เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย

ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย => นักลงทุน การเงิน การธนาคาร => ข้อความที่เริ่มโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2011, 13:16:33



หัวข้อ: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2011, 13:16:33
.

มีเสียงเรียกร้องแม้แต่เสียงเดียา ผมก็จัดให้ เพราะผมเป็นคนบ้าเวบบอร์ด หุหุ

"การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลประกอบการในอดีตไม่สามารถนำมาทำนายผลประกอบการในปัจจุบันได้"

------------------------------------

หุ้น คืออะไร......??


สมมติว่า ท่านมีความคิดที่จะเปิดร้านหมูกระทะ ต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1 ล้านบาท

แต่ท่านมีเงินเพียง 500,000.-บาท

ท่านไม่ชอบกู้เงิน ท่านจะทำอย่างไรครับ??

ทางเลือกหนึ่งที่ทำได้คือ .... หาเพื่อนมา 5 คน เอามันมาร่วมลงทุนด้วย

เพื่อน 5 คน ลงทุนคนละ 1แสนบาท

รวมกับเงินของท่าน อีก 500,000 บาท เป็น 1 ล้านบาทพอดี

ท่านสามารถเปิดร้านหมูกระทะได้แล้ว

และแน่นอนว่า ท่านไม่ใช่เจ้าของร้านแต่เพียงผู้เดียว เพราะเพื่อนของท่าน ต่างมีเงินลงทุนร่วมด้วย

ถ้าแบ่งร้านหมูกระทะออกเป็น 10 ส่วน .....  ท่านเป็นเจ้าของ 5 ส่วน เพื่อนท่านเป็นเจ้าของอีก คนละ 1 ส่วน

ถ้าแบ่งร้านหมูกระทะออกเป็น 100 ส่วน .....  ท่านเป็นเจ้าของ 50 ส่วน เพื่อนท่านเป็นเจ้าของอีก คนละ 10 ส่วน

ถ้าแบ่งร้านหมูกระทะออกเป็น 1,000 ส่วน .....  ท่านเป็นเจ้าของ 500 ส่วน เพื่อนท่านเป็นเจ้าของอีก คนละ 100 ส่วน

ถ้าแบ่งร้านหมูกระทะออกเป็น 10,000 ส่วน .....  ท่านเป็นเจ้าของ 5,000 ส่วน เพื่อนท่านเป็นเจ้าของอีก คนละ 1,000 ส่วน

ถ้าแบ่งร้านหมูกระทะออกเป็น 1ล้าน ส่วน .....  ท่านเป็นเจ้าของ 500,000 ส่วน เพื่อนท่านเป็นเจ้าของอีก คนละ 100,000 ส่วน

--------------------------

ไอ้เจ้า "ส่วนความเป็นเจ้าของ"  นี่แหละครับ ที่เรียกว่า หุ้น

และแน่นอน ว่ามันสามารถซื้อขายกันได้

ทันทีที่ท่านซื้อหุ้น....นั่นหมายความว่าท่านเป็นเจ้าของธุรกิจ

หากท่านเป็นเจ้าของธุรกิจที่ดี .... ก็ดีไป

แต่ถ้าท่านเข้าไปเลือกซื้อหุ้นบริษัทที่ไม่ดี....นำไปสู่การขาดทุน

ท่านต้องเข้าไปมีความเสี่ยงต่างๆของธุรกิจนั้น มีโอกาสได้กำไร และ ขาดทุน ทันที

ดังนั้น จึงมีคำเตือนว่าการลงทุนมีความเสี่ยงนั่นเอง

----------------------------

คราวหน้ามาต่อกันเรื่อง ทำไมหุ้นถึงขึ้นและลง

.

..


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: vee48 ที่ วันที่ 23 มิถุนายน 2011, 13:21:34
ขอบคุณอย่างสูงค่ะ ;D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: moojangjang ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2011, 14:49:29
ได้รับความรู้ ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 25 มิถุนายน 2011, 09:31:49
.

เอาล่ะ....ในเมื่อเรารู้แล้วว่าหุ้นคืออะไร (หรือว่ายังไม่มีใครรู้ - -)

ทีนี้เราจะมาดูว่า อะไรทำให้หุ้นขึ้น หรือ ลง ครับ

มีอยู่แค่ 2 สาเหตุ ที่ทำให้หุ้นขึ้นและลง

1.) อุปสงค์ หรือ ความต้องการซื้อ  ----  หลักง่ายๆครับ อะไรที่คนอยากได้ อยากซื้อ มันก็ราคาแพง ดังนั้น ถ้าคนต้องการซื้อหุ้นนี้มากๆ หุ้นก็ราคาสูงขึ้น

2.) อุปทาน หรือความต้องการขาย --- เหมือนกัน ถ้าคนเทหุ้นขายมาเยอะๆ ของที่คนต้องการขาย ราคาก็จะ ถูกลง

-------------------

แล้วอะไรล่ะ ที่กำหนดให้คนต้องการซื้อหรือขายหุ้น

ความจริงมันมีปัจจัยมากมายที่สามารถกระทบต่อราคาหุ้นได้ จนนักวิเคราะห์บางคนเค้าบอกว่า หุ้นอ่อนไหวและเข้าใจยากกว่าผู้หญิง

ผมจะอธิบายแค่ปัจจัยหลักๆก็พอ คงไม่ต้องให้ผมเขียนหมด ไม่งั้น เมื่อยมือตายชัก

อันดับแรกสุดคือ

--- กำไรต่อหุ้น --- 
หุ้นไหนกำไรต่อหุ้นสูง ก็แปลว่าหุ้นนั้นดี พอหุ้นดี คนก็อยากได้ พอคนอยากได้ หุ้นก็ราคาแพงครับ
ในทางตรงข้าม หุ้นไหนขาดทุน คงไม่มีใครต้องการถือ พอคนไม่ต้องการถือ ก็เกิดการขายหุ้นลงมา เมื่อขายมากๆ ราคาก็ร่วงครับ

--- อัตราดอกเบี้ย ---
อัตราดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนของหลักทรัพย์อื่นๆ
ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เค้าบอกว่า ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูง หุ้นจะลง และถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ หุ้นจะขึ้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ
หุ้น ราคาตัวละ 100บาท จ่ายปันผลหุ้นละ 10 บาท เท่ากับว่าหุ้นนี้มีอัตราผลตอบแทน 10% ต่อปี
แล้วสมมติว่า ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เท่ากับ 10% ต่อปีเช่นกัน
มีคำถามว่า ท่านจะเลือกถือหุ้น หรือฝากเงินครับ
เป็นผม ผมก็ฝากเงิน แหะๆ 10%เท่ากัน แต่ความเสี่ยงต่างกันเยอะเลย
ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เหมือนตัวอย่างขึ้น คนจะเทขายหุ้นออกมาเอาเงินมาฝาก จนราคาหุ้นลดลง

--- ความเสี่ยง ---
นักการเงินบอกว่า "ผลตอบแทนสูงจะมาคู่กับความเสี่ยงที่สูง"
หุ้นไหนมีความเสี่ยงสูง ราคาหุ้นจะลดลง จนทำให้ผลตอบแทนจากหุ้นตัวนั้นปรับสูงขึ้นมา
อ้าว!! งงใช่มั้ยครับ ราคาร่วงลง แต่ทำไมผลตอบแทนสูงขึ้น
ยกตัวอย่างให้ก็ได้
บริษัทA มีรายได้ผูกขาดจากการขายพลังงาน  ราคาหุ้นA ตัวละ 100 บาท จ่ายปันผลหุ้นละ 10บาท เท่ากับผลตอบแทน 10/100 = 10% ต่อปี
บริษัทB มีรายได้จากการขายสบู่ คู่แข่งเยอะ สินค้าเลียนแบบง่าย ราคาหุ้น B ตัวละ100 บาท จ่ายปันผลหุ้นละ 10บาท เท่ากับว่าหุ้นนี้ให้ผลตอบแทน 10/100 = 10% ต่อปี

มันไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะว่าไม่มีนักลงทุน(ที่มีความรู้)คนไหนที่จะยอมรับผลตอบแทน 10% เท่ากันทั้ง 2 หุ้น
ใครที่จะถือหุ้น หุ้นA ควรมีผลตอบแทนน้อยกว่าหุ้น B
เพราะบริษัทA มีความมั่นคง มีความเสี่ยงน้อยกว่า บริษัทBดังนั้น สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือ
คนจะเทขายหุ้น B ทิ้ง แล้วจะซื้อหุ้น A มากขึ้น ทำให้ราคาหุ้นA จะเพิ่มขึ้น และราคา B จะลดลง

A ราคาจะขึ้นเป็น 120 บาท จ่ายปันผลหุ้นละ 10 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 10/120 = 8.33%
B ราคาจะลดลงเป็น 60 บาท จ่ายปันผลหุ้นละ 10 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 10/60 = 16.67%

ดังนั้น หหุ้นไหนความเสี่ยงสูง ราคาจะลดลง(ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น) หุ้นไหนที่ความเสี่ยงต่ำราคาเพิ่มขึ้น(ผลตอบแทนลดลง)

--- ปัจจัยอื่นๆ ---
เช่นการเมือง ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจ การคาดการณ์ ข่าว ฯลฯ ต่างมีผลต่อราคาหุ้นทั้งสิ้น

--------------------------------

พอละ ปวดมือ คราวหน้ามาว่ากันในเรื่องของงบการเงินเบื้องต้น

.




หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: singhato ที่ วันที่ 25 มิถุนายน 2011, 12:18:35
แหล่มเลยครับ ;D ;D ;D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Vanda dou ที่ วันที่ 30 มิถุนายน 2011, 00:38:53
รอติดตามอยู่ค่ะท่าน :o ;D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: marcus147 ที่ วันที่ 02 กรกฎาคม 2011, 01:49:39
เยี่ยมเลยครับ
เข้าใจง่าย ได้ความรู้


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: เพชรพลอยผ้าม่าน ที่ วันที่ 03 กรกฎาคม 2011, 10:17:16
ปูพื้นแบบนี้แหละค่ะใช่เลย  เสร็จแล้ว

แล้วรบกวนต่อด้วยนะค่ะ

พวกตัวย่อภาษาอังกฤษต่าง ๆ

จะมาปูเสื่อรออาจารย์ค่ะ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 04 กรกฎาคม 2011, 17:28:47
งบการเงิน (Financial Statement)
หมายถึง รายงานข้อมูลทางการเงินที่ได้จัดทำขึ้นจากข้อมูลทางการเงินที่กิจการได้จดบันทึกไว้ในรอบระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินการ ฐานะการเงินหรือการเปลี่ยนแปลงฐานะ

การเงินของกิจการในรอบระยะเวลานั้นๆ

งบการเงิน มีอยู่ 3แบบ คือ

1.) งบดุล
2.) งบกำไรขาดทุน
3.) งบกระแสเงินสด

งบดุล
คืองบที่แสดงฐานะทางการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง
งบดุล แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

1.) สินทรัพย์ = สิ่งที่มีตัวตน และไม่มีตัวตน ซึ่งกิจการสามารถใช้หาผลประโยชน์ หรือมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น เงินสด สินค้าคงเหลือ หุ้นหรือตราสารที่กิจการซื้อไว้ ตึก อาคาร ลิขสิทธิ์ที่ซื้อไว้
สินทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
1.1) สินทรัพย์หมุนเวียน  คือสินทรัพย์ที่ใช้แล้วหมดไปภายในเวลา 1 ปี เราจะเรียกว่าสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง ก็ได้
1.2) สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ก็จะตรงข้ามกัน
2.) หนี้สิน = ภาระผูกพันที่กิจการจะต้องชดใช้ในอนาคต เช่น เจ้าหนี้การค้า ตั๋วเงิน เงินกู้ธนาคาร หุ้นกู้ที่กิจการออกจำหน่าย เงินกู้ธนาคาร หนี้สินแบ่งออกเป็น 2ชนิด คือ
2.1) หนี้สินหมุนเวียน คือหนี้สินที่มีกำหนดชำระภายใน 1ปี
2.2) หนี้สินไม่หมุนเวียน คือหนี้สินที่มีกำหนดชำระเกิน 1ปี
3.) ทุน หรือ ส่วนของเจ้าของ = มูลค่าคงเหลือของกิจการหลังหักภาระผูกพันต่างๆออกหมดแล้ว เช่น หุ้นสามาญ กำไร(ขาดทุน)สะสม หุ้นบุริมสิทธิ์

สมการบัญชีขั้นต้นคือ

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

เอาง่ายๆละกันครับ

สมมติว่า ท่าซื้อรถยนต์มาคันนึง ราคา 1 ล้านบาท ดาวน์ 3แสนบาท แปลว่าท่านต้องผ่อนรถอีก 7แสนบาท

1ล้าน คือรถของท่าน เป็นสินทรัพย์
ซึ่ง รถราคา 1ล้านคันนี้ เป็นหนี้สิน 7 แสนบาท แลถท่านเป็นเจ้าของรถคันนี้จริงๆแค่ 3แสนบาท
หวังว่าคงเข้าใจนะครับ

เราสามารถนำงบดุลของกิจการมาประเมินถึงสถานะกิจการได้ในเรื่องของความเสี่ยง สภาพคล่อง ความมั่นคง ฯลฯ ตามแต่ความสามารถในการวิเคราะห์ของแต่ละคน ซึ่งผมจะไม่นำเสนอนะครับ ไม่งั้นเรื่องยาว

รูปแสดงงบดุลง่ายๆ



หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: วายุ ที่ วันที่ 05 กรกฎาคม 2011, 15:27:45
เพิ่มเติมงบการเงิน
     จากตัวอย่างที่ให้ไว้  เงินสดเป็นสิ่งที่เราหยิบจับได้จริงๆ  มีตัวตนและมีอยู่จริง

-ส่วนลูกหนี้การค้า  เราก็ต้องดูด้วยว่า  ลูกหนี้ของบริษัทนั้น  มีประสิทธิภาพในการชำระหนี้แค่ไหน

-สินค้าคงเหลือ  เราต้องดูด้วยว่า  บริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร  ถ้าเป็นเหล็ก-ปูน-น้ำมัน  สินค้านั้นสามารถนำไปทำอะไรได้อีกเยอะ  เพราะฉะนั้นไม่ค่อยเสี่ยง  มันเสี่ยงก็แต่ราคาของมันว่าจะขึ้นหรือลง  แต่ถ้าสินค้านั้นเป็นพวกเกี่ยวกับของเทคโนโลยีไฮเทค  ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก  แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า  สินค้าที่เหลืออยู่  มีราคาเท่าที่ลงไว้จริง  อันนี้ต้องสืบด้วยนะครับ  เพราะไม่แน่  สินค้าที่ค้างอยู่เพียงแค่ 6 เดือน  ก็อาจจะไม่มีใครซื้อแล้วก็ได้

-เครื่องใช้สำนักงานก็เหมือนกัน  ของที่ใช้แล้ว  ค่ามันจะลดลง  มันคงมีค่าไม่เท่ากับที่ลงไว้จริง

