะมีหญ้าขึ้นแล้วอย่างหญ้าหนวดปลาดุก  หากไม่พ่นยาคุมหญ้าจะทำให้เกิดวัชพืชขึ้นมากสำหรับการทำนาหว่านน้ำตม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 22:36:39
เอ็นโดซัลแฟน 35% มหันตภัยร้ายของสัตว์น้ำตัวล่าสุด

ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา หอยเชอรี่ถือเป็นศัตรูพืชที่ระบาดเป็นอย่างมากในนาข้าว หอยเชอรี่จะกัดกินและทำลายต้นข้าวในระยะแตกกอในช่วงเวลากลางคืน ทำความเสียหายให้กับเกษตรกรทุกพื้นที่  ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องใช้ยากำจัดสัตว์ ศัตรูพืชที่ว่านี้ ให้หมดไปจากนาข้าว สารที่ว่านี้มีชื่อสามัญว่า “เอ็นโดซัลแฟน 35%” เป็นสารเคมีในกลุ่ม อร์อแกโนคลอรีนสารเคมี สำหรับฉีดพ่นกำจัดแมลงจำพวก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย แมลงหวี่ขาว แต่ในนาข้าว สารตัวนี้เป็นที่นิยมที่จะนำมากำจัดหอยเชอรี่ กันอย่างแพร่หลาย ด้วยความเป็นพิษที่ สามารถไปยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดแดง ในสัตว์ที่มีเลือดเป็นสีแดงทุกชนิดเมื่อสารนี้เจือปนไปในแหล่งน้ำ ทั้งหอย ปลา ปู ปลาไหล กบ เขียด หรือแม้กระทั่งงู ที่เลื้อยลงไปในแหล่งน้ำที่มีสารตัวนี้อยู่ ก็ตายไม่เหลือตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมากรมวิชาการเกษตรตรวจพบการปนเปิ้อนของสารเอ็นโอซัลแฟนในปริมาณที่สูงมาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า แม่น้ำเจ้าพระยา เส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย มีสารเจ้าตัวที่ว่านี้ปนเปิ้อนไปทั่วสารพิษตกค้างของสารเอ็นโดซัลแฟนนั้น ยังสามารถถ่ายทอดจาก แม่ สู่ ลูกได้โดยผ่านทางน้ำนมได้อีกทาง ดังนั้น ในเดือนตุลาคมปี 2546 กรมวิชาการเกษตรจึงประกาศห้ามนำเข้า และผลิต สารเอ็นโดซัลแฟนอีกต่อไป เพราะเหตุที่มันก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อแหล่งน้ำ และมีพิษตกค้างสูงมาก  สารเอ็นโดซัลแฟน จึงกลายเป็นสารต้องห้ามสำหรับประเทศไทยเป็นรายล่าสุดในอันดับที่ 96

ศึกษารายละเอียดสารต้องห้ามได้ที่ http://www.alro.go.th/alro/files/sor_lor_mor/document/10-Publications/96%20-%2010.pdf (http://www.alro.go.th/alro/files/sor_lor_mor/document/10-Publications/96%20-%2010.pdf)
 





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 22:55:21
ยิ่งทำนา ยิ่งศึกษา ยิ่งทำให้รู้ถึงผลร้ายของการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า จนการทำนาครั้งต่อไปผมจะเริ่มทำนาปลอดสารพิษ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นการทำนาโยน หรือไม่ก็นาดำ แทนนาหว่านน้ำตมซึ่งหลีกเลี่ยงพวกยาคุมวัชพืชได้ยากเพราะต้นข้าวขึ้นพร้อมหรือพอ ๆ กับวัชพืชทำให้โตทันกันต่างจากการทำนาวิธีอื่น นาข้าง ๆ ผมยังใช้สารเคมีอันตรายอยู่เลยยากำจัดหอยใช้ยาอีโต้ ซึ่งห้ามขายแล้ว บางทียาก็ไหลตามรูรั่วของคันนาเข้ามาแปลงนาผมซึ่งผมก็ต้องระวังพอสมควรอีกหน่อยอาจมีการทำคันนาคอนกรีตหรือไม่ก็ล้อมรั้วก็ได้ครับ ถึงใช้งบประมาณมากแต่ก็คุ้มกว่าการเสียค่ารักษาพยาบาลตัวเองและคนในครอบครัวครับ เมื่อกี้ได้เอายาฆ่าแมลงมาให้ศึกษาแล้ว  มาดูยากำจัดวัชพืชแต่ละชนิดกันครับว่ามีอะไรบ้างและมีโทษอย่างไรต่อร่างกาย

ทู โฟ - ดี
(2,4-D)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช phenoxy ประเภทดูดซึม ออกฤทธิ์กำจัดวัชพืชใบกว้างภายหลังงอกทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (oral LD 50) 375 มก./กก. ทางผิวหนังมากกว่า 1,600 มก./กก.
วัชพืช ที่กำจัดได้ ผักปอด ผักตบชวา ตาลปัตรยายชี พังพวย ผักบุ้ง ผักโขม โทงเทง ผักเบี้ยหมู ผักเบี้ยหิน หญ้ายาง ต้นไม้กวาด กก กกขนาก แห้วหมู เทียนนา โสน สะอึก และวัชพืชใบกว้างอื่น ๆ
พืช ที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย หน่อไม้ฝรั่ง สตรอเบอร์รี่ สนามหญ้าและบริเวณที่ไม่ได้ทำการเกษตร
สูตรผสม 2,4-ดี มีสูตรผสมหลายอย่าง คือ
- ชนิด sodium และ ammonium salts ปกติจะอยู่ในรูปผงละลายน้ำ (WP) มีความเข้มข้น 80-95%
- ชนิด amine salts มีความเข้มข้น 72% อีซี
- ชนิด highly volatile esters (Methyl , Ethyl , Butyl , Isopropyl) มีความเข้มข้น 72% อีซี
- ชนิด Low volatile esters (Butoxy ethanol , propylene glycol , Butoxy propyl)
อัตราใช้และวิธีใช้ 2,4-ดี Na Salt ใช้อัตรา 30-40 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ชนิด amine salt และ high volatile esters ใช้ อัตรา 30-60 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ใบวัชพืชให้ทั่วบริเวณที่ต้องการกำจัดวัชพืช ควรศึกษารายละเอียดจากฉลากเพิ่มเติมก่อนใช้
อาการเกิดพิษ ผู้ ได้รับพิษจะมีอาการ ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร ตาพร่า พูดไม่ชัด น้ำลายออกมาก กล้ามเนื้อกระตุก ปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งกระตุ้นต่ำ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กล้ามเนื้อเปลี้ย ต่อมาอาจชัก หมดสติและตายเนื่องจากหัวใจและระบบเลือดล้มเหลว
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าปากหรือมีอาการเกิดพิษรุนแรงให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ รักษาตามอาการ ให้คนไข้กินถ่านยาแอ็คติเวทเต็ด ซาร์โคล แล้วล้างท้องด้วย ไอโซโทนิค ซาลีน หรือ โซเดียม ไบคาร์โบเนท 5% ควบคุมการเต้นของหัวใจ
ข้อควรรู้ - ห้ามใช้กับฝ้าย มะเขือเทศ องุ่น ไม้ผลและไม้ประดับ
- อย่าฉีดพ่นใกล้ต้นพืชที่ปลูก
- ในดินที่มี 2,4-ดี มากเกินไป จะทำให้เมล็ดหยุดงอกและหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราว
- ก่อนที่จะใช้เครื่องมือฉีดพ่น 2,4-ดี ไปใช้ฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชอย่างอื่น ควรล้างทำความสะอาดอย่างละเอียดก่อนนำไปใช้
- ใช้ผสมฉีดพ่นร่วมกับปุ๋ยได้

อะเซ็ทโตคลอร์
(acetochlor)
การออกฤทธิ์ เป็นสาร acetoalinide ที่ใช้กำจัดวัชพืชก่อนงอก (pre emergence) และเจาะจงพืช (selective)
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 2,953 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ หญ้าและวัชพืชใบแคบเกือบทุกชนิด
พืชที่ใช้ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และข้าวฟ่าง
สูตรผสม 50% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ตามคำแนะนำบนฉลาก สามารถใช้กำจัดวัชพืชก่อนงอก คลุกดินก่อนปลูกหรือกำจัดวัชพืชเริ่มงอกก็ได้
ข้อควรรู้ - ส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมเข้าทางหน่อที่เริ่มงอก
- ออกฤทธิ์ได้ดีกับดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูง
- ประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชอยู่ได้นาน 8-12 สัปดาห์
- ผสมใช้ร่วมกับสารกำจัดวัชพืชอื่น ๆ หรือปุ๋ยน้ำได้

อะซิฟลูออร์เฟน – โซเดียม
(acifluorfen – sodium)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช diphenyl ether ประเภทเจาะจงพืช ใช้กำจัดวัชพืชได้ทั้งก่อนงอก และภายหลังงอก
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,370 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก. ทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างและหญ้าบางชนิด
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ฝ้าย มะเขือเทศ ในนาข้าวและข้าวสาลี
สูตรผสม 21.4% เอสแอล
อัตราใช้และวิธีใช้ ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ยาแก้พิษโดยเฉพาะยังไม่เป็นที่ทราบกัน รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - แสงแดดจัดจะช่วยให้สารเคมีนี้มีฤทธิ์เพิ่มขึ้น
- ห้ามผสมกับน้ำมัน surfactant ปุ๋ยน้ำและสารกำจัดศัตรูพืชอย่างอื่น
- ประสิทธิภาพจะลดลง ถ้าฝนตกภายหลังจากใช้ 6 ชั่วโมง
- ใช้กำจัดวัชพืชภายหลังงอกจะให้ผลดีมากกว่า
- กำจัดวัชพืชใบกว้างได้ดีกว่าหญ้าหรือวัชพืชใบแคบ
- ใช้กับพืชที่แนะนำได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
- วัชพืชจะตายภายใน 3-5 วันภายหลังจากใช้

อะลาคลอร์(alachlor)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช anilide ที่ใช้ทางดินและเป็น protein synthesis inhibitor ซึ่งให้ผลในทางควบคุมเมล็ดพืชมิให้งอก (pre emergence)
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,800 มก./กก. ทางผิวหนัง 13,300 มก./กก. ทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืช ที่กำจัดได้ ใช้ควบคุมมิให้เมล็ดพืชงอก เช่น หญ้าขน หญ้าตีนนก หญ้าปากควาย หญ้าปล้อง หญ้าข้าวนก หญ้าตีนไก่ หญ้ากุศลา หญ้าหางหมา ผักโขม ผักโขมหวาน หญ้าชันอากาศ วัชพืชใบแคบและใบกว้างอื่น ๆ
พืช ที่ใช้ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง หอม กระเทียม ผักตระกูลกะหล่ำ มะเขือเทศ และพริก
สูตรผสม 45.1% และ 48% อีซี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราแตกต่างกันออกไปตามชนิดของดินทั่ว ๆ ไปใช้อัตราระหว่าง 500-1,000 ซีซี ผสมกับน้ำ 60-80 ลิตร ฉีดพ่นคลุมดิน
อาการ เกิดพิษ หากถูกบริเวณผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง ถ้าเข้าตาทำให้ดวงตาระคายเคือง ถ้ากินเข้าไป ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และท้องเสีย
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนานประมาณ 15 นาที ถ้ากินเข้าไป อย่าทำให้อาเจียน ให้คนไข้รับประทานยาแอ็คติเวทเต็ด ซาร์โคล 2-4 ช้อนโต๊ะ ละลายกับน้ำ 1 แก้ว แล้วนำผู้ป่วยส่งแพทย์ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ให้ใช้ก่อนวัชพืชงอกหรือก่อนพืชที่ปลูกงอก
- ภายหลังการฉีดพ่น ถ้ามีฝนตกลงมาภายใน 10 วัน จะให้ผลดีมาก
- ใช้ผสมฉีดพ่นร่วมกับสารกำจัดวัชพืชอื่น ๆ ได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งปุ๋ย
- คงตัวอยู่ในดินได้นาน 6-10 สัปดาห์
- อย่าใช้กับดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงกว่า 10%

อะมีทรีน
(ametryn)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช triazine ประเภทเจาะจง กำจัดวัชพืชได้ทั้งก่อนงอก และภายหลังจากงอกแล้ว
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 1,110 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 8,160 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ หญ้าตีนนก หญ้าขน หญ้าตีนกา หญ้ากุศลา หญ้าชันอากาศ หญ้าหางหมา ผักโขม ผักโขมหวาน
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่อ้อย ส้ม สัปปะรด กล้วย ชา กาแฟ มันฝรั่ง
สูตรผสม 80% ดับบลิวพี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราแตกต่างกันออกไปตามชนิดพืช อยู่ในช่วงระหว่าง 320-640 กรัม/ไร่ ผสมกับน้ำ กวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นคลุมหน้าดินให้ทั่วพื้นที่เพาะปลูก ศึกษารายละเอียดวิธีการใช้เพิ่มเติมจากฉลาก
อาการ เกิดพิษ อาจทำให้ผิวหนัง ดวงตาและเยื่อบุต่าง ๆ เกิดอาการระคายเคือง หากกินเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เคลื่อนไหวไม่เป็นปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน หายใจขัดและอาจชักได้
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนัง ให้ล้างออกด้วยสบู่กับน้ำ ถ้าเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ เป็นเวลา 10 นาที ถ้ากลืนกินเข้าไป รีบทำให้คนไข้อาเจียนด้วยการใช้นิ้วล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่นหรือให้ ยา syrup of IPECAC ถ้า ยังไม่อาเจียนให้ล้างท้องคนไข้แล้วให้ทานถ่านยาแอ็คติเวทเต็ด ซาร์โคล ภายหลัง 4 ชั่วโมง ถ้ายังไม่หายให้คนไข้ถ่ายด้วยยาประเภทเกลือ ห้ามให้ยาถ่ายที่เป็นน้ำมัน แล้วรักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - สำหรับอ้อยและสัปปะรด ไม่ควรใช้เกินขนาดที่แนะนำ
- ห้ามใช้ฉีดพ่นยอดข้าวโพด
- ดูดซึมเข้าไปในต้นวัชพืชได้โดยผ่านทางราก ดังนั้น วัชพืชจึงงอกออกมาก่อนแล้วจึงตายในภายหลัง
- เข้ากันได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ และปุ๋ย

อะมีโทร(amitrol)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช triazole ประเภทไม่เจาะจงพืช ใช้กำจัดวัชพืช ภายหลังงอก โดยออกฤทธิ์ผ่านทางใบและราก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 5,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 10,000 มก./กก.(หนู)
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบ เช่น หญ้าต่าง ๆ และวัชพืชใบกว้าง ทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในสวนผลไม้ ตามคลองชลประทานและไหล่ถนน
สูตรผสม 80% เอสพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ฉีดพ่นที่ใบพืชให้ทั่วทั้งต้นพืช
การแก้พิษ ยังไม่ทราบยาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ให้ผลในการกำจัดเต็มที่ภายใน 2-3 สัปดาห์
- เป็นสารขัดขวางการสร้าง chlorophyll จึงทำให้ใบพืชเป็นสีขาวแดง และน้ำตาล
- วัชพืชที่มีอายุมากหรือต้นแก่กว่า จะดูดซึมสารนี้ได้ช้ากว่าพืชที่มีอายุอ่อนกว่า
- คงตัวอยู่ในดินได้นาน 2-4 สัปดาห์

อะนิโลฟอส(anilofos)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช organic phosphate ประเภทเจาะจงพืช ใช้กำจัดวัชพืชภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 1,000 มก./กก. (หนูตัวผู้) สำหรับหนูตัวเมีย 400 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ หญ้าและวัชพืชใบแคบอื่น ๆ
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในนาข้าว
สูตรผสม 30% อีซี , 1.5% และ % จี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก โดยใช้ในระยะที่วัชพืชมีใบอ่อน 2-5 ใบ หรือภายหลังจากปักดำแล้ว 4-12 วัน
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลา
- ห้ามใช้กับเมล็ดข้าวโดยตรง
- ดูดซึมเข้าไปในต้นวัชพืชได้โดยผ่านทางรากและใบ
- ภายหลังจากใช้แล้ว วัชพืชจะหยุดเจริญเติบโต เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ และตายในที่สุด
- เข้ากับสารกำจัดวัชพืชอย่างอื่นที่กำจัดวัชพืชใบกว้างได้ ยกเว้นสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง

อะซูแลม(asulam)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช carbamate ประเภทเจาะจงพืช ใช้กำจัดวัชพืช ภายหลังงอก โดยการดูดซึมผ่านทางใบและรากไปยังส่วนต่าง ๆ ของวัชพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 4,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 1,200 มก./กก. (หนู)
วัชพืชที่กำจัดได้ใช้กำจัดวัชพืชพวกหญ้าและวัชพืชใบกว้างทั้งชนิดล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในไร่อ้อย กล้วย ยางพาราและพื้นที่ ๆ ไม่มีการเพาะปลูก
สูตรผสม 40% แอลซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก โดยฉีดพ่นภายหลังวัชพืชงอกแล้ว ถ้ากำจัดวัชพืชในไร่อ้อย ควรใช้ในระยะที่อ้อยมีความสูงอย่างน้อย 12-36 นิ้ว
การแก้พิษ ยังไม่ทราบยาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วเมื่อมีอุณหภูมิสูง
- มีพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นกและปลาต่ำ
- อาจใช้ผสมฉีดพ่นร่วมกับสารกำจัดวัชพืชพวก phenoxy ได้

อะทราซีน
(atrazine)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช triazine ประเภทดูดซึมและกำจัดแบบเจาะจงวัชพืช ใช้ควบคุมการงอกของเมล็ดวัชพืชและกำจัดในระยะเริ่มงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,869 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 7,500 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคืองเล็กน้อย
วัชพืชที่กำจัดได้ หญ้าขจรจบ หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนกา หญ้าหางหมา ผักเบี้ยใหญ่ น้ำนมราชสีห์ หญ้ายาง หญ้าอื่น ๆ และวัชพืชใบกว้างล้มลุกบางชนิด
พืชที่ใช้ ข้าวโพด อ้อย สัปปะรด ข้าวฟ่าง หน่อไม้ฝรั่ง ต้นฝรั่ง มะคาเดเมีย
สูตรผสม 80% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ อัตราใช้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช โดยทั่วไปใช้อัตราระหว่าง 240-460 กรัม/ไร่ ผสมกับน้ำแล้วฉีดพ่นทับหน้าดินที่ปลูกพืช อย่างไรก็ดี ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากฉลากก่อนใช้
อาการเกิดพิษ ถ้าถูกผิวหนังอาจจะมีอาการระคายเคือง เช่นเดียวกับที่ดวงตาและเยื่อบุ หากกลืนกินเข้าไป อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หายใจขัด กล้ามเนื้อกระตุกและอาจเกิดอาการชักได้
การแก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยสบู่กับน้ำมาก ๆ ถ้าเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ 10 นาที ถ้ากินเข้าไป ทำให้คนไข้อาเจียนด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น หรือ syrup of IPECAC ถ้าคนไข้ไม่อาเจียน ให้ล้างท้องคนไข้ทันทีแล้วให้กินถ่านยาแอ็คติเวทเต็ด ซาร์โคล ภายหลัง 4 ชั่วโมง ถ้าคนไข้ยังไม่ถ่าย ให้ถ่านยาถ่ายประเภทเกลือ ห้ามใช้ยาถ่ายประเภทน้ำมัน ในช่วงนี้อย่าให้คนไข้ดื่มนม ครีมและอาหารที่มีไขมัน รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - เมื่อใช้เป็นสารกำจัดวัชพืชแบบไม่เจาะจงพืช ให้ใช้เมื่อวัชพืชงอกแล้วและยาวไม่เกิน 1 นิ้วครึ่ง
- เมื่อใช้เป็นสารกำจัดวัชพืชแบบเจาะจงพืช ให้ใช้ก่อนเพาะปลูกหรือระหว่างปลูก
- พืชที่อ่อนแอต่ออะทราซีน ได้แก่ พืชผักทั้งหมด เมล็ดธัญพืช แอสพารากัส ถั่วเหลือง ถั่วลิสงและมันฝรั่ง
- ฤทธิ์ตกค้างอยู่ในดินได้นานมากกว่า 1 ปี
- ความชื้นจะช่วยให้อะทราซีนออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

เบ็นซัลฟูรอน เม็ทธิล
(bensulfuron methyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช urea , sulphonyl urea : pyrimidine ประเภท เจาะจงวัชพืช ออกฤทธิ์ในทางดูดซึม และเข้าไปยับยั้งการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของวัชพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งก่อนงอกและในระยะเริ่มงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 10,985 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกในนาข้าวได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งหญ้าทรงกระเทียมด้วย
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าว
สูตรผสม 10% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก
อาการเกิดพิษ ทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคือง
การ แก้พิษ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาทันทีด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ นานอย่างน้อย 15 นาที แล้วไปหาแพทย์ ถ้ากินเข้าไป ต้องทำให้คนไข้อาเจียนทันทีด้วยการให้คนไข้ดื่มน้ำ 2 แก้วแล้วล้วงคอด้วยนิ้ว ถ้าคนไข้หมดสติ อย่าให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่คนไข้ แล้วไปหาแพทย์ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ห้ามใช้ผสมกับสารกำจัดวัชพืชอย่างอื่น

เบ็นซูไลด์(bensulide)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช organophosphorous ประเภทเจาะจงพืช ใช้กำจัดวัชพืชก่อนงอก หรือคุมวัชพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 770 มก./กก. (หนู) ทางผิวหนัง 3,950 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชพวกหญ้าล้มลุกต่าง ๆ และวัชพืชใบกว้าง
พืช ที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ฝ้าย ในสวนผัก เช่น กะหล่ำปลี แครอท กะหล่ำดอก หอม ผักกาดหอม แตงกวา พริกไทย มะเขือเทศและข้าว
สูตรผสม 50% อีซี และ 48% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราและวิธีตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ใช้ยาอะโทรปิน โดยอาจใช้ร่วมกับ PAM และ Toxogonin
ข้อควรรู้ - เป็นซูไลด์ มีฤทธิ์ตกค้างยาวนาน อาจเป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูกตามหลังพืชเดิมได้
- ห้ามใช้กับพืชที่ไม่ได้แนะนำบนฉลาก อย่างน้อยเป็นเวลา 18 เดือนภายหลังใช้
- ให้ผลในการควบคุมวัชพืชได้ประมาณ 6-8 เดือน

เบ็นตาโซน
(bentazone)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช benzothiadiazole ประเภทเจาะจงวัชพืช ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส และแทรกซึมเข้าไปในต้นพืชได้โดยผ่านส่วนที่มีสีเขียว ใช้กำจัดวัชพืชภายหลังงอก
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,100 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,500 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุก
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ถั่วเหลือง ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วลันเตา และมันฝรั่ง
สูตรผสม 48% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำฉีดพ่นที่วัชพืชภายหลังงอกแล้ว ในช่วงระยะที่มีใบ 2-10 ใบ
การแก้พิษ ยาแก้พิษโดยเฉพาะยังไม่รู้ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ประสิทธิภาพจะลดลงถ้ามีฝนตกภายหลังฉีดพ่นแล้ว 8 ชั่วโมง
- เมื่อใช้กับข้าว ให้ใช้เมื่อวัชพืชงอกโผล่พ้นระดับน้ำแล้วเท่านั้น
- ห้ามใช้กับถั่วเหลืองที่กำลังเจริญเติบโตในสภาพที่มีน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ อาจทำให้ถั่วเหลืองเป็นอันตรายได้
- อากาศยิ่งร้อนมากขึ้นเท่าใด ประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืชนี้ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น
- ผลในการกำจัดวัชพืชจะปรากฏให้เห็นภายหลังจากใช้แล้ว 2-7 วัน

โปรมาซิล(bromacil)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช uracil ประเภท เจาะจงในการกำจัดวัชพืชพวกหญ้าล้มลุกและวัชพืชยืนต้นอื่น ๆ ทั้งก่อนงอกและภายหลังงอก สามารถดูดซึมเข้าทางรากพืชได้อย่างรวดเร็ว ผ่านทางใบได้เล็กน้อยและเป็น Photosynthesis inhibitor
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 5,200 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 5,000 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง
วัชพืช ที่กำจัดได้ หญ้าแพรก หญ้าข้าวนก กก หญ้าตีนกา หญ้าตีนนก หญ้าปากควาย หญ้ารังนก หญ้าหางหมา หญ้าพง หญ้าชันอากาศ หญ้าขน สาบเสือ ผักโขม ผักเบี้ยใหญ่ แห้วหมู รวมทั้งวัชพืชใบแคบอื่น ๆ และวัชพืชใบกว้างทั้งชนิดล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ส้มเขียวหวาน มะนาว ไร่สัปปะรดและพื้นที่ไม่ได้ทำการเกษตร
สูตรผสม 80% ดับบลิวพี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 360-720 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ต้นและใบวัชพืชที่กำลังอยู่ในระยะเจริญเติบโต หรือที่พื้นดินทันทีที่ปลูกสัปปะรดเสร็จและก่อนที่จะแตกยอด
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ห้ามปลูกพืชอื่นบนพื้นที่ที่เคยใช้โปรมาซิลมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี
- น้ำฝนจะช่วยให้รากวัชพืชดูดโปรมาซิลเข้าไปในลำต้นได้เร็วขึ้น
- ในระหว่างฉีดพ่น ควรเขย่าถังฉีดพ่นอย่างสม่ำเสมอ
- ให้ใช้กับส้มที่มีอายุอย่างน้อย 4 ปี ขึ้นไป







หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 23:01:59
บิวตาคลอร์
(butachlor)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช acetamide ประเภท เจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งก่อนงอกโดยการคุมวัชพืชและภายหลังงอก ออกฤทธิ์ด้วยการเข้าไปยับยั้งขบวนการสังเคราะห์โปรตีน ภายในต้นพืช
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 3,300 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 13,000 มก./กก. ทำให้ผิวหนังและดวงตาระคายเคือง
วัชพืช ที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชได้ทั้งใบแคบและใบกว้าง รวมทั้งกกต่าง ๆ เช่น หญ้านกสีชมพู แห้วทรงกระเทียม ขาเขียด ผักปอดนา ผักแว่น พังพวย หญ้าหนวดปลาดุก กกทราย และกกขนาก
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าว
สูตรผสม 60% อีซี และ 5% จี
อัตราใช้และวิธีใช้ ขนาด 60% อีซี ใช้อัตรา 250 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่ ชนิด 5% จี ใช้อัตรา 3.2 กก. หว่านให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่ ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากฉลากก่อนใช้ทุกครั้ง
อาการเกิดพิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังจะมีอาการระคายเคือง เช่นเดียวกับที่ดวงตาและที่จมูก
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป ต้องทำให้คนไข้อาเจียนแล้วกินถ่านยาแอ็คติเวทเต็ด ซาร์โคล พร้อมนำผู้ป่วยส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลา
- อย่าใช้ในสภาพอากาศที่คิดว่าจะมีฝนตก ภายใน 6 ชั่วโมง
- คงตัวอยู่ในดินได้นานประมาณ 10 สัปดาห์
- ผสมกับโปรพานิลได้เมื่อใช้ฉีดพ่นทันทีและกำจัดแบบภายหลังงอก

บูตราลิน
(butralin)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช dinitroanilide ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชทั้งก่อนงอกและหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 12,600 มก./กก. ทางผิวหนัง 10,200 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ ใช้ควบคุมและกำจัดวัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุก และวัชพืชใบแคบพวกหญ้าต่าง ๆ
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในไร่ถั่วเหลืองและไร่ฝ้าย
สูตรผสม 24% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ

บูทิลเลท(butylate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช thiocarbamate ประเภทเจาะจงพืช โดยใช้กำจัดวัชพืชก่อนปลูก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 4,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบแคบพวกหญ้าต่าง ๆ
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ข้าวโพด
สูตรผสม 7% อีซี , 5% และ 10% จี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก
ข้อควรรู้ - เป็นสารที่มีความใกล้เคียงกับสารกำจัดวัชพืช อีพีทีซี
- ให้ผลในการควบคุมวัชพืชได้นานประมาณ 6 สัปดาห์ และไม่มีผลกระทบต่อพืชที่จะปลูกต่อจากข้าวโพด
- เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อาจใช้ร่วมกับอะทราซีนได้

คลอริมูรอน เอ็ทธิล
(chlorimuron ethyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช sulfonylurea ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 4,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกและกกบางชนิด
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ถั่วเหลือง
สูตรผสม 25% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก
ข้อควรรู้ - หลีกเลี่ยงอย่าให้ถูกกับผิวหนัง ดวงตาและเสื้อผ้า
- ถ้าเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ และถ้าเกิดอาการระคายเคืองให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ

คลอร์ซัลฟูรอน
(chlorsulfuron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช triazine ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก โดยการเข้าไปยับยั้งการขยายหรือแตกตัวของเซลล์ที่รากและหน่อ
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 5,545 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) 3,400 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบกว้างได้เป็นส่วนมาก และหญ้าล้มลุกได้เป็นบางชนิด
พืชที่ใช้ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์
สูตรผสม 75% จี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก โดยใช้ในระยะที่วัชพืชเริ่มงอก ถ้าใช้ในระยะที่วัชพืชมีใบมากกว่า 2-3 ใบแล้ว จะต้องใช้อัตราเพิ่มขึ้น
ข้อควรรู้ - ห้ามใช้กับพืชที่มิได้แนะนำ
- เป็นสารทำให้วัชพืชหยุดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
- ผสมได้กับสารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ และปุ๋ยน้ำ
- ใช้กำจัดวัชพืชภายหลังงอกได้ดีกว่าแบบก่อนงอก

ซินเม็ทธิลลิน
(cinmethylin)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,600 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชตระกูลหญ้าล้มลุกและวัชพืชใบกว้างบางชนิด
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าว ในไร่ฝ้าย ถั่วเหลืองและถั่วลิสง
สูตรผสม 10% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก

ชิโนซัลฟูรอน
(cinosulfuron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช sulfonyl urea ประเภทเจาะจงพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก มากกว่า 5,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 5,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบและใบกว้างในนาข้าว
พืชที่ใช้ ข้าว
สูตรผสม 20% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก

คลีโธดิม(clethodim)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทหญ้าและวัชพืชใบแคบทั่วไป ชนิดดูดซึมและกำจัดวัชพืช ภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนูตัวผู้) 3,610 มก./กก. (หนูตัวเมีย) 2,920 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 5,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ หญ้านกสีชมพู หญ้าข้าวนก หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา หญ้าหางจิ้งจอก หญ้าปากควาย หญ้าขจรจบ หญ้าแพรก หญ้าชันอากาศ
พืชที่ใช้ ฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง สัปปะรด พืชตระกูลถั่วอื่น ๆ และพืชใบกว้างทั้งใบ
สูตรผสม 24% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 50-60 ลบ.ซม. ผสมกับน้ำ 20 ลิตร หรือ 100-200 ลบ.ซม. ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ฉีดพ่นหลังการเพาะปลูกพืช 15-25 วัน หรือเมื่อวัชพืชมีใบ 3-6 ใบ
การแก้พิษ หากเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป ให้ดื่มน้ำหรือนม ห้ามทำให้อาเจียน แล้วนำผู้ป่วยส่งแพทย์
ข้อควรรู้ - ห้ามใช้ในบริเวณที่มีการเพาะปลูก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เดือย และสนามหญ้า
- อย่าใช้ก่อนจะมีฝนตก 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง

คอปเปอร์ เอ็ทธิลลีนไดอะมีน(copper ethylenediamine)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชในน้ำ
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1 มิลลิลิตร/กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) 8 มิลลิลิตร/กก.
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ สำหรับเส้นด้าย สำหรับข้าวเหนียว สำหรับหางกะรอก และวัชพืชน้ำอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และพืชตระกูลส้มทั่วไป
สูตรผสม 15.2% เอเอส

คอปเปอร์ ไตรเอ็ทธาโนลามีน
(copper triethanolamine)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชในน้ำ
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 470 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) 8 กรัม/กก.
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว และวัชพืชน้ำอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ตามร่องน้ำในสวนผลไม้
สูตรผสม 37.5% เอเอส

ไซอานาซีน(cyanazine)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช triazine ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชก่อนงอกหรือในระยะเริ่มงอก ดูดซึมเข้าไปในลำต้นได้โดยผ่านทางราก เป็นตัวขัดขวางขบวนการสังเคราะห์แสง (photosynthesis inhibitor)
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 288 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบตระกูลหญ้าและวัชพืชใบกว้างที่มีอายุสั้นหรือประเภทล้มลุก
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย สัปปะรด ข้าวสาลี มันฝรั่ง อ้อย ถั่วลันเตา แอสพารากัส และเมล็ดธัญพืช
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ เพื่อคุมวัชพืช ใช้อัตรา 1.5 กก. ผสมกับน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นคลุกพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าใช้ปราบวัชพืชในระยะเริ่มงอกให้ใช้อัตรา 650-800 กรัม ผสมกับน้ำ 100 ลิตรฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่
อาการเกิดพิษ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง ท้องเสีย เกิดอาการระคายเคืองตามทางเดินอาหารและเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ดวงตา บางรายอาจมีอาการเซื่องซึม หายใจแรง-เร็ว เส้นเลือดขยายตัวทำให้ความดันโลหิตต่ำ
การแก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป รีบทำให้คนไข้อาเจียนด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น สำหรับแพทย์ ให้คนไข้กินถ่านยาแอ็คติเวทเต็ด ซาร์โคล ขนาด 30-60 กรัม ผสมกับน้ำ 5-10 ออนซ์ และกินซ้ำทุก 4 ชม. ถ้าท้องไม่เสีย ให้คนไข้ถ่ายท้องด้วยยาโซเดียมซัลเฟท ตามขนาดการใช้ แล้วรักษาตามอาการต่อไป
ข้อควรรู้ - ในขณะใช้ควรเขย่าถังพ่นอยู่เสมอ
- อย่าใช้กับดินทรายหรือดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุต่ำกว่า 1%
- เมื่อผสมกับปุ๋ย ห้ามใช้ฉีดพ่นภายหลังงอก
- ออกฤทธิ์โดยผ่านทางรากเป็นส่วนใหญ่
- อาจใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างอื่นผสมได้ เพื่อเพิ่มฤทธิ์ในการกำจัดวัชพืช
- อาจใช้สารกำจัดวัชพืชอย่างอื่นผสมได้ เพื่อเพิ่มฤทธิ์ในการกำจัดให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
- ให้ผลในการควบคุมวัชพืชได้นาน 10-12 สัปดาห์

ไซโคลเอท
(cycloate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช thiocarbamate ประเภทเจาะจงพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 3,160 มก./กก. (ชนิด 6 อี) 4,640 มก./กก. (ชนิด 10 จี) และ 2,000-4,100 มก./กก. (ชนิด )
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชตระกูลหญ้าประเภทล้มลุก หญ้ายืนต้นบางชนิด และวัชพืชใบกว้างหลายอย่าง
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ sugar beets , table beets , spinach
สูตรผสม 6% อีซี , 10% จี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก โดยวิธีคลุกดินให้ลึก 2-3 นิ้ว ก่อนปลูกพืช
ข้อควรรู้ - ห้ามผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอย่างอื่น
- เป็นพิษต่อปลา
- ปลูกพืชทันทีที่คลุกดินเรียบร้อยแล้ว
- เพื่อให้ผสมกับดินได้อย่างทั่วถึง จึงควรคลุกในขณะที่ดินแห้ง
- ให้ผลในการควบคุมวัชพืชได้ 6-12 อาทิตย์

ไซโคลซีดิม
(cycloxydim)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทเจาะจง สำหรับพืชใบกว้างและกำจัดแบบ ภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 5,000 มก./กก. ทางผิวหนังมากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชตระกูลหญ้าทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ฝ้าย หอม มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ทานตะวันและผักต่าง ๆ
สูตรผสม 20% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ตามคำแนะนำบนฉลาก

ดาลาพอน(dalapon)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช organochlorine ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชก่อนปลูกและหลังปลูก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 9,330 มก./กก. (sodium salt) ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก. ทำให้ผิวหนังและดวงตาของผู้แพ้เกิดอาการระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ หญ้าคา หญ้าพง หญ้าขน หญ้าล้มลุกและหญ้ายืนต้นอื่น ๆ
พืชที่ใช้ กาแฟ ฝ้าย ส้ม อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าว กล้วย แอสพารากัส องุ่นและสวนป่า
สูตรผสม 85% เอสพี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ กำจัดวัชพืชในสวนยางพารา ใช้อัตรา 1.8 กก.ผสมกับน้ำ 80-100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่ สำหรับพืชอื่น ๆ ใช้อัตรา 125-360 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเป็นจุด ๆ หรือทั่วแปลง แล้วแต่ความเหมาะสม
การ แก้พิษ ถ้ามีอาการระคายเคืองที่ผิวหนังและดวงตาให้ล้างด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ ถ้าคนไข้กลืนกินเข้าไป ต้องทำให้คนไข้อาเจียนและหลีกเลี่ยงการดื่มหรือกินอาหารที่มีไขมัน หรือแอลกอฮอล์ผสมอยู่ สำหรับแพทย์ รักษาตามอาการ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ - กัดกร่อน โลหะ ไม่ระเหยและไม่ติดไฟ
- ดูดซึมผ่านได้ทั้งทางใบและราก เคลื่อนย้ายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของพืชได้อย่างรวดเร็ว
- คงตัวอยู่ในดินและยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชได้นาน 60 วัน หรือมากกว่า โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่แห้งและเย็น
- อาจใช้ร่วมกับสารกำจัดวัชพืชอย่างอื่น เช่น อะทราซีน ได้

ไดแคมบา(dicamba)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช benzoic ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งก่อนงอกและภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 2,900 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืช ที่ใช้ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาเลย์ ข้าวโอ๊ต หญ้าต่าง ๆ อ้อย และกำจัดวัชพืชในพื้นที่ ๆ ไม่ได้ทำการเพาะปลูก
สูตรผสม 40.6% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ ถ้ากลืนกินเข้าไป ให้คนไข้ดื่มน้ำมาก ๆ แล้วทำให้อาเจียน รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ดูดซึมเข้าลำต้นได้โดยผ่านทางใบ
- ถั่วเหลืองและถั่วลันเตาอ่อนแอต่อสารชนิดนี้มาก
- ใช้ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้เป็นส่วนมาก
- ฤทธิ์สารกำจัดวัชพืชจะอยู่ในดินได้หลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
- ฆ่าวัชพืชเมื่องอกออกมาแล้ว

ไดคลอร์พรอพ - พี
(dichlorprop - P)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีความใกล้เคียงกับ 2,4-ดี
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 825 มก./กก. แต่น้อยกว่า 1,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 4,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบกว้าง ไม้พุ่มและวัชพืชน้ำ
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ธัญพืช ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และตามไหล่ทาง-ถนน
สูตรผสม 60% เอเอส
การ แก้พิษ ยาแก้พิษโดยเฉพาะยังไม่เป็นที่ทราบกัน ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนานมาก ๆ แล้วไปพบแพทย์ ถ้ากลืนกินเข้าไป ทำให้คนไข้อาเจียนแล้วรักษาตามอาการ

ไดมีฟูรอน(dimefuron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช oxadiazole ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งในแบบก่อนงอก และภายหลังงอกดูดซึมเข้าลำต้นได้โดยทางราก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 2,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 1,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้าง
พืชที่ใช้ พืชตระกูลกะหล่ำ ถั่วและสัปปะรด
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี
การแก้พิษ ยาแก้พิษโดยเฉพาะยังไม่เป็นที่ทราบกัน รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ นิยมใช้ผสมกับสารกำจัดวัชพืชอย่างอื่นเพื่อให้สามารถกำจัดวัชพืชได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ไดเม็ทธามีทริน
(dimethametryn)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช triazine ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งก่อนงอกและภายหลังงอก ดูดซึมได้ทางรากและใบ
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 3,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,150 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในนาข้าวและไร่อ้อย

ไดไนตรามีน(dinitramine)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทเจาะจงพืชและกำจัดแบบก่อนงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 3,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) 6,800 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างและหญ้าประเภทล้มลุก
พืชที่ใช้ ฝ้าย ถั่วลิสง ถั่วเหลืองและทานตะวัน
สูตรผสม 25% อีซี

ไดยูรอน(diuron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช urea กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 3,400 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืช ที่กำจัดได้ หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา หญ้าตีนติด หญ้าไม้กวาด หญ้ารังนก หญ้านกสีชมพู ผักเบี้ยใหญ่ ผักโขม หญ้าอื่น ๆ และวัชพืชใบกว้างอีกเป็นจำนวนมาก
พืช ที่ใช้ สัปปะรด อ้อย ชา กาแฟ มะละกอ ส้ม กล้วย มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา ฝ้าย องุ่น แอสพารากัส และพืชที่ไม่ได้ทำการเพาะปลูก
สูตรผสม 80% ดับบลิวพี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ โดยทั่วไปใช้อัตรา 365-725 กรัม/ไร่ ผสมกับน้ำ ฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่ทันที ภายหลังจากปลูกพืชเสร็จและก่อนที่วัชพืชจะงอก
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนัง ให้ล้างออกด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนทันทีแล้วให้กินถ่านยาแอ็คติเวทเต็ด ซาร์โคล แล้วนำส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ ยาแก้พิษโดยเฉพาะยังไม่เป็นที่ทราบกัน รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - อย่าใช้ในขณะที่มีแสงแดดจัดหรือกับดินปนทราย
- อย่าปลูกพืชที่อ่อนแอต่อไดยูรอน ภายใน 12 เดือนหลังจากใช้
- เป็นสารไม่กัดกร่อนและไม่ระเหย



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 23:08:18
ดีพีเอกซ์ – แอล - 5300
(DPX – L - 5300)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช sulfon , urea ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 5,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างและหญ้าต่าง ๆ
พืชที่ใช้ ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์
สูตรผสม 75% เอสซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ และถ้ามีอาการระคายเคืองให้ปรึกษาแพทย์

ดีเอสเอ็มเอ
(DSMA)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช organoarsenic ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอกโดยทางสัมผัส
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 1,800 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ หญ้าชนิดต่าง ๆ โดยกำจัดแบบภายหลังงอก
พืชที่ใช้ ฝ้าย ส้ม และกำจัดวัชพืชในพื้นที่มิได้ทำการเพาะปลูก
สูตรผสม 80% เอสพี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมน้ำแล้วฉีดพ่นที่ต้นวัชพืชโดยตรง กำจัดวัชพืชในไร่ฝ้าย ควรให้ฝ้ายมีความสูงประมาณ 3-4 นิ้ว จนถึงระยะออกดอก และไม่ควรใช้เกิน 2 ครั้ง ต่อหนึ่งฤดูปลูก
ยาแก้พิษ ยาบีเอแอล (BAL)
ข้อควรรู้ - ไม่กัดกร่อนโลหะ
- ใช้ผสมกับ 2,4-ดี ได้
- ให้ผลดีที่สุดในการกำจัดวัชพืชที่อยู่ในระยะที่เป็นต้นอ่อนและกำลังเจริญเติบโต

อีพีทีซี(EPTC)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช thiocarbamate ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,630 มก./กก. (Technical grade)
วัชพืช ที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบประเภทล้มลุกและยืนต้น เช่น หญ้านกสีชมพู กกขนาก ขาเขียด และวัชพืชใบกว้างบางชนิด เช่น ผักปอดนา เป็นต้น
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในนาข้าว สวนส้ม ข้าวโพด ฝ้าย องุ่น ถั่ว มันฝรั่ง ทานตะวันและมะเขือเทศ
สูตรผสม 72% อีซี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 200-400 ซีซี ผสมน้ำ 40-60 ลิตร ฉีดพ่นให้คลุมพื้นที่ 1 ไร่ ก่อนปลูกพืช 2-4 วัน หรือภายหลังปลูก 6-8 วัน
อาการ เกิดพิษ ถ้าเข้าตาจะทำให้น้ำตาไหล มองแสงสว่างไม่ได้ แสบตา ตาแดง และแก้วตาอักเสบ ถ้าถูกผวิหนังอาจทำให้อักเสบ เจ็บร้อน คัน พิษจากการสูดดมจะมีอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก จาม ไอ น้ำมูกไหล มีเสมหะ เจ็บคอ ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไป จะมีอาการแสบตามทางเดินอาหาร ปวดท้อง อาเจียน เวียนศีรษะ ชักและหมดสติ
การ แก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ถ้ากลืนกินเข้าไป ห้ามทำให้คนไข้อาเจียน นำผู้ป่วยส่งแพทย์ เพื่อล้างท้องด้วยสารละลาย โซเดียม ไบคาร์โบเนท แล้วให้คนไข้กินถ่านยาแอ็คติเวทเต็ด ซาร์โคล หรือแม็กนีเซียม ซัลเฟท แล้วรักษาตามอาการ ห้ามคนไข้ดื่มนมและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่
ข้อควรรู้ - ขณะใช้ถ้าหน้าดินเปียกชื้น ตัวอีพีทีซีจะสูญหายไปด้วยการระเหย
- ห้ามใช้กับพืชอื่นที่ไม่ได้แนะนำ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วตาดำ ลิมาบีน และถั่วฝักอื่น
- มีประสิทธิภาพในการกำจัดหญ้าได้มากกว่าวัชพืชใบกว้าง
- สลายตัวหมดภายใน 4-6 สัปดาห์ ในสภาพที่ดินร้อนชื้น
- ไม่กัดกร่อนโลหะและยาง

ฟีโนซาพรอพ - เอ็ทธิล
(fenoxaprop - ethyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 3,310 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก. ทำให้ผิวหนังระคายเคืองเล็กน้อย และดวงตาระคายเคืองปานกลาง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชตระกูลหญ้าทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา มันฝรั่ง ยาสูบและพืชใบกว้างอีกหลายชนิด
สูตรผสม อยู่ในรูปผสมน้ำมัน (อีซี)
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก โดยใช้ฉีดพ่นเมื่อหญ้างอกแล้วเป็นส่วนมาก
การ แก้พิษ ยาแก้พิษโดยเฉพาะไม่มี ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ ทันที เป็นเวลานาน 1 นาที ถ้ากินเข้าไป อย่าทำให้คนไข้อาเจียน นำคนไข้ส่งแพทย์ทันที

ฟีนูรอน(fenuron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 6,400 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ ไม้ยืนต้นและต้นไม้ที่มีรากหยั่งลึก

ฟลูอะซีฟอพ-บูทิล
(fluazifop-butyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช phenoxy , trifluoromethyl , pyridine ประเภทเจาะจงพืชและดูดซึมกำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 3,328 มก./กก. ทางผิวหนัง (หนู) มากกว่า 2,420 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชตระกูลหญ้าล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ฝ้าย มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ส้ม องุ่น กาแฟ หอม กล้วย ผักต่าง ๆ และพืชใบกว้างทั่วไป
สูตรผสม 35% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำและฉีดพ่นที่วัชพืชโดยตรง จะให้ผลดีในระยะที่วัชพืชมีใบ 2-4 ใบ
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลา
- ออกฤทธิ์ช้า เคลื่อนย้ายในลำต้นจากใบไปสู่ราก

ฟลูโอมีทูรอน
(fluometuron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช trifluoromethyl;urea ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มี พิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 8,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 10,000 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาระคายเคืองปานกลาง แต่ผิวหนังจะไม่ระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกและหญ้าต่าง ๆ
พืชที่ใช้ ฝ้ายและอ้อย
สูตรผสม 50% และ 80% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ฉีดพ่นควบคุมการงอกและกำจัดวัชพืชในระยะเริ่มงอก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - กำจัดวัชพืชยืนต้นไม่ได้
- เมื่อใช้กำจัดวัชพืชในไร่ฝ้าย ห้ามปลูกพืชอย่างอื่นภายหลังปลูกฝ้ายในปีเดียวกัน
- พืชที่อ่อนแอต่อสารกำจัดวัชพืชนี้ ได้แก่ ถั่วเหลือง มะเขือเทศ พืชตระกูลถั่วและแตง
- อย่าใช้เกินกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี บนพื้นที่เดียวกัน
- เมื่อใช้กับฝ้าย อย่าใช้ร่วมกับสารกำจัดแมลงประเภทดูดซึม
- ให้ผลในการควบคุมวัชพืชได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์

ฟลูโรซี่เพอร์(fluroxypyr)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช pyridine
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก มากกว่า 5,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 5,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างและวัชพืชยืนต้นที่มีรากหยั่งลึก
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าว ในสวนผลไม้ องุ่นและทุ่งหญ้าและเลี้ยงสัตว์
สูตรผสม 20% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ

ฟอร์มีซาเฟน(formesafen)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช nitro compound : bridged diphenyl , trifluoromethyl กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,250 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 1,000 มก./กก.
วัชพืช ที่กำจัดได้ หญ้าตีนตุ๊กแก หญ้าลิ้นงู กกทราย ปอป่าน สาบแร้งสาบกา กะเม็ง บัวบก หญ้าขาวนก หญ้านกสีชมพู ผักโขมหนาม ผักโขมทราย ผักโขมหินและผักโขมอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ถั่วเหลือง กระเทียม
สูตรผสม 25% เอสซี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ โดยทั่วไปใช้อัตรา 240 ซีซี ผสมน้ำแล้วฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่ หรือจะใช้อัตรา 60 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นก็ได้ ควรใช้ในระยะที่วัชพืชมีความสูง 1-3 นิ้ว
การ แก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้าเข้าปาก ห้ามทำให้คนไข้อาเจียน ให้รีบนำส่งแพทย์ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - กำจัดวัชพืชพวกหญ้าไม่ได้

โฟซามีน-แอมโมเนียม
(fosamine-ammonium)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช carbamate กำจัด วัชพืชแบบภายหลังงอกและควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช โดยซึมผ่านทางใบไปสู่ลำต้น ไม่เคลื่อนย้ายและออกฤทธิ์เฉพาะจุดที่ถูกฉีดพ่น
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 24,200 มก./กก. (41.5%) ทางผิวหนัง มากกว่า 1,683 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชที่เป็นต้นไม้ทรงพุ่ม เช่น ไมยราบยักษ์
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่ไม่มีการเพาะปลูก ตามทุ่งเลี้ยงสัตว์ ตามไหล่ถนน ทางรถไฟ ริมคลองชลประทาน
สูตรผสม 48% เอสแอล
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมน้ำแล้วฉีดพ่นที่ใบและต้นวัชพืช พืชจะหยุดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ห้ามใช้กับพืชที่เป็นอาหาร
- ถ้ามีฝนตกภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากใช้ ประสิทธิภาพจะลดลง
- ปลอดภัยต่อปลาและสัตว์ป่า
- ไม่ได้ผลเมื่อใช้ฉีดพ่นที่ดิน

กลูโฟซิเนท - แอมโมเนียม
(glufosinate - ammonium)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช organophosphorous ประเภทไม่เจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอกโดยทางสัมผัสและมีฤทธิ์ในทางดูดซึม
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,625 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชล้มลุกและยืนต้นทั่วไป รวมทั้งวัชพืชตระกูลหญ้า
พืชที่ใช้ สวนผลไม้ สวนองุ่น สวนผัก สวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน
สูตรผสม 18% และ 20% เอสแอล
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก โดยฉีดพ่นที่ใบและส่วนที่กำลังเจริญเติบโตโดยตรง
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - อย่าใช้ ถ้าคาดว่าจะมีฝนตกภายใน 6 ชั่วโมง
- ในสภาพที่มีอากาศร้อน กลูโฟซิเนทจะออกฤทธิ์ได้มากกว่า
- ในการกำจัดวัชพืชใบกว้าง ควรใช้ในระยะเริ่มเจริญเติบโต สำหรับหญ้า ควรใช้กำจัดในระยะเริ่มแตกหน่อ
- ไม่มีพิษต่อปลา
- วัชพืชจะแสดงอาการตายภายใน 2-5 วัน
- กำจัดวัชพืชใบกว้างได้ดีกว่าใบแคบ
- ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วกว่า ไกลโฟเสท แต่ช้ากว่า พาราคว๊อท

ไกลโฟเสท(glyphosate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช organophosphorous ประเภทไม่เจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก ออกฤทธิ์โดยทางดูดซึมและเคลื่อนย้ายในต้นพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 4,320 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 5,000 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืช ที่กำจัดได้ หญ้าคา หญ้าแห้วหมู หญ้าขน หญ้าชันอากาศ หญ้าตีนนก หญ้าปากควาย หญ้าปล้อง หญ้าใบไผ่ หญ้าลูกเห็บ สาปแร้งสาปกา ผักตบชวา ไมยราบยักษ์ วัชพืชใบกว้างอื่น ๆ และใบแคบทั่วไปทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ และพื้นที่ไม่ได้ทำการเกษตรทั่วไป
สูตรผสม 10% , 15% , 16% , 41% และ 48% เอสแอล
อัตรา ใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำสะอาดฉีดพ่นที่ใบพืชและต้นพืชโดยตรง ศึกษารายละเอียดการใช้เพิ่มเติมจากฉลากก่อนใช้
อาการ เกิดพิษ ถ้าถูกผิวหนังและดวงตา อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง ถ้ากินเข้าไปจำนวนมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังหรือดวงตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ ถ้ากินเข้าไปควรล้างท้องคนไข้ตามวิธีทางการแพทย์ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ภายหลังจากใช้ 6 ชม. ถ้ามีฝนตกลงมา จะทำให้ประสิทธิภาพลดลง
- อย่าใช้น้ำสกปรกผสมฉีดพ่น เพราะจะทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ
- ผลการกำจัดวัชพืชจะน้อยลง ถ้าใบพืชที่ฉีดพ่นนั้นปกคลุมด้วยฝุ่นละออง
- การเริ่มต้นออกฤทธิ์จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ภายหลังจากใช้ จะสังเกตเห็นได้หลังจากหลายวันผ่านไปแล้ว

ฮาโลซี่ฟอพ - เอ็ทธอกซี่เอ็ทธิล
(haloxyfop - ethoxyethyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช pyridine : phenoxy : trifluoromethyl ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก ดูดซึมผ่านทางใบและรากเข้าสู่ลำต้น
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 518-531 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 5,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชตระกูลหญ้าทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่ปลูกพืชทั่วไป
สูตรผสม 12.5% อีซี
การแก้พิษ ยาแก้พิษโดยเฉพาะยังไม่เป็นที่ทราบกัน รักษาตามอาการ

ฮาโลซี่ฟอพ - เม็ทธิล(haloxyfop - methyl)
การ ออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก ออกฤทธิ์ดูดซึมและเคลื่อนย้ายไปทั่วทุกส่วนของวัชพืช
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนูตัวผู้) 2,398 มก./กก. (หนูตัวเมีย) 2,179 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) 3,536 มก./กก.
วัชพืช ที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบพวกหญ้าต่าง ๆ ทั้งชนิดล้มลุกและยืนต้น เช่น หญ้าแพรก หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนติด หญ้าตีนกา หญ้าไข่แมงดา หญ้าปากควาย หญ้าตีนนก หญ้าขจรจบและหญ้าดอกขาว
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในแปลงปลูกพืชใบกว้างทั่วไป
สูตรผสม 25.5% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 20 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่วัชพืชโดยตรง ให้ทั่วพื้นที่ปลูก
อาการเกิดพิษ อาจทำให้ผิวหนังและดวงตาเกิดอาการระคายเคือง
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังหรือดวงตา ให้ล้างด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไปควรทำให้คนไข้อาเจียนทันที รักษาตามอาการ

เฮ็กซาซิโนน(hexazinone)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช triazine ประเภทไม่เจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก ซึมผ่านเข้าลำต้นได้ทั้งทางใบและราก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,690 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 5,278 มก./กก. ทำให้ดวงตาระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบ เช่น หญ้าข้าวนก หญ้าตีนนก หญ้าหางหมา หญ้าตีนติด หญ้าพง หญ้าชันอากาศ หญ้าดอกขาว หญ้าแพรก หญ้าโขย่ง วัชพืชใบกว้าง เช่น ผักโขม ผักเบี้ยและวัชพืชอื่น ๆ ทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในไร่อ้อย และสัปปะรด
สูตรผสม 90% เอสพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 135-180 กรัมผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ใบและต้นวัชพืชโดยตรงให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป ทำให้คนไข้อาเจียนด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น แล้วรักษาตามอาการ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ - ควรใช้ในขณะที่วัชพืชกำลังเจริญเติบโตหรือสูงอย่างน้อย 2 นิ้ว
- อย่าให้รากของพืชที่ปลูกถูกกับสารกำจัดวัชพืชชนิดนี้
- อย่าให้ละอองปลิวไปถูกกับพืชที่ปลูก
- ให้ผลดีในการกำจัดวัชพืชประเภทไม้พุ่มและไม้ยืนต้น
- ประสิทธิภาพในการกำจัดจะมากขึ้นตามสภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้น

อิมาซาเพอร์
(imazapyr)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช imidazolinone ประเภท ไม่เจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก ออกฤทธิ์ในทางดูดซึม โดยผ่านทางใบและราก สามารถเคลื่อนย้ายในต้นวัชพืชได้
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก มากกว่า 5,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบพวกหญ้าและวัชพืชใบกว้างทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น รวมทั้งไม้พุ่ม และไม้ผลัดใบทุกชนิด
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในพื้นที่ไม่มีการเพาะปลูก
สูตรผสม 10% เอสแอล
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ

อิมาเซ็ทธาเพอร์(imazethapyr)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช imidazolinone กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกและภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู)มากกว่า 5,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างและหญ้าต่าง ๆ ทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น
พืชที่ใช้ ถั่วเหลือง
สูตรผสม 50% อีซี , 5.3% เอเอส

ไออ๊อกซีนิล(ioxynil)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช nitrile ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก ออกฤทธิ์ในทางสัมผัสและดูดซึมได้ทางใบ
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 110 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุก โดยกำจัดในระยะเริ่มงอก
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในนาข้าว ในไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่างและธัญพืชอื่น ๆ
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ

ไอโซโปรทูรอน(isoproturon)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช urea ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก ออกฤทธิ์โดยการดูดซึมผ่านทางใบและราก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,800 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบพวกหญ้าล้มลุกและวัชพืชใบกว้างล้มลุกบางชนิด
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในไร่ปลูกธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ข้าวไรย์ รวมทั้งอ้อยและถั่วลิสง
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ

แล็คโตเฟน
(lactofen)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช diphenyl ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชใบกว้างแบบภายหลังงอกและก่อนงอกได้เล็กน้อย
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 2,533 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ ผักเสี้ยนผี ผักเบี้ยหิน โทงเทง กะเมง ปอวัชพืช ฝักยาว และวัชพืชใบกว้างทั่วไป
พืชที่ใช้ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย มันฝรั่ง
สูตรผสม 24% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 60-80 ลบ.ซม.ต่อไร่ หรือ 15-20 ลบ.ซม.ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ต้นวัชพืช
การแก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำนาน 15 นาที หากกลืนกินเข้าไปและยังมีสติอยู่ ให้ผู้ป่วยดื่มนมหรือไข่ขาวหรือน้ำจำนวนมาก ๆ ห้ามทำให้อาเจียน และห้ามให้อาหารหรือเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ผสม นำผู้ป่วยส่งแพทย์ต่อไป

ลีนาซิล
(lenacil)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช uracil ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนปลูกหรือก่อนงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 11,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบกว้าง
พืชที่ใช้ ธัญพืช สตรอเบอร์รี่และไม้ประดับ
สูตรผสม 80% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ถ้าต้องการกำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกหรือคุมวัชพืช ให้ฉีดพ่นหน้าดินทันทีภายหลังจากปลูกเสร็จ ถ้าใช้แบบก่อนปลูกให้ใช้คลุกกับดินลึกจากหน้าดิน 2 นิ้ว



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มกราคม 2013, 23:14:59
ลินูรอน(linuron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช urea ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 4,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 5,000 มก./กก. อาจทำให้ดวงตา จมูก คอและผิวหนัง เกิดอาการระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างและหญ้าต่าง ๆ ที่เป็นประเภทล้มลุก และกล้าของวัชพืชยืนต้นบางชนิด
พืชที่ใช้ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง แอสพารากัส ฝ้าย มันฝรั่งและองุ่น
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - ห้ามปลูกพืชอื่นภายใน 4 เดือน หลังจากใช้
- ห้ามฉีดพ่นบนยอดข้าวโพดโดยตรง

เอ็มซีพีเอ(MCPA)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดพืช phenoxy ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก ออกฤทธิ์ในทางดูดซึมและเคลื่อนย้ายในต้นพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 700 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 1,000 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบกว้างทั้งประเภทล้มลุกและยืนต้น รวมทั้งวัชพืชใบกว้างที่เจริญเติบโตได้ในน้ำ
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในนาข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ในไร่ถั่วเขียวและทุ่งหญ้า เลี้ยงสัตว์
สูตรผสม 40% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก

มีโคพรอพ-พี(mecoprop-P)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช phenoxy ประเภทเจาะจงพืช ออกฤทธิ์ในทางดูดซึม กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 930 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 900 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้าง
พืชที่ใช้ กำจัดวัชพืชในสนามหญ้าและในไร่ปลูกธัญพืช
สูตรผสม 50% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ในระยะที่วัชพืชกำลังเจริญเติบโต
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - อย่าใช้ในสภาพอากาศที่มีความร้อนหรือเปียกชื้นสูง
- อาจใช้ผสมกับ 2-4-ดี เพื่อเพิ่มขอบเขตการกำจัดวัชพืชให้มากยิ่งขึ้น
- ออกฤทธิ์ช้า อาจใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล
- มีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชใบกว้างเท่านั้น

เมตาซาคลอร์
(metazachlor)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช acetanilide กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 2,150 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างและวัชพืชใบแคบล้มลุก
พืชที่ใช้ ถั่วเหลือง ยาสูบ ถั่วลิสง มันฝรั่ง
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก โดยใช้คุมวัชพืชก่อนงอก ฝนและความชื้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดให้สูงขึ้น
ข้อควรรู้ - สารกำจัดวัชพืชนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง
- ไม่กำจัดวัชพืชใบแคบประเภทยืนต้น

เมธาเบ็นซ์ไธอายูรอน(methabenzthiauron)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช urea ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกและภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 2,500 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 500 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กำจัดวัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่ และวัชพืชพวกหญ้า
พืชที่ใช้ ถั่ว กระเทียม มันฝรั่งและหอม
สูตรผสม อยู่ในรูปผงผสมน้ำ (ดับบลิวพี)
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
ข้อควรรู้ - ไม่เป็นพิษต่อผึ้งและปลา
- อย่าใช้ผสมกับยูเรียและปุ๋ยน้ำอย่างอื่น
- ขณะที่ใช้ดินควรมีความชื้น
- ภายหลังจากใช้ 14-20 วัน วัชพืชจึงจะตาย
- ไม่กำจัดวัชพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยราก

เมโตลาคลอร์(metolachlor)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช acetanilide ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 2,780 มก./กก. ทางผิวหนัง 3,100 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบหรือหญ้าล้มลุกและวัชพืชใบกว้างบางชนิด
พืชที่ใช้ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย กะหล่ำปลี หอม กระเทียม ข้าวฟ่าง ทานตะวัน มะเขือเทศ ปอ มันฝรั่งและพืชที่ไม่ได้ทำการเพาะปลูก
สูตรผสม 40% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ได้ทั้งก่อนปลูกและก่อนงอก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - เป็นพิษกับปลา

เมทริบูซิน(metribuzin)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช triazine ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก และภายหลังงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 2,200 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 20,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ กกต่าง ๆ หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา หญ้านกสีชมพู หญ้าปากควาย หญ้ารังนก ผักปราบ ผักเบี้ยหิน ผักโขมหนาม โคกกระสุน หญ้าและวัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ถั่วเหลือง มะเขือเทศ อ้อย กาแฟ ชา ข้าวโพด แอสพารากัส ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ มันฝรั่ง และสัปปะรด
สูตรผสม 70% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 80-120 กรัม ผสมกับน้ำ 40-60 ลิตร/ไร่ ฉีดพ่นหน้าดินทันทีที่ปลูกพืชเสร็จ ในขณะฉีดพ่นดินควรมีความชื้นและวัชพืชยังไม่ทันงอก ก่อนใช้ควรศึกษารายละเอียดจากฉลากเพิ่มเติม
อาการเกิดพิษ ผู้ได้รับพิษจะมีอาการหายใจขัด เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งในช่องท้อง
การแก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ถ้ากินเข้าไป ให้ล้างท้องคนไข้ แล้วรักษาตามอาการ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ - อย่าใช้กับดินทรายหรือดินร่วนปนทรายที่มีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 2%
- พืชที่อ่อนแอต่อสารนี้ คือ พืชตระกูลกะหล่ำปลี แตงกวา สตรอเบอร์รี่ ทานตะวันและยาสูบ
- อย่าปลูกพืชอื่นนอกจากพืชแนะนำในพื้นที่ ๆ ฉีดพ่นสารนี้แล้วอย่างน้อยเป็นเวลา 4 เดือน
- ดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ให้ใช้อัตราเพิ่มขึ้น
- ควบคุมวัชพืชได้นาน 3-4 เดือน
- อาจใช้ผสมกับสารกำจัดวัชพืชอย่างอื่นได้

เม็ทซัลฟูรอน - เม็ทธิล
(metsulfuron-methyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช urea , triazine ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกและภายหลังงอก ออกฤทธิ์ด้วยการเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ และการเจริญเติบโตของวัชพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู)มากกว่า 5,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ สาบเสือ มังเคร่ ผกากรอง ไม้พุ่มและวัชพืชใบกว้างยืนต้นอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ข้าวโอ๊ตและกำจัดวัชพืชตามบริเวณพื้นที่ไม่ได้ทำการเพาะปลูก ริมทางรถไฟ ถนนหลวง ริมคลองชลประทาน สนามบิน ในป่าและพื้นที่อุตสาหกรรม
สูตรผสม 20% ดีเอฟ และ 60% ดีเอฟ
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
อาการเกิดพิษ อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองเมื่อเข้าตา จมูก คอหรือเมื่อถูกผิวหนัง
การแก้พิษ ถ้าเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ หลายครั้ง ถ้ากินเข้าไปให้คนไข้ดื่มน้ำแล้วทำให้อาเจียนด้วยการล้วงคอ แล้วนำส่งแพทย์ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ

โมลิเนท
(molinate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช thiocarbamate : azipine ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกและภายหลังงอก ออกฤทธิ์ในทางดูดซึมโดยผ่านทางรากได้อย่างรวดเร็ว
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 720 มก./กก. (หนู) ทางผิวหนัง (กระต่าย) 3,536 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างและหญ้าต่าง ๆ
พืชที่ใช้ ข้าว
สูตรผสม 10% จี


เอ็มเอสเอ็มเอ
(MSMA)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช organoarsenic ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกและภายหลังงอก ออกฤทธิ์ในทางสัมผัสและดูดซึมเข้าไปในต้นพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 700 มก./กก. ทำให้ผิวหนังและดวงตาระคายเคืองเล็กน้อย
วัชพืช ที่กำจัดได้ หญ้าตีนนก หญ้าปากควาย หญ้าขน หญ้ามาเลย์เซีย หญ้าปล้อง หญ้าตีนติด หญ้ารังนก หญ้าดอกขาว หญ้าใบใหญ่ สาบเสือ สาบแร้งสาบกา หญ้ายาง ไมยราบ สะอึก วัชพืชใบแคบและใบกว้างอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ยางพารา ปาล์ม สวนผลไม้ยืนต้น
สูตรผสม 66% แอล
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 600-800 ซีซี ผสมกับน้ำ ฉีดพ่นให้ได้พื้นที่ 1 ไร่
อาการเกิดพิษ ถ้ากลืนกินเข้าไปจะแสบร้อนลำคอ ลมหายใจจะมีกลิ่นคล้ายกระเทียม ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสียและมึนงง
การ แก้พิษ ถ้ากลืนกินเข้าไป ให้รีบล้างท้องด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ แล้วให้กินถ่านยาพวกซาลีนคาธาลิค เช่น โซเดียม ซัลเฟท ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ


นาโปรพาไมด์
(napropamide)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช anilide ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก ออกฤทธิ์ในทางดูดซึม ยับยั้งการงอกของราก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 5,000 มก./กก. (10% จี)
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกและวัชพืชใบแคบพวกกก
พืชที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชในสวนองุ่น แปลงกล้ายาสูบ พริกไทย มะเขือเทศ มะเขือ แอสพารากัสและส้ม
สูตรผสม 10% จี และ 50% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลา


แนพทาแลม
(naptalam)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช phthalic-acid ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก โดยยับยั้งการงอกของเมล็ดวัชพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,770 มก./กก. ทำให้ดวงตาระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างและหญ้าต่าง ๆ
พืชที่ใช้ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง องุ่น แคนตาลูป แตงกวาและแตงโม
สูตรผสม 23% อีซี , 50% ดับบลิวพี และ 10% จี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามอัตราและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก
ข้อควรรู้ - ไม่กำจัดวัชพืชที่งอกแล้ว
- มะเขือเทศและผักกาดหอม อ่อนแอต่อสารกำจัดวัชพืชนี้มาก
- ห้ามใช้กับถั่วเหลืองที่งอกแล้ว
- มีประสิทธิภาพอยู่ได้นาน 3-8 สัปดาห์ และจะสลายตัวหมดภายใน 6-8 สัปดาห์
- อาจผสมใช้ร่วมกับสารกำจัดวัชพืชอย่างอื่นได้


ไนตราลิน
(nitralin)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช nitro compound ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู)มากกว่า 2,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบพวกหญ้าล้มลุกและวัชพืชใบกว้าง
พืชที่ใช้ ฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแขก ถั่วลิสง และยาสูบ
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ ปัจจุบัน ไม่มีจำหน่ายในประเทศ


ไนโตรเฟน(nitrofen)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช diphenyl ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกและภายหลังงอกในธัญพืช
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) ประมาณ 3,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 2,000 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบกว้างประเภทล้มลุกและหญ้าต่าง ๆ
พืชที่ใช้ ธัญพืช ข้าว ผัก ไม้ดอกและไม้ประดับ
สูตรผสม 8% จี และ 25% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - พืชที่อ่อนแอต่อสารกำจัดวัชพืชนี้ คือ ผักกาดหอม มะเขือเทศ ผักโขม มะเขือ และพริกไทย
- เป็นพิษต่อปลา

อ๊อกซาไดอะโซน
(oxadiazon)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช oxadiazon ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก ดูดซึมเข้าไปในลำต้นได้โดยส่วนต่าง ๆ ของพืชที่อยู่เหนือพื้นดิน ออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อมีแสงแดด
ความ เป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 8,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 8,000 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคือง
วัชพืช ที่กำจัดได้ ผักแว่น ผักปอดนา แพงพวยน้ำ ขาเขียด หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนติด หญ้าตีนกา หญ้าโขย่ง กกขนาก กกทราย วัชพืชใบแคบและวัชพืชใบกว้างล้มลุกอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ฝ้าย ข้าว ถั่วเหลือง กะหล่ำปลี กระเทียม หอมและมะเขือเทศ
สูตรผสม 25% อีซี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ สำหรับกำจัดวัชพืชในนาข้าว ใช้อัตรา 320-640 ซีซี ผสมกับน้ำ 20-60 ลิตร/ไร่ ฉีดพ่นลงในนาข้าวให้ทั่วแปลง สำหรับพืชอื่น ๆ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
อาการเกิดพิษ ถ้าเข้าตา จมูกหรือผิวหนัง จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง ถ้าเข้าปากอาจจะมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน
การแก้พิษ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ 1% ถ้า เกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไปและผู้ป่วยมีสติดีอยู่ ห้ามทำให้อาเจียน ใช้น้ำล้างปากมาก ๆ แล้วนำผู้ป่วยส่งแพทย์ เพื่อทำการล้างท้อง แล้วรักษาตามอาการ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ - กำจัดวัชพืชใบกว้างได้ดีกว่าใบแคบ
- มีความคงตัวในดินปานกลาง จึงสามารถควบคุมวัชพืชได้ตลอดฤดูปลูก
- ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส เมื่อใช้กำจัดวัชพืชแบบภายหลังงอก

อ๊อกซี่ฟลูออร์เฟน
(oxyfluorfen)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช diphenyl ether : trifluoromethyl ประเภท เจาะจงพืช กำจัดวัชพืชได้ทั้งแบบก่อนงอกและภายหลังงอก ออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อถูกแสงแดด ดูดซึมผ่านทางใบหรือทางหน่อได้มากกว่าทางราก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 5,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 10,000 มก./กก.
วัชพืช ที่กำจัดได้ หญ้าตีนติด หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา หญ้าปากควาย หญ้าไม้กวาด หญ้าเขมร ไมยราบ วัชพืชใบแคบและใบกว้างล้มลุกอื่น ๆ
พืช ที่ใช้ หอม หอมใหญ่ กระเทียม พืชตระกูลถั่ว ข้าวไร่ พืชตระกูลกะหล่ำ พริก ยาสูบ มะเขือเทศ ขิง มันสำปะหลังและอ้อย
สูตรผสม 23.5% อีซี
อัตรา ใช้และวิธีใช้ โดยทั่วไปใช้อัตรา 40-80 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นคลุมดินที่เตรียมไว้เพื่อปลูก ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากฉลากก่อนใช้
อาการเกิดพิษ ผู้ได้รับพิษจะมีอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง ตา ทางเดินหายใจ คลื่นไส้ วิงเวียน และอาเจียน
การ แก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ถ้าเข้าปากห้ามทำให้คนไข้อาเจียน ควรนำคนไข้ส่งแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลา
- กำจัดวัชพืชใบกว้างได้ดีกว่าใบแคบ
- เมื่อวัชพืชสัมผัสถูกกับสารกำจัดวัชพืชนี้ในระหว่างการงอกจะถูกฆ่าตาย

โอรีซาลิน
(oryzalin)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช dinitroanilide ประเภทเจาะจงพืช กำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 10,000 มก./กก.
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชใบแคบและใบกว้างประเภทล้มลุก
พืชที่ใช้ ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ฝ้าย มันฝรั่งและพื้นที่ ๆ ไม่ได้ทำการเพาะปลูก
สูตรผสม 70% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
ข้อควรรู้ - เป็นพิษต่อปลา
- อย่าใช้กับดินที่มีอินทรียวัตถุสูงกว่า 5%
- ให้ใช้เพียงหนึ่งครั้งต่อหนึ่งฤดูปลูก
- อย่าปลูกพืชหัวในพื้นที่ที่ใช้สารนี้ภายในระยะเวลา 12 เดือน หลังจากใช้

พาราคว๊อท
(paraquat)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดวัชพืช bipyridium ประเภทไม่เจาะจงพืช กำจัดวัชพืชภายหลังงอก ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส มีคุณสมบัติเป็นตัวดูดน้ำและหมดฤทธิ์อย่างรวดเร็วเมื่อถูกกับดิน
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 150 มก./กก. ทางผิวหนัง 236 มก./กก. จะตายเมื่อกลืนกินเข้าไป
วัชพืชที่กำจัดได้ วัชพืชทุกชนิด โดยเฉพาะจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดส่วนที่มีสีเขียวของพืช
พืช ที่ใช้ ใช้กำจัดวัชพืชตามไร่มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด สวนผลไม้ กล้วย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ตามคันนา บริเวณโรงงาน ริมทางรถไฟและคันคูคลอง
สูตรผสม 27.6% แอล
อัตรา ใช้และวิธีใช้ โดยทั่วไปใช้อัตรา 60-80 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ใบและต้นวัชพืชโดยตรงควรใช้ในขณะที่มีแสงแดดซึ่งจะช่วยให้ได้ผลดี ยิ่งขึ้น
อาการ เกิดพิษ พิษจากการสูดดมจะมีอาการแน่นหน้าอกและในช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย วิงเวียน หายใจขัด ปอดบวมและอาจตายเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว ถ้าเข้าตาหรือถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและอักเสบ ถ้าวัตถุมีพิษเข้มข้นมาก ๆ อาจทำให้เล็บหลุด ถ้าเข้าตา แก้วตาจะหลุดออกมาทำให้เกิดอาการรุนแรงตามมา ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไป ภายในปากจะระคายเคืองตลอดถึงลำคอ ทางเดินอาหารอักเสบและแสบร้อนคลื่นไส้ อาเจียน ท้องปั่นป่วน ไม่สบายและท้องเสีย เหงื่อออกมาก ประสาทส่วนกลางได้รับผลกระทบกระเทือน มีอาการกระสับกระส่าย ระบบหายใจล้มเหลว เซลตับและไตถูกทำลายและตายในที่สุด
การ แก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไป ควรรีบทำให้อาเจียนทันทีด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น แล้วนำส่งแพทย์ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ - จะหมดฤทธิ์ทันทีเมื่อถูกกับดิน ไม่มีฤทธิ์ตกค้าง
- มีพิษต่อปลาน้อย



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 11:24:44
ปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยธรรมชาติ ชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการนำเอาเศษซากพืช เช่น ฟางข้า ซังข้าวโพด ต้นถั่วต่าง ๆ หญ้าแห้ง ผักตบชวา ของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนขยะมูลฝอยตามบ้านเรือนมาหมักร่วมกับมูลสัตว์ ปุ๋ยเคมีหรือสารเร่งจุลินทรีย์เมื่อหมักโดยใช้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว เศษพืชจะเปลี่ยนสภาพจากของเดิมเป็นผงเปื่อยยุ่ยสีน้ำตาลปนดำนำไปใส่ในไร่นาหรือพืชสวน เช่น ไม้ผล พืชผัก หรือไม้ดอกไม้ประดับได้

ประโยชน์ของปุ๋ยหมัก

1. ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์

2. ช่วยเปลี่ยนสภาพของดินจากดินเหนียวหรือดินทรายให้เป็นดินร่วนทำให้สะดวกในการไถพรวน

3. ช่วยสงวนรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดีขึ้น

4. ทำให้การถ่ายเทอากาศในดินได้ดี

5. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ยเคมีและสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้

6. ช่วยกระตุ้นให้ธาตุอาหารพืชบางอย่างในดินที่ละลายน้ำยากให้ละลายน้ำง่ายเป็นอาหารแก่พืชได้ดีขึ้น

7. ไม่เป็นอันตรายต่อดินแม้จะใช้ในปริมาณมาก ๆ ติดต่อกันนาน ๆ

8. ช่วยปรับสภาพแวดล้อม เช่น กำจัดขยะมูลฝอยและวัชพืชน้ำทั้งหลายให้หมดไป

วิธีการทำปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยหมักโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ปุ๋ยหมักในไร่นา ปุ๋ยหมักเทศบาลและปุ๋ยหมักอุตสาหกรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะปุ๋ยหมักในไร่นา

สำหรับปุ๋ยหมักในไร่นานี้มีแบบวิธีการทำ 5 แบบ ซึ่งสามารถเลือกทำแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ หรืออาจจะทำหลาย ๆ แบบก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ทำ

 แบบที่ 1 ปุ๋ยหมักค้างปี ใช้เศษพืชเพียงอย่างเดียวนำมาหมักทิ้งไว้ค้างปีก็สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมักได้ แบบนี้ไม่ต้องดูแลรักษา จึงต้องใช้ระยะเวลาในการหมักนาน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา
 
 แบบที่ 2 ปุ๋ยหมักธรรมดาใช้มูลสัตว์ แบบนี้ใช้เศษพืชและมูลสัตว์ในอัตรา 100:10 ถ้าเป็นเศษพืช ชิ้นส่วนเล็กนำมาคลุกผสมได้เลย แต่ถ้าเป็นเศษพืชชิ้นส่วนใหญ่นำมากองเป็นชั้น ๆ (แต่ละกองจะทำประมาณ 3 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยเศษพืชที่ย่ำและรดน้ำ สูงประมาณ 30-40 ซม. แล้วโรยทับด้วยมูลสัตว์) แบบนี้จะใช้ระยะเวลาหมักน้อยกว่าแบบที่ 1 เช่น ถ้าใช้ฟางข้าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือน ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา

 แบบที่ 3 ปุ๋ยหมักธรรมดาใช้ปุ๋ยเคมี แบบนี้ใช้เศษพืช มูลสัตว์ และปุ๋ยเคมีในอัตรา 100:10:1
ถ้าเป็นชิ้นส่วนเล็กนำมาคลุกผสมได้เลย ถ้าเป็นชิ้นส่วนใหญ่นำมากองเป็นชั้นเหมือนแบบที่ 2 เพียงแต่ในแต่ละชั้นจะเพิ่มปุ๋ยเคมีขึ้นมา โดยโรยทับมูลสัตว์ แบบนี้ใช้ระยะเวลาในการหมักเร็วกว่าแบบที่ 2 กล่าวคือถ้าเป็นฟางข้าวจะใช้เวลาประมาณ4-6 เดือน

 แบบที่ 4 ปุ๋ยหมักแผนใหม่ การทำปุ๋ยหมักแบบที่ 1-3 นั้นใช้เวลาค่อนข้างมากต่อมากรมพัฒนาที่ดิน ได้ศึกษาค้นคว้าพบว่าการทำปุ๋ยหมักโดยใช้เวลาสั้นทำได้โดยการใช้เชื้อจุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายของเศษพืช ทำให้ได้ปุ๋ยหมักเร็วขึ้น นำไปใช้ได้ทันฤดูกาลสามารถใช้ระยะเวลาหมักเพียง 30-60 วัน ใช้สูตรดังนี้
เศษพืช           1,000       กก.
มูลสัตว์           100-200    กก.
ปุ๋ยเคมี                  1-2    กก.
เชื้อจุลินทรีย์ตัวเร่ง       1   ชุด
 
(เชื้อจุลินทรีย์ตัวเร่งในปี 2526-2527 ใช้เชื้อ บี 2 ชุดหนึ่ง ประกอบด้วยเชื้อจุลินทรีย์บี 2 จำนวน 2300 กรัม และอาหารเสริม 1 กก.) ถ้าเป็นเศษพืชชิ้นส่วนเล็กก็นำเศษพืช มูลสัตว์ และปุ๋ยเคมีมาคลุกผสมเข้ากัน แล้วเจาะหลุมหยอดเชื้อจุลินทรีย์ตัวเร่งซึ่งเตรียมไว้ก่อนโดยนำมาผสมน้ำ ใช้น้ำประมาณ 40 ลิตร กวนให้เข้ากันอย่างดี แต่ถ้าเป็นเศษพืชชิ้นส่วนใหญ่ก็นำมากองเป็นชั้นเหมือนแบบที่ 3 แต่ละชั้นประกอบด้วยเศษพืชที่ย่ำและรดน้ำ สูง30-40 ซม.มูลสัตว์โรยทับเศษพืช ปุ๋ยเคมีโรยทับมูลสัตว์ แล้วราดเชื้อจุลินทรีย์ตัวเร่ง

 แบบที่ 5 ปุ๋ยหมักต่อเชื้อ ในการทำปุ๋ยหมักแบบที่ 4 นั้น จำเป็นต้องซื้อสารตัวเร่งเชื้อจุลินทรีย์ 1 ชุด ทุกครั้งที่ทำปุ๋ยหมัก 1 ตัน ทำให้มีแนวความคิดว่าหากสามารถนำ มาต่อเชื้อได้ก็จะเป็นการประหยัดและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ทำปุ๋ยหมักทั่วไป กรมพัฒนาที่ดินจึงได้ทำการทดลองและพบว่า สามารถต่อเชื้อได้ โดยใช้ปุ๋ยหมักที่ทำในแบบที่ 4 กล่าวคือ หลังจากได้ปุ๋ยหมักที่ใช้ได้แล้วในแบบที่ 4 ให้เก็บไว้ 50-100 กก. การเก็บต้องเก็บไว้ในโรงเรือนที่ไม่ถูกแดดและฝน ปุ๋ยหมักที่เก็บไว้ 50-100 กก. สามารถนำไปต่อเชื้อทำปุ๋ยหมักได้อีก 1 ตัน การต่อเชื้อนี้สามารถทำการต่อได้เพียง 3 ครั้ง

การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก

หลังจากกองปุ๋ยหมักเสร็จแล้วจะต้องหมั่นตรวจดูแลกองปุ๋ยหมักอยู่เสมอโดยปฏิบัติดังนี้

 1. จะต้องป้องกันไม่ให้สัตว์เข้าไปทำลาย หรือคุ้ยเขี่ยกองปุ๋ยหมัก ถ้ากองแบบในคอกก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ากองบนพื้นดินหรือในหลุมควรหาทางมะพร้าวหรือกิ่งไม้วางทับกองปุ๋ยหมักไว้กันสัตว์คุ้ยเขี่ย

 2. ทำการให้น้ำกองปุ๋ยหมักให้มีความชื้นพอเหมาะอยู่เสมอ คือ ไม่ให้แห้งหรือแฉะเกินไป
มีวิธีการตรวจอย่างง่ายๆ คือ เอามือสอดเข้าไปในกองปุ๋ยหมักให้ลึกๆ แล้วหยิบเอาชิ้นส่วนภายในกองปุ๋ยหมักมาบีบดู ถ้าปรากฏว่ามีน้ำติดฝ่ามือแสดงว่าความชื้นพอเหมาะไม่ต้องให้น้ำ ถ้าไม่มีน้ำติดฝ่ามือแสดงว่ากองปุ๋ยหมักแห้งเกินไปต้องให้น้ำในระยะนี้ ถ้าบีบดูมีน้ำทะลักออกมาตามง่ามนิ้วมือ แสดงว่าแฉะเกินไปไม่ต้องให้น้ำ

 3. การกลับกองปุ๋ย นับเป็นหัวใจสำคัญในการทำปุ๋ยหมักจะละเลยมิได้ เพราะเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ ก็ย่อมต้องการอากาศหายใจเหมือนมนุษย์ ดังนั้นการกลับกองปุ๋ยหมักนอกจากจะช่วยให้ออกซิเจนแก่จุลินทรีย์แล้ว ยังเป็นการระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ยอีกด้วย ยิ่งขยันกลับกองปุ๋ยหมักมากเท่าไรก็จะทำให้ได้ปุ๋ยหมักใช้เร็วมากขึ้นเท่านั้น เพราะทำให้เศษพืชย่อยสลายทั่วทั้งกอง และได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพดีอีกด้วย ตามปกติควรกลับกองปุ๋ยหมักอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

หลักในการพิจารณาว่ากองปุ๋ยหมักนั้นใช้ได้หรือยัง

เมื่อกองปุ๋ยหมักเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีทั้งที่มองเห็นได้และที่มองเห็นไม่ได้ ที่มองเห็นได้ก็คือ ชิ้นส่วนของพืชจะมีขนาดเล็กลงและยุบตัวลงกว่าเมื่อเริ่มกอง สีของเศษพืชก็จะเปลี่ยนไป ส่วนที่มองเห็นไม่ได้ก็คือปริมาณของจุลินทรีย์ ทีนี้จะสังเกตว่าปุ๋ยหมักสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่มีข้อสังเกตง่ายๆ ดังนี้

 1. สีของกองปุ๋ยหมักจะเข้มขึ้นกว่าเมื่อเริ่มกอง อาจมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ
 2. อุณหภูมิภายในของปุ๋ยหมักและอุณหภูมิภายนอกใกล้เคียงกันหรือแตกต่างกันน้อยมาก
 3. ใช้นิ้วมือบี้ตัวอย่างปุ๋ยหมักดูเศษพืชจะยุ่ยและขาดออกจากกันได้ง่าย ไม่แข็งกระด้าง
 4. พบต้นพืชที่มีระบบรากลึกขึ้นบนกองปุ๋ยหมัก แสดงว่าปุ๋ยหมักสลายตัวดีแล้ว
 5. สังเกตกลิ่นของปุ๋ยหมัก ถ้าเป็นปุ๋ยหมักที่ใช้ได้ ปุ๋ยหมักจะมีกลิ่นคล้ายกลิ่นธรรมชาติ
ถ้ามีกลิ่นฉุนหรือมีกลิ่นฟางแสดงว่าปุ๋ยหมักยังใช้ไม่ได้ เนื่องจากขบวนการย่อยสลายยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
 6. วิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการดูธาตุคาร์บอน และไนโตรเจน ถ้ามีอัตราส่วนเท่ากันหรือต่ำกว่า 20 : 1 ก็พิจารณาเป็นปุ๋ยหมักได้แล้ว

ข้อควรคำนึงในการกองปุ๋ยหมัก

 1. อย่ากองปุ๋ยหมักให้มีขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้เกิดความร้อนระอุเกิน 70 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นผลทำให้เชื้อจุลินทรีย์ตายได้ ขนาดกองปุ๋ยหมักที่เหมาะสมคือ ความกว้างไม่ควรเกิน 2-3 เมตร ความยาวไม่จำกัด สูงประมาณ 1-1.50 เมตร
 2. ถ้ากองปุ๋ยหมักมีขนาดเล็กเกินไป จะทำให้เก็บรักษาความร้อนและความชื้นไว้ได้น้อย
ทำให้เศษพืชสลายตัวเป็นปุ๋ยหมักได้ช้า
 3. อย่ารดน้ำโชกจนเกินไป จะทำให้การระบายอากาศในกองปุ๋ยไม่ดีอาจทำให้เกิดกรดอินทรีย์บางอย่าง เป็นเหตุให้มีกลิ่นเหม็นอับได้ง่าย
 4. ถ้าเกิดความร้อนในกองปุ๋ยหมักมาก ต้องเพิ่มน้ำให้กองปุ๋ย มิฉะนั้นจุลินทรีย์ที่ย่อยซากพืชจะตายได้
 5. ถ้าจะมีการใช้ปูนขาว อย่าใช้ปุ๋ยเคมีพร้อมกับการใส่ปูนขาวเพราะจะทำให้ธาตุไนโตรเจนสลายตัวไป กรณีใช้ฟางข้าวในการกองปุ๋ยหมักไม่จำเป็นต้องใช้ปูนขาว
 6. เศษวัสดุที่ใช้ในการกองปุ๋ยหมักมีทั้งประเภทที่สลายตัวเร็ว เช่น ฟางข้าว ผักตบชวา เปลือกถั่ว และต้นถั่วเศษวัชพืชต่าง ๆ และประเภทที่สลายตัวยาก เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ขี้ลีบข้าว กากอ้อย ขุยมะพร้าว ซังข้าวโพด ดังนั้นในการกองปุ๋ยหมักไม่ควรเอาเศษวัสดุที่สลายตัวเร็วและสลายตัวยากกองปนกัน เพราะจะทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่ไม่สม่ำเสมอกันเนื่องจากเศษพืชบางส่วนยังสลายตัวไม่หมด

คุณค่าทางอาหารพืชของปุ๋ยหมัก

แสดงคุณค่าทางอาหารพืชที่ได้จากปุ๋ยหมักบางชนิด

ชนิดของปุ๋ยหมัก                                 % ธาตุอาหารของพืช
 
                                               N             P2O5              K2O
ปุ๋ยหมักจากขยะเทศบาล               1.52          0.22                 0.18
ปุ๋ยหมักจากหญ้าแห้ง                   1.23          1.26                 0.76
หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลกระบือ     0.82         1.43                 0.59
หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลโค          2.33         1.78                 0.46
หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลแพะ        1.11         4.04                 0.48
หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลม้า          0.82         2.83                 0.33
ปุ๋ยหมักจากใบจามจุรี                    1.45         0.19                 0.49
ปุ๋ยหมักจากฟางข้าว                      0.85         0.11                 0.76
ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลไก่                 1.07         0.46                  0.94
ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลโค                 1.51         0.26                  0.98
ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลเป็ด               0.91          1.30                  0.79
ปุ๋ยหมักจากผักตบชวา                   1.43         0.48                  0.47
ปุ๋ยหมักผักตบชวา+มูลสุกร             1.85         4.81                  0.79
ปุ๋ยอินทรีย์(เทศบาล)ชนิดอ่อน         0.95         3.19                  0.91
ปุ๋ยอินทรีย์(เทศบาล)ชนิดปานกลาง  1.34         2.44                  1.12
ปุ๋ยอินทรีย์(เทศบาล)ชนิดแรง          1.48         2.96                  1.15

การใช้ประโยชน์กับพืชต่าง ๆ


วิธีการใช้ปุ๋ยหมักมีวิธีการดังนี้ (พิทยากร และคณะ, 2531: 8-11) ได้รายงานว่า สำหรับวิธีการใส่ปุ๋ยหมักสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี ตามชนิดของพืชที่ปลูกโดยมีจุดประสงค์เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติ และเพื่อให้ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยหมักเป็นประโยชน์ต่อพืชมากที่สุดและเกิดการสูญเสียน้อย เนื่องจากปุ๋ยหมักที่ใช้มีปริมาณมากยากต่อการขนส่งและเคลื่อนย้าย วิธีการใส่ปุ๋ยหมักมีดังนี้คือ

 1. ใส่แบบหว่านทั่วแปลง การใส่ปุ๋ยหมักแบบนี้เป็นวิธีการที่ดีต่อการปรับปรุงบำรุงดินเนื่องจากปุ๋ยหมัก จะกระจายอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงปลูกพืชที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ส่วนมากจะใช้กับการปลูกข้าวหรือพืชไร่ หรือพืชผัก แต่อาจมีปัญหาในด้านจะต้องใช้แรงงานในการใส่ปุ๋ยหมัก อัตราของปุ๋ยหมักที่ใช้ประมาณ 2 ตัน ต่อไร่ต่อปี โดยใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0, 18-22-0, 20-20-0 ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำอาจจะใช้สูตร16-16-8 ในอัตรา 15-30 กก. ต่อไร่
 2. ใส่แบบเป็นแถว การใส่ปุ๋ยหมักแบบเป็นแถวตามแนวปลูกพืชมักใช้กับการ ปลูกพืชไร่
วิธีการใส่ปุ๋ยหมักแบบเป็นแถวนี้เหมาะสมที่จะใช้ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีแบบโรยเป็นแถวสำหรับการปลูกพืชไร่ทั่วไป เนื่องจากปุ๋ยหมักจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีที่ใส่ให้เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช อัตราปุ๋ยหมักที่ใช้ประมาณ 3 ตัน ต่อไร่ต่อปี โดยใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0, 18-22-0 ในอัตรา 25-50 กก. ต่อไร่ สำหรับในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สูตรปุ๋ยอาจต้องใส่โพแทสเซียมเพิ่มขึ้นด้วย
 3.ใส่แบบเป็นหลุม การใส่ปุ๋ยหมักแบบเป็นหลุมมักจะใช้กับการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น โดยสามารถ ใส่ปุ๋ยหมักได้สองระยะคือ ในช่วงแรกของการเตรียมหลุมเพื่อปลูกพืช นำดินด้านบนของหลุมคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมักแล้วใส่รองก้นหลุม หรืออาจจะใส่ปุ๋ยเคมีร่วมด้วย อีกระยะหนึ่งอาจจะใส่ปุ๋ยหมักในช่วงที่พืชเจริญแล้ว โดยการขุดเป็นร่องรอบ ๆ ต้นตามแนวทรงพุ่มของต้นพืช แล้วใส่ปุ๋ยหมักลงในร่องแล้วกลบด้วยดิน หรืออาจจะใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยหมักในช่วงนี้ได้เช่นกัน อัตราการใช้ปุ๋ยหมักประมาณ 20-50 กก. ต่อหลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15, 14-14-14, 12-12-7 ในอัตรา 100-200 กรัม ต่อหลุมในกรณีที่ใส่ปุ๋ยหมักกับไม้ผลที่เจริญแล้ว อัตราการใช้อาจจะเพิ่มขึ้นตามส่วน และมักจะใส่ปุ๋ยหมักปีเว้นปี

มาตรฐานของปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐานให้พิจารณาดังนี้

 1. มีเกรดปุ๋ยไม่ต่ำกว่า 1:1:0.5 (ไนโตรเจน : ฟอสฟอรัส : โพแทสเซียม)
 2. มีความชื้นและสิ่งที่ระเหยได้ไม่มากกว่าร้อยละ 35 - 40 โดยน้ำหนัก
 3. ความชื้นเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.0 - 7.5
 4. ปุ๋ยหมักที่ใช้ได้แล้วจะต้องไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่
 5. ปุ๋ยหมักที่ใช้ได้แล้วไม่ควรมีวัสดุเจือปนอื่น ๆ
 6. จะต้องมีปริมาณอินทรีย์วัตถุอยู่ระหว่าง 25 - 50 %
 7. จะต้องมีอัตราส่วนระหว่างธาตุคาร์บอนต่อไนโตรเจนไม่มากกว่า 20 ต่อ 1
 




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 11:38:19
ปุ๋ยหมักชีวภาพ

ปุ๋ยหมักชีวภาพ  คือ  ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยธรรมชาติชนิดหนึ่ง  ที่มีประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดิน สามารถผลิตได้ง่ายใช้เวลาน้อย  โดยการนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้ผสมคลุกเคล้าหมักรวมกับมูลสัตว์ แกลบดำ      รำละเอียดคลุมด้วยกระสอบป่าน ใช้เวลาประมาณ 3 วัน สามารถนำไปใช้ได้
วัสดุทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
1.   มูลสัตว์แห้งละเอียด       1 ส่วน
2.   แกลบดำ          1 ส่วน
3.   รำละเอียด          1 ส่วน
4.   น้ำสกัดชีวภาพ
5.   กากน้ำตาล
6.   วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น แกลบ กากอ้อย ขี้เลื่อย เปลือกถั่วลิสง ถั่วเขียว ขุยมะพร้าว ฯลฯ     อย่างใดอย่างหนึ่ง 1 ส่วน
วิธีทำ
1.   ผสมวัสดุเข้าด้วยกัน
2.   รดน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพและกากน้ำตาล (ใช้น้ำตาลทรายแดงแทนได้)
   อัตราส่วน น้ำ    10    ลิตร
   น้ำสกัดชีวภาพ    2    ช้อนแกง
   กากน้ำตาล    2    ช้อนแกง
3.   เคล้าจนปุ๋ยขึ้นปั้นเป็นก้อนได้เมื่อแบมือ
4.   กองปุ๋ยบนพื้นซีเมนต์มีความหนาประมาณ 1 คืบ คลุมด้วยกระสอบป่านทิ้งไว้ 3 วัน และควรกลับ
5.   กองปุ๋ยเพื่อระบายความร้อนทิ้งไว้อีก  2 – 4 วัน จึงนำไปใช้ได้ (ลักษณะปุ๋ยที่ดีจะมีราขาว และมี
6.    กลิ่นของราหรือเห็ด ไม่ร้อน มีน้ำหนักเบา)
วิธีใช้
1.  ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพผสมดินแปลงปลูกผักทุกชนิด อัตราปุ๋ย 1 กก. ต่อ พื้นที่ 1 ตร.ม. ถ้าพืชผักอายุเกิน  2 เดือน ใช้ปุ๋ยรองก้นหลุม ประมาณ  1 กำมือ (ไม้กระถางใส่ 1 กำมือทุก 7 วัน
2.   ไม้ผล รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพผสมเศษหญ้าหรือใบไม้ 1 – 2 บุ้งกี๋
ประโยชน์
1.   เพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดิน รักษาความชุ่มชื้นและช่วยถ่ายเทอากาศได้ดี
2.    เพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดิน และไม่เป็นอันตรายต่อดินในการใช้ไปนานๆ
3.   ปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ผลิตง่าย ลงทุนต่ำ ใช้เวลาน้อย
การเก็บรักษา
ใส่กระสอบเก็บในที่ร่มและแห้ง ได้นาน 1 ปี

การผลิตน้ำสกัดชีวภาพสมุนไพรไล่แมลงและป้องกันเชื้อรา
สูตรที่ 1 การทำสารสกัดไล่แมลง และป้องกันเชื้อรา
ส่วนผสม
1.   ใบสะเดาแก่หรือเมล็ดสะเดาบด
2.     ใบน้อยหน่า
3.     ใบฝรั่ง
4.    ใบกระเพรา
5.     หัวข่าแก่
6.     หัวตะไคร้หอม
7.     เปลือกต้นแค
8.     เปลือกลูกมังคุด
9.     กากน้ำตาล
วิธีทำ
   นำส่วนผสมที่ 1 – 8 จำนวนพอสมควรเท่าๆ กัน สับหรือหั่นรวมกันในอัตรา 3 ส่วน (3 กิโลกรัม) ผสมคลุกเคล้ากับกากน้ำตาล 1 ส่วน (1 กิโลกรัม) ใส่ถังพลาสติกหมักไว้ 7 – 10 วัน กรองเอาน้ำหมักไปใช้ในอัตรา 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นต้นพืชในช่วงเย็นหรือเช้าที่ยังไม่มีแสงแดด ทุก 7 – 10 วัน / ครั้ง เพื่อไล่แมลงและป้องกันกำจัดเชื้อรา
สูตรที่ 2 น้ำหมักสมุนไพรกำจัดแมลง
ส่วนผสม
1.   ใบสะเดาแก่หรือเมล็ด 2 กิโลกรัม
2.      หัวข่าแก่ 2 กิโลกรัม
3.   ตะไคร้หอมทั้งต้น 2 กิโลกรัม
4.      หางไหลหรือต้นบอระเพ็ด 2 กิโลกรัม
5.   น้ำสะอาด 1 ปี๊บ (20 ลิตร)


วิธีทำ
   หั่นสมุนไพรทั้ง 4 ชนิด เป็นชิ้นเล็กๆ รวมกันตำหรือบดให้ละเอียดแช่น้ำ 1 ปี๊บ กรองเอาน้ำยาเข้มข้นสูง 1 ลิตร ผสมน้ำ 1 – 2 ปิ๊บ นำไปฉีดต้นไม้   ป้องกันกำจัดเพลี้ย หนอน แมลงต่างๆ ควรฉีดห่างกัน 3 – 5 วัน อย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป

น้ำสกัดชีวภาพ หรือ บี.อี. (BIOEXTRACT : B.E.)
    บี.อี. คือ ของเหลวสีน้ำตาลไหม้ที่ได้จากการนำส่วนต่างๆ ของพืชและสัตว์มาหมักกับกากน้ำตาล (MOLASSES) ประมาณ 7 วัน จะได้ของเหลวที่มีทั้งจุลินทรีย์และสารอินทรีย์หลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตร คือ
1.   จุลินทรีย์ทำการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้เป็นปุ๋ย
2.   ส่วนสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในของเหลวจะเป็นปุ๋ยโดยตรง
3.   ขบวนการผลิตจะได้สารฮอร์โมนที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช
สูตรการทำน้ำสกัดชีวภาพ (บี.อี)
สูตร 1 ทำจากผัก และ / หรือ ผลไม้
ส่วนผสม
1.   ผัก และ / หรือ ผลไม้ 3 ส่วน
2.   กากน้ำตาล 1 ส่วน
3.   เปลือกสับปะรด
4.   น้ำมะพร้าว
สูตร 2 ทำจากเศษปลา และ / หรือ หอยเชอรี่
ส่วนผสม
1.   เศษปลา และ / หรือ หอยเชอรี่ 1 ส่วน
2.   กากน้ำตาล 1 ส่วน
3.   เปลือกสับปะรด
4.   น้ำมะพร้าว   
วิธีทำ
นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำไปบรรจุในถังหมัก   ปิดฝาทิ้งไว้และคนให้เข้ากัน     ถ้ามีการแบ่งชั้น  ถ้ามีกลิ่นเหม็นให้เติมกากน้ำตาลลงไป คนให้เข้ากัน จนหายกลิ่นเหม็น แล้วหมักต่อไปจนกว่าจะไม่เกิดก๊าซให้เห็นบนผิวหน้าของปุ๋ยหมัก   แต่จะเห็นความระยิบระยับอยู่ที่ผิวหน้าน้ำหมักดังกล่าว   บางครั้งอาจจะพบว่ามีตัวหนอนลอยผิวหน้าหรือบริเวณข้างถัง  ควรรอให้ตัวหนอนใหญ่เต็มที่และตายไป  ถือว่าหมักสิ้นขบวนการการกลายเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ สามารถนำไปใช้ได้หรือนำไปพัฒนาผสมกับปุ๋ยน้ำอื่นๆ ใช้ประโยชน์ต่อไป
อัตราการใช้น้ำสกัดชีวภาพ
1.  พืชมีอายุน้อยหรือระยะการเจริญเติบโตแรกๆ ใช้ 10 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร   ฉีดพ่น   สามารถใช้ได้ 7 –  10  วัน / ครั้ง
             2. พืชที่มีอายุมาก ใช้ 20 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร
การใช้สมุนไพรกำจัดศัตรูพืช
1.   สะเดา หนอนกระทู้ผัก , หนอนใยผัก และหนอนอื่นๆ
2.      ขมิ้นชัน หนอนกระทู้ผัก , หนอนใยผัก และหนอนอื่นๆ
3.   หนอนตายหยาก หนอนหลอดหอม , และหนอนอื่นๆ
4.   โล่ติ๊น ตั๊กแตนปาทังกา และแมลงกินใบ
5.   สาบเสือ หนอนกระทู้ผัก , เพลี้ยอ่อน
6.   ตะไคร้หอม มีฤทธิ์ในการไล่แมลง
7.   ข่าเหลือง มีฤทธิ์ในการไล่แมลง
8.   ยาสูบ เป็นสารฆ่าแมลง ขับไล่แมลงและฆ่าไร
9.   ดอกดาวเรือง  หนอนใยผัก  ไส้เดือนฝอย  เพลี้ยต่างๆ  แมลงหวี่ขาว  ดวงปีกแข็ง  ตั๊กแตน   
   แมลงวันผลไม้
10. กระเทียม ด้วงปีกแข็ง เพลี้ยอ่อน ไส้เดือนฝอย แมลงหวี่ขาว
11.   ไพล ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา สาเหตุโรคข้าวบาร์เลย์
12.   มะรุม ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา
13.   ละหุ่ง แมงกะชอน หนู ปลวก ไส้เดือนฝอย
14.   มะเขือเทศ ด้วงหมัดผัก หนอนใยผัก ไส้เดือนฝอย
15.   มะม่วงหิมพานต์ เปลือก เมล็ด ยุง ด้วงงวงข้าว มอดเจาะไม้
16.   หญ้าแห้วหมู หัว ไล่แมลง
17.   สบู่ดำ ผล แมลงวัน
วัสดุอุปกรณ์
   1. เนื้อหอยเชอรี่ หรือหอยเชอรี่พร้อมเปลือก
   2.ไข่หอยเชอรี่
 3.พืชสดอ่อน / แก่
4. น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล)
5. ถังหมักที่มีฝาปิด
6. หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ
7. แกลลอน/ถังบรรจุผลิตผลปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่
8. กรวยกรองปุ๋ยน้ำหมัก

วิธีการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ
1. เก็บหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติจากเปลือกสับปะรด จากแปลงปลูกสับปะรดในระยะการเจริญเติบโตที่พร้อมจะเก็บบริโภค  ซึ่งแปลงปลูกสับปะรดไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดโรคพืชมาก่อนไม่น้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งจะมีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ตามธรรมชาติ
2. เฉือนหรือปลอกเปลือกสับปะรดให้ติดตาจากผลสับปะรดสุกจำนวน 3 ส่วน สับหรือบดให้ละเอียดแล้วนำมาผสมกับน้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 1 ส่วน  แล้วนำทั้ง 2 ส่วนมาผสมกัน คลุกเคล้าให้เข้ากัน พร้อมทั้งใส่น้ำมะพร้าวผสมด้วย  จำนวน 1 ส่วน  เมื่อผสมกันแล้วใส่ถังปิดฝาด้วยผ้าขาวบาง  ทิ้งไว้ 7 – 10 วัน   ถ้ามีกลิ่นเหม็นให้เติมน้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) ลงไปคนให้เข้ากันจนกลิ่นหายไป
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่หมักได้ที่ สามารถเก็บในภาชนะที่ปิดฝาสนิท ในสภาพอุณหภูมิห้องได้นานเป็นปี

วิธีการทำปุ๋ยน้ำจากหอยเชอรี่
วิธีที่ 1 หมักหอยเชอรี่ทั้งตัว
1.   หอยเชอรี่ทั้งตัวมาทุบหรือบดให้ละเอียดพร้อมเปลือก 3 ส่วน
2.   น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3.   น้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
    นำทั้ง 3 อย่างมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน   แล้วนำไปบรรจุในถังหมักปิดฝาทิ้งไว้และคนให้เข้ากัน   ถ้ามีการแบ่งชั้น ถ้ามีกลิ่นเหม็นให้เติมกากน้ำตาลลงไปคนให้เข้ากัน  จนหายกลิ่นเหม็น แล้วหมักต่อไปจนกว่าจะไม่เกิดก๊าซให้เป็นบนผิวหน้าของปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอรี่  แต่จะเห็นความระยิบระยับอยู่ที่ผิวหน้าน้ำหมักดังกล่าว บางครั้งอาจจะพบว่ามีตัวหนอนลอยผิวหน้าหรือบริเวณข้างถัง   ควรรอให้ตัวหนอนใหญ่เต็มที่และตายไป     ก็ถือว่าการหมักหอยเชอรี่สิ้นขบวนการ  กลายเป็นปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอรี่  สามารถนำไปใช้ได้หรือนำไปพัฒนาผสมกับปุ๋ยน้ำอื่นๆ ใช้ประโยชน์ต่อไป

วิธีที่ 2 หมักไข่หอยเชอรี่
1.   นำกลุ่มไข่หอยเชอรี่มาทุบหรือบดให้ละเอียด 3 ส่วน
2.   น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3.   หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
4.   คลุกเคล้าให้เข้ากันและนำไปหมักตามวิธีที่ 1

วิธีที่ 3 หมักไข่หอยเชอรี่และพืช
1.   นำกลุ่มไข่หอยเชอรี่บดให้ละเอียดผสมกับพืชอ่อนๆ หั่น 3 ส่วน
2.   น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3.   หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
4.   แล้วนำไปหมักตามขบวนการที่ 1

วิธีที่ 4 หมักเนื้อหอยเชอรี่ต้มสุก
1.   นำเนื้อหอยเชอรี่ที่ต้มสุกใส่เกลือแกงพอเหมาะบดให้ละเอียด 3 ส่วน
2.   น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3.   หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
4.   หมักตามขบวนการที่ 1

วิธีที่ 5 หมักเนื้อหอยเชอรี่และพืชสด
1.   นำเนื้อหอยเชอรี่ต้มสุกบดให้ละเอียด + พืชสดสับ 3 ส่วน
2.   น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3.   หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
4.   หมักเช่นเดียวกับวิธีการที่ 1

วิธีที่ 6 หมักเนื้อหอยเชอรี่ ไข่หอยเชอรี่ และพืชสด
1.   ตัวหอยเชอรี่หรือเปลือก ไข่ และพืชสด 3 หรือ 6 ส่วน
2.   น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 หรือ 6 ส่วน
3.   หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 5 หรือ 3 ส่วน
4.   หมักเช่นเดียวกับวิธีการที่ 1

อัตราการใช้ปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่ / ไข่ / พืช
พืชที่มีอายุน้อย หรือระยะการเจริญเติบโตแรกๆ ใช้ 20 ซ๊ซี / น้ำ 20 ลิตร สามารถใช้ได้ 7 – 10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิด อายุ ช่วงการเจริญเติบโตของแต่ละพืช
หมายเหตุ   ถ้าต้องการน้ำมากให้ใส่น้ำมะพร้าวอ่อนหรือแก่ให้มากหรือท่วม
ปุ๋ยน้ำอินทรีย์ (ปุ๋ยปลาหมัก)
ส่วนผสม
1.   ปลาสด (โครงไก่บด) 60 กก.
2.   กากน้ำตาล 40 กก.
3.    เชื้อปุ๋ยหมัก 1 ซอง
4.   น้ำสะอาด (น้ำอุ่น) 10 ลิตร
วิธีทำ
1.   นำเชื้อปุ๋ยหมักผสมกับน้ำอุ่น คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ ½ - 1 ชั่วโมง ให้เชื้อตื่นตัว
2.   นำกากน้ำตาล 40 กก. ผสมกับน้ำประมาณ 100 ลิตร กวนให้เข้ากัน
3.   นำปลาสด หรือโครงไก่บด ผสมในน้ำที่เตรียมไว้ (โครงไก่หรือปลาสดต้องไม่เน่าหรือปลาทะเล ควรล้างให้หายความเค็มก่อน)
4.   เติมน้ำผสมเชื้อปุ๋ยหมักลงในถังที่ผสมแล้วและเติมน้ำสะอาดให้อยู่ประมาณ 2/3 ของถัง (170 ลิตร)
5.   หมั่นคนทุกวันเมื่อเข้าสวน ประมาณ 1 เดือน เริ่มใช้ได้ และถ้าหมักนานยิ่งขึ้น คุณภาพยิ่งดีขึ้น (มีการย่อยสลายของแคลเซี่ยม)
อัตราการใช้
รากโคน (ไม้ผล) อัตรา 1 – 2 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร
ฉีดพ่น (ไม้ผล) อัตรา ½ ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร
กรณีพืชผักไม้ดอกไม้ประดับลดลงตามความเหมาะสม

ปุ๋ยหมักชีวภาพ s             
ส่วนผสม
   กากมันสำปะหลัง กากอ้อย แกลบเผา ปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และสารปรับสภาพดิน และธาตุอาหารพืช หัวเชื้อปุ๋ยหมัก
วิธีทำ
1.   นำเชื้อปุ๋ยหมักผสมในน้ำอุ่น 10 ลิตร คนและทิ้งไว้ประมาณ ½ - 1 ชั่วโมง
2.   นำส่วนผสมต่างๆ (ยกเว้นปุ๋ยน้ำชีวภาพและสารปรับดินและธาตุอาหาร) ราดน้ำให้มีความชื้น ผสมให้เข้ากัน ราดน้ำผสมเชื้อปุ๋ยหมัก หรือกองใหญ่ให้เจาะเป็นรูและเทน้ำผสมเชื้อลงในรูปุ๋ยหมัก
3.   หมั่นกลับกองปุ๋ย 10 วัน/ครั้ง ประมาณ 2 เดือน (เอามือแหย่ในกองดู ไม่มีความร้อน) ก็นำไปใช้ได้อัตราการใช้ไม้ผล (ที่ให้ผลแล้ว) อัตรา 30 – 50 กก./ต้น/ปี (ยังไม่ให้ผล) อัตรา 20 – 30 กก./ต้น/ปี



ปุ๋ยดินหมักชีวภาพสำหรับเพาะต้นกล้า
วัสดุที่ใช้
1.   ดินแห้งทุบให้ละเอียด ใช้ดินได้ทุกชนิด       5        ส่วน
2.   ปุ๋ยคอกแห้งทุบละเอียด             2    ส่วน
3.   แกลบดำ               2    ส่วน
4.   รำละเอียด                2    ส่วน
5.   ขุยมะพร้าวหรือขี้เค้กอ้อย           2    ส่วน
6.   น้ำเอนไซม์                  1 + น้ำตาล 1 + น้ำ 100 คนให้เข้ากัน
วิธีทำ
1.   ผสมวัสดุทั้งหมด คลุกเคล้าจนเข้ากันดี
2.     รดด้วยน้ำเอนไซม์ที่ผสมแล้ว บนกองวัสดุให้ความชื้นพอประมาณ กำแล้วใช้นิ้วดีดแตก ไม่ให้แฉะเกินไป
3.    เกลี่ยบนพื้นซีเมนต์ให้กองหนาประมาณ 1 ศอก คลุมด้วยพลาสติก หรือกระสอบป่าน หมักไว้ 5 วัน   จึงนำไปใช้ได้

ปุ๋ยดินหมักชีวภาพที่ดีจะมีราสีขาวเกิดขึ้น มีกลิ่นหอม สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานๆ
วิธีใช้
1.  ผสมปุ๋ยดินหมักชีวภาพกับดินแห้งทุบละเอียดและแกลบดำอย่างละเท่าๆ กัน คลุกจนเข้ากันดี  เพื่อนำไปกรอกถุง หรือถาดเพาะกล้า  หรือนำไปใส่ในแปลงสำหรับเพาะกล้า    จะช่วยให้ได้ต้นกล้าที่เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง
2.   นำไปเติมในกระถางต้นไม้ดอกไม้ประดับได้ดี กระถางละ 2 กำมือ

ที่มา : กองเกษตรสารนิเทศ  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
http://www.moac.go.th/people/html/msg_type1_1169.htm


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 12:11:56
วันก่อนได้ดูรายการกบนอกกะลาย้อนหลัง เกี่ยวกับดอกดาวเรือง เห็นเค้าเพาะในถาดหลุม ก็เลยเปลี่ยนบ้าง ย้ายดอกดาวเรืองมาลงถาดหลุมบ้าง สังเกตุว่าต้นมีการเจริญเติบโตเร็วขึ้นคงเพราะมีพื้นที่มากขึ้น คงอีกประมาณครึ่งเดือนถึงจะย้ายไปปลูกริมคันนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 13:43:58
“ข้าวนาปู” ข้าวออร์แกนิกส์ที่บูมที่สุดในหนิงเซี่ย

ยุคนี้กระแสการบริโภคอาหารชีวภาพกำลังมาแรงทั้งในตลาดตะวันตก ยุโรปและอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่จีน เนื่องจากจีนมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากทุกปี ผู้บริโภคจีนหันมานิยมสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากจะได้สินค้าที่ดีต่อตนเองแล้วยังรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าข้าวออร์แกนิกส์หรือข้าวอินทรีย์กันมาบ้าง ข้าวออร์แกนิกส์หรือข้าวอินทรีย์ก็คือ การปลูกข้าวที่ปลอดจากสารเคมีทุกขั้นตอน ไม่ใส่ปุ๋ยเคมียกเว้นปุ๋ยชีวภาพ จนถึงการควบคุมโรคแมลงด้วยวิธีพิเศษ แล้วคุณเคยได้ยินคำว่า “ข้าวนาปู” หรือไม่ ?? ข้าวนาปูมีชื่อภาษาจีนว่า ข้าวเซี่ยเถียน (蟹田米) ก็คือการปลูกข้าวควบคู่ไปพร้อม ๆ กับการเลี้ยงปูน้ำจืดนั่นเอง แต่หลายคนคงงง เพราะส่วนใหญ่เราเคยได้ยินแต่การกำจัดปูในนาข้าว เนื่องจากทำความเสียหายให้กับต้นข้าว บ้างก็เอามาทำปูนาดองไว้ใส่ส้มตำรสแซ่บหรือทำน้ำปูก็อร่อยดี (น้ำปูหรือทางภาคเหนือเรียกว่าน้ำปู๋ ทำจากปูนาที่นำมาตำและกรองเอาแต่น้ำ เคี้ยวจนเหนียวเป็นสีดำ ใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด เป็นสิ่งจำเป็นในครัวพอ ๆ กับปลาร้าในไหของภาคอีสาน) ข้าวนาปูคืออะไรและเป็นอย่างไร เราตามไปดูชาวหนิงเซี่ยเขาปลูกข้าวกันดีกว่า

หนิงเซี่ยได้นำเทคนิคการปลูกข้าวควบคู่กับการเลี้ยงปูน้ำจืด หรือที่เรียกว่า ระบบ symbiosis (ซิมไบโอซิส คือ การอยู่รวมกันของสิ่งมีชีวิตสองชนิดที่เอี้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน) เข้ามาใช้ในแปลงนาข้าวตั้งแต่ปี 2552 นับเป็นการผสมผสานการเพาะปลูกควบคู่กับการเพาะเลี้ยงได้อย่างลงตัว เริ่มต้นได้มีการทดลองเพาะปลูกข้าวในนาปูจำนวน 1,000 หมู่ (ประมาณ 2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่) ใช้พันธุ์ข้าว Jing27 (หรือเรียกว่า Ji-T39 ,宁粳 27 号) และพันธุ์ 843 โดยแปลงนา 1 หมู่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ 550 กิโลกรัม และเพาะเลี้ยงปูได้ 25 กิโลกรัม ทำรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นประมาณหมู่ละ 1,500 – 1,800 หยวน อีกทั้งได้ข้าวที่ปลอดสารเคมี แถมยังเป็นการเพาะปลูกเชิงนิเวศวิทยาที่รักษาสิ่งแวดล้อมและไม่ทำร้ายสังคมอีกด้วย สำหรับปี 2553 ได้มีการขยายผลปลูกในแปลงนาข้าวจำนวน 50,000 หมู่ ในอำเภอเห้อหลาน (นครอิ๋นชวน) เมืองชิงถงเสียและเมืองจงเว่ย นอกจากนี้ ยังคาดการณ์กันว่าจะขยายผลการปลูกข้าวนาปูถึง 500,000 หมู่ภายในปี 2555 และเพาะเลี้ยงปูน้ำจืดได้อีก 4,000 ตัน

จากผลการทดลองการปลูกข้าวควบคู่กับการเลี้ยงปูนั้นพบว่า ปูเจริญเติบโตได้ดี ปูช่วยกำจัดวัชพืชและแมลง ทำให้ดินร่วนซุย มูลของปูยังเป็นปุ๋ยแก่ต้นข้าว ตลอดการปลูกข้าวจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมน สารเคมีและเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมใด ๆ เป็นการเพาะปลูกเชิงนิเวศวิทยาที่ส่งผลให้ต้นข้าวมีแร่ธาตุและสารอาหารสมบูรณ์

หลังข้าวนาปูออกสู่ตลาดก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพเป็นอย่างดี แถมข้าวก็มีรสชาติอร่อย หอมและเหนียวนุ่ม โดยเฉพาะเืมื่อช่วงเทศกาลตรุษจีนเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ข้าวนาปูถูกเลือกให้เป็นของขวัญที่มีค่าสำหรับผู้ซื้อและผู้รับ ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ข้าวนาปูของหนิงเซี่ยได้จำหน่ายไปยังต่างมณฑลและต่างประเทศ อาทิเ่ช่น เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เซินเจิ้น ปักกิ่ง ส่านซี กานซู ชิงไห่ ประเทศมองโกเลียและกลุ่มประเทศอาหรับ โดยข้าวนาปูได้ถูกส่งออกจำหน่ายไปพร้อมกับข้าวออร์แกนิกส์ชนิดต่าง ๆ ของหนิงเซี่ยในปัจจุบัน เช่น ข้าวกล้องและข้าว Selenium-rich rice (ข้าวที่มีสารซีลีเนียมมากกว่าข้าวสารทั่วไป) ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้า High-end เป็นอย่างมาก ราคาโดยเฉลี่ยของข้าวออร์กานิกส์ทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 – 40 หยวน สำหรับข้าวนาปูราคาขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 หยวน นับว่าแพงกว่าข้าวสารโดยทั่วไป 4 - 5 เท่า แถมแพงกว่าข้าวหอมมะลิของไทยเสียอีก


วิธีการปลูกข้าวนาปู

เทคนิคสำคัญของการปลูกข้าวนาปูคือ การเตรียมแปลงนาข้าวและการปลูกข้าวก่อนฤดูหรือเร็วกว่าปกติ โดยราวกลางเดือนเม.ย. เมื่อเกษตรกรถอนหญ้าในนาปูหรือบ่อปูเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มนำต้นกล้าข้าวลงปลูกในนาปู หลังจากรอระยะเวลาให้ข้าวตั้งตัว ประมาณกลางเดือนพ.ค.ให้นำลูกปูปล่อยในแปลงนาข้าว ลูกปูและต้นข้าวจะเติบโตไปพร้อม ๆ กัน (เทคนิคสำคัญคือ ต้นข้าวจะต้องสูงกว่า 10 ซม.ขึ้นไปจึงจะปล่อยลูกปูเข้าแปลงนาได้ นอกจากนี้ ก่อนปล่อยลูกปูลงนาอุณหภูมิของน้ำในบ่อเลี้ยงปูกับแปลงนาไม่ควรต่างกันเกินกว่า 3 องศาเซลเซียส) เมื่อนาข้าวถูกแมลงรุกราน ปูจะไต่ไปตามต้นข้าวและกัดกินแมลง ดังนั้นข้าวจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งยาฆ่าแมลงเลย ประมาณเดือนก.ค.ให้ใช้แรงงานคนถอนต้นหญ้า จากนั้นราวเดือนต.ค.จึงทำการเก็บเกี่ยวข้าว


เคล็ดลับของการทำข้าวนาปู


เคล็ดลับสำคัญของการทำข้าวนาปูอยู่ที่การเตรียมแปลงนา วิธีการคือ ต้องปรับบ่อเลี้ยงปูซึ่งมีความลึกให้ตื้นขึ้นและเรียบ ปรับคันนา 4 ทิศทางให้สูงขึ้นและล้อมด้วยพลาสติก ใช้ไม้ขนาดความสูง 60 – 65 ซม.ปักรอบคันนาและให้มีระยะห่างกันประมาณ 1 เมตร โดยไม้จะต้องห่อหุ้มด้วยพลาสติกเช่นกัน การปักไม้ตามคันนาตัวไม้โผล่พ้นจากพื้นดิน 50 ซม. และปักลงไปในดินราว 10 – 15 ซม. จากนั้นนำดินมาอุดรอบไม้ให้แน่น เพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปในไม้ ต่อมาให้ทำการขุดร่องน้ำรอบคันนาภายในแปลงข้าวขนาดความกว้าง 2 – 2.5 เมตร ความลึก 0.8 เมตร และความลาดเอียง 1 : 3 โดยร่องน้ำมีระยะห่างจากคันนาราว 1 เมตร ดังนั้นจึงสามารถปลูกข้าวได้ทั้งบริเวณภายในและภายนอกร่องน้ำ ระบบน้ำเข้า-ออกใช้ปั๊มสูบน้ำ และการสูบน้ำเข้าและออกให้อยู่ทิศตรงข้ามกัน ท่อสูบน้ำเข้าให้ใช้ตาข่ายไนลอนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง (รูตาข่าย) 0.33 มม. ปิดท่อไว้เวลาสูบน้ำเข้า เพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ลูกปลาและไข่ปลา เข้าไปทำร้ายลูกปูหรือแย่งออกซิเจนและอาหารของลูกปู ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกปูได้

ไทยเราเองก็มีการพัฒนาข้าวเพื่อสุขภาพหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้องงอก ข้าวฮาง (ข้าวหอมมะลินึ่ง) และข้าวเคลือบสมุนไพร เพื่อยกระดับข้าวธรรมดา ๆ ของชาวนาให้มี “คุณค่า” และ “มูลค่า” มากยิ่งขึ้น หากจะว่าไปแล้ว “ข้าวนาปู” ก็มีแนวความคิดที่คล้ายคลึงกับ “การเลี้ยงกุ้งก้ามร่วมกับการปลูกข้าว” ของโครงการหลวงในไทย ที่หยิบยกเอาเอกลักษณ์ ภูมิปัญญา และข้อดีที่มีอยู่แล้วมาปรับประยุกต์ให้เป็น “จุดเด่น” ที่ไม่เหมือนใคร ทั้งนี้ “ข้าวนาปู” ไม่เพียงแต่เป็นเทคโนโลยีผลิตข้าวออแกนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยวิธีเรียบง่าย หากแต่ยังเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างมั่นคง ยั่งยืน และคง Concept “รักษ์โลก” ไว้ได้อย่างสมบูรณ์


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 14:03:58
ภาพการเลี้ยงกุ้งในนาข้าว ภาคเหนือเคยมีการทดลองเลี้ยงบนดอยอินทนนท์ในแปลงนาของชาวเขา ภาคอื่นก็พอมีการเลี้ยงอยู่บ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 14:55:49
ติดตามทุกวัน :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 21:13:05
มาดูเรื่องของจอบกันบ้างครับบางประเภทอาจไม่คุ้นหน้าตากันก็มีครับ





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 21:15:39
จอบเพื่อการถาก   ถ้าจะใช้ถากหญ้า กึ่งขุดดินบ้างแต่ไม่ลึกมากนัก หรือเป็นดินที่ไม่แข็งมาก ก็ใช้จอบแบบนี้  ลักษณะเด่นคือ น้ำหนักตัวจอบพอประมาณ 2ปอนด์ คมหน้าจอบเรียบตรง มีแกนกลางใกล้ช่องใส่ด้ามนูนหนาขึ้นมาเล็กน้อย  ใช้สับพรวนดินอกร่องแปลงปลูกผักก็ได้  ใช้คุ้ยผสมปูนหินทรายก็ดี (เสร็จงานต้องล้าง/ลับคมกันใหม่) 
ข้อควรระวัง ถ้าใช้ขุดดินแข็ง หรือรากไม้ใหญ่ แล้วงัดแรงๆอาจทำให้ตัวจอบแอ่นเสียรูป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 21:17:24
จอบเพื่อการขุด เน้นงานขุดดินโดยเฉพาะ  ดินแข็งก็ไม่เกี่ยง ขุดหลุม ขุดเอาตอไม้ออก สับรากไม่ให้ขาดก็ไหว คนรุ่นก่อนๆก่นสร้างที่ดินที่จับจองด้วยจอบแบบนี้  เนินดินจอมปลวกถูกขุด(แล้วหาบดินนั้นด้วยบุ้งกี๋ ไปถมที่ลุ่ม)หมดราบไปหลายแล้วเล่า พร้อมๆกับจอบที่สึกสั้นไปๆ(จนใช้งานขุดอีกไม่ได้)ไปเป็นเล่มๆ
  ลักษณะเด่นคือ น้ำหนักตัวจอบมีประมาณ 3 ปอนด์ครึ่งขึ้นไป (คนแข็งแรงมากใช้ 5 ปอนด์...ปัจจุบันคงหาซื้อยาก) คมหน้าจอบเว้าโค้งเข้า เผยมุมแหลมคม ตอกย้ำชัดถนัดขุด  มีแกนกลางใกล้ช่องใส่ด้ามนูนหนาขึ้นมามาก  เพื่อการใช้งัดไม่แอ่น/หักได้ง่าย  ระวังอย่าเอาไปใช้ถากหญ้า...หนักเกินไป...เหนื่อยไม่คุ้ม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 21:49:48
จอบขยัน  เรียกชื่อกันอย่างนี้คงเป็นเพราะจับจอบนี้ไปทำงานได้นานไม่ค่อยเหนื่อย  เนื่องจากตัวจอบมีน้ำหนักเบา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคมทั้งด้านยาวและด้านกว้าง  เหมาะสำหรับใช้ถากหล้าพรวนดินตื้นๆในแปลงพืชผัก เพื่อจะเข้าที่แคบได้ก็หมุนสลับคมด้านยาวเป็นด้านกว้าง (ไม่พลาดโดนโคนพืชที่ปลูก)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 21:51:45
จอบขุดที่แข็ง/แคบ  จะใช้แบบอีเตอร์ก็หนักไปและไม่ได้เน้นงานปูน  จึงต้องสร้างแปลงจอบนี้มาจากเหล็กแหนบรถ เหมาะดีสำหรับการขุดเซาะดินออกจากรากไม้ (ขุดล้มแล้ว)  ขุดดินปนหินที่แน่นแข็งมากๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 21:52:37
จอบถาก/สับหญ้าชายคันนา    ดัดแปลงทำให้คมหน้ากว้างมากด้วยการเชื่อมต่อแต่ละครึ่งของจอบผาลจานเข้ากันจอบถาก  ใช้สับหญ้าชายคันนาได้อย่างรวดเร็ว  ใช้สับดินที่ดอนแล้วเหวี่ยงโยนให้กระจายก็ดี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 21:53:37
คทาหน้ายาว  แปลงมาจากจอบที่สึกจนสั้นใช้งานไม่ค่อยดีแล้ว โดยติดแผ่นไม้เข้าไปดังรูปคล้ายตัว T ใช้ดันหรือลากข้าวเปลือกที่ตากลานให้รวมเป็นกอง   และใช้ดันลูบปรับเทือกในนาที่ดอนเป็นหย่อมๆให้ราบเรียบ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 21:55:10
จอบถากที่ตัดตัวจอบด้านข้างให้เหลือคล้ายเป็นรูปสามเหลี่ยมโดยคงด้านคมให้คงเดิม,จอบที่ตัดแปลงมาจากผาลจาน  ถ้าจอบไม่หนาเกินไปจะเหมาะมากในการถากพรวนในแปลงที่ปลูกตันไม้ที่ค่อนข้างหนาแน่น  คือจะเซาะได้ชิดโคนต้น และตอนที่เหวี่ยงง้างจอบจะลดการสะบัดกระทบกับกิ่งก้านใบต้นไม้ที่ปลูกอยู่
  จอบง่าม   มีทั้งแบบ 3 ง่าม 2 ง่าม(...ไม่ใช่สองง่ามสามแง่นะ) ใช้สับกลับกอง สับโกยปุ๋ยหมัก  ถ้าเป็นชนิด 2 ง่าม นิยมใช้ขุดมันเทศ ช่วยลดปัญหาหัวมันถูกสับเสียหาย

ข้อควรระวังในการใช้งานจอบ เนื่องจากจอบมีด้ามยาว  ถ้าจับเหลือปลายด้ามยื่นมากต้องไม่ให้ไปโดนคนอื่นที่ทำงานใกล้กัน  บริเวณที่แคบ หรือมีกิ่งไม้,เถาวัลย์,วัสดุกีดขวางไปเกี่ยวกระทบด้ามหรือตัวจอบ อาจเกิดจังหวะการทำงานที่ผิดพลาด ทำใหตัวเราได้รับบาดเจ็บ ควรใส่รองเท้าหุ้มส้นขณะใช้จอบ จะช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 21:57:14
1.คราดเล็ก(ผลิตเองตามความต้องการใช้งาน) มีระยะระหว่างซี่ไม่ห่างมากนัก เหมาะกับการดึงสางหญ้าที่เลื้อยทอดลงไปในนา(หลังจากการใช้เครื่องตัดหญ้าชายคันนาแล้ว) ไม่ต้องลงนาดึงสางด้วยมือโดยตรง
  2.คราดเหล็กลวด มีน้ำหนักเบา เหมาะกับการครูดสางหญ้าแห้งที่ถูกตัดแล้ว  เก็บรวมกองใบไม้ หรือหญ้าสดในนาหลังการตีเทือกแล้วรากขาดลอยแพถูกลมพัดไปรวมกัน
  3.คราดใหญ่(ทำเสริมเพิ่มซี่ขาให้มากขึ้น) เหมาะกับการใช้ครูดดึงหญ้าที่ค่อนข้างยาวให้รวมกอง เกลี่ยตากข้าวเปลือก สางให้ฟางลอย สับโกยปุ๋ยหมัก แกลบ ใส่เข่ง  คุ้ยแผ่เพื่อใช้น้ำดับกองที่เผาแกลบ,ถ่าน
  4.เสียมพลั่ว  คนสมัยก่อนใช้เสียมพลั่วขุดคู ขุดบ่อ เป็นเรื่องปกติ  การใช้ก็จับด้ามกดแทงดินที่อ่อนนุ่ม งัดให้ดินติดแล้วเหวี่ยงออกไปได้ไกลตามกำลัง  ยังใช้ขุดหลุม ลอกดินร่องน้ำ  แทงอัดดินคันนาเพื่ออุดน้ำรั่ว
  5.เสียมแหนบ (ทำจากเหล็กแหนบรถ) ใช้เป็นเสียมขุดดินแข็งขุดหลุมเสา  ขุดแยกหน่อกล้วย กอข่า เหง้ากอไผ่ ได้ดีมาก  ใช้เป็นเหมือนขวาน กระแทกตัดรากต้นไม้ที่ต้องการโค่นหรือขุดไปเจอ  ใช้เเป็นเหมือนชะแลง  งัดไม้กระดานให้หลุดจากที่ตอกตะปูไว้  ปลายด้ามยังใช้กระทุ้งได้อีก 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 22:01:54
เรื่อย ๆ นะครับเครื่องมือเครื่องใช้ที่อาจได้ใช้  ต้องขอบคุณ คุณ titcan  จากเว็ป www.kasetporpeang.com  ครับ

1,2 มีดขอเคียว  ลักษณะโค้งงอเล็กน้อย  มีฟันคมเหมือนเคียวเกี่ยวข้าว ต่อใส่ด้ามยาวเพื่อถนัดในการเกี่ยวดึง หรือหวด เช่นตัดดึงสางเถาหญ้าที่เลื้อยพัน  เกี่ยวแยกข้าวปนในนา เกี่ยวดึงเฉือนรากกอหญ้า(ชิดติดดิน)ซึ่งถอนขึ้นยาก ตัดต้น/ฝักข้าวโพด
3 มีดดาบ  ใช้ฟาดฟันลุยป่าหญ้าพงเถาวัลย์ปรก หรือบึงหนองน้ำที่มีหญ้าสวะรกหนาแน่น (การใช้มีดฟันในน้ำต้องระวังมาก มันจะแฉลบ บังคับทิศทางได้ยาก)
4.มีดปลายตัด  ใช้ลุยสวน ตัดแต่งกิ่ง ทรงพุ่ม ตัดกิ่งกาฝาก ทำงานได้ทั้งวันไม่ทันเมื่อย
5.มีดปลายตัด เบอร์ห้า  เหล็กหนากว่าค่อนข้างหนัก  ใช้ตัดทอนท่อนไม้ ตัดกิ่งใหญ่ๆ  ตัด/ผ่าฟืน
6.มีดโต้  อาวุธประจำกายของแก้วหน้าม้า    เหมาะกับการใช้สับงัด เช่นปอกเปลือกมะพร้าว  สับฟาก  ผ่าลำไม้ไผ่ (แล้วใช้ค้อนไม้ตอกทุบสันมีดเพื่อให้ผ่าได้ตลอดความยาว)
7.มีดเหน็บ  ลักษณะของส่วนคมมีดท้องป่อง ปลายแหลม  ถ้าจะให้สมบูรณ์ครบ ก็ต้องมีฝักมีดไว้สอดเก็บตัวมีดด้วย เพื่อความปลอดภัยในการพกพา นี่คงเป็นที่มาของชื่อมีดเหน็บ  ซึ่งเขาจะเหน็บไว้ที่เอว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 22:04:14
รองเท้าที่เข้ากันกับงานเกษตร

ตัวอย่างอุบัติภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจาก
แก้วแตก หินบิ่น หนามแหลม เปลือกหอย เศษโลหะ มาทิ่มตำ มด แมลง สัตว์รำคาญ สัตว์มีพิษ น้ำเน่า โรคฉี่หนู เล็บขบ ฯลฯ
ไม่ประมาท ปลอดภัยไว้ก่อน ป้องกันได้ เมื่อจะก้าวเท้าเดินลงไปทำสวนไร่นา
ใส่รองเท้าที่หุ้มยาวถึงข้อเข่า  เลือกแบบพื้นรองเท้าที่เป็นยางแข็ง (1,2จากทางขวา)มีร่องหยักเพื่อการเกาะยืดที่ดี กันเลื่อนไถล
เหมาะที่จะใส่ลุยบนพื้นที่แห้ง ไม่มีน้ำขังเป็นโคลนตม เพราะถ้าพื้นที่ย่ำไปเป็นหล่มจะดูดดึงรองเท้าก้าวขาไม่ออก หรือรองเท้าจมถูกโคลนดูดไม่ติดมากับเท้า
รองเท้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าควรเลือกที่เข้ารูปกับเท้าเรา เพื่อใส่ได้เป็นเวลานานๆไม่บีบฝืนขืนให้เจ็บบวม
รองเท้าบู้ทที่มีเนื้อยางค่อนข้างหนา ใช้ใส่ตัดหญ้าช่วยบรรเทาแรงกระทบจากเศษดิน หิน ไม้ ที่กระเด็นมาโดน
ถ้าจะใส่ลุยลงน้ำ เช่นในนาที่เป็นเทือก  เลือกแบบพื้นที่เป็นยางนิ่ม(1,2จากซ้าย) เพราะจะเดินถอนก้าวขาได้ง่ายเหมือเท้าเปล่า
ทั้งสองแบบนี้ปกติจะกันน้ำได้  แบบ 1 สีส้มที่ผมนิยมใช้ เมดอินไทยแลนด์ เนื้อยางยืดหยุ่นได้มาก ถอดง่ายใส่สะดวก  ใช้เสร็จต้องล้างเก็บผึ่งในที่ร่มไม่ให้โดนแดดนานานๆ เพราะจะเปื่อยเร็ว
การสวมใส่รองเท้าเหล่านี้ มักมีเหงื่อออกมาแฉะชื้นเป็นที่น่ารำคาญ
จึงควรสวมถุงเท้าไปก่อนอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะช่วยซับและระเหยเหงื่อที่ออกมาได้บ้าง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 22:23:10
เครื่องบดตีดินป่นสำหรับเพาะกล้านาโยน
ของคุณทิดแคน เกษตรพอเพียงดอทคอม

เครื่องนี้...เดิมไปจ้างช่างเหล็กแถวบ้านทำเขาคิดราคาเฉพาะค่าแรง...พันห้า  แต่ลองใช้งานแล้วมีปัญหาไม่ลงตัวคือ...ช่องใส่ดินลงเจาะตรงกลางดินกระเด็นมากมาย รูตะแกรงช่องดินออกแคบไป ติดขัดขึ้นมาแล้ว...แกะยาก...เสียเวลานาน   ฝุ่นดินเข้ายัดในตลับลูกปืน...ฝืดและแตกเร็ว หัวเพลาเครื่องตีและมอเตอร์ต่อชนกันหมิ่นเหม่ไม่ลึกพอ จึงต้องมารื้อแก้ไขทำใหม่หมด

ตัวเครื่องเป็นเหล็กท่อทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 22 cm ยาว 20.5 cm หนา 0.4 cm
   เจาะช่องใส่ดิน 7cmx15cm ที่ตำแหน่งระหว่างแนวกลางกับข้างท่อเหล็ก ด้านที่ใบตีหมุนลง และมีคอสูง 10 cm ป้องกันดินกระเด็นออก แล้วเสริมต่อเป็นกระบะรับดินให้กว้างใหญ่ขึ้นตามต้องการ
   ช่องดินออกขนาด 18cmx18cm  เชื่อมติดแบบบานพับปิดเิปิดได้ด้วยเหล็กตะแกรงขนาดรู 0.5cm  ทำกว้างกว่าช่อง โค้งให้เข้ารูป เมื่อปิดแล้วล็อกแน่นได้ด้วยน้อต
   แกนเพลาเหล็กผ่านศูนย์กลางขนาด 1.25 นิ้ว ยาว 36 cm กลึงหัวท้ายให้เหลือ 1 นิ้วเพื่อใส่ตลับลูกปืนรูปโอเมก้าทางด้านที่ชนกับมอเตอร์  และใส่ตลับลูกปืนรูปสี่เหลี่ยมอีกข้าง ซึ่งยึดติดกับฝาเหล็กแผ่นกลมที่ออกแบบให้ถอดเข้าออกได้ เหลือความยาวเพลาส่วนกลางประมาณ 20 cm เชื่อมเหล็กแผ่นมีรู 4 หุน ขนาดเท่าใบตี แต่สั้นกว่า เข้ากับแกนเพลาส่วนนี้ 3 ตำแหน่ง แนวรูทั้งสามเป็นแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยให้จุดศูนย์กลางรูห่างผิวเพลาประมาณ 2 cm  เชื่อมเหล็กแบบนี้อีกแนวให้อยู่ตรงข้ามกัน
   ฝาเหล็กแผ่นแบนกลมดังกล่าวนี้ใช้ 2 แผ่น อีกแผ่นขนาดผ่านศูนย์กลางน้อยกว่าคือเท่ากับท่อพอดี เชื่อมปิดติดตายตัวกับท่อเหล็กอีกข้าง ทั้งนี้ต้องเจาะรูขนาดโตกว่า 1 นิ้วเล็กน้อยที่จุดกึ่งกลางของแผ่นทั้งสองไว้ก่อนแล้ว
ใบตี จำนวน 18 ใบ ตัดส่วนมาจากใบมีดเก่าของรถพรวนดินซึ่งเป็นเหล็กแข็งมาก มีรูขนาด 4 หุนอยู่แล้ว...ไม่ต้องเจาะ ความยาวประมาณ 7 cm  นำไปเสียบร้อยกับเหล็กแท่งกลม 4 หุน และสอดร้อยร่วมกับเหล็กรู 4 หุนที่เชื่อมติดกับเพลาดังกล่าว ข้างละ 9 ใบ
   การติดตั้งใบตีนี้เป็นลักษณะแฮมเมอร์ ควรจะต้องมีเหล็กวงแหวนคั่นระหว่างใบและให้สลับตำแหน่งใบที่อยู่ตรงข้ามไม่ให้ตรงกัน
มอเตอร์ที่ใช้ขนาด 1.5 แรง ไม่ใช้สายพาน แต่ส่งกำลังด้วยข้อต่อยอย ซึ่งต้องติดตั้งให้แนวเพลาของมอเตอร์และเพลาของเครื่องตีฯตรงแนวกันแป๊ะ
  ขาตั้งเป็นเหล็กฉาก 1.25 นิ้วอย่างหนา ทำให้ขาถ่างเพื่อมั่นคงไม่ล้มง่าย
  ขณะใช้งาน เปิดปากกระสอบรองรับได้พอดี โดยมีแม่เหล็ก(แกะจากฮาร์ดิสก์) ประกบตรึงดึงไว้
  ดินที่จะใส่นั้น ควรต้องย่อยซอยให้ก้อนเล็กกว่าช่องลง ด้วยรถพรวนดินเล็ก หรือใช้จอบสับ ตากแห้งสนิท ชนิดที่มีฝุ่นขณะทำงาน ไม่อย่างนั้น ดินจะร่วงลงไม่ดีมีอาการติดขัด ต้องหยุดเปิดแผ่นตะแกรงแคะกันบ่อย
  ดินที่หาโกยเก็บมาเป็นก้อนใหญ่ อาจนำมาตากบนลานที่พื้นแข็งเช่นลานปูน แล้วใช้รถอีแต๋น/กระบะย่ำเดินหน้า-ถอยหลังให้แตกย่อย ปล่อยให้แห้งก็ได้ แล้วจึงโกยตักมาเทใส่เครื่องฯ
  ดินก้อนโตหน่อยอาจไม่ค่อยลง จึงต้องมีแท่งเหล็กคอยเขี่ยบ้าง แต่ระวังอย่าแหย่ลึกไปโดนใบตี
  อัตราการทำงานได้ดินป่นประมาณชั่วโมงละ 1 ตันเพิ่มเติมเสริมความคิด

  ใช้แผ่นเหล็กรูตะแกรงแบบที่ใช้ร่อนทำความสะอาดข้าวเปลือก มาสร้างเป็นตะแกรงโยกร่อนดินที่ตักโกยมาจากที่พรวนย่อยแล้วก็ได้ดินป่นอีกวิธีหนึ่ง ใช้มอเตอร์ 0.5 แรง
  แยกใช้หัวโม่ป่นของเครื่องสีข้าวจีน ให้อัตรารอบน้อยลง เปลี่ยนตะแกรงเป็นขนาดรู 0.5 cm มอเตอร์ 1 แรง ทำดินป่นได้อีกเหมือนกัน
  ถังในของเครื่องซักผ้าเก่าแบบนี้ ซื้อมาจากร้านรับซื้อของเก่า ก็น่าจะนำมาดัดแปลงติดมอเตอร์ให้หมุนกลิ้งแนวนอน ร่อนดินได้ เพราะมีรูอยู่แล้วโดยรอบ ขนาด 0.5 cm พอดีด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 22:53:04
ตอนเย็นวันนี้ไปดูนาข้าว  ตอนนี้นับจากหว่านข้าวมีอายุได้ 13 วันแล้วครับ  จ้างเค้ามาพ่นยาคุมหญ้าครับ ช่วงนี้เป็นช่วงไม่ปลอดภัยหากไปนา ซึ่งควรมีผ้าปิดจมูกหรือสวมแว่นตาไปด้วยเพราะยาคุมหญ้าบางยี่ห้อมีพิษต่อการหายใจ และระคายเคืองตา ไม่ควรนำเด็กเล็ก ๆ ไปนาด้วยครับ ทำนาหว่านหลีกเลี่ยงได้ยากหากไม่มีการคุมหญ้า  ช่วงที่เริ่มปลอดภัยคือประมาณข้าวมีอายุได้ 1 เดือนครึ่งเป็นต้นไปเพราะชาวนาจะไม่ค่อยมีการใช้สารเคมีกันนอกจากยาฆ่าแมลงที่ใช้พ่นกำจัดหนอนกอข้าว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 22:59:20
นาแปลงคนอื่นที่ติดกันที่เสียหายจากฝนตกเมื่อวันก่อน ทำนาหว่านเหมือนกับผมครับ หากระบายน้ำช้า ไม่กำจัดหอยก็จะเสียหายมาก ๆ ผมใช้กากชาซึ่งปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ นาแปลงติดกันใช้ยาฆ่าแมลงชนิดน้ำกำจัดหอย ก็ลำบากใจเหมือนกันที่ทำนาติดกันเพราะมีกลิ่นเหม็นมาก ๆ หากเค้ามาพ่นเราก็ไม่สามารถอยู่ในแปลงนาเราได้เพราะลมจะพัดเอากลิ่นและละอองมาซึ่งก็เป็นอันตรายกับเราด้วย บางคนแพ้อาจเวียนหัวอาเจียนได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2013, 23:07:21
นาโยนแปลงที่อยู่ใกล้ๆ ครับ  เสียหายเหมือนกัน เมื่อสังเกตุดี ๆ จะรู้ว่าการโยนกล้าจะต้องพยายามโยนให้สูง เพื่อให้ข้าวพุ่งปักลงดินจึงจะดีที่สุด ถ้าพุ่งไม่ปักลงดินรากต้นข้าวจะใช้เวลานานในการยึดติดพื้นดิน หากมีฝนตกลงมาจะไปละลายดินที่เกาะที่ราก หากฝนตกมาก ๆ ข้าวก็จะลอยไหลไปกับทางระบายน้ำได้  และจะต้องมีการกำจัดหอยเชอรี่ด้วยครับ 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 02 กุมภาพันธ์ 2013, 11:28:47
ตามมาอ่าน ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กุมภาพันธ์ 2013, 22:14:16
ช่วงนี้มีฝนตกครับ กรมอุตุประกาศว่าจะมีฝนในช่วงวันที่ 2-4 ก.พ. ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่สำหรับคนที่ข้าวยังต้นเล็ก ๆ ต้องดูเรื่องน้ำและหอยเชอรี่ด้วยครับ หรือหากกำลังจะหว่านหรือโยนข้าวอาจต้องหลีกเลี่ยงในช่วงนี้ครับ  วันนี้แถวบ้านฝนตกหนักเลยต้องไประบายน้ำออกเพราะไม่อยากให้มีน้ำมากเพราะต้นข้าวยังเล็กอาจเสียหายจากหอยเชอรี่ได้

รูปนาข้าววันนี้หลังจากฝนตกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กุมภาพันธ์ 2013, 22:25:47
ในนาผมแม้ว่าใส่กากชาแล้วก็อาจมีหอยเชอรี่เหลือรอดบางทีก็ข้ามมาจากแปลงนาข้างเคียงของคนอื่น  หากระดับน้ำสูงหอยเชอรี่จะเริ่มกินจากยอดลงทำให้กินได้ไวมากขึ้นและน้ำหนักของตัวหอยเชอรี่อาจทำให้ต้นข้าวหักด้วย  หากระดับน้ำมีไม่มากหอยไม่สามารถกินจากยอดต้นข้าวได้ซึ่งเป็นใบที่อ่อนกินง่าย ก็จะเห็นแบบนี้แหล่ะครับพยายามจะกินทั้งต้นแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยเพราะลำต้นจะแข็งกว่าใบการกินก็กินได้ช้าการเสียหายก็น้อยกว่าระดับน้ำมาก แต่ถ้าน้ำแห้งเลยหญ้าก็ขึ้นได้ช่วงนี้ หากสามารถควบคุมน้ำได้ก็อาจหลอกล่อโดยการไขน้ำเข้าและปล่อยน้ำออกให้หน้าดินไม่แห้งหญ้าจะได้ไม่ขึ้นครับ  แต่หากน้ำในนามีมากระบายออกไม่ได้ก็จะต้องใช้กากชากำจัด  ตรงกันข้ามหากระดับน้ำมีน้อยหรือไม่มีเลยอาจใช้อาหารกำจัดหอยจัดการได้ อีกวิธีในกรณีที่พบไม่มากก็อาจจะเก็บหรือทำสวิงผูกกับไม้ยาว ๆ ซัก 2-3 เมตรตักหอยก็ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กุมภาพันธ์ 2013, 22:47:39
วันนี้คนแถวบ้านเอาชารางจืดมาให้ดื่มครับ เอามาจากโรงพยาบาล  หากใครเสี่ยงต่อสารพิษก็แนะนำให้ดื่มเพราะเค้ามีการทดสอบจากกระทรวงสาธารณะสุขแล้วสามารถลดสารพิษตกค้างในร่างกายได้ครับ

รางจืด ซึ่งจัดว่าเป็นราชาของยาแก้พิษ...เป็นสมุนไพรชนิดเดียวที่มีการใช้แก้พิษในอดีตและมีข้อมูลการวิจัยสนับสนุน

รางจืด...ล้างพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

     ด้วยกระแสของการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ที่เกษตรกรต้องใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีจำนวนมากในการผลิต จากการสำรวจตัวอย่างเลือดของเกษตรกรของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีสารเคมีในกระแสเลือดอยู่มากว่าร้อยละ ๕๑ เพราะฉะนั้นจากเกษตรกร ๑๔.๑ ล้านคนจะพบ ๗ ล้านกว่าคนมีสารพิษฆ่าแมลงทั้งชนิดออร์กาโนฟอสเฟต (organophospjate) คาร์บาเมต (carbamate)  และอาการที่เกิดขึ้นคือ วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ปวดเมื่อย และระบบสมองเสื่อมเร็ว รวมไปถึงการพัฒนาสู่การเป็นมะเร็ง ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเลือกสมุนไพรรางจืด มาทำการรณรงค์เพื่อใช้ล้างพิษในกระแสเลือดให้เกษตรกร ซึ่งรางจืดเป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยทั้งในห้องทดลองและการศึกษาในคน มากกว่า ๓๐ ปีแล้ว

     โดยการศึกษาทางเภสัชวิทยาของรางจืดครั้งแรกเริ่มจากแพทย์หญิงพาณี เตชะเสน คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รางจืด

ชื่อวิทยาศาสตร์  Thumbergia laurifolia Lindl

วงศ์  Acanthaceae

ชื่อสามัญ  Laurel clockvine, blue trumphet vine

ชื่อ อื่นๆ รางจืดมีมากมาย เช่น รางจืด รางเอางย็น ว่านรางจืด เถา ยาเขียว เครือเถาเขียว กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง (ภาคกลาง) ย้ำแย้ (อุตรดิตถ์)  ฮางจืด ฮางเย็น เครือเข้าเย็น หนามแน่ (ภาคเหนือ) คาย (ยะลา) และดุเหว่า (ปัตตานี) เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thumbergia laurifolia Lindl.

ลักษณะ พิช รางจืดเป็นไม้เถาสามารถเลื้อยไปตามพื้นดินหรือพาดพันขึ้นคลุมต้นไม้ใหญ่ๆ ได้ทั้งต้น เถามีลักษณะกลม สีเขียว เมื่อเถาแก่เป็นสีน้ำตาลมากขึ้น ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้มออกเป็นคู่ตรงข้ามตรงข้อของลำต้น ใบมีลักษณะคล้ายใบย่านางรูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง ๔-๗ เซนติเมตร (ซม.) ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้าหรือหยักรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักตื้น เส้นใบมี ๕ เส้น ออกฐานใบเดียวกัน

ดอกช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อละ ๓-๔  ดอก กลีบดอกแผ่ออกเป็นรูปแตร ปลายแยกเป็น ๕ แฉก โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวราว ๑ เซนติเมตร มักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ในหลอด สีม่วงแกมน้ำเงิน ผลเป็นผลแห้งแล้วแตก ๒ ซึก จากจะงอยส่วนบน มักมีดอกในฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-กุมพาพันธ์) ดอกที่โรยแล้วบางดอกอาจติดผล เมื่อแก่เปลือก ผลเป็นสีน้ำตาล แตกออกเป็น ๒ ซึก เมล็ดมีสีน้ำตาลมีปุ่มเล็กๆ คล้ายหนามอยู่บนเปลือกเมล็ด และสามารถนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อไปได้ แต่การขยายพันธุ์รางจืดส่วนใหญ่นิยมนำเถาแก่หรือใบมาปักชำมากกว่า

การกระจายพันธุ์ รางจืดเป็นพืชในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย ได้แก่ ประเทศแถบอินเดีย อินโดจีน ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย อินโนดีเซีย ฟิลิปปินส์ มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และไตหวัน

การขยายพันธุ์  นิยมใช้เถาในการปักชำ ในการชำเถา วิธีที่ดีที่สุดคือเลือกข้อแก่ๆ ของรางจืดที่ใบติดอยู่สอบใบมา ๑ ข้อ เด็ดใบออก ๑ ใบ นำไปชำในทรายหรือแกลบที่ไม่มีดิน รดน้ำให้ชุ่มจนรากงอก จากนั้นนำไปลงถุงเพาะชำ หรือเลือกเถาแก่มาตัดเป็นท่อน ยาวประมาณ ๖-๘ นิ้ว ให้มีตาติดอยู่ ๒-๓ ตา ถ้าชำเถาในฤดูฝนจะออกรากเร็วกว่า

สาร พิษฆ่าแมลง ทั้งชนิดออร์กาโนฟอสเฟส (organophostpate)   คาร์บาเมต (carbamate) และอาการที่เกิดขึ้น คือ วิงเวียนศรีษะ อาเจียน ปวดเมื่อย และระบบสมองเสื่อมเร็ว รวมไปถึงการพัฒนาสู่การเป็นมะเร็ง ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเลือกสมุนไพรรางจืด มาทำการรณรงค์เพื่อใช้ล้างพิษในกระแสเลือดให้เกษตรกร ซึ่งรางจืดเป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยทั้งในห้องทดลองและการศึกษาในคน มากกว่า ๓๐ ปีแล้ว

โดยการศึกษาทางเภสัชวิทยาของรางจืดครั้งแรกเริ่มจากแพทย์หญิงพาณี เตชะเสน คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ารางจืดสามารถช่วยชีวิตแมวของท่านที่ถูกวางยาพิษได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทำการศึกษาวิจัยรางจืดในการแก้พิษสารกำจัดศัตรูพืช ตั้งแต่ พ.ศ ๒๕๒๒-๒๕๒๓ โดยเริ่มจากสารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (เช่น โฟลิดอล พาราไทออน)

ต่อมามีการศึกษาพบว่ารางจืดยังสามารถลดพิษของสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มคาร์บอเนต เช่น เมโทรมิล เป็นต้น

จากการศึกษาวิจัยการต้านฤทธิ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของรางจืดนั้นอาจเกิดจากหลายกลไก เช่น

สารสกัด รางจืดทำให้ระดับเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสเพิ่มขึ้น หรือลดการยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ว ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่ทำลายโคลีนที่เป็นสาร สื่อประสาท ที่ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอตเฟตและคาร์บาเมต จะไปทำลายเอนไซม์ตัวนี้ และเกิดการสะสมของโคลีนทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง นำสู่อาการชัก จากการศึกษาพบว่ารางจืดไปเพิ่มปริมาณของเอนไซม์ดังกล่าว

รางจืด...แก้พิษจากยาฆ่าหญ้า

ยา ฆ่าหญ้าจำพวกพาราควอต นับเป็นสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงต่อร่างกายมนุษย์มากที่สุดชนิดหนึ่งเนื่องจาก ในขนาดกินประมาณ ๑ ช้อนโต๊ะ ก็สามารถทำให้คนตายได้ โดยสารตัวนี้จะไปทำให้เกิดการสร้างออกซิเจนที่ไม่เสถึยรขึ้นอย่างมาก ออกซิเจนเหล่านี้จะไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์เกิดการออกซิเดชันของไขมันที่อยู่ บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์และทำให้เซลล์ตาย พิษของพาราควอตจะเห็นชัดที่สุดในปอดเพราะปอดเป็นบริเวณที่มีออกซิเจรมากที่ สุด ซึ่งพาราควอตจะทำให้เนื้อเยื้อปอดถูกทำลายจนไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ จนเสียชีวิตในที่สุด

จากรายงานผู้ป่วยของโรงพยาบาล เจ้าพระ-ยา ยมราช จังหวัดสุพรรณบุรี เก็บตัวอย่างเป็นเวลา ๓ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๕ มีผู้ป่วยที่กินพาราควอตมาที่โรงพยาบาล ๖๔ ราย พบว่ามีผู้ป่วยรอดชีวิต ๓๓ ราย เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังกับการรักษาในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๒ มีผู้ป่วยที่กินพาราควอต ๑๑ รายพบว่าเสียชีวิตทุกราย ซึ่งตัวเลขของโรงพยาบาลศิริราชที่มีการรักษาพิษพาราควอตเช่นเดียวกัน มีอัตราการตายประมาณร้อยละ ๘๐  แต่การรักษาพิษพาราควอตนั้นไม่ได้ให้แต่รางจืดอย่างเดียว แต่จะมีการทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาก่อนแล้วล้างท้องด้วยฟูลเลอร์สเอิร์ท (Fuller's earth) และทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมามากๆ ให้แอนติออกซิแดนซ์หรือสารต้านอนุมูลอิสระ โดยการให้วิตามินซีปริมาณสูงๆ และสตีรอยด์ รวมทั้งการรักษาแบบประคับประคองอื่นๆ ให้ยาต้มรางจืด วิธีเตรียมคือนำใบแห้งหนัก ๓๐๐ กรัม ใส่ในน้ำสะอาด ๑ ลิตร ต้มในหมอดินโดยใช้ไฟกลางเดือนนาน ๑๕ นาที ทิ้งไว้ให้เย็น ให้ผู้ป่วยดื่มหรือให้ทาง NG tube ครั้งละ ๒๐๐ มิลลิลิตร ทุก ๒ ชั่วโมง ตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาลแม้ว่ารายงานนี้ไม่ถือเป็นงานวิจัยแต่เป็นข้อมูล ที่มีประโยชน์มาก

พ.ศ. ๒๕๔๓ มีรายงานการศึกษาสัตว์ทดลองเกี่ยวกับการต้านพิษพาราควอตของสารสกัดด้วยน้ำ ของใบรางจืด พบว่าสามารถทำให้อัตราการตายของหนูทดลองลดลง รวมทั้งพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดรางจืดมีระดับพลาสม่า malondialdehyde (MDA) ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แสดงว่าสารสกัดใบรางจืดมีฤทธิ์ยับยั้ง lipid peroxidation และฤทธิ์นี้เป็นกลไกการออกฤทธิ์ต้านพิษพาราควอตกลไกหนึ่งของรางจืด รวมทั้งรางจืดยังไปเพิ่มกิจกรรมของเอนไซม์ที่เรียกว่า NADPH quinineoxidonnereductase เป็นเอนไซม์ที่ย่อยสลายสารที่เรา ได้รับเข้าไปในร่างกาย

รางจืด...แก้พิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชพิษ

ใช้ แก้พิษแมงดาทะเลเป็นอีกหนึ่งรายงานของการใช้รางจืดแก้พิษ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่โรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีครอบครัวหนึ่ง ๔ คนที่กินไข่แมงดาทะเล ๒ ราย มีอาการรุนแรงจนหมดสติต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งสารพิษที่อยู่ในแมงดาทะเล คือ เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) สารนี้จะพบในแมงดาทะเลและปลาปักเป้า ซึ่งมีพิษทำให้ผู้ป่วยอาจถึงตายได้

ความ รุนแรงของอาการพิษที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับปริมาณไข่แมงดาทะเลที่ได้รับ เริ่มแสดงอาการตั้งแต่ ๔๐ นาทีถึง ๔ ชั่วโมง ทุกรายมีอาการชารอบปาก คลื่นไส้ อาเจียน อาการชาจะลามไปยังกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่เป็นอันตรายคือทำให้หายใจไม่ได้ อาการรุนแรง หมดสติ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ วิธีการรักษาปัจจุบันไม่มีวิธีเฉพาะ ไม่มีสารแก้พิษโดยเฉพาะ ต้องรักษาแบบประคับประคองจนผู้ป่วยขับเอาสารนี้ออกจากร่างกายให้หมดแพทย์ผู้ รักษาใช้รางจืดจากการร้องขอของญาติ เมื่อกรอกใส่สายยางลงไป ๔๐ นาที อาการดีขึ้น ซึ่งแพทย์ผู้รักษารู้สึกประทับใจกับรางจืดมากและบอกว่าจังหวัดที่อยู่ชาย ทะเลปีหนึ่งจะมีคนตายจากพิษแมงดาทะเลหรือปลาปักเป้าทุกปี ถ้าทุกโรงพยาบาลสามารถปลูกต้นนี้และใช้กับผู้ป่วยของตัวเองจะช่วยให้ไม่มี ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

รางจืด...สู้กับมลภาวะ ออกฤทธิ์ต้านพิษของตะกั่วต่อสมอง

 ตะกั่ว เป็นมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีรถติด มีโอกาสได้รับสารตะกั่วสูงกว่าคนทั่วไป พิษตะกั่วต่อร่างกายมี อยู่หลายระบบ ที่สำคัญคือสมอง เนื่องจากตะกั่วจะไปสะสมอยู่ในสมองส่วนฮิปโพแคมพัสซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยว ข้องกับการเรียนรู้และความจำ มีงานวิจัยออกว่ารางจืดแม้จะไม่ได้ช่วยลดระดับตะกั่วในเลือดของหนูที่เราให้ ตะกั่วเข้าไป แต่ไปช่วยลดพิษของตะกั่วต่อความจำและการเรียนรู้ของหนู และทำให้เซลล์ประสาทตายน้อยลง ด้วยกลไกการต้านออกซิเดชัน โดยตัวของรางจืดเองและการไปช่วยรักษาระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้อง

รางจืดช่วยในการลด เลิกยาบ้า

จาก การที่ชาวบ้านนำรางจืดมาแก้พิษยาเสพติดภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวทิยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดรางจืดต่อเซลล์สมอง พบว่ารางจืดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้ายกับสารเสพติดแอมเฟทามีน และโคเคน โดยทั่วไปเพิ่มการหลั่งโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่หลั่งมากในขณะที่ผู้ป่วยได้รับสารแอมเฟทามีน รวมทั้งไปเพิ่ม activity ของเซลล์ประสาทในสมองส่วน nucleus accumbens , globus pallidus,amygdala,frontal cortex ,caudate putamen and hippocampus ที่เกี่ยวข้องกับ  reward and locomotor behaviour ทำให้คาดว่าในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดรางจืดอาจเกิดความพิงพอใจ เช่นเดียวกับการรับยาเสพติด หากนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุรนทรายมาก จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งทีการรักษาด้วยสารสกัดสมุนไพรได้ผล

ราง...จืดต้านพิษเหล้า

จาก การที่ประชาชนส่วนหนึ่งได้นำรางจืดมาใช้ในการต้านพิษสุรา เช่น ใช้เพื่อป้องกันหรือลดอาการเมาเหล้า คณะเภสัชศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ศึกษาวิจัยฤทธิ์ของรางจืดในการต้านพิษแอลกอฮอล์ต่อตับ พบว่าสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดช่วย ป้องกันการตายของเซลล์ตับจากพิษของแอลกอฮอล์ ทั้งในหลอดทดลองและในหนูแรตทีได้รับแอลกอฮอล์ โดยทำให้ค่า AST,ALT ในพลาสม่าและไตรกลีเซอร์ไรด์ในตับลดลง และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางจุลพยาธิวิทยาของตับเมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ ได้รับเเอลกอฮอล์อย่างเดียว

เนื่องจากสารสกัดด้วย น้ำของรางจืดช่วยลดการเกิด heppatic lipid peroxidation ลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด และเพิ่มระดับเอนไซม์ alcohol dehydrogenase และ aldehyde dehydrogenase

ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ ศึกษาฤทธิ์ของรางจืดต่ออาการขาดเหล้า พบว่าสารสกัดรางจืดให้ผลลดภาวะซึมเศร้าและทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการ เคลื่อนไหวของหนูเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่มีผลลดความวิตกกังวล โดยสารสกัดราถงจืดช่วยลดการถูกทำลายเซลล์ประสาทของหนูเนื่องจากขาดเหล้าใน สมองส่วน messolimbic dopaminergic system โดยเฉพาะที่บริเวณ  nucleus accumbens และ ventral tegmental area

รางจืด...เพื่อคุณภาพชีวิตของโรคเรื้อรัง

การ ที่มีหมอยาพื้นบ้านจำนวนหนึ่งใช้รางจืดในการคุมเบาหวานและความดัน ซึ่งมีการทดลองที่สนับสนุนการใช้ดังกล่าวคือ ในหนูเบาหวานที่ได้รับน้ำต้มใบรางจืดทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัย สำคัญทางสถิติ ส่วนน้ำคั้นใบรางจืดสดในขนาด ๕๐ มก./มล.ที่ให้หนูเบาหวานดื่มแทนน้ำนาน ๑๒ วัน ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

นอก จากนี้ ยังมีการทดลองพบว่าการให้สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และทำให้บีต้าเซลล์ของตับอ่อนฟื้นฟูขึ้นบ้างแม้จะไม่สมบูรณ์ ในเรื่องของฤทธิ์ลดความดันนั้นพบว่าสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดแห้งมีผลทำให้ ความดันโลหิตของหนูแรตลดลง โดยกลไกการออกฤทธิ์ส่วนหนึ่งอาจผ่าน Cholinergic receptor และทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว

หมายเหตุ : การ ใช้สมุนไพรในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันนี้พึงระลึกว่าต้องมีการรักษาร่วม ไปกับแผนปัจจุบันและมีการวัดระดับน้ำตาลและระดับความดันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการศึกษายังอยู่ในขั้นตอนของสัตว์ทดลองเท่านั้น รวมทั้งต้องระมัดระวังการเกิดการเสริมฤทธิ์กันของตัวยาดังกล่าว

รางจืด… ต้าน แก้อักเสบ
การที่หมอยาพื้นบ้านนิยมใช้รางจืดมารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น ผด ผื่นคัน แมลงกัดต่อย เริม งูสวัด มีการศึกษาว่ารางจืดมีฤทธิ์ต้านการอับเสบสูงกว่ามังคุดประมาณ ๒ เท่า(ทดสอบด้วยวิธี Carrageenan induced paw edema) ในหนูถีบจักรและยังมีความปลอดภัยสูงกว่าอีกด้วย นอกจากนั้นยังพบว่า สารสกัดรางจืดในรูปแบบของครีมสามารถลดการอักเสบได้ดีเท่ากับสตีรอยด์ครีม

รางจืด… กับมะเร็ง
รางจืดยังมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยมีการศึกษาฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ กล่าวคือสารใดๆ มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์มีศักยภาพสูงสามารถก่อมะเร็งได้ แต่รางจืดมีฤทธิ์ต้านไม่ให้สารนั้นออกฤทธิ์ มีการศึกษาโดยให้หนูกินสารสกัดของกวาวเครือซึ่งกวาวเครือจะไปมีฤทธิ์กระตุ้น การแบ่งตัวและการสร้างนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดง กล่าวคือนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดงจะเป็นก้อน ใหญ่ขึ้น และมีการแบ่งตัว นั่นคือกวาวเครือไปทำให้การเกิด micronuclei ของเม็ดเลือดแดงเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าให้สัตว์ทดลองกินรางจืดร่วมด้วย พบว่าสามารถลดการเกิด micronuclei ได้ ซึ่งทั้งรางจืดแบบสดและแบบแห้งสามารถใช้ได้ผลเช่นกัน นับเป็นข้อดีอีกข้อหนึ่งของรางจืด

โดยพบว่าสารออก ฤทธิ์อาจเป็นกรดฟีนอลิก ได้แก่ caffeic acid และ apigenin และสารกลุ่มคลอโรฟิลล์ ได้แก่ chlorophyll a, chlorophyll b, pheophorbide a และ pheophytin a ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก

รางจืด… ผักพื้นบ้านที่มีความปลอดภัย
รางจืดเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงชนิดหนึ่ง ทั้งจากการที่ชาวบ้านกินยอดอ่อน ดอกอ่อนเป็นผัก ใช้ลวกกิน แกงกิน เช่นเดียวกับผักพื้นบ้านทั่วๆ ไป

นอกจากนี้ ยังนิยมกินน้ำหวานจากดอกรางจืดที่บานอีกด้วย ในส่วนของการศึกษาวิจัย มีการศึกษาทั้งพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง โดยการศึกษา ๒๘ วันก็ไม่พบหนูตาย ไม่เกิดความผิดปกติในอวัยวะภายใน ต่อมามีการศึกษาระยะ ๖ เดือน ที่เรียกว่าการศึกษาพิษเรื้อรัง พบว่ามีค่าที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในซีรั่มในเนื้อเยื่อของหนูไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มควบคุม เรียกว่ามีความปลอดภัย ค่าที่พบเปลี่ยนแปลงบางค่าหรือบิลิลูบินเพิ่มขึ้นแต่ก็อยู่ในช่วงค่าปกติ

อย่างไรก็ตาม การกินรางจืดปริมาณมากต่อเนื่องกัน มีคำเตือนว่าต้องมีการศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงโลหิตวิทยาหรือเคมีคลินิกที่อาจเกิดขึ้น

บทสรุปแห่ง…รางจืด
จากประวัติการใช้ที่ยาวนานในแผ่นดินไทย ประกอบกับการศึกษาวิจัยที่บอกว่ามีความปลอดภัยและการศึกษาวิจัยที่สนับสนุน การใช้ของคนโบราณร่วมกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนไปด้วย สารพิษและปัญหายาเสพติดทุกหย่อมหญ้าในขณะที่อีกทางต้องไปแก้ไขที่ต้นตอแห่ง ปัญหาเช่น การลดการใช้สารเคมี ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางช่วยเหลือเยียวยาปัญหาที่ยังดำรงอยู่ ขอเพียงแต่มีดินให้รากยึดหาอาหาร มีโครงให้เลื้อย รางจืดจะแตกใบแตกยอดเป็นยาสมุนไพรที่ใช้แสนง่าย เพียงแต่นำมาต้มมาชงกิน ฤาว่าในยามนี้ภูมิปัญญาไทยจะหวนกลับมาช่วยสังคม


คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก
ที่มา นักเขียนหมอชาวบ้าน :ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 กุมภาพันธ์ 2013, 21:29:50
พยายามค้นหาหลักการทำงานของรถดำนาแบบถาดหลุมมานาน เพราะค้นจากภาษาไทยก็ไม่เจอ ภาษาอังกฤษก็ไม่เจอ สุดท้ายต้องพึ่ง Google แปลภาษา  ในที่สุดก็เจอครับ ตอนแรกคิดว่าจะปักดำโดยเราจะต้องถอนกล้าจากถาดเองและนำมาเรียงที่รถดำนาให้ แต่ผิดคาดครับ รุ่นนี้เพียงยกถาดเข้าเรียง รถดำนาถอนต้นกล้าและปักดำให้เสร็จสรรพ รถทำได้ดีกว่าที่คิดไว้มาก สาเหตุที่สนใจเพราะการดำนาจากกล้าที่เพาะจากถาดหลุมต้นข้าวจะช้ำน้อยกว่าการดำแบบอย่างอื่น อย่างรถดำนาที่เห็นทั่วไปในบ้านเราข้าวก็ยังช้ำเนื่องจากรากจะขาดจากการถูกตัดจากส้อมปลูกของรถ รถดำนาแบบถาดหลุมยังเรียงต้นข้าวได้สวยงามเหมือนรถดำนาทั่วไปแต่ได้ข้อดีของการปลูกแบบนาโยนแต่สวยงามกว่า สำหรับรถประเภทนี้หากนำเข้ามาขายในไทยราคาคงจะเฉียด ๆ เลข 7 หลักหรือไม่ก็คงจะเกินแน่ ๆ ครับ

_A6H9iW-2T0


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 กุมภาพันธ์ 2013, 21:39:14
ถาดหลุม ความลึกจะมากกว่าถาดนาโยนที่บ้านเราใช้กันครับ

OMYao3eyAxQ&


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 กุมภาพันธ์ 2013, 22:02:45
ขั้นตอนการเพาะข้าวในถาดหลุมโดยเครื่องจักรครับ

Dq4UaUHp7FM


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 กุมภาพันธ์ 2013, 22:15:15
เมื่อเตรียมถาด โรยดินและเมล็ดเสร็จก็จะถูกส่งไปยังเรือนเพาะชำที่หุ้มด้วยพลาสติกอย่างดีป้องกันแมลงศัตรูข้าว ควบคุมระบบน้ำและอุณหภูมิได้ดีแถมป้องกันการติดเชื้อราจากน้ำค้างหรืออื่น ๆครับ แต่ติดใจส่งถาดไปยังเรือนเพาะชำยังไม่ใช้คนนี่สิครับ ทันสมัยจริง ๆ เคยมีชาวญี่ปุ่นคือ ดร.มิซาบุโร ทานิกุจิ เกษตรกรชาวญี่ปุ่นที่ทำการเกษตรในเมืองไทยมากกว่า 25 ปี เป็นประธานมูลนิธิศูนย์อบรมเกษตรกรรมและอาชีพ บ้านสักลอ - พวงพะยอม ต.หงส์หิน อ.จุน จ.พะเยา ท่านว่า "ถ้าคุณอยากเห็นอนาคตการเกษตรของไทยในอีก 20 ปี ก็ให้มองการเกษตรญี่ปุ่น"  ก็คงอาจจะจริงเพราะในไม่ช้าแรงงานมีอายุเพิ่มขึ้น และมีจำนวนลดลงก็ต้องพึ่งเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแบบนี้

pqh47Q4PyG8


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 กุมภาพันธ์ 2013, 21:08:11
หลังจากพ่นยาคุมหญ้าไปแล้วได้ 2-3 วันก็จะต้องปล่อยน้ำเข้านาแล้วครับ เพื่อช่วยกระจายยาและให้น้ำท่วมวัชพืชที่กำลังอ่อนแอหรือแห้งตาย และป้องกันวัชพืชที่จะเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งหากปล่อยน้ำเข้าจะต้องกำจัดหอยเชอรี่ที่จะกัดกินต้นข้าวไปด้วยครับ อีกประมาณไม่กี่วันก็จะต้องใส่ปุ๋ยรอบแรกแล้ว ส่วนใหญ่คือช่วงที่ข้าวมีอายุ 20 วันครับ  สำหรับการนำน้ำเข้านาสามารถหาอะไรมาดักก็ดี เพื่อช่วยดักเศษถุงพลาสติก ขวด หอยเชอรี่ ที่ไม่ต้องการไหลลงแปลงนาได้ เคยเห็นพี่แถวบ้านนำไส้กรองอากาศรถสิบล้อมาดัดแปลงก็ใช้งานได้ดีหอยเชอรี่ตายเรียบเพราะ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013, 08:57:59
มาเก็บความรู้อีกรอบ :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013, 11:06:40
มาเก็บความรู้อีกรอบ :D
มาทุกวันเหมือนกัน ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013, 16:03:07
มาเก็บความรู้อีกรอบ :D
มาทุกวันเหมือนกัน ;D ;D

ขอบคุณทั้งสองท่านครับที่ช่วยดันกระทู้ให้  ช่วงนี้มัวแต่ศึกษาหลักการทำงานของเครื่องสีข้าวครับ แต่ก็จะพยายามนำข้อมูลมาลงให้ทุกวันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013, 16:09:27
การปลูกข้าวระบบประณีต (System of Rice Intensification, SRI)

             การปลูกข้าวระบบประณีต (System of Rice Intensification, SRI) ได้พัฒนาที่ประเทศมาดากาสการ์ และในระยะต่อมาได้มีการทดสอบวิธีการปลูกข้าววิธีนี้อย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับของชาวนาในหลายประเทศในเอเชีย  เนื่องจากวิธีการปลูกข้าววิธีนี้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นต่อหน่วยพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ โดยผลผลิตที่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 กก. ต่อไร่ นอกจากนี้ยังสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของการทำนาแบบปกติที่มีน้ำขังในแปลงนาตลอดฤดูกาลปลูก
              หลักการปลูกข้าวระบบประณีต เป็นวิธีการผสมผสานของการจัดการพืช การจัดการน้ำ และการจัดการดินแนวทางใหม่ โดยใช้ต้นกล้าอ่อนอายุ 2-3 ใบ ปักดำหลุมละ1 ต้น  ใช้ระยะปักดำห่าง เป็นวิธีการปลูกข้าวโดยไม่มีน้ำท่วมขังช่วงระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น (vegetative stage) และ มีน้ำขังเล็กน้อยในระยะการเจริญเติบโตให้ดอกผล (reproductive stage) ตลอดจนการใช้อินทรียวัตถุในการปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดิน

หลักการปฏิบัติวิธีการแบบ SRI  
     อายุกล้า 8-15 วัน (ระยะ 2 ใบ)
     ย้ายปลูก ต้นต่อหลุม (ระยะ 25x25 , 40x40)  
     ลดการกระแทกของราก
     ให้น้ำสลับแห้งและเปียก จนถึงช่วงออกดอก
 
 ความเป็นประโยชน์ของ SRI ในระบบข้าวของภาคเหนือตอนบน      
   เหมาะสมสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก  
   เหมาะสมสำหรับระบบเกษตรผสมผสานที่มีข้าวเป็นพืชหลัก  
   เพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่สูง เพื่อลดการขาดแคลน  
   เหมาะสมสำหรับแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์คัด และพันธุ์หลัก

huifOQX6BkU

JqcgmjYtcDA

p1T2d4a9bdY


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013, 19:54:17
วันนี้สำรวจแปลงนาหลังจากปล่อยน้ำเข้าเมื่อวาน น้ำเริ่มได้ระดับพอดีแล้ว ต้นข้าวเริ่มโตขึ้นมากอีกไม่กี่วันก็จะโตพอที่หอยเชอรี่จะไม่กินแล้ว แต่ช่วงนี้ก็ต้องคอยสำรวจแปลงนาบ่อย ๆ หากมีหอยเชอรี่มากอาจต้องใช้กากชากำจัด แต่หากมีไม่มากก็ใช้สวิงตักครับ หรือใส่ถุงมือยางเก็บหอย สาเหตุที่ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำโดยตรงเนื่องจากยังมีการปนเปื้อนของยาคุมหญ้าอยู่ อาจคุมน้ำให้อยู่ระดับท่วมดินแบบนี้ซักระยะที่ความสูง 5-10 ซม.แต่ไม่ควรท่วมต้นข้าวแม้ข้าวจะโตหนีน้ำแต่ก็ไม่ค่อยแข็งแรงเพราะต้นจะอ่อน การปล่อยระดับน้ำควรให้ท่วมวัชพืช เพื่อให้วัชพืชอ่อนแอหรือตายไปเพื่อเตรียมสำหรับการใส่ปุ๋ยรอบแรกครับ ส่วนใหญ่จะคุมน้ำซักประมาณ 4-7 วันครับ ก่อนวันใส่ปุ๋ยอาจลดระดับน้ำลง หากน้ำมากเกินไปทำให้เปลืองปุ๋ย เคยลองดูระดับน้ำเพียงหน้าดินประมาณ 1-2 ซม.ค่อนข้างได้ผลดีครับ  การใส่ปุ๋ยครั้งแรกนาดินเหนียวควรให้ปุ๋ย N - P   โดย P อาจมากกว่า N ก็ได้เพื่อให้บำรุงรากในช่วงนี้ หากใส่ N มากละต้นจะสูงใบจะหนาเข้มจนเกินไปไม่เป็นผลดีครับ สำหรับนาดินทรายควรเติม K ไปด้วยเพราะในดินทรายจะมี K น้อยกว่าดินเหนียวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013, 20:14:04
ดูคราบน้ำในนาครับ จะมีทั้งการปนเปื้อนของยาคุมหญ้าด้วย หากปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก็มีผลกระทบกับสัตว์น้ำ อีกทั้งจะสะสมในดินด้วยการทำนาหว่านครั้งนี้คงทำเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว การทำนาครั้งต่อไปคงเป็นนาโยน หรือนาปลูกเท่านั้น ตั้งใจว่าจะไม่ใช้ยาคุมหญ้า อีกแล้ว ทำให้ข้าวที่ปลูกปลอดภัยทั้งคนทำและคนกินด้วย แถมยังเก็บข้าวไว้ทำพันธุ์ต่อและบริโภคในครัวเรือนได้ครับ  คนทั่วไปล่ะครับจะรู้หรือป่าวว่าข้าวที่กินทุกวันนี้ปลูกแบบไหนปลอดภัยหรือป่าว ผมเห็นบางคนใส่ยาฆ่าแมลงลงในนาเพื่อกำจัดหอยเชอรี่ พ่นยากำจัดแมลงเพื่อกำจัดหนอน เพลี้ย ผีเสื้อ ในนาข้าว ใส่ปุ๋ยเคมีมากจนเกินพอดีเป็นอันตรายต่อคนกินข้าว แถมแมลงชอบโดยเฉพาะพวกไนเตรทเป็นต้น  เห็นชาวนารุ่นใหม่หลาย ๆ คนก็ยังทำตามชาวนารุ่นพ่อรุ่นแม่อยู่ ก็ทำตาม ๆ กันมา ใช้ยาเคมี ใส่ปุ๋ยแบบไหนก็ใช้แบบนั้นตาม ๆกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013, 20:20:41
สวิงที่ใช้ตักหอยเชอรี่ครับ อาจใช้ด้ามไม้ไผ่ยาวซัก  1.5-2.5 เมตรกำลังดีครับ สามารถยืนอยู่คันนาตักหอยเชอรี่ได้ หอยเชอรี่ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้ๆ คันนาเพราะช่วงนี้ข้าวต้นเล็กอยู่หอยไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ได้ มักจะมาวางไข่ใกล้ๆ คันนา ตรงไหนที่เห็นไข่หอยเชอรี่มักจะเห็นหอยเชอรี่อยู่แถว ๆ นั้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013, 21:11:10
การแกล้งข้าวโดยการลดระดับน้ำ ซึ่งใช้วิธีสังเกตุระดับน้ำในท่อ PVC ขนาด 4 นิ้วที่เห็นกัน ๆ ซึ่งเรานำวิธีมาจากต่างประเทศซึ่งมีมานานแล้ว หากเราหาท่อ PVC ไม่ได้ก็อาจใช้ไม้ไผ่หรือขวดพลาสติกที่เราสามารถนำเอาดินภายในออกมาได้ก็สามารถใช้ทดแทนกันได้เช่นกัน

ta8auBDpf6M


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013, 23:48:27
พี่อู๋ครับ ผมจะหาแหนแดงได้จากที่ไหนครับแถวบ้านผมเชียงแสนไม่รู้จะไปหาที่ไหนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 09:41:31
พี่อู๋ครับ ผมจะหาแหนแดงได้จากที่ไหนครับแถวบ้านผมเชียงแสนไม่รู้จะไปหาที่ไหนครับ

แหนแดงตามแหล่งน้ำธรรมชาติในบ้านเราไม่ค่อยมีครับ ผมเคยไปหาที่หนองหลวงก็ยังไม่มี  แต่แถวบ้านมีพี่คนนึงแกทำนำโยนแกไปเอามาจากต่างจังหวัดครับ  แกเพาะไว้วันก่อนไปดูเต็มบ่อเลย แกบอกอยากได้ก็ให้มาเอาไปเพาะได้เลย แหนแดงขยายได้รวดเร็วมากครับ เอาไว้เย็นนี้จะไปขอซักหน่อยมาขยายเพิ่มแล้วจะแจกจ่ายให้ครับคงซักประมาณ 1-2 สัปดาห์   หากได้ผ่านมาเวียงชัยก็แวะมาเอาครับหรือลองหาในเน็ตครับมีหลายคนที่ขายแหนแดงโดยการส่งทาง EMS  ผมก็เคยสั่งจากโคราชมาเหมือนกันครับเมื่อ 2 ปีก่อน

การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แหนแดง  ใส่น้ำในกระถางหรือภาชนะใส่ดิน+ขี้วัวหรือขี้ไก่ อัตราส่วน ดิน 10 ส่วน ต่อ ขี้วัวหรือขี้ไก่ 1 ส่วน  เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของแหนแดง ไว้ในที่ร่มรำไรประมาณ 10-15 วัน ค่อยนำออกแดดแหนแดงจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 16:12:27
กินอยู่คือ - ข้าว คือ โอสถ

เรียนรู้พันธุ์ข้าวที่ดีต่อสุขภาพและจัดการนาอินทรีย์

RGwehGQNSs0


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 21:19:39
เลิกงานแต่ละวันก็จะกลับมาดูแปลงนาโดยเฉพาะช่วงนี้ ที่จริงช่วงนี้ค่อนข้างไม่ปลอดภัยเท่าไหร่เพราะจะได้กลิ่นยาคุมหญ้า ยากำจัดหอยเยอะ แต่ก็จำเป็นต้องมาดูระดับน้ำในนา ช่วงนี้ข้าวเริ่มปลอดภัยจากหอยเชอรี่มากขึ้นเพราะต้นโตและใบเริ่มหนามากขึ้นหอยจะไม่ค่อยชอบกิน  วันพรุ่งนี้ก็คงเริ่มหยุดน้ำเพื่อให้ระดับน้ำในนาลดลงเพื่อเตรียมใส่ปุ๋ยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 21:27:57
ต้องดูระดับน้ำในแต่ละแปลงให้ท่วมน้ำดินเพื่อป้องกันวัชพืชขึ้่น หากต้นข้าวโตพอก็จะสามารถลดระดับน้ำเพื่อทำนาเปรียกสลับแห้งได้แล้ว ในแปลงนาของผมได้ทำประตูระบายน้ำไว้โดยใช้คอนกรีตและใช้ไม้กั้นค่อนข้างง่ายหากต้องการระบายน้ำออก เมื่อก่อนไม่ได้ใช้แบบนี้ทำให้คันนาพังเพราะปริมาณน้ำไหลผ่านมากดินเลยละลายไปกับน้ำต้องปั้นคันนาใหม่ตลอดเมื่อต้องการกักน้ำ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 22:51:04
กระทู้นี้น่าปักหมุดไว้นะครับ น่าติดตามศึกษาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 23:08:15
พี่อู๋ครับ ผมจะหาแหนแดงได้จากที่ไหนครับแถวบ้านผมเชียงแสนไม่รู้จะไปหาที่ไหนครับ
รู้จักเวียงหนองหล่มไหมครับ ผมเคยไปหาเก็บตามทางเลียบขอบหนองใกล้ วัดป่าหมากหน่อ (บ้านห้วยน้ำราก)ให้เข้าไปตามจนถึงแยกก่อนจะข้ามทางเข้าไปให้แยกไปทางซ้ายสัก ๕๐๐เมตร พอมีเอามาขยายพันธุ์ได้ อยู่ปนกับต้นหญ้า ผมเคยเอามาใส่กระชัง แล้วปล่อยลงบ่อ ปลากินเรียบเลย ว่าจะไปหามาเพาะอีกที ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 23:19:24
พี่อู๋ครับ ผมจะหาแหนแดงได้จากที่ไหนครับแถวบ้านผมเชียงแสนไม่รู้จะไปหาที่ไหนครับ

แหนแดงตามแหล่งน้ำธรรมชาติในบ้านเราไม่ค่อยมีครับ ผมเคยไปหาที่หนองหลวงก็ยังไม่มี  แต่แถวบ้านมีพี่คนนึงแกทำนำโยนแกไปเอามาจากต่างจังหวัดครับ  แกเพาะไว้วันก่อนไปดูเต็มบ่อเลย แกบอกอยากได้ก็ให้มาเอาไปเพาะได้เลย แหนแดงขยายได้รวดเร็วมากครับ เอาไว้เย็นนี้จะไปขอซักหน่อยมาขยายเพิ่มแล้วจะแจกจ่ายให้ครับคงซักประมาณ 1-2 สัปดาห์   หากได้ผ่านมาเวียงชัยก็แวะมาเอาครับหรือลองหาในเน็ตครับมีหลายคนที่ขายแหนแดงโดยการส่งทาง EMS  ผมก็เคยสั่งจากโคราชมาเหมือนกันครับเมื่อ 2 ปีก่อน

การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แหนแดง  ใส่น้ำในกระถางหรือภาชนะใส่ดิน+ขี้วัวหรือขี้ไก่ อัตราส่วน ดิน 10 ส่วน ต่อ ขี้วัวหรือขี้ไก่ 1 ส่วน  เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของแหนแดง ไว้ในที่ร่มรำไรประมาณ 10-15 วัน ค่อยนำออกแดดแหนแดงจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ขอบคุณมากๆครับ จะลองหาดูครับ ถ้ามีโอกาสอยากไปเยี่ยมพี่ที่นาจริงๆครับ แล้วทุกอย่างที่พี่เอามาให้อ่านมันมีประโยชน์มากๆจริงๆถึงแม้จะอ่านไม่หมด อิอิ ขอบคุณมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 23:32:43
กระทู้นี้น่าปักหมุดไว้นะครับ น่าติดตามศึกษาครับ
+1 ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 23:34:47
พี่อู๋ครับ ผมจะหาแหนแดงได้จากที่ไหนครับแถวบ้านผมเชียงแสนไม่รู้จะไปหาที่ไหนครับ
รู้จักเวียงหนองหล่มไหมครับ ผมเคยไปหาเก็บตามทางเลียบขอบหนองใกล้ วัดป่าหมากหน่อ (บ้านห้วยน้ำราก)ให้เข้าไปตามจนถึงแยกก่อนจะข้ามทางเข้าไปให้แยกไปทางซ้ายสัก ๕๐๐เมตร พอมีเอามาขยายพันธุ์ได้ อยู่ปนกับต้นหญ้า ผมเคยเอามาใส่กระชัง แล้วปล่อยลงบ่อ ปลากินเรียบเลย ว่าจะไปหามาเพาะอีกที ;D
ขอบคุณมากๆครับ ยังไงจะลองสุ่มเข้าไปดูครับ ช่วงนี้ก็น่าจะยังมีอยู่ใช่มั้ยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 13:54:51
พี่อู๋ครับ ผมจะหาแหนแดงได้จากที่ไหนครับแถวบ้านผมเชียงแสนไม่รู้จะไปหาที่ไหนครับ
รู้จักเวียงหนองหล่มไหมครับ ผมเคยไปหาเก็บตามทางเลียบขอบหนองใกล้ วัดป่าหมากหน่อ (บ้านห้วยน้ำราก)ให้เข้าไปตามจนถึงแยกก่อนจะข้ามทางเข้าไปให้แยกไปทางซ้ายสัก ๕๐๐เมตร พอมีเอามาขยายพันธุ์ได้ อยู่ปนกับต้นหญ้า ผมเคยเอามาใส่กระชัง แล้วปล่อยลงบ่อ ปลากินเรียบเลย ว่าจะไปหามาเพาะอีกที ;D

ผมว่าจะซื้อกระชังมาเพาะไว้ตรงห้วยหน้าบ้านเหมือนกัน ถ้ากั้นไม้ไผ่เป็นกรอบธรรมดา คงไม่ทันขยายปลาคงกินหมดขนาดซื้ออาหารปลาดุกมาให้ปลาหน้าบ้านครึ่งกิโลแป๊ปเดียวก็หมดแล้วเพราะเป็นเขตอภัยทานใกล้วัดจึงมีปลาค่อนข้างมาก



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 14:32:57
พี่อู๋ครับ ผมจะหาแหนแดงได้จากที่ไหนครับแถวบ้านผมเชียงแสนไม่รู้จะไปหาที่ไหนครับ

แหนแดงตามแหล่งน้ำธรรมชาติในบ้านเราไม่ค่อยมีครับ ผมเคยไปหาที่หนองหลวงก็ยังไม่มี  แต่แถวบ้านมีพี่คนนึงแกทำนำโยนแกไปเอามาจากต่างจังหวัดครับ  แกเพาะไว้วันก่อนไปดูเต็มบ่อเลย แกบอกอยากได้ก็ให้มาเอาไปเพาะได้เลย แหนแดงขยายได้รวดเร็วมากครับ เอาไว้เย็นนี้จะไปขอซักหน่อยมาขยายเพิ่มแล้วจะแจกจ่ายให้ครับคงซักประมาณ 1-2 สัปดาห์   หากได้ผ่านมาเวียงชัยก็แวะมาเอาครับหรือลองหาในเน็ตครับมีหลายคนที่ขายแหนแดงโดยการส่งทาง EMS  ผมก็เคยสั่งจากโคราชมาเหมือนกันครับเมื่อ 2 ปีก่อน

การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แหนแดง  ใส่น้ำในกระถางหรือภาชนะใส่ดิน+ขี้วัวหรือขี้ไก่ อัตราส่วน ดิน 10 ส่วน ต่อ ขี้วัวหรือขี้ไก่ 1 ส่วน  เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของแหนแดง ไว้ในที่ร่มรำไรประมาณ 10-15 วัน ค่อยนำออกแดดแหนแดงจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ขอบคุณมากๆครับ จะลองหาดูครับ ถ้ามีโอกาสอยากไปเยี่ยมพี่ที่นาจริงๆครับ แล้วทุกอย่างที่พี่เอามาให้อ่านมันมีประโยชน์มากๆจริงๆถึงแม้จะอ่านไม่หมด อิอิ ขอบคุณมากครับ

ยินดีครับ หากได้ผ่านมาก็โทรมาถามก่อนได้ครับว่าอยู่บ้านหรือไม่ครับ เพราะบางสัปดาห์ก็ไปดูคนแถวบ้านทำนา บางทีก็ไปช่วยคนอื่นทำนาครับ วันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ไปช่วยพี่ในบอร์ด ชรฟก หว่านข้าวที่ อ.พานครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 15:28:20
วันก่อนผมได้นำวีดีโอการปลูกข้าวแบบ SRI มาลงซึ่งเป็นที่นิยมกันเกษตรกรบางกลุ่ม การปลูกข้าวแบบ SRI มีทั้งนักวิชาการให้การสนับสนุนและไม่สนับสนุนต่าง ๆ มากมายซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ข้อมูลบางอย่างก็เป็นความรู้ที่ดีที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการทำนาของเราที่ทำอยู่ปัจจุบัน

 ข้อมูลการปลูกข้าวแบบ SRIhttp://www.ist.cmu.ac.th/riseat/documents/sri.pdf (http://www.ist.cmu.ac.th/riseat/documents/sri.pdf)

ตัวอย่างนำมาประยุกต์ในถาดนาโยน  http://www.applyorganic.com/image/files/0004.pdf (http://www.applyorganic.com/image/files/0004.pdf)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 17:06:20
พี่อู๋ครับ ผมจะหาแหนแดงได้จากที่ไหนครับแถวบ้านผมเชียงแสนไม่รู้จะไปหาที่ไหนครับ

แหนแดงตามแหล่งน้ำธรรมชาติในบ้านเราไม่ค่อยมีครับ ผมเคยไปหาที่หนองหลวงก็ยังไม่มี  แต่แถวบ้านมีพี่คนนึงแกทำนำโยนแกไปเอามาจากต่างจังหวัดครับ  แกเพาะไว้วันก่อนไปดูเต็มบ่อเลย แกบอกอยากได้ก็ให้มาเอาไปเพาะได้เลย แหนแดงขยายได้รวดเร็วมากครับ เอาไว้เย็นนี้จะไปขอซักหน่อยมาขยายเพิ่มแล้วจะแจกจ่ายให้ครับคงซักประมาณ 1-2 สัปดาห์   หากได้ผ่านมาเวียงชัยก็แวะมาเอาครับหรือลองหาในเน็ตครับมีหลายคนที่ขายแหนแดงโดยการส่งทาง EMS  ผมก็เคยสั่งจากโคราชมาเหมือนกันครับเมื่อ 2 ปีก่อน

การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แหนแดง  ใส่น้ำในกระถางหรือภาชนะใส่ดิน+ขี้วัวหรือขี้ไก่ อัตราส่วน ดิน 10 ส่วน ต่อ ขี้วัวหรือขี้ไก่ 1 ส่วน  เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของแหนแดง ไว้ในที่ร่มรำไรประมาณ 10-15 วัน ค่อยนำออกแดดแหนแดงจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
วันนั้นดรีมก็ว่าจะตักมาจากสุพรรณ แต่เอามาก็เลี้ยงไม่เป็นไว้จะเข้าไปศึกษาเอามาเลี้ยงไว้สักบ่อนึง เจ้า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 17:13:22
นาโยนแบบปราณีต ว่าจะลองทำดูสักครั้ง คริๆ (ไหวอะป่าวไม่รู้) ที่ไปเรียนที่ข้าวขวัญมา เขาก็สอนการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว อยากลองทำแบบโยนแบบปราณีตดู 12 ไร่ อยากทำๆ แต่ต้องรอหน้าฝน เจ้า ตอนนี้เพาะข้าว 23 เม็ด พันธ์ เจ็กเชยเบา ตอนนี้เริ่มงอก แล้วเจ้า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 17:14:51
เจ็กเชยเบา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 22:23:22
พี่อู๋ครับ ผมจะหาแหนแดงได้จากที่ไหนครับแถวบ้านผมเชียงแสนไม่รู้จะไปหาที่ไหนครับ

แหนแดงตามแหล่งน้ำธรรมชาติในบ้านเราไม่ค่อยมีครับ ผมเคยไปหาที่หนองหลวงก็ยังไม่มี  แต่แถวบ้านมีพี่คนนึงแกทำนำโยนแกไปเอามาจากต่างจังหวัดครับ  แกเพาะไว้วันก่อนไปดูเต็มบ่อเลย แกบอกอยากได้ก็ให้มาเอาไปเพาะได้เลย แหนแดงขยายได้รวดเร็วมากครับ เอาไว้เย็นนี้จะไปขอซักหน่อยมาขยายเพิ่มแล้วจะแจกจ่ายให้ครับคงซักประมาณ 1-2 สัปดาห์   หากได้ผ่านมาเวียงชัยก็แวะมาเอาครับหรือลองหาในเน็ตครับมีหลายคนที่ขายแหนแดงโดยการส่งทาง EMS  ผมก็เคยสั่งจากโคราชมาเหมือนกันครับเมื่อ 2 ปีก่อน

การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แหนแดง  ใส่น้ำในกระถางหรือภาชนะใส่ดิน+ขี้วัวหรือขี้ไก่ อัตราส่วน ดิน 10 ส่วน ต่อ ขี้วัวหรือขี้ไก่ 1 ส่วน  เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของแหนแดง ไว้ในที่ร่มรำไรประมาณ 10-15 วัน ค่อยนำออกแดดแหนแดงจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
วันนั้นดรีมก็ว่าจะตักมาจากสุพรรณ แต่เอามาก็เลี้ยงไม่เป็นไว้จะเข้าไปศึกษาเอามาเลี้ยงไว้สักบ่อนึง เจ้า

ทั่ว ๆ ไปจะเพาะเลี้ยงในบ่อดินที่ไม่มีปลา แต่หากไม่มีก็ต้องเลี้ยงในบ่อคอนกรีตครับ วันนี้เจอพี่ต้นนาโยนพอดีเลยตักสปอร์ของแหนแดงมาครับเพื่อนำมาขยายต่อ

ที่จริงการขยายพันธุ์ด้วยสปอร์สามารถนำสปอร์มาเพาะได้จากสปอร์สด สปอร์ตากแห้ง และสปอร์ที่ได้จากการหมัก แหนแดงมีการเจริญเติบโตได้รวดเร็วครับ ใช้ไม่ทันก็จะแห้งตายเป็นสีน้ำตาล  สปอร์ของแหนแดงมีทั้งเพศผู้และเมียในต้นเดียวกันแต่อยู่ละส่วนกันทำให้การขยายพันธุ์ไม่ยาก

และที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงแหนแดงคือ
1. น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงแหนแดง ระดับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงไม่ควรสูงเกินไป ระดับที่เหมาะสมคือ 10- 30 เซนติเมตร และแหนแดงจะตายเมื่อในนาขาดน้ำ
2.แหนแดงจะเจริญเติบโตได้ดีน้ำนิ่ง หรือมีกระแสน้ำไหลเป็นเวลาอย่างช้าๆ บริเวณคลื่นลมจัดจะทำให้แหนแดงแตกกระจายออกจากกัน ทำให้การเจริญเติบโต และการตรึงไนโตรเจนลดลงอย่างมาก
3.การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae สามารถทำได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีไนโตรเจนต่ำ
4.การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae จะมีค่าสูงสุดที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และจะหยุดกระบวนการตรึงไนโตรเจนในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส

แหนแดงของพี่ต้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 22:26:55
พันธุ์ข้าวชื่อแปลกดี :) มีความเด่นอย่างไรบ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 23:02:22
นาโยนแบบปราณีต ว่าจะลองทำดูสักครั้ง คริๆ (ไหวอะป่าวไม่รู้) ที่ไปเรียนที่ข้าวขวัญมา เขาก็สอนการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว อยากลองทำแบบโยนแบบปราณีตดู 12 ไร่ อยากทำๆ แต่ต้องรอหน้าฝน เจ้า ตอนนี้เพาะข้าว 23 เม็ด พันธ์ เจ็กเชยเบา ตอนนี้เริ่มงอก แล้วเจ้า

สงสัยต้องเกณฑ์คนไปช่วยเยอะ  ๆ ครับ เอาไว้ถ้าว่างจะไปช่วยอีกแรงครับสำหรับนาปี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 23:12:44
พันธุ์ข้าวชื่อแปลกดี :) มีความเด่นอย่างไรบ้างครับ

พันธุ์ข้าวเป็นชื่อเพี้ยนจากชื่อพ่อค้าข้าวชาวจีนครับชื่อ เจ๊กไช๊ครับ โดยนำพันธุ์ข้าวลักษณะดีจากนครสวรรค์มาปลูกที่ อ.เสาไห้ สระบุรีโดยไม่รู้ว่าชื่อพันธุ์ข้าว เค้าก็เลยเรียกว่าข้าวเจ๊กไช๊ เพี้ยน ๆ ไปเลยกลายเป็นเจ๊กเชย ลักษณะ เป็นข้าวหุงขึ้นหม้อ นุ่ม มีกลิ่นหอม เป็นข้าวที่หุงอร่อยพันธุ์หนึ่งแต่เดิมเป็นข้าวพันธุ์ไวต่อช่วงแสง ผลผลิตต่ำ ต่อมาก็มีการรวบรวมพันธุ์ใหม่และปรับปรุงสายพันธ์ก็มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป อย่างข้าวพันธุ์ เจ๊กเชยเบา เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 110 วัน ลักษณะเมื่อนำมาหุงเค้าว่าคล้ายสายพันธุ์ดั้งเดิมครับ ผมก็ไม่เคยกินเหมือนกัน ต้องให้น้องดรีมมาเฉลยแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 10:36:42
วันนี้ช่วงเช้าก่อนมาทำงานก็รดน้ำต้นไม้ครับ มาดู ต้นบอระเพ็ดที่ได้จากพี่เจ้าของกระทู้ " อยากแบ่งปัน ทำเกษตรตามฝันวันละ 2 ชั่วโมง " หามาให้  ตอนนี้ก็เริ่มเลื้อยไปได้เยอะแล้วอีกไม่กี่เดือนหากมากพอก็จะเริ่มตัดมาทำสมุนไพรขับไล่แมลงเพิ่มครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 10:40:58
สปอร์แหนแดงสดที่ได้มาจากบ่อแหนแดงของพี่ต้น เจ้าของกระทู้นาโยนครับ ตอนนี้กำลังอนุบาลไว้ เสาร์-อาทิตย์ ค่อยหาที่เพาะที่ใหญ่ขึ้น เพราะแหนแดงเจริญเติบโตเร็วมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 11:35:14
ผมเพาะกล้านาโยนไว้เหมือนกัน เป็นถาดนาโยนเก่าที่เคยซื้อเมื่อ 2 ปีก่อน 10 ถาด  คราวนี้ตั้งใจจะนำกลับมาทดลอง

สิ่งที่คิดว่าจะนำมาทดลองครับ  บางอย่างเคยทดลองสังเกตุในนาแล้วแต่พื้นนากว้างเกินไปมีหลายต้นเกินมีผลกระทบจากหลายตัวแปรเลยทดลองในพื้นที่เล็ก ๆ ดีกว่าจะได้สังเกตุได้ง่ายหน่อย บางอย่างแม้เรียนรู้จากทฤษฎีแล้วแต่ก็อยากมาทดลองเอง

พันธุ์ข้าวที่ทดสอบ  กข 47 
-  การปลูกในระบบเกษตรธรรมชาติ
-  การปลูกเปรียบเทียบปุ๋ยที่ได้จากธรรมชาติ , ปุ๋ยเคมีและไม่ใส่ปุ๋ยอะไรเลย
-  การปลูกเปรียบเทียบการปลูกแบบมีน้ำขังตลอดและแบบเปรียบสลับแห้ง
-  การปลูกในแบบ SRI เพราะตอนนี้ข้าวอายุได้ 9 วันพอดี
-  การปลูกเปรียบเทียบการใช้ฮอโมนหมักจากธรรมชาติ กับไม่พ่น
-  การปลูกเปรียบเทียบผลของการใช้น้ำส้มควันไม้

การเลือกมาทดลองคงเลือกต้นที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน จะได้ผิดเพี้ยนน้อยที่สุด ถามว่าทำไมต้องทดลอง ทั้งที่ตัวเองก็ทำนาได้ผลน่าพอใจอยู่แล้ว แต่การปลูกข้าวมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ เหมือนกันบางอย่างที่คิดว่าทำถูกในวันนี้ วันหน้าก็อาจกลายเป็นสิ่้งที่ผิด มีหลายเหตุผลที่ขัดแย้งกัน อย่างนาดำสมัยก่อนให้ถอนกล้าและล้างรากข้าวให้สะอาด รากข้าวช้ำ แต่การปลูกแบบ SRI กลับให้รากมีดินและให้ช้ำน้อยที่สุด ก็ต้องเลือกขึ้นตอนปฎิบัติที่เหมาะสมกับตัวเองครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 11:43:46
คราวก่อนที่ได้ซื้อเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองมาหมักทำปุ๋ยยูเรียน้ำ  ลองนำเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองมาลองเพาะดูก็ง่ายดีครับไม่ยาก แต่ก็ยังไม่ได้ศึกษาอะไรเกี่ยวกับถั่วเหลืองซักเท่าไหร่ เผื่ออีกหน่อยอาจปลูกและเก็บเมล็ดเองก็ได้ครับหากปุ๋ยยูเรียน้ำได้ผลดี

ต้นถั่วเหลืองต้นที่สูง ๆ ส่วนต้นเล็ก ๆ เป็นต้นดาวเรือง พอดีใช้ดินที่เหลือจากการเพาะต้นดาวเรืองก็เลยมีเมล็ดติดมาด้วยตอนนี้มีงอกมาเพิ่มครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 21:10:26
ตอนเย็นหลังเลิกงานปั่นจักรยานไปดูนาเช่นเคย วันนี้อายุข้าวได้ 20 วันแล้วตามปกติจะต้องใส่ปุ๋ยรอบแรกแล้ว แต่ไปดูข้าวดันต้นใบเขียวเหมือนใส่ปุ๋ย ชาวนาแถวบ้านผ่านมายังเข้าใจว่าผมใส่ปุ๋ยไปแล้วด้วยซ้ำ  ผมยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลยตั้งจะใส่ในช่วงวันหยุด เสาร์อาทิตย์นี้ คงต้องเลื่อนไปก่อน เพราะต้นข้าวยังสมบูรณ์แสดงว่ายังมีอาหารกินสมบูรณ์อยู่ หากธาตุอาหารมีเพียงพอถ้าเราใส่ปุ๋ยอัดไปอีกก็คงเหมือนคนที่กินข้าวอิ่มแล้วแต่ก็พยายามยัดเยียดให้กินจนอ้วนสุดท้ายก็ป่วยง่ายเพราะเป็นโรคอ้วน หรือหากเปรียบเทียบอีกแบบคือ หากต้นข้าวงามเกินไปก็เป็นที่ชื่นชอบของพวกแมลงเหมือนกันการให้ปุ๋ยมาก ๆ กลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ปัญหาต่าง ๆ ตามมาทั้งโรคและแมลง หากเจอแบบนี้อาจปุ๋ยบาง ๆ ตรงที่สมบูรณ์และอาจมากหน่อยบริเวณที่โตช้ากว่าก็ได้จะช่วยประหยัดปุ๋ยได้อีกและต้นข้าวโตเท่ากัน ทางบางคนใส่ในแปลงนาเท่ากันทั้งแปลงก็ใช่ว่าข้าวจะกินปุ๋ยได้หมด  ผมเปรียบเทียบข้าวในนากับข้าวในนาของคนอื่นที่หว่านวันเดียวกันทั้งที่แปลงติดกันค่อนข้างแตกต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด คงเป็นผลของการปรับปรุงดินและใส่จุลินทรีย์ลงไปก่อนหน้านี้ และมีการบำรุงรากข้าวควบคู่ไปด้วย  เวลาผมมาทำงานตอนเช้าจะเหลือบไปมองแปลงนาของคนอื่นแถวหนองหล่ม มาจนถึงดอยสะเก็นบางคนใส่ปุ๋ยมากจนใบเขียวเข้มยาวจนแตะจมผิวน้ำ ถึงแม้ว่าใบที่ดีมีผลต่อการสังเคราะห์แสงแต่ใบปกกันมาก ๆ จะกลายเป็นแหล่งสะสมแมลงและเชื้อราทำให้เกิดโรคตามมาภายหลังถึงแม้จะเป็นนาปรังฝนไม่ค่อยรบกวนแต่ก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 21:20:05
ตอนทำนาใหม่ ๆ มีคนบอกให้หลังจากพ่นยาคุมหญ้าแล้วอีก 2 วันปล่อยน้ำให้ท่วมยอดข้าวเพื่อให้ต้นข้าว speed หนีน้ำมันก็จริงอยู่ได้ผลแต่กลับกลายเป็นต้นสูงอ่อนแอครับพอลดระดับน้ำเห็นชัดเจนว่าต้นอ่อนล้มง่ายและใบยาวเกินไป และที่สำคัญมีโอกาสติดโรคได้ง่ายเพราะใบข้าวสัมผัสกับน้ำซึ่งอาจเจอทั้งน้ำเสียและมีเชื้อแบคทีเรีย ปล่อยให้เป็นตามปกติรักษาน้ำให้ได้ระดับไม่สูงมากและให้รากได้สัมผัสอากาศบ้างก็จะดีมากครับแต่ไม่ควรปล่อยให้ดินแห้งมากในช่วงนี้เพราะมีโอกาศวัชพืชขึ้นได้อีกต้องรอให้ต้นข้าวโตพอประมาณข้าวมีอายุ 30 วันและข้าวจะเริ่มแตกกอเมื่ออายุได้ 30-40 วันครับช่วงนี้ระดับน้ำควรมีไม่มากหรือแห้งเลยก็จะดี มีน้ำมากข้าวไม่แตกกอจะพารากสั้นและลำต้นสูงไปด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 21:31:58
ปลูกข้าวต้องหมั่นสังเกตุทุกส่วนของข้าวครับ ผมมักจะลองสุ่มถอนต้นข้าวมาดูรากเป็นระยะ ๆ เพื่อดูรากของข้าวครับ  รากนอกจากจะเป็นตัวยึดลำต้นก็ยังทำหน้าที่ดูดซึมน้ำและธาตุอาหาร หากเปรียบเทียบกันคนก็อาจจะเป็นปากก็ได้ หากปากเจ็บมีแผลก็คงไม่ค่อยอยากกินอะไร หรือกินไม่มาก  โรคบางอย่างระบบรากมีปัญหาจึงต้องสังเกตุและหาวิธีป้องกัน 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 21:42:57
ชาวนาทั่วไปมักแข่งกันว่าข้าวใครงามกว่ากัน บ้างก็แข่งว่าใครขายข้าวได้มากกว่ากันโดยลืมดูเรื่องต้นทุนครับ ทำนาควรหาวิธีลดต้นทุนแต่ไม่ควรไปเบียดเบียนคนอื่นครับ ชาวนาบางแห่งมีทั้งขโมยน้ำ  ขโมยกล้าข้าวกันก็มี แกล้งคนอื่นก็มีครับ เรื่องแบบนี้ผมว่าบาปบุญคุณโทษมันมีอยู่จริงทำดีก็ได้ดีครับ 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 20:44:31
ซินจึ้นหยู่อี๋ ซินเหนี่ยนฟั่ดโฉ่ย  ทักทายสำหรับวันตรุษจีนเป็นภาษาจีนแคะครับ มีเชื้อสายชาวจีนแคะครับ แต่วันนี้ไม่ได้ไหว้เจ้าเลย ชาวจีนแคะหรือบางทีเรียกว่าชาวจีนโพ้นทะเล มีประชากร 30-45 ล้านคนทั่วโลก  ชาวแคะส่วนมากที่อาศัยอยู่นอกแผ่นดินใหญ่จะอาศัยอยู่ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ติมอร์ตะวันออก อเมริกาและยุโรป ชาวจีนแคะที่มีชื่อเสียงถึง 3 ท่านได้ครองอำนาจทางการเมืองพร้อมๆกันใน 3 ประเทศซึ่งมีชาวจีนเป็นชนส่วนใหญ่ อันได้แก่ เติ้งเสี่ยวผิงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หลี่เติงฮุยแห่งสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) และลีกวนยูแห่งสิงคโปร์

นอกจากนี้ ทั้งดร.ซุนยัดเซ็น เติ้งเสี่ยวผิง และลีกวนยู ซึ่งต่างก็เป็นชาวแคะ และยังเป็น 3 คนในชาวจีน 4 คนซึ่งนิตยสารไทม์ (Time Magazine) จัดอันดับให้เป็นชาวเอเชียที่ทรงอิทธิพลที่สุด 20 อันดับแรกในศตวรรษที่ 20 ส่วนอันดับ 4 คือ เหมาเจ๋อตุง

กลับมาเรื่องทำนาต่อครับ

ปกติผมทำงานบริษัท วันจันทร์ถึงวันศุกร์  ส่วนเสาร์อาทิตย์จึงจะมีเวลาอยู่กับท้องนาได้ ช่วงนี้เริ่มปลอดภัยจากกลิ่นยาคุมหญ้าและยาฆ่าหอยครับอากาศเริ่มดีขึ้นบ้างจึงอยู่ทั้งวันได้ มีเวลาก็เริ่มทำงานทั้งวัน  เช้าพ่นฮอร์โมน สายฉาบปูนบ้านที่นา  บ่ายแก่ ๆ ใส่ปุ๋ยครับ มาดูการทำงานวันนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 21:17:09
เมื่อวานผมได้พูดถึงว่าแปลงนาของชาวนาบางคนใส่ปุ๋ยมากเกินไปจนใบง่อมเขียวเข้ม เลยถ่ายรูปมาดูเป็นแปลงนาทางไปนาของผม   จะสังเกตุว่าใบมีความหนาแน่นมาก อาจเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงได้ ผีเสื้อบางทีก็มาวางไข่กลายเป็นหนอนในระยะต่อไปและหากฝนตกลงมาก็มีโอกาสเป็นเชื้อราได้ แปลงตรงนี้หนาแน่นชาวนาจะนิยมเอาไว้เป็นแปลงซ่อมในบริเวณที่เสียหายโดยจะต้องถอนมาปลูกเหมือนนาดำ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 21:22:50
เอาตาข่ายดักเศษต่าง ๆ ที่จะลงในนาครับมีทั้งขวด หอยเชอรี่ ปลา ปู เศษใบไม้ ถุงขยะครับ นาผมเป็นนาชลประทานปล่อยน้ำแบบกาลักน้ำ  นาที่อื่นอาจใช้วิธีอื่นก็ต้องประยุกต์เอาครับว่าจะเอาอะไรดักโดยเฉพาะหอยเชอรี่ ไม่งั้นนาปีหอยเชอรี่ในนาจะมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 21:39:36
หลังจากนั้นอากาศยังไม่ร้อนก็พ่นฮอร์โมนครับ เพื่อช่วยบำรุงราก ลำต้นและใบ การพ่นฮอน์โมนแบบนี้ควรพ่นเมื่อข้าวได้รับน้ำพอเพียงเพราะรูปากใบจะเปิดเพื่อรับอากาศในการสังเคราะห์แสง แต่หากพ่นเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า  อาจไม่ต้องสนใจเพราะเพียงต้องการให้พ่นให้เกาะต้นข้าวเท่านั้น ควรพ่นในช่วงเช้าหรือตอนเย็นที่แดดไม่แรง การพ่นเมื่อแดดร้อน ๆ มีโอกาศระเหยไปไวเนื่องจากเป็นละอองน้ำใบข้าวยังอาจไม่ทันดูดซึม แถมอุณหภูมิที่ใบข้าวมีความร้อนเมื่อโดนน้ำทันทีอาจไม่เป็นผลดี  เครื่องพ่นผมมีทั้งแบบ คันโยก  แบบติดเครื่องยนต์ และแบบไฟฟ้า  แบบคันโยกจะเบาหน่อยแต่เหนื่อย  แบบติดเครื่องยนต์จะพ่นได้ไกลแต่เปลืองน้ำในถังพ่น แบบไฟฟ้าน้ำหนักเบากว่าเครื่องยนต์ พ่นได้เป็นละอองฝอยกว่า ประหยัดน้ำที่พ่น ถังนึงพ่นได้ประมาณ 3-4 ไร่  ชาร์ทไฟครั้งหนึ่งพ่นได้ 12-15 ถัง แต่อาจช้านิดนึงเพราะพ่นได้ไม่ไกลมาก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 21:46:44
พ่นฮอร์โมนได้ประมาณ 5 ไร่ก็หยุดครับเพราะแดดเริ่มร้อนวันนี้มาสายเลยพ่นได้ไม่มากพรุ่งนี้ค่อยต่อ  หยุดดูกับดักหอยเชอรี่ที่ทำไว้ครับ ตอนแรกมีแต่คนหัวเราะว่าหอยอะไรจะเข้ามาติด วันนี้มีติดครับขึ้นมาวางไข่และลงไม่ได้ครับ เสียดายทำไว้แค่อันเดียวไว้วันไหนว่าง ๆ ค่อยทำเพิ่ม ผมใช้ขวดน้ำอัดลมแฟนต้าขนาด 1.25 ลิตรทำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 21:55:35
แปลงนาที่พูดถึงเมื่อวานครับ  ด้านบนเป็นของคนอื่นแปลงล่างเป็นแปลงที่ผมทำ หว่านวันเดียวยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยรอบแรกทั้งคู่ ดูความแตกต่างของสีของต้นข้าวครับ  เจ้าของนาข้างบนก็มาถามว่าทำยังไงบ้างก็บอกแกไปครับ ต้นข้าวไม่งามจะต้องใส่ปุ๋ยเคมีมากขึ้นเพื่อให้ข้าวงาม ส่วนต้นข้าวที่งามไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 22:08:53
ช่วงแดดร้อน  ๆ ก็มาทำงานในที่เย็น ๆ ครับทำบ้านกลางนาต่อ ฉาบปูนครับที่จริงตอนแรกฉาบไม่เป็น ไม่ได้รู้เรื่องงานปูนเลยไม่ได้จบช่างก่อสร้างก็ศึกษาในเน็ตเอาครับ เคยถามจ้างช่างเค้าเหมาครับทั้งหลังนี้ 3000 บาท รายวันเค้าไม่รับครับวันละ 300 บาท จะต้องใช้ปูน 5 ลูกทราย 1 คิว ค่าวัสดุยังไม่ถึงพันเลย ค่าแรงนี่หนักเอาเรื่องเลยลองหัดทำเองครับไม่สวยแต่ประหยัดตังค์ ผนังหนึ่งด้าน ขนาดประมาณ 4 ตร.มกว่า ๆ เพราะมีประตู ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงสำหรับมือใหม่  สาเหตุที่ทำบ้านแบบนี้เพื่อไว้เก็บอุปกรณ์ ไว้หลบแดด และหลบฝนโดยเฉพาะช่วงที่มีฟ้าผ่าครับ ปลอดภัยดีในช่วงฤดูฝน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 22:31:50
ฉาบปูนเสร็จก็เกือบบ่าย 3 โมงครับ มีเวลาเหลือคิดไปคิดมาใส่ปุ๋ยในนาดีกว่าครับ ตอนแรกกะว่าจะไม่ใส่แล้วแต่พอดีคลองชลประทานเค้าจะปิดน้ำเพราะจะซ่อม  เลยต้องใส่ปุ๋ยที่ตอนยังมีน้ำ แม้ข้าวอายุ 20 กว่าวันแล้วแต่ข้าวยังเขียวอยู่ การใส่ปุ๋ยก็เลยประหยัดได้เยอะก็เลยไปซื้อปุ๋ยเคมี  16-20-0 ราคา 790 บาท และยูเรีย 46-0-0 ราคา 800 บาท อย่างละ 1 กระสอบรวมเป็นเงิน  1590 บาทสามารถใส่ในนาได้  22 ไร่ครับ วันนี้ช่วงเย็นผมหว่านไป 13 ไร่แล้วยังไม่ถึงครึ่งกระสอบเลย ชาวนาทั่วไปอาจต้องใส่ปุ๋ยเคมี 6-7 กส สำหรับช่วงนี้