-ที่ดิน  ค่ามันอาจจะเพิ่มขึ้น

-ในด้านขวาของงบซึ่งเป็นหนี้สิน  อันนี้ไม่ใช้สตั๊น  เจ็บจริง  จ่ายจริง  ของแท้แน่นอนครับ  อย่าลืมหักลบกันให้ดีล่ะ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: bank007 ที่ วันที่ 06 กรกฎาคม 2011, 16:07:47
ว้าว สุดยอดเข้ามากระทู้นี้ได้ความรุ้มากมาย จะรออ่านนะครับ เผื่อมีเงินจะได้ลงทุนเล่นหุ้นกับเขามั้ง ;)


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 15 กรกฎาคม 2011, 09:24:49
ต่องบดุล ในส่วนด้านขวา

ด้านขวา ในทางการเงินเราเรียกว่า แหล่งเงินทุน

เพราะเราเอาเงินจากด้านขวาของงบ มาลงในด้านซ้ายของงบ

เช่น กู้เงินมาซื้อที่ดิน เป็นต้น

อย่าลืมว่า สัจธรรมบนโลกนี้คือ ไม่มีอะไรฟรี

ดังนั้น แหล่งเงินทุนจึงมีสิ่งที่เรียกว่า "ต้นทุนของเงินทุน" เสมอ

กิจการไหนที่ต้นทุนเงินทุนต่ำ และความเสี่ยงของเงินทุนต่ำ ก็มีโอกาสที่จะอยู่รอดปลอดภัยบนโลกธุรกิจใบนี้

ในทางตรงข้าม บริษัทไหนที่ต้นทุนเงินสูง ความเสี่ยงของแหล่งเงินทุนสูง ก็อาจจะล้มง่าย

อย่าลืมว่า ความเสี่ยงก็เป็นตัวกำหนดราคาหุ้นนะครับ หุหุ

ลองยกตัวอย่างต้นทุนของเงินทุนซิ.....ได้เลย

ถ้ากิจการมีแหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืม ต้นทุนของเงินกู้ก็คือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้เจ้าหนี้
ถ้ากิจการไหนที่มีแหล่งเงินทุนมาจากส่วนของเจ้าของ เช่นการออกหุ้นทุน ต้นทุนของการออกหุ้นคือ ปันผลที่ต้องจ่ายให้ผู้ถือหุ้น

ความเสี่ยงของแหล่งเงินทุนคือ
ความเสี่ยงที่จะไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้กับแหล่งเงินทุน เช่นกู้มาแล้วไม่มีความสามารถในการชำระ หรือ หมุนเงินไม่ทัน เลยจ่ายเงินปันผลไม่ได้ เป็นต้น

เอาล่ะ มาลงรายละเอียดเล้กน้อยของงบดุลฝั่งขวากัน

หนี้สิน คือภาระผูกพันที่กิจการต้องจ่ายชำระในอนาคต
หนี้สินหมุนเวียน คือหนี้สินที่ต้องมาชำระภายใน 1 ปี เช่น เจ้าหนี้การค้า ตั๋วเงินจ่าย ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย  แหล่งเงินทุนตัวนี้ ต้นทุนต่ำครับ แต่ความเสี่ยงสูง เพราะต้องจ่ายคืนภายในเวลาที่สั้น
หนี้สินไม่หมุนเวียน คือหนี้สินที่กิจการมีกำหนดชำระเกิน 1 ปี เช่น หุ้นกู้ เงินกู้ระยะยาว ตัวนี้ต้นทุนสูงขึ้นมาหน่อย แต่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำกว่า เพราะกำหนดการจ่ายเงินคืน ค่อนข้างนานกว่า

ส่วนของเจ้าของ ก็คือ ส่วนของสินทรัพย์ที่หักภาระหนี้สินต่างๆแล้ว

หลักๆก็มี หุ้นบุริมสิทธิ์ หุ้นสามัญ และกำไร(ขาดทุน)สะสม
แหล่งเงินทุนตัวนี้ ต้นทุนสูงครับ สูงมากด้วย แต่ความเสี่ยงก็ต่ำ เพราะว่าถ้าบริษัทไม่มีกำไร ก็ไม่ต้องจ่ายปันผล แต่ในขณะที่ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อยู่

จบงบดุล มีไรถามมาได้นะ

----------------------------------

งบตัวสุดท้ายที่จะเอามาให้ดูคือ งบกำไรขาดทุน

งบกำไรขาดทุน ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ว่าแสดงถึงกำไรขาดทุนในแต่ละงวดบัญชี

งวดบัญชี ก็คือระยะเวลา ของการปิดบัญชีเป็นรอบๆ

บางบริษัท งวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม บางบริษัทก็ 31เมษายน

แต่ส่วนใหญ่ ปีสิ้นสุดบัญชีก็คือ 31 ธันวาคม ง่ายๆ

องค์ประกอบของงบกำไรขาดทุน หลักๆเป็นดังนี้

ยอดขาย = คงไม่ต้องแปลว่ามันคืออะไร ยอดขายแบ่งออกเป็นทั้ง ยอดขายสด และยอดขายเชื่อ ... แน่นอนว่า ธุรกิจต่างๆย่อมต้องการยอดขายเป็นเงินสด เพราะสามารถทำเงินที่ได้ไปหมุนทำธุรกิจต่อ แต่ยอดขายเชื่อก็จำเป็น เนื่องจากมันใช้ล่อลูกค้าให้มาซื้อได้ ตัวเลขนี้บอกความสามารถของฝ่ายการตลาดของบริษัท

ต้นทุนสินค้า = นอกจากจะเป็นต้นทุนการผลิต หรือต้นทุนซื้อ ยังรวมถึงต้นทุนของเสีย ต้นทุนค่าแรงงานทางตรง ค่าวัตถุดิบ ฯลฯ ตัวเลขต้นทุน บอกถึงความสามารถในการบริหารต้นทุนของฝ่ายผลิต

ค่าใช้จ่ายดำเนินการ = ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน(ในฝ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการผลิต) เงินเดือนผู้บริหาร ค่าโฆษณา โบนัส  พูดง่ายๆคือ ค่าใช้จ่ายทางอ้อมต่างๆ ตัวเลขนี้บอกถึงความมีประสิทธิภาพของฝ่ายบริหาร

ดอกเบี้ย = บางครั้งธุรกิจมีการกู้ยืม ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย เป็นการวิเคราะห์ถึงความเสี้ยง และความสามารถในการจัดหาเงินทุนของบริษัท

ภาษี = คงไม่แปลนะครับ

ยอดขายเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว สุดท้ายคือ กำไรสุทธิ ตัวนี้แหละ ที่นักลงทุนคาดหวังว่าจะได้มากๆ เพราะ กำไรสุทธิจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก จ่ายเป็นเงินปันผล ส่วนที่สอง เก็บไว้เป็นกำไรสะสมเอาไว้ใช้บริหารงานในปีต่อไป

ดูตัวอย่างงบกำไรขาดทุน

-----------จบ งบกำไรขาดทุน-----------

คราวหน้าต่อเรื่องอะไรดี....?? ยังนึกไม่ออก อยากให้ต่อเรื่องอะไรก็คอมเม้นท์มานะฮับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Atermist ที่ วันที่ 15 กรกฎาคม 2011, 10:29:52
ผมติดตาม ครับ ผมชอบมากครับ คุณแมงมุม เขียน ภาษาง่ายๆ และ เข้าใจได้เห็นภาพชัดเจน


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Cupid ที่ วันที่ 15 กรกฎาคม 2011, 11:29:45

นักลงทุนมือใหม่ หรือเก่า ก็ควรศึกษาไว้ครับ อ่านบ่อยๆจะได้เข้าใจ ผมเอง เมื่อก่อนเข้าตลาดฯ ก็อ่าน
จากหนังสือที่ซื้อมา และที่ห้องสมุดหลายรอบ ระยะหลังไม่ค่อยได้อ่าน ท่านแมงมุมมาเปิดกระทู้นี้ จึง
ได้เข้ามาอ่าน หนังสือที่มีอยู่ตอนนี้จึงไม่ค่อยได้เปิด

ท่านที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางบัญชีอย่างผม ต้องอ่านกันหลายรอบครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: วายุ ที่ วันที่ 15 กรกฎาคม 2011, 15:51:32
งั้นท่านก็เอางบกระแสเงินสดมาเลยสิครับ  น้องๆจะได้รู้


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 15 กรกฎาคม 2011, 22:15:00
งบกระแสเงินสด ผมไม่เชี่ยวชาญนะครับ วิเคราะห์ไม่ค่อยออก เลยไม่กล้าเอามาลง กลัวผิด


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: น้าวัยทองฯ ที่ วันที่ 15 กรกฎาคม 2011, 22:52:47
เอามาลงเถอะครับ

ผิดถูกยังไง จะได้มาช่วยกันอธิบาย

ผมก็จะได้ศึกษาไปด้วยครับ (http://เอามาลงเถอะครับ

ผิดถูกยังไง จะได้มาช่วยกันอธิบาย

ผมก็จะได้ศึกษาไปด้วยครับ)


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: วายุ ที่ วันที่ 17 กรกฎาคม 2011, 19:47:54
ถึงท่านแมงมุม
     ผมอยากถามรายละเอียดเกี่ยวกับ  หุ้นบุริมสิทธิ์  กรุณาให้ความกระจ่างด้วย  อยากรู้ว่า  มันคืออะไร  มันมาได้อย่างไร  มีสิทธิ์อะไรมากกว่าหรือน้อยกว่าหุ้นสามัญอย่างไร  ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 17 กรกฎาคม 2011, 20:09:39
.

หุ้นสามามัญ กับหุ้นบุริมสิทธิ์


สิ่งที่เหมือนคือ ผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ชนิด อยู่ในฐานะเจ้าของกิจการครับ เพราะได้รับเงินปันผลเหมือนกัน

ข้อแตกต่างคือ

ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ จะไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในการบริหาร พูดง่ายๆคือไม่มีสิทธิโหวต แต่สิ่งที่จะได้รับชดเชยก็คือ จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญครับ

พูดง่ายๆก็คือ พอได้กำไรสุทธิปั๊บ ต้องจ่ายเงินปันผลหุ้นบุริมสิทธิก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยเอามาจ่ายปันผลหุ้นสามัญครับ

เท่าที่เห็นมา หุ้นบุริมสิทธิจะไม่ออกขายในตลาดหลักทรัพย์นะครับ แปลกดี

.



หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 17 กรกฎาคม 2011, 20:11:26
.

ส่วนเรื่องงบกระแสเงินสด ไม่เอามาลงนะครับ ยากเกิน

-----------------

ต่อไปจะลงเรื่อง เริ่มต้นลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ละนะ...อาทิตย์หน้าเน้ออออ

.


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: วายุ ที่ วันที่ 17 กรกฎาคม 2011, 20:13:49
งั้นผมขออนุญาติแย่งซีนก็แล้วกัน  เพราะผมเคยลงไว้ทีนึงแล้ว

http://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=33231.320

กระทู้ที่ 330 นะครับ  น้องๆคนไหนสนใจก็เข้าไปอ่านได้


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: วายุ ที่ วันที่ 17 กรกฎาคม 2011, 20:21:11
ถึงท่านแมงมุม

-แล้วคนที่ถือหุ้นบุริมสิทธิ์  เขามีหุ้นนี้ได้อย่างไร

-แล้วคนที่ถือหุ้นบุริมสิทธิ์  เขามีการกำหนดผลตอบแทนไว้ตายตัวหรือว่าแปรผันตามผลประกอบการ  แล้วถ้าปีไหนบริษัทไม่มีกำไร  คนที่ถือหุ้นบุริมสิทธิ์อยู่  ยังจะได้รับผลตอบแทนหรือไม่  ถ้าเขาไม่ได้  เขาจะเรียกร้องอะไรจากบริษัทได้บ้าง


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 18 กรกฎาคม 2011, 07:20:36
.

- บริษัทออกหุ้นจำหน่ายครับ อาจจะเป็นการจำหน่ายเฉพาะกลุ่ม หรือการออกจำหน่ายตามสถาบันการเงินก็ได้ แล้วแต่ช่องทางสะดวก

- อาจจะมีการกำหนดผลตอบแทนตายตัว หรืออาจเป็นเปอร์เซนต์ของกำไรก็ได้ แล้วแต่นโยบายอีกเหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ ปันผลตัวนี้จะต้องได้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

- เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นสามัญครับ ถ้าปีไหนบริษัทไม่มีกำไร เจ้าของบริษัทก็ต้องไม่ได้กำไร นั่นคือ งดจ่ายปันผลครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Cupid ที่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2011, 10:53:59
กระทู้นี้ เป็นอีกกระทู้หนึ่ง ที่น่าติดตาม ขออนุญาตปักหมุดครับ

รบกวนท่านแมงมุม ปูพื้นฐานฯ นำประสบการณ์มาเล่าสู่กันเยอะๆนะครับ...


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: I.T.Solution@Chiangkham ที่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2011, 11:08:27
ปูเสื่อ ติดตามต่อไปครับ ขอบคุณมากครับ อยากเป็นนักลงทุนบ้างจังเลยครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2011, 13:54:15

อยู่ในตลาดหุ้น เราทำได้ 2 อย่างครับ

1.) ลงทุนในหุ้น
2.) เก็งกำไร หรือที่เรียกว่า เล่นหุ้น

สองตัวนี้ ดูเหมือนจะคล้ายกัน แต่ความจริงแล้ว แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

การลงทุนในหุ้น คือการซื้อหุ้นเพื่อคาดหวังเงินปันผล และจะถือหุ้นตัวนั้นยาวไปตลอดจนกว่าพื้นฐานของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไป (ออกแนว VI) ซึ่งการลงทุนในหุ้น เราจะใช้ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ส่วนการเล่นหุ้น คือการซื้อเพื่อคาดหวังส่วนต่างราคาหุ้นเพื่อทำกำไรในระยะสั้นๆ โดยไม่สนใจพื้นฐานของบริษัท จะใช้ การคาดการณ์ เทคนิค เป็นหลัก

ท่านเไหนที่เป็นนักลงทุนในหุ้น ขอแนะนำให้ศึกษาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่แต่ละท่านในห้องนี้นำมาแบ่งปัน โดยอย่าไปสนใจกับปัจจัยทางเทคนิคมากนัก
และท่านไหนที่เป็นนักเล่นหุ้น ขอให้แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิค

----------------------------------------------------------

หากท่านต้องการซื้อหุ้นของ PTT .....

ท่านไม่สามารถเดิมดุ่มๆไปที่ปั๊มปตท. หรือขึ้นแท็กซี่ไปลงบริษัทPTT ที่อยู่ใกล้ๆกับหมอชิต2 แล้วบอกว่า ขอซื้อหุ้น PTT 10 หุ้น ได้

และเช่นเดียวกัน ท่านไม่สามารถลงรถไฟใต้ดินไปลงที่สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ แล้วโผล่ไปที่ "ที่ทำการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" แล้วบอกว่า ขอซื้อหุ้น PTT 10 หุ้น ได้

สิ่งที่ท่านต้องทำคือ ท่านต้องไป "เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น" ก่อน และบัญชีซื้อขายหุ้นนั้น ท่านต้องไปเปิดกับ "บริษัทหลักทรัพย์" หรือที่เราเรียกว่า โบรกเกอร์ ชื่อเล่นว่า "โบรค"

ดังนั้น ตอนนี้ท่านทราบแล้วว่า "ตลาดหลักทรัพย์" กับ "บริษัทหลักทรัพย์" นั้น ไม่ใช่อันเดียวกัน จำไว้นะ ขอย้ำว่ามันไม่ใช่อันเดียวกัน อย่าบ้านนอก...ขอร้อง

ท่านต้องส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นไปที่ บริษัทหลักทรัพย์ แล้วบริษัทหลักทรัพย์ จะส่งคำสั่งของท่านต่อไปยัง ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำคำสั่งซื้อขายของท่านไปเข้าคิวตามกระบวนการซื้อขาย ซึ่งเขียนง่ายๆก็คือ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2011, 13:55:05
แล้วหลังจากท่านซื้อหุ้นสำเร็จแล้ว ท่านก็ได้หุ้นมาครอบครอง เพียงแต่ว่า หุ้นในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในรูปแผ่นกระดาษเหมือนเมื่อก่อน

แต่อยู่ในรูปของ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะถูกจัดเก็บไว้ที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดังนั้น ท่านจ่ายเงินไปแล้ว แต่"ใบหุ้น"ไม่ได้อยู่ในมือ

รัฐบาลจึงต้องมีหน่วยงานอิสระเรียกว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ชื่อเล่นคือ ก.ล.ต. คอยควบคุมกิจกรรมในตลาดทุนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(ตลาดทุน คือตลาดที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ระดมเงินทุนในระยะยาว)

กลต ของเราไม่ได้ดูแลแค่เรื่องหุ้นนะครับ เค้าดูแลอะไรอีกหลายๆอย่าง เช่น ดูแลบริษัทประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ด้วย ดูแลนั่นโน่น นี่ อีกหลายอย่าง

ดังนั้น ทุกท่านจงมั่นใจว่า ท่านอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีระเบียบ กฎเกณฑ์ ถูกต้อง เป็นธรรม และโปร่งใส เงินของท่านจะหายไปด้วยสาเหตุเดียวคือ ท่านซื้อหุ้นราคา 100 แล้วไปขายราคา 90 หรือที่เรียกว่า ขาดทุนเท่านั้น อิอิ

--------------------------------------------------------

ท่านสามารถสืบหารายชื่อได้ว่า มีโบรคไหนบ้างที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย โดยหาจากอินเทอร์เน็ต ในเวบนี้ก็มีบอกแล้วนะครับ
รายชื่อหุ้นต่างๆ ดูที่ www.settrade.com
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูที่ www.set.or.th

พอละ ปวดมือ
คราวหน้ามาต่อกันเรื่อง ประเภทของบัญชีซื้อขายหุ้น อัตราค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียม และ ศัพท์ในกระดานซื้อขายหุ้น

---------------------------------------------------------

ขอขอบคุณอักษรสวยๆจาก www.f0nt.com

.


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: เจ็บจุงเบย ที่ วันที่ 20 กรกฎาคม 2011, 13:11:15
มีเงิน "สามหมื่นบาท" นี้จะสามารถซื้อหรือเล่นหุ้นได้หรือไม่ครับท่าน"แมงมุม"


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: น้าวัยทองฯ ที่ วันที่ 20 กรกฎาคม 2011, 14:38:46
มีเงิน "สามหมื่นบาท" นี้จะสามารถซื้อหรือเล่นหุ้นได้หรือไม่ครับท่าน"แมงมุม"

ขอตอบแทนเลยละกันครับ

ได้ครับ และจำนวนเงินทุนก็เหมาะสำหรับการเริ่มต้นด้วยครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 20 กรกฎาคม 2011, 14:41:41
มีเงิน "สามหมื่นบาท" นี้จะสามารถซื้อหรือเล่นหุ้นได้หรือไม่ครับท่าน"แมงมุม"

-----------------

ได้ครับ ผมเริ่มด้วยเงินหมื่นเดียว

รุ่นน้องผมสมัยเรียนเชียงใหม่ เริ่มด้วยเงิน 2,000

แนะนำโบรคของ กิมเอ็ง กับ KT Zmico ครับ

เพราะไม่ต้องมีขั้นต่ำ

ปล. เห็นมีกระทู้ถามคำถามแนวนี้อยู่ 2-3 กระทู้ แล้วนะ - -*





หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2011, 11:39:00
บัญชีซื้อขายหุ้น.... หลักๆ มี 3 ชนิด คือ

1.) บัญชีเงินสด แบบวางเงินสดล่วงหน้า (Cash balance)
บัญชีแบบนี้ เราจะต้องโอนเงินเข้าบัญชีของ โบรคก่อน และเราจะเทรด (ซื้อ-ขาย) ได้ตามวงเงินที่เราวางไว้ แนะนำนักลงทุนหน้าใหม่ทั้งหลาย ใช้แบบนี้ดีกว่าครับ
เหมือนมือถือระบบเติมเงินแหละครับ เติมเท่าไหร่ก็โทรได้เท่านั้น

2.) บัญชีเงินสด (Cash)
เราสามารถซื้อขายไปก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินทีหลัง ภายใน 3 วันทำการ หรือ ศัพท์นักลงทุนเรียกว่า T+3 เช่นซื้อวันจันทร์ ก็จ่ายวันพฤหัส เป็นต้น และเช่นกัน ถ้าเราขายวันจันทร์ก็ได้เงินวันพฤหัสนะครับ
ข้อดีคือ เราสามารถจ่ายหรือรับเฉพาะส่วนต่างของเงินที่เราซื้อขาย เช่น ในวันจันทร์เราซื้อไป 8 แสน และขายไป 7แสนบาท เราก็จ่ายเพียง 1แสนบาทในวันพฤหัส

3.) บัญชีเครดิต หรือ มาร์จิ้น ( Margin )
อันนี้ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับมือใหม่ เพราะบัญชีประเภทนี้สามารถ ยืมเงินของโบรคมาซื้อขายได้(โบรคก็ต้องคิดดอกเบี้ยตามปกตินะครับ) และสามารถ ทำชอร์ทเซลล์ ได้

คำว่าชอร์ทเซลล์หมายถึง ยืมหุ้นมาขายครับ
เช่น เรารู้ว่าหุ้น A กำลังลง เราก็ยืมหุ้นA จากโบรคมาขายที่ราคา 10บาท พอมันลงมาที่ 8 บาท เราค่อยซื้อคืนโบรคน่ะครับ เราก็ฟันกำไรไป 2 บาทเลย แน่นอน มีดอกเบี้ยนะครับ

---------------------------------------------------------------------

ทีนี้มาเรียนรู้ศัพท์หุ้นกัน

ก่อนจะมาเรียนศัพท์หุ้น เราจะต้องรู้ระบบการจัดลำดับซื้อขายก่อน เพราะว่าคนที่วนเวียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีหลายคน หลายประเภท และก็หลายๆคำสั่งซื้อขาย ดังนั้น จะรบบของตลาดหลักทรัพย์จึง

ต้องมีการเรียงลำดับความสำคัญชองคำสั่ง เพราะความเรียบร้อยและยุติธรรม

นักลงทุน มีอยู่ 4 ประเภทหลักๆ
1.) นักลงทุนรายย่อย (แมงเม่า) เป็นนักลงทุนที่มีปริทฃมาณมากที่สุด แต่เงินน้อย ตั้งแต่ 50กว่าบาท จนถึงเงินมากระดับร้อยล้านบาท นักลงทุนพวกนี้ ถ้าเงินร้อน ไม่มีความอดทน หรือไม่มีความรู้ มักจะ

กลายเป็นเหยื่อของนักลงทุนกลุ่มที่เหลือ เพราะเงินน้อยมักจะโดนตลาดลากไปลากมาเสมอ

2.) นักลงทุนสถาบัน (กองทุน) พวกกองทุนคือ คนทีรวบรวมเงินจากคนหลายๆคนมาลงทุน รวมถึงพวก กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมต่างๆพวกนี้เงินหนา เพราะสมาชิกเยอะ และกองทุนนี้จะ

เป็นคนไทย หรือนิติบุคคลสัญชาติไทย
(กองทุนรวมคือ นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นแล้วรวบรวมเงินจากสมาชิกเอามาลงทุนตามนโยบายกองทุนซึ่งบริหารงานโดยผู้จัดการกองทุน ซึ่งได้รับอนุญาติจาก กลต.  พูดง่ายๆคือ คนที่อยากเล่นหุ้นแต่ไม่มีเวลา

หรือคนที่อยากเล่นหุ้นแต่ไม่มีความรู้ คนเหล่านี้เอาเงินมารวมๆกัน แล้วเอาไปจ้างคนอื่นมาเล่นหุ้นให้นั่นแหละครับ)
ขอบอกว่า ข้อสอบเป็น ผจก.กองทุนนี้ยากมากกกก ผมเคยไปสอบแล้วเค้าเรียกว่าสอบ CISA ซึ่งมี 3 ระดับ ผมไม่สอบระดับ1 ไม่ผ่าน - - ยากเวอร์  555+

3.) บริษัทหลักทรัพย์ (โบรค) พวกนี้ก็น่ากลัว เพราะเป็นบริษัทที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่แล้ว เค้าก็เลยลงมาเล่นด้วยเลย ข้อได้เปรียบของโบรคคือ เค้าซื้อขายไม่มีค่าคอมมิชชั่น (แน่ล่ะ จะจ่ายค่า

คอมมิชชั่นให้ตัวเองทำไมกัน)

4.) นักลงทุนต่างชาติ (ฝรั่ง) เราเรียกว่าฝรั่ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นพวกยุโรป อเมริกา ซะเท่านั้น บางทีสิงคโปร์ จีน ก็รวมอยู่ด้วย พวกนี้เงินหนาสุดๆ แถมเข้ามาก็ส่งผลต่อเรื่องค่าเงินบาทเราด้วย ดังนั้น

พวกนี้มักได้กำไร 2 ต่อเสมอ คือ ได้กำไรจากหุ้น และได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย พวกนี้มักเข้ามาลงในประเทศเล็กๆอย่างไทย เพราะประเทศไทยเงินน้อย ปั่นราคาง่าย

------------------------------------------------------------

ทีนี้จะอธิบายเพิ่ม ว่า ทำไมฝรั่งเข้าแล้วได้กำไร ทั้งจากหุ้น และจากอัตราแลกเปลี่ยน...

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์กล่าวไว้ว่า ถ้าเงินไหลเข้าไทยมาก เงินบาทจะแข็ง และถ้าเงินไหลออกไทยมากๆ ค่าเงินบาทจะอ่อน

ค่าเงินบาทแข็งค่า เช่น 25บาท / 1 ดอลล่าร์
ค่าเงินบาทอ่อนค่า เช่น 40บาท / 1ดอลล่าร์

สมมติว่าตอนนี้ ค่าเงินบาทอ่อนค่า 40บาท / 1ดอลล่าร์....
ฝรั่งเอาเงินเข้ามา 1 ล้านดอลล่าร์ เอามาแลกเงินไทยได้ 40ล้านบาท .....
ฝรั่งก็เอาเงิน 40ล้านบาท มาซื้อหุ้นไทยไว้...

อย่างที่บอกว่าฝรั่งมันเงินหนา ดังนั้น เงินก็ไหลเข้าไทยมาเรื่อยๆ เอามาซื้อหุ้นไทยเรื่อยๆ หุ้นไทยก็ชึ้นเรื่อยๆ
 ในที่สุด เงินบาทก็แข็งค่าจากไหลเข้าของเงิน อัตราแลกเปลี่ยนเป็น 25บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์

สมมติว่าฝรั่งรายนี้ ขายหุ้นได้กำไร มา 10ล้าน รวมเป็นเงิน 50ล้านบาท....
ถ้าคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเดิม ฝรั่งคนนี้ควรได้เงินกลับไป 1,250,000 ดอลล่าร์ (กำไร 250,000 ดอลล่าร์)
แต่ปรากฎว่า ณ อัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้ กลับอยู่ที่ 25บาท / 1 ดอลล่าร์
ดังนั้น ฝรั่งคนนี้จึงได้เงินไปทั้งสิ้น 2ล้านดอลล่าร์
เห็นมั้ยครับ กำไรเท่าตัวเลย

ในที่สุด ฝรั่งก็เริ่มเทข่ายหุ้นแล้วครับ .....
เทขาย เทขาย เทขาย ลงมาเรื่อยๆ จนในที่สุด หุ้นไทยร่วง...
เงินบาทกลับมาอ่อนค่าที่ 40บาท / 1 ดอลล่าร์อีกครั้ง เพราะเงินไหลออกจากไทย....
และฝรั่งคนนั้นก็จะกลับมาซื้ออีกครั้ง ด้วยเงินที่หนากว่าเดิม
ทิ้งไว้แต่เพียง "น้ำตาแมงเม่า" ครับ

ดังนั้น วิธีการรับมือการมาของฝรั่งคือการใช้ VI ครับ คิดว่าท่าเตมูจิน ท่านคิวปิด ท่านเปา ท่านวายุ คงให้คำอธิบายไว้แล้วในกระทู้ของท่านเอง
------------------------------------------------------------------------------------

เหลือเรื่องสุดท้ายสำหรับกระทู้นี้ คือหน้าจอซื้อขายหุ้น พร้อมคำศัพท์พื้นฐานนะครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Cupid ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2011, 13:04:39

เป็นการปูพื้นฐานที่อ่านแล้วสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก...

เยี่ยมมากครับ... :)

เมื่อไหร่ท่านจะไปสอบเป็นผู้จัดการกองทุนอีกละ...