ปุ๋ยยูเรีย  46-0-0  เน้นบำรุง ลำต้น และใบ
ปุ๋ย       16-20-0 ช่วยบำรุงรากให้แตกแขนงสำหรับช่วงนี้และยังช่วยบำรุงเมล็ดในช่วงออกดอก

หากข้อมูลทางกรมการข้าวจะให้ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0  โดยเฉพาะในช่วงนี้ แต่ผมบำรุงรากไปพอสมควรแล้วเลยเน้นไนโตรเจนร่วมด้วย ผมนำปุ๋ย 2 สูตรนี้ผสมกันข้อดีของการผสมยูเรียอีกอย่างคือพ่นง่ายเพราะเม็ดเป็นสีขาว  16-20-0 เม็ดเป็นสีน้ำตาลเวลาพ่นสังเกตุยากกว่า  เราจะได้เห็นปริมาณปุ๋ยที่เราพ่นได้ชัดเจน  นา 13 ไร่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 22:54:20
ปุ๋ยเคมี 1 กส. น้ำหนัก 50 ก.ก.  1 กส.สามารถใส่ถังพ่นได้ 3 ถัง หากใส่ในปริมาณเท่ากันปุ๋ยยูเรียจะมีน้ำหนักเบากว่าปุ๋ยสูตรตัวอื่น ๆ    1 ถังพ่นน้ำหนักปุ๋ยประมาณ 17 ก.ก. น้ำหนักเครื่องพ่นประมาณ 10-12 ก.ก. รวมน้ำหนักสุทธิที่ต้องแบกรับน้ำหนักประมาณ 27-29 ก.ก. สำหรับผมถือว่าไม่มากเพราะเมื่อก่อนที่บ้านค้าข้าวเปลือกบางทีไม่มีคนงานต้องยกข้าวแต่เด็กบางครั้งก็แบกข้าวขึ้นรถหกล้อซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 65-85 ก.ก.แล้วแต่ชนิดกระสอบ  สำหรับการพ่นปุ๋ยหากเดินพื้นแห้งหรือคันนาค่อนข้างสบายแต่หากเดินในนานี่ลำบากครับ นาหล่มยิ่งไปกันใหญ่  ใครหัดพ่นใหม่ ๆ นี่คงมีปวดหลังปวดเอวเมื่อยแข้งเมื่อยขากันบ้างครับ อาจต้องมีไม้เท้าพยุงตัวด้วยหากทรงตัวไม่เก่งเพราะถังพอๆ กับศีรษะอาจมีแกว่งบ้าง ผมพ่น 1 ถังพ่น พ่นได้ประมาณ 5 ไร่ครับ  แรก ๆ ก็เคยมีคนว่าทำไมใส่ปุ๋ยน้อยแต่ผลผลิตออกมาได้เกิน 1 ตันต่อไร่อยู่ครับ ต้นทุนน้อยกว่า บางคนใส่ปุ๋ยมากกว่าหลายเท่าแต่ผลผลิตน้อยกว่า 1 ตันก็มีมากครับสำหรับนาปรังเพราะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยไม่ใช่แต่ปุ๋ยอย่างเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 23:07:53
ผมมักจะพ่นปุ๋ยในช่วงสาย ๆ  หรือบ่าย ๆ ครับ ทำไมถึงไม่พ่นตอนเช้าล่ะครับ เพราะผมจะต้องตั้งระดับน้ำให้ได้ก่อนไม่ให้น้ำมากเกินไปแปลง น้ำมากต้องปล่อยทิ้ง  แปลงไหนน้อยต้องเติมน้ำเข้า น้ำมากเกินไปปุ๋ยไม่ค่อยได้ผลเพราะมีการเจือจางมาก  แต่ถ้าไม่มีน้ำปุ๋ยไม่ละลาย ที่สำคัญควรดูรอยรั่วตามคันนา  กักน้ำในแต่ละแปลงนาและหยุดปล่อยน้ำเข้านาเมื่อน้ำได้ระดับครับ  ต้นข้าวไม่ได้กินปุ๋ยแบบเป็นเม็ด จะต้องละลายกับน้ำถึงจะดูดขึ้นไปใช้ในกระบวนการสร้างอาหาร  สังเคราะห์แสงได้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 23:14:41
พ่นปุ๋ยเสร็จ 13 ไร่เย็นพอดีกลับบ้านครับพรุ่งนี้มาต่ออีก 9 ไร่ หากพ่นปุ๋ยเคมีไปจะเห็นผลอีกทีประมาณ 4-5 วันครับ ปุ๋ยอินทรีย์จะเห็นผลได้ช้ากว่ามาก แต่ก็มีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 00:15:38
 :D ของผมเืมื่อไหร่จะสวยแบบนี้บ้างนะ ชาวนาวันหยุดแบบเราถ้าจะทำนาดำนั้นหมายถึงว่าเราจะต้องจ้างรถดำนะ หรือคนดำนาใช่มั้ยครับพี่อู๋ หมายถึงต้นทุนก็ต้องสูงขึ้นด้วย ผมเห็นพี่เคยโพสว่าจะเปลี่ยนมาทำนาดำพี่จะทำยังไงครับ นาโยน จ้างคนดำ จ้างรถปลูก หรือปลูกเองครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 11:33:37
-ขอบคุณครับ ความรู้เริ่องการทำนา
-ผมเพิ่งทำนาเข้าปีที่3 ปีแรกน้ำท่วม
-ตอนนี้นาปรังกำลังพ่นยาคุทวัชพืชอยู่ครับ(อายุ15วัน)
-ในนาผมมีแหนแดงด้วยครับ(ปีที่แล้วมีไม่มาก) เห็นเต็มไปหมด ตอนหว่านปุ๋ยจะมีปัญหาไหมครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 21:08:35
:D ของผมเืมื่อไหร่จะสวยแบบนี้บ้างนะ ชาวนาวันหยุดแบบเราถ้าจะทำนาดำนั้นหมายถึงว่าเราจะต้องจ้างรถดำนะ หรือคนดำนาใช่มั้ยครับพี่อู๋ หมายถึงต้นทุนก็ต้องสูงขึ้นด้วย ผมเห็นพี่เคยโพสว่าจะเปลี่ยนมาทำนาดำพี่จะทำยังไงครับ นาโยน จ้างคนดำ จ้างรถปลูก หรือปลูกเองครับ

ค่อย ๆ เป็นค่อยไปครับ ผมทำนาครั้งแรกก็ใช่ว่าจะงามครับ ผลผลิตต่ำ เป็นโรค ต้นทุนสูงครับ กว่าจะปรับตัวได้ก็เกือบ 2 ปีเหมือนกัน สำหรับทางเลือกการทำนาต่อไปคงอาจจะเป็นรถดำนาครับ ตอนนี้ที่เล็งไว้  6 แถวเดินตามคันละ 2 แสนบาทครับ รวมถาดสำหรับ 30 ไร่อีกประมาณ 35000 บาท รวมเป็น 235,000 บาท เผื่อไว้รับจ้างพรรคพวกด้วยในช่วงวันหยุด ส-อ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะ เพราะใช้แรงงานน้อยที่สุดประมาณ 2-3 คนน่าจะพอเอาอยู่ครับ แบบเดินตาม 4 แถวค่อนข้างเหนื่อยกว่าเพราะดำได้น้อยกว่าแต่ราคาถูกกว่าประมาณ 6 หมื่นกว่าบาทครับ วันนี้ตอนเช้าก็ไปดูนาดำโดยรถดำนาเดินตาม 4 แถวก็ใช้ได้ครับ เจ้าของนาเป็นอาจารย์วัยเกษียนซึ่งแกก็ดำเองครับ แกว่าคนหนุ่ม ๆ ทำสบายเลยก็มีกำลังใจขึ้นมาอีกหน่อย สำหรับแบบรถดำนานั่งขับดูเกินตัวไปหน่อยสำหรับผม เหมาะสำหรับคนมีเวลารับจ้างครับ รายได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว แถวนางแลจ้างดำอย่างเดียวไร่ละ 600 บาทโดยเจ้าของนาเพาะกล้าเองวันหนึ่งดำได้ 20 กว่าไร่สำหรับในรุ่น 6 แถว ลองดูรายได้ต่อวันสิครับ ดีทีเดียวถึงแม้ปีนึงจะดำไม่กี่วันก็ตามค่อนข้างคืนทุนได้เร็วเหมือน

สาเหตุที่เลือกคำนวณคร่าว ๆ ประมาณนี้ครับ

ต้นทุนการปลูกต่อไร่  

นาดำด้วยคน
- พันธุ์ข้าว  10  ก.ก. ราคาข้าวกรม ประมาณ ก.ก. ละ  25 บาท เป็นเงิน 250 บาท
- หว่านข้าวทำเองได้
- ค่าจ้างถอนและปักดำ   ไร่ละ  1,300 บาท    
รวมเป็นเงิน   1,550  บาท

นาโยน
-  พันธุ์ข้าว  10 ก.ก.  ราคาข้าวกรม ประมาณ ก.ก. ละ  25 บาท เป็นเงิน 250 บาท
-  ค่าถาด ถาดละ 7 บาทต่อไร่ 130 ถาด มีอายุการใช้งาน 3 ปีเป็นเงิน 151 บาท (คิดเฉลี่ยทำนา 6 ครั้ง)
-  ค่าดินบดละเอียดสำหรับเพาะต่อไร่ประมาณ  300 บาท
-  ค่าจ้างเพาะกล้าหรือหากซื้อถาดเองและค่าดูแล ประมาณ 300 บาท
-  ค่าจ้างถอนกล้าและโยนกล้า  780 บาท
รวมเป็นเงิน  1,781  บาท
สำหรับนาโยนถ้าทำไม่มากไม่เกิน 5 ไร่ผมว่าใช้แรงงานคนสองคนพอได้ แต่ผมทำ 22ไร่จำเป็นต้องจ้างแรงงานมาช่วยครับ    

มาดูต้นทุนในการทำนาแต่ละแบบครับ คิดที่ 22 ไร่
นาดำคน  22 ไร่ x 1550 บาท  เป็นเงิน    34,100  บาท  1 ปีทำนา 2 ครั้ง =  68,200 บาท
นาโยน    22  ไร่ x 1781 บาท  เป็นเงิน   39,182  บาท  1 ปีทำนา 2 ครั้ง =  78,364 บาท

หากทำนาน้อยก็ไม่เหมาะจะคำนวณแบบนี้เพราะอาจใช้แรงงานตัวเองหรือบางพื้นที่มีการลงแขก บ้านเราเรียกว่าเอามื้อกันก็ต้องคิดอีกแบบ แต่สำหรับผมประมาณนี้ครับ

ปกตินาหว่านต้นทุนอยู่ที่ 800 บาทต่อไร่หากใช้ข้าวกรมการข้าวจะมีค่า พันธุ์ข้าว ค่าจ้างหว่าน ค่ายาคุมหญ้า ครับ ต้นทุนต่ำแต่หนีเรื่องสารเคมีอันตรายไม่ออก แถมมีโอกาสเป็นโรคและแมลงง่ายกว่าการทำนาแบบอื่น ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 21:23:21
-ขอบคุณครับ ความรู้เริ่องการทำนา
-ผมเพิ่งทำนาเข้าปีที่3 ปีแรกน้ำท่วม
-ตอนนี้นาปรังกำลังพ่นยาคุทวัชพืชอยู่ครับ(อายุ15วัน)
-ในนาผมมีแหนแดงด้วยครับ(ปีที่แล้วมีไม่มาก) เห็นเต็มไปหมด ตอนหว่านปุ๋ยจะมีปัญหาไหมครับ


ยินดีครับ.. ปกติไม่ค่อยพบแหนแดงในนาหว่านครับเนื่องจากกระบวนการปลูกไม่เหมือนกับนาโยนหรือนาดำที่มีน้ำเลี้ยงเกือบตลอดเพื่อคุมวัชพืช  นาหว่านน้ำจะแห้งอยู่หลายวัน แหนแดงบางส่วนอาจจะตายหรือตายทั้งหมดเนื่องจากถูกยาคุมหญ้าพ่นใส่ แต่สำหรับนาดำและนาโยนที่อาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติก็มีโอกาสพบได้ครับ  สำหรับการหว่านปุ๋ยเคมีหากมีแหนแดงหนาแน่นมากก็คงลำบากนิดนึงปุ๋ยเคมีอาจจะไม่ลงน้ำ แต่ถ้ามีไม่มากก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 21:32:22
วันนี้ไม่ได้ทำอะไรมากครับ เหมือนเมื่อวาน โบกปูนและใส่ปุ๋ยในนาอีก 9 ไร่ที่เหลือครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 21:45:58
พ่นฮอร์โมนได้ประมาณ 5 ไร่ก็หยุดครับเพราะแดดเริ่มร้อนวันนี้มาสายเลยพ่นได้ไม่มากพรุ่งนี้ค่อยต่อ  หยุดดูกับดักหอยเชอรี่ที่ทำไว้ครับ ตอนแรกมีแต่คนหัวเราะว่าหอยอะไรจะเข้ามาติด วันนี้มีติดครับขึ้นมาวางไข่และลงไม่ได้ครับ เสียดายทำไว้แค่อันเดียวไว้วันไหนว่าง ๆ ค่อยทำเพิ่ม ผมใช้ขวดน้ำอัดลมแฟนต้าขนาด 1.25 ลิตรทำครับ
ขอทราบวิธีทำได้ไหมครับ สงวนลิขสิทธิ์ไหม :) ดูแล้วตัดเป็นแฉกๆแหลมๆแล้วพับเข้าคล้ายกรวยไซใช่ไหม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 21:49:26
รูปนี้เป็นรูปการโยนกล้านาโยนของจีนเมื่อ 13 ปีก่อนครับ ผมเคยไปช่วยโยนกล้านาโยน หากจะต้องการโยนให้ได้ผลดีจะต้องโยนให้สูงเพื่อให้ต้นกล้าปักลงดินในแนวดิ่งข้าวจะตั้งตัวได้ดีกว่าโยนเอียงหรือนอนกับพื้น แต่การโยนสูง ๆ ก็ทำให้เมื่อยแขนได้เหมือนกัน มาดูชาวนาจีนคนนี้ครับใช้เครื่องพ่นแทนก็โยนผมว่าช่วยทุ่นแรงได้ดีเหมือนกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 21:58:18
พ่นฮอร์โมนได้ประมาณ 5 ไร่ก็หยุดครับเพราะแดดเริ่มร้อนวันนี้มาสายเลยพ่นได้ไม่มากพรุ่งนี้ค่อยต่อ  หยุดดูกับดักหอยเชอรี่ที่ทำไว้ครับ ตอนแรกมีแต่คนหัวเราะว่าหอยอะไรจะเข้ามาติด วันนี้มีติดครับขึ้นมาวางไข่และลงไม่ได้ครับ เสียดายทำไว้แค่อันเดียวไว้วันไหนว่าง ๆ ค่อยทำเพิ่ม ผมใช้ขวดน้ำอัดลมแฟนต้าขนาด 1.25 ลิตรทำครับ
ขอทราบวิธีทำได้ไหมครับ สงวนลิขสิทธิ์ไหม :) ดูแล้วตัดเป็นแฉกๆแหลมๆแล้วพับเข้าคล้ายกรวยไซใช่ไหม

ผมก็ดูที่อื่นมาเหมือนกันครับ  ผมตัดบริเวณต่ำกว่าปากขวดลงมาซัก 1 นิ้วเพราะเป็นพลาสติกแข็งและมีเกลียวจากนั้นตัดส่วนที่เป็นคอขวดเป็นแฉก ๆ และพับเข้าด้านในครับ จากนั้นเอาไม้ไผ่ที่มีขนาดพอเหมาะมาเป็นเสาฐานการปักก็ให้ขวดอยู่สูงกว่าระดับน้ำประมาณ 8 ซ.ม. ก็ได้แล้วครับครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 23:58:16
:D ของผมเืมื่อไหร่จะสวยแบบนี้บ้างนะ ชาวนาวันหยุดแบบเราถ้าจะทำนาดำนั้นหมายถึงว่าเราจะต้องจ้างรถดำนะ หรือคนดำนาใช่มั้ยครับพี่อู๋ หมายถึงต้นทุนก็ต้องสูงขึ้นด้วย ผมเห็นพี่เคยโพสว่าจะเปลี่ยนมาทำนาดำพี่จะทำยังไงครับ นาโยน จ้างคนดำ จ้างรถปลูก หรือปลูกเองครับ

ค่อย ๆ เป็นค่อยไปครับ ผมทำนาครั้งแรกก็ใช่ว่าจะงามครับ ผลผลิตต่ำ เป็นโรค ต้นทุนสูงครับ กว่าจะปรับตัวได้ก็เกือบ 2 ปีเหมือนกัน สำหรับทางเลือกการทำนาต่อไปคงอาจจะเป็นรถดำนาครับ ตอนนี้ที่เล็งไว้  6 แถวเดินตามคันละ 2 แสนบาทครับ รวมถาดสำหรับ 30 ไร่อีกประมาณ 35000 บาท รวมเป็น 235,000 บาท เผื่อไว้รับจ้างพรรคพวกด้วยในช่วงวันหยุด ส-อ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะ เพราะใช้แรงงานน้อยที่สุดประมาณ 2-3 คนน่าจะพอเอาอยู่ครับ แบบเดินตาม 4 แถวค่อนข้างเหนื่อยกว่าเพราะดำได้น้อยกว่าแต่ราคาถูกกว่าประมาณ 6 หมื่นกว่าบาทครับ วันนี้ตอนเช้าก็ไปดูนาดำโดยรถดำนาเดินตาม 4 แถวก็ใช้ได้ครับ เจ้าของนาเป็นอาจารย์วัยเกษียนซึ่งแกก็ดำเองครับ แกว่าคนหนุ่ม ๆ ทำสบายเลยก็มีกำลังใจขึ้นมาอีกหน่อย สำหรับแบบรถดำนานั่งขับดูเกินตัวไปหน่อยสำหรับผม เหมาะสำหรับคนมีเวลารับจ้างครับ รายได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว แถวนางแลจ้างดำอย่างเดียวไร่ละ 600 บาทโดยเจ้าของนาเพาะกล้าเองวันหนึ่งดำได้ 20 กว่าไร่สำหรับในรุ่น 6 แถว ลองดูรายได้ต่อวันสิครับ ดีทีเดียวถึงแม้ปีนึงจะดำไม่กี่วันก็ตามค่อนข้างคืนทุนได้เร็วเหมือน

สาเหตุที่เลือกคำนวณคร่าว ๆ ประมาณนี้ครับ

ต้นทุนการปลูกต่อไร่  

นาดำด้วยคน
- พันธุ์ข้าว  10  ก.ก. ราคาข้าวกรม ประมาณ ก.ก. ละ  25 บาท เป็นเงิน 250 บาท
- หว่านข้าวทำเองได้
- ค่าจ้างถอนและปักดำ   ไร่ละ  1,300 บาท    
รวมเป็นเงิน   1,550  บาท

นาโยน
-  พันธุ์ข้าว  10 ก.ก.  ราคาข้าวกรม ประมาณ ก.ก. ละ  25 บาท เป็นเงิน 250 บาท
-  ค่าถาด ถาดละ 7 บาทต่อไร่ 130 ถาด มีอายุการใช้งาน 3 ปีเป็นเงิน 151 บาท (คิดเฉลี่ยทำนา 6 ครั้ง)
-  ค่าดินบดละเอียดสำหรับเพาะต่อไร่ประมาณ  300 บาท
-  ค่าจ้างเพาะกล้าหรือหากซื้อถาดเองและค่าดูแล ประมาณ 300 บาท
-  ค่าจ้างถอนกล้าและโยนกล้า  780 บาท
รวมเป็นเงิน  1,781  บาท
สำหรับนาโยนถ้าทำไม่มากไม่เกิน 5 ไร่ผมว่าใช้แรงงานคนสองคนพอได้ แต่ผมทำ 22ไร่จำเป็นต้องจ้างแรงงานมาช่วยครับ    

มาดูต้นทุนในการทำนาแต่ละแบบครับ คิดที่ 22 ไร่
นาดำคน  22 ไร่ x 1550 บาท  เป็นเงิน    34,100  บาท  1 ปีทำนา 2 ครั้ง =  68,200 บาท
นาโยน    22  ไร่ x 1781 บาท  เป็นเงิน   39,182  บาท  1 ปีทำนา 2 ครั้ง =  78,364 บาท

หากทำนาน้อยก็ไม่เหมาะจะคำนวณแบบนี้เพราะอาจใช้แรงงานตัวเองหรือบางพื้นที่มีการลงแขก บ้านเราเรียกว่าเอามื้อกันก็ต้องคิดอีกแบบ แต่สำหรับผมประมาณนี้ครับ

ปกตินาหว่านต้นทุนอยู่ที่ 800 บาทต่อไร่หากใช้ข้าวกรมการข้าวจะมีค่า พันธุ์ข้าว ค่าจ้างหว่าน ค่ายาคุมหญ้า ครับ ต้นทุนต่ำแต่หนีเรื่องสารเคมีอันตรายไม่ออก แถมมีโอกาสเป็นโรคและแมลงง่ายกว่าการทำนาแบบอื่น ๆ ครับ
ขอบคุณมากครับ คงต้องค่อยเป็นค่อยไปเหมือนที่พี่ว่าจริงๆ แต่ผมยังถือว่าดี ที่มีตัวอย่างให้ศึกษา เหมือนกระทู้นี้แหละครับ มีอะไรก็เอามาลงอีกเยอะๆนะครับ มีประโยชน์กับผมมากเลยครับ วันนี้ผมก็เพิ่งไปซื้อเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า มา 1 ซอง 30 บาทผมว่าจะซื้อซัก 2 ซองเจ้าของบอกซองเดียวก็พอแล้ว ใช้ได้ทั้งอำเภอ 55 เค้าแนะนำเรื่องการทำและใช้น้ำหมักหน่อกล้วยกับฮอร์โมนไข่ด้วยครับ พี่เคยใช้บ้างรึเปล่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 12:25:12
:D ของผมเืมื่อไหร่จะสวยแบบนี้บ้างนะ ชาวนาวันหยุดแบบเราถ้าจะทำนาดำนั้นหมายถึงว่าเราจะต้องจ้างรถดำนะ หรือคนดำนาใช่มั้ยครับพี่อู๋ หมายถึงต้นทุนก็ต้องสูงขึ้นด้วย ผมเห็นพี่เคยโพสว่าจะเปลี่ยนมาทำนาดำพี่จะทำยังไงครับ นาโยน จ้างคนดำ จ้างรถปลูก หรือปลูกเองครับ

ค่อย ๆ เป็นค่อยไปครับ ผมทำนาครั้งแรกก็ใช่ว่าจะงามครับ ผลผลิตต่ำ เป็นโรค ต้นทุนสูงครับ กว่าจะปรับตัวได้ก็เกือบ 2 ปีเหมือนกัน สำหรับทางเลือกการทำนาต่อไปคงอาจจะเป็นรถดำนาครับ ตอนนี้ที่เล็งไว้  6 แถวเดินตามคันละ 2 แสนบาทครับ รวมถาดสำหรับ 30 ไร่อีกประมาณ 35000 บาท รวมเป็น 235,000 บาท เผื่อไว้รับจ้างพรรคพวกด้วยในช่วงวันหยุด ส-อ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะ เพราะใช้แรงงานน้อยที่สุดประมาณ 2-3 คนน่าจะพอเอาอยู่ครับ แบบเดินตาม 4 แถวค่อนข้างเหนื่อยกว่าเพราะดำได้น้อยกว่าแต่ราคาถูกกว่าประมาณ 6 หมื่นกว่าบาทครับ วันนี้ตอนเช้าก็ไปดูนาดำโดยรถดำนาเดินตาม 4 แถวก็ใช้ได้ครับ เจ้าของนาเป็นอาจารย์วัยเกษียนซึ่งแกก็ดำเองครับ แกว่าคนหนุ่ม ๆ ทำสบายเลยก็มีกำลังใจขึ้นมาอีกหน่อย สำหรับแบบรถดำนานั่งขับดูเกินตัวไปหน่อยสำหรับผม เหมาะสำหรับคนมีเวลารับจ้างครับ รายได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว แถวนางแลจ้างดำอย่างเดียวไร่ละ 600 บาทโดยเจ้าของนาเพาะกล้าเองวันหนึ่งดำได้ 20 กว่าไร่สำหรับในรุ่น 6 แถว ลองดูรายได้ต่อวันสิครับ ดีทีเดียวถึงแม้ปีนึงจะดำไม่กี่วันก็ตามค่อนข้างคืนทุนได้เร็วเหมือน

สาเหตุที่เลือกคำนวณคร่าว ๆ ประมาณนี้ครับ

ต้นทุนการปลูกต่อไร่  

นาดำด้วยคน
- พันธุ์ข้าว  10  ก.ก. ราคาข้าวกรม ประมาณ ก.ก. ละ  25 บาท เป็นเงิน 250 บาท
- หว่านข้าวทำเองได้
- ค่าจ้างถอนและปักดำ   ไร่ละ  1,300 บาท    
รวมเป็นเงิน   1,550  บาท

นาโยน
-  พันธุ์ข้าว  10 ก.ก.  ราคาข้าวกรม ประมาณ ก.ก. ละ  25 บาท เป็นเงิน 250 บาท
-  ค่าถาด ถาดละ 7 บาทต่อไร่ 130 ถาด มีอายุการใช้งาน 3 ปีเป็นเงิน 151 บาท (คิดเฉลี่ยทำนา 6 ครั้ง)
-  ค่าดินบดละเอียดสำหรับเพาะต่อไร่ประมาณ  300 บาท
-  ค่าจ้างเพาะกล้าหรือหากซื้อถาดเองและค่าดูแล ประมาณ 300 บาท
-  ค่าจ้างถอนกล้าและโยนกล้า  780 บาท
รวมเป็นเงิน  1,781  บาท
สำหรับนาโยนถ้าทำไม่มากไม่เกิน 5 ไร่ผมว่าใช้แรงงานคนสองคนพอได้ แต่ผมทำ 22ไร่จำเป็นต้องจ้างแรงงานมาช่วยครับ    

มาดูต้นทุนในการทำนาแต่ละแบบครับ คิดที่ 22 ไร่
นาดำคน  22 ไร่ x 1550 บาท  เป็นเงิน    34,100  บาท  1 ปีทำนา 2 ครั้ง =  68,200 บาท
นาโยน    22  ไร่ x 1781 บาท  เป็นเงิน   39,182  บาท  1 ปีทำนา 2 ครั้ง =  78,364 บาท

หากทำนาน้อยก็ไม่เหมาะจะคำนวณแบบนี้เพราะอาจใช้แรงงานตัวเองหรือบางพื้นที่มีการลงแขก บ้านเราเรียกว่าเอามื้อกันก็ต้องคิดอีกแบบ แต่สำหรับผมประมาณนี้ครับ

ปกตินาหว่านต้นทุนอยู่ที่ 800 บาทต่อไร่หากใช้ข้าวกรมการข้าวจะมีค่า พันธุ์ข้าว ค่าจ้างหว่าน ค่ายาคุมหญ้า ครับ ต้นทุนต่ำแต่หนีเรื่องสารเคมีอันตรายไม่ออก แถมมีโอกาสเป็นโรคและแมลงง่ายกว่าการทำนาแบบอื่น ๆ ครับ
ขอบคุณมากครับ คงต้องค่อยเป็นค่อยไปเหมือนที่พี่ว่าจริงๆ แต่ผมยังถือว่าดี ที่มีตัวอย่างให้ศึกษา เหมือนกระทู้นี้แหละครับ มีอะไรก็เอามาลงอีกเยอะๆนะครับ มีประโยชน์กับผมมากเลยครับ วันนี้ผมก็เพิ่งไปซื้อเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า มา 1 ซอง 30 บาทผมว่าจะซื้อซัก 2 ซองเจ้าของบอกซองเดียวก็พอแล้ว ใช้ได้ทั้งอำเภอ 55 เค้าแนะนำเรื่องการทำและใช้น้ำหมักหน่อกล้วยกับฮอร์โมนไข่ด้วยครับ พี่เคยใช้บ้างรึเปล่าครับ

น้ำหมักหน่อกล้วย หมักใช้อยู่ครับได้ผลดีทีเดียวแต่ฮอร์โมนไข่ไม่เคยทำครับ ทำแต่ฮอร์โมนจากถั่วเหลือง สับปะรดและน้ำซาวข้าวครับ กำลังทดลองเหมือนกันถ้าได้ผลยังไงจะมาบอกอีกทีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 15:07:57

   จะติดตามจนกว่าโน้นละ เก็บเกี่ยวโน้นละครับ ;D ;Dสู้ๆเน้อชาวนาทั้งหลาย อีกหน่อยคงได้ทำนาเต็มตัวละครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 16:01:01
ดูบรรยากาศดี ๆ หมู่บ้านชาวนาญี่ปุ่นครับ หมู้บ้านOgimachi  แต่เห็นภาพตอนหิมะตกแล้วหนาวแทนจริง ๆ ครับ   ดูแล้วหากเค้าทำนาเคมีแบบบ้านเราคงจะสร้างบ้านใกล้นาแบบนี้ไม่ได้แล้ว หากเป็นสมัยก่อนบ้านใครติดทุ่งก็มีแต่คนอิจฉาลมเย็นสบาย แต่ตอนนี้กลายเป็นต้องได้รับควันจากการเผาตอซัง  กลิ่นยาคุมหญ้า ที่เหม็นที่สุดก็คงเป็นยาฆ่าแมลงที่ใช้ปราบหอยเชอรี่แหล่ะครับ

JANxA8evz1U


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 16:43:41

   จะติดตามจนกว่าโน้นละ เก็บเกี่ยวโน้นละครับ ;D ;Dสู้ๆเน้อชาวนาทั้งหลาย อีกหน่อยคงได้ทำนาเต็มตัวละครับ
เหมือนกัน ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 21:20:04
ตอนเย็นแวะไปนา หอยเชอรี่ติดกับดักเช่นเคย สงสัยต้องทำเพิ่มอีกหลายอันแล้วครับ คราวนี้หอยแห้งตายคากับดักเลยคงเพราะอากาศร้อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 21:31:31
ข้าวเริ่มโตขึ้นมาก แต่ยังไม่พ้นอันตรายจากหอยเชอรี่คงอีกประมาณ 1 สัปดาห์กว่า ๆ ช่วงนี้ก็ปล่อยให้น้ำเลียด ๆ หน้าดินไว้หากระดับน้ำสูงยิ่งเสียหายจากหอยเชอรี่มากกว่า ถ้าถึงช่วงระยะก่อนข้าวแตกกอก็จะสบายขึ้นมากสามารถลดน้ำได้บ้างแล้วต้นข้าวจะเริ่มขึ้นหนาแน่นมากขึ้น สามารถถอนต้นข้าวไปปักซ่อมในส่วนที่ไม่ขึ้นหรือเสียหายได้แล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 22:09:31
หากเราต้องการไปชมบรรยากาศท้องนาที่อากาศบริสุทธิ์จริง ๆ ผมแนะนำให้ไปที่ สปป ลาวครับเนื่องจากวิถีชีวิตคล้าย ๆ ไทยเมื่อหลายปีก่อน ทางภาคเหนือของลาวทั้งในแขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา ตอนนี้ตัวเมืองหลัก ๆ แม้จะเจริญพอสมควรแล้วแต่ตัวเมืองเล็ก ๆ ข้างนอกยังน่าค้นหาอยู่ ปีก่อนผมไปลาวอยู่ 2-3 ครั้ง ทางภาคเหนือของลาว

ชาวนาที่นั่นยังไม่คุ้นเคยกับการใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมี แต่ก็เริ่มได้รับอิทธิพลจากจีนพอสมควรอีกไม่นานการทำนาของคนลาวคงเปลี่ยนไปเช่นเดียวกับเวียดนามที่นิยมทำนาหว่านและใช้สารเคมีกันมากขึ้น  สำหรับในลาวประเทศจีนได้เข้ามาส่งเสริมในการเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและข้าวโพด ก่อนหน้านี้ก็เป็นอุตสาหกรรมป่าไม้ครับ

ภาพนี้ผมถ่ายที่ร้านอาหารที่แขวงหลวงน้ำทาครับ อากาศดีมาก อุณหภูมิหนาวนิด ๆ ตอนนั้นไปช่วงปลายฝนครับ การทำนายังเป็นแบบนาดำโดยใช้แรงงานคน การเก็บเกี่ยวก็ใช้แรงงานคนเกี่ยวเช่นกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 22:21:00
สำหรับในลาวแล้ว ชาวลาวมักจะนิยมกินเบียร์มากกว่ากินเหล้าครับ ผมไม่ค่อยเห็นมีเหล้าขายเลย มองดูในร้านมีแต่คนกินเบียร์ลาวครับ  เบียร์ลาวจะมี แอลกฮอล์อยู่ 5% พอ ๆ กับเบียร์ไทยแต่จะมีรสหวานกินง่ายกว่าลีโอ  มีที่เห็นกันบ่อยได้แก่

ເບຍລາວ เบียร์ลาว (Beer Lao Lager) แอลกอฮอล์ 5% ทำจากบาร์เลย์มอลต์ผสมกับข้าวหอมมะลิท้องถิ่นถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของบริษัท โดยส่งออกไปยัง 13 ประเทศทั่วโลก
ເບຍລາວດາກ (ເບຍດໍາ) เบียร์ลาวดำ (Beer Lao Dark) แอลกอฮอล์ 6.5% ทำจากบาร์เลย์มอลต์อบ
ເບຍລາວຄໍາ เบียร์ลาวทอง (Beer Lao Gold) แอลกอฮอล์ 5% ทำจากบาร์เลย์มอลต์และข้าวหอมมะลิท้องถิ่น โดยใช้ฮ็อบส์พันธุ์ที่มีกลิ่นหอมพิเศษ เป็นสินค้าพรีเมียมที่หาซื้อได้ยาก
ເບຍລ້ານຊ້າງ เบียร์ล้านช้าง (Lane Xang) แอลกอฮอล์ 5.5% เป็น Fighting Brand ที่ออกมาเพื่อแข่งขันกับเบียร์ต่างประเทศในปี 2008

เริ่มนอกเรื่องครับถือว่าแถมให้แล้วกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 22:28:35
พ่นฮอร์โมนได้ประมาณ 5 ไร่ก็หยุดครับเพราะแดดเริ่มร้อนวันนี้มาสายเลยพ่นได้ไม่มากพรุ่งนี้ค่อยต่อ  หยุดดูกับดักหอยเชอรี่ที่ทำไว้ครับ ตอนแรกมีแต่คนหัวเราะว่าหอยอะไรจะเข้ามาติด วันนี้มีติดครับขึ้นมาวางไข่และลงไม่ได้ครับ เสียดายทำไว้แค่อันเดียวไว้วันไหนว่าง ๆ ค่อยทำเพิ่ม ผมใช้ขวดน้ำอัดลมแฟนต้าขนาด 1.25 ลิตรทำครับ
ขอทราบวิธีทำได้ไหมครับ สงวนลิขสิทธิ์ไหม :) ดูแล้วตัดเป็นแฉกๆแหลมๆแล้วพับเข้าคล้ายกรวยไซใช่ไหม

ผมก็ดูที่อื่นมาเหมือนกันครับ  ผมตัดบริเวณต่ำกว่าปากขวดลงมาซัก 1 นิ้วเพราะเป็นพลาสติกแข็งและมีเกลียวจากนั้นตัดส่วนที่เป็นคอขวดเป็นแฉก ๆ และพับเข้าด้านในครับ จากนั้นเอาไม้ไผ่ที่มีขนาดพอเหมาะมาเป็นเสาฐานการปักก็ให้ขวดอยู่สูงกว่าระดับน้ำประมาณ 8 ซ.ม. ก็ได้แล้วครับครับ
ขอบคุณมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 22:38:36
น่าแปลกใจสำหรับในลาวครับ คือตอนเช้า ๆ ถ้าเราไปตามตลาดหรือร้านค้า คนลาวจะนิยมดูรายการเรื่องเล่าเช้านี้ครับ เปิดช่องนี้กันน่าจะแทบทุกเครื่อง ชาวลาวนิยมดูข่าว ละคร รายการทีวีของประเทศ คนลาวจึงฟังภาษาไทยรู้เรื่องกว่าเราไปฟังภาษาลาว การไปเที่ยวลาวจึงเป็นเรื่องง่าย และเราสามารถไปประเทศเวียดนามได้โดยใช้เวลาไม่นาน โดยหากเข้าไปที่ซาปาเวียดนามเหนือสามารถข้ามทางด่านชายแดนจีนลาวได้ ด่านชายแดนอยู่ห่างจากเชียงของประมาณ 2-3 ร้อยกว่ากิโลเมตรใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง เข้าทางจีนจะใช้เวลาน้อยกว่าเพราะถนนดีมากแต่คนไทยต้องเสียค่า visa ให้จีนคนละ 1000 บาทแต่คนลาวจะไม่เสียค่า visa  หรือจะไปเดียนเบียนฟูเวียดนาม ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวไทดำ ชาวไทดำเราสามารถพูดจาสื่อสารกับเค้าได้เข้าใจ เหมือนกับเชียงตุงที่พม่า ผมอยากไปดูหมู่บ้านชาวนาที่เวียดนามเหนือและดูการทำนาขั้นบันไดที่ซาปาเหมือนกันเห็นเค้าว่าช่วงน่าไปดูที่สุดคือช่วงเดือนกันยายนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 22:55:44
ประเทศจีนตอนนี้ก็พยายามเข้าไปลงทุนในประเทศกลุ่มอาเซียน ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม ด้านการเกษตรแม้แต่ระบบคมนาคม ถนนหนทางในลาวส่วนใหญ่ก็จะเป็นบริษัทจากจีนที่เป็นผู้สร้าง  เส้นทางในประเทศลาวตอนนี้ถือว่าเป็นช่วงการปรับปรุงสร้างใหม่เพื่อรองรับอาเซียนในปี 2558  อย่างถนนไปแขวงพงสาลีนี่รถมอเตอร์ไซด์ธรรมดา ๆ ยังยอมแพ้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ⒷⒼ* ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 23:03:10
มาเยี่ยมชมกระทู้ดีๆครับ  ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 23:06:45

   จะติดตามจนกว่าโน้นละ เก็บเกี่ยวโน้นละครับ ;D ;Dสู้ๆเน้อชาวนาทั้งหลาย อีกหน่อยคงได้ทำนาเต็มตัวละครับ
เหมือนกัน ;D ;D



มาเยี่ยมชมกระทู้ดีๆครับ  ;D

ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013, 23:29:18
 :D...มัวแต่ไปทำนา....แป็ปเดียวกระทู้นี้ไป22หน้าแล้ว...ข้อมูลดีดีทั้งนั้นครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 08:36:56
:D...มัวแต่ไปทำนา....แป็ปเดียวกระทู้นี้ไป22หน้าแล้ว...ข้อมูลดีดีทั้งนั้นครับ...
ลุง bm เอารูปนาปรังลุงมาฝากผ่องก่า :D :D เอามาอวดกัน :D :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 09:53:58
:D...มัวแต่ไปทำนา....แป็ปเดียวกระทู้นี้ไป22หน้าแล้ว...ข้อมูลดีดีทั้งนั้นครับ...
ลุง bm เอารูปนาปรังลุงมาฝากผ่องก่า :D :D เอามาอวดกัน :D :D :D

พ่อเลี้ยง bm1234  เปิ้นทำนาเยอะครับ มีรูปมีข้อมูลดี ๆ มาลงได้ครับช่วยกันแชร์ความรู้  การทำนาแต่ละพื้นที่อาจมีวิธีและการจัดการที่ไม่เหมือน การได้เห็นหลาย ๆ ที่ก็ช่วยให้เกิดไอเดียเพื่อนำมาประยุกต์ทำนาได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 10:06:08
ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หากว่างจากการทำนา การท่องเที่ยวถือเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง บางครั้งผมก็จะปั่นจักรยานไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ระยะทางประมาณ 50-70 ก.ม. ไปกลับ ก็สนุกไปอีกแบบได้ออกกำลังกายไปในตัว ส่วนใหญ่ก็จะปั่นไปตามทุ่งนา สวนต่าง ๆ มีความสุขไปอีกแบบครับ แถวบ้านก็มีทุ่งนาสวย ๆ เยอะบางทีเจอชาวนา ก็ได้ความรู้ดี ๆ มาเหมือนกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 11:29:18
ดูภาพท้องนาที่เมืองเชียงตุง พม่าไปทางเมืองลา พื้นที่เป็นเขาสลับคดเคีั้ยว การทำนาเลยพบว่ามีการทำนาแบบขั้นบันได  ถ้าสังเกตุว่าในท้องนาจะมีการสร้างฉางสำหรับเก็บฟาง เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งเป็นอาหารสัตว์  เอาไว้คลุมดินเวลาปลูกผัก บ้านเราไม่ค่อยมีเก็บแบบนี้แล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือท่าสุด ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 12:41:07

   สุดยอดครับกระทู้นี้  ผมก็ทำนาครับ  ถ้า้มีปัญหาอะไรเดี๋ยวจะปรึกษานะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 15:34:36

   สุดยอดครับกระทู้นี้  ผมก็ทำนาครับ  ถ้า้มีปัญหาอะไรเดี๋ยวจะปรึกษานะครับ
วันไหนบ่าได้แวะมาผ่อนอนตึงบ่าหลับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 15:39:55

   สุดยอดครับกระทู้นี้  ผมก็ทำนาครับ  ถ้า้มีปัญหาอะไรเดี๋ยวจะปรึกษานะครับ

ขอบคุณครับ ถ้ามีอะไรช่วยได้ก็ยินดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 15:41:43

   สุดยอดครับกระทู้นี้  ผมก็ทำนาครับ  ถ้า้มีปัญหาอะไรเดี๋ยวจะปรึกษานะครับ
วันไหนบ่าได้แวะมาผ่อนอนตึงบ่าหลับ ;D ;D

ขอบคุณครับที่ช่วยแวะมาดูเป็นประจำแถมช่วยดันกระทู้ให้บ่อย ๆ เกรงใจเหมือนกัน ขอบคุณอีกครั้งครับ ยังไงจะหาข้อมูลดี ๆ มาแบ่งปันกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 16:13:37
ทำไมข้าวจึงมีกลิ่นหอม
 โดย Dr. Samart Wanchana

ข้าวที่ปลูกกันในปัจจุบันและมีขายตามท้องตลาดในทุกวันนี้ มีสองชนิดคือข้าวหอมและข้าวไม่หอม ข้าวหอมจะมีราคาแพงกว่าข้าวไม่หอมทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพราะเป็นที่นิยมมากกว่า

สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมในข้าวคือสารหอมระเหยที่มีชื่อว่า 2-acetyl-1-pyrroline (2-อะเซทิล-1-ไพโรลีน) หรือเรียกสั้นๆ ว่าสาร 2AP สารที่ว่านี้คือสารเดียวกันกับที่พบในใบเตย และดอกชมนาด หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าข้าวหอมมะลิจะมีกลิ่นเหมือนมะลิ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่กลิ่นมะลิ แต่เป็นกลิ่นใบเตย ที่เรียกข้าวหอมมะลิน่าจะมาจากการที่ข้าวหอมมะลิเมื่อหุงสุกจะมีสีขาวราวดอกมะลิ ดังนั้นชื่อที่ถูกต้องของข้าวหอมมะลิจึงควรเป็น ข้าวขาวดอกมะลิ นั่นเอง

เฉพาะข้าวชนิดที่เป็นข้าวหอมเท่านั้นนะครับที่มีสาร 2AP ความสามารถในการสร้างกลิ่นหอมชนิดนี้ถูกกำหนดโดยยีนในดีเอ็นเอ นั่นหมายความว่าเราจะเอาข้าวไม่หอมไปปลูกให้เป็นข้าวหอมไม่ได้ แต่อย่าชะล่าใจไป เพราะแม้จะเป็นข้าวหอมถ้าเอาไปปลูกไม่ถูกที่ ถูกเวลา ก็จะหอมน้อยลงจนแทบจะไม่มีความหอมเลยก็ได้ นั่นหมายความว่าสิ่งแวดล้อมที่ปลูกข้าวก็มีอิทธิพลต่อการสร้างกลิ่นหอม จึงกลายมาเป็นเหตุผลว่าทำไมข้าวหอมคุณภาพดีต้องปลูกที่อีสานเท่านั้น

ถึงตอนนี้ผมพอมีประสบการณ์ครับ เพราะผมก็เป็นลูกชาวนาคนหนึ่ง แต่ก่อนแถวบ้านผมที่ปักษ์ใต้นั้นก็มีการปลูกข้าวหอมกันอยู่บ้างพอสมควร แต่ปัญหาที่พบก็คือผลผลิตข้าวที่ได้ไม่ค่อยจะหอมเอาเสียเลย นอกจากว่าปีนั้นจะแล้งหน่อยข้าวจึงจะหอม

ตอนนี้ท่านคงจะถึงบางอ้อ ใช่แล้วครับ ข้าวหอมจะสร้างสารหอม 2AP ได้มากเมื่อปลูกในสภาพดินค่อนข้างแล้ง หรือดินเค็มหน่อยๆ แต่ถ้าปลูกข้าวหอมในสภาพนาที่มีน้ำอยู่ตลอดเวลาข้าวจะสร้างสารหอมได้น้อยกว่า

นอกจากสภาพความแห้งแล้ง คุณภาพของดินที่มีลักษณะเฉพาะของแถบภาคอีสาน ก็น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ที่นั่นปลูกข้าวหอมได้ดี จึงเป็นที่มาว่าทำไมข้าวหอมจากที่ไหนๆ ก็อร่อยสู้ข้าวหอมจากภาคอีสานของไทยไม่ได้ นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ประเทศอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เพราะเขาไม่มีแผ่นดินสุวรรณภูมิดั่งเช่นภาคอีสานของเรานั่นเอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 22:09:43
เมื่อข้าวอายุได้เดือนกว่าๆ  จะเริ่มเข้าสู่ระยะแตกกอแล้ว จะต้องมีการควบคุมระดับน้ำให้ไม่มากจนเกินไปข้าวจึงจะแตกกอได้ดี และการควบคุมน้ำให้ไม่มากยังช่วยให้รากยาวด้วย เย็นวันนี้จึงทำท่อไว้วัดระดับน้ำในนาครับ ใช้ท่อ PVC เก่าที่มีอยู่แล้วมาตัดและทำขีดวัดระดับ ระดับละ 5 ซ.ม. เหมือนกับการทำนาเปรียกสลับแห้งแกล้งข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2013, 10:32:09
ช่วงนี้ต้องพึ่ง Google แปลภาษาบ่อย แล้วมาค้นใน Google อีกทีก็ทำให้เห็นการพัฒนาเรื่องข้าวในต่างประเทศมากขึ้น  ดูข้าวในจีนค่อนข้างน่ากลัวเพราะมีการวิจัยให้ข้าวมีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิในไทยแล้ว แต่ให้ผลผลิตที่สูงกว่ามาก  เมล็ดข้าวของจีนที่นิยมปลูกจะมีลักษณะเมล็ดยาวมีขนาดเมล็ดใหญ่ และจำนวนเมล็ดต่อรวงค่อนข้างสูงจึงไม่แปลกใจที่ข้าวของจีนจะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงได้ถึง 2 ตันกว่าได้ ซึ่งนอกจากพันธุ์ข้าวแล้ว ชาวจีนสมัยใหม่จะนิยมทำนาดำโดยมีการจัดเรียงลำต้นของต้นข้าวให้ระยะสม่ำเสมอเพื่อให้ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่เพื่อให้ต้นข้าวสามารถผลิตอาหารและสะสมแป้งได้ซึ่งจะส่งผลต่อเมล็ดต่อไป  คล้าย ๆ กับชาวญี่ปุ่น นาดำพึ่งการใช้สารเคมีน้อยกว่านาหว่านน้ำตมแต่นาดำอาจมีต้นทุนในการปลูกสูงกว่า   ชาวนาไทยในภาคกลางและภาคเหนือจึงนิยมในการทำนาแบบหว่านน้ำตมเพราะสะดวกรวดเร็วกว่าแต่ก็ต้องพึ่งการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก  อย่างเจ้าสัวซีพี ยังมีการทำนายอนาคตข้าวว่าอย่างการปลูกข้าวแบบใหม่ในจีน ซึ่งมีการเข้าไปวิจัยที่แปลงนาทดลองที่นครเซี่ยงไฮ้ ของจีน เป็นการทำนาแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารพิษหรือสารเคมี โดยใช้หลักการจัดการที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะเรื่องน้ำ ผลผลิตต่อไร่สูงอีกด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2013, 11:22:29
การเพาะกล้าในจีน ดูคล้าย ๆ กับที่เห็นที่ญี่ปุ่นแต่ญี่ปุ่นจะเป็นโรงเพาะเลย แต่จีนจะเห็นแบบนี้ครับ คงมีหลายปัจจัยที่ต้องควบคุม ทั้งเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและคงช่วยลดเรื่องแมลงที่จะแอบไปวางไข่ได้ด้วยเพราะมีความหนาแน่นค่อนข้างสูง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2013, 12:46:48
วิวัฒน์ ศัลยกำธร



นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เกิดวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497 เป็นผู้มีบทบาทโดนเด่นในการส่งเสริมกสิกรรมธรรมชาติ และผู้ขับเคลื่อนทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นจริง โดยมีส่วนร่วมในหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

นายวิวัฒน์ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจาก โรงเรียนวัดสนามจันทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา, มัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ, ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

นายวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากราชการ คือ ผู้อำนวยการกองประเมินผลงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักนายกรัฐมนตรี ลาออกมาเพื่อขับเคลื่อนทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นจริง

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา กรรมการที่ปรึกษาสหกรณ์เกษตรอินทรีย์สุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์, กรรมการมูลนิธิสวัสดี, กรรมการชมรมเกษตรชีวภาพแห่งประเทศไทย, ที่ปรึกษา ชมรมกสิกรรมธรรมชาติทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร, ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครราชสีมา, รองประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนนวมินทราชูทิศเตรียมอุดมน้อมเกล้า และอาจารย์พิเศษ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (วิชาเศรษฐกิจพอเพียง)


-1L3BNkV4Sw

DyHkhY57GLM

LQuiLN10u3g


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2013, 13:15:34
นาอินทรีย์พลิกชีวิต

ถึงรายการจะหลายปีแล้วแต่ผมก็ว่าได้ความรู้ดีนะครับ

juNAXb8deQU

V2nav9BkoM4

_o1Z4lih2HU

QfIcQ0y4nhM

F4ZTIuyOXPw







หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2013, 21:27:01
สำหรับแปลงนาที่พบมีปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชอาจใช้วิธีนี้ก็ได้ครับควบคู่กับการใช้สมุนไพรขับไล่แมลงหรือน้ำส้มควันไม้ก็น่าจะเป็นผลดี

กับดักแมลงต้นทุนต่ำ

ในกระบวนการผลิตทางการเกษตร เกษตรกรมักประสบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช
ที่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตที่ได้ให้มีคุณภาพ จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดโดยเฉพาะการใช้สารเคมี นอกจากทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกร ต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม การใช้กับดักแมลงต้นทุนต่ำ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะหนอนชนิดต่างๆ ได้ผลดี โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

อุปกรณ์

    1.กากน้ำตาล 1 ส่วน
    2.น้ำสะอาด 3 ส่วน
    3.ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว

วิธีการ

     1.กากน้ำตาล มาผสมกับน้ำสะอาด ตามอัตราส่วน
      2.บรรจุลงในขวดพลาสติก ซึ่งเจาะรูเป็นช่องหน้าต่างไว้ประมาณ 100
      3.นำไปแขวนในแปลงผักหรือสวนผลไม้ สูงจากพื้นดินประมาณ 80-100 ซม. ระยะห่างกัน
        ประมาณ 5-10 เมตร

ผล

          ผีเสื้อกลางคืนตัวเต็มวัย ที่ต้องการจะวางไข่ทุกชนิด จะได้กลิ่นหอมของกากน้ำตาลบินลงมากินน้ำหวานจากกับดักดังกล่าวและจมน้ำตาย เป็นจำนวนมาก จึงเป็นการตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะพวกหนอนต่างๆ อย่างได้ผล

ข้อจำกัด 

ต้องคอยเปลี่ยนกากน้ำตาลผสมน้ำทุกๆ 10 วันซึ่งสามารถนำไปใช้ทำน้ำหมักชีวภาพต่อได้

ประโยชน์

          กับดักแมลงต้นทุนต่ำ สามารถทำใช้เองได้ง่ายและได้ผลดีมีต้นทุนที่ต่ำ จึงลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี สามารถลดปริมาณแมลงศัตรูพืชโดยเฉพาะหนอนชนิดต่างๆ อย่างได้ผลเป็นอย่างมาก จึงเป็นวิธีการควบคุมแมลงศัตรูพืชที่ประหยัดและปลอดสาร หากทำอย่างต่อเนื่องสามารถลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ จึงมีความปลอดภัยสูง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2013, 22:17:17
การเพาะกล้าในจีน ดูคล้าย ๆ กับที่เห็นที่ญี่ปุ่นแต่ญี่ปุ่นจะเป็นโรงเพาะเลย แต่จีนจะเห็นแบบนี้ครับ คงมีหลายปัจจัยที่ต้องควบคุม ทั้งเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและคงช่วยลดเรื่องแมลงที่จะแอบไปวางไข่ได้ด้วยเพราะมีความหนาแน่นค่อนข้างสูง

 :D....เป็นดีไค่เอาหอยบ้านเฮาไปปล่อยสักกระสอบน้อ........ประเทศเปิ้นจะได้ฮู้จั๊กนกปากห่างพ่อง....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 11:23:24
ผมว่าหอยเชอรี่มีมากก็เพราะความขี้เกียจของคนเรานี่แหล่ะครับ ถ้าช่วยกันคงไม่มากขนาดนี้ เนื่องจากการใช้ทั้งสารเคมีและกากชา มีผลต่อสัตว์ประเภทอื่นด้วย ทั้ง กุ้ง ปลา ปลาไหล ปู งู ซึ่งอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ อย่างปลาบางชนิดเป็นศัตรูของหอยเชอรี่ได้แก่ ปลาหมอไทย  ปลาหมอช้างเหยียบ  ซึ่งพบอาศัยตามแม่น้ำ ลำคลองทั่วทุกภาค กินไข่ปลาทุกชนิด ลูกกุ้ง ลูกปลา และแมลงน้ำ รวมทั้งซากพืชและสัตว์เป็นอาหาร ปลาทั้ง 2 ชนิดที่มีขนาดยาว 11 เซนติเมตร สามารถกินหอยเชอรี่ขนาด 6-13 มิลลิเมตร ได้ 20 ตัวต่อวัน นอกจากนี้ยังมีปลาไน ปลานิลกินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็กๆ  ปลาทั้ง 2 ชนิดนี้มีผู้ทดสอบแล้วว่าสามารถกินลูกหอยเชอรี่เป็นอาหาร  แต่ปลาไนกินได้ดีกว่าและเร็วกว่า ลูกปลาไนจะกินลูกหอย 338 ตัว ใน 24 ชั่วโมง  การใช้สารเคมีทั้งยาคุมหญ้า ยากำจัดแมลง กากชา มีผลต่อปลาด้วยทำให้ปริมาณการวางไข่ลดลงปลาในธรรมชาติก็ลดน้อยลงด้วย หอยเชอรี่มีข้อได้เปรียบตรงวางไข่บนบกไม่ได้อยู่ในน้ำเหมือนปลา โอกาสรอดจึงมีสูงกว่าบวกกับจำนวนไข่ที่มีค่อนข้างมากจึงทำให้หอยเชอรี่ระบาดได้รวดเร็วในทุกวันนี้แม้แต่จะใช้ยากำจัดแล้วก็ตาม

ผมเคยไปเยี่ยมสวนและนาของอาจารย์คนหนึ่ง แกล้อมรั้วที่สวนของแกและทำนาสิบกว่าไร่ในที่ดินของแกมีการเลี้ยงเป็ดหลายสิบตัว พบว่าที่นาของแกมีหอยเชอรี่น้อยมาก หอยโดนเป็ดกินเกือบหมด ตัวที่โตแกก็เก็บเองและมาทุบให้เป็นอาหารเป็ดอีกต่อหนึ่ง และแกทำนาอินทรีย์ด้วย ผมก็อยากทำแบบนี้เหมือนกันคือทำระบบปิด  สำหรับในประเทศจีนพื้นที่บางแห่งมีการเลี้ยงปลาในนาข้าวก็พบว่ามีหอยเชอรี่น้อยเช่นกัน กากชา 1 กส. ราคา 150 บาท พื้นที่นา 10 ไร่ต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 5 กส.เป็นเงินประมาณ 750 บาท ซึ่งอย่างลูกปลาไนแถวบ้านที่มีอายุ 1 เดือนขนาด 3-5 ซม ตัวละ 20 สตางค์ เงินจำนวน 750 บาทสามารถซื้อพันธุ์ปลาได้ถึง 3750 ตัว สามารถนำมาเลี้ยงในนาได้แต่ต้องมีการจัดการนาใหม่  ซึ่งใครทำได้ก็คงดีเพราะจะได้มีรายได้เสริมอีกทาง พูดถึงกากชา ราคาไม่ค่อยแน่นอน ผมทำนาครั้งแรก กส.นึงมี  10 กก  ราคา 90 บาท ปีก่อนราคาสูงขึ้นไป  170 บาท มาปีนี้ 150 บาท ตอนนี้ความคิดมีหลาย ๆ อย่างในหัวแต่ค่อย ๆ ทำไปครับเพราะทุนยังมีไม่มากครับ

เอกสารการเลี้ยงปลาในนาข้าว  http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/fish/planakow.pdf (http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/fish/planakow.pdf)

http://agrimedia.agritech.doae.go.th/book/book-others/OU019.pdf (http://agrimedia.agritech.doae.go.th/book/book-others/OU019.pdf)

http://www.nkc.kku.ac.th/rdc/Research_Navamin54.Pdf (http://www.nkc.kku.ac.th/rdc/Research_Navamin54.Pdf)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 13:20:10
อ่านแล้วชอบครับ  http://agrimedia.agritech.doae.go.th/book/book-others/OU019.pdf (http://agrimedia.agritech.doae.go.th/book/book-others/OU019.pdf)  บางพื้นที่น่าจะทำได้  ผมก็อยากทำเหมือนกันแต่ต้องล้อมรั้วที่นาให้เสร็จเสียก่อน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 15:39:57
วันสองวันนี้ว่าจะลองหาเหล็กมาทำเครื่องมือแบบนี้ดูครับ เห็นชาวเวียดนามใช้กันน่าจะดี เพราะไม่ต้องก้มสำหรับการถอนกล้านาหว่านที่แน่นและไปซ่อมบริเวณที่ข้าวห่างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 19:34:23
วันสองวันนี้ว่าจะลองหาเหล็กมาทำเครื่องมือแบบนี้ดูครับ เห็นชาวเวียดนามใช้กันน่าจะดี เพราะไม่ต้องก้มสำหรับการถอนกล้านาหว่านที่แน่นและไปซ่อมบริเวณที่ข้าวห่างครับ

 :D....พอจะมีรูปเหล็กที่ว่านี้ชัดๆไหมครับ....จะลองทำดูบ้างครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 20:39:30
เลิกงานวันนี้แวะไปร้านเชื่อมเหล็กใกล้บ้านก่อนเลยไปขอซื้อเศษเหล็กเค้า เจ้าของร้านใจดีให้มาฟรี ๆ เลยเอาเหล็กกลับมาบ้านเริ่มทำต้นตัวต้นแบบก่อนเลย  ที่บ้านผมมีเครื่องมือค่อนข้างพร้อมเพราะชอบทำเองเลยซื้อเครื่องมือมาไว้ที่บ้านเผื่อทำนั่นทำนี่ได้ครับ

เริ่มที่เจาะรูตรงด้ามไว้ตอกตะปูยึดกับด้ามไม้ไผ่เลย จากนั้นก็ตัดเพื่อทำด้ามสวมและตัดเหล็กที่เป็นขอครับและทำการเชื่อมก็เสร็จเรียบร้อย  ตัวต้นแบบว่าจะลองทำใช้ก่อนติดปัญหาอะไรค่อยทำตัวที่สองเพื่อแก้ปัญหาอีกครั้ง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 20:41:38
เชื่อมเสร็จแล้วพรุ่งนี้ค่อยเก็บงานอีกหน่อย เจียรตรงรอยต่าง ๆและลบคมบริเวณรอยตัดและหาด้ามไม้ไผ่มาเสียบครับ วันเสาร์ อาทิตย์นี้คงได้ใช้งาน เท่าที่สังเกตุดู  ตรงขอเหล็กน่าจะยาวและเหล็กเส้นเล็กกว่านี้อีกหน่อย  แต่ไม่ลองไม่รู้ขอทดลองแบบแรกนี้ก่อนละกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 20:51:11
ท่อวัดระดับน้ำในแปลงนาที่ทำไว้วันก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 20:53:59
ตอนนี้ข้าวในนาโตมากแล้วครับพอพ้นระยะที่หอยเชอรี่กินได้แล้ว วันเสาร์อาทิตย์นี้ก็จะซ่อมแปลงนาข้าวที่เสียหายจากฝนตกและหอยเชอรี่กินบางส่วนครับ การซ่อมจะต้องทำก่อนช่วงข้าวแตกกอครับเพราะมีผลต่อการแตกกอของข้าวด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 21:00:18
ข้าวที่แปลงนาโยนก็สามารถนำมาซ่อมในแปลงข้าวได้เหมือนกันครับ  การซ่อมข้าวในแปลงไม่ควรนำอายุต่างกันมาก ๆ มาซ่อมเพราะข้าวนาปรังเป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงจะมีอายุในการเก็บเกี่ยวที่ค่อนข้างแน่นอนจะทำให้การเก็บเกี่ยวไม่เท่ากันหากรอข้าวให้พร้อมเก็บเกี่ยวเท่ากันหมดต้นที่แก่รวงข้าวจะร่วงง่ายกว่าทำให้เก็บเกี่ยวได้น้อย ไม่เหมือนข้าวไวต่อช่วงแสงที่จะออกดอกเมื่อเข้าฤดูหนาวคือช่วงกลางวันสั้นกว่าตอนกลางคืนและมีอายุต้นข้าวที่นานกว่า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013, 22:37:46
             ประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมเมื่อปี พ.ศ. 2507  หลังจากที่ ศ.หยวน หลงปิง ค้นพบข้าวกอหนึ่งในดงข้าวป่าที่เกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่เกสรตัวผู้ไม่พัฒนา โดยตั้งชื่อว่า “แหย่ป้าย” หมายถึงข้าวป่าที่เกสรตัวผู้เสื่อมด้อย จากนั้น ข้าวลูกผสมชุดแรกจึงได้เกิดขึ้นในแผ่นดินจีน และทยอยออกมาอีกหลายสายพันธุ์ตามความเหมาะสมในแต่ละท้องที่ของประเทศจีน โดยแต่ละสายพันธุ์ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลงานนี้ทำให้ ศ.หยวน ลองปิง ได้รับการยกย่องในวงการเกษตรของจีนและของโลก
              ทั้งนี้  ประเทศจีนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเพื่อการค้า โดยเริ่มมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 และมีพื้นที่ปลูกข้าวลูกผสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ.2538 ประเทศจีนมีพื้นที่ปลูกข้าวลูกผสมถึง 58 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 112.5 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมแห่งชาติในปี พ.ศ.2538
             ในส่วนของประเทศไทยเริ่มงานวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวลูกผสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร ได้นำข้าวลูกผศมจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาปลูกทดสอบ ในปี พ.ศ. 2523 จัดตั้งโครงการวิจัยการผลิตข้าวลูกผสม และในปี พ.ศ. 2524 ได้ร่วมมือกับ IRRI ดำเนินการวิจัยการผลิตข้าวลูกผสมในระบบ 3 สายพันธุ์ ผลการดำเนินงานในช่วงแรก พบว่า สายพันธุ์ข้าวลูกผสมที่นำมาจากต่างประเทศไม่เหมาะสมสำหรับการปลูก หรือใช้ในประเทศไทย จึงได้มีความพยายามสร้างสายพันุธุ์ข้าวลูกผสมที่เหมาะสมสำหรับการผลิตข้าวลูกผสมในประเทศไทย โดยดำเนินงานที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี และสถานีทดลองข้าวเครือข่าย ผลการดำเนินงานตั่งแต่ พ.ศ. 2524 – 2538 สามารถสร้างสายพันธุ์เรณูเป็นหมัน (A) ในสายพันธุ์ข้าวไทยได้หลายสายพันธุ์ โดยใช้พันธุกรรมข้าวจาก IRRI ที่มีไซโตรพลาสซึมเป็นหมันชนิด WA และค้นพบสายพันธุ์แก้ความเป็นหมัน (R) ได้จำนวนหนึ่ง และจากการประเมินผลผลิต พบว่า ข้าวลูกผสม (F1) หลายคู่ผสมให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าวมาตรฐานของไทย (สุชาติ และคณะ,2545)
             ข้าวลูกผสม หรือ Hybrid Rice หมายถึง ข้าวลูกผสมชั่วที่ 1 ที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อแม่ที่มีพื้นฐานทางพันธุกรรมต่างกัน ซึ่งในทางทฤษฎีเมื่อนำพ่อแม่ที่มีความแตกต่างกันมาผสมพันธุ์กัน ลูกผสมชั่วที่ 1 จะมีความแข็งแรงหรือมีความดีเด่นในลักษณะบางอย่าง เช่น ผลผลิตเหนือกว่าพ่อแม่ ซึ่งอาจเป็นความดีเด่นเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของพ่อแม่ หรืออาจเหนือกว่าพ่อหรือแม่   
     ทั้งนี้ เพราะเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์ข้าวลูกผสมได้นำเอาหลักการความแข็งแรงของลูกผสมที่ดีเด่นกว่าพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่ในการให้ผลผลิตที่สูงกว่ามาใช้  จึงเป็นสาเหตุให้ข้าวลูกผสมมีข้อดีที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรถึง 7 ประการ  ดังนี้
          1.ข้าวลูกผสมให้ผลผลิตข้าวสูงกว่าสายพันธุ์ทั่วไปประมาณ 20-30% ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
          2.ข้าวลูกผสมไม่มีปัญหาเรื่องพันธุ์ปน  อีกทั้งยังมีระบบรากที่แข็งแรงและแผ่กระจายมากกว่า
          3.ข้าวลูกผสมมีจำนวนเมล็ดต่อรวงเฉลี่ยมากถึง 250 เมล็ด/รวงขึ้นไป กรณีปลูกในฤดูกาลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
          4.ในการผลิตข้าวเชิงการค้าข้าวลูกผสมให้ผลตอบแทนที่มากกว่าข้าวสายพันธุ์แท้
          5.เป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูก
          6.ลดการใช้สารเคมีเพราะข้าวลูกผสมมีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าว
          7.ประหยัดการใช้น้ำและเพิ่มรอบการปลูก   เนื่องจากข้าวลูกผสมมีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นกว่าข้าวพันธุ์ทั่วไป 

           แต่ข้าวลูกผสมก็มีข้อเสียคือชาวนาไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ทำพันธุ์ต่อได้ และมีโอกาสให้ข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านสูญหายไปด้วย มีโอกาสผูกขาดทางการค้าได้ในอนาคต



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 00:16:57
ท่อวัดระดับน้ำในแปลงนาที่ทำไว้วันก่อนครับ
ที่ใส่ท่อวัดน้ำพี่อู๋คิดจะแกล้งข้าวด้วยรึเปล่าครับ แล้ววิธีเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวจะสามารถใช้กับนาหว่านแบบเราได้รึเปล่าครับ หรือเหมาะสมเฉพาะนาดำเท่านั้น
ปล.แหนแดงโตรึยังครับพี่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 08:53:40
ท่อวัดระดับน้ำในแปลงนาที่ทำไว้วันก่อนครับ
ที่ใส่ท่อวัดน้ำพี่อู๋คิดจะแกล้งข้าวด้วยรึเปล่าครับ แล้ววิธีเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวจะสามารถใช้กับนาหว่านแบบเราได้รึเปล่าครับ หรือเหมาะสมเฉพาะนาดำเท่านั้น
ปล.แหนแดงโตรึยังครับพี่


ปกติก็ทำอยู่ครับคือลดระดับน้ำในช่วงข้าวแตกกอ เพื่อช่วยให้รากกระจายและเพื่อการแตกกอมากขึ้น นาหว่าน นาโยน นาดำ สามารถลดระดับน้ำให้แห้งได้ แต่ต้องดูด้วยว่าวัชพืชจะไม่ขึ้นต้องมีใบข้าวหนาแน่นพอสมควร เพื่อบังแสงแดดวัชพืชจะได้เจริญเติบโตได้ไม่ดี  สำหรับแหนแดงยังไม่โตเลยครับช้าหน่อยเพราะเอาสปอร์มาเพาะ และยังไม่ได้ทำใส่กระชังหน้าบ้านเลยครับว่าจะทำเสาร์อาทิตย์นี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 11:28:41
แวะมาอ่านคับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 13:14:42
วันนี้ลองพาไปดูนาที่บาหลี อินโดนีเซียกันครับ

(http://www.cmadong.com/imageupload/2010_Cmadong-Image/data/image/l2gr3u-45baad.jpg)

บาหลีเป็นเกาะเกาะหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความสวยงามด้วยธรรมชาติที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวกับวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานับพันปี มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก เช่น วัดและวัง ซึ่งมีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชายหาดที่สวยงามและขาวสะอาด รวมทั้งผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และการดำเนินชีวิตของคนบาหลีด้วยวิธีการกสิกรรมแบบดั้งเดิม

ภูมิอากาศ เนื่องจากบาหลีตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิจึงอยู่ในช่วง 21-32 องศาเซลเซียส (70-90 องศาฟาเรนไฮน์) โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 26 องศา เซลเซียส (78 องศา ฟาเรนไฮน์) บาหลีมีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูแล้งและฤดูมรสุม ฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน โดยมีเดือนกรกฎาเป็นเดือนที่มีอากาศเย็นที่สุดในช่วงปี ฤดูมรสุมเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน เดือนมกราคม เป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนสูงที่สุดของปี สภาพอากาศของบาหลีมีความชื้นราว 75 % ตลอดปี  ลักษณะอากาศของบาหลีเป็นแบบป่าฝนร้อนชื้น ลมมรสุมประจำปี ทำให้เกิดลมและฝนในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคมซึ่งอากาศบริเวณภูเขาจะเย็นกว่าอากาศบริเวณชายทะเลประมาณ 5 องศา เซลเซียส ช่วงเวลาที่ควรไปเที่ยว เวลาที่เหมาะสมในการไปเที่ยวคือระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน

ประชากร บาหลีมีประชากร 3,422,600 คน แบ่งออกเป็น ชาย 1,724,300 คน หญิง 1,698,300 คน ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันแบบครอบครัวใหญ่ มีความรักและความหวงแหนในวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่ปฎิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ ดังจะเห็นได้จากการดำรงชีวิตในปัจจุบัน

ศาสนาและวัฒนธรรม ศาสนาหลักของชาวบาหลีคือศาสนาฮินดู ชาวบาหลีถึง 93 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาฮินดูที่เรียกว่า ฮินดูธรรม(Hindu Dharma) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชวา เป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาฮินดูแบบที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่กับศาสนาพุทธ

สำหรับการทำนาของชาวบาหลีเป็นแบบดั้งเดิม เป็นการทำนาดำแบบขั้นบันได ซึ่งค่อนข้างมีชื่อเสียงในด้านความสวยงามครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 13:52:08
ภาพอีกหน่อยการปลูกและเก็บเกี่ยวยังคงใช้แรงงานจากคน การไถมีทั้งใช้วัวและควาย ใครมีฐานะหน่อยก็จะเป็นรถไถนาเดินตาม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 21:20:08
ต่อเนื่องจากเมื่อวานครับ วันนี้ทำใหม่อีกอันเป็นอีกแบบหนึ่งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 21:21:07
ทำเสร็จแล้วก็ทำสีซักหน่อยเพื่อความสวยงามและช่วยป้องกันสนิมได้บางส่วน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 21:21:58
จากนั้นประกอบกับด้ามไม้ไผ่ ขันสกรูให้เรียบร้อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 21:24:53
เสร็จเรียบร้อยพรุ่งนี้จะลองไปใช้งานครับว่าแบบไหนดีกว่ากัน จะได้นำมาปรับปรุงหากทำอันที่ 3 ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 21:31:15
ทำอันที่ 2 น่าจะใกล้เคียงเข้ามาอีกหน่อยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013, 22:16:57
วังเวียง “กุ้ยหลินเมืองลาว” เมืองที่เต็มไปด้้วยธรรมชาติ ทิวเขา สายน้ำซอง ไร่นาแบบขั้นบันได และหมู่บ้านชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างหลงไหลแวะเวียนกันมาท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสาย
• วังเวียง เมืองแห่งธรรมชาติ ทัศนียภาพอันงดงามตระการตาของทิวเขา ไร่นาแบบขั้นบันได และหมู่บ้านชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ ของลาว เช่น ลาวสูง ลาวเทิง ลาวม้ง ไทลื้อ ชมความยิ่งใหญ่ของขุนเขาที่เต็มไปด้วยป่านานาพันธุ์ที่ขึ้นตามธรรมชาติ ระหว่างทางชมผาตั้ง ซึ่งเป็นภูเขาลูกเดียวที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว ด้านหน้าของภูเขามีน้ำซองไหลผ่าน ภูเขารูปร่างแปลกตา สลับซับซ้อนสวยงามยิ่ง นักท่องเที่ยวต่างขนานนามว่า “กุ้ยหลินเมืองลาว”
• ที่ตั้ง ตัวเมืองวังเวียง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำซอง ห่างจากเมืองหลวงกรุงเวียงจันทน์ 154 กิโลเมตร และห่างจากเมืองหลวงพระบาง 210 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง มองเห็นสายน้ำกว้างสลับเนินทราย โดยมีเทือกเขาหินปูนเป็นฉากหลัง และได้ฉายาว่า กุ้ยหลินแห่งเมืองลาว เป็นแหล่งท่องเที่ยงของประเทศลาว ท่านสามารถเพลิดเพลินกับธรรมชาติระหว่างทาง

ปีที่ผ่านมาผมขี่มอเตอร์ไซด์จากเชียงรายไปน่าน เพื่อไป สปป ลาว โดยแวะค้างคืนที่แขวงอุดมไชย อีกวันก็ไปที่แขวงหลวงพระบาง สำหรับปีนี้หากไม่ได้ไปเวียดนามก็คงไปวังเวียงที่นี่แหล่ะครับ แม้ปัจจุบันวังเวียงจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรป วิถีชีวิตชาวลาวที่นั่นเริ่มเปลี่ยนไป เหมือน อ.ปาย แม่ฮ่องสอน แต่ก็ยังน่าเที่ยวอยู่การเดินทางคงเป็นช่วงต้นหรือกลาง ๆ ฤดูฝนหากต้องการเห็นแปลงนาสวย ๆ แบบนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2013, 17:22:33
ต่อเนื่องจากเมื่อวานครับ วันนี้ทำใหม่อีกอันเป็นอีกแบบหนึ่งครับ

 :D....วันนี้ลองทำไว้อันหนึ่งครับ....เอาไปใช้เข้าท่าอยู่ครับ...กล้าไม่ค่อยซ้ำรากกล้าก็ไม่ขาดด้วย...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2013, 20:20:26
ได้ลองใช้งานแล้วครับ ใช้งานได้รวดเร็ว ดีกว่าการก้มเพื่อถอนกล้าครับ การปลูกก็ไม่ยาก สังเกตุว่าข้าวไม่ช้ำมาก 2 วันผ่านไปต้นข้าวก็ยังเขียวอยู่ ถ้าเป็นนาดำด้วยแรงงานคนข้าวจะเหลืองกว่าจะกลับมาเขียวได้ก็เป็นสัปดาห์เหมือนกัน ต้องทำเพิ่มอีกหลายอันครับ ลองดูแล้วจะใช้งานได้ดีดังนี้

-  ระดับน้ำต้องปิ่ม ๆ ไม่สูงมากประมาณ 1-2 ซม จากหน้าดิน
-  ข้าวต้องมีอายุพอสมควรประมาณ  25-30 วัน
-  ระยะห่างของซี่เหล็กไม่ควรห่างกันมากไม่ควรเกิน 1 นิ้ว
-  ความยาวของซี่เหล็กประมาณ  4.5-6 นิ้วกำลังดี
-  เหล็กที่ใช้ทำซี่ต้องแข็งแรง ขนาดเหล็ก 5-8 มม น่าจะเหมาะสม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2013, 20:25:53
ทำอันที่  3ครับ สมบูรณ์ที่สุดแล้ว อันนี้ทำเสร็จเอาไปฝากให้พี่ที่รู้จักกันใช้ครับ  เดี๋ยวต้องหาเหล็กมาทำเพิ่มอีกซัก 2-3 อันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2013, 20:33:45
เมื่อวานนอกจากซ่อมข้าวแล้ว ก็ต้องทำฝายกั้นน้ำเพื่อทดระดับน้ำเข้านาครับ  ใช้น้ำจากคลองชลประทานช่วงนี้ติดปัญหาเพราะปิด ๆ เปิด ๆ ระดับน้ำคุมไม่ต่อเนื่องข้าวก็ต้นเล็กอยู่หากไม่มีน้ำคุมดินหญ้าอาจขึ้นได้ในช่วงนี้เลยต้องทำฝายครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2013, 20:47:07
ทำเสร็จระดับน้ำได้ที่ก็จะไหลเข้านาครับ ค่อนข้างเร็วพอสมควร ข้าวก็โตพอสมควรฝั่งนี้นา 13 ไร่ใช้ปุ๋ยเคมีไปแล้ว 1 กส.ครับ ตอนแรกว่าจะใส่สัปดาห์นี้อีก 1 กส. แต่เลื่อนไปเป็นสัปดาห์หน้าดีกว่าเพราะบางจุดน้ำไม่ค่อยมีเอาน้ำเข้าซักระยะ สัปดาห์หน้าค่อยใส่อีกที และจะไปใส่อีกทีช่วงข้าวเริ่มแตกกอครับ ประมาณไว้ว่านา 13 ไร่จะใช้ปุ๋ยเคมี  5-6 กส.ครับเหมือนเช่นทุกทีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2013, 20:51:38
ตอนเย็นเมื่อวานหลังจากทำอะไรเสร็จก็ไปเยี่ยมพี่แถวบ้านที่แกทำนาดำโดยรถดำนาครับ ข้าวขึ้นสวยงามทีเดียว ก็ศึกษาข้อมูลไว้เพื่อคาดว่านาปีจะซื้อรถดำนามาใช้บ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2013, 21:01:02
ดูที่นาเสร็จก็ต้องรีบเข้าไป อ.พานตอนหัวค่ำครับนอน 1 คืน ที่บ้านเป็นร้านกาแฟ โอวัลตินครับ เช้า ๆ ก็มีกลุ่มนักปั่นจักรยานมาชุมนุมแต่เช้า ก็ได้คุยกับคุณลุงคุณตาหลายท่าน บางท่านอายุ 79 ปีแล้วก็ยังปั่นแข็งแรงอยู่เลย บางคนก็ปั่นจักรยานมาหลายประเทศแล้ว ก็ยังนัดแนะกันอยู่หากมีเวลาว่างช่วงไหนจะปั่นไปเวียดนามอยู่ครับ หลังจากนั้นก็ไปบ้านพี่ที่รู้จักกันในบอร์ดครับ ได้ไปหลายที่เหมือนกันแถวเจริญเมืองครับ

ที่นั่นบางพื้นที่ต้องเจาะน้ำบาดาลครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2013, 21:03:35
ที่หนักหน่อยก็ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำและต่อท่อเอาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2013, 21:08:21
แวะถ่ายรูปที่เค้าเพาะกล้ารถดำนาครับ จะเป็นถาดสีดำ การเพาะโดยใช้แกลบดำ นา 1 ไร่ใช้ถาดประมาณ 30 กว่าถาดแล้วแต่จะตั้งจำนวนต้นต่อกอ และระยะห่างในการปักดำอีกทีนาปรังจะใช้ถาดมากกว่า นาปีจะใช้ไม่มากครับโดยเฉพาะข้าวไวต่อช่วงแสงเพราะจะมีลักษณะต้นสูงกว่าปลูกถี่ ๆ ก็จะล้มได้ง่าย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2013, 21:11:19
แวะถ่ายรูปที่เค้าเพาะกล้ารถดำนาครับ จะเป็นถาดสีดำ การเพาะโดยใช้แกลบดำ นา 1 ไร่ใช้ถาดประมาณ 30 กว่าถาดแล้วแต่จะตั้งจำนวนต้นต่อกอ และระยะห่างในการปักดำอีกทีนาปรังจะใช้ถาดมากกว่า นาปีจะใช้ไม่มากครับโดยเฉพาะข้าวไวต่อช่วงแสงเพราะจะมีลักษณะต้นสูงกว่าปลูกถี่ ๆ ก็จะล้มได้ง่าย
ดรีมได้ยินอ.สุขสรรค ว่า เอาแกลบดำเพาะข้าวพันธข้าวจะป่นอะเจ้า เพราะจะมีข้าวหลงออกมาอะเจ้า แต้ก่อบ่ฮู้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2013, 21:45:18
แวะถ่ายรูปที่เค้าเพาะกล้ารถดำนาครับ จะเป็นถาดสีดำ การเพาะโดยใช้แกลบดำ นา 1 ไร่ใช้ถาดประมาณ 30 กว่าถาดแล้วแต่จะตั้งจำนวนต้นต่อกอ และระยะห่างในการปักดำอีกทีนาปรังจะใช้ถาดมากกว่า นาปีจะใช้ไม่มากครับโดยเฉพาะข้าวไวต่อช่วงแสงเพราะจะมีลักษณะต้นสูงกว่าปลูกถี่ ๆ ก็จะล้มได้ง่าย
ดรีมได้ยินอ.สุขสรรค ว่า เอาแกลบดำเพาะข้าวพันธข้าวจะป่นอะเจ้า เพราะจะมีข้าวหลงออกมาอะเจ้า แต้ก่อบ่ฮู้

โอกาสมีน้อยมากครับหากเป็นแกลบที่ได้จากโรงสีขนาดใหญ่หรือกลาง เพราะใช้พัดลมเป่าเอาแกลบผ่านออกทางท่อ ซึ่งหากเป็นข้าวติดเมล็ดมีโอกาสถูกเป่าออกมาน้อยมาก และมาผ่านกระบวนการเผาเพื่อกลายเป็นแกลบดำ เมล็ดข้าวจึงไหม้เนื่องจากความร้อน โอกาสที่จะงอกออกมาได้ค่อนข้างยาก แต่หากเป็นเครื่องสีข้าวขนาดเล็กก็จะมีโอกาสมากกว่าเพราะพัดลมมีขนาดเล็กแต่ก็น้อยอยู่ดีครับ ส่วนใหญ่จะปนมากับพันธุ์ข้าวที่เรานำมามากกว่าหรือไม่ก็ข้าวที่ร่วงอยู่ในนางอกขึ้นมาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2013, 21:50:23
ช่วงนี้ไม่ค่อยได้นำข้อมูลมาลงเท่าไหร่ครับ มัวแต่ไปศึกษาเรื่องอื่น ๆ บ้างแต่เจอรูปนาสวย ๆ ก็อดที่จะเอามาลงไม่ได้  นี่เป็นนาที่พี่คนหนึ่งแกถ่ายไว้ แกปั่นจักรยานจากเชียงของ ไปปักกิ่้งผ่าน ลาว  เวียดนาม ระยะทาง 4203 กม. เมื่อ 4 ปีที่แล้วครับผมว่าบางพื้นที่ของจีนก็เป็นธรรมชาติดีแม้ประเทศจะค่อนข้างพัฒนาไปไกลแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2013, 21:52:19
ผมไม่รู้ว่าขวดพวกนี้ไว้ทำอะไร แต่เห็นพี่เค้าบอกว่ามักจะเห็นอยู่ตามริมคันนาค่อนข้างเยอะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 17:16:11
ศึกษาไปเรื่อยๆ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 20:26:05
ไปนาเย็นนี้ครับ ข้าวโตขึ้นเรื่อย ๆ ครับคราวก่อนใส่ปุ๋ยไปแล้วครั้งหนึ่งไร่ละ 4 กก. มีคนบอกว่าผมใส่ปุ๋ยน้อยเกินไปครับ เขาบอกว่าต้องใส่อย่างน้อย  15 กก.ขึ้นไป ถ้าตามกรมการข้าวแนะนำ 20 กก.ต่อไร่ ทำนาครั้งหนึ่งใส่ 2-3 ครั้ง  แต่วิธีของผม ผมว่าประหยัดปุ๋ยได้มากครับ คือเราไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยทีละมาก ๆ อาจทยอยใส่หลาย ๆครั้ง อย่างช่วงก่อนข้าวแตกกอ ก็ใส่ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 กก.ก็ได้ เช่นเมื่อข้าวอายุได้ 20 วันใส่ครั้งแรก ได้ 30 วันก็ใส่อีกครั้ง ใส่ปุ๋ยหนักทีเดียว ต้นข้าวจะมีใบเขียวเข้ม ใบโน้มต่ำ เสี่ยงต่อแมลงศัตรูข้าวได้ง่ายกว่ามาก ใบมาก ๆ ก็มีโรคจากเชื้อราตามมา ค่อย ๆ แบ่งใส่แต่พอดีผมว่าคงดีกว่าครับ ใส่ปุ๋ยมาก ๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 20:32:03
แปลงนาข้าง ๆครับคราวก่อนเคยถ่ายเทียบกันตอนไม่ใส่ปุ๋ยข้าวค่อนข้างเหลือง คราวนี้เจ้าของอัดปุ๋ยซะเยอะเลยครับ ไร่ละประมาณเกือบ 20 กก.  ใบค่อนข้างเขียวเข้มทีเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 20:37:00
มาดูกันครับว่าเขียวแบบธรรมชาติ กับเขียวแบบการใช้ปุ๋ยเคมีจนเกินไปเป็นอย่างไร ด้านซ้ายเป็นใบข้าวจากแปลงนาข้าง ๆ ที่ใช้ปุ๋ยเคมีค่อนข้างมากในคราวเดียว ใบข้างขวาจากแปลงนาของผม ข้าวหว่านวันเดียวกัน พื้นที่ใกล้กันมีเพียงคันนาคั่นเท่ากัน สังเกตุความยาวของใบใกล้เคียงกันครับสีด้านซ้ายจะเข้มกว่าเพราะได้ปุ๋ยเคมีมากกว่า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 20:39:49
ลองจับใบมาตั้งดูครับ ใบข้าวด้านซ้ายจะง้มทันทีครับ นั่นแสดงว่าใบข้าวจะอ่อนกว่าอย่างเห็นได้ชัด ถ้าคุณเป็นแมลงคุณจะเลือกใบที่อ่อนหรือใบที่แข็งล่ะครับ ผมว่าหอยเชอรี่น่าจะชอบด้วยเช่นกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 20:54:15
ลองสะบัดใบข้าวแรง ๆ ดูครับ ใบด้านซ้ายจะหักพับทันทีครับ แสดงว่าปุ๋ยเคมีผลกับข้าวค่อนข้างมากหากใช้ในปริมาณที่เกินพอดี แม้ใบจะสีสวยงามใบยาวและก็ใบอ่อนงอง่าย  ลองไปทดลองกันดูครับว่าจริงไม๊ 



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 20:56:53
ช่วงนี้ยังปล่อยให้แปลงนามีน้ำครับเพื่อคุมวัชพืช ช่วงหลังจากใส่ปุ๋ยช่วงแตกกอถึงจะปล่อยให้ดินแห้งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 21:02:33
แปลงนาไหนที่ข้าวไม่ขึ้นหรือเสียหายจากหอยเชอรี่ก็ต้องซ่อมครับ ควรซ่อมข้าวก่อนข้าวแตกกอครับ เพราะมีผลต่อการแตกกอ มีผลวิจัยว่าจะปลูกข้าวหรือการดำ ในระยะวันที่ 9 กับวันที่ 25 ซึ่งมีอายุต่างกันข้าวที่ดำในระยะ 9 วันมีการแตกกอได้มากกว่าข้าวที่ดำอายุ 25 วันครับ แต่หากดำในระยะ 9 วันต้องทำแบบประณีตเพราะลำต้นไม่แข็งแรง หักขาดง่ายบ้านเราจึงนิยมดำเมื่อข้าวค่อนข้างแก่พอสมควรเพื่อให้ทนต่อการดึงและการปักดำและให้รอดพ้นจากหอยเชอรี่ด้วยครับ ขนาดต้นกล้าอายุเดือนกว่าๆ  หอยเชอรี่ยังพยายามกินเลยครับ  นาผมเสียหายจากฝนตกหนักช่วงก่อน 2 วัน 2 คืนไม่ได้ไปนา ข้าวถูกน้ำท่วมและหอยเชอรี่กินครับได้ซ่อมเหมือนกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 21:32:01
การเพาะกล้าครับน่าจะเป็นวิธีแบบ SRI แต่ผมว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับนาดำบ้านเราน่าจะได้โดยการใช้ใบกล้วยรองพื้นเพื่อให้ต้นกล้าไม่ฝังรากลึกทำให้ยากในการถอนกล้า เคยเห็นชาวนาบางท่านใช้สแลมรองพื้นก็ใช้ได้แต่ใช้ใบต้นกล้วยน่าจะหาได้ง่ายกว่าครับ

CLS2WvMoDLc


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013, 22:04:52
บางประเทศก็นิยมทำนาหว่านแต่หากทำนาหลายไร่ก็ใช้แรงงานมาก ประเทศที่มีเครื่องมือทันสมัยก็ต้องใช้รถหว่านล่ะครับ

glXt_5RnS0k


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2013, 08:30:51


    จริงอย่างที่ท่านว่านะครับ  ใส่ปุ๋ยเยอะไปก็ไม่ดี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2013, 09:25:37
บางอย่างที่ชาวนาบางคนไม่รู้ครับ

ลักษณะของข้าวที่สำคัญทางการเกษตร

เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และการให้ผลิตผลสูงของต้นข้าว ในท้องที่ที่ปลูก การทนต่อสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงเสมอๆ ตลอดถึงคุณภาพของเมล็ดข้าว ฉะนั้น พันธุ์ข้าวที่ดีจะต้องมีลักษณะเหล่านี้ดี และเป็น ที่ต้องการของชาวนาและตลาด ลักษณะที่สำคัญๆ มี ดังนี้

๑. ระยะพักตัวของเมล็ด (seed dormancy)

เมล็ดที่เก็บเกี่ยวมาจากต้นใหม่ๆ เมื่อเอาไปเพาะ มักจะไม่งอกทันที มันจะต้องใช้เวลาสำหรับพักตัวอยู่ระยะหนึ่ง ประมาณ ๑๕-๓๐ วัน จึงจะมีความงอก ถึง ๘๐ หรือ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาหลังจากเก็บ เกี่ยวที่เมล็ดไม่งอกนี้ เรียกว่า ระยะพักตัวของเมล็ดข้าวพวกอินดิคาแทบทุกพันธุ์ มีระยะพักตัวของเมล็ด แต่ข้าวพวกจาปอนิคานั้น ไม่มีระยะพักตัว ระยะพักตัว มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเป็นประโยชน์สำหรับชาวนาในเขตร้อน ซึ่งมีฝนตก และมีความชื้นของอากาศสูงในฤดูเก็บเกี่ยว เพราะข้าวที่ไม่มีระยะพักตัวของเมล็ด จะงอกทันที เมื่อได้รับความชื้น หรือเมล็ดเปียกน้ำฝน ส่วนข้าวที่มีระยะพักตัว มันจะไม่งอกในสภาพดังกล่าว ซึ่งชาวนาจะได้รับผลิตผลเต็มที่ตามที่เก็บเกี่ยวได้

(http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/pictures3/s3-16-1.jpg)

ข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วต้องเก็บเมล็ดไว้จนมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาสมบูรณ์จึงนำไปเพาะได้

ระยะพักตัวของเมล็ดข้าว ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในเมล็ดยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น เมื่อได้เก็บเกี่ยวมาแล้ว เมล็ดจึงไม่งอกและต้องรอไป จนกว่าเมล็ดนั้น ได้มีการเปลี่ยนทางสรีรวิทยาครบสมบูรณ์เสียก่อน มันจึงจะงอก สำหรับข้าวป่านั้น มีระยะ พักตัวนานกว่าพันธุ์ข้าวที่ชาวนาปลูก บางครั้งเป็น เวลานานประมาณ ๕-๖ เดือน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ระยะพักตัวใน ๓๐ วันแรก เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา และหลังจากนั้น เนื่องมาจากเปลือกนอกใหญ่ ที่ห่อหุ้มเมล็ดประสานกันแน่นมาก จนอากาศและน้ำเข้าไปไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องแกะเปลือกนอกใหญ่ออกเสียก่อน แล้วจึงเอาเมล็ดไปเพาะในจานแก้ว เพื่อให้งอกตามปกติ ดังนั้น ระยะพักตัวของเมล็ดข้าวอาจเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุทางสรีรวิทยา และลักษณะทางกายภาพของเมล็ด

๒. ความไวต่อช่วงแสง (sensitivity to photoperiod)

ระยะความยาวของกลางวันมีอิทธิพลต่อการออกดอกของต้นข้าว ดังนั้น พันธุ์ข้าวจึงแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด โดยถือเอาความไวต่อช่วงแสง หรือระยะความยาวของกลางวันเป็นหลัก คือ ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง และข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง

๑) ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง

ข้าวพวกนี้ออกดอก เฉพาะในเดือนที่มีความยาวของกลางวันสั้น ปกติเราถือว่า กลางวันมีความยาว ๑๒ ชั่วโมง และกลางคืน มีความยาว ๑๒ ชั่วโมง ฉะนั้น กลางวันที่มีความยาว น้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นวันสั้น และกลางวันที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นวันยาว และพบว่า ข้าวที่ไวต่อช่วงแสงในประเทศไทย มักจะเริ่มสร้างช่อดอก และออกดอก ในเดือนที่มีความยาวของกลางวันประมาณ ๑๑ ชั่วโมง ๔๐ นาที หรือสั้นกว่านี้ ดังนั้น ข้าวที่ออกดอกได้ ในเดือนที่มีความยาวของกลางวัน ๑๑ ชั่วโมง ๔๐-๕๐ นาทีจึงได้ชื่อว่า เป็นข้าวที่มีความไวน้อยต่อช่วงแสง (less sensitive to photoperiod) และพันธุ์ที่ออกดอกเฉพาะในเดือนที่มีความยาว ของกลางวันประมาณ ๑๑ ชั่วโมง ๑๐-๒๐ นาที ก็ได้ชื่อว่า เป็นพันธุ์ที่มีความไวมากต่อช่วงแสง (strongly sensitive to photoperiod) ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ จึงเรียกข้าวว่า พืชวันสั้น (short-day plant) พันธุ์ข้าวในประเทศไทยที่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อช่วงแสง โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกเป็นข้าว นาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ

การปลูกข้าวพวกที่ไวต่อช่วงแสงจะต้องปลูกในฤดูนาปี (โดยอาศัยน้ำฝน บางครั้งจึงเรียกว่า ข้าวนาน้ำฝน) เพราะในฤดูนาปรัง กลางวันมีความยาวกว่า ๑๒ ชั่วโมง เดือนที่มีกลางวันสั้นที่สุด ได้แก่ เดือนธันวาคม และเดือนที่มีกลางวันยาวที่ได้สุด ได้แก่ เดือน มิถุนายน ความยาวของกลางวันจะเริ่มสั้น จนมากพอที่จะทำให้ข้าวพวกไวต่อช่วงแสงออกดอกได้นั้น คือ วันในเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ข้าวที่มีความไวน้อยต่อช่วงแสง จะออกดอกในเดือนกันยายน ตุลาคม ซึ่งเรียกว่า ข้าวเบา ข้าวที่ออกดอก ในเดือนพฤศจิกายน เรียกว่า ข้าวกลาง และข้าวที่ออกดอกในเดือนธันวาคม มกราคม เรียกว่า ข้าวหนัก ด้วยเหตุนี้ ข้าวพวกที่ไวต่อช่วงแสง จะออกดอกในเดือนดังกล่าวนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะปลูกในเดือนอะไรก็ตาม มันจึงมีระยะการเจริญเติบโตมากพอสมควร

(http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/pictures3/s3-17-1.jpg)

ระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว


เนื่องจากข้าวพวกไวต่อช่วงแสง จะออกดอกเฉพาะ ในเดือนที่มีความยาวของกลางวันที่ต้องการเท่านั้น ข้าวพวกไวต่อช่วงแสงจึงมีประโยชน์สำหรับชาวนา ในบางท้องที่ เช่นในจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีฝนตกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งหมายความว่า บางปีฝนก็มาเร็วและบางปีฝนก็มาล่า แต่การสิ้นสุด ของฤดูฝนนั้น ค่อนข้างแน่นอน ปกติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะหมดฤดูฝนในต้นเดือนพฤศจิกายน เพราะฉะนั้น การปลูกข้าวด้วยพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสง และเป็นข้าวเบา หรือข้าวกลาง ถึงแม้จะปลูกล่ากว่าปกติ มันก็จะออกดอกให้เก็บเกี่ยวได้ แต่ผลิตผลอาจลดต่ำลงบ้าง นี่คือ ข้อดีของข้าวที่มีความไวต่อช่วงแสง

๒) ข้าวที่ไม่ไวต่อแสง

การออกดอกของข้าวพวกนี้ ไม่ขึ้นอยู่กับความยาวของกลางวัน เมื่อต้นข้าวได้มีระยะเวลาการเจริญเติบโตครบตามกำหนด ต้นข้าวก็จะออกดอกทันที ไม่ว่าเดือนนั้นจะมีกลางวันสั้นหรือยาว พันธุ์ข้าว กข.๑ เป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เมื่อมีอายุเจริญเติบโตนับจากวันตกกล้า ครบ ๙๐-๑๐๐ วัน ต้นข้าวก็จะออกดอก ฉะนั้น พันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง จึงใช้ปลูกได้ผลดี ทั้งในฤดูนาปรังและนาปี อย่างไรก็ตาม พวกไม่ไวต่อช่วงแสงมักจะให้ผลิตผลสูง เมื่อปลูกในฤดูนาปรัง

ปกติระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าวทั้งไวและ ไม่ไวต่อช่วงแสง แบ่งออกได้เป็น ๒ ระยะ ดังนี้

(๑) ระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น (basic vegetative growth phase) เป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันตกกล้า จนถึงวันที่แตกกอ และต้นสูงเต็มที่ ในระยะนี้ ต้นข้าวมีการเจริญเติบโตทางความสูง และแตกเป็นหน่อใหม่จำนวนมาก

(๒) ระยะการสร้างช่อดอก (panicle initiation phase) เป็นระยะเวลาที่ต้นข้าวเริ่มสร้างช่อดอก จนถึงรวงข้าวเริ่มโผล่ออกมาให้เห็น ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๓๐ วัน สำหรับพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง อาจเรียกระยะนี้ว่า ระยะที่มีความไวต่อช่วงแสง (photoperiod sensitive phase) ดังนั้น ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง เมื่อได้ครบระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นแล้ว ต้นข้าวจะไม่สร้างช่อดอก จนกว่าต้นข้าวจะได้รับช่วงแสงที่มันต้องการ ส่วนข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง จะเริ่มสร้างช่อดอกทันที หลังจากที่ต้นข้าวได้ครบระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นแล้ว ดังนั้น การปลูกในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้พันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสงมีเวลามากหรือน้อยเกินไป สำหรับการเจริญเติบโตทางลำต้น โดยเฉพาะการใช้พันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสงปลูกล่ากว่าปกติ จะทำให้ต้นข้าวมีระยะเวลาน้อยไป ทำให้ได้ผลิตผลต่ำ

๓. ความสามารถในการขึ้นน้ำและการทนน้ำลึก (floationg ability and tolerence to deep water)

ข้าวที่ปลูกในประเทศไทย ชนิดข้าวไร่ และข้าวนาสวน ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในการขึ้นน้ำ หรือการทนน้ำลึก เพราะพื้นที่ปลูกนั้น ไม่มีน้ำลึก แต่พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวนาเมืองนั้น จำเป็นต้องมีความสามารถในการขึ้นน้ำ และต้องทนน้ำลึกด้วย เพราะระดับน้ำในนาเมือง ในระยะต้นข้าวกำลังเจริญเติบโตทางลำต้น และออกรวง มีความชื้นประมาณ ๘๐-๓๐๐ เซนติเมตร โดยเฉพาะในระหว่างเดือนกันยายน และต้นเดือนธันวาคม ปกติชาวนาที่ปลูกข้าวนาเมือง จะต้องลงมือไถนาเตรียมดิน และหว่านเมล็ดพันธุ์ ในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม เพราะในระยะนี้ ดินแห้งน้ำ ไม่ขังในนา ซึ่งเหมาะสำหรับการเตรียมดิน และหว่านเมล็ดพันธุ์ เมื่อฝนตกลงมา หลังจากที่ได้หว่านเมล็ดแล้ว เมล็ดข้าวที่หว่านลงไป จะงอกเป็นต้นกล้า และเจริญเติบโตในดิน ที่ไม่มีน้ำขังนั้น จนถึงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ฉะนั้น ข้าวพวกนี้ จึงมีสภาพคล้ายข้าวไร่ในระยะแรกๆ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ฝนจะเริ่มตกหนักขึ้นๆ และระดับน้ำในนา ก็จะสูงขึ้นๆ จนมีความลึกประมาณ ๘๐-๓๐๐ เซนติเมตร ในเดือนกันยายน แล้วระดับน้ำลึกนี้ ก็จะมีอยู่ในนาอย่างนี้ไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม หลังจากนั้นระดับน้ำก็จะเริ่มลดลง กระทั่งแห้ง ในเดือนมกราคม ด้วยเหตุนี้ ต้นข้าวจะต้องเจริญเติบโตทางความสูง ในระยะที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้มีส่วนของลำต้นและใบจำนวนหนึ่ง อยู่เหนือระดับน้ำ ความสามารถของต้นข้าว ในการเจริญเติบโตให้มีต้นสูง เพื่อหนีระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้ เรียกว่า ความสามารถในการขึ้นน้ำของต้นข้าว เนื่องจาก ต้นข้าวจะต้องอยู่ในน้ำ ที่มีความลึกมากอย่างนี้เป็นเวลา ๒-๓ เดือน ก่อนที่ต้นข้าวจะออกรวง จนแก่เก็บเกี่ยวได้ ในต้นหรือกลางเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ระดับน้ำในนา ได้ลดลงเกือบแห้ง ฉะนั้น ความสามารถของต้นข้าว ที่เจริญเติบโตอยู่ในน้ำลึก จนกระทั่งเก็บเกี่ยวนี้ จึงเรียกว่า การทนน้ำลึก ดังนั้น การขึ้นน้ำ และการทนน้ำลึก จึงเป็นลักษณะที่จำเป็นยิ่งของพันธุ์ข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ

๔. คุณภาพของเมล็ด (grain quality)

คุณภาพของเมล็ดแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน คือ คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ ซึ่งหมายถึง ลักษณะรูปร่าง และขนาดของเมล็ดที่มองเห็นได้
และคุณภาพเมล็ดทางเคมี ซึ่งหมายถึง องค์ประกอบทางเคมีที่รวมกันเป็นเม็ดแป้งของข้าว ที่หุงต้ม เพื่อบริโภค

๑) คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ

เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับ ความยาว ความกว้าง และความหนา ของเมล็ดข้าวกล้อง ตลอดจนถึงการมีท้องไข่ของข้าวเจ้า นอกจากนี้คุณภาพในการสีเป็นข้าวสาร ก็ถือว่า เป็นคุณภาพทางกายภาพของเมล็ดด้วย เมล็ดข้าวที่ตลาดต้องการ และถือว่า มีเมล็ดได้มาตรฐานนั้น เมล็ดข้าวกล้องจะต้องมีความยาว ประมาณ ๗ - ๗.๕ มิลลิเมตร ความกว้างและความหนาประมาณ ๒ มิลลิเมตร และมีหน้าตัดของเมล็ดค่อนข้างกลม ถ้าเป็นข้าวเจ้า เมล็ดจะต้องใส ไม่มีท้องไข่ การมีท้องไข่ของเมล็ดข้าวกล้องนั้น ทำให้เมล็ดหักง่าย เมื่อเอาไปสีเป็นข้าวสาร ซึ่งทำให้ได้เมล็ดข้าวสารที่หักมาก ดังนั้น พันธุ์ข้าวที่รัฐบาลไทยส่งเสริมให้ชาวนาปลูก จะต้องมีคุณภาพเมล็ดได้มาตรฐาน ซึ่งเรียกว่า ข้าวพันธุ์ดี

๒) คุณภาพเมล็ดทางเคมี

เป็นลักษณะขององค์ประกอบของแป้งในเมล็ดข้าวกล้อง ข้าวเหนียว และข้าวเจ้า แตกต่างกันในชนิดของแป้งที่รวมกันเป็นเอ็นโดสเปิร์ม เมล็ดข้าวเหนียวประกอบด้วย แป้งชนิดอะมิโลเพกทินเป็นส่วนใหญ่ และมีแป้งอะมิโลสน้อยมาก คือ ประมาณ ๕-๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนเมล็ดข้าวเจ้าประกอบด้วย แป้งชนิดอะมิโลส ประมาณ ๑๕-๓๐ เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์ของอะมิโลสในเมล็ดข้าวเจ้าของพวกอินดิคา และจาปอนิคา ก็แตกต่างกันด้วย ข้าวอินดิคามีแป้งอะมิโลสประมาณ ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนข้าวพวกจาปอนิคามีเพียง ๑๕-๒๐ เปอร์เซ็นต์ ข้าวไทยที่มีเปอร์เซ็นต์ของแป้งอะมิโลสต่ำ ได้แก่ ข้าวดอกมะลิ ๑๐๕ (๒๒ เปอร์เซ็นต์) ส่วนข้าวไทยที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งอะมิโลสสูง ได้แก่ กข.๑ (๓๐ เปอร์เซ็นต์)

(http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/pictures3/s3-19-1.jpg)

ลักษณะเมล็ดข้าวชนิดต่างๆ  

เปอร์เซ็นต์แป้งอะมิโลสในเมล็ดของข้าว มีความสัมพันธ์กับคุณภาพในการหุงต้ม และการบริโภค ข้าวเหนียวมีแป้งอะมิโลสน้อยกว่าข้าวเจ้า ข้าวเหนียวจึงหุงสุกเร็วกว่าข้าวเจ้า และข้าวเหนียวที่หุงสุกแล้ว จะเหนียวกว่าข้าวเจ้าด้วย ในจำพวกข้าวเจ้าด้วยกัน เมล็ดของพันธุ์ที่มีปริมาณแป้งอะมิโลสสูง เมื่อหุงสุกแล้ว เมล็ดข้าวสุกจะแข็งกว่าข้าวที่มีปริมาณแป้งอะมิโลสต่ำ ดังนั้น ผู้บริโภคที่ชอบรับประทานข้าวที่อ่อนนิ่ม จะต้องเลือกพันธุ์ที่มีปริมาณแป้งอะมิโลส ประมาณ ๒๐-๒๕ เปอร์เซ็นต์

(http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/pictures3/s3-19-2.jpg)

ข้าวเหนียวและข้าวเจ้า

นอกจากชนิดของแป้งอะมิโลสเพกทิน และแป้งอะมิโลส ที่เป็นองค์ประกอบทางเคมีของแป้งเอ็นโดสเปิร์มแล้ว ปริมาณโปรตีนในเมล็ดข้าวสาร ก็มีความสำคัญด้วย เพราะโปรตีนเป็นชนิดของอาหารที่ร่างกายต้องการมาก สำหรับการเจริญเติบโตปกติ เมล็ดข้าวจะมีปริมาณโปรตีนประมาณ ๗-๑๐ เปอร์เซ็นต์ และปริมาณของโปรตีนนี้ จะผันแปรไปตามสภาพแวดล้อมที่ปลูกข้าว เช่น การใส่ปุ๋ย ทำให้มีปริมาณโปรตีนในเมล็ดเพิ่มขึ้น และรวงข้าวที่มีจำนวนเมล็ดต่อรวงน้อย เมล็ดก็มักจะมีปริมาณโปรตีนสูง

(http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/pictures3/s3-20-1.jpg)

ลักษณะต้นข้าวพันธุ์ดี มีความสูงประมาณ ๑๑๐ เซนติเมตรใบสีเขียวตั้งตรง ไม่โค้งงอ

๕. ลักษณะรูปต้น (plant type)

รูปต้นของข้าวมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการให้ผลิตผล และการให้ผลิตผลของข้าว ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ อย่าง คือ จำนวนรวงต่อกอ จำนวนเมล็ดดีต่อรวง และน้ำหนักข้าวเปลือก ๑๐๐ เมล็ด การที่จะได้องค์ประกอบที่ดีทั้งสามอย่างนี้ อยู่ในต้นเดียวกันนั้น เป็นการยากมาก เพราะองค์ประกอบเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับสรีรวิทยาภายในต้นข้าว และสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น การเปลี่ยนแร่ธาตุอาหารให้เป็นแป้ง แล้วส่งไปสร้างส่วนต่างๆ ของต้นข้าว ที่กำลังเจริญเติบโต อาหารจำนวนหนึ่งจะต้องเปลี่ยนเป็นจำนวนรวง จำนวนเมล็ด และน้ำหนักของเมล็ด ถ้าอาหารส่งไปเลี้ยง และสร้างจำนวนรวงเป็นส่วนใหญ่ อาหารก็เหลือน้อยสำหรับสร้างจำนวนเมล็ด และน้ำหนักเมล็ด ฉะนั้น ต้นข้าวต้นนี้ จึงมีจำนวนรวงมาก จำนวนเมล็ดต่อรวงน้อย และน้ำหนักข้าวเปลือกของเมล็ดเบา จึงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ที่จะให้มีต้นข้าวที่มีเมล็ดในรวงมาก และเมล็ดข้าวเปลือกมีน้ำหนักมาก ทำได้เพียงให้ได้องค์ประกอบทั้งสามอย่าง ในจำนวนที่พอดีๆ เท่านั้น

ต่อมานักวิชาการเรื่องข้าวได้ศึกษาพบว่า ต้นข้าวจะให้ผลิตผลสูงหรือต่ำนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะรูปต้นของข้าว เพราะรูปต้นของข้าว มีความสัมพันธ์กับการใช้ปุ๋ย หรือที่เรียกว่า การตอบสนองต่อปุ๋ย และการเปลี่ยนแร่ธาตุอาหารจากปุ๋ยให้เป็นแป้ง ซึ่งใช้ในการสร้างส่วนต่างๆ ของต้นและเมล็ดข้าว พันธุ์ข้าวที่ให้ผลิตผลสูง จะต้องมีลักษณะรูปต้นที่สำคัญๆ ดังนี้

๑) ใบมีสีเขียวแก่ ตรง ไม่โค้งงอ แผ่นใบไม่กว้าง และไม่ยาวจนเกินไป ลักษณะใบอย่างนี้ ทำให้ทุกใบในต้นข้าวได้รับแสงแดดตลอดเวลา และเป็นปริมาณเท่าๆ กัน นอกจากนี้ ใบสีเขียวแก่ก็จะมีจำนวนคลอโรฟีลล์ (chlorophyll) ในใบมากกว่าใบสีเขียวอ่อนด้วย จึงทำให้มีการสังเคราะห์แสง เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุเป็นแป้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าใบที่โค้งงอ ดังนั้น ต้นข้าวที่มีลักษณะใบดังกล่าว จึงมีปริมาณอาหารไปสร้างส่วนต่างๆ ของต้น และเมล็ดมาก จนทำให้ได้ผลิตผลสูง

๒) ความสูงของต้นประมาณ ๑๐๐-๑๓๐ เซนติเมตร ความสูงของต้นเป็นระยะตั้งแต่พื้นดินถึงปลายของรวงที่สูงที่สุด ต้นข้าวที่มีความสูงขนาดนี้ จะไม่ล้มง่าย และมีขนาดของใบพอเหมาะกับการสังเคราะห์แสง

๓) ลำต้นแข็ง ไม่ล้มง่าย เมื่อใส่ปุ๋ยลงในนามากขึ้น ต้นข้าวที่ไม่ล้ม จะมีการสร้างอาหารและเมล็ดได้ตามปกติ จึงทำให้มีผลิตผลสูง

๔) แตกกอมากและให้รวงมาก ต้นข้าวที่แตกกอมาก และตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ย จะมีจำนวนรวงต่อกอมาก จึงทำให้มีจำนวนรวงต่อเนื้อที่ปลูกมาก ซึ่งเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่ง ของการให้ผลิตผลสูง

๖. ความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว (resistance to diseases and insects)

พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะรูปต้นดี ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยสูง ก็ไม่สามารถที่จะให้ผลิตผลสูงได้ ถ้าพันธุ์นั้นไม่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรู ที่ระบาดในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ ลักษณะต้านทานต่อโรคและแมลง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูของต้นข้าวนั้น เป็นผลที่เกิดจากปฏิกิริยาทางพันธุศาสตร์ ระหว่างพันธุกรรมของต้นข้าว และเชื้อโรคหรือแมลง ซึ่งเป็นวิชาการอีกแขนงหนึ่ง ที่แตกต่างไปจากเรื่องอื่น



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2013, 11:13:49
ช่วงนี้ข้าวเริ่มโตขึ้นมาก ทำให้เหนื่อยน้อยลงมีเวลามากขึ้น ผมก็มอง ๆ หาที่ท่องเที่ยวดูงานบ้างล่ะครับในเชียงรายก็มีหลายที่ ต่าง อำเภอ ต่างจังหวัดก็มี ผมอยากไปดูสวนเกษตรด้วยเพราะจะได้มีงานเสริมนอกจากการทำนา เวลาเราไปดูนาซึ่งตอนนี้ก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำแล้ว เราก็จะได้ทำอย่างอื่นด้วยพวกปลูกพืชผักอื่น ๆ  ใครมีที่แนะนำก็ช่วยบอกด้วยนะครับ

ตัวอย่างที่เห็นในเว็ป
สวนเกษตรบ้านจอมคีรี ตำบลแม่นะ อ.เชียงดาว    http://www.gotoknow.org/posts/505534 (http://www.gotoknow.org/posts/505534)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2013, 11:19:58
ที่ไร่เชิญตะวันคราวก่อนผมก็ได้ไปครับ ปั่นจักรยานไป


หัวข้อ: ลงRe: {{{{{{{{{{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}}}}}}}}}
เริ่มหัวข้อโดย: ~Oo เบียร์ _ ซ่าส์ oO~ ที่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2013, 22:10:30
ลักษณะและส่วนประกอบของต้นข้าว

ลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของต้นข้าว ได้แก่ ราก ลำต้น และใบ


1. ราก เป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน ใช้ยึดลำต้นกับดินเพื่อไม่ให้ต้นล้ม แต่บางครั้งก็มีรากพิเศษเกิดขึ้นที่ข้อซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้วย ต้นข้าวไม่มีรากแก้ว แต่มีรากฝอยแตกแขนงกระจายแตกแขนงอยู่ใต้ผิวดิน

2. ลำต้น  มีลักษณะเป็นโพรงตรงกลางและแบ่งออกเป็นปล้องๆ โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง ความยาวของปล้องนั้นแตกต่างกัน 

3. ใบ   ต้นข้าวมีใบไว้สำหรับสังเคราะห์แสง เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุ อาหาร น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแป้ง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและ สร้างเมล็ดของต้นข้าว ใบประกอบด้วย กาบใบและแผ่นใบ


 ลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์


ต้นข้าวขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ลักษณะที่สำคัญเกี่ยวกับการ ขยายพันธุ์ ได้แก่ รวง ดอกข้าวและเมล็ดข้าว

1. รวงข้าว (panicle) หมายถึง ช่อดอกของข้าว (inflorescence) ซึ่งเกิดขึ้นที่ข้อของปล้องอันสุดท้ายของต้นข้าว ระยะระหว่างข้ออันบนของปล้องอันสุดท้ายกับข้อต่อของใบธง เรียกว่า คอรวง
 
2. ดอกข้าว หมายถึง ส่วนที่เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียสำหรับผสมพันธุ์ ดอกข้าวประกอบด้วยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่นประสานกัน เพื่อห่อ หุ้มส่วนที่อยู่ภายในไว้ เปลือกนอกใหญ่แผ่นนอก เรียกว่า เลมมา (lemma) ส่วนเปลือกนอกใหญ่แผ่นใน เรียกว่า พาเลีย (palea) ทั้งสองเปลือกนี้ ภายนอกของมันอาจมีขนหรือไม่มีขนก็ได้

 3. เมล็ดข้าว หมายถึง ส่วนที่เป็นแป้งที่เรียกว่า เอ็นโดสเปิร์ม (endosperm) และส่วนที่เป็นคัพภะ ซึ่งห่อหุ้มไว้โดยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่น เอ็นโดสเปิร์มเป็นแป้งที่เราบริโภค คัพภะเป็นส่วนที่มีชีวิตและงอกออกมาเป็นต้นข้าวเมื่อเอาไปเพาะ




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 08:48:52
 :D...ภาพเหล็กถอนกล้าที่ทำไว้ครับ...เพิ่งได้เอาไฟล์จากกล้องมาเซฟไว้ที่คอมฯ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 09:08:53
 :D...ช่วงหน้าก่อนนี้ต้องดำกล้าซ่อมข้าวบางส่วนที่หว่านไม่งอกหรือหอยกัดกิน..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 09:11:16
 :D...บางส่วนที่แตกกอ...ผมถ่ายภาพเก็บไว้ตั้งแต่8กุมภาพันธ์นะครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 09:33:25
ที่นาอยู่แถวไหนครับนี่ ชอบครับคันนาไม่กว้างดูแลและใส่ปุ๋ยง่ายดีครับ

(http://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?action=dlattach;topic=358462.0;attach=1145522;image)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 09:46:56
ช่วงนี้ห่างหายจากเว็ปไปบ้างครับ มัวแต่ทำจักรยานทัวร์ริ่ง ทำเสร็จก็จะปั่นเที่ยวล่ะครับเพราะสัปดาห์นี้หยุดหลายวัน แต่ก็เข้าเว็ปเกี่ยวกับการทำนาบ้างช่วงนี้ก็ไปดูที่ญี่ปุ่นเป็นหลักเพราะค่อนข้างมีข้อมูลอยู่มาก ทั้งการทำนา ทำเกษตรอินทรีย์ อ่านไม่ออกก็ใช้ Google  แปลให้แหล่ะครับเอาไว้ว่าง ๆ จะนำมาลงให้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 10:23:14
ที่นาอยู่แถวไหนครับนี่ ชอบครับคันนาไม่กว้างดูแลและใส่ปุ๋ยง่ายดีครับ



 :D...นาอยู่อยู่เชียงแสนครับ...แปลงนี้ติดแม่น้ำจันเลย....ผมทำคันนาใหม่ทุกปีเพราะจะทำให้เก็บน้ำไว้ได้นาน...หญ้าไม่ค่อยขึ้น...เพราะน้ำทั่วถึง...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 10:25:52
ที่นาอยู่แถวไหนครับนี่ ชอบครับคันนาไม่กว้างดูแลและใส่ปุ๋ยง่ายดีครับ


:D...พ่นปุ๋ย,พ่นยา...ไม่ต้องเดินลุยในแปลงนาครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 13:53:37
วันนี้สุดสัปดาห์แล้ว ที่ทำงานหยุด ส อ จ  จะได้มีเวลาพักผ่อนและไปนา ผมก็จะไปใส่ปุ๋ยในวันพรุ่งนี้นา 22 ไร่ ใส่อีก 2 กส.  ครับ  วันอาทิตย์และวันจันทร์คงว่างได้ไปปั่นจักรยานเที่ยวละครับคงวันละ 70-80 ก.ม. ครับ   

มาดู วิวสวย ๆ ของนา ต้าหลี่ ลี่เจียง ประเทศจีนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 14:11:37
การศึกษานอกจากค้นคว้าหาข้อมูล การไปอบรมแล้วผมว่าการท่องเที่ยวก็เป็นอย่างหนึ่งที่เราสามารถได้ความรู้ได้ประสบการณ์ครับ  ผมเห็นรูปทุ่งดอกมัสตาร์ดโหล่วผิง ตอนแรกนึกว่าเป็นทุ่งข้าวที่พร้อมเก็บเกี่ยวแต่กลับไม่ใช่ครับ บ้านเราหากพื้นที่ไหนไม่ได้ทำนาปรังก็มักจะมีการปลูกผัก ปลูกข้าวโพด บ้างก็ไม่ได้ทำอะไรเลยครับ แต่ที่นี่ท้องทุ่งนาหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะมีการปลูกดอกมัสตาร์ด จากอุตสาหกรรมทางเกษตรได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแห่ไปชมความงามของทุ่งดอกมัสตาร์ดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนมีนาคม อาจพอมีเหลือให้เห็นบ้างในช่วงต้นเมษายน แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่พลังศักยภาพด้านการท่องเที่ยวชี้ให้เห็นว่า อนาคตข้างหน้าอาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น  และกลายเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เพราะภาพความงดงามอันยิ่งใหญ่ของทุ่งดอกไม้ ดอกมัสตาร์ด หรือ ดอกอิ๊วใช่ฮัว นั้นคือดอกน้ำมันที่นำไปสกัดเป็นน้ำมันพืชที่ใช้บริโภคในเมืองโหล่วผิงและเมืองใกล้เคียง ส่วนยอดอ่อนก็นำไปทำอาหารได้ รสชาติก็ใกล้เคียงกับผักกวางตุ้งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 20:51:41
เอาเรื่องข้าว เรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ มาพอสมควรครับลองเอาพวกหมวกที่ชาวไร่ชาวนาทั้งไทยและต่างประเทศในสมัยก่อนใช้กันมาบ้างครับ ปัจจุบันอาจมีการใช้ลดน้อยลงไปตามยุคสมัย

เริ่มด้วย

หมวกกุยเล้ย

 "หมวกกุ้ยเล้ย" เป็นชื่อเรียกหมวกของชาวจีน ซึ่งมีชื่อเรียกดั้งเดิมคือหมวกกุยเละ หมวกกุยเล้ย จนปัจจุบันเพียนมาเป็น"หมวกกุ้ยเล้ย"มีลักษณะทรงกลม หัวแหลมเป็นที่นิยมใส่กันแดดเวลาชาวจีนที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ ออกทำนา ทำไร่ ทำสวน แสดงออกถึงวัฒนธรรม ประเพณีที่มีการสืบทอดหัตถกรรมกันมายาวนานโดยการนำวัสดุที่มีอยู่ในชุมชนมาสานเป็นหมวกกุ้ยเล้ย คือไม้ไผ่ ใบไผ่กระดาษถุง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 20:55:26
หมวกกุ๊บไต

“กุ๊บไต” เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวไทใหญ่เรียกกันทั่วไป หรือเรียกอีกชื่อหนึ่ง คือ หมวกจักรสานซึ่งมีประโยชน์ใช้สอย คือใช้สวมศีรษะเพื่อกันแดดหรือกันฝน และสวมในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการเดินขบวนกิจกรรมงานประเพณีต่าง ๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 21:11:16
หมวก NON LA   หมวกจักรสานนี้ค่อนข้างโด่งดังไปทั่วโลกเป็นเอกลักษณ์ของชาวเวียดนาม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 21:22:12
หมวกฟาง (Ueme) หมวกของชาวญี่ปุ่น ที่จริงหมวกฟางของชาวญี่ปุ่นมีหลายแบบเหมือนประเทศไทยที่มีหมวกแต่ละภาคที่ไม่เหมือนกันเช่นเดียวกัน



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 21:27:23
กุบ

กุบ หมายถึง หมวกมีปีกทำจากไม้ไผ่สานประกบกัน ๒ ชิ้นกรุด้วยวัสดุจำพวกใบไม้ ที่สวมสานด้วยไม้ไผ่ การทำกุบเริ่มจากการขึ้นโครง โดยใช้ไม้จริงถากเป็นโครงไว้ภายใน ภายนอกใช้ตอกเส้นเล็ก ๆ วางเรียงขัดตามพิมพ์ของกุบ เมื่อได้โครงแล้ว นำออกจากพิมพ์ก่อนที่จะใช้กระดาษสาหรือผ้าพลาสติกทาบไว้บนโครงที่สำเร็จ จากนั้น ยึดริมด้วยไม้ไผ่เหลา โดยทำให้โค้งกลมตามรูปของกุบ และตกแต่งโดยตัดโครงไม้ที่ยื่นออกมาจากกุบ เพื่อความสวยงาม

ในอดีตกุบเป็นเครื่องใช้ชนิดหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวบ้านทว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ความสำคัญของกุบลดน้อยลง หากไม่นับชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ยังใช้กุบในชีวิตประจำวัน ผู้ที่ใช้กุบในปัจจุบัน ยังคงมีแต่ชาวไร่ชาวสวน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 21:30:50
งอบใบลาน
ลักษณะการใช้ประโยชน์ งอบหรือหมวกปีกกว้างทำมาจากใบลาน คล้ายๆใบตาล ก่อนทำต้องนำตอกไม้ไผ่มาสานเป็นโครงร่างก่อนแล้วจึงนำในลานมาเย็บติดกับโครงไม้ไผ่นั้นจนเต็มจะได้งอบสำหรับใส่ทำงานกลางแดด ป้องกันแดดร้อนได้ดีมาก งอบนั้นส่วนใหญ่จะใส่เฉพาะผู้หญิงจะใส่สำหรับเวลาดำนา หรือเกี่ยวข้าว เพราะทำงานในท้องนาไม่มีกิ่งไม้มาคอยเกี่ยวให้งอบร่วง เพราะในนาต้นข้าวจะอยู่ต่ำกว่าเอวลงไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013, 21:36:26
งอบแบบอื่น ๆ ครับ ชาวนาไทยนิยมใช้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2013, 21:28:53
วันนี้มีงานหลาย ๆ อย่างครับ ตอนแรกคิดว่าจะไปใส่ปุ๋ยแต่มีงานช่วงเช้าและแวะไปดูรถดำนามาครับ แบบเดินตาม 6 แถวราคา 200,000 บาท ถ้าแบบเดินตาม 4 แถวราคา 135,000 บาท ลังเลอยู่เหมือนกันเพราะต้องการรถที่สามารถขึ้นรถกระบะตอนเดียวได้ แบบ 4 แถวได้แน่นอนแต่ 6 แถวไม่แน่ใจเหมือนกันแต่เซลล์ยืนยันว่าได้ ตอนนี้ก็ยังไม่มีสินค้าให้เห็นด้วยต้องรอเค้าจัดงานเดือน เมษายนค่อยมาอีกทีเพราะจะมีโปรโมชั่นพิเศษ เราก็ยังไม่ได้ใช้ค่อยตัดสินใจอีกทีครับ พรุ่งนี้ก็ไปนาไปซ่อมกล้าอีกนิดหน่อยและใส่ปุ๋ยครับข้าวจะเริ่มแตกกอแล้วช่วงนี้ข้าวไม่ควรขาดธาตุไนโตรเจนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2013, 21:58:17
วันนี้มีงานหลาย ๆ อย่างครับ ตอนแรกคิดว่าจะไปใส่ปุ๋ยแต่มีงานช่วงเช้าและแวะไปดูรถดำนามาครับ แบบเดินตาม 6 แถวราคา 200,000 บาท ถ้าแบบเดินตาม 4 แถวราคา 135,000 บาท ลังเลอยู่เหมือนกันเพราะต้องการรถที่สามารถขึ้นรถกระบะตอนเดียวได้ แบบ 4 แถวได้แน่นอนแต่ 6 แถวไม่แน่ใจเหมือนกันแต่เซลล์ยืนยันว่าได้ ตอนนี้ก็ยังไม่มีสินค้าให้เห็นด้วยต้องรอเค้าจัดงานเดือน เมษายนค่อยมาอีกทีเพราะจะมีโปรโมชั่นพิเศษ เราก็ยังไม่ได้ใช้ค่อยตัดสินใจอีกทีครับ พรุ่งนี้ก็ไปนาไปซ่อมกล้าอีกนิดหน่อยและใส่ปุ๋ยครับข้าวจะเริ่มแตกกอแล้วช่วงนี้ข้าวไม่ควรขาดธาตุไนโตรเจนครับ

 :D...เพื่อนผมเอาออกมาละครับ...4แถว...เดี๋ยวต้นเดือนหน้าจะไปช่วยทดลองขับรถดำนาซะหน่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2013, 21:01:32
วันนี้มีงานหลาย ๆ อย่างครับ ตอนแรกคิดว่าจะไปใส่ปุ๋ยแต่มีงานช่วงเช้าและแวะไปดูรถดำนามาครับ แบบเดินตาม 6 แถวราคา 200,000 บาท ถ้าแบบเดินตาม 4 แถวราคา 135,000 บาท ลังเลอยู่เหมือนกันเพราะต้องการรถที่สามารถขึ้นรถกระบะตอนเดียวได้ แบบ 4 แถวได้แน่นอนแต่ 6 แถวไม่แน่ใจเหมือนกันแต่เซลล์ยืนยันว่าได้ ตอนนี้ก็ยังไม่มีสินค้าให้เห็นด้วยต้องรอเค้าจัดงานเดือน เมษายนค่อยมาอีกทีเพราะจะมีโปรโมชั่นพิเศษ เราก็ยังไม่ได้ใช้ค่อยตัดสินใจอีกทีครับ พรุ่งนี้ก็ไปนาไปซ่อมกล้าอีกนิดหน่อยและใส่ปุ๋ยครับข้าวจะเริ่มแตกกอแล้วช่วงนี้ข้าวไม่ควรขาดธาตุไนโตรเจนครับ

 :D...เพื่อนผมเอาออกมาละครับ...4แถว...เดี๋ยวต้นเดือนหน้าจะไปช่วยทดลองขับรถดำนาซะหน่อย

ได้ผลยังไงบอกด้วยนะครับ พี่แถวบ้านแกไปขับรถเกี่ยวข้าวที่กำแพงเพชร พิษณุโลก แกบอกว่าที่นั่นใช้กันเยอะมีลงแขกดำนารถดำนาด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแถวภาคเหนือตอนล่างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2013, 17:04:47
รถปลูกข้าวเดินตามเข้าท่าแฮ่ะ บ่าต้องไปง้อคนปลูกบ่าต้องได้เจ็บเอว ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: purino ที่ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2013, 20:21:13
จุลินทรีย์หน่อกล้วย ทำยังไงหรอคับ พอดีอยากทำ ปุ๋ยน้ำ ขอวิธีทำ จุลินทรีย์ ด้วยนะคับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2013, 22:50:23
จุลินทรีย์หน่อกล้วย ทำยังไงหรอคับ พอดีอยากทำ ปุ๋ยน้ำ ขอวิธีทำ จุลินทรีย์ ด้วยนะคับ

วัตถุดิบ
          1. หน่อกล้วยความยาวไม่เกิน 1 เมตร      น้ำหนัก   3   กิโลกรัม
          2.กากน้ำตาล        1   กก
วิธีการทำ
          1. สับหน่อกล้วยให้ละเอียด
          2. ผสมกากน้ำตาลกับหน่อกล้วยที่สับละเอียดแล้ว คลุกเคล้าให้เข้ากัน บรรจุลงถังที่ฝาแคบปิดให้สนิท
          3. ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จะได้จุลินทรีย์หน่อกล้วย มีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้ม

ข้อบ่งใช้และการเก็บรักษา   
1. เมื่อนำจุลินทรีย์มาผสมน้ำแล้วต้องรีบใช้ให้หมด  เพราะจุลินทรีย์จะตาย ถ้ายังไม่ผสมน้ำ สามารถเก็บได้ประมาณ 3 เดือน หลังจาก 3 เดือน   ให้เติมกากน้ำตาล  เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์   โดยมีอัตราส่วน  จุลินทรีย์ 5 ลิตร  ต่อกากน้ำตาล  1 ลิตร  จะช่วยทำให้จุลินทรีย์อยู่ได้อีกประมาณ 3 เดือน
2. การเก็บจุลินทรีย์ใส่ในภาชนะมีฝาปิด  อย่าใส่ให้เต็ม เผื่อที่ว่างให้อากาศสำหรับจุลินทรีย์ด้วย  และวางในที่อุณหภูมิปกติและแสงแดดส่องไม่ถึง
3. วิธีตรวจสอบว่าจุลินทรีย์ตายหรือไม่   โดยการนำจุลินทรีย์ใส่ขวดมาเขย่า  แล้วสังเกตขณะเปิดฝาขวด จะมีเสียงอากาศดัง  แสดงว่าจุลินทรีย์ยังไม่ตาย สามารถนำไปใช้ได้อีก

การที่น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากหน่อกล้วย สามารถช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชนั้น เนื่องมาจากส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ
          1. กิจกรรมของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในน้ำหมักชีวภาพ ได้แก่ แบคทีเรีย  เชื้อรา และยีสต์
         2.สารอาหารที่สกัดมาจากเซลล์พืช ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน  โปรตีน ฮอร์โมน วิตามินและเอนไซม์ต่าง ๆ
      จุลินทรีย์ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการหมัก  ได้แก่  แบคทีเรีย  เชื้อรา ที่ช่วยในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์(หน่อกล้วย)และเกิดปฏิกิริยาทางชีวเคมีต่าง ๆ ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ 
      จุลินทรีย์ที่พบในกระบวนการหมัก คือ
1.แบคทีเรีย
             1.1         แบคทีเรียในสกุลบาซิลัส (Bacillus sp.)
             1.2         กลุ่มแบคทีเรียผลิตกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria)
             1.3         กลุ่มแบคทีเรียผลิตกรดอะซิติก (Acetic Acid Bacteria)
2.เชื้อรา
                       -  ยีสต์
                       -  ราเส้นใย


f2HWOlVnIFU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2013, 21:31:48
เย็นนี้ไปสำรวจแปลงนาครับ ข้าวนาปรังส่วนใหญ่จะมีอายุ 110-120 วันแล้วแต่พันธุ์ข้าว ตอนนี้ข้าวมีอายุ 37 วันแล้วซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวโตพอจะเริ่มแตกกอแล้วครับ อีก 2 วันผมจะเริ่มลดระดับน้ำบ้างแล้ว แต่ยังคงต้องใส่ปุ๋ย N  เพิ่มเพื่อช่วยในการแตกกอ และ P บ้างในการเสริมสร้างราก ตอนนี้ผมใส่ปุ๋ยไปแล้ว 2 ครั้งคือหนึ่งครั้งของชาวนาทั่วไปแต่ผมแบ่งใส่ 2 ครั้งครับ

นา  22 ไร่
ครั้งแรกหลังคุมหญ้า   ปุ๋ยเคมี  16-20-0  และ 46-0-0  อย่างละ  1 กส.  เป็นเงิน  1590  บาท
ครั้งที่สอง ปุ๋ยเคมี  30-0-0 และ ปุ๋ยอินทรีย์ผสม อย่างละ  2 กส.  เป็นเงิน  2160  บาท
ครั้งที่สามแตกกอ ปุ๋ยเคมี  46-0-0  2 กส. และ 16-20-0 1 กส.   เป็นเงิน  2370  บาท
ครั้งสุดตั้งท้อง ปุ๋ยเคมี  16-20-0 และ  15-15-15  อย่างละ  2 กส.  เป็นเงิน  3280 บาท

รวมเป็นเงินค่าปุ๋ย  9400 บาท  โดยใช้ปุ๋ยเคมี 11 กส. อินทรีย์ 2 กส และมีค่าปุ๋ยขี้หมูบางส่วนอีกประมาณ ร้อยกว่าบาท กส.ละ 6 บาทไปตักเองก่อนหน้านี้เคยใส่ช่วงไถตากไปแล้วบางส่วน นาปรังปีที่แล้วผมใส่ปุ๋ยน้อยกว่านี้ครับได้ไร่ละตันกว่าเหมือนกัน นาปรังปีนี้ลองเพิ่มปุ๋ยไปอีกหน่อยครับจะลองดูว่าจะได้ผลผลิตมากขึ้นหรือไม่

ใครดูผมใส่ปุ๋ยแล้วคงว่าใส่ตลกดีครับ บ้าไปแล้วแน่ๆ  ตอนแรกผมคิดว่าจะซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมครับแต่แถวบ้านหาซื้อไม่ได้ต้องเข้าในเมือง ผมก็ไม่ได้เอารถกระบะเข้าเมืองก็เลยหาซื้อแถวบ้านครับ ปุุ๋ยเคมีเวลาใส่จะเห็นผลเร็วนั่นแสดงว่าข้าวสามารถนำไปใช้ได้เร็วการสลายตัวก็เร็วด้วยเช่นกันผมเลยใส่ตามช่วงที่ข้าวต้องการแม้ข้าวเองจะสามารถสะสมธาตุอาหารได้เองแต่ก็ต้องใช้ในการสังเคราะห์แสงซึ่งก็มีวันหมดก็เลยต้องเติมธาตุเป็นช่วง ๆ ไม่ให้ขาดเพื่อให้การสังเคราะห์แสงมีประสิทธิภาพ การสะสมแป้งก็จะมีมากตามส่งผลต่อผลผลิตที่ได้

มาดูนาครับพึ่งใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาอีก 2-3 วันต้นข้าวคงเริ่มเขียวขึ้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2013, 21:36:22
ข้าวเริ่มแตกกอแล้ว ควรลดระดับน้ำลงเพื่อให้รากเดินไกลและต้นข้าวแตกหน่อมากขึ้นครับ ต้นข้าวควรปลูกห่างจากคันนา เพราะคันนาเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ทั้งราและแบคทีเรีย การปลูกให้ห่างคันนาจึงช่วยป้องกันโรคได้และควรตัดหญ้าคันนาให้สั้นเสมอครับเพื่อให้โดนแดดเผาฆ่าเชื้อตามคันนาด้วยครับ  ดูต้นข้าวผมเริ่มแตกกอให้เห็นบ้างแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2013, 21:48:59
กิจกรรมยามเย็นเวลาไปนาครับหากไม่ได้เอาเครื่องมืออะไรไป มักจะปั่นจักรยานไปช่วยลดต้นทุนเรื่องการดูแลข้าวโดยเฉพาะค่าน้ำมันรถ ได้ออกกำลังกายไปในตัว  จักรยานคันนี้ผมพึ่งทำสีและประกอบเสร็จเป็นจักรยานทัวร์ริ่งที่ใช้สำหรับเดินทางไกลจะมีตะแกรงเหล็กไว้ใส่กระเป๋าทั้งหน้าและหลังปกติราคาหลายหมื่นแต่ผมซื้อมามือสองหลักพัน นักปั่นจักรยานรอบโลกก็จะใช้จักรยานแบบนี้ครับ  ผมมี Plan ไว้ว่าจะปั่นจักรยานคันนี้จากเชียงของไปเวียดนามซักครั้งครับ เคยเห็นคุณน้าคุณลุงนักปั่นหลายท่านก็ปั่นจากเชียงของไปทิเบตบ้าง ปักกิ่งบ้าง เวียดนามบ้างก็หลายท่าน การปั่นจักรยานจึงเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งแม้จะใช้เวลามากก็ตามแต่ได้เก็บรายละเอียดต่าง ๆ ค่อนข้างดีแถมประหยัดด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013, 10:07:16
วันนี้ขี่มอเตอร์ไซด์ผ่านทุ่งนาแปลงหนึ่งครับห่างจากบ้านประมาณ 2 ก.ม. มีอาการเหมือนเพลี้ยลง  แต่ไม่ได้เอากล้องติดตัวไปด้วยเลยไม่ได้จอดแวะถ่ายรูปครับ  ดูลักษณะทั่วไปของต้นข้าวในแปลงมีเหลืองไหม้เป็นบริเวณหย่อมประมาณ 6 ตร.ม. ตรงที่ไม่เป็นใบมีลักษณะเขียวเข้มน่าจะเกิดจากการใส่ปุ๋ยค่อนข้างมากโดยเฉพาะธาตุ N ครับ

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown planthopper)

ลักษณะการทำลาย

ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำ ในขณะเดียวกันจะคอยขับถ่ายมูลน้ำหวาน (honey dew) ออกมา เป็นสาเหตุให้เกิดโรคราดำ เมื่อมีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจำนวนมากดูดกินน้ำเลี้ยงต้นข้าว จะทำให้ต้นข้าวแสดงอาการใบเหลืองแห้ง คล้ายถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งเรียกว่า "อาการไหม้เป็นหย่อม" (Hopper burn) ถ้ารุนแรงมาก ต้นข้าวจะแห้งตาย เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว นอกจากนี้ยังเป็นพาหะนำเชื้อวิสา ซึ่งทำให้เกิดโรคใบหงิกหรือโรคจู๋ (Rice ragged stunt) มาสู่ต้นข้าวอีกด้วย โรคนี้เกิดกับต้นข้าวได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ต้นข้าวอายุตั้งแต่ 15-45 วัน ถ้าได้รับเชื้อโรคจู๋ จะแสดงอาการรุนแรงมาก ส่วนต้นข้าวอายุเกิน 60 วันไปแล้ว ได้รับเชื้ออาการจะไม่รุนแรง ต้นข้าวที่ได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการต้นเตี้ยแคระแกรน และไม่ออกรวงหรือออกรวงน้อย ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม ปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นตามอายุข้าว จากระยะกล้าถึงระยะออกรวง ซึ่งในระยะตั้งท้องและออกรวงมักจะพบประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสูงที่สุด และอาการใบไหม้มักจะเกิดในระยะนี้

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงศัตรูข้าวพวกปากดูด ชอบอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นข้าวและดูดน้ำเลี้ยงจากบริเวณนั้น ตัวเมียจะวางไข่บริเวณเส้นกลางใบหรือกาบใบข้าว ไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีสีขาว ลักษณะเป็นกลุ่ม เรียงเป็นแถวในแนวตั้งฉากกับกาบใบคล้ายหวีกล้วย ทำให้กาบใบเป็นรอยช้ำสีน้ำตาล มองเห็นได้ชัด ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ถึง 200 ฟอง ระยะไข่ใช้เวลา 7 วัน จึงฟักเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อน หลังจากฟักออกจากไข่จะอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นข้าว ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความชื้นสูง ตัวอ่อนมีสีขาว มีการลอกคราบ 5 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 16 วัน และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในระยะตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 มม. กว้าง 1 มม. ตัวเต็มวัยมีรูปร่าง 2 แบบ คือ เป็นได้ทั้งชนิดปีกยาวและชนิดปีกสั้น ตัวเมียมีอายุประมาณ 15 วัน ตัวเมีย 13 วัน มีนิสัยชอบเล่นไฟในเวลากลางคืน

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

พบระบาดทั่วไปในแถบที่มีการปลูกข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี แมลงจะอพยพจากทะเลจีนใต้ จากตอนล่างของประเทศจีนทุกต้นฤดูกาลเพาะปลูก และเพิ่มปริมาณมากขึ้นหลังจากเริ่มลงทำลายข้าว สำหรับในประเทศไทยพบทั่วประเทศ แต่การระบาดถึงกับทำความเสียหาย พบมากโดยเฉพาะในภาคกลาง เช่น จังหวัดนครปฐม ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร การระบาดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งนาปีและนาปรัง พืชอาหาร เช่น ข้าวป่า หญ้าต่างๆ

การป้องกันและกำจัด

1. ควรงดการปลูกข้าวนาปรัง และปลูกพืชอื่นทดแทน เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

2. ควรปลูกข้าวพันธุ์ที่มีความต้านทาน หรือค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหรือพันธุ์อื่นๆที่เกษตรกรพบว่ามีการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลน้อยในฤดูเดียวกัน

3. ควรปลูกข้าวหลายๆพันธุ์ และพยายามหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวพันธุ์เดียวตลอดในท้องที่เดียวกัน

4. ลดการใช้ปุ๋ยยูเรีย

5. ใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่แนะนำ

6. ในนาที่สามารถควบคุมน้ำได้ ถ้าพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในขณะที่ข้าวยังเล็กอยู่ ให้ไขน้ำท่วมยอดข้าว จะช่วยทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ ถ้าพบระบาดในระยะข้าวแตกกอเต็มที่แล้ว ให้ระบายน้ำออกจากนาให้หมด จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศน์ ทำให้ไม่เหมาะสมในการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้

7. หมั่นสำรวจตรวจนับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตามโคนกอข้าวอย่างสม่ำเสมอ ไร่ละ 10 จุด ๆ ละ 10 ต้น (นาหว่าน) ถ้าเป็นนาดำไร่ละ 10 กอ เมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 1 ตัวต่อต้น หรือ 10 ตัวต่อกอ ให้พิจารณาศัตรูธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมในนาก่อนตัดสินใจใช้สารเคมี

8. ควรใช้สารเคมีให้ถูกต้องตามคำแนะนำ และพ่นสารเคมีในจุดที่มีการระบาดเท่านั้น โดยพิจารณาถึงสมดุลย์ของศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ ตลอดจนการวิเคราะห์ระบบนิเวศน์วิทยาด้วย


ศัตรูธรรมชาติ

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีศัตรูธรรมชาติทั้งตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค

1. ตัวห้ำ

1.1 มวนเขียวดูดไข่ (Cyrtorhinus lividipennis) เป็นตัวห้ำในระยะไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีบทบาทในการลดปริมาณของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาก ตัวเต็มวัยสีเขียว หัวและอกสีดำ ลำตัวยาว 2.5 - 3.3 มม. กินไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลประมาณ 7-10 ฟองต่อวัน

1.2 ด้วงเต่า ด้วงเต่าสีส้ม ด้วงเต่าลายหยัก ด้วงเต่าลายสมอ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เป็นตัวห้ำ กินไข่ กินตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล วันละ 5-10 ฟองต่อตัว

1.3 แมงมุง

1.3.1 แมงมุมหมาป่า มีลักษณะเด่นคือส่วนบนหัวใต้ตา มีลายรูปสามง่ามสีน้ำตาลอ่อน ตัวยาว 5-18 มม. ตัวสีน้ำตาลออกดำ แมงมุมชนิดนี้ไม่สร้างใย อาศัยจับเหยื่อบริเวณโคนต้นข้าว ตัวเมียมีอายุประมาณ 3-4 เดือน ปกติถุงไข่จะเกาะติดส่วนท้องของเพศเมีย จนกระทั่งไข่ฟักเป็นตัวและตัวอ่อนยังคงเกาะติดอยู่อีกระยะเวลาหนึ่ง อาหารของแมงมุมนี้ ได้แก่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดด และหนอนกอ เป็นต้น โดยเฉลี่ยแมงมุม 1 ตัว สามารถทำลายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ 3-15 ตัวต่อวัน

1.3.2 แมงมุมตาหกเหลี่ยม ตัวยาว 7-10 มม. ตาเรียงเป็นรูปหกเหลี่ยม ลำตัวมีสีน้ำตาลปนแดง หรือสีเขียวอ่อนสลับขาวตามความยาวของลำตัว อาศัยจับเหยื่อบรเวณใบข้าวแต่ไม่สร้างใยเช่นเดียวกับแมงมุมหมาป่า ตัวเมียผลิตไข่ได้ 200-350 ฟอง มีอายุไข่ประมาณ 3-5 เดือน

1.3.3 แมงมุมสวน ตัวยาว 5-20 มม. ตัวสีน้ำตาลปนเหลือง หัวส่วนกลางและด้านข้างมีลายสีเงินแวววาว แมงมุมชนิดนี้จะชักใยคอยดักเหยื่อบริเวณใบข้าว ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ 600-800 ฟอง มีอายุประมาณ 2-3 เดือน

1.3.4 แมงมุมขายาว ตัวยาว 10-18 มม. ตัวสีน้ำตาลปนเหลืองหรือสีส้ม มีเขี้ยวยาวและใหญ่ ขายาวมาก

1.4 มวนจิงโจ้น้ำ ตัวดำเป็นมัน ลำตัวยาว 1.5 มม. อยู่เป็นกลุ่มตามผิวน้ำหรือโคนต้นข้าว กินเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 7 ตัวต่อวัน

1.5 ด้วงดิน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 3-5 ตัวต่อวัน

1.6 แมลงปอเข็ม ตัวอ่อนแมลงปอเข็มจะคอยจับตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกิน อาศัยอยู่บริเวณโคนกอข้าว

2. ตัวเบียน ตัวเบียนที่สำคัญที่ทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

2.1 แตนเบียนอะนากรัส (Anagrus sp.) ตัวเล็กมาก ยาว 0.8 มม. ตัวสีส้มแดง เป็นตัวเบียนทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 15-30 ฟองต่อวัน ไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ถูกทำลายแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง

2.2 แตนเบียนโอลิโกซิต้า (Oligosita sp.) ตัวเต็มวัยมีสีเหลืองเขียว มีปีกใส เป็นตัวเบียนทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2-8 ฟองต่อวัน

2.3 แตนเบียนซูโดโกนาโตพัส (Pseudogonatopus sp.) เป็นแตนเบียนที่ทำลายตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ประสิทธิภาพในการทำลายค่อนข้างต่ำ รูปร่างคล้ายมด ลำตัวเป็นสีน้ำตาล ตัวเมียไม่มีปีก ตัวผู้จะมีปีก

2.4 เชื้อรา ได้แก่ เชื้อราขาว (Beauveria bassiana) เชื้อราเขียว (Metarhizium sp.) และเชื้อราเฮอร์ซูเทลล่า (Hirsutella citriformis) ทำลายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013, 11:52:51
เมื่อวานสมาชิกเชียงรายโฟกัส คุณ ~ lทวดาไร้ปีก ~ ได้ไปเยี่ยมชมนาของคุณ ลุงทองคำ อินพรม  ที่แม่สายมาครับ เผื่อใครจะไปดูงานบ้างก็น่าจะได้ความรู้ดี ๆ ครับ แถมได้แหนแดงกลับบ้านด้วย

zn8cCVNUfHE


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: kuntawong ที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013, 13:17:26
ฉันจะเป็นชาวนาผู้ยิ่งใหญ่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013, 14:15:17
ฉันจะเป็นชาวนาผู้ยิ่งใหญ่

ยินดีที่ได้รู้จักครับ ยังไงขอให้ความตั้งใจสำเร็จนะครับ ผมก็มีความตั้งใจและความใฝ่ฝันของผมอยู่เหมือนกันก็ค่อย ๆ ทำไปไม่นานก็คงสำเร็จหากเรายังไม่เลิกล้มความตั้งใจไปเสียก่อนครับ 

ช่วงนี้พบเจอบัณฑิตวิศวกรรมหลายท่านที่หันมาทำนา สาขาอื่นก็ไม่น้อย จบระดับอะไรสายอะไรก็ทำนาได้  ผมก็ไม่ได้เรียนจบเกษตรเช่นกัน บางคนก็ว่าจบปริญญาแล้วมาทำนาทำไม ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อยผมว่าอาชีพอะไรก็ตามที่ทำแล้วดีมีความสุขก็ควรจะทำ  จบมาทำงานบริษัท รับราชการ เป็นลูกน้องเขาอาจไม่ได้มีความสุขเสมอไป  พี่ที่รู้จักแกเป็นอาจารย์มหาลัย จบ ป.เอก จากเมืองนอก แกก็ยังทำนาแต่งตัวไม่ได้ต่างอะไรจากชาวนา แกก็ใส่ปุ๋ย พ่นฮอร์โมนเองทุกอย่างทั้งที่จบสูงแกก็ยังทำเลย  อีกหน่อยผมก็คิดจะเป็นนายของตัวเองซักวัน Plan ไว้ไม่เกิน 7 ปี ผมว่าคนที่มีพื้นฐานเรียนมาสูง ๆ ค่อนข้างมีข้อได้เปรียบหากรู้จักอ่าน รู้จักค้นคว้าด้วยตนเองมีความรู้ภาษาต่างประเทศ มีพื้นฐาน(หลายเรื่องถ้ามีพื้นฐานจะเข้าใจเรื่องที่กำลังศึกษาง่ายขึ้นคนจบเกษตรจึงเข้าใจได้เร็วกว่า) ไม่ว่าจะด้วยการอ่าน หรือ การฟัง หรือการค้นจากอินเตอร์เน็ตก็จะดีกับการประกอบอาชีพทุกอาชีพ ไม่ว่าจะทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือทำอะไรก็ตาม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: kuntawong ที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013, 17:20:54
ฉันจะเป็นชาวนาผู้ยิ่งใหญ่

ยินดีที่ได้รู้จักครับ ยังไงขอให้ความตั้งใจสำเร็จนะครับ ผมก็มีความตั้งใจและความใฝ่ฝันของผมอยู่เหมือนกันก็ค่อย ๆ ทำไปไม่นานก็คงสำเร็จหากเรายังไม่เลิกล้มความตั้งใจไปเสียก่อนครับ 

ช่วงนี้พบเจอบัณฑิตวิศวกรรมหลายท่านที่หันมาทำนา สาขาอื่นก็ไม่น้อย จบระดับอะไรสายอะไรก็ทำนาได้  ผมก็ไม่ได้เรียนจบเกษตรเช่นกัน บางคนก็ว่าจบปริญญาแล้วมาทำนาทำไม ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อยผมว่าอาชีพอะไรก็ตามที่ทำแล้วดีมีความสุขก็ควรจะทำ  จบมาทำงานบริษัท รับราชการ เป็นลูกน้องเขาอาจไม่ได้มีความสุขเสมอไป  พี่ที่รู้จักแกเป็นอาจารย์มหาลัย จบ ป.เอก จากเมืองนอก แกก็ยังทำนาแต่งตัวไม่ได้ต่างอะไรจากชาวนา แกก็ใส่ปุ๋ย พ่นฮอร์โมนเองทุกอย่างทั้งที่จบสูงแกก็ยังทำเลย  อีกหน่อยผมก็คิดจะเป็นนายของตัวเองซักวัน Plan ไว้ไม่เกิน 7 ปี ผมว่าคนที่มีพื้นฐานเรียนมาสูง ๆ ค่อนข้างมีข้อได้เปรียบหากรู้จักอ่าน รู้จักค้นคว้าด้วยตนเองมีความรู้ภาษาต่างประเทศ มีพื้นฐาน(หลายเรื่องถ้ามีพื้นฐานจะเข้าใจเรื่องที่กำลังศึกษาง่ายขึ้นคนจบเกษตรจึงเข้าใจได้เร็วกว่า) ไม่ว่าจะด้วยการอ่าน หรือ การฟัง หรือการค้นจากอินเตอร์เน็ตก็จะดีกับการประกอบอาชีพทุกอาชีพ ไม่ว่าจะทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือทำอะไรก็ตาม

ครับผมก็วางแผนไว้เหมือนกันครับ ตอนนี้กำลังเริ่มต้นครับ ชักวันเราต้องทำได้ แล้วอีกอย่างแค่ลำบากกาย ไม่ได้ลำบากใจ เหนื่อยก็ผัก แล้วถ้าเราทำเกษตรแบบผสมเราก็ประหยัดเรื่องกับข้าวอีก   (เจ้านายตัวเองดีที่สุดครับ)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013, 23:50:49
ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาหลาย ๆ ด้านทั้งจำนวนชาวนาลดลง ทั้งที่พื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้นแต่ก็มีทุนนิยมต่างประเทศเข้ามาลงทุนแย่งอาชีพชาวนาไทย มาตั้งโรงสีข้าวในไทยก็มีเชียงรายก็มีให้เห็น  อย่างสิงค์โปร์ซึ่งเป็นประเทศที่ค้าขายเก่งซึ่งมีเงินทุนหลายแสนล้านดอลล่าสหรัฐก็เล็งลงทุนธุรกิจโรงสีข้าวในไทยเช่นกัน  สำหรับปัญหาชาวนาลดลงก็เพราะครอบครัวในปัจจุบันจะมีลูกน้อยและมักมีค่านิยมส่งลูกเรียนสูง ๆ เพื่อหลีกหนีอาชีพชาวนาเพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่ลำบาก อยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน กลับมาดูชาวนารุ่นเก่าซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้เรียนสูงยังไม่ทันต่อเทคโนโลยีทำให้ง่ายต่อการถูกชักนำได้ง่ายส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงและได้ผลผลิตต่ำ  หากมองอนาคตในปี 2558  หากมีการเปิดประชาคมอาเซียน AEC ซึ่งประเทศสมาชิกต้องเปิดตลาดเสรีการค้าและบริการระหว่างกัน ทำให้สินค้าเกษตรอาเซียนที่มีคุณภาพดีกว่าหรือราคาถูกกว่าจะเข้ามาแข่งขันและแย่งตลาด ทำให้ผู้ประกอบการภาคการผลิตทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งเกษตรของไทยที่มีขีดความสามารถในการผลิตต่ำจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีขีดความสามารถในการผลิตสูงกว่าได้ เกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวจึงต้องเร่งหาแนวทางและมาตรการเพื่อปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การปรับพฤติกรรมการผลิต การเพิ่มศักยภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตสินค้าของตนเองเพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศสมาชิกรายอื่นในประชาคมอาเซียนที่เข้ามาแย่งชิงพื้นทีตลาดเดิม  ซึ่งมีการสำรวจแล้วพบว่าชาวนาไทยไม่พร้อมรับมือในการเปิดประชาคมอาเซียน  อีกหน่อยเมื่อมีการแข่งขันก็จะมีมาตรฐานต่าง ๆ เข้ามาใช้ ทั้งมาตราฐานการผลิต สินค้า และการควบคุมสารพิษตกค้าง หากเรายังหลงสบายกับนโยบายรับจำนำ ไม่มีการปรับตัว ไม่ควบคุมต้นทุนในการปลูกข้าวและเพิ่มปริมาณผลผลิต ปี 2558 ก็จะลำบาก อีกหน่อยข้าวพม่า ข้าวเวียดนาม กัมพูชาก็คงเข้ามาตีตลาดบ้านเราแน่นอนเพราะโรงสีสามารถซื้อมาสีได้ในราคาที่ต่ำกว่าข้าวไทยทั้งที่คุณภาพใกล้เคียงกัน สำหรับผู้บริโภคหากคุณภาพข้าวเท่ากันเค้าคงไม่สนใจว่าข้าวไทยหรือข้าวต่างประเทศเค้าก็คงดูข้าวตัวไหนถูกกว่าก็ซื้อข้าวตัวนั้น  หลายคนคงงงว่าทำไมต้องเพิ่มผลผลิตก็เพราะว่าต้องเตรียมรับมาหากราคาข้าวลดต่ำลงยกตัวอย่างเช่น

ปี 2557  นาย ก.  ต้นทุน  3000 บาท  ผลผลิต  1000 กก/ไร่  ข้าวราคา 15 บาท/กก ขายข้าวได้ 15000 บาท  กำไร  12000 บาท
แต่หากปี 2558  ราคาข้าวเหลือ 12 บาท/กก  นาย ก. ก็ต้องเพิ่มผลผลิตให้ได้มากกว่าเดิมเป็น 1250  กก/ไร่ กำไรจึงจะได้เท่ากับ 12000 บาท แต่หากไม่สามารถเพิ่มผลิตได้นาย ก. ก็ต้องลดต้นทุนในการผลิตลงเพื่อชดเชยกำไรที่เสียไป

นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมจะลองปรับตัวมาทำนาปลูก เพื่อควบคุมคุณภาพ ไม่ใช้สารเคมีอันตรายเพื่อลดปริมาณสารพิษตกค้างในนา อีกทั้งยังดีต่อสุขภาพของตัวเราครอบครัวและคนกินข้าวครับ ผมมีญาติที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกิดจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งที่อายุ 53 ปีและไม่กี่ปีก็จะเกษียนอายุราชการแล้ว หมดค่ารักษาพยาบาลเกือบ 2 ล้านบาทแต่ก็ช่วยยื้อเวลาเท่านั้น แม้จะเบิกได้แต่ก็มีค่าใช้จ่ายหลาย  ๆ อย่างที่ต้องเสีย เบิกไม่ได้ ซึ่งก็ไม่คุ้มครับกับคำว่าง่ายสะดวกดี เงินเกือบ 2 ล้านสามารถนำมาจ้างแรงงาน มาซื้อเครื่องจักรทดแทนแรงงานได้ตั้งเยอะ บางคนชอบใช้ยาฆ่าหญ้าแทนการตัดหญ้าคันนาเพราะเห็นว่าอยู่ได้นานกว่า ผมว่าเลี่ยงอะไรได้ก็เลี่ยงครับ ยังไงขอเป็นกำลังใจกับชาวนารุ่นใหม่ที่ไม่ใช้สารเคมีอันตราย และปรับลดการใช้ปุ๋ยเคมีเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ครับ  ผมก็กำลังพยายามอยู่เช่นกัน นาปลูกคงช่วยลดเรื่องปุ๋ยเคมีได้บ้างครับ ดินเริ่มดีกว่าแต่ก่อนมากและตั้งใจจะไม่ใช้สารเคมีอันตรายอีกต่อไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 09:31:25
แปลงนาเมื่อวานที่ว่าครับ ลองจอดรถดูแล้วไม่ใช่จากเพลี้ยครับเป็นเพาะการพ่นยาฆ่าหญ้านั่นเอง แปลงนี้เสียดายที่เป็นแปลงนาดำโดยรถปลูกครับแต่เจ้าของไม่ควบคุมระดับน้ำและกำจัดหญ้าวัชพืชเมื่อยังเล็ก ๆ อยู่ สุดท้ายเมื่อหญ้าขึ้นแซงต้นข้าวก็เลยพ่นยาฆ่าหญ้าครับ ต้นข้าวก็ได้รับยาด้วยทำให้ข้าวหยอดหรือชะงักการเจริญเติบโตไปหลายวันซึ่งมีผลในการแตกกอ ยิ่งเป็นช่วงข้าวตั้งท้องจะมีผลต่อการออกรวงข้าวด้วย หากโดนมาก ๆ ข้าวก็ตายด้วยเช่นกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 09:54:26
บทความเทอดพระเกียรติ์

ในหลวง.. กับพืชที่เรียกว่าข้าว

(http://www.welovethekingradio.com/content/pictures/kingandrice_2.jpg)

ข้าวนี้มีคุณ

“...ข้าวที่ออกเป็นสีลักษณะนี้เป็นข้าวที่มีประโยชน์ อย่างข้าวกล้อง คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกินกัน เพราะเห็นว่าเป็นข้าวของคนจน ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเมล็ดสวยแต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว...

มีคนบอกว่า คนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี้ก็คนจน...”


(พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่สื่อมวลชน วันที่ 18 พฤศจิกายน 2541)


"ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก.."


(พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริ ที่บ้านโคกกูแว จ.นราธิวาส วันที่ 28 กันยายน 2536)


"ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมี ความยากลำบากอยู่ มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่นๆบ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป"


(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พฤษภาคม 2504 จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพั
พัฒนาข้าวไทย : หน้า 2)


"...ในสมัยปัจจุบัน อาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้น ของชีวิตมนุษย์ ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูก ก็จะไม่มีวัตถุดิบที่จะมาเป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้นต้องทำการกสิกรรม..."


(พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคม ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2521
จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 2)


"ในอนาคต...ข้าวไร่มีบทบาทมากเพราะไม่ต้องใช้น้ำมาก และอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ สำหรับพวกข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ให้เป็นพืชเสริมสำหรับแปรรูป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวเขาและเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง"

(กระแสพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จทอดพระเนตรแปลงทดลองข้าว ณ สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519
จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 13)

การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาข้าว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว..ทรงตระหนักถึงความสำคัญของข้าวว่าเป็นอาหารหลักของคนไทย และเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ จึงทรงให้ความสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาข้าวอย่างต่อเนื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการวิจัยและส่งเสริม การปลูกข้าวนาสวน ข้าวไร่ ตลอดจนการปรับปรุงระบบการผลิตข้าวในโครงการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ 6 แห่ง คือ


-  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ
-  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ
-  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ
-  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ
-  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
-  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ


โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ดำเนินการทางด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นแหล่งความรู้ ทรงทุ่มเทเพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะการทดลองเกี่ยวกับการผลิตข้าวอย่างครบวงจร ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ในปี พ.ศ. 2504 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว(ปัจจุบันคือกรมวิชาการเกษตร) ดำเนินการจัดทำแปลงนาในบริเวณสวนจิตรลดา และนำพันธุ์ข้าวต่างๆมาปลูกทดลองเพื่อทำการศึกษา โดยในครั้งแรกทรงขับรถไถนาเตรียมแปลงหว่านข้าว และทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง
 
ปัจจุบันแปลงนาข้าวทดลอง เป็นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดี ซึ่งส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในภาคต่างๆ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากนาข้าวทดลอง จะนำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และนำไปบรรจุซองเล็กๆ จัดเป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" แจกจ่ายให้กับพสกนิกรและเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ


ระบบสหกรณ์

"ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ย และทำลายคุณภาพดิน แต่ควรศึกษาสภาวะการตลาดการเกษตร ตลอดจนการควบคุมราคาผลิตผลไม่ให้ ประชาชนได้รับความเดือนร้อน" (จาก หนังสือ "ใต้ร่มพระบารมี" 20 ปี กปร. หน้า 66)


"เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก...


เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้


เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้น หรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสาร ก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก ... ข้าวเปลือกถูก แล้วก็ทำให้ข้าวสารแพง คือว่าชาวนาทำนาไปตลอดปี ก็ต้องบริโภค เมื่อต้องบริโภคก็ต้องเอาสิ่งของ ต้องไปติดหนี้เขามาสำหรับหาสิ่งของบริโภค แล้วก็เอาเครื่องบริโภคก็ได้รับบริการอย่างดีที่สุดจากผู้ที่มาซื้อข้าว บอกว่าไม่ต้องเอาข้าวมาเดี๋ยวนี้ เวลาได้ผลแล้วก็จะเอา แต่ว่าเอาสิ่งของมาให้แล้วก็เชื่อ ของนั้นก็มีราคาแพง เพราะว่านำมาถึงที่ ข้าวที่เวลาได้แล้วจะขายก็ต้องขายในราคาถูก เพราะว่าเขามักรับถึงที่


อันนี้เป็นปัญหาสำคัญถ้าจะแก้ปัญหานี้ ก็จะต้องแก้จุดนี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป "


(พระราชดำรัส ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514
จากหนังสือ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 6-7)


ไม่ว่าจะเสด็จประพาสยังท้องถิ่นชนบทที่ทุรกันดาร ณ แห่งหนใด พระองค์จะทรงแนะนำให้นำ หลักการสหกรณ์มาใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพซึ่งข้อดีของระบบนี้ คือ สอนให้ราษฎรรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ลดการเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลางและนายทุน ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มราคาผลิตผลของตนเอง โครงการสหกรณ์ตามพระราชดำริ จึงเกิดขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกิจการโรงสีข้าว ธนาคารข้าว ธนาคารโคและกระบือ เป็นการดำเนินงานโดยใช้หลักของระบบสหกรณ์ทั้งสิ้น



ธนาคารข้าว

"ธนาคารข้าว... ให้มีคณะกรรมการควบคุม ที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บรักษา และพิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคยามจำเป็น ให้คงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่ง เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ย (ข้าว) จำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวซึ่งเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวบรวมไว้ในธนาคาร และถือเป็นสมบัติของส่วนรวม...ราษฏรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้น และจะมีข้าวสำหรับบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวจะเป็นแหล่งที่รักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย"


(ทรงพระราชทานแนวทางดำเนินงานธนาคารข้าวแก่ราษฎรชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2519 จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 8)


ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารข้าว เพื่อเป็นการเก็บรักษาข้าวไว้บริโภคเมื่อขาดแคลน โดยมีผู้เก็บพิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ราษฎรที่ต้องการยืมข้าวให้ลงบัญชีไว้ เมื่อเก็บเกี่ยวได้แล้วให้นำมาคืนธนาคารพร้อมด้วยดอกเบี้ย(ข้าว) นำมาเก็บในธนาคารเป็นสมบัติของส่วนรวม ธนาคารข้าวยังเป็นการสร้างรากฐานของการพัฒนา สร้างความสามัคคี รู้จักการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา มีส่วนร่วม มีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีแก่ชุมชนนั้นต่อไปในอนาคต

ขอขอบพระคุณ : คุณ yyswim แห่ง bloggang.com สำหรับบทความดี ๆ

ที่มา : คัดจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yyswim&month=31-10-2005&group=6&gblog=11


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 09:57:08
ในหลวงกับเทคโนโลยีการเกษตร

ทฤษฎี "แกล้งดิน" อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


(http://4.bp.blogspot.com/_d18hTsy7PSQ/R14GaJsrYrI/AAAAAAAAAUo/f85pVkIv6dU/s320/03.jpg)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2524 ทรงพบว่า หลังจากมีการชักน้ำออกจากพื้นที่พรุเพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรและเป็นการบรรเทาอุทกภัยนั้น ปรากฎว่าดินในพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุดและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วยการแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรีย์วัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อย อยู่ข้างบนและมีระดับความลึก 1-2 เมตรเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (Pyrite : FeS2) อยู่มาก ดังนั้นเมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 09:58:43
ทฤษฎีใหม่ : การบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรตามพระราชดำริ

(http://4.bp.blogspot.com/_d18hTsy7PSQ/R14XLJsrYtI/AAAAAAAAAU4/zexPJ26J-pg/s320/04.jpg)

ในทุกคราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้นได้ทรงถามเกษตรกรและทอดพระเนตรพบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการปลูกข้าวและเกิดแรงดล พระราช หฤทัย อันเป็นแนวคิดขึ้นว่า

1. ข้าวเป็นพืชที่แข็งแกร่งมาก หากได้น้ำเพียงพอจะสามารถเพิ่มปริมาณเม็ดข้าวได้มากยิ่งขึ้น
2. หากเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ได้แล้ว นำมาใช้ในการเพาะปลูกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นเช่นกัน
3. การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นับวันแต่จะยากที่จะดำเนินการได้เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและข้อจำกัด ของปริมาณที่ดิน เป็นอุปสรรคสำคัญ
4.หากแต่ละครัวเรือนมีสระน้ำประจำไร่นาทุกครัวเรือนแล้วเมื่อรวมปริมาณกันก็ย่อมเท่ากับปริมาณในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แต่สิ้นค่าใช้จ่ายน้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงมากกว่า
ในเวลาต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำการทดลอง"ทฤษฎีใหม่"เกี่ยวกับการจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรขึ้นณวัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี

แนวทฤษฎีใหม่กำหนดขึ้นดังนี้ให้แบ่งพื้นที่ถือครอง ทางการเกษตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทย มีเนื้อที่ดินประมาณ 10-15 ไร่ต่อครอบครัว แบ่งออกเป็นสัดส่วน 30-30-30-10 คือ

ส่วนแรก :
ร้อยละ 30 เนื้อที่เฉลี่ย 3 ไร่ ให้ทำการขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก โดยมีความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้จุถึง 19,000 ลูกบาศก์เมตรโดยการรองรับจากน้ำฝน ราษฎรจะสามารถนำน้ำนี้ไปใช้ในการเกษตร ได้ตลอดปีและยังสามารถเลี้ยงปลาและปลูกพืชน้ำ พืชริมสระเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนที่สอง :
ร้อยละ 60 เนื้อที่เฉลี่ย ประมาณ 10 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกพืชผลต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็น2ส่วนคือร้อยละ30ในส่วนที่หนึ่ง:ทำนาข้าวประมาณ5ไร่ร้อยละ30ในส่วนที่สองปลูกพืชไร่หรือพืชสวนตามแต่สภาพ ของ พื้นที่และภาวะตลาด ประมาณ 5 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวนโดยใช้หลักเกณฑ์ว่า ในพื้นที่ทำการเกษตร นี้ต้องมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ถ้าหากแบ่ง แต่ละแปลงเกษตรให้มีเนื้อที่ 5 ไร่ ทั้ง 2 แห่งแล้ว ความต้องการน้ำจะต้อง ใช้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะต้องเป็นน้ำสำรองไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง

ส่วนที่สาม :
ร้อยละ 10 เป็นพื้นที่ที่ เหลือ มีเนื้อที่เฉลี่ยประมาณ 2 ไร่ จัดเป็นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง คันคูดินหรือคูคลอง ตลอดจนปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวพระราชดำริใหม่ที่บัดนี้ได้รับการพิสูจน์และยอมรับกันอย่าง กว้างขวางในหมู่เกษตรกรไทยแล้วว่า พระราชดำริของพระองค์เกิดขึ้นด้วย พระอัจฉริภาพ สูงส่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ความสมบูรณ์พูนสุขแห่งราชอาณาจักรไทย อุบัติขึ้นในครั้งนี้ด้วยพระปรีชาสามารถอันเฉียบแหลมของพระมหากษัตริย์ไทยผู้มิเคยทรงหยุดนิ่งที่จะระดมสรรพกำลังทั้งปวงเพื่อความผาสุข ของชาวไทย




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 10:02:10
ในหลวงกับน้ำ

“… หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”  พระราชดำรัส 17 มีนาคม 2539

(http://www.sarasarn.com/wp-content/uploads/1999/12/cover_7.jpg)

สังคมไทยมีรากฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม การปลูกข้าวเป็นผลผลิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศ วิถีชีวิตของคนเพาะปลูกข้าว จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการรังสรรค์วัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ ทั้งวัฒนธรรมการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมการกินอยู่ วัฒนธรรมทางความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมทางภาษา และตลอดจนการแสดงออกต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกได้ว่า “เป็นวัฒนธรรมข้าว” (Rice Culture)

(http://www.sarasarn.com/wp-content/uploads/1999/12/nam_1.jpg)

แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้เน้นการพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งเป็นสำคัญ แต่ทรงให้ความสำคัญ และเน้นการพัฒนาในทุกด้านอย่างสัมพันธ์กัน ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านสังคม รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งตามแนวพระราชดำริในการพัฒนาเช่นนี้ จะเป็นผลให้เกิดความสมดุลต่อการพัฒนาประเทศ และกล่าวได้ว่า วิธีการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยการยึดหลักความต้องการที่แท้จริงของประชาชน สภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชนในสังคมนั้นเป็นหลัก

(http://www.sarasarn.com/wp-content/uploads/1999/12/nam_2.jpg)

“น้ำ” คือชีวิตของราษฎร ในหลวงของเราจึงทรงงานอย่างหนัก เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์อยู่เย็นเป็นสุข มีงานทำตามอัตถภาพ


พระปรีชาสามารถในการจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการกินอยู่ของพสกนิกร ผ่านแนวพระราชดำริมากมาย จนได้รับขนานพระนามว่า “ครูทรัพยากรน้ำของแผ่นดิน”


(http://www.sarasarn.com/wp-content/uploads/1999/12/nam_3.jpg)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 10:38:07
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องนาข้าว

1. ปัจจุบันประชากรทั่ว 7,068,600,000 คน(มากกว่าครึ่งของประชากรทั้งโลก)นิยมบริโภคข้าว
มากกว่าขนมปังและมีแนวโน้มว่าจะมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงตลาดข้าว โลกที่มีโอกาสโตขึ้น
               
2. ทั่วโลกมีข้าวประมาณ 120,000 สายพันธุ์......ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ที่ได้มากหรือ
น้อยต่างกันนั้น นอกจากข้อจำกัดของลักษณะทางสายพันธุ์แล้ว สภาพอากาศ สภาพแวดล้อมและเทคนิคการปฏิบัติบำรุงก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย                             
                               
ข้าวไวแสง  หมายถึง  ข้าวสายพันธุ์ที่ปลูกแล้วเจริญเติบโตได้ดีในช่วงกลางวันสั้นกว่ากลางคืน หรือวันสั้นซึ่งมีแสงน้อยกว่า 12 ชม. เหมาะสำหรับปลูกเป็นข้าวนาปีหรือปลูกในฤดูฝนแล้วให้ออกดอกในต้นฤดูหนาว                     
 
ข้าวไม่ไวแสง หมายถึง  ข้าวสายพันธุ์ที่ปลูกแล้วเจริญเติบโตได้ดีทุกฤดูกาลตราบเท่าที่มีน้ำอย่างเพียงพอ ปริมาณแสงไม่มีอิทธิผลต่อการเจริญเติบโต เหมาะสำหรับปลูกเป็นข้าวนาปรังหรือช่วงฤดูร้อน
                     
           
ข้าวพันธุ์พื้นเมืองไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีแต่ตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์ดีมาก  ทั้งนี้เป็นเพราะสายพันธุ์ได้ผ่านกระบวนการพัฒนามาโดยธรรมชาติ  ในขณะที่ข้าวลูกผสมหรือสายพันธุ์ที่สร้างขึ้นมาใหม่จำเป็นต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี  คงเป็นเพราะเทคโนโลยีในการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีเรื่อง  “เชิงพานิช”  เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง             
       

3. ข้าวอายุสั้นฤดูกาลเดียว ปลูกได้ทุกพื้นที่และทุกฤดูกาลที่มีน้ำ โดยหลังเมล็ดงอก 90-
120 วัน (ตามชนิดของสายพันธุ์)ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้  เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดที่มีอินทรีย์วัตถุมากๆ โปร่งร่วนซุย น้ำและอากาศผ่านสะดวก               
 

4. ข้าวไม่มีฤดูกาล  ลงมือหว่าน/ดำเมื่อใดให้นับต่อไปอีก 90-120 วัน ก็เก็บเกี่ยวได้ การทำ
นาข้าวส่วนใหญ่รอน้ำฝนอย่างเดียว โดยเริ่มลงมือดำ/หว่านเมื่อถึงฤดูฝน  จึงทำให้มีข้าวออกสู่ตลาดพร้อมกันทั้งประเทศ (พ.ย.และ มี.ค. ข้าวเปลือกล้นตลาด) ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกถูกลง เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะข้าวล้นตลาด นาในเขตชลประทานซึ่งมีน้ำบริบูรณ์ สามารถผันน้ำเข้าแปลงนาได้ทุกเวลาที่ต้องการ  ควรวางแผนหว่าน/ดำ ก่อนหรือหลังนาน้ำฝน 1½ เดือน-2 เดือน จะทำให้เก็บเกี่ยวได้ก่อนหรือหลังนาน้ำฝน 1½-2 เดือน ซึ่งช่วงนี้ข้าวเริ่มมีราคาดีขึ้นแล้ว  หลังจากจัดตารางช่วงการทำนาได้ ในปีแรกก็จะใช้ตารางช่วงการทำนานี้ได้ตลอดไป

ข้าวเปลือกเก็บในที่ควบคุม (ไซโล) ยังไม่สีเอาเปลือก (แกลบ)ออก จะยังคงรักษากลิ่นไว้ได้ เมื่อนำออกสีก็ยังได้กลิ่นเดิม แต่หากสีเอาแกลบออกแล้วกลิ่นจะอยู่ได้ไม่นานแม้จะจัดเก็บอย่างดี.....
ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ (ไม่มีแกลบ)แต่จมูกข้าวยังอยู่ สามารถนำไปเพาะขายพันธุ์ได้เหมือนเมล็ดที่ยังมีแกลบห่อหุ้มทุกประการ.....เมล็ดข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือไม่มีแกลบ ทดสอบด้วยการใช้ฟันกัดเมล็ดด้านปลาย (ตรงข้ามกับจมูกข้าว) จะสัมผัสได้กับกลิ่นตามสายพันธุ์ของข้าวพันธุ์นั้น
               
     

5. นาข้าวเป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่มีประชากรทำมากที่สุด หรือมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดจนได้รับสมญาว่าเป็นชาวนา คือ กระดูกสันหลังของชาติ และข้าวเป็นพืชอายุสั้นฤดูกาลเดียว ชนิดเดียวที่มีโรคและแมลงศัตรูพืชมากที่สุด
                                             

6. เมล็ดพันธุ์ข้าวบางสายพันธุ์ไม่มีระยะพักตัว บางสายพันธุ์มีระยะพักตัวยาว  หรือ  0-80 วัน
ดังนั้น ก่อนหว่าน/ดำจำเป็นต้องรู้ระยะพักตัวของเมล็ดพันธุ์ด้วย.....เมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวในช่วง
แล้ง อุณหภูมิร้อนมักมีระยะพักตัวสั้น ความสำคัญของระยะพักตัว คือ เมล็ด พันธุ์ที่ผ่านระยะพักตัวครบกำหนดตามธรรมชาติของสายพันธุ์  จะให้เปอร์เซ็นต์งอกสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ที่พักตัวไม่ครบกำหนด หรือไม่ได้พักตัวเลย หรือพักตัวเกินกำหนด               
                   

7. การใส่ปุ๋ยแต่งหน้า หรือใส่ปุ๋ยทันทีหลังปักดำ (นาดำ) หรือเมล็ดพันธุ์เริ่มงอก (นาหว่าน)ไม่เกิดประโยชน์ เพราะต้นกล้ายังไม่พร้อมรับและยังไม่มีความจำเป็นต้องให้ ทั้งนี้ระยะที่ต้นกล้างอกใหม่ๆ จะใช้สารอาหารที่มีอยู่ในเมล็ดตัวเอง (แป้งโปรตีน ไขมัน วิตามิน ฯลฯ) เป็นหลัก
               
     

8. แปลงนาน้ำพอแฉะหน้าดิน ตอบสนองต่อปุ๋ย(เคมี-อินทรีย์)ดีกว่าแปลงนาน้ำขัง สังเกตแปลงนาต้นข้าวที่ขึ้นในแปลงบริเวณรอยต่อระหว่างที่ลุ่มกับที่ดอนซึ่งมีน้ำพอแฉะดินไม่ท่วมโคนต้น ต้นข้าวบริเวณนั้นมักเจริญเติบโต สมบูรณ์ แตกกอมีจำนวนลำมากกว่าต้นข้าวในบริเวณที่มีน้ำหล่อโคนต้น แสดงว่าธรรมชาติหรือนิสัยของต้นข้าวชอบน้ำพอดินแฉะเท่านั้น
               

9. แก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์จากอากาศมีประโยชน์ต่อต้นข้าวในการสร้างแป้งหรือเปลี่ยนธาตุอาหารต่างๆ ให้เป็นแป้ง                 
     

10. ข้าวที่ปลูกระยะระหว่างกอห่างๆ แล้วบำรุงให้แต่ละกอแตกหน่อเกิดเป็นลำใหม่จำนวนมากจะให้ผลผลิตดีกว่าทั้งคุณภาพและปริมาณ เมื่อเทียบกับการปลูกระยะระหว่างกอชิดมากๆ แต่ละกอจะแตกหน่อเกิดเป็นลำใหม่น้อยๆ ปริมาณและคุณภาพไม่ดีนัก         
       

11. การลดความสูงต้นของต้นข้าว ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและคุณภาพ นอก  จากนี้ยังทำให้ต้นแข็งแรงไม่ล้มหักง่าย และโรคแมลงเข้ารบกวนน้อยอีกด้วย....ลำต้นสูงมากๆ ทำให้สิ้นเปลืองน้ำเลี้ยงไปสร้างลำต้น จึงทำให้มีสารอาหารเหลือไปเลี้ยงรวงน้อย หรือ ฟางมากเมล็ดน้อย-ฟางน้อยเมล็ดมาก....ต้นข้าวในน้ำที่ระดับพอเปียกหน้าดิน (ดินแฉะเล็กน้อย) จะแตกกอได้จำนวนมากกว่าต้นข้าวที่ปลูกในน้ำขังค้าง หรือท่วมโคน....ข้าวลำต้นสูง (น้ำมาก ไนโตรเจนมาก) จะมีรวงสั้น แต่ข้าวลำต้นสั้น (น้ำพอแฉะหน้าดิน สารอาหารสมดุลทุกตัว)จะมีรวงยาว...ต้น ข้าวช่วงระยะกล้าที่ไม่ได้ให้ 46-0-0 แต่ให้ 16-8-8 แทน ควบคู่กับช่วงตั้งท้องแต่งตัวให้  0-42-56 โดยฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ  จะช่วยให้ต้นข้าวไม่สูงแต่กลับเจริญเติบโตข้างอวบอ้วน เหมือนต้นไม้ผลมีอาการอั้นตาดอก....การตัดใบยอดช่วงตั้งท้องแต่งตัวก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ต้นข้าวไม่สูงต่อ แล้วอวบ อ้วนเหมือนอั้นตาดอกได้เช่นกัน                       

12. ต้นข้าวที่ปลูกโดยวิธีปักดำ ฐานรากยึดดินลึกและแน่น สามารถต้านทานการล้มได้ดีกว่าปลูกแบบหว่าน.....เทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัจจุบันมีเครื่อง (รถ)ดำนา ด้วยการปักต้นกล้าข้าวลงดินโดยตรง สามารถจัดปรับระยะห่างระหว่างกอได้ตามความต้องการและ ทำงานด้วยแรงงาน 2 คน...เครื่อง(รถ) หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว ขับเคลื่อนตัวเองหรือลากด้วยรถไถเดินตาม หยอดเมล็ดเป็นหน้ากว้าง 2.5-3 ม. ทำงานด้วยแรงงานเพียง 1 คน เมล็ดพันธุ์ที่ถูกหยอดลงบนผิวขี้เทือกจึงเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่หว่านด้วยมือ แต่ระยะห่างระหว่างเมล็ดต่อเมล็ดสามารถกำหนดได้ตามความต้องการ
               
       
13. ดอกข้าวเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน และผสมกันเอง
ได้.....ดอกจะเริ่มบานจากส่วนปลายรวงลงมาโคนรวง ดอกบานครบทั้งรวงใช้ระยะเวลาประมาณ 7วัน และช่วงดอกบานควรงดการฉีดพ่นทางใบเพราะอาจทำให้เกสรเปียกชื้นจนผสมไม่ติดได้ หรือผสมติดก็ได้คุณภาพเมล็ดไม่ดี
             
ดอกข้าวที่บานในวันอากาศสดใสแสงแดดดีช่วงเช้าถึงเที่ยงจะผสมเกสรติดเป็นผล(เมล็ด)ได้ดี ซึ่ง
ดอกข้าวจะบานและเกสรพร้อมผสมได้ภายในระยะเวลา 30-60 นาที
- ระยะข้าวเป็นน้ำนม ใช้เวลาประมาณ 7 วันหลังผสมติด                       
- ระยะข้าวเม่าหรือเป็นไต ใช้เวลาประมาณ 14-21 วันหลังผสมติด
- ระยะเมล็ดแก่เต็มที่หรือระยะเก็บเกี่ยว ใช้เวลาประมาณ 30 วันหลังผสมติด
               

14. อากาศหนาว (15-20 องศาเซลเซียส/ภาคเหนือเกิดน้ำค้างแข็ง)ติดต่อกัน 10 วันมีผลต่อ
ต้นข้าวหลายอย่าง เช่น เมล็ดไม่งอก ต้นกล้าโตช้า ต้นแคระแกร็น ใบเหลือง ออกดอกช้า และช่วงออกดอกเป็นช่อดอกอ่อนเกสรจะฝ่อ ผสมไม่ติด หรือผสมติดก็เป็นเมล็ดลีบ แก้ไขโดยให้ แม็กเนเซียม+ สังกะสี + กลูโคส หรือ ฮอร์โมนทางด่วน ล่วงหน้าก่อนหนาว 2-3 วัน และให้ระหว่างอากาศหนาว ทุก 2-3 วัน จนกว่าอากาศหายหนาว
                         

15. อากาศร้อน (สูงกว่า 35 องศาเซลเซียส) ช่วงข้าวหลังผสมเกสรติดหรือเริ่มเป็นน้ำนมจะกลายเป็นข้าวลีบมาก แก้ไขโดยการให้ ธาตุรอง/ธาตุเสริม + เอ็นเอเอ.+ ฮอร์ โมนทางด่วน ล่วงหน้าก่อนอากาศร้อน 2-3 วัน และให้ระหว่างอากาศร้อน ทุก 2-3 วัน จนกว่าอากาศจะปกติ
               
       
16. สายลมแรงมากทำให้ต้นข้าวเครียด เนื่องจากต้องคายน้ำมาก มีผลทำให้เมล็ดข้าวลีบ รวงจะเป็นสีขาวคล้ายถูกหนอนกอทำลาย วิธีแก้ไขเหมือนช่วงอากาศร้อนจัด
                 

17. การนับอายุข้าว นาดำเริ่มนับที่วันปักดำ ส่วนนาหว่านเริ่มนับที่วันหว่าน แต่อย่างไรก็ตาม ใน
ธรรมชาติไม่มีตัวเลข ทุกอย่างต้องขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานด้านการเกษตรทั้งสิ้น
               

18. ตกกล้าสำหรับนาดำ ระหว่างการตกกล้าในกระบะ (ตาป๊อก) กับการตกกล้าในแปลงบนพื้นใช้เวลา 16-20 วัน เท่ากัน แต่ต้นกล้าในแปลงบนพื้นจะสูงกว่า.....ต้นกล้าในกระบะเหมาะสำหรับใช้ปักดำด้วยเครื่องดำนาส่วนต้นกล้าในแปลงบนพื้นเหมาะสำหรับปักดำด้วยมือ
               

19. ในนาหว่าน ถ้าระดับน้ำท่วมเมล็ดมาก (น้ำลึก)เมล็ดจะงอกช้าเพราะในน้ำมีอากาศน้อย หลัง
จาก งอกขึ้นมาแล้วลำต้นจะสูงและอ่อนแอ แต่ถ้าหว่านเมล็ดระดับน้ำพอท่วมเมล็ดหรือท่วมน้อยที่สุดจะงอกเร็วเพราะเมล็ดพันธุ์ได้รับอากาศดี
                       

20. ระดับอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส เมล็ดพันธุ์งอกได้ดีที่สุด....อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา
เซลเซียสเมล็ดพันธุ์จะไม่งอก....การทำให้เมล็ดพันธุ์อบอุ่น โดยหลังจากแช่น้ำ 24 ชม. แล้วนำ
ขึ้นกองบนพื้นซีเมนต์ ปิดทับด้วยพลาสติกนาน 24 ชม. อุณหภูมิในกองจะสูงขึ้นส่งผลให้ได้
เปอร์เซ็นต์งอกสูง                 
       

21. ต้นข้าวที่เจริญเติบโตในช่วงอุณหภูมิสูง จะเจริญเติบโตเร็ว และให้ผลผลิตดีกว่าต้นข้าวที่เจริญเติบโตในช่วงที่อุณหภูมิต่ำ                           
     

22. ต้นกล้าที่มีขนาดอวบอ้วน น้ำหนักมาก จะเจริญเติบโตเร็วและให้คุณภาพผลผลิตดีกว่าต้นกล้าผอม น้ำหนักน้อย..ต้นข้าวที่สมบูรณ์ ภายใต้ปัจจัยพื้นฐานแห่งการเพาะปลูกจะแตกใบใหม่ทุก 7 วัน
                 
     
23. นาดำ  ปักดำกล้ากอละ 1 หรือ 2 ต้น หรือมากว่า ให้ผลผลิตไม่ต่างกันแต่สิ้นเปลืองต้น
กล้า แรงงาน และเวลาต่างกัน                       
     

24. การใส่ปุ๋ยเคมีที่มีอัตราส่วนไนโตรเจน.สูง ฟอสฟอรัส.และโปแตสเซียม.ต่ำ เช่น 16-8-8
หรือ 25-7-7 หรือ 46-0-0 + 16-16-16 อัตรา 1:1  จะช่วยให้ต้นข้าวแตกหน่อดีกว่าการ
ใส่ไนโตรเจน. เดี่ยวๆ
               
                                 
25. ข้าวหอมมะลิ กข.105 ถือกำเนิดที่ จ.ฉะเชิงเทรา ดังนั้นจึงไม่น่าที่จะปลูกในพื้นที่จังหวัด
อื่นๆไม่ได้ การที่ข้าวหอมมะลิ กข.105 มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวนั้น นอกจากเป็นผลงานของจุลินทรีย์ชนิดแล้ว ลักษณะสภาพโครงสร้างของดินที่มีเกลือสินเธาว์ก็น่าจะมีส่วนด้วย
             
ข้าวพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ กับข้าวพันธุ์ข้าวขาวหอมมะลิ เป็นข้าวละสายพันธุ์และมีคุณสมบัติแตกต่างกัน


26. ต้นข้าวที่ขึ้นห่างๆ จะแตกกอจำนวนมาก  แต่ละกอมี 20-30 ลำ 1 ลำได้ผลผลิต 1 รวง
ต้นและใบที่ได้รับแสงแดดเต็มที่จะส่งผลให้คุณภาพผลผลิตดี โรคแมลงรบกวนน้อย การเดินเข้าไปตรวจแปลงง่ายและสะดวก......ต้นข้าวที่ขึ้นถี่ๆจะแตกกอน้อย ต้นและใบได้รับแสงแดดน้อย ส่งผลให้คุณภาพผลผลิตไม่ดี  กับทั้งโรคแมลงรบกวนมากด้วย
                       
ช่วงต้นข้าวระยะน้ำนมสามารถตรวจสอบปริมาณผลผลิตในเนื้อที่ 1 ไร่ ได้โดยเดินทแยงมุมจากมุมกระทรงหนึ่งไปยังมุมกระทงตรงข้าม เก็บข้าวรวงแรก แล้วดินต่อไปอีก 10 ก้าวให้เก็บรวงที่สอง  และให้เก็บรวงข้าวทุกๆระยะเดิน 10 ก้าว จนสุดมุมกระทงนา เก็บรวงข้าวมาแล้วนับจำนวนรวงที่เก็บมา จากนั้นให้เด็ดเมล็ดข้าวออกจากรวงทุกรวง  นับจำนวนเมล็ดทั้งหมดแล้วหารด้วยจำนวนรวงเพื่อหาค่าเฉลี่ย ตัวเลขผลหารคือ ผลผลิตโดยประมาณของผลผลิตข้าวในเนื้อที่ 1ไร่นั้น เช่น เก็บรวงข้าวมาได้ 10 รวง เด็ดเมล็ดออกมานับรวมกันได้ 1,230 เมล็ด ค่าเฉลี่ย (1,230 หารด้วย 10) เท่ากับ 123.3 แสดงว่านาข้าวไร่นั้นจะได้ผลผลิตโดยประมาณ 123 ถัง นั่นเอง
                                           
ตัวเลขหนึ่งในนาข้าวที่หายไปอย่างน่าสงสัย คือ.....
เมล็ดข้าว 1 เมล็ดปลูกแล้วได้ต้นข้าว 1 กอ                     
ต้นข้าว 1 กอ บำรุงดีแตกกอได้ 50 ลำ                     
ลำต้นข้าว 1 ลำ ได้เมล็ดข้าว 1 รวง                     
ข้าว 1 รวง บำรุงปกติได้ 100 เมล็ด                     
 
ดังนั้น ลำข้าว 50 ลำซึ่งเกิดจากเมล็ดพียง 1 เมล็ด จะได้เมล็ดข้าว 5,000 เมล็ดหรือได้มากขึ้น
5,000 เท่า...กรณีที่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก 1 ถัง ก็น่าจะได้เมล็ดข้าว 5,000 ถัง ใช่หรือไม่ ?     

27. ต้นข้าวที่ขึ้นห่างๆ ใบแผ่กางรับแสงแดดได้เต็มหน้าใบ จะสมบูรณ์แข็งแรงให้ผลผลิตมาก และคุณภาพดีกว่าต้นข้าวที่ขึ้นเบียดชิดจนใบไม่สามารถแผ่กางรับแสงแดดเต็มหน้า ใบได้
               
28. ต้นข้าวระยะพลับพลึง (ก่อนเกี่ยว)แต่ใบยังเขียวหรือเขียวอมเหลือง บ่งบอกถึงความสมบูรณ์
สูงของต้น ซึ่งจะส่งให้เมล็ดข้าวคุณภาพดี ให้น้ำ 100 ล.+ น้ำคั้นใบเตยสด 250-300 ซีซี.+
กลูโคสน้ำ 100 ซีซี. ฉีดพ่นทางใบ ก่อนเกี่ยว 5-7 วัน จะช่วยบำรุงให้ข้าวมีกลิ่นหอมดีขึ้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 11:03:49
29. ระยะน้ำนม รวงข้าวเริ่มโค้งลง ถ้าลำต้นสูงมากหรือความสมบูรณ์ต่ำ เมื่อถูกลมพัดมักจะล้มหรือหัก อาการล้มหรือหักของต้นทำให้น้ำเลี้ยงจากรากลำเลียงไปสู่รวงไม่ได้จึงทำให้ได้เมล็ดข้าวคุณภาพต่ำแนวทางแก้ไข คือ ช่วงตั้งท้องต้องบำรุงด้วย 0-42-56 ย่างน้อย 2 รอบห่างกันรอบละ 5-7 วันจะช่วยลำต้นไม่สูงแต่อวบอ้วนดี
           
ให้ฮอร์โมนสมส่วน หรือน้ำคั้นเมล็ดข้าวน้ำนม หรือรกสัตว์หมักข้ามปี ซึ่งมีโซโตคินนินจะช่วยบำรุงเมล็ดข้าวให้มีขนาดใหญ่ขึ้น                     
           
ให้ ฮอร์โมนน้ำดำ และ แคลเซียม โบรอน โดยแบ่งเฉลี่ยให้ 1-2 รอบ ตลอดอายุตั้งแต่ระยะกล้าถึงเก็บเกี่ยว จะช่วยเสริมสร้างให้ได้เปอร์เซ็นต์แป้งสูงขึ้น
                   
                                           
30. นาข้าวที่ได้ 100 ถัง จะมีฟางประมาณ 1,200 กก. ......ปริมาณฟาง 1 ตัน จะให้
สารอาหารพืชประกอบด้วย ไนโตรเจน 6.0 กก. ฟอสฟอรัส 1.4 กก. โปแตสเซียม 17.0
กก. แคลเซียม 1.2 กก. แม็กเนเซียม 1.3 กก. ซิลิก้า 50.0 กก.       
           
ถ้าได้ไถกลบเศษซากต้นถั่วเหลือง (เมล็ดพันธุ์ 12 กก./ไร่)ลงไปอีกก็จะได้ ไนโตรเจน 45 กก.
เมื่อรวมฟางกับต้นถั่วเหลืองแล้วจะทำให้ได้ปุ๋ยสำหรับต้นข้าวมากมาย
           
ดินที่สภาพโครงสร้างดีตามมาตรฐานกรมพัฒนาที่ดินระบุว่า เมื่อใส่ปุ๋ยเคมีลงไปแต่ละครั้ง ต้นพืชได้นำไปใช้จริงเพียง 4 ส่วน แล้วเหลือตกค้างอยู่ในดิน 6 ส่วนเสมอ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยเคมี 1-2 รุ่นแล้วเว้น 1 รุ่น ก็จะยังคงมีปุ๋ยเคมีเหลือตกค้างจากการใส่แต่ละรุ่นที่ผ่านมาบำรุงต้นข้าวรุ่นปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ
           
มาตรการบำรุงดินโดยปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ สารปรับปรุงบำรุงดิน และจุลินทรีย์ อย่างสม่ำเสมอ-ต่อเนื่อง-รุ่นต่อรุ่น-หลายๆรุ่น-หลายๆปี จะทำให้เกิดการ สะสมอยู่ในเนื้อดิน ซึ่งจะส่งผลให้สภาพโครงสร้างของดิน ดีขึ้น ดีขึ้นและดีขึ้น ตามลำดับ
                     
       
31. ไม่ควรปลูกข้าวอย่างเดียวแบบต่อเนื่อง รุ่นต่อรุ่น หลายๆรุ่น หลายๆปี แต่ควรเว้นรุ่นทำนา 2-3รุ่นแล้วปลูกพืชตระกูลถั่ว 1 รุ่น นอกจากจะได้เศษซากพืชตระกูลถั่วไถกลบปรับปรุงบำรุงดินแล้วยังเป็นการตัดวงจรชีวิตของแมลง และเชื้อโรคได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
                 
32. นาหว่านที่หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกร่วมกับเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว ต้นข้าวจะงอกและโตพร้อมๆกับต้นถั่วเขียว เลี้ยงต้นกล้าข้าวให้นานที่สุดเท่าๆกับได้ต้นถั่วสูงสุด จากนั้น จึงปล่อยน้ำเข้าท่วมนา จะทำให้ต้นถั่วตายแล้วเน่าสลายกลายเป็นปุ๋ย (ไนโตรเจน/จุลินทรีย์)สำหรับต้นข้าว
                 
33. นาดำหลังจากปักดำแล้วใส่แหนแดงหรือแหนเขียว อัตรา 2-3 ปุ้งกี๋/ไร่ หรือกระทงนา ปล่อย
ไว้ประมาณ 3-4 สัปดาห์ แหนจะแพร่ขยายพันธุ์จนเต็มกระทง ระดับน้ำที่เคยมีเมื่อตอนดำนาก็จะลดลงจนถึงผิวหน้าดินพร้อมๆกับแหนลงไปอยู่ที่ผิวดินด้วยแล้วเน่าสลายกลายเป็นปุ๋ย(ไนโตรเจน) พืชสดสำหรับต้นข้าว                 
       

34. ดินที่อุดมสมบูรณ์ดี (ตามหลักวิชาการ) เมื่อใส่ปุ๋ยเคมีลงไปจะช่วยให้ต้นเจริญเติบโตทางใบ (บ้าใบ/เฝือใบ) ดีมาก แต่ผลผลิตกลับลดลง.......แปลงนาข้าวที่มีอินทรีย์วัตถุ และสารปรับ
ปรุงบำรุงดินมากจะให้ผลผลิตดีมากไม่เฝือใบ ทั้งๆที่ใส่ปุ๋ยเคมีน้อยกว่า ต้นข้าวงามใบ (บ้าใบ)แก้ไขโดยการให้ “โมลิบดินั่ม + แคลเซียม โบรอน” 1 ครั้ง
     

35. สภาพดินเหนียว ดินทราย ดินดำ ดินร่วน ฯลฯ ในดินแต่ละประเภทต่างก็มีสารอาหารพืชและปริมาณแตกต่างกัน สารอาหารพืชเหล่านี้เกิดขึ้นเองตามกลไกทางธรรมชาติหรือ เกิดจากกระบวนการสารพัดจุลินทรีย์ย่อยสลายสารพัดอินทรีย์วัตถุ                       
           
วันนี้ สารอาหารธรรมชาติในดินหมดไป หรือเหลือน้อยมากจนไม่พอพียงต่อความต้องการของพืชเพื่อการพัฒนาเจริญเติบโต สาเหตุหลักเกิดจากการปลูกพืชแบบซ้ำรุ่น ต่อเนื่อง รุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งพืชคือผู้นำสารอาหารเหล่านั้นไปใช้ สาเหตุรองลงมา คือ เกิดจากมนุษย์ทำลายวงจรการเกิดใหม่ของสารอาหารตามธรรมชาติ และทำลายผู้ผลิตสารอาหาร (จุลินทรีย์)นั่นเอง ดังนั้นจากคำกล่าวที่ว่า ดินมีสารอาหารพืช ต้องเปลี่ยนใหม่เป็นพูดว่าดินเคยมีสารอาหารจึงจะถูกต้องตามข้อเท็จจริง
                 
           
แนวทางแก้ไข คือ จัดการให้มีวัตถุดิบที่ก่อให้เกิดสารอาหารพืช และ ส่งเสริมผู้ผลิตสารอาหารพืช ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สุด แล้วดินจะกลับคืนมาเป็นดินดี เหมือนป่าเปิดใหม่อีกครั้ง และจะเป็นดินดีตลอดไปอย่างยั่งยืนตราบเท่าที่ได้จัดการและส่งเสริมอย่างถูกวิธีสม่ำเสมอ
                   
       

36. การดัดแปลงคันนาให้กว้าง 3-4 ม. แล้วปลูกพืชสวนครัว เช่น พริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ ฯลฯ
บนคันนานั้น ผลผลิตที่ได้เมื่อเทียบกับจำนวนเนื้อที่แล้วจะได้มากกว่าข้าว
                     

37. การเลี้ยงปลาในนาข้าวโดยการทำร่องน้ำรอบแปลงนาเพื่อให้ปลาอยู่นั้น ร่องน้ำกว้าง 2.5-3
ม. ลึกจากพื้นระดับในแปลงนา 80 ซม.- 1 ม. มีน้ำจากแหล่งธรรมชาติที่สามารถหล่อเลี้ยงปลา
ในร่องได้ตลอดอายุของปลา หรือบางครั้งให้น้ำล้นจากร่องน้ำเข้าสู่แปลงนาหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ด้วย
                                                     
การเลี้ยงปลาในนาข้าวสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น  ดัดแปลงปรับปรุงพื้นที่ลุ่มที่มีอยู่เดิมในแปลงนาให้กักเก็บน้ำได้ตลอดฤดูกาลหรืออายุปลา ทำร่องล้อมรอบแปลงนาหรือ ขุดเป็นบ่อขึ้นมาใหม่ที่บริเวณลาดต่ำในแปลงนา ข้อควรคิดต่อการเลี้ยงปลาในนาข้าวที่จำเป็นต้องวางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้าก่อนลงมือเลี้ยง ได้แก่ อายุปลาตั้งแต่เริ่มปล่อยลงน้ำถึงจับนาน 6 เดือน-1 ปี ซึ่งระยะเวลาขนาดนี้ปลูกข้าวได้ 2-3 รุ่น ระหว่างที่ต้นข้าวกำลังเจริญเติบโตนั้นสามารถปล่อยน้ำจากแหล่งที่อยู่ของปลาเข้าไปในแปลงนา จนกระทั่ง  น้ำท่วมต้นข้าวเพื่อให้ปลาจับกินแมลงได้ และก่อนเกี่ยวข้าวต้องงดน้ำให้ข้าว ช่วงนี้ปลาจะกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่เตรียมไว้ให้อย่างเดิม
                 
       
38. ตั้งเป้าหมายทำนาข้าวเพื่อขายเป็นพันธุ์ข้าวปลูก หรือเพื่อสีเป็นข้าวกล้องอินทรีย์ โอท็อป จะได้ราคาดีกว่าปลูกข้าวแล้วขายเป็นข้าวเปลือกแก่โรงสี
                         

39. ข้าวนาดำ ให้ผลผลิตเหนือกว่านาหว่าน  ทั้งคุณภาพ ปริมาณและต้นทุน
                 
40. ข้าวนาดำ  ต้นกล้าที่ถอนขึ้นมาจากแปลงตกกล้า มัดรวมแล้วนำไปตั้งไว้ใน น้ำ 100 ล.+
มูลค้างคาว 250 กรัม นาน 12 ชม. จึงนำไปปักดำ เมื่อต้นข้าวโตขึ้นจะแตกกอดีกว่ากล้าที่ไม่ได้
แช่ในน้ำมูลค้างคาว                         
       

41. นาปี  หมายถึง นาข้าวที่ทำหรือหว่าน/ดำในช่วงฤดูฝนโดยรอแต่น้ำฝนในฤดูกาลเท่านั้น เช่น นาข้าวที่หว่านวันแม่ (ก.ค.-ส.ค.) เกี่ยววันพ่อ (พ.ย.-ธ.ค.) มักมีปัญหาข้าวเปลือกล้น
ตลาด เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่หว่าน/ดำพร้อมกันทั้งประเทศ
                       
       
42. นาปรัง  (ปรัง.เป็นภาษาเขมร แปลว่า แล้ง.) หมายถึง นาข้าวที่ทำหรือหว่าน/ดำในช่วง
หน้าแล้ง หรือทำนารุ่น 2 ต่อจากนาปี โดยหว่าน/ดำในเดือน พ.ย.-ธ.ค.แล้วเก็บเกี่ยวช่วงเดือน
ก.พ.-มี.ค.ซึ่งต้นข้าวจะต้องเจริญเติบโตตลอดหน้าแล้ง บางปีบางแหล่งได้น้ำจากชลประทาน แต่บางปีบางแหล่งที่น้ำจากชลประทานมีน้อยไม่สามารถปล่อยออกมาช่วยเหลือได้ บางปีบางแหล่งรอน้ำฝนอย่างเดียว นาประเภทนี้มักมีปัญหาขาดแคลนน้ำเสมอ บ่อยครั้งที่ชาวนาบางแหล่งบางที่ต้องยอมเสี่ยงทำนาปรัง เพราะผลผลิตราคาดี เนื่องจากมีคน ทำนาน้อย...

ชาวนาบางรายลงทุนแก้ปัญหานาปรังขาดแคลนน้ำโดยเจาะบ่อบาดาลในแปลงนาโดยตรง ต้องการใช้น้ำเมื่อใดก็สูบขึ้นมาใช้เมื่อนั้น               
           
เมื่อไม่มีน้ำบนหน้าดินหล่อเลี้ยงแปลงนาก็ให้อาศัยแหล่งน้ำใต้ดิน โดยใส่อินทรีย์วัตถุประเภทเศษซากพืชลงไปในดินลึกมากๆ ติดต่อกันหลายๆรุ่น อินทรีย์วัตถุประเภท เศษซากพืชจะช่วยกักเก็บและอุ้มน้ำไว้ในเนื้อดินลึกอยู่ได้นานนับเดือนถึงหลายๆ เดือน
           
เตรียมอินทรีย์วัตถุประเภทเศษซากพืชไว้ใต้ดิน แนะนำให้เลือกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว-เหลือง-แดง-ดำ หรือถั่วปรับปรุงดินของกรมพัฒนาที่ดิน ฯลฯ เนื่องจากเป็นพืชโตเร็ว พันธุ์เบา อายุ 80 วัน.พันธุ์หนัก อายุ 130 วัน (พันธุ์หนักให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์เบา)  ต้องการน้ำน้อยมาก  ไม่ยุ่งยากในการปลูกและบำรุง เศษซากเปื่อยสลายตัวเร็ว (ภายใน 7-15 วัน).....กรณีถั่วเหลืองนั้นดีมากเพราะมีระบบรากลึกถึง 1-1.20 ม. แผ่ออกทางข้าง 30-50 ซม. ซึ่งรากที่หยั่งลึกลงไปในเนื้อดินนี้ จะช่วยนำร่องให้น้ำจากผิวดินซึมลึกลงไปได้ง่าย...เนื้อที่ 1 ไร่ ปลูกถั่วเหลืองเพื่อเอาผลผลิตให้ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 10-13 กก./ไร่ ซึ่งจะได้ไนโตรเจนมากถึง 45 กก./1 รุ่น แต่ถ้าต้องการเอาเศษซากต้นไถกลบลงดินจำนวนมากๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลาก็ให้ใช้เมล็ดพันธุ์ 20-25 กก./ไร่ไปเลย  ทั้งนี้ที่รากพืชตระกูลถั่วทุกชนิดนอกจากจะมีปมไนโตรเจนแล้ว ยังมีจุลินทรีย์กลุ่มคีโตเมียม.ไรโซเบียม. ไมโครไรซ่า. แอ็คติโนมัยซิส. และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งล้วนมีประโยชน์ต่อดิน  จุลินทรีย์ประจำถิ่น และพืชข้างเคียงทั้งสิ้น               
           
ต้นข้าวระยะกล้า ผิวดินมีน้ำหล่อ ใส่แหนแดง 2 ปุ้งกี๋ /ไร่ ทิ้งไว้จนกว่าน้ำแห้งลงถึงผิวหน้าดินแหนแดงจะขยายพันธุ์จนเต็มพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อน้ำแห้งแหนแดงจะยังคงติดอยู่ที่ผิวหน้าดินแล้วรอเวลาเน่าสลายกลายเป็นไนโตรเจน (อินทรีย์) บำรุงต้นข้าวได้เป็นอย่างดี
                               
       
43. นาหว่านสำรวย หมายถึง แปลงนาในที่ดอน ไม่มีน้ำหล่อหน้าดิน (หน้าดินแห้งไม่เปรอะเปื้อนเท้า) ทำนาโดยหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วไถดินกลบ เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดพันธุ์ก็จะงอกแล้วเจริญเติบโตตามธรรมชาติภายใต้ปริมาณน้ำฝน ถ้าฝนตกซ้ำก็ดีแต่ถ้าไม่มีฝนตกอีกเลยก็เสียหาย ทุกอย่างดำเนินไปตามธรรมชาติแท้ๆ
                                   
       
44. นาหว่านน้ำตม  หมายถึง แปลงนาในที่ลุ่มมีน้ำหล่อหน้าดินตลอดเวลา บางแปลงสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ บางแปลงควบคุมไม่ได้ ในเมื่อธรรมชาติของต้นข้าวชอบน้ำพอแฉะหน้าดิน แต่นาหว่านน้ำตมมีน้ำมากจนขังค้างโคนต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมปริมาณน้ำให้ได้ด้วยการ สูบเข้า-สูบออก เพื่อให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของต้นข้าวซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลผลิตสูงสุด
                       

45. นาไร่ หรือ ข้าวไร่ หมายถึง นาในที่ดอนหรือบนไหล่เขาที่มีน้ำน้อยหรือไม่มีน้ำหล่อหน้าดิน
(เหมือนาสำรวย) นิยมทำโดย ไถ-พรวน ดินก่อนแล้วใช้วิธีปลูกแบบ หยอดเมล็ดพันธุ์ จากนั้น
ปล่อยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตเองโดยอาศัยน้ำฝนและน้ำค้าง
                 
       
46. นาลุ่ม หรือ นาเมือง หรือ นาข้าวขึ้นน้ำ หมายถึง แปลงนาในพื้นที่ลุ่มก้นกระทะ (ลักษณะทางภูมิศาสตร์)มีน้ำมาก บางแหล่งลึกถึง 3 ม. ซึ่งต้นข้าวก็สามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ นิยมใช้ข้าวพันธุ์โตเร็ว ต้นสูง สามารถทนต่อสภาพน้ำท่วมมิดต้นระยะสั้นๆได้ แล้วเร่งโตจนยอดโผล่พ้นน้ำได้ทันการเก็บเกี่ยวบางปีระดับน้ำมากถึงกับพายเรือเกี่ยวข้าวด้วยมือ เมล็ดข้าวที่ได้มักมีความชื้นสูงมาก
                             

47. นาสวน หมายถึง นาข้าวแบบปักดำด้วยมือที่ระดับน้ำลึกไม่เกิน 80 ซม.- 1 ม. ในฤดูน้ำ
มากแต่ไม่มากเท่านาเมืองหรือนาข้าวขึ้นน้ำ                 
       

48.  นาขั้นบันได หมายถึง นาบนไหล่เขาที่ดัดแปลงกระทงนาเป็นเหมือนขั้นบันได้เพื่อกักเก็บน้ำ เนื้อดินนาแบบนี้อุ้มน้ำได้ดีระดับหนึ่งแต่ก็อยู่ได้ไม่นานนัก เนื่องจากความลาดเอียงของไหล่เขาที่น้ำต้องไหลหรือซึมจากที่สูงไปหาที่ต่ำเสมอ
                       

49. นาร่องน้ำ หมายถึง นาข้าวริมร่องน้ำในสวนยกร่องน้ำหล่อ มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน นิยมปลูกข้าวเพื่อเอาผลผลิตไว้เลี้ยงสัตว์                 
     

50. นอกจาก ข้าวจ้าว-ข้าวเหนียว ที่คนไทยนิยมกินเป็นอาหารหลักแล้ว สภาพภูมิอากาศทางภาคเหนือของประเทศไทยยังสามารถปลูกข้าวมอลท์.  ข้าวบาเลย์. สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเบียร์ได้ซึ่งวันนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศหรือแม้แต่ข้าวจาปอนนิก้า. สำหรับตลาดญี่ปุ่นก็สามารถปลูกได้เช่นกัน คงจะเป็นการดีไม่ใช่น้อยที่ชาวนาเขตภาคเหนือส่วนหนึ่งจะหันมาปลูก ข้าวมอลท์. ข้าวบาเล่ย์. หรือข้าวจาปอนนิก้า. ซึ่งนอกจากมีตลาดรองรับแน่นอนแล้ว ยังเป็นการลดปริมาณข้าวจ้าว-ข้าวเหนียวที่ต่างก็แย่งตลาดกันเองอยู่ขณะนี้อีกด้วย
             
     
51. การติดตั้งสปริงเกอร์แบบหัวหมุน  น้ำที่ฉีดพ่นเป็น เม็ดน้ำ+ ละอองน้ำ ในนาข้าวสามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์สปริงเกอร์แบบ ถอด-ประกอบได้ กล่าวคือ ประกอบชุดสปริงเกอร์ก่อนหว่าน/ดำ (ด้วยมือ)หรือหว่าน/ดำ (ด้วยเครื่องจักร)แล้วจึงประกอบสปริงเกอร์ และก่อนเกี่ยวข้าวก็ให้ถอดสปริงเกอร์ออกเพื่อให้รถเกี่ยวเข้าทำงานได้
                 
เปรียบเทียบ.....แปลงผักสวนครัวซึ่งอายุปลูกเพียง 40-45 วัน เนื้อที่ 40-200 ไร่  ติดตั้ง
สปริงเกอร์แล้วต้อง ถอด-ประกอบ ทุก 40-45 วัน สำหรับการปลูกแต่ละรุ่นยังสามารถทำได้ ใน
ขณะที่ข้าวซึ่งอายุปลูกนานถึง 120 วัน จึงไม่น่าจะมีปัญหา หากจะติดสปริงเกอร์แบบ ถอด-
ประกอบ ได้เหมือนสปริงเกอร์ในแปลงผักสวนครัวบ้าง
               
สปริงเกอร์ (ใช้ปั๊มไฟฟ้า 3 แรงม้า)สามารถให้ น้ำ. สารอาหาร (ธาตุหลัก-ธาตุรองธาตุเสริม-
ฮอร์โมน). สารสกัดสมุนไพร. และอื่นๆ ได้ทุกเมื่อ ณ เวลาที่ต้องการ  ด้วยแรงงานเพียง 1-2
คน ภายในเวลาเพียง 3-5 นาที/เนื้อที่ 2 ไร่ (1 โซน)นอกจากนี้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ของเนื้องานยังเหนือกว่าการฉีดพ่นด้วยเครื่องฉีดพ่นทุกประเภทอีกด้วย
                             

หมายเหตุ  :               
- ภายใต้สภาวะที่แรงงานหายากในปัจจุบัน การติดตั้งสปริงเกอร์แบบ “ถอด-ประกอบ”  ได้ด้วยแรงงานในครัวเรือน (2-3 คน)ก็สามารถติดตั้งได้เรียบร้อยพร้อมใช้งานภายในเวลา 2-3 วัน ต่อแปลงเนื้อที่ 10-20 ไร่
- เกษตรกรออสเตรเลีย ติดตั้งสปริงเกอร์แบบโอเวอร์เฮด หรือท็อปกัน แบบถาวร ด้วยการออกแบบติดตั้งไม่ให้กีดขวางการเข้าทำงานของเครื่องจักรกล สปริงเกอร์นั้นอยู่ได้นานนับ 10 ปี โดยไม่ได้รับการกระทบกระเทือนจากเครื่องจักรกลทุกประเภท                 
       

52. การผสม น้ำ + สารอาหาร สำหรับให้ทางใบ ให้ได้ประสิทธิภาพของสารอาหารเต็ม 100
เปอร์เซ็นต์นั้น จะต้องปรับค่ากรด-ด่างของน้ำที่ใช้ผสมให้ได้ค่ากรด-ด่าง 6.0-6.5 หรือทำให้น้ำ
เป็นกรดอ่อนๆเสียก่อนจึงใส่สารอาหาร               
           
จากหลักการทางเคมีเบื้องต้นที่ว่า กรด + ด่าง = เกลือ + น้ำ โดยสารอาหารพืชมีสถานะเป็นกรด น้ำที่ใช้ผสมเป็นด่าง เมื่อ กรดกับด่าง ผสมกันจึงมีสถานะเป็นกลาง หรือเสื่อมสภาพนั่นเอง แต่ถ้าได้ปรับสภาพน้ำให้เป็นกรดอ่อนเสียก่อน เมื่อผสมกับสารอาหารจึงเป็น กรดกับกรด ผสมกัน หรือสารอาหารยังคงสถานะเป็นกรดอยู่เหมือนเดิมนั่นเอง           
       

53. ทำนาเอา “โล่” หมายถึง ทำนาได้ข้าว 150 ถัง/ไร่ แต่ลงทุน 5,500 ความที่ได้ผลผลิตสูง
มากจึงได้รับโล่รางวัล ทำนาแบบนี้ไม่สนใจต้นทุน สนใจแต่ชื่อเสียงเท่านั้น (การประกวดนาข้าวกรรมการจะตัดสินแต่ปริมาณผลผลิตข้าวที่ได้ ไม่ได้พิจารณาต้นทุน)
                                           

54. ผลจากการทำนาข้าวที่ทำให้เกิดแก๊ส ซึ่งส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน ได้แก่ แก๊สจากปุ๋ยเคมีและจากการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุหรือฟอสซิล แต่เมื่อเทียบกับปริมาณแก๊สที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว แก๊สจากนาข้าวน้อยกว่ามาก
       

55. ข้าวเปลือก 1 ตัน ความชื้น 1 เปอร์เซ็นต์  หมายถึงมีน้ำปนอยู่ในข้างเปลือก 15 กก. 