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2011, 13:12:03
สอบ CISA มี3ระดับครับ

ระดับ1 ได้เป็นนักวิเคราะห์
>>> ค่าสอบ 5พัน ไม่ผ่านครับ 55+ ต้องสอบใหม่ เหนื่อยละครับ ม่ายไหว เป็น นักลงทุนดีกว่า อิอิ
ถ้าสอบแล้วมันต้องไปเป็นนักวิเคราะห์ที่กุงเต้บอะครับ ชอบเชียงรายมากกว่า
ห้าห้า



หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: เจ็บจุงเบย ที่ วันที่ 01 สิงหาคม 2011, 08:37:48
มีเงิน "สามหมื่นบาท" นี้จะสามารถซื้อหรือเล่นหุ้นได้หรือไม่ครับท่าน"แมงมุม"

-----------------

ได้ครับ ผมเริ่มด้วยเงินหมื่นเดียว

รุ่นน้องผมสมัยเรียนเชียงใหม่ เริ่มด้วยเงิน 2,000

แนะนำโบรคของ กิมเอ็ง กับ KT Zmico ครับ

เพราะไม่ต้องมีขั้นต่ำ

ปล. เห็นมีกระทู้ถามคำถามแนวนี้อยู่ 2-3 กระทู้ แล้วนะ - -*




โบรก2ตัวนี้ไปเปิดได้ที่ใหนครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 01 สิงหาคม 2011, 11:21:50
มีเงิน "สามหมื่นบาท" นี้จะสามารถซื้อหรือเล่นหุ้นได้หรือไม่ครับท่าน"แมงมุม"

-----------------

ได้ครับ ผมเริ่มด้วยเงินหมื่นเดียว

รุ่นน้องผมสมัยเรียนเชียงใหม่ เริ่มด้วยเงิน 2,000

แนะนำโบรคของ กิมเอ็ง กับ KT Zmico ครับ

เพราะไม่ต้องมีขั้นต่ำ

ปล. เห็นมีกระทู้ถามคำถามแนวนี้อยู่ 2-3 กระทู้ แล้วนะ - -*




โบรก2ตัวนี้ไปเปิดได้ที่ใหนครับ

-------------------------------------

กิมเอ็งอยู่เชียงใหม่ครับ

ส่วน KT Zmico อยู่บนธนาคารกรุงไทยสาขาห้าแยกพ่อขุน



หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: น้าวัยทองฯ ที่ วันที่ 01 สิงหาคม 2011, 16:12:34
มีเงิน "สามหมื่นบาท" นี้จะสามารถซื้อหรือเล่นหุ้นได้หรือไม่ครับท่าน"แมงมุม"

-----------------

ได้ครับ ผมเริ่มด้วยเงินหมื่นเดียว

รุ่นน้องผมสมัยเรียนเชียงใหม่ เริ่มด้วยเงิน 2,000

แนะนำโบรคของ กิมเอ็ง กับ KT Zmico ครับ

เพราะไม่ต้องมีขั้นต่ำ

ปล. เห็นมีกระทู้ถามคำถามแนวนี้อยู่ 2-3 กระทู้ แล้วนะ - -*




โบรก2ตัวนี้ไปเปิดได้ที่ใหนครับ

-------------------------------------

กิมเอ็งอยู่เชียงใหม่ครับ

ส่วน KT Zmico อยู่บนธนาคารกรุงไทยสาขาห้าแยกพ่อขุน



KT Zmico  ผมโทรไปถามแล้วครับ เขาบอกมา่ว่า เก็บขั้นต่ำ50บาท ทุกบัญชีครับ

ผมโทรไปที่ 053-748157 


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 01 สิงหาคม 2011, 16:35:47
.
.
เอ่อ...ไอ้ที่ว่าขั้นต่ำ ผมหมายความว่าเงินลงทุนขั้นต่ำน่ะครับ

ทุกโบรคตอนนี้ค่าคอมขั้นต่ำ 50 บาทอยู่แล้วครับ

ทันทีที่เราฝากเงินเข้าไป เขาจะหักค่าคอมล่วงหน้า 53.50 บาท ทันที เป็น 50บาทค่าคอม และ 3.50บาทค่าภาษีน่ะครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: น้าวัยทองฯ ที่ วันที่ 01 สิงหาคม 2011, 17:11:49
อ๋อ เงินทุนขั้นต่ำใช่ไหมครับ เข้าใจละ 555+

ผมก็นึกว่าไม่เสีย 50 บาท อิอิ หัวหมอไปหน่อย

ขอบคุณท่านแมงมุมมากครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 13 สิงหาคม 2011, 10:28:21
ในที่สุด ก็มาถึงเรื่องสุดท้ายซะที เพราะไม่รู้จะเขียนอะไรแล้ว...

ต้องขออภัยที่เอามาลงช้า เพราะว่าช่วงนี้งานเยอะจริงๆ

เข้าเรื่องกัน...

ศัพท์หุ้น มีเยอะครับ เอามาทำสำคัญๆก่อนละกัน

 
 
    
AOM : Automatic Order Matching การจับคู่คำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติ
อย่างที่ท่านทราบกันดี ว่าคำสั่งซื้อหุ้นในตลาด มีหลายคำสั่ง หลายราคา หลายเวลา และ หลายคน หลักของการเรียงคำสั่งการซื้อหุ้นของตลาดหลักทรัพย์คือ...
1.) ใครที่ซื้อแพงต้องได้สิทธิ์ซื้อก่อน และใครที่ขายถูกต้องได้สิทธิ์ขายก่อน
2.) ถ้าส่งคำสั่งซื้อหรือขายที่ราคาเท่ากัน ใครส่งคำสั่งก่อน ก็ต้องได้สิทธิ์ก่อน


Arbitrage การทำกำไรจากผลต่างของราคาใน 2 ตลาด ในเวลาเดียวกัน หรือเกือบเวลาเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น สมมติ ณ.เวลา 12.00 น อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่...
30 บาท / 1ดอลล่าร์
1 ดอลล่าร์ / 1.2 ยูโร
และ 29 บาท / ยูโร
ท่านก็สามารถนำเงิน 30 บาท ไปแลกได้ 1 ดอลล่าร์...
ท่านเอา 1 ดอลล่าร์ที่แลกได้ เอาไปและ ได้เงินมา 1.2 ยูโร...
และท่านเอาเงิน 1.2 ยูโร ไปแลกได้ 34.80 บาท
เห็นมั้ยครับ กำไรเห็นๆ...
พวกบริษัทแลกเงินใหญ่ๆเค้าทำกันแบบนี้แหละ แต่ประชาชนตาดำๆ เขียวๆ อย่างเรา คงทำไม่ได้ เพราะในความเป็นจริง ช่วงราคาซื้อขายมันห่างกันอยู่


ATC : At the Close คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ณ ราคาปิดตลาด
หลังจาก 16.30 ตลาดจะยังไม่ปิดซะทีเดียวนะครับ จะมีช่วง 5-10 นาที ที่ตลาดหลักทรัพย์จะคำนวณราคาปิดของแต่ละวัน ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของการซื้อขาย ซึ่งคำสั่ง ATC จะเป็นคำสั่งลำดับแรกสุด

ATO : At the Open คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ณ ราคาเปิดตลาด
คล้ายๆกับ ATC แต่ตรงข้ามครับ ก่อน 10.00 ตลาดจะยังไม่เปิดซะทีเดียวนะครับ จะมีช่วง 5-10 นาที ที่ตลาดหลักทรัพย์จะคำนวณราคาเปิดของแต่ละวัน ซึ่งเป็นโค้งแรกของการซื้อขาย และแน่นอนว่าคำสั่ง ATO จะเป็นคำสั่งลำดับแรกสุด
    
Bear Market ตลาดหมี ก็คือช่วงตลาดขาลง

BID ราคาเสนอซื้อ

Big Lot  การซื้อขายรายใหญ่

Big - Lot Board กระดานซื้อขายรายใหญ่

Blue Chip Stock หุ้นบริษัทชั้นดี

Board Lot  หน่วยการซื้อขาย  
ส่วนใหญ่จะหน่วยเป็น 100 หุ้นครับ ท่านไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อทีละ สามหุ้น - ห้าหุ้น  ได้ ท่านต้องซื้อครั้งละ หน่วย ก็คือ 100หุ้น เช่น 100หุ้น 200หุ้น 1,500หุ้น 10,100หุ้น


Bond พันธบัตรหรือหุ้นกู้  

Book Value  มูลค่าตามบัญชี  ดูจากงบคือ ส่วนของเจ้าของ ในงบดุลนั่นแหละครับ

BOT : Bank of Thailand ธนาคารแห่งประเทศไทย

Broker  นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

Bull Market ตลาดกระทิง หรือ ตลาดขาขึ้น

Capital Gain  กำไรจากการขายหลักทรัพย์ เช่น ซื้อ10 บาท ขายไป 12 บาท

Capital Market ตลาดทุน คือตลาดที่ระดมเงินทุนระยะยาว เกิน 1 ปี เช่น ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร

Cash Account  บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด

Ceiling & Floor  ราคาเสนอซื้อ / เสนอขายสูงสุดและต่ำสุดของหลักทรัพย์  
ส่วนใหญ่จะ บวกลบไม่เกิน 30%
เช่น เมื่อวาน หุ้น A ราคาปิดที่ 10บาท แปลว่าวันนี้จะต้องซื้อขายกันไม่เกิน 7 - 13 บาท ถ้าwม่มีข่าวสำคัญๆที่รายงานในตลาดหลักทรัพย์


Circuit Breaker  เซอร์กิตเบรกเกอร์
ในกรณีที่ ตลาดมีการผันผวนหนักๆ จนก่อให้เกิดความเสียหาย ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดให้การซื้อขายชั่วคราว เป็นเวลา 30นาที เพื่อหาสาเหตุ

Clearing and Settlement  การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์

Closing Price  ราคาปิด คือ ราคาซื้อขายราคาสุดท้ายของวันนี้

Commission  ค่านายหน้า

Common Stock  หุ้นสามัญ

Convertible Debenture  หุ้นกู้แปลงสภาพ
ก็คือหุ้นกู้ที่หมดอายุปั๊บ แทนที่บริษัทจะจ่ายเงินต้นคืน กลับกลายเป็นว่าจ่ายเป็นหุ้นแทน

CRA : Credit Rating Agency สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น S&P ที่หั่นเครดิตอเมริกาลง

Credit Balance  ระบบเครดิตบาลานซ์

Customer Type  การซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามประเภทผู้ลงทุน
    
Debenture หุ้นกู้

Derivatives ตราสารอนุพันธ์

Dividend เงินปันผล

Dividend Yield อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล เอาเงินปันผลตั้ง หารด้วยราคา คูณด้วย 100%

DR : Depository Receipts ใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง

DW : Derivative Warrant ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
    
EPS : Earning Per Share กำไรสุทธิต่อหุ้น

Equity Fund กองทุนตราสารทุน

ETF : Equity Exchange Traded Fund กองทุนรวม ETF
    
Forced Sell การบังคับขาย
ถ้าเราเปิดบัญชีแบบมาร์จิ้นไว้ ถ้าราคาหุ้นตกลงจนถึงระดับนึง เค้าจะบังคับให้เราขายหุ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเบี้ยวหนี้

Foreign Board กระดานต่างประเทศ

Free Float การกระจายของผู้ถือหุ้นรายย่อย

Fundamental Analysis  การวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน

Futures สัญญาซื้อขายฟิวเจอร์ส
    
    
Insider Trading  การซื้อขายหลักทรัพย์โดยบุคคลภายใน

Internet Trading  การซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ต
    
    
mai : Market for Alternative Investment ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ
ทุนจดทะเบียน ตั้งแต่ 20ล้าน แต่ไม่เกิน 300 ล้านบาท

Main Board  กระดานหลัก

Margin Account บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์โดยวางหลักประกัน

Market Capitalization  มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

Market Maker ผู้สร้างสภาพคล่อง  

Market Price ราคาตลาด
    
NAV : Net Asset Value มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ

Net Settlement  การชำระค่าซื้อขายแบบยอดสุทธิ อยู่ในบัญชี มาร์จิ้น กับ บัญชีเงินสด
    
Odd Lot หน่วยย่อย ใครที่มีหุ้น ไม่ถึง ร้อยหุ้น มาขายที่กระดานนี้กัน

Offer  ราคาเสนอขาย

Opening Price ราคาเปิด ราคาแรกที่ขายในวันนั้น

Options ออปชั่น เป็นอีก 1 ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อยู่ในตลาดล่วงหน้า
    
P/BV Ratio อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี

P/E Ratio  อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ

PO : Public Offering การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชน

Portfolio  กลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน  เรียกว่า พอร์ท นั่นแหละครับ หุ้นในกระเป๋าเรานั่นเอง

Preferred Stock  หุ้นบุริมสิทธิ

Price Spread  ช่วงราคา หรือ ราคาต่อไปที่จะขึ้นได้
เช่น หุ้นตัวละ 10บาท จะต้องขึ้นลงครั้งละ 0.10 บาท เช่น 10.00 >> 10.10 >> 10.20
    
Scripless System  ระบบไร้ใบหุ้น

Securitization การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

SET : The Stock Exchange of Thailand ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Set Index ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

SET50 Index ดัชนี SET50 เอาหุ้นพื้นฐานดี 50อันดับแรกมาทำดัชนี

Short Sell การขายชอร์ต หรือการยืมหุ้นมาขาย

SET Index ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  - SET50 Index ดัชนีเซท 50  
  - SET100 Index  ดัชนีเซท 100  
  - mai Index ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
  - Industry - Group Index  ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรม
  - Sectoral Index  ดัชนีหมวดธุรกิจ
    
Takeover การครอบงำกิจการ  

Technical Analysis  การวิเคราะห์หลักทรัพย์ทางเทคนิค

Tender Offer  การทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป
    
Underwriter  ผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์
เวลาเอาหุ้นเข้าตลาดครั้งแรก เค้ากะกำหนดราคาไว้ว่า เคาะราคา IPO กี่บาท และถ้าขายไม่ได้ พวกนี้แหละ จะรับซื้อทั้งหมด

Warrant ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์  
    
XD ใครที่ซื้อหุ้นในวันขึ้น XD แปลว่าจะไม่ได้รับปันผล

ขนาดที่สำคัญๆนะ ถ้าไม่สำคัญด้วย คงไม่ไหว

credits http://www.tsi-thailand.org เอามาเพิ่มอีกนิดหน่อย

 


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2011, 10:05:36
.

อันนี้เป็นตัวอย่างหน้าจอซื้อขายหุ้น

บัญชีผมเอง แต่ไม่ได้มีทุกตัวที่เห็นหรอกนะครับ

เปิดบัญชีกับ บลกิมเอ็งที่เชียงใหม่

.

.

จะสังเหตุเห็นได้ว่า มีตัวเลขเยอะแยะไปหมด อย่าตกใจครับ....

จะอธิบายให้ทีละตัวๆ

ดูที่หุ้น PTTCH

ช่องแรกสุด
เห็นได้ว่า มีเครื่องหมาย XD ขึ้น แปลว่า ถ้าซื้อหุ้นตัวนี้ จะไม่มีสิทธิ์ได้รับปันผลในรอบนี้ (ขึ้น XD วันนี้พอดี ใครที่ซื้อวันพฤหัส จะได้รับปันผลตอนปลายเดือนนี้นะครับ ส่วนใครซื้อวันนี้ ก็รอปันผลครึ่งปีหลังไป ถ้ายังไม่ขายก่อนอะนะ)

ช่องที่ 2
last 145.50 แปลว่า ราคาล่าสุดที่มีการซื้อขาย คือ 145.50 บาท ตัวสีแดงแปลว่า ราคาต่ำลงกว่าราคาปิดเมื่อวาน

ช่องที่ 3
Prior 147.50 แปลว่า ราคาปิดของวันทำการก่อนหน้า (วันพฤหัส) คือ 147.50 บาท

ช่องที่ 4
Chg -2 แปลว่า ราคาล่าสุด ตกลงไป 2 บาท จากราคาปิดก่อนหน้า ( ปิดวันพฤหัส 147.5 ราคาล่าสุด 145.5 ก็แปลว่า ลงไป 2 บาท)

ช่องที่ 5
Chg% -1.36% แปลว่า ราคาตกไป 1.36% จากราคาปิดก่อนหน้า

ช่องที่ 6 กับ 7
Bid-Q 35,700    Bid 145.50
แปลว่า มีคำสั่งซื้อที่ราคา 145.50บาท อยู่จำนวน 35,700หุ้น (ยังซื้อไม่ได้ หรือ รอซื้ออยู่)

ช่องที่ 8 กับ 9
Offer 146.0    Offer-Q 39,500
แปลว่า มีคำสั่งขายที่ราคา 146.0บาท อยู่จำนวน 39,500หุ้น (ยังขายไม่ออก หรือ รอขายอยู่)

ดังนั้นต้องรอว่ามีคนใจถึงซื้อที่ราคา 146.0บาท  หรือต้องมีคนใจอ่อนขายที่ 145.50บาท คำสั่งถึงจะเกิดการจับคู่ซื้อขายเกิดขึ้น

ช่องที่ 10
Deal 10 แปลว่า มีการจับคู่คำสั่งซื้อขายไปแล้ว 10 ครั้ง (แปลว่ามีคนใจถึง หรือใจอ่อน แล้ว 10 ครั้ง)


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: ....คนหน้าแหลม.... ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2011, 10:10:42
จอเทรดกิมเอ็ง ดูสวยครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 15 สิงหาคม 2011, 10:20:10
.

ก็หมดแล้วนะครับ สำหรับเนื้อหาที่ผมจะเอามาลงในกระทู้นี้

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามมาโดยตลอดครับ

มีปัญหาอยากถามเรื่องพื้นฐานทั่วไป โพสท์ถามที่นี่เลยนะครับ
.


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ... (จบแล้ว)
เริ่มหัวข้อโดย: Temujin ที่ วันที่ 24 สิงหาคม 2011, 17:37:53
ถึงท่านแมงมุม
     ผมอยากถามรายละเอียดเกี่ยวกับ  หุ้นบุริมสิทธิ์  กรุณาให้ความกระจ่างด้วย  อยากรู้ว่า  มันคืออะไร  มันมาได้อย่างไร  มีสิทธิ์อะไรมากกว่าหรือน้อยกว่าหุ้นสามัญอย่างไร  ขอบคุณครับ

ไม่ได้ค่อยเข้ามาอ่านเท่าไหร่ครับช่วงนี้ ขอตอบคำว่า  หุ้นบุริมสิทธิ์ แล้วกันครับ

หุ้นตัวนี้คือหุ้นที่จะได้รับชำระก่อนถ้าขาดทุนหรือเจ้งขึ้นมา ถ้าใครถือก็จะได้สิทธิก่อนคนถือหุ้นอื่น

ส่วนสิทธิการออกเสียง ฯลฯ ก็จะเหมือนๆ หุ้นสามัญครับ ถ้าเปรียบกับการจำนองก็คนที่รับจำนองเจ้าแรกนั่นแหละครับ

จะได้เงินก่อนถ้าถูกบังคับจำนองหรือขายทอดตลาด ถึงไม่ได้ฟ้องก็ตาม นี่เป็นความรู้ตอนเรียนกฎหมาย (ยังไม่จบ) อิอิ

ส่วนตอนนี้ผมอยากจะเป็นเจ้าบุริมสิทธิ์หัวใจใครสักคนอยู่เหมือนกัน...ว่าไปเรื่อย.. ;D ;D

พอจะถูกบ้างมั้ยลุงคิวฯ ในฐานะที่ท่านเป็นทนายความ..ส่วนผมพอเป็นทแนะความหรือไม่ได้ความช่วยแถลง..อิอิ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ... (จบแล้ว)
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 25 สิงหาคม 2011, 07:40:48
.

หุ้นบุริมสิทธ์จะออกเสียงบริหารงานไม่ได้ครับ

มีแต่หุ้นสามัญที่ทำได้

.


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ... (จบแล้ว)
เริ่มหัวข้อโดย: น้าวัยทองฯ ที่ วันที่ 25 สิงหาคม 2011, 10:07:30
แต่ที่แน่ๆ ได้เงินก่อนเราใช่ไหมครับ เหอๆๆ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ... (จบแล้ว)
เริ่มหัวข้อโดย: Temujin ที่ วันที่ 25 สิงหาคม 2011, 11:11:44

หุ้นบุริมสิทธ์จะออกเสียงบริหารงานไม่ได้ครับ

มีแต่หุ้นสามัญที่ทำได้


ตามนั้นครับ... :D ;D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ... (จบแล้ว)
เริ่มหัวข้อโดย: น้าวัยทองฯ ที่ วันที่ 31 สิงหาคม 2011, 20:25:51
หุ้นหลายเด้ง


นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จสูงในระยะยาว หนีไม่พ้นที่ต้องมีหุ้นที่ทำกำไรสูงมากเป็นหลายๆ เท่าตัวจากต้นทุนที่เขาซื้อมา
ในวงการนักลงทุนเรียกว่า "หุ้นหลายเด้ง"  นอกจากกำไรเป็นหลายเท่าตัวแล้ว หุ้นหลายเด้งที่ว่านั้น ต้องมีจำนวนเป็นเม็ดเงินอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่มีเพียง 200-300 หุ้น ซึ่งไม่มีความหมายต่อขนาดของพอร์ตโฟลิโอ ตรงกันข้าม หุ้นหลายเด้ง ต้องมีขนาดพอสมควรที่ทำให้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตสูงกว่าปกติต่อเนื่องกันหลายปี พูดง่ายๆ ถ้าตัดหุ้นตัวนี้ออก ผลตอบแทนรวมของพอร์ตอาจจะดูธรรมดามาก หรือหุ้นหลายเด้ง เป็นหุ้นที่สร้างความแตกต่างระหว่าง "เซียน" กับนักลงทุนธรรมดา ดังนั้น เราจึงควรมาดูกันว่าเราจะหาหุ้นหลายเด้งได้อย่างไร
 
ข้อแรก ที่ผมคิดว่าสำคัญ ก็คือ หุ้นที่จะเติบโตขึ้นมาหลายๆ เท่าตัวได้ในระยะเวลาไม่นาน เช่น ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าตัวในเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยที่หุ้นตัวนั้นไม่ได้ถูก "ทำราคา" หรือ "ปั่น" มักจะอยู่ใน หุ้น 3 กลุ่มใหญ่ๆ  คือ กลุ่มที่หนึ่ง เป็นหุ้นที่ อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีวัฏจักรขึ้นลงรุนแรง เช่น ธุรกิจเดินเรือ ปิโตรเคมี แร่ธาตุที่หายาก หรือสินค้าเกษตรที่ต้องใช้เวลาในการปลูกยาวนานเช่นยางพารา เป็นต้น
 
การที่จะทำกำไรได้หลายเด้งในหุ้นกลุ่มนี้ วิธีที่ได้ผลมากที่สุด คือ ซื้อหุ้นในยามที่หุ้นอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมตกต่ำสุด และไม่มีคนสนใจและพูดถึงเลย และเรารู้ หรือมั่นใจว่าอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวและการฟื้นตัวนั้น จะฟื้นแรงด้วยเหตุผลที่ชัดเจนถูกต้อง และเมื่อสิ่งที่เราคาดไว้ถูกต้อง หุ้นปรับตัวขึ้นแล้วในรอบแรก เราต้องถือหุ้นต่อไปจนกว่าวัฏจักรจะเป็นขาขึ้นเต็มตัว ซึ่งราคาหุ้นก็จะปรับตัวตามไปเรื่อยๆ เราจะขายต่อเมื่อทุกอย่าง "ดูดีหมด" โบรกเกอร์เกือบทุกสำนักจะเชียร์หุ้นตัวนั้น นักลงทุนแทบจะทุกกลุ่มต่าง ก็ดูว่าเป็น หุ้น "สุดยอด" เพราะ "กำไรดีมาก" ผู้บริหาร "คาดการณ์แม่นมีวิสัยทัศน์" บริษัท "ขยายตัวต่อเนื่อง" และที่สุดยอด ก็คือ "เงินสดเพียบและไม่มีหนี้เลย" เมื่อเกิดภาวการณ์แบบนี้ อย่ารอที่จะขายหุ้นทิ้ง อย่ารอให้เห็นว่าเป็นวัฏจักรขาลงแล้ว เพราะนั่นจะไม่ทันกาล
 
กลุ่มที่สอง ที่มีโอกาสเป็นหุ้นหลายเด้ง คือ "หุ้นฟื้นตัว" นี่คือหุ้นที่ประสบปัญหาการดำเนินงานจนแทบจะเอาตัวไม่รอด หลายๆ บริษัทต้องเข้าแผนฟื้นฟู บางบริษัทหุ้นถูกพักการซื้อขาย ราคาหุ้นจะตกต่ำมาก ดูจาก Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัท จะต่ำมากเทียบกับยอดขาย แม้บริษัทจะขาดทุนหนัก และติดต่อกันมานาน แต่กิจการยังดำเนินต่อไป และแข่งขันกับคู่แข่งได้ ยี่ห้อสินค้าของบริษัท ยังเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ที่สำคัญ คือ ทรัพย์สินบริษัท เช่น โรงงานและอุปกรณ์ต่างๆ ยังมีค่าและมีคนต้องการ
 
ที่สำคัญประเด็นสุดท้าย คือ หนี้ของบริษัทไม่มากเกินไปเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่มีอยู่ตามราคาตลาด  การซื้อหุ้นแบบนี้  บางครั้งก็ทำได้ยากเพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นมีน้อยมากเนื่องจากบริษัทมีขนาดเล็กมากในแง่ของมูลค่าหุ้น  อย่างไรก็ตาม  ถ้าบริษัทเริ่มฟื้นจริงๆ  ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปสูงและเร็วมาก  บางครั้งปรับตัวเกินพื้นฐานไปด้วยเนื่องจากแรงเก็งกำไรของนักลงทุน  ดังนั้น  เราอาจจะขายทิ้งไปเมื่อหุ้นกำลัง "ร้อนจัด" ดีกว่าที่จะรอซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อฟื้นแล้วบริษัทจะกำไรดีหรือเปล่า
 
หุ้น กลุ่มสุดท้าย ที่จะเป็นหุ้นหลายเด้งได้ คือ "หุ้นโตเร็ว" นี่คือ หุ้นที่เติบโตต่อไปได้ยาวนานไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยโตได้เป็นสองหลักทั้งรายได้และกำไร โดยกำไรจะโตมากกว่ารายได้ เช่น รายได้อาจโต 15% ต่อปี  ขณะที่กำไรจะโตถึง 20% ต่อปีโดยเฉลี่ย ประเด็นสำคัญในการมองหาหุ้นในกลุ่มนี้ คือ การวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโต และคุณสมบัติของตัวกิจการ คือ บริษัทต้องโตอย่างแท้จริง เมื่อรายได้และกำไรโตขึ้นแล้ว ต้องไม่ลดลง หรือ "โตอย่างถาวร" ความเสี่ยงที่รายได้และกำไรจะลดลงในอนาคตมีน้อยมาก 
 
ประการต่อมา การโตของบริษัท ไม่ควรต้องลงทุนในสินทรัพย์มาก ถ้าโตได้โดยที่ "แทบไม่ต้องลงทุนเลย" ก็ยิ่งดี แต่ถ้าโตโดยที่ต้องลงทุนมากก็จะเป็นการเติบโตที่ "ไม่มีประโยชน์" เพราะกิจการอาจไม่สามารถจ่ายปันผลได้เพิ่มเติมเนื่องจากเวลามีกำไร จะต้องเอาเงินนั้นไปลงทุนต่อ เงินนั้นไม่มาถึงผู้ถือหุ้นเท่าไรนัก วิธีที่จะดูว่าเป็นการโตที่มีประโยชน์หรือไม่ ก็คือ ดูว่าค่า ROE หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทสูงแค่ไหน ถ้าต่ำกว่า 10% ผมก็คิดว่าเป็นการโตที่ไม่มีประโยชน์ ถ้าสูงกว่า 20% ผมคิดว่าเป็นการโตที่ดีมาก  ข้อมูลอีกตัวหนึ่ง ก็คือ บริษัทที่จะโต ไม่ควรมีหนี้เงินกู้มาก ถ้าจะให้ดีไม่ควรเกิน 1 เท่าของเงินทุนของบริษัท ถ้าโตโดยไม่มีหนี้เลยก็ยิ่งดีใหญ่
 
การซื้อหุ้นบริษัทที่โตเร็ว ควรซื้อยามที่ราคาหุ้นไม่แพง เมื่อซื้อแล้วและราคาหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นไป อย่ารีบขาย ถือไปเรื่อยไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีขึ้นไป ที่จริง 5 ปีขึ้นไปยิ่งดี แต่จุดขายจริงๆ จะเป็นช่วงเวลาที่เติบโตเริ่มชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ หรือบริษัทเริ่มเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัว การขายหุ้นโตเร็ว ความจำเป็นที่จะต้องขายอย่างรีบเร่งน่าจะน้อยกว่าหุ้นวัฏจักร หรือหุ้นฟื้นตัวมาก เพราะหุ้นโตเร็ว ราคาหุ้นเมื่อการเติบโตเริ่มช้าลง จะค่อยๆ ปรับตัวลงตามช้าๆ มากกว่าจะดิ่งลงเหมือนหุ้นกลุ่มอื่น
 
การเล่นหุ้นหลายเด้ง แม้จะทำให้เรามีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงก็มีอยู่ไม่น้อย ประเด็นก็คือ เราอาจคาดการณ์ผิด เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจจริง ที่สำคัญ เราไปฟังการวิเคราะห์ของคนอื่น และเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดถูกต้อง โดยสิ่งที่ทำให้เชื่อ นอกจากเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและตัวบริษัท ก็คือ ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปแรงพร้อมๆ กับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่มากเกินปกติ ลักษณะนี้ แม้สิ่งที่คาดการณ์ไว้เกี่ยวกับกิจการจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็จะไม่ได้หุ้นหลายเด้ง ถ้าโชคดี อาจจะได้กำไรบ้าง บางทีอาจจะได้หนึ่งเด้ง แต่ถ้าโชคร้าย  อาจขาดทุนหนักเหมือนกัน คนที่จะได้กำไรหลายเด้ง ต้องเป็นคนที่ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำมาก ก่อนที่หุ้นจะเป็นข่าว หรือเป็นที่กล่าวขวัญถึง และนี่คือ "เซียน" ตัวจริง
 