56. "ข้าวเมาตอซัง" คือ ต้นข้าวตั้งแต่ระยะกล้า - แตกกอ  มีอาการต้นเหลือง ใบเหลือง  เกิด
จากก๊าซไฮโดรเจน ซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) ซึ่งก๊าซนี้เกิดจากการไถกลบฟางแล้วฟางหรือซากวัชพืชที่ย่อยสลายยังไม่เรียบร้อย ..... การตรวจสอบ คือ หลังจากปล่อยน้ำเข้านาพร้อมกับใส่จุลินทรีย์ลงไปส่วนหนึ่งเพื่อการหมักฟาง 7-10 วันแล้ว ให้เดินย่ำลงไปในแปลงนา จะมีฟองอากาศเกิดขึ้น ให้สังเกตุกลิ่นที่ออกมาจากฟอง  ถ้ามีกลิ่นหอมหรือไม่มีกลิ่นเหม็น หรือหยิบเนื้อดินขึ้นมาดมจะมีกลิ่นหอม แบบนี้แสดงว่า กระบวนการย่อยสลายเรียบร้อยแล้ว ให้ลงมือทำนาต่อได้เลย .... แต่ถ้าฟองนั้นมีกลิ่นเหม็น หรือหยิบดินขึ้นมาดมแล้วมีกลิ่นเหม็น นั่นคือ กลิ่นของก๊าซไข่เน่า ขืนปลูกข้าวลงไป ต้นข้าวที่โตขึ้นมาจะเป็นโรคเมาตอซัง เทคนิคการแก้ไขเรื่องก๊าซไข่เน่าทำโดยปล่อยน้ำออกจากแปลงให้หมด เหลือน้ำติดผิวดินแค่ระดับรอยตีนวัวตีนควาย  แล้วฉีดพ่นจุลินทรีย์หน่อกล้วยลงไปให้ทั่วแปลง  ทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อให้เวลาจุลินทรีย์มีประโยชน์กำจัดก๊าซไข่เน่า  จากนั้นให้เดินย่ำลงไปในแปลงตรวจสอบกลิ่นดินซ้ำอีกครั้ง  ถ้ายังคงมีกลิ่นเหม็นเหมือนเดิมอยู่ ให้ฉีดพ่นซ้ำจุลินทรีย์หน่อกล้วย แล้วทิ้งไว้อีก 5-7 วัน ให้ตรวจสอบซ้ำอีก ทำซ้ำอย่างนี้หลายๆรอบจนกว่าจะหมดกลิ่น.....แต่ถ้าหลังจากใส่จุลินทรีย์หน่อกล้วยครั้งแรก ครบกำหนดแล้วตรวจสอบ ไม่มีกลิ่นก๊าซไข่เน่า  ก็ให้ปล่อยน้ำเข้าแล้วลงมือทำเทือกได้เลย

วิธีป้องกันการเกิดไข่เน่าวิธีหนึ่ง คือ ก่อนไถกลบฟาง ให้เอาฟางออกตรึ่งหนึ่ง หรือเอาออก 3 ใน 4ส่วนของฟางที่มีทั้งหมด  ทั้งนี้ การมีปริมาณฟางมากๆ ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานมากกว่าการมีฟางน้อยๆ ดังนั้น ชาวนาจะต้องพิจารณา เอาฟางออกหรือเอาฟางไว้ทั้งหมด ด้วยความเหมาะสม
 
57. ตรวจสอบความสมบูรณ์ของต้นข้าวที่ "ใบ" .....ลักษณะใบใหญ่ หนา เขียวเข้ม ตอนเช้า
7-9 โมง ใบธงไม่มีอาการโค้งงอลง  ใช้ท้องแขนกดลงที่ปลายใบ (ให้ปลายใบแทงท้องแขน) จะ
รู้สึกเจ็บที่ท้องแขน

58. ตรวจสอบความสมบูรณ์ของต้นข้าวที่ "ราก" ..... ถอนต้นข้าวทั้งต้นขึ้นมาดูราก  ถ้ามี
รากขาวมากกว่ารากดำ มีจำนวนมาก ขนาดความยาวเท่าครึ่งหนึ่งของลำต้น แสดงว่าระบบรากดี  ในทางตรงกันข้าม  ถ้ามีรากดำมากกว่ารากขาว  จำนวนรากน้อย  รากสั้น  แสดงว่าต้นไม่สมบูรณ์กรณีนี้ควรเปรียบเทียบระหว่างต้นที่โตสมบูรณ์ กับต้นที่มีลักษณะแคระแกร็น  ก็จะเห็นความแตกต่างชัดเจน

59. ต้นข้าวต้องการสารอาหาร (ปุ๋ย) 14 ตัว ประกอบด้วย ธาตุหลัก 3 ตัว  ธาตุรอง 3 ตัว และ
ธาตุเสริม 9 ตัว.....การใส่ปุ๋ยยูเรียทำให้ต้นข้าวได้รับปุ๋ยเพียงไนโตรเจนเพียงตัวเดียว  กับใส่
16-20-0 ก็จะได้ไนโตรเจน.กับฟอสฟอรัส.เท่านั้น....ชาวนาที่ใส่ยูเรีย 1 กส.(50 กก.)
ใส่ 16-20-0 อีก 1 กส. (50 กก.) ใส่ 2 สูตรรวม 100 กก.  ต้นข้าวก็ยังได้ปุ๋ยเพียง 2
ตัวเท่านั้น

60. ลักษณะ เด่น/ด้อย ทางพันธุกรรม เกิดจากการนำพันธุ์ข้าว 2 สายพันธุ์มาผสมกันให้เป็นข้าว
สายพันธุ์ใหม่ตามต้องการ ระหว่าง 2 สายพันธุ์ที่นำมาผสมกันนี้ แต่ละสายพันธุ์ย่อมมีทั้ง  "ลักษณะด้อย และ ลักษณะเด่น" ทางสายพันธุ์ ซึ่งลักษณะใดลักษณะหนึ่งของสายพันธุ์หนึ่งอาจไปปรากฏในสายพันธุ์ที่ถูกผสมขึ้นมาใหม่ได้ การแก้ปัญหาลักษณะด้อยประจำสายพันธุ์สามารถทำได้โดยการ  "เน้น"  สารอาหารเพื่อบำรุงส่วนนั้นโดยตรงให้มากขึ้น  เช่น  สายพันธุ์ที่เปอร์เซ็นต์เป็นเมล็ดลีบสูง แก้ไขด้วยการให้ธาตุสังกะสี  สายพันธุ์ที่มีอัตราการแตกกอน้อย แก้ไขด้วยการธาตุอาหาร P และ K สูงในช่วงแตกกอ เป็นต้น  การเน้นสารอาหารเพื่อให้พืชได้รับมากเป็นกรณีพิเศษ ควรให้ทางรากโดยใส่ไว้ในเนื้อดินตั้งแต่ตอนทำเทือก  หลังจากนั้นจึงให้เสริมทางใบเป็นระยะ สม่ำเสมอ

สาเหตุอื่นที่ทำให้ข้าวเป็นเมล็ดลีบ เช่น ข้าวระยะออกดอก ระยะตากเกสร ระยะน้ำนม ถ้าสภาพอากาศอุณหภูมิผิดปกติ (หนาว-ร้อน กว่าปกติ)การพัฒนาของต้นจะชงัก แก้ไขด้วยการให้ธาตุสังกะสี โดยให้แบบล่วงหน้าและระหว่างอุณหภูมิผิดปกติ 

61. การให้แคลซียม โบรอน ทางใบแก่ต้นข้าวก่อนเกี่ยว 7-10 วัน จะทำให้ระแง้คอรวงเหนียว
เครื่องเกี่ยวสลัดเมล็ดข้าวไม่หลุด

62. การใช้สารกำจัดวัชพืชประเภท "ยาฆ่า-ยาคุม" หญ้า/วัชพืช ทุกชนิดในนาข้าว จะส่งผลให้
ต้นข้าวชงักการเริญเติบโต 7-15 วัน แล้วแต่ความเข้มข้นของสาร  แนวทางแก้ไข คือ หลังจากฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชไปแล้ว 3 วัน (วัชพืชเริ่มใบเหี่ยว) ให้ฉีดพ่นสารอาหาร แม็กเนเซียม +
สังกะสี + น้ำตาลทางด่วน ที่ต้นข้าว ฉีดพ่น 2 รอบ ห่างกันรอบละ 3 วัน ต้นข้าวจะไม่ชงักการเจริญเติบโตแล้วโตต่อตามปกติ

ขอบคุณข้อมูล http://www.kasetloongkim.com/


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 11:21:09
หลากหลายวิธีไม่เผาฟาง               

หลักการและเหตุผล  :               
ฟาง คือ อินทรีย์วัตถุประเภทเศษซากพืชที่มีราคาประหยัดที่สุด และมีประโยชน์ต่อต้นข้าวมากที่
สุด กล่าวคือ ฟางคือต้นข้าว  ในต้นข้าวย่อมมีสารอาหารที่ต้นข้าวต้องใช้พัฒนาตัวเอง เมื่อฟางถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์  สารอาหารที่เคยมีในฟางก็จะออกมากลายเป็นสารอาหารพืชสำหรับข้าวต้นใหม่ นอกจากเป็นสารอาหารพืชแล้ว ฟางยังมีคุณสมบัติที่ดีต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวอีกหลายประการ อาทิ  เป็นแหล่งอาหารจุลินทรีย์  ทำให้ดินโปร่งร่วนซุย น้ำและอากาศผ่านสะดวก ช่วยซับหรืออุ้มน้ำไว้ใต้ดินโคนต้น   เป็นต้น
           
ต้นข้าวในแปลงปลูกที่ดินมีความความชื้นสูง (ดินแฉะ)จะเจริญเติบโต แตกกอ สมบูรณ์แข็งแรง มีภูมิต้านทานสูงและให้ผลผลิตดีกว่าต้นข้าวในแปลงปลูกที่ดินมีน้ำขังท่วม
           
มาตรการทำให้ดินมีความชื้นสูง มีน้ำใต้ผิวดินมากๆ ทั้งๆ ที่หน้าดินแห้งจนแตกระแหง ก็คือ  การให้มีอินทรีย์วัตถุ (เศษซากพืช เศษซากสัตว์ และจุลินทรีย์)อยู่ในเนื้อดินมากๆ ถึงอัตราส่วน 1:1 สะสมต่อเนื่องติดต่อกันมานานหลายๆปี
                             
           
แนวทางปฏิบัติ :                       
หลังจากรถเกี่ยวข้าวออกไปแล้ว ให้ดำเนินการส่งฟาง และ/หรือ เศษซากพืช-อินทรีย์วัตถุอื่นๆ ลงไปอยู่ใต้ผิวดิน  ผสมคลุกกับเนื้อดินให้เข้ากันดี ตามขั้นตอน หรือ ลัดขั้นตอนก็ได้  ดังนี้
               
1. ตากฟาง-ไม่ตากฟาง
วัตถุประสงค์คือ ต้องการให้ฟางแห้ง เพื่อให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายทำให้ฟางเปื่อยได้เร็วขึ้น อันที่จริงนั้น จุลินทรีย์สามารถย่อยสลายได้ทั้งฟางสดและฟางแห้ง เพียงแต่การย่อยสลายฟางแห้งทำได้ง่ายและเร็วกว่าฟางสดเท่านั้นเอง ดังนั้น การตากฟางหรือไม่ตากก่อนไถกลบจึงไม่ต่างกันนัก ก็ให้พิจารณาตามความเหมาะสม 
               
2. เกลี่ยฟาง-ไม่เกลี่ยฟาง
วัตถุประสงค์คือ ต้องการให้ฟางกระจายตัวเท่าๆกันทั่วแปลง และแห้งเร็วๆ เมื่อไถกลบลงไปในดินแล้วเนื้อดินผสมกับฟางสม่ำเสมอกันซึ่งจะส่งผลให้ดินมีคุณภาพเท่าๆกันทั้งแปลงนั่นเอง.......ล้อรถเกี่ยวข้าวเป็นสายพานตีนตะขาบ ขณะที่รถเกี่ยววิ่งไปนั้น  ตอซังที่ถูกสายพานตีนตะขาบเหยียบย่ำจะแบนราบแนบติดพื้น ส่วนตอซังที่อยู่บริเวณใต้ท้องรถเกี่ยวจะไม่ถูกเหยียบย่ำ ยังคงเป็นตอตั้งตรงเหมือนเดิม  นอกจากนี้เศษฟางที่รถเกี่ยวพ่นออกมา ซึ่งรถเกี่ยวข้าวบางรุ่นพ่นเศษฟางให้ฟุ้งแผ่กระจายไปทั่วได้ แต่รถเกี่ยวบางรุ่นพ่นเศษฟางตรงๆลงทับบนตอซังกลายเป็นกองเศษฟาง  กรณีนี้  ถ้าต้องการให้ฟางแผ่กระจายก็ให้ใช้ไม้เขี่ยฟางที่เป็นกองออก แต่ถ้าไม่ต้องการให้ฟางแผ่กระจายก็ไม่จำเป็นต้องเขี่ยออก  เพราะช่วงที่รถไถผานโรตารี่เข้าทำเทือกนั้น ผานโรตารี่ก็จะช่วยกระจายฟางไปในตัวเองได้แต่อาจจะไม่กระจายดีกับการเกลี่ยก่อนเท่านั้น 
             
3.ย่ำฟาง-ไม่ย่ำฟาง
วัตถุประสงค์คือ ทำให้ฟาง  ฉีก-ขาด-ช้ำ เพื่อเป็นช่องทางให้จุลินทรีย์ผ่านเข้าไปง่ายๆแล้วย่อย
สลายฟาง   ปฏิบัติโดยการใช้รถไถเดินตามล้อเหล็กวิ่งย่ำไปบนเศษฟางให้ทั่วแปลง วิ่งย่ำซ้ำหลายๆรอบ ฟางที่ถูกล้อเหล็กย่ำจะ ฉีก-ขาด-ช้ำ เกิดเป็นบาดแผลช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางให้เปื่อยยุ่ยได้เร็วกว่าฟางที่ยังคงเป็นชิ้นๆอยู่ 
             
4.หมักฟาง
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ฟางเปื่อยยุ่ยโดยเร็ว ไม่ว่าฟางในแปลงนาจะตากแห้งแล้วหรือยังสด  เกลี่ย
กระจายแล้วหรือยังเป็นกลุ่มกอง  ย่ำให้เป็นแผลช้ำแล้วหรือยังเป็นชิ้นเดิมๆ  ทุกสภาพของฟางไม่อาจรอดพ้นฝีมือของจุลินทรีย์ไปได้  เริ่มด้วยการปล่อยน้ำเข้าแปลงพร้อมกับใส่จุลินทรีย์ 2-5 ล./ไร่ รักษาระดับน้ำให้ลึกราว 20-30 ซม. ทิ้งไว้ราว 10-20 วัน  น้ำจะเปลี่ยนสีเป็นสีชาอ่อนๆ 
สภาพของฟางเริ่มเปื่อยยุ่ย   เมื่อเดินย่ำลงไปจะมีฟองเกิดขึ้น ให้สังเกตฟอง  ถ้ามีกลิ่นเหม็นแสดงว่าจุลินทรีย์เป็นพิษให้  ระบายน้ำออกทั้งหมดแล้วเติมน้ำใหม่ พร้อมกับจุลินทรีย์ชุดใหม่เข้าไปแทน แล้วเริ่มหมักใหม่อีกรอบ........ถ้าฟองนั้นไม่มีกลิ่นเหม็นแสดงว่าจุลินทรีย์ดี ให้หมักต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าฟางจะเปื่อยยุ่ยได้ที่ตามต้องการแล้วจึงลงมือทำเทือก               
         
ถ้าหมักฟางยังไม่ได้ที่หรือยังมีกลิ่นเหม็น (แก๊ส) จะมีผลต่อต้นข้าวระยะกล้า (ต้นเหลืองโทรม)
เรียกว่า  “เมาตอซัง”  กรณีนี้แก้ไขโดยระบายน้ำเก่าออกพร้อมๆกับส่งน้ำใหม่เข้าไปแทนที่หรือใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย  จากนั้นบำรุงต้นกล้าด้วยฮอร์โมนทางด่วน 2-3 รอบ  ห่างกันรอบละ 3-5 วัน 
             
5.ไถกลบฟาง
วัตถุประสงค์คือ การส่งฟางลงไปคลุกเคล้ากับเนื้อดินจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วให้จุลินทรีย์ย่อยสลายจนเปื่อยยุ่ยกลายเป็นปุ๋ยฟางที่อยู่ในแปลงนานั้นจะตากหรือไม่ตาก  เกลี่ยหรือไม่เกลี่ย  ย่ำหรือไม่ย่ำ หมักหรือยังไม่หมัก สามารถไถกลบลงดินได้ทั้งสิ้น เพียงแต่แบบไหนจะยากง่ายกว่ากัน ด้วยเครื่องมือต่างๆ ดังนี้

- ไถด้วยรถไถจอบหมุนโรตารี่ เป็นรถไถขนาดกลางนั่งขับ ขณะไถมักมีฟางพันผาน  แก้ไขโดยการเดินหน้าสลับกับถอยหลังเพื่อสลัดฟาง หรือยกผานขึ้น ใส่เกียร์ถอยหลังแล้วเร่งเครื่องแรงๆ ผานจะหมุนฟรีแล้วสลัดฟางออกเองได้

- ไถด้วยรถไถเดินตาม (ควายเหล็ก) ผานเดี่ยว (ผานหัวหมู) ขณะไถมักมีฟางพันผาน  แก้ไข
โดยต่อใบผานให้ยาวขึ้น 10-12 นิ้ว หรือมากกว่า เพื่อส่งขี้ไถและฟางให้ตกห่างจากผานมากๆ

- ย่ำด้วยลูกทุบ (อีขลุบ) ลากด้วยควายเหล็ก ลูกทุบจะย่ำฟางให้ยุบลงแนบกับเนื้อดินบริเวณผิว
หน้าดินเท่านั้นไม่ได้ลงไปคลุกหรือจมลงไปในเนื้อดิน เมื่อหว่านเมล็ดข้าวลงไป เมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งจะติดค้างอยู่บนหญ้าที่หน้าดิน ช่วงที่เมล็ดเริ่มงอก ระบบรากยังแทงไม่ทะลุกองหญ้าลงไปถึงเนื้อดินด้านล่างได้ ครั้นเมื่อปล่อยน้ำเข้าแปลง ฟางจะลอยขึ้นพร้อมกับยกต้นกล้าข้าวให้ลอยตามขึ้นมาด้วย กรณีนี้แก้ไขโดย ปล่อยให้รากต้นข้าวเจริญยาวลงไปถึงเนื้อดินล่างดีแล้วจึงปล่อยน้ำเข้า หรือนำเส้นฟางออกเหลือแต่เหง้ากับรากต้นข้าวแล้วย่ำ....วิธีการหมักฟางนานๆจนเปื่อยยุ่ยดี แล้วย่ำด้วยอีขลุบหลายรอบ ให้มากรอบที่สุดเท่าที่จะมากได้  ฟางที่เปื่อยยุ่ยแล้วถูกย่ำด้วยล้อเหล็กจนแหลกละเอียดจะคลุกเคล้าผสมกับเนื้อดินบริเวณผิวหน้าดิน กรณีนี้แม้ต้นกล้าข้าวจะงอกบนเศษฟางเปื่อย เมื่อปล่อยน้ำเข้าก็จะไม่ยกต้นกล้าข้าวให้ลอยตามขึ้นมา นาข้าวที่ผ่านการไถกลบฟางมา 2-3 รุ่น  จนขี้เทือกลึกระดับครึ่งหน้าแข้งแล้ว การทำนารุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องไถอีก แต่ให้ปล่อยน้ำเข้าเพื่อหมักฟางหรือล่อให้วัชพืชขึ้นจากนั้นหมักทิ้งไว้ 10-15 วัน จนแน่ใจว่าฟางเปื่อยยุ่ย ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าและเมล็ดวัชพืชงอกขึ้นมาจนหมดแล้วก็ให้ลงมือย่ำด้วย “อีขลุบหรือลูกทุบ” ได้เลย ทั้งนี้ลูกทุบหรืออีขลุบจะช่วยคลุกเคล้าเนื้อดินกับฟางและวัชพืชให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าไถลงได้

6.ไม่ไถ
หลังจากรถเกี่ยวเสร็จสิ้นภารกิจ ในแปลงมีตอซังและเศษฟาง แนวทางการทำเทือกโดยไม่ต้องไถ ไม่ว่าจะเป็นการไถด้วยรถไถใหญ่ผานจาน 3 หรือผาน 7 รถไถเดินตามผานจานเดี่ยวรือคู่ รถไถโรตารี่สามารถทำได้โดยจัดการกับตอซังและเศษฟาง ตากฟางหรือไม่ตาก เกลี่ยหรือไม่เกลี่ยก็ได้  แล้วเริ่มด้วยการสูบน้ำเข้าให้ลึกประมาณ 30 ซม. ใส่จุลินทรีย์หน่อกล้วยหรือกากน้ำตาล 5-10 ล./ไร่สาดให้ทั่วแปลง ทิ้งไว้ 7-10 วัน จนน้ำเปลี่ยนสีเป็นสีชาอ่อนๆ จากนั้นให้ลงมือย่ำด้วย อีขลุบ หรือ ลูกทุบ ได้เลย  ย่ำหลายๆรอบจนกว่าตอซังและเศษฟางรวมทั้งเศษซากต้นวัชพืชแหลกละเอียดลงไปคลุกกับเนื้อดิน เสร็จแล้วทิ้งไว้อีก 7-10 วัน ก็ให้ลงมือย่ำรอบสองด้วยวิธีการเดิม แล้วทิ้งไว้อีก 7-10 วัน ตรียมการย่ำต่อรอบสามเป็นรอบสุดท้าย ก่อนลงมือย่ำรอบสามให้ใส่อินทรีย์วัตถุ และ ปุ๋ย สำหรับนาข้าวตามปกติ เสร็จแล้วให้ลงมือปลูก(ดำหรือหว่าน)ข้าวได้เลย ถ้าเป็นนาข้าวที่เตรียมแปลงแบบไม่เผาฟางหรือไถกลบฟางครั้งแรก จะพบว่าชี้เทือกลึกเหนือกว่าตาตุ่มอย่างชัดเจนซึ่งถือว่าเพียงต่อการเพาะปลูกข้าวแล้วทั้งดำและหว่าน......หากเป็นนาที่เคยไม่เผาฟางแต่ไถกลบมาหลายรุ่นแล้ว การย่ำเพียงรอบแรกรอบเดียวก็จะได้ขี้เทือกลึกถึงระดับครึ่งหน้าแข้ง

ประโยชน์ที่ได้จากการย่ำเทือกหลายๆ รอบที่เห็นชัดที่สุด คือ นอกจากได้กำจัดวัชพืชโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีกำจัดวัชพืชแล้วยังได้ปุ๋ยอินทรีย์จากเศษซากพืชอีกด้วย
                     
       
หมายเหตุ :               
- ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแบบใด ที่ด้านหน้ารถดัดแปลงให้มีตะแกงสำหรับตั้งถังขนาดจุ 20-50
ล. เจาะรูก้นถัง 2-3 รู มีก๊อกปรับอัตราการไหลช้า/เร็วได้  ในถังใส่ปุ๋ยน้ำชีวภาพหรือจุลินทรีย์
น้ำ แล้วปล่อยให้ไหลออกมช้าๆ ขณะที่รถไถวิ่งไปนั้นก็จะปล่อยปุ๋ยน้ำชีวภาพหรือจุลินทรีย์หยดลงพื้นที่ด้านหน้า แล้วถูกผานด้านหลังไถผสมลงไปคลุกผสมกับเนื้อดินเอง

- การทำนาแบบไถกลบฟางลงดินรุ่นแรก หมักฟางนานๆจนเปื่อยยุ่ยดี แล้วย่ำซ้ำหลายๆรอบ จะทำให้ได้  “ขี้เทือก”  ลึก 20-30 ซม.(ครึ่งหน้าแข้ง) ในขณะที่การทำเทือกแบบเผาฟางก่อนนั้นจะได้ขี้เทือกลึกน้อยกว่ามาก

- นาข้าวแบบไถกลบฟาง  จากรุ่นแรกที่ไถกลบนั้นจะมีฟางลงไปอยู่ในเนื้อดินราว 1 ตัน  ต่อมารุ่นที่ 2 ก็จะมีฟางชุดใหม่ลงไปสมทบอีก 1 ตัน หรือทำนาข้าวจะได้ฟางรุ่นละ 1 ตัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแบบรุ่นต่อรุ่น ทั้งนี้เนื่องจากฟางรุ่นแรกๆ แม้จะเปื่อยยุ่ยดีแล้วแต่ก็ยังคงมีเศษซากหลงเหลืออยู่ ยิ่งมีเศษซากฟางอยู่ในดินมากเท่าใดยิ่งทำให้ได้ขี้เทือกลึกมากเท่านั้น
         
จากประสบการณ์ตรงพบว่า การทำเทือกแบบไถกลบฟางสี่รุ่นติดต่อกัน ปรากฏว่าได้ขี้เทือกลึกถึงหัวเข่าซึ่งถือว่ามากเกินไป  ผลเสียคือ เดินเข้าไปสำรวจแปลงได้ยาก ก่อนเกี่ยวซึ่งต้องงดน้ำ 7-10 วันเพื่อให้หน้าดินแห้งทำไม่ได้  และทำให้รถเกี่ยวเข้าทำงานไม่ได้อีกด้วย
         
แนวแก้ไข คือ ไถกลบฟาง 2 รุ่นติดต่อกันไปก่อน เมื่อจะทำนารุ่น 3 ให้นำฟางออกเหลือแต่เหง้ากับรากในดินก็พอ  ต่อมาเมื่อจะทำนารุ่น 4 ก็ให้วิเคราะห์ปริมาณเศษซากฟางในดินก่อนว่า สมควรนำฟางของนารุ่น 3 ออก แล้วเหลือแต่เหง้ากับราก  หรือต้องไถกลบฟางรุ่นใหม่เติมลงไปอีก ทั้งนี้ความลึกของขี้เทือกจะเป็นตัวชี้บอก ประเด็นสำคัญก็คือ จะต้อง “ไม่เผา” อย่างเด็ดขาด.ตามเกณฑ์ของการเตรียมดินปลูกข้าว ควรมีอินทรีย์วัตถุประเภทเศษซากพืช 2-3  ตัน/ไร่/รุ่น
               

- ฟางข้าวในนาข้าว คือ อินทรีย์วัตถุหรือปุ๋ยพืชสดที่มีราคาต่ำที่สุดและมีประโยชน์มากที่สุด  ฟางข้าวเป็นทั้งแหล่งสารปรับปรุงบำรุงดิน บำรุงจุลินทรีย์ และเป็นแหล่งสารอาหารสำหรับต้นข้าวทั้งรุ่นปัจจุบัน รุ่นหน้า และรุ่นต่อๆไป    นอกจากฟางแล้วควรจัดหาแหล่งเศษซากพืชอื่นๆเสริมเพื่อเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้มากขึ้น
                           
เกษตรกรชาวนาและชาวไร่ของสหรัฐอเมริกา หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตในนาหรือในไร่แล้วไม่มีการเผาทิ้งหรือนำออก แต่ใช้วิธีการไถกลบด้วยรถไถกลบขนาดใหญ่  ซึ่งขณะไถกลบนั้นก็จะเติมอินทรีย์วัตถุสารปรับปรุงบำรุงดิน จุลินทรีย์  และสารอาหารอื่นๆไปพร้อมๆกัน เพื่อประหยัดเวลา  แรงงาน และให้เกิดความหลากหลายตามธรรมชาติ

ที่มา http://www.kasetloongkim.com


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 12:24:53
Application “BaiKhaoNK” (ใบข้าวเอ็นเค)

Application “BaiKhaoNK” (ใบข้าวเอ็นเค) ผลงานการวิจัยของนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นโปรแกรมประมาณความต้องการธาตุอาหารของต้นข้าวในนาโดยใช้โทรศัพท์มือถือ พร้อมแสดงปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนที่เหมาะสมกับต้นข้าวในระดับต่างๆ ของการเจริญเติบโต ซึ่งมีการสอบเทียบและอ้างอิงปริมาณการใส่ปุ๋ยยูเรียด้วยวิธีการวัดแบบกำหนดเวลาจากแถบวัดระดับสีจากใบข้าว หากใครมีโทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone ที่มีระบบปฏิบัติการ android 2.0 ขึ้นไป สามารถดาวน์โหลด application ไว้ใช้คำนวณปริมาณการใส่ปุ๋ยให้กับต้นข้าวได้อย่างเหมาะสม และตรงตามความต้องการของต้นข้าว เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใส่ปุ๋ยในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น หรือลดอัตราการสูญเสียความเจริญเติบโตของต้นข้าวจากกรณีที่ใส่ปุ๋ยบำรุงไม่เพียงพอ

3MRaZAXPxrw&feature







หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 12:38:06
หรืออาจขอแผ่นเทียบสีจากศูนย์วิจัยข้าวใกล้บ้านก็ได้ครับ 

แผ่นเทียบสี เป็นอุปกรณ์วัดสีของใบข้าว ประกอบด้วยแถบสีระดับต่างๆ 4-6 แถบ มีร่องเล็กๆเลียนแบบลักษณะของใบข้าว ซึ่งระดับสีบนแผ่นเทียบจะจำลองจากสีของใบข้าว หลังจากการใส่ปุ๋ยเคมี ประกอบด้วยสีเขียวเข้ม จางลงตามลำดับ กระทั่งใบข้าวเป็นสีเหลืองเนื่องจากขาดธาตุอาหารไนโตรเจนอย่างรุนแรง


รายละเอียดทั้งหมด :
เวลาที่เหมาะสมในการวัดหาข้อมูล จะอยู่ในช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ เพราะแสงไม่จ้าเกิน ซึ่งอาจทำให้สีแผ่นที่มองเห็นเพี้ยนได้ โดยใช้ใบข้าวที่ 3 นับจากยอดกอ เป็นใบที่อ่อนที่สุดแต่โตเต็มที่ ทำการสุ่ม 10 จุด/แปลง ซึ่งหลังผ่านฤดูการเก็บเกี่ยวพบว่า แปลงนาที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แปลงที่ ใช้วิธีสังเกต ได้ผลผลิต 600 กก./ไร่ ส่วนแปลงที่ ใช้แผ่นเทียบสี ได้ผลผลิต 900-1,100 กก./ไร่ ส่วนที่สุพรรณบุรี แปลงนา ใช้วิธีสังเกต ได้ผลผลิต 700 กก./ไร่ ส่วนแปลงนาที่ ใช้แผ่นเทียบสี ได้ผลผลิตสูงถึง 1,000 กก./ไร่ ฉะนั้น...จึงพอสรุปได้ว่า การทำนาข้าวให้ได้ผลผลิตตรงตามเป้านั้น มิใช่การใส่ปุ๋ยเร่งกันแบบไม่ลืมหูลืมตา เพราะจะกลายเป็นการลงทุนสูงอย่างไม่คุ้มค่าที่ถูกต้องสำคัญอยู่กับการสังเกต เอาใจใส่ ดูแลรักษา ปุ๋ยก็ให้ในปริมาณพอเหมาะ และตรงต่อช่วงเวลาที่ต้นพืชต้องการ...ผลผลิตออกมา จึงจะคุ้มค่ากับที่คาดการณ์ไว้

BFah1o9ie1k


 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 12:49:35
มีหลายท่านเคยถามผมว่าทำไมถึงใส่ปุ๋ย K โพแทสเซียม ทั้งที่โครงสร้างดินทั่วไปมีอยู่แล้วแต่ปัจจุบันเมื่อมีการทำนาทั้งนาปี นาปรัง ส่วนผลให้ดินอุ้มน้ำมีความชื้น ต้นข้าวก็ใช้ประโยชน์จากธาตุโพแทสเซียมในดินได้น้อยจึงต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีโพเทสเซียมลงไป ซึ่งเห็นผลได้ค่อนข้างชัดในนาเขตชลประทาน

g-HFE4DPY68



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: TNK_DGT ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 13:27:07
แผ่นเทียบสีหาชื้อได้ที่ใหนครับ
  ผมหาอยู่พอดีเลย รบกวนหน่อยนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 13:39:01
แผ่นเทียบสีหาชื้อได้ที่ใหนครับ
  ผมหาอยู่พอดีเลย รบกวนหน่อยนะครับ

สามารถติดต่อขอรับได้ที่ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย  อ.พาน ครับ เมื่อเช้าพี่ที่รู้จักกันก็ไปขอมาทดลองใช้  ดูเหมือนว่าร้านค้าเอกชนก็มีนะครับลองไปถามดู ในเว็ปก็เห็นมีขายแผ่นละ 150 บาทครับ

ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย
เลขที่ 474 หมู่ 9
ตำบลเมืองพาน  
อำเภอพาน  
จังหวัดเชียงราย  
โทรศัพท์ ( TEL ) : 053721578  


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 13:44:21
นาข้าวอินทรีย์ทุ่งลอ ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา

ปัจจุบัน นาข้าวอินทรีย์ทุ่งลอ มีเนื้อที่เกือบ 6,000 ไร่ มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการถึง 268 ครอบครัว แบ่งได้เป็น  4 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านศรีจอมแจ้ง ข้าวอินทรีย์บ้านเกี๋ยง 1 ข้าวอินทรีย์บ้านเกี๋ยง 2 และกลุ่มข้าวอินทรีย์ 2000 พวกเขาร่วมกันผลิตข้าวอินทรีย์ป้อนเข้าสู่ตลาดได้เกือบ 3,000 ตัน ต่อปี สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ถึงปีละ 40 ล้านบาท

 เกษตรกรพอใจนาข้าวอินทรีย์   

 สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น         

“กาจ ปัญญาหล้า” ประธานกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านศรีจอมแจ้ง 78 หมู่ที่ 1 ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา โทร. (089) 561-6316 คุณกาจ เป็นตัวแทนเกษตรกรกลุ่มแรกที่บุกเบิกปลูกข้าวอินทรีย์ ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกปลูกข้าวอินทรีย์ ประมาณ 10 ไร่ จนถึงวันนี้ได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 60 ไร่ เพราะพึงพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับ

RCb8V3Wp_2c


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 21:50:56
เย็นนี้ไปนาไปตัดหญ้ากำลังกายนิดหน่อยและแวะสำรวจแปลงนาครับ  พบดักแด้ของแมลงจำนวนมากครับ บางจุดก็พบหลายสิบตัวครับ  ทายสิครับว่าตัวนี้คือตัวอะไร............. ???  ???


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 22:04:10
คำตอบครับ...คือแมลงปอครับ ซึ่งที่เห็นเป็นการลอกคราบของตัวโม่ง ซึ่งเป็นตัวอ่อนของแมลงปอนั่นเอง ซึ่งจัดเป็นตัวห้ำในแปลงนา เป็นแมลงที่มีประโยชน์ครับ แมลงปอสามารถมองเห็นภาพได้กว้างถึง 360 องศา ถือเป็นแมลงที่มีประสาทการมองเห็นได้ดีที่สุด

แมลงปอ มีขากรรไกรล่างที่แข็งแรง แหลมคม มีขนาดใหญ่ จับแมลงต่าง ๆ เช่น ยุง, แมลงวัน, ตัวต่อ, ผีเสื้อ แม้กระทั่งแมลงปอด้วยกัน กินเป็นอาหารด้วยเล็บเท้า สามารถบินได้เร็วถึง 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยแรงส่งของลม และกระพือปีกประมาณ 500 ครั้ง/1 วินาที และสามารถบินสูงได้นับเป็นร้อยเมตร

แมลงปอ เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยมีอายุสั้น โดยมีอายุขัยโดยเฉลี่ยเพียง 7-8 สัปดาห์เท่านั้น

ตัวอ่อนแมลงปอ ที่เรียกว่า "ตัวโม่ง" อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป ลักษณะแตกต่างจากแมลงปอตัวเต็มวัย เพราะแมลงปอตัวเมียวางไข่ในน้ำ หรือตามพืชน้ำ ตั้งแต่ 500-หลายพันฟอง ตามแต่ละชนิด ตัวอ่อนแมลงปอจะลอกคราบประมาณ 10-15 ครั้ง จึงเป็นตัวเต็มวัย กินตัวอ่อนของแมลงน้ำและลูกอ๊อดเป็นอาหาร บางครั้งก็กินพวกเดียวกันเอง รวมทั้งปลาขนาดเล็ก ด้วยขากรรไกรขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมาพุ่งจับเหยื่อได้ด้วยเวลาเพียง 20 มิลลิวินาที เมื่อจับเหยื่อได้แล้วจะจีบฉีกเป็นชิ้น ๆ และกินทั้งเป็น ตัวอ่อนแมลงปอหายใจด้วยอวัยวะที่คล้ายกับปอดที่อยู่บริเวณหาง ตัวอ่อนแมลงปอเคลื่อนใหวโดยการใช้ขาพายน้ำและการพ้นน้ำออกจากก้นเหมือนไอพ่นเพื่อให้เองตัวพุ่งไปข้างหน้า ตัวอ่อนแมลงปอใช้ชีวิตนานอยู่ในน้ำนานไม่เท่ากัน แตกต่างกันตามแต่ชนิด บางชนิดใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่บางชนิดใช้เวลานานหลายปี จากนั้นจะไต่ตามต้นพืชจากน้ำมาลอกคราบและผึ่งปีกเพื่อจะกลายเป็นตัวเต็มวัย ด้วยแรงดันในร่างกาย ซึ่งระยะเวลาในการลอกคราบใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อก่อนจะบิน แมลงปอจะสั่นตัวเพื่อสูบฉีดเลือดเข้าสู่ปีก เพื่อเตรียมพร้อมที่จะบินเป็นครั้งแรกในชีวิต ขณะที่เปลือกลำตัวเก่าก็จะถูกทิ้งไว้กับต้นพืช แมลงปอมักผึ่งปีกในเวลากลางคืน รุ่งขึ้นเมื่อปีกแห้งก็สามารถบินได้

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า  หากการทำนาของเราเมื่อเรามีการกำจัดหอยเชอรี่ด้วยยาฆ่าแมลงก็จะเป็นอันตรายต่อตัวโม่งไปด้วย รวมทั้งตัวห้ำอื่น ๆ   แม้แต่การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงก็จะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ในนาข้าวด้วยเช่นกันอยากให้ธรรมชาติควบคุมกันเอง หรืออยากเหนื่อยพ่นยาฆ่าแมลงล่ะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 22:11:52
ช่วงนี้ไม่ได้เอาน้ำเข้านาแล้วครับ ปล่อยให้น้ำลดระดับลงเพื่อเตรียมพร้อมในการแตกกอ หากน้ำในนามีมากการแตกกอก็น้อยครับ ข้าวโตมากขึ้นมากไม่ต้องกลัวเรื่องหญ้าเกิดใหม่เพราะใบข้าวจะไปบังแสงทำให้หญ้าเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่หญ้าก็จะต้นเล็กครับเสร็จหอยเชอรี่กินเรียบครับ แต่พอดินแห้งหอยเชอรี่ก็อยู่ไม่ได้เช่นกันครับ ต้องปิดฝาก็ต้องมุดฝังตัวในดินต่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 22:16:29
ปล่อยให้น้ำลดระดับบ้าง รากข้าวก็จะได้สัมผัสอากาศมากขึ้น และหากปล่อยให้ดินแห้ง รากข้าวก็จะยาวขึ้นเพื่อหาน้ำใต้ดิน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 22:24:52
ช่วงนี้ทำสัญญาสงบศึกกับหอยเชอรี่ไว้ก่อนครับ เพราะต้นข้าวโตแล้วหอยเชอรี่จะไม่กิน จะใช้ต้นข้าวเพียงเพื่อวางไข่เท่านั้น เมื่อหอยเชอรี่ไม่สามารถกินต้นข้าวได้ หอยเชอรี่ก็จะหันมากินหญ้าแทนโดยเฉพาะหญ้าที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งก็เป็นการช่วยกำจัดวัชพืชในนาได้อีกทาง หอยเชอรี่กินเก่งหรือไม่คงไม่ต้องบอกครับรู้ ๆ กันอยู่ครับ  ผมสังเกตุในแปลงนาหอยเชอรี่หลาย ๆ ตัวกำลังกินหญ้าอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 22:34:59
ใบข้าวในนาตอนนี้ครับ ขนาดพึ่งเริ่มแตกกอ หากแตกกอเสร็จใบข้าวจะหนาแน่นมากกว่านี้นั่นคือส่งสัญญาณว่าเราจะต้องดูแลเอาใจใส่มากขึ้นเพราะเมื่อใบข้าวหนาแน่นก็มีโอกาสเกิดโรค และแมลงมากขึ้น การไปนาจึงต้องหมั่นสำรวจและป้องกันแก้ไข โชคดีที่นาปรังฝนไม่ตกบ่อย แต่หากเป็นนาปีแล้วการปล่อยให้ต้นข้าวขึ้นหนาแน่นจะควบคุมโรคได้ยากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013, 22:51:55
สังเกตุใบข้าวแต่ละจากภาพไหมครับ จะมีน้ำเกาะนั่นคือกระบวนการคายน้ำของต้นข้าวครับ การคายน้ำ เป็นการแพร่ของน้ำออกจากใบของต้นข้าวโดยผ่านทางปากใบ โดยทั่วไปปากใบปิดเวลากลางคืนและเปิดในเวลากลางวัน การคายน้ำมีความสำคัญในด้านการควบคุมการเคลื่อนที่ของน้ำในต้นข้าว ทำให้น้ำเคลื่อนที่จากด้านล่างขึ้นไปด้านบนมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคุมการดูดซึมธาตุอาหารของต้นข้าว เพราะธาตุอาหารที่ต้นข้าวนำไปใช้ได้ต้องอยู่ในรูปที่ละลายน้ำ ทำให้อุณหภูมิของใบลดลง โดยลดความร้อนที่เกิดจากแสงแดดที่ใบ ในกรณีที่ในอากาศอิ่มตัวด้วยน้ำ มีความชื้นสูง การคายน้ำเกิดขึ้นได้น้อย แต่การดูดน้ำของรากยังเป็นปกติ ต้นข้าวหรือพืชทั่วไปจะเสียน้ำในรูปของหยดน้ำเรียกว่ากัตเตชัน (guttation) ซึ่งพืชแต่ละชนิดรวมถึงต้นข้าวไม่สามารถคายน้ำในสภาพที่แดดจัดเพราะอาจเสียน้ำมากเกินไปและเหี่ยวก่อนที่รากจะลำเลียงน้ำได้ทันเราจึงมักเห็นภาพหยดน้ำแบบนี้ในช่วงเช้าหรือเย็น ๆ  จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องพ่นฮอร์โมนหรือให้ปุ๋ยทางใบในช่วงนี้นั่นเอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 00:32:36
เมื่อวานสมาชิกเชียงรายโฟกัส คุณ ~ lทวดาไร้ปีก ~ ได้ไปเยี่ยมชมนาของคุณ ลุงทองคำ อินพรม  ที่แม่สายมาครับ เผื่อใครจะไปดูงานบ้างก็น่าจะได้ความรู้ดี ๆ ครับ แถมได้แหนแดงกลับบ้านด้วย

zn8cCVNUfHE
มายืนยันว่าได้ความรู้แน่นอนครับ นั่งคุยกันแบบกันเองกับบรรยากาศที่ลืมไม่ลง แหนแดงตอนนี้ลงนาเรียบร้อยแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 14:54:12
เกษตรอินทรีย์ วิถีคนรุ่นใหม่ ตอน ฉันจะเป็นชาวนา งานวันเกษตรแห่งชาติ ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


XhIoz7OAg6I



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 16:31:50
วันศุกร์แล้วครับ เสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุดจะได้มีเวลาเป็นชาวนาวันหยุดแล้วครับ  :D ที่ทำงานผมที่ทำอยู่ค่อนข้างสบาย  เงินเดือนค่าตอบแทนก็พอสมควร ชอบที่ได้หยุดเสาร์อาทิตย์ต่างจากบริษัทหลาย ๆที่ในเชียงรายที่ต้องทำงานวันเสาร์ด้วย ใครขยันก็สามารถมาทำโอทีเสาร์อาทิตย์ได้  ผมเลือกทำเกษตรที่บ้านดีกว่ามีกิจกรรมสนุก ๆ ที่ต้องทำหลายอย่าง  สำหรับวันเสาร์อาทิตย์นี้ต้องบริหารเวลาพอสมควรเพราะต้องทำทั้ง

- ตัดหญ้าคันนา
- ใส่ปุ๋ยในนา
- ทำเล้าเลี้ยงไก่ไข่ให้แม่

อีกหน่อยก็จะปรับปรุงที่นาให้มีความผสมผสานมากขึ้นคล้ายกับเกษตรทฤษฎีใหม่  ตอนนี้ก็ลองปลูกมะนาวที่บ้านไปด้วยแม้จะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องมะนาวเลยก็กำลังศึกษาอยู่ตอนนี้กำลังออกลูกแล้วครับอีกหน่อยหากทำได้ดีอาจขยายพื้นที่ไปปลูกตามคันนาด้วยครับ โดยอาจขยายคันนาให้กว้างซัก 2 ม.กว่า ๆ และปลูกในวงบ่อซีเมนต์เผื่อจะมีรายได้เสริมไปด้วยครับ ในส่วนพื้นที่นาที่ลดลงไปหากเราทำได้ดีผลผลิตก็เพิ่มขึ้นได้ หรืออาจมีเครื่องสีเองขายเป็นข้าวสารแทน หรือทำข้าวพันธุ์ขายก็ได้เพื่อให้มีรายได้จากข้าวเท่าเดิม ผมค่อนข้างโชคดีที่มีญาติรับราชการเป็นหัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จึงสามารถไปขอความรู้และปรึกษาได้ง่ายครับแกเคยบอกให้ผมทำนาดำตั้งแต่ตอนเริ่มทำนาแล้วแต่ผมยังทำนาหว่านอยู่ตอนนี้รู้แล้วครับว่าทำไมแกถึงบอกอย่างนั้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 19:23:47
แวะมาอ่านหน้าที่ผ่านมาห้ามเข้าอันตราย ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 20:27:59
มาดูฝรั่งทำนาทำเกษตรในไทยบ้างครับ คุณมาร์ติน วิลเลอร์ พูดถึงสังคมคนอังกฤษกับคนไทยบ้างทำให้เรารู้สึกโชคดีมากที่เกิดเป็นคนไทยครับ

3zNpUEGhWgk

ประวัติ
ชื่อ Martin Wheeler อายุ ๔๒ ปี เป็นชาวอังกฤษ เมือง Bllackpool
ปริญญาตรีเกียรตินิยม ภาษาละติน จาก London University
ภรรยา นางรจนา วีลเลอร์ ชาวขอนแก่น บุตร ๓ คน
๑. ด.ช.อิริค วีลเลอร์ (Eric Wheeler) อายุ ๘ ขวบ
๒. ด.ญ.แอนนี่ วีลเลอร์ (Anne Wheeler) อายุ ๖ ขวบ
๓. ด.ช.ดิเรก วีลเลอร์ (Derek Wheeler) อายุ ๖ เดือน

*** ผมเป็นชาวอังกฤษ
เกิดในครอบครัวที่ฐานะดีพอสมควร พ่อจบปริญญาเอก เป็นผู้จัดการบริษัทเกี่ยวกับสารเคมี ยาฆ่าแมลง มีลูกน้อง ๒๐,๐๐๐ กว่าคน แม่จบปริญญาตรี เป็นครูสอนเปียโนกับไวโอลิน ผมจบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่งภาษาละติน ครั้งแรกเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปีที่ ๓ ผมย้ายไปเรียน มหาวิทยาลัยลอนดอน และจบที่นั่น ผมไม่ชอบเคมบริดจ์ เพราะเป็น แบบโบราณ อังกฤษเป็นประเทศเก่าแก่มาก สมัยโบราณเป็นระบบศักดินา มีขุนนาง และ ชาวบ้านเป็นขี้ข้า ทุกวันนี้แม้ยกเลิกระบบนั้นแล้ว แต่ที่เคมบริดจ์ยังเจอวัฒนธรรม แบบขุนนาง เป็นสังคมเล็กๆ ผ่านมา ๒๐๐-๓๐๐ ปีแล้ว แต่ไม่รับรู้อะไร ไม่เข้าใจชาวบ้าน เขาคิดแต่เรื่อง สังคมเล็กๆ ของเขาในกลุ่มคนชั้นสูง เป็นพวกหอคอยงาช้าง ที่ผมเรียนได้คะแนนดี เพราะพ่อแม่ของผม บังคับให้เรียนหนังสือ ส่งเสริมให้เรียนตั้งแต่อายุ ๒ ขวบครึ่ง สอบไปเรื่อยๆ เพิ่มไอ.คิว. ให้สูงที่สุด เท่าที่จะทำได้ ผมเรียนสูงจนได้เกียรตินิยม เพราะพ่อแม่มีเงินช่วย ไม่เกี่ยวกับความฉลาดเฉพาะตัว

*** ปฏิวัติค่านิยมเก่า
ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องเงิน ไม่อยากมีรถยนต์ ไม่อยากมีบ้านใหญ่ อยากมีบ้านเล็กๆ อยากมี ครอบครัวเล็กๆ ที่มีความสุข ไม่สนใจเรื่องวัตถุ ผมอยากอยู่แบบง่ายๆ เมื่อก่อน ไม่รู้เขาเรียกว่าอะไร แต่ตอนนี้รู้ว่า เขาเรียกมักน้อย สันโดษ ที่อังกฤษเขาว่าผมบ้า เป็นเด็กนิสัยเสีย เพราะพ่อแม่ส่งให้เรียนหนังสือ แต่ไม่เอาความรู้ไปหาเงิน เขาหาว่า เด็กที่ไม่คิดทำงานนั้น นิสัยเสีย

หลังจากเรียนจบแล้ว ผมก็เอาปริญญาให้พ่อแม่ตามที่ท่านอยากได้ แล้วผมก็ไปทำงานก่อสร้าง แบกอิฐแบกปูนอยู่ ๑๐ ปี ช่วงนั้นชาวบ้านบอกว่า ผมบ้าแน่ครับ

แต่เป็นเรื่องที่ผมอยากเรียนรู้ชีวิต อยากรู้จักตัวเอง ว่ามีความสามารถมากน้อยเพียงใด มีความอดทนมั้ย ทำในสิ่งที่เราไม่น่าจะทำได้มั้ย ท้าทายตัวเองบ้าง อยากผ่านชีวิตที่ลำบากบ้าง

ผมอยู่ในสังคมของคนมีเงิน เขาจะพูดถึงแต่เรื่องเงิน คุณมีรถยี่ห้ออะไรบ้าง มี่กี่คัน คุณมีบ้านใหญ่ ขนาดไหน ลูกของคุณเรียนที่ไหน เอาลูกมาแข่งขันกัน จบจากที่ไหนบ้าง จบจากเคมบริดจ์ดีกว่าจบจากมหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ผมกลับคิดว่า ชีวิตน่าจะมีอะไร มากกว่านั้น ช่วงนั้นผมไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร แต่ที่รู้แน่ๆ คือไม่ใช่เงิน ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ปริญญา ต้องมีสิ่งอื่น ซึ่งผมไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน ผมก็เลยมาลองแบกอิฐ แบกของหนักไว้ก่อน เดินแบกอิฐไปมา วันละสาม-สี่พันเที่ยว มันอิสระ เรามีเวลาคิด ได้รู้จักคนอื่น และได้สร้างความเข้มแข็ง ให้ร่างกาย แล้วจิตใจเราก็เข้มแข็งขึ้นด้วย

ชาวบ้านธรรมดาที่อังกฤษนั้น จริงๆ เขาลำบากกว่าคนไทยมาก เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ผมได้เห็น ชีวิตของชาวบ้านที่อังกฤษแย่มาก คนที่นั่น ๖๐% ไม่มีบ้าน ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา จะไม่ได้เป็น เจ้าของบ้าน ต้องไปเช่าบ้านจากเจ้านายตลอดชีวิต ๙๘%ไม่มีใครมีที่ทำกิน แล้วก็อยู่ในเมือง เป็นขี้ข้าเขาหมด แม้แต่เป็นผู้จัดการก็เป็นขี้ข้าด้วย เพราะไม่มีใครพึ่งตนเอง ไม่มีใครมีที่ทำกิน จะไปทำอะไร ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ จะไปสุขอะไรก็ไม่ได้ ต้องไปหาเงิน ชีวิตอยู่กับเงินอย่างเดียว เงินเยอะ ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้เงินน้อยคุณภาพชีวิตก็ไม่ค่อยสูงเท่าไหร่

*** พ่อแม่และผม
ถามว่าชีวิตของพ่อมีความสุขมั้ย ผมคิดว่าไม่ ผมคิดว่าพ่ออยากได้บางสิ่งบางอย่าง เขาได้เงินเดือน เยอะมาก ได้รับบำเหน็จบำนาญ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในชุมชน มีตำแหน่ง มีเกียรติยศอะไรอีกเยอะแยะ แต่ผมคิดว่าพ่อไม่มีความสุข เพราะว่าวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ไปทำงานที่โรงงาน ตกเย็นไปประชุมอีก กลับบ้านสามทุ่มสี่ทุ่ม ไม่ได้เจอเมียเจอลูก วันเสาร์อาทิตย์พ่อก็ปวดหัว อยากพักผ่อน พ่ออยากอยู่คนเดียว ไม่ให้ใครรบกวน พ่อมีเมีย และลูกสามคน แต่พ่อไม่ค่อยได้เห็นลูกเห็นเมีย สมัยที่ผมอายุสิบสามขวบ ผมไม่ได้คุยกับพ่อ แม้แต่คำเดียวเกือบปีครึ่ง เห็นเมื่อไหร่ก็เจอพ่อปวดหัวตลอด คิดหนัก อาชีพของพ่อ ต้องใช้สมองมาก ผมว่ามันเป็นกรรมพันธุ์ด้วย ผมก็ปวดหัวบ่อยเหมือนกัน (หัวเราะ) ชอบคิดมาก ตอนนี้หายแล้ว แม่เข้าใจผม แต่ไม่เห็นด้วยที่ผมมาเมืองไทย

แม่เสียชีวิต ผมได้มรดกนิดๆ หน่อยๆ มีเวลาที่จะไปเที่ยว ผมเคยวางแผนไว้ในใจว่าจะเที่ยว ๑ ปี จะไปในประเทศ ที่ผมไม่เคยไปมาก่อน เช่น ไทย ลาว เขมร พม่า มาเลย์ เวียดนาม อินโด ออสเตรเลีย คิดว่าจะไปออสเตรเลียเพราะเป็นประเทศเปิด ไม่ค่อยมีกฎระเบียบ เหมือนอังกฤษ แต่ก็ยังไม่ได้ไปตามแผนที่วางไว้ ประเทศแรกที่ผมมาคือประเทศไทย

*** ผมไม่ใช่ครูฝรั่ง
สมัยก่อนผมนิสัยเสีย ชอบกินเหล้า ชอบเที่ยว ชอบสนุก เงินที่ผมเก็บไว้ ๑ ปี ภายใน ๒ เดือนใช้หมดเลย ไม่มีเงินกลับบ้าน ผมอยู่ประเทศไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ผมอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีเงิน แม้แต่บาทเดียว ไปหางานทำ อาชีพอย่างเดียวที่เราทำได้ คือเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ จริงๆแล้ว ผมไม่ได้เป็นครูหรอก ผมสอนไม่เป็น แต่คนไทยเห็นฝรั่ง จะบอกว่าฝรั่งทุกคน เป็นครูสอนภาษา ซึ่งมันไม่จริง ฝรั่งส่วนมากไม่ได้เป็นครู ที่กรุงเทพฯ เขาจ้างผมให้เป็นครู เอาเสื้อผ้าดีๆ เนคไทดีๆให้ใส่ เขาบอกว่า คุณเป็นครูนะ แล้วเขาก็ส่งผมเข้าห้องเรียนเลย

ความจริงฝรั่งที่เขาเรียกครูนั้น ไม่มีใครเคยสอนหนังสือ แม้แต่คนเดียว และบางครั้ง ก็ไม่ใช่คนอังกฤษด้วย มีคนหนึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส พูดภาษาอังกฤษผมฟังไม่รู้เรื่อง แม้แต่คำเดียว คนไทย ก็แปลกดีเหมือนกัน เขาให้เงินเดือนผมเดือนละ ๓ หมื่นบาท ไปนั่งเฉยๆ ผมก็ละอายใจ ไม่อยากรับ ผมคิดมาก ปวดหัวทั้งวันทั้งคืน เพราะถ้าเราทำงานอะไรในชีวิต เราต้องได้ผล สมมุติมีคนมาจ้างเรา ๑๐๐ บาทแบกอิฐ ผมจะรับแน่เพราะว่า ผมแบกอิฐแผ่นนั้น จากโน่นไปที่นู่น ผมทำได้แน่ครับ แล้วผมก็จะเอาเงินของคุณไป แต่เวลาผมเป็นครูสอนภาษา มันไม่ได้ผลหรอก ผมสอนไม่เป็น เอาเงินให้ผมเฉยๆ ผมก็รู้สึกว่า ไม่น่าจะเอา ผมไม่ได้ทำ ประโยชน์อะไร คุ้มค่าเงินนะ

*** เงินไม่ทำให้ผมมีความสุข
ผมมีอุดมการณ์เล็กๆ ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ

๑. ถ้าเราทำงานอะไร ต้องทำในสิ่งที่เรามีความสุข
๒.จะไม่ทำงานที่ต้องผูกเนคไท
๓.จะไม่มีกระเป๋าเอกสารเพราะว่าเหมือนสังคมของพ่อแม่ผม เขาจะทำงานแบบนั้น ทุกคนมีเสื้อนอก มีรถยนต์ มีเอกสาร แต่เขาไม่ค่อยมีความสุขหรอก ผมเอาสิ่งนี้ มาเป็นสัญลักษณ์ แห่งการทำงานที่ไม่มีความสุข มีช่วงเดียวเท่านั้นที่ผมทรยศต่อชีวิตตัวเองคือ ช่วงที่ผมเป็นครูอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมต้องผูกเนคไท ผมทำในสิ่งที่ผมเกลียดที่สุดเลย เพื่อเงินอย่างเดียว ทำอยู่ประมาณ ๑๑ เดือน ชีวิตไม่มีความสุข เหมือนอยู่ที่อังกฤษ คือทำงานอะไรก็ได้ ขอให้มีเงิน แต่ไม่มีความสุข แล้วก็เอาเงินไปใช้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไปเที่ยว ไปกินเหล้า ไปสูบบุหรี่ ยาเสพติดทุกชนิดผมเอาหมด ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แม้แต่อยู่กรุงเทพฯ ก็ยังทำอยู่ ถึงได้เงินเยอะ แต่ไม่รู้ว่า จะเอาไปทำอะไร เพราะเงินไม่ช่วยให้เรามีความสุข

*** หันเหชีวิตสู่แนวทางที่วาดหวัง
ผมเจอภรรยา เธอมาจากจังหวัดขอนแก่นอยู่กรุงเทพฯ ไม่นานก็มีลูก ผมเริ่มคิดหนัก แต่ก่อน อยู่คนเดียวไม่มีปัญหา มีความสุขหรือไม่มีก็คนเดียว ไม่ยากหรอก เมื่อมีเมียมีลูก มันต้อง รับผิดชอบผู้อื่นด้วย จะไปนั่งกินเหล้าเฉยๆ ไม่ได้หรอก คิดว่าทำอย่างไร ให้เมียกับลูกอยู่ได้ ผมรู้แน่ๆ ถ้าผมอยู่ในสังคมเมือง และทำงานแบบนี้ ผมจะเป็นคนแย่มาก จะกินเหล้า สูบบุหรี่ ติดยา เที่ยวอย่างเดียว จึงตัดสินใจตัดตัวเองออกจากสังคมเมือง ไปอยู่บ้านนอก แฟนผม มาจากหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดขอนแก่น ช่วงปีใหม่ผมไปเที่ยวบ้านของแม่ยาย เห็นว่า เป็นธรรมชาติดี

ต้องเข้าใจว่าคนอังกฤษอยู่บ้านนอกไม่ได้ เพราะชนบทมีพื้นที่นิดเดียว พวกขุนนางยึดหมด คนยากจน จึงอยู่ชนบทไม่ได้ ต้องไปอยู่ในเมืองที่สกปรก แออัด คนอังกฤษที่ยังรวยไม่ถึงขั้น เช่นพ่อของผม มีเงินเยอะ แต่ก็ยังรวยไม่ถึงขั้น เพราะยังอยู่ในเมือง วัดจากคนที่อยู่ กลางเมืองใหญ่ๆ จะเป็นคนจนที่สุด ที่อยู่ชานเมือง จะเป็นพวกครู ข้าราชการ อะไรแบบนั้น เป็นผู้จัดการ ก็ยังอยู่ในเมือง ส่วนคนที่จะได้อยู่บ้านนอก จะต้องเป็นคนรวย ถึงขั้นจริงๆ เป็นพวกขุนนางใหญ่โต มันเป็นเรื่องแปลก ผมมาอยู่ที่ขอนแก่น เห็นแต่ละคน มีที่ดินเยอะมาก ชาวบ้านธรรมดา คนเดียวมีถึง ๕๐ ไร่ ๒๐๐ กว่าไร่ก็มี พ่อแม่ผมมีแค่ ครึ่งไร่เท่านั้นเอง แต่อยู่บ้านนอกที่นี่ โอ้โฮ..มีเยอะมาก สะอาดด้วย อากาศก็ดี ตอนแรกได้กลิ่น ผมก็ว่ากลิ่นอะไร อ๋อ มันกลิ่นธรรมชาติ ผมไม่เคยดมมาก่อน โอ้สุดยอดเลยบ้านนอก คนอื่นว่าฝรั่งมันบ้า
เพราะเขาไม่คิดว่า ทำไมฝรั่งอยากไปอยู่บ้านนอก เขาคิดว่าฝรั่งมีแต่คนรวย ฝรั่งไม่มีคนยากจน เขาไม่รู้จริงๆ ว่าฝรั่งส่วนมากลำบาก บ้านก็ไม่มี ที่ดินก็ไม่มี เป็นขี้ข้าเขาหมด ลูกก็ไม่มีอนาคต

ปัญหาของระบบทุนนิยมคือเรื่องเงิน เงินถูกจำกัดเป็นก้อนเล็กๆ คนรวยกวาดเงินไปเยอะ จนเหลือนิดเดียว มันแบ่งกันไม่ลงตัว ทำให้มีคนจนเยอะ ถ้ามีคนรวย ๑ คน จะมีคนจน เป็นร้อยเลย ระบบทุนนิยมจึงอยู่ได้ ปัญหาของคนยากจนคือ ทำยังไง จะมีชีวิตที่ดี เราจะหลุดพ้น จากความยากจนได้ ต้องหาสิ่งที่ไม่ใช่เงิน อันนี้เป็นจุดเด่นของประเทศไทย ชาวบ้านธรรมดา อาจจะไม่มีเงินเยอะ แต่เขาสามารถจะหาหลายสิ่งหลายอย่าง ที่มีคุณค่า มากกว่าเงินตั้งเยอะ

*** แค่อยากหาคำตอบให้ชีวิต
ผมตกลงกับแฟนว่าเราจะไปอยู่บ้านนอก ผมจะไม่รับจ้างสอนภาษาอังกฤษ เขาก็ตกลง แต่ปัญหาคือ ผมทำเกษตรไม่เป็น ช่วงแรกก็ลำบาก ต้องกลับมาแบกอิฐเหมือนเดิม วันละร้อยยี่สิบบาท โอ้โฮ...เหนื่อย เพราะที่อังกฤษ ถึงจะแดดร้อน แต่อากาศเย็น เดินไม่ได้ ต้องวิ่ง ก็อุ่นได้ แต่ขอนแก่นช่วงนั้น เป็นเดือน ๔ อากาศร้อนมาก ๔๐ กว่าองศา บางครั้ง ผมเป็นลม เขาเอาน้ำมาสาด โอ๊ย.! ฝรั่งมันบ้า ทำไม ไม่กลับบ้าน คิดผิดหรือเปล่า ทำไมต้อง มาลำบากขนาดนี้ เขาคิดว่า ผมเป็นฆาตกร ไปฆ่าคนที่อังกฤษ แล้วกลับบ้านไม่ได้ หนีคดีมา ความจริงไม่ใช่ ผมก็แค่อยากหาคำตอบในชีวิต บางเรื่องเท่านั้น อยากหาความสุข ที่เป็นแบบ ยั่งยืนสักหน่อย

บางครั้งก็คิดหนีไปที่อื่นเหมือนกัน แต่ผมไม่รู้ว่า ถ้าอยู่ที่นี่ไม่ได้จะไปอยู่ที่ไหน คิดว่า เราต้องหาคำตอบให้ได้ ปัญหาอาจจะอยู่ที่ตัวของผมเอง แต่ในภาพรวมที่นี่ดี สิ่งแวดล้อมดี สะอาด ถ้าเรามีลูก เราอยากให้ลูกของเราอยู่ในที่สะอาด อาหารธรรมชาติฟรีๆ ก็มีเยอะมาก ในภาคอีสาน เห็ดแดง หน่อไม้ ไข่มดแดง ดอกกระเจียว ผักอีหรอก แมงคับแมงคาม ขี้กะปอมเยอะ แต่บางคนก็ไม่กินนะ บางคนก็กิน ซึ่งมันดีมากเพราะว่า ๑.สะอาด อาหารธรรมชาติ ไม่มีใครไปใส่ปุ๋ยเคมี ๒.ไม่ได้ซื้อ ไม่ได้ใช้เงิน ขอให้ขยันเดินไปเก็บ สมัยก่อน ที่อังกฤษ ผมจะเดินแบกอิฐทั้งวัน เมื่อได้เงินแล้ว ก็เอาเงินเกือบทั้งหมดไปซื้ออาหารในร้าน ฝรั่งส่วนมาก ทำงานหนักทุกวัน แต่เงินที่เขาได้ มันเพียงพอที่จะซื้ออาหารกินเท่านั้น ไม่มีเงินเหลือ ฝากธนาคาร

*** นิยามความรวยกับความจน
มันเป็นเรื่องแปลกนะที่ประเทศไทย คนยากจนมีหนี้สินเยอะ ที่อังกฤษมีแต่คนรวย ที่มีหนี้สิน คนจนไม่มีหนี้ เพราะเขาไม่ให้คนจนยืมเงิน เนื่องจากกลัวจะไม่มีปัญญาใช้คืน จึงไม่มีสิทธิ์ มีหนี้สิน แต่คนรวยยืมเงินได้ คำว่ารวยกับคำว่าจน มันคืออะไรกันแน่

ที่ขอนแก่นเขาว่าผมบ้าบ้าง ฝรั่งยากจนบ้าง ฝรั่งตกอับบ้าง ฝรั่งขี้นก ฝรั่งไม่มีเงิน แต่ผมบอกว่า ไม่ใช่ ผมรวยนะ เขาถามว่ารวยได้ยังไง ผมบอกว่า

๑. ผมมีบ้าน ผมทำบ้านเล็กๆ เป็นกระท่อมน้อยๆ เอาหญ้ามามุงหลังคา ชาวบ้านเรียกว่า เถียงนา ไม่ใช่บ้านหรอก ผมบอกว่าใช่ มันบ้านของผม ไม่ใช่บ้านเจ้านาย ราคาหนึ่งหมื่นสองพันบาท อยู่ได้ครับ มันกันแดดกันฝนได้ แค่นั้นผมก็รวยแล้ว

๒. มีที่ดิน แค่ ๖ ไร่เท่านั้นเอง ที่นั่นเขาบอกว่ากระจอก มีนิดเดียว แต่สำหรับฝรั่ง มันเยอะมาก จริงๆ ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นพื้นฐานของชีวิต เราต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นของเรา ไม่ใช่ของเจ้านาย เพราะว่าถ้ามันเป็นของเจ้านาย เราต้องไปหาเงินให้เขา ถ้าเราไม่มีเงิน เขาก็ไล่เราออก เราไม่มีที่อยู่นะ เพราะฉะนั้น ต้องมีบ้านเป็นของตัวเองไว้ก่อน ซึ่งผมก็มีบ้าน คิดว่าลูกของผม จะต้องมีบ้านแน่ๆ ด้วย เรื่องเกษตรผมทำไม่เก่ง แต่ที่ทำได้ง่ายคือ ปลูกต้นไม้ ไม้ประดู่ ไม้สะเดา ไม้ยาง ปลูกไว้ให้ลูกสร้างบ้าน ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้โตเร็วมาก แค่ ๒๕-๓๐ ปีตัดได้แล้ว ไม่เหมือนอังกฤษ ๒๐๐ ปีได้เท่านี้เอง เพราะอากาศเย็น เป็นเรื่องแปลก ที่คนไทยจะบ่น โอ๊ย..มันร้อนๆ ผมว่ากลับเป็นเรื่องดี แสงแดดเยอะ จะทำการเกษตรได้ ตลอดเวลา ๑ ปี ทำได้ทุกวัน แต่คนไทยจะบ่นร้อนๆ ไม่เอาๆ อยากเป็นคนผิวขาวดีกว่า แต่คนอังกฤษ เขาถือคนผิวขาวเป็นคนจน เพราะว่าไม่มีปัญญา จะไปเมืองนอก ซึ่งกลับกันเลย แม้แต่พ่อของผม เขาก็ยังมีเครื่องอาบแดดเพื่อให้ผิวเป็นสีแทน ให้ดูเป็นแบบคนมีสตางค์ แต่คนไทย กลับอยากมีผิวขาว

*** วิธีคิดไม่ธรรมดาของมาร์ติน วีลเลอร์
ผมมีลูก ๓ คน ชาย ๒ หญิง ๑ สิ่งสำคัญที่สุด ๒ เรื่องในชีวิตของเรา คือ ๑. ต้องมีบ้าน เป็นของตัวเองให้ได้ จึงจะถือว่า ชีวิตประสบความสำเร็จ ๒. ต้องมีงานทำทุกวัน ไม่ได้จำกัดว่า ต้องเป็นงานอะไร แต่ขอให้ มีงานทำทุกวัน ชีวิตจึงจะไม่สูญเปล่า วิธีเดียวที่รับประกันได้ว่า ลูกมีงานทำ คือการมีที่ทำกินให้เขา และเราต้องช่วยให้เขาทำเป็น ผมคิดว่าคนชนบทจริงๆ ใครมีที่ดินทำกินแล้วจะไม่ตกงาน เว้นแต่คนขี้เกียจ ซึ่งบางคนมีที่ดินเยอะ แต่ไม่ยอมทำ ถ้าเราสั่งสอน ให้ลูกรู้จักทำมาหากิน เขาก็ไม่ตกงาน ผมถือว่างานที่อิสระ และมีประโยชน์ มากที่สุด คืองานเกษตรซึ่งช่วยให้เรากินอิ่มทุกวัน คนอังกฤษกินไม่อิ่มเยอะมากนะ ผมไม่อยาก ให้ลูกของผมอดอาหาร อยากให้ลูกกินอิ่มในลักษณะที่ส่งเสริมสุขภาพด้วย กินอาหาร ที่ไม่มีสารพิษ กินอาหารแบบเรียบง่ายก็ได้ แต่อิ่มทุกวัน เมื่อมีบ้าน มีงาน มีอาหาร ลูกของผม ก็จะรวยที่สุด ผมอยากให้ลูกอยู่บ้านนอก เพราะว่าสะอาด จ้างเท่าไหร่ ก็ไม่อยาก ให้ไปอยู่ ในเมืองหรอกเพราะสกปรก แออัด สำคัญที่สุดคือเรื่องของสังคม ผมไม่อยากให้ลูกไปอยู่ในเมือง เพราะว่า คนเมืองเห็นแก่ตัว วิ่งไปหาเงินอย่างเดียว แข่งขันกันเยอะ เดี๋ยวก็ฆ่ากัน ด่ากันทุกวัน ไม่สงบ อยากให้ลูกอยู่บ้านนอก เขาจะได้สิ่งที่หายากที่สุดในโลก

คนอีสานบ้านนอกเป็นคนดีมากนะ มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือคนอื่น เอื้ออาทรกัน เกื้อกูลกัน แบ่งปันกัน ไม่แข่งขันกัน ความเป็นชุมชนเป็นสิ่งที่หายากนะ ถ้าเราไปอยู่ในเมือง จะอยู่แบบ ของใครของมัน บ้านคนละหลัง ครอบครัวคนละหลัง ไม่รู้จักกัน ถ้าเราอยู่ในชุมชนเล็กๆ เราก็ช่วยเหลือกันได้ คุยกันได้ แบ่งปันกันได้ ในที่สุดเราก็จะเป็นคนมีน้ำใจได้

ลูกของผมเขาเป็นคนมีน้ำใจ เขาอาจจะไม่มีเงิน ไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ แต่เขาจะมี สิ่งที่ดีกว่า นั้นเยอะ คือเขาจะมีที่อยู่อาศัย มีชุมชนที่ดี ไม่มียาเสพติด ไม่มีการพนัน ไม่มีอาชญากรรม มันน่าอยู่ ขอให้เราอยู่ในชุมชนที่เป็นแบบนั้น มันก็ดีนะ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องเป็นห่วง ลูกก็จะเป็นคนดี ไม่ติดยา ไม่ขี้ขโมย ไม่เล่นไพ่ มีน้ำใจและรู้จักช่วยเหลือคนอื่น ลูกผมเรียน หนังสือไม่เก่ง ปีนี้เขาได้คะแนนเป็นอันดับที่ ๑๙ ในห้องของเขามีนักเรียน ๓๙ คน มันเดินสายกลาง พอดีเลย (หัวเราะ)

แต่ผมไม่ได้สนใจเรื่องอันดับคะแนนหรอก ครูเขาเขียนถึงอุปนิสัยของลูกว่า เป็นคนที่มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งผมไม่ได้สอนแบบนั้น ฝรั่งส่วนมากจะเห็นแก่ตัว ผมเคยอยู่ ในสังคม อย่างนั้นมาก่อน มันเปลี่ยนยากครับ ผมจึงไม่ได้สอนให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจ แต่มันเป็นที่ชุมชน เป็นวิถีชีวิต ของคนอีสาน ที่เริ่มซึมเข้าไปในกระดูกของเขา ทำให้ลูกอายุแค่ ๘ ขวบเป็นคน มีน้ำใจ ผมถือว่าสุดยอดแล้ว ผมภูมิใจในตัวของลูกมากๆ เรื่องเรียนไม่สำคัญหรอก สำคัญที่สุดนั้น เป็นความมีน้ำใจ ถ้าเขาสามารถรักษาสิ่งนี้ไว้ตลอดชีวิต ผมคิดว่า เขาคงมีความสุขแน่

*** วิเคราะห์เจาะลึกอีสานบ้านเฮา
ผมเคยบังคับลูกชายคนแรก ตอนอายุประมาณ ๓ ขวบ จับมานั่ง สอนภาษาอังกฤษ เขาก็ร้องไห้ ๆ ไม่เอาๆๆ ผมก็คิดว่า เอ๊ะ..เราน่าจะเลิกทรมานเด็ก ปล่อยให้เขามีความสุข ตั้งแต่วันนั้น ผมบอก จะไม่สอนเขาอีก แต่ถ้าอยากเรียนมาบอกผม จะสอนให้ ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ เขายังไม่บอกผมเลย ผมก็มาคิดว่า จะให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษเพื่ออะไร ในหมู่บ้าน ของผมมี ๕๐ ครอบครัว ทุกคนพูดอีสานอย่างเดียว แม้แต่ผมก็ยังพูด แล้วจะให้เขาเรียนภาษาอังกฤษ เพื่ออะไร

สมมุติว่าลูกของผมอยากอยู่ในหมู่บ้านนี้ตลอดชีวิต ภาษาอังกฤษก็จะเป็นความรู้ ที่ไม่เป็น ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ผมเคยเรียกว่า มันเป็นวิชาขี้ข้า เอาไว้รับจ้างเฉยๆ เอาไปหาเงิน คนที่มีความรู้ ภาษาอังกฤษ จะเอาอันนี้แลกกับเงินอย่างเดียว เขาไม่ได้เรียนเพื่อชีวิตของเขา เขาอยากเอาเงิน ไปทำงานสูงๆ หน่อย

ปัญหาของคนอีสานมีมากในเรื่องของการศึกษา คนอีสานส่วนมากไม่อยากให้ลูกเป็นคนอีสาน ไม่อยากให้ลูกเป็นคนบ้านนอก ไม่อยากให้ลูกพูดภาษาอีสาน อยากให้พูดไทย ชาวบ้านส่วนมาก คิดอยากให้ลูกได้ดีในชีวิต คิดว่าสิ่งที่ดีในชีวิตของลูกคือ ๑.ไม่ได้พูดอีสาน พูดแต่ภาษาไทย ๒. พูดภาษาอังกฤษด้วย ๓. เล่นคอมพิวเตอร์ได้ ๔. ไปอยู่ในเมือง ๕. ไปรับจ้างเขา ๖. ไปสร้าง หนี้สิน ไปซื้อบ้านหลังเล็กๆ ราคา ๒ ล้าน ๓ ล้านบาท เขาคิดว่า อย่างนี้ลูกของเขาได้ดี ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมก็อยากให้ลูกของผมได้ดีเหมือนกัน แต่ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ปัจจัย ที่จะช่วยให้เขา ได้ชีวิตที่ดี อาจจะเอาไปแลกเงินในบางช่วงได้ แต่ผมหวังว่า ลูกของผม จะมีความคิด สูงกว่านั้น ชีวิตน่าจะมีไว้เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่เงิน ถ้าเขาเรียนรู้ เพื่ออยาก จะหาเงิน อย่างเดียวก็น่าเสียใจนะ เพราะความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่การเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ทุกวันตลอดชีวิต เราหยุดเรียนรู้ไม่ได้ แต่เราไม่น่าจะเรียน เพื่อเอาความรู้ เอาปริญญา ไปแลกกับเงิน ทำให้ความรู้ไม่มีคุณค่า

*** จุดอ่อนจุดแข็งของคนไทย
ผมคิดว่าคนไทยส่วนมากยังไม่เข้าใจระบบทุนนิยม เห็นฝรั่งที่ไหน ก็คิดว่ารวยหมด คิดว่าการพัฒนา ในระบบทุนนิยมจะทำให้ทุกคนมีเงิน ไม่เข้าใจว่าประเทศที่พัฒนา ระบบทุนนิยม นานแล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐ มีปัญหาเยอะมาก แต่คนไทยก็คิดว่า เมืองนอก ดีกว่า อันนี้จุดอ่อนครับ คือคนไทยสนใจเมืองนอก ไม่ได้สนใจ ประเทศไทย ผมเป็นฝรั่ง คุณเลยนั่งฟังผม ถ้าผมเป็นชาวบ้าน คุณจะไม่สนใจผม อันนี้เป็นจุดอ่อนนะ แต่จุดแข็งคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แผ่นดินประเทศไทย อุดมสมบูรณ์มากๆ ที่ดินเยอะมาก น้ำเยอะมาก แสงแดดเยอะมาก ทำเกษตรอยู่รอดแน่ เป็นพลังแผ่นดิน ใครๆ ก็อยากได้ประเทศไทย ผมก็ได้ถึง ๖ ไร่ คนไทยโชคดีมากๆ ที่ได้ในหลวง เป็นผู้นำ พระองค์ท่านเป็นคนที่ทำงาน หนักมาก เพื่อช่วยให้คนคิดได้ ช่วยให้คนอยู่ได้ จะหากษัตริย์ ในประเทศอื่น ไม่ค่อยมีแบบนี้ ปัญหาคือคนไทยส่วนมากนับถือในหลวง แต่ไม่ยอมปฏิบัติ ตามคำสอนของในหลวง พระองค์ท่าน บอกมา ๒๗ ปีถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่คนไทย ก็ไม่รู้จักพอเพียง เอาอย่างเดียว ถึงยกมือไหว้ในหลวง แต่เวลาดำรงชีวิต ไม่ได้ทำตามในหลวง ก็ในหลวงบอกไว้แล้วว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเสือ ขอให้มีอยู่มีกินไว้ก่อน ถ้าทุกคนเริ่มคิดจริงๆ ถึงสิ่งที่ในหลวงพูด เราน่าจะช่วยให้ประเทศไทยอยู่ได้ เพราะความคิด ของในหลวง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ต้องอาศัย พลังแผ่นดิน ทำได้เฉพาะประเทศไทยนะ เศรษฐกิจพอเพียง ที่อื่นทำไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่มีที่ดิน ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ เหมือนประเทศไทย

พวกคุณโชคดีที่ได้แผ่นดินดีๆ ได้ผู้นำที่ดีด้วย และเรื่องที่ ๓ เรื่องศาสนา ผมคิดว่าศาสนาพุทธ มีความสำคัญมากๆ สำหรับคนไทย ไม่ใช่แค่นับถือไหว้พระ แค่นั้นไม่พอ แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ด้วยนะ มักน้อย สันโดษ พอเพียง ธรรมะคือธรรมชาติ เป็นเรื่องง่ายๆ พึ่งตนเองก็ได้ ปรัชญาของ ศาสนาพุทธ ทำได้นะ แต่คนไทยจำนวนน้อยที่เข้าใจ จริงๆ แล้วศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ ออกแบบให้เหมาะสม สำหรับคนบ้านนอก ให้ใช้ชีวิตร่วมกับ ธรรมชาติโดย ไม่ทำลาย ไม่เอาเปรียบ แต่ให้เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

*** อยากบอกอะไรคนไทย
คุณโชคดีมากๆ ที่เกิดในประเทศไทยที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องไปรบกับใคร ไม่ต้องไปเอาน้ำมัน จากใคร ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น ประเทศไทยอยู่ได้ กินอิ่ม มีเหลือแจกด้วย อย่าไปคิด เรื่องเงินอะไรมาก อย่าลดคุณค่าความเป็นไทยของตัวเองลง คนไทยส่วนมาก นิสัยดีจริงๆ คนไทยมีน้ำใจ หายากนะ คนไทยมีพระเจ้าอยู่หัว มีแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีศาสนาพุทธ ที่ดีมาก ทั้ง ๓ อย่างนี้พยายามรักษาเอาไว้ให้ได้ ชีวิตที่ไม่ทะเยอทะยานเกินไป คือชีวิต ที่มีคุณภาพ ชาวบ้านทุกคนทำได้ ผมเองถึงยังทำไม่สำเร็จ แต่มั่นใจว่าจะทำได้แน่ในอนาคต ถ้าผมทำได้ คนอื่นก็คงทำได้ง่ายกว่าผมเยอะ ทุกอย่างอยู่ที่เรา ถ้าเราไม่อยากได้อะไร มากเกินไป ในชีวิต ชีวิตมันก็ง่าย พยายามทำให้ชีวิตมันง่ายขึ้น อย่าให้มันสับสน อย่าให้มันลำบาก พยายามรักษา สิ่งแบบนี้ให้ดี และอย่าเชื่อฝรั่งมากเกินไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 20:45:29
มาดูชาวญี่ปุ่นบ้างครับ "ดร.มิซาบุโร ทานิกุจิ" : วิพากษ์ชาวนาไทยในมุมมองเกษตรกรญี่ปุ่น

๑   "ถ้าคุณอยากเห็นอนาคตการเกษตรของไทยในอีก 20 ปี ก็ให้มองการเกษตรญี่ปุ่น"



๒   "ชาวนาต้องปรับตัว ไม่อย่างนั้นสูญพันธุ์กันหมด"



๓    "เชื่อเถอะว่า เด็กที่เรียนเกี่ยวกับการเกษตรในประเทศไทย ไม่มีทางที่จะกลับมาทำการเกษตรของตนเอง พวกเขาต้องการทำการเกษตรกับบริษัท"



๔    "จนถึงเดี๋ยวนี้ มีการควบคุมเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแล้วกว่า 70%เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทใหญ่ยึดพันธุ์ข้าวไปหมดแล้ว"



๕   "ในความคิดของผม ผมเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย"




๖    "ข้าวแพง...คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ กลุ่มนายหน้า พ่อค้านายทุน...มันกลายเป็นเพียงเกม ส่วนชาวนาต้องรับกรรม"

"ดร.มิซาบุโร ทานิกุจิ" คือเกษตรกรชาวญี่ปุ่นที่ทำการเกษตรในเมืองไทยมากกว่า 25 ปี เป็นประธานมูลนิธิศูนย์อบรมเกษตรกรรมและอาชีพ มีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า150 ไร่ ตั้งอยู่อยู่ระหว่างทางบ้านสักลอ - พวงพะยอม ต.หงส์หิน อ.จุน จ.พะเยา ซึ่งในช่วง 25 ปีที่ ดร.มิซาบุโร ทานิกุจิ ได้ทำฟาร์มระบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้เขาเห็นความแตกต่างระหว่างชาวนาไทยและญี่ปุ่น และนี่คือมุมมองของเขา ที่ทำให้คนไทยมองเห็นองศาความคิดที่แตกต่าง ระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น


มิซาบุโร ทานิกุจิ
ประธานมูลนิธิศูนย์อบรมเกษตรกรรม จ.พะเยา

ผู้ก่อตั้งฟาร์มแห่งศตวรรษที่ 21
ฟาร์มแห่งศตวรรษที่ 21 คืออะไร

F.C.21 หรือ ฟาร์มแห่งศตวรรษที่ 21 คือต้นแบบแหล่งผลิตอาหารเพื่อชาวโลกในอนาคต เพราะทุกวันนี้อาหารมีไม่พอสำหรับชาวโลก และอีกประการหนึ่งคือ มันเป็นการทำประโยชน์ หากเราอยู่ประเทศญี่ปุ่นผมกลายเป็นคนแก่ที่ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเราอยู่เมืองไทยผมสามารถทำประโยชน์ได้มากกว่า

โดยเมื่อ 25 ปีก่อน ผมทำฟาร์มที่จังหวัดเชียงราย ตอนนั้นฝึกแต่ชาวเขา ซึ่งหลังจากทำการเกษตรมาหลายปี เราก็อยากขยาย อยากทำงานให้มากกว่าเดิม ก็เลยหาสถานที่ใหม่ ดังนั้นอีก 8 ปีต่อมาผมจึงย้ายสถานที่มาอยู่ระหว่างทางทาง บ้านสักลอ - พวงพะยอม ต.หงส์หิน อ.จุน จ.พะเยา ตอนนี้นับเวลารวมกันได้ 25 ปีแล้ว ตอนที่ย้ายมาที่นี่กันดารมาก ที่ดินยังเป็นลูกรังอยู่เลย แต่เป้าหมายของเราคือ การทำการเกษตร ปลูกข้าว ทำสวน ทำปุ๋ยหมัก ฯลฯ 

เกษตรกรญี่ปุ่นกับไทยต่างกันเพียงใด

ความต่างข้อแรก เป็นเรื่องความรู้ เมื่อ 25 ปีก่อน คนญี่ปุ่นสามารถอ่านออกเขียนได้กันแทบทุกคน พวกเขาสามารถศึกษาเรื่องเทคนิค ด้านการเกษตรได้มาก แต่สำหรับคนไทย ตอนนั้นเกษตรกรที่อ่านหนังสือไม่ออกยังมีอยู่ และถึงมีพวกเขาก็ไม่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเกษตร

จุดสำคัญยังมีอีกอย่างคือ ชาวญี่ปุ่น มีการเปรียบเทียบความรู้ระหว่างกัน อย่างน้อยหนึ่งวันหรือสองวันก็มีการไปเยี่ยมพื้นที่การเกษตรระหว่างกัน ส่วนคนไทยพอมีงานพอมีการพบปะกัน ก็คุยกันเรื่องอื่น ไม่มีการคุยเรื่องการเกษตร แต่คนไทยก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเหมือนกัน

ถ้ามองในด้านเทคโนโลยีเราจะเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่เมืองไทย เราจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เริ่มจากควาย เป็นรถไถ เป็นแทร็กเตอร์ มีเครื่องเกี่ยว เครื่องดูดข้าว และจะมีเครื่องมืออื่นอีกมากมายในอนาคต แต่ยังเทียบกับญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะเรามีเครื่องมือที่พร้อมกว่า เกษตรกรญี่ปุ่นสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยทำงานได้ โดยเฉลี่ยคนญี่ปุ่น 1 คน สามารถทำนาได้ 50 ไร่

สำหรับคนไทยยังใช้มือทำ ถ้าคุณอยากเห็นอนาคตการเกษตรของไทยในอีก 20 ปี ก็ให้มองการเกษตรญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ทุกคนก็เจอปัญหาเหมือนกัน เพราะราคาน้ำมันแพง ชาวนาญี่ปุ่น ชาวนาไทย ตอนนี้เดือดร้อนเรื่องต้นทุนการผลิตเหมือนกัน

มีความเห็นอย่างไร เรื่องลูกหลานชาวนาไม่ยอมทำนา
อันนี้มันเป็นปัญหาของสำคัญทั่วโลก ประเทศไทยไม่แตกต่างจากญี่ปุ่น เรื่องคนหนุ่มเลือกอย่างอื่น ตอนนี้อายุเฉลี่ยของชาวนาญี่ปุ่นอยู่ที่ 61 ปี ตอนนี้คนไทยก็คงอยู่ประมาณ 45 ปี มันสะท้อนให้เห็นเลยว่า ชาวนาต้องปรับตัว ไม่อย่างนั้นสูญพันธุ์กันหมด เชื่อเถอะว่า เด็กที่เรียนเกี่ยวกับการเกษตรในประเทศไทย ไม่มีทางที่จะกลับมาทำการเกษตรของตนเอง พวกเขาต้องการทำการเกษตรกับบริษัท แต่เดี๋ยวนี้นักศึกษาหลายคนของญี่ปุ่นหลายคน มีความสนใจในการทำการเกษตรมากกว่าเดิม มีหลายคนบอกว่าเมื่อทำงานจบแล้วจะกลับมาทำเกษตรกรรมแล้วมองการรวมตัวของเกษตรกรไทยในตอนนี้อย่างไรบ้าง

รัฐบาลไทยความจริงมีการส่งเสริมด้านการเกษตรกรรมมาก รัฐสนับสนุนมาก แต่กลุ่มเกษตรกรไม่ไขว่คว้ามันเป็นเพียงการรวมตัวเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่มีความเหนียวแน่นเลย อย่างช่วงที่ผ่านมา ที่ศูนย์มีการอบรมเรื่องสารเคมี โดย ธกส. หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นคนออกค่าใช้จ่าย แต่ปรากฎว่า หลังการอบรม ไม่มีใครใช้ประโยชน์จากการอบรมเลย ยังหาคนทำปุ๋ยหมักไม่มีเลย นี่ทำให้เห็นความหละหลวมของการรวมกลุ่มของเกษตรชาวไทย

ยิ่งถ้าพูดถึงเรื่องพันธุ์ข้าว มันกลายเป็นปัญหาใหญ่อยู่แล้วเรื่องกลุ่มทุน ไม่ต้องมองที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่ไปมองที่โลกตะวันตก มองอเมริกา ผมนั่งอ่านนิตยสารของญี่ปุ่นฉบับหนึ่งชื่อว่า World Watch เขาบอกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนถึงเดี๋ยวนี้ มีการควบคุมเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแล้วกว่า 70% เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทใหญ่ยึดพันธุ์ข้าวไปหมดแล้ว 

อย่าง GMOs หรือการตัดต่อพันธุกรรมพืช ถ้าหากว่ามันต้องใช้ ใช้แล้วไม่มีผลกระทบมันก็ต้องลองดู แต่ในความคิดของผม ผมเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย แม้จะได้ข้าวน้อยกว่า แต่ประโยชน์ของข้าว ของคนที่รับประทานข้าวมีมากกว่า

ส่วนตัวผม ราคาข้าวไม่มีผลกระทบกับมูลนิธิหรอก เพราะมูลนิธิส่งผลผลิตที่ได้ขายให้กับร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย 22 ตันต่อปี ส่วนปี 51 เรารับยอดเพิ่มขึ้นเป็น 30 ตัน โดยมีการประกันราคาข้าวให้กับเกษตรกรที่ทำนาระบบอินทรีย์ราคากิโลกรัมละ 13 บาท เรื่องราคาข้าวไม่มีผลกระทบกับเราเลย

ส่วนราคาข้าวแพงปัจจุบันนั้น ถามว่าเกษตรกรได้ขายตามราคานั้นจริงหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ ชาวนาขายข้าวไปตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ธันวาคม เมือปี 2550 แล้ว

ตอนนี้ราคาข้าวมันก็เหมือนกับตลาดหุ้น มีการปั่นราคา เป็นเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มพ่อค้าคนกลางรายใหญ่ ยิ่งได้รับประมูลข้าวมาก ก็ยิ่งได้มาก มันกลายเป็นเพียงเกม ส่วนชาวนาต้องรับกรรม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: adrenaline85 ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 20:48:03
เป็นกำลังใจหื้อครับ
tJD4496kTjA


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 21:52:04
ไปนาเย็นนี้ครับแมลงปอบินว่อนเต็มทุ่งนาเลยหลายพันตัว ดูตามใบข้าวก็เกาะอยู่เต็มครับยามรักษาการของเรา   ที่ไหนแมลงปอเยอะ หนอนผีเสื้อก็จะพบน้อยครับ ทำให้หมดปัญหาเรื่องการระบาดของหนอนต่าง ๆ เช่นหนอนกอ หนอนกระทู้ หนอนห่อใบข้าวต่าง ๆครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 21:58:50
ถ่ายรูปหยดน้ำที่เกิดจากการคายน้ำของต้นข้าวครับ พยายามปรับโหมด Macho แล้วหากจะชัดกว่านี้ต้องเอาขาตั้งกล้องไปครับ กล้องราคาพันกว่า ใช้งานมา 3 ปีกว่าจนไฟล์รูปมันนับวนมารอบกว่าแล้วครับประมาณหมื่นกว่ารูปกล้องนี้ไปเที่ยวมาหลายประเทศแล้วคุ้มครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 22:30:14
แปลงนาข้าวที่ติดกันครับทำนาหว่านเหมือนกันแกใส่ปุ๋ยค่อนข้างมากนา 24 ไร่เห็นแกใส่ปุ๋ยอยู่ 3 วันกว่าแสดงว่าต้องใส่มาก ๆเลยใช้เวลานาน  ผม 22 ไร่ใส่ไม่ถึงครึ่งวัน ใส่ปุ๋ยมากส่งผลให้ต้นเขียวเข้มในทางวิชาการว่าดีแต่เมื่อใส่มากจนเกินไปนอกจากเปลืองต้นทุนแล้วยังส่งผลให้ใบยาวง้มทำให้ใบต้นข้าวแต่ละต้นบังกันทำให้การสังเคราะห์แสงไม่ดีแถมร่มเงายังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูข้าว เชื้อราก็เกิดได้ง่ายอีกด้วยเพราะอากาศถ่ายเทได้ยาก  กลับมาดูที่แปลงนาแปลงนี้ต่อครับ แยกออกไหมครับว่าต้นไหนข้าว ต้นไหนหญ้า การใส่ปุ๋ยมาก ๆ ยังส่งผลดีกับวัชพืชในนาด้วยช่วยให้วัชพืชโตไว งามด้วย การมีวัชพืชในนามาก ๆ นอกจากแย่งปุ๋ยแล้ววัชพืชบางชนิดยังบังแสงกับต้นข้าวอีกด้วย ข้าวก็สังเคราะห์แสงได้ไม่เต็มที่อีกเช่นกันส่งผลให้ได้ผลผลิตน้อยกว่าเดิม แม้วัชพืชส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่าต้นข้าวแต่ก็นานพอจนถึงช่วงข้าวเริ่มตั้งท้องครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pui22 ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 22:43:01
สอบถ่ามหน่อยครับผมทำนาดำ8ไร่ซื้อขี้หมูแห้งมาแล้ว40กระสอบ ละ20กก ควรใส่ไร่ละกี่กระสอบดีครับตอนนี้ข้าวอายุปลูกได้13วันแล้วครับควรใส่กี่ครั้งๆละกี่กระสอบต่อไร่ครับ (ชาวนาวันหยุดเหมือนกันครับ ผมว่าจะทำแบบลดต้นทุนนะครับ ชาวนามือใหม่) ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2013, 22:48:24
ถึงต้นข้าวผมใบข้าวจะสีจางกว่าเพราะใส่ปุ๋ยน้อยกว่า แต่ใบตั้งขึ้นพร้อมรับแสงได้เต็มที่ แมลงตัวห้ำ ตัวเบียนก็ชอบครับ ดูจากแมลงปอเวลาเกาะจะหาอาหารกินได้ง่ายเพราะบินได้ง่ายในการขึ้นลง แมลงศัตรูข้าวไม่ชอบเท่าไหร่เพราะแดดส่องถึงไม่เหมาะในการดำรงชีพแถมมีศัตรูมากมันก็ไม่ค่อยอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 00:06:52
สอบถ่ามหน่อยครับผมทำนาดำ8ไร่ซื้อขี้หมูแห้งมาแล้ว40กระสอบ ละ20กก ควรใส่ไร่ละกี่กระสอบดีครับตอนนี้ข้าวอายุปลูกได้13วันแล้วครับควรใส่กี่ครั้งๆละกี่กระสอบต่อไร่ครับ (ชาวนาวันหยุดเหมือนกันครับ ผมว่าจะทำแบบลดต้นทุนนะครับ ชาวนามือใหม่) ;D ;D ;D

ถ้าตามความเห็นผมนะครับ   ต้องดูหลาย ๆ อย่างครับโดยเฉพาะความสมบูรณ์ของดิน หากดินมีจุลินทรีย์น้อยการใส่ปุ๋ยขี้หมูก็ไม่ค่อยมีผล แถมทำให้น้ำในนาเสียด้วย    เพราะการใส่ขี้หมูใช่ว่าจะให้ผลทันทีครับต้องอาศัยจุลินทรีย์ในธรรมชาติย่อยสลายเป็นธาตุอาหาร  ข้าวจึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ซึ่งนานเหมือนกัน หากนามีจุลินทรีย์น้อยก็ต้องเติมจุลินทรีย์ลงไป ผมมักใส่ขี้หมูในช่วงเตรียมดินและพ่นจุลินทรีย์ลงไปและไถกลบเพื่อมีเวลาพอให้จุลินทรีย์ย่อยสลายก่อนปลูกข้าวครับ หากเริ่มครั้งแรกควรใส่ปุ๋ยเคมีควบคู่ไปก่อนครับเพราะดินที่ใช้ปุ๋ยเคมีมานานธาตุอาหารในดินจะมีน้อยมากจึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีครับ ปีต่อไปเมื่อมีการปรับปรุงดินดีแล้วค่อยลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงครับ ขี้หมูที่ซื้อมาควรดูด้วยครับว่าเป็นของใหม่หรือเก่าหากขี้หมูใหม่ควรมีการตากฆ่าเชื้อโรคเสียก่อนและต้องพักทิ้งไว้ 3-4 เดือนขึ้นไปจึงจะนำมาใช้ได้ดีบางครั้งขี้หมูก็มีหนอนด้วยครับ หากรีบใช้ควรนำมาทำปุ๋ยหมักโดยอาจเติมสาร พ.ด. 1 หรือจุลินทรีย์ลงไปและพ่นเชื้อราไตรโครเดอร์มาร์ไปด้วยจะดีกว่าจุลินทรีย์จะทำงานได้เร็วขึ้นและลดเชื้อราที่จะมากับขี้หมูด้วยซึ่งดีกว่าหว่านแห้งในนา

สำหรับปริมาณใช้กี่กระสอบนอกจากความสมบูรณ์ของดินแล้วยังต้องดูด้วยครับว่าขี้หมูที่ซื้อมาเจ้าของหมูเลี้ยงด้วยอะไร หากเลี้ยงด้วยหัวอาหารก็จะมีธาตุอาหารมากมีความเค็มสูงใส่ในนามากไม่ดี ใส่บาง ๆ ไร่ละ 1-2 กส.ต่อครั้งก็พอ แต่หากเจ้าของหมูเลี้ยงด้วยแกลบ รำข้าว ต้นกล้วย ก็ใส่มากได้ ไร่ ละ 5-6 กส.  หากเป็นพวกเศษอาหารต่าง ๆ ก็ 3-4 กส.ต่อไร่ครับ เช่นเดียวกับมูลค้างคาวเช่นกันว่าเป็นค้างคาวจำพวกกินแมลงหรือกินผลไม้ครับธาตุอาหารที่ได้ก็แตกต่างกัน  แนะนำใส่ปุ๋ยเคมีเป็นหลักก่อนและค่อยใส่ขี้หมูเสริมไปครับ

สำหรับการใส่กี่ครั้ง ก็ใส่เรื่อย ๆครับ บาง ๆ 2-3 สัปดาห์ครั้งน่าจะพอดี เพราะใช้เวลานานกว่าข้าวจะใช้ประโยชน์ได้ไม่เหมือนกับปุ๋ยเคมีไม่กี่วันก็เห็นผลแล้วครับและปริมาณธาตุอาหารในขี้หมูค่อนข้างน้อยหากเทียบกับปุ๋ยเคมีเลยจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมากครับ  ไม่ได้ส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยเคมีนะครับแต่ค่อยเป็นค่อยไปดีกว่าทำนาครั้งแรกผมก็ใส่ปุ๋ยเคมีไร่ละ 1 กส. ตอนนี้เหลือไร่ละประมาณครึ่ง กส. หากต้องการตันกว่าในนาปรัง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 00:14:12
เป็นกำลังใจหื้อครับ

ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 08:36:56

ติดตามตอนต่อไป :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: kuntawong ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 08:41:57
ผมอย่ากได้หนังสือการปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีครับ  เอาแบบตั้งแต่การเตรียมดิน วิธีการสังเกตุดินว่าในดินขาดสารอาหารชนิดได  ไปถึงขั้นตอนการปลูกพ่นโฮโมน การใส่ปุ๋ย และการทำปุ๋ยหมัก
  พอจะมีเอกสารแจก หรือมีขายเป็นหนังสือไมครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 20:05:51
ผมอย่ากได้หนังสือการปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีครับ  เอาแบบตั้งแต่การเตรียมดิน วิธีการสังเกตุดินว่าในดินขาดสารอาหารชนิดได  ไปถึงขั้นตอนการปลูกพ่นโฮโมน การใส่ปุ๋ย และการทำปุ๋ยหมัก
  พอจะมีเอกสารแจก หรือมีขายเป็นหนังสือไมครับ


ถ้าอยากรู้ขนาดนั้นสงสัยต้องอ่านหลายเล่มครับ

ผมเคยมีเล่มนี้แต่หายไปไหนไม่รู้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 20:10:27
เมื่อก่อนผมมีอยู่หลายเล่มแต่ให้ครอบครัวอ่าน หายบ้างก็มีครับ อย่างเล่มของคุณอุ้ม ฉันจะเป็นชาวนา ก็ให้ความรู้ดีครับหาซื้อได้ที่ร้าน SE-ED ครับ ที่ดวงกมลก็เคยเห็นมีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 20:12:15
เล่มนี้ก็เกี่ยวกับการทำปุ๋ยและฮอร์โมนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 20:46:16
เล่มนี้ความหนา 84 หน้า พูดถึงการวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของดิน การวิเคราะห์ปุ๋ยซึ่งเป็นผลที่ได้จากการวิจัย ของกองปฐพีวิทยา  กรมวิชาการเกษตรครับ  เนื้อหาภายในก็ตามสารบัญมีอยู่หน้าหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ว่าทำไมผมถึงยังคงใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ครับ ซึ่งผมเองก็ทดลองแล้วตามที่เค้าทดลองตามหนังสือจริงครับ การทดลองของเค้าไม่ธรรมดาครับค่อนข้างละเอียดทีเดียวมีเหตุมีผลดีเป็นข้อมูลจากสถานีทดลองข้าวและศูนย์วิจัยข้าวแต่ละจังหวัดมาทำหนังสือเล่มนี้บางอย่างเก็บผลการทดลองมากกว่า 20 ปี บางส่วนก็สิบกว่าปีไม่ได้ทดลองปีนี้เห็นผลแล้วมาสรุปเลย เนื้อหาบางส่วนชาวนาทั่วไปอาจไม่รู้ผมเคยให้พ่อผมลองอ่าน อ่านได้10 กว่าหน้าไม่อ่านต่อเลยครับเพราะมีศัพท์เฉพาะและหน่วยวัดต่าง ๆ ที่คนทั่วไปไม่เข้าใจเช่นค่า pH  ชื่อธาตุต่าง ๆ ทางเคมีเช่น N P K Ca Mg S ทำให้หนังสือเล่มนี้อาจไม่เหมาะกับคนรุ่นก่อน ๆ แต่น่าจะเหมาะกับชาวนารุ่นใหม่ ๆ แบบเรา ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 21:01:53
วันนี้ตื่นนอนแต่เช้า ไปตลาดและรีบไปนาเลยครับไปใส่ปุ๋ยนาฝั่ง 13 ไร่ครับ อากาศช่วงเช้าค่อนข้างดีครับ สาย ๆ นี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เวลาขี่รถผ่านขณะชาวนาบางคนกำลังพ่นยาฆ่าหญ้าตามคันนาครับ การพ่นยาเพราะเห็นว่าอยู่ได้นานไม่เหนื่อย ผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวไม่คิดสำหรับผมจะใช้เครื่องตัดอย่างเดียวครับ คันนาที่พ่นยาบ่อย ๆ ดินมักจะเสียเพราะเสียโครงสร้างทางกายภาพทำให้คันนาอยู่ได้ไม่ค่อยนานครับ ตัดหญ้าคันนาเหนื่อยหน่อยถือว่าเป็นการออกกำลังกายละกันครับได้เหงื่อค่อนข้างดี

ถ่ายรูปท้องนาตอนเช้า ๆมาฝากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 21:07:17
ใส่ปุ๋ยไปแมลงปอก็บินตามเต็มท้องฟ้าครับช่วยจับแมลงต่าง ๆ ที่บินขึ้นตกใจจากเสียงเครื่องพ่นปุ๋ยและปุ๋ยเม็ดที่พ่นไปตามต้นข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 21:41:41
ใส่ปุ๋ยเสร็จก็กลับมาเตรียมพื้นที่ทำเล้าไก่ครับ พรุ่งนี้ช่วงเช้าก็ไปใส่ปุ๋ยอีกฝั่ง 9 ไร่ครับ เมื่อก่อนเป็นนาผืนเดียวกันไม่มีทางเข้าออกแต่โชคดีโดนเวนคืนเพื่อทำคลองชลประทานทำให้มีถนนผ่านแต่ก็ที่ดินหายไป 2 ไร่กว่า  ช่วงนี้ราคาที่ดินขึ้นสูงมีหลายคนมาติดต่อขอซื้อแล้วเหมือนกันตอนนี้ไร่ละ 4 แสนบาทจากเมื่อ 3 ปีก่อนไร่ละ 2 แสนเองครับ แต่ผมก็ไม่คิดจะขาย  เมื่อสมัยก่อนคุณตาของผมมีที่นาเกือบ 2 ร้อยไร่แบ่งให้ลูก ๆ แต่ละคนคนละ ยี่สิบสามสิบไร่  น้าของผมหลายคนขายนาไปหมดแล้วเมื่อหลายปีก่อนตอนนี้แทบจะหมดตัวครับใช้เงินไปหมดแล้วไม่เหลือที่ดินทำมาหากิน ไม่เหลือสมบัติไว้ให้กับลูกหลานเลย  จะไปซื้อนากลับมาตอนนี้ก็คงลำบากครับราคาสูงขึ้นขนาดนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 22:23:37
เมล็ดข้าวเปลือก 1 ก.ก. มีจำนวนเมล็ดข้าวเกือบ 4 หมื่นเมล็ด เท่ากับนาหว่านหนึ่งไร่มีจำนวนต้นข้าวหลายแสนต้น  ข้าวในนาแต่ละแปลงบางต้นอาจสมบูรณ์สวยงาม บางต้นอาจป่วยเป็นโรค บางต้นไม่แข็งแรงซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนคนเราที่อยู่ในสังคม หากพบการระบาดของโรคเหมือนกับเชื้อไวรัส แมลงศัตรูเหมือนผู้บุกรุกที่อันตรายก็ต้องมีการป้องและกำจัด ในแปลงนาก็มีระบบนิเวศน์ที่สิ่งมีชีวิตจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องให้สิ่งดีๆ มีมากกว่าสิ่งไม่ดี  ต้นข้าวต้องการที่อยู่(ดิน) น้ำและอาหาร แสงแดด อากาศ เช่นเดียวกับคนเราที่ต้องการปัจจัย 4 หากที่อยู่ น้ำ อาหาร แสงแดดไม่เพียงพอก็จะเกิดปัญหา แต่หากมากเกินไปก็จะเกิดผลเสีย การใช้สารเคมีมาก ๆ ก็เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ เมื่อระบบนิเวศน์ไม่สามารถควบคุมกันได้สุดท้ายเราก็ต้องพึ่งสารเคมีตลอด คล้ายกับระบบการปกครอง การเข้าใจระบบนิเวศน์ในนาจะช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2013, 23:36:58
แอบเข้ามาดูทุกวันครับผม เข้า ชรฟก. แล้วไม่ได้แวะมากระทู้นี้เหมือนขาดอะไรไปซักอย่างครับ ข้าวผมไม่สวยแบบนี้อะเศร้าแท้ๆน้อ ดอกดาวเรื่องพี่ยังไม่เอามาปลูกเหรอครับรอดูอยู่ ว่าจะสวยขนาดไหนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: kuntawong ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2013, 12:58:34
แอบเข้ามาดูทุกวันครับผม เข้า ชรฟก. แล้วไม่ได้แวะมากระทู้นี้เหมือนขาดอะไรไปซักอย่างครับ ข้าวผมไม่สวยแบบนี้อะเศร้าแท้ๆน้อ ดอกดาวเรื่องพี่ยังไม่เอามาปลูกเหรอครับรอดูอยู่ ว่าจะสวยขนาดไหนครับ


เหมือนกันเลยครับ +1


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: kuntawong ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2013, 12:59:23
ขอบคุนครับ เดียวต้องไปหาชื้อดูก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2013, 17:50:14
เย็นหูเย็นตา ปี่น้องจาวนา ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2013, 19:49:42

แอบเข้ามาดูทุกวันครับผม เข้า ชรฟก. แล้วไม่ได้แวะมากระทู้นี้เหมือนขาดอะไรไปซักอย่างครับ ข้าวผมไม่สวยแบบนี้อะเศร้าแท้ๆน้อ ดอกดาวเรื่องพี่ยังไม่เอามาปลูกเหรอครับรอดูอยู่ ว่าจะสวยขนาดไหนครับ

เหมือนกันเลยครับ +1


เย็นหูเย็นตา ปี่น้องจาวนา ;D

ขอบคุณทุกท่านครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2013, 19:54:55
แอบเข้ามาดูทุกวันครับผม เข้า ชรฟก. แล้วไม่ได้แวะมากระทู้นี้เหมือนขาดอะไรไปซักอย่างครับ ข้าวผมไม่สวยแบบนี้อะเศร้าแท้ๆน้อ ดอกดาวเรื่องพี่ยังไม่เอามาปลูกเหรอครับรอดูอยู่ ว่าจะสวยขนาดไหนครับ

ดอกดาวเรืองกำลังจะนำไปปลูกประมาณสัปดาห์หน้าครับพอดีนำไปแยกปลูกหน้าบ้านก่อน ที่เพาะในถาดค่อนข้างโตช้าครับ  ช่วงนี้อาศัยดอกหญ้าไปก่อนหากรกมากขึ้นก็คงต้องตัดแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2013, 20:19:29
ช่วงเช้าไปนาไปใส่ปุ๋ยครับ วันนี้อากาศร้อนมากใส่ปุ๋ยค่อนข้างเหนื่อยไว  น้ำในนามีไม่มากครับเพราะหยุดให้น้ำมา 2 วันแล้วและได้ข่าวจะมีพายุซึ่งน่าจะมีฝนก็เลยหว่านปุ๋ยไปก่อนหากฝนตกระดับน้ำน่าจะพอดีครับ  ตอนเช้าจะเห็นแมลงปอหาอาหารบินเต็มท้องนา ซึ่งทำให้สบายใจได้อีกอย่างว่าจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องหนอน เพราะผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ที่จะไปวางไข่จะถูกแมลงปอจับกินครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2013, 20:32:17
ตามประกาศของกรมอุตุครับ พายุฤดูร้อนปีนี้แถวบ้านผมค่อนข้างเจอลมแรงมากในรอบหลายปี แถมเจอลูกเห็บครับ สำหรับนาข้าวช่วงนี้แม้จะโดนพายุแรง ๆ ลูกเห็บอย่างมากก็แค่ใบข้าวหักซึ่งก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากมายเพราะมีใบอื่นอยู่   แต่หากเจอพายุและลูกเห็บในช่วงที่ข้าวออกรวงซึ่งนาปรังจะอยู่ช่วงประมาณต้นเดือนไปจนถึงเดือน พฤษภาคม จะส่งผลกระทบกับชาวนาอย่างมากทั้งการเก็บเกี่ยวต้นข้าวอาจจะล้มหักแล้ว เมล็ดข้าวที่อยู่ที่รวงจะร่วงทำให้เก็บเกี่ยวได้น้อยลง ยังไงก็ต้องภาวนาอย่าให้มีอีกในช่วงข้าวออกรวงอีกเลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2013, 20:49:05
ตัวอย่างนาข้าวที่โดนพายุฤดูร้อนในช่วงที่ข้าวกำลังออกรวงทำให้ข้าวล้มน้ำหนักเมล็ดข้าวไม่เต็มที่ทำให้เมล็ดเบา บางส่วนอาจแช่น้ำเมล็ดเน่า บางส่วนก็ร่วงครับ นี่ขนาดข้าวนาปรังซึ่งมีความสูงไม่มากยังล้มได้เพราะน้ำหนักเมล็ดและเมล็ดข้าวค่อนข้างมาก ซึ่งหากเป็นช่วงนาปีก็มีโอกาสถูกพายุเช่นกัน ซึ่งอย่างข้าว กข.15 มะลิ105 ซึ่งเป็นข้าวไวต่อช่วงแสงจะมีลักษณะต้นที่สูงล้มได้ง่ายกว่าซึ่งเราก็แก้ไขโดยปลูกในช่วงเดือน ก.ค. ไปเก็บเกี่ยวช่วงต้นฤดูหนาว เพื่อให้ต้นข้าวอยู่ในนาไม่นานและไม่ใส่ปุ๋ย N มากจนเกินไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2013, 22:43:53
พายุแรงจริงๆครับ ที่บ้านผมก็แรงเหมือนกันร้านค้าพังเป็นแถบๆ แต่ขออย่างเดียว ลูกเห็บอย่าตกละกันครับ ในนาถ้าทำกระท่อมเป็นบ้านดินคงจะสวยนะครับพี่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 10:00:34
พายุแรงจริงๆครับ ที่บ้านผมก็แรงเหมือนกันร้านค้าพังเป็นแถบๆ แต่ขออย่างเดียว ลูกเห็บอย่าตกละกันครับ ในนาถ้าทำกระท่อมเป็นบ้านดินคงจะสวยนะครับพี่
  บ้านดินเดี๋ยวนี้พัฒนาไปค่อนข้างไกลครับ มีรีสอร์ทหลาย ๆ แห่งที่ทำบ้านดินสวย ๆ น้องแถวบ้านเป็นเจ้าหน้าที่และเป็นคนสอนอบรมการทำบ้านดินโครงการของ ม.เชียงใหม่ ก็เห็นว่าจะกลับมาทำบ้านดินที่แปลงนาให้พ่อแม่ที่ทำนาเชียงรายอยู่ บ้านดินบริเวณใกล้นาคงต้องทำแข็งแรงหน่อยเพื่อให้ทนทานต่อลมพายุและฝน ผมเองยังจะทาสีบ้านกลางนาเป็นสีเดียวกับบ้านดินเลยครับตอนนี้ก็รอให้ทุกอย่างเสร็จก่อน ค่อย ๆ ทำเพราะทำเองครับเลยช้าหน่อยสัปดาห์ไหนว่างก็ค่อยทำ ตอนนี้ว่าจะทำห้องน้ำก็ยังไม่ได้ขุดดินบ่อพักเลยครับ จะจ้างแรงงานถึงเร็วก็จริงแต่ก็อยากลองทำอะไรด้วยตัวเองดีกว่าครับสนุกดี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 10:24:30
ช่วงนี้ฝนตกครับ ยังไงก็ระวังโรคข้าวที่เกิดจากเชื้อราด้วยครับ นาปรังข้าวจะหนาแน่นมีโอกาสเกิดโรคได้เหมือนกัน  ซึ่งหลังจากฝนหยุดตกแล้วก็พ่นเชื้อราไตรโครเดอร์มาร์ หรือพวกไครโตรซานก็ได้เพื่อช่วยต้านทานเชื้อราครับ หากต้นข้าวเป็นโรคไปแล้วก็จำเป็นต้องพ่นยาเคมีล่ะครับ

โรคที่พบได้บ่อยได้แก่ โรคไหม้  โรคใบจุดสีน้ำตาล ครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 11:17:33
หลาย ๆ คนพักผ่อนลางานหรือใช้ชีวิตบั้นปลายเพื่ออยากอยู่ใกล้ธรรมชาติ เราชาวนาค่อนข้างโชคดีครับที่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติแบบนี้ทุกวัน

ขอบคุณภาพจาก ปายเวียงฟ้ารีสอร์ท


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 11:34:53
บ้านปลายนาหลากหลายรูปแบบครับ ค่าแรงช่างหรือสล่าตอนนี้แพงขึ้น บางทีอาจมากกว่าค่าวัสดุก่อสร้างด้วยซ้ำ สิ่งไหนเราทำเองได้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 13:07:26
อนาคตข้าวไทย..ใต้แสงเทียนสร้างผลิตภัณฑ์สู่ตลาดอินเตอร์

(http://www.intercrop.co.th/images_news/630.jpg)

เราคงต้องกล้ายอมรับความจริงแล้วว่า อนาคตของข้าวไทยวันนี้ กำลังเดินเข้ากับดักหุบเหวหายนะ ไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์หน้าผาทางการคลัง (Fiscal cliff)แม้ปัญหาข้าวไทยกับฐานะทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯจะแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่ตัวการที่ทำให้อนาคตประเทศต้องเสี่ยงตกหน้าผา มาจากเรื่องเดียวกัน ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบนักการเมือง...หวังแค่คะแนนนิยมในระยะสั้น ส่วนอนาคตยาวไกลข้างหน้าจะมีปัญหาค่อยมาว่ากัน รายงานพิเศษฉบับเมื่อวาน “ทีมข่าวเกษตร” ได้ชี้ให้เห็นผลจากนโยบายทางการเมือง ไม่เพียงจะทำให้ไทยต้องเสียแชมป์ส่งออก ร่วงไปอยู่อันดับ 3 เท่านั้น ยังทำให้ข้าวหอมมะลิ ที่เคยหอมที่สุด อร่อยนุ่มที่สุดของโลก ต้องหลุดแชมป์ข้าวหอมดีที่สุดในโลกไป 2 ปีซ้อนปี 2554 ถูกข้าวหอมเพิร์ล ปอว์ ซาน ของพม่าแซงหน้าคว้ารางวัลข้าวหอมที่ดีสุดในโลก ปี 2555 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ หอมมะลิของไทยถูกข้าวหอมดอกลำดวนของกัมพูชา ตบหน้าคว้ารางวัลไปครองวันนี้เราเผชิญทั้งปัญหาปริมาณข้าวมีมากแต่ขายไม่ออก ถูกประเทศอื่นแย่งตลาด ทั้งปัญหาคุณภาพ ข้าวหอมชั้นดี คุณภาพต่ำลง สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ ทั้งที่เขาเพิ่งจะเริ่มปลูกข้าวแข่งกับเราแค่เริ่ม เขาก็ได้ชัยแล้ว...หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบปรับปรุงแก้ไขเสียแต่วันนี้ อนาคตข้าวไทยจะเป็นเช่นไรเพราะอีก 3-4 ปี ประเทศเหล่านี้สามารถผลิตข้าวได้มากเท่าเราอย่างไม่ต้องสงสัย...เพราะเดิมทีเขาก็เคยผลิตข้าวได้มากกว่า โดยเฉพาะพม่า ที่เคยเป็นแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 มาก่อนเรา แต่เพราะมีปัญหาสู้รบกันเองในประเทศ เราเลยได้แชมป์แบบไม่ต้องออกแรงมาก

(http://www.intercrop.co.th/images_news/420.jpg)

แต่วันนี้ พม่ากำลังจะกลับมาทวงแชมป์ และมีสิทธิจะได้ไม่ยากเพราะสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีความใหม่บริสุทธิ์ปลอดจากสารเคมีอยู่มาก โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะทำนาที่สำคัญนโยบายหลักของรัฐบาลพม่า ยังมุ่งไปที่การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพื่อยกระดับทุกอย่าง พร้อมมีการตั้งหน่วยงานรองรับตั้งแต่ส่งเสริมการปลูก ไปจนถึงจำหน่าย...บูรณาการครบวงจรรู้สึกคุ้นกับคำนี้ไหม...และอายเขาบ้างหรือเปล่าในภาวะสถานการณ์ข้าวเป็นเช่นนี้ นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว ยอมรับว่า ประเทศไทยมีปัญหาจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของข้าวปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการปลูก...ที่ทุกวันนี้ เราไม่รู้ว่ามีการกลายพันธุ์แท้ไปเป็นพันธุ์เทียมมากมายขนาดไหนแล้วปกติแล้วเมล็ดพันธุ์ข้าวจะใช้ปลูกได้แค่ 3 ฤดูเท่านั้น ถ้านำไปใช้ปลูกติดต่อกันมากกว่านั้น ความบริสุทธิ์ของพันธุ์หายไป และจะเกิดการกลายพันธุ์เพี้ยนไปจากเดิมที่ผ่านมาประเทศ ไทยแทบไม่เคยมีโครงการล้างท่อเมล็ดพันธุ์ครั้งใหญ่ทั่วประเทศมาก่อนเลย...ที่เคยมีการทำมาบ้าง เมื่อประมาณปี 2520แต่การเปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์แท้ตอนนั้น ทำได้แค่เพียง 20-30% เท่านั้นเองคิดดูก็แล้วกัน 30 กว่าปีที่ผ่านไป ตกมาถึงวันนี้...พันธุ์ข้าวบริสุทธิ์แท้ๆของไทยเราจะเหลือสักกี่มากน้อย และที่ปลูกกันอยู่ตามท้องนานั้น กลายพันธุ์เพี้ยนไปขนาดไหนแล้วฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นสำหรับการรักษาคุณภาพข้าวไทย อธิบดีกรมการข้าว บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์เป็นการล้างท่อครั้งใหญ่ทั่วประเทศสักครั้ง...แต่จะต้องทำแบบเป็นขั้นเป็นตอนนั่นคือ ทำเมล็ดพันธุ์คัด-เมล็ดพันธุ์หลัก-ขยายเมล็ดพันธุ์ขยาย...เพื่อนำไปสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรซึ่งงานทั้งหมดนี้ราชการทำฝ่ายเดียวคงมีกำลังไม่เพียงพอที่จะผลิตได้หมด เพราะต้องผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้ได้ ปีละ 600,000 ตัน ถึงจะเพียงพอจำเป็นต้องพึ่งพาเครือข่ายเกษตรกรชาวนา ศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงผู้ประกอบการต่างๆ ช่วยกันนำเมล็ดพันธุ์ขยาย ไปปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้กับชาวนาต่อไป แต่นั่นเป็นแผนระยะแรกของการกู้ชื่อเสียงข้าวคุณภาพแท้ๆของไทยให้กลับคืนมา และเพื่อให้ข้าวไทยเป็นที่ 1 ในสายตาชาวโลกไปอีกนาน แผนระยะต่อไป...ต้องเปลี่ยนแผนผลิตพันธุ์ข้าวไทยจะต้องเลือกผลิตแต่เฉพาะข้าวคุณภาพ เพื่อหนีตลาดข้าวราคาถูก ที่หลายประเทศกำลังคิดจะแย่งไปจากเราเราจะไม่ผลิตข้าวเพื่อแค่ให้คนได้กินอิ่มเหมือนเดิมอีกต่อไปแต่เราจะผลิตข้าวที่ดีกว่านั้น...นอกจากได้อิ่มท้องแล้ว ยังได้ยารักษาโรคไปในตัวอีกต่างหากการผลิตข้าวขาว ข้าวพันธุ์ไม่ไวแสง ที่ชาวนาไทยเร่งโหมปลูกกันมากหวังเงินรับจำนำ จะต้องผลิตให้น้อยลง...เพราะขืนทำต่อไป อนาคตมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

(http://www.intercrop.co.th/images_news/421.jpg)

เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลหลายประเทศ มีความวิตกกังวลในเรื่องของความมั่น คงทางอาหาร ประเทศที่ผลิตข้าวได้ไม่พอกิน ได้เข็นนโยบายทุกอย่าง ให้คนในประเทศได้มีข้าวกินพอเพียง ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอีกต่อไปอย่างมาเลเซียได้ประกาศมาแล้วว่า ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า จะไม่นำเข้าข้าว, อินโดนีเซียประกาศให้ทุกวันอังคารเป็นวันลดการกินข้าว 1 มื้อ เพื่อลดการนำเข้า, แม้แต่อิรักก็กำลังเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อให้คนในประเทศได้กินอิ่มโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศนั่นหมายความว่า ในอนาคตข้าวพันธุ์ไม่ไวแสง ข้าวราคาถูกที่ให้คนจนได้กินอิ่มนั้น จะส่งออกได้น้อยลง เพราะประเทศอื่นปลูกได้เองหมดแล้ว...ขืนปล่อยให้ปลูกมากเหมือนเดิมก็ขายไม่ออก ต้องเอาไปเผาทิ้งเหมือนลำไยนั่นแหละข้าวหอมมะลิเช่นกัน ต้องมองข้ามช็อต เพราะขณะนี้หลายประเทศกำลังวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมเพื่อมาแย่งตลาดข้าวหอมมะลิไทย...เวียดนามก็ทำใกล้สำเร็จแล้ว จีนเองก็ทำ สหรัฐฯก็มีแถมวันนี้ พม่า กัมพูชา มีข้าวหอมดีที่สุดในโลก เบียดหอมมะลิไทยไปเรียบร้อยแล้ว...ฉะนั้นเราต้องขยับหนีไปอีกขั้น ก่อนชาติอื่นจะตามทันหนีไปผลิตข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวเพื่อโภชนาการ และผลิตข้าวเพื่อนำไปเป็นเครื่องสำอาง เวชสำอาง...ที่จะช่วยให้ชาวนามีรายได้ที่ดีกว่าในปัจจุบันโดยกรมการข้าว ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักพัฒนาการวิจัยข้าว (สวก.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำการวิจัยปรับปรุงวิจัยสายพันธุ์ข้าว นอกจากจะเพื่อรองรับปัญหาสภาวะโลกร้อน แก้ปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำแล้ว ยังมุ่งเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นได้ทั้งยาทั้งอาหารไปในตัวเบ็ดเสร็จเช่น...ข้าวสีนิล ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง, ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวสังข์หยด ป้องกันเบาหวาน, ข้าวลืมผัว ช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้นและเพื่อให้ข้าวมีมูลค่าสูงขึ้น ต้องส่งเสริมให้ปลูกเป็นข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษด้วย เพราะจะเป็นสินค้าในตลาดระดับบน ที่ขายได้ราคาสูง...ใช้พื้นที่ปลูกไม่มาก กำไรเท่าตัวเรียกว่า ยุทธศาสตร์ข้าวไทยในอนาคต จะเน้นผลิตแต่สินค้าข้าวคุณภาพ ราคาสูงเป็นหลัก...ส่วนข้าวคุณภาพต่ำ ราคาถูกจะแบ่งตลาดให้ประเทศอื่นๆ แย่งกันเอง

(http://www.intercrop.co.th/images_news/422.jpg)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อนาคตข้าวไทยที่สวยหรูเหมือนภาพฝันนี้ เป็นเพียงแนวคิดของคนทำงานกับข้าวมาครึ่งชีวิต...ส่วนจะไปกันได้กับแนวคิดของคนอ้างช่วยชาวนา แต่จ้องหาช่องทุจริตในสารพัดโครงการข้าวหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่อง ก็อนาคตของประเทศไทย วันนี้อยู่ในมือของคนแบบไหน...เห็นๆ กันอยู่.ทีมข่าวเกษตร
ที่มา : ทีมข่าวเกษตร ไทยรัฐออนไลน์


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 13:29:34
ข้าวในมุมมองที่แตกต่าง

พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)

 “ข้าวคือมิ่งขวัญ คือจิตวิญญาณของคนไทย”

(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%98%E0%B8%B5.jpg)

“ไม่ว่าจะเป็น จิตวิญญาณของความเป็นไทย มิติทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา หรือครอบครัว ทั้งหมดนั้น อยู่ในข้าวทุกเมล็ดที่เรากิน”


      เมื่อกล่าวถึงข้าวไทยกับในหลวงของเรานั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง โดยทรงมีแปลงข้าวทดลองส่วนพระองค์ ที่สวนจิตลดา เพราะข้าวคือสัญลักษณ์ของความเป็นไทย ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์จึงต้องคงประเพณีแรกนาขวัญเริ่มฤดูปลูกข้าวจนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งสัญญาณดีก่อนเริ่มฤดูปลูกข้าว หรือแม้แต่พระพุทธองค์ ก็ยังกล่าวว่าตัวท่านเป็นตระกูลชาวนา และยังตั้งชื่อปัญจวคีทั้งหลาย ด้วยคำว่า “โอทนะ” ที่แปลว่า “ข้าว”

      ทางภาคเหนือก็ยังมี พิธีสู่ขวัญควายซึ่งได้อุทิศแรงกายให้คนได้มีข้าวกิน ส่วนพระแม่โพสพก็แสดงให้เห็นว่า
คนไทยให้ความสำคัญกับข้าวมาตั้งแต่โบราณ โดยถือเอาข้าวเป็นอาหารที่เทพประทานให้คนไทย ข้าวจึงถือเป็น
มิ่งขวัญของคนไทย คือจิตวิญญาณ มีทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และครอบครัว

      เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เรายังมีประเพณี “ทานข้าวใหม่” คือการบริจาคข้าวใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาจากหมู่บ้าน ถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์ โดยให้ผู้ที่เคารพได้ทานข้าวใหม่ก่อน เพราะคนไทยถือว่าข้าวคือวิถี ชาวนาคือกระดูกสันหลัง ขาดข้าวเมื่อไร เมืองไทยก็ตาย

      แต่ทุกวันนี้ ความเคารพที่มีต่อข้าวกลับลดลง เพราะการพึ่งพาเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยว ทำให้มิติระหว่างคนกับข้าวหายไป ช่องว่างที่เกิดขึ้นใหม่กลายเป็นมิติเชิงธุรกิจเสียหมด

      เมื่อสำนึกในความกตัญญูค่อยๆ ลดลงเท่าไร พืชและสัตว์ตามธรรมชาติ เช่น กบ เขียด หนู ที่อาศัยตามท้องไร่ท้องนา ก็ค่อยๆ หายไปเท่านั้น คุณภาพข้าวที่เปลี่ยนไป เกิดจากความไม่ลึกซึ้ง ไม่ใช้แรง ละเลยต่อประเพณีดั้งเดิม ความเคารพต่อข้าวจึงน้อยลง

ทำอย่างไรรักษาขวัญข้าวของไทยให้อยู่ไปตราบนานเท่านาน? นี่คือสิ่งที่ขอให้ลูกหลานเก็บไปคิด


นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา

ประธานกรรมการบริหาร สพภ.
ผู้ริเริ่มจัดทำสารานุกรม “ภูมิปัญญาข้าวไทย”

(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C-2.jpg)

“ข้าวเป็นจิตวิญญาณของคนไทย เป็นทั้งมรดกทางวัฒนธรรมและทางวิทยาศาสตร์”


       องค์ความรู้ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นความรู้ที่ได้จากการวิจัยและทดลองในห้อง Lab คือ “วิทยาศาสตร์” กับความรู้ที่ได้จาก คน หรือกลุ่มคนทดลองปฏิบัติ ลองผิดลองถูก เฝ้าสังเกตธรรมชาติ ดูว่า
สิ่งใดสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมของตนได้ คือ “ภูมิปัญญา” ซึ่งมีที่มาแตกต่างกันแต่สามารถเกื้อกูลกันได้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ มุ่งเน้นการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ การค้า

สำหรับเรื่องข้าวนั้น “ข้าวเป็นจิตวิญญาณของคนไทย” ข้าวเป็นทั้งมรดกทางวัฒนธรรมและทาง
วิทยาศาสตร์ ในด้านวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าไปมาก มีการผลิตพันธุ์ข้าวใหม่ๆ โดยมีกระบวนการจัดการเรื่องของการผสมพันธุ์ให้เกิดข้าวพันธุ์ใหม่ ในขณะเดียวกันโลกมีการใช้เทคโนโลยีในทาง Genetic หรือการตัดต่อพันธุกรรม (ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับ) เพื่อให้ข้าวสามารถเจริญเติบโตได้มากยิ่งขึ้น ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมาก็เกิดขึ้นจากต้นกำเนิดคือความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะข้าวแต่ละประเภทที่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ มีคุณสมบัติ คุณลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของกลิ่น ความอดทนต่อความแล้ง คุณค่าทางโภชนาการ หรือความแตกต่างของสี วิทยาศาสตร์ต้องนำสิ่งต่างๆ ที่ต้องการมาผสมกันเพื่อให้เกิดข้าวพันธุ์ใหม่ขึ้น เช่น นำความแข็งแกร่งของพันธุ์หนึ่งบวกกับกลิ่นหอมของอีกพันธุ์หนึ่ง นำความต้านทานความแล้งของพันธุ์หนึ่งบวกกับความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และบวกกับความไวแสงของอีกพันธุ์หนึ่งให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดี ที่สุด




ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร

ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ / ผู้ปฏิบัติงานในโครงการพระราชดำริ
ที่ปรึกษาโครงการจัดทำสารานุกรม “ภูมิปัญญาข้าวไทย”


(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B9%8C-3.jpg)

“เราอยากสอนให้ทุกคนรู้ว่า เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง พระแม่ธรณีรับฝากข้าว 1 เม็ดใน 120 วัน ให้เรากลับคืนมาเป็นหมื่นเม็ด”
      ข้าว คือ อาหารของมนุษย์ที่ต้องแบ่งกันกิน ข้าวไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเป็นสินค้า เพราะทุกคนต้องกินอาหารทุกวัน และอาหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาอาหารทั้งโลก ก็คือข้าว ถ้าไม่มีข้าวก็ไม่มีขนมปัง และเราคงจะปลูกมันกินอย่างเดียวไม่ได้ ข้าวคือต้นอารยธรรมของมนุษย์ คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้นักล่า นักเก็บของป่า เป็นนักผลิต นักเพาะปลูก
แต่เดิมมนุษย์ก็ไม่ต่างกับสัตว์ เร่ร่อนเพื่อใช้ชีวิตและหาอาหารตามโชคชะตา แต่มนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานเพราะเราได้รู้จักกับข้าว เรากินข้าว และหาวิธีเพาะปลูกมัน ข้าวเมื่อสมัยก่อนเม็ดโตเต็มรวง เราติดใจในรสชาติจึงปลูกและรอเก็บเกี่ยวข้าวเป็นอาหาร โดยที่ไม่ต้องล่า ไม่ต้องหาเก็บในป่า ทำให้เรียนรู้การสร้างที่อยู่อาศัย สถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน สร้างวิวัฒนาการต่างๆ มากมาย จนหลุดพ้นจากอารยธรรมต่ำเยี่ยงสัตว์ ที่ไม่ใส่เสื้อผ้า

      แต่วันนี้มนุษย์เอาข้าวไปแปลงเป็นกระดาษ ไปแปลงเป็นค่าอื่น สุดท้ายก็กลับไปเหมือนเดิม ใช้เกมการค้าไปแทนเกมการล่า ใครชนะ ใครได้ข้าวมากที่สุดก็ได้ข้าวไปกิน ซึ่งอาจจะเป็นการเปรียบเทียบที่แรงไป แต่นี่เป็นสัจจะ เป็นความจริง ทำให้มนุษย์คิดถึงตัวเองมากขึ้น แต่ชาวนาคิดถึงคนอื่น คิดว่าจะมีข้าวให้คนกิน มีข้าวให้พระฉันได้หรือไม่ วิธีคิดแบบสัมมาทิฐิเช่นนี้ ทำให้คนสมัยก่อนมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับข้าวมากมาย จนเป็นวัฒนธรรม ประเพณี

      ข้าวเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยเก่งเป็นหนึ่งในโลก ตั้งแต่การหาที่ที่เหมาะแก่การทำนา คัดสรรพันธุ์ที่อร่อย หอม และเป็นประโยชน์ รวมไว้ในข้าวทุกเม็ด

      แต่เราทำลายตัวเอง ยังไม่สายเกินไปที่คนไทย จะลุกขึ้นมาสนใจข้าว ความสามารถของคนไทยในการผลิตข้าวไม่เหลืออะไรเลย เมื่อก่อนเราปลูกข้าวบนที่นาของไทย ใช้คนไทยปลูก พันธุ์ข้าวไทย ใช้ควายไทย คันไถแบบไทย ระหัดวิดน้ำของไทย เคียวไทย นวดข้าวบนลานไทย ใช้เครื่องนวดไทย เก็บในยุ้งฉางไทย เครื่องสีไทย ตำด้วยครกไทย ใส่กระบุง กระด้ง หุงด้วยเตาไทย ถ่านไทย แกลบไทย หม้อไทย ใส่ในจานไทย ตักเข้าปากด้วยช้อนไทย(มือ) แต่เดี๋ยวนี้ข้าวที่เรากินกันแทบไม่ใช่ข้าวไทยแล้ว แต่เป็นข้าวของต่างชาติ ปลูกในที่นาที่แบงก์ยึดไป ใช้คนไทยปลูกหรือเปล่า พันธุ์ข้าวก็เป็นพันธุ์ลูกผสมชาติไหนต่อชาติไหนมั่วไปหมด ไถด้วยควายเหล็กที่กินน้ำมัน ใช้เครื่องจักรสูบน้ำเข้านา เก็บเกี่ยวด้วยรถแทรกเตอร์ นวดก็ใช้เครื่องนวดต่างประเทศ โรงสีของต่างประเทศ หม้อหุงข้าวต่างประเทศ จานช้อนต่างประเทศ ถึงปากเราก็ไม่ใช่ข้าวไทยแล้ว

ถามว่าแล้วเราจะกลับไปทำแบบก่อนได้หรือไม่ คำตอบคือเรากำลังทำอยู่ แต่ก็มีหลายขั้นตอนที่อนุโลมให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทบ้าง อาจจะต้องนวดด้วยเครื่อง สีด้วยเครื่อง แต่ต้องทำให้เป็นของไทยมากที่สุด ให้ความเป็นไทยเพิ่มขึ้นทีละนิดทีละนิด เราอยากสอนให้ทุกคนรู้ว่า เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง
พระแม่ธรณีรับฝากข้าว 1 เม็ดใน 120 วัน ให้เรากลับคืนมาเป็นหมื่นเม็ด แล้วแต่ความขยัน ความรู้ของแต่ละคน ทำมากได้มากเป็นเรื่องปกติ

      ที่ดินที่นาบ้านเราสู้ได้ ความรู้ความชำนาญก็สู้ได้ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันไม่มีใครตามเราทัน เราคงตามเยอรมัน ญี่ปุ่นทำรถยนต์ไม่ได้ แต่เค้าก็ตามเราเรื่องข้าวไม่ได้เหมือนกัน เราไม่กินรถยนต์เราไม่ตาย เราต้องเอาดีทางนี้ที่เราเก่ง

      ต่อไปในอนาคตเราอาจต้องเจอกับภัยพิบัติมากมาย จึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายเผชิญกับวิกฤตนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เลยเถิดไปแล้ว ภัยธรรมชาติ
โรคระบาดในข้าว แมลงรบกวน หญ้าที่ฆ่าลำบาก ทำให้ข้าวยากหมากแพง จนเกิดความขัดแย้งเป็นสงครามได้ แต่ถ้าคนเปลี่ยนความคิดได้ว่า ข้าวคืออาหารที่แบ่งกันกิน
ผมเชื่อว่ามนุษย์จะมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญและผ่านวิกฤตนั้นไปได้ ผมเชื่ออย่างนั้นและจะทำต่อไป




นายธนู วงษ์เกษม

ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ กรมการข้าว

(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B9.jpg)

“สังเกตได้ว่า ปัจจุบันชาวนาจะทำการหว่านข้าว ค่อนข้างแน่นมาก และการหว่านข้าวแน่นมากทำให้เป็นแหล่งสะสมของพวกแมลง”
      วิธีการทำนาของชาวนาในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นนาดำ นาหว่านข้าวแห้งในทางภาคอีสาน ต่อมาได้มีการพัฒนากระบวนการผลิต จากวิธีการทำนาจากนาหว่านดั้งเดิมมาสู่ “การทำนาหว่านน้ำตม” ทำให้สามารถผลิตข้าวได้ผลผลิตมากขึ้นจากเดิม ประหยัดแรงงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย ใช้ระยะเวลาที่สั้นลง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี้ก็มีทั้งผลดีและผลเสีย โดยผลเสียที่ตามมา คือ จะสังเกตได้ว่า ปัจจุบันชาวนาจะทำการหว่านข้าวค่อนข้างแน่นมากเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และการหว่านข้าวแน่นมากนี้เองทำให้เป็นแหล่งสะสมของพวกแมลง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมถึงข้าวดีด ข้าวเด้ง ก็มีส่วนมาจากการทำนาหว่านน้ำตม เช่นกัน

      ในเรื่องของพันธุ์ข้าว ในสมัยก่อนยังมีพันธุ์ข้าวไม่หลากหลายนัก กรมการข้าวจึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของพี่น้องชาวนา จนในปัจจุบันมีการการปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้ดีขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้นด้วย ชาวนาจึงพยายามที่จะปลูกให้ได้หลายครั้งในแต่ละปี แต่ผลที่ตามมาจากการปลูกหลายครั้ง ก็คือ อายุของข้าวจะสั้นลง เมื่ออายุข้าวสั้นลง คุณภาพของข้าวก็จะลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งในปัจจุบันกรมการข้าว และรัฐบาลไม่ทำการสนับสนุนพันธุ์ข้าวที่มีอายุสั้น โดยจะเห็นได้จากโครงการประกันรายได้ที่ไม่ให้ข้าวอายุสั้นเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้กรมการข้าวจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนทั้งทางด้านการปรับปรุงพันธุ์ และกระบวนการผลิตที่ดี เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของชาวนาไทยต่อไป




ดร.สมทรง โชติชื่น

นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ
ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87.jpg)

“ข้าวพื้นเมืองจะมีคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละพันธุ์แตกต่างกัน เกิดจากการคัดเลือกโดยวิวัฒนาการธรรมชาติ และการคัดเลือกของชาวนาตั้งแต่อดีต เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความนิยมของคนในแต่ละชุมชนท้องถิ่น”
      ข้าวเป็นวิถีชีวิตไทย ข้าวมีความสำคัญไม่เพียงเฉพาะในเรื่องของการเป็นอาหารหรือพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยเท่านั้น แต่ข้าวอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมานาน ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ มีข้าวเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของพิธีกรรมหรือการสร้างความรู้สึก สร้างความผูกพันในชุมชน มีหนังสือเกี่ยวกับ
“ข้าวกับคนไทย” หรือ “พระมหากษัตริย์กับข้าว” อยู่มากมาย ความสำคัญในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในเรื่องของการเป็นอาหาร


เรื่องของพันธุ์ข้าวไทย

      ข้าวในหน้าที่รับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ มีหน้าที่หลักในเรื่องของการอนุรักษ์ การเป็นสถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ข้าวจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย โดยได้รวบรวมข้าวจากทั่วประเทศ รวมทั้งพันธุ์ข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมดที่เป็นเชื้อพันธุกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทย ซึ่งพันธุ์ข้าวเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อสร้างข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพ และผลผลิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

ประเทศไทยอยู่ในเขตศูนย์กลางการแพร่กระจายของพันธุ์ข้าว มีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิประเทศและ
ภูมิอากาศ มีพื้นที่เหมาะสำหรับปลูกข้าวไร่ ข้าวนาสวน ข้าวน้ำลึก จึงมีความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอยู่มาก ข้าวพื้นเมืองจะมีคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละพันธุ์แตกต่างกัน เกิดจากการคัดเลือกโดยวิวัฒนาการธรรมชาติ และการคัดเลือกของชาวนาตั้งแต่อดีต เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่
เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความนิยมของคนในแต่ละชุมชนท้องถิ่น

      ปัจจุบันเริ่มมีผู้ให้ความสนใจเรื่องการบริโภคข้าวมากขึ้น ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากกระแสทางด้านการให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการ ข้าวบางพันธุ์มีวิตามินสูง บางพันธุ์มีธาตุเหล็กและทองแดงสูง บางพันธุ์มีแอนติออกซิแดนท์บางชนิดสูง ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ หรือสร้างจุดขายของแต่ละพันธุ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจการค้าต่อไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 13:45:18
นายจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา

นักวิชาการวัฒนธรรม หอไทยนิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%A3.jpg)

“ความสำคัญของข้าวไม่ได้ปรากฏอยู่ในแง่มุมทางด้านประวัติศาสตร์เท่านั้น ยังปรากฏอยู่ในแง่มุมอื่นๆด้วย เช่นทางด้านวรรณกรรม ทำให้เห็นถึงความผูกพันในแง่มุมต่างๆ จึงนับได้ว่า ข้าวเป็นวิถีชีวิตของคนไทย”



      “ข้าวถือว่าเป็นชีวิตของคนไทย” วัฒนธรรมข้าว หรือเรื่องของข้าวในสังคมไทยมีปรากฏให้เห็นมาแต่โบราณกาล ดังที่ปรากฏในหลุมขุดค้นทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ก็จะพบเมล็ดข้าวปะปนอยู่ด้วย เมื่อคนบริโภคข้าว คนก็จะมีความคิดในเรื่องของความเชื่อ ในเรื่องของการนำมาปรับใช้ แปรเปลี่ยนให้ผูกพันกับวิถีชีวิตของตน ดังจะเห็นได้จากการมีประเพณีพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องของข้าวหรืออาหารการกิน โดยคนไทยรู้จักการเคารพ นอบน้อม สำนึกบุญคุณ ต่อสิ่งที่มีคุณ วัฒนธรรมเหล่านี้ส่งผลสะท้อนให้เกิดเป็นประเพณีพิธีกรรมของราษฎร ตั้งแต่เริ่มกระบวนการเพาะปลูก จนถึงการเก็บเกี่ยว เช่นการทำขวัญข้าว หรือแม้กระทั่งการจะนำมาบริโภคก็มีการไหว้สำนึกบุญคุณ อีกทั้งยังผูกพันไปถึงการมีพิธีหลวงอีกด้วย

      คนไทยมีพระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงมีการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้น การทำให้ข้าวปลาอาหารเจริญรุ่งเรือง งอกงามแข็งแรง นับเป็นสิ่งที่ราชสำนักให้ความสำคัญมาแต่โบราณ เช่น ในพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีที่แสดงให้เห็นถึงภาพสะท้อนของสังคมในผู้ที่เป็นผู้ปกครอง คือพระมหากษัตริย์เสด็จเป็นประธานในพิธี แต่เดิมจะเห็นว่ามีการลงหว่านข้าว ทำนา จนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเกี่ยวข้าวเพื่อความเป็นมงคล การที่พระราชวงศ์ทรงทำพิธีเหล่านี้ เป็นภาพสะท้อนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันระหว่างข้าวกับวัฒนธรรม

      ความสำคัญของข้าวไม่ได้ปรากฏอยู่ในแง่มุมทางด้านประวัติศาสตร์เท่านั้น ยังปรากฏอยู่ในรูปลักษณ์อื่นๆด้วย เช่น ทางด้านวรรณกรรม เพลงพื้นบ้าน บทกวี เพลงเพื่อชีวิต เป็นต้น ทำให้เห็นถึงความผูกพันในแง่มุมต่างๆ จึงนับได้ว่า “ข้าวเป็นวิถีชีวิตของคนไทย”



วรัตดา ภัทโรดม

ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอกชน
นักธุรกิจ ผู้ริเริ่มโครงการ “รณรงค์การซื้อที่นากลับคืนให้ชาวนาไทย”

(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%94%E0%B8%B2.jpg)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงให้ความสำคัญกับข้าวและชาวนามาก แต่ดูเหมือนพวกเราจะไม่สนใจ เพราะว่ายังมีข้าวทานทุกวัน เรามองแค่วันนี้ แต่พระองค์ท่านทรงมองไกล กว่าพวกเรามานานมากแล้ว”



      คนไทยเราทานข้าวทุกวัน ทานกันทุกคน แต่ทำไมอาชีพชาวนาถึงไม่ได้รับการยกย่อง และให้ความสำคัญ เหมือนอาชีพหมอ หรือ วิศวกร ทำไมชาวนามีแต่จนลง จนลง ทั้งๆที่เป็นผู้ผลิตสิ่งที่คนไทย ๖๐ ล้านคนต้องบริโภคทุกวัน แปลกนะคะ ในประเทศอื่นๆ อย่างเช่น นิวซีแลนด์ ชาวไร่ชาวสวนชาวนาของเขารวยค่ะ คนทั้งประเทศของเขาให้ความสำคัญกับอาชีพนี้อย่างมาก เมื่อไหร่นะ คนไทย รัฐบาลไทย จะเห็นความสำคัญและให้เกียรติกับอาชีพนี้จากใจจริง จะต้องรอวันที่เราต้องซื้อข้าวจากประเทศอย่างเวียดนามทานในราคาแพงหรือคะ
ที่คนไทยจะเริ่มเปลี่ยนแปลงมุมมองและจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ที่นาของเราน้อยลงทุกวัน ทุกวัน จำนวนชาวนาของเราน้อยลงทุกวัน ทุกวัน ข้าวหอมมะลิ ถูกเปลี่ยนพันธุ์ ไม่หอมแล้ว ข้าวหอมมะลิที่หอมและไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีหายไปไหนนะคะ วัว ควาย หมดอาชีพ ควายเหล็กทิ้งแต่รอยน้ำมันบนผืนดินที่นา ทำให้สัตว์ต่างๆอยู่ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวนี้ต้องมีโรงเรียนควาย สอนควายและสอนคนให้เริ่มไถนาเป็นอีกครั้ง ข้าวเปลือกกิโลละ ๖ บาท เหมียวซื้อข้าวทานจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ราคา ๓๕ ถึง ๓๘ บาท ต่อกิโล ... เงิน ๓๐ บาท อยู่ที่ใครกัน???
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงให้ความสำคัญกับข้าวและชาวนามาก แต่ดูเหมือนพวกเราจะไม่สนใจ เพราะว่ายังมีข้าวทานทุกวัน เรามองแค่วันนี้ แต่พระองค์ท่านทรงมองไกล กว่าพวกเรามานานมากแล้วนะคะ เพราะว่าพระองค์ท่านทรงงานอยู่ในพื้นที่ ส่วนเรานั่งอยู่บ้านหรืออยู่ที่ทำงาน ไม่เคยไปเห็นไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเราเลย ดูเหมือนพวกเราจะสบายกันมากเกินไปนะคะ

      ถึงเวลาแล้วนะคะ ที่พวกเราคนไทย จะต้องหันมาช่วยคนที่ปลูกข้าวให้เราทานมานานหลายสิบ หลายร้อยปี ไม่มีใครปลูกข้าว เรามาปลูกข้าวกันก็ดีนะคะ ที่นาหายไปกลายเป็นที่โรงงาน เราซื้อที่นาให้เป็นที่นาก็น่าจะเป็นการลงทุนที่ดีนะคะ เหมียวว่าเราอยู่เฉยๆไม่ได้อีกต่อไปค่ะ

      มีคนหลายคนที่ทุ่มเทช่วยข้าว ช่วยชาวนาตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นะคะ เรามาร่วมช่วยข้าว ช่วยชาวนากันเถอะค่ะ




นายจักรกฤต บรรเจิดกิจ

ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จังหวัดพิจิตร
ชาวนา ผู้มีหัวใจอนุรักษ์วัฒนธรรมข้าว

(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95.jpg)

“วิทยาศาสตร์ กับภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน ไปด้วยกันได้อยู่แล้ว ขอเพียงเราอยู่อย่างพอเพียง ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ที่ให้เรามีชีวิตอยู่ได้ จนถึงทุกวันนี้ก็พอ”
      คนในสมัยก่อน เชื่อถือเรื่องฤกษ์ยาม เชื่อในวัฒนธรรม เริ่มทำนาเวลาใด ก็มีฤกษ์ยาม มีการ มีการทำพิธีกรรมบูชา เช่นการบายศรี จึงอยู่กันมาได้โดยไม่มีหนี้สิน มีเหลือกิน เหลือเก็บ คนที่นี่ปลูกข้าวนาปีกันแบบดั้งเดิม ผสมกับการนำความรู้ใหม่ๆ มาประยุกต์เพิ่มเติม มีการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำเองจากพวกไข่ รกสัตว์ หอย ปลา กุ้ง
ทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งธรรมชาติ เป็นการบำรุงแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ช่วยลดต้นทุน และยังไม่เป็นอันตรายจากสารเคมีตกค้างในระยะยาวอีกด้วย

      แม้จะมีการนำเอาความรู้ใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้อย่างไร เราก็ยังมีความเชื่อที่สืบต่อกันมา ในเรื่องการเคารพ
แม่โพสพ เทพเจ้าที่ดูแลข้าว เราจะระลึกบุญคุณของท่าน ที่ให้ข้าวเรากิน ด้วยการทำขวัญแม่โพสพในที่นาของตนเอง โดยในการทำพิธีจะเริ่มด้วยการจัดเตรียมเครื่องเซ่น คือ พลู กล้วยสุก มะพร้าวอ่อน ธูป น้ำ 1 แก้ว น้ำตาลทราย และจะทำพิธีก่อนการลงมือปลูกข้าวนาปี ทุกปี เพื่อขอให้ผลผลิตข้าวออกมาดี ไม่มีศัตรูข้าว แมลง วัชพืชมารบกวน

      ถึงเทคโนโลยีจะทันสมัยแค่ไหน แต่เราก็ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ไม่ใช่รับเอามาทุกอย่าง จนไม่เหลือสิ่งที่ตกทอดต่อๆ กันมา วิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาแบบชาวบ้านไปด้วยกันได้อยู่แล้ว ขอเพียงเราอยู่อย่างพอเพียง
ไม่เบียดเบียนธรรมชาติที่ให้เรามีชีวิตอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ก็พอ



นายวิชิตพล ไล่สัตรูไกล

ผู้บริโภคข้าว / ดารา นักแสดง

(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9E%E0%B8%A5.JPG)

“เราขายข้าวได้เกวียนละหมื่นบาท เพื่อจะแลกกับของอำนวยความสะดวกหลายอย่างจากต่างประเทศ บางอย่างก็เป็นของฟุ่มเฟือยราคาแพง เราจึงต้องผลิตข้าวให้มากขึ้นอีก จะได้ไม่ให้เสียดุลการค้า”
      คนไทยทุกคนกินข้าวเป็นอาหารหลัก ตั้งแต่จำความได้ เราเกิดมาพร้อมข้าวตั้งแต่ในมื้อแรกๆ ของชีวิตด้วยซ้ำ เหมือนกับชาวต่างชาติที่กินขนมปัง หรือแป้งเป็นอาหารหลัก ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนไปกินอะไรสักกี่วัน กี่มื้อ แต่ไม่นานเราก็ต้องกลับมากินข้าวสวยอุ่นๆ กับกับข้าวทุกครั้งไป ในสมัยก่อน เรากินข้าวทุกมื้อด้วยซ้ำ ทุกบ้านต้องหุงข้าวทั้งมื้อเช้า มื้อเที่ยง มื้อเย็น กินกับน้ำพริก ผัก ปลา ที่หาได้จากไร่สวน เพราะเราคือประเทศการเกษตร

      ข้าวให้แรงขับเคลื่อนกับคนไทยมาโดยตลอด ทั้งในเป็นอาหารหลัก หรือจะทำการค้า บ้านเมืองเราปลูกข้าวที่ไหนก็ขึ้น ได้ผลผลิตมากมาย จนข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ และติดอันดับโลก ข้าวพันธุ์ไทยเป็นข้าวที่ไม่เหมือนชาติใดในโลก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีกลิ่นหอม เม็ดสวย จนต่างชาติพยายามจะจดลิขสิทธิ์เป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวไทย เป็นคดีความกันใหญ่โต

      แต่เดี๋ยวนี้ มีชาวนาไทย ที่ปลูกข้าวกัน กระดูกสันหลังของชาติที่ปลูกข้าวเองด้วยมือ ใช้วิธีการแบบธรรมชาติตั้งแต่ต้นจนเก็บเกี่ยวก็ไม่ค่อยพบเจอเท่าไรในสมัยนี้ เทคโนโลยีและวัฒนธรรมต่างชาติก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการเกษตรของเรา ด้วยแนวคิดแบบวัตถุนิยมมากขึ้น เราขายข้าวได้เกวียนละหมื่นบาท เพื่อจะแลกกับของอำนวยความสะดวกหลายอย่างจากต่างประเทศ บางอย่างก็เป็นของฟุ่มเฟือยราคาแพง เราจึงต้องผลิตข้าวให้มากขึ้นอีก จะได้ไม่ให้เสียดุลการค้า เป็นเช่นนี้เพิ่มขึ้นๆทุกปี ความผูกพันระหว่างข้าวกับคนไทย จึงห่างกันไปทุกที เราไม่ได้เคารพข้าวก่อนกิน เรากินข้าวไม่หมดจาน เหมือนที่คนสมัยก่อนทำ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้าวทุกเม็ด ในยุคที่การเกษตรต้องต่อสู้กับเทคโนโลยีที่หมุนเร็วอย่างทุกวันนี้ ช่องว่างระหว่างธรรมชาติกับคนเรากลับก็ห่างกันออกไปทุกที เราจะปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเองได้ดีแค่ไหน ถึงเวลาหรือยัง?




Dr. Gavin Kenny

Climate Change and Sustainable Agriculture Specialist

(http://app1.bedo.or.th/rice/Uploads/Contents/1/images/Kalvin.jpg)

“ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นครัวของโลก ควรตั้งเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้เป็นผู้ผลิตข้าว ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก มากกว่าที่จะพยายามผลักดันประเทศไปสู่โลกอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งมากมายที่แข็งแรงอยู่แล้ว”
      ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดีมาก เนื่องจากมีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีลุ่มน้ำมากมาย มีลักษณะที่เหมาะสมกับการทำกสิกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าว น่าเสียดายที่คนไทยกลับไม่ยินดีในสิ่งที่ตนเองมี แต่กลับเดินหน้าพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่จุดแข็งของประเทศ ไม่ใช่ทิศทางที่เหมาะสมกับทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศไทยมี เป็นการไปลอกเลียนแบบทิศทางการพัฒนาประเทศของประเทศอื่นที่เขามีข้อจำกัดด้านการทำกสิกรรม ผมคิดว่ารูปแบบการพัฒนาประเทศของแต่ละประเทศควรจะมีความแตกต่างกัน มีความเป็นเอกลักษณ์ เนื่องที่จากแต่ละประเทศมีสภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศ รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การใช้รูปแบบการพัฒนาประเทศที่ลอกเลียนแบบกันนั้นไม่น่าจะส่งผลดีในระยะยาว (Unsustainable Model) ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นครัวของโลก ควรจะตั้งเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้เป็นผู้ผลิตข้าว ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก มากกว่าที่จะพยายามผลักดันประเทศไปสู่โลกอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งที่แข็งแรงอยู่มากมายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการที่จะรักษาไว้ซึ่งความได้เปรียบในทางกสิกรรมนั้น คนไทยทุกคนต้องตระหนักในความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ควรมีการดูแลรักษาดิน ลุ่มน้ำ ป่าไม้ ต้นไม้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวการณ์ Global Warming และ Climate Change ในปัจจุบัน รวมถึงควรเลิกใช้สารเคมีที่ส่งผลเสียในระยะยาว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 14:16:03
ชอบคับ....บ้านดิน ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 14:46:34
ที่นาผมจะอยู่ติดกับเหมืองน้ำ ชาวบ้านก็มักจะมาตกปลากันปลาที่ได้จะเป็นปลาหมอ หรือบ้านเราเรียกว่าปลาเสด็จครับ เหยื่อที่ใช้ก็จะเป็นมันปู และ กุ้งฝอยครับ เมื่อวานก็มียายคนนึงมาตกปลาแกบอกว่าบางวันตกได้ประมาณ  2-3 ก.ก.  ราคาขายขีดละ 15 บาท ก็เป็นผลพลอยได้อย่างหนึ่งสำหรับเป็นชาวนาหากมีเวลาว่างก็ตกปลาได้  เสียดายที่ปัจจุบันปลาลดลงน้อยกว่าแต่ก่อนมากเพราะพิษจากสารเคมีทางการเกษตรต่าง ๆ  หากพื้นที่ไหนทำเกษตรอินทรีย์ปลาที่ได้จากธรรมชาติก็จะปลอดภัยมากขึ้นเพราะไม่มีพิษจากสารพิษตกค้าง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 15:03:08
ผลพลอยได้ของชาวนาอีกอย่างหนึ่งคือการจับเขียดครับเพื่อนำมาทำเขียดย่าง แถวนาผมมีเยอะตามถนนคลองชลประทาน หากขี่มอเตอร์ไซด์มาตอนค่ำ ๆ หลังฝนหยุดตกจะเห็นเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ถ้าเราไปซื้อเขียดย่างก็ไม้ละ 20 บาท แต่การจับจะเป็นตามช่วงฤดูส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่มีฝนตกช่วงนั้นคนจับเขียดก็จะมีรายได้วันละหลายร้อยบาททีเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2013, 20:50:17
ชอบโฆษณานี้ครับ

1X0b7g1e6GE


โฆษณาความหมายดีๆ จาก Red Bull Spirit โดยกระทิงแดง
เกษตรอินทรีย์ คือ ระบบการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมรักษาสม­ดุลของธรรมชาติ และความหลากหลายของทางชีวภาพ โดยมีระบบการจัดการนิเวศวิทยาที่คล้ายคลึง­กับธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ที่อาจเกิดมลพิษใน สภาพแวดล้อม เน้นการใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และ ปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงให้มีความอุด­มสมบูรณ์เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรงสามาร­ถต้านทานโรคและแมลงด้วยตนเอง รวมถึงการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโย­ชน์ด้วย ผลผลิตที่ได้จะปลอดภัยจากสารพิษตกค้างทำให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอีกด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มีนาคม 2013, 10:17:51
ช่วงนี้ฝนตกครับ สังเกตุต้นข้าวเมื่อได้รับฝนใบข้าวจะเริ่มเขียวกว่าปกติ สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากน้ำฝนมีไนโตรเจนบางส่วนแต่ก็ไม่มากซึ่งอาจประกอบด้วยปฏิกริยาเคมีกับก๊าซต่าง ๆ  ฝนแต่ละที่ก็ใช่ว่าจะให้ปริมาณธาตุเท่ากัน บางแห่งเป็นฝนกรดซึ่งมีผลต่อการเกษตรเช่นกัน มาดูปุ๋ยดูเรื่องปุ๋ยไนโตรเจนกันครับ

ปุ๋ยไนโตรเจน

ปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้อาจจัดเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ปุ๋ยไนโตรเจนประเภทอินทรีย์ และปุ๋ยไนโตรเจนประเภทอนินทรีย์หรือปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยไนโตรเจนประเภทอินทรีย์ หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จาสิ่งที่มีชีวิต เกิดการเน่าเปื่อยผุพังไป เช่น ปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยคอก  ปุ๋ยเทศบาล เป็นต้น ปุ๋ยประเภทนี้จะมีปริมาณธาตุไนโตรเจนต่ำ ฉะนั้นในการใช้แต่ละครั้งต้องใช้ในปริมาณมาก  แต่มีความจำเป็นต้องใช้เพราะให้ประโยชน์ในการปรับปรุงดินให้โปร่ง ร่วนซุย ซึ่งเป็นสมบัติทางกายภาพที่สำคัญของดินที่พืชต้องการ

ปุ๋ยไนโตรเจนประเภทอนินทรีย์หรือปุ๋ยเคมี ส่วนใหญ่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี ปัจจุบันนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แบ่งเป็นหลายประเภท ได้แก่

1.ปุ๋ยแอมโมเนีย (NH3) หรือ anhydrous ammonia หรือ  liquid ammonia(แอมโมเนียมเหลว) มีไนโตรเจนทั้งหมด 82% เป็นปุ๋ยที่มีปริมาณไนโตรเจนสูงที่สุด

2.ปุ๋ยยูเรีย (CO(NH2)2) เป็นเม็ดกลมสีขาว มีไนโตรเจนสูงรองจากปุ๋ยแอมโมเนีย คือ มีไนโตรเจนทั้งหมด 46% มีสมบัติดูดความชื้นได้ง่าย

3.ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรต (NH4NO3) มีไนโตรเจนทั้งหมด   35%

4.ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (NH4)2SO4 มีไนโตรเจนทั้งหมด   21%

5.ปุ๋ยแอมโมเนียมคลอไรด์ (NH4Cl) มีไนโตรเจนทั้งหมด   24-26%

6.ปุ๋ยโซเดียมไนเตรต (NaNO3) มีไนโตรเจนทั้งหมด  16%

7.ปุ๋ยแคลเซียมไซยาไนด์ (CaCN2) มีไนโตรเจนทั้งหมด  21-22 % เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์  เวลาใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง อาจใช้เป็นยาฆ่าหญ้า และฉีดพ่นให้ใบฝ้ายร่วงก่อนการเก็บเกี่ยวได้ด้วย

8.ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรต (Ca(NO3)2)มีไนโตรเจนทั้งหมด  15.5%

9.ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรตซัลเฟต (NH4 NO3 .(NH4)2SO4) มีไนโตรเจนทั้งหมด  30%

10.ปุ๋ยไนโตรเจนอื่นๆ เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมฟอสเฟต ปุ๋ยแอมโมเนียมฟอสเฟต-ซัลเฟต ปุ๋ยยูเรีย-ซัลเฟอร์  ปุ๋ยยูเรีย-ฟอสเฟต เป็นต้น

ปกติธาตุไนโตรเจนในดินมีอยู่น้อยมาก  ส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในอากาศ ซึ่งมีธาตุนี้อยู่ถึง 78% ของปริมาณอากาศทั้งหมดที่ห่อหุ้มโลก  โดยอยู่ในรูปของโมเลกุลไนโตรเจน (N2) ซึ่งพืชส่วนใหญ่ไม่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง นอกจากพืชตระกูลถั่วเท่านั้น ดังนั้นไนโตรเจนจะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปสารประกอบ

อนินทรีย์เสียก่อน เช่น ในรูปของไนเตรต (NO3-) หรือแอมโมเนีย (NH4+) จึงจะนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้

กรรมวิธีการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน  โรงงานอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยสามารถใช้ไนโตรเจนจากอากาศมาผลิตเป็นปุ๋ยไนโตรเจน  ในที่นี้จะเน้นการผลิตปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ((NH4)2SO4) และปุ๋ยยูเรีย (NH2CONH2)

ปุ๋ย (NH4)2SO4 หรือปุ๋ยขาว เตรียมได้จากปฏิกิริยาระหว่างแก๊ส NH3 และสารละลายH2SO4

2NH3 (g) + H2SO4 (aq) → (NH4)2SO4 (s)


การผลิตปุ๋ยยูเรีย (NH2CONH2)

เตรียมได้จากปฏิกิริยาระหว่างแก๊ส NH3 กับแก๊สCO2 โดยใช้อุณหภูมิประมาณ  180-210 องศาเซลเซียส และความดัน 140-250 บรรยากาศ จะได้แอมโมเนียมคาร์บาเมต (NH2CONH4) กับน้ำ ดังสมการ

2NH3 (g) + CO2 (g) → NH2CONH4 (aq)

NH2CONH4 (aq)  → NH2CONH2 (aq) + H2O (l)

NH3 กับCO2 เตรียมได้จากก๊าซธรรมชาติ

NH3 เตรียมจาก N2 และ H2 ในอากาศ โดยนำอากาศมากลั่นลำดับส่วน  คือ ลดอุณหภูมิลงมากๆ พร้อมกับเพิ่มความดันจนอากาศกลายเป็นของเหลว

เริ่มต้นเตรียม N2 จากอากาศโดยกระบวนการ liquefaction คือ ทำให้อากาศกลายเป็ฯของเหลวทั้งหมดก่อนโดยการลดอุณหภูมิลงมากๆ และเพิ่มความดันสูงๆ จากนั้นนำอากาศเหลวซึ่งมี N2 และ O2 เป็นส่วนใหญ่มากลั่นลำดับส่วนแยกออกจากกัน N2 ซึ่งมีจุดเดือดต่ำกว่า O2 จะแยกออกมาก่อนแล้ว O2 จึงกลั่นออกมา ภายหลัง

การเตรียม H2 ในกรณีที่มีก๊าซปิโตรเลียมหรือก๊าซธรรมชาติ โดยนำ O2 ที่ได้จากการกลั่นลำดับส่วนอากาศมาทำปฏิกิริยาดังสมการ  โดยใช้ภาวะที่เหมาะสมและใช้ Niเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา จะได้ H2 และCO2 ซึ่งเรียกรวมกันว่า water gas

2CH4 (g) + O2 (g) →        2CO (g) + 4H2 (g)


หรืออาจใช้ไอน้ำทำปฏิกิริยากับก๊าซ CH4 โดยตรง จะได้ก๊าซ CO และH2 เช่นเดียวกัน


CH4 (g) + H2O (g) →      CO (g) + 3H2 (g)


เมื่อแยกก๊าซ H2 ออกจากก๊าซผสมแล้ว จึงนำก๊าซ COที่เหลือไปทำปฏิกิริยากับก๊าซ CH4 อีกภายใต้อุณหภูมิสูง และมีตัวเร่งปฏิกิริยาเหมาะสม จะได้ก๊าซ CO2 และH2



ก๊าซผสมทั้งหมด (CO+H2) สามารถแยกออกจากกันได้โดยผ่านเข้าไปในหอคอยที่มีน้ำพ่นลงมา ก๊าซ CO2 ละลายน้ำได้ เกิดเป็นกรด H2CO3 ไหลออกทางส่วนล่างของหอคอยพร้อมกับน้ำ

CO2 (g) + H2O (l) → H2CO3 (aq)

สำหรับก๊าซ H2 ซึ่งไม่ละลายน้ำจะผ่านขึ้นไปออกทางส่วนบนของหอคอย เก็บไว้ทำปฏิกิริยากับ N2 เพื่อเตรียมก๊าซ NH3 ต่อไป

สำหรับกรด H2CO3 นำไปแยกสลายให้กลับมาเป็นก๊าซ CO2ได้ โดยนำ H2CO3 ไปลดความดันและเพิ่มอุณหภูมิ

ก๊าซ N2 ที่เตรียมจากอากาศ และ H2 ที่ได้จากก๊าซธรรมชาตินำมาทำปฏิกิริยากันจะได้ NH3 เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาที่มีภาวะสมดุลจึงต้องเลือกภาวะที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ก๊าซ มากที่สุด โดยทั่วๆไปใช้อุณหภูมิประมาณ 300 องศาเซลเซียส 350 บรรยากาศ และใช้ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

เมื่อนำก๊าซ NH3ไปทำปฏิกิริยากับก๊าซ CO2 จะได้ปุ๋ยยูเรีย

CH3 (g) + CO2 (g)  → NH2CONH2 (s) + H2O (l)


นอกจากนี้ ถ้าใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นวัตถุดิบแทนก๊าซธรรมชาติ จะเตรียม CO2 และ H2 ได้โดยการเผารวมกับ O2 จะได้ CO2 9.4%,CO 59.9%, H2 28.6% และก๊าซอื่นๆ 2.1%

เมื่อแยกก๊าซอื่นๆที่ไม่ต้องการ เช่น H2S และNO ออกไปแล้วจึงทำให้ CO กลายเป็นCO2 โดยนำก๊าซผสมไปทำปฏิกิริยากับไอน้ำที่ความดันสูงๆ และมีตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสม CO จะรวมตัวกับ H2O ได้เป็น

CO2 และ H2

หลังจากได้ก๊าซผสม CO2 และ H2 แล้ว กระบวนการต่อๆไป สำหรับเตรียมปุ๋ยยูเรีย จะเหมือนกับกรณีที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ


การผลิตปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (NH4)2SO4

เตรียมก๊าซ NH3 และกรด H2SO4 ก่อนแล้วจึงนำมาทำปฏิกิริยากันเป็นปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต

ก๊าซ NH3 เตรียมได้โดยวิธีการเดียวกับการผลิตปุ๋ยยูเรีย

กรด H2SO4 เตรียมได้โดยใช้ S เป็นสารตั้งต้นซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากถ่านลิกไนต์ โดยนำ S มาหลอมเหลวแล้วเผารวมกับก๊าซ O2 จะได้ก๊าซ SO2

S (l) + O2 (g)  → SO2 (g)

เมื่อนำก๊าซ SO2ทำปฏิกิริยาต่อกับ O2 จะได้ก๊าซ SO3แต่เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาที่มีสมดุลจึงต้องเลือกภาวะของอุณหภูมิและความดันที่เหมาะสม คือ 330 องศาเซลเซียส  และใช้ V2O5 หรือ Pt เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาจะเหมาะสมได้ก๊าซ มากที่สุด


เมื่อผ่านก๊าซ SO3 ลงในสารละลายกรด H2SO4 เข้มข้น(เกือบบริสุทธิ์) จะเกิดปฏิกิริยาได้เป็น H2S2O7 หรือ H2SO4 . SO3 เรียกว่า โอเลียม(oleum) หรือ fuming sulfuric acid

H2SO4 (aq) + SO3 (g)  → H2S2O7 (aq)


เมื่อต้องการกรด H2SO4 กลับคืน ให้นำ H2S2O7 ไปทำปฏิกิริยากับน้ำ

เมื่อนำก๊าซ NH3 และกรด H2SO4 มาทำปฏิกิริยากันจะได้ปุ๋ย (NH4)2SO4 ตามต้องการ


2NH3 (g) + H2SO4 (aq)  → (NH4)2SO4(s)


หมายเหตุ

การเตรียมกรด H2SO4 จะไม่เตรียมจากปฏิกิริยาระหว่าง SO3 (g) กับ H2O (l) โดยตรง  ตามสมการ

H2O (l) + SO3 (g)  → H2SO4(aq)


เนื่องจาก เกิดปฏิกิริยายาก และมีการคายความร้อนสูงมาก รวมทั้งยังมีก๊าซบางอย่างระเหยออกมาตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มีนาคม 2013, 22:14:07
ทางเลือกใหม่สำหรับชาวนาหากพันธุ์ข้าวที่ปลูกทั่วไปเน้นการส่งออกในปัจจุบัน อาจมีราคาตกต่ำในอนาคตเนื่องจากภาวะการเปิด  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community)  ช่วงนี้ผมศึกษาพันธุ์ข้าวค่อนข้างหลากหลายสายพันธุ์เพื่อเลือกที่เหมาะสมสำหรับการนำมาปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนอย่างบ้านเรา โดยคิดว่าจะนำมาทดลองปลูกที่แปลงนาจำนวนหนึ่งประมาณ 30% ของแปลงนาที่มีคือประมาณ 7 ไร่ อีก 70% ยังปลูกข้าวตามตลาดต้องการต่อไปหากได้ผลดีก็คงขยายมากขึ้นข้าวประเภทที่สนใจ 2 กลุ่มคือ

1. ข้าวเพื่อสุขภาพ ตอนนี้เลือกสายพันธุ์ได้จำนวนหนึ่งแล้ว กำลังจะสั่งซื้อพันธุ์ข้าว
2. ข้าวพันธุ์พื้นบ้านหรือข้าวที่ปรับปรุงแล้วที่ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีแต่อาศัยเทคนิคการปรับปรุงดินแทน อยู่ในช่วงศึกษาพันธุ์ที่เหมาะสมอยู่

เห็นได้ว่าปัจจุบัน ข้าวขาว และข้าวหอมที่มีในระบบบัญชีรายชื่อโครงการรับจำนำเมื่อสีแล้วราคาขายทั่วไปมีค่อนข้างล้นตลาดราคาก็ประมาณ 30 กว่าบาทหากมีการผสมก็ถูกกว่านี้ซึ่งเหมาะสำหรับชาวบ้านทั่วไป แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งค่อนข้างมีฐานะ รักสุขภาพ และกลุ่มผู้ป่วยได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดอุตตัน โลหิตจาง มะเร็ง โรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตันในสมองและโรคอัมพาต ที่น่าหันมาบริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ  หากมีการส่งเสริม อย่างโรคเบาหวานปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคนี้ 1.5 ล้านรายมีประมาณการในอีก 8 ปีเพิ่มเป็น 5 ล้านราย และโรคต่าง ๆอีกหลายล้านรายโดยเฉพาะความดันโลหิตสูงอีก สาเหตุบางส่วนก็เนื่องจากอาหารซึ่งข้าวก็เป็นอาหารหลักที่เรากินแทบทุกมื้อจึงมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดโรค   ข้าวแต่ละสายพันธุ์มีคุณลักษณะแตกต่างกันไป ข้าวที่ช่วยเป็นยามีหลายสายพันธุ์ แต่ก็ยังหาทานยาก ไม่เหมือนข้าว กข.ที่ใช้ปลูกเพื่อเป็นสินค้าส่งออก ตอนนี้ผมก็เก็บเงินซื้อรถดำนาอยู่ครับ เพื่อสามารถให้ผลผลิตที่ได้ทำข้าวพันธุ์ต่อและผลผลิตที่ได้มีการปลอมปนของข้าวอื่น ๆ น้อยที่สุด และคงไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากในการบริหารจัดการในแปลงนา การคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวต่อไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 10:02:57
มีหลายแห่งที่ทำกันแล้วครับ   อย่างสวนป่านาสิงหราชซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าว 400 กว่าไร่ มีการปลูกข้าวอินทรีย์และมีพันธุ์ข้าว จำหน่ายด้วยครับ อยู่ จ. พิจิตรนี่เอง http://www.suansing.com/ (http://www.suansing.com/)

ไปดูเค้าทำนากัน

สวนป่านาสิงหราช

ปลูกข้าวอินทรีย์ รักษ์ดิน ประหยัดต้นทุนทำนา
เป้าหมายของท้องทุ่ง : ปลูกให้ได้เมล็ดข้าวพันธุ์ดี ผลผลิตต่อไร่สูง และที่สำคัญ เป็นนาอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี

หัวใจของการทำนาอินทรีย์
ขั้นแรก รักษ์ดิน : เพื่อเมล็ดที่สมบูรณ์ น้ำหนักดี

ขั้นที่สอง เลือกพันธุ์ข้าวที่ดี : เพื่อผลผลิตสูง ปริมาณเมล็ดที่ได้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่เลือก

ขั้นที่สาม ขยัน : เพื่อให้ได้นาอินทรีย์แบบประหยัดต้นทุนอย่างยั่งยืน
 
กว่าจะได้เมล็ดข้าวล้านล้าน..ล้าน เมล็ด
เตรียมดินกันก่อน

(http://www.suansing.com/ย่ำฟางใส่น้ำหมักย่อยสลายฟาง.jpg)

การเตรียมดินหลังจากเก็บเกี่ยวของสวนป่านา สูบน้ำเข้าโดยไม่ต้องไถ ตีนา ใส่น้ำหมักเพื่อย่อยสลายฟาง ทิ้งไว้พอฟางยุ่ยดี ปล่อยน้ำลูบเทือก รอปักดำ

กำจัดหอยเชอร์รี่ในนา
(http://www.suansing.com/เป็ดช่วยกินหอยเชอร์รี่.jpg)

ระหว่างรอฟางโดนจุลินทรีย์ย่อยสลาย ก็ต้องพึ่งเจ้าพนักงานจับหอยเชอร์รี่ที่แสนขยัน ชอนไชไม่มีหยุด กินสารพัด ทั้งหอย ทั้งข้าวเปลือกที่หลงเหลือในนาหลังการเกี่ยว ตัดทั้งปัญหาหอยเชอร์รี่ และปัญหาข้าวเรื้อไปพร้อมๆ กัน แถมปล่อยปุ๋ยขั้นต้นไว้ในท้องนาอีกต่างหาก ตกเย็นก็จะชักแถวกลับเข้าเล้า พร้อมไข่ไว้ให้เก็บขายเป็นไข่เป็ดอินทรีย์ในตอนเช้า เพราะเป็นเป็ดที่เลี้ยงด้วยอาหารจากธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีอาหารสำเร็จรูปเจือปน

หมูไม่หลุม โรงงานผลิตปุ๋ยเดินได้
 
(http://www.suansing.com/หมูไม่หลุม.jpg)

เครื่องผลิตปุ๋ยเพื่อไปหล่อเลี้ยงดินในท้องทุ่งที่สำคัญของสวนป่านาสิงหราช เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ที่ได้มาจาก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากโครงการตามพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
ต้องขอบคุณคุณหมอชัยยะที่แสนใจดี คัดพันธุ์ผสมจากแม่หมูแลนด์เลซ พ่อหมูปากช่อง3 และปากช่อง5 ที่ทำให้เราได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ แข็งแรง โตเร็ว และที่สำคัญ เป็นโรงงานผลิตปุ๋ยเดินได้ที่น่ารักที่สุดในสวน

ใต้คอกที่หมูอยู่เป็นบ่อหมักชีวภาพขนาด 64 ลูกบาศก์เมตร ที่หมักปุ๋ยน้ำชีวภาพไว้ใช้ในสวนป่านาทั้งหมด ต้องขอบคุณจุลินทรีย์ตัวน้อยๆ สารพัด พด. จากกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมอีกสารพัดสูตรจากทุกแหล่งวิชาการ


เพาะกล้าด้วยแกลบดำ

(http://www.suansing.com/แกลบดำเพาะกล้า.jpg)

เตรียมถาดเพาะกล้าสำหรับรองรับพันธุ์ข้าวดีๆ เพื่อผลผลิตในอนาคต


ถังพด.ที่รอคิวไปหมักใหม่

(http://www.suansing.com/ถาดเพาะกล้า.jpg)

ถาดเพาะกล้ากับถังพด.ที่รอคิวหมัก


เมล็ดพันธุ์ดี คือหัวใจของผลผลิตที่จะได้

(http://www.suansing.com/โรยเมล็ดข้าวในถาดเพาะกล้า.jpg)

การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่จะปลูก มีผลอย่างยิ่งต่อผลผลิตที่จะได้ ที่สวนเราพิถีพิถันเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ทั้งเรื่องการเสาะหาพันธุ์ดีๆ มาปลูก เช่น

พันธุ์ปิ่นเกษตร ผลงานการวิจัยของอ.ดร.อภิชาติ ม.เกษตร ที่ได้รับรางวัลอันดับ3 ของงานประกวดข้าวโลก เป็นข้าวพันธุ์ดี ผลผลิตสูง ดูแลง่าย คุณภาพเมล็ดข้าวสารจะเป็นข้าวนุ่ม เป็นที่ต้องการของกลุ่มพ่อค้าโรงสี

พันธุ์หอมชลสิทธิ์ อีีกผลงานของอ.ดร.อภิชาติ ที่เป็นข้าวหอม ให้ผลผลิตสูง แม่เป็นข้าวหอมมะลิ105 จุดเด่นเป็นข้าวทนน้ำท่วมได้นานถึง 2 สัปดาห์ ดูแลง่าย ให้เมล็ดข้าวที่มีคุณภาพการสีดี

พันธุ์ข้าว กข33 (หอมอุบล80) ผลงานวิจัยระหว่างสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) กับ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว เป็นข้าวที่มีคุณภาพเมล็ดคล้ายข้าวหอมมะลิ105 ทั้งรูปร่างเมล็ดและกลิ่น แต่ไม่ไวแสง ปลูกได้ทั้งปี ต้านทานโรคไหม้ ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า ข้าวหอมมะลิ105

พันธุ์ข้าว หอมนิล พันธุ์ข้าวที่มีโภชนาการสูง เมล็ดสีม่วงดำ หอมนุ่ม ผลผลิตต่อไร่ อยู่ในระดับกลางค่อนข้างสูง ดูแลง่าย นิยมสีเป็นข้าวกล้อง ราคาขายจะสูงกว่าราคาข้าวขาวทั่วไป

หลังจากคัดพันธุ์ดีมาปลูกแล้ว ต่อไปก็เป็นขั้นตอนดูแลเพื่อให้ได้เมล็ดที่สมบูรณ์

กล้าแข็งแรง พร้อมลงสู่ท้องทุ่ง

(http://www.suansing.com/แปลงเพาะกล้า.jpg)

เราเพาะกล้าโดยไม่ต้องใส่สารกันเชื้อราแบบเคมี เราเฝ้าระวังเรื่องน้ำ สภาวะแวดล้อม ให้ไม่เกิดความพอเหมาะสำหรับราที่จะเกิดได้

 
 
ดำนาน้อยต้นที่สุด เพื่อผลผลิตที่เยอะที่สุด

(http://www.suansing.com/ดำนาด้วยรถดำคูโบต้า.jpg)

ที่นี่เราดำนาด้วยรถดำนา เพื่อคัดพันธุ์ข้าวปลูกโดยเฉพาะ ใช้หลักการปลูกข้าวแบบ SRI มาผสมผสาน แต่เราใช้รถดำนาจับกล้าให้น้อยที่สุดที่รถจะจับติด และใช้กล้าที่อายุวันน้อยที่สุดที่จะติดได้

 
 
ถอนข้าวปนในนา

 (http://www.suansing.com/ถอนข้าวปน.jpg)

เราเริ่มถอนข้าวปนในนาได้ตั้งแต่ยังเล็ก เริ่มถอนตั้งแต่ข้าวแตกแถว นาที่ทำเมล็ดพันธุ์ข้าว ควรเป็นนาดำ เพราะเราสามารถคัดพันธุ์ปนออกง่าย และคัดได้หลายระยะของอายุข้าว

 
 
จากข้าวที่แทบจะมองไม่เห็นตอนดำ มาเป็นกอใหญ่ๆ อย่างนี้

(http://www.suansing.com/แตกกอข้าวปิ่นเกษตร.jpg)

กอข้าวปิ่นเกษตร จากการดำด้วยจำนวนต้นน้อยที่สุด

 
 
ข้าวปิ่นเกษตรเริ่มออกรวง

(http://www.suansing.com/ข้าวหอมปิ่นเกษตรเริ่มออกรวง.jpg)

ข้าวปิ่นเกษตรที่เราเห็นตั้งแต่ตอนดำนาต้นเล็กๆ แตกกอใหญ่ เริ่มออกรวงเต็มท้องทุ่ง

 
ข้าวหอมชลสิทธิ์ออกรวง

 (http://www.suansing.com/ข้าวหอมชลสิทธิ์ออกรวง.jpg)

ข้าวหอมชลสิทธิ์ รวงยาว น้ำหนักดี

 
 รถเกี่ยว
 
(http://www.suansing.com/รถเกี่ยวรถแทรกเตอร์.jpg)

ที่นี่เรามีข้าวให้เกี่ยวเกือบทุกสัปดาห์ เพราะระบบปฎิทินข้าวที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง ในแปลงที่เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์จะถูกดูแลอย่างดี จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว จะมีการเกี่ยวต่อเนื่องในพันธุ์เดียวกัน และล้างระบบทุกครั้งก่อนที่จะเกี่ยวพันธุ์อื่น เพื่อป้องกันการปนในขั้นสุดท้าย ส่วนที่เหลือจากการทำเมล็ดพันธุ์ จะนำไปสีเป็นข้าวสารอินทรีย์สำหรับจำหน่ายให้ผู้สนใจสั่งซื้อต่อไป

สวนป่านาสิงหราช
บ้านยางสามต้น ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร
โทร. 08-1495-9713 08-1407-7605
Email : i@suansing.com


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 10:32:56
สวนบัวชมพู 

บ้านจอมคีรี ต.แม่นะ  อ.เชียงดาว  จ.เชียงใหม่

มีที่พักท่องเที่ยว เชิงเกษตรกับกิจกรรมภายในสวน ปลูกข้าวไรท์เบอรี่ ข้าวเหนียวลืมผัวและแปรรูปผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 11:07:13
ชาวนาเงินล้านก็ยังมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองเหมือนกัน แม้จะมีรายได้รอบหนึ่งเป็นล้านแต่หากราคาข้าวกำหนดไม่ได้ในอนาคตซึ่งอาจมีราคาลดลงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ก็เป็นทางออกหนึ่งเหมือนกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 11:46:59
เมื่อวานไปรับลูกเป็ดไข่มาเลี้ยงครับ จำนวน 9 ตัว ตัวเมียเกือบหมด เจ้าของฟาร์มเป็นศิษย์เทคนิคเชียงรายเหมือนกันเป็นรุ่นน้องผม 3 ปีตอนนี้ก็สอนที่เทคนิคเชียงรายและเพาะไก่และเป็ดขายด้วยเป็นรายได้เสริมครับ สัปดาห์นี้ต้องรีบทำเล้าให้เสร็จครับ โดนพิษพายุฤดูร้อนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเลยไม่ได้ทำต่อ ส่วนไก่ไข่ก็ต้องรออีก 1 เดือนกว่าจะฟักออกเป็นตัว คิดว่าหากขยายพันธุ์เป็ดได้ก็จะขยายเผื่ออนาคตจะไปสร้างเล้าเป็ดที่นาด้วย เพื่อทำนาอินทรีย์ให้ได้ในอนาคตครับ


ภาพการเลี้ยงเป็ดในแปลงนาข้าว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 14:30:16
ดูกันเพลิน ๆครับ

DqDW9SfLKCM


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 20:05:45
 :D....เมื่อวานเพิ่งไปดูรถดำนาของเพื่อนมา....เดี๋ยวย่อไฟล์รูปเสร็จจะเอาลงให้ดูกันครับ....กลางเดือนนี้คุณแม่ผมจะไปอบรมนาอินทรีย์ที่ไร่เชิญตะวัน.....ท่าจะแน่นอนว่าจะได้เริ่มทำนาอินทรีย์ช่วงนาปีที่จะถึงนี้อ่ะครับ......


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 21:15:14
:D....เมื่อวานเพิ่งไปดูรถดำนาของเพื่อนมา....เดี๋ยวย่อไฟล์รูปเสร็จจะเอาลงให้ดูกันครับ....กลางเดือนนี้คุณแม่ผมจะไปอบรมนาอินทรีย์ที่ไร่เชิญตะวัน.....ท่าจะแน่นอนว่าจะได้เริ่มทำนาอินทรีย์ช่วงนาปีที่จะถึงนี้อ่ะครับ......

ขอบคุณครับ  มีอะไรก็แนะนำด้วย ถ้าเตรียมตัวทันผมก็อยากเริ่มทำนาอินทรีย์เร็ว ๆ เหมือนกันอย่างน้อยนาปีนี้ก็จะทำนาปลูกไม่ใช้ยาคุมหญ้าครับส่วนยาฆ่าแมลงไม่ได้ใช้อยู่แล้วจะเหลือก็ปุ๋ยเคมีแต่ทำนาปีคงลดลงไปได้มากครับ ปีนี้ก็ว่าปรับปรุงดินมากกว่าแต่ก่อนจะไถกลบฟาง ทำปุ๋ยหมักใส่ในนาละครับเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น อยากให้คนทำนาอินทรีย์หรือนาปลอดภัยมีมาก ๆ เพื่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยเปลี่ยนแปลงทัศนะคติชาวนาเคมีแบบเดิม ๆ เพื่อให้คนปลูกปลอดภัย คนกินก็สุขภาพดีขึ้นด้วย อย่างน้อยก็เพื่ออนาคตลูก ๆ หลาน ๆ จะได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมดี ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 21:19:33
การทำนาแบบ “เกษตรอินทรีย์”

(http://kasetintree.com/wp-content/uploads/2012/11/7-11-2555-9-07-19.jpg)

“ทำนาแบบไม่ต้องลงทุน มีที่ไหน ตอนนั้นป้าไม่เชื่อ แต่ก็ลองมาทำดู ถึงรู้ว่ามีจริง” คำบอกเล่าจาก นางสำเนียง ฮวดลิ้ม ชาวนาวัย 63 ปี แห่ง ต.เตาปูน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ที่นึกคิดหลังจากที่ได้ฟังบรรยายเรื่องเกษตรอินทรีย์โดย อ.ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ปราชญ์ชาวนาแห่งสุพรรณบุรีเมื่อหลายปีก่อน และได้เปลี่ยนชีวิตของป้าสำเนียงมาจนถึงทุกวันนี้

“ป้าเปลี่ยนจากการทำนาแบบใช้สารเคมี มาทำนาอินทรีย์ได้ประมาณ 7 ปีแล้ว ตั้งแต่นั้นมาดินที่เคยเสียก็กลับร่วนซุยขึ้น สภาพแวดล้อมดีขึ้น ต้นทุนการทำนาถูกลง แต่ให้ผลผลิตมากขึ้น ทั้งยังมีสุขภาพร่างกายก็แข็งแรงดี ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ” ป้าสำเนียง บอกถึงผลที่เกิดขึ้นหลังจากพลิกผืนนาที่เต็มไปด้วยเคมีมาเป็นผืนนาอินทรีย์

วิธีการทำนาอินทรีย์ของป้าสำเนียงก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแค่ไม่ต้องเผาฟางข้าวในนาหลังจากเก็บเกี่ยว ก่อนจะปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไปให้ปล่อยน้ำเข้านา แล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ลงไปเพื่อให้เกิดการย่อยสลายฟางข้าวและปรับสภาพดินให้ร่วนซุย ในขั้นตอนการปลูกข้าวจะใช้วิธีเพาะกล้าและดำนา ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่านาหว่าน

จากเดิมที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี ก็เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่มีราคาถูกกว่าหรือสามารถทำเองได้ทุกครัวเรือน โดยใช้ขี้วัว ใบไผ่ แกลบ รำ และเศษพืชผักต่างๆ หมักรวมกับจุลินทรีย์ในดินที่หาได้จากดินภูเขา และสามารถนำดินภูเขามาทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ไว้ใช้ประโยชน์ได้อีกหลายทางนอกจากใช้ทำปุ๋ยหมัก

ส่วนปัญหาแมลงศัตรูพืชและโรคข้าวก็สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการเผาถ่านแทนการฉีดพ่นด้วยสารเคมี ช่วยไล่แมลงและทำให้ต้นข้าวแข็งแรง เบ็ดเสร็จแล้วต้นทุนต่อไร่ในการทำนาอินทรีย์ของป้าสำเนียงลดลงจากการทำนาแบบใช้สารเคมีประมาณ 4 เท่า แถมยังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีกว่า และช่วยรักษาความสมดุลของธรรมชาติในนาข้าว

หากเกษตรกรคนไหนอยากจะเปลี่ยนมาใช้วิธีเกษตรอินทรีย์ ป้าสำเนียงแนะนำว่าให้เริ่มที่ใจ หากใจพร้อมที่เปลี่ยนวิถีชีวิต ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะคืนกลับมา

Md1NUAHuV8s&feature=player_embedded


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 21:25:51
รายการข่าวเช้าสุดสัปดาห์ นาข้าวอินทรีย์ ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง

wGOrNiXnwVM


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 21:44:51
เย็นนี้ไปนาครับ  ไปพ่นไคโตซานและน้ำส้มควันไม้ครับ เพื่อช่วยต้านเชื้อราและขับไล่แมลงครับ ต้นข้าวเสียหายบางส่วนบริเวณใบเนื่องจากโดนพายุและลูกเห็บเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ชาวสวนแถวบ้านบางคนพืชผักเสียหายทั้งแปลงเลยน่าเห็นใจครับ  ตอนนี้ข้าวในนาหลังจากใส่ปุ๋ยไม่กี่วันที่ผ่านมาข้าวก็เริ่มโตขึ้นมากมีการแตกกอให้เห็นข้าวค่อนข้างแน่นครับก็ต้องระวังโรคและแมลงเป็นพิเศษ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 21:49:53
ข้าวในนาตอนนี้ครับ ตอนแรกลดระดับน้ำลงแล้วเพื่อการแตกกอ ฝนตกลงมา 2-3 วันระดับน้ำเพิ่มขึ้นมาอีกครับ ถ้าไม่โดนพายุและลูกเห็บข้าวคงจะสวยกว่านี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 21:55:39
แปลงนาของลุงข้าง ๆครับ แกไม่มีการไถตากนาเพื่อเพิ่มอากาศในดิน และ ใส่ปุ๋ยเคมีมาก ๆ ในคราวเดียวครับพอปุ๋ยเริ่มหมดก็จะเห็นเป็นแบบนี้ครับก็คงต้องใส่ปุ๋ยอีกรอบแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 21:59:23
กับแปลงนาที่ติดกันของผมที่มีการไถตาก บำรุงดินและใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณพอเหมาะ และทยอยใส่ตรงไหนขาดปุ๋ยก็ใส่มากหน่อย ระดับต้นข้าวจะพอดีกันไม่เว้า ๆ แหว่ง ๆ ครับ ข้าวแตกกอพอดีแต่มีความหนาแน่นของต้นข้าวมากไปหน่อยครับปีนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 22:05:08
น้องเป็ดก๊าบ ๆ ที่พึ่งนำมาเลี้ยงครับ น่ารักกินเก่ง ร่าเริงทีเดียวครับ วันแรกเป็ดค่อนข้างตื่นครับกลัวคน วันนี้เริ่มคุ้นเคยกับคนมากขึ้น  เล้ายังทำไม่เสร็จเลยใส่สุ่มไก่ไว้ก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pui22 ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 22:22:06
อ้ายครับผมอยากได้แหล่งซื้อเชื้อราไตรโครเดอร์มาอีกซักครั้งครับในกระทู้ก่อนหาบ่เจอครับขอรบก๋วนหน่อยเตอะครับ ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2013, 22:35:44
อ้ายครับผมอยากได้แหล่งซื้อเชื้อราไตรโครเดอร์มาอีกซักครั้งครับในกระทู้ก่อนหาบ่เจอครับขอรบก๋วนหน่อยเตอะครับ ;D ;D ;D

ติดต่อ คุณปุ้ย (บ้านสันทรายคลองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่) ที่หมายเลข 087-2172876 หรือที่ e-mail ; psutanai@hotmail.com ครับ  แต่ผมเห็นตามร้านขายปุ๋ยก็มีหลายร้านอย่างร้านแถวสี่แยกแม่กรณ์จะเป็นกระป๋องครับแล้วแต่จะสะดวกเลือกใช้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 13:05:40
โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ของหอการค้าไทย   ศึกษาไว้ไม่เสียหลายครับ ใครมีที่นาน้อย ๆ ก็ทำได้ดีกว่าปลูกพืชเชิงเดี่ยวครับ

lk2184xzjGg

R7BXsYRhNPc

4f6oDHMTgIw

f3qGbghW1YI


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 14:23:50
เกษตรตามแนว "ทฤษฎีใหม่"
               "ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรินี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบาก ให้สามารถผ่านช่วงวิกฤต โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก

หลักการและแนวทางสำคัญในการดำเนินงานเกษตรตามแนว "ทฤษฎีใหม่" ที่ควรทราบมีดังนี้
- เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน
- ต้องมีพื้นที่ส่วนหนึ่งทำนาข้าว เพราะข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทุกครัวเรือนต้องปลูก เพื่อให้มีข้าวพอบริโภคตลอดทั้งปี
- ต้องมีน้ำสำรองไว้ใช้เพียงพอตลอดปี เพื่อการเพาะปลูกในระยะฝนทิ้งช่วง หรือในฤดูแล้ง
- ใช้อัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ในการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ไม่ว่าจะมีพื้นที่ถ์อครองน้อยกว่าหรือมากกว่า 15 ไร่ คือ
30  % ใช้ขุดสระเก็บกักน้ำ
30  %  ใช้ปลูกข้าว
30  %  ใช้ปลูกพืชผัก ผลไม้ พืชไร่ ไม้ยืนต้น
10  %   ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ

ประโยชน์ของ "ทฤษฎีใหม่ สรุปได้ดังนี้
- ประชาชนพออยู่พอกินในระดับประหยัด เลี้ยงตนเองได้ ไม่อดอยาก ตามหลักปรัชญาของ "เศรษฐกิจพอเพียง"
- ในหน้าแล้งก็สามารถนำน้ำที่เก็บกักไว้ในสระมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องอาศัยชลประทาน
- ในปีที่ฝนตกตามฤดูกาล ก็สามารถสร้างรายได้ให้ร่ำรวยได้
- ในกรณีที่เกิดอุทกภัย ก็สามารถฟื้นตัว และช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยราชการไม่ต้องช่วยเหลือมากนัก

              ในการจัดการเกษตรตามแนว "ทฤษฎีใหม่" ให้เกิดประสิทธิภาพนั้น ประเด็นสำคัญ คือ การพึ่งตนเอง ประหยัด และมัธยัสถ์ ก่อให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยการจัดการแบ่งพื้นที่ให้สัมพันธ์ และเกื้อกูลกัน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน น้ำ แรงงาน และรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การผลิตที่เกิดรายได้ และสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน.

adUWug_AZfU

ghkLgeoib1Y

oIcdd4_LA0o

kTdLnjqEjm8


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 15:12:11
ขอบคุณความรู้ดีๆที่นำมาแบ่งปันครับ สักวันต้องมีที่นาและปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ ;)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 15:47:52
ขอบคุณความรู้ดีๆที่นำมาแบ่งปันครับ สักวันต้องมีที่นาและปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ ;)

ขอบคุณครับ หากผมปรับปรุงแปลงนาเสร็จอีกหน่อยก็ต้องไปขอความรู้การปลูกผักหวานป่าของคุณ Khunplong บ้างเหมือนกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 16:50:22
อีกตัวอย่างความคิดครับ

NmMjK1VszhM

_Rohxn0YDh4

35R40Rz9tgg


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 17:28:35
แวะมาผ่อ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pui22 ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 19:14:24
อ้ายครับผมอยากได้แหล่งซื้อเชื้อราไตรโครเดอร์มาอีกซักครั้งครับในกระทู้ก่อนหาบ่เจอครับขอรบก๋วนหน่อยเตอะครับ ;D ;D ;D

ติดต่อ คุณปุ้ย (บ้านสันทรายคลองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่) ที่หมายเลข 087-2172876 หรือที่ e-mail ; psutanai@hotmail.com ครับ  แต่ผมเห็นตามร้านขายปุ๋ยก็มีหลายร้านอย่างร้านแถวสี่แยกแม่กรณ์จะเป็นกระป๋องครับแล้วแต่จะสะดวกเลือกใช้ครับ
ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 19:37:37
ต้นดอกดาวเรื่องที่เพาะไว้นำมาปลูกลงดินหน้าบ้านครับประมาณ 20 กว่าต้น ส่วนที่นายังไม่ได้ปลูกถาดเพาะก็มาถูกพายุพัดต้นเสียหายหมดเสียก่อน อาจต้องเริ่มเพาะไม่อีกแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 19:40:39
เย็นนี้ปั่นจักรยานออกกำลังกายตอนเย็นครับ ดูแปลงนาชาวบ้านทั่วไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 19:56:40
ความสวยงามที่แฝงมาด้วยอันตรายครับ นาแปลงนี้เป็นนาหว่าน นอกจากจะมีการฉีดพ่นยาคุมหญ้าในแปลงนาแล้ว  คันนายังถูกพ่นด้วยยาฆ่าหญ้าครับซึ่งมีพิษที่ค่อนข้างอันตรายด้วย ลองคิดดูคนที่ใช้ถนนสัญจรไปมาขณะเจ้าของนากำลังพ่นยาฆ่าหญ้าก็จะพลอยสูดดมยาฆ่าหญ้าไปด้วย บ้านเรือนใกล้เคียงก็คงหนีไม่พ้นเช่นกัน  นี้ไม่นับการเจือจางสารพิษลงในแหล่งน้ำธรรมชาติที่จะมีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อาศัยอยู่ครับ ที่จริงภาครัฐควรส่งเสริมการทำนาปลอดสารพิษให้มากกว่านี้โดยเฉพาะท้องนาที่อยู่ใกล้ชุมชนครับ อย่างน้อยก็เพื่อลูกหลานครับ บางทีเด็กอาจไปเล่นน้ำโดยไม่รู้ว่าน้ำมีสารพิษอยู่  ชุมชนผมผู้ใหญ่บ้านยังแบกถังยาฆ่าหญ้าพ่นตามถนนหน้าบ้านอยู่เลยครับ สำหรับต้นข้าวถึงแม้จะดูสวยงามแต่ก็ไม่ปลอดภัย เหมือนกับผักที่สวยงามแต่พ่นยาฆ่าแมลง เดือนก่อนบิดาของเพื่อนร่วมงานเสียชีวิตไป 2 คนก็เนื่องด้วยโรคมะเร็ง  เมื่อเช้าวันนี้เพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียน ปวส. ก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเช่นกันสาเหตุก็เนื่องด้วยอาหารการกินนี่แหล่ะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 20:06:45
นาสองแปลงนี้มีความแตกต่างในการปลูกครับ ด้านซ้ายจะเป็นนาดำโดยรถดำนา ด้านขวาเป็นนาหว่าน  ต้นข้าวที่เกิดจากนาดำจะมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าเนื่องจากต้นข้าวไม่แย่งอาหารกันมากเหมือนนาหว่านเนื่องจากมีพื้นที่ห่างกันมีระยะห่างระหว่างกอและแถว ต้นข้าวก็สามารถสังเคราะห์แสงได้เต็มที่เพราะไม่บังแสงกัน ส่งผลให้ไม่เปลืองปุ๋ยและอัตราการเป็นโรคและการระบาดของแมลงจะมีน้อยกว่า แต่ปัจจุบันนาดำค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและใช้แรงงานมากกว่า แต่คงไม่นานชาวนาคงเห็นประโยชน์ของนาดำมากขึ้นหากชาวนามีความรู้ความเข้าใจในการทำนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 20:54:18
ปลูกข้าวด้วยรถดำนาจะต้องปรับพื้นนาให้เสมอกันเพื่อให้น้ำทั่วถึงเพื่อคุมวัชพืชในแปลงนาครับ หากวัชพืชและข้าวปนเกิดขึ้นก็ต้องมีการถอนและกำจัดครับ  แปลงนี้เจ้าของแกไม่ค่อยได้ดูแลเพราะเป็นชาวนาวันหยุดเหมือนกันเป็นพนักงานราชการและทำนาไปด้วยทำนามาสามสิบปีแล้ว  ตอนนี้แกก็กำลังจะเออรี่จากราชการมาทำนาอย่างเดียวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 21:01:05
ด้วยที่แกจบด้านช่างมา แกก็ทำเครื่องใช้ในการทำเกษตรหลายอย่าง ตรงน้ำเข้านาแกก็เทคอนกรีตกั้นทำประตูน้ำเข้าน้ำออกเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมน้ำเช่นกัน ถึงแม้มีค่าใช่จ่ายแต่ก็ง่ายและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 21:48:09
ด้วยที่แกจบด้านช่างมา แกก็ทำเครื่องใช้ในการทำเกษตรหลายอย่าง ตรงน้ำเข้านาแกก็เทคอนกรีตกั้นทำประตูน้ำเข้าน้ำออกเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมน้ำเช่นกัน ถึงแม้มีค่าใช่จ่ายแต่ก็ง่ายและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานครับ
อยากเห็นภาพตรงที่เทคอนกรีต หลายๆมุมจังเลยครับพี่อู๋ เผื่อเอาไปดัดแปลงทำที่นาบ้างครับ ดูแล้วคงทนง่ายดีครับ
เป็ดน้อยก็น่าฮักขนาดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 22:20:06
ด้วยที่แกจบด้านช่างมา แกก็ทำเครื่องใช้ในการทำเกษตรหลายอย่าง ตรงน้ำเข้านาแกก็เทคอนกรีตกั้นทำประตูน้ำเข้าน้ำออกเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมน้ำเช่นกัน ถึงแม้มีค่าใช่จ่ายแต่ก็ง่ายและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานครับ
อยากเห็นภาพตรงที่เทคอนกรีต หลายๆมุมจังเลยครับพี่อู๋ เผื่อเอาไปดัดแปลงทำที่นาบ้างครับ ดูแล้วคงทนง่ายดีครับ
เป็ดน้อยก็น่าฮักขนาดครับ


คล้ายแบบนี้ครับคือเทคอนกรีตเหมือนทางระบายน้ำแต่จะทำช่องสำหรับใส่แผ่นไม้ได้ เพื่อกั้นน้ำ ส่วนรูปทรงแล้วแต่จะออกแบบได้เลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2013, 22:51:44
พื้นที่เตรียมสำหรับทำเล้าเป็ดครับเอาพื้นที่หลังโกดัง  เล้าเป็ดกั้นด้านหน้าด้านหลังแล้วและทำโรงเรือนให้เป็ดอยู่ไว้หลบฝนก็น่าจะเสร็จแล้ว  เดิมเป็นโกดังสำหรับเก็บข้าวเปลือก  ตอนนี้ไม่ได้รับซื้อข้าวเปลือกแล้ว อนาคตผมว่าจะทำโรงสีข้าวขนาดเล็กครับ เพื่อสามารถสีข้าวสารและข้าวกล้องได้เห็นราคาไม่สูงมากในงบประมาณเครื่องละ 3-5 หมื่นบาท ตัวโกดังปรับปรุงอีกนิดหน่อยก็ได้แล้ว โครงการทำเป็นปี ๆ ไปไม่รีบ ใช้เงินส่วนหนึ่งจากกำไรการทำนาค่อย ๆทำไปครับ  เมื่อมีเครื่องสีข้าวเราก็จะมีแกลบ สามารถทำแกลบดำสำหรับใช้ในการเพาะกล้ารถดำนา ส่วนที่เหลือสามารถขายให้ร้านทำดินปลูกได้  รำอ่อนสามารถใช้เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ได้ ข้าวสารและข้าวกล้องก็สามารถมาบรรจุภัณฑ์ขายได้ซึ่งคิดมานานแล้วแต่ก็ค่อยเป็นค่อยไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 09:13:01
ขอบคุณความรู้ดีๆที่นำมาแบ่งปันครับ สักวันต้องมีที่นาและปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ ;)

ขอบคุณครับ หากผมปรับปรุงแปลงนาเสร็จอีกหน่อยก็ต้องไปขอความรู้การปลูกผักหวานป่าของคุณ Khunplong บ้างเหมือนกันครับ
ยินดี ยินดีมากๆครับ :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 09:52:28
ขอบคุณความรู้ดีๆที่นำมาแบ่งปันครับ สักวันต้องมีที่นาและปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ ;)

ขอบคุณครับ หากผมปรับปรุงแปลงนาเสร็จอีกหน่อยก็ต้องไปขอความรู้การปลูกผักหวานป่าของคุณ Khunplong บ้างเหมือนกันครับ
ยินดี ยินดีมากๆครับ :)

ขอบคุณมาก ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 09:53:59
ข้าวกล้องคืออะไร ?