ผมคงจะจบบทความไม่ได้ถ้าไม่ได้พูดว่า เราไม่ควรคิดลงทุนเฉพาะหุ้นที่อาจจะกลายเป็นหุ้นหลายเด้ง เพราะการทำแบบนั้น เป็นเรื่องอันตราย เพราะจะทำให้พอร์ตมีความเสี่ยงสูงเกินไป อย่าไปคิดว่า จะคาดการณ์ได้ถูกต้อง ที่จริงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ หรือหาหุ้นหลายๆ เด้งได้ถูกต้อง บ่อยครั้งเราเห็นหุ้นที่กลายเป็นหุ้นหลายเด้งแล้ว จึงมาสรุปถึงเหตุผล แล้วก็คิดว่ารู้ตั้งแต่วันแรก ประสบการณ์ของผม คือ หุ้นหลายเด้งส่วนใหญ่ที่ผมได้ ในวันที่ผมซื้อ ผมไม่รู้และไม่ได้คิดว่า ได้กำไรถึงขนาดนั้น ผมซื้อเพราะกิจการดี และมีราคาที่เหมาะสม น่าจะทำให้ผมกำไรซักปีละ 10-15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่บังเอิญมา "เด้ง" ทีหลัง ผมอยากเรียกว่า เป็นโชคดีที่เกิดจากการทำสิ่งที่ดีมากกว่า

Tags : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ... (จบแล้ว)
เริ่มหัวข้อโดย: กระเจียว ที่ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2011, 10:23:03

  เข้ามาอ่านได้ความรู้มากมายครับ อ่านแล้วสนใจอยากลองเล่นดูมั่งแต่ต้องศึกษาข้อมูลอีกเยอะ ขอใช้ห้องนี้เป็นห้องสมุดเล่นหุ้นละกันนะครับ ขอบคุณพี่ๆมากเลยครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ... (จบแล้ว)
เริ่มหัวข้อโดย: สมพร1962 ที่ วันที่ 14 ธันวาคม 2011, 08:24:25
ขอบคุณท่านแมงมุมครับ ห้องนี้ได้อัตถรสในการอ่านทุกตอนเลยครับ มีทั้งด้านการลงทุนในหุ้น ทั้งการธนาคารด้านบัญชี ผู้ที่จะเตรียมตัวกู้ธนาคารก็อ่านได้ ผู้ที่จะคิดลงทุนในหุ้นก็อ่านดี สาระความรู้คับห้องนี้จริงๆ

ขอบคุณท่านวัยทองคะนองนาด้วยนะครับ ถามได้ดีมากครับ

ผมไม่ได้วิเคราห์กระทู้นะครับ แต่เป็นคำชื่นชมจากใจจริงๆครับ ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: loging ที่ วันที่ 19 ธันวาคม 2011, 01:39:27
ปูพื้นแบบนี้แหละค่ะใช่เลย  เสร็จแล้ว

แล้วรบกวนต่อด้วยนะค่ะ

พวกตัวย่อภาษาอังกฤษต่าง ๆ

จะมาปูเสื่อรออาจารย์ค่ะ

ดีเลยคร๊าบดูไม่เป็นเหมือนกันสงสัยมานานละ ไม่รู้ดูไง ลายตาไปหมด  ;D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ... (จบแล้ว)
เริ่มหัวข้อโดย: ryo_sakhu ที่ วันที่ 16 มกราคม 2012, 10:02:39
ขอบคุณครับ อ่านเข้าใจง่ายดี


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: CoffeebyKaewkao ที่ วันที่ 07 มีนาคม 2012, 12:47:21
ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ที่ฉันอยากรู้มานานแล้ว


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: Temujin ที่ วันที่ 08 มีนาคม 2012, 20:41:08
 "หุ้น" ในบางครั้งทฤษฎี กับภาคปฏิบัติมันต่างกันนะครับ อย่าง " หุ้นบุริมสิทธิ์ " ที่ว่าออกเสียงไม่ได้ แต่เอากันจริงๆ

เขาไม่ฟังผู้ถือหุ้นสามัญหรอก ทั้งๆ ทฤษฎี มันใช่ ในบางครั้งผมก็จะคิดว่าเป็นการ " ถือ " ไว้เท่านั้น หรือที่เค้าว่า โฮล ไว้

โอกาสเหมาะแล้วค่อยปล่อย  ในการวิเคราะห์หุ้นบางตัวนั้น ถ้าจะถือยาวๆ อย่าลืมเช็คประวัติผู้บริหารด้วยว่าเค้าเหล่านั้น

มีธรรมมาภิบาลดีพอหรือไม่ ซึ่งต่อให้หุ้นนั้นดีขนาดไหน แต่ถ้ามีการทุจริตกันแล้ว ผู้ถือหุ้นสามัญอย่างเราๆ จะพลอยลำบากกัน

ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ ต้องทำงานหนักหลายเท่าครับ...ต้องทำตัวเป็นต้นอ้อเข้าไว้ในบางครั้งถ้าจำเป็น  :D ;D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: MRTARS ที่ วันที่ 30 มีนาคม 2012, 21:03:00

อยู่ในตลาดหุ้น เราทำได้ 2 อย่างครับ

1.) ลงทุนในหุ้น
2.) เก็งกำไร หรือที่เรียกว่า เล่นหุ้น

สองตัวนี้ ดูเหมือนจะคล้ายกัน แต่ความจริงแล้ว แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

การลงทุนในหุ้น คือการซื้อหุ้นเพื่อคาดหวังเงินปันผล และจะถือหุ้นตัวนั้นยาวไปตลอดจนกว่าพื้นฐานของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไป (ออกแนว VI) ซึ่งการลงทุนในหุ้น เราจะใช้ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ส่วนการเล่นหุ้น คือการซื้อเพื่อคาดหวังส่วนต่างราคาหุ้นเพื่อทำกำไรในระยะสั้นๆ โดยไม่สนใจพื้นฐานของบริษัท จะใช้ การคาดการณ์ เทคนิค เป็นหลัก

ท่านเไหนที่เป็นนักลงทุนในหุ้น ขอแนะนำให้ศึกษาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่แต่ละท่านในห้องนี้นำมาแบ่งปัน โดยอย่าไปสนใจกับปัจจัยทางเทคนิคมากนัก
และท่านไหนที่เป็นนักเล่นหุ้น ขอให้แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิค

----------------------------------------------------------

หากท่านต้องการซื้อหุ้นของ PTT .....

ท่านไม่สามารถเดิมดุ่มๆไปที่ปั๊มปตท. หรือขึ้นแท็กซี่ไปลงบริษัทPTT ที่อยู่ใกล้ๆกับหมอชิต2 แล้วบอกว่า ขอซื้อหุ้น PTT 10 หุ้น ได้

และเช่นเดียวกัน ท่านไม่สามารถลงรถไฟใต้ดินไปลงที่สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ แล้วโผล่ไปที่ "ที่ทำการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" แล้วบอกว่า ขอซื้อหุ้น PTT 10 หุ้น ได้

สิ่งที่ท่านต้องทำคือ ท่านต้องไป "เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น" ก่อน และบัญชีซื้อขายหุ้นนั้น ท่านต้องไปเปิดกับ "บริษัทหลักทรัพย์" หรือที่เราเรียกว่า โบรกเกอร์ ชื่อเล่นว่า "โบรค"

ดังนั้น ตอนนี้ท่านทราบแล้วว่า "ตลาดหลักทรัพย์" กับ "บริษัทหลักทรัพย์" นั้น ไม่ใช่อันเดียวกัน จำไว้นะ ขอย้ำว่ามันไม่ใช่อันเดียวกัน อย่าบ้านนอก...ขอร้อง

ท่านต้องส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นไปที่ บริษัทหลักทรัพย์ แล้วบริษัทหลักทรัพย์ จะส่งคำสั่งของท่านต่อไปยัง ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำคำสั่งซื้อขายของท่านไปเข้าคิวตามกระบวนการซื้อขาย ซึ่งเขียนง่ายๆก็คือ




ก็อาจจะพูดได้ว่าการ  ลงทุนในหุ้น ก็หมายถึงการฝากเงินใช้ไหมครับ (โดยคำนึงถึง technique การทำ port เพื่อกระจายความเสียงมากที่สุด)  ทั้งนี้ผลกำไรที่คาดหวังว่าจะได้ก็ควรจะมากกว่าการลงทนในธนบัตรหรือการฝากเงินในธนาคาร


ส่วนการเล่นหุ้นก็คือการหาส่วนต่าง (Capital Gain) ใช่ไหมครับ



งั้นที่ผมเคยได้ยินมาว่า


Total Yield = Capital Gain Yield + Dividend Yield ก็ไม่มีความหมายสำหรับนักเก็งกำไรใช่ไหมครับ ? เพราโดยนัยยะก็คือนักเก็งกำไรไม่สนใจ Dividend Yield แต่มองแค่ Capital Gain Yield ?

งี้ก็ขัดกับหลัก Econ ที่เด็กๆเขาเรียนสิครับว่าการเก็งกำไร (speculation) เป็นสิ่งไม่ดี
หรือที่ John M. Keynes พูดว่า animal spirit

ตลาดหุ้นที่ทางวิชาการมองว่าเป็นสถานที่ๆคนที่มี excess fund มามองหา required return ก็ไม่จริง เพราะตลาดหุ้นไม่เสถียรในระยะยาวหรอครับ ?





หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: วายุ ที่ วันที่ 31 มีนาคม 2012, 15:06:42
ตอบคุณ  MRTARS
     คุณเข้าใจผิดตั้งแต่แรกแล้วนะครับว่า

ลงทุนในหุ้น ก็หมายถึงการฝากเงินใช้ไหมครับ   การลงทุนก็คือการลงทุนครับ  มันไม่เหมือนการฝากเงินหรอก

ส่วนการเล่นหุ้นก็คือการหาส่วนต่าง (Capital Gain) ใช่ไหมครับ  อันนี้ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ  หากำไรนั่นเอง

ส่วนทฤษฏีที่อีรุงตุงนังเป็นภาษาต่างประเทศข้างล่างนั้น  ผมไม่เข้าใจหรอกครับ  ช่วยอธิบายให้เป็นภาษาไทยด้วยนะครับ  เพราะผมเรียนมาน้อย  ไม่เก่งภาษาอังกฤษครับ  ไม่ได้ยั่วนะครับ  แต่ผมพูดจริงๆ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 02 เมษายน 2012, 19:11:17

อยู่ในตลาดหุ้น เราทำได้ 2 อย่างครับ

1.) ลงทุนในหุ้น
2.) เก็งกำไร หรือที่เรียกว่า เล่นหุ้น

สองตัวนี้ ดูเหมือนจะคล้ายกัน แต่ความจริงแล้ว แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

การลงทุนในหุ้น คือการซื้อหุ้นเพื่อคาดหวังเงินปันผล และจะถือหุ้นตัวนั้นยาวไปตลอดจนกว่าพื้นฐานของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไป (ออกแนว VI) ซึ่งการลงทุนในหุ้น เราจะใช้ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ส่วนการเล่นหุ้น คือการซื้อเพื่อคาดหวังส่วนต่างราคาหุ้นเพื่อทำกำไรในระยะสั้นๆ โดยไม่สนใจพื้นฐานของบริษัท จะใช้ การคาดการณ์ เทคนิค เป็นหลัก

ท่านเไหนที่เป็นนักลงทุนในหุ้น ขอแนะนำให้ศึกษาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่แต่ละท่านในห้องนี้นำมาแบ่งปัน โดยอย่าไปสนใจกับปัจจัยทางเทคนิคมากนัก
และท่านไหนที่เป็นนักเล่นหุ้น ขอให้แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิค

----------------------------------------------------------

หากท่านต้องการซื้อหุ้นของ PTT .....

ท่านไม่สามารถเดิมดุ่มๆไปที่ปั๊มปตท. หรือขึ้นแท็กซี่ไปลงบริษัทPTT ที่อยู่ใกล้ๆกับหมอชิต2 แล้วบอกว่า ขอซื้อหุ้น PTT 10 หุ้น ได้

และเช่นเดียวกัน ท่านไม่สามารถลงรถไฟใต้ดินไปลงที่สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ แล้วโผล่ไปที่ "ที่ทำการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" แล้วบอกว่า ขอซื้อหุ้น PTT 10 หุ้น ได้

สิ่งที่ท่านต้องทำคือ ท่านต้องไป "เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น" ก่อน และบัญชีซื้อขายหุ้นนั้น ท่านต้องไปเปิดกับ "บริษัทหลักทรัพย์" หรือที่เราเรียกว่า โบรกเกอร์ ชื่อเล่นว่า "โบรค"

ดังนั้น ตอนนี้ท่านทราบแล้วว่า "ตลาดหลักทรัพย์" กับ "บริษัทหลักทรัพย์" นั้น ไม่ใช่อันเดียวกัน จำไว้นะ ขอย้ำว่ามันไม่ใช่อันเดียวกัน อย่าบ้านนอก...ขอร้อง

ท่านต้องส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นไปที่ บริษัทหลักทรัพย์ แล้วบริษัทหลักทรัพย์ จะส่งคำสั่งของท่านต่อไปยัง ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำคำสั่งซื้อขายของท่านไปเข้าคิวตามกระบวนการซื้อขาย ซึ่งเขียนง่ายๆก็คือ




ก็อาจจะพูดได้ว่าการ  ลงทุนในหุ้น ก็หมายถึงการฝากเงินใช้ไหมครับ (โดยคำนึงถึง technique การทำ port เพื่อกระจายความเสียงมากที่สุด)  ทั้งนี้ผลกำไรที่คาดหวังว่าจะได้ก็ควรจะมากกว่าการลงทนในธนบัตรหรือการฝากเงินในธนาคาร
การลงทุนในหุ้นก็คือการลงทุนในหุ้นครับ ....
การฝากเงินก็คือการฝากเงินครับ ....
แต่ทั้งสองอย่าง คือ วิธีการ "ลงทุน" เหมือนกัน...

ส่วนการเล่นหุ้นก็คือการหาส่วนต่าง (Capital Gain) ใช่ไหมครับ  ใช่ครับ



งั้นที่ผมเคยได้ยินมาว่า


Total Yield = Capital Gain Yield + Dividend Yield ก็ไม่มีความหมายสำหรับนักเก็งกำไรใช่ไหมครับ ? เพราโดยนัยยะก็คือนักเก็งกำไรไม่สนใจ Dividend Yield แต่มองแค่ Capital Gain Yield ?
สำหรับนักเก็งกำไร (ระยะสั้น) Total Yield = Capital Gain Yield ครับ เพราะ เขาไม่ได้ถือหุ้นนานพอจนได้รับเงินปันผล จึงไม่เกิด Dividend Yield ขึ้นมา

งี้ก็ขัดกับหลัก Econ ที่เด็กๆเขาเรียนสิครับว่าการเก็งกำไร (speculation) เป็นสิ่งไม่ดี
หรือที่ John M. Keynes พูดว่า animal spirit
นั่นคือมุมมองของเขาครับ ดีหรือไม่ดี ใครตัดสินครับ และตัดสินที่ตรงไหน



ตลาดหุ้นที่ทางวิชาการมองว่าเป็นสถานที่ๆคนที่มี excess fund มามองหา required return ก็ไม่จริง เพราะตลาดหุ้นไม่เสถียรในระยะยาวหรอครับ ?
มันยังเป็นความจริงครับ ถ้าคุณได้อ่านถึงขั้นรู้ว่า John M. Keynes ให้ความเห็นว่า การเก็งกำไรคือ animal spirit ของมนุษย์ คุณน่าจะรู้ว่าการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง แม้แต่การฝากเงินก็ตาม

แม้แต่ชีวิตคนเรายังหาความมั่นคงจริงๆไม่ได้ แล้วจะไปคาดหวังกับความนิ่งของตลาดทุนเหรอครับ






-------------------

ตามนั้นครับ


.


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: MRTARS ที่ วันที่ 02 เมษายน 2012, 20:04:10

อยู่ในตลาดหุ้น เราทำได้ 2 อย่างครับ

1.) ลงทุนในหุ้น
2.) เก็งกำไร หรือที่เรียกว่า เล่นหุ้น

สองตัวนี้ ดูเหมือนจะคล้ายกัน แต่ความจริงแล้ว แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

การลงทุนในหุ้น คือการซื้อหุ้นเพื่อคาดหวังเงินปันผล และจะถือหุ้นตัวนั้นยาวไปตลอดจนกว่าพื้นฐานของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไป (ออกแนว VI) ซึ่งการลงทุนในหุ้น เราจะใช้ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ส่วนการเล่นหุ้น คือการซื้อเพื่อคาดหวังส่วนต่างราคาหุ้นเพื่อทำกำไรในระยะสั้นๆ โดยไม่สนใจพื้นฐานของบริษัท จะใช้ การคาดการณ์ เทคนิค เป็นหลัก

ท่านเไหนที่เป็นนักลงทุนในหุ้น ขอแนะนำให้ศึกษาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่แต่ละท่านในห้องนี้นำมาแบ่งปัน โดยอย่าไปสนใจกับปัจจัยทางเทคนิคมากนัก
และท่านไหนที่เป็นนักเล่นหุ้น ขอให้แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิค

----------------------------------------------------------

หากท่านต้องการซื้อหุ้นของ PTT .....

ท่านไม่สามารถเดิมดุ่มๆไปที่ปั๊มปตท. หรือขึ้นแท็กซี่ไปลงบริษัทPTT ที่อยู่ใกล้ๆกับหมอชิต2 แล้วบอกว่า ขอซื้อหุ้น PTT 10 หุ้น ได้

และเช่นเดียวกัน ท่านไม่สามารถลงรถไฟใต้ดินไปลงที่สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ แล้วโผล่ไปที่ "ที่ทำการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" แล้วบอกว่า ขอซื้อหุ้น PTT 10 หุ้น ได้

สิ่งที่ท่านต้องทำคือ ท่านต้องไป "เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น" ก่อน และบัญชีซื้อขายหุ้นนั้น ท่านต้องไปเปิดกับ "บริษัทหลักทรัพย์" หรือที่เราเรียกว่า โบรกเกอร์ ชื่อเล่นว่า "โบรค"

ดังนั้น ตอนนี้ท่านทราบแล้วว่า "ตลาดหลักทรัพย์" กับ "บริษัทหลักทรัพย์" นั้น ไม่ใช่อันเดียวกัน จำไว้นะ ขอย้ำว่ามันไม่ใช่อันเดียวกัน อย่าบ้านนอก...ขอร้อง

ท่านต้องส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นไปที่ บริษัทหลักทรัพย์ แล้วบริษัทหลักทรัพย์ จะส่งคำสั่งของท่านต่อไปยัง ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำคำสั่งซื้อขายของท่านไปเข้าคิวตามกระบวนการซื้อขาย ซึ่งเขียนง่ายๆก็คือ




ก็อาจจะพูดได้ว่าการ  ลงทุนในหุ้น ก็หมายถึงการฝากเงินใช้ไหมครับ (โดยคำนึงถึง technique การทำ port เพื่อกระจายความเสียงมากที่สุด)  ทั้งนี้ผลกำไรที่คาดหวังว่าจะได้ก็ควรจะมากกว่าการลงทนในธนบัตรหรือการฝากเงินในธนาคาร
การลงทุนในหุ้นก็คือการลงทุนในหุ้นครับ ....
การฝากเงินก็คือการฝากเงินครับ ....
แต่ทั้งสองอย่าง คือ วิธีการ "ลงทุน" เหมือนกัน...

ส่วนการเล่นหุ้นก็คือการหาส่วนต่าง (Capital Gain) ใช่ไหมครับ  ใช่ครับ



งั้นที่ผมเคยได้ยินมาว่า


Total Yield = Capital Gain Yield + Dividend Yield ก็ไม่มีความหมายสำหรับนักเก็งกำไรใช่ไหมครับ ? เพราโดยนัยยะก็คือนักเก็งกำไรไม่สนใจ Dividend Yield แต่มองแค่ Capital Gain Yield ?
สำหรับนักเก็งกำไร (ระยะสั้น) Total Yield = Capital Gain Yield ครับ เพราะ เขาไม่ได้ถือหุ้นนานพอจนได้รับเงินปันผล จึงไม่เกิด Dividend Yield ขึ้นมา

งี้ก็ขัดกับหลัก Econ ที่เด็กๆเขาเรียนสิครับว่าการเก็งกำไร (speculation) เป็นสิ่งไม่ดี
หรือที่ John M. Keynes พูดว่า animal spirit
นั่นคือมุมมองของเขาครับ ดีหรือไม่ดี ใครตัดสินครับ และตัดสินที่ตรงไหน



ตลาดหุ้นที่ทางวิชาการมองว่าเป็นสถานที่ๆคนที่มี excess fund มามองหา required return ก็ไม่จริง เพราะตลาดหุ้นไม่เสถียรในระยะยาวหรอครับ ?
มันยังเป็นความจริงครับ ถ้าคุณได้อ่านถึงขั้นรู้ว่า John M. Keynes ให้ความเห็นว่า การเก็งกำไรคือ animal spirit ของมนุษย์ คุณน่าจะรู้ว่าการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง แม้แต่การฝากเงินก็ตาม

แม้แต่ชีวิตคนเรายังหาความมั่นคงจริงๆไม่ได้ แล้วจะไปคาดหวังกับความนิ่งของตลาดทุนเหรอครับ






-------------------

ตามนั้นครับ


.




ขอบคุณทั้งสองท่านมากครับที่ช่วยให้ความรู้กับผม  คือผมยอมรับเลยว่าไม่ได้จบมาทางนี้มา เลยไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ ก็เลยลองให้ผู้รู้ช่วยตรวจสอบว่าผมเข้าใจถูกรึปล่าว


พอดีเวลาก็ผ่านมานานนนมากกก พอผมอ่านกระทู้นี้เลยได้คิดอะไรบางอย่างที่คิดข้างไว้เมื่อนานมาแล้ว


จริงๆที่ผมถามเกี่ยวกับเรื่องของความคล้ายคลึงระหว่างการลงทุนแบบ portfio กับ saving ก็เพราะผมมองว่า ความเสี่ยงกับผลตอบแทนมีความสัมพันธ์ในทางบวกซึ่งกันและกัน กล่าวคือ high risk high return ใช่ไหมครับ   ดังนั้นถ้าตั้งสมมุติฐานว่าเราทำ port  จนกระทั่งสามารถเข้าสู่ non-diversiable risk ได้ก็หมายความว่า ความเสี่ยงของหุ้นนั้นก็จะใกล้กับตลาดหุ้นมาก กล่าวคือต่ำซะจนให้ return ต่ำ แต่ก็มีความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกัน  ซึ่งถ้าพูดอย่างงี้ก็มีความคล้ายกับธนาคาร ซึ่งเป็นที่ๆคนหวัง required return โดยมองว่าความเสี่ยงต่ำกว่า  บางทีการลงทุนในกองทุนก็ใช้หลักการเดียวกันก็คือทำ port ดีๆเพื่อการันตี return ให้ลูกค้า compensate กับความเสี่ยงของเขา อันนี้ผมพอจะเข้าใจถูกไหมครับ ?

อาจจะจำกัดความได้ว่า การถ่ายโอนเงินไปที่ใดที่หนึ่งที่มีความเสี่ยง และความเสี่ยงนี้ก็ถูกทดแทนโดยผลตอบแทนก็คือการลงทุนใช่ไหมครับ ขออ้างคำพูดที่คุณแมงมุมบอกว่าแม้แต่การฝากเงินก็คือรูปแบบหนึ่งของการลงทุน  งั้นถ้ามองกลับกันทำไมการลงทุนถึงไม่ใช่รูปแบบหนึ่งของการฝากเงินล่ะครับ เพราะการฝากเงินก็มีความเสี่ยงและผลตอบแทนเช่นเดียวกันใช่ป่าวครับ ซึ่งทั้งสองกรณีมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ(เพราะหุ้นในperfect portfolio มีแค่nondiversiable risk)?

แต่รูปแบบหนึ่งที่ผมว่าไม่ใช่การฝากเงินอย่างแน่นอนก็คือการเก็งกำไร  เพราะการเก็งกำไรมีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่จะอยู่ในกรอบคำจำกัดความของการฝากเงิน  กล่าวคือการเก็งกำไรนั้นไม่เสถียรเพราะไม่แน่นอน  ที่คุณแมงมุมถามว่าใครตัดสินความดีหรือไม่ดี ถ้าตัดสินผ่านกรอบความเสถียรภาพ  การspeculate ย่อมไม่ดีเพราะทำให้ nondiversiable risk ของคนที่ประสงค์จะลงทุนนั้นกว้างขึ้น เนื่องจากทำให้ตลาดทั้งตลาดในภาพรวมไม่เสถียร
อีกนัยยะก็คือ สร้างความเสี่ยงให้ทั้งตนและผู้คนรอบข้าง เพื่อหวังให้ return ของตนเพิ่มขึ้น


ไม่ได้คาดหวังอะไรกับความนิ่งของตลาดทุนหรอกครับ  แต่มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องการหลักแหล่งและความสงบ  สิ่งเหล่านี้ถึงแม้ในความเป็นจริงเราไม่สามารถที่จะหามาได้เลย แต่อย่างน้อยเราก็ควรที่จะทำให้ดีที่สุดครับ  
 






หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 03 เมษายน 2012, 07:51:52

ขอบคุณทั้งสองท่านมากครับที่ช่วยให้ความรู้กับผม  คือผมยอมรับเลยว่าไม่ได้จบมาทางนี้มา เลยไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ ก็เลยลองให้ผู้รู้ช่วยตรวจสอบว่าผมเข้าใจถูกรึปล่าว


พอดีเวลาก็ผ่านมานานนนมากกก พอผมอ่านกระทู้นี้เลยได้คิดอะไรบางอย่างที่คิดข้างไว้เมื่อนานมาแล้ว


จริงๆที่ผมถามเกี่ยวกับเรื่องของความคล้ายคลึงระหว่างการลงทุนแบบ portfio กับ saving ก็เพราะผมมองว่า ความเสี่ยงกับผลตอบแทนมีความสัมพันธ์ในทางบวกซึ่งกันและกัน กล่าวคือ high risk high return ใช่ไหมครับ   ดังนั้นถ้าตั้งสมมุติฐานว่าเราทำ port  จนกระทั่งสามารถเข้าสู่ non-diversiable risk ได้ก็หมายความว่า ความเสี่ยงของหุ้นนั้นก็จะใกล้กับตลาดหุ้นมาก กล่าวคือต่ำซะจนให้ return ต่ำ แต่ก็มีความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกัน  ซึ่งถ้าพูดอย่างงี้ก็มีความคล้ายกับธนาคาร ซึ่งเป็นที่ๆคนหวัง required return โดยมองว่าความเสี่ยงต่ำกว่า  บางทีการลงทุนในกองทุนก็ใช้หลักการเดียวกันก็คือทำ port ดีๆเพื่อการันตี return ให้ลูกค้า compensate กับความเสี่ยงของเขา อันนี้ผมพอจะเข้าใจถูกไหมครับ ?
ถูกครับ

อาจจะจำกัดความได้ว่า การถ่ายโอนเงินไปที่ใดที่หนึ่งที่มีความเสี่ยง และความเสี่ยงนี้ก็ถูกทดแทนโดยผลตอบแทนก็คือการลงทุนใช่ไหมครับ
ใช่ครับ

ขออ้างคำพูดที่คุณแมงมุมบอกว่าแม้แต่การฝากเงินก็คือรูปแบบหนึ่งของการลงทุน  งั้นถ้ามองกลับกันทำไมการลงทุนถึงไม่ใช่รูปแบบหนึ่งของการฝากเงินล่ะครับ
การฝากเงิน เป็นหนึ่งในหลายๆวิธีในการลงทุน
คล้ายๆกับ อำเภอเมืองเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย นั่นคือ จังหวัดเชียงรายไม่ได้มีแค่อำเภอเมือง ครับ

เพราะการฝากเงินก็มีความเสี่ยงและผลตอบแทนเช่นเดียวกันใช่ป่าวครับ ซึ่งทั้งสองกรณีมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ(เพราะหุ้นในperfect portfolio มีแค่nondiversiable risk)?
ใช่ครับ

แต่รูปแบบหนึ่งที่ผมว่าไม่ใช่การฝากเงินอย่างแน่นอนก็คือการเก็งกำไร  เพราะการเก็งกำไรมีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่จะอยู่ในกรอบคำจำกัดความของการฝากเงิน  กล่าวคือการเก็งกำไรนั้นไม่เสถียรเพราะไม่แน่นอน  ที่คุณแมงมุมถามว่าใครตัดสินความดีหรือไม่ดี ถ้าตัดสินผ่านกรอบความเสถียรภาพ  การspeculate ย่อมไม่ดีเพราะทำให้ nondiversiable risk ของคนที่ประสงค์จะลงทุนนั้นกว้างขึ้น เนื่องจากทำให้ตลาดทั้งตลาดในภาพรวมไม่เสถียร
อีกนัยยะก็คือ สร้างความเสี่ยงให้ทั้งตนและผู้คนรอบข้าง เพื่อหวังให้ return ของตนเพิ่มขึ้น
ถ้าไปตัดสินในมุมมองของความเสี่ยง การเก็งกำไรย่อมไม่ดีครับ


ไม่ได้คาดหวังอะไรกับความนิ่งของตลาดทุนหรอกครับ  แต่มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องการหลักแหล่งและความสงบ  สิ่งเหล่านี้ถึงแม้ในความเป็นจริงเราไม่สามารถที่จะหามาได้เลย แต่อย่างน้อยเราก็ควรที่จะทำให้ดีที่สุดครับ  
ดังนั้น จึงไม่ต้องคาดหวังว่าตลาดการเงินจะเสถียรครับ
 






----------------------

การฝากเงิน หมายความว่า การฝากเงินธนาคารครับ

.