คือข้าวที่สีเอาเปลือก (แกลบ) ออกโดยที่ยังมีจมูกข้าว และเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว (รำ) อยู่ ข้าวกล้องจะมีสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวนี้มีคุณค่าอาหารที่มีประโยชน์มาก

สำหรับข้าวขาวที่เรากินๆ กันอยู่นั้น เป็นข้าวที่เกิดจากการขัดสีหลายๆ ครั้ง จนเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวและจมูกข้าวหลุดออกไป จนเหลือแต่เนื้อในของข้าว

ข้าวกล้องบางคนเรียกกันติดปากว่า ข้าวซ้อมมือหรือข้าวแดง เนื่องจากในสมัยโบราณ ชาวบ้านใช้วิธีตำข้าวกินกันเอง จึงเรียกว่า ข้าวซ้อมมือ แต่ปัจจุบันเราใช้เครื่องจักรสีข้าวแทน จึงเรียกข้าวที่สีเอาเปลือกออกนี้ว่า ข้าวกล้อง

ข้าวกล้องมีโปรตีนประมาณ 7-12% (แล้วแต่พันธุ์ข้าว) นักค้นคว้าชื่อ โรสเดล ( Rosedale ) ได้วิเคราะห์ว่า การขัดสีข้าวกล้องจนมีสีขาว จะทำให้โปรตีนสูญหายไปประมาณ 30%

ประโยชน์มากมายของการกินข้าวกล้อง

  • ได้วิตามินบีรวม ช่วยป้องกันและบรรเทาอาหารอ่อนเพลีย แขน ขาไม่มีแรง ปวดกล้ามเนื้อ โรคผิวหนังบางชนิด บำรุงสมอง ทำให้เจริญอาหาร 
  • ได้วิตามินบี 1 ซึ่งถ้ากินเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคเหน็บชาได้ 
  • ได้วิตามินบี 2 ป้องกันโรคปากนกกระจอก 
  • ได้ฟอสฟอรัส ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน 
  • ได้แคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรง ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นตะคริว 
  • ได้ทองแดง สร้างเมล็ดโลหิต และเฮโมโกลบิน 
  • ได้ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง 
  • ได้โปรตีน ช่วยเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ 
  • ได้ไขมัน ให้พลังงานแก่ร่างกาย ไขมันในข้าวกล้องเป็นไขมันที่ดี ไม่มีโคเรสเตอรอล 
  • ได้ไนอะซิน ช่วยระบบผิวหนังและเส้นประสาท และป้องกันโรคเพลลากรา
(โรคที่เกิดจากการขาดไนอะซิน จะมีอาการท้องเสีย ประสาทไหว โรคผิวหนัง) 
  • ได้คาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานแก่ร่างกาย 
  • ได้กากอาหาร ข้าวกล้องมีกากอาหารมาก ซึ่งจะทำให้ท้องไม่ผูก และช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้อีกด้วย 
  • วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ในข้าวกล้องจะช่วยให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

ข้าวกล้องมีอะไรดีกว่าข้าวขาว

ธาตุเหล็ก มีมากเป็น 2 เท่าช่วยป้องกันโลหิตจาง   • ข้าวกล้องมีวิตามินบี 1 มากกว่าข้าวขาวประมาณ 4 เท่า ถ้ากินเป็นประจำ จะป้องกันโรคเหน็บชา 
  • วิตามินบี 2 มีมากจะป้องกันโรคปากนกกระจอก 
  • วิตามินบีรวม มีมากกว่าจะป้องกัน และบรรเทาอาการอ่อนเพลียและขาไม่มีแรง อาการปวดแสบและเสียวในขา ปวดน่อง ปวดกล้ามเนื้อ ลิ้นแตกหรือมีแผล ริมฝีปากเจ็บหรือมีแผล โรคผิวหนังบางชนิด โรคปลายประสาทอักเสบ และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทบางชนิด 
  • วิตามินบีรวม ยังบำรุงสมอง ทำให้เรียนเก่งขึ้นและเจริญอาหาร 
  • ธาตุเหล็ก มีมากเป็น 2 เท่า ช่วยป้องกันโลหิตจาง 
  • แคลเซียม มีมากกว่า จะทำให้กระดูกแข็งแรง ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นตะคริว 
  • ไขมัน มีมากกว่าให้พลังงานแก่ร่างกาย 
  • กากอาหาร มีมากกว่าจะช่วยป้องกันท้องผูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
  • เกลือแร่และวิตามินต่างๆ ในข้าวกล้อง มีรวมกัน 20 กว่าชนิด มีหน้าที่ทำให้การทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ 
  • โปรตีน มีมากกว่าช่วยเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ 
  • แป้ง (คาร์โบไฮเดรต) มีน้อยกว่าข้าวขาว ช่วยลดความอ้วน ส่วนคนที่ผอมจะสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากได้รับสารอาหารต่างๆ ที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น 
  • ประหยัดเงินทอง เพราะเจ็บป่วยน้อยกว่า ข้าวกล้องจะมีราคาถูกกว่า เพราะต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า 
  • มีผลทำให้สุขภาพจิตและสติปัญญาดีขึ้น เพราะสุขภาพกายดีขึ้น 

ปริมาณสารอาหารในข้าวขาวกับข้าวกล้อง

สารอาหาร
 ข้าวขาว
 ข้าวกล้อง
 
วิตามิน – บี 1
 4 จานกว่า
 1 จาน
 
วิตามิน – บี 2
 2 จาน
 1 จาน
 
วิตามิน – บี 6
 5 จานกว่า
 1 จาน
 
กากข้าว
 2 จานกว่า
 1 จาน
 

ผลเสียของการกินข้าวขาว

โรคและอาการต่างๆ ต่อไปนี้ จะลดลงมากหรือป้องกันได้ ถ้ากิน ข้าวกล้อง เป็นประจำ และกินอาหารเพียงพอและถูกหลัก

  • โรคเหน็บชา เพราะขาดวิตามิน-บี 1 ข้าวกล้องมีวิตามิน-บี 1 มากกว่าข้าวขาว 385% (พบมากในประเทศที่กินข้าวขาวเป็นอาหารหลัก) 
  • โรคปากนกกระจอก เพราะขาดวิตามิน-บี 2 ข้าวกล้องมีวิตามิน-บี 2 มากกว่าข้าวขาว 66% (ตามชนบทมีเด็กเป็นโรคปากนกกระจอก 60%) 
  • โรคโลหิตจาง เพราะขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากข้าวกล้องมีธาตุเหล็กมากกว่าข้าวขาว 2 เท่า (ประชากรไทยเป็นโรคโลหิตจาง 40%) 
  • โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (พบมากทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี) เกี่ยวเนื่องจากมาจากการขาดธาตุฟอสฟอรัส และอื่นๆ ซึ่งมีในข้าวกล้อง นอกจากนั้น ฟอสฟอรัสยังช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟันอีกด้วย 
  • โรคท้องผูก เพราะมีกากอาหารน้อย ข้าวกล้องมีกากอาหารมากกว่า 133% (ข้าวกล้องช่วยป้องกันท้องผูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่) 
  • โรคทางระบบประสาทบางชนิด และโรคปลายประสาทอักเสบ เพราะขาดวิตามินบีรวม ซึ่งมีมากในข้าวกล้อง (วิตามินบีรวม ช่วยบำรุงสมอง ทำให้เรียนเก่งขึ้น และเจริญอาหาร) 
  • อารมณ์เสียง่ายกว่า หงุดหงิดเพราะชาดวิตามินบีรวม ซึ่งเป็นวิตามินที่เสริมสร้างระบบประสาทของร่างกาย และถ้าระบบประสาทของเราไม่ดี ทำให้เราควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีนัก 
  • เบื่ออาหาร เพราะขาดวิตามินบีรวม ซึ่งข้าวกล้องมีมากกว่าข้าวขาว 
  • โรคขาดโปรตีน ข้าวกล้องมีโปรตีน ร้อยละ 7-12 (เด็กไทยประมาณร้อยละ 40-60 เป็นโรคขาดโปรตีนและพลังงาน) ข้าวกล้องมีโปรตีนมากกว่าข้าวขาว 20-30% 
  • โรคผิวหนังบางชนิด ขาดวิตามินบีบางตัว 
  • อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยกว่าปกติ ปวดเมื่อยตามตัวและขา เพราะขาดวิตามินบีรวม 
  • โรคชัก เนื่องจากขาดวิตามิน บี 6 ซึ่งมีมากในข้าวกล้อง 
  • ข้าวขาวมีแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) พอๆ กับข้าวกล้อง แต่มีเกลือแร่และวิตามินต่างๆ น้อยกว่าข้าวกล้อง (ในข้าวกล้องจะมีวิตามินรวมกัน 20 กว่าชนิด) ที่ทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างร่างกายให้สมบูรณ์ 

จะเห็นได้ว่า ผลเสียของการกินข้าวขาวมีมาก เพราะการขัดสีส่วนที่มีคุณค่าต่อร่างกายออกไป หลายท่านอาจจะกินข้าวขาว เพราะไม่รู้ว่ายังมีข้าวที่มีคุณค่ามากอย่างข้าวกล้องอยู่ จนบางคนไม่เคยรู้จักข้าวกล้องด้วยซ้ำ

คนสมัยโบราณแต่ละบ้านจะตำข้าวกินเอง ซึ่งเรียกว่า ข้าวซ้อมมือ ซึ่งก็คือ ข้าวกล้อง คนสมัยก่อนจึงมีร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคอย่างที่คนสมัยนี้เป็นกันเท่าไร เช่น โรคเบาหวาน, หัวใจวาย, มะเร็ง ฯลฯ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็เพราะการกินไม่เป็น
         
    แหล่งข้อมูล : ธรรมทัศน์สมาคม 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 10:08:10
ความรู้พันธุ์ข้าวโภชนาการสูง
            ปัจจุบันการพัฒนาพันธุ์ข้าว ได้ให้ความสนใจคุณค่าทางอาหารมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายชนิด ก่อนหน้านี้เราสนใจข้าวเป็นเพียงแหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรทหริือแป้งเท่านั้น จึงสนใจปริมาณของแป้งและชนิดของแป้งในข้าว มากกว่า คุณค่าทางโภชนาการที่สะสมอยู่ในเมล็ดข้าว โดยเฉพาะในจมูกข้าวและเคลือบผิวของเมล็ดข้าว
            ที่ผ่านมาการแปรรูปข้าวจึงขัดเอาผิวเคลือบเมล็ดข้าวและจมูกข้าวออกมาเป็น รำข้าว ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ เมล็ดข้าวจะถูกขัดขาวเพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐานตลาดกำหนด ตามข้อกำหนด ข้าวสารขัดขาว แต่ละประเภทโดยใช้ขนาดของเมล็ดข้าวสาร ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา เป็นไปตามหลักวิชาการและคำปรึกษาของต่างประเทศ ที่ไม่รู้คุณค่า  ไม่ศึกษาภูมิปัญญาของตนเองของคนไทย
            ทิศทางการพัฒนาพันธุ์ข้าวในปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนทิศทาง จากมองเรื่องปริมาณผลผลิตและคุณภาพตามมาตรฐานความต้องการของตลาดโลก ที่ต้องการข้าวที่มีความขาว นุ่ม มามุ่งพัฒนาคุณภาพที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะชนิดและปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ ความเป็นสมุนไพร ที่ขึ้นอยู่กับสารพันธุกรรมที่อยู่ในสายพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นเมือง
            ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ปรับเปลี่ยนทิศทาง ให้ความสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาเป็น พ่อ แม่พันธุ์ ทำให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ๆนำมาส่งเสริมการปลูกหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น เช่น ข้าวหอมนิล ข้าวสินเหล็ก ข้าวมะลิแดง ข้าวไรซ์เบอร์รี่
            สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารอาหารที่เกิดขึ้นในธรรมชาติจากพืช เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่  กลุ่มวิตามิน กลุ่มเกลือแร่และกลุ่มเม็ดสารสีในพืช เป็นสารสำคัญที่มีผลในการเสริมสร้างสุขภาพ
            ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรภาคอีสาน ที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก และพันธุ์ที่นิยมปลูกและมีราคาคือข้าว กข 6 ที่มีปัญหาโรคใบไหม้ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งใช้ปุ๋ยยูเรีย ยิ่งทำให้โรคระบาดมากขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตต่อไร่ลดลง ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและศูนย์วิศวพันธุกรรม สถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ได้พัฒนาพันธุ์จากข้าว กข 6 ให้ต้านทานโรคใบไหม้ ทำให้การเจริญเติบโตดีขึ้น เรียกชื่อว่า ข้าวธัญสิริน มาเป็นพันธุ์ปลูกแทนพันธุ์ กข 6
            การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น นำข้าวหอมนิล ที่มีเมล็ดสีม่วงมาผสมกับข้าวมะลิ 105 ที่มีความหอมเฉพาะตัว ทำให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์สินเหล็ก เป็นเมล็ดสีขาวและพันธุ์ไรซ์เบอรรี่ มีเคลีอบเมล็ดสีม่วง
            ข้าวพันธุ์สินเหล็ก มีคุณสมบัติ มีน้ำตาลต่ำ มีธาตุเหล็กสูง และมีความหอม จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
            ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรรี่ มีคุณสมบัติ มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในปริมาณสูง จึงเหมาะสำหรับการนำมาแปรรูปเป็นผลิตเสริมสร้างสุขภาพ เช่น น้ำมันรำ สกัดสารต้านอนุมูลอิสระจากรำมาทำเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เหมาะสำหรับคนในปัจจุบันที่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร ที่สารพิษต่อร่างกายปนเปื้อน

ข้าวเจ้าพันธุ์สินเหล็กและไรซ์เบอรรี่
        ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวโดยใช้ข้าวหอมนิล ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสุงมาผสมกับข้าวมะลิ 105 ที่มีความหอม ได้ข้าวที่มีลักษณะเมล็ดแตกต่างกัน 2 พันธุ์ คือ
        1.ข้าวสินเหล็ก เป็นข้าวเจ้า มีเมล็ดสีขาวคล้ำเล็กน้อย มีธาตุเหล็กสูงและมีความหอม ระดับน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานบริโภค
        2. ข้าวไรซ์เบอรรี่ เป็นข้าวเจ้า มีเมล็ดสีม่วงเข้ม มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตเพื่อสุขภาพ สกัดน้ำมันรำ และสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อบริโภคเป็นอาหารเสริมสุขภาพ
 
ลักษณะของข้าวสินเหล็กและข้าวไรซ์เบอรรี่

ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ Riceberry

(https://sites.google.com/site/khawxinthriysklnkhr/_/rsrc/1319033144863/shoulder-pain/khaw-cea-phanthu-sin-helk-laea-risbe-xr-ri/%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88.jpg)


     ความสูง............................................ 105-110 ซม.
อายุเก็บเกี่ยว......................................... 130 วัน
ผลผลิต............................. 750-1,000 กก. / ไร่
% ข้าวกล้อง (Brown rice)..............ใใ......... 76 %
% ต้นข้าวหรือข้าวเต็มเมล็ด (head rice)......... 50 %
 ความยาวของเมล็ด
ข้าวเปลือก 11 ม.ม. ....... ข้าวกล้อง 7.5 ม.ม. .... ข้าวขัด 7.0 ม.ม.
คุณสมบัติทางโภชนาการในข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ Riceberry
ปริมาณ Amylose....................................... 15.6 %
อุณหภูมิแป้งสุก............................... < 70 & deg ; C
ธาตุเหล็ก........................................ 13-18 mg/kg
ธาตุสังกะสี......................................... 31.9 mg/kg
โอเมกา-3 ................................... 25.51 mg/100 g
วิตามิน อี ....................................... 678 ug /100 g
โฟเลต ........................................... 48.1 ug/100 g
เบต้าแคโรทีน .................................... 63 ug/100 g
โพลีฟีนอล ...................................113.5 mg/100 g
แทนนิน ..................................... 89.33 mg/100 g
แกมมา-โอไรซานอล ........................ 462 ug/100 g
สารต้านอนุมูลอิสระ
             ชนิดละลายในน้ำ ............ 47.5 mg ascorbic acid quivalent/100 g
             ชนิดละลายในน้ำมัน ......... 33.4 mg trolox equivalent/100 g


ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวสินเหล็ก

(http://www.rakbankerd.com/kaset/Rice/1448_5.jpg)
                           ความสูง ....................................... 148 ซม.
                           อายุเก็บเกี่ยว .................................. 120 วัน
                           ผลผลิต ........................................ 600-800 กก./ไร่
                           % ข้าวกล้อง (brown rice) ................. 76%
                           % ต้นข้าวหรือข้าวเต็มเมล็ด (head rice)..... 50%
ความยาวของเมล็ด
                      ข้าวเปลือก 11 ม.ม., ข้าวกล้อง 7.6 ม.ม., ข้าวขัด 7.0 ม.ม.
คุณสมบัติทางโภชนาการในข้าวกล้อง
                          ปริมาณ Amylose ................... 16.5 %
                          อุณหภูมิแป้งสุก ...................... 70-74 องศา
                          ธาตุเหล็ก ............................ 15-21 mg/kg
ความเป็นประโยชน์ของธาตุเหล็ก
ข้าวกล้อง ............................ 7.19 ng Ferritin/mg-cell protein
ข้าวขัด ............................... 8.30 ng Ferritin/mg-cell protein
ธาตุสังกะสี ........................... 26.9 mg/kg
Omega-3 .......................... 22.4 mg/100g
Gamma oryzanol ................. 372 ug/g
วิตามิน อี ............................. 680 ug/100g
โฟเลต ............................... 20.35 ug/100g
ดัชนีน้ำตาล ........................... 58

ข้าวหอมนิล

(http://sphotos-g.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/35523_163306023807791_559149790_n.jpg)
ข้อมูลทั่วไป

         ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือก และพัฒนาจนได้ข้าวที่มีเมล็ดข้าวกล้องเรียวยาว สีม่วงเข้ม ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกจะนุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอม น่ารับประทาน ที่สำคัญคือ ข้าวกล้องมีโปรตีนสูงถึง 12.5% ปริมาณคาร์โบไฮเดรต 70% ปริมาณ amylose 16% และยังประกอบไปด้วย ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แคลเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 (ตารางที่ 1)
          การศึกษาเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมโดยใช้โมเลกุลเครื่องหมายชนิด microsatellite จำนวน 48 ตำแหน่ง มาทำการตรวจสอบ ชี้ให้เห็นว่า ข้าวเจ้าหอมนิลมีความแตกต่างจากข้าวพันธุ์ Hei Bao และ Xua Bue Huqที่เป็นข้าวเมล็ดสีดำของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงยืนยันได้ว่าข้าวทั้ง 3 ไม่ได้เป็นพันธุ์เดียวกัน

ลักษณะประจำพันธุ์  
         ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวนาสวน ไม่ไวแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี การแตกกอดี ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และแมลงโดยทั่วๆ ไปต้านทานต่อโรคไหม้ (Blast) ทนทานต่อสภาพแล้ง (Drought) และดินเค็ม (Salinity)
 ความสูงของต้น75 เซนติเมตร
สีของ ใบ/ลำต้น  เขียวเข้มอมม่วง
เมล็ดข้าวกล้องยาวประมาณ  6.5 ม.ม. มีสีม่วงดำ
เปลือกหุ้มเมล็ดข้าว สีม่วงเข้ม
อายุการเก็บเกี่ยว  95 -100 วัน
ผลผลิตเฉลี่ย    400 - 700 ก.ก./ไร่
 
คุณค่าทางโภชนาการ
                ปริมาณองค์ประกอบของสารอาหารในเมล็ด  
                            แป้งอะมัยโลส (Amylose)                                12%
                            ธาตุเหล็ก 2-2.25 มิลลิกรัมต่อ                         100 กรัม
                            สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidamt)                  292 ไมโครโมลต่อกรัม
                            น้ำมันรำข้าว                                                   18%
                            เส้นใยจากรำข้าว                                             10%
คุณค่าทางโภชนาการของข้าวเจ้าหอมนิลเทียบ กับข้าวขาวดอกมะลิ 105
คุณค่าทางโภชนาการ                      ข้าวเจ้าหอมนิล          ข้าวขาวดอกมะลิ 105
โปรตีน (%)                                             12.56                        
คาร์โบไฮเดรต (%)                                    70.0                        80.0
ธาตุเหล็ก (มก./100 ก)
สังกะสี (มก./100 ก)
แคลเซียม (มก./100 ก)
โพแทสเซียม (มก./100 ก)
ทองแดง (มก./100 ก)  12.56
ที่มา : Chrispeels, M.L. and E.S. David. 1994. Plants, Genes and Agriculture. Jones and Bartlett Publishers. London. England. 478
 
ลักษณะทางโภชนาการ
          ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีโปรตีนอยู่ในช่วงประมาณ 10-12.5 % มีปริมาณแป้งอะมัยโลสประมาณ 12-13% มีปริมาณสาร 2-acetyl-1-pyrroline ปานกลาง ร่วมกับสารหอมระเหยจำเพาะ พวก Cyclohexanone ในปริมาณมาก มีแคลเซียม 4.2 มิลลิกรัมต่อ100 กรัม ปริมาณธาตุเหล็กแปรปวนอยู่ระหว่าง 2.25- 3.25 มิลลิกรัมต่อ100 กรัม และธาตุสังกะสีประมาณ 2.9 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม
          ข้าวเจ้าหอมนิลมีปริมาณสาร antioxidation สูงประมาณ 293 ไมโครโมลต่อกรัม ในส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดที่เป็นสีม่วงเข้มประกอบไปด้วยสาร anthocyanin, proanthocyanidin, bioflavonoids และวิตามิน E ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และสีผสมอาหารตามธรรมชาติ
          ในส่วนของรำและจมูกข้าว มีวิตามิน E วิตามิน B และกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ในส่วนของรำมีน้ำมันรำข้าว 18% เป็นองค์ประกอบ ซึ่ง 80 % เป็นชนิด C18:1 และ C18:2 เหมือนกับน้ำมันที่ได้จากถั่วเหลืองและข้าวโพดและพบว่ามีสาร omega-3 ประมาณ 1-2 % รำข้าวของเจ้าหอมนิลมีปริมาณเส้นใย digestible fiber สูงถึง 10% จากข้อมูลทางโภชนาการนับได้ว่าข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่มีศักยภาพในการนำมาแปรรูปทางอุตสหกรรมอาหารสูง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งข้าวเจ้าหอมนิล รวมทั้งขนมขบเคี้ยวต่าง

คุณประโยชน์ของสีม่วงในข้าวเจ้าหอมนิล
          ข้าวเจ้าหอมนิลมีเมล็ดสีม่วงดำ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสีของเมล็ด สีม่วงดำประกอบไปด้วย สีม่วงเข้ม (cyanidin) สีชมพูอ่อน (peonidin) และสีน้ำตาล (procyanidin) ผสมกัน ซึ่งสีที่เห็นนั่นเป็นสารประกอบกลุ่ม flavonoid ที่เรียกว่า สารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ที่ประกอบไปด้วยสาร cyanidin กับ สาร peonidin           สารโปรแอนโทไซยานิดิน (proanthocyanidin) ประกอบด้วยสาร procyanidin ซึ่งสารดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นสาร antioxidant ที่ทำหน้าจับกับอนุมูลอิสระแล้วช่วยทำให้กลไกลการทำงานของร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปกติ
สารแอนโทไซยานิน มีรายงานวิจัยพบว่า สามารถช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดที่หัวใจ และสมอง บรรเทาโรคเบาหวาน ช่วยบำรุงสายตาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นเวลามองตอนกลางคืน สาร cyanidin มีประสิทธิภาพในการ antioxidation ได้ดีกว่าวิตามินอี หลายเท่า และยังยับยั้งการเจริญเติบโตของ epidermal growth factor receptor ในเซลล์มะเร็ง สารโปรแอนโทไซยานิดิน หรือเรียกว่าสาร condensed tannins มีรายงานวิจัยพบว่า สารโปรแอนโทไซยานิดิน ทำการ antioxidation ได้ดีกว่าวิตามินซี วิตามินอี และ เบต้าแคโรทีน (beta-carotene) สาร โปรแอนโทไซยานิดิน ยังไปจับกับอนุภาคของกัมมันตภาพรังสีทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ และช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดป้องกันโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ยังยับยั้งการเจริญเติบของเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด กระเพาะอาหาร และเม็ดเลือดขาว และยังป้องกันไวรัส HSV-1 และยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ reverse transcriptase ใน ไวรัส HIV


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 11:03:23
โจน จันใด

(http://img695.imageshack.us/img695/9853/e1120868758.jpg)

นับวันวิวัฒนาการของโลกก็ยิ่งก้าวไกลออกห่างจากธรรมชาติมากขึ้น และนั่นคือ เรายิ่งนำตัวเอง ออกห่างจากการพึ่งตนเองมากขึ้นๆ เมื่อห่างไกลธรรมชาติ และการพึ่งตนเอง อะไรจะเกิดขึ้น

ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องบ้านดิน และการเก็บเมล็ดพันธุ์ ๒ ในปัจจัย ๔ ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต อาจถือเป็นการคืนสู่ธรรมชาติที่น่าคิด

*** ประวัติส่วนตัว
ผมชื่อโจน จันใด ชื่อเล่นก็โจ ใครจะเรียกอะไรก็ได้ เป็นคนบ้านศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เกิดที่นั่น เติบโตที่นั่น พ่อแม่เป็นชาวนา เรียนจบ ป.๗ อยากเรียนหนังสือต่อ แต่ทางบ้านไม่มีเงิน เลยไปบวช เป็นเณร ๔ ปี เรียนจบเทียบเท่ามัธยมปลาย การศึกษาอยู่ในห้องเรียนมีแค่นี้ แต่การศึกษาในชีวิต มีตลอด

*** ทำไมสนใจบ้านดิน
หลักๆ แล้วผมคิดถึงการพึ่งตนเอง เพราะว่าผมเบื่อหน่ายกับการทำงานในเมือง อยากใช้ชีวิต ที่เรียบง่ายที่สุด จึงคิดถึงเรื่องการพึ่งตนเอง ชีวิตที่ง่ายที่สุดมันจะง่ายไม่ได้ถ้าไม่พึ่งตนเอง อย่างน้อยปัจจัย ๔ เราน่าจะช่วยตัวเองได้ ไม่เดือดร้อน ก็ถือว่าใช้ได้

ผมออกจากกรุงเทพฯ เพราะเบื่อ ก็มาคิดเรื่องนี้ จึงเริ่มต้นทำกระท่อมไม้ไผ่อยู่เอง ปลูกผักกินเอง รู้สึกว่าพึ่งปัจจัย ๔ ได้ และชีวิตมันง่ายขึ้น น่าประทับใจ แล้วก็ชอบวิถีชีวิตแบบนี้เรื่อยมา จนถึงทุกวันนี้ ระหว่างนั้นมีแฟนเป็นคนอเมริกัน เขามาอยู่ที่ทุ่งนาด้วยปีกว่าๆ จากนั้นเขาคิดอยาก จะไปเรียนนวดที่อเมริกา และอยากให้ผมไปด้วย ก็เลยไปอยู่ที่สหรัฐฯ ๒ ปี แต่ก่อนจะกลับเมืองไทย เราขี่จักรยานเที่ยวใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน ขี่จากรัฐยูท่าห์ไปโคโลราโด เม็กซิโก อาริโซนา แล้วกลับมา แคลิฟอร์เนีย ช่วงนี้เราได้ผ่านหมู่บ้าน หนึ่งชื่อว่า Toapueblo เป็นหมู่บ้านอินเดียนแดง หมู่บ้านแรก ที่ผมเห็น คือในระหว่างขี่จักรยานในเขตนั้นมันเป็นทะเลทรายทั้งหมด ไม่มีร่มไม้เลย มันร้อนมาก แต่พอเข้าไปในบ้านรู้สึกเย็นมาก ก็คิดถึงบ้านที่ยโสธรทันทีเพราะมันร้อนมากเหมือนกัน กลับมาก็คิดว่า จะสร้างบ้านแบบนั้นบ้าง หลังจากนั้นผมก็สร้างบ้านหลังแรก ไม่ได้เรียน แค่ไปดูนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็สอบถามเขา แล้วมาค้นดูหนังสือในห้องสมุดถึงวิธีทำ แค่นั้นเอง แล้วก็ลงมือ ทำเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เราเป็นคนที่เติบโตมากับดินอยู่แล้ว เป็นชาวไร่ชาวนา เรารู้จัก นิสัยดินดี เมื่อรู้ว่าทำยังไงแล้วก็ง่าย

หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ ปีละหลังสองหลัง จนเมื่อ ๒ ปีที่แล้วทางอาศรมวงศ์สนิท จัดเวิร์คช็อพ บ้านดินขึ้น โดยเขาไปเจอฝรั่ง ๒ คน ชื่อไจแนลกับมิแชลที่ทำบ้านดินมาก่อน เขาก็ให้ ๒ คนนี้มาสอน และเชิญผมไปดู ที่เขาสอนเรานี่เป็นอีกเทคนิคหนึ่งเรียกว่าค็อบ ส่วนเทคนิคที่ผมทำนี่ เป็นแบบ ก้อนอิฐตากแดด ซึ่งทำเป็นอิฐก่อนแล้วมาก่อ แต่ที่เขาทำ คือการเหยียบดินเหนียวๆ ผสมกับฟางยาวๆ แล้วก็มาปั้นเป็นบ้านขึ้น ซึ่งมันยากมาก พอเขาทำเวิร์คช็อพที่นั่นเสร็จ ปรากฏว่าคนที่เข้าร่วมเวิร์คช็อพไม่อยากทำเลย ถ้ายากขนาดนี้ไม่เอาดีกว่า ผมก็เลยบอกว่า ผมทำได้ง่ายกว่านี้ ฝรั่งสองคนนั้น ก็เลยมาเรียนกับผม จากนั้นก็กระจายเวิร์คช็อพออกไป แม่ชีศันสนีย์สนใจ เอาไปออกทีวีเลยยาวไปเลย

๒ ปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่ได้อยู่บ้าน เดินทางไปเผยแพร่เรื่องบ้านดินทั่วประเทศ จนถึงทุกวันนี้ ผมตั้งใจไว้ว่า จะใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องบ้านดิน ทำบ้านดิน โดยเฉพาะ ใครเชิญที่ไหนไปหมด ขอให้เป็นการเรียนรู้ เพื่อคนอื่น จนปีนี้จะเข้าปีที่ ๓ ผมก็ชะลอลงเพราะคิดว่าเรื่องบ้านดินน่าจะจบ คนที่ทำเป็น ก็มีมากแล้ว

*** ประโยชน์จากบ้านดิน
ประสบการณ์จากบ้านดินที่เห็นชัดๆ เลย ก็คือ
๑.เราไม่ได้เสียเงิน อันนี้เห็นชัดมาก
๒.ทำได้เอง ใครๆก็ทำได้ไม่จำเป็นต้องเป็นช่าง ทุกคนทำได้
๓.ควบคุมอุณหภูมิได้ดี ถ้าทำเพดานดี อันนี้เห็นชัดมาก
๔.วัสดุที่ใช้ หาที่ไหนก็ได้ ไม่เป็นปัญหา

คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญของการพึ่งตนเองที่ง่ายมาก ก็ทำมาเรื่อยๆ

บ้านดินเหมาะกับทุกภูมิประเทศยกเว้นน้ำท่วม ส่วนจะฝนมาก ฝนน้อย ความชื้นเยอะ ความชื้นน้อย ไม่สำคัญ ทำได้หมด เพราะว่าบ้านดินมีตั้งแต่ ในเขตทะเลทรายเยอะที่สุด และ ไปจนถึงยุโรป อย่างในอังกฤษอากาศความชื้นเยอะมาก หมอกลงตลอดปี แต่เขาก็อยู่กันมาได้ หลายร้อยปี และก็ยังมีบ้านดินเหลืออยู่จนทุกวันนี้ในยุโรปอายุ ๒๐๐ ถึง ๔๐๐ ปีมีเยอะมากเลย ตอนนี้ เป็นของเก่าซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้เทคนิคในการทำ

ในยุโรปตะวันออกมีทั้งโบสถ์ โรงแรม ร้านอาหาร ที่เก่าแก่มาก ที่เก่าที่สุดคือที่ Toapueblo ของอินเดียนแดง อายุพันกว่าปี ในสหรัฐอเมริกายังมีซากปรักหักพังอีกมากที่มีอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี เนื่องจาก ไม่มีคนอยู่อาศัยเรื่อยมาเท่านั้นเอง หลังที่อายุพันกว่าปี มีคนอยู่อาศัย ตั้งแต่สร้าง จนถึงทุกวันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่พิเศษมาก สำหรับเรื่องที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ก็เลยคิดว่า มันเป็นสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจ

*** แล้วโทษล่ะ
โทษของมันแทบจะไม่มีเลย ถ้าจะมีคงเป็นเรื่องของการก่อสร้าง เพราะในระหว่างที่ก่อสร้าง มันอาจ จะล้มทับเราได้ ถ้าเราไม่ชัดเจนในเทคนิค แต่ก็ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร เพียงแต่ใช้สามัญสำนึก และ ความระมัดระวังเท่านั้นเอง ก็จะปลอดภัย

*** โทษของวัสดุก่อสร้าง
โทษภัยของวัสดุก่อสร้างสมัยนี้เทียบกับบ้านดินแล้วต่างกันมาก อย่างกระเบื้อง เขาเรียกว่า แอสเบ็ตโต๊ส ซึ่งในหลายประเทศถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายถ้าจะใช้กระเบื้องแบบนี้ เช่นในสหรัฐ ถือว่าผิดกฎหมาย ในเยอรมันก็ใช้ได้เฉพาะในอาคาร ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย ห้ามใช้กับโรงพยาบาล หรือโรงเรียน เพราะว่าฝุ่นของกระเบื้อง นี่ทำให้เกิด โรคปอด โรคระบบหายใจ จนเขาสั่งห้าม โดยถือว่า เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หลายประเทศในยุโรป เขาจะไม่ให้ใช้เลย ส่วนกระเบื้องแผ่นเรียบ เขาไม่ให้ใช้เหมือนกัน ถือว่าผิดกฎหมาย เป็นสิ่งที่เราไม่รู้เรื่องเลย แล้วก็ใช้กันอยู่ นี่คือโทษชนิดหนึ่ง

อีกชนิดหนึ่งก็คือ สีจากบ้าน จะมีสารเคมีหลายอย่าง เวลามันเก่าร่วงหล่นลงมาตกไปในอาหารบ้าง หายใจเข้าไปบ้าง สิ่งเหล่านี้อันตรายทั้งสิ้น

บ้านปูนนี่ดูดพลังงาน เวลานอนพื้นปูนทำให้อ่อนเพลีย และหมดแรง จะรู้สึกไม่อยากตื่น แต่นอนพื้นดิน จะรู้สึกอิ่มเร็ว ตื่นแต่เช้าได้ อันนี้ก็เป็นความแตกต่างของบ้านดินกับบ้านทั่วๆ ไปที่มีอยู่

บ้านไม้ไผ่อย่างพวกชาวเขาก็ยังดีกว่า คือเราหาวัสดุที่มี และใช้สิ่งที่เรามีก่อสร้าง ถ้าเรามีไม้ไผ่เยอะ เราก็ใช้ไม้ไผ่

เมื่อเดือนกุมภาฯ ผมทำบ้านไม้ไผ่ทั้งหลังโดยไม่ให้มีตะปู ไม่ให้มีลวดเลย เพราะไม้ไผ่ทางเชียงใหม่ มีเยอะ

เรื่องบ้านดิน คิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่เห็นได้ในตอนนี้สำหรับชีวิตคนเรา ในเรื่องที่อยู่อาศัย อยู่แล้วสุขภาพดีเพราะว่ามันไม่มีฝุ่น ดินช่วยดูดสิ่งที่ไม่ดีออกจากร่างกาย อย่างเช่นคนเมาเห็ด เขาจะเอาฝังดิน ฝังให้เหลือแค่คอ ก็ดูดพิษออกได้ เวลาอยู่บ้านดินจะทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกสบาย เพราะอุณหภูมิในห้องจะสม่ำเสมอมาก ความสม่ำเสมอของอุณหภูมิคิดว่า มีผลต่อสุขภาพเราด้วย ก็น่าจะมีประโยชน์กว่าอยู่บ้านชนิดอื่นๆ

*** ทำไมถึงสนใจเรื่องเมล็ดพันธุ์
สาเหตุที่สนใจเรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์ก็คือ ผมเริ่มสังเกตจากชาวบ้านที่ปลูกแตงโมที่บ้าน เพราะว่า การปลูกแตงโม เริ่มเป็นการลงทุนที่มหาศาลขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากราคาของเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นๆ จากตอนแรก เราเคยเก็บเมล็ดพันธุ์แล้วก็ปลูกเอง ต่อมามีบริษัทเอาเมล็ดพันธุ์มาแจกเราก็แจกต่อ แจกไปแจกมา เราก็ต้องซื้อเขาเพราะเขาเลิกแจก และเราชอบเมล็ดพันธุ์ของเขา จากนั้นราคา เมล็ดพันธุ์ ก็แพงขึ้นๆ เรื่อยๆ ในขณะที่ราคาแตงโมยังเท่าเดิม หรือไม่ต่างจากเดิมนัก

ผมสังเกตเห็นว่ามันเริ่มจะขยายขอบเขตจากแตงโมไปเป็นมะละกอ ไปเป็นผักชีฝรั่ง ไปเป็นอะไร อีกหลายอย่าง รู้สึกว่ามันกินเนื้อที่เร็วมาก จึงทำให้เกิดความกลัวขึ้นมาว่า ถ้าเราซื้อทุกอย่าง อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตเรา ทันทีที่เราซื้อของเขาเมล็ดพันธุ์ของเราก็สูญหายไป เราไม่สามารถ กลับไปหา เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านได้อีกแล้ว ยิ่งทุกวันนี้หลายอย่างราคาหมื่นขึ้นทั้งนั้นเลย ยิ่งรู้สึกตกใจมาก เพราะมันขยายไปเร็วมาก เร็วจนไม่คิดว่า จะไปได้ขนาดนั้น ถ้าราคากิโลละ เป็นหมื่นขึ้นไป ชาวบ้านที่มีรายได้ต่อปี ปีละหมื่นสองหมื่น ก็หมายความว่า มากกว่าครึ่งหนึ่ง ของรายได้ ถูกใช้ไปเพื่อค่าเมล็ดพันธุ์ แล้วเราจะอยู่ได้ยังไง อันนี้ก็ทำให้ผมคิด เรื่องเมล็ดพันธุ์มาก และช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็มีเรื่อง GMO มาอีก ยิ่งทำให้คิดเรื่องเมล็ดพันธุ์มากขึ้น เพราะว่ามันคืออาหาร ถ้าอาหารที่เรากินไม่ปลอดภัย ชีวิตเราจะอยู่เพื่ออะไรกัน ทำให้เป็นห่วงมาก อาหาร GMO ไม่ใช่อาหารปกติ และก็ไม่มีใครรับรองความปลอดภัยของมันได้ เราจะเชื่อนักวิทยาศาสตร์หมด ไม่ได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์ก็เคยทำผิดพลาด มาเยอะเหมือนกัน อย่างกรณีดีดีทีใช่ไหม องค์การสหประชาชาติ เคยประกาศว่า ดีดีทีเป็นสารเคมีที่มีประโยชน์ ให้ทุกประเทศใช้ดีดีที เพื่อปราบยุง หลังจากนั้น ๔๐ ปีถึงได้รู้ว่า ดีดีทีมีอันตราย ถึงได้ออกกฎหมาย ห้ามใช้ดีดีทีกัน อันนี้คือ ความผิดพลาดของนักวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นกับเมล็ด GMO ล่ะ อีก ๔๐ ปีข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้นกับลูกหลาน ที่กินอาหาร GMO ใครจะรับผิดชอบ ก็เลยคิดว่า เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่เราจะต้องรีบเก็บเมล็ดพันธุ์ ทำให้ผมตัดสินใจ ที่จะเลิกหลายสิ่ง หลายอย่าง เพื่อทุ่มเทกับเรื่องเมล็ดพันธุ์

*** สถานการณ์ของเมล็ดพันธุ์
ผมรู้สึกว่า ตอนนี้เราอยู่ในขั้นที่ล่อแหลมมา เป็นเรื่องน่าห่วงกว่าทุกเรื่องเพราะเมล็ดพันธุ์ ถือว่าเป็นมรดก ชิ้นสุดท้าย ที่เผ่าพันธุ์มนุษย์เหลืออยู่ ก่อนที่จะโดนย่ำยีทำลายมากกว่านี้ และ สิ่งที่ผมอยากบอก คือผมรู้สึกว่า มองไปทางไหนก็มืดมน ฉะนั้น ถ้าจะทำให้มีแสงสว่างเกิดขึ้น เพื่ออนาคตอันงดงาม และการอยู่รอดของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านแท้ๆของเราก็หวังว่า คงมีหลายคน ที่คิดเป็นห่วงเป็นใยเรื่องนี้ และคงมีหลายคน อยากสะสมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน มากขึ้นกว่านี้ แทนที่จะไปสะสมของเก่า ขอบโบราณ สะสมแสตมป์ เรามาสะสมเมล็ดพันธุ์ เพื่อลูกหลานของเราดีไหม และเพื่อตัวเราด้วย

*** แนวคิดการสร้างเครือข่ายเมล็ดพันธุ์
สิ่งแรกที่ผมทำก็คือ ผมต้องเก็บเองก่อน เพิ่งเริ่มปีนี้เอง ทำมาได้ ๒ เดือนแล้ว ขอจากชาวบ้าน และเก็บจากชาวเขา มาเพื่อรวบรวมไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จากนั้นก็อยากจะเชื่อมกับ กลุ่มองค์กรอะไรก็ตาม ที่สนใจเรื่องการพึ่งตนเอง เรื่องเมล็ดพันธุ์ แล้วมาพูดคุยกันมากขึ้น ในเรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์ แลกเปลี่ยนกันมากขึ้นในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ และในอนาคต ก็อยากจะให้ มีการรณรงค์ร่วมกัน เพื่อจะกลับมากินอาหารของเรา ไม่ใช่กินอาหารของเขา อันนี้จะทำให้ เรามีความมั่นคงมากขึ้นในชีวิต ถ้าหากว่าเราครอบครองอาหารของเราจริงๆ คือมีเมล็ดพันธุ์ ของเราเอง ปลูกกินเอง นี่จะเป็นการพึ่งตนเองที่แท้จริง ผมอยากจะเชื่อมกับทุกกลุ่ม ที่สนใจ ในเรื่องนี้ และอยากทำงานร่วมกัน แล้วจะเชื่อมกับต่างประเทศด้วย

การสร้างเครือข่ายเป็นทางรอด เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ทำคนเดียวไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่เรื่อง ของคนๆ เดียว มันเป็นเรื่องของมนุษยชาติ ทั้งเผ่าพันธุ์สัตว์ทุกชนิด ก็ต้องอาศัยเมล็ดพันธุ์ ในขณะที่เรา ปล่อยให้บริษัทไม่กี่บริษัท ครอบครองเมล็ดพันธุ์เพียงคนเดียว แล้วก็ทำลาย เมล็ดพันธุ์ที่ดี ให้สูญสลายกลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา ถือว่าเป็นการทำลาย เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ฉะนั้นก็จำเป็นต้องอาศัยหลายๆ คนช่วยกัน การสร้างเครือข่ายจึงถือว่าจำเป็น ผมอยากให้ กลุ่มต่างๆ มีการเก็บเมล็ดพันธุ์กันเอง อย่างน้อย แต่ละกลุ่มควรจะต้องมีรายชื่อ เมล็ดพันธุ์ของ ตัวเองว่าเรามีอะไรอยู่บ้าง เพื่อกลุ่มอื่นจะได้มาเช็คดูว่ามีอะไรบ้างที่เขาไม่มี จะได้ขอไป หรืออะไรบ้าง ที่เขามี จะได้ให้เรามา จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ

การสะสมเมล็ดพันธุ์นี้ หนึ่งเรากินได้ ประการที่สองเราสามารถผสมพันธุ์กันตามวิธีธรรมชาติ ทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ เกิดการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์โดยพวกเราเอง ซึ่งเราควบคุมได้ เราทำตาม ขบวนการธรรมชาติ สามารถได้พันธุ์ดีๆ ที่มีคุณภาพขึ้นมา แล้วเราก็แจกจ่ายกันพัฒนา ในแนวทาง ที่ยั่งยืน ไม่ใช่พัฒนาเพื่อการผูกขาด ฉะนั้นเรื่องนี้น่าจะทำให้เกิดความสนุก

อันนี้เราไม่ได้สู้กับนายทุนแต่เราสู้กับตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องไปสู้กับเขา สู้กับตัวเองให้ได้แค่นั้นพอ

*** รูปแบบการต่อสู้กับธุรกิจทุนนิยม
ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องอยาก เพราะสงครามสมัยก่อนเราใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ แต่สงครามวันนี้ เราใช้การไม่ร่วมมือ เป็นเครื่องมือ คือ พยายามอยู่เฉยๆ ให้มากที่สุด เขาจะแพ้ แต่ถ้าหากเรายังดิ้น กระเสือกกระสนอยู่ เขาจะชนะ ฉะนั้นเราต้องหยุดนิ่ง คือไม่ซื้อ ไม่ใช้เงินโดยไม่จำเป็น นี่คืออาวุธ ที่ร้ายแรงมาก เขากลัวมาก สิ่งที่ทุนนิยมกลัวที่สุดคือ ความเข้มแข็งของชุมชน และการพึ่งตนเอง ทันทีที่เราพึ่งตนเองได้ ทันทีที่เราเข้มแข็ง ทุนนิยมจะตายและอยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นอาวุธง่ายๆ แต่เราทำได้ไหม

การช่วยเกษตรกรในเรื่องของเมล็ดพันธุ์
ต้องให้เกษตรกรเปลี่ยนความคิดก่อนถึงจะช่วยได้ นอกจากความคิดแล้วไม่มีอะไร ช่วยเกษตรกร ได้เลย คือเปลี่ยนความคิดจากคิดทำเพื่อขาย มาคิดทำเพื่ออยู่เพื่อกิน เพราะทันทีที่คิดทำเพื่อขาย ตายแล้ว ไปไม่รอดแล้ว แต่ถ้าทำเพื่ออยู่เพื่อกิน เราจะเริ่มมีเงินทันทีเลย อันนี้พอมาคิดถึง การพึ่งตนเอง มันอยู่ได้ ฉะนั้นทำยังไงถึงจะให้เกษตรกรรู้สึกว่าอยากจะกลับมาพึ่งตนเอง นี่คือทางรอด เราทำแค่นี้เอง ถ้าทำตรงนี้ได้เราก็รอด ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้นเลย ไม่ต้องใช้เงิน ด้วย

*** หลักคิดในการพึ่งตนเอง
องค์ประกอบง่ายๆ ก็คือพึ่งตัวเองให้ได้ในปัจจัย ๔ อย่างบ้านเราทำได้ด้วยดิน เราพึ่งตัวเองง่ายๆ ทำบ้านดิน บ้านไม้ไผ่ ก็ได้ อาหารเราทำเอง ปลูกเองได้ ถ้าเรามีเมล็ดพันธุ์ เราจะพึ่งตนเองได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะปุ๋ยเราก็ไม่ใช้ เราทำจุลินทรีย์ เราทำอะไรกันอยู่แล้ว เสื้อผ้านี่ถึงแม้ว่า จะปิดโรงงานทอผ้าทั่วโลกไปอีกสัก ๒๐-๕๐ ปี เราก็ยังมีเสื้อผ้าใช้ไม่หมด ยารักษาโรค ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เราใช้สมุนไพรที่มีอยู่แล้ว

ก็ยอมรับความเป็นจริงของชีวิตเท่านั้นเอง ชีวิตจะง่ายขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้น ถ้าชีวิตยากจิตใจก็ไม่ดี สุขภาพก็แย่ลง

ฉะนั้นการอยู่ง่ายๆคือเป้าหมายหลักของการพึ่งตนเอง แต่คนเราไม่ค่อยคิดถึงความง่าย ตอนนี้โลกทั้งโลก กำลังวิปริต ลองมองดูซิว่า ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์มีเวลานอนพักผ่อน มีเวลาเล่นดนตรี สร้างงานศิลปะขึ้นมาได้ แต่มนุษย์ยุคนี้ ไม่มีเวลาคิด ชีวิตเต็มไปด้วยความยุ่งยาก เขาทำงานมากเกินไป แต่เขาทำงานเพื่อใครก็ไม่รู้ ทำให้มองเห็นว่านี่คือโลกกำลังเกิดความวิปริต

*** สุดท้ายอยากบอกว่า
ชีวิตเราจะมีความสงบสุขหรืออิสระไม่ได้ถ้าเราพึ่งตัวเองไม่ได้ การพึ่งตนเองคือปัจจัยหลัก ในการมีชีวิตอยู่ คือสาระสำคัญของการมีชีวิตอยู่ของชีวิตทุกชีวิต ไม่ว่าคนหรือสัตว์ แต่ว่าทุกวันนี้ ไม่ว่าสื่อหรืออะไรต่างๆ ไม่สนับสนุนให้เราพึ่งตัวเอง เพราะระบบทุนนิยมเขากลัวมาก รังเกียจ การพึ่งตนเองมาก หรือรังเกียจความเข้มแข็งของปัจเจก ฉะนั้นเราจะต้องฝืนกระแส คือฝืน การพึ่งเขา มาเป็นการพึ่งตนเอง กระแสที่จะบอกให้เราพึ่งเขาตลอด ซื้อของเขาตลอด เราต้องฝืน ตรงจุดนี้เพื่อให้กลับมาให้พึ่งตัวเอง แค่นี้แหละเราก็จะพบกับความง่าย ความสะดวกสบายในชีวิต

M_iAvGwP09c

l3FwlthWb1A


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 15:16:44
วันนี้ลองสืบหาข้อมูลเครื่องสีข้าวขนาดเล็กครับ รุ่นสิงห์สยาม รุ่น MS 100 RM   หาข้อมูลในเว็ป ร้านสากลการเกษตรเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่เลยลองโทรไปสอบถามครับ  ราคาเครื่องละ  40,000 บาท สามารถสีได้ทั้งข้าวขาวและข้าวกล้อง การกระเทาะเปลือกโดยใช้ลูกยาง ซึ่งจะไม่มีเศษหินให้กวนใจเหมือนเครื่องที่ใช้หินขัด  ลูกยาง 1 ลูกสามารถใช้งานได้ประมาณ 40 กส.(น้อยไปเปล่า)  ลูกยางราคา 420 บาท  สำหรับการสีข้าวขาวสีรอบเดียว แต่หากเป็นข้าวกล้องแล้วแต่สายพันธุ์อย่างมากก็สี 2 รอบ  ดูแล้วก็น่าสนใจทีเดียวเพราะอยากได้เครื่องที่ไม่เสียงดัง แต่ก็ได้ศึกษาไปเรื่อย ๆ ก่อน เผื่อเจอเครื่องที่ถูกใจกว่านี้เพราะกว่าจะได้ใช้ก็สิ้นปี ส่วนสิ้นนาปรังนี้ต้องซื้อรถดำนาให้ได้ก่อนครับ เอามาให้ดูเผื่อใครสนใจครับ

(http://www.minsen.co.th/images/rice_milling_machine_ms100_150rm.jpg)

รุ่น MS 100 RM
ลักษณะการใช้งาน สีข้าวกล้อง และข้าวขาว สีข้าวกล้อง และข้าวขาว
ขนาดมอเตอร์ (แรงม้า) 1 แรงม้า 1.5 แรงม้า
รอบการทำงานของมอเตอร์ / นาที 1,440 รอบ/นาที 1,440 รอบ/นาที
กำลังไฟฟ้าที่ใช้ (โวลต์) 220 โวลต์ 220 โวลต์
ระบบส่งกำลัง สายพาน สายพาน
ลูกกลิ้งกระเทาะเปลือก ลูกยาง ลูกยาง
ขนาดลูกกลิ้ง Diameter (มม.) 101.60 x 40.64 มม. 101.60 x 40.64 มม.
ขนาดตัวเครื่อง ( ก x ย x ส ) ซม. 75 x 46 x 110 ซม. 75 x 46 x 110 ซม.
น้ำหนักเครื่องมาตรฐาน 96 กิโลกรัม 96 กิโลกรัม
ประสิทธิภาพการทำงาน 50 - 60 กิโลกรัม / ชั่วโมง 50 - 60 กิโลกรัม / ชั่วโมง

njbZ5o-P1R8


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 16:34:28


  ผมว่าคนที่ไม่เคยทำนามาก่อนอ่านกระทู้นี้จบนะ ทำนาเป็นเลยหละ ครบๆ :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 18:32:52


  ผมว่าคนที่ไม่เคยทำนามาก่อนอ่านกระทู้นี้จบนะ ทำนาเป็นเลยหละ ครบๆ :D :D
อยากทำ...แต่ตี้นาแปงเกิน ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 20:40:04


  ผมว่าคนที่ไม่เคยทำนามาก่อนอ่านกระทู้นี้จบนะ ทำนาเป็นเลยหละ ครบๆ :D :D

ขอบคุณครับ ก็พยายามนำเนื้อหามาให้ครอบคลุม นำวิธีการทำนาของชาวนาตัวอย่างมาหลายคนเพื่อศึกษา อยากให้ชาวนารุ่นใหม่มีความเข้าใจในการทำนา ที่ปลอดภัย  ที่นาแต่ละแห่งมีความแตกต่างทั้งดิน สภาพแวดล้อม วิถีการทำนาของชาวบ้าน เราก็ควรนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม  ซึ่งพวกเราค่อนข้างโชคดีที่สามารถศึกษาค้นคว้าจากสื่อต่าง ๆ ได้ต่างจากชาวบ้านชาวนารุ่นเก่าทั่วไป ที่ทำนาตามสังคมซะส่วนใหญ่ นานๆทีจะมีคนมาให้ความรู้บ้างแต่ก็เห่อเป็นพัก ๆ ทำผิด ๆ ถูก ๆ พอเห็นว่าไม่ได้ผลก็กลับไปทำนาแบบเดิมตาม ๆกัน อย่างพี่ ๆ เพื่อน ๆ แถวบ้านที่เริ่มทำนาพร้อมเดียวกันกับผมที่แกไม่ได้ศึกษา ค้นคว้าแกก็ทำนาตามแบบรุ่นพ่อรุ่นแม่ซึ่งทำอย่างไหนก็ทำต่อแบบนั้น เราจะไปแนะเค้าก็ไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่เค้าไม่ฟัง ขนาดเราทำเป็นแบบอย่างให้เห็นเค้ายังไม่ทำตามเลยเค้ายังว่าเหนื่อยป่าวใช้เคมีสิสะดวกรวดเร็วดี (ยาเคมี: ยาคุมหญ้า ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ยาต้านกำจัดเชื้อราและโรคต่าง ๆ ) ถ้าไม่มีพวกเหล่านี้รับรองสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำธรรมชาติจะดีขึ้นกว่านี้อีกมากเลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 21:25:04


  ผมว่าคนที่ไม่เคยทำนามาก่อนอ่านกระทู้นี้จบนะ ทำนาเป็นเลยหละ ครบๆ :D :D
อยากทำ...แต่ตี้นาแปงเกิน ;D ;D

ที่นา แพงจริง ๆครับเดี๋ยวนี้จะซื้อนาเพิ่มทีละไร่เค้าก็ไม่ขายจะซื้อทีต้อง 4-5 ไร่ แถวบ้านก็ไร่ละ 4 แสนบาทแล้วครับ 5 ไร่ก็ 2 ล้านบาทแล้ว ทำนา 5 ไร่กว่าจะได้ 2 ล้านก็ใช้เวลาเกือบ 20 ปีหากกู้เงินมาซื้อนาก็คงทำนาส่งดอกเบี้ยหรือเก็บที่ดินเก็งกำไรเท่านั้นครับ แต่ทำนามาก ๆ ก็เหนื่อย  ผมก็เลยพยายามศึกษาวิธีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตในที่ดินที่มีอยู่ตัวเองมีอยู่ครับ ด้านแรงงานแถวบ้านก็ไม่ค่อยมี สุดท้ายก็ต้องพึ่งเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อลดแรงงานครับ ซึ่งก็ลงทุนพอสมควรแต่ก็ไม่ควรเกินตัว ผมโชคดีหน่อยที่มีงานประจำทำซึ่งพอยังมีเงินใช้เงินจ่าย เงินที่กำไรจากการทำนาก็พอไปลงทุนเพิ่มได้  ทำนาปีแรก ๆ จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงแทบไม่เหลืออะไร กว่าผมจะเริ่มปรับตัวได้ก็ 2-3 ปีตอนนี้กำลังจะซื้อรถดำนาก็ตัดสินใจซื้อรุ่นที่ถูกที่สุดล่ะครับ 135,000 บาทค่าถาดเพาะกล้าอีก 30,000 บาท ( กว่าจะตัดสินใจซื้อได้ใช้เวลาศึกษาเกือบ 2 ปีเล่นซะคนขายเหงื่อตก  :D )  ที่ตัดสินใจซื้อรถดำนาเพราะตอนนี้หากจ้างดำนาแถวบ้านไร่ละ 1300-1400 บาท ปีหนึ่งผมต้องจ้างดำนาประมาณ 57,200 บาท รถดำนาน่าจะมีอายุการใช้งานมากกว่า 3 ปี หรือหากใช้งานครบ 3 ปีแล้วขายต่ออย่างน้อยก็คงได้เงินกลับคืนมาซัก 60,000 บาทก็น่าจะได้อยู่  ทำนารอบต่อไปหากมีเงินเหลือก็ต่อยอดต่อไปได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 22:11:00
ด้วยที่แกจบด้านช่างมา แกก็ทำเครื่องใช้ในการทำเกษตรหลายอย่าง ตรงน้ำเข้านาแกก็เทคอนกรีตกั้นทำประตูน้ำเข้าน้ำออกเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมน้ำเช่นกัน ถึงแม้มีค่าใช่จ่ายแต่ก็ง่ายและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานครับ
อยากเห็นภาพตรงที่เทคอนกรีต หลายๆมุมจังเลยครับพี่อู๋ เผื่อเอาไปดัดแปลงทำที่นาบ้างครับ ดูแล้วคงทนง่ายดีครับ
เป็ดน้อยก็น่าฮักขนาดครับ


คล้ายแบบนี้ครับคือเทคอนกรีตเหมือนทางระบายน้ำแต่จะทำช่องสำหรับใส่แผ่นไม้ได้ เพื่อกั้นน้ำ ส่วนรูปทรงแล้วแต่จะออกแบบได้เลยครับ
ขอบคุณมากๆครับดูง่ายและสะดวกดี คงทนถาวรด้วย จะรอดูเล้าเป็ดนะครับพี่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 22:37:43
ผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพคนไทย

(http://www.thaipan.org/sites/default/files/Untitled-9.PNG)

การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนเกษตรกรที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กำลังส่งสัญญาณว่าระบบเกษตรและอาหารของไทยอาจกำลังเข้าขั้นวิกฤต เมื่อสุขภาพของเกษตรกรถูกคุมคาม แน่นอนว่าผลกระทบจะถูกส่งต่อมายังสังคมไทยโดยรวม ทั้งในเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารในปัจจุบันและอนาคต

สถิติเกี่ยวกับการเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไม่นับกรณีทำร้ายตนเอง) ค่อนข้างไม่เป็นเอกภาพและเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำของจำนวนผู้ป่วยจริงในแต่ละปี การเก็บข้อมูลส่วนใหญ่มาจากระบบฐานข้อมูลการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ในความเป็นจริงมีผู้ป่วยที่ไม่เข้ารับการรักษาในระบบจำนวนมาก และความเชื่อมโยงของการป่วยและสารเคมีอาจไม่ชัดเจนในบางกรณี โดยเฉพาะในโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงอาจอยู่ที่ 200,000 – 400,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าปละใช้สารเคมีในประเทศ

ปัญหาจากการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในอาหารยังเป็นข้อกังวลสำคัญสำหรับสังคมไทย ประโยชน์ของการบริโภคผักและผลไม้อาจถูกหักล้างด้วยความเสี่ยงจากสารเคมี บ่อยครั้งที่การสำรวจความปลอดภัยของอาหารตามตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตให้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจ ไม่เพียงแค่กรณีที่มีปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่รวมถึงกรณีที่พบสารเคมีที่ห้ามใช้ในพืชผักชนิดนั้นๆ และการตรวจพบสารเคมีในสินค้าที่อ้างว่าเป็นผักปลอดสารพิษ ปัญหาเหล่านี้ก็ได้ถูกสะท้อนในระดับประเทศเช่นเดียวกันจากกรณีการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในพืชผักส่งออกที่ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นที่จะเป็นครัวโลกของไทย

(http://www.thaipan.org/sites/default/files/Untitled-10.PNG)

แม้ว่าปัญหาทางสุขภาพจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรที่ได้รับพิษเฉียบพลัน เช่น  คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง หายใจติดขัด ตาพร่า เป็นต้น แต่ภัยมืดที่อันตรายกว่าคือพิษสะสมจากการสัมผัสสารเคมีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การอยู่ใกล้พื้นเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก และการบริโภคอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน พาร์คินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนังต่างๆ การเป็นหมัน การพิการของทารกแรกเกิด หรือการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น สถิติการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าสังคมไทยกำลังผจญกับความเสี่ยงด้านสารเคมีและมลพิษ ดังนั้น หนึ่งในทางออกคือการกลับมาทบทวนและปรับปรุงกลไกการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและการบริโภคอาหาร ให้มีคุณภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 22:41:54
ผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอาจเป็นความสนใจอันดับท้ายๆ ของรัฐและสังคมไทย ภายใต้แรงกดดันให้ต้องเร่งเพิ่มผลผลิตและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศ แต่ทรัพยากรทางธรรมชาติที่กำลังลดน้อยลงและความสมดุลทางนิเวศที่ถูกคุมคาม กำลังส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิดย้อนกลับมาที่ระบบเกษตรกรรมที่เป็นอยู่เช่นกัน

 

ประสิทธิภาพ หรือ ความอันตราย?

          ประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประเมินได้จาก 3 เกณฑ์สำคัญคือ ฤทธิ์ในการฆ่าศัตรูพืช ความเจาะจง และเวลาของการตกค้าง แต่การให้ความสำคัญกับฤทธิ์หรือความเป็นพิษสูงทำให้สารเคมีที่ไม่เจาะจง (broad-based spectrum) เช่น ไกลโฟเสทและคาร์โบฟูราน ถูกนำเข้าและใช้มากที่สุดในประเทศ พร้อมกับการก่อความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม สัตว์ และพืชที่เป็นประโยชน์

 

การปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและผลกระทบ

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกใช้จะมีเพียง 0.1% เท่านั้นที่ถึงศัตรูพืชเป้าหมาย (targeted pests) ส่วนอีก 99.9% จะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาจลดลงหากสารเคมีสามารถสลายตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่อัตราการสลายตัวหรือค่าครึ่งชีวิต (half-life) มีความแตกต่างกันตามชนิดและสภาพแวดล้อม  สารเคมีบางประเภทเป็นพิษสูงต่อสัตว์ที่มีประโยชน์บางชนิด เช่น สารเคมีในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ (neonicotinoid) เป็นหนึ่งในสาเหตุของปรากฏการณ์ Colony Collapse Disorder (CCD) ที่ผึ้งทั้งฝูงล้มตาย และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อปริมาณผลผลิตและการขยายพันธุ์พืช ที่สำคัญ สารเคมีที่สามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตและเพิ่มอัตราความเข้มข้นตามระดับของห่วงโซ่อาหาร (biomagnification) จะยิ่งเป็นปัญหาต่อนิเวศทั้งระบบ

การย่อยสลายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มต่างๆ
 
สารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอรัส หรือออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphorus or organophosphate pesticides) เช่น ไดโครโตฟอสและอีพีเอ็น สามารถตกค้างในดินที่มีความเป็นกลางไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายอาทิตย์ แต่จะมีอายุยาวนานขึ้นหลายเท่าตัวหากดินมีความเป็นกรดเล็กน้อย

สารเคมีกลุ่มคาร์บาเมต (carbamate) เช่น คาร์โบฟูราน ออลดิคาร์บ และเมโทมิล ตกค้างในดินมากที่สุดประมาณ 50 อาทิตย์และในน้ำประมาณ 30 อาทิตย์

สารเคมีในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ (neonicotinoid) เช่น อิมิดาคลอพริด ใช้เวลาประมาณ 34 วันในการสลายตัวจากแสงอาทิตย์ แต่อาจตกค้างยาวนานเกือบ 4 ปี หากไม่โดนแสงอาทิตย์หรือไม่มีจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย จึงอาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดินได้

สารเคมีกลุ่มไพริทริน (pyrethrin) มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 12 วันถึง 8 อาทิตย์ แต่มีอายุยาวนานขึ้นในพื้นที่ที่แสงส่องไม่ถึง ทั้งนี้ สารเคมีกลุ่มที่มีอัตราการสลายตัวช้าที่สุดและยังมีความอันตรายสูงคือกลุ่มออร์กาโนคลอรีน (organochlorine) เช่น DDT และ เอนโดซัลแฟน ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายในดินได้ประมาณ 1 – 15 ปี ดังนั้น จึงยังมีสารเคมีเหล่านี้ตกค้างในลุ่มแม่น้ำและคลองแยกต่างๆในปริมาณค่อนข้างสูง (แม้ว่าประเทศไทยได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วแต่ยังมีการลักลอบนำเข้าและใช้อยู่ในปัจจุบัน)
 

สารเคมีบางส่วนที่ถูกดูดซึมเข้าไปในพืชและอยู่บนต้นพืชจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อตัวห้ำตัวเบียนหรือนกที่กินแมลงที่มีสารเคมีตกค้าง หรือแม้กระทั้งสัตว์นักล่า ดังกรณีที่สิงโตในเคนย่าตายหลังการกินซากฮิปโปโปเตมัสที่มีคาร์โบฟูรานในร่างกาย      เมื่อสารเคมีซึมลงสู่ดิน ไส้เดือนและสัตว์ในดินที่มีประโยชน์อื่นๆจะได้รับพิษโดยตรง ความสูญเสียของประชากรสัตว์เหล่านี้ทำให้ดินเสื่อมสภาพลง น้ำซึมผ่านลงดินได้ยากขึ้น สารอินทรีย์ในดินลดลง และส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชที่เพาะปลูก  ในขณะเดียวกัน สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำยังทำให้ปลาหลายชนิดตาย ซึ่งบางครั้งเป็นผลกระทบทางอ้อมจากการที่สารเคมีไหลลงแหล่งน้ำและทำลายระบบนิเวศในน้ำ ปลาจึงขาดออกซิเจนในการหายใจ การได้รับสารเคมีอย่างต่อเนื่องยังอาจทำให้ปลาเกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ซึ่งจะสร้างความเสียหายระยะยาวต่อความอยู่รอดและการเจริญพันธุ์

(http://www.thaipan.org/sites/default/files/Untitled-8.PNG)

การต้านทานและการระบาดของศัตรูพืช

          ผลกระทบต่อสัตว์ที่มีประโยชน์ทำให้ระบบนิเวศไม่สามารถรักษาสมดุลทางธรรมชาติไว้ได้ ศัตรูพืชที่ได้รับสารเคมีอย่างต่อเนื่องยังสามารถปรับตัวและพัฒนาความต้านทานต่อสารเคมี จนกระทั่งก่อให้เกิดการระบาดของศัตรูพืช โดยในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ศัตรูพืชที่มีความต้านทานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีมากกว่า 1,000 ชนิด การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวและเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลังซึ่งมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นได้บ่งบอกถึงความอ่อนแอของระบบนิเวศในปัจจุบัน จากรายงานของสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง(2552) “การระบาด (ของเพลี้ยแป้ง) ในลักษณะและระดับความรุนแรงนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย” ดังนั้น ผลลัพธ์หนึ่งที่ตามมาคือเกษตรกรเพิ่มการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และยิ่งสร้างผลเสียระยะยาวต่อระบบนิเวศที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูโดยวิถีธรรมชาติ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 22:45:19
ผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้านเศรษฐกิจ

(http://www.thaipan.org/sites/default/files/Untitled-12.PNG)

ต้นทุนผลกระทบต่อเกษตรกร แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร?         

หากพิจารณาในมิติเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชคงไม่จำกัดอยู่แค่ราคาที่เกษตรกรลงทุน ในการซื้อสารเคมี แต่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกิดจากโรคพิษเฉียบพลันและพิษสะสม ต้นทุนต่อความเสียหายในระบบนิเวศ และผลกระทบกรณีสารตกค้างในสินค้าเกษตรส่งออก การค้นหาข้อมูลต้นทุนที่แท้จริงจะช่วยสร้างความตระหนักว่าสังคมไทยต้องแลก อะไรกับการรักษาผลผลิตและการเติบโตของเศรษฐกิจทางการเกษตรในระยะสั้น

ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้าน บาทโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และแนวโน้มมูลค่าการนำเข้าได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มของราคา น้ำมันที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสารเคมีสังเคราะห์ทุกประเภท

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังเป็นภาระซ้ำเติมเกษตรกร เพราะมีสัดส่วนถึง 10% ของต้นทุนการผลิตต่อไร่ (กรณีการปลูกข้าวเชิงพาณิชย์) และอาจมีสัดส่วนมูลค่าสูงถึง 30% ของต้นทุนการผลิต (ในกรณีการปลูกสตรอเบอรี่ เป็นต้น) การที่เกษตรกรในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรด้วยตนเองเป็น “ผู้จัดการไร่นา” มากขึ้น ทำให้ต้องบวกเพิ่มค่าใช้จ่ายการว่าจ้างฉีดพ่นสารเคมี ทำให้ต้นทุนเกี่ยวกับสารเคมีในการทำการเกษตรยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ยังไม่นับค่ารักษาพยาบาลของเกษตรกรและครอบครัวที่ด้านสุขภาพเฉลี่ยประมาณ 1,000 กว่าบาท/คน/ปี และเพิ่มขึ้นอีก 1,000 บาท/ปี สำหรับผู้ที่รับจ้างฉีดพ่นสารเคมี

(http://www.thaipan.org/sites/default/files/Untitled-13.PNG)

ต้นทุนผลกระทบภายนอกในระดับมหภาค                                                                         

          สำหรับการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องพิจารณาถึงต้นทุนความเสียหายภายนอกอื่นๆ  Frauke Jungbluth (1996) ได้วิเคราะห์รวมต้นทุนการปนเปื้อนในอาหาร งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ และปัญหาจากการต้านทานของศัตรูพืช พบว่ามีต้นทุนรวมเฉลี่ยประมาณ 462.80 – 5,491.80 ล้านบาท/ปี ต่อมา ดร.สุวรรณา ประณีตวตกุล และคณะ ได้ปรับตัวเลขให้เป็นปัจจุบันมากขึ้นโดยใช้ข้อมูลของปี 2552 และพบว่ามูลค่าผลกระทบภายนอกสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อยู่ที่ประมาณ 671.39-11,588.90 ล้านบาท/ปี รวมทั้งได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการประเมินที่เรียกว่า Pesticide Environmental Accounting เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนที่เกิดต่อเกษตรกรและแรงงานรับจ้าง ผู้บริโภค รวมไปถึงสัตว์และแมลงที่มีประโยชน์ ซึ่งพบว่า ต้นทุนผลกระทบภายนอกทั้งหมดเกือบเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรู พืชในแต่ละปี นั้นคือ 14,501 ล้านบาท และมีอัตราการเพิ่มขึ้น 14% ต่อปี ซึ่งหมายความว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยลงทุนเพื่อการใช้สารเคมีทั้งสิ้นกว่า 30,000 ล้านบาท (ต้นทุนการนำเข้า + ต้นทุนผลกระทบภายนอก) ดังนั้น ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการจำกัดการใช้สารเคมีซึ่งส่งผลทั้งต่อเศรษฐกิจและ สุขภาวะของประชาชน ไม่ใช่สนับสนุนและส่งเสริมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น การอนุมัติงบประมาณหลายพันล้านบาท เพื่อซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกรณี การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว และการระบาดของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง

ความเสียหายต่อการส่งออก

          วิกฤตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกสินค้า เกษตรไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งได้มีการเตรียมการที่จะระงับการนำเข้าผักส่งออกของไทย 16 ชนิด ในช่วงต้นปี 2554 เพราะการตรวจพบอัตราการปรากฏการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดใน โลกในปี 2553 ที่ผ่านมา (ตรวจพบมากถึง 55 ครั้ง) และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการส่งออกผักมูลค่า 2,785 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเคยมีมาตรการกีดกันสินค้าพริกส่งออกจากไทยที่ทำให้เกิดความเสีย หายปีละประมาณ 800-900 ล้านบาท และสามารถส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังการส่งออกผักไทยไปยังประเทศอื่นๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 22:56:15
อุตสาหกรรมเคมีเกษตร

อุตสาหกรรมเคมีเกษตรระดับโลก

ตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในตลาดที่ผูกขาดมากที่สุดในโลก โดยมีบรรษัทข้ามชาติเพียง 10 บรรษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึงร้อยละ 89 ของตลาดโลกในค.ศ. 2007 และในปีถัดมายังมีมูลค่าการตลาดสูงขึ้นร้อยละ 22 รวมเป็น 42,112 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.48 ล้านล้านบาท

หากเปรียบเทียบผู้นำตลาดสารเคมีเกษตรของโลกในค.ศ.1996/97 กับในปัจจุบัน จะพบว่า 6 บรรษัทผู้นำที่มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 74 ของปัจจุบันนั้นเกิดจากการรวมกิจการของหลายบรรษัทใหญ่ในอดีต โดยเฉพาะซินเจนทาและไบเออร์ (ภาพประกอบที่ 1.1 และ 1.2) ซึ่งมีประวัติการรวมกิจการที่ยาวนานและซับซ้อน ผ่านการรวมหรือซื้อกิจการอื่นเกือบสิบครั้งในระยะเวลาร้อยปีที่ผ่านมา ส่วนบรรษัทอันดับที่ 7 ถึง 10 จากรายชื่อผู้นำตลาด (Top 10) ได้เติบโตขึ้นหลังการหมดอายุของสิทธิบัตรสารเคมีเกษตรหลายชนิด

แต่ระหว่างบรรษัทเหล่านี้ก็มีการร่วมมือกัน เช่น การรวมทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา หรือการร่วมก่อตั้งสหพันธ์ ครอปไลฟ์อินเตอร์เนชั่นเนล (Crop Life International) ที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ที่ปลอดภัย” ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2013, 22:58:20
บริษัทและตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย

ตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยเกิดขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉ.1) ที่สนับสนุนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในรูปแบบอุตสาหกรรม โดยในช่วงปฏิวัติเขียวตั้งแต่ปี 2504 ผู้ประกอบการคนไทยดำเนินธุรกิจปุ๋ยเคมีควบคู่กับการเป็นตัวแทนจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจากบรรษัทข้ามชาติ เมื่อตลาดเติบโตขึ้นจึงมีการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติมาตั้งสาขาของตนเองในประเทศ เช่น มอนซานโต้ในปี 2511 และไบเออร์ครอปไซน์ในปี 2525 (ปัจจุบันชื่อ ไบเออร์ไทย) เป็นต้น การขยายตัวทางธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติทำให้ผู้ประกอบการไทยหันไปซื้อสารเคมีชื่อสามัญ (generic) จากแหล่งผลิตในประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีนและอินเดีย มากขึ้น

ธุรกิจเคมีเกษตรในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีผู้นำเข้า 236 ราย ผู้ผสมปรุงแต่งสารเคมี 90 ราย  ผู้ขายส่ง 543 ราย และผู้ขายปลีก 15,822 ราย มีอัตราการเติบโตของตลาดเฉลี่ย 6-7% ต่อปี โดยมีผู้ครองตลาด 5 รายแรก ได้แก่ ซินเจนทาครอปโปรเทคชั่น เอราวัณเคมีเกษตร ไบเออร์ไทย ลัดดา และเมเจอร์ฟาร์ ครอบครองตลาด 36% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด บริษัทเหล่านี้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างครบวงจรตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การนำเข้า ผลิต/ปรุงแต่ง และจำหน่าย และยังได้ประกอบกิจการในด้านอื่นๆ เช่น เคมีภัณฑ์ด้านโภชนาการ การแพทย์ ปิโตรเคมี ฯลฯ ยกเว้นบริษัทซินเจนทาแห่งเดียวที่มีเพียงธุรกิจสารเคมีเกษตร

ผู้ประกอบการมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดด้วยนโยบายส่งเสริมการขายนานัปการ  ในทวีปเอเชีย บรรษัทเคมีเกษตรได้ลงทุนด้านการส่งเสริมการขายถึง 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี และสำหรับประเทศไทย การสำรวจค่าใช้จ่ายของ 7 บริษัทรายใหญ่ผู้นำเข้า ผสมปรุงแต่ง และจำหน่ายสารเคมีเกษตร (ได้แก่ บริษัทโซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล, เจียไต๋, เชอร์วู้ด เคมิคอล, ที.เจ.ซี. เคมี, เมเจอร์ฟาร์ คอร์ปอเรชั่น, เอสแอนด์พี ฟอร์มูเลเตอร์, และ ฮุยกวง) ชี้ว่า มีการลงทุนด้านการตลาดและโฆษณา 400 ล้านบาทในปี 2552  ซึ่งมากกว่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสารเคมีในปีเดียวกันที่มีมูลค่า 8.5 ล้านบาท (46 เท่าตัว)

นอกเหนือจากการใช้ช่องทางการสื่อสารและโฆษณาแล้ว บริษัทยังใช้กลวิธีเพิ่มชื่อการค้าและทำให้เกษตรกรผู้ซื้อเกิดความสับสนเพื่อสร้างความแตกต่างและเปิดช่องทางการซื้อขาย เช่น มีการจดทะเบียนการค้าสารเคมีเกษตรในชื่อต่างกัน แม้ว่าจะเป็นสารชนิดเดียวกัน สูตรเดียวกัน แหล่งผลิตจากต่างประเทศเดียวกัน และผู้ประกอบการในประเทศบริษัทเดียวกัน

(http://www.thaipan.org/sites/default/files/Untitled-11.PNG)

การร่วมมือกันของเหล่าบริษัทเคมีเกษตร
แม้การแข่งขันทางการตลาดยังอยู่ในระดับสูง แต่บริษัทสารเคมีเกษตรมีการร่วมมือกันเพื่อประสานงานกับภาครัฐ และสร้างความเข้มแข็งในการประกอบกิจการผ่านโครงการต่างๆ ผ่านการทำงานของสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ซึ่งครอบคลุมทั้งธุรกิจยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี และสมาคมอารักขาพืชไทยซึ่งเป็นเครือข่าย สหพันธ์ครอปไลฟ์เอเชีย (Crop Life Asia) และครอปไลฟ์อินเตอร์เนชั่นเนล (Crop Life International) สมาคมทั้งสองแห่งนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเพราะมีหลายบริษัทที่อยู่ในรายชื่อสมาชิกของทั้งสองสมาคมเช่น เจียไต๋ ป.เคมีเทค และเอราวัณเคมีเกษตร กิจกรรมหลักของสมาคม ได้แก่ การประสานงานด้านวิชาการและกฎระเบียบต่างๆ เรื่องการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเผยแพร่ข้อมูลและให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีเกษตรผ่านการอบรมหรือจัดงานสัมมนา การควบคุมคุณภาพของวัตถุอันตรายทางการเกษตร และการแก้ไขปัญหาสารเคมีปลอม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 20:26:53
วันนี้ล้อมเล้าเป็ดเรียบร้อยแล้วครับ ใช้เวลาทำประมาณ 5 ชั่วโมงกว่าเสร็จตอนบ่าย 2 ใช้ตาข่ายพลาสติกซื้อมา 390 บาทความสูง 2 ม.ยาว 30 ม. ใช้แค่ 14 ม. เอาไว้จะทำโรงเรือนต่อน่าจะใช้เวลาช่วงเย็นได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 20:38:03
ทำเสร็จก็นำเป็ดเข้าเล้าครับ เป็ดค่อนข้างชอบเดินสำรวจทั่วเล้าเลย และก็ลองนำกระต่ายที่เลี้ยงไว้มาปล่อยวิ่งเล่นดู


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 20:45:18
ทำเล้าเสร็จก็ไปตักแกลบครับเจ้าของโรงสีให้ฟรี เพื่อมาโรยพื้นเล้าเป็ดและส่วนหนึ่งจะนำไปทำแกลบดำเตรียมไว้ครับ คงทยอยทำสัปดาห์ละ 10 กส.ก็คงพอดี  แกลบ 10 กส.หากนำมาทำแกลบดำจะเหลือประมาณ 3 กส.กว่า ๆ เท่านั้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 20:55:39
ทำอะไรเสร็จก็ไปนาต่อครับ ชาวนาวันหยุดก็ต้องมีอะไรให้เยอะครับ ก่อนถึงนาจะเห็นนาบางแปลงที่พึ่งพ่นยาฆ่าหญ้ารอบสองครับ  รอบแรกเป็นยาคุม หากยังมีวัชพืชอยู่ก็ต้องพ่นยาฆ่าหญ้าอีกรอบเปลืองต้นทุนไปอีก  นาอีกฝั่งผม พ่นยาคุมไปซัก 2 ชั่วโมงฝนตกซึ่งปกติจะต้องปล่อยไว้อีก 2-3 วันถึงจะปล่อยน้ำเข้านา แต่ก็ไม่เห็นจะมีหญ้าเยอะเลย ส่วนหนึ่งคือมักจะล่อให้หญ้าขึ้นและทำลายกับหากพบมีหญ้าในนาก็ถอนไม่ปล่อยให้หญ้าแก่และเมล็ดร่วงลงในนาอีกรอบทำนาครั้งต่อไปหญ้าก็จะน้อยกว่าเดิมครับ ส่วนยาคุมก็มีผลเหมือนกันครับแต่ละยี่ห้อก็ให้ผลไม่เหมือนกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 21:02:04
ไปที่นาตัวเอง ไปพ่นน้ำส้มควันไม้กับไคโตซาน และสังเกตุข้าวไปด้วยข้าวเริ่มฟื้นตัวเองมาบ้างแล้วหลังจากใบหักเนื่องจากโดนลมและลูกเห็บจากพายุฤดูร้อนที่ผ่านมา ลำต้นและใบข้าวบางส่วนก็ยังมีร่องรอยของลูกเห็บอยู่ก็มีครับ  หญ้าคันนาก็เริ่มยาวแล้วเพราะฝนตกบ่อยก็ต้องตัดให้สั้นครับหากปล่อยไว้ยาว ๆ ไม่ดีโดยเฉพาะช่วงแตกกอเป็นต้นไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 21:07:18
ข้าวแตกกอเกือบหมดแล้ว ช่วงนี้ก็ไม่ได้นำน้ำเข้านาแล้ว แต่ก็ยังมีน้ำขังเพราะฝนตกนั่นเอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 21:19:38
ในแปลงนาผมมักจะผม สาหร่ายน้ำจืดหรือที่เรียกกันว่า เตา ครับเป็นส่าหร่ายที่มักส่งเสริมให้มีการเลี้ยงในนาข้าว โดยผลการวิจัย ดร. ดวงพร อมรเลิศพิศาล อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้   สาหร่ายเตา มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย โปรตีน 18-20% ไขมัน 5-6% คาร์โบไฮเดรต 55-60% เส้นใย 7-10% และรงควัตถุหลายชนิด เช่น คลอโรฟิลล์ เอ และบี เบต้าแคโรทีน และแซนโทฟิลล์

นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มสารประกอบฟีโนลิก และโพลีแซ็กคาไรด์ในสาหร่ายเตา และการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสาหร่ายเตานั้น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง เพราะอนุมูลอิสระ (free radicals) จะทำลายเนื้อเยื่อ ส่งผลให้เซลล์ได้รับความเสียหายที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค, มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยลดความรุนแรงของโรคเบาหวาน, มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ป้องกันการอักเสบ บวม แดง, มีความสามารถในการเป็นพรีไบโอติก โดยส่งเสริมการเจริญของเชื้อ Lactobacillus fermentum, มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส ช่วยป้องกันการเกิดฝ้าและจุดด่างดำ มีสารเมือกหรือมอยส์เจอไรเซอร์ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง

แต่เห็นแบบนี้ก็ควรตักออกบ้างครับเพราะหากมีมาก ๆ น้ำในนาก็มีโอกาสเน่าได้หรือปล่อยให้น้ำแห้งไปก่อนก็ได้ครับ เตาในแปลงนาหว่านก็คงไม่ปลอดภัย 100 % เพราะมีการใช้ยาคุมหญ้าและน้ำจากแปลงข้างเคียงที่เค้าอาจใช้ยาคุมหญ้าและยากำจัดแมลงในการปราบหอยเชอรี่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 21:34:03
แปลงนาในมุมอื่น ๆครับ จับปูนามาดูครับเดี๋ยวนี้ลดน้อยลงไปมากเพราะมีการใช้ยากำจัด ที่จริงตั้งใจจะกำจัดเฉพาะหอยเชอรี่แต่สัตว์น้ำประเภทอื่น ๆก็พลอยได้รับผลไปด้วย  หอยเชอรี่ก็ยังคงเป็นปัญหาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีการให้ธรรมชาติควบคุมกันเองหรือการช่วยกันเก็บหอยเชอรี่ในแปลงในมากำจัดเหมือนในต่างประเทศและภาคอื่น ๆของประเทศครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 21:39:04
เสร็จจากนาฝั่ง 13 ไร่เสร็จก็มาปลูกต้นดอกดาวเรืองครับ ตอนแรกคิดว่าไม่เหลือแล้วเพราะถาดเพราะคว่ำเสียหายแต่ลองน้ำต้นดอกดาวเรืองมาเรียงและลดน้ำใหม่ ต้นฟื้นกลับมาเลยนำมาปลูกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 21:50:49
เสร็จแล้วก็มาดูนาอีกฝั่ง 9 ไร่แปลงนี้ทำให้พ่อแม่ครับ ขายข้าวได้เท่าไหร่ยกให้พ่อแม่หมด ก็จะมีรายได้จากนา 9 ไร่ปีละประมาณ 2 แสนกว่าบาทหักต้นทุนแล้วก็จะเหลือประมาณ 1.5 แสนบาท แปลงนี้ทำช้ากว่าแปลงนา 13 ไร่ไปประมาณหนึ่งสัปดาห์ครับ แปลงนี้ที่ว่าพ่นยาคุมหญ้าเสร็จแล้วโดนฝนตกใส่อย่างหนัก 1 คืนเต็ม ๆ แต่ก็ไม่เห็นหญ้าให้กวนใจอะไรมากมายครับ ไม่ต้องพ่นรอบสองรอดตัวไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2013, 22:08:19
วันนี้ก็ทำอะไรต่าง ๆ มากมายกับอาชีพชาวนาครับ พรุ่งนี้ตอนเช้าก็ต้องไปตัดหญ้าคันนา สาย ๆ ก็ไป อ.พาน ไปดูข้าวพันธุ์ เย็น ๆ ก็กลับมาตัดหญ้าต่อครับ

ลาวันนี้ด้วยรูปคันนา 2 แปลง แปลงด้านซ้ายไม่เคยใช้สารเคมีในการกำจัดหญ้าพบว่ามีพืชขึ้นหลากหลายและมีการทับถมและก่อตัวของตะกอนมากขึ้นและพืชช่วยในการลดการชะล้างของกระแสน้ำทำให้คันนายังอยู่ในสภาพดีและมีแนวโน้มกว้างออกไปเรื่อย ๆ อีกด้วยกับอีกฝั่งพ่นยาฆ่าหญ้าในการกำจัดตลอด เมื่อถูกกระแสน้ำจึงเกิดการชะล้างได้ไวเหมือนเป็นดินทรายจนคันนาบางกว่าเดิม  คันนี้ขึ้นใหม่ปีที่ผ่านมาตอนนี้ก็มีแนวโน้มจะพังอีกต้องจ้างรถแบคโฮมาขึ้นให้ใหม่อีกแล้ว...ฝั่งซ้ายอยู่มา 3 ปีแล้วก็ยังคงได้ต่อไปได้อีกนาน  ยาฆ่าหญ้าแม้สะดวกรวดเร็วแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผลเสียครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 20:54:05
วันนี้ช่วงสายไป อ.พานครับ ตั้งใจจะไปซื้อพันธุ์ข้าวได้ข้าวหอมนิล และหอมมะลิแดงมาครับ ตั้งใจจะมาทดลองปลูกเพื่อใช้กินในครอบครัว ทำพันธุ์ต่อและสีไปแจกญาติ ๆ และคนรู้จักครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 21:03:06
ลุงปา เจ้าของบ้านให้การต้องรับเป็นอย่างดีครับ คุยตามแบบชาวบ้าน ลุงแกนอกจากปลูกข้าวอินทรีย์แล้ว แกทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ยังทำไบโอดีเซลด้วย แกยังให้สาร พด.กลับบ้านด้วย สาร พด. ของกรมพัฒนาที่ดินมีหลายสูตรแล้วแต่จะเลือกใช้  สาร พด.มีประโยชน์มากครับแต่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้กัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 21:11:04
อาหารเลี้ยงเชื้อและหัวเชื้อจุลินทรีย์ มักไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ครับ ส่วนใหญ่อาหารเลี้ยงจุลินทรีย์สามารถใช้กากน้ำตาลหรือซากพืช ซากสัตว์ต่าง ๆ อาจเป็นเพราะสามารถทำเองได้จึงมักไม่ค่อยมีร้านค้านำมาจำหน่าย ส่วนมากก็จะเห็นเป็นหัวเชื้อ EM และกากน้ำตาลมากกว่า 2 ขวดนี้ผลิตที่พะเยานี่เอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 21:33:30
ผลิตภัณฑ์ของชุมชนครับส่วนใหญ่จะส่งให้กับโรงพยาบาลซึ่งส่งปริมาณมาก แต่ก็มีแพ็กย่อยขายอยู่ ยืมรูปจากในเว็ปมาผมซื้อข้าวพันธุ์จากน้าคนนี้พอดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 21:41:23
ไปพานกลับมาบ้านก็ไปนา ตัดหญ้าและพ่นน้ำส้มควันไม้+ไคโตซานต่อครับ คันนาที่พูดถึงเมื่อวานครับลองเปรียบเทียบกันดูครับฝนตกน้ำไหลแรง ๆ คันนาไหนจะพังก่อนกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 21:48:09
พ่นน้ำส้มควันไม้+ไคโตซานครับ พวกนี้เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร น้ำส้มควันไม้จะมีกลิ่นฉุนนิดหน่อย  การพ่นปกติต้องลงในแปลงนาครับแต่เห็นว่าไมมีการระบาดของแมลงและโรค และเห็นช่วงนี้เห็นข้าวแตกกอเลยไม่อยากไปเหยียบต้นข้าวให้เสียหายเลยอาศัยพ่นเหนือลมช่วยให้ลมพัดไปดีกว่า 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 21:51:39
เตาครับ เริ่มเน่าแล้วตักออกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 21:56:38
ไปพานกลับมาบ้านก็ไปนา ตัดหญ้าและพ่นน้ำส้มควันไม้+ไคโตซานต่อครับ คันนาที่พูดถึงเมื่อวานครับลองเปรียบเทียบกันดูครับฝนตกน้ำไหลแรง ๆ คันนาไหนจะพังก่อนกัน

 :D...คันนาหรือคันเหมืองที่พ่นยาฆ่าหญ้า..มักผุพังไวเพราะหญ้าตายหมดไม่มีรากหญ้ายึดเกาะไว้.....คันนาแบบทางขวาต้องเอาหญ้าแฝกมาปลูกครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 22:09:12
แปลงนาอีกเจ้าที่อยู่ติดกันแกทำนาโยนครับ ปัญหาของนาโยนคือต้องควบคุมระดับน้ำให้ได้ แกโยนค่อนข้างห่างพอดินแห้งปรากฎว่าวัชพืชขึ้นครับ การกำจัดค่อนข้างยากหากใช้แรงกลไม่เหมือนนาดำด้วยรถที่สามารถใช้อุปกรณ์ในการพรวน  สุดท้ายเจ้าของนาต้องพ่นยากำจัดหญ้าและวัชพืชครับ นาโยนบางคนก็ใช้ยาคุมเลนก่อนการโยนแม้จะช่วยลดปริมาณวัชพืชในนาได้แต่ก็เป็นการใช้สารเคมีอันตรายอยู่ดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 22:13:29
ไปพานกลับมาบ้านก็ไปนา ตัดหญ้าและพ่นน้ำส้มควันไม้+ไคโตซานต่อครับ คันนาที่พูดถึงเมื่อวานครับลองเปรียบเทียบกันดูครับฝนตกน้ำไหลแรง ๆ คันนาไหนจะพังก่อนกัน

 :D...คันนาหรือคันเหมืองที่พ่นยาฆ่าหญ้า..มักผุพังไวเพราะหญ้าตายหมดไม่มีรากหญ้ายึดเกาะไว้.....คันนาแบบทางขวาต้องเอาหญ้าแฝกมาปลูกครับ...

คิดเช่นเดียวกันครับ เจ้าของนาแกไม่ตัดหญ้าคันนาเลยแกพ่นยาฆ่าหญ้าอย่างเดียวเลยครับ แกบอกประหยัดรวดเร็วดี ไม่รู้ว่าจะคุ้มหรือป่าว น้ำในลำเหมืองก็พลอยถูกปนเปื้อนด้วยยาฆ่าหญ้าไปด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 22:24:15
นาติดถนนคลองชลครับต้องตัดหญ้ามากกว่าคนอื่นครับ ด้านที่ติดคลองชลหน้ากว้าง 228 ม.เท่ากับว่าตัดหญ้าบนถนนคลองชลทีระยะทางประมาณกิโลกว่า ๆ ครับไม่รวมระยะทางในคันนาอีกไม่แปลงใจชาวนาญี่ปุ่นบางคนจึงใช้คันนาคอนกรีต บริเวณริมทางมีการปรับพื้นที่บางแห่งก็เทคอนกรีตเช่นกันเพื่อไม่ให้เกิดวัชพืชขึ้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 22:32:18
ได้พันธุ์ข้าวหอมนิลและข้าวหอมมะลแดง มาลองมาศึกษาเทียบกับข้าวพันธุ์อื่น ๆ ดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มีนาคม 2013, 22:38:13
ลองทดสอบการงอกของเมล็ดดูครับ ที่จริงต้องทดสอบโดยใช้เมล็ดมากกว่านี้ในการหาเปอร์เซนต์การงอกของเมล็ดแต่อยากลองดูก่อนปลูกในช่วงนาปีจริงครับ ข้าวหอมนิลเป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงปลูดได้ทุกช่วง ข้าวหอมมะลิแดงเป็นข้าวไวต่อช่วงแสงควรปลูกเฉพาะนาปีอย่างเดียวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 08:35:09
ลองทดสอบการงอกของเมล็ดดูครับ ที่จริงต้องทดสอบโดยใช้เมล็ดมากกว่านี้ในการหาเปอร์เซนต์การงอกของเมล็ดแต่อยากลองดูก่อนปลูกในช่วงนาปีจริงครับ ข้าวหอมนิลเป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงปลูดได้ทุกช่วง ข้าวหอมมะลิแดงเป็นข้าวไวต่อช่วงแสงควรปลูกเฉพาะนาปีอย่างเดียวครับ

 :D...ข้าวหอมนิล...ระวังนกด้วยครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 11:29:10
มาติดตามอีกเช่นเคย ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 11:57:06
ลองทดสอบการงอกของเมล็ดดูครับ ที่จริงต้องทดสอบโดยใช้เมล็ดมากกว่านี้ในการหาเปอร์เซนต์การงอกของเมล็ดแต่อยากลองดูก่อนปลูกในช่วงนาปีจริงครับ ข้าวหอมนิลเป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงปลูดได้ทุกช่วง ข้าวหอมมะลิแดงเป็นข้าวไวต่อช่วงแสงควรปลูกเฉพาะนาปีอย่างเดียวครับ

 :D...ข้าวหอมนิล...ระวังนกด้วยครับ...

ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 12:53:29
วันนี้นึกอยากศึกษาเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวครับ การผสมพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ข้าวเพื่อนามาปรับใช้ในแปลงนา .. เลยศึกษาข้อมูลไปเจออาชีพหนึ่งเป็นงานปิดทองหลังพระครับเลยเอามาฝากครับ


นักผสมพันธุ์ข้าว งานปิดทองหลังพระ ข้าวพันธุ์ใหม่

(http://www.goosiam.com/news/news2/admin/my_documents/my_pictures/118.jpg)

เบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาพันธุ์ข้าวนอกจากจะเกิดขึ้นจากนักวิจัยที่มีความรู้แล้ว น้อยคนนักจะรู้ว่าฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่เป็นเพียงลูกจ้างประจำในตำแหน่งที่อาจเรียกได้ว่า “นักผสมพันธุ์ข้าว” นั้นมีความสำคัญในการช่วยให้พันธุ์ข้าว  ที่นักวิจัยต้องการพัฒนานั้นประสบผลสำเร็จ
 
เนื่องจากการผสมพันธุ์ข้าวไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะทำได้ เพราะต้องอาศัยการฝึกฝนมาอย่างยาวนาน ดังเช่น ลำไย ใบกุหลาบ ในวัย 52 ปี และ เพลินตา ทองพูล อายุ 48 ปี ลูกจ้างประจำศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา กรมการข้าว ที่ทำหน้าที่เป็นนักผสมพันธุ์ข้าวมาตลอดชีวิตการเป็นลูกจ้าง

ลำไย เล่าว่า เข้ามาเป็นลูกจ้างเป็นคนงานเกษตรของศูนย์วิจัยข้าวฯ มาตั้งแต่ยังไม่มีการก่อตั้งกรมการข้าวรวมเวลาการเป็นลูกจ้างกว่า 20 ปี
 
แรกเริ่มเข้ามาเป็นคนงานเกษตรที่ต้องทำงานทั่วไป แต่ต่อมาก็ได้รับการถ่ายทอด จากลูกจ้างรุ่นก่อน ๆ ให้เป็นนักผสมพันธุ์ข้าว โดยฝึกฝนมาตั้งแต่อายุยี่สิบกว่ากระทั่งปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่สำคัญนี้
 
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่  “ครู” ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกจ้างรุ่นใหม่ที่เข้ามา ซึ่งลำไยบอกว่าลูกจ้างรุ่นใหม่ที่เข้ามานั้นน้อยคนนักที่จะอาสาเข้ามาเป็นนักผสมพันธุ์ข้าว เพราะเป็น งานที่ต้องอาศัยความประณีต ละเอียดอ่อน แต่ทำงานเหมือนชาวนาคนหนึ่งหลังรับคำสั่งปฏิบัติการจากนักวิจัย
 
เริ่มตั้งแต่การปัก ดำ ผสมพันธุ์ข้าว และเกี่ยวข้าว แม้จะเป็นพื้นที่นาทดลองขนาดเล็กแต่ก็ต้องสู้แดดสู้ฝน
 
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนคนหนึ่งจะนั่งอยู่กับที่แทบทั้ง วันกลางแดดจ้าเพื่อแยกเกสร ตัวผู้ออกจากรวงข้าวที่คัดไว้ให้ เหลือแต่เกสรตัวเมีย

(http://www.goosiam.com/news/news2/admin/my_documents/my_pictures/1114.jpg)

วิธีการผสมพันธุ์ข้าวนั้นเริ่มจาก การต้มน้ำวัดอุณหภูมิให้ได้ประมาณ 45 องศาเซล เซียส ใส่กระติกน้ำร้อน จากนั้นเทน้ำร้อนทิ้ง นำความร้อนที่หลงเหลือในกระติกไปครอบรวงข้าว
 
ความร้อนที่หลงเหลือในกระติกน้ำร้อนจะไปช่วยเร่งให้เมล็ดข้าวบานออกมา จากนั้นใช้เล็บเรียวค่อย ๆ กรีด รวงข้าวเมล็ดจ้อยของเกสรตัวเมียให้ฉีกออกจากกันเพียงเล็กน้อย
 
จากนั้นก็จะใช้คีมเล็ก ๆ คล้ายแหนบคีบเกสรตัวผู้ออกจากดอกข้าวให้เหลือแต่เกสรตัวเมีย
 
ขณะเดียวกัน ก็จะมีนักผสมพันธุ์ข้าวอีกคน ที่ต้องทำงานไปพร้อม ๆ กัน ทำหน้าที่คีบเกสรตัวผู้ที่คัดไว้เข้าไปวางในดอกข้าวที่เหลือแต่เกสรตัวเมียเพื่อให้เกิดการผสมพันธุ์กัน
 
แต่การผสมพันธุ์ข้าวในแต่ละรวงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครทำได้ในเร็ววัน เนื่องจากเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ
 
เพราะเกสรดอกข้าวนั้นมีขนาดเล็กมากหากมือไม่นิ่ง หรือมือหนักไปก็จะทำให้เกสรข้าว หรือกระทั่งมดลูกของดอกข้าวช้ำและจะส่งผลให้การผสมพันธุ์ไม่ประสบผลสำเร็จ
 
อาชีพนักผสมพันธุ์ข้าว ดูแล้วอาจต่ำต้อย เพราะเป็นเพียงคนงานคนหนึ่ง แต่สิ่งที่  ทำให้ภูมิใจคือการได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ  ให้กับประเทศไทย ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออก ล้วนแต่ต้องผ่านมือนักผสมพันธุ์ข้าวมืออาชีพอย่างตน มาทั้งนั้น
 
“เราดีใจนะ ได้เห็นข้าวที่เราผสมพันธุ์ออกมาแล้วได้ ผล บางครั้งไม่ติดก็มี ที่ภูมิใจ มีข้าว กข 105 เราก็ทำเองกับมือ” เพลินตาบอกด้วยรอยยิ้ม
 
เพลินตา บอกว่า รู้สึกภาคภูมิใจในการทำหน้าที่เป็นนักผสมพันธุ์ข้าว แม้ว่าตลอดชีวิตจะทำงานแบบปิดทองหลังพระมาตลอดชีวิต
 
น้อยคนนักจะรู้ว่าก่อนที่นักวิจัยจะพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ออกมาในแต่ละพันธุ์ บุคคลที่มีส่วนอย่างมากที่จะทำให้งานวิจัยประสบความสำเร็จ คือการได้ผู้ช่วยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในการเป็นนักผสมพันธุ์ข้าว อย่างพวกเรา
 
ปัจจุบันก็ยอมรับว่าจำนวนคนงานหรือลูกจ้างที่จะมาทำหน้าที่เป็นนักผสมพันธุ์ข้าว จึงเป็นเรื่องที่กรมการข้าวต้อง  เร่งผลิตบุคลากรเหล่านี้ออกมา  ทดแทนคนรุ่นเก่าที่กำลังจะเกษียณอายุไปในเร็ว ๆ นี้
 
ขณะเดียวกันงานวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอด เพื่อสู้กับโรค แมลงศัตรูพืช สิ่งเหล่านี้ปรับตัวตลอดเวลา
 
อีกทั้งต้องผลิตพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เพื่อรองรับสภาพนาที่ลุ่มที่ดอนต่างกัน รวมทั้งเป้าหมายที่จะผลิตข้าวส่งออกต้องหาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงต้นทุนต่ำ เหล่านี้เป็นภาระหนักของการวิจัยพันธุ์ข้าว
 
ชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันงานวิจัยกับการพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว จะให้ความสำคัญกับงานวิจัยค่อนข้างมาก
 
โดยเฉพาะประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจโลกจะแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งหรือประมาณ 2% ของ จีดีพี มาใช้ในการ วิจัยและในขณะเดียวกันก็มี  การพัฒนาจำนวนนักวิจัยในประเทศด้วย
 
ทั้งนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีจำนวนนักวิจัยมากกว่า 50 คนต่อประชากร 10,000 คน แต่ประเทศไทยจำนวนนักวิจัยมีน้อย ประมาณ 3-5 คนต่อประชากร 10,000 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ให้ความสนใจและเร่งแก้ไขเพื่อ มุ่งเพิ่มสัดส่วนนักวิจัยให้มีมากขึ้นในทุกสาขาอาชีพ
 
ในส่วนของนักวิจัยพัฒนาด้านข้าวนั้น ปัจจุบันประเทศไทยยังมีนักวิจัย นักผสมพันธุ์ข้าวในสัดส่วนที่น้อย เนื่องจากเป็นงานที่ต้องทุ่มเท และอดทนเพราะข้าวแต่ละพันธุ์กว่าจะสามารถทำวิจัยได้สำเร็จต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 8-10 ปี
 
ทำให้ความสนใจเข้ามาศึกษาในสาขานี้ต่ำ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนากว่า 57.5 ล้านไร่ ชาวนากว่า 3.7 ล้านครัวเรือนและมียอดส่ง ออกข้าวกว่าแสนล้านบาท แต่การวิจัยและพัฒนาข้าวไทยยัง มีน้อย
 
ดังนั้น กรมการข้าวจึงให้ความสำคัญในการพัฒนางานวิจัยข้าวของไทย ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการและภาวะการแข่งขันโลกและรองรับวิกฤติอาหารโลกในอนาคต
 
ทั้งนี้ได้เตรียมจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาข้าว ซึ่งในปี 52 กรมการข้าวได้รับ   การจัดสรรงบประมาณด้านวิจัยประมาณ 205 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งพัฒนาและวิจัยข้าวไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น
 
สำหรับการวิจัยและพัฒนาข้าวซึ่งปี 2552 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีการผลิตและนำไปถ่ายทอดให้ชาวนาปฏิบัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดย ใช้ต้นทุนต่ำ
 
รวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว พัฒนาเศรษฐกิจชาวนาให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้การผลิตข้าวของประเทศมีเสถียรภาพมีแนวทางการดำเนินงานที่เน้น 4 ยุทธศาสตร์ได้แก่  การเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าว การลดการสูญเสียและรักษาเสถียรภาพผลผลิตการเพิ่ม มูลค่า
 
และการสร้างมูลค่าข้าวและเสริมสร้างความสามารถในการผลิตข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงทางการอาหารในพื้นที่เฉพาะ 
 
หรือแม้กระทั่งระเบียบ การจ้างลูกจ้างมาทำงานเป็นนักผสมพันธุ์ข้าวนั้นทำค่อนข้างยากหรือล่าช้า
 
แต่ยืนยันว่าในแผนการ วิจัยข้าวและพัฒนาข้าวนั้น ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านนี้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน และจำเป็นอย่างยิ่งต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อให้มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการในอนาคต
 
ทั้งเพื่อการส่งออก และบริโภคในประเทศต่อไป
 
แหล่งที่มา  เดลินิวส์ออนไลน์


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 13:07:47
ศึกษาแนวคิดการผสมพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวครับ   แก่นคำหล้า พิลาน้อย หรือ ตุ๊หล่าง เด็กหนุ่มลูกอีสานชาวจังหวัดยโสธร ครอบครัวของเขาประกอบอาชีพทำนา เด็กหนุ่มคนนี้จึงมีสายเลือดของชาวนาอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนกุดชุมวิทยาคมซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ ตุ๊หล่าง ก็หันหลังให้กับการศึกษาในห้องเรียน หันมาสู่โลกของการเกษตรกรรม ด้วยเพราะเล็งเห็นว่าบทบาทของอาชีพชาวนากับคนรุ่นหลังเริ่มเลือนลางลงทุกที  ทุกวันนี้ก็มีทั้งนักวิชาการ ผู้สนใจต่าง ๆ ก็ไปศึกษาความรู้เรื่องข้าวจากตุ๊หล่าง

ทั้งนี้ ตุ๊หล่าง บอกว่า จากการสำรวจผู้คนในหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ ทั้งหมด 400 หลังคาเรือน รวมกว่า 1,000 คน พบว่ามีอยู่เพียง 200 คนเท่านั้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อรู้สึกว่าผู้คนเริ่มมองข้ามอาชีพนี้เขาจึงมีความคิดที่จะพัฒนางานด้านการเกษตรให้คงอยู่กับคนอีสาน แม้ว่าความจริงแล้วตุ๊หล่างเคยฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่อย่างไรเสีย หากยังไม่หมดลมหายใจ ตุ๊หล่าง คิดว่าเขาก็ยังมีโอกาสศึกษาต่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ แต่ถ้าอาชีพเกษตรกรรมยังไม่รีบอนุรักษ์สืบทอดไว้ อาจจะสูญสิ้นไปได้

          "ผมว่าโลกแห่งเกษตรกรรมเป็นโลกของการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผม ผมจึงคิดว่าเราน่าจะแสวงหาความรู้จากโลกเกษตรกรรมเสียก่อน เพราะสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น การผสมพันธุ์ข้าว การทำอย่างนี้มันมีความละเอียดกว่าคนที่เรียนจบปริญญาตรียิ่งเสียอีก และประสบการณ์ในการทำงานมันมีค่ามากว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย" ตุ๊หล่าง บอกอย่างนั้น

I1E93EM8DJU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 16:32:48
การคัดเลือกพันธุ์ข้าว

การปรับปรุงพันธุ์ข้าว มีหลายวิธีได้แก่ การรวบรวมข้าวพันธุ์ดีจากที่อื่นมาปลูกขยาย การคัดเลือกพันธุ์ การผสมพันธุ์ข้าวและ การปลูกคัดเลือกหลังการผสมเพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ การฉายรังสี เป็นต้น ซึ่งมูลนิธิข้าวขวัญได้นำเสนอเทคนิคการคัดเลือก พันธุ์ข้าวโดยวิธีการคัดข้าวกล้อง ซึ่งชาวนาและผู้สนใจทั่วไปสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในไร่นาของตนเองได้

การคัดเลือกพันธุ์ข้าววัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าวนั้นๆไว้ซึ่งได้แก่ ความสูง ลักษณะทรงกอ สีใบ สีเมล็ด ชนิดข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้า เป็นต้น ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์อาจเปลี่ยนแปลงได้หากชาวนาใช้พันธุ์เดิม ปลูกต่อเนื่องกันโดยไม่มีการคัดเมล็ดพันธุ์ สาเหตุอาจเกิดการผสมข้าม

(http://www.khaokwan.org/pic/rice2.JPG)

พันธุ์โดยธรรมชาติที่เรียกว่า ข้าวกลายพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีหลายสาเหตุ เช่น ข้าวเรื้อในนาติดมากับรถเกี่ยวหรือปนมากับ เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ลักษณะที่แตกต่างกันนั้นสามารถคัดเลือกให้เป็นพันธุ์ที่บริสุทธิ์ได้ ซึ่งการคัดพันธุ์ของชาวนาแบบเดิม นั้นคัดจากต้นข้าวที่สมบูรณ์ ความสูงสม่ำเสมอ รวงยาว การติดเมล็ดดี ระแง้ถี่ การให้ผลผลิตดี ไม่มีโรค แมลงรบกวนเป็นต้น
การคัดเลือกวิธีนี้จะคัดเลือกจากลักษณะที่สังเกตเห็นจากภายนอกเปลือกเท่านั้น แต่พบว่ายังมีปัญหาคุณภาพภายในเมล็ด เช่น การเป็นท้องไข่ ความมันวาว สีของข้าวกล้องไม่ตรงตามพันธุ์ เป็นต้น

(http://www.khaokwan.org/pic/rice1.jpg)

(http://www.khaokwan.org/pic/rice3.JPG)

(http://www.khaokwan.org/pic/rice4.JPG)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 21:20:40
เย็นนี้ไปนาครับพบหญ้าหวังหรือหญ้าข้าวนกอยู่ต้นหนึ่งเลยถอนมาให้ดูครับ ถ้าดูไกล ๆ โดยไม่สังเกตแล้วมีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นข้าวครับ หญ้าพวกนี้ค่อนข้างปราบยากและค่อนข้างจะเป็นปัญหากับชาวนาส่วนมาก ๆ

ลักษณะถ้าดูทางใบครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 21:26:51
ดูลักษณะใบครับ หญ้าหวังจะเห็นเส้นกลางใบค่อนข้างชัดเจน ข้าวจะไม่เห็นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 21:29:53
ต้นข้าวจะมีเขี้ยวใบและเยื้อกันน้ำฝนครับ ส่วนหญ้าหวังจะไม่มี หญ้าอื่น ๆ ก็อาจจะมีเยื้อกันน้ำฝนแต่ไม่มีเขี้ยวใบ บางชนิดมีเขี้ยวใบแต่ก็จะไม่มีเยื้อกันน้ำฝนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 21:37:27
หากแปลงไหนปล่อยให้มีมาก ๆ ก็จะมีสภาพเป็นแบบนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 22:00:27
นาข้าวผมช่วงออกรวงเมื่อปีที่ผ่านมาครับ จะไม่ค่อยมีหญ้าให้เห็นกว่าจะได้แบบนี้ก็อาศัยลองผิดลองถูกมาพอสมควร ทำนาครั้งที่ 1 และ 2 หญ้าเยอะมากเพราะยังไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจครับ หญ้าบางชนิดอาศัยการแพร่พันธุ์โดยเมล็ดเราก็ต้องกำจัดก่อนเมล็ดร่วงในนา เมล็ดหญ้าบางชนิดจะเน่าเสียเมื่อจมน้ำเกิน 3-4 วัน วัชพืชบางชนิดก็ขึ้นได้ดีในน้ำท่วมขังเราก็ต้องเรียนรู้การป้องกันและกำจัดอย่างถูกวิธีซึ่งมีหลายวิธีมากให้ประยุกต์ใช้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมีตลอดครับเพราะเห็นว่าการทำนาหว่านบางคนพ่นยาคุมฆ่าหญ้า 2 ครั้งแต่บางคนพ่นเพียงครั้งเดียว ผมก็พ่นเป็นครั้งเดียวครับ นาปีนี้จะทำนาดำโดยไม่ใช้ยาคุมหญ้าผมก็เตรียมวิธีป้องกันและกำจัดไว้แล้วเช่นกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 22:14:42
นี่ก็อีกวิธีนึงในการป้องกันครับ คือล่อให้ขึ้นแล้วทำลาย ได้ทั้งหญ้าและข้าวดีดข้าวเด้งครับ ผมไม่ได้ซื้อจอบหมุนมาใช้เพราะราคาแพง 4 หมื่นกว่าบาทเลยดัดแปลงใช้พวกนี้แทนลงทุนไม่เกิน 2 พันบาทครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2013, 22:26:07
นี่ก็อีกวิธีครับ คัดแล้วก็ถอนกำจัด  ค่อย ๆ ทำไปในการทำนาแต่ละครั้งก็จะช่วยลดปริมาณหญ้าวัชพืชในครั้งถัดไปได้ เพราะเมล็ดหญ้าไม่ร่วงในนามันก็น้อยลงไปทุกปี ๆ ผลผลิตข้าวก็ได้ดีขึ้นเพราะไม่มีวัชพืชไปแย่งอาหารกับต้นข้าว

ภาพนี้เป็นตอนทำนา ปี 2554 ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มีนาคม 2013, 13:04:12
มาต่อเรื่อง ตุ๊หล่างครับ

unG4VCTz17A


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 12 มีนาคม 2013, 15:46:29
ดูแล้วคิดถึงตอนเด็กๆ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 12 มีนาคม 2013, 18:20:22
เข้ามาติดตามอ่านเจ้า อยากลองนาโยน แต่เห็นเครื่องปลูกของคูโบต้า ก็โอเคเลยเจ้า กำจัดหญ้าง่าย ยังไม่รู้เลยจะทำยังไง ดินก็โดนสารเคมีมาตลอด ลองศึกษาไปก่อนเจ้า ไว้ลงมือจริงๆ ดรีมก็ขอคำปรึกษาด้วยเน้อเจ้า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มีนาคม 2013, 21:54:06
เข้ามาติดตามอ่านเจ้า อยากลองนาโยน แต่เห็นเครื่องปลูกของคูโบต้า ก็โอเคเลยเจ้า กำจัดหญ้าง่าย ยังไม่รู้เลยจะทำยังไง ดินก็โดนสารเคมีมาตลอด ลองศึกษาไปก่อนเจ้า ไว้ลงมือจริงๆ ดรีมก็ขอคำปรึกษาด้วยเน้อเจ้า

หากมีอะไรช่วยได้ก็ยินดีให้คำปรึกษาครับ  แต่ระดับลูกศิษย์อาจารย์เดชา ศิริภัทธแล้วไม่น่าธรรมดาแล้วครับ ความรู้น่าจะแน่นมาก ๆ โดยเฉพาะเป็นเด็กรุ่นใหม่แล้วน่าจะเรียนรู้ได้เร็วครับ หายากครับเด็กผู้หญิงที่สนใจการทำนาทำเกษตรทั้งที่ไม่ได้เรียนจบมาด้านนี้ครับ  รถดำนาคุยกับ Sale และคนใช้เค้าบอกว่าถ้าเป็นรุ่นเดินตามระบบไม่ซับซ้อน การซ่อมบำรุงดูแลรักษาง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่หากเป็นรุ่นนั่งขับระบบค่อนข้างซับซ้อนกว่ามากหากหมดหน้าทำนาแล้วจะต้องน้ำเข้าศูนย์เพื่อตรวจเช็ค ใจจริงก็อยากดำนาด้วยแรงงานคนครับตามวิถีคนไทยดั้งเดิม แต่เราจะทำคนเดียวยี่สิบกว่าไร่ก็ไม่ไหว สังคมแถวบ้านก็เปลี่ยนไปชาวนาดั้งเดิมมีอายุมาก การลงแขกมีไม่ค่อยมาก คนส่วนใหญ่ทำนาหว่านกัน อยากทำนาแบบปลอดภัยโดยเลือกทำนาดำเลยต้องพึ่งเทคโนโลยีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มีนาคม 2013, 21:58:42
เดชา ศิริภัทร
ลูกศิษย์ของข้าว ครูของชาวนา

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: กรกช นาวานุเคราะห์

(http://www.trueplookpanya.com/data/product/uploads/other3/IMG_6664_forweb.JPG)

“งานอะไรก็ตามเริ่มต้นโดยไม่เบียดเบียนทั้งตนเองทั้งคนอื่นก่อน แต่ที่ดีกว่านั้นคือต้องเป็นประโยชน์ทั้งตัวเองและคนอื่นด้วย”

บัณฑิตจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลูกชายเจ้าของโรงสีและเจ้าของที่ดินผู้มีฐานะในจังหวัดสุพรรณบุรี หันหลังจากธุรกิจฟาร์มเกษตรที่สร้างกำไรไม่น้อย เพื่อทุ่มเทชีวิตให้กับการพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เพียงเพราะอยากใช้หนี้บุญคุณข้าวและชาวนา เขาเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนชาวนาที่มุ่งปลูกจิตสำนึกให้ชาวนาประกอบอาชีพอย่างมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เห็นถูกต้องตามทำนองครองธรรม อันหมายถึงการไม่ใช้สารเคมีที่ทำลายระบบธรรมชาติที่ตนเองพึ่งพาอยู่ สร้างผลผลิตโดยไม่ยึดเพียงผลกำไร ใช้ชีวิตบนวิถีแห่งความพอเพียง

20 กว่าปีที่ผ่านมาในฐานะชาวนา นักพัฒนา และนักวิจัยข้าว อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ องค์กรอิสระที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุ์ข้าวและพืชพื้นบ้าน และค้นคว้าวิจัยเพื่อหาทางเลือกทดแทนสารเคมี ไม่เพียงเป็นผู้สร้างเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกที่เข้มแข็ง แต่ยังเป็นต้นแบบของบุคคลผู้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและมีความสุขอย่างแท้จริง

ทราบมาว่าจุดเปลี่ยนในชีวิตและเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เกิดจากการบวชทดแทนบุญคุณคุณแม่
ผมไปบวชเพราะแม่เสีย ผมเป็นลูกที่ยังไม่ได้บวช แม่อยากให้บวชตั้งแต่ท่านยังอยู่ ผมคิดว่าการจะบวชให้แม่ต้องบวชสักพรรษาหนึ่งถึงจะได้บุญ ไม่ใช่บวชแค่ 2-3 วัน และก็ต้องหาอาจารย์ที่ดีๆ ด้วย ก็เลยไปเลือกสวนโมกข์ซึ่งต้องรอหนึ่งปีเพราะปีนั้น พ.ศ. 2519 มันเต็มแล้ว ผมจึงต้องบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ก่อนจนได้ไปอยู่ที่นั่น เลยทำเต็มที่ ซึ่งการทำเต็มที่ในฐานะพระจึงเปลี่ยนชีวิตไปเลย เพราะชีวิตพระมีศีลต้องระวังเยอะ ฉันมื้อเดียว นอนหมอนไม้ เดินเท้าเปล่า วิถีชีวิตแบบนี้ทำให้เห็นว่าแม้จะกินน้อยใช้น้อยเราก็ไม่ลำบากเท่าไหร่ เราก็มีความสุขและมีเวลาเหลือด้วย ผมคิดว่าเราเบา เราโปร่ง ไม่อยากได้มากมายอะไรไม่เหมือนตอนก่อนบวช พอสึกมาแล้วก็คิดว่าถ้าเรามีชีวิตแบบเบาๆ ก็น่าจะดี และถ้าอยากได้บุญมากต้องไม่ใช่แค่บวช แต่ต้องไปช่วยคนด้อยโอกาสหรือมีทุกข์เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมไปด้วย ท่านพุทธทาสสอนไว้ว่าการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว ให้ทำเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านไปพร้อมกัน

งานที่ถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านและช่วยเหลือสังคมสำหรับสุพรรณบุรีก็คือชาวนา ครอบครัวผมมีโรงสีมาตั้งแต่สมัยปู่และที่บ้านมีนาเยอะ พ่อมีนา 8,000 ไร่ให้เขาเช่า เพราะฉะนั้นเราจึงเกี่ยวข้องกับชาวนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ก็เลยตัดสินใจทำเรื่องข้าวกับชาวนาเพราะเรารู้จักดีแล้วปัญหามันก็เยอะด้วย เป็นสิ่งที่เรามีพื้นฐานอยู่แล้วแม้จะไม่ได้เรียนเรื่องข้าวมาแต่เรียนเกษตรก็ปรับกันได้

การทำงานพัฒนาเรื่องข้าวกับชาวนาเน้นประเด็นเรื่องใดเป็นหลัก
มูลนิธิข้าวขวัญเน้นการทำงานแบบแก้ปัญหา ก็เหมือนอริยสัจ 4 นั่นแหละ ทุกข์ ต้นเหตุแห่งทุกข์ เป้าหมายที่จะพ้นทุกข์ และทางพ้นทุกข์ การทำงานเพื่อจะแก้ทุกข์ของชาวนาก็ต้องดูว่าชาวนามีทุกข์อะไรบ้าง เช่น เขามีหนี้สิน เขาไม่มีที่ดิน หรือว่าเขาทำนาต้นทุนสูง เขาใช้สารเคมีอันตราย เราเห็นสาเหตุแห่งทุกข์ส่วนหนึ่งคือการทำนาไม่เป็น ใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานโรคจึงต้องใช้ปุ๋ยเยอะ ต้นทุนก็สูง คุณภาพข้าวก็ไม่ดี ขายได้ราคาถูก เราหาวิธีแก้คือการพัฒนาเทคนิคเกษตรอินทรีย์และทดสอบจนได้ผล แล้วเอาไปเผยแพร่ ต้องใช้เวลาหน่อยแต่แก้ปัญหาได้จริงที่ต้นเหตุ

(http://www.trueplookpanya.com/data/product/uploads/other3/IMG_6688_forweb.JPG)

เทคนิคเกษตรอินทรีย์คืออะไร และมีการถ่ายทอดความรู้อย่างไรคะ
อธิบายง่ายที่สุดคือใช้แต่สารอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี เกษตรอินทรีย์เน้นเรื่องการบำรุงดินและให้พืชหรือสัตว์อุดมสมบูรณ์โดยผ่านดิน คือให้ดินดีก่อนแล้วทุกอย่างดีหมด จริงๆ โรงเรียนชาวนาไม่ได้สอนเรื่องเทคนิคหรอก เพราะเทคนิคเราอบรมแค่ 2-3 วันก็ได้แล้ว มันไม่ได้ยาก แต่เราต้องการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนทิฐิ หรือสมัยนี้เขาเรียกว่ากระบวนทัศน์ เราก็เอาเทคนิคที่ได้มาเป็นหลักสูตรให้ชาวนาลงมือทำในนาตัวเอง เปรียบเทียบวิธีเดิมของเขา แล้วเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่าแบบไหนดี แล้วเขาจะสรุปกับเพื่อนชาวนาด้วยกัน กระบวนการนี้เรียกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาจะทำให้ทิฐิกลายเป็นสัมมาทิฐิ การเปลี่ยนความคิดจึงใช้เวลาเยอะ ตั้งแต่ปลูกจนเก็บเกี่ยว แต่จะเห็นอะไรดีไม่ดีทั้งหมด

นอกจากความรู้ อาจารย์ยังเน้นเรื่องการปรับทัศนคติชาวนาด้วย
ถ้ามองแบบสมัยใหม่ ข้าวก็คืออาหารชนิดหนึ่ง ถ้ามองแบบนักเศรษฐศาสตร์ก็คือสินค้าชนิดหนึ่ง ถ้ามองแบบนักมนุษยวิทยาก็คือตัวแทนของเทพชั้นสูงที่มีความเมตตาต่อมนุษย์อย่างสูง เทพของคนไทยก็มีสามแม่ แม่ธรณี แม่คงคา และแม่โพสพ ถ้าเราเห็นว่าข้าวเป็นแม่เราจะปฏิบัติต่อท่านอีกแบบหนึ่ง เราต้องกตัญญู ไม่ทำร้าย ทอดทิ้งท่าน แต่ชาวนาปัจจุบันเห็นข้าวเป็นสินค้า หวังจะเอาเงินอย่างเดียว จึงใช้สารพิษและเทคนิคที่ทำลายทั้งน้ำ ดิน และข้าวอย่างไม่มีจิตสำนึก ตัวเขาเองก็ไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูก สุดท้ายก็ยากจนเอง ความจริงคือเขาอกตัญญูและถูกลงโทษนั่นแหละ ลูกหลานก็ดูถูกไม่อยากเป็นชาวนา คำที่เคยยกย่องว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ คนก็ไม่ยกย่องแล้ว เขาเรียกว่ารากหญ้าไปหมดแล้ว วิธีกู้ศักดิ์ศรีคืนมาคือต้องบำรุงรักษาแม่ให้ดีเหมือนเดิม

เด็กรุ่นใหม่ยังคงมองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เงินน้อย
เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น แต่จริงๆ เกษตรกรที่ทำได้ดีก็จะมีฐานะ อย่างลูกศิษย์เราบางคนทำกำไรได้ปีละเป็นล้าน อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพกลางๆ อยู่ที่เกษตรกรเองว่าจะทำอาชีพอย่างถูกต้องหรือชำนาญหรือเปล่า แต่อาชีพเกษตรกรมีความพิเศษคือเป็นอาชีพที่สร้างอาหาร ซึ่งอาหารเป็นปัจจัยสี่ของมนุษย์และเป็นปัจจัยแรกที่มีความสำคัญ ดังนั้นเกษตรกรจึงเป็นอาชีพที่จำเป็นมาก แล้วเกษตรกรนี่เป็นอาชีพอิสระ พึ่งตัวเองได้มากที่สุด เพราะอาชีพอื่นเอาเงินมาแล้วไปซื้ออาหารกินใช่ไหม แต่เกษตรกรเก็บไว้กินได้เอง จะขายหรือไม่ขายก็ได้ หรือถ้าทำแค่พออยู่พอกิน เราสามารถทำอาชีพอื่นควบคู่ไปได้ด้วย

จากโรงเรียนชาวนา เราควรจะพัฒนาการเรียนการสอนวิชาเกษตรศาสตร์ไปในรูปแบบไหน
เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการไม่ทำลายของเดิม แต่ต้องทำให้ของเดิมดีขึ้นแล้วใช้เป็นฐาน อยู่ในโลกที่เป็นหนึ่งเดียวแต่มีความเป็นเอกลักษณ์ รักษาจุดแข็งเราไว้ เราส่งออกข้าวเป็นที่หนึ่ง ส่งออกมัน ยางพารา เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ส่งออกอาหารมากที่สุดในโลกทั้งที่เป็นประเทศเล็กๆ ออสเตรเลีย แคนาดา อเมริกา บราซิล ส่งออกมากเป็นเรื่องธรรมดา แสดงว่าเราเก่งเรื่องเกษตรกรรม สามารถพัฒนาโดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่หรือแรงงานมากมาย ในอนาคตเราไม่ต้องส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งก็ได้ แต่ทำอย่างไรให้ข้าวของเรามีคุณภาพที่สุดในราคาต่ำสุด การเรียนการสอนสมัยใหม่ต้องตั้งเป้าให้ชัดเจนก่อน เพราะเรื่องพวกนี้ไม่ได้ยากเลยแค่หาตัวอย่างที่ดี

เพิ่งมีข่าวว่าอินโดนีเซียขาดแคลนข้าว จะมีวันที่เราเป็นแบบนั้นไหม
ผมเคยไปอินโดนีเซีย มีตั้งเป็นหมื่นเกาะ บางเกาะก็ไม่เคยกินข้าวมาก่อน วัฒนธรรมชวาเป็นวัฒนธรรมที่แข็งกว่าจึงเผยแพร่วัฒนธรรมการกินข้าวไปให้เกาะอื่นๆ พอคนหันมากินข้าวมากขึ้น พื้นที่ปลูกข้าวก็เลยไม่พอ จริงๆ เราไม่ต้องให้ทุกคนกินข้าวก็ได้ พื้นที่นั้นเหมาะสมจะปลูกอะไรก็พัฒนาไปตามนั้น หากรณรงค์ให้ทุกคนกินข้าวกันหมดต้องมีปัญหาแน่ เพราะข้าวไม่ได้ปลูกกันได้ทุกที่ ข้าวต้องการน้ำเยอะ ผลผลิตก็จำกัด แต่พูดถึงว่าคนที่เคยกินข้าวไปแล้วจะเปลี่ยนยาก เพราะมันเป็นวัฒนธรรม

สำหรับบ้านเราคิดว่าคงไม่ขาดแคลนข้าวหรอก เพราะพบว่าสถิติคนเกิดมีน้อยลง ประชากรไม่มีทางถึง 80 ล้านคน คิดว่าไม่ถึง 50 ปีประชากรไทยจะเหลือเพียง 50 ล้านคน เพราะปกติข้าวมันเหลืออยู่แล้วประมาณ 10 ล้านตัน ปีหนึ่งเราผลิตข้าวได้ 20 ล้านตัน ในปริมาณที่ผลิตในปัจจุบันนี้เรามีข้าวพอสำหรับ 120 ล้านคน เพราะฉะนั้นโอกาสจะขาดแคลนข้าวมีน้อย เพียงแต่เราจะเอาพื้นที่นาไปทำอย่างอื่นมากกว่า

(http://www.trueplookpanya.com/data/product/uploads/other3/IMG_6653_forweb.JPG)

ถ้าปีนี้น้ำท่วมอีกล่ะคะ
เขาก็ต้องไปปลูกข้าวตอนหน้าน้ำไม่ท่วม ปัจจุบันภาคกลางน้ำท่วมทุกปี ต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ อย่าไปสู้ หน้าน้ำก็ปล่อยท่วม เราก็ไปทำอาชีพอื่นเสีย อย่างปลูกผัก ถ้าน้ำท่วมเราก็ปลูกบนน้ำก็ได้ ที่พม่า ทะเลสาบอินเลย์ก็มีการปลูกผักลอยน้ำกันมานานแล้ว เราจับปลา ปลูกผัก น้ำแห้งก็ปลูกข้าว เพราะน้ำท่วมทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น ธาตุอาหารก็จะเพิ่มขึ้น คือไม่ว่าอย่างไรคนไทยก็ต้องเกี่ยวพันกับข้าว เป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิต

เราบริโภคข้าวมาเป็นหมื่นๆ ปี ข้าวกลายเป็นเทพเจ้าคือพระแม่โพสพ ข้าวเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมทุกขั้นตอน อย่างเช่นประเพณีทางอีสาน ทั้ง 12 เดือนจะมีข้าวเกี่ยวข้องทุกเดือนเลย ข้าวเป็นยิ่งกว่าอาหาร ถ้าไม่มีข้าว วัฒนธรรมเราจะเปลี่ยน ชาติก็จะสูญ เราจะขาดชาวนากับข้าวไปไม่ได้ ญี่ปุ่นก็เป็นเหมือนเรา รัฐบาลจะอุ้มชาวนาเท่าไหร่ก็ต้องอุ้ม แม้แต่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างญี่ปุ่นยังต้องรักษาข้าวไว้ เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับเรื่องความเป็นชาติด้วย

อาจารย์ยึดคติธรรมใดในการทำงาน
“ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน” นี่แหละ หมายถึงว่าทำอะไรก็ตามแต่ หากถึงพร้อมด้วยประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ถือว่าเป็นการงานที่ดี เป็นงานที่ปฏิบัติธรรมไปด้วย แต่ยังไม่เลวเท่ากับเบียดเบียนนะ ประโยชน์ตรงข้ามกับเบียดเบียน งานบางอย่างเบียดเบียนตัวเอง อย่างอบายมุขทั้ง 6 หรือการเอาเปรียบผู้อื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ไม่ดี งานอะไรก็ตามเริ่มต้นโดยไม่เบียดเบียนทั้งตนเองทั้งคนอื่นก่อน แต่ที่ดีกว่านั้นคือต้องเป็นประโยชน์ทั้งตัวเองและคนอื่นด้วย เป็นหลักธรรมเบื้องต้นเลย แล้วเราก็ไปหาว่างานที่ไม่เบียดเบียนนั้นควรจะทำอะไรได้บ้าง อันนั้นปรับได้แล้วแต่ว่าเราจะมีความสามารถแบบไหนไปให้ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

ท่านพุทธทาสท่านบอกว่าคนต้องรู้ว่าเกิดมาทำไม แล้วท่านก็เฉลยว่าเกิดมาเพื่อจะยกระดับจิตวิญญาณของเราให้สูงขึ้น หรือทำให้ทุกข์น้อยลงจนกระทั่งความทุกข์ไม่เหลือเลย อันเดียวกันนั่นแหละ เพราะทำให้ตัวตนเราน้อยลง ซึ่งก็คือนิพพาน ชีวิตเราควรจะมีเป้าหมายให้ชัดแล้วเราก็ทำตามเป้าหมายไปเรื่อยๆ กระทั่งบรรลุนั่นแหละ ชาตินี้ชาติไหนก็แล้วแต่ เกิดมาแต่ละชาติก็ควรยกระดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันจบ ไม่ใช่อยู่กับที่หรือถอยหลัง

เราจะพัฒนาวิถีชีวิตอย่างเป็นสุขจนไปสู่เป้าหมายสุดท้ายอย่างไร
เราไม่ต้องรีบมากก็ได้ ฝรั่งบอกว่ามนุษย์มีชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 ปี ทีแรกผมก็ยังนึกไม่ออก ก็เราเรียนจบอายุ 21 แล้วก็ทำงานแต่งงานมีลูก มันจะไม่เริ่มได้อย่างไร ความจริงไม่หรอก ผมเปลี่ยนงานตั้งสี่งานจนกระทั่งตั้งมูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อปี 2532 ผมอายุ 41 ซึ่งยังช้าไปปีหนึ่งเลย ถ้าเกิดอายุ 20 แล้วไปตั้งหลักปักฐานไม่ใช่หรอก คุณต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวพออายุ 40 ปีคุณก็จะฉลาดเอง ถ้าไม่เปลี่ยนมันไม่ฉลาด

ชีวิตคนต้องมีประสบการณ์ตรง ไม่ต้องกลัวจะหมดโอกาส หาตัวเองให้เจอเมื่อไหร่ เราก็จะเริ่มต้นชีวิตได้ ต้องหาอะไรที่เหมาะกับเรา ทำแล้วต้องมีความสุข เหมือนกับว่าเราต้องการจะไปถึงยอดเขาซึ่งมีอยู่ลูกเดียว เรามองไม่เห็นคนอื่นหรอก เราเดินจากฝั่งเรา นึกว่าขึ้นได้ทางเดียว แต่ไม่จริงหรอก คนอื่นก็ขึ้นได้ แต่มันเหมาะกับคนอื่นไง เราไปอยู่บนยอดเขาเมื่อไหร่เราจะเห็นได้ทุกทาง แต่ตอนอยู่เชิงเขาเรามองได้แคบมาก ทีนี้เรามีพื้นฐานอะไรก็ไปทางที่จะง่ายกับเรา หรือถ้าไม่ได้ก็เปลี่ยนได้ แต่มันจะช้าหน่อย แต่ถ้าอายุ 40 ยังไม่เจอนี่โง่กว่าปกติ ถ้าอายุ 40 ปีหาตัวเองเจอแล้วเดินตามทาง ชีวิตอีกครึ่งชีวิตนี้ก็ไม่หลงแล้ว ครึ่งชีวิต 40 ปีแรก หาความรู้ เตรียมเสบียงให้พร้อม พอถึง 40 ปุ๊บออกเดินเลย จนถึงอายุ 80 ก็พอแล้ว ก็บรรลุเป้าหมายของชาตินี้ไป ถ้าเราสนุกไปวันๆ เดี๋ยวก็ 40 แล้ว เสียเวลาไปชาติหนึ่ง

แหล่งที่มา :   นิตยสาร plook


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มีนาคม 2013, 22:04:10
ดูแล้วคิดถึงตอนเด็กๆ ;D

เหมือนกันครับ สังคมภาคอีสาน ในหมู่บ้านรอบนอกยังคงวิถีดั้งเดิมไว้ค่อนข้างดีครับ อยากไปเที่ยวดูงานทางภาคอีสานเหมือนกันครับแต่ระยะทางไกลมาก ๆ ไปทีต้องใช้เวลาหลายวันทีเดียว  ทุกวันนี้เลยต้องพึ่งอินเตอร์เน็ตแทนครับในการศึกษาหาความรู้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มีนาคม 2013, 22:08:08
เมื่อแม่โพสพตาย
ชาวนาก็กลายเป็นลูกกำพร้า

“เดชา ศิริภัทร"

(http://www.trueplookpanya.com/data/product/uploads/other4/decha_posop.jpg)

ในบรรดากว่าร้อยละ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของคนไทยซึ่งเป็นเกษตรกรนั้น ชาวนานับเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด และทรงความสำคัญต่อประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเกือบ ๓ ทศวรรษแห่งการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชาวนาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน จนอาจกล่าวได้ว่าใกล้ถึงจุดวิกฤตอยู่แล้ว โดยเฉพาะชาวนาในเขตเกษตรก้าวหน้าซึ่งมีการชลประทานและส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคเหนือ เราจะลองพิจารณาดูปัจจัยบางประการซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของชาวนาดังกล่าวตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน

ชาวนา: หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน
เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆแล้ว จะพบว่าชาวนามีลักษณะพิเศษต่างไปจากเกษตรกรอื่นๆอยู่บางประการ เช่น ในขณะที่ชาวไร่หมายถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชไร่ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น ข้าวโพด อ้อย ปอแก้ว หรือมันสำปะหลัง ฯลฯ และชาวสวนหมายถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชสวน ซึ่งก็มีอยู่หลายชนิด เช่น ผักชนิดต่างๆ หรือผลไม้ยืนต้นหลายชนิด เป็นต้น แต่สำหรับชาวนาแล้วหมายถึงเพียงเฉพาะเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวเท่านั้น

สำนวน“หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน”นับว่าเป็นสำนวนที่แสดงให้เห็นลักษณะของชาวนาโดยแท้ เพราะชาวนาจะต้องก้มหน้าลงดินและหันหลังสู้ฟ้าอยู่เสมอ ตั้งแต่เริ่มปักดำต้นข้าวไปจนถึงการเก็บเกี่ยว และเมื่อพิจารณาสำนวนนี้ให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่า ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างชาวนา ข้าว และฟ้าดิน ซึ่งหมายถึงธรรมชาติทั้งมวลนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากวิถีชรวิตของชาวนาในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการผลิตข้าวและกับฤดูกาลของแต่ละท้องถิ่น

แม่โพสพ: มารดาของชาวนา
เมื่อชาวนาคือผู้เพาะปลูกข้าวเท่านั้น จึงเท่ากับว่าหากไม่มีข้าวก็ไม่มีชาวนา ข้าวจึงเป็นผู้ให้กำเนิดชาวนาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะชาวนาไทยซึ่งเพาะปลูกข้าวมานานควบคู่กับประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย

ในหนังสือ เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีตของดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ขึ้นต้นบทแรกด้วยข้อความ“ชนเผ่าไทยทำนาเป็นหลัก เริ่มทำในที่ดอน แต่ต่อมาเคลื่อนย้ายมาทำในที่ลุ่มมากขึ้นเป็นลำดับ” ลักษณะสำคัญของชนเผ่าไทยดังกล่าว แม้ในปัจจุบันก็ยังคงดำรงอยู่ เช่น ไทยอาหมในประเทศอินเดีย ชาวไทยสิบสองปันนาในประเทศจีน ชาวไทยใหญ่ในประเทศพม่า และชาวไทยดำในประเทศเวียดนาม เป็นต้น ต่างยังคงทำนาเป็นหลักด้วยกันทั้งสิ้น

นอกจากนั้น การค้นพบทางโบราณคดียังบ่งชี้ว่า มีการเพาะปลูกข้าวในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปี ที่บ้านโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น ซึ่งนับว่าเป็นหลักฐานการเพาะปลูกข้าวอันเก่าแก่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็มีหลักฐานใหม่ๆซึ่งแสดงว่าชนชาติไทยกำเนิดขึ้นและอาศัยอยู่ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันตลอดมาตั้งแต่เดิม มิได้อพยพมาจาก“เทือกเขาอัลไต”ดังที่เคยเชื่อกัน

ดังนั้นจึงน่าเชื่อว่า คนไทยได้อาศัยเพาะปลูกข้าวอยุ่ในบริเวณนี้มานานนับพันปีแล้ว และเมื่อมีการจารึกอัการไทยเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงสุโขทัย ก็มีข้อความตอนหนึ่งว่า “เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” คำกล่าวในจารึกภาษาไทยซึ่งมีอายุ ๗๐๐ ปีแล้วนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความผูกพันของข้าวที่มีต่อคนไทยได้อย่างชัดเจน

จากความใกล้ชิดผูกพันระหว่างข่าวกับคนไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตอันยาวนานนี่เอง ทำให้คนไทยยกย่องและเคารพรักข้าวยิ่งกว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารชนิดใดๆ โดยเห็นจากคำเรียกข้าวอย่างเคารพว่า“แม่โพสพ” และมีพิธีกรรม ประเพณีต่างๆเกี่ยวกับข้าวอยู่มากมาย เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกราขวัญ พิธีทำขวัญข้าวเมื่อข้าวตั้งท้อง พิธีรับข้าวเข้ายุ้งฉางหลังการเก็บเกี่ยว และการทำความเคารพระลึกถึงคุณพระแม่โพสพก่อนรับประทานข้าว เป็นต้น

ดิน น้ำ ข้าว และชาวนา
เกษตรกรไทยในอดีตมีความเคารพนับถือธรรมชาติเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะดินและน้ำซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในโลกใบนี้ รวมทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารให้อุดมสมบูรณ์ ดังจะเห็นได้จากคำเรียกดินและน้ำว่า “แม่ธรณี” และ “แม่คงคา” รวมทั้งวิธีการปฏิบัติต่อดินและน้ำอย่างเคารพยกย่องในฐานะผู้มีพระคุณ

สำหรับชาวนา นอกจาก“แม่ธรณี”และ“แม่คงคา”แล้ว ยังมี “แม่โพสพ”ซึ่งเปรียบเสมือนมารดาของชาวนาโดยตรงอีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่าง “แม่ทั้งสาม”กับชาวนานั้น มีมากกว่าความสัมพันธ์ในระบบการผลิตและการบริโภคเท่านั้น เพราะยังรวมถึงวิถีการดำรงชีวิตทั้งหมดของชาวนาที่ได้รับการปรับให้สอดคล้องกันมานานนับร้อยนับพันปีอีกด้วย

เมื่อความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องสมดุล ก็มีผลให้ทุกสิ่งดำเนินไปเป็นปกติ แต่หากมีส่วนใดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่ถูกต้องหรือเสียสมดุล ก็จะทำให้ระบบความสัมพันธ์ดังกล่าวพังทลายลง เกิดเป็นปัญหาและอาจร้ายแรงจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ได้ ดังเช่นที่เกิดกับชาวนาในปัจจุบัน

ความสมดุลในระบบการทำนาดั้งเดิม
ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องวิกฤตการณ์ของชาวนาในปัจจุบัน เราจะย้อนกลับไปดูระบบการทำนาดั้งเดิมซึ่งมีความสมดุลเป็นปกติอยู่ได้นับร้อยๆกว่าปีว่าเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น การทำนาในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางซึ่งน้ำท่วมถึง บริเวณจังหวัดอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี เป็นต้น ชาวนาในเขตดังกล่าวจะไถนาเตรียมดินโดยใช้แรงงานควาย แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านประมาณเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นต้นฤดูฝน น้ำจะเอ่อท่วมแปลงนาในเดือนตุลาคม ซึ่งอาจท่วมสูงถึง ๒-๕ เมตร พันธุ์ข้าวพื้นเมืองจะยืดตัวสูงพ้นน้ำได้เรื่อยๆ จนกระทั่งระดับน้ำเริ่มลดลงและแห้งในเดือนมกราคมเป็นต้นไป ชาวนาก็เริ่มจะเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งสุกเต็มที่ในบริเวณที่ดอนซึ่งน้ำแห้งก่อน ไปจนถึงบริเวณที่ลุ่มซึ่งน้ำแห้งหลังสุด การที่ข้าวสุกไม่พร้อมกันก็เนื่องจากชาวนาเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่อายุสั้น เก็บเกี่ยวได้ก่อนในที่ดอน และเลือกใช้พันธุ์ข้าวอายุยาวเก็บเกี่ยวได้ทีหลังในบริเวณที่ลุ่ม พันธุ์ข้าวอายุสั้นเรียกว่า “ข้าวเบา” และพันธุ์อายุยาวเรียกว่า “ข้าวหนัก” การเลือกใช้พันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ นอกจากจะลดความเสียหายและเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยวแล้ว ยังเป็นการกระจายแรงงานให้ใช้ได้เต็มที่ โดยไม่ต้องหาแรงงานเพิ่มเติมอีกด้วย

จะเห็นว่าในระบบนี้ ชาวนาต้องมีพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและรู้จักสภาพพื้นที่และระดับน้ำ ระยะเวลาของแต่ละฤดูกาลอย่างละเอียด ซึ่งทั้งพันธุ์ข้าวและความรู้ต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วคน กล่าวเฉพาะพันธุ์ข้าวพื้นบ้านก็ถูกคัดเลือกเก็บรักษาไว้ในแต่ละท้องถิ่น รวมแล้วนับพันหมื่นสายพันธุ์ โดยชาวนาในแต่ละท้องถิ่นต่างก็คัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับความต้องการและสภาพท้องถิ่นของตน เช่น ชาวนาในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางที่น้ำท่วมถึงก็จะคัดพันธุ์ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวที่ขึ้นน้ำได้ แข่งขันกับวัชพืชได้ดีเพราะใช้วิธีหว่านไม่มีมาตรการควบคุมวัชพืชเหมือนนาดำ ต้านทานต่อโรคและแมลงในท้องถิ่น เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชใดๆ ไม่ต้องการปุ๋ยมากเพราะไม่ใส่ปุ๋ยเคมีทุกชนิด ต้นข้าวได้รับปุ๋ยจากจากดินตะกอนซึ่งน้ำพัดพามาทับถมทุกปี ดินตะกอนเหล่านี้ก็คือดินซึ่งน้ำพัดพามาจากแหล่งต้นน้ำลำธารอันอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ในภาคเหนือนั่นเอง

เมื่อทุกอย่างมีความสมดุล ชาวนาก็ดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข แม้จะไม่ร่ำรวย เพราะได้ผลผลิตไม่มากนัก แต่ชาวนาในอดีตก็พึ่งตนเองในชุมชนได้สูง มีปัจจัยที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตครบถ้วน นอกจากนั้นยังมีเวลาและทรัพยากรเหลือพอสำหรับการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวนาไทยในแต่ละท้องถิ่นขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลง: ผลิตข้าวเพื่อส่งออก
อาจกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของชาวนา โดยเฉพาะที่ราบลุ่มภาคกลาง เกิดขึ้นเนื่องจากการเปิดประเทศภายหลัง “สนธิสัญญาเบาริ่ง”ในปี ๒๓๙๘ นับเป็นการเปิดศักราชการผลิตข้าวเพื่อการส่งออกขายต่างประเทศอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการหักล้างถางพงในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางเพื่อเพิ่มพื้นที่การทำนา ช่วงต่อมาได้ขยายตัวไปถึงภาคเหนือด้วย หลังจากการคมนาคมทางรถไฟทำได้สะดวก มีการขุดคลองแยกจากแม่น้ำเพื่อนำน้ำไปใช้ทำนาเพื่อขึ้น เช่น การขุดคลองรังสิต เป็นต้น ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นกรมชลประทานขึ้น รับผิดชาอบในการสร้างเขื่อนและคูคลองเพื่อนำน้ำมาใช้ในการเกษตรโดยเฉพาะซึ่งส่วนใหญ่ก็นำมาใช้ทำนานั้นเอง

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ๒๕ ปีที่ผ่านมา เมื่อการทำนาได้รับการพัฒนาโดยเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ทั้งจากสถาบันระหว่างประเทศ เช่น สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์และจากหน่วยงานภายในประเทศไทยของเราเอง เช่น กรมการข้าว เป็นต้น

แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงนั้นเกิดจากตัวชาวนาเองซึ่งเปลี่ยนทัศนคติและจุดมุ่งหมายจากการผลิตข้าวเพื่อบริโภคเองเป็นหลัก (เมื่อเหลือบริโภคจึงแลกเปลี่ยนหรือขายเพื่อให้ได้ปัจจัยการดำรงชีวิตที่จำเป็นอย่างครบถ้วน) กลายมาเป็นการมุ่งผลิตเพื่อขายเป็นหลัก ดังนั้นข้าวจึงกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่งไม่แตกต่างไปจากสินค้าชนิดอื่นๆซึ่งผลิตออกมาเพื่อขาย ชาวนาจึงไม่มีความสัมพันธ์กับข้าวในฐานะลูกของ “แม่โพสพ” ดังเช่นในอดีตอีกต่อไป ทั้งนี้รวมถึงความสัมพันธ์กับ “แม่ธรณี”และ “แม่คงคา”ซึ่งเคยมีความสมดุลก็สูญสลายไปด้วยเช่นเดียวกัน

จากเมล็ดข้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตร
ระบบการเกษตรก็เช่นเดียวกับระบบอื่นๆทั่วไปนั่นเอง กล่าวคือ ประกอบด้วยส่วนต่างๆซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างแน่นแฟ้น เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปก็จะมีผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆ ทำให้ระบบทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะพบได้ในระบบเกษตรกรรมปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากระบบเกษตรกรรมในอดีตมากมาย การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือมาประมาณ ๕๐ ปี และเกิดขึ้นในทวีปอื่นๆรวมทั้งเอเชียเมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า “การปฏิวัติเขียว” นั่นเอง

การปฏิวัติเขียวเริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์พื้นบ้านดั้งเดิมให้กลายเป็นพืชหรือสัตว์พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง โดยการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมโดยเฉพาะพืชหรือสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด มันฝรั่ง หมู ไก่ และวัว เป็นต้น

สำหรับการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ข้าว เริ่มโดยการตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ(International Rice Research Institute-IRRI) ขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี ๒๕๐๓ ซึ่งอีก ๓ ปีต่อมาก็ผลิต “ข้าวมหัศจรรย์”เผยแพร่ออกมาได้ นั่นคือข้าวพันธุ์ไออาร์ ๘ (IR8) หลังจากนั้นก็ผลิตข้าวไออาร์หมายเลขต่างๆออกมาอีกหลายสิบชนิดจนกระทั่งปัจจุบัน

ในประเทศไทยก็มีวิธีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเช่นกัน จนได้พันธุ์ข้าว กข. (ย่อมาจาก “กรมการข้าว”) หมายถึงเลขต่างๆตั้งแต่กข.๑ จนถึง กข.๒๕ เป็นอย่างน้อย ซึ่งเมื่อได้พันธุ์ข้าวใหม่ๆที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าวพันธุ์พื้นบ้านแล้วก็เผยแพร่ออกสู่ชาวนาไทยโดยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวของกรมส่งเสริมการเกษตร หลักการใหญ่ๆของโครงการนี้คือ พยายามเพิ่มพูนพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ออกไปให้ได้มากที่สุด และลดพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมลงให้เหลือน้อยที่สุด(หรือหมดไปเลย) โดยชักชวนให้ชาวนานำพันธุ์ข้าวพื้นบ้านมาแลกเปลี่ยนเป็นพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ไปปลูกแทน ซึ่งชาวนาส่วยใหญ่ให้ความร่วมมือด้วยดี เพราะต้องการได้ผลผลิตสูงขึ้น

แต่การเปลี่ยนแปลงพันธุ์ข้าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเพราะผลผลิตมิได้เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มปัจจัยการผลิตอื่นๆที่จำเป็นอย่างครบถ้วนทั้งระบบ เช่น การใส่ปุ๋ย การใช้สารฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช การเตรียมดิน และชลประทานที่พอเพียง เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ชาวนาก็เปลี่ยนจากการพึ่งตนเองได้สูง มาเป็นการพึ่งภายนอกมากขึ้นทุกที ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ราคาข้าวตกต่ำลง สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวณเสื่อมโทรมลง วิถีชีวิตของชาวนาเปลี่ยนไป จนกระทั่งมีหนี้สินพอกพูนยิ่งขึ้นทุกที ถึงจุดที่เกือบจะเรียกได้ว่า “วิกฤตการณ์” ในปัจจุบัน

แม่โพสพตายแล้ว: ชาวนาคือลูกกำพร้าที่ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้
เมื่อมองสภาพชาวนาไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะชาวนาในเขตเกษตรก้าวหน้าซึ่งมีการชลประทาน จะเห็นว่ากำลังอยู่ในวิกฤตการณ์ ทั้งจากราคาข้าว ต้นทุนการผลิตการพึ่งพาภายนอก ทั้งการผลิต การตลาด และการบริโภค ฯลฯ การอยู่รอดของชาวนาจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและจริงจัง ทั้งระบบการผลิต และการดำเนินชีวิตของชาวนาเองเป็นอันดับแรก หรืออาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมดเลยก็ได้ เมื่อมองในระยะยาว

ในอดีต ชาวนาเคยมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขร่วมกับ “แม่โพสพ” “แม่ธรณี” และ “แม่คงคา” แต่ปัจจุบันชาวนามีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะ “แม่โพสพ”ตายจากไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อชาวนาเห็นว่าข้าวเป็นเพียง “สินค้า” เช่นเดียวกันกับ “แม่ธรณี” และ “แม่คงคา” ก็ตายจากไปด้วยสารพิษนานาชนิดที่ชาวนาใส่ลงไปอย่างไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา บัดนี้ชาวนาจึงกลายเป็นลูกกำพร้าที่ขาดพ่อแม่และไม่มีญาติมิตรเหลืออยู่เลย จะมีก็แต่ผู้คอยจ้องหาผลประโยชน์ด้วยการเอาเปรียบอยู่รอบข้าง
ชาวนาในฐานะลูกกำพร้าจึงต้องหาทางพึ่งตนเองให้ได้ ด้วยการตัดสินใจเลือกเดินทางที่ถูกต้อง และอดทนต่อสู้กับความยากลำบากต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุดโดยไม่ย่อท้อหรือหวังการช่วยเหลือจากผู้ใดทั้งสิ้น ถือเสียว่า เมื่อก่อกรรมใดย่อมได้ผลกรรมนั้นตอบแทน

ทั้งนี้เพราะชาวนานั่นเองที่เป็นผู้ทำให้ “แม่โพสพ” ต้องตายจากไป ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาก็ตาม
 

ปาจารยสาร ปี ๑๔ ฉบับที่ ๒ มีนาคม-เมษายน ๒๕๓๐


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มีนาคม 2013, 12:36:12
ช่วงนี้ค่อนข้างเน้นศึกษาเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวดูรายการนี้ก็มีสาระความรู้ดีทีเดียวครับ ควรดูให้จบนะครับ

กบนอกกะลา ตอนข้าวของแผ่นดิน

l2Qn56KZFBM


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มีนาคม 2013, 14:17:42
ต่ออีกหน่อยให้จบ เป็นตอนที่ออกอากาศเมื่อ 08 ธันวาคม 2549  ก็ 6 กว่าปีมาแล้วครับ

MWDDmwZcjcI


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 13 มีนาคม 2013, 20:38:40
เข้ามาติดตามอ่านเจ้า อยากลองนาโยน แต่เห็นเครื่องปลูกของคูโบต้า ก็โอเคเลยเจ้า กำจัดหญ้าง่าย ยังไม่รู้เลยจะทำยังไง ดินก็โดนสารเคมีมาตลอด ลองศึกษาไปก่อนเจ้า ไว้ลงมือจริงๆ ดรีมก็ขอคำปรึกษาด้วยเน้อเจ้า

หากมีอะไรช่วยได้ก็ยินดีให้คำปรึกษาครับ  แต่ระดับลูกศิษย์อาจารย์เดชา ศิริภัทธแล้วไม่น่าธรรมดาแล้วครับ ความรู้น่าจะแน่นมาก ๆ โดยเฉพาะเป็นเด็กรุ่นใหม่แล้วน่าจะเรียนรู้ได้เร็วครับ หายากครับเด็กผู้หญิงที่สนใจการทำนาทำเกษตรทั้งที่ไม่ได้เรียนจบมาด้านนี้ครับ  รถดำนาคุยกับ Sale และคนใช้เค้าบอกว่าถ้าเป็นรุ่นเดินตามระบบไม่ซับซ้อน การซ่อมบำรุงดูแลรักษาง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่หากเป็นรุ่นนั่งขับระบบค่อนข้างซับซ้อนกว่ามากหากหมดหน้าทำนาแล้วจะต้องน้ำเข้าศูนย์เพื่อตรวจเช็ค ใจจริงก็อยากดำนาด้วยแรงงานคนครับตามวิถีคนไทยดั้งเดิม แต่เราจะทำคนเดียวยี่สิบกว่าไร่ก็ไม่ไหว สังคมแถวบ้านก็เปลี่ยนไปชาวนาดั้งเดิมมีอายุมาก การลงแขกมีไม่ค่อยมาก คนส่วนใหญ่ทำนาหว่านกัน อยากทำนาแบบปลอดภัยโดยเลือกทำนาดำเลยต้องพึ่งเทคโนโลยีครับ
ตอนไปมูลนิธิข้าวขวัญไม่เจออ.เดชาอะเจ้า อ.เดชา ไปดูงานที่ไตหวัน แต่ก็ได้ความรู้ได้มิตรภาพที่ดีๆเจ้า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 13 มีนาคม 2013, 21:14:25

ก่อนข้าวตั้งท้องใส่ปุ๋ยสูตรอะไรดีครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มีนาคม 2013, 21:56:15
เข้ามาติดตามอ่านเจ้า อยากลองนาโยน แต่เห็นเครื่องปลูกของคูโบต้า ก็โอเคเลยเจ้า กำจัดหญ้าง่าย ยังไม่รู้เลยจะทำยังไง ดินก็โดนสารเคมีมาตลอด ลองศึกษาไปก่อนเจ้า ไว้ลงมือจริงๆ ดรีมก็ขอคำปรึกษาด้วยเน้อเจ้า

หากมีอะไรช่วยได้ก็ยินดีให้คำปรึกษาครับ  แต่ระดับลูกศิษย์อาจารย์เดชา ศิริภัทธแล้วไม่น่าธรรมดาแล้วครับ ความรู้น่าจะแน่นมาก ๆ โดยเฉพาะเป็นเด็กรุ่นใหม่แล้วน่าจะเรียนรู้ได้เร็วครับ หายากครับเด็กผู้หญิงที่สนใจการทำนาทำเกษตรทั้งที่ไม่ได้เรียนจบมาด้านนี้ครับ  รถดำนาคุยกับ Sale และคนใช้เค้าบอกว่าถ้าเป็นรุ่นเดินตามระบบไม่ซับซ้อน การซ่อมบำรุงดูแลรักษาง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่หากเป็นรุ่นนั่งขับระบบค่อนข้างซับซ้อนกว่ามากหากหมดหน้าทำนาแล้วจะต้องน้ำเข้าศูนย์เพื่อตรวจเช็ค ใจจริงก็อยากดำนาด้วยแรงงานคนครับตามวิถีคนไทยดั้งเดิม แต่เราจะทำคนเดียวยี่สิบกว่าไร่ก็ไม่ไหว สังคมแถวบ้านก็เปลี่ยนไปชาวนาดั้งเดิมมีอายุมาก การลงแขกมีไม่ค่อยมาก คนส่วนใหญ่ทำนาหว่านกัน อยากทำนาแบบปลอดภัยโดยเลือกทำนาดำเลยต้องพึ่งเทคโนโลยีครับ
ตอนไปมูลนิธิข้าวขวัญไม่เจออ.เดชาอะเจ้า อ.เดชา ไปดูงานที่ไตหวัน แต่ก็ได้ความรู้ได้มิตรภาพที่ดีๆเจ้า

ที่มูลนิธิมีอาจารย์เก่ง ๆ หลายท่านครับ แถมได้เจอคุณ ชัยพร ชาวนาเงินล้านด้วยก็คุ้มมากแล้วครับ อยากไปเหมือนกันยังหาโอกาสไปอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มีนาคม 2013, 22:48:39

ก่อนข้าวตั้งท้องใส่ปุ๋ยสูตรอะไรดีครับ ;D

ตอบยากเหมือนกันครับ... เพราะถ้าจะถูกต้องจริง ๆ แล้วต้องใส่ปุ๋ยตามผลที่ได้จากวิเคราะห์ค่าดิน ใส่ปุ๋ยสูตรเหมือนกัน ปุ๋ยถุงเดียวกัน ใส่จำนวนเท่ากัน ข้าวพันธุ์เดียวกัน แต่แปลงนาคนละที่ก็ให้ผลต่างกันครับ  ถ้าหากตามกรมการข้าวแนะนำคือ

สูตรปุ๋ย                                                             ข้าวไวต่อช่วงแสง ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง
ปุ๋ยรองพื้น ระยะ 20 วันหลังหว่าน   (16-20-0, 18-46-0) 25 กิโลกรัมต่อไร่     30 กิโลกรัมต่อไร่
ปุ๋ยแต่งหน้า ระยะแตกกอสูงสุด      (46-0-0)               5 กิโลกรัมต่อไร่       10 กิโลกรัมต่อไร่
ปุ๋ยแต่งหน้า ระยะกำเนิดช่อดอก     (46-0-0)               5 กิโลกรัมต่อไร่       10 กิโลกรัมต่อไร่

สมัยก่อนปุ๋ย K แทบไม่ต้องใส่เพราะมีอยู่ในดินเหนียวอยู่แล้วแต่สำหรับนาที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีมานานทำให้อินทรีย์วัตถุในดินมีน้อยลง โครงสร้างดินเปลี่ยนไป ธาตุ K อาจไม่เพียงพอกับความต้องการของต้นข้าว ดังนั้นในดินขาดธาตุอะไรก็ต้องเติมธาตุนั้นให้ตามความต้องการ ชาวนาจึงนิยมใส่ปุ๋ยช่วงก่อนข้าวออกรวง 30 วันหรือช่วงระยะตั้งท้องเป็นสูตร 15-15-15 เพราะเป็นการตีค่าเฉลี่ยเพราะไม่รู้ว่าในนาของตัวขาดธาตุอาหารอะไรครับและเห็นผลว่าดี  แต่ก็สิ้นเปลืองพอสมควร ปุ๋ยสูตรนี้แพงกว่าปุ๋ยสูตรอื่นแต่โดยรวมแล้วมีข้อดีกว่าการใส่สูตร 46-0-0 อย่างเดียวครับ

- ไนโตรเจนเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบหลักของเซลล์พืชทำหน้าที่หลายอย่างทั้งการสร้าง ซ่อมแซม และการสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำหรับการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบของต้นพืช
- ฟอสฟอรัสเป็นธาตุสำคัญในการผลิตหน่วยให้พลังงานที่เรียกว่า ATPซึ่งจำเป็นสำหรับระยะที่พืชจะกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเจริญพื้นฐานให้พัฒนาเป็นตาดอก ทำให้เกิดดอกจำนวนมากได้แก่เมล็ดข้าว
- ส่วนโพแทสเซียมเป็นธาตุที่สำคัญ ในกระบวนการลำเลียงสารระหว่างเซลล์ดังนั้นเมื่อเร่งจนได้ดอกปริมาณมากแล้ว การที่จะทำให้สารอาหารที่พืชสร้างไว้มาหล่อเลี้ยงดอกและผลได้เต็มที่ทำให้ดอกผลสวยงาม จึงจำเป็นที่จะต้องเสริมธาตุโพแทสเซียม เพื่อสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวนั่นเองสำหรับต้นข้าวคือจะช่วยเมล็ดเต็มและมีน้ำหนักมากขึ้น

ถ้าตามวิธีผมนะครับ ผมใส่ปุ๋ยอาจจะต่างกับชาวนาท่านอื่น ๆ ครับแต่ก็ช่วยให้ผมประหยัดปุ๋ยได้มากเหมือนกันครับ

ระยะ 20 วัน  ควรบำรุง  P - K เพื่อช่วยการสร้าง ลำต้น ใบ และราก 5-10 กก/ไร่

ระยะ แตกกอ  เน้นปุ๋ย N เพื่อเร่งสร้างลำต้นและเสริมสร้างใบ เป็นหลักแต่ควรบำรุง P เสริมด้วย 5-10 กก/ไร่

ระยะก่อนออกรวง   ให้ปุ๋ย N เล็กน้อยเพื่อให้คอรวงเตรียมรับน้ำหนักรวงข้าวได้แต่ไม่ควรมากไม่งั้นลำต้นและใบข้าวจะเขียวนานเกินไปไม่ยอมแก่เก็บเกี่ยวได้ช้า   ให้ P เป็นหลักเพื่อเสริมให้ออกรวงได้เมล็ดมาก ๆ ให้ K เสริมเพื่อช่วยในกระบวนการสะสมแป้งให้เมล็ดเต็มและมีน้ำหนักครับ  10-15 กก/ไร่

การผสมปุ๋ยสูตรก็น่าจะดีครับเช่น  16-20-0  ผสมกับ 15-15-15  ก็ได้ครับเพราะปุ๋ย 16-20-0 จะมีราคาถูกกว่าปุ๋ย 15-15-15


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มีนาคม 2013, 12:34:15
หนังสั้นสะท้อนชีวิตชาวนาไทยในชนบทคงมีหลายครอบครัวที่เป็นแบบนี้ 

4hNbk0yNgJk


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มีนาคม 2013, 15:57:43
คนไร้สารปุ๋ยอินทรีย์ เผื่อใครจะสนใจเก็บไว้อ่านครับ

http://www.banboon.org/pdf/07_humus.pdf (http://www.banboon.org/pdf/07_humus.pdf)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มีนาคม 2013, 16:00:45
คนทำนา ข้าวอินทรีย์และเทคนิคการปลูกข้าวแบบปักเดี่ยว

ดาวน์โหลด  http://www.banboon.org/pdf/03_rice.pdf (http://www.banboon.org/pdf/03_rice.pdf)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มีนาคม 2013, 16:27:46
คราวก่อนมีคนสนใจครับ  เลยนำมาลงเพิ่มให้ครับ

คนติดดิน บ้านดิน ปั้นฝัน ปั้นดินให้เป็นบ้าน

ดาวน์โหลด  http://www.banboon.org/pdf/06_home.pdf (http://www.banboon.org/pdf/06_home.pdf)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มีนาคม 2013, 22:02:18
ช่วงนี้นาบางแปลงอาจพบวัชพืชขึ้น บางชนิดก็ออกดอกแล้วหากเป็นไปได้ควรถอนกำจัดครับ หากมีมากชาวนาบางคนมักจะใช้วิธีพ่นยากำจัดวัชพืชครับซึ่งก็เป็นการทำลายระบบนิเวศน์อย่างหนึ่ง  แปลงนาผมก็มีขึ้นบ้างแต่ไม่มากก็ใช้วิธีการถอนกำจัดครับส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณริมคันนาบริเวณน้ำไม่ค่อยถึงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2013, 13:38:40
หนังสือสำหรับชาวนา  หายากครับที่จะสอนทุกอย่างในเล่มเดียวจบ อย่างพวกแมลงศัตรูข้าวและแมลงที่เป็นประโยชน์ยังต้องศึกษากันเป็นเล่นเลย

http://ag-ebook.lib.ku.ac.th/ebooks/2011-004-0148/index.html#/1/ (http://ag-ebook.lib.ku.ac.th/ebooks/2011-004-0148/index.html#/1/)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2013, 15:57:31
สัมมนาพิเศษเรื่องข้าว “ทิศทางข้าวไทยในปี 2556” 18 ก.พ. 2556

    มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดสัมมนาพิเศษเรื่องข้าว ภายใต้หัวข้อ “ทิศทางข้าวไทยในปี 2556” โดยมีผู้ร่วมอภิปราย คือ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ (นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ) ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร (นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) และ ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ (อุปนายก สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย) ในวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม 701 ชั้น 7 อาคารวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ
    ผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาทั้งสิ้น 89 คน มาจากองค์กรภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องข้าว
ไฟล์แนบ ประกอบด้วย
หลักการและกำหนดการ   http://www.thairice.org/doc_dl/032013/principles.doc (http://www.thairice.org/doc_dl/032013/principles.doc)
ประวัติผู้บรรยาย และผู้ดำเนินรายการ  http://www.thairice.org/doc_dl/032013/bio.zip (http://www.thairice.org/doc_dl/032013/bio.zip)
Power point ของบทบรรยาย
ตลาดส่งออกข้าวไทย:การก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤตไทย โดย รศ.สมพร อิศวิลานนท์ http://www.thairice.org/doc_dl/032013/ppt-a.ppt (http://www.thairice.org/doc_dl/032013/ppt-a.ppt)
ทิศทางข้าวไทยในปี 2556 โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร  http://www.thairice.org/doc_dl/032013/ppt-b.pdf (http://www.thairice.org/doc_dl/032013/ppt-b.pdf)
ภาพจากการสัมมนาฯ  http://www.thairice.org/doc_dl/032013/seminar-img.doc (http://www.thairice.org/doc_dl/032013/seminar-img.doc)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2013, 19:28:27
 :D....ภาพนาปรังที่เก็บไว้เมื่อวันที่12เมษายนปี2555ครับ.....ปลายเดือนนี้-ต้นเดือนหน้า...คงได้ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายละครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2013, 19:30:19
 :D...เห็นควันโขมงนั่น...ไม่รู้ใครแอบเผานะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2013, 19:41:42
:D....ภาพนาปรังที่เก็บไว้เมื่อวันที่12เมษายนปี2555ครับ.....ปลายเดือนนี้-ต้นเดือนหน้า...คงได้ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายละครับ...

ข้าวงามที่ดินสวยน้อครับใกล้หมู่บ้านแหมกำราคาคงแพงน้อครับ  ผมก็คงได้ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายปลายเดือนนี้เหมือนกั๋นครับเดือนเมษานี้คงได้เห็นรวงข้าวแล้ว  ช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. นี้เป็นช่วงโอกาสทองของการกุ๋มถ่านขนาดเลยน้อครับ ควันนักขนาดครับแถวบ้านผมก็นักเหมือนกุ๋มกั๋นนักครับ ช่วงนี้แกลบตามโรงสีปอบ่าค่อยมีเลยครับ  แล้วข้าวธัญสิริน ตอนนี้พอยังเหลือพันธุ์ข้าวไว้อยู่ก่อครับ :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2013, 20:02:19
:D....ภาพนาปรังที่เก็บไว้เมื่อวันที่12เมษายนปี2555ครับ.....ปลายเดือนนี้-ต้นเดือนหน้า...คงได้ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายละครับ...

ข้าวงามที่ดินสวยน้อครับใกล้หมู่บ้านแหมกำราคาคงแพงน้อครับ  ผมก็คงได้ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายปลายเดือนนี้เหมือนกั๋นครับเดือนเมษานี้คงได้เห็นรวงข้าวแล้ว  ช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. นี้เป็นช่วงโอกาสทองของการกุ๋มถ่านขนาดเลยน้อครับ ควันนักขนาดครับแถวบ้านผมก็นักเหมือนกุ๋มกั๋นนักครับ ช่วงนี้แกลบตามโรงสีปอบ่าค่อยมีเลยครับ  แล้วข้าวธัญสิริน ตอนนี้พอยังเหลือพันธุ์ข้าวไว้อยู่ก่อครับ :D  :D

 :D...ธัญญสิรินหมดแล้วครับ...เหลือไว้พอทำเมล็ดพันธุ์นาปีเองครับ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2013, 20:30:29
:D....ภาพนาปรังที่เก็บไว้เมื่อวันที่12เมษายนปี2555ครับ.....ปลายเดือนนี้-ต้นเดือนหน้า...คงได้ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายละครับ...

ข้าวงามที่ดินสวยน้อครับใกล้หมู่บ้านแหมกำราคาคงแพงน้อครับ  ผมก็คงได้ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายปลายเดือนนี้เหมือนกั๋นครับเดือนเมษานี้คงได้เห็นรวงข้าวแล้ว  ช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. นี้เป็นช่วงโอกาสทองของการกุ๋มถ่านขนาดเลยน้อครับ ควันนักขนาดครับแถวบ้านผมก็นักเหมือนกุ๋มกั๋นนักครับ ช่วงนี้แกลบตามโรงสีปอบ่าค่อยมีเลยครับ  แล้วข้าวธัญสิริน ตอนนี้พอยังเหลือพันธุ์ข้าวไว้อยู่ก่อครับ :D  :D

 :D...ธัญญสิรินหมดแล้วครับ...เหลือไว้พอทำเมล็ดพันธุ์นาปีเองครับ....

นาปีนี้ตอนเกี่ยวเสร็จขอแบ่งซื้อน้อยเน้อครับ ว่าจะมาลองปลูกแถวบ้านดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2013, 20:32:02
แหล่งความรู้ดี ๆ ที่อยากให้ชาวนารุ่นใหม่ได้ศึกษากันครับ


http://www.brrd.in.th/library/index.php?option=com_content&view=section&id=4&Itemid=37 (http://www.brrd.in.th/library/index.php?option=com_content&view=section&id=4&Itemid=37)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2013, 21:50:23
หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมของไทยที่เกิดจากข้าวครับครับ

ดาวน์โหลด http://library.doae.go.th/multimedia/018395.pdf (http://library.doae.go.th/multimedia/018395.pdf)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 19:58:15
ไม่ได้อัพกระทู้ไป 1 วันครับ  วันเสาร์เป็นเกษตรกรเต็มตัวครับ วันอาทิตย์ก็จะเป็นวันกึ่งพักผ่อนเก็บแรงไว้ทำงานจันทร์ต่อครับ

กิจกรรมวันเสาร์ครับ เผื่อใครจะสนใจทำบ้าง

เพาะพันธุ์ต้นไม้ครับ เผื่อนำไปปลูก ประหยัดค่าต้นพันธุ์ครับส่วนใหญ่หาในบ้าน บางทีนกก็นำมาปลูกให้บ้างครับ

ต้นมะขามขึ้นจากเมล็ดเป็นมะขามหวานแน่นอนเพราะซื้อมากินก็ทิ้งเมล็ดไว้ตามพื้นงอกขึ้นมา ต้นแมคคาเดเมียร์ ก็มีครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 20:10:41
ต้นนี้เห็นใคร ๆ ก็อยากได้ ต้นทุเรียนเทศ ผลใกล้เก็บกินได้แล้วว่าจะนำมาเพาะเมล็ดอยู่ครับ

ทุเรียนเทศ
 Sour Sop, Durian belanda
 ทุเรียนน้ำ (ภาคใต้), ทุเรียนแขก (ภาคกลาง), มะทุเรียน (ภาคเหนือ)
  
 ทุเรียนเทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลคล้ายทุเรียนสีเขียวสด แต่เปลือกไม่มีหนามแหลมและนิ่มเมื่อสุก ดอกมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงบ่าย เนื้อในผลมีรสหวานอมเปรี้ยวเป็นเส้นใยเกาะกันเหนียวแน่น

เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กแตกกิ่งก้านค่อนข้างมาก ลำต้นมีความสูง 5 – 6 เมตร มีงานวิจัยมาว่า เป็นผลไม้พื้นเมืองในประเทศฟิลิปปินส์ (แต่เคยได้ยินว่ามีพบในเมืองไทยด้วย ตามต่างจังหวัด) ซึ่งสามารถพบได้ในบราซิลด้วย ซึ่งเรียกว่า Graviola เป็นผลไม้ขนาดใหญ่กว่าฝรั่งไม่มาก แต่ไม่เท่าส้มโอ มีหนามแต่ไม่แหลม คนฟิลิปปินส์จะรับประทานน้ำจากผลไม้ ซึ่งมีผลการรับรองจากแล็บมากมายว่าผลไม้ชนิดนี้สามารถช่วยในการ...ฆ่าเซลส์มะเร็งกว่า 12 ชนิดซึ่งรวมถึง มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกมาก มะเร็งปอด และมะเร็งตับอ่อน

ผลจากการรับประทานยาที่สกัดจากทุเรียนน้ำ หรือการนำใบของทุเรียนเทศมาต้มเป็นชาแล้วรับประทาน จะช่วยในการฆ่าเซลส์มะเร็ง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำคีโมถึง 10,000 เท่า แต่จะไม่ทำร้ายเซลส์ดีในร่างกาย ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผลไม้มหัศจรรย์นี้จะช่วยสู้เซลส์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดการคลื่นเหียนวิงเวียน หรือเกิดอาการผมร่วงเหมือนกับการทำคีโม เพราะส่วนผสมนั้นเป็นธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่มีเคมีใดๆ และช่วยป้องกันระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและไม่ก่อนให้เกิดการติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยที่รับประทานยาสกัดจากทุเรียนน้ำนั้นมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น ช่วยให้มีกำลังวังชา บางงานวิจัยก็ว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการรับประทานทุเรียนเทศกับโรคพาร์คินสัน เพราะทุเรียนเทศมีannonacinซึ่งเป็นสาเหตุของโรคนี้สูง

แต่ผมว่ากินก็อร่อยดีครับต้นนึงจะให้ผลไม่มากครับส่วนใหญ่ต้นจะขึ้นใกล้ๆ น้ำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 20:15:55
เป็ดน้อยที่เลี้ยงไว้ อนาคตอาจได้ไปวิ่งเล่นบนแปลงนาข้าวครับ ตอนนี้โตขึ้นมาก เป็ดกินเก่งแต่กินง่ายครับ เลี้ยงง่าย  หากในบ้านมีการปลูกผัก ปลูกต้นกล้วยครับนำหยวกกล้วยมาผสมกับรำอ่อน หรือผัก เศษข้าวก็ได้เป็ดกินเรียบครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 20:21:30
ทำอะไรที่บ้านกว่าจะเสร็จครับไปนาตอนบ่ายครับ  เห็นข้าววัชพืชครับออกรวงแล้วอยู่ต้นนึงเลยถ่ายรูปให้ดูชัด ๆ ครับ จะเห็นเกสรตัวผู้ครับ เห็นแบบนี้ค่อยเข้าใจวิธีการผสมพันธุ์ข้าวง่ายขึ้น การเขี่ยเชื้อเกสรตัวผู้และฆ่าเชื้อด้วยอุณภูมิความร้อนที่พอเหมาะและนำเกสรตัวผู้กับอีกสายพันธุ์เข้ามาใส่เพื่อให้ผสมกับเกสรตัวเมียครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 20:24:55
หลังจากนั้นทำแกลบดำครับเพื่อใช้ในการเพาะต้นข้าวในอนาคตส่วนหนึ่งก็ไว้ปลูกต้นไม้ในบ้านบ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 20:28:17
ระหว่างรอให้แกลบไหม้ ก็ใส่ปุ๋ยครับเลือกใส่เฉพาะบริเวณที่ต้นข้าวโตไม่ทันเพื่อเร่งให้พร้อมสำหรับการตั้งท้องในไม่ช้าครับปลายเดือนก็จะต้องใส่ปุ๋ยในช่วงข้าวตั้งท้องเตรียมออกรวงแล้วครับ 22 ไร่หมดปุ๋ยไป 1 กส.ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 20:43:48
ระหว่างนั้นไฟที่แกลบเริ่มติดมากขึ้นครับ ควันจะเริ่มเยอะมากขึ้น ข้อดีของควันคือการขับไล่แมลงครับ  แมลงส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบควันเท่าไหร่ควันคลุมเต็มพื้นที่นาครับทั้งสองฝั่งแล้วแต่ลมจะพัดไปทางไหนครับ   แน่นอนว่าการเผาไหม้ของแกลบจะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีส่วนช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชแทบทุกชนิด

นั่นแน่นอนว่าถ้าเพิ่มความเข้มของแก๊ส คาร์บอนไดออกไซด์  ( C02)   ให้แก่พืช อัตราการ สังเคราะห์ด้วยแสงก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่วิธีนี้ทำสุ่มสี่สุ่มห้าเดี๋ยวจะโดนชาวบ้านด่ามิใช่น้อยครับ แปลงนาควรจะอยู่ไกลชุมชนพอสมควร การทำควรทำในช่วงมีแดดพอสมควร มีน้ำในแปลงนาครับ ทำแกลบดำผมใช้เวลาทำประมาณ 3 ชั่วโมงแกลบ 10 กส.จะเหลือแกลบดำ 4 กส. ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 20:48:14
ในรูปอาจดูว่าควันไม่เยอะครับ แต่จริง ๆ ควันเยอะมากน่าจะกระจายเกินพื้นที่นา 22 ไร่ไปนาข้าง ๆ เลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 20:50:40
แมลงปอบินหาอาหารให้วุ่นเลย..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 20:53:33
หากแกลบดำได้ที่แล้วก็นำน้ำมาดับครับ รอให้เย็นก็ตักใส่กระสอบได้เลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 21:02:16
แปลงนาของเพื่อนที่อยู่ใกล้ๆ กันครับหว่านวันเดียวกันพบว่ามีหญ้าเกิดขึ้นค่อนข้างพอสมควร การใช้ยาคุมหญ้าแต่ละยี่ห้อผมว่ามีผลพอสมควรครับ  บางคนทำตามขึ้นตอนหมดแต่มีหญ้าขึ้น นาอีกฝั่ง 9 ไร่ของผมพ่นยาคุมเสร็จฝนตกอย่างหนักแต่ก็ไม่พบหญ้ามากมาย พบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็พยายามหาคำตอบเหมือนกันครับว่าอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยในการควรคุมหญ้าอีก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 21:08:40
ช่วงนี้ระแวกบ้านผ่านแปลงนาคนอื่นที่หญ้ามีมาก ๆ ก็ถ่ายรูปไว้ครับ ที่จริงอยากแวะคุยกับเจ้าของนาเหมือนกันว่าใช้วิธีในการคุมหญ้าอย่างไร ใช้ยาอะไร เพื่อจำมาเป็นความรู้ครับแต่มักไม่ค่อยเจอเจ้าของนาครับ ในรูปเป็นวัชพืชขึ้นทั้งนาหว่านและนาโยนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 21:10:46
หากใครได้พ่นยากำจัดวัชพืชรอบสองก็จะเห็นเป็นสีเหลือง ๆ แบบนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 21:15:10
วันนี้ได้มีโอกาสปั่นจักรยานเที่ยวแถว อ.พานครับ ปั่นมาทางแม่คาวโตนครับ ถ่ายรูปท้องนามาฝากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 21:21:16
มาถูกใจก็แปลงนานี้แหล่ะครับ นาดำ ลำต้นและใบเขียวมีลักษณะตามต้นข้าวในหลักวิชาการ นาแปลงนี้ใช้วิธีการดำโดยรถดำนา เจ้าของแปลงนาคงมีทักษะพอสมควรไม่แน่ใจว่ามีการคุมหญ้าด้วยเคมีหรือไม่เพราะไม่ค่อยเห็นมีหญ้าเลย ต้นข้าวแตกกอดี แม้ไม่มีน้ำต้นก็ยังเขียวสวยอยู่ ถ้าเจอเจ้าของคงได้คุยและนำความรู้มาแบ่งปันแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 21:25:00
ผ่านมาทางจะเข้าบ้านโป่งแดงก็จะเห็นป้ายนี้ครับ ใครสนใจก็คงตามเบอร์โทรตามป้ายเลยครับไม่รู้ว่าเค้ายังรับอยู่หรือป่าว ใครทราบเกี่ยวกับโครงการนี้ก็ขอช่วยแนะนำกันบ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มีนาคม 2013, 21:32:34
วันก่อนได้ลองตรวจสอบความงอกของข้าวพันธุ์ที่ได้ซื้อมา ข้าวหอมนิล และข้าวหอมมะลิแดงครับ การงอกค่อนข้างดีครับ เลยเอามาเพาะต่อเพื่อจะลงกระถางต่อไปครับลองทำตามวิธี SRI ดูว่าจะได้ผลเป็นยังไงบ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Kontae_ki ที่ วันที่ 18 มีนาคม 2013, 13:26:09


ข้อมูลแน่นเอี๊ยดเลย

ขอบคุณที่แบ่งปัน



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 18 มีนาคม 2013, 17:49:52


ข้อมูลแน่นเอี๊ยดเลย

ขอบคุณที่แบ่งปัน


ผมก็เข้ามาดูเป็นประจำละคับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2013, 10:42:45
ช่วงนี้ว่าจะนำข้อมูลวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวนาไทยมาลงครับ เผื่อชาวนารุ่นใหม่จะได้รู้จักกันครับ

เถียงนาน้อย

คือความงามคือความหมาย
เถียงนาน้อย : หมายถึงกระท่อมที่ชาวชนบทปลูกไว้ในที่นาของตนเองไว้เป็นที่พัก-หลับนอนเมื่อมีภารกิจในการทำนา และภารกิจอื่น

เถียงนาน้อย : คือบ้านหลังที่สองของชาวนาในภาคอิสาณ
ที่มีทุ่งนาอยู่ไกลบ้าน การเดินทางเช้าไป-เย็นกลับใช้เวลานานและไม่สะดวก จึงขนเอาอุปกรณ์ทำนา เครื่องยังชีพ สัตว์เลี้ยง ไปปักหลัก "นอนนา" โดยจะปล่อยให้ลูกคนโตอยู่ดูแลบ้าน ในหมู่บ้านถ้าบ้านใดเป็นครอบครัวเล็กก็จะฝากบ้านไว้กับตายาย หรือคนข้างบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน ช่วยดูแลแทน แล้วอพยพครอบครัวไปนอนทำนาจนแล้วเสร็จ จึงจะขนกลับ.... ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2013, 10:47:25
ชุมชนชาวนาที่ภาคเหนือตอนบน ถึงภาคเหนือตอนกลางตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขาอันอุดมสมบรูณ์เทือกเขาวางกั้นพื้นที่ราบให้แยกจากกัน หากเชื่อมร้อยกันด้วยระบบความสัมพันธ์ในรูปของเครือข่ายเหมืองฝายและเครือข่ายพระธาตุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางความศรัทธาของชุมชน พิธีกรรมข้าวในภาคเหนือ ก่อนการเพาะปลูก พิธีเลี้ยงผีขุนน้ำในช่วงก่อนฤดูเพาะปลูก ราวปลายฤดูแล้งหรือต้นฤดูฝนเกษตรกรจะร่วมกันประกอบพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ ซึ่งเป็นผีชั้นสูงทำหน้าที่ปกป้องรักษาคุ้มครองให้แหล่งน้ำมีน้ำไหลตลอดปีโดยมีแก่เหมืองหรือหัวหน้าเหมืองฝาย เป็นผู้ทำพิธีเพื่อขอให้ขุนน้ำดลบันดาลให้น้ำอุดมสมบรูณ์เพียงพอต่อการเกษตรตลอดฤดูกาล นับเป็นโอกาสที่หมูเกษตรกรผู้ใช้น้ำสายเดียวกันจะได้มาพบปะหารือกันก่อนถึงฤดูกาลทำงานเหมืองฝาย หรือฤดูการเพาะปลูกนั้นเอง

ช่วงเพาะปลูก พิธีแฮกนา

หมายถึง การไถนาครั้งแรก การแฮกนาให้นาไทถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และจะก่อให้เกิดศิริมงคล ที่ทำให้ข้าวงอกงามเต็มที่ โดยยึดถือปฏิทินสงกรานต์หรือปฏิทินปีใหม่เมืองซึ่งจะบอกให้ทราบว่าปีนั้นนาคให้น้ำกี่ตัวและหันหน้าไปทางทิศไดบ้าง การไถนาจะเริ่มจากทิศทางที่เป็นหัวนาคสู่ทิศที่เป็นหางนาค จากนั้นจะทำพิธีการหลกกล้า หรือถอนต้นกล้าข้าวและการปลูกนาหรือดำนาต่อไป

บำรุงรักษา

มีประเพณีการหลิมนาและหลกหญ้า การหลิมนา หมายถึงปลูกทดแทนหลังจากปลูกข้าวไปแล้ว 10-15 วัน เนื่องจากข้าวบางส่วนอาจถูกปู ปลา หรือเต่ากัดทำลาย ส่วนการ หลกหญ้า หมายถึง การถอนหญ้าที่ขึ้นแทรกอยู่ในกอข้าวให้หมด ซึ่งจะทำ 1-2 ครั้ง ในฤดูทำนาหนึ่ง ๆ

เก็บเกี่ยว

เมื่อข้าวสุกมีสีเหลืองแล้ว จะมีการเอามือหรือลงแขกเกี่ยวข้าว เคียวทางภาคเหนือจะโค้งน้อยกว่าใบเคียวทางภาคกลาง เพราะชาวนานิยมเกี่ยวข้าวชิดโคนต้น จะได้ฟางข้าวสำหรับให้วัวควายกินในฤดูแล้ง เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก่อนนวด จะทำพิธีสู่ขวัญข้าว อันเป็นการคารวะแม่โพสพหรือแม่โกสก เครื่องพลีกรรมประกอบด้วย พานบายศรีปากชามหรือบายศรีนมแมว 1 ชุด ไก้ต้ม 1 ชุด เหล้า 2 ไห ข้าวตอกดอกไม้ 3 ชุด ข้าวเหนียว 1 กระติบ หมากพลู เมี่ยง บุหรี่ 1 ชุด โดยมีเจ้าของนาหรือปู่จารย์ของหมู่บ้านเป็นผู้กล่าวคำสังเวย


แหล่งอ้างอิง : กรมวิชาการเกษตร. 2541. ข้าว...วัฒนธรรมแห่งชีวิต. สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร. หน้า 70-71.


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2013, 10:50:28
การใช้ควายเพื่อลากล้อเกวียนและเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับทำนา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2013, 10:52:41
เกวียนอีสาน

เกวียนเป็นพาหนะทำด้วยไม้ใช้ลากจูงด้วยแรงสัตว์ เช่นเทียมด้วยโคหรือกระบือ ประโยชน์ของเกวียนมีหลาย ประการคือ เป็นพาหนะโดยสารสำหรับเดินทางไกลเมื่อ
ไปเป็นกลุ่มเป็นพาหนะบรรทุกผลิตผลจากสวนไร่นาใปยัง เหย้าเรือนหรือตระเวนไปขายหรือแลกเปลี่ยนระหว่างหมู่ บ้าน เป็นพาหนะที่บรรทุกของที่หนักเช่น เสา ไม้ ดิน ทราย น้ำ เป็นพาหนะขนเสบียงอาหารและอาวุธในยามสงคราม และเป็นพาหนะลากหีบศพ เกวียนมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีหลักฐานปรากฎเด่นชัดกล่าวกันว่าภาพสลักหินเมืองพระนครประเทศกัมพูชามีรูป พระมหากษัตริย์ประทับนั่งพาหนะคล้ายเกวียนที่ใช้ในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือแถบลุ่มแม่น้ำมูล นอกจากนี้ศิลาจารึก สุโขทัยหลักที่สองหรือจารึกวัดศรีชุมกล่าวถึงพระมหาเถร ศรีศรัทธาราชจุฬามุนีโปรดให้หาบรรดาพระพุทธรูปที่แตก หักในท้องถิ่นต่างๆ ชักมาด้วยล้อด้วยเกวียนมาเก็บไว้ใน วิหารเมืองสุโขทัย ในประเทศจีนมีรูปจำลองของเกวียนใน
หลุมฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผู้รู้หลายท่าน กล่าวว่าเดิมทีมนุษย์ใช้แรงงานคนในการแบกหามสิ่งของ ต่อมามีความจำเป็นที่ตอ้งขนของที่ไกล ๆ จึงคิดทำล้อเลื่อน โดยใช้แรงคนลาก จากล้อเลื่อนจึงพัฒนาเป็นเกวียนที่ใช้สัตว์
ลากแทนแรงงานคน

เกียน  หรือ เกวียน  เป็นยานพาหนะใช้บรรทุกสิ่งของต่าง ๆ หรือเดินทางไกลรอนแรมไปตามเมืองต่างๆ ชาวอีสานรู้จักใช้รู้จักเกวียนกันมาตั้งแต่สมัยใดนั้นกำหนดไม้ได้เกวียนเป็นยานพาหนะล้อเลื่อนที่ใช้วัว  หรือควายลากจูง ทำจากไม้ประกอบเป็นเกวียน

        เกวียนใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกข้าว  สิ่งของไปจำหน่ายที่ตลาด  หรือขนย้ายหรือใช้เป็นยานพาหนะโดยสารในสมัยโบราณที่ยังไม่มีรถยนต์  รถไฟ  เหมือนในปัจจุบัน  ในหัวเมืองภาคอีสานก่อนรัชกาลที่ 5  นั้นจะมีเส้นทางเกวียนติดต่อกันระหว่างหมู่บ้าน  หรือระหว่างเมืองสู่เมืองดังที่สมเด็จมหาวีรวงศ์ ( อ้วน ติสโส )  สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศาจารย์เจ้าคณะมณฑล  อุบลราชธานี  ได้เขียนไว้ในกรมศิลปากร, ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ (โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์,พ.ศ. 2515  หน้า 392 ) ว่า “…ส่วนทาง ( ทางเกวียน ) ที่ใช้กันอยู่เวลานี้ ( สมัยรัชกาลที่ 6 ) เดินได้ถึงกัน เช่น  มณฑลร้อยเอ็ดไปนครราชสีมา  อุดรธานี  อุบลราชธานี  เกวียนนี้เป็นยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้าสำคัญกว่ายานพาหนะชนิดอื่นติดต่อกันในมณฑลภาคอีสาน  การบรรทุกถ้าเดินทางไกลตั้งแต่ 10 วันขึ้นไปบรรทุกน้ำหนักราว 3-4 หาบ ( หาบหนึ่งมีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ) ถ้าเดินทางวันเดียวหรือ 2 วัน บรรทุก 5 หาบ ขนาดเกวียนสูงจากพื้นดินประมาณ 2 ศอกเศษ  ตัวเกวียนกว้าง 1 ศอกเศษ  ยาวประมาณ 3 ศอกเศษ  ราคาซื้อขายกันตามราคา ตั้งแต่  20 บาทขึ้นไปถึง 50 บาท  ประทุนที่ใช้ประกอบราคาหลังละ 7-8 บาท ถ้าซื้อทั้งประทุนด้วยราคาก็เพิ่มขึ้นตามส่วน …”

เกวียนที่ใช้กันอยู่ในภาคอีสานนั้นมี 2 ชนิด คือ

        1)  เกวียนโกง  คือเกวียนที่มีแต่พื้นเกวียนวางแน่นอยู่บนวงล้อ  เทียมวัวควายลากเลื่อนไปได้  ครั้นเมื่อจะบรรทุกสิ่งของต้องมีกระบะสานด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่วางบนพื้นเกวียนสำหรับบรรจุสิ่งของ

        2)  เกวียนประทุน  คือเกวียนที่มีส่วนประกอบต่าง ๆ เหมือนเกวียนภาคกลางและเพิ่มประทุนวางครอบเพื่อกันแดดกับฝน  สำหรับให้ผู้นั่งโดยสารเดินทางไกล ๆ ประทุนเกวียนภาษาถิ่นอีสานเรียนกว่า “ พวง “


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2013, 14:51:37
ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวนี้เป็นประเพณีไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจที่มีการช่วยเหลือซึ่่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมและการขับร้องเพลงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผู้ที่ประกอบอาชีพทำนา

ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีที่เจ้าของนาจะบอกเพื่อนบ้านให่รู้ว่าจะเกี่ยวข้าวเมื่อใด และเมื่อถึงวันที่กำหนดเจ้าของนาก็จะต้องปักธงที่ที่นาของตนเพื่อให้เพื่อนบ้านหรือแขกที่รู้จะได้มาช่วยเกี่ยวได้ถูกต้องทั้งนี้เจ้าของนาจะต้องจัดเตรียมอาหาร คาวหวาน สุรา บุหรี่ น้ำดื่ม ไว้รองรับด้วย และในการขณะเกี่ยวข้าวก็จะมีการละเล่นร้องเพลงเกี่ยวข้องระหว่างหนุ่มสาวเป็นที่สนุกสนานและเพลิดเพลินเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อยได้

(http://1.bp.blogspot.com/-9af2BoNAxBs/ULIsBrh9NiI/AAAAAAAAAWU/I_mXUebXOzE/s400/168254.jpg)

ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีไทยอีกอย่างหนึ่งของชาวนาไทย ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากในสภาพปัจจุบัน ชาวอีสานส่วนใหญ่ จะเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี ดังนั้นในการทำกิจการ งานใดๆ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะทุกคนต่างมีน้ำใจให้กันและกัน ช่วยงานกันคนละมือละไม้ใช้เวลาไม่นานงานก็สำเร็จลุล่วงไปได้สมปรารถนา การทำงานแบบนี้ คนอีสานเรียกว่า “ลงแขก” การลงแขกในภาคอีสานก็คือการบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาช่วยทำงานนั่นเอง งานที่จะลงแขกกันนั้นอาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้ สำหรับงานส่วนตัวนั้นส่วนมากมักจะเป็นงานใหญ่สุดกำลังคนในครอบครัวจะทำได้ หรืออาจจะเป็นงานหนักแต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว จึงต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จสิ้นไปงานที่มักลงแขก เช่น การลงแขกทำนา ซึ่งมีการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกตีข้าว (นวดข้าว) เป็นต้น

นอกจากจะมีประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวแล้ว ยังมีประเพณีลงแขกทำนา ด้วยการทำนาเป็นงานหนักและในรอบปีหนึ่งต้องใช้ แรงงานมากถึง 4 วาระด้วยกันคือช่วงการดำนา การเกี่ยว การตี และเอาข้าวขึ้นเล้า ดังนั้นการทำงาน ทุกๆ ระยะ ชาวนาส่วนมากจะใช้วิธีการลงแขก อาศัยแรงจากญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยกัน เมื่อลงแขกในนาตนเสร็จก็เปลี่ยนไปลงแขกนาของคนอื่นๆ ต่อไปเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็น การแสดงน้ำใจที่มีให้กันและกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันลูกหลานคนหนุ่มสาวไปทำงานต่างถิ่น ปล่อยให้พ่อแม่และคนแก่อยู่บ้าน การลงแขกจึงยังมีความจำเป็นสำหรับชาวนา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2013, 15:36:51
ยาพิษในชีวิตประจำวัน

สารคดีท่องโลกกว้้าง ไทยพีบีเอส วันที่ 18 ตค 2555 ตอน ยาพิษ ในชีวิตประจำวัน หรือ our daily poison มอนซานโต ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หน่วยการกำหนดปริมาณสารเคมี ก่อมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งสมอง มะเร็งผิว

TveEvn96eAo


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2013, 16:30:48
เปิดปมชาวนายุคจำนำข้าว

hFSm7_lLDpw


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2013, 16:36:51
ชาวนายุคใหม่เมื่อเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น

480MdtKA1yk


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2013, 21:09:29
เรียบเรียงใหม่ครับ ...สารคดี ดีดีที่อยากให้ชมกันครับ

kNyg6_pAkBU

KhE30pSh7zc

_8kGCPbgb5E

yQb8a3kbpc4

fFDvbJTf2Xk

jpHkGPnVFyo

esG2si_R-Io

6U6Ooe7qQbk

RGIPfrMYSQk

Z3V92IQu0uw


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มีนาคม 2013, 22:19:37
พลังงานที่เกือบจะถูกลบเลือน คือเครื่องจักรไอน้ำครับ เห็นชาวนาจำนวนมากที่ต้องสูบน้ำเข้านาต้องสิ้นเปลืองเงินค่าน้ำมันเป็นจำนวนมากครับ ตอนนี้ฝรั่งเค้าก็เริ่มหันกลับมาใช้กันบ้างแล้ว ตามโรงสีบ้านเราก็ยังมีการใช้เครื่องจักรต้นกำลังเป็นเครื่องจักรไอน้ำเหมือนกันสังเกตุที่โรงสีไหนมีปล่องควันไฟสูง ๆ มีควันออกนั่นแหล่ะครับ  ควันที่เกิดจากเครื่องจักรไอน้ำ ปกติควันต้องเป็นสีขาวแต่เนื่องจากเครื่องจักรใช้งานมานานส่วนผสมอากาศไม่ดีพอควันจึงมีสีดำ พ่อผมเคยสอนหลักการทำงานเหมือนกันเพราะพ่อผมเคยทำงานเป็นเสมียนโรงสีทำหน้าที่ควบคุมการจ่ายเงินให้จับกังสมัยก่อน  ก่อนที่จะออกมารับซื้อข้าวส่งโรงสีเอง ญาติ ๆ ปัจจุบันก็ยังคงเปิดโรงสีกันอยู่ หากใครอยากได้แกลบดำก็สามารถไปหาซื้อได้ตามโรงสีที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำแบบนี้อยู่เพราะแกลบถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงจะมีการระบายแกลบดำออกและฉีดด้วยน้ำตลอดจึงมีแกลบดำค่อนข้างมาก

กลับมาดูเครื่องจักรที่เค้าทำกันครับ ผมว่าก็น่าสนนะครับส่วนเชื้อเพลิงก็ใช้แกลบก็ได้เพราะค่อนข้างให้ความร้อนพอสมควรและอยู่ได้นานครับแกลบหนึ่งกองหรือประมาณ 1 คิวน่าจะให้ความร้อนได้ทั้งวันครับหากควบคุมระดับออกซิเจนและการเผาไหม้ได้ แกลบ 1 คิวไม่มีราคาอะไรส่วนใหญ่โรงสีกลางตามหมู่บ้านเค้าก็ให้ฟรีครับ  ผมว่าจะลองทำดูเหมือนกันครับเผื่อจะมีประโยชน์กับคนอื่นบ้างครับ

ตัวอย่างของฝรั่งครับ

sz_Kgkzfaxk

IdTVZdM0yjo

ตัวอย่างการนำเครื่องยนต์เก่ามาเป็นเครื่องยนต์ไอน้ำครับ

akdAZCOowfc



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มีนาคม 2013, 22:31:27
เครื่องยนต์เครื่องยนต์สเตอร์ลิง (Stirling Engine)  เครื่องยนต์ที่คนส่วนน้อยจะรู้จัก

    เครื่องยนต์สเตอร์ลิงเป็นเครื่องยนต์ความร้อนระบบปิด2 จังหวะใช้ความร้อนจาก ภายนอก และใช้ก๊าซเป็นสารทำงาน ประดิษฐ์ขึ้นเป็นเครื่องแรกในปี 1816 โดย Robert Stirling ติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องยนต์สเตอร์ลิงรุ่นต่อมามี ขนาดเล็กลงปลอดภัยและเงียบเป็นที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมขนาดเบาและตามบ้านเรือนเช่น พัดลม จักรเย็บผ้าและเครื่องสูบน้ำ เครื่องยนต์สเตอร์ลิงรุ่นแรก ๆ ใช้อากาศเป็นสารทำงาน (Working substance) และ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ เครื่องยนต์อากาศร้อน  (Hot air  engine)อากาศจะบรรจุอยู่ในกระบอกสูบรูป ทรงกระบอกเพื่อรับความร้อน การขยายตัวการระบายความร้อน และการอัด โดยการเคลื่อนที่ของส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์

Cz6f7fNXWYs


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มีนาคม 2013, 22:35:29
มาดูประวัติเครื่องจักรไอน้ำกันครับ

8iFe5HRq8Lk


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มีนาคม 2013, 11:35:06
ผู้คิดค้นเครื่องยนต์สเตอร์ลิง

1m9RQjoriKg


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มีนาคม 2013, 13:10:24
กลับมาเรื่องข้าวต่อครับ หลายท่านยังไม่รู้ว่าต้นข้าวแบ่งเป็นกี่ระยะกันครับ


        1.ระยะข้าวงอก ถึงระยะกล้า หลังจากหว่านแล้ว ข้าวจะใช้อาหารที่สะสมในเมล็ดตั้งแต่ข้าวเริ่มงอก จนถึงต้นกล้าอายุ 14-20 วัน

       2.ระยะกล้า ต้นข้าวจะเริ่มใช้อาหารจากดิน โดยดูดธาตุอาหารผ่านราก

       3.ระยะแตกกอ เป็นระยะที่ข้าวสร้างหน่อใหม่ หลังจากข้าวตั้งตัวได้ นาหว่านจะเห็นหน่อใหม่หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรก 7-10 วัน นาปักดำ หลังข้าวตั้งตัวหรือหลังปักดำ 7-10 วัน

       4.ระยะข้าวสร้างรวงอ่อน หรือ กำเนิดช่อดอก เป็นระยะที่สำคัญ ช่วงก่อนเก็บเกี่ยวข้าว 2 เดือน หรือ 60 วัน ข้าวจำเป็นต้องใช้อาหารเพื่อสร้างรวงให้สมบูรณ์แข็งแรง มีจำนวนเมล็ดต่อรวงมาก

       5.ระยะข้าวตั้งท้อง เป็นระยะที่ข้าวกำลังจะออกรวงนับวันหลังจากระยะสร้างรวงอ่อน 5-7 วัน ลำต้นข้าวจะเปลี่ยนจากลักษณะแบน เป็นต้นกลม อวบ ระยะนี้ โดยทั่วไปข้าวจะมีการสะสมอาหารไว้ในลำต้นของแต่ละหน่อแล้ว ต้นข้าวสามารถดึงธาตุอาหารมาใช้ในการเจริญเติบโตของรวงได้ บางครั้งสำหรับพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ที่มีการแตกกอมาก อาหารที่สะสมไว้อาจไม่เพียงพอ

       6.ระยะข้าวออกดอก เป็นระยะการเจริญเติบโตเต็มที่ของต้นข้าว ซึ่งข้าวจะออกดอกก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 30 วัน ช่วงนี้นาจะต้องมีน้ำอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ข้าวสร้างเมล็ดให้เต็ม ระยะนี้ข้าวจะดึงอาหารที่สะสมอยู่ที่ใบแก่(ส่วนล่าง) มาใช้

       7.ระยะเก็บเกี่ยว เป็นระยะที่ข้าวสุกแก่เต็มที่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เรียกว่าระยะพลับพลึง นับได้หลังจากข้าวออกดอกแล้ว 28-30 วัน สามารถสังเกตได้จาก รวงข้าวสามส่วนจากปลายรวงจะมีสีเหลืองฟางข้าว และที่



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มีนาคม 2013, 21:13:28
เกษตรกรรุ่นใหม่

ประเด็นต่อเนื่องจากสารคดีไทไท ข้าวปลาอาหาร

EyZcdfh_s6o

yt2irkhRptY


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มีนาคม 2013, 21:29:11
หลักการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ผลดี

ปุ๋ยเคมี เมื่อใส่ลงไปในดิน จะมีโอกาสสูญเสียไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง สำหรับธาตุไนโตรเจน และโพแทสเซียม ส่วนฟอสฟอรัสนั้น พืชดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้เพียงไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของปริมาณที่ใส่ลงไปในดิน ฟอสฟอรัสที่เหลือทั้งหมด จะทำปฏิกิริยากับดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก พืชดึงดูดไปใช้ไม่ได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยลงไปในดิน เพื่อให้พืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้มากที่สุดและสูญ เสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปุ๋ย ชนิดเดียวกัน สูตรเดียวกันใส่ลงไปในดินโดยวิธี แตกต่างกัน พืชจะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้ไม่เท่ากัน อาทิ ปุ๋ยที่ใส่แบบหว่านจะให้ผลแตกต่างจากปุ๋ยที่ ใส่โรยแบบเป็นแถวหรือเป็นจุดใกล้ต้นพืช ฉะนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพจึงควรมีหลักเกณฑ์ ในการใส่ปุ๋ยที่ควรจะยึดถือเป็นแนวทางดังนี้คือ

(๑) ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง
(๒) ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม
(๓) ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ
(๔) ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด

(๑) ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง

การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องนั้น หมายถึง สูตร เรโช และรูปของธาตุอาหารในปุ๋ย ปุ๋ยเคมีจะมีทั้งสามอย่างนี้ แตกต่างกันออกไปอย่างกว้างขวาง

สูตรปุ๋ย หรือบางทีเรียกว่า "เกรดปุ๋ย" หมายถึง ตัวเลขเขียนบอกปริมาณธาตุอาหาร ที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมี โดยบอกเป็นค่าของเปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักของปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (N) ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (P2 O5) และปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ (K2O) สูตรปุ๋ยจะเขียนไว้ที่ภาชนะบรรจุปุ๋ย เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น 20-10-5 ตัวเลขแรกจะบอกปริมาณไนโตรเจนว่ามี อยู่หนัก ๒๐ กิโลกรัม เลขที่สองบอกปริมาณ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีอยู่ ๑๐ กิโลกรัม เลขตัวที่สามบอกปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ มีอยู่ ๕ กิโลกรัม รวมเป็นธาตุอาหารทั้งหมด ๓๕ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม และเป็นที่ ทราบกันเป็นสากลว่าเลขตัวแรก คือ ไนโตรเจน ตัวกลาง คือ ฟอสฟอรัส ตัวสุดท้าย คือ โพแทสเซียม จะไม่มีการสลับที่กัน จึงไม่จำเป็นต้องเขียนตัวหนังสือกำกับไว้

เมื่อดินขาดธาตุอาหาร N P และ K ชนิดของธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใส่ ก็จะต้องมีธาตุ N P และ K แต่ถ้าดินขาดธาตุอาหาร N และ P ส่วน K ในดินตามธรรมชาติมีเพียงพออยู่แล้ว ธาตุอาหาร ในปุ๋ยก็ควรจะมีแต่ N และ P เท่านั้น อาทิ ดิน นาในภาคกลาง ซึ่งขาดแต่ N และ P เป็นส่วนใหญ่ ปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าวจึงมีแต่ N และ P เท่านั้น เช่น ปุ๋ยสูตร 18-46-0, 28-28-0, 20-20-0 และ 16-20-0 เป็นต้น

สำหรับ "เรโช" ของปุ๋ยนั้น เป็นสัดส่วนเปรียบเทียบกันระหว่างธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในสูตรปุ๋ย เรโชปุ๋ยจะบอกเป็นตัวเลขลงตัวน้อยๆ ระหว่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส (P2 O5 ) และโพแทสเซียม (K2 O) ของสูตรปุ๋ยนั้นๆ เช่น

16-16-8 เท่ากับเรโช 2:2:1 ได้จากการหารตลอดด้วย 8
20-10-5 เท่ากับเรโช 4:2:1 ได้จากการหาร ตลอดด้วย 5

นั่นคือ ปุ๋ยสูตรต่างๆ ที่มีเรโชเดียวกัน จะแตกต่างกัน ที่ปริมาณธาตุอาหารรวม ที่มีอยู่ในปุ๋ย เช่น สูตร 10-10-10 มีธาตุอาหารรวม N P K หนัก ๓๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ส่วนปุ๋ย 20-20-20 มีธาตุอาหารรวมหนัก ๖๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปุ๋ยสูตรแรกเท่าตัว ปุ๋ยที่มีเรโชเดียวกัน จะบอกให้ทราบว่า เป็นปุ๋ยชนิดเดียวกัน สามารถใช้แทนกันได้ ดัง นั้นถ้าใช้ปุ๋ย 10-10-10 อยู่โดยใช้อัตรา ๕๐ กก./ ไร่ สามารถเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย 20-20-20 แทนได้ แต่เนื่องจากปุ๋ยนี้มีธาตุอาหารรวมมากกว่า ก็จะ ต้องลดอัตราที่ใช้ให้น้อยลง คือใช้เพียง ๒๕ กก./ ไร่ เท่านั้น ก็จะได้ธาตุอาหารที่เท่ากัน

ปุ๋ยเคมีจะมีสัดส่วนระหว่าง N:P:K แตกต่างกัน แล้วแต่จะนำไปใช้กับชนิดของพืช และกับที่ดินที่มีระดับธาตุอาหาร N P และ K แตกต่างกันอย่างไร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ก็จะต้องรู้จักดิน และรู้จักพืชที่ปลูกเสียก่อน ทั้งนี้เนื่องจากดินแต่ละแห่ง และแต่ละชนิด จะมีระดับธาตุอาหารปุ๋ยในดินแตกต่างกัน ส่วนพืชที่ปลูกต่างชนิดกัน หรือแม้แต่อายุพืชแตกต่างกัน ก็มีความต้องการธาตุอาหาร N P K ในปริมาณ และสัดส่วน เพื่อการเจริญเติบโต และสร้างผลิตผลแตกต่างกันเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน

ระดับธาตุอาหารพืชในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมีอยู่มากน้อยเท่าใดนั้น สามารถตรวจสอบได้ด้วยการส่งตัวอย่างดินที่เป็นตัวแทนของไร่นานั้นๆ มาทำการวิเคราะห์ทางเคมี

ปุ๋ยที่มีเรโชของ N สูงเมื่อเปรียบเทียบกับ P และ K มักจะใช้เป็นปุ๋ยเร่งต้น เร่งใบ เหมาะสำหรับพืชผักกินใบ หรือเร่งการเจริญเติบโตทางด้านต้น และเร่งให้พืชโตเร็วในระยะแรกของการเจริญเติบโต ในกรณีที่ดินขาด N อย่างรุนแรง ส่วน P และ K มีอยู่ในดินระดับปานกลาง หรือค่อนข้างสูง การใช้ปุ๋ยเคมีที่เรโชของ N สูงๆ ก็จะเป็นการช่วยปรับระดับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร N P K ในดินให้เหมาะสมแก่พืชที่ปลูกได้ดีขึ้น หรือในกรณีของดินนาทางภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย ระดับความเป็นประโยชน์ของ K ในดินค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับดินนาทางภาคกลาง ดังนั้น ปุ๋ยนาที่แนะนำให้ใช้ในทางภาคอีสาน และภาคใต้จึงควรมี K รวมอยู่ด้วย แต่เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่า N และ P เช่น เรโช 2:2:1 เช่นสูตร 16-16- 8 หรือ 2:2:1 เช่นสูตร 18-12-6 แทนที่จะเป็น 16- 20-0 หรือ 20-20-0 เช่น ปุ๋ยนาในภาคกลาง ดังนี้เป็นต้น

(๒) ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม

ปริมาณปุ๋ยที่พอเหมาะนี้ หมายถึง จำนวน หรืออัตราปุ๋ย ที่ใช้ต่อไร่ หรือต่อต้น ที่พืชจะได้รับความพอเหมาะนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ พอเหมาะในแง่ของปริมาณที่พืชควรจะได้รับ เพื่อให้ได้ผลิตผลสูงสุด ถ้าน้อยกว่านั้น ก็จะทำให้พืชไม่เจริญเติบโต และให้ผลิตผลสูงเท่าที่ควร หรือถ้าให้มากเกินกว่านั้นก็อาจเป็นพิษแก่พืชหรือจะไม่ทำให้พืชเติบโต และให้ผลิตผลเพิ่มขึ้น แต่ทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือ พอเหมาะในแง่ของหลักเศรษฐกิจ กล่าวคือ ปริมาณของปุ๋ยที่ใช้จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับราคาของปุ๋ย และราคาของผลิตผลที่จะขายได้เสียก่อน การใช้ปุ๋ยที่พอเหมาะในแง่นี้เป็นการใส่ปุ๋ยจำนวนหนึ่ง (ต่อไร่หรือต่อต้น) ซึ่งจะมีผลทำให้ผลิตผลสูงขึ้นที่ระดับหนึ่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตผลสูงสุด) อันจะทำให้ได้กำไรต่อเงินลงทุนในการซื้อปุ๋ยมาใช้มากที่สุด

การพิจารณาความพอเหมาะพอดีของจำนวนปุ๋ย หรืออัตราปุ๋ยที่จะใช้ จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์ และวิธีการต่างๆ หลายประการมาประกอบการพิจารณา อาทิ ชนิดของพืช ระดับความชื้น และความอุดมสมบูรณ์เดิมของดิน วิธีการปลูก การดูแล และการบำรุงรักษาของกสิกร ตลอดจนราคาของปุ๋ย และของพืชที่ปลูกประกอบด้วย

(๓) ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ

พืชที่ปลูกในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร มักจะแคระแกร็น และให้ผลิตผลต่ำ การใส่ปุ๋ย จะช่วยยกระดับธาตุอาหาร ที่ขาดแคลน ให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินเดียวกันกับพืชชนิดเดียวกัน อาจจะให้ผลแตกต่างกันได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา (timing) ของการให้ ปุ๋ยแก่พืชนั้น ตรงกับระยะเวลาที่พืชมีความ ต้องการธาตุอาหารนั้นๆ มากที่สุดหรือไม่ ช่วง จังหวะความต้องการธาตุอาหารมากที่สุดของพืช แต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป พืชที่มีอายุสั้น เช่น พืชไร่และข้าว จะมีจังหวะการดึงดูดธาตุอาหาร ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดอย่างน้อย ๓ ช่วงด้วยกัน คือ

(๑) ช่วงแรกที่พืชเริ่มงอก และการเติบโตในระยะ ๓๐-๔๕ วันแรก พืชมักจะต้องการธาตุอาหารน้อยและช้า เพราะระยะนี้ระบบรากยังน้อย และต้นยังเล็กอยู่

(๒) ช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารเป็นจำนวนมาก สำหรับข้าวจะเป็นระยะที่กำลังแตกกอ และระยะที่กำลังสร้างตาดอก ถ้าเป็นข้าวโพด จะเป็นระยะที่มีอายุ ๔๕ - ๖๐ วัน ถ้าเป็นข้าวก็ระยะประมาณ ๓๐ วัน ก่อนออกดอก และ

(๓) ช่วงที่มีการเติบโตเต็มที่แล้ว และเป็นระยะสร้างเมล็ดหรือสร้างผล ความต้องการธาตุอาหารในระยะนี้ จะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งฝักหรือเมล็ดแก่

ระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารจากดินมากที่สุด และดึงดูดธาตุอาหารจากดินในอัตราที่รวดเร็วมากที่สุดก็คือ ช่วงที่สอง เพราะเป็นระยะที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และต้องการสะสมธาตุอาหารไว้ในต้นและใบ ให้เพียงพอสำหรับการสร้างเมล็ดและผล ที่จะมีขึ้นในช่วงที่สาม ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืชระยะที่สำคัญก็คือ ระยะที่สองนี้ ซึ่งพืชควรจะได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยที่ให้เพียงพอที่สุด

ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืช จึงต้องแบ่งใส่ จังหวะการใส่ควรให้พอเหมาะกับระยะที่พืชต้องการ จะยังผลให้ประสิทธิภาพของปุ๋ยที่ใส่สูง ความเหมาะสมของจังหวะเวลาการให้ปุ๋ยกับพืช ได้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง พืชแต่ละชนิดจะมีช่วงที่ควรจะแบ่งใส่ปุ๋ย เพื่อให้มีผลดีแก่พืชมากที่สุดแตกต่างกันออกไป แต่อาจจะถือเป็นหลักเกณฑ์กว้างๆ ได้คือ

๓.๑ การแบ่งใส่ปุ๋ยมักจะให้ผลดีกว่าการใส่ปุ๋ยจำนวนเดียวกันนั้นเพียงครั้งเดียวตอนปลูก ยกเว้นเมื่อใช้ปุ๋ยในอัตราต่ำมากๆ

๓.๒ การใส่ครั้งแรกคือ ใส่ตอนปลูก ควรใส่แต่น้อย โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนปุ๋ยฟอสเฟต และปุ๋ยโพแทสนั้น จะใส่ทั้งหมดในตอนปลูกก็ได้

๓.๓ การใส่ครั้งที่สอง ควรใส่ระยะที่พืชกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ระหว่างระยะแตกกอสูงสุดถึงใกล้ออกดอก ส่วนใหญ่การใส่ครั้งที่สองจะเป็นปุ๋ยไนโตรเจน ถ้าอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้สูงมากๆ การแบ่งใส่ควรเป็นสามครั้งคือ ตอนปลูก ตอนเริ่มการเติบโตอย่างรวดเร็ว และตอนระยะใกล้ออกดอก และจะไม่ช้าไปกว่าระยะหลังจากพืชออกดอกแล้ว หรือระยะที่พืชเริ่มแก่

(๔) ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด

นอกจากจังหวะการใส่แล้ว วิธีการใส่ เพื่อให้พืชดึงดูดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากในทันทีทันใดที่ปุ๋ยลงไปอยู่ในดิน ปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลง และการเคลื่อนย้ายของปุ๋ยจะเกิดขึ้นทันที

ธาตุไนโตรเจนในปุ๋ย จะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วมาก เพราะละลายน้ำได้ง่าย ไนโตรเจนในรูปไนเทรต จะถูกน้ำพัดพาออกไปจากชั้นของดินได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารากพืชดึงดูดเอาไว้ไม่ทัน ก็จะสูญเสียไปหมด และไม่เกิดประโยชน์ต่อพืชแต่อย่างใด ปกติแล้วปุ๋ยไนโตรเจนในดินจะสูญเสียไป โดยการชะล้างประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ใส่ลงไป ไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียม ถึงแม้ จะดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ และถูก ชะล้างได้ยากก็จริง เมื่อดินมีการถ่ายเทอากาศดี จะถูกแปรรูปโดยจุลินทรีย์ในดินจะทำปฏิกิริยา เพิ่มออกซิเจน (oxidized) ให้กลายเป็นไนเทรต (NO3- N) ได้ง่ายและเร็วมาก

ฟอสฟอรัสในปุ๋ย ถึงแม้จะละลายน้ำได้ง่าย แต่เมื่ออยู่ในดิน จะทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับแร่ธาตุต่างๆ ในดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก ความเป็นประโยชน์ต่อพืชลดลง และไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ดังนั้นเมื่อใส่ปุ๋ยฟอสเฟตตรงจุดไหน ฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ง่าย ก็มักจะอยู่ตรงจุดนั้น ถ้าจะเคลื่อนย้ายจากจุดเดิม ก็เป็นระยะใกล้ๆ ในรัศมี ๑-๕ ซม. เท่านั้น ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตให้กับพืช จึงต้องให้อยู่ใกล้กับรากมากที่สุด เพื่อที่รากจะไม่เป็นอันตรายจากปุ๋ยนั้น การใส่บนผิวดิน จะเป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยกว่าใส่ใต้ผิวดินในบริเวณที่รากจะแพร่กระจายไปได้ถึง ซึ่งผิดกับปุ๋ยไนโตรเจน ที่ใส่บนผิวดินก็สามารถซึมลงมายังบริเวณรากที่อยู่ใต้ผิวดินได้ง่าย ดังนั้น การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนใต้ผิวดินจึงไม่มีข้อดีไปกว่า ใส่บนผิวดิน

ปุ๋ยโพแทสเซียมจะเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่าฟอสเฟต แต่จะช้ากว่าไนโตรเจน โพแทสเซียมในปุ๋ย ละลายน้ำได้ง่ายพอๆ กับไนโตรเจนก็จริง แต่เนื่องจากมีประจุบวก ซึ่งดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ จึงถูกชะล้างได้ยาก แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ได้ง่ายแก่พืชอยู่ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียม จึงสามารถใส่บนผิวดิน หรือใต้ผิวดินก็ได้ แต่การเคลื่อนย้ายจะช้ากว่าไนโตรเจน และในเวลาเดียวกันการสูญเสียโดยการชะล้างก็ จะน้อยกว่าด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มีนาคม 2013, 13:27:35
หากใครเคยติดตามคอลัมป์ ชาวนาวันหยุด หรือการทำท่อแกล้งข้าวคงจะรู้จักชายคนนี้ครับ

b8Do01NQf_Y


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pui22 ที่ วันที่ 23 มีนาคม 2013, 22:58:12
หายไปใหนหลายวันแล้วครับ ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 24 มีนาคม 2013, 17:05:30
หายไปใหนหลายวันแล้วครับ ;D ;D ;D
คงหยุดพักผ่อน ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: sariku ที่ วันที่ 24 มีนาคม 2013, 19:58:50
ขอถามหน่อยค่ะ การใช้น้ำส้มควันไม้พ่นข้าวกันแมลงสามารถผสมกับไตรโคเดอร์ม่าได้ใช่ไหมค่ะ แล้วใช้ในอัตราส่วนเท่าไร/น้ำกี่ลิตร ฉีดพ่นทุกกี่วันค่ะ เพิ่งหัดทำนาค่ะ อยากขอคำแนะนำ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 12:51:51
ขอถามหน่อยค่ะ การใช้น้ำส้มควันไม้พ่นข้าวกันแมลงสามารถผสมกับไตรโคเดอร์ม่าได้ใช่ไหมค่ะ แล้วใช้ในอัตราส่วนเท่าไร/น้ำกี่ลิตร ฉีดพ่นทุกกี่วันค่ะ เพิ่งหัดทำนาค่ะ อยากขอคำแนะนำ

ไม่แนะนำให้ผสมกับเชื้อราไตรโครเอร์ม่าร์ครับ เพราะน้ำส้มควันไม้มีฤทธิ์ป้องกันและกำจัดเชื้อรา เชื้อราไตรโครเดอร์ม่าอาจจะตายได้ครับ

ชนิดพืช
 วัตถุประสงค์
ในการใช้
 วิธีใช้
 อัตราส่วน
ที่ใช้
 
ข้าว

เมล็ดพันธุ์งอกเร็วเพิ่มอัตราการงอกป้องกันเชื้อรา
 แช่เมล็ดพันธุ์ 2 คืนแล้วนำไปผึ่งในกระสอบ1วัน
 1:300
1ช้อนโต๊ะ
ต่อน้ำ3ลิตร
 
เพิ่มผลผลิต เร่งการเจริญเติบโต เมล็ดข้าวไม่ลีบน้ำ
 ฉีดพ่นตั้งแต่เริ่มปลูก-เก็บเกี่ยวเดือนละครั้ง
 1:1000
1ช้อนโต๊ะ
ต่อน้ำ10ลิตร
 
ขับไล่เพลี้ย แมลง ป้องกันเชื้อรา
 ฉีดพ่นครั้งแรกถึงตั้งท้อง ทุก 7 -15 วัน
 1:200
1ช้อนโต๊ะ
ต่อน้ำ2ลิตร

การใช้น้ำส้มควันไม้ในด้านอื่นๆ
      1. ผสมน้ำ 1:20 ฉีดพ่นลงดินก่อนทำการเพาะปลูก 10 วัน เพื่อปรับปรุงดิน ฆ่าจุลินทรีย์ แมลงในดิน ไส้เดือนฝอย ป้องกันโรครากเน่าจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
      2. ผสมน้ำ 1:20 ใช้ราดทำลายปลวกและมด   เพื่อป้องกัน ตะขาบ แมงป่อง กิ้งกือ
      3. ผสมน้ำ 1:100 ฉีดพ่นขยะเพื่อป้องกันกลิ่น และไล่แมลงวัน   ดับกลิ่นในห้องน้ำ ห้องครัว ที่น้ำเสีย คอกและกรงสัตว์ ใช้หมักขยะสดและเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย

เทคนิคในการใช้น้ำส้มควันไม้
      1. ก่อนนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ ต้องทิ้งให้ปฏิกิริยาในการตกตะกอนหยุดนิ่งเสียก่อน(3-6 เดือน)
      2. น้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง จึงควรระวังอย่าให้เข้าตา
      3. น้ำส้มควันไม้เปรียบเสมือนฮอร์โมนและวิตามินของพืช ไม่ใช่ปุ๋ย จึงต้องใส่ปุ๋ยตามปกติ
      4. หากใช้กับพืชกินใบควรฉีดพ่นใต้ใบด้วย เพื่อการขับไล่แมลงที่อยู่ใต้ใบ
      5. การใช้เพื่อช่วยให้ติดผล ควรฉีดก่อนที่ดอกจะบาน ถ้าฉีดหลังดอกบานกลิ่นควันไม้จะเป็นตัวไล่
             แมลง ทำให้แมลงไม่เข้ามาผสมเกสร  และดอกจะหลุดร่วงได้ง่าย 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 12:57:42
หายไปใหนหลายวันแล้วครับ ;D ;D ;D
คงหยุดพักผ่อน ;D ;D

ช่วงนี้ไม่ค่อยได้อยู่หน้าคอมครับ มีน้อง ๆ นักศึกษาวิศวะมาฝึกงานด้วยที่บริษัท 10 คน เลยต้องคอยสอนงานและดูแลครับคอมผมเองก็ให้น้องใช้งานครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 20:38:42
ที่นาผมช่วงนี้ไม่ค่อยมีอะไรมากครับหลังจากใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายไปแล้ว เป็นช่วงสร้างรวงอ่อน ตั้งท้องและจะออกรวงในไม่ใช้ประมาณเดือนหน้าคงได้เห็นรวงข้าวแล้ว ช่วงนี้นอกจากการตัดหญ้าริมคันนาให้สั้นเพื่อช่วยลดการเกิดโรคจากเชื้อราแล้ว อาจจะพ่นน้ำส้มควันไม้และไครโตรซานควบคู่ไปด้วยครับ บางคนอาจเลือกพ่นเชื้อราไตรโครเดอร์ม่าแทนก็ได้

ถ่ายรูปทุ่งนาปัจจุบันกล้องถ่ายรูปก็ออกอาการไม่ค่อยดีแล้วหลังจากใช้มาหลายปี คงตามอายุการใช้งานถือว่าคุ้มมากแล้วสำหรับกล้องเล็ก ๆ ราคาพันกว่าบาท คงได้ซื้อใหม่ซักตัวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 20:43:44
แปลงนาข้างเคียงของชาวนาบางท่าน พบว่ามีหญ้าดอกเหลืองขึ้นพอสมควรแปลงนี้เป็นนาโยน เจ้าของไม่ควบคุมระดับน้ำให้ดีสุดท้ายพบว่าหญ้าขึ้น และมักจะเป็นปัญหากับพื้นที่ ที่ขาดน้ำบ่อยหรือนากักเก็บน้ำไม่อยู่ครับ 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 20:47:51
บางแปลงเป็นนาหว่านใช้ยาคุมเลนก่อนหว่าน ซึ่งคุมวัชพืชชนิดอื่นได้ดีแต่ก็ยังพบหญ้าข้าวนกหรือหญ้าวังอยู่ค่อนข้างพอสมควรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: jukgree ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 20:59:10
สุดยอดครับ อาจารย์อู๋  ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้ดีๆครับ 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 21:00:39
เป็ดน้อยที่เลี้ยงไว้ในแต่ละสัปดาห์โตขึ้นไวมาก กินง่าย กินเก่ง เศษผัก เศษข้าว กินเรียบครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 21:10:19
สุดยอดครับ อาจารย์อู๋  ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้ดีๆครับ 

 :D  :D ยังไม่ถึงขึ้นเป็นอาจารย์เลยครับยังต้องศึกษาต่อไปเรื่อย ๆครับ ได้อะไรดี ๆ ก็จะมาแบ่งปันให้นะครับ ข้าวที่พานคงโตมากแล้วใช่ไหมครับ ยังไงก็สู้ ๆ กับการทำนาครั้งแรกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 21:13:54
วันอาทิตย์ที่ผ่านมาแม่สายเลยได้แวะถ่ายรูปนาสวย ๆครับ แปลงนี้มีการจัดระเบียบค่อนข้างดีครับ นาดำ มีปลูกต้นขี้เหล็กริมคันนาช่วยเป็นรายได้เสริม ร่องน้ำมีการเทคอนกรีตเพื่อควบคุมน้ำได้ดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 มีนาคม 2013, 21:23:15
ตอนนี้แม่สายมีการปลูกข้าวลูกผสมกันเยอะแล้วครับ ส่งเสริมการปลูกโดยซีพี  ต้นข้าวเป็นนาดำดูลักษณะลำต้นแล้วสวยงาม มีบางต้นที่เป็นโรคบ้างแต่น้อยมากครับมีความต้านทานโรคค่อนข้างดี ซีพีเป็นบริษัทใหญ่ซึ่งค่อนข้างครบวงจร ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา ตอนนี้มีการลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวลูกผสมซีพี มีทั้งรถดำนา รถเกี่ยวข้าว ดูเหมือนว่าตอนนี้ทางซีพีก็รับซื้อประกันราคาเอง ซึ่งก็เป็นนโยบายส่งเสริมการตลาด ก็แล้วแต่ชาวนาจะตัดสินใจครับ  ผมเองก็เห็นชาวนาที่กำลังใส่ปุ๋ยอยู่เดินไปคุยด้วยแต่คุยไม่รู้เรื่องครับ เป็นคนพม่า  ???  ตอนนี้เค้าจ้างคนพม่ามาทำนาให้ครับคงเพราะค่าแรงที่ถูกกว่าเหมาะสำหรับการทำนาแบบระบบผู้จัดการครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มีนาคม 2013, 21:20:02
อีกชีวิตหนึ่งของชาวนาครับ

สารคดี ข้าว ชาวนา ชีวิตลุงเอียด

3Qw06n0Dz_0


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: sariku ที่ วันที่ 28 มีนาคม 2013, 19:01:55
ขอบคุณสำหรับสาระดีดีค่ะ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มีนาคม 2013, 21:05:07
ขอบคุณสำหรับสาระดีดีค่ะ

ยินดีครับที่กระทู้นี้มีประโยชน์กับเพื่อนชาวนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มีนาคม 2013, 21:08:54
ข้อคิดดี ๆ ของชายผู้นี้ครับ....

ค้นหาความสุขของชีวิต จาก วิม สรณะชาวนา


          "วิม สรณะชาวนา" ผู้ชายคนนี้เมื่อ 20 ปีก่อน เคยเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวยเงินทอง และมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการแข่งขัน แต่แล้ววันหนึ่ง ชายคนนี้กลับตระหนักได้ว่า ความร่ำรวย มิใช่ความสุขที่แท้จริงที่เขาพึงประสบ เขาจึงหันหลังให้กับชีวิตในสังคมเมือง และกลับไปค้นหาแผ่นดินแห่งความผาสุกด้วยตัวเอง

การค้นหาความสุขด้วยมือตัวเองของ วิม เริ่มจากการน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ โดย วิม เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยปรับปรุงที่ดินรกร้างจำนวน 30 ไร่ ในอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อสร้างองค์ประกอบพื้นฐานปัจจัยสี่ของการมีชีวิตอยู่รอดบนผืนดินแห่งนี้ เขาทำงานหนักวันละกว่า 18 ชั่วโมง จนเวลาผ่านไป 20 ปี ทุกอย่างก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
 
          ที่พักอาศัย อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม... สิ่งเหล่านี้ วิม สามารถสร้างขึ้นมาบนผืนดินของเขา บ้านของ วิม มีสระน้ำ ที่สามารถใช้น้ำมาบริโภค อุปโภค ได้ มีเรือกสวนไร่นาที่ผลผลิตพร้อมจะผลิดอกออกผลให้เก็บเกี่ยวกินยามหิว รวมทั้งพืชผักสมุนไพรต่าง ๆ ที่งอกเงยมาจากผืนดินรอบบ้าน ก็สามารถเป็นยารักษาโรค พร้อมจะหยิบมาใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านได้ทุกเมื่อ

ณ วันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ วิม สรณะชาวนา มีอยู่ อาจไม่ใช่ความมั่งคั่งมากมาย แต่ก็ "เพียงพอ" และ "พอเพียง" ที่จะทำให้เขาและครอบครัวดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง นอกจากนั้นแล้ว วิม ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ แต่เขาพร้อมจะเสียสละ ช่วยเหลือ แบ่งปันองค์ความรู้ ต้นทุน แรงงาน ของตัวเองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสังคม  
 
rwYtc1Nyyus




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มีนาคม 2013, 21:25:19
ศ.หยวน หลงผิง บิดาแห่งข้าวลูกผสมจีน

2yOGQ00Wcys

จีน เป็นประเทศแรกของโลกที่คิดค้นวิจัยพัฒนาข้าวลูกผสมเป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี 2517 โดยศ.หยวนหลงผิง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นผู้คิดค้นข้าวลูกผสมเป็นผลสำเร็จจนได้รับการขนานนามจากนานาชาติว่าเป็น “บิดาแห่งข้าวลูกผสม” และได้รับรางวัล World Food Prize สำหรับความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้ช่วยลดปัญหาความขาดแคลนด้านอาหารเมื่อ 29 มีนาคม 2548 รางวัลดังกล่าวได้รับการยอมรับกลายๆ ว่าเป็นรางวัลโนเบลสำหรับวงการอาหารและการเกษตรด้วย
       
       โดยจีนเริ่มจากความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมจนปัจจุบันสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวในบางพื้นที่ของจีนได้จำนวนผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1,500 -2,000 กิโลกรัมต่อไร่ สิ่งนี้คือคำตอบเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน ที่มีประชากรสูงสุดในโลกคือ 1,300 ล้านคน ปัจจุบันทั้งอินเดียและเวียดนามต่างนำความรู้ด้านข้าวลูกผสมจากจีนมาพัฒนาต่อยอด
       
       “จีนเป็นประเทศกว้างมาก ข้าวที่ปลูกตามมณฑลต่างๆ ก็จะไม่เหมือนกัน เพราะต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูกแต่ละที่ด้วย ซึ่งจีนก็ได้นำเทคนิคต่างๆ มาปรับใช้ และเราต้องเรียนรู้จากจีน”
       
       โดยข้าวลูกผสมจีนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากนั้น เรียกว่า มีลักษณะเด่นคือทำให้พันธุ์พ่อเป็นหมัน โดยศ.หยวนพบว่าการทำให้พันธุ์พ่อเป็นหมันนั้นสามารถทำได้โดยใช้เทคนิคด้านอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมมาใช้ ไม่ต้องมานั่งเอามือไปตัดดอกตัวผู้เหมือนสมัยก่อน เมื่อปลูกคู่กับดอกตัวเมียสามารถผสมไปได้เลย ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมที่มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น 20-30% ในบางพื้นที่

ข้อดีปลูกข้าวลูกผสม
       
       ที่ผ่านมานักวิชาการพันธุ์ข้าวได้กล่าวถึงข้อดีของข้าวลูกผสมที่มีการทดลองให้เกษตรกรปลูกอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ว่า มีข้อเด่นมากถึง 7 ประการ คือ
       
       1.ผลผลิตข้าวจะสูงกว่าสายพันธุ์ทั่วไปประมาณ 20-50%
       
       2.ไม่มีพันธุ์ปน ระบบรากมีความแข็งแรงและแผ่กระจายมากกว่า
       
       3.จำนวนเมล็ดต่อรวงมากถึง 250 เมล็ดต่อรวง หากปลูกในฤดูกาลและ
       สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
       
       4.ในเชิงการค้าข้าวลูกผสมให้ผลตอบแทนมากกว่า
       
       5.เป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูก
       
       6.ลดการใช้สารเคมี เพราะมีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าว
       
       7.ประหยัดการใช้น้ำและเพิ่มรอบการปลูก เนื่องจากข้าวลูกผสมมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าข้าวพันธุ์ทั่วไป

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในไทยนั้นยังมีข้อถกเถียงถึงการให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวลูกผสมกันอยู่ว่า เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ เนื่องเพราะเป็นห่วงว่าจะถูกภาคเอกชนผูกขาดด้านเมล็ดพันธุ์อีกทั้งอาจมีผลต่อการทำลายความมั่นคงทางชีวภาพของไทยไป แต่อย่าลืมว่าในสถานการณ์วิกฤตขาดแคลนอาหารโลก โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่เกรงว่าพลเมืองจำนวนมากของจีนจะเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร
       
       “ข้าวลูกผสม”จึงเปรียบเป็นพระเอกที่มาช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างดี...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2013, 17:22:10
แวะมาผ่อ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2013, 20:52:57
ช่วงนี้ข้าวในแปลงชาวนาหลายท่านคงตั้งท้องกันบ้างแล้วครับ ของผมก็เริ่มตั้งท้องแล้ว วันนี้พายุฝน ลมแรงพอสมควร ที่บ้านมีลูกเห็บตกด้วยแต่ไม่มาก แต่ดูเหมือนทาง อ.แม่ลาวจะโดนลมหนักกว่า อำเภออื่น ๆครับ ตอนนี้ทำเกษตรเริ่มลำบากมากขึ้น ยิ่งเป็นไม้ผลใหญ่ ๆ ก็มีโอกาสล้มหักโค่นมากกว่า สำหรับนาข้าวบางคนที่พึ่งจะแทงยอดจะเสียหายหนักมากในช่วงนี้่เพราะมีโอกาสีเกสรตัวผู้ร่วงทำให้เปอร์เซนต์การติดเมล็ดลดน้อยลงไปด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2013, 20:57:16
วันนี้ก็เอาน้ำเข้านาบ้างครับไม่ควรปล่อยให้ข้าวขาดน้ำในช่วงนี้ แต่ฝนตกก็ช่วยได้บ้างแต่ปัญหาก็คือเวลาฝนตกลงมา ข้าวหนาแน่นแบบนี้จึงมีโอกาสเกิดโรคพวกเชื้อรา แบคทีเรียได้ค่อนข้างสูงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2013, 21:04:36
แปลงนาผมก็พบวัชพืชเหมือนกัน ก็คิดอยู่ว่าบางจุดอยู่กลางแปลงจะเดินลงไปถอนก็จะเหยียบต้นข้าวเสียหาย ก็คิดว่าคงจะทำเครื่องมือซักอย่างเอาไว้ตัดยอดวัชพืชในส่วนที่จะเป็นเมล็ดต่อไป เอาไว้ทำเสร็จจะเอามาให้ดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2013, 21:10:18
ช่วงข้าวตั้งท้องไปจนถึงออกรวง ชาวนาอาจไม่เหนื่อยอะไรมาก แต่ต้องหมั่นสำรวจแปลงอย่างใกล้ชิด ควรสังเกตุโรคและแมลงต่าง  ๆครับหากพบก็ต้องกำจัด บางคนก็อาจป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2013, 21:20:34
ชาวนาบางคนเห็นวัชพืชในนาตัวเองมากก็ถึงกับถอดใจไปเลยก็มีครับ  ส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มการเพิ่มการใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้นครับ  ที่แปลงนาผมจะมีวัชพืชไม่มากพอรับได้ วิธีการคือมีการไถตากเพื่อกำจัดวัชพืชและเมล็ดวัชพืช นอกจากนี้ยังมีการไขน้ำเข้าเพื่อล่อให้วัชพืชขึ้นจากนั้นก็ไถแปรเพื่อทำลายครับทำให้วัชพืชลดน้อยลงไปได้มากครับ

แปลงนาของชาวนาใกล้เคียงทั้ง 3 รูปเป็นของชาวนา 3 คนที่ไม่ได้ไถตากดินครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2013, 21:32:04
ภาพโดยรวมของแปลงนาขณะนี้ครับ อยู่ในช่วงข้าวกำลังตั้งท้อง ซึ่งจะมีรวงอ่อนอยู่ภายในลำต้นข้าวจากแบนจะเริ่มอ้วนกลมอีกไม่กี่วันข้าวก็จะเริ่มแทงยอดแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2013, 21:46:05
ภาพช่วงนี้จะไม่ค่อยชัดเท่าไหร่เพราะกล้องตัวเดิมออกอาการเริ่มเสียเลยใช้กล้องตัวใหม่ซึ่งยังไม่คุ้นเคยกับฟังค์ชั่นการถ่ายภาพ คลองชลประทานที่บ้านน้ำก็ค่อนข้างเยอะครับมีน้ำตลอด เป็นน้ำจากลำน้ำกกครับ ส่วนที่อำเภออื่นๆ ที่ไม่มีลำน้ำที่มีน้ำตลอดทั้งปีก็คงลำบากเพราะต้องแย่งน้ำกัน บางแห่งก็ต้องมีการเจาะน้ำบาดาลซึ่งน้ำบาดาลเมื่อใส่ในแปลงนาข้าวอาจจะไม่งามเท่าน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินครับส่วนหนึ่งคงเพราะน้ำบาดาลสัมผัสอากาศน้อยกว่าและอาจมีธาตุอาหารน้อยกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2013, 21:59:21
ภาพตัวอย่างการใช้น้ำบาดาลและเครื่องสูบน้ำครับ ขอบคุณภาพบางส่วนน่าจะเป็นของท่าน bm ครับนำมาจากบอร์ดเว็ปเกษตรพอเพียงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มีนาคม 2013, 22:03:21
ช่วงนี้จะมีพายุฤดูร้อนครับ อาจยาวไปจนถึงวันที่ 2 เม.ย. เกษตรกรหลายท่านก็คงหนักใจเพราะผลผลิตเสียหาย  วันนี้ก็ไปดูนาเพื่อตรวจดูความเสียหายโชคดีที่แปลงนาผมไม่เป็นอะไร ลูกเห็บเมื่อวานก็ไม่ได้มากมาย  แต่ชาวนาบางท่านที่เค้าหว่านก่อนช่วงนี้เป็นช่วงกำลังออกรวงพอดีก็มีเสียหายบ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 มีนาคม 2013, 22:07:41
สำหรับแปลงที่มีวัชพืชขึ้นมากก็มักประสบปัญหาเช่นกันครับ  หญ้าข้าวนกเป็นหญ้าที่สูงทำให้ล้มได้ง่ายมักจะล้มทับต้นข้าว  ส่วนหญ้าดอกเหลืองหากขึ้นมาก ๆ ก็จะล้มทับต้นข้าวเช่นกันและยังบังแสงทำให้ต้นข้าวบริเวณนั้นสังเคราะห์แสงได้ไม่เต็มที่ผลผลิตได้น้อยอีกด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 01 เมษายน 2013, 15:30:20
แวะมาผ่อ ;D ;D
;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 เมษายน 2013, 11:30:41
ช่วงนี้ข้าวนาปรังหลายพื้นที่คงตั้งท้องแล้ว เรามาทบทวนการเจริญเติบโตของต้นข้าวในช่วงนี้กันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 02 เมษายน 2013, 20:52:34

รบสอบถามเรื่องการตั้งท้องของข้าวหน่อย บางแปลงปลูกวันเดียวกับเรา แต่ทำไม ข้าวเราออกรวงก่อนคนคนอื่นครับ ;D



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 เมษายน 2013, 22:09:10

รบสอบถามเรื่องการตั้งท้องของข้าวหน่อย บางแปลงปลูกวันเดียวกับเรา แต่ทำไม ข้าวเราออกรวงก่อนคนคนอื่นครับ ;D


ดีใจด้วยครับที่ข้าวออกรวงแล้วจะได้เงินก่อนแล้วครับ ต้นข้าวผมคงประมาณสัปดาห์กว่า ๆครับคงจะเริ่มออกรวงให้เห็นแล้ว  สำหรับข้าวที่ออกรวงไม่พร้อมกันก็มีหลายปัจจัยครับ...

- ชนิดของพันธุ์ข้าว , ความหนาแน่นของต้นข้าว
- ข้าววัชพืช ข้าวดีดข้าวเด้ง บางทีหากมีมาก ๆ ชาวนาก็อาจเข้าใจผิดว่าเป็นข้าวที่เราปลูกแต่บางทีเป็นข้าวพันธุ์อื่นที่อาจปะปนมากับเมล็ดพันธุ์และในแปลงนา มักพบในนาหว่านน้ำตม
- ปริมาณน้ำในแปลงนา ถ้าขาดน้ำต้นข้าวก็เจริญเติบโตได้ช้า แคระแกรน แปลงนาที่ได้น้ำสม่ำเสมอในระดับที่เหมาะสมต้นข้าวก็จะเจริญเติบโตได้ดี
- การให้ปุ๋ย  ฮอร์โมน  ต้นข้าวขาดปุ๋ยมากต้นก็แคระแกรนเจริญเติบโตได้ช้า หากได้ปุ๋ยที่ถูกต้องและเหมาะสม มีฮอร์โมนก็ช่วยเร่งก็ให้การเจริญเติบโตเร็วขึ้น
- แสงแดดว่ามีร่มไม้บังเกินไปหรือไม่ ถ้าในห้องทดลองผสมพันธุ์ข้าวมักจะมีการนำต้นข้าวไปไว้ห้องมืดเพื่อชลอการเจริญเติบโตของต้นข้าว
- วัชพืช  โรคและแมลง ที่คอยทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
- ยาคุมวัชพืช ยาฆ่าหญ้าล้วนชลอให้ต้นข้าวชงักการเจริญเติบโตเหมือนกันหากได้รับในปริมาณมาก



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 เมษายน 2013, 22:27:22
นาปีที่ผ่านมาฝนตกบ่อยครับ ผมพลาดตรงที่ไม่ค่อยได้ดูแลต้นข้าว ไม่ได้พ่นพวกสารป้องกัน กำจัดเชื้อราแม้แต่ไครโตรซาน น้ำส้มควันไม้ก็ไม่ได้พ่น ใส่แต่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้งและปุ๋ยขี้หมูซึ่งหากดูต้นข้าวภายนอกจะดูสมบูรณ์ดี แต่พอรวงแก่พบว่าเป็นโรคเมล็ดด่างพอสมควรทำให้การเก็บเกี่ยวได้เงินไร่ละหมื่นหนึ่งพันกว่าบาทแทนที่จะได้หมื่นสาม-หมื่นสี่ขึ้นไป ไว้นาปี ปีนี้ค่อยแก้ตัวใหม่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 เมษายน 2013, 22:39:49
แปลงนาข้าวช่วงนาปีที่ผ่านมาครับ ข้าวกข.15 นาหว่านน้ำตมครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 เมษายน 2013, 22:53:52
วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายนนี้  ใครสนใจสินค้าคูโบต้า ที่คูโบต้า จุงชัยสหยนต์ สำนักงานใหญ่ ท่าสาย เค้าจัดงานครับดูเหมือนว่ามีโปรโมรชั่นพิเศษ ผมก็ว่าจะลองไปดูรถดำนาอยู่เหมือนกันแรงงานแถวบ้านหายากอยากลองทำนาดำดูบ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 05 เมษายน 2013, 10:42:16
เข้ามาผ่อคับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 เมษายน 2013, 19:40:08
วันนี้แถวบ้านมีประชุมเรื่องโครงการรับจำนำครับ สำหรับช่วงนาปีเห็นเค้าแจ้งว่าทางรัฐบาลจะรับจำนำเฉพาะข้าวไวต่อช่วงแสง เช่นข้าวหอมมะลิ กข15 กข6  ที่เป็นข้าวที่สามารถส่งออกได้ข้าวเหนียวอุบลก็จะไม่รับ หากเป็นข้าวจำพวกไม่ไวต่อช่วงแสงพวกเช่น กข.41 กข.47 พิษโลก สุพรรณ หอมประทุม จำพวกนี้อาจจะไม่รับเช่นกัน ข้าวเบาอายุสั้นก็ยิ่งแล้วกันใหญ่ไม่รับ  แต่ผมคิดว่าก็คงจะมีการควบคุมเป็นบางพื้นที่เพราะอย่างภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำหากปลูกข้าวนาปีข้าวไวต่อช่วงแสงรับลองว่าไม่ทันได้เกี่ยวข้าวจะจมน้ำเสียก่อน อย่างสุพรรณซึ่งมีการปลูกข้าวมากที่สุดในประเทศซึ่งมีมากกว่าเชียงรายหลายเท่าตัวก็เป็นพื้นที่น้ำท่วมเช่นกัน

ข้าวแถวบ้านสำหรับใครที่หว่านก่อนบางคนก็ออกรวงพอสมควรแล้วเต็มทุ่งนา  แต่ก็ต้องลุ้นกันว่าจะไม่โดนพายุลูกเห็บอีกไม่งั้นจะเสียหายเป็นอย่างมาก เมล็ดข้าวยิ่งแก่จะยิ่งร่วงง่าย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 เมษายน 2013, 19:43:04
แปลงนาผมก็เริ่มมีแทงยอดให้เห็นกันแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 06 เมษายน 2013, 19:44:09
วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายนนี้  ใครสนใจสินค้าคูโบต้า ที่คูโบต้า จุงชัยสหยนต์ สำนักงานใหญ่ ท่าสาย เค้าจัดงานครับดูเหมือนว่ามีโปรโมรชั่นพิเศษ ผมก็ว่าจะลองไปดูรถดำนาอยู่เหมือนกันแรงงานแถวบ้านหายากอยากลองทำนาดำดูบ้างครับ
ดรีมก็สนใจอยู่หนาเจ้า อ้ายถอยเลย แล้วมาปลูกตี่นาดรีมต๋วย อิอิ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 เมษายน 2013, 19:46:00
ดูใกล้ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 เมษายน 2013, 19:55:28
อีกไม่เกิน 7 วันข้าวคงออกรวงพร้อมกันหมดแล้ว ซึ่งเราก็จะพอคำนวณได้ว่าเราจะต้องเกี่ยวข้าวประมาณวันที่เท่าไหร่คือนับไปอีกประมาณ 1 เดือนอาจเร็วหรือหลังนี้ได้นิดหน่อย เมล็ดข้าวจะมีน้ำหนักดีหรือไม่ให้ดูที่ใบ หากใบเหลืองมากก็จะส่งผลให้เมล็ดข้าวมีน้ำหนักเบาเพราะข้าวจะมีการสะสมแป้งไว้ที่ใบ ยิ่งต้นข้าวขาดน้ำในช่วงนี้จะทำให้เมล็ดข้าวมีน้ำหนักเบาเพราะเมื่อน้ำน้อย ต้นข้าวจะลดการสูญเสียน้ำโดยการปิดรูปากใบ กระบวนการสังเคราะห์แสงก็จะน้อยตามเหมือนกับการจำศีล ช่วงนี้ควรจะให้ข้าวมีการสังเคราะห์แสงให้เต็มที่ มีสารอาหารที่ครบถ้วนข้าวจึงจะมีน้ำหนัก ใบข้าวควรเป็นสีเขียวไม่เหลือง แต่ไม่ควรให้ใบเขียวเข้มมากเกินไปเพราะจะเก็บเกี่ยวได้ช้า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 เมษายน 2013, 20:12:42
ช่วงนี้ก็ต้องไปดูน้ำบ่อยอาจเป็นช่วงเช้าหรือตอนเย็นไปดูทีครับ  หากตัวกาลักน้ำดูดน้ำผิดปกติก็ต้องไปดูว่ามีอะไรอุดฝาท่อหรือไม่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเศษขวด เศษหญ้าถุงพลาสติกต่าง ๆ  ก็ต้องเอาออกครับ  ช่วงที่ข้าวออกรวงก็ต้องรักษาระดับน้ำในนาไว้พอสมควรโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีหนูระบาดเพื่อช่วยลดการเสียหาย ส่วนใหญ่หนูจะเข้ามาทำลายข้าวในระยะที่ข้าวตั้งท้องหรือออกรวง ถ้าเป็นหนูตัวใหญ่ เช่น หนูพุกหรือหนูท้องขาว จะกัดโคนต้นข้าวเป็นลักษณะรูปปากฉลาม ให้ต้นข้าวล้มแล้วก็กินเมล็ดข้าว ส่วนหนูตัวเล็ก เช่น หนูหริ่ง ก็จะปีนต้นข้าวเพื่อขึ้นไปกัดกินเมล็ดข้าวหรือคอรวงข้าวทำให้เกิดความเสียหาย ช่วงที่ก่อนจะปล่อยให้น้ำแห้งก็อาจต้องมีการวางยากำจัดหนูด้วยเช่นกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 เมษายน 2013, 20:22:40
วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายนนี้  ใครสนใจสินค้าคูโบต้า ที่คูโบต้า จุงชัยสหยนต์ สำนักงานใหญ่ ท่าสาย เค้าจัดงานครับดูเหมือนว่ามีโปรโมรชั่นพิเศษ ผมก็ว่าจะลองไปดูรถดำนาอยู่เหมือนกันแรงงานแถวบ้านหายากอยากลองทำนาดำดูบ้างครับ
ดรีมก็สนใจอยู่หนาเจ้า อ้ายถอยเลย แล้วมาปลูกตี่นาดรีมต๋วย อิอิ

555 คงไม่ไหวล่ะครับ ฝีมือคงยังไม่ถึงขั้นเพราะยังไม่ได้เคยดำครับต้องลองฝึกจากแปลงนาตัวเองก่อน เห็นเค้าว่าเวลาทำครั้งแรกอาจเก้ ๆ กัง ๆ  การดำแถวข้าวที่ดำจะไม่ค่อยตรงต้องทำซักระยะจนคล่องก่อนครับ

RZuVjDycXC8


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 19:26:08
วันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปเที่ยวงาน คูโบต้าที่จุงชัย เลยเก็บภาพมาฝากครับ  คนเยอะพอสมควร ได้พบปะชาวนาหลายท่าน  เดี๋ยวนี้ชาวนาหลายท่านมีฐานะกันค่อนข้างเยอะ ข้าวราคาแพงราคาที่นาขยับขึ้นสูงบางคนมีมากก็แบ่งขายไปบ้าง บางคนมีที่นาเยอะได้เงินมากก็ถอยรถใหม่กันเยอะเลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 19:32:07
บรรยากาศในงานครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 19:38:50
ไม่ได้เชียร์สินค้าของคูโบต้านะครับ แต่เอามาให้พิจารณากัน  รุ่นนี้ 24 แรงราคาสูงกว่าแต่ก่อนตั้งแต่คูโบต้าเปลี่ยนเครื่องยนต์ระบบใหม่ ขนาดพอ ๆ กับรถที่ผมใช้เลย ดูแล้วไม่เหมาะสำหรับการใช้กับพื้นที่ลาดเอียงเพราะระยะห่างของล้อไม่กว้างมาก  สำหรับนาที่ไม่หล่ม หรือนาที่ทำนาปีละ 1 ครั้งก็น่าจะพอใช้รถรุ่นนี้ได้ครับแต่ต้องคันนาไม่สูงเพราะยางมีขนาดเล็กครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 19:44:10
รุ่นยอดนิยมที่เห็นชาวนาใช้กันครับราคารวมอุปกรณ์ก็ ห้าแสนกว่า ๆ  ส่วนใหญ่จะเหมาะกับคนที่มีนาเป็นของตัวเองมาก ๆ  หรือเอาไว้รับจ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 19:48:47
รถดำนานั่งขับ รุ่นนี้ 6 แถวราคาเกือบ 5 แสน และต้องเผื่อค่าถาดเพาะอีกประมาณไร่ละ 1500 บาท  เห็นบางคนซื้อไปรับจ้างดำนาก็มีรายได้ดีพอสมควรครับ รถดำนาไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ที่เป็นนาหล่มครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 19:52:42
รถดำนาแบบเดินตามก็มีคนสนใจพอสมควรครับ  ผมจองรุ่นนี้ไปแล้วเนื่องจากราคาไม่สูงมากถึงแม้การปลูกจะเหนื่อยกว่าการหว่าน แต่ก็ได้ผลดีตามมาอีกหลายอย่าง หากจะทำนาลดการใช้สารเคมีก็คงต้องเลือกนาดำ และนาโยนล่ะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 19:54:49
สินค้าอื่น ๆ ก็มีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 20:11:47
รถเกี่ยวข้าวครับ รุ่นนี้ดูเหมือนเป็นรุ่นใหญ่สุดราคาล้านกว่า ๆ  คันใหญ่ขึ้นช่วงล่างทำได้ดีกว่ารุ่นก่อน ๆ  แต่ผมดูแล้วก็ควรปรับปรุงอีกพอสมควรเพื่อให้เหมาะกับท้องนาบ้านเราทั้งระยะของแทรกยางที่ต้องยาวมากกว่านี้เพื่อให้สมดุลย์กับตัวรถ แทรกยางควรกว้างกว่านี้อีกเพื่อสามารถลุยนาหล่มได้ ควรยกตัวถังสูงกว่านี้อีก หากคูโบต้าทำระบบช่วงล่างให้ใหญ่และแข็งแรงเหมือนรถเกี่ยวข้าวไทยประดิษฐ์และระบบเกี่ยวข้าวให้ด้านหน้ากว้างกว่าเดิมถึงแม้ขายราคาที่ 2 ล้านกว่าเหมือนรถไทยประดิษฐ์ก็คิดว่าของคูโบต้าน่าจะขายได้ดีกว่านี้ไม่ต้องมาแบกรับภาระถูกฟ้องร้องในปัจจุบัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 20:16:09
จองรถดำนาเสร็จก็ไปงาน มหกรรมพานิชย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อครับ เห็นข่าวว่ามีการแสดงสินค้าเกษตรและเครื่องจักรกลการเกษตรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 20:17:29
สินค้ามีหลากหลายเยอะพอสมควรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 20:19:36
ลองไปดูสินค้ากันบ้าง เครื่องคัดขนาดไข่ไก่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 20:21:50
เครื่องบดย่อยเอนกประสงค์  สามารถย่อยสลายได้หลายอย่างใครจะทำปุ๋ยก็สามารถใช้เจ้าเครื่องนี้ได้เห็นมีหลายรุ่นครับผมถ่ายมารุ่นเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 20:26:08
เครื่องสีข้าวขนาดเล็กครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 20:28:22
รุ่นนี้เครื่องใหญ่หน่อยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 20:33:29
สินค้ามีหลากหลายครับทั้งของตกแต่งบ้าน เสื้อผ้า กระเป๋า  ของกินของใช้ ใครสนใจก็รีบไปชมอุดหนุ่นกันครับ พรุ่งนี้วันสุดท้ายกันแล้ว ภายในเย็นสบายติดแอร์ไม่ร้อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: nagool Tee ที่ วันที่ 08 เมษายน 2013, 20:53:52
อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากครับ เหมือนกับไปเรียนตอนปีสอง ตอนเรียนวิชาพืชไร่353211เลยครับผม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 เมษายน 2013, 20:47:40
อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากครับ เหมือนกับไปเรียนตอนปีสอง ตอนเรียนวิชาพืชไร่353211เลยครับผม

ขอบคุณครับที่สนใจอ่านกระทู้  ผมเองก็พยายามรวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งมานำเสนอกันครับหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนชาวนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 เมษายน 2013, 21:04:18
ช่วงนี้แปลงนาแถวบ้านพบการระบาดของโรคไหม้ พบมากในแปลงที่มีการใส่ปุ๋ยมาก ๆ ที่ใบเข้ม แปลงนารอบข้างอีกฝั่งของผมรอบ ๆ เป็นหมดของผมติดโรคมาหน่อยเพราะค่อนข้างแน่น เย็นนี้ไปพ่นยากำจัดโรคเรียบร้อยครับ ส่วนอีกฝั่ง 13 ไร่ยังปลอดภัยดีแต่ก็ต้องเฝ้าระวังครับช่วงนี้หากไหม้คอรวงมาอีกจะลำบากครับ   อีกประมาณ 10 กว่าวันก็ต้องหยุดให้น้ำปล่อยให้ดินแห้งเพื่อเตรียมสำหรับการเก็บเกี่ยวแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 เมษายน 2013, 21:12:46
สำหรับนาหว่านน้ำตม มักจะพบปัญหาข้าวดีดข้าวเด้งครับ เวลาข้าวใกล้ออกรวงจะพบเห็น เรามาเรียนรู้วิธีการป้องกันและกำจัดครับ

gYKWIbc-18g



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 เมษายน 2013, 21:33:17
ดูแล้วก็มีประโยชน์ได้ไอเดียดีครับ

slamZPdJqWY


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 เมษายน 2013, 21:49:06
หลากหลายวิธีในการกำจัดวัชพืชแปลงนาดำ 2 คลิปสุดท้ายไม่แน่ใจว่าเป็นพวกปุ๋ย หรือ ยากำจัดวัชพืชครับ

QwMugmgSbOQ&NR=1

ooWNZI0V0AE

qyWqjfZ8hVw

lmuJeVy7UvU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 09 เมษายน 2013, 22:02:53
ช่วงนี้แปลงนาแถวบ้านพบการระบาดของโรคไหม้ พบมากในแปลงที่มีการใส่ปุ๋ยมาก ๆ ที่ใบเข้ม แปลงนารอบข้างอีกฝั่งของผมรอบ ๆ เป็นหมดของผมติดโรคมาหน่อยเพราะค่อนข้างแน่น เย็นนี้ไปพ่นยากำจัดโรคเรียบร้อยครับ ส่วนอีกฝั่ง 13 ไร่ยังปลอดภัยดีแต่ก็ต้องเฝ้าระวังครับช่วงนี้หากไหม้คอรวงมาอีกจะลำบากครับ   อีกประมาณ 10 กว่าวันก็ต้องหยุดให้น้ำปล่อยให้ดินแห้งเพื่อเตรียมสำหรับการเก็บเกี่ยวแล้วครับ

 :D...หญ้าดอกเหลืองมีเหมือนกันเน๊าะครับ...อิอิ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 เมษายน 2013, 09:36:54
ช่วงนี้แปลงนาแถวบ้านพบการระบาดของโรคไหม้ พบมากในแปลงที่มีการใส่ปุ๋ยมาก ๆ ที่ใบเข้ม แปลงนารอบข้างอีกฝั่งของผมรอบ ๆ เป็นหมดของผมติดโรคมาหน่อยเพราะค่อนข้างแน่น เย็นนี้ไปพ่นยากำจัดโรคเรียบร้อยครับ ส่วนอีกฝั่ง 13 ไร่ยังปลอดภัยดีแต่ก็ต้องเฝ้าระวังครับช่วงนี้หากไหม้คอรวงมาอีกจะลำบากครับ   อีกประมาณ 10 กว่าวันก็ต้องหยุดให้น้ำปล่อยให้ดินแห้งเพื่อเตรียมสำหรับการเก็บเกี่ยวแล้วครับ

 :D...หญ้าดอกเหลืองมีเหมือนกันเน๊าะครับ...อิอิ

ก็พอมีเหมือนกั๋นครับ พวกดอกเหลือง หญ้าหวัง  บริเวณที่ริมคันนาที่น้ำบ่าค่อยคุม แปลงใกล้เคียงที่เปิ้นบ่าได้ใส่ยาคุมมีนักขนาดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 เมษายน 2013, 15:06:59
การชักร่องในแต่ละแถวนาดำของชาวญี่ปุ่นก็เป็นวิธีอย่างหนึ่งในการลดปริมาณวัชพืชได้เพื่อให้ดินอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ ญี่ปุ่นคิดค้นสิ่งประดิษฐ์มากมายเพื่อลดการใช้สารเคมี ถ้าเป็นบ้านเราก็คงพ่นยาคุมหญ้าไปเรียบร้อยแล้ว

v8TYACALoq8


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 เมษายน 2013, 15:18:58
ตอนนี้การศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยากแม้เราจะอ่านตัวหนังสือเค้าไม่ออกแต่เราก็สามารถแปลและพอจับใจความได้ครับ

_jtjHJ8TwIk&NR

ชายคนนี้เค้าอธิบายไว้ว่า

前回は機械で溝をつけましたが、今回はなかなか乾かない田んぼを中心に手掘りで溝をつ­けていきます。
一掘り約20cmづつ掘っていきます。なかなか大変な仕事の一つです。

ซึ่งหากเรานามาแปลใน Google แปลภาษาจะได้คำแปลที่พอจับใจความได้ว่า

ฉันใส่ร่องในครั้งสุดท้ายที่เครื่องเราจะใส่ร่องด้วยมือขุดรอบนาข้าวไม่แห้งได้อย่างง่ายดายในเวลานี้ฉันจะยังคงขุดขุดหนึ่งประมาณ 20 ซม. ในเวลา มันเป็นหนึ่งในงานที่ยากมาก



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 เมษายน 2013, 16:56:11
เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาออกไปเรื่อย ๆ คนหนึ่งคนทำนาได้มากขึ้น

MmHtYRENax0

P0mrkgPvqDY

e6fFzlF3iHk


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 เมษายน 2013, 19:44:56
เย็นไปนา ไปตัดหญ้าคันนาให้สั้นเพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา และพ่นยาป้องกันและกำจัดเชื้อราอีกครั้งซื้อมาขวดเล็กขวดละ 100 บาท ฉีดพ่นรอบ ๆ แปลงนาทุกแปลงและบริเวณที่เป็นโรค ใช้ปริมาณยาไปครึ่งขวดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 เมษายน 2013, 19:51:15
โรคที่เป็นอยู่ครับ เป็นเล็กน้อยแต่ก็ต้องรักษา ชาวนาข้างเคียงเป็นทั่วทั้งแปลงแกก็ไม่พ่นรักษาปล่อยให้หายเองที่จริงพันธุ์ที่ปลูกอยู่ค่อนข้างต้านทานโรคนี้ครับ ปล่อยไว้สามารถหายเองได้ แต่ก็มีผลต่อเมล็ดข้าว ลงทุนอีกเล็กน้อยดีกว่าเสียหายทั้งแปลงผลผลิตที่ได้อาจจะหายไปมากหากไม่รีบรักษา  เห็นใบเป็นแบบนี้หากพ่นรักษาประมาณ 1 สัปดาห์ก็กลับมาสวยเหมือนเดิมแล้วครับ ตอนทำนาครั้งแรกใบข้าวผมไหม้เหมือนหญ้าคาเลยแต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าพ่นยาไปแล้วจะกลับมาใบเขียวเหมือนเดิมข้าวเป็นพืชที่อดทนดีจริง ๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 เมษายน 2013, 19:56:01
ตอนนี้ข้าวในแปลงเริ่มแทงยอดออกมามากขึ้นครับ ประเมินแล้วก็น่าพอใจแต่มีพบข้าวดีดข้าวเด้งบางส่วนครับ  อีกประมาณสัปดาห์กว่า ๆ จะสวยกว่านี้มากหากต้นข้าวออกรวงพร้อมกันหมดแล้วครับ ช่วงหยุดสงกรานต์คงไม่ได้ไปไหนคงดูแลต้นข้าว ตัดหญ้าคันนา ดูระดับน้ำครับ ไหน ๆ เดือนหน้าก็จะได้เก็บเกี่ยวแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 เมษายน 2013, 20:05:27
กว่าจะตัดหญ้าคันนาเสร็จไปประมาณ 120 ม. พ่นยาอีก 1 ถังก็เกือบค่ำครับ ค่อยทำวันละเล็กละน้อยสำหรับการตัดหญ้า ส่วนการพ่นยาหากไม่เป็นเพิ่มก็ไม่จำเป็นต้องพ่นต่อแล้วครับ พ่นมาก ๆ อาจมีผลต่อเกสรตัวผู้ของต้นข้าวได้ การพ่นควรพ่นระดับต่ำ ๆ บริเวณ คอรวง ใบและโคนต้นก็พอครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 11 เมษายน 2013, 08:43:33
ปิ๊กมาผ่อนาตี้บ้าน ทำนาหว่านมีก้าหญ้า ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 เมษายน 2013, 13:49:42
ปิ๊กมาผ่อนาตี้บ้าน ทำนาหว่านมีก้าหญ้า ;D ;D ;D

ตอนทำนาแรก ๆผมใช้ยาคุมเม็ดครับมีหญ้าเยอะมาก ๆ ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้แบบฉีดพ่นช่วยได้เยอะซึ่งหากฉีดพ่นช่วงที่มีโอกาสฝนตกก็ต้องผสมพวกสารจับใบครับ การทำนาปรังครั้งนี้ก็พ่นยาคุมผสมสารจับใบครับพ่นเสร็จอีก 2 ชั่วโมงฝนตกลงหนักมาก ดูแปลงนาปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีหญ้าครับ ปกติชาวนาจะกลัวกันมากหากพ่นยาคุมหญ้าไปแล้วฝนตก บางรายถึงกับต้องพ่นใหม่ก็เปลืองต้นทุนอีกครับ สารจับใบขวด 1 ลิตรราคาไม่ถึงร้อยใช้ได้ประมาณเกือบสามสิบไร่  แต่ตอนนี้จะเปลี่ยนจากนาหว่านมาทำนาดำแล้วเพื่อจะได้เลิกใช้สารเคมีอันตรายครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 05:10:49
 :D....ของผมฉีดพ่นยาคุมหญ้าตอนข้าวอายุ1เดือนครับ....เลือกฉีดพ่นเฉพาะที่หญ้าขึ้นเยอะๆ...ไม่ได้พ่นทั้งแปลงครับ.....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 10:41:53
:D....ของผมฉีดพ่นยาคุมหญ้าตอนข้าวอายุ1เดือนครับ....เลือกฉีดพ่นเฉพาะที่หญ้าขึ้นเยอะๆ...ไม่ได้พ่นทั้งแปลงครับ.....
ลุง bm เอารูปนาปรังมาฝากผ่องก่า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 11:23:39
วันนี้ไปตัดหญ้าแต่เช้าครับ ฝั่ง 9 ไร่ตัดหญ้าเสร็จเรียบร้อย อีก 13 ไร่ตัดได้ครึ่งหนึ่งแล้วตอนเย็นค่อยไปต่อ  ฝั่ง 9 ไร่ข้าวออกรวงพอสมควรปีนี้ข้าวสวยกว่านาปรังปีที่แล้ว  ปีที่แล้วก็ได้ไร่ละตันกว่า  หากปีนี้ฝนไม่ตกหนัก พายุไม่แรงหรือลูกเห็บลงอีกคงจะได้ผลผลิตมากกว่าปีที่แล้วครับ

รูปนาฝั่ง 9 ไร่ครับวันก่อนได้ฉีดยากำจัดเชื้อราไปในต้นที่เป็นโรควันนี้เริ่มหายแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 11:28:12
มาดูฝั่ง 13 ไร่ข้าวก็ออกรวงมาพอสมควรแปลงนี้เป็นนาดินทรายครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 11:33:07
ดูใกล้ ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 11:37:17
ตอนเย็นไปตัดหญ้าอีกรอบก็คงเสร็จทั้งหมดแล้วครับ เร็วกว่าที่คิดไว้ สงกรานต์ก็จะพอมีเวลาได้พักผ่อนบ้างแล้ว  การตัดหญ้าคันนาให้สั้นช่วยให้ลดการเกิดโรคเชื้อรา และเป็นที่อยู่ของแมลงศัตรูข้าวครับ ดูแล้วก็งามตาด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 11:45:04
:D....ของผมฉีดพ่นยาคุมหญ้าตอนข้าวอายุ1เดือนครับ....เลือกฉีดพ่นเฉพาะที่หญ้าขึ้นเยอะๆ...ไม่ได้พ่นทั้งแปลงครับ.....

ท่าจะประหยัดต้นทุนได้เยอะน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 21:11:37
ตัดหญ้าเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ก็ยังถ่ายรูปทุ่งนายามเย็นช่วงนี้มากฝาก นา 13 ไร่ก็ถ่ายรูปยากพอสมควรถ่ายไม่ครอบคลุมแปลงทั้งหมด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 21:24:18
การตัดหญ้าควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วยครับ หมั่นตรวจเช็คอุปกณ์ ใบมีดขันแน่นหรือไม่ ถ้าเครื่อง 4 จังหวะควรดูระดับน้ำมันเครื่องที่เหมาะสม  ตำแหน่งของของสายสะพายว่าเหมาะกับความสูงเราหรือไม่ ที่สำคัญอุปกรณ์เซฟตี้ของคนตัดจะต้องมีหน้ากากป้องกันการกระเด็นของดิน หินครับ ผมใช้หมวกกันน๊อคมอเตอร์ไซด์ก็พอใช้ได้มีบังลม เราใส่แว่นตาอีกชั้นหนึ่ง  หากจะให้เหมาะบังลมควรจะหุ้มถึงคางครับ  รองเท้าอาจใส่เป็นรองเท้าบูทไปนาที่หัวรองเท้าแข็งนิดนึงป้องกันการกระเด็นของเศษหินเศษไม้  หากพื้นที่ไม่ปลอดภัยเช่นมีหินมาก ๆ ควรเปลี่ยนใบมีดเป็นสายเอ็น การกระเด็นก็จะลดน้อยลงครับ บางครั้งผมก็ใส่สนับแข้งด้วยครับช่วยป้องกันอันตรายได้เยอะเหมือนกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 21:31:30
ตัดหญ้าเสร็จเป็นระยะก็หยุดพักเครื่องให้เย็นเพื่อเป็นการรักษาเครื่องระหว่างรอก็พ่นยากำจัดเชื้อราอีกตามคันนาที่ตัดเสร็จและต้นข้าวที่อยู่ใกล้คันนาครับ  ยาที่ใช้คนขายบอกว่าปลอดภัยกับผู้ใช้ครับ  ดูฉลากก็ไม่มีระบุว่าเป็นยาอันตรายครับแต่ก็ปิดจมูกไว้ก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 21:37:29
แปลงนาผมอยู่ฝั่งซ้าย  แปลงนาของชาวนาท่านอื่นอยู่ฝั่งขวาครับข้าวเป็นโรคอยู่ผมก็เลยต้องพ่นยาป้องกันไว้ก่อนครับเผื่อจะมาติดของเราครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 21:55:41
จากประสบการณ์ ผลผลิตจะได้มากได้น้อยนอกจากดูจำนวนเมล็ดต่อรวงแล้วต้องดูความถี่ของรวงข้าวในแปลงนาด้วยครับ  แปลงด้านซ้ายเป็นแปลงนาโยนครับของพี่แถวบ้านตอนนี้ดูแล้วยังมีช่องว่างระหว่างกอค่อนข้างเยอะซึ่งข้าวพร้อมที่จะแทงยอดแล้วอาจส่งผลให้ผลผลิตได้น้อยตามครับแบบนี้รถเกี่ยวข้าวชอบมากเพราะเวลาเกี่ยวข้าว รถสามารถทำเวลาได้ดี แต่กับแปลงไหนที่รวงข้าวถี่แล้วนอกจากจะเกี่ยวได้ช้าแล้วยังเปลืองน้ำมันด้วยครับเจ้าของรถเกี่ยวจะไม่ชอบเท่าไหร่อีกทั้งเสียเวลาในการถ่ายเมล็ดข้าวขึ้นรถบรรทุกอีกครับ  รถเกี่ยวข้าวคันใหญ่ ๆ จะสามารถบรรทุกข้าวได้ประมาณ 2.5 ตันหากแปลงไหนได้ไร่ละตันกว่าก็เท่ากับว่าเกี่ยว 2 ไร่ต้องมาถ่ายข้าวขึ้นรถอีกครับ ยิ่งแปลงนาอยู่ไกล ๆ จากถนนจะเสียเวลามากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 เมษายน 2013, 22:17:24
อีกประมาณ 10 กว่าวันก็ต้องหยุดน้ำเข้านาแล้วครับต้องปล่อยให้ดินแห้งเพื่อให้เมล็ดข้าวแก่พร้อมเก็บเกี่ยว  น้ำคลองชลประทานแถวบ้านยังมีน้ำเยอะอยู่เลยครับ แปลงนาผมอยู่ใกล้ประตูน้ำ น้ำเลยเยอะกว่าเพื่อนใครอยู่ท้ายคลองชลน้ำก็น้อยตามครับ  ต่างอำเภอที่ทำนาปรังอยู่บางที่ก็ขาดน้ำต้องแย่งน้ำกัน  บางที่ก็ต้องแก้ปัญหาโดยการสูบน้ำบาดาลช่วยครับ หากใครจะซื้อที่นาก็ต้องดูด้วยครับว่าการเดินทางลำบากหรือไม่ มีปัญหาเรื่องน้ำด้วยหรือป่าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 เมษายน 2013, 20:10:40
แปลงนาโยนทีพูดถึงเมื่อวานครับ ข้าวนาปรังจะมีราคาต่ำกว่าข้าวนาปี ดังนั้นจะต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่จึงคุ้มค่ากับการทำนา หากได้ผลผลิตน้อยก็จะได้กำไรน้อยตาม แปลงนี้ถึงแม้จะโยน 100 กว่าถาดต่อไร่แล้ว แต่การแตกกอยังน้อยเพราะมีการไปพ่นยาฆ่าหญ้าในช่วงข้าวใกล้แตกกอทำให้ข้าวชงักการเจริญเติบโตในช่วงที่ค่อนข้างสำคัญ  ชาวนาทั่วไปจึงไม่นิยมการพ่นยาฆ่าหญ้าในช่วง ข้าวแตกกอ ข้าวตั้งท้อง และออกรวง  ส่วนใหญ่จะพ่นแรก ๆ ไม่เกิน 25 วันเพราะข้าวมีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่า

เมื่อดูแล้วยังมีระยะห่างระหว่างกอค่อนข้างมากทั้งที่ข้าวเริ่มแทงยอดแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 เมษายน 2013, 20:21:54
นาแถวบ้านเกิดโรคค่อนข้างมาก โรคที่พบส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นขอบใบแห้ง พบในแปลงที่มีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก ๆ  หรือข้าวมีความสมบูรณ์มากเกินไป ส่วนใหญ่ที่เป็นจะเป็นพันธุ์ พิษโลก 2 ครับ เจอกันทั้งนาดำ นาโยนเลยครับ  หากใครพบโรคแบบนี้ในแปลงนาตัวเองก็พ่นยากำจัดซะนะครับ เพราะบางพันธุ์อาจต้านทานโรคนี้ไม่เก่งสุดท้ายอาจส่งผลถึงรวงข้าวและเมล็ดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 เมษายน 2013, 20:28:25
ข้าวในแปลงนาผมแทงยอดออกมาแล้วประมาณ 70-80 % แล้วก่อนวันที่ 10 พ.ค. นี้คงได้เกี่ยวข้าวแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 เมษายน 2013, 20:05:07
ช่วงนี้หากมีเวลาว่างก็จะไปนา เช้า และ เย็นครับไปแป๊ป ๆ ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำแล้ว ปั่นจักรยานไปถือว่าเป็นการออกกำลังกายครับ ต้นข้าววันนี้มีการแทงยอดออกมามากขึ้นแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 เมษายน 2013, 21:07:27
สำหรับนาปรังปีนี้เรามาดูภาพเก่า ๆ กัน ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ประมาณต้นเดือนมกราคม ตอนนี้นับมาก็ 3 เดือนกว่า ๆ แล้วอีกไม่เกิน 20 กว่าวันก็จะถึงกำหนดการเก็บเกี่ยวแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 เมษายน 2013, 20:49:14
นับวันรอวันเก็บเกี่ยวครับ...  จะได้รู้ว่าผลผลิตที่ได้ปีนี้เท่าไหร่  ชาวนาหลาย ๆ ท่านก็รอเช่นกัน ช่วงเช้าก็ปั่นจักรยานไปนาครับ แต่พรุ่งนี้ต้องไปทำงานบริษัทตามปกติแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 เมษายน 2013, 20:59:09
ข้าวเริ่มระยะน้ำนมเพื่อเป็นเมล็ดแล้ว ช่วงนี้ก็ต้องเตรียมติดต่อเจ้าของรถเกี่ยวข้าวไว้บ้างแล้วเพื่อนัดวันเกี่ยวข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 เมษายน 2013, 21:03:30
ปั่นจักรยานเที่ยวไปเจอแปลงนานี้ครับของใครไม่รู้ เกิดอะไรขึ้นที่มีหลากหลายวัชพืชเกิดขึ้นในนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 เมษายน 2013, 21:13:52
บางแปลงต้นข้าวก็สวยมากครับ แปลงนี้อยู่ใกล้บ้านชาวนาเลยจึงทำให้มีโอกาสดูแลต้นข้าวได้ดี ผลผลิตที่ได้ก็ดีตาม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 เมษายน 2013, 16:14:22
พาไปเที่ยวชมเมือง ซาปา เวียดนามเหนือ เผื่อใครจะไปเยี่ยมชมนาขั้นบันไดที่นั่นครับ หากเราเดินทางโดยรถจากเชียงของไปก็จะผ่าน บ่อแก้ว-หลวงน้ำทา-อุดมไชย-แยกเข้าเมืองขวาก่อนถึงพงสาลี ระยะทางประมาณ 400 กม. จากนั้นเข้าเดียนเบียนฟูไปซาปาอีก 200 กว่ากม.รวม ๆ แล้วก็ประมาณ 600 กม. ครับ 

UrMB_EFEmis

uNx-kiBGuTo

pO0RGoOUNLo



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 เมษายน 2013, 21:48:57
เอามาทบทวนอีกรอบครับ เชื่อว่าข้าวในนาหลายคนคงออกรวงกันเยอะแล้วแต่อาจยังไม่รู้ว่าจะเก็บเกี่ยววันไหนเลยนำมาทบทวนให้จะได้คำนวณเอาไว้จองคิวรถเกี่ยวข้าวล่วงหน้าได้ครับ

ให้นับตั้งแต่ข้าวแทงยอดประมาณ 70-80 % ของข้าวในนาครับ เช่นข้าวผมแทงยอดออกรวงวันที่ 10 เม.ย. ก็บวกไปอีก 30 วัน ก็จะไปเก็บเกี่ยวในวันที่ 10 พ.ค. ก่อนหน้าหรือหลังได้นิดหน่อย แต่ไม่นับการผิดปกติอันเนื่องจากปัจจัยความสมบูรณ์ของต้นข้าว พันธุ์ข้าว  ปริมาณน้ำในนา อุณหภูมิ โรค แสงแดด ฯลฯ ที่อาจทำให้เมล็ดข้าวแก่เร็วหรือช้ากว่าปกติ ส่วนใหญ่ที่เจอคือการออกรวงไม่พร้อมกันของข้าวในแปลงเช่นมีการปลูกซ่อม การพ่นยาฆ่าหญ้าเป็นจุด ๆ น้ำไม่ทั่วถึง ขาดปุ๋ย จึงต้องรออีกนิดหน่อยให้เมล็ดข้าวแก่พร้อมให้หมด

จากดอกข้าวเป็นเมล็ด
            ดอกข้าวจะบานหลังจากรวงโผล่พ้นกาบใบธงประมาณ 1-2 วัน ดอกบานในช่วงเช้าเวลาประมาณ 8.00-12.00 น. การบานของดอกจะบานจากปลายรวงมาหาโคนรวง ขณะบานเปลือกดอกใหญ่และเปลือกดอกเล็กจะเปิดอ้าออก ดอกข้าวจะบานประมาณ 30-60 นาที ดอกที่บานแล้วจะไม่บานอีก ดอกข้าวทั้งรวงจะใช้เวลาบานประมาณ 7 วัน จึงครบทุกดอก         การผสมเกสรจะเกิดขึ้นหลังดอกบานเล็กน้อย อับเกสรตัวผู้จะแตกตัวออกปล่อยละอองเกสรตัวผู้ตกลงบนพู่รับละอองเกสรของตัวเมีย หลังจากนั้นละอองเกสรตัวผู้จะงอกส่งเชื้อเพศผู้ไปผสมกับเชื้อเพศเมียในรังไข่ และมีการเจริญเติบโตพัฒนาเป็นเมล็ดข้าวตามมา


การสร้างเมล็ดข้าวแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ
- ระยะข้าวเป็นน้ำนม   ใช้เวลาประมาณ 7 วัน หลังการผสมเกสร ภายในเมล็ดข้าวจะเป็นของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนม เปลือกมีสีเขียว
- ระยะข้าวเม่า   เป็นระยะที่เมล็ดข้าวมีอายุ 14-21 วันหลังจากผสมเกสร เนื้อเมล็ดเริ่มมีน้ำน้อยลงและแข็งขึ้น เปลือกใหญ่และเปลือกเล็กเริ่มแข็ง มีสีเขียวอมน้ำตาล
- ระยะเมล็ดแก่เต็มที่ หรือระยะเก็บเกี่ยว  เป็นช่วงที่เมล็ดข้าวมีอายุประมาณ 30 วัน เปลือกแข็ง เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล น้ำตาลเข้ม น้ำตาลม่วง หรือน้ำตาลดำ แล้วแต่ชนิดของพันธุ์ข้าว เนื้อเมล็ดมีสีขาว อาจจะแข็งมากหรือแข็งน้อยขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 เมษายน 2013, 22:07:00
เย็นนี้เดินสำรวจแปลงนาครับเพื่อตรวจดูลักษณะทั่วไปของแปลงข้าวเช่น

-  ดูระยะเมล็ดข้าวว่าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงใด  ดอก น้ำนม ข้าวเม่า เมล็ด

-  ดูว่าต้นข้าวมีความผิดปกติหรือไม่ เป็นโรค  มีแมลง หนู ศัตรูอื่น ๆ รบกวนหรือไม่

-  ระดับน้ำในแปลงนา  ดินแห้งเละเกินไปหรือไม่ปล่อยให้เละมากอาจหล่มไม่เหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยวอาจต้องหยุดน้ำก่อนกำหนด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 เมษายน 2013, 22:10:10
สำรวจทุกแปลงครับเดินวนไปรอบ ๆ มองตรงกลางแปลงด้วยครับ  ข้าวช่วงนี้ออกรวงพร้อมกันหมดแล้วบางส่วนก็อยู่ในระยะข้าวเม่า บางส่วนก็ยังเป็นน้ำนมครับ หากเมล็ดเริ่มมีน้ำหนักในระยะข้าวเม่ารวงจะเริ่มตกแล้วครับเนื่องจากน้ำหนักของเมล็ดในรวงข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 เมษายน 2013, 22:16:51
ดูคันนาด้วยครับหากมีรูรั่วจะทำให้เก็บน้ำไม่อยู่ก็ต้องอุดครับหากยังต้องการรักษาระดับน้ำในแปลงนาอยู่  ส่วนใหญ่รูจะเกิดจากพวก ปลาไหล  ปลาช่อน ปู งู หนู ที่เจาะรูเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เมื่อมีแรงดันน้ำมาก ๆ ก็จะไหลไปในระดับที่ต่ำกว่ากลายเป็นรูรั่วทำให้น้ำในแปลงนาลดระดับลงหรือแห้งไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 เมษายน 2013, 22:29:28
ดูแปลงนาตัวเองเสร็จขากลับเห็นแปลงนานี้เลยวนไปดูครับ ข้าวอยู่ในระยะเกือบพร้อมเก็บเกี่ยวแล้วแต่ติดโรคครับ บางส่วนล้มเสียหายเมล็ดบางส่วนจะลีบทำให้ผลผลิตลดลง ส่วนมากเกิดจากการใส่ปุ๋ยที่มากกว่าปกติ และไม่ค่อยตัดหญ้าคันนาเพราะเป็นแหล่งเพราะเชื้อ โรคบางอย่างเกิดจากเชื้อรา บางอย่างเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และบางอย่างก็เกิดจากแมลงเป็นพาหะเชื้อครับ แต่แปลงนี้เคยสังเกตุหลายครั้งแล้วครับ คือเจ้าของใส่ปุ๋ย N มากใบเขียวเข้มอยู่ตลอดและไม่เคยเห็นตัดหญ้าคันนาเลยครับ  ต่อให้มีความรู้หรือประสบการณ์มากมาย หากไม่ดูแลเอาใจใส่ก็คงไม่มีประโยชน์อะไรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 20 เมษายน 2013, 10:43:32
มาแอ่วผ่อเหมือนเดิม ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 เมษายน 2013, 21:42:35
เดินเที่ยวนาตอนเช้าครับดูน้ำในแปลงนา ดูแล้วแปลงนาบางจุดจะต้องหยุดให้น้ำแล้วครับเนื่องจากเกรงว่าจะหล่มเมื่อตอนเก็บเกี่ยว นาปกติอาจหยุดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวซักสิบกว่าวันก็ได้แล้วแต่หากนาหล่ม ๆ อาจมากกว่านั้นเป็นเท่าตัวเพราะน้ำจะขังบริเวณนั้นนานกว่าตรงดอนครับ 

ภาพถ่ายนาตอนเช้าสงสัยต้องเปลี่ยนกล้องถ่ายรูปใหม่แล้วในบรรดากล้องระดับพันกว่าบาทกล้อง Cannon รหัสA นำหน้าค่อนข้างใช้ได้ดีทั้งมาโคร แถมรูรับแสงต่ำ  ทำให้ถ่ายภาพได้ค่อนข้างชัด หลังจากกล้องตัวเดิมพังไปต้องมาใช้กล้องสำรองยี่ห้ออื่นแล้วภาพไม่ค่อยชัดเมื่อมีการย่อภาพเหมือนเดิม สงสัยเกี่ยวข้าวเสร็จคราวนี้ก็คงได้ซื้อยี่ห้อเดิมมาใช้อีกแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 เมษายน 2013, 21:50:07
ตอนนี้บางแปลงก็ยังคงปล่อยน้ำเข้าอยู่เพราะยังไม่อยู่ในระยะข้าวเม่า แต่มาดูที่ท่อกาลักน้ำ หยุดไหลครับ  ตรวจดูพบว่ามีขวดน้ำอัดลมอุดอยู่ก็ต้องเอาออกครับ  ส่วนใหญ่จะเกิดจากการไหลมาตามคลองชลประทาน บางทีก็เป็นเศษลูกมะพร้าว เศษถุงพลาสติก หากพบการไหลของน้ำผิดปกติก็ต้องลองตรวจดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 เมษายน 2013, 20:52:38
ดูเว็ปกรมอุตุว่าช่วงนี้จะมีฝนประมาณ 2-3 วันครับ พื้นที่ไหนฝนตกมาก  ๆ หากมีลมแรงด้วยข้าวในนาอาจเสียหายได้ แถวบ้านผมปลายเดือนนี้ก็จะเริ่มมีการเก็บเกี่ยวข้าวกันแล้วเอาไว้จะเก็บภาพมาฝากครับ  หากเก็บเกี่ยวเสร็จชาวนาก็คงได้มีเวลาพักผ่อนประมาณ 1 เดือนจากนั้นก็คงจะเริ่มทำนาปีต่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 เมษายน 2013, 21:02:21
วันนี้ไปนาผ่านแปลงนาแปลงนี้แล้วรู้สึกเป็นห่วงเจ้าของนาครับ ข้าวเป็นโรคค่อนข้างรุนแรง แปลงข้าง ๆ เป็นกันหมดครับ 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 เมษายน 2013, 21:03:56
ข้าวที่นิยมปลูกแถวบ้านจะเป็นพิษณุโลก 2 , กข 41  , กข 47  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกนาปรังของ จ.เชียงรายครับมารู้จักข้อเด่นข้อด้อยของพันธุ์ยอดนิยมกันนิด

พิษณุโลก 2
ลักษณะเด่น 
- ผลผลิตสูง และมีเสถียรภาพในการให้ผลผลิต
- ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว และเพลี้ยจักจั่นสีเขียว
- คุณภาพการสีดี ท้องไข่น้อย
ข้อควรระวัง 
- ไม่ต้านทานโรคไหม้ และโรคใบหงิก
- ไม่ต้านทานแมลงบั่ว
- เมล็ดค่อนข้างร่วงง่าย

กข.41
ลักษณะเด่น
- ผลผลิตสูง มีเสถียรภาพดี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 894 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าสุพรรรบุรี 1(795 กก./ไร่)
พิษณุโลก 2(820 กก./ไร่) สุพรรณบุรี 3(768 กก./ไร่) กข29(835 กก./ไร่) และชัยนาท 1(812 กก./ไร่)คิดเป็นร้อยละ 23,5,13,4 และ 20 ตามลำดับ
- ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้
- คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี เป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาว เรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดี
สามารถสีเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซนต์ได้
ข้อควรระวัง
            อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในระดับสูงเกินไปจะทำให้เกิดโรครุนแรง

กข.47
ลักษณะเด่น 
- ผลผลิตสูง  มีเสถียรภาพดี 
- ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลดีกว่า กข41 และค่อนข้างต้านโรคไหม้ดีกว่าพิษณุโลก 2
- คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดีเป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียว  ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีถึงดีมาก  สามารถสีเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ได้
ข้อควรระวัง 
- อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง 
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในระดับสูงเกินไปจะทำให้เกิดโรครุนแรง และค่อนข้างอ่อนแอต่อเชื้อสาเหตุโรคไหม้ในภาคกลาง
- ไม่ทนอากาศเย็นจึงไม่ควรปลูกในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 เมษายน 2013, 21:18:59
ช่วงนี้ก็คอยสำรวจแปลงนาไปด้วยวันทำงานก็ไปเฉพาะช่วงตอนเย็นครับตอนแรกตั้งใจจะหยุดให้น้ำแล้วแต่พบว่ามีการแทงยอดออกมาอีกก็เลยต้องรออีกนิดครับ  รถเกี่ยวข้าวนาปรังทางเชียงรายจะมีค่อนข้างมากกว่าช่วงนาปีครับ เพราะนาปีรถเกี่ยวข้าวทาง พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตรจะนิยมไปเกี่ยวทางภาคอีสานในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ เพราะเกี่ยวง่าย และผลิตน้อยกว่าทางภาคเหนือทำให้เกี่ยวได้เร็วของเราที่มักจะเจอนาหล่มในเขตชลประทาน แต่พอนาปรังทางอีสานมีทำนาไม่มากเลยต้องขึ้นเหนือเพื่อหางานครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 เมษายน 2013, 12:44:17
เห็นเค้าขายพวกสารย่อยสลายตอซังกัน แถวบ้านผมมากับเกษตรอำเภอ ขายดิบขายดีครับ บางคนซื้อทีหลายสิบซอง ซองนึงก็ใช่ว่าถูก  ๆ เป็นการเพิ่มต้นทุนการทำนาของตัวเองไป ทำให้คิดว่าทำไมของฟรีไม่ค่อยมีคนสนครับ ผมเห็นแต่ละปี สาร พด.มีหมดอายุจำนวนมาก ต้องทิ้ง ไม่ค่อยมีใครนำไปใช้เท่าไหร่ ทั้งที่พื้นฐานมาจากจุลินทรีย์จำพวกเซลลูโลสเหมือนกันเช่นพวก แบคทีเรีย รา แอคติโนมัยซิท และโปรโตซัว คุณภาพก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่  หลักการย่อยสลายตอซังคือ จะต้องย่อยสลายเซลลูโลสที่เป็นองค์ประกอบหลักของลำต้น(ตอ ฟาง) เปลือกเมล็ดข้าวให้ได้จึงต้องใช้จุลินทรีย์จำพวกย่อยสลายเซลลูโลสครับ

สาร พด.http://www.ldd.go.th/menu_5wonder/index.html (http://www.ldd.go.th/menu_5wonder/index.html)

ผมเห็นมีแจกหลายที่ครับ ทั้ง พัฒนาที่ดินที่นางแล  เทศบาล  อบต. บางแห่ง  หมอดินอาสา เกษรตรอำเภอ ที่ดินอำเภอ  บางทีบ้านผู้ใหญ่บ้านก็ยังมีเลยครับ  ใช้ไม่หมดปล่อยให้หมดอายุเสียดายของครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 เมษายน 2013, 13:32:02
ช่วงนี้เตรียมความพร้อมสำหรับการทำนาปีรอบต่อไปครับ  ตอนแรกจะจ้างเพาะกล้าซึ่งเค้ารับกันที่ไร่ละประมาณ 600 บาทแต่คุยไปคุยมาเค้าเพาะไม่ค่อยประณีตเท่าไหร่จึงตัดสินใจจะเพาะเองครับ  สาเหตุก็เพราะข้าวนาปีอย่างพวก กข.15 มะลิ105 จะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ต้านทานต่อโรคไหม้  โรคขอบใบแห้งยิ่งหากนำมาเพาะในถาดซึ่งมีความหนาแน่นสูงจะทำให้ข้าวเป็นโรคจากเชื้อราแม้ไม่แสดงอาการในตอนนั้น แต่ก็แสดงอาการในระยะต่อมา ชาวบ้านบางทีเรียกว่าข้าวเป็นพยาธิ ซึ่งในขั้นตอนการแช่เมล็ดพันธุ์อาจต้องผสมพวกยาป้องกันและกำจัดเชื้อรา หรือแช่ด้วยไตรโครเดอร์ม่าร์ ระหว่างโรยในถาดการรดน้ำก็ต้องพ่นสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา หรือเชื้อราไตรโครเดอร์ม่าร์อีกรอบครับ ส่วนระหว่างการเจริญเติบโตก็ต้องมีการพ่นอีกรอบและพวกสารขับไล่แมลงด้วยคล้าย ๆ กับในวีดีโอครับ

SAZY2Ok6tXc

kumay_4ZoCM



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 เมษายน 2013, 21:40:38
วันนี้เลิกงานเสร็จก็ไปนาครับ..หลานชายตามไปดูด้วย ตอนนี้หยุดให้น้ำในแปลงนาแล้วครับเพื่อให้ดินแห้ง ช่วงนี้จะมีฝนตกอาจทำให้ดินแห้งช้าบ้าง  น้ำในคลองชลประทานยังมีมากครับชาวนาหลายคนหยุดให้น้ำในนาแล้ว 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 เมษายน 2013, 21:46:25
เดินสำรวจทั่วแปลงนาหลานชายก็ตามดูด้วยครับ  อีกประมาณ 15 วันก็คงจะได้เกี่ยวแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 เมษายน 2013, 21:53:10
เดินไปเดินมา มาหยุดที่นาแปลงนี้ครับเมื่อเราลดระดับน้ำ พวกกุ้ง ปลา ก็จะมาอยู่ตามร่องน้ำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 เมษายน 2013, 22:00:20
จับปลาได้เยอะพอสมควรครับประมาณเกือบ กิโลกรัมเฉพาะจุดนี้ครับ จับได้ก็นำมาปล่อยหน้าบ้านหากปล่อยให้อยู่ในนารอจนน้ำแห้งก็มีแต่ตายอย่างเดียวครับ พรุ่งนี้จะไปดูอีกทีเผื่อจะจับได้อีกครับ แต่บางคนก็จะอาศัยช่วงนี้จับปลามาทำปลาร้าบ้าง ปลาร้าแห้งบ้างก็ถือเป็นรายได้อย่างหนึ่งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 25 เมษายน 2013, 09:15:42

ใกล้ความจริงแล้ว :D :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 เมษายน 2013, 11:38:17

ใกล้ความจริงแล้ว :D :D :D

ครับผม .. รออีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะได้รู้ว่าทำนารอบนี้ปริมาณผลผลิตที่ได้เท่าไหร่ครับ ถ้าได้มากกว่าไร่ละ 900 กก ก็จะได้ถือเงินหมื่นต่อไรครับ ปีก่อนจะได้ประมาณ 1.1 ตันต่อไร่ก็ลุ้นอยู่ครับว่าจะได้มากกว่าปีก่อนหรือไม่ แต่ก็ไม่คาดหวังมากครับเพราะเผื่อมีปัจจัยทางสภาพแวดล้อมด้วยโดยเฉพาะ ฝน พายุ และลูกเห็บครับ

KK5cgAHsgX8


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 25 เมษายน 2013, 17:50:15
ขอบคุณมากครับ ข้อมูลดีๆ
น่าติดตาม ขอเป็นแฟนประจำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 เมษายน 2013, 21:16:31
ขอบคุณมากครับ ข้อมูลดีๆ
น่าติดตาม ขอเป็นแฟนประจำครับ

ยินดีครับ ข้อมูลเป็นประโยชนกับเพื่อนชาวนาก็ดีใจครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 เมษายน 2013, 21:21:09
วันนี้ปั่นจักรยานไปนา  ชาวนาบางคนก็ได้เกี่ยวแล้วแถวบ้านราคารับซื้อตอนนี้ 11 บาทครับ ถือว่าน้อยกว่าปีที่แล้วจริง ๆ ต้องรออีกซักระยะว่าเค้าจะปรับราคาขึ้นอีกไม๊ ข้าว 1 ตัน/1 ไร่หากราคาเปลี่ยนแค่ 10 สตางค์ก็มีผลต่างของราคาเท่ากับ 100 บาท หลาย ๆ ไร่ก็ถือว่าค่อนข้างมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 เมษายน 2013, 21:29:42
ไปนาทุกวันไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงของข้าว  ข้าวปีนี้พอสรุปหลาย ๆ อย่างได้บ้างที่ต้องมีการแก้ไขเช่น

-  พบข้าวดีดข้าวเด้งพอสมควร สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะทำนาหว่านมาตลอด 3 ปี
-  ข้าวแทงยอดไม่พร้อมกัน นั่นหมายถึงการเจริญเติบโตไม่พร้อมกัน สาเหตุส่วนหนึ่งคือ ดิน น้ำ นาดอนจะมีการแทงยอดช้ากว่า และบริเวณที่ซ่อมกล้าแทงยอดช้าเนื่องจากปีนี้หนาวค่อนข้างนาน การเจริญเติบโตของข้าวค่อนข้างช้า

ต้นข้าวในแปลงนาวันนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 เมษายน 2013, 21:34:00
ดินเริ่มแห้งบ้างแล้วครับ  เมื่อวานฝนตกที่บ้านอย่างหนักแต่ที่แปลงนาดูเหมือนฝนไม่ตกเลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 เมษายน 2013, 20:15:44
วันนี้ไปเชียงของครับเท่าที่ดูแปลงนาที่เชียงของแตกต่างจากนาปีเพราะพื้นที่ส่วนมากไม่สามารถปลูกข้าวได้เนื่องจากขาดน้ำและพื้นที่ติดถนนก็มีการประกาศขายกันมากครับต้องยอมรับว่าราคาที่ดิน อ.เชียงของพุ่งขึ้นสูงจริง ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 เมษายน 2013, 20:21:25
ถนนไปสะพานข้ามแม่น้ำโขงก็ใกล้เสร็จแล้วเหลือตกแต่งเท่านั้น ตอนนี้กำลังก่อสร้างอาคารของด่านอยู่อีกไม่นานก็คงเสร็จแล้วครับ  การคมนาคม การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศก็จะสะดวกมากขึ้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 เมษายน 2013, 20:33:17
กลับจากเชียงของมาดูแปลงนาของตัวเอง ข้าวปีนี้แทงยอดไม่ค่อยพร้อมกันแต่ส่วนใหญ่ก็ใกล้เก็บเกี่ยวแล้ว ตั้งแต่หยุดให้น้ำเมล็ดข้าวค่อนข้างเหลืองสุกไวมากคงเพราะอากาศค่อนข้างร้อนด้วยช่วงนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 เมษายน 2013, 20:35:58
ดินก็เริ่มแห้งมากขึ้่นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 เมษายน 2013, 20:41:27
แน่นอนครับว่าการทำนาจะต้องเจอปัญหา ข้าววัชพืช   วัชพืชใบแคบใบกว้างต่าง ๆ แต่เราก็ไม่ควรให้มีมากจนเกินไปจนทำให้ผลผลิตเสียหายครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 เมษายน 2013, 20:51:41
วันนี้จับปลาในนาได้เยอะครับ มีทั้งปลาซิว ปลาสร้อย ปลาแกลบ ปลาช่อน ปลาหมอ ปลากัด บางส่วนที่จับไม่ทันก็ตายไปซะเยอะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 เมษายน 2013, 21:03:05
แถวบ้านโชคดีที่ได้น้ำจากชลประทานจากแม่น้ำกก ซึ่งมีน้ำให้ตลอดช่วงการปลูกข้าว นาปี นาปรัง ( ปรังมาจากภาษาเขมรแปลว่าฤดูช่วงแล้งน้ำ )


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 29 เมษายน 2013, 10:42:40
นาท่านน้ำท่าอุดมสมบูรณ์จริงๆ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 เมษายน 2013, 14:49:38
นาท่านน้ำท่าอุดมสมบูรณ์จริงๆ ;D ;D

โชคดีครับที่อยู่ใกล้คลองชลประทาน  สมัยก่อนตอนยังไม่มีคลองชลประทานลำบากมากครับทั้งการทำนาที่ได้ปีละ 1 ครั้งแถมยังไม่มีทางสัญจรอีกต่างหาก  เห็นผู้เฒ่าผู้แก่ว่าสมัยก่อนต้องเอาควายล่องไปตามน้ำเหมืองเวลาไปทำนา เวลาเก็บเกี่ยวก็ต้องหลายวันต้องไปนอนก่อไฟที่นา ต่างจากเดี๋ยวนี้โทรไปเรียกรถเกี่ยว มาเกี๋ยวแป๊ป ๆ ก็เสร็จแล้ววิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจริง ๆ อนาคตก็ไม่รู้จะเปลี่ยนไปอย่างไรอีกก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 พฤษภาคม 2013, 09:58:39
วันนี้วันหยุดครับ วันแรงงานแห่งชาติ ไปสำรวจแปลงนา  ต้นข้าวใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วครับ ประมาณอีก 5-7 วันครับปล่อยให้แก่มากไปก็ไม่ดีเมล็ดข้าวจะร่วงหลุดจากรวงง่ายเพราะใช้รถเกี่ยวข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 พฤษภาคม 2013, 20:55:41
เย็นนี้ไปดูญาติเกี่ยวข้าวครับ  เจ้าของรถเกี่ยวบอกว่านาปรังปีนี้ไปเกี่ยวมาแต่ละคนได้ไร่ละหมื่นกว่ากันหมด  บางคน 5 ไร่ได้เงิน 7 หมื่นก็มี อีกอย่างช่วงนี้ใครเกี่ยวได้ก็ต้องรีบเกี่ยวเพราะแต่ละคนก็ต่างกลัวพายุลูกเห็บกันครับ  แปลงนาที่เกี่ยวนี้มีน้ำเพราะเป็นนาลุ่มคายน้ำออกไม่ได้ครับต้องสูบน้ำออกอย่างเดียวเวลาเกี่ยวก็เลยเห็นมีน้ำอย่างที่เห็นครับ เจ้าของนาก็พลอยจับปลาไปด้วยตอนเกี่ยวข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 พฤษภาคม 2013, 20:58:33
นาหล่มมากแบบนี้รถแทรกเตอร์ทั่วไปไม่ค่อยกล้าลงเวลาปั่นนาครับ ต้องจ้างรถปั่นนาตีนตะขาบอย่างเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 02 พฤษภาคม 2013, 09:27:52
 :D....เกี่ยวไป10ไร่ละครับ....5ไร่แรกได้5.2ตัน..5ไร่หลังได้2.6ตัน....ได้เงิน90,000บาท....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 พฤษภาคม 2013, 11:48:57
:D....เกี่ยวไป10ไร่ละครับ....5ไร่แรกได้5.2ตัน..5ไร่หลังได้2.6ตัน....ได้เงิน90,000บาท....

ได้เกี่ยวแล้วดีใจโตยครับ ของผมอยากเกี่ยวฮื้อเสร็จเร็ว ๆ ขนาด เมื่อคืนฝนก็ตกหนักยังบ่าได้ไปดูนาเลยครับ ตอนเย็นว่าจะไปดูแหมกำว่าต้นข้าวล้มหรือเมล็ดร่วงนักก่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 02 พฤษภาคม 2013, 12:42:19
ข้าวสวยนะครับ ยังไม่ได้ไร่ละตันเลย แล้วของผมมันจะได้ซักกี่ตันนิ :-\ :-\
5ไร่แรกเข้าเป้าเลย แต่ 5ไร่หลังทำไมได้น้อยจังครับ ??? ???


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 พฤษภาคม 2013, 14:16:38
ข้าวสวยนะครับ ยังไม่ได้ไร่ละตันเลย แล้วของผมมันจะได้ซักกี่ตันนิ :-\ :-\
5ไร่แรกเข้าเป้าเลย แต่ 5ไร่หลังทำไมได้น้อยจังครับ ??? ???

ต้องถามท่าน bm แล้วล่ะครับ ของผมรอเกี่ยวสัปดาห์หน้าครับช่วงนี้ก็หวั่นๆภัยธรรมชาติเหมือนกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 02 พฤษภาคม 2013, 14:32:01
กลัวแต่ลูกเห็บละครับช่วงนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 พฤษภาคม 2013, 22:04:22
เย็นนี้ก่อนเลิกงานพายุและฝนเข้าอย่างรุนแรง บางพื้นที่มีลูกเห็บตกด้วย พอพายุฝนสงบก็รีบกลับบ้านไปดูแปลงนาคิดว่าต้องเสียหายพอสมควรแน่ๆ  โชคยังดีที่ไม่เป็นไรมากครับ

ภาพถ่ายจากกล้องมือถือครับไม่ค่อยชัดเท่าไหร่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 พฤษภาคม 2013, 22:07:21
อีกฝั่งก็ยังปลอดภัยดีอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 พฤษภาคม 2013, 22:17:19
แปลงนาแถวบ้านก็มีเสียหายเหมือนกัน หากต้นข้าวใครพึ่งแทงยอดออกมาก็จะล้มซะส่วนใหญ่ครับ บางคนก็แช่น้ำเลย ส่วนหนึ่งเพราะดินยังมีน้ำอยู่ทำให้รากยึดดินได้ไม่แน่น  พอลมพัดแรงทำให้ข้าวล้มโดยเฉพาะช่วงที่ลำต้นต้องรับน้ำหนักรวงแบบนี้ด้วย หากล้มแบบนี้ผมแนะนำให้ระบายน้ำออกจากแปลงนาครับเพราะจะเสียหายน้อยกว่าให้รวงข้าวแช่ในน้ำนาน ๆครับ รอจนกว่าต้นข้าวจะชูคอรวงขึ้นแล้วค่อยปล่อยน้ำเข้านาพอมีความชื้นและปล่อยน้ำออกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 03 พฤษภาคม 2013, 14:44:29
ข้าวสวยนะครับ ยังไม่ได้ไร่ละตันเลย แล้วของผมมันจะได้ซักกี่ตันนิ :-\ :-\
5ไร่แรกเข้าเป้าเลย แต่ 5ไร่หลังทำไมได้น้อยจังครับ ??? ???

ต้องถามท่าน bm แล้วล่ะครับ ของผมรอเกี่ยวสัปดาห์หน้าครับช่วงนี้ก็หวั่นๆภัยธรรมชาติเหมือนกันครับ

 :D....หญ้าดอกเหลืองนักไปหน่อยอ่ะครับ....พาข้าวล้มเป็นหย่อมๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 พฤษภาคม 2013, 20:36:22
ข้าวสวยนะครับ ยังไม่ได้ไร่ละตันเลย แล้วของผมมันจะได้ซักกี่ตันนิ :-\ :-\
5ไร่แรกเข้าเป้าเลย แต่ 5ไร่หลังทำไมได้น้อยจังครับ ??? ???

ต้องถามท่าน bm แล้วล่ะครับ ของผมรอเกี่ยวสัปดาห์หน้าครับช่วงนี้ก็หวั่นๆภัยธรรมชาติเหมือนกันครับ

 :D....หญ้าดอกเหลืองนักไปหน่อยอ่ะครับ....พาข้าวล้มเป็นหย่อมๆ

วันก่อนพายุพัดแรงครับเมล็ดข้าวร่วงพอสมควรครับ ปีนี้พายุมาบ่อยมากอีก 2-3 วันก็จะเกี่ยวแล้วครับก็ไม่รู้ว่าจะได้ข้าวมากกว่าปีก่อนหรือไม่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 พฤษภาคม 2013, 20:56:52
เย็นนี้ไปดูแปลงนาครับ รถเกี่ยวช่วงนี้ทำงานอย่างหนัก ชาวนาหลายคนยอมเกี่ยวข้าวเขียวยอมโดนหักราคาเพราะเกรงว่าจะโดนพายุลูกเห็บเหมือนอำเภอข้างเคียงครับ  ของผมไม่วันอาทิตย์ก็วันจันทร์จะถึงคิวเกี่ยวข้าว  ข้าวในแปลงนาปีนี้โดนภัยธรรมชาติทั้ง อากาศหนาวที่นานกว่าปีก่อนทำให้ต้นเจริญเติบโตช้า  พายุลูกเห็บในช่วงใกล้แตกกอ พายุฝนช่วงสงกรานต์ ล่าสุดพายุฝนเมื่อวานที่ผ่านมาในขณะที่ข้าวใกล้ถึงกำหนดเวลาเกี่ยวแล้ว  หากเกี่ยวเสร็จก็จะได้รู้แล้วครับว่าผลผลิตที่ได้เป็นยังไงบ้าง  ซึ่งนาปรังปีหน้าก็ต้องเตรียมรับมือหลาย ๆ อย่างทั้งเลือกพันธุ์ที่ต้านทานอากาศหนาว เมล็ดร่วงยาก ลำต้นไม่สูงหรือล้มง่าย  ต้านทานโรคและแมลงของท้องถิ่น ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจเลือกพันธุ์ข้าวที่ไม่เหมือนกันตามแต่พื้นที่   ช่วงก่อนก็เห็นกรมการข้าวออกส่งเสริมเพาะข้าวพันธุ์ใหม่หลายพันธุ์เหมือนกัน  แต่อาจหาพันธุ์ได้ยากเพราะจำนวนผลิตอาจยังไม่มากซึ่งต้องคอยสอบถามไปยังศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวใกล้บ้านแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Kraiwut13 ที่ วันที่ 04 พฤษภาคม 2013, 08:34:38
ผมสนใจระบบกาลักน้ำครับไม่รู้ว่าจะติดต่อพี่ได้ยังไงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 พฤษภาคม 2013, 13:27:15
ผมสนใจระบบกาลักน้ำครับไม่รู้ว่าจะติดต่อพี่ได้ยังไงครับ

ระบบกาลักน้ำที่ผมใช้เป็นแบบไหลจากที่สูงลงที่ต่ำครับใช้สูบน้ำจากคลองชลประทานมายังนา  แต่หากระดับน้ำเท่ากันหรือต่ำกว่าต้องอาศัยแรงกดอากาศช่วยซึ่งอาจใช้ถัง 200 ลิตรมาทำก็ได้ครับ หากแรงดันไม่พอก็เพิ่มเป็น 2 ถังครับจะทำให้เกิดสุญญากาศแรงขึ้นครับวิธีนี้ลองหาข้อมูลในเน็ตดูครับเห็นมีเยอะเหมือนกัน สำหรับที่ผมใช้ผมลองวาดมาให้ดูตามนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 พฤษภาคม 2013, 19:53:57
นาปรังนี้ยอมรับว่าผลผลิตเสียหายมากครับพายุฝนหนัก มา 3 วันแล้วครับโดยเฉพาะช่วงเย็นถึงดึก ตอนนี้ฝนก็ตกอยู่ครับข้าวในนาพร้อมเกี่ยวแล้วแต่ก็ยังรอคิวรถอยู่เพราะรับปากไว้แล้ว  ฝนตกพายุแบบนี้ข้าวมักเสียหายคือเมล็ดร่วง ข้าวล้ม ประเมินดูแล้วอย่างน้อย ๆ ก็ 1-3% ที่เสียหายหลาย ๆ วันก็มากอยู่ครับ

ภาพข้าวในนาเย็นนี้ก่อนฝนตกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 พฤษภาคม 2013, 20:00:43
เมื่อวานพายุหนักฝนตกก็มากครับ ช่วงเช้าไปดูแปลงนาก็พบว่ามีข้าวล้มเป็นหย่อม ๆ ราว ๆ ซักครึ่งงานได้ ก็ต้องระบายน้ำในแปลงนาออกให้หมดครับรวงข้าวจะได้แห้งและไม่แช่น้ำเวลาเกี่ยวจะได้ไม่เสียหายมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 พฤษภาคม 2013, 20:07:33
แปลงนาที่ติดกันเจ้าของแกทำนาโยนครับ ปีนี้นาโยนข้าวล้มกันมากครับเพราะเมล็ดและรวงค่อนข้างสมบูรณ์มีน้ำหนักมากและประกอบกับการควบคุมวัชพืชในนาโดยใช้น้ำคลุมหน้าดินไว้ตลอดทำให้รากเดินไม่ไกล ดินก็ไม่แน่นเวลาลมพัดก็เลยทำให้ล้มได้ง่ายครับ จะทำเปรียกสลับแห้งก็กลายมีช่องให้แสงแดดลงพื้นดินวัชพืชจึงขึ้นได้ง่ายการกำจัดจึงยากกว่านาดำด้วยรถปลูก ก็ต้องมีการปรับปรุงวิธีการใหม่ครับ ซึ่งหากนาปีข้าวไวต่อช่วงแสงอย่าง กข.15 มะลิ105 กข.6 จะมีลำต้นที่สูงล้มง่ายกว่านี้มากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 พฤษภาคม 2013, 20:20:42
แปลงนาโยนเมื่อกี้ไม่เท่าไหร่ครับเพราะข้าวพึ่งแทงยอดน้ำหนักรวงยังไม่มากต้องนาโยนแปลงนี้ครับพร้อมเก็บเกี่ยวแล้ว น่าเห็นใจเจ้าของนาแปลงนี้มากจะระบายน้ำก็ไม่ได้เพราะเป็นนารับน้ำต้องรอให้แปลงนาด้านล่างระบายออกเสียก่อน แถมมีฝนตกทุกวันแบบนี้ก็เสียหายหนักไปอีก หากใครจะทำนาโยนนาปีนี้หากใช้ข้าวไวต่อช่วงแสงที่มีลักษณะลำต้นสูง ๆ ควรโยนใกล้ๆ ช่วงเดือนสิงหาคมครับ ประมาณกลางเดือนถึงปลายเดือน ก.ค.   ซึ่งจะทำให้ต้นไม่สูงมากหากโยนช่วงเดือนมิถุนายนรับรองว่าข้าวจะสูงซึ่งจะทำให้ข้าวล้มได้ง่าย ผลผลิตก็เสียหาย ทั้งน้ำหนักน้อยและการสูญเสียจากการเกี่ยวของรถเกี่ยวข้าวครับและที่สำคัญไม่ควรใส่ปุ๋ย N มากจนเกินความจำเป็นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 พฤษภาคม 2013, 10:16:43
สำรวจแปลงนายามเช้าครับ ตรวจดูความเสียหายจากพายุและฝนเมื่อวาน ปีนี้ไม่แน่ใจว่าจะถึง 1 ตัน/ไร่ เหมือนนาปรังปีก่อนหรือไม่ครับเพราะเมล็ดข้าวร่วงเยอะเหมือนกันลมแรงมาก ก็ต้องรอผลตอนเกี่ยวเสร็จครับเจ้าของรถเกี่ยวก็แจ้งว่าพรุ่งนี้จะมาเกี่ยวให้แต่หากงานวันนี้เสร็จไวก็จะมาช่วงเย็นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 05 พฤษภาคม 2013, 16:10:25
ข้าวงามขนาด ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 พฤษภาคม 2013, 19:56:48
ข้าวงามขนาด ;D ;D

ถ้าบ่าโดนพายุทุกวันท่าจะดีกว่านี้ครับ  วันนี้ท่าข้าวก็งดรับจำนำข้าวครับ ข้าวในนาผมการเก็บเกี่ยวก็ต้องเลื่อนออกไปอีกครับรอจนกว่าท่าข้าวจะเปิดรับซื้ออีกครั้งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 พฤษภาคม 2013, 20:20:16
วันนี้ไปซื้อแกลบดำเพื่อเอาไว้สำหรับเป็นวัสดุเพาะข้าวสำหรับปลูกรถครับ  อยู่ไม่ไกลจากบ้านนี่เอง ตอนแรกคิดว่าคงหายากต้องไปซื้อที่โรงสีอย่างเดียว ก็ค่อย ๆ เตรียมความพร้อมไว้สำหรับนาปีนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 พฤษภาคม 2013, 20:41:46
เบื้องหลังครับจ้างคนงานที่นั่นตักให้กระสอบละ 3 บาทครับ ซื้อแกลบมา 100 กระสอบน่าจะเพียงพอสำหรับนา 22 ไร่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 พฤษภาคม 2013, 20:59:59
ช่วงเช้าไปดูเป็ดไล่ทุ่งใกล้บ้านครับ เจ้าของพาเป็ดนั่งรถไกลจากพิจิตรครับ มาอยู่ที่นี่ 2 วันแล้วอีก 2 วันก็กลับพิจิตรตามเดิมครับ เป็ดหลายร้อยตัวเต็มทุ่งนา เจ้าของเป็ดอยู่ลำบากมากครับเพราะช่วงนี้มีพายุฝนบ่อย ลมแรงการกางมุ้งอยู่ตามห้างทุ่งนาเฝ้าเป็ดก็เลยลำบากครับ ตอนแรกจะมานานแต่ฟ้าฝนไม่เอื้ออำนวยต้องกลับไปพิจิตรดีกว่า

ข้อดีของเป็ดคือช่วยกินหอยเชอรี่ แมลงในนา เมล็ดข้าวที่ร่วงในนา ข้าวดีด ข้าวเด้งและยังถ่ายเป็นปุ๋ยในนาอีกด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 พฤษภาคม 2013, 21:23:06
หัวค่ำแถวบ้านโดนพายุฝนอีกแล้วครับ ข้าวก็ยังไม่ได้เกี่ยวเลยรอลุ้นพรุ่งนี้อีกวันว่าจะได้เกี่ยวข้าวไม๊ครับ ตอนนี้ราคารับซื้อแถวบ้านเหลือเพียงแค่สิบบาทกว่าแต่ก็ต้องยอมขายเพราะเอาแน่เอานอนกับธรรมชาติไม่ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 พฤษภาคม 2013, 22:31:50
สรุปค่าใช้จ่ายในการนาปรัง ปี2556  ของผมปีนี้ครับ ผมทำนา 22 ไร่แต่มีส่วน 13 ไร่ที่ผมต้องรับผิดชอบต้นทุนส่วนที่ 9 ไร่เป็นของพ่อแม่ เวลาขายผมก็จะได้รายได้จากนา 13 ไร่ที่ลงทุน 9 ไร่พ่อแม่ก็รับไปครับ

ค่าใช้จ่ายจำนวน 13 ไร่ของผมมีดังนี้

วันที่ 5/1/2556   จ้างไถตาก ( พี่ต้นกระทู้นาโยน )                      2,990  บาท
                        ขี้หมู                                                          180  บาท

วันที่ 22/1/2556  ไถแปร และทำเทือก (รถตัวเอง) ค่าน้ำมัน             600  บาท 
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ     ฮอร์โมนเร่งราก                                              180  บาท
                       ยาฆ่าหอยเชอรี่                                           1,500  บาท
                       พันธุ์ข้าว กข.41( พี่ต้นกระทู้นาโยน )                4,290 บาท
                       น้ำมันเครื่องตัดหญ้า                                        500 บาท
                       จ้างช่วยหว่านข้าว                                           780  บาท
                       ค่าวัสดุในการทำฮอร์โมนต่าง ๆ                           440  บาท

วันที่ 1/2/2556    ค่าแรงจ้างพ่นยาคุมหญ้า                                1,300  บาท
                       ค่ายาคุมหญ้าและวัชพืช                                 2,430  บาท

                       ค่าปุ๋ยเคมีรอบที่ 1    ใส่ปุ๋ยเอง                         1,590  บาท
                       ค่าปุ๋ยเคมีรอบที่ 2    ใส่ปุ๋ยเอง                         1,080  บาท
                       ค่าปุ๋ยเคมีรอบที่ 3    จ้างใส่                            2,150  บาท
                       ค่าน้ำมันเครื่องหว่านปุ๋ย                                    200  บาท
                       ค่าแรงใส่ปุ๋ยรอบที่ 3                                        500  บาท

ตอนนี้ค่าใช้จ่ายรวมแล้วจะเท่ากับ    20,710  บาท  ยังมีส่วนที่จะต้องจ่ายอีกเพราะยังไม่ได้เกี่ยวข้าวคือ 

ค่ารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 500  บาท จำนวน 13 =  6,500  บาท
ค่าจ้างรถบรรทุกขนข้าว                            1,500  บาท

รวมประมาณค่าใช้จ่ายในนาปรังปีนี้     20,710  + 6,500 + 1,500  บาท

รวม  28,710  บาท   

ค่าใช้จ่ายต่อไร่              28,710/13 ไร่  =  2,208  บาท

อันนี้ไม่ได้รวมค่าแรงตัวเองนะครับเพราะบางส่วนลงมือทำเอง  เดี๋ยวตอนเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะได้ทราบว่าผลผลิตปีนี้ได้จำนวนเท่าไหร่ ขายได้ราคาเท่าไหร่เหลือเท่าไหร่เอาไว้จะมาสรุปอีกที อยากให้ชาวนาทำบัญชีรายจ่ายไว้ครับจะได้รู้ต้นทุนในการทำนาของตัวเอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 07 พฤษภาคม 2013, 18:27:27
เป็นตัวอย่างทำบัญชีรายจ่าย..เยี่ยมครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 พฤษภาคม 2013, 20:10:38
เป็นตัวอย่างทำบัญชีรายจ่าย..เยี่ยมครับ ;D ;D

ขอบคุณครับ  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 พฤษภาคม 2013, 20:40:27
วันนี้เกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้วครับ ปีนี้ผลผลิตข้าวได้น้อยกว่าปีก่อนตามที่คาดไว้ส่วนหนึ่งเพราะภัยธรรมชาติ มีลมแรงทำให้ข้าวล้มและฝนบ่อยเมล็ดข้าวร่วงหล่นมาก มีข้าวดีดข้าวเด้งบวกกับราคาที่ต่ำกว่าปีก่อนเพราะแถวบ้านไม่มีโรงสีที่เข้าโครงการรับจำนำหากจะนำข้าวส่งโรงสีเองจะต้องเสียค่าขนส่งมาก  โรงสีจึงให้ท่าข้าวรับจำนำและนำส่งข้าวให้โรงสีที่เข้าโครงการทำให้ราคาลดต่ำลงเนื่องจากหักค่าขนส่งและท่าข้าวอีกต่อหนึ่งแต่ราคาก็ยังดีกว่าการขายข้าวสดไม่เข้าโครงการอยู่หลายบาท  ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ปีนี้อยู่ที่ 890 ก.ก./ไร่ครับ  รายได้ต่อไร่ก็จะอยู่ที่ 9,600 บาทไม่ถึงหมื่นครับแต่ก็ถือว่ายังโชคดีที่ยังได้เกี่ยวไม่ขาดทุนไม่ถูกพายุลูกเห็บเหมือนพื้นที่อื่น  เสร็จนาปรังแล้วก็ต้องเตรียมตัวกับนาปีต่อครับเดือนหน้าก็คงเริ่มทำแล้วครับ  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 พฤษภาคม 2013, 20:42:29
มีคลิปให้ดูตอนเกี่ยวข้าวครับ

9pAK4PCXBGU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 พฤษภาคม 2013, 21:00:28
ภาพการเก็บเกี่ยววันนี้ โชคดีที่ฝนไม่ตกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 08 พฤษภาคม 2013, 10:08:15
เกี่ยวแล้วยินดีด้วยครับ...พ่อเลี้ยง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 พฤษภาคม 2013, 11:19:28
เกี่ยวแล้วยินดีด้วยครับ...พ่อเลี้ยง

ขอบคุณครับ ยังเป็นพ่อเลี้ยงใบบิลอยู่ครับ กว่าจะได้เงินก็ประมาณเดือนกว่า-สองเดือน ใบประทวนก็ยังไม่ได้เลยครับทำนารอบนี้ บางตำบลได้ยื่นใบประทวนกันแล้วครับรอรับเงินอย่างเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 09 พฤษภาคม 2013, 12:59:59
*ในเขต ทต.จันจว้า เกษตรกรเพิ่งได้รับใบรับรองเกษตรกรวันนี้เอง
*ประมาณการผลิต 710. กกง/ไร่ ไม่รู้จะมีปัญหาตามอีกหรือไม่ในกรณีที่ผลผลิตมากกว่า
*เกี่ยวคง 25-26 พค.
*ใครมีประสบการณ์ขายข้าวที่มากกว่า ที่กำหนด คุยให้ฟังหน่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 พฤษภาคม 2013, 15:22:35
*ในเขต ทต.จันจว้า เกษตรกรเพิ่งได้รับใบรับรองเกษตรกรวันนี้เอง
*ประมาณการผลิต 710. กกง/ไร่ ไม่รู้จะมีปัญหาตามอีกหรือไม่ในกรณีที่ผลผลิตมากกว่า
*เกี่ยวคง 25-26 พค.
*ใครมีประสบการณ์ขายข้าวที่มากกว่า ที่กำหนด คุยให้ฟังหน่อย

เห็นว่าบางพื้นเริ่มได้เงินจากโครงการรับจำนำแล้วครับ   ปีนี้รับจำนำทุกเมล็ดครับซึ่งจะมีค่าเฉลี่ยอยู่หากเกษตรกรมีผลผลิตเกินค่าเฉลี่ยอนุโลมให้เกินได้ไม่เกิน 20%  แต่หากชาวนาท่านใดมีผลผลิตมากกว่า 20%ของค่าเฉลี่ย ก็จะมีคณะอนุกรรมการมาตรวจสอบป้องกันการทุจริต  รวมถึงชาวนาที่มียอดรวมการรับจำนำเกินกว่า 500,000 บาทก็จะมีคณะอนุกรรมการมาสุ่มตรวจด้วยครับ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dit.go.th/contentdetail.asp?typeid=8&catid=152&ID=4199 (http://www.dit.go.th/contentdetail.asp?typeid=8&catid=152&ID=4199)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2013, 11:14:30
ตามมาดู ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 17 พฤษภาคม 2013, 08:12:58
ข้าวเจื่อ นาปี ข้าวเหนียวส่วนมากเขาใช้ข้าวอะหยังเจ้า มีขายตี่ไหนเจ้า ตะกี้โทรถามอ้ายต้น นาโยน บอกว่า ให้ลองหว่านครึ่งนึง โยนครึ่งนึง กลัวลงทุนเยอะ ตอนนี้ไถทิ้งไว้อย่างเดียวอยุ่เจ้า ยังบ่ได้อะหยังสักอย่างเลย ไขเซาะข้าวเจื่อไว้ก่อนอะเจ้า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 17 พฤษภาคม 2013, 09:00:43

นาปีนี้จะลงข้าวเหนียว กข 6 หรือ สุพรรณ1 ดีครับ ท่านใดมีประสบการณ์ช่วยแชร์หน่อยครับ

แล้วควรจะหว่่านหรือว่าควรจะปลูกโดยวิธีดำนา ดีครับ

ขอบคุณครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 17 พฤษภาคม 2013, 09:02:26
ข้าวเจื่อ นาปี ข้าวเหนียวส่วนมากเขาใช้ข้าวอะหยังเจ้า มีขายตี่ไหนเจ้า ตะกี้โทรถามอ้ายต้น นาโยน บอกว่า ให้ลองหว่านครึ่งนึง โยนครึ่งนึง กลัวลงทุนเยอะ ตอนนี้ไถทิ้งไว้อย่างเดียวอยุ่เจ้า ยังบ่ได้อะหยังสักอย่างเลย ไขเซาะข้าวเจื่อไว้ก่อนอะเจ้า
ข้าวเหนียว กข6 ครับข้าวนาปี  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 17 พฤษภาคม 2013, 09:05:21

นาปีนี้จะลงข้าวเหนียว กข 6 หรือ สุพรรณ1 ดีครับ ท่านใดมีประสบการณ์ช่วยแชร์หน่อยครับ

แล้วควรจะหว่่านหรือว่าควรจะปลูกโดยวิธีดำนา ดีครับ

ขอบคุณครับ ;D
ข้าวนาดอ กับนาปี ผลิตต่างกัน ราคาต่างกัน แล้วแต่ความสะดวกครับ ส่วนมากคนปลูกนาดอจะเกี่ยวขายหมดครับ ส่วนนาปีชาวนาก็จะเก็บไว้กินบ้างขายบ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 พฤษภาคม 2013, 19:46:46

นาปีนี้จะลงข้าวเหนียว กข 6 หรือ สุพรรณ1 ดีครับ ท่านใดมีประสบการณ์ช่วยแชร์หน่อยครับ

แล้วควรจะหว่่านหรือว่าควรจะปลูกโดยวิธีดำนา ดีครับ

ขอบคุณครับ ;D
ข้าวนาดอ กับนาปี ผลิตต่างกัน ราคาต่างกัน แล้วแต่ความสะดวกครับ ส่วนมากคนปลูกนาดอจะเกี่ยวขายหมดครับ ส่วนนาปีชาวนาก็จะเก็บไว้กินบ้างขายบ้างครับ

ตามนี้ครับ  ตามแต่สะดวกของเราครับเพราะอายุการเก็บเกี่ยวที่ต่างกัน กข.6  อาจเก็บไว้กินเองและขายบางส่วนก็น่าปลูก  ข้าว กข.6 ระยะการเก็บเกี่ยวจะช้ากว่า กข.15 และ มะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวนาปี ( ข้าวไวต่อช่วงแสง ) นาปีการปลูกโดยวิธีนาดำค่อนข้างจะได้เปรียบสำหรับนาปี เพราะฝนตกบ่อยนาดำจะมีโอกาสเป็นโรคน้อยกว่า ประหยัดปุ๋ยกว่า ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องข้าววัชพืช แต่ต้องระวังไม่ใส่ปุ๋ยมาก ต้องระวังหนอนกอให้มากเพราะต้นจะอวบง่ายกว่านาหว่านที่ต้นข้าวขึ้นถี่ต้องแยกอาหารกัน  นาหว่านน้ำตมแนะนำปลูกในช่วงนาปรังจะดีกว่าครับ แต่หากจะเลือกปลูกข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงก็อาจปลูกช้า ๆ หน่อยให้ผลผลิตไปเก็บเกี่ยวใกล้ ๆ กับนาปีครับเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่อง หนู นก เพราะข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงอายุจะสั้นกว่าหากปลูกในช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ค. พร้อมกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: raknakan ที่ วันที่ 18 พฤษภาคม 2013, 23:07:39
ขอถามหน้อยคับ ตี่พรวนหญ้าในนาดำหยั่งในยูทูป ตี่เจียงฮายบ้านเฮามีขายก่หา แบบหยู้ใจ้แฮงคนนะคับ ตึงร่องเดียวกับสองร่อง จะเตรียมไว้ลุย ออกกำลังก๊ายไปในตั๋วคับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 พฤษภาคม 2013, 22:41:43
ขอถามหน้อยคับ ตี่พรวนหญ้าในนาดำหยั่งในยูทูป ตี่เจียงฮายบ้านเฮามีขายก่หา แบบหยู้ใจ้แฮงคนนะคับ ตึงร่องเดียวกับสองร่อง จะเตรียมไว้ลุย ออกกำลังก๊ายไปในตั๋วคับ

ปรินท์แบบในเน็ตไปใหร้านเชื่อมเหล็กทำให้เลยครับไม่กี่บาทครับ ของผมนี่ซื้อรถดำนาเดินตามเค้าแถมให้ 1 ตัวแบบแถวเดียว แถวบ้านผมมีร้านรับทำอยู่แต่จะทำตามแบบ เครื่องหยอดข้าวนาหว่านแบบติดเครื่องยนต์ก็เห็นแกทำอยู่นะครับ เครื่องพรวนก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 พฤษภาคม 2013, 23:38:00
rotary weeder  ดูในเน็ตมีหลากหลายรูปแบบมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 21 พฤษภาคม 2013, 18:39:05
ติดตามชมอยู่นะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 30 พฤษภาคม 2013, 23:35:20
 :D...มารอผ่อรถดำนาคันใหม่ครับ......นาปรังผมเกี่ยวเสร็จไปนานละ....ช่วงนี้ลงมือทำนาปีต่อ....วันนี้กะซิมกล้าชุดแรก...มัวย่ะก๋านจนลืมเก็บภาพมาหื้อผ่อ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Kraiwut13 ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2013, 13:44:19
ผมอยากเห็นตัวชักร่องน้ำนาหว่านที่ติดกับรถไถนั่งขับครับว่าทำยังไง พอดีจะเอามาดัดแปลงใช้กับรถไถคูโบต้า L3608 คับ
ไม่รู้ว่าถ้าทำแล้วจะดีหรือเปล่า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2013, 21:49:02
ติดตามชมอยู่นะครับ

ขอบคุณครับที่ติดตาม พอดีช่วงนี้ที่ทำงานย้ายออฟฟิตใหม่ พร้อมกับมีโปรดักส์ใหม่จึงต้องเร่งติดตั้งให้กับลูกค้าทำให้ต้องกลับบ้านดึกครับเลยไม่ค่อยมีเวลาได้อัพข้อมูลครับ

:D...มารอผ่อรถดำนาคันใหม่ครับ......นาปรังผมเกี่ยวเสร็จไปนานละ....ช่วงนี้ลงมือทำนาปีต่อ....วันนี้กะซิมกล้าชุดแรก...มัวย่ะก๋านจนลืมเก็บภาพมาหื้อผ่อ...

รถดำนาทางบริษัทจะมาส่งฮื้อวันพรุ่งนี้ครับ เอาไว้มารีวิวฮื้อดูครับ   ตอนนี้เริ่มไถนาแแล้วครับจะเริ่มเพาะกล้าในถาดประมาณช่วงกลางเดือนครับต้องรอทางชลประทานปล่อยน้ำก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2013, 21:59:52
ผมอยากเห็นตัวชักร่องน้ำนาหว่านที่ติดกับรถไถนั่งขับครับว่าทำยังไง พอดีจะเอามาดัดแปลงใช้กับรถไถคูโบต้า L3608 คับ
ไม่รู้ว่าถ้าทำแล้วจะดีหรือเปล่า

ของผมทำแบบนี้ครับ จะต้องมีแป้นกวาดสำหรับลบรอยล้อรถไถและใช้ตัวชักร่องอยู่ด้านท้ายครับซึ่งหากจะให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นต้องติดเกรียวปรับตั้งได้สำหรับกดน้ำหนักตัวชักร่องด้วยครับเพื่อให้มีความลึกในการชักร่องครับ  ในภาพไม่มีตัวกดพอไปใช้จริง ๆ ต้องเอากระสอบทรายมากดทับอีกทีเพื่อให้ล่องลึกครับถ้าร่องตื้นจะไม่ค่อยดีระบายน้ำในนาออกยากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2013, 22:12:08
เริ่มช่วงการทำนาปีแล้วครับ  ซึ่งช่วงนี้ก็อยู่ในช่วงการเตรียมดินเห็นบางที่ก็เริ่ม หว่านกล้า เพาะกล้าแล้วก็มี  สำหรับผมเริ่มไถแล้ว  เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ไถไปแล้ว 13 ไร่ วันหยุดสัปดาห์นี้ก็ไถต่ออีก 9 ไร่ครับ ใช้รถไถตัวเองครับช่วยลดต้นทุนไปได้มาก นา 13 ไร่ซื้อน้ำมันมา 400 บาทยังเหลืออีกครึ่งถัง ก็ถือว่าประหยัดพอสมควร เพราะเครื่องยนต์มีขนาดเล็ก การไถโดยใช้ผาน แถวบ้านจะไม่ค่อยนิยมกันส่วนใหญ่จะใช้จอบหมุนเพราะรวดเร็วกว่า ของผมไม่มีเลยทำแบบโบราณนิดนึง ใกล้ๆจะปลูกค่อยทำเทือกอีกที ช่วงนี้ก็หมักต่อซังไปก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2013, 22:18:28
การไถในลักษณะนี้จะต้องมีน้ำในนาครับหากไม่มีน้ำดินจะติดล้อครับ  ช่วงนี้น้ำในคลองชลประทานไม่มี ก็อาศัยได้น้ำฝนล่ะครับโดยกั้นคันนาแต่ละแปลงไว้ให้กักเก็บน้ำได้ครับ  หากไถเสร็จฝนตกมาก็จะช่วยให้ดินนุ่มขึ้นและหมักฟาง เศษวัชพืช และเมล็ดข้าวที่ร่วงในนาให้เน่าได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 10:49:00
เข้ามาผ่อคับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: TG475 ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 11:54:09
ติดตามอยู่เช่นกันครับ...ไถเองประหยัดงบลดต้นทุนได้เยอะเลย..ผมกำลังปั้นอีแก่ 22แรงเพลาเดียวอยู่คัน1 ซึ่งเจ้าของเดิมไม่เอาแล้ว  กะว่าจะใช้กับนา สิบกว่าไร่ คิดว่าน่าจะสู้ใหว...จ้างเขาทำทุกอย่างเสียดายเงินครับบางทีเสียความรู้สึกกว่าอีก  หากเราทำเองได้ไม่ต้องไปรอหวังพึ่งคนอื่น... แค่คิดความสุขก็เกิดขึ้นในใจแล้วครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:07:54
เข้ามาผ่อคับ ;D ;D

ขอบคุณครับขาประจำ  :D  :D

ติดตามอยู่เช่นกันครับ...ไถเองประหยัดงบลดต้นทุนได้เยอะเลย..ผมกำลังปั้นอีแก่ 22แรงเพลาเดียวอยู่คัน1 ซึ่งเจ้าของเดิมไม่เอาแล้ว  กะว่าจะใช้กับนา สิบกว่าไร่ คิดว่าน่าจะสู้ใหว...จ้างเขาทำทุกอย่างเสียดายเงินครับบางทีเสียความรู้สึกกว่าอีก  หากเราทำเองได้ไม่ต้องไปรอหวังพึ่งคนอื่น... แค่คิดความสุขก็เกิดขึ้นในใจแล้วครับ...

ขอบคุณครับ ไถเองทำเทือกเองช่วยลดต้นทุนไปได้เยอะ 10-20 % เลยครับ เมื่อก่อนที่ผมซื้อรถไถเองก็เพราะติดปัญหาเรื่องการปลูกข้าวกำหนดวันไม่ได้ต้องรอเค้ามาทำเทือกครับเลยตัดสินใจซื้อรถไถครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:12:10
วันนี้ร้านมาส่งรถดำนาให้แล้วครับ มาช่วงสาย ๆ อธิบายการดูแลรักษา การใช้งานเบื้องต้นให้ครับใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า ๆ เดี๋ยววันเพาะกล้า และวันดำนาทางร้านจะส่งทีมสอนมาอีกทีครับ

มาดูกันครับรายละเอียดรถดำนา 4 แถวเดินตามครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:14:09
ตัวนี้ภายในมีเฟืองสำหรับทดรอบระยะปักดำครับ  นาปี นาปรังใช้เฟืองไม่เหมือนกันตามระยะความถี่ครับ ทางคูโบต้าให้มา 4 ชุดครับจำนวนเฟืองไม่เท่ากันให้เลือกใช้งาน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:15:41
รางสำหรับป้อนกล้าครับ รุ่นนี้มี 4 แถวจะมีมี 4 รางครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:17:08
แผงควบคุมครับ  ลองใช้งานดูแล้วไม่ยากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:18:30
คันบังคับมีครัทสำหรับบีบแล้วเหมือนรถไถนาเดินตามครับ ปรับตั้งความสูงได้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:23:21
ของแถมครับ ตัวพรวนหญ้า หรือ Rotary weeder ครับ  ได้มาก็ประกอบเตรียมไว้เลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:26:36
เครื่องโรยเมล็ดพันธุ์ครับ เครื่องโรยจะต่างจากเครื่องโรยเมล็ดพันธุ์นาโยนนะครับ ร่องมีขนาดไม่เท่ากัน เครื่องโรยรถดำนาต้องให้เมล็ดพันธุ์ตกมาก ส่วนนาโยนให้เมล็ดข้าวตกน้อยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:33:39
สำรวจอุปกรณ์ครบ ก็ไปซื้อถาดเพาะกล้ารถดำนาครับ อยู่ตำบลใกล้ๆ ครับซื้อมาก่อน 10 ถาดเพื่อมาเป็นแบบในการทำรางเพาะครับ

รางเพาะกล้ารถดำนา ผมดัดแปลงนิดหน่อยจากแบบที่คูโบต้าให้มา  ที่ทำจะเพาะได้ทีละ 10 ถาด ใช้เหล็กกล่อง 1 นิ้วจำนวน 3 เส้น เส้นละ 130 บาท และเหล็กกล่อง 2 นิ้วจำนวน 1 เส้นเส้นละ 340 บาทครับ  นอกนั้นก็ซื้อสีน้ำมัน 1 กระป๋องและน้ำมันสน 1 ขวดก็หมดงบไม่เยอะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:37:51
ตั้งฐานเสร็จก็เตรียมวางรางครับ ลองเอาถาดเพาะมาวางและดูระยะห่างกับขอบล้อของเครื่องโรยเมล็ดพันธุ์ข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2013, 22:44:39
เชื่อมเสร็จก็ทำการพ่นสีครับนอกจากความสวยงามแล้วยังเพื่อกันสนิมครับเพราะการเพาะกล้าข้าวต้องมีการใช้น้ำตลอดสำหรับให้แกลบดำเปรียกหากไม่พ่นจะเป็นสนิมได้ง่ายและอายุการใช้งานของเหล็กลดลง  ใช้เวลาทำรางสำหรับเพาะกล้าประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 02 มิถุนายน 2013, 18:38:04
ราคารถดำนาเต้าใดคับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มิถุนายน 2013, 21:30:43
ราคารถดำนาเต้าใดคับ ;D ;D

เดินตาม  4 แถว ราคา  135,000  บาท
เดินตาม 6 แถว  ราคา 200,000  บาท
นั่งขับ 6 แถว ราคา  480,000   บาทจะเอาออกซักคันกาครับ   :D

สำหรับถาดเพาะ มีราคาตั้งแต่ 25 -34 บาทแล้วแต่ยี่ห้อความหนาบางครับ นาไร่นึงใช้เต็มที่ไม่เกิน 50 ถาด นาปีอาจตกที่ 40 ถาดก็พอครับ คนสอนปลูกรถเค้าบอกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มิถุนายน 2013, 21:37:43
ได้ความรู้ดีครับ

LgqOLq294gU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 05 มิถุนายน 2013, 21:25:41
เชื่อมเสร็จก็ทำการพ่นสีครับนอกจากความสวยงามแล้วยังเพื่อกันสนิมครับเพราะการเพาะกล้าข้าวต้องมีการใช้น้ำตลอดสำหรับให้แกลบดำเปรียกหากไม่พ่นจะเป็นสนิมได้ง่ายและอายุการใช้งานของเหล็กลดลง  ใช้เวลาทำรางสำหรับเพาะกล้าประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าครับ
มีworkshopกว้างขวางดีน่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มิถุนายน 2013, 22:48:09
เชื่อมเสร็จก็ทำการพ่นสีครับนอกจากความสวยงามแล้วยังเพื่อกันสนิมครับเพราะการเพาะกล้าข้าวต้องมีการใช้น้ำตลอดสำหรับให้แกลบดำเปรียกหากไม่พ่นจะเป็นสนิมได้ง่ายและอายุการใช้งานของเหล็กลดลง  ใช้เวลาทำรางสำหรับเพาะกล้าประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าครับ
มีworkshopกว้างขวางดีน่อครับ

ครับ เป็นโกดังข้าวเก่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 มิถุนายน 2013, 22:56:04
วันนี้ วันที่ 5 มิถุนายน วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ

วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น "วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ"
ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าประทับใจคือ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา หลังตึกขาว (ปัจจุบันคือ ตึกพืชพรรณ ของกรมวิชาการเกษตร) ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อชาวสยามและข้าวไทยและเป็นวาระสำคัญ ต่อกิจกรรมข้าวไทย การเสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าวในครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์

การกำหนดให้มีวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ แยกออกจากวันพระราชพิธีพืชมงคล เนื่องจากวันพระราชพิธีพืชมงคลดังกล่าวมิได้เฉพาะเจาะจงแต่เฉพาะอาชีพการทำ นาและชาวนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงอาชีพการทำไร่ การทำสวนด้วย ประกอบกับการกำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลในแต่ละปีนั้น เป็นการกำหนดทางจันทรคติ ทำให้ไม่สามารถระบุเป็นวันแน่ชัดล่วงหน้าถาวรในปฏิทินได้ และไม่เหมาะสมที่จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองสำหรับชาวนาโดยทั่วไป



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 06 มิถุนายน 2013, 08:45:17
อ้ายๆนาปีปีนี้อ้ายจะปลูกข้าวอะหยังครับ ได้ยินข่าวมาว่าข้าวเจ้าเปิ้ลจะบ่าจำนำนาปีข่าวลอยๆครับ..ได้ยินมาจากคนขับรถผู้ว่า บ่าหู้ว่าแต้ก่อ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bankey2122 ที่ วันที่ 06 มิถุนายน 2013, 10:10:07
รถดำนาใหม่ของพ่อเลี้ยงงามขนาด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 07 มิถุนายน 2013, 10:43:43
วันนี้ร้านมาส่งรถดำนาให้แล้วครับ มาช่วงสาย ๆ อธิบายการดูแลรักษา การใช้งานเบื้องต้นให้ครับใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า ๆ เดี๋ยววันเพาะกล้า และวันดำนาทางร้านจะส่งทีมสอนมาอีกทีครับ

มาดูกันครับรายละเอียดรถดำนา 4 แถวเดินตามครับ

ขอเรียนถามหน่อยครับว่า เหตุผลที่ซื้อรถปลูกรุ่นนี้เพราะอะไร เพราะเท่าที่ติดตามผมมีที่นาใกล้เคียงกับ ubuntuthaith
สนใจครับเผื่อจะได้เป็นข้อมูล


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 07 มิถุนายน 2013, 11:57:03
 :D....นาปีปีนี้ผมขยายพื้นที่ทำนาเป็น70ไร่.....หว่านข้าวแล้วจ้างคนมาถอน+ปักชำถังละ420...หว่านไป35ถัง=14,700.....แล้วต้องถอนไปปักดำอีก...ราคาเหมาต่อไร่น่าจะอยู่ที่ไร่ละ1,000.....70ไร่ก็เท่ากับ70,000บาท....ค่าดำนาทั้งนาปีและนาปรังตกอยู่ที่150,000....ค่าจ้างดำนาใน1ปีซื้อรถดำนา4แถวได้1คันเลยนะ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มิถุนายน 2013, 21:33:39
อ้ายๆนาปีปีนี้อ้ายจะปลูกข้าวอะหยังครับ ได้ยินข่าวมาว่าข้าวเจ้าเปิ้ลจะบ่าจำนำนาปีข่าวลอยๆครับ..ได้ยินมาจากคนขับรถผู้ว่า บ่าหู้ว่าแต้ก่อ

ผมปลูก กข.15  ครับ เพราะส่วนหนึ่งต้องเก็บไว้กินเองที่บ้านครับ แถวบ้านส่วนใหญ่หันไปปลูกเหนียวอุบลกันมากครับเห็นว่าได้ผลผลิตสูง ส่วนการรับจำนำหากเป็นพวกข้าวไวต่อช่วงแสงที่คุณภาพดีอย่างข้าวเจ้า หอมมะลิ ข้าวกข.15  ผมว่าน่าจะพอรับจำนำอยู่เพราะยังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศอยู่ครับ ยิ่งข้าวเก่ายิ่งราคาแพง แต่พวกข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ข้าวนาปรังตอนนี้ก็คงคิดว่ายังล้นตลาดอยู่ครับซึ่งตัดเป็นข้าวเกรดต่ำลงมาอาจขายได้ยากในตลาดต่างประเทศเพราะข้าวเวียดนาม  พม่า  กัมพูชามีราคาต่ำกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มิถุนายน 2013, 21:35:56
รถดำนาใหม่ของพ่อเลี้ยงงามขนาด

ขอบคุณครับ แต่ไม่รู้ว่าฝีมือคนดำจะดำนาได้งามเหมือนรถหรือป่าวต้องหัดซักพักครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มิถุนายน 2013, 21:54:28
วันนี้ร้านมาส่งรถดำนาให้แล้วครับ มาช่วงสาย ๆ อธิบายการดูแลรักษา การใช้งานเบื้องต้นให้ครับใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า ๆ เดี๋ยววันเพาะกล้า และวันดำนาทางร้านจะส่งทีมสอนมาอีกทีครับ

มาดูกันครับรายละเอียดรถดำนา 4 แถวเดินตามครับ

ขอเรียนถามหน่อยครับว่า เหตุผลที่ซื้อรถปลูกรุ่นนี้เพราะอะไร เพราะเท่าที่ติดตามผมมีที่นาใกล้เคียงกับ ubuntuthaith
สนใจครับเผื่อจะได้เป็นข้อมูล

หลัก ๆ ที่หันมาทำนาดำเพราะอยากเลี่ยงการใช้สารเคมีอันตรายพวกยาคุมหญ้า ลดปัญหาพวกข้าววัชพืช แม้อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านาหว่าน แต่ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพกว่าครับ

ตามความคิดผมที่เลือกรุ่นนี้ครับ

1. ดูแลง่ายระบบไม่ซับซ้อน เห็นแถวบ้านใช้มา 4 ปีไม่มีปัญหาเลย รถแบบนั่งขับต้องเช็กโดยช่างศูนย์ที่ชำนาญเท่านั้น ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงแต่หากนำไปรับจ้างก็น่าสนใจครับ
2. ราคาไม่แพงครับ  ผมทำนา 22 ไร่หากจ้างคนดำไร่ละ 1300 บาท ทำนา 1 รอบมีค่าใช้จ่าย 28600 บาทปีละ  57200 บาท  แต่รถดำนาคันนี้ราคา 135000 บาท ค่าถาด 29700  บาท  หากทำนา 3 ปีจะมีค่าใช้จ่ายพอ ๆ กันหากจ้างคนดำ  แต่หากครบ 3 ปีขายรถดำนาจะขายได้ราคาประมาณ 65000 บาท ซึ่งก็น่าจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการทำนาดำด้วยคนครับ ตอนนี้ก็มีญาติ ๆ สนใจอยากจ้างให้ดำก็มีครับอาจเป็นรายได้เสริมได้อีกทาง
3. แถวบ้านแรงงานรับจ้างดำมีน้อยครับ ส่วนใหญ่ต้องจ้างแรงงานจาก อ.ดอยหลวง หรือทาง ท่าสุดครับ บางทีคิวไม่ว่างหรือเบี้ยวงานก็มีครับ
4. น้ำหนักเบา 160 กก. เวลาติดหล่มสามารถยกหนีหล่มได้ด้วยแรงงาน 3 คนครับ ตอนเค้ามาส่งก็ยกลงรถกระบะครับ รุ่นเดินตาม 6 แถวจะมีน้ำหนักมากกว่า 30 กก. แต่ราคาสูงกว่ากันไป 65000 บาท


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มิถุนายน 2013, 22:05:13
:D....นาปีปีนี้ผมขยายพื้นที่ทำนาเป็น70ไร่.....หว่านข้าวแล้วจ้างคนมาถอน+ปักชำถังละ420...หว่านไป35ถัง=14,700.....แล้วต้องถอนไปปักดำอีก...ราคาเหมาต่อไร่น่าจะอยู่ที่ไร่ละ1,000.....70ไร่ก็เท่ากับ70,000บาท....ค่าดำนาทั้งนาปีและนาปรังตกอยู่ที่150,000....ค่าจ้างดำนาใน1ปีซื้อรถดำนา4แถวได้1คันเลยนะ....

เป็นชาวนาเงินล้านเลยน้อครับ 70 ไร่  ต้นทุนค่าแรงงานตอนนี้เพิ่มสูงมากขึ้น ไร่ละ 1000 ก็ถือว่าถูกกว่าแถวบ้านผมครับ แถวบ้าน 1300 แล้วครับ แถมไม่พอต้องเลี้ยงข้าวคนงานด้วย  พ่อเลี้ยงทำนาเยอะขนาดนี้ไม่ถอยรถดำนานั่งขับซักคันเอาไว้รับจ้างแถวบ้านก็น่าจะดีนะครับ  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 08 มิถุนายน 2013, 13:39:49
ชอบ..เลยติดตาม ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: jukgree ที่ วันที่ 09 มิถุนายน 2013, 21:35:09
ความรู้ของอ้ายอู๋ยอดเยี่ยมมากๆครับ ผมติดตามอยู่ตลอดเน้อ
ผมรบกวนสอบถามหน่อยครับ ตัว Rotary Weeder แถวเชียงรายมีขายต่างหากก่อครับ นาปีผมจ้างรถปลูกเหมือนกันครับ ตั้งใจจะทำตามแนวชาวนาวันหยุดครับ  ;)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มิถุนายน 2013, 22:42:43
ชอบ..เลยติดตาม ;D ;D

ขอบคุณครับ ช่วยดันกระทู้ให้ตลอดเลย  :D

ความรู้ของอ้ายอู๋ยอดเยี่ยมมากๆครับ ผมติดตามอยู่ตลอดเน้อ
ผมรบกวนสอบถามหน่อยครับ ตัว Rotary Weeder แถวเชียงรายมีขายต่างหากก่อครับ นาปีผมจ้างรถปลูกเหมือนกันครับ ตั้งใจจะทำตามแนวชาวนาวันหยุดครับ  ;)

ขอบคุณครับ ตัว Rotary Weeder  อย่างที่คูโบต้าจุงชัยเคยถามเหมือนกันว่ามีขายต่างหากไม๊เค้าบอกว่าไม่มีครับ ตัว Rotary Weeder  ทำเองได้ไม่ยากครับผมเองก็ว่าจะทำเองอีกอันเป็นแบบ 2 แถวดีกว่าจะได้ประหยัดเวลามากขึ้นครับ  สำหรับตัวแบบติดเครื่องยนต์เคยให้ในบอร์ดเกษตรมาขายเหมือนกันลองโทรถามดูครับว่ายังทำอยู่ไม๊ครับ http://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=401024.msg4862959;topicseen (http://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=401024.msg4862959;topicseen)





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มิถุนายน 2013, 22:46:58
บทความกระทู้ของคุณ ต้นกล้า ชาวนาวันหยุด คุณ สุภชัย  ครับ http://www.gotoknow.org/posts/431612 (http://www.gotoknow.org/posts/431612)

"นวัตกรรมใหม่สำหรับการดูแลเเปลงนา หลังการปักดำ"  
จริงๆไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดครับ ต่างประเทศมีการพัฒนาเรื่องนี้กันมานานแล้วและไปกันไกลแล้ว
 
 "แต่ในเมืองไทยยังไม่มีสื่อไหนลงครับ เป็น GTK เป็นที่แรกก็ว่าได้ ที่มีงานส่งเสริมเข้าไปถึงกลุ่มเกษตรกรเป็นเรื่องเป็นราว มานำเสนอ"
 
   อยากบอก เราๆท่านๆ คนทานข้าว  ว่าเป็นประโยชน์ครับ โดยเฉพาะตัวเกษตรกร ตัวชาวนาเอง "ที่ทุกวันนี้ จ่ายหมดไปกับอะไรก็ไม่รู้ จ่ายแบบว่า ให้มันเสร็จๆไป จ่ายแล้วจ่ายอีก  กับสารเคมี คุมวัชพืช และกำจัดวัชพืช ค่าแรงงานตัดข้าวปน ข้าวดีด ในนาข้าว กับเเปลงนาหญ้ารกๆ"
ด้วยวิธีการนี้ ช่วยให้เกษตรกรประหยัดดังนี้ครับ
1.ประหยัด "เงิน" ->สามารถดูแล้วทำใช้เองที่บ้านได้ (ต้นทุนไม่ถึงพันบาท)
2.ประหยัด "แรงงาน" -> ในการเก็บข้าวปน ข้าววัชพืช/หญ้าในเเปลงนา  ด้วยรูปแบบลงแขก แถกหญ้า ได้ครับ
3.ประหยัด "ปุ๋ยเคมี" -> เพราะไม่ต้องฉีดยาคุม ยาฆ่าหญ้า ให้ข้าวเฉาแต่ประการใด
4.ประหยัด "น้ำ" -> ใช้หลักการน้ำ สลับเเห้ง หรือ AWD5/15 เปียก5เซน แห้ง 15เซน ก่อน (เคยนำเสนอไปแล้ว)
5.ประหยัด "ยาหมอ" -> ได้ออกกำลังกาย คนทำนาสุขภาพดี ต้นข้าวก็สุขภาพดี ไม่ต้องไปหาหมอบ่อยๆ ทั้งคนทั้งต้นข้าว (เคยนำเสนอไปแล้วเช่นกัน)
6.ลดโลกร้อน -> ลดก๊าซมีเทนในนาข้าว ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับระบบรากข้าว
7.เพิ่มผลผลิตข้าว -> โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง
       
ว้าว!!! อะไรมันดีปานนั้น อยากรู้ต้องไปลอง ทำดูครับ
 
"ทำไม่ได้?" หรือ "ไม่ได้ทำ?"







หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มิถุนายน 2013, 22:51:39
วันหยุดเสาร์ อาทิตย์นี้ ก็เตรียมความพร้อมสำหรับการทำนาดำครับ  ถาดไปรับมาเรียบร้อยแล้วครับซื้อใกล้ๆบ้านถาดละ 27 บาทแบบหนา ซื้อมา 600 ถาดครับ นาปีใช้ประมาณ 45 ถาด/ไร่ นาปรังอาจใช้มากกว่านี้อีกหน่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มิถุนายน 2013, 22:59:24
ดินและปุ๋ย ซื้อจากพี่ต้นกระทู้นาโยน  ใกล้ๆบ้านครับ นำมาใช้เป็นส่วนผสมกับแกลบดำเพื่อช่วยบำรุงลำต้นให้เขียวเพราะว่าเพาะกล้าบนบกติดสปริงเกอร์ไม่ได้นำไปไว้ในนา  ส่วนสปริงเกอร์ก็เตรียมไว้แล้วว่าง ๆ ก็ให้พ่อช่วยทำแกไม่ชอบอยู่เฉย ๆครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มิถุนายน 2013, 23:10:20
แต่งานหนักสำหรับสัปดาห์นี้คือการต้องดัดแปลงรถเทลเลอร์บรรทุกคันเก่าให้เป็นเทลเลอร์รถดำนา ซึ่งตั้งงบประมาณที่ใช้ไม่เกิน 2 พันบาทตอนนี้ใช้ไปแล้ว 1 พันกว่าบาทเสร็จไปแล้ว 60 % ครับ สัปดาห์หน้าก็ทำต่อให้ทันใช้ประมาณต้นเดือนหน้าครับ  ที่จริงรถดำนาสามารถขึ้นกระบะปิ๊กอัพได้แต่ทางไปนาเอาแน่ ๆ เอานอนไม่ได้ครับฝนตกทางลื่น เลยเคยว่าต้องทำเผื่อไว้สำหรับใช้รถไถนาลากไปได้และจะขึ้นง่ายกว่าใส่กระบะไปครับ

สภาพเดิม ๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มิถุนายน 2013, 23:14:20
สภาพตอนนี้ ยังต้องทำโครงให้แข็งมากขึ้นอีกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 09 มิถุนายน 2013, 23:48:48
วันนี้ร้านมาส่งรถดำนาให้แล้วครับ มาช่วงสาย ๆ อธิบายการดูแลรักษา การใช้งานเบื้องต้นให้ครับใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า ๆ เดี๋ยววันเพาะกล้า และวันดำนาทางร้านจะส่งทีมสอนมาอีกทีครับ

มาดูกันครับรายละเอียดรถดำนา 4 แถวเดินตามครับ

ขอเรียนถามหน่อยครับว่า เหตุผลที่ซื้อรถปลูกรุ่นนี้เพราะอะไร เพราะเท่าที่ติดตามผมมีที่นาใกล้เคียงกับ ubuntuthaith
สนใจครับเผื่อจะได้เป็นข้อมูล

หลัก ๆ ที่หันมาทำนาดำเพราะอยากเลี่ยงการใช้สารเคมีอันตรายพวกยาคุมหญ้า ลดปัญหาพวกข้าววัชพืช แม้อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านาหว่าน แต่ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพกว่าครับ

ตามความคิดผมที่เลือกรุ่นนี้ครับ

1. ดูแลง่ายระบบไม่ซับซ้อน เห็นแถวบ้านใช้มา 4 ปีไม่มีปัญหาเลย รถแบบนั่งขับต้องเช็กโดยช่างศูนย์ที่ชำนาญเท่านั้น ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงแต่หากนำไปรับจ้างก็น่าสนใจครับ
2. ราคาไม่แพงครับ  ผมทำนา 22 ไร่หากจ้างคนดำไร่ละ 1300 บาท ทำนา 1 รอบมีค่าใช้จ่าย

 28600 บาทปีละ  57200 บาท  แต่รถดำนาคันนี้ราคา 135000 บาท ค่าถาด 29700  บาท  หากทำนา 3 ปีจะมีค่าใช้จ่ายพอ ๆ กันหากจ้างคนดำ  แต่หากครบ 3 ปีขายรถดำนาจะขายได้ราคาประมาณ 65000 บาท ซึ่งก็น่าจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการทำนาดำด้วยคนครับ ตอนนี้ก็มีญาติ ๆ สนใจอยากจ้างให้ดำก็มีครับอาจเป็นรายได้เสริมได้อีกทาง
3. แถวบ้านแรงงานรับจ้างดำมีน้อยครับ ส่วนใหญ่ต้องจ้างแรงงานจาก อ.ดอยหลวง หรือทาง ท่าสุดครับ บางทีคิวไม่ว่างหรือเบี้ยวงานก็มีครับ
4. น้ำหนักเบา 160 กก. เวลาติดหล่มสามารถยกหนีหล่มได้ด้วยแรงงาน 3 คนครับ ตอนเค้ามาส่งก็ยกลงรถกระบะครับ รุ่นเดินตาม 6 แถวจะมีน้ำหนักมากกว่า 30 กก. แต่ราคาสูงกว่ากันไป 65000 บาท

ขอบคุณสำหรับข้อมูล ครับ บอร์ดนี้ดีมากครับ จะรอชมต่อไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 10 มิถุนายน 2013, 10:07:02
ขาประจำมาแอ่วผ่อ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: jukgree ที่ วันที่ 10 มิถุนายน 2013, 18:52:52
ขอบคุณอีกครั้งเด้อครับ อ้ายอู๋ มีโอกาสนาปีนี้จะขอไปแอ่วนาอ้ายอู๋อีกเด้อครับ  ตัว Rotary Weeder 2 แถว
เข้าท่ากว่าเยอะเลยครับ ประหยัดเวลาได้ดีกว่าด้วย อ้ายอู๋ว่างๆทำขายเลยก็ดีหนาครับ ผมจะอุดหนุนคนแรกเลย  ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 มิถุนายน 2013, 22:40:39
ขอบคุณหลาย ๆท่านครับ

ขอบคุณอีกครั้งเด้อครับ อ้ายอู๋ มีโอกาสนาปีนี้จะขอไปแอ่วนาอ้ายอู๋อีกเด้อครับ  ตัว Rotary Weeder 2 แถว
เข้าท่ากว่าเยอะเลยครับ ประหยัดเวลาได้ดีกว่าด้วย อ้ายอู๋ว่างๆทำขายเลยก็ดีหนาครับ ผมจะอุดหนุนคนแรกเลย  ;D

เดี๋ยวไว้จะลองทำดูครับ เคยเห็นเว็ปต่างประเทศใช้ไม้ไผ่มาทำก็มี แบบง่าย ๆ ใช้ท่อ PVC ก็มีครับ ถ้าแบบเบา ๆ ก็ใช้อลูมิเนียมมาทำ  ที่ญี่ปุ่นมีหลากหลายมากลองดูเผื่อนำมาประยุกต์ได้ครับ

Ubk907oSrCE

gSH5aw_xMmQ

W1cznRiFxD0



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มิถุนายน 2013, 21:02:33
ไปดูคนกัมพูชาสอนทำนาแบบ SRI กันครับ ชอบตรงเค้าเอาเศษใบไม้เป็นมาหว่านในแปลงนานอกจากเป็นปุ๋ยธรรมชาติแล้วยังช่วยป้องกันวัชพืชขึ้นด้วยครับ

MSbX2WXmuCM


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มิถุนายน 2013, 22:02:18
วันนี้ทำงานนอกสถานที่ผ่านไปมาแถวสถานีพัฒนาที่ดินเชียงรายหลายรอบเพราะแยกบริเวณท่าข้าวเปลือกมีการทำถนนก็เลยแวะเข้าไปขอรับสาร พด. ซักหน่อยครับ พี่เจ้าหน้าที่ใจดีให้ความรู้แนะนำและให้สาร พด.มาครับ แกบอกให้ชวนคนมาขอเยอะ ๆ ครับเพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์กัน แกให้ทั้งสารและเอกสารประกอบสำหรับนำไปใช้ครับ ผมได้มาพอเพียงสำหรับใช้ในนาได้ 2 ปีตามวันหมดอายุ ได้ทั้งพด. ทำปุ๋ยหมัก  น้ำหมักชีวภาพ  ควบคุมโรคพืช และพวกป้องกันและกำจัดแมลงครับ

หากเข้าไปติดต่อขอรับ (ขอเบิกสาร พด.) ได้ตามวันเวลาราชการ  อาคารหลังแรกชั้นล่าง หรือสอบถามยามหน้าทางเข้าก็ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มิถุนายน 2013, 22:03:39
สาร พด.ที่ได้รับมา พึ่งผลิตเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา หมดอายุ ปี 2558 ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มิถุนายน 2013, 22:04:24
พด. 1  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มิถุนายน 2013, 22:05:16
พด. 2  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มิถุนายน 2013, 22:06:07
พด. 3  ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มิถุนายน 2013, 22:07:13
พด. 7


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มิถุนายน 2013, 22:19:29
เว็ปกรมพัฒนาที่ดินครับ  http://www.ldd.go.th/ (http://www.ldd.go.th/)

ความรู้ต่าง ๆ ที่กรมพัฒนาที่ดินรวบรวมไว้ก็มีเยอะครับ  http://sql.ldd.go.th/LDDSearch/Vicha.aspx (http://sql.ldd.go.th/LDDSearch/Vicha.aspx)

อยากรู้เรื่องสาร พด. เพิ่มเติมอ่านที่นี่ http://www.ldd.go.th/menu_5wonder/index.html (http://www.ldd.go.th/menu_5wonder/index.html)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มิถุนายน 2013, 22:26:15
ส่วนงานที่บ้านวันนี้ช่วงเช้าแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวครับ  สำหรับไว้เพาะในวันเสาร์นี้ซึ่งหากเพาะสำหรับถาดรถดำนา จะต้องแช่น้ำ 1 วัน และบ่มอีก 1 วันครับเพื่อให้รากข้าวไม่ยาวเพราะจะต้องโรยในถาดได้ครับ  สำหรับการแช่น้ำควรจะคัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์และเมล็ดลีบออกครับโดยการแช่น้ำและตักเมล็ดที่ลอยน้ำออก ซึ่งอาจผสมเกลือลงไปด้วยก็ได้เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มิถุนายน 2013, 22:21:11
วันนี้เพาะข้าวครับ  พี่ ๆ จากจุงชัยมาสอนวิธีการให้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มิถุนายน 2013, 22:24:53
ข้าวสำหรับเพาะในถาดรถดำนาควรแช่น้ำไว้ 24 ชั่วโมง และนำมาบ่ม 24 ชั่วโมงเช่นกันต่างจากนาหว่านที่ต้องแช่น้ำ  24 ชั่วโมง และบ่มประมาณ 48 ชั่วโมงซึ่งรากจะยาวกว่าครับ สาเหตุที่บ่มแค่ 24 ชั่วโมงเพราะต้องนำมาโรยในเครื่องโรยป้องกันรากพันกันและรากขาดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มิถุนายน 2013, 22:30:10
แกลบที่นำมาใช้ เท่าที่ลองใช้แกลบ 4 กระสอบสามารถเพาะได้ 1 ไร่หรือประมาณ 40 ถาดครับ เมื่อนำแกลบมาใส่ในถาดก่อนโรยข้าวจะต้องปาดให้ความหนาของแกลบพอดี ซึ่งจะมีอุปกรณ์การปาดแกลบให้ หลังจากนั้นก็รดน้ำให้ชุ่มครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มิถุนายน 2013, 22:33:07
หลังจากนั้นก็โรยข้าวโดยใช้เครื่องโรยไปกลับ 2 รอบครับจึงจะพอดี หากตรงไหนมีมีข้าวก็ใช้มือโรยตกแต่งเพิ่มเติมครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มิถุนายน 2013, 22:36:25
เมื่อโรยข้าวเสร็จก็ร่อนแกลบดำปิดหน้าอีก 1 รอบครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มิถุนายน 2013, 22:42:13
หลังจากโรยแกลบปิดหน้าเรียบร้อยก็ขนไปบ่มอีกอย่างน้อย 1 คืน ไม่เกิน 2 คืนครับ สำหรับอากาศร้อน ๆ แบบช่วงนี้ 1 คืนก็พอมากกว่านั้นอาจทำให้เป็นเชื้อราได้ง่าย  หากครบกำหนดก็สามารถนำไปแผ่เตรียมอนุบาลกล้าได้เลย  สรุปวันนี้เพาะได้  286 ถาดสามารถปลูกได้ 7 ไร่เศษ พรุ่งนี้เพาะต่อเพื่อให้เพียงพอกับนา 13 ไร่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 16 มิถุนายน 2013, 10:30:48
 :D....ชอบตรงที่ทำงานอยู่ในร่มนี่แหละครับ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 16 มิถุนายน 2013, 10:38:09
:D....ชอบตรงที่ทำงานอยู่ในร่มนี่แหละครับ....
+1 ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 มิถุนายน 2013, 22:22:34
:D....ชอบตรงที่ทำงานอยู่ในร่มนี่แหละครับ....
+1 ;D ;D ;D

แดดร้อนมากช่วงนี้ต้องหลบทำในร่มครับ  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 มิถุนายน 2013, 22:33:10
ข้าวหลังจากลงถาดเพาะและบ่มไว้ 1 คืนตอนนี้เริ่มแทงออกมาให้เห็นแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 มิถุนายน 2013, 22:40:36
เตรียมระบบสปริงเกอร์ไว้  ทดสอบแล้วเปิดพร้อมกันได้ 4 หัว เปิดมากกว่านี้แรงดันน้ำจะลดลง ควบคุมน้ำที่วาล์วน้ำที่ตัวสปริงเกอร์ครับใช้สปริงเกอร์ 10 หัว หัวละ 10 บาท ท่อ PVC ขนาด 4 หุน 9 เส้น เส้นละ 35 บาท วาล์วปิดเปิดน้ำ  10 ตัว ตัวละ 25 บาท ข้อต่อสามทาง ข้องอ รวมแล้วใช้งบประมาณ 1000 บาทครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 18 มิถุนายน 2013, 13:41:40
 :o :oที่บ้านกว้างขนาด ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มิถุนายน 2013, 21:13:04
นำถาดมาเรียงไว้เพื่อเริ่มให้น้ำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มิถุนายน 2013, 21:17:55
วันนี้เอาสแลนออกบางส่วนแล้ว เพื่อให้ต้นข้าวเริ่มสังเคราะห์แสงบ้างหากไม่เอาออกต้นข้าวจะเหลืองและโตช้าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มิถุนายน 2013, 21:23:48
อีก 10 กว่าวันก็สามารถนำไปปลูกได้แล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มิถุนายน 2013, 21:25:57
:o :oที่บ้านกว้างขนาด ;D ;D

2 ไร่บ่าดายครับ บ้านนอกราคาที่ดินไม่แพงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 20 มิถุนายน 2013, 08:47:09
พี่ขอความคิดเห็นหน่อยครับ ถ้าเราใช้ รถปลูก กข6 กับโยน กข6 วิธีและผลผลิตมันจะไปรูปแบบไดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 20 มิถุนายน 2013, 15:01:18
ข้าวลดเหลือ 12000- ทำนาพอได้กำไรไหมครับ :-X :-X


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มิถุนายน 2013, 22:06:51
พี่ขอความคิดเห็นหน่อยครับ ถ้าเราใช้ รถปลูก กข6 กับโยน กข6 วิธีและผลผลิตมันจะไปรูปแบบไดครับ
ข้าวพันธุ์ กข.6 ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และโรคใบไหม้ ครับหากนำมาเพาะในถาดรถดำนาอาจติดโรคได้ง่ายครับ นาโยนถาดยังพอมีระยะห่างมากกว่ามีโอกาสเป็นโรคได้น้อยกว่า หากจะนำมาปลูกรถ หรือโยน แนะนำใช้ กข.6 ธัญสิริน จะดีกว่าเพราะมีความต้านทานโรคไหม้ได้ดีกว่าครับ  ด้านผลผลิตแล้วผลที่ได้พอ ๆ กันเพราะต้นข้าวมีระยะห่างระหว่างกอทำให้ต้นข้าวไม่ต้องแย่งอาหารกันเหมือนนาหว่านเมล็ดข้าวจึงมีน้ำหนักมากกว่าและไม่ต้องแย่งอาหารกับพวกข้าวดีดข้าวเด้งอีกด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มิถุนายน 2013, 22:28:02
ข้าวลดเหลือ 12000- ทำนาพอได้กำไรไหมครับ :-X :-X

นาปรังต้นทุนต่อไร่ผมอยู่ที่ 2 พันกว่าบาทครับ ตราบใดที่ขายข้าวในนาได้เงินไม่น้อยกว่านี้ก็ยังพอมีกำไรอยู่ครับแต่กำไรอาจลดน้อยลงไป หรือต้องหาวิธีใดก็ตามที่จะลดต้นทุนต่อไร่ให้ต่ำกว่านี้ได้อีกเช่น

- ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักที่หาได้ในท้องถิ่น
- ลดการใช้ยาคุมหญ้า ยาฆ่าหญ้า ปรับเปลี่ยนไปใช้วิถีทำนาแบบดั้งเดิม

ทุกวันนี้ข้าวราคาแพงชาวนาต่างคนต่างก็เร่งเพิ่มผลผลิตโดยการใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น  ราคาปุ๋ยเคมีก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเพราะมีเท่าไหร่ก็ขายหมด หากชาวนาใช้ปุ๋ยเคมีกันน้อยปุ๋ยเคมีล้นตลาดอีกหน่อยราคาก็ลดต่ำเอง

ตอนนี้ก็อยากให้ท้องนาปลอดภัยสารเคมีอันตรายแบบหนังสือเรียนสมัยก่อนจังครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: manupea ที่ วันที่ 21 มิถุนายน 2013, 13:24:59
คูโบต้า krt140 ที่ท่านใช้ใช้ล้อเหล็ก นาหล่มรถติดหล่มบ้างไหม รถไถรุ่นนี้อยากหามาใช้บ้าง ขอคำวิพากษ์เกี่ยวกับรถรุ่นนี้หน่อยคับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มิถุนายน 2013, 22:53:20
คูโบต้า krt140 ที่ท่านใช้ใช้ล้อเหล็ก นาหล่มรถติดหล่มบ้างไหม รถไถรุ่นนี้อยากหามาใช้บ้าง ขอคำวิพากษ์เกี่ยวกับรถรุ่นนี้หน่อยคับ


รถรุ่นนี้คูโบต้าเลิกไลน์ผลิตแล้วครับแต่อะไหล่ก็ยังมีปกติ ที่ขายจะเห็นเป็นมือสองครับ โอกาสติดหล่มน้อยครับทำเทือกไม่เคยติดหล่มเลย จะติดก็ต่อเมื่อเวลาไถนาตอนมีน้ำครับเมื่อเปลี่ยนใส่ผาน 3 เพราะมีน้ำหนักมากถ่วงน้ำหนักรถ ( ปกติรถแทรกเตอร์ไม่กล้าไถโดยใช้ผานเวลามีน้ำ ) หากเวลาขับไปคร่อมร่องรถเกี่ยวข้าวท้องจะเขินครับล้อจะหมุนฟรีได้ เวลาใช้ผานใช้แรงในการลากผานหากเจอนาหล่มแล้วเรายกผานช้าล้อเหล็กจะตะกรุยดินทำให้ติดหล่มได้  หากจะให้คำวิพากษ์วิจารณ์รุ่นนี้ ผมว่าพอใจครับเพราะดูแลง่าย  ประหยัดน้ำมันครับ
 
ไถนาแห้ง น้ำมันวันละ 300 บาท/7 ไร่/วัน 
ไถนาตอนมีน้ำ น้ำมันวันละ 350 บาท/ 7 ไร่/ วัน
ทำเทือก น้ำมันวันละไม่เกิน 400 บาท/13 ไร่/วัน

ตัวอย่างที่ติดหล่มครับคือดินบางส่วนยังแข็งบางส่วนเป็นหล่มร่องรถเกี่ยวก็จะทำให้ติด ส่วนหนึ่งเพราะผมใส่ผานหน้าด้วยมีน้ำหนักมากครับ หากเป็นนาเกี่ยวมือ หรือนาเกี่ยวรถที่มีการปรับหน้าดินให้เรียบแล้วก็ไม่ติดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มิถุนายน 2013, 23:06:35
ต้นกล้าในถาดเพาะวันนี้ครับ ใบค่อนข้างเหลืองกว่าการวางถาดไว้ในแปลงนาและพบปัญหามีเชื้อราซึ่งมาจากแกลบครับ แก้ไขโดยการฉีดพ่นยากำจัดเชื้อราและโรค และลองพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อช่วยให้ต้นข้าวสมบูรณ์มากขึ้นลองดูอาการอีก 2-3 วันถัดไปครับว่าจะเป็นอย่างไร


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มิถุนายน 2013, 22:19:51
วันนี้ดูกล้าเพาะครับ ประเมินดูแล้ว กล้าไม่เขียวขาดธาตุอาหาร คงเพราะผสมดินน้อยไปคือ แกลบ 8.5  ส่วน ดิน 1 ส่วน ปุ๋ย 0.5 ส่วน อาจจะต้องใช้ดินครึ่งต่อครึ่งกับแกลบหากใช้ระบบสปริงเกอร์แต่จะส่งผลให้ถาดเพาะมีน้ำหนักมากลำบากในการขนย้ายและอีกอย่างการใช้แกลบค่อนข้างอมความร้อน  น้ำในถาดระเหยไวต้องหมั่นรดน้ำแต่หากรดน้ำเวลาแดดแรง ๆ ใบต้นข้าวจะช้ำหรือไหม้อีก  พรุ่งนี้คงต้องย้ายไปวางแปลงนาแล้วครับ ต้นข้าวสูงพอที่จะไม่ถูกน้ำท่วมหากฝนตกหนักแล้ว

ข้าวที่เพาะเป็น กข. 15 ดูแลค่อนข้างยากหากเทียบกับการเพาะข้าวนาปรังที่ค่อนข้างต้านทานโรคกว่ามาก ผมเจอทั้งเชื้อราที่มาจากแกลบและโรคไหม้ขนาดป้องกันแล้ว ตอนนี้อาการต้นข้าวดีขึ้นแล้วครับ ที่เสียหายก็อาการเริ่มดีขึ้นแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มิถุนายน 2013, 22:25:28
รถเทลเลอร์สำหรับบรรทุกรถดำนาก็ทำต่อวันนี้จนเสร็จแล้วครับ น้ำหนักค่อนข้างเบาลากคนเดียวได้สบาย  พื้นกระบะตอนแรกจะใช้ไม้ฝาเฌอร่าแต่ดูแล้วน้ำหนักมากและหักง่ายเกินไปเลยไม่เอา สุดท้ายไปเห็นแผ่นสังกะสีเก่าหลังบ้านก็เลยน้ำมาใช้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2013, 10:40:35
รถเทลเลอร์ แจ่มครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2013, 21:22:18
รถเทลเลอร์ แจ่มครับ ;D ;D

ขอบคุณครับ ตอนแรกจะทำให้ดูดีกว่านี้ครับแต่งบมีจำกัดเพราะฤดูกาลนี้ไปทุ่มกับรถดำนาและถาดเพาะค่อนข้างเยอะครับเลยต้องหาของเก่าที่มีอยู่มาทำครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2013, 21:38:43
ต้นข้าวในถาดเพาะทดสอบโดยใส่น้ำทิ้งไว้ 1 คืนเช้ามาน้ำหมดเกลี้ยงครับ กินน้ำเก่งมากสีของใบเปลี่ยนไปด้วยเขียวมากขึ้นครับ  นี่เป็นสาเหตุที่ต้องย้ายต้นข้าวในถาดไปไว้ที่นาแทน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2013, 21:42:20
เช้าวันนี้ จ้างรถมาทำเทือกเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับวางถาดเพาะ ทำเองไม่ทันครับ  ที่จริงควรทำเทือกทิ้งไว้ซัก 1 คืนเพื่อให้ดินอิ่มตัวจะได้วางง่ายถาดไม่เลื่อนเวลาวาง  เตรียมดินเสร็จก็ใส่กากชาเพื่อกำจัดหอยเชอรี่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2013, 21:46:57
วางถาดไปแล้ว 350 ถาด ยังเหลืออีก 2 ร้อยกว่าถาดไว้พรุ่งนี้หลังเลิกงานค่อยมาวางต่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2013, 22:12:06
ต้นกล้าในถาดเพาะวันนี้ครับ ใบค่อนข้างเหลืองกว่าการวางถาดไว้ในแปลงนาและพบปัญหามีเชื้อราซึ่งมาจากแกลบครับ แก้ไขโดยการฉีดพ่นยากำจัดเชื้อราและโรค และลองพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อช่วยให้ต้นข้าวสมบูรณ์มากขึ้นลองดูอาการอีก 2-3 วันถัดไปครับว่าจะเป็นอย่างไร
   ผมว่าพื้นที่ๆเราวางถาดเป็นพื้นหญ้า  ไม่ใช่ดิน  แล้วยังเอาพลาสติกไปรองถาดก็เลยทำให้ข้าวเหลือง เพราะอากาศปีร้อนมากๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2013, 08:35:01
ต้นกล้าในถาดเพาะวันนี้ครับ ใบค่อนข้างเหลืองกว่าการวางถาดไว้ในแปลงนาและพบปัญหามีเชื้อราซึ่งมาจากแกลบครับ แก้ไขโดยการฉีดพ่นยากำจัดเชื้อราและโรค และลองพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อช่วยให้ต้นข้าวสมบูรณ์มากขึ้นลองดูอาการอีก 2-3 วันถัดไปครับว่าจะเป็นอย่างไร
   ผมว่าพื้นที่ๆเราวางถาดเป็นพื้นหญ้า  ไม่ใช่ดิน  แล้วยังเอาพลาสติกไปรองถาดก็เลยทำให้ข้าวเหลือง เพราะอากาศปีร้อนมากๆ

น่าจะใช่ครับอ้ายต้น ตอนแรกตั้งใจจะให้พลาสติกเป็นตัวรองน้ำให้ขังในแปลง แต่ข้าวกินน้ำเก่งมากพอน้ำไม่เพียงพอทำให้พลาสติกแห้งและเกิดความร้อนเมื่อดินคลายความร้อนขึ้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2013, 22:11:54
ทุ่งนายามเย็นกล้าข้าวเริ่มเขียวขึ้นมาบ้างแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2013, 22:18:55
ลองผิดลองถูกครับประสบการณ์เป็นครู  เพาะนาปรังปีหน้าคงเริ่มคล่องแล้วครับ ทำนาดำปีนี้ต้องทำอะไรหลายอย่างเอาไว้จะถ่ายรูปมาให้ดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มิถุนายน 2013, 20:05:11
กล้าข้าวในแปลงเริ่มเขียวขึ้นมากแล้วครับ  เดี๋ยวเพาะกล้าอีก 9 ไร่ก็จะรู้วิธีมากขึ้นครับคือเพาะโรยในถาดและนำมาบ่ม 2 คืนและนำมาเรียงในนาจะดีกว่าการให้น้ำทางสปริงเกอร์ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 27 มิถุนายน 2013, 11:11:21
เข้ามาผ่อ กล้าเขียวงามดีคับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มิถุนายน 2013, 15:22:26
เข้ามาผ่อ กล้าเขียวงามดีคับ ;D ;D

ตอนวางบนบกติดสปริงเกอร์ข้าวเหลืองขนาดครับ นึกว่าบ่ารอดแล้ว ตอนนี้ค่อยยังชั่วหน่อยวางในนาแต่ตอนก่อนปลูกอาจได้ตัดใบข้าวออกพ่องใบข้าวบางถาดเริ่มง้มเกินเพราะได้ปุ๋ยขนาดเพาะได้แค่ 12 วันอยู่ครับ เขาแนะนำฮื้อเริ่มปลูกได้เมื่อข้าวอายุ 15-20 วันสำหรับนาปี  นาปรังอาจจะ 20-25 วันครับ เดียวเพาะแหมรอบ 9 ไร่พอจะรู้แนวทางขึ้นแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มิถุนายน 2013, 10:20:44
เปรียบเทียบกล้าข้าวในแปลงนาวันที่เริ่มนำมาลงนากับวันนี้ ต้นโตขึ้นเขียวขึ้นมากเลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มิถุนายน 2013, 10:25:20
ใบข้าวยาวมีปกกันมาก เกรงว่าจะบังแสงกันและเป็นโรคเลยตัดใบออกบ้างเหลือตามรูปสุดท้ายครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวแล
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 28 มิถุนายน 2013, 17:09:40
งามขนาดเน้ออ้าย ไว้มีโอกาสจะขอไปแอ่วผ่อจิ่มเด้อ ติดตามชมอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวแล
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มิถุนายน 2013, 23:05:25
งามขนาดเน้ออ้าย ไว้มีโอกาสจะขอไปแอ่วผ่อจิ่มเด้อ ติดตามชมอยู่ครับ

ขอบคุณครับ การทำนาดำด้วยรถดำนา ผมก็ยังถือว่าเป็นมือใหม่อยู่ครับเพราะทำครั้งแรกก็ค่อย ๆ ลองนั่นลองนี่ไปเพื่อเป็นการทดลองครับ ที่จริงเจ้าหน้าที่ของรถดำนาเค้าก็มาสอนอยู่นะครับแต่เราอาจจะได้เป็นวิธีการไปแต่อาจไม่รู้ที่มาที่ไปว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ซึ่งก็เสี่ยงเหมือนกันถ้าทำแบบผม ได้ผลยังไงก็มาแชร์ในกระทู้นี่แหล่ะครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มิถุนายน 2013, 23:09:38
พรุ่งนี้จะทำเทือกครับ เลยจ้างรถปั่นนามาช่วยปั่นดองไว้ก่อนกว่าจะมาได้ก็เกือบค่ำครับ กว่าจะเสร็จก็ดึกเลย  ที่จริงจะทำเองไม่ต้องจ้างปั่นก็ได้ แต่เนื่องจากมีเวลาน้อยติดงานประจำอยู่เลยต้องจ้างมาช่วยบ้าง เสาร์อาทิตย์จะได้ทำเทือกได้เร็วขึ้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มิถุนายน 2013, 22:40:07
เสาร์อาทิตย์นี้ทำเทือกครับ กล้าข้าวพร้อมที่จะปลูกได้แล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มิถุนายน 2013, 22:43:20
เริ่มด้วยย่ำเทือก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มิถุนายน 2013, 22:48:51
ตามด้วยลูบเทือกให้เรียบ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 มิถุนายน 2013, 22:51:41
จะเริ่มดำนาวันพุธที่จะถึงครับต้องรอให้ดินอยู่ตัวก่อน ต้นกล้าก็มีความสูงเพิ่มขึ้นหากเกินที่กำหนดจะต้องตัดใบออกบ้างในคู่มือบอกให้ไม่ควรเกิน 25 ซม.ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 01 กรกฎาคม 2013, 17:42:11
อยากเห็นรถปลูก(ของใหม่)เริ่มทำงานละ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กรกฎาคม 2013, 11:43:08
อยากเห็นรถปลูก(ของใหม่)เริ่มทำงานละ ;D ;D

รอพรุ่งนี้ครับจะได้เริ่มปลูกละครับ ช่วงนี้ก็กำจัดหอยเชอรี่ก่อน   :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กรกฎาคม 2013, 23:32:16
ช่วงนี้ลดระดับน้ำเพื่อเตรียมปลูกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กรกฎาคม 2013, 23:35:03
จัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือเสร็จก็ดึกครับ เตรียมรถไถไว้ขนกล้าปรับปรุงนิดหน่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กรกฎาคม 2013, 23:37:27
กันทรุดที่ DIY ขึ้นมาใหม่ของเดิมที่ซื้อมาตัวผลักดินเล็กไปหน่อยต่อเพิ่มซะเลย จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนล้อเหล็ก  เพราะใช้ขนกล้าในนาตรงไหนหล่มก็เลี่ยงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กรกฎาคม 2013, 23:42:07
พรุ่งนี้พร้อมดำนาแล้วครับ...ลางาน 3 วัน วันลาพักร้อนใช้ไม่ถึงครึ่งผ่านมาครึ่งปีแล้ว  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 03 กรกฎาคม 2013, 14:45:42
รอชมผลงาน ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 04 กรกฎาคม 2013, 20:25:03
 :D...รอชมครับท่าน.....ของผมตอนนี้ดำไป51ไร่ละครับ...เหลืออีกเกือบๆ20ไร่....เหนื่อยสุดๆเลยครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 11:02:15
รอชมผลงาน ;D ;D
;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 14:35:27
หายไปเลย คุณ ubuntuthaith รอชมอยู่ๆ ที่บ้านใช้คนดำเสร็จละครับ ที่นาไม่เยอะเท่าไหร่ เอารูปมาฝากหน่อยนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 21:51:48
รอชมผลงาน ;D ;D

ขอบคุณครับ หายไปหลายวันแทบไม่ได้เข้าเน็ตเลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 21:54:27
:D...รอชมครับท่าน.....ของผมตอนนี้ดำไป51ไร่ละครับ...เหลืออีกเกือบๆ20ไร่....เหนื่อยสุดๆเลยครับ...

ทำนาเยอะขนาดเลยครับ  ตอนนี้ผมดำไปแล้ว 13 ไร่ เหลืออีก 9 ไร่กำลังเพาะอยู่ครับ วันแรกของการใช้รถดำนาเหนื่อยครับไม่ชินกับรถ ไม่เคยใช้รถไถนาเดินตาม พอวันที่ 2 ที่ 3 เริ่มชินครับตอนนี้สบายมากขึ้นเริ่มชินครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 21:55:04
หายไปเลย คุณ ubuntuthaith รอชมอยู่ๆ ที่บ้านใช้คนดำเสร็จละครับ ที่นาไม่เยอะเท่าไหร่ เอารูปมาฝากหน่อยนะครับ

ขอบคุณครับที่ติดตามเดี๋ยวเอารูปมาลงให้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 22:05:37
หายไปหลายวันครับ  พึ่งดำนาเสร็จไปบางแปลง 13 ไร่ครับ อีก 9 ไร่กำลังเพาะถาด  วันแรกลองดำเก้ ๆ กัง ๆ ครับ วันที่ 2 เริ่มคุ้นเคยมากขึ้น  กล้าที่เพาะก็ยาวมากขึ้่นจึงต้องตัดไปออกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 22:16:28
รถดำนาที่ใช้รุ่นเดินตาม 4 แถว ผมใช้ดูแล้วชอบมากครับ  ค่อนข้างประหยัดน้ำมันดีมาก ผมดำนาไป 13 ไร่และใช้ขนกล้าบางส่วนดูชั่วโมงการทำงานแล้ว 22 ชั่วโมงใช้น้ำมันไป 380 บาท เฉลี่ยแล้ว ดำนา 1 ไร่จะใช้น้ำมันไม่ถึง 1 ลิตรขนาดผมเร่งความเร็วแทบหมดครับ ประสิทธิภาพการดำ 1 ไร่จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง - 2 ชั่วโมงตามลักษณะของแปลงนา ยิ่งแปลงนา กว้าง ๆ จะได้งานมากกว่าแปลงนาแคบ ๆ เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการกลับรถบ่อยครัง ในส่วนการลุยหล่มทำได้ดีมากครับ ประสิทธิภาพการปักดำใช้ได้ดีครับ ปรับแต่งได้ตามความต้องการ  รุ่นนี้หากคูโบต้าทำชุดหลังคาเสริมมาขายคงจะดีมากครับ ผมดำช่วงเช้าและช่วงเย็นจะได้งานมากกว่าการดำช่วงตอนเที่ยงแดดร้อน ๆ เพราะต้องหยุดพักบ่อยเหมือนกันคนเตะฟุตบอลตอนเที่ยงกับตอนเย็นที่ตอนเย็นจะเหนื่อยน้อยกว่า  ผมกำลังจะทำหลังคาเสริมเอาไว้เตรียมกับนาการปลูกอีก 9 ไร่ที่เหลือครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 22:19:36
การดำนาของมือใหม่ครับ  ยังไม่ค่อยตรงเท่าไหร่แต่ตอนนี้ก็ดีกว่าการดำวันแรกมากแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 22:27:54
ภาพแปลงนาเย็นนี้ครับไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปไปเลยใช้กล้องมือถือถ่ายแทน ไขน้ำเข้านาแล้วครับ เพื่อคุมหญ้าไม่ให้ขึ้นและให้ต้นข้าวได้น้ำครับ ช่วงนี้ต้องระวังหอยเชอรี่มาก ๆ ครับ ผมเสียหายไปแล้วบางส่วนในวันที่ดำนา  ก็ต้องมีปักดำซ่อมบางส่วนครับ หากกำจัดหอยเชอรี่ได้หมดก่อนปักดำจะดีมาก ๆ  แต่นาปีหอยเชอรี่ค่อนข้างจะเยอะกว่านาปรังอาจต้องมีการปราบเป็นระยะ ๆ จนกว่าต้นข้าวจะโตพอครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 08 กรกฎาคม 2013, 23:18:14
รถดำนาที่ใช้รุ่นเดินตาม 4 แถว ผมใช้ดูแล้วชอบมากครับ  ค่อนข้างประหยัดน้ำมันดีมาก ผมดำนาไป 13 ไร่และใช้ขนกล้าบางส่วนดูชั่วโมงการทำงานแล้ว 22 ชั่วโมงใช้น้ำมันไป 380 บาท เฉลี่ยแล้ว ดำนา 1 ไร่จะใช้น้ำมันไม่ถึง 1 ลิตรขนาดผมเร่งความเร็วแทบหมดครับ ประสิทธิภาพการดำ 1 ไร่จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง - 2 ชั่วโมงตามลักษณะของแปลงนา ยิ่งแปลงนา กว้าง ๆ จะได้งานมากกว่าแปลงนาแคบ ๆ เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการกลับรถบ่อยครัง ในส่วนการลุยหล่มทำได้ดีมากครับ ประสิทธิภาพการปักดำใช้ได้ดีครับ ปรับแต่งได้ตามความต้องการ  รุ่นนี้หากคูโบต้าทำชุดหลังคาเสริมมาขายคงจะดีมากครับ ผมดำช่วงเช้าและช่วงเย็นจะได้งานมากกว่าการดำช่วงตอนเที่ยงแดดร้อน ๆ เพราะต้องหยุดพักบ่อยเหมือนกันคนเตะฟุตบอลตอนเที่ยงกับตอนเย็นที่ตอนเย็นจะเหนื่อยน้อยกว่า  ผมกำลังจะทำหลังคาเสริมเอาไว้เตรียมกับนาการปลูกอีก 9 ไร่ที่เหลือครับ
            พี่ไปดูมาแล้วก็ปลูกได้สวยดี  ยกนิวให้ในความขยันและตั้งใจ  นาปรังหน้าลงทุนปรับนาใหม่  จัดระเบียบแปลงใหม่ทำให้นาเรียบสม่ำเสมอจะได้ไม่ต้องซ่อมแค่นี้ก็ok แล้ว   เอาใจช่วยเต็มที่แล้วกัน  ถ้ามีอะไรให้พี่ช่วยมาบอกได้เลยไม่ต้องเกรงใจ ; ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: raknakan ที่ วันที่ 09 กรกฎาคม 2013, 09:52:17
อีก9ไร่ถ่ายคลิปมาให้ดูหน่อยนะครับ อยากเห็นครับ ติดตามกระทู้ของพี่เหมือนกันครับ จากชาวนามือใหม่ :) :) :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กรกฎาคม 2013, 11:25:19
รถดำนาที่ใช้รุ่นเดินตาม 4 แถว ผมใช้ดูแล้วชอบมากครับ  ค่อนข้างประหยัดน้ำมันดีมาก ผมดำนาไป 13 ไร่และใช้ขนกล้าบางส่วนดูชั่วโมงการทำงานแล้ว 22 ชั่วโมงใช้น้ำมันไป 380 บาท เฉลี่ยแล้ว ดำนา 1 ไร่จะใช้น้ำมันไม่ถึง 1 ลิตรขนาดผมเร่งความเร็วแทบหมดครับ ประสิทธิภาพการดำ 1 ไร่จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง - 2 ชั่วโมงตามลักษณะของแปลงนา ยิ่งแปลงนา กว้าง ๆ จะได้งานมากกว่าแปลงนาแคบ ๆ เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการกลับรถบ่อยครัง ในส่วนการลุยหล่มทำได้ดีมากครับ ประสิทธิภาพการปักดำใช้ได้ดีครับ ปรับแต่งได้ตามความต้องการ  รุ่นนี้หากคูโบต้าทำชุดหลังคาเสริมมาขายคงจะดีมากครับ ผมดำช่วงเช้าและช่วงเย็นจะได้งานมากกว่าการดำช่วงตอนเที่ยงแดดร้อน ๆ เพราะต้องหยุดพักบ่อยเหมือนกันคนเตะฟุตบอลตอนเที่ยงกับตอนเย็นที่ตอนเย็นจะเหนื่อยน้อยกว่า  ผมกำลังจะทำหลังคาเสริมเอาไว้เตรียมกับนาการปลูกอีก 9 ไร่ที่เหลือครับ
            พี่ไปดูมาแล้วก็ปลูกได้สวยดี  ยกนิวให้ในความขยันและตั้งใจ  นาปรังหน้าลงทุนปรับนาใหม่  จัดระเบียบแปลงใหม่ทำให้นาเรียบสม่ำเสมอจะได้ไม่ต้องซ่อมแค่นี้ก็ok แล้ว   เอาใจช่วยเต็มที่แล้วกัน  ถ้ามีอะไรให้พี่ช่วยมาบอกได้เลยไม่ต้องเกรงใจ ; ;D

ขอบคุณครับอ้ายต้น ความรู้หลาย ๆ อย่างก็ได้จากอ้ายต้นนี่แหล่ะครับที่ช่วยแนะนำ  เดียวนาปรังจะทำแปลงนาใหม่อย่างที่อ้ายต้นแนะนำจะได้ง่ายขึ้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กรกฎาคม 2013, 11:26:14
อีก9ไร่ถ่ายคลิปมาให้ดูหน่อยนะครับ อยากเห็นครับ ติดตามกระทู้ของพี่เหมือนกันครับ จากชาวนามือใหม่ :) :) :)

ได้ครับ..ขอบคุณที่ติดตามครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 09 กรกฎาคม 2013, 12:07:44
 :D...ภาพแรกรอยไปเหมือนงูเลื้อยเลยครับน้อ......อิอิ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กรกฎาคม 2013, 12:24:38
:D...ภาพแรกรอยไปเหมือนงูเลื้อยเลยครับน้อ......อิอิ

555  ครับช่วงวันแรก ๆ ยังไม่ค่อยชินกับรถดำนา การควบคุมต่าง ๆ มัวแต่ก้มดูกล้าที่ปักดำและแผงคอนโทรลทำให้รถเดินไม่ค่อยตรงครับ พอเริ่มชินก็ค่อย ๆ ดีขึ้นมาบ้างแล้วครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กรกฎาคม 2013, 15:00:00
พาไปดูคันนาของ คุณตาลำพัน ที่คุณ Khunplong เจ้าของกระทู้"ผักหวานป่าจังหวัดเชียงราย"แนะนำมาครับ  น่าสนใจทีเดียวสำหรับแนวทางการทำเกษตรผสมผสาน แถมง่ายต่อการทำนาด้วยครับ พี่ต้นกระทู้นาโยนก็แนะนำมาแบบนี้เหมือนกัน มาเห็นวีดีโอของคุณตาลำพันแบบนี้แล้วยิ่งเห็นภาพมากขึ้น  อย่างน้อยการขนกล้า ขนปุ๋ย การดูแลและการจัดการน้ำในแปลงนาก็ง่ายขึ้นครับ

92z6oDzvl2Y



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: raknakan ที่ วันที่ 10 กรกฎาคม 2013, 17:58:34
พี่ครับ ดำนา 13 ไร่ ใช้กล้าไปกี่ถาดครับ แล้วพี่ปรับการดำไปกี่ต้นครับ ถามไว้เผื่ออนาคตจะมีกับเขาบ้างครับ ผมอยากเห็นเขาเก็บตรงมุมคันนานะครับ พอจะมีคลิปมั้ยครับพี่ แล้วถ้ารุ่นเดินตามหกแถว มีข้อดีและข้อเสียเมื่อเปรียบเทียบกับสี่แถว มีอะไรบ้างครับ รบกวนหน่อยนะครับ :) :) :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กรกฎาคม 2013, 22:22:06
พี่ครับ ดำนา 13 ไร่ ใช้กล้าไปกี่ถาดครับ แล้วพี่ปรับการดำไปกี่ต้นครับ ถามไว้เผื่ออนาคตจะมีกับเขาบ้างครับ ผมอยากเห็นเขาเก็บตรงมุมคันนานะครับ พอจะมีคลิปมั้ยครับพี่ แล้วถ้ารุ่นเดินตามหกแถว มีข้อดีและข้อเสียเมื่อเปรียบเทียบกับสี่แถว มีอะไรบ้างครับ รบกวนหน่อยนะครับ :) :) :)

นาปีจะใช้ประมาณไร่ละ 40 ถาดแบบเหลือ ๆ ครับ นาปรังจะต้องปรับถี่และมากหน่อยอาจใช้ถึง 45-50 ถาดครับ ผมปรับที่ระยะห่างมากที่สุด ต้นต่อกอจะอยู่ราว ๆ 4-6 ต้นครับ ถาดเหลือเพียบเลยประมาณ 50 ถาดได้ครับ จำนวนเมล็ดพันธุ์อยู่ที่ 12 กก./ไร่  นาปีหากใช้ 10 กก./ไร่ น่าจะพอดีครับหากไม่ต้องซ่อมมาก กล้าที่เหลือของผมต้องมาซ่อมกับปัญหาเจ้าหอยเชอรี่เยอะแยะพอสมควรเพราะไม่ค่อยได้ดูในช่วงวันทำงานครับ   การเก็บตรงหัวมุมคันนารถดำนาไม่ยากครับ การดำให้ดำชิดคันนาด้านใดด้านนึงเว้นหัวท้ายอย่างละ 2 เมตร ซึ่งจะเป็นการเก็บแบบขวางครับ หากซื้อไม่ต้องกังวลครับ เค้ามีคู่มือการเพาะพร้อมซีดี  คู่มือการใช้งานรถดำนา  วิธีการดำ ให้หมดแถมมีเจ้าหน้าที่มาสอนการใช้รถ  มาสอนอีกทีวันเพาะ ครั้งสุดท้ายมาสอนตอนวันดำนาครับ   หากเปรียบเทียบหกแถวและสี่แถว หกแถวทำงานได้เร็วกว่า เทคโนโลยีดีกว่าครับ แต่ก็น้ำหนักมากกว่า หากนาหล่ม ๆ แบบผมแบบสี่แถวจะเบาแรงกว่าเวลาเดินที่หล่มบางครั้งต้องใช้แรงตัวเองช่วยดันรถเวลาเจอหล่ม ๆ ด้วยครับ  หากมีที่นามาก หรือรับจ้างด้วยบางครั้งก็แนะนำหกแถวไปเลยครับ

hbBOIWi1-xw

FNOriHH5xO0


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กรกฎาคม 2013, 22:32:30
ช่วงนี้ฝนตกบ่อยครับ ตอนเย็นไปซ่อมกล้าที่เสียหายจากหอยเชอรี่ได้นิดเดียวก็ต้องกลับครับ ฝนตก  นาหว่านแถวบ้านเสียหายหลายเจ้า  บางเจ้าพ่นยาคุมหญ้าไปแล้วก็ต้องพ่นใหม่ บางเจ้าเจอข้าวดีดมาก ๆ ถึงกลับต้องปั่นนาทำใหม่เลยก็มีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กรกฎาคม 2013, 22:35:48
นาอีกฝั่ง 9 ไร่ก็เอากล้าลงแล้วครับ  วางในนาเอาสแลนคุมไว้ก่อนเผื่อฝนตกมาก ๆ จะชะเอาเมล็ดและแกลบดำออกจากถาดไป ป้องกันไว้ก่อนฝนตกหนักแค่ไหนก็สบายใจได้ครับ เอาวิธีของพี่ต้นนาโยนมาใช้ครับ หากต้นเริ่มแทงออกมาพอสมควรค่อยยกเอาสแลนออกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 กรกฎาคม 2013, 22:37:59
กลับมาทำที่ดักหอยเชอรี่จากท่อคลองชลประทานครับ  วันก่อนไม่ได้ดักนาข้าวเลยเสียหายเพิ่มขึ้นมาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bankey2122 ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 10:18:55
สุดยอดเลยครับ  วันจันทร์หน้าก็จะเริ่มปลูกผ่องเหมือนกันต้นกล้าที่เพาะใกล้จะปลูกได้แล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 14:04:42
กลับมาทำที่ดักหอยเชอรี่จากท่อคลองชลประทานครับ  วันก่อนไม่ได้ดักนาข้าวเลยเสียหายเพิ่มขึ้นมาครับ
น่าจะสอนวิธีทำด้วยนะ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 16:47:38
สุดยอดเลยครับ  วันจันทร์หน้าก็จะเริ่มปลูกผ่องเหมือนกันต้นกล้าที่เพาะใกล้จะปลูกได้แล้ว

ได้ผลยังไง หรือมีเทคนิคอะไรเอารูปเอาความรู้มาแชร์กันบ้างนะครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 16:52:15
กลับมาทำที่ดักหอยเชอรี่จากท่อคลองชลประทานครับ  วันก่อนไม่ได้ดักนาข้าวเลยเสียหายเพิ่มขึ้นมาครับ
น่าจะสอนวิธีทำด้วยนะ ;D ;D

ทำไม่ยากครับตาข่ายถี่ม้วน ๆ ดักด้านท้ายเฉย ๆ คล้าย ๆ จิบไซ ปีก่อนลองทำน้ำไหลแรง ๆ ทำให้เปลือกหอยกระเทาะกันหอยตายเลยครับบางทีก็ได้ปลา กับปลาไหลมาด้วยอีกต่างหากแต่ส่วนมากจะมาเจอก็ตายไปแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 17:02:32
ไร่นาส่วนผสมของคนร่องดู่ อำเภอจุน พี่โพธิ์ครับ ทำนาอินทรีย์ปุ๋ยอะตอมมิคนาโน เชื่อว่าวันข้างหน้านาของคุณอู๋คงเต็มไปด้วยไส้เดือน แมงมุม กบนา ปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ครับ ;D
http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=48805.0


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 22:15:32
ไร่นาส่วนผสมของคนร่องดู่ อำเภอจุน พี่โพธิ์ครับ ทำนาอินทรีย์ปุ๋ยอะตอมมิคนาโน เชื่อว่าวันข้างหน้านาของคุณอู๋คงเต็มไปด้วยไส้เดือน แมงมุม กบนา ปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ครับ ;D
http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=48805.0

ขอบคุณมากครับที่แนะนำอีกแล้ว เข้าไปอ่านแล้วชอบมากเจ้าของสวนทำหลายอย่างมากครับ สงสัยต้องได้ไปศึกษาดูงานซักครั้ง

(http://image.ohozaa.com/i/3ed/47evk.JPG)

(http://image.ohozaa.com/i/dd4/GNwde.JPG)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 22:31:10
ไปนายามเย็น ช่วงนี้ฝนตกค่อนข้างบ่อยครับ เมื่อวานก็ทั้งคืนเลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 22:35:20
กล้าข้าวที่เพาะขึ้นมาใหม่โตไวมากครับเริ่มแทงออกมานอกสแลนแล้ว เมื่อวานฝนตกทั้งคืนไม่เป็นไรครับเพราะมีสแลนอยู่ข้าวและแกลบดำไม่กระเด็นออกมานอกถาด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 22:39:17
ข้าวในนาที่ปลูกไปแล้วเริ่มฟื้นตัวมาได้แล้วครับสามารถใส่ปุ๋ยได้แล้ว  นาปีหอยเชอรี่เยอะเสียหายต้องปลูกซ่อมพอสมควร เสาร์อาทิตย์นี้นอกจากต้องทำเทือกอีก 9 ไร่ต้องมา ซ่อมข้าวและใส่ปุ๋ยอีกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 22:43:03
แต่ก็นับว่าโชคดีกว่าชาวนาหลายท่านครับ บางคนนาหว่านเสียหายถึงกับต้องทำใหม่เลยทีเดียว บางคนข้าวโตแล้วแต่พบว่ามีข้าววัชพืชมาก ก็ไถทำใหม่ก็มี ยังไงก็ต้องสู้ต่อไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2013, 22:44:26
ที่ดักหอยที่เมื่อวานทำนำมาใช้แล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2013, 05:23:48
 :D....ตอนนี้กำลังลุ้นว่าน้ำจะท่วมนาข้าวไหม....น้ำแม่น้ำจันเพิ่มระดับขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวาน....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2013, 10:48:39
:D....ตอนนี้กำลังลุ้นว่าน้ำจะท่วมนาข้าวไหม....น้ำแม่น้ำจันเพิ่มระดับขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวาน....

เอาใจช่วยให้น้ำไม่มากจนท่วมนาข้าวครับ  ผมก็ลุ้นเสาร์ อาทิตยต์ ไม่ให้ฝนตกมากครับเพราะจะดำนาซ่อมข้าวและทำเทือกอีก 9 ไร่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2013, 13:04:04
ศึกษาเรื่องสารซาโปนิน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกากชาน้ำมัน ที่เรามาใช้กำจัดหอยเชอรี่ ก็พบว่ามีพืชหลายชนิดที่มีสารตัวนี้อยู่แต่ต้องมีการสกัดเช่นเดียวกับกาชา พืชหลายชนิดหาได้ง่ายในท้องถิ่น ใครศึกษาต่อก็น่าจะมีประโยชน์ครับ

http://www.fisheries.go.th/if-center/web2/images/pdf/saponin.pdf (http://www.fisheries.go.th/if-center/web2/images/pdf/saponin.pdf)

http://it.doa.go.th/refs/files/1609_2553.pdf (http://it.doa.go.th/refs/files/1609_2553.pdf)

http://www.ldd.go.th/menu_Dataonline/G8/G8_10.pdf (http://www.ldd.go.th/menu_Dataonline/G8/G8_10.pdf)





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2013, 13:41:34
เวลาใครทำไร่ทำนารู้สึกเหนื่อย ๆ หรือรู้สึกท้อแต่หากได้มาชมรายการนี้ตอนนี้คงทำให้มีกำลังสู้ขึ้นมาไม่มากก็น้อยครับ  เค้าเหนื่อยกว่าเราเยอะ

Pjhs0WGi1h4

RJQ9ueVAQZI



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2013, 21:10:49
ทุ่งนายามเย็นครับ  ต้นข้าวเริ่มฟื้นตัวหลักจากถูกปักดำได้แล้วสามารถใส่ปุ๋ยรอบแรกได้แล้ว พรุ่งนี้ต้องใส่ละครับเพื่อเร่งลำต้นให้พ้นน้ำพ้นหอยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2013, 21:14:26
นาอีกฝั่งต้นกล้าเริ่มเขียวแล้วครับ ดีกว่าตอนเพาะบนบกมาก อีกประมาณ 1 สัปดาห์ก็สามารถนำไปดำได้แล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 13 กรกฎาคม 2013, 15:08:18
ดุภาพแล้วมีความสุข นึกถึงอดีต คิดถึงบ้านครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กรกฎาคม 2013, 21:05:20
ดุภาพแล้วมีความสุข นึกถึงอดีต คิดถึงบ้านครับ ;D ;D

 :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กรกฎาคม 2013, 21:23:58
เมื่อวานใส่ปุ๋ย และทำเทือกครับ  ทำเทือกเกือบเที่ยง กว่าจะเสร็จ 9 ไร่ก็ปาไป 2 ทุ่มครับ  ส่วนนาที่ดำไปแล้ว 13 ไร่มีปัญหาเรื่องหอยเชอรี่เสียหายไปหลายไร่ก็ต้องซ่อมครับ มีกล้าซ่อมเยอะพอสมควร ค่อย ๆซ่อมพร้อมกำจัดไป ตอนนี้ก็ลดระดับน้ำลงเพื่อลดการเสียหายครับเพราะหอยเข้ามาตลอดรอบข้างยังไม่ปลูกกันหอยเชอรี่เลยข้ามมาตลอด  ปีหน้าจะทำคันนาสูง ๆ และกว้างกว่านี้ครับ  ส่วนฝั่ง 9 ไร่ไม่ค่อยมีปัญหา ตอนนี้ใส่กากชากำจัดตอนทำเทือกไปแล้วเดี๋ยวก่อนปักดำค่อยใส่อีกรอบครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กรกฎาคม 2013, 21:35:00
ต่าข่ายดักหอยเชอรี่ ที่จะมากับน้ำที่คลองชลประทานครับปีนี้ทำช้าไปหน่อยหอยเชอรี่ลงไปในนาพอสมควรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 16 กรกฎาคม 2013, 10:34:02
แวะมาผ่อ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 กรกฎาคม 2013, 15:21:10
ดูกี่ทีก็ไม่เบื่อครับ.....


อรหันต์ชาวนา ความพอเพียงในแบบของ แหลม พูนศักดิ์


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก dhammajak.net , pranippan.com , ทีวีบูรพา

          คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นสิ่งที่คุ้นหูกันดีอยู่แล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถนำกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจังและสมบูรณ์แบบ เฉกเช่น "อรหันต์ชาวนา" หรือกลุ่มชาวบ้านแห่งบ้านโนนยาง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ที่มีแหลม พูนศักดิ์ สมบูรณ์ เป็นผู้ริเริ่ม

          แหลม หรือ พูนศักดิ์ สมบูรณ์ เป็นลูกชาวนาธรรมดาๆ คนหนึ่งแห่งบ้านโนนยาง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เมื่อเรียนจบชั้น ป.6 แล้ว  "แหลม" ก็ได้เดินตามกระแสสังคม ก้าวเดินออกจากบ้านเข้ามาหางานทำในเมือง และประกอบอาชีพ "ช่างซ่อม" ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามองว่า ดูดี และทำเงินได้อย่างรวดเร็ว เขาได้เป็นช่างซ่อมประจำร้านในเมือง ก่อนจะเปิดร้านรับซ่อมเองที่บ้าน มีกำไรพอสมควร

 จนเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง "แหลม" กลับมองว่า การเป็นลูกจ้างคนอื่น ไม่ใช่หนทางที่เขาอยากจะเลือกเป็น และเริ่มคิดว่า เขากำลังตกเป็นทาสของระบบทุนนิยม ตกอยู่ในวังวนของการเอารัดเอาเปรียบจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาไม่สบายใจ และนั่นทำให้ "แหลม" เริ่มมองหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

          หลังจากสับสนในชีวิตอยู่พักใหญ่ "แหลม" ก็ได้ไปดูงานของ "พ่อใหญ่เชียง น้อยไท" ชาวนาอาวุโสแห่งจังหวัดสุรินทร์ และเห็นแปลงเกษตรที่มีทั้งปลูกพืช สมุนไพร หลากหลายอย่าง ความประทับใจในครั้งนั้นทำให้ "แหลม" เริ่มมองเห็นความจุดมุ่งหมายของตัวเอง


 "การเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน" คือคำตอบสุดท้ายของ "แหลม" ทั้งที่เขาไม่เคยมีความคิดว่า จะทำนาเหมือนดังเช่นพ่อแม่ของเขามาก่อนเลย นั่นทำให้เขาเริ่มปรับเปลี่ยนชีวิตของตัวเองอีกครั้ง เขาตัดสินใจหันหลังให้กับการทำงานในเมือง ที่ใครๆ ต่างพากันยื้อแย่งเพื่อที่จะก้าวไปสู่ดินแดนศิวิไลซ์เช่นที่ "แหลม" มีโอกาส แต่สำหรับ "แหลม" เขามองว่า การพึ่งตัวเองได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

          "แหลม" ตัดสินใจกลับบ้านมาใช้วิถีชีวิตดังเช่นชาวนาชาวสวน ทำนาโดยใช้ควาย แทนที่จะใช้เครื่องจักร เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และปลูกสมุนไพรไปในคราวเดียวกัน

  "ชาวนาที่ดูถูกควาย ผมไม่คิดว่าเค้าเป็นชาวนา ชาวนาจริงๆ จะคิดว่า ควายคือเพื่อนที่มีบุญคุณ สำหรับผมกลับยกย่องว่า ควายเป็นครู ผมต่างหากที่คิดว่าตัวเองเป็นศิษย์ของควาย" แหลมบอก

          แม้จะไม่มีใครเห็นด้วยกับความคิดของเขา และพากันเรียกเขาว่า "ผีบ้า" แต่ด้วยกำลังใจจาก "เรณู" ผู้เป็นภรรยา และลูกชายทั้งสองคน ก็ทำให้ "แหลม" ลุกขึ้นสู้ และฝ่าฟันจิตใจที่อยากจะกลับไปเป็นช่างซ่อมอีกครั้ง จนผ่านไปได้ด้วยดี

          "คนในหมู่บ้านมองว่าผมเป็นผีบ้า เพราะกลางคืนเดือนแจ้ง ผมจะลงไปขุดดินทำหลุมปลูกผัก บางวันก็ทำงานไม่หยุด เพราะต้องการที่จะให้มันเกิดผลเร็วๆ ให้พื้นที่แห้งแล้งกลายเป็นสีเขียวให้ได้ แล้วที่สำคัญผมต้องการพิสูจน์ให้ชาวบ้านที่เขาปรามาสไว้ว่า ไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่ผมจะทำให้ได้..."

 สิ่งที่ "แหลม" ทำสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงของแหลม คือเขาไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาต้องการ ก็สามารถหาได้จากไร่นาของเขา และความหลากหลายของการทำเกษตรก็ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ เพราะสามารถเก็บผลผลิตไว้ทานเอง ให้เพื่อนบ้าน หรือจะนำไปขายก็ได้

          "การทำอย่างนี้มันเหมือนกับเราฉีกสังคม แต่สังคมที่เราฉีกไปหาก็คือบรรพบุรุษของเรา มันคือรากเหง้าของเราเอง ถ้าทำเกษตรอินทรีย์แบบจริงๆ จังๆ นะ เราจะหลุดพ้นจากระบบนายทุนอย่างเต็มตัวเลย ทำนาง่ายนิดเดียว ลงแรงก็จริง เหนื่อยก็จริง แต่ก็แค่เดือนครึ่ง พอข้าวเต็มยุ้งฉาง เวลาที่เหลือจะนั่งเล่น นอนเล่นก็ได้"

  นอกจาก "แหลม" จะยึดแนวคิดพอเพียงมาใช้กับครอบครัวของตัวเองแล้ว เขาเล็งเห็นว่า สิ่งดีๆ เหล่านี้ควรจะถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย "แหลม" จึงเริ่มถ่ายทอดประสบการณ์การทำนาของตัวเองผ่าน "โรงเรียนอรหันต์ชาวนา" ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้การเกษตรแบบผสมผสาน โดยเริ่มให้ความรู้จากคนในหมู่บ้านก่อน จนเมื่อแนวคิดของเขาได้บอกต่อปากต่อปากไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ทำให้มีหลายคนหันมาสนใจการเกษตรแบบพอเพียงมากขึ้น โดยสิ่งที่ "แหลม" เน้นย้ำก็คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่จะทำให้คนอยู่รอดได้

 "ความรู้ในวิชาชีพอื่นๆ นั้นถูกเผยแพร่เยอะแล้ว แต่ชาวนามีโอกาสน้อยมากที่จะได้ขึ้นเวทีพูดให้คนอื่นฟัง ผมอยากให้คนอื่นได้รู้กรรมวิธีของชาวนา ให้รู้ว่าเป็นชาวนาแล้วไม่อดตาย" แหลมกล่าวอย่างมุ่งมั่นและภาคภูมิใจในอาชีพของตัวเขา

          ปัจจุบัน "แหลม พูนศักดิ์" เป็นหนึ่งในความภูมิใจของชาวยโสธร จนชาวบ้านขนานนามเขาว่า "แหลม ยโสธร" และนี่ก็คือชีวิตที่เรียบง่าย แต่สร้างความสุขได้บนพื้นฐานการดำเนินชีวิตในแบบของ "เศรษฐกิจพอเพียง" และสมดังคำว่า "อรหันต์ชาวนา" ที่เปรียบประดุจชาวนาผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว จนสามารถหลุดพ้นจากวัฎสงสารของระบบนายทุน หลุดพ้นจากวังวนแห่งการใช้สารเคมี และการหลุดพ้นจากความจน อันเป็นผลพลอยได้ที่ตามมานั่น

9H_KmdwyJAw

ZKS657AXPZk


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 กรกฎาคม 2013, 22:38:16
สมาชิกใหม่ในบ้านครับ... ไก่โรสสิบตัว เป็ดห้าตัวครับ เลี้ยงไว้กินไข่ครับ ตอนนี้ไข่เป็ดก็เต็มตู้เย็นเลยกินไม่ทันอีกหน่อยคงได้แบ่งขายบ้างแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 กรกฎาคม 2013, 22:39:51
พืชผักที่เพาะไว้เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา ตอนนี้ผักสลัดงอกออกมานำเพื่อนเลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 กรกฎาคม 2013, 22:53:45
ต้นข้าวในนาเริ่มโตขึ้นครับ เสียหายจากหอยเชอรี่เพิ่มขึ้นอีกเพราะใช้แต่ กากชาซาโปนิน กับลงไปเก็บเองครับ มีแต่ชาวนาแถวบ้านว่าทำไมไม่ใช้ยาน้ำ หากใช้ก็ไม่เสียหายขนาดนี้หรอก  ยาที่ชาวนานำมาใช้ส่วนใหญ่จะมีชื่อสามัญว่า เอ็นโดซัลแฟน มีหลากหลายยี่ห้อครับ  ผมเคยได้อ่านบทความหนึ่งซึ่งน่าสนใจทีเดียว

สาขาพืชผัก  มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ยาฆ่าหอยเชอร์รี่ยอดฮิตของเกษตรกร (27 มิ.ย. 48)

 

ศักดา ศรีนิเวศน์
สถาบันบริหารศัตรูพืชโดยชีวภาพ
biology01@doae.go.th

     หากจะกล่าวถึงสารเคมีกำจัดหอยเชอรี่ที่ชาวนานิยมใช้กันมากในขณะนี้ คงไม่พ้นเอ็นโดซัลแฟน (Endosulfan) ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ชาวนานำมาใช้อย่างผิด ๆ เพื่อกำจัดหอยเชอรี่ และต่อไปนี้คือ ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสารเคมีเอ็นโดซัลแฟน ที่ผู้เขียนได้รวบรวม และนำเสนอให้ท่านผู้อ่าน และนักส่งเสริมการเกษตรได้ทราบโดยลำดับ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของท่าน และเกษตรกรว่าจะใช้สารเคมีตัวนี้ต่อไปดีหรือไม่
เอ็นโดซัลแฟน เป็นสารกำจัดแมลงและเห็บ ไร กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Oganochlorine) ชั้น Chlorinated hydrocarbon เป็นสารชนิดถูกตัวตาย (Contact poison) มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง และเห็บ ไร อย่างกว้างขวาง ใช้กับพืชพวกธัญพืชต่าง ๆ กาแฟ ฝ้าย ไม้ผล พืชน้ำมัน มันฝรั่ง ชา พืชผัก และอื่น ๆ และยังใช้ในการรักษาเนื้อไม้ ป้องกันไม่ให้มอดทำลายด้วยเอ็นโดซัลแฟนเข้มข้นเป็นผลึกไม่มีสี ประกอบด้วย isomer 2 รูปแบบ แบบที่เป็น alpla และ bata อัตราส่วนประมาณ 70:30 ความเข้มขั้น 94-96 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่มีจำหน่ายทั่วไปมีสีครีมจนถึงสีน้ำตาลกลิ่นคล้ายน้ำมันสน จะละลายน้ำได้ต่ำ น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส แต่จะละลายได้ดีมากขึ้น ถ้าน้ำนั้นมีฤทธิ์เป็นกรดเพิ่มขึ้น ละลายได้ดีในสารทำละลาย (solvents) 5-65 เปอร์เซ็นต์ มีความคงทนต่อแสงแดด ไม่ทนความชื้น มีฤทธิ์ไม่แน่นอนในสภาพที่ผสมกับน้ำที่เป็นด่าง มีฤทธิ์ตกค้างในน้ำได้นาน มีจำหน่ายในรูปที่เป็นน้ำ (EC.) ชนิดผลละลายน้ำ (WP.)ฝุ่น เม็ด และชนิด ULV (Ultra-Low-Volume) และชนิดควัน (Smoke tablets) สามารถที่จะผสมเข้ากันได้กับสารเคมีหลายตัว เช่น ไดเมทโธเอท (Dimethoate) มาลาไธอ้อน (Malathion) เมทโธมิล (Methomyl) โมโนโครโตฟอส (Monocrotophos) ไพริไมคาร์บ (Pirimicarb) ไทราโซฟอส (Triazophos) ฟีโนพรอพ (Fenoprop) พาราไธอ้อน (Parathion) ปิโตรเลี่ยมออยส์ (Petroleum oils) และอ๊อกซีนคอบเปอร์ (Oxine-Copper) มีสูตรโครงสร้าง C9 H6 Cl6 O3 S ประกอบด้วย (1,4,5,6,7,7-hexachloro-8,9,10 -trinoborn-5-en-2,3 ylenebisemthylenc) Sulfite หรือ 6,7,8,9,10,10 hexachloro -1,5,5a,6,9a-hexahydro-6,9- methano 2,4,3- benzodioxathiepin 3-oxide มีชื่อทางการค้า หรือชื่ออื่น ๆ เช่น Afidan, Beosit, Cyclodan, Devisulfan, Endocel, Endocide, Endosol, FMC 5462,, Hexasulfan, Hildan, Hoe 2671, Insectophene, Malix, Phaser, Thiodan Thimul, Thifor และ Thionex เป็นต้น

การเป็นพิษ (Toxicity)

1. พิษเฉียบพลัน (Acute toxicity) เอ็นโดซัลแฟนมีพิษสูงโดยการกินเข้าไป ค่า LD50 18-160 มิลลิกรัมในหนูขนาดเล็ก 7.36 มิลลิกรัม ในหนูขนาดใหญ่ และ 77 มิลลิกรัมในสุนัข มีพิษจากการซึมผ่านทางผิวหนังสูง โดยมีค่า LD50 สำหรับหนูขนาดเล็ก 78 ถึง 359 มิลลิกรัม มีพิษจากการหายใจเข้าไปต่ำ เมื่อสารเอ็นโดซัลแฟนเข้าสู่ร่างกาย จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้หายใจลำบาก สูญเสียการทรงตัว ขากรรไกแข็ง อาเจียนท้องร่วง กระวนกระวายมีอาการสั่นชักกระตุก และหมดสติในที่สุด มีรายงานว่าในวัว แกะ และสุกร ที่กินหญ้าที่ฉีดพ่นสารเอ็นโดซัลแฟนเข้าไป มีอาการตาบอดและกล้ามเนื้อสั่นกระตุก
2. พิษเรื้อรัง (Chronic toxicity) ในหนูทดลองที่ให้กินสารเอ็นโดซัลแฟนในอัตรา 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ติดต่อกันถึง 15 วัน มีอัตราการตายสูง แต่ถ้ากินในอัตรา 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ในระยะเวลาที่เท่ากันจะมีสาเหตุทำให้ตับโตผิดปกติ มีอาการเจ็บป่วย การเจริญเติบโต และการรอดชีวิตลดลง ไตผิดปกติ คุณสมบัติทางเคมีของเลือดเปลี่ยนไป
3. พิษต่อการสืบพันธุ์และแพร่ขยายพันธุ์ (Reproductive effects) ในหนูทดลองที่ให้กินสารเอ็นโดซัลแฟน อัตรา 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติในการขยายพันธุ์ใน 3 ชั่วอายุ (generation) แต่ถ้ากินในปริมาณ 5.0 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัมต่อวัน จะส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตของลูกหนูลดลง ในหนูเพศเมียที่กินสารเอ็นโดซัลแฟนปริมาณ 0.1 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัมต่อวัน ติดต่อกัน 78 สัปดาห์ จะมีผลต่อต่อมและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ (reproductive organs) ในหนูเพศผู้ที่กินสารเอ็นโดซัลแฟน อัตรา 10 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัมต่อวัน ติดต่อกัน 15 วัน จะมีผลทำให้ท่ออสุจิและลูกอัณฑะมีขนาดเล็กลง ซึ่งในมนุษย์ยังไม่ทราบว่าปริมาณเท่าใด จึงจะบังเกิดผลเช่นเดียวกับหนูทดลอง และคาดว่าผลที่เกิดขึ้นกับมนุษย์คงเป็นเช่นเดียวกับหนูทดลอง
4. พิษที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาการของทารกในครรภ์ (Teratogenic cffects) ในหนูทดลองที่ให้กับสารเอ็นโดซัลแฟนในปริมาณ 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ไม่มีผลต่อลูกที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ชั่วอายุ แต่ถ้ากินในปริมาณ 5 และ 10 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัมต่อวัน จะส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีความพิการ การพัฒนาการเจริญเติบโตทางกระดูกผิดปกติ ซึ่งผลเช่นนี้น่าจะเกิดกับมนุษย์เช่นกัน แต่ไม่ทราบว่าปริมาณที่ได้รับสารควรเป็นเท่าใด
5. พิษที่ก่อให้เกิดการผ่าเหล่า (Mutagenic effects) เอ็นโดซัลแฟนก่อให้เกิดการผ่าเหล่าในเซลล์ของแบคทีเรีย และยีสต์ ในขบวนการทำปฏิกิริยาของสารเอ็นโดซัลแฟนก่อให้เกิดความผิดปกติในผนังเซล นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการผ่าเหล่าของสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยนมสองชนิดที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดกับมนุษย์ได้ หากได้รับสารเอ็นโดซัลแฟนในปริมาณที่มาก
6.พิษที่ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็ง (Carcinogenic effects) จากการศึกษาเป็นระยะเวลานานในหนูขนาดใหญ่และเล็ก เพศเมียพบว่าแม้จะให้สารเอ็นโดซัลแฟนสูงถึง 23 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลานานถึง 78 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้นไม่พบว่ามีผลต่อการเกิดเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งแต่ประการใด แต่มีผลต่อคุณสมบัติทางเคมีของเลือด เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในเม็ดเลือด (Leukemia)
7. พิษที่เกิดกับต่อมหรืออวัยวะต่าง ๆ (Organ toxicity) จากการศึกษาพบว่า
เอ็นโดซัลแฟนมีพิษต่อต่อมหรืออวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ทดลองแน่นอน เช่น ไต ตับ เลือด และต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyoid)ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสัตว์ เอ็นโดซัลแฟนสามารถถูกขจัดหรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ในมนุษย์และสัตว์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นองค์กอบของสารว่าเป็นชนิด Bata หรือ Alpha โดย Beta จะลดปริมาณลงได้อย่างรวดเร็วกว่า Alpha

ผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศ
1. ผลที่เกิดขึ้นกับนกต่าง ๆ เอ็นโดซัลแฟนเป็นพิษต่อนกต่าง ๆ ในระดับกลาง จากรายงานการศึกษา ค่า LD50 ของเป็ดป่าอยู่ที่ 31-243 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
2. ผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในน้ำ เอ็นโดซัลแฟนเป็นสารที่มีพิษต่อปลา และสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ไม่มีกระดูก (Invertebrates) รุนแรงมาก
3. ผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เอ็นโดซัลแฟนเป็นพิษต่อผึ้งปานกลาง และไม่เป็นพิษต่อแมลงที่เป็นประโยชน์ (benefical insects) เช่น แตนเบียน แมลงเต่าทอง (Iady bird beatles) และไรบางชนิดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
1. ผลทีเกิดขึ้นกับดินและน้ำใต้ดิน เอ็นโดซัลแฟนจะตกค้างในดินปานกลาง ประมาณ 50 วัน (half-life) ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นกรดด่างของดิน โดยจะตกค้างอยู่ในดินที่มีคุณสมบัติเป็นกรดได้นานกว่า เอ็นโดซัลแฟน อาจจะถูกย่อยสลายได้โดย รา และแบคทีเรียในดิน เอ็นโดซัลแฟนละลายและสลายตัวได้ยากในน้ำ มีความสามารถยึดเกาะติดกับดินได้ปานกลาง อนุภาคของสารที่ยึดเกาะอยู่กับดินจะถูกน้ำพัดพาไปได้ดี ซึ่งมีผลต่อการถูกพัดพาไปสู่น้ำใต้ดิน
2. ผลที่เกิดขึ้นกับน้ำที่อุปโภคและบริโภค ในสภาพธรรมชาติของน้ำดิบที่ใช้บริโภคและอุปโภคสภาพที่ได้รับแสงแดดและอุณหภูมิปกติ สารเอ็นโดซัลแฟนทั้ง 2 isomer (Alpha และ Beta) จะเสื่อมสลายหมดไปภายใน 4 สัปดาห์ โดยในสัปดาห์แรกพบในปริมาณมาก แต่จะเสื่อมสลายอย่างรวดเร็วในสัปดาห์ต่อมา ในสภาพที่น้ำเป็นกรดมากกว่าสภาพเป็นกลาง สามารถคงสภาพอยู่ได้ถึง 5 เดือน แต่ในสภาพที่น้ำเป็นด่างจะเสื่อมสลายได้เร็วที่สุด โดยทั่วไปจะพบว่าสารเอ็นโดซัลแฟนปนเปื้อนในน้ำที่อยู่ใกล้บริเวณที่ใช้สารเคมีในปริมาณความเข้มข้นที่สูง หรือพบว่ามีปริมาณน้อยแพร่กระจายอยู่ในแหล่งน้ำทุกแหล่งทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่าน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญในการแพร่กระจายสารเอ็นโดซัลแฟน ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
3. ผลที่ตกค้างในผลผลิต เอ็นโดซัลแฟนจะลดปริมาณการตกค้างในผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่สารตกค้างจะลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในเวลา 3-7 วัน ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีสารเอ็นโดซัลแฟนตกค้างในยาสูบ 0.0005-0.013 ppm ในอาหารทะเลสด 0.2 ppt-1.7 ppb) และในน้ำนมวัวปี ค.ศ. 1999-2000
     มีรายงานจากประเทศสาธารณรัฐเบนิน อาฟริกา ตะวันตกว่ามีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ ทางตอนเหนือของจังหวัด Borgou จากการใช้สารเคมีเอ็นโดซัลแฟนฉีดพ่นในไร่ฝ้ายเป็นจำนวน 37 คน และอีก 36 คน ป่วยหนักต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สาเหตุเนื่องมาจากการใช้สารเคมี ไม่ถูกต้องหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นเกษตรกรรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า "ไส้เดือนที่เคยพบในดินได้ถูกสารเอ็นโดซัลแฟนตาย นกกินไส้เดือนที่ตายเข้าไป และนกก็ตายตามไส้เดือนไป" เกษตรกรอีกรายหนึ่งกล่าว่า "ภายหลังฉีดพ่นสารเอ็นโดซัลแฟน 2-3 วัน ท้องทุ่งแห่งนั้นคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นเน่าน่าสะอิดสะเอียนของซากสัตว์ต่าง ๆ ที่ถูกสารเอ็นโดซัลแฟนตาย"
     ในวันที่ 24 สิงหาคม 2542 ที่หมู่บ้าน Meregourou เด็กชาย 3 คน อายุ 12,13, 14 ปี
ตามลำดับ ได้ออกไปช่วยพ่อของเขาดายหญ้าในแปลงฝ้าย ซึ่งปลูกข้าวโพด เมื่อเสร็จงานแล้วเกิดความหิว จึงได้เก็บข้าวโพดกิน โดยที่ไม่ทราบว่าพ่อของเขาได้ฉีดพ่นสารเอ็นโดซัลแฟนก่อนหน้านั้น 1 วัน หลังจากนั้น 15 นาทีจึงเริ่มอาเจียน พวกเขาทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาล เด็กชายอายุ 12 ปีได้เสียชีวิต ส่วนอีก 2 คน ปลอดภัย
     เกษตรกรคนหนึ่ง ใน Banikoara ได้กล่าวถึงการทำลายห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติของเอ็นโดซัลแฟน จากที่เขาได้พบเห็นว่า " ปลวกในไร่ฝ้ายที่ถูกสารเอ็นโดซัลแฟนตาย กบกินปลวกที่ตาย ทำให้มีอาการมึนงงหยุดนิ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หลังจากนั้นไม่นาน นกเค้าแมวได้จับกบตัวนั้นไปฉีกกิน อย่างเอร็ดอร่อยบนคาคบไม้ สิบนาทีต่อมานกเค้าแมวก็ล่วงหล่นจากคบไม้นั้น และตาย " อีกคนหนึ่งกล่าวว่า " สารเอ็นโดซัลแฟนมีประสิทธิภาพมาก สามารถฆ่าทำลายล้างสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่เว้นแม้กระทั่งงู ไส้เดือนที่เคยมีเป็นจำนวนมาก ก็ตายหมดภายหลังการฉีดพ่นสารในเวลาไม่นาน รวมถึงปลาในหนองน้ำ และลำธารก็ตาย เนื่องมาจากน้ำที่ไหลจากบริเวณไร่ฝ้ายที่ฉีดพ่นสารเอ็นโดซัลแฟนไหลลงไป "
     ผลที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาแล้ว ทำให้กลุ่มประเทศในอาฟริกาตะวันตก มีความพยายามที่จะยกเลิก (Ban) การใช้เอ็นโดรซัลแฟนในไร่ฝ้ายเหมือน เช่น สารเคมีในกลุ่ม ออร์กาโนคลอรีน ชนิดอื่น ๆ ที่ได้ถูกสั่งห้ามใช้ไปแล้ว
     สำหรับประเทศไทย คงไม่ต้องกล่าวบรรยายถึงประสิทธิภาพของสารเอ็นโดซัลแฟน ในการทำลายล้างเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในธรรมชาติ เกษตรกรผู้ใช้กำจัดหอยเชอรี่ คงทราบได้ดีว่า ภายหลังจากใช้สารนี้แล้วเกิดอะไรขึ้นในแปลงนาของเขา ความเงียบสงบปราศจากการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตใดๆ

เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว คงมีแต่เสียงเคลื่อนไหวของชาวนา ที่ชีวิตจมปลักอยู่กับการใช้สารเคมี โดยที่ตนเองไม่เคยคิดคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง และสิ่งแวดล้อม ไม่เคยสนใจแม้กระทั่งที่จะคิดไปว่า แต่ก่อนทำนาไม่เคยใช้สารเคมีใด ๆ หมดหน้านาก็มีปลา ปู กุ้ง หอยกิน ไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน มาซื้อสารเคมีหรือซื้ออาหารบริโภค ปัจจุบันต้องกู้ยืมเขามาเพื่อซื้อสารเคมีฉีดพ่นในนาข้าว ทั้ง ๆ ที่โดยธรรมชาติแล้ว ข้าว คือพืชตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง ปลูกแล้วไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ฉีดพ่นก็ได้กิน ได้ขาย ไม่ต้องเป็นหนี้เขา การใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็น เป็นการเพิ่มต้นทุนในการทำนาไร่ละไม่น้อยกว่า 100-250 บาท นอกจากนั้นการใช้สารเคมียังเป็นการทำลายสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้เองโดยตรง ลูกหลานและสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวด้วย ที่จริงแล้วหากชาวนาคิดว่าหอยเชอรี่มีประโยชน์ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีฆ่า ได้มีการศึกษาต้นทุนค่าสารเคมีกำจัดหอยเชอรี่แล้ว พบว่าชาวนา ใช้เงินซื้อสารเคมีฆ่าหอยเชอรี่เฉลี่ยไร่ละ 75 บาท หากเขาจับหอยเชอรี่มาทำเป็นปุ๋ยน้ำหมัก หรือทำเป็นอาหารสัตว์ต่าง ๆ เช่น ปลา กบ ตะพาบน้ำ ก็ไม่ต้องเสียเงินไร่ละ 75 บท กับยังช่วยลดต้นทุนการผลิต และอาจมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายปุ๋ยน้ำหมัก หรืออาหารสัตว์ที่ทำจากหอยเชอรี่ด้วย และบางทีอาจจะรวยกว่าการทำนาปลูกข้าวด้วยซ้ำ ถ้าหากหันมาเลี้ยงหอยเชอรี่อย่างจริงจัง เพื่อทำเป็นการค้า เหล่านี้คือข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาเสนอเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรและนักส่งเสริมการเกษตรทั้งหลายประกอบการตัดสินใจเอง ว่าจะใช้สารเอ็นโดซัลแฟน หรือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต่อไป หรือว่าจะลด ละ หรือเลิกใช้ไปเลย เพื่อเปลี่ยนทิศทางการทำการเกษตร เป็นเกษตรปลอดภัยจากสารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์ในที่สุด เป็นเกษตรกรที่ทันยุคสมัยกับสถานการณ์ของโลก เพราะในอนาคตข้างหน้าจะไม่มีผู้ใดหรือประเทศใดซื้อสินค้าเกษตรที่ใช้สารเคมีบริโภคแน่นอน
     ปัจจุบันมีหลายประเทศได้สั่งห้ามใช้สารเคมีเอ็นโดซัลแฟน โดยเด็ดขาดแล้ว ส่วนประเทศไทยเรา จัดสารเคมีเอ็นโดซัลแฟน อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง 12 ชนิด มีกำหนด 3 ปี (2542-2544) บัดนี้ก็ล่วงเลยมาพอสมควร หรือว่าเราเฝ้าระวังจนเหม่อลอยแล้วก็ไม่รู้

เอกสารอ้างอิง 1. Extension Toxiclogy Network pesticide Information Profiles : Endosulfan fofrom
http://www.hclrss.demon.co.uk/endosulfan.html
  2. Endosulfan : http://www.helrss.demon.co.uk/endosulfan.
  3. Endosulfan deaths and poisonings in Benin : http://www.getipam.com/articles /benindeaths.htm


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2013, 11:12:32
ชาวนาคือผู้ทำนาปลูกข้าว เลี้ยงเรามาจนเป็นหนุ่มสาว ยันจนเราเฒ่าแก่ชรา ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 กรกฎาคม 2013, 13:13:22
วันหยุดหลายวันไปดำนาครับ ทำครั้งที่ 2 นี่ทำได้ดีกว่ารอบแรกคงเริ่มชินกับรถดำนาการควรคุมและการปรับแต่งครับ 9 ไร่ใช้เวลา 2 วันอีก 1 วันปักซ๋อม แปลงที่ทำครั้งแรกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 กรกฎาคม 2013, 13:19:52
บรรยากาศท้องนาครับ  ฝนเริ่มเยอะมากขึ้นช่วงนี้  ผมทำร่มบังแดดช่วงได้เยอะเหนื่อยน้อยลงเดียวนาปรังปีหน้าจะทำใหม่ปรับแต่งให้ดีกว่านี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 26 กรกฎาคม 2013, 13:24:54
แวะมาผ่อ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2013, 21:54:38
วันนี้เพื่อนแถวบ้านโทรมา นาของเพื่อนโดนน้ำท่วมอาจได้ทำใหม่ ตอนเย็นเลยแวะไปดูครับ กล้องถ่ายรูปไม่ได้เอาไปด้วยเลยใช้กล้องมือถือแทนดูแล้วใบโผล่เหนือน้ำแบบนี้พอรอดครับ หากหอยไม่กินใบจนหมดไปเสียก่อน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2013, 21:55:58
บางแปลงน้ำท่วมจมมิดเลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2013, 21:59:04
แถวบ้านจะมีน้ำที่ไหลจากหนองหลวงไปลงแม่น้ำกก พอน้ำกกสูงขึ้นระดับแม่น้ำสาขาก็เพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับมีน้ำฝนไหลลงแม่น้ำมากขึ้นแปลงนาแถวบ้านเลยน้ำท่วมกันมากครับ

บางแปลงอีกฝั่งโชคดีน้ำไม่ท่วมเห็นสวยดีเลยถ่ายมาฝากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2013, 22:02:19
มาดูกันครับว่านาแถวใกล้บ้านฝั่งริมแม่น้ำท่วมมากขนาดไหนตอนนี้น้ำท่วมมา 4 วันแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2013, 22:06:20
ขี่มอเตอร์ไซด์มาเรื่อย ๆ ฝนตกไม่ทั่วฟ้ามาหยุดดูแปลงนาแปลงนี้ครับ เป็นของญาติครับแกทำนาด้วยรถดำนามาหลายปีแล้ว แปลงนาดูสวยเลยทีเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2013, 22:10:36
ดูแปลงนาตัวเองดูไม่จืดเลย นาแปลงที่ดำด้วยรถครั้งแรกปรับระยะห่างระหว่างกอมากเกินไป จำนวนกล้าต่อกอก็น้อยเกินไปและโดนทั้งน้ำท่วม 2 ครั้งและหอยเชอรี่กินอีก นาปรังแก้ตัวใหม่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2013, 22:15:09
นาอีกแปลงที่ดำครั้งที่ 2 จะดีกว่าการดำครั้งแรกเพราะมีการปรับแต่งรถดำนาดีขึ้น เริ่มคุ้นเคยกับรถดำนามากขึ้น และควบคุมหอยเชอรี่ได้ค่อนข้างดีกว่า แปลงนี้น่าจะดูดีกว่าแปลงแรกมากตอนนี้ต้นยังเล็กอยู่เพราะดำช้ากว่าแปลงแรกไป 2 สัปดาห์ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2013, 22:31:46
รายการนี้ผมดูแล้วค่อนข้างดี  ดูทางจานดาวเทียมช่อง Farmchannel เมื่อวานเผอิญเห็นเพื่อนสมัยเรียน ปวส.อิเล็กทรอนิกส์ด้วยกันก็เข้าแข่งขัน เป็นตัวแทนการทำนาดำของ บ้านสันมะเค็ด อ.พาน   เอาตอนแรก ๆ มาให้ดูครับ หากสนใจก็ดูเป็นตอน ๆ ใน Youtube ได้ ผมเอาตอนแรกมาตั้งต้นให้ก่อนครับ

YnSCXl5GBE4


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2013, 22:40:20
ตอนนี้เกี่ยวกับครอบครัวเพื่อนครับ

_Bk7rYtf-Zg


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 สิงหาคม 2013, 21:18:10
เสาร์อาทิตย์นี้ ตัดหญ้าและจะเริ่มทยอยทำเกษตรผสมผสานบ้างหลังจากที่ศึกษามานานพอสมควรดีกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ในส่วนที่ทำได้ก็ทำก่อนครับใช้พื้นที่ที่มีอยู่แล้ว หลังจากเก็บเกี่ยวนาปีนี้แล้วค่อยปรับปรุงนาใหม่ครับเพื่อรองรับการปลูกพืชชนิดอื่นครับ แต่พื้นที่ 80-90 % ยังคงเป็นพื้นที่ทำนาอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 สิงหาคม 2013, 21:21:59
หลังจากดำนาครั้งแรกมาดำนาแปลงที่สองการปลูกข้าวและดูแลเริ่มดีขึ้นครับ ตอนนี้ต้นข้างแปลงที่สองเริ่มพ้นหอยเชอรี่บ้างแล้วครับก็เอาน้ำเข้า ๆ ออก ๆ ครับเพื่อลดความเสียหายจากหอยเชอรี่ครับ ปราบไม่หมดซักที


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 สิงหาคม 2013, 21:25:47
ผลพลอยได้จากการใช้ตาข่ายดักเพื่อกันหอยเชอรี่ครับเมื่อวานได้ปลาหลายตัวไปให้เจ้าแมวเหมียวที่บ้านครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: pantep ที่ วันที่ 05 สิงหาคม 2013, 01:58:03
เข้ามาชื่นชม และขอบคุณทุกภาพทุกกระทู้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 05 สิงหาคม 2013, 13:44:23
ชาวนาไทยจงเจริญ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 05 สิงหาคม 2013, 16:00:04
ข้าวปลูกอ้ายงามเหลือข้าวโยนผมก่อนครับ..ของผมอิดใจแต้ๆ :-[
รอนาปรัง แก้ตัวใหม่ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 05 สิงหาคม 2013, 16:30:42
เข้ามาติดตามและเป็นกำลังใจให้สำหรับการทำเกษตรผสมผสานครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว ความรู้เกี่ยวกับข้าวและการทำนา }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 สิงหาคม 2013, 20:50:01
เข้ามาชื่นชม และขอบคุณทุกภาพทุกกระทู้ครับ

ขอบคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยมชม หากกระทู้นี้มีประโยชน์บ้างก็ไม่เสียแรงครับจะได้นำความรู้มาแบ่งปันเรื่อยๆ ครับ

ชาวนาไทยจงเจริญ ;D ;D
ขอบคุณครับ :D  :D

ข้าวปลูกอ้ายงามเหลือข้าวโยนผมก่อนครับ..ของผมอิดใจแต้ๆ :-[
รอนาปรัง แก้ตัวใหม่ ;D ;D
ค่อยเป็นค่อยไปน้อครับ ข้าวที่ผมปลูกแปลงแรก ๆ ก็บ่าค่อยดีครับ ชาวนาแถวบ้านยังแซวว่าปั่นทิ้งทำใหม่ดีกว่า ก็อดเอาครับค่อยปลูกซ่อมค่อย ๆ ทำไป นาปรังแก้ตัวใหม่ครับ  :D  :D


เข้ามาติดตามและเป็นกำลังใจให้สำหรับการทำเกษตรผสมผสานครับ ;D ;D
ขอบคุณครับ คงได้อัพกระทู้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำสำเร็จครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 15:25:29
กินอยู่คือ - เกษตรประณีต 1 ตร.ม.

jMXBfbBUkbI


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 15:30:01
..วิชาพึ่งตนเอง - ปุ๋ยบำรุงดิน

8PX7Jse5JWw


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 15:32:46
วิชาพึ่งตนเอง - ตำราปุ๋ยแก้จน

ZBn7BOnpZ8A


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 15:34:48
วิชาพึ่งตนเอง-ฮอร์โมนบำรุงข้าว

yXCweyZuFJY


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 15:36:36
..วิชาพึ่งตนเอง-ข้าวดีด ข้าวเด้ง

JX4YjU99tfc


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 15:50:26
หอมแผ่นดิน ตอน ความฝันของแผ่นดิน

เผยแพร่เมื่อ 19 มิ.ย. 2013

ภายหลังเรียนจบทุนจากประเทศอิสราเอล วิทยา สันติสุขไพบูลย์ กลับบ้านมาพร้อมความฝันที่จะสร้างความมั่น­คงทางด้านอาหารให้กับบ้านเกิดตัวเอง

IPAiuK3y2Ws



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 15:54:15
หอมแผ่นดิน ในน้ำไม่ได้มีแค่ปลา ในนาไม่ได้มีแค่ข้าว
เผยแพร่เมื่อ 17 พ.ค. 2013

ลิ่ม สังข์ทอง ชาวนาไทยวัยเกือบเจ็ดสิบปี เขาคือเกษตรกรรุ่นแรกในโครงการแก้จน แก้จริง ปฏับิติการ 1 ไร่ได้เงิน 1 แสนบาทของธ.ก.ส. ที่กำลังเริ่มลงมือทำนาบนเนื้อที่เล็กๆ หลังผ่านการอบรมอย่างเคี่ยวกรำมานาน


L_T_In-Vt6g


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 16:03:42
หอมแผ่นดิน อิทธิบาท๔ จากเมล็ดมาเป็นรวง

เผยแพร่เมื่อ 6 พ.ค. 2013

"....ถ้าทำข้าว แล้วซื้อข้าวกิน อาชีพชาวนาล่มสลาย" นี่คือคำพูดที่เปลี่ยนชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง จำเริญ คำแก้ว ให้หันหน้าเดินเข้าท้องทุ่ง เพื่อทำในสิ่งที่อยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่กำเนิด สิ่งที่ตัวเค้าเองเคยมองข้าม จนวันนี้กลายมาเป็นสิ่งที่เค้ารักและศรัทธ­าอย่างคงมั่น นั่นคือ การได้เป็น "ชาวนา"

hX0jmdOdY_k


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 16:14:35
หอมแผ่นดิน ตอน...กว่า(หัวใจ)จะไร้เคมี

เผยแพร่เมื่อ 19 มิ.ย. 2013

จากเคยใช้สารเคมีในนาข้าว และยังเป็นตัวแทนจำหน่าย ทำให้ไพโรจน์ พ่วงทอง ชาวนาคนหนึ่งของ จ.เพชรบุรี ได้รับผลกระทบในเรื่องสุขภาพจนเกือบเอาชีว­ิตไม่รอด เขาจึงตัดสินใจหักดิบจากสารเคมี และหวนกับมาพึ่งธรรมชาติอีกครั้ง ไพโรจน์เดินหน้าปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนคนหนึ่งจะเปล­ี่ยนวิถีจากเคมีมาเป็นอินทรีย์สำเร็จได้ใน­ครั้งแรก...