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: วายุ ที่ วันที่ 05 เมษายน 2012, 15:47:42
เข้ามาเสริมท่านแมงมุมหน่อย

ในความเห็นของผมแล้ว  ผมว่า  การฝากเงินคือรูปแบบหนึ่งของการลงทุนครับ  เพราะเราหวังผลตอบแทนจากเงินที่เรามีอยู่

แต่การลงทุน  มันมิใช่การฝากเงินครับ  เพราะเราไม่สามารถรับประกันได้ว่า  ท้ายที่สุดแล้ว  เราจะได้รับเงินเต็มจำนวนเท่ากับตอนที่เราเอามาลงทุนเหมือนกับการฝากเงิน


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: Temujin ที่ วันที่ 06 เมษายน 2012, 19:53:30
  สำหรับการฝากเงินกับธนาคารนั้น ตอนนีั้ก็เริ่มมีความเสี่ยงกันบ้างแล้ว เพราะสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

จะมีการคุ้มครองเงินที่ฝากน้อยลง ๆ  กระทั่งเหลือ ๑ ล้านบาทในอีกไม่กี่เพลาอันใกล้นี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้

และถ้าเศรษฐกิจโลกและของเรากลับมาเป็นเหมือนปี ๓๙-๔๐ รับรองหายแน่ๆ จะนำบัญชีไปเบิกที่ธนาคารกรุงไทยอีกไม่ได้แล้ว... :D ;D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: LOH ที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2012, 00:10:48
สุดยอดแต้ๆครับ  หลงเข้ามาเจอคลังปัญญาเลย อยากศึกษาอยู่แต่อ่านหาอ่านที่อื่น งงบวกมึนมาโดยตลอด
ขอบคุณทุกๆท่านที่ให้ความรู้ ผมคงต้องกลับไปอ่านอีกหลายๆรอบ :o :o


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: Ni KruNi ที่ วันที่ 03 กันยายน 2012, 21:17:00
ขอสมัครเป็นศิษย์ด้วยคนนะเจ้าคะ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 04 กันยายน 2012, 07:15:19
เห็นหลายๆกระทู้ ตั้งขึ้นมาเพื่อถามว่า จะลงทุนในหุ้น แต่ไม่มีความรู้อะไรเลย หรือ จะเริ่มยังไง

ผมเริ่มกลัวแล้วครับ...

ขนาดคนที่มีความรู้ ยังขาดทุนย่อยยับกันมาแล้ว ....

เพราะหลายๆคนอ่านกระทู้ของผม แล้วถึงขั้นโทรมาหา .... ถามว่าจะเล่นหุ้น ต้องทำยังไงดี

ผมเลยถามกลับว่า "หุ้นคืออะไร" ....

เค้ายังเงียบเลยครับ .....

-----------------------------------------------

ดังนั้น วันนี้ผมจะมาโพสท์บอกว่า ..... " อย่าจ่ายเงินให้กับสิ่งที่ตนไม่รู้"

.



หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: somchart. ที่ วันที่ 22 ตุลาคม 2012, 10:37:21
เข้าห้องการเงิน การธนาคารนี้เมื่อไร หน้าย้นขึ้่นเยอะเลย... ;D

ผมอ่านบทความในห้องนี้มาตั้งแต่หน้าแรกๆ จนหน้านี้ อั้นฉี่มาตั้งนาน บางช่วง บางตอน
ก็อดนึกตลกในความคิดตัวเองไม่ได้ เพราะว่าตัวผมเองมีความเข้าใจผิดมากตลอดเพิ่งจะเข้าใจ  ;D

แต่ก็ขออนุญาตท่าน จขกท.แชร์ ข้อความโพสติดตลกให้หายเครียดขึ้นมาบ้างนะครับ

ถ้าผมเข้าไปในธนาคาร แล้วบอกเจ้าหน้าที่ฯ ว่า "ถ้าจะฝากเงิน ต้องทำยังไงครับ"
แล้วถ้าได้คำตอบว่า "ฝากเงินคืออะไร" ตัวผมเองก็คงไม่รู้จะทำตัวยังไงเลยทีนี้  :D
(จะหยิบปากกาก่อน หรือจะเอาเงินออกมาฝากก่อนดี ;D)
ถ้านึกต่อไปอีก แบบชาวบ้านๆ "ไม่รู้จะถอนเสื้อก่อน หรือจะรีบถอนกางเกงก่อนดี ;D"

อันนี้ขอ อภัย ท่าน จกขท.จริงๆ ขอผมแชร์โพสไร้สาระ นอกเรื่องเพื่อคลายเครียดนะครับ  ;D

ขอบคุณครับ
ขอท้ายนิดหนึ่งนะครับ อ่านบทความท่านแมงมุมแล้ว เข้าใจง่าย มองเห็นภาพชัดเจนครับ :D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: ►•••   Natz.   •••◄ ที่ วันที่ 22 ตุลาคม 2012, 15:41:49
อยากให้อธิบายค่่า p/e ด้วยครับ คือผมไม่ค่อยแน่ใจ ที่เขาว่าประมาณ 10 เปอเซนต์ ดี ได้คืนทุนกี่ปีกี่ปี อะไรประมาณนี้แหละครับ คือค่านี้มันเป็นสูตรตายตัว หรือนักวิเคราะห์เขาคิดขึ้นมาเองว่ากำไรกี่ปีคืนทุนกี่ปี ครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 22 ตุลาคม 2012, 17:07:54
.

P/E Ratio .... คืออัตราส่วนระหว่าง ราคา กับ อัตรากำไรต่อหุ้น

คิดโดยเอา ราคาหุ้นตั้ง หารด้วยกำไรต่อหุ้น ครับ

เช่น หุ้น A เทรดกันที่ราคา 120 บาท มีอัตรากำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 8บาท

P/E = 120/8 = 15 เท่า

แปลว่า ราคาหุ้น แพงกว่ากำไรต่อหุ้นอยู่ 15 เท่า

หรือ นักลงทุนยอมซื้อกำไร 1 บาท ในราคา 15 บาท

นั่นคือ 15ปี คืนทุน ครับ

.


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: วายุ ที่ วันที่ 23 ตุลาคม 2012, 00:30:54
     มาเสริมท่านแมงมุมหน่อย  การที่  PE  ของหุ้นตัวหนึ่งแพงกว่าอีกตัวหนึ่ง  มันก็ไม่ได้หมายความว่า  การที่คุณซื้อหุ้นที่  PE  ต่ำกว่าแล้วคุณจะได้ของดีนะครับ  เพราะในอีกด้านหนึ่ง  ค่า  PE  พวกนี้เป็นการสะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่คาดหวังต่อหุ้นตัวนั้นๆว่ามันจะเติบโตได้อีกตามค่า PE  ที่นักลงทุนเขาซื้อ-ขายกันอยู่ในขณะนั้นครับเช่น  ถ้าหุ้นที่ไม่โตเลยมีค่า  PE  10  มันจะเป็นการลงทุนที่ด้อยกว่าหุ้นที่โต  20  %  และมีค่า  PE  20  ครับ  หากคุณยังงงอยู่  ผมจะอธิบายคร่าวๆก็แล้วกันนะครับ

     ถ้าคุณซื้อหุ้นที่ไม่โตในราคา  10  บาทในตอนปีใหม่  พอถึงปีใหม่ในปีถัดไป  ราคาหุ้นมันก็ยังอยู่ที่  10  บาท

     แต่ถ้าคุณซื้อหุ้นที่โต  20  %  ในราคา  10  บาทเท่ากันและมีค่า  PE  20  พอถึงปีถัดมาราคาหุ้นตัวนี้มันจะขึ้นมาเป็น  12  บาทครับ

นั่นเท่ากับว่า  ถึงคุณจะซื้อหุ้นที่  PE  สูงกว่า  แต่มันสามารถสร้างผลตอบแทนทางราคาหุ้นได้มากกว่า  ส่วนผลตอบแทนจากปันผลก็ค่อยไปว่ากันอีกที  แต่โดยปกติแล้วหุ้นที่โตไปได้เรื่อยๆ  ในท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าหุ้นที่  PE  ต่ำแต่ไม่โตครับ  ลองเข้าไปอ่านในกระทู้ของผมได้ที่  "ใครมีเงินเย็น  อยากลงทุนหุ้น  มาทางนี้"  #294  #410  และ  #540  ครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: ซาลาเปา(เฉพาะกิจ) ที่ วันที่ 24 ตุลาคม 2012, 16:50:46
แล้วพรุ่งนี้จะบาวด์มั้ย คุณแมงมุม


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: แมงมุม ที่ วันที่ 24 ตุลาคม 2012, 20:07:25
.

ตอบแบบวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ..... หุ้นลงเพราะดอกเบี้ยลง แล้วฝรั่งขนเงินหนี ในแง่นักลงทุน น่าจะซื้อเก็บ เพราะดอกเบี้ยลง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวนะครับ 555+

ตอบแบบวิเคราะห์เทคนิค วันนี้ลงไปแตะเส้นค่าเฉลี่ย 30วัน แล้วดัดขึ้นเล็กน้อย เชื่อว่าไม่น่าลง หรือ ลงไม่มาก ดีไม่ดี ขึ้นด้วย


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: ►•••   Natz.   •••◄ ที่ วันที่ 25 ตุลาคม 2012, 10:33:13
ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับ

 นั้นก็หมายความว่าจะไม่เป็นไปตามที่ p/e บอก 100 เปอร์เซนต์เสมอไปทุกต้องไหมครับ  คือแค่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์หุ้นถูกต้องไหมครับ ถามอีกนิด รบกวนด้วยครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: วายุ ที่ วันที่ 25 ตุลาคม 2012, 15:51:50
ตอบคุณ  ►•••   Natz.   •••◄
     คุณต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนก่อนนะครับ  การลงทุนในหุ้นต้องแยกออกมาเป็น  2  ตัวคือ

1.ธุรกิจ
2.ตลาดหุ้น

     การที่นักลงทุนเขาให้ค่า  PE  เป็นเท่าไหร่นั้นหมายถึง  เขากำลังคาดหวังการเติบโตจากหุ้นตัวนั้นว่ามากหรือน้อย  ซึ่งตรงนี้มันเป็นการประมาณการเกี่ยวกับธุรกิจครับ  ส่วนด้านของตลาดนั้นมันเป็นเรื่องของอารมณ์ครับ  ไม่ค่อยเกี่ยวกับค่า  PE  เท่าไหร่  อาจจะมีการยกมากล่าวอ้างบ้างว่า  PE  ตัวนั้นถูกกว่าตัวนี้  แต่มันก็วัดไม่ได้ครับ  เพราะการเติบโตของบริษัทแต่ละที่มันไม่เท่ากัน  แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ตาม


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: ►•••   Natz.   •••◄ ที่ วันที่ 29 ตุลาคม 2012, 14:31:30
ตอบคุณ  ►•••   Natz.   •••◄
     คุณต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนก่อนนะครับ  การลงทุนในหุ้นต้องแยกออกมาเป็น  2  ตัวคือ

1.ธุรกิจ
2.ตลาดหุ้น

     การที่นักลงทุนเขาให้ค่า  PE  เป็นเท่าไหร่นั้นหมายถึง  เขากำลังคาดหวังการเติบโตจากหุ้นตัวนั้นว่ามากหรือน้อย  ซึ่งตรงนี้มันเป็นการประมาณการเกี่ยวกับธุรกิจครับ  ส่วนด้านของตลาดนั้นมันเป็นเรื่องของอารมณ์ครับ  ไม่ค่อยเกี่ยวกับค่า  PE  เท่าไหร่  อาจจะมีการยกมากล่าวอ้างบ้างว่า  PE  ตัวนั้นถูกกว่าตัวนี้  แต่มันก็วัดไม่ได้ครับ  เพราะการเติบโตของบริษัทแต่ละที่มันไม่เท่ากัน  แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ตาม

ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: T0yly6969 ที่ วันที่ 19 ธันวาคม 2013, 20:36:16
ขอบคุณครับ ได้ความรู้อย่างยิ่ง จะรอคลังความรู้นะครับ ;D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: Midas ที่ วันที่ 23 มกราคม 2014, 00:01:08
ติดตามครับ  ;D


หัวข้อ: ลบกระทู้ได้เลยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เริ่มหัวข้อโดย: Fabreguz ที่ วันที่ 16 ธันวาคม 2017, 16:52:47
 :)


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: ซาลาเปา(เฉพาะกิจ) ที่ วันที่ 20 ธันวาคม 2017, 16:35:32
ผมให้ 3 ตัว วางยาว 10 ปีไปเลยครับ ได้ปันผล + หุ้นขึ้นไปยาวๆ  คือ1. BEM 2. BCPG 3.SPA
BEM ตอนควบรวมจาก bmcl + becl เริ่มต้นประมาณ 5 บ. ปัจจุบันเกิน 7 บ. ใช้เวลาปีกว่า ปี63 ได้รถไฟฟ้าสายน้ำเงินทั้งลูบ ราคาน่าจะเกิน 15 บ. ใครถือตั้งแต่ควบรวม ราคาขึ้น 3 เท่า
BCPG จาก 10 บ. ไม่ถึง 2 ปี เกิน 20 บ.แล้ว กำไรโตทุกปี อีก 7 - 8 ปี ราคาน่าจะเกิน 60 บ. โตเกิน 3 เท่า
SPA จาก 5 บ. ไม่ถึง 3 ปี ตอนนี้เกือบ 20 บ. โตเกือบ 4 เท่า  วางยาว 10 ปี เกิน 60 บ. โตได้อีก 3 - 4 เท่า วางไปยาวๆครับ  BEM ปันผลปีละ 2 รอบ BCPG ปันผล ปีละ 4 รอบ ถ้าหุ้นยังไม่ขึ้นก็นั่งรอรับปันผลไปเรื่อยๆ สบายๆ
น่าสน ตอนนี้ set ขึ้นทำสถิติในรอบเกือบ 20 กว่าปี ก่อนจะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง  ;D


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: เวียงป่าเป้า ที่ วันที่ 12 ตุลาคม 2018, 10:23:34
การลงทุนมีความเสี่ยง แต่พอได้อ่านแล้วผมอยากจะเสี่ยงทันที
ขอบคุณองค์ความรู้ทุกท่านนะครับ ที่ทำให้ผมต้องกลับมาอ่านหลายรอบ
ตอนนี้ผมมี 2000 อยากมีความหวังหาตังค์แต่งเมีย

มือใหม่**


หัวข้อ: Re: Fundamental analysis ;; ปูพื้นฐานหุ้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ...
เริ่มหัวข้อโดย: ApichetD ที่ วันที่ 11 ธันวาคม 2018, 02:36:14
้ข้อมูลละเอียด ได้ความรู้ดีๆครับ ขอบคุณครับ