Lwco2xNLgQI



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 17:30:25
เข้ามาดูความรู้และแนวคิดเพื่อนำไปเปลี่ยนชีวิตในอนาคตครับ ;)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 21:50:21
เข้ามาดูความรู้และแนวคิดเพื่อนำไปเปลี่ยนชีวิตในอนาคตครับ ;)
ยินดีครับ  :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 21:55:01
ช่วงนี้ที่บ้านก็หัดเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ไปก่อนครับ  เป็ดเลี้ยงง่ายแต่กินเก่งมากมีความอดทนต่อโรคสูง ทนแดดทนฝน  ไก่กินน้อยกว่าแต่ป่วยง่ายกว่าเป็ดมาก อีกหน่อยปรับปรุงที่นาเสร็จก็อาจขยายไปเลี้ยงที่นู่นต่อครับ เลี้ยงเป็ดในนาข้าว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 21:58:04
เข้าเดือนสิงหาคมมีฝนบ่อยเหมาะสำหรับการปลูกกล้วย ไปขุดหน่อกล้วยมาปลูกครับเพื่อได้ใช้ประโยชน์ต่อไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 22:03:20
หอมแผ่นดิน  ตอนชาวนาทรนง

เผยแพร่เมื่อ 18 ม.ค. 2013

สมนึก ชูศรี เริ่มต้นทำนาตามวิธีของบรรพบุรุษในอดีตคือ­นาหว่าน และไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงในการทำนา จึงหมดค่าลงทุนไปกับการไถปรับพื้นที่และค่­าเกี่ยวข้าวเท่านั้น เพื่อป้องกันศัตรูพืชและเก็บน้ำไว้ในแปลงน­าไม่ให้ไหลออก ได้ใช้วิธีการสร้างคันนารอบๆโดยก่อซีเมนต์­กันเอาไว้ และเลี้ยงเป็ดให้หาแมลงกินในนา แถมยังได้ขี้เป็ดเป็นปุ๋ยคอกใส่ในนาด้วย อีกทั้งการย่ำของเป็ดก็จะเป็นการกระตุ้นให้ต้นข้าวออกรากเพิ่มและยึดเหนี่ยวให้ลำต้น­แข็งแรง เมล็ดข้าวไม่ลีบ ไม่มีปัญหาข้าวล้ม ตลอดจนไม่มีการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช เพราะแสงแดดส่องทั่วทั้งแปลงจนแมลงไม่สามา­รถขยายพันธุ์ได้

ข้าวที่ได้จะนำมาสีในโรงสีขนาดเล็กของตนเอ­ง รำที่ได้จากการสีข้าวนำไปเป็นอาหารเป็ด ส่วนวิธีการเลี้ยงเป็ดจะสร้างคอนโดสูง 8 ชั้นบนรถบรรทุก ตอนเช้าจะเป่านกหวีดเรียกเป็ดขึ้นรถนำไปปล่อยไว้ที่แปลงนา ตอนเย็นนำรถไปจอดจะเป่านกหวีดเรียกเป็ดขึ้­นรถกลับบ้าน ทำให้ทุกกระบวนการของข้าวปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค

291BHIVhw2M


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 22:07:28
หอมแผ่นดิน ตอน...ต้นกล้าปฏิวัติ

เผยแพร่เมื่อ 29 ม.ค. 2013

อดีตหนุ่มโรงงาน ที่พลิกชีวิตหันหลังกลับมาบ้านเพื่อเอาดีด้านเกษตรกรรม เคล็ดลับนวัตกรรมรุ่นใหม่ คือ บ่มเพาะต้นกล้าไร้ดิน อันแสนมหัศจรรย์ให้แข็งแรงก่อนปลูกลงไปในผืนดินที่อุดม

ต้นกล้าของพี่กำนันผู้กลายเป็นปราชญ์เกษตร­อินทรีย์ประจำตำบล ถูกนำไปโยนและเติบโตในนาที่เตรียมความอุดม­สมบูรณ์ด้วยปุ๋ยชีวภาพจากมูลนกกระทา บันดาลผลผลิตที่เพิ่มมูลค่าให้พี่กำนันอย่­างเหลือเชื่อ และเป็นมิตรกับโลกน้อยๆใบนี้

g1Z4lrv0cVU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2013, 22:12:42
หอมแผ่นดิน แผ่นดินนี้...ของใคร

เผยแพร่เมื่อ 21 พ.ค. 2013

จากคนสองคน ที่ไร้ที่ทำกิน มีเพียงความอุตสาหะเพียงพอเป็นที่ตั้ง

วันนี้ เคนและสะองค์ ปราบไพรี กลายเป็นเกษตรกร ใช้เวลาทำงานในแผ่นดินของตัวเองมาเกือบ 20 ปี ดอกผลของความอุตสาหะ อดทน และอดออม ทำให้พื้นดินที่เคยว่างเปล่า กลายเป็นแผ่นดินอบอุ่นของครอบครัว

DLW4D4Pmj_8



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 สิงหาคม 2013, 22:10:39
THE FARMER เกมเกษตรกร 6 สิงหาคม 2556

 ILlRN0-gaRE


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 สิงหาคม 2013, 16:47:57
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการเกษตรน่าสนใจ  คุณ Khunplong กระทู้ ผักหวานป่าจังหวัดเชียงราย(แหล่งรวมความรู้การปลูกผักหวานป่า)  แนะนำมาครับ

เข้าอ่านได้ที่ http://ag-ebook.lib.ku.ac.th/index.php (http://ag-ebook.lib.ku.ac.th/index.php)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 สิงหาคม 2013, 20:10:26
..THE FARMER เกมเกษตรกร 8 สิงหาคม 2556

The Farmer เกมเกษตรกร ได้ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ในรายการคนไทยหัวใจเกษตร ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 05.10-5.35 น. ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องฟาร์ม แชนเนล ทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ เวลา 16.00-16.30 น. และทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องมิราเคิล แชนเนล (True Visions 86) ทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ เวลา 06.00-06.30 น.

LDqKYKyTUpU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 สิงหาคม 2013, 22:48:48
แถวบ้านโดนกันอีกแล้วครับกับพายุมังคุดคราวนี้หนักกว่าครั้งก่อน ชาวนาเดือดร้อนหลายครอบครัวเลย บางแห่งน้ำพึ่งลด บางแห่งน้ำยังไม่ลดแต่มีน้ำมาเพิ่มอีก บางคนท้อถึงกับไม่ทำนาต่อเลยก็มี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 11 สิงหาคม 2013, 11:16:31
น้ำท่วมข้าว เอ็นดูจาวนาแต้ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 สิงหาคม 2013, 21:20:39
วันนี้ ตัดหญ้าคันนาครับ ข้าวที่ปลูกอีกแปลง 9 ไร่ข้าวเริ่มโตพอที่จะพ้นจากหอยเชอรี่กินบ้างแล้วครับ ข้าวต้นเขียวแตกต่างจากนาหว่านที่เคยทำมามาก นา 9 ไร่ใส่ปุ๋ยไม่ถึง 1 กระสอบยังเขียวได้ขนาดนี้หากเป็นนาหว่านอาจต้องใช้ปุ๋ยถึง 3-4 กระสอบถึงจะเขียวได้ประมาณนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 สิงหาคม 2013, 21:27:10
น้ำท่วมข้าว เอ็นดูจาวนาแต้ ;D ;D

แถวบ้านน้ำท่วมมากกว่าทุกปีครับ พายุลูกใหม่ก็จ่อเข้ามาอีกแล้ว  เย็นนี้เอามอไซด์ไปดูก็นึกว่าน้ำจะลดลงบ้างเพราะฝนหยุดตกแล้วแต่กลับเพิ่มสูงขึ้นเพราะแม่น้ำกกระดับน้ำก็เพิ่มขึ้นเช่นกันทำให้น้ำระบายลงไม่ได้น่าเห็นใจชาวนาที่ถูกน้ำท่วมจริงๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 สิงหาคม 2013, 21:31:11
THE FARMER เกมเกษตรกร 10 สิงหาคม 2556

เผยแพร่เมื่อ 10 ส.ค. 2013

The Farmer เกมเกษตรกร ได้ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ในรายการคนไทยหัวใจเกษตร ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 05.10-5.35 น. ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องฟาร์ม แชนเนล ทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ เวลา 16.00-16.30 น. และทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องมิราเคิล แชนเนล (True Visions 86) ทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ เวลา 06.00-06.30 น

pRVL1lPPYfA


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 สิงหาคม 2013, 21:37:22
หอมแผ่นดิน ตอน...แผ่นดินเก่า คนใหม่

เผยแพร่เมื่อ 7 ก.ค. 2013

อ๋า พรมไธสง กับวันฟ้าเปลี่ยนสี บนแผ่นดินเก่าที่ทำให้เขากลายเป็นคนใหม่..­.
จากอดีตคนหาปลาขี้เมาที่เบื่อความจำเจของชีวิต ตัดสินใจขึ้นฝั่งมาลงหลักปักฐานบนผืนนาร้า­งที่ไม่มีใครต้องการ ทางแถบ อ.แกลง จ.ระยอง ชีวิตของอ๋า เริ่มนับหนึ่งอย่างมีความหวัง จากการได้เข้าร่วมอบรมเพียง 4 คืน 5 วัน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของชายสำมะเรเทเ­มาไปได้ตลอดกาล ความรู้ที่สุมอยู่ในอกจนแทบระเบิด บ่นกับตัวเองว่า หากกลับบ้านจะลงมือทำในสิ่งที่ได้ฟังให้ตา­ทั้งสองข้างได้เห็นทันที วิชาชีวิตเรื่องเกษตรพอเพียงของอ๋ากำลังเริ่มก่อตัวขึ้น ด้วยปฏิภาณอันแน่วแน่ จึงกลายเป็นบททดสอบที่สำคัญในช่วงหนึ่งของ­ชีวิต...


CBF3A9qJAGc


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 11:25:44
นึกว่ากระทู้หายไปไหน ที่แท้ก็มาปักหมุดนี้เอง ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Ck 401 ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 11:44:31
นึกว่ากระทู้หายไปไหน ที่แท้ก็มาปักหมุดนี้เอง ;D ;D ;D
ต้องขออภัยครับ
อะไรที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ
ผมปักหมุดให้ครับ(ไม่เสียค่าใช้จ่าย) เพื่อเพื่อนสมาชิกที่ติดตามข้อมูล
และไม่อยากให้กะทู้ตกไปครับ ผมแจ้งไปยัง จขกท แล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bankey2122 ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 15:52:05
ไปลักถ่ายกำแพงล่มบ่าบอกซักกำ  :D :o


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 20:37:44
นึกว่ากระทู้หายไปไหน ที่แท้ก็มาปักหมุดนี้เอง ;D ;D ;D
ต้องขออภัยครับ
อะไรที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ
ผมปักหมุดให้ครับ(ไม่เสียค่าใช้จ่าย) เพื่อเพื่อนสมาชิกที่ติดตามข้อมูล
และไม่อยากให้กะทู้ตกไปครับ ผมแจ้งไปยัง จขกท แล้วครับ

 :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 20:42:35
ไปลักถ่ายกำแพงล่มบ่าบอกซักกำ  :D :o

คนบ้านเดียวกั๋นแต้ ๆ นึกว่าใครที่ไหน ตอนนี้น้ำลดลงแล้วน้อแต่ตางวังช้างน้ำยังเยอะอยู่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 21:02:22
..THE FARMER เกมเกษตรกร 12 สิงหาคม 2556   วันแม่แห่งชาติครับ

เผยแพร่เมื่อ 12 ส.ค. 2013

The Farmer เกมเกษตรกร ได้ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ในรายการคนไทยหัวใจเกษตร ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 05.10-5.35 น. ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องฟาร์ม แชนเนล ทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ เวลา 16.00-16.30 น. และทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องมิราเคิล แชนเนล (True Visions 86) ทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ เวลา 06.00-06.30 น.

AdZDKtA-0QY


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 21:21:44
ยินดีตวยครับที่กระทู้นี้ได้ฤกษ์ปักหมุดเสียที ไม่ต้องตามหา :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 21:50:52
ภาพสวย ๆ วังเวียงประเทศลาวครับ เชียงรายก็มีหลายแห่งที่วิวสวย ๆ แบบนี้ครับ รายได้นอกจากเก็บเกี่ยวข้าวยังได้ค่าที่พักจากนักท่องเที่ยวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 22:00:08
ภาพนี้ถ่ายตอนปั่นจักรยานเที่ยว ดอนศิลา-ผางามครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 22:06:10
เกษตรผสมผสาน

ระบบเกษตรกรรมที่จะนำไปสู่การเกษตรยั่งยืน โดยมีรูปแบบที่ดำเนินการมีลักษณะใกล้เคียงกัน และทำให้ ผู้ปฏิบัติมีความสับสนในการให้ความหมายและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ได้แก่ระบบเกษตรผสมผสานและระบบไร่นาสวนผสม ในที่นี้จึงขอให้คำจำกัดความรวมทั้งความหมายของคำทั้ง 2 คำ ดังต่อไปนี้

ระบบเกษตรผสมผสาน (Integrated Farming System) เป็นระบบการเกษตรที่มีการเพาะปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกันภายใต้การเกื้อกูล ประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการอยู่รวมกันระหว่างพืช สัตว์ และสิ่งแวด ล้อมการอยู่รวมกันอาจจะอยู่ในรูปความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับพืช พืชกับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ก็ได้ ระบบ เกษตรผสมผสานจะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องมีการวางรูปแบบ และดำเนินการ โดยให้ความสำคัญต่อกิจกรรม แต่ละชนิดอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม มีการใช้แรงงาน เงินทุน ที่ดิน ปัจจัย การผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรู้จักนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตชนิดหนึ่งมาหมุน เวียนใช้ประโยชน์กับการผลิตอีกชนิดหนึ่งกับการผลิตอีกชนิดหนึ่งหรือหลายชนิด ภายในไร่นาแบบครบวงจร ตัวอย่างกิจกรรมดังกล่าว เช่น การเลี้ยงไก่ หรือสุกรบนบ่อปลา การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้ เป็นต้น

รูปแบบของระบบเกษตรผสมผสาน
ระบบเกษตรผสมผสานนั้น ถึงแม้ว่าเกษตรกรจะมีการดำเนินการกันมาช้านานแล้วก็ตามแต่ลักษณะของการดำเนินการ ยังมีความแตกต่างกันไป แล้วแต่การจะนำองค์ประกอบต่าง ๆ มาผสมผสานกันมากน้อยแค่ไหน และผสมผสานในรูป รูปแบบใดก็ตามยังมีความหมายหลากหลาย การศึกษารายละเอียดเชิงวิชาการในด้านนี้ก็ยังมีไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบ กับการศึกษาในด้านกิจกรรมเดี่ยว ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือปลาก็ตาม ฉะนั้นการกำหนดรูปแบบดำเนินการเกษตร ผสมผสานก็จะมีหลายแบบเช่นกัน ทั้งนี้อาจจะยึดการแบ่งตามวิธีการดำเนินการลักษณะพื้นที่กิจกรรมที่ดำเนินทรัพ ยากร เป็นต้น ซึ่งพอที่จะกล่าวได้ดังนี้

1. แบ่งตามกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่เป็นหลัก

1.1 ระบบเกษตรผสมผสานที่ยึดกิจกรรมพืชเป็นหลัก ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการนี้จะมีพืชเป็นรายได้หลัก
1.2 ระบบเกษตรผสมผสานที่ยึดกิจกรรมเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก ซึ่งการดำเนินการเลี้ยงสัตว์จะเป็นรายได้หลัก
1.3 ระบบเกษตรผสมผสานที่ยึดกิจกรรมประมงเป็นหลัก ซึ่งจะมีกิจกรรมเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นรายได้หลัก
1.4 ระบบเกษตรผสมผสานแบบไร่นาป่าผสมหรือวนเกษตรเป็นระบบที่มีการจัดการป่าไม้เป็นหลักร่วมกับการเกษตร ทุกแขนง อาจประกอบด้วยการปลูกพืชเกษตรในสวนป่า การปลูกพืชเกษตรร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ในสวนป่าระบบนี้มุ่ง หวังที่จะให้เป็นตัวกลางเพื่อผ่อนคลายความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมกับความต้องการป่าไม้ เพื่อควบคุมสิ่ง แวดล้อมให้สามารถดำเนินควบคู่กันไปโดยคำนึงถึงสภาพทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งช่วย พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรที่เกี่ยวข้อง ระบบวนเกษตรที่ดีควรสามารถเพิ่มการซึมซับน้ำ รักษาน้ำใต้ดิน ลดการสูญ เสียดิน ลักษณะพันธุ์พืชที่ใช้ควรเป็นทรงพุ่มเพื่อลดความรุนแรงของเม็ดฝนที่ตกกระทบผิวดินสามารถรักษาสภาพดุลย์ ของสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกร่วม เช่น บังร่มเงา พายุ ฝน อีกทั้งควบคุมสภาพความชุ่มชื้นและอุณหภูมิ ให้ดี พันธุ์ไม้ที่ปลูกควรมีรากลึกพอที่สามารถหมุนเวียนธาตุอาหารในระดับที่ลึกขึ้นมาสู่บริเวณผิวดิน เป็นประโยชน์ต่อ พืชรากตื้นที่ปลูกร่วม โดยรวมทั้งระบบควรให้ผลตอบแทนแก่เกษตรกรหลายด้าน เช่น ผลผลิตในรูปอาหาร ยารักษา โรค ไม้ฟืน ไม้สร้างบ้านและรายได้ สิ่งสำคัญที่สุดควรเป็นระบบที่อนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีปลูกได้หลายสภาพแวดล้อม และง่ายต่อการปฏิบัติในสภาพของเกษตรกรวนเกษตรที่พอประยุกต์ใช้ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ระบบใหญ่ คือ ระบบป่า ไม้-ไร่นา, ระบบป่าไม้-เลี้ยงสัตว์ และระบบเลี้ยงสัตว์-ป่าไม้-ไร่นา ซึ่งวิธีการนำแต่ละระบบไปประยุกต์ใช้ย่อมขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของพื้นที่เป็นเกณฑ์

2. แบ่งตามวิธีการดำเนินการ

2.1 ระบบเกษตรผสมผสานที่มีการใช้สารเคมี ในระบบการผลิตจะมีการใช้สารเคมีในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อจุดประสงค์ ให้ได้ผลผลิตและรายได้สูงสุด
2.2 ระบบการเกษตรอินทรีย์หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ฮอร์โมน สารเคมีในอาหาร สัตว์ คำนึงถึงการสงวนรักษาอินทรีย์วัตถุในดินด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนการปลูกพืชคลุมดิน ใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ใช้ เศษอินทรีย์วัตถุจากไร่นา มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พืชด้วยการบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้ก็จะอยู่ในรูป ปลอดสารพิษ
2.3 ระบบการเกษตรธรรมชาติ เป็นระบบการเกษตรที่ใช้หลักการจัดระบบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่ประสานความ ร่วมมือกับธรรมชาติอย่างสอดคล้องและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน งดเว้นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นหลักใหญ่ ๆ ได้แก่ ไม่มีการ พรวนดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่กำจัดวัชพืช ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้จะมีการปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน ใช้วัสดุเศษ พืชคลุมดิน อาศัยการควบคุมโรคแมลงศัตรูด้วยกลไกการควบคุมกันเองของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ การปลูกพืชใน ในสภาพแวดล้อมที่มีความสมดุลย์ทางนิเวศวิทยา

3. แบ่งตามประเภทของพืชสำคัญเป็นหลัก

3.1 ระบบเกษตรผสมผสานที่มีข้าวเป็นพืชหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่นาทำการปลูกข้าวนาปีเป็นพืชหลักการผสม ผสานกิจกรรมเข้าไปให้เกื้อกูลอาจทำได้ทั้งในรูปแบบของพืช-พืชเช่นการปลูกพืชตระกูลถั่ว พืชผัก พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ก่อนหรือหลังฤดูกาลทำนา อีกระบบหนึ่งที่นับได้ว่ามีความสำคัญเช่นกัน แต่ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนักในแง่ของการ เกษตรผสมผสาน แต่จะมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของเกษตรกรในช่วงเวลาที่ผ่านมาอยู่ค่อนข้างมากและมีให้เห็นอยู่ทั่ว ๆ ไปในพื้นที่นาดอนอาศัยน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ระบบต้นไม้ในนาข้าว ต้นไม้เหล่านี้มีทั้งเป็นป่าดั้ง เดิม และเป็นป่าไม้ที่ชาวบ้านปลูกขึ้นใหม่หรือเกิดจากการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ ภายหลังต้นไม้เหล่านี้จะอยู่ทั้งในนา บนคันนา ที่สูง เช่น จอมปลวก หรือบริเวณเถียงนา เป็นต้น ที่พบเห็นโดยทั่ว ๆ ไป ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง กะบาก สะแบง ไม้รัง จามจุรี มะขาม มะม่วง เป็นต้น นับได้ว่าเป็นทรัพยากรเอนกประสงค์ใช้เป็นอาหารและยาแก่มนุษย์ อาหารสัตว์ เชื้อเพลิง ไม้ก่อสร้าง ไม้ใช้สอยขนาดเล็ก ผลิตภัณฑ์จากต้นไม้นำไปใช้ประโยชน์ เช่น น้ำยาง ทำคบไต้ ครั่ง เครื่องจุดไฟ ให้ร่มเงา นอกจากนี้ยังช่วยรักษาคันนาให้คงรูป สามรถเก็บกักน้ำ ทั้งนี้เนื่องด้วยดินโดยทั่วไปมีเนื้อดินเป็น ทราย มีโครงสร้างอ่อนแอ ไม่สามารถสร้างคันนาให้ทนทาน เว้นเสียแต่จะมีสิ่งมาเสริมหรือยึดไว้ ต้นไม้ยังใช้เป็นหลัก ที่เก็บฟางข้าวมาสุมไว้ สำหรับเอาไว้เลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง ระบบพืชในนาข้าวที่นับว่าเป็นคู่สมพงษ์และมีความยั่งยืนมา ช้านาน ได้แก่การปลูกตาลร่วมกับระบบการปลูกข้าว ที่พบเห็นกันในพื้นที่บางส่วนของภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างและ ภาคใต้ เป็นต้น เป็นลักษณะการปลูกต้นตาลบนคันนาเป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนที่ต้นตาลขึ้นอยู่ในกระทงนา เกษตรกร ได้ทั้งผลผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์จากตาล ซึ่งอาจอยู่ในรูปของน้ำหวานน้ำมาเคี่ยวเป็นน้ำตาล ผลตาลอ่อน ผลตาลแก่นำมา ทำขนมต่าง ๆ ได้ ต้นตาลที่มีอายุมาก ผลผลิตลดลง สามารถแปรสภาพเนื้อไม้มาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ด้วย เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ อีกรูปแบบหนึ่งที่ปัจจุบันมีการดำเนินการกันมากขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ การนำ ปลาเข้ามาร่วมระบบ ซึ่งทำได้ทั้งในลักษณะการเลี้ยงปลาในนาข้าว การผสมผสาน พืช-สัตว์-ปลา เช่น การแปรเปลี่ยน พื้นที่นาบางส่วนเป็นร่องสวนปลูกไม้ผลเลี้ยงปลาในร่องสวน เลี้ยงสัตว์ปีก โค โดยใช้เศษอาหารจากพืชต่าง ๆ ในฟาร์ม ให้เป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย

3.2 ระบบเกษตรผสมผสานที่มีพืชไร่เป็นพืชหลัก การผสมผสานกิจกรรม พืช-พืช เช่น ลักษณะการปลูกพืชตระกูลถั่ว แซมในแถวพืชหลัก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฝ้าย เป็นต้น สำหรับรูปแบบของกิจกรรม พืช-สัตว์ เช่น ปลูกพืชอาหาร สัตว์ต่าง ๆ ควบคู่กับการเลี้ยงโค การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นต้น

3.3 ระบบเกษตรผสมผสานที่มีไม้ผล ไม้ยืนต้น เป็นพืชหลัก การผสมผสานกิจกรรม พืช-พืช เช่น การใช้ไม้ผลต่างชนิด ปลูกแซม เช่น ในกรณีโกโก้แซมในสวนมะพร้าว การปลูกพืชตระกูลถั่วในแถวไม้ผลยืนต้น การปลูกพืชต่างระดับ เป็นต้น รูปแบบกิจกรรม พืช-สัตว์ โดยการเลี้ยงสัตว์ เช่น โคในสวนไม้ผล สวนยางพารา การปลูกพืชอาหารสัตว์ในแถวไม้ผล ไม้ยืนต้น แล้วเลี้ยงโคควบคู่จะมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

4. แบ่งตามลักษณะของสภาพพื้นที่เป็นตัวกำหนด

4.1 ระบบเกษตรผสมผสานในพื้นที่สูง ลักษณะของพื้นที่จะอยู่ในที่ของภูเขาซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ป่าแต่ได้ถูกหักล้างถางพง มาทำพืชเศรษฐกิจและพืชยังชีพต่าง ๆ ส่วนใหญ่พื้นที่มีความลาดชันระหว่าง 10-50% ดั้งเดิมเกษตรกรจะปลูกพืชใน ลักษณะเชิงเดี่ยวอายุสั้น เช่น ข้าว ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว ผักต่าง ๆ ซึ่งมักจะเกิดปัญหาของการทำลายทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม มีการชะล้างหน้าดินสูง ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงรวดเร็ว มีผลกระทบต่อผลผลิตพืชใน ระยะยาว ฉะนั้น รูปแบบของการทำการเกษตรผสมผสานจะช่วยรักษาหรือชะลอความสูญเสียลงได้ระดับหนึ่ง การ ดำเนินการอาจทำในรูปของวนเกษตร การปลูกไม้ผลไม้เมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ผสมผสาน เช่น ได้มีการศึกษาระบบพืช แซมของไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ บ๊วยแซมด้วยท้อ บ๊วยแซมด้วยพลับ พลับแซมด้วยท้อ และพลับแซมด้วยพลับ ทั้งนี้ การจัดการดินโดยทำขั้นบันได เพื่อลดการพังทะลายของดินพร้อมทั้งทำการปลูกหญ้าแฝกตามขอบบันได ผลการศึกษา ในระยะแรกขณะที่ไม้ผลยังไม่ให้ผลผลิต ได้นำพืชอายุสั้นปลูกในแถวไม้ผล ได้แก่ ถั่วแดง และข้าวไร่ ซึ่งได้ผลผลิตถั่ว แดง 82 กก./ไร่ ข้าวไร่เจ้าฮ่อ และข้าวเจ้าอาข่า ให้ผลผลิต 302 และ 319 กก./ไร่ ตามลำดับ นอกจากนี้การเจริญ เติบโตของแฝกค่อนข้างดี มีใบแฝกปริมาณมาก ซึ่งจะทำการเกี่ยวใบแฝกแล้วนำมากองเป็นระยะในระหว่างขั้นบันได และให้สลายตัวใช้เป็นปุ๋ยหมักและเพิ่มอินทรีย์วัตถุ เกิดประโยชน์ต่อไม้ผลหลัก มีการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสม ได้แก่ การผสมผสานระบบปลูกพืชร่วมกับแถบไม้พุ่ม (Alley Cropping) หรือแถบหญ้า (Grass Strip Cropping) ตามแนวระดับในพื้นที่ความลาดชัน 10-50% ตัวอย่างของไม้แถบ เช่น กระถิน แคฝรั่ง แคบ้าน ถั่วมะแฮะ ครามป่า ต้นเสียว เป็นต้น สำหรับพืชแซมในแถวไม้พุ่ม ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว พืชอาหารสัตว์ เช่น ถั่วดำ ถั่วเล็บมือนาง ถั่วแปบ ถั่วนิ้วนางแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หญ้ารูซี่ เนเปียร์ กินี บาเฮีย แฝกหอม เป็นต้น
4.2 ระบบเกษตรผสมผสานในพื้นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดอนอาศัยน้ำฝน มีการปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ เป็นหลัก รองลงมาจะเป็นไม้ผลยืนต้น ข้าวไร่ การจัดการในรูปผสมผสาน ได้แก่ การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ตลอดจนไม้ ้ใช้สอยร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านผลผลิต รายได้ ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดีขึ้นได้ การปลูก พืชเศรษฐกิจแซมด้วยพืชอาหารสัตว์ ซึ่งมีรายงานผลการดำเนินการปลูกข้าวไร่แซมด้วยพืชอาหารสัตว์พวกเซ็นโตรซีมา และแกรมสไตโล จะทำให้ทั้งผลผลิตข้าวและถั่วต่าง ๆ ซึ่งใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ต่อไป การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไร่ ่เศรษฐกิจอายุสั้น หรือข้าวไร่บางส่วน มาทำกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอาหารสัตว์ประเภทต่าง ๆ ควบคู่กันไป จะเป็นการสร้างความหลากหลายของระบบได้มากขึ้นและช่วยลดความเสี่ยง

4.3 ระบบเกษตรผสมผสานในพื้นที่ดอน โดยทั่วไปในพื้นที่ดอนจะมีการปลูกพืชไร่เศรษฐกิจต่าง ๆ เชิงเดี่ยวเป็นหลัก ลักษณะของการทำการเกษตรผสมผสานอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น ลักษณะการปลูกพืชแซม โดยใช้พืชตระกูลถั่วแซม ในแถวพืชหลักต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ฝ้าย มันสำปะหลัง ฯลฯ การเปลี่ยนพื้นที่เป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอยผสมผสาน และอาจจะมีพืชตระกูลถั่วแซมในแถวพืชหลักในระยะแรก ๆ อีกแนวทางหนึ่ง ได้แก่ การใช้พื้นที่มาดำเนินการเลี้ยง ปศุสัตว์ เช่น โค และปลูกพืชอาหารสัตว์ควบคู่กันไป เป็นต้น

4.4 ระบบเกษตรผสมผสานในพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นนาข้าวแบบแผนการปลูกพืชส่วนใหญ่จะเป็นข้าว อย่างเดียว ข้าว-ข้าว, ข้าว-พืชไร่เศรษฐกิจ, ข้าว-พืชผักเศรษฐกิจ, พืชผัก-ข้าว-พืชไร่, พืชไร่-ข้าว-พืชไร่ เป็นต้น การจะปลูกพืชได้มากครั้งในรอบปีขึ้นอยู่กับระบบการชลประทานเป็นหลัก การเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่นี้จะมี ีรูปแบบและกิจกรรมที่ดำเนินการเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 3.1 (ระบบเกษตรผสมผสานที่มีข้าวเป็นพืชหลัก) สำหรับในพื้นที่ที่มีระดับน้ำสูง นอกจากจะทำการปลูกข้าวขึ้นน้ำแล้ว ยังมีลู่ทางพัฒนาและปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อทำ กิจกรรมการเลี้ยงปลาในบ่อได้ด้วยรูปแบบการเกษตรผสมผสานหลัก ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ยังอาจแบ่งย่อยออกไปได้ ้อีกหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้หลักการอะไรมาเป็นตัวกำหนด ซึ่งจะมีความคิดหลากหลายแตกต่างกันไป เช่น การใช้ลักษณะของทรัพยากรน้ำเป็นตัวกำหนดก็จะมีรูปแบบเกษตรผสมผสานแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เกษตรผสมผสาน ในพื้นที่เขตใช้น้ำฝนและเกษตรผสมผสานในพื้นที่เขตชลประทาน นอกจากนี้ในเขตชลประทานก็สามารถแบ่งเป็นกลุ่ม ย่อยได้อีกตามระบบของชลประทาน คือ ชลประทานที่มีเขื่อนกักเก็บน้ำและมีคลองส่งน้ำไปในไร่-นาชลประทานโดย การสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแหล่งน้ำ ระบบบ่อบาดาลน้ำตื้น น้ำลึก ตลอดจนระบบการใช้น้ำหยด เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้ คุณสมบัติของดินเป็นตัวกำหนด ก็จะสามารถกำหนดรูปแบบของการเกษตรผสมผสานได้ดังนี้ คือ เกษตรผสมผสานใน พื้นที่ดินเปรี้ยว พื้นที่ดินเค็ม พื้นที่ดินด่าง และพื้นที่ดินพรุ เป็นต้น ถึงแม้จะมีการแบ่งรูปแบบการเกษตรผสมผสานได้ หลายอย่าง แต่การดำเนินการตามกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย พืช-พืช พืช-สัตว พืช-ปลา สัตว์-ปลาและพืช-สัตว์- ปลา จะมีลักษณะเป็นไปในทำนองเดียวกัน แล้วแต่ว่าในรูปแบบต่าง ๆ จะมีศักยภาพในการดำเนินการมากน้อยแตกต่าง กันออกไปตามลักษณะพื้นที่ ทรัพยากร และสภาพเศรษฐกิจ สังคม อย่างไรก็ตามการที่จะนำองค์ประกอบด้าน พืช สัตว์ ประมง มาดำเนินการผสมผสานเข้าด้วยกันในระบบการเกษตรนั้น ย่อมที่จะมีทั้งปฏิสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลและเชิงแข่งขัน ทำลายกัน ซึ่งพอที่จะกล่าวได้ดังนี้

เกษตรผสมผสานที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงเกื้อกูล

1. เกื้อกูลกันระหว่างพืชกับพืช

พืชตระกูลถั่วช่วยตรึงธาตุไนโตรเจนให้กับพืชชนิดอื่น
พืชยืนต้นให้ร่มเงากับพืชที่ต้องการแสงแดดน้อย เช่น กาแฟ โกโก้ ชา สมุนไพร ฯลฯ
พืชเป็นอาหารและที่อยู่อาศัยให้กับแมลงศัตรูธรรมชาติ เพื่อช่วยกำจัดศัตรูพืชไม่ให้เกิดระบาดกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การปลูกถั่วลิสงระหว่างแถวในแปลงข้าวโพด จะช่วยให้แมลงศัตรูธรรมชาติได้มาอาศัยอยู่ในถั่วลิสงมาก และจะช่วยกำจัดแมลงศัตรูของข้าวโพด
พืชยืนต้นเป็นที่อยู่อาศัยและอาหารแก่พืชประเภทเถาและกาฝาก เช่น พริกไทย พลู ดีปลี กล้วยไม้ ฯลฯ
พืชที่ปลูกแซมระหว่างแถวพืชหลัก จะช่วยป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้นแย่งอาหารกับพืชหลักที่ปลูก เช่น การปลูกพืช ตระกูลถั่วเศรษฐกิจในแถวข้าวโพด มันสำปะหลัง ฝ้าย เป็นต้น
พืชแซมระหว่างแถวไม้ยืนต้นในระยะเริ่มปลูกจะช่วยบังลมบังแดด และเก็บความชื้นในดินให้กับพืชยืนต้น เช่น การปลูกกล้วยแซมในแถวไม้ผลต่าง ๆ ในแถวยางพารา เป็นต้น
พืชช่วยไล่และทำลายแมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้ามาทำลายพืชที่ต้องการอารักขา เช่น ตะไคร้หอม ถั่วลิสง ดาวเรือง แมงลัก โหระพา หม้อข้าวหม้อแกงลิง ฯลฯ
2. เกื้อกูลกันระหว่างพืช สัตว์ ประมง

เศษเหลือของพืชจากการบริโภคของมนุษย์ใช้เป็นอาหารสัตว์และปลา
พืชยืนต้นช่วยบังลม บังแดด บังฝน ให้กับสัตว์
พืชสมุนไพรเป็นยารักษาโรคให้กับสัตว์
ปลาช่วยกินแมลงศัตรูพืช วัชพืช ให้กับพืชที่ปลูกในสภาพน้ำท่วมขัง เช่น ข้าว
ปลาช่วยให้อินทรีย์วัตถุกับพืช จากการถ่ายมูลตกตะกอนในบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยกับพืชได้
ห่าน เป็ด แพะ วัว ควาย ฯลฯ ช่วยกำจัดวัชพืชในสวนไม้ผล ไม้ยืนต้น
มูลสัตว์ทุกชนิดใช้เป็นปุ๋ยกับพืช
ผึ้งช่วยผสมเกสรในการติดผลของพืช
แมลงที่เป็นประโยชน์หลายชนิดได้อาศัยพืชเป็นอาหารและที่อยู่อาศัย
จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายซากพืชและสัตว์ให้กลับกลายเป็นปุ๋ย
แมลงศัตรูธรรมชาติหลายชนิด ช่วยควบคุมประชากรแมลงศัตรูพืชไม่ให้ขยายพันธุ์มากจนเกิดการแพร่ระบาด ต่อพืชที่ปลูก
เกษตรผสมผสานที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงแข่งขันทำลาย
1. แข่งขันทำลายระหว่างพืชกับพืช

พืชแย่งอาหาร น้ำและแสงแดด กับพืชอื่น เช่น การปลูกยูคาลิปตัสร่วมกับพืชไร่และข้าว ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ยูคาลิปตัสแย่งน้ำธาตุอาหารจากต้นปอและข้าว เป็นต้น มีผลทำให้พืชเหล่านั้นได้ผลผลิตลดลง
พืชเป็นอาหารและที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของศัตรูพืชและพืชในนิเวศน์เดียวกัน เช่น ข้าวโพดเป็นพืชอาศัยของ หนอนเจาะสมออเมริกันและเพลี้ยอ่อนของฝ้าย
2. แข่งขันทำลายระหว่างพืช สัตว์ ประมง

การเลี้ยงสัตว์จำนวนมากเกินไป จะให้ปริมาณพืชทั้งในสภาพที่ปลูกไว้และในสภาพธรรมชาติไม่เพียงพอ เกิดความไม่สมดุลย์ ซึ่งจะมีผลต่อสภาพแวดล้อมเสื่อมลงได้
มูลสัตว์จากการเลี้ยงสัตว์มีจำนวนมากเกินไป เช่น การเลี้ยงหมูมากเกินไปมีการจัดการไม่ดีพอ จะเกิดมลพิษต่อ ทรัพยากรธรรมชาติรอบด้านทั้งในเรื่องของน้ำเสีย อากาศเป็นพิษหรือการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในหลายท้องที่ก็ประสบ ปัญหาเกิดภาวะน้ำเน่าเสีย เป็นต้น
การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะเกิดพิษตกค้างในน้ำ และผลิตผลที่เป็นพิษต่อสัตว์และปลา
การปลูกพืชเพื่อให้ผลผลิตอย่างใดอย่างหนึ่งสูงสุด กำไรสูงสุด โดยมีการใช้ปัจจัยการผลิตหลายด้านรวมทั้ง สารเคมีต่าง ๆ จะมีผลทำให้สภาพแวดล้อมของสัตว์ที่เป็นประโยชน์ เช่น แมลงศัตรูธรรมชาติลดจำนวนลง เปิด โอกาสให้ศัตรูพืชเพิ่มปริมาณขึ้นและจะทำความเสียหายให้แก่พืชปลูก

fjJynOnlXO0


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 22:16:17
กระทู้ดีๆมีสาระประโยชน์แบบนี้ปักหมุดแล้วสะดวกในการติดตามของแฟนคลับมากเลยครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 สิงหาคม 2013, 22:25:45
ยินดีตวยครับที่กระทู้นี้ได้ฤกษ์ปักหมุดเสียที ไม่ต้องตามหา :)


กระทู้ดีๆมีสาระประโยชน์แบบนี้ปักหมุดแล้วสะดวกในการติดตามของแฟนคลับมากเลยครับ ;D

 :D  :D  ขอบคุณครับ และต้องขอขอบคุณ Admin อีกครั้งที่ช่วยปักหมุดให้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 สิงหาคม 2013, 21:01:25
THE FARMER เกมเกษตรกร 13 สิงหาคม 2556

UKLUQabuLUc


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 สิงหาคม 2013, 21:39:23
สำรวจท้องนายามเย็นครับ ข้าวยืดตัวสูงขึ้น การใส่ปุ๋ยอาจต้องได้หาปุ๋ยอินทรีย์มาเสริมบ้าง หากช่วงนี้ใส่ปุ๋ยเคมีเกรงว่าจะงามเกินไปเดี๋ยวจะสูงและล้มง่ายครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 สิงหาคม 2013, 21:48:00
มารู้จักพันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกตามริมคันนาหรือตามข้างทางท้องทุ่งกันบ้างครับ

สะเดา


ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis  Valeton
 
ชื่อสามัญ : Siamese neem tree, Nim , Margosa, Quinine
 
วงศ์ :   Meliaceae
 
ชื่ออื่น :  สะเลียม (ภาคเหนือ)  กะเดา (ภาคใต้)
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 5-10 เมตร เปลือกต้นแตกเป็นร่องลึกตามยาว ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับรูปใบหอก กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. โคนใบมนไม่เท่ากัน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งขณะแตกใบอ่อน ดอกสีขาวนวล กลีบเลี้ยงมี 5 แฉก โคนติดกัน กลีบดอกโคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ผล รูปทรงรี ขนาด 0.8 - 1 ซม. ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว สุกเป็นสีเหลืองส้ม เมล็ดเดี่ยว รูปรี  
ส่วนที่ใช้ : ดอกช่อดอก  ขนอ่อน ยอด เปลือก ก้านใบ กระพี้ ยาง แก่น ราก ใบ ผล ต้น เปลือกราก น้ำมันจากเมล็ด
 
สรรพคุณ :

ดอก ยอดอ่อน  -  แก้พิษโลหิต กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ คันดุจมีตัวไต่อยู่ บำรุงธาตุ ขับลม ใช้เป็นอาหารผักได้ดี

ขนอ่อน - ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ

เปลือกต้น - แก้ไข้ เจริญอาหาร แก้ท้องเดิน บิดมูกเลือด

ก้านใบ - แก้ไข้ ทำยารักษาไข้มาลาเรีย

กระพี้ - แก้ถุงน้ำดีอักเสบ

ยาง - ดับพิษร้อน

แก่น - แก้อาเจียน ขับเสมหะ

ราก - แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ ซึ่งเกาะแน่นอยู่ในทรวงอก

ใบ,ผล - ใช้เป็นยาฆ่าแมลง บำรุงธาตุ

ผล มีสารรสขม - ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ และยาระบาย แก้โรคหัวใจเดินผิดปกติ

เปลือกราก - เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง

น้ำมันจากเมล็ด - ใช้รักษาโรคผิวหนัง และยาฆ่าแมลง

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

เป็นยาขมเจริญอาหาร
ช่อดอกไม่จำกัด ลวกน้ำร้อน จิ้มน้ำปลาหวาน หรือน้ำพริก หรือใช้เปลือกสด ประมาณ 1 ฝ่ามือ ต้มน้ำ 2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1/2 ถ้วยแก้ว

ใช้เป็นยาฆ่าแมลง
สะเดาให้สารสกัดชื่อ Azadirachin ใช้ฆ่าแมลงโดยสูตร สะเดาสด 4 กิโลกรัม ข่าแก่ 4 กิโลกรัม  ตะไคร้หอม 4 กิโลกรัม นำแต่ละอย่างมาบดหรือตำให้ละเอียด หมักกับน้ำ 20 ลิตร 1 คืน น้ำน้ำยาที่กรองได้มา 1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ใช้ฉีดฆ่าแมลงในสวนผลไม้ และสวนผักได้ดี โดยไม่มีพิษและอันตราย

สารเคมี :
          ผล   มีสารขมชื่อ bakayanin
          ช่อดอก  มีสารพวกไกลโคไซด์ ชื่อ nimbasterin 0.005% และน้ำมันหอมระเหยที่มีรสเผ็ดจัดอยู่ 0.5%  นอกนั้นพบ  nimbecetin, nimbesterol, กรดไขมัน และสารที่มีรสขม
          เมล็ด  มีน้ำมันขมชื่อ margosic acid 45% หรือบางที่เรียก Nim Oil และสารขมชื่อ nimbin, nimbidin
          Nim Oil  มี nimbidin  เป็นส่วนมากและเป็นตัวออกฤทธิ์มีกำมะถันอยู่ด้วย
 
การขยายพันธุ์สะเดา
ใช้วิธีเพาะเมล็ด ซึ่งสามารถทำได้จำนวนมาก เพราะปริมาณของ ผลสะเดามีมากในทุก ๆ ปี แต่ไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้ได้นาน เพราะเมล็ดจะสูญเสียเปอร์เซ็นต์ความงอกงามได้เร็วมาก หลังจาก เก็บผล สุกมาและเอาเนื้อออกหมดแล้วล้างเมล็ดให้สะอาด นำไปเพาะทันที จะงอก ได้ดีมาก เมื่อสะเดาเจริญเติบโตจะติดผลเมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไป และให้ผลผลิต เต็มที่เมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไปปริมาณของผลสะเดาจะอยู่ระหว่าง 10-50 กก./ต้น/ ปี

ชนิดของสะเดา
สะเดา แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. สะเดาอินเดีย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟีนเลื่อย ปลายของฟันเลื่อยแหลมโคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลมเรียวแคบมากคล้ายเส้นขร ผลสุกในเดือน ก.ค.-ส.ค.
2. สะเดาไทย มีลักษณะของใบหยักเป็นฟันเลื่อย แต่ปลายของฟันเลื่อยทู่ โคนใบเบี้ยวแต่กว้างกว่า ปลายใบแหลม ผลสุกในเดือน เม.ย.- พ.ค.
3. สะเดาช้าง หรือต้นเทียม ไม้เทียม ขอบใบจะเรียบ หรือปัดขึ้นลงเล็กน้อย โคนใบเบี้ยว ปลายเป็นติ่งแหลม ขนาดใบและผลใหญ่กว่า 2 ชนิดแรก ผลสุกในเดือน พ.ค.- ส.ค.
** ต้นสะเดาอินเดีย และสะเดาไทย เป็นชนิด (species) เดียวกัน แต่ต่างพันธุ์ (variety) ส่วนสะเดาช้างหรือต้นเทียม ไม้เทียม จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับสะเดาไทย และสะเดาอินเดีย แต่คนละชนิด (species) สะเดาทั้ง 3 ชนิด นี้จะมีลักษณะ ใบและต้นแตกต่าง กันดังกล่าวมาแล้ว

การปลูกสะเดา

- การเตรียมพื้นที่ ไถพรวนปรับพื้นที่ให้เรียบ เก็บเศษไม้และวัชพืช สุมเผาใน ช่วงฤดูร้อน แล้วปักหลักกำหนดระยะปลูก
- ระยะปลูก ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการปลูก เช่น ต้องการไม้ขนาดเล็ก ใช้ระยะปลุก 1×2 หรือ 2×2 เมตร ต้องการไม้ใหญ่ สำหรับใช้ในการก่อสร้างและ ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ระยะปลูก 2×4 หรือ 4×4 เมตร ต้องการเมล็ดไปทำสารฆ่าแมลง ใช้ระยะปลูก 6×6 เมตร แต่เพื่อไม่ให้เสียพื้นที่ อาจปลูกระยะถี่ก่อน เมื่อเรือนยอด เบียดชิดกันจึงตัดสะเดาบางส่วนไปใช้ประโยชน์ ให้ต้นสะเดาที่เหลือ มีระยะห่างตาม วัตถุประสงค์การปลูกต่อไป
- หลุมปลูก ขนาดที่เหมาะสม คือ กว้างxยาวxลึก ประมาณ 25×25x25 ซม.
- วิธีปลูก หลังจากขุดหลุมปลูกแล้ว ตากดินประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อฆ่าเชื้อโรค ในดิน แล้วจึงใส่ปุ่ยร็อคฟอสเฟส รองก้นหลุม อัตรา 150-200 กรัมต่อหลุม หรือครึ่งกระป๋องนม แล้วนำกล้าไม้ที่เตรียมไว้ ย้ายลงปลูก ขนาดกล้าไม้ที่ เหมาะสมควรสูง 8-12 นิ้ว อายุประมาณ 4-5 เดือน ฤดูปลูก ควรเป็นฤดูฝน โดยเลือกปลูกหลังจากวันที่ฝนตกหนัก ฉีกถุงพลาสติกใส่กล้าออก วางกล้าลงตรง กลางหลุม กลบดินและกดรอบๆ โคนต้นให้แน่น

การดูแลรักษา


1. การกำจัดวัชพืช ในปีแรกจำเป์นต้องเอาใจใส่กำจัดวัชพืชออกบ้าง เพื่อไม่ให้สูงคลุมเบียดบังแย่งแสง และอาหาร ต้นสะเดา
2. การใส่ปุ๋ย เมื่อกล้าไม้ที่ปลูกตั้งตัวแล้ว ควรเร่งการเจริญเติบโตด้วยการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อน กาแฟ โดยการ พรวนดินรอบโคนต้น แล้วปุ๋ยตาม
3. การริดกิ่ง หากต้องการให้สะเดามีลำต้นตรงเปลา ใช้ประโยชน์ในการแปรรูปได้มากขึ้น ควรหมั่นริดกิ่งอยู่ สม่ำเสมอ
4. การป้องกันไฟ ควรทำแนวกันไฟกว้างประมาณ 6-8 เมตร รอบแปลงปลูก เพื่อป้องกันไฟไหม้ ในฤดูแล้ง

การเก็บเกี่ยวผลสะเดา

สะเดาจะเริ่มติดผลเมื่ออายุ 3-5 ปี ให้ทำการเก็บผลสะเดาสุกจากต้นหรือผลที่ ร่วงใหม่ๆ รีบนำมาแยกเนื้อหุ้มผลออกจากเมล็ด แล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำ เมล็ดไปตากแดด 1-2 วัน แล้วนำไป ผึ่งลมในที่ร่มจนแห้งสนิท จึงค่อยบรรจุใส่ภาชนะ ที่มีอากาศถ่ายเท ได้ดี เช่นกระสอบป่าน ถุงตาข่ายไนล่อน เป็นต้น เก็บไว้ในที่แห้งเย็น ไม่อับชื้น เพื่อป้องกันเชื้อรา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 สิงหาคม 2013, 22:01:24
ขี้เหล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Senna siamea  (Lam.) Irwin & Barneby
 
ชื่อสามัญ :   Cassod tree, Thai copper pod
 
วงศ์ :   Leguminosae - ceasalpinioideae
 
ชื่ออื่น :  ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี) ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง, สุราษฎร์ธานี) ผักจี้ลี้ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) แมะขี้แหละพะโด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (มลายู-ปัตตานี)
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแคบ เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาว ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 13-19 ใบ รูปรี กว้าง 1.5 ซม. ยาว 4 ซม. ปลายใบเว้าตื้นๆ โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ก้านใบร่วมสีน้ำตาลแดง ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงกลม มี 3- 4 กลีบ ปลายมน กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายมน โคนเรียว หลุดร่วงง่าย ก้านดอกยาว 1-1.5 ซม. เกสรเพศผู้มีหลายอัน ผล เป็นฝักแบนยาว กว้าง 1.3 ซม. ยาว 15-23 ซม. หนา สีน้ำตาล เมล็ดมีหลายเมล็ด
ส่วนที่ใช้ :  ดอก ราก ลำต้นและกิ่ง ทั้งต้น เปลือกต้น แก่น ใบ ฝัก เปลือกฝัก ใบแก่
 
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

ใบ     รสขม ถ่ายพรรดึก ถ่ายกระษัย ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ระดูขาว แก้นิ่ว ตำพอกแก้เหน็บชา แก้บวม บำรุงโลหิต  ดับพิษโลหิต ดองสุราดื่มก่อนนอน แก้นอนไม่หลับ ใบอ่อน, ดอกตูมและแก่น -มีสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิดจึงมีฤทธ์  เป็นยาระบาย ใช้ใบอ่อนครั้งละ 2-3 กำมือ ต้มกับน้ำ 1-1.5 ถ้วย เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว    นอกจากนี้ยังพบสารซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับ โดยใช้วิธีนำมาดองเหล้า ดื่มก่อนนอน

ดอก  รสขม แก้โรคประสาท แก้นอนไม่หลับ แก้หืด แก้รังแค เป็นยาระบาย

ฝัก    รสขม แก้ไข้พิษเพื่อปิตตะ ไข้เพื่อเสมหะ

เปลือกฝัก รสขมเฝื่อน แก้เส้นเอ็นตึง แก้กระษัย

เปลือกต้น รสขม แก้กระษัย แก้ริดสีดวงทวาร

กระพี้       รสขมเฝื่อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้กระษัยเส้นเอ็น

แก่น        รสขมเฝื่อน ถ่ายพิษถ่ายเส้น ถ่ายม้าม แก้กระษัย แก้เหน็บชา แก้ไข้เพื่อกระษัย ขับโลหิต แก้เตโชธาตุพิการ ทำให้ตัวเย็น แก้แสบตา    แก้กามโรค หนองใส

ราก         รสขม แก้ไข้ แก้ไข้กลับ ไข้ช้ำ รักษาแผลกามโรค

ประโยชน์


การใช้ประโยชน์ทางด้านเนื้อไม้ แปรรูปใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น เสา รอด ตง เครื่องเรือนอย่างดี, เป็นฟืนให้ความร้อน 4,441 แคลอรี่/กรัม ถ้าเป็นถ่านให้ความร้อนสูง 6,713 - 7,036 แคลอรี่/กรัม
การใช้ประโยชน์ทางด้านนิเวศน์ ปลูกเป็นพรรณไม้ปรับปรุงดินเนื่องจากใบมีธาตุไนโตรเจนสูง ช่วยปกคลุมดินและความชื้นได้ดี เป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกเป็นป่าอนุรักษ์ในที่ที่มีความชื้นปานกลาง - สูง
การใช้ประโยชน์ทางด้านโภชนาการ ดอกและดอกอ่อนใช้รับประทานได้ ใช้ทำแกงขี้เหล็กได้
การใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร
          - ดอก รักษาโรคเส้นประสาท นอนไม่หลับ ทำให้หลับสบาย รักษาโรคหืด รักษาโรคโลหิตพิการ ผายธาตุ รักษารังแค ขับพยาธิ

          - ราก รักษาไข้ รักษาโรคเหน็บชา ทาแก้เส้นอัมพฤกษ์ให้หย่อน แก้ฟกช้ำ แก้ไข้บำรุงธาตุ ไข้ผิดสำแดง

          - ลำต้นและกิ่ง เป็นยาระบาย รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคกระษัย แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ขับระดูขาว

          - ทั้งต้น แก้กระษัย ดับพิษไข้ แก้พิษเสมหะ รักษาโรคหนองใน รักษาอาการตัวเหลือง เป็นยาระบาย บำรุงน้ำดี ทำให้เส้นเอ็นหย่อน

          - เปลือกต้น รักษาโรคริดสีดวงทวาร โรคหิด แก้กระษัยใช้เป็นยาระบาย

          - กระพี้ รสขมเฝื่อน แก้ร้อนกระสับกระส่าย บำรุงโลหิต คุมกำเนิด

          - ใบ รักษาโรคบิด รักษาโรคเบาหวาน แก้ร้อนใน รักษาฝีมะม่วง รักษาโรคเหน็บชา ลดความดันโลหิตสูง ขับพยาธิ เป็นยาระบาย รักษาอาการ นอนไม่หลับ

          - ฝัก แก้พิษไข้เพื่อน้ำดี พิษไข้เพื่อเสมหะ แก้ลมขึ้นเบื้องสูง เบื้องบน โลหิตขึ้นเบื้องบน ทำให้ระส่ำระสายในท้อง

          - เปลือกฝัก แก้เส้นเอ็นพิการ

          - ใบแก่ ใช้ทำปุ๋ยหมัก



วิธีและปริมาณที่ใช้ :

แก้อาการนอนไม่หลับ กังวล เบื่ออาหาร
ใช้ใบแห้งหนัก 30 กรัม หรือใบสดหนัก 50 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า (ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ไว้ 7 วัน คนทุกวันให้น้ำยาสม่ำเสมอ กรองกากยาออก จะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก) ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน

แก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ยาถ่าย
ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดประมาณ 2 องคุลี ใช้ 3-4 ชิ้น ใช้ใบอ่อนหรือแก่ต้มกับน้ำ 1-1½ ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มเมื่อตื่นนอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว

สารเคมี :
          เปลือก แก่นและใบ มี anthraquinone glycoside เช่น rhein, aloe-emodin, Chrysophanol  และ Sennoside ดอกมีสารพวก chromone ชื่อ Barakol และสารขมชื่อ cassiamin
 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2013, 11:25:16
สะเลียมกับลาบก่เม๊าะ
แก๋งขี้เหล็กก่ลำอยู่ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2013, 11:41:49
สะเลียมกับลาบก่เม๊าะ
แก๋งขี้เหล็กก่ลำอยู่ ;D ;D

เดียวปรับนาเสร็จก็ว่าจะปลูกซักต้นสองต้นครับเอาไว้เก็บกิ๋นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2013, 11:53:10
ผักเสี้ยว

วงศ์ : CAESALPINIACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia purpurea Linn.

ชื่อสามัญ : Orchid Tree, Purple Bauhinia.

ชื่อสามัญไทย : เสี้ยวดอกแดง , ชงโค

ชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ : กะเฮอ สะเปซี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน ) เสี้ยวหวาน (แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ผักเสี้ยวเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้น สูงประมาณ 4-6 เมตร ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปมนเกือบกลม แยกเป็น พู ปลายมนกลม กว้าง 8-16 ซม. ยาว 10-14 ซม. ขอบใบเรียบ ดอก ออกเป็นช่อออกด้านข้างหรือปลายกิ่ง 6-10 ดอก ม
ีกลีบดอก 5 กลีบ สีชมพูถึงม่วงเข้ม รูปรีกว้างตรงส่วนกลาง เมื่อบานวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 ซม. ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ลักษณะของดอกคล้ายดอกกล้วยไม้ เกสร เกสรตัวผู้ จะเป็นเส้นงอนยาวยื่นออกมาตรงกลางดอก 3 อัน ส่วนเกสรตัวเมียจะอยู่ตรงกลางดอกอีก 1 เส้น รังไข่มีขน ฝัก คล้ายฝักถั่ว ยาว 20-25 ซม. เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดรูปร่างกลมมีประมาณ 10 เมล็ด

ตำนาน ความเชื่อ และการนำไปใช้ในพิธีกรรมของชาวเหนือ

มีตำนานเล่าเรื่องเกี่ยวกับผักเสี้ยวว่า ในสมัยก่อนมรรคนายกวัดได้ไปเด็ดเอาหางใบผักเสี้ยวมา 3 เสี้ยว นำมาตำให้ละเอียด เอาน้ำที่นึ่งข้าวเทใส่ แล้วจึงนำมากรอกใส่ปากเด็กที่เป็นไข้ 2 ช้อน ทำให้เด็กหายจากอาการเป้นไข้ต่อมามีรคนมักนำไปนึ่งรับประทานกับน้ำพริก และตั้งชื่อผักชนิดนี้ว่า “ ผักเสี้ยว “ จวบจนถึงปัจจุบัน

การปลูกและขยายพันธุ์

ผักเสี้ยวเป็นพรรณไม้ที่ถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียจีนมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ตามถนนสองข้างทาง เป็นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว ให้ความร่มรื่นเป้นอย่างดี สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง ออกดอกในช่วงปลายฝนต้นหนาว เดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน

 ประโยชน์ทางยา

สรรพคุณทางสมุนไพร

ใบ รสเฝื่อน ใช้ต้ม กินรักษาอาการไอ ใบอ่อน ช่วยบำรุงร่างกาย

ดอก รสเฝื่อน ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นเครื่องยารักษาไข้ ดับพิษไข้ หรือเป็นยาระบาย

ราก รสเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยาขับลม หรือ ใช้โขลกผสมกับน้ำกินเป้นยารักษาอาการไข้ ยาระบาย

ดอกและแก่น แก้โรคบิด

ประสบการณ์พื้นบ้าน

หมอเมืองล้านนา ใช้เป็นยาสำหรับแม่กำเดือน (หญิงอยู่ไฟ) โดยเด็ดใบมา 3 เสี้ยว กินก็หาย บางรายใช้เป็นยาแก้ลมมะเฮ็งคุต โดยถากเอาเปลือก ขุดเอารากมาทุบแช่กับน้ำข้าวสารเจ้า นำมาลูบหัวและขมับ และดื่มน้ำก็หายขาดได้

สารสำคัญที่พบ

ปบ มี alkalcid พวก tannin ( Arthru, 6:70 )

ประโยชน์ทางอาหาร

ใบอ่อนของผักเสี้ยวใช้รับประทานเป็นผัก มีรสหวานมักพบมากหลังจากที่มีการผลัดใบในช่วงปลายฤดูหนาวและต้นฤดูแล้ง จะผลิใบอ่อนในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

น้ำพริกผักจิ้ม

ผักเสี้ยว เป็นที่ชาวเหนือนิยมรับประทาน ช่วงที่ต้นเสี้ยวแตกใบอ่อน มักพบจำหน่ายตามตลาดสดทั่วไป ชาวเหนือนิยมนำมาต้มจิ้มน้ำพริกต๋าแดง น้ำพริกต่อ น้ำพริกน้ำปู๋

อาหารอื่น ๆ

ชาวเหนือนำผักเสี้ยวไปแกง เช่น แกงเลียง แกงใส่ปลาแห้ง แกงใส่เนื้อ หรือนำไปแกงร่วมกับผักเจียงดา ผักหละ จะเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้น

คุณค่าทางโภชนาการต่อสุขภาพ

ผักเสี้ยว 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 47 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยโปรตีน 3.4กรัม ไขมัน 1.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม กาก 1.8 กรัม แคลเซียม 46 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 31 มิลลิกรัม เหล็ก 0.3 มิลลิกรัม เหล็ก 0.3 มิลลิกรัม วิตามิน A 1442 IU. วิตามิน B1 0.02 มิลลิกรัม วิตามิน B2 0.17 มิลลิกรัม ไนอาซิน 1.4 มิลลิกรัม วิตามิน C 10 มิลลิกรัม

ประโยชน์ใช้สอยอื่น ๆ

ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ให้ร่มเงาได้ดี และมีกลิ่นหอมอีกด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2013, 12:54:33
แค

ชื่อวิทยาศาสตร์
Sesbania grandiflora Desv

ชื่อวงศ์
PaPilionaceae

ชื่อสามัญ
Vegetable Humming Bird Sesban Agasta

ชื่อท้องถิ่น
แคแกง แคขาว

ลักษณะทั่วไป
เป็นต้นไม้พื้นบ้าน เป็นต้นไม้เนื้ออ่อน ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ทั้งดินเหนียวและดินปนทราย นิยมปลูกเป็นรั้วบ้าน คันนา ริมถนน และในบริเวณบ้าน หรือปลูกไว้เพื่อปรับพื้นที่ให้มีปุ๋ย เพราะใบแคที่ผุแล้ว ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ส่วนที่นำมารับประทานได้ มียอดอ่อน ดอกอ่อน ใบอ่อน และฝักอ่อน ออกในช่วงฤดูฝน ส่วนดอกอ่อนจะออกในช่วงฤดูหนาว ดอกแค 100 กรัม หรือ 1 ขีด ให้พลังงานต่อร่างกาย 10 กิโลแคลอรี มีเส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง และวิตามินซี การรับประทานดอกแคจะทำให้ร่างกายได้เส้นใยอาหาร ดอกแค เมื่อแก่จนกลีบร่วง ก็จะมีฝักอ่อน นำมาทำอาหารได้ เมื่อแก่จะแพร่พันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตง่าย มีอายุไม่นาน ก็ยืนต้นตาย แพร่พันธุ์ด้วยฝักที่มีเมล็ดแก่จัด การนำดอกแคมาทำอาหารต้องเด็ดเกสรสีเหลืองของดอกแคออกก่อนจะทำให้ไม่มีรสขม

สรรพคุณทางยา
เปลือกนำมาต้ม คั้นน้ำแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้มูกเลือด คุมธาตุ

ดอกแคดิบ
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 ก. (3.5 ออนซ์)
พลังงาน 30 kcal   110 kJ
คาร์โบไฮเดรต     6.73 g
ไขมัน 0.04 g
โปรตีน 1.28 g
วิตามินบี1  0.083 mg   6%
วิตามินบี2  0.081 mg   5%
ไนอะซิน  0.43 mg   3%
กรดโฟลิก (B9)  102 μg  26%
วิตามินซี  73 mg 122%
แคลเซียม  19 mg 2%
เหล็ก  0.84 mg 7%
แมกนีเซียม  12 mg 3% 
ฟอสฟอรัส  30 mg 4%
โพแทสเซียม  184 mg   4%
 




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2013, 14:33:44
มันปู

ชื่อท้องถิ่น: มันปู
ชื่อสามัญ: -
ชื่อวิทยาศาสตร์: Glochidion Perakense Hook.f.
ชื่อวงศ์: EUPHORBIACEAE
ลักษณะวิสัย/ประเภท: ไม้ยืนต้น
ลักษณะพืช: ลักษณะทั่วไป มันปูเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ มีความสูงต้นประมาณ 15 เมตร ปลายกิ่งห้อยลง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างของกิ่ง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบมนกว้าง 3.5-5 ซม. ใบยาว 7-14 ซม. แผ่นใบรูปรี ถึงรูปไข่กลับ ยาว 5-10 ซม. กว้าง 4-5.5 ซม. ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบ 5-7 คู่ ก้านใบสั้น คือมีความยาวประมาณ 3-5 มม. หน้าใบมีสีเขียวอ่อนกว่าหลังใบ ใบอ่อนและก้านอ่อนมีสีแดงหรือสีม่วงอมแดง เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ดอกเป็นดอกช่อ ดอกช่อขนาดเล็กมีสีเขียวอ่อน แยกเพศอยู่ต้นเดียวกัน ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ และจะออกดอกระหว่างเดือน มีนาคม-ตุลาคม กลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ผล แก่สีชมพูถึงแดง มีลักษณะกลมแป้น สูง 1.2-1.5 ซม. กว้าง 1.5-2 ซม. ภายในผลมี 10-12 พู ผลจะแตกเมื่อแห้ง มี 10-12 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก ค่อนข้างกลม มีเยื่อสีแดงหุ้ม ติดที่ปลายของแกนผล จะพบมันปูขึ้นในป่าน้ำกร่อย และบริเวณชายป่าพรุ มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ ของประเทศไทย  ในการปลูก มันปูเป็นพืชธรรมชาติที่พบได้ในป่าดิบ ที่ราบแถบเชิงเขา มีชาวบ้านนำมาปลูกบริเวณสวนใกล้บ้าน
 
ปริมาณที่พบ: มาก
การขยายพันธุ์: ใช้เมล็ด
อธิบายวิธีการเพาะ/ขยายพันธุ์: การขยายพันธ์ด้วยเมล็ด และการตอนกิ่ง หรือขุดเอาต้นเล็กไปปลูก ส่วนมากขึ้นเองตามธรรมชาติ

สรรพคุณทางยา ใบช่วยเจริญอาหาร รักษาแผลในกระเพาะลำไส้ ทั้งต้น ต้มแก้ไขร้อนเย็น
การใช้ประโยชน์/ส่วนที่นำไปใช้ประโยชน์: ประโยชน์ทางสมุนไพร รากและลำต้น มีสรรพคุณแก้ร้อนใน เป็นยาบำรุง
ประโยชน์ทางด้านอาหาร ชาวใต้นิยมใช้เป็นผักสดกินกับน้ำพริก หรือใช้เป็นเครื่องเคียงแกงเผ็ดและขนมจีน ส่วนที่นำมาใช้ คือ ใบและยอดอ่อน
 
แหล่งที่พบ: ป่าคลองปอม,ป่าเทือกเข้าแก้ว
ข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติม: -
ฤดูกาลที่ใช้ประโยชน์ได้: ตลอดปี



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2013, 14:40:34
กระถิน

ชื่ออื่น   กระถิน กระถินบ้าน กะเส็ดโคก กะเส็ดบก ตอเบา สะตอเทศ สะตอเบา ผักก้านถิน
            ผักหนองบก กันเชด (เขมร) กระถินดอกขาว กระถินหัวหงอก กิถินน้อย กะตง
 
ชื่อวิทยาศาสตร์    Leucaena leucocephala de Wit.   วงศ์  LEGUMINOSAE
 
ชื่อสามัญ      lpil – lpil , Lead Tree.
 
แหล่งที่พบ    พบทั่วไปของทุกภาค
 
ประเภทไม้     ลักษณะทั่วไป กระถินเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ถึงไม้ต้นขนาดเล็ก
                    สูงได้ถึง 10 เมตร ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา ใบ ประกอบแบบขนนกสองชั้น
                    เรียงสลับ ก้านแขนงสั้น มีขน ใบย่อย เรียงตรงข้าม รูปแถบหรือรูปขอบขนาน
                    แกมรูปแถบ ปลายแหลม โคนเบี้ยว ขอบมีขน ท้องใบสีนวล ดอก ออกเป็นช่อ
                    ช่อดอกออกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ช่อเป็นฝอยนุ่มมีกลิ่นหอม
                    เล็กน้อย ผล เป็นฝัก ฝักออกเป็นช่อแบนยาว เห็นเมล็ดเป็นจุดๆ ในฝักตลอดฝัก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

 
      ต้น   เป็นไม้พุ่มยืนต้นสูง 3-5 เมตร ลำต้นแก่สีน้ำตาล ขรุขระ และมักหลุดเป็นขุยออกมา
      ใบ    เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ยาว 15-30 ซม. แตกออกเป็นช่อใบย่อย 3-10 คู่
      ยาวประมาณ 10 ซม. ใบมีขนาดเล็กคล้ายใบมะขาม จำนวน 5-20 คู่ รูปขอบขนาน
      ปลายแหลมยาว 6-12 มม. กว้าง 1.5-5 มม.
      ดอก   เป็นช่อขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ กลมฟูสีขาวมีกลิ่นหอมเล็กน้อย
      ผล    เป็นฝักแบนยาว 12-18 ซม. กว้างประมาณ 2 ซม. มีเมล็ด 15-30 เมล็ด สีเขียว
              เมื่อแก่จัดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
 
การขยายพันธุ์      ใช้เมล็ด
 
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม     ดินร่วนซุยหรือดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี กระถินทนความแห้งแล้งได้ดี และเติบโตเร็ว
ส่วนที่ใช้บริโภค     ยอดอ่อน ใบอ่อน ฝักอ่อน เมล็ดอ่อน
คุณค่าทางโภชนาการ
              ยอดอ่อนของกระถิน 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย62กิโลแคลอรี
              ประกอบด้วยน้ำ 80.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โปรตีน 8.4 กรัม
              ไขมัน 0.9 กรัม กาก 3.8 กรัม แคลเซียม 137 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม
               เหล็ก 9.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 7883 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.33 มิลลิกรัม
              วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม ไนอาซีน 1.7 มิลลิกรัม วิตามินซี 8 มิลลิกรัม

สรรพคุณทางยา
         ดอก รสมัน บำรุงตับ
        ราก รสจืดเฝื่อน ขับลม ขับระดูขาว และเป็นยาอายุวัฒนะ
        เมล็ด ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม (ascariasis)
        เปลือกของกระถินมีรสฝาด เป็นยาฝาดสมานฝักของกระถินเป็นยาฝาดสมาน
        กระถินรับประทานแก้โรคท้องร่วง สมานแผล ห้ามเลือด

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
       1. สารสกัดจากใบกระถินฉีดเข้าหลอดโลหิตสุนัข ทำให้ความดันโลหิตลดลง
อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง กระตุ้นการหายใจ ฤทธิ์ลดความดันโลหิต สามารถต้าน
ได้ด้วย atropine และยาต้านฮีสตามีน ซึ่งถ้าใช้ antropine และยาต้านฮีสตามีนร่วมกัน
จะสามารถต้านฤทธิ์กระถินสมบูรณ์ และเมื่อใช้น้ำยาสกัดกระถิน กับหัวใจที่แยกออกมา
จากตัวกบและเต่า พบว่าอัตราการบีบของหัวใจลดลง และในระบบทางเดินอาหาร
ทั้งการทดลองแบบ in vitro พบว่าน้ำสกัดทำให้แรงตึงตัวและแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น
เมื่อทดลอง in vivo การบีบของกระเพาะลำไส้ตามปกติลดลง
     2. ผลเมล็ดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือดในหนูขาว แต่เมล็ดมีสาร
leucenine ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับ mimosine ซึ่งจะทำให้เป็นหมันในสัตว์ได้

 

ประโยชน์อื่น
        เมล็ดกระถินสามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับหลายชนิด เช่น สายสร้อย เข็มกลัด
เข็มขัด เปลือกให้เส้นใยสั้นใช้ทำกระดาษได้ แต่คุณภาพไม่ดี ในชนบทนิยมปลูกกันเป็น
แนวรั้วบ้าน ใบกระถินอุดมด้วยธาตุไนโตรเจนและเกลือโพแทสเซียม นำมาหมักเป็นปุ๋ยได้
ใบ ยอด ฝักและเมล็ดอ่อน ใช้เป็นอาหารของ วัว ควาย แพะ แกะ ไก่
 
คติความเชื่อ         ตามตำราหลวงกล่าวไว้ว่า กระถินเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกไว้
                           ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (อาคเนย์) โดยปลูกร่วมกับต้นสารภี
                           เชื่อว่าจะป้องกันสิ่งเลวร้ายได้
การปรุงอาหาร      ยอดอ่อน ใบอ่อน ฝักอ่อน-แก่ รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก
                          (ชาวอีสาน) ใช้เมล็ดอ่อนผสมในส้มตำมะละกอหรือรับประทานกับส้มตำ
                          (ชาวใต้)      ใช้เมล็ดอ่อน ใบอ่อนรับประทานกับหอยนางรม
ลักษณะพิเศษ    ยอดและใบอ่อนมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย มีกลิ่น

สรรพคุณ  : ยอดและฝัก  ใช้กินเป็นผัก  แก้ร้อนใน กระหายน้ำ  ช่วยให้เจริญอาหาร
                 บำรุงหัวใจ     
                 เมล็ดแก่    แก้ขับลม  ขับระดูในสตรี  บำรุงไตและตับ  แก้อาการนอนไม่หลับ
                 เป็นยาอายุวัฒนะ
(นฤมล มงคลชัยภักดิ์ :สถาบันวิจัยสมุนไพรไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2013, 14:55:29
เพกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ :    Oroxylum indicum  (L.) Kurz
 
ชื่อสามัญ :   Broken Bones Tree
 
วงศ์ :   Bignoniaceae
 
ชื่ออื่น :  มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิดไม้ (เหนือ) ลิ้นฟ้า (เลย) หมากลิ้นก้าง หมากลิ้นซ้าง (ฉาน-เหนือ) กาโด้โด้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ ดุแก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เบโก (มาเล-นราธิวาส)
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ต้น สูง 3-12 เมตรแตกกิ่งก้านน้อย ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ขนาดใหญ่ เรียงตรงข้ามรวมกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4-8 ซม. ยาว 6-12 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายยอดก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยขนาดใหญ่กลีบดอกสีนวลแกมเขียว โคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดง หนาย่น บานกลางคืน ผลเป็นฝัก รูปดาบ เมื่อแก่จะแตก ภายในเมล็ดแบน สีขาว มีปีกบางโปร่งแสง
ส่วนที่ใช้ : ราก เปลือกต้น ฝักอ่อน เมล็ด
 
สรรพคุณ :

ราก 
-  มีรสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย ใช้บำรุงธาตุ ทำให้เกอดน้ำย่อยอาหาร เจริญอาหาร
-   แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ไข้สันนิบาต
-   ใช้ภายนอก รากฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อาการอักเสบ ฟกบวม

เพกาทั้ง 5  -  คือการใช้ส่วนราก ใบ ดอก ผล ต้น รวมกันจะมีรสฝาดเย็น มีสรรพคุณสมานแผล แก้อักเสบบวม แก้ท้องร่วง บำรุงธาตุ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ไข้เพื่อลม เพื่อเลือด

ฝักอ่อน  - รับประทานเป็นผัก ช่วยในการขับผายลม บำรุงธาตุ

เมล็ด  - ใช้เป็นยาถ่าย เมล็ดแก่ใช้เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ

เปลือกต้น -รสฝาดเย็น และขมเล็กน้อย เป็นยาสมานแผล ทำน้ำเหลืองให้เป็นปกติ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับเลือดดับพิษโลหิต บำรุงโลหิต แก้เสมหะจุกคอ ขับเสมหะ แก้บิด แก้อาการจุกเสียด

เปลือกต้นตำผสมกับสุรา
-     ใช้เป็นยากวาดประซะพิษซางเด็กชนิดเม็ดเหลือง
-      แก้ละองขึ้นในปาก คอลิ้น แก้ละอองไข้
-     ใช้ฉีดพ่นตามตัวคนคลอดบุตรที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้ผิวหนังชา
-     ทารอบ ๆ ฝี แก้ปวดฝีทาแก้อาการฟกบวมอักเสบ

เปลือกต้นสดตำผสมกับน้ำส้ม  ซึ่งได้จากรังมดแดงหรือเกลือสินเธาว์
-    รับประทานขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด
-    รับประทานแก้เสมหะจุกคอ (ขับเสมหะ) ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต
นอกจากนี้เปลือกเพกา ใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น แก้เบาหวาน แก้โรคมานน้ำ เปลือกต้มรวมกับสมุนไพรหลายชนิด แยกเอาน้ำมันมาทาแก้
-     แก้องคสูตร
-    แก้ริดสีดวงทวารหนัก ทวารเบา
-    แก้ฟกบวม แก้คัน

สารเคมี

            ราก      มี D-Galatose, Baicalein, Sitosterols

            แก่น     มี Prunetin, B- sitosterols

            ใบ        มี Aloe emodin

            เปลือก  มี  Baicalein, Chrysin, 6-Methylbaicalein


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2013, 22:01:31
เสาร์นี้ถ่ายรูปที่นาครับข้าวโตขึ้นมากจะเริ่มแตกกอแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2013, 22:10:24
มีเวลาก็ ยกยอ( ตั้งจ๋ำ )  ครับ เอาปลามาเลี้ยงเป็ดและให้แมวให้ได้หลายมื้อทีเดียว หากมาเช้า ๆ ก็จะเห็น ป้า ๆ ยาย ๆ มายกยอริมคันนาผมกันส่วนใหญ่จะเอาไปทำปลาร้าขายกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2013, 22:20:10
มอเตอร์ไซด์คันใหม่ครับ ( เก่าที่อื่น ) ซื้อมา 3 พันกว่าบาทสภาพนี้เลย เอามาเปลี่ยนยางเป็นกึ่งวิบาก  เอาไว้ไปนาเพราะถนนยังไม่ได้ลาดยางยังเป็นดินแดงอยู่  รถประหยัดน้ำมันด้วยเพราะเครื่องซีซีน้อยและเป็นเครื่องยนต์ประเภท 4 จังหวะ หากซื้อรถใหม่ป้ายแดงมาลุยแบบนี้ก็เสียดายและมีโอกาสหายมากกว่าด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2013, 22:59:50
 :D...ตอนทำเทือกครับ...ผู้ดูแลฯห้องชมรมคนรักรถมาช่วยขับรถไถ..มี47มาช่วยอีกคัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2013, 23:08:02
 :D...ผมทำนาดำทั้งหมด...2ภาพบนอันนี้ตอนถอนกล้าชำเตรียมจะดำแปลง10ไร่...ส่วนภาพล่างตอนดำแปลง25ไร่
...ปล.ท่านd-maxคงลืมเช็ดหน้าเลนส์กล้อง...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2013, 23:15:26
 :D...ภาพแรกแปลง22ไร่...ภาพที่2แปลง25ไร่....ถ่ายเก็บไว้เมื่อวันที่6/8/2556ครับ...ท้ายๆแปลงน้ำท่วมคันนาหมด...ดีที่ข้าวโตพ้นน้ำ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2013, 23:18:01
 :D..ภาพแรกแปลง13ไร่...ภาพที่2แปลง10ไร่..ภาพ2ถ่ายมุมเดียวกันกับภาพที่ถอนกล้าครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 21:26:13
ภาพสวย ข้าวงาม บรรยากาศดีขนาดน้อครับ ... รถ 47 แรงบ่าติดกันทรุดแถมใส่ตัวดันดินพร้อมแสดงว่านาบ่าค่อยหล่มน้อครับ  ว่าง ๆ เอารูปมาลงฮื้อดูแหมเน้อครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 21:33:48
วันว่างวันอาทิตย์ทำที่นั่งเล่นริมนาครับ.. ใช้เศษไม้เสาไม้รั้วเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วในบ้านมาทำครับ เอาไว้นั่งเล่นตอนเย็น ๆ  ทำพอเอานั่งได้ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ครับ ข้าวฝั่ง 13 ไร่นี้เสียหายจากน้ำท่วม โดนหอยเชอรี่กินอีกเลยไม่ค่อยดูแลมาก มีหญ้าเยอะพอประมาณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 21:40:46
ต่างจากนาอีกฝั่ง 9 ไร่ที่ดำครั้งที่ 2 ที่การปลูก การปรับพื้นนาและการดูแลกำจัดหอยเชอรี่ค่อนข้างดีกว่าครับ  เดี๋ยวนาปรังก็คงดีขึ้นเพราะเริ่มคุ้นเคยกับการทำนาดำโดยรถดำนาแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 21:52:07
THE FARMER เกมเกษตรกร 15 สิงหาคม 2556

0ZoqRd4wzcQ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 22:01:08
วันว่างวันอาทิตย์ทำที่นั่งเล่นริมนาครับ.. ใช้เศษไม้เสาไม้รั้วเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วในบ้านมาทำครับ เอาไว้นั่งเล่นตอนเย็น ๆ  ทำพอเอานั่งได้ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ครับ ข้าวฝั่ง 13 ไร่นี้เสียหายจากน้ำท่วม โดนหอยเชอรี่กินอีกเลยไม่ค่อยดูแลมาก มีหญ้าเยอะพอประมาณครับ

 :D...เคยคิดทำที่นั่งแบบนี้ตั้งแต่ตอนนาปรัง...จนตอนนี้ลงนาปี..ยังไม่มีโอกาสได้ทำสักทีครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 23:23:49
 :D...ช่วงที่น้ำไหลนอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 23:28:07
 :D....งานเข้าแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 23:30:52
 :D..ขออาศัยกระทู้...พาชมทุ่งนาแถวๆเชียงแสนบ้างนะครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 23:32:44
 :D...จะพาไปรับจ้างปั่นนา..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 23:40:02
 :D...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2013, 23:44:07
 :D...ช่วงนี้ข้าวเริ่มโตพ้นน้ำพ้นหอย....เลยสลัดโคลนเข้าสวนยางบ้างครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 สิงหาคม 2013, 16:27:06
:D..ขออาศัยกระทู้...พาชมทุ่งนาแถวๆเชียงแสนบ้างนะครับ..

ยินดีมาก ๆ ครับ  รถแทรกเตอร์ทางนู่นนี่นิยมรุ่นใหญ่กันน้อครับคงทำสวนกันเยอะ แต่ละคันนี่ราคาเฉียดล้านเลยน้อครับ  ตัวบรรทุกปุ๋ยเข้าสวนยางทำเข้าท่าดีขอก๊อปปี้แบบไปลองทำแบบนี้ดูบ้างครับ  ตอนนี้ผมสนใจรถแทรกเตอร์ตัวเก่ารุ่น 34 แรงมือสองว่าจะเอาไว้ปั่นนา แต่ก็มีคนเชียร์ให้เอารุ่น 36 แรงตัวใหม่เลยก็ยังคิดหนักเหมือนกันรุ่นใหม่ตัวรถบวกตัวปั่นราคาเกือบหกแสนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 19 สิงหาคม 2013, 19:53:22
หันก๋างต่งแล้วหู้สึกว่าอบอุ่นอย่างบอกบ่าถูก ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 19 สิงหาคม 2013, 20:48:06
:D..ขออาศัยกระทู้...พาชมทุ่งนาแถวๆเชียงแสนบ้างนะครับ..

ยินดีมาก ๆ ครับ  รถแทรกเตอร์ทางนู่นนี่นิยมรุ่นใหญ่กันน้อครับคงทำสวนกันเยอะ แต่ละคันนี่ราคาเฉียดล้านเลยน้อครับ  ตัวบรรทุกปุ๋ยเข้าสวนยางทำเข้าท่าดีขอก๊อปปี้แบบไปลองทำแบบนี้ดูบ้างครับ  ตอนนี้ผมสนใจรถแทรกเตอร์ตัวเก่ารุ่น 34 แรงมือสองว่าจะเอาไว้ปั่นนา แต่ก็มีคนเชียร์ให้เอารุ่น 36 แรงตัวใหม่เลยก็ยังคิดหนักเหมือนกันรุ่นใหม่ตัวรถบวกตัวปั่นราคาเกือบหกแสนครับ

 :D...แนะนำให้เล่นตัว45แรงครับ...ตัวเล็กการใช้งานมันจำกัดนะครับ.....มือสอง+อุปกรณ์ครบ...เท่าที่ดูราคา350,000-400,000นี่สภาพใช้งานได้นานเลยครับ....แถวๆบ้านนี่ตัว47แรงเยอะสุด....ของผมเป็นรุ่นL4508di...ส่วนใหญ่ก็ลงงานนา....รับจ้างทำเทือก300ไร่...ทำนาตัวเอง70ไร่..ปีนี้ดึง47มาช่วยอีกคัน..เขาก็ทำนา60ไร่...รวมๆปีนี้ปั่นทำเทือกร่วม400กว่าไร่นี่สบายๆครับ...
 :D...ตัวบรรทุกของ..ใช้บรรทุกเครื่องพ่นยา+ถังน้ำยา+คนงานถือด้ามพ่นยา...สำหรับพ่นยาในสวนยางด้วยครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 สิงหาคม 2013, 21:12:23
:D..ขออาศัยกระทู้...พาชมทุ่งนาแถวๆเชียงแสนบ้างนะครับ..

ยินดีมาก ๆ ครับ  รถแทรกเตอร์ทางนู่นนี่นิยมรุ่นใหญ่กันน้อครับคงทำสวนกันเยอะ แต่ละคันนี่ราคาเฉียดล้านเลยน้อครับ  ตัวบรรทุกปุ๋ยเข้าสวนยางทำเข้าท่าดีขอก๊อปปี้แบบไปลองทำแบบนี้ดูบ้างครับ  ตอนนี้ผมสนใจรถแทรกเตอร์ตัวเก่ารุ่น 34 แรงมือสองว่าจะเอาไว้ปั่นนา แต่ก็มีคนเชียร์ให้เอารุ่น 36 แรงตัวใหม่เลยก็ยังคิดหนักเหมือนกันรุ่นใหม่ตัวรถบวกตัวปั่นราคาเกือบหกแสนครับ

 :D...แนะนำให้เล่นตัว45แรงครับ...ตัวเล็กการใช้งานมันจำกัดนะครับ.....มือสอง+อุปกรณ์ครบ...เท่าที่ดูราคา350,000-400,000นี่สภาพใช้งานได้นานเลยครับ....แถวๆบ้านนี่ตัว47แรงเยอะสุด....ของผมเป็นรุ่นL4508di...ส่วนใหญ่ก็ลงงานนา....รับจ้างทำเทือก300ไร่...ทำนาตัวเอง70ไร่..ปีนี้ดึง47มาช่วยอีกคัน..เขาก็ทำนา60ไร่...รวมๆปีนี้ปั่นทำเทือกร่วม400กว่าไร่นี่สบายๆครับ...
 :D...ตัวบรรทุกของ..ใช้บรรทุกเครื่องพ่นยา+ถังน้ำยา+คนงานถือด้ามพ่นยา...สำหรับพ่นยาในสวนยางด้วยครับ...

ขอบคุณครับรถเดี๋ยวจะลองหา ๆ ดูครับ และต้องขอขอบคุณมาก ๆ ครับที่เอารูปตัวบรรทุกมาให้ดูใกล้ ๆเลย ทำให้เข้าใจแบบและทำง่ายขึ้นครับ ผมว่าจะทำเอาไว้บรรทุกขี้หมูไปโรยตามนาก่อนจะไถตากครับและเอาไว้ขนย้ายกล้าคงเข้าท่าดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 สิงหาคม 2013, 21:40:23
ต้นไม้ริมคันนาน่าสนใจ

มะรุม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 
ลักษณะดอกของมะรุม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Brassicales
วงศ์: Moringaceae
สกุล: Moringa
ชนิด: M. oleifera
ชื่อทวินาม
Moringa oleifera
Lam.
มะรุม จัดเป็นพืชผักพื้นบ้านของไทย มีประโยชน์เอนกประสงค์ ทั้งทางด้านอาหาร ยาและอุตสาหกรรม เป็นไม้ยืนต้นที่โตเร็ว ทนแล้ง ปลูกง่ายในเขตร้อน อาจจะเติบโตมีความสูงถึง 4 เมตรและออกดอกภายในปีแรกที่ปลูก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ชนิดที่แตกใบย่อย 3 ชั้น ยาว 20 - 40 ซม. ออกเรียงแบบสลับ ใบย่อยยาว 1 - 3 ซม. รูปไข่ ปลายใบและฐานใบมน ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีขนเล็กน้อยขณะที่ใบยังอ่อน ใบมีรสหวานมัน ออกดอกในฤดูหนาว บางพันธุ์ออกดอกหลายครั้งในรอบปี ดอกเป็นดอกช่อ สีขาว กลีบเรียง มี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบแยกกัน ดอกมีรสขม หวาน มันเล็กน้อย ผลเป็นฝักยาว เปลือกสีเขียวมีส่วนคอดและส่วนมน เป็นระยะ ๆ ตามยาวของฝัก ฝักยาว 20 - 50 ซม. ฝักมีรสหวาน เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยม มีปีกบางหุ้ม 3 ปีก เส้นผ่าศูนย์กลางของเมล็ดประมาณ 1 ซม.

มะรุมเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบเอเชีย เช่น อินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น และยังมีในเขตเอเชียไมเนอร์และแอฟริกา เป็นไม้ปลูกง่าย เจริญได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง งอกเร็ว ใช้เวลา 2 สัปดาห์ต้นกล้าสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร

สรรพคุณ

มะรุมในทางการแพทย์จะช่วยใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน ควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง ช่วยเพิ่มและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

ใบ ใช้ถอนพิษไข้ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ แก้แผล ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขับปัสสาวะ ป้องกันมะเร็ง ลดความดันโลหิต
ยอดอ่อน ใช้ถอนพิษไข้
ดอก ใช้แก้ไข้หัวลม เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ ขับน้ำตา ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันมะเร็ง
ฝัก แก้ไข้ ป้องกันมะเร็ง ลดความดันโลหิต
เมล็ด เมล็ดปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้บวม แก้ปวดตามข้อ ป้องกันมะเร็ง
ราก รสเผ็ด หวาน ขม สรรพคุณ แก้อาการบวม บำรุงไฟธาตุ รักษาโรคหัวใจ รักษาโรคไขข้อ (rheumatism)
เปลือกลำต้น รสร้อน สรรพคุณขับลมในลำไส้ ทำให้ผายหรือเรอ คุมธาตุอ่อน ๆ แก้ลมอัมพาต ป้องกันมะเร็ง คุมกำเนิด เคี้ยวกินช่วยย่อยอาหาร
ยาง (gum) ฆ่าเชื้อไทฟอยด์ ซิฟิลิส (syphilis) แก้ปวดฟัน earache, asthma

คุณค่าทางอาหาร
ใบ ใบสดใช้กินเป็นอาหาร ใบแห้งที่ทำเป็นผงเก็บไว้ได้นานโดยยังมีคุณค่าทางอาหารสูง ใบมะรุมมีวิตามินเอสูง มีแคลเซียมสูงเกือบเท่านม มีธาตุเหล็กสูงกว่าผักขม มีวิตามีซีมากพอๆกับส้มและมีโปแตสเซียมเกือบเท่ากล้วย
ดอกฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แก้หวัดHelminths ป้องกันมะเร็ง
ฝัก ฝักมะรุม 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 32 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย เส้นใย 1.2 กรัม แคลเซียม 9 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม เหล็ก 1.5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 532 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 262 มิลลิกรัม
เมล็ด น้ำมันที่ได้จากการคั้นเมล็ดสดใช้เป็นน้ำมันปรุงอาหาร
การปรุงอาหาร ในประเทศไทย ฤดูหนาวจะมีมะรุมจำหน่ายทั่วไป ทั้งตลาดในเมืองและในท้องถิ่น คนไทยทุกภาครับประทานมะรุมเป็นผัก ชาวภาคกลางนิยมนักมะรุมอ่อนไปปรุงเป็นแกงส้ม และนำดอกมะรุมลวกให้สุกหรือดองรับประทานกับน้ำพริก สำหรับชาวอีสาน ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอกอ่อนนำไปลวกให้สุกหรือต้มให้สุก รับประทานเป็นผักร่วมกับป่นแจ่ว ลาบ ก้อย หรือนำไปปรุงเป็นแกงอ่อม ส่วนฝักอ่อนหรือฝักที่ยังไม่แก่เต็มที่นำมาปอกเปลือก หั่นเป็นท่อนและนำไปปรุงเป็นแกงส้ม หรือแกงลาวได้ นอกจากนี้ ที่จังหวัดชัยภูมิ ยังรับประทานฝักมะรุมอ่อนสด เป็นผักแกล้มร่วมกับส้มตำโดยรับประทานคล้ายกับรับประทานถั่วฝักยาว และชาวบ้านเล่าว่าฝักมะรุมอ่อนนำไปแกงส้มได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก ชาวเหนือนำดอกอ่อน ฝักอ่อนไปแกงกับปลา ในต่างประเทศ เช่น อินเดีย มีการทำผงใบมะรุมไว้เป็นอาหาร น้ำใบมะรุมอัดกระป๋อง

ประโยชน์อื่นๆ
ใช้รักษาโรคขาดอาหารในเด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบ และลดสถิติการเสียชีวิต พิการ และตาบอดได้เป็นอย่างดี
ใช้รักษาผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานให้อยู่ในภาวะควบคุมได้
รักษาโรคความดันโลหิตสูง
ช่วยเพิ่มและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ทานผลิตผลจากมะรุมในระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่เกิดมาจะไม่ติดเชื้อHIV นอกจากนี้ถ้ารับประทานอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้งยังช่วยให้คนทั่วๆไปสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง
ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ให้อยู่ในภาวะ ควบคุมได้[ต้องการอ้างอิง]
ถ้ารับประทานสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง แต่ถ้าหากเป็นก็จะช่วยให้การรักษาพยาบาลง่ายขึ้น ในบางกรณีสามารถหยุดการเจริญเติบโตของโรคร้ายได้ ถ้าใช้ควบคู่ไปกับยาแพทย์แผนปัจจุบัน
หากผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งได้รับการรักษาด้วยรังสี การดื่มน้ำมะรุมจะช่วยให้การแพ้รังสีฟื้นตัวเร็วขึ้นและมีร่างกายที่แข็งแรง
ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าท์ โรคกระดูกอักเสบ โรคมะเร็งในกระดูก โรครูมาติซั่ม
รักษาโรคตาเกือบทุกชนิด เช่น โรคตามืดตามัวเพราะขาดสารอาหารที่จำเป็น โรคตาต้อ เป็นต้น หากรับประทานสม่ำเสมอ จะทำให้ตามีสุขภาพที่สมบูรณ์
รักษาโรคลำไส้อักเสบ โรคเกี่ยวกับท้อง ท้องเสีย ท้องผูก โรคพยาธิในลำไส้
รักษาปอดให้แข็งแรง รักษาโรคทางเดินของลมหายใจ และโรคปอดอักเสบ
เป็นยาปฏิชีวนะ

ชะลอความแก่
กล่าวกันว่ามะรุมมีฤทธิ์ชะลอความแก่ เนื่องจากยังไม่พบรายงานการวิจัยเกี่ยวกับมะรุมในด้านนี้ คาดว่าเป็นการสรุปเนื่องจากมะรุมมีสารฟลาโวนอยด์สำคัญคือ รูทินและเควอเซทิน (rutin และ quercetin) สารลูทีนและกรดแคฟฟีโอลิลควินิก (lutein และ caffeoylquinic acids) ซึ่งต้านอนุมูลอิสระ ดูแลอวัยวะต่างๆ ได้แก่ จอประสาทตา ตับ และหลอดเลือดจากการเสื่อมสภาพตามอายุ การกินสารต้านอนุมูลอิสระชะลอการเสื่อมสภาพในเซลล์ร่างกาย

ฆ่าจุลินทรีย์
สารเบนซิลไทโอไซยาเนตโคไซด์และเบนซิลกลูโคซิโนเลตค้นพบในปี พ.ศ. 2507 จากมะรุมมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ สนับสนุนการใช้น้ำคั้นจากมะรุมหยอดหูแก้ปวดหู
ปัจจุบันหลังจากค้นพบแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร Helicobactor pylori กำลังมีการศึกษาสารจากมะรุมในการต้านเชื้อดังกล่าว

การป้องกันมะเร็ง
สารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ชนิดหนึ่งและสารไนอาซิไมซิน (niazimicin) จากมะรุมสามารถต้านการเกิดมะเร็งที่ถูกกระตุ้นโดยสารฟอบอลเอสเทอร์ในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
การทดลองในหนูพบว่าหนูที่ได้รับฝักมะรุมเป็นอาการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นน้อยกว่ากลุ่มทดลอง โดยกลุ่มที่กินมะรุมเนื้องอกบนผิวหนังน้อยกว่ากลุ่มควบคุม

ฤทธิ์ป้องกันตับ
งานวิจัยการให้สารสกัดแอลกอฮอล์ของใบมะรุมกรณีทำให้ตับหนูทดลองเกิดความเสียหายโดยไรแฟมไพซิน พบว่าสารสกัดใบมะรุมมีฤทธิ์ป้องกันตับ โดยมีผลกับระดับเอนไซม์แอสาเทตอะมิโนทรานสเฟอเรส อะลานีน
ทรานมิโนทรานสเฟอเรส อัลคาไลน์ฟอสฟาเทส และบิลิรูบินในเลือด และมีผลกับปริมาณไลพิดและไลพิดเพอร์ออกซิเดสในตับ โดยดูผลยืนยันจากการตรวจชิ้นเนื้อตับ สารสกัดใบมะรุมและซิลิมาริน (silymarin กลุ่มควบคุมบวก) มีผลช่วยการพักฟื้นของการถูกทำลายของตับจากยาเหล่านี้


เอกสารอ้างอิง:

Nature’s Medicine Cabinet by Sanford Holst
The Miracle Tree by Lowell Fuglie
LA times March 27th 2000 article wrote by Mark Fritz. WWW.PUBMED.GOV. (Search for Moringa) (Antiviral Research Volume 60, Issue 3, Nov. 2003, Pages 175-180: Depts. of Microbiology, Pharmaceutical Botany, Pharmacology, Faculty of Pharmaceutical Science, Chulalongkorn University, Bangkok.

นิตยสารหมอชาวบ้านปีที่ 29 ฉบับที่ 338 มิถุนายน 2550



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 สิงหาคม 2013, 21:41:46
ไผ่

ไผ่ เป็นไม้พุ่มหลายชนิดและหลายสกุลใน วงศ์หญ้า Poaceae (เดิมคือ Gramineae) วงศ์ย่อย Bambusoideae เป็นไม้ไม่ผลัดใบใน ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องๆ เช่น ไผ่จีน (Arundinaria suberecta Munro) ไผ่ป่า (Bambusa arundinacea Willd.) ไผ่สีสุก (B. flexuosa Munro และ B. blumeana Schult.) ไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata Munro) ไผ่ดำ (Phyllostachys nigra Munro).

ผลผลิตจากไผ่ที่สำคัญคือ หน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนไทย นิยมทานกันมากในเกือบทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังมีคุณสมบัติพิเศษทั้งด้านความแข็งแรงและยืดหยุ่นที่เหนือกว่าวัสดุสังเคราะห์หลายชนิด ดังนั้นจึงยังได้รับความนิยมในการทำเครื่องมือเครื่องใช้หลายประเภท ใช้ชะลอน้ำที่เข้าป่าชายเลน นั่งร้านก่อสร้างและบันได เป็นต้น

ไผ่ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 90 สกุล และ 1,000 ชนิด. ที่รู้จักกันแพร่หลาย ส่วนใหญ่จะอยู่ในสกุล ต่อไปนี้

Arundinaria
Bambusa
Chimonobambusa
Chusquea
Dendrocalamus
Drepanostachyum
Guadua angustifolia
Hibanobambusa
Indocalamus
Otatea
Phyllostachys
Pleioblastus
Pseudosasa
Sasa
Sasaella
Sasamorpha
Semiarundinaria
Shibataea
Sinarundinaria
Sinobambusa
Thamnocalamus


ไผ่ในประเทศไทยในประเทศไทยนั้น พบไผ่อยู่ 30 ชนิด ดังนี้

ไผ่ข้าวหลาม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cephalostachyum pergracile )
ไผ่คายดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa compressa)
ไผ่โจด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Arundinaria cililta)
ไผ่ซาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus strictus)
ไผ่ซางคำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus latiflorus)
ไผ่ซางนวล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus membranaceus)
ไผ่ซางหม่น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus sericeus )
ไผ่ตง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus aspe)
ไผ่ตากวาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa kurzii)
ไผ่บง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa nutans)
ไผ่บงคาย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa hosseusii)
ไผ่บงดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa tulda)
ไผ่บงป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa longispatha)
ไผ่บงหนาม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa burmanica)
ไผ่ป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa bambos)  
ไผ่เป๊าะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus giganteus)
ไผ่ผาก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa densa)
ไผ่เพ็ก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Vietnamosasa pusilla)
ไผ่รวก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thyrsostachys siamensis)
ไผ่รวกดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thyrsostachys oliveri)
ไผ่ไร่ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa albociliata)
ไผ่ลำมะลอก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa longispiculatar)
ไผ่เลี้ยง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa mulfiplex)
ไผ่หวาน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa sp.)
ไผ่สีสุก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa blumeana)
ไผ่หก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus hamiltonii)
ไผ่หลอด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Neohouzeaua mekongensis)
ไผ่หอม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa polymorpha)
ไผ่เหลือง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa vulgaris)
ไผ่เฮียะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cephalostachyum virgatum)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 สิงหาคม 2013, 22:05:43
มะยม

มะยม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Phyllanthus acidus) ภาคอีสานเรียกว่า หมากยม ภาคใต้เรียกว่า ยม เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 3 – 10 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล แตกกิ่งที่ปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย ใบประกอบ มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับกันเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20 – 30 คู่ ใบรูปขอบขนานกลมหรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองอมน้ำตาลเรื่อๆ ติดผลเป็นพวง ผลมีสามพูชัดเจน เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปร่างกลม แข็ง สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด มีทั้งพันธุ์เปรี้ยวและพันธุ์หวาน ซึ่งมีรสหวานอมฝาดผลจะอ่อนนุ่มเมื่อสุก จึงเก็บเกี่ยวก่อนผลจะหล่นจากต้น

การใช้ประโยชน์
มะยมใช้รับประทานเป็นผลไม้สดและแปรรูป เช่น แช่อิ่ม ดอง น้ำมะยม แยม หรือกวน ใช้ทำส้มตำ ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด กินกับน้ำพริก ลาบ ส้มตำ ขนมจีน ในฟิลิปปินส์ใช้ทำน้ำส้มสายชู หรือกินดิบหรือดองในเกลือและน้ำส้มสายชู ในมาเลเซียนิยมนำไปเชื่อม ในอินเดียและอินโดนีเซียนิยมนำใบมะยมไปประกอบอาหาร

ผลมะยมมีฤทธิ์กัดเสมหะและเป็นยาระบาย ใบเป็นส่วนประกอบของยาเขียวตำราไทยใช้ รากแก้ไข รักษาโรคผิวหนัง น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน ใบ ต้มน้ำอาบแก้คัน แก้ไข้ เหือด หิด อีสุกอีใส ในผลมีแทนนิน เดกซ์โทรส เลวูโลส ซูโครส วิตามินซี ในรากมี beta-amyrin, phyllanthol, แทนนิน ซาโปนิน กรดแกลลิก สารสกัดจากมะยมที่สกัดด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพดีทในการยับยั้งการเจริญของ E. coli O157:H7 และ Propionibacterium acnes


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 สิงหาคม 2013, 22:15:38
THE FARMER เกมเกษตรกร 19 สิงหาคม 2556

b30lQyuLYqc


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 สิงหาคม 2013, 21:52:14
ท้องนายามเย็นครับ  อากาศเย็นสบายค่อนข้างดีชาวนาแถวบ้านหันมาทำนาดำ นาโยนกันมากขึ้นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้เลยเท่าที่ดูแล้ว จากช่วงนาปีปีก่อน นาหว่าน 50%  นาดำ  40%  นาโยน 10%  ตอนนี้ประมาณ  นาหว่าน 15%  นาปลูก 50 %  นาโยน 35% ครับทำให้ลดปริมาณการใช้ยาคุมหญ้า   ปุ๋ยเคมี  ยาฆ่าแมลงในการกำจัดหอยเชอรี่  ได้พอสมควรครับ

นาดำของผมไม่ได้ใส่ยาคุมเลน ยาคุมหญ้าเลย ลองปล่อยเป็นแบบนี้เลยหญ้าก็มีขึ้นบ้างแต่ก็น้อยกว่านาหว่านบางแปลงที่ใส่ยาคุมหญ้าด้วยซ้ำ ส่วนนาอีกฝั่งคุมน้ำดีไม่ใส่ยาคุมเหมือนกันหญ้าน้อยกว่านี้เยอะเลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 สิงหาคม 2013, 22:33:56
คนทุกคนล้วนมีความฝันเป็นของตัวเองทั้งนั้น แต่ไม่ว่าจะฝันถึงอะไรก็ตาม ความฝันที่มีอยู่ก็คงจะสูญเปล่าถ้าหากเราปล่อยให้ความฝันเป็นความฝันอยู่อย่างนั้น ไม่เริ่มต้นลงมือทำให้มันเป็นความจริงเสียที ....  วันหยุดเสาร์อาทิตย์หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาทำที่นั่งเล่น สัปดาห์นี้ Plan ไว้จะเริ่มทำบ้านหรือว่าห้องเล็ก ๆ ไว้บนรั้วเพื่อไว้ชมวิวทุ่งนากับพักผ่อนตอนกลางวันครับ ก็เลยมองแบบบ้านเป็นแบบบ้านบนต้นไม้ครับ ตอนเด็ก ๆ ใครหลายคนคงฝันอยากมีบ้านบนต้นไม้กัน แต่เนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวยก็เลยจะลองทำบนรั้วจะได้เห็นวิวท้องนาและรับลมเย็น ๆ  การทำก็คงใช้เศษไม้ที่ไม่ใช้แล้วในบ้านมาทำ ก็ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 22 สิงหาคม 2013, 14:18:42
บ้านบนต้นไม้...เข้าท่าดีครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 สิงหาคม 2013, 20:49:48
บ้านบนต้นไม้...เข้าท่าดีครับ ;D ;D

ต้นไม้ใหญ่แถวทุ่งนาไม่ค่อยมีขอเอาบนรั้วไปก่อนครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 สิงหาคม 2013, 20:53:47
ช่วงนี้เห็นเกษตรกรหลายท่านเริ่มปลูก อินทผลัม ตอนนี้ก็ลองศึกษาดูบ้างไม่รู้ว่าจะปลูกแซมตามคันนาดีหรือไม่ กล้าที่เค้าขายต้นละ 150 บาทอายุ 7-8 เดือนแล้ว  เห็นเค้าปลูกกันก็อยากกินครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 สิงหาคม 2013, 21:15:21
อินทผลัม

อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์ม มีหลายสายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งแบบทะเลทราย ลำต้นมีความสุงประมาณ 30 เมตร มีขนาดลำต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีใบติดอยู่บนต้นประมาณ 40-60 ก้าน ทางใบยาว 3-4 เมตร ใบเป็นแบบขนนก ใบย่อยพุ่งออกหลายทิศทาง ช่อดอกจะออกจากโคนใบ ผลทรงกลมรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ออกเป็นช่อรสหวานฉ่ำ ทานได้ทั้งผลดิบและสุก ผลจะมีสีเหลืองจนถึงสีส้มและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้มเมื่อแก่จัด ผลสุกมักจะนำไปตากแห้ง สามารถเก็บไว้เป็นเวลาหลายปี มีรสชาติหวานจัด จึงมักถูกเข้าใจผิดว่ามีการนำไปเชื่อมด้วยน้ำตาล

การขยายพันธุ์
การใช้เมล็ด
การแยกหน่อจากต้นใหญ่ (ตัวเมีย) โดยเลือกต้นแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป
การเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ประโยชน์ของอินทผลัม
- ด้านคุณค่าทางโภชนาการ สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของอินทผลัม เช่น แคลเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส แมกนีเซียม และน้ำมันโวลาไตล์ ทั้งยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ซึ่งช่วยลดอาการท้องผูก รวมถึงให้พลังงานสูง บำรุงร่างกายที่อ่อนล้าให้กลับมีกำลัง นอกจากนี้ยังสามารถบำรุงกล้ามเนื้อมดลูกและสร้างน้ำนมแม่ด้วย
- ด้านการรักษาโรค อินทผลัมช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงสายตา ลดความหิว แก้กระหาย แก้โรควิงเวียนศีรษะ ช่วยลดเสมหะในลำคอ ทำให้กระดูกแข็งแรง ลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังฆ่าเชื้อโรค พยาธิและสารพิษที่ตกอยู่ในลำไส้และระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ในการกำจัดสารพิษและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในช่องท้อง

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=45985.0 (http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=45985.0)





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 สิงหาคม 2013, 21:22:26
ตัวอย่างสวนครับ  อยู่เชียงใหม่นี่เอง  เชียงรายก็เริ่มปลูกหลายที่แล้วครับ

GYehORmS3bA

LTRqSVT875U


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 สิงหาคม 2013, 21:42:02
โครงการ 1 ไร่ 1 ล้านครับ   เมื่อเช้าโทรคุยกับพี่คนขายกล้า บอกวันนี้ไปส่งแถวแม่ข้าวต้มร้อยกว่าต้น  1 ไร่ปลูกได้ 32 ต้น ผลผลิตราคาต่อกิโลกรัมไม่ใช่ถูก ๆ ต้น 1 ต้นสร้างรายได้ไม่ใช่น้อยครับ

53lHyMnVMcg



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 สิงหาคม 2013, 21:52:02
เคยเห็นรูปการปลูกปาล์มน้ำมันบนคันนามาบ้าง  คราวนี้มาดูรูปการปลูกอินทผลัมบนคันนาครับ เว้นระยะห่าง ต้นละ 8 เมตร นา 1 ไร่ก็ปลูกได้หลายต้นอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 สิงหาคม 2013, 22:10:12
น่าชื่นชมครับ

"บ้านกลางสวน" พ่อใหญ่ผาย สร้อยสระกลาง

m2f6FrAF-rg

XJnLhb1zhIk

การเกษตร มีสองกระแส
1.กระเเสหลัก "ออกแนวทุนนิยม" เพื่อสร้างรายได้
เป็นมิติการมองในภาพ Macro Economics (ทิ้งไม่ได้)
 2.กระแสรอง "ออกแนวพุทธเศรษฐศาสตร์" เพื่อการดำรงชีพ การให้คุณค่าของธรรมะ  เป็นการมองในภาพของ Micro Economics (อันนี้ก็ทิ้งไม่ได้)
ทั้ง "สองกระแส" ต้อง รักษาสมดุลในการจัดการ  

_yxkpgn-KVg


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 22 สิงหาคม 2013, 22:24:48
"บุญนิยม" ชุมชนบุญนิยมปฐมอโศก จ.นครปฐม น่าจะเป็นการเกษตรกระแสรองอีกแบบหนึ่งครับ ;) ส่วนอินทผลัมเมื่อปีที่แล้วผมซื้อผลสดที่มีผู้นำเข้ามาจากคูเวตแล้วเอาเมล็ดมาเพาะเองเป็นพันธุ์บาฮี กะจะปลูกไว้กินผลสดแต่ตอนนี้ยังอยู่ในถุงดำเหมือนเดิมหาเวลาลงหลุมครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 09:44:41
"บุญนิยม" ชุมชนบุญนิยมปฐมอโศก จ.นครปฐม น่าจะเป็นการเกษตรกระแสรองอีกแบบหนึ่งครับ ;) ส่วนอินทผลัมเมื่อปีที่แล้วผมซื้อผลสดที่มีผู้นำเข้ามาจากคูเวตแล้วเอาเมล็ดมาเพาะเองเป็นพันธุ์บาฮี กะจะปลูกไว้กินผลสดแต่ตอนนี้ยังอยู่ในถุงดำเหมือนเดิมหาเวลาลงหลุมครับ ;D

เป็นการนำผลผลิตเกษตรปลอดสารพิษมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าน้อครับ  ต้นอินทผลัมผมว่าจะลองปลูกที่บ้านซัก 6-7 ต้นก่อน รอเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จจะขึ้นคันนาใหม่ก็อาจจะปลูกตามคันไปด้วย  เดี๋ยวเอาไว้จะถ่ายรูปมาให้ชม ยังไงก็ต้องขอบคุณมาก ๆ ที่ช่วยแนะนำแหล่งความรู้หลาย ๆ เรื่องครับ มีอะไรก็มาแนะนำอีกนะครับ   :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 10:47:40
ผมว่าจะเอามะพร้าวมาปลูก แถวขอบข้างถนน บ่าหู้ว่าจดีก่อครับ รากมันก่อบ่ายาวเน๊อะ
 ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 19:35:33
 :D...ตัดหญ้าคันนาครับ....วันแรกตัดแปลง10ไร่ก่อน...แปลง10ไร่นี่ผมตัดเอง..ใช้เวลา1วัน....แปลงที่เหลือจ้างคนมาช่วยตัดครับ...วันที่2จ้างมา3คน...วันที่3จ้างมา6คน...กระเป๋าตังค์เบาหวิวเลย....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 19:42:11
 :D...ตัดหญ้าเสร็จได้ว่างบ้าง...ก็ลองทำดูครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 19:44:33
 :D...rotary weeder...หาซื้อเหล็กนิดหน่อยกับเก็บเอาเศษเหล็กที่มีอยู่มาทำ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 19:47:41
 :D...สีสเปรย์ที่มีเหลืออยู่..ก็พ่นซะหน่อย...จะได้ดูดีขึ้นมาบ้าง...(ที่จริงอยากได้สีส้ม)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 20:26:37
แจ่มครับท่านทำเอง บ่าต้องได้ซื้อ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Ck 401 ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 20:33:12
:D...สีสเปรย์ที่มีเหลืออยู่..ก็พ่นซะหน่อย...จะได้ดูดีขึ้นมาบ้าง...(ที่จริงอยากได้สีส้ม)
ใช้ทำอะไรครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:00:40
ผมว่าจะเอามะพร้าวมาปลูก แถวขอบข้างถนน บ่าหู้ว่าจดีก่อครับ รากมันก่อบ่ายาวเน๊อะ
 ;D ;D

ก็ดีหนาครับอย่างน้อยก็ได้กิ๋นได้ใช้ครับ แถวบ้านก็ปลูกตามคันนากั๋นหนาครับ เป็นมะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ยครับ ก็พอได้กินได้ขายพ่องครับ  บางคนก็ปลูกต้นกล้วยแต่ถ้าบ่าหมั่นตัดเวลาออกเครือแล้วแตกกอนักล้ำก็กลายเป็นรกไปเป็นที่อยู่ของหนูครับ  ถ้าไปภาคกลางก็เห็นปลูกต้นตาลกั๋นนักอยู่ครับรูปร่างก็คล้าย ๆ ต้นมะพร้าว แต่ว่าบ้านเฮาคงบ่าค่อยมีใครปีนต้นตาลกั๋นซักมอกฮือครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:07:31
:D...ตัดหญ้าคันนาครับ....วันแรกตัดแปลง10ไร่ก่อน...แปลง10ไร่นี่ผมตัดเอง..ใช้เวลา1วัน....แปลงที่เหลือจ้างคนมาช่วยตัดครับ...วันที่2จ้างมา3คน...วันที่3จ้างมา6คน...กระเป๋าตังค์เบาหวิวเลย....

นานักก็ต้องหาคนมาช่วยครับบ่าอั้นจะอิดล้ำไปครับ  บ้านผมนี่บ่าค่อยมีแรงงานรับจ้างครับจ้างตัดหญ้าวัน 300 บาทน้ำมันต่างหากนี้บ่ามีใครเอาซักคน ต้องเหมาเป็นไร่อย่างเดียวครับรายได้ต่อคนวันนึงเป็นพันครับ  นา 22 ไร่ของผมถ้าตัดตามคันนาก็ 2 วัน ถ้าตัดตรงคลองชลประทานก็แหม 3 วันครับ บางคนก็เอายาฆ่าหญ้าพ่นแทนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:14:12
:D...rotary weeder...หาซื้อเหล็กนิดหน่อยกับเก็บเอาเศษเหล็กที่มีอยู่มาทำ...

 :o  :o  ทำตัวแรกได้ขนาดนี้สุดยอดแล้วครับแถมเอาเศษเหล็กมาทำแหม ทำตัวสองก็จะงามขึ้นไปแหมครับทำขายได้เลยหนาครับนี่ เห็นหลายคนอยากได้กั๋นอยู่  ตอนแรกผมทำนาดำนึกว่าต้องใช้ Rotary weeder ไถทุกร่องนาคงจะเหนื่อย พอทำนาดำจริง ๆ บ่าได้เหนื่อยขนาดนั้น ทำเฉพาะที่เป็นนาดอนที่น้ำบ่าค่อยถึงที่มีหญ้าก็พอครับ หรือใครหมั่นจะทำทั้งหมดก็ได้ข้าวงามแหมน้อยเหมือนเป็นการพรวนดินครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:19:59
:D...สีสเปรย์ที่มีเหลืออยู่..ก็พ่นซะหน่อย...จะได้ดูดีขึ้นมาบ้าง...(ที่จริงอยากได้สีส้ม)
ใช้ทำอะไรครับ ;D

 :D...เอาไว้ปั่นนาครับ....ผมจะขายรถไถ..แล้วใช้เจ้าตัวนี้ทำแทนครับ...อิอิ ::)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:27:45
ปลูกยางพาราบนคันนาก็มีคนทำเหมือนกันครับ เผื่อใครสนใจครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:30:14
:D...rotary weeder...หาซื้อเหล็กนิดหน่อยกับเก็บเอาเศษเหล็กที่มีอยู่มาทำ...

 :o  :o  ทำตัวแรกได้ขนาดนี้สุดยอดแล้วครับแถมเอาเศษเหล็กมาทำแหม ทำตัวสองก็จะงามขึ้นไปแหมครับทำขายได้เลยหนาครับนี่ เห็นหลายคนอยากได้กั๋นอยู่  ตอนแรกผมทำนาดำนึกว่าต้องใช้ Rotary weeder ไถทุกร่องนาคงจะเหนื่อย พอทำนาดำจริง ๆ บ่าได้เหนื่อยขนาดนั้น ทำเฉพาะที่เป็นนาดอนที่น้ำบ่าค่อยถึงที่มีหญ้าก็พอครับ หรือใครหมั่นจะทำทั้งหมดก็ได้ข้าวงามแหมน้อยเหมือนเป็นการพรวนดินครับ

แจ่มครับท่านทำเอง บ่าต้องได้ซื้อ ;D ;D

 :D...มีบางจุดในแปลงนาครับ..ที่หญ้าขึ้น...ก็ลองทำใช้ดู...ทดลองใช้แล้วได้ผลดีระดับหนึ่งครับ...ต้องเอามาแก้ไขเพิ่มจำนวนซี่ฟันลูกกลิ้งอีกหน่อย....บางจุดในแปลงดินเริ่มแข็งแล้วคงไม่ค่อยได้ผล.....เพราะหญ้าไม่จม...

:D...ตัดหญ้าคันนาครับ....วันแรกตัดแปลง10ไร่ก่อน...แปลง10ไร่นี่ผมตัดเอง..ใช้เวลา1วัน....แปลงที่เหลือจ้างคนมาช่วยตัดครับ...วันที่2จ้างมา3คน...วันที่3จ้างมา6คน...กระเป๋าตังค์เบาหวิวเลย....

นานักก็ต้องหาคนมาช่วยครับบ่าอั้นจะอิดล้ำไปครับ  บ้านผมนี่บ่าค่อยมีแรงงานรับจ้างครับจ้างตัดหญ้าวัน 300 บาทน้ำมันต่างหากนี้บ่ามีใครเอาซักคน ต้องเหมาเป็นไร่อย่างเดียวครับรายได้ต่อคนวันนึงเป็นพันครับ  นา 22 ไร่ของผมถ้าตัดตามคันนาก็ 2 วัน ถ้าตัดตรงคลองชลประทานก็แหม 3 วันครับ บางคนก็เอายาฆ่าหญ้าพ่นแทนครับ

 :D...ผมจ้างวันละ350ครับ...น้ำมันของเราซื้อ....รอบสองผมคงใช้ยาพ่นบางจุดที่ตัดยากๆอย่างที่มีหญ้าไซ,หญ้าผักปราบ,หญ้าแพรกขึ้นและที่มีหิน...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:32:41
ปลูกยางพาราบนคันนาก็มีคนทำเหมือนกันครับ เผื่อใครสนใจครับ

 :D...ใกล้ๆแนวคันนา...ข้าวมันจะล้มก้าครับ.....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:40:38
ต้นยูคาบนคันนาส่วนใหญ่เห็นทางภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออกที่ป้อนสู่โรงงานกระดาษครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:45:33
ปลูกยางพาราบนคันนาก็มีคนทำเหมือนกันครับ เผื่อใครสนใจครับ

 :D...ใกล้ๆแนวคันนา...ข้าวมันจะล้มก้าครับ.....

ท่าจะมีพ่องครับหากข้าวต้นสูง ๆ  สงสัยต้องปลูกและทำคันนาตามทิศทางแสงของดวงอาทิตย์ครับอาจช่วยแก้ไขร่มไม้ไปบังต้นข้าวได้พ่องครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2013, 21:54:57
ต้นกล้วยและสารพัดต้นบนคันนา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 24 สิงหาคม 2013, 17:46:50
ทำคันนาใหญ่มันก่เปลืองเนื่อที่นาก่าครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 สิงหาคม 2013, 21:22:03
ทำคันนาใหญ่มันก่เปลืองเนื่อที่นาก่าครับ ;D ;D

ถ้าปลูกข้าวอย่างเดียวก็คงทำคันนาเล็ก ๆ แค่พอเดินได้ครับ แต่หากต้องการปลูกพืชตัวอื่นไปโตยก็ต้องขยายคันนาขึ้นแหมน้อย พื้นที่ที่เสียไปก็มีรายได้จากพืชตัวอื่นมาแทน หรือช่วยลดค่าอาหารการกิ๋นไปได้พ่องครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 สิงหาคม 2013, 21:42:56
ต้นข้าวในแปลงนาวันนี้เริ่มโตขึ้นช่องว่างระหว่างแถวเริ่มน้อยลงครับเพราะมีการแตกกอเพิ่มขึ้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 สิงหาคม 2013, 21:48:24
วันนี้อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งใจจะทำบ้านไม้บนรั้วแต่ไปหาดูเสาคอนกรีตขนาดที่ต้องการไม่มีครับ ต้องเลื่อนไปก่อนจะใช้เสาไม้ก็เกรงว่าจะไม่ทนเพราะดินแถวนั้นจะมีปลวกอาศัยอยู่ครับ ฐานรากเลยต้องใช้คอนกรีตดีกว่า

บรรยากาศท้องนาวันนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 สิงหาคม 2013, 21:57:22
ช่วงนี้ฝนตกบ่อย น้ำในคลองก็เยอะขึ้น ไปนาทั้งทีก็ยกยอซักหน่อยเอาปลาไปให้แมวที่บ้านกินครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 สิงหาคม 2013, 22:00:47
THE FARMER เกมเกษตรกร 23 สิงหาคม 2556

Y4P_z3RGkl8

คลิปรายการนี้ผมไม่ได้นำมาลงทุกวันนะครับเพราะดูแล้วการออกอากาศบางวันมีการเอาตอนเก่ามาออกอากาศ เลยเลือกเฉพาะตอนที่ไม่ซ้ำและมีประโยชน์มาลงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 สิงหาคม 2013, 21:20:59
วันนี้ไปเยี่ยมเพื่อนที่ บ้านกล้วย ต.สันมะเค็ด ครับ ชาวนาแถวนั้นนอกจากทำนาแล้วยัง ทำสวนลำไย สวนยาง ปลูกข้าวโพด กันด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 สิงหาคม 2013, 21:29:53
ผักเฮือด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus lacor Buch.

ชื่อวงศ์ : MORACEAE

ชื่อท้องถิ่น : ผักเฮือด เลียบ

ลักษณะ : ผักเฮือดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ และเป็นไม้ผลัดใบ ลำต้นสูง ยาว 15 เมตรในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมจะทิ้งใบหมดและในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมจะผลิใบใหม่ ใบอ่อนสีชมพู หรือชมพูอมเขียว ใบอ่อนแลดูใสแวววาวไปทั้งต้น และมีปลอกหุ้มใบในระยะเริ่มแรกพอเจริญเต็มที่ใบอ่อนกลายเป็นใบแก่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบสลับสีเขียว รูปรีหรือรูปไข่ปนขอบขนาน ปลายใบมนฟู ขอบใบเรียว ผิวใบมันกว้าง 6-7 ซม. ยาว 7-18 ซม. มีหูใบขนาดเล็ก ดอกเป็นช่อ เส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 0.4-0.6 ซม. ก้านใบสั้น ออกจากซอกใบ ผลอ่อนสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสี ชมพูแดงม่วง หรือดำ เมื่อแก่เต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม

สรรพคุณ : เปลือก ใช้เปลือกของต้นผักเฮือดประมาณครึ่ง ถึงหนึ่งฝ่ามือสับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มดื่มแก้ปวดท้อง

วิธีใช้ในการประกอบอาหาร : ยอดอ่อน ใบอ่อน กินเป็นผักสด หรือนำไปลวก นึ่ง ลวกกับนํ้ากะทิ ผักจิ้มกับนํ้าพริก วิธีที่สอง นำยอดอ่อน ใบอ่อนไปปรุงเป็นอาหารพื้นเมือง ชาวเหนือนิยมนำไปแกงกับซี่โครงหมู แกงกับปลา หรือนำไปปรุงเป็นยำผักเฮือด ชาวบ้านนำไปแกงเผ็ด แกงกะทิ หรือ ต้มกะทิปลาเค็ม ส่วนชาวอีสานบางท้องที่นำไปแกงเช่นกัน

คุณค่าทางอาหาร : ยอดผักเฮือดมีรสเปรี้ยวมัน ยอดผักเฮือด100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 39 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยเส้นใย 1.5 กรัม แคลเซียม 55 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 84 มิลลิกรัม เหล็ก 2.1 มิลลิกรัมวิตามินเอ 6,375 IU. วิตามินบี1 0.01 มิลลิกรัม ไนอะซีน 0.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 1 มิลลิกรัม




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 27 สิงหาคม 2013, 03:07:36
 :D....วันนี้ช่วงเย็นๆเอาปุ๋ยไปใส่บางจุดที่ข้าวไม่งาม...ภาพล่างเป็นแปลง22ไร่ที่เพิ่งได้ทำปีนี้...บางจุดเป็นดินเหนียวสีเหลืองข้าวไม่ค่อยขึ้น.....ท้องนายามเย็นอากาศกำลังดีครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 27 สิงหาคม 2013, 03:38:49
 :D....ภาพบนนี่เป็นแปลง25ไร่..มีคันนาใหญ่ๆกั้น..กำลังหาผักมาปลูกเพิ่ม....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 สิงหาคม 2013, 21:18:07
:D....วันนี้ช่วงเย็นๆเอาปุ๋ยไปใส่บางจุดที่ข้าวไม่งาม...ภาพล่างเป็นแปลง22ไร่ที่เพิ่งได้ทำปีนี้...บางจุดเป็นดินเหนียวสีเหลืองข้าวไม่ค่อยขึ้น.....ท้องนายามเย็นอากาศกำลังดีครับ..

ข้าวงาม บรรยากาศดี  ภาพสวยเหมือนเดิมครับ รอแหมน้อยจะขอไปเป็นชาวนาชาวสวนเต็มตัวพ่องครับ ตอนนี้สั่งต้นอินทผลัมมา 10 ต้นเริ่มปลูกในบ้านก่อน วันเสาร์เปิ้นจะแวะมาส่งฮื้อที่บ้านครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 สิงหาคม 2013, 21:31:59
สำรวจท้องนายามเย็นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 สิงหาคม 2013, 21:47:25
สำรวจดูการแตกกอครับ ถือว่าแตกกอดีอยู่ไม่ถึงกับต้องใส่ปุ๋ยเร่งแตกกออีกครับ หากเร่งมากเดี๋ยวจะพาให้ลำต้นและใบสูงไปอีกไม่อยากให้ต้นสูงมาก ปีนี้ฝนตกมากหากล้มรวงข้าวอาจแช่น้ำได้ง่าย  ๆครับ  ทำนาดำประหยัดปุ๋ยมากกว่านาหว่านพอสมควรครับ นา 9 ไร่ใส่ปุ๋ยไปไม่ถึงกระสอบก็ยังเขียวอยู่  นาดำเหนื่อยช่วงแรกสบายช่วงหลัง นาหว่านสบายช่วงแรก เหนื่อยช่วงหลังครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 11:19:51
ข้าวเขียวงามขนาดครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 20:45:51
สำรวจท้องนายามเย็นครับ

 :D...ข้าวแตกกอดีจริงๆครับ...เชื่อแล้วครับว่าดำกล้าอายุน้อยวันนี่แตกกอดีกว่ากล้าอายุครบเดือน....ยิ่งการปลูกด้วยรถดำนา..ระบบรากกล้าไม่ค่อยช้ำครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 20:50:05
 :D...ปลูกผักบนคันนา.....ถั่วลาย,ถั่วฝักยาว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 20:52:34
 :D...ข้าวโพดหวานเก็บไปต้มกินหมดละครับ...แต่ต้นที่แห้งยังมีประโยชน์...ใช้เป็นค้างให้กับถั่วที่ปลูกใหม่ได้ครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 20:56:26
 :D...กระเจี๊ยบเขียว...มะเขือมื่น.....ภาพล่างนี่ต้นลูกเดือยครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 21:00:14
 :D...ภาพล่างนี่กระเพรากับแปลงที่หว่านเมล็ดผักกาดไว้..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 21:02:41
 :D......ปลูกถั่วฝักยาวชุดใหม่กับมันแกว...ยอดมันแกวนี่เก็บไปแกงได้นะครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 21:07:04
 :D...มะละกอฮอลแลนด์...ผู้ดูแลฯD-maxเอาเมล็ดพันธุ์มาให้เพาะปลูก....กับมาโครดอกกระเจี๊ยบ.....แสงตอนเช้าๆสายๆกำลังดีเลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 21:10:33
 :D...ช่วงนี้น้ำกำลังขึ้น...ท้ายๆแปลงน้ำท่วมคันนาหมด....ดีที่ต้นข้าวสูงพ้นน้ำแล้ว...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 21:19:00
 :D...3ภาพนี่เป็นแปลง13ไร่กับ10ไร่..น้ำท่วมคันนาเหมือนกัน.....2แปลงนี้ติดแม่น้ำจัน...น้ำจันขึ้นสูง....น้ำในนาระบายไม่ออกครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 22:37:41
สำรวจท้องนายามเย็นครับ

 :D...ข้าวแตกกอดีจริงๆครับ...เชื่อแล้วครับว่าดำกล้าอายุน้อยวันนี่แตกกอดีกว่ากล้าอายุครบเดือน....ยิ่งการปลูกด้วยรถดำนา..ระบบรากกล้าไม่ค่อยช้ำครับ..

ข้าวอายุน้อยอาจฟื้นตัวเร็วอาจทำฮื้อมีเวลาเหลือที่จะถึงช่วงแตกกอเพราะอายุยังบ่าถึงช่วงแตกกอเตื้อก็ได้ครับ  วันนั้นไปแอ่วที่สันมะเค็ดเห็นเพื่อนว่า นาบางใกล้ดอยเป็นนาน้ำฟ้า บ่ามีหอยเชอรี่เลยผมว่าเหมาะที่จะลองปลูกข้าวแบบ SRI ลองดูซักแปลงเล็ก ๆ ท่าจะดีครับ  นาชลประทานแบบบ้่านผมหอยเชอรี่ระบาดหนักปลูกแบบต้นเดียวหอยท่าจะเล็มกิ๋นหมดก่อนแตกกอครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 22:38:19
ข้าวเขียวงามขนาดครับ ;D ;D

ขอบคุณครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 สิงหาคม 2013, 22:46:57
:D...ปลูกผักบนคันนา.....ถั่วลาย,ถั่วฝักยาว

สุดยอดแต้ ๆ ครับ แหมน้อยผมก็จะปลูกฮื้อได้แบบอี้เหมือนกั๋นครับ เดี๋ยวต้องขยายคันนาแหมน้อย วันนี้ไปเชียงของผ่านนาแปลงนี้แถวช่วง อ.เวียงเชียงรุ้งครับ เลยถ่ายรูปมา เจ้าของเปิ้นปลูกทั้งปาล์มน้ำมันและนาข้าวในแปลงเดียวกั๋น  ผมว่าใครที่มีนาบ่านัก 1-2 ไร่ก็น่าสนใจทำแบบนี้เหมือนกั๋นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 29 สิงหาคม 2013, 10:31:52
:D...ช่วงนี้น้ำกำลังขึ้น...ท้ายๆแปลงน้ำท่วมคันนาหมด....ดีที่ต้นข้าวสูงพ้นน้ำแล้ว...
ใส่เบ็ดก่องปลาสีจะนัก ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 สิงหาคม 2013, 22:22:37
ที่ สปป ลาว การทำนายังเป็นเกษตรธรรมชาติซะส่วนใหญ่ มีการปลูกข้าวทั้งแบบ SRI ( System of Rice Intensification ) และ SRS ( Sustainable rice system )  ซึ่งทั้งสองอย่างก็มิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 สิงหาคม 2013, 22:43:02
THE FARMER เกมเกษตรกร 27 สิงหาคม 2556

ZYlrq_HK1fk


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 สิงหาคม 2013, 21:51:27
วันนี้ขี่มอไซด์ผ่านทุ่งนาเห็นต้นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง พวก พิษโลก กข.41 47  เริ่มแทงยอดออกมาให้เห็นกันแล้วครับ สำหรับข้าวนาปีก็คงอีกเดือนกว่า ๆ ถึงจะได้เห็นยอดแบบนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 สิงหาคม 2013, 22:06:39
แวะดูบ้านน็อคดาวน์ใกล้บ้านครับ ไปไว้เป็นบ้านชายทุ่งคงสวยดี ใครสนใจลองติดต่อดูได้ เห็นว่ามีราคาตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงสองแสนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 สิงหาคม 2013, 22:18:04
วันนี้ได้ต้นกล้าอินทผลัม มา 10 ต้นครับต้นละ 150 บาท พ่อค้ามาส่งถึงบ้านเลยครับ ต้ากล้าอายุหลายเดือนแล้วต้นสูงพอสมควรเป็น สายพันธุ์ Deglet Nour  ซึ่งจัดเป็นราชินีของอินทผลัม ว่าจะลองปลูกในบ้านก่อนครับค่อยขยับขยายไปปลูกคันนาภายหลังครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 สิงหาคม 2013, 22:35:27
ท้องนายามเย็นครับ ต้นข้าวโตขึ้น วัชพืชก็โตขึ้นตามโดยเฉพาะตรงนาดอนแต่ยังคงคอนเซ็ปเดิมครับคือไม่ใช้สารเคมีอันตราย เดี๋ยวนาปรังค่อยปรับพื้นนาให้เรียบกว่านี้ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 01 กันยายน 2013, 20:37:55
ท้องนายามเย็นครับ ต้นข้าวโตขึ้น วัชพืชก็โตขึ้นตามโดยเฉพาะตรงนาดอนแต่ยังคงคอนเซ็ปเดิมครับคือไม่ใช้สารเคมีอันตราย เดี๋ยวนาปรังค่อยปรับพื้นนาให้เรียบกว่านี้ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชได้ครับ

 :D....ของผมมีหญ้าดอกเหลืองกับหนวดปลาดุกครับ...รวมๆประมาณ1ไร่...ใช้rotary weederไม่ได้เพราะดินแข็ง....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2013, 21:04:10
ท้องนายามเย็นครับ ต้นข้าวโตขึ้น วัชพืชก็โตขึ้นตามโดยเฉพาะตรงนาดอนแต่ยังคงคอนเซ็ปเดิมครับคือไม่ใช้สารเคมีอันตราย เดี๋ยวนาปรังค่อยปรับพื้นนาให้เรียบกว่านี้ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชได้ครับ

 :D....ของผมมีหญ้าดอกเหลืองกับหนวดปลาดุกครับ...รวมๆประมาณ1ไร่...ใช้rotary weederไม่ได้เพราะดินแข็ง....

ของผมมีหญ้าหวังโตยครับ  ;D  ;D  ฝั่ง 9 ไร่ที่ทำรอบหลังมีบ่าค่อยนักแต่ฝั่ง 13 ไร่นี้นักขนาดครับรอบนี้ขอผ่านไปก่อนครับเดียวนาปรังจะแก้ตัวใหม่  ตอนนี้ก็เริ่มไปดูแปลงที่เปิ้นปลูกข้าว กข.41 ไว้ก่อนจะหาซื้อเอาไว้เป็นพันธุ์ข้าวเจื้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2013, 21:08:57
บ้านกลางนาต้องชลอโครงการรอให้ร้านทำเสาขนาดที่ต้องการเสร็จก่อน  วันนี้เห็นอากาศดี ๆ เลยขอใช้เวลา 3 ชั่วโมงช่วงเช้าออกกำลังกายซักหน่อยครับ ปั่นจักรยานจากบ้านไปรอบหนองหลวงระยะทางรวมประมาณ 30 ก.ม. ครับ  พอปั่นถึงหนองหลวงอากาศหนาวทันทีเพราะเหงื่อโดนลมพัด อากาศดีมาก ๆ ครับ หายใจได้เต็มปอด รถก็ไม่ค่อยมีปั่นสบาย ๆ ครับเห็น วิวท้องนาสวย ๆ ก็แวะถ่ายรูปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2013, 21:11:34
หนองหลวง เป็นอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ 3 ตำบล 2 อำเภอ คือ ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จำนวนกว่า 1,000 ไร่ ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จำนวนกว่า 1,000 ไร่ และตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงรายกว่า 6,000 ไร่  หนองหลวงเชียงรายจะมีลักษณะ เป็นรูปทรงยาวคล้ายๆรูปวงรี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2013, 21:14:36
นอกจากหนองหลวงจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแล้ว บริเวณโดยรอบยังเหมาะสำหรับการเลี้ยงวัว ควายด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2013, 21:20:48
ท้องนานอกเขตชลประทานส่วนใหญ่ก็ได้ใช้น้ำจากหนองหลวงนี่แหล่ะครับในการทำนาข้าว  วันนี้ก็ปั่นชิว ๆ ระยะทางไม่ไกลมาก จากการท่องเที่ยวโดยวิธี ปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซด์ รถยนต์  ผมว่าปั่นจักรยานได้สัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นมากที่สุดครับ อีกทั้งเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ไม่ต้องเติมน้ำมัน และดีต่อสุขภาพด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2013, 21:32:46
เย็นนี้ไปรับสมาชิกใหม่ที่บ้านครับ  ห่านตัวผู้เมีย 2 ตัวนี้ห้าร้อยกว่าบาทครับ ค่อนข้างเชื่อง ไม่ร้องเอะอะ น่ารักดีครับ สาเหตุที่เอามาเลี้ยงเพื่อช่วยเล็มสนามหญ้าที่บ้านที่ค่อนข้างยาวไวเหลือเกินสำหรับหน้าฝนนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2013, 21:36:52
เจ้าของห่าน แกทำเกษตรหลายอย่างครับ ไปรับห่านขากลับเห็นท้องนาหน้าหมู่บ้านสวยก็เลยอดถ่ายรูปไม่ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 01 กันยายน 2013, 22:12:43
ผมชอบบรรยากาศธรรมชาติท้องทุ่งอันเขียวขจีที่ท่านถ่ายรูปมาให้ชมครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 02 กันยายน 2013, 12:08:01
ปรังนาผมจะทำข้าวญี่ปุ่น ครับ5555+


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กันยายน 2013, 21:17:18
ผมชอบบรรยากาศธรรมชาติท้องทุ่งอันเขียวขจีที่ท่านถ่ายรูปมาให้ชมครับ ;D ;D

ขอบคุณครับ อยู่กลางท้องไร่ท้องนาช่วงนี้อากาศดีครับ เพราะไม่มีกลิ่นยาฆ่าหอยเชอรี่และยาคุมหญ้าครับ

ปรังนาผมจะทำข้าวญี่ปุ่น ครับ5555+


ได้ผลยังไงบอกกันด้วยนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กันยายน 2013, 21:23:01
เย็นนี้ไปดูแปลงข้าว กข.41 ของญาติที่คิดว่าจะเอามาเป็นข้าวพันธุ์นาปรังนี้  ข้าวเป็นโรคขอบใบแห้งครับไม่สามารถนำไปเป็นข้าวพันธุ์ต่อได้ เจ้าของนาก็ไม่เอาพันธุ์ต่อ เมล็ดข้าวส่วนหนึ่งอาจติดโรคเมล็ดด่างด้วย  สาเหตุหลัก ๆ คือเจ้าของแปลงหนักปุ๋ยยูเรียไปหน่อยครับ น้ำฝนช่วยให้ข้าวงามอยู่แล้วเจอปุ๋ยยูเรียมาก ๆ เลยไปกันใหญ่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 กันยายน 2013, 21:23:19
THE FARMER เกมเกษตรกร 29 สิงหาคม 2556

ตอนนี้นาเพื่อนถูกน้ำท่วมขัง เพื่อนผมคนนี้ สมพงษ์ ตานัง กลับมาอยู่บ้านหลังจากทำงานนิคมอุตสาหกรรม 10 กว่าปี รายได้ต่อเดือนราว ๆ ห้าหมื่นบาท แต่ยังไงก็ไม่เหมือนอยู่บ้าน กลับมาอยู่บ้านมีความสุขมากกว่า  ตอนนี้มาทำนาข้าว  ปลูกลำไย  ข้าวโพด สวนยาง และค้าขายเป็นอาชีพเสริมอีกทางครับ

o42HRvO-GbE


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 กันยายน 2013, 21:29:20
THE FARMER เกมเกษตรกร 30 สิงหาคม 2556

ผมไปสันมะเค็ดช่วงวันหยุดมา 2 สัปดาห์แล้ว ตอนที่ออกอากาศกับพื้นที่ปัจจุบันจะแตกต่างกัน การออกอากาศจะช้าไปนิด เนื่องจากทางทีมกันตนาจะกว่าจะตัดต่อ รวมรวมข้อมูล และบทบรรยายเสร็จอีกครับ  นาข้าวตอนนี้ก็โตแล้ว มีบางแปลงที่เสียหายจากน้ำท่วมแต่ก็มีปลูกซ่อมกันแล้ว ส่วนใหญ่ช่วงนี้จะเร่งเก็บลำไยกัน ตอนนี้ท่าลำไยก็ปิดรับไปแล้วครับ

TapP3MrUQmo


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กันยายน 2013, 15:32:09
ดูเค้าเลี้ยงไก่ไข่แบบนี้มองดูพฤติกรรมไก่แล้วก็เพลินดีนะครับ  นอกจากนี้ยังดีกับไก่ที่เค้าได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติที่ดีกว่าการถูกขังในกรงแคบ ๆ ตลอดชีวิตครับ

pvoHzP1AaYU

vzlkWytp57M


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กันยายน 2013, 15:58:15
คุณสุภชัย เจ้าของบทความ ชาวนาวันหยุด ที่ดังไปทั่วประเทศ  แกก็ เลี้ยงเป็ดไข่ เปียกสลับเเห้ง แกล้งข้าว ลดโลกร้อน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งก็ทำให้มีรายได้หลายทางครับ  ดูนาแกแล้วก็มีการจัดระบบที่ดีคล้าย ๆ เกษตรทฤษฎีใหม่ครับ

http://www.gotoknow.org/posts/467515 (http://www.gotoknow.org/posts/467515)

BQezvDMyRLM

ZuhV2_w1BjU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กันยายน 2013, 21:25:03
ดูรถเกี่ยวข้าวที่ใช้ในญี่ปุ่นแล้ว เค้าช่างคิดจริง ๆ เลย

mxilBiCTsD8


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กันยายน 2013, 21:46:30
เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายโดยเฉพาะคนญี่ปุ่น   รถเกี่ยวข้าวคันใหญ่ ๆ แม้จะเกี่ยวได้รวดเร็วแต่น้ำหนักที่มากก็ทำให้ดินแน่น บางส่วนอาจเกิดหล่ม แถมพังคันนาได้   คนญี่ปุ่นหากทำนาไม่มากมักจะใช้รถเกี่ยวข้าวคันเล็ก ๆ แบบนี้ครับ 

fHFNzW_3t3k

MJPnkcjRccw


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กันยายน 2013, 13:33:43
รวบรวมมาให้ชมใหม่อีกครั้งกับสารคดีดีมีประโยชน์

สารคดีข้าวปลาอาหาร 1 ปฐมบท 768

kWv2Vru9zXQ

สารคดีข้าวปลาอาหาร 2 มายา

dzQYHYzokOg

สารคดีข้าวปลาอาหาร 3 สัจจะ

_8kGCPbgb5E

สารคดีข้าวปลาอาหาร 4 ข้าวโพด

yQb8a3kbpc4

สารคดีข้าวปลาอาหาร 5 เกษตรครบวงจน

fFDvbJTf2Xk


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กันยายน 2013, 13:46:49
สารคดีข้าวปลาอาหาร 6 อธิปไตย

jpHkGPnVFyo

สารคดีข้าวปลาอาหาร 7 FTA

esG2si_R-Io

สารคดีข้าวปลาอาหาร 8 SlowFood

6U6Ooe7qQbk

สารคดีข้าวปลาอาหาร 9 เมืองปลอดภัย

RGIPfrMYSQk

สารคตีข้าวปลาอาหาร 10 อนาคต

Z3V92IQu0uw


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กันยายน 2013, 14:06:52
มาเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่พร้อมกันกับชาวต่างชาติ 2 คนนี้ครับ

หลงกรุง ตอน พอเพียงหรือเพียงพอ

1RbUemrcZpQ





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: out_site ที่ วันที่ 06 กันยายน 2013, 16:33:36
ขอบคุณท่าน ubuntuthaith ที่ตั้งกระทู้ที่มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำนารวมถึงคลิปที่มีประโยชน์แบบนี้ครับ ผมเองก็เป็นลูกหลานชาวนา อนาคตอันไกล้นี้คงได้กลับไปทำอาชีพเกษตกรรมอย่างเต็มตัวด้วยวีถีทางใหม่ครับ :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กันยายน 2013, 21:54:39
ขอบคุณท่าน ubuntuthaith ที่ตั้งกระทู้ที่มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำนารวมถึงคลิปที่มีประโยชน์แบบนี้ครับ ผมเองก็เป็นลูกหลานชาวนา อนาคตอันไกล้นี้คงได้กลับไปทำอาชีพเกษตกรรมอย่างเต็มตัวด้วยวีถีทางใหม่ครับ :)

ยินดีมากครับ ยังไงจะได้นำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อไปครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กันยายน 2013, 21:00:15
ออกกำลังกายตอนเช้าวันหยุดครับเน้นเส้นทางไร่นาแถวบ้านครับ วันนี้ปั่นไป 48 กม.


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กันยายน 2013, 21:02:16
ปั่นมาหนองหลวงตอนเช้า ๆ จะเห็นเจ้าของควายต้อนควายออกไปกินหญ้าครับ  ควายกินหญ้าซะ ทาง อบต.ไม่ต้องจ้างคนมาตัดหญ้าเพื่อปรับภูมิทัศน์เลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กันยายน 2013, 21:04:25
ช่วงเช้าหนองหลวงจะมีนักตกปลามาตั้งคันเบ็ดกัน หากเป็นวันอาทิตย์จะเยอะกว่านี้เพราะบางคนพาครอบครัวมาพักผ่อนกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กันยายน 2013, 21:07:50
เมื่อคืนที่ผ่านมาฝนตกทำให้ระดับน้ำหนองหลวงสูงขึ้นแปลงนาใกล้เคียงที่ระบายน้ำไม่ทันน้ำก็จะท่วมคันนาตามที่เห็นครับ บางจุดถึงกับน้ำท่วมถนนก็มี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กันยายน 2013, 21:10:18
ตรงนี้ไม่ใช่หนองน้ำครับแต่เป็นแปลงนาข้าว เห็นป้ายเขียนติดไว้ว่าขายที่ 111 ไร่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กันยายน 2013, 21:13:36
ปิดท้ายด้วยภาพท้องนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กันยายน 2013, 21:20:38
เผื่อใครจะไปเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องข้าวครับ ผมก็อยากไปเรียนเหมือนกัน

สยามวาระ - ข้าวขวัญ ปัญญาชาวนาไทย

yoZ6CabWU20





หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กันยายน 2013, 21:23:06
ใครเข้าดูชาวนาวันหยุดบ่อย ๆ ก็คงรู้จักคนคนนี้ครับ

เป็น อยู่ คือ - สุกชัย ปิติวุฒิ

WLV2KzLbZUQ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือท่าสุด ที่ วันที่ 09 กันยายน 2013, 12:29:07

  เข้ามาเก็บข้อมูณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 09 กันยายน 2013, 15:36:31
ช่วงเช้าหนองหลวงจะมีนักตกปลามาตั้งคันเบ็ดกัน หากเป็นวันอาทิตย์จะเยอะกว่านี้เพราะบางคนพาครอบครัวมาพักผ่อนกันครับ
ชอบครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กันยายน 2013, 20:39:28

  เข้ามาเก็บข้อมูณครับ

ยินดีครับ เอาไว้จะเอามาลงเพิ่มครับ  :D  :D

ช่วงเช้าหนองหลวงจะมีนักตกปลามาตั้งคันเบ็ดกัน หากเป็นวันอาทิตย์จะเยอะกว่านี้เพราะบางคนพาครอบครัวมาพักผ่อนกันครับ
ชอบครับ ;D ;D

หนองหลวงมีคนมาตกปลากั๋นเยอะครับช่วงนี้  เขาว่าปลากินเบ็ดดี แต่ถ้าเข้าฤดูหนาวแล้วปลาบ่าค่อยกิ๋นเบ็ดคนก็น้อยลงเยอะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กันยายน 2013, 21:01:18
สำรวจท้องนา ข้าวอายุ 2-3 จะพบว่าวัชพืชหลายชนิดเริ่มออกดอกครับ บางชนิดออกดอกแล้วก็แห้งตาย บางชนิดออกดอกแล้วก็ร่วงและก็เตรียมออกดอกต่อไปเป็นระยะ แปลงนาผมบริเวณที่ดอนก็พบปัญหาเรื่องวัชพืชครับ แต่เคยอ่านบทความของคุณลุงสมนึก ชูศรี ท่านแนะนำว่าคนเราต้องเข้าใจธรรมชาติของวัชพืช บางช่วงวัชพืชใกล้ตายก็เอาปุ๋ยเคมีไปใส่ทำให้วัชพืชฟื้นคืนมางามเหมือนเดิม คราวนี้ผมก็ลองปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติดูพบว่าวัชพืชแห้งตายไปเองก็พอสมควรสัปดาห์ก่อนมาวัชพืชขึ้นมากกว่านี้ครับ  แต่การป้องกันก็ดีกว่าแก้คราวหน้าจะปรับพื้นนาให้ดีกว่านี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กันยายน 2013, 21:15:15
ใกล้มาแล้วครับกับ AEC อีกไม่กี่รอบการทำนาก็ถึงแล้วเตรียมพร้อมกันหรือยังครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กันยายน 2013, 21:33:39
มาทบทวนเตรียมความพร้อมและเรียนรู้กันครับ

ASEAN Beyond 2015 - เด็กไทย(ไม่)ไปอาเซียน 5Oct12

LSodeBW3vbI

ASEAN Beyond 2015 - ข้าวเวียดนามชนะข้าวไทย 13Oct12

h9rb18U3C8w

ASEAN Beyond 2015 - R3A ทุนจีนรุกอาเซียน 28Oct12

Pw6iiw-RpEM

ASEAN Beyond 2015 - อาเซียน เราเหมือน-ต่างกัน 2Nov12

Xkn2th3ikEg

ASEAN Beyond 2015 - หมอพม่ารักษาคนไทย 9Nov12

0WvZMitq9O8


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กันยายน 2013, 21:42:11
ASEAN Beyond 2015 - พลังหญิง พลังอาเซียน 16Nov12

1nvWLG9K8Jg

ASEAN Beyond 2015 - แรงงานพม่ากลับบ้าน 30Nov12

uSwvPtoNJpA

ASEAN Beyond 2015 - ประชาคมไร้พรมแดน 7Dec12

cQ9MOwgBPNo

ASEAN Beyond 2015 - เส้นทางรถไฟสายอาเซียน 14Dec12

9XlsXzUghII

ASEAN Beyond 2015 - สู่อนาคตประเทศอาเซียน 21Dec12

qXOdPTtxel4


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 11 กันยายน 2013, 14:14:31
หนีไปอยู่ลาวดีก้า5555+ :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กันยายน 2013, 21:46:43
หนีไปอยู่ลาวดีก้า5555+ :D :D

5555  ลองไปแอ่วดูก่อนก็ได้ครับ สปป. ลาวมีหลายอย่างที่น่าค้นหาน่าท่องเที่ยวอีกเยอะครับประเทศที่กว้างแต่ประชากรเล็กน้อย แต่ละแขวงจะมีเมืองหลัก ๆ อยู่ บางที่ก็เจริญ บางที่ก็ทุรกันดารแบบสุด ๆ ไปอยู่ตางปู้นมีช้างเผือกเยอะอยู่ครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กันยายน 2013, 22:06:42
หลายพื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ในแปลงนา บ้างก็เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ซึ่งมีให้เห็นกันบ้างภาพที่เห็นคือ กุ้งก้ามแดง (Redclaw crayfish) Crayfish เป็นสัตว์น้ำจืดไม่มีกระดูกสันหลังในตระกูลกุ้ง, ปู (crustaceans) เป็นกุ้งที่มีรสชาติอร่อยคล้ายเนื้อปู พบในเขตหนาว เช่น ในทวีปอเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้, ยุโรป, ...เอเชียตะวันออก, ออสเตรเลีย และนิวกินี กุ้งก้ามแดง (Redclaw crayfish) ของโครงการหลวงที่ได้ทดลองเลี้ยงที่ดอยอินทนนท์เป็นชนิดขนาดกลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cherax quadricarinatus เป็นสายพันธุ์มาจากประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันหน่วยวิจัยประมงน้ำจืดบนพื้นที่สูงอินทนนท์ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง (ปกาเก่อญอ) ที่บ้านแม่กลางหลวง ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าว ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาวิถีชีวิตการปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือนของชาวเขาไว้ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กันยายน 2013, 22:12:08
"เกษตรอินทรีย์" กับระบบ Symbiosis  

                การเกษตรอินทรีย์ ใช่เพียงว่าผู้ทำเกษตรจะไม่สนใจสารเคมีใดๆ และก็ไม่ถึงขนาดที่ว่าจะไม่สนใจอะไรเลย เพราะในระบบนิเวศน์อันอุดมสมบูรณ์ ย่อมต้องมีระบบที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ทั้งพืช สัตว์ ดิน น้ำ อากาศ เราอาจจะไม่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมให้เหมือนหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า ความสมบูรณ์ ที่สุดได้ แต่เราสามารถแบ่ง และเลือกที่จะจัดการในสิ่งใดๆ ให้มีอย่างน้อย 1 อย่าง ที่สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกัน และไม่ทำให้การเกษตรล่ม หรือไปไม่ถึงฝั่งฝัน

                ระบบ symbiosis จึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกษตรกร ได้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกัน ของพืชและสัตว์อย่างเห็นได้ชัดเจน ระบบ symbiosis คืออะไร ซิมไบโอซิส คือ การอยู่รวมกันของสิ่งมีชีวิตสองชนิดที่เอี้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะที่ไหนเราสามารถจัดการกับปัญหาได้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือการทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี การใช้วิธีการกำจัดและควบคุมแมลงศัตรูพืช ตัวห้ำ ตัวเบียน หรือแม้กระทั่ง การเลี้ยงปู การเลี้ยงกุ้ง ในนาข้าว โดยที่มีข้าวให้กินไปด้วย

                นาข้าวอินทรีย์กับ Symbiosis เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ เป็นการสร้างสภาวะที่มีการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศโดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับประโยชน์ ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อนาข้าวมีปลา มีหอย ทำไมจะเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปูเพิ่มเติมไม่ได้ ในเมื่อทั้งหมดนี้ จะช่วยเกื้อกูลนาข้าว ช่วยเกื้อกูลผัก ช่วยเกื้อกูลการเกษตร ให้มีผลผลิตดี โดยที่ทั้งสองฝ่ายก็สามารถอยู่รอดได้แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

 ยกตัวอย่าง ข้าวนาปู ข้าวอินทรีย์ที่หนิงเซี่ย ที่ได้นำเทคนิคการปลูกข้าวควบคู่กับการเลี้ยงปูน้ำจืด เข้ามาใช้ในแปลงนาข้าวตั้งแต่ปี 2552 นับเป็นการผสมผสานการเพาะปลูกควบคู่กับการเพาะเลี้ยงได้อย่างลงตัว เริ่มต้นได้มีการทดลองเพาะปลูกข้าวในนาปูจำนวน 1,000 หมู่ (ประมาณ 2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่) ใช้พันธุ์ข้าว Jing27 และพันธุ์ 843 โดยแปลงนา 1 หมู่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ 550 กิโลกรัม และเพาะเลี้ยงปูได้ 25 กิโลกรัม ทำรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นประมาณหมู่ละ 1,500 ? 1,800 หยวน  อีกทั้งได้ข้าวที่ปลอดสารเคมี แถมยังเป็นการเพาะปลูกเชิงนิเวศวิทยาที่รักษาสิ่งแวดล้อมและไม่ทำร้ายสังคมอีกด้วย สำหรับปี 2553 ได้มีการขยายผลปลูกในแปลงนาข้าวจำนวน 50,000 หมู่ ในอำเภอเห้อหลาน (นครอิ๋นชวน) เมืองชิงถงเสียและเมืองจงเว่ย นอกจากนี้ ยังคาดการณ์กันว่าจะขยายผลการปลูกข้าวนาปูถึง 500,000 หมู่ภายในปี 2555 และเพาะเลี้ยงปูน้ำจืดได้อีก 4,000 ตัน

(http://www.acfs.go.th/warning/upload/knowledgedata/image/06-12-2012_02.jpg)

            จากผลการทดลองการปลูกข้าวควบคู่กับการเลี้ยงปูนั้นพบว่า ปูเจริญเติบโตได้ดี ปูช่วยกำจัดวัชพืชและแมลง ทำให้ดินร่วนซุย มูลของปูยังเป็นปุ๋ยแก่ต้นข้าว ตลอดการปลูกข้าวจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมน สารเคมีและเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมใดๆ เป็นการเพาะปลูกเชิงนิเวศวิทยาที่ส่งผลให้ต้นข้าวมีแร่ธาตุและสารอาหารสมบูรณ์

            ตัวอย่างที่สอง กุ้งก้ามแดง ในนาข้าวอินทรีย์ที่ดอยอินทนนท์ โครงการหลวงได้ทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าวของเกษตรกรที่บ้านแม่กลางหลวง ดอยอินทนนท์ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตชอบปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน เพื่อไม่ให้วิถีชีวิตเดิมของชาวเขาเปลี่ยนไป จึงได้ทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามในนาข้าว และพบว่ากุ้งสามารถเจริญเติบโตได้ดี มีอัตรารอดดี และกุ้งก้ามแดงไม่ทำลายต้นข้าว

                ยิ่งไปกว่านั้นมูลของกุ้งก้ามแดง และเปลือกกุ้งยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ไคโตซานอย่างดี บำรุงต้นข้าวให้เจริญงอกงาม และได้ผลผลิตที่ดีด้วย สำหรับผลการทดลองมีประโยชน์ต่อชาวเขา 2 ด้าน คือ กุ้งก้ามแดงมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 800 บาท และเกษตรกรยังคงมีข้าวไว้บริโภคด้วย ที่สำคัญมีการส่งเสริมพัฒนาการเลี้ยงกุ้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการค้าและการส่งออกมีทิศทางที่ดีมากอนึ่งผลผลิตกุ้งก้ามแดงรุ่นแรก ได้ส่งไปถวายเพื่อใช้ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานเลี้ยงแก่พระราชอาคันตุกะ ในวันที่ 13 มิถุนายน 2549

                จะเห็นได้ว่า การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตสองชนิด จากที่หลายๆ คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้เห็นกลับกลายเป็นการเพิ่มค่าให้สิ่งสองสิ่งได้มีคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม การทำเกษตรอินทรีย์ อาจไม่ใช่แค่การไม่ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้อะไรเลย ปล่อยให้ธรรมชาติกัดกินอย่างเดียวไม่ได้ เพราะธรรมชาติในบางครั้ง ก็ไม่ได้สมบูรณ์อย่างที่คิด โดยเฉพาะผืนดินที่ผ่านสารเคมีมาก่อน เกษตรกรย่อมต้องเรียนรู้ถึงสิ่งที่ค่าในดิน ในน้ำ ให้มากกว่าเดิม และปรับเปลี่ยนทดลองถึงการอยู่ร่วมกันและเกื้อหนุนกันในเชิงนิเวศน์อย่างจริงจัง ย่อมได้มาซึ่งผลผลิตที่มีคุณค่า

(http://www.acfs.go.th/warning/upload/knowledgedata/image/06-12-2012_03.jpg)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กันยายน 2013, 22:31:34
ทุกวันนี้มีผู้คนจำนวนมากในบ้านเราไม่ตระหนักว่าชีวิตเขาได้ถูกคุกคามจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีอื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิต การปรุงแต่งและถนอมอาหาร เนื่องจากว่าอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสารเคมีต่าง ๆ เหล่านี้เข้าสู่ร่างกายคล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ผดผื่นที่ผิวหนัง อาการวิงเวียน และมึนงงศรีษะ เป็นต้น และอีกประการหนึ่งคืออาการเหล่านั้นไม่ได้แสดงให้เห็นในทันทีทันใด เช่นการทำงานผิดปกติของระบบประสาท หรือมะเร็ง จึงไม่ได้ตระหนักว่าการเจ็บป่วยเหล่านี้มีสาเหตุมาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารปรุงแต่งและถนอมอาหาร แพทย์เป็นจำนวนมากไม่ได้ถูกฝึกให้วินิจฉัยโรคที่เกิดอันเนื่องมาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าแพทย์อาจจะมองข้ามการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการทำงานเกษตรกรรม หรือโรคที่เกิดจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร

การได้รับพิษ และผลกระทบของสารเคมีการเกษตร

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ทางร่างกายได้อย่างไร

 1. การเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง มีการศึกษาพบว่าร้อยละ90 ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังโดยตรง เช่นเมื่อเกษตรกรสัมผัสกับพืชผลที่เพิ่งจะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเมื่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสัมผัสผิวหนัง หรือเสื้อผ้าที่เปียกชุ่มด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเมื่อเกษตรกรผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วยมือเปล่า หรือเมื่อสมาชิกในครอบครัวซักเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

2. การเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ เกษตรกรที่ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือผู้คนที่อยู่ใกล้กับผู้ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชผ่านทางการหายใจได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่อันตรายที่สุดคือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ไม่มีกลิ่น เพราะเกษตรกรจะไม่รู้สึกตัวเลยว่าได้สูดดมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าไป

 3. การเข้าสู่ร่างกายโดยการกลืนกิน เกิดขึ้นได้เมื่อคนเราดื่มกินสารพิษโดยบังเอิญหรือโดยเจตนา เช่นเมื่อคนเรากินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าไป

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของผู้ได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การแสดงอาการจากการได้รับสารพิษมีอยู่ 2 แบบคือ

 1. พิษเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทันทีทันใด ตัวอย่างเช่น ปวดศรีษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออกมาก ท้องร่วง เป็นตะคริว หายใจติดขัด มองเห็นไม่ชัดเจน หรือตาย

 2. พิษเรื้อรัง เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้วแสดงผลช้า ใช้เวลานาน อาการอาจใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปีภายหลังจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงจะแสดงออกมาให้เห็น เช่น การเป็นหมัน การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การเป็นอัมพฤต อัมพาต และมะเร็ง เป็นต้น

ผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบของร่างกาย เกิดขึ้นเมื่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกาย และจะส่งผลกระทบต่อระบบในร่างกายทั้งหมด กล่าวคือเลือดจะพาสารเคมีเข้าสู่ทุกส่วนของร่างกาย และจะส่งผลต่อ ตา หัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับไต กล้ามเนื้อ สมอง และประสาท อาการที่เกิดจากการได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะมีอาการเป็นพิษมากหรือน้อย และรวดเร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมี เวลาที่สัมผัส ปริมาณหรือความเป็นพิษของสารเคมีนั้นว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด


ผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษเรื้อรังต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

 1. ระบบประสาท สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวนมากมีอันตรายต่อระบบสมองและประสาทมาก อาการบางอย่างของโรคเนื้อเยื่อทางสมองที่มีสาเหตุมากจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก่อให้เกิดปัญหาทางด้านความทรงจำอย่างรุนแรง สมาธิสั้นและทำสมาธิยาก บุคลิกภาพเปลี่ยนไป การเป็นอัมพฤต อัมพาต เป็นลม หมดสติ และอาจมีอาการสาหัส

 2. ระบบตับ ร่างกายใช้ตับในการขจัดสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายให้มีพิษน้อยลง ดังนั้นตับต้องทำหน้าที่อย่างหนักในการขจัดสารพิษ หากร่างกายได้รับสารพิษเข้าไป และเป็นประจำก็สามารถทำอันตรายต่อตับในระยะยาวจนอาจเป็นตับอักเสบและมะเร็งในที่สุด

 3. ระบบกระเพาะอาหาร การอาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียเป็นอาการทั่วไปของการได้รับพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นระยะเวลานาน อาจจะมีผลต่อกระเพาะอาหารที่รุนแรงมากขึ้น หลายคนที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี มักกินอาหารลำบาก แม้ว่าจะเป็นอาหารปกติทั่วไป โดยเฉพาะคนที่กินสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าไปไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจ กระเพาะอาหารจะถูกทำลายเป็นอย่างมากและสารเคมีจะซึมผ่านผนังกระเพาะอาหารเข้าสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายต่อไปด้วย

 4. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปฏิกริยาของอาการแพ้จะไปรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปกติของร่างกายอันหนึ่งที่มีต่อสารที่แปลกปลอม สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแต่ละชนิดมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดอาการแพ้ที่แตกต่างกันไป ซึ่งร่างกายของแต่ละคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อระดับการได้รับสารพิษที่แตกต่างกันด้วย

 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางชนิด รบกวน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นอย่างมาก และบางชนิดทำให้ความสามารถในการต่อสู้กับการติดเชื้อโรคของร่างกายอ่อนแอลง ทำให้การติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หรือหากมีการติดเชื้ออยู่แล้วอาการเจ็บป่วยดังกล่าวจะยิ่งซับซ้อนและยากต่อการรักษา

 5. ระบบความสมดุลยกับฮอร์โมนในร่างกาย มีผลของการศึกษาทดลองในสัตว์ พบว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนของร่างกาย ฮอร์โมนเป็นสารเคมีที่ถูกผลิตจากต่อมไร้ท่อ และอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ต่อมไทรอยด์ ไต ต่อมหมวกไต ลูกอัณฑะ และรังไข่ เพื่อควบคุมการทำงานส่วนที่สำคัญของร่างกาย สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางชนิดมีผลกระทบต่อฮอร์โมนการสืบพันธุ์ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ เช่น การผลิตอสุจิมีจำนวนลดลงในเพศผู้ และมีความผิดปกติในการผลิตไข่ในเพศเมีย นอกจากนี้แล้วสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางประเภทยังทำให้ต่อมไทรอยด์โตใหญ่ และเป็นมะเร็งในที่สุด และจากผลการทดลองยังพบว่าสัตว์ทดลองมีการแท้งลูก มีการคลอดลูกก่อนกำหนด มีทารกตายในครรภ์ และเป็นไปได้มากว่าจะเกิดอาการลักษณะเช่นเดียวกันนี้ กับสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ โดยเฉพาะมนุษย์ด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กันยายน 2013, 22:48:15
ข้อมูลธนาคารโลกปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว  ไทยใช้สารเคมีติดอันดับ 5 ของโลก คือ 0.86 กิโลกรัมต่อเฮกเตอร์ (1 เฮกเตอร์เท่ากับ6.25 ไร่) 
อันดับ 1 คือฝรั่งเศส 1.48
อันดับ 2 เวียดนาม 1.45
อันดับ 3 สเปน 1.11
อันดับ 4 บราซิล 0.87

ยิ่งไปกว่านั้นหากเปรียบตัวเลขเมื่อ 10 ปีที่แล้วไทยเพิ่มปริมาณการใช้ "ยาฆ่าแมลง" ขึ้น 3 เท่าตัว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กันยายน 2013, 11:19:43
อย่างสารเอ็นโดซัลแฟน  แม้จะมีชื่อเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้ทางการเกษตรในประเทศไทยแต่ก็ยังพอมีให้พบเห็นกันอยู่โดยใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อให้เจือจางลง ชาวนาบางกลุ่มใช้ในการกำจัดหอยเชอรี่

QbzbMp-8JEU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กันยายน 2013, 11:50:16
พิษพาราควอท (Paraquat)

พาราควอทเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicide) จัดอยู่ในกลุ่มไบพัยริดิล (bipyridyl Compound) สังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในคริสศตวรรษที่ 19 ในครั้งนั้นมีนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้สารนี้วัดค่า Oxidation ซึ่งรู้จักดีในชื่อของ Methylviologen ในปีพ.ศ.2501 พาราควอทได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในทางเกษตรกรรมโดยบริษัทไอ.ซี.ไอ. แห่งประเทศอังกฤษ ใช้ชื่อทางการค้าว่า "กรัมม็อกโซน" (Gramoxone) รู้จักกันทั่วโลกว่าเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ต่อมาได้มีบริษัทอื่น ๆ ผลิตพาราควอทออกมาโดยใช้ชื่อทางการค้าต่าง ๆ กันมากมาย ปัจจุบันพาราควอทเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่แพร่หลายที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเพราะได้รับพิษของพาราควอทหลายพันคน บางประเทศถูกห้ามขายในประเทศ เช่นมาเลเซีย

คุณสมบัติ
เป็นของเหลวสีน้ำเงินเข้ม มีรสเผ็ด, ขม และมีกลิ่นฉุน สลายตัวที่ 300ซ. ไม่ระเหย ที่ความเข้มข้นสูงสามารถกัดกร่อนโลหะ, ดีบุก, สังกะสีและอะลูมิเนียมได้ ละลายได้ดีในน้ำ แต่ละลายได้น้อยในแอลกอฮอล์และไม่ละลายในตัวทำละลายที่เป็นสารอินทรีย์อื่น ๆ มีความคงทนดีในภาวะกรด หรือภาวะเป็นกลาง แต่จะสลายตัวได้ง่ายในภาวะด่าง ถูกทำลายให้เสื่อมฤทธิ์เมื่อถูกแสงอุลตร้าไวโอเล็ต, สารที่มีพื้นผิวเป็นประจุลบและดินเหนียว
ชื่อการค้ามักลงท้ายด้วย Xone เช่น Gramoxone
อาการพิษเฉียบพลัน
WHO จัดให้พาราควอทเป็นสารที่มีพิษปานกลาง โดยพิจารณาจาก LD50 ของมัน พาราควอทเป็นพิษอย่างร้ายแรงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะได้รับพิษโดยทางใด สารนี้ถูกดูดซึมได้น้อยมากทางผิวหนังที่ไม่มีแผล แต่ถ้าผิวหนังมีรอยขีดข่วนหรือเป็นแผล พาราควอทจะซึมผ่านได้ดี พาราควอทจะระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างรุนแรง การได้รับพิษเข้มข้น อาจทำให้เล็บหลุดได้ เมื่อผู้ป่วยกินพาราควอทเข้มข้น จะมีอาการแสบร้อนในช่องปาก ทางเดินอาหารอักเสบ เนื่องจากฤทธิ์ในการกัดของพาราควอท คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย ท้องร่วงซึ่งบางครั้งอาจมีเลือดปนออกมา กระสับกระส่าย เลือดกำเดาไหล หายใจขัด เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็ว ผิวหนังคล้ำ ระบบหายใจล้มเหลว เซลล์ตับและไตถูกทำลายและตายในที่สุด
อาการพิษเรื้อรัง
การสัมผัสพาราควอทติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เป็นแผลพุพอง ซึ่งยังผลให้สารนี้ซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นสาเหตุให้ได้รับพิษอย่างร้ายแรง การสูดดมพาราควอทติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เลือดกำเดาไหล ถ้าเข้าตาจะเป็นอันตรายแต่แก้วตา และทำให้ตาบอดได้ในเวลาต่อมา ถ้ากลืนกินพิษของมันจะเป็นอันตรายต่อกระเพาะ ไต ตับ หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ นอกจากนี้ พิษของพาราควอทยังสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของปอด กลายเป็นพังผืด ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อปอดอย่างรุนแรง
สารประกอบของสารนี้มักจะซึมลงไปปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน
กลไกการเกิดพิษ
กลไกที่แท้จริงยังไม่มีใครทราบ สมมติฐานที่เชื่อว่าจะเป็นไปได้คือ พาราควอทถูก reduce โดยอ็อกซิเจน เกิด Superoxide radical (O2) หลังจากนั้นโดยเอ็นซัยม์ Superoxide dismutaseจะทำให้Superoxide radical ทำปฏิกิริยากับน้ำเกิด H2O2(Hydrogen peroxide). Superoxide radical และ H2O2จะออกฤทธิ์ไปทำลายผนังเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
ผลต่อระบบของร่างกาย (Systemic Effects)
การได้รับพาราควอทปริมาณน้อยถึงปานกลาง 2-3 วัน หลังจากได้รับพาราควอท อาจมีอาการของไตและตับถูกทำลาย ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณของพาราควอทที่ได้รับเข้าไป การทำลายของอวัยวะทั้งสองนี้ สามารถกลับเป็นปกติได้ ประมาณ 5-10 วัน หรือในบางครั้งอาจถึง 14 วัน หลังจากได้รับพาราควอท ผู้ป่วยจะมีอาการปอดถูกทำลาย ซึ่งไม่สามารถจะกลับเป็นปกติได้ การหายใจไม่สะดวก และทรุดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏจากการเอกซเรย์ และในที่สุดผู้ป่วยจะเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว
การได้รับพาราควอทปริมาณสูง เมื่อผู้ป่วยได้รับพาราควอทในปริมาณที่สูง เช่น เกินกว่า 100 ซีซี ของพาราควอทเข้มข้น อวัยวะหลายอย่างจะถูกทำลายและล้มเหลว และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง หรือ 1-2 วัน
สำหรับผู้ใหญ่ การกินพาราควอทเพียง 3 กรัม อาจทำให้ตายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา (พาราควอท 3 กรัม เท่ากับปริมาณพาราควอทเข้มข้น 15 ซีซีหรือ 1 ช้อนโต๊ะ)
พยาธิสภาพ
พยาธิสภาพที่อวัยวะต่าง ๆ มีดังนี้
- ปอดมี Diffuse cellular intravascular fibrosis โดยมี infiltration ของ profibroblast เข้าไปในถุงลม ทำให้เกิด pulmonary edema ได้
- ตับมี Centrilobular fatty infiltration ตับจะมีขนาดโตขึ้น มีการคั่งของเลือดและน้ำดี
- ไตมี Cortical necrosis และ tubular necrosis มีขนาดโตขึ้น
- กระเพาะอาหารมีเลือดออกได้
- ต่อมหมวกไตจะถูกทำลาย
- หัวใจมี focal myocardial necrosis
การวินิจฉัย
1. ประวัติ
ผู้ป่วยทั้งหมดจะให้ประวัติว่ากินพาราควอทโดยจงใจฆ่าตัวตายแทบทั้งสิ้น มีส่วนน้อยที่หยิบยาผิด แพทย์จะวินิจฉัยได้จากชื่อและฉลากที่ญาติหรือตัวผู้ป่วยนำมา ผู้ป่วยที่มีสติดีอยู่อาจให้ประวัติว่าสารพิษที่กินมีรสเผ็ดร้อนและขม มีสีน้ำตาลไหม้หรือสีฟ้าแก่ซึ่งพอช่วยการวินิจฉัยในเบื้องต้นถ้าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่รู้สึกตัว ควรรีบซักประวัติจากผู้นำส่ง หรือญาติผู้ป่วย และให้นำฉลากหรือขวดยามาให้แพทย์ทำการักษาดูโดยด่วนในเรื่องของสี เมื่อหลายปีที่ผ่านมาพาราควอทที่ผลิตเป็นน้ำยาสีน้ำตาลเข้ม ปรากฏว่ามีผู้เข้าใจผิดกคิดว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน จึงเกิดพิษโดยอุบัติเหตุเพราะการหยิบยาผิดได้ ในปัจจุบันจึงเปลี่ยนจากสีน้ำตาลมาเป็นสีน้ำเงินและเติมสารที่ทำให้อาเจียนเข้าไปด้วย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้พาราควอทถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ส่วนหนึ่ง ฉะนั้นจะพบว่าน้ำล้างกระเพาะอาหารของผู้ป่วยที่กินพาราควอทเป็นสีน้ำเงินหรือสีฟ้าแก่
ปริมาณพาราควอทที่ผู้ป่วยกินเข้าไปก็มีความสำคัญต่อพยากรณ์โรค เพราะกรัมม็อกโซนชนิดร้อยละ 20 จำนวน 10 - 15 มล. ก็เพียงพอทำให้ผู้ป่วยตายได้ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยกินมาหนึ่งอึกใหญ่ประมาณคร่าว ๆ ว่า 30 มล. จะเป็นประมาณมากเกินพอที่ทำให้ตายได้ จำเป็นต้องให้การรักษาเร่งด่วน ผู้ป่วยที่ให้ประวัติกินพาราควอทเพียงหนึ่งอึก แม้ยังไม่ทันกลืน รีบบ้วนออกมาในที่สุดยังตายได้ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับพาราควอทเข้าไปในร่างกายก่อนนำส่งโรงพยาบาลก็มีความสำคัญ ช่วยพยากรณ์โรคได้กล่าวคือ ระยะยิ่งนานอัตราการตายก็ยิ่งสูง

2e7Yb9wi_xo


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กันยายน 2013, 12:18:14
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในนาข้าว

ผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในนาข้าว
โดย คุณสุกัญญา อรัญมิตร นักกีฏวิทยาปฏิบัติการ กรมการข้าว

บันทึกการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเค­มีกำจัดศัตรูพืช ปี 2555
ระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน 2555ณ โรงแรม มิราเคิลแกรนด์ ดอนเมือง กรุงเทพฯ

ผู้จัดการประชุม
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network)
http://www.thaipan.org/

GOXNLUYyVo0



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กันยายน 2013, 13:04:38
ผลไม้น่าสนใจอีกชนิดหนึ่ง ปลูกเล็ก ๆ  น้อยแถวคันนาก็น่าสนใจหากไม่โดนขโมยไปก่อนครับ

C6DgwJOfDfI

แก้วมังกร อยู่ในวงศ์ Cactaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับตะบองเพชร สกุล Hylocereanae แก้วมังกร มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ในอเมริกากลาง เข้ามาในเอเชียที่เวียดนามก่อน โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว โดยปลูกมากตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกจากเมืองญาตรังไปจนถึงไซ่ง่อน

แก้วมังกรเป็นไม้เลื้อย มีลำต้นยาวประมาณ 5 เมตร มีรากทั้งในดินและรากอากาศ ชอบดินร่วนระบายน้ำดี ชอบแสงแดดพอเหมาะ โล่งแจ้ง แต่ไม่แรงกล้าเกินไป ดอกสีขาว ขนาดใหญ่กลีบยาวเรียงซ้อนกัน บานตอนกลางคืน ผลแก้วมังกรมีรูปทรงเป็นทรงกลมรี สีของเปลือกผลเมื่อดิบเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นมีสีแดงม่วงหรือสีบานเย็น มีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่รอบผล ผลแก้วมังกรส่วนใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 300 - 600 กรัม เมื่อผ่าผลแก้วมังกรจะเห็นเนื้อของผลแก้วมังกรสีขาวหากผลนั้นเป็นแก้วมังกรพันธุ์เวียดนามหรือพันธุ์ไทย และเนื้อผลจะมีสีแดงหรือชมพูเมื่อผลนั้นเป็นพันธุ์เนื้อสีแดง โดยมีเมล็ดสีดำเล็กคล้ายๆเม็ดงา หรือเม็ดแมงลัก กระจายฝังอยู่ทั่วเนื้อ แก้วมังกรสายพันธุ์ที่นิยมปลูกมีดังนี้

พันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hylocercus undatus (Haw) Brit. & Rose.) เปลือกสีชมพูสด ปลายกลีบสีเขียว รสหวานอมเปรี้ยวหรือหวานจัด
พันธุ์เนื้อขาวเปลือกเหลือง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hylocercus megalanthus) เปลือกสีเหลือง ผลเล็กกว่าพันธุ์อื่นๆ เนื้อสีขาว เมล็ดขนาดใหญ่และมีน้อยกว่าพันธุ์อื่น รสหวาน
พันธุ์เนื้อแดงเปลือกแดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hylocercus costaricensis) หรือพันธุ์คอสตาริกา เปลือกสีแดงจัด ผลเล็กกว่าพันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดง แต่รสหวานกว่า

แก้วมังกรเป็นไม้เลื้อยลำต้นอ่อนจำเป็นต้องมีหลักให้ลำต้นเกาะยึดซึ่งหลักจะเป็นไม้เนื้อแข็งหรือเสาซีเมนต์ก็ได้ ถ้าใช้ท่อซีเมนต์เป็นเสาซึ่งรูปทรงกลมภายในกลวงแต่เทปูนไว้ก้นท่อเพื่อไว้ใส่น้ำหล่อเลี้ยงให้เสามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ฝังท่อซีเมนต์ลงในดินประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร ต้องสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 – 2 เมตร ด้านบนของเสาทำเป็นร้านให้กิ่งเกาะแผ่ขยายออกไประยะปลูก 3 x 3 เมตร เตรียมหลุมขนาด 30 x 30 x 30 เซนติเมตร รอบ ๆ หลัก หลักละ 4 หลุม สำหรับปลูกหลุมละ 1 ต้น รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักเก่า 1 ปุ้งกี๋ เมื่อนำกิ่งพันธุ์ลงหลุมแล้วมัดกิ่งพันธุ์ให้แนบหลักและกันแดดให้ 1 – 2 สัปดาห์

แก้วมังกรนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด เป็นส่วนผสมของฟรุตสลัดหรือปั่นเป็นน้ำผลไม้ เป็นผลไม้ที่สามารถรับประทานเพื่อบรรเทาอาการโรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน ตลอดจนช่วยลดความอ้วนเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีแคลอรีต่ำ เป็นผลไม้ที่มีกากใยสูง มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆที่ช่วยทั้งในเรื่องการบำรุงผิวพรรณ กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยดูดซับสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย เช่น สารตกค้างจากยาฆ่าแมลงที่มากับผัก สารตกค้างเช่นตะกั่ว ที่มาจากควันท่อไอเสียรถยนต์ และสารอื่นๆ และยังช่วยลดการเกิดมะเร็งอีกด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 12 กันยายน 2013, 13:19:47
เข้ามาบ้านหลังนี้เมื่อไร ก็ได้ความรู้กลับไปแบบเต็มๆ 8) ขอนำความรู้เรื่องพิษจากสารเคมีกำจัดวัชพืชไปให้ท่านพ่อได้อ่านนะครับ ขอบคุณมากครับ  พอดีผมได้ลองนำสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชมาลองใช้ที่สวนผักหวานดู 2 ร่อง พ่นไว้ 1 อาทิตย์ได้ผลดีทีเดียวครับและใช้กับร่องผักหวานที่เหลือพ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ค่อยไปดูอีกที่ว่าได้ผลเป็นอย่างไรครับ และได้เอาไปให้นายกเทศมนตรีตำบลบ้านปล้องได้ทดลองใช้กับหญ้าหน้าบ้าน ถ้าได้ผลดีท่านจะสั่งมาใช้กำจัดหญ้าในโครงการถนนตัวอย่างครับ ผมหวังลึกๆว่าถ้าได้ผลและปลอดภัยคงจะเป็นแนวทางใหม่สำหรับชาวบ้านในการหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ในตำบลได้ง่ายขึ้นครับ  พระสงฆ์ที่ท่านฉันเจจะได้ฉันพืชผักที่ปลอดสารพิษจริงๆเสียทีหลังจากที่ตรวจพบสารพิษในเลือดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กันยายน 2013, 22:36:33
เข้ามาบ้านหลังนี้เมื่อไร ก็ได้ความรู้กลับไปแบบเต็มๆ 8) ขอนำความรู้เรื่องพิษจากสารเคมีกำจัดวัชพืชไปให้ท่านพ่อได้อ่านนะครับ ขอบคุณมากครับ  พอดีผมได้ลองนำสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชมาลองใช้ที่สวนผักหวานดู 2 ร่อง พ่นไว้ 1 อาทิตย์ได้ผลดีทีเดียวครับและใช้กับร่องผักหวานที่เหลือพ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ค่อยไปดูอีกที่ว่าได้ผลเป็นอย่างไรครับ และได้เอาไปให้นายกเทศมนตรีตำบลบ้านปล้องได้ทดลองใช้กับหญ้าหน้าบ้าน ถ้าได้ผลดีท่านจะสั่งมาใช้กำจัดหญ้าในโครงการถนนตัวอย่างครับ ผมหวังลึกๆว่าถ้าได้ผลและปลอดภัยคงจะเป็นแนวทางใหม่สำหรับชาวบ้านในการหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ในตำบลได้ง่ายขึ้นครับ  พระสงฆ์ที่ท่านฉันเจจะได้ฉันพืชผักที่ปลอดสารพิษจริงๆเสียทีหลังจากที่ตรวจพบสารพิษในเลือดครับ

ขอบคุณครับที่เข้ามาแวะชมครับ  สารเคมีการเกษตรอันตรายที่มีขายในประเทศไทยมีหลายตัวครับ เกษตรกรหลายคนบอกว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากขั้นตอนการทำที่เป็นไปที่เน้นปริมาณเลยต้องพึ่งสารเคมี  การใช้สารเคมีชาวไร่ชาวนามักจะไม่ค่อยคำนึงถึงคนอื่น บางคนที่นาอยู่ติดถนนแต่พ่นสารเคมีเช่นยาคุมหญ้า  ยาฆ่าแมลง พอเมื่อมีลมแรง ๆ ทำให้คนสัญจรไปมาบนถนนก็ได้สูดดมสารเคมีไปด้วย คนที่มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจอยู่แล้วก็แย่ลงไปอีก ลูกเล็กเด็กแดงก็พลอยได้รับสารพิษไปด้วย  หน่วยงานของรัฐ  สหกรณ์ ก็มักมีเอี่ยวกับบริษัทเคมีด้วยบางครั้งก็เห็นเกษตรอำเภอพา Sale ขายยามาด้วยเสมอ  สารชีวภาพที่ปลอดภัยก็มีหลายตัวน่าใช้ครับ แต่คนส่วนใหญ่จะติดค่านิยมแบบเดิม ๆ คือต้องเห็นผลทันตาเลยขายไม่ค่อยดี จะทำโปรโมรชั่น ๆ ดี ๆ ก็แพ้บริษัทเคมีภัณฑ์ใหญ่ ๆ มีทั้งลด แลก แจก แถม  อย่างทุกวันนี้ประเทศทั่วโลกได้ปรับเปลี่ยนจากการเกษตรที่ใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์กันอย่างขะมักเขม้นโดยเฉพาะประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ ทั้งที่ประเทศเหล่านี้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้เองและส่งขายไปยังต่างประเทศ  ในปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์  มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์  รวมทั้งการให้เงินสนับสนุนแก่เกษตรกรเพื่อการปรับเปลี่ยนจากการเกษตรที่ใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์  ในประเทศไทย มีผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายสารเคมีแต่ละรายใช้ชื่อทางการค้าแตกต่างกันไปในสารออกฤทธิ์ชนิดเดียวกัน ทำให้มีชื่อทางการค้ามากมายในท้องตลาดสร้างความสับสนแก่เกษตรกรในการเลือกใช้เกษตรกรบางรายจึงใช้สารออกฤทธิ์ชนิดเดียวกันมากกว่า 1 ยี่ห้อในเวลาเดียวกัน เจ้าของร้านขายยาสารเคมีที่กฎหมายบังคับให้ผ่านการอบรมเพียง 2-3 วัน เทียบกับร้านขายยาที่ต้องมีเภสัชกรที่ต้องผ่านการศึกษาอย่างน้อย 5 ปี

eD1su6U4HvM



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กันยายน 2013, 22:57:33
ยาฆ่าแมลง ธรุกิจ บิดเบือนโรคร้าย ก่อมะเร็ง

ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หน่วยการกำหนดปริมาณสารเคมี ประเทศไทย ยังไม่สามารถเรียนร้องค่าเสียหาย จากการตาย ของ เกษตร จากการเกิดมะเร็งและมีเพียง มะเร็งบางชนิดเท่านั้น ที่บริษัท ขายยาฆ่าแมลง ยอมรับ แต่ไม่รับผิดชอบค่าเสียหายก่อมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งสมอง มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านม มะเร็งระยะสุดท้าย ส่งผลกระทบ ปี 2555 ไทยใช้สูงสุด อันดับ 5 ของโลก คนไทยตายด้วยโรคมะเร็ง อันดับ หนึ่ง เสียชีวิต 1 ชั่วโมง ทุก 7 คน เกษตรกร คือ เหยื่อ

TveEvn96eAo

อ.เดชา อธิบาย เมล็ดพันธุ์ลูกผสม หมัน ตัดต่อพันธุ์ ให้อ่อนแอ จากพันธุ์พ่อหมัน ต่างประเทศ ทำให้ ชอบปุ๋ย ชอบยาฆ่าแมลง จึงส่งผลให้ ยาฆ่าแมลงเมืองไทย ติดอันดับ 5 ของโลก

gelhGEa3Eq0

ฆาตกรเงียบ

95yQGdURVA0


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 กันยายน 2013, 16:17:48
เกษตรพันธสัญญา (เรื่องที่ทุกคนควรรู้).

8eCpK5XS7zE


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กันยายน 2013, 21:26:54
ช่วงเย็นปั่นจักรยานออกกำลังกาย จะได้สำรวจนาคนอื่นด้วยเผื่อจะได้เทคนิคใหม่ ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กันยายน 2013, 21:38:06
ปั่นมาดูแปลงที่เป็นโรคขอบใบแห้งครับเป็นพันธุ์ กข41 เป็นนาดำด้วยรถดำนา เนื่องจากเจ้าของแกใส่ปุ๋ยยูเรียมากเพื่อให้ได้น้ำหนักดีคล้าย ๆ เหมือนช่วงนาปรังแต่คงใส่ปุ๋ยมากไปหน่อยบวกกับเป็นฤดูฝนและมีความชื้นสูง จึงเกิดโรคขอบใบแห้งซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากเป็นโรคมาก ๆ  จะทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวจะเหี่ยวเฉาและแห้งตายทั้งต้น แต่แปลงนี้ออกรวงแล้วเมล็ดข้าวใกล้จะเก็บเกี่ยวได้แล้วจึงรอดตัวไป  แต่ก็นำมาทำข้าวพันธุ์ต่อไม่ได้  สำหรับข้าวนาปีพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ได้แก่ มะลิ 105 กข6  ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กันยายน 2013, 21:49:08
ก่อนเข้าบ้านแวะดูแปลงนาตัวเอง สำรวจดูลำต้นซึ่งเตรียมพร้อมที่จะตั้งท้องแล้วครับปลายเดือนอาจได้ใส่ปุ๋ยบำรุงอีกรอบแต่ก็คงใส่ไม่มากครับเกรงว่าจะล้ม เนื่องจากน้ำปีนี้ค่อนข้างมากดินไม่แห้งเลยมีน้ำขังตลอดระบายออกก็ไม่ได้เพราะน้ำจากลำเหมืองไหลเข้านามาตลอดเนื่องจากมีการเร่งระบายน้ำจากหนองหลวงและฝาย แปลงนาที่อยู่ใกล้ๆ  หนองหลวงก็เสียหายกันมากเพราะระดับน้ำค่อนข้างสูงในปีนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 16 กันยายน 2013, 10:15:21
ข้าวงามแต้อ้าย
 ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 กันยายน 2013, 11:39:31
ข้าวงามแต้อ้าย
 ;D ;D ;D

55++  :D แปลง 13 ไร่มีหญ้าขึ้นนักขนาดครับนาปรับบ่าค่อยเรียบ  รูปถ่ายนี่แปลง 9 ไร่ปรับค่อนข้างดีกว่าหญ้าบ่าค่อยมีนักครับ  ปกติทำนาหว่านใส่ยาคุมหญ้า ที่นาเรียบบ่าเรียบหญ้าก็บ่าค่อยมีครับ รอบนี้ทำนาดำบ่าใส่ยาคุมหญ้าก็เลยขึ้นครับ นาปรังรอบต่อไปก็จะปรับฮื้อดีกว่านี้ กะว่าจะทำนาดำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 17 กันยายน 2013, 10:08:27
 :D :D :D นาปรังผมจะทำข้าวญี่ปุ่นครับ เห็นเขาบอกว่าทำแบบนาหยอด ครับ555+
ยังไม่เคยลองเหมือนกันครับ ยังไงจะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังนะครับ ราคาดีมากเลยครับน่าสนใจจริงๆเลย.... ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กันยายน 2013, 17:04:23
:D :D :D นาปรังผมจะทำข้าวญี่ปุ่นครับ เห็นเขาบอกว่าทำแบบนาหยอด ครับ555+
ยังไม่เคยลองเหมือนกันครับ ยังไงจะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังนะครับ ราคาดีมากเลยครับน่าสนใจจริงๆเลย.... ;D ;D


ข้าวญี่ปุ่นตอนนี้คนไทยนิยมกินกันมากขึ้นครับโดยเฉพาะเด็ก ๆ เค้าตกแต่งอาหารให้น่ากินมาก  อย่างร้านอาหารญี่ปุ่นก็มีเยอะแยะมากมายตามห้าง แม้แต่ถนนคนเดิน ตลาดนัดคลองถม ในเซเว่นก็มีข้าวกล่องขายครับ  ผมว่าปลูกข้าวญี่ปุ่นบ้างก็ช่วยหลาย ๆ อย่าง ไม่ต้องลุ้นราคารับจำนำ รัฐบาลไม่ต้องมีภาระในการรับจำนำ ข้าวก็ไม่ล้นตลาดเพราะยังมีความต้องการสูง  มีบริษัทรับซื้อโดยตรงโดยมีการทำสัญญารับซื้อเรียบร้อย มีการประกันราคา อย่างเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยาก็ได้เปรียบเพราะอุณภูมิเหมาะสม  หากผ่านมาตรฐาน Organic Standards  แล้วก็ช่วยเพิ่มมูลค่าขึ้นอีกด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กันยายน 2013, 20:55:45
ตามไปดูตัวแทนเกษตรกรดูงานกันบ้าง รายการตอนนี้ดูงานของ อ.เชาว์วัส หนูทอง ศูนย์กสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี  จ.ลพบุรี ครับ

THE FARMER เกมเกษตรกร 16 กันยายน 2556

hFoc20ZkVHU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 17 กันยายน 2013, 23:28:45
ข้าวงามแต้อ้าย
 ;D ;D ;D

55++  :D แปลง 13 ไร่มีหญ้าขึ้นนักขนาดครับนาปรับบ่าค่อยเรียบ  รูปถ่ายนี่แปลง 9 ไร่ปรับค่อนข้างดีกว่าหญ้าบ่าค่อยมีนักครับ  ปกติทำนาหว่านใส่ยาคุมหญ้า ที่นาเรียบบ่าเรียบหญ้าก็บ่าค่อยมีครับ รอบนี้ทำนาดำบ่าใส่ยาคุมหญ้าก็เลยขึ้นครับ นาปรังรอบต่อไปก็จะปรับฮื้อดีกว่านี้ กะว่าจะทำนาดำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ


 :D...ถ้าทำไฮ่น้อยๆ..จะใช้เวลาปรับไม่นานครับ...ไฮ่น้อยๆเก็บกักน้ำได้นาน.....จะหื้อเหมาะ..ทำไฮ่น้อยๆยาวๆ...จะง่ายต่อก๋านจัดก๋าน...ไถหือทำเทือก,ใส่ปุ๋ย,ฉีดพ่นยาหรือฮอร์โมนทำได้ง่าย...เพียงแต่จะเสียพื้นที่แปลงนาเยอะตะอั้นอ่ะครับ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 กันยายน 2013, 10:20:29
ข้าวงามแต้อ้าย
 ;D ;D ;D

55++  :D แปลง 13 ไร่มีหญ้าขึ้นนักขนาดครับนาปรับบ่าค่อยเรียบ  รูปถ่ายนี่แปลง 9 ไร่ปรับค่อนข้างดีกว่าหญ้าบ่าค่อยมีนักครับ  ปกติทำนาหว่านใส่ยาคุมหญ้า ที่นาเรียบบ่าเรียบหญ้าก็บ่าค่อยมีครับ รอบนี้ทำนาดำบ่าใส่ยาคุมหญ้าก็เลยขึ้นครับ นาปรังรอบต่อไปก็จะปรับฮื้อดีกว่านี้ กะว่าจะทำนาดำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ


 :D...ถ้าทำไฮ่น้อยๆ..จะใช้เวลาปรับไม่นานครับ...ไฮ่น้อยๆเก็บกักน้ำได้นาน.....จะหื้อเหมาะ..ทำไฮ่น้อยๆยาวๆ...จะง่ายต่อก๋านจัดก๋าน...ไถหือทำเทือก,ใส่ปุ๋ย,ฉีดพ่นยาหรือฮอร์โมนทำได้ง่าย...เพียงแต่จะเสียพื้นที่แปลงนาเยอะตะอั้นอ่ะครับ....

ขอบคุณครับ  เดียวแล้วนาปีก็ว่าจะขึ้นคันนาใหม่หมดครับ ด้านกว้างของแปลงประมาณ 20 -25 m ฮื้อสามารถใส่ปุ๋ยหรือพ่นฮอร์โมนโดยบ่าต้องลงในแปลงนาครับ แปลงนาปัจจุบันนอกจากติดปัญหาเรื่องการปรับระดับยากแล้วเพราะแปลงใหญ่ ยังขนกล้ายากโตยครับเลยต้องทำใหม่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 กันยายน 2013, 13:43:39
ตามไปดูงานกันต่อครับ

THE FARMER เกมเกษตรกร 17 กันยายน 2556

yZE_zWxoCOw


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กันยายน 2013, 13:35:38
หอมแผ่นดิน ตอน...หัวใจไร้สาร

คนกลุ่มเล็กๆ ในชุมชนบ้านฝั่งคลอง ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม รวมตัวกันปลูกผักอินทรีย์
"ถ้าดินตาย น้ำตาย ธรรมชาติขาดความอุดมสมบูรณ์ นั่นหมายถึงว่า ชีวิตการเกษตรของพี่น้องประชาชนจะอยู่ไม่ไ­ด้"
จำปี เล็กมาบแค และเพื่อนบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะการเรียนร็ ดูงาน ทำให้รู้ว่าเกษตรอินทรีย์ เป็นทางเลือกที่ยั่งยืน
"การทำเกษตรอินทรีย์ มันไม่ได้ยากเกินความสามารถเลย เเต่มันต้องมีความขยัน ความอดทน ซึ่งเราเองก็ได้รวมกัน พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเกษตรอินทรีย์มันสา­มารถทำได้ มันอยู่ได้ ทำได้จริง อยู่ได้จริง"

zeUql2ym4pI


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 20 กันยายน 2013, 19:02:32
 :D...ส่วนหนึ่งของผลผลิตจากโครงการปลูกผักบนคันนา....วันปกติก็เก็บไปขายที่ตลาดในหมู่บ้าน...และทุกๆวันศุกร์จะนำผักไปขายที่หน้าวัดพระธาตุจอมกิตติ....อันนี้แม่กับแฟนช่วยกันเอาไปขายครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 กันยายน 2013, 19:51:27
:D...ส่วนหนึ่งของผลผลิตจากโครงการปลูกผักบนคันนา....วันปกติก็เก็บไปขายที่ตลาดในหมู่บ้าน...และทุกๆวันศุกร์จะนำผักไปขายที่หน้าวัดพระธาตุจอมกิตติ....อันนี้แม่กับแฟนช่วยกันเอาไปขายครับ...

โห  :o  :o ...เยี่ยมเลย แต่ละอย่างน่าเอามายะกิ๋นทั้งนั้นเลยครับ  ขอฮื้อร่ำรวยเน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 21 กันยายน 2013, 22:38:04
:D...ส่วนหนึ่งของผลผลิตจากโครงการปลูกผักบนคันนา....วันปกติก็เก็บไปขายที่ตลาดในหมู่บ้าน...และทุกๆวันศุกร์จะนำผักไปขายที่หน้าวัดพระธาตุจอมกิตติ....อันนี้แม่กับแฟนช่วยกันเอาไปขายครับ...
ที่ใส่ผักเปิ้นฮ้อง..ก๋วยก้า แม่นก่อครับ(บ่าได้หันเมินละ) ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กันยายน 2013, 21:30:46
:D...ส่วนหนึ่งของผลผลิตจากโครงการปลูกผักบนคันนา....วันปกติก็เก็บไปขายที่ตลาดในหมู่บ้าน...และทุกๆวันศุกร์จะนำผักไปขายที่หน้าวัดพระธาตุจอมกิตติ....อันนี้แม่กับแฟนช่วยกันเอาไปขายครับ...
ที่ใส่ผักเปิ้นฮ้อง..ก๋วยก้า แม่นก่อครับ(บ่าได้หันเมินละ) ;D ;D

หันถุงไหนก็น่ากิ๋นเหียหมดครับ มีรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนแบบนี้สบายเลยครับ วันไหนบ่าได้ไปกาดก็เอาพืชผลที่ตัวเองปลูกมากิ๋นได้  ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้แถมปลอดภัยเพราะเฮาปลูกเองครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กันยายน 2013, 21:42:07
เสาร์อาทิตย์ตัดหญ้าคันนาครับ วัชพืชที่ขึ้นในแปลงนาบางชนิดเริ่มร่วงตายตามอายุแล้ว   การตัดหญ้าคันนาช่วยลดปัญหาเรื่องโรคของข้าวได้เพราะคันนาที่มีหญ้าหนาแน่นเป็นแหล่งสะสมและก่อให้เกิดเชื้อราบางชนิด   หากใครสังเกตุข้าวเป็นโรคส่วนมากมักจะเกิดใกล้ๆ คันไปก่อนมากกว่าจะเกิดตรงกลางแปลง การตัดหญ้าให้สั้นเพื่อให้ถูกความร้อนจากแสงแดดจะช่วยให้ฆ่าเชื้อได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 กันยายน 2013, 12:24:45
:D...ส่วนหนึ่งของผลผลิตจากโครงการปลูกผักบนคันนา....วันปกติก็เก็บไปขายที่ตลาดในหมู่บ้าน...และทุกๆวันศุกร์จะนำผักไปขายที่หน้าวัดพระธาตุจอมกิตติ....อันนี้แม่กับแฟนช่วยกันเอาไปขายครับ...
ที่ใส่ผักเปิ้นฮ้อง..ก๋วยก้า แม่นก่อครับ(บ่าได้หันเมินละ) ;D ;D

 :D.....แม่นละครับ...ที่บ้านมีไว้ใช้หลายคู่...เอาไว้ใส่ต้นกล้าข้าวด้วยครับ...


:D...ส่วนหนึ่งของผลผลิตจากโครงการปลูกผักบนคันนา....วันปกติก็เก็บไปขายที่ตลาดในหมู่บ้าน...และทุกๆวันศุกร์จะนำผักไปขายที่หน้าวัดพระธาตุจอมกิตติ....อันนี้แม่กับแฟนช่วยกันเอาไปขายครับ...
ที่ใส่ผักเปิ้นฮ้อง..ก๋วยก้า แม่นก่อครับ(บ่าได้หันเมินละ) ;D ;D

หันถุงไหนก็น่ากิ๋นเหียหมดครับ มีรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนแบบนี้สบายเลยครับ วันไหนบ่าได้ไปกาดก็เอาพืชผลที่ตัวเองปลูกมากิ๋นได้  ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้แถมปลอดภัยเพราะเฮาปลูกเองครับ

 :D...เป็นรายได้เสริมครับ....เดี๋ยวช่วงนาปรังจะทำเห็ดฟางด้วย.....เห็ดฟางถ้าทำดีๆ..รายได้นี่งามๆเลยครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 กันยายน 2013, 19:49:32
 :D...ช่วงนี้กลางวันเข้าสวนยาง...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 กันยายน 2013, 19:55:27
 :D...ตอนเย็นๆถึงได้เข้าทุ่งนา...ช่วงนี้งานนามีไม่มาก...แค่เพียงเดินดูระดับน้ำในแปลงนา...รอเวลาใส่ปุ๋ยตอนข้าวตั้งท้อง......2ภาพล่างเป็นท้ายแปลง...มีร่องน้ำไว้เก็บน้ำ...ไม่ได้ปล่อยปลา...แต่มีปลาเข้ามาอยู่ช่วงตอนน้ำเยอะๆละ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 กันยายน 2013, 20:00:51
 :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 กันยายน 2013, 20:04:01
 :D...เก็บเห็ดได้นิดหน่อย...ดอกเห็ดยังไม่โตเท่าไหร่...แต่ถ้าทิ้งให้โตกว่านี้..ไม่ทันคนอื่นแน่ๆ....เพราะช่วงนี้เห็ดออกไม่เยอะเลยไม่ได้เฝ้า....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 กันยายน 2013, 20:31:26
:D...ตอนเย็นๆถึงได้เข้าทุ่งนา...ช่วงนี้งานนามีไม่มาก...แค่เพียงเดินดูระดับน้ำในแปลงนา...รอเวลาใส่ปุ๋ยตอนข้าวตั้งท้อง......2ภาพล่างเป็นท้ายแปลง...มีร่องน้ำไว้เก็บน้ำ...ไม่ได้ปล่อยปลา...แต่มีปลาเข้ามาอยู่ช่วงตอนน้ำเยอะๆละ...

ข้าวงามขนาดน้อครับ แบบนี้ท่าจะได้น้ำหนักดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 25 กันยายน 2013, 11:46:53
:D...ส่วนหนึ่งของผลผลิตจากโครงการปลูกผักบนคันนา....วันปกติก็เก็บไปขายที่ตลาดในหมู่บ้าน...และทุกๆวันศุกร์จะนำผักไปขายที่หน้าวัดพระธาตุจอมกิตติ....อันนี้แม่กับแฟนช่วยกันเอาไปขายครับ...
มาติดตามดูผลผลิตด้วยคนครับ เยี่ยมมากๆเลยครับ เหลือกินก็แจกก็ขายเป็นรายได้เสริม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 25 กันยายน 2013, 11:50:20
:D...เก็บเห็ดได้นิดหน่อย...ดอกเห็ดยังไม่โตเท่าไหร่...แต่ถ้าทิ้งให้โตกว่านี้..ไม่ทันคนอื่นแน่ๆ....เพราะช่วงนี้เห็ดออกไม่เยอะเลยไม่ได้เฝ้า....
:oเห็ดห้า เอาเชื้อมาใส่หรือออกตามธรรมชาติครับ  สนใจปลูกอยู่เหมือนกันครับขอความรู้ด้วยนะครับ :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 25 กันยายน 2013, 17:07:50
:D...เก็บเห็ดได้นิดหน่อย...ดอกเห็ดยังไม่โตเท่าไหร่...แต่ถ้าทิ้งให้โตกว่านี้..ไม่ทันคนอื่นแน่ๆ....เพราะช่วงนี้เห็ดออกไม่เยอะเลยไม่ได้เฝ้า....
:oเห็ดห้า เอาเชื้อมาใส่หรือออกตามธรรมชาติครับ  สนใจปลูกอยู่เหมือนกันครับขอความรู้ด้วยนะครับ :)

 :D...ออกเองตามธรรมชาตฺครับ....ออกกับต้นมะกอกน้ำ....ช่วงหน้าแล้งถ้าให้น้ำ..เห็ดก็ออกครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 กันยายน 2013, 20:27:54
:D...เก็บเห็ดได้นิดหน่อย...ดอกเห็ดยังไม่โตเท่าไหร่...แต่ถ้าทิ้งให้โตกว่านี้..ไม่ทันคนอื่นแน่ๆ....เพราะช่วงนี้เห็ดออกไม่เยอะเลยไม่ได้เฝ้า....
:oเห็ดห้า เอาเชื้อมาใส่หรือออกตามธรรมชาติครับ  สนใจปลูกอยู่เหมือนกันครับขอความรู้ด้วยนะครับ :)

 :D...ออกเองตามธรรมชาตฺครับ....ออกกับต้นมะกอกน้ำ....ช่วงหน้าแล้งถ้าให้น้ำ..เห็ดก็ออกครับ..

เขาว่าเห็ดห้าที่ออกกับต้นมะกอกน้ำจะมีรสชาติอร่อยกว่าออกที่ใต้ต้นอื่นแม่นก่หาครับ แถวบ้านผมถ้าเอาเห็ดห้าที่ออกใต้ต้นมะกอกน้ำจะขายหมดเร็วขนาด ถ้าใต้ต้นอื่นนี่บ่าค่อยได้ขายครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 กันยายน 2013, 20:44:29
ช่วงนี้ผ่านทางทุ่งนา หากแปลงไหนปลูกข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงหรือข้าวนาปรังมาปลูกก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวกันแล้วบางที่ต้นสูงล้มก็มีครับ น้ำในแปลงนาบางแห่งก็มีเยอะอยู่เพราะฝนยังตก ระบายน้ำไม่ได้ นาอาจเป็นหล่มเวลาเก็บเกี่ยวได้ ตอนนี้ใครที่ยังไม่มีพันธุ์ข้าวนาปรังก็เตรียมซื้อไว้บ้างก็ดีครับ เพราะจะได้ราคาถูกกว่าการซื้อข้าวแพ็คของกรม เลือกเจ้าที่ข้าวงาม ไม่เป็นโรค วัชพืชในแปลงนาน้อย เมล็ดแก่เต็มที่  หากนำเมล็ดข้าวที่เร่งเก็บเกี่ยวมามักจะไม่ค่อยงอก เมล็ดจะมีแป้งน้อย  และที่สำคัญข้าวหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวต้องมีการพักเมล็ดประมาณ 3-4 เดือนจึงจะนำมาเพาะใหม่ได้ดี แต่รีบเร่งก็ประมาณ 2-3 เดือนก็พอได้ครับ และไม่ควรมากหลาย ๆ เดือนเกินไปเพราะเปอร์เซนต์การงอกจะลดลงโดยการเก็บในอุณภูมิทั่วไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 กันยายน 2013, 20:15:44
ตอนนี้ไปดูเขาใส่ปุ๋ยกัน

THE FARMER เกมเกษตรกร 25 กันยายน 2556

sFsV8QCovuQ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 26 กันยายน 2013, 20:34:25
ตอนนี้ไปดูเขาใส่ปุ๋ยกัน

THE FARMER เกมเกษตรกร 25 กันยายน 2556



 :D...เมื่อก่อนเคยหว่านปุ๋ยด้วยมือแบบนี้...แค่4-5ไร่...แขนแทบหลุด......


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 กันยายน 2013, 14:17:06
ตอนนี้ไปดูเขาใส่ปุ๋ยกัน

THE FARMER เกมเกษตรกร 25 กันยายน 2556



 :D...เมื่อก่อนเคยหว่านปุ๋ยด้วยมือแบบนี้...แค่4-5ไร่...แขนแทบหลุด......

เหมือนกั๋นครับ  ผมใช้มือหว่านไม่ค่อยเสมอกันจะถนัดใช้เครื่องพ่นมากกว่าค่อนข้างง่ายและรวดเร็วกว่า สามารถทำคนเดียวได้สำหรับนา  22 ไร่ภายใน 1 วัน  ตอนนี้แปลงนาผมยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเลย น้ำในนามีมากเกินไปท่วมคันนาระบายไม่ออกและน้ำก็ดันเข้านาเรื่อยๆเพราะฝนตกและมีการระบายน้ำจากฝายมาเรื่อย ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 27 กันยายน 2013, 19:03:27
:D...ตอนเย็นๆถึงได้เข้าทุ่งนา...ช่วงนี้งานนามีไม่มาก...แค่เพียงเดินดูระดับน้ำในแปลงนา...รอเวลาใส่ปุ๋ยตอนข้าวตั้งท้อง......2ภาพล่างเป็นท้ายแปลง...มีร่องน้ำไว้เก็บน้ำ...ไม่ได้ปล่อยปลา...แต่มีปลาเข้ามาอยู่ช่วงตอนน้ำเยอะๆละ...
นอนใส่เบ็ดกำน้อ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 27 กันยายน 2013, 20:24:22
ตอนนี้ไปดูเขาใส่ปุ๋ยกัน

THE FARMER เกมเกษตรกร 25 กันยายน 2556





 :D...เมื่อก่อนเคยหว่านปุ๋ยด้วยมือแบบนี้...แค่4-5ไร่...แขนแทบหลุด......

เหมือนกั๋นครับ  ผมใช้มือหว่านไม่ค่อยเสมอกันจะถนัดใช้เครื่องพ่นมากกว่าค่อนข้างง่ายและรวดเร็วกว่า สามารถทำคนเดียวได้สำหรับนา  22 ไร่ภายใน 1 วัน  ตอนนี้แปลงนาผมยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเลย น้ำในนามีมากเกินไปท่วมคันนาระบายไม่ออกและน้ำก็ดันเข้านาเรื่อยๆเพราะฝนตกและมีการระบายน้ำจากฝายมาเรื่อย ๆ ครับ

 :D...เอาเครื่องพ่นปุ๋ยไปซ่อมเตรียมไว้แล้วครับ...ประมาณต้นเดือนหน้า...น่าจะใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายได้ละครับ...

:D...ตอนเย็นๆถึงได้เข้าทุ่งนา...ช่วงนี้งานนามีไม่มาก...แค่เพียงเดินดูระดับน้ำในแปลงนา...รอเวลาใส่ปุ๋ยตอนข้าวตั้งท้อง......2ภาพล่างเป็นท้ายแปลง...มีร่องน้ำไว้เก็บน้ำ...ไม่ได้ปล่อยปลา...แต่มีปลาเข้ามาอยู่ช่วงตอนน้ำเยอะๆละ...
นอนใส่เบ็ดกำน้อ ;D ;D

 :D....ในนาปลาก็นักครับ...ออกโบ๊ะๆบ๊ะๆ....เดี๋ยวต๋อนหยัดน้ำนา..จะเอาไซไปใส่ครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 27 กันยายน 2013, 20:32:41
 :D...ทุกวันศุกร์ครับ...แม่เตรียมผักไปขาย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 27 กันยายน 2013, 20:35:11
 :D...ผักที่ได้ปลูกจากบนคันนาส่วนหนึ่งและที่ปลูกไว้ข้างรั้วบ้าน.....ตอนกลับมาเห็นมีผักหวานกับผักหนามมาด้วย..ไม่รู้เอาผักอะไรไปแลกมา..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 กันยายน 2013, 21:39:07
:D...ทุกวันศุกร์ครับ...แม่เตรียมผักไปขาย

ผักงาม รูปสวยครับ ผมชอบกิ๋นกับข้าวเมืองครับเห็นผักพวกนี้นี่อยากมายะกิ๋นขนาดแถวบ้านผมในกาดเช้าส่วนใหญ่จะเป็นผักที่แม่ค้าไปรับจากในเมืองครับ พวกกะหล่ำ ผักกาดขาว เห็ดญี่ปุ่น ที่คนดอยปลูกส่วนผักขึ้นริมรั้ว ปลอดสารบ่ค่อยมีครับ เดียวเดือนหน้าผมไปลาวเอาไว้จะถ่ายรูป การทำเกษตรปู้นมาฝากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 27 กันยายน 2013, 22:19:06
:D...ทุกวันศุกร์ครับ...แม่เตรียมผักไปขาย
แก๋งแคครับ..ผักสดๆปลอดสารพิษ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: adully ที่ วันที่ 29 กันยายน 2013, 12:29:33
เอาละ!!!!!!!! นาอิทรีย์ผม บ่าไส่ปุ๋ย บ่าไส่ยา เกยปลูกปอเทืองปี 54 ปลูกถั่วเหลืองปี 55
ข้าวงามดีขนาดแบบว่าปอใจ๋ละเลยว่าจะบ่ายะหยังแล้ว 15 กย. ที่ผ่านมาเจอโรคถอดฝักดาบ มา 29 กย.ข้าวผดออกเป๋นที่ๆ ไปดูแล้วเจอโรคเมล็ดด่างคงต้องเจอ แมนโคเซบ ละก้า บ่าได้กิ๋นปลอดสาร 100% ละ ขอคำแนะนำโตยคับหมดกำลังใจ๋เลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 กันยายน 2013, 22:59:07
เอาละ!!!!!!!! นาอิทรีย์ผม บ่าไส่ปุ๋ย บ่าไส่ยา เกยปลูกปอเทืองปี 54 ปลูกถั่วเหลืองปี 55
ข้าวงามดีขนาดแบบว่าปอใจ๋ละเลยว่าจะบ่ายะหยังแล้ว 15 กย. ที่ผ่านมาเจอโรคถอดฝักดาบ มา 29 กย.ข้าวผดออกเป๋นที่ๆ ไปดูแล้วเจอโรคเมล็ดด่างคงต้องเจอ แมนโคเซบ ละก้า บ่าได้กิ๋นปลอดสาร 100% ละ ขอคำแนะนำโตยคับหมดกำลังใจ๋เลย


ใจเย็น ๆ ครับค่อย ๆ ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ครับ ตอนนี้ที่เป็นโรคปลูกข้าวพันธุ์อะไรอยู่ครับ โรคถอดฝักดาบตอนนี้ไม่ค่อยเจอกัน  ส่วนใหญ่จะเจอในช่วงปลูกแรก ๆ ประมาณ 1-2 เดือน เชื้อราบางส่วนที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการปลูกพืชก่อนหน้านี้เช่น ถั่ว  เพราะเชื้อราจะอยู่ในดินได้หลายเดือน หากเก็บเกี่ยวรอบนี้แล้ว ควรเผาฟางหลังเกี่ยวจะช่วยกำจัดและลดปริมาณเชื้อราที่เกาะตามฟางข้าว หญ้าบนผิวดินได้เพื่อป้องกันการรุกลามไปรอบการปลูกครั้งต่อไป  ส่วนโรคเมล็ดด่างหากจะช่วยป้องกันการรุกลามมากกว่านี้ก็คงต้องพึ่งเคมีแล้วล่ะครับ  ไตรโครเดอร์จะไม่ทันเพราะแพร่กระจายได้ไวมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 กันยายน 2013, 23:06:00
ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาฝนตกเยอะ แปลงนาหลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย ทั้งข้าวล้มแช่น้ำกันเยอะทีเดียว การปลูกข้าวนาอายุสั้น ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงอาจไม่เหมาะสำหรับการปลูกในฤดูฝนโดยเฉพาะแปลงที่น้ำขังและระบายน้ำออกได้ยากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 กันยายน 2013, 23:09:45
แปลงนาผมติดลำน้ำเหมืองครับ ปีนี้น้ำเยอะเป็นพิเศษเกือบจะล้นคันนาเข้ามาเลย เสร็จนาปีนี้คงต้องเพิ่มความสูงและความหนาของคันนาขึ้นอีกครับ เพื่อสามารถควบคุมน้ำได้ดีกว่านี้ น้ำในนามีมากก็ไม่เหมาะสำหรับการใส่ปุ๋ยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 กันยายน 2013, 23:19:35
แปลงนาฝั่ง 13 ไร่ที่ลองดำนาด้วยรถดำนาครั้งแรก  การปรับพื้นนาไม่ได้ระดับทำให้หญ้าและข้าววัชพืชเกิดขึ้นตอนนี้เริ่มดูดีขึ้นเพราะหญ้าตายและข้าววัชพืชเริ่มเมล็ดร่วงไปบ้างแล้วครับ ตอนแรกคาดหวังแค่ได้ผลผลิตแค่ 5 ไร่ก็พอเพราะโดนทั้งหอยเชอรี่กิน ก็ค่อย ๆปลูกซ่อมไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ดีกว่าที่คาดหวังไว้มากพอสมควร น่าจะได้ผลผลิตที่ดีอยู่ ตั้งแต่ปลูกใส่ปุ๋ยเคมีไปแล้ว 1.5 กระสอบ ยังหาจังหวะใส่ปุ๋ยอีกรอบอยู่แต่ใส่ไม่ได้เนื่องจากระดับน้ำมีมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 กันยายน 2013, 23:25:23
นาอีกฝั่ง 9 ไร่ปลูกครั้งที่สอง การปรับพื้นนาดีขึ้น การปลูกดีขึ้นก็ทำให้ข้าวในนาดูดีพอสมควร นาทั้งสองแปลงไม่ได้ใช้ยาคุมหรือยากำจัดวัชพืชเลยครับ ทำครั้งนี้รอดทำครั้งต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาคุมหรือยากำจัดวัชพืชอีกต่อไป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 กันยายน 2013, 23:28:20
ไปดูนานับเจ้าตัวนี้ได้หลายอัน เป็นกับดักจับกบเขียดครับ ชาวนาใกล้เคียงมักมาวางไว้ริมคันนา ถามดูแล้ววันนึงได้หลายตัว รายได้ค่อนข้างดี เหยื่อที่ใช้ก็คือปลาสับละเอียดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bankey2122 ที่ วันที่ 30 กันยายน 2013, 08:03:24
ไปดูนานับเจ้าตัวนี้ได้หลายอัน เป็นกับดักจับกบเขียดครับ ชาวนาใกล้เคียงมักมาวางไว้ริมคันนา ถามดูแล้ววันนึงได้หลายตัว รายได้ค่อนข้างดี เหยื่อที่ใช้ก็คือปลาสับละเอียดครับ
กับดักอันนี้หนา ตอนในนามีน้ำ มีเต็มโต้ง เตี้ยวคันนาบ่อหล่ม จะว่าบ่าหื้อใส่ก็เกรงใจ๋เจ้าของกับดัก ส่วนเขาบ่าเกรงใจเจ้าของนากำแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 30 กันยายน 2013, 10:41:49
ไปดูนานับเจ้าตัวนี้ได้หลายอัน เป็นกับดักจับกบเขียดครับ ชาวนาใกล้เคียงมักมาวางไว้ริมคันนา ถามดูแล้ววันนึงได้หลายตัว รายได้ค่อนข้างดี เหยื่อที่ใช้ก็คือปลาสับละเอียดครับ
กับดักอันนี้หนา ตอนในนามีน้ำ มีเต็มโต้ง เตี้ยวคันนาบ่อหล่ม จะว่าบ่าหื้อใส่ก็เกรงใจ๋เจ้าของกับดัก ส่วนเขาบ่าเกรงใจเจ้าของนากำแล้ว
พึ่งเกยเห็น ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 30 กันยายน 2013, 11:56:35
ไปดูนานับเจ้าตัวนี้ได้หลายอัน เป็นกับดักจับกบเขียดครับ ชาวนาใกล้เคียงมักมาวางไว้ริมคันนา ถามดูแล้ววันนึงได้หลายตัว รายได้ค่อนข้างดี เหยื่อที่ใช้ก็คือปลาสับละเอียดครับ

 :D...อยากเห็นชัดๆหลายๆมุมจังครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 กันยายน 2013, 19:40:29
ไปดูนานับเจ้าตัวนี้ได้หลายอัน เป็นกับดักจับกบเขียดครับ ชาวนาใกล้เคียงมักมาวางไว้ริมคันนา ถามดูแล้ววันนึงได้หลายตัว รายได้ค่อนข้างดี เหยื่อที่ใช้ก็คือปลาสับละเอียดครับ
กับดักอันนี้หนา ตอนในนามีน้ำ มีเต็มโต้ง เตี้ยวคันนาบ่อหล่ม จะว่าบ่าหื้อใส่ก็เกรงใจ๋เจ้าของกับดัก ส่วนเขาบ่าเกรงใจเจ้าของนากำแล้ว

55 เป็นประจำครับเลยปล่อยเลยตามเลย นาผมยิ่งปลาไหล กบ ปลาเยอะอยู่ด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 กันยายน 2013, 19:42:38
ไปดูนานับเจ้าตัวนี้ได้หลายอัน เป็นกับดักจับกบเขียดครับ ชาวนาใกล้เคียงมักมาวางไว้ริมคันนา ถามดูแล้ววันนึงได้หลายตัว รายได้ค่อนข้างดี เหยื่อที่ใช้ก็คือปลาสับละเอียดครับ

 :D...อยากเห็นชัดๆหลายๆมุมจังครับ...

เดี๋ยวไว้ถ่ายหลายๆมุมมาให้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 01 ตุลาคม 2013, 20:19:06
 :D...2-3วันก่อนฝนตกหนัก...น้ำเยอะจนท่วมคันนา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 01 ตุลาคม 2013, 20:21:02
 :D...ดักปลา...ได้แต่ตัวเล็กๆ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 01 ตุลาคม 2013, 20:23:07
 :D...ผู้ดูแลฯD-maxซื้อมาทิ้งไว้ที่บ้านนานละครับ....เพิ่งได้มีโอกาสเอามาทดลองดักปลา...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 ตุลาคม 2013, 21:12:42
ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็น มืดไวเลิกงานกลับมาบ้านไม่ทันไปนาซักที  ต้นข้าวท่าน BM+ งามครับ เห็นปลาที่ดักได้เอาทำปลาร้าแห้งก็คงได้หลายไม้ครับ ตอนนี้ราคาแพงทีเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 ตุลาคม 2013, 21:13:14
อีกประมาณ 2 สัปดาห์ข้าวนาปีคงเริ่มแทงยอดกันบ้างแล้ว ช่วงนี้นอกจากใส่ปุ๋ยเพื่อช่วยเรื่องเมล็ดแล้ว อาจต้องดูเรื่องโรคที่จะมาในช่วงนี้ด้วยนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 01 ตุลาคม 2013, 22:07:49
ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็น มืดไวเลิกงานกลับมาบ้านไม่ทันไปนาซักที  ต้นข้าวท่าน BM+ งามครับ เห็นปลาที่ดักได้เอาทำปลาร้าแห้งก็คงได้หลายไม้ครับ ตอนนี้ราคาแพงทีเดียว

 :D....จะทำปลาร้าตากแห้ง...แต่แดดไม่มีเลยครับวันนี้....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 01 ตุลาคม 2013, 22:13:15
 :D...ภาพที่ถ่ายเก็บไว้เมื่อวันที่21ตุลาคม..ปีที่แล้วครับ.......ข้าวเริ่มแทงยอดรวงประมาณวันที่15ตุลาคม...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: adully ที่ วันที่ 02 ตุลาคม 2013, 10:50:47
เอาละ!!!!!!!! นาอิทรีย์ผม บ่าไส่ปุ๋ย บ่าไส่ยา เกยปลูกปอเทืองปี 54 ปลูกถั่วเหลืองปี 55
ข้าวงามดีขนาดแบบว่าปอใจ๋ละเลยว่าจะบ่ายะหยังแล้ว 15 กย. ที่ผ่านมาเจอโรคถอดฝักดาบ มา 29 กย.ข้าวผดออกเป๋นที่ๆ ไปดูแล้วเจอโรคเมล็ดด่างคงต้องเจอ แมนโคเซบ ละก้า บ่าได้กิ๋นปลอดสาร 100% ละ ขอคำแนะนำโตยคับหมดกำลังใจ๋เลย


ใจเย็น ๆ ครับค่อย ๆ ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ครับ ตอนนี้ที่เป็นโรคปลูกข้าวพันธุ์อะไรอยู่ครับ โรคถอดฝักดาบตอนนี้ไม่ค่อยเจอกัน  ส่วนใหญ่จะเจอในช่วงปลูกแรก ๆ ประมาณ 1-2 เดือน เชื้อราบางส่วนที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการปลูกพืชก่อนหน้านี้เช่น ถั่ว  เพราะเชื้อราจะอยู่ในดินได้หลายเดือน หากเก็บเกี่ยวรอบนี้แล้ว ควรเผาฟางหลังเกี่ยวจะช่วยกำจัดและลดปริมาณเชื้อราที่เกาะตามฟางข้าว หญ้าบนผิวดินได้เพื่อป้องกันการรุกลามไปรอบการปลูกครั้งต่อไป  ส่วนโรคเมล็ดด่างหากจะช่วยป้องกันการรุกลามมากกว่านี้ก็คงต้องพึ่งเคมีแล้วล่ะครับ  ไตรโครเดอร์จะไม่ทันเพราะแพร่กระจายได้ไวมากครับ
เรียบร้อยละคับเคมีฉีดตะวา อย่างฮ้อนเลย 6 ไร่ดูจากสภาพเดวข้าวจะบ่าปอกิ๋นเลยฉีดเคมีคับ แถวๆบ้านปลูกข้าวเอาไว้กิ๋นเป๋นพันธุ์พื้นเมือง พ่อว่าข้าวหมัดหนัก มันได้ข้าวดีเขาว่าอั้นเลยเจอ คาร์เบนดาซิม ตรากังหันรอดูสัก 7 วันบ่าเจอเพิ่มก่อจะหยุดเจอก่อจัดอีกรอบ ข้าวถอดฝักดาบเห็นแถวเวียงแก้ว ก่อเจอไกล้ๆกันคับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: tonnum ที่ วันที่ 03 ตุลาคม 2013, 13:25:36
ขอบคุณครับกับข้อมูลดีๆบางอย่างจะลองนำเอาไปใช้ดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 ตุลาคม 2013, 21:03:16
เอาละ!!!!!!!! นาอิทรีย์ผม บ่าไส่ปุ๋ย บ่าไส่ยา เกยปลูกปอเทืองปี 54 ปลูกถั่วเหลืองปี 55
ข้าวงามดีขนาดแบบว่าปอใจ๋ละเลยว่าจะบ่ายะหยังแล้ว 15 กย. ที่ผ่านมาเจอโรคถอดฝักดาบ มา 29 กย.ข้าวผดออกเป๋นที่ๆ ไปดูแล้วเจอโรคเมล็ดด่างคงต้องเจอ แมนโคเซบ ละก้า บ่าได้กิ๋นปลอดสาร 100% ละ ขอคำแนะนำโตยคับหมดกำลังใจ๋เลย


ใจเย็น ๆ ครับค่อย ๆ ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ครับ ตอนนี้ที่เป็นโรคปลูกข้าวพันธุ์อะไรอยู่ครับ โรคถอดฝักดาบตอนนี้ไม่ค่อยเจอกัน  ส่วนใหญ่จะเจอในช่วงปลูกแรก ๆ ประมาณ 1-2 เดือน เชื้อราบางส่วนที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการปลูกพืชก่อนหน้านี้เช่น ถั่ว  เพราะเชื้อราจะอยู่ในดินได้หลายเดือน หากเก็บเกี่ยวรอบนี้แล้ว ควรเผาฟางหลังเกี่ยวจะช่วยกำจัดและลดปริมาณเชื้อราที่เกาะตามฟางข้าว หญ้าบนผิวดินได้เพื่อป้องกันการรุกลามไปรอบการปลูกครั้งต่อไป  ส่วนโรคเมล็ดด่างหากจะช่วยป้องกันการรุกลามมากกว่านี้ก็คงต้องพึ่งเคมีแล้วล่ะครับ  ไตรโครเดอร์จะไม่ทันเพราะแพร่กระจายได้ไวมากครับ
เรียบร้อยละคับเคมีฉีดตะวา อย่างฮ้อนเลย 6 ไร่ดูจากสภาพเดวข้าวจะบ่าปอกิ๋นเลยฉีดเคมีคับ แถวๆบ้านปลูกข้าวเอาไว้กิ๋นเป๋นพันธุ์พื้นเมือง พ่อว่าข้าวหมัดหนัก มันได้ข้าวดีเขาว่าอั้นเลยเจอ คาร์เบนดาซิม ตรากังหันรอดูสัก 7 วันบ่าเจอเพิ่มก่อจะหยุดเจอก่อจัดอีกรอบ ข้าวถอดฝักดาบเห็นแถวเวียงแก้ว ก่อเจอไกล้ๆกันคับ

ข้าวพันธุ์พื้นเมืองน่าสนใจดีครับ  ได้ผลผลิตยังไงมาแชร์ความรู้กั๋นพ่องเน้อครับ  ผมไปที่ลาวเมื่อปีก่อนมีข้าวอยู่สายพันธุ์หนึ่งเมล็ดใหญ่มาก ใหญ่กว่าเมล็ดข้าวบ้านเราประมาณ 1-2 เท่า เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของเค้า นอกจากใช้กินเห็นเค้าว่าใช้ในงานพิธีด้วย เดี๋ยวไปลาวกลางเดือนนี้จะลองไปศึกษาและถ่ายรูปมาฝากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 ตุลาคม 2013, 21:03:55
ขอบคุณครับกับข้อมูลดีๆบางอย่างจะลองนำเอาไปใช้ดูครับ

ยินดีครับ  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 ตุลาคม 2013, 20:29:37
วันนี้ไปใส่ปุ๋ยในนาข้าวแปลง 13 ไร่  ต้นข้าวค่อนข้างสมบูรณ์ดีอยู่ใส่ไป 1 กส. ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: adully ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 08:01:32
สูตรอะหยังคับอ้าย ใส่เพื่อเร่งหยัง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 19:05:48
สูตรอะหยังคับอ้าย ใส่เพื่อเร่งหยัง


ผมใส่สูตร 15-15-15  ครับพอดีใส่แค่ 1 กส.  ใจอยากใส่สูตร 8-24-24 ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ใช้กันมากกับต้นปาล์มอยากลองมาใช้ดู  แต่แถวบ้านไม่มีขายครับ จะผสมปุ๋ยเองก็ต้องใช้มากกว่า 1 กส. ก็เลยมาใช้สูตรนี้ครับ

ช่วงข้าวกำลังจะแทงยอดหลัก ๆ ก็คือ

N =  ใช้บำรุงลำต้นเพื่อรับน้ำหนักของรวงข้าวแต่ไม่ควรใส่มากต้นจะเขียวนาน
p =  บำรุงเมล็ด รวงข้าว
k =   ทำให้น้ำหนักดีเนื่องจากเร่งสร้างแป้งในเมล็ดข้าว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 19:07:56
กับดัก กบ เขียด ที่ท่าน BM+ สนใจครับการทำงานคล้าย ๆ การเล่นเกมส์ สาวน้อยตกน้ำครับ ทำไม่ยากครับ  เหยือที่วางคือปลาสับละเอียดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 19:14:30
กับดัก กบ เขียด ที่ท่าน BM+ สนใจครับการทำงานคล้าย ๆ การเล่นเกมส์ สาวน้อยตกน้ำครับ ทำไม่ยากครับ  เหยือที่วางคือปลาสับละเอียดครับ

 :D...ขอบคุณมากๆครับ....เดี๋ยวจะลองทำดู....เห็นแบบแล้วไม่น่ายากครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 19:21:24
การทำนาผมรอบนี้ผมพยายามทำนาแบบใกล้เคียงสมัยก่อนมากที่สุดเป็นการพยายามทำนาแบบลดต้นทุน การลดปริมาณใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าว  การไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช  จะลองดูว่าผลผลิตที่ได้พอรับได้ไม๊ ซึ่งผลที่ได้มาอย่างไรก็ค่อยปรับในการทำนารอบต่อไปให้ดีขึ้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 19:24:30
 :D...เตรียมปุ๋ยไว้14ลูกครับ.....70ไร่ๆละ10กก.  ปุ๋ย15-7-18....7ลูก...ปุ๋ย15-15-15อีก7ลูก...พี่ที่รู้จักกันเขาเชียร์15-7-18..เลยเอามาทดลองใช้ครับ....หว่านยากนิดนึง...ปุ๋ยมันติดลิ้นเครื่องพ่น...ต้องคอยเช็ดออก....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 19:28:53
 :D...กข.15เริ่มแตกออกรวงแล้ว....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 19:36:30
การทำนาผมรอบนี้ผมพยายามทำนาแบบใกล้เคียงสมัยก่อนมากที่สุดเป็นการพยายามทำนาแบบลดต้นทุน การลดปริมาณใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าว  การไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช  จะลองดูว่าผลผลิตที่ได้พอรับได้ไม๊ ซึ่งผลที่ได้มาอย่างไรก็ค่อยปรับในการทำนารอบต่อไปให้ดีขึ้นครับ


 :D...ปุ๋ยเคมีเลือกใช้เฉพาะบางจุดที่ข้าวไม่ขึ้นได้ครับ.....ส่วนสารกำจัดวัชพืช..ถ้าทำนาดำไม่ค่อยมีปัญหาแต่ต้องหมั่นดูแลควบคุมระดับน้ำในแปลงนา...
.....จะมีแค่การกำจัดหอยเชอรี่เท่านั้นแหละครับ...ที่ผมว่าคือปัญหาหนัก...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 20:08:29
การทำนาผมรอบนี้ผมพยายามทำนาแบบใกล้เคียงสมัยก่อนมากที่สุดเป็นการพยายามทำนาแบบลดต้นทุน การลดปริมาณใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าว  การไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช  จะลองดูว่าผลผลิตที่ได้พอรับได้ไม๊ ซึ่งผลที่ได้มาอย่างไรก็ค่อยปรับในการทำนารอบต่อไปให้ดีขึ้นครับ


 :D...ปุ๋ยเคมีเลือกใช้เฉพาะบางจุดที่ข้าวไม่ขึ้นได้ครับ.....ส่วนสารกำจัดวัชพืช..ถ้าทำนาดำไม่ค่อยมีปัญหาแต่ต้องหมั่นดูแลควบคุมระดับน้ำในแปลงนา...
.....จะมีแค่การกำจัดหอยเชอรี่เท่านั้นแหละครับ...ที่ผมว่าคือปัญหาหนัก...

ขอบคุณครับ...หอยเชอรี่ปัญหาแต้ ๆ ครับโดยเฉพาะนาเขตชลประทาน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 20:10:01
:D...เตรียมปุ๋ยไว้14ลูกครับ.....70ไร่ๆละ10กก.  ปุ๋ย15-7-18....7ลูก...ปุ๋ย15-15-15อีก7ลูก...พี่ที่รู้จักกันเขาเชียร์15-7-18..เลยเอามาทดลองใช้ครับ....หว่านยากนิดนึง...ปุ๋ยมันติดลิ้นเครื่องพ่น...ต้องคอยเช็ดออก....

รถแทรกเตอร์คันนี้นี่ใช้คุ้มแต้ ๆ น้อครับ  ปุ๋ยสูตรนี้ได้ผลยังไงมาบอกกั๋นโตยเน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 ตุลาคม 2013, 20:15:36
:D...กข.15เริ่มแตกออกรวงแล้ว....

แหม 1 เดือนก็จะได้เป็นพ่อเลี้ยงแล้วน้อครับยินดีโตยครับข้าวก็งามขนาด  นาผมคงประมาณสัปดาห์หน้าครับถึงจะเริ่มแทงยอดตอนนี้ลำต้นกลมได้ที่แล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 ตุลาคม 2013, 22:16:35
เริ่มเข้าฤดูหนาวแล้ว ช่วงเช้าและเย็นเริ่มมีหมอกลงบ้างแล้ว ข้าวนาปีเริ่มแทงยอดกันให้เห็นแล้วครับ ส่วนข้าวนาปรังที่ปลูกช่วงนี้คงเกี่ยวกันบ้างแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: nokpeat ที่ วันที่ 08 ตุลาคม 2013, 14:58:54
 
 ติดตามอ่านกระทู้นี้มานานมากแล้ว ตัวเองและครอบครัวเพิ่งย้ายกลับมาอยู่บ้าน มาทำนา เน้นทำนาแบบปลอดสารพิษ ตอนนี้กำลังปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปลูกตามกระแสค่ะ แต่ด้วยความที่เราทำนาเป็นรอบที่ 3 ภาระกิจประจำวันเยอะมากกกกกก เลยลงมือทำนาช้ามาก ชาวบ้านเค้ามาเตือนว่า ระวังเวลาข้าวออกรวงกระทบหนาว ข้าวลีบ ไม่ได้เกี่ยวอะไรทำนองนี้ เริ่มเพาะกล้าวันที่ 1 กันยา เอาข้าวลงนาตั้งแต่วันที่ 14 กันยา เสร็จ 29 กันยา ตอนนี้ข้าวที่ลงนาก่อนกำลังแตกกอ พอจะเป็นไปได้ไหมว่าเราจะแกล้งข้าวให้ตั้งท้องเร็วขึ้น และควรจะเริ่มประมาณไหนดี อยากถามผู้รู้ค่ะ
   
        ขอบคุณค่ะ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Auainoi ที่ วันที่ 08 ตุลาคม 2013, 18:58:50

 
 ติดตามอ่านกระทู้นี้มานานมากแล้ว ตัวเองและครอบครัวเพิ่งย้ายกลับมาอยู่บ้าน มาทำนา เน้นทำนาแบบปลอดสารพิษ ตอนนี้กำลังปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปลูกตามกระแสค่ะ แต่ด้วยความที่เราทำนาเป็นรอบที่ 3 ภาระกิจประจำวันเยอะมากกกกกก เลยลงมือทำนาช้ามาก ชาวบ้านเค้ามาเตือนว่า ระวังเวลาข้าวออกรวงกระทบหนาว ข้าวลีบ ไม่ได้เกี่ยวอะไรทำนองนี้ เริ่มเพาะกล้าวันที่ 1 กันยา เอาข้าวลงนาตั้งแต่วันที่ 14 กันยา เสร็จ 29 กันยา ตอนนี้ข้าวที่ลงนาก่อนกำลังแตกกอ พอจะเป็นไปได้ไหมว่าเราจะแกล้งข้าวให้ตั้งท้องเร็วขึ้น และควรจะเริ่มประมาณไหนดี อยากถามผู้รู้ค่ะ
   
        ขอบคุณค่ะ
เท่าที่ทำตอนนี้ ของผมว่านวันที่ ๒๐ มิถุนา ว่าพรุ่งนี้ว่าจะเกี่ยวนะ คาดว่าฝนจะไม่ตก  ตามอายุของข้าวแหละครับเพราะเป็นข้าวไม่ไวต่อแสง  ลองดูก็ได้นะครับ บำรุงต้นให้สมบูรณ์ แล้วแกล้งข้าวโดยปล่อยให้น้ำแห้งเหมือนใกล้จะตาย แล้วเอาน้ำเข้าและฮอร์โมนบำรุง พืชบ้างชนิดกลัวตายจึงรีบออกลูกก่อน แต่ข้าวนี้ไม่รู้นะ  ได้ความอย่างไรบอกกันโดยนะ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 ตุลาคม 2013, 20:19:54

 ติดตามอ่านกระทู้นี้มานานมากแล้ว ตัวเองและครอบครัวเพิ่งย้ายกลับมาอยู่บ้าน มาทำนา เน้นทำนาแบบปลอดสารพิษ ตอนนี้กำลังปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปลูกตามกระแสค่ะ แต่ด้วยความที่เราทำนาเป็นรอบที่ 3 ภาระกิจประจำวันเยอะมากกกกกก เลยลงมือทำนาช้ามาก ชาวบ้านเค้ามาเตือนว่า ระวังเวลาข้าวออกรวงกระทบหนาว ข้าวลีบ ไม่ได้เกี่ยวอะไรทำนองนี้ เริ่มเพาะกล้าวันที่ 1 กันยา เอาข้าวลงนาตั้งแต่วันที่ 14 กันยา เสร็จ 29 กันยา ตอนนี้ข้าวที่ลงนาก่อนกำลังแตกกอ พอจะเป็นไปได้ไหมว่าเราจะแกล้งข้าวให้ตั้งท้องเร็วขึ้น และควรจะเริ่มประมาณไหนดี อยากถามผู้รู้ค่ะ
   
        ขอบคุณค่ะ

ยินดีครับ...  :D  :D  ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าข้าวมีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งบางสายพันธุ์ไม่ชอบอากาศหนาว หากเจออากาศหนาวจะทำให้ข้าวเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ อาจเจออย่างที่ชาวบ้านว่าคือ ออกรวงแต่ไม่มีเมล็ด หรือออกรวงแล้วรวงไม่ยอมง้มให้เกี่ยวซักที เช่นพวกพันธุ์ ชัยนาท  พิษโลก 2  ปทุมธานี 1 ซึ่งไม่ควรให้ข้าวตั้งท้องในช่วงอากาศเย็นเด็ดขาด  แต่สำหรับโดยสายพันธุ์ดั้งเดิมของข้าวไรซ์เบอรี่ ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105  ซึ่งค่อนข้างชอบอากาศเย็นพอสมควรเพื่อสร้างสีของเมล็ดยิ่งอากาศเย็นมาก ๆ สีก็จะดำมากขึ้น ข้าวจะงามขายได้ราคาดี เคยมีคนนำข้าวไรท์ไปปลูกแต่กลับพบว่าผลผลิตที่ได้สีของเมล็ดไม่สวยเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกบางคนโทษเมล็ดว่ากลายพันธุ์ก็มี  ซึ่งหลัก ๆ ก็เพราะอุณภูมิเป็นหลักในการสร้างสีของเมล็ด เรื่องอุณภูมินั้นมีผลต่อ สี ทั้งพืชผักและผลไม้หลายพันธุ์ครับ เช่นทับทิมจีนกับทับทิมไทยก็จะสีต่างกันยิ่งหนาวสียิ่งแดงเข้ม  ฉะนั้นอย่ากังวลเลยครับปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติของเค้า ข้าวพันธุ์นี้ปลูกแบบอินทรีย์ยิ่งดี คอยระวังอย่าให้เค้าเป็นโรค และนกในเดือนมกราคมก็พอครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 ตุลาคม 2013, 20:25:24

 
 ติดตามอ่านกระทู้นี้มานานมากแล้ว ตัวเองและครอบครัวเพิ่งย้ายกลับมาอยู่บ้าน มาทำนา เน้นทำนาแบบปลอดสารพิษ ตอนนี้กำลังปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปลูกตามกระแสค่ะ แต่ด้วยความที่เราทำนาเป็นรอบที่ 3 ภาระกิจประจำวันเยอะมากกกกกก เลยลงมือทำนาช้ามาก ชาวบ้านเค้ามาเตือนว่า ระวังเวลาข้าวออกรวงกระทบหนาว ข้าวลีบ ไม่ได้เกี่ยวอะไรทำนองนี้ เริ่มเพาะกล้าวันที่ 1 กันยา เอาข้าวลงนาตั้งแต่วันที่ 14 กันยา เสร็จ 29 กันยา ตอนนี้ข้าวที่ลงนาก่อนกำลังแตกกอ พอจะเป็นไปได้ไหมว่าเราจะแกล้งข้าวให้ตั้งท้องเร็วขึ้น และควรจะเริ่มประมาณไหนดี อยากถามผู้รู้ค่ะ
   
        ขอบคุณค่ะ
เท่าที่ทำตอนนี้ ของผมว่านวันที่ ๒๐ มิถุนา ว่าพรุ่งนี้ว่าจะเกี่ยวนะ คาดว่าฝนจะไม่ตก  ตามอายุของข้าวแหละครับเพราะเป็นข้าวไม่ไวต่อแสง  ลองดูก็ได้นะครับ บำรุงต้นให้สมบูรณ์ แล้วแกล้งข้าวโดยปล่อยให้น้ำแห้งเหมือนใกล้จะตาย แล้วเอาน้ำเข้าและฮอร์โมนบำรุง พืชบ้างชนิดกลัวตายจึงรีบออกลูกก่อน แต่ข้าวนี้ไม่รู้นะ  ได้ความอย่างไรบอกกันโดยนะ

จะได้เกี่ยวแล้วยินดีด้วยครับ  ราคาตอนนี้เป็นไงบ้างบอกกันด้วยนะครับ  จะได้พอทราบราคารับจำนำของโรงสีแต่ละพื้นที่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 ตุลาคม 2013, 20:33:34
สำรวจท้องนายามเย็น ตอนนี้ข้าวแปลง 13 ไร่กลับมางามกว่าแปลง 9 ไร่ซะงั้น  หญ้าและวัชพืชยุบตายไปเยอะ เพราะด้วยที่อายุสั้นกว่าข้าวนาปี  แต่ข้าวนาปรังน่าจะมีอายุพอ ๆ กัน   ลองไม่พ่นยากำจัดวัชพืชก็อยู่ได้ครับประหยัดต้นทุนไปได้พอสมควร ไม่เสียสุขภาพด้วย แม้จะดูไม่สวยในช่วงการปลูกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 ตุลาคม 2013, 20:50:08
ช่วงนี้ปล่อยให้น้ำแห้งบ้าง แต่ไม่ถึงกับแห้งซะทีเดียวต้องมีความชื้นและน้ำในดินบ้าง นอกจากช่วยแก้ปัญหาเรื่องโรคที่เกิดจากความชื้น อีกส่วนหนึ่งคือหากหน้าดินแห้งและแน่นจะช่วยเรื่องไม่ให้ข้าวล้มง่ายและกระตุ้นการหาอาหารเพราะรากจะยาวขึ้นอีก ข้าวล้มจะทำให้ผลผลิตที่ได้ลดลง ทั้งเสียหายจากแช่น้ำ และอาจเสียค่าจ้างเกี่ยวข้าวที่แพงขึ้นด้วย พืชหลายชนิดเมื่อเจอสภาวะที่เปลี่ยนไปจะมีการปรับตัวบางคนเลยเอาวิธีนี้มาทำนอกฤดูโดยเฉพาะไม้ผล ส่วนข้าวก็มีการเร่งหรือชลอการเจริญเติบโตเช่นกันโดยการควบคุมเรื่องแสงและอุณหภูมิโดยเฉพาะสถานีวิจัยข้าวที่ต้องการควบคุมเรื่องการผสมพันธุ์ข้าวของเกสรตัวผู้และตัวเมีย   


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 ตุลาคม 2013, 20:53:01
ข้าวในนาเริ่มแทงยอดออกมาให้เห็นแล้วครับวันนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: nokpeat ที่ วันที่ 09 ตุลาคม 2013, 19:26:36

   ยินดีกับคุณ Auainoi ด้วยค่ะ ที่จะได้เกี่ยวข้าวแล้ว ปลูกเยอะไหมค่ะพอจะแบ่งขายได้ไหมไปรับถึงนาเลยค่ะ :D :D

       
โล 20บาท ถูกไปไหมน้อ เหมาหมดเลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 11 ตุลาคม 2013, 11:30:52
รบกวนถามท่านผู้รู้ทุกท่านนะครับ พอดีจะหาซื้อเครื่องพ่นยาสะพายหลังสักเครื่อง
น่าจะซื้อแบบไหนดีครับ เครื่องซ้ายพ่นได้ทั้งปุ๋ย และน้ำ สำหรับเครื่องขวา พ่นได้เฉพาะน้ำ ใช่รึปล่าวครับเท่าที่ศึกษาดู
รบกวนบอกข้อดีข้อเสียหน่อยครับ ถ้าจะซื้อควรซื้อ ยี่ห้อไรดีครับ


(http://www.uppic.org/image-0146_52577D3C.jpg) (http://www.uppic.org/share-0146_52577D3C.html)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 11 ตุลาคม 2013, 14:20:46
รบกวนถามท่านผู้รู้ทุกท่านนะครับ พอดีจะหาซื้อเครื่องพ่นยาสะพายหลังสักเครื่อง
น่าจะซื้อแบบไหนดีครับ เครื่องซ้ายพ่นได้ทั้งปุ๋ย และน้ำ สำหรับเครื่องขวา พ่นได้เฉพาะน้ำ ใช่รึปล่าวครับเท่าที่ศึกษาดู
รบกวนบอกข้อดีข้อเสียหน่อยครับ ถ้าจะซื้อควรซื้อ ยี่ห้อไรดีครับ


(http://www.uppic.org/image-0146_52577D3C.jpg) (http://www.uppic.org/share-0146_52577D3C.html)
     เครื่องซ้ายพ่นนำ้ไปได้ไม่ไกลครับ  พ่นปุ๋ยได้ดี  เครื่องขวาพ่นนำ้ได้ดี  ซื้อแยกกันครับพ่นปุ๋ยเครื่องพ่นนำ้เครื่อง ของผมมิตซูทั้งสองเครื่อง 3 ปีแล้วยังใช้ดีอยู่เลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 11 ตุลาคม 2013, 15:59:57
รบกวนถามท่านผู้รู้ทุกท่านนะครับ พอดีจะหาซื้อเครื่องพ่นยาสะพายหลังสักเครื่อง
น่าจะซื้อแบบไหนดีครับ เครื่องซ้ายพ่นได้ทั้งปุ๋ย และน้ำ สำหรับเครื่องขวา พ่นได้เฉพาะน้ำ ใช่รึปล่าวครับเท่าที่ศึกษาดู
รบกวนบอกข้อดีข้อเสียหน่อยครับ ถ้าจะซื้อควรซื้อ ยี่ห้อไรดีครับ




 :D...มายืนยัน..ใช้แบบแยกเฉพาะดีกว่าครับ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 ตุลาคม 2013, 19:47:12
ยืนยันอีกคนครับ  เครื่องด้านซ้ายใช้หลักการลมเป่าซึ่งจะมีใบพัดอยู่ภายในนิยมใช้พ่นปุ๋ยมากกว่าใช้พ่นน้ำเพราะใช้เครื่องนี้จะพ่นน้ำได้ไม่ไกล แม้ละอองเป็นฝอยดีประหยัดน้ำยาแต่ได้งานช้ากว่า หนักมากกว่าและเปลืองน้ำมันมากกว่า  ด้านขวาเป็นเครื่องพ่นชนิดปั้มลูกสูบ สามารถปรับแรงดัน ปริมาณการดูดน้ำได้ซึ่งค่อนข้างใช้งานได้ดีสำหรับงานพ่นยา เพราะพ่นได้ไกลกว่ามาก เอามาฉีดล้างรถยังได้เลย ปรับแต่งหัวฉีดได้หลายแบบให้เหมาะสมกับงานได้ ประหยัดน้ำมันกว่า ถังเก็บน้ำอยู่ต่ำกว่าศีรษะทำให้เดินในนาง่ายกว่าแบบแรกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 ตุลาคม 2013, 20:09:55
ต้นข้าวแทงยอดออกรวงมากขึ้นแล้วครับ  ตอนนี้ก็คำนวณได้แล้วว่าจะเกี่ยวข้าวได้วันไหนคือการนับข้าวออกดอกหรือแทงยอดไปอีก 1 เดือนที่เหมาะสมคือระยะพลับพลึงคือประมาณ 28-30 วันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 11 ตุลาคม 2013, 23:46:37
ยืนยันอีกคนครับ  เครื่องด้านซ้ายใช้หลักการลมเป่าซึ่งจะมีใบพัดอยู่ภายในนิยมใช้พ่นปุ๋ยมากกว่าใช้พ่นน้ำเพราะใช้เครื่องนี้จะพ่นน้ำได้ไม่ไกล แม้ละอองเป็นฝอยดีประหยัดน้ำยาแต่ได้งานช้ากว่า หนักมากกว่าและเปลืองน้ำมันมากกว่า  ด้านขวาเป็นเครื่องพ่นชนิดปั้มลูกสูบ สามารถปรับแรงดัน ปริมาณการดูดน้ำได้ซึ่งค่อนข้างใช้งานได้ดีสำหรับงานพ่นยา เพราะพ่นได้ไกลกว่ามาก เอามาฉีดล้างรถยังได้เลย ปรับแต่งหัวฉีดได้หลายแบบให้เหมาะสมกับงานได้ ประหยัดน้ำมันกว่า ถังเก็บน้ำอยู่ต่ำกว่าศีรษะทำให้เดินในนาง่ายกว่าแบบแรกครับ


 :D...มายืนยัน..ใช้แบบแยกเฉพาะดีกว่าครับ....

เครื่องซ้ายพ่นนำ้ไปได้ไม่ไกลครับ  พ่นปุ๋ยได้ดี  เครื่องขวาพ่นนำ้ได้ดี  ซื้อแยกกันครับพ่นปุ๋ยเครื่องพ่นนำ้เครื่อง ของผมมิตซูทั้งสองเครื่อง 3 ปีแล้วยังใช้ดีอยู่เลย


ขอบคุณมากครับ คุณ bm+    ton-ao.  Ubuntuthait


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 ตุลาคม 2013, 20:46:23
วันนี้ตอนเที่ยงไปเอาน้ำเข้านาครับ ดินเริ่มแห้งแล้วว่าจะปล่อยเข้าซัก 2 วันแล้วก็หยุด ซึ่งน่าจะช่วยลดปัญหาโรคที่มาจากเชื้อราได้  เนื่องจากความชื้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา หากความชื้นไม่เหมาะสมเชื้อราก็จะเจริญเติบโตได้ช้าไม่สามารถทำอันตรายกับต้นข้าวได้ กลับกันยิ่งความชื้นสูงก็ทำให้เกิดโรคจากเชื้อราได้มาก แต่การปล่อยให้ดินแห้งก็ต้องระวังเรื่องหนูด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 12 ตุลาคม 2013, 21:07:23
วันนี้ตอนเที่ยงไปเอาน้ำเข้านาครับ ดินเริ่มแห้งแล้วว่าจะปล่อยเข้าซัก 2 วันแล้วก็หยุด ซึ่งน่าจะช่วยลดปัญหาโรคที่มาจากเชื้อราได้  เนื่องจากความชื้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา หากความชื้นไม่เหมาะสมเชื้อราก็จะเจริญเติบโตได้ช้าไม่สามารถทำอันตรายกับต้นข้าวได้ กลับกันยิ่งความชื้นสูงก็ทำให้เกิดโรคจากเชื้อราได้มาก แต่การปล่อยให้ดินแห้งก็ต้องระวังเรื่องหนูด้วยครับ

 :D....จะเป็นทุ่งรวงทองแล้ว...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 ตุลาคม 2013, 21:45:15
วันนี้ตอนเที่ยงไปเอาน้ำเข้านาครับ ดินเริ่มแห้งแล้วว่าจะปล่อยเข้าซัก 2 วันแล้วก็หยุด ซึ่งน่าจะช่วยลดปัญหาโรคที่มาจากเชื้อราได้  เนื่องจากความชื้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา หากความชื้นไม่เหมาะสมเชื้อราก็จะเจริญเติบโตได้ช้าไม่สามารถทำอันตรายกับต้นข้าวได้ กลับกันยิ่งความชื้นสูงก็ทำให้เกิดโรคจากเชื้อราได้มาก แต่การปล่อยให้ดินแห้งก็ต้องระวังเรื่องหนูด้วยครับ

 :D....จะเป็นทุ่งรวงทองแล้ว...

อีกไม่นานแล้วครับ น่าจะประมาณก่อนกลางเดือนหน้า น่าจะได้เกี่ยวแล้วครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Auainoi ที่ วันที่ 13 ตุลาคม 2013, 18:29:20

 
 ติดตามอ่านกระทู้นี้มานานมากแล้ว ตัวเองและครอบครัวเพิ่งย้ายกลับมาอยู่บ้าน มาทำนา เน้นทำนาแบบปลอดสารพิษ ตอนนี้กำลังปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปลูกตามกระแสค่ะ แต่ด้วยความที่เราทำนาเป็นรอบที่ 3 ภาระกิจประจำวันเยอะมากกกกกก เลยลงมือทำนาช้ามาก ชาวบ้านเค้ามาเตือนว่า ระวังเวลาข้าวออกรวงกระทบหนาว ข้าวลีบ ไม่ได้เกี่ยวอะไรทำนองนี้ เริ่มเพาะกล้าวันที่ 1 กันยา เอาข้าวลงนาตั้งแต่วันที่ 14 กันยา เสร็จ 29 กันยา ตอนนี้ข้าวที่ลงนาก่อนกำลังแตกกอ พอจะเป็นไปได้ไหมว่าเราจะแกล้งข้าวให้ตั้งท้องเร็วขึ้น และควรจะเริ่มประมาณไหนดี อยากถามผู้รู้ค่ะ
   
        ขอบคุณค่ะ
เท่าที่ทำตอนนี้ ของผมว่านวันที่ ๒๐ มิถุนา ว่าพรุ่งนี้ว่าจะเกี่ยวนะ คาดว่าฝนจะไม่ตก  ตามอายุของข้าวแหละครับเพราะเป็นข้าวไม่ไวต่อแสง  ลองดูก็ได้นะครับ บำรุงต้นให้สมบูรณ์ แล้วแกล้งข้าวโดยปล่อยให้น้ำแห้งเหมือนใกล้จะตาย แล้วเอาน้ำเข้าและฮอร์โมนบำรุง พืชบ้างชนิดกลัวตายจึงรีบออกลูกก่อน แต่ข้าวนี้ไม่รู้นะ  ได้ความอย่างไรบอกกันโดยนะ

จะได้เกี่ยวแล้วยินดีด้วยครับ  ราคาตอนนี้เป็นไงบ้างบอกกันด้วยนะครับ  จะได้พอทราบราคารับจำนำของโรงสีแต่ละพื้นที่ครับ
เห็นเค้าขายกี่โล ละ ๕๐ บาทนะ ของผมนี้ไม่ได้ทำขายนะ เอาไว้กินนะ มีแต่คนอยากได้ก็เลยแบ่งคนละ ๔-๕ กำมือ ปลูกไม่มาก ที่เหลือก็เอาไว้ทำพันธุ์ปีหน้า ทำนาปรังไม่ได้นกกินหมด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 ตุลาคม 2013, 20:52:02
มาดูภาพท้องนายามเช้า  หมอกลงจัดพอสมควรอากาศค่อนข้างเย็น เสน่อย่างหนึ่งของฤดูหนาว  ผมจะไป สปป.ลาว วันอาคารนี้คงอีกหลายวันไม่ได้มาอัพกระทู้  ไว้จะถ่ายรูปทุ่งนาและพันธุ์ข้าวของลาวมาฝากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 ตุลาคม 2013, 20:59:21
ตอนนี้ข้าวแทงยอดออกรวงได้ประมาณ 60% ของพื้นที่แล้วครับคงประมาณวันที่ 10-12 พ.ย. คงได้เกี่ยวข้าวแล้ว  :D  :D

รูปถ่ายยามเย็นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 ตุลาคม 2013, 21:17:09
นาแปลง 13 ไร่นี้ตอนแรกไม่คาดหวังอะไรเลย เพราะลองใช้รถดำนาเป็นครั้งแรก การปรับแต่งการปักดำยังไม่ค่อยเป็น แถมยังเสียหายจากการถูกหอยเชอรี่กินอีกหลายไร่ต้องมาปลูกซ่อม และยังเจอปัญหาวัชพืชขึ้นอีก   มา ณ วันนี้ดีกว่าที่คิดไว้มากครับ  ส่วนนาแปลง 9 ไร่ไม่ค่อยมีปัญหาวัชพืชแต่การแตกกอน้อยกว่า เนื่องจากน้ำมาก ตอนนี้ยังไม่แทงยอดเนื่องจากปลูกช้ากว่ากันไปเกือบ 3 สัปดาห์คงประมาณปลายสัปดาห์หน้าคงเริ่มแทงยอดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2013, 19:42:55
พึ่งกลับจากลาวมาเมื่อวานดึกครับ เดินทางด้วยมอเตอร์ไซด์ผ่านหลายแขวงของลาว  บ่อแก้ว หลวงน้ำทา อุดมไชย  หลวงพระบาง เชียงขวาง ไชยะบุรี ระยะทางร่วม 2 พันกว่ากิโลเมตรกับ 5 วัน 4 คืนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2013, 19:50:56
สปป ลาว พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่าไม้ การปลูกสวนผลไม้ไม่ค่อยมีที่เห็นขายจะเป็นผลไม้นำเข้าจากประเทศจีน พืชส่วนใหญ่ที่เห็นคือ ข้าว ข้าวโพด ยางพาราและกล้วย  ส่วนพืชผักก็จะเห็นเป็นแปลงเล็ก ๆ เท่านั้น การใช้น้ำจะมีทั้งระบบประปาและแหล่งน้ำตามธรรมชาติหมู่บ้านรอบนอกส่วนใหญ่จึงนิยมตั้งใกล้แม่น้ำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2013, 19:55:56
ผ่านนาแปลงนี้แวะถ่ายรูปครับมีการเลี้ยงปลาแบบขั้นบันไดด้วย จอดรถดูเห็นปลากระโดดบนผิวน้ำไปมา ข้าง ๆ ก็เป็นแปลงข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2013, 20:00:18
ข้าวที่ปลูกในลาวเป็นพันธุ์พื้นบ้านซะส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่จะปลูกไว้กินเองเหลือถึงขายเค้าเลยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี อย่างมากก็แค่ใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกครับ ถามชาวนาหลายคนหลายแขวงแต่ส่วนใหญ่จะบอกไม่ใส่ปุ๋ยอะไรเลย ปลูก ๆ กักน้ำในแปลงและรอเก็บเกี่ยวเท่านั้นครับ  ลองชิมข้าวลาวหลายแขวงข้าวจะนุ่ม เหนียว เม็ดโต อร่อยมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2013, 20:04:34
การปลูกข้าวแบบขั้นบันไดมีให้พบเห็นทั่วไป การไถโดยใช้แรงงานวัวควาย ดีหน่อยก็จะเป็นรถไถนาเดินตามแล้วแต่สภาพพื้นนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2013, 20:09:30
เนื่องจากเป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้าน บ้างก็ข้าวกลีบเดียว บางพันธุ์ก็เมล็ดโตคล้ายข้าวดอยบ้านเรา  การแตกกอของข้าวไม่ค่อยมากเท่าบ้านเรา คงเพราะไม่ได้ใส่ปุ๋ยใด ๆ และต้องกักน้ำในนาตลอดเพื่อป้องกันหญ้าขึ้น แต่คุณภาพของเมล็ดข้าวความอร่อยต้องยกนิ้วให้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2013, 20:29:47
ผ่านแปลงไหนข้าวก็งามครับ ไม่ค่อยเห็นเป็นโรคหรือหญ้าขึ้นเลย ทั้งที่ไม่ได้ใช้ยาเคมีอะไรเลย ไม่รู้ว่าการปลูกข้าวไทยทันสมัย ลาวล้าหลัง  หรือ ไทยมาผิดวิธี ลาวเข้าใจธรรมชาติ ซึ่งคุยกับคนลาวส่วนใหญ่จะไม่ค่อยชอบการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเลย อีกทั้งราคาแพง เกษตรอินทรีย์ของลาวจะค่อนข้างขายได้ง่าย ทำพอกินเหลือถึงขายมากกว่าการปลูกขายเป็นอาชีพ ทำให้คำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัย เพราะข้าวดีตัวเองก็กินอร่อย ข้าวปลอดภัยตัวเองก็แข็งแรงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2013, 20:37:44
ความฉลาดของเค้าคือ เมื่อหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จจะใช้เครื่องตัดหญ้าตัดกอให้สั้นจากนั้นจะใช้ฟางคลุมดินทิ้งไว้เพื่อป้องกันหญ้าขึ้น อีกทั้งการย่อยสลายของฟางจะกลายเป็นปุ๋ย และโครงสร้างของดินก็จะดียิ่งขึ้น  และเค้าคำนึงถึงคันนาด้วยคันนาที่ดีจะควบคุมน้ำได้ดี เมื่อควบคุมน้ำได้วัชพืชก็ไม่ค่อยมี การปลูกข้าวก็จะได้ผลผลิตที่ดีตามโดยไม่ต้องมากังวลเรื่องวัชพืช


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2013, 20:58:35
ผ่านมาทางเมืองหงสา ไชยะบุรี จะเจอโรงไฟฟ้าหงสาครับ บริษัทร่วมทุนของไทยไปลงทุนทำที่นั่นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟผ.เกือบทั้งหมดขายให้ไทยและบางส่วนให้กับลาวเล็กน้อย  ที่ลาวประชาชนไม่ค่อยมีปากมีเสียงเท่าไหร่ รัฐบาลให้ทำอย่างไรก็ต้องทำ บ้านเรือนบริเวณที่ตั้งใกล้โรงไฟฟ้าก็ต้องย้ายออก ตอนนี้ก็กำลังก่อสร้างอยู่ รอบ ๆ โรงไฟฟ้าก็ยังมีทุ่งนา ร้านค้าอยู่เยอะแต่ถ้าหากเปิดโรงไฟฟ้าในปี 58 นี้คงอยู่ใกล้ไม่ได้แล้วครับ ทั้งซัลเฟอร์ ซัลฟูริก โซเดียมไอดรอกไซด์ ไม่รวมแอมโมเนีย และอะไร ๆ อีกหลายอย่างที่ลอยในอากาศและการบำบัดน้ำเสียอีก ที่เห็นจะเป็นบอยเลอร์หรือหม้อต้ม 2 เตาและอาคารที่กำลังก่อสร้างอยู่  คนลาวเริ่มมาทำงานที่นี่กันมากครับคงเพราะเงินดีและมีการจ้างงานมาก ที่ไชยะบุรีจะมีอีกแห่งคือเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าอีกแห่งต้องขี่รถเข้าไปข้างในอีกเป็นของบริษัทของไทยอีกเหมือนกันโดยเกือบทั้งหมดขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ อีกเช่นกัน ที่แขวงนี้กำลังเนื้อหอมจึงไม่แปลกใจว่าเป็นแขวงที่ค่อนข้างมีร้านบันเทิงเยอะมาก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: numdoitung1 ที่ วันที่ 22 ตุลาคม 2013, 11:51:48
ธรรมชาติดีจังคับ :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 22 ตุลาคม 2013, 22:06:54
บ่าได้ม่ผ่อเมินละ  จขกท มัวไปแอ่วลา่ว ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 23 ตุลาคม 2013, 12:07:22
เหมือนได้ไปเที่ยวลาวด้วยเลยครับ :D  ผมคิดว่าการปลูกข้าวหรือการทำการเกษตรของไทยมาผิดวิธี ลาวเข้าใจธรรมชาติ มากกว่าครับ การเกษตรแบบทุนนิยมทำให้วิถีการเกษตรของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  ต้องย้อนกลับไปทำตามภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษเราสร้างมาอันเป็นมรดกที่มีค่ายิ่ง นำแนวคิดของฟูกูโอกะและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงเราปรับเข้าด้วยกัน การเกษตรของไทยจะยั่งยืนตลอดไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 ตุลาคม 2013, 19:19:03
ที่ลาวค่อนข้างได้รับการสนับสนุนจากต่าง ๆ ประเทศค่อนข้างมากซึ่งจะเน้นให้ทำเกษตรปลอดสารพิษและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างแผงผักข้างทางนี่สิครับดูที่ป้ายสิครับว่าใครสนับสนุน 

GEF  คือกองทุนของสหประชาติ UN 
GEF เป็นกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก  (Global Environment Facility) หรือเรียกย่อๆ ว่า กองทุน GEF (เจฟ) คือกลไกทางการเงินระหว่างประเทศ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การสันบสนุนทางด้านการเงินกับประเทศหรือผู้ที่ขอรับการสนับสนุนทางด้านการเงินกับประเทศหรือผู้ขอรับการสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมโลก

UNDP  สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations Development Program: UNDP) มีสำนักงานใหญ่ที่ เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นองค์การพหุภาคี เพื่อช่วยเหลือด้านการพัฒนา และเป็นหน่วยงานสำคัญในการประสานงานความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ โดยเริ่มจากการขยายการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ แก่ประเทศกำลังพัฒนา ด้วยหลักการดำเนินการแบบสากลและเป็นกลางในทางการเมือง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ๆสำคัญๆ มีสมาชิก 170 ประเทศ เพื่อร่วมมือในการวางแผน และดำเนินโครงการในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทยแล้วปัญหาสารพิษสารเคมีก็พบเจอกันมากเหมือนกับทางเวียดนามอยู่ที่ใครจะปรับตัวได้ก่อนกัน แต่สำหรับคนลาวแล้วเค้ายังรักเกษตรปลอดสารพิษและใช้สารเคมีน้อยมากครับ บางแขวงก็มีการห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีด้วย มีคนไทยหลายกลุ่มเข้าไปลงทุนทำปุ๋ยอินทรีย์ขายที่นั่นโดยเฉพาะปุ๋ยมูลค้างคาวเพราะที่นั่นมีความสมบูรณ์ของป่าไม้อยู่และมีถ้ำอยู่มากครับ อย่างกาแฟของลาวค่อนข้างมีชื่อเสียงมากไม่แพ้กาแฟดอยช้าง ในต่างประเทศ อย่าง กาแฟ "อาราบิก้า" ที่ได้รับการยอมรับว่าติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก    ด้วยลักษณะเด่น "รสชาติหอม อร่อย" สาเหตุที่กาแฟของลาว มีคุณภาพที่ดี เพราะว่า  ที่ราบสูงโบลาเวน ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมแขวงสาละวัน เซกอง จำปาสัก และอัตตะปือ  เหมาะแก่การปลูกกาแฟมากที่สุดในโลก เนื่องจากอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,200 เมตร  อากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี  เป็นดินภูเขาไฟ ซึ่งมีแร่ธาตุที่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 ตุลาคม 2013, 19:32:31
เที่ยวลาว เห็นเจ้าเป็ดลาวแล้วอยากเอากลับไทยด้วย มันน่ารักดีครับ  เค้าน่าจะเลี้ยงไว้กินเนื้อเพราะดูลักษณะแล้วตัวอ้วน เตี้ย ขาสั้นเดินช้าครับ ท้องนี่เกือบแตะพื้นเลย ถามคนเลี้ยงว่าพันธุ์อะไรเค้าว่าเป็นเป็ดพื้นบ้านของลาว ส่วนตัวอื่นสีคล้ายเป็ดเทศบ้านเรา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 ตุลาคม 2013, 22:01:33
ตอนนี้ข้าวในแปลงนา 13 ไร่เริ่มง้มบ้างแล้วครับ โดยทั่วไปคือต้องหยุดให้น้ำปล่อยน้ำออกแปลงนาได้แล้ว แต่เช้านี้ฝนตกหนักเกือบครึ่งวันบ่ายมาแดดก็ออกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 ตุลาคม 2013, 22:05:41
ฝนตกหนักน้ำลำเหมืองมีมากไหลเข้าแปลงนาหมด ปลาออกเยอะครับมีคนมายกยอกันเยอะเลย วันนี้ก็เลยยกยอได้ปลาเยอะเหมือนกัน เอามาทอดและทำปลาร้าแห้งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 24 ตุลาคม 2013, 08:28:50
ตอนนี้ข้าวในแปลงนา 13 ไร่เริ่มง้มบ้างแล้วครับ โดยทั่วไปคือต้องหยุดให้น้ำปล่อยน้ำออกแปลงนาได้แล้ว แต่เช้านี้ฝนตกหนักเกือบครึ่งวันบ่ายมาแดดก็ออกครับ

 :D...มะลิ105รึเปล่าครับ....ของผมตอนนี้ก็ปล่อยน้ำออกจากแปลงนาหมดละครับ...คาดว่าวันที่1พฤศจิกายน..คงปิดน้ำทุกเหมืองละครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 ตุลาคม 2013, 11:47:01
ตอนนี้ข้าวในแปลงนา 13 ไร่เริ่มง้มบ้างแล้วครับ โดยทั่วไปคือต้องหยุดให้น้ำปล่อยน้ำออกแปลงนาได้แล้ว แต่เช้านี้ฝนตกหนักเกือบครึ่งวันบ่ายมาแดดก็ออกครับ

 :D...มะลิ105รึเปล่าครับ....ของผมตอนนี้ก็ปล่อยน้ำออกจากแปลงนาหมดละครับ...คาดว่าวันที่1พฤศจิกายน..คงปิดน้ำทุกเหมืองละครับ...

ของผม กข.15 ครับปลูกช้านิดนึง ก่อนกลางเดือนหน้าก็จะได้เกี่ยวแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 ตุลาคม 2013, 19:50:33
เผื่อใครจะเข้าไปศึกษาดูงานครับ 

ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาชาวนารุ่นใหม่  https://th-th.facebook.com/FamerGenerations (https://th-th.facebook.com/FamerGenerations)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: vjmu ที่ วันที่ 24 ตุลาคม 2013, 20:03:44
กข 41 กับกข47 อายุเก็บเกี่ยว กี่วันครับ จะลองปลูกนาปรังครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 ตุลาคม 2013, 22:05:03
กข 41 กับกข47 อายุเก็บเกี่ยว กี่วันครับ จะลองปลูกนาปรังครับ

กข 41 อายุเกี่ยวประมาณ 125-130 วัน  ส่วน กข 47 อายุเกี่ยวประมาณ 105-110 วัน ช้าเร็วนิดหน่อยขึ้นอยู่ปัจจัยในการปลูกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bankey2122 ที่ วันที่ 25 ตุลาคม 2013, 08:03:57
กขผ 3 อายุกี่วัน แถวนี้น่าปลุกมั้ย 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 ตุลาคม 2013, 11:02:34
กขผ 3 อายุกี่วัน แถวนี้น่าปลุกมั้ย 

อายุ 115-120 วันครับ ตอนนี้เมล็ดพันธุ์มีขายแล้วเหรอครับ เป็นพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตมากน่าจะมากที่สุดในประเทศตอนนี้  เป็นพันธุ์ที่กรมเค้าแนะนำให้ปลูกในภาคกลาง เพราะเคยทดลองว่าปลูกที่ภาคกลางได้ 1.4 ตัน/ไร่ แต่ภาคเหนือเรากลับลดเหลือ 1.1 ตัน/ไร่ น่าจะไม่สู้อากาศหนาว ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคขอบใบแห้งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 27 ตุลาคม 2013, 08:33:05
1.4 ตัน เยอะจริงๆ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 ตุลาคม 2013, 18:54:48
ข้าวในแปลงนาตอนนี้เมล็ดข้าวอยู่ในระยะข้าวเม่าแล้วครับ คงจะเกี่ยวประมาณวันที่ 9 พ.ย. ครับเป็นวันหยุดพอดี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 ตุลาคม 2013, 19:06:39
เมื่อวานปั่นจักรยานรอบแถวหนองหลวงผ่านแปลงนาที่เกี่ยวแล้วเห็นเค้าเอาควายมาปล่อยทำให้นึกถึงประโยชน์ของควายในอดีต แม้แต่แปลงนาแปลงนี้ เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าวปกติเศษฟางจะต้องกระจัดกระจายเยอะมากเต็มท้องนา จนบางแห่งต้องเผาทิ้ง  แต่ควายนอกจากช่วยย่ำฟางแล้วยังกินเศษฟาง และตอ พร้อมย่อยสลายออกมาเสร็จสรรพ  คันนาไม่จำเป็นต้องตัดหญ้าควายช่วยเล็มตัดให้เรียบร้อย  การเลี้ยงควายในปัจจุบันถูกจำกัดให้อยู่นอกหมู่บ้านอาจเพราะกลิ่นจากมูลและอาจทำให้ถนนสกปรก บางหมู่บ้านอาจพบว่าไม่มีการเลี้ยงควายเลยก็มี เดี๋ยวนี้ควายเลยอาจไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก  อย่างหนองหลวงถ้าไม่มีควายรับรองว่าสนามหญ้ารอบ ๆ คงมีแต่ต้นไมยราบอยู่เต็มแน่นอน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: wongsa ที่ วันที่ 27 ตุลาคม 2013, 20:03:48
เข้ามาอ่านข้อมูลได้ประโยชน์จ๊าดนั๊กเน้อ ขอบคุณเน้อ พอดีพี่อยู่ อ.แม่ลาว กำลังเตรียมวางแผนทำไร่นาในที่นา แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร  ไว้คงได้รบกวนถามพ่องเน้อ ขอบคุณเจ้า


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 ตุลาคม 2013, 12:48:38
เข้ามาอ่านข้อมูลได้ประโยชน์จ๊าดนั๊กเน้อ ขอบคุณเน้อ พอดีพี่อยู่ อ.แม่ลาว กำลังเตรียมวางแผนทำไร่นาในที่นา แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร  ไว้คงได้รบกวนถามพ่องเน้อ ขอบคุณเจ้า

ยินดีครับ ช่วยได้ก็ช่วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: สบายแมน ที่ วันที่ 28 ตุลาคม 2013, 12:50:49
อ่านจบมีความรู้พร้อมทำนาได้เลยนะครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 ตุลาคม 2013, 20:10:18
อ่านจบมีความรู้พร้อมทำนาได้เลยนะครับ ;D

ฮ่า ขอบคุณครับ ได้ความรู้มาก็เอามาลงครับเผื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง   บางครั้งก็จะได้กลับมาทบทวนได้อีก  ผมก็ได้ความรู้ที่กระทู้อนุรักษ์พรรณไม้และเห็ดหลินจือของคุณสบายแมนตั้งไว้เยอะพอสมควรเหมือนกันบางเรื่องไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็พึ่งมารู้นี่แหล่ะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 ตุลาคม 2013, 20:25:38
การปลูกข้าวในญี่ปุ่น มีความเหมือนหรือต่างจากบ้านเราอย่างไร เกษตรกรมีวิถีในการดำรงชีวิตและทำเกษตรอย่­างไร และอาชีพชาวนาในญี่ปุ่นยังอยู่ได้ดีหรือไม่ ติดตามได้ใน #ดูให้รู้ ชุดวิถีธรรมชาติ วิถีแห่งความอยู่รอด

ดูให้รู้ ตอน ปลูกข้าว ปลูกชีวิต 27 ตุลาคม 2556

ERo8ekxP5i0


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 ตุลาคม 2013, 16:41:20
ดูให้รู้ - มาตรฐานอาหาร จากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค

yhefML-KmcU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 30 ตุลาคม 2013, 10:22:45
ข้าวเปิ้ลงามแต้ลู่.... :D :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: wongsa ที่ วันที่ 30 ตุลาคม 2013, 15:54:23
พี่สนใจเรื่องกาลักน้ำค่ะ ถ้าน้ำเหมืองชลประทานอระดับอยู่ต่ำมากๆ เพราะเหมืองค่อนข้างลึก เราจะทำกาลักน้ำได้ก่อ และ เราควรทำตอนปรับคันนารอบที่ดินดีไหม และ สามารถทำหลาย ๆ จุดได้ไหม
มีคนบอกว่า มีร้านอุปกรณ์กาลักน้ำขาย พอรู้จักก่อเจ้า
ขอบคุณเน้อ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 ตุลาคม 2013, 16:44:33
ข้าวเปิ้ลงามแต้ลู่.... :D :D :D

เดี๋ยวต้องรอดูวันเกี่ยวอีกทีครับว่าจะได้เยอะกว่าปีก่อนไม๊ ปีก่อนทำนาหว่านปีนี้ทำนาดำครับ  ฝนตกช่วงนี้บ่อยมาก ข้าวบางส่วนก็เลยเสียหายเป็นเมล็ดด่างด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 ตุลาคม 2013, 16:58:13
พี่สนใจเรื่องกาลักน้ำค่ะ ถ้าน้ำเหมืองชลประทานอระดับอยู่ต่ำมากๆ เพราะเหมืองค่อนข้างลึก เราจะทำกาลักน้ำได้ก่อ และ เราควรทำตอนปรับคันนารอบที่ดินดีไหม และ สามารถทำหลาย ๆ จุดได้ไหม
มีคนบอกว่า มีร้านอุปกรณ์กาลักน้ำขาย พอรู้จักก่อเจ้า
ขอบคุณเน้อ

กาลักน้ำจะต้องอยู่ที่สูงลงที่ต่ำครับ  หากเป็นคลองเหมืองเค้าจะนิยมทำฝายทดน้ำ บ้านเราเรียกว่าการบึงน้ำคือการกั้นให้ระดับน้ำสูงขึ้นจนไหลเข้าแปลงนาได้ แต่ถ้าต่ำมาก ๆ ก็คงต้องใช้เครื่องสูบเอาครับ เคยมีการใช้แบบการอัดแรงดันจากที่ต่ำขึ้นที่สูงโดยใช้ถัง 200 ลิตรที่เรียกว่าพญาแร้งน้ำแต่ปริมาณน้ำที่ได้ ไม่ค่อยมากครับเหมือนเปิดก๊อกน้ำธรรมดา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 31 ตุลาคม 2013, 09:41:54
ยาคุมหญ้าทุกคนใช้อะไรได้ผลดีที่สุดครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 ตุลาคม 2013, 20:49:05
ยาคุมหญ้าทุกคนใช้อะไรได้ผลดีที่สุดครับ ;D ;D

เดี๋ยวนี้เปลี่ยนจากการทำนาหว่านมาทำนาดำแทน ผมเลยไม่ได้ใช้ยาคุมหญ้าแล้วครับ  เมื่อก่อนทำนาหว่านเคยใช้พวกไทยโพต + เกาดี้ ก็ใช้ได้ผลดีครับ การกำจัดวัชพืชโดยการพ่นยาคุมหญ้าจะช่วยให้ผลผลิตมากขึ้น แต่รู้สึกว่าดินแย่กว่าเดิม ต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น  ก็เลยไปศึกษาพบว่ายาคุมหญ้ามีฤทธิ์ทำลายจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในดินเป็นส่วนหนึ่งทำให้ดินเสื่อม ทั้งที่นาหว่านจะเสื่อมไวอยู่แล้วเพราะจำนวนต้นที่หนาแน่น ตอนนี้ก็เลยไม่ใช้เลยปล่อยไปตามธรรมชาติ อาศัยใช้ปุ๋ยคอกบ้างนาน ๆ ที พ่นจุลินทรีย์ด้วย ตอนนี้ก็ประหยัดค่าปุ๋ยเคมีไปได้พอสมควรเหลือ 1 ใน 3 ของนาหว่านครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 ตุลาคม 2013, 21:04:45
อยากรู้ว่าดินดีหรือดินที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวเป็นอย่างไรลองศึกษาเบื้องต้นจากที่นี่นะครับ

(https://lh6.googleusercontent.com/-qO24vgupTkc/UGG8aBHUK_I/AAAAAAAAAn0/dmDrtnIzSEY/s410/rice_cover.jpg)

ดินที่ใช้ปลูกข้าว เป็นหนังสือประกอบการบรรยายวิชาดินนา (009534) ของภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยของ Drs. F.N. Ponnamperuma , W.H. Patrick, Jr.,  K Kyuma ฯลฯ ซึ่งเป็นนักวิจัยชั้นนำของโลกทางด้านดินที่ใช้ปลูกข้าว เนื่องจากบทที่ 1 เป็นเรื่องของสถานการณ์การปลูกข้าวในโลก ซึ่งต้องมีการปรับปรุงตัวเลขและข้อมูลให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จึงได้ทำการปรับปรุงข้อมูลในบทนี้ และเพิ่มบทที่ 9 เรื่องการจัดการธาตุอาหารพืชเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน โดยได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในปี พ.ศ. 2548-2550

คลิกอ่าน  https://docs.google.com/file/d/0B8AtgBF7YhaGeVV1WEVVSVhzcHc/edit?usp=drive_web&pli=1 (https://docs.google.com/file/d/0B8AtgBF7YhaGeVV1WEVVSVhzcHc/edit?usp=drive_web&pli=1)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 พฤศจิกายน 2013, 20:56:30
วันหยุดเสาร์-อาทิตย์นี้คงได้เกี่ยวข้าวละครับ ข้าวมีล้มบางส่วนแต่ก็ไม่มากเกินไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 พฤศจิกายน 2013, 20:59:45
ดูให้รู้ ตอน ปลูกข้าว ปลูกชีวิต 2 3 พฤศจิกายน 2556

นอกจากการปลูกข้าวแล้ว เกษตรกรในญี่ปุ่นยังต้องพยายามแปรรูปและจำ­หน่ายผลิตผลเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพื่อความอยู่รอดอย่าง­ยั่งยืน พวกเขาประสบความสำเร็จในหนทางนี้อย่างไร ติดตามได้ใน #ดูให้รู้ ชุด วิถีธรรมชาติ วิถีแห่งความอยู่รอด ตอน ปลูกข้าว ปลูกชีวิต 2

7dPvsoTOkqc



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 05 พฤศจิกายน 2013, 14:06:52
 :D...พรุ่งนี้เกี่ยวกข.15ครับ....มีประมาณ2ไร่....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 พฤศจิกายน 2013, 16:47:34
:D...พรุ่งนี้เกี่ยวกข.15ครับ....มีประมาณ2ไร่....

ราคารับซื้อแถวเชียงแสนตอนนี้เท่าไหร่ครับพ่อเลี้ยง...แถวบ้านยังไม่ได้เริ่มเกี่ยว กข.15 เลย  ผมคงเจ้าแรก ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 05 พฤศจิกายน 2013, 20:29:43
:D...พรุ่งนี้เกี่ยวกข.15ครับ....มีประมาณ2ไร่....

ราคารับซื้อแถวเชียงแสนตอนนี้เท่าไหร่ครับพ่อเลี้ยง...แถวบ้านยังไม่ได้เริ่มเกี่ยว กข.15 เลย  ผมคงเจ้าแรก ๆ ครับ

 :D...ช่วงนี้คงมีแต่กข.15...จำนำ15ป๋าย..สด12ป๋ายครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 พฤศจิกายน 2013, 21:53:16
:D...พรุ่งนี้เกี่ยวกข.15ครับ....มีประมาณ2ไร่....

ราคารับซื้อแถวเชียงแสนตอนนี้เท่าไหร่ครับพ่อเลี้ยง...แถวบ้านยังไม่ได้เริ่มเกี่ยว กข.15 เลย  ผมคงเจ้าแรก ๆ ครับ

 :D...ช่วงนี้คงมีแต่กข.15...จำนำ15ป๋าย..สด12ป๋ายครับ...

ขอบคุณครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 06 พฤศจิกายน 2013, 19:53:07
 :D...2ไร่ได้1,125กก.ครับ.....ในภาพ...รถเกี่ยวกำลังเกี่ยวของพี่ที่ทำนาติดกัน....2ไร่ของผมที่อยู่ด้านหลังรถเกี่ยวนะครับ...ที่เห็นนิดเดียวยัดตรงกลางแปลงข้าวเหนียว.....
(http://upic.me/i/rv/bm3160.jpg) (http://upic.me/show/48149688)
(http://upic.me/i/e0/bm3170.jpg) (http://upic.me/show/48149710)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 พฤศจิกายน 2013, 22:10:04
:D...2ไร่ได้1,125กก.ครับ.....

ผลผลิตใช้ได้อยู่น้อครับพ่อเลี้ยง  :D :D  ปีนี้ชาวนาหลายคนซึ่งรวมถึงผมด้วยครับที่เจอปัญหาเรื่องเมล็ดข้าวลีบและเป็นโรคเมล็ดด่าง ผมเดินสำรวจแปลงนาข้าวของผมและคนอื่น ๆ ใกล้ ๆ อยู่  ปัญหาหลัก ๆ คือมีพายุฝนเข้าและตกหลาย ๆ วัน ในช่วงที่ข้าวกำลังจะผสมเกสร ซึ่งปกติการผสมเกสรเกิดขึ้นภายในดอกเดียวกันในเวลาเช้า ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยดีมากนัก  เดี๋ยวตอนเกี่ยวข้าวก็น่าจะรู้ครับว่าผลผลิตปีนี้จะได้เท่าไหร่  แต่ก็คาดว่าคงไม่ขาดทุนครับเพราะต้นทุนการปลูกของผมไม่ได้สูงนัก  ตอนนี้รวมค่าใช้จ่ายบวกเผื่อค่าจ้างเกี่ยวข้าวแล้วต้นทุนใช้เงินไป  20600 บาทในแปลง  13 ไร่ (อีก 9 ไร่เป็นทุนรายได้ของพ่อแม่) แต่หากรวมค่าผ่อนรถดำนาที่ต้องจ่ายอีก 20000 บาท/6 เดือน (นาทั้งหมด 22 ไร่ ) ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อไร่ก็จะตกราว ๆ ไร่ละ 2500 บาท ซึ่งหากขายข้าวได้ต่อไร่ไม่ต่ำกว่านี้ก็ถือว่าไม่ขาดทุนแล้ว กำไรก็ถือเป็นค่าแรงของเราไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 07 พฤศจิกายน 2013, 08:50:24
:D...2ไร่ได้1,125กก.ครับ.....

ผลผลิตใช้ได้อยู่น้อครับพ่อเลี้ยง  :D :D  ปีนี้ชาวนาหลายคนซึ่งรวมถึงผมด้วยครับที่เจอปัญหาเรื่องเมล็ดข้าวลีบและเป็นโรคเมล็ดด่าง ผมเดินสำรวจแปลงนาข้าวของผมและคนอื่น ๆ ใกล้ ๆ อยู่  ปัญหาหลัก ๆ คือมีพายุฝนเข้าและตกหลาย ๆ วัน ในช่วงที่ข้าวกำลังจะผสมเกสร ซึ่งปกติการผสมเกสรเกิดขึ้นภายในดอกเดียวกันในเวลาเช้า ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยดีมากนัก  เดี๋ยวตอนเกี่ยวข้าวก็น่าจะรู้ครับว่าผลผลิตปีนี้จะได้เท่าไหร่  แต่ก็คาดว่าคงไม่ขาดทุนครับเพราะต้นทุนการปลูกของผมไม่ได้สูงนัก  ตอนนี้รวมค่าใช้จ่ายบวกเผื่อค่าจ้างเกี่ยวข้าวแล้วต้นทุนใช้เงินไป  20600 บาทในแปลง  13 ไร่ (อีก 9 ไร่เป็นทุนรายได้ของพ่อแม่) แต่หากรวมค่าผ่อนรถดำนาที่ต้องจ่ายอีก 20000 บาท/6 เดือน (นาทั้งหมด 22 ไร่ ) ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อไร่ก็จะตกราว ๆ ไร่ละ 2500 บาท ซึ่งหากขายข้าวได้ต่อไร่ไม่ต่ำกว่านี้ก็ถือว่าไม่ขาดทุนแล้ว กำไรก็ถือเป็นค่าแรงของเราไปครับ
:D....โดนกันทั่วครับ...ข้าวเมล็ดด่างเมล็ดลาย...โดยเฉพาะข้าวจ้าว...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 พฤศจิกายน 2013, 21:59:59
:D...2ไร่ได้1,125กก.ครับ.....

ผลผลิตใช้ได้อยู่น้อครับพ่อเลี้ยง  :D :D  ปีนี้ชาวนาหลายคนซึ่งรวมถึงผมด้วยครับที่เจอปัญหาเรื่องเมล็ดข้าวลีบและเป็นโรคเมล็ดด่าง ผมเดินสำรวจแปลงนาข้าวของผมและคนอื่น ๆ ใกล้ ๆ อยู่  ปัญหาหลัก ๆ คือมีพายุฝนเข้าและตกหลาย ๆ วัน ในช่วงที่ข้าวกำลังจะผสมเกสร ซึ่งปกติการผสมเกสรเกิดขึ้นภายในดอกเดียวกันในเวลาเช้า ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยดีมากนัก  เดี๋ยวตอนเกี่ยวข้าวก็น่าจะรู้ครับว่าผลผลิตปีนี้จะได้เท่าไหร่  แต่ก็คาดว่าคงไม่ขาดทุนครับเพราะต้นทุนการปลูกของผมไม่ได้สูงนัก  ตอนนี้รวมค่าใช้จ่ายบวกเผื่อค่าจ้างเกี่ยวข้าวแล้วต้นทุนใช้เงินไป  20600 บาทในแปลง  13 ไร่ (อีก 9 ไร่เป็นทุนรายได้ของพ่อแม่) แต่หากรวมค่าผ่อนรถดำนาที่ต้องจ่ายอีก 20000 บาท/6 เดือน (นาทั้งหมด 22 ไร่ ) ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อไร่ก็จะตกราว ๆ ไร่ละ 2500 บาท ซึ่งหากขายข้าวได้ต่อไร่ไม่ต่ำกว่านี้ก็ถือว่าไม่ขาดทุนแล้ว กำไรก็ถือเป็นค่าแรงของเราไปครับ
:D....โดนกันทั่วครับ...ข้าวเมล็ดด่างเมล็ดลาย...โดยเฉพาะข้าวจ้าว...

ครับ.... อีกไม่กี่วันจะได้เกี่ยวข้าวแล้ว เห็นเจ้าของรถบอกว่าน่าจะวันอาทิตย์  ไว้จะถ่ายรูปเกี่ยวข้าวนาปีนี้มาลงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2013, 20:50:39
วันนี้เกี่ยวข้าว 13 ไร่ครับ เป็นไปตามคาดปีนี้ได้ผลผลิตน้อย 13 ไร่ไม่ถึงแสนครับแต่ก็ไม่ขาดทุนพอมีเงินเหลือเฉลี่ยเป็นค่าแรง 6 เดือน ๆ ละหมื่นกว่าบาทครับ  ปีก่อนได้แสนสามหมื่นกว่านิด ๆ เดี๋ยวต้องรอดูฝั่ง 9 ไร่ครับว่าจะเป็นไงบ้างคงจะเกี่ยวประมาณสัปดาห์หน้าครับ  สาเหตุที่ได้ผลผลิตน้อยก็พอสรุปได้หลาย ๆ สาเหตุดังนี้ครับ

-  การปักดำค่อนข้างปักห่าง จำนวนต้นกล้าลงน้อย ชาวนาที่เคยปักดำด้วยรถมาดูเกี่ยวข้าววันนี้บอกว่ายังปักดำห่างกันอยู่
-  ปัญหาวัชพืช ที่ยังคงมีมาก
-  การใส่ปุ๋ยน้อย ( เคมีและอินทรีย์ )  ปัญหานี้น่าจะเกิดกับชาวนาแทบทุกคนที่ปรับเปลี่ยนจากทำนาเคมีมาทำนาอินทรีย์
-  ปัญหาเรื่องโรคเมล็ดด่าง และเมล็ดลีบ
-  สภาพแวดล้อมเนื่องจากมีฝนตกหนักในช่วงข้าวอยู่ในช่วงผสมเกรส  ปีนี้ข้าวอย่าง กข.6 มะลิ105 , เหนียวอุบล น่าจะได้ผลผลิตดีเพราะช่วงผสมเกสรไม่มีฝนตกหรือตกน้อย
-  ต้นข้าวขาดภูมิต้านทาน ซึ่งนาปีนี้ไม่ได้พ่นฮอล์โมน หรือ สารขับไล่แมลง , เชื้อราไตรโครเดอร์มาร์เลย

        ปัญหาต่าง ๆ ก็ค่อย ๆปรับแก้ไปครับแต่ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่านาปีนี้เอาใจใส่ในแปลงนาน้อย  ใครมีเวลาดูแลเอาใจใส่ก็คงได้ผลผลิตที่ดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2013, 21:04:49
รถเกี่ยวข้าววันนี้ ให้คะแนนเต็มสิบครับ ฝีมือทั้งคนเกี่ยวทั้งรถ  รถรุ่นนี้เป็นรถประกอบเองครับต้นทุนอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท รถโรงงานจะอยู่ที่  2.2 ล้าน ผมว่าค่อนข้างใช้งานได้ดี  น่าจะดีว่ารถโรงงานครับ อู่ต่อรถทางเหนือเราจะมีมากที่ จ.กำแพงเพชร ครับ พิษณุโลกจะเน้นใช้รถจากโรงงานมากกว่าเพราะมีโรงงานใหญ่ที่นั่น   รถรุ่นนี้เจ้าของจะเป็นคนเลือกซื้ออะไหล่เอง เครื่องยนต์ที่ใช้จะเน้นของ Hino เป็นหลักสำหรับในเรื่องการทนความร้อนเพราะรอบไม่หมุนไวเหมือนยี่ห้ออื่น ๆ รถประกอบเองจะหน้ากว้างกว่าแทรกล้อค่อนข้างพอสมควรจะแก้ปัญเรื่องการม้วนดินที่ล้อจะไปล้มทับข้าวซึ่งจะทำให้เกี่ยวไม่ได้เหมือนรถโรงงานบางรุ่นลองสังเกตุดูครับ  การเกี่ยวข้าวช้าจะทำให้การร่วงหล่นของเมล็ดน้อย  บางรุ่นมีการติด Turbo ช่วยทำให้งานเสร็จไว แต่ปริมาณการร่วงหล่นก็มีมากตาม  ซึ่งรถที่ออกใหม่ ๆ โดยเฉพาะรถโรงงานจะเร่งทำงานเพราะส่วนใหญ่จะเป็นรถซื้อผ่อนทำให้ต้องรีบทำงาน  ส่วนรถต่อเองไม่มีระบบผ่อนเจ้าของต้องมีเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนวัสดุที่ต้องใช้และค่าแรงช่างต่อรถอีกประมาณ 2 แสนบาทต่อคัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2013, 21:20:29
วันนี้คุยกับเจ้าของรถเกี่ยวข้าว พอได้ความรู้สำหรับการทำนาภาคเหนือตอนล่างมาบ้าง ตอนนี้ที่นั่นข้าวพึ่งจะปลูกไปได้ประมาณ 1 เดือน บ้านเราพึ่งเริ่มเกี่ยว เกี่ยวเสร็จก็จะลงไปเกี่ยวภาคเหนือตอนล่างต่อ ปัญหาเรื่องหอยเชอรี่ที่นั่นมีน้อยเนื่องมีนกปากห่างช่วงกำจัดหอยเชอรี่   การปลูกข้าวเริ่มเปลี่ยนจากนาหว่านเป็นนาดำกันมากขึ้น การใช้ปุ๋ยเคมีเริ่มลดน้อยลงเปลี่ยนไปใช้สารปรับปรุงดินกันมากขึ้น ที่นู่นพบว่าการใช้ปุ๋ยเคมีมากจะมีปัญหาเรื่องโรคและเพลี้ยกระโดดจึงลดการใช้ปุ๋ยเคมีกัน  การใส่ปุ๋ยหากปริมาณน้ำในนามีมากก็จะเปลี่ยนจากการให้ปุ๋ยทางรากมาเป็นทางใบแทน ลองไปปรับใช้กันดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2013, 10:17:22
นาปรังปลูกข้าวอะไรดีครับ.... ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2013, 11:01:30
 :D...จองคิวรถเกี่ยว....วันที่14,15,16และ18...จะเก็บเกี่ยวแบบเต็มๆบ้างครับ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2013, 21:46:54
นาปรังปลูกข้าวอะไรดีครับ.... ;D ;D

ปีก่อนผมปลูก กข.41 และ กข.47 ครับ  ปีนี้ลองปลูก พันธุ์เพชรบุรี 1ครับ ได้พันธุ์มาจากพี่ต้นกระทู้นาโยนครับ พี่ต้นลองปลูกมา 2ฤดูการปลูกแล้วได้ผลน่าพอใจครับ รายละเอียดของพันธุ์ผมไม่ค่อยมีครับแต่จากคนพื้นที่แนะนำว่าดีกว่าต้านทานโรคกว่าพันธุ์อุไร1 ครับ นาปรังปีนี้ก็เลยขอลองดูซักหน่อยครับ

อย่างข้าวพันธุ์ "อุไร1" มีลักษณะเด่นที่ได้จากพ่อและแม่ คือเป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง ลำต้นใหญ่สีเขียวเข้ม มีใบยาว ก้านรวงใหญ่ แข็งแรง ต้านทานโรคและแมลงได้ดี ให้ผลผลิตสูง มีเมล็ดข้าวต่อรวง 300-400 เมล็ด อายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 125 วัน เมื่อนำมาหุงเม็ดข้าวนุ่มสวย หุงขึ้นหม้อ แต่ไม่ค่อยมีกลิ่นหอม นักวิชาการเกษตร ได้นำข้าวพันธุ์นี้ไปทดลองปลูกด้วยวิธีปักดำในแปลงของเกษตรกรที่อำเภอบ้านลาด ที่มีสภาพดินเป็นดินเหนียวปนทราย หรือดินชุดสรรพยา ผลปรากฏว่า 3 ปีที่ผ่านมาได้ผลดี และให้ผลผลิตไร่ละ 1,445 กิโลกรัม แต่ในส่วนพันธุ์เพชรบุรี 1 ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมของคนพื้นที่ค่อนข้างมากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2013, 21:52:59
:D...จองคิวรถเกี่ยว....วันที่14,15,16และ18...จะเก็บเกี่ยวแบบเต็มๆบ้างครับ....

ขอให้ได้ผลผลิตเยอะ ๆ เน้อครับพ่อเลี้ยง  แถวบ้านผมปีนี้ขาดแคลนรถเกี่ยวข้าวครับส่วนใหญ่จะไปรับเกี่ยวทางเชียงของกันเพราะเกี่ยวได้ง่ายและราคาดีกว่า ของผมยังเหลืออีก 9 ไร่ที่ยังไม่ได้เกี่ยว  ตอนนี้จองคิวกันยาวเหยียดเลยทีเดียวบางคนข้าวแก่จัดเต็มที่ก็ยังหารถเกี่ยวไม่ได้เลยก็มีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2013, 22:29:10
วันนี้คุยกับเจ้าของรถเกี่ยวข้าว พอได้ความรู้สำหรับการทำนาภาคเหนือตอนล่างมาบ้าง ตอนนี้ที่นั่นข้าวพึ่งจะปลูกไปได้ประมาณ 1 เดือน บ้านเราพึ่งเริ่มเกี่ยว เกี่ยวเสร็จก็จะลงไปเกี่ยวภาคเหนือตอนล่างต่อ ปัญหาเรื่องหอยเชอรี่ที่นั่นมีน้อยเนื่องมีนกปากห่างช่วงกำจัดหอยเชอรี่   การปลูกข้าวเริ่มเปลี่ยนจากนาหว่านเป็นนาดำกันมากขึ้น การใช้ปุ๋ยเคมีเริ่มลดน้อยลงเปลี่ยนไปใช้สารปรับปรุงดินกันมากขึ้น ที่นู่นพบว่าการใช้ปุ๋ยเคมีมากจะมีปัญหาเรื่องโรคและเพลี้ยกระโดดจึงลดการใช้ปุ๋ยเคมีกัน  การใส่ปุ๋ยหากปริมาณน้ำในนามีมากก็จะเปลี่ยนจากการให้ปุ๋ยทางรากมาเป็นทางใบแทน ลองไปปรับใช้กันดูครับ
ผมก็วางแผนในใจว่าจะปรับเปลี่ยนไปใช้สารปรับปรุงดินมากขึ้น จะเอาดินตรวจหาธาตุอาหารตามที่สำนักงานพัฒนาที่ดินแนะนำผ่อ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2013, 11:38:56
วันนี้คุยกับเจ้าของรถเกี่ยวข้าว พอได้ความรู้สำหรับการทำนาภาคเหนือตอนล่างมาบ้าง ตอนนี้ที่นั่นข้าวพึ่งจะปลูกไปได้ประมาณ 1 เดือน บ้านเราพึ่งเริ่มเกี่ยว เกี่ยวเสร็จก็จะลงไปเกี่ยวภาคเหนือตอนล่างต่อ ปัญหาเรื่องหอยเชอรี่ที่นั่นมีน้อยเนื่องมีนกปากห่างช่วงกำจัดหอยเชอรี่   การปลูกข้าวเริ่มเปลี่ยนจากนาหว่านเป็นนาดำกันมากขึ้น การใช้ปุ๋ยเคมีเริ่มลดน้อยลงเปลี่ยนไปใช้สารปรับปรุงดินกันมากขึ้น ที่นู่นพบว่าการใช้ปุ๋ยเคมีมากจะมีปัญหาเรื่องโรคและเพลี้ยกระโดดจึงลดการใช้ปุ๋ยเคมีกัน  การใส่ปุ๋ยหากปริมาณน้ำในนามีมากก็จะเปลี่ยนจากการให้ปุ๋ยทางรากมาเป็นทางใบแทน ลองไปปรับใช้กันดูครับ
ผมก็วางแผนในใจว่าจะปรับเปลี่ยนไปใช้สารปรับปรุงดินมากขึ้น จะเอาดินตรวจหาธาตุอาหารตามที่สำนักงานพัฒนาที่ดินแนะนำผ่อ

ลองใช้สารตัวไหนได้ผลยังไงบ่าดีลืมแนะนำกันผ่องเน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2013, 15:48:02
:D...จองคิวรถเกี่ยว....วันที่14,15,16และ18...จะเก็บเกี่ยวแบบเต็มๆบ้างครับ....

ขอให้ได้ผลผลิตเยอะ ๆ เน้อครับพ่อเลี้ยง  แถวบ้านผมปีนี้ขาดแคลนรถเกี่ยวข้าวครับส่วนใหญ่จะไปรับเกี่ยวทางเชียงของกันเพราะเกี่ยวได้ง่ายและราคาดีกว่า ของผมยังเหลืออีก 9 ไร่ที่ยังไม่ได้เกี่ยว  ตอนนี้จองคิวกันยาวเหยียดเลยทีเดียวบางคนข้าวแก่จัดเต็มที่ก็ยังหารถเกี่ยวไม่ได้เลยก็มีครับ
ลงทุนซื้อรถเกี่ยวข้าว มาไว้รับจ้างดีก๊า ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2013, 16:22:28
:D...จองคิวรถเกี่ยว....วันที่14,15,16และ18...จะเก็บเกี่ยวแบบเต็มๆบ้างครับ....

ขอให้ได้ผลผลิตเยอะ ๆ เน้อครับพ่อเลี้ยง  แถวบ้านผมปีนี้ขาดแคลนรถเกี่ยวข้าวครับส่วนใหญ่จะไปรับเกี่ยวทางเชียงของกันเพราะเกี่ยวได้ง่ายและราคาดีกว่า ของผมยังเหลืออีก 9 ไร่ที่ยังไม่ได้เกี่ยว  ตอนนี้จองคิวกันยาวเหยียดเลยทีเดียวบางคนข้าวแก่จัดเต็มที่ก็ยังหารถเกี่ยวไม่ได้เลยก็มีครับ
ลงทุนซื้อรถเกี่ยวข้าว มาไว้รับจ้างดีก๊า ;D ;D

แนะนำซื้อรถตีดินดีกว่าครับ คืนทุนเร็วกว่าครับ  รถเกี่ยวข้าวค่อนข้างมีรายละเอียดมากการดูรักษาจะยาก มีอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ พอสมควร เช่นสายพาน ลูกปืน เพลา ที่ต้องหมั่นอัดจารบี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2013, 20:55:28
ต่อยอดจากสัปดาห์ที่แล้วครับ

ดูให้รู้ - ชุมชนพึ่งตนเอง 10Nov13

YvrU5gp0gj8



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2013, 17:50:44
 :D....+วันนี้ลงเกี่ยวมะลิ105ไปละครับ...16ไร่ได้ไป11.7ตัน...
....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2013, 18:36:13
:D....+วันนี้ลงเกี่ยวมะลิ105ไปละครับ...16ไร่ได้ไป11.7ตัน...
....


ได้นักขนาดเลยน้อ พ่อเลี้ยง ดีใจโตยครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2013, 19:07:32
:D....+วันนี้ลงเกี่ยวมะลิ105ไปละครับ...16ไร่ได้ไป11.7ตัน...
....


ได้นักขนาดเลยน้อ พ่อเลี้ยง ดีใจโตยครับ  :D  :D

 :D...ขอบคุณครับ..ลุ้นเหมือนกันเพราะข้าวเมล็ดลายเมล็ดลีบเยอะ....นาแปลง23ไร่เกี่ยวไป16ไร่...เหลือข้าวเหนียวอีก7ไร่...จะเกี่ยวพร้อมกับข้าวเหนียวนาแปลงใหญ่47ไร่(รถเกี่ยว37ไร่อีก10ไร่คนเกี่ยว)วันที่15ครับ...ได้คิวรถมา2คัน...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2013, 13:23:02
:D....+วันนี้ลงเกี่ยวมะลิ105ไปละครับ...16ไร่ได้ไป11.7ตัน...
....
ได้เยอะขนาดครับ บอกวิธีกันโตยได้ก่อครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2013, 19:08:03
:D....+วันนี้ลงเกี่ยวมะลิ105ไปละครับ...16ไร่ได้ไป11.7ตัน...
....
ได้เยอะขนาดครับ บอกวิธีกันโตยได้ก่อครับ ;D ;D

 :D...ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ...ไม่ได้ฉีดพ่นยาและฮอร์โมน....ปุ๋ยใส่2ครั้งมีรูปในกระทู้นี่หล่ะครับ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2013, 21:53:23
 :D...แปลงนี้เป็นธัญญสิรินครับ...+7ไร่ที่เหลือจากแปลง23ไร่.....รวมๆ50กว่าไร่...เกี่ยวพรุ่งนี้ครับ...15-11-56....ราคาข้าวเหนียวยังไม่มา...ขายฝากไว้ก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2013, 21:50:13
ข้าว แปลงนา ภาพถ่าย งามขนาดเลยน้อครับ เยี่ยมเลยเลย  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2013, 21:53:37
วันนี้เกี่ยวข้าวแปลง 9 ไร่ครับแปลงที่ลองปักดำรอบที่ 2  ช้ากว่ารอบแรก 2 สัปดาห์ เฉลี่ยแล้วได้ 545 กก./ไร่ เป็น กข. 15 ครับ ราคาข้าววันนี้ลดลงเหลือ  15.05 บาท/กก.  ได้เจ็ดหมื่นกว่าครับ  แปลงนี้ใส่ปุ๋ยเคมี 4 กส. เฉลี่ยต่อไร่ได้เยอะกว่าแปลง 13 ไร่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2013, 21:57:46
แปลงนี้ปลูกโดยใช้รถดำนาเดินตาม ซึ่งการดำครั้งนี้เริ่มคล่องขึ้นหลังจากปักดำแปลง 13 ไร่ 2 สัปดาห์  การปรับระยะห่างระหว่างกอ และจำนวนกล้าดีขึ้นกว่ารอบแรก ซึ่งการปักดำสำหรับนาปรังทางศูนย์แนะนำให้เปลี่ยนเฟืองซึ่งจะทำให้การปักดำจะมีระยะห่างระหว่างกอที่น้อยกว่านี้ตามชนิดของพันธุ์ข้าว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2013, 22:00:15
เริ่มเกี่ยวประมาณบ่ายสามกว่าจะเกี่ยวเสร็จมืดพอดีเลย ช้าหน่อยเพราะข้าวล้มและนาหล่มแถมยังมีฝนตกหนักเมื่อวันก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2013, 22:43:30
 :D...ผมก่ะเพิ่งกลับจากนามา...วันนี้เกี่ยวไป40ไร่..ข้าวเหนียวทั้งหมด(ธัญญสิริน)...ได้ประมาณ26ตันนิดๆครับ....ยังเหลือข้าวเหนียวอีก12ไร่...ที่จะใช้แรงงานคนเก็บเกี่ยววันที่18นี้ครับ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Vorravut35 ที่ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2013, 10:51:46
 :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2013, 23:24:11
:D...ผมก่ะเพิ่งกลับจากนามา...วันนี้เกี่ยวไป40ไร่..ข้าวเหนียวทั้งหมด(ธัญญสิริน)...ได้ประมาณ26ตันนิดๆครับ....ยังเหลือข้าวเหนียวอีก12ไร่...ที่จะใช้แรงงานคนเก็บเกี่ยววันที่18นี้ครับ....

ผมก็ว่าจะไปลองหัดเกี่ยวข้าวกับลุงที่ทำนาติดกันอยู่เหมือนกันครับ  อยากลองดูชีวิตการทำนาของคนสมัยก่อนดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2013, 23:40:05
อีกหน่อยหากออกจากงานประจำ ก็อยากมีเจ้าพวกนี้ไว้ทำนาตัวเอง และรับจ้างชาวนาที่ต้องการเกี่ยวมืออยู่เหมือนกันครับ อีกหน่อยหากไม่มีโครงการรับจำนำ ราคาข้าวคงจะลดลงตามราคาตลาด  ชาวนาคงกลับมาพึ่งตัวเองกันมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2013, 14:03:37
:D...ผมก่ะเพิ่งกลับจากนามา...วันนี้เกี่ยวไป40ไร่..ข้าวเหนียวทั้งหมด(ธัญญสิริน)...ได้ประมาณ26ตันนิดๆครับ....ยังเหลือข้าวเหนียวอีก12ไร่...ที่จะใช้แรงงานคนเก็บเกี่ยววันที่18นี้ครับ....

ผมก็ว่าจะไปลองหัดเกี่ยวข้าวกับลุงที่ทำนาติดกันอยู่เหมือนกันครับ  อยากลองดูชีวิตการทำนาของคนสมัยก่อนดูครับ
เตรียมยาแก้เจ็บหลัง-เอวไว้นักๆเลยครับ ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2013, 14:32:22
:D...ผมก่ะเพิ่งกลับจากนามา...วันนี้เกี่ยวไป40ไร่..ข้าวเหนียวทั้งหมด(ธัญญสิริน)...ได้ประมาณ26ตันนิดๆครับ....ยังเหลือข้าวเหนียวอีก12ไร่...ที่จะใช้แรงงานคนเก็บเกี่ยววันที่18นี้ครับ....

ผมก็ว่าจะไปลองหัดเกี่ยวข้าวกับลุงที่ทำนาติดกันอยู่เหมือนกันครับ  อยากลองดูชีวิตการทำนาของคนสมัยก่อนดูครับ
เตรียมยาแก้เจ็บหลัง-เอวไว้นักๆเลยครับ ;D ;D ;D

ฮ่า  ๆ ท่าจะแม่นครับ หันเปิ้นเกี่ยวกั๋นวันค่ำ อดทนกั๋นขนาดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: adully ที่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2013, 14:56:36
บ้านผมยังเกี่ยวมืออยู่ครับ 150 ครับค่าแรงอาหาร 1 มื้อเกี่ยวไปวันที่ 14 ครับ 6 ไร่ 15คนเจ้าของ+ญาติ 5 คนหมดไป 3000 กว่าๆ วันนี้ก๋องแหม 180 ครับวันฮือ ตี๋ครับ ผมว่าส่วนใหญ่หมดไปกับค่าแรง ปีที่แล้วรวมทั้งสิ้น 20000 นิดๆบ่าฮู้ว่าเอาตังนั้นไปซื้อข้าวกิ๋นจะคุ้มกว่าก่อ ได้ข้าว 387 ถังครับปี๋นี้เลยบ่าใส่ปุ๋ยสักแก่นลดไปแหม 3000 กว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2013, 15:21:20
บ้านผมยังเกี่ยวมืออยู่ครับ 150 ครับค่าแรงอาหาร 1 มื้อเกี่ยวไปวันที่ 14 ครับ 6 ไร่ 15คนเจ้าของ+ญาติ 5 คนหมดไป 3000 กว่าๆ วันนี้ก๋องแหม 180 ครับวันฮือ ตี๋ครับ ผมว่าส่วนใหญ่หมดไปกับค่าแรง ปีที่แล้วรวมทั้งสิ้น 20000 นิดๆบ่าฮู้ว่าเอาตังนั้นไปซื้อข้าวกิ๋นจะคุ้มกว่าก่อ ได้ข้าว 387 ถังครับปี๋นี้เลยบ่าใส่ปุ๋ยสักแก่นลดไปแหม 3000 กว่าครับ

 :D....ได้ดีละครับ.....แถวๆบ้านผมค่าแรงเกี่ยวข้าวอยู่ที่250บาทครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2013, 21:23:23
บ้านผมยังเกี่ยวมืออยู่ครับ 150 ครับค่าแรงอาหาร 1 มื้อเกี่ยวไปวันที่ 14 ครับ 6 ไร่ 15คนเจ้าของ+ญาติ 5 คนหมดไป 3000 กว่าๆ วันนี้ก๋องแหม 180 ครับวันฮือ ตี๋ครับ ผมว่าส่วนใหญ่หมดไปกับค่าแรง ปีที่แล้วรวมทั้งสิ้น 20000 นิดๆบ่าฮู้ว่าเอาตังนั้นไปซื้อข้าวกิ๋นจะคุ้มกว่าก่อ ได้ข้าว 387 ถังครับปี๋นี้เลยบ่าใส่ปุ๋ยสักแก่นลดไปแหม 3000 กว่าครับ

 :D....ได้ดีละครับ.....แถวๆบ้านผมค่าแรงเกี่ยวข้าวอยู่ที่250บาทครับ...

หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จวันเสาร์ วันอาทิตย์ไปยื่นเอกสารที่โรงสี  วันนี้ได้รับใบประทวนจากโรงสีแล้วครับ ไปยื่น ธกส.เรียบร้อย เจ้าหน้าที่บอกว่าอีก 2 สัปดาห์เงินจะเข้าบัญชี ก็ประมาณต้นเดือนหน้าครับ    :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2013, 21:37:36
ดูให้รู้ - พลิกฟื้นบ้านเกิด 17Nov13

k_n5yZiWP2M

 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2013, 22:02:50
บ้านผมยังเกี่ยวมืออยู่ครับ 150 ครับค่าแรงอาหาร 1 มื้อเกี่ยวไปวันที่ 14 ครับ 6 ไร่ 15คนเจ้าของ+ญาติ 5 คนหมดไป 3000 กว่าๆ วันนี้ก๋องแหม 180 ครับวันฮือ ตี๋ครับ ผมว่าส่วนใหญ่หมดไปกับค่าแรง ปีที่แล้วรวมทั้งสิ้น 20000 นิดๆบ่าฮู้ว่าเอาตังนั้นไปซื้อข้าวกิ๋นจะคุ้มกว่าก่อ ได้ข้าว 387 ถังครับปี๋นี้เลยบ่าใส่ปุ๋ยสักแก่นลดไปแหม 3000 กว่าครับ

 :D....ได้ดีละครับ.....แถวๆบ้านผมค่าแรงเกี่ยวข้าวอยู่ที่250บาทครับ...

หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จวันเสาร์ วันอาทิตย์ไปยื่นเอกสารที่โรงสี  วันนี้ได้รับใบประทวนจากโรงสีแล้วครับ ไปยื่น ธกส.เรียบร้อย เจ้าหน้าที่บอกว่าอีก 2 สัปดาห์เงินจะเข้าบัญชี ก็ประมาณต้นเดือนหน้าครับ    :D  :D

 :D...รวดเร็วดีแต้ครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: adully ที่ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2013, 15:27:05
บ้านผมยังเกี่ยวมืออยู่ครับ 150 ครับค่าแรงอาหาร 1 มื้อเกี่ยวไปวันที่ 14 ครับ 6 ไร่ 15คนเจ้าของ+ญาติ 5 คนหมดไป 3000 กว่าๆ วันนี้ก๋องแหม 180 ครับวันฮือ ตี๋ครับ ผมว่าส่วนใหญ่หมดไปกับค่าแรง ปีที่แล้วรวมทั้งสิ้น 20000 นิดๆบ่าฮู้ว่าเอาตังนั้นไปซื้อข้าวกิ๋นจะคุ้มกว่าก่อ ได้ข้าว 387 ถังครับปี๋นี้เลยบ่าใส่ปุ๋ยสักแก่นลดไปแหม 3000 กว่าครับ

 :D....ได้ดีละครับ.....แถวๆบ้านผมค่าแรงเกี่ยวข้าวอยู่ที่250บาทครับ...

หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จวันเสาร์ วันอาทิตย์ไปยื่นเอกสารที่โรงสี  วันนี้ได้รับใบประทวนจากโรงสีแล้วครับ ไปยื่น ธกส.เรียบร้อย เจ้าหน้าที่บอกว่าอีก 2 สัปดาห์เงินจะเข้าบัญชี ก็ประมาณต้นเดือนหน้าครับ    :D  :D

 :D...รวดเร็วดีแต้ครับ...
แหล่มเลยป้อเลี้ยง อิอิอิ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2013, 16:48:25
บ้านผมยังเกี่ยวมืออยู่ครับ 150 ครับค่าแรงอาหาร 1 มื้อเกี่ยวไปวันที่ 14 ครับ 6 ไร่ 15คนเจ้าของ+ญาติ 5 คนหมดไป 3000 กว่าๆ วันนี้ก๋องแหม 180 ครับวันฮือ ตี๋ครับ ผมว่าส่วนใหญ่หมดไปกับค่าแรง ปีที่แล้วรวมทั้งสิ้น 20000 นิดๆบ่าฮู้ว่าเอาตังนั้นไปซื้อข้าวกิ๋นจะคุ้มกว่าก่อ ได้ข้าว 387 ถังครับปี๋นี้เลยบ่าใส่ปุ๋ยสักแก่นลดไปแหม 3000 กว่าครับ

 :D....ได้ดีละครับ.....แถวๆบ้านผมค่าแรงเกี่ยวข้าวอยู่ที่250บาทครับ...

หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จวันเสาร์ วันอาทิตย์ไปยื่นเอกสารที่โรงสี  วันนี้ได้รับใบประทวนจากโรงสีแล้วครับ ไปยื่น ธกส.เรียบร้อย เจ้าหน้าที่บอกว่าอีก 2 สัปดาห์เงินจะเข้าบัญชี ก็ประมาณต้นเดือนหน้าครับ    :D  :D

 :D...รวดเร็วดีแต้ครับ...
แหล่มเลยป้อเลี้ยง อิอิอิ

เมื่อคืนห้าทุ่มก็ยังได้ยินเสียงรถเกี่ยวข้าวอยู่เลย   ฝนวันนี้ก็ตกแต้ตกว่าน้อครับ  ใครจะเกี่ยวข้าวก็ต้องเลื่อนกำหนดออกไปอีก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: adully ที่ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2013, 16:56:55
ก๋องข้าวไปตะวา วันตี๋คงต้องเลื่อนไปบ่ามีกำหนด รอแดดดีๆๆ ก๋องข้าวแห้ง นาแห้งก่อนละ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2013, 09:44:58
กข 6 ซื้อขายกันโลเท่าไดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2013, 20:01:35
กข 6 ซื้อขายกันโลเท่าไดครับ

 :D..ราคายังบ่ออกมาเตื่อครับ...ผมเกี่ยวเอาน้ำหนักฝากไว้ก่อนอ่ะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2013, 20:28:33
กข 6 ซื้อขายกันโลเท่าไดครับ

 :D..ราคายังบ่ออกมาเตื่อครับ...ผมเกี่ยวเอาน้ำหนักฝากไว้ก่อนอ่ะครับ

แถวบ้านราคา กข.6 เท่ากับเหนียวอุบลครับ เข้าโครงการรับจำนำข้าวเกี่ยวรถ 12 บาท ส่วนราคารับซื้อโรงสีโดยตรงไม่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ ข้าวเกี่ยวรถ  9 บาท ข้าวแห้ง 14.5 บาทครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2013, 20:26:41
 :D...วันนี้ไปปั่นหมักฟางทิ้งไว้ครับ....ก่อนน้ำจะแห้ง...น้ำฝนทั้งนั้นนะครับที่เห็น..
 :D...ทำนาไม่เผาฟาง...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2013, 12:10:45
:D...วันนี้ไปปั่นหมักฟางทิ้งไว้ครับ....ก่อนน้ำจะแห้ง...น้ำฝนทั้งนั้นนะครับที่เห็น..
 :D...ทำนาไม่เผาฟาง...

เข้าท่าครับ พ่อเลี้ยง  ตอนนี้ที่นาผมรอไถตาเพราะจะขึ้นคันนา ปรับแปลงนาใหม่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2013, 19:22:25
:D...วันนี้ไปปั่นหมักฟางทิ้งไว้ครับ....ก่อนน้ำจะแห้ง...น้ำฝนทั้งนั้นนะครับที่เห็น..
 :D...ทำนาไม่เผาฟาง...

เข้าท่าครับ พ่อเลี้ยง  ตอนนี้ที่นาผมรอไถตาเพราะจะขึ้นคันนา ปรับแปลงนาใหม่ครับ

 :D...พื้นนาแฉะคงอีกนานมั้งครับ...ถ้าดินเปียกผานไถควักดินไม่ขึ้นครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2013, 22:11:38
:D...วันนี้ไปปั่นหมักฟางทิ้งไว้ครับ....ก่อนน้ำจะแห้ง...น้ำฝนทั้งนั้นนะครับที่เห็น..
 :D...ทำนาไม่เผาฟาง...

เข้าท่าครับ พ่อเลี้ยง  ตอนนี้ที่นาผมรอไถตาเพราะจะขึ้นคันนา ปรับแปลงนาใหม่ครับ

 :D...พื้นนาแฉะคงอีกนานมั้งครับ...ถ้าดินเปียกผานไถควักดินไม่ขึ้นครับ...

ก็ว่าจะลองดูซัก 2-3 สัปดาห์ดูก่อนครับว่าพอจะแห้งพอหรือป่าว แต่ถ้าหากฝนตกลงมาเรื่อย ๆ ก็แย่เหมือนกันครับ เพราะตั้งใจจะปรับแปลงนาใหม่ให้เหมาะสมสำหรับทำนาปลูกครับ จะได้ขนกล้าง่าย  ๆ หน่อยแบบเดิมค่อนข้างเหนื่อยในการขนกล้าไปใส่รถปลูกครับ   :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2013, 22:30:40
อู๋พี่ขอฟากหน่อย  ;Dใครอยากลองใช้จูลินทรีย์สังเคราะแสงPSB ติดต่อกระทูต้นกล้านาโยนได้เลยครับขายลิตรล่ะ 60 บาทครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2013, 20:37:43
อู๋พี่ขอฟากหน่อย  ;Dใครอยากลองใช้จูลินทรีย์สังเคราะแสงPSB ติดต่อกระทูต้นกล้านาโยนได้เลยครับขายลิตรล่ะ 60 บาทครับ ;D

ยินดีครับ

ความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง  http://www.applyorganic.com/image/files/0002.pdf (http://www.applyorganic.com/image/files/0002.pdf)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2013, 20:46:02
ช่วงนี้ข้าวมะลิ 105 และ กข.6 เริ่มเก็บเกี่ยวกันแล้วครับ ลองขึ้นไปดูบนดอย แถวบ้านก็ยังคงเหลือการเก็บเกี่ยวมากเหมือนกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Snoopymomo ที่ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2013, 09:31:12
:D...วันนี้ไปปั่นหมักฟางทิ้งไว้ครับ....ก่อนน้ำจะแห้ง...น้ำฝนทั้งนั้นนะครับที่เห็น..
 :D...ทำนาไม่เผาฟาง...
ฟางน้อยขนาด บ่าฮู้ว่าเอาฟางออกจากนาก่อนแล้วก่อยปั่นก่อคับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2013, 13:17:47
ดูให้รู้ - พลิกฟื้นบ้านเกิด 17Nov13

k_n5yZiWP2M

 
เป็นแนวทางพัฒนาบ้านเกิดได้ดีมากครับ ;) เห็นแล้วอยากลองชิมหอยขึ้นมาทันที ท่าจะหวานดีแต้ครับ จิ้มน้ำจิ้มสามรสโรยหอมแดงทอดเหียน้อย ป๊าดโท๊ะ น้ำยายใย๋ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2013, 16:12:34
:D...วันนี้ไปปั่นหมักฟางทิ้งไว้ครับ....ก่อนน้ำจะแห้ง...น้ำฝนทั้งนั้นนะครับที่เห็น..
 :D...ทำนาไม่เผาฟาง...
ฟางน้อยขนาด บ่าฮู้ว่าเอาฟางออกจากนาก่อนแล้วก่อยปั่นก่อคับ

 :D...บ่ได้เก็บออกครับ...ฝนตกน้ำแจ่เลยรวดปั่นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Snoopymomo ที่ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2013, 16:22:45
:D...วันนี้ไปปั่นหมักฟางทิ้งไว้ครับ....ก่อนน้ำจะแห้ง...น้ำฝนทั้งนั้นนะครับที่เห็น..
 :D...ทำนาไม่เผาฟาง...
ฟางน้อยขนาด บ่าฮู้ว่าเอาฟางออกจากนาก่อนแล้วก่อยปั่นก่อคับ

 :D...บ่ได้เก็บออกครับ...ฝนตกน้ำแจ่เลยรวดปั่นครับ
ใจ้รถปลูกแม่นก่อครับ :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2013, 18:24:49
:D...วันนี้ไปปั่นหมักฟางทิ้งไว้ครับ....ก่อนน้ำจะแห้ง...น้ำฝนทั้งนั้นนะครับที่เห็น..
 :D...ทำนาไม่เผาฟาง...
ฟางน้อยขนาด บ่าฮู้ว่าเอาฟางออกจากนาก่อนแล้วก่อยปั่นก่อคับ

 :D...บ่ได้เก็บออกครับ...ฝนตกน้ำแจ่เลยรวดปั่นครับ
ใจ้รถปลูกแม่นก่อครับ :)

 :D..จ้างเหมาคนปลูกครับ...ปลูกกล้าซิม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2013, 22:07:02
ดูให้รู้ - พลิกฟื้นบ้านเกิด 17Nov13

 
เป็นแนวทางพัฒนาบ้านเกิดได้ดีมากครับ ;) เห็นแล้วอยากลองชิมหอยขึ้นมาทันที ท่าจะหวานดีแต้ครับ จิ้มน้ำจิ้มสามรสโรยหอมแดงทอดเหียน้อย ป๊าดโท๊ะ น้ำยายใย๋ ;D

ปัญหาในประเทศไทยหลาย ๆ ในปัจจุบัน เคยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นครับ ทั้งเรื่อง แรงงานด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม ราคาผลผลิตตกต่ำ  ซึ่งก็น่าจะศึกษาแนวทางของเค้าไว้บ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2013, 22:11:48
:D...วันนี้ไปปั่นหมักฟางทิ้งไว้ครับ....ก่อนน้ำจะแห้ง...น้ำฝนทั้งนั้นนะครับที่เห็น..
 :D...ทำนาไม่เผาฟาง...
ฟางน้อยขนาด บ่าฮู้ว่าเอาฟางออกจากนาก่อนแล้วก่อยปั่นก่อคับ

 :D...บ่ได้เก็บออกครับ...ฝนตกน้ำแจ่เลยรวดปั่นครับ
ใจ้รถปลูกแม่นก่อครับ :)

 :D..จ้างเหมาคนปลูกครับ...ปลูกกล้าซิม

ช่วยกั๋นปลูกหลายคนก็ม่วนดีหนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 04 ธันวาคม 2013, 14:44:11
ประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง  ====> http://www.applyorganic.com/image/files/0002.pdf



(http://upic.me/i/ig/wz9-1.jpg) (http://upic.me/show/48474148)

(http://upic.me/i/uy/614-2.jpg) (http://upic.me/show/48474149)

(http://upic.me/i/om/hcn-3.jpg) (http://upic.me/show/48474150)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 ธันวาคม 2013, 20:14:18
ช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมความพร้อมสำหรับการทำนาปรังรอบต่อไปครับ เครื่องไม้ ๆ เครื่องมือต่าง ๆ  ก็ทยอยนำมาตรวจสอบความพร้อม รถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างคันนี้ที่ใช้ขนเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างเครื่องตัดหญ้า ปุ๋ย ก็นำมาเช็คยางและก็ทำสีพ่วงข้างใหม่เพราะสนิมเริ่มขึ้นครับจะได้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น สีน้ำมันก็ราคาไม่แพงครับไม่ถึงร้อยบาท สีที่ทาไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ ปกติเครื่องจักรกล เครื่องจักรทางการเกษตรควรเป็นสีที่สะดุดตา จะสังเกตุว่ารถแทรกเตอร์จะนิยมทำสีส้ม สีแดง รถทางหลวงจะสีเหลืองเพื่อให้เห็นได้ง่ายในระยะไกลจะปลอดภัยยิ่งขึ้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 ธันวาคม 2013, 20:23:23
ดูให้รู้ : เกษตรอินทรีย์ ทางเลือกที่ทำให้รอด 8 ธันวาคม 2556

เกษตรกรในญี่ปุ่นหันมาใช้วิธีปลูกพืชแบบเก­ษตรอินทรีย์กันมากขึ้น ใช้สารเคมีลดลง เพื่อความอยู่รอดของทั้งตัวเองและผู้บริโภ­ค รวมทั้งวิธีคิดที่หลากหลายเพื่อการขายผลิต­ภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่ามากกว่าเดิม

Dg6p4rlbhVg


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 09 ธันวาคม 2013, 20:43:55
ประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง  ====> http://www.applyorganic.com/image/files/0002.pdf






 :D....ขอบคุณข้อมูลดีๆครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 09 ธันวาคม 2013, 20:54:28
ช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมความพร้อมสำหรับการทำนาปรังรอบต่อไปครับ เครื่องไม้ ๆ เครื่องมือต่าง ๆ  ก็ทยอยนำมาตรวจสอบความพร้อม รถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างคันนี้ที่ใช้ขนเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างเครื่องตัดหญ้า ปุ๋ย ก็นำมาเช็คยางและก็ทำสีพ่วงข้างใหม่เพราะสนิมเริ่มขึ้นครับจะได้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น สีน้ำมันก็ราคาไม่แพงครับไม่ถึงร้อยบาท สีที่ทาไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ ปกติเครื่องจักรกล เครื่องจักรทางการเกษตรควรเป็นสีที่สะดุดตา จะสังเกตุว่ารถแทรกเตอร์จะนิยมทำสีส้ม สีแดง รถทางหลวงจะสีเหลืองเพื่อให้เห็นได้ง่ายในระยะไกลจะปลอดภัยยิ่งขึ้นครับ

 :D...ช่วงฝนตกกลางเดือนก่อน....ทำให้ดินในนาอ่อนตัว..รถอีแต๋นลงขนข้าวไม่ได้..เลยซื้อเหล็กมาต่อเทรลเลอร์พ่วงไว้ขนข้าว...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 09 ธันวาคม 2013, 21:09:02
 :D...เอารถกระบะลากวิ่งทดสอบก่อนส่งทำสี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 09 ธันวาคม 2013, 21:12:08
 :D....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 ธันวาคม 2013, 20:30:23
ช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมความพร้อมสำหรับการทำนาปรังรอบต่อไปครับ เครื่องไม้ ๆ เครื่องมือต่าง ๆ  ก็ทยอยนำมาตรวจสอบความพร้อม รถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างคันนี้ที่ใช้ขนเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างเครื่องตัดหญ้า ปุ๋ย ก็นำมาเช็คยางและก็ทำสีพ่วงข้างใหม่เพราะสนิมเริ่มขึ้นครับจะได้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น สีน้ำมันก็ราคาไม่แพงครับไม่ถึงร้อยบาท สีที่ทาไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ ปกติเครื่องจักรกล เครื่องจักรทางการเกษตรควรเป็นสีที่สะดุดตา จะสังเกตุว่ารถแทรกเตอร์จะนิยมทำสีส้ม สีแดง รถทางหลวงจะสีเหลืองเพื่อให้เห็นได้ง่ายในระยะไกลจะปลอดภัยยิ่งขึ้นครับ

 :D...ช่วงฝนตกกลางเดือนก่อน....ทำให้ดินในนาอ่อนตัว..รถอีแต๋นลงขนข้าวไม่ได้..เลยซื้อเหล็กมาต่อเทรลเลอร์พ่วงไว้ขนข้าว...

ฝีมือนี้เปิดอู่รับทำได้เลยน้อครับ..ผมว่าจะทำที่บรรทุกของติดหลังรถไถเหมือนแบบของท่าน BM ที่เอามาลงคราวก่อนอยู่เหมือนกั๋นครับ วันนี้เช็ครถไถอัดจารบีตั้งครัทช์ใหม่น่าจะเป็นวันหยุด ส อ นี้คงจะเริ่มทำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 ธันวาคม 2013, 21:01:33
อีกหนึ่งโปรเจกต์ครับ อยากได้รถอีแต๋นซักคันเห็นแถวบ้านทำโครงมาให้เรียบร้อยเหลือแต่ให้เราวางเครื่องและทำกระบะหลังเองมีตั้งแต่คันละ 2-4 หมื่นบาทก็น่าสนใจอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: kanda_ ที่ วันที่ 10 ธันวาคม 2013, 22:13:39
อ้ายครับการเพาะกล้าใช้ขี้เถ้าจากฟางข้าวแทนแกลบเผาใด้ก่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 ธันวาคม 2013, 21:42:29
อ้ายครับการเพาะกล้าใช้ขี้เถ้าจากฟางข้าวแทนแกลบเผาใด้ก่อครับ

บ่าเคยลองเหมือนกั๋นครับ แต่น่าจะทำได้ครับแต่น่าจะบ่าดีเท่าแกลบดำจากเปลือกข้าวครับเพราะน่าจะมีความสม่ำเสมอกันมากกว่าเวลาเพาะในถาด แกลบดำแถวบ้านผมหาได้ง่ายครับ ราคาถูกด้วยทำนารอบนึง 22 ไร่ซื้อแกลบดำไม่ถึง 1 พันบาทครับได้กระสอบแถมด้วยอีกต่างหาก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 ธันวาคม 2013, 21:03:29
ประกาศผลแล้วนะครับ   The Famer Game  เกมส์เกษตรกร ที่เป็นการแข่งขันตัวแทนชาวนาจาก 2 จังหวัด เชียงราย และบุรีรัมย์  ผลการแข่งขัน จ.เชียงราย โดยเกษตรกร ต.สันมะเค็ด ได้รับรางวัลชนะเลิศ แข่งขันกันมาหลายเดือนในที่สุดก็ประสพความสำเร็จครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 13 ธันวาคม 2013, 08:35:28
ประกาศผลแล้วนะครับ   The Famer Game  เกมส์เกษตรกร ที่เป็นการแข่งขันตัวแทนชาวนาจาก 2 จังหวัด เชียงราย และบุรีรัมย์  ผลการแข่งขัน จ.เชียงราย โดยเกษตรกร ต.สันมะเค็ด ได้รับรางวัลชนะเลิศ แข่งขันกันมาหลายเดือนในที่สุดก็ประสพความสำเร็จครับ

 :D....ขอแสดงความยินดีและดีใจกับชาวนาบ้านสันมะเค็ดด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 13 ธันวาคม 2013, 22:37:40
ช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมความพร้อมสำหรับการทำนาปรังรอบต่อไปครับ เครื่องไม้ ๆ เครื่องมือต่าง ๆ  ก็ทยอยนำมาตรวจสอบความพร้อม รถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างคันนี้ที่ใช้ขนเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างเครื่องตัดหญ้า ปุ๋ย ก็นำมาเช็คยางและก็ทำสีพ่วงข้างใหม่เพราะสนิมเริ่มขึ้นครับจะได้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น สีน้ำมันก็ราคาไม่แพงครับไม่ถึงร้อยบาท สีที่ทาไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ ปกติเครื่องจักรกล เครื่องจักรทางการเกษตรควรเป็นสีที่สะดุดตา จะสังเกตุว่ารถแทรกเตอร์จะนิยมทำสีส้ม สีแดง รถทางหลวงจะสีเหลืองเพื่อให้เห็นได้ง่ายในระยะไกลจะปลอดภัยยิ่งขึ้นครับ

 :D...ช่วงฝนตกกลางเดือนก่อน....ทำให้ดินในนาอ่อนตัว..รถอีแต๋นลงขนข้าวไม่ได้..เลยซื้อเหล็กมาต่อเทรลเลอร์พ่วงไว้ขนข้าว...

ฝีมือนี้เปิดอู่รับทำได้เลยน้อครับ..ผมว่าจะทำที่บรรทุกของติดหลังรถไถเหมือนแบบของท่าน BM ที่เอามาลงคราวก่อนอยู่เหมือนกั๋นครับ วันนี้เช็ครถไถอัดจารบีตั้งครัทช์ใหม่น่าจะเป็นวันหยุด ส อ นี้คงจะเริ่มทำครับ

 :D...ทำเสร็จแล้วถ่ายภาพเอามาแบ่งกันดูบ้างครับ....ช่วงนี้งานรถไถไม่ค่อยมีครับ...ฝนตกมาอีก...งานรับจ้างทำคันนาก็ทำไม่ได้...ไถกลบฟางไว้ก็ไถไม่ได้.......มีแต่งานมัดฟางขนฟางไว้ทำเห็ดฟาง....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: kanda_ ที่ วันที่ 14 ธันวาคม 2013, 10:51:16
อ้ายครับนาปรังปีนี้ใส่ข้าวพันธุ์อะไรครับใช้หว่านหรือปลูกราคาขายจะดีก่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 14 ธันวาคม 2013, 13:52:03
เข้ามาผ่อทีไร มีความสุขทุกที ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 ธันวาคม 2013, 22:04:14
ช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมความพร้อมสำหรับการทำนาปรังรอบต่อไปครับ เครื่องไม้ ๆ เครื่องมือต่าง ๆ  ก็ทยอยนำมาตรวจสอบความพร้อม รถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างคันนี้ที่ใช้ขนเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างเครื่องตัดหญ้า ปุ๋ย ก็นำมาเช็คยางและก็ทำสีพ่วงข้างใหม่เพราะสนิมเริ่มขึ้นครับจะได้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น สีน้ำมันก็ราคาไม่แพงครับไม่ถึงร้อยบาท สีที่ทาไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ ปกติเครื่องจักรกล เครื่องจักรทางการเกษตรควรเป็นสีที่สะดุดตา จะสังเกตุว่ารถแทรกเตอร์จะนิยมทำสีส้ม สีแดง รถทางหลวงจะสีเหลืองเพื่อให้เห็นได้ง่ายในระยะไกลจะปลอดภัยยิ่งขึ้นครับ

 :D...ช่วงฝนตกกลางเดือนก่อน....ทำให้ดินในนาอ่อนตัว..รถอีแต๋นลงขนข้าวไม่ได้..เลยซื้อเหล็กมาต่อเทรลเลอร์พ่วงไว้ขนข้าว...

ฝีมือนี้เปิดอู่รับทำได้เลยน้อครับ..ผมว่าจะทำที่บรรทุกของติดหลังรถไถเหมือนแบบของท่าน BM ที่เอามาลงคราวก่อนอยู่เหมือนกั๋นครับ วันนี้เช็ครถไถอัดจารบีตั้งครัทช์ใหม่น่าจะเป็นวันหยุด ส อ นี้คงจะเริ่มทำครับ

 :D...ทำเสร็จแล้วถ่ายภาพเอามาแบ่งกันดูบ้างครับ....ช่วงนี้งานรถไถไม่ค่อยมีครับ...ฝนตกมาอีก...งานรับจ้างทำคันนาก็ทำไม่ได้...ไถกลบฟางไว้ก็ไถไม่ได้.......มีแต่งานมัดฟางขนฟางไว้ทำเห็ดฟาง....

เทเลอร์ที่ทำใช้ประโยชน์ได้ดีเลยน้อครับ  ที่นาผมปีนี้ไถตากก็บ่าได้ไถซักกำ ขึ้นคันนาใหม่บ่าต้องพูดถึงฝนตกบ่อยขนาดครับ สงสัยจะต้องจ้างรถแทรกมาปั่นนาแทน  เพราะบางจุดเป็นหล่มรถเกี่ยวข้าว  วันนี้ผ่านไปทางเชียงแสนบางที่เริ่มเห็นหว่านข้าวรอบใหม่กั๋นแล้วน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 ธันวาคม 2013, 22:52:53
อ้ายครับนาปรังปีนี้ใส่ข้าวพันธุ์อะไรครับใช้หว่านหรือปลูกราคาขายจะดีก่อครับ

นาปรังรอบนี้ลองเปลี่ยนพันธุ์ข้าวดูครับ  เป็นพันธุ์เพชรบุรีครับ นาปรังปีก่อนปลูก กข. 41 และ 47 ครับว่าจะปลูกและอาจจะหว่านด้วยบางส่วนครับหากถาดเพาะไม่พอครับ   ราคาขายข้าวนาปรังรอบนี้แนวโน้มว่าราคาจะถูกกว่าปีก่อนครับ  ราคาปุ๋ยก็ขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ และหากเปิด AEC ก็อาจต้องรับศึกหนักแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านครับ ยิ่งเวียดนามมีโรงงานผลิตปุ๋ย ไดอาโมเนียม ฟอสเฟส แล้วต้นทุนภาคการเกษตรของเวียดนามก็จะลดลง สามารถแข่งขันราคาได้มากขึ้น  ตอนนี้ยิ่งสภาวะอากาศโลกเปลี่ยนไปมากครับ  ปกติเรากลัวแต่ โรคพืช และ แมลง ตอนนี้ยังต้องเจอกับ ภัยธรรมชาติที่หนักเพิ่มขึ้น ทั้งพายุ น้ำท่วม  ภัยแล้ง  การลงทุนไปกับต้นทุนการผลิตมาก ๆ กลายเป็นความเสี่ยงครับ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็ต้องปรับตัวกันครับบางแห่งก็ต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนหรือปลูกแบบผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 ธันวาคม 2013, 22:54:43
เข้ามาผ่อทีไร มีความสุขทุกที ;D ;D

ท่าน BM เปิ้นเอารูปมาลงแต่ละรูปได้บรรยากาศชาวนาดีแต้ ๆ ครับ   :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 ธันวาคม 2013, 23:00:54
วันนี้ลองไปดูรถอีแต๋นครับ  เริ่มด้วยไปอู่ต่อรถที่ อ.เวียงเชียงรุ้งครับ มือสองราคาหลักหมื่น แต่ถ้าคันใหญ่ออฟชั่นเต็มขับเคลื่อน 4 ล้อราคาสองแสนกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 ธันวาคม 2013, 23:06:24
ไปอีกอู่ที่แม่จัน  อู่ลุงผัด  รถอีแต๋นที่นี่ความสูงของหัวเก๋งจะต่ำกว่า ใช้ช่วงล่างรถกระบะมาทำได้ความนิ่มนวลแบบรถกระบะ ราคาโครงรถไม่รวมเครื่องประมาณสามหมื่นกว่าบาท หากซื้อเครื่องใหม่มาใส่รวมแล้วก็น่าจะราว ๆ 6-7 หมื่นบาทครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 15 ธันวาคม 2013, 19:10:54
 :D....ฝนตกนาเต็มนาเลยครับวันนี้....พรุ่งนี้ปั่นตีดินแปลงกล้าครับ....ปีนี้หมดหวังจะได้ทำคันนาแล้วครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: kanda_ ที่ วันที่ 16 ธันวาคม 2013, 14:15:09
อ้ายครับถ้าจะซื้อรถเกี่่ยวที่นาแถวบ้านเราน่าจะเล่นรุ่นเล็กหรือใหญ่ดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 ธันวาคม 2013, 22:39:14
อ้ายครับถ้าจะซื้อรถเกี่่ยวที่นาแถวบ้านเราน่าจะเล่นรุ่นเล็กหรือใหญ่ดีครับ

แถวบ้านเรารุ่นใหญ่น่าจะได้เปรียบกว่านะครับ  เพราะเกี่ยวได้ทั้งนาปี นาปรัง รุ่นเล็กเจอนาหล่มมาก ๆ ก็ไม่ค่อยไหวเหมือนกันส่วนใหญ่จะเหมาะกับพื้นที่ที่ทำนาปีอย่างเดียว  รถเกี่ยวแต่ละยี่ห้อมีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน  ถ้าซื้อเงินผ่อนก็ต้องรถโรงงาน อย่างพวก คูโบต้า  เกษตรพัฒนา  ฯลฯ ซึ่งจะได้ดีตรงบริการหลังการขาย แต่ถ้ามีเงินสดอยากประหยัดสั่งประกอบแบบเลือกสเปคอะไหล่ที่จะประกอบเองจะถูกใจกว่า แต่ก็ต้องมีความรู้ในการซ่อมบำรุงบ้างครับ และมีรถเกี่ยวก็ต้องมีรถเทลเลอร์นะครับต้องเตรียมงบเผื่อด้วยครับ  รถเกี่ยวข้าวจะนิยมใช้เครื่องยนต์ของฮีโน่ที่ค่อนข้างทนทานหน่อยเครื่องยนต์ใช้รอบไม่สูงทำให้ทนกว่ายี่ห้ออื่น ช่วงล่างจะเป็นช่วงล่างเดิมรถแบล็กโฮ บางยี่ห้อก็ทำใหม่เลยก็มี ถ้าช่วงล่างแบล็กโฮของโคมัตสุบ้านเราหาอะไหล่ได้ง่ายหน่อย รองลงมาก็ Kobelco หากเป็นของยี่ห้อเกาหลีไม่แนะนำครับ ช่วงล่างรถเกี่ยวข้าวมักมีปัญหาบ่อยเพราะต้องเคลื่อนที่ตลอดต่างจากตอนเป็นรถแบล็กโฮครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 ธันวาคม 2013, 22:45:38
:D....ฝนตกนาเต็มนาเลยครับวันนี้....พรุ่งนี้ปั่นตีดินแปลงกล้าครับ....ปีนี้หมดหวังจะได้ทำคันนาแล้วครับ...

เหมือนกั๋นเลยครับ ปีนี้ฝนเยอะขนาด วันก่อนไปเชียงแสนหันหลายที่เริ่มหว่านกล้าเยอะเหมือนกั๋นน้อครับ  เดียวต้นเดือนหน้าผมก็คงได้จ้างรถแทรกมาปั่นนาฮื้อเพื่อลบร่องรถเกี่ยวข้าวแล้วค่อยทำเทือกเองครับ  ปีนี้เลยบ่าได้ขึ้นคันนาใหม่ซักกำรอลุ้นปีหน้าแหมกำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 20 ธันวาคม 2013, 10:45:29
แวะมาผ่อเหี๋ยน้อย ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 21 ธันวาคม 2013, 22:23:25
แวะเข้ามาแอ่วหาจ้าวววว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 ธันวาคม 2013, 20:50:49
แวะมาผ่อเหี๋ยน้อย ;D ;D

ช่วงนี้บ่ค่อยได้โพสครับ ชาวนาส่วนใหญ่ก็คงว่าง  ๆกั๋นอยู่เหมือนกั๋นครับ เดือนหน้าก็คงได้เริ่มกั๋นละครับ


แวะเข้ามาแอ่วหาจ้าวววว

หายไปเมินขนาดเลยน้อครับน้องดรีม สงสัยไปเป็นแม่เลี้ยงแล้วก้าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 ธันวาคม 2013, 19:20:44
ช่วงนี้ เสาร์ อาทิตย์ ก็เริ่มตัดหญ้า เตรียมพื้นที่การทำนาต่อไปครับ หน้าหนาวปีนี้อากาศคงดีกว่าปีก่อน ๆ เพราะว่าชาวนาส่วนใหญ่จะไม่ได้เผาฟางกัน ฝนตกบ่อย ปีนี้อาจเห็นความแตกต่างว่าดินดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 ธันวาคม 2013, 22:47:36
แวะเข้ามาแอ่วหาจ้าวววว


 :D...เมาก่าเล่นเฟซหั้นเน้อ...

แวะมาผ่อเหี๋ยน้อย ;D ;D

 :D....ทำนาปีนี้เป็นจะได...มาอู้หื้อกั๋นฟังพ่องครับป้อเลี้ยง.....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 23 ธันวาคม 2013, 22:51:45
ช่วงนี้ เสาร์ อาทิตย์ ก็เริ่มตัดหญ้า เตรียมพื้นที่การทำนาต่อไปครับ หน้าหนาวปีนี้อากาศคงดีกว่าปีก่อน ๆ เพราะว่าชาวนาส่วนใหญ่จะไม่ได้เผาฟางกัน ฝนตกบ่อย ปีนี้อาจเห็นความแตกต่างว่าดินดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ครับ



 :D...ตะวาผมหว่านกล้าไป1ชุดละครับ...20ถัง...จะเอาดำแปลง23ไร่...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 ธันวาคม 2013, 22:31:16
ช่วงนี้ เสาร์ อาทิตย์ ก็เริ่มตัดหญ้า เตรียมพื้นที่การทำนาต่อไปครับ หน้าหนาวปีนี้อากาศคงดีกว่าปีก่อน ๆ เพราะว่าชาวนาส่วนใหญ่จะไม่ได้เผาฟางกัน ฝนตกบ่อย ปีนี้อาจเห็นความแตกต่างว่าดินดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ครับ



 :D...ตะวาผมหว่านกล้าไป1ชุดละครับ...20ถัง...จะเอาดำแปลง23ไร่...

แถวเชียงแสนเปิ้นหว่านก่อนเยอะเหมือนกั๋นน้อครับ สัปดาห์ก่อนผ่านไปเห็นหว่านไปแล้วหลายแปลง แถวบ้านผมยังบ่าเริ่มเลยครับ คงประมาณกลางเดือนหน้าคงจะเริ่มครับ บางคนก็ยังรอเงินจาก ธกส. เพื่อนำมาลงทุนทำนารอบใหม่กั๋นอยู่ ของผมก็พึ่งได้รับเงินวันนี้ช้ากว่าวันนัดหมายเดิมไป 18 วันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 24 ธันวาคม 2013, 22:58:48
วันที่ 29 ผมจะเพาะกล้านาโยนใครสนใจจะมาดูวิธีเพาะก็เชิญได้เน้อครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 ธันวาคม 2013, 21:41:23
วันที่ 29 ผมจะเพาะกล้านาโยนใครสนใจจะมาดูวิธีเพาะก็เชิญได้เน้อครับ ;D

ถ้าว่างบ่าได้ไปไหนจะแวะไปแอ่วหาเน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 27 ธันวาคม 2013, 20:32:00
แวะมาผ่อเหี๋ยน้อย ;D ;D

ช่วงนี้บ่ค่อยได้โพสครับ ชาวนาส่วนใหญ่ก็คงว่าง  ๆกั๋นอยู่เหมือนกั๋นครับ เดือนหน้าก็คงได้เริ่มกั๋นละครับ


แวะเข้ามาแอ่วหาจ้าวววว

หายไปเมินขนาดเลยน้อครับน้องดรีม สงสัยไปเป็นแม่เลี้ยงแล้วก้าครับ
นาปีนี้ก็บ่ได้ทำ แม่เอาหื้อลุงทำ ปีหน้าเอาแต้ๆละจ้าวว เลยบ่ค่อยได้เข้ามาห้องเกษตรเลยเจ้าาา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 ธันวาคม 2013, 20:28:26
แวะมาผ่อเหี๋ยน้อย ;D ;D

ช่วงนี้บ่ค่อยได้โพสครับ ชาวนาส่วนใหญ่ก็คงว่าง  ๆกั๋นอยู่เหมือนกั๋นครับ เดือนหน้าก็คงได้เริ่มกั๋นละครับ


แวะเข้ามาแอ่วหาจ้าวววว

หายไปเมินขนาดเลยน้อครับน้องดรีม สงสัยไปเป็นแม่เลี้ยงแล้วก้าครับ
นาปีนี้ก็บ่ได้ทำ แม่เอาหื้อลุงทำ ปีหน้าเอาแต้ๆละจ้าวว เลยบ่ค่อยได้เข้ามาห้องเกษตรเลยเจ้าาา

ลองดูท่าทีราคาข้าวแหมกำก็ได้เน้อครับ เผื่อมีช่องทางรายได้จากแหล่งอื่นที่ดีกว่าหรือดูการปลูกพืชตัวอื่นไปแหมควบคู่กันไป เพราะหากราคาข้าวลดลงต่ำลงจากความไม่แน่นอนจากรัฐบาลหรือราคาตลาดโลก ผลกำไรต่อไร่ก็จะน้อยตามบางทีก็อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงครับ คนที่มีที่นาจำนวนน้อยรายได้อาจไม่พอต่อค่าใช้จ่ายในปัจจุบันก็ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 ธันวาคม 2013, 20:53:45
สัปดาห์ก่อนขยายเชื้อจุลินทรีย์โดยใช้ เชื้อจาก พด.2 และกากน้ำตาลครับ วันนี้มาเปิดดูถังหมักจะเห็นฝ้าขาวซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ผิวหน้า มีฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกลิ่นแอลกอฮอล์เกิดขึ้นซึ่งจะเตรียมไว้กับนาปรังรอบนี้ถังมีส่วนช่วยในการปรับปรุงดินและยังช่วยในการย่อยสลายตอซังข้าวครับ 1 ถังใช้งบประมาณ 50 บาทซึ่งเป็นค่ากากน้ำตาลครับ ซึ่งการใช้นประมาณ 5 ลิตรต่อ 1 ไร่ก็น่าจะเพียงพอครับ หากที่ทำไว้ไม่พอก็ยังสามารถขยายเชื้อจุลินทรีย์ไปได้อีกโดยการเติมน้ำและกากน้ำตาลลงไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 ธันวาคม 2013, 20:57:25
ต้นมะนาวพันธุ์พื้นบ้านก็จะมาลองปลูกในบ้านและมะนาวแป้นก็จะนำมาปลูกในบ่อซีเมนต์แต่ของศึกษาจากในหนังสือและผู้รู้เพิ่มเติมอีกซักหน่อยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 ธันวาคม 2013, 21:00:51
ต้นอินทผลัมที่ลองปลูกมาหลายเดือน ปลูก 10 ต้น ดูแล้วเป็นพันธุ์ไม้ที่ค่อนข้างทนทานแข็งแรงดีครับ ผมปลูกตามธรรมชาติไม่ได้รดน้ำอะไรเลย หากใครดูแลเอาใจใส่ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ปรับปรุงดิน คิดว่าคงโตไวพอสมควรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 28 ธันวาคม 2013, 22:06:37
อู๋ จะไปเอาต้นมะนาวอย่าลืมบอกพี่นะ หลังปีใหม่พี่จะลงท่อสัก 20 ท่อ ลองดูถ้าพี่ไม่ว่างไป  เดี่ยวพี่ฟากซื้อ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 ธันวาคม 2013, 21:00:42
อู๋ จะไปเอาต้นมะนาวอย่าลืมบอกพี่นะ หลังปีใหม่พี่จะลงท่อสัก 20 ท่อ ลองดูถ้าพี่ไม่ว่างไป  เดี่ยวพี่ฟากซื้อ

ได้เลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 ธันวาคม 2013, 21:05:41
วันนี้ซื้อดินมาเพื่อจะทำทางเดินติดรั้วบริเวณริมรั้วครับยังทำไม่เสร็จ ถ้าดินเหลือเยอะก็จะทำทางเดินที่กว้างพอที่จะปลูกต้นไม้ที่พอสามารถเก็บดอก เก็บใบกินได้บ้างครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 ธันวาคม 2013, 20:13:18
วันหยุดสิ้นปีนอกจากเตรียมพื้นที่สำหรับการทำนารอบใหม่แล้ว วันนี้ไปซื้อกิ่งพันธุ์มะนาว เพื่อมาทดลองปลูกครับ เจ้าของสวนแนะนำความรู้ อธิบาย และให้เอกสารเพื่อมาศึกษาครับ การปลูกเลือกแบบปลูกในวงบ่อซีเมนต์ โดยคิดว่าจะลองปลูกพันธุ์ที่เป็นที่นิยมของตลาดบ้านเราดูก่อนได้แก่ มะนาวแป้นพิจิตร 1   แป้นรำไพ  แป้นดกพิเศษ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 ธันวาคม 2013, 20:16:24
ต้นมะนาว 8-9 เดือนก็เริ่มให้ผลผลิตกันแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 ธันวาคม 2013, 20:30:19
เรียนรู้ การปลูกมะนาวอินทรีย์ในบ่อซีเมนต์

0kingb1Iwo4


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 ธันวาคม 2013, 20:39:29
การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ และการทำมะนาวนอกฤดู
 
สำหรับเกษตรกรที่คิดจะปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จำนวน 100 บ่อ จะใช้เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เท่านั้น ซึ่งจะใช้เงินลงทุนมากในช่วงเริ่มแรก ส่วนค่าใช้จ่ายหลักจะอยู่ที่วงบ่อซีเมนต์และฝารองซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายกิ่งพันธุ์มะนาว, ระบบน้ำ ฯลฯ รวมเป็นเงินในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จำนวน 100 วงบ่อ เป็นเงิน 27,000 บาทโดยประมาณ ต้นมะนาวในวงบ่อเมื่อมีอายุต้นเพียง 8 เดือน จะบังคับให้ต้นออกฤดูแล้งได้โดยใช้หลักการเดียวกับการปลูกลงดินคือคลุมพลาสติกให้กับต้นมะนาวในช่วงเดือนกันยายนและกระตุ้นการออกดอกในเดือนตุลาคม จะได้ผลผลิตมะนาวแก่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มะนาวราคาแพงที่สุด เท่ากับว่าในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จะใช้เวลาเพียงปีเดียวเท่านั้นสามารถเก็บผลผลิตได้ในช่วงฤดูแล้ง

การเริ่มต้นจัดผังปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์
 
รายละเอียดของการเริ่มต้นการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จะต้องวัดพื้นที่ กว้างxยาว ก่อน เพื่อจะหาพื้นที่ หลังจากนั้น เว้นทางเดินประมาณ 2 เมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 1.20 เมตร ระยะระหว่างแถว 1.50 เมตร ปลูกแบบแถวคู่แล้วเว้นเป็นทางเดิน 2 เมตร สภาพพื้นที่ปลูกจะต้องปรับให้เรียบเหมือนกับลานตากข้าว วัดระยะการวางวงบ่อ การวางวงบ่อซีเมนต์พยายามวางให้เป็นเลขคู่เพื่อง่ายต่อการวางระบบน้ำและคำนวณแรงดันน้ำ แท็งก์จะแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกจะก่อให้สูง ประมาณ 5 วงบ่อ หรือมีความจุน้ำได้ 1,200 ลิตรจะใช้แท็งก์นี้เพื่อผสมปุ๋ยน้ำชีวภาพแล้วเปิดน้ำดีเข้าไปผสมปล่อยไปให้ต้นมะนาวในวงบ่อได้โดยตรง ส่วนแท็งก์อีกชุดหนึ่งจะก่อให้สูงประมาณ 9 วงบ่อ จำนวน 2 แท็งก์ เพื่อกักเก็บน้ำสะอาดแล้วช่วยในเรื่องของแรงดัน

การเตรียมดินปลูกมะนาวและขนาดของวงบ่อซีเมนต์
 
ขนาดของวงบ่อซีเมนต์แนะนำให้เกษตรกรใช้ จะใช้ขนาดวงเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร แต่เดิมฝาวงบ่อคุณพิชัยใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร เท่ากับขนาดของวงบ่อ เมื่อปลูกไปนาน 2-3 ปี พบว่า รากของต้นมะนาวจะโผล่ออกมานอกวงและชอนลงไปในดิน ทำให้ควบคุมในเรื่องของการบังคับให้ออกนอกฤดูได้ยากมากขึ้น ปัจจุบัน จึงได้แนะนำเกษตรกรและแก้ไขให้ซื้อฝาวงบ่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของวงบ่อ ใช้ฝาวงบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 90 เซนติเมตร กว้างกว่า 10 เซนติเมตรดินผสมที่จะใช้ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จะใช้วัสดุปลูกหลัก 3 ชนิด คือ หน้าดิน 3 ส่วน ขี้วัวเก่า 1 ส่วน และเปลือกถั่วเขียว 2 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน การใช้เปลือกถั่วเขียวจะช่วยให้สภาพดินมีการระบายน้ำที่ดี ถ้าใช้แค่หน้าดินผสมกับขี้วัวจะทำให้ดินปลูกแน่น เวลาให้น้ำไป 3-4 วัน น้ำยังไม่ถึงข้างล่างของวงบ่อ ยังได้ยกตัวอย่างปริมาณของดินที่จะใช้ในการปลูกมะนาว จำนวน 100 วงบ่อ จะต้องใช้หน้าดินประมาณ 1 คันรถสิบล้อ เทคนิคในการผสมวัสดุปลูกจะต้องปูพื้นด้วยหน้าดินเป็นขั้นแรก หลังจากนั้น ใส่ขี้วัวเก่าเป็นชั้นที่ 2 แล้วตามด้วยเปลือกถั่วเขียวเป็นชั้นบนสุด หลังจากนั้นใช้เครื่องตีพรวนติดรถไถจะเร็วกว่าใช้แรงงานคน
 
การใส่วัสดุปลูกลงบ่อซีเมนต์มีเทคนิค
 
ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ส่วนใหญ่จะใส่วัสดุปลูกในวงบ่อซีเมนต์เพียงเสมอวงบ่อเท่านั้น เมื่อรดน้ำไปได้เพียงแค่สัปดาห์เดียว วัสดุปลูกจะยุบตัวลงมาประมาณ 1 คืบมือ ถ้าเกษตรกรเติมวัสดุปลูกลงไปจะไปกลบลำต้นมะนาว ปัญหาเรื่องโรคโคนเน่าจะตามมา ดังนั้น ในการใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์จะต้องใส่ให้พูนเป็นภูเขาเลย และที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษขณะที่ใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อนั้นคือ จะต้องขึ้นเหยียบวัสดุปลูกขอบๆ วงบ่อ บริเวณตรงกลางไม่ต้องเหยียบ การใส่วัสดุปลูกให้เป็นภูเขาจะช่วยในเรื่องดินยุบลงมาเสมอวงบ่อได้นานถึง 1 ปี

วิธีการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ที่ถูกต้อง
 
หลังจากที่ใส่วัสดุปลูกลงในบ่อซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรขุดเปิดปากหลุมให้มีขนาดเท่ากับขนาดของถุงที่ใช้ชำต้นมะนาว (โดยปกติถ้าใช้กิ่งตอนมะนาว ควรจะชำต้นมะนาวไว้นานประมาณ 1 เดือน เท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อต้นมะนาวที่ชำมานานแล้วหลายเดือน หรือชำค้างปี เนื่องจากจะพบปัญหาเรื่องรากขด ทำให้เจริญเติบโตช้าหรือต้นแคระแกร็น) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 อัตราประมาณ 1 กำมือ ถอดถุงดำปลูกต้นมะนาวให้พอดีกับระดับดินเดิม กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบรอบๆ ต้น เพื่อไม่ให้โยกคลอน ปักไม้เป็นหลักกันลมโยกและแนะนำให้ใช้ตอกมัดต้นมะนาวไว้กับหลัก ตอกจะผุเปื่อยหลังจากปลูกไปนานประมาณ 2 เดือน ต้นมะนาวตั้งตัวได้แล้ว แต่ที่หลายคนได้ใช้ปอฟางหรือพลาสติคทาบกิ่งมัดกับหลักจะอยู่ได้นานก็จริง แต่ปัญหาที่จะตามมาจะทำให้ลำต้นมะนาวคอด มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้น หลังจากปลูกเสร็จให้เดินท่อ PE เจาะหัวมินิสปริงเกลอร์และวางท่อ PE พาดไปกับวงบ่อเลยเพื่อสะดวกต่อการทำงาน

ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ได้ตลอดทั้งปี
 
ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกไปแล้วนับไปอีก 8 เดือน เกษตรกรสามารถบังคับให้ต้นออกดอกได้ ถ้าเกษตรกรจะบังคับให้มะนาวออกฤดูแล้งในรุ่นแรกแนะนำให้ปลูกต้นมะนาวในช่วงเดือนมกราคม ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ในปีเดียวกันบังคับต้นให้ออกดอกได้โดยใช้หลักการเหมือนกับที่ปลูกลงดิน ผลผลิตมะนาวฤดูแล้งจะไปแก่และเก็บผลผลิตขายได้ราคาแพงในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปีถัดไป เท่ากับว่าการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ใช้เวลาปลูกเพียงปีเศษเท่านั้น เกษตรกรสามารถเก็บมะนาวฤดูแล้งขายได้

วิธีการรดน้ำต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ทำอย่างไร
 
ในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ ให้ใช้พลาสติคคลุมปากบ่อซีเมนต์เพื่อป้องกันน้ำหรือฝนที่ตกลงมาในช่วงแรกๆ แต่พบปัญหาว่าเมื่อเกษตรกรนำพลาสติคไปคลุมกลับรักษาความชื้นให้กับต้นมะนาวใช้เวลานานวันกว่าดินจะแห้ง หรือเลือกใช้หลักการ "ฝนทิ้งช่วง" ในแต่ละปีช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี จะมีช่วงเวลาที่ฝนทิ้งช่วง ในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ ถ้าฝนไม่ตกติดต่อกัน 3-4 วัน ดินในวงบ่อจะเริ่มแห้ง ใบมะนาวจะเริ่มเหี่ยว หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกดอกและติดผลได้
 
ผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ 2 รุ่น ต่อปี
 
ในช่วงเริ่มแรกของการบังคับมะนาวฤดูแล้งจะทำให้ต้นมะนาวออกดอกเพียงรุ่นเดียวคือ ช่วงเดือนตุลาคมและไปเก็บผลผลิตในช่วงเดือนเมษายนเท่านั้น ทำให้จะต้องคอยปลิดดอกมะนาวทิ้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม-กันยายน แต่ช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาสภาวะตลาดมะนาวผลผลิตจะเริ่มมีราคาดีตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน จึงปล่อยให้มะนาวให้ผลผลิต 2 รุ่น คือมีผลผลิตขายในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์รุ่นหนึ่ง (บังคับให้ต้นออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) และมีผลผลิตในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนอีกรุ่นหนึ่ง (บังคับให้ออกดอกในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม) พอเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของทุกปีราคามะนาวจะถูกลง จะตัดแต่งกิ่งมะนาวในช่วงเวลานี้ พร้อมทั้งปลิดผลมะนาวที่ติดอยู่บนต้นทิ้งให้หมด

ตัดแต่งกิ่งมะนาวในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี
 
ตัดแต่งกิ่งมะนาวตาฮิติในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี โดยจะเริ่มตัดแต่งกิ่งและปลิดผลทิ้งทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม ในช่วงปีที่ 1-2 จะตัดแต่งบ้างแต่ไม่มากนัก จะมาตัดแต่งหนักเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งในช่วงนั้นมักจะพบว่าต้นมะนาวเริ่มโทรม มีกิ่งแห้งเป็นจำนวนมาก การตัดแต่งกิ่งมีผลทำให้ต้นมะนาวแตกกิ่งออกมาใหม่และได้ผลผลิตมะนาวที่มีคุณภาพ หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จในเดือนพฤษภาคม ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นช่วงบำรุงต้นและสะสมอาหารเพื่อจะกระตุ้นการออกดอกรุ่นแรกในเดือนสิงหาคม

เทคนิคการเปิดตาดอก
 
เมื่อใบมะนาวเหี่ยวและเริ่มร่วงหรือเหลือใบยอดเพียง 1 คืบ จะเปิดตาดอกโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีตัวกลางสูง เช่น สูตร 15-30-15 หรือ 12-24-12 อัตรา 1 กำมือ ใส่ให้กับต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ รดน้ำจนเห็นว่าปุ๋ยละลายจนหมด (ช่วงการให้ปุ๋ยนี้ไม่แนะนำให้เปิดน้ำด้วยหัวสปริงเกลอร์ ควรจะให้น้ำด้วยสายยางจะดีกว่า) และยังได้แนะนำก่อนว่า ก่อนที่จะให้ปุ๋ยควรเปิดน้ำให้กับต้นมะนาวจนดินชุ่มเสียก่อน จะรดน้ำด้วยสายยาง 2-3 ครั้ง ทุกๆ 3-5 วันสำหรับการฉีดพ่นฮอร์โมนหรือธาตุอาหารทางใบควรฉีดพ่นอย่างเต็มที่ ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมน โปรดั๊กทีฟ อัตรา 20 ซีซี ผสมกับสารเทรนเนอร์ อัตรา 10 ซีซี และปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) ฉีดพ่นต่อเนื่องทุก 5-7 วัน หลังจากนั้นต้นมะนาวจะเริ่มออกดอกและติดผลไปแก่ในช่วงฤดูแล้ง

การทำมะนาวนอกฤดู
 
การบังคับมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์
1. แปลงนี้ปลูก มะนาวพันธุ์ตาฮิติ และพันธุ์แป้น อายุประมาณ 4 ปี ทั้งหมด 600 วงในเนื้อที่ 2 ไร่เศษ
2. การให้น้ำระบบมินิสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้า - เย็น
3. มะนาวจะราคาแพงที่สุดคือช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี ดังนั้นเมื่อเก็บผลผลิตหมดในเดือน
พฤษภาคม ให้รีบดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
- ตัดแต่งกิ่ง เด็ดผลที่เหลือบนต้นออก เพื่อบำรุงต้น เร่งการสร้างยอดใหม่ ใบใหม่โดย ผลมะนาวที่คุณภาพดีที่สุดคือผลที่เกิดจากยอดใหม่ ผลที่เกิดจากกิ่งเก่าคุณภาพจะด้อยลงมา ผลที่คุณภาพต่ำสุดคือผลที่เกิดติดกิ่ง หลังตัดแต่งกิ่งเสร็จใช้ปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 ใส่หนึ่งกำมือต่อวง คุณพิชัยให้เหตุผลว่าหากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ต้นจะไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร และพบอาการผลเหลืองที่ไม่ได้เกิดจากอาการม้านแดดมากกว่าปกติ เนื่องจากการให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา
ต้นมะนาวใช้ธาตุอาหารในการเลี้ยงลูกในปริมาณที่มาก
- เพิ่มวัสดุปลูกในวงบ่อเนื่องจากในแต่ละปีวัสดุปลูกจะยุบลง เพิ่มกาบมะพร้าวบริเวณโคนต้น เนื่องจากาบ
มะพร้าวผุพังไปบ้างในปีที่ผ่านมา กาบมะพร้าวเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บรักษาความชื้นได้อย่างดี และยังเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บ
รักษาปุ๋ยที่จ่ายมาทางระบบน้ำก่อนจะค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นมะนาวใช้ ป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารอัน
เกิดจากการไหลบ่า หรือการระเหย
- การให้ปุ๋ยชีวภาพซึ่งได้จากการหมักหอยเชอรี่30 กก. เศษผลไม้ 10 กก. กากน้ำตาล 10 กก. เชื้อพด.
2 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร สูตรนี้สามารถใช้ฉีดพ่นทางใบ ในอัตรา 20 - 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตรได้ ในส่วนของ
การให้ทางระบบน้ำนั้น เทคนิคคือใช้ปุ๋ยชีวภาพในอัตรา 5 ลิตร ต่อน้ำ 1,250 ลิตร ให้ทุก 5 - 7 วัน โดยใน
การให้จะให้ครั้งละ 3 – 5 นาทีเพื่อให้กาบมะพร้าวบริเวณโคนต้นชุ่มก็พอ หลังจากนั้นก็ให้น้ำตาม รอบปกติ น้ำจะ
ค่อย ๆ ละลายธาตุอาหารลงไปให้ต้นมะนาวใช้ เป็นการจัดการที่ประหยัดปุ๋ย ใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

- ในระยะนี้ต้องรักษาใบและยอดให้ดี เนื่องจากมีโรค แมลงที่สำคัญเข้าทำลายในระยะยอดอ่อนถึงเพสลาดคือ เพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์ ในเรื่องสารเคมีคุณพิชัยให้แนวคิดว่าบางระยะยังต้องมีการใช้อยู่ แต่ต้องเลือกใช้ในระยะที่
ปลอดภัยต่อผู้บริโภค คือใช้ในระยะก่อนเก็บเกี่ยวไม่น้อยกว่า 2 เดือน เนื่องจากแปลงเรียนรู้นี้ปลูกทั้งพันธุ์ตาฮิติ และพันธุ์แป้นคละกันไป พันธุ์แป้นอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์มาก
- หลักการใช้สารเคมีในแปลงมะนาว นอกจากเพลี้ยไฟ โรคแคงเกอร์แล้วยังมีโรคและศัตรูอื่น ๆ อีก เช่น หนอนชอนใบ หนอนกัดกินใบ แมลงค่อม โรคยางไหล โรคราเข้าขั้ว การเลือกใช้ชนิดของ
สารเคมีและระยะที่ใช้จึงมีความจำเป็น หากอยู่ในระยะที่ใช้สารเคมีได้ เพลี้ยไฟ และหนอนชอนใบมีสารเคมีที่ คุณพิชัยเลือกใช้ในการป้องกันกำจัดคือ อะบาแม็กติน อัตรา 3 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ( ทั้งนี้อัตราการใช้แล้วแต่ความเข้มข้นของแต่ละบริษัทที่ผลิต ) หากพบการระบาดมากจะใช้สาร อิมิดาคลอพริด อัตรา 3 – 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร แมลงค่อมหรือด้วงปีกแข็งใช้สารคาร์โบซัลแฟน อัตรา 20 – 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซเปอร์เมทริน อัตรา 5 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร โรคราเข้าขั้วใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคเซ็บ อัตรา 20 – 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์เบ็นดาซิม อัตรา 10 – 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ความถี่ในการฉีดพ่น ทุก 7 - 15 วัน หรือแล้วแต่สภาพการระบาดของโรคแมลง นอกเหนือจาก
ระยะนี้แล้ว 2 เดือนก่อนเก็บเกี่ยว คุณพิชัยเลือกใช้น้ำหมักชีวภาพที่มีฤทธิ์ไล่ และกำจัดแมลง โดยใช้น้ำหมักที่หมักจาก
สมุนไพรที่ มีรสเผ็ด ขม เหม็น เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด บอระเพ็ด สะเดา ใช้สมุนไพรดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง
30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. พด. 7 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 30 ลิตร หมัก 20 วัน นำมาฉีดพ่นในอัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20
ลิตรทุก 7 - 15 วัน
- เนื่องจากมะนาว มีอายุ ประมาณ 5 เดือนสามารถเก็บขายได้ในเดือนที่ 6 การวางแผนการบังคับให้ออกนอกฤดู คือต้องทำให้ออกดอก เดือนตุลาคม เดือนกันยายนต้องงดปุ๋ย งดน้ำ จากประสบการณ์ของคุณพิชัยจะเลือกใช้จังหวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 7 – 15 วัน เป็นการงดน้ำไปในตัว เนื่องจากมะนาวแปลงนี้ 600 วง คุณพิชัยจัดการเพียง
คนเดียวจึงไม่สะดวกที่จะเลือกใช้พลาสติกคลุม เพราะพลาสติกก่อให้เกิดไอน้ำเกาะบริเวณผิวด้านในพลาสติก ลดความชื้น
ในดินยาก หากจะให้ได้ผลดี ในวันที่แดดออกต้องแกะพลาสติกออกให้น้ำระเหย หากฝนตกต้องคลุมพลาสติก เป็นการจัดการที่ยากในกรณีที่ไม่มีแรงงานเพียงพอ
- งดน้ำจนใบเหี่ยว สลด และหลุดร่วงประมาณ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นให้น้ำตามปกติ ปุ๋ยเคมีที่ใช้เพื่อเปิดตาดอกในระยะนี้คือ ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูงเช่น 12 – 24 – 12 หรือ 15 – 30 -15 ปริมาณ 1 กำมือต่อวงรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ปุ๋ยละลาย
- หลังติดดอกแล้วให้น้ำตามปกติเช้า – เย็น เวลาละ 5-10 นาที
- ปุ๋ยทางดินที่คุณพิชัยใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ตลอดฤดูการผลิตคือปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักจากเศษพืช มูลสัตว์ กากหอยเชอรี่ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดภาวะดินเสื่อมโทรม ปรับสภาพดินให้สมบูรณ์ อย่างยั่งยืน

ขอบคุณที่มา http://lemom-farm.blogspot.com/


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 30 ธันวาคม 2013, 22:12:52
อู๋ พี่ถามวงบ่อบ้านน้ายา เขาขายชุดล่ะ 400 บาทพร้อมฝา แพงมัย อู๋ว่ามีที่ไหนถูกบ้าง  พี่จะเอา20ชุด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: kanda_ ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 20:01:27
อ้ายครับนาปรังนี้ข้าวไรเบอรรี่น่าสนก่อครับราคาน่าจะดีก่อครับแถวบ้านเราปลูกกันเยอะก่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 20:53:08
อู๋ พี่ถามวงบ่อบ้านน้ายา เขาขายชุดล่ะ 400 บาทพร้อมฝา แพงมัย อู๋ว่ามีที่ไหนถูกบ้าง  พี่จะเอา20ชุด

ราคานี้ผมว่าสูงกว่าที่อื่นอยู่นิดหน่อยครับ แต่ถ้าไปสั่งไกลเขาก็ไม่ค่อยมาส่งครับ เดี๋ยวผมว่าจะลองไปถามแถวบ้านค่ายดูอีกทีครับ  ผมว่าจะซื้อเฉพาะบ่อซีเมนต์แต่มาเทรองพื้นเองครับเพราะราคาบ่อซีเมนต์กับฝาราคาพอ ๆ กันเลย หิน ทราย ปูน ที่บ้านมีแล้ว น่าจะช่วยประหยัดไปพอสมควรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 21:15:34
อ้ายครับนาปรังนี้ข้าวไรเบอรรี่น่าสนก่อครับราคาน่าจะดีก่อครับแถวบ้านเราปลูกกันเยอะก่อครับ

ข้าวไรท์เบอรี่ ปลูกได้แต่ต้องมีตลาดส่งครับเพราะผู้ซื้อมีเฉพาะกลุ่ม (กลุ่มคนมีเงิน) ชาวบ้านทั่วไปไม่นิยมกินกันจะมาขายราคาแข่งกับข้าวนาปรังทั่วไปก็ไม่ได้เพราะผลผลิตข้าวไรท์เบอรี่น้อยหากเทียบกับข้าวนาปรังทั่วไป หากเรามาแพ็คขายเองหรือขายเป็นข้าวพันธุ์ส่งทาง ปณ  อาจขายได้ช้ากว่าการปลูกข้าวนาปรังทั่วไปที่สามารถขายให้กับโรงสีได้ทันที ลองทดลองปลูกข้าวไรท์เบอรี่ ซักแปลงเล็ก ๆดูก่อนนอกนั้นปลูกข้าวนาปรังทั่วไปครับ จะได้มีเงินหมุนทันกับการทำนาปีรอบต่อไป ส่วนไรท์เบอรี่มีราคาแพงกว่าค่อย ๆ ทยอยขายก็ได้ครับ  แถวบ้านเรานี้เห็นปลูกกันหลายเจ้า แต่ก็มีสัดส่วนน้อยมากหากเทียบกับการปลูกข้าว กข.ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 21:49:57
วันหยุดติดต่อกันหลายวันมีเวลาทำงานเกษตรพอสมควรครับ  วันนี้เตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกมะนาว ตัดแต่งกิ่งและตัดต้นไม้บางต้นที่จะบังแสงแดด จะนั้นก็เตรียมวัสดุที่จะต้องใช้  ดินและบ่อซีเมนต์ต้องรอหลังช่วงหยุดปีใหม่  ปุ๋ยคอกรออีก 2-3 วันเค้าจะมาส่ง  วันนี้เลยได้กาบมะพร้าวและไปเก็บฟางข้าวที่ทุ่งนาครับ เลือกนาที่เก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน ขออนุญาตเจ้าของนาและก็เก็บมาเตรียมไว้ที่บ้านครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 22:28:45
วันหยุดสิ้นปีนอกจากเตรียมพื้นที่สำหรับการทำนารอบใหม่แล้ว วันนี้ไปซื้อกิ่งพันธุ์มะนาว เพื่อมาทดลองปลูกครับ เจ้าของสวนแนะนำความรู้ อธิบาย และให้เอกสารเพื่อมาศึกษาครับ การปลูกเลือกแบบปลูกในวงบ่อซีเมนต์ โดยคิดว่าจะลองปลูกพันธุ์ที่เป็นที่นิยมของตลาดบ้านเราดูก่อนได้แก่ มะนาวแป้นพิจิตร 1   แป้นรำไพ  แป้นดกพิเศษ ครับ


 :D...เข้าท่าครับ...อยากปลูกเหมือนกันแต่ไม่มีพื้นที่ปลูกครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 22:32:02
วันหยุดติดต่อกันหลายวันมีเวลาทำงานเกษตรพอสมควรครับ  วันนี้เตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกมะนาว ตัดแต่งกิ่งและตัดต้นไม้บางต้นที่จะบังแสงแดด จะนั้นก็เตรียมวัสดุที่จะต้องใช้  ดินและบ่อซีเมนต์ต้องรอหลังช่วงหยุดปีใหม่  ปุ๋ยคอกรออีก 2-3 วันเค้าจะมาส่ง  วันนี้เลยได้กาบมะพร้าวและไปเก็บฟางข้าวที่ทุ่งนาครับ เลือกนาที่เก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน ขออนุญาตเจ้าของนาและก็เก็บมาเตรียมไว้ที่บ้านครับ

 :D....ช่วงนี้แถวๆบ้านผม...เริ่มลงมือทำนาปรังกันละครับ...หลายที่ปั่นนาเตรียมทำเทือกหว่านกันแล้ว...แต่ของผมปีนี้จะดำเอาครับ...หว่านแปลงกล้าเมื่อวันที่22...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 22:33:51
 :D...สูบน้ำทำเทือกแปลงกล้านาแปลง47ไร่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 22:36:48
 :D...ช่วงที่ปั่นนา...เรียกผู้ดูแลฯD-maxไปสุ่มปลา...ปลาจากบ่อข้างหลัง...ช่วงที่ฝนตกมันออกบ่อมาอยู่ในนาครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 22:39:48
 :D....ช่วงเช้าหมอกลง...เกินกว่า100เมตร...ก็มองไม่เห็นแล้วครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 22:42:49
 :D.....ช่วงนี้งานปั่นนาทำแทบไม่ทัน....ปั่นตั้งแต่เช้ามืดยันค่ำมืด....หมดแสงตะวันก็อาศัยแสงไฟรถทำงานต่ออีกครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 31 ธันวาคม 2013, 22:48:18
ต้นมะนาว 8-9 เดือนก็เริ่มให้ผลผลิตกันแล้วครับ

 :D....ลงไปกี่ต้นครับ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มกราคม 2014, 21:21:41
ขยันขันแข็งขนาดเลยน้อครับ พ่อเลี้ยง BM กับพ่อเลี้ยง D-max  นาแถวบ้านผมสัปดาห์หน้าคงเริ่มปั่นนากั๋นแล้วครับ  ต้นมะนาวที่บ้านผมตอนนี้มีกิ่งพันธุ์ที่บ้านอยู่ประมาณ 35 ต้นครับ  คาดว่าจะทยอยปลูกไปเรื่อย ๆ ครับ วันหยุด ส อ นี้จะเริ่มกำจุดลงบ่อซีเมนต์ไว้ก่อน  บางจุดก็ยังบ่าได้ปรับที่ปรับทางใหม่เลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มกราคม 2014, 21:35:15
วันหยุดอีก 1 วันลองนำล้อพ่วงมาพ่วงกับรถสามล้อพ่วงข้างดูครับเอาไว้สำหรับขนกล้าข้าวสำหรับการทำนาปรังรอบนี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มกราคม 2014, 21:39:19
ต้นอินทผลัม ตั้งแต่ปลูกไปไม่ค่อยได้ดูแลเลย วันนี้จัดการพรวนดิน ใส่ปุ๋ย รดน้ำ เดี๋ยวจะลองทำตามตำราดูน่าจะโตไวกว่านี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: kanda_ ที่ วันที่ 03 มกราคม 2014, 19:32:06
อ้ายครับข้าวนาปรังปีนี้ราคาน่าจะเป็นยังไงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 มกราคม 2014, 22:13:51
อ้ายครับข้าวนาปรังปีนี้ราคาน่าจะเป็นยังไงครับ

ตามความคิดผมแล้ว ต้องดูที่ชนิดของพันธุ์ข้าวด้วยครับ เพราะราคาต่างกันบางพันธุ์ก็ราคาเท่าเดิม บางพันธุ์ก็ลด แถมยังขึ้นอยู่กับชนิดการขายด้วยครับ  แบ่งเป็นหลายกลุ่มเช่น
-  กลุ่มชาวนาที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งให้กรมการข้าวหรือเอกชนที่ทำเมล็ดพันธุ์ราคาก็น่าจะคงเดิมหรือกระทบไม่มาก 
-  กลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวญี่ปุ่นให้ ทนา เกรน ซึ่งเป็นโรงสีที่ ส่งข้าวให้กับ ฟูจิกรุ๊ปหรือภัตราคารอาหารญี่ปุ่นฟูจิ ก็คงมีราคาประกันไปเรียบร้อยแล้วตามโควต้าที่ได้รับ 
-  กลุ่มที่ปลูกข้าวและมีการแปรรูป บรรจุขายเองก็คงราคาไม่เปลี่ยนแปลงมาก
-  กลุ่มที่เหลือแต่ก็น่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดก็คือแบบเรา ๆ นี่แหล่ะครับที่ปลูกขายส่งโรงสี ที่ยังต้องพึ่งพา ราคา ตามนโยบายของรัฐบาล

         ซึ่งตอนนี้ยุบสภาไปแล้วการกำหนดชูนโยบายรับจำนำรอบใหม่ก็อาจถูก ปปช.ชี้มูลความผิดได้ แถมแต่ละพรรคการเมืองที่จะเข้ามาก็คงจะยากที่จะชูนโยบายรับจำนำต่อไป เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกต่อต้านอย่างมากเนื่องจากราคาสูงกว่าราคาตลาดข้าวโลก ทั้งข้อมูลที่ไทยขาดทุนจากนโยบายรับจำนำ  อีกทั้งข้าวจากอินเดียและเวียดนามก็มีปริมาณมากด้วย แม้ว่าจีนและฟิลิปปินส์มีปริมาณต้องการข้าวมากขึ้นก็ตาม แต่การไม่เสถียรของการเมืองก็มีผลต่อการขายข้าวแบบจีทูจี ที่ถูกชลอตัวไป    ตอนนี้การเป็นชาวนาปลูกข้าวอย่างเดียวก็คงไม่เป็นทางออกที่ดีครับ เราไม่รู้ราคาที่แน่นอนและด้วยต้นทุนที่สูงมากขึ้น ชาวนาอาจต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น ลดต้นทุนและควรทำอาชีพอย่างอื่นเสริม หรือ ทำการเกษตร ปลูกพืชตัวอื่นที่มีราคาดีควบคู่กันไปด้วยเพื่อลดความเสี่ยงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 มกราคม 2014, 22:23:29
เลี้ยงไส้เดือน..บนกระถางให้ปุ๋ยช่วยพรวนดิน

เราสามารถเลี้ยงไส้เดือนแบบง่ายๆ ด้วยการใช้กระถางปลูกหรือแปลงปลูกผักสวนครัว โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยไปตลอดชีวิต ต้วไส้เดือนจะทำหนัาที่พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ตามธรรมชาติ ผักปลอดสาร กินแล้วสบายใจ ไม่ต้องซื้อปุ๋ยไปตลอดกาล การเลี้ยงไส้เดือนบนกระถางปลูกและบนแปลงปลูกผักเราจะไม่เห็นตัวไส้เดือนเลย แต่ไส้เดือนจะทำหน้าที่พรวนดิน กินอาหารจากรากพืชของพืชผักที่เน่าสลายไปแล้ว

           ไส้เดือนจะขับถ่ายทั้งมูลและเมือกในตัวของไส้เดือนตามธรรมชาติ เมือกไส้เดือนมี “Coelomic“ **น้ำเมือกไส้เดือน(Wormwash, Vermiwash) จะมี ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแดตเซี่ยม ที่ละลายน้ำเป็นสารอาหารหลักของพืช และยังมีโฮโมน เช่น Cytokinins , Oxyn มีกรดอะมิโนวิตามินเอนไซม์ และยังมีจุรินทรีย์ที่มีประโยชน์มากมาย เช่น แบคทีเรีย Heterotrophic เชื้อรา Actinomycetes รวมทั้ง Fixers ไนโตรเจนฟอสเฟส Solibilisers จะมีอยู่ในน้ำเมือกไส้เดือน(Wormwash, Vermiwash) ดังนั้นน้ำเมือกไส้เดือนจึงเป็นจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสารอาหารที่ละลาย กรดอะมิโน ได้อย่างง่ายดายสำหรับพืช

บทบาทด้านที่เป็นประโยชน์ของไส้เดือนดิน

1.ช่วย พลิกกลับดิน  นำดินด้านล่างขึ้นมาด้านบนโดยการกินดิน ที่มีแร่ธาตุบริเวณด้านล่างและถ่ายมูลบริเวณผิวดินด้านบน ช่วยให้เกิดการผสมคลุกเคล้าแร่ธาตุในดิน นำแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในชั้นใต้ดินขึ้นมาด้านบนให้พืชดูดนำไปใช้ ได้

2.ช่วยย่อยสลายสาร อินทรีย์ในดิน ซากพืช ซากสัตว์ และอินทรียวัตถุต่างๆ ทำให้ธาตุต่างๆ อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น ไนโตรเจน ในรูปแอมโมเนียและไนเตรท และอีกกลายชนิด รวมทั้งสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและวิตามินจะถูกปลอดปล่อยออกมาด้วย

3.ช่วยเพิ่มและแพร่กระจายจุลินทรีย์ในดินที่มีประโยชน์ต่อพืช เช่น ไรโซเบียม ไมคอร์ไรซา ในบริเวณรากพืช

4.การชอนไชของไส้เดือนดิน ทำให้ดินร่วนซุย การถ่ายเทน้ำและอากาศดี ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น เพิ่มช่องว่างในดินทำให้รากพืชชอนไชได้ดี

แนวทางการนำไส้เดือนดินมาใช้ประโยชน์

1) นำมาย่อยสลายขยะอินทรีย์และเศษอาหารจากบ้านเรือนเพื่อผลิต ปุ๋ยหมักมูล ไส้เดือนดิน นำมาใช้ในการ เกษตรลด ต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมี

2) นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีปริมาณเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่สูงมากช่วยลดค่าใช้จ่ายในค่า อาหารสัตว์

3) ใช้ฟื้นฟูสภาพดินที่ เสื่อมโทรมเช่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และเหมืองแร่เก่า

4) ใช้เป็นดัชนีทางสิ่งแวดล้อมในการตรวจสอบธาตุโลหะหนักและ สารเคมีที่ปนเปื้อน จากการเกษตรในดิน

5) ใช้เป็นอาหาร ยาบำบัดโรค ยาบำรุงทางเพศ  หรือ ใช้เป็นวัตถุดิบในวงการเภสัชกรรม และเครื่องสำอาง

6) ใช้ เป็นดัชนีทางสิ่งแวดล้อมในการตรวจสอบธาตุโลหะหนัก และการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในดิน

ประโยชน์และความสำคัญของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน

1.ส่งเสริมการเกิดเม็ดดิน

2.เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุแก่ดิน

3.เพิ่มช่องว่างในดินให้การระบายน้ำและอากาศดียิ่งขึ้น

4.ส่งเสริมความพรุนของผิวหน้าดิน ลดการจับตัวเป็นแผ่นแข็งของหน้าดิน

5.ช่วยให้ระบบรากพืชสามารถแดร่กระจายตัวในดินได้กว้าง

6.เพิ่มขีดความสามารถในการดูดซับน้ำในดิน ทำให้ดินชุ่มขึ้น

7.เพิ่มธาตุอาหารพืชให้แก่ดินโดยตรงและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์และจุลินทรีย์ดิน

8.เพิ่มศักยภาพการแลกเปลี่ยนประจุบวกของดิน

9.ช่วยลดความเป็นพิษของธาตุอาหารพืชบางชนิดที่มีปริมาณมาเกินไป เช่น อลูมินัม และแมงกานีส

10.ช่วย เพิ่มความต้านทานในการเปลี่ยนแปลงระดับความเป็นกรด-เบส (Buffer capacity) ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่เร็วเกินไปจนเป็นอันตรายต่อพืช

11.ช่วย ควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยในดิน เนื่องจากการใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะทำให้มีปริมาณจุลินทรีย์ที่สามารถ ขับสารพวกอับคาลอยด์และกรดไขมันที่เป็นพิษต่อไส้เดือนฝอยได้เพิ่มขึ้น

ปุ๋ย หมักมูลไส้เดือนดินจะมีสารประกอบของกรดฮิวมิคซึ่งเป็นตัวกักเก็บธาตุอาหาร ที่จำเป็นต่อพืชหลายชนิด เช่น ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) เหล็ก (Fe) และทองแดง (Cu) ซึ่งธาตุอาหารเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในโมเลกุลของกรดฮิวมิค อยู่ในรูปพร้อมใช้ และจะถูกปลดปล่อยออกมาเมื่อพืชต้องการ

คุณรู้ไหมว่า “ไส้เดือนดิน” มีหัวใจถึง 5 หัวใจ..!!

คุณรู้ไหมว่า “ไส้เดือนดิน” สามารถกิน ½ ของน้ำหนักตัวมันในแต่ละวัน!

คุณรู้ไหมว่า “ไส้เดือนดิน” สามารถมีชีวิตอยู่ถึง 10 ปี..!!

ที่มา  http://www.oknation.net/blog/teetatfarm/2013/01/08/entry-1 (http://www.oknation.net/blog/teetatfarm/2013/01/08/entry-1)



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มกราคม 2014, 20:34:10
วันนี้ร้านมาส่งบ่อซีเมนต์ให้ เริ่มจัดเรียงวงบ่อไว้ก่อน ต้องรออีกประมาณ 2-3 วัน รอดินและปุ๋ยคอกก่อนครับตอนนี้สั่งไปแล้วรอเค้ามาส่งให้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 มกราคม 2014, 21:33:06
มูลสุกรในนาข้าว(การใช้ประโยชน์)

zQv9XQpcC40

การใช้ประโยชน์มูลสุกรเป็นปุ๋ยในนาข้าว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีในด้านการเกษตรส­ำหรับพืชเศรษฐกิจ โดยการนำน้ำมูลสุกรมาหมักตอซังข้าว และการแช่เมล็ดพันธุ์ข้าว สำหรับประโยชน์ที่ได้รับ ช่วยให้ดินมีอินทรีย์วัตถุ และช่วยเพิ่มธาตุอาหารมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญช่วยเพิ่มผลผลิต และลดปัญหาในเรื่องแมลงศัตรูพืช สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบัน­สุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาป­ศุสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทร. 0-3435-0235 (ผู้สนใจสำเนารายการเกษตรศาสตร์นำไทย ติดต่อได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร.02-561-1474 )

วิทยากร: รศ.ดร.สมบัติ ชินวงศ์, สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและ­พัฒนาปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 09 มกราคม 2014, 13:53:38
วันนี้ร้านมาส่งบ่อซีเมนต์ให้ เริ่มจัดเรียงวงบ่อไว้ก่อน ต้องรออีกประมาณ 2-3 วัน รอดินและปุ๋ยคอกก่อนครับตอนนี้สั่งไปแล้วรอเค้ามาส่งให้
บ่าได้มาผ่อเมิน...บ่อแก่นเต่าใดครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มกราคม 2014, 16:22:45
วันนี้ร้านมาส่งบ่อซีเมนต์ให้ เริ่มจัดเรียงวงบ่อไว้ก่อน ต้องรออีกประมาณ 2-3 วัน รอดินและปุ๋ยคอกก่อนครับตอนนี้สั่งไปแล้วรอเค้ามาส่งให้
บ่าได้มาผ่อเมิน...บ่อแก่นเต่าใดครับ ;D ;D

วงบ่อ 80 ซม  แก่นละ  150 บาท
วงบ่อ  90 ซม  แก่นละ  180 บาท
วงบ่อ  1  ม.  แก่นละ 200 บาทครับ

ซื้อนักก็ได้ลดแหมน้อย ลดแก่นละ 10 บาทครับ ผมลองซื้อ แบบ 80 ซม. มาลองดูก่อนครับ  บ่อกับฝา ราคาเต้ากั๋นครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 11 มกราคม 2014, 01:13:14
พี่อู๋ครับจำผมได้มั้ยที่เคยถามเรื่องการทำนาพี่ไปปีที่แล้วน่ะครับ ปีนี้ปีที่ 2 ของการทำนาในชีวิตแต่รู็สึกเหมือนเพิ่งทำครั้งแรกอยู่เลยครับยังทำอะไรไม่ถูกเลย ปีที่แล้วขาดทุนไปนิดหน่อยครับ ปีนี้ว่าจะทำให้ดีกว่าเดิม ข้อความที่ผมเคยถามพี่ไว้มันก็หายไปหมดแล้วครับ
ตอนนี้ผมกำลังจะปั่นรอบสุดท้ายแล้วหวานแบบใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ เพิ่งซื้อมาทดลองปีแรก จะปั่นวันเสาร์ที่ 11 แล้วหว่านข้าววันอาทิตย์ที่ 12 ครับ การคุมหญ้าคงต้องคุมหลังจากหว่านข้าวแล้ว ผมอยากรู้ว่าต้องพ่นยาคุมหลังหว่านข้าวไปแล้วกี่วันครับ ใช้ยายี้ห้ออะไรพ่นคุมหญ้า แล้วหลังจากที่คลุมหญ้าแล้วเราควรทำอะไรต่อครับพี่ คือผมอยากได้ขั้นตอนระยะเวลาเป็นแบบปฏิทินการทำนาเลยอะครับ ว่าช่วงไหนข้าวอายุเท่าไหร่ควรทำอะไรบ้างครับ ทั้งการใส่ปุ๋ย ต่าง ๆ ด้วยครับ ผมอยากจะเอามาทำเป็นปฏิทินการทำนาเก็บไว้เลยครับ และผมก็สนใจที่จะทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีหรือใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ไม่รู้ว่ารบกวนมากไปรึเปล่า แต่ขอบคุณล่วงหน้านะครับผม (ยังมีคำถามอีกมากมายเลยครับ)
ป.ล.ที่จริงจะส่งข้อความไปหาแต่มันแจ้งว่าจะความของพี่เต็มไม่สามารถส่งได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 11 มกราคม 2014, 08:36:55
จะใส่ปุ๋ยหลังจากพ่นยาครังแรกกี่วันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may111 ที่ วันที่ 11 มกราคม 2014, 17:41:12
 ;D ;Dแวะมาแอ่วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2014, 21:40:13
พี่อู๋ครับจำผมได้มั้ยที่เคยถามเรื่องการทำนาพี่ไปปีที่แล้วน่ะครับ ปีนี้ปีที่ 2 ของการทำนาในชีวิตแต่รู็สึกเหมือนเพิ่งทำครั้งแรกอยู่เลยครับยังทำอะไรไม่ถูกเลย ปีที่แล้วขาดทุนไปนิดหน่อยครับ ปีนี้ว่าจะทำให้ดีกว่าเดิม ข้อความที่ผมเคยถามพี่ไว้มันก็หายไปหมดแล้วครับ
ตอนนี้ผมกำลังจะปั่นรอบสุดท้ายแล้วหวานแบบใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ เพิ่งซื้อมาทดลองปีแรก จะปั่นวันเสาร์ที่ 11 แล้วหว่านข้าววันอาทิตย์ที่ 12 ครับ การคุมหญ้าคงต้องคุมหลังจากหว่านข้าวแล้ว ผมอยากรู้ว่าต้องพ่นยาคุมหลังหว่านข้าวไปแล้วกี่วันครับ ใช้ยายี้ห้ออะไรพ่นคุมหญ้า แล้วหลังจากที่คลุมหญ้าแล้วเราควรทำอะไรต่อครับพี่ คือผมอยากได้ขั้นตอนระยะเวลาเป็นแบบปฏิทินการทำนาเลยอะครับ ว่าช่วงไหนข้าวอายุเท่าไหร่ควรทำอะไรบ้างครับ ทั้งการใส่ปุ๋ย ต่าง ๆ ด้วยครับ ผมอยากจะเอามาทำเป็นปฏิทินการทำนาเก็บไว้เลยครับ และผมก็สนใจที่จะทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีหรือใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ไม่รู้ว่ารบกวนมากไปรึเปล่า แต่ขอบคุณล่วงหน้านะครับผม (ยังมีคำถามอีกมากมายเลยครับ)
ป.ล.ที่จริงจะส่งข้อความไปหาแต่มันแจ้งว่าจะความของพี่เต็มไม่สามารถส่งได้ครับ


สวัสดีครับ จำได้ครับ สงสัยกล่องข้อความจะเต็มจริง ๆ ครับไม่มีข้อความเข้ามาหลายวันแล้ว  การพ่นยาคุมหญ้าส่วนใหญ่จะพ่นเมื่อหว่านไปแล้ว  8-13 วันครับ การพ่นยาขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ว่ามีวัชพืชตัวไหนมากมีทั้งใบกว้างใบแคบ  ส่วนใหญ่จะซื้อยามาผสมกันให้ครอบคลุมวัชพืชทั้งหมดครับ แต่ปริมาณการพ่นก็ต้องเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกับต้นข้าวครับ ยี่ห้อไหนนี่ลองถามร้านขายยาหรือชาวนาใกล้เคียงแนะนำดีกว่าครับ  ปฎิทินการใส่ปุ๋ยตามรูปภาพเลยนะครับ ช่วง PI สำคัญมาก เป็นช่วงที่ข้าวกำลังสร้างเมล็ดในรวงการใส่ปุ๋ยช้าไปจะไม่มีผลเท่าที่ควรและหมั่นพ่นสารชีวภาพขับไล่แมลงไปด้วย พร้อมกับ พ่นพวกไตรโครเดอร์มาร์ไปด้วยก็ได้นะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2014, 21:49:16
จะใส่ปุ๋ยหลังจากพ่นยาครังแรกกี่วันครับ


ตามกระทู้ข้างบนเลยนะครับ  25-30 วันครับ เพราะต้นข้าวพร้อมที่จะหาอาหารทางรากแล้ว ชาวนาส่วนใหญ่จะใส่เมื่อข้าวอายุครบ 20 วันหลังหว่านแต่ช่วง 25-30 จะให้ผลที่ดีกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2014, 21:50:54
;D ;Dแวะมาแอ่วครับ

ยินดีครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2014, 22:00:22
ช่วงนี้มีกิจกรรมหลายอย่างครับ ปลูกมะนาว ทำบ้านกลางนา เตรียมทำร้านค้าหน้าบ้าน เลยไม่ค่อยได้อัพกระทู้ครับ  ตอนนี้ที่นาก็ปั่นเรียบร้อยแล้ว เอาน้ำจุลินทรีย์ไปใส่ในนาเรียบร้อยเพื่อเร่งการย่อยสลายเศษฟาง และวัชพืชครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มกราคม 2014, 22:02:16
ภาพท้องนายามเช้าครับ หมอกค่อนข้างลงจัด ขนาดเวลาสาย ๆ แล้วอากาศยังเย็นอยู่เลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 12 มกราคม 2014, 00:17:55
พี่อู๋ครับจำผมได้มั้ยที่เคยถามเรื่องการทำนาพี่ไปปีที่แล้วน่ะครับ ปีนี้ปีที่ 2 ของการทำนาในชีวิตแต่รู็สึกเหมือนเพิ่งทำครั้งแรกอยู่เลยครับยังทำอะไรไม่ถูกเลย ปีที่แล้วขาดทุนไปนิดหน่อยครับ ปีนี้ว่าจะทำให้ดีกว่าเดิม ข้อความที่ผมเคยถามพี่ไว้มันก็หายไปหมดแล้วครับ
ตอนนี้ผมกำลังจะปั่นรอบสุดท้ายแล้วหวานแบบใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ เพิ่งซื้อมาทดลองปีแรก จะปั่นวันเสาร์ที่ 11 แล้วหว่านข้าววันอาทิตย์ที่ 12 ครับ การคุมหญ้าคงต้องคุมหลังจากหว่านข้าวแล้ว ผมอยากรู้ว่าต้องพ่นยาคุมหลังหว่านข้าวไปแล้วกี่วันครับ ใช้ยายี้ห้ออะไรพ่นคุมหญ้า แล้วหลังจากที่คลุมหญ้าแล้วเราควรทำอะไรต่อครับพี่ คือผมอยากได้ขั้นตอนระยะเวลาเป็นแบบปฏิทินการทำนาเลยอะครับ ว่าช่วงไหนข้าวอายุเท่าไหร่ควรทำอะไรบ้างครับ ทั้งการใส่ปุ๋ย ต่าง ๆ ด้วยครับ ผมอยากจะเอามาทำเป็นปฏิทินการทำนาเก็บไว้เลยครับ และผมก็สนใจที่จะทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีหรือใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ไม่รู้ว่ารบกวนมากไปรึเปล่า แต่ขอบคุณล่วงหน้านะครับผม (ยังมีคำถามอีกมากมายเลยครับ)
ป.ล.ที่จริงจะส่งข้อความไปหาแต่มันแจ้งว่าจะความของพี่เต็มไม่สามารถส่งได้ครับ


สวัสดีครับ จำได้ครับ สงสัยกล่องข้อความจะเต็มจริง ๆ ครับไม่มีข้อความเข้ามาหลายวันแล้ว  การพ่นยาคุมหญ้าส่วนใหญ่จะพ่นเมื่อหว่านไปแล้ว  8-13 วันครับ การพ่นยาขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ว่ามีวัชพืชตัวไหนมากมีทั้งใบกว้างใบแคบ  ส่วนใหญ่จะซื้อยามาผสมกันให้ครอบคลุมวัชพืชทั้งหมดครับ แต่ปริมาณการพ่นก็ต้องเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกับต้นข้าวครับ ยี่ห้อไหนนี่ลองถามร้านขายยาหรือชาวนาใกล้เคียงแนะนำดีกว่าครับ  ปฎิทินการใส่ปุ๋ยตามรูปภาพเลยนะครับ ช่วง PI สำคัญมาก เป็นช่วงที่ข้าวกำลังสร้างเมล็ดในรวงการใส่ปุ๋ยช้าไปจะไม่มีผลเท่าที่ควรและหมั่นพ่นสารชีวภาพขับไล่แมลงไปด้วย พร้อมกับ พ่นพวกไตรโครเดอร์มาร์ไปด้วยก็ได้นะครับ
ขอบคุณครับ ตามรูป หมายถึงช่วง 25-30 วันใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ยูเรีย ใช่มั้ยครับ
ครั้งที่ 2 (30 - 45 วัน) ใส่ปุ๋ย อะไรครับ ?
แล้วครั้งที่ 3 ใส่ตอนกี่วันครับใสปุ๋ยอะไร ? ดูในภาพแล้วงงอะครับพี่ ^ ^
เราต้องใส่แม่ปุ๋ยด้วยรึเปล่า นาผมมีแค่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นนาดินทราย น้ำห้วยเย็น ปีนี้ปลูกด้วยวิธีใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ ปลูกถ้าใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรใส่ในอัตรากี่กระสอบต่อไร่ หรือกี่กิโลต่อไร่ครับ ทั้ง 3 ครั้งเลยนะครับพี่อู๋
ยอมรับว่าปลูกข้าวยังไม่เก่งจริง ๆ ครับ สุมาตวยเน้อครับที่ถามบ่อย ๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2014, 23:13:17

ขอบคุณครับ ตามรูป หมายถึงช่วง 25-30 วันใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ยูเรีย ใช่มั้ยครับ
ครั้งที่ 2 (30 - 45 วัน) ใส่ปุ๋ย อะไรครับ ?
แล้วครั้งที่ 3 ใส่ตอนกี่วันครับใสปุ๋ยอะไร ? ดูในภาพแล้วงงอะครับพี่ ^ ^
เราต้องใส่แม่ปุ๋ยด้วยรึเปล่า นาผมมีแค่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นนาดินทราย น้ำห้วยเย็น ปีนี้ปลูกด้วยวิธีใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ ปลูกถ้าใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรใส่ในอัตรากี่กระสอบต่อไร่ หรือกี่กิโลต่อไร่ครับ ทั้ง 3 ครั้งเลยนะครับพี่อู๋
ยอมรับว่าปลูกข้าวยังไม่เก่งจริง ๆ ครับ สุมาตวยเน้อครับที่ถามบ่อย ๆ


ไม่เป็นไรครับ ช่วย ๆกัน อีกหน่อยก็คล่องครับ

ลองสูตรนี้ดูนะครับ อาจเพี้ยนไปจากที่กรมการข้าวบ้าง
ใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 25-30 วันหลังจากหว่าน  16-20-0 + ยูเรีย 2:1 เพราะหน้าหนาวข้าวโตช้าเร่งนิดหน่อย อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองประมาณ 30-45 วันหลังจากหว่าน  ยูเรีย + 15-15-15  2:1 เพราะบำรุงรากและท่อลำเลียงอาหารและทำให้ลำต้นแข็งแรงขึ้นช่วยต้านทานโรค อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเมื่อลำต้นข้าวเริ่มอ้วนขึ้นจากที่แบนอยู่ต้องก่อนข้าวแทงยอดจะประมาณ 65-75 วันหลังจากหว่าน  ใช้ 16-20-0  + 15-15-15 1:1 อย่างละครึ่ง  อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่  แต่ถ้าหว่านด้วยเครื่องหรือหว่านมือก็ต้องใช้ปุ๋ยมากกว่านี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2014, 21:04:19
วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเพาะข้าวในถาด 13 ไร่ ครับ ใช้ข้าวปริมาณมากกว่าเดิม เฉลี่ยแล้วประมาณ 13 กก./ไร่  นาปีใช้  10 กก./ไร่ และใช้ถาดเพาะมากกว่าเดิมเพราะต้องปักดำถี่มากกว่าเดิม จากนาปี 32 ถาด นาปรัง 47 ถาด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 มกราคม 2014, 21:09:50
วันนี้นาฝั่ง 9 ไร่จ้างรถมาตีดินทิ้งไว้ครับ และจะเริ่มเพาะข้าวในถาดก็ประมาณ วันหยุดที่จะถึงนี้ครับ  นาปีนี้ค่อนข้างหล่มมาก เนื่องจากฝนมากเลยต้องใช้รถตีดินล้อตีนตะขาบ ถ้าเป็นรถแทรกเตอร์ธรรมดาติดหล่มแน่นอนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 13 มกราคม 2014, 21:45:35
วันนี้นาฝั่ง 9 ไร่จ้างรถมาตีดินทิ้งไว้ครับ และจะเริ่มเพาะข้าวในถาดก็ประมาณ วันหยุดที่จะถึงนี้ครับ  นาปีนี้ค่อนข้างหล่มมาก เนื่องจากฝนมากเลยต้องใช้รถตีดินล้อตีนตะขาบ ถ้าเป็นรถแทรกเตอร์ธรรมดาติดหล่มแน่นอนครับ

 :D....นาหล่มทุกพื้นที่....ค่าจ้างรถปั่นนาไร่ละเท่าไหร่ครับ....แถวบ้านผมไร่ละ350บาท...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jukgree ที่ วันที่ 14 มกราคม 2014, 08:34:08
อยากรู้ราคารับจ้างของรถตีนตะขาบครับ อ้ายอู๋ เอามาปั่นนาแถวเมืองพานเจ้าของจะมาก่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: kanda_ ที่ วันที่ 14 มกราคม 2014, 19:52:42
อ้ายครับเห็นข้าวงอกดีปีนี้ใส่พันธุ์อะไรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2014, 20:56:14
วันนี้นาฝั่ง 9 ไร่จ้างรถมาตีดินทิ้งไว้ครับ และจะเริ่มเพาะข้าวในถาดก็ประมาณ วันหยุดที่จะถึงนี้ครับ  นาปีนี้ค่อนข้างหล่มมาก เนื่องจากฝนมากเลยต้องใช้รถตีดินล้อตีนตะขาบ ถ้าเป็นรถแทรกเตอร์ธรรมดาติดหล่มแน่นอนครับ

 :D....นาหล่มทุกพื้นที่....ค่าจ้างรถปั่นนาไร่ละเท่าไหร่ครับ....แถวบ้านผมไร่ละ350บาท...

รถแทรกตีดิน ผมจ้างปั่นไร่ละ 450 บาทครับ บางเจ้าก็ 500 บาทครับ ถ้าเป็นรถส้มก็ไร่ละ 350 บาทครับแต่นาผมหล่มเป็นร่องล้อรถเกี่ยวเยอะครับเลยจ้างรถแทรกมาตีดินดีกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2014, 21:02:49
อยากรู้ราคารับจ้างของรถตีนตะขาบครับ อ้ายอู๋ เอามาปั่นนาแถวเมืองพานเจ้าของจะมาก่อครับ

ค่าจ้างคันนี้ 450 บาทต่อไร่ครับจะแพงกว่ารถส้มครับเพราะต้องใช้น้ำมันเยอะกว่า แต่งานค่อนข้างเสร็จไวกว่า ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนาหล่มได้บ้างเพราะไม่มีล้อไปซ้ำจุดหล่มให้ลึกกว่าเดิม  ช่วงนี้รถตีดินงานเยอะขนาดครับเห็นปั่นแต่เช้าเลิกงานก็ 2-3 ทุ่มตลอด อีกซัก 2 สัปดาห์คงบ่าค่อยมีงานแล้วครับ ก็คงออกต่างอำเภอละครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มกราคม 2014, 21:23:43
อ้ายครับเห็นข้าวงอกดีปีนี้ใส่พันธุ์อะไรครับ

เป็นพันธุ์เพชรบุรีครับ เก็บเกี่ยวเมื่อช่วงนาปีที่ผ่านมา เห็นเค้าปลูกดูแล้วข้าวค่อนข้างทนต่อโรค ทั้งที่ฝนตกมากข้าวพันธุ์อื่นส่วนใหญ่ติดโรคกันมากทั้ง พิษโลก2 กข.41 แต่พันธุ์นี้ไม่ค่อยเป็นครับ จะมีก็ขอบใบแห้งเท่านั้น ซึ่งก็เหมือนกับพันธุ์อื่น ๆ ลักษณะต้นเตี้ย ผลผลิตค่อนข้างดีเลยลองปลูกดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 16 มกราคม 2014, 19:40:06

ขอบคุณครับ ตามรูป หมายถึงช่วง 25-30 วันใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ยูเรีย ใช่มั้ยครับ
ครั้งที่ 2 (30 - 45 วัน) ใส่ปุ๋ย อะไรครับ ?
แล้วครั้งที่ 3 ใส่ตอนกี่วันครับใสปุ๋ยอะไร ? ดูในภาพแล้วงงอะครับพี่ ^ ^
เราต้องใส่แม่ปุ๋ยด้วยรึเปล่า นาผมมีแค่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นนาดินทราย น้ำห้วยเย็น ปีนี้ปลูกด้วยวิธีใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ ปลูกถ้าใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรใส่ในอัตรากี่กระสอบต่อไร่ หรือกี่กิโลต่อไร่ครับ ทั้ง 3 ครั้งเลยนะครับพี่อู๋
ยอมรับว่าปลูกข้าวยังไม่เก่งจริง ๆ ครับ สุมาตวยเน้อครับที่ถามบ่อย ๆ


ไม่เป็นไรครับ ช่วย ๆกัน อีกหน่อยก็คล่องครับ

ลองสูตรนี้ดูนะครับ อาจเพี้ยนไปจากที่กรมการข้าวบ้าง
ใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 25-30 วันหลังจากหว่าน  16-20-0 + ยูเรีย 2:1 เพราะหน้าหนาวข้าวโตช้าเร่งนิดหน่อย อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองประมาณ 30-45 วันหลังจากหว่าน  ยูเรีย + 15-15-15  2:1 เพราะบำรุงรากและท่อลำเลียงอาหารและทำให้ลำต้นแข็งแรงขึ้นช่วยต้านทานโรค อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเมื่อลำต้นข้าวเริ่มอ้วนขึ้นจากที่แบนอยู่ต้องก่อนข้าวแทงยอดจะประมาณ 65-75 วันหลังจากหว่าน  ใช้ 16-20-0  + 15-15-15 1:1 อย่างละครึ่ง  อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่  แต่ถ้าหว่านด้วยเครื่องหรือหว่านมือก็ต้องใช้ปุ๋ยมากกว่านี้ครับ
ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋สำหรับคำแนะนำ ผมจะลองทำตามที่พี่ว่ามาครับ
อยากรู้ว่านาปรังปีนี้พี่ทำนาดำหรือใช้รถปลูก แล้วพี่เคยลองแกล้งข้าวมั้ยครับว่าเป็นยังไง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 มกราคม 2014, 20:22:52
ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋สำหรับคำแนะนำ ผมจะลองทำตามที่พี่ว่ามาครับ
อยากรู้ว่านาปรังปีนี้พี่ทำนาดำหรือใช้รถปลูก แล้วพี่เคยลองแกล้งข้าวมั้ยครับว่าเป็นยังไง


ยังไงลองปรับใช้ดูครับ อาจลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงหน่อยแต่เสริมด้วยพวกปุ๋ยปรับปรุงดิน กรดซิลิกอน ธาตุเสริมต่าง ๆ  ตลอดจนพวกปุ๋ยทางใบ ฮอล์โมนต่าง ๆ ก็ได้  แต่ต้องไม่ลืมคุมต้นทุนที่ใช้ในการทำนาด้วยนะครับ นาปรังรอบที่จะทำนี้ยังไม่รู้ราคาที่แน่นอนเลย เมื่อ 3-4 ปีก่อนราคาข้าวนาปรัง เกี่ยวสดอยู่ที่
ก.ก. ละ 6-7 บาท หากเป็นเช่นนั้นอีก นา 1 ไร่ได้ข้าว 1 ตันก็จะได้เงินเพียง 6-7 พันบาทเท่านั้น ซึ่งหากต้นทุนอยู่ที่ 4-5 พันแล้ว ก็แทบจะเหนื่อยฟรีเลยล่ะครับ  นาปรังปีนี้ทำนาดำใช้รถปลูกครับ  การแกล้งข้าวก็เคยลองทำอยู่ครับแต่ตอนนั้นเป็นนาหว่านน้ำตมไม่ค่อยได้ผลชัดเจนเท่าไหร่เพราะต้นข้าวขึ้นหนาแน่นอยู่แล้วไม่ค่อยแตกกอ การแกล้งข้าวเหมาะสำหรับทำนาดำน่าจะดีที่สุด ต้นข้าวไม่หนาแน่นมาก แต่ต้องไม่ลืมปัญหาเรื่องหญ้าและหนูที่จะตามมาด้วยนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 มกราคม 2014, 20:31:30
วันนี้ลางาน 1 วันเอากล้าลงไปเรียงในนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 18 มกราคม 2014, 00:09:19
ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋สำหรับคำแนะนำ ผมจะลองทำตามที่พี่ว่ามาครับ
อยากรู้ว่านาปรังปีนี้พี่ทำนาดำหรือใช้รถปลูก แล้วพี่เคยลองแกล้งข้าวมั้ยครับว่าเป็นยังไง


ยังไงลองปรับใช้ดูครับ อาจลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงหน่อยแต่เสริมด้วยพวกปุ๋ยปรับปรุงดิน กรดซิลิกอน ธาตุเสริมต่าง ๆ  ตลอดจนพวกปุ๋ยทางใบ ฮอล์โมนต่าง ๆ ก็ได้  แต่ต้องไม่ลืมคุมต้นทุนที่ใช้ในการทำนาด้วยนะครับ นาปรังรอบที่จะทำนี้ยังไม่รู้ราคาที่แน่นอนเลย เมื่อ 3-4 ปีก่อนราคาข้าวนาปรัง เกี่ยวสดอยู่ที่
ก.ก. ละ 6-7 บาท หากเป็นเช่นนั้นอีก นา 1 ไร่ได้ข้าว 1 ตันก็จะได้เงินเพียง 6-7 พันบาทเท่านั้น ซึ่งหากต้นทุนอยู่ที่ 4-5 พันแล้ว ก็แทบจะเหนื่อยฟรีเลยล่ะครับ  นาปรังปีนี้ทำนาดำใช้รถปลูกครับ  การแกล้งข้าวก็เคยลองทำอยู่ครับแต่ตอนนั้นเป็นนาหว่านน้ำตมไม่ค่อยได้ผลชัดเจนเท่าไหร่เพราะต้นข้าวขึ้นหนาแน่นอยู่แล้วไม่ค่อยแตกกอ การแกล้งข้าวเหมาะสำหรับทำนาดำน่าจะดีที่สุด ต้นข้าวไม่หนาแน่นมาก แต่ต้องไม่ลืมปัญหาเรื่องหญ้าและหนูที่จะตามมาด้วยนะครับ
การปลูกข้าวเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนเหมือนกันเนาะใช้ทั้งสมองและแรงกาย ยิ่งปลูก ยิ่งได้ลอง ยิ่งอยากเรียนรู้ ยิ่งสนุกครับ การแกล้งข้างผมคงคิดหนักเรื่องหนูจริง ๆ แหละครับ หนูพุกตัวใหญ่ ๆ เพียบเลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 มกราคม 2014, 21:55:26
2 วันผ่านไปกล้าข้าวในนาเขียวขึ้นมาแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 มกราคม 2014, 21:57:33
ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋สำหรับคำแนะนำ ผมจะลองทำตามที่พี่ว่ามาครับ
อยากรู้ว่านาปรังปีนี้พี่ทำนาดำหรือใช้รถปลูก แล้วพี่เคยลองแกล้งข้าวมั้ยครับว่าเป็นยังไง


ยังไงลองปรับใช้ดูครับ อาจลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงหน่อยแต่เสริมด้วยพวกปุ๋ยปรับปรุงดิน กรดซิลิกอน ธาตุเสริมต่าง ๆ  ตลอดจนพวกปุ๋ยทางใบ ฮอล์โมนต่าง ๆ ก็ได้  แต่ต้องไม่ลืมคุมต้นทุนที่ใช้ในการทำนาด้วยนะครับ นาปรังรอบที่จะทำนี้ยังไม่รู้ราคาที่แน่นอนเลย เมื่อ 3-4 ปีก่อนราคาข้าวนาปรัง เกี่ยวสดอยู่ที่
ก.ก. ละ 6-7 บาท หากเป็นเช่นนั้นอีก นา 1 ไร่ได้ข้าว 1 ตันก็จะได้เงินเพียง 6-7 พันบาทเท่านั้น ซึ่งหากต้นทุนอยู่ที่ 4-5 พันแล้ว ก็แทบจะเหนื่อยฟรีเลยล่ะครับ  นาปรังปีนี้ทำนาดำใช้รถปลูกครับ  การแกล้งข้าวก็เคยลองทำอยู่ครับแต่ตอนนั้นเป็นนาหว่านน้ำตมไม่ค่อยได้ผลชัดเจนเท่าไหร่เพราะต้นข้าวขึ้นหนาแน่นอยู่แล้วไม่ค่อยแตกกอ การแกล้งข้าวเหมาะสำหรับทำนาดำน่าจะดีที่สุด ต้นข้าวไม่หนาแน่นมาก แต่ต้องไม่ลืมปัญหาเรื่องหญ้าและหนูที่จะตามมาด้วยนะครับ
การปลูกข้าวเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนเหมือนกันเนาะใช้ทั้งสมองและแรงกาย ยิ่งปลูก ยิ่งได้ลอง ยิ่งอยากเรียนรู้ ยิ่งสนุกครับ การแกล้งข้างผมคงคิดหนักเรื่องหนูจริง ๆ แหละครับ หนูพุกตัวใหญ่ ๆ เพียบเลยครับ

ถ้าเป็นภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างท่าจะบ่าเหลือแล้วน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 19 มกราคม 2014, 14:04:50
ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋สำหรับคำแนะนำ ผมจะลองทำตามที่พี่ว่ามาครับ
อยากรู้ว่านาปรังปีนี้พี่ทำนาดำหรือใช้รถปลูก แล้วพี่เคยลองแกล้งข้าวมั้ยครับว่าเป็นยังไง



ยังไงลองปรับใช้ดูครับ อาจลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงหน่อยแต่เสริมด้วยพวกปุ๋ยปรับปรุงดิน กรดซิลิกอน ธาตุเสริมต่าง ๆ  ตลอดจนพวกปุ๋ยทางใบ ฮอล์โมนต่าง ๆ ก็ได้  แต่ต้องไม่ลืมคุมต้นทุนที่ใช้ในการทำนาด้วยนะครับ นาปรังรอบที่จะทำนี้ยังไม่รู้ราคาที่แน่นอนเลย เมื่อ 3-4 ปีก่อนราคาข้าวนาปรัง เกี่ยวสดอยู่ที่
ก.ก. ละ 6-7 บาท หากเป็นเช่นนั้นอีก นา 1 ไร่ได้ข้าว 1 ตันก็จะได้เงินเพียง 6-7 พันบาทเท่านั้น ซึ่งหากต้นทุนอยู่ที่ 4-5 พันแล้ว ก็แทบจะเหนื่อยฟรีเลยล่ะครับ  นาปรังปีนี้ทำนาดำใช้รถปลูกครับ  การแกล้งข้าวก็เคยลองทำอยู่ครับแต่ตอนนั้นเป็นนาหว่านน้ำตมไม่ค่อยได้ผลชัดเจนเท่าไหร่เพราะต้นข้าวขึ้นหนาแน่นอยู่แล้วไม่ค่อยแตกกอ การแกล้งข้าวเหมาะสำหรับทำนาดำน่าจะดีที่สุด ต้นข้าวไม่หนาแน่นมาก แต่ต้องไม่ลืมปัญหาเรื่องหญ้าและหนูที่จะตามมาด้วยนะครับ
การปลูกข้าวเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนเหมือนกันเนาะใช้ทั้งสมองและแรงกาย ยิ่งปลูก ยิ่งได้ลอง ยิ่งอยากเรียนรู้ ยิ่งสนุกครับ การแกล้งข้างผมคงคิดหนักเรื่องหนูจริง ๆ แหละครับ หนูพุกตัวใหญ่ ๆ เพียบเลยครับ

ถ้าเป็นภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างท่าจะบ่าเหลือแล้วน้อครับ
เค้าคงมีวิธีจับมันแบบง่าย ๆ เลยนะครับ อ้ายอู๋กินก่อครับ น่าอร่อยดีนะนั่น :o


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2014, 20:36:55
เค้าคงมีวิธีจับมันแบบง่าย ๆ เลยนะครับ อ้ายอู๋กินก่อครับ น่าอร่อยดีนะนั่น :o

ฮ่า ๆ บ่ากิ๋นครับ แต่เพื่อนที่อยู่ลพบุรีมักขนาดหนักเน้อ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2014, 20:41:35
ช่วงเช้าปั่นจักรยานผ่านแปลงเพาะกล้านาโยนของพี่ต้นเห็นสวยดีเลยแวะถ่ายรูปเผื่อใครจะลองทำดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2014, 20:46:25
ช่วงนี้ก็ตกแต่ง บ้านกลางนาไปด้วย ค่อย ๆ ทำไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มกราคม 2014, 20:52:11
ตั้งแต่เลี้ยงเจ้าพวกนี้ ก็ไม่ได้ซื้อไข่มาเกือบปีแล้ว มีไข่ให้เก็บทุกวันครับ ทั้งไข่เป็ด ไข่ไก่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ดรีม ขี้เหล้าน้อย ที่ วันที่ 19 มกราคม 2014, 21:01:16
ช่วงนี้ก็ตกแต่ง บ้านกลางนาไปด้วย ค่อย ๆ ทำไปครับ
อ้ายจะโยนวันไหนจ้าวววววว อยากไปดูจ้าว(ไปช่วย))))))


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 20 มกราคม 2014, 14:03:16
เข้ามาติดตามครับ บ้านกลางนาน่าอยู่มากๆเลยครับ ;)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 20 มกราคม 2014, 16:20:57
รบกวนอ้ายอู๋ หน่อยครับพอดีอยากได้รูปไม้ที่ใช้ย้ายข้าวของเวียดนามที่เหมือนคลาดเล็กๆ มีด้ามยาวๆ ไว้ย้ายซ่อมข้าวบริเวณที่ข้าวห่าง หรือถี่เกินไป

ขอบคุณล่วงหน้าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 20 มกราคม 2014, 19:55:51
เค้าคงมีวิธีจับมันแบบง่าย ๆ เลยนะครับ อ้ายอู๋กินก่อครับ น่าอร่อยดีนะนั่น :o

ฮ่า ๆ บ่ากิ๋นครับ แต่เพื่อนที่อยู่ลพบุรีมักขนาดหนักเน้อ  :D  :D
ผมมักขนาดครับ เอาคั่วแฮ้มเม๊าะ ตะก่อนซื้อ 180/โล ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มกราคม 2014, 21:42:13
ช่วงนี้ก็ตกแต่ง บ้านกลางนาไปด้วย ค่อย ๆ ทำไปครับ
อ้ายจะโยนวันไหนจ้าวววววว อยากไปดูจ้าว(ไปช่วย))))))

อ้ายปลูกครับ คงเริ่มปลูกปลายสัปดาห์หน้าครับ แต่ถ้านาโยนอ้ายต้นก็คงจะโยนแหมบ่ากี่วันนี้ครับน่าจะประมาณปลายสัปดาห์หรือเสาร์อาทิตย์นี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มกราคม 2014, 21:46:42
เข้ามาติดตามครับ บ้านกลางนาน่าอยู่มากๆเลยครับ ;)

ทำมา 2 ปีกว่าแล้วครับค่อย ๆ ทำไปตามงบประมาณที่มีจำกัดครับ ปีนี้ฉาบผนัง เทพื้น ตีเพดาน  ปีหน้าก็คงทำห้องน้ำและก็เจาะน้ำบาดาล และก็คงถมที่ดินบางส่วนเอาไว้ทำสวนบ้างครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มกราคม 2014, 21:54:10
รบกวนอ้ายอู๋ หน่อยครับพอดีอยากได้รูปไม้ที่ใช้ย้ายข้าวของเวียดนามที่เหมือนคลาดเล็กๆ มีด้ามยาวๆ ไว้ย้ายซ่อมข้าวบริเวณที่ข้าวห่าง หรือถี่เกินไป

ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ได้ครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 มกราคม 2014, 22:08:15
เค้าคงมีวิธีจับมันแบบง่าย ๆ เลยนะครับ อ้ายอู๋กินก่อครับ น่าอร่อยดีนะนั่น :o

ฮ่า ๆ บ่ากิ๋นครับ แต่เพื่อนที่อยู่ลพบุรีมักขนาดหนักเน้อ  :D  :D
ผมมักขนาดครับ เอาคั่วแฮ้มเม๊าะ ตะก่อนซื้อ 180/โล ;D ;D

ตอนนี้เห็นว่าแพงขึ้นหนาครับ โลสองร้อยป๋ายแล้วก้าครับ ต่างจังหวัดเปิ้นดักหนูขายกั๋นรายได้ดีเหมือนกั๋นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 21 มกราคม 2014, 11:18:09
ขอบคุณมากครับ สำหรับที่ย้ายข้าว จะลองนำไปใช้ดู


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2014, 21:06:17
ขอบคุณมากครับ สำหรับที่ย้ายข้าว จะลองนำไปใช้ดู

ยินดีครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 มกราคม 2014, 21:11:04
วันนี้ไปดูนา ต้นข้าวโตขึ้นพอสมควร สัปดาห์นี้ต้องทำเทือกทิ้งไว้ก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 26 มกราคม 2014, 01:45:42

ขอบคุณครับ ตามรูป หมายถึงช่วง 25-30 วันใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ยูเรีย ใช่มั้ยครับ
ครั้งที่ 2 (30 - 45 วัน) ใส่ปุ๋ย อะไรครับ ?
แล้วครั้งที่ 3 ใส่ตอนกี่วันครับใสปุ๋ยอะไร ? ดูในภาพแล้วงงอะครับพี่ ^ ^
เราต้องใส่แม่ปุ๋ยด้วยรึเปล่า นาผมมีแค่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นนาดินทราย น้ำห้วยเย็น ปีนี้ปลูกด้วยวิธีใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ ปลูกถ้าใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรใส่ในอัตรากี่กระสอบต่อไร่ หรือกี่กิโลต่อไร่ครับ ทั้ง 3 ครั้งเลยนะครับพี่อู๋
ยอมรับว่าปลูกข้าวยังไม่เก่งจริง ๆ ครับ สุมาตวยเน้อครับที่ถามบ่อย ๆ


ไม่เป็นไรครับ ช่วย ๆกัน อีกหน่อยก็คล่องครับ

ลองสูตรนี้ดูนะครับ อาจเพี้ยนไปจากที่กรมการข้าวบ้าง
ใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 25-30 วันหลังจากหว่าน  16-20-0 + ยูเรีย 2:1 เพราะหน้าหนาวข้าวโตช้าเร่งนิดหน่อย อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองประมาณ 30-45 วันหลังจากหว่าน  ยูเรีย + 15-15-15  2:1 เพราะบำรุงรากและท่อลำเลียงอาหารและทำให้ลำต้นแข็งแรงขึ้นช่วยต้านทานโรค อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเมื่อลำต้นข้าวเริ่มอ้วนขึ้นจากที่แบนอยู่ต้องก่อนข้าวแทงยอดจะประมาณ 65-75 วันหลังจากหว่าน  ใช้ 16-20-0  + 15-15-15 1:1 อย่างละครึ่ง  อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่  แต่ถ้าหว่านด้วยเครื่องหรือหว่านมือก็ต้องใช้ปุ๋ยมากกว่านี้ครับ
พี่อู๋ครับ ปุ๋ย 16-20-0 ผมดูในเน็ตเค้าบอกว่าเป็นปุ๋ยสำหรับนาดินเหนียวใช่รึเปล่าครับ แต่นาผมเป็นดินทราย ไม่ทราบว่าต้องใช่ 16-16-8 ใส่แทน 16-20-0 รึเปล่า หรือว่าสามารถใส่ 16-20-0 ก็ได้ไม่มีผลอะไรครับ ??? ช่วยแนะนำหน่อยนะครับผม  ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2014, 08:31:48

ขอบคุณครับ ตามรูป หมายถึงช่วง 25-30 วันใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ยูเรีย ใช่มั้ยครับ
ครั้งที่ 2 (30 - 45 วัน) ใส่ปุ๋ย อะไรครับ ?
แล้วครั้งที่ 3 ใส่ตอนกี่วันครับใสปุ๋ยอะไร ? ดูในภาพแล้วงงอะครับพี่ ^ ^
เราต้องใส่แม่ปุ๋ยด้วยรึเปล่า นาผมมีแค่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นนาดินทราย น้ำห้วยเย็น ปีนี้ปลูกด้วยวิธีใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ ปลูกถ้าใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรใส่ในอัตรากี่กระสอบต่อไร่ หรือกี่กิโลต่อไร่ครับ ทั้ง 3 ครั้งเลยนะครับพี่อู๋
ยอมรับว่าปลูกข้าวยังไม่เก่งจริง ๆ ครับ สุมาตวยเน้อครับที่ถามบ่อย ๆ


ไม่เป็นไรครับ ช่วย ๆกัน อีกหน่อยก็คล่องครับ

ลองสูตรนี้ดูนะครับ อาจเพี้ยนไปจากที่กรมการข้าวบ้าง
ใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 25-30 วันหลังจากหว่าน  16-20-0 + ยูเรีย 2:1 เพราะหน้าหนาวข้าวโตช้าเร่งนิดหน่อย อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองประมาณ 30-45 วันหลังจากหว่าน  ยูเรีย + 15-15-15  2:1 เพราะบำรุงรากและท่อลำเลียงอาหารและทำให้ลำต้นแข็งแรงขึ้นช่วยต้านทานโรค อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเมื่อลำต้นข้าวเริ่มอ้วนขึ้นจากที่แบนอยู่ต้องก่อนข้าวแทงยอดจะประมาณ 65-75 วันหลังจากหว่าน  ใช้ 16-20-0  + 15-15-15 1:1 อย่างละครึ่ง  อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่  แต่ถ้าหว่านด้วยเครื่องหรือหว่านมือก็ต้องใช้ปุ๋ยมากกว่านี้ครับ
พี่อู๋ครับ ปุ๋ย 16-20-0 ผมดูในเน็ตเค้าบอกว่าเป็นปุ๋ยสำหรับนาดินเหนียวใช่รึเปล่าครับ แต่นาผมเป็นดินทราย ไม่ทราบว่าต้องใช่ 16-16-8 ใส่แทน 16-20-0 รึเปล่า หรือว่าสามารถใส่ 16-20-0 ก็ได้ไม่มีผลอะไรครับ ??? ช่วยแนะนำหน่อยนะครับผม  ;D
ใส่ 16-16-8 จะดีกว่าครับเพราะนาดินทรายมีโพรแทสเซียมอยู่น้อย แต่ปุ๋ยสูตรนี้บางร้านก็ไม่ค่อยสั่งมาหากหาไม่ได้ก็ผสมปุ๋ยเอาก็ได้ครับ :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 26 มกราคม 2014, 10:38:41

ขอบคุณครับ ตามรูป หมายถึงช่วง 25-30 วันใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ยูเรีย ใช่มั้ยครับ
ครั้งที่ 2 (30 - 45 วัน) ใส่ปุ๋ย อะไรครับ ?
แล้วครั้งที่ 3 ใส่ตอนกี่วันครับใสปุ๋ยอะไร ? ดูในภาพแล้วงงอะครับพี่ ^ ^
เราต้องใส่แม่ปุ๋ยด้วยรึเปล่า นาผมมีแค่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นนาดินทราย น้ำห้วยเย็น ปีนี้ปลูกด้วยวิธีใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ ปลูกถ้าใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรใส่ในอัตรากี่กระสอบต่อไร่ หรือกี่กิโลต่อไร่ครับ ทั้ง 3 ครั้งเลยนะครับพี่อู๋
ยอมรับว่าปลูกข้าวยังไม่เก่งจริง ๆ ครับ สุมาตวยเน้อครับที่ถามบ่อย ๆ


ไม่เป็นไรครับ ช่วย ๆกัน อีกหน่อยก็คล่องครับ

ลองสูตรนี้ดูนะครับ อาจเพี้ยนไปจากที่กรมการข้าวบ้าง
ใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 25-30 วันหลังจากหว่าน  16-20-0 + ยูเรีย 2:1 เพราะหน้าหนาวข้าวโตช้าเร่งนิดหน่อย อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองประมาณ 30-45 วันหลังจากหว่าน  ยูเรีย + 15-15-15  2:1 เพราะบำรุงรากและท่อลำเลียงอาหารและทำให้ลำต้นแข็งแรงขึ้นช่วยต้านทานโรค อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเมื่อลำต้นข้าวเริ่มอ้วนขึ้นจากที่แบนอยู่ต้องก่อนข้าวแทงยอดจะประมาณ 65-75 วันหลังจากหว่าน  ใช้ 16-20-0  + 15-15-15 1:1 อย่างละครึ่ง  อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่  แต่ถ้าหว่านด้วยเครื่องหรือหว่านมือก็ต้องใช้ปุ๋ยมากกว่านี้ครับ
พี่อู๋ครับ ปุ๋ย 16-20-0 ผมดูในเน็ตเค้าบอกว่าเป็นปุ๋ยสำหรับนาดินเหนียวใช่รึเปล่าครับ แต่นาผมเป็นดินทราย ไม่ทราบว่าต้องใช่ 16-16-8 ใส่แทน 16-20-0 รึเปล่า หรือว่าสามารถใส่ 16-20-0 ก็ได้ไม่มีผลอะไรครับ ??? ช่วยแนะนำหน่อยนะครับผม  ;D
ใส่ 16-16-8 จะดีกว่าครับเพราะนาดินทรายมีโพรแทสเซียมอยู่น้อย แต่ปุ๋ยสูตรนี้บางร้านก็ไม่ค่อยสั่งมาหากหาไม่ได้ก็ผสมปุ๋ยเอาก็ได้ครับ :D
เหมือนรู้ว่าจะถามอะไรเลยครับ  :D ผมไปถามหลายร้านแถวบ้านผมไม่มีขายเลยครับ ไม่รู้ว่าในเมืองมีร้านไหนน่าจะมีขายบ้างครับสูตรนี้
หรือถ้าต้องผสมเองต้องเอาปุ๋ยตัวไหนผสมตัวไหนครับ งงขนาดครับอ้าย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2014, 22:46:50

ขอบคุณครับ ตามรูป หมายถึงช่วง 25-30 วันใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ยูเรีย ใช่มั้ยครับ
ครั้งที่ 2 (30 - 45 วัน) ใส่ปุ๋ย อะไรครับ ?
แล้วครั้งที่ 3 ใส่ตอนกี่วันครับใสปุ๋ยอะไร ? ดูในภาพแล้วงงอะครับพี่ ^ ^
เราต้องใส่แม่ปุ๋ยด้วยรึเปล่า นาผมมีแค่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นนาดินทราย น้ำห้วยเย็น ปีนี้ปลูกด้วยวิธีใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ ปลูกถ้าใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรใส่ในอัตรากี่กระสอบต่อไร่ หรือกี่กิโลต่อไร่ครับ ทั้ง 3 ครั้งเลยนะครับพี่อู๋
ยอมรับว่าปลูกข้าวยังไม่เก่งจริง ๆ ครับ สุมาตวยเน้อครับที่ถามบ่อย ๆ


ไม่เป็นไรครับ ช่วย ๆกัน อีกหน่อยก็คล่องครับ

ลองสูตรนี้ดูนะครับ อาจเพี้ยนไปจากที่กรมการข้าวบ้าง
ใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 25-30 วันหลังจากหว่าน  16-20-0 + ยูเรีย 2:1 เพราะหน้าหนาวข้าวโตช้าเร่งนิดหน่อย อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองประมาณ 30-45 วันหลังจากหว่าน  ยูเรีย + 15-15-15  2:1 เพราะบำรุงรากและท่อลำเลียงอาหารและทำให้ลำต้นแข็งแรงขึ้นช่วยต้านทานโรค อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเมื่อลำต้นข้าวเริ่มอ้วนขึ้นจากที่แบนอยู่ต้องก่อนข้าวแทงยอดจะประมาณ 65-75 วันหลังจากหว่าน  ใช้ 16-20-0  + 15-15-15 1:1 อย่างละครึ่ง  อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่  แต่ถ้าหว่านด้วยเครื่องหรือหว่านมือก็ต้องใช้ปุ๋ยมากกว่านี้ครับ
พี่อู๋ครับ ปุ๋ย 16-20-0 ผมดูในเน็ตเค้าบอกว่าเป็นปุ๋ยสำหรับนาดินเหนียวใช่รึเปล่าครับ แต่นาผมเป็นดินทราย ไม่ทราบว่าต้องใช่ 16-16-8 ใส่แทน 16-20-0 รึเปล่า หรือว่าสามารถใส่ 16-20-0 ก็ได้ไม่มีผลอะไรครับ ??? ช่วยแนะนำหน่อยนะครับผม  ;D
ใส่ 16-16-8 จะดีกว่าครับเพราะนาดินทรายมีโพรแทสเซียมอยู่น้อย แต่ปุ๋ยสูตรนี้บางร้านก็ไม่ค่อยสั่งมาหากหาไม่ได้ก็ผสมปุ๋ยเอาก็ได้ครับ :D
เหมือนรู้ว่าจะถามอะไรเลยครับ  :D ผมไปถามหลายร้านแถวบ้านผมไม่มีขายเลยครับ ไม่รู้ว่าในเมืองมีร้านไหนน่าจะมีขายบ้างครับสูตรนี้
หรือถ้าต้องผสมเองต้องเอาปุ๋ยตัวไหนผสมตัวไหนครับ งงขนาดครับอ้าย


เอาใกล้เคียงก็  16-20-0  กับ 15-15-15  ในอัตราส่วน 2:1  ก็ได้ครับ ถ้าซื้อแม่ปุ๋ยมาอาจมีราคาแพงกว่า แต่หากนามาก ๆ ซื้อแม่ปุ๋ยก็จะประหยัดกว่าครับ แม่ปุ๋ยร้านชวลิต ที่ป่ากล้วย ต.สันทราย อ.เมือง มีขายครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2014, 22:54:17
เสาร์ อาทิตย์  ทำเทือก 22 ไร่ครับ เอารูปท้องนายามเช้ามาฝากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2014, 22:57:25
 :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 27 มกราคม 2014, 20:47:38

ขอบคุณครับ ตามรูป หมายถึงช่วง 25-30 วันใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ยูเรีย ใช่มั้ยครับ
ครั้งที่ 2 (30 - 45 วัน) ใส่ปุ๋ย อะไรครับ ?
แล้วครั้งที่ 3 ใส่ตอนกี่วันครับใสปุ๋ยอะไร ? ดูในภาพแล้วงงอะครับพี่ ^ ^
เราต้องใส่แม่ปุ๋ยด้วยรึเปล่า นาผมมีแค่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นนาดินทราย น้ำห้วยเย็น ปีนี้ปลูกด้วยวิธีใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกครับ ปลูกถ้าใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรใส่ในอัตรากี่กระสอบต่อไร่ หรือกี่กิโลต่อไร่ครับ ทั้ง 3 ครั้งเลยนะครับพี่อู๋
ยอมรับว่าปลูกข้าวยังไม่เก่งจริง ๆ ครับ สุมาตวยเน้อครับที่ถามบ่อย ๆ


ไม่เป็นไรครับ ช่วย ๆกัน อีกหน่อยก็คล่องครับ

ลองสูตรนี้ดูนะครับ อาจเพี้ยนไปจากที่กรมการข้าวบ้าง
ใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 25-30 วันหลังจากหว่าน  16-20-0 + ยูเรีย 2:1 เพราะหน้าหนาวข้าวโตช้าเร่งนิดหน่อย อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองประมาณ 30-45 วันหลังจากหว่าน  ยูเรีย + 15-15-15  2:1 เพราะบำรุงรากและท่อลำเลียงอาหารและทำให้ลำต้นแข็งแรงขึ้นช่วยต้านทานโรค อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่
ใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเมื่อลำต้นข้าวเริ่มอ้วนขึ้นจากที่แบนอยู่ต้องก่อนข้าวแทงยอดจะประมาณ 65-75 วันหลังจากหว่าน  ใช้ 16-20-0  + 15-15-15 1:1 อย่างละครึ่ง  อัตราก็ 10-15 กก. /ไร่  แต่ถ้าหว่านด้วยเครื่องหรือหว่านมือก็ต้องใช้ปุ๋ยมากกว่านี้ครับ
พี่อู๋ครับ ปุ๋ย 16-20-0 ผมดูในเน็ตเค้าบอกว่าเป็นปุ๋ยสำหรับนาดินเหนียวใช่รึเปล่าครับ แต่นาผมเป็นดินทราย ไม่ทราบว่าต้องใช่ 16-16-8 ใส่แทน 16-20-0 รึเปล่า หรือว่าสามารถใส่ 16-20-0 ก็ได้ไม่มีผลอะไรครับ ??? ช่วยแนะนำหน่อยนะครับผม  ;D
ใส่ 16-16-8 จะดีกว่าครับเพราะนาดินทรายมีโพรแทสเซียมอยู่น้อย แต่ปุ๋ยสูตรนี้บางร้านก็ไม่ค่อยสั่งมาหากหาไม่ได้ก็ผสมปุ๋ยเอาก็ได้ครับ :D
เหมือนรู้ว่าจะถามอะไรเลยครับ  :D ผมไปถามหลายร้านแถวบ้านผมไม่มีขายเลยครับ ไม่รู้ว่าในเมืองมีร้านไหนน่าจะมีขายบ้างครับสูตรนี้
หรือถ้าต้องผสมเองต้องเอาปุ๋ยตัวไหนผสมตัวไหนครับ งงขนาดครับอ้าย


เอาใกล้เคียงก็  16-20-0  กับ 15-15-15  ในอัตราส่วน 2:1  ก็ได้ครับ ถ้าซื้อแม่ปุ๋ยมาอาจมีราคาแพงกว่า แต่หากนามาก ๆ ซื้อแม่ปุ๋ยก็จะประหยัดกว่าครับ แม่ปุ๋ยร้านชวลิต ที่ป่ากล้วย ต.สันทราย อ.เมือง มีขายครับ
ขอบคุณครับพี่อู๋ จะลองหาซื้อก่อน ไม่ได้จริง ๆ ก็เอาตามนั้นครับ
บรรยากาศที่นาพี่ดีมาก ๆ เลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2014, 22:23:41
ขอบคุณครับพี่อู๋ จะลองหาซื้อก่อน ไม่ได้จริง ๆ ก็เอาตามนั้นครับ
บรรยากาศที่นาพี่ดีมาก ๆ เลยครับ


ครับ...ลองหาซื้อดูก่อน  ที่นาตอนทำแรก  ๆ ก็ไม่ได้เป็นแบบนี้หรอกครับ ค่อย ๆ  ปรับปรุงพัฒนาไปเรื่อย ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 มกราคม 2014, 22:28:00
ช่วงนี้ไปทำงานแม่สายบ่อย มักจะเห็น คนพม่าใช้รถแบบนี้ขนของ หากนำมาใช้ที่นาก็คงจะสะดวกดีราคาก็ไม่ได้สูงมาก  คันนี้มีขายที่ย่งเฮงราคา 55,000 บาท หากคันใหญ่กว่านี้ 69,000 บาท  ใครสนใจลองไปสอบถามดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 28 มกราคม 2014, 10:31:19
อั่ยยะ..รถเข้าท่าดีครับ ขับแอ่วสงกรานต์กำน้อ :D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มกราคม 2014, 20:58:08
อั่ยยะ..รถเข้าท่าดีครับ ขับแอ่วสงกรานต์กำน้อ :D ;D ;D

คันนี้ดั้มได้โตยหนาครับ  มีเกียร์ถอยหลัง  ขับเคลื่อนล้อหลังมีเพลาเหมือนรถกระบะครับ ผมก็เล็ง ๆ ไว้คันนึงเหมือนกั๋น เอาไว้ขนกล้าข้าว กับถมดินเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนหน้านี้ไปถามเขาทำกระบะเปิดข้างของรถยนต์ก็ราคาพอ ๆ เท่าราคารถพวกนี้เลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2014, 21:35:52
พรุ่งนี้เริ่มดำนาครับ  วันนี้กว่าจะตรวจเช็กรถดำนาเสร็จก็เกือบทั้งวันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ 2014, 22:06:57
เริ่มปลูกข้าวแล้วตอนนี้น่าจะเสร็จไปประมาณ 12 ไร่ยังคงเหลืออีก 10 ไร่เริ่มปลูกต่อวันเสาร์อาทิตย์นี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Snoopymomo ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2014, 12:39:35
เริ่มปลูกข้าวแล้วตอนนี้น่าจะเสร็จไปประมาณ 12 ไร่ยังคงเหลืออีก 10 ไร่เริ่มปลูกต่อวันเสาร์อาทิตย์นี้ครับ
12ไร่ปลูกกี่วันคับอ้าย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2014, 16:24:14
เริ่มปลูกข้าวแล้วตอนนี้น่าจะเสร็จไปประมาณ 12 ไร่ยังคงเหลืออีก 10 ไร่เริ่มปลูกต่อวันเสาร์อาทิตย์นี้ครับ
12ไร่ปลูกกี่วันคับอ้าย


ของผม 2 วันครึ่งครับ หากทำเต็มที่จริง ๆ 2 วันก็น่าจะได้ครับ ผมไป ๆ มา ๆ เพราะต้องไปดูสล่าที่มาทำหน้าบ้านด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Hi-tech Farm. ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014, 09:43:15
เริ่มปลูกข้าวแล้วตอนนี้น่าจะเสร็จไปประมาณ 12 ไร่ยังคงเหลืออีก 10 ไร่เริ่มปลูกต่อวันเสาร์อาทิตย์นี้ครับ
12ไร่ปลูกกี่วันคับอ้าย


ของผม 2 วันครึ่งครับ หากทำเต็มที่จริง ๆ 2 วันก็น่าจะได้ครับ ผมไป ๆ มา ๆ เพราะต้องไปดูสล่าที่มาทำหน้าบ้านด้วยครับ

สองวันครึ่งนี้ใช้แรงงาน 2 คนแม่นก่อครับ เวลาขนกล้ามีวิธีขนจะไดให้เร็จและสะดวกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014, 15:21:20
เริ่มปลูกข้าวแล้วตอนนี้น่าจะเสร็จไปประมาณ 12 ไร่ยังคงเหลืออีก 10 ไร่เริ่มปลูกต่อวันเสาร์อาทิตย์นี้ครับ
12ไร่ปลูกกี่วันคับอ้าย


ของผม 2 วันครึ่งครับ หากทำเต็มที่จริง ๆ 2 วันก็น่าจะได้ครับ ผมไป ๆ มา ๆ เพราะต้องไปดูสล่าที่มาทำหน้าบ้านด้วยครับ

สองวันครึ่งนี้ใช้แรงงาน 2 คนแม่นก่อครับ เวลาขนกล้ามีวิธีขนจะไดให้เร็จและสะดวกครับ

ครับ  ต้องมีคนช่วยขนกล้าครับ หากขนเองปลูกเองจะใช้เวลานานกว่านี้ครับแถมเหนื่อยโตย ถ้าขนกล้าถ้ามีรถไถบรรทุกกล้าวิ่งในแปลงนาก็จะช่วยประหยัดแรงได้เยอะอยู่ครับแต่ก็บ่าสะดวกเท่าแปลงที่ติดถนนที่สามารถขนกล้าใส่รถบรรทุกหรือล้อพ่วงขนไปวางหัวคันนาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2014, 20:39:24
เสาร์ อาทิตย์นี้ ดำนาเสร็จเรียบร้อยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2014, 20:59:04
บรรยายพิเศษ 3 ฟอรั่ม ทำนาแกล้งข้าว @มจธ

6pWcalPeHjE


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: club88 ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2014, 18:47:50
 ;)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2014, 23:56:54
พี่อู๋ครับตอนนี้ผมใส่ปุ๋ยรอบแรกไปแล้วครับ วันอาทิตย์ที่ผ่านมาข้าวอายุได้ 29 วัน และคงจะใส่ปุ๋ยรอบ 2 ตอนอายุข้าวประมาณ 35 วันไม่เกิน 40 วัน (ตามที่พี่บอกว่าใส่รอบ 2 ตอนข้าวอายุ 30-45 วัน)คงได้ใช่มั้ยครับ
อีกอย่างตอนนี้ผมได้ทำน้ำขี้หมูเหมือนวิดีโอที่พี่เอามาลงครับคิดว่าน่าจะดีและประหยัดปุ๋ย ผมลองโทรไปถามพี่ที่เค้าอยู่ในวิดีโอแล้วนะครับเค้าบอกว่าถ้าพ่นน้ำขี้หมูก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีอย่างอื่นเลยครับ เพียงแค่ตอนเตรียมดินก่อนปลูกเอาขี้หมูใส่ลงไปในนาด้วย เดี๋ยวปีหน้าจะลองดูครับพยายามลดเคมีไปในตัวครับ ขอบคุณสำหรับวิดีโอที่พี่เอามาลงด้วยครับที่ทำให้มีแนวทางใหม่ ๆ ช่วยลดต้นทุนอีกทาง ไม่รู้ว่าพี่เคยลองรึยัง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2014, 16:46:41
พี่อู๋ครับตอนนี้ผมใส่ปุ๋ยรอบแรกไปแล้วครับ วันอาทิตย์ที่ผ่านมาข้าวอายุได้ 29 วัน และคงจะใส่ปุ๋ยรอบ 2 ตอนอายุข้าวประมาณ 35 วันไม่เกิน 40 วัน (ตามที่พี่บอกว่าใส่รอบ 2 ตอนข้าวอายุ 30-45 วัน)คงได้ใช่มั้ยครับ
อีกอย่างตอนนี้ผมได้ทำน้ำขี้หมูเหมือนวิดีโอที่พี่เอามาลงครับคิดว่าน่าจะดีและประหยัดปุ๋ย ผมลองโทรไปถามพี่ที่เค้าอยู่ในวิดีโอแล้วนะครับเค้าบอกว่าถ้าพ่นน้ำขี้หมูก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีอย่างอื่นเลยครับ เพียงแค่ตอนเตรียมดินก่อนปลูกเอาขี้หมูใส่ลงไปในนาด้วย เดี๋ยวปีหน้าจะลองดูครับพยายามลดเคมีไปในตัวครับ ขอบคุณสำหรับวิดีโอที่พี่เอามาลงด้วยครับที่ทำให้มีแนวทางใหม่ ๆ ช่วยลดต้นทุนอีกทาง ไม่รู้ว่าพี่เคยลองรึยัง


ขยันศึกษาความรู้ดีขนาดน้อครับ เยี่ยมเลย  การใส่ปุ๋ยรอบสองลองดูความสมบูรณ์ของต้นข้าวอีกทีก็ได้ครับ  หากใบเริ่มเหลือง ต้นแคระแกรนก็ควรใส่แต่หากยังเขียวเข้มงามอยู่ ก็เลื่อนการใส่ปุ๋ยออกไปอีกหน่อยได้  ถ้าข้าวงามมาก ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคหรือถูกแมลงศัตรูพืชได้เหมือนกันครับ  วิธีการบางอย่างผมก็ยังไม่ได้ลองทำครับ จะติดเรื่องเวลาซะส่วนใหญ่ว่างเฉพาะเสาร์อาทิตย์ หากได้ผลยังไงถ่ายรูปหรือนำผลที่ได้มาลงแชร์ให้กันทราบพ่องเน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2014, 23:27:02
พี่อู๋ครับตอนนี้ผมใส่ปุ๋ยรอบแรกไปแล้วครับ วันอาทิตย์ที่ผ่านมาข้าวอายุได้ 29 วัน และคงจะใส่ปุ๋ยรอบ 2 ตอนอายุข้าวประมาณ 35 วันไม่เกิน 40 วัน (ตามที่พี่บอกว่าใส่รอบ 2 ตอนข้าวอายุ 30-45 วัน)คงได้ใช่มั้ยครับ
อีกอย่างตอนนี้ผมได้ทำน้ำขี้หมูเหมือนวิดีโอที่พี่เอามาลงครับคิดว่าน่าจะดีและประหยัดปุ๋ย ผมลองโทรไปถามพี่ที่เค้าอยู่ในวิดีโอแล้วนะครับเค้าบอกว่าถ้าพ่นน้ำขี้หมูก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีอย่างอื่นเลยครับ เพียงแค่ตอนเตรียมดินก่อนปลูกเอาขี้หมูใส่ลงไปในนาด้วย เดี๋ยวปีหน้าจะลองดูครับพยายามลดเคมีไปในตัวครับ ขอบคุณสำหรับวิดีโอที่พี่เอามาลงด้วยครับที่ทำให้มีแนวทางใหม่ ๆ ช่วยลดต้นทุนอีกทาง ไม่รู้ว่าพี่เคยลองรึยัง


ขยันศึกษาความรู้ดีขนาดน้อครับ เยี่ยมเลย  การใส่ปุ๋ยรอบสองลองดูความสมบูรณ์ของต้นข้าวอีกทีก็ได้ครับ  หากใบเริ่มเหลือง ต้นแคระแกรนก็ควรใส่แต่หากยังเขียวเข้มงามอยู่ ก็เลื่อนการใส่ปุ๋ยออกไปอีกหน่อยได้  ถ้าข้าวงามมาก ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคหรือถูกแมลงศัตรูพืชได้เหมือนกันครับ  วิธีการบางอย่างผมก็ยังไม่ได้ลองทำครับ จะติดเรื่องเวลาซะส่วนใหญ่ว่างเฉพาะเสาร์อาทิตย์ หากได้ผลยังไงถ่ายรูปหรือนำผลที่ได้มาลงแชร์ให้กันทราบพ่องเน้อครับ
คงเป็นเพราะความไม่อยากเสียเงินมาก(งก) เลยเลือกเอาวิธีที่มันไม่ต้องลงทุนมากแต่เห็นผลได้ครับพี่ ก็ใช้เวลาว่าง เสาร์-อาทิตย์ เหมือนกันครับ เห็นผลยังไงจะถ่ายรูปลงให้ดูครับ ^ ^


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2014, 15:17:21

คงเป็นเพราะความไม่อยากเสียเงินมาก(งก) เลยเลือกเอาวิธีที่มันไม่ต้องลงทุนมากแต่เห็นผลได้ครับพี่ ก็ใช้เวลาว่าง เสาร์-อาทิตย์ เหมือนกันครับ เห็นผลยังไงจะถ่ายรูปลงให้ดูครับ ^ ^

นาปรังปีนี้ลงทุนต่ำดีที่สุดครับ  ล่าสุดทางภาคเหนือตอนล่างก็พึ่งจะเกี่ยวข้าวไปไม่กี่วัน ราคารับซื้อของโรงสีก็อยู่ที่ 6.50 บาท เท่านั้นเองครับ ราคาพอ ๆ กับเมื่อ  3-4 ปีก่อน  1 ไร่หากได้ข้าว  1 ตันก็จะได้เงินเพียง 6500 บาท/ไร่เท่านั้น  หากลงทุนมาก ๆ ก็เสี่ยงแทบจะไม่ได้อะไรเลย  ตอนนี้อย่างราคาปุ๋ยเคมีทั่วไปอย่าง ยูเรียก็ กส.ละ 720 บาท  16-20-0 ก็ 730 บาท  ทั่วไปรวมค่าอะไรต่าง ๆ ในการปลูกต่อไร่ก็น่าจะเกิน 3 พันบาทแล้วนะครับ  ปีก่อนบางคนล้มสวนลำใย ล้มสวนมะม่วงมาทำนาตอนนี้ก็คงคิดหนักเหมือนกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2014, 22:00:32

คงเป็นเพราะความไม่อยากเสียเงินมาก(งก) เลยเลือกเอาวิธีที่มันไม่ต้องลงทุนมากแต่เห็นผลได้ครับพี่ ก็ใช้เวลาว่าง เสาร์-อาทิตย์ เหมือนกันครับ เห็นผลยังไงจะถ่ายรูปลงให้ดูครับ ^ ^

นาปรังปีนี้ลงทุนต่ำดีที่สุดครับ  ล่าสุดทางภาคเหนือตอนล่างก็พึ่งจะเกี่ยวข้าวไปไม่กี่วัน ราคารับซื้อของโรงสีก็อยู่ที่ 6.50 บาท เท่านั้นเองครับ ราคาพอ ๆ กับเมื่อ  3-4 ปีก่อน  1 ไร่หากได้ข้าว  1 ตันก็จะได้เงินเพียง 6500 บาท/ไร่เท่านั้น  หากลงทุนมาก ๆ ก็เสี่ยงแทบจะไม่ได้อะไรเลย  ตอนนี้อย่างราคาปุ๋ยเคมีทั่วไปอย่าง ยูเรียก็ กส.ละ 720 บาท  16-20-0 ก็ 730 บาท  ทั่วไปรวมค่าอะไรต่าง ๆ ในการปลูกต่อไร่ก็น่าจะเกิน 3 พันบาทแล้วนะครับ  ปีก่อนบางคนล้มสวนลำใย ล้มสวนมะม่วงมาทำนาตอนนี้ก็คงคิดหนักเหมือนกันครับ
ไม่รู้ว่านาปรังเราจะสามารถปลูกข้าวที่เอามากินเองได้รึเปล่าครับ ถ้าขายไม่ได้ก็ทำนาไว้กินเองแบบปลอดสารเคมีจะได้ไม่ต้องซื้อข้าวกิน หรือไม่งั้นก็คงต้องหันมาทำไร่นาสวนผสม เกษตรผสมผสาน แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเอาล่ะครับ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง 30:30:30:10 ยิ่งพื้นที่มีเยอะก็คงพอที่จะทำอะไรได้ครบวงจรเลยล่ะครับ ขายได้ตลอดปีด้วย ปัญหาก็คงอยู่ที่เงินทุนล่ะมั้งครับ เป็นความฝันของผมเลยครับกับที่ผืนเล็ก ๆ ที่มี ^ ^


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2014, 21:55:28

คงเป็นเพราะความไม่อยากเสียเงินมาก(งก) เลยเลือกเอาวิธีที่มันไม่ต้องลงทุนมากแต่เห็นผลได้ครับพี่ ก็ใช้เวลาว่าง เสาร์-อาทิตย์ เหมือนกันครับ เห็นผลยังไงจะถ่ายรูปลงให้ดูครับ ^ ^

นาปรังปีนี้ลงทุนต่ำดีที่สุดครับ  ล่าสุดทางภาคเหนือตอนล่างก็พึ่งจะเกี่ยวข้าวไปไม่กี่วัน ราคารับซื้อของโรงสีก็อยู่ที่ 6.50 บาท เท่านั้นเองครับ ราคาพอ ๆ กับเมื่อ  3-4 ปีก่อน  1 ไร่หากได้ข้าว  1 ตันก็จะได้เงินเพียง 6500 บาท/ไร่เท่านั้น  หากลงทุนมาก ๆ ก็เสี่ยงแทบจะไม่ได้อะไรเลย  ตอนนี้อย่างราคาปุ๋ยเคมีทั่วไปอย่าง ยูเรียก็ กส.ละ 720 บาท  16-20-0 ก็ 730 บาท  ทั่วไปรวมค่าอะไรต่าง ๆ ในการปลูกต่อไร่ก็น่าจะเกิน 3 พันบาทแล้วนะครับ  ปีก่อนบางคนล้มสวนลำใย ล้มสวนมะม่วงมาทำนาตอนนี้ก็คงคิดหนักเหมือนกันครับ
ไม่รู้ว่านาปรังเราจะสามารถปลูกข้าวที่เอามากินเองได้รึเปล่าครับ ถ้าขายไม่ได้ก็ทำนาไว้กินเองแบบปลอดสารเคมีจะได้ไม่ต้องซื้อข้าวกิน หรือไม่งั้นก็คงต้องหันมาทำไร่นาสวนผสม เกษตรผสมผสาน แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเอาล่ะครับ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง 30:30:30:10 ยิ่งพื้นที่มีเยอะก็คงพอที่จะทำอะไรได้ครบวงจรเลยล่ะครับ ขายได้ตลอดปีด้วย ปัญหาก็คงอยู่ที่เงินทุนล่ะมั้งครับ เป็นความฝันของผมเลยครับกับที่ผืนเล็ก ๆ ที่มี ^ ^

ข้าวนาปรังที่เราปลูกทุกวันนี้ ปลูกกินเองได้ครับ แต่อาจไม่อร่อยเหมือนข้าว กข. 15 และ หอมมะลิ บ้านเราไม่ค่อยชอบกินกันครับ  แต่ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางเขาชอบประมาณนี้ครับ  มีข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงที่สามารถปลูกได้ได้ตลอดทั้งปีอีกหลายพันธุ์ที่น่าสนใจอยู่ที่ขายได้ราคาส่วนใหญ่เป็นข้าวเพื่อสุขภาพ  หากไม่อยากหาตลาดเองก็อาจมาทำเกษตรผสมผสานก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งครับ  ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนที่นาไปครับไม่ต้องรีบ ไม่ต้องกู้เงินมาทำ ค่อย ๆ ศึกษา ค่อย ๆ ทำไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2014, 22:04:26
ข้าวที่ปลูกเริ่มตั้งตัวได้แล้ว หญ้าก็ขึ้นด้วยเหมือนกันบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง ก็เลยต้องกำจัดหญ้าออกบ้างโดยโรตารี่วีดเดอร์ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2014, 22:10:41
นาบางแปลงก็ต้องสูบน้ำเข้าเพื่อให้ระดับน้ำพอดี  เพื่อจะได้ใส่ปุ๋ยได้วันนี้อยู่นาเกือบทั้งวัน นา 22 ไร่ใส่ปุ๋ยเรียบร้อยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2014, 21:30:10
บรรยากาศทุ่งนายามเย็นวันนี้ครับ  ต้นข้าวเริ่มโตขึ้นบ้างแต่ยังไม่พ้นระยะหอยเชอรี่กินครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2014, 21:32:30
ไปดูรูปนาหว่านของคนอื่นบ้างบรรยากาศดีทีเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2014, 21:36:42
แปลงนี้ก็บรรยากาศดีครับ อยู่ใกล้ ๆ บ้านนี่เอง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2014, 13:36:48
แปลงนี้ก็บรรยากาศดีครับ อยู่ใกล้ ๆ บ้านนี่เอง
เข่าท่าดีครับ ดอกก่ได้ขาย ปลาก่ได้กิ๋น ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2014, 16:24:19
แวะมาเยี่ยมเยือนครับ ชาวนาบ้านนี้ขยันจริงๆครับ ทำนาแบบคนรุ่นใหม่ประหยัดต้นทุนไปได้เยอะเลยครับ อ้ายอู๋ไม่ลองปลูกข้าวเพื่อสุขภาพบ้างเหรอครับจะได้ขายได้ในราคาดีๆ :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2014, 21:21:37
แปลงนี้ก็บรรยากาศดีครับ อยู่ใกล้ ๆ บ้านนี่เอง
เข่าท่าดีครับ ดอกก่ได้ขาย ปลาก่ได้กิ๋น ;D ;D

แม่นละครับ  ดอกดาวเรืองเอาไปถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะหมายถึงจะพบแต่ความรุ่งเรือง ถ้าดอกบัวหมายถึง ความสุข, ความสำเร็จ  ป้าข้างบ้านผมปลูกดอกเบญจมาศขายก็รายได้ดีเหมือนกั๋นหนาครับเป็นไม้ล้มลุกออกดอกตลอดปีชอบแสงแดด และมีผลวิจัยว่าดอกเบศจมาศมีประสิทธิภาพ ในการดูดสารพิษสูงมาก จำพวกสารพิษ ฟอร์มาดีไฮด์ เบนซีน และแอมโมเนีย เหมาะสำหรับปลูกในบริเวณบ้านครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2014, 21:26:53
แวะมาเยี่ยมเยือนครับ ชาวนาบ้านนี้ขยันจริงๆครับ ทำนาแบบคนรุ่นใหม่ประหยัดต้นทุนไปได้เยอะเลยครับ อ้ายอู๋ไม่ลองปลูกข้าวเพื่อสุขภาพบ้างเหรอครับจะได้ขายได้ในราคาดีๆ :)

ขอบคุณครับที่มาเยี่ยมเยือน ข้าวเพื่อสุขภาพอยากจะทำอยู่เหมือนกันครับแต่ต้องรอฮื้อพร้อมแหมน้อยก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2014, 21:43:18
 :D....ตั้งแต่ช่วงลงนาปรังไม่ค่อยได้ออนไลน์บ่อย......ของผมลงนาหว่านไป17-18ไร่...นาำดำอีก50ไร่....เหลือแค่ดำนาอีกประมาณ10ไร่พรุ่งนี้คาดว่าจะดำนาเสร็จครับ.....เงินขายข้าวนาปีก็ยังไม่ได้....นาปรังลงทุนไปแสนกว่าๆแล้วครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2014, 16:49:38
:D....ตั้งแต่ช่วงลงนาปรังไม่ค่อยได้ออนไลน์บ่อย......ของผมลงนาหว่านไป17-18ไร่...นาำดำอีก50ไร่....เหลือแค่ดำนาอีกประมาณ10ไร่พรุ่งนี้คาดว่าจะดำนาเสร็จครับ.....เงินขายข้าวนาปีก็ยังไม่ได้....นาปรังลงทุนไปแสนกว่าๆแล้วครับ...

ข้าวนาปรังรอบนี้สงสัยเฮาจะได้ขายฮื้อพ่อค้าหรือโรงสีละก้าครับ  เห็นว่าทางรัฐยังบ่ามีนโยบายรองรับเรื่องราคาข้าวรอบนี้ เฉพาะเรื่องเงินที่จะมาจ่ายฮื้อชาวนาที่ยังบ่าได้รับเงินเตื้อตอนนี้ก็ลำบากแล้ว  ตอนนี้ราคาข้าวนาปรังที่พิษณุโลกก็ประมาณ 6.50 บาท/ ก.ก.เองครับ ที่สุพรรณ 6.90 บาท/ก.ก.  บ่าแน่ใจว่าเชียงรายจะเหลือกี่บาทครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 09:10:24
ตอนเราใส่ปุ๋ยในนาข้าว ต้องรอให้น้ำแห้งก่อนไหมครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 13:06:47
ตอนเราใส่ปุ๋ยในนาข้าว ต้องรอให้น้ำแห้งก่อนไหมครับ ;D

 :D....ปกติผมใส่ปุ๋ยน้ำพอขลุกขลิกครับ....แต่ไม่ใส่ช่วงน้ำไหล


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 14:26:15
ตอนเราใส่ปุ๋ยในนาข้าว ต้องรอให้น้ำแห้งก่อนไหมครับ ;D

 :D....ปกติผมใส่ปุ๋ยน้ำพอขลุกขลิกครับ....แต่ไม่ใส่ช่วงน้ำไหล

ขอบคุณมากครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 14:58:46
ผมกำลังทำนา ปีนี้ปีแรก ซึ่งไม่เคยปลูกครับ และผมจ้างรถปลูก ตอนนี้ปลูกได้ 17 วันแล้ว ผมใช้ยาคุมหญ้า หมาแดง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และผมจะต้องใส่ปุ๋ยอีกเมื่อไหร่ครับ และใช้ปุ๋ยสูตรอะไรดี ครับ ขอความรู้หน่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 16:00:59
ตอนเราใส่ปุ๋ยในนาข้าว ต้องรอให้น้ำแห้งก่อนไหมครับ ;D

 :D....ปกติผมใส่ปุ๋ยน้ำพอขลุกขลิกครับ....แต่ไม่ใส่ช่วงน้ำไหล

ขอบคุณมากครับ...

ตามท่าน bm เลยครับ น้ำมากเกินไปจะไปเจือจางปุ๋ย ยิ่งน้ำไหลจะพัดพาธาตุอาหารที่เกิดจากการละลายไปกับน้ำได้ครับข้าวจะงามเป็นจุด  ๆ  การใส่ปุ๋ยโดยที่น้ำพอเหมาะช่วยประหยัดปุ๋ยได้มากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 16:22:19
ผมกำลังทำนา ปีนี้ปีแรก ซึ่งไม่เคยปลูกครับ และผมจ้างรถปลูก ตอนนี้ปลูกได้ 17 วันแล้ว ผมใช้ยาคุมหญ้า หมาแดง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และผมจะต้องใส่ปุ๋ยอีกเมื่อไหร่ครับ และใช้ปุ๋ยสูตรอะไรดี ครับ ขอความรู้หน่อย

หากวัชพืชตายบ้างแล้วก็ใส่ปุ๋ยได้เลยครับ ที่จริงใส่ได้ตั้งแต่หลังปลูกประมาณ 1 สัปดาห์แล้วครับเพราะรากของต้นข้าวหลังจากที่ขาดจากส้อมปักดำของรถดำนาจะสามารถสร้างรากใหม่เพื่อหาอาหารเองได้แล้วครับ ใส่ปุ๋ยระยะแรกเพื่อสร้างรากและลำต้น หากจะเร่งลำต้นก็ปุ๋ยไนโตรเจนหรือยูเรียมากหน่อยครับ  บางคนก็ใส่แต่ยูเรียนำไปก่อนซักสัปดาห์ แล้วค่อยตามด้วย 16-20-0 ก็มีครับ หรืออาจใส่พร้อมกัน 16-20-0 + 46-0-0  ก็ได้ครับราคาพอ ๆ กันจะดีกว่าใส่ 16-20-0 อย่างเดียว นาปลูกจะประหยัดปุ๋ยกว่านาหว่านน้ำตมมากครับ  ผมก็ปลูกรถดำนา นาผม 22 ไร่ตอนนี้ใส่ปุ๋ยรอบแรกไป 2 กส. ใช้เครื่องพ่นครับ จะไปหนักปุ๋ยในช่วงเร่งการแตกกอ และเริ่มตั้งท้องมากกว่าครับ  ช่วงนี้ข้าวต้นยังเล็กเหมือนเด็กการกินอาหารซึ่งก็กินไม่เยอะเท่าช่วงวัยรุ่น ให้เกินความจำเป็นก็ใบงามเกินไปอาจเป็นโรคหรือล่อแมลงมาได้ครับ   :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 21:05:05
ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง

          การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องนั้นหมายถึง สูตร เรโชและรูปของธาตุอาหารในปุ๋ย ปุ๋ยเคมีจะมีทั้งสามอย่างนี้แตกต่างกันออกไปอย่างกว้างขวาง
         สูตรปุ๋ย หรือบางทีเรียกว่า "เกรดปุ๋ย" หมายถึง  ตัวเลขเขียนบอกปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมีโดยบอกเป็นค่าของเปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักของปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (N) ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (P2 O5) และปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ (K2O) สูตรปุ๋ยจะเขียนไว้ที่ภาชนะบรรจุปุ๋ยเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น 20-10-5 ตัวเลขแรกจะบอกปริมาณไนโตรเจนว่ามีอยู่หนัก ๒๐ กิโลกรัม เลขที่สองบอกปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีอยู่ ๑๐ กิโลกรัมเลขตัวที่สามบอกปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้มีอยู่ ๕ กิโลกรัม รวมเป็นธาตุอาหารทั้งหมด ๓๕ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม และเป็นที่ทราบกันเป็นสากลว่าเลขตัวแรก คือ ไนโตรเจนตัวกลาง คือ ฟอสฟอรัส ตัวสุดท้าย คือ โพแทสเซียม จะไม่มีการสลับที่กัน จึงไม่จำเป็นต้องเขียนตัวหนังสือกำกับไว้
          เมื่อดินขาดธาตุอาหาร N P และ K ชนิดของธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใส่ก็จะต้องมีธาตุ N P และ K แต่ถ้าดินขาดธาตุอาหาร N และ P ส่วน K ในดินตามธรรมชาติมีเพียงพออยู่แล้ว ธาตุอาหารในปุ๋ยก็ควรจะมีแต่ N และ P เท่านั้น อาทิ ดินนาในภาคกลางซึ่งขาดแต่ N และ P เป็นส่วนใหญ่ปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าวจึงมีแต่ N และ P เท่านั้น เช่น  ปุ๋ยสูตร 18-46-0, 28-28-0, 20-20-0 และ 16-20-0 เป็นต้น
          สำหรับ "เรโช" ของปุ๋ยนั้น เป็นสัดส่วนเปรียบเทียบกันระหว่างธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในสูตรปุ๋ยเรโชปุ๋ยจะบอกเป็นตัวเลขลงตัวน้อยๆ ระหว่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส (P2 O5 ) และโพแทสเซียม (K2 O) ของสูตรปุ๋ยนั้นๆ เช่น6-16-8 เท่ากับเรโช 2:2:1 ได้จากการหารตลอดด้วย 8 20-10-5 เท่ากับเรโช 4:2:1 ได้จากการหารตลอดด้วย 5
          ปุ๋ยเรโชเดียวกันสามารถมีได้หลายสูตร เช่น ปุ๋ยเรโช 1:1:1 จะมีสูตร เช่น

          สูตร                        เรโช                  ธาตุอาหารรวม กก./ปุ๋ย 100 กก.
          10-10-10               1:1:1                            30
          15-15-15               1:1:1                            45
          20-20-20               1:1:1                            60

          นั่นคือ ปุ๋ยสูตรต่างๆ ที่มีเรโชเดียวกัน จะแตกต่างกันที่ปริมาณธาตุอาหารรวม ที่มีอยู่ในปุ๋ย เช่น สูตร 10-10-10 มีธาตุอาหารรวม N P K หนัก ๓๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ส่วนปุ๋ย 20-20-20 มีธาตุอาหารรวมหนัก ๖๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปุ๋ยสูตรแรกเท่าตัว ปุ๋ยที่มีเรโชเดียวกัน จะบอกให้ทราบว่าเป็นปุ๋ยชนิดเดียวกัน สามารถใช้แทนกันได้ ดังนั้นถ้าใช้ปุ๋ย 10-10-10 อยู่โดยใช้อัตรา ๕๐ กก./ ไร่ สามารถเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย 20-20-20 แทนได้แต่เนื่องจากปุ๋ยนี้มีธาตุอาหารรวมมากกว่า ก็จะต้องลดอัตราที่ใช้ให้น้อยลง คือใช้เพียง ๒๕ กก./ ไร่ เท่านั้น ก็จะได้ธาตุอาหารที่เท่ากัน
          ปุ๋ยเคมีจะมีสัดส่วนระหว่าง N:P:K แตกต่างกันแล้วแต่จะนำไปใช้กับชนิดของพืช และกับที่ดินที่มีระดับธาตุอาหาร N P และ K แตกต่างกันอย่างไร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องก็จะต้องรู้จักดินและรู้จักพืชที่ปลูกเสียก่อน ทั้งนี้เนื่องจากดินแต่ละแห่งและแต่ละชนิดจะมีระดับธาตุอาหารปุ๋ยในดินแตกต่างกันส่วนพืชที่ปลูกต่างชนิดกันหรือแม้แต่อายุพืชแตกต่างกันก็มีความต้องการธาตุอาหาร N P K ในปริมาณและสัดส่วนเพื่อการเจริญเติบโตและสร้างผลิตผลแตกต่างกันเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน
          ระดับธาตุอาหารพืชในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมีอยู่มากน้อยเท่าใดนั้นสามารถตรวจสอบได้ด้วยการส่งตัวอย่างดินที่เป็นตัวแทนของไร่นานั้นๆ มาทำการวิเคราะห์ทางเคมีจะใช้เป็นปุ๋ยเร่งต้นเร่งใบ เหมาะสำหรับพืชผักกินใบหรือเร่งการเจริญเติบโตทางด้านต้น และเร่งให้พืชโตเร็วในระยะแรกของการเจริญเติบโต ในกรณีที่ดินขาด N อย่างรุนแรงส่วน P และ K มีอยู่ในดินระดับปานกลาง หรือค่อนข้างสูง การใช้ปุ๋ยเคมีที่เรโชของ N สูงๆ ก็จะเป็นการช่วยปรับระดับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร N P K ในดินให้เหมาะสมแก่พืชที่ปลูกได้ดีขึ้น หรือในกรณีของดินนาทางภาคอีสานและภาคใต้ของประเทศไทย ระดับ ความเป็นประโยชน์ของ K ในดินค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับดินนาทางภาคกลาง ดังนั้น ปุ๋ยนาที่แนะนำให้ใช้ในทางภาคอีสานและภาคใต้จึงควรมี K รวมอยู่ด้วย แต่เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่า N และ P เช่น เรโช 2:2:1 เช่นสูตร 16-16- 8 หรือ 2:2:1 เช่นสูตร 18-12-6 แทนที่จะเป็น 16- 20-0 หรือ 20-20-0 เช่น ปุ๋ยนาในภาคกลาง ดังนี้เป็นต้น


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 21:09:56
ใส่ปุ๋ยในปริมาณที่พอเหมาะ

          ปริมาณปุ๋ยที่พอเหมาะนี้ หมายถึง จำนวนหรืออัตราปุ๋ยที่ใช้ต่อไร่หรือต่อต้นที่พืชจะได้รับความพอเหมาะนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ พอเหมาะในแง่ของปริมาณที่พืชควรจะได้รับเพื่อให้ได้ผลิตผลสูงสุด ถ้าน้อยกว่านั้นก็จะทำให้พืชไม่เจริญเติบโตและให้ผลิตผลสูงเท่าที่ควร หรือถ้าให้มากเกินกว่านั้นก็อาจเป็นพิษแก่พืชหรือจะไม่ทำให้พืชเติบโตและให้ผลิตผลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งก็คือ พอเหมาะในแง่ของหลักเศรษฐกิจ กล่าวคือ ปริมาณของปุ๋ยที่ใช้จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับราคาของปุ๋ย และราคาของผลิตผลที่จะขายได้เสียก่อน การใช้ปุ๋ยที่พอเหมาะในแง่นี้เป็นการใส่ปุ๋ยจำนวนหนึ่ง (ต่อไร่หรือต่อต้น) ซึ่งจะมีผลทำให้ผลิตผลสูงขึ้นที่ระดับหนึ่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตผลสูงสุด) อันจะทำให้ได้กำไรต่อเงินลงทุนในการซื้อปุ๋ยมาใช้มากที่สุด
          การพิจารณาความพอเหมาะพอดีของจำนวนปุ๋ยหรืออัตราปุ๋ยที่จะใช้ จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ หลายประการมาประกอบ การพิจารณา อาทิ ชนิดของพืช ระดับความชื้นและความอุดมสมบูรณ์เดิมของดิน วิธีการปลูก การดูแลและการบำรุงรักษาของกสิกร ตลอดจนราคาของปุ๋ยและของพืชที่ปลูกประกอบด้วย

ใส่ปุ๋ยให้พืชในขณะที่พืชต้องการ

          พืชที่ปลูกในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารมักจะแคระแกร็น และให้ผลิตผลต่ำ การใส่ปุ๋ยจะช่วยยกระดับธาตุอาหารที่ขาดแคลนให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินเดียวกันกับพืชชนิดเดียวกัน อาจจะให้ผลแตกต่างกันได้เป็นอย่างมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา (timing) ของการให้ปุ๋ยแก่พืชนั้น ตรงกับระยะเวลาที่พืชมีความต้องการธาตุอาหารนั้นๆ มากที่สุดหรือไม่ ช่วงจังหวะความต้องการธาตุอาหารมากที่สุดของพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป พืชที่มีอายุสั้น เช่น  พืชไร่และข้าว จะมีจังหวะการดึงดูดธาตุอาหารที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดอย่างน้อย ๓ ช่วงด้วยกันคือ (๑) ช่วงแรกที่พืชเริ่มงอกและการเติบโตในระยะ  ๓๐-๔๕ วันแรก พืชมักจะต้องการธาตุอาหารน้อยและช้า เพราะระยะนี้ระบบรากยังน้อย และต้นยังเล็กอยู่ (๒) ช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารเป็นจำนวนมาก สำหรับข้าวจะเป็นระยะที่กำลังแตกกอและระยะที่กำลังสร้างตาดอก ถ้าเป็นข้าวโพดจะเป็นระยะที่มีอายุ ๔๕ - ๖๐ วัน ถ้าเป็นข้าวก็ระยะประมาณ ๓๐ วัน ก่อนออกดอก และ (๓) ช่วงที่มีการเติบโตเต็มที่แล้วและเป็นระยะสร้างเมล็ดหรือสร้างผล ความต้องการธาตุอาหารในระยะนี้จะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งฝักหรือเมล็ดแก่
          ระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารจากดินมากที่สุดและดึงดูดธาตุอาหารจากดินในอัตราที่รวดเร็วมากที่สุดก็คือ ช่วงที่สอง เพราะเป็นระยะที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและต้องการสะสมธาตุอาหารไว้ในต้นและใบ ให้เพียงพอสำหรับการสร้างเมล็ดและผลที่จะมีขึ้นในช่วงที่สาม ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืชระยะที่สำคัญก็คือ ระยะที่สองนี้ ซึ่งพืชควรจะได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยที่ให้เพียงพอที่สุด
          ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืชจึงต้องแบ่งใส่จังหวะการใส่ควรให้พอเหมาะกับระยะที่พืชต้องการจะยังผลให้ประสิทธิภาพของปุ๋ยที่ใส่สูงความเหมาะสมของจังหวะเวลาการให้ปุ๋ยกับพืชได้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง พืชแต่ละชนิดจะมีช่วงที่ควรจะแบ่งใส่ปุ๋ยเพื่อให้มีผลดีแก่พืชมากที่สุดแตกต่างกันออกไป แต่อาจจะถือเป็นหลักเกณฑ์กว้างๆ ได้คือ
         ๑. การแบ่งใส่ปุ๋ยมักจะให้ผลดีกว่าการใส่ปุ๋ยจำนวนเดียวกันนั้นเพียงครั้งเดียวตอนปลูก ยกเว้นเมื่อใช้ปุ๋ยในอัตราต่ำมากๆ
         ๒. การใส่ครั้งแรกคือใส่ตอนปลูก ควรใส่แต่น้อย โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทสนั้นจะใส่ทั้งหมดในตอนปลูกก็ได้
         ๓. การใส่ครั้งที่สองควรใส่ระยะที่พืชกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ระหว่างระยะแตกกอสูงสุดถึงใกล้ออกดอก ส่วนใหญ่การใส่ครั้งที่สองจะเป็นปุ๋ยไนโตรเจน ถ้าอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้สูงมากๆ การแบ่งใส่ควรเป็นสามครั้งคือ  ตอนปลูก ตอนเริ่มการเติบโตอย่างรวดเร็วและตอนระยะใกล้ออกดอก และจะไม่ช้าไปกว่าระยะหลังจากพืชออกดอกแล้ว หรือระยะที่พืชเริ่มแก่

ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด

         นอกจากจังหวะการใส่แล้ว วิธีการใส่เพื่อให้พืชดึงดูดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากในทันทีทันใดที่ปุ๋ยลงไปอยู่ในดิน ปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนย้ายของปุ๋ยจะเกิดขึ้นทันที
         ธาตุไนโตรเจนในปุ๋ยจะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วมากเพราะละลายน้ำได้ง่าย ไนโตรเจนในรูปไนเทรตจะถูกน้ำพัดพาออกไปจากชั้นของดินได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารากพืชดึงดูดเอาไว้ไม่ทันก็จะสูญเสียไปหมดและไม่เกิดประโยชน์ต่อพืชแต่อย่างใด ปกติแล้วปุ๋ยไนโตรเจนในดินจะสูญเสียไปโดยการชะล้างประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ใส่ลงไป ไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียม ถึงแม้จะดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ และถูกชะล้างได้ยากก็จริง เมื่อดินมีการถ่ายเทอากาศดีจะถูกแปรรูปโดยจุลินทรีย์ในดินจะทำปฏิกิริยาเพิ่มออกซิเจน (oxidized) ให้กลายเป็นไนเทรต (NO3- N) ได้ง่ายและเร็วมาก
          ฟอสฟอรัสในปุ๋ยถึงแม้จะละลายน้ำได้ง่ายแต่เมื่ออยู่ในดินจะทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับแร่ธาตุต่างๆ ในดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก ความเป็นประโยชน์ต่อพืชลดลง และไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ดังนั้นเมื่อใส่ปุ๋ยฟอสเฟตตรงจุดไหน ฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ง่ายก็มักจะอยู่ตรงจุดนั้น ถ้าจะเคลื่อนย้ายจากจุดเดิมก็เป็นระยะใกล้ๆ ในรัศมี ๑-๕ ซม. เท่านั้น ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตให้กับพืชจึงต้องให้อยู่ใกล้กับรากมากที่สุดเพื่อที่รากจะไม่เป็นอันตรายจากปุ๋ยนั้น การใส่บนผิวดินจะเป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยกว่าใส่ใต้ผิวดินในบริเวณที่รากจะแพร่กระจายไปได้ถึงซึ่งผิดกับปุ๋ยไนโตรเจนที่ใส่บนผิวดินก็สามารถซึมลงมายังบริเวณรากที่อยู่ใต้ผิวดินได้ง่าย ดังนั้นการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนใต้ผิวดินจึงไม่มีข้อดีไปกว่าใส่บนผิวดิน
           ปุ๋ยโพแทสเซียมจะเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่าฟอสเฟตแต่จะช้ากว่าไนโตรเจน โพแทสเซียมในปุ๋ยละลายน้ำได้ง่ายพอๆ กับไนโตรเจนก็จริงแต่เนื่องจากมีประจุบวกซึ่งดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ จึงถูกชะล้างได้ยาก แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ได้ง่ายแก่พืชอยู่ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมจึงสามารถใส่บนผิวดินหรือใต้ผิวดินก็ได้ แต่การเคลื่อนย้ายจะช้ากว่าไนโตรเจนและในเวลาเดียวกันการสูญเสียโดยการชะล้างก็จะน้อยกว่าด้วย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 21:30:35
ช่วงนี้ก็ลองปลูกพืชตัวอื่นอยู่ ทำเล็ก ๆ ครับลองปลูกเพื่อศึกษาว่าพืชตัวไหน การเจริญเติบโตเป็นยังไง  การดูแลรักษา  โรคและแมลงที่พบ  แต่ก็คงแนวคิดเดิมคือไม่ใช้สารเคมีอันตรายทั้งยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช จะดูความต้านทานของเค้า พืชตัวไหนดีก็ขยายปลูกเพิ่มครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2014, 21:34:26
ต้นข้าววันนี้มีการเจริญเติบโตมากขึ้น เริ่มมีวัชพืชขึ้นบ้างแล้วเพราะไม่ได้ใส่สารคุมหรือกำจัดวัชพืชครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2014, 15:34:03
ขอบคุณมากครับ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมายครับ  และมีปัญหา มากอีก หนึ่งรายการ มีหอยเชอรี่ มากัดกินต้นกล้า อีกแล้ว ข้าวตาย  ไปเยอะมาก ผมก็ใช้ยาที่ฆ่าหอยเป็นเม็ด สีชมพู และยาน้ำ มันก็ตายไม่หมด ปวดหัวกับหอยอีกแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2014, 21:03:55
ขอบคุณมากครับ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมายครับ  และมีปัญหา มากอีก หนึ่งรายการ มีหอยเชอรี่ มากัดกินต้นกล้า อีกแล้ว ข้าวตาย  ไปเยอะมาก ผมก็ใช้ยาที่ฆ่าหอยเป็นเม็ด สีชมพู และยาน้ำ มันก็ตายไม่หมด ปวดหัวกับหอยอีกแล้ว

นาที่ทำทั้งนาปี นาปรัง โดยเฉพาะนาชลประทานมันเจอปัญหาหอยเชอรี่เหมือนกันหมดครับ ของผมก็เสียหายจากหอยเชอรี่เหมือนกันครับ นาที่ใช้สารเคมีอันตรายมักจะเสียหายน้อย แต่ก็ไม่ปลอดภัยกับชาวนาด้วยเช่นกันครับ แต่ก็มีชาวนาหลายท่านเหมือนกันที่มีวิธีกำจัดหอยเชอรี่แบบวิธีทางธรรมชาติครับ

http://www.gotoknow.org/posts/443650 (http://www.gotoknow.org/posts/443650)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2014, 21:39:30
วันนี้แวะไปดูสวนครับ ไม่ได้ดูแลซะนานเลยตั้งแต่ข้าวราคาแพง วัชพืชขึ้นเต็มไปหมดแต่ต้นไม้ต่าง ๆ ยังรอดอยู่เพราะปลูกทิ้งไว้นานแล้วครับ เดี๋ยวหากข้าวโตมากกว่านี้คงไปจัดการสวนต่อ เพราะหากข้าวราคาต่ำลงก็ต้องไปหารายได้อย่างอื่นเพิ่มทดแทนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2014, 21:43:41
แปลงนายามเย็นครับ ต้นข้าวเริ่มโตขึ้นแต่ยังไม่พ้นระยะหอยเชอรี่กิน แปลงนาเสียหายจากหอยเชอรี่บ้าง แต่ไม่มากเหมือนตอนนาปีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2014, 09:54:15
แวะมาผ่อ มากอย ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2014, 14:22:20
พรุ่งนี้เริ่มดำนาครับ  วันนี้กว่าจะตรวจเช็กรถดำนาเสร็จก็เกือบทั้งวันครับ

รถไถรุ่นนี้ซื้อที่ไหนครับและราคาเท่
าไหร่ครับ ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2014, 20:42:37
พรุ่งนี้เริ่มดำนาครับ  วันนี้กว่าจะตรวจเช็กรถดำนาเสร็จก็เกือบทั้งวันครับ

รถไถรุ่นนี้ซื้อที่ไหนครับและราคาเท่
าไหร่ครับ ขอบคุณครับ


ซื้อที่ทวียนต์ครับ เป็นรุ่นท๊อปของรุ่นนี้เพราะมีลิฟยกล้อด้านหลัง มีชุดดันดินให้ ราคาตอนนั้น 175,000 บาทครับ หากเป็นรุ่นอื่นไม่มีดันดินและลิฟยกล้อ ราคา 125,000 บาท ตอนนี้ทางคูโบต้ายกเลิกการผลิตไปแล้ว แต่ยังมีอะไหล่ให้เปลี่ยนตามปกติ เครื่องยนต์ดีเซล 14 แรงม้า มีเพลา PTO สามารถติดจอบหมุนได้ เห็นทางอยุธยามีรถพวกนี้ขายมือสองเยอะอยู่ครับราคาประมาณ 9 หมื่นกว่าบาท  หรือซื้อรถไทยประดิษฐ์แทนครับแถวภาคกลางพอมีโรงงานผลิตอยู่แต่อุปกรณ์ความปลอดภัยด้อยกว่าคูโบต้าอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2014, 22:59:47
พรุ่งนี้เริ่มดำนาครับ  วันนี้กว่าจะตรวจเช็กรถดำนาเสร็จก็เกือบทั้งวันครับ

รถไถรุ่นนี้ซื้อที่ไหนครับและราคาเท่
าไหร่ครับ ขอบคุณครับ


ซื้อที่ทวียนต์ครับ เป็นรุ่นท๊อปของรุ่นนี้เพราะมีลิฟยกล้อด้านหลัง มีชุดดันดินให้ ราคาตอนนั้น 175,000 บาทครับ หากเป็นรุ่นอื่นไม่มีดันดินและลิฟยกล้อ ราคา 125,000 บาท ตอนนี้ทางคูโบต้ายกเลิกการผลิตไปแล้ว แต่ยังมีอะไหล่ให้เปลี่ยนตามปกติ เครื่องยนต์ดีเซล 14 แรงม้า มีเพลา PTO สามารถติดจอบหมุนได้ เห็นทางอยุธยามีรถพวกนี้ขายมือสองเยอะอยู่ครับราคาประมาณ 9 หมื่นกว่าบาท  หรือซื้อรถไทยประดิษฐ์แทนครับแถวภาคกลางพอมีโรงงานผลิตอยู่แต่อุปกรณ์ความปลอดภัยด้อยกว่าคูโบต้าอยู่ครับ
ผมชอบรูปแบบง่ายๆของรถรุ่นนี้ มีครบ เคยไปดู ติอย่างคือ มีสายพานที่อันตราย ขวางเท้า ไม่สะดวกขึ้นลง หรือเวลาฉุกเฉิน ผมกลัวเท้าไปสะดุด


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2014, 09:10:56
พรุ่งนี้เริ่มดำนาครับ  วันนี้กว่าจะตรวจเช็กรถดำนาเสร็จก็เกือบทั้งวันครับ

รถไถรุ่นนี้ซื้อที่ไหนครับและราคาเท่
าไหร่ครับ ขอบคุณครับ


ซื้อที่ทวียนต์ครับ เป็นรุ่นท๊อปของรุ่นนี้เพราะมีลิฟยกล้อด้านหลัง มีชุดดันดินให้ ราคาตอนนั้น 175,000 บาทครับ หากเป็นรุ่นอื่นไม่มีดันดินและลิฟยกล้อ ราคา 125,000 บาท ตอนนี้ทางคูโบต้ายกเลิกการผลิตไปแล้ว แต่ยังมีอะไหล่ให้เปลี่ยนตามปกติ เครื่องยนต์ดีเซล 14 แรงม้า มีเพลา PTO สามารถติดจอบหมุนได้ เห็นทางอยุธยามีรถพวกนี้ขายมือสองเยอะอยู่ครับราคาประมาณ 9 หมื่นกว่าบาท  หรือซื้อรถไทยประดิษฐ์แทนครับแถวภาคกลางพอมีโรงงานผลิตอยู่แต่อุปกรณ์ความปลอดภัยด้อยกว่าคูโบต้าอยู่ครับ
ผมชอบรูปแบบง่ายๆของรถรุ่นนี้ มีครบ เคยไปดู ติอย่างคือ มีสายพานที่อันตราย ขวางเท้า ไม่สะดวกขึ้นลง หรือเวลาฉุกเฉิน ผมกลัวเท้าไปสะดุด

ถ้าเรื่องเทคโนโลยีและความปลอดภัยต้องยกให้ญี่ปุ่นเค้าล่ะครับ บ้านเราหากทันสมัยมากเกินไปคนใช้งานก็จะลำบากเพราะชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2014, 15:21:05
วันนี้แวะไปดูสวนครับ ไม่ได้ดูแลซะนานเลยตั้งแต่ข้าวราคาแพง วัชพืชขึ้นเต็มไปหมดแต่ต้นไม้ต่าง ๆ ยังรอดอยู่เพราะปลูกทิ้งไว้นานแล้วครับ เดี๋ยวหากข้าวโตมากกว่านี้คงไปจัดการสวนต่อ เพราะหากข้าวราคาต่ำลงก็ต้องไปหารายได้อย่างอื่นเพิ่มทดแทนครับ
สวนวิวสวยดีครับมองไปได้ไกล ลำใยก็ติดดอกเยอะ ถ้าปีนี้ราคาดีน่าจะได้เงินหลายตังค์อยู่นะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2014, 20:23:46
วันนี้แวะไปดูสวนครับ ไม่ได้ดูแลซะนานเลยตั้งแต่ข้าวราคาแพง วัชพืชขึ้นเต็มไปหมดแต่ต้นไม้ต่าง ๆ ยังรอดอยู่เพราะปลูกทิ้งไว้นานแล้วครับ เดี๋ยวหากข้าวโตมากกว่านี้คงไปจัดการสวนต่อ เพราะหากข้าวราคาต่ำลงก็ต้องไปหารายได้อย่างอื่นเพิ่มทดแทนครับ
สวนวิวสวยดีครับมองไปได้ไกล ลำใยก็ติดดอกเยอะ ถ้าปีนี้ราคาดีน่าจะได้เงินหลายตังค์อยู่นะครับ

ฝนทิ้งช่วงเมินขนาดครับ ปีนี้เห็นทั้งลำใยและมะม่วงแต่ละที่ก็ออกดอกกั๋นนัก ที่สวนก็ปอบ่าได้ตัดหญ้าก็กลัวไฟไหม้เหมือนกั๋นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2014, 16:11:08
ผักพื้นบ้าน บ้านเราเรียกว่าผักจุมปา หาได้ตามท้องไร่ท้องนาหน้าฝน

HdGwrY5lj58



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2014, 16:13:28
ผักพื้นบ้าน ผักหระ

w9s-lDNe5XE


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2014, 21:19:53
ขอความรู้หน่อยครับ เกี่ยวกับการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ในนา เนื่องจากผมดี มอเตอร์ไฟ้า มีทั้ง ๒ แรง และ ๓ แรง ถามว่าผมต้องใช้ ปั้มหอยโข่ง แบบใหนดีครับ เนื่องจากผมไม่เคยใช้ครับ ผมไปถามร้านขาย แต่ละร้านเขาแนะนำไม่เหมือนกันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2014, 16:11:20
ขอความรู้หน่อยครับ เกี่ยวกับการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ในนา เนื่องจากผมดี มอเตอร์ไฟ้า มีทั้ง ๒ แรง และ ๓ แรง ถามว่าผมต้องใช้ ปั้มหอยโข่ง แบบใหนดีครับ เนื่องจากผมไม่เคยใช้ครับ ผมไปถามร้านขาย แต่ละร้านเขาแนะนำไม่เหมือนกันครับ


ปั้มหอยโขงจะมีทั้งแบบมีมอเตอร์ในตัวจากผู้ผลิตเรียบร้อยก็มีและแบบติดตั้งมอเตอร์ภายนอกก็มีครับ  ปั้มที่สำเร็จรูปเค้าจะมีการคำนวณอัตราการไหลของน้ำ  ลิตร/นาที ให้เรียบร้อยตามความต้องการ มอเตอร์มีทั้งชนิดใช้ไฟ 2 เฟสและ 3 เฟส  แต่หากมีมอเตอร์อยู่แล้วก็ซื้อแบบต่อเพิ่มมาครับแต่ต้องดูว่าสามารถใช้กับมอเตอร์ของเราได้หรือไม่ บางรุ่นทำมาสำหรับพ่วงกับเครื่องยนต์ ถ้าไปซื้อก็เลือกรุ่นที่รองรับกับมอเตอร์ที่เรามีและอัตราการไหลของน้ำครับ นาหลายไร่ก็ต้องใช้น้ำมากปั้มน้ำก็ต้องเป็นรุ่นที่สูบน้ำได้มาก หากสูบได้น้อยมอเตอร์ก็ต้องทำงานนาน เปลืองไฟอีกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2014, 16:24:31
ปริมาณน้ำที่ได้ควรจะประมาณนี้ครับสำหรับสูบน้ำเข้านาแต่ในภาพเป็นแบบใช้เครื่องยนต์ หน้าแปลนก็ต้องรองรับท่อขนาด 2-3 นิ้วได้ 3 นิ้วน่าจะเหมาะสำหรับดูดน้ำเข้า เห็นแปลงนาที่หน้าสนามกีฬากลางใช้ก็ปั้มไฟฟ้าเหมือนกันน้ำที่ได้ก็พุ่งแรงอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2014, 21:54:57
ขอความรู้หน่อยครับ เกี่ยวกับการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ในนา เนื่องจากผมดี มอเตอร์ไฟ้า มีทั้ง ๒ แรง และ ๓ แรง ถามว่าผมต้องใช้ ปั้มหอยโข่ง แบบใหนดีครับ เนื่องจากผมไม่เคยใช้ครับ ผมไปถามร้านขาย แต่ละร้านเขาแนะนำไม่เหมือนกันครับ


 :D....ปั๊มหอยโข่งแบบล่อน้ำเองขนาด3นิ้วใช้กับมอเตอร์3แรงครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2014, 22:21:01
วันนี้แวะไปดูสวนครับ ไม่ได้ดูแลซะนานเลยตั้งแต่ข้าวราคาแพง วัชพืชขึ้นเต็มไปหมดแต่ต้นไม้ต่าง ๆ ยังรอดอยู่เพราะปลูกทิ้งไว้นานแล้วครับ เดี๋ยวหากข้าวโตมากกว่านี้คงไปจัดการสวนต่อ เพราะหากข้าวราคาต่ำลงก็ต้องไปหารายได้อย่างอื่นเพิ่มทดแทนครับ
สวนสวยดี เสียดายบ้านผมอยู่ไกลดอย เลยไม่มีสวนสวยๆอย่างนี้
ขอความรู้หน่อยครับ เกี่ยวกับการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ในนา เนื่องจากผมดี มอเตอร์ไฟ้า มีทั้ง ๒ แรง และ ๓ แรง ถามว่าผมต้องใช้ ปั้มหอยโข่ง แบบใหนดีครับ เนื่องจากผมไม่เคยใช้ครับ ผมไปถามร้านขาย แต่ละร้านเขาแนะนำไม่เหมือนกันครับ


 :D....ปั๊มหอยโข่งแบบล่อน้ำเองขนาด3นิ้วใช้กับมอเตอร์3แรงครับ...
ผมใช้อยู่เช่นกันใช้ไฟ 2ชั่วโมง ประมาณ3หน่วย ท่านอื่นสิ้นเปลืองประมาณเท่าไรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2014, 18:20:59
วันนี้แวะไปดูสวนครับ ไม่ได้ดูแลซะนานเลยตั้งแต่ข้าวราคาแพง วัชพืชขึ้นเต็มไปหมดแต่ต้นไม้ต่าง ๆ ยังรอดอยู่เพราะปลูกทิ้งไว้นานแล้วครับ เดี๋ยวหากข้าวโตมากกว่านี้คงไปจัดการสวนต่อ เพราะหากข้าวราคาต่ำลงก็ต้องไปหารายได้อย่างอื่นเพิ่มทดแทนครับ
สวนสวยดี เสียดายบ้านผมอยู่ไกลดอย เลยไม่มีสวนสวยๆอย่างนี้
ขอความรู้หน่อยครับ เกี่ยวกับการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ในนา เนื่องจากผมดี มอเตอร์ไฟ้า มีทั้ง ๒ แรง และ ๓ แรง ถามว่าผมต้องใช้ ปั้มหอยโข่ง แบบใหนดีครับ เนื่องจากผมไม่เคยใช้ครับ ผมไปถามร้านขาย แต่ละร้านเขาแนะนำไม่เหมือนกันครับ


 :D....ปั๊มหอยโข่งแบบล่อน้ำเองขนาด3นิ้วใช้กับมอเตอร์3แรงครับ...
ผมใช้อยู่เช่นกันใช้ไฟ 2ชั่วโมง ประมาณ3หน่วย ท่านอื่นสิ้นเปลืองประมาณเท่าไรครับ

 :D...ของผมใช้น้ำมันครับ....ติดทั้งวันทั้งคืนน้ำมัน250บาท....ทดสอบวันก่อนแปลงนา25ไร่...ติดอยู่2วัน2คืนครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 มีนาคม 2014, 22:22:37
วันนี้แวะไปดูสวนครับ ไม่ได้ดูแลซะนานเลยตั้งแต่ข้าวราคาแพง วัชพืชขึ้นเต็มไปหมดแต่ต้นไม้ต่าง ๆ ยังรอดอยู่เพราะปลูกทิ้งไว้นานแล้วครับ เดี๋ยวหากข้าวโตมากกว่านี้คงไปจัดการสวนต่อ เพราะหากข้าวราคาต่ำลงก็ต้องไปหารายได้อย่างอื่นเพิ่มทดแทนครับ
สวนสวยดี เสียดายบ้านผมอยู่ไกลดอย เลยไม่มีสวนสวยๆอย่างนี้
ขอความรู้หน่อยครับ เกี่ยวกับการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ในนา เนื่องจากผมดี มอเตอร์ไฟ้า มีทั้ง ๒ แรง และ ๓ แรง ถามว่าผมต้องใช้ ปั้มหอยโข่ง แบบใหนดีครับ เนื่องจากผมไม่เคยใช้ครับ ผมไปถามร้านขาย แต่ละร้านเขาแนะนำไม่เหมือนกันครับ


 :D....ปั๊มหอยโข่งแบบล่อน้ำเองขนาด3นิ้วใช้กับมอเตอร์3แรงครับ...
ผมใช้อยู่เช่นกันใช้ไฟ 2ชั่วโมง ประมาณ3หน่วย ท่านอื่นสิ้นเปลืองประมาณเท่าไรครับ

 :D...ของผมใช้น้ำมันครับ....ติดทั้งวันทั้งคืนน้ำมัน250บาท....ทดสอบวันก่อนแปลงนา25ไร่...ติดอยู่2วัน2คืนครับ...

เครื่องยนต์รถไถนานี่มันอดขนาดเลยน้อครับ  ขนาดหม้อน้ำมันน้อยเดียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มีนาคม 2014, 22:02:28
ข้าวโตขึ้นพอสมควรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2014, 08:44:56
ผมมีปัญหา ในการสูบน้ำบาดาลไม่ขึ้นครับ อยากขอคำแนะนำหน่อยครับ ไม่มีประสบการณ์ในการสูบน้ำครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2014, 08:48:08
ช่วงนี้ศึกษาพืชหลาย ๆ  ตัว ว่าตัวไหนและเตรียมทำผังพื้นที่การเกษตรเพื่อปรับปรุงที่นาหลังการปลูกข้าวนาปรังรอบนี้  

ตัวอย่างนี้เป็นพื้นที่เกษตร 1 ไร่ของพ่อผายเผื่อใครจะนำไปประยุกต์ใช้ครับ

แปลนพื้นที่เกษตรปราณีต 1 ไร่ ของพ่อผาย
พื้นที่ 1 ไร่ มีขนาด 1,600 ตารางเมตร ในพื้นที่ของพ่อผายจะแพ่งเป็นโซนด้าตะวันออก และโซนด้านตะวันตก โซนด้านตะวันออกแบ่งออกเป็น สระน้ำ ชานสระ ที่อยู่อาศัย คูสระ โซนด้านตะวันตกแบ่งเป็น นาข้าว คันคู คอกวัว คอกฟาง โรงปุ๋ยชีวภาพ เรือนเพาะชำ ทางเดิน ลานเอนกประสงค์ ซึ่งรายละเอียดพื้นที่แจกแจงดังตาราง

พื้นที่ฝั่งตะวันออก                                                     800         ตารางเมตร
          1.พื้นที่สระน้ำ                                                  200         ตารางเมตร
          2. พื้นที่ชานสระ                                                64          ตารางเมตร
          3. พื้นที่ที่อยู่อาศัย                                            60          ตารางเมตร
          4. พื้นที่คูสระ                                                   476         ตารางเ่มตร
พื้นที่ฝั่งตะวันตก                                                       800          ตารางเมตร
          1. นาข้าว                                                        360          ตารางเมตร
          2.พื้นที่คันคู                                                      80           ตารางเมตร
          3. พื้นที่คอกวัว                                                 70           ตารางเมตร
          4. พื้นที่คอกฟาง                                              38           ตารางเมตร
          5. พื้นที่โรงปุ๋ยชีวภาพ                                      39           ตารางเมตร
          6. พื้นที่เรือนเพาะชำ                                        15           ตารางเมตร
          7. พื้นที่ทางเดินและลานเอนกประสงค์           197          ตารางเมตร


ปริมาณและชนิดของผลผลิตจากที่ดิน 1 ไร่ของพ่อผาย
สัตว์มี 2 ชนิด น้ำหนักรวม 36 กิโลกรัม
ผักมี 31 ชนิด น้ำหนักรวม 571.2 กโลกรัม
ผลไม้มี 4 ชนิด น้ำหนักรวม 321.1 กิโลกรัม
ข้าวมี 1 พันธุ์ น้ำหนักรวม 150 กิโลกรัม


•รวมมีพืชและสัตว์ 38 ชนิด คิดเป็นน้ำหนักรวม 1,078.3 กิโลกรัม
•ผลผลิตที่ไม่ได้ชั่งหรือกินได้มีกล้าไม้ 7 ชนิด จำนวน 100 กล้า
ค่าใช้จ่ายต่างๆในการทำเกษตรปราณีต 1 ไร่ของพ่อผาย
ค่าแรงงาน 386 ชั่วโมง      คิดเป็นเงิน  0 บาท
ปุ๋ย 3,420 กิโลกรัม             คิดเป็นเิงิน  0 บาท
ค่าไฟฟ้าสูบน้ำ 114 ชั่งโมง คิดเป็นเงิน  342 บาท
พันธุ์พืช 6,677 ต้น คิดเป็นเงิน  610 บาท
เมล็ดพันธุ์ 1,760 กรัม คิดเป็นเงิน1,385 บาท
พันธุ์สัตว์ 641 ตัว คิดเป็นเงิน  75,950 บาท
เครื่องจักรกล 150 บาท
อื่นๆ 200 บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทไม่รวมแรงงาน คิดเป็นเงิน 78,637 บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทรวมแรงงาน คิดเป็นเงิน 85,585 บาท
จำนวนปีที่ทำเกษตรผสมผสาน ความพอเพียงของปรมาณน้ำ ชนิดและจำนวนของต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่ปลูกใหม่ตายไป และคงเหลือในแปลงเกษตรประณีต 1 ไร่
ที่ดินเกษตรประณีต 1 ไร่ ของพ่อผายเคยทำเกษตรผสมผสานมาแล้ว 3 ปี
ใช้น้ำจากสระน้ำและบาดาลมีน้ำเพียงพอตลอดปี
 ต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่เดิมมี 3 ชนิด จำนวน 3 ต้น
จำนวนที่ปลูกเพิ่ม 27 ชนิด จำนวน 82 ต้น
จำนวนที่ตายไปหรือตัดทิ้งมี 1 ชนิด จำนวน 1 ต้น
จำนวนคงเหลือ 29 ชนิด จำนวน 84 ต้น
**หมายเหตุ : เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กรกฏาคม 2547 ถึง 31 ธันวาคม 2548



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2014, 09:04:25
ผมมีปัญหา ในการสูบน้ำบาดาลไม่ขึ้นครับ อยากขอคำแนะนำหน่อยครับ ไม่มีประสบการณ์ในการสูบน้ำครับ

มีหลายตัวแปรครับที่ทำให้สูบน้ำไม่ขึ้นลองตรวจสอบตามนี้ดูครับ

- การหมุนของใบพัดในปั้มกับมอเตอร์ไปตามทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่บางรุ่นหมุนผิดทิศใบพัดก็ไม่ดูดอากาศออก ลองเอาฝ่ามืออุดปลายท่อขาออกดูครับมีลมเป่าออกมาหรือไม่หากอุดแล้วดูดฝ่ามือก็น่าจะต่อผิด
- ท่อที่ดูดขึ้นรั่วทำให้ดูดน้ำไม่ขึ้น
- ไม่ได้หล่อน้ำในท่อเพื่อไล่อากาศออก
- แหล่งน้ำที่ดูดมีน้ำไม่พอ
- หัวกระโหลกไม่แช่น้ำหรือเจาะน้ำตื้นเกินไปไม่ถึงตาน้ำ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2014, 09:43:43
ผม เจาะ 2 บ่อๆ 2 นิ้ว ท่อน้ำออก 3 นิ้ว ใช้มอเตอร์ 2 แรง
1.ผมหล่อน้ำที่หอยโข่งเรียบร้อย
2.ผมคิดว่ารอยรั่วคงไม่มีปัญหา แต่จะลองปิดตามรอยต่ออีกที
3.ความลึก 20 ม.


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2014, 12:41:02
ผม เจาะ 2 บ่อๆ 2 นิ้ว ท่อน้ำออก 3 นิ้ว ใช้มอเตอร์ 2 แรง
1.ผมหล่อน้ำที่หอยโข่งเรียบร้อย
2.ผมคิดว่ารอยรั่วคงไม่มีปัญหา แต่จะลองปิดตามรอยต่ออีกที
3.ความลึก 20 ม.


เจาะลึกเกินไปปั้มบางรุ่นก็ไม่สามารถดูดขึ้นครับแถวบ้านแค่ 8-10 ม.เองครับใช้ตัวโยกก็ขึ้นแล้ว ลองดูที่ปั้มอีกทีครับว่ารุ่นนี้สำหรับดูดที่ความลึกเท่าไหร่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 04 มีนาคม 2014, 21:27:48
ตรงข้อต่อลูกศรสีแดงถ้าไม่เชื่อมกาว...ให้เอาดินเหนียวๆพอกรอยข้อต่ออย่าให้รั่ว....ตรงลูกศรสีน้ำเงินให้เติมน้ำให้เต็มตัวปั๊ม......


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: adully ที่ วันที่ 05 มีนาคม 2014, 09:52:14
ตรงข้อต่อลูกศรสีแดงถ้าไม่เชื่อมกาว...ให้เอาดินเหนียวๆพอกรอยข้อต่ออย่าให้รั่ว....ตรงลูกศรสีน้ำเงินให้เติมน้ำให้เต็มตัวปั๊ม......
ผมว่าใส่ยูเนี่ยน PVC ตรงท่อขึ้นมาเลยจะดีกว่าแล้วตรงข้อต่อเราอัดกาวเลยจะช่วยลดเวลาได้เยอะเลยจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องอากาศเข้า ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 05 มีนาคม 2014, 10:11:37
ขอบคุณครับ น้ำออกแล้วครับ
แต่ น้ำเป็นน้ำสนิมแดงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 05 มีนาคม 2014, 20:49:14
ตรงข้อต่อลูกศรสีแดงถ้าไม่เชื่อมกาว...ให้เอาดินเหนียวๆพอกรอยข้อต่ออย่าให้รั่ว....ตรงลูกศรสีน้ำเงินให้เติมน้ำให้เต็มตัวปั๊ม......
ผมว่าใส่ยูเนี่ยน PVC ตรงท่อขึ้นมาเลยจะดีกว่าแล้วตรงข้อต่อเราอัดกาวเลยจะช่วยลดเวลาได้เยอะเลยจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องอากาศเข้า ;D

 :D...อัดกาวเลยแน่นอนที่สุดครับ...แต่โดยมากมักถอดๆเก็บๆเครื่องกันครับ.....เลยไม่ค่อยจะอัดกาวกัน....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 05 มีนาคม 2014, 20:49:49
ขอบคุณครับ น้ำออกแล้วครับ
แต่ น้ำเป็นน้ำสนิมแดงครับ


 :D...ของผมก็เป็นครับ....น้ำแดงๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: sanpakai ที่ วันที่ 06 มีนาคม 2014, 22:05:49
ขออณุญาตติดตามนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2014, 14:01:41
ตอนนี้ผมสูบน้ำเข้านา 3 วัน 3 คืน น้ำเต็มแล้วครับ
รู้สึกสบายใจขึ้น ข้าวไม่แห้งตายแล้ว
ขอบคุณทุกท่านที่ให้คำแนะนำในการสูบน้ำครับ(http://upic.me/i/9k/64042.jpg) (http://upic.me/show/49984186)
(http://upic.me/i/53/64043.jpg) (http://upic.me/show/49984187)
(http://upic.me/i/ha/64044.jpg) (http://upic.me/show/49984189)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2014, 22:40:12
ขออณุญาตติดตามนะครับ

ยินดีครับผม..  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2014, 22:47:13
ตอนนี้ผมสูบน้ำเข้านา 3 วัน 3 คืน น้ำเต็มแล้วครับ
รู้สึกสบายใจขึ้น ข้าวไม่แห้งตายแล้ว
ขอบคุณทุกท่านที่ให้คำแนะนำในการสูบน้ำครับ


ข้าวใหญ่พ่องแล้วน้อครับ บ่าค่อยมีหญ้าเลย งามครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2014, 20:35:06
ช่วงนี้ศึกษาพืชหลาย ๆ  ตัว ว่าตัวไหนและเตรียมทำผังพื้นที่การเกษตรเพื่อปรับปรุงที่นาหลังการปลูกข้าวนาปรังรอบนี้  

ตัวอย่างนี้เป็นพื้นที่เกษตร 1 ไร่ของพ่อผายเผื่อใครจะนำไปประยุกต์ใช้ครับ

แปลนพื้นที่เกษตรปราณีต 1 ไร่ ของพ่อผาย
พื้นที่ 1 ไร่ มีขนาด 1,600 ตารางเมตร ในพื้นที่ของพ่อผายจะแพ่งเป็นโซนด้าตะวันออก และโซนด้านตะวันตก โซนด้านตะวันออกแบ่งออกเป็น สระน้ำ ชานสระ ที่อยู่อาศัย คูสระ โซนด้านตะวันตกแบ่งเป็น นาข้าว คันคู คอกวัว คอกฟาง โรงปุ๋ยชีวภาพ เรือนเพาะชำ ทางเดิน ลานเอนกประสงค์ ซึ่งรายละเอียดพื้นที่แจกแจงดังตาราง

พื้นที่ฝั่งตะวันออก                                                     800         ตารางเมตร
          1.พื้นที่สระน้ำ                                                  200         ตารางเมตร
          2. พื้นที่ชานสระ                                                64          ตารางเมตร
          3. พื้นที่ที่อยู่อาศัย                                            60          ตารางเมตร
          4. พื้นที่คูสระ                                                   476         ตารางเ่มตร
พื้นที่ฝั่งตะวันตก                                                       800          ตารางเมตร
          1. นาข้าว                                                        360          ตารางเมตร
          2.พื้นที่คันคู                                                      80           ตารางเมตร
          3. พื้นที่คอกวัว                                                 70           ตารางเมตร
          4. พื้นที่คอกฟาง                                              38           ตารางเมตร
          5. พื้นที่โรงปุ๋ยชีวภาพ                                      39           ตารางเมตร
          6. พื้นที่เรือนเพาะชำ                                        15           ตารางเมตร
          7. พื้นที่ทางเดินและลานเอนกประสงค์           197          ตารางเมตร


ปริมาณและชนิดของผลผลิตจากที่ดิน 1 ไร่ของพ่อผาย
สัตว์มี 2 ชนิด น้ำหนักรวม 36 กิโลกรัม
ผักมี 31 ชนิด น้ำหนักรวม 571.2 กโลกรัม
ผลไม้มี 4 ชนิด น้ำหนักรวม 321.1 กิโลกรัม
ข้าวมี 1 พันธุ์ น้ำหนักรวม 150 กิโลกรัม


•รวมมีพืชและสัตว์ 38 ชนิด คิดเป็นน้ำหนักรวม 1,078.3 กิโลกรัม
•ผลผลิตที่ไม่ได้ชั่งหรือกินได้มีกล้าไม้ 7 ชนิด จำนวน 100 กล้า
ค่าใช้จ่ายต่างๆในการทำเกษตรปราณีต 1 ไร่ของพ่อผาย
ค่าแรงงาน 386 ชั่วโมง      คิดเป็นเงิน  0 บาท
ปุ๋ย 3,420 กิโลกรัม             คิดเป็นเิงิน  0 บาท
ค่าไฟฟ้าสูบน้ำ 114 ชั่งโมง คิดเป็นเงิน  342 บาท
พันธุ์พืช 6,677 ต้น คิดเป็นเงิน  610 บาท
เมล็ดพันธุ์ 1,760 กรัม คิดเป็นเงิน1,385 บาท
พันธุ์สัตว์ 641 ตัว คิดเป็นเงิน  75,950 บาท
เครื่องจักรกล 150 บาท
อื่นๆ 200 บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทไม่รวมแรงงาน คิดเป็นเงิน 78,637 บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทรวมแรงงาน คิดเป็นเงิน 85,585 บาท
จำนวนปีที่ทำเกษตรผสมผสาน ความพอเพียงของปรมาณน้ำ ชนิดและจำนวนของต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่ปลูกใหม่ตายไป และคงเหลือในแปลงเกษตรประณีต 1 ไร่
ที่ดินเกษตรประณีต 1 ไร่ ของพ่อผายเคยทำเกษตรผสมผสานมาแล้ว 3 ปี
ใช้น้ำจากสระน้ำและบาดาลมีน้ำเพียงพอตลอดปี
 ต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่เดิมมี 3 ชนิด จำนวน 3 ต้น
จำนวนที่ปลูกเพิ่ม 27 ชนิด จำนวน 82 ต้น
จำนวนที่ตายไปหรือตัดทิ้งมี 1 ชนิด จำนวน 1 ต้น
จำนวนคงเหลือ 29 ชนิด จำนวน 84 ต้น
**หมายเหตุ : เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กรกฏาคม 2547 ถึง 31 ธันวาคม 2548


เป็นอะไรที่อยากมี อยากทำ อยากได้มากครับ แต่ผมอยากให้ที่พักอาศัย อยู่ติดและมองเห็น ทั้งสระแล้วก็นาเลยเนาะ หันไปทางไหนก็สดชื่นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2014, 21:56:32
เป็นอะไรที่อยากมี อยากทำ อยากได้มากครับ แต่ผมอยากให้ที่พักอาศัย อยู่ติดและมองเห็น ทั้งสระแล้วก็นาเลยเนาะ หันไปทางไหนก็สดชื่นครับ

คิดเหมือนกันเลยครับ เพียงแค่คิดตั้งเป้าเอาไว้ก็มีความสุขแล้ว แต่ละปีผมก็ค่อย ๆ ลงมือทำไปเรื่อย ๆ ครับ  ตอนนี้ก็วางแบบไว้อยู่ว่าจะวางแบบไหนจึงจะตรงความต้องการมากที่สุดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2014, 22:39:39
 นาข้าวเวียดนาม เค้าทำเป็นเชิงท่องเที่ยวหลายแห่ง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2014, 22:12:39
การปกครองของเวียดนามเป็นแบบคอมมิวนิสต์ คล้าย ๆ กับลาว เพราะเคยถูกปกครองโดยฝรั่งเศษ  การปกครองแบบนี้ข้าราชการค่อนข้างมีอำนาจ  ชาวเวียดนามมีทำนากันมากจึงพยายามส่งลูกตัวเองให้เรียนสูง ๆ เพื่อให้สอบได้เป็นข้าราชการ ส่วนทางเกาหลีเหนือก็คอมมิวนิสต์เช่นกันในประวัติศาสตร์เกาหลี แบ่งเป็นราชอาณาจักรทั้งสาม คือราชอาณาจักรโคกูรยอ ราชอาณาจักรแพ็กเจ และราชอาณาจักรชิลลา ใครดูหนังเกาหลีย้อนยุคคงคุ้นดี เกาหลีเหนือการปกครองถูกสนับสนุนจากโซเวียต ดังนั้นผลผลิตทางการเกษตรของเกาหลีเหนือที่มี ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี โค และสัตว์ปีก แต่เกือบทุกชนิดไม่พอเลี้ยงประชากรในประเทศ ส่วนใหญ่จึงต้องสั่งเข้าจากอดีตสหภาพโซเวียต


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2014, 22:33:00
ทุ่งนาวันนี้ครับ ต้นข้าวอยู่ในช่วงเริ่มแตกกอแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 มีนาคม 2014, 22:41:48
ภาพหนองหลวงยามเย็นครับ แหล่งน้ำที่มีความสำคัญกับการประมงและการเกษตรของ อ.เวียงชัย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 มีนาคม 2014, 15:52:18
หอมแผ่นดิน ตอน...ความฝันของลุงบุญมี

บุญมี สุระโคตร

"คือชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวอะไรนะ อีกไม่นานเราก็ต้องจากโลกใบนี้ไป ในช่วงที่เรามีชีวิต เราอยากจะทำอะไรเพื่อตอบเเทนคุณของเเผ่นดิ­น

เราเป็นชาวนา ถ้าเราเป็นชาวนา เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อยากจะพัฒนาอาชีพชาวนา และก็จะทำให้เป็นต้นเเบบให้ได้"


FE2kGUNy83c


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 มีนาคม 2014, 20:38:49
วันนี้ไปดูแปลงเกษตรหลายที่ครับ  เริ่มต้นด้วยแปลงนา ข้าว กข.49 และไรท์เบอรี่  ข้าว กข.49 เท่าที่ดูแล้วมีการแตกกอค่อนข้างดีกว่า กข.41 ครับในการดูแลและปริมาณการใส่ปุ๋ยที่เท่า ๆ กัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 มีนาคม 2014, 20:41:48
ต่อด้วยสวนลำใย ไปศึกษาขั้นตอนการปลูก การดูแล การใส่ปุ๋ย การให้น้ำและการตัดแต่งกิ่งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 16 มีนาคม 2014, 20:46:25
สุดท้ายที่ ไร่แตงโมครับ ได้คุยกับลุงป้า ชาวสวนโดยตรง ได้รู้วิธีการปลูก การดูแล การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ ได้ความรู้ใหม่ ๆ เยอะเลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Rath ที่ วันที่ 18 มีนาคม 2014, 13:09:38
แวะมาเยี่ยมเยียน ได้ความรู้สาระอีกเพียบเลยครับ ต้องขอบคุณสำหรับความรู้ที่ทำให้นำไปต่อยอดได้อีกเยอะเลย ว่างๆ แวะเข้ามาเยี่ยมผมที่สวนอีกทีก้อได้นะครับ เดี๋ยวฝากลูกมะนาวนอกฤดูให้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2014, 15:50:27
ขอความรู้ เพิ่มเติม ครับ ถ้าข้าวเิ่ริ่มตั้งท้อง จะต้องใช้ปุ๋ยสูตรใหน ดีครับ
เพื่อจะได้ข้าวที่สมบูรณ์ และน้ำหนักดี ครับเพราะพึ่งทำนาครั้งแรกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2014, 20:30:30
แวะมาเยี่ยมเยียน ได้ความรู้สาระอีกเพียบเลยครับ ต้องขอบคุณสำหรับความรู้ที่ทำให้นำไปต่อยอดได้อีกเยอะเลย ว่างๆ แวะเข้ามาเยี่ยมผมที่สวนอีกทีก้อได้นะครับ เดี๋ยวฝากลูกมะนาวนอกฤดูให้ครับ

ขอบคุณครับ  ไว้ได้ไปทางนั้นอีกจะแวะหานะครับ รูปที่ถ่ายไร่แตงโมก็ถ่ายที่สันมะเค็ดครับ ช่วงนี้มะนาวแพงขอให้รวย ๆ ครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2014, 20:43:31
ขอความรู้ เพิ่มเติม ครับ ถ้าข้าวเิ่ริ่มตั้งท้อง จะต้องใช้ปุ๋ยสูตรใหน ดีครับ
เพื่อจะได้ข้าวที่สมบูรณ์ และน้ำหนักดี ครับเพราะพึ่งทำนาครั้งแรกครับ

ข้าวเริ่มท้องต้องการธาตุ P มากเพื่อสร้างเมล็ดและ K เพื่อช่วยในการสะสมแป้งและต้องการ N เล็กน้อยเพื่อให้คอยอดแข็งแรง  ปุ๋ยทั่วไปก็จะเรียง N - P - K  ก็ใส่ปุ๋ยตามความต้องการของต้นข้าวเลยครับ  อาจซื้อแม่ปุ๋ยมาผสม  หรือซื้อปุ๋ยสูตรมาผสมกันก็ได้ครับ  ชาวนาทั่วไปมักจะซื้อ 15-15-15 สำหรับใส่ปุ๋ยเริ่มตั้งท้องครับ  แต่ก่อนธาตุ K ไม่ต้องใส่ก็ได้เพราะในดินมีอยู่แล้วแต่นาที่ทำนาปีและนาปรังติดต่อกันนาน ๆ จึงจำเป็นต้องเติมธาตุ K ลงไป หากเป็นนาที่ทำเฉพาะนาปีอย่างเดียวก็ไม่ต้องใส่หรือใส่น้อย ๆ ก็ได้ใส่มากเดี๋ยวข้าวล้มครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 19 มีนาคม 2014, 21:12:08
 ครับขอบคุณมากครับ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยและนำสิ่งดีๆให้ครับ
และช่วงนี้ ข้าวผมก็กำลังแตกกอครับ ดูแล้ว
ก็เพลิดเะลินใจครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 มีนาคม 2014, 08:13:30
ครับขอบคุณมากครับ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยและนำสิ่งดีๆให้ครับ
และช่วงนี้ ข้าวผมก็กำลังแตกกอครับ ดูแล้ว
ก็เพลิดเะลินใจครับ


ยินดีครับ..ข้าวช่วงนี้จะดูแล้วงามตาครับ สีเขียวสวยเลย อีกช่วงที่จะสวยก็คือช่วงแทงยอดออกมาใหม่ ๆ ครับ :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มีนาคม 2014, 18:16:03
แวะดูเครื่องสีข้าวขาวจากประเทศจีนครับ ราคาเครื่องละ 16,000 บาท ตัวกะเทาะเปลือกเป็นโลหะครับ บ้านเราส่วนใหญ่จะเป็นหินขัด กับ ลูกยางกะเทาะครับ  ราคานี้ถือว่าไม่แพง มีมอเตอร์พร้อมชุด เพื่อนสั่งซื้อมาจากร้านที่ขอนแก่นครับ เคยไปถามเครื่องของไทยก็ราคาแพงกว่านี้ไป 2-3 เท่าเหมือนกัน เหมาะสำหรับใช้สีในครัวเรือนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มีนาคม 2014, 18:24:54
วันเสาร์ที่ผ่านมาผ่านไปทางผาเสริฐแวะชม บ้านไร่อภิรักษ์ ครับ กว่าพื้นที่ 20 ไร่ มีทั้งปลูกพืชต่าง ๆ  ผัก ผลไม้  เลี้ยงปลา  ไก่ แพะ  ใครอยากไปท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือไปศึกษาหาความรู้ก็ลองไปแวะเยี่ยมชมดูนะครับ เจ้าไร่เป็นกันเองมากครับ เด็ก  ๆ ก็น่ารักครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 28 มีนาคม 2014, 08:03:45

ตอนนี้ข้าวอายุได้ประมาณ 3 เดือนไม่ทราบว่าควรจะใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 28 มีนาคม 2014, 12:44:01
เหมือนผมครับ เสือ ซุ่ม ผมก็ได้ 3 เดือนแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มีนาคม 2014, 22:31:22
การใส่ปุ๋ยรอบสุดท้าย หรือช่วงสร้างรวงอ่อนคือระยะ 60 วันก่อนเก็บเกี่ยวหรือ 60 วันหลังหว่านจะเป็นช่วงกลาง ๆ สำหรับข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงที่อายุไม่เกิน 120 วันครับ  เดิมทีการใส่ปุ๋ยรอบสุดท้ายจะเป็นการเร่งให้ต้นข้าวสร้างเมล็ดให้มีมาก ๆ รวงข้าวยาวใส่ก่อนข้าวตั้งท้อง แต่เดี๋ยวนี้ชาวนามักจะใส่ช่วงข้าวเกือบแทงยอดหรือกลั้นยอดเพื่อเร่งแป้งเพื่อให้เมล็ดข้าวมีน้ำหนักมากขึ้นแต่ก็มีผลต่อจำนวนเมล็ดข้าวต่อรวง  และต้องเข้าใจว่าช่วงที่ข้าวตั้งท้องไปแล้วมักจะกินปุ๋ยน้อยลงเรื่อย ๆ จนถึงการเก็บเกี่ยวการใส่ปุ๋ยมากจนเกินไปก็อาจกลายเป็นการสิ้นเปลืองได้ครับ  การใส่ปุ๋ยช่วงนี้ก็ต้องเลือกเอา หากต้องการให้ข้าวรวงยาวก็อาจต้องเพิ่มปุ๋ยทางใบเพิ่มเพื่อช่วยให้เมล็ดข้าวมีน้ำหนักขึ้นครับ  และที่สำคัญต้องระวังเรื่องโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดในช่วงนี้ด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 02 เมษายน 2014, 00:34:55
 :D....ช่วงนี้สูบน้ำและใส่ปุ๋ยเหมือนกันครับ....แต่อิจฉานาน้ำดีที่ไม่ต้องสูบน้ำน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 เมษายน 2014, 12:14:53
:D....ช่วงนี้สูบน้ำและใส่ปุ๋ยเหมือนกันครับ....แต่อิจฉานาน้ำดีที่ไม่ต้องสูบน้ำน้อครับ

เดียวรอดูราคานาปรังรอบนี้แหมกำน้อครับ หากราคาบ่าดีนาปรังรอบต่อไปผมอาจปลูกพืชอย่างอื่นแทนไปก่อน พืชตระกูลถั่วก็น่าสนใจอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: may222 ที่ วันที่ 17 เมษายน 2014, 13:43:36
รู้ราคามาบอกกันโตยนะครับ :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 28 เมษายน 2014, 10:34:58
จขกท ไปไหนนิ..ดั๊กแซ๊ป ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 เมษายน 2014, 21:32:31
จขกท ไปไหนนิ..ดั๊กแซ๊ป ;D ;D

555  ไปหลายที่ครับช่วงนี้มีกิจกรรมเยอะครับ ระหว่างที่รอเก็บเกี่ยวข้าว  ก็ตอนกิ่งต้นทีเฮาอยากปลูก ดูแลมะนาว  ไปสวน ออกกำลังกายพ่องครับ เดียวเดือนหน้าจะไปปั่นจักรยาน สปป ลาวครับจะได้ศึกษาพันธุ์ข้าวของลาวเผื่อเอาปิ๊กมาทดลองปลูกดูซักน้อยครับ   :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 29 เมษายน 2014, 11:55:59
นึกว่าอ้ายอู๋หายไปไหน แอบไปขยายพันธุ์พืชนี่เอง :D ต้นหม่อนที่ตอนกิ่งไว้เป็นพันธุ์อะหยั๋งครับใบใหญ่ดีเหมือน หิมาลายันเลยน่อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 เมษายน 2014, 20:24:02
นึกว่าอ้ายอู๋หายไปไหน แอบไปขยายพันธุ์พืชนี่เอง :D ต้นหม่อนที่ตอนกิ่งไว้เป็นพันธุ์อะหยั๋งครับใบใหญ่ดีเหมือน หิมาลายันเลยน่อครับ

555  จะลองปลูกอย่างละนิดละหน่อยดูก่อนครับ ที่บ้านพื้นที่เริ่มแน่นแล้วครับ  ไปลองชิมดูต้นไหนลำก็ขอเจ้าของเปิ้นตอนกิ่งมาปลูกที่บ้านดูครับ  ต้นหม่อนนี้พันธุ์อะหยังก็บ่าฮู้เน้อเจ้าของเปิ้นก็บ่าฮู้จักพันธุ์ครับ  ผมว่าต้นนี้ก็ปลูกง่ายดีหนาครับ ตัดมาปักก็เป็นแล้วแต่ผมอยากหัดตอนกิ่งดู เผื่อจะได้ตอนต้นอื่นพ่องครับ  เห็นบทความเปิ้นว่าผลไม้ชนิดนี้มีประโยชน์เยอะครับ  :D  :D


มัลเบอร์รี่ เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ลูกหม่อน  มัลเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น กรดโฟลิก ซึ่งพบว่าทารกที่เกิดจากมารดาที่ขาดกรดโฟลิก มีความเสี่ยงที่จะพิการทางสมองและประสาท ไขสันหลัง นอกจากนั้นยังพบสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แอนโธไชยานิน เควอซิติน ที่มีส่วนลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ตำรับยาโบราณมีการใช้ผลหม่อนต้มบริโภคทั้งเนื้อและน้ำแก้โรคไขข้ออักเสบ ท้องผูก โลหิตจาง และขับเสมหะ ด้วยความที่เจ้ามัลเบอร์รี่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายจึงมีส่วนช่วยในการ เพิ่มการทำงาน และลดการอักเสบของหลอดเลือด อันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคทางระบบประสาทและสมอง

วิธีการทาน สามารถทานได้ทั้งผลสด เเละ เเปรรูปเป็นเครื่องดื่มเเละเเยมได้ เพราะผลที่ยังไม่สุดจัดจะมีสีเเดง มีรสเปรี้ยว เเต่เมื่อสุกจัดจะมีสีม่วงออกไปทางดำจะมีรสหวานชุ่มคอดีค่ะ ให้พลังงานต่ำ เพียง 43 kcal ต่อ 100 กรัมเเถมได้ประโยชน์มากมายอีกด้วย

มีผลงานวิจัยหลายสถาบันในประเทศไทย มหาวิทยาลัยทางการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิตและงานวิจัยหลายประเทศ ดังนี้

มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ชื่อ Anthyocyanin ซึ่งเป็นสารสีม่วงแดง ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และป้องกันโรคมะเร็ง
มีวิตามินบี 6 ช่วยบำรุงเลือด ตับ ไต ลดการเกิดสิว ลดอาการปวดประจำเดือน
ป้องกันและยับยั้งการเกิดลิ่มเลือด ป้องกันเส้นเลือดแตก สาเหตุของโรคอัมพฤก อัมพาต
มีวิตามินซี สูง ช่วยป้องกันหวัด โรคภูมิแพ้ โรคปอด วัณโรค ป้องกันเชื้อไวรัส
มีวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันการเกิดต้อกระจก (ป้องกันแสงสีน้ำเงินเข้าทำลายเลนส์ตา) บำรุงเหงือกและฟัน สร้างภูมิให้ระบบหายใจ บำรุงผิว ลดการอักเสบของสิว
มีกรดโฟลิค หรือวิตามินใบไม้ หรือวิตามินเอ็ม ป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันทารกพิการ ช่วยการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หญิงแรกตั้งครรภ์เดือนแรกต้องการกรดโฟลิค
ช่วยแก้อาการเมาค้าง ผ่อนคลายความเครียด
ช่วยบำรุงเส้นผมให้ดกดำ ป้องกันผมหงอกก่อนวัย
 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 04 พฤษภาคม 2014, 17:12:57
สวัสดีครับพี่อู๋สบายดีนะครับ ตอนนี้ผมจะปลูกมะนาวในวงบ่อน่ะครับ ผมขอสอบถามเรื่องหน้าดิน กับเปลือกถั่วเขียวหน่อยครับ เราจะหาซื้อได้จากที่ไหนบ้างถ้าทดลองปลูก ซัก 10 วงบ่อ (80 ซม.) ควรสั่งจำนวนเท่าไหร่ครับ มีเบอร์โทรเลยยิ่งดีครับพี่
แล้วก็เรื่องส่วนผสมครับ เปลือกถั่วเขียวจำเป็นมั้ยครับ เราใช้อย่างอื่นแทนได้รึเปล่า เช่นแกลบดิบ แกลบดำ
ขี้วัวเราจะใช้ ขี้หมู หรือ ขี้ควาย แทนได้มั้ยเพราะแถวบ้านหาได้ง่ายกว่าขี้วัวครับ ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 พฤษภาคม 2014, 21:36:16
สวัสดีครับพี่อู๋สบายดีนะครับ ตอนนี้ผมจะปลูกมะนาวในวงบ่อน่ะครับ ผมขอสอบถามเรื่องหน้าดิน กับเปลือกถั่วเขียวหน่อยครับ เราจะหาซื้อได้จากที่ไหนบ้างถ้าทดลองปลูก ซัก 10 วงบ่อ (80 ซม.) ควรสั่งจำนวนเท่าไหร่ครับ มีเบอร์โทรเลยยิ่งดีครับพี่
แล้วก็เรื่องส่วนผสมครับ เปลือกถั่วเขียวจำเป็นมั้ยครับ เราใช้อย่างอื่นแทนได้รึเปล่า เช่นแกลบดิบ แกลบดำ
ขี้วัวเราจะใช้ ขี้หมู หรือ ขี้ควาย แทนได้มั้ยเพราะแถวบ้านหาได้ง่ายกว่าขี้วัวครับ ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋


วงบ่อซีเมนต์จะเป็นตัวกำหนดอายุของการปลูกในวงบ่อครับ วงบ่อเล็กก็ได้จำนวนปีน้อยกว่าวงบ่อใหญ่ แต่ก็ราคาต่างกันพอสมควรทั้งวงบ่อและฝาบ่อครับ  วัสดุในการปลูก ของผมก็มีดิน ขี้ควาย แกลบเน่าผสมแกลบดำด้วยก็ได้ครับ อัตราส่วนดิน 3 ส่วน แกลบ  2 ส่วน  ปุ๋ยคอก 1 ส่วน  ตามคำแนะนำเจ้าของสวนหลังจากปลูกแล้วก็ใส่ปุ่ย  15-15-15  ประมาณ 1 ช้อนแกง เดือนละครั้ง และก็ต้องพ่นธาตุอาหารทางใบด้วยครับ พวกแมกนีเซียม ซึ่งช่วยให้ใบเขียวและ สังกะสี+แมงกานีส ป้องกันโรคใบแก้วอีกเดือนละครั้ง นอกจากนี้ต้องมีการดูและต้นตามระยะ และเติมดินในบ่อปีละครั้งด้วยครับ แต่ผมปลูกก็ยังไม่ได้ดูแลเต็มที่เลยครับ ปล่อยตามธรรมชาติซะส่วนใหญ่ไม่ได้พ่นอะไรเลยครับ  ซึ่งหากจะทำเป็นจริงเป็นจังก็ต้องทำตามคำแนะนำของเจ้าของสวนและนักวิชาการเค้าว่าแหล่ะครับ เห็นตามร้านหนังสือมีขายเยอะอยู่ครับ  ของผมคิดว่าจะปลูกไว้กินและขายบ้างนิดหน่อยทดลองดูก่อน ตอนนี้ก็มีลงทั้งในบ่อและลงดินครับ  ลองซัก 10 บ่อก็กำลังดีครับทดลองปลูกไปก่อนได้ผลดีก็ค่อยขยายเพิ่มครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 พฤษภาคม 2014, 22:10:39
ราคาข้าวตอนนี้ครับเป็นราคาข้าวแห้งความชื้นไม่เกิน 15% ซึ่งพร้อมนำไปสีปกติข้าวเมื่อเกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าวจะมีความชื้นอยู่ราว ๆ 30% ขึ้นไปซึ่งเมื่อนำไปขายโรงสีจึงต้องถูกตัดค่าความชื้นเพราะต้องนำข้าวที่ได้ไปตากหรือว่าอบซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายและน้ำหนักที่หายไปอีก ชาวนาหลายคนคงเดือดร้อนแน่ๆ  กับราคานี้

ราคาข้าวเปลือกของแต่ละจังหวัดประจำวัน ศุกร์ ที่ 2 พฤษภาคม 2557
กรุงเทพฯ ข้าวเปลือก 100% (ความช้ืน 15%) 7,800 บาท ,ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,500 บาท
 ข้าวเปลือกหอมปทุม (ความช้ืน 15%) 9,500 บาท
ฉะเชิงเทรา ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,400 บาท
ชัยนาท -
นนทบุรี ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,400 บาท
นครปฐม ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,200 – 7,300 บาท
ปทุมธานี -
เพชรบุรี ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,300 บาท
ลพบุรี ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,200 บาท, ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 25%) 6,200 บาท
สิงห์บุรี ข้าวเปลือกสุพรรณ 5% (ความช้ืน 15%) 8,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุม (ความช้ืน 15%) 10,000 บาท
สุพรรณบุรี ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,300 – 7,500 บาท, ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 22-23%) 6,500 บาท
อยุธยา ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,500 บาท
ก าแพงเพชร ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,200 บาท ,ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 28%) 6,500 บาท
นครสวรรค์ -
พิษณุโลก ข้าวเปลือกรวม (ความช้ืน 15%) 7,500 บาท, (ความช้ืน 24-25%) 6,000 บาท
พิจิตร ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,400 บาท, (ความช้ืน 25 - 30%) 6,400 บาท
 ข้าวเปลือก 100% (ความช้ืน 15%) 7,800 บาท, (ความช้ืน 25 - 30%) 6,800 บาท
เชียงราย ข้าวหอมมะลิใหม่ (ความช้ืน 15%) 15,000 บาท , ข้าวเหนียวสันป่ าตอง 7,300 บาท
เชียงใหม่ ข้าวหอมมะลิใหม่ (ความช้ืน 15%) 15,000 บาท , ข้าวเหนียวใหม่ (กข.6) 12,000 บาท
อุตรดิตถ์ -
อุทัยธานี ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 20-22%) 5,600 – 5,700 บาท
บุรีรัมย์ ข้าวหอมมะลิใหม่ (ความช้ืน 15%) 13,500 บาท
นครราชสีมา ข้าวหอมมะลิใหม่ (ความช้ืน 15%) 15,500 บาท , ข้าวเปลือกนาปรัง (ความช้ืน 25%) 6,000 บาท
ขอนแก่น ข้าวหอมมะลิใหม่ (ความช้ืน 15%) 14,200 บาท , ข้าวเหนียวใหม่ (กข.6)(ความช้ืน 15%) 13,200 บาท ,
 ข้าวเหนียวใหม่(คละ) (ความช้ืน 15%) 9,500 บาท
ยโสธร ข้าวหอมมะลิใหม่ (นาปรัง) (ความช้ืน 15%) 14,500 บาท ,ข้าวเปลือกชัยนาท (ความช้ืน 15%) 7,000 – 7,200 บาท
อุดรธานี ข้าวหอมมะลิใหม่ (ความช้ืน 15%) 14,000 – 14,500 บาท ,ข้าวเหนียวใหม่ (กข.6)(ความช้ืน 15%) 13,000 บาท
 ข้าวเปลือกนาปรัง 9,500 บาท
อุบลราชธานี ข้าวหอมมะลิใหม่ (ความช้ืน 15%) 14,000 บาท
อ านาจเจริญ ข้าวหอมมะลิใหม่ (ความช้ืน 15%) 14,000 บาท
สุรินทร์ ข้าวหอมมะลิใหม่ (ความช้ืน 15%) 14,000 บาท
นครศรีธรรมราช ข้าวเปลือก 5% (ความช้ืน 15%) 7,200 บาท
พัทลุง -
ที่มา   สมาคมโรงสีข้าวไทย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 05 พฤษภาคม 2014, 00:13:55
สวัสดีครับพี่อู๋สบายดีนะครับ ตอนนี้ผมจะปลูกมะนาวในวงบ่อน่ะครับ ผมขอสอบถามเรื่องหน้าดิน กับเปลือกถั่วเขียวหน่อยครับ เราจะหาซื้อได้จากที่ไหนบ้างถ้าทดลองปลูก ซัก 10 วงบ่อ (80 ซม.) ควรสั่งจำนวนเท่าไหร่ครับ มีเบอร์โทรเลยยิ่งดีครับพี่
แล้วก็เรื่องส่วนผสมครับ เปลือกถั่วเขียวจำเป็นมั้ยครับ เราใช้อย่างอื่นแทนได้รึเปล่า เช่นแกลบดิบ แกลบดำ
ขี้วัวเราจะใช้ ขี้หมู หรือ ขี้ควาย แทนได้มั้ยเพราะแถวบ้านหาได้ง่ายกว่าขี้วัวครับ ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋


วงบ่อซีเมนต์จะเป็นตัวกำหนดอายุของการปลูกในวงบ่อครับ วงบ่อเล็กก็ได้จำนวนปีน้อยกว่าวงบ่อใหญ่ แต่ก็ราคาต่างกันพอสมควรทั้งวงบ่อและฝาบ่อครับ  วัสดุในการปลูก ของผมก็มีดิน ขี้ควาย แกลบเน่าผสมแกลบดำด้วยก็ได้ครับ อัตราส่วนดิน 3 ส่วน แกลบ  2 ส่วน  ปุ๋ยคอก 1 ส่วน  ตามคำแนะนำเจ้าของสวนหลังจากปลูกแล้วก็ใส่ปุ่ย  15-15-15  ประมาณ 1 ช้อนแกง เดือนละครั้ง และก็ต้องพ่นธาตุอาหารทางใบด้วยครับ พวกแมกนีเซียม ซึ่งช่วยให้ใบเขียวและ สังกะสี+แมงกานีส ป้องกันโรคใบแก้วอีกเดือนละครั้ง นอกจากนี้ต้องมีการดูและต้นตามระยะ และเติมดินในบ่อปีละครั้งด้วยครับ แต่ผมปลูกก็ยังไม่ได้ดูแลเต็มที่เลยครับ ปล่อยตามธรรมชาติซะส่วนใหญ่ไม่ได้พ่นอะไรเลยครับ  ซึ่งหากจะทำเป็นจริงเป็นจังก็ต้องทำตามคำแนะนำของเจ้าของสวนและนักวิชาการเค้าว่าแหล่ะครับ เห็นตามร้านหนังสือมีขายเยอะอยู่ครับ  ของผมคิดว่าจะปลูกไว้กินและขายบ้างนิดหน่อยทดลองดูก่อน ตอนนี้ก็มีลงทั้งในบ่อและลงดินครับ  ลองซัก 10 บ่อก็กำลังดีครับทดลองปลูกไปก่อนได้ผลดีก็ค่อยขยายเพิ่มครับ
ขอบคุณมากครับพี่อู๋  คือพี่อู๋ยังไม่ได้ตอบผมเลยครับว่าหน้าดินเราจะหาซื้อได้ที่ไหนบ้างครับ ถ้ามีเบอร์โทรด้วยยิ่งดีเลยครับ รบกวนอีกรอบครับ ^ ^


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 พฤษภาคม 2014, 10:33:36
สวัสดีครับพี่อู๋สบายดีนะครับ ตอนนี้ผมจะปลูกมะนาวในวงบ่อน่ะครับ ผมขอสอบถามเรื่องหน้าดิน กับเปลือกถั่วเขียวหน่อยครับ เราจะหาซื้อได้จากที่ไหนบ้างถ้าทดลองปลูก ซัก 10 วงบ่อ (80 ซม.) ควรสั่งจำนวนเท่าไหร่ครับ มีเบอร์โทรเลยยิ่งดีครับพี่
แล้วก็เรื่องส่วนผสมครับ เปลือกถั่วเขียวจำเป็นมั้ยครับ เราใช้อย่างอื่นแทนได้รึเปล่า เช่นแกลบดิบ แกลบดำ
ขี้วัวเราจะใช้ ขี้หมู หรือ ขี้ควาย แทนได้มั้ยเพราะแถวบ้านหาได้ง่ายกว่าขี้วัวครับ ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋


วงบ่อซีเมนต์จะเป็นตัวกำหนดอายุของการปลูกในวงบ่อครับ วงบ่อเล็กก็ได้จำนวนปีน้อยกว่าวงบ่อใหญ่ แต่ก็ราคาต่างกันพอสมควรทั้งวงบ่อและฝาบ่อครับ  วัสดุในการปลูก ของผมก็มีดิน ขี้ควาย แกลบเน่าผสมแกลบดำด้วยก็ได้ครับ อัตราส่วนดิน 3 ส่วน แกลบ  2 ส่วน  ปุ๋ยคอก 1 ส่วน  ตามคำแนะนำเจ้าของสวนหลังจากปลูกแล้วก็ใส่ปุ่ย  15-15-15  ประมาณ 1 ช้อนแกง เดือนละครั้ง และก็ต้องพ่นธาตุอาหารทางใบด้วยครับ พวกแมกนีเซียม ซึ่งช่วยให้ใบเขียวและ สังกะสี+แมงกานีส ป้องกันโรคใบแก้วอีกเดือนละครั้ง นอกจากนี้ต้องมีการดูและต้นตามระยะ และเติมดินในบ่อปีละครั้งด้วยครับ แต่ผมปลูกก็ยังไม่ได้ดูแลเต็มที่เลยครับ ปล่อยตามธรรมชาติซะส่วนใหญ่ไม่ได้พ่นอะไรเลยครับ  ซึ่งหากจะทำเป็นจริงเป็นจังก็ต้องทำตามคำแนะนำของเจ้าของสวนและนักวิชาการเค้าว่าแหล่ะครับ เห็นตามร้านหนังสือมีขายเยอะอยู่ครับ  ของผมคิดว่าจะปลูกไว้กินและขายบ้างนิดหน่อยทดลองดูก่อน ตอนนี้ก็มีลงทั้งในบ่อและลงดินครับ  ลองซัก 10 บ่อก็กำลังดีครับทดลองปลูกไปก่อนได้ผลดีก็ค่อยขยายเพิ่มครับ
ขอบคุณมากครับพี่อู๋  คือพี่อู๋ยังไม่ได้ตอบผมเลยครับว่าหน้าดินเราจะหาซื้อได้ที่ไหนบ้างครับ ถ้ามีเบอร์โทรด้วยยิ่งดีเลยครับ รบกวนอีกรอบครับ ^ ^

หน้าดินต้องถามคนที่เค้ารับถมที่ใกล้บ้านดูครับว่าที่ไหนเค้าจะขุดกันบ้างหรือว่าจองเค้าไว้เลยครับ ของผมก็กว่าจะได้ก็หลายวันอยู่ เบอร์โทรนี่ผมขอโทษจริง ๆ ครับ  ไม่ค่อยสะดวกครับเพราะจะติดเรื่องงานบริษัทที่ทำอยู่จึงไม่ค่อยสะดวกรับสายครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 05 พฤษภาคม 2014, 23:07:42
สวัสดีครับพี่อู๋สบายดีนะครับ ตอนนี้ผมจะปลูกมะนาวในวงบ่อน่ะครับ ผมขอสอบถามเรื่องหน้าดิน กับเปลือกถั่วเขียวหน่อยครับ เราจะหาซื้อได้จากที่ไหนบ้างถ้าทดลองปลูก ซัก 10 วงบ่อ (80 ซม.) ควรสั่งจำนวนเท่าไหร่ครับ มีเบอร์โทรเลยยิ่งดีครับพี่
แล้วก็เรื่องส่วนผสมครับ เปลือกถั่วเขียวจำเป็นมั้ยครับ เราใช้อย่างอื่นแทนได้รึเปล่า เช่นแกลบดิบ แกลบดำ
ขี้วัวเราจะใช้ ขี้หมู หรือ ขี้ควาย แทนได้มั้ยเพราะแถวบ้านหาได้ง่ายกว่าขี้วัวครับ ขอบคุณมาก ๆ ครับพี่อู๋


วงบ่อซีเมนต์จะเป็นตัวกำหนดอายุของการปลูกในวงบ่อครับ วงบ่อเล็กก็ได้จำนวนปีน้อยกว่าวงบ่อใหญ่ แต่ก็ราคาต่างกันพอสมควรทั้งวงบ่อและฝาบ่อครับ  วัสดุในการปลูก ของผมก็มีดิน ขี้ควาย แกลบเน่าผสมแกลบดำด้วยก็ได้ครับ อัตราส่วนดิน 3 ส่วน แกลบ  2 ส่วน  ปุ๋ยคอก 1 ส่วน  ตามคำแนะนำเจ้าของสวนหลังจากปลูกแล้วก็ใส่ปุ่ย  15-15-15  ประมาณ 1 ช้อนแกง เดือนละครั้ง และก็ต้องพ่นธาตุอาหารทางใบด้วยครับ พวกแมกนีเซียม ซึ่งช่วยให้ใบเขียวและ สังกะสี+แมงกานีส ป้องกันโรคใบแก้วอีกเดือนละครั้ง นอกจากนี้ต้องมีการดูและต้นตามระยะ และเติมดินในบ่อปีละครั้งด้วยครับ แต่ผมปลูกก็ยังไม่ได้ดูแลเต็มที่เลยครับ ปล่อยตามธรรมชาติซะส่วนใหญ่ไม่ได้พ่นอะไรเลยครับ  ซึ่งหากจะทำเป็นจริงเป็นจังก็ต้องทำตามคำแนะนำของเจ้าของสวนและนักวิชาการเค้าว่าแหล่ะครับ เห็นตามร้านหนังสือมีขายเยอะอยู่ครับ  ของผมคิดว่าจะปลูกไว้กินและขายบ้างนิดหน่อยทดลองดูก่อน ตอนนี้ก็มีลงทั้งในบ่อและลงดินครับ  ลองซัก 10 บ่อก็กำลังดีครับทดลองปลูกไปก่อนได้ผลดีก็ค่อยขยายเพิ่มครับ
ขอบคุณมากครับพี่อู๋  คือพี่อู๋ยังไม่ได้ตอบผมเลยครับว่าหน้าดินเราจะหาซื้อได้ที่ไหนบ้างครับ ถ้ามีเบอร์โทรด้วยยิ่งดีเลยครับ รบกวนอีกรอบครับ ^ ^

หน้าดินต้องถามคนที่เค้ารับถมที่ใกล้บ้านดูครับว่าที่ไหนเค้าจะขุดกันบ้างหรือว่าจองเค้าไว้เลยครับ ของผมก็กว่าจะได้ก็หลายวันอยู่ เบอร์โทรนี่ผมขอโทษจริง ๆ ครับ  ไม่ค่อยสะดวกครับเพราะจะติดเรื่องงานบริษัทที่ทำอยู่จึงไม่ค่อยสะดวกรับสายครับ
อ๋อครับผม เบอร์ที่ว่าหมายถึงเบอร์คนที่ขายดินน่ะครับพี่ อิอิ ขอบคุณพี่มาก ๆ นะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 พฤษภาคม 2014, 13:16:49

อ๋อครับผม เบอร์ที่ว่าหมายถึงเบอร์คนที่ขายดินน่ะครับพี่ อิอิ ขอบคุณพี่มาก ๆ นะครับ

ลองถามคนรับถมที่หรือคนขับรถดั้มใกล้บ้านดูครับต้นทุนจะได้ถูกในเรื่องการขนส่ง  ค่อย ๆ ปลูกไปครับ ต้นมะนาวผมอีกไม่กี่เดือนก็คงเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว กิ่งไหนแก่ก็สามารถตอนกิ่งนำไปปลูกขยายเพิ่มได้อีกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 08 พฤษภาคม 2014, 01:30:28

อ๋อครับผม เบอร์ที่ว่าหมายถึงเบอร์คนที่ขายดินน่ะครับพี่ อิอิ ขอบคุณพี่มาก ๆ นะครับ

ลองถามคนรับถมที่หรือคนขับรถดั้มใกล้บ้านดูครับต้นทุนจะได้ถูกในเรื่องการขนส่ง  ค่อย ๆ ปลูกไปครับ ต้นมะนาวผมอีกไม่กี่เดือนก็คงเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว กิ่งไหนแก่ก็สามารถตอนกิ่งนำไปปลูกขยายเพิ่มได้อีกครับ
ขอบคุณมากครับ ต้นมะนาวพี่เป็นทรงพุ่มสวยดีนะครับ ถ้าออกลูกแล้วเอารูปมาให้ชมด้วยนะครับ คงสวยน่าดู


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 พฤษภาคม 2014, 09:34:14

อ๋อครับผม เบอร์ที่ว่าหมายถึงเบอร์คนที่ขายดินน่ะครับพี่ อิอิ ขอบคุณพี่มาก ๆ นะครับ

ลองถามคนรับถมที่หรือคนขับรถดั้มใกล้บ้านดูครับต้นทุนจะได้ถูกในเรื่องการขนส่ง  ค่อย ๆ ปลูกไปครับ ต้นมะนาวผมอีกไม่กี่เดือนก็คงเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว กิ่งไหนแก่ก็สามารถตอนกิ่งนำไปปลูกขยายเพิ่มได้อีกครับ
ขอบคุณมากครับ ต้นมะนาวพี่เป็นทรงพุ่มสวยดีนะครับ ถ้าออกลูกแล้วเอารูปมาให้ชมด้วยนะครับ คงสวยน่าดู

ตอนปลูกแรก ๆ พอลงดินต้นแตกยอดออกมาปรากฎว่ามีหนอนกินใบครับ ในหนังสือแนะนำให้พ่นสารเคมีกำจัดครับ  ก็ไปที่ร้านอ่านดูฉลากแล้วไม่ไหวครับเพราะเราปลูกบริเวณในบ้าน แม้เราป้องกันเวลาพ่นก็ตามแต่ก็ไม่ดีกับคนรอบข้างหรือสัตว์เลี้ยงครับ ก็เลยปล่อยเลยตามเลย  ระยะหลัง ๆ เล้าไก่ที่บ้านประตูเล้าพัง ทั้งเป็ด ห่าน ไก่ ออกมาครับ ก็สังเกตุว่าช่วงหลัง ๆ ทำไมไม่มีหนอนเหมือนแต่ก่อน มาเจอที่แท้ไก่ไล่จิกกินหมดครับ  เป็ดและห่านก็ช่วยกินหญ้าบริเวณปากบ่อและข้างบ่อครับ  คิดว่าอย่างผีเสื้อและแมลงวัน มันน่าจะมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งว่าที่ไหนไม่ปลอดภัยก็ไม่อยู่นะครับ แต่ถ้าต้นสูงอีกหน่อยก็อาจต้องพึ่งสมุนไพร่ขับไล่แมลงดีกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 พฤษภาคม 2014, 09:54:53
ต้นข้าวคงจะได้เกี่ยวประมาณปลายเดือนนี้  นาปรังรอบนี้ไม่ได้ดูแลอะไรมากเพราะคาดการราคาไว้แล้วว่าราคาคงไม่ดี จึงลดต้นทุนที่ลดได้ ปุ๋ยเคมีใช้ไป 3 กส. ปุ๋ยอินทรีย์  1 กส. ฮอล์โมนก็ไม่ได้พ่น  เพราะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทนคือทำโอทีงานประจำและดูแลสวนแทน  ผลผลิตข้าวที่ได้ต่อไร่น่าจะขายได้ประมาณ 4000-5000 บาท/ไร่ หากเป็นราคานี้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 พฤษภาคม 2014, 10:09:10
สัปดาห์ที่ผ่านมา ปั่นจักรยานไปเที่ยวแขวงบ่อแก้ว  สปป.ลาว ครับ ที่ตลาดจีนมีเครื่องยนต์ เครื่องไม้เครื่องมือทางช่างและการเกษตรอยู่พอสมควรบางอย่างก็ราคาถูก บางอย่างก็พอ ๆ กับบ้านเรา คาดว่าปลายเดือนหรือต้นเดือนหน้าจะปั่นไกลกว่าเดิมไปดูชาวลาวเขาทำนากันซึ่งต้องปั่นออกจากตัวแขวงบ่อแก้วไปอีก 20 กม. ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ~ lทวดาไร้ปีก ~ ที่ วันที่ 09 พฤษภาคม 2014, 21:54:57

อ๋อครับผม เบอร์ที่ว่าหมายถึงเบอร์คนที่ขายดินน่ะครับพี่ อิอิ ขอบคุณพี่มาก ๆ นะครับ

ลองถามคนรับถมที่หรือคนขับรถดั้มใกล้บ้านดูครับต้นทุนจะได้ถูกในเรื่องการขนส่ง  ค่อย ๆ ปลูกไปครับ ต้นมะนาวผมอีกไม่กี่เดือนก็คงเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว กิ่งไหนแก่ก็สามารถตอนกิ่งนำไปปลูกขยายเพิ่มได้อีกครับ
ขอบคุณมากครับ ต้นมะนาวพี่เป็นทรงพุ่มสวยดีนะครับ ถ้าออกลูกแล้วเอารูปมาให้ชมด้วยนะครับ คงสวยน่าดู

ตอนปลูกแรก ๆ พอลงดินต้นแตกยอดออกมาปรากฎว่ามีหนอนกินใบครับ ในหนังสือแนะนำให้พ่นสารเคมีกำจัดครับ  ก็ไปที่ร้านอ่านดูฉลากแล้วไม่ไหวครับเพราะเราปลูกบริเวณในบ้าน แม้เราป้องกันเวลาพ่นก็ตามแต่ก็ไม่ดีกับคนรอบข้างหรือสัตว์เลี้ยงครับ ก็เลยปล่อยเลยตามเลย  ระยะหลัง ๆ เล้าไก่ที่บ้านประตูเล้าพัง ทั้งเป็ด ห่าน ไก่ ออกมาครับ ก็สังเกตุว่าช่วงหลัง ๆ ทำไมไม่มีหนอนเหมือนแต่ก่อน มาเจอที่แท้ไก่ไล่จิกกินหมดครับ  เป็ดและห่านก็ช่วยกินหญ้าบริเวณปากบ่อและข้างบ่อครับ  คิดว่าอย่างผีเสื้อและแมลงวัน มันน่าจะมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งว่าที่ไหนไม่ปลอดภัยก็ไม่อยู่นะครับ แต่ถ้าต้นสูงอีกหน่อยก็อาจต้องพึ่งสมุนไพร่ขับไล่แมลงดีกว่าครับ
ใช้สมุนไพรนี่แหละดีแล้วครับพี่ ปลอดภัยต่อทุกอย่างรอบตัวครับ ผมลองปลูกอยู่ต้นนึงก่ะจะไม่ใช้เคมีเลย เอาน้ำขี้หมูพ่นทุก ๆ 5 วันครับ แมลงก็น้ำส้มควันไม้ และเด็ดใบที่เป็นโรคเอา รอดูผลครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 10 พฤษภาคม 2014, 07:31:21

อ๋อครับผม เบอร์ที่ว่าหมายถึงเบอร์คนที่ขายดินน่ะครับพี่ อิอิ ขอบคุณพี่มาก ๆ นะครับ

ลองถามคนรับถมที่หรือคนขับรถดั้มใกล้บ้านดูครับต้นทุนจะได้ถูกในเรื่องการขนส่ง  ค่อย ๆ ปลูกไปครับ ต้นมะนาวผมอีกไม่กี่เดือนก็คงเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว กิ่งไหนแก่ก็สามารถตอนกิ่งนำไปปลูกขยายเพิ่มได้อีกครับ
ขอบคุณมากครับ ต้นมะนาวพี่เป็นทรงพุ่มสวยดีนะครับ ถ้าออกลูกแล้วเอารูปมาให้ชมด้วยนะครับ คงสวยน่าดู

ตอนปลูกแรก ๆ พอลงดินต้นแตกยอดออกมาปรากฎว่ามีหนอนกินใบครับ ในหนังสือแนะนำให้พ่นสารเคมีกำจัดครับ  ก็ไปที่ร้านอ่านดูฉลากแล้วไม่ไหวครับเพราะเราปลูกบริเวณในบ้าน แม้เราป้องกันเวลาพ่นก็ตามแต่ก็ไม่ดีกับคนรอบข้างหรือสัตว์เลี้ยงครับ ก็เลยปล่อยเลยตามเลย  ระยะหลัง ๆ เล้าไก่ที่บ้านประตูเล้าพัง ทั้งเป็ด ห่าน ไก่ ออกมาครับ ก็สังเกตุว่าช่วงหลัง ๆ ทำไมไม่มีหนอนเหมือนแต่ก่อน มาเจอที่แท้ไก่ไล่จิกกินหมดครับ  เป็ดและห่านก็ช่วยกินหญ้าบริเวณปากบ่อและข้างบ่อครับ  คิดว่าอย่างผีเสื้อและแมลงวัน มันน่าจะมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งว่าที่ไหนไม่ปลอดภัยก็ไม่อยู่นะครับ แต่ถ้าต้นสูงอีกหน่อยก็อาจต้องพึ่งสมุนไพร่ขับไล่แมลงดีกว่าครับ
ใช้สมุนไพรนี่แหละดีแล้วครับพี่ ปลอดภัยต่อทุกอย่างรอบตัวครับ ผมลองปลูกอยู่ต้นนึงก่ะจะไม่ใช้เคมีเลย เอาน้ำขี้หมูพ่นทุก ๆ 5 วันครับ แมลงก็น้ำส้มควันไม้ และเด็ดใบที่เป็นโรคเอา รอดูผลครับ


ขอบคุณครับ  ก็น่าจะใช้สมุนไพรนี่แหล่ะครับแม้ประสิทธิภาพจะด้อยกว่าสารเคมีแต่มันปลอดภัยกว่ากันมาก ทุกวันนี้ที่ต้นมะนาวก็มีแมลงที่มีประโยชน์มาเกาะอยู่บ้างหากพ่นเคมี ยาฆ่าแมลงคงตายหมดแน่ ๆ เลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 14 พฤษภาคม 2014, 15:22:32
ประมาณปลายเดือนคงได้เกี่ยวแล้ว ราคาข้าวปีนี้ก็ต้องรับสภาพตามราคาตลาดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: pradi ที่ วันที่ 14 พฤษภาคม 2014, 22:30:32
สถานการณ์ข้าวเป็นอย่างนี้ คิดอยู่ว่าจะเก็บข้าวพันธุ์นาปรังไว้ดีก่อ ซื้อข้าวพันธุ์มาใส่ก็กลัวเจอบทเรียนราคาแพง
อย่างซื้อพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรีมาขยาย เจอข้าวที่ไม่ต้องการปนมาเปิ้นเรียก ข้าวแหล็บ หลายท่านคงเคยหัน ตอนต้นกำลังโต ลำต้นเขียวเหมือนข้าวทั่วไป แต่พอออกดอกก็ยังปกติ เหมือนทั่วไป แต่พอเมล็ดแก่ กลายเป็นสีดำ ต้นเตี้ยกว่าข้าวทั่วไป แก่ก่อน และอาจหล่นลงนาก่อน ถ้าปนข้าวขาวในนา โรงสีตัดราคาเลย
ดีที่ไม่ถอนทิ้ง(ไม่งั้นคงไม่รู้) แต่ลองย้ายไปปลูกแปลงใกล้เคียง ถึงได้รู้เพราะเจอเฉพาะบริเวณที่เอามาปลูกเท่านั้น ถ้าเอาพันธุ์มาลงหลายคงปวดหัวแน่ๆ อยากให้เป็นอุทาหรณ์กับหมู่เฮาชาวนามือใหม่เหมือนผมครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2014, 08:48:42
ข้าวสวยจังครับ เสียดายราคาถูกไปหน่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2014, 09:00:24
ของ ผมน่าจะได้เก็บเกี่ยว ประมาณ อาทิตย์ หน้าครับ ( มือใหม่ พึ่งทำครั้งแรกในชีวิติ ครับ )


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2014, 22:04:04
สถานการณ์ข้าวเป็นอย่างนี้ คิดอยู่ว่าจะเก็บข้าวพันธุ์นาปรังไว้ดีก่อ ซื้อข้าวพันธุ์มาใส่ก็กลัวเจอบทเรียนราคาแพง
อย่างซื้อพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรีมาขยาย เจอข้าวที่ไม่ต้องการปนมาเปิ้นเรียก ข้าวแหล็บ หลายท่านคงเคยหัน ตอนต้นกำลังโต ลำต้นเขียวเหมือนข้าวทั่วไป แต่พอออกดอกก็ยังปกติ เหมือนทั่วไป แต่พอเมล็ดแก่ กลายเป็นสีดำ ต้นเตี้ยกว่าข้าวทั่วไป แก่ก่อน และอาจหล่นลงนาก่อน ถ้าปนข้าวขาวในนา โรงสีตัดราคาเลย
ดีที่ไม่ถอนทิ้ง(ไม่งั้นคงไม่รู้) แต่ลองย้ายไปปลูกแปลงใกล้เคียง ถึงได้รู้เพราะเจอเฉพาะบริเวณที่เอามาปลูกเท่านั้น ถ้าเอาพันธุ์มาลงหลายคงปวดหัวแน่ๆ อยากให้เป็นอุทาหรณ์กับหมู่เฮาชาวนามือใหม่เหมือนผมครับ

              ตอนนี้ข้าวราคาไม่แพงครับ หากใครบันทึกต้นทุนการลงทุนอาจพบว่า บางคนขาดทุน บางคนก็ได้กำไรนิดหน่อย หากจะกำไรมาก ๆ ก็ต้องเป็นข้าวพันธุ์อื่นล่ะครับ แต่ก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป  ข้าวนาปรังรอบนี้หากจะเก็บข้าวพันธุ์ไว้ก่อนก็ได้ครับคงลงทุนไม่มาก หาซื้อที่ข้าวที่งาม  ๆ ก็ได้ราคา 6 บาท/กก คนขายคงดีใจอยู่แล้วครับดีกว่าขายให้โรงสี

              สถานการณ์แบบนี้ถ้าตามกลไกลตลาด โดยหากไม่พึ่งนโยบายของรัฐมากระตุ้นราคา ทางที่ดีควรจัดโซนนิ่งการปลูกข้าวครับ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ปลูกข้าวเฉพาะนาปี(ไวต่อช่วงแสง) ภาคกลางปลูกข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง 1 รอบ ภาคใต้ปลูกข้าวท้องถิ่น เพื่อระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้หมดก่อน  เมื่อข้าวเริ่มขาดตลาดจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเอง โดยการทำนาต้องเป็นการปลูกโดยลดการใช้สารเคมี ปกติปลูกข้าวปีละ 1 ครั้งดินมีโอกาสฟื้นตัวได้อยู่แล้วแถมตัดวงจรชีวิตของหอยเชอรี่ลดต้นทุนการปลูกได้อีกทาง  การปลูกข้าวในช่วงนาปีลองไม่ใช้ปุ๋ยเคมีดู ไม่ต้องให้ผลผลิตมากแต่เน้นต้นทุนต่ำ ปริมาณข้าวออกสู่ตลาดก็น้อยไม่ล้นตลาด ราคาก็จะขยับขึ้นเอง คู่แข่งอย่างเวียดนามแม้จะผลิตข้าวได้มากแต่ก็มีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีมากเช่นกัน ข้าวอินทรีย์และข้าวปลอดสารพิษอาจขายได้ดีกว่าด้วยซ้ำเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรปแต่การปฎิบัติก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2014, 22:09:43
ของ ผมน่าจะได้เก็บเกี่ยว ประมาณ อาทิตย์ หน้าครับ ( มือใหม่ พึ่งทำครั้งแรกในชีวิติ ครับ )

สุดยอดแล้วครับแบบนี้  ผมทำครั้งแรกข้าวไม่งามขนาดนี้มีหญ้าเต็มเลย แถมขาดทุนยับเยินเลยครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2014, 22:21:59
วันอังคารที่ผ่านมา ว่างก็เลยไปเที่ยวดอยกับพี่ที่รู้จักกันครับ หมู่บ้านชาวเขาบางแห่งก็เริ่มไถนากันแล้วก็มี คิดว่าปลายเดือนจะเข้าลาวอีกทีจะไปเอาข้าวพันธุ์พื้นบ้านของลาวมาลองปลูกไว้กินซักหน่อยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 18 พฤษภาคม 2014, 19:39:16
 :D...เกี่ยวไปเกือบค่อนละครับ.....เหลือนาหว่านประมาณ20ไร่นิดๆ.....เกือบได้ทุนคืนมาหมดละครับ....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 พฤษภาคม 2014, 16:35:32
:D...เกี่ยวไปเกือบค่อนละครับ.....เหลือนาหว่านประมาณ20ไร่นิดๆ.....เกือบได้ทุนคืนมาหมดละครับ....

ดีแล้วครับที่ไม่ขาดทุนเห็นคนแถวบ้านเกี่ยวข้าวขายไปรอบนี้แล้วใจหาย    ปีนี้คาดว่าการปลูกข้าวของผมก็คงได้เงินลดลงไปประมาณ 60 % แหล่ะครับ หากเหลือกำไรไร่ละ 1-2 พันบาท  ก็พอ ๆ กับให้เค้าเช่าทำนาเลยครับ เพราะปกติหากให้เช่าทำนาจะได้ค่าเช่า  25% ของผลผลิตอยู่แล้วโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงเลย  สงสัยจะมีคนที่ตั้งใจมาทำนา ถอดใจไปหลายคนเลยครับ  ยังไงสุดท้ายก็ต้องรอทิศทางการเมืองอีกทีช่วงนี้ก็ต้องประคองตัวเองให้ได้ซักระยะก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bankey2122 ที่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2014, 08:08:33
เกี่ยวข้าวตะวา หักลบค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้เงิน 9000 บาท เกือบปุ้ดตึน  :o ??? ถ้าจ้างปลุกแห่ม ท่าจะบ่าเหลือ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: out_site ที่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2014, 09:41:02
เป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นไปได้ด้วยดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2014, 10:01:15

ข้าวนาปี จะปลูกข้าวเหนียว กข6 สามารถใช้วิธีหว่านได้ก่อครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2014, 15:34:19
เกี่ยวข้าวตะวา หักลบค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้เงิน 9000 บาท เกือบปุ้ดตึน  :o ??? ถ้าจ้างปลุกแห่ม ท่าจะบ่าเหลือ

ของผมอีกประมาณไม่เกิน 10 วัน ก็คงได้เกี่ยวแล้วครับ ก็คงจะไม่ได้อะไรเป็นกอบเป็นกำเหมือนแต่ก่อน

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นไปได้ด้วยดีครับ

ขอบคุณครับและขอบคุณแทนชาวนาท่านอื่นด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2014, 15:36:07

ข้าวนาปี จะปลูกข้าวเหนียว กข6 สามารถใช้วิธีหว่านได้ก่อครับ...

ได้อยู่ครับ แต่ก็ระวังเรื่องข้าววัชพืช ข้าวปนด้วยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2014, 22:40:13

ข้าวนาปี จะปลูกข้าวเหนียว กข6 สามารถใช้วิธีหว่านได้ก่อครับ...

ได้อยู่ครับ แต่ก็ระวังเรื่องข้าววัชพืช ข้าวปนด้วยครับ
    ข้าว กข.6 ระวังปนเข้าจ้าวครับ ถ้าตรวจเจอไม่รับซื้อครับ  แต่ถ้าปลูกข้าวปนมีน้อยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 21 พฤษภาคม 2014, 20:47:22

ข้าวนาปี จะปลูกข้าวเหนียว กข6 สามารถใช้วิธีหว่านได้ก่อครับ...
บางคนบอกว่าข้าวจะล้ม...ต่าว เพราะมันหนักจริงหรือเปล่าครับ

ได้อยู่ครับ แต่ก็ระวังเรื่องข้าววัชพืช ข้าวปนด้วยครับ
    ข้าว กข.6 ระวังปนเข้าจ้าวครับ ถ้าตรวจเจอไม่รับซื้อครับ  แต่ถ้าปลูกข้าวปนมีน้อยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: MR.Tos pangnoja ที่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2014, 09:59:55
 :) คุณ.ubuntuthaith ลองหาวิธ๊เอาพันธ์ข้าวจากลาวมาให้ได้น่ะเอามาสักโล ครึ่งโล ก็ยังดี.. (พม่าลูกน้องผมมันห้ิวมาถึงด่านแล้วแต่เอาเข้ามาไม่ได้ตำรวจยึดไว้หมดเลย ... )จะได้เอามาขยายพันธ์ที่บ้านเรา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2014, 17:06:52
:) คุณ.ubuntuthaith ลองหาวิธ๊เอาพันธ์ข้าวจากลาวมาให้ได้น่ะเอามาสักโล ครึ่งโล ก็ยังดี.. (พม่าลูกน้องผมมันห้ิวมาถึงด่านแล้วแต่เอาเข้ามาไม่ได้ตำรวจยึดไว้หมดเลย ... )จะได้เอามาขยายพันธ์ที่บ้านเรา

ที่ลาว ข้าวเปลือก-ข้าวสาร ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นสินค้าต้องห้าม นำเข้า-ส่งออกครับ แต่จัดเป็นจำพวก สินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้าและส่งออก เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของการนำใช้ เพื่อตรวจตราคุณภาพมาตรฐาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค  จำพวกเดียวกับ ปลา สัตว์น้ำ เครื่องดื่ม นม เครื่องประดับ น้ำส้ม ซึ่งหากเป็นในปริมาณที่ไม่มากจนน่าเกลียด เจ้าหน้าที่ก็อนุโลมให้นะครับ หากมากจริง ๆ ก็ต้องขออนุญาตเป็นเรื่องเป็นราว   ที่เชียงของฝั่งลาวเองก็ต้องข้ามมาซื้อสินค้า อุปโภค บริโภคทางฝั่งไทยเหมือนกัน  ในโลตัสเชียงของก็จะเห็นชาวลาวมาซื้อสินค้าฝั่งไทยเหมือนกัน  ไทยกับลาว ดีตรงที่มีความร่วมมือจุดผ่อนปรนการค้าหลายจุด ซึ่งเป็นการซื้อขายเล็ก ๆน้อย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคครับ  แต่ก็ต้องลุ้นอีกทีครับเรื่องพันธุ์ข้าว  เพราะแหล่งปลูกข้าวใหญ่ ๆ ของลาวเหนือก็ไป หลวงน้ำทา ไชยบุรี  ที่บ่อแก้วอาจเป็นข้าวสายพันธุ์ไทยเองก็ได้ครับ
  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 พฤษภาคม 2014, 22:05:03
วันนี้เกี่ยวข้าวไปแล้ว 13 ไร่ครับ นำยอดขายข้าวที่ได้ไปหักต้นทุนทั้งหมดแล้วเหลือแปดพันกว่าบาทครับ... :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 24 พฤษภาคม 2014, 10:49:08
วันนี้เกี่ยวข้าวไปแล้ว 13 ไร่ครับ นำยอดขายข้าวที่ได้ไปหักต้นทุนทั้งหมดแล้วเหลือแปดพันกว่าบาทครับ... :D  :D
ตกไร่ละ พันปล๋าย คนมีตี่นาน้อยอิดเน้อ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 25 พฤษภาคม 2014, 15:07:59
เขาบอกว่าปลูกข้าวเหนียวกข.6นาปีโดยวิธีหว่านมันจะล้ม.จริงหรือเปล่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 พฤษภาคม 2014, 21:34:59
วันนี้เกี่ยวข้าวไปแล้ว 13 ไร่ครับ นำยอดขายข้าวที่ได้ไปหักต้นทุนทั้งหมดแล้วเหลือแปดพันกว่าบาทครับ... :D  :D
ตกไร่ละ พันปล๋าย คนมีตี่นาน้อยอิดเน้อ ;D ;D

อิดอะละครับกับราคานี้  พอชาวนาได้เงินน้อยแรงซื้อแรงจับจ่ายก็ลดลงโตยครับ คราวก่อนราคาข้าวแพง ชาวนาถอยรถใหม่ออกกั๋น ซื้อของเข้าบ้าน ซื้อรถไถนากั๋น ตอนนี้แทบจะบ่าหันใครซื้อรถใหม่กั๋นเลย บางคนก็กำลังผ่อนอยู่ปล่อยยึดไปเลยก็มีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 25 พฤษภาคม 2014, 21:49:35
เขาบอกว่าปลูกข้าวเหนียวกข.6นาปีโดยวิธีหว่านมันจะล้ม.จริงหรือเปล่าครับ

อาจจะส่วนหนึ่งการหว่านมักจะต้องหว่านก่อน คือช่วงก่อนเข้าฤดูฝนเต็มที่ประมาณเดือน พ.ค.- มิ.ย. เพื่อจะได้ฉีดยาคุมหญ้าได้   ช่วง ก.ค. ฝนจะตกบ่อยและด้วยการเก็บเกี่ยว กข.6 มักจะเก็บเกี่ยวหลังสุด ข้าวกข.15 มะลิ105 จะได้เกี่ยวก่อนทำให้มีระยะอยู่ในนานานทำให้ต้นข้าวสูงจึงส่งผลคือข้าวล้มง่าย ต่างจากการปลูกด้วยวิธีอื่นที่ไม่ต้องกังวัลเรื่องฝนมากนัก ชาวนาจึงนิยมในช่วงปลูกในช่วง ก.ค.- ส.ค. เพื่อให้ปริมาณเดือนสั้นต้นข้าวจะได้ไม่สูงมากแต่เก็บเกี่ยวพอ ๆ กันตามช่วงแสง และอีกอย่างการหว่านจะหนาแน่นกว่าการปลูกทำให้ไม่มีช่องลมเมื่อลมพัดข้าวต้นนึงล้มก็จะล้มทับอีกต้นคล้าย ๆ โดมิโนซึ่งข้าวนาปีอย่าง กข.15 มะลิ106  กข.6 ค่อนข้างจะมีความสูง และหากได้ปุ๋ย N  มาก  ๆ แล้วยิ่งสูงไปได้อีกครับ ยกเว้นพื้นที่ ที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยนะครับเช่นฝนแล้ง ดินไม่ดีซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวบางคนก็เลยหว่านผงไปเลยแทนจะหว่านน้ำตมครับซึ่งก็ต้องหว่านทิ้งไว้ก่อน บางคนนาปีก็หว่านตั้งแต่เมษาเลยก็มีครับเพื่อรอฝนตกครับ :D :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือท่าสุด ที่ วันที่ 30 พฤษภาคม 2014, 14:19:19

   พอจะแนะนำ รถปลูกได้ใหมครับ
   ผมอยู่ ท่าสุด  สนใจครับ  ผมทำอยู่ 14 ไร่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 30 พฤษภาคม 2014, 23:16:05

   พอจะแนะนำ รถปลูกได้ใหมครับ
   ผมอยู่ ท่าสุด  สนใจครับ  ผมทำอยู่ 14 ไร่ครับ

ลองถามดูชาวบ้านแถวปากทางท่าข้าวเปลือกดูครับแถวนั้นปลูกด้วยรถปลูกกันเยอะครับ รถปลูกก็อยู่แถวท่าสุดครับแถวนั้นบางคนจะเพาะกล้าเองแล้วจ้างปลูกด้วยรถไร่ละ 650 บาท หากซื้อที่เพาะสำเร็จจะตกถาดละ 15 บาท นาปีจะใช้ประมาณ 35 ถาด/ไร่ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2014, 10:43:41
ผมเคยจ้างปลูก ไร่ 1400 บาท ต้นกล้าของรถปลูกเองครับ ไม่รู้แพงหรือปล่าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2014, 14:25:03
ผมเคยจ้างปลูก ไร่ 1400 บาท ต้นกล้าของรถปลูกเองครับ ไม่รู้แพงหรือปล่าวครับ

ถ้าให้เค้าทำให้หมดรวมทั้งพันธุ์ข้าวก็ราว ๆ นี้ครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2014, 20:25:52
อู๋เอาเม็ดปอเทียงมัย 50 โล


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2014, 20:36:39
อู๋เอาเม็ดปอเทียงมัย 50 โล

ขอบคุณครับ เอาน้อยเดียวก็พอแล้วครับใช้บ่านักครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2014, 21:26:51
อู๋เอาเม็ดปอเทียงมัย 50 โล

ขอบคุณครับ เอาน้อยเดียวก็พอแล้วครับใช้บ่านักครับ
  พรุ่งนี้มาเอาเลย เอาไปทั้งหมด ถ้าเหลือแจกต่อแล้วกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ton-ao ที่ วันที่ 31 พฤษภาคม 2014, 21:30:38
วันพรุ่งนี้พี่ไปสีข้าวไรซ์เบอรี่ กับหอมนิลเดี่ยวเอาไปชิม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือท่าสุด ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2014, 11:08:37

   พอจะแนะนำ รถปลูกได้ใหมครับ
   ผมอยู่ ท่าสุด  สนใจครับ  ผมทำอยู่ 14 ไร่ครับ

ลองถามดูชาวบ้านแถวปากทางท่าข้าวเปลือกดูครับแถวนั้นปลูกด้วยรถปลูกกันเยอะครับ รถปลูกก็อยู่แถวท่าสุดครับแถวนั้นบางคนจะเพาะกล้าเองแล้วจ้างปลูกด้วยรถไร่ละ 650 บาท หากซื้อที่เพาะสำเร็จจะตกถาดละ 15 บาท นาปีจะใช้ประมาณ 35 ถาด/ไร่ ครับ
    ขอบคุณครับ  ผมจะลองไปถามดู   ก็ไม่ใกล


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Snoopymomo ที่ วันที่ 01 มิถุนายน 2014, 13:06:38

   พอจะแนะนำ รถปลูกได้ใหมครับ
   ผมอยู่ ท่าสุด  สนใจครับ  ผมทำอยู่ 14 ไร่ครับ

ลองถามดูชาวบ้านแถวปากทางท่าข้าวเปลือกดูครับแถวนั้นปลูกด้วยรถปลูกกันเยอะครับ รถปลูกก็อยู่แถวท่าสุดครับแถวนั้นบางคนจะเพาะกล้าเองแล้วจ้างปลูกด้วยรถไร่ละ 650 บาท หากซื้อที่เพาะสำเร็จจะตกถาดละ 15 บาท นาปีจะใช้ประมาณ 35 ถาด/ไร่ ครับ
ใช้ถาดเพาะกล้า35ถาด/ไร่ ระยะห่างรถปลูกกี่เซ็นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มิถุนายน 2014, 20:42:14
อู๋เอาเม็ดปอเทียงมัย 50 โล

ขอบคุณครับ เอาน้อยเดียวก็พอแล้วครับใช้บ่านักครับ
  พรุ่งนี้มาเอาเลย เอาไปทั้งหมด ถ้าเหลือแจกต่อแล้วกัน

ขอบคุณครับเดียวจะลองถามเพื่อน ๆ อีกทีครับเผื่อจะมีใครปลูกและจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ต่อไว้ด้วยครับ

วันพรุ่งนี้พี่ไปสีข้าวไรซ์เบอรี่ กับหอมนิลเดี่ยวเอาไปชิม

ขอบคุณมากเลยครับ วันพรุ่งนี้จะลองหุงทานดูครับ จะให้แฟนห่อไปทานที่ทำงานด้วยจะได้ให้เค้าลองชิมดูด้วยครับ น่าจะมีคนสนใจข้าวไรซ์เบอรี่เยอะอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 มิถุนายน 2014, 20:46:29

   พอจะแนะนำ รถปลูกได้ใหมครับ
   ผมอยู่ ท่าสุด  สนใจครับ  ผมทำอยู่ 14 ไร่ครับ

ลองถามดูชาวบ้านแถวปากทางท่าข้าวเปลือกดูครับแถวนั้นปลูกด้วยรถปลูกกันเยอะครับ รถปลูกก็อยู่แถวท่าสุดครับแถวนั้นบางคนจะเพาะกล้าเองแล้วจ้างปลูกด้วยรถไร่ละ 650 บาท หากซื้อที่เพาะสำเร็จจะตกถาดละ 15 บาท นาปีจะใช้ประมาณ 35 ถาด/ไร่ ครับ
ใช้ถาดเพาะกล้า35ถาด/ไร่ ระยะห่างรถปลูกกี่เซ็นครับ

ระยะห่าง 25 ซม.ครับ จะเหลือถาดอีกนิดหน่อย หากเป็นระยะ 28 ซม. ก็จะใช้ถาดน้อยกว่านี้อีกครับ อันนี้ขึ้นอยู่ปริมาณการจับกล้าด้วยนะครับ ปลูกแรก ๆ  ก็ปรับปานกลางไปก่อนครับถ้าดูแล้วถาดน่าจะเหลือก็ค่อยปรับกินกล้ามากขึ้นครับ ปรกติผมจะตั้งกินกล้าเกือบมากที่สุดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Snoopymomo ที่ วันที่ 03 มิถุนายน 2014, 05:35:19

   พอจะแนะนำ รถปลูกได้ใหมครับ
   ผมอยู่ ท่าสุด  สนใจครับ  ผมทำอยู่ 14 ไร่ครับ

ลองถามดูชาวบ้านแถวปากทางท่าข้าวเปลือกดูครับแถวนั้นปลูกด้วยรถปลูกกันเยอะครับ รถปลูกก็อยู่แถวท่าสุดครับแถวนั้นบางคนจะเพาะกล้าเองแล้วจ้างปลูกด้วยรถไร่ละ 650 บาท หากซื้อที่เพาะสำเร็จจะตกถาดละ 15 บาท นาปีจะใช้ประมาณ 35 ถาด/ไร่ ครับ
ใช้ถาดเพาะกล้า35ถาด/ไร่ ระยะห่างรถปลูกกี่เซ็นครับ

ระยะห่าง 25 ซม.ครับ จะเหลือถาดอีกนิดหน่อย หากเป็นระยะ 28 ซม. ก็จะใช้ถาดน้อยกว่านี้อีกครับ อันนี้ขึ้นอยู่ปริมาณการจับกล้าด้วยนะครับ ปลูกแรก ๆ  ก็ปรับปานกลางไปก่อนครับถ้าดูแล้วถาดน่าจะเหลือก็ค่อยปรับกินกล้ามากขึ้นครับ ปรกติผมจะตั้งกินกล้าเกือบมากที่สุดครับ
ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวประเภทหอมมะลิหรือว่า กข15 แม่นก่อครับถ้าจะปลูกถี่กว่านี้ระยะ18หรือ21 ซมจะเป็นหยังก่อครับ แล้วใช้ข้าวกี่  กก/ไร่ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 มิถุนายน 2014, 10:52:22

   พอจะแนะนำ รถปลูกได้ใหมครับ
   ผมอยู่ ท่าสุด  สนใจครับ  ผมทำอยู่ 14 ไร่ครับ

ลองถามดูชาวบ้านแถวปากทางท่าข้าวเปลือกดูครับแถวนั้นปลูกด้วยรถปลูกกันเยอะครับ รถปลูกก็อยู่แถวท่าสุดครับแถวนั้นบางคนจะเพาะกล้าเองแล้วจ้างปลูกด้วยรถไร่ละ 650 บาท หากซื้อที่เพาะสำเร็จจะตกถาดละ 15 บาท นาปีจะใช้ประมาณ 35 ถาด/ไร่ ครับ
ใช้ถาดเพาะกล้า35ถาด/ไร่ ระยะห่างรถปลูกกี่เซ็นครับ

ระยะห่าง 25 ซม.ครับ จะเหลือถาดอีกนิดหน่อย หากเป็นระยะ 28 ซม. ก็จะใช้ถาดน้อยกว่านี้อีกครับ อันนี้ขึ้นอยู่ปริมาณการจับกล้าด้วยนะครับ ปลูกแรก ๆ  ก็ปรับปานกลางไปก่อนครับถ้าดูแล้วถาดน่าจะเหลือก็ค่อยปรับกินกล้ามากขึ้นครับ ปรกติผมจะตั้งกินกล้าเกือบมากที่สุดครับ
ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวประเภทหอมมะลิหรือว่า กข15 แม่นก่อครับถ้าจะปลูกถี่กว่านี้ระยะ18หรือ21 ซมจะเป็นหยังก่อครับ แล้วใช้ข้าวกี่  กก/ไร่ ครับ

ข้าวจะเป็นจำพวกข้าวนาปี ไวต่อช่วงแสงครับ จำพวก กข.6 กข.15 มะลิ105 ครับ เพราะลำต้นสูงการแตกกอมากจึงต้องเว้นระยะห่างค่อนข้างมากกว่าข้าวนาปรังครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 08 มิถุนายน 2014, 10:07:09
ดั๊กแซ๊ป มาหลายวันแล้วเน้อ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Snoopymomo ที่ วันที่ 09 มิถุนายน 2014, 06:10:04

   พอจะแนะนำ รถปลูกได้ใหมครับ
   ผมอยู่ ท่าสุด  สนใจครับ  ผมทำอยู่ 14 ไร่ครับ

ลองถามดูชาวบ้านแถวปากทางท่าข้าวเปลือกดูครับแถวนั้นปลูกด้วยรถปลูกกันเยอะครับ รถปลูกก็อยู่แถวท่าสุดครับแถวนั้นบางคนจะเพาะกล้าเองแล้วจ้างปลูกด้วยรถไร่ละ 650 บาท หากซื้อที่เพาะสำเร็จจะตกถาดละ 15 บาท นาปีจะใช้ประมาณ 35 ถาด/ไร่ ครับ
ใช้ถาดเพาะกล้า35ถาด/ไร่ ระยะห่างรถปลูกกี่เซ็นครับ

ระยะห่าง 25 ซม.ครับ จะเหลือถาดอีกนิดหน่อย หากเป็นระยะ 28 ซม. ก็จะใช้ถาดน้อยกว่านี้อีกครับ อันนี้ขึ้นอยู่ปริมาณการจับกล้าด้วยนะครับ ปลูกแรก ๆ  ก็ปรับปานกลางไปก่อนครับถ้าดูแล้วถาดน่าจะเหลือก็ค่อยปรับกินกล้ามากขึ้นครับ ปรกติผมจะตั้งกินกล้าเกือบมากที่สุดครับ
ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวประเภทหอมมะลิหรือว่า กข15 แม่นก่อครับถ้าจะปลูกถี่กว่านี้ระยะ18หรือ21 ซมจะเป็นหยังก่อครับ แล้วใช้ข้าวกี่  กก/ไร่ ครับ

ข้าวจะเป็นจำพวกข้าวนาปี ไวต่อช่วงแสงครับ จำพวก กข.6 กข.15 มะลิ105 ครับ เพราะลำต้นสูงการแตกกอมากจึงต้องเว้นระยะห่างค่อนข้างมากกว่าข้าวนาปรังครับ
ขอบคุณมากครับสำหรับคำแนะนำ ขอถามอีกหน่อยครับ นาปีเฉลี่ยแล้วใช้กี่  กก ต่อไร่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มิถุนายน 2014, 13:17:14
ดั๊กแซ๊ป มาหลายวันแล้วเน้อ ;D ;D

ช่วงนี้งานเยอะครับ บ่าค่อยได้เข้ามาเลยครับ  :D  :D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มิถุนายน 2014, 13:19:51

   พอจะแนะนำ รถปลูกได้ใหมครับ
   ผมอยู่ ท่าสุด  สนใจครับ  ผมทำอยู่ 14 ไร่ครับ

ลองถามดูชาวบ้านแถวปากทางท่าข้าวเปลือกดูครับแถวนั้นปลูกด้วยรถปลูกกันเยอะครับ รถปลูกก็อยู่แถวท่าสุดครับแถวนั้นบางคนจะเพาะกล้าเองแล้วจ้างปลูกด้วยรถไร่ละ 650 บาท หากซื้อที่เพาะสำเร็จจะตกถาดละ 15 บาท นาปีจะใช้ประมาณ 35 ถาด/ไร่ ครับ
ใช้ถาดเพาะกล้า35ถาด/ไร่ ระยะห่างรถปลูกกี่เซ็นครับ

ระยะห่าง 25 ซม.ครับ จะเหลือถาดอีกนิดหน่อย หากเป็นระยะ 28 ซม. ก็จะใช้ถาดน้อยกว่านี้อีกครับ อันนี้ขึ้นอยู่ปริมาณการจับกล้าด้วยนะครับ ปลูกแรก ๆ  ก็ปรับปานกลางไปก่อนครับถ้าดูแล้วถาดน่าจะเหลือก็ค่อยปรับกินกล้ามากขึ้นครับ ปรกติผมจะตั้งกินกล้าเกือบมากที่สุดครับ
ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวประเภทหอมมะลิหรือว่า กข15 แม่นก่อครับถ้าจะปลูกถี่กว่านี้ระยะ18หรือ21 ซมจะเป็นหยังก่อครับ แล้วใช้ข้าวกี่  กก/ไร่ ครับ

ข้าวจะเป็นจำพวกข้าวนาปี ไวต่อช่วงแสงครับ จำพวก กข.6 กข.15 มะลิ105 ครับ เพราะลำต้นสูงการแตกกอมากจึงต้องเว้นระยะห่างค่อนข้างมากกว่าข้าวนาปรังครับ
ขอบคุณมากครับสำหรับคำแนะนำ ขอถามอีกหน่อยครับ นาปีเฉลี่ยแล้วใช้กี่  กก ต่อไร่ครับ

ปลูกด้วยคนก็อยู่ที่ 8-10 กก/ไร่  ปลูกรถก็อยู่ราว ๆ  10-12 กก/ไร่  หากหว่านก็ 15-18 กก/ไร่ สำหรับนาปีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มิถุนายน 2014, 20:21:28
วันนี้ไปรับจ้างปลูกนาครับ เริ่มปลูก 6 โมงเช้าถึงบ่าย 3 ได้ 7 ไร่พอดี  นาที่นี่ดีไม่มีหอยเชอรี่มีแต่ปูครับเต็มไปหมดเลย ชาวนาข้างเคียงหว่านผงกันซะส่วนใหญ่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 16 มิถุนายน 2014, 08:34:41

จะหว่านข้าว มะลิ105 นาปี ต้องใช้ข้าวกี่ กก.ต่อไร่ ครับ
ขอบคุณครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 มิถุนายน 2014, 22:36:27

จะหว่านข้าว มะลิ105 นาปี ต้องใช้ข้าวกี่ กก.ต่อไร่ ครับ
ขอบคุณครับ ;D

อยู่ราว ๆ 15-18 กก.ต่อไร่ กำลังดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2014, 17:09:04
แถวบ้านเริ่มปลูกเผือกแทนข้าวกัน ต้นทุนสูงไปหน่อยแต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: out_site ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2014, 19:10:37
ดีครับ เป็นการกระจายความเสี่ยงปัญหาราคาข้าว อีกทางหนึ่งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2014, 19:56:37

จะหว่านข้าว มะลิ105 นาปี ต้องใช้ข้าวกี่ กก.ต่อไร่ ครับ
ขอบคุณครับ ;D

มีคนบอกว่าใช้ประมาณ 8-10กก/ไร่ น้อยไปหรือเปล่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มิถุนายน 2014, 21:54:22
ลองดูก่อนก็ได้ครับ หากดูแลดี การแตกกอดี ก็ได้ผลผลิตดีอยู่ครับ  แต่การหว่านมากก็เพื่อเผื่อมีความเสียหายอย่างอื่นครับ เช่นหนูกิน ปูกิน หอยเชอรี่ นก น้ำท่วม ตรงไหนแน่นเกินไปก็ย้ายมาปลูกใหม่ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 กรกฎาคม 2014, 22:04:38
สัปดาห์ก่อนทำเทือก วันพรุ่งนี้จะเริ่มปลูกข้าวแล้วครับ  หลายท่านคงหว่านหรือปลูกกันบ้างแล้ว เร็วช้าตามแต่พื้นที่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 กรกฎาคม 2014, 22:07:56
ต้นมะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์โตขึ้นมากแล้วปีหน้าคงเริ่มได้ผลผลิตแล้วครับ  สังเกตุว่าช่วงฝนนี้จะโตไวเป็นพิเศษ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 กรกฎาคม 2014, 22:10:46
สมาชิกใหม่ที่บ้าน สัปดาห์ก่อนฟักออกมา 3 ตัว วันนี้อีก 8 ตัวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 05 กรกฎาคม 2014, 22:00:20
โปรดติดตามตอนต่อไป ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2014, 10:26:59
ปลูกข้าวมะลิ105ด้วยวิธีหว่าน อยากทราบว่าจะใส่ปุ๋ยครั้งหลังจากหว่านได้กี่วันครับ
และใช้ปุ๋ยสูตรอะไรครับ....


ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2014, 21:04:00
ปลูกข้าวมะลิ105ด้วยวิธีหว่าน อยากทราบว่าจะใส่ปุ๋ยครั้งหลังจากหว่านได้กี่วันครับ
และใช้ปุ๋ยสูตรอะไรครับ....


ขอบคุณครับ


การใส่ปุ๋ยนาหว่านตามหลักวิชาการจะอยู่ที่ช่วง 20-30 วันหลังหว่านครับ เนื่องจากต้นข้าวจะเริ่มกินอาหารทางรากได้แล้ว  ใส่ก่อนมักจะไม่ค่อยได้ผลชัดเจน  ใส่ปุ๋ยสูตรอะไรก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดินครับ  เป็นดินเหนียวหรือดินทราย  หากเป็นดินทรายก็ต้องมีปุ๋ยที่มีส่วนผสมของธาต K อยู่ด้วย  หากเป็นดินเหนียวใส่ครั้งแรกก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยที่มีธาตุ K  ก็ได้หรือใส่แค่เสริมก็พอเช่น


ดินทราย 
ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-8 อัตรา 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ หากไม่มีปุ๋ย 16-16-8 ให้ใช้ปุ๋ย 16-20-0, 18-22-0, 20-20-0 และ 18-46-0 แทนได้โดยใส่อัตรา 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่

ดินเหนียว
ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมฟอสเฟตสูตรต่างๆ เช่น 16-20-0, 18-22-0, 20-20-0 และ 18-46-0 อัตรา 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมกันก็ได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2014, 21:08:11
สัปดาห์ที่ผ่านมาปลูกข้าวครับเสร็จเรียบร้อย  9 ไร่ใช้เวลา เกือบ 2 วัน  อีกวันฝนตกหนักน้ำขังในแปลงนา ข้าวเสียหายจากโดนหอยกินไปบางส่วนแต่ปีนี้เพาะกล้าไว้เยอะครับเดี๋ยวค่อยซ่อมเอาวันหลัง


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 29 กรกฎาคม 2014, 17:37:01
ดั๊กแส้ป ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 สิงหาคม 2014, 20:19:36
อัพเดท นาข้าวซักหน่อย  ข้าวเริ่มเข้าสู่ช่วงการแตกกอแล้วครับ บางส่วนก็มีหญ้าและผักวัชพืชขึ้นบ้าง แต่ก็พ้นระยะจากการถูกหอยเชอรี่กินแล้ว ช่วงนี้ก็ดูเรื่องน้ำอย่างเดียว  สัปดาห์หน้าไป สปป.ลาว เดี๋ยวจะถ่ายรูปท้องนา และวิถีชีวิตชาวลาวมาฝากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2014, 20:42:39
ไปเที่ยวแขวงพงสาลี แขวงที่อยู่เหนือสุดของ สปป.ลาว อากาศที่ค่อนข้างเย็นเพราะชายแดนด้านซ้ายเป็นจีน ด้านขวาเป็นเวียดนามครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2014, 20:45:29
บรรยากาศท้องนา


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: MR.Tos pangnoja ที่ วันที่ 27 สิงหาคม 2014, 08:03:25
 :) ปลายปีไปเที่ยวอีกหรือเปล่า (ถ้าไปอย่าลืมซื้อเมล็ดพันธ์ข้าวมาด้วยน่ะ.)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 31 สิงหาคม 2014, 21:25:19
:) ปลายปีไปเที่ยวอีกหรือเปล่า (ถ้าไปอย่าลืมซื้อเมล็ดพันธ์ข้าวมาด้วยน่ะ.)

ต้นเดือนตุลาคมไปอีกรอบครับจะไปเดียนเบียนฟูเวียดนามโดยผ่านลาว เดือนธันวาคมก็คงไปอีกจะไปปากซันครับฝั่งตรงข้ามกับบึงกาฬแต่เข้าทางลาว ซึ่งน่าจะพอดีที่จะเอาเมล็ดพันธุ์มาครับ เพื่อจะได้ปลูกนาปีในปีหน้าได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 31 สิงหาคม 2014, 21:41:03
บรรยากาศท้องนา
ภาพชัดแจ๋ว สวยงามมากครับ ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: By Pawarisa ที่ วันที่ 31 สิงหาคม 2014, 22:06:44
อยู่แถวไหนครับ อยากได้ขวดเล็ก มาทดลอง ไล่กิ้งกือ ซัก 1ขวดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2014, 13:33:23
มะนาวที่ปลูกใกล้เก็บผลผลิตได้แล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2014, 13:38:50
นาข้าวก็อีกประมาณ 2  เดือนกว่าครับ ถึงจะได้เก็บเกี่ยว  ช่วงนี้เตรียมท่องเที่ยว ถ่ายรูป และกำลังจะหัดถ่ายวีดีโออยู่ครับ ไปเห็นฝรั่งทำงาน  national geographic แล้วเกิดแรงบรรดาลใจอยากศึกษาดูบ้าง แต่ก็ไม่ทิ้งการเกษตรครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 01 กันยายน 2014, 14:33:36
 :o ถ่ายรูปได้สวยมากๆเลยครับ :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 01 กันยายน 2014, 16:04:13
บรรยากาศท้องนา
ภาพชัดแจ๋ว สวยงามมากครับ ;D

:o ถ่ายรูปได้สวยมากๆเลยครับ :)

ขอบคุณครับทั้งสองท่าน  เดี๋ยวจะถ่ายรูปมาฝากเรื่อย ๆ เป็นการพัฒนาตัวเองด้วยเพราะยังมือใหม่อยู่เลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 กันยายน 2014, 20:34:00
ช่วงนี้ข้าววัชพืชเริ่มออกรวงเป็นเมล็ดแล้วครับ ข้าวนาปีจริง ๆ จะประมาณกลางเดือน ต.ค. เมื่อเริ่มหนาวชาวนาแถวบ้านแกทำนาหว่านมีเยอะแกให้เก็บฟรีเลย ไปเก็บแป๊ปเดียวได้เต็มถังเลยเดียวเสาร์อาทิตย์นี้ว่าจะไปอีกครับเก็บมาให้เป็ด ไก่ ห่านกิน ดีกว่าปล่อยให้ร่วงไปครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: twin999 ที่ วันที่ 28 กันยายน 2014, 11:43:53
ทำนาครั้งแรกครับ ทำแบบประณีต ปลอดสารพิษ กข6 กับ ไรซ์เบอร์รี่ พอจะทำเป็นเมล็ดพันธ์บริสุทธิ์ได้ป่าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กันยายน 2014, 21:39:51
ทำนาครั้งแรกครับ ทำแบบประณีต ปลอดสารพิษ กข6 กับ ไรซ์เบอร์รี่ พอจะทำเป็นเมล็ดพันธ์บริสุทธิ์ได้ป่าวครับ

เก่งจังครับ  ดูพื้นที่แล้วหากเป็นนาน้ำฝน ปีนึงทำได้ 1 ครั้งค่อนข้างจะทำข้าวพันธุ์ได้ง่ายครับ เพราะข้าวปนมีน้อยกว่าและใช้วิธีการปลูกแล้วด้วย  ส่วนจะสามารถทำเมล็ดพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ได้ไม๊  มีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยากครับ ทั้งต้องได้พันธุ์ข้าวตั้งต้นที่ดี ต้านทานโรค ตลอดจนการดูแลอย่างถูกวิธีซึ่งต้องมีเวลาเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ  ต่อมาก็มาดูการเก็บเกี่ยวถูกต้องหรือไม่ และต้องคัดเมล็ดที่ค่อนข้างละเอียดอีกที ต้องทดลองปลูกอีกหลายรอบเลยทีเดียวครับ เพื่อทดสอบสายพันธุ์  บางทีกลายพันธุ์ไปก็มีครับ  หรือลองติดต่อศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวก็ได้ครับเพื่อร่วมโครงการเมล็ดพันธุ์ข้าว จะได้มีนักวิชาการช่วยทดสอบให้อีกแรงครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 03 ตุลาคม 2014, 15:50:58
มีเพจ "ชาวนาวันหยุด" มาแนะนำครับ :)
https://www.facebook.com/WeekendFarmerNetworks


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 ตุลาคม 2014, 21:57:19
มีเพจ "ชาวนาวันหยุด" มาแนะนำครับ :)
https://www.facebook.com/WeekendFarmerNetworks

ขอบคุณมากครับ ที่ช่วยแนะนำแหล่งความรู้มาแบ่งปันให้ครับ  พรุ่งนี้ผมไป สปป.ลาวอีกแล้วครับ วันก่อนได้ข้าวพม่าจากเชียงตุง เรียกว่าข้าวอู นำมากินก็อร่อยเหมือนกันครับ เดี๋ยวไว้ลงรูปให้ดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: acer4741 ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2014, 10:05:03
ราคาข้าวปีนาปี ออกยังครับ กข6 กข15


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 ตุลาคม 2014, 08:32:52
ราคาข้าวปีนาปี ออกยังครับ กข6 กข15

เห็นว่าราคาราว ๆ 14-16 บาทครับ  แต่เกี่ยวรถก็จะอยู่ที่ 9-12 บาทต่อกิโลกรัมครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 ตุลาคม 2014, 08:52:23
ช่วงนี้ข้าวที่นาผมเริ่มแทงยอดรวงข้าวออกมาแล้ว ช่วงเก็บเกี่ยวน่าจะช่วงกลางเดือนหน้าพอดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ป่าซางศิลป์ ที่ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2014, 17:27:10
ข้อมูลเกี่ยวกับการทำนาข้าวเป็นประโยชน์มากครับ ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: thumthumthum ที่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2014, 09:31:42
ราคาหอมมะลิ105. 9บาท.60ตังครับ..กข6น่าจะ6บาทกว่าครับกำลังเกี่ยวอยู่ไปขายเดี่ยวคงรู้ครับ@แม่สาย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 01 ธันวาคม 2014, 08:39:22
สะบายดี
หลังเก็บเกียวข้าวนาปีแล้ว เตรียมลงนาปรังอีกแล้ว
บ้านเราจะปลูกข้าวอะไรดีครับ นอกจาก สุพรรณ1
และแนวโน้มต้นทุนจะขยับอีกแล้ว นาปีที่ผ่านมา(อ.แม่จัน)
ค่ารกเกียวก็เพิ่มขึ้น มะลิ105 ค่ารถเกี่ยว 600 บ./ไร่
ข้าว กข6. ค่ารถเกียว 800 บ./ไร่(ต้านข้าวล้ม)
ค่าแรงคนเกียวก็ 250 บ./คน
ทางออกของเกษตรกรบ้านเราจะไปอย่างไรกันดีครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jon ที่ วันที่ 02 ธันวาคม 2014, 11:38:36
นาปรัง นี้ นี้ ไม่แน่ใจ จะหว่าน หรือ ใช้รถปลูก ดี ครับ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดีใหมครับ  ยังลังเล อยู่ ครับ ขอรบกวนท่านผู้รู้หน่อย ครับ พท. นา จำนวน 5 ไร่ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2015, 10:44:31
นาปรัง นี้ นี้ ไม่แน่ใจ จะหว่าน หรือ ใช้รถปลูก ดี ครับ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดีใหมครับ  ยังลังเล อยู่ ครับ ขอรบกวนท่านผู้รู้หน่อย ครับ พท. นา จำนวน 5 ไร่ ครับ


ไม่ได้เข้ากระทู้ตั้งนานครับ ขออภัยด้วยครับ นาปรังเน้นประหยัดต้นทุนเป็นดีครับ ขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละคน บางคนมีเวลาก็ลงแรงตัวเองเยอะหน่อย พื้นที่  5 ไร่หว่านหรือปลูกมือเอาก็ได้ครับ  รถปลูกหากราคาข้าวในปัจจุบันอาจจะต้นทุนสูงไปหน่อยอาจไม่คุ้ม  ปลูกข้าวโพดก็น่าสนใจครับแต่หากเป็นพื้นที่ในเขตชลประทานก็แนะนำปลูกข้าวดีกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2015, 12:37:59
เริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนาปรังรอบใหม่กันแล้วครับ.....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: acer4741 ที่ วันที่ 13 มกราคม 2015, 10:59:07
นาปรังปีนี้ท่านน้าๆใส่ข้าวพันธุ์อะไรกันครับ ผมกะลังหาพันธุ์ข้าวอยู่ ปีที่แล้วขายหมดเลย นึกว่าจะไม่ได้ทำแล้ว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 15 มกราคม 2015, 10:37:09
นาปรังปีนี้ท่านน้าๆใส่ข้าวพันธุ์อะไรกันครับ ผมกะลังหาพันธุ์ข้าวอยู่ ปีที่แล้วขายหมดเลย นึกว่าจะไม่ได้ทำแล้ว

ผม 41,47  ครับ เก็บไว้ตั้งแต่ช่วงเก็บเกี่ยวช่วงก่อนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 22 มกราคม 2015, 06:56:02
ที่นาของผม ต.จันจว้าใต้
ใช้สุพรรณ1 ครับ พื้นที่รอบข้าง เป็นสุพรรณ1
ที่นาข้างๆทำพันธ์ุไหนก็ทำด้วยกัน
เพราะตอนเอาน้ำเข้านา พร้อมกัน จะทำแบบอื่นก็จะมีผลกับที่นาข้างเคียง
และเวลาเกี่ยวก็ต้องพร้อมกับเขาอีก(ที่นาเรา 3 ไร่ ไปแทรกที่นาคนอื่นเขา)
ช้าก็ไม่ได้ นา3ไร่รถเกียวกลับมาลำบากครับ
จะทำแบเราคิดต้องเตรียมความพร้อมเพิมขึี้น ยังมีอีกหลายอย่างป้องปรับปรุงครับ
แต่ไม่ยากพ่นยาคุมหญ้า ทำไงดีครับ ?
(http://upic.me/i/ht/pdec-2657-0019.jpg) (http://upic.me/show/54348696)
(http://upic.me/i/si/pdec-2657-0016.jpg) (http://upic.me/show/54348697)
(http://upic.me/i/ho/pdec-2657-0017.jpg) (http://upic.me/show/54348698)
(http://upic.me/i/n2/pdec-2657-0018.jpg) (http://upic.me/show/54348699)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 22 มกราคม 2015, 07:24:26
ผมหมักฟางได้ 10 วัน เป้าหมาย 15 วัน
(http://upic.me/i/x4/pjan-1358-0057.jpg) (http://upic.me/show/54348703)
(http://upic.me/i/vv/pjan-1358-0058.jpg) (http://upic.me/show/54348706)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 26 มกราคม 2015, 21:46:41
ที่นาของผม ต.จันจว้าใต้
ใช้สุพรรณ1 ครับ พื้นที่รอบข้าง เป็นสุพรรณ1
ที่นาข้างๆทำพันธ์ุไหนก็ทำด้วยกัน
เพราะตอนเอาน้ำเข้านา พร้อมกัน จะทำแบบอื่นก็จะมีผลกับที่นาข้างเคียง
และเวลาเกี่ยวก็ต้องพร้อมกับเขาอีก(ที่นาเรา 3 ไร่ ไปแทรกที่นาคนอื่นเขา)
ช้าก็ไม่ได้ นา3ไร่รถเกียวกลับมาลำบากครับ
จะทำแบเราคิดต้องเตรียมความพร้อมเพิมขึี้น ยังมีอีกหลายอย่างป้องปรับปรุงครับ
แต่ไม่ยากพ่นยาคุมหญ้า ทำไงดีครับ ?

คงต้องทำแบบนาข้างเคียงแหล่ะครับ จะได้ไม่เดือดร้อนกัน  หากหว่านยังไงก็คงต้องพึ่งยาคุมหญ้าอยู่แต่หากปลูกแบบอื่นก็ต้องพึ่งน้ำในการคุมวัชพืชแต่ก็อาจไปรบกวนนาข้างเคียงอยู่ดีครับหากเขาหว่าน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2015, 08:57:41
บ่ได้เข้ามาเมิน เป๋นจะไดกั๋นพ้องครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2015, 11:52:13
ช่วงนี้ทำนาตามปกติครับ  แต่ก็ต้องประหยัดทุนขึ้นตามราคาข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 12 พฤษภาคม 2015, 07:18:23
วันนี้ที่ ต.จันจว้า-จันจว้าใต้
ราคาข้าว สุพรรณ 1 @ 6.00-6.10 บาท /กก.ครับ
กำลังคึกคัก จะได้ตางค์ หลังหกลบกลบหนี้จะเหลือเท่าไหล่ น่าคิดครับ
เสร็จแล้วก็ต้องเตรียมข้าวนาปีต่อ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2015, 21:13:44
เกี่ยวข้าวนาปรังกันบ้างรึยังครับ...ของผมอีก2อาทิตย์คงจะได้เกี่ยว....


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 24 พฤษภาคม 2015, 06:32:42
วันนี้ 24 พค.58 ว่าจะเกี่ยวข้าว
ดูท้องฟ้าก็ยังครึ้มอยู่ สายๆน่าจะดีขึ้น
ที่ผ่านมา มีฝนประปลาย ชาวนาถูกกดราคาลง 5.70-6.00 บ/กก.
หลานคนเริ่มบ่นแล้ว...(ได้ทุนคืนก็ดีแล้วลืมบวกดอกเบี้ย)
เหนื่อนจริงๆ ชาวนา ขายผักขายไม้ยังกำหนดราคาเองได้
กับข้าวที่เป็นชีวิต กลับต้องให้คนอื่นกำหนดราคาให้
ยังหาทางออกไม่เจอ....(http://upic.me/i/jy/ucyy0.jpeg) (http://upic.me/show/55625354)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 04 มิถุนายน 2015, 15:08:27
วันนี้ 24 พค.58 ว่าจะเกี่ยวข้าว
ดูท้องฟ้าก็ยังครึ้มอยู่ สายๆน่าจะดีขึ้น
ที่ผ่านมา มีฝนประปลาย ชาวนาถูกกดราคาลง 5.70-6.00 บ/กก.
หลานคนเริ่มบ่นแล้ว...(ได้ทุนคืนก็ดีแล้วลืมบวกดอกเบี้ย)
เหนื่อนจริงๆ ชาวนา ขายผักขายไม้ยังกำหนดราคาเองได้
กับข้าวที่เป็นชีวิต กลับต้องให้คนอื่นกำหนดราคาให้
ยังหาทางออกไม่เจอ....(http://upic.me/i/jy/ucyy0.jpeg) (http://upic.me/show/55625354)


เกี่ยวข้าวนาปรังกันบ้างรึยังครับ...ของผมอีก2อาทิตย์คงจะได้เกี่ยว....

ผมเกี่ยวเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค.ครับ  ราคาข้าวเจ้า 6.10  บาท ราคา ขึ้น ๆ ลง ๆ ครับ  ขายได้กำไรไม่มากแต่ก็ดีกว่าขาดทุน คาดว่าเมื่อเปิด  AEC สิ้นปีนี้  ข้าวจากต่างประเทศน่าจะทะลักเข้าไทยครับ พูดไปแล้วข้าวของบางประเทศปลอดภัยกว่าข้าวที่เรา ซึ่งน่าจะเป็นจุดขายด้วย ด้านต้นทุนการปลูกที่ต่ำกว่าด้วยครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 14 มิถุนายน 2015, 21:28:49
22ไร่ได้มา17ตันกว่าครับ...ข้าวกข.10....เกี่ยวขายราคา9.10บาท...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: banana2go ที่ วันที่ 15 มิถุนายน 2015, 21:44:54
ปีนี้เน้นดอย
ปีหน้า ลงลุยนา แน่ๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2015, 07:20:04
สอบถามหน่อยครับ
เรื่องการปลูกข้าวด้วยรถปลูก 4 แถวเดินตาม
ใครมีเทคนิคดีๆเอามาคุยหน่อย
ตอนนี้จะทดลองปลูกข้าวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2015, 13:30:53
22ไร่ได้มา17ตันกว่าครับ...ข้าวกข.10....เกี่ยวขายราคา9.10บาท...

ราคาดีเลยน้อครับ  น้ำหนักก็ดีเลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2015, 13:34:30
ปีนี้เน้นดอย
ปีหน้า ลงลุยนา แน่ๆ

ตางดอยปลูกอะหยังอยู่ครับ...


สอบถามหน่อยครับ
เรื่องการปลูกข้าวด้วยรถปลูก 4 แถวเดินตาม
ใครมีเทคนิคดีๆเอามาคุยหน่อย
ตอนนี้จะทดลองปลูกข้าวครับ

ปลูกด้วยรถปลูก  ก็ดีอยู่ครับหากเป็นนาชลประทานก็ระวังเรื่องหอยเชอรี่ครับ  น้องนั้นก็ไม่มีอะไร  เรื่องน้ำก็พยายามให้มีเลี้ยงหน้าดินไว้ป้องกันวัชพืชขึ้น หากใส่ปุ๋ยก็ยิ่งโตไวครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2015, 13:38:39
ช่วงนี้เตรียมหว่านข้าวนาปี  คงจะหว่านวันเสาร์ อาทิตยนี้ละครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 กรกฎาคม 2015, 15:26:20
ช่วงเตรียมดินหว่านครับ ปีนี้ฝนตกเป็นช่วง ๆ  บางพื้นที่ไม่ตกเลยก็มี


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2015, 09:44:46
22ไร่ได้มา17ตันกว่าครับ...ข้าวกข.10....เกี่ยวขายราคา9.10บาท...
เห็นนาแบบนี้ก็มีกำลังใจขึ้นครับ
ทำกว่าจะแล้วเสร็จ เหนื่อยกว่าเรามากเลย
เรื่องปุ๋ยไม่รู้เข้าใช้ปุ๋ยแบบไหน ?


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2015, 09:46:57
วันนี้ 24 พค.58 ว่าจะเกี่ยวข้าว
ดูท้องฟ้าก็ยังครึ้มอยู่ สายๆน่าจะดีขึ้น
ที่ผ่านมา มีฝนประปลาย ชาวนาถูกกดราคาลง 5.70-6.00 บ/กก.
หลานคนเริ่มบ่นแล้ว...(ได้ทุนคืนก็ดีแล้วลืมบวกดอกเบี้ย)
เหนื่อนจริงๆ ชาวนา ขายผักขายไม้ยังกำหนดราคาเองได้
กับข้าวที่เป็นชีวิต กลับต้องให้คนอื่นกำหนดราคาให้
ยังหาทางออกไม่เจอ....(http://upic.me/i/jy/ucyy0.jpeg) (http://upic.me/show/55625354)


เกี่ยวข้าวนาปรังกันบ้างรึยังครับ...ของผมอีก2อาทิตย์คงจะได้เกี่ยว....

ผมเกี่ยวเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค.ครับ  ราคาข้าวเจ้า 6.10  บาท ราคา ขึ้น ๆ ลง ๆ ครับ  ขายได้กำไรไม่มากแต่ก็ดีกว่าขาดทุน คาดว่าเมื่อเปิด  AEC สิ้นปีนี้  ข้าวจากต่างประเทศน่าจะทะลักเข้าไทยครับ พูดไปแล้วข้าวของบางประเทศปลอดภัยกว่าข้าวที่เรา ซึ่งน่าจะเป็นจุดขายด้วย ด้านต้นทุนการปลูกที่ต่ำกว่าด้วยครับ




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2015, 09:47:44
วันนี้ 24 พค.58 ว่าจะเกี่ยวข้าว
ดูท้องฟ้าก็ยังครึ้มอยู่ สายๆน่าจะดีขึ้น
ที่ผ่านมา มีฝนประปลาย ชาวนาถูกกดราคาลง 5.70-6.00 บ/กก.
หลานคนเริ่มบ่นแล้ว...(ได้ทุนคืนก็ดีแล้วลืมบวกดอกเบี้ย)
เหนื่อนจริงๆ ชาวนา ขายผักขายไม้ยังกำหนดราคาเองได้
กับข้าวที่เป็นชีวิต กลับต้องให้คนอื่นกำหนดราคาให้
ยังหาทางออกไม่เจอ....(http://upic.me/i/jy/ucyy0.jpeg) (http://upic.me/show/55625354)


เกี่ยวข้าวนาปรังกันบ้างรึยังครับ...ของผมอีก2อาทิตย์คงจะได้เกี่ยว....

ผมเกี่ยวเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค.ครับ  ราคาข้าวเจ้า 6.10  บาท ราคา ขึ้น ๆ ลง ๆ ครับ  ขายได้กำไรไม่มากแต่ก็ดีกว่าขาดทุน คาดว่าเมื่อเปิด  AEC สิ้นปีนี้  ข้าวจากต่างประเทศน่าจะทะลักเข้าไทยครับ พูดไปแล้วข้าวของบางประเทศปลอดภัยกว่าข้าวที่เรา ซึ่งน่าจะเป็นจุดขายด้วย ด้านต้นทุนการปลูกที่ต่ำกว่าด้วยครับ


เห็นนาแบบนี้ก็มีกำลังใจขึ้นครับ
ทำกว่าจะแล้วเสร็จ เหนื่อยกว่าเรามากเลย
เรื่องปุ๋ยไม่รู้เข้าใช้ปุ๋ยแบบไหน ?


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2015, 21:28:44
22ไร่ได้มา17ตันกว่าครับ...ข้าวกข.10....เกี่ยวขายราคา9.10บาท...
เห็นนาแบบนี้ก็มีกำลังใจขึ้นครับ
ทำกว่าจะแล้วเสร็จ เหนื่อยกว่าเรามากเลย
เรื่องปุ๋ยไม่รู้เข้าใช้ปุ๋ยแบบไหน ?
ผมใช้ปุ๋ยเคมีนี่แหละครับ....ให้ปุ๋ยทางดิน...นาปรังนี่ใส่3รอบ....ไม่ได้ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 17 กันยายน 2015, 13:31:21

ราคาข้าวนาปี เป็นใดพ่องหา ตอนนี้ข้าวเริ่มตั้งท้องกันแล้ว

ข้าวเหนียวสันป่าตอง
ข้าวเหนียว กข.6
รอฟังข่าวราคาอยู่ครับ... ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 22 กันยายน 2015, 00:19:54
ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่หลายๆคนตั้งตารอมานาน
กำลังทดลองปลูกเป็นรอบที่ 2 แล้วครับแตกกอดีมาก
" ข้าวเหนียวหอมมะลิดอ "


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 22 กันยายน 2015, 00:21:14
ความแตกต่างข้าวต้นเก่าเมื่อเวลาผ่านไป 10 วัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 22 กันยายน 2015, 00:22:36
ตอนนี้ตั้งท้องใกล้ออกรวงแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 22 กันยายน 2015, 00:23:50
บางต้นก็เริ่มมีรวงให้เห็นบ้างแล้ว
ปลายเดือนตุลาคม ก็คงได้เกี่ยวแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 26 กันยายน 2015, 09:16:19
รวงข้าวสวยๆครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 26 กันยายน 2015, 09:17:04
รวมๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 26 กันยายน 2015, 09:17:55
อีกซักรูป


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: MR.Tos pangnoja ที่ วันที่ 28 กันยายน 2015, 21:45:47
 :) คุณ หมอ ข้าวงามจังเลย ข้าวพันธ์ อะไรครับ ผมจองเมล็ดพันธ์ด้วยน่ะ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 29 กันยายน 2015, 00:18:47
:) คุณ หมอ ข้าวงามจังเลย ข้าวพันธ์ อะไรครับ ผมจองเมล็ดพันธ์ด้วยน่ะ


 ;D " เหนียวหอมมะลิดอ" หรือ "แม่โจ้2"
ครับ เมล็ดพันธุ์ข้าวยังไม่เปิดขายครับ
รอประเมินคุณภาพหหลังเกี่ยวข้าวก่อน
แล้วถึงจะขายอย่างเป็นทางดารครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: MR.Tos pangnoja ที่ วันที่ 30 กันยายน 2015, 18:10:40
 :) เออ... ลองเปรียบเทียบกับข้าวอีก2พันธ์ ให้ดูด้วยน่ะครับ
1. กข 6 เตี้ย
2. สันป่าตอง 1


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 30 กันยายน 2015, 21:50:59
:) เออ... ลองเปรียบเทียบกับข้าวอีก2พันธ์ ให้ดูด้วยน่ะครับ
1. กข 6 เตี้ย
2. สันป่าตอง 1

 ;) กข 6 ต้นเตี้ย คงต้องเปรียบเทียบถึงข้อดีข้อเสียกันอยู่แล้ว
เพราะผมปลูก กข 6 ต้นเตี้ย อยู่
ส่วน สันป่าตอง 1 คงไม่มีข้อมูลครับ เพราะผมไม่ได้ปลูก


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 15 ตุลาคม 2015, 22:03:04
 ;)  ข้าวเริ่มเหลืองแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 16 ตุลาคม 2015, 18:14:08
 ;D. ลองเกี่ยวข้าวระยะพลับพลึงมาสีดูแล้ว
ข้าวสารเป็นตัวดีมาก เหลือแต่ลองนึ่งพิสูจน์ความนุ่ม


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 16 ตุลาคม 2015, 23:50:31
 :)  ลองนึ่งดูแล้ว เหนียวนุ่ม หอม อร่อยมากๆครับ
ถือว่าผ่านครับ กับข้าวพันธุ์ใหม่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 18 ตุลาคม 2015, 10:52:14
  :)  เกี่ยวข้าวแปลงแรกสำหรับทำเมล็ดพันธุ์เรียบร้อย
ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,100 กก./ไร่ ถือว่าเกินคาดครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 ตุลาคม 2015, 16:56:35
ข้าวน้ำหนักดีจริง ๆ ครับ เมล็ดก็ดูสมบูรณ์ สวยดีนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 19 ตุลาคม 2015, 16:57:44
ข้าวที่ปลูก กข.15 ก็เริ่มแทงยอดออกรวงแล้วครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: acer4741 ที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2015, 14:19:48
ตอนนี้ราคาข้าว เป็นยังไงบ้างคับ ข้าวสันป่าตอง 1 ของผมน่าจะได้เกี่ยวสิ้นเดือนนี้ ยังไม่ทราบบราคาเลย. แถวๆพานยิ่งดีคับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 21 ตุลาคม 2015, 08:36:35

ข้าวสันป่าตอง 1 เกี่ยวไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา 9.70 บาท/กก.ครับ ที่แม่จัน ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 21 ตุลาคม 2015, 16:25:55
ปีนี้ข้าวเหนียวมาแรงแต้น้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 24 ตุลาคม 2015, 07:11:45
ข้าวเจ้า พันธุ์ใหม่อีกพันธุ์หนึ่งก็น่าสนใจครับ
  " หอมมะลิธรรมศาสตร์ "


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: teemonsters ที่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2015, 22:49:08
สอบถามหน่อยครับ ผานแบบนี้ซื้อที่ไหน
(http://upic.me/i/vk/60607_550094048338387_1897190386_n.jpg) (http://upic.me/show/57272131)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2015, 21:38:53
สอบถามหน่อยครับ ผานแบบนี้ซื้อที่ไหน
(http://upic.me/i/vk/60607_550094048338387_1897190386_n.jpg) (http://upic.me/show/57272131)


 :)  ตามครับ หาอยู่เหมือนกัน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Zero Cattle ที่ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2015, 19:18:45
 :) ความแตกต่างระหว่างข้าวเหนียว 3 สายพันธุ์
ทั้งข้าวเปลือกและข้าวกล้อง ดูกันชัดๆ
ให้หายสงสัยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 03 ธันวาคม 2015, 07:27:51
ข้าวของผมเกี่ยวแล้ว
มะลิ๑๐๕ ขาย ๙.๕๐ บ.ครับ
ไม่เผาฟาง จะให้รถไถตากเลย (ไม่รู่จะมีอะไรต่อรองอีกไหม)
 นาปรังยังไม่แน่ใจจะเอาอะไรปลูก
ทางนี้มีการประกันราคา สันป่าตองซิ่ง( ๗ บ.นาหว่าน/๘ บ.นาปลูก)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 เมษายน 2016, 20:55:37
ข้าวในนาปีเริ่มแทงยอดแล้วครับ  เดือนหน้าคงได้เก็บเกี่ยวผลผลิต  ปีนี้หลายพื้นไม่สามารถทำนาปรังได้เพราะประสบภัยแล้ง และส่อว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ปีหน้าก็ไม่แน่เหมือนกันว่าแถวบ้านว่าจะสามารถทำนาปรังได้ต่อหรือไม่ ซึ่งทุกวันนี้อาศัยน้ำจากน้ำแม่กก   แม่น้ำกกต้นกำเนิดจากเทือกเขาทางตอนเหนือของเมืองกก ในเมืองเชียงตุง เขตรัฐฉาน ประเทศพม่า โดยไหลผ่านเมืองกกและเมืองสาด ก่อนเข้าประเทศไทยที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 03 พฤษภาคม 2016, 15:02:49
ราคาข้าวตอนนี้ 12.00 บาทต่อกก. ครับสำหรับข้าวเหนียว


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: rungsawad ที่ วันที่ 03 พฤษภาคม 2016, 18:36:18
ราคาข้าวตอนนี้ 12.00 บาทต่อกก. ครับสำหรับข้าวเหนียว
วัดความชื้นไหมครับ ทั้งนาปลูกและนาหว่านหรือครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 พฤษภาคม 2016, 14:38:26
ข้าวเหนียวแถวบ้านขึ้น ๆ ลง ๆ ครับ แต่ยังราคาดีอยู่  ส่วนข้าวเจ้า ราคาหกบาทกว่า ๆ ครับ ราคาไม่ได้วัดความชื้นเกี่ยวสดขึ้นตราชั่งเลย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 พฤษภาคม 2016, 15:47:42
เกี่ยวไปบางส่วนแล้วครับ ข้าวเจ้าพิษโลก  ราคารับซื้อ 7.50  บาท  ราคาดีขึ้นมาแล้วครับแต่หากเทียบกับข้าวเหนียวก็ต่างกันเยอะอยู่ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 14 พฤษภาคม 2016, 21:32:25
นกเอี้ยงฮ้องกั๋นแล้วครับ... ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 16 พฤษภาคม 2016, 20:57:00
เกี่ยวเมื่อวานไป22ไร่ได้19ตันครับ..เหลืออีกแปลง14ไร่...ข้าวสันป่าตอง1....ราคา11.50กก.


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2016, 10:04:59
นาปรังปีนี้ปลูกข้าวเจ้าครับ  เดียวนาปรังปีหน้าจะลองปลูกข้าวเหนียวบ้าง  ต้นทุนไม่ต่างกันมากแต่ข้าวเหนียวได้เงินเยอะกว่าพอสมควรเลยครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 กรกฎาคม 2016, 08:57:58
รถไถนาเดินตามแบบมีโรตารี่ จอบหมุนครับ  ไปเดียนเบียนฟูเวียดนามมา เห็นเค้าใช้กันเยอะ น่าจะพอใช้บ้านเราได้ดี  ดูสเปคแล้วเครื่องดูเล็กแต่แรงม้าเยอะ น้ำหนักเบา สามารถเปลี่ยนล้อวิ่งบนถนนได้ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 03 สิงหาคม 2016, 17:01:28
ทำนาปีนี้ทั้งปลูกทั้งโยนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 06 สิงหาคม 2016, 19:49:35
ทำนาปีนี้ทั้งปลูกทั้งโยนครับ
รถดำนาขายไปแล้วกาครับ..


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 09 สิงหาคม 2016, 09:53:38
ทำนาปีนี้ทั้งปลูกทั้งโยนครับ
รถดำนาขายไปแล้วกาครับ..

ขายไปแล้วครับ เสียดายเหมือนกั๋นครับ ต้องมีแรงงานช่วยเพาะช่วยขนถึงจะดี พอดีแถวบ้านหายากครับ หากทำนาจะเหมาก็ต้องเหมาะไปเลย จ้างรายวันหาแรงงานยากครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2016, 16:43:17
ข้าวเริ่มแตกกอละครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 17 สิงหาคม 2016, 17:06:02
วันหยุดที่ผ่านมาพากลุ่ม ไปปั่นจักรยานเที่ยวเส้นทาง ห้วยทราย  ปากทา ผาอุดม  แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว  นาที่นู่นก็ปลูกพร้อมพอ ๆ กับบ้านเรา  บรรยากาศดี  แต่ฝนตกค่อนข้างมาก  ป่าไม้อุดมสมบูรณ์  มีน้ำท่วมด้วย  เดียวมีกำหนดการจะไปดูนาขั้นบันไดที่ ซาปา ประเทศเวียดนามอีกครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: โชคดี ที่ วันที่ 31 สิงหาคม 2016, 15:03:30
รถไถนาเดินตามแบบมีโรตารี่ จอบหมุนครับ  ไปเดียนเบียนฟูเวียดนามมา เห็นเค้าใช้กันเยอะ น่าจะพอใช้บ้านเราได้ดี  ดูสเปคแล้วเครื่องดูเล็กแต่แรงม้าเยอะ น้ำหนักเบา สามารถเปลี่ยนล้อวิ่งบนถนนได้ครับ
บ้านอ้ายก่อใช้แบบนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 02 กันยายน 2016, 16:54:38
รถไถนาเดินตามแบบมีโรตารี่ จอบหมุนครับ  ไปเดียนเบียนฟูเวียดนามมา เห็นเค้าใช้กันเยอะ น่าจะพอใช้บ้านเราได้ดี  ดูสเปคแล้วเครื่องดูเล็กแต่แรงม้าเยอะ น้ำหนักเบา สามารถเปลี่ยนล้อวิ่งบนถนนได้ครับ
บ้านอ้ายก่อใช้แบบนี้

ราคากี่บาทครับคันที่มีจอบหมุน


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: โชคดี ที่ วันที่ 02 กันยายน 2016, 19:16:24
รถไถนาเดินตามแบบมีโรตารี่ จอบหมุนครับ  ไปเดียนเบียนฟูเวียดนามมา เห็นเค้าใช้กันเยอะ น่าจะพอใช้บ้านเราได้ดี  ดูสเปคแล้วเครื่องดูเล็กแต่แรงม้าเยอะ น้ำหนักเบา สามารถเปลี่ยนล้อวิ่งบนถนนได้ครับ
บ้านอ้ายก่อใช้แบบนี้

ราคากี่บาทครับคันที่มีจอบหมุน
สามหมื่นกว่าครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 06 กันยายน 2016, 16:41:27
ทุ่งนาสวยงามนะครับ

-1kvXD88ldU


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 14 กันยายน 2016, 11:35:35
มาเยี่ยมชมครับ บ่ได้มาเมินละ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 18 กันยายน 2016, 09:29:42
ห่างหายไปหลายวันครับ(เมากับนาข้าวถูกน้ำท่วม น้ำย้อนกลับจากลำเหมืองเสีย)
เกษตรกรก็ยังเป็นเช่นเดิม ข้อมูลข่าวสาร(รู้แต่ไม่เข้าใจ)นโบายของ รบ.หลายด้าน ไม่รู้จะเริมต้นอย่างไร อนาคตจะปลูกพืชแบบไหน ใช้น้ำน้อยทำอย่างไร ยังคงคุยกันแบบคิงฮู้ ฮาฮู้ วนในอ่างใบเก่าๆที่เริ่มจะผุ เกษตรตำบลก็คอยติดตามข้อมูล(จ่าย 1000 บ./ไร่)ก็เต็มที่แล้วอย่างอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง ที่จ่มให้ฟังที่อื่นๆเขาเป็นแบบนี้ไหมครับ.!!!


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 29 ตุลาคม 2016, 14:34:16
เดือนหน้าคงเริ่มเกี่ยวข้าวนาปีกันแล้วน้อครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 04 พฤศจิกายน 2016, 09:39:39
เกี่ยวไป22ไร่ละครับ...ข้าวสันป่าตอง1...ได้18ตันกว่าๆ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 07 พฤศจิกายน 2016, 15:51:00
เกี่ยวไป22ไร่ละครับ...ข้าวสันป่าตอง1...ได้18ตันกว่าๆ...

ของผมว่าจะเกี่ยวราวปลายสัปดาห์นี้ครับ  ราคาแถวบ้านตอนนี้อยู่ที่เจ็ดบาทหน่อย ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2016, 21:03:06
รายงานด่วนครับ
ราคาข้าวที่แม่จันเริ่มพรุ่งนี้ครับ(๑๘ พย.๕๙)
สันป่าตอง ๗.๒๐-๗.๕๐ บ.
กข.๑๕    ๗.๒๐-๗.๔๐ บ.
มะลิ ๑๐๕  ๗.๓๐-๗.๖๐ บ.
กข.๖       ๘.๓๐-๘.๒๐ บ.
(รายงานจาก ผญ.ม.๑๑ บ้านหัวฝาย ต.จันจว้า)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2016, 12:22:06
ราคาข้าวเริ่มขึ้นมาหน่อยนึงละครับตอนนี้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 ธันวาคม 2016, 21:02:12
กำลังลองปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ดูครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 13 ธันวาคม 2016, 21:06:05
ลองผิดลองถูกอยู่ครับช่วงนี้  แต่ก็พอมีผลผลิตให้ได้ชื่นชมบ้าง  งบประมาณที่ใช้ไม่ถึงสองพันบาทสำหรับวัสดุ ปุ๋ย  เมล็ดพันธุ์  ขนาด 66  ต้นครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: jetken ที่ วันที่ 23 ธันวาคม 2016, 13:40:15
wow สุดยอดเลยครับ ขอติดตามกระทู้ดีๆ กำลังอยากปลูกผัดออแกนนิค อยู่พอดี  :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 27 ธันวาคม 2016, 15:11:08
wow สุดยอดเลยครับ ขอติดตามกระทู้ดีๆ กำลังอยากปลูกผัดออแกนนิค อยู่พอดี  :)

ขอบคุณครับ ตอนนี้ผลผลิตเริ่มเก็บกินได้แล้ว และก็ลองเพาะรุ่นที่  2  ต่อระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ราว ๆ 40-50 วันครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: laieat ที่ วันที่ 09 มกราคม 2017, 18:14:41
ขอบคุณสำหรับข้อมูลและความรู้การเกษตร ;D ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2017, 11:12:01
ขอบคุณสำหรับข้อมูลและความรู้การเกษตร ;D ;D ;D ;D

ยินดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 12 มกราคม 2017, 11:16:33
ปลูกกล้วยหอมทอง 1 ไร่ 1 แสน เขาทำกันยังไงไปดูกันครับ

sNKPr5kPjb4


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มกราคม 2017, 10:19:49
ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาได้เดินทางไป สปป.ลาว จาก เมืองห้วยทราย ฝั่งตรงข้ามเชียงของ เลาะลงทางใต้ไปผ่านเมืองคอบไปยังเมืองเชียงฮ่อน แขวง ไชยะบุรี  (ไชยะบุลี ) ที่อยู่ใกล้กับ อ.สองแควทาง จ.น่าน เขาก็มีการทำนาปรังเหมือนกับทางบ้านเราเหมือนกันมีการจัดการเรื่องน้ำสามารถเพียงพอกับการปลูกข้าวได้


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 23 มกราคม 2017, 10:23:03
ธรรมชาติยังคงสมบูรณ์อยู่ แต่ก็มีกลุ่มทุนจากจีนที่เข้ามาลงทุนในการปลูกกล้วยค่อนข้างมาก ซึ่งหลัง ๆ มา ทางลาวเองก็เริ่มมีการจำกัดพื้นที่ลดลงมาแล้วเนื่องจากปัญหาจากสารเคมีที่เจือปนลงระบบน้ำตามธรรมชาติ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 30 พฤษภาคม 2017, 14:40:37
แวะมาเยี่ยมเยือนครับ ช่วงนี้ จขกท.คงกำลังปลูกข้าวแล้วนะครับ :)


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มิถุนายน 2017, 13:57:46
แวะมาเยี่ยมเยือนครับ ช่วงนี้ จขกท.คงกำลังปลูกข้าวแล้วนะครับ :)

ยังเลยครับ  คลองชลประทานจะปล่อยน้ำวันที่ 15มิ.ย.คงปลาย ๆ เดือนครับถึงจะเริ่มได้ปลูกข้าวครับ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยือนครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มิถุนายน 2017, 14:04:36
ช่วงนี้ก็ศึกษาพวก ผลไม้อื่น ๆ ไปด้วย พอดีเห็นมะม่วงบางสายพันธุ์ก็น่าสนใจมาทดลองปลูกดูนะครับเพราะราคายังดีอยู่สำหรับมะม่วง เหมาะสำหรับไว้ปลูกแซมจากพืชหลักครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 08 มิถุนายน 2017, 14:21:52
ที่มา: https://www.matichon.co.th/news/15021


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2017, 11:05:37
สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ไปเที่ยวชม หมู่บ้าน กั๊ด กั๊ด ที่เมือง ซาปา  ประเภทเวียดนามครับ  ที่นึ่ขึ้นชื่อเรื่องการทำนาขั้นบันได  แต่พอดีช่วงที่ไป ฝนค่อนข้างมาก และบางจุดเป็นเทือกเขาสูง เลยไม่ได้ถ่ายรูปมาครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 18 สิงหาคม 2017, 12:01:30
ดูทุ่งนาเวียดนามในเขตพื้นราบ  การปลูกของชาวเวียดนามค่อนข้างประณีตครับ  ไม่เห็นข้าวดีด หรือ วัชพืชเลย  มักจะเห็นชาวนาเวียดนาม ก้ม ๆ เงย ๆ แถวแปลงนา  เขาใช้วิธีการถอนด้วยคน มากกว่าการใช้ยากำจัดวัชพืช  ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนหันไปปลูกพืชตัวอื่นอย่างกาแฟ  หรือ สร้างอาชีพอื่นมากขึ้น ทางเวียดนามกำลังบูมเรื่องการท่องเที่ยว  ชาวนา ชาวประมงบางพื้นที่จึงเปลี่ยนไปเป็นอาชีพการบริการนักท่องเที่ยวแทน เช่น ขับรถ  พายเรือ  สินค้าของที่ระลึกแทนกันเยอะ 


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 ตุลาคม 2017, 13:09:55
สารคดีข้าวเวียดนาม จากช่อง Thai PBS

QuFat1UX72M


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: Khunplong ที่ วันที่ 17 ตุลาคม 2017, 10:32:14
ดูทุ่งนาเวียดนามในเขตพื้นราบ  การปลูกของชาวเวียดนามค่อนข้างประณีตครับ  ไม่เห็นข้าวดีด หรือ วัชพืชเลย  มักจะเห็นชาวนาเวียดนาม ก้ม ๆ เงย ๆ แถวแปลงนา  เขาใช้วิธีการถอนด้วยคน มากกว่าการใช้ยากำจัดวัชพืช  ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนหันไปปลูกพืชตัวอื่นอย่างกาแฟ  หรือ สร้างอาชีพอื่นมากขึ้น ทางเวียดนามกำลังบูมเรื่องการท่องเที่ยว  ชาวนา ชาวประมงบางพื้นที่จึงเปลี่ยนไปเป็นอาชีพการบริการนักท่องเที่ยวแทน เช่น ขับรถ  พายเรือ  สินค้าของที่ระลึกแทนกันเยอะ 
ข้าวในกระสอบฟางที่มีตัวหนังสือไทย เป็นข้าวไทยหรือข้าวเวียดนามครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 05 ธันวาคม 2017, 14:02:22
ดูทุ่งนาเวียดนามในเขตพื้นราบ  การปลูกของชาวเวียดนามค่อนข้างประณีตครับ  ไม่เห็นข้าวดีด หรือ วัชพืชเลย  มักจะเห็นชาวนาเวียดนาม ก้ม ๆ เงย ๆ แถวแปลงนา  เขาใช้วิธีการถอนด้วยคน มากกว่าการใช้ยากำจัดวัชพืช  ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนหันไปปลูกพืชตัวอื่นอย่างกาแฟ  หรือ สร้างอาชีพอื่นมากขึ้น ทางเวียดนามกำลังบูมเรื่องการท่องเที่ยว  ชาวนา ชาวประมงบางพื้นที่จึงเปลี่ยนไปเป็นอาชีพการบริการนักท่องเที่ยวแทน เช่น ขับรถ  พายเรือ  สินค้าของที่ระลึกแทนกันเยอะ 
ข้าวในกระสอบฟางที่มีตัวหนังสือไทย เป็นข้าวไทยหรือข้าวเวียดนามครับ

เป็นพวกข้าวหอมมะลิ  กข.15  ที่นำเข้าจากไทยครับ คนมีตังค์ทางเวียดนามจะกินกัน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงกินข้าวเวียดนามเพราะราคาถูกกว่ากันไปครึ่งต่อครึ่งครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 15 ธันวาคม 2017, 18:39:29
ข้าวนาปีนี้เสร็จแล้ว(ใครเสร็จใคร)
-ข้าม กข.6 เคยเดินประกวดเวทีระดับ จังหวัด มาปีนี้เข้าประกวดใหม่ระดับหมู่บ้าน(นางงามตกกระป๋อง)ไปเลย
-ข้าว มะลิ 105 พอจะกู้หน้าได้
มันเกิดอะไรกันขึ้น ทำไมๆๆๆๆๆ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: bm farm ที่ วันที่ 04 ตุลาคม 2018, 11:30:49
เป็นบทความที่น่าสนใจมากเลยคะ เป็นประโยชน์และให้ความรู้เพิ่มเติมอย่างมากคะ ขอบคุณมากเลยคะ
เว็บแทงบอล (http://www.ufa007.com)
แทงบอลเงินสด (http://www.ufa007.com)
:R
ถ้าวางลิ้งค์ในโพสท์อีกผมแบนนะครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: ubuntuthaith ที่ วันที่ 28 มกราคม 2019, 15:40:25
น่าสนใจดีครับ เห็นเวียดนามก็ใช้แบบนี้มานาน มีขายซักที

GAyEdN5JbFQ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 29 กรกฎาคม 2020, 21:34:28
สวัสดีครับ....
เรื่องการปลูกข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน
มาวันนี้กระแสการทำเกษตรผสมผสานกำลังมาแรงครับ
ยังทำนาอยู่ไหมครับ ของผมก็ทำนาเหมือนเดิมครับ(จะปลูกข้าว 8 สค.63)
ไม่ได้คุยกันนานเป็นปีนะครับ สะบายดีครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: chate ที่ วันที่ 30 กรกฎาคม 2020, 09:02:31
หายไปนาน!!ตามมาดันครับ ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 05 มกราคม 2023, 11:13:21
สวัสดีปีใหม่ 2566
ขอให้เพื่อนๆเกษตรทุกๆท่านมีสุขภาพแข็งแรง ตลอดปี 2566 ครับผม
-ผมตามมาดูข้อมูลเดิมๆ ยังอยู่ตั้งแต่เริ่มแรงเยี่ยมจริงๆ
-ตอนนี้เชียงรานเราพัฒนากันไปหลายอย่างแล้ว ส่งสุดทาง อบจ.เชียงราย/ทน.เชียงราย ก็ประกาศเชียงรายเป็นเมืองเกษตรปลอดภัยไปแล้ว
-เกษตรกรเราไปึงไหนกันแล้วครับ...ขอเสียงหน่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 16 มกราคม 2023, 20:58:20
สวัสดีปีใหม่ 2566
ขอให้เพื่อนๆเกษตรทุกๆท่านมีสุขภาพแข็งแรง ตลอดปี 2566 ครับผม
-ผมตามมาดูข้อมูลเดิมๆ ยังอยู่ตั้งแต่เริ่มแรงเยี่ยมจริงๆ
-ตอนนี้เชียงรานเราพัฒนากันไปหลายอย่างแล้ว ส่งสุดทาง อบจ.เชียงราย/ทน.เชียงราย ก็ประกาศเชียงรายเป็นเมืองเกษตรปลอดภัยไปแล้ว
-เกษตรกรเราไปึงไหนกันแล้วครับ...ขอเสียงหน่อย


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 16 มกราคม 2023, 21:05:12
หลายปีที่ผ่านมา การทำนา/ราคาข้าว ยังเหมือนเดิม เกษตรกรเรามีการเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนกันแล้วครับ
ผมตอนนี้ปรับการทำนามาเป็น นาข้าวปลอดภัยครับ มาตรฐาน GMP.เมื่อปี 2562-2563 และปี2564-2565 ก็ขยับเป็นข้าวอินมรีย์ครับ รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว(คิดเอาเอง/สรุปเอง)แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่เหมือนกันครับ...มีท่านไดทำข้าวอินทรีย์บ้างแล้วครับ ...




หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2023, 21:19:34
พรุ่งนี้ 16 มีค.2566 กรมการข้าวและศูนย์วิจัยข้าวเชียงราร อ.พาน
จะมาคุย แนะนำการทำข้าวอินทรีย์/และแนวทางการทำเกษตรตามนโยบายข้าวรักษ์โลก
ของอำเภอแม่จัน น่าจะมีเรื่องราวด้านการเกษตรมาคุยกันครับ



หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: เสือซุ่ม ที่ วันที่ 22 มีนาคม 2023, 09:23:59
ถ้ามีอบรม เสาร์-อาทิตย์ น่าจะดีครับ อยากเข้าไปฟัง เผื่อเป็นแนวทางใหม่ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรครับ อยากเห็นแปลงสาธิตที่ทดลองแล้วได้ผลตามทฤษฏี เพื่อพัฒนาผลผลิตให้สูง ลดต้นทุน ตอนนี้ชาวนาจะเหลือก็แต่คนอายุมาก ต่ำกว่าอายุ 40 ปี แทบจะไม่มี ผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ แต่ก็ทำงานประจำไปด้วย...อนาคตอยากให้ลูกหลานสนใจวิธีทำนาบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีใครอยากทำ...  ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 10 สิงหาคม 2023, 08:43:16
ถ้ามีอบรม เสาร์-อาทิตย์ น่าจะดีครับ อยากเข้าไปฟัง เผื่อเป็นแนวทางใหม่ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรครับ อยากเห็นแปลงสาธิตที่ทดลองแล้วได้ผลตามทฤษฏี เพื่อพัฒนาผลผลิตให้สูง ลดต้นทุน ตอนนี้ชาวนาจะเหลือก็แต่คนอายุมาก ต่ำกว่าอายุ 40 ปี แทบจะไม่มี ผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ แต่ก็ทำงานประจำไปด้วย...อนาคตอยากให้ลูกหลานสนใจวิธีทำนาบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีใครอยากทำ...  ;D ;D ;D
-สวีสดีครับ...
-ดีใจครับที่มีเกษตรรุ่นใหม่สนใจการทำการเกษตร
-ที่สำคัญต้องเอาใจมาก่อน
-เรามาถูกทางแล้ว ความมั่นคงทางอาหารถือว่าสำคัญอันดับแรกของคนเรา
-เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องที่ดีมากครับ

ตลาดนัดผักผลไม้ปลอดภัยนครเชียงราย ทุกวันศุกร์ เวลา 06.00 – 15.00 น.
เทศบาลนครเชียงราย ได้ดำเนินโครงการ นครเชียงราย ต้นแบบเมืองอาหารปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนในเขตเทศบาลฯ ได้บริโภคอาหารปลอดภัย และส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดเชียงราย หันมาทำการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมีและการปนเปื้อน โดยเทศบาลนครเชียงรายได้จัด “ตลาดนัดผักผลไม้ปลอดภัยนครเชียงราย” ทุกวันศุกร์ เวลา 06.00-15.00 น. ณ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัยนครเชียงราย (รสพ.เก่า)
-เชียงรายบ้านเฮา ทางเทศบาลนครเชียงราย/อบจ.เชียงราย ได้ประกาศเชียงรายเป็นเมืองอาหารปลอดภัย เมื่อปี 2565 ก็กำลังพัฒนาอยู่ครับ
-เทศบาลนครเชียงรายเริ่มแล้วครับ...


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 03 มีนาคม 2024, 10:09:11
ถ้ามีอบรม เสาร์-อาทิตย์ น่าจะดีครับ อยากเข้าไปฟัง เผื่อเป็นแนวทางใหม่ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรครับ อยากเห็นแปลงสาธิตที่ทดลองแล้วได้ผลตามทฤษฏี เพื่อพัฒนาผลผลิตให้สูง ลดต้นทุน ตอนนี้ชาวนาจะเหลือก็แต่คนอายุมาก ต่ำกว่าอายุ 40 ปี แทบจะไม่มี ผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ แต่ก็ทำงานประจำไปด้วย...อนาคตอยากให้ลูกหลานสนใจวิธีทำนาบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีใครอยากทำ...  ;D ;D ;D
-สวีสดีครับ...
-ดีใจครับที่มีเกษตรรุ่นใหม่สนใจการทำการเกษตร
-ที่สำคัญต้องเอาใจมาก่อน
-เรามาถูกทางแล้ว ความมั่นคงทางอาหารถือว่าสำคัญอันดับแรกของคนเรา
-เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องที่ดีมากครับ

ตลาดนัดผักผลไม้ปลอดภัยนครเชียงราย ทุกวันศุกร์ เวลา 06.00 – 15.00 น.
เทศบาลนครเชียงราย ได้ดำเนินโครงการ นครเชียงราย ต้นแบบเมืองอาหารปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนในเขตเทศบาลฯ ได้บริโภคอาหารปลอดภัย และส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดเชียงราย หันมาทำการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมีและการปนเปื้อน โดยเทศบาลนครเชียงรายได้จัด “ตลาดนัดผักผลไม้ปลอดภัยนครเชียงราย” ทุกวันศุกร์ เวลา 06.00-15.00 น. ณ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัยนครเชียงราย (รสพ.เก่า)
-เชียงรายบ้านเฮา ทางเทศบาลนครเชียงราย/อบจ.เชียงราย ได้ประกาศเชียงรายเป็นเมืองอาหารปลอดภัย เมื่อปี 2565 ก็กำลังพัฒนาอยู่ครับ
-เทศบาลนครเชียงรายเริ่มแล้วครับ...
***เวลาผ่านไปเร็วจัง เกษตรกรเรา โดยเฉพาะเกษตรที่ทำนา
ทำนาปี ต่อนาปรัง เราต้องคอยไปดูนาอยู่ประจำ
นาปีก็ดูน้ำเข้า/น้ำออก นาปรังก็คอยดูเครื่องสูปน้ำเข้านา(น้ำมันเครื่องสูปน้ำ/เครื่องเสีย)
ทำให้เวลาผ่านไปเร็วแบบไม่รู้ตัว
กระทู้ในห้องนี้ ชอบครับข้อคิด/คลังความรู้ต่างๆเยียมยอดครับ
กลับมาคุยใหม่ครับ
ประเด็นที่ที่อยากให้เปิดอบรมการทำการเกษตร เป็นเรื่องที่ดีครับ
คงต้องไปคุยกันใหม่ ครับ


หัวข้อ: Re: {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
เริ่มหัวข้อโดย: yonok ที่ วันที่ 15 มีนาคม 2024, 12:29:27
ชาวนาเฮ! ขายข้าวได้ตันละ 11,000-16,000 บาท สูงสุดรอบ 17 ปี แนวโน้มขยับอีก หวังนาปรังไม่ขาดน้ำ
ชาวนาเฮ! ขายข้าวได้ตันละ 11,000-16,000 บาท สูงสุดรอบ 17 ปี แนวโน้มขยับอีก หวังนาปรังไม่ขาดน้ำ

 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาข้าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกนาปรังรอบแรกปี 2567 พบว่า ราคาข้าวทุกชนิดราคาเกิน 1 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงสุดในรอบ 16-17 ปี จากที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกนาปรังในช่วงนี้จะอยู่ที่ 7,000-8,000 บาทต่อตัน โดยล่าสุดข้าวเปลือกปทุมธานี เกี่ยวสด(ความชื้นเกิน 25%) ขายได้ 12,800 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้าขาวทั่วไปขายได้ 10,800-11,000 บาทต่อตัน ถ้าเป็นข้าวเปลือกเจ้าแห้ง ปทุมธานี ขายได้ 15,000-16,000 บาท ข้าวขาวทั่วไปขายได้ ไม่น้อยกว่า 14,000 บาท โดยแนวโน้มราคาน่าจะทรงตัวสูงหรือขยับได้อีก ขึ้นกับปัจจัยเรื่องภาวะอากาศและปริมาณน้ำ หากร้อนแล้งและน้ำน้อย จะมีผลต่อผลผลิตอาจเสียหายบ้างส่วน ประเทศผู้ปลูกข้าวและส่งออก เช่น เวียดนาม มีผลผลิตดีและส่งออกเพิ่ม และอินเดียยังไม่ยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาว
 “จากที่สำรวจนาปรังรอบแรกที่เก็บเกี่ยวกันมาเกือบ 2 เดือนแล้ว และมากขึ้นก่อนสงกรานต์ หากไม่มีปัญหาขาดน้ำและไม่ร้อนจนเกินไป ผลผลิตข้าวนาปรังน่าจะมากพอเพียงบริโภคและส่งออกได้ตามเป้าหมาย สิ่งที่เราเสนอรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาตลอด คือ การจัดเตรียมแหล่งน้ำ พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อโรคและเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นไม่เกิน 95-100 วัน ควร 75-80 วัน โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มต้องมีการพัฒนาที่สามารถเพาะปลูกได้ดี ของเรายังเจอเรื่องไม่ทนโรค และคุณภาพหลังเก็บไม่ดีพอควร อีกทั้่งผลผลิตต่อไร่ยังไม่ดีเท่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ จะเปิดตัว 10 สายพันธ์ข้าวที่ได้รับการพัฒนาใหม่ ” นายปราโมทย์ กล่าว